เมษายน 20, 2024, 03:25:59 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: กลอนธรรมะอ่านเพลินๆ ตอน นางวิสาขา ภาค 1  (อ่าน 7098 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
พระดิน สมาหิโต
เด็กใหม่
*****

พลังความดี : 0


เพศ: ชาย
อายุ: 50
กระทู้: 4
สมาชิก ID: 2536


อีเมล์
« เมื่อ: เมษายน 12, 2013, 03:21:12 PM »

Permalink: กลอนธรรมะอ่านเพลินๆ ตอน นางวิสาขา ภาค 1
นางวิสาขา มหาอุบาสิกา ผู้ฉลาดในการทำบุญ
•   ตามประวัติ    พระอานนท์    ท่านกล่าวไว้
ความเป็นไป    ของนาง    วิสาขา
ผู้เป็นเลิศ    เบญจ    กัลยา
ในโลกา    หาใครเปรียบ    เทียบไม่เจอ
•   นางมีผม    ดำขลับ    ยาวสลวย
ฟันเรียงสวย    เป็นแถว    ขาวสดใส
ริมฝีปาก    อวบอิ่ม    ช่างพิมพ์ใจ
อีกทั้งวัย    งามแรกรุ่น    ดรุณี
•   อีกหนึ่งงาม    คือผิวพรรณ    นั้นขาวผ่อง
ช่างน่ามอง    เนียนนวล    ชวนฝันหา
ทั้งกิริยา    อ่อนช้อย    ช่างงามตา
อีกวาจา    ก็พริ้งเพราะ    เหมาะเหลือเกิน
•   เป็นลูกสาว    ธนัญชัย    ท่านเศรษฐี
ผู้มั่งมี    เงินทอง    กองท่วมหัว
อยู่สาเกตุ    เป็นบ้านเกิด    ของเจ้าตัว
ทั้งครอบครัว    บ่าวไพร่    ก็หลายคน
•   เมื่อถึงวัย    แต่งงาน    กาลเหมาะสม
น่าชื่นชม    ปุณณเศรษฐี    รี่มาขอ
มีศักดิ์ศรี    ทรัพย์สิน    เหมาะสมพอ
ส่งทูตขอ    เป็นสะใภ้    ในเรือนตน
•   การแต่งงาน    มโหฬาร    เป็นอย่างยิ่ง
ของทุกสิ่ง    ต้องล้ำค่า    กว่าใครเขา
มหาลดาปราสาธน์    ชุดวิวาห์    สวยไม่เบา
เพราะเขาเอา    เพชรพลอย    มาร้อยเรียง
•   เพชรที่ใช้    ไปทั้งหมด    สี่ทะนาน
อลังการ    แก้วมุกดา    มีมากโข
สิบเอ็ดทะนาน    นับได้    ไม่ใช่โว
พลอยเม็ดโต    ห้าสิบสาม    ทะนานเชียว
•   ลูกดุมนั้น    สวยล้ำ    ทำด้วยทอง
ห่วงที่คล้อง    ทำด้วยเงิน    บริสุทธิ์
ไม่มีด้าย    สักเส้น    มาทำชุด
แพงที่สุด    นับแต่ใคร    ทำใช้มา
•   บนศีรษะ    เป็นนกยูง    รำแพนขน
งามน่ายล    ขนเป็นทอง    ผ่องนักหนา
แก้วมณี    เม็ดโต    เป็นนัยน์ตา
อีกแข้งขา    เป็นเงินล้วน    ชวนน่ามอง
•   ตีราคา    ชุดแล้ว    ลมแทบใส่
ก็คิดได้    เก้าสิบล้าน    กหาปณะ
ถามค่าแรง    แพงจน    แทบผงะ
แสนกหาปณะ    คือค่าแรง    เครื่องแต่งตัว

•   ใช้เวลา    ทำสี่เดือน    จึงเสร็จสิ้น
ไร้มลทิน    ไร้ตำหนิ    ให้ติได้
ตั้งแต่หัว    จรดเท้า    ประดับกาย
เลิศลวดลาย    งามสง่า    น่าดูชม
•   ที่พรรณนา    มาชุดนี้    มีที่ไป
ให้จำไว้    ชุดนี้    มีความหมาย
จะเกิดเหตุ    เป็นประโยชน์    อย่างมากมาย
ตอนท้ายท้าย    จะได้กล่าว    เล่าให้ฟัง
•   ก่อนจะต้อง    ย้ายไปอยู่    สู่เรือนผัว
ในครอบครัว    ต้องอบรม    พ่อสั่งสอน
ควรทำตัว    เป็นกุลสตรี    มีหัวนอน
คำพ่อสอน    จงจำไว้    ให้จงดี
•   ข้อหนึ่งนั้น    ไฟใน    อย่านำออก
ไฟข้างนอก    ข้อสอง    อย่านำเข้า
ข้อที่สาม    จงให้ผู้    ที่ให้เรา
สี่อย่าเอา    ทรัพย์ให้ใคร    ที่ไม่คืน
•   ห้าจงให้    คนที่ให้    และไม่ให้
หกจำไว้    นั่งให้เป็น    เช่นวิถี
เจ็ดจำไว้    นอนให้เป็น    ถูกวิธี
ข้อแปดดี    บริโภคเป็น    เช่นคนงาม

•   ส่วนข้อเก้า    นั้นเจ้า    ควรบูชา
ก็เทวดา    อย่าไรเล่า    เข้าใจไหม
ข้อสิบนี้    เจ้าควร    บูชาไฟ
จำใส่ใจ    ในวิธี    สิบประการ
•   ส่วนความหมาย    จะขยาย    ตอนกลางเรื่อง
อย่าขุ่นเคือง    ถึงกลางเรื่อง    ได้รู้แน่
อย่าเพิ่งเบื่อ    ทิ้งหนังสือ    ไม่ถือแล
เป็นคุณแท้    สำหรับผู้    อยู่ครองเรือน
•   เมื่อต้องย้าย    เป็นสะใภ้    เรือนพ่อผัว
ทั้งครอบครัว    ไม่นับถือ    พุทธศาสนา
แต่นับถือ    นิครนถ์    เปลือยกายา
ชอบเชิญมา    กินข้าวปลา    ที่ในเรือน
•   ส่วนนางนั้น    นับถือ    พระพุทธเจ้า
อยู่บ้านเก่า    ไปฟังธรรม    อยู่ทุกเมื่อ
ได้ใส่บาตร    ข้าวปลา    หาจุนเจือ
ฟังไม่เบื่อ    ใช้พระธรรม    นำจิตใจ
•   นางเห็นพวก    นิครนถ์    แสนอุจาด
ไม่องอาจ    อย่างพระพุทธองค์   พระทรงศรี
คอยหลบหน้า    ไม่ออกมา    หาวิธี
คอยเลี่ยงหนี    เพราะกระดาก    ไม่อยากมอง

•   ส่วนพ่อผัว    ไม่พอใจ    ในสะใภ้
แต่เกรงใจ    ไม่กล้าว่า    ให้อายเขา
คอยเก็บกด    ไว้ในใจ    หนักไม่เบา
นานนานเข้า    ก็ระเบิด    เกิดอารมณ์
•   วันหนึ่งนั้น    พ่อผัว    นั่งทานข้าว
ในยามเช้า    นั่งกินข้าว    อยู่ชานบ้าน
หมู่พระสงฆ์    บิณฑบาต    เขาทำทาน
ใกล้ซุ้มบ้าน    พอมองเห็น    เป็นชัดเจน
•   นางวิสาขา    นั่งอยู่คอย    ปรนนิบัติ
คอยโบกปัด    ไล่แมลง    ให้พ่อผัว
เห็นพระสงฆ์    เดินมาหยุด    หน้าบ้านตัว
บอกพ่อผัว    ให้ใส่บาตร    หยาดน้ำกัน
•   ส่วนพ่อผัว    ก็ไม่มอง    ทำไม่สน
พระยืนทน    อยู่นาน    ทำไม่เห็น
ข้านับถือ    นิครนถ์    ศาสนาเชน
ผิดประเด็น    ไหว้หัวโล้น    โกนทำไม
•   นางวิสาขา    จึงไปบอก    กับพระสงฆ์
พระท่านจง    บิณฑบาต    บ้านอื่นเขา
พ่อผัวฉัน    กำลังกิน    อร่อยไม่เบา
กินของเก่า    เขาทำไว้    ไม่หมดลง

•   ฝ่ายพ่อผัว    พอได้ยิน    เป็นเต้นเร่า
เรียกนางเข้า    ไปต่อว่า    ด่าเสียหาย
ถือดีนัก    มาว่าเรา    ให้ได้อาย
พูดมาได้    กินของเก่า    เน่าโสมม
•   ตั้งแต่ครั้ง    พ่อเจ้าสอน    ก่อนมานี่
สอนไม่ดี    สอนอะไร    ไม่เข้าท่า
สอนไม่ให้    เอาไฟออก    นอกชายคา
ไฟดับมา    เพื่อนบ้านขอ    มาต่อไฟ
•   แล้วยังมา    ว่าเรากิน    ของเก่าอีก
เจ้าจงหลีก    จงหนีไป    ให้ไกลหน้า
เจ้าจงเก็บ    ข้าวของ    ที่หอบมา
แล้วมุ่งหน้า    กลับบ้านไป    อย่าให้เจอ
•   นางวิสาขา    กล่าวว่า    โปรดท่านพ่อ
โปรดจงรอ    ลูกอธิบาย    หายสงสัย
อธิบายแล้ว    ผิดถูก    จะยังไง
ลูกจะไป    อย่างแน่นอน    ไม่งอนเลย
•   ยามลูกมา    ก็มาอย่าง    มีศักดิ์ศรี
ยามกลับที    ก็ต้องมี    ศักดิ์ศรีด้วย
ไม่ควรมา    ขับไล่    เหมือนตัวซวย
โปรดฟังด้วย    เหตุผล    คนเจริญ

•   เรื่องที่พ่อ    ของฉัน    นั้นสอนสั่ง
ท่านจงฟัง    ให้ดี    นี่ความหมาย
ไม่รู้เรื่อง    อย่าทำเคือง    ทำโวยวาย
อธิบาย    ให้ท่านฟัง    จงตั้งใจ
•   ข้อหนึ่งนั้น    ไฟใน    อย่านำออก
พ่อฉันบอก    งดนินทา    ว่าพ่อผัว
ไม่ให้นำ    เรื่องราว    ในครอบครัว
ไปบอกทั่ว    ให้คนนอก    เขาได้ยิน
•   ข้อที่สอง    ไฟนอก    อย่านำเข้า
อย่านำเอา    เรื่องราวร้อน    มาเข้าบ้าน
เรื่องของเขา    เราไม่ยุ่ง    มุ่งทำงาน
จะร้าวราน    ถ้าไปยุ่ง    มุ่งนินทา
•   ข้อที่สาม    จงให้ผู้    ที่ให้เรา
ท่านเปรียบเอา    ผู้ที่ยืม    แล้วมักคืน
เป็นผู้ที่    ซื่อสัตย์    มีจุดยืน
ยืมแล้วคืน    จึงน่าพบ    มาคบกัน
•   ข้อที่สี่    จงอย่าให้    ผู้ไม่ให้
เพราะยืมไป    ทำเป็นลืม    ไม่คืนมอบ
พอถามทวง    ก็ทำใบ้    ไร้คำตอบ
ควรรอบคอบ    ก่อนจะให้    ใครเขายืม

•   ห้าจงให้    คนที่ให้    และไม่ให้
ท่านเปรียบไว้    ญาติพี่น้อง    ต้องทุกข์ยาก
จงช่วยเหลือ    เจือจุน    ยามลำบาก
ถึงแม้หาก    เขาไม่คืน    ก็ต้องช่วย
•   ข้อที่หก    พ่อสอนสั่ง    นั่งให้เป็น
คือประเด็น    ให้รู้จัก    ที่ต่ำสูง
ผู้ใหญ่นั่ง    อยู่นั้น    อย่ายืนมุง
นั่งไล่ยุง    ให้ท่าน    นั้นสมควร
•   ข้อที่เจ็ด    นอนทีหลัง    แต่ตื่นก่อน
อย่ามัวนอน    คุดคู้    ดูน่าขัน
ให้ตื่นก่อน    แล้วเตรียมไม้    ไว้สีฟัน
เตรียมน้ำขัน    ให้ครอบครัว    อย่ามัวนอน
•   ข้อที่แปด    อย่าแย่งกิน    ก่อนผู้ใหญ่
ยามกินให้    อ่อนช้อย    เรียบร้อยกว่า
จะกินข้าว    ให้สำรวม    กิริยา
งดวาจา    อย่าเอื้อนเอ่ย    เลยตอนกิน
•   ข้อเก้านั้น    จงบูชา    เทวดา
คือรักษา    เอาใจ    ในสามี
ปรนนิบัติ    ผัวตน    ให้ดีดี
เพราะสามี    นั้นเปรียบเหมือน    เทวดา

•   ข้อสิบนั้น    บอกให้    บูชาไฟ
ให้เข้าใจ    คือพ่อผัว    และแม่ผัว
ปรนนิบัติไม่ดี    ไฟย้อน    มาร้อนตัว
ครองครอบครัว    อย่างนี้    ดีเจริญ
•   เมื่อพ่อผัว    ได้ฟัง    ดั่งนางว่า
พิจารณาโทษ    ไม่มี    ที่มองเห็น
อารมณ์อ่อน    ย้อนถาม    อย่างใจเย็น
แล้วประเด็น    กินของเก่า    เล่าว่าไง
•   นางก็ตอบ    ว่าท่านนี้    มีสมบัติ
ที่เปลี่ยนผลัด    รุ่นสู่รุ่น    เหมือนทุนเก่า
หากไม่เร่ง    สร้างบุญ    มาหนุนเอา
นานวันเข้า    บุญเก่าหมด    จักร้าวรอน
•   ควรเร่งสร้าง    บุญทาน    การกุศล
ให้ช่วยดล    ไม่ตกยาก    จากวิถี
กินแต่บุญ    เก่าหมด    ลดความดี
งดวิธี    สร้างบุญใหม่    ให้มาเติม
•   ลูกหวังดี    ต่อพ่อนี้    ไม่มีอื่น
ให้ชื่นมื่น    ในกุศล    ดลเกื้อหนุน
อยากให้พ่อ    มีจิตใจ    ใฝ่ทำบุญ
เพราะเป็นคุณ    อันวิเศษ    เหตุความดี

•   เมื่อพ่อผัว    ฟังจบ    ครบทุกข้อ
ก็งอนง้อ    ขอโทษ    ที่โจษเจ้า
พ่อไม่ทัน    รู้ความหมาย    ปัญญาเบา
อย่าถือเอา    เป็นอารมณ์    ไม่สมควร
•   ต่อไปนี้    เชิญเถิดเจ้า    ทำบุญเถิด
อย่าเตลิด    หนีบ้านไป    ไม่แยแส
บ้านเรานี้    มีบุญแล้ว    เจ้าดูแล
เป็นบุญแท้    ได้เจ้าไว้    สะใภ้ดี
•   วันรุ่งขึ้น    นางจึงไป    ยังวิหาร
ใจเบิกบาน    อาราธนา    พระทรงศรี
พระพุทธองค์    ทรงเมตตา    หม่อมฉันที
วันพรุ่งนี้    เชิญนิมนต์    ฉันบนเรือน
•   ตั้งแต่แต่ง    เข้าบ้านนี้    ไร้โอกาส
ทำให้พลาด    การทำบุญ    คุณกุศล
เพราะครอบครัว    นับถือแต่    นิครนถ์
หม่อมฉันทน    ไม่ไหว    ในชีเปลือย
•   เชิญพระองค์    ทรงเสด็จ    ไปโปรดสัตว์
ไม่ให้พลัด    หลงไป    เป็นเหยื่อเขา
โปรดชี้ทาง    สว่างให้    ครอบครัวเรา
ให้พวกเขา    เปิดดวงตา    ปัญญาธรรม

•   อันความดี    คนดี    นั้นใฝ่หา
อันวิชา    นักปราชญ์    มักคาดหวัง
นักกีฬา    ก็อยากดี    มีกำลัง
ผู้เจริญหวัง    ตั้งหน้า    ค้นหาธรรม
•   รุ่งขึ้นนาง    เตรียมข้าวปลา    และอาหาร
ดำเนินการ    เรียบร้อย    ไว้คอยท่า
ถึงกำหนด    พระพุทธองค์    ทรงเสด็จมา
ฉันข้าวปลา    เสร็จแล้ว    แสดงธรรม
•   พระพุทธองค์    ทรงตรัส    เอาไว้ว่า
ทั้งข้าวปลา    ทั้งเรือนทอง    ของใช้สอย
ทั้งแก้วมณี    เพชรนิล    จินดาพลอย
อีกแหวนสร้อย    ก็ไร้ค่า    เวลาตาย
•   แต่กรรมที่    คนทำด้วย    กายวาจา
ยามลับลา    ย่อมติดไป    ในโลกหน้า
ดั่งเงาตน    ติดตามตัว    ทุกเวลา
ควรตั้งหน้า    สร้างกรรมดี    มีมงคล
•   ก็เพราะบุญ    เป็นที่พึ่ง    สัตว์ทั้งปวง
เหมือนช้างงวง    พึ่งงา    ในป่าใหญ่
พึ่งงวงงา    ฝ่าอุปสรรค    หักข้ามไป
บุญนั้นไซร้    ก็เช่นกัน    อย่างนั้นเลย

•   พระองค์ทรง    เห็นด้วย    กับนักปราชญ์
ผู้ฉลาด    กล่าวไว้    ได้เข้าท่า
ไฟไหม้บ้าน    ขนของ    ออกเรือนมา
ได้พึ่งพา    ของชิ้นนั้น    กันต่อไป
•   ส่วนของที่    ไม่ได้ขน    จนไฟไหม้
พึ่งไม่ได้    สักชิ้น    เพราะสิ้นสูญ
ไฟนั้นเผา    เป็นเถ้าถ่าน    ผลาญเป็นจุล
ใช้เป็นทุน    ทำอะไร    ไม่ได้เลย
•   ในโลกนี้    เราถูกไฟ    แห่งสังขาร
เข้ามาผลาญ    ให้ร่างกาย    ได้เสื่อมถอย
ความเจ็บแก่    รุกราน    ไม่นานคอย
ควรทยอย    ขนความดี    หนีออกมา
•   หากขนผิด    ขนแต่กรรม    ที่ทำชั่ว
ยามที่ตัว    ตายไป    ละสังขาร
กรรมที่ขน    ออกไป    เพราะใจพาล
ไม่ได้การ    ต้องเกิดมา    ชดใช้กรรม
•   ผู้ที่มี    ปัญญา    เห็นถ่องแท้
ตั้งใจแน่    สร้างกรรมดี    ให้มีผล
ยามละโลก    นี้ไป    เพราะวัยตน
บุญจะดล    ให้ได้ไป    ใช้กรรมดี

•   ผู้มีใจ    ตระหนี่    และขี้หวง
ทรัพย์ทั้งปวง    จ้องจะเก็บ    เหน็บซ่อนหนี
เหมือนชาวนา    ไม่ยอมหว่าน    พันธุ์ข้าวดี
เมล็ดพันธุ์นี้    เก็บจนเก่า    เน่าเสียไป
•   หนึ่งเมล็ดข้าว    ได้หนึ่งรวง    นั้นฉันใด
ทานทำไป    ก็ฉันนั้น    มหาศาล
การเก็บทรัพย์    เอาไว้    ไม่แจกทาน
บุญจะบาน    มาให้เรา    ได้อย่างไร
•   เมื่อให้ทาน    จิตใจ    ควรผ่องใส
เมื่อให้ไป    อย่าเสียดาย    ในทรัพย์สิน
มอบทานให้    ผู้ปฏิบัติดี    เป็นอาจิณ
แบ่งทรัพย์สิน    เป็นทาน    ผู้ทุกข์ทน
•   ให้ทานแล้ว    แผ่บุญไป    ให้ถ้วนทั่ว
ไม่ต้องกลัว    บุญไม่หมด    ลดไปแน่
เหมือนเปลวเทียน    เวียนกันต่อ    ยาวเป็นแพ
ไฟกระแส    ก็ไม่หด    ลดน้อยลง
•   บุญทำไว้    เหมือนน้ำ    ในลำธาร
ไหลเนิ่นนาน    ลงสู่    ทะเลใหญ่
ระเหยขึ้น    เป็นเมฆ    บนฟ้าไง
ตกห่าใหญ่    ลงกระหน่ำ    ให้ฉ่ำเย็น

•   อันยศลาภ    หาบไป    ไม่ได้แน่
ยกเว้นแต่    ต้นทุน    บุญกุศล
ทิ้งสมบัติ    ทั้งหลาย    เมื่อวายชนม์
ตัวของตน    เขายังเอา    ไปเผาไฟ (กลอนบทเก่า)
•   ตั้งแต่นั้น    พ่อผัวนาง    ก็เห็นแจ้ง
ไม่คลางแคลง    ในบุญกรรม    ทำเห็นผล
นับถือลูก    สะใภ้เป็น    เหมือนแม่ตน
ยกย่องจน    นางสะเทิ้น    และเขินอาย
•   นางเป็นที่    ยอมรับ    คนทั้งหลาย
มีมากมาย    สรรเสริญ    เชิญไปหา
หากมีงาน    มงคล    เช่นวิวาห์
มักจะมา    เชิญนางให้    ไปอวยพร
•   มีคราวหนึ่ง    นางกลับจาก    งานวิวาห์
ตั้งใจว่า    จะไปไหว้    พระทรงศรี
ด้วยหัวใจ    ใฝ่จะฟัง    พระธรรมดี
แต่ชุดนี้    ไม่เหมาะสม    บังคมทูล
•   เพราะชุดนี้    ที่ใส่    ไปงานเขา
หนักไม่เบา    รุ่มร่าม    งุ่มง่ามหนอ
ก็คือชุด    มหาลดาปราสาธน์   ทองถักทอ
จึงร้องขอ    ชุดธรรมดา    มาแต่งตัว

•   ก่อนเข้าไป    ฝากไว้    นางทาสี
ดูให้ดี    เราจะไป    ในวิหาร
เพราะไว้ใจ    นางรับใช้    ที่ชำนาญ
เคยใช้งาน    จนสนิท    ชิดเชื้อกัน
•   เมื่อฟังธรรม    จนเหมาะสม    แก่เวลา
ก็ออกมา    จะเดินทาง    ตรงกลับบ้าน
ร้องเรียกหา    ชุดที่ไว้    ใช้ออกงาน
เกิดเหตุการณ์    นางทาสี    ที่ขี้ลืม
ฉบับหน้ามาติดตามกัน ต่อว่าเกิดอะไรขึ้นกับชุด มหา ลดาปราสาท อันสุดแสนแพง




บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


บทความและไฟล์ภาพ ในเว็บไซต์แห่งนี้อาจนำมาจากเว็บไซต์อื่นๆ ที่ทีมงานคิดว่ามีประโชยน์ต่อผู้อ่าน โดยให้ผู้อ่านเกิดควมบันเทิง และให้ความรู้ โดยที่เราจะให้เครดิตทุกครั้งที่นำมา หากไฟล์ภาพหรือบทความใด ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ต้องการให้นำมาแสดง โปรดแจ้งมาที่ tumcomputer@hotmail.com ทางทีมงานจะได้นำบทความนั้นออกทันที ขอบคุณครับ


เว็บนี้จัดทำโดย นายสุรัตน์ ศรลัมภ์ และครอบครัว อุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวร และผู้มีพระคุณ

HTML Hit Counters
Powered by SMF 1.1.17 | Simple Machines|Copyright © 20010 BY : thammaonline.com
บทความธรรมะรวมเรื่องกฏแห่งกรรมสมาธิ วิปัสนากรรมฐานพลังจิตกระดานถาม-ตอบ Sitemap

Google มาเยี่ยมเว็บเมื่อ ธันวาคม 23, 2023, 04:14:13 PM