เมษายน 19, 2024, 05:49:38 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: อาปานานสติสูตร เป็นไปเพื่อความสงบเข้าสติปัฏฐาน๔ จนถึงโพชฌงค์๗  (อ่าน 7336 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« เมื่อ: มกราคม 23, 2013, 09:42:25 AM »

Permalink: อาปานานสติสูตร เป็นไปเพื่อความสงบเข้าสติปัฏฐาน๔ จนถึงโพชฌงค์๗
อานาปานสติสูตร


พระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

[๒๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า เธอย่อมมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ ปีติ หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก ว่าเราจัก เป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร (การปรุงแต่งของจิต - ธัมมโชติ) หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ว่าเรา จักระงับจิตสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเปลื้องจิต (จากความโลภ ความโกรธ ความหลง จากความเย่อหยิ่งถือตัว ความเห็นผิด ความลังเลสงสัย จากความหดหู่ท้อถอย ความฟุ้งซ่าน จากความไม่ละอายบาป ไม่สะดุ้งกลัวบาป จากความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง - ธัมมโชติ) หายใจออก ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจออก ว่าเราจักเป็น ผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด (ความยินดี รักใคร่ในสิ่งทั้งปวง - ธัมมโชติ) หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจเข้า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว อย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ฯ


[๒๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้วอย่างไร ทำ ให้มากแล้วอย่างไร จึงบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด เมื่อภิกษุหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้า ยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้นภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวลมหายใจออก ลมหายใจเข้านี้ ว่าเป็นกายชนิดหนึ่ง ในพวกกาย เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกาย (คือเห็นกายชนิดหนึ่งในบรรดากายทั้งหลาย - ธัมมโชติ) มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ ปีติ หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเรา จักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้า สำเหนียก อยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ จิตสังขาร หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกเสียได้อยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการใส่ใจลมหายใจออก ลมหายใจเข้าเป็นอย่างดีนี้ ว่าเป็นเวทนาชนิดหนึ่ง ในพวกเวทนา เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนด รู้จิต หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจัก ทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจออก ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าว อานาปานสติแก่ภิกษุผู้เผลอสติ ไม่รู้สึกตัวอยู่ เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณา ความไม่เที่ยง หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจออก ว่าเราจัก เป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจ ออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจเข้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ เธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสด้วย ปัญญาแล้ว ย่อมเป็นผู้วางเฉยได้ดี เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้ ฯ


[๒๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้อยู่
ในสมัยนั้น สติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด สติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ
ในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความ บริบูรณ์แก่ภิกษุ เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความ พิจารณาธรรมนั้นได้ด้วยปัญญา ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา
ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ เธอ เมื่อค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมด้วยปัญญาอยู่ ย่อมเป็นอันปรารภ ความเพียรไม่ย่อหย่อน ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณา ธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน
ในสมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ปีติปราศจากอามิส (ปิติที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องมีวัตถุมาล่อ - ธัมมโชติ) ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภ ความเพียรแล้ว
ในสมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้
ในสมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมมีจิตตั้งมั่นฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น
ในสมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น
ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความ เจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้น ได้เป็นอย่างดี ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้ เป็นอย่างดี
ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น
ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึง ความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่
ในสมัยนั้น สติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ...

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่
ในสมัยนั้น สติย่อม เป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ...

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่
ในสมัยนั้น สติย่อม เป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด สติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ
ในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความ บริบูรณ์แก่ภิกษุ เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความ พิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา
ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ เมื่อ เธอค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญาอยู่ ย่อมเป็นอัน ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรม นั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน
ในสมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อม เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ปีติปราศจากอามิส ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภ ความเพียรแล้ว
ในสมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้
ในสมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น
ภิกษุ ชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ย่อมถึง ความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมมีจิต ตั้งมั่นฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น
ในสมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้
น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความ เจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้น ได้เป็นอย่างดี ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้ เป็นอย่างดี
ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึง ความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้ ฯ


[๒๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างไร ทำให้ มากแล้วอย่างไร จึงบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัย นิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ...
ย่อม เจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ...
ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ...
ย่อมเจริญปัสสัทธิ สัมโพชฌงค์ ...
ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ...
ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ




บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #1 เมื่อ: มกราคม 23, 2013, 09:42:48 AM »

Permalink: อาปานานสติสูตร เป็นไปเพื่อความสงบเข้าสติปัฏฐาน๔ จนถึงโพชฌงค์๗
ผมใคร่ขออนุญาต พระคุณเจ้าทั้งหลาย ท่านสมาชิกเวบ และผู้ดูแลระบบทุกท่าน เผยแพร่กระทู้ธรรมที่ผมปฏิบัติเจริญอยู่ตามทางที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน โดยผมได้นำมาประยุกต์ใช้ให้เข้าตามจริตของผม ซึ่งคิดและเชื่อว่า..แนวทางนี้จะเป็นประโยชน์ และ ให้ผลได้แก่ทุกท่านไม่จำกัดกาล จึงได้นำมาเผยแพร่ต่อท่านสมาชิกเวบทุกท่านให้ได้ลองปฏิบัติกัน หากเมื่อท่านทั้งหลายปฏิบัติแล้วเห็นผลได้ มีประโยชน์แท้จริง ผมใคร่ขอรบกวนท่านทั้งหลายได้อุทิศส่วนบุญกุศลแห่งธรรมทานนี้ให้แด่


คุณพ่อกิมคุณ เบญจศรีวัฒนา ซึ่งท่านถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2556 เวลา 15.49 น. อายุ 90 ปี 4 วัน

ประวัติโดยย่อของท่าน

- ท่านได้เลี้ยงลูกและเอาใจใส่ปลูกฝังให้ลูกมี ศีล สมาธิ พรหมวิหาร๔ คิดดี พูดดี ทำดี มีความขยัน หมั่นเพียร อดทน ซื่อสัตย์ สุจริต ซึ่งตัวท่านเองก็ปฏิบัติเช่นนี้อยู่เป็นประจำเพื่อเป็นตัวอย่างให้ลูกๆเห็นแล้วทำตาม
- เท่าที่ผมจำความได้ท่านสอนให้ผมว่า ให้เว้นจากความเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น ให้เว้นจากการฆ่าสัตว์แม้ มด ยุง ริ้น ไร ก็ห้ามไม่ให้ฆ่า ให้ผมไม่ขโมยลักทรัพย์ ไม่เอาของๆผู้อื่นที่เขาไม่ได้ให้ ให้ผมซื่อสัตย์-ซื่อตรงทำดีต่อครอบครัวตนเองและผู้อื่น ชี้ให้ผมเห็นโทษของสุราเมรัยไม่ให้ปารถนาที่จะดื่มกิน รู้สวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธิเป็นประจำทุกวัน ท่านสอนให้ผมมีจิตปารถนาดีต่อผู้อื่น รู้เอื้ออนุเคราะห์แบ่งปันผู้อื่น มีการให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน มีสติรู้ตน รู้สิ่งที่ควรละ-ควรปล่อย-ควรผ่าน-ควรวาง มีความยินดีเมื่อผู้อื่นมีความปกติสุข-ปราศจากความเบียดเบียนทั้งกาย-ใจ รู้วางใจกลางๆในการอันควร ไม่หยิบจับเอาความพอใจยินดีหรือไม่พอใจยินดีมาตั้งเป็นอารมณ์แห่งจิต คิดดี พูดี ทำดี ขยัน อดทน ไม่เกี่ยงงาน ไม่พูดจาด่าทอให้ร้ายใคร
- ท่านเป็นเสมียนของ บริษัทสินธุสมุทรจำกัด (โรงน้ำปลาทั่งโก๋วฮะ) มานานหลายสิบปี ท่านซื่อสัตย์ต่อบริษัทมาตลอด ไม่เคยคดโกง ไม่เคยลักขโมย อยู่ด้วยความซื่อสัตย์ จนปัจจุบันท่านเป็นที่นับถือในความซื่อสัตย์สุจริต และ เพียรทำงานที่ดีที่ถูกต้องต่อบริษัท
- ตั้งแต่ผมจำความได้ สมัยยังเด็กๆ คุณพ่อกิมคุณ เบญจศรีวัฒนา ท่านเป็นสหายธรรมของหลวงปู่นิล มหันตปัญโญ (ซึ่งหลวงปู่ท่านเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์ใหญ่หลวงปู่มั่น หลวงปู่สิง หลวงปู่เสาร์ และ หลวงปู่ท่านเป็นครูอุปัชฌาย์องค์แรกของผมเอง) สมัยเด็กๆจะเห็นท่านปั่นจักรยาน เอากับข้าวไปถวายเพลหลวงปู่ ไปนั่งสนทนาธรรมกับหลวงปู่นิลเป็นประจำ และ น้อมเอาแนวปฏิบัติสายพระป่ามาเจริญปฏิบัติ มีศีล สมาธิ เจริญกัมมัฏฐาน จนท่านสิ้นอายุขัยด้วยอายุ 90 ปี 4 วัน ในวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 15.49 น.

ผมขอบุญแห่งการเผยแพร่ธรรมปฏิบัติเพื่อความมีประโยชน์สุขของท่านทั้งหลายนี้ มอบให้แด่ คุณพ่อกิมคุณ เบญจศรีวัฒนา (เตี่ยกิมคุณ แซ่โง้ว) ให้ได้อยู่ในภพภูมิที่ดีงาม มีความปกติสุขกายสบายใจ ไม่มีความทุกข์กายใจใดๆ ตราบสิ้นกาลนานเทอญ สาธุ สาธุ สาธุ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


บทความและไฟล์ภาพ ในเว็บไซต์แห่งนี้อาจนำมาจากเว็บไซต์อื่นๆ ที่ทีมงานคิดว่ามีประโชยน์ต่อผู้อ่าน โดยให้ผู้อ่านเกิดควมบันเทิง และให้ความรู้ โดยที่เราจะให้เครดิตทุกครั้งที่นำมา หากไฟล์ภาพหรือบทความใด ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ต้องการให้นำมาแสดง โปรดแจ้งมาที่ tumcomputer@hotmail.com ทางทีมงานจะได้นำบทความนั้นออกทันที ขอบคุณครับ


เว็บนี้จัดทำโดย นายสุรัตน์ ศรลัมภ์ และครอบครัว อุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวร และผู้มีพระคุณ

HTML Hit Counters
Powered by SMF 1.1.17 | Simple Machines|Copyright © 20010 BY : thammaonline.com
บทความธรรมะรวมเรื่องกฏแห่งกรรมสมาธิ วิปัสนากรรมฐานพลังจิตกระดานถาม-ตอบ Sitemap

Google มาเยี่ยมเว็บเมื่อ มีนาคม 28, 2024, 01:08:56 PM