เมษายน 19, 2024, 06:49:12 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เทวธรรมชาดก  (อ่าน 10081 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เด็กหน้าวัด
เด็กใหม่
นักบุญผู้ใจดี
*****

พลังความดี : 696


เพศ: ชาย
กระทู้: 13280
สมาชิก ID: 1


« เมื่อ: มกราคม 30, 2012, 11:07:26 AM »

Permalink: เทวธรรมชาดก
 เทวธรรมชาดก 

[เทว-วะ-ทำ-มะ-ชา-ดก]

ชาดกว่าด้วยความเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ

หัวข้อประจำเรื่องสถานที่ตรัสชาดก สาเหตุที่ตรัสชาดก เนื้อหาชาดก ประชุมชาดก ข้อคิดจากชาดก อธิบายศัพท์ พระคาถาประจำชาดก

สถานที่ตรัสชาดก
เชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี
สาเหตุที่ตรัสชาดก

 ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล มี กุฎุมพี ผู้หนึ่งเป็นคนเจ้าสำรวย รักสวยรักงาม และเห็นแก่ความ สะดวกสบาย จนน่าระอา วันหนึ่ง เขามีโอกาสได้ฟัง พระพุทธโอวาท อันไพเราะจับใจ ประกอบด้วย เหตุและผล ลุ่มลึกไปตามลำดับ บังเกิดความ เลื่อมใส ศรัทธา เปี่ยมล้น ใคร่จะสละ เหย้าเรือน ออกบวช เช่น เพื่อนบ้านบ้าง แต่ติดขัดด้วย เรื่องครอบครัว จนกระทั่ง ต่อมาไม่นานนัก เมื่อภรรยาเสียชีวิตลง จึงได้ออกบวช แต่โดยเหตุ ที่มีนิสัย เจ้าสำรวย มาแต่ต้น ดังนั้น ก่อนจะออกบวช ได้จัดแจงให้ ข้าทาสบริวาร ไปช่วยกันสร้าง กุฏิ หลังงาม ขนาดใหญ่ ใช้วัสดุก่อสร้าง ชั้นดี เตรียมไว้ หลังหนึ่ง ที่เชตวันมหาวิหาร
โดยวินัยพุทธบัญญัติแล้ว ถ้าพระภิกษุรูปใด ปรารถนาจะสร้างกุฏิอยู่เอง จะต้องสร้างเป็น กุฏิขนาดเล็ก มีขนาด กว้างยาว เท่าที่กำหนด เพียงอาศัยอยู่ได้ ลำพัง ๆ ก็พอแล้ว ห้ามสร้างใหญ่โต เกินกว่านั้นเป็นอันขาด แต่ถ้าต้องการกุฏิ ขนาดใหญ่กว่าที่กำหนด จะต้องหา เจ้าภาพ มาสร้างให้ ห้ามสร้างเอง โดยเด็ดขาด เนื่องจาก กุฏุมพีผู้นี้ รู้พระวินัยอยู่บ้าง จึงรีบสร้างกุฏิ เตรียมไว้ก่อน อีกทั้งยังสร้าง โรงไฟ และโรงครัว ไว้เก็บตุนอาหาร อีกด้วย แม้เครื่องนุ่งห่ม เช่น สบง จีวร ฯลฯ ก็จัดเตรียมไว้หลายชุด เพื่อผลัดเปลี่ยน ได้ตามใจชอบ ดังนั้น หลังจากบวชแล้ว ท่านจึงมี บริขาร ต่าง ๆ สะสมไว้จนล้นกุฏิ เท่านั้นไม่พอ ยังเรียก คนรับใช้เก่า มาคอยติดตาม ปรนนิบัติ นวดมือ นวดเท้า ประกอบอาหารให้ฉัน ตามใจชอบ เช่นเดียวกับ ฆราวาสอีกด้วย

 วันหนึ่ง ขณะที่ท่านกำลังสาละวนขนสบง จีวร สังฆาฏิ เป็นสำรับ ๆ และเครื่องนุ่งห่มอื่น ๆ ที่มีอยู่มากมาย เป็น กองพะเนิน ออกมาตาก ที่หลังกฏิ นั้น เพื่อนพระภิกษุกลุ่มหนึ่ง ผ่านมาเห็นเข้า จึงกล่าวตำหนิว่า

"พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพุทธานุญาตจำกัดให้ พระภิกษุมีเพียงผ้าสามผืน คือ สบง จีวร และสังฆาฏิ ไว้ใช้นุ่งห่มเท่านั้น เพื่อฝึกความ เป็นผู้มักน้อย แต่ท่านกลับมักมาก สะสมบริขารไว้ มากมายล้นเหลือ ช่างไม่เป็นการ สมควร เลย" แล้วก็นำตัวพระภิกษุเจ้าสำรวยรูปนี้ ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า

 พระบรมศาสดา ครั้นทรงซักถามได้ความตามเป็นจริงแล้วก็ทรงตำหนิซ้ำอีกว่า

"ดูก่อน ภิกษุ ในศาสนาของเรานี้ ล้วนสรรเสริญคุณ ของความเป็นผู้มักน้อย สันโดษ รักสงบ และการปรารภ ความเพียร เผาผลาญ กิเลส ให้สิ้นไป มิใช่หรือ แล้วทำไมเธอ จึงไม่เชื่อฟัง กลับทำในสิ่งที่ไม่ควร สะสมบริขารไว้ มากมายถึงปานนี้"
พระภิกษุเจ้าสำรวยได้ยินดังนั้น แทนที่จะสำนึกผิด กลับเกิดโทสะพลุ่งพล่าน แสดงอาการฮึดฮัด กล่าว ประชดประชัน พระพุทธองค์ขึ้นว่า

"ถ้าเช่นนั้น ต่อไปนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจะบวชอยู่ในศาสนานี้ โดยนุ่งแต่เพียงผ้าสบงผืนเดียว อย่างนี้เท่านั้น" ว่าแล้ว ก็สลัดจีวร ที่ห่มทิ้งเสีย ยืนเปลือยอก อยู่ท่ามกลางหมู่สงฆ์ 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มิได้ทรงถือโทษ กลับทรงพระกรุณา ระลึกชาติหนหลัง ด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ ตรัส เตือนสติด้วย พระสุรเสียง อันกังวาน นุ่มนวลว่า

"ดูก่อน ภิกษุ เมื่อชาติปางก่อนโน้น เธอเคยเกิดเป็นผีเสื้อน้ำ ต้องเสียเวลา ท่องเที่ยวแสวงหา เทวธรรม คือ หิริ โอตตัปปะ ด้วยความ ลำบาก ยากแค้น แสนสาหัส ถึงสิบสองปี จึงพบ บัดนี้เธอได้มาบวชอยู่ในพระศาสนา ที่สอนให้มี เทวธรรม ตั้งแต่ต้นแล้ว แต่เธอกลับ ละทิ้งเทวธรรม จะหาความละอายบาป กลัวบาป แม้แต่น้อยมิได้ ถึงกลับมายืน เปลือยอก ประชดประชันเรา เช่นนี้ สมควรแล้วหรือ"   

 พระภิกษุรูปนั้นได้ฟังพระพุทธดำรัส อันไพเราะจับใจ เปี่ยมล้นด้วยพระกรุณา มิได้ทรงถือโทษแต่ประการใด ก็ได้สติ รีบหยิบจีวรขึ้นมา ห่มใหม่ กราบถวายบังคมอยู่ แทบพระยุคลบาท ขอพระราชทานอภัยโทษ แล้วนั่งอยู่ในที่อันควร

ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลอาราธนา พระผู้มีพระภาคเจ้า ให้ทรงเล่าเรื่องการแสวงหาเทวธรรม ในอดีตชาติของ พระภิกษุรูปนั้น พระองค์จึงทรงแสดง เทวธรรมชาดก ดังนี้ 

เนื้อหาชาดก

 ในอดีตกาล สมัยพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติ ณ กรุงพาราณสี ในครั้งนั้น พระอัครมเหสี ทรงมีพระราชโอรส พระองค์แรก ทรงพระนามว่า มหิสสาสกุมาร ครั้นมหิสาสกุมารทรงเจริญวัย พอวิ่งเล่นไปมาได้แล้ว พระนางก็ทรงมี พระราชโอรส องค์ที่สอง ทรงพระนามว่า จันทกุมาร แต่พระนางสร้างสม บุญมาน้อย จึงเสด็จสวรรคตตั้งแต่ พระราชโอรส ยังทรงพระเยาว์ 

พระเจ้าพรหมทัตทรงมีมเหสีใหม่ และทรงโปรดปรานมาก ต่อมา เมื่อพระนางทรงมี พระราชโอรสองค์หนึ่ง ทรง พระนามว่า สุริยกุมาร พระราชา ทรงปลาบปลื้มพระทัยอย่างยิ่ง ถึงกับออกพระโอษฐ์ พระราชทานพรแก่ พระราชโอรส องค์นี้ว่า "ถ้าพระมเหสีทรงปรารถนา จะขอสิ่งใดให้แก่ พระราชโอรส พระองค์นี้ จะพระราชทานให้ ตามประสงค์ ทุกประการ" พระนางทรงน้อมรับ ด้วยความดีพระทัย แต่ผลัดไป ขอรับพระราชทานพร ในวันข้างหน้า

พระมเหสีองค์ใหม่นี้มิได้ทรงตั้งอยู่ในราชธรรม เมื่อสุริยกุมารเจริญวัยพอสมควร พระนางก็กราบทูล พระเจ้า พรหมทัต ทวงถึงเรื่องที่เคย พระราชทาน พรให้แก่สุริยกุมาร เมื่อแรกประสูติ ด้วยการทูลขอ ราชสมบัติกรุงพาราณสี ให้แก่ พระราชโอรสของพระนางเอง

 พระเจ้าพรหมทัตทรงตกพระทัย นึกไม่ถึงว่า พระมเหสีจะขาดความเที่ยงธรรม ถึงกับทูลขอเช่นนี้ แต่ก็มิอาจ จะทำ ประการใดได้ ครั้นจะไม่ให้ ก็เกรงเสียสัจจะ ครั้นจะให้ก็กลัวเสียความยุติธรรม เพราะโดยพระราชประเพณีแล้ว พระราช สมบัติ ควรตกแก่ พระราชโอรสองค์ใหญ่ คือ มหิสสาสกุมาร พระองค์ทรงพยายาม ชี้แจงเหตุผล อันควรไม่ควร นานาประการ แก่พระมเหสี เพื่อให้ล้มเลิก ความตั้งใจนั้นเสีย แต่พระนาง ก็ยังทรงยืนกราน เฝ้าอ้อนวอน ขอพระราชสมบัติแก่ พระราช โอรส องค์เล็ก อยู่เช่นเดิม

เมื่อทรงตระหนักถึงพระอัธยาศัยที่อิจฉาริษยาของพระมเหสี เช่นนี้ พระราชาทรงวิตกว่า ถ้าไม่ยอมรับวาจาเสียแต่ต้น พระนางอาจ คิดปองร้ายต่อ พระราชโอรส องค์พี่ทั้งสองเป็นแน่ จึงทรงตัดสินพระทัย หาทางออก 


โดยมีพระราช กระแสรับสั่ง ให้หา พระราชโอรสทั้งสอง แล้วตรัสเล่าความหลังว่า

"ลูกรักของพ่อ เมื่อครั้งสุริยกุมารเกิด พ่อพลั้งปากอนุญาตให้แม่ของเขาขอพรได้ตามปรารถนาบัดนี้ เขาก็มาทวง สัญญา ขอราชสมบัติ ให้แก่ลูกของเขา แล้ว ถ้าพ่อปฏิเสธก็จะเสียคำพูด ผิดวิสัยกษัตริย์ ถ้าให้เจ้าทั้งสองก็จะเดือดร้อน เพื่อตัด ปัญหานี้ ขอให้เจ้าทั้งสองเห็นแก่พ่อซึ่งชราแล้ว เข้าป่าไปแสวงหา พระอาจารย์ซึ่ง รุ่งเรืองด้วยวิทยาคม เพื่อศึกษาหาความรู้ ให้เชี่ยวชาญ เสียแต่บัดนี้ เมื่อพ่อตายแล้ว จึงค่อยย้อนกลับมาครอง ราชสมบัติเถิด"

 พระราชโอรสทั้งสอง ทรงรับสนองพระบรมราชโองการแล้ว กราบถวายบังคมลา เสด็จออกจากพระบรมมหาราชวัง

ขณะนั้น สุริยกุมารกำลังสำราญพระอิริยาบท อยู่ที่พระลานหลวง ครั้นทอดพระเนตรเห็น เจ้าพี่ทั้งสอง ทรงเครื่อง รัดกุม เสด็จผ่านมา ก็เข้าไปไต่ถาม เมื่อทรงทราบความแล้ว ก็ไม่ทรงเห็นด้วยกับ พระราชมารดา แต่ก็ไม่อาจจะทำ ประการใด ได้ จึงทูลขอตามเสด็จไปด้วย

 ทั้งสามกุมาร ดั้นด้นเดินทาง เข้าป่าหิมพานต์ เพื่อแสวงหาพระอาจารย์ ระหว่างการเดินทาง ก็ได้จัดแจงถากถาง ปรับพื้นที่ปัดกวาด บริเวณร่มรื่น แห่งหนึ่ง เพื่อสร้างที่พักอาศัย ฝ่ายสุริยกุมารยังเด็กเกินกว่า จะช่วยทำงานได้ จึงถูกใช้ให้ ไปหาน้ำดื่ม

สุริยกุมารเดินไปได้สักพักหนึ่ง ก็พบสระน้ำใหญ่ใสสะอาดด้วยความดีใจ ไม่ทันจะพิจารณา ก็ด่วนเดินลงไป ตักน้ำ ในสระทันที

เนื่องจากสระน้ำแห่งนี้ เป็นที่อยู่อาศัยของ ผีเสื้อน้ำ ตนหนึ่งซึ่งอยู่ในความปกครองของ ท้าวเวสสุวรรณ พระองค์ทรง มีพระกรุณา ปรารถนาจะให้ ผีเสื้อน้ำสำนึกบาป จึงมีเทวบัญชาบังคับไว้ว่า

 ห้ามออกไปจับสัตว์และคนกิน นอกบริเวณ สระน้ำ นี้ เป็นอันขาด แม้คนที่ลงมาในสระนี้ ถ้าเป็นผู้รู้เทวธรรม ก็ห้ามทำอันตราย ให้ตั้งใจศึกษาเทวธรรมจากผู้นั้น แล้วจึงจะพ้น เวร

ดังนั้น ทันทีที่สุริยกุมาร ก้าวลงไปในสระน้ำ ก็ถูกผีเสื้อน้ำจับตัวไว้ แล้วซักถามว่า รู้จักเทวธรรมหรือไม่ สุริยกุมาร ยังเด็กเกินไปที่จะรู้จักเทวธรรม แต่ก็ไม่พรั่นพรึ่ง ทรงตอบไปตามปฏิภาณของเด็กว่า
"เทวธรรม ก็คือ พระจันทร์ และพระอาทิตย์"

ผีเสื้อน้ำนั้นแม้ไม่รู้ว่า เทวธรรมคืออะไรก็ตาม แต่ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่าไม่ใช่ จึงขังสุริยกุมารไว้ในวังใต้น้ำ เพื่อเป็นอาหาร มื้อต่อไปของตน

 ฝ่ายมหิสสาสกุมาร ครั้นเห็นว่า น้องคนเล็กหายไปนาน ก็เป็นห่วง ใช้ให้จันทกุมารไปตามหา เมื่อจันทกุมารเดินตาม รอยน้องชาย ไปถึงสระน้ำ ก็ไม่ทันสังเกตอีกเช่นกัน

ทันทีที่ก้าวลงไปในน้ำ จึงถูกผีเสื้อน้ำจับไว้ และซักถามเรื่องเทวธรรม จันทกุมาร เดาตอบไปว่า
"เทวธรรม ก็คือ ทิศทั้งสี่นั้นเอง"

ผีเสื้อน้ำตรองแล้ว รู้ว่าไม่ใช่ จึงจับไปขังรวมไว้กับสุริยกุมาร

 เมื่อจันทกุมารหายไปอีกคน มหิสสาสกุมาก็นึกเฉลียวใจว่า คงจะมีอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นแก่ น้องทั้งสอง เป็นแน่ จึงเดินสะกดรอยตามไป จนกระทั่งถึงสระน้ำ ก็สังเกตเห็นรอยเท้าที่น้องทั้งสอง เดินลงไปในสระน้ำนั้น แต่ไม่มี รอยเท้ากลับขึ้นมา เลยก็แน่ใจว่า ในสระน้ำนี้ จะต้องมีสัตว์ร้ายหรือ ผีเสื้อน้ำ อาศัยอยู่อย่างแน่นอน พระองค์ทรงกระชับ พระขรรค์และถือธนู เตรียมพร้อมไว้ แล้วสำรวจดูรอบ ๆ ขอบสระอย่างระมัดระวัง โดยไม่ยอมก้าวล่วง ลงไปในสระน้ำเลย

ผีเสื้อน้ำคอยทีอยู่ในสระ เมื่อเห็นว่า มหิสสาสกุมารไม่ยอมลงไปในสระแน่แล้ว จึงแปลงกายเป็นช่างก่อสร้าง เดิน เข้ามาหาแล้วแสร้งว่า

"ท่านคงเดินทางมาเหน็ดเหนื่อย ทำไมไม่ลงไปดื่มน้ำอาบน้ำให้สบายเสียก่อนเล่า?"

พระกุมารทรงเห็นช่างก่อสร้างนั้นแล้ว ก็ทรงสันนิษฐานได้ทันทีว่า คงจะเป็นผีเสื้อน้ำแปลงตัวมา จึงตรัสถามตรง ๆ ว่า 

"เจ้าเป็นยักษ์ใช่ไหม ทำไมจึงจับน้องทั้งสองของเราไป?"

ผีเสื้อน้ำนั้น ถึงแม้จะดุร้ายเหี้ยมโหด แต่ก็รักษาคำสัตย์ไม่ยอมกล่าวเท็จ รับสารภาพว่าได้จับสองกุมารนั้นไปจริง เพราะเป็นอาหารของตน และท้าวเวสสุวรรณ ก็ทรงประทานอนุญาตไว้

 พระกุมารทรงนึกรู้ว่า ผีเสื้อน้ำตนนี้ ต้องไม่ใช่ ยักษ์น้ำธรรมดา ๆ คงจะมีเงื่อนงำอะไรสักอย่างเป็นแน่ จึงตรัส ถามว่า

"เจ้าจับมนุษย์กินได้ทุกคนหรือ?"   
ผีเสื้อน้ำก็ตอบตามตรงว่า

"เราจับกินได้ทุกคน ยกเว้นแต่ผู้ที่รู้จักเทวธรรมเท่านั้น"

พระกุมารจึงตรัสว่า

"ถ้าท่านอยากรู้เทวธรรม เราจะอธิบายให้ฟัง แต่การกล่าวถึงเทวธรรมนั้น ต้องกล่าวด้วยความเคารพ ถ้าผู้กล่าวยังมี ร่างกายสกปรก เปรอเปื้อน ปากยัง ไม่ได้บ้วน ที่นั่งยังไม่ได้ปูลาดไว้อย่างดี และผู้ฟังยังนั่งสูง เสมอกับผู้กล่าว แสดงว่า ไม่เคารพในธรรมอย่างแท้จริง ยังไม่สมควร จะแสดงเทวธรรม ฉะนั้น ถ้าเจ้าอยากจะฟัง ก็จงรีบไปจัดหาน้ำ มาให้เรา ชำระร่างกาย ให้สะอาดเสียก่อน จัดที่นั่งให้สูงกว่าพื้น และเจ้าจงนั่ง พนมมือฟัง ด้วยความเคารพเถิด"

ผีเสื้อน้ำได้ฟังดังนั้นก็ดีใจจนน้ำตาคลอ เพราะทนทุกข์ทรมานอยู่ในสระนี้ เพื่อรอฟังเทวธรรมมานาน ถึงสิบสองปี แล้ว จึงรีบกระวีกระวาด จัดหาให้ ตามความประสงค์ ของพระกุมารทุกประการ

ครั้นพระกุมารประทับบนอาสนะแล้ว กล่าวเป็นพระคาถาว่า

"สัปบุรุษผู้สงบระงับ ประกอบด้วยหิริ และโอตตัปปะ ตั้งมั่นอยู่ในธรรมอันผ่องแผ้ว ท่านเรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้มีธรรม ของเทวดาในโลก"

แล้วอธิบายขยายความในพระคาถาว่า

เทวธรรม คือ คุณธรรม 2 ประการด้วยกัน ได้แก่ หิริ และโอตตัปปะ หิริ คือ ความละอายต่อบาป โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัว ต่อผลของบาป

หิริ มีเจตนาละอายต่อความชั่ว 3 ประการด้วยกันคือ คิดชั่ว พูดชั่ว และทำชั่ว โดย ปรารภตัวเอง เป็นเหตุให้เกิด ความละอาย

 โอตตัปปะ มีลักษณะเป็นความกลัวภัย จากผลแห่งความชั่ว ที่จะเกิดตามมาภายหลัง เช่น กลัวตกนรก กลัวคนติฉิน นินทา เป็นเรื่องของการ ปรารภผู้อื่น เป็นเหตุ

อุปมาดังว่า มีเหล็กสองก้อน ก้อนหนึ่งเป็นเหล็กเย็น แต่เปื้อนอุจจาระ เหล็กอีกก้อนหนึ่ง เป็นเหล็กร้อนแดง แต่ไม่เปื้อนอะไร

เหล็กเย็น ไม่เป็นอันตราย แต่เป็นที่น่ารักเกียจ ใคร ๆ จึงไม่ยอมหยิบซึ่งเปรียบเสมือนหิริ
เหล็กร้อน ทำให้กลัวไม่กล้าแตะต้อง เพราะกลัวอันตรายจากความร้อนนั้น ซึ่งเปรียบเสมือนโอตตัปปะ

สาเหตุที่จะทำให้บุคคลเกิดหิริ โอตตัปปะขึ้นได้ มีอยู่ 4 ประการด้วยกัน คือ

1. เมื่อคำนึงถึง ชาติสกุล ของตนว่า ได้เกิดมาในสกุลที่ดีมีชื่อเสียง ครั้นจะทำความชั่ว ก็ละอาย และจะถูกตำหนิติเตียน ไปถึงบรรพบุรุษ เสียชื่อเสียง วงศ์ตระกูล

2. เมื่อคำนึงถึง วัย คือคิดว่า ตนเองก็อายุมากถึงเพียงนี้แล้วครั้นจะทำความชั่ว ก็ละอาย และกลัวเด็กจะลบหลู่ดูหมิ่น สิ้นความเคารพนับถือ

3. เมื่อคำนึงถึง ความสามารถ คือ ความที่ตนเป็นผู้มีฝีมือ มีความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง ครั้นจะต้องมาทำความชั่ว เช่นลักขโมย หรือขอเขากิน ฯลฯ ก็นึกละอาย กลัวเขาจะดูถูกดูหมิ่นว่าสิ้นไร้ ฝีมือ

4. เมื่อคำนึงถึง ความเป็นพหูสูต คือ คิดถึงความที่ตนเองเป็นผุ้มีการศึกษา นึกถึงคุณของครูบาอาจารย์ที่อุตส่าห์ เหน็ดเหนื่อย สั่งสอนอบรมมา ครั้นจะต้องมาทำความชั่ว เช่น ฉ้อโกงเขา ฯลฯ ก็นึกละอาย และกลัวผู้อื่นติเตียน

 เมื่อมหิสสาสกุมารได้อธิบายแจกแจง ถึงความหมายของ หิริ โอตัปปะ อย่างละเอียดชัดเจนโดยนัยต่าง ๆ แล้ว ในที่สุด ผีเสื้อน้ำ ก็เข้าใจซาบซึ้ง เกิด ความเลื่อมใสศรัทธา ใคร่จะประพฤติธรรม ตามที่ได้ฟังทุกประการ แต่อย่างไรก็ตาม ความเห็นแก่ตัว ของผีเสื้อน้ำนั้น ก็ยังไม่หมด จึงกล่าวแก่ มหิสสาสกุมาร ว่า

"เอาเถิด เราเชื่อแล้วว่า ท่านเป็นผู้รู้เทวธรรมจริง เราอนุญาตให้ท่าน ดื่มและใช้น้ำในสระนี้ ได้ตามใจชอบ แต่จะคืน น้องให้ท่าน ได้เพียงคนเดียว เท่านั้น เพราะเรายังต้องกินเนื้อมนุษย์ เป็นอาหารอยู่ ท่านต้องการ จะให้ปล่อยน้องคนไหน ก็จงรีบบอกมา?"

มหิสสาสกุมารตรัสสั่งให้คืนน้องชายคนเล็ก ผีเสื้อน้ำได้ยิน ดังนั้น จึงกล่าวโทษมหิสสาสกุมารทันทีว่า

"ท่านบัณฑิต ท่านรู้จักเทวธรรมก็จริง แต่ท่านไม่ประพฤติตนตามเทวธรรมเลย ทำไมท่านจึงพูดออกมาได้ว่า ให้ปล่อย น้อยชายคนเล็ก แทนที่จะให้ ปล่อยน้องคนโต การกระทำเช่นนี้ได้ชื่อว่า ไม่ให้เกียรติแก่ผู้มีอายุซึ่งมีคุณธรรมสูงกว่า"

  มหิสสาสกุมารจึงตรัสตอบว่า
"ดูก่อน ผีเสื้อน้ำ เรารู้จักเทวธรรม และประพฤติเทวธรรมด้วย การที่เราต้องเอาน้องคนเล็กกลับไป ยอมทิ้งน้อง คนกลางไว้ ก็เพราะ น้องคนเล็ก ไม่ได้เกิดร่วมมารดาเดียวกับเรา และการที่เราต้องมาอยู่ในป่านี้ ก็เพราะมารดา ของน้องคนนี้ ทูลขอ ราชสมบัติให้แก่เขา พระราชบิดา ของเราเกรงว่า เราจะ ได้รับอันตราย จากพระมารดาเลี้ยง จึงให้เรามาอยู่ป่า แต่น้อง คนเล็ก กลับหนีมารดา ตามเรามาด้วย ถ้าเราไม่ได้ตัวเขากลับไป ถึงเราจะพูด ความจริงว่า น้องชาย คนเล็กถูกยักษ์ในป่า จับกิน เสียแล้ว ก็คงไม่มีใครเชื่อ เขาย่อมครหาว่า เราสองคนพี่น้อง ร่วมมือกัน ฆ่าน้องชายคนเล็ก เพื่อประโยชน์ ในราชสมบัติ เรากลัว คำครหา จึงขอให้คืนน้องคนเล็กแก่เรา"   

ผีเสื้อน้ำได้ฟังดังนั้น ก็มีความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแท้จริง กล่าวสรรเสริญว่า

"ดีแล้ว ดีแล้ว ท่านบัณฑิต ท่านเป็นผู้รู้จักเทวธรรม และประพฤติตาม ด้วยจริง เราจะคืนน้องของท่านให้ทั้งสองคน"

เมื่อได้น้องชายคืนแล้ว มหิสสาสกุมารก็เทศนาสั่งสอนผีเสื้อน้ำ ด้วยความกรุณาต่อไปว่า

"ดูก่อน ผีเสื้อน้ำ ตัวท่านเกิดมากินเลือดกินเนื้อของผู้อื่น ก็เพราะบาปที่สร้างไว้ตั้งแต่ชาติปางก่อน เดี๋ยวนี้ ท่านก็ยัง ทำบาปอยู่ จงเลิกประพฤติเช่นนี้เถิด มิฉะนั้น ท่านจะไม่พ้นจากขุมนรกเป็นแน่"
จากนั้น ทั้งสามพระกุมารก็อาศัยอยู่ในป่ากับผีเสื้อน้ำตนนั้น จนกระทั่งวันหนึ่ง มหิสสาสกุมารสังเกตเห็น ดาว นักขัตฤกษ์มัวหมอง ก็ทราบว่า พระราชบิดา เสด็จสวรรคตแล้ว จึงพากันกลับเมือง พร้อมกับพาผีเสื้อน้ำตนนั้นไปด้วย จัดที่อยู่ และอาหารให้กินอย่างมนุษย์ และให้บำเพ็ญศีลภาวนา ไปจน ตลอดชีวิต

เมื่อมหิสสาสกุมารเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ก็พระราชทานตำแหน่งมหาอุปราช ให้แก่จันทกุมาร และทรงแต่งตั้ง สุริยกุมาร เป็นเสนาบดี

  ประชุมชาดก   
ครั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงชาดกจบลงแล้ว ได้ทรงเทศนาอริยสัจ 4 โดยนัยต่าง ๆ ในที่สุด พระภิกษุรูปนั้น ก็สามารถ ประคับประคองใจ ให้สงบ ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว หยุดนิ่งอยู่ภายใน จนมีดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็น พระโสดาบัน พระอริยเจ้าชั้นต้น ในพระพุทธศาสนา เที่ยงแท้ ว่าจะหมด กิเลสเด็ดขาดเป็นพระอรหันต์ ในอีกไม่เกิน 7 ชาติเบื้องหน้า อย่างแน่นอน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประชุมชาดก ว่า

ผีเสื้อน้ำ ในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระภิกษุผู้มีบริขารมาก

สุริยกุมาร ในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอานนท์

จันทกุมาร ในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระสารีบุตร

มหิสสาสกุมาร ในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระองค์เอง

 ข้อคิดจากชาดก 

1. ถึงแม้ว่าเราจะตั้งใจทำความดี แต่ก็อาจถูกคนพาลประชดประชันให้บ้าง จงอย่าใส่ใจเลย เพราะแม้แต่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงคุณ อันประเสริฐ ก็ยังเคยถูกประชดประชันเช่นกัน

2. ความเป็นผู้มีเหตุผล เห็นการณ์ไกล ไม่ลำเอียง ย่อมเป็นบ่อเกิดแห่งความเลื่อมใสศรัทธา และเป็นที่มาแห่งลาภทั้งปวง

อธิบายศัพท์

เทวธรรม ธรรมสำหรับทำให้บุคคลเป็นเทวดา คือ หิริ โอตตัปปะ

กฎุมพี คนมั่งมี ชาวบ้านผู้มีอันจะกินระดับเศรษฐี

กุฏิ ที่อยู่สำหรับพระภิกษุ

โรงไฟ โรงที่สร้างไว้สำหรับเป็นที่ผิงไฟในฤดูหนาว และอบตัวด้วยสมุนไพร เพื่อรักษา อาการเจ็บป่วย และโรค บางชนิด ในสมัยพุทธกาล ตามวัดต่าง ๆ จะสร้างโรงไฟ ไว้เป็นส่วนรวม เพื่อให้พระภิกษุ ที่เดินทางมาไกล ๆ ได้เข้าอบตัว ให้หายจากอาการ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย ขัดยอก เป็นไข้ เป็นต้น

บริขาร เครื่องใช้สอยของพระภิกษุในพุทธศาสนา มี 8 อย่าง คือ

สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีดโกน หรือมีดตัดเล็บ เข็ม ประคตเอว กระบอกกรองน้ำ รวมเรียกว่า อัฐบริขาร

ผีเสื้อน้ำ หรือ รากษส

ยักษ์ชนิดหนึ่งที่อาศัยตามสระน้ำ หรือตามบ่อ ตามบึง ถ้ามีฤทธิ์มาก ก็อยู่ในมหาสมุทร เรียกว่า ผีเสื้อสมุทร

ท้าวเวสสุวรรณ เป็นเทพเจ้าหนึ่งในสี่ของผู้ปกครองสวรรค์ชั้นที่หนึ่ง (จาตุมหาราชิกา) ทำหน้าที่ควบคุมดูแล ความประพฤติ ของพวกยักษ์ ให้อยู่ในขอบเขต ไม่ให้ประพฤติตน เกะกะเกเร รบกวนมนุษย์ เทพเจ้าสี่องค์นี้ เรียกว่า ท้าวจตุโลกบาล

ได้แก่ ท้าวเวสสุวรรณ (มียักษ์เป็นบริวาร)

ท้าวธตรฐ (มีคนธรรพ์เป็นบริวาร)

ท้าววิรุฬหก (มีอสูรเป็นบริวาร)

และท้าววิรุฬปักษ์ (มีนาคเป็นบริวาร)

พหูสูต ผู้สดับตรับฟังมาก ผู้ศึกษาเล่าเรียนมาก

พระคาถาประจำชาดก


หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา สุกฺกธมฺมสมาหิตาสนฺโต สปฺปุริสา โลเก เทวธมฺมาติ วุจฺจเร

สัปบุรุษผู้สงบระงับ ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ
ตั้งมั่นอยู่ในธรรมอันผ่องแผ้ว ท่านเรียกว่า ผู้มีธรรมของเทวดาในโลก 




บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


บทความและไฟล์ภาพ ในเว็บไซต์แห่งนี้อาจนำมาจากเว็บไซต์อื่นๆ ที่ทีมงานคิดว่ามีประโชยน์ต่อผู้อ่าน โดยให้ผู้อ่านเกิดควมบันเทิง และให้ความรู้ โดยที่เราจะให้เครดิตทุกครั้งที่นำมา หากไฟล์ภาพหรือบทความใด ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ต้องการให้นำมาแสดง โปรดแจ้งมาที่ tumcomputer@hotmail.com ทางทีมงานจะได้นำบทความนั้นออกทันที ขอบคุณครับ


เว็บนี้จัดทำโดย นายสุรัตน์ ศรลัมภ์ และครอบครัว อุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวร และผู้มีพระคุณ

HTML Hit Counters
Powered by SMF 1.1.17 | Simple Machines|Copyright © 20010 BY : thammaonline.com
บทความธรรมะรวมเรื่องกฏแห่งกรรมสมาธิ วิปัสนากรรมฐานพลังจิตกระดานถาม-ตอบ Sitemap

Google มาเยี่ยมเว็บเมื่อ กุมภาพันธ์ 23, 2024, 08:49:25 AM