เมษายน 20, 2024, 06:03:04 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ๕. ธรรมานุสติปัฏฐานว่าด้วย"สัจจบรรพ(อริยะสัจ๔)"  (อ่าน 8424 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« เมื่อ: มิถุนายน 16, 2013, 01:57:17 PM »

Permalink: ๕. ธรรมานุสติปัฏฐานว่าด้วย"สัจจบรรพ(อริยะสัจ๔)"
๕. ธรรมานุสติปัฏฐานว่าด้วย "สัจจบรรพ(อริยะสัจ๔)"

[๒๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออริยสัจ ๔ อยู่ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออริยสัจ ๔ อยู่ อย่างไรเล่า  
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า  นี้ทุกข์   นี้ทุกขสมุทัย    นี้ทุกขนิโรธ    นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ฯ


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน  แม้ชาติก็เป็นทุกข์  แม้ชราก็เป็นทุกข์  แม้มรณะก็เป็นทุกข์  แม้โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ก็เป็นทุกข์  แม้ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์  แม้ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์  ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์  (สรุปลงกล่าว)โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ ฯ
        [๒๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชาติเป็นไฉน ความเกิด ความบังเกิดความหยั่งลงเกิด เกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะครบ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่าชาติ ฯ  (ชาติในความหมายอื่นๆ ในผู้ที่ยังลังเลสงสัยเรื่องชาติในปฏิจจสมุปบาท)
     ก็ชราเป็นไฉน ความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนังเป็นเกลียว ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ  ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่าชราฯ  (ผู้ที่ยังลังเลสงสัยเรื่องชราในปฏิจจสมุปบาท)
     ก็มรณะเป็นไฉน ความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความทำลายแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งซากศพไว้  ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่ามรณะ ฯ  (ผู้ที่ยังลังเลสงสัยเรื่องมรณะในปฏิจจสมุปบาท)
     ก็โสกะเป็นไฉน ความแห้งใจ กิริยาที่แห้งใจ ภาวะแห่งบุคคลผู้แห้งใจ  ความผาก ณ ภายใน ความแห้งผาก ณ ภายใน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้  เรียกว่าโสกะ ฯ
     ก็ปริเทวะเป็นไฉน ความคร่ำครวญ ความร่ำไร รำพัน กิริยาที่คร่ำครวญ   กิริยาที่ร่ำไรรำพัน ภาวะของบุคคลผู้คร่ำครวญ ภาวะของบุคคลผู้ร่ำไรรำพัน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าปริเทวะ ฯ
     ก็ทุกข์เป็นไฉน ความลำบากทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่กายสัมผัส อันนี้เรียกว่าทุกข์ ฯ
     ก็โทมนัสเป็นไฉน ความทุกข์ทางจิต ความไม่สำราญทางจิต ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่มโนสัมผัส อันนี้เรียกว่าโทมนัส ฯ
     ก็อุปายาสเป็นไฉน ความแค้น ความคับแค้น ภาวะของบุคคลผู้แค้น ภาวะของบุคคลผู้คับแค้น ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง  ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าอุปายาส ฯ
     ก็ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความประสบ ความพรั่งพร้อม ความร่วม ความระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็น ประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาความไม่ผาสุก ปรารถนาความไม่ เกษมจากโยคะ ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ฯ
     ก็ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความไม่ประสบ ความไม่พรั่งพร้อม ความไม่ร่วม ความไม่ระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนา ประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่เกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความเกษมจากโยคะ คือ มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่หญิง น้องหญิง มิตร อมาตย์หรือ ญาติสาโลหิต ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็ เป็นทุกข์ ฯ
     ก็ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเกิดเป็นธรรมดา ขอความเกิดอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์  ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ  ขอเราไม่พึงมีความแก่เป็นธรรมดา  ขอความแก่อย่ามีมาถึงเราเลย  ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้   สมความปรารถนา  แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์   ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเจ็บเป็นธรรมดา ขอความเจ็บอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่า ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ  ขอเราไม่พึงมความตายเป็นธรรมดา ขอความตายอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส  เป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีโสก ปริเทว ทุกข โทมนัส อุปายาส เป็นธรรมดา ขอโสก ปริเทว ทุกข โทมนัส อุปายาส อย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ฯ
     ก็โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นไฉน  อุปาทานขันธ์ คือรูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ (ซึ่งถูกครอบงำหรือประกอบด้วยอุปาทาน) เหล่านี้เรียกว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕  (อัน)เป็นทุกข์ ฯ
     ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ ฯ



       [๒๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขสมุทัยอริยสัจ เป็นไฉน ตัณหานี้ใด  อันมีความเกิดอีก ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน  เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ฯ
        [๒๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ตัณหานี้นั้น เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่ไหน เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่ไหน ที่ใดเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหานั้น เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ อะไรเป็นที่รัก  ที่เจริญใจในโลก ฯ
     ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด   ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ ณ ที่นี้ ฯ
     รูป (อารมณ์ที่รู้ได้ด้วยจักษุ, สิ่งที่ปรากฏแก่ตา) เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ
     จักขุวิญญาณ (ข้อมูลหรือการรู้แจ้งที่เกิดขึ้นเพราะรูปกระทบตาหรือการเห็น) โสตวิญญาณ  ฆานวิญญาณ  ชิวหาวิญญาณ  กายวิญญาณ  มโนวิญญาณ เป็นที่รักที่เจริญในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดขึ้นในที่นี้    เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ    
     จักขุสัมผัส (อาการที่ตา รูป และจักขุวิญญาณประจวบกัน หรือเกิดขึ้นครบองค์) โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโน สัมผัส เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ  (เรียกรวมกันทั่วไปว่า ผัสสะ นั่นเอง)
     จักขุสัมผัสสชาเวทนา (คือเวทนา-เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัส, ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะการที่ ตา รูป และจักขุวิญญาณประจวบกัน) โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา  ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ  (เรียกรวมกันทั่วไปว่า เวทนา นั่นเอง)
     รูปสัญญา (ความหมายรู้ในรูป) สัททสัญญา(ความหมายรู้เสียง) คันธสัญญา(ความหมายรู้กลิ่น ) รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธัมมสัญญา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะ ตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ
     รูปสัญเจตนา (ความคิดอ่านในรูป เกิดต่อจากรูปสัญญา)   สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐัพพสัญเจตนา ธัมมสัญเจตนา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ (เรียกกันสั้นๆว่า เจตนา เป็นองค์ประกอบหนึ่งของสังขารขันธ์หรือการกระทำ  รายละเอียดอยู่ในบท ขันธ์ ๕ โดยลำดับ หรือ ขันธ์ ๕)
     รูปตัณหา (ความอยากในรูป)  สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหาา ธัมมตัณหา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะ  ตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ
     รูปวิตก (ความตรึก-คิด ในรูป เกิดต่อจากรูปตัณหา)  สัททวิตก คันธวิตก รสวิตก โผฏฐัพพวิตก ธัมมวิตก  เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ
     รูปวิจาร (ความตรอง-พิจารณา ในรูป เกิดต่อจากรูปวิตก)  สัททวิจาร คันธวิจาร รสวิจาร โผฏฐัพพวิจาร ธัมมวิจาร  เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ
     ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจ ฯ



       [๒๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธอริยสัจเป็นไฉน ความสำรอก และความดับโดยไม่เหลือ ความสละ ความส่งคืน ความปล่อยวาง ความไม่มีอาลัยในตัณหานั้น ก็ตัณหานั้น เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่ไหน  เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่ไหน  ที่ใดเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหานั้น เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้
     อะไรเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ฯ
     ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้
     รูปเสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ  ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ ฯ
     จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี้ ฯ  
     จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโน สัมผัส เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้  เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี้ ฯ  (เรียกรวมกันทั่วไปว่า ผัสสะ นั่นเอง)
     จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา  ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา เป็นที่รัก ที่เจริญใจในโลก  ตัณหาเมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี้ ฯ (เรียกรวมกันทั่วไปว่า เวทนา นั่นเอง)
     รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา  ธัมมสัญญา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี้ ฯ
     รูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐัพพสัญเจตนา ธัมมสัญเจตนา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี้ ฯ (เรียกกันสั้นๆว่า เจตนา เป็นองค์ประกอบหนึ่งของสังขารขันธ์หรือการกระทำ  รายละเอียดอยู่ในบท ขันธ์ ๕ โดยลำดับ หรือ ขันธ์ ๕)
     รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมม    ตัณหา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้   เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี้ ฯ
     รูปวิตก สัททวิตก คันธวิตก รสวิตก โผฏฐัพพวิตก ธัมมวิตก เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี้ ฯ    
     รูปวิจาร สัททวิจาร คันธวิจาร รสวิจาร โผฏฐัพพวิจาร ธัมมวิจาร  เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี้ ฯ    
     ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ ฯ







« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 04, 2013, 09:20:54 AM โดย เกียรติคุณ » บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 02, 2013, 10:04:27 AM »

Permalink: ๕. ธรรมานุสติปัฏฐานว่าด้วย"สัจจบรรพ(อริยะสัจ๔)"


        [๒๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริสัจ(มรรค)เป็นไฉน นี้คือมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
     ก็สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา อันนี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิฯ
     สัมมาสังกัปปะ เป็นไฉน ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในความไม่พยาบาท ความดำริในอันไม่เบียดเบียน อันนี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ ฯ
     สัมมาวาจา เป็นไฉน การงดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการพูดส่อเสียด งดเว้นจากการพูดคำหยาบ งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ อันนี้เรียกว่า สัมมาวาจา ฯ
     สัมมากัมมันตะ เป็นไฉน การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการถือ    เอาสิ่งของที่เขามิได้ให้ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม อันนี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ ฯ
     สัมมาอาชีวะ เป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ละการเลี้ยงชีพที่ผิดเสีย สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงชีพที่ชอบ อันนี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ ฯ
     สัมมาวายามะ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดฉันทะพยายาม   ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ไม่เลือนหาย เจริญยิ่ง ไพบูลย์ มีขึ้น เต็มเปี่ยม แห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว อันนี้เรียกว่า สัมมาวายามะ ฯ    
     สัมมาสติ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้  อันนี้เรียกว่า สัมมาสติ ฯ
     สัมมาสมาธิ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจาก อกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่     เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอมี อุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุขเธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ ฯ  
(พึงเข้าใจด้วยว่ายังเป็นเสัมมาสมาธิ ของสมถสมาธิ  เป็นการกล่าวแสดงธรรมถึงอาการของสัมมาสมาธิ  จึงไม่ใช่การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ แล้วต้องให้เป็นสมาธิดังนี้ทุกครั้ง ด้วยเข้าใจผิดในข้อธรรมนี้ ที่ยังเป็นเพียงการกล่าวอธิบายถึงอาการตลอดจนองค์ฌานของฌานและสมาธิ  จึงเป็นที่นิยมปฏิบัติแต่สมาธิหรือฌานกันโดยทั่วไปด้วยเข้าใจผิดว่าเป็นสติปัฏฐานหรือการฝึกสติ  เพราะแม้สัมมาสมาธิล้วนๆอันละเอียดประณีตสูงสุดแต่ประการใดก็ยังไม่ใช่ทางพ้นทุกข์อย่างถาวร ยังเป็นวิกขัมภนวิมุตติ เป็นเพียงเครื่องอยู่ ก็เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เป็นเครื่องสนับสนุนการวิปัสสนา  ก็เพื่อให้เกิดสัมมาปัญญา กล่าวคือ เป็นเครื่องอยู่เครื่องอบรมจิตให้คลายในกามราคะ ก็เพื่อยังประโยชน์ในการเจริญวิปัสสนา  จึงจักเป็นการพ้นไปจากทุกข์อย่างถูกต้องและถาวร จึงเป็นโลกุตตระวิมุตติอันไม่กลับกลายหายสูญ,  อ่านสีลเลขสูตร หรือหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติสมาธิ-ปัญญา ของหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน  ประกอบการพิจารณา)
     ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามิมีปฏิปทาอริยสัจ(มรรค) ฯ
            ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรม ในธรรมภายในบ้าง (ธรรมดังนี้ ที่เกิดขึ้นในตนบ้าง)
            พิจารณาเห็นธรรม ในธรรมภายนอกบ้าง (ธรรมดังนี้ ที่เกิดขึ้นในบุคคลอื่นๆบ้าง)
            พิจารณาเห็นธรรม ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (ธรรมดังนี้ ที่เกิดขึ้นในตนเองบ้าง หรือในบุคคลอื่นบ้าง)
            พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง (เห็นการเกิดขึ้นของธรรมนี้บ้าง)
            พิจารณาเห็นธรรม คือความเสื่อมในธรรมบ้าง (เห็นการดับไปของธรรมนี้บ้าง)
            พิจารณาเห็นธรรม คือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมบ้าง (เห็นการเกิด ทั้งการดับไปของธรรมนี้บ้าง)
            ย่อมอยู่ อีกอย่าง หนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น  เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิ(ความเชื่อ,ความยึดมั่น)ไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก(ไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน  จึงอุเบกขาในโพชฌงค์เสียนั่นเอง) ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรม ฯ



                                                            จบสัจจบรรพ
                                                          จบธัมมานุปัสสนา
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 04, 2013, 09:21:06 AM โดย เกียรติคุณ » บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


บทความและไฟล์ภาพ ในเว็บไซต์แห่งนี้อาจนำมาจากเว็บไซต์อื่นๆ ที่ทีมงานคิดว่ามีประโชยน์ต่อผู้อ่าน โดยให้ผู้อ่านเกิดควมบันเทิง และให้ความรู้ โดยที่เราจะให้เครดิตทุกครั้งที่นำมา หากไฟล์ภาพหรือบทความใด ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ต้องการให้นำมาแสดง โปรดแจ้งมาที่ tumcomputer@hotmail.com ทางทีมงานจะได้นำบทความนั้นออกทันที ขอบคุณครับ


เว็บนี้จัดทำโดย นายสุรัตน์ ศรลัมภ์ และครอบครัว อุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวร และผู้มีพระคุณ

HTML Hit Counters
Powered by SMF 1.1.17 | Simple Machines|Copyright © 20010 BY : thammaonline.com
บทความธรรมะรวมเรื่องกฏแห่งกรรมสมาธิ วิปัสนากรรมฐานพลังจิตกระดานถาม-ตอบ Sitemap

Google มาเยี่ยมเว็บเมื่อ กันยายน 13, 2022, 02:18:48 PM