เมษายน 20, 2024, 11:19:11 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: 1 ... 24 25 [26] 27 28 ... 31  ทั้งหมด   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน  (อ่าน 407927 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 4 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #375 เมื่อ: พฤษภาคม 25, 2022, 11:26:44 PM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน


นางอุตตรา ผลแห่งบุญ : ผลของการปฏิบัติเมตตาและวิปัสสนาภาวนา
 
ปริยัติธรรม
หนังสือนิทานบำเพ็ญบุญ 100 เรื่อง
เมื่อปุณณะเศรษฐีได้เป็นเศรษฐีฉับพลัน ลูกสาวก็เป็นที่หมายปอง.. สุมนเศรษฐีทวงบุญคุณ บีบให้นางอุตตราแต่งงานกับลูกชายตน

เมื่อปุณณะเศรษฐีสร้างเรือนใหม่แล้ว เรือนหลังนี้ก็เปิดต้อนรับภิกษุ ภิกษุณี คนในครอบครัวมีศรัทธาทำทาน มีศีล มีกัลยาณธรรมเป็นนิตย์ บุตรสาวคือนางอุตตราก็เป็นที่ต้องการของตระกูลใหญ่ ต่างต้องการได้นางมาเป็นบุตรสะใภ้ เพื่อเกี่ยวดองเป็นญาติกับปุณณะเศรษฐี

สุมนเศรษฐีตัดสินใจเจรจาสู่ขอนางอุตตรให้กับบุตรชายของตน เมื่อปุณณะเศรษฐีตอบปฏิเสธ สุมนเศรษฐีก็พูดทวงบุญคุณว่า "ท่านปุณณะ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ท่านอาศัยครอบครัวของเราเลี้ยงชีพ ทั้งการงาน และที่อยู่อาศัย แม้แต่ที่นาที่ท่านไปไถแล้วเกิดเป็นทองคำนั้นก็เป็นที่นาของเรา จงยกธิดาให้บุตรชายของเราเถิด มิตรภาพของพวกเราจะได้ยาวนานขึ้นอีก" แต่ปุณณะเศรษฐีก็ยังปฏิเสธด้วยการกล่าวว่า "บุตรชายของท่านสุมนเป็นมิจฉาทิฏฐิ ถ้าแต่งไปแล้วนางอาจไม่ได้ทำบุญ ลูกของเราอยู่ห่างจากพระรัตนตรัยไม่ได้ ผมไม่อาจให้แต่งงานกับลูกชายท่านได้"

ข่าวที่ปุณณะเศรษฐีไม่ยกนางอุตตราให้กับบุตรชายของสุมนเศรษฐีได้แพร่กระจายไป พวกเศรษฐีและคหบดีชาวราชคฤห์ที่สนิทสนมกับสุมนเศรษฐี ต่างพากันมาขอร้องวิงวอนให้ปุณณะเศรษฐีเห็นแก่ไมตรีอันยาวนาน อย่าทำลายไมตรีเลย

ปุณณะเศรษฐีพูดคุยกับนางอุตตราผู้เป็นธิดาแล้ว บุตรสาวยินยอม สุมนเศรษฐีจึงจัดพิธีสู่ขอและรับนางไปสู่ตระกูลในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ

ครอบครัวสามีเป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่งงานแล้ว นางอุตตราอดทำบุญ... ปุณณะเศรษฐีส่งเงินให้ว่าจ้างหญิงคณิกามาบำเรอสามีแล้วใช้เวลานั้นบำเพ็ญบุญ

นับแต่แต่งงานเข้าสู่ตระกูลสามีแล้ว นางอุตรามิได้มีโอกาสประพฤติกุศลอย่างเดิมเลย ไม่ได้เข้าไปบำรุงภิกษุ ภิกษุณี ทั้งไม่ได้โอกาสนิมนต์พวกท่านมาในเรือนเลย นับจากวันเข้าพรรษาเป็นต้นมา นางไม่ได้ถวายทานหรือฟังธรรมเลยตลอด ๒ เดือนครึ่ง เหลือเวลาอีกเพียงครึ่งเดือน (๑๕ วัน) ก็จะครบไตรมาส จะถึงวันออกพรรษา

นางอุตตราตัดสินใจส่งข่าวไปหาปุณณะเศรษฐีผู้เป็นบิดาว่า "พ่อจำ เหตุใดพ่อจึงให้พวกเขาจับลูกมาขังไว้แต่ในเรือน พ่อทำอย่างนี้สู้ทำให้ลูกเสียโฉม หรือให้ไปเป็นนางทาสีคนพวกอื่นเสียยังดีกว่า การที่มาอยู่ในตระกูลมิจฉาทิฏฐิไม่ประเสริฐเลย ตั้งแต่ลูกมาอยู่ในสกุลนี้ ลูกยังไม่เคยได้ทำบุญกุศลเลย ไม่ได้พบภิกษุ ภิกษุณีเลย"

ปุณณะเศรษฐีได้ข่าวแล้วเสียใจ ครุ่นคิดหาทางออกให้แก่บุตรสาว แล้วตัดสินใจส่งคนนำเงิน ๑๕,๐๐๐ กหาปณะไปให้ลูก พร้อมจดหมายสั่งว่า "ลูกรัก ในนครนี้ มีหญิงคณิกา(หญิงงามเมือง, โสเภณี หญิงแพศยา) ชื่อสิริมาอยู่ เจ้าจงให้คนไปเชิญมาเจรจาให้นางรับเป็นนางบำเรอสามีของเจ้า โดยจ่ายให้นางวันละ ๑,๐๐๐ กหาปณะ (๑,๐๐๐ X ๑๕ วัน =๑๕,๐๐๐ กหาปณะ) ให้บำเรอ ๑๕ วัน ระหว่างนี้ตัวลูกก็จงทำบุญต่าง ๆ ตามสบาย"นางอุตตราให้คนไปเชิญนางสิริมามาพูดคุย นางสิริมาตอบตกลงแล้ว จึงพาไปพบสามี และให้เหตุผลว่า "นายจำ หญิงคนนี้จะเป็นหญิงบำเรอของท่านตลอด ๑๕ วัน ส่วนดิฉันจะขออนุญาตถวายทาน ฟังธรรมตลอด ๑๕ วัน ขอได้โปรดอนุญาตให้ดิฉันทำบุญกับพระผู้เป็นเจ้าที่ดิฉันเคารพนับถือได้ตามสะดวกด้วยนะ"

สามีเห็นรูปโฉมนางสิริมาแล้ว เกิดความเสน่หามาก ตอบตกลงตามคำของภรรยา (นางอุตตราผู้เป็นภรรยายินยอมอนุญาตด้วยความเต็มใจ สามีจึงไม่ผิดศีลข้อ ๓)

พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์เข้าออกเขตเรือนของสุมนเศรษฐีต่อเนื่อง ๑๕ วัน...นางอุตตรารอดจากเนยใสร้อนเพราะอานุภาพเมตตา

วันรุ่งขึ้น นางอุตตราก็ทูลเชิญพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ให้เสด็จมาจากพระเวฬุวันมหาวิหารเพื่อรับมหาทานในเรือนหลังนี้ตลอด ๑๕ วัน พระพุทธเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว นางมีจิตปิติโสมนัสว่า "เราจะได้อุปัฏฐากพระศาสดา จะได้ฟังธรรมติดต่อกันไปจนถึงวันมหาปวารณา"

กลับถึงเรือนแล้ว นางดำเนินการจัดแจงโรงครัว เตรียมเสบียงและไทยธรรมต่าง ๆ ให้เพียงพอกับการทำบุญ ๑๕ วัน

นับแต่วันรุ่งขึ้นเรื่อยไปจนถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ (รวม ๑๔ วัน) นางก็ได้กระทำบุญต่าง ๆ เหล่านั้นแต่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ ฝ่ายสามีก็เพลิดเพลินการอภิรมย์กับนางสิริมา

บ่ายของวันขึ้น ๑๔ ค่ำนั้น นางอุตตรายังคงสั่งการคนงานให้ทำกิจต่าง ๆ เช่น หุงต้ม นึ่ง ผัด เพื่อให้พร้อมถวายทานในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ อันเป็นวันออกพรรษาและวันมหาปวารณา

ฝ่ายสามีคิดว่า พรุ่งนี้เป็นวันมหาปวารณาของคนที่นับถือพระพุทธเจ้า เมียอันธพาลของเราเที่ยวทำอะไรอยู่ที่ไหนนะ? แล้วเดินไปที่หน้าต่าง มองไปที่โรงครัว ก็เห็นนางอุตตรามีผ้านุ่งห่มเปรอะเปื้อนขะมุกขะมอมวุ่นอยู่กับกิจต่าง ๆ จึงคิดว่า นางอันธพาลมีเงินมากมายแต่กลับเลือกจะทำอะไรโง่ ๆ เพื่ออุปัฏฐากพวกสมณะโล้น แทนที่จะเที่ยวไปในที่ต่าง ๆ ดูชมสิ่งที่สวยงาม, เมื่อคิดถึงตอนนี้แล้วเขาก็เดินหัวเราะกลับไปห้องนอน

ความเป็นไปของเขาตกอยู่ในสายตาของนางสิริมาผู้แอบดูอยู่ นางเกิดความหึงหวงว่า "เรามีความสุขดีที่ได้มาอยู่ในเรือนแห่งนี้ เขาก็รักเราดี เราก็มีใจรักใคร่เขา วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่นางอุตตราว่าจ้างเรามาบำเรอเขา เขาก็คงคิดถึงเมีย จึงมาแอบดูด้วยความรักและห่วงใย น่าเสียดายความสุข ถ้าเราต้องออกจากเรือนนี้ไป มีทางเดียว เราต้องทำให้นางเสียโฉม หรือไม่ก็ตายไป เราก็จะได้อยู่ในฐานะภรรยาของเขา ได้เป็นใหญ่ในเรือนนี้แท้จริง"

นางสิริมาเดินออกจากเรือนมุ่งเข้าไปในโรงครัว โดยที่นางอุตตราไม่ทันระวังตัว นางสิริมาก็หยิบทัพพีตักน้ำมันที่เดือดพล่านในกะทะทอดขนมขึ้น เดินเข้าไปใกล้ ๆ นางอุตตราเหลือบเห็นเข้าพอดี รู้ความประสงค์ร้าย จึงแผ่เมตตาให้นางสิริมาว่า

"สหายหญิงของเรามี อุปการะแก่เรามาก เพราะนางแท้ ๆ เราจึงได้ถวายทาน และฟังธรรม จักรวาลก็แคบเกินไป พรหมโลกก็ต่ำเกินไป นางมีคุณใหญ่แก่เรามาก ถ้าเราโกรธนาง น้ำมันก็จงลวกตัวเถิด ถ้าเราไม่มีความโกรธ น้ำมันร้อนก็อย่าลวกเราเลย"

ทันทีที่คิดจบ นางสิริมาก็เข้าถึงตัว พลิกทัพพีเทน้ำมันราดลงบนศีรษะนางอุตตราน้ำมันร้อนกลับเป็นเสมือนน้ำเย็น
นางอุตตรายังมีกิริยาปกติไม่ร้อน ไม่ทุรนทุราย นางสิริมาคิดว่าน้ำมันคงหายร้อน จึงรีบเดินไป ตักใหม่ คราวนี้ พวกนางทาสีตั้งหลักได้แล้วถือไม้ชี้หน้าว่า "หยุดนะ นั่งตัวร้าย จงทิ้งทัพพีลงเดี๋ยวนี้เลย เลิกคิดทำอันตรายแม่ของพวกเราถ้าไม่หยุด พวกเราจะรุมตีเจ้าให้ตาย"

นางสิริมาเกิดความหวาดกลัว ทิ้งทัพพีน้ำมันลงพื้น พวกนางทาสีก็กรูเข้าไปทำร้ายนางทันที ตบ ตี ทุบ ถีบ จนนางล้มกองกับพื้น นางอุตตราร้องห้ามแล้วพวกทาสีก็ยังไม่ฟังในที่สุดนางจึงตัดสินใจเข้าไปยืนคร่อมร่างนางสิริมาไว้ นางทาสีทุกคนจึงได้หยุดถอยออกไป

นางอุตตราก้าวออกมายืนดูนางสิริมา เห็นสภาพสะบักสะบอม จึงกล่าวว่า "เหตุใดเจ้าทำกรรมหนักเช่นนี้เล่า?" นางสิริมานิ่ง นางอุตตราสั่งให้นางทาสีอุ้มร่างวางบนเตียงให้ปฐมพยาบาล ทำความสะอาดบาดแผล เปลี่ยนเสื้อผ้าให้ใหม่ และกล่าวโอวาทไปพลาง

นางสิริมารู้สำนึกว่าทำความผิดครั้งใหญ่แล้วเพราะความหึงหวง ทั้งที่เป็นเพียงคนนอกเรือน คิดว่า "ถ้านางอุตตราไม่ห้ามปราม ป่านนี้พวกทาสีคงรุมทำร้ายเราจนตายแน่เราช่างผิดมหันต์ เราต้องขอโทษนางตอนนี้แหละ ไม่อย่างนั้นศีรษะเราจะแตกออกเป็น ๗เสี่ยงแน่" คิดดังนั้นแล้ว จึงหมอบกราบลงที่เท้านางอุตตรา กล่าวขอโทษว่า "แม่เจ้า แม่จงยกโทษให้แก่ดิฉันด้วยเถิด"

นางอุตตรา : สิริมาเอ๋ย ตัวเราเป็นลูกที่มีพ่อ ถ้าพ่อเรายกโทษให้ เราก็จะยกโทษให้

นางสิริมา : แม่อุตตรา ถ้าอย่างนั้นดิฉันจะไปขอขมาต่อท่านปุณณะเศรษฐีบิดาของท่านในวันนี้แหละ

นางอุตตรา : ปุณณะเศรษฐีเป็นพ่อบังเกิดเกล้าของเราในสังสารวัฏ แต่ถ้าพ่อบังเกิดเกล้าที่นำเราออกจากวัฏฏะ ยกโทษให้ เราก็จะยกโทษให้

นางสิริมา : แล้วใครเล่า เป็นบิดาบังเกิดเกล้านำออกจากวัฏฏะของแม่เจ้า?

นางอุตตรา : พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นางสิริมา : แต่ดิฉันไม่มีความคุ้นเคยกับพระองค์เลย จะขอให้ยกโทษได้อย่างไร?

นางอุตตรา : เราจะเป็นภาระให้เอง พรุ่งนี้ พระศาสดาจะเสด็จนำหมู่ภิกษุสงฆ์มายังที่นี่ (มีการจัดเตรียมโรงปะรำ โรงครัว ไว้พร้อมสรรพแล้ว) ตัวเธอจงนำสิ่งของที่ควรทำสักการะมาเข้าเฝ้าพร้อมกับเรา แล้วท่านก็จงกราบทูลขอขมาโทษเถิด

นางสิริมารับคำแล้วกลับไปยังเรือนตนเอง (สำนักหญิงคณิกา) สั่งหญิงบริวาร ๕๐๐ คน ให้ช่วยกันตระเตรียมของฉันของเคี้ยวต่าง ๆ และเครื่องไทยธรรมที่สมควรแก่สมณะไว้ให้พร้อมสรรพ

นางสิริมากราบทูลขอขมาโทษ พระศาสดาตรัสธรรม... นางอุตตราบรรลุเป็นพระสกทาคามี นางสิริมาเป็นพระโสดาบัน

รุ่งเช้า นางก็สั่งให้คนช่วยกันนำวัตถุสิ่งของเหล่านั้นมายังเรือนของนางอุตตราพระพุทธเจ้าเสด็จมาพร้อมภิกษุสงฆ์ประทับนั่งยังที่ ๆ จัดไว้ นางอุตตราเริ่มนำข้าวเป็นต้น ใส่ลงในบาตรพระศาสดาและภิกษุสงฆ์จนครบ แต่นางสิริมาถือภาชนะข้าวอยู่ไม่กล้าจะเข้าไปถวาย นางอุตตราจึงรับสิ่งของเหล่านั้นถวายแทน

พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์เสร็จภัตกิจแล้ว นางสิริมาพร้อมด้วยบริวารเข้ามาหมอบกราบลงเบื้องพระบาท พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า "พวกท่านมีความผิดอะไรหรือ?"

นางสิริมาได้กราบทูลความผิดของตน และความดีที่นางอุตตรามีคุณธรรม น้ำมันร้อน ไม่อาจทำอันตรายนางได้ อีกทั้งนางยังมีความกรุณาห้ามปรามมิให้พวกทาสีทำร้าย เมื่อหม่อมฉันกราบขอขมาโทษ นางก็กล่าวว่า ถ้าบิดาบังเกิดเกล้าผู้นำออกจากวัฏฏะคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกโทษให้ นางก็จะยกโทษให้...

พระพุทธเจ้าตรัสถามนางอุตตราว่า เรื่องเป็นอย่างที่สิริมาเล่าหรือ? นางอุตตรารับว่าเป็นอย่างนั้น, พระศาสดาตรัสถามถึงความคิดเมตตาที่เกิดขึ้นขณะจะถูกนางสิริมาราดด้วยน้ำมันร้อนนั้นว่าคิดอย่างไร? นางก็ทูลถึงความคิดที่ว่า นางสิริมามีคุณใหญ่ เป็นผู้ที่ทำให้ตนเองมีโอกาสได้ทำบุญ...

พระพุทธเจ้าตรัสอนุโมทนาว่า "ดีแล้วอุตตรา การชนะความโกรธ เป็นสิ่งสมควรการจะเอาชนะคนขี้โกรธก็ต้องไม่โกรธตอบ, เจอคนด่าบริภาษ ก็พึงชนะด้วยการไม่ด่า ไม่บริภาษตอบ, เจอคนตระหนี่จัด ก็พึงชนะด้วยการให้, เจอคนพูดเท็จ ก็พึงชนะด้วยคำจริง"

แล้วตรัสพระคาถาว่า...

"พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชนะความไม่ดีด้วยความดี พึงชนะความตระหนี่ด้วยการให้ พึงชนะคนพูดไม่จริงด้วยคำจริง"

จบพระเทศนา นางสิริมาพร้อมด้วยบริวาร ๕๐๐ บรรลุเป็นพระโสดาบัน (ดู ร.อ.๓/๓๗๔-๙)

อรรถกถาวิมานวัตถุเล่าว่า จบพระคาถานี้แล้ว พระศาสดาได้ตรัสอริยสัจ ๔ จบแล้ว นางอุตตราบรรลุเป็นพระสกทาคามี, สามีของนาง, สุมนเศรษฐีและภรรยาบรรลุเป็นพระโสดาบัน, นางสิริมาและบริวารบรรลุเป็นพระโสดาบัน

นางอุตตราเกิดในสวรรค์ดาวดึงส์ส่วนนางสิริมาเกิดในสวรรค์นิมมานรดี

ต่อมา นางอุตตราสิ้นชีวิต เกิดเป็นเทพธิดาในภพดาวดึงส์ครั้งหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานเถระจาริกมาในเทวโลก อุตตราเทพธิดาพบแล้วเข้ามาไหว้ พระเถระถามถึงกุศลกรรมที่ทำไว้ นางก็เรียนว่า สมัยเป็นมนุษย์ครองเรือน ไม่มีความริษยา ไม่ตระหนี่ ไม่ตีเสมอ ไม่โกรธ อยู่ในโอวาทของสามี เข้าจำอุโบสถมีองค์ ๘ เป็นนิตย์ชอบให้ทาน ยินดีในสิกขาบท ๕ (ศีล ๕)... จบแล้วได้ร้องขอให้พระเถระเป็นธุระเข้าเฝ้าพระศาสดาแล้ว ช่วยกราบทูลด้วยว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุตตราอุบาสิกา ขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรกล้า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้พยากรณ์ดิฉันไว้ในสามัญผลอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ไม่น่าอัศจรรย์เลย เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ดิฉันไว้สกทาคามิผลแล้ว"(ดู ขุ.วิ.ข้อ ๑๕, วิมาน.อ.๑๐๒-๑๑๒)

ขอขอบคุณที่มาจาก https://www.nirvanattain.com/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1/%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2-%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%8D-%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%B2.html




« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 25, 2022, 11:31:03 PM โดย เกียรติคุณ » บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #376 เมื่อ: พฤษภาคม 26, 2022, 12:26:11 AM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
บันทึกกรรมฐานวันที่ 24/5/65 เวลา 09:00 น. - 09:40 น.

เมื่อเข้ากรรมฐานหมายใจที่จะพูดน้อยคิดก่อนพูด จากเป็นคนพูดมากเป็นลิงหลับ ยากพูดน้อย ให้เข้ากรรมฐานดังนี้

1. จิต มีธรรมชาติ คือ คิด อาศัยวิตก และวิจาร สืบต่อมาเป็นวาจา เป็นวจีสังขาร (ทุกครั้งที่เรานึกคิดจะมีเสียงพูดในใจนั่นก็เป็นวจีสังขารแต่นั้นแล้วโดยที่ยังไม่เปล่งเสียงออกมา)

- ที่เราพูดมากนั้นก็เพราะว่า เรานั้นคิดมาก คิดจนฟุ้งทำให้กลั่นกรองความคิดไม่ได้ จนเกิดความอยากกระหายที่จะพูด คือ มีความอยากกระหายที่จะกล่าวให้ผู้อื่นได้ยินได้รับฟังมากนั่นเอง

- ดังนี้..พึงละเสียซึ่งความคิดปรนเปรอตามความอยากตนทั้งปวงนั้น

- ดังนี้..พึงละเสียซึ่งความคิดอยากตามสมมติกิเลส เมื่อเราคิดน้อยลง ให้ความสำคัญในสิ่งที่จะพูดน้อยตามความเหมาะสม รู้กาลอันควรจะกล่าว

2. วิตก วิจาร อันประกอบด้วยความจำได้หมายรู้ปรนเปรอตนเป็นของร้อน ทำให้ใจอัดปะทุ ทะยานอยากใคร่ตาม ทนอยู่ได้ยาก เมื่อวิตก วิจาร ประกอบด้วยสัญญาปรนเปรอตนเป็นของร้อน ย่อมเป็นธรรมารมณ์ที่ไม่ควรเสพย์ ให้พึงวางใจไว้ดังนี้..

2.1) พึงมีสติเป็นเบื่องหน้า มีใจดำรงมั่นอยู่ไม่หวั่นไหวไหลตามความคิด ไหลตามความคิดจำปรนเปรอตนที่ไม่ควรเสพย์ ความว่าง ความสละคืน ความไม่มี เป็นที่สบายกายใจ ไม่มีทุกข์ เป็นธรรมารมณ์ที่ควรเสพย์

- ให้ตั้งจิตไว้เหมือนสงบนิ่ง หายใจเข้านึกถึงเอาใจลอยอยู่ออกจากความคิด เรื่องเครียด เรื่องปรนเปรอตนนั้นๆตามลมหายใจเข้า

- หายใจออกปักใจบลงที่ฐานจิตในภายในที่จุดนาภี พึงทำลมปัก แทงตัดเอาความคิดทั้งปวงเหล่านั้นลอยออกไปตามลมหายใจออก

- หายใจเข้านึกถึงความเบา ว่าง โล่ง เย็นใจ เป็นที่สบายกายใจ

- หายใจออกผ่อนคลาย ผ่อนคลาย ปล่อยทุกอย่าง เป็นที่สบายกายใจ

- หายใจเข้านึกถึงความว่าง ความสละคืน ความไม่มี

- หายใจออกมันสบาย ผ่อนคลาย ผ่อนคลาย


2.2) เจริญมหาสติ พึงละเจตนาความสำคัญมั่นหมายปรนเปรอตนนั้นเสีย มันเป็นของร้อน เป็นทุกข์ เมื่อความคิดที่ปรุงแต่งใด สำคัญมั่นหมายใจใดๆเกิดขึ้นแล้ว อุปมาเหมือนดวงจิต ดวงแสงพุ่งขึ้นจากภายในขึ้นมา เรารู้ว่านั่นคือเจตนาอกุศลปรนเปรอตน จะตราตรึงใจก็ดี จะติดตรึงใจก็ดี อยากก็ดี รักก็ดี จะใคร่ดก็ดี จะโกรธก็ดี จะชังก็ดี จะกลัวก็ดี จะอ่อนไหวตามก็ดี จะไม่รู้ก็ดี จะหลงก็ดี ให้พึงละเจตนานั้นเสีย..

- พึงทำไว้ในใจละสิ่งนั้นว่า สิ่งใดที่จิตรู้ สิ่งนั้นคือสมมติทั้งหมด ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ก็ไม่มีทุกข์ ..นี้คือวิธีที่พระอริยะสาวกในพระธรรมวินัยนี้ไม่ยึดเสพย์ธัมารมณ์ทั้งปวง

- ของแท้มีแค่ลมหายใจเรานี้เท่านั้น ลมหายใจไม่ปรุงแต่งจิต ไม่ปรุงแต่งความรู้สึกนึกคิด ลมหายใจเป็นที่สบายกายใจ ลมหายใจไม่มีโทษ พึงเอาจิตมาจับรู้ที่ลมหายใจเรานี้ คือรู้ของจริง ไม่ปรุงแต่ง เป็นกายสังขาร เป็นวาโยธาตุอันประกอบขึ้นเป็นกายนี้ ไม่มีทุกข์

*..นี้คือวิธีที่พระอริยะสาวกในพระธรรมวินัยนี้พึงทำความรู้วาโยธาตุในกายอยู่ดังนี้ ตลอดจนถึงความไม่ยั่งยืนคงอยู่ได้นาน ไม่ใช่ตัวตนตน ควบคุมไม่ได้ ความเอาใจเข้ายึดครองเป็นทุกข์ คือ เอาใจเข้ายึดสิ่งที่ไม่ทเี่ยง ไม่ใชตัวตน ว่าเป็นเรา เป็นเขา มีความยึดปารถนาในสิ่งไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน เป็นทุกข์
(ส่วนความมีใจครอง หมายเอาอุปาทินนกรูป ธาตุ ๕ อันวิญญาณธาตุ คือจิตเราจรมาเข้ายึดครองตามกรรม ตามมูลมรกที่พ่อแม่ให้มา  คือ ความเกิดนั่นเอง)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 26, 2022, 01:55:19 AM โดย เกียรติคุณ » บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #377 เมื่อ: พฤษภาคม 26, 2022, 01:16:14 AM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
บันทึกกรรมฐานวันที่ 26/5/65 00:00

คติธรรมจากประวัติของนางอุตตรามหาอุบาสิกา ผลแห่งบุญ : ผลของการปฏิบัติเมตตาและวิปัสสนาภาวนา

ปกติแล้ว..เราจะแผ่เอาความปารถนาดีด้วยใจมีที่มั่นเป็นกุศล ปราศจากกิเลสเครื่องเร่าร้อนกายใจ แผ่เอาสุขจากความเย็นใจไม่มีทุกข์ภัย เย็นกายสบายใจนั้นไปสู่ผู้อื่น ให้เขาได้รับความสุขนั้นตาม โดยปราศจากทุกข์ภัยความเร่าร้อนกายใจ เหมือนดั่งเราได้รับสุขอยู่นั้น

จากประวัตินางอุตตรามหาอุบาสิกานี้ ทำให้เราตั้งจิตถึงเมตตาต่อผู้อื่นด้วยความกตัญญู กตเวที อันเป็นมงคลอันสูงสุดอย่างหนึ่งที่สมเด็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดา ทรงแสดงในมงคลสูตร อีกทั้งยังใช้ดับโทสะได้ดังนี้

1. การเมตตาอีกประการหนึ่ง เราสามารถเจริญเมตตาด้วยตั้งจิตกตัญญูกตเวทีแผ่ไปได้ โดยระลึกถึงความมีอุปปการะคุณของผู้อื่น คุณงามความดีของเขา รู้อุปการะคุณ และบุญคุณของผู้อื่น ไม่หมื่นคุณท่าน แล้วแผ่เอาความสำนึกในคุณของท่านเหล่านั้นไป โดยใจเราปราศจากความเกลียด ชัง กลัว หลง ริษยา ตั้งจิตในความปราถนาดีไปถึงท่านทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยใจหมายให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้นเป็นสุข ไม่มีทุกข์ ไม่มีโทษภัยมากล้ำหลาาย รักษาตนรอดพ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้น เช่น คุณของบิดามารดา บุพการี ผู้มีอุปการะคุณแก่เราเป็นต้น

2. การเมตตาอันควรแก่ผู้ประทุษร้ายตนนั้น แม้เขานั้นจะปองร้ายเรา หาข้อดีของเขาไม่ได้เลยก็ตามที พึงเห็นว่า..เพราะมีเขากระทำกาย วาจา ใจ ต่อเราอย่างไร เราจึงได้สะสมบารมีทาน ศีล ภาวนาอย่างนี้ๆได้ ..หรือเพราะมีเขาให้เห็นอยู่อย่างนั้นเราจึงสำรวมระวังอินทรีย์ ระวังตัว และเห็นโทษภัยจากผลลัพธ์ในการกระทำอย่างนั้นๆของเขา โดยสังเกตุดูจากการที่เราและผู้อื่นแวดล้อมรู้สึกต่อเขาอย่างไร รวมถึงการคิด พูด ทำ แบบนั้นของเขาส่งผลต่อจิตใจเขาให้เร่าร้อน กระวนกระวาย ดั่งไฟแผดเผากายใจเขาอย่างไร หาความสงบ สุข เบา สบายไม่มีโทษได้ไหม
- ก็ด้วยเพราะเขานี้แล เป็นตัวแปรให้เราสะสมบารมีนี้อยู่ได้ และทำให้เราเห็นทุกข์โทษภัย และผลตอบรับสะท้อนกลับจากการคิด พูด ทำต่างๆอย่างนั้น เพื่อให้เราได้ระลึกรู้สำรวมระวังอินทรีย์ พึงขอบคุณเขาด้วยบุญอันนั้น แล้วแผ่สุขให้เขาด้วยคุณอันนั้น ประดุจดั่งนางอุตตรามหาอุบาสิกาเจริญจิตเมตตาจิตภาวนาต่อนางสิริมา หญิงคณิกาผู้หมายปองร้ายท่านอยู่ ดังนี้..
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 26, 2022, 01:55:29 AM โดย เกียรติคุณ » บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #378 เมื่อ: พฤษภาคม 26, 2022, 09:12:55 PM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
บันทึกกรรมฐานจาก คันธภกสูตร เข้าพรรษา ปี 64

กล่าวถึงว่า เพราะมีฉันทะราคะกับบุคคลที่รัก เช่น ลูก เมีย สามี เป็นต้น ห่วงหาอาธรณ์ จึงทุกข์

..แก้โดย ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สงบใจด้วยปัญญา ให้เข้ามารู้ในกรรมตามจริงว่า สัตว์มีกรรมนำพาให้เป็นไป ทั้งกรรมในชาติก่อน-ที่ทำผ่านมานี้ หรือในปัจจุบันนี้ เรามีกรรมเป็นของๆตน ให้ผล ติดตาม อาศัย เป็นทายาทกรรม บุญที่ทำสะสมมาเท่านั้นช่วยค้ำไว้ได้
..อย่าไปคาดหวัง คาดหวังไปก็ช่วยอะไรไม่ได้ อยู่ที่ตัวเขาทำเท่านั้น
..ไม่ยึดความคิดโหยหา ผลักไส เอาใจมารู้ปัจจุบันของจริง คือ ลมหายใจไม่ใช่ของปรุงแต่งจิต
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 26, 2022, 10:12:24 PM โดย เกียรติคุณ » บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #379 เมื่อ: พฤษภาคม 26, 2022, 10:15:26 PM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
อาพาธสูตร หรือ คิริมานนทสูตร

สัญญา ๑๐ ประการ ได้แก่ อนิจจสัญญา ๑ อนัตตสัญญา ๑ อสุภสัญญา ๑ อาทีนวสัญญา ๑ ปหานสัญญา ๑ วิราคสัญญา ๑ นิโรธสัญญา ๑ สัพพโลเกอนภิรตสัญญา ๑ สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา ๑ อนาปานัสสติ ๑

อนิจจสัญญา - ความไม่เที่ยงในอุปาทานขันธ์ ๕
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย วิญญาณไม่เที่ยง ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ด้วยประการอย่างนี้

อนัตตสัญญา - ความเป็นอนัตตาในอายตนะภายในและภายนอก ๖ ประการ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่าจักษุเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา หูเป็นอนัตตา เสียงเป็นอนัตตา จมูกเป็นอนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา กายเป็นอนัตตา โผฏฐัพพะเป็นอนัตตา ใจเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา ย่อมพิจารณาเห็น
โดยความเป็นอนัตตาในอายตนะทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ๖ ประการ

อสุภสัญญา - ความเป็นของไม่งาม
ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้ มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาด มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม เนื้อหัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่งามในกายนี้

อาทีนวสัญญา - ความเป็นโทษในกาย
ย่อมพิจารณาเห็นว่ากายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้น อาพาธต่างๆ จึงเกิดขึ้นในกายนี้ อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีไข้สันนิบาต อาพาธอันเกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธอันเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธอันเกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธอันเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ

ปหานสัญญา - การละอกุศลธรรม
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลาย

วิราคสัญญา -  ธรรมเป็นที่สำรอกกิเลส
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่าธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง  ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ธรรมเป็นที่สำรอกกิเลส ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์

นิโรธสัญญา - ธรรมเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่าธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรม
เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ธรรมเป็นที่ดับโดยไม่เหลือ ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์

สัพพโลเกอนภิรตสัญญา - ละอุบายและอุปาทาน ไม่ถือมั่น
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละอุบายและอุปาทานในโลก อันเป็นเหตุตั้งมั่น ถือมั่น และเป็นอนุสัยแห่งจิต ย่อมงดเว้น ไม่ถือมั่น

สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา - ความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมอึดอัด ย่อมระอา ย่อมเกลียดชังสังขารทั้งปวง

อานาปานัสสติ
นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้าเป็นผู้มีสติหายใจออก เป็นผู้มีสติหายใจเข้า
- เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว  เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว
- เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น  เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น
- จักเป็นผู้กำหนดรู้กายทั้งปวง หายใจออก จักเป็นผู้กำหนดรู้กายทั้งปวง หายใจเข้า
- จักระงับกายสังขาร (ลมหายใจ) หายใจออก จักระงับกายสังขาร หายใจเข้า
- จักกำหนดรู้ปีติ หายใจออก จักกำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า
- จักกำหนดรู้สุข หายใจออก จักกำหนดรู้สุข หายใจเข้า
- จักกำหนดรู้จิตตสังขาร (เวทนา) หายใจออก จักกำหนดรู้จิตตสังขาร หายใจเข้า
- จักระงับจิตตสังขาร หายใจออก จักระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า
- จักกำหนดรู้จิต หายใจออก จักกำหนดรู้จิต หายใจเข้า
- จักยังจิตให้บันเทิง หายใจออก จักยังจิตให้บันเทิง หายใจเข้า
- จักตั้งจิตให้มั่น หายใจออก จักตั้งจิตให้มั่น หายใจเข้า
- จักเปลื้องจิต หายใจออก จักเปลื้องจิต หายใจเข้า
- จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออก จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจเข้า
- จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัด หายใจออก จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัด หายใจเข้า
- จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความดับสนิท หายใจออก จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความดับสนิท หายใจเข้า
- จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสลัดคืน หายใจออก จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสลัดคืนหายใจเข้า
บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #380 เมื่อ: พฤษภาคม 27, 2022, 12:31:18 AM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
บันทึกกรรมฐาน 12 พ.ค. ปี 65 ว่าด้วยเรื่องความคิดสืบต่อ

การคิดสืบต่อในอกุศลตามกิเลสตัณหา คือ การที่เราจงใจและเต็มใจเปิดรับ อัญเชิญให้ความทุกข์เร่าร้อน ร้อนรุ่ม เป็นไฟสุมใจเข้ามาแผดเผากายใจตนเอง

การตรึกถึงพุทโธ เป็นมหากุศล เพราะว่า..
- เป็นการอัญเชิญน้อมเอาองค์พระพุทธเจ้ามาตั้งในจิต

- เป็นการน้อมเอากิริยาจิตอันเป็นผู้รู้ คือ..รู้ปัจจุบัน รู้ของจริงต่างหากจากสมมติกิเลสของปลอมอันเร่าร้อนแผดเผากายใจตน

- เป็นการน้อมเอากิริยาจิตอันเป็นผู้ตื่น คือ..ตื่นจากสมมติกิเลสของปลอมมีโทษเป็นทุกข์ ยกใจออกจากทุกข์ มีกำลังใจดีไม่กระเพื่อมไหวเอนตามสมมติกิเลสของปลอม มีสติปัญญาเลือกเฟ้นอารมณ์ที่ควรเสพย์ และไม่ควรเสพย์
..ทั้งความพอใจยินดีที่ควรเสพย์ และไม่ควรเสพย์
..ทั้งความไม่พอใจยินดีที่ควรเสพย์ และไม่ควรเสพย์
..ทั้งความวางเฉย มีใจวางไว้กลางๆ คือ สักแต่ว่ารู้ ทำใจแค่รู้โดยไม่เอนเอียงที่ควรเสพย์ และไม่ควรเสพย์

- เป็นการน้อมเอากิริยาจิตอันเป็นผู้เบิกบาน คือ..มีใจเบิกบานพ้นแล้วจากสมมติกิเลสของปลอม ถึงความมีจิตแจ่มใส มีใจเอื้อเฟื้อ เว้นจากความเบียดเบียน ..มีอาการที่ผ่องใส-เบา-โล่ง-เย็นใจเป็นผล
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 27, 2022, 12:35:10 AM โดย เกียรติคุณ » บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #381 เมื่อ: พฤษภาคม 27, 2022, 12:32:50 AM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
การดับไฟโทสะ คือ การดับไฟที่เผาไหม้ใจตนเอง

เมื่อโกรธคนที่ร้อนเป็นฟืนเป็นไฟคือเราเอง เราต่างหากที่ถูกไฟโทสะเผาไหม้กายใจอยู่นั้น ส่วนเขานั้นไม่ได้มารู้สึกอะไรกับกายใจเราเลย
ดังนั้นการให้อภัย การไม่ใส่ใจใความสำคัญมั่นหมาย ไม่ติดใจข้องแวะ มันเป็นการดับไฟที่กำลังเผาไหม้กายใจของเรานี้เอง ดับไฟคือโทสะ
บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #382 เมื่อ: พฤษภาคม 27, 2022, 12:33:39 AM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
ธรรมมะกับงาน หากถูกเขาว่ากล่าว หรือด่า หรือใส่ร้าย หรือเราไม่พอใจใคร

- ให้ใช้ขันติสู้กับกิเลสของตนเองไม่ให้ทำตามกิเลสให้เสียหาย รู้สิ่งไหนควรปล่อย ละวาง ควรเอาสติปัญญาสิ่งใดมาตั้งไว้
- แล้วใช้สติปัญญาพิจารณาสิ่งที่เขาพูดกล่าว มองดูความจริง สิ่งใดเกื้อหนุน เกื้อกูลกัน สิ่งใดควรเปิดมุมมอง เวลาใดที่ควรพูด เวลาใดไม่ควรพูด
- ตั้งใจถึงการแก้ปัญหาไว้ด้วยการชนะแบบ Win Win คือไม่เสียหายแม้ฝ่ายใด และได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย เพราะจะช่วยกันลดปัญหา และลดการสร้างศัตรู ภัย พาล
- สิ่งใดหากพูดแก้ไปจะเสียใหญ่ให้ละไว้ก่อน สิ่งไหนเมื่อพูดแล้วเรื่องบานปลายให้เว้นไว้
- สิ่งใดประกอบด้วยประโยชน์ให้รู้กาลอันควรพูด คือ ในกาลที่เขารับฟัง กาลที่เขาคลายจากอคติลำเอียง กาลที่จำเป็นต้องเปิดมุมมองเพื่อแก้ไขปัญหา กาลที่มีโอกาสให้อธิบายสาธยาย กาลที่เรามีความรู้ในสิ่งนั้นๆเพียงพอเต็มที่แล้ว ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเป็นอันมากนั่นเอง

- เมื่อเราทำดีครบพร้อมแล้ว ใครจะมาอคติกับเรา ก็ช่างเขา เรารับฟังได้ แต่ไม่รับ เขาก็ทุกข์ของเขาเอง ทุกข์เพราะไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะแผดแผาเขากลับคืนเอง แต่หากรับฟังพิจารณาเห็นข้อผิดเรา เราก็ต้องแก้ไข พิจารณาเห็นประโยชน์เราก็ควรทำ

ศาสนาพุทธ คือ ศาสนาแห่งปัญญา ไม่ใช่นั่งปล่อยเขากร่นด่าโดยไร้เหตุผล ให้มันผ่านๆจบๆไป ปล่อยให้ตนถูกทำร้ายโดยไม่เกิดประโยชน์ มิใช่ทางสร้างบารมี
บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #383 เมื่อ: พฤษภาคม 27, 2022, 12:34:58 AM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
บันทึกกรรมฐาน 10 มีนาคม ปี 65

อย่าเอาความคิดแย่ๆอันเป็นสมมติกิเลสแห่งทุกข์ ที่กิเลสวางไว้ล่อจิตทางใจโดยอาศัยสมมติแห่งอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดมาตั้งใส่ไว้ในใจตน เพราะเมื่อหลงตามมันแม้เพียงชั่ววูบเดียว มันจะขโมยสิ่งมีค่า ทรัพย์สมบัติ และทุกสิ่งทุกอย่างของเราไป

- ทรัพย์สมบัติของเรา ก็คือ ความรู้ การเรียน วุฒิการศึกษา เงินทอง ของมีค่า ทรัพย์สินทั้งปวง ความสามารถ ความเพียร สติ สมาธิ และปัญญา ชีวิต อนาคต และทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งทางโลกียทรัพย์ และอริยะทรัพย์ ตลอดจนถึงคุณค่าชีวิตความเป็นมนุษย์จากเราไปสิ้น จนไม่เหลือความเป็นคน ต่ำกว่าสัตว์เดรัจฉาน ต้องทุกข์ร้อนหมกไหม้ไฟสุมไหม้ใจอยู่ตลอดเวลา
บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #384 เมื่อ: พฤษภาคม 27, 2022, 12:37:34 AM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
บันทึกกรรมฐาน 4 มีนาคม ปี 65

จิตเดิมเรานี้ ท่องเที่ยวไปไม่สิ้นสุด เป็นคนบ้าง สัตว์เดรัจฉานบ้าง สัตว์นรกบ้าง เทวดาบ้าง ตามแต่กรรมที่ทำไว้ มาชาตินี้ได้กายธาตุที่พ่อแม่ให้มาอาศัย (จึงชื่อว่าเกิดขึ้นโดยธาตุ) ให้จิตเรามาอาศัยอยู่ชั่วคราว เพื่อสร้างบุญบารมีไม่ให้สูญเปล่าที่ได้เกิดมาเป็นคน เป็นลูกของพ่อและแม่ สุดท้ายแล้วธาตุก็กลับคืนสู่ธาตุ ดังนี้ชื่อว่าได้กำไรชีวิตติดตามไปด้วยแล้ว

แลด้วยเหตุดังนี้ บุตรธิดาควรกตัญญูต่อพ่อแม่ บุพการี ..และเหตุดังนี้จึงชื่อว่า..เกิดแต่ธาตุ ดับไปคืนสู่ธาตุ

มูลมรดกกรรมฐานที่หลวงปู่มั่นสอนไว้ดังนี้..
นะ คือ ธาตุน้ำ เป็นธาตุของมารดา
โม คือ ธาตุดิน เป็นธาตุของบิดา

อาศัยสัมภวธาตุของบิดามารดารวมกันจึงเป็นตัวตนขึ้นมา อาศัยธาตุไฟของมาดาเคี่ยวจนเป็นกลละ ณ ที่นี้เองที่ให้ ปฏิสนธิวิญญาณ เจ้าถือปฏิสนธิได้

ดั่งที่พระอัสสชิเถระ แสดงธรรมโดยย่อแก่อุปติสสะมานพ โดยกล่าวคาถาว่า “เย ธัมมา เหตุปปภวา, เตสัง เหตุง ตถาคโต อาหะ, เตสัญจะ โย นิโรโธ จะ, เอวัง วาที มหาสมโณฯ” “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้นและความดับของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะทรงสั่งสอนอย่างนี้”

จบธรรมกถานี้ อุปติสสะก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันทันที
บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #385 เมื่อ: พฤษภาคม 27, 2022, 12:41:15 AM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
ปฏิบัติธรรม ไปตามวาระสะดวก งานมากไม่เหมาะกับ โยคาวจร ก็ต้องวางลงบ้าง แต่ถ้ามันจำเป็นต่อการดำรงชีพ ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการภาวนาให้เหมาะสม ในการทำงาน สามารถฝึกแบบสติ คือเคลื่อนไหวได้ตามแนวสติปัฏฐาน ( ค่อยเป็นค่อยไป)
แต่ถ้าเอาตามแนว มรรคสมังคี ก็หนีการทำสมาธิไม่ได้ ก็ต้องแบ่งเวลาเข้าสมาธิบ้าง

พระอาจารย์เมตตากำกับไว้พร้อมให้แนวทางกรรมฐาน


การละราคะ เป็น คุณธรรมระดับ พระอนาคามี ดังนั้นถ้าจะให้ถูกต้อง ควรต้องไปทำคุณสมบัติของพระโสดาบันมาให้ได้ก่อน อยากรู้ว่าได้เป็นพระโสดาบันหรือยัง ก็ให้อธิษฐาน เข้าผลสมาบัติดู ถ้าเข้าไม่ได้ ก็แสดงว่ายังไม่ได้เป็น ถ้าเข้าได้ ก็จะทรงผลสมาบัติด้วย สุญญตาสมาบัติเป็นเวลา 24 -30 ชม. ด้วยอำนาจ ผลสมาบัติ ซึ่ง ปัญญาวิมุตติ ก็ต้องทำได้แบบนี้

ดังนั้นคาถากันราคะ สำหรับบุคคลที่ยังไม่เป็น พระโสดาบัน ก็คือ

เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ สลับกลับไปมา พร้อมนิมิต

..ข้าพเจ้า ขออนุญาตพระอาจารย์เพื่อโพสท์บันทึกไว้ทบทวน และแบ่งปันว่าเป็นส่วนที่ไม่ใช่ข้อห้ามแล้ว
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 27, 2022, 12:43:50 AM โดย เกียรติคุณ » บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #386 เมื่อ: พฤษภาคม 27, 2022, 12:44:32 AM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
ธรรมระบายทุกข์

ทำงานให้เป็นธรรมกรรมฐาน


การทำงานให้ถึงกรรมฐาน มีวิธีดังนี้
1. รู้หน้าที่ รู้กิจการงานที่ตนต้องทำ
2. มีใจจดจ่อในงาน ไม่ส่งจิตออกนอกไปคิดเนื่องนั้น คิดเรื่องนี้ คิดถึงคนนั้น คิดถึงคนนี้ให้ใจไม่อยู่กับงาน ให้รู้ปัจจุบันขณะว่าเรากำลังทำสิ่งใด รู้ว่ากำลังทำงานอะไร รู้ว่าเราทำถึงไหน รู้ว่าเราทำสิ่งใดอยู่ และจะดำเนินงานนั้นไปอย่างไร รู้ว่างานที่เราทำคืออะไร
3. ทำความรู้ความเข้าใจในงานที่ตนกำลังทำอยู่นั้น เนื้อหางานคืออะไร ทำเพื่อสิ่งใด มีอะไรเปฌนเหตุ มีอะไรเป็นผล
4. คอยสอดส่องดูแลในงาน ตรวจสอบทบทวนว่าสิ่งใดมีแล้วดีแล้ว สิ่งใดขาดที่ต้องเติม สิ่งใดที่ต้องเสริม มีวิธีทำอย่างไรให้งานนั้นออกมาดี เสริมเพิ่ม ปรับเปลี่ยน ปรับแต่งส่วนใดให้งานออกมาดีได้บ้าง ต้องทำสิ่งใดในงานต่อเพื่อให้งานเสร็จสิ้นสำเร็จด้วยดี

การทำงานแบบนี้ เป็นการฝึกสติ สัมปัชัญญะ สมาธิ และปัญญา ลงในอิทธิบาท ๔
บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #387 เมื่อ: พฤษภาคม 27, 2022, 12:45:24 AM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
บันทึกกกรรมฐาน ธรรมะระบายทุกข์

- การทำคุณคนไม่ขึ้น ไม่มีใครรัก ไม่มีคนจริงใจ ไว้ใจใครไม่ได้ พึ่งพาใครไม่ได้ มีมีคนคอยช่วยเหลือ ขาดญาติ มิตร
- นั่นหมายความว่า แต่เริ่มเดิมทีในกาลก่อนนั้น เรายังทำทานบารมี จาคะบารมียังไ และศีลบารมียังไม่เต็มกำลังใจนั่นเอง จึงทำให้กลิ่นทานบารมี กลิ่นจาคะบารมี และกลิ่นศีลบารมี ยังไม่หอมทวนลม แม้ในชาตินี้ทำมาดีแล้วแต่มันยังไม่เต็มกำลังใจให้เป็นบารมีนั่นเอง
- ด้วยเหตุดังนี้ เราจึงพบเจอคนที่ไม่รู้คุณคน ไม่มีใครรัก ไม่มีมิตรสหาย ที่เราพบเจอนั้นก็เพื่อให้เราอบรมกายใจในทานบารมี จาคะบารมี และ ศีลบารมีให้มันเต็มกำลังใจเรา

ทางแก้ไข และ สะสมบารมีของเรา มีดังนี้
1. ให้/ทำ โดยไม่หวังผลตอบแทน
..ให้ทำใจเปิดออก เอื้อเฟื้อแก้คนและสัตว์ทั้งปวงเสมอด้วยตน คือเรามีความยินดีในการได้รับประโยชน์สุขสำเร็จดีงามอย่างไร ก็ทำด้วยใจหมายให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์สุขดีงามอย่างนั้นเสมอด้วยตน หรือยิ่งกว่า โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆจากคนและสัตว์เหล่าใดกลับคืน
2. ทำเพื่สละคืนกิเลสเครื่องเร่าร้อนในใจตน
..ให้ทำทาน สละ เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน เพื่อเกื้อกูลประโยชน์สุขเย็นใจแก่ตนเอง ให้ปราศจากความเร่าร้อน และจุนเจือประโยชน์สุขดีงามแก่ผู้อื่น เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างไม่ร้อนเร่าแผดเผาไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะแก่กัน
3. ตั้งใจไว้ความไม่ติดใจข้องแวะ ไม่เพ่งโทษกัน รู้อดโทษ อภัยทานให้กัน ไม่ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ สละคืนอกุศลธรรมอันเร่าร้อนทั้งปวง ไม่หยิบ ไม่จับ ไม่ยึด ไม่เพ่งโทษกัน ด้วยพึงละเสียซึ่งความเป็นประโยชน์ส่วนตน ปรนเปรอกายใจตนสนองความต้องการตามที่รักที่ชัง ถึงความเป็นธรรมชาตินั้นสงบ ธรรมชาตินั้นสบาย ธรรมชาตินั้นว่าง เบาเย็นใจ ความว่าง ความไม่มี ความสละคืน ใจไม่มีอคติลำเอียง
4. ไม่เอาความสุขสำเร็จของตนไปผูกขึ้นไว้กับผู้อื่น หากแม้เมื่อเราทำดีแล้วครบพร้อมแล้ว แต่ยังติดค้างคาใจกับผลสนองตอบกลับการกระทำจากผู้อื่น ให้เราวางใจไว้โดยไม่เอาความสุขสำเร็จของตนไปผูกขึ้นไว้กับผู้อื่น อย่าหวังว่าการสนองตอบความต้องการของใจเราจากเขา คือ ความสุข แต่สิ่งที่เราเอื้อเฟื้อเขาแล้วนั้นแลคือสุขของเรา สุขจากการให้ สุขจากการแบ่งปัน เมื่อทำให้เสร็จก็ไม่เอาใจไปผูกติดกับสิ่งที่ให้ เขาจะแสดงการตอบรับที่ดีกลับคืนหรือไม่มันเรื่องของเขา ตัวเขา มันอยู่เหนือการควบคุมของเรา เราไม่มีอำนาจใดๆจะไปบังคับเขาได้ เพราะเขาไม่ใช่เรา ไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ด้วยเหตุดังนี้แล้ว อย่าไปติดใจข้องแวะจาการกระทำไรๆของใคร และไม่เอาความสุขสำเร็จของไปผูกขึ้นไว้กับใคร สุขและทุกข์มันอยู่ที่ใจเราสร้างขึ้นมาเองทั้งนั้น เมื่อไม่ยึดก็ไม่หน่วงตรึงจิต เมื่อไม่เอาความสุขสำเร็จไปผูกขึ้นไว้กับใครหรือสิ่งใด เราก็ไม่มีทั้งที่รักและที่ชัง ก็จะไม่มีทุกข์จากการกระทำของสิ่งใดบุคคลใดมาทำร้ายเราได้อีก ให้อิสระกับใจตนเอง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 27, 2022, 12:48:01 AM โดย เกียรติคุณ » บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #388 เมื่อ: พฤษภาคม 27, 2022, 12:48:58 AM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เรื่องความพรัดพราก

1. การรู้ว่าทุกอย่าง มีช่วงระยะเวลาของมัน
- จะทำให้เรายอมรับได้ง่ายขึ้นครับ

2. การที่เรารู้ว่า เขาไม่ใช่ของเรา ไม่ได้เกิดมาเพื่อเรา บังคับไม่ได้ เหนือการควบคุม
- จะทำให้เราปล่อยวางได้ครับ

3. การที่เรารู้ว่า การเอาใจเข้ายึดครองกอดไว้ซึ่งสิ่งที่ไม่เที่ยงด้วยหมายใจให้มันคงอยู่กับเราตลอดไปมันก็มีแต่ทุกข์ และ การที่เรารู้ว่า การเอาใจเข้ายึดครองสิ่งที่ไม่ใช่ของเรา เหนือการควบคุม ไม่ใช่ตัวตน ปารถนาให้มันเป็นดั่งใจเราต้องการ เราย่อมไม่ได้ตามใจปารถนานั้นๆจากมันเลยนอกเสียจากทุกข์
- จะทำให้เราตัดใจได้ครับ
บันทึกการเข้า
เกียรติคุณ
ผู้ปฏิบัติธรรม
*****

พลังความดี : 65


เพศ: ชาย
อายุ: 46
กระทู้: 958
สมาชิก ID: 841


« ตอบ #389 เมื่อ: พฤษภาคม 27, 2022, 12:49:49 AM »

Permalink: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
อานันทสูตรที่ ๑

       ● ว่าด้วยปัญหาของพระอานนท์
(#สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว #ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ #สติปัฏฐาน ๔ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว #ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ #โพชฌงค์ ๗ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว #ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์.)

 [๑๓๘๐] พระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ #ธรรมอย่างหนึ่งอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว #ย่อมยังธรรม ๔ ข้อ
#ให้บริบูรณ์ ธรรม ๔ ข้ออันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว #ย่อมยังธรรม ๗ #ข้อให้บริบูรณ์
ธรรม ๗ ข้อ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว #ย่อมยังธรรม ๒ #ข้อให้บริบูรณ์ มีอยู่หรือ
หนอ?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า #มีอยู่ อานนท์.

[๑๓๘๑] อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ธรรมอย่างหนึ่งอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังธรรม ๔ ข้อให้บริบูรณ์ ธรรม ๔ ข้อให้บริบูรณ์ ธรรม ๔ ข้อ ... ธรรม ๗ ข้อ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังธรรม ๒ ข้อให้บริบูรณ์เป็นไฉน ?
     พ. ดูกรอานนท์ ธรรมอย่างหนึ่ง คือ #สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว #ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ #สติปัฏฐาน ๔ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว #ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ #โพชฌงค์ ๗ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว #ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์.

 ● [๑๓๘๒] ดูกรอานนท์ ก็สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ ?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว
หรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า จักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก
ย่อมรู้ชัดว่า จักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า
ในสมัยใด ภิกษุเมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น
หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น
ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจเข้า
ในสมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเรากล่าวกายอันหนึ่ง ในบรรดากายทั้งหลาย ซึ่งได้แก่ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า      
เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ ในสมัยนั้น #ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ #พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้.

 [๑๓๘๓] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า
จักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติหายใจออก หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักเป็นผู้กำหนดรู้สุขหายใจออก ... หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขารหายใจออก ... หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจออก ... หายใจเข้า
ในสมัยนั้น #ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ข้อนั้น เพราะเหตุไร?

[๑๓๘๔] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า
จักเป็นผู้กำหนดรู้จิตหายใจออก ... หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้บันเทิงหายใจออก ... หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักตั้งจิตมั่นหายใจออก ... หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจออก  ...
หายใจเข้า
ในสมัยนั้น #ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติพึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเราไม่กล่าวซึ่งการเจริญ
สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ สำหรับผู้มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้นแหละ
อานนท์ ในสมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติพึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้.

 [๑๓๘๕] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด
ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า #จักพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออก ... หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาเห็นโดยความคลาย
กำหนัดหายใจออก ... หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาเห็นโดยความดับหายใจออก  ...หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก ... หายใจเข้า
ในสมัยนั้น #ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัด
อภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ เธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสนั้นด้วยปัญญา จึงวางเฉย
เสียได้เป็นอย่างดี

เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ ในสมัยนั้น #ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้.

 [๑๓๘๖] ดูกรอานนท์ สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ #ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์.

 ●● [๑๓๘๗] ดูกรอานนท์ ก็สติปัฏฐาน ๔ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร #ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์?  
     ในสมัยใด ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่
ในสมัยนั้น #สติของเธอย่อมตั้งมั่น ไม่หลงลืม ในสมัยใด สติของภิกษุตั้งมั่น ไม่หลงลืมในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ ในสมัยนั้น #สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ ในสมัยนั้น เธอมีสติอยู่อย่างนั้นย่อมค้นคว้าพิจารณาสอดส่องธรรมนั้นด้วยปัญญา.

[๑๓๘๘] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด ภิกษุมีสติอยู่อย่างนั้น #ย่อมค้นคว้าพิจารณาสอดส่องธรรมนั้นด้วยปัญญา ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ในสมัยนั้น #ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ เมื่อเธอค้นคว้าพิจารณาสอดส่องธรรมนั้นด้วยปัญญา เป็นอันชื่อว่า ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน

 [๑๓๘๙] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด #เมื่อภิกษุค้นคว้าพิจารณาสอดส่องธรรมนั้นด้วยปัญญา เป็นอันชื่อว่า ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ในสมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ #วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ ปีติอันหาอามิสมิได้ ย่อมเกิดแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียร.

 [๑๓๙๐] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด #ปีติอันหาอามิสมิได้ ย่อมเกิดแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียร ในส้มยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ #ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ แม้กายของภิกษุผู้มีใจเอิบอิ่มด้วยปีติก็ย่อมสงบ แม้จิตก็ย่อมสงบ.

 [๑๓๙๑] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด #แม้กายของภิกษุผู้มีใจเอิบอิ่มด้วยปีติก็ย่อมสงบ แม้จิตก็ย่อมสงบ ในสมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ #ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ จิตของภิกษุผู้มีกายสงบ มีความสุข ย่อมตั้งมั่น.

 [๑๓๙๒] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด #จิตของภิกษุผู้มีกายสงบ มีความสุข ย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว #ภิกษุย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ เธอย่อมเพ่งดูจิตซึ่งตั้งมั่นอย่างนั้นอยู่ด้วยดี.

 [๑๓๙๓] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด #ภิกษุย่อมเพ่งดูจิตซึ่งตั้งมั่นอย่างนั้นอยู่ด้วยดี ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว #ภิกษุย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ.

 [๑๓๙๔] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา ... เห็นจิตในจิต ... เห็นธรรมในธรรม ในสมัยนั้น สติของเธอย่อมตั้งมั่น ไม่หลงลืม.

 [๑๓๙๕] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด สติของภิกษุย่อมตั้งมั่น ไม่หลงลืม ในสมัยนั้น #สติสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สติสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ (พึงขยายเนื้อความให้พิสดารเหมือนสติปัฏฐานข้อต้น)
เธอย่อมเพ่งดูจิตซึ่งตั้งมั่นอย่างนั้นอยู่ด้วยดี.

 [๑๓๙๖] ดูกรอานนท์  #ในสมัยใด ภิกษุย่อมเพ่งดูจิตซึ่งตั้งมั่นอย่างนั้นอยู่ด้วยดี #ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ.

 [๑๓๙๗] ดูกรอานนท์ สติปัฏฐาน ๔ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์.

 [๑๓๙๘] ดูกรอานนท์ #ก็โพชฌงค์ ๗ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร #ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์ ?

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์  ...
วิริยสัมโพชฌงค์ ... ปีติสัมโพชฌงค์ ... ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ... อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ดูกรอานนท์ โพชฌงค์ ๗ อันภิกษุเจริญ
แล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์.
            จบ สูตรที่ ๓
          
 
พระไตรปิฎกไทย (ฉบับหลวง)
เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๓๓๕-๓๓๙
 ข้อที่ ๑๓๘๐-๑๓๙๘
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 24 25 [26] 27 28 ... 31  ทั้งหมด   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


บทความและไฟล์ภาพ ในเว็บไซต์แห่งนี้อาจนำมาจากเว็บไซต์อื่นๆ ที่ทีมงานคิดว่ามีประโชยน์ต่อผู้อ่าน โดยให้ผู้อ่านเกิดควมบันเทิง และให้ความรู้ โดยที่เราจะให้เครดิตทุกครั้งที่นำมา หากไฟล์ภาพหรือบทความใด ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ต้องการให้นำมาแสดง โปรดแจ้งมาที่ tumcomputer@hotmail.com ทางทีมงานจะได้นำบทความนั้นออกทันที ขอบคุณครับ


เว็บนี้จัดทำโดย นายสุรัตน์ ศรลัมภ์ และครอบครัว อุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวร และผู้มีพระคุณ

HTML Hit Counters
Powered by SMF 1.1.17 | Simple Machines|Copyright © 20010 BY : thammaonline.com
บทความธรรมะรวมเรื่องกฏแห่งกรรมสมาธิ วิปัสนากรรมฐานพลังจิตกระดานถาม-ตอบ Sitemap

Google มาเยี่ยมเว็บเมื่อ เมษายน 11, 2024, 03:53:45 AM