เมษายน 19, 2024, 10:37:08 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา  (อ่าน 13919 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เด็กหน้าวัด
เด็กใหม่
นักบุญผู้ใจดี
*****

พลังความดี : 696


เพศ: ชาย
กระทู้: 13280
สมาชิก ID: 1


« เมื่อ: ตุลาคม 01, 2010, 08:55:54 PM »

Permalink: พิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
            พิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
        วันสำคัญในทางพระพุทธศาสนา   ที่พุทธศาสนิกชนนิยมประกอบพิธีกรรม
มีการบูชาเป็นต้น  เพื่อระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยเป็นพิเศษ  แต่เดิมกำหนดไว้
๓ วัน  คือ วันวิสาขบูชา  วันอัฏฐมีบูชา  วันมาฆบูชา  ภายหลังเพิ่มวันอาสาฬหบูชา
เข้าอีกวันหนึ่ง  รวมเป็น ๔ วัน
        ๑.  วันวิสาขบูชา  คือ วันเพ็ญเดือน   ๖ แต่ในปีที่มีอธิกมาสเลื่อนไปเป็น
วันเพ็ญเดือน ๗  วันนี้นิยมว่า  เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธประสูติคล้ายวันที่
พระพุทธเจ้าตรัสรู้  และคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานซึ่งสามกาลสามสมัย
ของพระพุทธองค์ตกในวันเพ็ญเดือนวิสาขะทั้งนั้น  เหตุนั้นพุทธศาสนิกชนจึง
นิยมทำการบูชาเป็นพิเศษ  ในเมื่อวันเช่นนี้เวียนมาถึงทุก ๆ  ปีและเรียกวันนี้ว่า
วันวิสาขบูชา
        ๒.  วันอัฏฐมีบูชา  คือ วันแรม  ๘ ค่ำ เดือน ๖  หรือเดือน  ๗ นับถัดจาก
วันวิสาขบูชาไป  ๗ วัน เป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระที่เมือง
กุสินารา เป็นวันสำคัญที่ระลึกถึงพระพุทธองค์อีกวันหนึ่ง  เหตุนั้น  เมื่อถึงวันเช่นนี้
ทุก ๆ ปี พุทธบริษัทจึงนิยมทำการบูชาพิเศษอีกวันหนึ่ง  และเรียกวันนี้ว่า
วันอัฏฐมีบูชา
        ๓.  วันมาฆบูชา  คือ วันเพ็ญเดือน  ๓ ถ้าปีในมีอธิกมาส ปีนั้นเลื่อนไป
เป็นวันเพ็ญเดือน  ๔ วันนี้นิยมว่า  คล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปติโมกข์
อันเป็นหลักการของพระพุทธศาสนา เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวเท่านั้น  ในท่ามกลาง
พระอริยสงฆ์จำนวน  ๑,๒๕๐ องค์  ซึ่งล้วนเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ  มาประชุม
พร้อมกันโดยบังเอิญมิได้นัดหมายกันมา  ในปีแรกที่พระองค์ตรัสรู้  และเริ่ม
ประกาศพระศาสนาแล้ว เป็นเหตุการณ์ที่น่าอัศจรรย์ครั้งเดียว  และครั้งนั้นพระองค์
ก็ทรงวางหลักการของพระศาสนาในท่ามกลางสงฆ์นั้น ซึ่งเรียกว่า โอวาทปาติโมกข์
การประชุมในวันนั้นเรียกว่า  จาตุรงคสันนิบาต  เพราะเป็นการประชุมประกอบ 
 ด้วยองค์  ๔ คือ  (๑)  ภิกษุสงฆ์ที่มาประชุมจำนวน  ๑,๒๕๐ องค์  เป็นจำนวนที่
พระองค์ได้ในการมาประกาศพระศาสนาในกรุงราชคฤห์  เป็นครั้งแรกที่ตรัสรู้  ท่าน
เหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ (๒)  ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นเอหิภิกขุ
ผู้อุปสมบทมาแต่สำนักพระพุทธองค์ (๓)  ท่านเหล่านั้นไม่มีใครเชื้อเชิญ  บังเอิญ
ใจตรงกันมาประชุม  ในเวลาเดียวกันโดยลำพังตนเองและ (๔) วันที่ประชุมนั้น
เป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะด้วย เพราะวันนี้มีความสำคัญดังกล่าวนี้ภายหลังจึงเกิด
นิยมทำการบูชาพระรัตนตรัยเป็นพิเศษในวันนี้  แล้วเรียกวันนี้ว่า วันมาฆบูชา
        ๔.  วันอาสาฬบูชา  คือ วันเพ็ญเดือน  ๘ ก่อนวันเข้าปุริมพรรษา ๑ วัน
เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา  คือ เทศน์กัณฑ์แรก   ชื่อ
ธรรมจักกัปปวัตตนสูตร  โปรดพระปัญจวัคคีย์  ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันแขวงเมือง
พาราณสี  ในปีที่ตรัสรู้ใหม่  และเพราะผลของพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้  เป็นเหตุ
ให้ท่านพระโกณฑัญญะในจำนวนพระปัญจวัคคีย์  ได้ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม
เปลี่ยนลัทธิมารับนับถือศาสนา ทูลขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระพุทธองค์  เป็น
พระอริยสงฆ์องค์แรกทีเดียว  วันนี้จึงเป็นวันเกิดขึ้นแห่งสังฆรตนะอีกโสดหนึ่ง
ด้วย เหตุนั้น  วันนี้จึงนับเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งและเกิดนิยมกำการบูชาพิเศษ
ในเมื่อถึงวันเช่นนี้ทุก ๆ ปี เพิ่มขึ้นอีกเรียกวันนี้ว่า  วันอาสาฬหบูชา
        การบูชาพิเศษในวันสำคัญทั้ง ๔ นี้  ก็คือ  การเวียนเทียน  นอกเหนือไป
จากประชุมทำวัตรสวดมนต์  และฟังเทศน์ตามปรกติในวันนั้น  การเวียนเทียนนี้
คือการที่พุทธบริษัทถือดอกไม้ธูปเทียนจุดประนมมือ  เดินเวียนขวา  ที่เรียกว่า
ประทักษิณรอบปูชานียวัตถุในวัด  หรือในสถานแห่งใดแห่งหนึ่ง ๓ รอบ  ส่งใจ
ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยในขณะเดินเวียน  เสร็จแล้วนำดอกไม้ธูปเทียนนั้นปัก
บูชาปูชนีวัตถุที่เวียนนั้นเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงด้วยเครื่องสักการะ
บูชา  ในการนี้มีระเบียงปฏิบัติที่นิยม  ดังนี้
                                       ระเบียบพิธี
        พิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทั้ง ๔ วัน  มีระเบียบปฏิบัติเหมือนกันตลอด
ต่างกัน แต่คำบูชาก่อนเวียนเทียน  ซึ่งกำหนดใช้เฉพาะวันนั้นๆ 
แต่ละวันเท่านั้นระเบียบของพิธีมีอยู่ว่า  เมื่อถึงกำหนดวันสำคัญนั้น ๆ 
ให้ทางวัดประกาศให้ พุทธบริษัททราบทั่วกันทั้งชาววัดและชาวบ้านและบอกกำหนดเวลาประกอบ
พิธีด้วย  ว่าจะประกอบเวลาไหน  จะเป็นตอนบ่ายหรือตนค่ำก็ได้แล้วแต่สะดวก
        ถึงเวลากำหนด ทางวัดตีระฆังสัญญาณให้พุทธบริษัท  ทั้งภิกษุสามเณร
อุบาสกอุบาสิกาประชุมพร้อมกัน  ที่หน้าพระอุโบสถหรือพระเจดีย์  อันเป็นหลัก
ของวัดนั้น ๆ  ภิกษุอยู่แถวหน้าถัดไปสามเณร ท้ายสุดอุบาสกอุบาสิกาจะจัดให้
ชายอยู่กลุ่มชาย  หญิงอยู่กลุ่มหญิง  หรือปล่อยให้คละกันตามอัธยาศัยก็แล้วแต่
จะกำหนดทุกคนถือดอกไม้ธูปเทียนตามแต่จะหาได้และศรัทธาของตน  แต่
เทียนควรหาชนิดที่ไส้ใหญ่มีด้ายมากเส้นและเป็นเทียนขี้ผึ้งด้วยจึงจะดีเพราะ
เมื่อจุดเดินไปจะได้ไม่ดับง่ายและน้ำตาเทียนไม่หยดเลอะเทอะทำสกปรก  ควร
กะขนาดของเทียนให้จุดเดินได้จนครบ  ๓ รอบ  สถานที่ที่เดิน  ไม่หมดเสียใน
ระหว่างเดิน
        เมื่อพร้อมกันแล้ว หัวหน้าสงฆ์จุดเทียนและธูป ทุกคนจุดของตนตาม
เสร็จแล้วทุกคนถือดอกไม้ธูปเทียนที่จุดแล้วประนมมือหันหน้าเข้าหาปูชนียสถาน
ที่จะเวียนนั้น  หัวหน้าสงฆ์นำว่า  นโม...พร้อมกัน ๓ จบ  ต่อนั้นนำว่าคำถวาย
ดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ตามแบบที่กำหนดไว้สำหรับวันนั้น ๆ เป็น
คำ ๆ เฉพาะบาลีเท่านั้น (ถ้ามีโอกาสและเห็นสมควรจะว่าคำแปลด้วยก็ได้) ทุกคน
ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ว่าตามจนจบ
        ต่อนั้น  หัวหน้าสงฆ์เดินนำแถวด้วยอาการประนมมือถือดอกไม้รูปเทียน
นั้นไปทางขวามือของสถานที่ที่เวียน  คือ เดินเวียนไปทางที่มือขวาของตนหัน
เข้าหาสถานที่ที่เวียนนั้นทุกคนเดินเรียงแถวเรียง ๑-๒-๓-๔  ฯลฯ  แล้วแต่เหมาะ
เว้นระยะห่างกันพอสมควร  ตามหัวหน้าไป โดยอาการเช่นเดียวกัน  ระหว่างเดิน
เวียนรอบที่หนึ่งพึงตั้งใจระลึกถึงคุณพระพุทธคุณโดยนัยบท  อิติปิ  โส  ภควา ฯลฯ
รอบที่สองระลึกถึงพระธรรมคุณ  โดยนัยบท สฺวากฺขาโต  ภควตา  ธมฺโม ฯลฯ
และรอบที่สามระลึกถึงพระสังฆคุณโดยนัยบท  สุปฏิปนฺโน  ภควโต  สาวกสงฺโฆ
ฯลฯ ครบ  ๓ รอบแล้วนำดอกไม้ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่ที่เตรียมไว้ ต่อนั้นจึง
เข้าไปประชุมพร้อมกันในพระอุโบสถหรือวิหาร  หรือศาลการเปรียญ  แล้วแต่ที่
ทางวัดกำหนดเริ่มทำวัตรค่ำและสวดมนต์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์อย่างพิธีกรรม
วันธรรมสวนะธรรมดาเสร็จแล้วมีเทศน์พิเศษแสดงเรื่องพระพุทธประวัติและ
เรื่องที่เกี่ยวกันวันสำคัญนั้น ๑  กัณฑ์เป็นอันเสร็จพิธี  แต่ถ้าพุทธบริษัทพร้อมใจ
กันมีอุตสาหะและศรัทธาเต็มที่  จะจัดให้มีเทศน์เป็นกัณฑ์  ๆ ไป  และสวดสลับ
กันไปจนถึงกาลอันควรหรือจนตลอดรุ่งก็ได้.


แบบประกอบนักธรรมตรี - ศาสนพิธี เล่ม ๑ - หน้าที่ 23-26




บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


บทความและไฟล์ภาพ ในเว็บไซต์แห่งนี้อาจนำมาจากเว็บไซต์อื่นๆ ที่ทีมงานคิดว่ามีประโชยน์ต่อผู้อ่าน โดยให้ผู้อ่านเกิดควมบันเทิง และให้ความรู้ โดยที่เราจะให้เครดิตทุกครั้งที่นำมา หากไฟล์ภาพหรือบทความใด ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ต้องการให้นำมาแสดง โปรดแจ้งมาที่ tumcomputer@hotmail.com ทางทีมงานจะได้นำบทความนั้นออกทันที ขอบคุณครับ


เว็บนี้จัดทำโดย นายสุรัตน์ ศรลัมภ์ และครอบครัว อุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวร และผู้มีพระคุณ

HTML Hit Counters
Powered by SMF 1.1.17 | Simple Machines|Copyright © 20010 BY : thammaonline.com
บทความธรรมะรวมเรื่องกฏแห่งกรรมสมาธิ วิปัสนากรรมฐานพลังจิตกระดานถาม-ตอบ Sitemap

Google มาเยี่ยมเว็บเมื่อ เมษายน 17, 2024, 01:53:29 PM