เมษายน 23, 2024, 07:49:57 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พิธีทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ  (อ่าน 11552 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เด็กหน้าวัด
เด็กใหม่
นักบุญผู้ใจดี
*****

พลังความดี : 696


เพศ: ชาย
กระทู้: 13280
สมาชิก ID: 1


« เมื่อ: ตุลาคม 01, 2010, 08:59:29 PM »

Permalink: พิธีทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ

                                   พิธีทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ 

        วันเทโวโรหณะ  คือ  วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก  หลังจากเสด็จ
ขึ้นไปจำพรรษาอยู่ในดาวดึงสพิภพถ้วนไตรมาส  และตรัสพระอภิธรรมเทศนาโปรด
พระพุทธมารดาในเทวโลกนั้นมาตลอด ๓  เดือน  พอออกพรรษาแล้ว  ก็เสด็จกลับมา
ยังมนุษยโลก  โดยเสด็จลงทางบันไดสวรรค์ที่ประตูเมืองสังกัสสนครอันตั้งอยู่เหนือ
กรุงสาวัตถี  วันเสด็จลงจากเทวโลกนั้นเรียกกันว่า  "วันเทโวโรหณะ"  ตรงกับวัน
มหาปวารณาเพ็ญเดือน ๑๑  วันนั้น  ถือกันว่าเป็นวันบุญ  วันกุศลที่สำคัญวันหนึ่งของ
พุทธบริษัทโบราณเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  "วันพระเจ้าเปิดโลก"  รุ่งขึ้นจากวันนั้นเป็น
วันแรม  ๑  ค่ำ  เดือน  ๑๑  จึงมีการทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะกันเป็นการใหญ่  เพื่อ
เฉลิมฉลองการเสด็จลงจากเทวโลกของพระพุทธเจ้า
        เรืองราวของวันเทโวโรหณะเป็นวันพระเจ้าเปิดโลกนี้  มีเล่าไว้ในคัมภีร์
อรรถกถาธรรมบทใจความว่า
        ในสมัยมัชฌิมโพธิกาล  พระพุทธองค์ประทับประจำอยู่ที่พระนครสาวัตถี
เป็นเวลา  ๒๕  พรรษา  สมัยนั้นลาภสักการะอันเคยบริบูรณ์แก่เหล่าเดียรถีย์นิครนถ์
นักบวชนอกพระพุทธศาสนา  ได้เสื่อมถอยลงโดยลำดับกาลเวลา  เพราะประชาชน
ส่วนใหญ่หันมานับถือพระพุทธศาสนาสิ้น  เป็นเหตุให้พวกเดียรถีย์นิครนถ์ต่างพากัน
ดิ้นรนเดือดร้อย  หาทางกลั่นแกล้งและทำลายพระพุทธศาสนาโดยประการต่าง ๆ  เป็นต้น
ว่าแกล้งใส่ร้ายพระพุทธองค์บ้าง  แกล้งเบียดเบียนพระสงฆ์และพุทธบริษัทบ้าง แต่
ทุกครั้งก็ต้องแพ้ภัยตนเอง  ถึงความย่อยยับหนักเข้าทุกที  สุดท้ายพวกเดียรถีย์และสาวกของตน 
ก็คิดกลขึ้นได้อย่างหนึ่ง  อาศัยเหตุที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติห้าม
พระสาวกไม่ให้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์  โดยเข้าใจว่าพระพุทธองค์คงไม่มีการแสดง 
ปาฏิหาริย์ด้วยพระองค์เองตามที่ทรงห้ามนั้นด้วย  จึงช่วยกันป่าวข่าวว่าพระพุทธเจ้า
เหล่าพระสาวกสิ้นท่า  หมดอิทธิปาฏิหาริย์ไร ๆ  แล้ว  จึงงดการแสดง  ตรงกันข้ามกับ
เหล่าคณาจารย์เดียรถีย์ซึ่งมีปาฏิหาริย์อบรมมั่นคงเต็มที่พร้อมอยู่เสมอ  จะแสดงให้
ปรากฏเมื่อไรได้ทุกเมื่อ  ถ้าไม่เชื่อก็เชิญพระพุทธเจ้ามาแสดงปาฏิหาริย์แข่งกันดูว่า
ใครจะเก่งกาจสามารถกว่าใคร
        คำโฆษณาท้าทายทำนองนี้ได้แพร่หลายสะพัดไปทั่ว  ผู้ไม่รู้ความจริงจนถึง
แก่นของพระพุทธศาสนา  ต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ทั่วไปทุกหัวระแหง  พระเดียรถีย์
เห็นพระพุทธองค์และพระพุทธสาวกเงียบเฉยไม่ทรงแสดงอาการอย่างไรในการโฆษณา
ชวนเชื่อของตนก็ได้ใจยิ่งโฆษณาทับถมใหญ่  หาว่าพระพุทธองค์ไม่สามารถจริงแน่แล้ว
จึงไม่กล้ารับคำท้าแสดงปาฏิหาริย์แข่งกัน  พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า  เรื่องนี้เป็นเรื่อง
สำคัญยิ่งถ้าทรงนิ่งต่อไป  ผลร้ายจะเกิดแก่พระศาสนาของพระองค์แน่  จึงรับสั่งว่า
พระองค์จะแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่ควงไม้มะม่วง  ในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ  คือเดือน  ๘
ก่อนถึงวันเข้าพรรษาปีนั้น  ๑  วัน  พวกเดียรถีย์ไม่คาดฝันว่าพระพุทธองค์จะกลับทรง
แสดงปาฏิหาริย์อีกเช่นนั้น ต่างพากันตะลีตะลานวางอุบายแกล้งจะไม่ให้พระพุทธองค์
ทรงแสดงตามที่รับสั่งได้  แล้วตนจะถือโอกาสข่มว่าพระองค์ไม่จริงตามพูดจึงแบ่งกัน
เป็นพวก ๆ  ออกไปเที่ยวกำจัดและทำลายต้นมะม่วงไม่ว่าต้นเล็กต้นใหญ่ให้สิ้นไปจน
ทั่วแขวงพระนครสาวัตถีพวกหนึ่ง  ช่วยกันสร้างมณฑปสูงใหญ่ขึ้นในวัดของพวกตน
พวกหนึ่ง  อีกพวกหนึ่งออกเที่ยวโฆษณาให้ประชาชนไปชมการแสดงปาฏิหาริย์ของตน
ในวันเพ็ญเดือนอาสฬหะเช่นกัน  และให้คอยชมความล้มเหลวของพระพุทธเจ้าใน
วันนั้นด้วย
        ขณะที่พวกเดียรถีย์ดำเนินการดังกล่าวนี้  ฝ่ายพระพุทธองค์หาทรงตระเตรียม
หรือทรงเดือดร้อนต่อคำโฆษณาแต่อย่างใดไม่  คงสงบเงียบเป็นปรกติมาจนถึงวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ
  อันเป็นวันกำหนดนัดแสดงปาฏิหาริย์ตอนเช้าได้เกิดพายุใหญ่ขึ้นในพระนครสาวัตถี
  พายุพัดมณฑปของพวกเดียรถีย์พังพินาศลงสิ้นจนหาชิ้นดีไม่ได้
และในตอนเช้าวันนั้น  พระพุทธองค์ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะทรงแสดงพระปาฏิหาริย์ตาม 
รับสั่งแต่ประการใด  ตกตอนบ่าย  มีคนเฝ้าสวนหลวงของพระเจ้าปัสเสนทิโกศล  ชื่อ
นายคัณฑะ  นำผลมะม่วงทะวายที่หลงตาอยู่ผลหนึ่งจะไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินได้พบ
พระพุทธองค์ก่อน  เกิดความเลื่อมใสศรัทธาจึงน้อมผลมะม่วงสุกนั้นถวายพระพุทธองค์
เมื่อพระพุทธองค์ทรงรับแล้ว  ตรัสสั่งให้พระอานนท์เถระพุทธอุปัฏฐากจัดทำน้ำปานะ
ด้วยผลมะม่วงนั้นถวายและได้นำเมล็ดวางลงบนพื้นดินทรงนั้นทรงแันน้ำปานะเสร็จแล้ว
ทรงล้างพระหัตถ์ให้น้ำตกลงบนเมล็ดมะม่วงนั้น  ทันทีก็เกิดปาฏิหาริย์เมล็ดมะม่วง
นั้นได้งอกออกเป็นมะม่วงต้นสูงใหญ่ขึ้นในปัจจุบันทันใด  พระพุทธองค์จึงรับสั่งว่า
จะทรงแสดงปาฏิหาริย์ที่ต้นมะม่วงต้นนี้
        พอข่าวแพร่ไปได้ไม่เท่าไรมหาชนก็พากันมาประชุมเนื่องแน่นแม้แต่พระ
เจ้าปัสเสนทิโกศลและเหล่าเสนาข้าราชการก็เสด็จและมา  พระพุทธองค์จึงทรงเริ่ม
แสดงพระปาฏิหาริย์
        ทรงบันดาลให้เกิดช่อไฟและท่อน้ำแล่นเป็นคู่สลับกันในอากาศโดยรอบ
บริเวณต้นมะม่วงนั้นแล้วทรงเนรมิตพระพุทธนิมิตมีพระพุทธลักษณะเหมือนพระ-
พุทธองค์ทุกประการขึ้นองค์หนึ่ง  ให้เป็นคู่กับพระพุทธองค์ทรงเปล่งพระฉันพรรณ-
รังสีกระจายออกทั่วบริเวณจับช่อไฟและธารน้ำ  ซึ่งแล่นอยู่นั้น  บังเกิดเป็นสีรุ่งงามระยับ
ทั่วไป   ทรงแสดงธรรมและทรงจงกรมสลับกันกับพระพุทธนิมิตเมื่อพระพุทธองค์
บนต้นพระพุทธนิมิตก็กลับลงมาประทับที่โคนต้นแทน   สลับกันอยู่เช่นนี้ตลอดเวลา
ปรากฏว่ามหาชนพากันกราบไหว้บูชาสรรเสริญพระพุทธคุณกันทั่ว
        การแสดงพระปาฏิหาริย์เป็นคู่ ๆ  ดังกล่าวนี้  จึงเรียกว่า  "ยมกปาฏิหาริย์"
มีครั้งเดียว  คือครั้งนี้เท่านั้น  เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก  ครั้นมหาชนได้ทราบความจริงทุกประการ 
ว่าพระพุทธองค์มีพระปาฏิหาริย์บันดาลได้เสมอ  กันพากันสมน้ำหน้าและสาปแช่งเหล่าเดียรถีย์ที่โฆษณาทับถม
พระพุทธองค์จนตนเองต้องย่อยยับลงในครั้งนี้
        ครั้งรุ่งขึ้นจากวันทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์นั้นก็เป็นวันแรมค่ำหนึ่งเดือน 
อาสาฬหะ   ถึงกำหนดจำพรรษา  พระพุทธองค์ทรงประกาศแก่พุทธบริษัทในที่นั้นว่า
พระองค์จะขึ้นไปจำพรรษาในดาวดึงสพิภพตามธรรมเนียมของอดีตพระพุทธเจ้า
ทั้งหลาย  ทรงร่ำลาพุทธบริษัทแล้วก็เสด็จจากไป  เป็นที่อาลัยแก่พุทธบริษัททั่วหน้า
พวกที่ศรัทธาแรงกล้าถึงกลัยยอมลำบากยับยั้งรอท่าพระพุทธองค์อยู่ในที่นั้น  จนกว่า
พระพุทธองค์จะเสด็จกลับโดยไม่ยอมกลับบ้านของตนก็มีจำนวนไม่น้อย
        ครั้งถึงวันมหาปวารณา  เพ็ญเดือน  ๑๑  พระพุทธองค์ก็เสด็จกลับโดยที่
ขบวนเทพดามีท้าวสักกเทวราชเป็นประธาน  ตามส่งเสด็จทางบันไดสวรรค์ลงที่ประตู
เมืองสังกัสสนคร  และเพราะพระพุทธานุภาพบันดาลในการเสด็จลงจากเทวโลกคราว
นั้น  ตำนานกล่าวว่า  มนุษย์และเทวดา  กับบรรดาสัตว์นรกทั่วไปต่างมองเห็นกายของ
กันและกันปรากฏชัด  วันนั้นโทษกรรมกรณ์ในนรกระงับชั่วคราวจึงเป็นวันสงบ
เยือกเย็นของโลกทั้ง  ๓  ฉะนั้นจึงเรียกว่า  "วันพระเจ้าเปิดโลก"  และในการเสด็จ
ลงจากเทวโลกในวันนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดเทวดาและมนุษย์  โดย
ตรัสถามปัญหาในวิสัยของบุคคลต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา  นำมาซึ่งมรรคผลนิพพาน
แก่ประชาสัตว์จนนับไม่ถ้วน
        เช้าวันรุ่งขึ้น   พุทธบริษัทจึงพร้อมใจกันใส่บาตร  แด่พระสงฆ์ที่มีอยู่ทั้งหมด
ในที่นั้นกับทั้งพระพุทธองค์ด้วยโดยไม่ได้นัดหมายกันก่อนเลยภัตตาหารที่ถวายใน
วันนั้น  ส่วนใหญ่เป็นเสบียงกรังของตน ๆ  ตามมีตามได้  ปรากฏว่าการใส่บาตรวันนั้น
แออัดมาก  ผู้คนเข้าไม่ถึงพระ  จึงเอาข้าวสาลีของตนห่อบ้าง  ทำเป็นปั้น ๆ  บ้าง แล้วโยน
เข้าไปถวายพระ  นี่เองจึงเป็นเหตุหนึ่งที่นิยมทำข้าวต้มลูกโยนเป็นส่วนสำคัญของการ
ตักบาตรเทโวโรหณะเป็นประเพณีต่อมาในภายหลัง  เห็นจะเพื่อรักษาจารีตที่ปรากฏึ้นในวันนั้น 
พุทธบริษัทในภายหลัง  จึงนิยมสืบ ๆ  กันมาจนเป็นประเพณีว่าถึงวันแรม  ๑  ค่ำ  เดือน  ๑๑  ทุก ๆ  ปี
  ควรทำบุญตักบาตรให้เหมือนครั้งดั้งเดิม  เรียกกันว่า
ตักบาตรเทโวโรหณะ  จนทุกวันนี้ 
        สำหรับพิธีตักบาตรเทโวโรหณะ  ที่นิยมกันทั่วไปในปัจจุบันนี้  จัดทำขึ้น
ในวัด  เป็นหน้าที่ของทางวัดนั้น ๆ  และทายกทายิการ่วมกันจัด  มีระเบียบดังต่อไปนี้


                                                ระเบียบพิธี
        ๑.  ก่อนถึงวันแรม ๑  ค่ำ  เดือน  ๑๑  ซึ่งเป็นกำหนดวันทำบุญตักบาตร
ทางวัดจะจัดให้มีงานทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ  จะต้องเตรียม  คือ
        ก)  รถทรงพระพุทธรูป  หรือคานหามพระพุทธรูป  เพื่อชักหรือหามนำ
              หน้าพระสงฆ์ในการรับบาตร  มีที่ตั้งพระพุทธรูปทรงกลางประทับรถ
              หรือคานหามด้วยราชวัติ  ฉัตร  ธงโดยรอบพอสมควรมีที่ตั้งบาตร
              สำหรับรับบิณฑบาตตรงหน้าพระพุทธรูปด้วย  ส่วนตัวรถ  หรือคานหาม
              จะประดับประดาให้วิจิตรพิสดารอย่างไรแล้วแต่ศรัทธา  และกำลังที่
              จะพึงจัดได้  ถ้ามีสามารถจัดรถทรงหรือคานหาม  จะใช้อุบาสกเป็นผู้
              เชิญพระพุทธรูปก็ได้  และมีผู้ถือบาตรตามสำหรับบิณฑบาต
        ข)  พระพุทธรูปยืน  ๑  องค์  จะเป็นขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ได้  แล้วแต่จะมี
              หรือหาได้  สำหรับเชิญขึ้นประดิษฐานบนรถทรงหรือคานหามแล้ว
              ชักหรือหามนำขนวนรับบาตรเทโวโรหณะนั้น  แทนองค์สมเด็จพระ-
              สัมมาสัมพุทธเจ้า  ถ้าได้พระปางอุ้มบาตรเป็นเหมาะกับเหตุการณ์ที่ดี
              ที่สุด  แต่ถ้าไม่มีพระปางอุ้มบาตร  จะใช้พระปางห้ามญาติ   ปางห้ามสมุทร
             ปางรำพึง  ปางถวายเนตร  หรือปางลีลา  ปางใดปางหนึ่งก็ได้  ขอแต่ให้
  เป็นพระพุทธรูปยืนเท่านั้น              ค)  เตรียมสถานที่ให้ทายกทายิกาตั้งเครื่องใส่บาตรโดยจะจัดลานวัดหรือ
        บริเวณรอบ ๆ  โรงอุโบสถ  เป็นที่กลางแจ้งแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้  จัดให้
        ตั้งเป็นแถวเป็นแนวเรียงรายติดต่อกันไปเป็นลำดับ ๆ  ถ้าทายกทายิกา
        ไม่มากนัก   จัดแถวเดียวให้นั่งใส่อยู่ด้านเดียวกันทั้งหมด  แต่ถ้ามาก
        จะจัดเป็น  ๒  แถวให้นั่งหันหน้าเข้าหากัน  เว้นช่องกลางระหว่างแถว
        ทั้ง ๒  ไว้สำหรับพระเดินรับบิณฑบาตพอสมควรก็ได้
    ฆ)  แจ้งกำหนดการต่าง ๆ  ให้ทายกทายิกาทราบล่วงหน้าก่อนว่าจะกำหนด
        ให้ทำบุญตักบาตรพร้อมกันเวลาเท่าไร  บางแห่งจัดให้มีพระธรรมเทศนา
        อนุโมทนาทาน  หลังจากพระรับบาตรและฉันเสร็จแล้ว  ๑  กัณฑ์ด้วย
        โดยทางวัดจัดเพิ่มขึ้นเอง  และบางแห่งทายกทายิกามีศรัทธาแรงกล้า
        ขอให้ทางวัดจัดให้มีเทศน์ปุจฉาวิสัชนาในตอนบ่ายอีก  ๑  กัณฑ์  ก็มี
        ถ้าจะมีเทศน์อย่างไร  ต่อจากทำบุญตักบาตรนี้  ก็ต้องแจ้งกำหนดให้
        ทราบทั่วกันก่อนเช่นกัน  การเทศน์อนุโมทนาทานกัณฑ์เช้าเป็นหน้าที่
        ของเจ้าอาวาสวัดนั้น ๆ  หรือจะมอบหมายให้ภิกษุผู้สามารถรูปใดเทศน์
        แทนก็ได้แต่การเทศน์ปุจฉาวิสัชนาถ้ามีในตอนบ่ายเป็นเรื่องที่ทายก-
        ทายิกาจะพึงขวนขวายกันเอง  แต่ทางวัดก็ต้องอำนวยความสะดวก
        และจัดการให้ตามศรัทธาของทายกทายิกาด้วย  จะถือว่าไม่ใช่ธุระ
        ของวัดย่อมไม่ควร
    ๒.  สำหรับ  ทายกทายิกาผู้ศรัทธาจะทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ  เมื่อทราบ
กำหนดจากทางวัดแล้ว  จะต้องตระเตรียมและดำเนินการดังนี้

    ก)  เตรียมภัตตาหารสำหรับใส่บาตรตามศรัทธา  ของใส่บาตรนอกจากข้าว
        เครื่องคาวหวานจัดเป็นห่อเป็นที่สำหรับใส่รูปหนึ่ง ๆ ตามธรรมเนียม   แล้ว 
ยังมีสิ่งหนึ่งซึ่งถือเป็นประเพณีจะขาดเสียมิได้ในงานทำบุญ        ตักบาตรเทโวโรหณะนี้ 
คือ  ข้าวต้มลูกโยน  เพราะถือกันว่า เป็น
        สัญญลักษณ์ของงานนี้โดยเฉพาะจากเรื่องราวที่เล่ามาแล้วในตอนต้น 
        ฉะนั้น งานนี้จะเรียกว่าเป็นงานทำบุญตักบาตรข้าวต้มลูกโยน  ก็เห็น
        จะไม่ผิด  จึงจำเป็นต้องเตรียมของสิ่งนี้ไว้ใส่บาตรด้วย
    ข)  ถึงกำหนดนัดในวันนั้น  ก็นำเครื่องใส่บาตรทั้งหมดไปตั้งใส่ที่วัดตาม
        ที่ทางวัดจัดเตรียมให้  รอจนขบวนพระมาถึงตรงหน้าตนจึงใส่บาตร
        ให้ใส่ตั้งแต่พระพุทธรูปในรถหรือคานหามที่นำหน้าพระสงฆ์ไปเป็น
        ลำดับ  จนหมดพระสงฆ์รับ  หรือหมดของที่เตรียมมา
    ค)  เมื่อใส่บาตรแล้ว  ก็เป็นอันเสร็จพิธี  แต่ถ้าจัดให้มีเทศน์ด้วย และ
        ศรัทธาจะแสวงบุญจากการฟังธรรมต่อ   จะรออยู่ที่วัดจนถึงเวลาเทศน์
        หรือจะกลับบ้านก่อนซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลวัดนัก  แล้วมาฟังเทศน์เมื่อถึง
        เวลาเทศน์ก็ได้ตามแต่อัธยาศัย

        ๓.  สำหรับภิกษุสามเณรผู้เข้ารับบาตรในพิธีทำบุญเทโวโรหณะนี้ถ้างาน
จัดขึ้นในบริเวณวัด  พึงครองผ้าแบบลดไหล่อุ้มบาตรทุกรูปตามธรรมเนียมของวัด
แต่ถ้าเป็นงานจัดขึ้นนอกบริเวณวัด  พึงครองผ้าตามนิยมแบบออกบิณฑบาตนอกวัด
ให้ชักแถวเดิน  มีรถทรงหรือคานหามพระพุทธรูปนำหน้าแถว  รับไปตามลำดับผู้ใส่ที่ถึง
ตรงหน้าตน   จนครบหรือจนเต็มบาตรจึงแยกแถวกลับกุฏิก็เป็นอันเสร็จพิธีรับบาตร
        ส่วนพิธีมีเทศน์ต่อ  พึงปฏิบัติตามระเบียบพิธีมีพระธรรมเทศนาซึ่งจะ
กล่าวข้างหน้า.

แบบประกอบนักธรรมโท - ศาสนพิธี เล่ม ๒ - หน้าที่ 38 -4




บันทึกการเข้า
EmmaMiaMi
เด็กใหม่
*****

พลังความดี : 0


เพศ: ชาย
อายุ: 2
กระทู้: 2
สมาชิก ID: 3286


เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: มิถุนายน 14, 2021, 12:27:02 PM »

Permalink: พิธีทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ
 ยิ้มเท่ห์ ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


บทความและไฟล์ภาพ ในเว็บไซต์แห่งนี้อาจนำมาจากเว็บไซต์อื่นๆ ที่ทีมงานคิดว่ามีประโชยน์ต่อผู้อ่าน โดยให้ผู้อ่านเกิดควมบันเทิง และให้ความรู้ โดยที่เราจะให้เครดิตทุกครั้งที่นำมา หากไฟล์ภาพหรือบทความใด ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ต้องการให้นำมาแสดง โปรดแจ้งมาที่ tumcomputer@hotmail.com ทางทีมงานจะได้นำบทความนั้นออกทันที ขอบคุณครับ


เว็บนี้จัดทำโดย นายสุรัตน์ ศรลัมภ์ และครอบครัว อุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวร และผู้มีพระคุณ

HTML Hit Counters
Powered by SMF 1.1.17 | Simple Machines|Copyright © 20010 BY : thammaonline.com
บทความธรรมะรวมเรื่องกฏแห่งกรรมสมาธิ วิปัสนากรรมฐานพลังจิตกระดานถาม-ตอบ Sitemap

Google มาเยี่ยมเว็บเมื่อ เมษายน 09, 2024, 11:50:23 AM