สนทนาธรรม ฟังธรรม อ่านธรรมะ บทความธรรมะ หลักธรรมคำสอน กฎแห่งกรรม dhamma

ธรรมะออนไลน์ => กลอนธรรมะ => ข้อความที่เริ่มโดย: ๑ บาท ที่ กันยายน 13, 2012, 09:13:54 PM



หัวข้อ: เมตตาภาวะ
เริ่มหัวข้อโดย: ๑ บาท ที่ กันยายน 13, 2012, 09:13:54 PM
เมตตาภาวสูตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดให้ทานประมาณ 100 หม้อใหญ่ในเวลาเช้า ผู้ใดพึงให้ทานประมาณ 100 หม้อใหญ่ในเวลาเที่ยง ผู้ใดพึงให้ทานประมาณ 100 หม้อใหญ่ ในเวลาเย็น

 ผู้ใดพึงเจริญเมตตาจิตในเวลาเช้า โดยที่สุดแม้เพียงชั่วการหยดน้ำนมแห่งแม่โค หรือผู้ใดพึงเจริญเมตตาจิตในเวลาเย็น โดยที่สุดแม้เพียงชั่วการหยดน้ำนมแห่งแม่โค

การเจริญเมตตาจิตนี้มีผลมากกว่าทานที่บุคคลให้แล้ว 3 ครั้ง ในวันหนึ่งนั้น.


(https://lh5.googleusercontent.com/-DAsEKb0VOJU/TuGQeIYPoOI/AAAAAAAAAHw/1VnENabtMVo/s132/palmart005.gif)


แม้ให้ทาน ร้อยหม้อใหญ่ ในยามเช้า

อีกร้อยเท่า เที่ยง-เย็น จนเป็นนิตย์

ยังผลด้อย น้อยกว่า..แผ่  เมตตาจิต

เพียงสักนิด แม้หยดหนึ่ง ซึ่งนมโค



(https://lh4.googleusercontent.com/-iX8mLueuSLU/TuGNeQxBR9I/AAAAAAAAAFw/AwBskbBc3rY/s452/bhuddhapoj03.gif)







เมตตาเจโตวิมุตติ

พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงสั่งสอนให้เจริญเมตตา แผ่จิตออกไปด้วยเมตตา คือความมีไมตรีจิต  รักสนิทด้วยไมตรีจิต
มุ่งดีปรารถนาสุข  ทั้งไม่เจือด้วยสิเน่หา  ความเยื่อใยผูกพัน

การแผ่จิตด้วยเมตตานี้ก็ด้วยอาศัยการคิดแผ่ไปก่อน ว่าถึงเป็นอัปปมัญญา  คือไม่มีประมาณ
ก็คิดแผ่ไปในสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า ให้มีความสุขทุกถ้วนหน้า

ในทิศเบื้องหน้า  ในทิศเบื้องขวา  ในทิศเบื้องหลัง ในทิศเบื้องซ้าย  ในทิศเบื้องบน  ในทิศเบื้องล่าง
ในทิศขวางโดยรอบ

ให้จิตผ่องพ้นจากพยาบาท  ความมุ่งร้าย ตลอดจนพ้นจากราคะสิเน่หา ในบุคคล  ในสัตว์ทั้งหลายที่แผ่จิตไปนั้น
เมื่อจิตปรากฏเป็นเมตตาจิตขึ้นมา หากจะมีพยาบาทหรือราคะสิเน่หาใด ๆ มาก่อน กิเลสเหล่านี้ก็จะหลุดไปจากจิต

จึงเป็นเจโตวิมุตติ ความพ้นแห่งใจข้อหนึ่งเรียกว่าเมตตาเจโตวิมุตติ เมื่อเป็นชื่อของธรรมข้อนี้ ก็แปลว่า
ธรรมที่ทำให้ได้ความพ้นแห่งใจคือเมตตา


(https://lh3.googleusercontent.com/-eazshyRlnWE/TuGTBfz4u3I/AAAAAAAAAIk/GDiXYfeTFEc/s472/line-a6.gif)


เมตตานี้ตรัสแสดงว่า มีความงามเป็นอย่างยิ่ง คือจะรู้สึกว่างามด้วยความสุขอันบริสุทธิ์ไปทั่วทุกทิศ ทั่วทุกบุคคลสัตว์ทั้งหลาย
ไม่ปรากฏความรู้สึกน่าเกลียดน่าชังใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่มีความรู้สึกที่เป็นพยาบาท หรือที่เป็นราคะสิเน่หาอันน่าเกลียดน่าชัง
ไม่มีรูปพรรณสัณฐานของบุคคลและสัตว์ใด ๆ ที่น่าเกลียดน่าชัง แม้ผู้ที่เคยเกลียดจิ้งจก  ตุ๊กแก

แต่ว่าเมื่อได้เจโตวิมุตติข้อนี้ ย่อมจะรู้สึกว่า จิ้งจกตุ๊กแกก็งามไปหมด  ไม่น่าเกลียด  ไม่น่าชังอะไร
จึงได้ตรัสว่า มีความงามเป็นอย่างยิ่ง คือน่ารักน่าใคร่ไปหมด แต่ว่า เป็นความรักใคร่ที่บริสุทธิ์ไม่เจือด้วยราคะสิเน่หา

คัดลอกจาก... ธรรมกถาในการอบรมกรรมฐาน-หน้า ๖๑-๖๒
พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร  สมเด็จพระสังฆราชเจ้า  สกลมหาสังฆปริณายก

บทความและไฟล์ภาพ ในเว็บไซต์แห่งนี้อาจนำมาจากเว็บไซต์อื่นๆ ที่ทีมงานคิดว่ามีประโชยน์ต่อผู้อ่าน โดยให้ผู้อ่านเกิดควมบันเทิง และให้ความรู้ โดยที่เราจะให้เครดิตทุกครั้งที่นำมา หากไฟล์ภาพหรือบทความใด ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ต้องการให้นำมาแสดง โปรดแจ้งมาที่ tumcomputer@hotmail.com ทางทีมงานจะได้นำบทความนั้นออกทันที ขอบคุณครับ


เว็บนี้จัดทำโดย นายสุรัตน์ ศรลัมภ์ และครอบครัว อุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวร และผู้มีพระคุณ

HTML Hit Counters