เมษายน 23, 2024, 09:27:51 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: กรรมที่ทําให้เกิดมารูปงาม (ดังตฤณ)  (อ่าน 26261 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เด็กหน้าวัด
เด็กใหม่
นักบุญผู้ใจดี
*****

พลังความดี : 696


เพศ: ชาย
กระทู้: 13280
สมาชิก ID: 1


« เมื่อ: กันยายน 06, 2010, 04:51:13 PM »

Permalink: กรรมที่ทําให้เกิดมารูปงาม (ดังตฤณ)
ใครก็ตามที่สามารถอ่านหนังสือได้เหมือนในขณะนี้ แปลว่าต้องเคยทำทานและรักษาศีลเพียงพอจะก่อให้เกิดกายและจิตสำนึกแบบมนุษย์ แต่ไม่ได้ประกันว่าทานและศีลนั้นเลิศขนาดตกแต่งให้รูปงาม มนุษย์เราพร้อมที่จะริษยารูปร่างหน้าตาของคนอื่นที่ดีกว่า โดยไม่รู้ตัวว่าแท้จริงแล้วกำลังริษยากรรมเก่าที่เลิศเลอของเขาอยู่นั่นเอง

พุทธพจน์

จิตมีความปลาบปลื้มในการให้ทานที่ไหนก็ตาม กับบุคคลใดก็ตาม ก็ควรให้ทานในที่นั้น กับบุคคลนั้น
(อิสสัตถสูตร)

ผลของการให้ทานด้วยศรัทธา คือ เป็นผู้มีรูปงามชวนพิศ น่าเลื่อมใส และผิวพรรณงามยิ่ง ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล
(สัปปุริสสูตร)

มหา บุรุษมีพระเนตรดำสนิทและแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด นี่คือวิบากจากการเป็นผู้ไม่ถลึงตาดู ไม่ค้อนตาดู ไม่ชำเลืองตาดูใครๆด้วยอำนาจความโกรธ เป็นผู้ตรง มีใจตรงเป็นปกติ แลดูใครๆตรงๆด้วยดวงตาทอแววรักใคร่เมตตา ยิิ่งไปกว่านั้น มหาบุรุษยังมีพระเศียรงามบริบูรณ์ดุจกรอบพระพักตร์เป็นเครื่องประดับ ก็ด้วยเพราะวิบากจากการเป็นผู้นำของมหาชนในกิจอันเป็นกุศล เป็นประธานของมหาชนด้วยกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริตทั้งในการบำเพ็ญทาน ในการตั้งใจรักษาศีล ๕ และศีล ๘ กับทั้งในความเป็นผู้ปฏิบัติดีต่อมารดาและบิดา ในความเป็นผู้ปฏิบัติดีต่อสมณะ ในความปฏิบัติดีต่อพราหมณ์ ในความเคารพต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในสกุล รวมทั้งเป็นผู้นำในกิจอันเป็นมหากุศลอื่นๆ
(ลักขณสูตร)

จะ เป็นหญิงหรือชายก็ตาม หากมักโกรธ อัดแน่นด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่าเล็กน้อยก็ขัดใจ ผูกใจเจ็บ มีความอาฆาตมาดร้าย แสดงความกระฟัดกระเฟียดง่าย เช่นนี้ หากได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกจะมีผิวพรรณทราม
(จูฬกัมมวิภังคสูตร)

ระหว่าง ทำบาปด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ บาปที่ทำด้วยใจมีโทษหนักสุด เพราะความจงใจอันเป็นบาปนั้น มีใจเป็นแดนเกิด หาใช่มีกายและวาจาเป็นแดนเกิด นอกจากนั้น สมณะผู้มีฤทธิ์อาจเผาเมืองเป็นเถ้าถ่านด้วยอำนาจจิตดวงเดียวในพริบตา ไม่ต้องอาศัยมือบุรุษเป็นสิบเป็นร้อย ด้วยข้อเท็จจริงเพียงเท่านี้ ก็พึงกล่าวแล้วว่ากรรมทางใจมีโทษมากกว่ากรรมทางกายและกรรมทางวาจา
(อุปาลิวาทสูตร)

มุมมองอันควรได้จากพุทธพจน์

ความ มีรูปงามและความขี้เหร่เป็นพลังครอบงำที่ยิ่งใหญ่ ดึงเอาทั้งชีวิตของมนุษย์ให้หลงจมอยู่กับเงาตนเองในกระจก และหลงมองออกนอกตัวด้วยความติดใจวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตาคนอื่น แค่หัวเข่าดาราดังดูน่าเกลียดหน่อย ก็อาจเป็นเรื่องซุบซิบไม่รู้จบได้

ทำไม ต้องมามัววิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่ปั้นแต่งกันตอนเกิดไม่ได้? จะมองกันที่คุณค่าหรือแข่งกันที่ความสามารถหน่อยไม่ได้หรือ? ความจริงก็คือ ขี้ปากของคนช่างวิจารณ์เป็นเครื่องมือหนึ่ง ที่วิบากกรรมเอาไว้ทิ่มตำเจ้าของกรรม พวกเราถูกคนรอบข้างกระตุ้นเตือนให้ได้รู้สึกผิดหรือภูมิใจกับกรรมเก่าแต่หน หลัง ซึ่งต่างก็หลงลืมกันไปหมดแล้วว่าทำอะไรมา รู้แต่ว่ารูปโฉมโนมพรรณที่ปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้ มีอำนาจดึงดูดเสียงติฉินนินทาลับหลัง หรือไม่ก็กระตุ้นเสียงชื่นชมต่อหน้า และไม่ใช่แค่วันสองวัน แต่มีชีวิตอยู่กี่วันก็โดนแค่นั้น

รูป โฉมยังมีอิทธิพลทางใจอื่นๆ ลองสังเกตเถิด ชายที่มีรูปศีรษะใหญ่ได้รูปสวย จะน่าเชื่อถือว่าเป็นผู้นำได้ ซึ่งพุทธพจน์ก็เผยแล้วว่าเป็นเพราะเคยเป็นผู้นำบุญมามากนั่นเอง

เรื่อง ของความงามเป็นสิ่งหนึ่งที่อ้างได้เต็มปากว่า ไม่ใช่เรื่องขององค์ประกอบทางกายอย่างเดียว คุณคงเคยได้ยินคำว่า "ความประพฤติงาม" หรือ "เป็นผู้มีปัญญาอันงาม" ซึ่งมาจากความรู้สึกสัมผัสความงามของใครสักคนได้ อาจจะเพียงผ่านการโต้ตอบอีเมลหรือพูดคุยโทรศัพท์ โดยไม่เคยพบหน้าค่าตาเลยสักครั้ง

ทั้ง หมดล้วนเป็นร่องรอยชี้ให้เห็นว่ามูลเหตุของความงาม หาใช่ผลงานของความบังเอิญไม่ ความบังเอิญไม่อาจออกแบบความงามหรือความน่าเกลียด ใจที่งาม และใจที่น่าเกลียดต่างหาก ที่อยู่เบื้องหลังมาโดยตลอด

ใจ ที่น่าเกลียดคืออย่างไร? คือใจที่เหนียวเหนอะด้วยความตระหนี่ ถอดเป็นคำไทยคือ "ขี้เหนียว" นอกจากนั้น ใจที่มืดดำด้วยความเห็นแก่ตัว ถอดเป็นคำไทยคือ "ใจดำ" ซึ่งต่างก็ตกแต่งจิตให้น่าเกลียดได้ไม่แพ้กัน

สรุป แล้วความน่ารังเกียจของจิตนั่นแหละ คือต้นเหตุแห่งกายที่น่ารังเกียจ ความงดงามของจิตนั่นแหละ ต้นเหตุแห่งกายที่งดงาม หลักง่ายๆคือถ้าเกิดกิเลสแล้วตามใจกิเลสบ่อยๆ จะเป็นเหตุให้ใจทรามลง ส่งผลให้มีรูปทรามได้เดี๋ยวนั้น เช่น ใบหน้าหมองคล้ำ ราศีหม่นมืดลง แต่ถ้าเกิดกิเลสแล้วรู้จักระงับ ไม่ทำอะไรประเจิดประเจ้อ จะเป็นเหตุให้ใจสวยขึ้น ส่งผลให้รูปสวยได้เดี๋ยวนั้น เช่น ใบหน้ากระจ่าง ราศีสดใสขึ้น ถ้าสังเกตอยู่อย่างนี้ก็คงไม่กังขาว่า ถ้าชาติหน้ามี ใจสวยหรือใจทรามจะมีบทบาทตกแต่งรูปร่างหน้ามากน้อยเพียงใด

กรรมในการให้ทาน

จุด ประสงค์ของการให้ทานในทางพุทธศาสนา ก็เพื่อมุ่งทำลายความตระหนี่ถี่เหนียวเป็นหลัก เมื่อความตระหนี่ถี่เหนียวหายไป ใจดีๆก็มาเอง โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความพยายาม แจกแจงความงามตามระดับการให้ได้ดังนี้

๑) ทรัพยทาน

"ความ ตระหนี่" เป็นยางเหนียวที่ทำให้จิตเหนอะหนะ ทึบตัน หาความปลอดโปร่งมิได้ คล้ายฟองเหนียวตะปุ่มตะป่ำเกาะจิตอยู่ยุ่บยั่บ เป็นความอึดอัดแก่เจ้าตัวเองและคนอยู่ใกล้ กิริยาที่แสดงความงก หรือหวงแหนแม้ส่วนเกิน คนลำบากตากหน้ามาขอก็ไม่ให้ ไม่คิดเผื่อแผ่ ไม่เอาใครเลย ล้วนส่งคลื่นความรู้สึกน่าเกลียดออกมาทั้งส้ิน

ตอน เกิดมาเป็นทารกแบเบาะ ธรรมชาติบังคับให้ทุกคนเรียกร้องเอาเข้าตัว แล้วก็หวงแหนสมบัติส่วนตน ฉะนั้น การให้ทานจึงเป็นเรื่องต้องฝึก จะให้เกิดเองไม่ได้ แล้วก็ไม่มีอุปกรณ์การฝึกใดหาง่ายกว่าข้าวของที่เป็นส่วนเกิน ส่วนที่ไม่ทำให้เราเดือดร้อน แต่อาจช่วยแบ่งเบาให้คนอื่นเดือดร้อนน้อยลงได้

เมื่อ ค่อยๆฝึกให้ของ ให้ทรัพย์ส่วนเกิน แบ่งปันของดีให้คนอื่นใช้ ยางเหนียวก็เร่ิมละลาย กลายเป็นความปลอดโปร่ง น่าอึดอัดน้อยลงจนรู้สึกได้ด้วยตนเอง กระทั่งเมื่อฝึกถึงขั้นที่ "ให้ทานด้วยความเลื่อมใสศรัทธา" ก็จะมีรัศมีสว่างสวยฉายออกมาจากใจ สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัส

การ ให้ด้วยความศรัทธาคือเต็มใจให้ ใจจึงเป็นกุศลเต็มกำลัง จะเป็นความปลื้มใจที่ได้อนุเคราะห์ผู้อื่น หรือจะเพราะเลื่อมใสศรัทธาในผู้รับเช่นพระสงฆ์ผู้ทรงศีลก็ตาม กำลังศรัทธาที่เต็มเปี่ยมจะเป็นปัจจัยให้เกิดผลมากทั้งสิ้น เมื่อคิดให้ทานด้วยจิตที่ผ่องแผ้วสวยใสที่สุด ย่อมเป็นเหตุบันดาลรูปร่างหน้าตาที่สวยชวนพิศที่สุดเช่นกัน

เกณฑ์ ง่ายๆที่ตัดสินได้ว่าใจของคุณมีศรัทธาขณะให้ทาน คือ เมื่อนึกถึงบุญขณะต่างๆ ทั้งก่อนทำ ขณะทำ และหลังทำ แล้วนึกอยากยิ้มสดชื่นออกมาจากข้างใน เป็นยิ้มอันบันดาลขึ้นจากความปลื้มเปรม ความอิ่มเอมที่บริสุทธิ์ ปราศจากเงื่อนไขแลกเปลี่ยน แต่ถ้าทำทานแล้วฝืนยิ้มไปแกนๆ ใจไม่เป็นสุขนั้นไม่นับว่าถึงความเลื่อมใสในทาน เพราะแสดงให้เห็นว่าใจยังแห้งแล้งอยู่

หาก ให้ทานด้วยจิตใจคับแคบ เช่น แก่งแย่งชิงดีเอาหน้าเอาเด่น หรือให้ทานแบบกีดกัน ไม่ยอมร่วมให้ทานกับใคร ไม่ยอมถวายสังฆทานพร้อมกันกับคนแปลกหน้าที่เขามาพร้อมเรา ดึงดันจะแยกเป็นต่างหากให้พระต้องสวดสองที แบบนี้กรรมจะตกแต่งให้ชาติต่อไปหน้าตาออกรสเค็ม หรือเห็นแล้วไม่สบายใจเสียมากกว่าจะน่าเลื่อมใส ตามอาการทางจิตนั่นเอง

วิธี ง่ายๆเพื่อสร้างศรัทธาในการให้ คือ ให้เพราะอยากให้ ถวายเพราะอยากถวาย และอย่าเลือกหน้า อย่าสร้างเงื่อนไขว่าอย่าเป็นสัตว์ ต้องเป็นคน ต้องเป็นพระ ขอเพียงของที่ให้ทานเป็นสิ่งที่คุณได้มาโดยชอบธรรม ไม่เดือดร้อนใคร กับทั้งมีน้ำจิตคิดอยากให้ ใจก็เบิกบานเป็นปีติได้แล้ว ยิ่งสั่งสมบ่อยเท่าไร ใจในการให้ยิ่งสวยขึ้นเท่านั้น

เมื่อ คุณให้ทานครบวงจร ในที่สุดผลของทานจะนำคุณเลื่อนชั้นทางจิต และคุณจะมีสิทธิ์ให้ทานกับผู้ควรแก่การรับสูงชั้นขึ้นไปเรื่อยๆเอง ความเลื่อมใสศรัทธาจะเกิดขึ้นสูงสุด เมื่อทั้งผู้ให้และผู้รับมีความบริสุทธิ์หมดจด คือ ศีลสะอาด ความประพฤติสะอาด วัตถุที่ใช้ในการให้ทานสะอาด และความตั้งใจขณะถวายทานสะอาด

กล่าว โดยย่นย่อที่สุด ยิ่งความตระหนี่น้อยลงเท่าไร คุณจะยิ่งเห็นใจตัวเองน่าเกลียดน้อยลงเท่านั้น และยิ่งความเลื่อมใสในทานปรากฏชัดขึ้นเพียงใด ใครๆจะยิ่งบอกว่าหน้าตาคุณมีรัศมีชวนชมชัดขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ชาติหน้า

๒) อภัยทาน

"ความ พยาบาท" เป็นไฟร้อนที่เผาผลาญใจตัวเอง เมื่อเผาใจตัวเองสำเร็จก็อาจเผาโลกต่อได้ ต่อเมื่อสามารถทำลายความตระหนี่ คนเราจึงมีแก่ใจทำลายความพยาบาทหรืออาการ "หวงความโกรธ" ได้เช่นกัน เพราะเป็นสภาพของจิตที่ "ทิ้งความอึดอัดใจ" เหมือนๆกัน

ผู้ ที่คิดอภัยได้เรื่อยๆ แม้จะยังไม่ถึงขั้นละความโกรธได้อย่างพระอรหันต์ อย่างน้อยก็จะไม่เป็นคนมักโกรธ ไม่แสดงกิริยาวาจากระฟัดกระเฟียดง่ายๆ เพียงเท่านี้ก็ประกันแล้วว่าชีวิตที่เหลือจะไม่ก่อเหตุให้ชาติหน้าต้องเป็น คนผิวพรรณทราม หน้าตาหาเรื่อง

การจะอภัยให้เป็น ควรฝึกไปทำตามลำดับ คือ
- มีแก่ใจอยากให้อภัย เพราะเห็นโทษของความผูกพยาบาทและโมโหง่ายดังกล่าวแล้ว
- เมื่อโกรธจนอยากลงไม้ลงมือมาก ให้ห้ามมือห้ามไม้ แม้ใจจะต้องอึดอัดแค่ไหน
- เมื่อโกรธจนอยากด่ามาก ให้ปิดปาก แม้ใจจะยังคิดถึงคำด่าไม่เลิก
- เมื่อโกรธแบบร้อนในอกมาก ให้รู้สึกถึงความเร่าร้อน และเห็นว่าร้อนมากเดี๋ยวก็เย็นลงได้
- เมื่อโกรธแบบอัดอั้นมาก ให้รู้สึกถึงความหนักที่ใจ และเห็นว่าหนักมากได้เดี๋ยวก็เบาลงเองได้
- เมื่อโกรธแบบหงุดหงิดเล็กน้อย ให้รู้สึกถึงสภาพฟุ้งๆยุ่งๆ ถ้ารู้สึกได้แต่แรกจะเห็นมันจางลงทันที

หาก ฝึกจนเห็นผลตามลำดับ กำจัดเหตุแห่งความน่าเกลียดได้ ภาวะน่ารักน่าใคร่ก็เกิดขึ้นเอง คุณไม่ต้องเชื่อเรื่องชาติหน้า เอาแค่เห็นกับตาในชาตินี้ ก็เปรียบเทียบกันได้ชัดๆอยู่แล้ว คนหน้าตาดีมาแต่เกิด ลองเป็นพวกโกรธง่ายหายช้าดูสักพัก หน้าจะดูหักๆง้ำๆ ผิวจะคล้ำเกรียม ตาจะขุ่นขวาง ส่วนคนหน้าตาจืดชืด ลองเป็นพวกโกรธยากหายเร็วเสมอๆ แค่ไม่กี่วันจะดูดีมีราศีจับตา เห็นแล้วเย็น เห็นแล้วสบายใจ หรือกระทั่งน่าเลื่อมใส นั่นเพราะจิตที่สงบเยือกเย็น ไม่เดือดร้อนกระวนกระวายง่ายๆ จะทำให้กล้ามเนื้อทุกส่วนบนใบหน้าผ่อนคลาย ดูดีที่สุดเท่าที่โครงหน้าจะอำนวย

ทั้ง นี้ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า "ฝืนยิ้มแกล้งไม่โกรธ" กับ "ฝึกละความโกรธไปตามลำดับขั้น" จะให้ผลเป็นคนละเรื่อง ยิ่งแกล้งเท่าไร ใจยิ่งเก็บกดเหมือนอยากระเบิดเท่านั้น แต่ถ้าฝึกห้ามกายและดูใจเป็น ใจจะยิ่งเบา เป็นคนมีความสุขแบบไม่มีแรงกดดันแอบแฝงอยู่เลย

๓) ธรรมทาน

เมื่อ มีน้ำใจบริจาคของส่วนเกิน กับทั้งมีความเมตตากรุณาพอจะให้อภัย คุณจะมองเห็นว่าคนในโลกอีกมากนัก ที่ยังหลงตระหนี่ หลงอาฆาตพยาบาทกันให้ทุกข์ใจเปล่าๆ โดยไม่มีอะไรดีขึ้นเลย ที่ตรงนั้นคุณจะรู้สึกเหมือนตนเองมีน้ำอยู่ในใจ สามารถช่วยดับไฟในอกคนอื่นได้

ทุกอย่าง ต้องเริ่มด้วยของจริงในคุณเอง คือมีน้ำใจอยากดับไฟให้คนอื่น ไม่ใช่ตั้งต้นด้วยความอยากสั่งสอนแบบยกตนข่ม แต่เป็นการค่อยๆพูด ค่อยๆให้แนวทาง ด้วยใจเมตตาปรารถนาให้คนฟังได้คิด ได้ฉุกใจ

คุณ จะรู้สึกถึงความจริงใจได้จากผลลัพธ์กับตนเอง คือยิ่งพูดตัวเองจะยิ่งเย็น พูดได้เต็มปากเต็มคำ ไม่ต้องดัด ไม่เสแสร้งสร้างภาพนักปลอบ ตรงข้ามกับการอยากสอนแบบยกตนข่ม ยิ่งพูดอัตตาจะยิ่งหนัก ในหัวจะยิ่งฟุ้งแรงขึ้นทุกที อยากอวดเก่งกล้าสามารถขึ้นทุกวัน

หาก สามารถช่วยให้ใครฉุกคิด ให้เขาอยากสละความตระหนี่ อยากละวางความพยาบาท นั่นจัดเข้าข่ายเป็นธรรมทาน ถ้าธรรมทานนั้นประกอบด้วยกิริยาอันงามด้วยน้ำใสใจจริง ก็เรียกว่าแสดงธรรมได้งาม ถือเป็นกรรมตกแต่งจิตให้งามขั้นสูงสุด

ผู้ แสดงธรรมได้งาม มีผลให้เกิดขึ้นกับกายใจทันตาในชาตินี้ คือจะมีความงามเด่น กระแสใจเยือกเย็นผ่องใส ดึงใจคนเห็นให้ชื่นชมด้วยความพิศวง บางคนแม้หน้าตาไม่งาม แต่กระแสจากธรรมงามเกินตัว ก็ดึงดูดสายตาไม่ต่างจากคนสวยคนหล่อได้อย่างน่าทึ่ง

กรรมในการรักษาศีล

"ความ เห็นแก่ตัว" เป็นสิ่งสกปรกเน่าเหม็น พิสูจน์ได้ด้วยความรู้สึก ยิ่งคนเห็นแก่ตัวมากขึ้นเท่าไร พอเข้าใกล้แล้วจะรู้สึกขยะแขยง อยากออกห่าง เพราะคล้ายจะ "เหม็น" อะไรบางอย่างที่มองไม่เห็น

ศีล จะมีส่วนช่วยปรุงแต่งหน้าตาให้ดูดีจริงๆต่อเมื่อสะอาดหมดจดในข้อหนึ่งๆ ความรู้สึกภายในของคุณเป็นอย่างไร คนก็จะมองเห็นคุณแล้วเกิดความรู้สึกเช่นนั้นตามไปด้วย เช่น
๑) อยากปกป้องชีวิตสัตว์ ทำให้หน้าตาใจดี เห็นแล้วสงบเย็นดูปลอดภัย
๒) ไม่เพ่งเล็งอยากได้ ทำให้หน้าตาน่าไว้ใจ เห็นแล้วน่าเชื่อถือ
๓) ซื่อสัตย์กับคู่ครอง ทำให้หน้าตาชวนอบอุ่นใจ เห็นแล้วนึกอยากเป็นคู่ด้วย
๔) ไม่คิดปั้นคำลวง ทำให้หน้าตาใสซื่อ เห็นแล้วนึกเอ็นดู
๕) ไม่เกลือกกลั้วสิ่งเสพติดมึนเมา ทำให้หน้าตาดูปกติ เห็นแล้วไม่ชวนระแวงแบบคนบ้า

โลก เรามีเรื่องยั่วยุให้ผิดศีลได้ทุกวัน เราจึงมีโอกาสฝึกตั้งใจและรักษาศีลได้ทุกวันจนชำนาญเช่นกัน พอฝึกจนชำนาญแล้ว ความเห็นแก่ตัวน้อยลงแล้ว ความสกปรกเน่าเหม็นทางจิตจะหายไป กลายเป็นหอมสะอาดในที่สุด แม้หน้าตาเหมือนเดิม แต่จิตใจสะอาดขึ้น ก็ดูดีกว่าเดิมได้

หาก ถือศีลได้สะอาดบริสุทธิ์ตลอดชีวิต กระทั่งแม้ใจก็ไม่กระดิกไปคิดอยากละเมิดศีลตามแรงยั่วยุ ชาติใหม่จะมีรูปร่างหน้าตาสมส่วนหมดจด มองจากมุมไหนก็ดูดีไปหมด แบบที่เรียกกันว่างามไร้ที่ตินั่นเอง

กรรมด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ดัง กล่าวแล้วว่า ความมีรูปงามยืนพื้นอยู่บนความมีใจงาม กรรมใดๆก็ตามที่ปรุงแต่งใจให้งามได้ กรรมเหล่านั้นก็มีส่วนส่งเสริมให้รูปงามขึ้นเสมอ เช่น

๑) กรรมที่ทำด้วยศรัทธา

ทำ กรรมใดๆก็ตาม หากยืนอยู่บนศรัทธา ย่อมมีส่วนปรุงแต่งรูปให้งามน่าเลื่อมใสเหนือธรรมดาได้ ศรัทธาในที่นี้ หมายถึงความเลื่อมใสในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ชั้นสูงของทุกศาสนาที่ให้การสนับสนุน มนุษยธรรมและมโนธรรม เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นความสว่าง เป็นมงคล เป็นกุศลธรรม ยิ่งเอาจิตไปผูกไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นเท่าไร จิตก็ยิ่งสว่างเป็นมหากุศลมากขึ้นเท่านั้น

ตัวอย่าง ของกรรมที่ประกอบด้วยศรัทธา เช่น สวดมนต์หน้าพระปฏิมาด้วยใจเคารพเลื่อมใส หรือมีความปรารถนาจะสร้างถาวรวัตถุอันชวนสักการะบูชา หากออกมาจากใจจริงๆไม่ได้แกล้งฝืน ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุให้แห่งรูปงามได้หมด

๒) กรรมจากการใช้สายตา

การใช้สายตามีอยู่สองอาการใหญ่ๆ คือ มองดูให้เห็น กับ มองอย่างแฝงเจตนาเป็นกุศลหรืออกุศล

ตัวอย่าง ของกรรมจากการใช้สายตาในทางกุศล เช่น มองผู้คนด้วยใจเป็นมิตร มองพระปฏิมาด้วยใจเคารพบูชา มองบุคคลผู้ทรงศีลด้วยใจนบนอบ กรรมเหล่านี้ล้วนตกแต่งให้นัยน์ตาในชาติปัจจุบันอ่อนโยน ทว่ามีประกายแรงชวนสบ กับทั้งจะตกแต่งให้นัยน์ตาในชาติถัดไปงามซึ้งเหมือนมีมนต์สะกดให้หลงใหล

ตัวอย่าง ของกรรมจากการใช้สายตาในทางอกุศล เช่น มองผู้คนด้วยความอยากสะกดให้กลัว มองคนที่เกลียดด้วยความกร้าว มองคนต่ำกว่าด้วยสายตาหยามหมิ่น มองผู้ใหญ่หรือผู้ทรงศีลด้วยความกระด้างกระเดื่อง กรรมเหล่านี้จะตกแต่งให้ประกายตาในชาติปัจจุบันไม่น่าสบ สบแล้วระคายความรู้สึก และจะตกแต่งนัยน์ตาในชาติถัดไปให้ชวนเมิน หรือกระทั่งมีความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ตาส่อน ตาเข ขึ้นอยู่กับน้ำหนักกรรมทางตาที่ก่อไว้

๓) กรรมจากการใช้เสียง

การ ใช้เสียงมีอยู่สองอาการใหญ่ๆ คือ เปล่งเสียงให้คนอื่นได้ยินเพื่อรับรู้ความหมาย กับ เปล่งเสียงให้ตนเองหรือผู้อื่นเกิดความรู้สึกทางใจเป็นกุศลหรืออกุศล

ตัวอย่าง ของกรรมจากการเปล่งเสียงในทางกุศล เช่น เลือกพูดคำที่เป็นจริง เลือกพูดคำที่สมานสามัคคี เลือกพูดคำที่สุภาพรื่นหู เลือกพูดคำที่ชวนให้เกิดสติ สวดมนต์ด้วยเจตนาถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชา ร้องเพลงสรรเสริญผู้ทรงคุณ บริจาคเสียงอ่านหนังสือดีๆเพื่อคนตาบอด อธิบายธรรมะด้วยเจตนาให้เป็นที่เข้าใจ ง่าย กรรมเหล่านี้จะตกแต่งสุ้มเสียงให้นุ่มใสขึ้นในปัจจุบัน และจะตกแต่งแก้วเสียงในชาติถัดไปให้เพราะพริ้งชวนฟังราวกับเครื่องดนตรีเด่น

ตัวอย่าง ของกรรมจากการเปล่งเสียงในทางอกุศล เช่น จงใจพูดเท็จ จงใจยุยงให้เกิดความแตกแยก จงใจใช้วาจาหยาบคายระบายอารมณ์ ปล่อยใจพูดเลื่อนลอยเพ้อเจ้อ หรืออาศัยเสียงของตนประทุษร้ายผู้อื่นในทางใดทางหนึ่ง กรรมเหล่านี้จะตกแต่งสุ้มเสียงให้ระคายโสตในปัจจุบัน และจะตกแต่งแก้วเสียงในชาติถัดไปให้แหบแห้ง หรือแหลมแสบแก้วหู ฟังแล้วทรมาน

๔) กรรมทางความคิด

กรรม ทางกายและกรรมทางวาจานั้น จัดเป็นสิ่งเปิดเผย เมื่อปรากฏแล้วสามารถจับต้องได้ บันทึกได้ หรือเก็บไว้ในความทรงจำของคนอื่นได้ แตกต่างจากกรรมทางความคิด ที่เหมือนสิ่งลึกลับ จะรู้แน่ว่ามีหรือไม่มี ก็ต้องให้เจ้าของความคิดเป็นคนแฉเอง

สำนวน ปากร้ายใจดี ปากหวานก้นเปรี้ยว หน้าซื่อใจคด หรือหน้าเนื้อใจเสือ เกิดขึ้นได้ก็เพราะมนุษย์เรามีกรรมทางความคิดซ่อนเร้นไว้ในหัวได้ จะให้เปิดเผยหรือปิดบังต่อไปก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเจ้าตัว

แต่กรรมทางใจเป็นไปตามความคิด คนเราคิดอย่างไร ก็คู่ควรกับภาวะอย่างนั้น กรรมทางความคิดอาจถูกปกปิดไปทั้งชาติ แต่จะถูกเปิดโปงล่อนจ้อนที่รูปร่างหน้าตาในชาติถัดไป

หาก คุณสงสัยว่าเหตุใดบางคนสวยจัดหรือหน้าตาหล่อเหลาบาดใจ แต่เตี้ยม่อต้อบ้าง แขนขาไม่น่าดูบ้าง ก็ขอให้ทราบว่านั่นเป็นตัวอย่างของกรรมทางกายกับวาจาภายนอกที่ดูดี แต่กรรมทางใจอันเป็นภายในนั้นขัดแย้งกัน

เพื่อ เข้าใจให้ชัด ต้องเข้าใจหลักการพื้นฐานอย่างนี้ คือ กรรมที่ปรุงแต่งรูปร่างหน้าตาคนทั่วไป มักเป็นกรรมที่ทำประจำจนคุ้นเป็นนิสัย ไม่ใช่กรรมชนิดนานๆทำที จึง สมควรกล่าวว่า กรรมที่ทำเป็นอาจิณนั่นเอง ที่เป็นหน้าเป็นตา ทั้งในความหมายของชื่อเสียงในปัจจุบัน และในความหมายของเนื้อตัวในอนาคต

ใน แง่ของกรรมตกแต่งรูปร่างหน้าตานั้น ศีลเป็นตัวกำหนดสำคัญว่าสัดส่วนหรือรูปทรงจะดูพอเหมาะพอเจาะไร้ที่ติ หรือเต็มไปด้วยที่ติตามจุดต่างๆ หากคุณมีศีลสัตย์บริสุทธิ์สะอาดอย่างแท้จริง ก็จะรู้สึกออกมาจากภายในว่าจิตใจของคุณมีความเที่ยงตรงไม่บิดเบี้ยว ความรู้สึกแบบนั้นแหละที่ตกแต่งรูปร่างหน้าตาออกมาได้สัดส่วนเหมาะเจาะ

แต่ หากรักษาศีลสำเร็จ แล้วเที่ยวไปกร่าง อวดเบ่งทับถมคนอื่น อ้างว่าตนดี ตนวิเศษ คนอื่นต่ำต้อยกว่า อันนี้ก็อาจปรุงแต่งให้ขาสั้น ด้วยเหตุเพราะใจถือเอาศีลเป็นเครื่องยกตนข่มท่าน เป็นต้น สรุปคือขอให้ดูว่าการทำบุญแต่ละอย่างของคุณ มีความคิดชนิดใดอยู่เบื้องหลัง กุศลหรืออกุศล เบียดเบียนหรือเกื้อกูล หลงตัวหรือเปลื้องตน ก็พอพยากรณ์รูปร่างหน้าตาในอนาคต ว่าจะหมดจดหรือขาดๆเกินๆ

นอก จากนั้น ความคิดอันเป็นเรื่องลับ ก็เกี่ยวข้องกับของลับอยู่ด้วย เช่นเดียวกับที่บางคนชอบทำบุญสร้างภาพ แล้วก็เป็นภาพที่ดูดีในระยะยาว แต่ใจจริงคิดอยากเอาหน้าหรือแสวงประโยชน์แอบแฝง มองทะลุเข้าไปจะเห็นว่าเน่าใน ไม่ใช่สุกใสเหมือนเปลือกนอก อย่างนี้ก็เป็นไปได้ที่ชาติถัดมาจะหน้าตาดี แต่พอคู่ครองพบความจริงทั้งหมดในห้องส่วนตัว ก็อาจผิดหวังอย่างแรง เพราะหน้าตาที่เปิดเผย กับของลับที่ปิดบัง ไปด้วยกันแทบไม่ได้

หญิง ที่หน้าตากับเนื้อตัววิจิตรสมกันตลอดร่าง มักเป็นพวกที่สะอาดพร้อมทั้งกาย วาจา และใจ ทำทานแบบหาโทษไม่ได้ รักษาศีลแบบหาที่ติไม่ได้ แม้คิดอยากในทางที่ผิดก็เห็นความไม่เที่ยงของความคิด เห็นตามจริงว่าความคิดผิดๆมาเองไปเอง บังคับไม่ได้ ไม่ควรแล่นตาม และไม่หมกมุ่นทรมานใจไปกับมัน เช่นนี้เอง รูปกายภายนอกกับภายใต้ร่มผ้าจึงบาดตาบาดใจ กลมกลืนกันสนิท ไม่ล้ำเหลื่อมแปลกปลอมจากกัน

ส่วน ชายที่หน้าตากับเนื้อตัวสมชาย เป็นพวกที่อาจหาญ กล้าเป็นผู้นำในทางดี เอากำลังแรงเข้าโถมเพื่อให้งานบุญลุล่วงโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ที่สำคัญต้องมีศีลมีสัตย์ พูดคำไหนทำคำนั้น กล้าทำกล้ารับ ฮึกเหิมในการเปลี่ยนผิดให้เป็นถูก คิดตรงไปตรงมา ไม่พูดบิดเบือนความจริง จะเสริมให้รูปร่างหน้าตาดูดีสมชายได้กว่าคนอื่น

๕) กรรมหลักที่สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตน

แม้คนรูปงามก็งามต่างกัน แต่ละคนมีความงามในแบบของตน ลองจำแนกความงามที่เห็นแล้วรู้สึกสะดุดตาสัก ๖ ประเภทเป็นตัวอย่างดู

- งามแบบสง่า เกิดจากกรรมในการให้ทานสมณะผู้ละกามด้วยความเคารพลึกซึ้ง จะจัดถวายทานใดก็นิยมพิธีรีตองที่งดงามโดยมีเจตนาให้เกียรติผู้รับ ส่วนในแง่ศีลธรรมนั้น เวลาจะทำผิดอะไรก็เห็นแก่หน้าพ่อแม่และวงศ์ตระกูล ไม่ทำตามอำเภอใจเพียงเพราะเห็นแก่กิเลสตน และถ้าเคยถือศีล ๘ หรือออกบวช ก็เป็นพวกที่มีความสง่างามในการละกาม ละพยาบาท ละความเซื่องซึม ละความฟุ้งซ่าน และละความสงสัย มีความมั่นคงในการครองกายครองใจให้ปลอดโปร่งอย่างคงเส้นคงวา

- งามแบบอ่อนหวาน เกิดจากกรรมในการพูดจาอ่อนโยน ใช้ถ้อยคำหวานหูโดยมีเจตนาให้คนฟังรู้สึกดี เวลาให้ทานจะทำด้วยความนุ่มนวล ด้วยความสุภาพ

- งามแบบฉูดฉาดจัดจ้าน เกิดจากกรรมในการประกอบงานบุญงานกุศลด้วยจิตคิดออกหน้าออกตา ชอบทำให้คนเห็นเยอะๆ เป็นจุดเด่น เป็นความสนใจ ซึ่งแง่ดีคือเป็นแรงบันดาลใจให้คนเห็นอยากเอาตาม แต่แง่เสียคือเป็นที่หมั่นไส้ได้ และจิตของคนชอบเป็นจุดเด่นในงานบุญนั้น มักพ่วงเอาความโลภเข้าไปเจืออยู่ในบุญ พร้อมจะแปรจากบุญเป็นบาปได้ทันทีที่มีการแก่งแย่งชิงดีทางหน้าตากัน ฉะนั้น อย่าสงสัยหากคนสวยแบบฉูดฉาดมักมีคนอยากเป็นคู่แข่ง

- งามแบบเร้าความรู้สึกทางเพศ เกิดจากกรรมในการประกอบงานบุญงานกุศลด้วยความหวังผลทางรูปร่างหน้าตา เช่น หญิงปรารถนาความสะสวย ชายอธิษฐานขอให้หล่อเหมือนพระเอก ขอให้ล่อตาล่อใจคนได้มากๆ ผลของการอธิษฐานจะไม่ปรากฏแค่ที่กาย แต่จะมีกระแสความเรียกร้องทางเพศจากจิตและความคิดส่วนลึกประกอบอยู่ด้วย งานบุญต่างๆมักมีหนุ่มสาวประเภทนี้ปะปนอยู่มาก แค่เข้ามามีบทบาทในงานบุญด้วยความตั้งใจจะเป็นคนเด่น ดึงดูดความสนใจใครต่อใครในเชิงปฏิพัทธ์ ก็นับว่าเข้าข่ายแล้ว

- งามแบบแปลกประหลาด เกิดจากกรรมอันขัดแย้งกัน เช่น เข้าวัดทำบุญจริง แต่ก็แต่งตัวยวนยั่วไปด้วย หรืออยากให้ทานจริง แต่ของที่ให้มีความสกปรก หรือให้ทานแบบไม่อยากขัดใจญาติ หรือพูดแดกดันให้ผู้รับเสียกำลังใจ อีกทีคือยอมรักษาศีลไม่ประพฤติผิดทางกามกับใคร แต่ก็ชอบไปยั่วเย้าให้เขามาอยากมีเพศสัมพันธ์แบบผิดๆกับตน ความคิดซ่อนแฝงที่ขัดแย้งกันกับพฤติกรรมทำนองนี้แหละ ที่ทำให้สวยหล่อแบบแปลกๆ แบบที่สมัยนี้เรียกกันว่าสวยไม่เสร็จ หรือหล่อแบบน่ากังขา คือเหมือนยังปั้นไม่ครบ หรือครบแต่เว้าแหว่ง บางส่วนเหมือนหายๆไปไม่เต็มบริบูรณ์

ความ งามไม่ได้มีแค่ ๖ ประเภทเท่านี้ ที่ยกมาพอสังเขปก็เพื่อให้เข้าใจชัดว่า ต้นตอของกรรมทั้งหลายมาจากมโนกรรม หรือกรรมทางใจเป็นหลัก และกรรมเก่าก็ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับกรรมใหม่ บางคนสวยหล่อสมบูรณ์แบบสะท้อนให้เห็นว่าของเก่าดีทุกอย่าง แต่กรรมใหม่คิดลามกสกปรก คิดคดทรยศได้ไม่เลือกหน้า อย่างนี้เมื่อการคุ้มครองจากกรรมเก่าหมดลง กรรมใหม่ก็ฉายให้ดูผ่านหน้าตาแย่ๆตั้งแต่เข้าวัยกลางคนนั่นเอง

ที่มาhttp://www.dungtrin.com/siadai/pages/2.html




บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


บทความและไฟล์ภาพ ในเว็บไซต์แห่งนี้อาจนำมาจากเว็บไซต์อื่นๆ ที่ทีมงานคิดว่ามีประโชยน์ต่อผู้อ่าน โดยให้ผู้อ่านเกิดควมบันเทิง และให้ความรู้ โดยที่เราจะให้เครดิตทุกครั้งที่นำมา หากไฟล์ภาพหรือบทความใด ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ต้องการให้นำมาแสดง โปรดแจ้งมาที่ tumcomputer@hotmail.com ทางทีมงานจะได้นำบทความนั้นออกทันที ขอบคุณครับ


เว็บนี้จัดทำโดย นายสุรัตน์ ศรลัมภ์ และครอบครัว อุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวร และผู้มีพระคุณ

HTML Hit Counters
Powered by SMF 1.1.17 | Simple Machines|Copyright © 20010 BY : thammaonline.com
บทความธรรมะรวมเรื่องกฏแห่งกรรมสมาธิ วิปัสนากรรมฐานพลังจิตกระดานถาม-ตอบ Sitemap

Google มาเยี่ยมเว็บเมื่อ เมษายน 18, 2024, 03:24:41 AM