สนทนาธรรม ฟังธรรม อ่านธรรมะ บทความธรรมะ หลักธรรมคำสอน กฎแห่งกรรม dhamma

ธรรมะออนไลน์ => สมาธิ วิปัสนากรรมฐาน => ข้อความที่เริ่มโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 27, 2014, 10:32:14 PM



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 27, 2014, 10:32:14 PM

บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๑ (อสุภะกรรมฐาน)

- พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้มองเห็นเป็นมารดา เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นป้า เป็นน้า เป็นอา เป็นเครือญาติ (ภารทวาชสูตร)
- พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้ระลึกเจริญในอานาปานสติ ให้มีความรู้ตัวในปัจจุบันรู้ว่ากำลังตามรู้ลมหายใจ รู้ว่ากำลังกายใจเข้า รู้ว่ากำลังหายใจออก รู้กองลมทั้งปวง จิตจดจ่ออยู่ที่ลมตรงปลายจมูก หน้าอก หรือ ท้องน้อยเป็นต้น ย่อมถึงความคลายกำหนัดในกายสังขารและจิตสังขารเป็นต้นได้(กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, คิริมานนทสูตร, สัญญา ๑๐)



กายคตาสติสูตร

             [๒๙๔]พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กายคตาสติอัน ภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
             ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี  นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
(ก็เพื่อให้ทั้งกายและใจมั่นคง ไม่เลื่อนไหลลงสู่ความง่วงงุนซึมเซา หรือภวังค์ง่ายๆ)
ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า  เธอย่อมมีสติ หายใจออก  มีสติ หายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว  หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น  หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น 
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก  ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก  ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า
เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท  มีความเพียร  (เมื่อ)ส่งตนไปในธรรมอยู่ อย่างนี้  ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ 
เพราะละความดำริพล่านนั้นได้  จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ

             [เรียกเฉพาะว่า อานาปานสติ  พึงรู้ระลึกว่า เป็นการใช้สติเป็นสำคัญไปในกายที่หมายถึงลมหายใจอันเป็นกายสังขารอย่างหนึ่ง ที่พรั่งพร้อมทั้งสัมมาสมาธิที่หมายถึงมีความตั้งมั่น  ยังมิได้มีจุดประสงค์ในฌานสมาธิระดับประณีตลึกซึ้ง ในขั้นนี้หรืออานาปานสติจึงควรประกอบด้วยสติ  นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงจะได้ไม่ให้เลื่อนไหลลงภวังค์หรือนิมิตได้ง่ายๆ  เพราะไม่มีเจตนาลงลึกไปในฌานสมาธิในระดับประณีตลึกซึ้งแต่อย่างใด  ถ้าเคลิบเคลิ้มหรือเลื่อนไหลลงภวังค์หรือหลับหรือเกิดนิมิตขึ้นอยู่เสมอๆ ก็อย่าหลับตาให้ลืมตา หรือแม้ลุกขึ้นยืนปฏิบัติก็ยังได้,   อนึ่งพึงสังเกตุว่า เหตุเพราะสติระลึกอยู่กับลมหายใจได้ดี จึงหมายถึงย่อมไม่ซัดส่ายสอดแส่ไปคิดปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่าน หรือก็คือการละความคิด(ดำริ)พล่านออกไปปรุงแต่งภายนอกกายสังขารคือลมหายใจนั่นเอง  จึงเป็นไปตามหลักเหตุปัจจัยปฏิจจสมุปบันธรรมนั่นเอง  จิตจึงเป็นธรรมเอกตั้งมั่นได้,   เมื่อพิจารณาโดยแยบคายย่อมได้ทั้งความเพียร สติ สมาธิ และปัญญา]



ราหุโลวาทะสูตร
อานาปานสติภาวนา

            [๑๔๖] ดูกรราหุล เธอจงเจริญอานาปานสติภาวนาเถิด เพราะอานาปานสติที่บุคคล
เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผล มีอานิสงส์ใหญ่. ก็อานาปานสติอันบุคคลเจริญอย่างไร
ทำให้มากอย่างไร จึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่? ดูกรราหุล ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี
อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติ
หายใจออก มีสติหายใจเข้า. เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว
ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว.  เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น
ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจออก ย่อมสำเหนียก
ว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุขหายใจออก ย่อม
สำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุขหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจออก ย่อม
สำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริงหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริงหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่นหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่นหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจออก ย่อม
สำเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง
หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยงหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียก
ว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจากราคะหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจาก
ราคะหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจออก ย่อมสำเหนียก
ว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่
สละคืน หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่สละคืน หายใจเข้า. ดูกรราหุล
อานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
ดูกรราหุล เมื่ออานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ลมอัสสาสะ
ปัสสาสะ อันมีในภายหลัง อันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติทราบชัดแล้ว ย่อมดับไป หาเป็น
อันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติไม่ทราบชัดแล้ว ดับไปไม่ได้ดังนี้.



- เมื่อเราได้น้อมนำมาพิจารณาปฏิบัติอย่างนี้ เอาลมหายใจมาเป็นอารมณ์ ได้รับอานิสงส์..คือ รู้และเห็นว่าการอยู่กับปัจุบันมีสติรู้ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกอยู่ในปัจจุบันอยู่ทุกขณะนี้ประเสริฐมาก มีอานิสงส์มาก เป็นความสงบสุขอันโล่งเบาเย็นไม่เร่าร้อน ทำให้เรารู้สึกถึงความแช่มชื่นปราโมทย์ ไม่เร่าร้อนจากการที่ราคะเมถุนถูกสลัดทิ้งไป
- มีความอิ่มเอมเป็นสุขเข้าถึงความสงบกายและใจประดุจมีสมาธิอันมีกำลังมากเข้าปกคลุมก่ายใจเราอยู่ทุกขณะ และความคิดอสุศลธรรมอันลามกจัญไรใดๆก็หายไปไม่กำเริบเกิดขึ้น แม้พยายามจะหวนตรึกนึกถึงก็นึกไม่ออก นึกได้แต่ธรรมอันงานอันปราศจากราคะเท่านั้น ถึงความไม่ติดใจข้องแวะในสิ่งไรๆอารมณ์ใดๆ วางเฉยนิ่งว่างอยู่ ความกลัวก็ไม่มี ความเกลียดก็ไม่มี ไม่พอใจก็ไม่มี แต่แต่จิตที่เบิกบานอันยินดีในกุศลธรรมทั้งปวงแม้ในขณะลืมตาหรือหลับตา
- เมื่อว่างจากกิจการงานไรๆแล้ว มีความรู้ตัวอยู่ มีจิตแนบอยู่ที่ลมหายใจ ก็เข้าสู่ความนิ่งว่างมีแต่ความสำเหนียกไม่มีความตรึกนึก มีแต่สุขที่พรั่งพรูออกมาอย่างเกิดมาไม่เคยพบเจอเลยใจชีวิต จนถึงความสงบว่างมีแต่จิตรู้จิต มีแต่จิตเห็นจิตนิ่งว่างแช่อยู่ มีสัมปะชัญญะรู้ตัวอยู่เกิดแยกจากความติดแช่ในสภาวะธรรมนั้นๆ จนจะหมายใจไว้ว่าจะทำอย่างไรจิตก็จะเพิกไปทันที ไม่มีความตรึกนึกคิดอันใดให้ยุ่งเหยิงวุ่นวายแค่สำเหนียกรู้อยู่ แลดูอยู่ รู้ตัวอยู่เท่านั้น
- เมื่อออกมาจากจุดนั้นแล้วก็ประดุจดั่งมีความสงบจดจ่อแน่นิ่งอันปราศจากราคะปกคลุมอยู่ทั่วกายทั้งกลางวันและกลางคืน ทรงอยู่ได้มากสุด 4 วัน 3 คืน ไม่ติดใจสิ่งไรๆปารถนาเพียงจักบวชเท่านั้น
- เมื่อมีอานาปานสติตั้งอยู่เฉพาะในภายใน จิตจะเพิกไปทางใด ก็ให้ได้เห็นธรรมทั้งภายในและภายนอก เกิดธรรมเอกผุดขึ้นย่อมรู้ได้เห็นได้เสมอๆ ถึงซึ่งวิราคะอยู่ ณ ที่นั้น







หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 27, 2014, 10:51:51 PM

บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๒ (อสุภะกรรมฐาน)

- พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เข้าไปตั้งในอานาปานสติไว้ แล้วระลึกเจริญในอสุภะกรรมฐาน เป็นซากศพผุพังเน่าเปื่อยย่อยสลายไป ในภายนอก ให้เห็นเป็นของไม่งาน ไม่น่าใคร่ปารถนายินดี กายนั้นๆแม้เมื่อก่อนจะงดงามแค่ไหนก็ไม่คงอยู่นานก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย พองอืด เขียวคล้ำ เน่าเปื่อยย่อยสูญสลายไป ต่อให้งามแค่ไหนที่สุดก็อยู่ที่ความผุพังเน่าเปื่อย แล้วก็ตายและก็ดับสูญคืนสู่ดินไปบังคับให้กายอันงามนั้นคงอยู่ไม่เสื่อมไม่สูญไปก็ไม่ได้ดังนี้เป็นต้น ซึ่งพระตถาคตจะตรัสสอนให้จับเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งคือ กระดูกโดยส่วนเดียว หนังที่เน่าเปื่อยโดยส่วนเดียว หรือเนื้อที่เน่าเปื่อยโดยส่วนเดียว น้ำเหลืองจากศพโดยส่วนเดียว จากสภาพใดสภาพหนึ่งในอสุภะ ๑๐ นั้น เช่น จากศพที่อืดเขียวบวม หรือ จากศพที่เน่าเหม็นน้ำเลื้อน้ำหนองไหล เป็นต้น มาพิจารณา(อสุภสูตร, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน,นางสิริมา [๑๑๙])



๖. อสุภสูตร

             [๒๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้พิจารณาเห็นอารมณ์
ว่าไม่งามในกายอยู่ จงเข้าไปตั้งอานาปาณสติไว้เฉพาะหน้าในภายใน และจง
พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวงอยู่เถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอ
ทั้งหลายพิจารณาเห็นอารมณ์ว่าไม่งามในกายอยู่ ย่อมละราคานุสัยในเพราะความ
เป็นธาตุงามได้ เมื่อเธอทั้งหลายเข้าไปตั้งอานาปาณสติไว้เฉพาะหน้าในภายใน
ธรรมเป็นที่มานอนแห่งวิตกทั้งหลาย (มิจฉาวิตก) ในภายนอก อันเป็นไปใน
ฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น ย่อมไม่มี เมื่อเธอทั้งหลายพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
ในสังขารทั้งปวงอยู่ ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น ฯ


                          ภิกษุผู้พิจารณาเห็นอารมณ์ว่าไม่งามในกาย มีสติเฉพาะใน
                          ลมหายใจ มีความเพียรทุกเมื่อ พิจารณาเห็นซึ่งนิพพาน
                          อันเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ภิกษุนั้นแล ผู้เห็นโดยชอบ
                          พยายามอยู่ ย่อมน้อมไปในนิพพานเป็นที่ระงับแห่งสังขารทั้ง
                          ปวง ภิกษุนั้นแล ผู้อยู่จบอภิญญา สงบระงับล่วงโยคะเสียได้
                          แล้ว ชื่อว่าเป็นมุนี ฯ                                                   

จบสูตรที่ ๖



กายคตาสติสูตร

             [๒๙๙]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเห็นศพที่เขาทิ้งใน ป่าช้า
อันตายได้วันหนึ่ง หรือสองวัน หรือสามวัน ที่ขึ้นพอง เขียวช้ำ มีน้ำเหลืองเยิ้ม
จึงนำเข้ามาเปรียบเทียบกายนี้ว่า แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้ เป็นธรรมดามีความเป็นอย่างนี้  ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้
เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้
เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่า เจริญกายคตาสติ ฯ
(นวสีวถิกาบรรพ แสดงอาการของศพไว้ ๙ ระยะหรือแบบ)
             [๓๐๐]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเห็นศพที่เขาทิ้งใน ป่าช้า  อันฝูงกาจิกกิน(ลูกนัยตา ฯ)อยู่บ้าง
ฝูงแร้งจิกกิน(เนื้อหนัง ตับ ไต ฯ)อยู่บ้าง  ฝูงนกตะกรุมจิกกิน(ไส้ใหญ่ ไส้น้อย ฯ)อยู่บ้าง  หมู่สุนัขบ้านกัดกิน(แขน ขา ฯ)อยู่บ้าง 
หมู่สุนัขป่ากัดกิน(กัดแทะกระดูก อวัยวะน้อยใหญ่ ฯ)อยู่บ้าง  สัตว์เล็กสัตว์น้อยต่างๆชนิดฟอนกิน(แทะเล็มส่วนต่างๆทั่วกาย)อยู่บ้าง
จึงนำเข้ามาเปรียบเทียบกายนี้ว่า แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้ เป็นธรรมดา มีความเป็นอย่างนี้   ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้
เมื่อภิกษุนั้น ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้
เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ
             [๓๐๑]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเห็นศพที่เขาทิ้งใน ป่าช้า  ยังคุมเป็นรูปร่างอยู่ด้วยกระดูก มีทั้งเนื้อและเลือดเส้นเอ็นผูกรัดไว้......
             เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า  ยังคุมเป็นรูปร่างด้วยกระดูก ไม่มีเนื้อ มีแต่เลือดเปรอะเปื้อนอยู่ เส้นเอ็นยังผูกรัดไว้......
             เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า  ยังคุมเป็นรูปร่างด้วยกระดูกปราศจากเนื้อและเลือดแล้ว แต่เส้นเอ็นยังผูกรัดอยู่...... 
             เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า  เป็นท่อนกระดูก ปราศจากเส้นเอ็นเครื่องผูกรัดแล้ว กระจัดกระจายไปทั่วทิศต่างๆ คือ
กระดูกมืออยู่ทางหนึ่ง กระดูกเท้าอยู่ทางหนึ่ง กระดูกแข้งอยู่ทางหนึ่ง กระดูกหน้าขาอยู่ทางหนึ่ง กระดูกสะเอวอยู่ทางหนึ่ง
กระดูกสันหลังอยู่ทางหนึ่ง กระดูกซี่โครงอยู่ทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกอยู่ทางหนึ่ง กระดูกแขนอยู่ทางหนึ่ง กระดูกไหล่อยู่ทางหนึ่ง
กระดูกคออยู่ทางหนึ่ง กระดูกคางอยู่ทางหนึ่ง กระดูกฟันอยู่ทางหนึ่ง กะโหลกศีรษะอยู่ทางหนึ่ง
จึงนำเข้ามาเปรียบเทียบกายนี้ว่า แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้เป็นธรรมดา มีความเป็นอย่างนี้   ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้
เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มี ความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้
เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่า เจริญกายคตาสติ ฯ
             [๓๐๒]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเห็นศพที่เขาทิ้งใน ป่าช้า  เป็นแต่กระดูก สีขาวเปรียบดังสีสังข์......
             เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า  เป็นท่อนกระดูก เรี่ยราดเป็นกองๆ มีอายุเกิน ปีหนึ่ง......
             เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า  เป็นแต่กระดูก ผุเป็นจุณ  จึงนำเข้ามาเปรียบ เทียบกายนี้ว่า
แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้ เป็นธรรมดา มีความเป็นอย่างนี้  ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้
เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้  ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้
เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ



- เมื่อเราได้พิจารณาอย่างนี้ เวลาที่ตัวเรารู้ว่ามีจิตเป็นราคะเกิดขึ้น ก็จะตั้งอานาปานสติไว้ในภายในก่อน มีพุทโธระลึกถึงคุณอันเป็นผู้รู้, ผู้ตื่นจากโมหะ, ผู้เบิกบาน เป็นลมหายใจเข้าออกเป็นตั้งแห่งจิต ทำให้จิตเบาโล่งสงบเย็นขึ้น ทุเลาความเร่าร้อนลงได้บ้างแล้ว มีความอบอุ่นจากสมาธิยังจิตให้ตั้งมั่นอยู่ จากนั้นก็ได้ยกเอาศพที่เน่าเปื่อยแหวกภายในให้เห็นอวัยวะน้อยใหญ่ภายในมีหนอนชอนไชอยู่บ้าง ถูกหมู่สัตว์ยื้อแย่งกัดกินอวัยวะภายในอยู่บ้าง(หวนระลึกภาพตามที่เคยไปล้างป่าช้ากับมูลนิธิร่วมกตัญญูแล้วเห็นศพในสภาพนั้นๆบ้าง หรือตอนบวชได้ไปสวดศพเห็นหน้าศพอืดพองบ้าง) ซึ่งจะยกมาพิจารณาเพียงอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือสภาพศพแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น อานิสงส์ที่ได้รับ.. คือ ให้เราเห็นเพศตรงข้ามสักแต่เป็นเพียงซากศพ เห็นเป็นโครงกระดูกมีหนังแห่งติดหุ้มอยู่เท่านั้นบ้าง
- เมื่อพิจารณาอย่างนั้นจนแยบคายในสภาวะที่หนังแห้งหุ้มติดกระดูกนั้น ก็เกิดอานิสงส์..ให้เห็นเป็นเพียงส่วนสะดูกขาวขุ่นเท่านั้น
- เมื่อพิจารณาเพียงกระดูกมากเข้าๆ จนจับเอาพิจารณาโดยส่วนที่เป็นกระดูกเชิงกรานกระบังลมโดยส่วนเดียวทุกครั้งที่เป็นสัญญาเกิดขึ้นเมื่อทำสมาธิระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าว่าด้วยคุณเป็นผู้รู้ ผู้ตืน ผู้เบิกบานด้วยธรรม ผนวกกับลมหายใจเข้าออก บริกรรมพุทโธไป ก็เกิดอานิสงส์ว่า..เมื่อหายใจเข้าเห็นกระดูกเคลื่อน หายใจออกกระดูกก็เคลื่อน
- จิตจึงคลายกำหนัดมีความสงบนิ่งอยู่มีสภาวะที่สงบว่างปกคลุมดูจิตมีกำลังมากตั้งมั่นอยู่ แต่เบากายไม่ตรึงหน่วงจิต มีสติสัมปะชัญญะรู้อยู่ทุกขณะทั้งลมหายใจและทรงสภาวะธรรมอันพิจารณาเห็นเป็นอสุภะนั้นอยู่
- เห็นความย่อยสลายของกาย รูปขันธ์อันเป็นธาตุดินก็คืนสู่ธาตุดิน ไม่คงอยู่นาน ไม่เที่ยง ไม่อาจจะยื้อรั้งให้คงอยู่กับเราได้
- กายนั้นๆแม้เมื่อก่อนจะงดงามแค่ไหนก็ไม่คงอยู่นานก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย พองอืด เขียวคล้ำ เน่าเปื่อยย่อยสูญสลายไป ต่อให้งามแค่ไหนที่สุดก็อยู่ที่ความผุพังเน่าเปื่อย แล้วก็ตายและก็ดับสูญคืนสู่ดินไปบังคับให้กายอันงามนั้นคงอยู่ไม่เสื่อมไม่สูญไปก็ไม่ได้ดังนี้เป็นต้น






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 28, 2014, 11:19:20 PM

บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๓ (อสุภะกรรมฐาน ว่าด้วย อาการทั้ง ๓๒ ประการ)


- พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้ระลึกเจริญในอานาปานสติ ให้มองโดย อสุภะเป็นซากศพผุพังเน่าเปื่อยย่อยสลายไป ในภายนอก จนเกิดปัญญาเห็นเป็นอาการทั้ง ๓๒ ประการ ทั้งภายในตนและภายนอกตน(ผู้อื่นที่เรามองเห็น) (กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, ทวัตตติงสปาโฐ)



กายคตาสติสูตร

[๒๙๗]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุย่อมพิจารณากายนี้แล ข้างบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป
ข้างล่างแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้
ผม  ขน  เล็บ  ฟัน  หนัง  เนื้อ  เอ็น  กระดูก  เยื่อในกระดูก  ม้าม  
หัวใจ  ตับ  พังผืด  ไต  ปอด  ไส้ใหญ่  ไส้น้อย  อาหารใหม่  อาหารเก่า  (มันสมอง)
ดี  เสลด  น้ำเหลือง  เลือด  เหงื่อ  มันข้น  น้ำตา  เปลวมัน  น้ำลาย  น้ำมูก  ไขข้อ  มูตร



            [สิ่งต่างๆเหล่านี้ ล้วนแต่ปฏิกูล ไม่งาม แต่เมื่อมาเป็นเหตุปัจจัยประกอบกันเป็นกลุ่มก้อนตัวตนหรือฆนะขึ้น มีผม ขน เล็บ ฟัน หนังอันแสนสกปรกมาปกปิดห่อหุ้ม และยังเป็นมายาเครื่องล่อลวงให้เห็นเป็นไปว่าเป็น มวลรวมหรือตัวตน(ฆนะ)ที่สวยงามขึ้นมาอีกด้วย  แต่เมื่อจำแนกแยกชำแหละออกเป็นส่วนๆด้วยปัญญา ก็ย่อมยังแลเห็นได้ว่าโดยเนื้อแท้แล้ว ล้วนประกอบมาแต่สิ่งที่ไม่งาม เป็นปฏิกูล ไม่สะอาด  และยังล้วนต้องคืนกลับสู่สภาวะเดิมๆด้วยอำนาจพระไตรลักษณ์ เหมือนกันหมดสิ้นทุกบุคคลเขาเรา - ทวัตติงสาการ]



             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนไถ้มีปากทั้ง ๒ ข้างเต็มด้วยธัญญชาติต่างๆ ชนิด คือ
ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วทอง งา และข้าวสาร  บุรุษผู้มีตาดี แก้ไถ้นั้นออกแล้ว
พึงเห็นได้ว่า นี้ข้าวสาลี นี้ข้าวเปลือก นี้ถั่วเขียว นี้ถั่วทอง นี้งา นี้ข้าวสาร ฉันใด  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แล ข้างบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป ข้างล่างแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ
เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้
ผม  ขน  เล็บ  ฟัน  หนัง  เนื้อ  เอ็น  กระดูก  เยื่อในกระดูก  ม้าม  
หัวใจ  ตับ  พังผืด  ไต  ปอด  ไส้ใหญ่  ไส้น้อย  อาหารใหม่  อาหารเก่า  (มันสมอง)
ดี  เสลด  น้ำเหลือง  เลือด  เหงื่อ  มันข้น  น้ำตา  เปลวมัน  น้ำลาย  น้ำมูก  ไขข้อ  มูตร
เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้  ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้
เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ  (แสดงภาพรวม)



             [ปฏิกูลมนสิการ การพิจารณากายให้รู้ความจริงว่า เมื่อแยกแยะชำแหละพิจารณาโดยละเอียดแต่ละส่วนด้วยปัญญาแล้ว จะเห็นส่วนประกอบต่างๆของร่างกายทั้ง ๓๒ (ทวัตติงสาการ) ล้วนไม่งาม ประกอบด้วยแต่สิ่งปฏิกูล ไม่สะอาด   ก็เพราะเมื่อประกอบกันเป็นตัวตนเป็นสังขารร่างกายโดยมวลรวมหรือฆนะแล้ว ก็เกิดมายาล่อลวงให้แลเห็นเป็นไปว่าเป็นสิ่งสวยงาม จึงไม่สามารถแลเห็นตามความเป็นจริงได้
             ฝ่ายไถ้ที่มีปาก ๒ ข้าง อีกปากหนึ่งนั้นก็คือก้นรั่ว ก็ยังนำมาพิจารณาให้เกิดปัญญาได้อีกว่า จึงเติมไม่รู้จักเต็ม จึงกินไม่รู้จักพอ เป็นไถ้อันแสนปฏิกูลสกปรกชนิดที่บรรจุเท่าใดก็ไม่รู้จักเต็ม จึงต้องหมั่นเติมให้เต็มให้อิ่มอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นภาระเวร,เป็นภาระกรรมที่ต้องคอยดูแลต้องรักษาไปตลอดกาลนานจนสิ้นกาละ  ทางหนึ่งพึงเข้าทางปาก อีกทางหนึ่งพึงขับถ่ายออกมา ก็แสนปฏิกูลเหลือกำลัง  ภายในไส้เล็กก็ล้วนคลุกเคล้าเป็นปฏิกูลสั่งสมไปด้วยซากพืช อีกทั้งอสุภะซากศพของสัตว์น้อยใหญ่ทั้งปวง น้ำลาย น้ำย่อย น้ำดี ฯ. คลุกเคล้ากันแลไม่น่าดู เหม็นเปรี้ยวไม่น่าดอมดม ไม่สวยงามประกอบกันแลเป็นปฏิกูลยิ่งนัก ภายในจึงเป็นไปดุจดั่งสุสานใหญ่ที่แสนปฏิกูล ที่หมักหมมกันจนเป็นคูถเป็นมูตรอันยิ่งเน่าเหม็นยิ่งๆขึ้นไปภายในไส้ใหญ่ จนย่อมไม่มีใครอยากลิ้มหรือดอมดมอีกต่อไป เป็นดั่งนี้สิ้นทั้งในกายตนแลผู้อื่นล้วนสิ้น]



- ด้วยพระธรรมคำสอนนี้เราได้พิจารณาปฏิบัติโดยมีลมหายใจตั้งไว้ภายใน เห็นรู้รูปโดยมีอาการทั้ง ๓๒ ในเบื้องหน้า ได้เห็นว่าอาการทั้งหมดเหล่านี้สงเคราะห์ประกอบรวมกันขึ้นมาโดยแบ่งหน้าที่กันทำงานต่างๆกันไปมีหนังหุ้มเป็นที่สุดรอบจึงเกิดเป็นตัวตน คนใดๆ สัตว์ใดๆขึ้นมา

๑. ทั้งๆที่รูปขันธ์ที่ไม่ว่าเราหรือใครๆได้เข้ามาอาศัยอยู่นี้ ก็มีเพียงแค่อาการทั้ง 32 ประการ ที่สงเคราะห์ประกอบกันทำงานร่วมกันอยู่เท่านั้น มีแต่ความเสื่อมโทรมอยู่ทุกวัน สักแต่รอให้ถึงเวลาที่จะดับสูญไป ด้วยเหตุดังนี้มันจึงมีไว้อาศัยเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น ไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเที่ยงไม่ได้เลย ดังนี้จึงเรียกว่า รูปขันธ์ไม่เที่ยงไม่คงอยู่ สักแต่มีไว้อาศัยใช้ทำในกิจการงานใดๆเพียงชั่วคราว สักแต่มีไว้ระลึกรู้ดูสภาวะและสภาพที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรปรวน เสื่อมโทรม และ ดับไปเท่านั้น เข้าไปยึดมั่นถือมั่นไม่ได้เลย เพราะมันไม่เที่ยง เมื่อเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งอันไม่เที่ยงมีแต่จะเสื่อมโทรมสลายไปทุกขณะเวลา มันก็ไม่พึงได้ตามใจปารถนา มันจึงมีแป็นทุกข์

๒. รูปขันธ์ มันก็มีแค่ อาการทั้ง 32 ประการเหล่านี้รวมกันแยกกันอยู่ก็ไม่ได้ เพราะเมื่อแยกกันอยู่ก็ไม่อาจทำหน้าที่ของกันและกันได้ มีแต่จะยังความเสื่อมโทรมและสูญสลายมาให้ ลองหวนระลึกถึงอวัยวะทั้งหลายที่เขาแช่ดองไว้ในโหลแก้วตามโรงพยาบาลหรือศูนย์วิทยาศาสตร์ เมื่อแยกกันออกมาแล้วมันก็หยุดทำงานมีแต่สภาพที่คงนิ่งอยู่ไม่มีความเคลื่อนไหวทำงานใดๆใช่มั้ยครับ และแม้เขาจะดองอยู่ในฟอร์มาลีนหรือแช่เย็นไว้มันก็ยังความเสื่อมโทรมแปรเปลี่ยนและสูญสลายไปทุกๆขณะจะช้าเร็วอยู่ที่การดูแลรักษาของเราใช่ไหมครับ ดังนั้นรูปขันธ์หรืออาการทั้ง 32 ประการเหล่านี้มันจึงไม่เที่ยง

๓. เพราะมีอาการทั้ง 32 ประการเหล่านี้รวมกันและยังทำงานในหน้าที่ของกันและกันอยู่มันจึงมีคนนั้นคนนี้ มีสัตว์นั้นๆ มีสิ่งของนั้นๆได้ รูปขันธ์ หรือ อาการทั้ง 32 ประการนี้เราจะไปบังคับยื้อยึดฉุดรั้งใดๆให้มันเป็นไปดั่งใจได้ไหม มันก็ไม่ได้ใช่มั้ยครับ ห้ามไม่ให้เจ็บไม่ให้ปวดก็ไม่ได้ ห้ามไม่ให้แก่ไม่ให้เสื่อมโทรมสูญสลายไปก็ไม่ได้ แล้วควรหรือไม่ที่เราจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรูปขันธ์ ว่าเป็นตัวตน ว่านี่เป็นเรา นี่เป็นของเรา นี่เป็นเขา นี่เป็นของเขา ก็ด้วยเพราะเหตุดังนี้ รูปขันธ์ จึงชื่อว่าไม่มีตัวตน ไม่ใช่ของเรา

๔. หากมีเพียงแค่อาการใดอาการหนึ่งจาก 32 ประการนี้ ก็ไม่อาจจะเรียกว่าเป็นคนหรือสัตว์ได้ ดังนี้แล้วเราจะไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่สักแต่เพียงมีไว้แค่อาศัยอยู่ชั่วคราว สิ่งที่สักแต่เพียงอาศัยการสงเคราะห์ประกอบร่วมกันโดยมีอาการที่เรียกว่า ผม  ขน  เล็บ  ฟัน และ หนังที่หุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบปกปิดอาการอันเน่าเหม็นภายในไว้นี้ว่าเป็นสิ่งที่มีตัวตน มีเขา มีเรา นี่เป็นเขา นี่เป็นเรา ได้หรือไม่

๕. ความเข้าไปปารถนาเอากับสิ่งอันไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน มันเป็นทุกข์ เราจึงควรเพิกถอนความสำคัญมั่นหมายของใจอันยึดมั่นในอาการทั้ง 32 หรือ รูปขันธ์ เหล่านี้ออกไปเสีย พึงเห็นมันเป็นของไม่เที่ยง เป็นสิ่งไม่มีตัวตน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมโทรม ดับไป เพียงมีไว้ระลึกรู้ไม่ได้มีไว้เสพย์ในกิเลสตัณหาจากรูปขันธ์นั้นจนเกิดเป็นความยึดมั่นถือมั่นอุปาทาน

๖. เมื่อได้ทำความเข้าใจให้เห็นตามจริงดังนี้แล้ว จิตย่อมน้อมวิเคราะห์ลงในธรรม แล้วเห็นว่า เราไม่มีในรูป รูปไม่ใช่เรา
เราไม่มีในรูปนั้นเป็นไฉน รูป คือ ร่างกายของเรานี้ มีอาการทั้ง 32 ประการ พึงพิจารณาให้เห็นดังนี้ว่า

  ผมหรือที่เป็นเรา, ขนหรือที่เป็นเรา, เล็บหรือที่เป็นเรา, หนังหรือที่เป็นเรา, เนื้อหรือที่เป็นเรา, เอ็นหรือที่เป็นเรา
  กระดูกหรือที่เป็นเรา, เยื่อในกระดูกหรือที่เป็นเรา, ม้ามหรือที่เป็นเรา, หัวใจหรือที่เป็นเรา, ตับหรือที่เป็นเรา
  พังผืดหรือที่เป็นเรา, ไตหรือที่เป็นเรา, ปอดหรือที่เป็นเรา, ไส้ใหญ่หรือที่เป็นเรา, ไส้น้อยหรือที่เป็นเรา
  อาหารใหม่หรือที่เป็น, อาหารเก่าหรือที่เป็นเรา, น้ำดีหรือที่เป็นเรา, เสลดหรือที่เป็นเรา, น้ำเหลืองหรือที่เป็นเรา
  เลือดหรือที่เป็นเรา, เหงื่อหรือที่เป็นเรา, มันข้นหรือที่เป็นเรา, น้ำตาหรือที่เป็นเรา, เปลวมัน(มันเหลว)หรือที่เป็นเรา
  น้ำลายหรือที่เป็นเรา, น้ำมูกหรือที่เป็นเรา, น้ำมันไขข้อหรือที่เป็นเรา, น้ำมูตรหรือที่เป็นเรา, (มันสมอง)หรือที่เป็นเรา

- ก็เมื่อรูปขันธ์ คือ อาการทั้ง 32 ประการทั้งหลายเหล่านี้  อันเราได้พิจารณาใน อนุโลม ปฏิโลม โดยแยบคายแล้ว ก็ไม่เห็นจะมีเราหรือมีสิ่งใดที่เป็นเราอยู่ในรูปขันธ์ คิแ อาการทั้ง 32 ประการเหล่านั้น ด้วยเหตุดังนี้ "เราจึงไม่มีในรูป" (อนัตตา)
- ก็เมื่อรูปขันธ์ คือ อาการทั้ง 32 ประการทั้งหลายเหล่านี้  อันเราได้พิจารณาใน อนุโลม ปฏิโลม โดยแยบคายแล้ว ก็ไม่เห็นจะมีรูปขันธ์ คือ อาการใดๆใน 32 ประการเหล่านี้ที่จะเป็นเรา ด้วยเหตุดังนี้ "รูปจึงไม่ใช่เรา" (อนัตตา)

- ก็เมื่อรูปขันธ์ คือ ร่างกายของเรานี้ อาศัยอาการทั้ง 32 ประการทั้งหลายเหล่านี้รวมกันอยู่ก็จึงได้สมมติเอาว่าเป็นเรา ก็เมื่อแยกอาการทั้ง 32 ประการออกมามี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้นนั้นออกมาจากรูปขันธ์ แยกออกมากองๆไว้อย่างนี้แล้ว เราจะเห็นรูปขันธ์มีอยู่ในเราหรือใครๆบ้างไหม มันก็หาไม่ได้ใช่ไหม ที่จะเห็นได้นั้นก็มีแต่กองสิ่งเน่าเหม็น ไม่มีร่างกายไรๆในเราหรือใครๆ รูปขันธ์ก็ไม่มีในเราและตัวตนบุคคลใดเหลืออีก ด้วยเหตุดังนี้ "รูปจึงไม่มีในเรา" (อนัตตา)
- ก็เพราะ รูปขันธ์ คือ อาการทั้ง 32 ประการทั้งหลายเหล่านี้ไม่มีตัวตนอันที่จะไปบังคับใดๆได้ อาการทั้ง 32 ประการนี้ จึงมีความเสื่อมโทรมไปทุกๆขณะเวลา

- เมื่อเห็นดังข้อที่ ๑-๖ นี้แล้ว เราก็ย่อมรู้ว่า รูปขันธ์ คือ อาการทั้ง 32 ประการเหล่านี้ มันมีความแปรเปลี่ยนเสื่อมโทรมไปทุกขณะ ไม่นานก็เสื่อมสลายแล้วดับไปเป็นของไม่เที่ยง ไม่คงอยู่นาน จะสูญสลายไปช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา สภาพแวดล้อม สภาพธรรมที่ปรุงแต่งทั้งภายในภายนอกและกาลเวลา มันเป็นกองทุกข์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในรูป รูปไม่มีในเรา รูปไม่ใช่เรา รูปไม่ใช่ของเรา สักแต่มีไว้ระลึกรู้ มีไว้อาศัยชั่วคราว เมื่อเราเข้าไปปารถนาหมายมั่นในรูปขันธ์ไปมันก็เสียแรงเปล่า ปารถนาไปทำไมให้มันเป็นทุกข์เปล่าๆ หากเมื่อเราไม่ปารถนาที่จะเอาความทุกข์ก็เพิกถอนความสำคัญมั่นหมายยึดมั่นถือมั่นในรูปขันธ์ทิ้งไปเสีย ถอนความยึดมั่นถือมั่นออกจากสิ่งอันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน เราก็จักไม่ทุกข์อีก






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 30, 2014, 03:23:48 PM

บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔ ในกายเรานี้)


- พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (ทวัตติงสาปาฐะ, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, ภารทวาชสูตร, คิริมานนทสูตร สัญญา ๑๐)

๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร # ๑
อุปมาอริยสัจกับรอยเท้าช้าง

            [๓๔๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ
บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตร เรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลายผู้มีอายุ. ภิกษุเหล่านั้นรับคำของท่านพระสารีบุตรแล้ว.
             พระสารีบุตรได้กล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย รอยเท้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งแห่งสัตว์
ทั้งหลายผู้เที่ยวไปบนแผ่นดิน รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมถึงการประชุมลงในรอยเท้าช้าง
รอยเท้าช้างชาวโลกย่อมกล่าวว่า เป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น เพราะรอยเท้าช้างเป็นของใหญ่
แม้ฉันใด ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งหมด
ย่อมถึงการสงเคราะห์เข้าในอริยสัจสี่ ฉันนั้นเห็นเหมือนกันแล. ในอริยสัจสี่เหล่าไหน? คือ ใน
ทุกขอริยสัจ ในทุกขสมุทัยอริยสัจ ในทุกขนิโรธอริยสัจ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.
             [๓๔๑] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน? คือ แม้ความเกิดเป็นทุกข์
แม้ความแก่เป็นทุกข์ แม้ความตายเป็นทุกข์ แม้ความโศก ความรำพัน ความทุกข์กาย ความ
ทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์ แม้ความที่ไม่ได้สิ่งที่ตนอยากได้ ก็เป็นทุกข์ โดยย่อ
อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อุปาทานขันธ์ห้าเป็นไฉน? คืออุปาทานขันธ์
คือ รูป อุปาทานขันธ์คือเวทนา อุปาทานขันธ์คือสัญญา อุปาทานขันธ์คือสังขาร อุปาทานขันธ์คือ
วิญญาณ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อุปาทานขันธ์คือรูปเป็นไฉน? คือ มหาภูตรูป ๔ และรูป
ที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็มหาภูตรูป ๔ เป็นไฉน? คือปฐวีธาตุ อาโปธาตุ
เตโชธาตุ วาโยธาตุ.

ปฐวีธาตุ

             [๓๔๒] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ปฐวีธาตุเป็นไฉน? คือ ปฐวีธาตุที่เป็นไปภายใน
ก็มี ปฐมวีธาตุที่เป็นไปภายนอกก็มี. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ปฐวีธาตุ ที่เป็นไปภายในเป็น
ไฉน? คือ สิ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็น
ของหยาบ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม
หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ก็หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ซึ่งเป็นอุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็นของ
หยาบอย่างอื่น นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุ เป็นไปภายใน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ปฐวีธาตุอันใด
แล เป็นไปภายใน และปฐวีธาตุอันใด เป็นไปภายนอก นั่นเป็นปฐวีธาตุแล. บัณฑิตพึงเห็น
ปฐวีธาตุนั้น นั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็น
นั่น นั่นไม่เป็นตนของเรา. บัณฑิตครั้นเห็นปฐวีธาตุนั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง
อย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ ย่อมยังจิตให้คลายกำหนัดในปฐวีธาตุ. ดูกรท่านผู้มี
อายุทั้งหลาย สมัยที่ปฐวีธาตุที่เป็นไปภายนอกกำเริบ ย่อมจะมีได้แล ในสมัยนั้น ปฐวีธาตุ
อันเป็นภายนอกจะเป็นของอันตรธานไป. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่าความที่แห่ง
ปฐวีธาตุอันเป็นไปภายนอกนั้น ซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้น เป็นของไม่เที่ยง จักปรากฏได้ ความเป็น
ของสิ้นไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็น
ของแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้. ก็ไฉนความที่แห่งกายอันตัณหาเข้าไปถือเอาแล้ว ว่าเรา
ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้งอยู่ตลอดกาลนิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของมีความสิ้นไปเป็น
ธรรมดา เป็นของมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักไม่
ปรากฏเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ความยึดถือด้วยสามารถตัณหามานะและทิฏฐิในปฐวีธาตุ อันเป็นภายใน
นั้นจะไม่มีแก่ผู้นั้นเลย. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชนเหล่าอื่นจะด่า จะตัดพ้อ กระทบ
กระเทียบ จะเบียดเบียน ภิกษุนั้นไซร้. ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ทุกขเวทนาอันเกิดแต่
โสตสัมผัสนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่า ทุกขเวทนานั้นแล อาศัยเหตุจึงมีได้ ไม่อาศัยเหตุจะมี
ไม่ได้ ทุกขเวทนานี้ อาศัยอะไรจึงมีได้ ทุกขเวทนาอาศัยผัสสะจึงมีได้. ภิกษุนั้น ย่อมเห็นว่า
ผัสสะเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า เวทนาเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า สัญญาเป็นของไม่เที่ยง
ย่อมเห็นว่า สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า วิญญาณเป็นของไม่เที่ยง จิตอันมี
ธาตุเป็นอารมณ์นั่นเทียวของภิกษุนั้น ย่อมแล่นไป ย่อมเสื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ด้วยดี ย่อม
หลุดพ้น. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชนเหล่าอื่นจะพยายามทำร้ายภิกษุนั้น ด้วยอาการ
ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ คือด้วยการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยการประหาร
ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยการประหารด้วยศาตราบ้าง. ภิกษุนั้นย่อมรู้
ชัดอย่างนี้ว่า กายนี้เป็นสภาพเป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการ
ประหารก้อนดินบ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการประหาร
ด้วยศาตราบ้าง. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในพระโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อยดังนี้ว่า ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย แม้หากว่า พวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า พึงตัดทอนอวัยวะใหญ่น้อยทั้งหลายด้วย
เลื่อยอันมีด้ามสองข้างไซร้ ภิกษุผู้ที่ยังใจให้ประทุษร้าย ในพวกโจร แม้นั้น ย่อมไม่เป็นผู้ชื่อว่า
ทำตามคำสั่งสอนของเราด้วยเหตุนั้น ดังนี้. อนึ่ง ความเพียรอันเราปรารภแล้ว จักเป็นคุณชาติ
ไม่ย่อหย่อน สติอันเราเข้าไปตั้งไว้แล้ว จักเป็นคุณชาติไม่หลงลืม กายอันเราให้สงบแล้ว
จักเป็นสภาพไม่กระวนกระวาย จิตอันเราให้ตั้งมั่นแล้ว จักเป็นธรรมชาติมีอารมณ์เป็นอย่างเดียว
คราวนี้ การประหารด้วยฝ่ามือทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยก้อนดินทั้งหลาย
จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยท่อนไม้ทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหาร
ด้วยศาตราทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี ตามทีเถิด คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ เราจะ
ทำให้จงได้ ดังนี้. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้
ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมไม่
ตั้งอยู่พร้อมได้. ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้นว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอ
ลาภไม่มีแก่เราหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่
อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม
ไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี ดังนี้. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หญิงสะใภ้เห็นพ่อผัวแล้ว ย่อมสลดใจ ย่อมถึง
ความสลดใจ แม้ฉันใด ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้
ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ไม่ตั้งอยู่
ได้ด้วยดี. ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้นว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอ
ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า
อยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัย
กุศลธรรม ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี ดังนี้. ฉันนั้นเหมือนกันแล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า
เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่
อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมตั้งอยู่ได้ด้วยดีไซร้. ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้ปลื้มใจ
เพราะเหตุนั้น. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้แล คำสอนของพระผู้มี
พระภาคเป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว.

อาโปธาตุ

             [๓๔๓] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อาโปธาตุเป็นไฉน? คือ อาโปธาตุที่เป็นไปภายใน
ก็มี อาโปธาตุที่เป็นไปภายนอกก็มี. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อาโปธาตุที่เป็นไปภายในเป็น
ไฉน? คือ สิ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายในเป็นของเฉพาะตน เป็นของเอิบอาบ ถึงความ
เอิบอาบ  คือ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก
ไขข้อ น้ำมูตร ก็หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน
เป็นของเอิบอาบ ถึงความเป็นของเอิบอาบอย่างอื่น นี้เรียกว่า อาโปธาตุเป็นไปภายใน. ดูกร
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อาโปธาตุอันใดแล เป็นไปภายใน และอาโปธาตุอันใด เป็นไปภายนอก
นั้นเป็นอาโปธาตุแล. บัณฑิตพึงเห็นอาโปธาตุนั้นนั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง
อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่เป็นตนของเรา. ครั้นเห็นอาโปธาตุนั่น ด้วย
ปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในอาโปธาตุ ย่อมยังจิตให้คลาย
กำหนัดในอาโปธาตุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่อาโปธาตุ ที่เป็นไปภายนอกกำเริบ ย่อม
จะมีได้แล อาโปธาตุ อันเป็นภายนอกนั้น ย่อมพัดเอาบ้านไปบ้าง พัดเอานิคมไปบ้าง พัดเอา
เมืองไปบ้าง พัดเอาชนบทไปบ้าง ย่อมพัดเอาประเทศแห่งชนบทไปบ้าง. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
สมัยที่น้ำในมหาสมุทรย่อมลึกลงไปร้อยโยชน์บ้าง สองร้อยโยชน์บ้าง สามร้อยโยชน์บ้าง
สี่ร้อยโยชน์บ้าง ห้าร้อยโยชน์บ้าง หกร้อยโยชน์บ้าง เจ็ดร้อยโยชน์บ้าง ย่อมมีได้แล. ดูกร
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่น้ำในมหาสมุทรขังอยู่เจ็ดชั่วลำตาลบ้าง หกชั่วลำตาลบ้าง ห้าชั่ว
ลำตาลบ้าง สี่ชั่วลำตาลบ้าง สามชั่วลำตาลบ้าง สองชั่วลำตาลบ้าง ชั่วลำตาลหนึ่งบ้าง ย่อมมี
ได้แล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่น้ำในมหาสมุทรขังอยู่ ได้เจ็ดชั่วบุรุษบ้าง หกชั่วบุรุษ
บ้าง ห้าชั่วบุรุษบ้าง สี่ชั่วบุรุษบ้าง สามชั่วบุรุษบ้าง สองชั่วบุรุษบ้าง ประมาณชั่วบุรุษหนึ่ง
บ้าง ย่อมมีได้แล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็สมัยที่น้ำในมหาสมุทรขังอยู่ กึ่งชั่วบุรุษบ้าง
ประมาณเพียงสะเอวบ้าง ประมาณเพียงเข่าบ้าง ประมาณเพียงข้อเท้าบ้าง ย่อมมีได้แล. ดูกร
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่น้ำแม้ประมาณพอเปียกข้อนิ้วมือจะไม่มีในมหาสมุทร ก็ย่อมมีได้
แล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่า ความที่แห่งอาโปธาตุอันเป็นไปภายนอกนั้น ซึ่งมากถึง
เพียงนั้นเป็นของไม่เที่ยง จักปรากฏได้ ความเป็นของสิ้นไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความ
เป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักปรากฏ
ได้. ก็ไฉนความที่แห่งกายอันตัณหาเข้าไปถือเอาแล้ว ว่าเรา ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้งอยู่
ตลอดกาลนิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความ
เสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักไม่ปรากฏเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้
ความยึดถือด้วยสามารถตัณหามานะและทิฏฐิ ในอาโปธาตุอันเป็นภายนอกนั้น จะไม่มีแก่ผู้นั้น
เลย. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึง
พระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมตั้งอยู่ได้ด้วยดี
ไซร้ ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้ปลื้มใจเพราะเหตุนั้น. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณ
เท่านี้แล คำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว.






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 02, 2014, 09:53:46 AM

บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔ ในกายเรานี้)

- พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (ทวัตติงสาปาฐะ, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, ภารทวาชสูตร, คิริมานนทสูตร สัญญา ๑๐)


๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร # ๒
อุปมาอริยสัจกับรอยเท้าช้าง

เตโชธาตุ(ไฟ)

            [๓๔๔] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เตโชธาตุเป็นไฉน? คือ เตโชธาตุที่เป็นไปภายใน
ก็มี เตโชธาตุที่เป็นไปภายนอกก็มี. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เตโชธาตุที่เป็นไปภายในเป็น
ไฉน? คือ สิ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของเร่าร้อน ถึง
ความเป็นของเร่าร้อน คือ สิ่งที่เป็นเครื่องอบอุ่นแห่งกาย สิ่งที่เป็นเครื่องทรุดโทรมแห่งกาย
สิ่งที่เป็นเครื่องเร่าร้อนแห่งกาย สิ่งที่เป็นเครื่องถึงความแปรปรวนไปด้วยดีแห่งของที่กินแล้ว
ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว และของที่ลิ้มรสแล้ว ก็หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นอุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน
เป็นของเฉพาะตน เป็นของเร่าร้อน ถึงความเป็นของเร่าร้อน อย่างอื่น นี้เรียกว่า เตโชธาตุ
อันเป็นไปภายใน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เตโชธาตุอันใดแล เป็นไปภายใน และเตโชธาตุ
อันใด เป็นภายนอก นั่นเป็นเตโชธาตุแล. บัณฑิตพึงเห็นเตโชธาตุนั้นนั่น ด้วยปัญญาอันชอบ
ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่เป็นของเรา. บัณฑิต
ครั้นเห็นเตโชธาตุนั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายใน
เตโชธาตุ ย่อมยังจิตให้คลาย กำหนัดในเตโชธาตุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัย
ที่เตโชธาตุอันเป็นไปภายนอก กำเริบ ย่อมจะมีได้แล เตโชธาตุอันเป็นภายนอกนั้น ย่อม
ไหม้บ้านบ้าง ย่อมไหม้บ้านเมืองบ้าง ย่อมไหม้นิคมบ้าง ย่อมไหม้ชนบทบ้าง ย่อมไหม้ประเทศ
แห่งชนบทบ้าง. เตโชธาตุอันเป็นภายนอกนั้นมาถึงหญ้าสด หนทาง ภูเขา น้ำ หรือภูมิภาค
อันเป็นที่รื่นรมย์ ไม่มีเชื้อ ย่อมดับไปเอง. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่ชนทั้งหลายแสวง
หาไฟด้วยขนไก่บ้าง ด้วยการขูดหนังบ้าง ย่อมมีได้แล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่า
ความที่แห่งเตโชธาตุ อันเป็นไปภายนอกนั้นซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้นเป็นของไม่เที่ยง จักปรากฏได้
ความเป็นของสิ้นไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้
ความเป็นของแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้. ก็ไฉนความที่แห่งกายอันตัณหาเข้าไปถือ
เอาแล้ว ว่าเรา ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้งอยู่ตลอดกาลนิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็น
ของมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวน
ไปเป็นธรรมดา จักไม่ปรากฏเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ความยึดถือด้วยสามารถตัณหามานะ
และทิฏฐิในเตโชธาตุนั้น จะไม่มีแก่ผู้นั้นเลย. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุ
นั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้
อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมตั้งอยู่ได้ด้วยดีไซร้. ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้ปลื้มใจเพราะเหตุนั้น.
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านั้นแล คำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นอัน
ภิกษุทำให้มากแล้ว.

วาโยธาตุ(ลม)

             [๓๔๕] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็วาโยธาตุเป็นไฉน? คือ วาโยธาตุที่เป็นไปภายใน
ก็มี วาโยธาตุที่เป็นภายนอกก็มี. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็วาโยธาตุที่เป็นไปภายในเป็น
ไฉน? คือ สิ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา ถึง
ความเป็นของพัดไปมา คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมอันอยู่ในท้อง ลมอันอยู่
ในลำไส้ ลมอันแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็หรือสิ่งใด
สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นอุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา ถึงความ
เป็นของพัดไปมา อย่างอื่น นี้เรียกว่า วาโยธาตุเป็นไปภายใน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ก็วาโยธาตุอันใดแล เป็นไปภายใน และวาโยธาตุอันใด เป็นไปภายนอก นั่นเป็น
วาโยธาตุแล. บัณฑิตพึงเห็นวาโยธาตุนั้นนั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า
นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่เป็นตนของเรา. บัณฑิตครั้นเห็นวาโยธาตุนั้น ด้วย
ปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในวาโยธาตุ ย่อมยังจิตให้คลาย
กำหนัดในวาโยธาตุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่วาโยธาตุอันเป็นไปภายนอกกำเริบ
ย่อมจะมีได้แล วาโยธาตุอันเป็นภายนอกนั้น ย่อมพัดเอาบ้านไปบ้าง ย่อมพัดเอานิคมไป
บ้าง ย่อมพัดเอานครไปบ้าง ย่อมพัดเอาชนบทไปบ้าง ย่อมพัดเอาประเทศแห่งชนบท
ไปบ้าง. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่ชนทั้งหลาย แสวงหาลมด้วยพัดใบตาลบ้าง ด้วย
พัดสำหรับพัดไฟบ้าง ในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน แม้ในที่ชายคา หญ้าทั้งหลายก็ไม่ไหว ย่อม
มีได้แล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่าความที่แห่งวาโยธาตุ อันเป็นไปภายนอกนั้น ซึ่ง
ใหญ่ถึงเพียงนั้น เป็นของไม่เที่ยง จักปรากฏได้ ความเป็นของสิ้นไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้
ความเป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักปรา-
*กฏได้. ก็ไฉนความที่แห่งกายอันตัณหาเข้ายึดถือเอาแล้ว ว่าเรา ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้ง
อยู่ตลอดกาลนิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เป็น
ของมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักไม่ปรากฏเล่า เมื่อ
เป็นเช่นนี้ ความยึดถือด้วยสามารถตัณหามานะและทิฏฐิในวาโยธาตุนั้น จะไม่มีแก่ผู้นั้นเลย.
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชนเหล่าอื่นจะด่า จะตัดพ้อ จะกระทบกระเทียบ จะ
เบียดเบียนภิกษุนั้นไซร้. ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ทุกขเวทนาอันเกิดแต่โสตสัมผัสนี้
เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่า ทุกขเวทนานั้นแล อาศัยเหตุพึงมีได้ ไม่อาศัยเหตุจะมีไม่ได้
ทุกขเวทนานี้อาศัยอะไร จึงมีได้ ทุกขเวทนานี้อาศัยผัสสะ จึงมีได้. ภิกษุนั้นย่อมเห็นว่า
ผัสสะเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า เวทนาเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า สัญญาเป็นของ
ไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า วิญญาณเป็นของไม่เที่ยง
จิตอันมีธาตุเป็นอารมณ์นั่นเทียวของภิกษุนั้น ย่อมแล่นไป ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ด้วยดี
ย่อมหลุดพ้น.



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 02, 2014, 09:54:10 AM

บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔ ในกายเรานี้)

- พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (มหาหัตถิปโทปมสูตร)


๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร # ๓
อุปมาอริยสัจกับรอยเท้าช้าง

การทำตามพระโอวาท

             ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากชนเหล่าอื่นจะพยายามทำร้ายภิกษุนั้น ด้วยอาการที่ไม่น่า
ปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ คือ ด้วยการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยการประหารด้วย
ก้อนดินบ้าง ด้วยการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยการประหารด้วยศาตราบ้าง. ภิกษุนั้น
ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายนี้เป็นสภาพเป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง เป็นที่เป็น
ไปแห่งการประหารด้วยก้อนดินบ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง เป็นที่เป็น
ไปแห่งการประหารด้วยศาตราบ้าง. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในพระโอวาท อันเปรียบ
ด้วยเลื่อยดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ว่าพวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า พึงตัดทอนอวัยวะ
ใหญ่น้อยทั้งหลาย ด้วยเลื่อยอันมีด้ามสองข้างไซร้ ภิกษุผู้ที่ยังใจให้ประทุษร้ายในพวกโจรแม้
นั้น. ย่อมไม่เป็นผู้ชื่อว่าทำตามคำสอนของเราด้วยเหตุนั้น ดังนี้. อนึ่ง ความเพียรอันเรา
ปรารภแล้ว จักเป็นคุณชาติไม่ย่อหย่อน สติอันเราเข้าไปตั้งไว้แล้ว จักเป็นคุณชาติไม่หลงลืม
กายอันเราให้สงบแล้ว จักเป็นสภาพไม่กระวนกระวาย จิตอันเราให้ตั้งมั่นแล้ว จักเป็น
ธรรมชาติมีอารมณ์เป็นอย่างเดียว คราวนี้ การประหารด้วยฝ่ามือทั้งหลาย จงเป็นไปใน
กายนี้ก็ดี การประหารด้วยก้อนดินทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยท่อนไม้
ทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยศาตราทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี
ตามทีเถิด คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้เราจะทำให้จงได้ ดังนี้. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึง
พระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้พร้อม. ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ
ย่อมถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้นว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอ ลาภไม่มีแก่เราหนอ เราได้ไม่
ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราแล้วหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึง
พระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี
ดังนี้. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หญิงสะใภ้เห็นพ่อผัวแล้ว ย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ
แม้ฉันใด ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึก
ถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ไม่ตั้งอยู่ได้
ด้วยดี. ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้นว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอ
ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธ-
*เจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัย
กุศลธรรม ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี ดังนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์
อย่างนี้ อุเบกขาอาศัยกุศลธรรม ย่อมตั้งอยู่ด้วยดีไซร้. ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้ปลื้มใจเพราะเหตุนั้น.
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอันภิกษุ
ทำให้มากแล้ว.

ผู้เห็นธรรม

             [๓๔๖] ดูกรท่านมีอายุทั้งหลาย อากาศอาศัยไม้และอาศัยเถาวัลย์ ดินเหนียวและหญ้า
แวดล้อมแล้ว ย่อมถึงความนับว่า เป็นเรือนฉันใด ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อากาศอาศัยกระดูก
และอาศัยเอ็นเนื้อและหนังแวดล้อมแล้ว ย่อมถึงความนับว่า รูป ฉันนั้นเหมือนกันแล. ดูกรท่าน
ผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า จักษุอันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลายแล้ว และรูปทั้งหลาย
อันเป็นภายนอกย่อมไม่มาสู่คลองจักษุ ทั้งความกำหนดอันเกิดแต่จักษุและรูปนั้นก็ไม่มี ความ
ปรากฏแห่งส่วนแห่งวิญญาณอันเกิดแต่จักษุ และรูปนั้น ก็ยังมีไม่ได้ก่อน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้ง
หลาย หากว่า จักษุอันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลายแล้ว และรูปทั้งหลายอันเป็น
ภายนอก ย่อมมาสู่คลองจักษุ แต่ความกำหนดอันเกิดแต่จักษุ และรูปนั้นไม่มี ความปรากฏ
แห่งส่วนแห่งวิญญาณอันเกิดแต่จักษุ และรูปนั้นก็ยังมีไม่ได้ก่อน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
แต่ว่าในกาลใดแลจักษุอันเป็นไปในภายในเป็นของไม่แตกไม่ทำลายแล้ว และรูปทั้งหลายอันเป็น
ภายนอก ย่อมมาสู่คลองจักษุ ทั้งความกำหนดอันเกิดแต่จักษุและรูปก็ย่อมมีในกาลนั้น ความ
ปรากฏแห่งส่วนแห่งวิญญาณอันเกิดแต่จักษุและรูปนั้น ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้. รูปแห่ง
สภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด รูปนั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์ คือ รูป
เวทนาแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด เวทนานั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ในอุปาทานขันธ์
คือ เวทนา สัญญาแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด สัญญานั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์
ในอุปาทานขันธ์ คือ สัญญา สังขารแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นเหล่าใด สังขารเหล่านั้น ย่อม
ถึงความสงเคราะห์ในอุปาทาน คือ สังขาร วิญญาณแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด วิญญาณนั้น
ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์ คือ วิญญาณ. ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า
การสงเคราะห์ การประชุมพร้อม หมวดหมู่แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ย่อมมีได้ ด้วยประ
การอย่างนี้. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ไว้ว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อ
ว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท ดังนี้. ก็อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ใด
อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ชื่อว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรมแล. ความพอใจความอาลัย ความยินดี ความ
ชื่นชอบ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้อันใด อันนั้นชื่อว่าทุกขสมุทัย การกำจัดความกำหนัดด้วย
สามารถความพอใจ การละความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้อันใด
อันนั้นชื่อว่าทุกขนิโรธแล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้แล. คำสอนของ
พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว.
             ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า โสตะอันเป็นไปในภายในเป็นของไม่แตกทำลาย
แล้ว ฯลฯ
             ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ฆานะอันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลาย
แล้ว ฯลฯ
             ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชิวหา อันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลาย
แล้ว ฯลฯ
             ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า กายอันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลาย
แล้ว ฯลฯ
             ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า มนะอันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลาย
แล้ว และธรรมารมณ์ทั้งหลายอันเป็นภายนอก ย่อมไม่มาสู่คลอง ทั้งความกำหนดอันเกิด
แต่มนะ และธรรมารมณ์นั้น ก็ไม่มี ความปรากฏแห่งส่วนแห่งวิญญาณอันเกิดแต่มนะและ
ธรรมารมณ์นั้น ก็ยังมีไม่ได้ก่อน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า มนะอันเป็นไปในภาย
ใน เป็นของไม่แตกทำลายแล้ว และธรรมารมณ์ทั้งหลายอันเป็นภายนอก ย่อมมาสู่คลอง
แต่ความกำหนดอันเกิดแต่มนะและธรรมารมณ์นั้นไม่มี ความปรากฏแห่งส่วนแห่งวิญญาณอัน
เกิดแต่มนะและธรรมารมณ์นั้น ก็ยังมีไม่ได้ก่อน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย แต่ว่าในกาลใด
แล มนะอันเป็นไปในภายในเป็นของไม่แตกทำลายแล้ว และธรรมารมณ์ทั้งหลายอันเป็นภาย
นอก ย่อมมาสู่คลอง ทั้งความกำหนดอันเกิดแต่มนะและธรรมารมณ์นั้น ก็ย่อมมี ในกาล
นั้น ความปรากฏแห่งส่วนแห่งส่วนแห่งวิญญาณอันเกิดแต่มนะและธรรมารมณ์นั้น ย่อมมีได้
ด้วยอาการอย่างนี้. รูปแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด รูปนั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ใน
อุปาทานขันธ์คือรูป เวทนาแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด เวทนานั้น ย่อมถึงความ
สงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์คือเวทนา สัญญาแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด สัญญานั้น
ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์คือสัญญา สังขารทั้งหลายแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้น
เหล่าใด สังขารเหล่านั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์คือสังขาร วิญญาณ
แห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด วิญญาณนั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์
คือวิญญาณ. ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า การสงเคราะห์ การประชุมพร้อม
หมวดหมู่แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ย่อมมีได้ ด้วยประการอย่างนี้. อนึ่ง พระผู้มีพระภาค
ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ไว้ว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้น
ชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท ดังนี้. ก็อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ใด อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ชื่อว่า
ปฏิจจสมุปปันนธรรมแล. ความพอใจ ความอาลัย ความยินดี ความชื่นชอบ ในอุปาทาน-
*ขันธ์ ๕ เหล่านี้อันใด อันนี้ชื่อว่าทุกขสมุทัย การกำจัดความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจ
การละความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ อันใด อันนั้นชื่อว่า
ทุกขนิโรธแล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้แล คำสอนของพระผู้มี
พระภาค เป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว.
             ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวธรรมปริยายนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชม ยินดีภาษิต
ของท่านพระสารีบุตรแล้วแล.


จบ. มหาหัตถิปโทปมสูตรที่ ๘
-----------------------------------------------------



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 02, 2014, 10:39:28 AM

บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔ ในกายเรานี้)

- พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (ทวัตติงสาปาฐะ, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, จตุธาตุววัฏฐาน)


จตุธาตุววัฏฐาน

จตุธาตุววัฏฐาน หรือเรียกว่า ธาตุกรรมฐาน หมายความว่า การพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ที่ปรากฏในร่างกายจนกระทั่งเห็นเป็นแต่เพียงกองแห่งธาตุ โดยปราศจากความจำว่าเป็นหญิง ชาย เรา เขา สัตว์ บุคคลใดๆ เสีย องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่ในมหากุศลจิต มหากิริยาจิต

คำว่า ธาตุ หมายถึง การธำรงไว้ซึ่งลักษณะของตน ธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นมหาภูตรูป เพราะเป็นรูปใหญ่ เป็นประธาน เป็นที่รองรับรูปทั้งหมดที่เหลือ คือ เพราะการรวมกันของธาตุดิน ความแข็งจึงเกิดได้ เพราะการรวมกันของธาตุน้ำ ความเอิบอาบจึงเกิดได้ เพราะการรวมกันของธาตุไฟ ความร้อนจึงเกิดได้ และเพราะการรวมกันของธาตุลม ความเบาแห่งการเคลื่อนไหวจึงเกิดได้

การกำหนดจตุธาตุววัฏฐานนี้ ผู้เจริญจะต้องพิจารณาธาตุ ๔ ที่มีอยู่ภายในตน ธาตุ ๔ ที่มีอยู่ภายตนนี้ มี ๔๒ คือ ธาตุดิน ๒๐ ธาตุน้า ๑๒ ธาตุไฟ ๔ ธาตุลม ๖

 
(http://www.madchima.net/images/199_image002.gif)

วิธีการกำหนดโดยความเป็นธาตุ มีดังนี้

๑. การกำหนดธาตุโดยไม่แยกกัน
 - พึงพิจารณาว่า ปฐวีธาตุเหล่านี้ ถูกเกาะกุมไว้ด้วยกันโดยอาโปธาตุ ถูกทำให้อุ่นโดยเตโชธาตุ ถูกค้ำจุนไว้โดยวาโยธาตุ ธาตุ ๓ (คือ อาโป เตโช วาโย) ถูกรวมเข้าด้วยกันอย่างนี้

- อาโปธาตุอาศัยอยู่ในปฐวีธาตุ ถูกทำให้อุ่นโดยเตโชธาตุ ถูกค้ำจุนไว้โดยวาโยธาตุ ธาตุ ๓ (คือ ปฐวี เตโช วาโย) ถูกยึดไว้ด้วยกันรวมกันได้อย่างนี้

- เตโชธาตุอาศัยอยู่ในปฐวีธาตุ ถูกยึดไว้ด้วยกันโดยอาโปธาตุ ถูกค้ำจุนไว้โดยวาโยธาตุ ธาตุ ๓ (คือ ปฐวี อาโป วาโย) ถูกทำให้อุ่นอย่างนี้

- วาโยธาตุอาศัยอยู่ในปฐวีธาตุ ถูกยึดไว้ด้วยกันโดยอาโปธาตุ ถูกทำให้อุ่นโดยเตโชธาตุ ธาตุ ๓ (คือ ปฐวี อาโป เตโช) ถูกค้ำจุนไว้อย่างนี้
      - ธาตุ ๓ (น้ำ ไฟ ลม) อาศัยปฐวีธาตุ ถูกยึดไว้ด้วยกันโดยอาโปธาตุ ธาตุ ๓ จึงไม่กระจัดกระจาย
      - ธาตุ ๓ (ดิน น้ำ ลม) อุ่นโดยเตโชธาตุ จึงไม่มีกลิ่น
      - ธาตุ ๓ (ดิน น้ำ ไฟ )ค้ำจุนไว้โดยวาโยธาตุ จึงดำเนินไปและอยู่รวมกันได้ ไม่แตก กระจัดกระจาย

สรุป ธาตุทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อิงอาศัยซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

๒. การกำหนดธาตุโดยเหตุและปัจจัย
- พิจารณาโดยเหตุ ๔ คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร เป็นปัจจัยสร้างธาตุขึ้นมา

เหตุ ๔ คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร
- ธาตุทั้ง ๔ ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากกรรม กรรมนี้แหละทำให้มีการเกิดด้วยอำนาจของชนกกรรม ทำ
ให้กรรมและวิบากของกรรมเป็นไป และทำให้เกิดปัจจัยต่างๆที่เข้าไปอุดหนุนเกื้อหนุนให้ธาตุ ๔ เป็นไป

- ธาตุ ๔ นี้ เกิดมาจากจิต ทำให้ปัจจัยต่างๆ เป็นไป ปฏิสนธิจิตทำให้รูป คือ ธาตุทั้ง ๔ เกิดพร้อม
กันกับจิต
 
- ธาตุ ๔ นี้ ตั้งอยู่ได้ไม่เน่าเสียไป ก็ด้วยการอุปการะของ อุตุ คือไออุ่นที่หล่อเลี้ยงธาตุทั้ง ๔

- ธาตุ ๔ นี้ มีอาหารเป็นผู้หล่อเลี้ยงให้ตั้งอยู่และเจริญได้

๓. การกำหนดธาตุโดยลักษณะ
- ลักษณะของปฐวีธาตุ คือ ความแข็ง
- ลักษณะของอาโปธาตุ คือ การซึมซาบ
- ลักษณะของเตโชธาตุ คือ ความเย็น ร้อน
- ลักษณะของวาโยธาตุ คือ ไหว เคลื่อนไปมา

   เมื่อสิ่งใดปรากฏชัดในการรับรู้ในขณะที่มีสติสัมปชัญญะก็ให้ระลึกรู้โดยความเป็นเพียงธาตุเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ชีวิต เป็นเพียงแต่สภาวะของธรรมชาติ คือ ธาตุดิน น้ำไฟ ลม  


๔. การกำหนดธาตุโดยความเสมอกันและไม่เสมอกัน
- ปฐวีธาตุและอาโปธาตุ เสมอกันเพราะความมีน้ำหนัก
- ส่วนเตโชธาตุและวาโยธาตุ เสมอกันเพราะความเบา
- อาโปธาตุและเตโชธาตุ ไม่เสมอกัน อาโปธาตุสามารถกำจัดความแห้งของเตโชธาตุได้
- ปฐวีธาตุและวาโยธาตุ ไม่เสมอกัน เพราะปฐวีธาตุขัดขวางการออกไปของวาโยธาตุ วาโยธาตุก็สามารถทำลายปฐวีธาตุได้

๕. การกำหนดธาตุโดยความเป็นหุ่น
- เปรียบเหมือนการทำหุ่นจำลองเป็นมนุษย์สตรี บุรุษ แล้วมีเชือกสาหรับชักเพื่อให้หุ่นนั้น เดิน ยืนนั่ง นอน เต้นรำ

   หุ่นนี้ คือ ร่างกาย ผู้ทำหุ่นคือ กิเลสในอดีต ที่เป็นเหตุให้กายนี้ถูกสร้างขึ้นจนสมบูรณ์ เชือก คือ เส้นเอ็น ดินเหนียว คือ เนื้อ สีที่ทำ คือ ผิวหนัง ช่องทั้งหลายคืออากาศ เพราะอาศัยอาภรณ์ เครื่องประดับต่างๆ จึงได้ชื่อว่าบุรุษหรือสตรี การเคลื่อนไหวไปได้ของหุ่นก็ด้วยวาโยธาตุที่เกิดจากจิตที่คิดจะเดิน ยืน คู้เข้า เหยียดออก สนทนาพูดจำได้

  มนุษย์หุ่นเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกับวิญญาณธาตุ ตกอยู่ในอำนาจความโกรธ ความโศกเศร้า ความทุกข์ เพราะอวิชชา พวกเขาหัวเราะสนุกสนานหรือเล่นด้วยกันได้ มีอาหารรักษาหุ่นเหล่านี้ไว้ และชีวิตินทรีย์รักษาไว้ ทำให้หุ่นเหล่านี้เดินไป ที่สุดแห่งชีวิตทำให้หุ่นแตกกระจัดกระจาย และเมื่อกรรมและกิเลสยังมีอยู่ หุ่นใหม่ก็จะเกิดขึ้นอีก การเกิดขึ้นครั้งแรกของหุ่นนั้นไม่สามารถรู้ได้ จุดสุดท้ายของหุ่นนั้นใครๆ ไม่สามารถมองเห็นได้ ผู้ปฏิบัติพึงกำหนดกายนี้โดยเปรียบกับหุ่นว่าอาการเหล่านี้ กิจกรรมเหล่านี้ว่า “ไม่มีสัตว์ ไม่มีชีวะ เป็นเพียงแต่สภาวะ”

๖. พิจารณาธาตุโดยความเป็นอารมณ์
- เมื่อพิจารณาธาตุ ๔ โดยประการต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ผู้ปฏิบัติพึงพิจารณาโดยความเป็นนามและรูป คือ ธาตุทั้งหลายเป็นรูป จิตพร้อมเจตสิกต่างๆ ที่พิจารณารูปเหล่านั้นโดยความเป็นจริง เป็นนาม แล้วพิจารณาต่อไปอีกว่า นามรูปเป็นทุกข์ เป็นตัณหา เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ แล้วกำหนดรู้ว่า ความดับทุกข์ได้ต้องดับที่ตัณหา มรรคมีองค์ ๘ นั้นเป็นหนทางไปสู่ความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง

นิมิต ภาวนา และ มรรค ผล ที่ได้จากการเจริญจตุธาตุววัฏฐาน
   การเจริญจตุธาตุววัฏฐานนี้ ไม่มีอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต คงมีแต่บริกรรมนิมิตอย่างเดียว คือธาตุทั้ง ๔ ที่มีอยู่ในร่างกายตนนั้นเอง

   ส่วนภาวนานั้นได้ ๒ อย่าง คือ บริกรรมภาวนาและอุปจารภาวนา สำหรับอัปปนาภาวนาอันเป็นตัวฌานนั้นเกิดขึ้นไม่ได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะธาตุทั้ง ๔ นี้เป็นสภาวะล้วนๆ ผู้เจริญต้องใช้ปัญญาอย่างแรงกล้า จึงจะรู้เห็นในสภาวะเหล่านี้ได้ เหตุนี้สมาธิของผู้เจริญจึงไม่มีกาลังพอที่จะถึงฌาน

   ดังนั้น หากว่าการพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ที่มีอยู่ในกายตน โดยมีปัญญาเป็นประธานนี้ทำให้พิจารณาธาตุ ๔ โดยความเกิดดับ ก็จะทำให้ผู้ที่เจริญธาตุ ๔ นั้นสามารถสำเร็จมรรคผลได้

อานิสงส์ของจตุธาตุววัฏฐาน
๑. เห็นความไม่ใช่ตัวตน (อนัตตลักษณะ)
๒. ละความเห็นว่าเป็นสัตว์ บุคคล ชาย หญิงได้
๓. ไม่กลัวภัยต่างๆ
๔. สามารถตัด ระงับ ความพอใจและไม่พอใจได้ มีจิตมั่นคงไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา
๕. ทำให้เป็นผู้มีปัญญากว้างขวาง
๖. เข้าถึงพระนิพพาน
๗. ถ้าไม่เข้าถึงพระนิพพานในภพนี้ ก็จะไปสู่สุคติ

จบจตุธาตุววัฏฐาน



อ้างอิง
บทเรียนพระอภิธรรมทางไปรษณีย์ ชุดที่ ๙ สมถกรรมฐาน ตอนที่ ๓
บรรณานุกรม
๑) ปรมัตถโชติกะ หลักสูตรชั้นมัชฌิมอภิธรรมิกะโท : พระสัทธัมมโชติกะ : อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย : โรงพิมพ์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทิพยวิสุทธิ์ ; พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๓๙
๒) วิมุตติมรรค พระอุปติสสเถระ รจนา
พระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) และคณะแปลจากฉบับภาษาอังกฤษ ของพระเอฮารา พระโสมเถระ และพระเขมินทเถระ
๓) วิสุทธิมรรค ๑๐๐ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) แปลและเรียบเรียง
๔) พระสูตร และ อรรถกถา แปลขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่มที่ ๗ ภาคที่ ๑- ๒
๕) การเจริญสมาธิ ตามแนวทางพระพุทธศาสนา BUDDHIST MEDITATION ผศ.ดร.นฤมล มารคแมน
สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๔๔
ขอบคุณภาพจาก http://pixserv.clipmass.com (http://pixserv.clipmass.com),http://www.packagetourtravel.com,http://image.ohozaa.com



ขอขอบพระคุณที่มาจาก ท่าน raponsan
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5260.msg19399#msg19399 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5260.msg19399#msg19399)





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 02, 2014, 10:43:55 AM

บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔ ในกายเรานี้)

- พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (ทวัตติงสาปาฐะ, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, จตุธาตุววัฏฐาน)


(http://www.bknowledge.org/bknow/userfiles/image/human_body/9_body.gif)

จตุธาตุววัฏฐาน ๔ # ๑
   
สำหรับวันนี้ จะขอพูดเรื่องสมถภาวนาจนจบ คำว่าจบในที่นี้หมายความว่าจะเว้นอรูปฌานทั้ง ๔ เสีย เพราะถือว่าไม่มีความจำเป็น สำหรับวันนี้ก็จะพูดเรื่องจตุธาตุววัฏฐานสี่ หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า ธาตุ ๔  สำหรับกรรมฐานบทนี้เป็นกรรมฐานพิจารณา ไม่ใช่กรรมฐานภาวนา คำว่าภาวนาหมายความว่า จับคาถาบทใดบทหนึ่งเข้ามาภาวนาให้จิตทรงตัว

 แต่ว่าสำหรับกรรมฐานกองนี้เป็นกรรมฐานพิจารณา เป็นกรรมฐานที่เหมาะสำหรับท่านที่เป็นพุทธจริต คำว่าพุทธจริตเป็นอารมณ์รู้ หมายถึงว่าคนทุกคนก็มีด้วยกันทุกคน เวลาใดที่มีอารมณ์ปลอดโปร่งเห็นว่าโลกเป็นทุกข์ อัตภาพร่างกายมีสภาพเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงเป็นท่ามกลาง มีความแตกสลายไปในที่สุด เห็นว่าเป็นอนิจจังหาความเที่ยงไม่ได้ เป็นทุกขังเป็นความทุกข์ อนัตตามันจะสลายตัว

ถ้าอารมณ์ของเราเกิดขึ้นอย่างนี้ เห็นว่าร่างกายไม่เป็นเรื่องเป็นราว มีความตายไปในที่สุด ชื่อว่าเวลานั้นอารมณ์จิตเราเป็นพุทธจริต เป็นจิตที่ตกอยู่ในความฉลาด

   ฉะนั้นกรรมฐานบทหนึ่งในพุทธจริตที่เรายังไม่ได้พูดกันมาก็เหลือจตุธาตุววัฏฐานสี่ คือท่านให้พิจารณาว่า ร่างกายของเรานี้เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ คือ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ เอามาผสมกันเข้าเป็นเรือนร่าง แล้วก็มีอากาศธาตุ มีวิญญาณธาตุเข้ามาสิงรวมเป็นธาตุ ๖ ประการด้วยกัน เนื้อแท้เดิมจริงๆ มันมี ๔

   ธาตุดินได้แก่ของที่แข็ง มีหนัง มีเนื้อ มีกระดูก เป็นต้น
   ธาตุน้ำได้แก่น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำลาย ปัสสาวะ เป็นต้น
   ธาตุไฟได้แก่ความอบอุ่นในร่างกาย
   ธาตุลมได้แก่การที่พัดไปมาในร่างกาย มีลมหายใจเป็นต้น

   รวมความว่าร่างกายนี้ต้องมีธาตุ ๔ ประกอบกัน ทั้งธาตุแต่ละธาตุก็ต้องมีความแข็งแรงสม่ำเสมอกัน ร่างกายของเราจึงจะมีความสมบูรณ์พูนสุข อันการที่ร่างกายป่วยไข้ไม่สบายแสดงว่าธาตุอย่างใดอย่างหนึ่งมันบกพร่อง มีการทรงตัวไม่เสมอกัน เหมือนกับเรามีโต๊ะ ๔ ขา แต่ขาหนึ่งมันหักหรือมันร่อยไปเสียก็แสดงว่าตั้งไม่สนิท ถ้ามันร่อยลงไป ๒ ขา ก็แสดงว่าเอียงลงไปแล้ว

แม้แต่ก้านกล้วยมันก็หนัก ร่างกายของเราก็เหมือนกัน มีความสมบูรณ์แข็งแรงปกติใช้งานได้สะดวก ก็ได้แก่ธาตุทรงตัวสม่ำเสมอกัน เมื่อธาตุส่วนใดส่วนหนึ่งมีความทรุดโทรมเรียกว่าพอเสื่อมตัวลงไป ร่างกายก็ต้องแสดงถึงการทรุดโทรมให้ปรากฏ แล้วในที่สุดธาตุแต่ละธาตุทั้ง ๔ ธาตุนี้มันก็จะต้องสลายตัวไป

   ถึงเวลาตายเราจึงว่าธาตุลมหายไป
   ธาตุไฟหายไป เหลือ ๒ ธาตุ คือธาตุน้ำกับธาตุดิน
   ในเมื่อมีดินกับน้ำ ไม่มีความอบอุ่นเข้าประคับประคอง น้ำก็ละลายดิน ดินก็เกิดอาการยุ่ย เกิดอาการอืดพองขึ้นมา หนังเปื่อยเนื้อเปื่อย เน่า ทว่าไม่เน่าเปล่ามีการส่งกลิ่นเหม็น แล้วก็ค่อยสลายตัวไปทีละน้อยละน้อย

   ธาตุน้ำแห้งไป ธาตุดินก็ยุบตัวลงสลายไป
   เป็นอันว่าร่างกายของเราประกอบไปด้วยธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ มันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็มีความเสื่อมไปลดน้อยถอยลงไปทีละน้อยๆ เราจะเห็นว่าความเป็นเด็กเกิดขึ้น เรามีการเจริญขึ้นด้วยธาตุ จนถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาวแสดงว่าธาตุ ๔ ประกอบสมบูรณ์

   พออายุมากลงความสมบูรณ์กับเวลาที่เสื่อมลงไปยามแก่มาถึง สิ่งที่เข้าไปปรนเปรอไม่พอกับสิ่งที่เสื่อมสลายตัวไป ของที่เต็มอยู่มันก็พร่องคือว่าเนื้อหนัง เนื้อมันน้อยลงหนังก็เริ่มเหี่ยว ความเปล่งปลั่งไม่ปรากฏ มีการสลายตัวของธาตุดินมองเห็นชัด


   แล้วในที่สุดธาตุดินก็สลายตัวทรงไม่ได้ กายทรงตัวอยู่ไม่ได้ นี่มันตาย มานั่งพิจารณาดู ร่างกายเราเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ขณะใดที่ธาตุทั้ง ๔ ไม่สามัคคีกันเมื่อไหร่ก็พังเมื่อนั้น

   แล้วมาดูการพิจารณาดูธาตุ ๔ เพื่อประโยชน์อะไร พิจารณาเพื่อตัดความเมาในธาตุคือร่างกายเสีย ว่าเราจะไปนั่งเมามันในร่างกายของเราว่า มันจะทรงตัวนั้นมันไม่มี เราจะหาความผ่องใสในร่างกายตลอดกาลตอลดสมัยมันก็ไม่มี หาความแข็งแรงหาการคล่องตัวตลอดไปมันก็ไม่มี   

      เพราะธาตุทั้ง ๔ นี้มันจะทรงตัวความแข็งแรงไม่เสมอกัน มันจะพร้อมเพรียงกันก็อยู่ชั่วขณะหนึ่ง สักวันหนึ่งปีหนึ่งอาจจะหลายครั้งที่มีธาตุบางอย่างกะพร่องกะแพร่งร่อยหรอไปเสื่อมตัวลงไป อาหารป่วยมันก็เกิด นี่มองเห็นสภาวะของธาตุมันไม่ดี มันไม่ทรงตัว

   แล้วก็มองดูต่อไปด้วยว่าธาตุนี้มันเกิดมาแล้วมันไม่ทรงตัว ในที่สุดมันเป็นอย่างไร มันก็พังสลายตัวไปในที่สุด แล้วเราจะไปนั่งมัวเมาในธาตุเพื่อประโยชน์อะไร ธาตุ ๔ ไม่ทรงตัว ธาตุของเราไม่ทรงตัว ธาตุของบุคคลอื่นก็ไม่ทรงตัว การปรารถนาในการมีคู่ครองก็เพราะว่าเรามีโมหจริต คือ ความโง่ไม่ได้คิดถึงความเป็นจริง

เพราะการมีคู่ครองนี้สร้างความเป็นห่วงให้เกิดขึ้น มีอารมณ์ยึดถือให้เกิดขึ้น ความจริงเราปรารถนาจะเปลื้องความทุกข์ แต่การแสวงหาร่างกายของบุคคลอื่นๆ มาคู่กับร่างกายเรา หวังจะเป็นคู่ครองซึ่งกันและกัน มันไม่ใช่เปลื้องทุกข์มันเพิ่มทุกข์  ต้องรับภาระร่างกายของเราเองด้วย รับภาระร่างกายของบุคคลอื่นด้วย ทีแรกเราก็ทุกข์แต่ตัวเรา

เมื่อเอาบุคคลอื่นเข้ามาเราก็ทุกข์ เพื่อบุคคลอื่นอีกทุกข์เพราะอยู่เป็นคนคู่ไม่พอ ความโง่ยังสร้างต่อไป อยากจะมีลูก อยากจะมีลูกผู้หญิง อยากจะมีลูกผู้ชาย อยากจะมีหลาน นี่มันเป็นอาการของความโง่ไม่มีที่สิ้นสุด สร้างความห่วง สร้างอุปาทาน สร้างความยึดมั่นผูกพันในสิ่งที่ไม่ทรงตัว ฉะนั้นในความทุกข์ไม่มีถึงที่สุด หาที่จบก็ไม่ได้

   องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า  ทรงบรรลุอภิเสกสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว องค์สมเด็จพระประทีบแก้วเห็นโทษของการมัวเมาอยู่ในธาตุ ๔ มัวเมาในธาตุของตัวหรือว่าเมาในธาตุของบุคคลอื่นด้วย คนเมาแต่ธาตุของตัวยังพอดี เรียกว่าทุกข์น้อย ถ้าเมาในธาตุของบุคคลอื่นด้วยเรียกว่าทุกข์หนักขึ้นไป ถ้ายิ่งเมาอยากจะมีลูก เมาอยากจะมีหลาน เมาอยากจะมีเหลนก็ยิ่งหนักเข้าไปอีกเท่าตัว

พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ภาระหะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ทั้งหาเป็นภาระอันหนัก แต่เพียงธาตุ ๔ ของเราประกอบเข้าเรียกว่าขันธํห้า เท่านี้ก็ปรนเปรอมันไม่ไหวอยู่แล้ว ไปเลี้ยงมันทั้งวันมันก็ไม่รู้จักอิ่ม มันก็ไม่รู้จักพอ ปรนเปรอมันตลอดกาลตลอดสมัย มันก็ไม่มีความหยุดยั้งในความต้องการ บำรุงร่างกายขนาดไหนก็ดีมันก็ไม่วายจะทรุดโทรม ประคับประคองเท่าไรก็ตามมันก็ไม่พ้น ที่จะตายไม่พ้นที่จะพัง นี้คือร่างกายของเราคนเดียว

พระพุทธเจ้าท่านก็บอกหนักแสนหนัก มันแบกจะไม่ไหวอยู่แล้ว ต้องไปแบกร่างกายของบุคคลอื่นเข้า  เราจะเป็นคนโง่หรือคนฉลาด มันเพิ่มทุกข์ แสดงว่าอารมณ์โง่มันเกิดขึ้น

   การที่จะตัดความโง่ตัวนี้ได้ก็ต้องปลดร่างกายของคนอื่นทิ้ง แล้วก็หาทางมาปลดร่างกายของเรา มานั่งนึกดูว่าเราคนเดียวเราก็ยังแย่  หาที่สุดของความทุกข์ไม่ได้ ถ้าเราไปแบกเข้าอีกขันธ์ห้าหนึ่งก็หนักอีกเท่าตัว เพียงแต่ตัวของเราก็เอาชีวิตไม่รอด

เดิมทีเราถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาวร่างกายสมบูรณ์บริบูรณ์ เวลาที่อายุกาลผ่านวัยไป มาถึงอายุกาลผ่านวัยไป มาถึงอายุนี้แล้วความเสื่อมมันก็ปรากฏ องค์สมเด็จพระบรมสุคตบอกวางร่างกายของบุคคลอื่นเสียเป็นปัจจัยของความทุกข์ เห็นเรามาแบกแต่ร่างกายของเราแต่ผู้เดียว


   เมื่อต้องมาแบกร่างกายของเราคนเดียวก็นั่งมองดูว่ามันหนักหรือมันเบา มันหนักไปด้วยภาระทั้งปวงต้องหาอาหารมาให้อิ่ม เวลานี้จะกินอย่างนี้ เวลาโน้นจะกินอย่างโน้น เวลานั้นต้องกินอย่างนั้น ความอยากของมันไม่สิ้นสุด

หนักเฉพาะการกินก็หนักแย่อยู่แล้ว เครื่องประดับประดาเครื่องแต่งตัวมันก็อยากจะได้ไอ้นั่น มันก็อยากได้ไอ้นี่ อาหารแต่ละชิ้น ผ้าแต่ละชิ้นที่จะได้ก็ได้มาด้วยความทุกข์ความเหนื่อยยาก เอามาหนักเท่านี้ก็ยังไม่พอ ประเดี๋ยวก็ป่วยโน่นประเดี๋ยวก็ป่วยนี่ ป่วยอย่างนั้น ป่วยอย่างนี้ ต้องรักษาพยาบาลมัน อาการป่วยก็เป็นทุกข์

การจะหาเงินมารักษาก็แสนจะทุกข์ แสนจะเหนื่อยยาก นั่นก็เป็นอาการของความทุกข์ของร่างกาย มันดีตรงไหน และถึงแม้จะประคับประคองประการใดก็ดี จะรักษาอย่างไรก็ดี บำรุงอย่างไรก็ดี ในที่สุดมันก็ตาย

   ในเมื่อมันจะต้องตายแบบนี้ เราจะไปแบกมันทำไมต่อไป ถ้าเรายังจะต้องเกิดอีกเราก็แบกมันรูปนี้ตลอดไป เราเลิกแบกมันเสียดีกว่า โยนมันทิ้งไป การที่โยนมันทิ้งก็ไม่ได้หมายความว่า จะไปเชือดคอตาย ผูกคอตายโยนทิ้ง ไม่ใช่อย่างนั้น โยนมันออกไปเสียจากใจจะได้ไม่ต้องห่วงมันมากนัก ถือว่ามันเป็นที่อาศัยชั่วคราว

ขณะใดที่เรายังอาศัยมันอยู่ ก็ประคับประคองมันตามหน้าที่ ให้มีความรู้สึกว่านี่เราทำตามหน้าที่เท่านั้น เราไม่ได้รักมันเราไม่ได้ห่วงมัน ขณะที่เรายังอาศัยมันอยู่ ถ้ามันทรุดโทรมมากเกินไปแบบเดียวกับบ้านที่อาศัย ปล่อยให้หลังคารั่วปล่อยให้พื้นผุ

ผลที่สุดเราเองก็เป็นผู้ลำบากมากเกินไป ทั้งๆ ที่รู้ว่าบ้านมันเก่าอยู่ทุกวัน หลังคารั่วพอฝนมันรั่วแดดส่อง หาอะไรมาปกปิดกันความร้อนชั่วขณะ พื้นมันผุก็หาสิ่งของเท่าที่จะซ่อมแซมได้มาซ่อมแซมมัน ประคับประคองมันไว้ แต่ว่าไม่ได้รักมัน

กำหนดจิตว่าเมื่อถึงเวลาที่จะต้องจากกันเมื่อไร เราก็จะไม่ห่วงใยขันธ์ห้านี้เป็นอันขาดและเราก็ไม่ต้องการมันอีก เพราะเราไปพบมันอีกเมื่อไรก็จะพบกับความทุกข์แบบนี้ไม่มีที่สิ้นสุด

   วิธีที่เราไม่ต้องการจะพบมันก็พิจารณาสักกายทิฏฐิ พิจารณาว่ามันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในมัน มันไม่มีในเรา ธาตุ ๔ มันเป็นเรือนร่างที่เราอาศัยชั่วคราว เราไม่เห็นว่ามันสวยที่ไหน ไม่เห็นว่ามันดีที่ไหน มันเต็มไปด้วยความทุกข์ 

ขึ้นชื่อว่าธาตุแบบนี้เราไม่ต้องการมันอีก คิดไว้อย่างนี้เสมอ เราไม่ต้องการมันอีก คิดไว้อย่างนี้เสมอ เราไม่ต้องการธาตุ ๔ เป็นเรือนร่างต่อไป ขึ้นชื่อว่าความเกิดที่มีธาตุ ๔ ไม่มีสำหรับเรา

   และแล้วต้องหาทางอ้อมต่อไปว่า ถ้าเราจะไม่ต้องมาเกิดจะทำอย่างไร
   อันดับแรกเราต้องตัดโลภะความโลภ โดยการให้ทาน อย่างนี้ต้องมีอารมณ์เป็นปกติ ไม่ใช่จะมานึกว่าจะไม่เกิด จะไม่เกิด มันเป็นไปไม่ได้หรอก เราต้องตัดมัจฉริยะ ความตระหนี่ ตัดโลภะความโลภ อย่าให้มันข้องอยู่ในใจ อย่าทะเยอทะยานเกินไปจะมีความผูกพันในทรัพย์สินเกินไป ตายแล้วไม่มีใครเอาไปได้ เมื่อตัดความโลภ โดยการให้ทานโดยการบริจาค จิตจะได้มีความเบา

   เราต้องตัดโทสะ ความโกรธ โดยการทรงพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ เราต้องตัดตัวยึดถือ คืออุปาทานในขันธ์ห้าเสีย ได้แก่การพิจารณาพบความจริงของร่างกายว่ามันเป็นทุกข์ ความผูกพันมันจึงจะไม่มี

   นี่ถ้าเราพิจารณาแบบนี้ชื่อว่าพิจารณาทั้งด้านสมถะและวิปัสสนาร่วมกัน สมถภาวนาจำจะต้องมีอยู่เสมอ แต่สมถะจะทรงตัวได้ต้องอาศัยวิปัสสนาญาณประคับประคอง วิปัสสนาญาณจะติดอยู่กับจิตใจของเราได้ตลอดกาลตลอดสมัยก็ต้องมีสมถะเป็นเครื่องสนับสนุน ทั้ง ๒ อย่างนี้แยกกันไม่ออก ถ้าแยกกันเหลือส่วนใดส่วนหนึ่ง เราก็ซวยเต็มที เพราะความดีมันจะไม่ทรงตัว


   การพิจารณาธาตุ ๔ เราควรจะเห็นว่าถ้าเราพิจารณาแล้วก็ควรจะน้อมเข้าไปสู่อสุภกรรมฐานในตัวด้วย เพราะธาตุ ๔ นอกจากมันจะไม่ทรงตัวเป็นปกติ ยังมีความไม่เที่ยงมีการเปลี่ยนแปลงเป็นทุกข์มีการสลายตัวไปในที่สุด และยังเต็มไปด้วยความสกปรกโสมมอีกด้วย เป็นของน่าเกลียดของโสโครก นี่มองกรรมฐานจุดใดจุดหนึ่งแล้วอ้อมลงไปหาจุดจบเพื่อเป็นการทำลายจิตที่ผูกพันไว้ได้ ฉะนั้น การเจริญพระกรรมฐานจึงจำเป็นจะต้องรู้กรรมฐานหมดทั้ง ๔๐ อย่าง ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องศึกษาให้ครบแล้วก็


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 04, 2014, 03:29:25 PM

บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔ ในกายเรานี้)

- พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (ทวัตติงสาปาฐะ, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, จตุธาตุววัฏฐาน)


(http://www.bknowledge.org/bknow/userfiles/image/human_body/9_body.gif)

จตุธาตุววัฏฐาน ๔ # ๒
   
   ต่อไปสำหรับท่านที่ปรารถนาจะเจริญพระกรรมฐานเพื่อฝึกทิพจักขุญาณ โดยใช้บทภาวนาว่า นะ มะ พะ ทะ บทนี้สำคัญมากถ้าใช้เป็นทิพจักขุญาณจะมีความแจ่มใสเป็นพิเศษ ในตอนต้นก็ขอให้ทุกท่านให้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยเสียก่อน

การพิจารณาในสมถะบทใดก็ตามนั้นและวิปัสสนาญาณก็ดีเป็นของดีมากถ้ายังทรงจิตอยู่ได้ จิตไม่วอกแวกไม่คลาดเคลื่อนไปให้พิจารณาไปเสมอๆ จะเป็นการตัด ถ้าเราเจริญกรรมฐานเราต้องการตัดกิเลสจริงๆ ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ ถ้าตัดได้ตัดให้มันหมดไป

เมื่อเห็นว่าพิจารณาจิตมันจะซ่านเกินไปก็จับคำภาวนา รักษาอารมณ์ให้ทรงตัว ในอันดับแรกเราเคยภาวนาว่าอย่างไรให้ทรงตัว ก็ภาวนาอย่างนั้นเสียก่อนจนกว่าจิตจะสบายถึงที่สุด

เมื่อมีความอิ่มของจิตดีเรียบร้อยแล้ว จิตเรียบเป็นระเบียบดีจึงจับคำว่า นะ มะ พะ ทะ ภาวนาต่อไปแทน แต่เมื่อภาวนาว่า นะ มะ พะ ทะ ไม่ใช่จะอยากเห็นโน่น อยากเห็นนี่ อยากให้ปรากฏความสว่าง ถ้าทำอย่างนี้ไม่มีผล ให้รักษาอารมณ์ตน

โดยเฉพาะ ใช้คำภาวนาว่า นะ มะ พะ ทะ อย่างเดียว จะมืดจะสว่างอย่างไรก็ช่าง อะไรจะปรากฏหรือไม่ปรากฏก็ช่าง ไม่สนใจ สนใจรักษาคำว่า นะ มะ พะ ทะ อย่างเดียว พอจิตเป็นสมาธิทรงตัวดีแล้ว ถึงขั้นอุปจารสมาธิอารมณ์จิตจะสว่างไสว หลับตาจะมีความรู้สึกเหมือนว่าเรานั่งอยู่ในเวลากลางวัน มันมีความสว่างทั่วตัว

ถ้าบังเอิญจิตเป็นทิพจักขุญาณเห็นภาพใดๆ ตามที่เราต้องการ จะมีความแจ่มใสเป็นพิเศษ เห็นชัดแม้แต่ผมแต่หนวดเส้นเล็กๆ ก็สามารถจะมองเห็นได้ คุณประโยชน์ของการเจริญกรรมฐานกองนี้ก็เพื่อว่าจะได้ทรงวิชชาสาม สามารถค้นคว้าพิจารณาหาความจริงในหลักเกณฑ์ของพุทธศาสนาได้อย่างแท้จริง

   ต่อจากนี้ไปขอให้บรรดาภิกษุสามเณร พุทธบริษัทชายหญิงพากันตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาต่อไป จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา




ที่มา หนังสือ กรรมฐาน 40 ของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
ขอบคุณภาพจาก
www.bknowledge.org (http://www.bknowledge.org),www.kmitl.ac.th,http://1.bp.blogspot.com,www.watermis.com,www.212cafe.com



ขออนุญาตสรุปตามความเข้าใจของผม(หมายถึงตัวท่าน raponsan สรุป)

   จตุธาตุววัฏฐาน เป็นกรรมฐานที่ต่างจากกรรมฐานอื่นๆ ตรงที่เป็นกรรมฐานพิจารณา เป็นการพิจารณาธาตุกรรมฐาน เหมาะสำหรับผู้มีพุทธจริต(ปัญญาจริต) ต้องคิด ต้องนึก ต้องใคร่ครวญ จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ให้ดีก่อน ทำให้หลายคนอาจคิดว่ายาก

   ผมนึกถึงคำว่า" วิปัสสนึก"ขึ้นมาได้ ผมได้มีโอกาสคุยกับแม่ชีทศพร ถามท่านว่า ทำไมผมขึ้นวิปัสสนาไม่ได้
ท่านตอบว่า สมาธิคุณแข็งไป วิปัสสนาต้องมีวิปัสสนึกก่อน

   ถึงตรงนี้บางคนอาจแย้งว่า การนึกไม่ใช่วิปัสสนา ผมเห็นด้วยครับ
   แต่อารมณ์กรรมฐาน ผมว่าน่าจะมาจากจริตวาสนาบารมีของคนนั้นๆ ไม่น่าจะมีอะไรที่ตายตัว

   กลับมาเรื่องวิปัสสนึก การพิจารณาธาตุในลักษณะนี้ ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือ จะได้สมถะ
   ความหมายของผมก็คือ วิปัสสนึกเป็น สมถะนั่นเอง
   (ขอไม่คุยวิปัสสนา เนื่องจากไม่สันทัด)

   การพิจาณาธาตุตามแนวอภิธรรม มี ๖ วิธีด้วยกัน
     ๑. การกำหนดธาตุโดยไม่แยกกัน
     ๒. การกำหนดธาตุโดยเหตุและปัจจัย
     ๓. การกำหนดธาตุโดยลักษณะ    
     ๔. การกำหนดธาตุโดยความเสมอกันและไม่เสมอกัน
     ๕. การกำหนดธาตุโดยความเป็นหุ่น
     ๖. พิจารณาธาตุโดยความเป็นอารมณ์

   การพิจารณาธาตุตามแนวนี้ จะไ้ด้เพียงอุปจารสมาธิเท่านั้น
   แม้จะได้แค่อุปจารสมาธิ ก็เพียงพอสำหรับการวิปัสสนาเพื่อพ้นทุกข์แล้วครับ
   ขอคุยเท่านี้ครับ รู้สึกอึดอัด



ผมแนบไฟล์ บทความเรื่อง "การพิจารณาธาตุกรรมฐาน" มาให้ดาวน์โหลดครับ

http://www.madchima.org/forum/index.php?action=dlattach;topic=5260.0;attach=1855 (http://www.madchima.org/forum/index.php?action=dlattach;topic=5260.0;attach=1855)


ขอขอบพระคุณที่มาจาก ท่าน raponsan
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5260.msg19400#msg19400 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5260.msg19400#msg19400)
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5260.msg19401#msg19401 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5260.msg19401#msg19401)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 04, 2014, 03:57:48 PM

บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (อาการทั้ง ๓๒ ประการ สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔)


- พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (ทวัตติงสาปาฐะ, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, ภารทวาชสูตร, คิริมานนทสูตร สัญญา ๑๐)

กายคตาสติสูตร

[๒๙๗]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุย่อมพิจารณากายนี้แล ข้างบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป
ข้างล่างแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้
ผม  ขน  เล็บ  ฟัน  หนัง  เนื้อ  เอ็น  กระดูก  เยื่อในกระดูก  ม้าม 
หัวใจ  ตับ  พังผืด  ไต  ปอด  ไส้ใหญ่  ไส้น้อย  อาหารใหม่  อาหารเก่า  (มันสมอง)
ดี  เสลด  น้ำเหลือง  เลือด  เหงื่อ  มันข้น  น้ำตา  เปลวมัน  น้ำลาย  น้ำมูก  ไขข้อ  มูตร

(ท์วัตติงสาการะปาโฐ คือ อาการทั้ง 32 ประการนี้ คือ กายคตาสติจะมีแต่เพียงในพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่มี เป็นการพิจารณาโดยแยบคายที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนดึงเข้าได้ถึง ฌาณ ๔ เข้าสมถะเห็นเป็น อสุภะ ธาตุ กสิน ก็ได้ เข้าสู่วิปัสนาเห็นเป็นเพียงธาตุหรือรูปนามก็ได้ ในอนุสสติ ๑๐ บทท์วัตติงสาการะปาโฐ คือ กายคตาสติ ส่วนในหมวดที่พระพุทธเจ้าจัดรวมว่าเป็นการพิจารณากายคตาสตินั้น ท์วัตติงสาการะปาโฐ จะเป็น ปฏิกูลบรรพ เป็นการพิจารณาส่วนหนึ่งในกายคตาสติที่รวมเข้ากัน 7 หมวด คือ อานาปานสติบรรพ๑ อิริยาบถบรรพ๑ สัมปชัญญะบรรพ๑ ปฏิกูลมนสิการบรรพ๑ ธาตุมนสิการบรรพ๑ นวสีวถิกาบรรพ๑ และ สัมมาสมาธิ คือ รูปฌาณ๔ หรือ กายานุสติปัฏฐาน นั้นเอง)



- ก็กายเรานี้เป็นอย่างนี้แล กายเขาที่เราเสพย์อารมณ์กำหนัดราคะอยู่ก็เป็นดังนี้แล เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา อันมีหนังหุ้มเป็นที่สุดรอบเป็นของไม่สะอาดดังนี้แล กายเราและกายเขานี้ก็เป็นเช่นนี้แล สิ่งเหล่านี้ที่รวมอยู่ในกายเราและเขา
- เมื่อไม่มีเรา_ในรูปขันธ์คือกายนี้(เมื่อพิจารณาแยกออกเป็นอาการทั้ง ๓๒ ประการออกมา) และ รูปขันธ์คือกายนี้_ไม่มีในเรา(เมื่อแยกกายออกเป็นอาการทั้ง ๓๒ ประการ ก็ไม่อยู่เป็นร่างกายเป็นรูปขันธ์ได้ รูปขันธ์จึงไม่มีในเรา)
- ดังนั้นเราจักพึงหวังเอาปารถนาในอาการทั้ง 32 เหล่านั้นในเขาก็ไม่เกิดประโยชน์ไรๆนอกจากทุกข์อันรุ่มร้อนมัวหมองใจ จากการปารถนายึดมั่นถือมั่นในของไม่สะอาดเหล่านั้นดังนี้

เจริญจิตขึ้นพิจารณาในบุคคคลที่เราเห็นอยู่ที่กำลังเกิดราคะอยู่นี้ว่า กายของเขานี้มีสภาพอย่างไรซึ่งประกอบไปด้วยอาการทั้ง ๓๒ อันเป็นที่ประชุมกันชองธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ (อากาศ วิญญาณ) อย่างไรบ้าง

- เบื้องต้นเราต้องทำความเข้าใจดังนี้ก่อนว่า

(http://www.madchima.net/images/199_image002.gif)

ขอขอบคุณที่มาของรูปจากคุณณัฐพลศร ตามกระทู้นี้ครับ
 http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5260.0 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5260.0)



เมื่อเราเจริญปฏิบัติพิจารณาตามตัวเรานี้ได้เห็นทางพิจารณาและได้สัมผัสดังนี้

๑. ขั้นตอนพิจารณาปฏิบัติในธาตุดิน เราจะรู้อย่างไรว่าธาตุเหล่านี้คือธาตุดิน เพราะที่มองเห็นมันก็เป็นคนทั้งตัว ตับ ไต กระเพาะ เล็บ มันก็เป็นอย่างที่เรารู้มาตั้งแต่เด็กจะให้มองเป็นดินยังไง
    " ข้อนี้พระตถาคตให้เอาเอกลักษณ์ของธาตุ คือ สภาพคุณลักษณะของธาตุดินเป็นอารมณ์ นั่นคือ รู้ในสภาพที่อ่อนและแข็ง ไม่ต้องไปรู้สภาพอะไรอื่นให้รับรู้สภาพนี้จากจากการสัมผัสรู้สึกถึงอาการที่เป็นเอกลักษณ์หรือคุณลักษณะของธาตุดินเท่านั้น(ถ้าทางวิปัสนานี้ท่านจะให้รู้จนเห็นไม่มีตัวตนบุคคลใดสักแต่เป็นเพียงรูปนาม ธาตุดินก็คือรูป เป็นมหาภูตรูป๔)"
    " ทีนี้เราลองจับดูหนังของเรามันก็อ่อนนุ่มใช่ไหม นั่นคือคุณสมบัติของธาตุดิน คือ มีความอ่อนนุ่มหรือแข็ง ดังนั้นหนังจึงเป็นธาตุดิน ผมก็มีลักษณะอ่อนนุ่มนั้นก็เป็นลักษณะของธาตุดิน เล็บมันแข็งใช่ไหมดังนั้นเล็บก็เป็นธาตุดิน เนื้อก็อ่อนนุ่มเนื้อจึงเป็นธาตุดิน หากเป็น ตับ ไต ไส้ กระเพาะอาหาร เราอาจจะยังไม่เคยจับใช่ไหม แต่คนกับสัตว์ก็เหมือนกันเราคงพอจะได้สัมผัสกันว่า มันมีความอ่อนนุ่มและแข็งเท่านั้น กระดูกก็แข็งก็แสดงว่าอวัยวะภายในมีตับ ไต กระดูกเป็นต้น คือธาตุดินที่มีอยู่ในกายเรา ก่อตัวรวมกัมกับน้ำบ้าง ลมบ้าง ไฟบ้าง อากาศศบ้างขึ้นเป็นรูปร่างเป็นอวัยวะต่างๆและตัวของคน สัตว์ขึ้นมานั่นเอง ร่างกายเราจึงประกอบด้วยธาตุดิน ด้วยประการฉะนี้"
    - หากอยากรู้ว่ากายเรานี้ อวัยวะชิ้นนั้นๆคือธาตุใดก็ให้ลองไปซื้อเครื่องใน หมู วัว เป็ด ไก่ เอามาจับๆและเพ่งพิจารณาดูว่ามันมีสภาพอย่างไร เวลาจับๆบีบๆนี่มัน อ่อนนุ่ม หรือ แข็ง เป็นใหญ่ในทุกพื้นที่ที่จับใช่ไหม นั่นแสดงว่าอวัยวะชิ้นนั้นคือธาตุดินนั่นเอง
    - หากอยากรู้ว่าอวัยวะที่เป็นธาตุดินมีดินรวมตัวกันขึ้นเป็นรูปทรงนั้นๆ มันเกิดขึ้นเพราะเหตุใดหนอเป็นปัจจัยปรุงแต่ง มีธาตุใดๆรวมอยู่บ้างหนอ ก็ให้ลองหลับตาแล้วจับๆบีบๆดูที่อวัยวะชิ้นนั้น เราจะได้รับความรู้สึกว่าเหมือนมีบางสิ่งที่มีสภาพอันเอิบอาบ ซึมซาย เกาะกุม เคลื่อนตัวไหลออกมาจากอวัยวะชิ้นนั้นๆ เมื่อเรามองดูก็จะเห็นเป็น น้ำเลือด น้ำหนอง มันข้น เป้นต้น เช่น หั่นดูมีเลือดหรือน้ำเหลืองภายในบ้าง มันก็คือธาตุน้ำนั่นเอง-นั่นก็แสดงว่าธาตุดินจะก่อตัวกันขึ้นเป็นรูปร่างแบบใดๆได้ก็ต้องมีน้ำเป็นตัวเกาะกุมดินเข้ารวมกันให้มีรูปทรงลักษณะเช่นนั้น เมื่อบีบเคลื่อนสภาพมันดูคือลองเอาเครื่องในหรือก้อนเนื้อจุ่มลงไปในน้ำแล้วล้องบีบดูจะเห็นเหมือนมีลมเคลื่อนตัวทำให้ผุดขึ้นเป็นฟองในน้ำบ้าง นั่นก็แสดงว่าธาตุดินจะก่อตัวกันขึ้นเป็นรูปร่างแบบใดๆได้ก็ต้องมีลมร่วมอยู่เพื่อพยุงรูปทรงในส่วนนั้นให้คงสภาพอยู่ด้วย เมื่ออวัยวะที่สดใหม่อยู่ก็จะมีความอุ่นมีอุณหภูมิประมาณหนึ่งในอวัยวะส่วนนั้นบ้าง-นั่นก็แสดงว่าธาตุดินจะก่อตัวกันขึ้นเป็นรูปร่างแบบใดๆได้ก็ต้องมีต้องอาศัยธาตุไฟเพื่อเผาผาญหลอมรวมให้อยู่ร่วมเกาะกุมกันด้วย เมื่อเราสังเกตุหรือผ่าดูอวัยวะชิ้นนั้นๆจะเห็นว่ามันมีช่องอณุเล็กๆแทรกอยู่เต็มไปหมดบ้าง-นั่นก็แสดงว่าธาตุดินจะก่อตัวกันขึ้นเป็นรูปร่างแบบใดๆก็ตาม ก็ต้องมีอากาศธาตุเแทรกอยู่ในทุกอณุของดินเพื่อให้มันเป็นช่องสำหรับความยืดหยุ่นเคลื่อนตัวและแทรกซึมระบายเกาะกุมรวมให้ธาตุอื่นๆได้นั่นเอง

      อันนี้จะเห็นว่า ในอวัยวะภายในหรือชิ้นเนื้อหนึ่งๆจะประกอบไปด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ อันประครองอาศัยกันอยู่เพื่อรวมตัวกันขึ้นเป็นธาตุนั้นๆเป็นรูปทรงของอวัยวะส่วนนั้นส่วนนี้อยู่ภายในกายเราเพื่อทำหน้าที่ต่างๆในสถาวะที่สมดุลย์กันจะขาดกันไม่ได้จึงสามารถดำเนินไปทำหน้าที่ซึ่งกันและกันต่อไปได้ ดั่งตับ ไต ไส้ กระดูก เป็นต้น
    - จากนั้นลองเอาอวัยวะหรือชิ้นเนื้อเหล่านั้น ไปวางทิ้งไว้ในที่ใดๆก็ตามมี พอระยะเวลาผ่านไปก็จะเห็นว่า เมื่อน้ำเหือดแห้งลงสภาพดินของอวัยวะส่วนนั้นๆแทนที่จะอ่อนนุ่มกลับกลายเป็นแข็งแม้ยังคงสภาพดินอยู่แต่ความอ่อนนุ่มก็ไม่คงอยู่แล้ว เมื่อขาตธาตุน้ำการเกาะกุมรวมกันของสภาพธุาตทั้งหลายอันจะทำให้คงอยู่ในสภาพเดิมของดินก็ไม่มีแล้ว เมื่อลมหายไปความทรงตัวอยู่ของธาตุดินก็ไม่มีแล้ว เมื่อไฟดับไปความหลอมรวมสภาพไรๆของดินก็ไม่มีแล้ว
    - จากนั้นไม่นานธาตุดินที่เป็นอวัยวะส่วนนั้นๆก็เสื่อมโทรมแปรเปลี่ยนและดับสลายไปในที่สุด

๒. แม้ในธาตุน้ำ ลม ไฟ ก็พิจารณาในกายอย่างนี้เป็นต้นส่วนเอกลักษณ์คุณลักษณะใดๆของธาตุ น้ำ ลม ไฟ ก็มีดังรูปที่ผมคัดลอกมาจากท่านณัฐพลศรแล้วจึงไม่ต้องอธิบายซ้ำซ้อนนะครับ จะยกตัวอย่างเพียงคราวๆที่พอไว้เป็นแนวคิดพิจารณาดังนี้
    ๒.๑ ก็ดูจากภายนอก เช่น ปัสสาวะที่เราฉี่ออกมา น้ำมูกที่เราสั่งออกมา น้ำตาที่ไหลออกมา น้ำเลือด น้ำหนองที่ไหลออกมาลองสัมผัสดูว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร เอกลักษณฺ์ของมันคือ ความเอิบอาบ ซาบซ่าน เกาะกุม เหมือนกันหมดใช่ไหม นั่นคือเอกลักษณ์ของธาตุน้ำ ในกายเรานี้ก็ประกอบไปด้วยน้ำอันเกาะกุมซาบซ่านให้คงสภาพกายรวมกันไว้อยู่ฉะนี้แล
    ๒.๒ เมื่อเราดูภายนอกคงเคยเห็นลมพัดเข้าออกถ้ำหรือภายในบ้านมันเคลื่อนตัวตรึงไหวพัดผ่านเราไปอย่างไร แม้ในกายเราก็มีอย่างนั้นภายในกายเราเหมือนถ้ำหรือบ้านให้ลมพัดผ่านเคลื่อนตัว ดั่งลมในกระเพาะอาหารมันจะมีความพัดขึ้นเคลื่อนตัวออกมาทำให้เราเรอออกมา หรือ ลมที่พัดลงลมในสำไส้ที่ออกมาเป็นตดเราจะรู้ความเคลื่อนตัวตึงไหวของมันได้ใช่ไหมครับ อันนี้เราทุกคนรู้สึกได้
    ๒.๓ เมื่อเราดูภายนอกเราย่อมเห็นไปที่เผาไหม้ เผาผลาญ ลุกโชนหลอมละลายรวมตัวกันไม่ว่าสิ่งใดๆทั้ง หิน เหล็ก น้ำมัน ไม้บ้าง มันหลอมได้หมดทุกอย่าง สภาพที่เราพอจะรู้สึกกับไฟได้คือมีสภาพร้อน แผดเผา ทำให้แสบร้อนบ้าง หรือ ภายนอกที่เป็นสภาพอากาศอุณหภูมิมันก็มีสภาพที่ทำให้ทั้งร้อน อบอุ่น และ เย็น ดังนี้ แม้ในกายเราไฟอันเป็นธาตุที่หล่อหลอมอยู่ก็มีสภาพเช่นนี้ คอยย่อยเผาผลาญอาหารบ้าง คอยปรับสภาพอุณหภูมิ หรือ ความอบอุ่น ร้อน เย็นในกายบ้าง ลองจับแขน จับแกล้ม เอามือแตะหน้าผาก หรือเอามือไปรองฉี่ที่เราเพิ่งฉี่ออกมา หรือเมื่อเลือดออกลองเอามือไปแต่เลือดดู จะเห็นว่ามันมีสภาพอุ่นบ้าง ร้อนบ้าง เย็นบ้างเป็นต้นออกมาจากกายเรานี้ เมื่อสภาพที่ไฟมีมากอันไม่สมดุลย์กับธาตุอื่นในกายก็เป็นเหตุให้เป็นไข้ ตัวร้อนบ้างเป็นต้น
 
ลองพิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆก็จะเห็นความแยกเป็นธาตุในกายเราอันแม้ยังทรงบัญญัติอยู่ก็ตาม ดังตัวอย่างการพิจารณาของธาตุดินที่เป็นอวัยวะทั้งหลายในกายเรา ที่มีเกิดขึ้นในกายเราอย่างนี้ เราก็จะเริ่มเห็นว่ากายเหล่านี้มันประกอบไปด้วยธาตุ ๕ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศอันเป็นที่ว่าง-ช่องว่างหรือเป็นรูกวงในกายเรานี้ อาศัยกันเกิดขึ้นเพื่อยังทรงสภาพหลอมรวมเกาะกุมเคลื่อนตัวพยุงกันอยู่ มีวิญญาณธาตุอันเป็นธาตุรู้ดังนี้ จึงรวมเป็น ๖ ธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ หลอมรวมอาศัยกันขึ้นมาเป็นคน สัตว์ สิ่งของ ไม่มีตัวตนบุคคลใดที่เป็นนอกจากนี้ มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรเปลี่ยนเสื่อมโทรม และ สูญสลายดับไปในที่สุด เหมือนพิจารณาเห็นในอสุภะกรรมฐานเราจักเห็นความเสื่อมโทรมและสูญสลายไปในที่สุดของร่างกาย อวัยวะ อาการทั้ง 32 ไรๆ อันเป็นธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ ทั้งปวงในกายนี้ จำแนกอยู่เป็นประจำเนืองๆจะเข้าเห็นได้ถึงธาตุภายในกายด้วยประการเบื้องต้นดังนี้

เพิ่มเติมการพิจารณาธาตุด้วยการเพ่งกสินธาตุเทียบเคียง

- อีกประการหนึ่งการจะให้มองเห็นเป็นธาตุนั้น โดยอาศัยการเพ่งกสิน เพื่อดับกามคุณ๕ เห็นเป็นธาตุ เช่น เพ่งธาตุดิน มีผลออกมาจะเห็นร่างกายของคนเป็นดินไปหมด (ซึ่งอานิสงส์จากการเพ่งกสินดินนี้ผมพบเจอมาด้วยตนเอง) ลองเพ่งกสินดินดูด้วยน้อมระลึกให้เห็นโทษของกามคุณ๕ เพื่อให้ละกามราคะได้ ให้เจริญเพ่งในกสินดังนี้ครับ
๑. โดยให้พึงเอาวงกสินดินมาเพ่งจนจดจำได้แม้ลืมตาหลับตาแล้วเพ่งระลึกไป จากนั้นก็พึงเพ่งดูรูปหรือนิมิตของวงกสินนั้นไปเรื่อยๆ พร้อมบริกรรมว่า ปฐวี กสินัง ดินๆๆๆๆ เริ่มแรกให้ทำเช่นนี้ไปก่อนจนสามารถเพ่งดวงกสินแล้วจิตรวมสงบลงได้ ในนิมิตที่เพ่งนั้นเราก็สามารถบังคับให้เล็กใหญ่ตามใจได้ เมื่อเราจะพึงระลึกนึกถึงเมื่อไหร่ก็เห็นนิมิตภาพวงกสินนั้นได้ทันที แล้วพึงเห็นภาพนิมิตนั้นได้นานตามปารถนา ทำให้ได้ตามนี้ก่อน
๒. ทีนี้เมื่อเรามองดูกายตนก็เพ่งดูเทียบพร้อมรำลึกถึงภาพดวงกสินดินนั้น แล้วบริกรรมว่า ปฐวี กสินัง ดินๆๆๆๆ เริ่มต้นอย่างนี้ไปเป็นการใช้กสินให้เห็นเป็นธาตุไม่ใช่เอาอภิญญา ซึ่งผมพลิกแพลงใช้เพื่อละกามราคะ อาจจะต่างจากครูบาอาจารย์ที่สอนในวิธีเจริญอภิญญา ซึ่งท่านสามารถทำน้ำให้เป็นดินได้ ทำดินให้เป็นน้ำได้
(รายละเอียดการเพ่งในแบบอภิญญาทั้งหลายมีสอนจากครูบาอาจารย์มากมาย โดยเฉพาะของพระราชพรหมญาณ ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์สายอภิญญา)







หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 04, 2014, 04:31:31 PM

บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๒

เมื่อตรึกนึกคิด หวนคำนึงถึงปรุงแต่งผัสสะทางใจแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ)



- พระตถาคตตรัสสอนว่า ให้เห็นว่าสักแต่เเพียงสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้เป็นไป
- พระตถาคตตรัสสอนว่า ให้เห็นว่าสักแต่เป็นเพียงความคิด
- พระตถาคตตรัสสอนว่า ให้เห็นว่าสักแต่เป็นเพียงธรรมารมณ์ที่เป็นอกุศลลามกจัญไรที่ไม่ควรเสพย์ ดังนั้นให้มีสติรู้แยกแยะถูกผิด ดีชั่ว แล้วเลือกสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์ปราศจากทุกข์ นั่นคือ เลือกธรรมารมณ์ที่ควรเสพย์
- พระตถาคตตรัสสอนว่า ให้ละความพอใจยินดีและไม่พอใจยินดี อันทำให้เกิดความกำหนัดฝักใฝ่หมกมุ่นถวิลหาใคร่ที่จะเสพย์เมถุนกับบุคคลที่เรานั้นกำลังตรึกนึกคิดถึงเขาอยู่นั้นๆไปเสีย ละความตรึกนึก และ บุคคลเรื่องราวที่ตรึกนึกนั้นๆไปเสีย เหล่านั้นไปเสีย สิ่งที่นึกนั้นไม่จริงสักแต่เป็นเพียงนิมิตที่เราปรุงแต่งเรื่องราวสร้างขึ้นโดยอาศัยความจำได้จำไว้ปรุงแต่งประกอบเข้าไปเท่านั้น โดยทั้งๆที่ความจริงแล้ว เขาไม่ได้มายุ่งเกี่ยวหรือกระทำการใดๆรู้สึกใดๆกับเราเลย เราบ้าเสพย์ความคิดตนเองไปเท่านั้นทั้งที่ไม่จริง ติดอยู่ในโลกแห่งความคิดหรือโลกส่วนตัวนั้นๆก็เป็นดั่งคนบ้าขาดสติลุ่มหลงเพ้อฝันเท่านั้น กลับมาอยู่กับปัจจุบันโลกแห่งความจริง



ด้วยวิเคราะห์เห็นตามพระธรรมคำสอนดังนั้นแล้ว ตัวเราจึงตั้งจิตมั่นทำไว้ในใจโดยหมาย วิธีดับราคะ เมื่อเกิดความตรึกนึกคำนึงถึง ดังนี้คือ

- ธรรมดาสิ่งที่ล่วงมาแล้ว สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง ย่อมอาศัยความตรึกนึกอันไปไปในราคะกำหนัดในเมถุน(ความมีเพศสัมพันธ์)ทำให้เกิดความปรุงแต่งเสพย์อารมณ์อันเป็นไปในราคะตามความติดใจเพลิดเพลินนั้นๆ ดังนั้นเมื่อจะละก็ละที่ความคิด
- เมื่อพิจารณาเห็นในธรรมารมณ์ที่ควรเสพย์และไม่ควรเสพย์ตามจริงดังนั้น ตัวเราจึงเห็นโทษของอกุศลวิตก จึงได้ตั้งจิตมั่นทำไว้ในใจโดยหมายใน เนกขัมมวิตก ความตริในทางพรากจากกาม , ความนึกคิดในทางเสียสละ ไม่ติดในการปรนปรือสนองความอยากของตน ดังนี้คือ

๑. เริ่มแรกสุดเลยให้พึงละอกุศลและทำกุศลให้เกิดขึ้น ด้วยถือใน เนกขัมมะ คือ การบวช ถ้าปุถุชนฆราวาสทั่วไปก็ให้ตั้งจิตมั่นบวชใจ ซึ่งจะทำได้สำเร็จดีนั้น เราก็ต้องมี ศรัทธา คือ ความเชื่อด้วยปัญญาพิจารณาเห็นได้จากความเป็นเหตุเป็นผลตรวจสอบได้ตามจริง ไม่มีความครางแครงใจสงสัยอีก โดยเริ่มจาก เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก่อน เมื่อเชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็ต้องเชื่อในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่าศีลเป็นฐานที่ตั้งแห่งกุศล ศีลเป็นรากฐานของทุกอย่าง เพรามีศีล สมาธิจึงเกิดมีได้ เพราะมีสมาธิ ปัญญาญาณจึงเกิดมีได้ เพราะมีปัญญา(สัมมาญาณรวมถึงโพชฌงค์ ๗) วิมุตติความหลุดพ้นจึงมีได้..ดังนี้ เปรียบดั่งต้นไม้  เพราะมีรากอยู่จึงจะเจริญงอกงามแผ่กิ่งก้านสาขาออกดอกออกผลได้ เปรียบศีลเป็นดั่งรากต้นไม้ หากรากดีแน่นหนา ลำต้นของต้นไม้จึงจะเจริญเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาได้ เปรียบสมาธิเป็นดั่งลำต้นของต้นไม้นั้น เมื่อมีศีลที่ดีหยั่งรากลึกแน่นหนาสมาธิจึงจะเจริญงอกงามแผ่กระจายงอกงามดุจกิ่งก้านสาขาขึ้นปกคลุมลำต้นให้งดงามใหญ่โตเป็นร่มเงาขึ้นมาได้ เปรียบดอกผลเป็นดั่งปัญญาญาณ เพราะมีกิ่งก้านสาขาเติบโตขึ้นมาแผ่กระจากปกคลุมจึงเกิดผลิดอกออกผมขึ้นมาได้ ถ้าไม่มีสมาธิคือกิ่งก้านสาขา มีแต่ลำต้นก็ไม่มีทางหรือเป็นไปได้ยากที่ต้นไม้นั้นจะผลิดอกออกผล เพราะดอกผลของต้นไม้นั้นย่อมขึ้นอยู่ตามกิ่งก้านใบสาขาที่แผ่กระจายออกมา ดังนั้นถ้าไม่มีสมาธิก็ยากที่จะเกิดปัญญารู้เห็นตามจริงโดยปราศจากความคิดอนุมานคาดคะเนได้ ดังนั้นเมื่อรู้เห็นดังนี้ มีความศรัทธาในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ก็ต้องเชื่อและศรัทธาตามจริงว่า ศีล เป็นฐานให้เกิดสมาธิ ศีลที่บริบูรณ์ดีแล้วจึงจะสร้างสมาธิได้ เมื่อศรัทธาอย่างนี้ก็จะเกิดเป็นกำลังใจ เรียกว่า พละ มีศรัทธาพละเป็นต้น ทำให้เรามีความตั้งจิตมั่นที่จะดำรงในศีล เกิดเป็นวิริยะพละ กำลังใจแห่งความเพียรที่จะกระทำ ยิ่งถ้าทำแลเวได้ผลดีก็ก่อให้เกิดฉันทะอิทธิบาท ๔ พอใจยินดีที่จะมีศีลดำรงศีล ยิ่งเป็นศีลข้อใดที่เราให้ความสำคัญไว้มากอยากจะให้เกิดความบริสุทธิ์มีมากในศีลข้อนั้น แล้วเมื่อเราทำได้ก็ยิ่งจะทำใหัเรามีความยินดีมากที่เราทำได้นั้น เป็นบ่อเกิดแห่ง วิริยะอิธิบาท ๔ นั้นมีเต็มกำลังใจเสริมให้มีวิริยะพละมากขึ้นไปอีก ทำให้เกิดมีใน จิตตะ และ วิมังสา แห่งอิทธิบาท ๔ สืบต่อมา ทำให้เกิดขึ้นมาซึ่ง สัมมัปปะธาน ๔ คือ ความเพียรที่จะละอกุศลที่ยังไม่เกิดหรือเกิดขึ้นแล้ว และ สร้างกุศลให้เกิดขึ้นแล้วคงรักษาไว้ไม่ให้เสื่อม โดยอาศัยสติคอยระลึกรู้แลดูจิตตนตลอดเวลา มีสัมปะชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อมในปัจจุบันขณะ เป็นผลให้เกิดมีสติสัมปะชัญญะที่พอควร ทำให้เกิดสมาธิที่พอควรได้ด้วย เหตุดังนี้เป็นต้น

ทีนี้ก็ให้เราตั้งจิตมั่นทำไว้ในใจว่า

๑.๑ ถือเนกขัมมะ คือ บวช ตั้งจิตมั่นทำไว้ในใจว่า เราจักถือศีลข้อ อพรหมะจริยา เวระมณี สิกขา คือ จะละเว้นซึ่งสิ่งไรๆที่จะพรากพรหมจรรย์ไป เช่น
ก.ไม่คิดกับผู้อื่นหรือเพศตรงด้วยจิตอันฝักใฝ่ใคร่ปารถนาน้อมไปในเรื่องเมถุน, ไม่คิดถึงผูัอื่นด้วยใจที่น้อมไปด้วยความฝักใฝ่หมายใจไว้มั่นในเรื่องเมถุน, ไม่คิดถึงผู้อื่นด้วยใจทึ่หมกมุ่นในราคะเมถุน
ข.ไม่มองเพศตรงข้ามด้วยความมีใจน้อมไปในความฝักใฝ่ใคร่ถวิลหา หมายใจปารถนาใคร่ในเมถุนต่อเขา
ค.ไม่พูดกับเพศตรงข้ามในเชิงชู้สาว คือ สนทนาด้วยความมีใจใคร่ปารถนา หมายมั่นด้วยใจใฝ่จะให้เป็นไปในเมถุน
ง.ไม่ถูกต้องสัมผัสกายเพศตรงข้ามด้วยความมีใจน้อมฝักใฝ่ปารถนาหมายมั่นใคร่ใจในเมถุน, ไม่กระทำหรือแกล้งทำการอันใดให้น้ำอสุจิเคลื่อน, เว้นจากการเสพย์เมถุน

- ให้ตั้งจิตมั่นที่จะดำรงกาย วาจา ใจดังนี้ โดยให้เริ่มจากกำหนดวันและเวลาจากน้อยไปหามากจนถึงตลอดชีวิต

อานิสงส์ คือ มีสมาธิจากศีลอุโบสถ จิตละความฝักใฝ่ในเมถุน
อีกทางคือมีสมาธิอันเอื้อต่อสติ ทำให้สติมีกำลังมากพอที่จะดำเนินไปในอาการ ๒ คือ
ก.แยกแยะสิ่งที่ดีหรือไม่ดี กุสลหรือกุศล ถูกหรือผิด มีประโยชน์หรือไม่มีประโยน์
ข.เลือกเฟ้นทางที่ดีเป็นกุศลประกอบไปด้วยประโยชน์

๑.๒ ถือเนกขัมมะ คือ บวช ตั้งจิตมั่นทำไว้ในใจว่า เราจักถือศีลข้อ วิกาลโภชนา เวระมณี สิกขา คือ จะละเว้นการกินข้าวเมื่อเวลาเที่ยงตรง หรือ เวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นตรงหัว กล่าวคือกินตอนเช้าเมื่อแดดออกเห็นเงามือและเวลาเพลก่อนเที่ยงตะวันตรงหัว แต่หากเข้างานกะ ให้ตั้งจิตทำดั่งพระตถาคตตรัสสอนว่า จะกินเพียงมื้อเดียวหรือสองมื้อ โดยระลึกว่ากินเพื่อยังชีพอยู่เท่านั้น ไม่กินตามความเพลิดเพลินอิ่มหนำสำราย คือ นึกได้ก็กินบ้าง อยากตอนไหนก็กินบ้างเป็นต้น

อานิสงส์ คือ มีสมาธิจากศีลอุโบสถ จิตละความฝักใฝ่ในเมถุน เพราะไม่อยู่ด้วยความอิ่มสำราญทำให้จิตที่จะไปตรึกนึกถึงมีเมถุนน้อย เพราะไมีมีกำลังจะไปตรึกถึงถึงเมถุน อีกทางคือมีสมาธิอันเอื้อต่อสติ ทำให้สติมีกำลังมากพอที่จะดำเนินไปในอาการ ๒ คือ
ก.แยกแยะสิ่งที่ดีหรือไม่ดี กุสลหรือกุศล ถูกหรือผิด มีประโยชน์หรือไม่มีประโยน์
ข.เลือกเฟ้นทางที่ดีเป็นกุศลประกอบไปด้วยประโยชน์



๒. พึงดึงสติขึ้รกรรมฐาน เช่น ระลึกถึงพุทธคุณ ระลึกรู้ลมหายใจเข้าออกเป็นต้น

๒.๑ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ว่าด้วยคุณแห่ง อรหัง คือ ความที่พระพุทธเจ้านั้นได้ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิงแล้ว กำหนดนิมิตว่าพระตถาคตแผ่เอาคุณนั้นมาสู่ตน เพื่อให้ตนสลัดกิเลสทิ้งได้

๒.๒. ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ว่าด้วยคุณแห่ง พุทโธ คือ ความที่พระพุทธเจ้านั้น เป็นผู้รู้ คือ สู้ว่าเป็นสมมติบัญญัติ รู้ทางหลุดพ้นจากสมมตินั้นๆ ผู้ตื่น คือ ตื่นจากความหลงมัวเมาคือโมหะ ผู้เบิกบาน คือ พ้นแล้วจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองได้บรรลุบทที่พระพุทธเจ้านั้นทำโดยบริบูรณ์ดีแล้ว กำหนดนิมิตว่าพระตถาคตแผ่เอาคุณนั้นมาสู่ตน เพื่อให้ตนสลัดกิเลสทิ้งได้

๒.๓. เพื่อให้ตนสลัดกิเลสทิ้งได้ ก็ให้ระถึงว่าเราถึงซึ่งพระนิพพานที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนชีทางให้แล้ว แล้วคนที่จะไปนิพพานได้ก็ต้องมีคุณที่ควรแก่การไปถึง คือ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ่นแล้ว สลัดคืนกิงขันธ์ทั้งปวงแล้ว ว่างจากกิเลสทั้งปวงแล้ว ระลึกถงคสามว่างจากกิเลส ให้ระลึกเอาความว่างโล่งในสมองปราศจากความตรึกนึก คือ
- มีอุเปกขาสัมโพชฌงค์ ความว่างอันมีวิราคะเป็นที่ตั้ง หรือ จะระลึกถึงความว่างในอุเปกขาฌาณที่ว่างสงบปราศจากความปรุงแต่งไรๆ



๓. ให้ตั้งจิตระลึกรู้เห็นตามจริงว่า เขาไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา สักแต่เป็นเพียงความคิดเป็นมโนภาพที่เราตรึกนึกปรุงแต่งสร้างเรื่องราวต่างๆขึ้นมาตามความรักใคร่พอใจยินดีของตนเท่านั้น มิใช่ความจริงเลย จากนั้นให้พึงกำหนดรู้ว่า ความหมายที่จะเสพย์เมถุน กระทำการเสพย์เมถุนพระพุทธเจ้าตรัสว่าเหมือนโรคเรื้อน ไม่ว่าจะแกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน หรือ เสพย์เมถุน ต่างก็ติดในความเพลิดเพลินนั้น เกิดความใฝ่หาและกระทำตามความต้องการนั้นๆเรื่อย เป็นเหตุให้จิตใจเศร้าหมอง กายก็ทรุดโทรมเป็นโรค เป็นแผล เป็นฝี เป็นหนอง เป็นสังคังยิ่งเกายิ่งมันยิ่งคันยิ่งเกา ยิ่งเกามากเท่าไหร่ก็ยิ่งเกิดแผลผุพองติดเชื้อลามไปมากเท่านั้น บ้างฉี่บ่อย บ้านเป็นหนองใน บ้างเป็นเอดส์ บ้างเป็นฝีมะม่วง เมื่อเกิดโรคเหล่านี้เราก็จะไม่สามารถปฏิบัติธรรมเพื่ออกจากทุกข์ได้ หรือ จะต้องใช้ชีวิตลำบาก หรือต้องตายเป็นต้น จะเห้นว่าผลเสียมากมายนักเพื่อแลกกับแค่น้ำอสุจินั้นเคลื่อนจากการแกล้งทำบ้างหรือเสพย์เมถุนบ้าง ดังนั้นเราก็ควรพึงละความกำหนัด ใคร่ปารถนา ฝักใฝ่ หมกมุ่น ถวิลหาที่จะได้เสพย์ในอารมณ์ความรู้สึกนั้นๆไปเสีย





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 04, 2014, 04:31:40 PM

บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๓

ละโดย พรหมวิหาร ๔ เมื่อรู้ผัสสะทางสฬายตนะแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ)



  เมื่อมองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ต้องสัมผัสกาย หรือตรึกนึกถึง หวนคำนึงถึงปรุงแต่งจากความจำได้จำไว้ หมายมั่นใจให้น้อมไปเสพย์อารมณ์ในราคะเมถุนต่อผู้อื่น ก็ให้เราพึงละจิตอันเบียดเบียนเขาด้วยความกำหนัดราคะนั้นๆไปเสีย โดยพึงตั้งจิตมั่นระลึกทำไว้ในใจว่าเราจักไม่เบียดเบียนทำร้ายเขาให้มังหมองกายใจดังนี้
๑. เขาก็อยู่ของเขาดีๆแล้วแต่เรานี้เองเข้าไปตั้งความกำหนัดราคะอันมัวหมองนั้นแก่เขา
๒. เขามีชีวิตที่งดงามเบิกบานดีแล้ว เราจะนำความมัวหมองและทุกข์ไปหยั่งเอาเขาเพื่ออะไร เขาไม่ควรถูกต้องความมัวหมองจากเรา
๓. มองย้อนกลับมาสู่ตนก็จะเห็นว่า เรามีอารมณ์ความคิดความรู้สึกอย่างนี้ๆ เมื่อจะเพิกมองผู้ใดก็มักจะมองคนอื่นเป็นอย่างที่ตนคิดตนเป็นอย่างนั้น ตนมีราคะเมถุนก็มักจะมองคนอื่นมีราคะเมถุนเหมือนกัน แล้วก็ตรึกนึกปรุงแต่งเรื่องราวไปทั่วตามจิตตนที่เสพย์อารมณ์ทางใจอยู๋นั้น จึงเป็นคำกล่าวที่ว่า "ตนเป็นเช่นไร-ก็ย่อมจะมองคนอื่นอย่างนั้น..มันเป็นอย่างนี้แหละ" ทีนี้ "เมื่อเราจิตเป็นกุศล-ก็จะมองคนอื่นด้วยกุศลดังนี้"

  เมื่อรู้ว่าสิ่งใดที่เราควรละและสิ่งใดที่เราควรทำควรเจริญให้มากแล้ว ก็ให้เจริญปฏิบัติดังนี้

- ตั้งจิตแผ่ด้วยใจปารถนาให้เรานั้นเป็นผู้มีความสุขกายสุขใจแจ่มใสเบิกบาน ปราศจากความทุกข์ สงัดจากกามราคะ โลภะ โทสะ โมหะ เครื่องแห่งความร้อนรุ่มร้อนรนใจใดๆเหล่านี้ทั้งสิ้นไป โดยพึงระลึกว่า

๑. การที่เราเพียงแค่รู้ผัสสะทางสฬายตนะ เช่น มองเห็นเขาด้วยตาทั้งๆที่เขาก็อยู่ของเขาอย่างนั้นไม่ได้มาใฝ่ใจในเมถุนกับเราเลย มีแต่เราที่ใฝ่ในเมถุนแล้วก็เร่าร้อนกายใจใคร่ที่จะเสพย์ในเมถุน เราเป็นผู้ถูกทุกข์หยั่งเอาแล้ว เราควรสงสารตัวเองให้มาก แล้วปารถนาให้ตนได้เป็นสุขหลุดพ้นจากทุกข์อันเร่าร้อนนั้นเสีย
๒. หากเราจะแกล้งทำให้น้ำอะสุจิเคลื่อน ก็ให้พึงระลึกว่า นี่น่ะเราเสพย์ติดในความคิดปรุงแต่งด้วยความฝักใฝ่ในเมถุนของตน จนตนเองต้องมาเร่าร้อน ทั้งๆที่เขาก็อยู่ของเขาอย่างนั้น อยู่ที่ไหนทำอะไรอยู่ก็ไม่รู้ ไม่ได้มาเสพย์เมถุนกับเราเลยสักนิด เราปรุงแต่งความคิดอนุมานคาดคะเนสร้างเรื่องราวไปเมถุนไปทั่วเองทั้งหมดไม่ใช่เรื่องจริงเลย ดูสิว่าน่าสงสารตนเองที่เสพย์ติดอยู่กับความคิดไหม ทำให้ตนเองเร่าร้อนมัวหมองเปล่าๆ เราต้องสงสารตัวเองที่เร่าร้อนลุ่มหลงเพราะราคะเมถุนให้มากๆ
๓. เมื่อเราสงสารตัวเอง ก็เจริญจิตระลึกน้อมถึงคุณแห่งความเป็น อรหัง คือ ดับสิ้นเพลิงกิเลสทุกข์ และ พุทโธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น จากความลุ่มหลงมัวเมาในกิเลส สมมติ บัญญัติ ทรงได้ตื่นจากโมหะแล้ว ผู้เบิกบาน บริสุทธิ์บริบูรณ ์ดีแล้วนั้นแผ่มาสู่ตน เมื่อสงบใจได้ก็ให้พึงแผ่เมตตาให้ตนเองด้วยใจปารถนาให้ตนเป็นสุขพ้นจากกิเลสทุกข์ ไม่หลงอยู่ในกิเลสเครื่องลุ่มหลงมัวเมา ไม่ลุ่มหลงในสมมติบัญญัติอีก

- ตั้งจิตแผ่ให้ตนเองด้วยความปารถนาให้เรานั้นเป็นผู้ไม่ติดใคร่ฝักใฝ่ปารนาใคร่ได้ที่จะเสพย์ในเมถุน ปารถาให้เราไม่คิดเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นด้วยราคะเมถุน ปารนาให้เราไม่ดำรงจิตอยู่ด้วยความหมายมั่นใจขลุกใคร่ที่จะพรากพรหมจรรย์ของตนเองและผู้อื่น
- ตั้งจิตแผ่ให้เราจงเป็นไม่ผูกเวรไม่ผูกโกรธไม่ผูกแค้น ไม่ผูกพยาบาทอาฆาตมาดร้าย ไม่มีความเบียดเบียนหมายที่จะทำลายให้เขาฉิบหาย
- ตั้งจิตแผ่ขอให้เราเป็นผู้มีจิตเป็นสุขกุศลแจ่มใสเบิกบานอันสลัดจากกิเลสทุกข์ทั้งปวงแล้ว
- ตั้งจิตแผ่ขอให้เรานั้นจงเป็นผู้ มีอยู่ คงอยู่ รักษาอยู่ ซึ่งกายวาจาใจอันเป็นไปในกุศล ศีล+พรหมวิหาร ๔+ทาน+สมาธิ+สัมปชัญญะ+สติ+ปัญญา จนเข้าถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ฯลฯ



  เมื่อแผ่เมตตาให้ตนเองจนสงบใจได้แล้วความร้อนรุ่มใจย่อมถูกสลัดทิ้งไปเพราะความกำหนัดยินดีปารถนาใคร่ได้ที่จะเสพย์ในเมถุนอกุศลธรรมอันลามกจัญไรเหล่านั้นได้ถูกขจัดทิ้งหมดแล้วในใจเราในขณะนี้ ความผ่องใสจิตย่อมเกิดขึ้น จิตเป็นกุศลมากขึ้น "เมื่อจิตเราเป็นกุศล-ก็จะมองผู้อื่นด้วยกุศลเอ็นดูปารถนาดีอันน้อมไปในการสละ" จากนั้นให้ตั้งจิตทำไว้ในใจดังนี้ว่า

๑. พระตถาคตตรัสสอนอยู่เสมอๆให้สาวกทั้งหลายทำไส้ในใจ มีรูป มีอาการทั้ง ๓๒ ประการ มีปฐวีธาตุเสมอเหมือนด้วยเราเป็นต้น เป็นอารมณ์ แล้วทำไว้ในใจว่าเราจักมีความเอ็นดูปรานีปารถนาดีต่อคนและสัตว์ทั้งปวงบนโลกนี้ มีความพอใจยินดีที่คนอื่นเป็นสุขปราศจากทุกข์ ได้หลุดพ้นจากทุกข์ ยินดีเมื่อเขามีกายใจเบิกบานไม่เศร้าหมองด้วยกิเลสกามราคะทั้งปวง ด้วยเหตุดังนี้แล้ว เขาก็อยู่ของเขาปกติดีอยู่แล้ว ถึวเขาจะเคยทำผิดพลั้งหรือกำลังทำกายใจตนให้มัวหมองอยู่หรือไม่ก็ตามแต่ เราควรที่จะละจากการเอาอกุศลธรรมอันลามกจัญไรไปใส่ทับถมเขาเพิ่มเติม เพื่อความไม่ซ้ำเติมให้เขามัวหมองมากขึ้นไปอีก ดังนั้นเราผู้เป็นสาวกของพระตถาคตก็ควรยินดีที่จะทำให้เขาไม่เศร้าหมองกายใจ ไม่เอากิเลสทุกจ์อุนเศร้าหมองกายและใจไปหยั่งลงเขา
๒. เมื่อพิจารณาเห็นตามนี้แล้ว ให้เราพึงเจริญจิตขึ้นมีรูป คือ คนๆนั้น บุคลนั้นๆ เป็นสิ่งที่งดงามอันมีอยู่ในโลก เป็นอาการทั้ง 32 ประการเสมอเหมือนด้วยเรา ไม่ควรต่อความมัวหมองที่เราจะเอาไปหยั่งลงสู่เขา ควรที่เรานั้นจะมีความเอ็นดูปรานี ปารถนาดีอยากใหัเขาเป็นสุขปราศจากมลทินเครื่องมัวหมองอันเป็นทุกข์เร่าร้อนทั้งปวง เป็นสิ่งที่เขานั้นควรมี ควรเป็น ควรได้รับ เสมอด้วยตัวเราปารถนาจะได้มีได้รับความสุขอันบริสุทธิ์บริบูรณ์นั้น

  แล้วพึงตั้งจิตเจริญขึ้นด้วยความปารถนาดีต่อเขาอยากให้เขาเป็นสุขปราศจากกาม ราคะ โทสะ โมหะ ใดๆมาคลุกคลามกายและใจเขา เจริญจิตขึ้นแผ่เมตตาจิตต่อเขา ซึ่งการจะเข้าถึงซึ่งการจะแผ่เมตตาให้บุคคลที่เรามีจิตฝักใฝ่ในเมถุนนี้ได้นั้นเราก็ต้องมีเจตนาดังนี้คือ
๑. ตั้งจิตมั่นทำไว้ในใจที่จะถึงในพรหมจรรย์ คือ เจตนาที่จะถือเนกขัมมะ มีศีลขอ "อพรัหมมะจริยา เวระมณี สิกขา" นั่นคือ ไม่พรากหรือทำลายเพศพรหมจรรย์ของตนเองหรือผู้อื่น, ไม่แลมองเขาด้วยจิตที่ฝักใฝ่หมกมุ่นใคร่ปารถนาในเมถุน,  ไม่พูดคุยกับเขาในเชิงชู้สาว คือ ไม่พูดคุยกับเขาด้วยความที่เรามีจิตน้อมไปในความกำหนัดฝักใฝ่ปารถนาหมกมุ่นคลุกใคร่ถวิลหาที่จะเสพย์เมถุนต่อเขา, ไม่ต้องสัมผัสกายเขาด้วยใจน้อมฝักใฝ่หมายมั่นใจใคร่ในเมถุน, ไม่แกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน,  ไม่เสพย์เมถุน
๒. ตั้งจิตมั่นทำไว้ในใจปารถนาอยากให้เขาเป็นสุขปราศจากกิเลสทุกข์อันเร่าร้อนหยั่งลงคลุกคลามกายใจให้มัวหมอง ปารถนาให้เราและเขาเป็นมิตรที่ดีมีความเอ็นดูเอื้อเฟื้อต่อกันและกัน เห็นซึ่งกันและกันเป็นของงามอันควรแก่ความเอ็นดูปารถนาดีต่อกัน
- ด้วยความเห็นเป็นคนด้วยกัน
- เห็นเป็นสัตว์โลกด้วยกัน
- เป็นเพียงขันธ์ ๕ เหมือนกัน
- เป็นอาการทั้ง ๓๒ ประการอันมีหนังหุ้มเป็นที่สุดรอบเหมือนกัน
- เป็นกอง ๔ ที่มาประชุมกันมีธาตุดินเป็นต้นเหมือนกัน
- เป็นเพียงกองขันธ์กองธาตุ อันไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน อันเป็นที่ประชุมไว้แห่งทุกข์ทั้งปวงเหมือนกัน
ด้วยเหตุดังนี้ๆจึงควรแก่ความเอ็นดูปารถานาดีต่อกัน ดั่งเราอยากให้คนอื่นเป็นมิตรที่ดี มีจิตใจดีงาม คิดในทางที่ดีเป็นกุศลต่อเราและบุคคลอันเป็นที่รักของเรา ไม่มองเราและบุคคลที่เรารักและหวงแหนยิ่งด้วยความกำหนัดราคะหมายที่จะเสพย์ในเมถุนฉันนั้น แล้วแผ่เอาควงามเอ็นดูปรานีอยากให้เขาเป็นสุขได้หลุดพ้นจากกองกิเลสทุกข์ ไม่มีไฟราคะคลุกคลามกายและใจนั้นไปสู่เขา



- พึงตั้งเจตนามั่นมีความประสงค์ที่จะอนุเคราะห์เอื้อเฟื้อแบ่งปันสุขอันเป็นกุศลที่เจริญมาดีแล้วนี้ของเราให้แก่เขา ด้วยหวังให้เขาหลุดพ้นจากความมัวหมอง หม่นหมองไรๆ ปราศจากกาม ราคะ โทสะ โมหะ อันพึงมีเข้ามาคลุกคลามกายและใจเขานั้น ด้วยมีจิตตั้งอยู่ในความยินดีเมื่อเขาได้หลุดพ้นทุกข์แล้วได้รับความสุขนั้นๆจากเป็นต้น จากนั้นตั้งจิตทำไว้ในใจสละให้ซึ่งบุญกุศลทั้งปวงที่เราสะสมมาดีแล้วทำมาดีแล้วนี้ให้แก่เขาด้วยหวังให้เขาเป็นสุขแจ่มใสเบิกบานกายและใจ ปราศจากความร้อนรุ่มเศร้าหมองใจ ปราศจากเวรภัยอุปสรรคอันตรายใดๆทั้งปวง
- ฉันบุตรหลาน ญาติมิตร หรือ บุคคลอันเป็นที่รักนั้นจะพึงมีให้แก่กัน แล้วพึงละจิตอันประกอบด้วยราคะที่มีต่อเขานั้นลงเสีย เพื่อให้เขานั้นอยู่เป็นสุขอันดีไม่มีความมัวหมองจากอกุศลธรรมอันลามกนั้นๆของเรา สละกุศลธรรมอันที่เราสะสมมาดีแล้วให้แก่เขาด้วยอยากให้เขาเป็นสุขผ่องใสปราศจากเวรภัยจาก กาม ราคะ โทสะ โมหะ ไรๆมาเบียดเบียน จนถึงแก่ความเปลื้องจิตออกจารูป่ี่รู้ผัสสะอยู่นั้นิและเปลื้องจิตตนอันไม่ติดในรูปขันธ์หรือกองธาตุ ๔ ทั้งปวง มีธาตุดินเป็นต้น สละคืนซึ่งรูปขันธ์ อาการทั้ง ๓๒ ประการทิ้งไป เพิกจิตไปจับยึดเอาความว่าง หรือ สีอันบริสุทธิ์ เช่น สีเขียวที่สว่างสงบเย็นเป็นอารมณ์(สังเกตุดูแสงสว่างที่บริสุทธิ์มักจะมีประกายสะท้อนเป็นสีเขียว หรือเวลาที่เราเคยถึงสมาธิจดจ่อดีแล้ว เวลาเราจะเบิกจิตออกจากกาย เช่นคุยกันทางจิตบ้าง จิตเราจะทิ้งกายแล้วไปจับเอาสีๆในนิมิตสมาธินั้นมีเสียง อย่างนี้เป็นต้น) จากนั้นให้แผ่เอาจิตอันสงเคราะห์นี้ไปสู่เขา (ซึ่งที่เราเคยรับรู้สัมผัสได้นั้น(หากไม่หลงไปว่าถึง) จิตสงเคราะห์ของเราจะมีกำลังมากหาประมาณมิได้ไม่อยู่เพียงแค่กายแค่รูปแต่จะแผ่ทั่งไปหมด)



- เมื่อตั้งจิตแผ่ไปอย่างนี้ๆจิตอันร้อนรุ่มของเราก็จะดับไปและไม่มีจิตอันเป็นอกุศลธรรมอันลามกให้วิตกตรึกนึก เขาก็พ้นจากความเบียดเบียนอันเป็นไปในราคะอกุศลธรรมอันลามกจัญไรทั้งปวงเหล่านั้น เมื่อเราเข้าถึงความมีจิตเป็นสุขยินดีไปกับเขาเมื่อเขาเป็นปกติสุขแจ่มใสปราศจากกิเลสทุกข์อันมัวหมองกายและใจโดยปราศจากความริษยา จิตเราย่อมยังความผ่องใสยินดีโดยความไม่ติดข้องใจไรๆ ที่เราได้มีความเมตตา กรุณา มุทิตา(ขั้นต้น) และ ทาน นี้ๆให้แก่เขา โดยสละทิ้งซึ่งจิตอันเป็นราคะเมถุนที่เราเพลิดเพลินยินดีแต่ต้องทำให้เขามัวหมองไป ให้เป็นเมตตาทานอันประเสริฐแก่เขาได้พ้นจากทุกข์ภัยอันเบียดเบียนนั้น แล้วยังคงไว้ซึ่งความสะอาดบริสุทธิ์งดงามอันนั้นอยู่ จากนั้นให้เพิกจิตออกจากวามโล่งว่างที่แผ่สงเคราะห์ไปอยู่นั้น แล้วยกเอาจิตไปจับที่จิตที่ยินดีเป็นสุขไปกับเขานั้น



- จากนั้นพึงเห็นคนเรานั้น ไม่มีสิ่งใดคงอยู่นาน สุขและทุกข์เกิดดับๆบังคับให้เป็นสุขไม่มีทุกข์ก็ไม่ได้ พอไม่เป็นไปตามปารถนาก็ทุกข์เจอความพรัดพรากผิดหวังก็ทุกข์ ดังนั้นความไม่ยึดเหนี่ยวสิ่งไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ไม่ใข่เรา ไม่ใช่ของเราทั้งสิ้น เราจึงไม่ทุกข์ ก็เพิกจิตออกไปจากทุกสิ่งทุกอสิ่งทุกอย่างสละคืนสิ่งที่ยึดจับยึดเหนี่ยวอยู่ทั้งหมด ไม่ตั้งจิตยึดจับเอาอะไรเลยมาเป็นที่ตั้งแห่งจิต จนถึงซึ่งความว่าง





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 04, 2014, 04:32:26 PM

ละด้วยวิปัสสนา

ธรรมดับราคะมีศีลเป็นหลักเมื่อเพียรทำจะเกิดสติและสัมปะชัญญะขึ้นมาเองรองมาคือสมาธิที่ควรแก่งานมากขึ้น โดยจะมีการรู้ลมหายใจเป็นการสร้างกำชังให้สาาธิจดจ่อมากขึ้น   ซึ่งส่วนการฝึกนี้นั้นไม่ต้องอาศึย ยสมาธิมากก็ทำได้ แต่วิธีนี้จะสร้างสมาธเให้เอง

แต่ในส่วยวิปัสสนาต้องอาศัยสมาธิจึงรู้ได้ เพราะมันมีกิเลสอย่างละเอียด ถ้าอย่างหยาบมันก็เห็นง่าย ถ้าละเอียดต้องอาศัยสมาธิจึงจะเห็น ถ้าไม่ทำสมาธหรื้อไม่มีสมาธิถึงอ๕ปจารฌาณ ก็รู้และทำแค่นี้ก่อน แล้วปฏิบัติให้ชำนาญจะเกิดสติ+สัมปะชัญญะและสมาธิที่พอควรได้

นี่ก็ชื่อว่าทำในสัมมัปปธาน๔ โดยมีสติในศีลและลมหายใจกำกับอยู่ -> ให้ถึงสมาธิที่เป็นวิราคะเป็นผล

สมาธิที่ได้จะได้กับทั้งสติสัมปะชัญญะเกื้อหนุน และจาก พุทธานุสสติ อานาปานสติ อุปสมานุสสติ และ พรหมวิหาร๔ ได้เมตตาฌาณ

เมื่อได้ตามนี้ค่อยพิจารณาวิปัสสนาญาณคือให้รู้ตามมัน เริ่มจากความคิดก่อนว่าเป็นควาาคิดกุศลหรืออกุศล แต่คิดก็กำกับรู้ว่าคิด

แล้วค่อยๆจับเอาสภาพจริงคืออาการของจิต จากการเสพย์เสวยอารมณ์จากความคิดที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เริ่มจากอารมณ์หยาบก็จะเห็นง่าย ว่ามันมีอาการเป็นอย่างไร เช่น
- รื่นเริงบันเทิงใจ พอใจยินดีในอารมณ์นั้นๆ เพลิดเพลินใจ ปลื้มตื้นตัน พองฟูใจ ติดใจในความเพลิดเพลิน น่าใคร่ปารถนาในในอารมณ์นั้นๆ ฝักใฝ่หมายมั่นใจหมกมุ่นใคร่ยินดีในอารมณ์นั้นๆ เร่าร้อนกายใจอัดหวีดทะยานอยากจะมีจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ใจหวีด วูบวาบ วาบหวิวทะยานอยากใคร่ได้ที่จะเสพย์ในอารมณ์นั้นๆ
- ไม่สบายกายไม่สบายใจ ไม่พอใจยินดี ขุ่นมัวขัดใจ ขุ่นเคืองใจ เร่าร้อนอัดทะยานอยากใคร่ที่จะผลักไสอารมณ์นั้นๆให้ไกลจากตน
- มัวหมองใจ เศร้าหมองใจ ตรึงๆกายใจ หนักหน่วงไม่เบาโล่งกายใจ หม่นหมองใจ ไม่แจ่มใสเบิกบานผ่องใสกายและใจ
- แช่มชื่นกายใจ อิ่มเอม รื่นรมย์สบายกายและใจ สงบอบอุ่นแต่เบาโล่ง ร่มเย็นกายใจ จิตเบิกบานตั้งมั่น

เมื่อเริ่มจากอารมณ์หยาบก็จะเห็นง่ายจากการที่เราได้เสพย์เสวยอารมณ์ความรู้สึกนั้นๆไปแล้วจะเห็นง่าย พอเห็นแล้วก็สักแต่รู้อาการของมัน ไม่ให้ความหมายไรๆรู้แค่ว่ามีลักษณะอาการของกายและใจแบบนี้ๆเกิดขึ้นกับเราเท่านั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญหมายรู้ไรๆ รู้มันไปเรื่อยๆ

เมื่อสติมีกำลังพอควรแล้วรู้ในอาการนั้นแน่ชัดแล้ว พออารมณ์ใดอาการใดเกิดกลางๆอ่อนๆ สติก็จะรู้ทันทีพร้อมสัมปะชัญญะก่อนที่เราจะเสพย์มัน

พอเมื่อชำนาญแล้ว ทีนี้พอจากนั้น จิตเกิดดับ จิตก็จะรู้จิตเองทันที โดยไม่ต้องจ้อง ไม่ต้องเพ่ง ไม่ต้องบังคับให้มันไปรู้ จนเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดดับๆไม่หยุด แม้ตัวรู้ในสภาวะนั้นๆ แม้ปัญญาที่เกิดเห็นว่าไม่มีสิ่งใดเลยนอกจากสภาวะธรรมก็เกิดมารู้ รู้แล้วก็ดับ
แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ก็คือ ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป วนเวียนอย่างนั้นไม่รู้จบตราบเท่าที่ยังขันธ์ ๕ นี้อยู่ก็เท่านั้น จนเกิดความคลายกำหนัดราคะในสิ่งทั้งปวง



- แม้ทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นเพียง สมถะ เพียงแต่เปลี่ยนวิธีปฏิบัติที่ใช้เพียงปัญญาจากความคิด(ปัญญาที่เกิดจากความคิด คือ สมถะ) ไปหัดใช้ปัญญาจากญาณ คือ สภาวะปัญญาที่เป็นไปในมรรค ๘ เป็นการอาศัยความเห็นตามจริงโดยปราศจากความคิดอนุมานเอาเข้าถึงทางแห่งมรรค ๘ นั่นเอง ซึ่งถ้ายังมีเจตนาที่จะทำอยู่ก็ยังเป็นสมถะไม่ถึงปัญญาญาณ ไม่ถึง สัมมาทิฐิ ยิ่งเจตนามากในสังขารทั้งปวง ก็ยิ่งติดในสังขารมากจนยึดถือตัดไม่ขาดแทงไม่ตลอด
- แต่ไม่ใช่ว่าต้องห้ามไม่ใช้เจตนาที่จะทำในกุศล นั่นก็เพราะว่า..เพราะอาศัยกุศลโดยเจตนานั้นแหละ ทำให้เป็นประจำจนถึงจริตสันดานของมัน ทำโดยความไม่ตั้งผล ไม่ปารถนาผลไว้ ทำให้มากเพราะรู้ว่าเป็นสิ่งดีงาม ทำให้มากเพราะรู้ว่าคือกุศล จะเกิดจากเจตนาหรือไม่เจตนาก็ช่างมัน ทำไปเรื่อยๆตามครูบาอาจารย์สอนไม่เก่งเกินครู มันทำโดยเจตนาหรือไม่เราก็ช่างมัน สักแต่รู้ว่ามันดีเท่านั้น สักแต่รู้ตามสภาวะธรรมนี้ๆแบบนี้มันเกิดขึ้นแล้วดำเนินไปหรือดับไปแล้วเท่านั้น เมื่อทำให้มากแล้ว จิตก็จะรู้จิต จิตก็จะแลจิต จิตก็จะจับจิตของมันเอง คือ อยู่ๆเกิดขึ้นเอง จิตรวมเอง จิตเห็นจิตเอง จิตรู้จิตเอง โดยที่เราไม่ได้ตั้งเจตนาไรๆที่จะทำ ที่จะเห็น ที่จะได้ ที่จะรู้มันเลย อันนี้แหละคือ ปัญญาญาณ มันเกิดเอง รู้เอง ทรงสภาวะเอง ดำเนินไป แล้วดับไปเองเห็นจริงๆอยู่อย่างนี้ของมัน เรียก สัมมาทิฐิ นั่นคือ มรรค ๔ ได้เกิดแก่เราโดยปัญญาญาณแล้ว (มรรค ๔ คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ ได้แก่ มรรค ๔ และ ผล ๔)
- ถ้าเจตนาที่จะทำแต่ยังทำไม่ได้จนชินเป็นจริตสันดาน แล้วมันจะเกิดขึ้นมาได้เองโดยไม่เจตนาก็คงยาก พระพุทธเจ้าจึงตรัส ๔๐ กรรมฐานไว้เพื่อสิ่งนี้ เริ่มแรกให้เป็นไปโดยเจตนาเป็นสมถะ จนเมื่ออิ่มตัวแล้วสภาวะธรรมไรๆก็จะเริ่มเกิดขึ้นเองโดยที่ไม่เจตนามากขึ้นเรื่อยๆ สภาวะนี้ก็แค่เพียรรู้ตามไปเรื่อยๆ จากนั้นก็ละเจตนานั้นเสียเป็นวิปัสสนา จนรู้เห็นตามจริง..ดังนี้
ให้จดจำง่ายๆว่า เมื่อไหร่ที่คิดแล้วทำ-นั่นคือเจตนา / แต่เมื่อไหร่ที่สักแต่เพียงรู้แลดูกายใจอยู่เท่านั้น คือ มีสติ+สัมปชัญญะ ไม่มีความคิด ไม่มีความทำไว้ในใจ แค่สำเหนียกรู้แลดูอยู่เท่านั้นแล้วเห็นการกระทำปรุงแต่งของสังขารมัน นั่นแหละคือ ปัญญาในวิปัสสนา / เมื่อถอยออกจากสภาวะนั้นแล้ว ปัญญารู้ตรงนั้นก็ดับ แต่ความจำได้สำคัญหมายรู้ยังคงอยู่ เห็นความเกิดดับอยู่ ดังนี้


อธิบาย ปัญญา วิชชา ญาณ (หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ)

ปัญญา วิชชา ญาณ ๓ อย่างนี้ต่างกัน ถ้าจัดตามอริยสัจ ปัญญานั้นเป็นมรรค วิชชานั้นเป็นนิโรธ ส่วนญาณนั้นเป็นได้ทั้ง ๒ อย่างคื อวิปัสสนาญาณ นิพพิทาญาณ เช่นนี้เป็นมรรค ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ ๓ อย่างนี้เป็น นิโรธ แม้ญาณ อื่น ๆ ที่เป็นมรรคก็เป็นปัญญา ส่วนที่เป็นผล ก็เป็นวิชชา หรือ นิโรธ




ปัญญา ความรู้แจ้ง แทงตลอด
ญาณ ความรู้แจ้ง ตามความเป็นจริง
วิชชา ความรู้แจ้ง
ยถาภูตญาณทัศศนะ รู้เห็นตามความเป็นจริง
(มัชฌิมากรรมฐานบอร์ด)

ปัญญา ความรู้ทั่ว, ปรีชาหยั่งรู้เหตุผล, ความรู้ความเข้าใจชัดเจน, ความรู้ความเข้าใจหยั่งแยกได้ในเหตุผล ดีชั่ว คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น และรู้ที่จะจัดแจง จัดสรร จัดการ, ความรอบรู้ในกองสังขาร มองเห็นตามความเป็นจริง ดู ไตรสิกขา, สิกขา

ปัญญา ๓ (ความรอบรู้, รู้ทั่ว, เข้าใจ, รู้ซึ้ง)
๑. จินตามยปัญญา (ปัญญาเกิดแต่การคิดการพิจารณาหาเหตุผล)
๒. สุตมยปัญญา (ปัญญาเกิดแต่การสดับการเล่าเรียน)
๓. ภาวนามยปัญญา (ปัญญาเกิดแต่การฝึกอบรมลงมือปฏิบัติ)

ปฏิเวธ เข้าใจตลอด, แทงตลอด, ตรัสรู้, รู้ทะลุปรุโปร่ง, ลุล่วงผลปฏิบัติ

สัทธรรม  ธรรมที่ดี, ธรรมที่แท้, ธรรมของคนดี, ธรรมของสัตบุรุษมี ๓ อย่าง คือ
๑.ปริยัติสัทธรรม สัทธรรมคือสิ่งที่พึงเล่าเรียน ได้แก่ พุทธพจน์
๒.ปฏิบัติสัทธรรม สัทธรรมคือสิ่งพึงปฏิบัติได้แก่ไตรสิกขา
๓.ปฏิเวธสัทธรรม สัทธรรมคือผลที่พึงบรรลุ ได้แก่ มรรคผล และนิพพาน;

วิชชา ความรู้แจ้ง, ความรู้วิเศษ; วิชชา ๓ คือ ๑.ปุพเพนิ วาสานุสติญาณ ความรู้ที่ได้ระลึกชาติได้ ๒.จุตูปปาตญาณ ความรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย ๓.อา สวักขยญาณ ความรู้ที่ทำอาสวะให้สิ้น; วิชชา ๘ คือ ๑.วิปัสสนาญาณ ญาณในวิปัสสนา ๒.มโนมยิทธิ ฤทธิ์ทางใจ ๓.อิทธิ วิธิ แสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ ๔.ทิพพโสต หูทิพย์ ๕.เจโตปริยญาณ รู้จักกำหนดใจผู้อื่นได้ ๖.ปุพเพนิวาสานุสติ ๗.ทิพพจักขุ ตาทิพย์ (=จุตูปปาตญาณ) ๘.อาสวักขยญาณ

อภิญญา ความรู้ยิ่ง, ความรู้เจาะตรงยวดยิ่ง, ความรู้ชั้นสูง มี ๖ อย่างคือ ๑) อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ ๒) ทิพพโสต หู ทิพย์ ๓) เจโตปริยญาณ ญาณที่ให้ทายใจคนอื่น ได้ ๔) ปุพเพนิวาสานุสติ ญาณที่ทำให้ระลึก ชาติได้ ๕) ทิพพจักขุ ตาทิพย์ ๖) อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป, ๕ อย่างแรกเป็นโลกียอภิญญา ข้อสุดท้ายเป็นโลกุตตรอภิญญา

ญาณ ความรู้, ปรีชาหยั่งรู้, ปรีชากำหนดรู้; ญาณ ๓ หมวดหนึ่ง ได้แก่ ๑.อตีตังสญาณ ญาณใน ส่วนอดีต ๒.อนาคตังสญาณ ญาณในส่วนอนาคต ๓.ปัจจุปปันนังสญาณ ญาณในส่วนปัจจุบัน; อีกหมวดหนึ่ง ได้แก่ ๑.สัจจญาณ หยั่งรู้อริยสัจแต่ละอย่าง ๒.กิจจญาณ หยั่งรู้กิจในอริยสัจ ๓.กตญาณ หยั่งรู้กิจอันได้ทำแล้วในอริยสัจ; อีกหมวดหนึ่ง ได้แก่ วิชชา ๓
 
ญาณ ๑๖ ญาณที่เกิดแก่ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาโดยลำดับตั้งแต่ต้นจนถึงจุดหมาย คือมรรคผลนิพพาน ๑๖ อย่างคือ ๑.นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณกำหนดแยกนามรูป ๒.(นามรูป) ปัจจัยปริคคหญาณ ญาณกำหนดจับปัจจัยแห่งนามรูป ๓.สัมมสนญาณ ญาณพิจารณานามรูปโดยไตรลักษณ์ ๔.- ๑๒.(ตรงกับวิปัสสนาญาณ ๙) ๑๓.โคตรภูญาณ ญาณครอบโคตรคือหัวต่อที่ข้ามพ้นภาวะปุถุชน ๑๔.มัค คญาณ ญาณในอริยมรรค ๑๕.พลญาณ ญาณในอริยผล ๑๖.ปัจจเวกขณญาณ ญาณที่พิจารณาทบทวน; ญาณ ๑๖ นี้เรียกเลียนคำบาลีว่า โสฬสญาณ หรือ เรียกกึ่งไทยว่า ญาณโสฬส; ดู วิปัสสนาญาณ ๙

ยถาภูตญาณทัสสนะ ความรู้ความเห็นตาม เป็นจริง

ญาณทัศนะ, ญาณทัสสนะ การเห็นกล่าวคือการหยั่งรู้, การเห็นที่เป็นญาณ หรือ เห็นด้วยญาณ อย่างต่ำสุดหมายถึง วิปัสสนาญาณ นอกนั้นในที่หลายแห่งหมายถึง ทิพพจักขุญาณบ้าง มรรคญาณบ้าง และในบางกรณีหมายถึง ผลญาณบ้าง ปัจจเวกขณญาณบ้าง สัพพัญญุตญาณบ้าง ก็มี ทั้งนี้สุดแต่ข้อความแวดล้อมในที่นั้นๆ

อ้างอิง   พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ และฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตโต



ถ้าสำหรับสันดานปุถุชนอย่างตัวเรานี้ แม้เมื่อเห็นเมื่อรู้เมื่อทำได้แต่ยังไม่ขาดไม่รู้แจ้งแทงตลอดจึงยังนิพพิทาญาณไม่บริบูรณ์ได้บ้างไม่ได้บ้าง จึงควรต้องทำให้มาก และ มากยิ่งขึ้นซึ่งกรรมฐานการละความกำหนัดราคะเมถุนนี้ๆตั้งแต่ต้นวนเวียนไปจนกว่าจะรู้แจ้งแทงตลอดได้





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 04, 2014, 08:43:46 PM

วิธีเบื้องต้นส่วนหนึ่งในการเข้าถึง "มรรค มีองค์ ๘" ที่ผมพอจะมีสติกำลังมองเห็นมี ๘ ข้อดังนี้

๑. เจริญปฏิบัติใน "กุศลกรรมบถ 10 ธรรมอันเป็นเครื่องเจริญปฏิบัติแห่งกุศล" ซึ่งเป็นการอบรมเจริญปฏิบัติในธรรมอันประกอบไปด้วย ศีล พรหมวิหาร๔ ทาน เป็นเบื้องต้นจนเกิดเห็นจริงในสัมมาทิฐิ เป็นไปเพื่อการดำรงกาย-ใจให้เข้าถึง กุศลมูล 3 และ ความสุจริต 3 อันเป็นไปในมรรค ๘ เพื่อยังให้ถึงอินทรีย์สังวร คงไม่ต้องอธิบายนะครับหากท่านศึกษาและเข้าใจในพระธรรมดีแล้ว
     หรืออ่านเพิ่มเติมที่นี่ http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=12&A=8951&w=%A1%C3%C3%C1%BA%B6 (http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=12&A=8951&w=%A1%C3%C3%C1%BA%B6)

๒. เจริญปฏิบัติใน "สัลเลขะสูตร" ธรรมเครื่องขัดเกลา(กิเลสหรือดับกิเลส) คือ เจริญเพื่อเกื้อหนุนในกุศลกรรมบถ 10 เหมือนศีลกับพรหมวิหาร๔ ที่เกื้อหนุนกัน แต่ส่วนนี้เป็นการพึงเจริญปฏิบัติโดยมองน้อมมาสู่ตน-เจริญในตนเมื่อมองเห็น เหตุ ปัจจัย จากภายนอกมี่มากระทบบ้าง ภายในบ้าง แล้วพึงเจริญสติระลึกรู้ ปฏิบัติ พิจารณาด้วยการแยกแยะถูก ผิด ดี ชั่ว เห็นคุณ และ โทษ แล้วพึงเจริญปฏิบัติทาง กาย วาจา ใจ เข้าสู่ในธรรมเครื่องขัดเกลานี้เพื่อการดำรงกาย-ใจให้เข้าถึง กุศลมูล 3 และ ความสุจริต 3 เหตุให้ อันเป็นเหตุให้ มรรค ๘ บริบูรณ์สั ถึงซึ่งอินทรีย์สังวรบริบูรณ์
     อ่านที่นี่เพิ่มเติม http://www.nkgen.com/386.htm (http://www.nkgen.com/386.htm)

๓. การเจริญปฏิบัติใน "ศีล อันเป็นกุศล" ธรรมอันเป็นเครื่องปกติ เพื่อความไม่เบียดเบียนทางกายและวาจา ระลึกเป็นสีลานุสสติ ระลึกถึงศีลของตนอันไม่ขาด ไม่ทะลุ อันบริบูรณ์ดีแล้ว เมื่อระลึกอยู่เช่นนี้ไม่เพียงแต่เข้าสู่อุปจาระฌาณแต่ยังช่วยให้เราสำรวมระวังในศีลมากขึ้นทำให้เรามีกาย-วาจาสุจริตเป็นองค์ธรรมในมรรค ๘ เป็นเหตุให้อินทรีย์สังวรบริบูรณ์ เพราะผู้ที่ไม่มีศีลอันดีงามแล้วจะระลึกในสีลานุสสติไม่ได้ ศีลอันดีนี้เป็นไปเพื่อความให้ใจไม่ร้อนรุ่ม มีความผ่องใส เบิกบาน ปราโมทย์ ปิติ สุข สงบ จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ง่ายควรแก่งานเอื้อในอินทรีย์สังวรอันเป็นฐานแห่งสติปัฏฐาน ๔
     อ่านที่นี่เพิ่มเติม http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=24&A=2&w=%CD%D2%B9%D4%CA%D1%A7%CA%C7%C3%C3%A4 (http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=24&A=2&w=%CD%D2%B9%D4%CA%D1%A7%CA%C7%C3%C3%A4)

๔. การเจริญปฏิบัติใน "พรหมวิหาร๔" เพื่อยังให้ใจถึงควาเป็นกุศล มีใจสุจริตละความผูกเวรอาฆาตพยาบาท ใช้ร่วมกับศีลให้ศีลบริบูรณ์ดีงามทำให้องค์ธรรมในมรรค ๘ บริบูรณ์ เป็นเหตุให้อินทรีย์สังวรบริบูรณ์ ควรเจริญให้มากจนเกิดจิตปารถนาดีให้ผู้อื่นเป็นสุขโดยไม่แยกแยะ ถึงความประสงค์ที่จะอนุเคราะห์แบ่งปันเกิดเป็นการสละให้โดยไม่หวงแหนในสิ่งไรๆที่ตนมีถครอบครองเป็นปัจจัยใช่สอยอยู่ ด้วยหวังให้ผู้รับได้ใช้ประโยชน์สุขจากการสละให้นั้นของเรา ดั่งความปารถนาดีที่บิดา-มารดานั้นจักมีให้บุตรอันเป็นที่รักเพียงคนเดียวด้วยหวังให้บุตรเป็นสุข มีจิตประสงค์ที่จะอนุเคราะห์เอื้อเฟื้อแบ่งปันให้บุตรปราศจากทุกข์มีแต่สุข เกิดเป็นการสละให้ในสิ่งอันดีงามเป็นประโยชน์สุขนั้นให้แก่บุตรได้พึงมีพึงใช้ มีจิตยินดีที่ตนได้สงเคราะห์แก่บุตรแล้ว หรือ มีปกติจิตยินดีเมื่อบุตรนั้นเป็นสุขกายและใจ เป็นการสละให้ที่สลัดจากความโลภอันตนยึดมั่นว่านี่เป็นเราเป็นของเราเสียได้ เรียกว่า "ทาน"(เมื่อระลึกถึงการสละให้อันงามนั้นก็เป็น จาคานุสสติ) พรหมวิหาร ๔ และ ทานนี้ เมื่อเจริญปฏิบัติเป็นประจำให้จิตยังให้จิตเข้าถึงเมตตาฌานเจโตวิมุตติ(ซึ่งภิกษุในพระธรรมวินัยนี้จะต้องถึงเจโตวิมุตติทุกองค์) ดั่งพระสูตรที่ว่านี้ http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=19&A=3329&w=%BE%C3%CB%C1%C7%D4%CB%D2%C3 (http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=19&A=3329&w=%BE%C3%CB%C1%C7%D4%CB%D2%C3)
     ดูวิธีเจริญจิตเพื่อแผ่เมตตาเบื้องต้นอันเป็นผลให้ถึงในเจโตวิมุตติตาม Link นี้ครับ
     http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=8226.0 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=8226.0)

๕. เจริญปฏิบัติใน "สมาธิ" เพื่อยังให้จิตตั้งมั่น เป็น สัมมาสมาธิ อันเอื้อต่อสติสัมปชัญญะเป็นเหตุให้เข้าถึงความรู้เห็นถูกต้องตามจริงไม่ใช่การอนุมานคาดคะเนตึกนึกเอาเองเกิดเป็นวิปัสสนาญาณ ที่เรียกว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ จนเกิดนิพพิทา+วิราคะ ถึงซึ่ง วิมุตติ ดังที่กล่าวใน มรรคข้อ สัมมาสมาธิ ในพระสูตรข้างต้น
     ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่ http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=23&A=9041&w=%AC%D2%B9%CA%D9%B5%C3 (http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=23&A=9041&w=%AC%D2%B9%CA%D9%B5%C3)

๖. เจริญปฏิบัติใน "สติปัฏฐาน ๔" คือ ฐาน(ที่ตั้ง)แห่งสติ มีสติกำกับอยู่เป็นไปเพื่อวิมุตติ เพื่อให้แจ้งและรู้เท่าทันใน กาย เวทนา จิต ธรรม คือ สิ่งที่เกิดขึ้นและมีในกายและใจตนจนเห็นตามจริงทั้งกานและใจทั้งภายในและภายนอก มีสัมปชัญญะเกื้อหนุนให้รู้ตัวทั่วพร้อมในขณะนั้น
- การเจริญปฏิบัติให้เริ่มที่กายานุสติปัฏฐานก่อนถึงจะเป็นผล เพราะเป็นการใช้สติดึงเอาสมาธิและสัมปชัญญะให้มีกำลังมากพอควรแก่งานและเป็นการเริ่มต้นพิจารณาเห็นในวิปัสสนาญาณตามจริงที่ไม่ใช่การตรึกนึกคิดคาดคะเนอนุมานเอาเอง เป็นการอบรมกายไปสู่จิตอันสัมผัสรับรู้และเห็นรับรู้ได้ง่าย
- แล้วตามด้วย เวทนานุสติปัฏฐาน แล้วจึงเจริญปฏิบัติใน จิตตานุสติปัฏฐาน แล้วค่อยเจริญใน ธรรมมานุสติปัฏฐาน เป็นส่วนสุดท้ายตามลำดับ ถึงจะเป็นไปเพื่อการอบรมจิตอย่างแท้จริง จึงจะเห็นว่ามันสักแต่มีไว้ระลึกรู้ยังไง เห็นสิ่งที่มีเกิดขึ้นในตนและดับไปสูญไปแล้วจากตน พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเรียงเป็นลำดับให้แล้วตามนี้จึงจะเป็นไปเพื่อเข้าถึงโพชฌงค์ ๗ อย่างแท้จริง
- หากไปหยิบเอามาเจริญปฏิบัติมั่วๆจะไม่มีทางเห็นตาจริงแน่นนอน เว้นเสียแต่ว่าบุคคลนั้นมีการสะสมไว้มาดีแล้วในกาลก่อน
     ดูเพิ่มเติมดังนี้ http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=10&A=6265&w=%CA%B5%D4%BB%D1%AF%B0%D2%B9 (http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=10&A=6265&w=%CA%B5%D4%BB%D1%AF%B0%D2%B9)
     และ http://www.nkgen.com/34.htm (http://www.nkgen.com/34.htm)
     และ http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=12&A=7552&Z=7914 (http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=12&A=7552&Z=7914)
     ดูเพิ่มเติมถึงปัจจัยอันเป็นอานิสงส์ต่อกันของสติปัฏฐาน ๔ ตาม Link นี้ครับ
     http://group.wunjun.com/ungpao/topic/539461-23343 (http://group.wunjun.com/ungpao/topic/539461-23343)

๗. เจริญปฏิบัติให้เข้าถึงใน "อุเบกขา" เพื่อละความพอใจยินดีและไม่พอใจยินดีเสียจงได้ นั่นคือ ละในสมุทัยนั่นเอง ไม่มีทั้งความพอใจยินดี(ฉันทะ,โสมนัส) และ ไม่พอใจยินดี(ปฏิฆะ,โทมนัส) อยู่ด้วยความมีใจกลางๆไม่หยิบจับเอาความพอใจและไม่พอใจมาเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์ มีความสงบว่าง ผ่องใส ไม่หมองหม่นใจ มีสติระลึกรู้แลดูอยู่เห็นธรรมด้วยประการทั้งปวงไม่อิงราคะ ย่อมสลัดกิเลสออกเสียได้ ยังจิตให้ถึง"อุเปกขาสัมโพชฌงค์"(เมื่อจะเจริญปฏิบัติใน อุปสมานุสสติ คือ ระลึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ก็ให้ระลึกถึงสภาพจิตที่เป็นอุเบกขาอันมี่สภาพจิตแบบนี้ๆเป็นอารมณ์ เพราะนี่คือคุณของพระนิพพาน) อุเบกขานั้นมี 10 อย่าง ไม่ใช่ว่ามีแค่ในพรหมวิหาร๔ เท่านั้น http://www.dhammahome.com/front/webboard/show.php?id=21483 (http://www.dhammahome.com/front/webboard/show.php?id=21483)
     ดูพระสูตรที่เกี่ยวข้องตามนี้ครับ http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=19&A=5605&Z=5668 (http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=19&A=5605&Z=5668)
     และ http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=19&A=3640&Z=3778 (http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=19&A=3640&Z=3778)
     และ http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?book=1&bookZ=45&name=%E0%C1%B5%B5%CA%D9%B5%C3&book=19&bookZ=19 (http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?book=1&bookZ=45&name=%E0%C1%B5%B5%CA%D9%B5%C3&book=19&bookZ=19)

๘. การเจริญพิจารณาในกายและใจให้เห็นกายภายในบ้าง-ภายนอกบ้างและสภาพจิตภายในบ้าง-ภายนอกบ้าง ให้พิจารณาลงในธรรมเกิดปัญญาเห็นจริงในวิปัสสนาญาณจนเหลือเพียง รูป-นาม
     ๘.๑ "อสุภะ คือ เห็นในความไม่สวยไม่งาม ไม่น่าพิศมัยยินดี" ก็เพื่อความเป็นไปในสัมมาสังกัปปะ คือ ดำหริชอบ ดำหริออกจากกาม ราคะ เจริญในพรหมจรรย์ และ รูป-นาม ซึ่งอสุภะนี้ตาเราเห็นได้โดยบัญญัติ เป็นซากศพในแบบต่างๆ ศพที่เขียวอืดบ้าง  ศพที่ถูกยื้อแย่งกินบ้าง ศพที่ถูกชำแหระออกบ้าง ศพที่แขนขาดขาขาดหัวขาดดั่งในสนามรบบ้าง ศพที่มีน้ำเลือดน้ำเหลืองไหลออกบ้าง ศพที่มีแต่กระดูกบ้างเป็นต้น พิจารณาเห็นกายกายในกายนอกเห็นว่าเรามีเขามีโดยไม่แยกเพศ จนแยกเป็นอาการทั้ง 32 ต่อไป
     ๘.๒ "ปฏิกูลมนสิการ หมายถึงกายซึ่งเต็มไปด้วยของที่ไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ รวม ๓๒ ประการ" เมื่อเราพิจารณาเห็นเป็นปฏิกูล คือ เป็นอาการทั้ง 32 แล้วย่อมเห็นชัดว่า กายเรานี้มีเพียงอวัยวะภายในน้อยใหญ่ มีกระดูกเป็นโครงร่าง มีเนื้อนั้นหนุนโครงทรงไว้ภายใน มีหนังหุ้มเป็นที่สุดรอบ มี ขน ผม เล็บ ฟัน ใช้เพื่อการปกคลุดและทำหน้าที่ต่างๆ ที่เราไปติดใจก็ให้หนังหุ้มกับ ขนผม เล็บ ฟัน หนังนี้เอง เมื่อเห็นแยกเป็นอาการทั้ง 32 ไม่มีตัวตนบุคคลใดได้แล้ว ก็ให้พิจารณากายเรานี้สักเป็นแต่เพียงธาตุต่อไป
     ๘.๓  "ธาตุมนสิการ คือ การพิจารณาร่างกายของตนโดยให้เห็นแยกประเภทเป็นธาตุ ๔ แต่ละอย่างๆว่ามีในกายเราอยู่นี้"
     ธาตุดิน ที่เป็นของแข้นแข็งอันมี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ที่ต่างเมื่อไม่ได้มีการปรุงแต่งใดๆแล้ว ก็ล้วนไม่งาม เป็นปฏิกูล ไม่สะอาด ไม่เป็นที่ต้องการของใครๆ (โดยส่วนตัวผมนี้ได้เพ่ง ปฐวีกสิน ทำให้ช่วงเวลาหนึ่งที่เข้าถึงนั้น เห็นกายตนเองและผู้อื่นเป็นดินเกิดทำให้เกิดวิราคะผุดขึ้นในใจในกาลสมัยนั้น)
     ธาตุน้ำ ที่หมายถึงเป็น ของเอิบอาบ คือความเป็นของเหลว เช่น ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ น้ำมูตร ที่ล้วนปฏิกูล ไม่งามเช่นกัน ที่ต่างเมื่อไม่ปรุงแต่งใดๆแล้วก็ล้วนไม่งามไม่สะอาด ไม่เป็นที่ต้องการของใครๆ
     ธาตุลม ความเป็นของพัดไปมา ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมอันอยู่ในท้อง ลมอันอยู่ในลำไส้  ลมอันแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่  ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก  เช่น ลมหายใจอันไม่น่าปรารถนา ลมหมักหมมเหม็นเน่าอยู่ในท้อง ต่างล้วนเน่าเหม็น ล้วนไม่มีใครอยากดอมดม ไม่เป็นที่ต้องการของใครๆ
     ธาตุไฟ  ความเป็นของเร่าร้อน  สิ่งที่เป็นเครื่องอบอุ่นแห่งกาย และทั้งเป็นสิ่งที่เป็นเครื่องทรุดโทรมแห่งกาย  สิ่งที่เป็นเครื่องเร่าร้อนแห่งกาย  สิ่งที่เป็นเครื่องทำให้แปรปรวนไปด้วยดีแห่งของที่กินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว และของที่ลิ้มรสแล้ว กล่าวคือแปรปรวนของที่กินและลิ้มแล้วให้เป็นพลังงานและสารต่างๆออกมา ย่อมเกิดความร้อนหรือพลังงานและของเสียเน่าเหม็นจากการสันดาปภายในต่างๆเป็นมูตรคูถ เหงื่อ ฯ. ไม่เป็นที่ต้องการของใครๆ
      - "หากเป็นธาตุ ๕ ก็เพิ่ม อากาศธาตุ" เข้าไปเป็นที่ว่างกว้าง หรือ เป็นช่องว่างแทรกอยู่ในทุกๆอนูของทุกๆธาตุ
      - "หากเป็นธาตุ ๖ ก็เพิ่ม วิญญาณธาตุ" เข้าไป เป็นธาตุรู้ พิจารณาเห็นกายในกายนอกเห็นว่าเรามีเขามีไม่แยกเพศ
      - เมื่อเห็นแยกเป็นธาตุๆ ไม่มีตัวตนบุคคลใดได้แล้ว ย่อมเข้ารู้แน่ชัดและง่ายในวิปัสสนาญาณ เห็นว่านี่คือรูปธรรม นี่คือนามธรรม มีเอกลักษณ์ คุณลักษณะอาการอย่างไร มีสภาพจริงเป็นไฉน เจริญเข้าสู่สติปัฏฐาน ถึงโพชฌงค์๗(ธรรมอันเป็นเครื่องตรัสรู้) โดยบริบูรณ์ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของธาตุทั้ง ๔ ใน มหาหัตถิปโทปมสูตร ตาม Link นี้ครับ http://www.nkgen.com/770.htm (http://www.nkgen.com/770.htm)
     ๘.๔ เมื่อรู้เห็นแล้วว่า รูป มีคุณสมบัติและลักษณะแต่ละอย่างเป็นอย่างไรมีสิ่งใดบ้าง กับ นาม มีคุณสมบัติและลักษณะแต่ละอย่างเป็นอย่างไรมีสิ่งใดบ้าง ให้เจริญพิจารณามีสติระลึกรู้แลดูอยู่แค่สภาพนั้นๆที่เรารู้การกระทบสัมผัสในขณะนั้น ไม่ต้องไปแยกจำแนกว่าในสิ่งนี้ๆที่เราได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รู้รส ได้กระทบสัมผัส ได้รู้ด้วยใจ มันมีรูปธาตุใดๆรวมอยู่จึงก่อเกิดขึ้นเป็นสิ่งนั้น ตัวนั้น
     ๘.๕ การจะรู้แยกธาตุจริงๆนั้นที่ผมพอจะมีปัญญาอันน้อยนิดพอจะรู้เห็นทางได้มีดังนี้คือ
             - ไม่ใช่การเข้าไปรู้ว่า ในสิ่งนั้นๆ บุคลนั้นๆ รูปร่างนั้นๆ มันประกอบด้วยอะไร-รูปอะไร-ธาตุอะไร ๑
             - แต่ให้รู้ว่าในขณะที่เราเกิดรู้ผัสสะใดๆ จากมโนใดๆ วิญญาณใดๆ ในขณะนั้นเป็นอย่างไร-มันมีคุณลักษณะ-สภาพจริง-สภาพธรรม-สภาวะธรรมเป็นอย่างไร มันถึงจะไม่มีตัวตนบุคคลใดทั้งสิ้น ๑
        ๘.๕.๑ สิ่งที่เห็นทางตามันก็มีแต่ สีๆ กับ แสง เท่านั้น สภาพที่เรามองเห็นทางตานั้นเมื่อดูแล้วก็จะเห็นว่า มันมีแต่สีๆ สีเขียวบ้าง ขาวบ้าง แดงบ้าง เหลืองบ้าง น้ำเงินบ้าง ดำบ้าง ส้มบ้าง ฟ้าบ้าง ซึ่งสีๆที่เห็นนั้นๆก็เป็นรูปทรงโครงร่างต่างๆตามลักษณะเคล้าโครงนั้นๆของมัน สีเหล่านั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงไป-แปรผันไปตลอดเวลาอย่างไร และ แสงที่เห็นนั้น ก็มีสว่างจ้าบ้าง มีมืดมิดบ้าง เช่น
               ก. เมื่อรู้ผัสสะใดๆทางตาในขณะนั้น เช่น เห็นต้นไม้ ก็ให้พึงมีสติระลึกรู้แลดูว่า สิ่งที่เราเห็นอยู่นั้นมีสีอะไรบ้าง มีโครงร่างรูปร่างอย่างไร มีความเปลี่ยนแปรไปอย่างไรบ้าง จนเข้าไปเห็นเป็นสีๆที่มีรูปร่างต่างๆ มีความเปลี่ยนแปรไปเป็นธรรมดาทุกๆขณะเท่านั้น : เมื่อเห็นสี ก็รู้แค่สี เห็นความเปลี่ยนแปรไปของสี ไม่ต้องไปรู้ ตรึกนึก หรือ มองว่าในสีนี้มีแสงด้วย หรือ ตานี้เห็นได้ทั้งสีและแสง หรือ สีเขียวคือใบไม้ สีน้ำตาลดำคือลำต้นของต้นไม้ ให้รู้แค่สีๆที่มีรูปทรงนั้นๆเท่านั้น ไม่ต้องเข้าไปรู้อย่างอื่นอีก มันก็จะไม่มีตัวตน บุคคล หรือ สิ่งอื่นใดเลย
               ข. เมื่อเห็นแสงรู้ผัสสะในขณะนั้นเป็น แสงสว่าง ก็ให้พึงมีสติระลึกรู้แลดูว่า แสงสว่างนั้นมันจ้ามาก ลุกโพรง หรือ พร่ามัว แสงที่เข้าตาหรือที่เห็นนั้นมีลักษณะใด เป็นประกายอย่างไร และเปลี่ยนแปลงผันแปรไปอย่างไรในแต่ละขณะนั้นๆ : เมื่อเห็นแสง ก็รู้แค่แสงเป็นอารมณ์ เห็นความเปลี่ยนแปรไปของแสง ไม่ต้องไปรู้ ตรึกนึก หรือ มองว่าในแสงนี้มีสีด้วย หรือ ตานี้เห็นทั้งสีและแสง ไม่ต้องเข้าไปรู้อย่างอื่นอีก มันก็จะไม่มีตัวตน บุคคล หรือ สิ่งอื่นใดเลย
               กล่าวคือ.."การพิจารณาในวัณณะรูป(สี)นั้น หรือ สิ่งที่เห็นทางตาจนเห็นแจ้งนั้น ในขณะที่ตาเรามองเห็น หรือ ขณะที่ตาเราจดจ้องมองดูสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่นั้น..เราเห็นสีอะไรบ้าง ให้เอาสีมาตั้งเป็นอารมณ์รับรู้ทางตา ไม่ต้องเข้าไปรู้อย่างอื่นอีก มันก็จะไม่มีตัวตน บุคคล หรือ สิ่งอื่นใดเลย"
        ๘.๕.๒ เมื่อเราสัมผัสน้ำในโอ่ง อ่างน้ำ หรือแม่น้ำ เราจะรู้ว่าเมื่อเราเอามือกวัดแกล่งไปในน้ำ หรือ กระโดลงน้ำอย่างเร็ว จากธาตุน้ำนั้นซึ่งมีลักษณะเอิบอาบ-ชุ่มชื่น ซาบซ่าน-เกาะกลุม ก็จะมีสภาพแข็งอ่อนใช่ไหม นั่นเป็นคุณสมบัติของธาตุดินใช่ไหม
               - ขนาดสิ่งที่เราทุกคนนั้นเรียกว่าน้ำ เมื่อเข้าไปสัมผัสแล้วยังมีดินร่วมอยู่ด้วยใช่ไหม แล้วมันจะยังเรียกน้ำได้อีกไหม
               - ดังนั้นให้รู้แค่ลักษณะนั้นๆที่เราสัมผัสได้ ไม่ต้องไปเพ่งเอาว่าในน้ำนี้มีธาตุดินร่วมอยู่ด้วย มีธาตุไฟร่วมอยู่ด้วย มีธาตุลมร่วมอยู่ด้วย แต่ให้มีสติระลึกรู้แลดูอยู่ รู้ผัสสะในขณะที่สัมผัสน้ำนั้นๆว่าเรารู้สึกอย่างไร เช่น
               ก. เมื่อรู้สึก เอิบอาบ ชุ่มชื่น ซาบซ่าน ก็รู้แค่สภาพลักษณะนั้นๆ ไม่ต้องเข้าไปรู้ หรือ ตรึกนึกคิดว่านี่คือธาตุน้ำหรือในน้ำมีอะไรรวมอยู่บ้าง มีธาตุใดๆบ้าง ให้รู้แค่สภาพ เอิบอาบ ชุ่มชื่น ซาบซ่าน ไม่ไปรู้อย่างอื่นอีก มันถึงจะไม่มีตัวตนบุคคลใดทั้งสิ้น
               ข. เมื่อรู้สึก อ่อน แช็ง นุ่ม ก็ให้รู้แค่ในสภาพลักษณะนั้นๆ ไม่ต้องเข้าไปรู้ หรือ ตรึกนึกคิดว่าในน้ำก็มีธาตุนั้นด้วย ให้รู้แค่สภาพอ่อน-แข็งนั้น ไม่ไปรู้อย่างอื่นอีก มันถึงจะไม่มีตัวตนบุคคลใดทั้งสิ้น
        ๘.๕.๓ เมื่อรู้สึก ร้อน อุ่น เย็น ก็ให้รู้แค่ในสภาพลักษณะนั้นๆ ไม่ต้องเข้าไปรู้ หรือ ตรึกนึกคิดว่าในน้ำก็มีธาตุนั้นด้วย ให้รู้แค่สภาพร้อน-เย็นนั้น ไม่ไปรู้อย่างอื่นอีก มันถึงจะไม่มีตัวตนบุคคลใดทั้งสิ้น
               กล่าวคือ.."การพิจารณาจนรู้ในธาตุ หรือ รูปธรรมใดๆที่เรารับรู้ได้จากการกระทบสัมผัสกางกายนั้น ให้เรารู้แค่ว่า..ในขณะนั้นเรารู้ผัสสะคุณลักษณะสภาพใดได้ หรือ ในขณะนั้นเรารู้ผัสสะคุณลักษณะสภาพใดอยู่ ก็ให้เอาคุณลักษณะสภาพที่เรารับรู้ได้ในขณะนั้นมาเป็นอารมณ์พิจารณา ไม่ต้องเข้าไปรู้สิ่งใดๆอีก มันถึงไม่มีตัวตนบุคคลใด หรือ สิ่งใดๆอีก"
                - เมื่อรู้แค่ผัสสะนั้นๆไม่ไปรู้อย่างอื่นแล้ว จนเห็นชำนาญแล้ว ให้พิจารณามองย้อนดูว่า วันๆหนึ่งตั้งแต่วันที่พิจารณาจนถึงปัจจุบันที่นั้นเรารับรู้กระทบสัมผัสสิ่งใดๆบ้าง ก็จะเห็นเองว่าที่เรารู้นั้นๆมันมีเพียง สีๆ เสียงสูง-ต่ำ ทุ้ม-แหลม กลิ่นในลักษณะต่างๆ รสในลักษณะต่างๆ  อ่อน แข็ง เอิบอาบ ตรึงไหวเคลื่อนที่ ร้อน เย็น ไม่มีตัวตนบุคคลใดเลย มีแต่สภาพการรับรู้นั้นๆเท่านั้นเอง ไม่มีสิ่งใดๆเลย
     ๘.๖ รู้ในลักษณะอาการความรู้สึกของจิตที่ปราศจากความนึกคิดปรุงแต่ง คือ มีสติแลดูอยู่รู้ตัวทั่วพร้อมเห็นในสภาวะลักษณะอาการของจิตที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะนั้นๆว่าเป็นอย่างไร
               ก. เมื่อแรกเริ่มอาจจะรู้อาการของจิตในขณะที่เราเจริญจิตตานุสติปัฏฐานหรือรู้ตัวว่าขณะนี้มี โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ แล้วดูลักษณะอาการของจิตใจในขณะที่เกิดอารมณ์ความรู้สึกนั้นๆว่าเป็นอย่างไร เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต เช่น ติดใจติดตามเพลิดเพลิน ขุ่นมัวขัดเคืองใน หมองหม่นใจ สั่นเครือติดตาม อัดอั้น อึดอัด คับแค้นใจ เป็นต้น พิจารณาดูว่าแต่ละอย่างๆนี้เป็นลักษณะอาการของจิตในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดใดๆ ที่ต้องรู้ส่วนนี้อยู่เนืองๆก็เพื่อเมื่อเกิดอารมณ์ความรู้สึกใดๆขึ้น แม้อย่าง ละเอียด อ่อนๆ กลางๆ หรือ หยาบ เราก็สามารถรู้ได้ทันทีว่า ขณะนั้นเสพย์อารมณ์ความรู้สึกใดๆอยู่ เพื่อจะละมันได้ทันที
               ข. เมื่อรู้สภาพลักษณะอาการของจิตจนชำนาญแจ่มแจ้งแทงตลอดแล้ว เมื่อใดที่มันเกิดขึ้นอีกก็ให้เราเข้าไปรู้ในสภาวะลักษณะอาการของจิตนั้นๆโดยไม่ต้องไปให้ความหมายของมันว่ามันคืออารมณ์ความรู้สึก รัก หรือ โลภ หรือ โกรธ หรือ หลงใดๆ แค่ให้จิตเข้าไปรู้จิต คือ มีสติแลดูอยู่ในลักษณะอาการของจิตในขณะนั้นๆว่าเป็นอย่างไรเท่านั้น ไม่มีตัวตน บุคคลใด ไม่มีสิ่งใดๆทั้งสิ้น เห็นลักษณะอาการนั้นๆว่ามัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ทรงอยู่ ดับไป ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดใดๆ สักแต่รู้อาการนั้นก็พอไม่ต้องเข้าไปรู้อย่างอื่นอีก ไม่ต้องไปให้ความหมายใดๆกับความรู้สึกในลักษณะอาการของจิตใดๆขณะนั้นๆทั้งสิ้น สักเพียงแต่รู้ก็พอ มันถึงไม่มีตัวตน บุคคลใด นี่เรียกว่าปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน คือ ความปรุงแต่งจิตเหล่านี้สักแต่มีไว้ให้ระลึกรู้และตามรู้มันไปเท่านั้น ไม่ได้มีไว้ให้เสพย์ ไม่ได้มีไว้ให้เข้าไปร่วม
                - เมื่อพิจารณารู้เห็นอย่างนี้จนชำนาญแล้ว ก็จะพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า มันมีแต่สภาพอาการความปรุงแต่งนี้เท่านั้น มันไม่ใช่จิต ปกติจิตเป็นสภาพสงบผ่องใสสักแต่อาศัยเพียงเป็นความปรุงแต่งจิตนี้ๆที่จรเข้ามาทำให้ใจเศร้าหมอง ความปรุงแต่งที่จรมานี้ไม่ใช่จิต จนเกิดมีสติแลดูอยู่เห็นตามจริงดังนี้แล้วแม้สิ่งไรๆ ความรู้สึกปรุงแต่งนึกคิดไรๆเกิดมา มันก็ไม่ใช่จิตไม่ใช่เรา เราก็จะไม่ไปเคลิบเคลิ้ม หลงตาม เสพย์อารมณ์ตามมันไป ด้วยเพราะเห็นแยกความปรุงแต่งจิตกับจิตนั้นแล้ว นี่เรียกว่า "จิตเห็นจิต"

** การเจริญปฏิบัติในข้อที่ ๘ ทั้งหมดนี้จัดเป็นการปฏิบัติใน สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ เป็นการเจริญปฏิบัติใน สัมมัปปธาน ๔ คือ ความเพียรชอบ ๔ ประการ ดังนี้คือ **
๑. สังวรปธาน [เพียรระวัง]
๒. ปหานปธาน [เพียรละ]
๓. ภาวนาปธาน [เพียรเจริญ]
๔. อนุรักขนาปธาน [เพียรรักษา]
อ่านเพิ่มเติมได้ตาม Link นี้ครับ http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=13591.0 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=13591.0)

- สรุป..ให้เราพึงเพียรมีสติระลึกรู้เจริญพิจารณาว่า ในแค่ละขณะจิตที่เรารู้ผัสสะนั้นๆ เรารู้สิ่งใด รู้สภาพคุณลักษณะใด-รู้สภาพธรรมใดของธาตุ  รู้ลักษณะอาการความรู้สึกใดๆ-เห็นสภาพธรรมใดๆของจิตก็พอ เห็นสภาพธรรมสิ่งไรๆว่าขณะนี้เกิดขึ้นในกายใจตนหรือสภาพธรรมนี้ๆดับไปไม่มีแล้วในกายใจตน เห็นว่ามันมีความผันแปรอย่างไร ไม่คงอยู่อย่างไร ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนอย่างไร จนเห็นความเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไปอย่างไร สิ่งนั้นมันก็จะไม่มีตัวตนบุคคลใดอีก เห็นถึงความไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร นอกจากรูปและนาม ในความรู้ความเข้าใจของผมนั้นสิ่งนี้ๆถึงจะเรียกว่า "วิปัสสนา"
     ดูเพิ่มเติมตามพระสูตรนี้ http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_item.php?item=131&book=12&bookZ= (http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_item.php?item=131&book=12&bookZ=)
     เห็นความเป็นไปตามจริงในปฏิจจสมุปปบาทอย่างไร ดูเพิ่มเติมที่นี่ http://nkgen.com/1mainpage1024.htm (http://nkgen.com/1mainpage1024.htm)

- ซึ่งวิธีการเจริญทั้งหลายเหล่านี้อาจจะใช้ในสถานการณ์ที่ต่างกันไป และ เจาะจงแต่ละบุคคลไปตามแต่จริตนั้นๆ ที่ผมยกมานี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ปัญญาผมพอจะรู้ได้หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านทั้งหลาย และ ทำให้ท่านผู้อ่านได้เห็นตามจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน ลองเลือกแนวทางทั้งหลายนี้ตามแต่ที่ท่านคิดว่าตรงและถูกจริตของท่านมาน้อมพิจารณาและเจริญปฏิบัติดูนะครับจะเห็นทางเข้าสู่ มรรค ๘ ทางแห่งการพ้นทุกข์อย่างแท้จริงครับ



เคยบันทึกผลแห่งการกรรมฐานไว้นานมากแล้วที่ Link นี้

http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=13637.msg46531#msg46531 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=13637.msg46531#msg46531)



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: dekinw ที่ ธันวาคม 05, 2014, 03:53:16 AM
สาธุครับ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 08, 2014, 12:14:00 PM
สาธุขอขอบคุณท่าน dekinw ที่ให้เกียรติแก่บันทึกของผมครับ นึ่เป็นเพียงบันทึกเท่านั้นเอาไว้ทบทวนการปฏิบัติของผม ซึ่งยังอ่อนๆอยู่ชี้ทางใครไม่ได้ แต่ถ้าท่านเห็นประโยชน์ผมก็ยินดีด้วยอย่างยิ่ง แต่ต้องกรองเอาผิดถูกนะครับ เพื่อการไม่ทำให้เดินผิดทางหรือลุ่มหลง เพราะผมเองยังแค่ปุถุชน ธรรมปฏิบัติอันใดของพระตถาคตได้ทรงตรัสไว้ดีแล้วที่ผมนำมาเจริญปฏิบัติ ผมก็เข้าถึงและสัมผัสได้อย่างปุถุชนเท่านั้นครับ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 08, 2014, 12:19:34 PM

บันทึกกรรมฐานหลังจากที่ได้เจริญครบหมดในข้อ ๑-๓ แล้ว

เวลาที่เราเกิดราคะเมถุนจิตใจจะหวิวสั่นเครือ มีความรู้สึกจิตวิ่งลงจากเบื้องบนตั้งแต่หน้าอกลงมาหยั่งที่อวัยวะเพศ เหมือนอวัยวะเพศจะพองขึ้นมีน้ำไหลจากท่อปัสสาวะ แต่เรายังติดคิดอยู่ พอเมื่อรู้แล้วเข้าใจว่าราคะเมถุนเกิด ยิ่งทำให้จิตใคร่ทะยานไปใหญ่ ได้แต่คิดระลึกว่าทำไฉนหนอถึงจะละมันได้ ดับมันได้ ไม่กำเริบ ไม่หลงมัน ไม่สืบต่อได้ สมาธิก็ไม่ถึงไม่จดจ่อพอ ฌาณก็ไม่มี ด้วยเหตุนี้เราจึงได้ปฏิบัติดังนี้
๑. ตัังอานาปานสติไว้ภายในเป็นเอกเป็นเบื้องต้น ดั่งที่พระตถาคตตรัสสอนใน "อสุภะ สูตรที่ ๖"
๒.หวนระลึกถึงดั่งเราปวดท้องขับถ่ายอุจจาระ เราจะรู้สึกจุกเสียดดั่งมีลมอัดลูกโป่งเคลื่อนดันมาที่ไส้น้อยไส้ใหญ่ บางครั้งก็ดูว่าอาการปวดนี้ยังมีไม่มากจะทำกิจธุระก่อนก็ได้ บางครั้งปวดมากท้องรีบเข้าห้องน้ำ เราจึงคิดว่าเหตุไฉนหนอ เราถึงรู้ว่าตอนนี้ควรเข้าห้องน้ำ ตอนนี้ยังเบาอยู่ ตอนนี้ยังทรงได้อยู่ แล้วพอเห็นว่าอ่อนๆพอทรงได้ก็ทำงานต่อ ก็ลืมอาการปวดไปด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า เพราะหากตัดควมคิดว่า เราปวดขี้ เราต้องขับถ่ายออกแล้ว สิ่งที่เรารู้ก่อนคิดคือสภาวะธรรมของกายที่ส่งให้ใจรู้ ว่าเกิดอาการอย่างนี้ๆ พอใจรู้ ธรรมชาติของจิตนั้นคือคิดกอปรกับสัญญา มันก็คิดว่าปวดขี้ นี่น่ะทั้งๆที่เราเจอสภาวะจริงอยู่ทุกวันแต่กลับไม่รู้เอง มัวแต่คิดหาทางจนใช้ความคิดปิดกั้นความจริงไป เรานี่โง่จริงๆ สมองมีไว้คิด แต่วิญญาณธาตุมีไว้รู้เท่านั้น
๓. ดังนี้แล้วจึงเห็นและหวนระลึกถึงคำสอนของพระตถาคตที่ตรัสในสติปัฏฐานว่า สักแต่มีไว้ระลึกรู้ ไม่ได้มีไว้เสพย์ ทีนี้เวลาอาการไรๆเกิดขึ้นแก่เราแม้จะมีความคิดหรือไม่ก็ตาม เราจะตั้ง อานาปานสติ หรือจะเป็นพุทธโธไว้เบื้องต้นที่ภายในก่อน พอให้จิตตัดความคิดในบางขณะ แล้วก็ตั้งจิตที่ว่างแช่อยู่รู้แต่อาการของกายและใจที่เกิด แม้แต่คิดก็ดึงจิตแยกรู้แค่ว่ามันคิด คือ คิดก็รู้ว่าคิด คิดเป็นส่วนวิตก วิจาร คิดมันเป็นแค่การทำงานของสมอง คิดเป็นเรื่องของความปรุงแต่งในสังขารอันกอปรกับสัญญา เกิดอาการไรๆก็รู้ว่าอาการอย่างนี้ๆเกิดมีแก่เราเท่านั้น เจริญอยู่เหมือนดั่งที่เราเข้าไปรู้ว่าเราปวดขี้ มันรู้เพราะอาการนี้ๆเกิด ไม่ได้ไปจดจ้องเจตนาจะรู้ รู้อาการว่ามันเป็นอย่างไร เสียดมากหรือน้อย ทรงไหวไหม แต่พยายามรู้โดยไม่เจตนา รู้โดยไม่อิงสัญญา นั่นก็อาศัยมรรค ๘ นี้แล อาศัยให้กุศลมีเกิดขึ้น มีสติสัมปะชัญญะสังขารอยู่
- เหมือนตอนเรานั่งสมาธิได้ยินเสียงเขาทุบประตูที่ห้องข้างๆดังมาก แต่ในขณะนั้นเราแทบไม่ได้ยิน และไม่รู้ว่ามันคือเสียง รู้แค่สภาวะธรรมหนึ่งสภาวะธรรมนั้นมีอึกทึกเกิดขึ้นให้รู้ผัสสะนั้น จนเมื่อสำเหนียกกำหนดรู้ในอารมณ์นั้นก็เห็นรู้แค่ความอึกทึกแรงบ้าง หนักบ้าง เบาบ้าง อึกทึกอึมครึมกึกก้องปกคลุมอยู่นั้นนานพอควรสักระยะ พอจิตคลายจากทำสมาธิก็จึงรู้ว่านั่นคือเสียง แต่ยังไม่ดังมาก พอหลุดมารู้สึกตัวปกติจึงรู้ว่านั่นคือเสียงที่มีคนใช้ค้อนทุบเหล็กซึ่งดังมาก จากนั้นจึงเกิดความรำคาญหงุดหงิดไม่พอใจ เพราะตอนนั้นมันตีสองแล้ว เมื่อหวนระลึกอย่างนี้เราจึงเห็นว่านี่แสดงให้เห็นว่าหากแค่รู้สภาวะธรรมไม่มีความคิดต่อก็ไม่รู้อะไรไม่เกิดความอยาก ความขัดใจ ความใคร่ไรๆทั้งนั้น
๔. ด้วยเห็นข้างต้นจากข้อ ๑-๓ ไม่ว่าอาการไรๆเกิดขึ้นทางกายอย่างไร จิตก็มีเช่นนั้นเหมือนกัน เวลาจะมีอาการใดๆเกิดเราก็ตั้งกำหนดรู้ลมไว้ภายในเป็นที่ตั้งเบื้องต้น ดูอาการมันไป มันจะใคร่ใจหวิววูบวาบก็รู้ จะรู้สึกว่าตรงอวัยวะเพศเกิดสภาวะธรรมไรๆขึ้นจะรู้สึกพองตัวมีความเคลื่อนตัวไปขอสภาวะที่เอิบอาบซึมซาบไหลไปตามท่อปัสสาวะก็แค่รู้ ดูว่ามันมาก มันน้อย อาการยังไง ดูภายในตนว่ามันเกิดความอ่อนแข็งไหม ร้อนเร่าไหม อุ่นไหม เย็นไหม เคลื่อนตัวไหม เอิบอาบซึมซาบเกาะกุมไหม ว่างโล่งไงในขณะใดไหม เข้าไปรู้ไรๆไหม รู้อย่างไร สืบอย่างไร ไม่ให้ความหมายจากความรุ้สึกนั้นด้วยเดชแห่งพุทธเป็นต้นทำให้สลัดความคิดออก ด้วยเห็นว่าลมหายใจนี้บริสุทธิ์ไม่เร่าร้อน ไม่ประกอบด้วยความคิด ความฟุ้งซ่านบ้าง เป๊็นที่เบาโล่งของกายใจบ้าง เป็นที่สงบบ้าง ไม่ว่าอาการไรๆเกิดขึ้นก็แค่มีสภาวะธรรมนั้นๆเกิดเท่านั้นเอง

- แต่การกระทำทั้งหมดนี้ยังด้วยเจตนาตั้งจิตไว้ทำมันอยู่ ยังคิดตามอยู่ ยังทำไว้ในใจคือสำเหนียกรู้ได้ในบางช่วงเท่านั้น จึงทำให้ยังผลแค่ข่มไว้เป็นสมถะอยู่ เพราะยังรู้อาการนั้นมีชื่ออย่างนั้นอย่างนี้อยู่ ยังเห็นเป็นธาตุดิน ไฟ ชม น้ำ อากาศ วิญญาณอย่างนั้นๆนีีๆเกิดขึ้นอยู่ ยังไม่ถึงปัญญา คือ สัมมาทิฐิ ให้เห็นชอบ เพราะยังคิดอนุมานเอาอยู่
- แต่เราก็ไม่ใส่ใจไม่ฝักใฝ่ในผล ไม่ตั้งความปารถนา มันจะเกิดอย่างไรก็ช่างมัน รู้เห็นอย่างนี้แหละไปเรื่อยๆ มันจะได้มันได้เอง ถ้าไม่ได้ให้แสวงไขว่คว้าจนตายก็ไม่ได้ ถ้าเจตนาจะทำยังทำไม่ได้..แล้วมันจะถึงความเกิดขึ้นและทรงอยู่โดยไม่เจตนาได้อย่างไร
- ที่ทำอยู่นี่ก็คือสัมมัปธาน๔ แล้ว โดยมีศีลเป็นฐาน ถวายเป็นพุทธบูชา ดัวยเดชแห่งการกระทำในพุทธบูชานี้ เราคงถึงที่สุดแห่งกองทุกข์สักวัน สะสมบารมีการปฏิบัติไว้ดั่งรินน้ำใส่แก้วทีละหยดสองหยดสักวันมันก็จะเต็มไปเองอย่างแน่นอน ถ้าเราตั้งใจมั่นเจริญปฏิบัติดังนี้คือ
๑. มี ฉันทะอิทธิบาท ๔ คือ ความยินดี อันมีจิตตั้งมั่นแน่วแน่ไม่สัดส่ายใคร่ทำอยู่ในกุศลธรรมทั้งปวง ให้เป็นไปในความเพียรพยายาม คือ วิริยะอิทธิบาท ๔ เกิดสืบใน จิตตะอิทธิบาท ๔ คือ ความสนใจเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น คือ มีเจตนาตั้งจิตมั่นในกุศลทางกาย วาจา ใจนั้นๆ และ วิมังสาอิทธิบาท๔ คือ  (ความไตร่ตรอง หรือ ทดลอง) คือ หมั่นใช้ปัญญา พิจารณาใคร่ครวญ ตรวจหาเหตุผล และตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง เป็นต้น
๒. มี ศีล เป็นบาทฐาน(มีอินทรีย์สังวร สำรวมระวังในอินทรีย์ ๖ รูปเพียงปัจจุบันทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่สืบปรุงแต่งเอานิมิตต่อ คือ ศีล มีศีล ๕ ศีล ๘ เป็นต้น เกิดเป็นฐานของสมาธิ ฌาณ ปัญญา เหตุนั้นเพราะ..เมื่อมีความสังวรอยู่ สำรวมระวังในกายและวาจานั้น สติย่อมตั้งระลึกรู้ให้เกิดขึ้นอยู่เนื่องๆเป็นอันมาก เมื่อเกิดความรู้ตัวทั่วพร้อมในปัจจุบันว่ากำลังทำกิจใดๆอยู่บ้าง มีสัมปะชัญญะมีอยู่ ตามรู้กายรู้ใจอันควรเหมาะดีแล้ว สมาธิย่อมเกิดในที่นั้นเพราะจดจ่อสภาวะนั้นๆอยู่ในที่นั้น ซึ่งเริ่มเกิดจากสติสัมปะชัญญะที่อาศัยรู้สิ่งที่เสพย์ดำเนินไปอยู่บ้าง เกิดความหวนระลึกรู้ตรึกนึกคิดอันเกิดแต่สัญญาบ้าง เมื่อกุศลอันเกิดมีใน สติ สมาธินั้นมากพอแล้ว ความแช่มชื่นก็เกิดมี ปิติ สุข สงบ จิตตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิ เกิดความรู้เห็นตามจริงโดยความคิดอันเกิดจากความทำไว้ในใจโดยแยบคาย(โยนิโสมนสิการ คิดสืบค้นใน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค โดยความสำเหนียกจะกำหนดรู้ในสภาวะธรรมนั้นๆตามเหตุปัจจัย ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความดับไป ความเป็นปฏิฆะต่อกันบ้าง ความเกิดฉันทะให้สืบต่อบ้าง ทั้งในกุศลธรรมและอกุศลธรรมทั้งปวงบ้าง เป็น สัมมาสังกัปโป)  จนเมื่อเกิดปัญญารู้เห็นตามจริงปราศจากการคิดอนุมานก็ทำให้สัมมาทิฐิเกิดขึ้นเป็นประธานแห่งมรรค
๓. มี พรหมวิหาร ๔  ความมีจิตเอ็นดูปรานีปารถนาดี ไม่เป็นศัตรูภัยพาลต่อกัน มีจิตสงเคราะห์เผื่อแผ่แบ่งปันต่อกัน มีความยินดีในความสุขสำเร็จหรือการคงไว้ซึ่งสุขสำเร็จซึ่งกันและกันอันดีปราศจากความริษยา มีความวางใจไว้กลางๆโดยแยบคายด้วยเห็นในเจตนาและผลของการกระทำโดยเจตนานั้นๆ โดยไม่ลำเอียงเพราะรัก เพราะเกลียด เพราะกลัว เพราะไม่รู้จริง
๔. มี ทาน ความสืบจากจิตอันเอ็นดูปรานี-เผื่อแผ่-ยินดีในสุขสำเร็จของผู้อื่น เกิดเป็นการสละให้ เมื่อสละให้แล้วไม่มาติดใจข้องแวะในภายหลัง
๕. ตั้งมั่นในพละ ๕ พละ คือ กำลัง เป็นการเติมเสริมสร้างกำลังให้กายและใจ
    ก. ศรัทธา(มีใจเดียวแน่วแน่เชื่อโดยไม่คลางแคลงสงสัย เกิดเจตนาอันดี ทำให้จิตตั้งมั่น ศรัทธา ๔ คือ
      
       ก/๑. กัมมสัทธา เชื่อว่า กรรมมีจริง
          (เกิดเป็นกำลังใน ศีล พรหมวิหาร ๔ และ ทาน เป็นต้น)

       ก/๒. วิปากสัทธา เชื่อว่า ผลของกรรมมีจริง
          (เกิดเป็นกำลังใน ศีล พรหมวิหาร ๔ และ ทาน เป็นต้น)

       ก/๓. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่า เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตนจริง
          (เกิดเป็นกำลังใน ศีล พรหมวิหาร ๔ และ ทาน เป็นต้น)

       ก/๔. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อ การตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า
          (เกิดความมีจิตตั้งมั่น สละคืนกิเลส รู้คุณของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนโดยไม่คลางแคลงใจ มีกำลังใจดี)

    ข. วิริยะพละ(เกิดกำลังความเพียรเจริญปฏิบัติอยู่ไม่ลดละ ท้อหรือถดถอย พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้มีอิทธิบาท๔ ให้มาก จึงจะเกิดความเพียรได้ ความเพียรนั้นจะก็เป็นกำลังความเพียรในสัมมัปปธาน ๔)
    ค. สมาธิ(จิตตั้งมั่นจดจ่อแน่วแน่เป็นหนึ่งเดียว จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน ควรแก่งาน สัมมาสมาธิ)
    ง. สติ(ความระลึกรู้ ถ้าระลึกรู้โดยความหวนระลึกรู้โดยสัญญาบ้าง ความระลึกรู้โดยความคิดบ้าง ถือเป็นสติแบบบ้านๆทั่วไป แต่หากรู้ ตามรู้ เห็นในสภาวะธรรมตามจริงอันตัดจากความตรึกนึกคิดและเจตนา คือ สัมมาสติ)
    จ. ปัญญา(ความรู้อันเกิดจากความเห็นตามจริงไม่ตรึกนึกคิดอนุมานเอา มี วิตกวิจารแห่งองค์ฌาณเป็นต้นให้โยสิโสทำไว้ในใจโดยแยบคายพิจารณาตามจริง เกิดเป็นสัมมาทิฐิ เป็น มรรค)

- เมื่อยังจิตอย่างนี้ ก็เกิดสติสัมปะชัญญะมากขึ้น เกิดความไม่ลูบคลำเจตนาขึ้น อยู่ๆก็มีวูบหนึ่งขนลุกบ้าง ตรึงๆกายบ้าง วูบวาบบ้าง แล้วก็มีความอบอุ่นแต่โล่งจิตโล่งสมองปรอดโปร่งปกคลุมกายใจเกิดความน้่งแช่อยู่รู้แค่อารมณ์นั้นๆ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 09, 2014, 10:09:10 PM

[เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขาร]

            [๕๐๖] ก็ภิกษุ เจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วย ฉันทสมาธิปธานสังขาร
เป็นอย่างไร
             ถ้าภิกษุทำฉันทะให้เป็นอธิบดีแล้วจึงได้สมาธิ ได้เอกัคคตาแห่งจิต สมาธิ
นี้เรียกว่า ฉันทสมาธิ ภิกษุนั้น ทำฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร
ประคองจิตไว้ ทำความเพียร เพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นมิให้เกิด
ขึ้น ทำฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ทำความเพียร
เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ทำฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร
ประคองจิตไว้ ทำความเพียร เพื่อสร้างกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น ทำ
ฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ทำความเพียร เพื่อ
ความดำรงอยู่ ความไม่สาบสูญ ความภิยโยยิ่ง ความไพบูลย์ ความเจริญ ความ
บริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว สภาวธรรมเหล่านี้ เรียกว่า ปธานสังขาร
             ฉันทสมาธิและปธานสังขารดังกล่าวมานี้ ประมวลย่อ ๒ อย่างนั้นเข้า
เป็นอันเดียวกัน ย่อมถึงซึ่งอันนับว่า ฉันทสมาธิปธานสังขาร ด้วยประการฉะนี้
             [๕๐๗] ในบทเหล่านั้น ฉันทะ เป็นไฉน
             ความพอใจ การทำความพอใจ ความใคร่เพื่อจะทำ ความฉลาด ความ
พอใจในธรรม นี้เรียกว่า ฉันทะ
             สมาธิ เป็นไฉน
             ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่
ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบ สมาธินทรีย์
สมาธิพละ สัมมาสมาธิ อันใด นี้เรียกว่า สมาธิ
             ปธานสังขาร เป็นไฉน
             การปรารภความเพียรทางใจ ความขะมักเขม้น ความบากบั่น ความ
ตั้งหน้า ความพยายาม ความอุตสาหะ ความทนทาน ความเข้มแข็ง ความหมั่น
ความก้าวไปอย่างไม่ท้อถอย ความไม่ทอดทิ้งฉันทะ ความไม่ทอดทิ้งธุระ ความ
ประคับประคองธุระไว้ด้วยดี วิริยะ วิริยินทรีย์ วิริยพละ สัมมาวายามะ อันใด
นี้เรียกว่า ปธานสังขาร
             ภิกษุ เป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว เข้าไปถึงแล้วด้วยดี เข้ามาถึงแล้ว เข้ามาถึง
แล้วด้วยดี เข้าถึงแล้ว เข้าถึงแล้วด้วยดี ประกอบแล้วด้วยฉันทะ สมาธิ และ
ปธานสังขาร ดังกล่าวมานี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ประกอบด้วยฉันทสมาธิ
ปธานสังขาร ด้วยประการฉะนี้
             [๕๐๘] คำว่า อิทธิ ได้แก่ ความสำเร็จ ความสำเร็จด้วยดี การ
สำเร็จ การสำเร็จด้วยดี ความได้ ความได้อีก ความถึง ความถึงด้วยดี ความ
ถูกต้อง ความกระทำให้แจ้ง ความเข้าถึง ซึ่งธรรมเหล่านั้น
             คำว่า อิทธิบาท ได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์
วิญญาณขันธ์ ของบุคคลผู้บรรลุธรรมเหล่านั้น
             คำว่า เจริญอิทธิบาท ได้แก่ ย่อมเสพ เจริญ ทำให้มาก ซึ่งธรรม
เหล่านั้น ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า เจริญอิทธิบาท
[เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิริยสมาธิปธานสังขาร]
             [๕๐๙] ก็ภิกษุ เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิริยสมาธิปธานสังขาร
เป็นอย่างไร
             ถ้าภิกษุทำความเพียรให้เป็นอธิบดีแล้วจึงได้สมาธิ ได้เอกัคคตาแห่งจิต
สมาธินี้เรียกว่า วิริยสมาธิ ภิกษุนั้น ทำฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความ
เพียร ประคองจิตไว้ ทำความเพียร เพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น
มิให้เกิดขึ้น ฯลฯ เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ เพื่อสร้างกุศล-
*ธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น ทำฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร
ประคองจิตไว้ ทำความเพียร เพื่อความดำรงอยู่ ความไม่สาบสูญ ความภิยโยยิ่ง
ความไพบูลย์ ความเจริญ ความบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว สภาวธรรม
เหล่านี้ เรียกว่าปธานสังขาร
             วิริยสมาธิและปธานสังขาร ดังกล่าวมานี้ ประมวลย่อ ๒ อย่างนั้นเข้า
เป็นอันเดียวกัน ย่อมถึงซึ่งอันนับว่า วิริยสมาธิปธานสังขาร ด้วยประการฉะนี้
             [๕๑๐] ในบทเหล่านั้น วิริยะ เป็นไฉน
             การปรารภความเพียรทางใจ ฯลฯ สัมมาวายามะ อันใด นี้เรียกว่า วิริยะ
             สมาธิ เป็นไฉน
             ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่
ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต  ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบ
สมาธินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ อันใด นี้เรียกว่า สมาธิ
             ปธานสังขาร เป็นไฉน
             การปรารภความเพียรทางใจ ฯลฯ สัมมาวายามะ อันใด นี้เรียกว่า
ปธานสังขาร
             ภิกษุ เป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบแล้ว ด้วยวิริยะ สมาธิ และ
ปธานสังขาร ดังกล่าวมานี้ ด้วยเหตุนั้นจึงเรียกว่า ประกอบด้วยวิริยสมาธิปธาน-
*สังขาร ด้วยประการฉะนี้
             [๕๑๑] คำว่า อิทธิ ได้แก่ ความสำเร็จ ความสำเร็จด้วยดี การสำเร็จ
การสำเร็จด้วยดี ความได้ ความได้อีก ความถึง ความถึงด้วยดี ความถูกต้อง
ความกระทำให้แจ้ง ความเข้าถึง ซึ่งธรรมเหล่านั้น
             คำว่า อิทธิบาท ได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์
วิญญาณขันธ์ ของบุคคลผู้บรรลุธรรมเหล่านั้น
             คำว่า เจริญอิทธิบาท ได้แก่ ย่อมเสพ เจริญ ทำให้มาก ซึ่งธรรม
เหล่านั้น ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า เจริญอิทธิบาท



             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๕  บรรทัดที่ ๖๘๑๗ - ๖๘๘๖.  หน้าที่  ๒๙๔ - ๒๙๗.
 http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=35&A=6817&Z=6886&pagebreak=0 (http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=35&A=6817&Z=6886&pagebreak=0)
             ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=35&i=505 (http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=35&i=505)
             สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๕
http://www.84000.org/tipitaka/read/? (http://www.84000.org/tipitaka/read/?)สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๓๕
http://www.84000.org/tipitaka/read/?index_35 (http://www.84000.org/tipitaka/read/?index_35)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 10, 2014, 03:33:21 AM

บันทึกกรรมฐานเมื่อ: มีนาคม 06, 2014, 03:32:58 PM »
๒. อุบายการเจริญปฏิบัติแบบสมถะเพื่อถึงกุศลจิต มีจิตจดจ่อและอุเบกขาเป็นผล

   ๒.๑ การละกิเลสด้วยการเปลี่ยนความคิด คือ กุศลวิตก (สัมมาสังกัปปะ)

- ปกติแล้วคนเราจะเกิดกามราคะขึ้นมานั้น ก็ด้วยเห็นในรูปใดๆทางตาเป็นใหญ่ นั้นคือ เห็นบุคคลเพศตรงข้ามทางตาแล้วเกิดความพอใจเพลิดเพลินยินดี จากนั้นก็ตรึกนึกคิดปรุงแต่งไปพร้อมกับสัญญาสำคัญใจมองเขาให้เป็นไปในราคะ คือ สนองในความอยากเสพย์เมถุน จนเกิดเป็นความปารถนาใคร่ได้ที่จะเสพย์ในอารมณ์แห่งเมถุน จนเกิดความร้อนรุ่ม เร่าร้อนกลุ้มรุมทั้งกายและใจ ยังให้เกิดความถวิลหาทะยานอยากใคร่ได้ปารถนาที่จะเสพย์

- สัมมาสังกัปปะ หมายถึง ดำริชอบ หรือความนึกคิดในทางที่ถูกต้อง เป็นหนึ่งในมรรค 8 หรือ มรรคมีองค์แปด
สัมมาสังกัปปะ มี 3 อย่าง ได้แก่


๑. เนกขัมมสังกัปป์ (หรือ เนกขัมมวิตก) คือ ความดำริที่ปลอดจากโลภะ ความนึกคิดที่ปลอดโปร่งจากกาม ไม่หมกมุ่นพัวพันติดข้องในสิ่งสนองความอยากต่างๆ ความคิดที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว ความคิดเสียสละ และความคิดที่เป็นคุณเป็นกุศลทุกอย่าง จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากราคะหรือโลภะ
๒. อพยาบาทสังกัปป์ (หรือ อพยาบาทวิตก) คือ ดำริในอันไม่พยาบาท ความดำริที่ไม่มีความเคียดแค้น ชิงชัง ขัดเคือง หรือเพ่งมองในแง่ร้ายต่างๆ โดยเฉพาะมุ่งเอาธรรมที่ตรงข้าม คือเมตตา กรุณาซึ่งหมายถึงความปรารถนาดี ความมีไมตรี ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากโทสะ
๓. อวิหิงสาสังกัปป์ (หรือ อวิหิงสาวิตก) คือ ดำริในอันไม่เบียดเบียน ไม่มีการคิดทำร้ายหรือทำลายด้วยความไม่รู้ เพราะคึกคะนอง ทำโดยไม่มีความโลภหรือความโกรธมาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะมุ่งเอาธรรมที่ตรงข้าม ปัญญาคือเข้าใจโลกนี้ตามความเป็นจริง รู้ชัดในกฎแห่งกรรม หรือมีสามัญสำนึกในสิ่งที่ถูกต้องดีงามเอง จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากโมหะ

- กุศลวิตก 3 ประการนี้ ไม่กระทำความมืดมน กระทำปัญญาจักษุ กระทำญาณ ยังปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพาน

- เมื่อเกิดรับรู้ทางสฬายตนะใดๆแล้วเกิดกิเลสทุกข์ คือ กาม ราคะ (โลภะ) โทสะ โมหะ ให้เจริญจิตขึ้นในกุศลวิตกดังนี้ครับ

๒.๑.๑ ก. เมื่อเกิดกามราคะขึ้นแก่จิตเมื่อเราได้รับรู้ทางตา
- ให้พึงรู้ตัวทั่วพร้อมว่าเราถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว โดยความพอใจยินดีในสิ่งที่มีที่เป็นของบุคคลนั้นๆที่เราเห็น จนเกิดปารถนาใคร่ยินดีได้ที่จะเสพย์ในอารมณ์ใดๆที่รับรู้อยู่ เกิดความกำหนัดใคร่ได้ที่จะเสพย์ในเมถุนแล้ว พึงระลึกว่าทั้งๆที่บุคคลที่เราเห็นเขาก็เป็นอยู่ของเขาอย่างนั้น เรานั้นแหละที่ไปติดใจตรึกนึกปรุงแต่งเสพย์อารมณ์จา
กความคิดอันเป็นไปในกามราคะจนทำให้เรารุ่มร้อนเร่าร้อนกายใจ
- ให้เปลี่ยนความคิดที่มองเขาใหม่ดังนี้
  ก. คิดใหม่มองใหม่ดั่งท่านพระบิณโฑลภารทวาชะเถระท่านตอบคำถามแก่พระเจ้าอุเทนว่า

         พระผู้มีพระภาคผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสไว้ดังนี้ว่า
         ดูกรภิกษุทั้งหลาย
      - เธอทั้งหลายจงมาตั้งจิตว่า เป็นมารดา ในสตรีปูนมารดา
       - เธอทั้งหลายจงตั้งจิตว่าเป็นพี่สาวน้องสาว ในสตรีปูนพี่สาวน้องสาว
       - เธอทั้งหลายจงตั้งจิตว่าเป็นธิดา ในสตรีปูนธิดา

         ขอถวายพระพร ข้อนี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ผู้ยังเป็นหนุ่มแรกรุ่น มีผมดำสนิท
         เป็นหนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ผู้ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย
         ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน ฯ


  ข. คิดใหม่มองให้โดยดูว่าบุคคลนั้นๆที่เราเห็นอยู่เขาทำบุญมาอย่างไรหนอจึงมีรูปร่างหน้าตา ผิวพรรณอันหมดจดงดงาม ฉลาด เป็นที่น่ารักน่าชื่นชมปารถนาแก่เราแลบุคคลทั้งหลาย มีความอยู่ดีกินดีเป็นสุขกายสบายใจอย่างนี้

    ข.๑ คงเป็นเพราะในชาติก่อนนี้เขาเจริญได้เจริญปฏิบัติใน "ทาน" มาดีแล้วบริบูรณ์แล้วได้งดงามมาแล้วหนอ

    ข.๒ คงเป็นเพราะในชาติก่อนนี้เขาเจริญได้เจริญปฏิบัติใน "ศีล" มาดีแล้วบริบูรณ์แล้วได้งดงามมาแล้วหนอ

    ข.๓ คงเป็นเพราะในชาติก่อนนี้เขาเจริญได้เจริญปฏิบัติใน "สมาธิ" และ "วิปัสสนา" มาดีแล้วบริบูรณ์แล้วได้งดงามมาแล้วหนอ
    ข.๔ คงเป็นเพราะในชาติก่อนนี้เขาเจริญได้เจริญปฏิบัติใน "พรหมวิหาร ๔" มาดีแล้วบริบูรณ์แล้วได้งดงามมาแล้วหนอ

(พรหมวิหาร ๔ เป็นอาหารเสริมที่ใช้บำรุงรากฐานอย่างดี ให้เจริญใน ศีล ทาน สมาธิ สำเร็จบริบูรณ์ได้ด้วยดี เพราะมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา)

       ๑. เมื่อเราปารถนาอยากจะมีคนรักที่งดงามดีพร้อมทุกอย่าง หรือ ปารถนาที่จะได้ครอบครอง ครองคู่กับที่คนเราชอบเราปลื้มใจอยู่ ดั่งเช่นคนที่เรามองเห็นและเสพย์ความกำหนัดใคร่ปารถนาอยู่นี้ เราก็ควรที่จะทำในบุญกุศลให้มากให้มีเสมอกันกับเขา นั่นคือเราต้องเพียร ขยัน อดทน เจริญปฏิบัติให้เรามีพรหมวิหาร๔ ศีล ทาน สมาธิ ปัญญาให้มีบารมีเต็มหรือมากพอกับเขาหรือสูงกว่าเพื่อให้มีบารมีคู่กัน ดั่งเราเห็นว่ามีคู่ครองบางคู่นั้นแม้ชายหน้าตาไม่งดงามแต่ผู้หญิงหน้าตางดงามครองคู่รักใคร่กันก็มี ผู้ชายจนผู้หญิงรวยสวยงดงามครองคู่กันก็มี หรือ คนหน้าตางดงามสมกันมีฐานะที่สมกันครองคู่กันก็มี นั่นเพราะเขาสร้ามบุญบารมีทั้ง ๕ ข้อดังกล่าวนี้เสมอกันมา ดังนั้นเมื่อเราปารถนาจะมีคู่ครองงดงาม มีนิสัย วาจา การกระทำ ที่สมกันกับเรา หรือ อยากให้บุคคลที่เราปารถนาอยู่นั้นเป็นคู่ครองเรา เราก็ต้องเพียรขยันอดทนอย่างไม่ลดละเพื่อที่จะสร้างบารมีทั้ง ๔ นี้ให้มากเสมอเขาหรือมากกว่าเขา ด้วยประการฉะนี้
       ๒. สำหรับเมื่อเราถือเนกขัมมะ(เป็นฆราวาสแต่ถือบวชใจมีศีล ๕ หรือ ศีล ๘ เป็นเบื้องต้น) แม้จะเจอบุคคลที่เราพอใจยินดีเป็นที่งดงามหมดจดดั่งตนใคร่ได้ปารถนาดีแล้ว แต่เรามิอาจที่จะได้ยลหรือครองคู่ใดๆร่วมกับเขา ก็ให้พึงระลึกว่า เขาไม่ได้ถูกสร้างหรือลิขิตมาเพื่อเป็นคนของเรา ดังนั้นถึงแม้เราจะพึงปารถนาในเขาไป หรือ ตะเกียกตะกายไขว่คว้าเพื่อที่จะได้เขามามากเท่าไหร่จนแม้แลกด้วยกับชีวิตที่มีอยู่นี้ก็ไม่มีทางที่จะสมปารถนาไปได้ เพราะเขาไม่ได้ถูกสร้างเพื่อเกิดมาเป็นคนของเราดังนี้ แต่หากเป็นคนที่เขาถูกสร้างมาเพื่อกันและกันแล้วถึงแม้ไม่ต้องต้องพูด-ไม่ต้องไขว่คว้าปารถนา-ไม่ต้องไปทุ่มเทอะไรมากมายเขาก็จะถูกชักจูงให้ได้อยู่ครองคู่รักกันร่วมเคียงข้างกันอยุ่ดีไม่แคล้วคลาดกันไปดังนี้ ดังนั้นด้วยเพราะเขาไม่ได้เกิดมาเพื่อเรานั่นคงเป็นเพราะชาตินี้เราเกิดมาเพื่อสร้างในบารมีทั้ง ๔ ข้อนั้นให้เพียงพอแก่ตนเองเพื่อถึงความหลุดพ้นจากทุกข์อันร้อนรุ่มกายใจ เร่าร้อนกายใจ เจ็บปวดกายใจ อัดอั้นคับแค้นกายใจ ทรมานกายใจดั่งที่เราเผชิญอยู่เหล่านี้ให้สิ้นไปไม่มีอีก เราก็ควรที่จะเพียรขยัน อดทนเจริญปฏิบัติในทั้ง ๔ ข้อนี้ให้มากอย่างไม่ย่อท้อเพื่อในภายภาคหน้า หรือ ชาติหน้าเราจักมีนางแก้วเป็นคู่บารมีครองคู่กันและไปถึงซึ่งพระนิพพานด้วยกันดังนี้

(เป็นการใช้ตัณหาเพื่อละตัณหา ดั่งพระพุทธเจ้าตรัสสอนพระนันทะเถระซึ่งเป็นผู้มีราคะมากให้เปลี่ยนความคิดความกระทำใหม่โดยพาไปดูนางอัปสรบาสวรรค์ทั้งหลายพร้อมตรัสสอนเห็นเกิดความเห็นและความคิดอันเป็นอุบายในการปฏิบัติจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์)

(http://image.free.in.th/v/2013/tl/140430125555.png) (http://pic.free.in.th/id/dabcd4a77593254519aefbe5378e151a)

  ค. บุคคลนั้นๆที่เราเห็นเขาก็อยู่ตามปกติของเขาอยู่อย่างนั้น เราเองที่ไปมองเอาส่วนเล็กส่วนน้อย ส่วนเว้าส่วนโค้ง จุดนั้นจุดนี้ของเขาแล้วเอามาคิดปรุงแต่งเสพย์อารมณ์จนเกิดความกำหนัดขึ้นมา เพราะว่าเรามองเขาอย่างนี้จึงทำให้เกิดราคะกลุ้มรุม ดังนั้นเราควรเปลี่ยนความคิดที่จะมองเขาเสียใหม่โดยมองในจุดที่เป็นจุดรวมๆ เพื่อให้กายใจเราสลัดจากความเร่าร้อนร้อมรุ่มที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมเราอยู่ดังนี้

เหตุที่กล่าวว่ามองเอาส่วนเล็กส่วนน้อยนั้นเป็นไฉน ที่ผมพอจะรู้เห็นได้คือ

(ธรรมฃาติเมื่อรู้อารมณ์ใดๆทางตา) -> (สภาวะแรกก็สักแต่เห็นไม่มีบัญญัติ เห็นเป็นสีๆมีเคล้าโครงรูปร่างต่างๆเท่านั้น) ->

(เข้าไปรู้สภาพที่เห็นอยู่+สัญญา = รู้บัญญัติเป็นตัวตนบุคล สัตว์ สิ่งของ) ->

(เวทนา) -> (ฉันทะ พอใจยินดี/ปฏิฆะ ไม่พอใจยินดี) -> (เจตนา จงใจตั้งใจมองดูส่วนเล็กส่วนน้อย) ->

(อกุศลวิตก+ความหวนระลึกถึงสัญญาความจดจำสำคัญมั่นหมายของใจใดๆ) ->

(มองดูส่วนเล็กส่วนน้อยที่ใจเราให้สำคัญหมายรู้) ->

(ความปรุงแต่งจิตอันเป็นไปใน "ฉันทะ" + "ปฏิฆะ") -> (ความปรุงแต่งจิตสมมติสร้างเรื่่องราว) ->

โลภะ(เพลิดเพลิน) -> นันทิ(ติดใจเพลิดเพลิน) ->

กาม(น่าใคร่น่าปารถนาในอารมณ์ไรๆที่ทำให้เราเพลิดเพลินอยู่นั้น) ->

ราคะ(ฝักใฝ่หมายมั่นใคร่ปารถนาในอารมณ์นั้นๆ) ->

ฉันทะราคะ" คือ ความกำหนัดมีใจจดจ่อผูกใฝ่คำนึงถึงติดใคร่พอใจยินดีในอารมณ์นั้นๆ ->
(ฉันทะราคะ มีสภาวะที่จิตเรานั้น..มีความผูกใฝ่หมายมั่นจดจ่อแนบแน่นใคร่ปารถนาในอารมณ์ไรๆที่ตนมีความติดใคร่พอใจยินดีอยู่)

(ร้อนรุ่ม รุ่มร้อน เร่าร้อน เดือดเนื้อร้อนใจกลุ้มรุม) -> (ทะยานอยาก ๓) -> (ทุกข์)

    ค.๑ คิดใหม่มองใหม่ในภาพรวมๆที่เราเห็น คือ บุคลนั้นอยู่ในอิริยาบถใด เช่น ยืน เดิน นั่ง หรือ นอน ไม่ไปสัดส่ายมองดูจ้องดูในอวัยะส่วนเล็กส่วนน้อยของเขาจนเกิดความปรุงแต่งนึกคิดอันเป็นไปในกามราคะ ทำให้เราเห็นเป็นเพียงแค่คน ไม่ว่าจะเพศไรๆที่อยู่ในอริยาบถต่างๆเท่านั้น
(เป็นการดึง สัมปชัญญะ+สติ ขึ้นรู้เพียงสิ่งที่เห็นในปัจจุบันขณะอันไม่เอาความตรึกนึกคิดจากการสำคัญใจที่จะมองในราคะ)

    ค.๒ คิดใหม่มองใหม่ในภาพรวมๆที่เราเห็น คือ สีเสื้อ ดูว่าที่เราเห็นเขานุ่งห่มอยู่นั้นเป็นสีอะไร มีสีอะไรบ้าง รูปทรงของสีเหล่านั้นเป็นไฉน เพ่งจุดเพียงสีเท่านั้น เมื่อมองเช่นนี้แม้เราจะรู้เพศ รู้สีผิว สีเสื้อผ้า ความสูงต่ำ แต่ไม่ได้ใส่ใจที่หน้าตาและส่วนเล็กส่วนน้อยของเขาแล้ว
(เรียกว่าใส่ใจมองในจุดใหญ่ๆที่มองเห็นได้ คือ ดูสีจากเสื้อผ้าเป็นอารมณ์ โดยไม่ได้เจาะเข้าไปดูส่วนเอว ส่วนนม ตรงอวัยะเพศเป็นยังไง ซึ่งความคิดที่จะมองดูและเพ่งเล็งอย่างนี้จะทำให้เกิดการตรึกนึกต่อเสพย์อารมณ์ของกิเลสสืบมา)

    ค.๓ คิดใหม่มองใหม่ในภาพรวมๆที่เราเห็น คือ เขาก็มีร่างกายอวัยวะต่างๆเหมือนเพศตรงข้ามคนอื่นๆทั่วไปที่เราพบเจอ มี 2 ขา 2 แขน มีผม มีคิ้ว มีหู มีเนื้อ มีหนังหุ้มเป็นที่สุดรอบเหมือนกับเพศตรงข้ามคนอื่นๆที่เราเคยพบเจอไม่ได้ต่างกันเลย ซึ่งคนที่เราเคยพบเจอเหล่านั้นก็ไม่ใช่ว่าเราจะมองด้วนราคะทุกคน ทั้งๆที่มีอวัยวะทั้งหมดเหมือนกันทุกอย่าง สิ่งที่ต่างก็เพียงแค่สี และ เคล้าโคลงรูปร่าง รูปพรรณสันฐานเท่านั้น เขาก็เป็นเพียงเพศตรงข้ามเหมือนคนอื่นที่เราได้เคยพบเจอทั่วไปเท่านั้น
(เป็นการมองโดยมีความคิดที่ลงมองในรูปขันธ์ตามอาการต่างๆที่เหมือนกับเพศตรงข้ามคนอื่นๆที่เราไม่ได้สำคัญใจมองด้วยราคะที่เราเคยพบเจอ)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 10, 2014, 03:35:10 AM

บันทึกกรรมฐานเมื่อ: มีนาคม 06, 2014, 03:32:58 PM »
๒. อุบายการเจริญปฏิบัติแบบสมถะเพื่อถึงกุศลจิต มีจิตจดจ่อและอุเบกขาเป็นผล

    ๒.๑ การละกิเลสด้วยการเปลี่ยนความคิด คือ กุศลวิตก (ในปัญญาขั้นสมถะไปถึงสัมมาสังกัปปะที่แท้จริง)

   ง. ที่เราเกิดกามราคะกลุ้มรุมนั้น ก็เพราะเราสำคัญใจที่จะมองและตรึกนึกคิดต่อบุคคลที่เราเห็นนั้นด้วยราคะ(ราคะสังกัปปะ) เราก็ละทิ้งความคิดอันเป็นไปในกามนั้นเสีย แล้วเปลี่ยนความคิดใหม่โดยดึงเอาสิ่งที่รู้เห็นอยู่นี้มาวิเคราะห์ลงในธรรมให้เห็นตามจริง(ธัมมะวิจยะ) จนเกิดความเบื่อหน่ายแล้วสลัดทิ้งในกามราคะที่กลุ้มรุมกายใจเราเหล่านั้นให้คงอยู่สืบไปตามสติกำลัง เรียกว่า นิพพิทาในปัญญาของสมถะ ดังนี้ครับ

     ง.๑ คิดใหม่มองใหม่ด้วยเปลี่ยนและละในการให้ความสำคัญของใจจากสิ่งที่มองอยู่ มารู้ตัวอยู่กับปัจจุบันขณะ
           โดยให้หายใจออกจนสุดลมแล้วกลั้นหายใจไว้จนทนไม่ได้ แล้วค่อยหายใจเข้า แล้วตรึกนึกคิดใหม่ว่าการที่เราไปเพ่งเล็งเขาด้วยราคะอยู่นั้นมันสร้างความเร่าร้อนร้อนรุ่มกายใจจนเกิดความกำหนัดใครถวิลหา และ แม้เราเห็นเขาอยู่นั้นเราก็ไม่ได้สัมผัสกายใจไรๆของเขาเลย ซึ่งเขาก็อยู่ของเขาอย่างนั้นแต่เรานี้เองที่เข้าไปเสพย์อารมณ์ตรึกนึกคิดปรุงแต่งจนเสวยโทมนัสเวทนารุ่มร้อนกายใจ ทั้งๆที่เขาก็อยู่ของเขาตรงนั้นและเราอยู่ของเราที่ตรงนี้ไม่ได้เข้าไปใกล้หรือสัมผัสไรๆในเขาเลย "แม้เราไม่ได้สัมผัสไรๆในตัวเขา ไม่ได้ร่วมเสพย์ในเมถุนกับเขา ถึงกระนั้นเราก็ยังไม่ตายหนอ แต่การที่เราหายใจออกไป แล้วไม่หายใจเข้านี่สิจักทำให้เราทุรนทุรายจักตายเสียตรงนี้ให้ได้ กามราคะนั้นหนอไม่ได้สำคัญและเทียบไม่ได้เท่าลมหายใจที่หล่อเลี้ยงให้กายนี้ยังชีวิตเราให้อยู่ได้ ดังนั้นการจดจ่อเพ่งเล็งที่ลมหายใจเขาออกย่อมมีคุณประโยชน์มากกว่าที่เราจะไปเจาะจงเพ่งเล็งที่เรือนร่างอวัยวะส่วนเล็กส่วนน้อยของคนเพศตรงข้ามที่เราเห็นนั้นเสียอีก กามราคะนั้นหาประโยชน์ไรๆไม่ได้แก่เราเลยนอกจากทุกข์ดังนี้
(เป็นการดึงเอาสัมปชัญญะความรู้ตัวทั่วพร้อมในปัจจุบันขณะและสติความระลึกรู้เท่าทันอารมณ์ขึ้นมา คิดตรึกนึกวิเคราะห์ลงในธรรมอันเรียกว่าธัมมะวิจยะ เพื่อให้เห็นไปด้วยความไม่มีคุณประโยชน์จากกิเลสที่เกิดขึ้นทางสฬายตนะ(แม้ยังซึ่งบัญญัติอยู่แต่ก็เป็นไปด้วยการพิจารณาในการรับรู้ซึ่งสภาพที่เกิดขึ้นจริง) เมื่อยังในอารมณ์พิจารณาอย่างนี้อยู่เนื่องๆก็จะพิจารณาเห็นธรรมตามจริงอันมีความ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เช่น เมื่อเห็นเพศตรงข้ามที่พอใจราคะก็เกิด เมื่อหายใจออกจนสุดไม่หายใจเข้าราคะก็ดับไปแต่เกิดความต้องการที่จะหายใจเข้าแทน พอหายใจเข้าและออกจนเป็นปกติได้แล้ว จิตที่จดจ่ออยู่ที่ลมหายใจก็ดับไป จนพิจารณาเห็นตามจริงถึงความไม่เที่ยง ไม่คงอยู่ มีความเกิดดับๆอยู่ตลอดเป็นธรรมดาไม่คงอยู่นาน ความเข้าไปเสพย์หลงไหล ลุ่มหลงไป ใคร่ตามกับสิ่งไม่เที่ยง คือจิตสังขารหล่านี้มันเป็นทุกข์ จนถึงแม้กายเรานี้ก็ไม่คงอยู่ ไม่หายใจก็จักต้องตาย-ที่ยังชีพอยู่ก็ด้วยมีลมหายใจหล่อเลี้ยงชีวิต ไม่กินก็ตายเพราะไม่มีอาหารเครื่องประโยชน์ให้ร่างกายซึมซับดำรงชีพอยู่-มีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะกิน ไม่ขับถ่ายร่างกายก็แปรปรวนเสื่อมโทรมในอวัยวะต่างๆจนถึงความเสื่อมทุพลภาพของกายทั้งหมดนี้แล้วก็ตาย ทำให้เกิดปัญญาเห็นความไม่เที่ยงบ้าง เห็นความตายอยู่ทุกขณะบ้าง ย่อมเข้าถึงยถาภูญาณทัสสนะ ไม่ว่าจะบัญญัติ หรือ ปรมัตถธรรมอันเห็นเป็นเพียงธาตุหรือรูปนามไม่มีตัวตนบุคคลใดก็ตามและถึงแม้จะไม่เห็นทั้งหมดหรือตลอดเวลาก็จัดว่าเป็นปัญญาในขั้นต้นด้วย แม้อาจจะยังเกิดความเบื่อหน่ายบ้างไม่เบื่อบ้าง เข้าถึงแล้วบ้างไม่ถึงบ้างอันนี้ผมก็เรียกว่า นิพพิทาในขั้นสมถะปัญญา เกิดความเห็นตามจริงมีแลหาแนวทางเจริญปฏิบัติแสวงหาเพื่อถึงทางออกจากทุกข์ จนเมื่อเกิดความรู้เห็นตามจริงด้วยปัญญารู้แจ้งเห็นตามจริงอันไม่เสื่อมไป เพียรเจริญปฏิบัติเพื่อถึงความพ้นทุกข์ คือ ถึงซึ่งนิพพาน ย่อมเกิดนิพพิทาญาณในขั้นวิปัสสนาญาณอันแท้จริง)

     ง.๒ คิดใหม่มองใหม่ด้วยเจริญจิตขึ้นพิจาณาให้เห็นตามจึงถึงความไม่มีตัว ความไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราในจากสิ่งที่เรามองเห็นอยู่
           โดยมองว่า บุคคลที่เราเห็นนั้นหนอแม้จะงดงาม สวยหยาดเยิ้ม หรือ หล่อเหลา น่าชื่นชมขนาดไหนก็ตาม แต่เขาก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แม้นหากเขานั้นเป็นของเราจริงแล้ว เราก็ย่อมที่จะสามารถบังคับสั่งให้เขาเป็นไปดั่งใจเราต้องการได้ว่า เออนะขอเธอจงมารักเราเถิด เออนะขอเธอจงเข้ามาหาเราเถิด เออนะขอเธอจงยอมพลีกายใจให้เราเกิด เออนะขอเธอจงยอมพลีกายใจให้เราด้วยใจรักอันปราศจากอามิสเครื่องล่อใจเถิด เออนะขอเธอจงมาร่วมใช้ชีวิตคู่กับเราเถิด แต่ทว่าถึงแม้เราจะปารถนาอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นตามใจปารถนาแต่มันก็หาเป็นไปสมดั่งใจเราหวังไม่ เพราะเราไม่อาจจะไป บังคับ ยื้อยึด ฉุดรั้ง สั่งให้เขากระทำทั้งกายและใจอย่างนั้นอย่างนี้ได้ดั่งใจเราหวังไม่ นั่นก็ด้วยเพราะเขาไม่ใช่เรา เขาไม่ใช่ของเรา สักแต่เป็นบุคคลที่เราเห็นแล้วก็จักเลยผ่านไป ไม่มีตัวตนอันที่เราจะเข้าไปตั้งความหวังปารถนาไรๆจากเขาได้ เพราะเขาไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราดังนี้ ยิ่งปารถนาในสิ่งที่ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราไป มันก็ยิ่งเป็นทุกข์อันถูกกลุ้มรุมด้วยความร้อนรุ่ม ร้อนรน เร่าร้อนกายใจ หาประโยชน์สุขไรๆไม่ได้เลยดังนี้
(เป็นการพิจารณาจนเห็นความไม่มีตัวตน เห็นความไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราในสิ่งทั้งปวงนี่ก็จัดเป็นยถาภูญาณทัสสนะอย่างหนึ่ง คือ ความรู้เห็นในทุกขอริยะสัจ และ เห็นความเป็นไปตามจริงด้วยปัญญาขั้นต้น(ในส่วนผมยกมานี้ผมหมายกล่าวถึงความเห็นตามจริงอันเป็นบัญญัติอยู่ เพราะยังคงเป็นบัญญัติอยู่บ้างหรืออาจจะเห็นรูปนามอยู่บ้างเล็กน้อย) แต่ก็เป็นทางเข้าสู่ความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งไรๆแล้ว จนเกิดความเบื่อหน่ายอันเป็นนิพพิทาเช่นกัน แต่เป็นนิพพิทาในแบบสมถะอันยังมีบัญญัติความคิดอนุมานเป็นใหญ่อยู่ โดยมีความหน่ายแบบเป็นๆหายๆถ้าไม่ทรงอารมณ์ไว้ด้วยเพราะยังคงเป็นบัญญัติเป็นปัญญาจากความคิดอนุมานเอา ยังไม่เห็นตามจริงโดยปราศจากความคิดอยู่ มีความติดใจอยู่ซึ่งยังถอนออกไม่หมด เพียงแต่คลายความยึดมั่นแล้วเห็นทางที่ควรเจริญแล้วบ้าง เป็นปัญญาโดยสมถะ ปัญญาจากความนึปกคิดอนุมาน ยังไม่ใช่สัมมาทิฐิและสัมมาสังกัปปะตามจริง
   จนเมื่อเกิดปัญญาเห็นแจ้งตามจริงในความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงธาตุหรือรูปนามไม่มีตัวตนบุคคลใด ไปจนเข้าถึงแลเห็นความ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสัจธรรม โดยปราศจากความตรึกนึกคิดอนุมาน คือ เห็นในสภาวะนั้นจริงๆโดยไม่ใช้ความคิด ปราศจากเจตนาความจงใจหมายทำ นี่เป็นปัญญาในวิปัสสนา จนเกิดความเบื่อหน่ายด้วยปัญญาโดยไม่ถ่ายถอน เพียรเจริญปฏิบัติเพื่อถึงความพ้นทุกข์ คือ ถึงซึ่งนิพพาน ย่อมเข้าถึงนิพพิทาญาณในขั้นวิปัสสนาญาณอันแท้จริง)

* ปัญญา คือ ความรู้เห็นตามจริง , ญาณ คือ ความรู้แจ้งแทงตลอด (นี่คือความเข้าใจในขณะนั้น)

                นิพพิทาสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๒๒

             [๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท
เพื่อเข้าไปสงบ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพานโดยส่วนเดียว ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นว่า ไม่งามในกาย ๑  (เช่น  ปฏิกูลมนสิการ, นวสีวถิกา, อสุภกรรมฐาน)
มีความสำคัญว่า เป็นของปฏิกูลในอาหาร ๑  (เช่น  ปฏิกูลมนสิการ, อาหาเรปฏิกูลสัญญา)
มีความสำคัญว่า ไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง ๑  (เช่น โลกธรรม ๘)
พิจารณาเห็นว่า ไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง ๑  (เช่น พระไตรลักษณ์)
ย่อมเข้าไป ตั้งมรณสัญญาไว้ใน ภายใน ๑  (เช่น มรณสติ, พระไตรลักษณ์)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้ มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อเข้าไปสงบ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฯ

                จบสูตรที่ ๙






๒.๑.๑.ข การเปลี่ยนแปลงความคิดเมื่อเกิดราคะจากการรู้อารมณ์ทางทาง หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

- การเจริญจิตขึ้นเปลี่ยนแปลงความคิดเพื่อละในกามราคะเมื่อได้รับรู้ผัสสะทาง "หู" คือ "เสียง" ก็ให้พิจารณาเปลี่ยนแปลงความคิดไม่ต่างกันขอยกตัวอย่างคร่าวๆดังนี้

ก. เมื่อได้ยินเสียงไรๆก็ตามแล้วเอาไปคิดปรุงแต่งไปเองจนทำให้เราเกิดราคะ ที่เราได้ยินเสียงไรๆแล้วเกิดราคะนั่นเพราะเราได้ยินแล้วตรึกนึกคิดให้เป็นไปในราคะทั้งที่เป็นความจริงบ้างและไม่จริงบ้าง แต่ก็คิดเดาเอาว่าเป็นเสียงในการเสพย์เมถุนอยู่เช่นนั้นโดยที่ไม่รู้ว่าจริงไหมจนเกิดความกำหนัดแก่ตนให้ความร้อนรุ่มและเร่าร้อนกลุ้มรุมกายและใจตนเอง
    ก.๑ ให้ลองเปลี่ยนความคิดใหม่จากเสียงที่ได้ยินว่าอาจจะเป็นเสียงที่เกิดเพราะอาการอย่างอื่นไหม เช่น เขาเกิดอุบัติเหตุไหม เขามีความเจ็บป่วยในร่างกายไหม เขาร้องเรียกออกมาเพราะความทรมานไหม เขากรีดร้องออกมาเพราะถูกทำร้ายไหม
    ก.๒ ให้ลองเปลี่ยนความคิดใหม่ว่าากเสียงที่ได้ยินว่าอาจจะเป็นเสียงของสภาพแวดล้อมอื่นๆไหม เช่น เสียงพัดลม เสียงเปิดปิดประตู เสียงหนูวิ่ง แมงวิ่ง หมาวิ่ง เสียงแอร์ เสียงนกร้อง เสียงแมวร้อง เสียงหนูร้อง เสียงหมาร้อง เสียงผมพัดสิ่งของไรๆไหม ทั้งๆที่มันเป็นเพียงแค่เสียง และเราก็ไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นตามจริงว่าเป็นเสียงอะไรมีความจริงเป็นไฉนกลับไปตรึกนึกคิดเอาเป็นเอาตายในราคะอย่างนั้น
ข. เมื่อได้ยินได้ฟังเสียงของเพศตรงข้ามที่พูดคุยสนทนากันอยู่แล้วเกิดราคะ นั้นก็เพราะด้วยเสียงนั้นทำให้เราเกิดความพอใจเพลิดเพลินยินดี จากนั้นเราก็เอามาปรุงแต่งนึกคิดเสพย์อารมณ์ให้เกิดความใคร่ปารถนาใคร่ได้ยินดีที่จะเสพย์ในเมถุน ก็พึงลองเปลี่ยนความคิดใหม่ดูดังนี้ว่า
    ข.๑ เสียงนี้มันก็เป็นเพียงสิ่งที่เรารับรู้ทางหู เมื่อรู้แล้ว คือ ได้ยินแล้ว ก็เอามาปรุงแต่งตรึกนึกคิดไปทั่วจนเป็นไปในกามราคะ เพราะเป็นเสียงที่ชอบที่พอใจเพลิดเพลินยินดีว่าไพเราะบ้าง แล้วก็ปรุงแต่งคิดไปว่าเหมือนเสียงที่เสพย์เมถุนอยู่บ้างหรือหากเมื่อเสพย์เมถุนแล้วจักเป็นสภาพแบบใดบ้าง หรือ เสียงเซ็กซี่บ้าง เสียงน่ารักเพลิดเพลินใจบ้าง ทั้งๆที่ปัจจุบันเขาก็อยู่ในส่วนในที่ของเขาและเราก็อยู่ของเราที่ตรงนี้ ไม่ได้เข้าใกล้ไม่ได้สัมผัสข้องเกี่ยวกันเลย แต่เรานั้นเองที่ได้ยินเสียงอันเป็นท่วงทำนองที่เสนาะใจแล้วเอามาคิดให้เป็นไปในราคะเอง (ดังนี้คือการเรียกสติสัมปชัญญะให้ตื่นขึ้นรู้ความจริงในปัจจุบันและสลัดจากการถูกความคิดอันเป็นไปในราคะกลุ้มรุม)






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 10, 2014, 03:40:04 AM

บันทึกกรรมฐานเมื่อ: มีนาคม 06, 2014, 03:32:58 PM »
๒. อุบายการเจริญปฏิบัติแบบสมถะเพื่อถึงกุศลจิต มีจิตจดจ่อและอุเบกขาเป็นผล

   ๒.๑ การละกิเลสด้วยการเปลี่ยนความคิด คือ กุศลวิตก (ในปัญญาขั้นสมถะไปถึงสัมมาสังกัปปะที่แท้จริง)

   ข.๒ เสียงนี้มันก็เป็นเพียงสิ่งที่เรารับรู้ทางหู เมื่อรู้แล้ว คือ ได้ยินแล้ว ก็เอามาปรุงแต่งตรึกนึกคิดไปทั่วจนเป็นไปในกามราคะ ทั้งๆที่มันก็เป็นเพียงเสียงอันเป็นธรรมชาติที่หูเราจักพึงได้ยิน(นี่ถ้าไม่ได้ยินก็แสดงว่าหูหนวกแล้ว) ทั้งที่ตัวเขาก็ไม่ได้อยู่กับเรา ทั้งๆที่จริงแล้วหูของเรานั้นก็แค่ได้ยินเสียงอันมี น้ำหนัก ทำนอง และ ถ้อยคำต่างๆเท่านั้น ไม่ต่างจากที่เราได้รับฟังหรือได้ยินจากคนอื่น สัตว์อื่น สิ่งอื่นที่อยู่ในที่นี้ๆ หรือ ที่อยู่ในที่อื่นๆเลย แต่เราเองต่างหากที่ฟังแล้วไปคิดปรุงแต่งให้ความสำคัญมั่นหมายของเสียงนั้นในความรู้สึกเช่นนั้นจนเกิดราคะอันเร่าร้อนรุ่มร้อนกลุ้มรุมกายใจเอง นี่เรียกว่าเราเป็นผู้ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้วเพราะความคิด เป็นผู้หลงอยู่ในความคิดอันเรียกว่า ราคะสังกัปปะ
    - ก็ให้เราพึงละความสำคัญมั่นหมายในเสียงอันเป็นไปในราะคะนั้นทิ้งเสีย แล้วจับฟังแค่คำพูด หรือ ความหมายของคำพูดแต่ละคำเท่านั้น
    - ก็ให้เราพึงละความสำคัญมั่นหมายในเสียงอันเป็นไปในราะคะนั้นทิ้งเสีย แล้วจับฟังแค่สภาพของน้ำเสียงนั้นๆว่ากล่าวออกมาด้วยวาจาอย่างไร เช่น เขาพูดกระแทก พูดพร้ำเพ้อ พูดเพ้อเจ้อ พูดส่อเสียด พูดยุแยงตะแครงรั่ว พูดเหยียหยาม เมื่อรู้ดังนี้ก็ไม่ต้องไปคิดโต้ตอบกับเสียงที่ได้ยินเหล่านั้น ให้พึงระลึกรู้แค่ว่า เป็น "มิจฉาวาจา" ไม่ควรเอาอย่าง ไม่ควรเสพย์ ไม่ควรจะกล่าวออกจากปากเราเพราะมันไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขไรๆนอกจากทุกข์ เป็นวาจาอันเมื่อกล่าวแล้วก็จักมีภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ตนเองและผู้อื่น หรือ เขาพูดด้วยวาจาอันดีไพเราะ มีเหตุมีผลหรือสามารถทบทวนวิเคราะห์เห็นในเหตุและผลได้ ไม่พูดพร่ำเพ้อ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดจาส่อเสียดยุแยง ไม่พูดเหยียดหยัน มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น ก็ให้พึงระลึกรู้แค่ว่า เป็น "สัมมาวาจา" ควรที่จะเอาอย่าง ควรที่จะเสพย์ ควรที่จะกล่าว ควรที่จะเจริญให้มาก ควรที่จะออกจากปากของเรา ให้เรารู้แค่เพียงเท่านั้นก็พอ

   - แนวทางเบื้องต้นก็มีด้วยประการฉะนี้ ไม่ว่าจะเป็น "กลิ่น" หรือ "รส" หรือ "โผฐัพพะ" ก็เจริญอย่างนี้เหมือนกันทั้งหมด ขึ้นอยู่กับปัญญาและจริตนิสัยของแต่ละคนว่าจะเห็นในทุกข์ของมันเห็นอุบายวิธีการละของมันอย่างไร เห็นอุบายเจริญได้มากน้อยแค่ไหน อยู่ที่ จริตนิสัยและปัญญาของผู้ปฏิบัติเองทั้งนั้นครับ อุบายของผมอาจจะไม่ถูกกับหลายๆท่านและอุบายของท่านอาจจะใช้ไม่ได้กับผมดังนั้นท่านทั้งหลายเพียงดูอุบายของผมพอเป็นแนวทางแล้วก็วิเคราะห์พิจารณาให้เห็นถึงอุบายอันถูกจริตของท่านแต่ละคนจะเป็นประโยชน์ที่สุดครับ






    บันทึกกรรมฐานเมื่อ: มีนาคม 06, 2014, 04:34:38 PM »
๒.๒ การละกิเลสด้วยการเจริญเข้าสู่กอง สมถะกรรมฐาน(ว่าด้วยราคะ ๑)

   ๒.๒.๑ เจริญจิตขึ้นให้เห็นในสิ่งที่ควรเสพย์และไม่ควรเสพย์ มีความสำรวมกาย วาจา ใจ มีศีลสังวร จนสงเคราะห์ลงให้เห็นเป็นของไม่สวยไม่งามที่ไม่น่าพิศมัยยินดี เข้าพิจารณาในเป็น ปฏิกูลมนสิการ และ อสุภะกรรมฐาน สักเป็นแต่เพียงธาตุ เพื่อละกามราคะ

   ๒.๒.๑.ก เจริญจิตขึ้นระลึกในพุทธานุสสติเป็นฐานแห่งจิตและความระลึกรู้ เลือกสิ่งที่ควรเสพย์และไม่ควรเสพย์

ก. เมื่อเรารู้อารมณ์ใดๆทางสฬายตนะแล้วเกิดกามราคะ ก็ให้เกิดสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อมในปัจจุบันขณะ มีสติตั้งอยู่ระลึกรู้ว่าราคะเกิด จากนั้นให้เจริญอานาปานนสติ+พุทธานุสสติทำดังนี้

๑. หายใจเข้ายาวๆจนสุดใจ มีสติรู้ว่าหายใจเข้ายาวพร้อมกำกับคำบริกรรมว่า "พุทธ" น้อมจิตระลึกถึงพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูป หรือ ภาพวาดพระพุทธเจ้าองค์ใดๆที่ทำให้เราสงบใจเมื่อระลึกถึง (โดยส่วนตัวผมจะระลึกถึงภาพของพระพุทธเจ้าที่เขาถ่ายติดใต้ต้นโพธิ์ด้วยผมพิจารณาและศรัทธาถึงความตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เองของพระพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้รู้-ผู้ตื่นจากโมหะ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เห็นถึงความสำรวมกาย วาจา ใจ มีสติและจิตตั้งมั่น มีความผ่องใส เบิกบาน สงบ สุขอันปราศจากกิเลสเป็นสภาวะธรรมที่ชื่อว่า "อระหัง" [ระลึกเอาความสุขอันปราศจากกิเลสมีความไม่ติดข้องใจยึดมั่นถือมั่นในสิ่งไรๆมันผ่องใสเบิกบานสงบสุขอย่างที่เราเห็นสภาวะของพระพุทธเจ้าดังในรูปนั้นเอง] มีพระเมตตาแผ่ออกไปทั่ว 84000 โลกธาตุ [ระลึกว่าพระเมตตาและพระกรุณาดุจห้วงมหรรณพนั้นแผ่มาสู่ตนให้หายความร้อนรุ่มใจ])
(เมื่อหายใจเข้ายาวจนสุดลมแล้ว เราอาจจะกลั้นลมหายใจไว้ แล้วระลึกถึงพระพุทธเจ้าดังนี้จะเป็นการดึงเอาความรู้ตัวทั่วพร้อมในปัจจุบันให้เกิดเร็วขึ้น)

๒. หายใจออกยาวๆจนสุดใจ มีสติรู้ว่าหายใจออกยาวพร้อมกำกับคำบริกรรมว่า "โธ" น้อมจิตระลึกถึงพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูป หรือ ภาพวาดพระพุทธเจ้าองค์ใดๆที่ทำให้เราสงบใจเมื่อระลึกถึง (โดยส่วนตัวผมจะระลึกถึงภาพของพระพุทธเจ้าที่เขาถ่ายติดใต้ต้นโพธิ์ด้วยผมพิจารณาและศรัทธาถึงความตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เองของพระพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้รู้-ผู้ตื่นจากโมหะ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เห็นถึงความสำรวมกาย วาจา ใจ มีสติและจิตตั้งมั่น มีความผ่องใส เบิกบาน สงบ สุขอันปราศจากกิเลสเป็นสภาวะธรรมที่ชื่อว่า "อระหัง" [ระลึกเอาความสุขอันปราศจากกิเลสมีความไม่ติดข้องใจยึดมั่นถือมั่นในสิ่งไรๆมันผ่องใสเบิกบานสงบสุขอย่างที่เราเห็นสภาวะของพระพุทธเจ้าดังในรูปนั้นเอง] มีพระเมตตาแผ่ออกไปทั่ว 84000 โลกธาตุ [ระลึกว่าพระเมตตาและพระกรุณาดุจห้วงมหรรณพนั้นแผ่มาสู่ตนให้หายความร้อนรุ่มใจ])
(เมื่อหายใจเข้าออกจนสุดลมแล้วเราอาจจะกลั้นลมหายใจไว้ แล้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าดังนี้จะเป็นการดึงเอาความรู้ตัวทั่วพร้อมในปัจจุบันให้เกิดเร็วขึ้น)
- พึงเจริญอนุสสติด้วยอานาปานนสติและพุทธานุสสติเแล้วระลึกอย่างนี้สัก 3-5 ครั้ง คือ หายใจเข้า(พุทธ)+หายใจออก(โธ) นับเป็น 1 ครั้ง เพื่อดึง สัมปชัญญะ+สติ ขึ้นมารู้กายรู้ใจในปัจจุบันทำให้จิตสงบและผละออกจากกามราคะ

ข. พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระอานนท์ว่าบุคคลใดก็ตาแม้จะระลึกถึงหรือเห็นพระพุทธเจ้าแล้วกล่าวคำว่า อระหังๆๆๆ อยู่อย่างนี้ แม้จะสงบรำงับจากกิเลสได้แต่ก็ยังขจัดทิ้งซึ่งกิเลสไม่ได้ หากเอาแต่ระลึกบริกรรมแต่ไม่ปฏิบัติตาม ด้วยเหตุดังนี้แล้วเราจะเจริญพุทธานุสสติอย่างไรให้หลุดพ้นซึ่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้

๑. การยังความสำรวม กาย วาจา ใจ มีศีลสังวรด้วยพุทธานุสสติ(ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าอันว่าด้วย วิชชาจรณะสัมปันโณ และ ปุริสทัมสารถิ)

ให้พึงกำหนดนิมิตเจริญปฏิบัติดังนี้คือ "พึงตรึกนึก รำลึกคำนึงถึงว่า พระพุทธเจ้านั้นทรงพระเมตตาและมีพระมหากรุณาธิคุณ ได้ทรงมาปรากฏอยู่เบื้องหน้าเราผู้เป็นสาวกแล้ว"
เมื่อพระตถาคตมาอยู่เบื้องหน้านี้แล้ว และ พระตถาคตนั้นทรงมีความสำรวมกาย-วาจา-ใจอยู่ มี "ศีลสังวร" มี "วิชชาและจรณะ" อันบริบูรณ์พร้อมแล้ว ได้กระทำให้เราเห็นอยู่เบื้องหน้าดังนี้แล้ว เพื่อให้เราผู้เป็นสาวกเจริญปฏิบัติตาม เรายังจะเสพย์ในกามราคะอันร้อนรุ่มอันเป็นอกุศลธรรมอันลามกจัญไรต่อหน้าพระพุทธเจ้าได้อย่างไร เราผู้เป็นสาวกผู้ประพฤติตามอยู่นี้ควรสำรวมกาย-วาจา-ใจ ดั่งพระตถาคตที่ทำเป็นแบบอย่างนั้นแก่เรา พระตถาคตจะตรัสสอนเสมอว่าให้เลือกสิ่งที่ควรเสพย์และไม่ควรเสพย์
- สิ่งใดที่ทำให้กุศลธรรมเสื่อมลง แล้วอกุศลธรรมอันลามกจัญไรเกิดขึ้น พระตถาคตตรัสว่าสิ่งนั้นไม่ควรเสพย์
- สิ่งใดที่ทำให้อกุศลธรรมอันลามกจัญไรเลื่อมลง แล้วกุศลธรรมอันผ่องใสเบิกบาน มีความสงบร่มเย็น เป็นสุขอันปราศจากกาม ราคะ โทสะ โมหะ ปราศจากความเบียดเบียนเกิดขึ้น พระตถาคตตรัสว่าสิ่งนั้นควรเสพย์ ทรงสอนให้สาวกดำรงศีลไว้เป็นฐานที่ตั้งแห่งทานและภาวนา มีพรหมวิหาร ๔ คลุมไว้เป็นเครื่องป้องกันและเสริมให้บริบูรณ์ เพื่อความขัดเกลากิเลส
(การสำรวมกาย วาจา ใจ แล้วเลือกสิ่งที่ควรเสพย์ ดูเพิ่มเติมที่ "สัลเลขะสูตร" ตาม Link นี้ http://www.nkgen.com/386.htm (http://www.nkgen.com/386.htm))

๒. ด้วยเหตุดังนี้แล้ว ให้พึงหวนพิจารณารำลึกว่า พระตถาคตก็อยู่เบื้องหน้าเรานี้แล้ว และ แสดงธรรมแห่งกุศลอันควรเจริญปฏิบัติแก่เราแล้วอยู่ทุกขณะดังนี้
  ก. แม้เรายืนอยู่-พระตถาคตก็ทรงพระวรกายยืนในเบื้องหน้าเรา ทรงได้สำรวมกาย-วาจา-ใจ มีสีลสังวร และ เลือกสิ่งที่ควรเสพย์ให้เราเห็นแล้วประพฤติตามอยู่นี้
  ข. แม้เราเดินอยู่-พระตถาคตก็ทรงเสด็จนำหน้าเราไปอยู่นี้เสมอ ทรงได้สำรวมกาย-วาจา-ใจ มีสีลสังวร และ เลือกสิ่งที่ควรเสพย์ให้เราเห็นแล้วประพฤติตามอยู่นี้
  ค. แม้เรานั่งอยู่-พระตถาคตก็ทรงประทับนั่งอยู่เบื้องหน้าเราอยู่นี้ ทรงได้สำรวมกาย-วาจา-ใจ มีสีลสังวร และ เลือกสิ่งที่ควรเสพย์ให้เราเห็นแล้วประพฤติตามอยู่นี้
  ง. แม้เรานอนอยู่-พระตถาคตก็ทรงบรรทมอยู่เบื้องหน้าเรา หากมีหิ้งพระอยู่ที่บ้านก็ให้พึงรำลึกว่าพระตถาคตประทับบรรทมอยู่ที่นั่น หรือ ทรงพระญาณแลดูเราอยู่นี้ ทรงได้สำรวมกาย-วาจา-ใจ มีสีลสังวร และ เลือกสิ่งที่ควรเสพย์แม้ในยามนอนให้เราเห็นแล้วประพฤติตามอยู่นี้
๓. ด้วยพระเมตตากรุณาที่พระองค์ทรงดูแลเป็นห่วงเราอยู่แลปฏิบัติให้เห็นอย่างนี้ แล้วเราผู้ไหว้อยู่ซึ่งพระตถาคตก็ควรประพฤติตาม คือ ต้องสำรวมในกาย วาจา ใจ มีสีลสังวร แล้วละเสียซึ่งกิเลสกามราคะอันเร่าร้อนร้อนรุ่มกายใจที่กำลังกลุ้มรุมเราอยู่นี้เสีย ด้วยพึงเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ควรเสพย์ เพราะมันหาประโยชน์สุขอันสงบร่มเย็นกายใจไม่ได้นอกจากทุกข์ด้วยประการฉะนี้แล (การพิจารณาให้เห็นถึงคุณและโทษตามจริงในกิเลสทำให้เกิดธรรมที่มีเสมอกันคือทั้ง ฉันทะและปฏิฆะเท่ากัน เกิดเป็นอุเบกขาขึ้นแก่จิต นี่ก็เป็นทางเข้าสู่อุเบกขาจิตประการหนึ่งที่ว่าด้วยการมีธรรมเสมอกัน)

๔. เพียรเจริญปฏิบัติอย่างนี้เป็นประจำ จิตที่น้อมไปหากามราคะจะเบาบางและสงบรำงับลง การสำรวมในกาย-วาจา-ใจก็บริบูรณ์ขึ้น เกิดเป็นศีลสังวรณ์ จนบังเกิดศีลที่บริสุทธิ์(สีลวิสุทธิ) เมื่อหวนระลึกถึงศีลที่สำเร็จบริบูรณฺ์นี้แล้ว ความร้อนรุ่มกายใจย่อมไม่มี จิตย่อมมีความผ่องใสปราโมทย์เบิกบาน มีปิติอิ่มเอม เป็นสุข จนเข้าถึงสัมมาสมาธิได้ด้วยประการฉะนี้ดังนี้
(การระลึกถึงคุณและปฏิปทาของพระพุทธเจ้าในพุทธานนุสสตินี้ ทำให้เราได้ทั้ง ศีล จาคะ สมาธิในสมถะ ได้ทั้งการอบรมกายและจิต)






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 10, 2014, 04:05:06 AM

กรรมฐานอันยอดเยี่ยม กับอานิสงส์อันยอดยิ่ง
ว่าด้วยผลแห่งการเจริญพุทธานุสสติ



พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒
อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต

เอกธัมมาทิบาลี อีกนัยหนึ่ง


            [๑๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำ
ให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อ
ความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ธรรม
อย่างหนึ่งคืออะไร คือพุทธานุสสติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งนี้แล
อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว
เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้
เพื่อนิพพาน ฯ

            [๑๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำ
ให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อ
ความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ธรรม
อย่างหนึ่งคืออะไร คือธัมมานุสสติ... สังฆานุสสติ... สีลานุสสติ... จาคานุสสติ...
เทวตานุสสติ...  อานาปานสติ...  มรณสติ...  กายคตาสติ...  อุปสมานุสสติ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อ
ความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฯ

จบวรรคที่ ๑
            เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐  บรรทัดที่ ๘๖๗ - ๘๘๓.  หน้าที่  ๓๙.อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี อีกนัยหนึ่ง
วรรคที่ ๑

              อรรถกถาเอกธัมมาทิบาลี               
              อรรถกถาวรรคที่ ๑#-               
____________________________


พุทธานุสสติ ๒

คาถาบทนี้เป็นของพระสุภูติเถระ พระสุภูติเป็นน้องชายของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เป็นพระอรหันต์ ที่เป็นเอตทัคคะ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเป็นเลิศ
อันประกอบด้วยองค์ ๒ คือ

พระสุภูติเป็นผู้เลิศแห่งภิกษุสาวกของเรา ผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่มีกิเลส
พระสุภูติเป็นผู้เลิศแห่งภิกษุสาวกของเราผู้เป็นทักขิไณยบุคคล
(ทักขิไณย ผู้ควรแก่ทักขิณา, ผู้ควรรับของทำบุญที่ทายกถวาย)

ครั้งหนึ่งพระสุภูติได้กล่าวถึง อดีตชาติของตน ในสมัยพระพุทธเจ้า พระนามว่าปทุมุตระ
 (พระพุทธปทุมุตระ เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑๓ จากพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์)
ครั้งนั้นพระสุภูติมีนามว่า นันทดาบส(หรือโกลิยะ) มีศิษย์ ๔,๔๐๐๐ คน

เมื่อพระปทุมุตระมาโปรดนันทดาบสและศิษย์
พระศาสดาเสด็จมาทางอากาศ และเดินจงกรมบนอากาศให้นันทดาบสดู
ได้สร้างศรัทธาอันยิ่งแก่นันทดาบส  นันทดาบสได้นิมนต์ให้อยู่ ๗ วัน
โดยจัดอาสนะเป็นดอกไม้นานาพรรณ พร้อมไทยธรรมเป็นผลไม้
พระศาสดาได้เข้านิโรธสมาบัติ ตลอด ๗ วัน
ตลอด ๗ วันนั้น นันทดาบสได้เฝ้าพระศาสดาด้วยความปิติ
พร้อมถือฉัตรดอกไม้ใหญ่ยืนกั้นไว้เหนือพระเศียรของศาสดา โดยไม่แตะต้องอาหารเลย

หลังออกจากนิโรธสมาบัติพระศาสดา ได้ให้ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวอนุโมทนาแก่ดาบสทั้งหลาย
จากนั้นพระองค์ได้เทศนาแก่ดาบส จบเทศนาดาบสทั้ง ๔๔,๐๐๐ คนได้สำเร็จอรหันตผล
เว้นแต่นันทดาบสคนเดียวที่ไม่ได้คุณวิเศษเลย เพราะมีจิตฟุ้งซ่าน เฝ้าแต่ครุ่นคิดว่า
ทำอย่างไรเราถึงจะเป็นดั่ง ภิกษุรูปที่พระศาสดาใช้ให้กล่าวอนุโมทนาได้

นันทดาบสได้ทูลถามพระศาสดาว่า ภิกษุรูปนั้นเป็นใคร
พระศาสดาตรัสตอบว่า ภิกษุนั้นชื่อว่าถึงแล้วซึ่งตำแหน่งเอตทัคคะ
ในองค์แห่งภิกษุผู้อยู่อย่างไม่มีกิเลส
และในองค์แห่งภิกษุผู้เป็นทักขิไณยบุคคล

นันทดาบสได้กล่าวความปรารถนาของตนต่อพระศาสดาว่า
ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาสมบัติอื่น แต่ในอนาคตกาล ขอข้าพระองค์พึงเป็นสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ ๒ ดุจพระเถระนี้ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งเถิด.
              
พระศาสดาทรงส่งอนาคตังสญาณไปตรวจดูอยู่ว่า ความปราถนาของดาบสนี้จักสำเร็จหรือไม่หนอ ทรงตรวจดูอยู่ ทรงเห็นความปรารถนาของดาบสจะสำเร็จโลยล่วงแสนกัปไปแล้ว จึงตรัสว่า

ดูก่อนดาบส ความปรารถนาของท่านจักไม่เป็นโมฆะ ในอนาคตกาลผ่านแสนกัปไปแล้ว. พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม จักเสด็จอุบัติขึ้น ความปรารถนาของท่านจักสำเร็จ ในสำนักของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมนั้น
จากนั้นทรงพระดำรัสต่อไปว่า
                      
ท่านจงเจริญพุทธานุสสติอันยอดเยี่ยมกว่าภาวนาทั้งหลาย
ท่านเจริญพุทธานุสสตินี้แล้วจักยังใจให้เต็มเปี่ยมได้
            
จักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๓ หมื่นกัลป
จักได้เป็นจอมเทวดาเสวยเทวรัชสมบัติอยู่ ๘๐ ครั้ง
จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิอยู่ในแว่นแคว้น ๑๐๐๐ ครั้ง
จักได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์โดยคณานับมิได้
จักได้เสวยสมบัตินั้นทั้งหมด นี้เป็นผลแห่ง (การเจริญ)พุทธานุสสติ

                    
เมื่อท่องเที่ยวอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ จักได้โภคสมบัติเป็นอันมาก
จะไม่มีความบกพร่องด้วยโภคะ นี้เป็นผลแห่ง (การเจริญ)พุทธานุสสติ
                          
ในแสนกัลป พระศาสดาทรงพระนามว่าโคดมโดยพระโคตร
ซึ่งมีสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลก ท่านจักทิ้ง
ทรัพย์ ๘๐ โกฏิ ทาสและกรรมกรเป็นอันมาก จักบวชในพระศาสนาของ
พระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม จักยังพระสัมพุทธเจ้าโคดมศากยบุตรผู้
ประเสริฐให้ทรงยินดี จักได้เป็นสาวกของพระศาสดา มีนามชื่อว่าสุภูติ

พระศาสดาพระนามว่าโคดม ประทับนั่ง ณ ท่ามกลางภิกษุสงฆ์แล้ว จักทรง
ตั้งท่านว่าเป็นผู้เลิศใน ๒ ตำแหน่ง คือ
ในคณะพระทักขิไณยบุคคล ๑
ในการอยู่โดยไม่มีข้าศึก ๑
พระสัมพุทธเจ้าผู้รุ่งเรือง ทรงเป็นนายกสูงสุดเป็นนักปราชญ์

ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว เสด็จเหาะขึ้นสู่อากาศ ดังพญาหงส์ในอัมพร

เราอันพระโลกนาถทรงพร่ำสอนแล้ว นมัสการพระตถาคต มีจิต
เบิกบาน เจริญพระพุทธานุสสติอันอุดมทุกเมื่อ ด้วยกุศลกรรมที่เราทำดี
แล้วนั้น และด้วยการตั้งเจตนาไว้ เราละกายมนุษย์แล้ว
ได้ไปสู่ภพดาวดึงส์ ได้เป็นจอมเทวดาเสวยทิพยสมบัติ ๘๐ ครั้ง
และได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๐๐๐ ครั้ง
ได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ โดยคณานับมิได้
ได้เสวยสมบัติเป็นอันดี นี้เป็นผลแห่ง (การเจริญ) พุทธานุสสติ

เมื่อท่องเที่ยวอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ เราย่อมได้โภคสมบัติเป็นอันมาก เรา
ไม่มีความบกพร่องโภคะเลย นี้เป็นผลแห่ง (การเจริญ) พุทธานุสสติ

ในแสนกัลปแต่กัลปนี้ เราได้ทำกรรมอันใดไว้ในกาลนั้น ด้วยผลแห่ง
กรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่ง (การเจริญ) พุทธานุสสติ

คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้
แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล.

อ้างอิง   : พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม(มหามกุฏ) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๔
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑  สุภูติเถราปทาน.
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒  บรรทัดที่ ๑๕๐๒ - ๑๕๙๐.  หน้าที่  ๖๗ - ๗๐.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=32&A=1502&Z=1590&pagebreak=0 (http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=32&A=1502&Z=1590&pagebreak=0)
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๓. สุภูติวรรค ๑. สุภูติเถราปทาน (๒๑)
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=23 (http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=23)

raponsan:


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 14, 2014, 08:47:50 AM

    บันทึกกรรมฐานเมื่อ: มีนาคม 06, 2014, 04:34:38 PM »
๒.๒ การละกิเลสด้วยการเจริญเข้าสู่กอง สมถะกรรมฐาน(ว่าด้วยราคะ ๑)


   ๒.๒.๑ เจริญจิตขึ้นให้เห็นในสิ่งที่ควรเสพย์และไม่ควรเสพย์ มีความสำรวมกาย วาจา ใจ มีศีลสังวร จนสงเคราะห์ลงให้เห็นเป็นของไม่สวยไม่งามที่ไม่น่าพิศมัยยินดี เข้าพิจารณาในเป็น ปฏิกูลมนสิการ และ อสุภะกรรมฐาน สักเป็นแต่เพียงธาตุ เพื่อละกามราคะ

*อสุภะ ทวัตติงสาปาฐโฐ ธาตุกรรมฐาน ทวนอ่านที่นี่ http://www.thammaonline.com/15430.msg17844#msg17844 (http://www.thammaonline.com/15430.msg17844#msg17844)


    ๒.๒.๑.ง ระลึกเจริญพิจารณาเอาความตายมีอยู่เบื้องหน้าเป็นอารมณ์ คือ เจริญใน มรณะสติ

    - ให้พึงระลึกถึงความตายตลอดเวลา โดยให้พึงระลึกว่าเราจะต้องตายก่อน เช่น อาจจะนอนแล้วไหลตาย อาจจะนั่งแล้วช๊อคตาย อาจจะยืนแล้วหน้ามืดล้มหัวใจวายตาย อาจจะเดินแล้วล้มถูกหอนหรือของแหลมคมทิ่มตายตาย อาจจะกินแล้วติดคอตาย อาจจะกำลังขี้เยี่ยวอยู่แล้วตาย กำลังกินข้าวอยู่แล้วตาย หายใจเข้าอยู่ก็จักตาย หายใจออกอยู่ก็จักตาย ดังนั้นแล้วให้พึงเจริญระลึกอยู่ทุกขณะในเบื้องต้นอย่างนี้ว่า

๑. เราพึงมีชีวิตอยู่ได้ตลอดคืนหนึ่งวันหนึ่ง หรือ ตลอดวันหนึ่งวันหนึ่ง
๒. เราพึงมีชีวิตอยู่ได้แค่ชั่วขณะที่ ยืน เดิน นั่ง นอน
๓. เราพึงมีชีวิตอยู่ได้แค่ชั่วขณะที่กินข้าวเสร็จ หรือ กลืนข้าว 4 คำ บ้าง หรือ ชั่วคำหนึ่ง
๔. เราพึงมีชีวิตอยู่ได้แค่ชั่วหายใจเข้าออก หรือ ชั่วขณะหายใจเข้า หรือ ชั่วขณะหายใจออก

    - ดังนั้นแล้ว เมื่อเกิด กามราคะ ขึ้นมาในใจให้พึงเจริญปฏิบัติเบื้องต้นดังนี้

   ก. เมื่อเรากำลัง ยืน เดิน ยั่ง นอน ในอิริยาบถใดๆเหล่าอยู่ แล้วไปเห็นเพศตรงข้ามทำให้เกิดราคะกำหนัดขึ้นมา "ก็ให้พึงพิจารณาว่าเมื่อเรา ยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ในอิริยาบถใดๆนี้เราก็จักตายไป เรามีความตายเป็นเบื้องหน้าอยู่ทุกขณะอย่างนี้แล้ว หากเราเอาจิตไปฝากขึ้นไว้กับราคะอันร้อนรุ่ม เมื่อตายด้วยประการฉะนี้เราก็จักลงนรกไปเสียแล้ว" ดังนั้นพึงเพิกมันถอนออกเสีย แล้วให้หายใจเข้าออกยาวๆแรงๆสัก 3-5 ครั้ง เพื่อดึงเอาความรู้ตัวและระลึกรู้ทันความปรุงแต่งจิตในปัจจุบันขึ้นมา มีสัมปชัญญะรู้อิริยาบถตนในปัจจุบันขณะ ยืนก็รู้ว่ายืน เดินก็รู้ว่าเดิน นั่งก็รู้ว่านั่ง นอนก็รู้ว่านอน มีสติรู้ว่ากำลังจะไปไหน จะไปทำอะไร กำลังตรึกนึกคิดอะไร แล้วพึงอยู่ด้วยความไม่ประมาท มีความสำรวมกายวาจาใจ แต่งกายให้เรียบร้อย แม้เมื่อต้องตายไปก็จักไปขึ้นสวรรค์ชั้นพรหมหรือนิพพานเพราะมีกรรมฐานเป็นอารมณ์ขณะที่ตาย

    ข. เมื่อเรากำลังกินข้าวอยู่ แล้วเราไปเห็นเพศตรงข้ามทำให้เกิดราคะกำหนัดขึ้นมา "ก็ให้พึงพิจารณาว่าแม้เมื่อขณะเรากลืนคำข้าวคำนี้แล้วเราก็จักต้องตายไป ไม่ก็ขณะเคี้ยวข้าวเราก็จักตายไป ไม่ก็ขณะตักข้าวเข้าปากเราก็จะต้องตายไป เรามีความตายเป็นเบื้องหน้าอยู่ทุกขณะอย่างนี้แล้ว หากเราตายด้วยเอากามราคะอันร้อนรุ่มกลืนกินลงไปกับคำข้าว ก็จักตายด้วยความร้อนรุ่มแล้วลงนรกไปเสียแล้ว" ดังนั้นพึงเพิกมันถอนออกเสีย แล้วให้หายใจเข้าออกยาวๆแรงๆสัก 3-5 ครั้ง เพื่อดึงเอาความรู้ตัวและระลึกรู้ทันความปรุงแต่งจิตในปัจจุบันขึ้นมา มีสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อมรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ กินข้าวก็รู้ว่ากำลังกินข้าวอยู่ พิจารณาดูคำข้าวที่เราเคี้ยวกลืนว่ามีสิ่งใดอยู่ กินเพื่ออะไร มีสติรู้ความปรุงแต่งจิตตนใจปัจจุบันขณะราคะมีอยู่ก็รู้ว่ามีอยู่ ราคะดับไปแล้วก็รู้ว่าราคะดับไป คำข้าวที่กินเคี้ยวกลืนอันปราศจากความกำหนัดราคะแล้วนี้ แม้เมื่อกินเคี้ยวกลืนไปแล้วต้องตายไป ก็จักไปขึ้นสวรรค์ชั้นพรหมหรือนิพพานเพราะมีกรรมฐานเป็นอารมณ์ขณะที่ตาย

    ค. เมื่อกำลังหายใจเข้าและออกอยู่นี้เราก็จะต้องตาย เมื่อไปเห็นเพศตรงข้ามแล้วเกิดราคะกำหนัดขึ้นมา "ก็ให้พึงพิจารณาว่าแม้เมื่อเรากำลังหายใจเข้าอยู่นี้เราก็จักตาย แม้เมื่อเรากำลังหายใจออกอยู่นี้เราก็จักตาย เรามีความตายเป็นเบื้องหน้าอยู่ทุกขณะอย่างนี้แล้ว หากเราเอาลมหายใจเข้าออกนี้ไปฝากขึ้นไว้กับราคะอันร้อนรุ่ม เมื่อเราตายด้วยประการฉะนี้เราก็จักลงนรกไปเสียแล้ว" ดังนั้นพึงเพิกมันถอนออกเสีย แล้วพึงระลึกรู้ลมหายใจเข้าออกอันสลัดจากราคะทิ้งเสีย มีพระพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้งทุกลมหายใจเข้าออกดีกว่าเป็นไหนๆ แม้เมื่อต้องตายไปก็จักไปขึ้นสวรรค์หรือไปพบพระตถาคตที่แดนนิพพานพราะมีกรรมฐานพุทธานุสติทุกลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ขณะที่ตาย

- เมื่อพึงเจริญอยู่เนืองๆก็จะเข้าสู่ อุเบกขา และ ฌาณ ได้




หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 14, 2014, 10:40:58 AM

๑๐. มรณัสสติสูตรที่ ๒


[๒๙๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทสร้าง
ด้วยอิฐ ใกล้บ้านนาทิกคาม ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย มรณัสสติอันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผล มาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด
          ก็มรณัสสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางวันผ่านไป กลางคืนย่างเข้ามา ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า

          เหตุแห่งความตายของเรามีมากหนอ คือ งูพึงกัดเรา แมลงป่องพึงต่อยเรา หรือตะขาบพึงกัดเรา เราพึงตายเพราะเหตุนั้น อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา เราพึงพลาดล้มลง อาหารที่เราฉันแล้วไม่พึงย่อย ดีของเราพึงกำเริบ เสมหะของเราพึงกำเริบ หรือลมที่มีพิษเพียงดังศัสตราของเราพึงกำเริบ เราพึงตาย เพราะเหตุนั้น อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา
          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้ อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละในกลางคืน มีอยู่หรือหนอ
          ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมทราบอย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังไม่ได้ละ อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละในกลางคืน ยังมีอยู่ ภิกษุนั้นพึงทำฉันทะ ความพยายาม ความอุตสาหะ(ความพยายาม อดทนบากบั่น ไม่ย่อท้อ) ความเพียร(วิริยะ ) ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ
ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น
          เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าโพกศีรษะถูกไฟไหม้ หรือมีศีรษะถูกไฟไหม้ พึงทำฉันทะ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อดับผ้าโพกศีรษะหรือศีรษะนั้น ฉะนั้น
          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ย่อมทราบอย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้ อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละในกลางคืนไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์ ตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืนอยู่เถิด

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางคืนผ่านไป กลางวันย่างเข้ามา ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า

          เหตุแห่งความตายของเรามีมากหนอ คือ งูพึงกัดเรา แมลงป่องพึงต่อยเรา หรือตะขาบพึงกัดเรา เราพึงตายเพราะเหตุนั้น อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา เราพึงพลาดล้มลง อาหารที่เราฉันแล้วไม่พึงย่อย ดีของเราพึงกำเริบ เสมหะของเราพึงกำเริบ หรือลมที่มีพิษเพียงศาตราของเราพึงกำเริบ เราพึงตาย เพราะเหตุนั้น อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา
          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาป อกุศลที่เรายังละไม่ได้ อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละในกลางวัน มีอยู่หรือหนอ
          ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมทราบอย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้ อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละในกลางวัน ยังมีอยู่ ภิกษุนั้นพึงทำฉันทะ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าโพกศีรษะถูกไฟไหม้ หรือมีศีรษะถูกไฟไหม้ พึงทำฉันทะ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อดับผ้าโพกศีรษะหรือศีรษะนั้น ฉะนั้น
          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ย่อมทราบอย่างนี้ว่าธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้ อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละในกลางวันไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์ ตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืนอยู่เถิด
          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มรณัสสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ฯ



จบสูตรที่ ๑๐
จบสาราณิยาทิวรรคที่ ๒


-----------------------------------------------------


รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
             ๑. สาราณิยสูตรที่ ๑ ๒. สาราณิยสูตรที่ ๒ ๓. เมตตสูตร
๔. ภัททกสูตร ๕. อนุตัปปิยสูตร ๖. นกุลสูตร ๗. กุสลสูตร
๘. มัจฉสูตร ๙. มรณัสสติสูตรที่ ๑ ๑๐. มรณัสสติสูตรที่ ๒ ฯ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒  บรรทัดที่ ๗๒๕๕ - ๗๓๐๖.  หน้าที่  ๓๑๘ - ๓๒๐.
 http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=22&A=7255&Z=7306&pagebreak=0 (http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=22&A=7255&Z=7306&pagebreak=0)
             ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=291 (http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=291)
             สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒
http://www.84000.org/tipitaka/read/? (http://www.84000.org/tipitaka/read/?)สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๒๒
http://www.84000.org/tipitaka/read/?index_22 (http://www.84000.org/tipitaka/read/?index_22)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 16, 2014, 12:58:21 AM
วันนี้ตั้งใจจะไปทำสมาธิ ก็ได้สนทนาธรรมกับนาคเพื่อนที่จะบวชตลอดชีวิตก่อน เนื่องจากพระผู้เป็นพ่อของเขาได้บรรลุอรหันต์ทางเขาจึงมีจิตน้อมที่จะบวชตามเพราะหลวงพ่อปารภให้บวช และ มัีพระอรหันต์หลายองค์ที่เขาได้รู้จักและไปบวชด้วย เมื่อคุยกันพอให้หายคิดถึงกันแล้ว จึงเข้าไปทำสมาธิที่โบสถ์ ก่อนทำก็คิดไว้ว่าอย่างเราๆนี้จะทำให้ตายก็คงไม่ถึงสมาธิ มีความปลงใจไว้แล้ว แล้วตั้งใจไว้จักทำสมาธิสัก 1 ชม.

- พอทำสมาธิก็ตั้งอยู่ที่ลม พุทโธ ไปเรื่อยๆ สักพักจิตมันเกิดความขี้เกียจบริกรรมจึงคิดว่าสำเหนียกเอาดีกว่า จึงจับเอาที่ลมที่ปลายจมูกเคลื่อนผ่านหน้าอกเข้ามาลงไปสู่ท้องน้อยบ้าง จากท้องน้อยออกไปผ่านหน้าออกไปปลายจมูกบ้าง แต่ก็มีความคิดอยู่ แต่ก็ดึงจิตให้สำเหนียกมากที่สุด จนเมื่อสำเหนียกก็ไม่ได้ เลยปล่อยตามเลยมันจะคิดจะสำเหนียกก็ช่างมัน เลยหวนรำลึกถึงว่าเมื่อครั้งที่เราเคยมีจิตเป็นสมาธิจดจ่อได้นานเราก็บริกรรมแต่พุทโธแล้วมันเป็นไปของมันเอง เมื่อรู้ว่าจะไม่สามารถถึงสภาวะนั้นได้อีก ก็ปล่อยตามเลยเสียไม่ต้องไปจดจ้องสภาวะธรรมไม่ต้องไปเกร็งเพ่งมันปล่อยมันไปของมัน เพราะยิ่งเกร็งยิ่งเพ่ง ยิ่งจดจ้องสภาวะยิ่งปวงหัวยิ่งระส่ำไม่เป็นความสงบ
- พอรู้ลมหายใจไปเรื่อยๆจิตนี้มันสุดยอดเดี๋ยวไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เดี๋ยวไปหาคนนั้นคนนี้ไม่หยุด พยายามอยู่ที่ลมก็แล้วมันก็ส่งออกนอกไปทั่ว จนปลงปล่อยมันคิดไปตามความอยากมันซะ แค่รู้ว่ามันคิดก็พอ จิตมันก็ส่งออกนอกไปเรื่อยเสพย์ตามเรื่องราวมันบ้างรู้ตัวว่าคิดบ้าง พอมารู้ตัวหน่อยก็ดึงสัมปะชัญญะขึ้นรู้ว่าทำสมาธิอยู่แล้วก็กลับมาอยู่ที่ลมพอมันคิดก็รู้ว่ามันคิดก็ปล่อยมันไป
- จากนั้นพอมันคิดจนจบมันแล้วอยู่ๆก็เกิดความรู้สึกนึกคิดว่าเหนื่อยที่จะคิด คิดไปก็มีแต่ทุกข์ เสพย์ความคิดมากเท่าไหร่ก็ยิ่งทุกข์ จิตมันก็เลยคิดว่าผละออกจากจิตส่งออกนอกนั้นเสีย เอาจิตส่งเข้าในมันเป็นสุขกว่ามันสงบไม่อึดอัดเหมือนส่งจิตออกนอก
- ต่อมาจิตมันก็ไปจับที่ลมแล้วไปจับระลึกเอาความสงบที่เคยสัมผัสจากสมาธิได้บ้างมันก็รู้สึกดี มันก็ไปจับเอาสุขที่เคยสัมผัสที่ปะทุอัดตั้งแต่ท้อง-มาลิ้นปี่ มาหน้าอก-ปะทุขึ้นไปกระหม่อมบ้าง พอมันไประลึกถึงสุขที่เคยสัมผัสได้จิตมันก็เกิดนิมิตที่เคยสัมผัสได้เมื่อกาลก่อนว่า มันว่างอย่างนี้ มันสุขอย่างนี้ มันสว่างอย่างนี้ แล้วก็เหมือนจิตมันมองเลื้อยเหมือนส่องกล้องเข้าไปภายในกาย โดยเลื่อนเข้าไปในโพรงจมูกเข้าไปหกลอดลมไปที่หน้าอกเลื่อนมาประมาณท้องที่เคยได้รับสุขที่พลั่งพลูนั้น ซึ่งในช่องว่างสว่างนวลตาเหมือนเวลาหลับตานั่งสมาธิแล้วลืมตาออกมามองโลกภายนอกใหม่ๆ มันก็มองที่นั้น แล้วจิตกนึ่งก็คิดขึ้นว่าอย่าไปติดนิมิตนี้เลยมันก็คิดปรุงแต่งไปทั่วตามความพอใจของเรา
- จากนั้นก็มาดูที่ลมหายใจโดยมันจะบริกรรมหรือไม่บริกรรมก็ช่างมัน ลมมันเป็นเรื่องของกาย ลมเป็นกายสังขาร กายเท่านั้นที่ต้องก่ารลม เรานั้นเป็นแต่เพียงผู้รู้ว่ามีลมหายใจอยู่ รูปขันธ์นี้ยังดำเนินไปได้อยู่เท่านั้นไม่ได้ไปมีหน้าที่อื่นเกินกว่านี้ ก็แค่รู้ว่ากำลังหายใจเข้าหรือออกเท่านั้นพอ
- ทีนี้พอดูลมหายใจไปได้สักพักจากลมหายใจที่แรงพอจะรู้ผัสสะตรงปลายจมูกได้บ้างได้ยินเสียงลมหายใจทางหูบ้าง ก็เริ่มเบาลงๆๆ แต่มันก็ยังหายใจเข้าออกยาวเหมือนเดิม บางครั้งก็เหมือนจะลมหายใจหายไปไม่มีลมเข้า-ออกจมูกเหมือนสูดเอาความว่างเปล่าเข้าออกเท่านั้น พอเมื่อคิดอย่างนี้จิตมันก็ให้ไปรู้สึกว่าจะหายใจไม่ทั่วท้องหรือเหมือนตนเองไม่หายใจ แต่ก็ตั้งจิตให้เพิกออกจากอาการนั้นแล้วดูอาการของกายนั้นแหละมันไปเรื่อยๆอีก ก็กลับมารู้สึกแค่กายเลค่ือนตัวยกพองขึ้นแล้วเคลื่อนตัวยุบลงเหมือนกายมันกำลังหายใจปกติแต่เพียงไม่รู้สึกถึงลทหายใจเข้าออกนอกจากความว่างเปล่าจากการกระเพื่อมเคลื่อนตัวของกายนั้น แต่มันก็รู้สึกสบายๆดีอยู่ เลยดึงสัมปะชัญญะไปรู้กายว่าเรานั่งสมาธิอยู่อย่างนี้ สภาวะกายนั่งขัดสมาธิอยู่อย่างนี้ กำลังรู้ลมอยู่อย่างนี้ กายเรานี้ก็กำลังดึงลมหายใจอยู่ สักพักจิตมันก็ไม่รู้ลมหายใจรู้แค่กายนั้นเคลื่อนตัวเลื่อนขึ้นพองขึ้นแล้วก็เคลื่อนตัวหดยุบลงจากการพองตัวนั้น เหมือนดั่งร่างกายเรานั้นกำลังหายใจอยู่ปกติแต่ทั้งๆที่ไม่มีลมหายใจเข้าเลยแต่กายมันก็ยังทำหน้าที่ของมันไปอย่างนั้น จึงคิดว่าอย่างนี้แม้เราไม่มีลมหายใจก็ยังไม่ตาย
- แล้วสักพักเมื่อพิจารณาอาการของกายดังนี้ได้สักพัก มันก็เกิดนิมิตเหมือนก้องส่องเข้าไปภายในกายเห็นอวัยวะน้อยใหญ่ภายในกายของเราเองซึ่งเป็นรูปร่างกายเราแต่เห็นเพียงอวัยวะอาการทั้ง ๓๒ เท่านั้น เช่น เห็นเส้นเลือด เส้นเอ็น ไส้ใหญ่ ไส้น้อย ถุงน้ำดี กระเพาะอาหาร กระดูกเชิงกรานกระบังลม อันมีหนังหุ้มเป็นที่สุดรอบ จากนั้นก็นิ่งดูอยู่สักพักจึงติดว่านิมิตนี้หนอก็คงมาจากรูปอสุภะที่เราเคยเพ่งมองนั้นแหละแล้วเกิดสัญญาสร้างสังขารรอบให้เห็นเป็นนิมิตอีกครั้งเท่านั้น ก็เลยกลับมาที่ลมใหม่นิมิตก็จับจ่ออยู่ที่ความสว่างโร่ที่ไม่สว่างเกินไปแต่ไม่มืดครึ้มที่อยู่ในช่องคาดว่าเป็นในส่วนท้องหรือท้องน้อยที่เคยมีสภาวะธรรมอันเป้นสุขที่เกิดมาในชีวิตนี้ไม่เคยมีไม่เคยเจอพลั่งพลูออกมา นิ่งแช่ดูอยู่นั้นแล้วสักพักก็ออกจากสมาธิ นั้นเพราะปวดขาเพราะมีอาการกำเริบขึ้นของข้อกระดูกอักเสบ แต่ก็ยังตั้งเจตนาหายใจเข้าออกยาวให้ได้พุทโธ 108 ครั้ง(หายใจเข้าบริกรรมพุทธ-หายใจออกบริกรรมโธ ครบรอบพุทโธนับเป็น ๑) ทำจนทนไว้ไหวสั่นระระวแต่ก็ไม่ให้ความสำคัญมันคิดแค่ว่าถวายเป็นพุทธบูชาโดย บริกรรมพุทโธไปพร้อมระลึกเอาความเป็น
 ผู้รู้เห็นซึ่งโมหะคือความลุ่มหลง
 ผู้ตื่นจากโมหะแล้วได้ทำเพื่อออกจากทุกข์นั้นคือเดินในทางมรรคและผลโดยชอบเพื่อออกจากโมหะ
 ผู้เบิกบานหลุดพ้นจากโมหะเหล่านั้นแล้วโดยสิ้นเชิงคือดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกสิ้นเชิงแล้ว

เสียงนาฬิกาไขลานวัดดังบอกชั่วโมง นั่งได้เพียง 45 นาที ทั้งที่ตั้งใจไว้สัก 1 ชม. จึงหวนรำลึกว่าถึงแม้เมื่อก่อนนจะเคยนั่ง 1-2 ชม. ก็ตาม แต่ตอนนั้นมันมีจิตเป็นสมาธิจึงทำได้ และตอนนี้ไม่มีสมาธิแถมยังเป็นโรคเอ็นและข้อเท้าอักเสบ เมื่อจะทำสมาธิก็ได้แต่นอนทำ ตอนนี้เริ่มต้นนั่งได้ขนาดนี้ก็มากโขแล้ว

เมื่อออกจากสมาธิมาอยู่ในท่านั่งพับเพียบ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์สาวก อาการที่ตะคิวกินกับโรคเอ็นและข้อเท้าอักเสบที่เคยปวดมากก็เหมือนจะหายใจ จิตก็สงบด้วยไม่คิดมาก จึงลืมตาแผ่เมตตาไปโดยท่านั้นไปโดยไม่มีประมาณ มีจิตเพียงเป็นมิตรที่ดี ปารถนาดีให้เขาเป็นสุข ขอความสุขกายสบายใจความสวัสดีทั้งหลายจงมีแก่พ่อแม่ญาติพี่น้องตนเอง ทั้งที่มีชีวิตอยู่และตายไปแล้ว บุคคลที่รู้จักและไม่รู้จัก สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงทั้งที่มีกายเล็ก สั้น ผอม ใหญ่ กลาง ยาว อ้วนพี ไม่ว่าจะอยู่ในที่กว้าง ที่แคบ พื้นที่ใดๆซอกมุมใดๆก็ตามในโลกนี้ เจ้ากรรม นายเวร พระภูมิเจ้าที่ สัมภเวสีทั้งหลาย เทวดาอารักษ์ทั้งหลาย เทพบุตรเทพธิดาทั้งหลาย ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ อมนุษย์ทั้งหลาย ยักษ์ทั้งหลาย นาคทั้งหลาย คนธรรม์ทั้งหลาย ครุฑ ท่านพระยามัจจุราช ยมมูตทั้งหลาย วิญญาณทั้งหลายในนรกไปจนถึงเปรตทั้งหลาย พรหมทั้งหลาย

เมื่อเสร็จก็ครบ 1 ชม. พอดี



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 16, 2014, 09:21:49 PM
พระสุตตันตปิฎก
เล่ม ๒๑
ขุททกนิกาย มหานิทเทส
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อัฏฐกวัคคิกะ
กามสุตตนิทเทสที่ ๑
ว่าด้วยกาม ๒ อย่าง
             [๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
                          เมื่อสัตว์ปรารถนากามอยู่ ถ้ากามนั้น ย่อมสำเร็จแก่ สัตว์นั้นสัตว์นั้นได้
                          กามตามปรารถนาแล้ว ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่นอน.
             [๒] กามในคำว่า เมื่อปรารถนากามอยู่ ได้แก่ กาม ๒ อย่าง โดยหัวข้อ คือ วัตถุ-
*กาม ๑ กิเลสกาม ๑.
             วัตถุกามเป็นไฉน? รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ชอบใจ เครื่องลาด
เครื่องนุ่งห่ม ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา นา ที่ดิน เงิน ทอง
บ้าน นิคม ราชธานี แว่นแคว้น ชนบท กองพลรบ คลัง และวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
อย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่า วัตถุกาม. อีกอย่างหนึ่ง กามที่เป็นอดีต กามที่เป็นอนาคต กามที่เป็น
ปัจจุบัน ที่เป็นภายใน ที่เป็นภายนอก ที่เป็นทั้งภายในและภายนอก ชนิดเลว ชนิดปานกลาง
ชนิดประณีต เป็นของสัตว์ผู้เกิดในอบาย เป็นของมนุษย์ เป็นของทิพย์ ที่ปรากฏเฉพาะหน้า
ที่นิรมิตเอง ที่ผู้อื่นนิรมิต ที่หวงแหน ที่ไม่ได้หวงแหน ที่ยึดถือว่าของเรา ที่ไม่ยึดถือว่าของเรา
ธรรมที่เป็นกามาวจรแม้ทั้งหมด ธรรมที่เป็นรูปาวจรแม้ทั้งหมด ธรรมที่เป็นอรูปาวจรแม้ทั้งหมด
ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งตัณหา เป็นอารมณ์แห่งตัณหาชื่อว่ากาม เพราะอรรถว่า อันบุคคลพึงใคร่
เพราะอรรถว่า เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เพราะอรรถว่า เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา กามเหล่านี้
เรียกว่า วัตถุกาม.
             กิเลสกามเป็นไฉน? ความพอใจ ความกำหนัด ความพอใจและความกำหนัด ความดำริ
ความกำหนัดมาก ความดำริและความกำหนัด ความพอใจคือความใคร่ ความกำหนัดคือความใคร่
ความเพลิดเพลินคือความใคร่ ในกามทั้งหลาย ความปรารถนาในกาม ความเสน่หาในกาม
ความเร่าร้อนในกาม ความหลงในกาม ความติดใจในกาม ห้วงคือกาม ความประกอบในกาม
ความยึดถือในกาม เครื่องกั้นกางคือกามฉันทะ ชื่อว่า กาม.
             สมจริงดังคำว่า
                          ดูกรกาม เราเห็นรากฐานของท่านแล้วว่า ท่านย่อมเกิดเพราะความดำริ
                          เราจักไม่ดำริถึงท่าน ท่านจักไม่มีอย่างนี้.
             กามเหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม. คำว่า เมื่อปรารถนากามอยู่ มีความว่า เมื่อใคร่ อยากได้
ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย ชอบใจกามอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อปรารถนากามอยู่.
             [๓] คำว่า ถ้ากามนั้น ย่อมสำเร็จแก่สัตว์นั้น มีความว่า คำว่า สัตว์นั้น ได้แก่ สัตว์
ผู้เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร์ คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดาหรือมนุษย์. คำว่า กามนั้น
ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ชอบใจ ซึ่งเรียกว่า วัตถุกาม. คำว่า ย่อมสำเร็จ
มีความว่า ย่อมสำเร็จ สำเร็จโดยชอบ ได้ ได้เฉพาะ ประสบ พบ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า
ถ้ากามนั้น ย่อมสำเร็จแก่สัตว์นั้น.
             [๔] คำว่า ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่นอน มีความว่า คำว่า แน่นอน เป็นคำกล่าวโดย
ส่วนเดียว เป็นคำกล่าวโดยไม่มีความสงสัย เป็นคำกล่าวโดยไม่มีความเคลือบแคลง เป็นคำกล่าว
ไม่เป็นสองส่วน เป็นคำกล่าวไม่เป็นสองอย่าง เป็นคำกล่าวไม่รวมกัน เป็นคำกล่าวไม่ผิด คำว่า
แน่นอนนี้ เป็นคำกล่าวกำหนดแน่. คำว่า อิ่ม คือ ความอิ่ม ความปราโมทย์ ความเบิกบาน
ความบันเทิง ความร่าเริง ความรื่นเริง ความปลื้มใจ ความยินดี ความชื่นใจ ความชอบใจ
ความเต็มใจ ที่ประกอบพร้อมเฉพาะด้วยกามคุณ ๕. คำว่า ใจ คือ จิต มนะ มานัส หทัย
บัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ ที่เกิดแต่
ผัสสะเป็นต้นนั้น นี้เรียกว่า ใจ. ใจนี้สหรคต คือ เกิดร่วม เกี่ยวข้อง ประกอบ เกิดพร้อมกัน
ดับพร้อมกัน มีวัตถุอย่างเดียวกัน มีอารมณ์อันเดียวกัน กับด้วยความอิ่มนี้. คำว่า ย่อมเป็น
ผู้อิ่มใจ คือเป็นผู้มีใจยินดี มีใจร่าเริง มีใจเบิกบาน มีใจดี มีใจสูง มีใจปลาบปลื้ม เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่า ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่นอน.
             [๕] คำว่า สัตว์นั้นได้กามตามปรารถนาแล้ว มีความว่า คำว่า ได้ คือ ได้ ได้แล้ว
ได้เฉพาะ ประสบ พบ. คำว่า สัตว์ คือ สัตว์ นระ มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด
สัตว์เกิด ผู้มีกรรม มนุษย์. คำว่า ตามปรารถนา คือ รูป เสียง กลิ่น รส หรือโผฏฐัพพะ
ตามปรารถนา ยินดี ประสงค์ มุ่งหมาย ชอบใจ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สัตว์นั้นได้กามตาม
ปรารถนาแล้ว. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
                          เมื่อสัตว์ปรารถนากามอยู่ ถ้ากามนั้น  ย่อมสำเร็จแก่สัตว์นั้น สัตว์นั้นได้
                          กามตามปรารถนาแล้ว ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่นอน.
             [๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
                          เมื่อสัตว์นั้นปรารถนากามอยู่ เมื่อสัตว์มีฉันทะเกิดแล้ว ถ้ากามเหล่านั้น
                          เสื่อมไป สัตว์นั้น ย่อมกระสับกระส่าย เหมือนสัตว์ที่ถูกลูกศรแทง
                          เข้าแล้ว.
             [๗] คำว่า เมื่อสัตว์นั้นปรารถนากามอยู่ มีความว่า  คำว่า เมื่อสัตว์นั้น ได้แก่ สัตว์
ผู้เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร์ คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือมนุษย์. คำว่า
ปรารถนากามอยู่ คือ เมื่อใคร่ อยากได้ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย ชอบใจ. อีกอย่างหนึ่ง
สัตว์ย่อมไป ออกไป ลอยไป แล่นไป เพราะกามตัณหา เปรียบเหมือนมนุษย์ย่อมไป ออกไป
ลอยไป แล่นไปด้วยยานช้างบ้าง ยานม้าบ้าง ยานโคบ้าง ยานแพะบ้าง ยานแกะบ้าง ยานอูฐบ้าง
ยานลาบ้าง ฉันใด สัตว์ย่อมไป ออกไป ลอยไป แล่นไป เพราะกามตัณหา ฉันนั้น เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่า เมื่อสัตว์นั้นปรารถนากามอยู่.
             [๘] คำว่า เมื่อสัตว์มีฉันทะเกิดแล้ว ความว่า คำว่า ฉันทะ ได้แก่ ความพอใจในกาม
ความกำหนัดในกาม ความเพลินในกาม ความอยากในกาม ความเสน่หาในกาม ความเร่าร้อน
ในกาม ความหลงในกาม ความติดใจในกาม ห้วงคือกาม ความประกอบคือกาม ความยึดถือ
ในกาม เครื่องกั้นกางคือกามฉันทะ ความพอใจในกามนั้น เกิดแล้ว เกิดพร้อม เกิดขึ้น
เกิดเฉพาะ ปรากฏแล้วแก่สัตว์นั้น. คำว่า สัตว์ คือ สัตว์ นระ มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต
ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้มีกรรม มนุษย์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อสัตว์มีฉันทะเกิดแล้ว.
             [๙] คำว่า ถ้ากามเหล่านั้นเสื่อมไป มีความว่า กามเหล่านั้นเสื่อมไปบ้าง สัตว์นั้น
เสื่อมจากกามทั้งหลายบ้าง.
             กามเหล่านั้นเสื่อมไปอย่างไร? เมื่อสัตว์นั้น ดำรงอยู่นั่นแหละ โภคะเหล่านั้น ถูก
พระราชาริบไปบ้าง ถูกโจรลักไปบ้าง ถูกไฟไหม้บ้าง ถูกน้ำพัดไปบ้าง ถูกพวกญาติผู้ไม่เป็นที่
ชอบใจนำไปบ้าง สัตว์นั้นไม่พบโภคทรัพย์ที่เก็บฝังไว้บ้าง การงานที่ประกอบไม่ดีเสียไปบ้าง
คนผลาญสกุล ผู้แจกจ่ายกระจัดกระจายทำลายโภคะเหล่านั้นย่อมเกิดในสกุลบ้าง ความเป็นของ
ไม่เที่ยงแห่งโภคะเป็นที่แปด กามเหล่านั้นย่อมเสื่อม เสียหาย กระจัดกระจาย รั่วไหล อันตรธาน
สูญหายไปอย่างนี้.
             สัตว์นั้นย่อมเสื่อมจากกามทั้งหลายอย่างไร? โภคะเหล่านั้น ยังตั้งอยู่นั้นแหละ สัตว์
นั้นย่อมเคลื่อน ตาย อันตรธาน สูญหายไปจากโภคะเหล่านั้น สัตว์นั้นย่อมเสื่อม เสียหาย
กระจัดกระจาย รั่วไหล อันตรธาน สูญหายไปจากกามทั้งหลายอย่างนี้
             สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
                          โภคทรัพย์ทั้งหลาย ถูกโจรลักไป ถูกพระราชาริบไป ถูกไฟไหม้ เสียหาย
                          อนึ่ง บุคคลผู้เป็นเจ้าของย่อมละทิ้งสรีรกาย กับทั้งข้าวของ เพราะ
                          ความตาย นักปราชญ์ทราบเหตุนี้แล้ว พึงใช้สอยบ้าง พึงให้ทานบ้าง
                          ครั้นให้ทาน และใช้สอยตามสมควรแล้ว เป็นผู้ไม่ถูกติเตียน ย่อมเข้า
                          ถึงสถาน คือ สวรรค์.
             เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กามเหล่านั้นย่อมเสื่อมไป.
             [๑๐] คำว่า สัตว์นั้นย่อมกระสับกระส่าย เหมือนสัตว์ที่ถูกลูกศรแทงเข้าแล้ว มี
ความว่า สัตว์ผู้ถูกลูกศรที่ทำด้วยเหล็กแทงเข้าแล้วบ้าง ผู้ถูกลูกศรที่ทำด้วยกระดูกแทงเข้าแล้วบ้าง
ผู้ถูกลูกศรที่ทำด้วยงาแทงเข้าแล้วบ้าง ผู้ถูกลูกศรที่ทำด้วยเขาแทงเข้าแล้วบ้าง ผู้ถูกลูกศร
ที่ทำด้วยไม้แทงเข้าแล้วบ้าง ย่อมกระสับกระส่าย หวั่นไหว ดิ้นรน จุกเสียด เจ็บตัว เจ็บใจ
ฉันใด ความโศกรำพัน เจ็บกาย เจ็บใจ และคับแค้นใจ ย่อมเกิดขึ้นเพราะวัตถุกามทั้งหลาย
แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป สัตว์นั้นถูกลูกศรคือกามแทงเข้าแล้ว ย่อมกระสับกระส่ายหวั่นไหว
ดิ้นรน จุกเสียด เจ็บกาย เจ็บใจ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สัตว์นั้นย่อม
กระสับกระส่าย เหมือนสัตว์ที่ถูกลูกศรแทงเข้าแล้ว. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
                          เมื่อสัตว์นั้นปรารถนากามอยู่ เมื่อสัตว์มีฉันทะเกิดขึ้น ถ้ากามเหล่านั้น
                          เสื่อมไป สัตว์นั้นย่อมกระสับกระส่าย เหมือนสัตว์ที่ถูกลูกศรแทงเข้าแล้ว.
             [๑๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
                          ผู้ใด ย่อมเว้นขาดกามทั้งหลาย เหมือนบุคคลเว้นขาดหัวงูด้วยเท้า ผู้นั้น
                          เป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้.


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 16, 2014, 09:24:20 PM
ว่าด้วยการเว้นขาดกามด้วยเหตุ ๒ ประการ
             [๑๒] คำว่า ผู้ใด ย่อมเว้นขาดกามทั้งหลาย มีความว่า คำว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ผู้
ประกอบอย่างใด ผู้ชนิดอย่างใด ผู้มีประการอย่างใด ผู้ถึงฐานะใด ผู้ประกอบด้วยธรรมใด เป็น
กษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร์ เป็นคฤหัสถ์ เป็นบรรพชิต เป็นเทวดา หรือเป็น
มนุษย์. กาม ในคำว่า ย่อมเว้นขาดกามทั้งหลาย ได้แก่ กาม ๒ อย่าง โดยหัวข้อ คือ วัตถุกาม ๑
กิเลสกาม ๑ วัตถุกามเป็นไฉน? รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ชอบใจ ฯลฯ
กามเหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ กามเหล่านี้ เรียกว่า กิเลสกาม. คำว่า ย่อมเว้นขาดกาม
คือ ย่อมเว้นขาดกาม โดยเหตุ ๒ ประการ คือ โดยการข่มไว้อย่าง ๑ โดยการตัดขาดอย่าง ๑.
             ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้อย่างไร? บุคคลผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยโครง
กระดูก เพราะอรรถว่าเป็นของมีความยินดีน้อย ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่า
กามทั้งหลายเปรียบด้วยชิ้นเนื้อ เพราะอรรถว่าเป็นของสาธารณ์แก่ชนหมู่มาก ย่อมเว้นขาดกามโดย
การข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยคบเพลิง เพราะอรรถว่าเป็นของตามเผา ย่อมเว้น
ขาดกามโดยการข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง เพราะอรรถว่าเป็น
ของให้เร่าร้อนมาก ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยความฝัน
เพราะอรรถว่าเป็นของปรากฏชั่วเวลาน้อย ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่ากามทั้งหลาย
เปรียบด้วยของขอยืม เพราะอรรถว่า เป็นของเป็นไปชั่วกาลที่กำหนด ย่อมเว้นขาดกาม
โดยการข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยต้นไม้มีผลดก เพราะอรรถว่าเป็นของให้กิ่ง
หักและให้ต้นล้ม ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยดาบและ
มีด เพราะอรรถว่าเป็นของฟัน ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบ
ด้วยหอกหลาว เพราะอรรถว่าเป็นของทิ่มแทง ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่า
กามทั้งหลายเปรียบด้วยหัวงู เพราะอรรถว่าเป็นของน่าสะพึงกลัว ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้
ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยกองไฟ เพราะอรรถว่าเป็นดังไฟกองใหญ่ให้เร่าร้อน ย่อม
เว้นขาดกามโดยการข่มไว้ แม้ผู้เจริญพุทธานุสสติ ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ แม้ผู้เจริญ
ธัมมานุสสติ ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ แม้ผู้เจริญสังฆานุสสติ ...  แม้ผู้เจริญสีลานุสสติ ...
แม้ผู้เจริญจาคานุสสติ ... แม้ผู้เจริญเทวตานุสสติ ... แม้ผู้เจริญอานาปานัสสติ ... แม้ผู้เจริญ
มรณานุสสติ ... แม้ผู้เจริญกายคตาสติ ... แม้ผู้เจริญอุปสมานุสสติ ... แม้ผู้เจริญปฐมฌาน ... แม้ผู้
เจริญทุติยฌาน ...  แม้ผู้เจริญตติยฌาน ... แม้ผู้เจริญจตุตถฌาน ... แม้ผู้เจริญอากาสานัญจายตน
สมาบัติ ... แม้ผู้เจริญวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ... แม้ผู้เจริญอากิญจัญญายตนสมาบัติ ... แม้ผู้
เจริญเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้. ย่อมเว้นขาดกามโดย
การข่มไว้อย่างนี้.
             ย่อมเว้นขาดกามโดยการตัดขาดอย่างไร? แม้บุคคลผู้เจริญโสดาปัตติมรรค ย่อมเว้น
ขาดกามอันให้ไปสู่อบายโดยการตัดขาด แม้บุคคลผู้เจริญสกทาคามิมรรค ย่อมเว้นขาดกามส่วน
หยาบโดยการตัดขาด แม้บุคคลผู้เจริญอนาคามิมรรค  ย่อมเว้นขาดกามอันเป็นส่วนละเอียดโดย
การตัดขาด แม้บุคคลผู้เจริญอรหัตมรรค ย่อมเว้นขาดกามโดยอาการทั้งปวง โดยประการทั้งปวง
หมดสิ้น มิได้มีส่วนเหลือ โดยการตัดขาด. ย่อมเว้นขาดกามโดยการตัดขาดอย่างนี้ เพราะ
ฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้ใดย่อม เว้นขาดกามทั้งหลาย.
             [๑๓] คำว่า เหมือนบุคคลเว้นขาดหัวงูด้วยเท้า มีความว่า งูเรียกว่าสัปปะ. เพราะ
อรรถว่าอะไร งูจึงเรียกว่าสัปปะ. เพราะอรรถว่าเสือกไป งูจึงเรียกว่าสัปปะ. เพราะอรรถว่า
ขนดไป งูจึงเรียกว่าภุชคะ.  เพราะอรรถว่าไปด้วยอก งูจึงเรียกว่าอุรคะ. เพราะอรรถว่ามีหัวตก
ไป งูจึงเรียกปันนคะ เพราะอรรถว่านอนด้วยหัว งูจึงเรียกว่าสิริสปะ. เพราะอรรถว่านอนในรู
งูจึงเรียกว่าวิลาสยะ. เพราะอรรถว่านอนในถ้ำ งูจึงเรียกว่าคุหาสยะ. เพราะอรรถว่ามีเขี้ยวเป็น
อาวุธ งูจึงเรียกว่าทาฒาวุธ. เพราะอรรถว่ามีพิษร้ายแรง งูจึงเรียกว่าโฆรวิสะ. เพราะอรรถว่ามี
ลิ้นสองแฉก งูจึงเรียกว่าทุชิวหา. เพราะอรรถว่าลิ้มรสด้วยลิ้นสองแฉก งูจึงเรียกว่าทิรสัญญู.
บุรุษผู้ใคร่ต่อชีวิต ไม่อยากตาย อยากได้สุข เกลียดทุกข์ พึงเว้น หลีก เลี้ยว อ้อมหนี
หัวงูด้วยเท้า ฉันใด บุคคลผู้รักสุข เกลียดทุกข์ พึงเว้น หลีกเลี่ยง อ้อมหนีกามทั้งหลาย ฉันนั้น
เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหมือนบุคคลเว้นขาดหัวงูด้วยเท้า.
             [๑๔] คำว่า ผู้นั้น เป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้ มี
ความว่า คำว่า ผู้นั้น คือ ผู้เว้นขาดกามทั้งหลาย. ตัณหาเรียกว่า วิสัตติกา ได้แก่ ความกำหนัด
ความกำหนัดกล้า ความพอใจ ความชอบใจ ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วยสามารถแห่ง
ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดกล้าแห่งจิต ความปรารถนา ความหลง ความติดใจ ความยินดี
ความยินดีทั่วไป ความข้อง ความติดพัน ความแสวงหา ความลวง ความให้สัตว์เกิด ความ
ให้สัตว์เกี่ยวกับทุกข์ ความเย็บไว้ ความเป็นดังว่าข่าย ความเป็นดังว่ากระแสน้ำ ความซ่านไป
ในอารมณ์ต่างๆ ความเป็นดังว่าเส้นด้าย ความกระจายไป ความให้อายุเสื่อมไป ความเป็น
เพื่อน ความตั้งมั่น เครื่องนำไปสู่ภพ ความติดอารมณ์ ความตั้งอยู่ในอารมณ์ ความสนิท
ความรัก ความเพ่งเล็ง ความผูกพัน ความหวัง ความจำนง ความประสงค์ ความหวังในรูป
ความหวังในเสียง ความหวังในกลิ่น ความหวังในรส ความหวังในโผฏฐัพพะ ความหวังใน
ลาภ ความหวังในทรัพย์ ความหวังในบุตร ความหวังในชีวิต ความปรารถนา ความให้สัตว์
ปรารถนา ความที่จิตปรารถนา ความเหนี่ยวรั้ง ความให้สัตว์เหนี่ยวรั้ง ความที่จิตเหนี่ยวรั้ง
ความหวั่นไหว อาการแห่งความหวั่นไหว ความพรั่งพร้อมด้วยความหวั่นไหว ความกำเริบ
ความใคร่ดี ความกำหนัดในที่ผิดธรรม ความโลภไม่เสมอ ความใคร่ อาการแห่งความใคร่
ความมุ่งหมาย ความปอง ความปรารถนาดี กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหาในรูปภพ
ตัณหาในอรูปภพ ตัณหาในนิโรธ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพ-
*ตัณหา ธัมมตัณหา โอฆะ โยคะ คันถะ อุปาทาน ความกั้น ความปิด ความบัง ความผูก
ความเข้าไปเศร้าหมอง ความนอนเนื่อง ความกลุ้มรุมจิต ความเป็นดังว่าเถาวัลย์ ความปรารถนา
วัตถุต่างๆ รากเหง้าแห่งทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ แดนเกิดแห่งทุกข์ บ่วงมาร เบ็ดมาร วิสัยมาร
แม่น้ำตัณหา ข่ายตัณหา โซ่ตัณหา สมุทรตัณหา อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล เรียกว่า วิสัตติกา.
             คำว่า วิสัตติกา ความว่า เพราะอรรถว่าอะไร ตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา. [อันซ่านไป
ในอารมณ์ต่างๆ] เพราะอรรถว่า ซ่านไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าแผ่ไป ตัณหา
จึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าแล่นไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าครอบงำ ตัณหา
จึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าสะท้อนไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้
พูดผิด ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่ามีมูลรากเป็นพิษ ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะ
อรรถว่ามีผลเป็นพิษ ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าเปรียบด้วยเครื่องบริโภคเป็นพิษ
ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. อีกนัยหนึ่ง ตัณหานั้นแผ่ไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สกุล
คณะ ที่อยู่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ กามภพ รูปภพ สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ
เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ ในอดีต ในอนาคต ในปัจจุบัน แล่นไป ซ่านไป
ในรูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ได้ยินแล้ว กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ทราบแล้ว และในธรรมที่พึงรู้แจ้ง
ตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา.
             คำว่า ในโลก คือ อบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก.
             คำว่า เป็นผู้มีสติ ได้แก่เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่าง คือ เมื่อเจริญกายานุปัสสนา
สติปัฏฐานในกาย ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เมื่อเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานในเวทนาทั้งหลาย
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เมื่อเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานในจิต ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เมื่อเจริญ
ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานในธรรมทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ. เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔
อย่างแม้อื่นอีก คือ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเว้นจากความเป็นผู้ไม่มีสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะ
เป็นผู้กระทำธรรมทั้งหลายที่ควรทำด้วยสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้กำจัดธรรมทั้งหลายที่เป็น
ข้าศึกต่อสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ไม่หลงลืมธรรมทั้งหลายที่เป็นนิมิตแห่งสติ. เป็น
ผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่างแม้อื่นอีก คือ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยสติ ชื่อว่า
เป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้อยู่ด้วยสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้คล่องแคล่วด้วยสติ ชื่อว่า
เป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ไม่หวนกลับจากสติ. เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่างแม้อื่นอีก คือ ชื่อว่า
เป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ระลึกได้ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้สงบ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็น
ผู้ระงับ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ. ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะ
พุทธานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะธรรมานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะสังฆานุสสติ ชื่อว่า
เป็นผู้มีสติ เพราะสีลานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะจาคานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะ
เทวตานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะอานาปานัสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะมรณานุสสติ
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะกายคตาสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะอุปสมานุสสติ. ความระลึก ความ
ระลึกถึง ความระลึกเฉพาะ ความระลึก กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย ความ
ไม่หลงลืม สติ สตินทรีย์ สติพละ สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ เอกายนมรรค ธรรมนี้ เรียก
ว่า สติ. บุคคลเป็นผู้เข้าใกล้ เข้าชิด เข้าถึง เข้าถึงพร้อม เข้าไปถึง เข้าไปถึงพร้อม ประกอบ
ด้วยสตินี้ บุคคลนั้นเรียกว่า มีสติ.
             คำว่า ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้ มีความว่า
เป็นผู้มีสติ ย่อมข้าม ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลย ตัณหาชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลก เพราะ
ฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้ เพราะ
เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
                          ผู้ใด ย่อมเว้นขาดกามทั้งหลาย เหมือนบุคคลเว้นขาดหัวงูด้วยเท้า ผู้นั้น
                          เป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้.
             [๑๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
                          นรชนใด ย่อมปรารถนาไร่นา ที่ดิน เงิน โค ม้า ทาส คนภายใน
                          สตรี พวกพ้อง กามเป็นอันมาก.
             [๑๖] คำว่า ไร่นา ที่ดิน เงิน มีความว่า ไร่นา คือ ไร่ข้าวสาลี ไร่ข้าวจ้าว ไร่ถั่ว
เขียว ไร่ถั่วราชมาส ไร่ข้าวเหนียว ไร่ข้าวละมาน ไร่งา. คำว่า ที่ดิน คือ ที่เรือน ที่ฉาง ที่
หน้าเรือน ที่หลังเรือน ที่สวน ที่อยู่. คำว่า เงิน คือ กหาปณะ เรียกว่า เงิน เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่า ไร่นา ที่ดิน เงิน.


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 16, 2014, 09:24:53 PM
ว่าด้วยทาส ๔ จำพวก
             [๑๗] คำว่า โค ม้า ทาส คนภายใน มีความว่า โคทั้งหลายเรียกว่า โค. ปสุสัตว์
เป็นต้นเรียกว่า ม้า. คำว่า ทาส ได้แก่ ทาส ๔ จำพวก คือ ทาสที่เกิดภายใน ๑ ทาสที่ซื้อ
มาด้วยทรัพย์ ๑ ผู้ที่สมัครเข้าถึงความเป็นทาสเอง ๑ เชลยผู้ที่เข้าถึงความเป็นทาส ๑.
             สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
                          คนบางพวกเป็นทาสโดยกำเนิดบ้าง คนบางพวกเป็นทาสที่เขาซื้อมาด้วย
                          ทรัพย์บ้าง คนบางพวกสมัครเข้าเป็นทาสเองบ้าง คนบางพวกเป็นทาส
                          เพราะตกเป็นเชลยบ้าง.
             คำว่า คนภายใน ได้แก่ บุรุษ ๓ จำพวก คือ คนรับจ้าง ๑ กรรมกร ๑ พวกอยู่อาศัย ๑
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า โค ม้า ทาส คนภายใน.
             [๑๘] คำว่า สตรี พวกพ้อง กามเป็นอันมาก มีความว่า สตรีที่มีเจ้าของ เรียกว่า
สตรี. คำว่า พวกพ้อง ได้แก่ พวกพ้อง ๔ จำพวก คือ พวกพ้องโดยเป็นญาติ ชื่อว่าพวกพ้อง ๑
พวกพ้องโดยโคตร ชื่อว่าพวกพ้อง ๑ พวกพ้องโดยการเรียนมนต์ ชื่อว่าพวกพ้อง ๑ พวกพ้อง
โดยการเรียนศิลปะ ชื่อว่าพวกพ้อง ๑. คำว่า กามเป็นอันมาก คือ กามมาก. กามมากเหล่านี้
ได้แก่ รูปที่ชอบใจ เสียงที่ชอบใจ กลิ่นที่ชอบใจ รสที่ชอบใจ โผฏฐัพพะที่ชอบใจ เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่า สตรี พวกพ้อง กามเป็นอันมาก.
             [๑๙] คำว่า นรชนใด ย่อมปรารถนา มีความว่า คำว่า ใด คือ เช่นใด ประกอบ
อย่างใด จัดแจงอย่างใด มีประการอย่างใด ถึงฐานะอย่างใด ประกอบด้วยธรรมใด คือ เป็น
กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร์ คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือเป็นมนุษย์ คำว่า นรชน
คือ สัตว์ นระ มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้มีกรรม มนุษย์. คำว่า ย่อม
ปรารถนา คือ ย่อมปรารถนา ย่อมตามปรารถนา ย่อมปรารถนาทั่วไป ย่อมติดพัน ในวัตถุกาม
ทั้งหลาย ด้วยกิเลสกาม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นรชนใด ย่อมปรารถนา เพราะเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
                          นรชนใด ย่อมปรารถนา ไร่นา ที่ดิน เงิน โค ม้า ทาส คนภายใน
                          สตรี พวกพ้อง กามเป็นอันมาก.
             [๒๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
                          เหล่ากิเลสอันไม่มีกำลัง ย่อมครอบงำนรชนนั้น เหล่าอันตราย ย่อมย่ำยี
                          นรชนนั้น เพราะอันตรายนั้น ทุกข์ย่อมติดตามนรชนนั้นไป เหมือน
                          น้ำไหลเข้าสู่เรือที่แตกแล้ว ฉะนั้น.
             [๒๑] คำว่า เหล่ากิเลสอันไม่มีกำลัง ย่อมครอบงำนรชนนั้น มีความว่า คำว่า ไม่
มีกำลัง คือ กิเลสอันไม่มีกำลัง คือ ทุรพล มีกำลังน้อย มีเรี่ยวแรงน้อย เลว ทราม เสื่อม
ตกต่ำ ลามก มีอัธยาศัยเลว เล็กน้อย กิเลสเหล่านั้น ย่อมครอบงำ ปราบปราม กดขี่ ท่วมทับ
กำจัด ย่ำยีบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหล่ากิเลสอันไม่มีกำลัง ย่อมครอบงำ นรชนนั้น
แม้ด้วยประการอย่างนี้. อีกนัยหนึ่ง สัทธาพละ วิริยพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ
หิริพละ โอตตัปปพละ ไม่มีแก่บุคคลใด กิเลสเหล่านั้น ย่อมครอบงำ ปราบปราม กดขี่
ท่วมทับ กำจัด ย่ำยีบุคคลนั้น ผู้ไม่มีกำลัง มีกำลังทราม มีกำลังน้อย มีเรี่ยวแรงน้อย เลว
ทราม เสื่อม ตกต่ำ ลามก มีอัธยาศัยเลว เล็กน้อย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหล่ากิเลสอัน
ไม่มีกำลังย่อมครอบงำนรชนนั้น แม้ด้วยประการอย่างนี้.
ว่าด้วยอันตราย ๒ อย่าง
             [๒๒] คำว่า เหล่าอันตรายย่อมย่ำยีนรชนนั้น มีความว่า อันตราย ได้แก่ อันตราย ๒
อย่าง คือ อันตรายที่ปรากฏ ๑ อันตรายที่ปกปิด ๑.
             อันตรายที่ปรากฏเป็นไฉน? คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว
หมาป่า โค กระบือ ช้าง งู แมลงป่อง ตะขาบ โจร คนที่ทำกรรมชั่ว คนที่เตรียมจะทำ
กรรมชั่ว และโรคทางจักษุ โรคทางโสต โรคทางฆานะ โรคทางชิวหา โรคทางกาย โรคทาง
ศีรษะ โรคทางหู โรคทางปาก โรคทางฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้
เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรค-
*ขี้กลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราดหูด โรคละลอก
โรคคุดทะราดบวม โรคอาเจียนโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง
อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธสันนิบาต
อาพาธเกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธเกิดแต่ความเพียรเกิน
กำลัง อาพาธเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ
ปวดปัสสาวะ ความสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลาน อันตรายเหล่านี้
เรียกว่า อันตรายที่ปรากฏ.
             อันตรายที่ปกปิดเป็นไฉน? คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต กามฉันทนิวรณ์
พยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ ราคะ โทสะ โมหะ ความ
โกรธ ผูกโกรธไว้ ลบลู่คุณท่าน ตีเสมอ ริษยา ตระหนี่ มายา โอ้อวด หัวดื้อ แข่งดี ถือตัว
ดูหมิ่นท่าน มัวเมา ประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความ
เร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อภิสังขาร คือ อกุศลธรรมทั้งปวง อันตรายเหล่านี้ เรียกว่า
อันตรายที่ปกปิด.
             ที่ชื่อว่า อันตราย เพราะอรรถว่ากระไร จึงชื่อว่าอันตราย. เพราะอรรถว่าครอบงำ
จึงชื่อว่าอันตราย. เพราะอรรถว่าเป็นไปเพื่อความเสื่อม จึงชื่อว่าอันตราย. เพราะว่าอรรถเป็น
ที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงชื่อว่าอันตราย. เพราะอรรถว่า ครอบงำอย่างไร? จึงชื่อว่า
อันตราย อันตรายเหล่านั้น ย่อมครอบงำ ปราบปราม กดขี่ ท่วมทับ กำจัด ย่ำยีบุคคลนั้น เพราะ
อรรถว่าครอบงำ จึงชื่อว่าอันตราย อย่างนี้.
             เพราะอรรถว่าเป็นไปเพื่อความเสื่อมอย่างไร? จึงชื่อว่าอันตราย อันตรายเหล่านั้น ย่อม
เป็นไปเพื่อความเสื่อม เพื่ออันตรธานไปแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย. อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็น
ไปเพื่อความเสื่อม เพื่ออันตรธานไปแห่งกุศลธรรมเหล่าไหน? อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไป
เพื่อความเสื่อม เพื่ออันตรธานไปแห่งกุศลธรรมเหล่านี้ คือ ความปฏิบัติชอบ ความปฏิบัติสมควร
ความปฏิบัติไม่เป็นข้าศึก ความปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์ ความปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ความทำให้บริบูรณ์ในศีล ความเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองในอินทรีย์ ความเป็นผู้รู้จักประมาณใน
โภชนะ ความประกอบเนืองๆ ในความเป็นผู้ตื่น สติสัมปชัญญะ ความประกอบเนืองๆ ใน
อันเจริญสติปัฏฐาน ๔ ความประกอบเนืองๆ ในอันเจริญสัมมัปปธาน ๔ ความประกอบเนืองๆ
ในอันเจริญอิทธิบาท ๔ ความประกอบเนืองๆ ในอันเจริญอินทรีย์ ๕ ความประกอบเนืองๆ
ในอันเจริญพละ ๕ ความประกอบเนืองๆ ในอันเจริญโพชฌงค์ ๗ ความประกอบเนืองๆ ในอัน
เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม เพื่ออันตรธานไปแห่ง
กุศลธรรมเหล่านี้. เพราะอรรถว่า เป็นไปเพื่อความเสื่อมอย่างนี้ จึงชื่อว่า อันตราย.
             เพราะอรรถว่าเป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย อย่างไร? จึงชื่อว่าอันตราย อกุศล
ธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นในอัตภาพนั้น ย่อมเป็นธรรมอยู่อาศัยในอัตภาพ เปรียบ
เหมือนเหล่าสัตว์ที่อาศัยรู ย่อมอยู่ในรู ที่อาศัยน้ำ ย่อมอยู่ในน้ำ ที่อาศัยป่า ย่อมอยู่ในป่า ที่
อาศัยต้นไม้ ย่อมอยู่ที่ต้นไม้ ฉันใด อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นในอัตภาพนั้น ย่อม
เป็นธรรมอยู่อาศัยในอัตภาพ ฉันนั้น เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลายอย่างนี้ จึง
ชื่อว่าอันตราย.
             สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ร่วมกับกิเลสอันอยู่อาศัยในภายใน ผู้อยู่ร่วมกับกิเลสที่
ฟุ้งซ่าน ย่อมอยู่ลำบาก ไม่ผาสุก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้อยู่ร่วมกับกิเลสอันอยู่อาศัยในภายใน
ผู้อยู่ร่วมกับกิเลสที่ฟุ้งซ่าน ย่อมอยู่ลำบาก ไม่ผาสุกอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรมอัน
ลามก มีความดำริอันซ่านไปในอารมณ์อันเกื้อกูลแก่สัญโญชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมอยู่ซ่านไปในภายในแห่งภิกษุนั้น
เพราะเหตุดังนี้นั้น ภิกษุนั้นจึงเรียกว่า ผู้อยู่ร่วมกับกิเลสอันอยู่อาศัยในภายใน อกุศลธรรมอัน
ลามกเหล่านั้นย่อมกลุ้มรุมภิกษุนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ภิกษุนั้นจึงเรียกว่า ผู้อยู่ร่วมกับกิเลส
ที่ฟุ้งซ่าน อีกประการหนึ่ง อกุศลธรรมอันลามก มีความดำริอันซ่านไปในอารมณ์อันเกื้อกูลแก่
สัญโญชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุ เพราะได้ยินเสียงด้วยโสต ... เพราะสูดกลิ่นด้วยฆานะ ... เพราะ
ลิ้มรสด้วยชิวหา ... เพราะถูกต้องโผฏฐัพพพะด้วยกาย ... เพราะรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ อกุศล
ธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมอยู่ซ่านไปในภายในแห่งภิกษุนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ภิกษุนั้นจึง
เรียกว่า ผู้อยู่ร่วมกับกิเลสอันอยู่อาศัยในภายใน อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมกลุ้มรุม
ภิกษุนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ภิกษุนั้นจึงเรียกว่า อยู่ร่วมกับกิเลสที่ฟุ้งซ่าน ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุผู้อยู่ร่วมกับกิเลสอันอยู่อาศัยในภายใน ผู้อยู่ร่วมกับกิเลสที่ฟุ้งซ่าน ย่อมอยู่ลำบาก ไม่ผาสุก
อย่างนี้แล.


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 16, 2014, 09:25:12 PM
             เพราะฉะนั้น เพราะอรรถว่าเป็นที่อยู่แห่งกุศลธรรมทั้งหลายอย่างนี้ จึงชื่อว่า อันตราย.
             สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการเหล่านี้ เป็น
มลทินในภายใน เป็นอมิตรในภายใน เป็นข้าศึกในภายใน เป็นเพชฌฆาตในภายใน เป็นศัตรู
ในภายใน ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน? คือ โลภะ เป็นมลทินในภายใน เป็นอมิตรในภายใน
เป็นข้าศึกในภายใน เป็นเพชฌฆาตในภายใน เป็นศัตรูในภายใน โทสะ เป็นมลทินในภายใน
เป็นอมิตรในภายใน เป็นข้าศึกในภายใน เป็นเพชฌฆาตในภายใน เป็นศัตรูในภายในโมหะ
เป็นมลทินในภายใน เป็นอมิตรในภายใน เป็นข้าศึกในภายใน เป็นเพชฌฆาตในภายใน
เป็นศัตรูในภายใน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล เป็นมลทินในภายใน เป็นอมิตร
ในภายใน เป็นข้าศึกในภายใน เป็นเพชฌฆาตในภายใน เป็นศัตรูในภายใน.
             พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า-
                          โลภะ ยังสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ให้เกิด โลภะ ยังจิตให้ให้กำเริบ โลภะ
                          เป็นภัยเกิดขึ้นในภายใน พาลชน ย่อมไม่รู้สึกภัยนั้น คนผู้โลภแล้ว
                          ย่อมไม่รู้อรรถ คนผู้โลภแล้ว ย่อมไม่เห็นธรรม เมื่อใด ความโลภ
                          ครอบงำนรชน เมื่อนั้น นรชนนั้น ย่อมมีความมืดตื้อ โทสะ ยังสิ่งที่ไม่
                          เป็นประโยชน์ให้เกิด โทสะ ยังจิตให้กำเริบ โทสะ เป็นภัยเกิดขึ้นใน
                          ภายใน พาลชน ย่อมไม่รู้สึกภัยนั้น คนผู้โกรธแล้วย่อมไม่รู้อรรถ คนผู้
                          โกรธแล้ว ย่อมไม่เห็นธรรม เมื่อใด ความโกรธครอบงำนรชน เมื่อนั้น
                          นรชนนั้น ย่อมมีความมืดตื้อ โมหะ ยังสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ให้เกิด
                          โมหะยังจิตให้กำเริบ โมหะ เป็นภัยเกิดขึ้นในภายใน พาลชน ย่อมไม่
                          รู้สึกภัยนั้น คนผู้หลงแล้ว ย่อมไม่รู้อรรถ คนผู้หลงแล้ว ย่อมไม่เห็นธรรม
                          เมื่อใด ความหลงครอบงำนรชน เมื่อนั้น นรชนนั้น ย่อมมีความมืดตื้อ.
             เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลายอย่างนี้. จึงชื่อว่า อันตราย
             สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูกรมหาบพิตร ธรรม ๓ ประการแล เมื่อเกิด
ขึ้นในภายในแห่งบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน? คือ โลภะ เมื่อเกิดขึ้นในกายในแห่งบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่
ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก โทสะ เมื่อเกิดขึ้นในภายในแห่งบุรุษ ย่อม
เกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก โมหะ เมื่อเกิดขึ้นในภายใน
แห่งบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก ดูกรมหาบพิตร
ธรรม ๓ ประการนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในภายในแห่งบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก.
             พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา  ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
                          โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นในตน ย่อมกำจัดบุรุษผู้มีจิตลามก
                          เหมือนขุยไผ่กำจัดไม้ไผ่ ฉะนั้น.
             เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลายอย่างนี้. จึงชื่อว่า อันตราย
             สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
                          ราคะ และโทสะ มีอัตภาพนี้เป็นเหตุ เกิดแต่อัตภาพนี้ ไม่ยินดีกุศล
                          ยินดีแต่กามคุณ ทำให้ขนลุก บาปวิตกในใจ ตั้งขึ้นแต่อัตภาพนี้แล้ว
                          ผูกจิตไว้ เหมือนพวกเด็กผูกกาที่ข้อเท้าไว้ ฉะนั้น.
             เพราะอรรถว่าเป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลายอย่างนี้. จึงชื่อว่าอันตราย
             คำว่า เหล่าอันตราย ย่อมย่ำยีนรชนนั้น มีความว่า อันตรายเหล่านั้น ย่อมครอบงำ
ปราบปราม กดขี่ ท่วมทับ กำจัด ย่ำยีบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหล่าอันตราย ย่อม
ย่ำยีนรชนนั้น.
             [๒๓] คำว่า เพราะอันตรายนั้น ทุกข์ย่อมติดตามนรชนนั้นไป มีความว่า เพราะ
อันตรายนั้นๆ ทุกข์ย่อมติดตาม ตามไป ไปตามบุคคลนั้น คือ ชาติทุกข์ ย่อมติดตาม ตามไป
ไปตาม ชราทุกข์ ... พยาธิทุกข์ ... มรณทุกข์ ... ทุกข์ คือ ความโศก ร่ำไร ลำบากกาย ทุกข์ใจ
ความแค้นใจ ... ทุกข์ คือ ความเกิดในนรก ... ทุกข์ คือ ความเกิดในกำเนิดเดียรัจฉาน ... ทุกข์ คือ
ความเกิดในวิสัยเปรต ... ทุกข์ คือ ความเกิดในมนุษย์ ... ทุกข์มีความเกิดในครรภ์เป็นมูล ... ทุกข์
มีความตั้งอยู่ในครรภ์เป็นมูล ... ทุกข์มีความคลอดจากครรภ์เป็นมูล ... ทุกข์ที่ติดตามสัตว์ที่เกิด
แล้ว ... ทุกข์อันเนื่องแต่ผู้อื่นแห่งสัตว์ที่เกิดแล้ว ... ทุกข์อันเกิดแต่ความขวนขวายของตน ...
ทุกข์อันเกิดแต่ความขวนขวายของผู้อื่น ... ทุกข์เกิดแต่ทุกขเวทนา ... ทุกข์เกิดแต่สังขาร ...
ทุกข์เกิดแต่ความแปรปรวน ... โรคทางจักษุ โรคทางโสต โรคทางฆานะ โรคทางชิวหา โรคทาง
กาย โรคทางศีรษะ โรคทางหู โรคทางปาก โรคทางฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ
โรคไข้เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี
โรคขี้กลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราดหูด โรคละลอก
โรคคุดทะราดบวม โรคอาเจียนโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง
อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธสันนิบาต
อาพาธเกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธเกิดแต่บริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธอันเกิดแต่ความเพียรเกิน
กำลัง อาพาธอันเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวด
อุจจาระ ปวดปัสสาวะ ทุกข์เกิดแต่สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลาน ทุกข์
เพราะความตายแห่งมารดา ทุกข์เพราะความตายแห่งบิดา ทุกข์เพราะความตายแห่งพี่ชายและ
น้องชายทุกข์เพราะความตายแห่งพี่สาวและน้องสาว ทุกข์เพราะความตายแห่งบุตร ทุกข์เพราะ
ความตายแห่งธิดา ทุกข์เพราะความฉิบหายแห่งญาติ ทุกข์เพราะความฉิบหายแห่งโภคทรัพย์ ทุกข์
เพราะความฉิบหายอันเกิดแต่โรค ทุกข์เพราะความฉิบหายแห่งศีล ทุกข์เพราะความฉิบหายแห่ง
ทิฏฐิ ย่อมติดตาม ตามไป ไปตามบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะอันตรายนั้น ทุกข์
ย่อมติดตามนรชนนั้นไป.
             [๒๔] คำว่า เหมือนน้ำไหลเข้าสู่เรือที่แตกแล้ว ฉะนั้น มีความว่า น้ำไหลซึมเข้าสู่เรือ
ที่แตกแล้ว คือ น้ำย่อมซึมเข้าไป ตามเข้าไป ไหลเข้าไปแต่ที่นั้นๆ คือ ย่อมซึมเข้าไป ตาม
เข้าไป ไหลเข้าไป ข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง ข้างท้องบ้าง แต่ข้างๆ บ้าง ฉันใด เพราะอันตราย
นั้นๆ ทุกข์ย่อมติดตาม ตามไป ไปตามบุคคลนั้น คือ ชาติทุกข์ ย่อมติดตาม ตามไป ไปตาม ฯลฯ
ทุกข์เพราะความฉิบหายแห่งทิฏฐิ ย่อมติดตาม ตามไป ไปตามบุคคลนั้น ฉะนั้น เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่า เหมือนน้ำไหลเข้าสู่เรือที่แตกแล้ว. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
                          เหล่ากิเลสอันไม่มีกำลัง ย่อมครอบงำนรชนนั้น เหล่าอันตราย ย่อม
                          ย่ำยีนรชนนั้น เพราะอันตรายนั้น ทุกข์ย่อมติดตามนรชนนั้นไป เหมือน
                          น้ำไหลเข้าสู่เรือที่แตกแล้ว ฉะนั้น.


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 16, 2014, 09:25:28 PM
ว่าด้วยผู้มีสติทุกเมื่อ
             [๒๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
                          เพราะเหตุนั้น สัตว์ผู้เกิดมา พึงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พึงเว้นขาดกาม
                          ทั้งหลาย ครั้นเว้นขาดกามเหล่านั้นแล้ว พึงข้ามโอฆะได้ เหมือนบุคคล
                          วิดน้ำในเรือแล้วไปถึงฝั่ง ฉะนั้น.
             [๒๖] คำว่า เพราะเหตุนั้น สัตว์ผู้เกิดมา พึงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ มีความว่า คำว่า
เพราะเหตุนั้น คือ เพราะฉะนั้น เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะนิทาน
นั้น สัตว์ผู้เกิดมา เมื่อเห็นโทษนั้นในกามทั้งหลาย ฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะเหตุนั้น. คำว่า
สัตว์ผู้เกิดมา ได้แก่ สัตว์ นรชน มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้มีกรรม
มนุษย์. คำว่า ในกาลทุกเมื่อ คือ ในกาลทุกเมื่อ ในกาลทั้งปวง ตลอดกาลทั้งปวง ตลอด
กาลเป็นนิตย์ ตลอดกาลยั่งยืน ตลอดกาลเป็นนิรันดร์ ตลอดกาลเป็นอันเดียว ตลอดกาลติดต่อ
ตลอดกาลเป็นลำดับ ตลอดกาลไม่ขาดระยะ ตลอดกาลไม่มีระหว่าง ตลอดกาลสืบเนื่อง ตลอด
กาลไม่ขาดสาย ตลอดกาลกระชั้นชิด ในการก่อนภัต ในกาลหลังภัต ในยามต้น ในยามกลาง
ในยามหลัง ในข้างแรม ในข้างขึ้น ในฤดูฝน ในฤดูหนาว ในฤดูร้อน ในตอนวัยต้น.
ตอนวัยกลาง ในตอนวัยหลัง. คำว่า มีสติ (๑)- ได้แก่เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่าง คือ เมื่อ
เจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในกาย ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เมื่อเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ในเวทนาทั้งหลาย ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เมื่อเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานในจิต ก็ชื่อว่าเป็นผู้มี
สติ เมื่อเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานในธรรมทั้งหลาย ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เป็นผู้มีสติโดย
เหตุ ๔ อย่างแม้อื่นอีก คือ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเว้นจากความเป็นผู้ไม่มีสติ ฯลฯ บุคคลเป็น
ผู้เข้าใกล้ เข้าชิด เข้าถึง เข้าถึงพร้อม เข้าไปถึง เข้าไปถึงพร้อม ประกอบด้วยสตินี้ บุคคล
นั้นเรียกว่า มีสติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สัตว์ผู้เกิดมาพึงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ.
             [๒๗] คำว่า พึงเว้นขาดกามทั้งหลาย มีความว่า กามทั้งหลาย ได้แก่ กาม ๒ อย่าง
โดยหัวข้อ คือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม ๑. วัตถุกามเป็นไฉน? รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
อันเป็นที่ชอบใจ ฯลฯ กามเหล่านี้ เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ กามเหล่านี้ เรียกว่า กิเลสกาม.
คำว่า พึงเว้นขาดกามทั้งหลาย คือ พึงเว้นขาดกามทั้งหลาย โดยเหตุ ๒ ประการ คือ โดยการ
ข่มไว้อย่าง ๑ โดยการตัดขาดอย่าง ๑. พึงละเว้นขาดกาม โดยการข่มไว้อย่างไร? สัตว์ผู้เกิดมา
เมื่อเห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยโครงกระดูก เพราะอรรถว่าเป็นของมีความยินดีน้อย พึง
เว้นขาดกามโดยการข่มไว้ เมื่อเห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยชิ้นเนื้อ เพราะอรรถว่าเป็นของ
สาธารณ์แก่ชนหมู่มาก พึงเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ เมื่อเห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วย
คบเพลิง เพราะอรรถว่าเป็นของตามเผา พึงเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ ฯลฯ แม้เจริญเนวสัญญานา-
*สัญญายตนสมาบัติ พึงเว้นขาดกามโดยการข่มไว้. พึงเว้นขาดกามโดยการข่มไว้อย่างนี้ ฯลฯ พึง
เว้นขาดกามโดยการตัดขาดอย่างนี้ ๒- เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงเว้นขาดกามทั้งหลาย.
             [๒๘] คำว่า ครั้นเว้นขาดกามเหล่านั้นแล้ว พึงข้ามโอฆะได้ มีความว่า คำว่า เหล่า
นั้น คือ สัตว์ผู้เกิดมา กำหนดรู้วัตถุกามทั้งหลาย ละ  ละทั่ว บรรเทา ทำให้สูญสิ้น ให้ถึง
ความไม่มีในภายหลัง ซึ่งกิเลสกาม คือ ละ ละทั่ว บรรเทา ทำให้สูญสิ้น ให้ถึงความไม่มีใน
ภายหลัง ซึ่งกามฉันทนิวรณ์ ... พยาบาทนิวรณ์ ... ถีนมิทธนิวรณ์ ... อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ละ
@(๑) ต่อไปนี้จงดูในข้อ ๑๔.
@๒. (ล) จงดูละเอียดในข้อ ๑๒.
ละทั่ว บรรเทา ทำให้สูญสิ้น ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง ซึ่งวิจิกิจฉานิวรณ์ พึงข้าม ข้ามขึ้น
ข้ามพ้น ก้าวล่วง เป็นไปล่วง กามโอฆะ ภวโอฆะ ทิฏฐิโอฆะ อวิชชาโอฆะ เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่า ครั้นเว้นขาดกามเหล่านั้นแล้ว พึงข้ามโอฆะได้.
             [๒๙] คำว่า เหมือนบุคคลวิดน้ำในเรือแล้วไปถึงฝั่ง ฉะนั้น มีความว่า บุคคลวิด
สาดออก ทิ้งออกซึ่งน้ำในเรืออันทำให้หนัก บรรทุกหนักแล้ว พึงไปถึงฝั่งด้วยเรือที่เบา โดย
เร็วไว โดยไม่ลำบาก ฉันใด สัตว์ผู้เกิดมา กำหนดรู้วัตถุกามทั้งหลาย ละ ละทั่ว บรรเทา
ทำให้สูญสิ้น ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง ซึ่งกิเลสกาม คือ ละ ละทั่ว บรรเทา ทำให้สูญสิ้น
ให้ถึงความไม่มีในภายหลังซึ่งกามฉันทนิวรณ์ ... พยาบาทนิวรณ์ ... ถีนมิทธนิวรณ์ ... อุทธัจจ-
*กุกกุจจนิวรณ์ ... วิจิกิจฉานิวรณ์ พึงไปถึงฝั่งโดยเร็วไว โดยไม่ลำบาก ฉันนั้น. อมตนิพพาน
เรียกว่า ฝั่ง ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหา
เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับ เป็นที่ออกไป จากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด พึงถึง บรรลุ
ถูกต้อง ทำให้แจ้งซึ่งฝั่ง. คำว่า ถึงฝั่ง คือ ผู้ใด ใคร่เพื่อจะถึงฝั่ง ผู้นั้นชื่อว่า ผู้ถึงฝั่ง
ผู้ใดย่อมไปสู่ฝั่ง ผู้นั้นชื่อว่า ผู้ถึงฝั่ง ผู้ใด ถึงฝั่งแล้ว ผู้นั้นชื่อว่า ผู้ถึงฝั่ง.
             สมเด็จจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลผู้ข้ามพ้นแล้วถึงฝั่งแล้ว ดำรงอยู่บนบก
ชื่อว่า เป็นพราหมณ์. ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่า พราหมณ์ เป็นชื่อพระอรหันต์ พระอรหันต์นั้น
ถึงฝั่งด้วยการรู้ยิ่ง ถึงฝั่งด้วยการกำหนดรู้ ถึงฝั่งด้วยการละ ถึงฝั่งด้วยการเจริญ ถึงฝั่งด้วยการ
ทำให้แจ้ง ถึงฝั่งด้วยการบรรลุ ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ด้วยการรู้ยิ่ง ถึงฝั่งแห่งทุกข์ทั้งปวง
ด้วยการกำหนดรู้ ถึงฝั่งแห่งกิเลสทั้งปวง ด้วยการละ ถึงฝั่งแห่งอริยมรรค ๔ ด้วยการเจริญ
ถึงฝั่งแห่งนิโรธ ด้วยการทำให้แจ้ง ถึงฝั่งแห่งสมาบัติทั้งปวง ด้วยการบรรลุ พระอรหันต์นั้น
ถึงความชำนาญ ถึงความสำเร็จในอริยศีล ถึงความชำนาญ ถึงความสำเร็จในอริยสมาธิ
ถึงความชำนาญ ถึงความสำเร็จในอริยปัญญา ถึงความชำนาญ ถึงความสำเร็จในอริยวิมุติ
พระอรหันต์นั้น ไปสู่ฝั่งแล้ว ถึงฝั่งแล้ว ไปสู่ส่วนสุดแล้ว ถึงส่วนสุดแล้ว ไปสู่ที่สุดแล้ว
ถึงที่สุดแล้ว ไปสู่ที่สุดรอบแล้ว ถึงที่สุดรอบแล้ว ไปสู่ความสำเร็จแล้ว ถึงความสำเร็จแล้ว
ไปสู่ที่ป้องกันแล้ว ถึงที่ป้องกันแล้ว ไปสู่ที่ลับแล้ว ถึงที่ลับแล้ว ไปสู่ที่พึ่งแล้ว ถึงที่พึ่ง
แล้ว ไปสู่ที่ไม่มีภัยแล้ว ถึงที่ไม่มีภัยแล้ว ไปสู่ที่ไม่จุติแล้ว ถึงที่ไม่จุติแล้ว ไปสู่ที่ไม่ตาย
แล้ว ถึงที่ไม่ตายแล้ว ไปสู่นิพพานแล้ว ถึงนิพพานแล้ว พระอรหันต์นั้น อยู่จบแล้ว
ประพฤติจรณะแล้ว มีทางไกลอันถึงแล้ว มีทิศอันถึงแล้ว มีที่สุดอันถึงแล้ว มีพรหมจรรย์
อันรักษาแล้ว ถึงทิฏฐิอันอุดมแล้ว มีมรรคอันเจริญแล้ว มีกิเลสอันละเสียแล้ว มีการแทง-
*ตลอดมิได้กำเริบ มีนิโรธอันทำให้แจ้งแล้ว มีทุกข์อันกำหนดรู้แล้ว มีสมุทัยอันละแล้ว มีนิโรธ
อันทำให้แจ้งแล้ว มีมรรคอันเจริญแล้ว มีธรรมที่ควรรู้ยิ่งอันได้รู้ยิ่งแล้ว มีธรรมที่ควรกำหนดรู้
กำหนดรู้แล้ว มีธรรมที่ควรละอันละแล้ว มีธรรมที่ควรเจริญอันเจริญแล้ว มีธรรมที่ควรทำให้
แจ้งอันทำให้แจ้งแล้ว พระอรหันต์นั้น มีอวิชชาเป็นลิ่มสลักอันถอนเสียแล้ว มีกรรมเป็นคูอัน
กำจัดเสียแล้ว มีตัณหาเป็นเสาระเนียดอันถอนเสียแล้ว ไม่มีสัญโญชน์เป็นบานประตู เป็น
ผู้ไกลจากกิเลสอันเป็นข้าศึก มีมานะเป็นธงอันให้ตกไปแล้ว มีภาระอันปลงเสียแล้ว มีโยค
กิเลสมิได้เกี่ยวข้อง มีองค์ห้าอันละเสียแล้ว ประกอบด้วยองค์หก มีสติเป็นธรรมเอกเป็น
เครื่องรักษา มีธรรมเป็นเครื่องอาศัยสี่ มีทิฏฐิสัจจะเฉพาะอย่างอันบรรเทาเสียแล้ว มีการแสวง
หาอันชอบ ไม่หย่อน ประเสริฐ มีความดำริมิได้ขุ่นมัว มีกายสังขารอันระงับแล้ว มีจิตพ้นดีแล้ว
มีปัญญาพ้นดีแล้ว เป็นผู้มีความบริบูรณ์ มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว เป็นอุดมบุรุษ เป็นบรมบุรุษ
ถึงความบรรลุปรมัตถะ พระอรหันต์นั้น มิได้ก่อ มิได้กำจัด กำจัดตั้งอยู่แล้ว มิได้ละ มิได้ถือมั่น
ละแล้วจึงตั้งอยู่ มิได้เย็บ มิได้ยก เย็บแล้วจึงตั้งอยู่ มิได้ดับ มิได้ให้ลุก ดับแล้วจึงตั้งอยู่
ดำรงอยู่ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณ-
*ทัสสนขันธ์ ซึ่งเป็นอเสขะ แทงตลอดอริยสัจจะแล้วจึงตั้งอยู่ ก้าวล่วงตัณหาอย่างนี้แล้ว จึง
ตั้งอยู่ ดับไฟกิเลสแล้วจึงตั้งอยู่ ตั้งอยู่เพราะเป็นผู้ไม่ต้องไปรอบ ยึดถือเอายอดแล้ว ตั้งอยู่
ตั้งอยู่เพราะเป็นผู้ซ่องเสพวิมุติ ดำรงอยู่ด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาอันบริสุทธิ์ ดำรง
อยู่ด้วยความบริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดำรงอยู่ในความเป็นผู้ไม่แข็งกระด้างด้วยตัณหาทิฏฐิ มานะ
อันบริสุทธิ์ ตั้งอยู่เพราะเป็นผู้หลุดพ้น ตั้งอยู่เพราะเป็นผู้สันโดษ ตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบแห่งขันธ์
ธาตุ อายตนะ คติ อุปบัติ ปฏิสนธิ ภพ สงสาร วัฏฏะ ตั้งอยู่ในภพอันมีในที่สุด ตั้งอยู่
ในสรีระที่สุด ทรงไว้ซึ่งร่างกายที่สุด.
             สมจริงดังประพันธ์คาถาว่า:-
                          พระขีณาสพนั้น มีภพนี้เป็นที่สุด มีสรีระนี้เป็นทีหลัง มิได้
                          มีชาติ มรณะ สงสาร และภพใหม่.
                          เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหมือนบุคคลวิดน้ำในเรือแล้วไปถึงฝั่ง ฉะนั้น.
             เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
                          เพราะเหตุนั้น สัตว์ผู้เกิดมา พึงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พึงเว้นขาดกาม
                          ทั้งหลาย ครั้นเว้นขาดกามเหล่านั้น พึงข้ามโอฆะได้ เหมือนบุคคล
                          วิดน้ำในเรือแล้วไปถึงฝั่ง ฉะนั้น ดังนี้.

จบ กามสุตตนิทเทส ที่ ๑.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙  บรรทัดที่ ๑ - ๔๘๖.  หน้าที่  ๑ - ๒๑.
 http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=29&A=0&Z=486&pagebreak=0 (http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=29&A=0&Z=486&pagebreak=0)
             ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=1 (http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=1)
             สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙
http://www.84000.org/tipitaka/read/?สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๒๙ (http://www.84000.org/tipitaka/read/?สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๒๙)
http://www.84000.org/tipitaka/read/?index_29 (http://www.84000.org/tipitaka/read/?index_29)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 17, 2014, 09:11:21 PM

Image

เสขะปฏิปทา ๑๕

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะแสดงพระพุทธคุณนำในบทว่าวิชชาจรณสัมปันโน พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ได้แสดงวิชชาและจรณะมาตอนหนึ่งแล้ว จะได้แสดงในข้อว่าจรณะ ตามที่ท่านพระอานนท์ได้แสดง ที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ร้อยกรองไว้ในเสขะพลสูตร ซึ่งมีความโดยย่อว่า ครั้งหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าทรงได้รับเชิญเสด็จไปประทับเป็นครั้งแรก ในสัณฐาคารคืออาคารอันเป็นที่ประชุมของเจ้าศากยะในกรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งได้สร้างขึ้นใหม่ยังมิได้ใช้สอย

พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งหมู่สงฆ์ก็ได้เสด็จไปประทับที่สัณฐาคาร ได้ตรัสแสดงธรรมแก่เจ้าศากยะทั้งหลายเป็นอันมาก แล้วได้โปรดให้ท่านพระอานนท์แสดงเสขะปฏิปทาแก่เจ้าศากยะทั้งหลายต่อไป

พระองค์ก็ได้ทรงประทับพักผ่อนพระอิริยาบถโดยสีหไสยา ท่านพระอานนท์จึงได้แสดงเสขะปฏิปทาคือข้อปฏิบัติที่ทำให้เป็นเสขะบุคคล หรือข้อปฏิบัติของเสขะบุคคล


๏ เสขะบุคคล

อันเสขะบุคคลนั้นก็หมายถึงท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปฏิมรรค จนถึงท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค ตามศัพท์ว่าเสขะก็แปลว่าผู้ศึกษา แต่เสขะคือผู้ศึกษาในพุทธศาสนานั้น มีความหมายสูงดังที่กล่าว ส่วนที่ต่ำลงมาคือยังไม่เป็นโสดาบันบุคคล ยังเป็นบุถุชน เรียกว่าเสขะก็มิใช่ อเสขะก็มิใช่ และท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผลเป็นพระอรหันต์ จึงเรียกว่าอเสขะที่แปลว่าผู้ไม่ต้องศึกษา คือเป็นผู้จบการศึกษาแล้ว

ท่านพระอานนท์ก็ได้รับพระพุทธบัญชา แสดงเสขะปฏิปทา ๑๕ ประการแก่เจ้าศากยะทั้งหลาย และในตอนท้ายก็ได้กล่าวว่าเสขะปฏิปทาทั้ง ๑๕ ประการนี้ ก็เป็นจรณะคือข้อปฏิบัติเครื่องดำเนินถึงวิชชา เพราะฉะนั้น ในการแสดงอธิบายจรณะในพระพุทธคุณบทนี้ จึงมักจะยกเอาจรณะ ๑๕ ตามที่ท่านพระอานนท์ได้แสดงดังที่เล่ามากันโดยมาก


๏ เสขะปฏิปทา ๑๕

จรณะหรือเสขะปฏิปทา ๑๕ ประการนี้ ก็คือสีลสัมปทาถึงพร้อมด้วยศีล อินทรียสังวรความสำรวมอินทรีย์ โภชเนมัตตัญญุตาความรู้ประมาณในภัตตาหาร ชาคริยานุโยคความประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ นี้ ๔ ประการ

และสัทธรรมอีก ๗ ประการอันได้แก่ สัทธา หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ วิริยะ สติ และปัญญา รวมเป็น ๗ ประการกับ รูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ อีก ๔ ประการ ก็รวมเป็น ๑๕ ประการ และโดยที่ได้แสดงจรณะ ๑๐ ประการมาแล้วตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเอง เพราะฉะนั้น จึงได้แสดงอธิบายไปแล้วหลายข้อ จึงจะไม่แสดงอธิบายข้อที่ซ้ำกัน สีลสัมปทาถึงพร้อมด้วยศีล กับอินทรียสังวรความสำรวมอินทรีย์ ได้แสดงอธิบายแล้ว


๏ โภชเนมัตตัญญุตา

โภชเนมัตตัญญุตาความรู้ประมาณในภัตตาหาร ท่านสอนให้พิจารณาอาหารที่บริโภค ในขณะที่กำลังบริโภค ตามบทปฏิสังขาโยที่พระสวดกันอยู่ซึ่งมีความโดยย่อว่า บริโภคภัตตาหารก็มิใช่ว่าเพื่อเล่น มิใช่ว่าเพื่อมัวเมา มิใช่ว่าเพื่อเปล่งปลั่งประเทืองผิว แต่ว่าบริโภคภัตตาหารก็เพื่อที่จะบำบัดความหิวระหาย และป้องกันมิให้เกิดเวทนาที่เป็นทุกข์ และเพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ เพื่อดำรงกายให้เป็นไป

นี้เป็นใจความโดยย่อ ซึ่งรวมความเข้าแล้วก็เป็นการพิจารณาว่า บริโภคเพื่อที่จะทะนุบำรุงร่างกาย เพราะร่างกายนี้ต้องอาศัยอาหารจึงดำรงอยู่ได้ และดำรงร่างกายอยู่ก็เพื่อว่าที่จะประพฤติพรหมจรรย์ คือปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า มิใช่เพื่อตัณหากิเลสต่างๆ และเมื่อพิจารณาดั่งนี้ก็จะทำให้ไม่เกิดหรือไม่ส่งเสริม รสะตัณหา ตัณหาในรส บริโภคเพื่อให้สำเร็จประโยชน์ที่ต้องการ คือเพื่อดำรงร่างกายดำรงชีวิตให้เป็นไปอยู่ เป็นไปอยู่ทำไม ก็เพื่อที่จะประพฤติพรหมจรรย์ กระทำกิจตามพระธรรมวินัย ประกอบกิจที่เป็นประโยชน์

เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็จะทำให้การบริโภคนั้น เป็นไปพอเหมาะพอควร ไม่น้อยไม่มากเกินไป เท่าที่ร่างกายต้องการ ไม่ถือเอารสอร่อยเป็นที่ตั้ง คือไม่ตามใจลิ้น และเมื่อพิจารณาดั่งนี้ แม้ว่าอาหารที่บริโภคจะมีรสไม่ถูกปากไม่ถูกลิ้น ก็จะสามารถบริโภคได้

เพราะเมื่อไม่ติดอยู่ในรส ไม่ติดอยู่ในรสะตัณหาแล้ว การบริโภคก็เป็นไปเพื่อให้สำเร็จประโยชน์ตามที่ต้องการ ไม่ใช่ว่าจะต้องเที่ยวแสวงหาอาหารที่มีรสตามที่ชอบ ถ้าไม่ได้ก็ไม่ยอมที่จะบริโภค หรือบริโภคแต่น้อย ถ้าได้อาหารที่มีรสถูกปากที่เอร็ดอร่อยก็บริโภคเสียใหญ่ และไม่เป็นเวล่ำเวลาอันสมควร ดั่งนี้เรียกว่าไม่รู้ประมาณในภัตตาหาร แต่เมื่อรู้ประมาณในภัตตาหาร ด้วยการพิจารณาดังกล่าว ก็จะทำให้การบริโภคอาหารเป็นไปโดยถูกต้อง พอเหมาะพอควร เพื่อทะนุบำรุงกายให้ดำรงอยู่ เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ ดั่งนี้


๏ ชาคริยานุโยค

ชาคริยานุโยคประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ ที่ท่านแสดงอธิบายไว้ ก็คือว่าในเวลากลางวัน ก็นั่งบ้าง เดินบ้าง ที่เรียกว่าเดินจงกรม ชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ ผ่องแผ้วจากกิเลสที่เป็นเครื่องกั้นใจทั้งหลาย คือเป็นเครื่องกั้นไว้มิให้บรรลุสมาธิและปัญญา ในเวลากลางคืนในปฐมยาม ก็นั่งบ้าง เดินบ้าง เปลื้องจิตให้บริสุทธิ์ ให้พ้นจากกิเลสเป็นเครื่องกั้นทั้งหลาย ในมัชฌิมยามของราตรี ก็พักด้วยการนอนโดยสีหไสยาคือนอนตะแคงเบื้องขวา และทำสติที่จะลุกขึ้น ที่จะตื่นขึ้น และก็ตื่นขึ้นในปัจจฉิมยามของราตรี ก็นั่งบ้างเดินบ้าง ชำระจิตให้บริสุทธิ์ ให้พ้นจากกิเลสซึ่งเป็นเครื่องกั้นจิตทั้งหลาย

นี้ท่านแสดงถึงวิธีปฏิบัติเป็นเครื่องตื่นอยู่อย่างเต็มที่ แม้ว่าจะไม่ปฏิบัติอย่างเต็มที่ดั่งนี้ เอาเพียงปฏิบัติตามที่ท่านแปลคำนี้ไว้ว่า ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ ไม่เห็นแก่นอนมากนัก และเวลาที่ตื่นอยู่ก็ต้องคอยทำการเปลื้องจิต ปฏิบัติเปลื้องจิตจากกิเลสเป็นเครื่องกั้น มิให้จิตได้สมาธิได้ปัญญา โดยตรงก็คือนิวรณ์ทั้ง ๕ นั้นเอง

คอยชำระจิตอยู่เสมอจากนิวรณ์ทั้ง ๕ คือกามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกาม พยาบาทความหงุดหงิดขึ้งเคียดโกรธแค้นขัดเคืองมุ่งร้ายหมายล้างผลาญ ถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ ปฏิบัติดั่งนี้เรียกว่าเป็นชาคริยานุโยค ก็รวมเป็น ๔ ข้อ


๏ ความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญา

ส่วนสัทธรรม ๗ นั้น สัทธรรมก็แปลว่าธรรมะของสัตตบุรุษ คือผู้สงบรำงับ หรือธรรมะของคนดี ธรรมะที่ดี อันได้แก่ศรัทธาคือความเชื่อ และความเชื่อในพุทธศาสนานี้ ต้องการความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญา ที่เป็นญาณสัมปยุต ประกอบด้วยญาณคือความหยั่งรู้ ซึ่งเรียกว่าเป็นความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ คือว่าเลือกเชื่อเฉพาะสิ่งที่ควรเชื่อ และจะมีศรัทธาดั่งนี้ได้ก็ต้องใช้ปัญญา ต้องใช้ญาณพิจารณา ให้รู้ว่าอะไรควรเชื่อ อะไรไม่ควรเชื่อ

และสำหรับพุทธศาสนิกชน ศรัทธาที่ต้องการเป็นข้อสำคัญในฐานะเป็นพุทธสาวก ก็คือตถาคตะโพธิสัทธา ความเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคตพุทธเจ้า ซึ่งความเชื่อดั่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัย การที่มาเจริญพุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า และให้รู้จักพระพุทธคุณดังที่สวดกันอยู่ว่า อิติปิโส ภควา อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ เป็นต้น ดั่งที่กำลังแสดงอยู่นี้ ระลึกถึงพระพุทธคุณให้มีความเข้าใจซาบซึ้งในพระพุทธคุณ แม้บทใดบทหนึ่ง เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะทำให้ได้ตถาคตะโพธิสัทธามากขึ้นๆ และก็จะทำให้ได้ศรัทธาในธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน


๏ ศรัทธา ๓

เพราะฉะนั้น พระอาจารย์จึงได้แนะนำศรัทธาอีก ๓ ข้อไว้ ก็คือ กรรมสัทธา ความเชื่อในกรรม วิปากสัทธา ความเชื่อในผลของกรรม กัมมัสสกตาสัทธา ความเชื่อในความที่สัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน เมื่อมีศรัทธาอันมีลักษณะดังกล่าวนี้ จึงจะชื่อว่าเป็นศรัทธาในพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ให้ปลูกศรัทธาให้มีขึ้น

ฉะนั้นแม้ข้อศรัทธานี้ ก็เป็นข้อที่ผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องมาพิจารณา ดูที่ศรัทธาคือความเชื่อของตน ว่าเป็นไปถูกตามที่พระพุทธเจ้าทรงประสงค์ให้เชื่อหรือไม่ ถ้าหากว่ายังไม่เข้าในหลักของศรัทธาตามที่กล่าวมานี้ ก็ชื่อว่ายังไม่เข้าหลักของศรัทธา ตามที่พระพุทธเจ้าทรงประสงค์ ยังเป็นศรัทธาอาจจะเป็นของตนเองที่มีมาตามสันดาน หรือว่าจากคำแนะนำของผู้อื่นที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้า

ฉะนั้นแม้ข้อศรัทธานี้ ก็ต้องเป็นข้อที่ทุกๆ คนจะต้องปรับปรุง แก้ไขปฏิบัติศรัทธาของตนให้ถูกให้ตรง อันนับว่าเป็นอันดับแรก และเมื่อมีศรัทธาตรงแล้วก็จะทำให้เป็นที่ตั้งของกุศลธรรมทั้งหลายอื่นๆ ต่อไป


๏ หิริ โอตตัปปะ

จึงถึงสัปปุริสธรรม หรือว่าสัทธรรม อันเป็นข้อที่ ๒ ที่ ๓ ก็คือหิริความละอายใจต่อความชั่ว โอตตัปปะความเกรงกลัวต่อความชั่ว ก็คือต่อผลของความชั่ว หิริโอตตัปปะนี้ท่านแสดงว่าเป็นเหตุใกล้ของศีล เมื่อมีหิริโอตตัปปะอยู่ ก็ย่อมจะทำให้มีศีลได้ ศีลก็จะมีสืบจากหิริโอตตัปปะ เพราะฉะนั้น หิริโอตตัปปะนี้จึงเป็นธรรมะสำคัญ จนถึงที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ว่าเป็นโลกบาล คือเป็นธรรมะที่คุ้มครองโลก


๏ พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ที่ได้สดับมาก

และต่อไปก็คือพาหุสัจจะที่แปลว่าความเป็นผู้ที่ได้สดับมาก ในทางพุทธศาสนาก็คือความที่ได้สดับตรับฟัง ธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว ได้ทรงกล่าวไว้ดีแล้ว เป็นธรรมะที่งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถะคือเนื้อความ พร้อมทั้งพยัญชนะคือถ้อยคำ เป็นธรรมะที่กล่าวประกาศพรหมจรรย์พระศาสนา บริบูรณ์คือครบถ้วนไม่มีบกพร่อง บริสุทธิ์ก็คือถูกต้องไม่มีผิดพลาด สิ้นเชิงก็คือทั้งหมด ก็ตั้งใจสดับตรับฟัง ตั้งใจเรียนธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้วเหล่านี้ ท่องบ่นจำทรง สั่งสมด้วยวาจาก็คือว่าให้คล่องปาก จำได้ด้วยใจด้วย แล้วให้คล่องปากด้วย และขบเจาะด้วยทิฏฐิคือความเห็น อันได้แก่ทำความเข้าใจ ดั่งนี้ เรียกว่าพาหุสัจจะความเป็นผู้ที่ได้สดับตรับฟังมาก


๏ เพียรละ เพียรภาวนา สติ ปัญญา

ข้อต่อไปก็คือเพียร เพียรปฏิบัติในการละส่วนที่เป็นอกุศลธรรมทั้งหลาย เพียรภาวนาอันหมายถึงว่าอบรมทำให้มีให้เป็นขึ้น ในส่วนที่เป็นกุศลธรรมทั้งหลาย ข้อต่อไปก็คือสติและปัญญา ก็คือปฏิบัติทำสติความระลึกได้ หรือความกำหนดลงไปให้ได้ ให้เป็นตัวสติ และปฏิบัติทำปัญญา คือความรู้รอบคอบตามเหตุตามผล ตามความเป็นจริง หรือว่ารู้ความจริงตามเหตุและผล

ก็รวมเป็น ๗ ประการ เรียกว่าสัทธรรม ๗ หรือสัปปุริสธรรม ๗ ก็แปลว่าธรรมะของสัตตบุรุษเหมือนกัน และรูปฌานอีก ๔ ข้อ คือรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ อันหมายถึงเป็นสมาธิอย่างสูง เป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น จัดเป็นรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ โดยลำดับ ก็รวมเป็นจรณะ ๑๕ หรือว่าเสขะปฏิปทา ๑๕


๏ ข้อปฏิบัติดำเนินถึงวิชชา

พระพุทธเจ้าเองก็ทรงประกอบด้วยจรณะ เป็นจรณะสัมปันโนถึงพร้อมด้วยจรณะ และเมื่อถึงพร้อมด้วยจรณะ จรณะนี้เองเป็นเครื่องปฏิบัติ เป็นข้อปฏิบัติเครื่องดำเนินถึงวิชชา จึงทรงได้วิชชา ๓ วิชชา ๘ ตามที่ได้แสดงแล้ว เป็นวิชชาสัมปันโนผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา แต่ในบทพระพุทธคุณนี้เรียงวิชชาไว้หน้า คู่กันไปกับจรณะ ว่าวิชชาจรณะสัมปันโนผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

อีกอย่างหนึ่งทำความเข้าใจกันง่ายๆ ดังที่มีบางท่านแสดงว่าถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ก็คือถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ ถึงพร้อมด้วยรู้และความประพฤติที่คู่กันนี้ ก็หมายถึงว่ารู้ด้วยประพฤติด้วย มิใช่ว่ารู้แล้วก็ไม่ประพฤติ แต่ว่ารู้ด้วยประพฤติด้วย มีความประพฤติสมควรแก่ความรู้ แม้ว่าจะมีความเข้าใจดั่งนี้ก็ได้

และก็อาจอธิบายคำว่าจรณะ ถึงอรรถะจริยาของพระพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว ทรงเป็นวิชชาสัมปันโนถึงพร้อมด้วยวิชชาแล้ว ก็ทรงเสด็จจาริกไปทรงประกอบอรรถะจริยา คือประพฤติประโยชน์ ที่ท่านแสดงเอาไว้ ๓ ประการ คือ โลกัตถะจริยา ทรงประพฤติประโยชน์แก่โลก ญาตัตถะจริยา ทรงประพฤติประโยชน์แก่พระญาติ พุทธัตถะจริยา ทรงประพฤติประโยชน์โดยฐานะเป็นพระพุทธเจ้า

ทรงประพฤติประโยชน์แก่โลกนั้น ก็คือทรงแสดงธรรมสั่งสอน ชี้ให้ทราบ และให้ปฏิบัติเพื่อบรรลุถึง ประโยชน์ปัจจุบันบ้าง ประโยชน์ภายหน้าบ้าง ประโยชน์อย่างยิ่งบ้าง แก่โลก ญาตัตถะจริยา ทรงประพฤติประโยชน์แก่พระญาตินั้น ก็คือทรงเสด็จไปโปรดพระญาติ ดังเช่นเสด็จไปโปรดพระพุทธบิดา และที่มีแสดงไว้อีกว่าได้เสด็จไปโปรด ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดาซึ่งได้เสด็จทิวงคตไปแล้ว และได้โปรดแก่พระญาติอื่นๆ

พุทธัตถะจริยา ทรงประพฤติประโยชน์โดยฐานะเป็นพระพุทธเจ้านั้น ก็เช่นได้ทรงปฏิบัติพระองค์ดังที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ทรงปฏิบัติมาครบถ้วนทุกประการ โดยเฉพาะก็คือทรงแสดงธรรมะสั่งสอน ทรงแสดงธรรม ทรงบัญญัติพระวินัย ทรงตั้งพุทธบริษัทก็คือ ภิกษุบริษัท ภิกษุณีบริษัท อุปาสกบริษัท อุปาสิกาบริษัท ขึ้นในโลก ก็ชื่อว่าได้ทรงปฏิบัติโดยฐานะเป็นพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงประกอบอรรถะจริยา คือทรงประพฤติประโยชน์ต่างๆ สมบูรณ์ ก็โดยที่เมื่อได้ตรัสรู้ ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชา ก็ทรงใช้วิชชา ทรงประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่างๆ ตามที่แสดงมา ซึ่งข้อที่ประพฤติประโยชน์ต่างๆ นี้ก็ชื่อว่าจรณะเหมือนกัน แม้นัยยะนี้พระพุทธองค์ก็ได้ทรงชื่อว่าวิชชาจรณสัมปันโน ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป



.......................................................

คัดลอกมาจาก
เทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
http://www.mahayana.in.th/tsavok/tsavok.html (http://www.mahayana.in.th/tsavok/tsavok.html)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 17, 2014, 09:41:34 PM
พระสุตตันตปิฎก  ทีฆนิกาย  สีลขันธวรรค  [๓.อัมพัฏฐสูตร]
    ทางเสื่อม  ๔  ประการแห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติ

พระไตรปิฏกเล่มที่ 9 หน้าที่ 102

 ทางเสื่อม ๔ ประการแห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติ
            [๒๘๐]    อัมพัฏฐะ    วิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้มีทางเสื่อมอยู่ ๔    ประการ    ๔    ประการอะไรบ้าง    คือ
     (๑)    สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้    เมื่อยังไม่บรรลุวิชชาสมบัติ และจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้    จึงหาบหิ้วบริขารดาบสเข้าไปสู่ราวป่าด้วยตั้งใจว่าจักบริโภคผลไม้หล่น    เขาต้องเป็นคนรับใช้ ของท่านที่เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้    ข้อนี้เป็นทาง เสื่อมประการที่    ๑    แห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยม
      (๒)    อีกอย่างหนึ่ง    สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้    เมื่อยังไม่บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้    ทั้งไม่สามารถจะหาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้    จึงถือเสียมและตะกร้าเข้าไปสู่ราวป่า ด้วยตั้งใจว่าจักบริโภคเหง้า    ราก    และผลไม้    เขาต้องเป็นคนรับใช้ของท่านที่เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้    ข้อนี้เป็นทาง เสื่อมประการที่    ๒    แห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยม
      (๓)    อีกอย่างหนึ่ง    สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้    เมื่อยังไม่ บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้    ไม่สามารถจะ หาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้    ทั้งไม่สามารถจะหาเหง้า    ราก    และผลไม้บริโภคได้    จึงสร้างเรือนไฟไว้ใกล้บ้านหรือนิคมแล้วบูชาไฟอยู่เขาต้องเป็นคนรับใช้ของ ท่านที่เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้    ข้อนี้เป็นทางเสื่อมประการที่    ๓    แห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยม
      (๔)    อีกอย่างหนึ่ง    สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้    เมื่อยังไม่ บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้    ไม่สามารถจะ หาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้    ไม่สามารถหาเหง้า    ราก    และผลไม้ บริโภคได้    ทั้งไม่สามารถจะบูชาไฟได้    จึงสร้างเรือนมีประตู    ๔ ด้านไว้ที่หนทางใหญ่สี่แพร่งแล้วพักอยู่ด้วยตั้งใจว่า    เราจะบูชา ท่านผู้ที่เดินทางมาจากทิศทั้ง    ๔    ตามสติกำลัง    ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม    เขาต้องเป็นคนรับใช้ของท่านที่เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้    ข้อนี้เป็นทางเสื่อมประการที่ ๔    แห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยม
    อัมพัฏฐะ    วิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมมีทางเสื่อมอยู่    ๔    ประการนี้แล


    อธิบาย ให้เข้าใจง่ายสำหรับท่านที่อ่านแล้ว ยังไม่เข้าใจ คือ พระพุทธเจ้าพระองค์ตรัสแสดงไว้ว่า สมณะพราหม์ ผู้ที่ยังไม่บรรลุ วิชชาและจรณะ มีความปรารถนา เพืื่อ ลาภ เพื่อ ยศ เพื่อ สรรเสริญ เพื่อ สุข(อันเจือด้วยตัณหา )ปรารถนาลามก เพื่อให้ผู้อื่น ยอมรับใช้ ด้วยคิดว่าตนเองเพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ที่ไม่มีในตน ข้อนี้เป็นทางแห่งความเสื่อม ของผู้ภาวนา เป็นด่านสำคัญของผู้ภาวนา ที่ไปไม่รอดเพราะเจือด้วย ปณิธานอันลามก ไม่ประกอบด้วยกุศล ดังนั้น อยากให้ท่านทั้งหลายที่เป็นทั้งศิษย์ สมาชิกธรรม ผู้ติดตามอ่านเมื่อเวลาจะภาวนาให้ตั้งปณิธาน เพื่อความสิ้นไปแห่งกิเลส และไม่ภาวนาเพื่อ โลกธรรม ทั้ง 8 เมื่อท่านคิดได้เห็นได้อย่างนี้จิตของท่านจะผ่องใส ด้วยปฏิบัติบูชา และความเสื่อม ด้วย วิชชา 3 และ จรณะ 15 จักไม่เกิดแก่ท่านทั้งหลาย

    ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลาย ตระหนักปณิธานในการภาวนา และ ปฏิบัิติบูชา ต่อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างยิ่งยวด


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 17, 2014, 09:41:40 PM
จรณะ 15
รักษาศิล ในการปฏิบัติตนให้บริสุทธิ์ถึงจิตแท้ ให้หลุดพ้น เป็นการกระทำที่ไม่มีโลภ โกรธ หลง เข้ามาผูกพันธ์อยู่ในจิต การปฏิบัติตนให้อยู่ในศิล ให้ได้ละเอียดขึ้นไปตามระดับ โดยสังวรณ์อยู่ในจรณะ 15 ดังนี้

1 สังวรศิล    ประพฤติให้เข้าใจสิ่งดีชั่ว ในบาปบุญ คุณ โทษ ให้บริสุทธิ์ด้วยศิล ให้รู้ว่ามีศิลปกติอยู่ในตน รู้ทัน หลุดพ้นจาก ความโกรธ โลภ หลง ทังหลายทั้งปวง

2. สำรวมอินทรีย์   ระวังตนให้รู้ทั่วพร้อมทั้ง 6 ทวารนอก 6 ทวารใน ที่จะเกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากการกระทำนั้นๆ

3. โภชเนมัตตัญญุตา  รู้จักประมาณตน รู้ตนให้พร้อม พอเหมาะ พอควรที่จะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะมีจะเกิดขึ้น ในอาหาร การกิน การใช้จ่าย

4. ชาคิยานุโยคะ   พิจารณาควบคุมรู้อยู่ในการกระทำที่พึงประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในการสังวรศีล สำรวมอินทรีย์ โภชเนมัตตัญญุตาทั้ง 3 ข้อให้ถูกต้องตรงจริง

5 ศรัทธา   เชื่อมันในหลักธรรมคำสอน ปฏิบัติตน รู้ตน เชื่อมั่นในตนว่าปฏิบัติอยู่ในทางที่ถูกต้องดีงามเป็นมัมมาแล้วจริง มีผลเกิดแล้ว เห็นผลแล้ว พากเพียรตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้เกิดผลยิ่งขึ้น

6 หิริ  มีความละอายแก่ใจตนเองเมื่อรู้ว่าตนได้กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นทางกาย วาจา ใจ ในทางใดทางหนึ่งก็ดี ที่ไม่ถูกไม่ควรแล้ว รู้สึกผิดละอาจตนเอง และจะไม่ทำสิ่งที่ผิดนี้ให้เกิดขึ้นอีกเลย

7 โอตตัปปะ   เกรงกลัวต่อบาปกรรมที่ตนได้กระทำสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร ไม่ดีไม่งาม ที่เกิดขึ้นนั้นๆ ระวังควบคุมตนไม่ให้เกิดอีก

8 พหุสัจจะ  เห็นอยู่รู้อยู่ เข้าใจอยู่ ในผลของการปฏิบัติ ที่ถูกตรงบริสุทธิ์แท้ พูดจริงทำจริง มีความซื่อสัตย์ ตั้งใจทำจริง ให้ยิ่งๆ ขึ้นอีก

9 วิริยะ  พากเพียร ประพฤติปฏิบัติ กระทำตนให้ดีให้ได้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก

10. สติ    ควบคุมให้รู้ตัวทั่วพร้อม พิจารณารู้อยู่ เป็นอยู่ในการกระทำทวารทั้ง 6 ทวารนอก 6 ทวารใน

11. ปัญญา รู้แจ้งชัดในทุกสิ่งที่เกิด ที่มี ที่ถูก ที่ควร ได้ยิ่งๆ ขึ้น ปล่อยจิต วางจิต ทำจิตให้สงบ เกิดญานทั้ง 4 ในตนแล้ว

12. ปฐมฌาน  เข้าสู่ความสงบระงับ จิตสงบ พ้นนิวรณ์ 5 ใจปลอดโปร่งติดอยู่ในอารมณ์เดียว (วิตก) มีวิจาร อ่านอยู่ในอารมณ์นั้น จิตเบิกบานเป็นหนึ่งเป็นอิสระ

13 ทุติยฌาน  ระงับวิตกวิจาร มีปิติสุข จิตคิดอ่านอะไร วางวิตก วิจาร จิตเบิกบาน เสวยปิติสุขอยุ่

14. ตติยฌาน   ระงับบปิติ หมดความรู้สึกปิติ  มีสติสัมปชัญญะ ควบคุมตนเอง รู้ตนเองชัด ขณะจิตสงบเสวยสุขอยู่

15. จตุตฌาน  ระดับสุขเป็นอุเบกขา เฉยวางสุข จิตผ่องใส สงบบริสุทธิ์ เป็นเอกถตาจิต จิตเป็นหนึ่ง ที่ประกอบด้วยมรรคมีองค์ 8 ถูกต้อง

เอกสารอ้างอิง  หลักการปฏิบัติตนที่จะให้บริสุทธิ์ ส.ศิลป 2525

 



ข่าวจาก: หัสชัย สิทธิรักษ์
วันที่: 07 ก.ย. 2551
เข้าอ่านทั้งหมด: 1940
[ ปิดหน้าต่างนี้ ]


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 17, 2014, 09:41:55 PM
วิชาและจรณะ 15

permalink


 


วิชชาจรณสัมปันโน
มาจากคำ 2 คำ คือ วิชชาและจรณะ คำว่า วิชชา หมายเอาวิชชา 8 คือ วิปัสสนาญาณ ความ เห็นแจ้ง เห็นวิเศษ หมายถึง พระพุทธองค์ทรงเห็นแจ้งในสภาวธรรมตรงตามความเป็นจริง เช่น เห็นขันธ์ 5 ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา และยังทำให้สรรพสัตว์ ทั้งหลายต้องติดอยู่ในวัฏสงสารและต้องเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ซึ่งการเห็นแจ้งนั้น ไม่ใช่จะมองเห็นได้ด้วยตามนุษย์ แต่พระพุทธองค์ทรงรู้เห็นได้ด้วยตาธรรม คือ ตาภายใน
มโนมยิทธิ ฤทธิ์ทางใจ คือ จะนึกให้เป็นอย่างไร ก็เป็นไปตามที่นึกได้
อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ เช่น เนรมิตกายคนเดียวเป็นหลายคนได้
ทิพพโสต มีหูทิพย์ มีญาณพิเศษที่จะฟังอะไรก็ได้ยินตามที่ปรารถนา
เจโตปริยญาณ คือ รู้วาระจิตของผู้อื่น
ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ความรู้ที่สามารถระลึกชาติหนหลังได้ว่า ชาติไหน เกิดเป็นอะไร
ทิพพจักษุ คือ ตาทิพย์ พระองค์ทรงสามารถมองเห็นทุกสิ่งได้หมด ไม่ว่าจะอยู่ใกล้ไกลอย่างไร และระลึกชาติหนหลังของสัตว์อื่นได้
อาสวักขยญาณ คือ ความรู้ที่ทำลายอาสวะให้หมดสิ้น คือ ทรงขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป ไม่มีเหลือในขันธสันดานของพระองค์เลยแม้แต่นิดเดียว ดังที่ได้ตรัสกับสคารวมาณพว่า เมื่อจิตเราเป็น สมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง หลุดพ้นจากกิเลสแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นไม่มี
การที่พระพุทธองค์ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชา 8 ประการนี้ จึงทำให้พระองค์สามารถกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไป และยังสั่งสอนให้สรรพสัตว์ทั้งหลายได้รู้เห็นจนสามารถกำจัดกิเลสไปได้หมด เหมือนอย่างกับพระองค์ วิชชา จึงเป็นความรู้ที่สามารถจะกำจัดความมืด คือ อวิชชา ให้หมดสิ้นไปได้อย่างถาวร
จรณะ หมายถึง ความประพฤติอันงดงาม มี 15 ประการ ได้แก่
1.ศีลสังวร คือ ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์
2.อินทรีย์สังวร คือ ความสำรวมอินทรีย์ทั้ง 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
3.โภชเนมัตตัญญุตา คือ ความรู้จักประมาณในการบริโภค
4.ชาคริยานุโยค คือ การประกอบความเพียรที่ทำให้เป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ
5.ศรัทธา คือ ความเชื่อมั่น
6.สติ คือ ความระลึกได้
7.หิริ คือ ความละอายบาป
8.โอตตัปปะคือ ความกลัวบาป
9.พาหุสัจจะ คือความเป็นผู้ได้สดับมาก ( พหูสูต )
10.อุปักกะโม คือ เว้นจากพยายามเพื่อฆ่า และพยายามเพื่อลัก
11.ปัญญาและ รวมรูปฌาน 4 รวมเป็น 15สิ่ง เหล่านี้แสดงถึงว่า พระพุทธองค์ทรงมีศีลาจารวัตรที่งดงาม ทรงประพฤติปฏิบัติจรณะทั้ง 15 ประการมามากมายหลายภพหลายชาติ จึงทำให้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะจรณะทั้ง 15 ประการ เป็นพื้นฐานที่ทำให้พระองค์มีความหนักแน่น มั่นคงอย่างต่อเนื่องในการสร้างบารมี จนกระทั่งบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตามความปรารถนาที่ตั้งใจไว้

เพราะฉะนั้น คำว่า วิชชาจรณสัมปันโน จึง หมายความว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เพราะพระองค์ทรงประพฤติปฏิบัติจรณะทั้ง 15 ประการมาหลายภพหลายชาติ จึงทำให้พระองค์มีวิชชาที่รู้ในสิ่งที่สามารถกำจัดความมืด คือ อวิชชา และบรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ด้วยพระองค์เอง


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 08, 2015, 08:32:33 PM
การเจริญจรณะ ๑๕ นั้น ให้เพียรเจริญปฏิบัติในกุศลกรรมบถ ๑๐

กุศลกรรมบถ ๑๐

            ๑. ปาณาติปาตา เวรมณี   เว้นจากทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง
            ๒. อทินนาทานา เวรมณี   เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย
            ๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากประพฤติผิดในกาม

       ทั้ง ๓ นี้ จัดเป็นกายกรรม เพราะเป็นไปทางกายทวารโดยมาก

            ๔. มุสาวาทา เวรมณี   เว้นจากพูดเท็จ
            ๕. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี   เว้นจากพูดส่อเสียด
            ๖. ผรุสาย วาจาย เวรมณี   เว้นจากพูดคำหยาบ
            ๗. สัมผัปปลาปา เวรมณี   เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ

       ทั้ง ๔ นี้ จัดเป็นวจีกรรม เพราะเป็นไปทางวจีทวารโดยมาก

            ๘. อนภิชฌา ไม่โลภอยากได้ของเขา
            ๙. อพยาปาท ไม่พยาบาทปองร้ายเขา
            ๑๐. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบตามคลองธรรม

       ทั้ง ๓ นี้ จัดเป็นมโนกรรม เพราะเป็นไปทางมโนทวารโดยมาก


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 08, 2015, 09:00:48 PM
บันทึกคำหลวงพ่อสอนที่พอจะหวนระลึกได้ โดยบันทึกกอปรกับความเข้าใจของตัวเราเอง หลวงพ่อเสถียรผู้เป็นพระอรหันต์ วัดถ้ำผาแดงผานิมิต บ.ดงเย็น ต.บัวเงิน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นศิษย์ในหลวงตาสิริ อินทระสิริ ผู้เป็นพระอรหันต์สายพระป่าอีกท่านหนึ่ง วันที่ 2-4 ม.ค. 58 เรามีโอกาสได้เข้าไปขอพระกรรมฐานท่านด้วยเพราะเป็นเพื่อนกันกับบุตรชายท่าน ซึ่งบุตรชายท่านก็จะบวชตลอดชีวิตในวันที่ 26 ม.ค. 58 ตอนนี้ได้เข้านาคอยู่ ณ วัดป่าที่เชียงยืน
วันที่ 5 ม.ค. 58 วันครบรอบวันตายเตี่ยกิมคุณ เบญจศรีวัฒนา เราได้มีโอกาสพาแม่และเป๋าเป่าไไปใส่บาตรท่านเป็นผู้แรกในวันครบรอบวันนิพพานของหลวงปู่นิล มหันตปัญโญ ผู้เป็นพระอรหันต์และเป็นครูอุปัชฌาย์เรา

มีคำสอนที่พอจะหวนระลึกได้แล้วบันทึกไว้ตามความเห็นความเข้าใจของเราดังนี้

พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้สอนมาง่ายๆ ตั้งแต่

- ศีล เป็นฐานของทุกสิ่ง ให้มีศีลให้ดี ทานจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีศีล ถ้าจะภวายทาน หรือ สังฆทานใดๆ ท่านก็ให้เป็นผู้มีศีลก่อน ทานนั้นจึงจะสำเร็จได้ (พระอรหันต์ทุกๆองค์ก็สอนเรามาเช่นนี้) หลวงพ่อสอนให้ถือกรรมบถ ๑๐ เพราะเป็นศีลของพระอริยะเจ้า มีพระโสดาบันขึ้นไป(เราได้คุยกับบุตรชายหลวงพ่อตอนนำเกสาที่ปลงเข้านาคของยุตรชายท่านไปลอยน้ำที่แม่น้ำชี ณ อำเภอชนบท เนื่องจากบุตรชายท่านทำสมาธิแล้วเกิดนิมิตว่า กรรมบถ ๑๐ คือ มรรค เมื่อได้ถกอนุมานเหตุปัจจัยและผลนั้นตามสมควรแล้วก็เห็นว่า กรรมบถ ๑๐ คือ มรรคศีล (มรรคนี้ประกอบสงเคราะห์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา)
- ทานจะบริบูรณ์ได้ ก็ต้องมีศีลก่อนเท่านั้น ศีลจึงเป็นฐานของทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็น พรหมวิหาร ๔ ทาน สติ สมาธิ ปัญญา
- ศีลใช้ละกิเลสอย่างหยาบ สมาธิใช้ละกิเลสอย่างกลาง ปัญญา(มรรคญาณ)ใช้ละกิเลสอย่างละเอียด(อุปกิเลส)
- เวลาทำสมาธิก็ให้รู้ลม บริกรรมพุทโธไป อย่าทิ้งลม อย่าทิ้งพุทโธ พุทโธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เมื่อจิตมันคิดก็รู้ว่ากำลังคิด อย่าติดความคิดอย่าติดนิมิต นิมิตที่เห็นก็แค่สมมติที่จิตมันสร้างขึ้นหลอกให้เราหลงให้ยึดมั่นถือมั่นในมันมันเป็นเครื่องมือของกิเลสทั้งนั้น จิตจริงๆเดิมๆนั้นมันว่างไม่มีอะไรเลย อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมัน ให้กลับมาอยู่ที่ลมหายใจ อยู่กับพุทโธไปมิให้ขาด (โดยส่วนตัวเราเมื่อพิจารณาแล้วเห็นตามจริงที่หลวงพ่อสอนว่า เมื่อจิตคิดก็รู้ว่า สิ่งที่คิดก็คือสมมติ นิมิตที่เห็นก็แค่สมมติที่จิตมันสร้างขึ้นหลอกให้เรายึดมั่นหลงตาม จิตรู้สิ่งที่คิดก็เป็นสมมติ จิตรู้สิ่งใด คิดสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นสมมติทั้งนั้น อย่าไปยึดสมมติ อย่าไปหลงตามนิมิตสมมติของกิเลส ของจริงคือลมหายใจ คือ กายสังขาร ลมหายใจเป็นกายสังขาร เป็นกายละเอียด ส่วนอาการทั้ง ๓๒ เป็นกายหยาบ (ซึ่งไม่ได้หมายถึงกายหยาบกายละเอียด มโนมยิทธิแต่อย่างใด แต่เป็นกายหยาบกายละเอียดที่พิจารณาปฏิบัติกรรมฐานล้วนๆเท่านั้น)

- ไม่ต้องไปแยกวิตกวิจาร มันมาด้วยกัน วิตกคือพุทโธ จิตอยู่กับพุทโธคือวิจาร

- กาย ขันธ์ ๕ แยกกาย(วิชาม่างกายในสายพระป่า หรือ วิชาสลายธาตุในมัชฌิมาแบบลำดับ) แยกอาการทั้ง ๓๒ จนไม่เหลือสมมติ หรือ แยกอาการทั้ง ๓๒ ออก สงเคราะห์ลงตามจริงจนเหลือเพียง ธาตุ ๖ คือ ดินธาตุ น้ำธาตุ ลมธาตุ ไฟธาตุ อากาศธาตุ(ช่องว่างในกายในธาตุทั้งปวง) วิญญาณธาตุ(ตัวรู้ทั้งปวง รู้ผัสสะ รู้นามรูปทั้งปวง)

- สฬายตนะ อายตนะภายใน ๖ คือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ (สฬายตนะเป็นเครื่องมือของจิต เป็นเครื่องต่อให้เกิดกิเลส) เป็นเครื่องต่อให้เกิด วิญญาณ+ผัสสะ ใน สี(รูป) เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์(สิ่งที่ใจรู้ สังขารขันธ์ทั้งปวงเป็นต้น สมมติบัญญัติทั้งปวง ไปจนถึง นิพพาน)

- วิญญาณธาตุ(ตัวรู้ทั้งปวง รู้ผัสสะ รู้นามรูปทั้งปวง แต่รู้เพียงสมมติบัญญัติ วิญญาณตา วิญญาณหู วิญญาณจมูก วิญญาณลิ้น วิญญาณกาย วิญญาณใจ (ธรรมารมณ์)) สุดท้ายจนเหลือเพียงแค่สภาวะธรรมไม่มีแม้แต่ชื่อธาตุไรๆทั้งนั้น ไม่มีสภาวะธรรมไรๆที่เป็นชื่อเป็นสมมติบัญญัติ มีแต่สภาวะธรรมล้วนๆ

- จิตนี้ เมื่อรู้อารมณ์ไรๆแล้ว ก็เข้าไปยึดมั่นเกาะเกี่ยวเอาแต่สมมติที่รู้สัมผัสนั้นเป็นเหตุให้เกิดเวทนา จึงเป็นทุกข์

- อารมณ์พระนิพพานเป็นไฉน มีปฐมฌาณเป็นต้น มีความว่าง ว่างเท่านั้น ไม่มีอะไรเลย มีแต่ว่าง จะรู้ก็สภาวะธรรม เห็นโลกเป็นของว่างทั้งหมด

-วิชาแยกกาย..  อาการทั้ง ๓๒ ประการ เช่น ถอดเล็บ ถอดผม ขน ฟัน หนัง ก้อนเนื้อ เส้นเอ็น เลือด กระดูก ก็ไม่มีอะไรทั้งสิ้น

-สฬายตนะเป็นเครื่องมือของจิต จะจิต จะวิญญาณ จะมโน ก็คือ วิญญาณธาตุ ก็คือตัวรู้เท่านั้น จิตทำหน้าที่รู้เท่านั้น จิตอาศัยสฬายตนะเป็นเครื่องให้รู้สิ่งที่ผัสสะ
-อายตนะเป็นเครื่องมือของกิเลส กิเลสอาศัยอายตนะเป็นเครื่องล่าจิต หลอกให้จิตลุ่มหลงของปลอม ติดหลงสมมติ

-จิต คือ ตัวรู้ รู้ทุกอย่าง แต่รู้แค่สมมติบัญญัติ จิตไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์

-จิตนี้..เป็นตัวรู้ ตัวยึด ตัวจับเอาสมมติทุกอย่างมาเป็นอารมณ์ ให้เกิดเวทนา พอเกิดเวทนา ก็เข้าไปยึดต่ออีก ให้เกิดเป็นกิเลสตัณหา จิตไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงตัวรู้ รู้เท่านั้น แต่มันรู้แค่สิ่งสมมติ ไม่รู้สภาพจริงหรือปรมัตถธรรมเลย

ตัวเราจริงๆนั้นมีแต่ความว่าง ว่างเท่านั้น ไม่มีอะไรเลย
แต่เพราะอาศัยจิตนั้นแหละเป็นเครื่องรู้ เครื่องยึดมั่นถือมั่น ทำให้เกิดเวทนาและรูปนาม เกิดสมมติบัญญัติ เกิดกิเลสตัณหาสืบมา

เมื่อรู้อกุศลธรรมอันลามกจัญไรเกิดขึ้นมีพุทธานุสสติหรืออานาปานสติเป็นเบื้องหน้า เมื่ออกุศลธรรมดับไปแล้ว ก็ปล่อยให้มันดับไปก็อย่าไปหวนระลึกมัน ให้มันขึ้นมาอีก อย่าเข้าไปยึดมัน ปล่อยมันดับไปของมัน มันเกิดดับเป็นธรรมดา ดับไปๆก็ปล่อยมันดับไป มันเกิดขึ้นก็ปล่อยมันไป มันเป็นไปของมันช่างมันอย่าไปยึดเอามันสักแต่มีไว้รู้เท่านั้น

ร่างกายเราก็เป็นเพียง ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณธาตุเท่านั้นไม่มีสิ่งใด ทุกอย่างไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์

เรื่องที่เราปวดขามันแค่เวทนา จริงๆร่างกายคือธาตุดิน มันไม่รู้อะไรทั้งนั้น ไม่มีความรู้สึกนึกคิด ไม่รู้เจ็บรู้ปวดทั้งสิ้น จิตเท่านั้นที่เป็นตัวรู้ รู้เจ็บ รู้ปวด จริงๆแล้วความเจ็บปวดมันเกิดขึ้นและมันดับไปแล้ว แต่จิตมันรู้เจ็บแล้วไปยึดเอาความเจ็บนั้นมันจึงจับเอาอาการที่ว่าเจ็บปวดนั้นมาเป็นที่ตั้งอารมณ์ มันจึงเจ็บปวดสืบต่อไม่หยุด ทั้งๆที่ ที่จริงมันดับไปนานแล้ว แต่อาศัยจิตนั้นแหละเป็นตัวยึดอารมณ์นั้นๆ มันจึงเจ็บปวดไม่หยุด

- ท่านพ่อลี ธัมมะธะโร สอนนั่งสมาธิ โดยเริ่มที่ฐานเป็นจุดเดิน ๕ จุด ให้ยึดไม่คลอนแคลนโครงเครงเหมือนหลักที่ปักแน่น ดังนี้คือ
1. เริ่มต้นให้จับที่ปลายจมูกหรือโพรงจมูกรู้ลมเข้าออก หายใจเข้า "พุท" หายใจออก "โธ" นับเป็น 1 ทำไปให้ถึง 10 อย่างนี้เสร็จรอบหนึ่ง(ซึ่งเราเพิ่มเป็นนับถอยหลัง จาก 10 ลงมาถึง 1 ด้วย นี่จึงครบรอบนับ 10)
2. จากนั้นหายใจเข้า "พุท" หายใจออก "โธ" นับเป็น 1 ลดลงมาเหลือเพียง 7 ครั้งนี้เสร็จรอบหนึ่ง(ซึ่งเราเพิ่มเป็นนับถอยหลัง จาก 7 ลงมาถึง 1 ด้วย นี่จึงครบรอบนับ 7)
3. จากนั้นหายใจเข้า "พุท" หายใจออก "โธ" นับเป็น 1 ลดลงมาเหลือเพียง 5 ครั้ง(ซึ่งเราเพิ่มเป็นนับถอยหลัง จาก 5 ลงมาถึง 1 ด้วย นี่จึงครบรอบนับ 5)
4. จากนั้นหายใจเข้า "พุท" หายใจออก "โธ" นับเป็น 1 ลดลงมาเหลือเพียง 3 ครั้ง(ซึ่งเราเพิ่มเป็นนับถอยหลัง จาก 3 ลงมาถึง 1 ด้วย นี่จึงครบรอบนับ 3)
5. จับที่โพรงจมูกทำจิตเบิกกว้างเปิดให้สบาย แล้วบริกรรม พุทโธ ไปธรรมดา ประมาณสัก 5 - 10 ครั้ง แล้วก็รู้ลมเข้าออกธรรมดาไม่ต้องบริกรรมก็ได้
6. มีสติรู้ลมเข้าออกจิตจดจ่อจับ ๕ จุด คือ ปลายจมูก๑ → กลางหน้าผาก๑ → กลางกระหม่อมส่วนนอก๑ → โพรงกลวงในกระโหลกศีรษะ กลางสมอง(กระหม่อมภายในกลางกระโหลก)๑ (จุดนี้แหละที่ละทุกข์บรรเทาทุกข์เวทนาทั้งปวง) → กลางหน้าอก๑ (จากนั้นจะมาจับตามเฉพาะข้อที่ 5 ก็ได้)

หลวงพ่อเสถียร ก็สอนจุดเดินลมหายใจที่เหมือนๆกันแต่มี ๗ คือ
ปลายจมูก๑ → กลางหน้าผากหรือกลางหว่างคิ้ว๑ → กลางกระหม่อมภายนอก๑ → กลางกระโหลกสมองหรือท้ายทอยบน๑ → คอจุดกลางลูกกระเดือก๑ → กลางหน้าอก๑ → สะดือ(นาภี)๑

(ซึ่งที่หลวงพ่อสอนนี้ ถ้าหากเราจดจำหวนระลึกถึงสิ่งที่หลวงพ่อสอนไม่ผิดเพี้ยน ก็จะเห็นว่าเป็นอันเดียวกับการเดินลมหายใจในสัมโพชฌงค์ ๗ ของมัชฌิมาแบบลำดับ)

- คำสอนหลวงพ่อนี้ เมื่อเราจะหมายพิจารณาในขั้นต้นก็เห็นธรรมในขั้นต้น เมื่อจะหมายพิจารณาในขั้นกลางเป็นสมาธิก็เห็นในสมถะ เมื่อเราหมายจะพิจารณาด้วยปัญญาอันสืบต่อสมาธิก็จะเกิดปัญญาญาณทั้งปวง เมื่อเรามาวิเคราะห์ในธรรมเราก็พิจารณารวมสรุปที่หลวงพ่อสอนตั้งแต่ กาย -> สฬายตนะ -> ผัสสะ -> จิต(วิญญาณ มโน มนะ ตัวรู้ทุกอย่างคือ จิต) -> เวทนา -> {จิตที่รู้อารมณ์สมมติแล้วเข้าไปยึดมั่นถือมั่นให้เกิดกิเลสตัณหาสืบมา(วิญญาณ มโน มนะ ตัวรู้ทุกอย่างคือ จิต)} คือ อินทรีย์สังวร
- พระอริยะเจ้าทั้งหลาย เมื่อจะรู้ก็สักแต่รู้สภาวะธรรมรู้ว่าจิตรู้ผัสสะอันมีสภาวะธรรมนี้ๆเท่านั้นตัดขาดสมมติบัญญัติ ไม่มีตัวตน บุคคลใด มีแต่สภาวะธรรมไม่มีสมมติบัญญัติมีแต่ความว่าง ดังนี้แล้วเมื่อจิตรู้ว่า คน สัตว์ สิ่งของ ธาตุ รูป นาม อาการอย่างนี้ๆมีชื่อเรียกอย่างนี้ๆ จิตเกิดความคิด วิตก วิจาร อันนี้คือจิตรู้สมมติบัญญัติทั้งหมด เมื่อเข้าไปยึดเอาสิ่งที่รู้ก็เป็นเวทนา เป็นทุกข์ ดังนั้นจะดับเวทนาก็ดับที่ตัวรู้ คือ จิต ดับจิตที่รู้ผัสสะ รู้สมมติทั้งปวง
เมื่อเราได้พิจารณาตามโดยแยบคายในเบื้องลึกแบบปุถุชนอย่างเรา ก็ได้เห็นว่า

๑. สฬายตนะ เป็นประตูรับรู้ผัสสะใน สี เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์
๒. จิต เป็นตัวรู้ รู้ผัสสะรู้ทุกอย่างทางสฬายตนะแต่รู้แค่สมมติ ไม่รู้สภาพจริงเลย
๓. เมื่อจิตรู้สมมติ แล้วเราเข้าไปยึดสมมติที่รู้นั้นมันก็เวทนา เกิดฉันทะ ปฏิฆะ เกิดความยึดมั่นถือมั่นในเวทนา เกิดความตรึกนึกคิดสืบไป เป็นกิเลส ตัณหา เป็นทุกข์

ดังนั้นถ้าแยกเป็นกองๆตัดที่วิญญาณธาตุอันเป็นตัวรู้ที่รู้สมมตินี้แล้วสักแต่รู้ว่าจิตมันรู้สิ่งนี้ๆเท่านั้น เป็นจิตเห็นจิต จิตก็จะไม่ยึดผัสสะที่รู้ให้เกิดเป็นเวทนาสืบต่อไปให้เป็นทุกข์ เป็นผลอันเกิดจากจอิตเห็นจิต คือ นิโรธ ความดับทุกข์ดังนี้

มรรค นี้ที่ละอุปกิเลส ที่มีในกายและใจเราด้วยปัญญาญาณเป็นการละโดยไม่มีเจตนา คือ ความเห็นธรรมเห็นสภาพธรรม ความไม่เอาสิ่งที่รู้มายึดมั่นถือมั่นเป็นอารมณ์ที่ตั้งแห่งจิต
จิตมันรู้สิ่งใดทางสฬายตนะ ก็ให้เรามีมหาสติรู้ว่าจิตมันรู้สิ่งนี้ๆเท่านั้น (สติแบบปุถุชน คือ ระลึกได้ หวนระลึกได้ แยกแยะถูกผิดได้ในปัจจุบันนั้น แต่..มหาสติ คือ ตัวรู้ รู้จริง รู้อยู่ทุกขณะ มีสัมปะชัญญะรู้ตัว ทำให้รู้ตัวทั่วพร้อม รู้กายใจในปัจจุบันเป็นฐาน ทำให้เห็นในสภาพตามจริงอันปราศจากสมมติบัญญัติเป็นผล) ปัจจุบันนี้ๆสิ่งเหล่านั้นที่จิตรู้มันเกิดขึ้น มันดับไปเท่านั้น ไม่มีสิ่งใดๆ มีแต่สภาวะธรรม เจริญดังนี้แล้วคือมรรค ก็จะปหานอุปกิเลสไดั






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 09, 2015, 08:53:12 PM

บันทึกกรรมฐาน วันที่ 9/1/58


   เราได้ทำสมาธิโดยประมาณ 40 - 60 นาที แบบที่ท่านพ่อลีและหลวงพ่อสอน ก็ให้พิจารณาเห็นว่า จิตนี้มันส่งออกนอก มันคิด มันรู้สิ่งที่คิด มันสืบต่อสิ่งที่คิด มันรู้กาย รู้อิริยาบถ รู้กิจที่กำลังทำ รู้สิ่งที่กำลังเป็นไป เข้าไปเสพย์คิด สืบต่อความคิด เกิดนิมิตมโนภาพบ้าง ซึ่งสิ่งทั้งปวงนี้สักแต่เป็นเพียงสังขารเท่านั้น มันเกิดของมัน ดับไปเองของมัน ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน บังคับให้เป็นดั่งใจไม่ได้ เมื่อเข้าไปเสพย์อารมณ์ที่รู้ เข้าไปเสพย์ความคิดสืบต่อสิ่งที่คิดก็มีแต่ทุกข์ ใจนี้มันรู้สิ่งที่คิด รู้อารมณ์ทั้งหมด แต่สิ่งที่มันรู้นี้ไม่มีจริงเลยเป็นของปลอม เป็นสมมติบัญญัติทั้งนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีจริง เช่น
- วิตกความตรึกนึกคิดทั้งปวง เมื่อพิจารณาสิ่งที่คิดเรื่องราวที่คิดที่เป็นไปแล้วี้ ก็เห็นว่าสัญญากอปรรวมกับความพอใจยินดี-ไม่พอใจยินดี และ ความปารถทั้งที่อยากและไม่่อยากของตนปรุงแต่งก่อเกิดเรื่องราวขึ้นมา เรื่องราวที่ปรุงแต่งให้เห็นมันก็แค่สมมติทั้งนั้นไม่มีความจริงเลย จิตนี้เมื่อมันรู้ความคิดปรุงแต่งสมมตินั้น มันก็แนบอารมณ์ไปกับสิ่งที่คิดปรุงแต่งสมมตินั้นสืบไป แล้วจิตนี้มันก็ไปยึดมั่นถือมั่นเอาสิ่งสมมติที่สังขารปรุงแต่งเหล่านั้น ที่กิเลสนั้นมันสร้างขึ้นมา ..จิตมันรู้มันยึดเอาความคิดปรุงแต่งสมมติเรื่องราวตามกิเลสทั้งนั้น
- นิมิตมโนภาพทั้งปวง เมื่อเราพิจารณาในมโนภาพแล้วนี้ ก็เห็นว่ามันคิดตามที่ใจปารถนาให้เป็นบ้าง สร้างเรื่องราวสมมติมาบ้างอย่างนั้นอย่างนี้ไม่เป็นจริงเลยสักอย่างไอ้จิตที่มันเป็นตัวรู้นี้และ มันรู้แต่สมมติแล้วก็เสพย์ยึดมั่นถือมั่นเกาะเอาเรื่องสมมติมาเสพย์เรื่องราวว่าจริงบ้าง ว่ารู้เห็นบ้าง ทั้งๆที่นี่มันเป็นเครื่องของกิเลสที่มันสร้างขึ้นมาหลอกเราเท่านั้น มันไม่มีของจริงเลยสักอย่าง ความรู้สึกเวทนาทั้งปวงมันก็เกิดขึ้น ...จิตมันรู้มันยึดเอามโนภาพที่ไม่จริงที่วิตกวิจารที่กิเลสมันสร้างสมมติขึ้นมาทั้งนั้น ทั้งๆที่ไม่เป็นความจริง
- เวทนาทั้งทางกายและใจก็เกิดมีมา มันเกิดแล้วดับไป เกิดแล้วดับแต่ไอ้จิตที่มันไปรู้อารมณ์นั้นแหละไปเกาะจับเอาความรู้สึกนั้นไว้ทั้งๆที่มันดับไปแล้ว ก็เป็นสัญญาจดจำสำคัญหมายรู้ในอารมณ์อาการนั้นๆ แล้วก็ปรุงแต่งไปรู้และเสพย์สมมติไปแล้วก็เสวยอารมณ์สุข ทุกข์ เฉยๆ ชอบ ไม่ชอบ ให้ความสำคัญมั่นหมายของใจ ปารถนา ไม่ปารถนา ฟุ้งซ่านไปทั่ว ...จิตมันรู้มันยึดเอาแต่สิ่งที่ดับไปแล้วสิ่งที่สมมติขึ้นมาว่าเป็นนั่นเป็นนี่แล้วก็ถือเอาไว้เอามาตั้งไว้ให้เราเสพย์สิ่งที่ดับไปแล้วตามที่กิเลสนั้นมันต้องการทั้งนั้น

- ทีนี้เมื่อเห็นอย่างนี้ก็ให้รู้ว่า จิตมันรู้แต่ของไม่จริงรู้แต่สมมติ จิตมันยึดมั่นถือมั่นก็ยึดแต่ของไม่จริงยึดเอาแต่สิ่งสมมติ
- จิตยึดเอาวิตก อกุศลวิตกปรุงแต่งตรึกนึกคิดเกิดขึ้นมันก็คิดแต่สิ่งไม่จริงคิดแต่เรื่องสมมติเท่านั้น พอจิตมันไปรู้ความคิด น้อมไปในสิ่งที่คิด  แนบอยู่กับสิ่งที่คิด ก็เกิดความสืบต่อเรื่องราวที่สมมติที่ไม่จริงเหล่านั้นขึ้นต่อไปไม่จบไม่สิ้น พอยึดมั่นถือมั่นก็ยึดเอาความคิดสมมติตน ทำให้เห็นเลยว่านี่เราโง่มากนะที่เอาความคิดสมมติไม่จริงทั้งหลายมาเป็นที่ตั้ง
- เวทนาที่จิตมันเข้าไปรู้เข้าไปยึด มันก็แค่สภาวะธรรมที่สมมติขึ้นมาว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้เท่านั้นทั้งๆที่มันดับไปแล้วแต่ไอ้จิตไอ้ตัวรู้นี้แหละที่ยึดมั่นถือมั่นตั้งให้เกิดความจดจำสำคัญหมายรู้มันไว้ ทำให้เวทนานั้นยังค้างอยู่ กายมันเป็นดิน ดินก็ไม่รู้สึกรู้อะไรทั้งนั้น มีแต่ไอ้จิตนี้แหละที่รู้ทุกอย่างที่ยึดทุกอย่าง แต่รู้และยึดแต่สิ่งไม่จริงสิ่งสมมติ

ดังนี้แล้ว ก็ทำให้เรารู้ตามจริงว่า "จิตรู้สิ่งใด สิ่งนั้นคือสมมติ" และ "มหาสติ คือ สติ+สัมปะชัญญะ มีอยู่ ณ ที่ใด ที่นั้นคือจริงในปัจจุบัน" แล้วเราจะไปถือเอาอาการไรๆมีอย่างสมมติอย่างนั้นอย่างนี้ไรๆ อารมณ์อันสมมติไรๆ ความคิดตรึกนึกสังขารปรุงแต่งสมมติไรๆที่เป็นของไม่จริงไปทำไม ยึดไปก็มีแต่ทุกข์ ทิ้งความยึดมั่นถือมั่นความรู้สมมตินั้นๆไปเสีย ของจริงที่เกิดขึ้นที่เป้นอยู่ที่มีอยู่จริงๆในปัจจุบันตอนนี้ คือลมหายใจเข้าและออก คือ กายสังขาร ดังนั้นแล้วสิ่งที่เราควรจะยึดจะรู้ไว้เป็นอารมณ์คือของจริงสิ่งจริงที่เกิดขึ้นเป็นไปอยู่ นั่นก็คือ "ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก" นั่นเอง จากนั้นจิตก็รวมลงเป็นสมาธิ

ทีนี้เมื่อปฏิบัติแล้วทำให้เราเห็นตามจริงในสภาวะธรรมทั้งหมดอย่างที่หลวงพ่อสอนเลย ตัดตัวรู้สมมติจากผัสสะที่เกิดทางสฬายตนะแล้ว ก็เห็นแต่สภาพธรรมจริงๆไม่มีตัวคนบุคลใด สัตว์ใด สิ่งใด ธาตุใด ชื่อใดๆ สมมติบัญญัติไม่มี เวทนาก็ไม่มี มีแต่ความว่างโล่งนิ่งเฉยไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดทั้งสิ้น ทุกข์ก็ไม่มีอีก อินทรีย์สังวร และ ศีลสังวร พระอรหันต์ท่านเจริญปฏิบัติอย่างนี้

หลวงพ่อเสถียร ผู้เป็นพระอรหันต์ ท่านสอนง่ายและนุ่มลึกตรงใจมาก พูดสั่นๆง่ายๆให้เห็นตามจริง พูดภาษาชาวบ้านทั่วไปแต่ถึงได้จริง ไม่ต้องไปไล่ให้เห็นในอภิธรรมปรมัตถสังคหะก็ให้ถึงใจได้จริง เปลื้องจิตใจเราออกหมดจนไม่อยากจะยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดในขันธ์ทั้ง ๕ นี้แล้ว ทำให้เกิดสมาธิขึ้นแทบทุกทั้งที่ระลึกถึง

**แต่ก็เราก็ยังทำไม่พอ ยังไม่ถึง ยังเป็นโลกียะ เป็นเพียงขณิกสมาธิสั้นๆบ้าง เพียง 10 นาที - 30 นาทีบ้าง แล้วมันก็ดับไป ยังทำให้เกิด เวทนา และ กิเลสทั้งปวงอยู่ เรายังเพียงแค่ปุถุชนเท่านั้น ยังไม่ถุงสันดานพระอริยะเจ้า จึงไม่ควรหลงปัญญา ไม่ควรหลงตน สิ่งที่รู้ ปัญญาที่เกิด ญาณที่เกิดมันก็ดับไปแล้ว ยังคงอยู่แต่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สัญญาความจำได้หมายรู้ในสิ่งที่ผ่านมาแล้วทั้งนั้น






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 10, 2015, 08:53:45 PM

บันทึกกรรมฐาน วันที่ 10/1/58


ทำสมาธิแบบท่านพ่อลีและหลวงพ่อสอน คือ

- ท่านพ่อลี ธัมมะธะโร สอนนั่งสมาธิ โดยเริ่มที่ฐานเป็นจุดเดิน ๕ จุด ให้ยึดไม่คลอนแคลนโครงเครงเหมือนหลักที่ปักแน่น ดังนี้คือ
1. เริ่มต้นให้จับที่ปลายจมูกหรือโพรงจมูกรู้ลมเข้าออก หายใจเข้า "พุท" หายใจออก "โธ" นับเป็น 1 ทำไปให้ถึง 10 อย่างนี้เสร็จรอบหนึ่ง(ซึ่งเราเพิ่มเป็นนับถอยหลัง จาก 10 ลงมาถึง 1 ด้วย นี่จึงครบรอบนับ 10)
2. จากนั้นหายใจเข้า "พุท" หายใจออก "โธ" นับเป็น 1 ลดลงมาเหลือเพียง 7 ครั้งนี้เสร็จรอบหนึ่ง(ซึ่งเราเพิ่มเป็นนับถอยหลัง จาก 7 ลงมาถึง 1 ด้วย นี่จึงครบรอบนับ 7)
3. จากนั้นหายใจเข้า "พุท" หายใจออก "โธ" นับเป็น 1 ลดลงมาเหลือเพียง 5 ครั้ง(ซึ่งเราเพิ่มเป็นนับถอยหลัง จาก 5 ลงมาถึง 1 ด้วย นี่จึงครบรอบนับ 5)
4. จากนั้นหายใจเข้า "พุท" หายใจออก "โธ" นับเป็น 1 ลดลงมาเหลือเพียง 3 ครั้ง(ซึ่งเราเพิ่มเป็นนับถอยหลัง จาก 3 ลงมาถึง 1 ด้วย นี่จึงครบรอบนับ 3)
5. จับที่โพรงจมูกทำจิตเบิกกว้างเปิดให้สบาย แล้วบริกรรม พุทโธ ไปธรรมดา ประมาณสัก 5 - 10 ครั้ง แล้วก็รู้ลมเข้าออกธรรมดาไม่ต้องบริกรรมก็ได้
6. มีสติรู้ลมเข้าออกจิตจดจ่อจับ ๕ จุด คือ ปลายจมูก๑ → กลางหน้าผาก๑ → กลางกระหม่อมส่วนนอก๑ → โพรงกลวงในกระโหลกศีรษะ กลางสมอง(กระหม่อมภายในกลางกระโหลก)๑ (จุดนี้แหละที่ละทุกข์บรรเทาทุกข์เวทนาทั้งปวง) → กลางหน้าอก๑ (จากนั้นจะมาจับตามเฉพาะข้อที่ 5 ก็ได้)

หลวงพ่อเสถียร ก็สอนจุดเดินลมหายใจที่เหมือนๆกันแต่มี ๗ คือ
ปลายจมูก๑ → กลางหน้าผากหรือกลางหว่างคิ้ว๑ → กลางกระหม่อมภายนอก๑ → กลางกระโหลกสมองหรือท้ายทอยบน๑ → คอจุดกลางลูกกระเดือกหรือใต้ลูกกระเดือก๑ → กลางหน้าอก๑ → สะดือ(นาภี)หรือเหนือสะดือ 2 นิ้ว๑

(ซึ่งที่หลวงพ่อสอนนี้ ถ้าหากเราจดจำหวนระลึกถึงสิ่งที่หลวงพ่อสอนไม่ผิดเพี้ยน ก็จะเห็นว่าเป็นอันเดียวกับการเดินลมหายใจในสัมโพชฌงค์ ๗ ของมัชฌิมาแบบลำดับ)







พิจารณาเห็นว่าที่หลวงพ่อสอนนี้คือธรรมอันคลายความยึดมั่นถือมั่น ละจิตที่ไปยึดเกาะเกี่ยวกับสิ่งทั้งปวง เป็นธรรมอันเป็นเครื่องออกจากทุกข์ เป็นธรรมเครื่องดับเวทนาทั้งปวง เป้นธรรมอันสังวรในอินทรีย์ เป็นธรรมอันดับสังขาร เป็นธรรมที่ทำลายอวิชชา ไม่ให้เกิดเป็นอิทัปปัจจยตา คือ

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี
ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมี

   สิ่งที่หลวงพ่อสอนว่าจิตเป็นตัวรู้ รู้ทุกอย่าง แต่มันรู้แต่สมมติเท่านั้น เราปฏิบัติเราก็เห็นตามจริงว่า ความคิดที่เกิดก็สมมติ มันปรุงแต่งเรื่องราวสมมติไปตามกิเลสตน มันรู้ผัสสะทางสฬายตนะใดๆมันก็รู้ที่เป็นสมมติทั้งนั้น ไม่มีจริงเลย จิตมันรู้แล้วสิ่งใดแล้วมันก็ดับ จิตมันก็รู้สิ่งเกิดขึ้นและดับไปแล้ว มันไม่คงอยู่ได้นาน ตั้งตั้งอยู่ตลอดไป มันไม่เที่ยง เราจะบังคับให้จิตมันไปรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ตามใจเราปารถนาก็ไม่ได้ จิตนี้มันจึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีตัวตน ความไปยึดมั่นถือมั่นในจิต ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่จิตมันรู้นี้แหละ จึงเป็นทุกข์ เช่น

- จิตมันรู้สิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นสมมติทั้งหมด ไม่ว่าจะจิตรู้รูปทางตาสิ่งที่เห็นเป็นคน สัตว์ สิ่งของไรๆมันก็สมมติทั้งนั้น จะเป็นสังขารปรุงแต่งทั้งปวง จะความคิดหรือเรื่องราวสิ่งที่คิดสังขารมันก็สมมติขึ้นมาหลอกล่อตามกิเลสทั้งนั้น ถึงแม้เรื่องราวสิ่งที่คิดนั้นมันจะเคยเกิดขึ้นจริงแต่ว่าเรื่องราวสิ่งนั้นๆมันดับไปแล้วไม่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว แต่สังขารมันเข้าไปปรุงแต่งกับสัญญาสร้างสมมติเรื่องราวต่างๆที่ดับไปแล้วเหล่านั้นขึ้นมาใหม่ แล้วปรุงไปตามกิเลสหลอกล่อให้เราไปเสพย์ไปหลงติดในความคิดสมมติที่สังขารกับสัญญามันสร้างขึ้นหลอกให้จิตมันรู้มันยึดเสพย์ความคิดสิ่งที่คิดเป็นที่ตัังอารมณ์แห่งจิต ให้เสมือนดังว่าเรื่องราวเหล่านัันกำลังเกิดขึ้นจริงอยู่ในปัจจุบันตามที่กิเลสมันหลอกจนเราเป็นทุกข์ตามที่กิเลสมันต้องการ นี่เท่ากับเราโง่ไปติดความคิดสมมติที่กิเลสมันสร้างขึ้นให้จิตมันรู้มันเกาะยึดเลย จะมโนภาพสังขารมันก็สมมติขึ้นมาหลอกล่อตามกิเลสทั้งนั้น จะความรู้สึกแบบนั้นแบบนี้มีชื่อแบบนั้นแบบนี้มันก็สมมติทั้งหมด

- สังขารขันธ์ก็แค่สภาวะธรรมที่ปรุงแต่งจิตเท่านั้น แต่สิ่งที่ปรุงแต่งให้จิตรู้นั้นก็ไม่จริงมันสมมติทั้งนั้น สังขารมันก็มันเกิดแล้วก็ดับไม่เที่ยง บังคับให้มันเป็นแบบนั้นแบบนี้ตามใจไม่ได้มันไม่มีตัวตน ความเข้าไปยึดมั่นถือมั่นความปรุงแต่งสมมติก็เป็นทุกข์

- ธัมมารมณ์ทั้งปวงที่จิตมันรู้ มันเป็นเพียงแค่สิ่งสมมติทั้งหมด

- ทั้งๆที่สภาพจริงมีมีแค่สภาวะธรรมที่ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีอะไรเลยว่างเปล่าทั้งนั้น สิ่งที่รู้ก็ดับไปแล้ว จิตที่รู้ก็ดับไปแล้ว เรานั้นแลไปเกาะเกี่ยวเอาสิ่งที่จิตมันรู้มาจำไว้ให้ความสำคัญมั่นหมายของใจยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ จึงเกิดเวทนา เป็นไปตามกิเลสตัณหาทั้งปวงแล้วก็เป็นทุกข์สืบมา

   ดังนั้นเมื่อเรารู้เห็นตามจริงว่าจิตมันรู้ทุกอย่างแต่สิ่งที่มันรู้นั้นเป็นสมมติทั้งนั้น ความเข้าไปยึดเอา จิต เจตสิก หรือ วิญญาณ สังขารไรๆก็ไม่มี ความเข้าไปยึดมั่นถือมั่นความปรุงแต่งสมมติไรๆก็ไม่เกิดขึ้น เวทนาสุขหรือทุกข์ก็ไม่มีสืบต่อ วงจรมันก็อยู่แค่วิญญาณ { [รูป]+[ตา](สฬายตนะ)+[วิญญาณ] --> จึงเกิดผัสสะขึ้นมาได้ --> จึงเกิดเวทนาสืบต่อมาได้ ดังนั้น เมื่อดับหรือหยุดอยู่ที่วิญญาณ ผัสสะอันสมมติให้เกิดเวทนาจนเกิดกิเลสตัณห่ก็ไม่มีอีก} เมื่อรู้ที่วิญญาณดับที่วิญญาณ นามรูปก็ไม่เกิดขึ้นให้เป็นเวทนาและตัณหาสืบต่อมา) มีแต่อินทรีย์สังวร ศีลสังวร อบรมกายและอบรมใจอยู่ เปลื้องจิตออกจากสมมติทั้งปวง แล้วทุกขสัจจ์ก็ไม่มี ทำให้ตัดวงจรของกฏอิทัปปัจจยตาโดยสิ้นเชิง

   นั้นเพราะอะไร เพราะการเจริญปฏิบัตินี้ไม่ต้องเพ่งไม่ต้องไปจ้องเอาสภาพปรมัตถธรรมให้ยากเลย แต่รู้เท่านั้น มีสติ+สัมปะชัญญะ คือมีมหาสติรู้เท่านั้น รู้จิตว่ามันรู้สมมติ รู้ขันธ์ว่าไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์ เมื่อรู้อย่างนี้สภาวะธรรมแท้ๆจริงๆอันเป็นปรมัตถธรรมมันก็เกิดเองเห็นเองตามจริง ไม่ต้องไปนั่งท่องจำอภิธรรมปรมัตถสังคหะ ไม่ต้องไปท่องจำพระไตรปิฏก ไม่ต้องไปนั่งฟังบรรยายผู้ที่จบมหาเปรียญ ๙ แต่ยังเข้าไม่ถึงธรรม

   เพราะผู้เรียนมากอ่านมากแต่เข้าไม่ถึง จะต้องอิงตำรานั่นนี่มามากมายอนุมานจดจำเข้ารวมกันมีสภาวะอย่างนั้นอย่างนี้ไปสร้างสัญญาเพิ่มให้เราอีกว่าต้องเห็นอย่่างนั้นอย่างนี้จึงจะถูก เรียกชื่อสภาวะธรรมเป็นภาษาบาลีเป็นสภาพปรัมตถธรรมปรุงแต่งอย่างนั้นอ่างนี้ ทั้งๆที่สิ่งที่รู้เห็นนั้นไม่จริง แค่สมมติอนุมานเอาเท่านั้น
   ส่วนผู้เข้าถึงธรรมแล้วนั้น ท่านจะพูดภาษาโลกให้เรารับรู้ง่ายๆสั้นๆ แต่เห็นได้จริงถึงจริงรู้ได้ตามจริง ไม่ต้องไปอ้างไล่เสาะหาภาษาบาลีภาษาธรรมภาษาปริยัติมานั่งไล่ว่าจิตตัวนั้นร่วมกับตัวนี้เกิดขึ้นอย่างนั้นอย่างนี้ ธรรมารมณ์เป็นสังขารเป็นนิพพานอย่างนั้นอย่างนี้ให้ยุ่งยากเลย ท่านจะบอกจุดสำคัญให้รู้ ให้มี ให้ยึดมาเจริญพิจารณาเท่านั้น เมื่อชี้ให้เราเห็นตามจริงแล้วก็ให้เจริญใน

๑. ศรัทธา มีศรัทธา ๔ คือ
- กัมมสัทธา เชื่อว่า กรรมมีจริง
- วิปากสัทธา เชื่อว่า ผลของกรรมมีจริง
- กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่า เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตนจริง
- ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อ การตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า

๒. เมื่อมีศรัทธาเป็นกำลังก็ตั้งเอา ศีล เป็นฐาน เมื่อมีศีลเป็นฐานก็เกิดเป็น พรหมิวหาร๔ ทาน ได้สมบูรณ์

๓. วิริยะ

๔. สติ

๕. สมาธิ

๖. ปัญญา


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 11, 2015, 12:21:14 AM


บันทึกกรรมฐาน วันที่ 11/1/58


เจตนามี ณ ที่ใด ความตรึกถึง คำนึงถึง ปารถนาไรๆก็มี ณ ที่นั้น

- การละกิเลสอย่างหยาบที่เกิดโดยเจตา.. จึงอาศัยการละด้วยเจตนา มีกรรมฐาน ๔๐ คือ สมถะภาวณาทั้งหลาย

- การละอาสวะกิเลส อุปกิเลสไรๆ ที่เกิดโดยไม่เจตนา... จึงละโดยไม่อาศัยเจตนา นั่นคือ มรรค ๘ ให้เป็นมรรคญาณ เป็นปัญญา วิปัสสนาญาณมีลักษณะตัดให้ขาดดังนี้ มรรคญาณก็อาศัยการรู้อย่างที่หลวงพ่อสอนนี้แลเป็นตัวตัดโดยไม่อาศัยเจตนา




ก. กาย.. กายเรานี้มันก็มีแค่ อาการทั้ง ๓๒ ประการรวมกันจึงเห็นเป็นทั้งเราและเขา มีอะไรเหมือนกัน คือ เป็นธาตุ ๖ คือ ดิน น้ำ ลม ไป อากาศ วิญญาณที่สงเคราะห์รวมกันเป็นคน สัตว์ สิ่งของกำเนิดขึ้นมาเหมือนกันหมด สิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยง ไม่คงอยู่นานมีความเสื่อมไปทุกวัน บังคับให้เป็นดั่งใจไม่ได้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นทุกข์
- กาย คือ รูปขันธ์ นี้.. เมื่อเห็นอยู่เบื้องหน้าเรานี้ ก็เป็นเพียง อาการทั้ง ๓๒ ประการอาศัยหนังหุ้มเป็นที่สุดรอบ ซึ่งหนังที่หุ้มอยู่มีความสงเคราะห์ลงในธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ ที่ต่างกันให้เกิดเป็น สีขาว แคง ชมพู เหลือง น้ำผึ้ง เขียว น้ำตาล ดำ เนียน นุ่ม ละเอียด งามประณีต กระด้าง หยาบไม่งาม เป็นต้น
- การพิจารณาละในรูปภายนอกที่เห็น เมื่อเห็นรูปขันธ์ในเบื้องหน้า เป็นคน เพศหญิง เพศชาย เป็นรูปร่างอย่างนั้นอย่างนี้ งาม ไม่งาม เลียด หยาบ ประณีต ไม่ประณีต เป็นสัตว์ หมู หมา กา ไก่ สัตว์ชนิดนั้นๆนี้ๆ เป็นสิ่งของ ตึก รถ บ้าน ข้าวสิ่งของอย่างนั้นอย่างนี้ ให้พิจารณาดังนี้คือ
๑. มีอานาปานสติ รู้ลมหายใจเข้า-ออกเป็นเบื้องตั้นไว้ภายใน หรือ เอาพุทธานุสสติ คือ "พุทโธ" ความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ไม่หลงในรูปสมมติทั้งปวงนั้นมาเป็นที่ตั้งแห่งจิต กำหนดเอาคำบริกรรมนั้นตามลมหายใจเข้า-ออก ฟรือ ระลึกเอาคุณแห่งความเป็นผู้ไกลจากกิเลส ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง คือ "อรหัง" มาเป็นที่ตั้งระลึกบริกรรมตามลมหายใจเข้า-ออก ดึงสติสัมปชัญญะขึ้นมาเป็นเบื้องต้น เพื่อให้จิตสงบมีกิเลสเบาบางลงก่อน
๒. อสุภะ ๑๐ ให้พิจารณาเป็นซากศพต่างๆ "โดยส่วนตัวเราพิจารณาเป็นซากศพที่หนังเปิดขึ้นให้เห็นก้อนเนื้อ เส้นเลือด เส้นเอ็น น้ำเลือด น้ำหนอง และ อวัยวะภายในต่างๆ เห็นกายภายในเขามีอวัยวะต่างๆเป็นอาการทั้ง ๓๒ ประการ จนนิ่งแช่แน่วแน่อยู่ในภาพนิมิตนั้น"
๓. จากนั้นถอยมามองรูปภายนอกที่เห็นอยู่อันมีอาการทั้ง ๓๒ ประการ เหล่านี้กอปรสงเคราะห์กันขึ้นมาเป็นรูปร่างอย่างนั้นอย่างนี้ อันมีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ ซึ่งแต่ละกองรูปขันธ์นั้นๆต่างกันแค่สีหนังที่หุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ สีขาว แคง ชมพู เหลือง น้ำผึ้ง เขียว น้ำตาล ดำ เนียน นุ่ม ละเอียด งาม ประณีต กระด้าง หยาบ ไม่งาม ไม่ประณีตเป็นต้น "จากนั้นให้สงเคราะห์ลงเป็นหนังหุ้มแห้งติดกระดูก"
๔. พิจารณาตามจริงว่า รูปขันธ์ อาการทั้ง ๓๒ ประการนี้ ก็เป็นเพียง ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ สงเคราะห์กันกอปรกันขึ้นมาให้มีกองเป็นรูปร่างอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งจริงๆแท้จริงมันเป็นเพียงธาตุเท่านั้น รูปขันธ์ เนื้อ ปอด ตับ ไต กระดูก ม้าม หนังทั้งหลายที่มองเห็นอยู่เบื้องหน้าก็เป็นกองธาตุดินทั้งนั้น เลือด น้ำดี เสลดภายในก็เป็นธาตุน้ำ อุณหภูมิยังกายให้แอบอุ่นและย่อยอาการภายในก็เป็นธาตุไฟ ลมที่พัดขึ้นพัดลง ลมหายใจก็เป็นแค่ธาตุลม อากาศธาุตที่เป็นช่องว่างที่แทรกอยู่ในทุกอณูของร่างกายของธาตุทั้งปวง มันก็มีอยู่แค่นั้น
๕. ใช้ไฟเผารูปขันธ์ที่เห็น โดยเอาเผาทีละส่วนๆแล้วลอกออกที่ละอาการๆ โดยเริ่มจากลอก เล็บ ผม ขน หนังที่หุ้มเป็นที่สุดรอบ ไปจนจบหมดทั้ง ๓๒ ประการ จนไม่เหลืออะไรอยู่เลยเป็นวิชาม่างกาย จะเห็นว่า ไม่มีเราในรูป-ไม่มีรูปในเรา ดังนี้
๖. จะเห็นว่ากองรูปขันธ์ที่ยังคงอยู่ได้ ดำรงอยู่ได้ เพราะอาศัยลมนี้แหละพยุงไปในกายอยู่ อาศัยลมหายใจนี้แหละพยุงกายไว้ให้ดำรงอยู่ ลมหายใจจึงเป็นเรื่องของกายสังขาร ลมหายใจที่แทรกไปทั่วร่างกายคือกายละเอียดที่มีอยู่ในกายหยาบเรานี้ ลมหายใจจึงเป็นกาย ลมหายใจนี้มีอยู่จริงเกิดอยู่จริง รับรู้ได้จริงอยู่ทุกขณะในปัจจุบันนี้ "ดังนั้น การรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่ตจลอดเวลา จึงเป็นเรื่องจริงของจริง สภาวะจริง ที่มีอยู่ในกายเรา การให้จิตจับที่ลม มีสติรู้ลมเข้าออก มีสัมปชัญญะรู้สภาวะกายที่เป็นไปในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นกิจการงานไรๆดำเนินไปอย่างไรในปัจจุบัน เป็นการรู้ความจริง รู้สภาพวะจริงที่มีในกายนี้ ความจริงที่เป็นไปในกายนี้ นี่เรียกว่าชักจูงหาการงานชอบให้ จิต"




ข. จิต.. จิตรู้สิ่งใดสิ่งนั้นคือสมมติทั้งหมด จิตรู้รูปว่าเป็นสีเขียว น้ำเงิน ขาว เหลือง แดง อย่างนั้นอย่างนี้ๆเป็น คน สัตว์ สิ่งของ เป็นเสียงอย่างนี้ๆ กลิ่นอย่างนี้ๆ รสอย่างนี้ๆ ความรู้สัมผัสทางกายอย่างนี้ๆ รู้ผัสสัใจว่าเป็นคนนั้น คนโน้น คนนี้ อาการความรู้สึกอย่างนี้ๆคือรัก นี่โลภ นี่โกรธ นี่หลง รู้เรื่องราวเสพย์ในสิ่งที่คิด รู้นิมิตมโนภาพ เห็นนิมิตมโนภาพว่าเป็นนั่นเป็นนี่ รู้ว่านี่คือสุข นี่คือทุกข์ นี่คือเฉยๆ นี่ชอบ นั่นไม่ชอบ นี่สวยงาม นี่ไม่สวย เป็นต้น รู้แบบนี้เห็นแบบนี้ มันคือ สมมติทั้งหมด
- เมื่อเจริญไปอยู่อย่างนี้ๆจิตก็ไม่จับเอาอะไรเลย เพราะรู้สิ่งใด จับสิ่งใดๆก็มีแต่สมมติ มีแต่ทุกข์ จิตก็มีแต่ว่าง หลับก็ง่าย หลับสบาย ไม่ฟุ้งซ่าน ทำสมาธิก็ง่าย




- เมื่อจะทำสมาธิ จิตมันไปรู้คิด เสพย์ความคิดเรื่องราวสิ่งที่คิด ไปเห็นมโนภาพ ไปรู้ภายนอก ไปรู้อาการไรๆ เราก็พึงรู้ว่า ที่จิตมันรู้มันเสพย์มันยึดอยู่นี้เป็นของสมมติทั้งปวง จิตมันรู้สมมติตามปะสาของมันไป ให้เอาสติดึงจิตกลับมารู้ที่ว่า "สภาวะธรรมของจริงที่มีอยู่ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ปัจจุบันนี้ คือ ลมหายใจเข้า-ออก เป็นกายสังขาร เป็นของละเอียดแห่งกายที่มีอยู่จริง เป็นของจริงที่ดำรงอยู่ดำเนินไปในกายอยู่" ให้จิตรู้มีสติระลึกรู้ลมที่เข้าและออก ตั้งหลักปักแน่นที่ปลายจมูกไม่คลอนแคลนเอนเอียงไปตามลมเข้าลมออก มีสัมปะชัญญะรู้ตัวว่ากำลัีงทำสมาธิพิจารณาลมหายใจเข้าออกอยู่ สติก็จะเกิดกับจิตรู้ลมหายใจเข้า-ออก สัมปชัญญะมันก็จะมีมากรู้สภาวะกายที่กำลังดำเนินไปขณะที่มีลมเข้าออก จิตก็จะสงบว่าง มีแต่ลมหายใจเข้าและออกเท่านั้น

วันนี้นั่งสมาธิประมาณ 2 ชั่วโมง มีโทรศัพท์เข้าจึงออกจากสมาธิมา จิตอยู่กับลมหายใจที่เป็นของจริงที่มีอยู่ตลอดเวลา มีความสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน กรรมฐานอย่างนี้ พิจารณาอย่างนี้ ดำเนินไปอย่างนี้ คือสภาวะจริง เป็นการเข้าถึง มรรค ๘ โดยแท้จริง






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 12, 2015, 01:47:22 PM


บันทึกกรรมฐาน วันที่ 12/1/58


วันนี้เข้ามาทำงานแต่ทรงสติ สัมปะชัญญะ มีสมาธิอันพอสงบไจไว้อยู่ทุกขณะจิต เจริญปฏิบัติ ตามธรรมปฏิบัติที่หลวงพ่อสอนเสถียร และ ท่านพ่อลี ธัมมะธะโร สอน ทรงอารมณ์นั้นไว้อยู่ ผลที่ได้ คือ ความฟุ้งน้อยลงจนแทบไม่มี ความคิดน้อยลง จะคิด จะพูด จะเห็นอันใดก็เป็นสิ่งสมมติทั้งนั้น จึงนิ่งอยู่ไม่คิด ไม่พูด มีแต่ว่าง จริตไม่เกาะเกี่ยว แยก กาย จิต เวทนา ออกจากอาการเจ็บปวดของกายสังขาร ทรงความว่างไม่ปรุง ไม่จับ ไม่ยึด ไม่เจตนา ไม่คิด ไม่ปารถนา มีแต่สภาพที่ว่าง และ ว่าง สงบ เบาโล่งกายใจ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น มีเห็นก็สมมติเท่านั้น แต่ไม่เกาะยึดเอาสภาวะธรรมอันสมมติอีก มีแต่สภาว่างๆ สภาวะธรรมนั้นๆเกิดให้สติมัปะชัญญะรู้คู่จิต จิตมันจะไปรู้สมมติก็ไม่ยึดจิตนั้นอีก




ว่าด้วยเรื่อง จิตเสพย์กิเลส

๑. จิตเสพย์โลภะ.. คือ จิตมันไปรู้ผัสสะในอารมณ์ใดๆทางสฬายตนะ แล้วเกิดเสวยอารมณ์เป็นเวทนา ความสุข ความพอใจยินดี ติดใจ น่าใคร่ปารถนา มีใจใฝ่หาอยู่ ยึดมั่นถือมั่นทะยานอยากได้ที่จะเสพย์ในอารมณ์นั้นๆ
- นั่นเพราะว่าจิตมันไปรู้สิ่งสมมติปรุงแต่งจิตไรๆทางสฬายตนะ ไม่ว่าจะเป็น
ก. ทางตา.. ได้เห็น เป็นคน สัตว์ สิ่งของไรๆ มีสภาพรูปร่างอย่างใด มีการดำเนินการทำไปในอิริยาบถไรๆ
ข. ทางหู.. ได้ยินเสียง เป้นถ้อยคำวาจาคำพูดไรๆ มีความหายอย่างไร เป็นเสียงของอะไร ของใคร
ค. ทางจมูก.. ได้กลิ่นเหม็น หอม เป็นกลิ่นของอะไร กลิ่นจากคนใด สัตว์ใด สิ่งใด
ง. ทางลิ้น.. ได้รู้รส รู้ว่ารสชาตินี้ หวาน ขม จืด เค็ม เปรี้ยว กลมกล่อม อร่อย ไม่อร่อย
จ. ทางกาย.. ได้รู้สัมผัสทางกายอย่างนี้ๆรู้ว่ามันอ่อน มันแข็งมันนุ่ม มันลื่น มันหยาบ มันเสียว มันเจ็บ มันปวด มันทิ่ม มันสบาย มันเป็นคน เป็นอวัยวะส่วนใดมากระทบให้รู้สึก เป็นสัตว์ไรๆ สิ่งไรๆที่มากระทบให้รู้สึก
ฉ. ทางใจ.. ได้รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือ ความตรึกนึกคิด หวนระลึกถึงสิ่งไรๆที่ผ่านไปแล้วกับไปแล้วมาผปรุงแต่งสมมติเรื่องราวขึ้นใหม่ ตรึกนึกถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึงแล้วสมมติ แล้วสืบต่อมาสมมติปรุงแต่งไปต่างๆนาๆให้จิตรู้ว่าเป็นสิ่งนั้น อย่างนั้นอย่างนี้ เป็นคนนั้นคนนี้ เพศนั้นเพศนี้ สัตว์นั้นสัตว์นี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ สีนั้นสีนี้ สืบต่อเกิดเป็นความคิดสมมติปรุงแต่งไปอย่างนั้น หวนระลึกถึงสิ่งไรๆที่ผ่านไปแล้วกับไปแล้วมาผปรุงแต่งสมมติเรื่องราวขึ้นใหม่ ตรึกนึกถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึงแล้วสมมตินึกคิดเป็นเรื่องราวต่างๆนาๆ
- แล้วจิตมันเข้าไปยึดจับเอาสิ่งที่รับรู้มา ทั้ง ๖ ทางนั้นไว้(ก-ฉ) แล้วเสพย์สิ่งสมมติที่มันรู้แล้วยึดถือเอาไว้นั้นประกอบกับความจำสำคัญมั่นหมายของใจนั้น ตามที่กิเลสมันสร้างขึ้นล่อหลอกให้จิตรู้ให้จิตมันยึดมั่นถือมั่น จนเป็นความโลภ ความติดใจ ความกำหนัด ทะยานอยาก เป็นทุกข์

๒. จิตเสพย์โทสะ.. คือ จิตมันไปรู้ผัสสะในอารมณ์ใดๆทางสฬายตนะ แล้วเกิดเสวยอารมณ์เป็นเวทนา ความทุกข์ ความไม่พอใจยินดี ขัดใจ ไม่ใคร่ปารถนา มีใจใฝ่ออกอยู่  ยึดมั่นถือมั่นทะยานอยากจะผลักอารมณ์นั้นๆหลีกหนีไปให้ไกลตน
- นั่นเพราะว่าจิตมันไปรู้สิ่งสมมติปรุงแต่งจิตไรๆทางสฬายตนะ ไม่ว่าจะเป็น
ก. ทางตา.. ได้เห็น เป็นคน สัตว์ สิ่งของไรๆ มีสภาพรูปร่างอย่างใด มีการดำเนินการทำไปในอิริยาบถไรๆ
ข. ทางหู.. ได้ยินเสียง เป้นถ้อยคำวาจาคำพูดไรๆ มีความหายอย่างไร เป็นเสียงของอะไร ของใคร
ค. ทางจมูก.. ได้กลิ่นเหม็น หอม เป็นกลิ่นของอะไร กลิ่นจากคนใด สัตว์ใด สิ่งใด
ง. ทางลิ้น.. ได้รู้รส รู้ว่ารสชาตินี้ หวาน ขม จืด เค็ม เปรี้ยว กลมกล่อม อร่อย ไม่อร่อย
จ. ทางกาย.. ได้รู้สัมผัสทางกายอย่างนี้ๆรู้ว่ามันอ่อน มันแข็งมันนุ่ม มันลื่น มันหยาบ มันเสียว มันเจ็บ มันปวด มันทิ่ม มันสบาย มันเป็นคน เป็นอวัยวะส่วนใดมากระทบให้รู้สึก เป็นสัตว์ไรๆ สิ่งไรๆที่มากระทบให้รู้สึก
ฉ. ทางใจ.. ได้รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือ ความตรึกนึกคิด หวนระลึกถึงสิ่งไรๆที่ผ่านไปแล้วกับไปแล้วมาผปรุงแต่งสมมติเรื่องราวขึ้นใหม่ ตรึกนึกถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึงแล้วสมมติ แล้วสืบต่อมาสมมติปรุงแต่งไปต่างๆนาๆให้จิตรู้ว่าเป็นสิ่งนั้น อย่างนั้นอย่างนี้ เป็นคนนั้นคนนี้ เพศนั้นเพศนี้ สัตว์นั้นสัตว์นี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ สีนั้นสีนี้ สืบต่อเกิดเป็นความคิดสมมติปรุงแต่งไปอย่างนั้น หวนระลึกถึงสิ่งไรๆที่ผ่านไปแล้วกับไปแล้วมาผปรุงแต่งสมมติเรื่องราวขึ้นใหม่ ตรึกนึกถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึงแล้วสมมตินึกคิดเป็นเรื่องราวต่างๆนาๆ
- แล้วจิตมันเข้าไปยึดจับเอาสิ่งที่รับรู้มา ทั้ง ๖ ทางนั้นไว้(ก-ฉ) แล้วเสพย์สิ่งสมมติที่มันรู้แล้วยึดถือเอาไว้นั้นประกอบกับความจำสำคัญมั่นหมายของใจนั้น ตามที่กิเลสมันสร้างขึ้นล่อหลอกให้จิตรู้ให้จิตมันยึดมั่นถือมั่น จนเป็นความขัดเคืองใจ โกรธ เกลียด แคียดแค้น ทะยานอยาก เป็นทุกข์

๓. จิตเสพย์โมหะ.. คือ จิตมันไปรู้ผัสสะในอารมณ์ใดๆทางสฬายตนะ แล้วเกิดเสวยอารมณ์เป็นเวทนา ความว่างนิ่งเฉยที่หน่วงโน้มจิตปิดกั้นตนจากความรู้ในปัจจุบันขณะ ความข้องโน้มใจชักจูงให้เกี่ยวพันยึดมั่นถือมั่นแนบแน่นในอารมณ์ความรู้สึกอันใดโดยปิดกั้นสติสัมปะชัญญะให้ไม่มีความรู้กายรู้ใจในปัจจุบัน เกิดความไม่รู้จริง ไม่เห็นจริง ไม่รับรู้ ยอมรับสิ่งไรๆ แล้วเสพย์หลงในอารมณ์นั้นๆสืบไปโดยไม่มีสิ้นสุด ความยึดมั่นถือมั่นในสมมติทั้งปวง
- นั่นเพราะว่าจิตมันไปรู้สิ่งสมมติปรุงแต่งจิตไรๆทางสฬายตนะ ไม่ว่าจะเป็น
ก. ทางตา.. ได้เห็น เป็นคน สัตว์ สิ่งของไรๆ มีสภาพรูปร่างอย่างใด มีการดำเนินการทำไปในอิริยาบถไรๆ
ข. ทางหู.. ได้ยินเสียง เป้นถ้อยคำวาจาคำพูดไรๆ มีความหายอย่างไร เป็นเสียงของอะไร ของใคร
ค. ทางจมูก.. ได้กลิ่นเหม็น หอม เป็นกลิ่นของอะไร กลิ่นจากคนใด สัตว์ใด สิ่งใด
ง. ทางลิ้น.. ได้รู้รส รู้ว่ารสชาตินี้ หวาน ขม จืด เค็ม เปรี้ยว กลมกล่อม อร่อย ไม่อร่อย
จ. ทางกาย.. ได้รู้สัมผัสทางกายอย่างนี้ๆรู้ว่ามันอ่อน มันแข็งมันนุ่ม มันลื่น มันหยาบ มันเสียว มันเจ็บ มันปวด มันทิ่ม มันสบาย มันเป็นคน เป็นอวัยวะส่วนใดมากระทบให้รู้สึก เป็นสัตว์ไรๆ สิ่งไรๆที่มากระทบให้รู้สึก
ฉ. ทางใจ.. ได้รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือ ความตรึกนึกคิด หวนระลึกถึงสิ่งไรๆที่ผ่านไปแล้วกับไปแล้วมาผปรุงแต่งสมมติเรื่องราวขึ้นใหม่ ตรึกนึกถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึงแล้วสมมติ แล้วสืบต่อมาสมมติปรุงแต่งไปต่างๆนาๆให้จิตรู้ว่าเป็นสิ่งนั้น อย่างนั้นอย่างนี้ เป็นคนนั้นคนนี้ เพศนั้นเพศนี้ สัตว์นั้นสัตว์นี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ สีนั้นสีนี้ สืบต่อเกิดเป็นความคิดสมมติปรุงแต่งไปอย่างนั้น หวนระลึกถึงสิ่งไรๆที่ผ่านไปแล้วกับไปแล้วมาผปรุงแต่งสมมติเรื่องราวขึ้นใหม่ ตรึกนึกถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึงแล้วสมมตินึกคิดเป็นเรื่องราวต่างๆนาๆ
- แล้วจิตมันเข้าไปยึดจับเอาสิ่งที่รับรู้มา ทั้ง ๖ ทางนั้นไว้(ก-ฉ) แล้วเสพย์สิ่งสมมติที่มันรู้แล้วยึดถือเอาไว้นั้นประกอบกับความจำสำคัญมั่นหมายของใจนั้น ตามที่กิเลสมันสร้างขึ้นล่อหลอกให้จิตรู้ให้จิตมันยึดมั่นถือมั่น จนเป็นความเศร้าหมอง(ไม่ใช่เศร้าโรกเสียใจนะครับ) นิ่งเฉยๆปิดกั่นจิตให้ว่างจากความรู้ตัว รู้ใจ รู้จริง รู้ปัจจุบัน ลุ่มหลงอยู่กับความติดข้องใจอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกใดๆที่เพลิดเพลินใจบ้าง ที่ขุ่นมัวใจบ้าง เกิดเป้นความยึดมั่นถือมั่นทะยานอยาก เป็นทุกข์




ว่าด้วยเรื่อง จิตเสพย์สภาวะธรรม

จากที่เราเคยทำสมาธิแล้วเคยรับรู้สัมผัสได้มาบ้างแล้วนั้น คือ

ก. ตา.. เห็นสภาวะธรรมที่เป็นไปต่างๆในปัจุบันทางตาอยู่ เห็นสิ่งต่างๆมันเหมือนๆกันไปหมด ไม่มีสิ่งที่น่าใคร น่าปารถนา น่ารังเกลียด น่ายึด ไม่มีชื่อ ไม่มีอะไรเลยนอกจากสภาวะธรรมที่ไม่มีชื่อ ไม่มีตัวตนบุคลใด ไม่มีสัตว์ใด ไม่มีสิ่งใด
- พอถอยออกมาหน่อยก็เห็นว่า นั้นคือสีๆที่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้
- จนถอยออกมาอีกก็เห็นว่า นั่นเป็นรูป คน สัตว์ สิ่งของ อย่างนั้นอย่างนี้ มีสีอย่างนั้นอย่างนี้
- ถอยออกมาจนสุดก็เห็นว่า เป็นหญิง เป็นชาย เป็นสัตว์ชนิดใดๆ มีสีอย่างไร งาม ไม่งามอย่างไร

ข. หู.. รู้สภาวะธรรมที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนั้นๆอยู่ แต่ไม่มีชื่อ ไม่มีความหมายสำคัญไรๆ
- พอถอยออกมาหน่อยก็รู้ว่า สิ่งนี้ๆมีสภาวะธรรมที่อึกทึกก้องอยู่ แต่ก้ไม่ยึดถือ
- จนถอยออกมาอีกก็รู้ว่า เป็นเสียงที่มีอาการอึกทึก ก้องอยู่ แต่เสียงยังเบาอยู่
- ถอยออกมาจนสุดก็รุ้ว่า เป็นเสียงที่มีความดัง ก้อง เป็นเสียงของอะไร เสียงของสิ่งใด

ค. จมูก.. รู้สภาวะธรรมที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนั้นๆอยู่ จากสภาวะที่เคลื่อนไหวขึ้นลงที่มีดำเนินไปอยู่ของกายสังขาร ไม่รู้ชื่อ รู้แต่สภาวะแบบนี้ๆเกิดขึ้น
- พอถอยออกมาจึงรู้ว่า เป็นกลิ่นอันเกิดแต่ลมหายใจที่พัดเข้าออกทางจมูกที่มีลักษณะอาการอย่างนั้นอย่างนี้ แสบจมูก เสียดจมูก ตรึงสบายจมูกสบายใจบ้าง
- พอสุดแล้ว จึงรู้ว่านั่นกลิ่นเหม็น หอม กลิ่นอะไร จากสิ่งใด มาจากทางไหน

ง. ลิ้น.. ถึงแค่ รู้ว่าขณะนี้เกิดลักษณะความรู้สึกที่เอิบอาบทางลิ้นและคอให้ความรู้สึกที่แสบลิ้นและคอ เฝื่อนลิ้นและคอ ขืนลิ้น ขมลิ้น เสียดกัดลิ้น กระด้างลิ้น ลื่นลิ้นลื่นคอเกาะกุมอยู่ในสภาพที่เอิบอาบสบายลิ้นและคอเกิดขึ้น
- พอถอยออกมาจึงรู้ว่า เสียดกระด้างลิ้นนี้คือเค็มบ้าง อาการเกาะกุมขืนสากลิ้นนี้ เป็นขมบ้าง อาการที่กัดเสียดเข้าไปในล้อนเป็นเปรี้ยวบ้าง เป็นต้น(จริงๆมันก็ไม่รู้จะอธิบายอาการนี้ๆยังไง)

จ. กาย.. ถึงแค่ รู้ว่าขณะนี้เกิดลักษณะความรู้สึกทางกายที่อ่อน แข็ง นุ่ม หยาบ ละเอียด ลื่น แหลมทิ่ม เจ็บ ปวด สบาย แสบเสียดคัน เอิบอาบ ร้อน เย็น อุ่น เคลื่อนตัว

ฉ. ใจ.. ถึงแค่ มีสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นให้รู้ ไม่มีชื่อ ไม่มีสิ่งใด มีแต่สภาพที่รู้ว่ามีสิ่งนี้ๆเกิดขึ้น แต่ไม่ยึดจับ แล้วมันกด็ดับไป มีสภาวะอันว่างที่แลโดยแยกจากสภาวะัธรรมที่เกิดเวียนเปลี่ยนอยู่นั้นๆ มีแต่ความว่างโล่ง ไม่มีสิ่งใดเลย อารมณ์ปรุงแต่งไรๆที่เกิดขึ้นก็รู้ รู้แล้วก็นิ่งเฉยๆแต่รู้ ไม่วุ่นไม่เสพย์อะไรทั้งนั้น ว่าง นิ่งเฉยอย่างเดียว
- พอถอยออกมาหน่อย ก้อเกิดมีสภาวะธรรมที่เกิดพุ่งขึ้นมาต่างๆ แต่รู้ว่ามันคืออะไรแล้วก็ดับไป
- พอถอยออกมาสุดแล้วก็รู้อาการที่เป็นไปว่ามัน ฟูใจ ขุ่นใจ หมองใจ หน่วงๆใจ ผ่องใส โล่งเบา สงบบ้าง รู้ว่านี่ รัก โลภ โกรธ หลง สงบกุศล

- เมื่อรู้ตัวแล้ว ที่มีอยู่ในขณะแรก ไม่มีอะไรเลยนอกจากสภาวะธรรม ถอยออกก็รู้สภาพจริงที่เกิดร่วมกับสิ่งสมมติ
- สภาวะธรรมโดยรวมของกายใจ.. เรานี้ได้รับรู้มาโดยเมื่อเจริญอานาปานสติ+พุทธานุสสติ จิตตานุปัสสนา อิริยาบถ+สัมปะชัญญะบรรพ ปฏิกูลบรรพ ธาตุมนสิการบรรพ จนจิตตั้งมั่นนิ่งแช่อยู่อันตัดเสียงคิดออกจากสภาวะธรรมต่างๆที่เกิดขึ้น เพียงระยะเวลา 3-5 นาที สิ่งที่รู้ทางกายและใจมันก็มีแต่สภาวะธรรมเท่านั้น ถึงจะบังเอิญไปรู้เห็นแต่ก็ทำให้รู้ว่าผู้เข้าถึงท่านเห็นยังไง
- สภาวะที่รู้ทาง ตา..รับรู้ได้เมื่อเจริญสมาธิในอานาปานสติ+พุทธานุสสติ จนจิตตั้งมั่นนิ่งแช่อยู่อันตัดเสียงคิดออกจากสภาวะธรรมต่างๆที่เกิดขึ้น แล้วพิจารณาอสุภะบ้าง ทวัตติงสาการบ้าง จตุธาตุววัตถานบ้าง วัณณะรูปบ้าง ปฐวีกสินบ้าง รู้ในปัจจุบันขณะเห็นก็สักแต่ว่าเห็นไม่ปรุงแต่งคิดสืบต่อบ้าง
- สภาวะที่รู้ทาง หู..รับรู้ได้เมื่อเจริญสมาธิในอานาปานสติ+พุทธานุสสติ จนจิตตั้งมั่นนิ่งแช่อยู่อันตัดเสียงคิดออกจากสภาวะธรรมต่างๆที่เกิดขึ้น
- สภาวะที่รู้ทาง จมูก..รับรู้ได้เมื่อเจริญสมาธิในอานาปานสติ+พุทธานุสสติ จิตตานสติปัฏฐาน นามรูป จนจิตตั้งมั่นนิ่งแช่อยู่อันตัดเสียงคิดออกจากสภาวะธรรมต่างๆที่เกิดขึ้น
- สภาวะที่รู้ทาง ลิ้น..รับรู้ได้เมื่อเจริญสมาธิในอานาปานสติ+พุทธานุสสติ จิตตานสติปัฏฐาน นามรูป จนจิตตั้งมั่นนิ่งแช่อยู่อันตัดเสียงคิดออกจากสภาวะธรรมต่างๆที่เกิดขึ้น
- สภาวะที่รู้ทาง กาย..รับรู้ได้เมื่อเจริญสมาธิในอานาปานสติ+พุทธานุสสติ จิตตานสติปัฏฐาน นามรูป จนจิตตั้งมั่นนิ่งแช่อยู่อันตัดเสียงคิดออกจากสภาวะธรรมต่างๆที่เกิดขึ้น
- สภาวะที่รู้ทาง ใจ..รับรู้ได้เมื่อเจริญสมาธิในอานาปานสติ+พุทธานุสสติ อิริยาบถ+สัมปะชัญญะบรรพ ธัมมารมณ์+จิตรู้สมมติ





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 13, 2015, 10:35:52 AM
บันทึกกรรมฐาน วันที่ 13/1/58




กรรมฐานที่ควรเจริญปฏิบัติ มีแค่กายกับใจเท่านั้นไม่ต้องไปรู้อย่างอื่นถ้าอยากจะถึงความพ้นทุกข์ให้รู้แค่กายสังขารและจิตเท่านั้นไม่มีอื่น ดังนี้..




- ลมหายใจเข้าและออกเป็นของจริงที่มีอยู่จริงเกิดขึ้นจริง คือ กายลม เป็นกายละเอียด เป็นกายสังขาร
- จิตมันรู้ทุกอย่าง แต่สิ่งที่มันรู้คือสมมติ มันอาศัยสฬายตนะเป็นเครื่องรู้ของกิเลส





รู้มากเห็นมาฟุ้งซ่านมาก ดังนั้นแล้ว แค่รู้ก็พอ เจริญสมาธิในอานาปานสติ+พุทธานุสสติ อิริยาบถบรรพ สัมปะชัญญะบรรพ ดูสิ่งที่จิตรู้ รู้ธัมมารมณ์ เห็นตามจริงว่า จิตรู้สิ่งใด สิ่งนั้นเป็นสมมติ (ตามที่หลวงพ่อเสถียรสอน) ของจริงมีอยู่คือกายสังขาร คือลมหายใจเข้า-ออก ลมคือกายละเอียดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่มีอยู่จริง เป็นของจริงสภาวะธรรมจริงๆ รู้อริยาบถ รู้กิจการงานที่ทำให้ปัจจุบัน ทำให้มีสติ+สัมปะชัญญะ+จิต เกิดขึ้นเห็นสภาวะธรรมตามจริงในปัจจุบัน ไม่ติดความคิดไม่ติดนิมิต สักแต่รู้ รู้ว่าคิดหรือนิมิตมโนภาพก็สมมติ วาจาอันเกิดจากความคิดก็สมมติ สิ่งไรๆมีชื่ออย่างนั้นอย่างนี้ เป็นคน สัตว์ สิ่งของก็สมมติ ก็จะไม่มีสมมติให้จิตมันยึดถือ มีแต่จริงคือกายสังขาร มีแต่ลมหายใจเข้าออก แล้วก็ความว่าง จิตรวมเอง





จิตมันอาศัยสฬายตนะนี้แหละเป็นเครื่องมือให้เกิดกิเลส จิตมันรู้และจิตมันเสพย์สมมตินี้แหละทางสฬายตนะ มันรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะ ธัมมารมณ์สิ่งใดเหล่านี้ทาง หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นสมมติทั้งหมด แล้วจิตก็เข้าไปเสพย์เสวยอารมณ์ไปยึดเอาสิ่งสมมติไว้จนเกิดเป็นทุกขเวทนา สิ่งที่ไม่สมมติคือ กายสังขาร คือ ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก อันเป็นกายละเอียดแห่งกายสังขารนี้ ความรู้ตัวรู้กายรู้ความเป็นไปแห่งกายโดยอาศัยเจริญใน อิริยาบถบรรพ มีเดินจงกลมเป็นต้น สัมปะชัญญะบรรพรู้สภาวะกิจการงานที่ทำในปัจจุบันและสภาวะกายที่กำลังดำเนินไปในปัจจุบัน พิจารณาขันธ์ ๕ เห็นอสุภะภายนอก เห็นอาการทั้ง ๓๒ ประการ เห็นธาตุ ๖ เห็นความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์ เหลือเพียงนามรูปจนดับสมมติเหลือเพียงสภาวะธรรม







หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 14, 2015, 08:44:53 AM

บันทึกกรรมฐาน วันที่ 14/1/58

เมื่อวันที่ 2/1/58 เข้าไปขอกรรมฐานหลวงพ่อ ขณะที่หลวงพ่อเข้านิโรธสมาบัติอยู่ รอประมาณ 10-20 นาที หลวงพ่อออกจากสมาบัติแล้วจึงได้นั่งบนอาสนะ แล้วถามเรากับติ๊กว่าได้ตั้งความปารถนาอะไรไว้ไหว เราตอบว่าปารถนาระรู้ จะเห็น จะมี อย่างที่พระพุทธเจ้า รู้ เห็น และ มีนั้น ส่วนติ๊กกล่าวว่าปารถนาพุทธภูมิ หลวงพ่อได้บอกว่าละความปารถนานั้นเสียไม่งั้นต้องรออีกเป็นแสนๆกัปป์ เป็นอสงไขย หลวงพ่อสอนให้ถือศีล ให้เราและติ๊กเจริญใน กุศลกรรมบถ ๑๐ บอกเป็นศีลของพระอริยะเจ้าตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ลำดับนั้นหลวงพ่อได้สอนให้เรารู้ขันธ์ ๕ อาการทั้ง ๓๒ ประการ ธาตุ ๖ สอนม่างกายสลายธาตุ แล้วสอนสิ่งที่เป็นสมุทัย กรรมฐานที่ทำให้หลุดพ้นบรรลุอรหันต์ว่า

สฬายตนะ..เป็นเครื่องมือของจิต จิต..เป็นเครื่องมือของกิเลส

นั่นเพราะ.. จิต อาศัยสฬายตนะเป็นเครื่องรู้ แต่สิ่งที่จิตรู้ล้วนเป็นสมมติทั้งหมด  ก็สมมติทั้งปวงนั้นแลอาสวะกิเลสเป็นตัวสร้างขึ้นให้จิตมันรู้มันยึดมั่นถือมั่นจนเกิดเป็นเวทนา ก็เมื่อจิตรู้เวทนาเกิด กิเลสอย่างกลางก็สร้างสมมติตรึกนึกปรุงแต่งร่วมกับความจดจำสำคัญมั่นหมายของใจยึดไว้เป็น กิเลสอย่างหยาบและตัณหาสืบมา

ดังนี้หลวงพ่อสอนไว้ว่า
๑. ศีลเป็นฐานที่ตั้งแห่งกุศลมีกายและวาจา..ใช้ละกิเลสอย่างหยาบ
๒. สมาธิ..ใช้ละกิเลสอย่างกลาง
๓. ปัญญา..ใช้ตัดกิเลสอย่างละเอียด คือ อาสวะอุปกิเลสทั้งปวง

ดังนั้น..สิ่งใดที่รู้ทางสฬายตนะ คือ สมมติทั้งหมด ความคิดก็เป็นสมมติ นิมิตใดๆ มโนภาพใดๆก็เป็นสมมติทั้งหมด(วิตกความตรึกนึกคิด นิมิตมโนภาพ ทุกสิ่งที่จิตรู้ไม่ว่าจะเป็นเวทนา หรือความปรุงแต่งจิตไรๆให้จิตรู้ต่างก็เป็นธัมมารมณ์ทั้งหมดเป็นสมมติทั้งหมด) ของจริงที่มีอยู่จริงเกิดขึ้นจริงก็คือ ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกนี้คือสภาวะธรรมจริงๆที่มีที่เป็นจริงแห่งกายสังขารเรานี้ หาการงานชอบให้จิตทำให้รู้ความจริงก็คือลมหายใจนี้แหละ จากนั้นเมื่อมีสมาธิควรแก่งานแล้วจึงมาใช้ไฟเผาสลายธาตุดินธาตุน้ำอาการทั้ง ๓๒ แห่งกายนี้





ตามความเข้าใจและรู้เห็นของเราเอง

๑. ศีล เป็น ฐานแห่งกุศล เมื่อยังไม่ลวงทางกายและวาจาก็ยังไม่ครบองค์ ๓ มีกิเลสเกิดขึ้นที่จิตแล้วเกิดสติกุศลจิตละที่ความคิดนั้นก่อนจะทำทางกายและวาจา ซึ่งศีลนี้ไม่ใช่ไม่อาศัยใจเลย นั่นคือ
- ศีล อาศัย "กุศลวิตก..เป็นบาทฐาน"
- มี "พรหมวิหาร ๔" คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นตัวยึดให้ศีลสมบูรณ์
- มี ธรรมคู่อันงาม คือ "ทมะ"(ความข่มใจจากกิเลส ด้วยสภาวะจิตที่ รู้จักหยุด รู้จักพอ รู้จักประมาณตน เช่น คิดดี คิดในกุศล เป็นต้น) และ "อุปสมะ"(ความสงบใจจากกิเลส ความแสวงความสงบสันติเว้นจากการเบียดเบียนกัน เป็นผลสืบต่อจากทมะบ้าง เป็นสภาวะจิตที่เปลื้องจากกิเลสด้วยความคิดชอบบ้าง เป็นสภาวะของผลจากมรรค ๑๐ บ้าง)
- มีธรรมคู่อันงามคือ "ขันติ"(ความทนได้ทนไว้ ความอดทนแต่ไม่มีความติดใจข้องแวะ ด้วยสภาวะจิตที่รู้ว่าสิ่งนี้ๆควรปล่อย ควรละ ควรวาง เป็นต้น) และ "โสรัจจะ"
(ความสงบเสงี่ยม ความมีอัธยาศัยงดงาม ความประณีตความเรียบร้อยรวมถึงความไม่หรูหรา กล่าวคือ มี "อินทรีย์สังวร"ความสำรวมระวังใน "อินทรีย์ ๖" คือ "สำรวมระวังในสฬายตนะ")

* ก็ธรรมทั้ง ๔ ข้อนี้แลมีร่วมกับกายและวาจาทำให้เกิดเป็น "ศีลสังวร" ก็ศีลสังวรนี้แลละกิเลสอย่างทำที่เป็นเจตนาทาง กาย วาจา ใจ และ เป็นฐานแห่งสมาธิ *
(ดั่งองค์พระสัพพัญญูเจ้าได้ตรัสไว้ในปฏิจจะสมุปบาทว่า เจตนา วิตก-วิจาร ก่อให้เกิดการกระทำทางกาย-วาจา-ใจ)

* "ทาน" ก็อาศัยศีลนี้แล ให้เกิดขึ้นเป็นกุศลทาน เป็นทานที่บริบูรณ์ มีอานิสงส์มาก *

๒. สมาธิ เป็นฐานให้เกิดปัญญา ก็เพราะมีจิตอันเป็นกุศลดีแล้วทำให้เกิดสภาวะจิตตั้งมั่นที่กิเลสนิวรณ์ทั้งปวงนี้อ่อนกำลัง เมื่อเกิดจิตตั้งมั่นดีงามก็ตัดความคิดและนิมิตอันเป็นเครื่องมือของกิเลสอย่างกลางทั้งปวง ทำให้เกิดความรู้เห็นตามจริงสืบมา "สมาธิ..นี้จึงเป็นตัวละกิเลสอย่างกลางทำให้คลายความยึดมั่นถือมั่นลงได้ ทำให้เห็นสภาวะจริงว่า จิตนี้รู้สมมติ จิตนี้เป็นเครื่องมือของกิเลสดังนี้"

๓. ปัญญา เป็น "มรรค ๑๐" เป็นตัวรู้เห็นตามจริงในสภาวะธรรมทั้งปวง เป็นตัวตัดกิเลสที่ไม่อาศัยเจตนาเกิดขึ้น เป็นตัวดับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธ์ ๕ คือ เป็นตัวตัดอาสวะกิเลสทั้งปวง

ตัดขาดวงจรอิทัปปัจจยตา(ภาวะที่มีอันนี้ๆเป็นปัจจัย) โดยสิ้นเชิง




เมื่อรู้เห็นคร่าวๆโดยย่อดังนี้ ข้อปฏิบัติที่แท้จริงก็มีเพียง

๑. "รู้กายสังขาร" อันเป็นสภาวะจริงในกายที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันขณะ นั่นคือ ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกอันเป็นกายละเอียดแห่งรูปขันธ์ เมื่อมีจิตตั้งมั่นควรแก่งานจึงเจริญแยกขันธ์ แยกกาย แนกอาการทั้ง ๓๒ ประการ แยกธาตุ สลายธาตุ จนไม่เหลือรูปขันธ์ ไม่เหลือตัวตนบุคคลใด ปัญญาก็จะเกิดขึ้นในที่นั้น
๒. "รู้จิต" คือ รู้ว่าสิ่งที่จิตมันรู้นั้นเป็นสิ่งสมมติทั้งหมด จิตมันเป็นเครื่องมือของกิเลส เป็นสิ่งไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เมื่อเราเข้าไปยึดเอาจิตที่เป็นตัวรู้ว่าเป็นเรา-เป็นของเรา-เป็นตัวตนของเราเมื่อไหร่..ก็แสดงว่า "เราถูกกิเลสและความทุกข์หยั่งเอาแล้ว" ดังนั้นจิตจึงมีไว้แค่เพียงระลึกรู้ไม่ได้มีไว้เสพย์ ปัญญาก็จะเกิดขึ้นในที่นั้น


** เมื่อรู้สภาวะจริงคือสมหายใจเข้าออก มีสติสัมปะชัญญะรู้ลมรู้สภาวะทางกายอยู่ในปัจจุบัน และ จิตไม่ยึดสิ่งใดที่รู้อีกเพราะมันมีแต่สมมติ คำบริกรรมพุทโธก็หายไป..ทำให้วิตกดับไป มีแต่ความสำเหนียกรู้ลมหายใจเข้าออกที่เป็นวิจาร รู้สภาวะธรรมที่เป็นไปแห่งกายเท่านั้นไม่มีอื่นอีก..ทั้งวิตกและวิจารดับไปยังแต่สุขและความสงบมีสภาวะธรรมที่ว่างอยู่เท่านั้นสว่างออกฟ้านวลเหมือนเมื่อเราหลับตาทำสมาธิแล้วออกจากสมาธิลืมตาดูภายนอกฉันนั้น **




หลวงพ่อสอนแยก กาย เวทนา จิต ธรรม แยกขันธ์ ๕ ออกเป็นกองๆ

กายของเราที่เจ็บป่วยด้วยโรคเส้นเอ็น ข้อและกระดูก และ ปัสสาวาะบ่อย มีทุกขเวทนาเป็นอันมากทั้งทางกายและใจ ในวันที่ 3/1/58 หลวงพ่อได้สอนให้แยก ขันธ์ ๕ ออกเป็นกองๆ ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ดังนี้

๑. กายเรานี้มันเป็นธาตุดิน ดินมันไม่มีความรู้สึกอะไรทั้งสิ้น ตัวที่เข้าไปรู้ว่ามันเจ็บปวด ทุกข์ คือจิตเท่านั้น
๒. จิตเรานี้มันเป็นตัวรู้ทุกอย่าง พอมันเข้าไปรู้สภาวะธรรมไรๆ ก็รู้โดยสมมติว่า อาการนี้คือเจ็บ อาการนี้คือปวด อาการนี้คือทุกข์ อาการนี้คือสุข อาการนี้คือสบาย จนเกิดเวทนาตามมา
๓. ซึ่งจิตมันเข้าไปรู้อาการนั้นๆโดยสมมติ แล้วอาการนั้นๆมันก็ดับไปนานแล้ว แต่จิตนี้แหละมันเข้าไปยึดอาการนั้นร่วมกับความจดจำสำคัญมั่นหมายของใจ คือ "จิตมันเข้าไปยึดอาการสภาวะธรรมที่ดับไปแล้วโดยอาศัยสัญญาความจำได้หมายรู้มันไว้ทั้งอาการความรู้สึกที่ดับไปก่อนแล้วนั้นทั้งชื่อเรียกของอาการทั้งสมมติบัญญัติทุกสิ่งทุกอย่าง จิตมันก็ยึดเอาความรู้โดยสัญญาและสังขารที่ดับไปแล้วอยู่อย่างนั้นจนเป็นตัวตนขึ้นมา ทั้งๆที่อาการเหล่านั้นมันดับไปแล้วไม่มีอยู่อีกแล้ว ให้เป็นทุกขเวทนาสืบต่อไปไม่หยุด แล้วกิเลสมันก็สร้างเรื่องราวสมมติตรึกนึกขึ้นให้เสพย์เสวยอารมณ์ตัณหาไปต่างๆนาๆ ทั้งความพอใจยินดีและไม่พอใจยินดีก็เกิดขึ้นที่ตรงนี้ทั้งหมด"



เมื่อรู้อย่างนี้แล้วทำให้เราเห็นว่า เวลาที่พระอรหันต์ท่านแยกเวทนาออกจากกายท่านก็แยกที่ตรงนี้ อินทรีย์สังวรอยู่ก็ที่ตรงนี้ จากนั้นเราก็เจริญพิจารณาสิ่งนี้ไปเรื่อยๆโดย

๑. มีสติสัมปะชัญญะและสมาธิอยู่กับลมทุกขณะ
๒. เมื่อเจ็บปวดขา เราพึงพิจารณาเห็นว่า ขานี้มันไม่มีความรู้สึกอะไรเป็นกองธาตุดินเท่านั้น แต่จิตนี้ต่างหางที่เข้าไปรู้สภาวะธรรมที่เกิดขึ้นนั้น
๓. ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นนั้นมันก็เป็นแค่สภาวะธรรมสภาวะหนึ่งเท่านั้นไม่ได้มีความหมายอะไร ไม่ได้มีชื่อเรียกบัญญัติไรๆทั้งสิ้น ที่จิตมันรู้มันก็รู้แค่สมมติเท่านั้น ที่จิตมันจับมันก็จับสมมติสิ่งที่ดับไปแล้วนั้นด้วยสัญญา จิตมันจับเอาสัญญาที่มีในสภาวะธรรมที่ดับไปแล้วนั้นๆนี่แหละมาเป็นตัวยึดมั่นถือมั่นที่ตั้งแห่งจิตให้เกิดทุกขเวทนา
๔. เมื่อจิตมันยึดสัญญามันก็ยึดสมมติ มันรู้โดยสัญญามันก็รู้เพียงสมมติ แล้วยังจะไปยึดเอาอะไรกับจิตอันเป็นตัวสมมติให้ยึดมั่นถือมั่นได้อีก เราก็มีเพียงความระลึกรู้ รู้สภาวะกายในปัจจุบันเท่านั้นพอ ไม่ยึดเอาจิต เวทนาก็ไม่มีไม่เกิด รู้แค่สภาวะธรรมเท่านั้น กิเลสก็สังขารต่อให้เป็นตัณหาไม่ได้อีกดังนี้

* ทุกวันนี้อาการปวดขาเราก็แทบไม่มีความรู้สึกเลย แม้จะปัสสาวะบ่อยก็รู้ว่ามันเป้นเพียงสภาวะธรรมอันเป็นธาตุของกายมันก็เป็นไปของมันอย่างนั้นตามเหตุปัจจับ เราก็ไม่มีทุกขเวทนาในเรื่องนี้อีกเลย *











หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 15, 2015, 04:43:21 PM

บันทึกกรรมฐาน วันที่ 15/1/58


วันนี้บังเอิญไปเปิดดูเจอ อริยะสัจ ๔ ในปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยเข้าใจรู้เห็นเมื่อก่อน จนเมื่อได้พบเจอหลวงพ่อเสถียรท่านได้สั่งสอนชี้แนะเราก็ทำให้วันนี้เข้าใจและเห็นตามจริงแล้วว่า




อ้างถึง

  หลวงปูดุลย์สอนว่า__จิตส่งออกนอก เป็น "สมุทัย"

  ท่าน..พนมพร คูภิรมย์ กล่าวว่า__จิตมีตัณหาปรุงแต่งเวทนาเป็นเหตุ...เป็นสมุทัยเหตุแห่งทุกข์

{ที่เราเห็นจากผลการปฏิบัติที่หลวงพ่อเสถียรท่านได้กรุณาสอนไว้คือ__จิตรู้ทุกสิ่ง รู้อารมณ์ทั้งหมด แต่สิ่งใดที่จิตรู้ล้วนเป็นสมมติที่อาสวะกิเลสมันสร้างขึ้นมาหลอกล่อจิตให้หลงตามทั้งหมด ดังนี้แล้ว "จิตรู้และเสพย์อารมณ์" จึงเป็น "สมุทัย"}



  หลวงปูดุลย์สอนว่า__ผลอันเกิดจากจิตส่งออก เป็น "ทุกข์"

  ท่าน..พนมพร คูภิรมย์ กล่าวว่า__ผลของจิตมีตัณหาปรุงแต่งเวทนา...เป็นทุกข์อุปาทาน

{ที่เราเห็นจากผลการปฏิบัติที่หลวงพ่อเสถียรท่านได้กรุณาสอนไว้คือ__เมื่อจิตรู้และเสพย์สมมติตามอาสวะกิเลส ย่อมก่อให้เกิดเป็นเวทนาให้จิตยึดมั่นถือมั่นไว้โดยสัญญาจากเวทนานั้น แล้วก็เกิดความตรึกนึกคิดปรุงแต่งอันเกิดจากกิเลสอย่างกลางให้เป็นไปในตัณหาและเป็นทุกข์ ดังนี้แล้ว "ผลอันเกิดจากจิตรู้และเสพย์อารมณ์" จึงเป็น "ทุกขฺ์"}



  หลวงปูดุลย์สอนว่า__จิตเห็นจิต เป็น "มรรค"

  ท่าน..พนมพร คูภิรมย์ กล่าวว่า__สติเห็นกาย,เวทนา,จิตสังขารหรือธรรม...เป็นมรรคปฏิบัติ

{ที่เราเห็นจากผลการปฏิบัติที่หลวงพ่อเสถียรท่านได้กรุณาสอนไว้คือ__มีมหาสติ(สติ+สัมปะชัญญะ) เห็นจิตที่รู้และเสพย์ที่ยึดมั่นถือมั่นในสมมติทั้งปวง ทั้งสภาวะธรรมและความปรุงแต่งที่เป็นไปทั้งหลายทั้งปวงตามจริง ดังนี้แล้ว "จิตเห็นจิต" จึงเป็น "มรรค"}



  หลวงปูดุลย์สอนว่า__ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็น "นิโรธ"

  ท่าน..พนมพร คูภิรมย์ กล่าวว่า__ผลของสติเห็นกาย,เวทนา,จิต,ธรรม...เป็นนิโรธอันพ้นทุกข์

{ที่เราเห็นจากผลการปฏิบัติที่หลวงพ่อเสถียรท่านได้กรุณาสอนไว้คือ__เมื่อมีมหาสติ(สติ+สัมปะชัญญะ) เห็นสภาวะธรรมทั้งปวงตามจริง ได้รู้เห็นตามจริงว่าจิตนี้รู้ทุกอย่างแต่รู้เพียงสมมติเท่านั้น จิตนี้แลเป็นตัวยึดเอาทุกอย่างแต่สิ่งที่มันยึดคือสมมติทั้งนั้น จิตนี้แลไม่น่ายึดมั่นถือมั่นเอามาเป็นที่ตั้ง ไม่เที่ยง ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ไม่มีตัวตน เป็นตัวทุกข์ จิตที่เกิดกับสติมสัมปะชัญญะมันก็จะเกิดความไม่เกาะเกี่ยวยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดในขันธ์ ๕ อีก มีแต่สภาพว่างโล่ง นี่คืออารมณ์พระนิพพาน เป็นความดับทุกข์ ดังนี้แล้ว "ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต" คือ "นิโรธ"}


อริยะสัจ๔ ในปฏิจจสมุปบาท
[url]http://www.nkgen.com/11.htm[/url] ([url]http://www.nkgen.com/11.htm[/url])





เมื่อรู้เห็นอย่างนี้ตรงกันทั้งในคำสอนของครูบาอาจารย์ คือ หลวงปู่ดุลย์ กับที่หลวงพ่อเสถียรสอน และในทางอภิธรรม ก็เปลื้องจิตที่จะกล่าวบริกรรม "พุทโธ" ว่า ไม่ต้องไปหาคาถาไรๆมาบริกรรมเพื่อดับฉันทะราคะและราคะเมถุนให้ลำบากทั้งสิ้น ไม่ต้องไปติดใจว่าต้องสำเหนียกรู้จึงจะได้สมาธิ มันจะบริกรรมหรือสำเหนียกให้มันเป้นไปของมันเอง

เพราะ พุทโธ คือ

- ผู้รู้ คือ รู้ว่านี่คือสมมติ รู้ว่านี่คือโมหะที่หลอกล่อให้ลุ่มหลงทั้งปวง
- ผู้ตื่น คือ ตื่นจากสมมติ ตื่นจากโมหะความลุ่มหลงติดใจยึดมั่นในสิ่งสมมติทั้งปวง
- ผู้เบิกบาน คือ ดับสิ้นแล้ว ดับโมหะความลุ่มหลงติดใจยึดมั่นในสิ่งสมมติทั้งปวงสิ้นแล้ว มีความผ่องใสอันปราศจากเครื่องเศร้าหมอง ได้ทำในกิจที่ควรทำอันบริบูรณ์ที่พระพทุธเจ้าทั้งหลายพึงกระทำดีแล้ว

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว พอระลึกถึง "พุทโธ" ก็ให้เห็นถึงความระลึกถึงพระพุทธเจ้า ที่รู้ว่าสิ่งที่จิตรู้เหล่านี้นี่คือสมมติ ที่ตื่นจากความลุ่มหลงในสมมติ ที่ได้ดับความลุ่นหลงทั้งปวงให้สิ้นไปแล้ว มีจิตแจ่มใสเบิกบานด้วยธรรม ได้กระทำกิจของพระพุทธเจ้าบริบูรณ์ดีแล้วนั้น แล้วน้อมเอาคุณนั้นมาให้เรานี้ได้รู้ว่าสิ่งไรๆนี้คือสมมติ ได้ตื่นจากความลุ่มหลงสมมติ ได้ดับสิ้นซึ่งความลุ่มหลงยึดติดในสิ่งสมมติทั้งปวง มีจิตอันแจ่มใสเบิกบานดั่งองค์พระตถาคตเจ้านั้น

เมื่อเรามีจิตเป็นศรัทธา เป็นศรัทธาพละอยู่อย่างนี้ ทำให้เกิดฉันทะความยินดีในสิ่งที่ทำ ก็ก่อเกิดให้มีวิริยะพละ มีกำลังความเพียรตั้งมั่นที่จะทำ แม้จะให้บริกรรมสักล้านครั้งก็ไม่ติดใจไรๆอีก ไม่ต้องไปเจาะจงเอาว่าจะต้องสำเหนียกรู้จึงจะเป็นสมาธิ เป็นเหตุสืบต่อเป็นสติพละอันมีแต่ความระลึกรู้บริกรรมพุทโธไปทุกลมหายใจเข้าออกปักหลักแน่วแน่อยู่ที่ปลายจมูกเท่านั้นไม่ไหวจิตไปตามลมร่วมกับสัมปะชัญญะความรู้กายอิริยาบถรู้กิจเห็นในสภาวะธรรมทางกายในปัจจุบัน ความมีสติสัมปะชัญญะเกิดร่วมกับจิตที่รู้อยู่นี้ คือ สภาาพจริง คือกายสังขาร ความตรึกนึกคิดมีไว้เพื่อคำบริกรรมมีคือพุทโธซึ่งเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ตัดขาดความปรุงแต่งสมมติอื่นใด มีแต่จิตที่ว่างร่วมกับจิตที่แจ่มใสเบิกบาน จิตรวมเป็นสมาธิได้เอง ก็เกิดมีธรรมเอกผุดขึ้น เห็นธาตุลมในกาย เกิดปัญญาในที่นั้น ดังนี้..






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 19, 2015, 10:24:37 AM
กรรมฐาน มัชฌิมา > เกี่ยวกับหลวงปู่สุก ไก่เถื่อน

หลวงปู่สุก ศึกษา วิชา ดำเนินธาตุ ทำลายธาตุ กับ ขรัวท่านโต วัดชายนา (น่าอ่าน)

โดยคุณเสกสรรค์:

ทรงศึกษา วิชา ดำเนินธาตุ ทำลายธาตุ
(พรรษาที่สอง สถิตวัดโรงช้าง ยุคอยุธยา)


   พรรษาที่สอง พระองค์ท่าน ทรงได้พบ กับพระอริยเถราจารย์ อีกพระองค์หนึ่งในสมาธินิมิต ท่านมีนามบัญญัติว่า ขรัวท่านโต ท่านเคยสถิตวัดชายทุ่ง ก่อนสถาปนาเป็นวัดป่าแก้ว ในรัชสมัยพระเจ้ารามาธิบดีที่ ๑ หรือเรียกว่าพระเจ้าอู่ทอง ขรัวท่านโตดำรงขันธ์อยู่ ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พระเจ้าอู่ทอง ท่านเข้ามาในสมาธินิมิตในครั้งนั้น ท่านมาบอกวิธีการ ให้แก่พระอาจารย์สุก สองอย่าง คือ

   การดำเนิน ความเป็นไปแห่งธาตุ ๑
   การทำลายธาตุ ๑
   และสอนให้ไม่หลงติดอยู่ในธาตุ และสอนให้ไม่หลงติดในฤทธิ์ ๑

    พระอริยเถราจารย์ บอกวิธีดำเนินธาตุ ทำลายธาตุ เพื่อให้เกิดฤทธิ์ แก่พระอาจารย์สุก โดยให้บริกรรมดำเนินธาตุ บริกรรมตั้งธาตุ บริกรรมรวมธาตุ เป็นหนึ่งเดียวพระอาจารย์สุก ทรงดำเนินการตั้ง ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ แล้วสัมปยุตธาตุ ประกอบธาตุทั้ง ๖ เป็นหนึ่งเดียว แล้วให้บริกรรมทำลายธาตุทั้ง ๕ ให้สลายไป ยกเว้นวิญญาณธาตุ ซึ่งเป็นธาตุรู้ ท่านกล่าวว่าทำให้เกิดอิทธิวิธี
    ขรัวท่านโต กล่าวต่อไปว่า การดำเนินธาตุ ทำลายธาตุ มิใช่จะทำได้ทุกคนบุคคลไหนมีวาสนาบารมีมาทางนี้ ข้าฯก็จะมาสอนให้เอง เหมือนอย่างที่ข้าฯมาสอนให้ท่านในครั้งนี้
    ขรัวท่านโต ยังกล่าวสอนพระอาจารย์สุกอีกว่า ฤทธิ์ทั้งหลายมีเกิด แล้วก็มีเสื่อมไม่เที่ยงแท้แน่นอน ย่อมแปรปรวนไป ถ้าบุคคลใดยังเป็นปุถุชนอยู่ ไม่รู้ความจริงแห่งพระไตรลักษณ์ ย่อมติด ย่อมหลง อยู่ในฤทธิ์ ไม่สามารถหลุดจากกิเลส ไปพระนิพพานได้ ฉะนั้นขอให้ท่านพิจารณาถึงความไม่เที่ยง ตลอดเวลา อย่าไปติด ไปหลงอยู่ในฤทธิ์ให้บำเพ็ญเพียรภาวนา ไปสู่นิพพานเถิด
     พระอาจารย์สุก ทรงฟังคำพร่ำสอนของ ขรัวท่านโต พระอริยเถราจารย์ ในสมาธินิมิตแล้ว พระองค์ท่านก็มั่นเพียรทำตามที่พระอริยเถราจารย์บอก และภายในเวลา ๓ ราตรี พระองค์ท่านก็บรรลุวิชาดำเนินธาตุ ทำลายธาตุ ได้สำเร็จฤิทธิบางอย่าง แต่ยังเป็นฤทธิ อย่างปุถุชน ยังมีหวั่นไหวบ้าง

     ถึงราตรีที่ ๔ ขรัวท่านโต ก็มาปรากฏในสมาธินิมิต ของพระอาจารย์สุกอีก ด้วยท่านทราบว่า พระอาจารย์สุก สำเร็จวิชาดำเนินธาตุ ทำลายธาตุแล้ว และในสมาธินิมิตราตรีนั้น ขรัวท่านโต กล่าวกับพระอาจารย์สุกว่า วิชาดำเนินธาตุ ทำลายธาตุ ที่เป็นไปในทางโลกีย์ ท่านก็สำเร็จแล้วต่อไปข้าฯ จะสอนวิชาดำเนินธาตุ ทำลายธาตุ ที่เป็นไปในทางโลกุตรธรรม นำทางท่านไปถึงมรรค ผล นิพพาน ตามคำสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ ให้ท่านดำเนินตั้งสภาวะความเป็นไป แห่งปฐวีธาตุ ธาตุดิน ๑ อาโปธาตุ ธาตุน้ำ ๑ เตโชธาตุ ธาตุไฟ ๑ วาโยธาตุ ธาตุลม ๑ อากาสธาตุ ธาตุอากาศ ช่องว่างภายในกาย ๑
วิญญาณธาตุ ธาตุวิญญาณ คือความรู้อะไรๆได้ ๑ พระอริยเถราจารย์กล่าวสอนต่อไปอีกว่า ในธาตุทั้ง ๖ นั้น

     ปฐวีธาตุ ธาตุดิน เป็นอย่างไร ปฐวีธาตุ ธาตุดินมี ๒ อย่างคือ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน ภายใน ปฐวีธาตุ ธาตุดิน
ภายนอกปฐวีธาตุ ธาตุดิน ๒ อย่างนั้น ปฐวีธาตุ ธาตุดินภายใน เป็นอย่างนี้คือ ธรรมชาติที่แข็ง ธรรมชาติที่กระด้าง ความแข็ง ภาวะที่แข็ง เป็นภายในเฉพาะตน เป็นอุปาทินนกรูปข้างใน คือรูปที่มีใจครอง ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ทั้งหมดนี้เรียกว่า ธรรมชาติที่แข็ง ธรรมชาติที่กระด้าง ความแข็ง ภาวะที่แข็ง เป็นภายในเฉพาะตน เป็นอุปาทินนกรูปข้างใน รูปในที่มีใจครอง แม้อย่างอื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุ ธาตุดินภายใน  ปฐวีธาตุ ธาตุดินภายนอก เป็นอย่างนี้คือ ธรรมชาติที่แข็ง ธรรมชาติที่กระด้าง ความแข็ง ภาวะที่แข็ง เป็นภายนอก เป็น อนุปาทินนกรูปข้างนอก คือรูปที่ไม่มีใจครองได้แก่ เหล็ก โลหะ ดีบุกขาว ดีบุกดำ เงิน แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้ว ประพาฬ เงินตรา ทอง แก้วมณีแดง แก้วมณีลาย หญ้า ท่อนไม้ กรวด กระเบื้อง แผ่นดิน แผ่นหิน ภูเขา ทั้งหมดนี้เรียกว่า ธรรมชาติที่แข็ง ธรรมชาติที่กระด้าง ความแข็ง ภาวะที่แข็ง เป็นธรรมชาติภายนอก เป็นอนุปาทินนกรูปข้างนอก คือรูปที่ไม่มีใจครอง แม้อย่างอื่นใดมีอยู่ นี้ก็เรียกว่าปฐวีธาตุ ธาตุดินภายนอก ปฐวีธาตุภายใน ปฐวีธาตุภายนอก ประมวลทั้ง ๒ อย่างนั้นเข้าเป็นหมวดเดียวกัน นี้ก็เรียกว่า ปฐวีธาตุ
 
     อาโปธาตุ ธาตุน้ำ เป็นอย่างไร อาโปธาตุ ธาตุน้ำนั้นมี ๒ อย่าง คือ อาโปธาตุ  ธาตุน้ำภายใน อาโปธาตุ ธาตุน้ำภายนอก อาโปธาตุ ๒ อย่างนั้น อาโปธาตุ ธาตุน้ำภายใน เป็นอย่างนี้คือ ความเอิบอาบ ธรรมชาติที่เอิบอาบ ความเหนียว ธรรมชาติที่เหนียว ธรรมชาติที่เกาะกุมรูป เป็นภายใน เฉพาะตน เป็นอุปาทินนกรูปข้างใน คือรูปข้างในมีใจครอง ได้แก่ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ทั้งหมดนี้เป็นความเอิบอาบ ธรรมชาติที่เอิบอาบ ความเหนียว ธรรมชาติที่เหนียว ธรรมชาติที่เกาะกุมรูป เป็นภายในเฉพาะตน เป็นอุปาทินนกรูปข้างใน คือรูปข้างในมีใจครอง แม้อย่างอื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า อาโปธาตุ ธาตุน้ำภายใน อาโปธาตุ ธาตุน้ำภายนอก ภายนอก เป็นอย่างนี้คือ ความเอิบอาบ ธรรมชาติที่ เอิบอาบ ความเหนียว ธรรมชาติที่เหนียว ธรรมชาติที่เกาะกุมรูป เป็นภายนอก เป็นอนุปาทินนกรูปข้างนอก รูปข้างนอกไม่มีใจครอง ได้แก่ รสรากไม้ รสลำต้น รสเปลือกไม้ รส ใบไม้ รสดอกไม้ รสผลไม้ นมสด นมส้ม เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้งน้ำอ้อย น้ำที่อยู่ใน พื้นดิน หรือน้ำที่อยู่ในอากาศ เป็นธรรมชาติที่มีความเอิบอาบ ธรรมชาติที่เอิบอาบ ความ
เหนียว ธรรมชาติที่เหนียวธรรมชาติที่เกาะกุมรูป เป็นภายนอก เป็นอนุปาทินนกรูปข้างนอก คือรูปไม่มีใจครองภายนอก แม้อย่างอื่นใดมีอยู่นี้เรียกว่า อาโปธาตุ ธาตุน้ำภายนอก อาโปธาตุ ธาตุน้ำภายภายใน อาโปธาตุธาตุน้ำภายนอก ประมวลทั้ง ๒ อย่างนั้น เข้าเป็น หมวดเดียวกันอย่างเดียวกันนี้เรียกว่า อาโปธาตุ คือธาตุน้ำ

     เตโชธาตุ ธาตุไฟเป็นอย่างไร เตโชธาตุ มี ๒ อย่าง คือ เตโชธาตุภายใน เตโชธาตุภายนอก ในเตโชธาตุ ๒ อย่างนั้น เตโชธาตุภายใน เป็นอย่างนี้คือความร้อนธรรมชาติที่ร้อน ความอุ่น ธรรมชาติที่อุ่น ความอบอุ่น ธรรมชาติที่อบอุ่น เป็นภายในเฉพาะตน เป็น อุปาทินนกรูปข้างใน คือรูปมีใจครอง ได้แก่ เตโชธาตุที่ทำให้ร่างกายเร่าร้อน เตโชธาตุที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรม เตโชธาตุที่เป็นเหตุให้เผาไหม้ เตโชธาตุที่ทำให้ของกินของดื่มของเคี้ยวของลิ้มถึงความย่อยไปด้วยดี นี้เรียกว่าความร้อน ธรรมชาติที่ร้อน ความอุ่น ธรรมชาติที่อุ่น ความอบอุ่น ธรรมชาติที่อบอุ่น เป็นภายในเฉพาะตน เป็นอุปาทินนกรูปรูปมีใจครอง ข้างใน แม้อย่างอื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า เตโชธาตุ ธาตุภายใน เตโชธาตุภายนอก เป็นอย่างนี้คือ ความร้อน ธรรมชาติที่ร้อน ความอุ่นธรรมชาติที่อุ่น ความอบอุ่นธรรมชาติที่อบอุ่น เป็นภายนอก เป็นอนุปาทินนกรูปข้างนอก คือรูปไม่มีใจครอง ได้แก่ ไฟฟืน ไฟสะเก็ดไม้ ไฟหญ้า ไฟมูลโค ไฟแกลบ ไฟหยากเยื่อ ไฟอสนีบาต ความร้อนแห่งไฟ ความร้อนแห่งดวงอาทิตย์ ความร้อนแห่งกองฟืน ความร้อนแห่งกองหญ้า ความร้อนแห่งกองข้าวเปลือก ความร้อนแห่งกองขี้เถ้า หรือความร้อนธรรมชาติที่ร้อน ความอุ่น ธรรมชาติที่อุ่น ความอบอุ่น ธรรมชาติที่อบอุ่น เป็นภายนอก เป็นอนุปาทินนกรูปข้างนอก รูปไม่มีใจครอง แม้อย่างอื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า เตโชธาตุภายนอก เตโชธาตุภายใน เตโชธาตุภายนอก ประมวลทั้ง ๒ อย่างนั้น เข้าเป็นหมวดเดียวกันนี้เรียกว่า เตโชธาตุ หรือธาตุไฟ

     วาโยธาตุ ธาตุลมเป็นอย่างไร วาโยธาตุมี ๒ อย่างคือ วาโยธาตุภายใน วาโยธาตุภายนอก ในวาโยธาตุ ๒ อย่างนั้น วาโยธาตุภายใน เป็นอย่างนี้คือ ความพัดไปมาธรรมชาติที่พัดไปมา ความเคร่งตึงแห่งรูป เป็นภายในเฉพาะตนเป็นอุปาทินนกรูปข้างใน คือรูปมีใจครอง ได้แก่ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำลมในท้อง ลมในไส้ ลมพัดไปตามตัว ลมศัสตรา ลมมีดโกน ลมเพิกหัวใจ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หรือความพัดไปมา ธรรมชาติที่พัดไปมา ความเคร่งตึงแห่งรูป เป็นภายใน เฉพาะตน เป็นอุปาทินนกรูปข้างใน แม้อย่างอื่นใดมีอยู่นี้เรียกว่า วาโยธาตุ ธาตุลมภายในวาโยธาตุภายนอก เป็นอย่างนี้คือ ความพัดไปมา ธรรมชาติที่พัดไปมา ความเคร่งตึงแห่งรูปเป็นภายนอกเป็นอนุปาทินนกรูปข้างนอก หรือรูปไม่มีใจครอง ได้แก่ ลมตะวันออก ลมตะวันตก ลมเหนือ ลมใต้ ลมมีฝุ่นละออง ลมไม่มีฝุ่นละออง ลมหนาว ลมร้อน ลมอ่อน ลมแรง ลมดำ ลมบน ลมกระพือปีก ลมครุฑ ลมใบตาล ลมเป่าปากหรือความพัดไปมา ธรรมชาติที่พัดไปมา ความเคร่งตึงแห่งรูป เป็นภายนอก เป็นอนุปาทินนก แม้อย่างอื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า วาโยธาตุภายนอก วาโยธาตุภายใน วาโยธาตุภายนอก ประมวลทั้ง ๒ อย่างนั้น เข้าเป็นหมวดเดียวกัน นี้เรียกว่าวาโยธาตุ ธาตุลม

      อากาศธาตุ คือช่องว่าง เป็นอย่างไร อากาศธาตุมี ๒ อย่าง คือ อากาศธาตุภายใน อากาศธาตุภายนอก ในอากาศธาตุ ๒ อย่างนั้น อากาศธาตุภายใน เป็นอย่างนี้คือ อากาศ ธรรมชาติอันนับว่าอากาศ ความว่างเปล่า ธรรมชาติอันนับว่าความว่างเปล่า ช่องว่างธรรมชาติอันนับว่าช่องว่าง ที่อันเนื้อและเลือดไม่ถูกต้องเป็นภายใน เฉพาะตน เป็นอุปาทินนกรูปข้างใน ได้แก่ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ช่องสำหรับกลืนของกินของดื่มของ
เคี้ยวของลิ้ม ช่องที่พักอยู่แห่งของกิน ของดื่ม ของเคี้ยวของลิ้ม และช่องสำหรับของกินของดื่มของเคี้ยวของลิ้มไหลออกเบื้องต่ำ หรือ อากาศ ธรรมชาติอันนับว่าอากาศ ความว่างเปล่า ธรรมชาติอันนับว่าความว่างเปล่า ช่องว่าง ธรรมชาติอันนับว่าช่องว่าง ที่อันเนื้อและเลือดไม่ถูกต้อง เป็นภายในเฉพาะตน เป็นอุปาทินนกรูปข้างใน แม้อื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่าอากาศธาตุ หรือช่องว่างภายใน อากาสธาตุภายนอก เป็นอย่างนี้คือ อากาศ ธรรมชาติอันนับว่าอากาศ ความว่างเปล่า ธรรมชาติอันนับว่าความว่างเปล่าช่องว่าง ธรรมชาติอันนับว่าช่องว่าง ที่อันมหาภูตรูป ๔ ไม่ถูกต้อง เป็นภายนอก เป็นอนุปาทินนกรูปข้างนอก นี้เรียกว่า อากาสธาตุช่องว่างภายนอก อากาสธาตุภายใน อากาสธาตุภายนอก ประมวลทั้ง ๒ อย่างนั้น เข้า เป็นหมวดเดียวกัน กองเดียวกัน นี้เรียกว่า อากาสธาตุ คือช่องว่าง

      วิญญาณธาตุ คือความรู้อะไรๆได้ เป็นอย่างนี้คือ จักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ มโนวิญญาณธาตุ นี้เรียกว่า วิญญาณธาตุ สภาวะธรรม หลักแห่งความเป็นไปเอง เหล่านี้เรียกว่า ธาตุ ๖ ประการ คือ ความเป็นไปเอง ๖ ประการ นี้เป็นการดำเนินธาตุ ตั้งธาตุ ฝ่ายโลกุตรธรรม

      ขรัวท่านโต กล่าวสอนต่อไปว่า ข้าฯจะบอกวิธีทำลายธาตุทั้ง ๖ เพื่อกรุยทางไปสู่อมตธรรม ท่านว่าธาตุอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ตรัสไว้ชอบนั้นมี ๖ ประการ

๖ ประการ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น คือ

ปฐวีธาตุ(ดิน)
อาโปธาตุ(น้ำ)
เตโชธาตุ(ไฟ)
วาโยธาตุ(ลม)
อากาสธาตุ(ช่องว่าง)
วิญญาณธาตุ ความรู้อะไรๆได้

      ธาตุ ๖ ประการอัน พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธตรัสไว้ชอบแล้ว ก็จิตของท่าน (หมายถึงพระอาจารสุก) เป็นผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ จะพิจารณาอยู่อย่างไรเล่า จึงจะหลุดพ้น จากอาสวะกิเลส ไม่ยึดมั่น ถือมั่นในธาตุทั้ง ๖ อันเป็นภายใน ภายนอกนี้ ฯ ขรัวท่านโต กล่าวว่า พระพุทธเจ้า ตรัสสอนไว้ว่า ให้ภิกษุทั้งหลาย ครอง ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ ช่องว่าง วิญญาณธาตุ ธาตุรู้อะไรๆได้ โดยความเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน ไม่ให้ครองอัตตา คือความมีตัวตน โดยอาศัย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ ช่องว่าง วิญญาณธาตุ คือความรู้อะไรๆได้ เมื่อท่านครองธาตุ โดยความไม่มีตัวตน ท่านจึงจะทราบชัดเจนว่า จิต ไม่ควรยึดมั่น ถือมั่น และจะทราบชัด ไปอีกว่าจิตของท่านกำลังจะหลุดพ้น หรือหลุดพ้นแล้ว หลุดพ้น เพราะสิ้นกิเลส ดับคืนกิเลส ละความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทาน โดยอาศัยธาตุทั้ง ๖ และอนุสัย คือความตั้งใจ
และความปักใจมั่น โดยอาศัยธาตุทั้ง ๖ ได้ จะทำให้ท่านหลุดพ้นโดยเร็วพลัน เสร็จสิ้นคำกล่าวสอน ขรัวท่านโต ก็หายกลับไป จากนั้นพระอาจารย์สุก ก็ทรงออกจากสมาธิ ครั้งนั้นพระอาจารย์สุก พระองค์ท่านทรงมีพระสติ สัมปชัญญะ ระลึกถึงคำสอนของขรัวท่านโต อยู่เสมอเนื่องๆว่า การยึดติดธาตุ ๖ และฤทธิ์ต่างๆไม่สามารถนำทางพระองค์ท่านไปสู่ทางพระนิพพานได้ ถ้ายังไปหลงติดอยู่ ตามคำที่พระอริยเถราจารย์สั่งสอนอบรมมา แต่นั้นมาพระองค์ท่านก็ ไม่ทรงติดอยู่ในฤทธิ์ ในอำนาจต่างๆ ทรงเห็นเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน และทรงทบทวนดำเนินการตั้งธาตุ ๖ และทำลายธาตุ ๖ ทั้งทางอิทธิ และทางโลกุตรธรรม

     คืนต่อมาขรัวท่านโต ท่านก็มาสอนเรื่องธาตุ ในสมาธิจิตของพระอาจารย์สุกอีกโดยกล่าวว่า สิ่งที่เป็นธาตุยังมีอีก เช่น จักขุธาตุ โสตธาตุ ฆานะธาตุ ชิวหาธาตุ กายธาตุ มโนธาตุ ท่านกล่าวว่าในธาตุเหล่านี้ มีธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุอยู่ด้วย

     ธาตุไฟ มีมากในจักขุ คือตา เมื่อตาเห็นรูปที่ดีก็ตาม เห็นรูปที่ทรามก็ตาม ให้ทำจิตเหมือนเปลวไฟ แล็บหายไป ความยึดมั่นถือมั่น ในรูป ที่มากระทบจักขุ ก็จะหายไป

      ธาตุลม มีมากในหู ได้ฟังเสียงที่ดีก็ตาม ได้ฟังเสียงที่ชั่วก็ตาม ให้ทำเหมือนลมพัดผ่านไป ความยึดมั่นในเสียงที่ดี และร้าย ก็ไม่มี

      ธาตุดิน มีมาก ในจมูก ได้กลิ่นที่ดีก็ตาม ได้กลิ่นที่ไม่ชอบใจก็ตาม ให้ทำจิตเหมือนดินสลายไป ความยึดมั่นถือมั่นในกลิ่น ดี ชั่ว ก็จะสลายไป

      ธาตุน้ำ มีมาก ในลิ้น ถ้าลิ้มรสที่ดีก็ตาม ได้ลิ้มรสที่ชังก็ตาม ให้ทำจิตเหมือนสายน้ำไหลไป ความยึดมั่นถือมั่น ติดในรส ก็สลายไป

       ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ มี มากในกาย ได้สัมผัสดีก็ตาม ได้สัมผัสชั่วก็ตาม ให้ทำจิต เหมือน ธาตุทั้ง๔ สลายไป ความยึดมั่นถือมั่น ในสัมผัส ก็จะสลายไป

       อากาศธาตุ มีมากในมโนธาตุ และวิญญาณธาตุ รู้ธรรมารมณ์ที่ดีก็ตาม รู้ธรรมารมณ์ที่ชังก็ตาม ให้ทำจิตเหมือนอากาศสลายไป จะทำให้จิตเป็นกลางใน สภาวธรรมทั้งที่ดี และไม่ดี จะทำให้ท่านหลุดพ้นจากอายตนะ ๖ และธาตุทั้ง ๖ คลายความยึดมั่น ถือมั่นไปสู่ทางนิพพานแล


คืนต่อมาพระอาจารย์สุก ทรงยกธาตุ ๖ ประการ ขึ้นพิจารณา ไปสู่พระไตรลักษณะญาณ โดยความเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน ในธาตุทั้ง ๖ จิตของพระองค์ท่านก็ดำเนินทางไปสู่ภูมิแห่งวิปัสสนากรรมฐาน เจริญทางมรรคธรรม ทางผลธรรม เพื่อถึงเมืองแก้วอมตมหานิพพานธรรม ต่อไป กาลต่อมาพระองค์ท่านก็ไม่ยึดติดอยู่ในธาตุทั้ง ๖ และวิชาอิทธิฤทธิ์ ปล่อยวางได้ยิ่งๆขึ้นไป จิตของพระองค์ท่าน ก็หลุดพ้นขึ้นไปเรื่อยๆ




ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือพระประวัติ สมเด็จพระสังฆราช พระญาณสังวร มหาเถรเจ้า ( หลวงปู่สุก ไก่เถื่อน )
เรียบเรียงโดย พระครูสิทธิสังวร ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดราชสิทธาราม เจ้าคณะ 5 ( วัดพลับ )


ขอขอบพระคุณ คุณเสกสรรค์:






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 19, 2015, 10:36:37 AM

บันทึกกรรมฐาน วันที่ 17/1/58

เมื่อรู้ว่าจิตรู้สมมติที่อาสวะกิเลสนั้นสร้างขึ้นมาหลอก ความเสพย์สมมติยึดมั่นสิ่งสมมติคือทุกข์เวทนา ดึงนั้นแล้วศีลคือกุศล ชำระกิเลสอย่างหยาบ คือ ศีลมี กุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นต้น เป็นสิ่งที่เราควรตั้งมั่นไว้ในใจ ควรเจริญให้มากเพื่อไม่ให้กายและวาจาของเรานั้นดำเนินไปตามสิ่งสมมติที่อาสวะกิเลสมันสร้างขึ้นมาให้จิตรู้ เพื่อหลอกล่อให้จิตมายึดมั่นถือมั่นลุ่มหลงแล้วดำเนินไปตามกองทุกข์ทั้งปวง พระตถาคตจึงตรัสว่า ศีลเป็นฐานของกุศล ควรตั้งจิตมั่นแน่วแน่ในศีล มีศีลเป็นที่ตั้งมั่นไว้ในภายในใจ

กรรมฐานหลวงปู่สุกที่ขรัวท่านโตสอน

    ธาตุไฟ มีมากในจักขุ คือตา เมื่อตาเห็นรูปที่ดีก็ตาม เห็นรูปที่ทรามก็ตาม ให้ทำจิตเหมือนเปลวไฟ แล็บหายไป ความยึดมั่นถือมั่น ในรูป ที่มากระทบจักขุ ก็จะหายไป
    ธาตุลม มีมากในหู ได้ฟังเสียงที่ดีก็ตาม ได้ฟังเสียงที่ชั่วก็ตาม ให้ทำเหมือนลมพัดผ่านไป ความยึดมั่นในเสียงที่ดี และร้าย ก็ไม่มี
    ธาตุดิน มีมาก ในจมูก ได้กลิ่นที่ดีก็ตาม ได้กลิ่นที่ไม่ชอบใจก็ตาม ให้ทำจิตเหมือนดินสลายไป ความยึดมั่นถือมั่นในกลิ่น ดี ชั่ว ก็จะสลายไป
    ธาตุน้ำ มีมาก ในลิ้น ถ้าลิ้มรสที่ดีก็ตาม ได้ลิ้มรสที่ชังก็ตาม ให้ทำจิตเหมือนสายน้ำไหลไป ความยึดมั่นถือมั่น ติดในรส ก็สลายไป
    ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ มี มากในกาย ได้สัมผัสดีก็ตาม ได้สัมผัสชั่วก็ตาม ให้ทำจิต เหมือน ธาตุทั้ง๔ สลายไป ความยึดมั่นถือมั่น ในสัมผัส ก็จะสลายไป
    อากาศธาตุ มีมาก ในมโนธาตุ และวิญญาณธาตุ รู้ธรรมารมณ์ที่ดีก็ตาม รู้ ธรรมารมณ์ที่ชังก็ตาม ให้ทำจิตเหมือนอากาศสลายไป จะทำให้จิตเป็นกลางใน สภาวธรรมทั้งที่ดี และไม่ดี จะทำให้ท่านหลุดพ้นจากอายตนะ ๖ และธาตุทั้ง ๖ คลายความยึดมั่น ถือมั่นไปสู่ทางนิพพานแล

หลวงปู่หลุย ม้างกาย-คือ การม้างกาย หรือแยกกาย นั่นเอง"....

-เมื่อเราสามารถเห็นตนเอง(กายทิพย์) ต้องเอา"กายทิพย์"มาพิจารณา"กายเนื้อ"ให้ละเอียด ตั้งแต่ผม-ขน-เล็บ-ฟัน-หนัง-ตับ-ไต ไส้-ปอด(กายคตานุสสติกรรมฐาน)จนเห็นเป็นอสุภกรรมฐาน คือ สิ่งที่ไม่สวยงาม สักแต่เป็นธาตุขันธ์ที่ต้องแตกสลายไปจนจิตสลายตัวในการยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย โดยมีตัว"จิต หรือผู้รู้" เป็น"ผู้เห็น"นิมิตเหล่านั้น

-การเห็นเป็นสิ่งที่รับรอง เรียกว่าใช้ประโยชน์จากนิมิตเป็น ไม่หลงสวรรค์ ดั้นนรก ตามแต่จิตจะท่องเที่ยวไป...

เมตตาเจโต
ทำอารมญ์ให้เกิดความปารถตาดีเอ็นดูปรานี น้อมไปในการสละให้เสมอกัน โดยอาศัยความเห็นเป็น
- ความหลงอยู่ในสมมติบ้าง๑
- อาการทั้ง ๓๒ ประการ บ้าง๑  - ความเป็นกองธาตุ๖ บ้าง๑

ที่แวบเข้ามาในสมองตอนเวชา 21: 30 น. โดยประมาณ

๑.พึงเห็นว่าเขาทั้งปวงเหล่านั้น จะปุถุชนหรือมนุษย์ทั้งหลายก็ดีหญิงทั้งปวง ชายทั้งปวง สัตว์ทั้งปวง สิ่งมีชีวิตทั้งปวง สิ่งไรๆทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในภพภูมิทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นสัมภเวสีก็ดี เทวดาก็ดี นางฟ้าก็ดี เทพบุตรเทพธิดาก็ดี พรหมทั้งหลายก็ดี  อมนุษย์ทั้งหลายก็ดี
 
ท่านทั้งหลายเหล่านั้น ยังเป็นผู้ที่อาศัยจิตยึดมั่นถือมั่นในสมมติทั้งปวงที่อาสวะกิเลสทั้งหลายสร้างขึ้นมาหลอกให้ลุ่มหลงอยู่ ทำให้ยังไม่สิ้นจากกองทุกข์ไป ด้วยเหตุดังนี เราผู้เป็นสาวกของพระตถาคต ได้รู้เห็นและตื่นจากสมมติอันเป็นเครื่องล่อแห่งกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวงเหล่านี้แล้ว ตามที่พระตถาคตเจ้าองค์พระบรมครูของเราได้ตรัสสั่งสอนชี้แนะแนวทางพ้นทุกข์ให้เป็นไปเพื่อถึงความมีกายใจอันแจ่มใสเบิกบานด้วยธรรมอันขจัดเสียซึ่งกิเลสมมัวหมองความลุ่มหลงในสิ่งสมมติทั้งปวง  จะพึงแผ่เอาความเมตตาเอ็นดูปารถนาดีทั้งหลายอันน้อมไปในการสชะสงเคราะห์ให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น
- ด้วยเหตุดังนี้ขอความเป็นสุข ปราศจากทุกข์ เป็นผู้ไม่มีเวร เว้นความผูกเวร เป็นไม่มีพยาบาท เว้นความผูกพยาบาท เป็นผู้ไม่มีความทุกข์กายทุกข์ใจ เป็นผู้ไม่มีโรค รักษาตนให้รอดพ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวง มีความสุขสวัสดี ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ท่านทั้งหลายเหล่านั้นตราบสิ้นกาลนานเทอญ

๒.เห็นเขาเป็นเพียงอาการทั้ง ๓๒ ประการ เสมอตนและทั่วกัน ในสัตว์ทั้งปวง ด้วยอาการเหล่านี้มีในเขาเสมอเราจึงไม่ควรแบ่งแยกที่รักที่ชัง แต่ละคนแต่ละตัวมีเสมอกันหมดไม่ต่างกัน
- แม้พวกอื่นเหล่าใดนั้น ที่ไม่มีอาการทั้ง ๓๒ ประการ ให้พิจารณาเช่น สัมภะเวสี เทวดา  พรหม เป็นต้น แต่ก็อาศัยวิญญาณธาตุเป็นตัวยึดเอา เวทนาความเสวยอารมณ์ ความจำสำคัญมั่นหมาย ความปรุงแต่งทั้งปวงให้มีอยู่ ยึดอยู่ในขันธ์อันเป็นทุกข์ไม่ต่างกัน
- ด้วยเหตุดังนี้ขอความเป็นสุข ปราศจากทุกข์ เป็นผู้ไม่มีเวร เว้นความผูกเวร เป็นไม่มีพยาบาท เว้นความผูกพยาบาท เป็นผู้ไม่มีความทุกข์กายทุกข์ใจ เป็นผู้ไม่มีโรค รักษาตนให้รอดพ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวง มีความสุขสวัสดี ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ท่านทั้งหชายเหล่านั้นตราบสิ้นกาลนานเทอญ

๓. เห็นเขาทั้งปวลเป็นแค่กองธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณทั้งหลายมาประชุมรวมกัน




ม้างกาย บันทุกกรรมฐาน วันที่ 17/1/58 เวลา 23 : 06 น.

ก. ทวัตตติงสาการ+ธาตุ๕+อสุภะ+มรณะสติ

๑. แยกอาการออกเป็นส่วนๆ ทั้ง ๓๒ ประการ ให้เห็นไม่มีเราในรูปขันธ์ และ รูปไม่มีในเรา แต่อาศัยสิ่งทั้งปวงนี้ประกอบกันจึงสมมติว่าเป็นเราเป็นเขา
๒.เห็นเป็นธาตุ ๕ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ
๓. เห็นความผุเปื่อยเน่า ดั่งในอสุภะกรรมฐาน
๔. เห็นความดับสูญสลายไป ดั่งในมรณะสติ คือ มีอารมณ์ที่ดับสูญไป ไม่มีเหลือ ไม่มีอยู่ ไม่มีอาศัยไว้อีก

ข.  อาศัยไฟเผากาย แล้วลอกออกทีละอาการโดยเริ่มจากหนังก่อนจนครบ ๓๒ จนไม่เหลือสิ่งใด

ค. สลายธาตุ มัชฌิมาแบบลำดับ คือ

๑.ไฟเผาสลายธาตุที่ตาเห็นรูป
๒.ลมพัดสลายธาตุที่หูได้ยินเสียง
๓.ดินสลายกลิ่นที่รู้ทางจมูก
๔.น้ำสลายรสชาติที่รู้ทางลิ้น
๕.ดิน น้ำ ลม ไฟ ดับที่กาย
๖.อากาศสลายวิญญาณคือธาตุรู้ให้มีแต่ว่าง





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 19, 2015, 10:49:13 AM

บันทึกกรรมฐาน วันที่ 18/1/58


การกรรมฐานไม่ให้ส่งจิตออกนอก

๑.จะต้องสติที่รู้ลมหายใจปักหลักจุดผัสสะลมที่ปลายโพลงจมูกเท่านั้น ไม่เอนเอียงไหลไปตามลมหายใจเข้าออก
- การหายใจเข้าบริกรรม "พุท" หายใจออกบริกรรม "โธ" ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็น ผู้รู้-ผู้ตื่น-ผุ้เบิกบาน จากสมมติที่อาสวะกิเลสสร้างขึ้นให้จิตรู้ให้จิตหลงเสพย์อารมณ์สมมติแล้วยึดมั่นถืออุปาทานในสมมติจนเกิดทุกข์น้อมมาสู่ตน นับเป็น 1 ครั้ง ทำจนถึง 10 แล้วถอยจาก 10 มาถึง 1 แล้วนับใหม่จาก 1-7 แล้วถอยจาก 7-1 จากนั้นก็นับใหม่ 1-5 แล้วถอยจาก 5-1 จากนั้นก็นับใหม่จาก 1-3 แล้วถอยจาก 3-1 แล้วพุทโธไปโดยไม่ต้องนับเอาจิตจับที่ปลายโพรงจมูก เลื่อนมาหน้าผาก กลางกระหม่อม กลางโพรงสมอง กลางหน้าอก เหนือสะดือ ๒ นิ้ว แล้วจับเฉพาะที่ปลายจมูก เป็นการไล่ความคิดฟุ้งซ่านออกให้เหลือแต่สติฟสัมปะชัญญะและจิตจดจ่อที่ลมเท่านั้น หากชำนาญแล้วให้จับที่ปลายจมูกเท่านั้น

๒.อาศัยสัมปะชัญญะรู้ตัวในปัจจุบันให้มากๆ คือ รู้อิริยาบถตน รู้กิจการงานที่ตนทำในปัจจุบัน ปัจจุบันนั่งสมาธิอยู่ก็รู้ว่านั่งทำสมาธิอยู่

ทำอย่างนี้แล้วให้รู้สภาวะกายของตนที่เป็นไปในปัจจุบันผนวกกับลมหายใจเข้าและออกนิมิตจะเกิดก็เป็นไปในกายในอาการทั้ง ๓๒ ในธาตุ๖ เท่านั้น แล้วจับเอานิมิตนั้นมาไว้จนเก่าสู่สมาธิแล้วพิจารณาธรรม อย่างนี้จึงไม่หลงนิมิต อย่างนี้จึงกล่าวว่าใช้นิมิตเป็น

วันนี้นั่งสมาธิได้ 1 ชม.

วันนี้มีอาการข้อเท้าอักเสบข้างซ้าย เก๊าท์ข้างขวาหายแล้ว นั่งไปเกิดทุกขเวทนาที่ข้อเท้ามาก ได้พยายามเอาจิตจับแต่พุทโธก็ไม่หาย จนเมื่อเราได้ตั้งสมาธิเพ่งไปที่ขาที่ปวดนั้นพึงตั้งทวัตติงสาการว่า ขานี้หนอที่หนังหุ้มอยู่ มาภายในอย่างไรบ้าง ก็เห็นแต่เป็นก้อนเนื้อ น้ำเลือด เส้นเอ็น กระดูก ไขในกระดูกหรือเยื่อในกระดูก ทั้งหมดนี้เป็นดินและน้ำ ดินและน้ำมันเจ็บเป็นหรือ คงหามิได้ แต่เพราะอาศัยใจเรานี้แหละเข้าไปยึดครองไปยึดเอาดินว่าเป็นเราเป็นของเรามันจึงมีตัวตนมีความรู้สึกขึ้นมาได้ ซึ่งจริงๆแล้วก็มีแต่จิตเท่านั้นที่รู้อาการสมมติว่านี่เจ็บนี่ปวดนี่เป็นทุกข์ ก็เมื่อปวดเกิดขึ้นแล้วดับไป จิตอาศัยสัญญาเป็นตัวยึด ยึดความรู้สึกนั้นไว้กับความตรึกนึกคิดจึงเกิดเวทนานุปาทาน ดังนั้นเราจักไม่เอาจิตเอาใจไปยึดครองธาตุดินที่มีในกายนี้อีก เราจึงเกิดความคิดว่า นี่เรายึดตัวตนในเวทนาเข้าแล้ว แต่ยึดโดยสัญญาจากเวทนาที่ดับไปแล้วมาเป็นอารมณ์สมมติให้เกิดมีขึ้นอีก เราจักไม่ยึดจิตที่รู้และยึดเอาแต่สมมติอีก จิตนี้มันของปลอมของสมมติเท่านั้น ของจริงคือกายสังขารคือลมหายใจต่างหากจึงยึดลมไว้ สักพักความปวดหายไป เพรามีสติสัมปะชัญญะไม่ยึดครองรูปขันธ์อันเป็นธาตุดิน ไม่ยึดจิตอันรู้แแล้วก็ เกิด-ดับๆ ไม่หยุด จนเมื่อไม่ยึดจิตที่เป็นสมมติของปลอม ไม่ยึดความคิดอันปรุงแต่งด้วยสัญญาเพราะเป็นของสมมติให้เกิดมีขึ้น ไม่สนสมมติที่จิตรู้เพราะเป็นของปลอมอาการปวดจึงหายไปนาน จึงได้พิจารณาใหม่ว่า ในกายเรามีก็เป็นแค่ธาตุ มันไม่มีความรู้สึกทั้งสิ้น แต่อาศัยจิตรูปยึดสัญญาและสังขารปรุงแต่งความสมมติตรึกนึกเวทนาจึงเกิด เมื่อมองเห็นขาเป็นดิน ดินมีในกาย ดินเป็นแค่ธาตุ เป็นเพียงสภาวะธรรมแห่งรูปไม่มีชีวิตจิตใจแต่อาศัยจิตนี้เข้าไปยึดปรุงแต่งสังขารจึงเกิดมีอาการเป็นไปต่างๆ เรานี่โง่หนอไปยึดอุปาทานในดินว่าดินนี้มีชีวิตจิตใจ เจ็บปวดเป็น จิตต่างหากที่ไปยึดอุปาทานสัญญาความจำสำคัญมั่นหมายของใจที่จดจำหมายรู้อารมณ์นั้นไว้ โดยมีสังขารปรุงแต่งตรึกนึกคิดร่วมกับหวนระลึกถึงสัญญานั้นๆ  เมื่อมันเป็นดินถอนใจที่ยึดครองออก เราก็เห็นขาเป็นสภาวะธรรมหนึ่งๆที่มีรูปร่างอย่างนี้ๆไม่มีชีวิตไม่มีจิตใจ ไม่มีความรู้สึก (คือรู้ว่ามันมีอาการอ่อนแข็งแต่จิตจับเอาแค่สภาวะธรรมของมันเท่านั้นทำให้ไม่มีชื่อเรียกไม่มีชื่ออาการของสภาวะธรรมนั้นๆ) เราเอาดินสลายดินขากลับว่างเปล่าไม่มีสิ่งใด ไม่มีความรู้สึก สักพักเกิดอาการปวดแสบร้อนที่ขา ก็เห็นว่ากายนี้มีธาตุไฟอยู่จึงแสบร้อนขึ้นได้ เราใช้ไฟดับไฟเห็นด้วยเห็นธาตุไฟมีเกิดในขานี้ อาการแสบร้อนก็หายไปมีสภาพว่าง เอาอากาศที่ว่างข่มสลายไม่ยึดสมมติแห่งจิตขาก็ไม่ปวดแม้จะรู้ว่ามีสภาวะนี้ๆเกิดก็เห็นแค่ธาตุจนเกิดสภาวะว่างสลายไปไม่มีตันตนใน่วงขา พอจะออกจากสมาธิเห็นว่า ด้วยการหายใจของเรา ลมหายใจเป็นกายสังขาร กายนี้ต้องการลมหล่อเลี้ยง ลมนี้มีส่วนสำคัญอันพัดให้น้ำไหลเวียนในกาย จึงหายใจเข้า-ออกโดยระลึกเอาชมพัดไปถจากจมูกลงมาคอ มาหน้าออก ส่งลงไปปลายเท่าระลึกพัดเอาน้ำเลือดลงสู่ปลายเท้า ทำให้รู้สึกว่าเลือดลมเดินไปที่ขาถึงปลายเท้า  ทำให้ก้าวข้ามทุกขเวทนาที่เกิดกับกาย แม้ออกจากสมาธิก็ไม่เป็นตะคริวเลย




สรุป

จิตเป็นตัวเข้าไปยึดครองธาตุดินว่าเป็นเราเป็นของเรา ว่าเที่ยง ดินจึงเกิดเป็นตัวตนบุคคลใด สัตว์ใด สิ่งใดๆขึ้นมา ดินจึงมีความรู้สึกมีอาการในต่างๆ

เมื่อสละคืนรูปขันธ์ไม่มีใจยึดครองในรูปขันธ์ ในธาตุ๕ คือ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ ก็ไม่มีความรู้สึกใดๆทั้งสิ้น เป็นเพียงธาตุ๕ เท่านั้น
เมื่อไม่เอาจิตมาเป็นอารมณ์ เพราะรู้ตามจริงว่าสิ่งที่จิตรู้เป็นของปลอม จิตไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีความยึดมั่นในจิต ไม่ยึดมั่นในสิ่งที่จิตรู้ เวทนาก็ไม่เกิด ก็แยกรูปแยกนามออกจากกัน มีแต่สติสัมปะชัญญะรู้แลอยู่เท่านั้น มรรคจึงเกิดขึ้น สมาธิจึงเกืดขึ้น ปัญญาจึงเกิดขึ้น ณ ที่นั้น







หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 19, 2015, 10:56:56 AM

บันทึกกรรมฐาน วันที่ 19/1/58

คุยกับแก๊บเมื่อเช้าว่า หลวงพ่อสอนให้มีสมาธิเอาสมถะก่อนเดินปัญญา หลวงปู่มั่นก็สอนว่าพระพุทธเจ้านั้นได้สมถะก่อนจึงได้วิปัสสนา ถ้าจะเอาให้เอาสมถะให้ได้ก่อน แล้วจึงไปต่อวิปัสสนา มันจึงจะเห็นจริง ถ้าเดินปัญญาก่อนสมถะก็ได้ปัญญาทางโลกที่อนุมานเอาไม่รู้ตามจริง เป็นเพียงสัญญาเฉยๆ ดั่งพระตถาคตตรัสว่าผู้ที่เพ่งเล็งมองอสุภะที่ภายนอกเป็นการใช้สัญญเท่านั้นไม่ทำให้หลุดพ้น แต่ผู้ที่เห็นอสุภะภายในกายตนจึงจะถึงความพ้นทุกข์ การจะเห็นอสุภะภายในตน คือ อาการทั้ง ๓๒ ประการนี้ต้องอาศัย สมาธิมีสมถะไปจนถึงรูปฌาณ ๔ จึงจะไม่อาศัยสัญญา

-  ดังนั้นถ้าจะเอาก็ต้องเอาสมถะก่อน ตัดความคิดความรู้เห็นจากสมาธิอันปรุงแต่งปัญญาแบบโลกๆของเราทิ้งไปเสีย อยู่ที่กายสังขารคือ "ลมหายใจเข้าและออก" อยู่ที่ "พุทโธ" หรือจะเดินจงกรมไปเรื่อยๆมีสัมปะชัญญะรู้ในอิริยาบถนั้นๆในกิจการงานสภาวะธรรมทางกายที่ทำในปัจจุบันนั้น เท่านั้นพอ






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 19, 2015, 06:49:26 PM
พระอริยเถราจารย์สอนเรื่องตัดขันธ์


    (พรรษาที่ ๑๕ สถิตวัดท่าหอย ยุคธนบุรี)ณ วัดท่าหอย พรรษาที่ ๑๔ พระอาจารย์สุก พระองค์ท่าน ทรงเจริญสมณะธรรมทุกคืน ก็จะมีพระอริย เถราจารย์มา กล่าวสอน พร่ำสอน พระกรรมฐานพระองค์ท่านทุกคืน คืนนี้ก็เช่นกัน มีพระเถราจารย์พระองค์หนึ่งล่วงมาแล้ว เข้ามาหาพระอาจารย์สุกด้วยกายทิพย์อันละเอียดประณีต

  พระอริยเถราจารย์ พระองค์นั้นมาถึงแล้วก็กล่าวกับพระองค์ท่านว่า ข้าฯชื่อ คำมา ข้าจะมาสอนเรื่องการตัดขันธ์ จะได้เอาไว้ใช้กับตัวเอง และเอาไว้ใช้สอนผู้อื่น เวลาเกิดทุกขเวทนาในเวลาใกล้ตาย ท่านสอนว่าการตัดขันธ์นี้ ต้องมีสมาธิจิตกล้าแข็งสามารถลืมทุกสิ่ง ทุกอย่างได้ ไม่เอาสังขารร่างกายแล้ว ให้ตัดจากขันธ์หยาบก่อน โดยพิจารณาวิปัสสนา คือ ๑.ตัดอาโปธาตุก่อน ๒.ตัดเตโชธาตุ ๓.ตัดปฐวีธาตุ ๔.ตัดวิญญาณธาตุ ดับความยึดมั่นในร่างกาย สุดท้ายให้ตัด วาโยธาตุ เวลามรณะกรรม ทุกขเวทนา จะไม่มี ไม่ปรากฏ แต่ต้องมีสมาธิจิตกล้าแข็ง จึงจะทำได้
พระอริยเถราจารย์ ยังกล่าวสอนต่อไปอีกว่า ระหว่างทุกข์เวทนาเกิดขึ้นมากนั้น

    ให้ตั้งสติให้กล้าแข็ง องค์แห่งธรรมสามัคคี คือโพชฌงค์ ๗ จะเกิดขึ้น
   คือสติสัมโพชฌงค์ ๑ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ๑ วิริยะสัมโพชฌงค์ ๑ ปีติสัมโพชฌงค์ ๑ ปัสสัทธิ
สัมโพชฌงค์ ๑ สมาธิสัมโพชฌงค์ ๑ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ๑

     เมื่อมีสติรู้ต่อทุกข์เวทนา ทั้งภายใน ภายนอก เรียกว่า สติสัมโพชฌงค์เกิด มีสติแล้วระลึกถึง การตัดซึ่งขันธ์ห้า เรียกว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เกิด เริ่มทำความเพียรในการตัดขันธ์ เรียกว่า วิริยสัมโพชฌงค์เกิด เมื่อตัดขันธ์ได้ครบองค์แล้ว ดับความยึดมั่นในร่างกายได้ ปีติสัมโพชฌงค์ก็เกิด ความสงบทั้งภายในภายนอกก็ตามมา ปัสสัทธิ
สัมโพชฌงค์ จึงเกิด ความไม่มีทุกข์เวทนา ก็หายไป จิตก็ตั้งมั่น จึงเกิดสมาธิสัมโพชฌงค์ วางเฉยในอกุศลธรรมทั้งปวง จึงเกิดอุเบกขาสัมโพชฌงค์เมื่อท่าน เจริญโพชฌงค์แล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเข้าถึงเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ
อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ทำให้แจ้งเพราะรู้ยิ่งจริงแท้ ด้วยตนเองในปัจจุบันอยู่ ธรรมเหล่านี้มีอยู่ ๗ อย่างตามที่กล่าวมาแล้ว พระอริยเถราจารย์ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า เจริญอย่างไรจึงจะหลุดพ้น คือ

    ๑.ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธอันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย
    ๒.ย่อมเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะอาศัยนิโรธอันน้อมไป เพื่อความปลดปล่อย
    ๓.ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธอันน้อมไป เพื่อความปลดปล่อย
    ๔.ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธอันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย
    ๕.ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธอันน้อมไป เพื่อความปลดปล่อย
    ๖.ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธอันน้อมไป เพื่อความปลดปล่อย
    ๗ .ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธอันน้อมไป เพื่อความปลดปล่อย ท่านเจริญโพชฌงค์ ๗ อย่างนี้แล้ว ทำให้มากแล้ว เป็นเหตุให้เข้าถึงเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ทำให้แจ้งเพราะรู้ยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันอยู่ ฯ
   
      คืนต่อมาพระอริยเถราจารย์ หรือหลวงปู่คำมา ท่านก็กล่าวสอนอีกว่า ข้าฯจะสอนวิชา ผ่อนคายจิต ท่านสอนว่า ขณะที่จิตกำลังมีความสับสนวุ่นวาย ขอให้ตั้งสติแล้วหายใจให้ลึกๆ พุ้งสมาธิจิตไปที่ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือพระพุทธรูป ให้เพ่งดูนิ่งๆนานๆ สักครู่หนึ่ง แล้วภาวนาสวดพระพุทธคุณ คืออิติปิโส ฯลฯ ภควาติ ๑จบ หรือหลายจบก็ได้ ความวุ่นวายใจ และสับสนใจ ก็จะคลายลง แล้วหายไปเองคืนต่อมาพระอริยเถราจารย์ หรือหลวงปู่คำมา ท่านก็สอนต่อไปอีกว่า วิชชาสยบทุกข์เวทนา ท่านบอกว่าเมื่อมีทุกขเวทนาเกิดขึ้นแก่เรา ขอให้เราตั้งสติแล้ว ยอมรับทุกขเวทนานั้นก่อน คือให้มีสติกำหนดรู้ทุกข์นั้นเอง ให้รู้ว่าทุกข์เกิดจากอะไร แล้วนึกถึงคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เรามีกรรมเป็นของ ของตนเอง เรามีกรรมเป็นมรดก เรามีกรรมเป็นกำเนิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย แล้วมีสติกำหนดรู้ ความวางเฉยในทุกข์เวทนานั้นด้วยถ้าทำดังนี้ได้ ทุกขเวทนาที่มีอยู่ใน ใจ และกาย ก็จะบรรเทา เบาบางลง และหายไปในที่สุด หรือให้มีสติรู้เวทนา เช่นทุกข์เวทนาเกิด ก็รู้ว่าทุกข์เวทนาเกิด ทุกข์เวทนาไม่มี ก็รู้ว่าทุกขเวทนาไม่มี ดังนี้ ก็จะสามารถแยกจิต กับทุกขเวทนาออกไปได้ ไม่รู้สึกทุกข์ ถ้ารู้ไม่เท่าทันทุกข์เวทนา เราก็ไม่สามารถสยบทุกขเวทนาได้ ท่านบอกว่า นี้เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพร่ำสอนพระสาวก และสืบต่อมาจนถึงข้าฯและถึงท่านนี่แหละ

     พระอาจารย์สุกพระองค์ท่าน ทรงออกจากสมาธิแล้ว ทรงทบทวนการตัดขันธ์ทบทวนโพชฌงค์ ๗ ทบทวนวิชาสยบทุกข์เวทนา เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทุกวันในพรรษานี้ พระองค์ท่านก็สามารถตัดทุกขเวทนาได้ และชำนาญใน พระคัมภีร์โพชฌงค์ ๗ อีกด้วย  คืนต่อมาในพรรษานั้น พระอริยเถราจารย์ องค์ที่สอนพระอาจารย์สุก เรื่องการตัดขันธ์ อันประกอบด้วย โพชฌงค์ ๗ ประการ ได้มาบอกท่านในสมาธิอีกว่า ข้าฯจะ
สอนวิชาโพชฌงค์ ๗ เป็นวิชาโลกุดร สยบมาร ท่านกล่าวอีกว่า

    มาร คือ กิเลสมาร  สังขารมาร อภิสังขารมาร เทวปุตมาร และมัจจุมาร ท่านบอก นอกจากจะสยบมารทั้ง
ห้าแล้ว ยังใช้รักษาโรคกาย โรคจิต ให้แก่ตัวเอง และผู้อื่นได้อีกด้วย ต่อมาท่านจึงบอก

วิธีทำ ฌานโลกุดร สยบมาร ดังนี้
๑.ท่านให้ตั้งสติสัมโพชฌงค์ ที่กลางสะดือ องค์ธรรมนาภี จุดชุมนุมธาตุ
๒.ให้ตั้งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ที่จุดเหนือสะดือ หนึ่งนิ้ว จุดธาตุดิน
๓.ตั้งวิริยสัมโพชฌงค์ ที่จุดหทัย จุดองค์ธรรม พระพุทโธ
๔.ตั้งปีติสัมโพชฌงค์ ที่จุดคอกลวง องค์ธรรม ของพระปีติ
๕.ตั้งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ที่โคตรภูมิท้ายทอย องค์ธรรมนิโรธ ธาตุลม
๖.ตั้งสมาธิสัมโพชฌงค์ ที่กลางกระหม่อม องค์ธรรมของพระพุทธเจ้า
๗.ตั้งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ที่หว่างคิ้ว องค์ธรรมของพระสังฆราชา
เมื่อจิตมีกำลัง ปราณีตดีแล้ว ตรงอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ให้เปลี่ยนคำภาวนาเป็น
โลกุตตะรัง ฌานัง อันเป็นไปเพื่อจิตหลุดพ้น

ในกาลต่อมาพระอาจารย์สุก พระองค์ท่านก็ทรงนำวิชาโลกุดร สยบมาร มาสั่ง
สอนศิษย์ มากมายในกรุงรัตนโกสินทร์ มีชื่อเสียงโด่งดังมากมายหลายองค์


ขอขอบคุณที่มาจาก http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=6657.msg54387;topicseen#msg54387 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=6657.msg54387;topicseen#msg54387)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 19, 2015, 06:51:36 PM

(http://www.madchima.net/images/700_SAM_0679.jpgre.jpg1.jpg)

รูปแสดงจุดที่ตั้งนวหรคุณ ๙ จุด


วิธีทำฌานโลกุดร สยบมาร (โพชฌงค์ ๗ ประการ) ดังนี้

    ๑. ท่านให้ตั้งสติสัมโพชฌงค์ ที่กลางสะดือ องค์ธรรมนาภี จุดชุมนุมธาตุ
    ๒. ให้ตั้งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ที่จุดเหนือสะดือหนึ่งนิ้ว จุดธาตุดิน
    ๓. ตั้งวิริยสัมโพชฌงค์ ที่จุดหทัย จุดองค์ธรรม พระพุทโธ
    ๔. ตั้งปีติสัมโพชฌงค์ ที่จุดคอกลวง องค์ธรรม ของพระปีติ
    ๕. ตั้งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ที่โคตรภูมิท้ายทอย องค์ธรรมนิโรธ ธาตุลม
    ๖. ตั้งสมาธิสัมโพชฌงค์ ที่กลางกระหม่อม องค์ธรรมของพระพุทธเจ้า
    ๗. ตั้งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ที่หว่างคิ้ว องค์ธรรมของพระสังฆราชา
    เมื่อจิตมีกำลัง ปราณีตดีแล้ว ตรงอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ให้เปลี่ยนคำภาวนาเป็นโลกุตตะรังฌานัง อันเป็นไปเพื่อจิตหลุดพ้น


ประโยชน์ของวิชาโลกุดร สยบมาร

            ๑. แผ่ให้ผู้ที่ลำบาก  
        ๒. แผ่บารมีให้มาร  
        ๓. ทำจิตให้หลุดพ้น  
        ๔. บูชาคุณครูบาอาจารย์
        ๕. เมตตา
        ๖. ปราบมาร  
        ๗. มีความเพียร
        ๘. ปราบคนทุศีล  
        ๙. รักษาโรคกาย โรคจิต ตนเอง และผู้อื่น


     ขออนุญาตช่วยคุณbecause สักเล็กน้อย อย่าว่ากัน

ขอขอบคุณที่มาจาก http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=6657.msg54387;topicseen#msg54387 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=6657.msg54387;topicseen#msg54387)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 20, 2015, 09:55:08 AM

บันทึกกรรมฐาน วันที่ 20/1/58

- เราได้ใคร่ครวญหาวิธีที่จะเห็นตามจริงทั้งรูปภายนอกและภายในเพื่อจะสลัดกามราคะมานาน แต่ก็ยังหาไม่ได้ พอจะเกิดเห็นในสมาธิ ก็คิดว่าสิ่งไม่จริงครูบาอาจารย์ไม่ให้ติดนิมิตไม่ให้เอานิมิตเอาแค่ลมหายใจเท่านั้น ก็มีอานิสงเห็นกาย สภาวะของกายร่างกายนี้เคลื่อนไปตามลมหายใจเข้าออก เห็นความปรุงแต่งทางกายเป็นสภาวะไปตามที่ลมหายใจเข้าออก ก็พึงมาตั้งมองว่าหากเราไม่อาศัยนิมิตมีสติสัมปะชัญญะอยู่วิเคราะห์ลงในธรรม ก็ไม่เห็นได้ตามจริง เห็นนิมิตก็รู้ว่านิมิตมโนภาพเกิดปรุงแต่ง จากสัญญาบ้าง สังขารบ้าง เมื่อรู้เราก็ไม่เสพย์เสวยอารมณ์ไปกับนิมิตแล้วใช้นิมิตมาพิจารณากำหนดลงในธรรม



- เมื่อลืมตานี้เห็นภายนอกเราผู้ไม่มีสมาธิไม่มีฌาณ จะทำได้ไฉน ก็พึงมีความคิดแวบหนึ่งว่าอยู่กับปัจจุบัน การอยู่กับปัจจุบันคือเห็นสักแต่ว่าเห็นเป็นต้น โดยเห็นแล้วไม่เอาสมมติ สัญญาไรๆ ไปปรุงแต่งนึกคิดต่สังขารสมมติเป็นเรื่องราวแล้วเสพย์ติดสมมติความคิดนั้นจนเกิดทุกขเวทนา ก็เมื่อดังนี้แล้ว เราจะมองเหมือนเด็กว่าเห็นก็สักแต่เห็นในปัจจุบันไม่เห็นโดยเสพย์ความคิดความจำได้หมายรู้ ก็ยังทำไม่ได้ทุกครั้ง มักจะติดเสพย์ความคิดไปก่อนจึงรู้ว่าเสพย์สมมติให้เป็นไปในอกุศลธรรมทั้งปวง



- ดังนั้นแล้วเมื่อเราเห็นว่าจิตนี้รู้ทุกอย่างแต่สิ่งที่จิตรู้เป็นสมมติทั้งหมด ไม่ว่ารูป เสียง คิด รส โผฐัพพะ ธัมมารมณ์ ความจำสำคัญมั่นหมายของใจ ความตรึกนึกคิดไรๆ ทุกอย่างสมมติขึ้นมาจากอาสวะกิเลสหลอกให้จิตรู้ จิตหลง จิตยึดสมมติทั้งหมดจนเกิดเป็นทุกข์

" ก็เพราะจิตมันรู้มันยึดมันหลงในสมมตินี้แล ทำให้เกิดอุปาทาน เกิดมีฉันทะราคะในกามคุณ ๕ เกิดอุปาทานหวั่นไหวทุกข์ไปใน โลกธรรม ๘ ; มละ ๙ ; มานะ ๙ ; สังโยชน์ ๑๐ "

จิตนี้จึงยึดถือไม่ได้ มันเกิดรู้สมมติปิดกั้นสติสัมปะชัญญะให้หลงตามแล้วมันก็ดับไป ไม่มีตัวตนบังตับมันไม่ได้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา



" จิตนี้มันเชื่อไม่ได้ เชื่อสิ่งที่จิตมันรู้ที่มันเสพย์อยู่ไม่ได้ ไม่ถือเอาจิตมาตั้งเป็นอารมณ์ยึดมั่นอีก กายสังขารนี้มีอยู่จริง ก็ให้รู้ลมหายใจเข้าออกไป ตั้งอานาปานสติเป็นเบื้องหน้าไว้โดยพึงรู้ว่าปัจจุบันนี้ของจริงคือลมหายใจเข้าหรือออก ก็ไอ้รูปภายนอกที่เราเห็นทางตานั้นเราเสพย์มันไปกับสมมติสัญญา+สังขารทั้งสิ้น เมื่อเห็นดังนี้ มีลมอยู่เบื้องหน้าอยู่กับสภาวะธรรมแห่งกายจริงๆ หรือ จะบริกรรมพุทโธด้วยระลึกว่าวิตกวิจารเรานี้มีไว้ให้เป็นไปเพื่อระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าด้วยใจศรัทธาเคารพบูชายิ่ง คือ บริกรรมพทุโธ สมองมันก็โล่ง มันไม่ยึดความคิด เห็นแล้วก็ไม่คิดสืบต่อ แม้มันจะเกิดความคิดขึ้นก็ไม่ยึดมาเป็นอารมณ์เพราะมันไม่ใช่ปัจจุบันมันเป็นของปลอมที่อาสวะกดิเลสสร้างขึ้นมาให้เราเสพย์เท่านั้น อยู่กับลมหายใจไปเรื่อยๆเมื่อจะแลเห็นสิ่งใดจิตมันก็โล่ง สมองมันก็โปร่ง ไม่มองด้วยสมมติตรึกนึกคิดสืบต่อ เห็นมันก็สักแต่ว่าเห็นในปัจจุบันแค่นั้น ไม่มีอื่น เพราะจิตมันเกิดพร้อมสติสัมปะชัญญะเสพย์ปัจจุบันอยู่ คือ ลมหายใจ สภาวะทางกายในปัจจุบัน รู้ความเกิดขึ้นของจิตคือรู้ว่าจิตกำลังรู้สิ่งใดแต่ไม่ไปยึดเอาจิตเพราะจิตมันรู้แต่สมมติ ความคิดก็ไม่สืบต่อ มันเกิดคิดมันก็ดับที่นั่น ดังนี้.. "



 เมื่อเจริญไปอย่างนี้สมาธิก็เกิดในที่นั้นเอื้อต่อสติสัมปะชัญญะ  ต้องทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ การนำธรรมปฏิบัติมาใช้ในชีวิตประจำวันก็ต้องอาศัยอย่างนี้สำหรับผู้ไม่รู้ธรรม ไม่มีสมาธิ ไม่มีฌาณ ไม่มีญาณอย่างเรา




- หากจะมุ่งเอาแต่สมาธิดูลมหายใจโดยส่วนเดียวก็ต้องนั่งสมาธิหลับตาทำเอาไม่สนนิมิตสิ่งใด มีสติสัมปะชัญญรู้ว่าจิตมันคิดมันรู้นี้เป็นสมมติไม่ควรยึดจิตเป็นอารมณ์เราจะไปเสพย์เอาสมมติเข้าจนเป็นทุกข์ "ยึดเอาของจริงคือกายสังขาร คือ รู้ลมหายใจเข้า-ออก  บริกรรมพุทโธไปน้อมขอคุณแห่งความเป็นผู้รู้ผู้ตืนผู้เบิกบานของพระตถาคตเจ้ามาสู่ตน ให้กำหนดเริ่มที่การ "หายใจเข้ายาว" และ "หายใจออกยาว" ไปเรื่อยๆจนกว่าสติจะเกิดขึ้นตามรู้ลมหายใจไปของมันเองและกายสังขารกับกองรูปขันธ์ ธาตุ๖ มันจะดำเนินไปของมันเอง"





อานาปานสติ ๒. โลมสกังภิยสูตร* ปฐมอานันทสูตร
http://www.tripitaka91.com/91book/book31/251_300.htm (http://www.tripitaka91.com/91book/book31/251_300.htm)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 20, 2015, 03:54:01 PM
กามคุณ ๕

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการนี้ ๕

ประการเป็นไฉน คือ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา

น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด เสียงที่จะพึงรู้

แจ้งด้วยหู ฯลฯ กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจมูก ฯลฯ รสที่จะพึงรู้แจ้ง

ด้วยลิ้น ฯลฯ โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกาย อันน่าปรารถนา

น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด ดูก่อนภิกษุ

ทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการนี้แล ฯลฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้

เพื่อละกามคุณ ๕ ประการนี้แล.



โลกธรรม ๘

โลกธรรมหรือความเป็นไปตามคติธรรมดา ซึ่งหมุนเวียนมาหาสัตวโลก และสัตวโลกหมุนเวียนไปตามธรรมที่ว่านี้ด้วย จึงเรียกว่าโลกธรรม มีอยู่ 8 ประการ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนละ 4 ประการดังนี้

1. ส่วนที่เป็นอิฏฐารมณ์ คือ เป็นสิ่งที่คนอยากได้ใคร่มี และพยายามแสวงหามาเป็นของตน มี 4 ประการ คือ
      
          1.1 ลาภ ได้แก่การได้มาซึ่งสิ่งที่คนปรารถนา
      
          1.2 ยศ ได้แก่ตำแหน่งศักดินาต่างๆ
      
          1.3 ปสังสา ได้แก่การได้รับการยกย่องสรรเสริญ
      
          1.4 สุข ได้แก่ความสบายกาย สบายใจ
      
          2. ส่วนที่เป็นอนิฏฐารมณ์ คือเป็นสิ่งคนไม่ปรารถนา ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นแก่ตน มี 4 ประการ คือ
      
          2.1 อลาภ ได้แก่การสูญเสียสิ่งที่ได้มา
      
          2.2 อยส ได้แก่การถูกถอดยศ ลดตำแหน่ง
      
          2.3 นินทา ได้แก่การถูกตำหนิติเตียน
      
          2.4 ทุกข์ ได้แก่ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ



มละ ๙ (มลทิน, เครื่องทำให้มัวหมอง เปรอะเปื้อน, กิเลสดุจสนิมใจ มี ๙ อย่าง) คือ
       ๑. โกธะ ความโกรธ
       ๒. มักขะ ความลบหลู่คุณท่าน
       ๓. อิสสา ความริษยา
       ๔. มัจฉริยะ ความตระหนี่
       ๕. มายา มารยา
       ๖. สาเถยยะ ความโอ้อวดหลอกเขา
       ๗. มุสาวาท การพูดเท็จ
       ๘. ปาปิจฉา ความปรารถนาลามก
       ๙. มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด



มานะ ๙ (ความถือตัว, ความสำคัญตนเป็นอย่างนั้นอย่างนี้) คือ
๑. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา.
๒. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา.
๓. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา.
๔. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา.
๕. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา.
๖. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา.
๗. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา.
๘. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา.
๙. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา.



สังโยชน์ ๑๐ (กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ มี ๑๐ อย่าง) คือ
       ก. โอรัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ได้แก่
           ๑. สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน
           ๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
           ๓. สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต
           ๔. กามราคะ ความติดใจในกามคุณ
           ๕. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ
       ข. อุทธัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องสูง ๕ ได้แก่
           ๖. รูปราคะ ความติดใจในรูปธรรมอันประณีต
           ๗. อรูปราคะ ความติดใจในอรูปธรรม
           ๘. มานะ ความถือว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่
           ๙. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน
           ๑๐. อวิชชา ความไม่รู้จริง

ในพระอภิธรรมท่านแสดงสังโยชน์อีกหมวดหนึ่ง คือ
           ๑. กามราคะ
           ๒. ปฏิฆะ
           ๓. มานะ
           ๔. ทิฏฐิ (ความเห็นผิด)
           ๕. วิจิกิจฉา
           ๖. สีลัพพตปรามาส
           ๗. ภวราคะ (ความติดใจในภพ)
           ๘. อิสสา (ความริษยา)
           ๙. มัจฉริยะ (ความตระหนี่)
           ๑๐. อวิชชา


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 21, 2015, 12:42:28 PM

อานาปานุสสติกรรมฐาน ๑


(http://www.larnbuddhism.com/grammathan/image/po1.jpg)

      ในมหาสติปัฎฐานสูตรอันดับแรกที่องค์พระพุทธเจ้าทรงหยิบเอาอานาปานุสตติกรรมฐานขึ้นมาก่อน ถ้าไม่ดีแล้วก็คงไม่ยกนำมาเป็นอันดับแรกก่อนกรรมฐานกองอื่น สำหรับอานาปานุสสติกรรมฐาน หมายถึงการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้ทุกอิริยาบถที่ทรงอยู่ ให้เอาใจกำหนดจับอานาปานุสสติกรรมฐานเป็นปกติ จิตไม่มีเวลาว่างจากการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ไม่มีอารมณ์เลวเกิดขึ้น ไม่มีอกุศลใด ๆ แทรกเข้ามาได้ ขณะใดที่ใจยังตื่นอยู่ แม้ตาจะหลับให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกเสมอ เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า เวลาหายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออกในด้านของสติปัฏฐานสี่ แม้เวลาพูดคุยกัน จิตใจก็กำหนดลมหายใจเข้าออกไปด้วย แม้ใหม่ ๆ อาจจะลืมบ้าง แต่ต้องตั้งใจไว้ทรงสติไว้ว่าเราจะหายใจเข้าหายใจออก หายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวก็รู้อยู่ แม้พระอรหันต์ก็ไม่ทิ้งลมหายใจ แม้พระพุทธเจ้าก็ตรัสแก่พระสารีบุตรว่า "สารีบุตรดูก่อน สารีบุตรเราเองก็เป็นผู้มากไปด้วยอานาปานุสสติกรรมฐาน" คำว่า "มาก" ก็หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นปกติ ทั้งนี้เพราะอานาปานุสสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานระงับกายสังขาร คือเป็นกรรมฐานคลายอารมณ์เครียดของจิตใจ และเป็นกรรมฐานคลายอารมณ์เครียดทางร่างกาย มีทุกขเวทนา เป็นต้น เราทรงอานาปานุสสติกรรมฐานได้ ก็เหมือนกับคนฉีดมอร์ฟีน เป็นยาระงับ ระงับเวทนา อานาปานุสติกรรมฐานจงทำให้มาก จงอย่าละ ถ้าใครแสดงอาการเลว แสดงว่าคนนั้นทิ้งกำหนดลมหายใจเข้าออก

          ถ้าการกำหนดลมหายใจเข้าออกว่างเกินไป ก็ใช้คำภาวนาควบ เวลาหายใจเข้านึกว่า "พุท" เวลาหายใจออกนึกว่า "โธ" พยายามกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกไว้เป็นปกติ ทำให้เกิดฌานสมาบัติ ตั้งใจไว้เสมอไม่ว่า นั่ง นอน กิน เดิน คุย อย่างเลวที่สุดระยะต้นภายใน ๑ เดือนจะทรงฌาน ๔ การปฏิบัติก็จะเป็นผลโดยไม่ยุ่งกับอำนาจของความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ผู้ทรงฌานจะไม่มองดูความดีและความเลวของคนอื่น ไม่ติใคร จะมีความกตัญญูรู้คุณต่อผู้มีคุณ
          ขอจงกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ควบคู่กับการภาวนา "พุทโธ"

          จะใช้กรรมฐานกองใดกองหนึ่งก็ตามจงใช้กรรมฐานกองนั้นให้ถึงอรหัตตผล ขอเพียงให้มีกำลังใจเข้มแข็ง กำลังใจดูตัวอย่างขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า "เลือดและเนื้อของเราจะเหือดแห้งก็ตามที ชีวิตอินทรีย์ของเราจะสลายไปก็ตาม ถ้าไม่สำเร็จพระสัมโพธิญาณเพียงใด เราจะไม่ยอมลุกจากที่นี้"

         ในการปฏิบัติในตอนแรกเราอาจจะรู้สึกว่ายาก คำว่า "ยาก" เพราะว่ากำลังใจของเรายังไม่เข้มแข็ง เพราะใจของเราหยาบมาก่อน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแนะนำให้ใช้อานาปานุสสติกรรมฐาน เพื่อดับอารมณ์ฟุ้งซ่านของจิต ต่อไปจะเจริญสมถะกองไหนก็ตาม หรือวิปัสสนากองใดก็ตาม จะเว้นอานาปานุสสติกรรมฐานไม่ได้ อันดับแรกของให้ทำอานาปานุสสติกรรมฐานถึงฌาน ๔ ความกลุ้มจะเกิดนิดหน่อยเพราะใหม่ ๆ จะทำให้ใจทรงอยู่ ก็คงจะคิดไปโน่นไปนี่ ก็อย่าเพิ่งตกใจว่าเราจะไม่ดี ถ้าบังเอิญเราทำกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ควบพุทธานุสสติกรรมฐาน ไปได้สัก 1-2 นาที จิตนี้เกิดอารมณ์พล่าน แล้วต่อมามีความรู้สึกตัว ว่า "โอหนอ นี่ใจเราออกไปแล้วหรือ" เราก็ดึงอารมณ์เข้ามาที่อานาปานุสสติกรรมฐานควบคู่กับพุทธานุสสติกรรมฐานใหม่ การทำอย่างนี้จงอย่าทำเฉพาะเวลา พยายามใช้เวลาตลอดวันไม่ว่าจะทำอะไรที่ไหน อย่างไร ใช้เวลาเป็นปกติ เวลาพูดรู้ลมหายใจเข้าออกได้หรือไม่ เวลาทำงานก็รู้ลมหายใจเข้าออกไปด้วย ลืมบ้างไม่ลืมบ้าง ขอให้มีความตั้งใจของจิต ควรจะตั้งเวลาทรงฌานไว้ด้วย เพื่อประโยชน์ในขณะที่จิตของท่านเข้าถึงฌานด้วยอำนาจของพุทธานุสสติกรรมฐาน หรือด้วยอำนาจของอานาปานุสสติกรรมฐาน

          เวลาที่พอจะภาวนาได้ หายใจเข้านึกว่า "พุท" หายใจออกนึกว่า "โธ" ถ้าพูดไม่ได้ก็ใช้แต่อานาปานุสสติกรรมฐาน งานก็จะไม่เสีย เพราะอานาปานุสสติกรรมฐานเป็นอารมณ์ที่ละเอียด ขณะที่จะคิดงานก็วางอานาฯ ครู่หนึ่ง ใช้การคิดพิจารณา แต่ความจริงคนที่คล่องแล้วเค้าไม่ทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐาน เพราะขณะที่ใช้นั้นใช้ต่ำ ๆ แค่อุปจารสมาธิ ตอนนั้นอารมณ์เป็นทิพย์ เมื่ออารมณ์จิตเป็นทิพย์ปัญญาก็เกิด เมื่อปัญญาเกิด งานที่ทำก็ไม่มีอะไรยาก

          การตั้งเวลา จะใช้การนับก็ดี หายใจเข้าหายใจออก นับเป็นหนึ่ง ถึงสิบ และตั้งจิตไว้ว่า ตั้งแต่ 1-10 นี้จะไม่ยอมให้อารมณ์แวบไปสู่อารมณ์อื่น ถ้าไปสู่อารมณ์อื่นเมื่อใดเราจะตั้งต้นใหม่ทันที และถ้า 1-10 แล้วอารมณ์จิตดี เราก็ไม่เลิก ตั้งต่อไปอีก 10 เมื่อถึง 10 ยังดีอยู่ เราก็ยังไม่เลิกต่อไปอีก 10 ในระยะใหม่ ๆ เรายังควบคุมไม่ได้ ก็ใช้กำลังใจของสมเด็จพระบรมครูมาใช้ เราก็จงคิดว่า ถ้า 1-10 นี้ไม่ได้ ก็จะให้มันตายไปซะเลย เมื่อนาน ๆ ไปไม่ถึงเดือนก็ต้องได้เลยสิบ

          จิตทรงอารมณ์อานาปานุสสติกรรมฐานแล้ว อารมณ์อื่นก็ไม่สามารถเข้ามาได้ ความหยาบในจิตใจหมดไป มีแต่ความละเอียด ก็จะมีความตั้งใจในการปฏิบัติงาน พยายามใช้กำลังใจให้อยู่ในขอบเขต ทำไม่ได้ถือว่าให้มันตายไป เวลานอนก่อนจะนอนก็จับลมหายใจเข้าออกเป็นปกติแล้วก็หลับไป ตื่นใหม่ ๆ จะลุกหรือไม่ลุกก็ตาม ใช้อารมณ์ใจให้ถึงที่สุดทุกวัน




ขอขอบคุณที่มาจาก http://www.larnbuddhism.com/grammathan/anapana.html (http://www.larnbuddhism.com/grammathan/anapana.html)






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 21, 2015, 12:52:25 PM

อานาปานุสสติกรรมฐาน ๒


(http://www.larnbuddhism.com/grammathan/image/po1.jpg)

      อุปสรรคของอานาปานุสสติกรรมฐานมีมาก เรียกว่าเป็นกรรมฐานที่มีความละเอียด อานาปานุสสติกรรมฐานอาศัยลมเป็นสำคัญ ถ้าวันใดลมหายใจหยาบ แสดงว่าวันนั้นจะปรากฎว่าอาการคุมสมาธิไม่ดี จะมีอาการอึดอัด บางครั้งจะรู้สึกว่าแน่นที่หน้าอก หรือว่าหายใจไม่ทั่วท้อง ถ้าอาการอย่างนี้เกิดขึ้น หรือเกรงว่าอาการอย่างนี้จะมี เมื่อเวลาเริ่มต้นที่จะกำหนดกรรมฐาน ให้เข้าชักลมหายใจยาว ๆ สัก 3-4 ครั้ง คือหายใจเข้า หายใจออกยาว ๆ สัก 3-4 ครั้ง เพื่อเป็นการระบายลมหยาบออกไป จากกนั้นก็กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก อย่าบังคับให้หนัก ๆ หรือเบา หรือยาว ๆ สั้น ๆ

          การเจริญอานาปานุสสติกรรมฐานต้องการสติสัมปชัญญะเป็นใหญ่ อาการของลมหายใจปล่อยไปตามสบาย ๆ แค่รู้ไว้เท่านั้น ว่าหายใจยาว หรือสั้น ก็รู้อยู่ และอีกแบบหนึ่งคือ กำหนด 3 ฐาน คือ เวลาหายใจเข้า ลมกระทบจมูก กระทบหน้าอก ศูนย์เหนือสะดือ เวลาหายใจออกกระทบศูนย์เหนือสะดือ กระทบหน้าอก กระทบจมูกหรือริมฝีปาก คนริมฝีปากเชิดจะกระทบริมฝีปาก ริมฝีปากงุ้มจะกระทบจมูก เป็นความรู้สึก จงอย่าบังคับลมหายใจให้แรง ปล่อยไปตามปกติ ความรู้สึกมีเพียงว่ากระทบจมูกอย่างเดียว ถ้ารู้ความสัมผัสจมูกก็แสดงว่า จิตทรงได้แค่อุปจารสมาธิ ถ้าสามารถรู้การสัมผัส 2 ฐาน คือหายใจเข้ากระทบจมูก กระทบหน้าอก และหายใจออกรู้กระทบหน้าอก กระทบจมูก 2 จุดนี้ แสดงว่า จิตเข้าถึงอุปจารสมาธิ ถ้ารู้ถึง 3 ฐาน หายใจเข้ากระทบจมูก กระทบหน้าอก กระทบศูนย์เหนือสะดือ และเวลาหายใจออกกระทบศูนย์เหนือสะดือ กระทบหน้าอก กระทบจมูก รู้ได้ชัดเจน อย่างนี้แสดงว่าจิตเข้าถึงปฐมฌาน ถ้าอารมณ์จิตละเอียดยิ่งไปกว่านั้น ฌานที่ 2 ที่ 3 อย่างนี้ลมหายใจเข้าหายใจออกจะเหมือนกระแสน้ำไหลเข้าไหลออก ทั้งหายใจเข้าและหายใจออก อย่างนี้แสดงว่าจิตเข้าถึงปฐมฌานละเอียด หรือว่าฌานที่ 2 ที่ 3 สำหรับปฐมฌานลมยังหยาบอยู่ แต่รู้สึกว่าจะเบากว่าอุปจารสมาธิ พอถึงฌานที่ 2 จะรู้สึกว่าลมหายใจเบาลงอีก ไปถึงฌานที่ 3 ลมหายใจที่กระทบรู้สึกว่าจะเบามาก เกือบจะไม่มีความรู้สึก ถ้าเข้าถึงฌานที่ 4 ก็จะมีความรู้สึกว่าไม่หายใจเลย แต่ความจริงร่างกายหายใจเป็นปกติ ที่ความรู้สึกน้อยลงไปก็เพราะจิตกับประสาทห่างกันออกมา ตั้งแต่ปฐมฌานจิตก็ห่างจากประสาทไปนิดหนึ่ง มาถึงฌานที่ 2 จิตก็ห่างจากประสาทมากอีกหน่อย พอถึงฌานที่ 3 จิตก็ห่างจากประสาทมากเกือบจะไม่มีความสัมผัสกันเลย ถึงฌานที่ 4 จิตปล่อยประสาท ไม่รับรู้การกระทบกระทั่งทางประสาททั้งหมด จึงไม่รู้สึกว่าเราหายใจ

          อาการที่เข้าถึงอุปจารสมาธิ

          เมื่อกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก จิตจะมีความสงบสงัดดีขึ้น ดีกว่าอุปจารสมาธิมีความชุ่มชื่นมีความสบาย แต่ทรงได้ไม่นาน อาจจะ 1 -2 - 3 นาทีในระยะต้น ๆ แต่บางวันก็ทรงได้นานหน่อย เมื่อจิตมีความสุข รื่นเริง อาการของปิติมี 5 อย่าง ที่จะเรียกว่า อุปจารสมาธิ จิตที่เข้าถึงอุปจารสมาธิก็คือจิตมีปิติ และจิตเข้าถึงสุข ถ้าเข้าถึงสุขก็เรียกว่าเต็มอุปจารสมาธิ อาการของจิตที่ควรแก่การพิจารณา คือ

มีขนลุกซู่ซ่า ขนพองสยองเกล้า จงอย่าสนใจกับร่างกาย พยายามสนใจกับอารมณ์ที่ทรงไว้
น้ำตาไหล เวลาเริ่มทำสมาธิน้ำตาไหล ใครพูดอะไรก็น้ำตาไหล บังคับไม่อยู่
อาการโยกโคลง โยกหน้าโยกหลัง
มีอาการสั่นเคลิ้ม คล้ายเหมือนปลุกพระ บางคนมีอาการตัวลอย ไม่ใช่เหาะ เป็นปิติ
อาการซาบซ่าน ซู่ซ่าในกาย ตัวกายเบาโปร่ง มีความรู้สึกเหมือนตัวใหญ่ หน้าใหญ่ ตัวสูง
          ปิติเมื่อเกิดขึ้น เราจะมีอารมณ์เป็นสุข ซึ่งเป็นความสุขที่อธิบายไม่ได้ เป็นความสุขสดชื่น ปราศจากอามิส อาการอย่างนี้จิตเข้าถึงอุปจารสมาธิในอันดับขั้นสูงสุด เป็นการเต็มในขั้นกามาวจรสวรรค์ ขณิกสมาธิเป็นปัจจัยให้เกิดในกามาวาจรสวรรค์ เมื่อเต็มขั้นกามาวจรแล้ว ถ้าเลยจากนี้ก็เป็นอาการของพรหม

          ขณะที่จิตเข้าถึงอุปจารสมาธิ อาจจะเป็นขั้นต้น กลาง ปลาย ก็ตาม อุปจารต้นเรียกว่า ขนพอง สยองเกล้า น้ำตาไหล ร่างกายโยกโคลง นี่เรียกว่า อุปจารสมาธิขั้นต้น อุปจารสมาธิขั้นกลาง คือ กายสั่นเทิ้ม คล้ายกับอาการปลุกพระ หรือมีร่างกายลอยขึ้น ตัวเบา ตัวใหญ่ มีจิตใจสบาย เรียกว่า อุปจารสมาธิขั้นกลาง ถ้ามีจิตใจเป็นสุขบอกไม่ถูก เรียกว่า อุปจารสมาธิขั้นสูงสุด จะเป็นอุปจารสมาธิอันดับใดก็ตาม ในขณะนี้จะมีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้น นั่นคือ บางครั้งเห็นแสงสีต่าง ๆ เกิดขึ้น สีแดง สีเขียว สีเหลือง บางครั้งก็เหมือนกับใครมาฉายไฟที่หน้า บางครารู้สึกว่ามีแสงสว่างทั่วกาย ถ้าอาการอย่างนี้เกิดขึ้น จงทราบไว้ว่าเป็นนิมิตของอานาปานาสติกรรมฐาน แต่บางทีก็มีภาพคน อาคาร สถานที่เกิดขึ้น แต่อาการอย่างนี้จะเกิดขึ้นชั่วครู่แล้วก็หายไป ตอนนี้ขอให้จงอย่าสนใจกับแสงสีใด ๆ ทั้งหมด อะไรจะเกิดขึ้นก็ช่าง ทำความรู้สึกไว้เสมอว่า เราเจริญกรรมฐานต้องการอารมณ์จิตเป็นสุข ต้องการอารมณ์เป็นสมาธิ ทำความรู้สึกว่าเรายังดีไม่พอ ยังไม่เข้าถึงปฐมฌาน

          ถ้าเข้าถึงปิติส่วนใดส่วนหนึ่งก็ตาม อาการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ปรากฎขึ้น ขณะที่กำลังทำงานก็ดี เดินอยู่ก็ดี เราเหนื่อยก็นั่งพัก กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกทันที จิตใจเป็นสุข อาการเหนื่อยจะหายอย่างรวดเร็ว เพราะอานาปานุสสติกรรมฐาน เป็นการระงับทุกขเวทนาทางกายจุดหนึ่ง และขณะที่เหนื่อยอยู่หาที่พักแม้จะมีเสียงดังก็ตาม จับลมหายใจเข้าออกทันที พอจับปรับอาการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ปิติ แสดงว่าเข้าถึงสมาธิได้อย่างรวดเร็ว ควรจะพยายามไว้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้เราคล่องในการทรงสมาธิ เวลาที่จิตถึงฌานสมาบัติ เราสามารถจะเข้าฌานได้ตามอัธยาศัย ถ้าเข้าฌานโดยต้องการเวลาเพื่อที่จะให้เกิดฌานนั้น แสดงว่ายังใช้ไม่ได้ การทรงสมาธิต้องคล่องที่ตามพระบาลีท่านกล่าวว่า จิตเข้าถึงนวสี คำว่านวสี คือการคล่องในการเข้าฌานและออกฌาน

          ฉะนั้นการฝึกสมาธิจงอย่าหาเวลาแน่นอน ไม่ว่าจะทำอะไร นั่ง เดิน นอน กิน จิตจับลมหายใจเข้าออกให้ทรงตัว อย่าปล่อยจิตให้ว่างจากสมาธิ การก้าวเดินก็อาจจะก้าวขวาก็พุท ก้าวซ้ายก็โธ เวลากินก็รู้ว่าตัก กำลังเคี้ยว กำลังกลืน เป็นการทรงสมาธิได้ดี เวลานอนก่อนจะหลับ ใช้อานาปานุสสติกรรมฐาน ขณะที่หลับจะถือว่าเป็นผู้ทรงฌาน จิตจะเข้าถึงปฐมฌาน หรือสูงกว่านั้นจึงจะหลับ ถ้าตายระหว่างนั้นก็จะเป็นพรหม เวลาตื่นก็จะตื่นหรือลุกก็ได้ จับลมหายใจเข้าออกทันที เพื่อให้สมาธิจิตทรงตัว เป็นการรวบรวมกำลังใจสูงสุด

          เมื่อผ่านอุปจารสมาธิแล้ว จิตจะมีความสุขมีความเยือกเย็น โดยฌานแบ่งออกเป็น 4 อย่าง

         ปฐมฌาน อาการมีองค์ 5 มีวิตก วิจาร ปิติ สุข เอตคตา คำว่า วิตก ได้แก่อารมณ์นึก ที่เราจะกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก วิจาร ได้แก่ รู้ว่าเวลานี้เราหายใจเข้าหรือออก ยาวหรือสั้น หรือในกรรมฐาน 40 ก็จะรู้ว่าเวลานี้กระทบจมูก หน้าอก ศูนย์เหนือสะดือ

          ปิติ ความเอิบอิ่มใจ มีความชุ่มชื่น เบิกบาน ไม่มีความเบื่อในการเจริญพระกรรมฐาน เอตคตา มีอารมณ์เดียว คือในขณะนั้นจิตจับเฉพาะลมหายใจเข้าออกปกติ จิตจะไม่รับอารมณ์ส่วนอื่น

          ความรู้สึกในขณะที่จิตเข้าถึงปฐมฌาน จิตจะจับลมหายใจเข้าออก ลมหายใจจะเบามีความสุขสดชื่น หูได้ยินเสียงภายนอกชัดเจนแจ่มใส แต่ไม่รำคาญในเสียง กำลังจิตสำหรับผู้ที่เข้าถึงปฐมฌาน ในเบื้องแรกยังไม่มั่นคง ในขณะที่จับลมหายใจเข้าออก จะมีสภาพนิ่งคล้ายเราเคลิ้ม คิดว่าเราหลับ แต่ไม่หลับ มีอาการโงกหน้าโงกหลัง แต่จริง ๆ แล้วตัวตั้งตรง พอสักครู่จะมีอาการหวิวคล้ายตกจากที่สูง นั่นคือเป็นอาการจิตหยาบ อารมณ์หยาบของปฐมฌาน เป็นจิตพลัดจากฌานไม่สามารถผ่านไปได้ จงอย่าสนใจพยายามรักษาอารมณ์ปกติไว้ ได้เท่าไหร่เอาเท่านั้น

          ฌานที่ 2 มีองค์ 3 ตัดวิตก วิจาร เหลือ ปิติ สุข เอตคตา จิตจะไม่สนใจ มีความเบาลง มีความนิ่งสนิท ถ้าภาวนากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก คำภาวนาจะหายไป จิตจะตั้งอารมณ์ทรง มีความเอิ่มอิ่ม มีอารมณ์สงัด แต่ถ้าเราไปที่อุปจารสมาธิก็จะมาคิดว่า เอ...เราเผลอไปแล้วเหรอ เราไม่ได้ภาวนาเลย ความจริงนั่นไม่ใช่ความเผลอ เป็นอาการของจิตทรงสมาธิสูงขึ้น

          ฌานที่ 3 มีองค์ 2 มีอาการสุข และเอตคตา ตัดปิติหายไป อาการของฌานนี้ จิตมีความสุข มีอารมณ์ตั้งดีกว่าฌานที่ 2 และร่างกายเหมือนมีอาการนั่งหรือยืนตรงเป๋ง สำหรับลมหายใจจะเบามากเกือบไม่มีความรู้สึก หูได้ยินเบามาก แม้ว่าเสียงนั้นจะดัง

          ฌานที่ 4 จะมีความรู้สึกว่าเราไม่ได้หายใจ มีอารมณ์เด็ดเดี่ยวตั้งมั่น มีความมั่นคง ไม่มีความรู้สึกภายนอก ไม่ว่ายุงจะกัด เสียงก็ไม่ได้ยิน จิตนิ่งเฉย ๆ มีเอตคตาและอุเบกขา เอตคตาหมายความว่าทรงอารมณ์เป็นหนึ่ง อุเบกขา หมายความว่าเฉย ไม่รับสัมผัสอารมณ์ใด ๆ ทั้งหมด

         แต่ความจริงแล้วการปฏิบัติจงอย่าสนใจว่า ตอนนี้เข้าถึงฌานอะไร ถือว่าวันนี้ได้ดีเพียงไร พอใจเท่านั้น คิดว่าเป็นผู้สะสมความดี ทรงอารมณ์สมาธิ ถ้าจิตตั้งได้ก็จะมีอาการเป็นสุข เวลาเจริญสมาธิจิต ไม่ว่ากรรมฐานกองใดก็ตาม เวลานี้อยู่ในฌานใด อย่าไปตั้งว่าเราจะต้องได้ฌานนั้น ฌานนี้ จะทำให้ไม่ได้อะไรเลย ให้มีความพอใจแค่ที่ได้ เป็นการฝึกจิตเข้าถึงอุเบกขารมณ์ ทำให้ต่อไปจิตจะทรงฌาน 4 ได้ง่าย

         การปฏิบัติที่จะให้ได้ผลจริง ๆ ใช้ตลอดทุกอิริยาบถ อย่าทิ้งลมหายใจเข้าออก พยายามนึกลมหายใจเข้าออกเสมอ แต่หากว่างานนั้นไม่เหมาะที่จะดูลมหายใจเข้าออก เราก็ใช้จิตจับอยู่ที่งานว่าเวลานี้เราทำอะไร เป็นการฝึกอารมณ์ของสมาธิไปในตัว

          วิธีการต่อสู้คือ

          1. ต่อสู้กับความเหนื่อย จิตจับสมาธิ จับลมหายใจเข้าออก ดูว่าจิตจะทรงตัวไม๊ ถ้าจิตไม่ทรงตัวเราจะไม่เลิก เป็นการระงับความเหนื่อย ดับความร้อนไปในตัว เมื่อจิตเข้าถึงสมาธิเล็กน้อย ความเหนื่อยก็จะคลายตัว พอจิตเข้าถึงอุปจารสมาธิก็จะหายเหนื่อยทันที ความร้อนความกลุ้มก็จะหายไป

          2. การต่อสู้กับเสียง ขณะที่เราพบเสียงที่เค้าคุยกันเสียงดัง ลองทำจิตจับลมหายใจเข้าออก ว่าเรารำคาญเสียงไม๊ หรือลองเปิดเสียงทีวี วิทยุฟังแล้วกำหนดอานาปานุสสติกรรมฐาน หูได้ยินเสียงชัด แต่จิตของเราไม่รำคาญในเสียงนั้นก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทำไป หูไม่ได้ยินเสียงเลยนั่นยิ่งดี พยายามต่อสู้เสมอ จนมีอารมณ์ชิน เมื่อเราเจอเสียงที่พอใจหรือไม่พอใจก็ตาม เราเข้าสมาธิได้ทันทีทันใด เป็นการฝึกจิตให้คล่องในการเข้าสมาธิ ถ้าทำได้อย่างนี้จะทำให้อารมณ์จิตทรงตัว

          3. ต่อสู้กับอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ต้องพยายามระงับด้วยกำลังของสมาธิ คิดว่าใครจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา เป็นเรื่องของเขา เวลาที่เราได้รับคำด่า อย่าเพิ่งโกรธใช้จิตพิจารณาดูก่อนว่าเรื่องที่เค้าด่านั้นจริงหรือไม่จริง ถ้าไม่ตรงความจริงก็ยิ้มได้ ว่าคนที่ด่าไม่น่าเลื่อมใส ด่าส่งเดช หรือถ้าพบอารมณ์ที่เราไม่พอใจ ก็จับอารมณ์ให้จิตทรงตัว ไม่ว่าเค้าจะด่าว่าอะไร เรารักษาอารมณ์ที่เป็นสุขไว้ ถือว่าอารมณ์ความสุขเป็นปัจจัยเข้าถึงพระนิพพานโดยง่าย เป็นอารมณ์แบบสบาย ๆ หัดฝึกจิตกระทบอารมณ์ที่เราไม่พอใจ ระงับความอยากด้วยกำลังของฌาน กำลังของฌานระงับกิเลสได้ทุกอย่าง โลภะ(ความโลภ) ราคาะ(ความรัก) โทสะ(ความโกรธ) โมหะ(ความหลง) ระงับได้ทุกอย่างแต่มีอารมณ์หนัก เมื่ออารมณ์จิตของเรามีการทรงตัวจริง ๆ อารมณ์แห่งความสุขจะยืนตัวกับจิตของเรา จะไม่หวั่นไหวเมื่อเห็นวัตถุที่สวยงาม ไม่ทะเยอทะยานจากอาการที่ได้ลาภสักการะ ไม่หวั่นไหวเมื่อมีคนยั่วให้โกรธ สิ่งที่ยึดมั่นว่าเป็นเราของเราก็ไม่มี ความจริงกำลังสมาธิสามารถกดกิเลสทุกตัวให้จมลงไปได้ แต่อย่าลืมว่ากิเลสมันไม่ตายถูกฝังไว้ ถ้าเผลอเมื่อไหร่ก็โดนเล่นงานเมื่อนั้น สำหรับคนที่ทรงจิตถึงฌาน ๔หรือทรงอารมณ์สมาธิถึงฌานใดฌานหนึ่ง จนกระทั่งมีอารมณ์ชิน มักจะมีอาการเผลอคิดว่าเราเป็นพระอรหันต์ เพราะไม่พอใจทั้งหมด ไม่เอาทั้งรัก โลภ โกรธ หลง แต่ถ้ากำลังใจตกลง ทั้งรัก โลภ โกรธ หลงก็เข้ามาหา เพราะเป็นแค่ฌานโลกีย์เท่านั้น แต่ถ้าเราสามารถระงับได้ก็ควรจะพอใจ เพราะกิเลสสามารถกดลงไปได้ ไม่ช้าก็สามารถจะห้ำหั่นให้พินาศด้วยอำนาจของวิปัสสนาญาณ




ขอขอบคุณที่มาจาก http://www.larnbuddhism.com/grammathan/anapana2.html (http://www.larnbuddhism.com/grammathan/anapana2.html)






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 26, 2015, 10:37:57 AM

บันทึกดกรรมฐานวันที่ 26/1/58

เราได้มีโอกาสไปทำบุญและขอกรรมฐานกับพระอรหันต์ผู้ทรงคุณที่ยังดำรงขันธ์อยู่ในปัจจุบันอีกท่านมาสักระยะแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน 2557 นั่นคือ ท่านหลวงปู่บุญกู้ อนุวัฒโน ณ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ได้ไปขอกรรมฐานท่านและท่านได้ชี้แนะสั่งสอนมาพอสังเขปว่า

ศีล ทาน ภาวนา(สมถะ+วิปัสสนา) ให้เพียรดำเนินไปร่วมกัน




ศีล..นี้เป็นสมมบัติของมนุษย์ มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่จะมีศีลอันบริบูรณ์ดีงามได้ ศีลเป็นฐานของกุศลทุกอย่างบนโลกนี้ ผู้ที่มีศีลเท่านั้นจึงชื่อว่าเป็นมนุษย์ มีศีล ๕ เป็นอย่างต่ำนี้ตายไปไม่ตกนรก หากมีแต่ทาน ทานนั้นช่วยให้รวยเฉยๆ ช่วยให้สละโลภ ไม่ได้ช่วยให้เป็นมนุษย์ แม้ตายก็ยังตกนรกศีลเท่านั้นที่ทำให้ได้เป็นมนุษย์ตายไปไม่ตกนรก ศีลยังไม่ได้ก็ทำสมาธิไม่ได้ ก็เข้าไม่ถึงปัญญา เพราะกายใจไม่บริสุทธิ์ ไม่สะอาด ถ้าศีลนี้คือการกระทำกุศลทางกายและวาจาเป็นหลักเป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสเป็นเครื่องแห่งกุศลทั้งปวงยังทำไม่ได้ อย่างอื่นก็ทำไม่ได้ ทานก็ไม่ได้สมบูรณ์เพราะทานทีบริบูรณ์นั้นผู้ให้ต้องมีศีลและผู้รับก็ต้องมีศีลจึงจะบริบูรณ์มีอานิสงส์มาก ศีลไม่มีสมาธิก็ไม่ได้เพราะกาย วาจา ใจ มีแต่ความเร่าร้อน ร้อนรุ่มด้วยกิเลส สมาธิไม่ได้ปัญญาที่ตัดขัดซึ่งอาสวะกิเลสก็ไม่ต้องพูดถึงเลย ปัญญาก็ไม่ได้ ศีลนี้เป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติเป็นพื้นฐานเป็นกุศลแห่งสิ่งทั้งปวง

"ละความเบียดเบียนได้ ศีล"



(โดยส่วนตัวเราเห็นว่า ที่หลวงปู่บุญกู้บอกว่า ศีลนี้ขำระกายใจให้สะอาด เพราะทุกอย่างเริ่มที่ใจก่อน เพราะมีความช่มใจ มีความสงบใจ มีความทนได้ทนไว้ รู้จักปล่อย รู้จักละ รู้จักวาง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะบริบูรณ์ดีงามไม่ได้หากไม่มี พรหมวิหาร ๔ จนเข้่าถึงพรหมวิหาร ๔ อันเป็นเจโตวิมุตติ ทำให้มีจริยะวัตรอันอบรมมาดีแล้วสำรวมระวังในอินทรีย์ ๖

เป็นเหตุให้แม้เราจะยังไม่ถึงพระอรหันต์อันสิ้นอาสวะกิเลสทั้งปวงก็ตาม แม้จะยังมีจิตคิดโลภ โกรธ หลงอยู่ แต่ก็จะมีสติอันเป็นกุศลสังขารจิตตนอยู่เสมอๆให้เห็นว่าการกระทำทางกายและวาจาตามกิเลสนี้ย่อมสร้างความทุกข์มาให้ เกิดความคิดที่จะออกจากทุกข์จนเราเข้าถึงธรรมคู่อันงามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนดังนี้
๑. ทมะ+อุปสมะ
- ทมะ คือ ความข่มใจ อันเกิดมาแต้่ ความคิดชอบ คิดออกจากทุกข์ ออกจากอาสะกิเลสทั้งปวง คิดดี คิดในแง่ดี คิดแต่สิ่งดีงาม คิดในกุศล เป็นกุศลวิตก)
- ความสงบใจจากกิเลสไว้(อุปสมะ คือ ความสงบ ความแสวงหาสันติอันพึงมี ความพ้นจากความเร่าร้อน ความไม่เร่าร้อนตามกิเลส สำเร็จสืบจากทมะ)
๒. ขันติ+โสรัจจะ
- ขันติ คือ ความอดทนด้วยกุศลด้วยสภภาวะจิตที่รู้จักปล่อย รู้จักละ รู้จักวางโดยไม่ติดใจข้องแวะ ไม่ติดข้องขุ่นเคืองใจเข้าถึงซึ่งความทนได้ทนไว้อันเป็นกุศล
- โสรัจจะ คือ ความสำรวมใจกายและวาจามีจริยะวัตรอันงดงาม ไม่ก้าวล่วงทางกายและวาจา มีอินทรีย์สังวรณ์อยู่กับปัจจุบันคือ เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ได้กลิ่นก็สักแต่ว่าได้กลิ่น รู้รสก็สักแต่ว่ารู้รส รู้การกระทบสัมผัสทางกายก็สักแต่รู้ว่ามีการกระทบทางกาย ได้รู้ทางได้ก็สักแต่รู้ว่าใจรู้ สิ่งที่รู้ทั้งปวง แม้จะระลึกรู้ว่าเป็นธาตุ สิ่งนี้คือรูป สิ่งนี้คือนาม สิ่งนี้คือคน สัตว์ สิ่งของไรๆ รู้ลักษณะไรๆ มีชื่อเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งปวงคือรู้โดยสมมติทั้งหมด กล่าวคือ สิ่งใดก็ตามที่รู้โดยมี วิตก วิจาร มีเวทนาเวทนาสุขหรือทุกข์ มีสัญญา สิ่งนั้นคือสมมติทั้งหมด เป็นสิ่งอาสวะกิเลสทั้งปวงสร้างขึ้น สภาวะจริงมันมีแต่สภาวะธรรมเท่านั้นไม่มีชื่อเรียกว่าอย่างนั้นอย่างนี้ไม่มีว่านี่คือธาตุนั้นธาตุนี้ นี่คือรูป นี่คือนาม นี่คือสิ่งไรๆ ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา




ทาน..นี่เป็นสิ่งที่ควรมี เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงมี ทานทำให้มีสมมบัติในภายหน้า ทำให้มีมิตรบริวารมาก ทานเป็นการสละให้โดยไม่ติดใจข้องแวะในภายหลัง

"ละความโลภได้ ทาน"




ภาวนา..ภาวนานี้ได้แก่ สมาธิภาวนา(สมถะ คือ กิงกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง) ทำให้เรามีความผ่องใสในจิตมีจิตตั้งมั่นควรแก่งานอันทำให้เห็นตามจริงด้วยปัญญาญาณ วิปัสสนาภาวนา(ปัญญา คือ ความรู้แจ้งเห็นจริง) สิ่งนี้ทำให้เราไม่โง่ ทำให้เราเป็นคนมีปัญญา เป็นคนมีสติสัมปะชัญญ รู้ตัวทั่วพร้อม รู้ทันจิตตนในทุกขณะ เมื่อสัมมาญาณเกิดเห็นตามจริงจนเกิดความไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งไรๆเพราะเห็นเป็นเพียงสภาวะธรรมเท่านั้น ปัญญาก็ทำหน้าที่ตัดให้ขาดแล้วดับโดยสิ้นเชิงแห่งกองทุกข์นั้น

"ละโมหะคือความโง่ลุ่มหลงได้ ภาวนา"

เมื่อจะภาวนาให้เริ่มจากสมาธิก่อน พระพุทธเจ้าก็เกิดสมาธิก่อนจึงเกิดปัญญารู้ชอบและตรัสรู้

เวลาทำสมาธิให้รู้ลมโดยส่วนเดียวปักหลักที่ลมหายใจเข้าออกบรอิกรรม "พุทโธ" ไป

หากจิตไม่สงบฟุ้งซ่านมากให้ท่องคาถาว่า "อระหัง พุทโธ อิติปิโส ภควา นมามิหัง" บริกรรมไปจนเหลือแค่ "พุทโธ"

ทีนี้เมื่อก่อนมาหาหลวงปู่นี้เราได้ทำสมาธิที่หน้า กศน.ของวัดพระธาตุข้างกุฏิของหลวงปู่ เมื่อหายใจเข้านี้เราตามลมไปจนสุดมีความรู้สึกขนลุกขนพอง พอหายใจออกแล้วรู้สึกจิตที่ตั้งมั่นมากขึ้น แล้วก้นึกปรุงแต่งไปว่า ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนในอานาปานสติสูตรให้เริ่มที่ลมหายใจออกต้องมีความหมายแน่นอนจะเป็นอย่างที่เรารู้สึกนี้ไหม จึงเปลี่ยนคำบริกรรมเมื่อหายใจเข้าเป้น "มรรค" หายใจออกเป็น "ผล" ทำก็มีสมาธิอยู่สักพัก แล้วก็เกิดความสงบใจจากกิเลส จึงได้เอาการปฏิบัตินี้มาถามหลวงปู่บุญกู้ว่า

"หลวงปู่ครับ ผมหายใจเข้ารู้สึกมีปิติ หานใจออกแล้วรู้สึกสงบ ตามลมไปเรื่อย ดังนี้แล้วผมจะบริกรรมว่าหายใจเข้าคือมรรค หมายถึงทางเข้า แล้วหายใจออกบริกรรมว่า ผล คือผลจากมรรคนั้น ได้หรือไม่ครับ"

หลวงปู่ตอบกลับมาว่า "แล้วมีสติกำกับรู้อยู่ไหมล่ะ"
(ที่หลวงปู่ท่านถามมาทำให้เรารู้ตามคำถามที่ท่านกล่าวมาดังนี้ว่า ที่ทำน่ะตอนนั้นมีสติไหม มีสัมปะชัญญะไหม รู้กายใจไหม รู้วาทำสมาธิอยู่ กำลังรู้ลม รู้ว่าตนทำสมาธิอยู่แล้วมีสภาวะธรรมที่อย่างนี้ๆเกิดขึ้น แล้วรู้ว่าตนนี้บริกรรมอยู่ บริกรรมว่าอย่างนี้ๆคำบริกรรมนี้ใช้เพื่อแทนคำบริกรรมที่รู้ลมหายใจเข้าและออก เช่น พุทโธ มีสภาวะนี้ๆเมื่อลมหายใจเข้า มีสภาวะนี้ๆเมื่อลมหายใจออก มีสติสัมปะชัญญกำกับอยู่รู้ว่าตนทำสมาธิแล้วกำหนดรู้อย่างนี้ในสมาธิ)

เราตอบท่านว่า "รู้ครับมีสติรู้ทันกายใจตนตลอดและมีสัมปะชัญญะรู้ตนว่ากำลังทำสมาธิอยู่"

หลวงปู่ตอบกลับมาว่า "งั้นก็ทำได้ ไม่เป็นไร"

คำถามในส่วนของตรงนี้ทั้งหมดทำให้เรารู้เลยว่า จะตั้งคำบริกรรมใดๆ(แต่อานิสงส์ของคำบริกรรมนี้มีอยู่มาก ผลที่ได้ก็จะต่างกันไปตามจิตที่ยกมาบริกรรมภาวนา) หรือ จะกำหนดนิมิตไรๆขึ้นมาพิจารณาก็ตามแต่ หากมีสติสัมปะชัญญะยู่ย่อมทำได้ ก็เหมือนกำหนดนิมิตโดยอสุภะก็อาศัยสัญญากำหนดนิมิตขึ้นระลึกพิจารณาแล้วกำหนดผปรุงแจ่งให้เป็นไปตามที่ใจตนต้องการจะเห้นจนเกิดความหน่ายในกามเป็นต้น แต่ในขณะทำนั้นต้องมีสติรู้สภาวะจิตตน รู้สภาวะกายตน อิริยาบถและกิจการงานที่กำลังทำ จนจะไม่บ้าไม่หลงนิมิตมโนภาพ เพราะนิมิตมโนภาพทั้งหลายนี้มาจากสัญญาทั้งหมด ทั้งจริงและไม่จริงจึงเชื่อถือไม่ได้"

ลำดับต่อมมาเราได้สอบถามหลวงปู่บุญกู้ว่า "หลวงปู่ครับ ครั้งนึงผมเคยเข้าสู่สภาวะที่ว่างไม่มีความติดข้องใจในสิ่งไรๆเลย มีแต่อยากจะบวชเท่านั้น ตอนนี้สิ่งนั้นมันดับไปแล้วผมจะทำอย่างไรให้มันกลับมาได้อีกครับ ตอนนี้พอมันเสื่อมผมก็ได้แต่เจริญจิตสังเกตุเอาไม่ได้ทำสมาธิ พอจะมีวิธีเข้าสมาธิได้เร็วๆไหมครับ"

หลวงปู่ตอบกลับมาว่า "ยังไม่ได้ทำเลยแล้วจะไปหวังเอาผลได้ยัง ให้เจริญใน ศีลให้บริสุทธิ์ มีทานเป็นนิจ เวลาทำภาวนาน่ะขอแค่ให้เราได้ทำไว้ก่อน จะได้ไม่ได้ก็ช่างมันอย่าไปสนใจ ให้มีกำลังความเพียรให้มากๆทำให้มากเข้าไว้ ขอแค่ให้ได้ทำก็พอ อย่างอื่นอย่าไปสนจะได้ไม่ได้ก็ช่างมันแค่เราได้ปฏิบัติได้ทำก็พอ ให้พอใจที่ความยินดีที่ได้เพียรปฏิบัติภาวนาเท่านั้น อย่าไปหวังเอาผล ยิ่งหวังยิ่งไม่ได้"

โดยการนั้นเรามีความโลภและยินดีอย่างมากที่ได้เจอและขอกรรมฐานท่าน เราอยากจะขอกรรมฐานเยอะ

เราจึงกล่าวกับหลวงปู่ท่านว่า "ผมปารถนาจะรู้กรรมฐานแนวทางปฏิบัติให้มาก"

หลวงปู่บุญกู้ ตอบกลับว่า "หลวงปู่เสาร์นี้น่ะ ท่านสอนเลยว่า แค่พุทโธยังไม่ได้ แล้วจะได้ได้อะไร พุทโธดูลมหายใจ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน กรรมฐานคู่กองนี้น่ะง่ายสุดยังทำไม่ได้แล้วจะไปไกด้อะไรอีก เอาไปทำไมเยอะๆ เอาไปก็ไม่ได้ใช้ เสียทิ้งเปล่าๆ ไปทำให้ได้ก่อนแล้วค่อยมาว่ากัน ถ้าอยากได้จริงๆก็ต้องมาบวช"

เราจึงกล่าวกับหลวงปู่ท่านว่า "ผมเป็นผู้มีราคะมากกลัวทำพระพุทธศาสนาเสื่อมครับเลยอยากทำให้ได้ในตอนเป็นโยมก่อนและหมดภาระหน้าที่ของลูกต่อพ่อแม่ และ พ่อของลูกแล้วก็คิดไว้ว่าอยากจะบวชเช่นกันครับ"

หลวงปู่บุญกู้ ตอบกลับว่า "งั้นก็อยู่อย่างนี้ต่อไป ไม่รู้ต่อไป หลงต่อไป ไม่ได้ต่อไป"

เราถึงกับหงายเงิบเลยคำตอบท่านแต่ละประโยคแทงใจผู้ไม่ปฏิบัติอย่างเราโดยแท้ คือ เราทำๆเลิกๆไม่ทำติดต่อกัน ไม่มีพละ ๕ ไม่มีศีล ธรรม เอาซะหงายเงิบเลยช่วงนั้นยิ่งกินเหล้ามากด้วย จึงตั้งจิตอธิษฐานไว้ว่า หากเราไม่เห็นธรรมได้ธรรมหนึ่ง คือ ไม่ได้เห็นผลจากการปฏิบัติ แล้วทำชีวิตให้ดีขึ้นกว่านี้ ผมจะไม่กล้ามาหาหลวงปู่อีก

แต่ก็ด้วยเดชะบุญ "ด้วยคุณแห่งกรรมฐานที่เพียรทำตามคำสอนของหลวงปู่ ซึ่งทำโดยตั้งจิตว่าจะได้ไม่ได้ช่างมัน ขอแค่ให้ได้ทำให้มากก็พอ การปฏิบัติของเรานี้ขอถวายเป็นพุทธบูชา ทำให้มากทุกขณะที่ระลึกได้ ตามสติกำลัง" อยู่ๆก็เกิดสมาธิขึ้นมามีจิตแอันผ่องใส แลเห็นสภาวะธรรมมากขึ้น ยึดติดน้อยลง เห็นค่าของศีล จึงได้กลับไปทำบุญและขอกรรมฐานจากหลวงปู่บุญกู้ต่อมาจนถึงทุกวันนี้
ยิ่งเมื่อปฏิบัติพิจารณาตามที่หลวงพ่อเสถียรท่านสอนแล้วยิ่งทำให้เห็นทั้งคุณและค่าของศีลเป็นอันมาก เห็นคุณในพรหมวิหาร ๔ ทาน สืบมา จากการภาวนานั้นทำให้เห็นตามที่หลวงปู่บุญกู้สอนเรื่องศีลทั้งหมดเลย







หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 26, 2015, 06:16:57 PM



สังเกตุได้เลยว่า พระอรหันต์ทุกท่าน จะสอนตรงกันคือ มีพละ ๕ ให้เพียรเจริญปฏิบัติให้มากให้ติดต่อกัน ขอแค่ให้ได้ทำก็พอ อย่าไปหวังผล นั่นเพราะเป็นการปฏิบัติโดยละภวะตัณหา แล้วมันก็จะได้เอง






ขอขอบพระคุณ พระพุทธเจ้า ที่ทรงเพียรจนบรรลุธรรมอันเป็นอมตะแล้วเผยแพร่สั่งสอนแนวทางพ้นทุกข์ให้ สัตว์โลกทั้งปวงได้รู้ตาม
ขอขอบพระคุณ พระธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงตรัสไว้ดีแล้ว เ)้นทางเพื่อออกจากทุกข์ ผู้ปฏิบัติย่อมเห็นได้ด้วยตนเอง
ขอขอบพระคุณ พระสงฆ์ สาวกของพระพุทธเจ้าผู้ปฏิบัติดีและตรงแล้ว ได้ปฏิบัติออกจากทุกข์แล้ว ได้เผยอพร่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้ามาจนถึงเราให้ได้รับรู้และปฏิบัติตาม


ขอบขอบพระคุณ ท่านพระอาจารย์ใหญ่หลวงปู่มั่น ซึซึ่งผมได้ฌาณครั้งแรกเพราะอ่านประวัติท่านพระอาจารย์ใหญ่นี้แล้วเจริญปฏิบัติตามข้อวัตรด้วยศรัทธา เพียงแค่พุทโธ เท่านั้น จากไม่เคยรู้จักฌาณ ญาณ วิปัสสนาไรๆทั้งสิ้น แต่กลับได้มาโดยง่าย
ขอขอบพระคุณ ท่านหลวงปู่เสาร์ ที่ได้กรุณาสอนเรื่อง จตุธาตววัตถาน ๔ ธาตุ ๔ และ ธาตุ ๖ ไว้ให้ผมได้เรียนรู้ตาม
ขอขอบพระคุณ ท่านหลวงปู่ดุลย์ อตุโล ที่ท่านได้ให้ข้อธรรมปฏิบัติง่ายจากหนังสือหลวงปู่ฝากไว้ ให้ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติตามแล้วเห็นผลได้ตามจริง
ขอขอบพระคุณ ท่านพระราชพรหมญาณ หรือ หลวงพ่อฤๅษีที่ได้เผยแพร่ธรรมปฏิบัติที่ง่ายแต่เข้าถึงได้จริงให้ผมได้เรียนรู้ตาม
ขอขอบพระคุณหลวงปู่นิล มหันตปัญโญ ครูอุปัชฌาย์ที่สอนให้ผมได้รู้จักและเจริญปฏิบัติในอสุภะและทวัตติงสาการ
ขอขอบพระคุณหลวงปู่บุญกู้ อนุวัฒโน ที่สอนให้ผมได้รู้จักและเห็นค่าใน ศีล ทาน ภาวนา และผมได้ยึดแนวปฏิบัติที่ท่านได้อนุเคราะห์สอนสั่งมาจนถึงทุกวันนี้
ขอบขอบพระคุณหลวงพ่อเสถียร ที่สอนให้ผมเข้าถึงกรรมฐานอย่างถูกต้อง ไม่ยึดติดสิ่งที่จิตรู้ สอนผมแยกกาย เวทนา จิตออกจากกัน สอนผมให้รู้จักกรรมบถ ๑๐ และเข้าถึงได้ สอนให้ผมได้รู้คุณแห่งศีล พรหมวิหาร๔ ทานที่แท้จริง สมาธิ ปัญญา จนถึงความปฏิบัติตาในทุกวันนี้
ขอขอบพระคุณ ท่านพระครูสุจินต์ธรรมวิมล หรือ หลวงพ่อสมจิต ครูอุปัชฌาย์ผมที่ได้สั่งสอนกรรมฐานทั้ง อานาปานสติ พุทธานุสสติ อริยิบถบรรพ สัมปะชัญญะบรรพให้แก่ผม ด้วยคุณแห่งกรรมฐานที่ท่านสอนทำให้ผมเข้าถึงสมาธิและความหน่ายไม่ยึดติดสิ่งไรๆ


ขอขอบพระคุณ เตี่ยกิมคุณ เบญจศรีวัฒนา บิดาผู้ให้กำเนิดผมเลี้ยงดูผมมาอย่างดี และ สอนให้ผมมีศีลธรรม ให้ผมดำรงในศีล คิดดี พูดดี ทำดี สอนผมให้รู้จักเมตตาและให้ทาน คอยชี้แนะให้คำปรึกษาผมมาตลอด
ขอขอบพระคุณ คุณแม่ซ่อนกลิ่น เบญจศรีวัฒนา มารดาผู้ให้กำเนิดผมที่เลี้ยงผมมาอย่างดี ให้ผมอยู่ใต้ร่มพระพุทธศาสนา ให้ผมได้ทำบุญอยู่ประจำๆจนเติบดตมีคริบครัว คอยชี้แนะให้การศึกษาผมมาตลอด
ขอขอบพระคุณ บุพการีทุกท่านที่คอยเลี้ยงดูอุ้มชูผมมาอย่างดี
ขอขอบพระคุณ พี่ๆของผมทั้งหลายทั้ง ๗ คนที่ให้ความอุปการะเลี้ยงดูผมมาอย่างดีไม่ต่างกับเตี่ยและแม่เลย
ขอขอบพระคุณ น.ส.ปาริชาติ โลหะสาร ภรรยาคนเดียวของผมที่คอยปรนนิบัติดูแลผมมาอย่างดี ไม่ให้ผมต้องมาลำบากเลย ดคอยทำนุบำรุงปฏิบัติในในพระพุทธศาสนาด้วยกันไม่เคยห่าง เป็นนางฟ้าเป็นภรรยาที่ทรงด้วยเบญจกัลยาณีผู้ประเสริฐสุดในชีวิตของผม ทำให้ผมมีสุขไม่มีความคิดมากให้ฟุ้งซ่าน ทำให้ผมได้ฌาณเพราะเธอนี้แลทำให้ไม่มีห่วง
ขอขอบพระคุณ ด.ช.ภูมิพัฒน์ เบญจศรีวัฒนา บุตรชายผู้เป็นที่รักของผม ผู้ที่มีจิตใจดีงามของผม ที่คอบติเตียนตักเตือนผมให้ผมได้กระทำในสิ่งที่ดีที่ถูกต้องมาตลอด
ขอขอบพระคุณ น.ส.กชพร อารีเอื้อ ผู้ที่คอยให้ความอนุเคราะห์แบ่งปันและช่วยเหลือผมมาตลอดเวลา ๗ ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ภรรยาผมกลับไปเสวยสุขเป็นนางฟ้าบนสวรรค์ดังเดิม


ด้วยท่านทั้งหลายที่ผมได้เอ่ยนามมานี้และทั้งที่ไม่ได้เอ่ย มีคุณแก่ผมมากประมาณมิได้ ด้วยเหตุดังนี้ผมจะเพียรเจริญปฏิบัติในพระพุทธศาสนา เป้นศาสนาของพระศาสดาของผมให้ได้เข้าถึงธรรมใดธรรมหนึ่งในชาตินี้ เมื่อได้เห็นธรรมใดแล้วจะนำมาเผยแพร่ชี้แนะแนวปฏิบัติอันดีงามนี้ให้แก่ท่านทั้งหลายเหล่านั้นเพื่อแทนพระคุณ ดังนี้









หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 27, 2015, 10:49:43 PM

บันทึกกรรมฐาน วันที่ 27/1/58

รวมกรรมฐานที่ได้ปฏิบัติมาทั้งหมดที่เรากำลังเจริญปฏิบัติอยู่ในตอนนี้คือ

1. พุทธานุสสติ + อานาปานสติ คือ บริกรรม "พุทโธ" กำกับลมหายใจเข้าและออก ระลึกถึงคุณที่ว่าด้วยความเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จากโมหะความลุ่มหลงในสิ่งสมมติทั้งปวงของพระพุทธเจ้าน้อมมาสู่ตน
- เพราะจิตรู้ทุกสิ่ง แต่สิ่งที่จิตรู้เป็นสมมติทั้งหมด จิตยึดสิ่งใดสิ่งนั้นคือสมมติ
- ดังนั้นเราจึงไม่ควรยึดถือเอาสิ่งไรๆก็ตามที่จิตรู้ทั้งหมดมาเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์หลงเสพย์ไปตามความคิดที่อาสวะกิเลสสร้างขึ้นมาให้จิตรู้ ให้จิตเสพย์ ให้จิตลุ่มหลง
- ลมหายใจคือกายสังขารเป็นสภาวะธรรมจริงที่จิตควรรู้ ควรเสพย์ ควรยึดมั่น บริกรรมพุทโธทุกลมหายใจเข้าออกไปน้อมเอาความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานจากโมหะสิ่งสมมติทั้งปวงที่จิตรู้ของพระตถาคตเจ้านั้นมาสู่ตน
- รู้และทำแค่นี้พอ จึงจะอยู่กับความจริง ไม่ต้องอยู่กับนิมิตมโนภาพความตรึกนึกคิดไรๆทั้งสิ้น)
- เมื่อใช้ชีวิตตามปกติจะรึกว่าพระตถาคตเจ้านี้ได้เสด็จมาอยู่เบื้องหน้าแลดูการปฏิบัติของเราอยู่ ทรงเจริญวิชชาและจรณะให้เราดู แล้วเราก็น้อมนำมาประพฤติปฏิบัติตามพระองค์

2. ธัมมานุสสติ คือ พระธรรมบทใดๆก็ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ดีแล้ว ที่เราปฏิบัติมาดีแล้วเห็นผลแล้วด้วยตนเอง ให้ผลได้ไม่จำกัดกาล แลควรกล่าวกับผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด รู้ได้เฉพาะตน เป็นธรรมอันวิญญูชนสรรเสริญน้อมปฏิบัติ อย่างเราตจะนึกถึง พระธัมมจักรกัปปวัตนสูตร และ คิริมานนทสูตร(สัญญา ๑๐)

3. สังฆานุสสติ คือ ระลึกถึงพระอริยะสงฆ์ทั้งหลาย หรือ  ครูบาอาจารย์ผู้เป็นพระอริยะเจ้าทั้งหลายผู้ปฏิบัติดีแล้วที่ใด้แสดงธรรมของพระตถาคตและชี้แนะแนวทางให้เข้าถึงทั้งปวงให้แก่เราเป็นต้น อย่างเรามีระลึกถึง พระอาจารย์ใหญ่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต, หลวงปู่เสาร์ กันตสีโร, หลวงปู่ดุลย์ อตุโล, ท่านพ่อลี ธัมมธโร, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงปู่นิล มหันตปัญญโญ,  พระราชพรหมญาณ, ครูบาอาจารย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ที่ได้สอนกรรมฐานให้แก่เรา คือ หลวงปู่บุุญกู้ อนุวัฒโน, หลวงพ่อเสถียร, พระครูสุจินต์ธัมมวิมล, พระอาจารสนธยา ธัมมวังโส เป็นต้น เมื่อระลึกถุงท่านทั้งหลายหมู่นั้นเราจะระลึกเอาปฏิปทาคุณจริยะวัตรที่ท่านเจริญปฏิบัติ ที่ท่านชี้แนะสั่งสอนเรา แล้วน้อมนำให้เกิด พละ ๕ แล้วเจริญปฏิบัติตามท่าน

4. เจริญปฏิบัติในกุศลกรรมบถ ๑๐ และ พรหมวิหาร ๔ ให้เข้าถึง เจโตวิมุตติ

5. สีลานุสสติ คือ ระลึกถึงศีลข้อใด หมู่ใด ที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย ที่เราเจริญมาบริบูรณ์ดีแล้ว ให้เกิดเป็นฉันทะ มีวิริยะเป็นสังวรปธาน มีฉันทะสมาธิ ณ ที่นั้น

4. จาคานุสสติ คือ ระลึกถึงทานอันใดที่เราทำมาดีแล้ว ที่มีการสละให้อันดีแล้ว บริบูรณ์แล้ว ทานอันบริบูรณ์ไปด้วยศีลและพรหมวิหาร๔ มีอุปการะเอื้อเฟื้อหรือทานอันบริบูรณ์ด้วยศีลและพรหมวิหาร ๔ ศรัทธาที่ได้ทำอแก่พระอรหันต์และพระพุทธศาสนามาดีแล้ว ได้มีอุปการะเอื้อเฟื้อที่ทำให้บุพการีแล้ว ต่อบุตรและภรรยา ญาติพี่น้องทั้งหลายเป็นต้น ไปจนถึงผู้อื่นสัตว์อื่น ทำให้เกิดความยินดี มีฉันทะ มีวิริยะ มีจิตตะ มีวิมังสา เกิดฉันทะสมาธิ

5. มรณะสติ คือ ระลึกถึงความตาย ว่าเราจักต้องตาย แล้วต้องเพียรพยายาม(วิริยะ อุตสาหะ)ปฏิบัติให้ดีพร้อมก่อนที่เราจักตายในทุกๆขณะที่ลมหายใจเข้าหรือออก มีความกตัญญู กตเวที ต่อบุพการีมีเจตนาในศีล สมาธิ ทาน ภาวนาเป็นต้น

5. อิริยาบถบรรพ เช่น เดินจงกรม ยืน นั่ง นอน เป็นต้น จนรู้เห็นสภาวะธรรมในกายตนที่กำลังดำรงอยู่

6. สัมปะชัญญะบรรพ คือ รู้กิจการงานที่ตนกำลังทำกำลังดำเนินไปในทุกขณะปัจจุบัน จนรู้เห็นสภาวะธรรมในกายตนที่กำลังเป็นไปตามแต่สภาวะนั้นๆ

6. เมื่อกำลังทำกิจการงานไรๆอยู่ก็มีสติสัมปะชัญญะมีสมาธิจดจ่ออยู่กับงานไม่ฟุ้งซ่านส่งจิตออกนอก เมื่อเวลาว่างขณะดำเนินชีวิจประจำวันอยู่ก็รู้กาย รู้ใจ รู้ลมหายใจเข้าออก พุทโธ ไปเสมอๆ ก่อนนอนและตื่นนอนก็ทำสมาธิพุทโธไปทุกวัน เวลาว่างหรือวันหยุดก็เข้าวัดไปขอกรรมฐานจากหลวงปู่บุญกู้บ้าง นั่งกรรมฐานที่วัดมหาธาตุบ้าง วัดหลักสีบ้าง ที่ห้องพักบ้าง เป็นประจำอยู่เนืองๆโดยขอให้ได้ทำให้มากเข้าไว้ เพื่อเป็น "พุทธบูชา" เป็น "ปฏิบัติบูชา" ไม่ใส่ใจหรือหวังในผลจากการปฏิบัติ




ว่าด้วย..มรรคมีองค์ ๘ ที่เกิดจากการทำสมาธิ ในความเข้าใจของปุถุชนผู้ยังเข้าไม่ถึงธรรมตามจริงอย่างเรา

- สัมมาทิฐิ :
กาย : เมื่อให้จิตรู้ว่ารูปขันธ์คือกายเรานี้มีอาการ ๓๒ มันสักแต่เป็นเพียงธาตุ ๕ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ ธาตุเหล่านี้สงเคราะห์กันขึ้นไม่มีความรู้สึกนึกคิดไม่มีสุขทุกข์ไม่เจ็บไม่ปวดเป็น แต่อาศัยวิญญาณธาตุ เป็นธาตุตัวที่ ๖ ที่ทำหน้าที่รู้ รู้ทุกอย่าง ยึดทุกอย่าง เข้าไปยึดครองเอากองธาตุทั้ง ๕ เหล่านั้นไว้ ก็อาศัยวิญญาณธาตุที่เข้าไปยึดในธาตุทั้งปวงนั้นแลจึงเจ็บ ปวด สบาย สุข ทุกข์ได้ ทั้งๆที่ธาตุ ๕ มันไม่มีความรู้สึกนึกคิดใดๆเลย แต่อาศัยวิญญาณธาตุนี้แลเข้าไปยึดครองธาตุทั้ง ๕ นั้นแล้วเกิดรู้ผัสสะที่นั้น ทั้งๆที่ผัสสะอาการนั้นมันเกิดและดับไปแล้วจิตมันจึงจะรู้ได้ ก็วิญญาณธาตุนี่แหละเข้าไปยึดครองเอาสิ่งนั้นโดยอาศัยสัญญาความจำได้หมายรู้จึงเกิดอาการเจ็บ ปวด และ เวทนาขึ้น แล้วก็สังขารตรึกนึกปรุงแต่งสืบต่อไปอีกไม่รู้จบ ความเข้าไปยึดในรูปขันธ์ว่านี่เป็นเรานี่เป็นของเรานี่เป็นตัวตนบุคคลใด สัตว์ใด สิ่งใดๆมันหาประโยชน์ไรๆไม่ได้นอกจากทุกข์ ดังนั้นอย่าเข้าไปยึดครองยึดมั่นถือมั่นตามที่วิญญาณธาตุนั้นยึดครองธาตุทั้ง ๕ ว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้คนนั้นคนนี้ ลมหายใจเรานี้ต่างหากที่คือของจริงที่มีอยู่ในตน ที่เราสามารถรับรู้ได้จริง รู้ว่าลมหายใจ คือ กายสังขาร..เป็นความปรุงแต่งเป็นไปของกาย เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงกาย เป็นสิ่งที่กายต้องการทำให้ทรงสภาวะธาตุภายในกายนั้นอยู่ได้ ให้ปักหลักมั้นไม่โคลงเคลงไปตามลมตั้งที่ปลายจมูกจับระลึกรู้ที่ลมหายใจเข้า-ออก
จิต : และ มีสติสัมปะชัญญะรู้เห็นตามจริงว่าจิตนี้เป็นเพียงกองขันธ์ที่ทำหน้าที่รู้และยึดมั่นถือมั่นเท่านั้น เมื่อเราตายจิตหรือวิญญาณขันธ์ก็ดับสูญตายตามไปด้วย(ตรงนี้เป็นความรู้ทางพระอภิธรรมที่ท่านเดฟวัดเกาะได้กรุณาชี้แนะเราไว้ เพื่อให้รู้ตามจริงและคลายความยึดมั่นในวิญญาณขันธ์) สั่งหรือบังคับมันให้รู้ให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่ได่ จิตจึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน จิตนี้มันรู้ทุกสิ่งแล้วก็มันเข้าไปยึดครองสิ่งที่มันรู้ไว้ แต่สิ่งที่มันรู้ที่มันเข้าไปยึดครองน่ะมีแต่สมมติเท่านั้นไม่มีความจริงเลย ดังนั้นแล้วจิตรู้สิ่งใดสิ่งนั้นเป็นสมมติทั้งหมด จิต หรือ วิญญาณขันธ์ หรือ วิญญาณธาตุนี้เราจึงไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นหรือตั้งความปารถนาตามสมมติที่จิตมันรู้ มันยึดครอง หรือ แม้แต่ตัวจิตมันเองก็ตาม เพราะมันเป็นทุกข์ เมื่อรู้เห็นดังนี้ในกายและใจตนแล้ว ก็เป็น ความเห็นชอบ

อานิสงส์จากความเห็นชอบนี้ : ขั้นต้น..มีจิตน้อมในกรรมบถ ๑๐ , ขั้นกลาง..ความตรึกนึกฟุ้งซ่านก็ไม่มี มีสภาวะที่ว่างเท่านั้น จิตตั้งมั่นง่าย รู้ลมหายใจเข้าออกแทบจะทุกขณะจิต, ขั้นสุดด้วยปัญญาญาณเกิดความรู้เห็นในสภาวะธรรมตามจริง แล้วไม่ยึดจับเอาอาสวะกิเลส ปหานอาสวะกิเลสโดยสิ้นเชิง โดยไม่ต้องอาศัยเจตนา



- สัมมาสังกัปปะ : เมื่อให้จิตมันบริกรรม "พุทโธ" ให้มันตรึกนึกระลึกถึงความเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ขององค์สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้า แล้วน้อมเอาคุณนั้นมาสู่ตนให้ตนได้รู้ได้ตื่นจากสมมติทั้งปวงแล้วเป็นผู้เบิกกบานแล้วตามพระตถาคตเจ้านั้น มีความระลึกรู้จดจ่อแนบแน่นไปลมหายใจเข้าออก รู้สภาวะธรรมที่กำลังดำเนินไปแห่งกาย นี่คือความคิดชอบ ด้วยความคิดออกจากทุกข์จากความหลงสมมติทั้งปวง
    จิตตั้งมั่นจดจ่อแนบแน่นรู้ลมหายใจเข้า บริกรรมว่า "พุท" จิตตั้งมั่นจดจ่อแนบแน่นรู้ลมหายใจออกบริกรรมว่า "โธ"
  - คำบริกรรมนี้ คือ "วิตก"
  - ความแนบแน่นในอารมณ์รู้ว่าลมหายใจเข้าหรือออก คือ "วิจาร"
  - ความระลึกถึงคุณแห่งความเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ของพระพุทธเจ้า แล้วน้อมเอาพระบารมีแห่งคุณนั้นมาสู้ตนให้ตนได้เป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น จากความลุ่มหลงสมมติทั้งปวง แล้วถึงความเป็นผู้เบิกบานตามพระตถาคตเจ้านั้น คือ "เจตนา+สติ+วิตก+สัญญา+สังขาร" เกิดเป็นความหวนระลึกตรึกนึกเป็นกุศลวิตกโดยชอบ นี่คือ ความคิดออกจากทุกข์ มีความตั้งมั่นเพียรอยู่คิดว่าการเจริญปฏิบัตินี้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่บิดา มารดา ลูก เมีย ญาติ พี่ น้อง ทั้งหลาย มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย เทวดา มาร พรหมทั้งหลาย ทั้งหมดนี้ คือ ความคิดชอบ



- สัมมาวาจา : วาจาที่กล่าวบริกรรมในความตรึกนึกว่า พุทโธ และ กล่าวระลึกถึงและน้อมเอาคุณแห่งพุทโธนั้น เป็นวจีสุจริต เพราะเป็นวาจาที่ประกอบไปด้วยประโยชน์ประกอบด้วยคุณ เป็นไปเพื่อความะพ้นทุกข์ที่เกิดจากความคิดชอบ นี่คือ วาจาชอบ



- สัมมากัมมันตะ : กายที่อยู่ในความสงบในขณะทำสมาธินี้ ไม่ได้นำพากายไปเสพย์ในกิเลสตัณหา ดำรงกายอยู่เพื่อความเป็นประโยชน์สุขเพื่ออกจากทุกข์ คือ ความประพฤติชอบ



- สัมมาอาชีวะ : ในขณะที่ทำสมาธิอยู่นี้ เมื่อเราไม่ส่งจิตออกนอกมีจิตอยู่กับลมหายใจเข้าออกยังความสงบเลี้ยงชีพทางใจ มีลมหายใจเลี้ยงชีพทางกายเป็นกายสังขาร ไม่ดำรงชีพอยู่โดยความก้าวล่วงในศีล ขณะนั้นเรากำลังเลี้นงชีพอยู่ด้วยการละเว้นจากความเบียดเบียน ก็เป็นการเลี้ยงชีพชอบ



- สัมมาวายามะ : มีความยินดีในสภาวะที่มีความสงบว่างของกายและใจ ทำให้จิตนั้นมันตั้งมั่นตั้งใจเพียรพยายามที่จะตามรู้ลมหายใจเข้าและอกกอยู่ทุกๆขณะจิตไม่ลดละ เป็นเหตุให้จิตจดจ่อแนบแน่นอยู่ได้นานกับลมหายใจไม่ส่งจิตออกนอกไปหลงตามความคิดหรือมโนภาพใดๆ มีความทรงกายอยู่ไม่หวั่นไหว มีกายและใจดำเนินไปอยู่แล้วถึงความดับไปซึ่งนิวรณ์ ๕ ได้ อันนี้ก็เรียกว่า ความเพียรชอบ



- สัมมาสติ : มีความระลึกรู้ลมหายใจเข้าออก รู้ตัวว่ากำลังทำสมาธิ จนถึงซึ่งความรู้เห็นสภาวะธรรมในปัจจุบันที่จิตรู้ทั้งปวง รู้สภาวะธรรมจริงๆทางกายที่เป็นไปในปัจจุบันทั้งปวง ไม่หวนระลึกรู้โดยสัญญา อันนี้เรียก ความระลึกชอบ



- สัมมาสมาธิ : มีจิตจดจ่อเป็นอารมณ์เดียวอยู่ในสภาวะที่ว่าง เอื้อให้สติสัมปะชัญญะเป็นกำลังให้จิตรู้สภาวะธรรมตามจริงทั้งปวง โดยปราศจากการใช้ความคิดตรึกนึกหวนระลึกด้วยสัญญาในสิ่งนั้น เข้าถึง อุปจารสมาธิ และ อัปนาสมาธิ อันนี้คือ จิตตั้งมั่นชอบ






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 31, 2015, 07:12:49 PM

บันทึกกรรมฐาน วันที่ 29/1/58

   วันนี้เราออกกะดึกในตอนเช้าได้ไปวัดพระบรมธาตุเพื่อใส่บาตรหลวงตาบุญกู้มา แล้วมานั่งกินกาแฟอยู่ที่ตลาดเคหะทุ่งสองห้อง ได้พิจารณาว่าทำไฉนหนอเราจึงจะหน่ายในกามได้ เรายังไม่มีสมาธิ จะพึงม้างกายออกจนดับไปหมดคงยาก จึงได้หวนระลึกเมื่อประมาณกลางเดือนที่ได้นั่งสมาธิ ขณะนั้นอยู่ในอุปจาระสมาธิ มีจิตสงบจากกิเลส จดจ่อพอควรอยู่ มีความตรึกนึกคิดในกุศลอยู่ หมายจะเห็นธาตุในกายก็เกิดนิมิตเห็นกายตัวเองอยู่ข้างหน้าแล้วเห็นในกายมีธาตุ ๔ กอปรอยู่ แต่ขณะนั้นคิดว่านี่คงเป็นสัญญาเราไม่ควรติด จึงมาอยู่ที่ลมหายใจ สักพักหมายจะรู้ว่ากายในกายเรานี้มีหนังหุ้มกระดูกอยู่มีอาการทั้ง ๓๒ เป็นไฉน ก็เห็นนิมิตเป้นตัวเองอยู่ตรงหน้าเริ่มจากกายที่ปกติ เริ่มเหี่ยยวแห้งหนังหุ้มกระดูกผุเปื่อยเห็นอาการในภายในตนในมุมที่เชิงกรานกระดูก หน้าอก กระบังลมเห็นอวัยวะภายในจนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกอยู่ ก็ไม่เห็นว่ามีเราในนั้น และไม่เห็นว่าอาการไรๆเหล่านั้นจะเป็นเรา พอดึงสัมปะชัญญะเกิดขึ้นก็รู้ว่านิมิตนี้เมื่อเข้ามาอยู่ในสภาวะนี้เมื่อเราหมายจะเห็นสิ่งใดมันก็เห็น จะได้ยินสิ่งใดมันก็ได้ยิน นิมิตทั้งปวงล้วนมาจากสัญญาทั้งสิ้นไม่มีของจริงเลย จึงละนิมิตไปมาอยู่กับลม แล้วก็เข้าสู่สภาวะที่นิ่งว่างแนบอารมณ์จดจ่ออยู่ มีความตรึกนึกคิด มีจิตแนบแน่นอยู่ที่ลมหายใจ สว่างนวลประมาณว่าเหมือนเราลืมตาจากสมาธิไปเจอแสงใหม่ๆจะมีสภาวะที่เป็นออกสว่างฟ้าๆอย่างนั้น

** ต่อมาเมื่อเรามาทบทวนที่ "หลวงปู่บุญกู้" สอนคำหนึ่งเมื่อเราถามหลวงปู่เรื่องการเปลี่ยนคำบริกรรม ซึ่งหลวงปู่ท่านตอบว่า "ตอนที่ทำนั้นมีสติไหม รู้ตัวไหม ถ้ามีก็ไม่เป็นไร" ซึ่งเราพอมีปัญญาอันน้อยนิดเข้าใจว่า ถ้ามีสติกำกับรู้ มีสัมปะชัญญะรู้ตัวว่ากำลังทำกิจการงานไรๆมีอิริยาบถใดๆอยู่ รู้กายใจรู้ตัวทั่วพร้อมขณะนั้นในสภาวะธรรมไรๆที่กำลังดำเนินไปอยู่ จะบริกรรมจะกำหนดนิมิตไรๆย่อมได้ เราจึงพิจารณาเห็นว่าเพราะเราจะรู้ว่าสิ่งนี้เรากำหนดขึ้นมาเพื่อพิจารณา ไม่หลงว่านิมิตที่ตนเห็นนี้คือของจริง ไม่ใช่ฌาณ ไม่ใช่ญาณไรๆ แต่เป็นไปในธรรมเพื่อความไม่หลงติดในสมมติอีก อันนี้เรียกว่าใช้นิมิตให้เป็น **

ดังนั้นแล้วเมื่อพยายามที่จะละความติดใจในกายกลับเกิดสภาวะธรรมหนึ่งเกิดขึ้นคือ รู้ผัสสะขันธ์ ๕ ในตนเป็นทอดๆ จนเห็นว่า
- "วิญญาณ หรือ จิต" นี้มันเก่งน่ะมันรู้หมดทุกสิ่ง แต่สิ่งที่มันรู้มีแต่สมมติทั้งหมด ไม่มีของจริง สิ่งที่มันเข้าไปรู้นั้นไม่มีเราอยู่ในสิ่งที่มันรู้นั้นเลยสักนิด จิตมันรู้ทุกสิ่งแต่ที่มันรู้นั้นเป็นเราไหม ก็ไม่มีเลย มันไม่เคยจะรู้เราเลย มันรู้สิ่งอื่นๆอันสมมติไปทั่วแต่ไม่เคยรู้ว่าสิ่งที่มันรู้น่ะมันเพียงสมมติที่อาสวะกิเลสสร้างมาหลอกให้มันหลงยึดเลย เราไม่มีในวิญญาณ นี่น่ะเมื่อวิญญาณเขายังไม่มีเราไม่สนใจเราเลยแล้วเรายังจะไปเอาความสุขสำเร็จไปผูกขึ้นกับสิ่งที่ไม่มีเราไปเพื่อสิ่งไร เมื่อเข้าไปปารถนาหมายยึดครองมันไว้ก็มีแต่ทุกข์ ก็ความรู้อารมณ์เหล่าใดก็ดีอันเรียกว่าวิญญาณนี้หากมีอยู่ที่เราแล้ว เราก็ย่อมเข้าไปรู้ทุกอย่างทั้งหมดรู้อยู่ทุกขณะไม่เว้นว่างเลย เช่น เมื่อเกิดความวิตกตรึกนึกคิดขึ้นมา เราก็ย่อมรู้อยู่ทุกขณะว่าตนกำลังคิดไม่เสพย์สิ่งที่คิดเพราะรู้ว่านั่นคือความคิดอันสมมติขึ้นไม่ใช่ของจริง แต่เรานี้กลับไม่รู้อย่างนั้นเลย เรากลับรู้แล้วเสพย์อารมณ์ไปตามสิ่งสมมติที่คิดนั้นอย่างไม่รู้ตัว วิญญาณจึงไม่มีในเราดังนี้ วิญญาณนี้มันเป็นเพียงสภาวะธรรมหนึ่งที่ทำหน้าที่รู้ มันเกิดมารู้แล้ว มันก็ดับไปไม่เที่ยงไม่อยู่นาน เราจะหมายไปบังคับให้มันรู้นั่นรู้นี่ตามที่เรานั้นปารถนาก็ไม่ได้ เราจึงไม่ใช่จิต จิตจึงไม่ใช่เรา จิตไม่ใช่ของเรา ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์ดังนี้  จิตมันรู้จริงแต่ความรู้นั้นของมันเป็นสมมติไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราที่รู้กับมัน จะพึงบังคับให้มันรู้เห็นตามจริงไม่หลงติดอยู่ในสมมติก็ไม่ได้ เพราะจิตไม่ใช่เรา และ เราไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ของเรา ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ทีนี้เราจะไปยึดเอาสิ่งใดกับวิญญาณนั้นหนอ
- "เวทนา" นี้มันจะเสวยอารมณ์สุขหรือทุกข์ มันก็เป็นไปของมันเอง เราบังคับมันไม่ได้ มันจะดับก็ดับของมันเองไม่อยู่นาน เมื่อมันสุขมันก็ไม่มีเราในนั้น เมื่อมันทุกข์มันก็ไม่มีเราในนั้น เมื่อมันจะเฉยมันก็เฉยของมันไม่มีเราไปเกี่ยวข้องหรือมีเราในสภาวะนั้นเลย ไม่มีเราในเวทนา เวลามันสุขก็ไม่รู้มันไปชักเอาอะไรมาทั่วแต่ไม่มีเราที่ทำให้มันสุข และ ในความสุขนั้นของมันก็ไม่ใช่เราเลย แม้ทุกข์ก็เช่นกัน ความไม่สุขไม่ทุกข์นิ่งว่างอยู่ก็ไม่ต่างกัน ไม่มีเราในเวทนา ความเสวยอารมณ์เหล่านั้นไม่ว่าจะสุขก็ดีจะทุกข์ก็ดีจะไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดีเมื่อมันเกิดขึ้นก็ไม่ใช่เกิดขึ้นที่เรา ไม่ใช่เราที่ไปทำให้มันเกิดหรือไปเสวยอารมณ์เหล่านั้นไม่ใช่เราเลยสักนิด แต่มันเป็นวิญญาณขันธ์ต่างหากที่เข้าไปรู้สิ่งสมมติอันใดอันกอปรกับความจำได้หมายรู้จึงทำให้เวทนานี้เกิดมีขึ้น มันเข้ายึดมันถือครองมันไว้ เวทนาจึงไม่มีในเราดังนี้ เราจะหมายบังคับให้มันสุข มันเฉย ไม่ทุกข์ดั่งที่เราปารถนาก้ไม่ได้ ไม่มีสิ่งไรๆที่มันเป็นเรา เป็นของเรา มีเราในนั้น เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา ทีนี้เราจะไปยึดเอาสิ่งใดกับเวทนานั้นหนอ
- "สังขาร" นี้มันจะปรุงแต่งความรู้สึกนึกคิดไรๆขึ้นมา ในความรู้สึกนึกคิดนั้นมันก็มีแต่เรื่องสมมติภายนอกกลับไม่มีเราในความตรึกนึกปรุงแต่งนั้นเลยสักครั้ง เราไม่มีในความรู้สึกนึกคิดนั้นเลย เราไม่มีในสังขาร แม้สังขารนั้นมันก็เป็นไปของมันเกิดขึ้นของมันเองดับไปของมันเอง ไม่คงอยู่นาน จะบังคับให้มั่นรู้สึกนึกคิดในสิ่งไรๆตามที่ใจเราปารถนานั้นไม่ได้เลย เอาแค่เราหมายจะบริกรรม"พุทโธ"นี้น่ะ เรามีเจตนาอยู่ที่พุทโธแท้ๆแต่สักพักความตรึกถึงพุทโธนั้นกลับดับไปไม่อยู่เที่ยงแท้ ส่งจิตออกนอกไปคิดเรื่องสมมติอะไรไปทั่ว สังขารนี้มันไม่อยู่กับเราเลย และ เราก็บังคับมันไม่ได้ เพราะสังขารไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีตัวตน และ ไม่มีเราในสังขารความปรุงแต่งใดๆนั้นของมันเลย เมื่อสังขารขันธ์ที่มีเกิดอยู่นี้มันยังไม่สนใจเราไม่มีเราอยู่เลย แล้วเราจะไปหมายยึดครอง หมายเอาสิ่งไรๆกับมันได้อีกหรือไม่ เราจะไปยึดเอาสังขารนั้นว่าเป็นเรา เป็นของเราได้หรือไม่
- "สัญญา" นี้มันก็ทำหน้าที่จดจำไปทั่วในทุกสิ่งที่เกิดรู้ผัสสะ แต่สิ่งที่มันจดจำนั้นกลับไม่มีเราในนั้นเลย มันจำว่านี่สุขหรือทุกข์ นี่คือแขน คือขา คือเจ็บปวด นี่ดี นี่ไม่ดี นี่เลว นี่ประณีต นี่เจ็บ นี่สบาย นี่รถ บ้าน สัตว์ หมา หมู แมว ต้นไม้ คนรักจดจำได้หมด แต่ไม่เคยมีเราในความจำได้หมายรู้นั้น ไม่เคยมีเราในความจำสำคัญมั่นหมายของใจ เราไม่มีในสัญญา เมื่อสัญญามันไม่มีเราอยู่ในนั้นเลยแล้วเราจะยังหมายยึดครอบครองหรือสนใจมันไปเพื่อสิ่งใดเพื่อประโยชน์ไรๆกันอีกเล่า หากสัญญามีในเรามันก็ต้องทำให้เรานี้จดจำได้ตลอดเวลาว่าตนทำอะไรอยู่ จำได้ในทุกๆเรื่องทุกอย่างทุกตอนทุกช่วงเวลาตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบันความจำไม่เลอะเลือน แต่มันก็ไม่เป้นเช่นนั้นมันกลับแทบจำจดจำไม่ได้เลยสักเรื่อง สัญญาจึงไม่มีในเรา นี่น่ะขณะเรียนหรือทำงานไรๆมาแค่ไม่กี่วันแท้ๆก็ยังระลึกบทเรียนนั้นไม่ได้หรือไม่ได้เต็มที่ต้องไปทบทวนมันอยู่ ตลอดเวลามันจำสิ่งใดได้ในขณะหนึ่งนั้นสักพักมันก็ลืมไปแล้ว ความจำนี้ไม่เที่ยงไม่คงอยู่นาน บังคับให้มันจดจำสิ่งนี้ๆที่ต้องการ ไม่ให้จดจำสิ่งนี้ๆที่ไม่ต้องการก็ไม่ได้ ก็สัญญาไม่ช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีตัวตน ความเข้าไปหมายปารถนายึดครองในสัญญานี้มีแต่ทุกข์เท่านั้น




บันทึกกรรมฐาน วันที่ 31/1/58

- วันนี้ก็เจริญจิตมีสติรู้ทันจิตรู้และเสพย์สมมติทั่วไป เกิดสภาวะที่อยากใคร่ไม่ปารถนาจะยึดเกาะเอาขันธ์ทั้ง ๕ เพราะมันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ไม่มีเราในขันธ์ ๕ และ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา ทำให้เกิดสภาวะว่างอยู่ไม่ยึดเอาอะไรสักอย่าง จนทำให้รู้สึกเหมือนเรานี้ละสักกายทิฐิได้แล้วบ้าง ถึงธรรมใดธรรมหนึ่งแล้วบ้าง
- แต่เมื่อมีสติสัมปะชัญญะอยู่กลับรู้สึกเหมือนว่ามีสภาพว่างนั้นมันมีสภาวะที่เศร้าหมอง ไม่มีหลักเลย แม้จะไม่ยึดเอาอะไร มีสติและสัมปะชัญญะอยู่แต่มันไม่มากมันทีอารมณ์ตึงๆหนักๆเศร้าหมอง ไม่เบาผ่องใส เราจึงพิจารณาตามสภาพนั้นว่านี่น่ะเราโดนโมหะหลอกให้ว่างแล้วหลงว่าตนถึงธรรมใดธรรมหนึ่งเข้าแล้ว คือ พอมันหลอกว่าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ แล้ว มันก็ให้เราลุ่มหลงอยู่ยินดีอยู่ในสภาวะอันว่างที่หนักตรึงกายใจอันไหลไปทั่วไม่มีหลักยึดนั้น ทำให้ระลึกรู้ไม่เท่าทันอาสวะกิเลสทั้งปวง ไม่มีความผ่องใสสงบเบากายใจ
- เมื่อรู้ดังนี้แล้ว ตอนนั้นเราพึงตั้งจิตทำไว้ในใจอันดีแล้วน้อมระลึกว่า ความว่างจากการไม่ยึดเอาขันธ์ ๕ ทั้งปวงนี้ แต่สติสัมปะชัญญะมีกำลังอ่อน ทำให้ไม่มีหลักจิตจึงหลงไปยึดเอาสมมติที่ว่าว่างนั้นแทนซึ่งจริงก็มีสังขารความตรึกนึกคิดอยู่ทุกขณะไม่ใช่ความว่างจริงโดยมีสติสัมปะชัญญะกำกับอยู่ หากยังหลงเข้าในสภาวะนี้อยู่เราจะหลงไปทำให้เดินผิดทางได้ แล้วเราจะหาสิ่งใดมาเป็นหลักให้จิตรู้สภาวะจริงโดยไม่เข้าไปยึดขันธ์ ๕ ได้หนอ เมื่อเราทบทวนแล้วก็เห็นว่า ลมหายใจนี้เป็นของจริงที่มีอยู่ในกาย วิจาร และความว่างไม่สุขไม่ทุกข์เป็นเรื่องของจิต แม้พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าพระองคค์ทรงเป็นผู้รู้ลมหายใจอยู่ตลอดเวลาทุกขณะจิต พระอรหันต์ในธรรมวินัยนี้ก็เป็นผู้มีอานาปานสติเป็นอันมาก แม้เมื่อพระองค์ได้ทรงตรัสรู้ธรรมแล้ว ไม่ยึดเอาขั้นธ์ทั้ง ๕ แล้ว ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิงแล้ว พระองค์ก็ยังยึดหลักที่ลมหายใจอยู่โดยความรู้สภาวะธรรมอันมีเกิดขึ้นอยู่เท่านั้น ไม่ทิ้งลมหายใจไปเลย เราผู้กราไหว้อยู่ซึ่งพระตถาคตเจ้าผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ก็ควนแล้วที่จะพึงปฏิบัติตามโดยความรู้กายใจอยู่ที่ลมนั้นเป็นที่สุด เราจึงได้ปักหลักลมที่ปลายโพรงจมูกรู้ลมหายใจเข้า หายใจออก รู้สภาวะที่มีเคลื่อนตัว ตรึงไหวพัดขึ้นพัดลง พัดเข้าพัดออก ไม่มีวิตกตรึกนึก แต่วิจารแนบอารมณ์อยู่ที่ลมหายใจเข้าและออก มีความนิ่งว่างเหมือนเพิกจิตออกสละคืนขันทั้ง๕แล้วฉันนั้น ยังความสงบเบา นิ่งว่าง อบอุ่นแต่ร่มเย็นกายใจนี้เกิดขึ้นแก่เราในขณะนั้น
- ผลกรรมฐานในครั้งนี้ทำให้เรารู้ว่า
๑. หากว่างโดยความเศร้าหมองตรึงหนักกายใจอันยังวิตกวิจารว่าตนว่างอยู่นี้โดยสติสัมปะชัญญะอ่อนให้ติดไปกับความคิดว่าตตนว่างสลัดทิ้งสละคืนขันธ์ทั้งปวงได้แล้วนั้นเป็นสภาวะของโมหะทำให้เกิดความระลึกผิด จิตตั้งมั่นผิด เป็นมิจฉาขึ้นมาได้
๒. แต่หากเป็นสภาวะที่ว่างโดยมีสภาพที่สงบเบาไม่ตรึงกายใจ มีความอบอุ่นแต่ร่มเย็นกายใจ ไม่มีความติดข้องใจ ไม่มีความตรึกนึกสมมติไรๆให้ลุ่มหลง มีความแนบอารมณ์อยู่ที่ลมหายใจ มีสติระลึกรู้ทันสภาวะธรรมในปัจจุบัน มีสัมปะชัญญะรู้ตัวทั้วพร้อมในสภาวะทางกาย เกิดสภาวะไม่ยึดมั่นเอาสภาวะธรรมไรๆที่มีในขันธ์ ๕ โดยเห็นเป็นเพียงสภาวะธรรมหนึ่งๆอันไม่มีชื่อ ไม่มีอาการ ไม่มีสิ่งไรๆแค่สภาวะธรรมหนึ่งๆที่เกิดมีเท่านั้น นี่คือความเข้าถึงขณะจิตหนึ่งที่สละคืนสังขารธรรมทั้งปวงด้วยมรรค ๘  ทำให้..ธาตุ ๕ ปราศจากใจยึดครอง ไม่เป็นอุปาทินนกรูปแล้ว เกิดจิตเห็นจิต ไม่ยึดเอาจิตอันสมมติอีก ซึ่งสภาวะจิตนี้นี่แหละที่เป็นมรรค คือ สภาวะญาณที่จะตัดอาสวะกิเลสทั้งปวงได้โดยไม่อาศัยเจตนา เมื่ออาสวะกิเลสมันเกิดโดยปราศจากเจตนา มรรคอันนี้ก็ปหานอาสวะกิเลสนั้นโดยปราศจากเจตนาได้ดังนี้ เพราะถึงความเป็นปัณฑระแห่งจิตอันไม่หยิบจับเอากิเลสที่จรมาในตัวของมันเอง

- แต่ในปัจจุบันเมื่อดำรงสติอยู่นั้นทำให้รู้ว่า เรานี้แค่เพียงขณะจิตหนึงที่เข้าไปแลเห็นทางสละคืนขันธ์ทั้ง ๕ บ้าง คือ ถึงแค่แลเห็นทางเท่านั้นยังไม่ถึงธรรมใดๆทั้งสิ้น เรายังคงต้องปฏิบัติให้มาก เจริญ พละ ๕ ให้มาก หนทางยังอีกไกลทำไปเรื่อยๆให้มากสักวันเมื่อมันเต็มมันก็คงได้ ดั่งที่หลวงพ่อเสถียรท่านสอนว่า ให้ปฏิบัติในสมถะทำศีลบารมีและสมาธิบารมีให้มากๆ อย่าทิ้งพุทโธ เรียนรู้ปริยัติ ไม่ใช่หลงปริยัติ เมื่อบารมีเต็มก็รอเวลาเพียงผู้รู้มาไขปัญญาให้เพียงเล็กน้อยก็บรรลุแล้ว เหมือนดั่งพระอรหันต์สาวก ท่านก็สะสมบารมีธรรมทั้งหลายมาเยอะจนเต็มที่แล้ว รอเพียงแค่มีคนที่มาไขปัญญาให้นั่นก็คือพระพุทธเจ้านั่นเอง พอได้ฟังธรรมอันเป็นปัญญาท่านก็บรรลุทันทีพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ๔ วิโมกข์ ๘ อภิญญา ๖ หรือ พระอรหันตเถระทั้งหลาย เมื่อจะเข้าถึงในสมาธิก็มีพระอรหันต์หรือพระเถระท่านมาไขปัญญาให้บ้าง หรือ มีพระอรหันต์ผู้ทรงคุณสักท่านมาชี้แนะแนวทางปฏิบัติและเจริญจิตให้บ้างแล้วท่านก้บรรลุทันที ซึ่งเมื่อเราได้ฟังอย่างนี้ก็คงเหมือนที่เรานี้ได้ทำมาเพียรมาโดยไม่หวังผล ทำมานานนับ 10 ปี พอมีพระอรหันต์ มีครูอุปัชฌาย์เราคือหลวงปู่นิล หลวงพ่อเสถียร หลวงปู่บุญกู้ท่านมาไขปัญญาให้ พอถึงจุดๆนึงมันก็เข้าถึงสภาวะที่คิดว่าไม่อาจจะได้สัมผัสเลยในชาตินี้โดยง่าย ดังนั้นเราจะยังต้องเพียงให้มากดังนี้  






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กุมภาพันธ์ 05, 2015, 11:17:12 AM

บันทึกกรรมฐาน วันที่ 5/2/57

ช่วงนี้ฟุ้งซ่านมากคิดมาก จึงสำรวจตนเองเห็นศีลด่างพล้อยและเอาจิตไปเสพย์ความคิดเรื่องราวต่างๆมากไป จึงตั้งใน จรณะ๑๕ ใหม่ และ แลเห็นว่าติดในความคิดที่กิเลสสร้างขึ้นมากไป เพราะอาศัยวิตกสัญญาที่ชอบใจและไม่ชอบใจจึงเกิดขึ้น แล้วก็ปรุงไปตามกิเลสไปทั่ว สิ่งใดที่เกิดจากวิตก หรือเมื่อใดที่วิตกเกิดก็แสดงว่าสัญญาเกิดสิ่งที่ล่วงเลยมาแล้วหรือยังที่มาไม่ถึงเกิดขึ้นสมมติให้มีอยู่แล้วเสพย์กิเลสในปัจจุบันทันที ดังนั้นสังขารนี่คือเรื่องราวที่อาสวะกิเลสมันสมมติขึ้นมาให้เราเสพย์ รัก โลภ โกรธ หลง โดยเฉพาะเราจึงไม่ยึดเอาสมมตินั้นอีกรู้แต่ของจริงคือลมหายใจแล้วตรึกนึกแค่พุทโธเท่านั้นโดยไม่สนว่ามันจะได้ผลยังไงทำให้มากเข้าไว้ "ปักหลักไว้ที่โพลงจมูก รู้ลมหายใจเข้า ระลึก "พุธ" น้อมเอาความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่นจากสมมติความลุ่มหลงทั้งปวงของพระตถาคตเจ้ามาสู่ตน รู้ลมหายใจออก ระลึก "โธ" น้อมเอาความเบิกบานอันปราศจากกิเลสสิ่งสมมติพร้อมปล่อยลมหายใจออกกระจายสลายไปในอากาศ ทำดังนี้ไปเรื่อยๆจิตก็สงบลงเอง"

เมื่อเลิกงานในตอนเช้าวันนี้จึงได้เข้าไปถวายจังหันเช้าหลวงปู่บุญกู้ ได้ไปถามข้อสงสัยเรื่องกรรมฐาน ที่เมื่อเราอยู่ในสมาธินิ่งดีแล้วจิตหมายจะเห็นธาตุในกายก็ปรากฎนิมิมโนภาพเป็นกายตนอยู่เบื้องหน้าอันมีเพียงกองธาตุในกาย หมายจะเห็นอาการทั้ง ๓๒ ก็เห็นได้ทันที โดยมีสติสัมปชัญญะกำกับอยู่รู้ว่าตนกำหนดนิมิตขึ้น รู้ว่านิมิตนี้ประกอบด้วยสัญญา แต่กลัวจะมาผิดทางจึงได้ถามหลวงปู่ว่า

"ผมเป็นผู้มีราคะเยอะถ้าหมายจะเจริญในอสุภะหรือธาตุนี้โดยมีนิมิตเกิดขึ้นในสมาธิดังที่กล่าวไปนั้นผิดทางไหม"

หลวงปู่ตอบว่า "ไม่ผิดหรอกเป็นวิตกนิมิตฝ่ายกุศลที่กำหนดขึ้นเพื่อความเบื่อหน่ายในราคะ แต่เมื่อนิมิตเกิดให้เราบังคับนิมิตนั้นให้ใหญ่ขึ้นหรือเล็กลง เปลี่ยนมุมนั้นมุมนี้ดู ถ้าบังคับได้แสดงว่าจิตเรามีกำลังมากพอจะพิจารณาในนิมิตนั้น ถ้าบังคับไม่ได้ก็ให้หยุดเสีย ละไว้ก่อน ให้ดูลมไปจนจิตตนมีกำลังก่อนจึงค่อยกำหนดนิมิตใหม่ ไม่งั้นจะหลงนิมิตหรือกลัวจนเป็นบ้าไปได้"

วันนี้วันพุทธที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เราได้คล้องท่านพ่อลีที่คอไปด้วย จึงบอกกับหลวงปู่ว่าเตี่ยเลื่อมใสนับถือท่านพอลีมากมีรูปท่านพ่อลีตั้งแต่ผมเกิดมาก็เห็นนานแล้ว ผมได้พระท่านพ่อลี ธัมมธโร มาจากวัดหลวงปู่ตองที่ชาวบ้านว่าท่านก็เป็นพระอรหันต์อีกรูป ณ วัดป่าวีระธรรม ที่อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร เป็นวัดที่อยู่บ้านยายตั้งแต่ผมสมัยเด็กๆพอจะจำความได้สมัยนั้นเรียกท่านว่าอาจารย์ตองตามแม่ เพราะท่านเป็นเพื่อนแม่สมัยเด็ก ท่านนี้ปฏิปทาดีมากเคร่งครัด พระเณรองค์ไหนทำผิดศีลท่านจับสุึกหมดเลย โดยเฉพาะให้แอบฉันข้างหลังเที่ยงตรงเป็นต้นไปขอหลวงปู่ช่วยอธิษฐานจิตให้ผมด้วย ให้ผมคล้องคอแล้วถือเอาปฏิปทาท่านเป็นสังฆานุสสติ หลวงปู่จึงได้นำมาเขียนยันต์ที่กรอบพระให้และให้การ์ดซึ่งเป็นรูปท่านพ่อลี ธัมมธโร มีคาถาว่า อะระหัง พุทโธ อิติปิโส ภะคะวา นะมามิหัง หลวงปู่บอกให้บริกรรม ๓ จบ แล้วคล้องคอ เมื่อคล้องคอเสร็จเราเกิดควาายินดีมาก สมองโล่งเบากายและใจไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตน้อมไปในศีล ทาน สมาธิ จึงเห็นว่า นี่หนอศรัทธาพละ แม้เป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้ายังทรงคุณค่าอานิสงส์มากเพียงนี้ ยิ่งเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็นองค์พระศาสดายิ่งหาประมาณมิได้ ทำให้ถึงซึ่ง วิชชา และ จรณะ ในทันที




พอกลับจากวัดก็ประมาณบ่ายโมงครึ่ง จึงอายน้ำไปซื้อกาแฟมากินเพราะนอนไม่ได้เนื่องจากวันมะรืนต้องเข้ากะเช้าต่อ เราได้ฟังธรรมของหลางปู่ชาว่า ทำกิจการงานอะไรก็ตามแต่ อย่าไปคิดว่าทำเพื่ออะไร เพื่อใคร เป็นบุญเป็นคุณของใคร ให้คิดว่าเรากำลังกรรมฐานอยู่ เราจึงพึงตั้งจิตว่าเราถือเนสัญชิก คือ ไม่นอนแล้วกรรมฐานทั้งวันทั้งคืน เมื่อร่างกายเราอดนนอนตัวก็สั่น สือสั่น เท้าสั่น เรี่ยวแรงไม่มี กระหายน้ำ เราก็ให้เห็นโดยอนุมานว่าร่างกายนี้สักแต่เป็นเพียงธาตุ อาการที่เมื่อน้ำน้อยไปก็ทำให้ร่างกายที่มีดิน ลม ไฟ นี้ไม่สมดุล ช่องอากาศภายในกายบีบตัวทำให้เกิดการบีบลมข่างอากาศธาตุนั้นพัดดขึ้นดันขึ้นสูงให้เกิดสภาวะหน้ามืดบ้าง เราก็เพียงกินน้ำ อายน้ำ แช่น้ำ ให้ร่างกายซึมซับน้ำเยอะพอที่จะให้ธาตุดินนั้นชุ่มชื่นหน่อย ก็ทำให้น้ำพอตัวมีช่องอากาศเพิ่มขึ้น น้ำทึี่เป็นน้ำเลือดก็เคลื่อนได้ตามแรงลมที่เคลื่อนตัว พอที่จะทรงกายให้ดีขึ้นบ้างแล้วก็ได้ทำสมาธิไปเรื่อยๆ มันไม่เป้นสมาธิหรอก ได้สงบบ้างในบางคราวแต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญมั่นหมายของใจเอาไว้กับมัน เพราะระลึกเพียงแต่ว่าให้ทำให้มากเข้าไว้พอ จนเวลาล่วงมาประมาณ 16.20 น. ก็นั่งสมาธิหรือนอนทำบ้างแล้วก็คิดว่าคงไม่ไหวแล้วล่ะเราคงต้องนอนบ้างสักนิด สักพักมีขณะวูบหนึ่งเสียงภายนอกเบาบางลง ดูที่ลมหายใจเท่านั้น นิ่งว่างในความสว่างประมาณเมื่อเรามองแสงเมื่อออกจากสมาธิใหม่ๆ เข้าอุปจาระสมาธิ กระโดดมาที่ปฐมฌาณบ้าง สลับไปมาอยู่ขณะนั้น

- แล้วก็เกิดเห็นธัมมารมณ์อันหนึ่งพุ่งเกิดขึ้น(ที่เห็นในนิมิตอันว่างนั้น มันก็ไม่มีชื่อไรๆทั้งสิ้นคงเห็นในสภาวะเกิดมีขึ้นมาภายในเท่านั้น) แล้วเกิดผัสสะที่ใจแล้วก็ดับไป จากนั้นก็นิ่งว่างอยู่ไม่มีอะไรเลยแช่อยู่สักพักแต่ไม่นานแค่ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น

- แล้วก็เกิดสภาวะที่จิตนั้นรู้แค่สภาวะธรรมอันที่มากระทบเท่านั้น ไม่มีชื่อ ไม่มีสภาวะอาการมีรู้แต่สภาวะนี้ๆมีเกิดให้ใจรู้เท่านั้น แล้วตัวรู้และสภาวะธรรมที่ถูกรู้นั้นก็ดับไป แล้วก็นิ่งว่างแช่อยู่สักพักแต่ไม่นานแค่ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น

- แล้วก็เกิดสภาวะหนึ่งเกิดขึ้นก็รู้ทันทีว่าคือเจตนา เพราะมันมีความตั้งมั่นทำใจไว้ที่จะทำในสิ่งใดๆเป็นลักษณะ ขณะนั้นมันตั้งมั่นทำใจไว้ที่หวนระลึกรู้ที่มันพยายามที่จะหวนระลึกขึ้น แต่ตอนนั้นระลึกไม่ออก ระลึกเท่าไหร่ก็ไม่ออก แล้วมันก็ดับไปทั้งเจตนาที่หวนระลึกทั้งความตรึกนึกคือวิตกนั้นนิ่งว่างแช่อยู่สักพักแต่ไม่นานแค่ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น

- แล้วมันก็เกิดสภาวะที่จิตเข้าไปรู้ในความจำสำคัญมั่นหมาย สัญญาความจำได้หมายรู้ในเรื่องนั้นๆ ขณะนี้เราเริ่มที่จพตรึกนึกคิดในได้ที่รู้ในสิ่งที่เกิดมีชื่อมีอาการเกิดขึ้นแล้ว ในขณะเดียวกันเลยนั้นก็มีความวิตกเกิดขึ้นประกอบตรึกนึกสืบค้นในความจำในเรื่องนั้นๆ แล้วก็ดับไป แล้วก็นิ่งว่างแช่อยู่สักพักแต่ไม่นานแค่ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น

- แล้วก็เกิดก็เกิดเวทนาขึ้นทันทีพร้อมกับความรู้เรื่องที่ตรึกนึกปรุงแต่งนั้น จนเกิดปรุงแต่งเป้นเรื่องราวสมมติไปเรื่อยแล้วก็แนบอารมณ์ไปตามความคิดนั้นๆ กิเลสอย่างกลางก็เกิดขึ้นทันที


จากผลของกรรมฐานในขณะนั้นทำให้ว่า ก่อนที่เราจะรู้อารมณ์ใดๆได้มันยาวเป็นทอดๆเกิดดับไปไม่รู้เท่าไหร่ ในขณะที่เจตนาเกิดนี่เพราะอาสวะกิเลสน้อมจิตไปให้เกิดเจตนาที่จะทำ เมื่อจิตรู้สัญญาเวทนาก็เกิด เมื่อเวทนาเกิดเรื่องราวปรุงแต่งสมมติก็เกิดขึ้นดังนี้
พอได้ไปถามผู้รู้อภิธรรมว่า ในขณะที่จิตเกิดดับสืบต่อกันนี้มันมี "ภวังคจิต" แทรกอยู่ด้วยทุกๆขณะเหมือนกับที่ธาตุทุกธาตุย่อมมีอากาศธาตุแทรกอยู่ในทุกๆกาบหรือทุกๆอณูไหม เพราะที่เรารู้สึกได้และเห็นภาพในนิมิตนั้นมันมีลักษณะเป็น

 เกิด -> ดับ -> ว่าง ->
 เกิด -> ดับ -> ว่าง ->
 เกิด -> ดับ -> ว่าง ->
 เกิด -> ดับ -> ว่าง ->
 .... -> วนเวียนไปอย่างนี้เรื่อยๆทุกๆครั้งที่เกิดและรู้สภาวะธรรมใดๆ


ท่านผู้รู้อภิธรรมก็บอกว่าไม่ใช่ภวังคจิต ภวังคจิต คือ อาการเหมือนนอนหลับ และผู้ปฏิบัติธรรมท่านหนึ่งกล่าวว่าเป็นสันสติขาด ว่าเจริญปัญญาในสมาธิ แล้วถามว่าทุกครั้งที่เกิดดับมันมีวูบไหม ซึ่งเราไม่มีวูบเลยมีแต่ว่างนิ่งแช่แต่มีสติสัมปะชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อมกำกับอยู่ ท่านผู้รู้กรรมฐานเลยบอกว่าก็คงจะเป็นแบบท่านผู้รู้อภิธรรมกล่าวว่าไม่ใช่ภวังคจิตแค่นั้นแหละ เพราะถ้าสันสติขาดนั้นเมื่อเกิดแล้วดับก็จะมีอาการวูบ

** แต่สิ่งนี้อาจจะเป็นเพียงอุปาทาน หรือ นิมิตอันเกิดแต่สัญญาที่อยากรู้อยากเห็นประกอบขึ้นโดยอาสวะกิเลสทำให้เกิดขึ้นก็เป็นได้ หรือ อาจจะเกิดขึ้นเพราะร่างกายอ่อนล้าเหนื่อยเพราะไม่ได้นอนจึงเกิดความฟุ้งเป็นนิมิตนั้นขึ้นมา หาประโยชน์ในธรรมไม่ได้ ดังนั้นเราไม่ควรยึดเอาสิ่งใดๆ สิ่งเหล่านั้นมันดับไปแล้ว เหลือแต่สัญญาความจำได้หมายรู้ในตอนนี้เท่านั้น ไม่มีอื่นอีก เราจักละความยึดมั่นในนิมิตนั้น เราเป็นเพียงผู้ที่ไม่รู้ธรรม ไม่รู้สิ่งไรๆทั้งสิ้น เป็นเพียงสาวกของพระพุทธเจ้า ที่ถึงซึ่งพระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์แล้วเท่านั้น ยังไม่ได้ดวงตาเห็นธรรม ยังไม่บรรลุและเข้าถึงธรรมใดๆทั้งสิ้น ไม่ควรถือตัว ไม่ควรยกตน ไม่ควรลูบคลำทิฐิตน หากยังเป็นเพียงปุถุชนอยู่ ก็ไม่ควรหลงตน หากยังภาวนาบริกรรม "พุทโธ" คือ ความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อยู่ เราก็ไม่ควรยึดมั่นลุ่มหลงในความเห็นตน ต้องตื่นจากความลุ่มหลงอันยึดมั่นในนิมิตมโนภาพสิ่งที่ตนเห็น เพราะกิเลสและของปลอมมีเกิดขึ้นอยู่เสมอ เมื่อรู้และจำได้สิ่งนั้นก็มีไว้เพื่อปฏิบัติให้เข้าถึงธรรมที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ไม่ได้มีไว้ยึดถือลุ่มหลง **






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กุมภาพันธ์ 09, 2015, 08:46:50 AM

บันทึกกรมมฐาน วันที่ 6/2/58

- เวลาประมาณ 00.30 น. ได้ทำสมาธิ วันนี้ก็ทำไปเรื่อยๆ สักพักเหมือนอยู่ภวังค์จะฝันแล้วจิตติดเสพย์นิมิตความคิดความฝันทั้งๆที่รู้ตัวว่าทำสมาธิอยู่

- พอไม่นานเหมือน "สัมปะชัญญะ" เกิดขึ้นมันมีลักษณ์เหมือนมีเชือกดึงจิตและกายวูบเข้ามาในการทำสมาธิเองโดยอัตโนมัติ แล้วเหมือนดั่งว่าจิตและสัมปะชัญญะฝ่ายกุศลมันคุยกับจิตให้ดึงสติขึ้นมาว่า "ตอนนี้น่ะเรากำลังทำสมาธิอยู่นะ นี่ดึงสติมารู้ลมเข้าและออก มีสติดึงเอาวิจารที่แนบลมหายใจอยู่ดูลมหายใจอยู่นะ จากนั้นก็เกิดสภาวะรู้ว่าเรานั้นฟังเสียงลมหายใจนี้ลากเข้าและออกยาวไม่ติดขัด ไม่หายใจแรงแต่มีเสียงลมหายใจดังพอควรซึ่งเราก็อาศัยการฟังเสียงลมหายใจเข้าและออกนี้ป้องกันการตกภวังคจิตอยู่บ่อยๆ มีสติดูรู้ลมเข้าออกอยู่ตลอดเวลา ตัดความรับรู้และความคิดสิ่งภายนอกไป ส่วนวิตกนั้นคงไม่ต้องพูดถึงเพราะไอ้ที่มันคิดมันคุยอยู่นี่แหละคือวิตกตัวที่คอยไปหวนระลึกรู้ในสัญญาไรๆก็คือวิตกนี่แหละ" ที่เกิดนี้น่ะไม่ใช่คุณวิเศษ ไม่ใช่ว่ามีเทวดาพระอรหันต์มาบอกกรรมฐานทั้งสิ้น แต่นี่คือสภาวะที่ "จิตมันคุยกัน" ซึ่งสายพระป่าเราจะรู้จักกันเป็นอย่างดี เมื่อฝึกจนสัมปะชัญญะและสติมีกำลังมากขึ้นแล้วเวลาทำสมาธิเมื่อจิตจะส่งออกนอกแต่กำลังสติสัมปะชัญญะมีอยู่และมีสมาธิที่จดจ่อพอควร เช่น อุปจาระสมาธิ เป็นต้น จะเกิดสภาวะที่จิตเราเองนี้แหละระหว่างฝ่ายกุศลและอกุศลมันคุยกันดึงกันกลับมาในสภาวะทำที่เราตั้งเจตนามั่นทำอยู่ ..ดังว่าธรรมมีอยู่ ๓ คือ กุศล อกุศล อัพยกฤต.. แต่ถ้าใครเข้าไปหลงนิมิตที่เกิดขึ้นนี้แล้วหลงมั่นไปว่ามีพระอรหันต์ครูบาอาจารย์มาบอกกรรมฐานในสมาธิเกิดนิมิตเห็นภาพนั่นนี่ อันนี้พวกหลงนิมิตทางมโนภาพและทางหู ทำให้บ้าเอาได้ หลงไปว่าตนมีฌาณ มีญาณ มีอภิญญาไปจนบ้าก็มีหลายคน จากนั้นก็ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์แต่ปฏิบัติตามความหลงนิมิตตน ดังนี้

- นี่น่ะแสดงให้เห็นว่า สังขารน่ะมันก็ปรุงแต่งไปเรื่อยๆเกิดดับสืบต่อในสภาวะของมันอยู่ตลอดเวลา แต่จิตนี่สิมันรู้แค่ทีละอย่าง คือ เมื่อมันเข้ารู้สิ่งหนึ่ง ความที่จิตมันรู้อีกสิ่งอยู่ก่อนแล้วมันก็ดับไป เช่น สังขารมันปรุงแต่งในความเป็น ก. และ ข. เริ่มแรกจิตเราตั้งมั่นที่ สภาวะธรรม ก. พอสักพัก สังขารมันปรุงแต่งสภาวะธรรม ข. ขึ้นมา จิตมันก็เข้าไปยึดในสภาวะธรรม ข. แทน แล้วความรู้ในสภาวะธรรม ก. นั้นก็ดับไป ก็เพราะอาศัยสัมปะชัญญและสติเกิดขึ้นให้จิตกลับมารู้ที่สภาวะธรรม ก. ดังเดิม ทำให้จิตที่มันเข้าไปรู้ในสภาวะธรรมที่เป็น ข. ก็ดับไป ซึ่งสภาวะธรรมทั้ง 2 คือทั้ง ก.และ ข. ก็ยังคงดำเนินไปอยู่เรื่อยๆตราบเท่าที่ยังมีเหตุปัจจัยให้ดำเนินไปอยู่ แต่อยู่ที่ว่า จิตจะเข้าไปรู้ตัวไหนก็แค่นั้น จนเมื่อเหตุปัจจัยนั้นดับสภาวะธรรมนั้นจึงดับ
- หากให้รู้เห็นที่สังเกตุง่าย ก็เหมือนเราเข้านั่งขี้แล้วอ่านหนังสือการ์ตูนหรือเล่นเกมส์ในห้องน้ำไปด้วย กายมันก็ขับถ่ายไปอยู่เรื่อยๆ จิตมันก็เมามันกับการ์ตูนหรือเกมส์อยู่ พอจิตไปรู้กายว่าตนขี้ก็รู้ว่าตนขี้อยู่จิตที่รู้เรื่องราวในหนังสือการ์ตูนหรือเกมส์ก็ดับ พอจิตไปรู้ที่เกมส์หรือการ์ตูนที่อ่านจิตก็รู้ว่าตนอ่านการ์ตูนหรือเล่นเกมส์เรื่องใดสิ่งใดอยู่แล้วความที่เข้าไปรู้ว่าว่าตนกำลังขี้ ขี่้กำลังไหลออกผ่านลำไส้ออกรูทวารก็ดับ พอหมดอาหารเก่าก็แสดงว่าขี้สุดแล้วเสร็จแล้วหมดเหตุปัจจัยจะขี้แล้ว พออ่านการ์ตูนจบหน้าที่ตนดูมันก็เสร็จกิจในเรื่องราวนั้นแล้ว พอเล่นเกมส์เสร็จมันก็เสร็จกิจในการรู้เรื่องราวในเกมส์นั้นแล้ว นี่คือหมดเหตุปัจจัยให้มันดำเนินไปแล้วสิ่งนั้นๆมันก็ดับไป
- เมื่อสิ่งใดที่ดับไปนานแล้ว ไม่มีเหตุปัจจัยดำรงอยู่แล้ว เราจะกลับมารู้ความรู้สึกนั้นอีกทีก็ด้วย "วิตก+สัญญา" เมื่อสิ่งนั้นไม่ได้ดำเนินอยู่แล้วมันก็แค่สมมติโดยสัญญาและสังขารมีให้เกิดขึ้นนั่นเอง เรียกว่า ความหวนระลึก

ถ้าเปรียบสภาวะธรรมนั้นๆก็คือ เปรียบสภาวะธรรม ก. เป็นการบริกรรมพุทโธและรู้ลมหายใจเข้าออก เปรียบสภาวะธรรม ข. เหมือนจิตที่ส่งออกนอก โดยเริ่มแรกนี้จิตเราตั้งเจตามั่นที่จะทำใน พุทโธ รู้ลมหายใจเข้าและออกอยู่ พอจิตส่งออกนอกจิตเข้าไปจับในอารมณ์นั้นรู้และเสพย์อารมณ์นั้นแทน ความเข้าไปรู้กายใจว่าตนกำลังทำสมาธิอยู่กำลังดำเนินไปอย่างไรอยู่นั้นก็ดับไป แต่เมื่อยังมีเหตุปัจจัยในสภาวะธรรมที่เราทำสมาธิรู้ลมหายใจบริกรรมพุทโธนั้นยังมีอยู่สภาวะนั้นก็ยังดำเนินต่อไปสืบอยู่ เมื่อเกิดสัมปะชัญญะและสติกลับรู้อีกทีสภาวะธรรมนั้นๆจึงยังดำเนินไปอยู่ ส่วนสภาวะธรรมที่จิตส่งออกนอกนั้นเรื่องราวนั้นดับไปแล้วหมดแล้วเหตุปัจจับให้สืบต่อเรื่องราวที่ส่งออกนอกนั้นไม่มี เรื่องราวปรุงแต่ที่ส่งออกนอกที่จิตเข้าไปรู้ในตอนนั้นจึงดับไปไม่มีอีก พอมันจะส่งออกนอกอีกก็กลายเป้นเรื่องใหม่แล้วดังนี้




ต่อมา..พอเมื่อเข้าสมาธิสงบใจได้บ้างแล้วก็หมายจะระลึกพิจารณาในทวัตติงสาปาฐะ อาการทั้ง ๓๒ ประการ แต่จิตมันก็ไม่อยู่ในสิ่งนั้น กำหนดขึ้นไม่ถึงนาทีก็ดับ กำหนดขึ้นก็ดับอีก บังคับให้มันเห็นในอาการทั้ง ๓๒ ก็ไม่ได้ แต่มันกลับไปกำหนดเกิดเป็นวงกสินแสง คือ อาโลกะกสินแทน บังคับเล็กใหญ่ได้ ตั้งวงได้ แต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเพราะสุดท้ายเมื่อเพ่งกสินแล้วหลวงปู่ฤๅษีท่านสอนว่า ถ้าจะพ้นทุกข์ก็ต้องยกกลับมาที่อานาปานสติดังเดิม กสินนั้นเป็นเพียงฐานให้จิตตั้งมั่นให้คนที่ฟุ้งมากนั้นมีจิตจดจ่อได้ง่าย เป็นต้น แล้ววงกสินนั้นก็ดับไป
พอเราหวนระลึกพิจารณาดูแล้วก็เห็นว่า สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้ไม่เที่ยงเนาะ มันอยู่ได้ไม่นาน ไม่มีตัวตน บังคับไม่ได้ มันเกิดดับและเป็นไปของมันเองมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา หาประโยชน์ไรๆไม่ได้ มันจะเกิดสิ่งเราเราก็แค่มีไว้ระลึกรู้และใช้ประโยชน์จากมันให้เข้าถึงทำเท่านั้น ซึ่งเราจะใช้ประโยชน์และสักแต่ระลึกรู้เท่านั้นมันได้ก็ต้องอาศัยการฝึกในกรรมฐานทั้ง ๔๐ นี้แหละ พอหวนระลึกด้วยสัญญาไปอีกก็ให้เห็นนิมิตเรื่องราวว่า เพราะเราเพิ่งไปฟังมาอย่างนี้ๆว่าเข้าสมาธิต้องเห็นแสงอย่างนั้นอย่างนี้จึงจะยกจิตเข้าฌาณได้ ด้วยสัญญานั้นนั่นแหละเป็นการสะกดจิตตนเองให้จดจ่อตั้งเจตนาไว้ ณ ที่นั้นอย่างนี้น ดั่งหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ท่านว่า ไอ้ที่ว่าทำสมาธิแล้วเห็นนั้นเห็นนี่ ต้องเห็นนั่นเห็นนี่นี่ ไปฟังจดจำสัญญาเอามาทั้งนั้นจนเป็นการสะกดจิตตนเองว่าต้องเห็น พอไม่เห็นก็ทำสมาธิไม่ได้อย่างนี้เป็นต้น

ดังนั้นไม่ว่าสิ่งใดจะเป็นอภิธรรมก็ดี พระไตรปิฏกก็ดี เมื่อฟังเมื่ออ่านแล้ว ก็รู้อยู่ที่นั้นเท่านั้น เมื่อจะทำสมาธิก็ให้ทิ้งสิ่งเหล่านั้นเก็บลงหีบทิ้งไปเสีย มันไม่ได้เอามาใช้กับสมาธิ เมื่อได้สมาธิสิ่งเหล่านั้นก็จะเห็นตามจริงของมันเอง แม้ไม่ได้ศึกษาอ่านพระไตรหรืออภิธรรมทั้งหมดก็เข้าถึงได้ด้วย มรรคญาณ อันเป็นหนทางเข้าไปสู่ ปัญญาณาณ







หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กุมภาพันธ์ 09, 2015, 11:56:17 AM

บันทึกกรมมฐาน วันที่ 8/2/58

วันนี้ปล่อยผ่อนคลายมาตั้งแต่วันที่ 7/2/58 "แต่การผ่อนคลายไม่ได้ปฏิบัติธรรมของเรานั้นคือ ความเจริญกายและใจมีใน ศรัทธาพละ,วิริยะพละ,พรหมวิหาร๔,ทาน,ศีล ๕ (ปกติจะถือ "กรรมบถ ๑๐" กับ ศีลข้อ "อะพรหมจะริยาเวระมะณี สิกขา" เพราะช่วยให้เรานั้นไม่หมายเอาภัณฑะอันเป็นบุคคลอันเป็นที่รักของผู้อื่นและไม่ทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน แม้จะถือเอานิมิตต่อบุคคลอันน่าใตร่น่าปารถนานำมาบุคคลอันเป็นที่รักของผู้อื่นนั้นมาแกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อนก็ผิดแล้ว) สติปัฏฐานใน กาย เวทนา จิต ธรรม ความรู้ตัวทั้วพร้อมในสัมปะชัญญะ ทั้งอิริยาบถและกิจการงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน พึงรู้ลมหายใจเข้าออกและภาวนาพุทโธไปตามสติกำลังที่จะระลึกได้ตอนไหนก็ทำตอนนั้น เพื่อให้ตนนั้นถึงซี่งความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานตามพระสัพพัญญูเจ้านั้น เพียงแต่ไม่เจริญเข้านั่งสมาธิเป็นกิจลักษณะเท่านั้น"

เมื่อดำเนินไปอยู่เดินๆอยู่รู้ลมหายใจมีสัมปะชัญญะ "พิจารณาภายในตนว่าเรานี้ โทสะและราคะมีมาก" ถ้าดำรงชีพในการงานอยู่โดยไม่ได้ทำสมาธิจะใช้สิ่งใดละได้ ข่มใจได้ สงบใจได้ สละคืนได้ ก็เกิดความคิดแวบหนึ่งที่เป็นไปในสมถะเข้ามาพิจารณาร่วมกับคำสอนของหลวงปู่บุญกู้ที่ว่า
- ละเบียดเบียนนี้เป็นศีล
- ละโลภนี้เป็นทาน
- หากเรามีพรหมวิหาร๔ ทำไว้ในใจตั้งความเอ็นดูอันมีจิตน้อมไปในการสละต่อผู้อื่น ย่อมเกิดเป็น "อภัยทาน" ที่แท้จริง ที่บริบูีรณ์ เพราะประกอบด้วยศีล+พรหมวิหาร๔+ทาน
- ด้วยเราเป็นผู้ทีโทสะและราคพจริตเป็นอันมาก เราพึงเจริญวิโมกข์ ๘ เป็นเบื้องหน้าด้วยความมีศีลอันงามเป็นฐาน เพราะวิโมกข์ ๘ ของพระตถาคตนั้นพึงเห็นเป็นของเสมอกัน เอ็นดูเขาเสมอตน เห็นงามเสมอกัน เป็นธาตุเสมอกัน เป็นขันธ์เสมอกัน แล้วแผ่เมตตาความเอ็นดูปารถนาดีอันน้อมไปในการสละสงเคราะห์ออกไปสู่ทุกสิ่งทุกอย่างด้วยกิริยาจิตอันนั้น นี่เป็นเมตตาสมาธิ อันมีศีลและฉันทะสมาธิเป็นเหตุ




จากนั้นก็พิจารณาว่า ครูบาอาจารย์นี้ บางสำนักท่านให้รู้ตามเท่านั้น บางสำนักท่านให้รู้จักขัดใจอดทนอดกลั้นให้เกิดมีในขันติและโสรัจจะ เป็นอินทรีย์สังวรณ์ ซึ่งแต่ละสำนักสอนต่างกันตามแต่จริตวิธีในแต่ละครูบาอาจารย์ ตัวเราเองก็ทำแล้วทั้ง 2 อย่างนี้ ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง อะไรหนอที่เป็นทางสายกลางของ 2 อย่างนี้ทำให้เข้าถึงจริตเราได้ง่าย เราจะอาศัยอะไรหนอให้กุศลเกิดขึ้นละนิวรณ์
แล้วเราก็ได้พึงเห็นว่าเมื่อเราดำรงชีพอยู่นี้เราให้ความสำคัญกับสิ่งใดมาก จิตย่อมน้อมไปใจสิ่งนั้นมาก เหมือนเมื่อสมัยเราจะอดเหล้าเราก็เห็นความสำคัญใจในเหล้านั้นมีขึ้นแก่จิตเรามากจนเกิดความทะยานอยากอย่างแรงกล้า จนเมื่อเรานี้อาศัยเจตนาอันอดทนอดกลั้นอย่างแรงกล้าประกอบกับความตามรู้สภาวะธรรมอันสมมติในตนบ้าง ก็เกิดปัญญาทางโลกียะขึ้นให้เป็นไปในสมถะเครื่องแห่งกุศล "เกิดสภาวะที่อาศัยซึ่ง ทมะ คือ ความข่มใจจากกิเลส และ อุปสมะ คือ สงบใจจากกิเลส อันเกิดแต่กุศลวิตกนั้น" นั่นคือ

๑. เริ่มจากที่เรานั้นพยายามเจริญสติสัมปะชัญญะและทำสมาธิให้มากมีความตั้งมั่นในศีลกำกับอยู่ จนเริ่มระลึกรู้เท่าทันความอยากเหล้าในตน แล้วตั้งมั่นที่พุทธานุสติเพื่อให้ตนนั้นได้สงบรำงับจากกิเลสเครื่องเร่าร้อนที่มีขึ้นอยู่นี้นับครั้งไม่ถ้วน แล้วก็ปักหลักที่ลมหายใจเข้าออกเพื่อดึงสติสัมปะชัญญะของเรากลับมา จนเห็นความพอใจยินดีและไม่พอใจยินดีที่ตนมีต่อเหล้า
๒. จากนั้นเรามีความคิดพิจารณาเห็นคุณและโทษของเหล้า ซึ่งคุณขิงเหล้านั้นมันแค่เสพย์สุขตามความลุ่มหลงยินดีของตนที่ได้รับจากความมึนเมาในมันเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่มันทำให้เราลำบากเพียงไรเป็นบ้าทำร้ายชีวิตตนและบุคคลที่เรารักมามากเท่าไร
๓. พิจารณาทบทวนเห็นโทษของกิเลสอันเกิดทีขึ้นที่เรานั้นได้รับเมื่อกินเหล้า เห็นโทษของราคะและโทสะที่เกิดขึ้นแก่เราเมื่อกินเหล้านั้นมันผลาญทำลายชีวิตเราให้พังลงมามากเพียงใด ทุกข์มากขนาดไหน ที่ผ่านมานั้นตนต้องสูญเสียอะไรไปมากเท่าไหร่เพื่อแลกกับความสุขเพียงชั่วคืน จนเกิดความรู้สึกสงสารตนเองที่ต้องมาทุกข์เพราะเหล้า
๔. แล้วน้อมจิตให้เกิดเมตตาเอ็นดูปารถนาดีอันน้อมไปในการสละให้ตนและบุคคลอันเป็นที่รักนั้นได้พ้นจากทุกข์ ด้วยทมะความคิดดีออกจากยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ประกอบด้วยทุกข์ จนเห็นโทษของเหล้ามีจิตสงสารตนเองที่หลงไปเสพย์สุขจากมันเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่มันทำให้เราลำบากเพียงไรทำร้ายชีวิตตนและบุคคลที่เรารักมามากเท่าไรต้องอยู่อย่างทรมานแค่ไหน แล้วจิตก็เกิดอุปสมะความสงบใจจากกิเลสความอยากกินเหล้านั้น เกิดจิตที่เป็นสุขยินดีเมื่อตนได้พ้นจากความอยากอันเป็นโทษนั้น มีความวางเฉยต่อราคะและโทสะถึงอุเบกขาที่ควรเสพย์ดังนี้


- จากวันนั้นผ่านก็ก็นานหลายเกือบปีแล้วที่เราไม่ให้ความสำคัญกับเหล้าแม้จะยังมีความอยากอยู่แต่เราก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความคิดนั้นๆ จึงไม่จำเป็นต้องกินเหล้าอีก ดังนี้แล้ว "การละความสำคัญมั่นหมายของใจ จึงเป็นทางระหว่างกลางของความมีสติระลึกรู้ตามและขันติ ดังนั้นแล้วเมื่อเราดำรงชีพอยู่กำลังทำกิจการงานหรืออยู่กับบุคคลรอบข้าง บุคคลที่เรารักทั่วไปตามปกตินี้ เราควรพึงเจริญปฏิบัติทำไว้ในใจตั้งมั่นที่จะดำรงกายใจใน


ก. ศีลสังวร
   คือ ความระลึกรู้สำรวมระวังในศีล
ข. ทมะ+อุปสมะ
   คือ ธรรม ๒ เป็นธรรมคู่อันงาม เจริญให้มากด้วยอาศัยกุศลวิตกคิดออกจากทุกข์อันเกิดแต่ความเห็นจริงในทุกข์นั้น
ค. วิโมกข์ ๘
   คือ อบรมสมาธิ โดยอาศัย พรหมวิหารเจโตวิมุตติวิธี จนถึงซึ่ง ฌาณ ๙
ง. อากาศธาตุ..สลาย..วิญญาณธาตุ
   คือ ละยึดมั่นถือมั่นในวิญญาณขันธ์ไม่เอาจิตไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่จิตรู้-คิด-เสพย์ในอารมณ์ทั้งปวงเพราะมันเป็นสมมติที่กิเลสสร้างขึ้นหลอกให้จิตเสพย์แล้วลุ่มหลงยึดเป็นตัวตนทั้งนั้น หรือ ทำให้ตนให้เป็นประดุจดั่งอากาศธาตุอันมีลักษณะที่ว่าง ไม่ยินดียินร้ายต่อสิ่งใด มีแต่ความว่างเปล่าไม่มีประมาณมาตั้งไว้ในจิต ดั่งที่พระตถาคตตรัสสอนพระราหุลเถระใน ราหุโลวาทะสูตร เป็นการสลายธาตุในกรรมฐานโบราณ คือ มัชฌิมาแบบลำดับ เข้าสลายวิญญาณธาตุที่รู้เสพย์และยึดในสมมติที่สังขารเข้าปรุงแต่งนั้น

เมื่อเจริญธรรมทั้ง ๔ นี้ควบคู่กันย่อมถึง ขันติ+โสรัจจะที่แท้จริงเป็น อินทรีย์สังวรณ์อันบริบูรณ์






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กุมภาพันธ์ 09, 2015, 04:16:30 PM

บันทึกกรมมฐาน วันที่ 9/2/58

- วันนี้เจริญธรรมปฏิบัติเหมือนดังวันที่ 7 และ 8 กุมภาพันธ์ 2558 เมื่อว่างจากงานได้นั่งอยู่ ณ ที่หนึ่งแล้วเจริญสมาธิรู้ลมหายใจเข้าออกตามปกติที่ทำอยู่ ใฝ่เจตนาในความไม่ยึดเอาสิ่งใดทั้งปวงที่จิตรู้ ก็เกิดหวนระลึกถึงนิมิตที่นิ่งว่างสว่างนวลเหมือนตอนที่อยู่ในฌาณนั้น ที่มีแต่สติกับอุเบกขาเท่านั้นอยู่ จากนั้นลมหายใจเบาลง เกิดความคิดอยากจะเห็นทุกอย่างเป็นสภาวะธรรมทั้งปวงเหมือนที่เราเคยได้สัมผัสนั้นอีก มันก็เกิดความปรุงแต่งนิมิตตน เหมือนกับสภาวะธรรมที่ตนเคยเห็นแต่ว่ามันเป็นสีเหลืองลักษณะเหมือนน้ำ ซึ่งก็ให้แปลกใจว่าเพราะสิ่งใดหนอ จะบังคับให้ไปเป็นในอสุภะก็ไม่ได้ เมื่อใจมันไม่มีตัวตนบังคับไม่ได้ ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ก็ได้แต่ดูนิมิตนั้นนิ่งอยู่ปล่อยเลยตามเลย โดยดูแล้วตั้งสติสัมปะชัญญว่าเพ่งกสินสีเหลืองอยู่ประมาณนั้น แต่ที่ต่างคือมันมีสภาวะที่เป็นน้ำก็แค่นั้น จากนั้นก็เลิกทำสมาธิ

- จากนั้นเราก็มามองดูสภาวะภายในกายตนว่า ทุกวันนี้ร่างกายเราเสื่อมโทรมไปมาก เรี่ยวแรงเริ่มหดหาย อาการเจ็บป่วยมีมากขึ้น เราจะทำอย่างไรให้เห็นปัญญาในกายตนได้หนอเพราะไม่รู้จะตายเมื่อไหร่ "พอรู้ตัวทั่วพร้อมระลึกถึงสภาวะของกายตนแล้ว ก็เกิดนึกถึงความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปขึ้นมา ไม่เที่ยงไม่คงอยู่ได้นาน แล้วจิตมันก็เกิดวิตกอุปมาเปรียบเทียบร่างกายของเรานี้ ประดุจดั่งประสาทเรือนหนึ่ง เป็นปราสาทที่สร้างขึ้นด้วยอิฐศิลาแลงมีสีแดงเข้มเหมือนสีเลือด พอผ่านวันเดือนปีไปไม่นานมันก็เริ่มผุพังย่อยลงไป จนปราสาทนั้นแตกพังลงแล้วสลายไปในที่สุด ก็เกิดนิมิตเข้ามาเห็นในกายตนนี้แล เห็นอวัยวะทั้งหมดในอาการทั้ง ๓๒ ที่รวมๆกองธาตุทั้ง ๕ อยู่นี้ ค่อยๆผุพังแล้วย่อยสลายไปเหมือนปราสาทอิฐศีลาแลงนั้นไม่ต่างกัน" ก็เกิดความหน่ายอยู่ขณะหนึ่ง แล้วกลับเกิดเบื่ออยากพักผ่อน อยากอยู่เงียบๆเฉยๆไม่เข้ายึดสิ่งใด ต่อมามีสติเข้ารู้เหตุการณ์นี้ ซึ่งเราเคยเกิดมีมาแล้วเป้นอาการที่ถูกโมหะมันหลอก เมื่อรู้ดังนั้นแล้วเราก็ให้จิตจับลมหายใจเอาไว้เป็นฐานกำลังให้สติ จึงเห็นว่า

๑. เมื่อจิตมันจะคิด มันจะเห็น มันก็เป็นไปของมันเองฝืนบังคับมันมากก็ไม่ได้ สิ่งนี้นั้นมันสักแต่มีไว้ระลึกรู้ไม่ได้มีไว้เสพย์ ดั่งพระสัพพัญญูเจ้าสอน เพียงแค่เรารู้สภาวะมันตอนนั้นแล้วทำให้เกิดสติสัมปะชัญญะ มีจิตจดจ่อควรแก่งานได้ มันก็จะเกิดความเป็นไปในสภาวะธรรมให้เห็นเอง สามารถใช้ประโยชน์จากสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นนั้นได้ตามจริง แต่ว่าจะเห็นได้ก็ต้องอาศัยการฝึกจนเกิด พละ ๕ ให้มีอินทรีย์แกร่งกล้า

๒. เมื่อคราวต่อไปหากเราหมายจะพิจารณากายให้เห็นสภาวะธรรมในกายเรา อันที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า "เห็นกายในกายตน" ให้ได้บ่อยๆเนืองๆจนเกิดความเบื่อหน่ายได้นั้น ด้วยจริตของเรานี้ก็ต้องจดจำนิมิตและสภาวะธรรมในครั้งนี้ไว้ให้มั่น จำสภาวะธรรมอันปรุงแต่งกำหนดนิมิตขึ้นมาให้ได้ จดจำและกำหนดนิมิตเราให้เห็นว่ากายเราประดุจดั่งปราสาทหินศิลาแลงสีแดงเข้มเรือนนี้ไว้ ที่มัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แตก ผุพัง สุญสลายดับหายไปในที่สุด ไม่เที่ยง ไม่คงอยู่นาน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีตัวตน เป้นทุกข์ ดังนี้



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กุมภาพันธ์ 14, 2015, 09:22:27 AM

บันทึกกรมมฐาน วันที่ 12/2/58


- วันนนี้ได้ไปใส่บาตร หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน ในยามเช้า 7.00 น. เมื่อใส่บาตรเสร็จหลวงปู่ได้บอกกับเราว่า ทานนี้มีเยอะแล้ว ทานครั้งนี้มีผลมาก นี่น่ะจะรวยแล้วนะ รวยแล้วๆๆๆ ซึ่งใส่บาตรหลวงปู่มาตลอดเวลาตั้งแต่ประมาณเดือน กรกฏาคม-สิงหาคม ไม่เคยได้ยินหลวงปู่พูดอะไรกับเราเลย นอกจากเวลาที่เราทำกรรมฐานหลวงปู่ ทำให้เรามีความแช่มชื่นปราโมทย์ เกิดความอิ่มใจเป็นสุขเป็นอันมาก
- พอเราใส่บาทเสร็จหลวงปู่ก็จัดดอกไม้ธูปเทียนขึ้นกุฏิ ส่วนตัวเราคาดว่าาหลวงปู่ขึ้นทำวัตรและเข้านิโรธสมาบัติโปรดมนุษย์ หมู่สัตว์ และ เทวดาทั้งหลาย ช่วงรอหลวงมาจังหันเช้า เราจึงได้ไปที่หลังกุฏิหลวงปู่แล้วนั่งสมาธิรอ วันนี้เหมือนมีสิ่งให้เร่าร้อนใจทำสมาธิไม่ได้พอจะสงบก็มีเกตุให้เร่าร้อนวูบออกตจากสมาธิทุกครั้ง หาความสุขสงบเป็นเหตุให้เกิดสมาธิไม่ได้(สมาธินี้เกิดจากปัสสัทธิ ปัสสัทธิเกิดจากความสุข ความสุขเกิดจากปิติ ปิติเกิดจากปราโมทย์ ปราโมทย์เกิดจากความไม่เร่าร้อน ความไม่เร่าร้อนเกิดจากศีล ซึ่งฝ่ายอภิธรรมปริยัติที่เจริญโดยขณิกสมาธิและปัญญาทางโลกจะไม่รู้จักในส่วนนี้ซึ่งผมเจอมากับตัวเอง แต่ถ้าผู้ปฏิบัติกรรมฐานจะรู้จักกันดีโดยเฉพาะสายพระป่าเจโตวิมุตตินั้นจะรู้จักกันดี)
- เมื่อไม่เกิดสมาธิไรๆเราจึงได้ไปเดินจงกรมที่หน้ากุฏิท่าน แล้วระลึกถึงหลวงปู่บุญกู้ อนุวัฒฑโน ระลึกถึงปฏิปทาดีงามของหลวงปู่ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบปฏิบัติตรงปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์แล้วและคำสอนของหลวงปู่ ที่คอยพร่ำสอนและเน้นให้อยู่ใน ศีล ทาน ภาวนา เสมอๆ เพราะท่านทรงด้วย ศีล ทาน ภาวนาอันบริสุทธิ์ดีงามตามพระพุทธเจ้าองค์พระบรมศาสดาผู้เป็นพระสัพพัญญูเจ้าซึ่งประกอบด้วยวิชชาและจรณะอันงดงามบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงดีแล้ว เมื่อเรากราบไหว้ท่านผู้เป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าอยู่ เราก็ควรประพฤติตามใน ศีล ทาน ภาวนา ที่ท่านถือปฏิปทอันบริบูรณ์แล้วนั้นตาม เพื่อเข้าถึงซึ่งคุณแห่งวิชชาและจรณะตามพระตถาคตเจ้านั้น
- เมื่อระลึกถึงปฏิปทาของหลวงปู่และคำสอนของหลวงปู่ดังนี้ให้เป็นสังฆานุสสติแล้ว จิตก็เริ่มคลายในความฟุ้งซ่านแล้วสงบลง เราจึงสำรวจดูศีลในตนตั้งแต่ตื่นนอนมาถึงศีลข้อที่เราให้ความสำคัญใจเป็นอันมาก ที่ได้ทำมาบริสุทธิ์บริบูรณ์ดีพร้อมแล้ว จึงไปสำรวจศีลของตนที่เหลือจนครบในกรรมบถ ๑๐ ก็เกิดความแช่มชื่นสบายกายใจจนถึงความสงบมีสมาธิขึ้นมาบ้าง ก็ประขจวบเหมาะเป็นเวลาที่หลวงปู่นั้นจังหันเช้าเสร็จ

   เราจึงได้เข้าไปกราบหลวงปู่ปุญกู้ อนุวัฒฑโนว่า "หลวงปู่ครับ ผมขอถึงหลวงปู่เป็นครูบาอาจารย์อุปัชฌาย์ผู้สอนสั่งกรรมฐานของผมอีกท่านหนึ่งเถิด เนื่องจากวันนี้ผมทำสมาธิไม่ได้เลย จนเมื่อระลึกถึงหลวงปู่เป็นสังฆานุสสติ ระลึกว่าผมได้เรียนกรรมฐานได้รับคำสอนของหลวงปู่ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้ามาอย่างนี้ หลวงปู่ได้เป็นผู้มีปฏิทาถึงพร้อมด้วยสิ่งนั้นที่หลวงปู่สอนมาดีแล้ว ระลึกว่าผมก็ได้ร่ำเรียนมาจากหลวงปู่แล้วเพียรเจริญแล้วและสำรวจดูศีล ทาน ภาวนาของตนตามที่หลวงปู่สั่งสอนว่าวันนี้ได้เจริญมาดีแล้วบริบูรณ์ดีแล้ว ก็พลันยังจิตผมให้เข้าสู่ปัสสัทธิอันมีสมาธิกำกับอยู่เกิดขึ้น จนถึงแม้ตอนนี้ความสงบนั้นก็ยังเกิดอยู่ปกคลุมอยู่ ผมขอหลวงปู่เป็นครูบาอาจารย์สอนกรรมฐานผมเถอะครับ"

   หลวงปู่จึงตอบว่า "อืมๆๆ พร้อมพยักหน้ารับบอกเป็นอย่างนั้น ตามนั้นแหละ"

   จากนั้นเราจึงได้ถามและแจ้งผลกรรมฐานกับหลวงปู่ว่า "เมื่อวันที่ 5/2/58 ที่ผมมากราบขอกรรามฐานหลวงปู่ ผมพยายามไม่นอนเลยระลึกว่าถือเนสัญชิก แต่ร่างกายมันไม่ไหวเพราะถ้าไม่นอนก็ครบ 2 วันพอดี จึงได้คิดว่าหลับสัก 30 นาทีคงไม่เป็นไร เลยเอนตัวลงนอน จิตมันก็คลาย แล้วทำสมาธิก่อนนอนตามปกติที่ทำอยู่ทุกวัน ก็พลันเข้าไปเกิดรู้เห็นสภาวะธรรมและนิมิตอันว่าง เป็นทีละขณะๆๆ ทำให้เห็นว่านอกจากตอนที่จิตรู้ผัสสะนั้นแล้วที่เหลือเป็นสมมติทั้งหมดเพราะอาศัยเจตนา วิตกสังขารเข้าไปหวรระลึกรู้สัญญาในสิ่งนั้นๆ สืบต่อให้เกิดสมมติบัญญัติ แล้วสมมติเรื่องราวทั้งปวงก็เกิดขึ้น ณ ที่นั้น ด้วยนิมิตและการรู้อย่างนี้แล้วถ้าผมไม่หลงไป แล้วสภาวะธรรมนั้นเป็นของจริง แสดงว่า หลังจากที่เรารู้ผัสสะแล้วก็เป็นสมมติทั้งหมดใช่ไหมครับ"

   หลวงปู่ตอบว่า "มันมีทั้งจริงและไม่จริง หากเรายังไม่แน่ใจในสิ่งที่รับรู้นั้นว่าจริงไม่จริง (โดยที่เรานั้นไม่ติดนิมิตไม่ลุ่มหลงนิมิตไม่ถือมั่นเอานิมิต) ให้ละนิมิตนั้นเสีย ถอยออกมาก่อน แล้วกลับมาอยู่ที่สมาธิจนมันสงบตั้งมั่นดีแล้วค่อยกลับไปพิจารณาดูมันใหม่ ก็จะเห็นจริงได้"


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กุมภาพันธ์ 14, 2015, 10:07:03 AM

บันทึกกรมมฐาน วันที่ 13/2/58

ทบทวนข้อปฏิบัติกรรมฐานหลังรู้จักอริยะสัจ ๔ แล้ว เพื่อเจริญรอยตามให้เข้าถึงซึ่ง คุณอันว่าด้วย วิชชาและจรณะ ของพระตถาคตเจ้า




ขั้นที่ ๑

1. กรรมบถ ๑๐ + อพรหมจริยา เวระมณีสิกขา หรือ ศีล ๘ เพื่อเป็นฐานแห่งกุศล ทำให้มีสติสัมปะชัญญะระลึกรู้ในศีลกำกับอยู่เสมอ ทำให้ทานบริบูรณ์ ทำให้เกิดสมาธิจดจ่อมากขึ้น จนเข้าถึงใน จรณะ ๑๕
2. ทาน คือ การสละให้
3. พรหมวิหาร ๔ ทำให้ศีลและทานบริบูรณ์ ไม่คับแค้นขัดเคืองใจ ไม่เศร้าหมอง ไม่ใจร้อน ไม่เร่าร้อน เอื้อในการภาวนา
4. ทำสมาธิ "พุทโธ" เป็นพุทธานุสสติ บริกรรมตามลมหายใจเข้าออก โดยมีอานาปานสติรู้ลมหายใจเข้าและออกนั้น เป็นการให้จิตรู้กายสังขารตามจริง ตั้งเป็นหลักให้พุทโธมีกำลังมากตามที่ท่านพ่อลีสอนไว้
5. แผ่พรหมวิหารโดยเจริญใน วิโมกข์ ๘

เจริญจนได้อัปปนาสมาธิอันยังความว่างมีวิตกวิจารอยู่เป็นขั้นต่ำ แล้วจะเจริญพิจารณา อสุภะ ทวัตติงสาการ หรือ จตุธาตุววัตถาน ก็ได้ อันนี้เป็น กายานุสติปัฏฐาน



ขั้นที่ ๒

6. เมื่อยามใช้ชีวิตปกติให้เจริญสัมปะชัญญะ รู้อิริยาบถตน รู้กิจการงานที่ตนทำในปัจจุบันรู้สภาวะกายตนไป ประกอบร่วมกับ รู้ว่าตอนนี้ตนเป็นสุขหรือทุกข์หรือเฉยๆทางกายและใจ๑ และ ตอนนี้ตนนั้นมีความคิดที่เป็นกุศลหรืออกุศลอยู่๑ เมื่อมีสติสัมปะชัญญะรู้กายใจตนในขณะนั้นเสร็จแล้ว ก็ให้มีสติในพุทโธเป็นเบื้องหน้ากำกับเจริญรู้ลมหายใจเข้าออกของตนที่กำลังดำเนินไปอยู่ในปัจจุบันขณะเพื่อให้มีจิตตั้งมั่นพอจะรู้เท่าทันสภาวะจิต
7. เมื่อรู้สภาวะจิตตนว่าเป็นสุขหรือทุกข์หรือเฉยๆจนทันในปัจจุบันขณะนั้นแล้ว ก็ให้พิจารณาเห็นความพอใจยินดีและไม่พอใจยินดีในตน(ฉันทะและปฏิฆะ)๑ และ เมื่อรู้สภาวะจิตตนในปัจจุบันนั้นว่าเป็นกุศลหรืออกุศลจนชัดเจนแล้ว ก็ให้เจริญจิตรู้ต่อว่าเป็น โลภะ(กามฉันทะ นันทิ ราคะ) โทสะ โมหะ ที่เรานั้นเสพย์อารมณ์ความปรุงแต่งนั้นอยู่๑
8. เมื่อรู้สภาวะจิตต่างๆในตนจนเป็นที่แน่นอนแล้ว ก็ให้เจริญรู้อาการความรู้สึกของจิตในสภาพจริงๆในสภาวะจิตนั้นโดยปราศจากความตรึกนึกคิดเอา เจริญไปเรื่อยๆจนรู้ทันจิตแม้จะมีอาการที่เป็นลักษณะอาการเหมือพุ่งขึ้น หรือ เกิดนิมิตเป็นแสงพุ่งขึ้นเหมือนพุก็รู้ว่าคืออะไรกิเลสตัวใดมารายล้อมให้จิตเสพย์ แต่เรารู้แล้วมันก็ดับไป ไม่ปรุงแต่งสืบต่อ
9. พิจารณาว่าในแต่ละวันนั้นเราได้เจอสภาวะธรรมอาการความรู้สึกอย่างไรบ้างในแต่ละวัน

เจริญจนได้จิตอันผ่องใสเบิกบาน รู้ทันอาสวะกิเลสที่เกิดมีขึ้นในปัจจุบันขณะ รู้เห็นตามจริงในสภาพปรมัตถธรรม เห็นทางเข้าสู่อุเบกขาจิตตามจริงจนละความพอใจยินดีและไม่พอใจยินดีได้ อันนี้เป็น เวทนานุสติปัฏฐาน และ จิตนานุสติปัฏฐาน



ขั้นที่ ๓

10. พละ ๕ คือ ศรัทธาพละ วิริยะพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ
11. ทำสมาธิ "พุทโธ" เป็นพุทธานุสสติ บริกรรมตามลมหายใจเข้าออก โดยมีอานาปานสติรู้ลมหายใจเข้าและออกนั้น ตั้งเป็นหลักให้พุทโธมีกำลังมากตามที่ท่านพ่อลีสอนไว้ แม้เวลาทำกิจการงานอยู่ก็รู้ลมหายใจหรือมีพุทโธให้มากที่สุดเท่าที่จะมีกำลังระลึกได้
12. อสุภะในภายนอกโดยสัญญา คือ อสุภะ ๑๐ และ ทวัตติงสาการอสุภะภายในกายตน (อาการทั้ง ๓๒ ประการ เป็น ปฏิกูลบรรพ)
13. จตุธาตุววัตถา จนถึง ธาตุ ๖ กรรมฐาน ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธา วิญญาณ
14. ไม่ยึดมีั่นถือมั่นในวิญญาณขันธ์ หรือ วิญญาณธาตุ หรือ จิต โดยรู้ตามจริงว่า จิตรู้ทุกสิ่ง แต่สิ่งที่มันรู้คือสมมติทั้งหมด ถ้ายังมีเจตนา+วิตก+สัมญญา สิ่งที่เกิดรู้ก็คือสมมติทั้งนั้น จนเกิดปัญญาเพื่อถอนใจที่ยึดครองธาตุนั้นๆที่มีในกายออก เกิดสติสัมปะชัญญะไม่ถือเอาแม้วิญญาณธาตุ ด้วยเห็นไตรลักษณ์และความเข้ายึดสมมตินั้นของมัน เป็น จิตเห็นจิต
   - ถ้าเข้าถึงตรงนี้ได้ จะเกิดความเห็นชอบสงเคราะห์ลงใน อริยะสัจ ๔ จะทำให้ศรัทธาพละในพุทโธมีมาก เพราะเห็นทุกสิ่งเป็นสมมติ แล้ว พุทโธ คือ ผู้รู้สมมติอันลุ่มหลงโดยโมหะ ผู้ตื่นสมมติอันลุ่มหลงโดยโมหะ ผู้เบิกบานด้วยตัดขาดจากสมมติอันลุ่มหลงโดยโมหะ สิ่งนี้เป็นคุณของพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่มีค่ามาก ทรงคุณค่า วิตกว่า พุทโธ คือ กุศลวิตก เป็นสัมมาสังกัปปะ คู่กับลมหายหายใจซึ่งเป็นของจริงที่มีอยู่ในกาย ซึ่งเป็นกายสังขาร ให้จิตจับที่ลมหายใจนี้ คือ หาการงานชอบของจิตทำ เป็นต้น จนเห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของสภาวะธรรม ทั้งหมดนี้เป็นธรรมมานุสติปัฏฐานทั้งหมด
15. แยก กาย เวทนา สัญญา สังขาร จิต
16. สลายธาตุ ๖ จนเห็นกายและใจตนนี้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วเรื่อมค่อยๆผุพังลงกลายเป้นเพียงธาตุและย่อยสลายไปในที่สุด ธัมมวิจยะที่จะเกิดในที่นี้จะเกิดจากสมาธิทำให้เกิดยถาภูญาณทัสนะความรู้เห็นตามจริง เป็นญาณล้วนๆให้เป้นไปในมรรค โดยปราศจากความตรึกนึกอนุมาณในคาดคะเนหรือคิดด้วยปัญญาในทางโลกนั่นเอง แต่เป็นวิตกวิจารที่เกิดสำเนียกรู้แยกจากสภาวะธรรมอันปรุงแต่งจิตด้วยสติสัมปะชัญญะและสมาธิที่มีกำลังมากพอควรแล้วทำให้เห็นสภาวะธรรมโดยสภาพตามจริง จนลงเคราะห์ลงในไตรลักษณ์ได้ถูกต้องตามจริง
17. สัมมัปปธาน ๔ คือ ความเพียรละอกุศลที่ยังไม่เกิดหรือที่เกิดขึ้นแล้ว ยังกุศลให้เกิดขึ้น คงกุศลไว้ รักษากุศลไว้ไม่ให้เสื่อม
18. ธรรมคู่อันงงาม ๒ คือ ทมะ๑ ความข่มใจมีกุศลวิตก ๓ เป็นต้น และ อุปสมะ๑ ความสงบใจจากกิเลย ไม่ตั้งเอาอกุศลวิตก ๓ มาเป็นอารมณ์ จนจึงสภาวะจิตที่ไม่ยึดถือ รู้จักปล่อย รู้จักละ รู้จักวาง ด้วยเหตุอันเห็นว่า กุศลวิตก ๓ ที่จิตรู้นี้ สิ่งเหล่านั้นที่จิตรู้มันสมมติทั้งนั้น ของจริงมันดับไปแล้วตั้งแต่เกิดผัสสะรู้สภาวะธรรมนั้นแล้ว แต่อาศัยสมมติให้เกิดขึ้นโดย เจตา วิตก สัญญา และ เข้าไปยึดอาสวะกิเลสให้เกิดเวทนา แล้วสังขารต่อให้เกิดเสพย์กิเลสให้เราเร่าร้อนกายและใจ ถ้าติดใมนความคิดก็ติดในสมมติทั้งนั้น แล้วจะโง่เสพย์สมมติให้เกิดกิเลสไปเพื่อสิ่งใด
19. ธรรมคู่อันงงาม ๒ คือ ขันติ๑ ความทนได้ทนไว้อันเกิดแต่กุศลวิตก ๓ + ความรู้จักปล่อยวางไม่ยึดในกุศลวิตก ๓ และ โสรัจจะ คือ อินทรีย์สังวร ด้วยเห็นสืบต่อมาจาก ทมะ+อุปสมะ ว่า มันแค่สมมติให้เราเร่าร้อนจะโง่ไปเสพย์มันเพื่ออะไร ปล่อยมันไปเสีย ทิ้งมันไปเสีย มันไม่เกิดประโยชน์ไรๆ ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ทีแต่สร้างทุกข์ ปล่อย ละ วาง มันไป ทิ่งมันไปเสีย เพิกจิตออกไม่ยึดเอามัน มันอยากจะปรุงอยู่ก็ปล่อยมันไป ก็แค่รู้ว่ามันปรุงแต่งสืบต่ออยู่แต่เราไม่เอามาตั้งเป็นอารมณ์ที่ตั้งแห่งจิต ตั้งจิตมั่นยึดเอาแค่ ศีล ทาน ภาวนา มีพุทโธเป็นเบื้องหน้า
20. เพียรเจริญกรรมฐาน ๔๐ กองใดกองหนึ่งก็ตามให้เกิดมีจิตตั้งมั่นยังความว่าง แล้วเกิดรู้แต่สภาวะธรรมให้เกิดขึ้น ลับปัญญาให้คมพอที่จะเห็นและตัดละ รู้ตามจริงในในความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของมันโดยเพียงสภาวะธรรมเท่านั้น แต่ไม่ได้โง่ไปเสพย์ตามมัน เห็นแค่นามรูปทั้งปวงในกายนี้มีเกิดขึ้นเพียงเพื่อทำหน้าที่ในแต่ละส่วนของมันไม่ได้มีไว้ยึด ไม่เที่ยงไม่คงอยู่นาน บังคับไม่ได้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตามเหตุปัจจัยในสภาวะธรรมนั้นๆ ไม่ได้มีไว้ยึดมั่นถือมั่นไรๆทั้งสิ้น ทำให้เกิดสภาวะนี้ขึ้นบ่อยๆจนกว่าจิตมันจะอิ่มและเต็มจนละสมมติจึงจะตัดขาดได้ อาศัยญาณอันเป็นไปในมรรคให้มากให้เกิดขึ้นเนืองๆละอาสวะกิเลสที่เกิดมีอยู่โดยไม่อาศัยเจตนาเรื่อยๆ จนเกิดญาณอันเป็นไปในปัญญาที่มีลักษณะตัดขาดจากสมมติทั้งปวง

มีท่านผู้รู้ผู้ปฏิบัติในสายพระป่าเหมือนผมอยู่ท่านหนึ่งชื่อว่า อ้น ท่านได้บอกกับผมว่า เพราะจิตนี้สัมเสพย์ติดสมมติมาตั้งแต่เกิด การรู้เห็นสภาวะธรรมเพียงเล็กน้อยไม่ทำให้มันตัดได้หรอก ต้องให้มันรู้ตามสภาวะธรรมจริงๆเรื่อยๆ และ เห็นในไตรลักษณ์เรื่อยๆ จนมันอิ่มคลายความยึดมั่นถือมั่นอันสมมติ ปัญญามันจึงจะเกิดความหน่ายและตัดได้

ทบทวนปฏิบัติไปเรื่อยๆ จนทั้ง 20 ข้อนี้เกิดขึ้นพร้อมกันในลำดับจิตที่สืบต่อกัน จะเกิดเป็นมรรคญาณ และ ปัญญาญาณ เพราะทั้ง 20 ข้อนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กุมภาพันธ์ 17, 2015, 01:11:15 AM

บันทึกกรมมฐาน วันที่ 19/2/58

ทบทวนข้อปฏิบัติกรรมฐานหลังรู้จักอริยะสัจ ๔ แล้ว เพื่อเจริญรอยตามให้เข้าถึงซึ่ง คุณอันว่าด้วย วิชชาและจรณะ ของพระตถาคตเจ้า




วิธีทำสมาธิ ที่ ๑
- หายใจเข้า บริกรรม "พุท" หายใจออก บริกรรม "โธ" รู้เพียงว่า พุทโธ นี้คือ พุทธานุสสติ บริกรรมพุทโธ คือ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าทุกลมหายใจเข้าออก ทำจนลมหายใจคือพุทโธ ระลึกรู้จุดที่ลมผ่าน ปักหลักจิตจับรู้ลมอยู่ที่ ปลายจมูก หรือ หน้าอก หรือ ท้อง ก็ได้
- ไม่ไปต้องรู้จักฌาณ ไม่ต้องไปรู้จักญาณ จะสภาวะธรรมไรๆเกิดขึ้นก็ช่างมัน รู้แค่ทำให้มาก..ไม่ให้จิตหลุดจากพุทโธ
เมื่อลมหายใจอ่อนลงหรือขาดไปก็รู้ว่ามันอ่อนหรือขาดไปเท่านั้น เมื่อจิตสักแต่เพียงรู้ไม่บริกรรมแล้ว มีความสำเหนียกรู้อยู่ก็ให้สักแต่รู้ลมเข้าออกไปโดยสำเหนียกนั้น

วิธีทำสมาธิ ที่ ๒
สำเหนียกรู้ลมหายใจเข้าและออก ไม่ต้องบริกรรม เริ่มต้นผู้ที่หัดใหม่อาจจะรู้วิตกบริกรรมนึกตาม เช่น ลมหายใจเข้า ก็เกิดวิตกว่าหายใจเข้า เป็นต้น ก็ปล่อยมันไปไม่ต้องฝืน ไม่ต้องขัด บริกรรมตรึกนึกตามก็แค่รู้ว่าตนบริกรรมตรึกนึกตามเท่านั้น รู้ลมเข้าออกไปไม่ให้จิตหลุดจากลมหายใจ เมื่อลมหายใจอ่อนลงหรือขาดไปก็รู้ว่ามันอ่อนหรือขาดไปเท่านั้น เมื่อจิตสักแต่เพียงรู้ไม่บริกรรมแล้ว มีความสำเหนียกรู้อยู่ก็ให้สักแต่รู้ลมเข้าออกไปโดยสำเหนียกนั้น

วิธีทำสมาธิ ที่ ๓
สภาวะนี้เป็นมรรคล้วนๆ เป็นสภาวะที่เห็นตามจริงมาแล้วว่า ร่างกายนั้นเป็นเพียงธาตุ ๖ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ ไม่มีความรู้สึกเป็นกองธาตุที่อาศัยกันอยู่รวมกันอยู๋เพื่อทำหน้าที่ของมัน และ วิญญาณธาตุหรือจิต ซึ่งจิตนี้แหละที่มันเข้าไปยึดครองธาตุ ๕ ทำให้ธาตุ ๕ ในกายนี้เป็นธาตุที่มีใจครองว่าเป็นเรา เป็นของเรา จิตมันรู้ทุกสิ่ง แต่มันรู้แค่สมมติ จิตรู้สิ่งใดสิ่งนั้นคือสมมติ เช่น เมื่อใดที่มี..วิตก-วิจาร คือ ความตรึกนึกคิด รู้สิ่งที่คิดแนบอารมร์สิ่งที่คิด..เมื่อนั้นคือสมมติทั้งสิ้น จิตเข้าถึงศรัทธาพละแล้วโดยเห็นตามจริงนั้น จิตเข้าถึงพุทโธตามจริงแล้วจึงจะทำได้
- รู้ว่าจิตรู้สิ่งใดสิ่งนั้นเป็นสมมติ เราจักเข้าถึงธรรมจริงจักถึงซึ่งความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ตามองค์สมเด็จพระทศพลเจ้านั้น คำบริกรรมพุทโธนี้ เป็นไปเพื่อการถึงซึ่งความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ตามรอยพระพุทธเจ้า เมื่อวิตกถึงพุทโธ คือ ความคิดชอบ อาศัยลมหายใจนี้เป็นฐานกำลังให้พุทโธมีกำลังมากให้เข้าถึงความมีจิตจดจ่ออันควรแก่งานได้ มีวิจารความแนบอารมณ์อยู่ที่ลมหายใจเข้าออกไม่หลุดจากลมหายใจไป
- หายใจเข้า บริกรรม "พุท" หายใจออก บริกรรม "โธ"
- ปักหลักรู้ลมหายใจเข้าและออกอยู่ที่ปลายโพรงจมูก ทำให้เหมือนตอที่ปักหลักอยู่ในน้ำที่ไม่ไหวติงไปตามลม แม้ลมหายใจจะแรงหรือเบา สั้นหรือยาว ลึกหรือตื้นผิวเผินก็ให้สักแต่รู้ตาม..แต่จิตไม่หลุดไม่ไหวติงไปตามลมหายใจที่พัดเข้าออกนั้นคงตั้งจดจ่ออยู่ที่ปลายโพรงจมูกนั้นรู้ผัสสะลมเข้าและออกพร้อมคำบริกรรมไป โดยพึงตั้งจิตรู้ว่า ลมหายใจเข้าและออกนี้ เป็นของจริงที่มีในกาย เป็นธาตุลมที่มีในกาย เป็นกายสังขาร เป็นสิ่งที่เนื่องด้วยกาย เป็นสภาวะธรรมจริงไม่ใช่สมมติที่เรานั้นรับรู้ได้ง่ายและรู้เห็นได้ตามจริง เมื่อน้อมจิตรู้ลมหกายใจเข้าออกก็เท่ากับให้จิตรู้สภาวะธรรมที่มีจริงๆของจริงที่มีในกายไม่ไปติดกับสมมตินี่หาการงานชอบให้จิต




วิธีเข้าสมาธิ ที่ ๑
ทำจิตให้เป็นสุขกายสบายใจ แล้วจึงทำสมาธิ เพราะสุขสร้างสมาธิ ซึ่งข้อนี้จะรู้แค่นักปฏิบัติเท่านั้นส่วนผู้ที่เรียนปริยัติจะมีผู้รู้น้อยมาก (พระตถาคตได้สอนไว้ในอนิสงส์สูตร)


วิธีเข้าสมาธิ ที่ ๒
ทำจิตให้ผ่องใสเป็นกุศล
โดยเจริญและแผ่เอา ศีล ทาน และ พรหมวิหาร ๔ มีจิตน้อมไปในการสละไปในทิศที่เรามองเห็นอยู่ก่อน แล้วแผ่ไปให้รอบตัว จนถึง 10 ทิศ จนถึงความแผ่ไปในแบบเจโตวิมุตติ อาศัยจิตที่พ้นจากอกุศลธรรมทั้งปวงนั้นแล้ว หากขณะที่แผ่หรือเมื่อแผ่เสร็จแล้วไปสักพักแต่ยังอกุศลให้กำเริบอยู่บ้าง นั่นแสดงว่าจิตยังเป็นกุศลไม่พอบ้าง ยังคงความเป็นโลกียะอยู่บ้าง


วิธีเข้าสมาธิ ที่ ๓
เจริญในจิตตานุสติปัฏฐาน จนทันสภาสวะจิตที่เกิดขึ้นก่อนที่จะปรุงแต่งหรือเสพย์มัน

วิธีเข้าสมาธิ ที่ ๔
เจริญเข้าสู่อุเบกขาจิต
เจริญเข้าสู่อุเบกขาจิต คือ ละความพอใจยินดีและไม่พอใจยินดีต่อทุกสิ่งทุกอย่างไปเสีย เพราะติดใจข้องแวะในสิ่งไรๆไปก็มีแต่ทุกข์หาประโยชน์สุขไรๆไม่ได้

วิธีเข้าสมาธิ ที่ ๕
เจริญจิตเข้าสู่ปัสสัทธิ โดยตั้งเจตนาไว้ที่จะทำดังนี้
ก. ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่จิตรู้ทั้งปวงเพราะมันเป็นสิ่งสมมติทั้งหมด ไม่ว่ามันระนึกอะไร หวนระลึกสัญญาไรๆ ตรึกนึกคิดเรื่องใด เราก็แค่รู้ว่าอาสวะกิเลสมันปรุงแต่งสมมติขึ้นมาหลอกให้จิตรู้จิตเสพย์จิตหลงอีกแล้ว เราจักไม่ทำจิตให้หลงไปตามกิเลส มันเกิดขึ้นมาก็ช่างมัน มันจะปรุงแต่งอย่างไรก็ช่างมัน ไม่ให้ความสำคัญกับมัน มันเป็นแค่สภาวะธรรมหนึ่งที่ปรุงแต่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปตามหน้าที่และกิจของมันเท่านั้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราเพียงแต่รู้มันแต่คงสติสัมปะชัญญะไว้รู้ทันกายใจไม่เผลอไผลไปกับมัน มันจะเกิดขัดใจพอใจนั่นมันก็เป็นเรื่องของสิ่งสมมติที่มันปรึงแต่งหลอกล่อให้หลงตามเท่านั้น เราจักไม่ยึดเอาสิ่งสมมติเหล่านั้นมาเป็นที่ตั้งแห่งจิต เราจักตั้งรู้ของจริงอยู่คือพุทโธและลมหายใจเข้าออก หรือ รู้กิจการงานที่ทำอยู่ที่กำลังดำเนินไปในปัจจุบันเท่านั้น ไม่มีอื่นอีก มีสติสัมปะชัญญะสำรวจรู้ทันไม่ให้จิตเราลุ่มหลงไปกับสมมติอยู่เสมอๆ
ข. เจริญใน ศีล ทาน พรหมวิหาร ๔ แล้วพึงมีสติระลึกรู้ทัน กาย วาจา ใจ ตนอยู่เนืองๆ เช่น
- ตั้งจิตทำไว้ในใจว่าเราจักเป็นผู้ที่พร้อมด้วยศีลอันงาม มีอินทรีย์สังวรณ์อยู่ ประครอง กาย วาจา ใจ ไม่ให้ก้าวล่วงในศีล มีกรรมบถ ๑๐ หรือ ศีล ๘
- ตั้งจิตทำไว้ในใจว่าตนจักเป็นมิตรที่มีความเอ็นดูปารถนาดีต่อคนและสัตว์ทั้งปวง ระลึกรู้ทันกายใจตนไม่ทำตนให้เศร้าหมองไปผูกเวรพยาบาทใคร
- ตั้งจิตทำไว้ในใจว่าไม่ให้ตนเป็นผู้ไม่ละโมบมักมากเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ ทำจิตให้ตนนี้มีความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ด้วยผลจากความบริบูรณ์แห่ง ศีล และ พรหมวิหาร ๔ ที่เจริญมาดีแล้วนั้น เป็นต้น

อย่างนี้เป็นการเพียรละอกุศลที่ยังไม่เกิดหรือที่เกิดขึ้นแล้ว ยังกุศลให้เกิดขึ้น คงกุศลไว้ รักษากุศลไว้ไม่ให้เสื่อม ยังจิตให้เกิดปัสสัทธิ ด้วยสติสัมปะชัญญะสังขารโดยรอบดึงสมาธิให้เกิดขึ้น จนสลัดทิ้งซึ่งกิเลสนิวรณ์ทั้งปวง






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2015, 11:43:01 AM

อุบายการฝึกให้ถึงทางเข้าสมาธิ

อุบายวิธีเข้าสมาธิ ๑
ทำจิตให้เป็นสุขกายสบายใจ แล้วจึงทำสมาธิ เพราะสุขสร้างสมาธิ ซึ่งข้อนี้จะรู้แค่นักปฏิบัติเดท่านั้นส่วนผู้ที่เรียนปริยัติจะมีผู้รู้น้อยมาก (พระตถาคตได้สอนไว้ในอนิสงส์สูตร) ทีนี้เราจะเอาความสุขอันใดที่ทำให้ปราศจากความห่วงความยึดมั่นต่อสิ่งไรๆแล้วเกิดสมาธิได้ง่าย ก็ให้เจริญเข้าสู่พุทธานุสสติ ที่ว่าด้วยคุณแห่ง อระหัง ของพระพุทธเจ้า คำว่า อระหัง นี้มีความหมายว่าเป็นผู้ดับสิ้นซึ่งเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์โดยสิ้นเชิง โดยให้เราน้อมเอาความดับสิ้นแล้วซึ่งเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ทั้งปวงของพระพุทธเจ้านั้นมาเป็นอารมณ์ แล้วกำหนดนิมิตว่าพระตถาคตเจ้านั้นได้ทรงแพร่ฉัพพรรณรังสีแห่งความเป็นอระหังนี้มาสู่เราให้หลุดพ้นตาม เมื่อไม่มีกิเลสก็ย่อมไม่มีสิ่งที่ติดข้องใจใดๆทั้งปวง ประดุจดั่งภาพพระพุทธเจ้าที่เขาถ่ายติดใต้ต้นพระศรีมหาโพธฺิ์ ซึ่งประกอบไปด้วยความสุขเบิกบานจากความสงบร่มเย็น ว่างหลุดพ้นจากความปรุงแต่งอันเศร้าหมองกายใจแล้ว มีจิตตั้งมั่นชอบ ให้ระลึกเอาความสุขนั้นมีเกิดขึ้นแก่ใจตนดังนี้



อุบายวิธีเข้าสมาธิ ที่ ๒
ทำจิตให้ผ่องใสเป็นกุศล
๑. เริ่มต้นให้เรารู้และเจริญในฐานที่มั่นอันทำให้จิตผ่องใสนั้นคือ ศีล ทาน พรหมวิหาร ๔ โดยให้ระลึกเอาคุณของพระพุทธเจ้าที่ว่าด้วย วิชชา(นิโรธ ความดับทุกข์) และ จรณะ(จรณะ ๑๕ ทำให้ อิทธิบาท ๔ บริบูรณ์) มาเป็นอารมณ์ พึงกำหนดนิมิตขึ้นว่า
ก. พระตถาคตเจ้านั้นได้ทรงเสด็จมาเบื้องหน้าเรา แล้วทรงเจริญวิชชาและจรณะให้เห็นในเบื้องต้นดังนี้ว่า
- ความเป็นผู้ยินดีในความปารถนา ไม่รู้จักหยุด ไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักประมาณตน
- ความเป็นผู้เอาความสุขสำเร็จของตนไปผูกขึ้นไปกับผู้อื่น
- ความเป็นผู้มีเวรทั้งภายในและภายนอกตน
- ความเป็นผู้มีพยาบาททั้งภายในภายนอกตน
สิ่งเหล่านี้ย่อมนำความเร่าร้อนมาให้ เป็นอวิชชา คือ ความลุ่มหลงไม่รู้ แล้วเสพย์ตามอาสวะกิเลสปรุงแต่งไป เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์ทั้งปวง ทำให้ใจเศร้าหมอง
ข. แล้วได้ทรงพึงเจริญให้เห็นถึง ความไม่เร่าร้อน มีความแช่มชื่นใจ มีความอิ่มใจ เป็นสุขยินดี สงบร่มเย็นกายใจ
- จากความเป็นผู้ไม่ฝักใฝ่ใคร่ปารถนา เป็นผู้รู้จักหยุด รู้จักพอ รู้จักประมาณตนในการดำรงชีพทุกๆอย่าง
- จากความเป็นผู้ไม่เอาความสุขสำเร็จของตนไปผูกขึ้นไว้กับผู้อื่น
- จากความเป็นผู้ไม่มีเวรทั้งภายในและภายนอก
- จากความเป็นผู้ไม่มีพยาบาททั้งภายในและภายนอก
ค. จากนั้นให้น้อมระลึกถึงความที่เรานี้ได้ดำรงอยู่ในศีลธรรมอันงามข้อใดก็ได้ที่ทำให้เรามีสุขที่สุดเมื่อได้ทำ ระลึกถึงเป็นคนดีบริสุทธิ์ดุจผ้าขาวด้วยศีล เป็นที่รักใคร่เชิดชูของเทวดาและหมู่สัตว์ จะไปทางในทิศใดก็ปราศจากความหวาดกลัว หวาดระแวง เป็นสุขทุกที่ที่ไป ลองนึกดูสิว่าเมื่อเราบริสุทธิ์งดงามดีแล้วย่อมเป็นผู้ไม่มีศัตรู ไม่เป็นที่รังเกลียดต่อใคร ไม่ว่าจะไปที่ใดก็ไม่ต้องกลัวใครมาทำร้าย หรือกลัวใครมารู้ว่าเราทำไม่ดีแล้วยังความฉิบหายมาสู่เรา ไม่ต้องไปคอยจดจ้องกลัวใครจะดีกว่าตนเหนือตน ไม่ต้องไปแข่งขันกับใครให้เร่าร้อนมันเป็นสุขแค่ไหน ให้ระลึกเอาความรู้สึกทางใจในผลอย่างนั้นจนเกิดความรู้สึกยินดีที่ได้ทำในสิ่งนั้น จิตจะเป็นสุขโดยความไม่ยึดเอาสิ่งอันใดที่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ยังความรื่นเริงใจให้เกิดขึ้นสังขารโดยรอบด้วยสติระลึกรู้อยู่ในกายใจตนอยู่เนืองๆไม่ลุ่มหลงไปตามสิ่งที่จิตตรึกนึกคิดเสพย์รู้อารมณ์จนเกิดความสงบจากกิเลสมีสมาธิเป็นผล
ง. จะเกิดปัญญาเห็นว่า ละเบียดเบียนได้ศีล ละโลภได้ทาน ละโมหะได้สุข,สงบ,ภาวนา ดังนี้
จ. จากนั้นให้น้อมระลึกถึงความที่เรานี้เป็นผู้มีใจกว้างดุจมหาสมุทรไม่มีที่สิ้นสุดมีจิตเอื้อเฟื้อแบ่งปันสงเคราะห์และสละให้ผู้อื่นตามสมควรตามสติกำลังเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงความสุขเพราะเรา โดยเมื่อเราสละให้แล้ว ก็ถือว่าไม่ใช่ของเราแล้ว เราจักไม่มาเสียใจ เสียดาย อยากได้คืนในภายหลัง
ฉ. โดยทั้งความไม่มีเวรพยาบาทและความมีจิตแบ่งปันสละให้ อาศัยความมีจิตเห็นว่าเขาเหล่านั้นประดุจดั่งบุพการี ญาตุสนิท มิตรสหาย หรือ สามี ภรรยา บุตร หลานบริวารทั้งหลายของเรา อันเราควรมีจิตเอ็นดูปารถนาดีน้อมไปในการสละต่อเขาโดยไม่ติดใจข้องแวะไรๆทั้งปวง ควรแบ่งปันสละให้ ควรยินดีในสุขที่เขาควรมีควรได้ไม่มีจิตอิจสาริษยาต่อเขา พึงเห็นเสมอเหมือนกันหมดไม้มีเว้น ไม่มีจิตอคติลำเอียงต่อผู้ใดด้วย เพราะรัก เพราะเกลียด เพราะกลัว เพราะไม่รู้ตามจริง เมื่อเราเจริญอยู่อย่างนี้ๆความเร่าร้อนย่อมไม่มี ย่อมเกิดแต่ความอิ่มเอมยินดีด้วยใจไม่เศร้าหมอง เราจักเห็นว่าจิตเรานี้สูงขึ้นแล่นเข้าสู่กระแสสันดานแห่งพระอริยะเจ้าแล้ว มันสุขอย่างนี้ มันยินดีอย่างนี้ ไม่ยึดมั่นถือมั่นให้มันหนักเป็นภาระกายใจ เมื่อเข้าถึงจิตที่มีลักษณะวางจากสิ่งสมมติทั้งปวง มันทำให้เราผ่องใส ผ่อนคลาย สงบร่มเย็นกายใจ เป็นสุบ เกิดจิตอันนิ่งจดจ่อควรแก่งานอย่างนี้

๒. เมื่อจิตผ่องใสดีแล้วด้วยเครื่องฟอกจิตตามข้อที่ ๑ ก็ให้พึงระลึกถึงคุณแห่ง อนุตโรปุริสทัมสารถิ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสเสมอๆว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้จะไปยังที่ใดทิศใดย่อมแผ่ ศีล ทาน และ พรหมวิหารแบบเจโตวิมุตติ ไปทั่วทุกสารทิศไม่เว้นว่าง ดังนั้นแล้วจึงเป็นผู้ไม่กัวตายเพราะได้กระทำกุศล แห่ง ศีล ทาน ภาวนานั้นมาดีแล้ว จะไม่หยั่งลงนรกเป็นอันขาด แล้วที่พระพุทธเจ้าทรงฝึกให้ภิกษุทั้งหลายแผ่ไปคือวิโมกข์ ๘ นั่้นเอง
http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/sd-259.htm (http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/sd-259.htm)
http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/sd-128.htm (http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/sd-128.htm)
ดังนี้แล้วให้เราน้อมเอาคุณนั้นมาสู่ตนระลึกถึงพระพุทธเจ้าทรงเสด็จอยู่เบื้องหน้าแล้วเจริญปฏิบัติ ศีล ทาน พรหมวิหารเจโตวิมุุตติเป็นวิโมกข์ ๘ อยู่เบื้องหน้าเรา แล้วเรานั้นแผ่ตามพระองค์ไปตามฉัพพรรณรังสีของพระองค์ที่แผ่กระใจไปกว้างไกลในทิศต่างๆอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เริ่มจากแผ่ไปให้รอบตัวเรา ไปจนถึง ๑๐ ทิศ จนถึงความแผ่ไปในแบบเจโตวิมุตติ อาศัยจิตที่พ้นจากอกุศลธรรมทั้งปวงนั้นแล้ว หากขณะที่แผ่หรือเมื่อแผ่เสร็จแล้วไปสักพักแต่ยังอกุศลให้กำเริบอยู่บ้าง นั่นแสดงว่าจิตยังเป็นกุศลไม่พอบ้าง ยังคงความเป็นโลกียะอยู่บ้าง



อุบายวิธีเข้าสมาธิ ๓
เจริญในจิตตานุสติปัฏฐาน จนทันสภาสวะจิตที่เกิดขึ้นก่อนที่จะปรุงแต่งหรือเสพย์มัน จะเกิดสมาธิปกคลุมด้วยสติสังขารโดยรอบทำให้จิตผ่องใสน้อมไปในการสละ ไม่หนักตรึงหน่วงจิต



อุบายวิธีเข้าสมาธิ ๔
เจริญเข้าสู่อุเบกขาจิต
๑. ละความพอใจยินดีและไม่พอใจยินดีต่อทุกสิ่งทุกอย่างไปเสีย เพราะติดใจข้องแวะในสิ่งไรๆไปก็มีแต่ทุกข์หาประโยชน์สุขไรๆไม่ได้
๒. อนึ่ง..เมื่อมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราหวนระลึกถึงแล้วทำให้ใจเศร้าหมอง สิ่งเหล่านั้นมันเกิดขึ้นและล่วงเลยมาแล้ว มันเป็นอดีตไปแล้ว แต่อาศัยเจตนาวิตกไปหวนระลึกถึงสัญญาประกอบกับอาสวะกิเลส แล้วสังขารปรุงแต่งสมมติให้เกิดขึ้น สิ่นเหล่านั้นย่อมไม่มีอยู่จริงในปัจจุบัน ย่อมไปแก้ไขสิ่งไรๆไม่ได้แล้ว แม้เราจะเข้าไปตั้งความพอใจหรือไม่พอใจในสิ่งนั้นๆแต่มันก็เกิดขึ้นล่วงเลยมาแล้ว ไม่ว่าเราจะเป็น..สุข หรือ..ทุกข์ หรือ..เฉยๆ ไปกับสิ่งเหล่านั้น เราก็กลับไปแก้ไขหรือห้ามไม่ให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นก็ไม่ได้ ดังนั้นแล้วเราควรวางเฉยกับมันยังดีเสียกว่าไปทุกข์กับมันให้เศร้าหมองใจเปล่า



อุบายวิธีเข้าสมาธิ ๕
เจริญจิตเข้าสู่ปัสสัทธิ โดยตั้งเจตนาไว้ที่จะทำดังนี้
ก. ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่จิตรู้ทั้งปวงเพราะมันเป็นสิ่งสมมติทั้งหมด ไม่ว่ามันระนึกอะไร หวนระลึกสัญญาไรๆ ตรึกนึกคิดเรื่องใด เราก็แค่รู้ว่าอาสวะกิเลสมันปรุงแต่งสมมติขึ้นมาหลอกให้จิตรู้จิตเสพย์จิตหลงอีกแล้ว เราจักไม่ทำจิตให้หลงไปตามกิเลส มันเกิดขึ้นมาก็ช่างมัน มันจะปรุงแต่งอย่างไรก็ช่างมัน ไม่ให้ความสำคัญกับมัน มันเป็นแค่สภาวะธรรมหนึ่งที่ปรุงแต่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปตามหน้าที่และกิจของมันเท่านั้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราเพียงแต่รู้มันแต่คงสติสัมปะชัญญะไว้รู้ทันกายใจไม่เผลอไผลไปกับมัน มันจะเกิดขัดใจพอใจนั่นมันก็เป็นเรื่องของสิ่งสมมติที่มันปรึงแต่งหลอกล่อให้หลงตามเท่านั้น เราจักไม่ยึดเอาสิ่งสมมติเหล่านั้นมาเป็นที่ตั้งแห่งจิต เราจักตั้งรู้ของจริงอยู่คือพุทโธและลมหายใจเข้าออก หรือ รู้กิจการงานที่ทำอยู่ที่กำลังดำเนินไปในปัจจุบันเท่านั้น ไม่มีอื่นอีก มีสติสัมปะชัญญะสำรวจรู้ทันไม่ให้จิตเราลุ่มหลงไปกับสมมติอยู่เสมอๆ
ข. เจริญใน ศีล ทาน พรหมวิหาร ๔ แล้วพึงมีสติระลึกรู้ทัน กาย วาจา ใจ ตนอยู่เนืองๆ เช่น
- ตั้งจิตทำไว้ในใจว่าเราจักเป็นผู้ที่พร้อมด้วยศีลอันงาม มีอินทรีย์สังวรณ์อยู่ ประครอง กาย วาจา ใจ ไม่ให้ก้าวล่วงในศีล มีกรรมบถ ๑๐ หรือ ศีล ๘
- ตั้งจิตทำไว้ในใจว่าตนจักเป็นมิตรที่มีความเอ็นดูปารถนาดีต่อคนและสัตว์ทั้งปวง ระลึกรู้ทันกายใจตนไม่ทำตนให้เศร้าหมองไปผูกเวรพยาบาทใคร
- ตั้งจิตทำไว้ในใจว่าไม่ให้ตนเป็นผู้ไม่ละโมบมักมากเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ ทำจิตให้ตนนี้มีความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ด้วยผลจากความบริบูรณ์แห่ง ศีล และ พรหมวิหาร ๔ ที่เจริญมาดีแล้วนั้น เป็นต้น

อย่างนี้เป็นการเพียรละอกุศลที่ยังไม่เกิดหรือที่เกิดขึ้นแล้ว ยังกุศลให้เกิดขึ้น คงกุศลไว้ รักษากุศลไว้ไม่ให้เสื่อม ยังจิตให้เกิดปัสสัทธิ ด้วยสติสัมปะชัญญะสังขารโดยรอบดึงสมาธิให้เกิดขึ้น จนสลัดทิ้งซึ่งกิเลสนิวรณ์ทั้งปวง
(การที่จะเกิดกำลังความเพียรละอกุศลได้นี้ต้องมี ฉันทะอิทธิบา๔ ใน ศีล ทาน พรหมวิหาร ๔ และภาวนาก่อน ต้องหาฉันทะที่มีใน ศีล ทาน พรหมวิหาร ๔ ภาวนาของตนให้ได้ ให้พึงรู้ว่า รู้เป็นปัญญา ตื่นเป็นศีล เบิกบานเป็นทาน ละเบียดเบียนได้ศีล ละโลภะได้ทาน ละโมหะได้ภาวนา ผู้มีปัญญาเท่านั้นที่จะมี ศีล ทาน พรหมวิหาร๔ ภาวนาได้ เมื่อเราเป็นผู้รู้และตื่นจากสมมติเราย่อมเห็นคุณใน ศีล, ทาน, พรหทมวิหาร ๔, ภาวนา ว่าช่วยให้เรานี้ปหานกิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง จนถึงอย่างละเอียดได้ดีนัก แม้พระพุทธเจ้าก็เชิดชูผู้สังวรอยู่ดังนี้ เราทำได้นี้เราก็เป็นสัตบุรุษเป็ยบัณฑิตเลย)






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2015, 11:43:50 AM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 20-2-58 ฟังหลวงปู่บุญกู้เทสน์ # ๑

หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน เทสนา เท่าที่พอจะจำได้ผสมกับความตรึกนึกอนุมานของตนที่พอจะหวนระลึกปรุงแต่งคำสอนของหลวงปู่ได้

๑. การเผยแพร่ธรรมไปต่างแดน ทำพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป
เหมือนพระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งพระะรรมทูตไปเผยแพร่พระพุทะศาสนาให้กว้างไกลจนในยุคนั้นชมพุทวีปเป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาจนถึงวันนี้ แต่ตอนนี้เราถูกลัทธิอื่นแทรกแทรงจนพระพุทธศาสนาเริ่มเสื่อมและดับสูญ เราโชคดีที่เกิดมาเป็นคนไทยมาอยู่ในร่มเงาพระพุทธศาสนา มีแต่พระพุทธศาสนาเท่านั้นที่มีศีล เป็นศีลเครื่องกุศล เป็นศีลที่เป็นไปเพื่อความพ้นจากกิเลส
๒.ชีวิตความสุขสบายในทางโลก
ซึ่งความสุขทางโลกนี้ต้องอาศัยอามิสจากสิ่งที่เสื่อมสูญมีแต่วันผุพังย่อยสลายดับไปอยู่ทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นทีวี ตู้เย็น รถ เครื่องอยู่ เครื่องกิน เครื่องใช้ สัตว์หรือบุคคลที่ใคร่ปารถนา ที่นับวันก็จะมีแต่ผุพังเสื่อมสูญดับไป "พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ความสุขทางโลกหรือทางโลกียะนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เพราะอาศัยสิ่งที่ไม่เที่ยงมาเป็นความสุขของตน"
๓. เห็นความวุ่นวายทางโลก
คนที่ยังหลงอยู่ก็ตะเกียกตะกายไขว่คว้าหาเอาความสุขจาก สิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เหล่านั้นมาครอบครองเพื่อความสุขทางโลกของตน ทั้งข้าวของเครื่องใช้ บุคคล สัตว์ สิ่งของไรๆ เมื่อตนยังไม่มีเสพย์ หรือ เมื่อมีแล้วเวลาผ่านไปไม่นานสิ่งเหล่านั้นก็ผุพังดับสูญไป ก็ตะเกียกตะกายฝักใฝ่พยายามหามาให้ได้อีก พอไม่ได้ก็ทุกข์ พอได้ก็สุข สุขจากการเสพย์สิ่งของภายนอกหรือจากคนภายนอก ที่ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนหาความจีรังไม่ได้ บังคับให้เป็นดั่งใจไม่ได้
๔. เห็นทุกข์ในทางโลก
พอเมื่อเอาความสุขสำเร็จของตนไปผุกขึ้นไว้กับสิ่งของหรือคนอื่นภายนอกซึ่งเป็นของไม่เที่ยงก็เป็นทุกข์ หาสุขไม่ได้ สุขนั้นก็ไม่ยั่งยืนเพราะสิ่งเหล่านั้นมีแต่รอวันผุพังเสื่อมสูญสลาย แม้สิ่งเหล่านั้นจะยังไม่ผุพังสุญหายเมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ แต่เมื่อเราตายไปแล้วก็เอาบุคคลหรือสิ่งของเหล่านั้นไปด้วยไม่ได้ คงมีเพียง ๒ สิ่งเท่านั้นที่เราแบกเอาสิ่งที่ติดตัวไปได้ คือ บุญกับบาป
๕. บารมีกรรมหรือ กรรมทายาท
จิตเรานี้ควรอบรมเจริญในกุศลผลบุญให้มาก มีศีล สมาธิ ปัญญา ทาน เพื่อสะสมให้ถึงความหลุดพ้น ดังนั้นเมื่อดำรงชีพอยู่ให้พึงเห็นว่า จิตนี้ขาดทุน หรือ ได้กำไร เมื่อเราดำรงในกุศลธรรม มีศีล สมาธิ ปัญญา และทาน อยู่มาก จิตก็ได้กำไร ไปเกิดบนสวรรค์ เกิดเป็นคน เกิดในภพภูมิที่ดี จนถึงความหลุดพ้น เมื่อจิตเราขาดทุนก็ตายไปลงนรก เป็นเปรต เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ทุกข์ทรมานในวัฏฏะสงสารไม่มีที่สิ้นสุด
๖. ศีล พรหมวิหาร ๔ ทาน
ศีลเป็นฐาน เป็นเครื่องแห่งกุศลทั้งปวง ทำให้ไม่ก้าวล่วงในบาป หลีกพ้นจากกิเลสตัณหา อาศัยเมตตาในการเอ็นดูปารถนาดีต่อผู้อื่นทำให้ตนมีจิตอันดีผ่องใสเป็นกุศลน้อมไปในการสละ ไม่ทำกายวาจาใจไปเบียดเบียนผู้อื่น มีจิตกรุณาสงเคราะห์แบ่งปันอยากให้ผุ้อื่นเป็นสุขพ้นจากทุกข์ มีการสละให้ตามกำลัง มีจิตมุทิตายินดีเมื่อเขาเป็นสุข ไม่อิจฉาเขา ไม่ซ้ำเติมเมื่อเขาเป็นทุกข์ มีจิตเป็นอุเบกขาวางเฉยไม่เร่าร้อนไปตามความพอใจยินดีและไม่พอใจยินดีของตน แลเห็นกรรมในกุศลและอกุศล กรรมดีและกรรมชั่ว ที่เป็นไปตามแต่การกระทำนั้นๆของตนและผู้อื่น ไม่ลำเอียงอคติ มีทานคือการสละให้เพื่อยังใจให้อิ่มเอมให้เต็ม เป็นสุข ทั้งการมีศีลคือละความเบียดเบียน ละโทสะมีความรักใคร่เอ็นดูหวังดี แบ่งปัน ยินดีต่อผู้อื่น ไม่ยินดียินร้ายจากการกระทำและผลที่ได้ไรๆจากผู้อื่น ถึงอภัยทาน
๗. ปัญญา, ศีล+เมตตา,  ทาน, สมาธิ
ให้เราเดินบนทางแห่งมรรค ๘ เพื่อถึงความหลุดพ้นทุกข์ เพียรเจริญปฏิบัติให้บริบูรณ์
ก. คนมีปัญญาจึงจะมีศีลและทานได้ เพราะมีปัญญาเห็นทุกข์เห็นอริยะสัจจ์ รู้เห็นสิ่งนี้ๆดีและสิ่งนี้ๆไม่ดีเท่านั้นจึงจะเกิดศีลและทานได้ คนที่ไม่มีปัญญาจะไม่รู้ดีรู้ชั่วทำให้เจริญในศีลและทานไม่ได้เลย เพราะแยกแยะถูกผิดไม่ได้
ข. ศีลและทาน จากปัญญา
- เพราะศีลเป็นความไม่เร่าร้อน เพราะไม่ต้องไปกลัวหวาดระแวงว่าใครจะมาทำร้ายหรือรู้ว่าตนทำผิด เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่นหรือเหมือนคนอื่นเป็น คือความไม่เบียดเบียน เป็นการละการกระทำในสิ่งที่ไม่ดีอันเบียดเบียนผู้อื่นทางกายและวาจาไปอาศัยเมตตาทำให้ใจเว้นจากการหมายเบียดเบียนผู้อื่น
- เพราะทานเป็นความอิ่มเอมสุขใจในกุศล ทาน คือ การสละให้ ละความโลภมีจิตสงเคราะห์ให้เป็นทาน อาศัยผลแห่งทานนี้เป็นตัวสร้างความอิ่มเอมเป็นสุขเต็มกำลังใจให้เรา เพราะได้สละให้ผู้อื่นแล้วความเบิกบานใจในการได้ช่วยเหลือผู้อื่นตามสติกำลังย่อมเกิดขึ้น หรือการได้ถวายภัตราหารใส่บาตรแก่ภิกษุสงฆ์ ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา บุญย่อมเกิดขึ้น ยังความอิ่มใจเป็นสุขร่มเย็นกายใจให้เกิดขึ้น
(โดยส่วยตัวของจากการเจริญปฏิบัติในศีลและทานของเราแล้วทำให้รู้เห็นว่าจะเกิดสติสัมปะชัญญะระลึกรู้ทันกายใจตนสังขารโดยรอบให้ดำรงอยู่ในทางกุศลดีงามไม่ก้าวล่วงในศีลและทานนั้นไปทุกขณะเพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์แห่งศีลนั้นจนรู้สึกได้เลยว่าเกิดสมาธิปกคลุมกายใจตนอยู่ทุกขณะด้วยผลจากความตั้งจิตมั่นเพียรเจริญทำในศีลเครื่องแห่งกุศลนั้น)
ค. เมื่อมีศีลและทานบริบูรณ์ กายใจก็บริบูรณ์ สร้างความไม่เร่าร้อนเป็นสุขสงบยังผลให้กายใจตนเกิดสมาธิชอบเป็นกุศล ทำให้จิตให้ว่างจากความปรุงแต่งฟุ้งซ่านจากกิเลสเครื่องร้อยรัดดั่งไฟอันเร่าร้อน เมื่อมีการอบรมจิตด้วยเครื่องแห่งกุศลทั้งหลายให้มีจิตตั้งมั่นชอบควรแก่งาน

- เมื่อเพียรเจริญในข้อ ก,ข,ค จนเกิดกุศลสมาธิในกาลทุกเมื่อจนทำให้เกิดความรู้เห็นตามจริง ก็จะเกิดปัญญาตัดขาดสิ้นเพลิงกิเลสทั้งปวง

- ศาสนาพุทธ คือ ศาสนาของ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ก. รู้ คือ ปัญญา.. รู้ถูก-ผิด, รู้จักดี-ชั่ว, รู้กุศล-อกุศล รู้ความเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น-ไม่เบียดเบียนทำร้ายผู้อื่นเป็นสันติ
ข. ตื่น คือ ศีล..เจริญในกุศลไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ค. เบิกบาน คือ ทาน ความอิ่มเอมเป็นสุขเบิกบานพ้นจากกิเลสความลุ่มหลงยินดีเมื่อได้ทำได้สละให้ ด้วยหวังว่าเขาจะเป็นสุขจากการให้ของเราโดยไม่หวัลสิ่งตอบแทนคืน ให้แล้วไม่มานึกเสียใจเสียดายในภายหลัง ด้วยเหตุอย่างนี้ๆทำให้มันเต็มกำลังใจเรามีพละ มีบารมีทาน ยังผลให้บุญทานเกิดเป็นความอิ่มใจเป็นสุข
๘. ธาตุ ๖
กายเรานี้ประกอบด้วยธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ รวมกันเกิดขึ้น มีวิญญาณธาตุเป็นตัวรู้ อาศัยวิญญาณธาตุนี้แหละเป็นตัวเข้าไปยึดครองธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ ที่รวมกันเป็นรูปร่างต่างๆขึ้นจึงเห็นเป็นแขนเป็นขาเป็นหน้าเป็นตาเป็นร่างกาย
- เมื่อตาผัสสะรูป มันจึงเห็นว่าเป็นคนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ พอใจไม่พอใจในรูปที่เห็นนั้น ไม่มีวิญญาณก็ไม่รู้สิ่งที่เกิดทางตา ไม่มีความพอใจไม่พอใจ
- เมื่อหูผัสสะเสียง
มันจึงรู้ว่าเป็นเสียงของคนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ พอใจไม่พอใจในเสียงที่ได้ยินนั้น ไม่มีวิญญาณก็ไม่รู้สิ่งที่เกิดทางหู ไม่มีความพอใจไม่พอใจ
- เมื่อจมูกผัสสะกลิ่น
มันจึงรู้ว่าเป็นกลิ่นของสิ่งนั้นสิ่งนี้ กลิ่นหอม กลิ่นเหม็น พอใจไม่พอใจในกลิ่นที่ได้รู้ ไม่มีวิญญาณก็ไม่รู้สิ่งที่เกิดทางจมูก ไม่มีความพอใจไม่พอใจ
- เมื่อลิ้นผัสสะรส
มันจึงรู้ว่าเป็นรสของสิ่งนั้นสิ่งนี รสหวาน รสเค็ม พอใจไม่พอใจในเสียงที่ได้ยินนั้น ไม่มีวิญญาณก็ไม่รู้สิ่งที่เกิดทางลิ้น ไม่มีความพอใจไม่พอใจ
- เมื่อกายผัสสะสิ่งที่มากระทบกาย
มันจึงรู้ว่าเป็นของสิ่งนั้นสิ่งนี้มาถูกมากระทบ เจ็บ ปวด สบายกาย พอใจไม่พอใจในเสียงที่ได้ยินนั้น ไม่มีวิญญาณก็ไม่รู้สิ่งที่เกิดทางลิ้น ไม่มีความพอใจไม่พอใจ

วิญญาณธาตุ มันทำหน้าที่แค่รู้เท่านั้น จึงทำให้เราเจ็บเป็น ปวดเป็น ไม่สบายกายสบายใจได้เพราะกายมันไม่มีความรู้สึกอะไรมันเป็นแค่ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ ที่นับวันก็เสื่อมผุพังสลายไปแต่อาศัยวิญญาณธาตุนี้เข้าไปยึดครองว่าเป็นนั่นเป็นนี่เป็นแขน เป็นขา เป็นกาย เป็นตน มันจึงเจ็บเป็น ปวดเป็น ปวดแขน ปวดขา ดังนี้
พอเราตายธาตุ ๕ ก็ไร้ใจครองก็ผุพังเน่าสลายดับไป มันไม่ได้ติดตามเราไปด้วยเหมือนบุญกรรม แล้วจะเอาจิตไปยึดเอาสิ่งใดกับธาตุทั้ง ๕ นั้นได้ จิตเดิมเรานี้ก่อนที่มันจะมาเข้ายึดครองกองธาตุ ๕ ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันนี้ ชาติก่อนมันเกิดเป็นคน เป็นสัตว์ ไปยึดเอาธาตุขันธ์อื่นมาไม่รู้ตั้งเท่าไหร ดังนั้นธาตุ ๕ นี้เราจึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราเป็นเขา ไม่ควรเอาใจเข้ายึดครอง

จำได้เพียงเท่านี้ แต่รู้ว่าหลวงปู่ได้สอนให้ไม่ยึดวิญญาณธาตุด้วยแต่ตอนนั้นทำสมาธิไปด้วยทำให้ไม่ได้ฟังหลวงปู่ชัดเจนหากเขียนเพิ่มเติมลงไปจะบิดเบื่อนคำสอนได้จึงละไว้ก่อน

ในขณะที่เขียนบันทึกคำสอนหลวงปู่อยู่นี้มีวิตกเกิดขึ้นว่า ความไม่ยึดเอาวิญญาณธาตุ หากตามที่เขียนมาทั้งหมดความเป็นไปได้ในการไม่ยึดนั้น เราก็เกิดความอนุมานคาดคะเนจากคำสอนของหลวงปู่ผสมกับสิ่งที่ตนได้รู้เห็นสัมผัสมาดังนี้คือ
๑. วิญญาณธาตุนี้ มันแค่ทำหน้าที่รู้แล้วยึดครองกายธาตุ เราจึงเจ็บปวดเป็นนั่นเป็นนี่ได้ ละตัวรู้ตัวยึดนั้นเสียไม่ให้ความสำคัญมั่นหมายของใจกับวิญญาณธาตุนั้นอีก เพราะวิญญาณูาตุไม่มีเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ควรยึดไปว่าเป็นเรา มีเราในวิญญาณธาตุ มันแค่มีไว้ทำหน้าที่รู้เท่านั้น ไม่ได้มีไว้ยึด เรา มันจะเข้าไปยึดครองสิ่งใดเราก็ไม่ต้องไปยึดตามมัน เราก็จะไม่มีความยึดครองสิ่งใดอีก
๒. วิญญาณธาตุนี้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่จิตเดิมแท้ ไม่ได้ติดตามเราไปด้วยเมื่อตาย มันแค่เกิดขึ้นมาทำหน้าที่รู้และยึดในธาตุขันธ์กองนี้เท่านั้น
๓. ด้วยวิญญาณธาตุนี้มันเกาะเกี่ยวยึดมั่นไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นสิ่งไรๆที่มันรู้มันก็ยึดมั่นเป็นทุกข์เป็นอุปาทาตทั้งหมด ก่อนที่มันจะมายึดในธาตุ ๕ ทึ่เป็นร่างกายในปัจจุบันนีั ชาติก่อนมันก็เข้ายึดในธาตุ ๕ กายอื่นๆที่เข้าไปครองไปทั่ว ไม่ว่าจะเกิดเป็นหมา แมว ไก่ นก หนอนในขี้ หนอนพยาธิ คางคก จิ้งจก มันก็เข้าไปยึดครองในกายนัันทั้งหมด นี่น่ะวิญญาณธาตุเราเข้าไปยึดมั่นถือมั่นไม่ได้เลยมันรู้มันยึดมันลุ่มหลงไปมั่วไม่มีที่สิ้นสุด หากเข้ายึดวิญญาณธาตุว่ามันเป็นเราเป็นของเรา เป็นของเที่ยงแล้ว ก็ไม่รู้ว่ามันจะพาเราไปยึดเอากายสกปรกสัตว์เดรัจฉานตัวไหนอีก ดังนั้นเราควรละมันไปเสียอย่าให้ความสำคัญไรๆกับมันอีก มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์
๔. จิต หรือ วิญญาณธาตุในปัจจุบันชาตินี้ไม่ใช่จิตเดิม จิตเดิมนี้มีความเกิดขึ้นมารู้มายึดครองธาตุขันธ์ในอดีตชาติแล้วมันก็ดับสูญสลายไปแล้วพร้อมธาตุขันธ์ในอดีตชาตินั้น มาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ อาศัยปัจจัยหรือกรรมอันสืบต่อให้เป็นปัจจัยให้เกิดจิตใหม่ยึดครองขันธ์ใหม่ขึ้นมาซึ่งไม่ใช่สิ่งเดิม จิตนี้จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่เที่ยง มันเกิดมันดับสูญไปของมัน ก็เมื่อเราตายวิญญาณและธาตุขันธ์มันก็ตายไป วิญญาณธาตุที่เราในปัจจุบันภพชาตินี้ก็ตายไปดับไป แล้วก็เป็นจิตใหม่เกิดขึ้น ซึ่งจิตใหม่นี้มันก็อยู่ไปในปัจจุบันภพของมัน แล้วก็ดับ ณ ที่นั้น พอจะมาเกิดใหม่ มันก็เป็นจิตตัวใหม่ที่ครองธาตูขันธ์ตัวใหม่
เหมือนดั่ง พระนาคเสนตอบพระเจ้ามิลินเรื่อง จากนมโค -> มาเป็นนมเปรี้ยว -> มาเป็นเนย หรือ จากเด็กเป็นผู้ใหญ่เป็นคนเดียวกันหรือคนละคนกัน ทั้งหมดเป็นคนละคน คนละจิต แต่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดดับสืบต่อให้เป็นไป จิตและธาตุขันธ์ในตอนเด็กดับไปแล้ว จิตและธาตุขันธ์ในตอนใหญ่จึงเกิดขึ้น อาศัยสัญญาอุปาทานแห่งจิตเท่านั้นจึงเห็นว่าเป็นเราเป็นคนคนเดียวกัน
๕. ตามที่หลวงพ่อเสถียรสอนว่า วิญญาณธาตุคือจิต จิตมันทำหน้าที่รู้เท่านั้น มันรู้ทุกอย่างแต่รู้แค่สมมติ ยึดจิตก็ยึดสมมติหลงสมมติ ละความยึดมั่นในตัวรู้นั้นเสีย ปล่อยมันไปทำหน้าที่อันควรของมันไปเราแค่ใช้มันรู้แต่ไม่ยึดมันว่าเป็นเรา ว่าเที่ยง ว่ามีตัวตน มันเป็นตัวทุกข์ หากยึดจิตก็เท่ากับเรายึดสมมติไม่รู้ตามจริงได้เลย


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กุมภาพันธ์ 22, 2015, 09:49:35 AM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 20-2-58 ฟังหลวงปู่บุญกู้เทสน์ # ๒

หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน เทสนา เท่าที่พอจะจำได้ผสมกับความตรึกนึกอนุมานของตนที่พอจะหวนระลึกปรุงแต่งคำสอนของหลวงปู่ได้

๖. หากตามวิชาธาตุของหลวงปู่สุก ไก่เถื่อน ท่านว่าอากาศมีมากในจิตหรือวิญญาณธาตุให้ใช้อากาศที่มีสภาพว่างไม่มีประมาณสลายวิญญาณธาตุ ไม่ยินดียินร้ายกัยสิ่งใดๆทั้งสิ้น ประดุจพระตถาคตตรัสสอนแก่พระราหุลเถระใน ราหุโลวาทะสูตร ว่า ทำกายใจให้เป็นสภาพว่างไม่ยึดเอาสิ่งใดทั้งปวงเหมือนดั่งอากาศธาตุที่มีแต่ความว่างไม่มีความพอใจยินดี-ไม่พอใจยินดี ชอบ ไม่ชอบ รักหรือรังเกลียดต่อสิ่งใดๆทั้งสิ้น





บันทึกกรรมฐานวันที่ 21-2-58 # ๑
หลังจากได้ฟังธรรมเทสนาของ หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน แล้วเราน้อมนำมาเจริญปฏิบัติ

ในวันนี้หลังจากที่กลับมาจากฟังเทศน์ของหลวงปู่ เราได้เพียรเจริญสมาธิ ทบทวนพิจารณาธรรมของหลวงปู่อยู่เนืองๆตั้งแต่กลับจากวัดในวันที่ 20/2/58 เวลาประมาณ 14.00 น. ก็เริ่มเกิดความปิติอิ่มเอมไม่ฟุ้งซ่าน มีปัสสัทธิความสงบร่มเย็นกายใจโล่งเบาเป็นสุขเต็มกำลังใจ นิ่ง ว่าง ไม่ครองกาย ไม่ครองอาการทั้ง ๓๒ ไม่ครองธาตุ ๖ ไม่มีสิ่งใดที่เป็นเรา เป็นของเรา ไม่มีสิ่งใดที่จะบังคับให้เป็นไปดั่งใจได้ ไม่มีตัวตน ไม่เห็นความเที่ยงแท้ยั่งยืนในโลกียะสุข สุขในโลกียะประกอบด้วยทุกข์ สุขในโลกียะไม่มีในตนไม่เกิดเฉพาะตน-แต่เป็นสุขที่อาศัยสิ่งภายนอก เป็นความสุขความสำเร็จที่ฝากขึ้นไว้กับคนอื่นหรือสิ่งอื่นๆที่กำลังจะเสื่อมสูญสลายไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน หาความสุขใดๆไม่ได้เลยนอกจากทุกข์ นี่หนอสุขทางโลกียะคงเข้าได้กับคำสอนที่ว่า สุขบนทุกข์ ทุกข์เท่านั้นที่เกิด ทุกข์เท่านั้นที่ดับ

ได้หวนระลึกถึงคำสอนครูอุปัชฌาย์ทั้ง 2 ท่านคือ ธรรมปฏิบัติที่เราได้เจริญมาดีแล้วนี้ทั้งตามที่ที่หลวงพ่อเสถียร และ หลวงปู่บุญกู้ พระอรหันต์ทั้ง ๒ องค์ ที่เราได้ขอฝากตัวท่านเป็นศิษย์ขอท่านเป็นพระอุปัชฌาย์สอนกรรมฐานซึ่งท่านก็ยินดีรับไว้ด้วยดี แล้วเมื่อนำพระธรรมคำสอนท่านทั้ง 2 องค์มาเจริญปฏิบัติก็ยังผลให้เกิดคุณเป็นอันมาก เป็นคำสอนง่ายๆไม่มากมาย แค่เพียงเราเพียรปฏิบัติ แต่ไม่ยึดมั่นไม่ตั้งความใคร่ปารถนาในธรรมใดๆ ไม่ยึดมั่นใส่ใจไม่ให้ความสำคัญใน ฌาณ ญาณ เจริญด้วยเพียงให้จิตตั้งมั่นให้รู้เห็นตามจริงได้บ้าง โดยหวังเพียงให้ตนได้เห็นแลพะรู้ธรรมตามจริงตามที่พระพุทธเจ้าสอนเป็นทางเพื่อออกจากทุกข์เท่านั้น คอยพิจารณาโดยอนุโลม ปฏิโลม เจริญศีลและทานให้บริสุทธิ์ มีอินทรีย์สังวร ตั้งมั่นในพละ ๕ เดินบนทางแห่งมรรค ๘ นี่แหละเป็นฐานให้โพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์ แล้วสิ่งใดที่ควรในธรรมทั้งปวงมันก็จะมาเอง เห็นเอง ถึงเอง จะรู้และเข้าถึงได้ไม่มากก็น้อยตามแต่บารมีที่สะสมมา

ธรรมปฏิบัติที่สลายรูปขันธ์

๑. ศีล + ทาน
๒. พุทธานุสสติ + อานาปานสติ (ให้เจริญตั้งไว้เป็นเบื้องหน้าเป็นฐานที่ตั้งแห่งสติและสมาธิให้ถึงจิตตั้งมั่นควรแก่งาน)
๓. ทวัตติงสาการ (ให้เห็นกายในกายตนจนคลายอุปาทานลงมาบ้าง)
๔. ธาตุ ๖ (เห็นร่างกายอวัยวะน้อยใหญ่ในอาการทั้ง ๓๒ นี้สงเคราะห์ลงเป็นธาตุ ๕ แต่อาศัยวิญญาณธาตุที่เข้าไปยึดครอง)
๕. มรณะสติ (พึงเห็นว่าตนจักตาย พึงคิดว่าตนเป็นคนตาย พึงเห็นว่าเราจะต้องทิ้งกายนี้ไป หากจะตายก็ควรเร่งเพียรให้รู้ธรรม)
๖. อสุภะกรรมฐาน (เมื่อตายแล้วศพเราก็ไม่มีใจครอง ธาตุ ๖ ก็ไม่มีความรู้สึก เมื่อยังชีพอยู่ก็ค่อยๆเสื่อมไป เมื่อตายก็ยิ่งเน่าสลายไปในที่สุด เจริญเห็นอวัยวะตนเน่าเปื่อยย่อยสลายไปจนเป็นธาตุ แล้วก็สลายธาตุดับไปให้หมด)
๗. เห็นไตรลักษณ์ คือ อนิจสัญญา อนัตตาสัญญา ทุกข์

การดับสลายธาตุ โดยสมเด็จพระญาณสังวร

เครื่องกำจัดวิจิกิจฉา

ท่านแสดงว่าธาตุกรรมฐานนี้เป็นเครื่องกำจัดนิวรณ์ข้อวิจิกิจฉา คือความเคลือบแคลงสงสัย

อันวิจิกิจฉาคือความเคลือบแคลงสงสัยนั้น ย่อมมีมูลฐานตั้งอยู่บนตัวเรา ของเรา และเมื่อมีตัวเราก็ย่อมจะมีความเคลือบแคลงสงสัยในตัวเราของเรา ในอดีตบ้าง ในอนาคตบ้าง ในปัจจุบันบ้าง ฉะนั้น ตัวเราของเรานี้เอง จึงเป็นที่ตั้งแห่งความเคลือบแคลงสงสัยทั้งหลายเป็นส่วนมาก หรือเป็นส่วนใหญ่ซึ่งเป็นนิวรณ์ และตัวเราของเรานี้ก็ตั้งขึ้นที่กายนี้นั้นเอง กล่าวคือยึดถือกายนี้ และโดยเฉพาะก็คือเป็นตัวเราของเรา

ฉะนั้นเมื่อมาพิจารณาแยกธาตุออกไปเสียว่าโดยที่แท้แล้ว ความที่สำคัญหมายยึดถือว่าเป็นก้อนเป็นแท่ง จนถึงเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวเราของเรานั้นหาได้มีไม่ มีสักแต่ว่าธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และธาตุอากาศ ทั้ง ๕ นี้เท่านั้น

และเมื่อธาตุทั้ง๕ นี้ประกอบกันอยู่ ชีวิตก็ย่อมตั้งอยู่และเมื่อชีวิตตั้งอยู่จึงหายใจเข้าหายใจออกได้ เดินยืนนั่งนอนได้ และก้าวไปข้างหน้า ถอยไปข้างหลังเป็นต้นได้  อาการทั้งหลายในร่างกายนี้ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเป็นต้น ต่างก็ปฏิบัติหน้าที่ของตนๆ และยังดำรงอยู่

แต่เมื่อธาตุที่ประกอบกันเข้าเป็นกายอันนี้แตกสลาย ดังที่ปรากฏ ดับลม ลมหายใจเข้าออกนั้น หายใจเข้าแล้วไม่ออก หายใจออกแล้วไม่เข้า ขาดสันตติคือความสืบต่อ ดับลม เมื่อความดับลมปรากฏขึ้น ธาตุไฟก็ดับ เมื่อธาตุไฟดับ ธาตุน้ำธาตุดินก็เริ่มเน่าเปื่อยเหือดแห้งเสื่อมสลายไป เพราะฉะนั้นความสิ้นชีวิตก็ปรากฏ และเมื่อความสิ้นชีวิตปรากฏ ร่างกายนี้ที่เป็นร่างกายที่มีชีวิตก็กลายเป็นศพ

ป่าช้า ๙

และศพนั้นเมื่อเป็นศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าดังในสมัยโบราณ เมื่อพิจารณาดู หรือเมื่อนึกดูถึงสภาพของศพ ก็ย่อมจะปรากฏว่า เมื่อเป็นศพที่ตายวันหนึ่ง สองวัน สามวัน ก็ย่อมจะมีสีเขียวน่าเกลียด และจะมีสัตว์ต่างๆมาจิกมากัดกิน และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะเป็นศพที่เป็นโครงร่างกระดูก มีเนื้อเหลือติดอยู่ มีเส้นเอ็นรึงรัด และเมื่อปล่อยทิ้งไปยิ่งไปกว่านี้ก็จะไม่มีเนื้อเหลือ แต่ยังเป็นโครงร่างกระดูกที่มีเส้นเอ็นรึงรัด และต่อจากนั้นเส้นเอ็นที่รึงรัดก็จะหมดไป เน่าเปื่อยไป โครงกระดูกที่ประกอบกันอยู่นั้นก็จะเริ่มกระจัดกระจาย กระดูกขาก็จะไปทางหนึ่ง กระดูกแขน กระดูกตัว กระดูกบั้นเอว กระดูกซี่โครง กระดูกบ่า กระดูกคอ ฟัน ศีรษะ ก็จะไปทางหนึ่ง จึงกลายเป็นกระดูกหรือเป็นอัฏฐิที่มีสีขาว และกระดูกนั้นเมื่อนานไปๆก็จะมารวมกันป่นเข้าเป็นกองๆ พ้นปีออกไป และเมื่อนานไปๆ นั้น ก็จะผุป่นละเอียดไปหมด ก็เป็นอันว่าร่างกายอันนี้ก่อนแต่มาประชุมกันเป็นชาติคือความเกิด ก็ไม่มี

และเมื่อธาตุทั้งหลายมาประชุมกันเข้า คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศคือช่องว่าง และวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ มาประกอบกันเข้า ความตั้งครรภ์ของมารดาก็ปรากฏขึ้น และก็เริ่มชาติคือความเกิด จนถึงเมื่อคลอดออกมาเป็นชาติ คือความเกิดที่ปรากฏ ดำรงชีวิตอยู่ก็โดยที่ธาตุทั้ง ๖ นี้ประกอบกันอยู่ และก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปในทางเจริญ คือเป็นวัยเด็กเล็ก เด็กโต เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นผู้ใหญ่ แล้วก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อม ก็เป็นความแก่ที่ปรากฏ

จนถึงในที่สุดวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ ก็จุติคือเคลื่อน เมื่อเป็นดั่งนี้บรรดาธาตุ ๕ ที่ไม่รู้นั้น ที่รวมกันอยู่ก็แตกสลาย ดังที่ปรากฏเป็นความดับลมเป็นต้น ดั่งที่กล่าวแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ร่างกายอันนี้ก็เริ่มแตกสลาย แล้วก็ไปจนเป็นกระดูก แล้วก็เป็นกระดูกผุป่นในที่สุดก็เป็นอันว่าก็ถึงภาวะที่เรียกว่าไม่มีเหมือนอย่างเดิม เดิมก็ไม่มี และเมื่อมีชาติคือความเกิด ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิขึ้นในครรภ์ของมารดา จนถึงสิ้นชีวิตในที่สุด แล้วในที่สุดเมื่อกระดูกผุเปื่อยไปหมดแล้วก็กลับไม่มีเหมือนอย่างเดิม

อนิจจะ ทุกขะ อนัตตา

เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่ตรัสสอนให้พิจารณา ว่านี้คืออนิจจะคือความไม่เที่ยง ที่ปรากฏเป็นความเกิดเป็นความดับ จึงปรากฏเหมือนอย่างว่าเป็นสิ่งที่ขอยืมเขามาตั้งอยู่ชั่วกาล และปรากฏว่า เดิมก็ไม่มี แล้วก็มีขึ้น แล้วก็กลับไม่มีเหมือนอย่างเดิม ดั่งนี้เป็นอนิจจะคือความไม่เที่ยง และเพราะความไม่เที่ยงดั่งนี้จึงชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะเหตุว่าถูกความไม่เที่ยงคือความเกิดดับนี้บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา จึงตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปจากเกิดจนถึงดับ และเมื่อเป็นดั่งนี้จึงเป็นอนัตตา คือไม่ใช่เป็นตัวเราของเรา เพราะบังคับให้เป็นไปตามความปรารถนามิได้

เมื่อบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ เพราะเหตุว่าต้องเกิดต้องดับ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปดั่งนั้น จึงขัดแย้งต่อความเป็นอัตตาที่ยึดถือ และเพราะเหตุที่ตนบังคับให้เป็นไปตามความปรารถนามิได้ต้องเกิดดับ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นของที่ว่างเปล่าจากสาระแก่นสาร เป็นของที่ว่างเปล่าจากความเป็นตัวเราของเรา ความเป็นตัวเราของเรานั้นเป็นความยึดถือไว้เท่านั้น ไม่ใช่เป็นสัจจะคือความจริง ความจริงนั้นก็คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กุมภาพันธ์ 25, 2015, 09:31:46 PM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 21-2-58 # ๒
หลังจากได้ฟังธรรมเทสนาของ หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน แล้วเราน้อมนำมาเจริญปฏิบัติ

สามัญลักษณะของสังขารทั้งปวง

เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานแม้ในข้อกายานุปัสสนา พิจารณากาย ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้นี้ เมื่อตรัสสอนให้กำหนดพิจารณาดูลักษณะของกาย กำหนดลักษณะ หรือเรียกว่ากำหนดรูปธรรมก็ได้ กำหนดรูปลักษณะของลมหายใจเข้าออก ของอิริยาบถใหญ่ อิริยาบถน้อย ของอาการ ๓๑ หรือ ๓๒ ของธาตุ ตลอดจนถึงของศพ ตั้งแต่เริ่มตาย จนถึงเสื่อมสลายไปหมดในที่สุด เป็นการตรัสสอนให้กำหนดรูปลักษณะ

เมื่อตรัสสอนให้กำหนดรูปลักษณะ ดั่งนี้ ย่อมจะทำให้มองเห็นสัจจะคือความจริง ซึ่งเป็นสามัญลักษณะ คือเป็นลักษณะที่ทั่วไปของสังขารทั้งปวง อันได้แก่ อนิจจลักษณะ ลักษณะที่ไม่เที่ยง ทุกขลักษณะ ลักษณะที่เป็นทุกข์  อนัตตลักษณะ ลักษณะที่เป็นอนัตตามิใช่ตัวตน ทำให้ อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์  และ อนัตตตา ความเป็นอนัตตา ปรากฏขึ้น ดั่งนี้จึงเป็นตัวปัญญาวิปัสสนา ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง ในอนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ อนัตตลักษณะ ในอนิจจตา ทุกขตา อนัตตา

เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงเป็นไปเพื่อวิปัสสนาปัญญา อันตั้งขึ้นจากสมาธิที่กำหนดรูปลักษณะของกาย สมาธิที่ตั้งกำหนดรูปลักษณะของกายตามที่ตรัสสอนนี้ จึงเป็นวิธีที่ให้ได้วิปัสสนาปัญญา

ในสามัญลักษณะ เป็นตัวปัญญาดังที่ตรัสเอาไว้ว่า ตามเห็นเกิด ตามเห็นดับเป็นธรรมดา ตามเห็นทั้งเกิด ตามเห็นทั้งดับเป็นธรรมดา ดั่งนี้

ฉะนั้นการปฏิบัติในสติปัฏฐานตั้งสติเบื้องต้น กำหนดรูปลักษณะของกาย ก็ทำให้ได้สมาธิ และทำให้ได้วิปัสสนาปัญญา อันเป็นตัวปัญญาที่ให้ได้วิมุติความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ แม้จะชั่วระยะหนึ่ง เร็วหรือช้า มากหรือน้อย ตามสมควรแก่กำลังปฏิบัติ


สมเด็จพระสังฆราชสุก ไก่เถื่อน

ท่าน ให้สลายธาตุน้ำก่อน สลายแล้วคอจะแห้ง ต่อมาให้สลายธาตุไฟ ธาตุไฟสลายแล้ว จะรู้สึกหนาว ต่อมาจึงสลายธาตุดิน สลายธาตุดินแล้ว กายจะเบา ต่อมาสลายวิญญาณธาตุ สลายแล้ว จะดับความยึดมั่น ไม่มีร่างกาย ว่างแคว้งคว้าง
ธาตุลม ท่านห้ามสลาย จิตจะอยู่ที่ถุงลม ถ้าสลายธาตุลมต้องมีจิตกล้าแข็ง และกลับมาได้ เพราะสังขารกายเนื้อยังค้างคาอยู่

หลวงปู่สอน จิต กับอารมณ์อย่าแยกกัน จิตไม่ไปพร้อมกับอารมณ์ กิเลสแซก จิตไปพร้อม กับอารมณ์ กิเลสไม่แซก เรียกว่ามีสติ ประโยชน์ ใช้คุมตัวเอง ดูแลตัวเอง



ส่วนตัวเราสลายมันทุกธาตุจนเห็นกายดับสูญ บ้างก็ลมก่อนก็ให้เห็นอากาศธาตุนี้แคบลงจากนั้นดินและน้ำก็แคบลง บ้างก็น้ำก่อนก็เห็นดินนี้เหี่ยวแห่งผุพังสลายไป





วันที่ 25/2/58 ตรงกับวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๔ เวลา 07.25 น. โดยประมาณ

เราได้รับพระเกศาธาตุและพระร็อคเก็ต จาก หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน พร้อมได้ให้หลวงปู่อธิษฐานจิตพระผงรูปเหมือนหลวงปู่ซึ่งอีกด้ายเป็นพระอุปคุตเถระ และ เหรียญครูอุปัชฌาย์องค์แรกของเรา คือ หลวงปู่นิล มหันตปัญโญ (พระครูโกศลสมณะกิจ) วัดป่าโกศลประชานิระมิต อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น

โดย..เราได้บอกกับหลวงปู่ว่า "ด้วยพระผงองค์ที่นำมาให้หลวงปู่ให้อธิษฐานจิตให้ ทำให้ผมออกตามหาหลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน ใช้เวลาอยู่พอควร ถ้าจำไม่ผิดก็ตั้งแต่ประมาณช่วงกรกฏาคม-สิงหาคม ปี 57 จนได้มาเจอหลวงปู่เมื่อประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม ปี 57 และ มาขอกรรมฐานจากหลวงปู่ประจำจนมีโอกาสที่หลวงปู่รับผมเป็นลูกศิษย์เมื่อวันที่ 12/2/58 ที่ผ่านมานี้เองครับ"
(ซึ่งในพระผงเขียนว่าวัดอโสการาม สมุทรปราการ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ. ทำให้เราคิดว่าหลวงปู่อยู่ที่ จ.สมุทรปราการ จึงได้ตัดใจไป จนได้ดูทางอินเตอร์เน็ตจึงรู้ว่าหลวงปู่ได้จำวัดอยู่ ณ วัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร. จึงได้ออกตามท่าน ซึ่งเมื่อเดือนแรกก็ไม่เคยเจอท่าน เนื่องจากท่านจะได้รับนิมนต์ประจำและฉันข้าวมื้อเดียว แต่พระในวัดก็บอกว่าหลวงปู่ยังดำรงขันธ์อยู่ อยู่ที่ กุฏิ ๘ จึงได้มาหาท่านจนเจอ)

หลวงปู่ได้กล่าวตอบกับเราว่า "ดีๆๆ ดีแล้ว ดีๆ ดีมากๆ ดีแล้ว พร้อมพยักหน้ายิ่ม" จากนั้นหลวงปู่ก็นำดอกไม้ที่ญาตโยมนำมาถวายใส่บาตและนำกล่องใส่ผอบและพระเครื่องเราขึ้นไปบนกุฏิด้วย จากนั้นอีกประมาณ 1 ชม. เมื่อหลวงปู่ก็ลงมาจากกุฏิ ญาติโยมก็มาถวายภัตราหารเช้าแก่หลวงปู่เมื่อเขาถวายเสร็จหลวงปู่ก็เรียกเราเข้าไปเอากล้อง ในกล่องมีทั้งพระเกศาธาตุ พระผง และหลวงปู่ได้มอบล็อคเก็ตรูปหลวงปู่เลี่ยมทองให้แก่เรา เราเป็นปลื้มตื้นตันมาก ความฟุ้งไรๆไม่มี มีแต่จิตยินดีที่โลดแล่น จนเข้าใจถึงลิงที่ถวายรังผึ้งให้แก่พระพุทธเจ้าแล้วเกิดปิติยินดีกระโดดโลดแล่นแล้วก็ตายในที่สุดแล้วก็ไปจุติบนสวรรค์ นี่มันเป็นอย่างนี้เลยอารมณ์นี้ ซึ่ง

ครั้งที่ ๑ ที่เป็นแบบนี้คือ เมื่อได้พระบรมสารีริกธาตุ จากพระอาจารย์สามารถที่วัดอนงค์คาราม ตอนไปทำบุญให้ อาก๋ง-อาม่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2557 ครั้งนั้นเมื่อนั่งสมาธิก็เห็นพระพุทธเจ้ามาตรัสสอนกรรมฐานทั้ง ๔๐ เมื่อนอนหลับก็ฝันเห็นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์มาสอนกรรมฐานอยู่ 3 วัน 3 คืน จนเราได้อธิษฐานต่อรูปพระตถาคตที่เขาถ่านติดที่ใต้ต้นโพธิ์ว่า พระตถาคต ขอโปรดพอก่อนๆ ผมตามไม่ทันแล้ว จากนั้นก็ไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์อีกเลย จนต่อเมื่อเราเกิดความหลงตนจึงได้เห็นหลวงปู่ฤๅษีลิงดำ มาสั่งสอนและทลายความลูบคลำทิฐิตน จนละมานะทิฐินั้นได้
ครั้งที่ ๒ ที่เป็นแบบนี้คือ เมื่อได้รับพระบรมสารีริกธาตุจากครูบาแก๊บ และ เกศาธาตุของหลวงพ่อเสถียร
ครั้งที่ ๓ ที่เป็นแบบนี้คือ เมื่อได้ฟังธรรมที่ทางพ้นทุกข์โดยแยบคายจาก หลวงพ่อเสถียร  
ครั้งที่ ๔ ที่เป็นแบบนี้คือ เมื่อหลวงปู่บุญกู้ อธิษฐานจิตและลงยันต์พระท่านพ่อลี ธัมมะธะโร ให้เรา และ มอบพระเครื่องบูชาและหนังสือธรรมมะแก่เราเรื่อยๆ
ครั้งที่ ๕ ที่เป็นแบบนี้คือ เมื่อหลวงปู่บุญกู้ รับเราเป็นลูกศิษย์
ครั้งที่ ๖ ที่เป็นแบบนี้คือ เมื่อหลวงปู่บุญกู้ มอบเกศาธาตุ และ ร็อคเก๊ตเลี่ยมทองรูปหลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน และ อธิษฐานจิตพระผงรูปเหมือนท่านให้แก่เรา

นี่ขนาดพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้ายังอานิสงส์มากขนาดนี้ ถ้าเป็นพระพุทธเจ้ามอบให้โดยตรงทั้งธรรมและเกศาธาตุนั้นจะยังความสุขปานใด ดังนั้นนี่บ่งบอกให้เห็นเลยว่า เราควรมีพละ ๕ เป็นอันมาก โดยตั้งที่ศรัทธาให้เป็นกำลังก่อนเลย ศรัทธามีลักษณะตามไป น้อมไป ดังนี้.. ดั่งพระนาคเสนกล่าวสอนแก่พระเจ้ามิลินฉันนั้น

และ วันนี้ก็ได้เจอพระอาจารย์บุญเลิศ ผู้ที่ไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาฝ่ายธรรมยุต ที่ออสเตเรีย และ ได้ทนฟันฟ่าโดยตัวท่างเองเพียงองค์เดียว จนสามารถสร้างวัดและออกบิณฑบาตที่ออสเตเรียได้ (ออสเตเรียมีกฏหมายห้ามบิณฑบาต และ พระห้ามดูแลวัดเอง ให้แต่โยมเท่านั้นดูแลให้ แต่ท่านก็มีสัจจะและใจเด็ดเดี่ยวได้เผยแพร่พระธรรมจนสามารถสร้างวัดโดยตัวท่านเองและบิณฑบาตได้ที่ออสเตเรีย)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กุมภาพันธ์ 28, 2015, 09:56:08 AM

บันทุกกรรมฐาน วันที่ 27/2/58


คืนวันนี้เวลา 22.00 น. - 22.30 น. ได้โทรสนทนาธรรมกับหลวงน้า พระอาจารย์มหาแก้ว ปธ.๙ ท่านเป็นน้องของแม่เรา ท่านบวชตั้งแต่เมื่อยังเด็กยังหนุ่มจนถึงปัจจุบันนี้และเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัเในหนองคาย ซึ่งท่านเป็นพระที่เผยแพร่พระกรรมฐานทั้งสมถะและวิปัสนา เท่าที่พอจะตรึกนึกถึงได้ประกอบกับสัญญาความตรึกนึกคิดอนุมานเอารวมความเป็นบันทึกออกมา ท่านได้กล่าวธรรมสอนว่า

การปฏิบัตินี้ตั้งแต่สมัยพุทธกาล ก็มีการปฏิบัติ ดังนี้คือ

๑. เน้นสมถะก่อน แล้วค่อยไปวิปัสสนา เพราะจะทำให้เห็นชัดตามจริง การเน้นสมถะก่อนนี้หากยังมีโมหะอยู่มาก ไม่มีครูบาอาจารย์สอนก็หลงได้ เพราะจะเกิดให้เห็นนิมิตเกิดดับมากมายหลายอย่างถ้าหลงว่าจริงโดยไม่รู้ว่ามันมีทั้งจริงและไม่จริงเอาแน่นอนไม่ได้ เมื่อเห็นก็ให้สงเคราะห์ลงในธรรมเพื่อละกิเลส ถ้าไม่รู้ตรงนี้ก็หลงไปเป็นอุปาทานแน่นอน
๒. เน้นทั้งสมถะและวิปัสนา แต่ก็เข้าไปเล่นในส่วนนั้นส่วนนี้ก่อนเพื่อให้รู้แจ้งจนหน่ายจนคลาย แล้วจึงออกมาถึงความหลุดพ้น
๓. เน้นวิปัสสนา ก็ไม่ยึดสมาธิ แต่ก็ต้องใช้ขณิกสมาธิละเอียดหน่อยประกอบกับความตรึกนึกคิดดูสภาวะธรรมแล้วเกิดปัญญาดับละทุกข์ได้ทันก่อน ก็เบาสบายก่อน แต่สมาธิจะมีน้อย
- คนเราเมื่อจะปฏิบัติมีอยู่โดยรวม ๓ แบบดังนี้ ใครจะเข้าทางไหนก็ไม่ผิด แต่ผลที่ได้ก็จะต่างกันออกไป แต่เมื่อหลุดพ้นแล้วท่านก็ไม่ยึดติดเอาสิ่งใดอีกแล้ว

- กาม คือ ความใคร่ปารถนาในอารมณ์ไรๆ ไม่ใช่การเสพย์เมถุน ซึ่งหลายๆคนตีความรวมกันผิดไปหมด เสพย์เมถุนมีเพศสัมพันธ์มันเป็นเรื่องของโผฐฐัพพะ เป็นความรู้ทางกายไม่ใช่กาม แต่เมื่อติดใจจากความรู้สึกทางกายที่ได้กระทบสัมผัสนั้น มีความใคร่ปารถนาที่จะได้เสพย์อารมณ์ความรู้สึกในการกระทบสัมผัสทางกายแบบนั้น ความรู้สึกอย่างนี้เป็นกามฉันทะ กามราคะ กามตัณหา

ก. อารมณ์พระนิพพานผู้ที่หลุดพ้นตามจริง คือ เมื่อเข้าไปรู้เห็นแล้วมันตัดเลยมันไม่มีอะไรอีก เมื่อถอยออกมาอารมณ์ที่ตัดนั้นก็คงอยู่ ไม่ดับไป สภาวะธรรมที่เข้าถึงนั้นก็ไม่เลือนมีอยู่ตลอดทุกขณะจิต เพราะมันไม่มีสิ่งได้อีกแล้ว
ข. อารมณ์ที่เป็นโลกียะเมื่อเข้าไปเห็นเกิดหน่ายจิตจักพึงละ แต่พอออกมาก็ยังคงอุปาทานอยู่ ยังละะกายใจตนไม่ได้ ยังมีภายในภายนอกให้จิตยังเสพย์อยู่ คือ ตานี้เป็นภายใน รูปเป็นภายนอก ธัมมารมณ์ มีความพอใจและความไม่พอใจเป็นต้น ผัสสะมาให้จิตยังเสพย์อยู่
ค. ถ้าฐานไม่ดี สมาธิหรือปัญญาก็จะเข้าไม่ถึง ฐานที่ว่านี้คือ ศีล ถ้าศีลไม่บริบูรณ์ก็ไม่ถึงธรรมของพระพุทธเจ้า

พุทโธ นี้เป็นพุทธานุสสติ พุทโธนี้มีหลายระดับ ซึ่งถ้าจะปริยัติอย่างเดียวย่อมไม่รู้ ผู้ที่เข้าถึงพุทธานุสสตินี้มีดังนี้

ระดับที่ ๑ คือ คำบริกรรม ไม่ว่าจะกล่าวพูดเพ่งเสียงออกมา หรือ พูดในใจว่า พุทโธ นี่เป็นคำบริกรรม ดับความคิดฟุ้งซ่านได้ สติจะอยู่กับลม ลมอยู่ที่ไหนสติอยู่ที่นั่นไม่ว่ามันจะแล่นไปจมูก หน้าผาก คอ หน้าออก ท้องน้อย แขน ขา ลมมีอยู่ที่ไหนสติก็อยู่ที่นั่น
ระดับที่ ๒ คือ ความรู้เห็นตามจริง(ยถาภูญาณทัสสนะ) เมื่อเข้าไปอยู่ในสมาธิก็เกิดความรู้เห็นในสภาวะธรรมตามจริง รู้ด้วยปัญญาไม่ใช่ตรึกแนึกคิดอนุมานคาดคะเนเอา เกิดเป็นมรรคญาณ นี่คือ พุทโธ
ระดับที่ ๓ คือ ความหลุดพ้น เมื่อเกิดเกิดมรรคญาณ ย่อมนำไปสู่โพชฌงค์ที่บริบูรณ์ เปิดเป็น ปัญญาณาณ ตัดดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ถึงความเบิกบาน อันพ้นจากกิเลสแล้ว เป็นวิมุตติความหลุดพ้น

พุทโธ คือ ผู้รู้ ผู้คื่น ผู้เบิกบาน
รู้ คือ บัญญัติ คือ ได้รู้เห็นอริยะสัจ วิเคราะห์ทางออกจากทุกข์ด้วยปัญญาแล้ว
ตื่น คือ ปฏิบัติ คือ ปฏิบัติตามแนวทางนั้นๆเพื่อออกจากทุกข์
เบิกบาน คือ ปฏิเวธ คือ ผลอันเกิดการการเรียนรู้วิเคราะห์และปฏิบัติตามธรรมเพื่อออกจากทุกข์นั้นๆ

ในวันนี้ตอนเช้าได้ไปหาหลวงน้าที่วัดมกุฏกษัติยาราม แต่ไม่เจอ เลยกลับมาหาพี่ๆทีมงานที่กรมสรรพสามิตราชวัตร ก็ได้พบเจอพี่กบหัวหน้าเก่าเราซึ่งท่านเป็นลูกศิษย์พระป่าสายหลวงปู่มั่นแนวท่านพ่อลี ธัมมะธโร เหมือนกับเรา และ พี่ๆที่เป็นจนท.กรมสรรพสามิตคนอื่นๆ ท่านเล่าว่ามีพี่คนหนึ่งท่านจะเป้นผู้เลอะเลือนสติสตังไม่ดีเอ๋อทำงานไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ทางโลกไม่ได้แต่เป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตนี้แหละ พอท่านหันมาเจริญในศีล สมาธิ และ สติปัฏฐาน ก็นานมาหลายปี อานิสงส์แห่งการกรรมฐานนั้นทำให้ท่านผู้นี้หายสติฟั่นเฟือนไป ซึ่งเราเองก็รู้จักสนิทกับท่านคนนี้อยู่ก็พอไปเห็นท่านอีกครั้งถึงกับอึ้งจนพูดไม่ออก นี่อานิสงส์ของ ศีล(ทำให้กายใจบริสุทธิ์ไม่เร่าร้อน) สมาธิ(ทำให้สงบเอื้อต่อสติให้ถึงมหาสติ) สติปัฏฐาน ๔(รู้ทันกายเวทนา จิต ธรรม) มีมากขนาดนี้เลย อานิสงส์นี้เราเห็นผลตามจริง
จากนั้นพี่กบก็ได้สอนธรรมเรื่อง ศีล ทาน ภาวนา แก่เรา ยังความอิ่มเอมให้มีขึ้น



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มีนาคม 04, 2015, 09:52:41 AM

ภาพพระเถระศิษย์หลวงปู่มั่น และหลานศิษย์ ที่เป็นพระอุปัชฌาย์ และ ครูบาอาจารย์ที่เราให้ความเคารพนับถือและได้มีโอกาสไปขอคำชี้แนะจากท่าน ที่เมื่อเราระลึกถึงคุณแห่งพระสงฆ์ เป็นสังฆานุสสติ ระลึกเอาคุณปฏิปทาจริยะวัตรการปฏิบัติของท่าน ซึ่งเป็นผู้ ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรงแล้ว ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว เป็นคู่แห่งบุรุษสี่คู่ แล้วระลึกถึงพระธรรมคำสอนที่ท่านคอยบอกกล่าวชี้แนะเพื่อเป็นเครื่องออกจากทุกข์ แล้วทำให้เราถึงความสงบรำงับจากกิเลสถึงปัสสัทธิ เป็นสุขผ่องใสเบิกบาน ถึงความมีจิตตั้งมั่นได้ ทั้งที่ท่านนิพพานดับขันธ์ไปแล้วและที่ยังดำรงขันธ์อยู่ ที่เรามีโอกาสได้เป็นลูกศิษย์ท่าน ซึ่งพระธรรมคำสอนท่านนี้หาค่าประมาณมิได้




(http://img.tarad.com/shop/p/pomja/img-lib/wbp_20070410215854.jpg)

หลวงปู่นิล มหันตปัญโญ (พระครูโกศลสมณะกิจ) ท่านเป็นพระอรหันต์ที่ได้นิพพานไปแล้ว
วัดป่าโกศลประชานิรมิต หรือ วัดป่าคุ้มจัดสรรค์ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น.

ท่านเป็นศิษย์หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และ หลวงปู่มั่น ได้เดินทางในกองทัพธรรมมาถึง อ.บ้านไผ่ จึงได้มีคนขออาราธนาหลวงปู่มั่นเป็นเจ้าอาวาส ท่านหลวงปู่มั่นได้ให้หลวงปู่นิลอยู่เป็นเจ้าอาวาสที่วัดป่าสุมนามัย หลวงปู่นิลท่านได้บวชให้ผมทั้งที่บวชเณร และ บวชพระ ท่านได้ให้ฉายาผมว่า จารุวังโส เป็นครูบาอาจารย์ท่านแรกที่ผมได้เรียนรู้พระธรรมด้วย นอกจากเตี่ยกิมคุณ เบญจศรีวัฒนา บิดาของผม และ เตี่ยของผมก็ได้ไปสนทนาธรรมและขอกรรมฐานท่านเป็นประจำ หลวงปู่นิล นี้สมัยผมบวชถ้าใครไม่ไปทำวัตรหรือทำผิดศีล เขาเล่ากันว่าท่านนี้จับไปนอนใต้เมรุเผาศพเลย หรือ บางคนก็โดนท่านถอดจิตไปเคาะกุฏิเรียกทั้งๆที่ ตัวท่านนี้นั่งทำวัดอยู่ในศาสลาทำวัตร


(http://f.ptcdn.info/146/006/000/1371063088-99-o.jpg)

หลวงปู่อินตอง สุภาจาโร
วัดป่าวีระธรรม ต.ไฮหย่อง อ.พังโคน จ.สกลนคร

ท่านเป็นญาติ ทางแม่ผมซึ่งท่านเคร่งมากๆ พระและเณรที่ไม่ปฏิบัตินี้จะอยู่วัดไม่ได้เป็นอันขาด ท่านมีอภิญญาที่ดีพร้อมเป็นที่พึ่งของชาวบ้านใน อ.ฟังโคน เป็นอันมาก ท่านจะชอบเรียกผมว่าบักขี้ดืั้อ เพราะท่านเห็นผมตั้งแต่ยังเด็กไม่กี่ขวบ ท่านจะพากรรมฐานถือธุดงควัตร ฉันมื้อเดียว และ อื่นๆ ท่านที่เคารพท่านก็ไปกราบไหว้เรียนกรรมฐานท่านที่วัดป่าวีระธรรมได้ครับ แต่ท่านจะไม่ค่อยว่างสักเท่าไหร่เนื่องจากมีกิจนิมนต์มากจนแทบไม่ได้พักเลยครับ


(http://m-culture.in.th/media/big/363860)

พระครูสุจินต์ธรรมวิมล (พระอาจารย์สมจิต รตินฺธโร)
วัดป่าอาสภาวาส ต.หินตั้ง  อ.บ้านไผ่  ขอนแก่น

ท่านเป็นลูกศิษย์ใน พระพุฒาจารย์อาส ท่านถือธุดงควัตร ฉันมื้อเดียวตอน 9.00 น. วัดห่างไกลหมู่บ้าน หมู่บ้านที่ใกล้สุดก็ 5 กม. โดยประมาณ ท่านเป็นผู้สอนกรรมฐานทั้ง ยืน เดิน นั่ง นอน ให้แก่ผม เป็นครูอุปัชฌาย์ที่บวชหลังจากที่ได้บวชกับหลวงปู่นิล มหันตปัญโญ และ ให้กรรมฐานแก่ผม ทั้งตามในสายหลวงปู่มั่นบ้าง ซึ่งท่านจะบอกว่าลูกพระพุทธเจ้าองค์เดียวกันคำสอนครูบาอาจารย์สายไหนก็ดีหมดถ้าสอนเพื่อถึงความหลุดพ้น ทั้งพุทโธในสายพระพุฒาจารย์อาส และ กรรมฐานในอิริยาบถทั้งหลาย ท่านจะสอนให้มีสติให้มาก ท่านเปิดสอนกรรมฐานอยู่ครับ ถ้าอยากเรียนก็เชิญไปได้ครับ


(http://f.ptcdn.info/145/006/000/1371062153-45-o.jpg)

พระอาจารย์บุญกู้ อนุวฑฺฒโน (พระครูพุทธิสารสุนทร)
วัดพระศรีมหาธาตุ แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ

(ศิษย์โดยตรงของท่านพ่อลี ธัมมะธโร และได้ไปเรียนกรรมฐานกับทางหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่ฝั้น เป็นสายลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต) ท่านจะสอนและเน้นใน ศีล ทาน ภาวนา เป็นอันมาก ซึ่งธรรมที่ท่านสอนที่ผมได้เรียนรู้จากท่านมีทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด แต่ผมยังไม่ถึงขั้นสุดเพราะยังไปไม่ถึงจะถามท่านไปแต่ผมก็คงจะไม่สามารถปฏิบัติได้ ท่านเ)็นครูอุปัชฌาย์ของผมองค์ปัจจุบันนี้ จึงยังทำไปตามลำดับอยู่ เชิญไปเรียนกรรมฐานสวดทิพย์มนต์ และ นั่งสมาธิและฟังคำสอนท่านได้ที่วัดมหาธาตุ บางเขน ทุกวันศุกร์ครับ


(http://image.ohozaa.com/i/aa3/RdglnU.jpg)

พระอาจารย์มหาแก้ว (วัดอยู่ที่หนองคายแต่จำชื่อวัดไม่ได้)
ท่านเป็นศิษย์ทางสายหลวงปู่มั่น ท่านได้ปฏิบัติมาทางสายหลวงปู่เทส และ สมเด็จพระญาณสังวรพระสังฆราช ท่านเป็น มหา ปธ.๙ เผยแพร่พระธรรมคำสอนและกรรมฐานทั้ง สมถะและวิปัสสนา ไปทั่วทุกทิศมีลูกศิษย์มากมาย ท่านมีศักดิ์เป็นน้าผม เป็นน้องญาติทางแม่ผม ท่านจะสอนผมทั้งการทำสมาธิ การเจริญสติปัฏฐาน ๔ การพิจารณาในวิปัสสนาญาณ


(http://www.web-pra.com/upload/shopItem2/4898/742207-16543.jpg)

พระครูสัตยาภิวัฒน์ ( หลวงพ่อแหวน )
วัดป่าหนองนกกด อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร

 ลูกศิษย์สาย พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นพระสายปฏิบัติธรรม นั่งกรรมฐาน เร้นกายอยู่ในราวไพรครั้งอดีต แต่เมื่อกาลผ่านไป อะไรก็ต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันยุคร่วมสมัย หลวงพ่อแหวน ท่านเป็นหนึ่งในศิษย์สายพระวิปัสสนา และประกอบเมตตาเป็นที่ตั้ง หลวงปู่แหวนท่านเป็นญาติคราวเพื่อนกับแม่ผม ท่านสอนให้มีสติให้มาก อย่าทิ้งพุทโธเด็ดขาด ให้มีลมหายใจเป็นพุทโธ



ถึงเราจะมีครูบาอาจารย์ที่ได้เป็นพระอรหันต์และพระอริยะเจ้าทั้งหลาย แต่เราก็ยังเป็นแค่ปุถุชนอยู่ ยังไม่ถึงขั้นมนุษย์ด้วยซ้ำ เพราะคำว่ามนุษย์ คือ ผู้ทีสันดานในพระอริยะ ตั้งแต่พระโสดาบันมรรคขึ้นไป แต่เรายังปฏิบัติได้บ้างไม่ได้บ้าง กระทำผิดบ้าง ถูกบ้าง เพราะยังเป็นแค่ปุถุชน ไม่ควรถือตัวว่ามีครูบาอาจารย์ดีแล้วลุ่มหลงว่าตนรู้หรือมีดีกว่าคนอื่น เพราะความคิดนั้นล้วนเกิดแต่สมมติกิเลสที่จะทำให้เรานั้นหลงไป ส่วนครูบาอาจารย์ผมท่านได้ล่วงจากกองทุกข์เหล่านี้แล้ว เพราะเรายังเป็นแค่ปุถุชน หากเคารพนับถือท่านจริงก็ควรเพียรปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ ธรรมเพื่ออกจากทุกข์ ธรรมที่เรารู้ไม่ได้มีไว้อวด แต่มีไว้เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง สัตว์ คน มนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มีนาคม 08, 2015, 11:26:46 PM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 6/3/58 เวลาประมาณ 10.00 น. - 12.30 น.
แกะเทปบันทึก หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน เทศนาธรรมสอนเรื่องการอบรมจิต



http://mfi.re/watch/9u212y4n7fud257/บันทึกหลวงปู่สอนกรรมฐานวันที่_6-3-58.3gpp (http://mfi.re/watch/9u212y4n7fud257/บันทึกหลวงปู่สอนกรรมฐานวันที่_6-3-58.3gpp)



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มีนาคม 15, 2015, 05:02:24 PM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 13/3/58 เวลาประมาณ 10.00 น. - 12.30 น.
แกะเทปบันทึก หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน เทศนาธรรมสอนเรื่องการอบรมจิต



บันทึกหลวงปู่สอนกรรมฐานวันที่_13-3-58.wav
http://www.mediafire.com/listen/ht8n2pnd2lah84f/ (http://www.mediafire.com/listen/ht8n2pnd2lah84f/)




หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มีนาคม 23, 2015, 08:56:09 AM
บันทึกกรรมฐานวันที่ 22/3/58 เวลาโดยประมาณช่วง 7.30 น. - 9.45 น. ที่ศาลาลุงชิน ซอยแจ้งวัฒนะ 14

   วันนี้เราได้ติดตามหลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน ไปทำบุญ ซึ่งพี่เอ๋โยมอุปัฏฐากหลวงปู่ได้บอกแก่เราไว้ในวันเสาร์ 21/3/58 เนื่องจากไฟกวาดลานวัดแล้วเราถูกหมาวัดกัดแต่พอไปหาหมอฉีดยาเสร็จก็เดินกระเผกๆมากวาดลานวัดและกุฏิหลวงปู่ต่อ ตอนที่มาถึงศาลาลุงชินน้ำตาเราแทบจะหลั่งพลูไม่หยุด เพราะเบื้องหน้าที่ได้เห็นมีแต่พระอรหันต์นับสิบรูป เราก็คิดว่าคงไม่มีบุญได้ประเคนถวายภัตราหารอย่างใกล้ชิด ไม่มีโอกาสได้เข้าใกล้ครูบาอาจารย์เป็นแน่แท้ แต่ก็พอดีมีคนดึงแขนเราเข้าไปถวายภัตราหารหน้าหลวงปู่เลื่อน โอภาโส และ หลวงปู่เยื้อน ขันติพะโล ทำให้ได้มีโอกาสฟังธรรมและขอพรจากพระอรหันต์อีกหลายท่าน ซึ่งเราก็มีโอกาสให้ท่านทั้งหลายให้พรเป่าหัวแก่เรา




ละราคะวิตก

ก่อนและตอนเพิ่งมาถึงศาลาลุงชิรในแรกๆที่จะได้ถวายภัตราหาร เราได้เกิดปริวิตกโดยทำไว้ในใจโดยแยบคายในขั้นความคิดสมถะพิจารณาระลึกย้อนถึงเหตุและผลที่ทำให้เกิดและดับไปของราคะเพื่อเสาะหาแนวทางละราคะเมถึน และ อกุศลวิตกอันลามกจัญไรของเรา ก็ตรึกนึกคิดได้ดังนี้ว่า

๑. เลิกแสวงหา รู้จักหยุด รู้จักพอ รู้จักประมาณตน และ ละความปารถนายินดีไรๆในใจนั้นเสีย เขาไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
๒.ไม่เสพย์ความคิด ไม่เอาจิตยึดสมมติ สักแต่รู้ว่ามันเกิดขึ้นแต่ไม่ร่วมเสพย์ ปลรอยให้มันเป็นเพียงสภาวะธรรมหนึ่งๆที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เท่านั้น ตามสัจจะธรรมของสังขาร




ดับอกุศลวิตก

- กาลครั้งนั้นเราได้มีโอกาสเข้าไปขอกรรมฐานแนวทางละอกุศลวิตกจาก หลวงปู่เลื่อน โอภาโส ซึ่งท่านได้สอนว่า วิตกความคิดมันเกิดขึ้นตามธรรมชาติของมัน วิตกมันดับไม่ได้ ให้สักแต่รู้ว่ามันเกิดดับ แต่ไม่เข้าไปยุ่งหรือเสพย์กับมัน ความคิดมันเป็นนามก็ต้องดับต้องละด้วยนาม ใช้นามดับนาม เมื่อเกิดปัญญาผุดขึ้นก็จะรู้ทางและละได้เอง
คือ จิต เจตสิก ดับ จิต เจตสิก
(ถ้าจำไม่ผิดท่านจะสอนว่า ใช้รูปดับรูป ใช้นามดับนาม)



- โดยเราอนุมานตรึกนึกคิดคาดคะเนว่า เกิดปัญญาใช้นามดับนามจะทำยังไงหนอ เมื่อคิดทบทวนไปมานามดับนาม ก็เห็นว่า นามดับนาม คือ ใจดับใจ อกุศลวิตกดับด้วยกุศลวิตก ความคิดเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นละด้วยความคิดำไม่เบียดเบียนทำร้ายตนเองและผู้อื่น  คือ
มีจิตที่คิดน้อมไปในศีล
ความคิดพยาบาทดับด้วยเมตตา
ความไม่รู้จักพอละด้วยความรู้จักพอ
โลภละด้วยทานจิต
ความฟุ้งซ่านกายใจดับด้วยความสงบกายใจ
ความไม่รู้ดับด้วยความเห็นชอบ
ความหลงดับด้วยภาวนา (อบรมจิตใน สติ สัมปะชัญญะ สมาธิ ปัญญา)

(หากในรูปดับรูป ก็การกระทำละด้วยการไม่กระทำ รูปขันธ์งดงามน่าหลงไหลน่าใคร่น่าปารถนาก็ละด้วยรูปปฏิกูล หรือ รูปธาตุ ๖ เป็นต้น หากในทางมัชฺมาแบบลำดับก็มีใช้ธาตุสลายธาตุ ดังที่เคยโพสท์ไว้ในกระทู้นี้ http://www.thammaonline.com/15430.msg17960#msg17960 (http://www.thammaonline.com/15430.msg17960#msg17960))



- เมื่อหวนระลึกดูแล้วคืออันเดียวดันกับที่หลวงปู่บุญกู้สอนว่า
ละเบียดเบียนเป็นศีล
ละโลภเป็นทาน
ละหลงเป็นภาวนา






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มีนาคม 26, 2015, 09:44:32 PM


บันทึกกรรมฐานวันที่ 26/3/58 เวลาโดยประมาณประมาณ 8.35 น. - 8.45 น.
แกะเทปบันทึก หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน เทศนาธรรมสอนเรื่องการอบรมจิต

หลวงปู่เทสนาสอนว่า

ให้มีเมตตาต่อกันไว้ เวลาจะทำเมตตาให้เจริญไปโดย ความเอ็นดู ปรานี ปารถนาดี น้อมไปในการสละให้ ให้เอากุศลน้อมสละไปให้เขา โดยพึงระลึกเป็นเมตตาดังนี้ว่า

สัพเพ สัตตา สะทา โหนตุ , อะเวรา สุขะชีวิโน
ขอให้สัตว์ทั้งหลาย อย่าได้มีเวรต่อกันและกัน จงเป็นผู้ดำรงชีพอยู่เป็นสุขทุกเมื่อเถิด

กะตัง ปุญญะ ผะลัง มัยหัง , สัพเพ ภาคี ภะวันตุ เต
ขอให้สัตว์หลาย จงเป็นได้เสวยผลบุญ ที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญเพียรด้วย กาย วาจา ใจ นี้แล้วนั้นเทอญ.


(จะเอาเฉพาะแต่ภาษาไทยหรือบาลีด้วยก็ได้)

ทำอย่างนี้เป็นการเอากุศลแผ่ไปสู่เขา เป็นการแผ่เอากุศลผลบุญที่เราทำมาดีแล้วนี้ไปสู่เขา พอเราเมตตาต่อเขา เราก็ไม่ทุกข์เขาก็เป็นสุข เป็นอภัยทาน ไม่ผูกเจ็บผูกแค้น ผู้เวร อาฆาต พยาบาทกัน ก็สุขทั้งเราและเขา





  โดยส่วนตัวแล้วผลที่ได้รู้ได้สัมผัสจากการปฏิบัติในแบบนี้ของเรา

   แม้เมื่อกล่าวสิ่งนี้ๆไป เมื่อเราระลึกถึงว่า ผลบุญที่ข้าพเจ้า ได้บำเพ็ญ เพียร ด้วยกาย วาจา ใจ นี้ เป็นการที่เราน้อมระลึกเอาผลบุญที่เราได้เจริญปฏิบัติมาดีแล้วใน ศีล ทาน พรหมวิหาร๔ ภาวนา(สมถะ+วิปัสนา) ซึ่งเป็นบุญกุศลใดๆ ครั้งใดๆ เวลาใดๆ อันเราได้ทำมาดีแล้ว บริบูรณ์แล้ว งดงามแล้ว ในขณะที่เราระลึกถึงผลบุญจากการกระทำเมตตานี้ให้เขาไปแล้ว จิตเราก็ย่อมเกิดกุศลอิ่มเอมเมื่อหวนระลึกถึง ศีล ทาน พรหมวิหาร ๔ ภาวนา ที่เราได้ปฏิบัติมาดีแล้วบริบูรณ์แล้วงดงามแล้วเหล่านั้น ยังให้เต็มกำลังใจในบารมีแห่งบุญกุศลที่ได้ทำมาดีแล้วนั้นเป็น "อนุสสติกรรมฐาน" แล้วจะเกิดพลังที่อัดเต็มแผ่ไปให้เขาโดยไม่มีประมาณ จะไปทิศใดๆก็ยังด้วยความเต็มกำลังใจอย่างนี้ๆไปสู่เขา

  ผลที่ได้รับคือ
๑. เขาก็ได้บุญกุศลเต็มที่โดยปราศจากความเศร้าหมองกายใจปะปนไปให้เขา
๒. เราก็มีความอิ่มเอมใจ-สงบ-สุขล้นเต็มกำลังใจ-จิตมีกำลังตั้งมั่น, เกิดศรัทธาพละ, เกิดฉันทะอิทธิบาท ๔, เกิดสังวรปธานในอิทธิบาท ๔ หรือ มีวิริยะพละ, เกิดจิตตะอิทธิบาท ๔ หรือ มีสติพละ, เกิดฉันทะสมาธิ หรือ มีสมาธิพละ, เกิดวิมังสะอิทธิบาท ๔ หรือ มีปัญญาพละ, เกิดเป็นบารมีสิบทัศน์,





  คนที่มีบุญบารมีมาเกิด กับคนที่ไม่มีบุญบารมีมาเกิด

   การที่คนเรานั้จะเกิดมานี้ก่อนจะมาจุติลงในกายนี้เราก็เป็นดวงจิต เป็นวิญญาณไม่ได้มีรูปร่างอย่างนี้ๆที่เป็นอยู่ ไม่ว่าใครก็เป็นอย่างนี้เสมอกัน แต่บุญและบาปที่ติดตามมานั้นอาจจะต่างกันตามแต่บุญกรรมที่ติดตัวมา บางคนเป็นเทวดา เป็นเทพเจ้า เป็นพรหมมาเกิด บางคนก็เป็นผี เป็นเปรต เป็นมารมาเกิด พอมาจุติอาศัยในร่างกายนี้คนมีบุญมากก็มีโอกาสมาก ได้มีโอกาสทำบุญเยอะ ได้ถวายข้าวปลาอาหารดีๆเป็นทานเยอะ ได้ทำอะไรดีๆเยอะกว่าคนที่มีบุญน้อย คนมีบุญน้อยก็จะมีโอกาสต่างๆน้อย มีโอกาสทำบุญน้อย ได้โอกาสทำอะไรน้อยกว่าคนที่มีบุญมาก แต่เราทุกคนเมื่อได้เกิดมาแล้วมีโอกาสได้ทำบุญทำใน ศีล ทาน ภาวนาในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ให้ตั้งใจทำ เพียรเจริญปฏิบัติสะสมไป ก็จะส่งผลให้ได้รับในภายภาคหน้า พอจะตายไปจากกายนี้ ก็เหลือแค่ดวงจิต เป็นวิญญาณไม่มีรูปร่างเหมือนกันหมด เปลี่ยนแปรไปตามแต่บุญและกรรมที่ทำมาเป็นทายาทติดตามสืบต่อให้จิตเป็นไป ดังนั้นให้ตั้งใจเพียรเจริญปฏิบัติในศีล ทาน ภาวนาให้มาก เมื่อมันมีมากหรือเต็มมันก้จะแสดงผล



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 05, 2015, 10:18:42 PM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 4/4/58

ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ ไฟคือราคะ ความอยากทั้งปวงคือไฟ ไม่ว่าจะตอนอยากที่จะทำ อยากที่จะเสพย์ ทั้วหมดคือไฟ เมื่อได้ทำได้เสพย์ตามที่อยากนั้นแล้วก็คือไฟ ไฟที่เผาเราในภายหลังจากที่ได้สมใจอยากแล้ว ประดุจดั่งการคิด พูด ทำไรๆที่เป็นไปเพื่อความอยากย่อมเป็นไฟที่เผาไหม้เราเสมอ เมื่อได้กระทำทางกาย วาจา ใจตามความอยากนั้นแล้วไฟจากผมที่ได้กระทำนั้นก็จะตามเผาไหม้เราอีก ดังนั้นให้มีสติรู้ปัจจุบัน รู้ว่านี่คือไฟ รู้ว่าอย่างไรคือการกระทำที่ไม่ทำให้ไฟเผาตนเอง

ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ ความรู้และยึดเสพย์สมมติ ความอยาก ไม่อยาก ชอบ ไม่ชอบ พอใจ ไม่พอใจ มันเป็นไฟ ความอยากไม่ใช่เรา ความไม่อยากไม่ใช่เรา ความชอบไม่ใช่เรา ความไม่ชอบไม่ใช่เรา ความพอใจไม่ใช่เรา ความไม่พอใจไม่ใช่เรา แต่มันเป็นไฟเป็นกิเลส ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา กิเลสต่างหากที่อยากที่ชอบ แต่มันอาศัยใจเป็นเครืองมือให้รู้ให้เสพย์ไปตามสมมติที่มันสร้างขึ้น แล้วก็หลงไปยึดตามความอยากไม่อยาก ชอบไม่ชอบนั้น เมื่อเอาจิตไปยึดถือแล้วก็จะถูกมัรเผาให้เร่าร้อนไหม้เกรียมไม่รู้จบ ไฟคือกิเลสดังนี้

อะนว่ากายเรานี้เป็นเพียวขันธ์ ๕ ที่หาความยั่งยืนไม่ได้อาศัยสุขจากไฟมาเผาไหม้ตน เมื่อยึดกายก็ดีหรือใจก็ดีหรือความปรุงแต่วไรๆก็ดีย่อมถูกไฟเผามันเป็นของร้อน ทั้งเมื่อรู้สมมติตามมัน ทั้งเมื่ออยาก ทั้งเมื่อเสพย์ ทั้งเมื่อได้เสพย์ได้ทำสมใจนั้นแล้ว ย่อมถูกไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะนี้เผาไหม้ เหมือนตอนที่เราคิดว่าทำงานที่นี่คงไม่เจริญอยากไปที่อื่นที่คิดว่าจะดีเช่นกลับไปบ้านที่ศูนย์ขอนแก่นแล้วออกตัวแรงไม่ขอเขาไปดีๆ กลัวเขาไม่ให้กลับย้าง กลัวคนอื่นแย่งตำแหน่งก่อนบ้าง จึงหลงไปตามคสามอยากไม่อยาก ชอบไม่ขอบตามที่กิเลสนั้นมันสมมติขึ้นมา แล้วก็เกิดการกระทำทางกาย วาจา ใจอันเป็นไปตามความอยากร้ายแรวไปตามความไม่มีสตินั้น ผมจากการทำนั้นก็เป็นทุกข์ ถูกไฟเผาไหม้เร่าร้อนจนกินไม่ได้นอนไม่หลับไปสองวันสองคืน นี้คือถูกไฟกิเลสเผา

กายเรานี้สักแต่เป็นเพียงธาตุ ๖ จะไปยึดเอาอะไรกับมัน มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราเลย แล้วจะไปหลงเสพย์ตามมันสมมติมาหลอกเราทำไม ไม่ควรยึดอัตตานุปาทานในตน ให้พึงรู้ว่า นั่นไม่ใช่เรา เราไม่ใช่นั้น เราไม่ใช่คนนั้นคนนี้ที่ดีเลศคู่ควรต่อสิ่งนั้นๆนี้ เราสักแค่อาศัยธาตุ๖นี้เพื่อให้ละไฟกิเลสได้ เราไม่ใช่สิ่งสำคัญ คนสำคัญต่อใคร ไม่ใช่คนมีบุญ ไม่ใช่คนมีบารมี ไม่ใช่คนที่มีโอกาสมากมาย สิ่งนี้ๆไม่ใช่เรา คนนี้ๆไม่ใช่เรา เราไม่มีอะไรทั้งสิ้น ทำความเข้าใจต่อธาตุ๖ ตั้งสติอยู่เบื้องหน้ารู้ลมหายใจเข้าออกคือสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจริงในปัจจุบัน เมื่อกายนี้ยังต้องอาศัยลมหายใจเป็นกายสังขารให้ดำรงชีพอยู่เราจะไปยึดว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่ สำคัญตนว่าดีว่าสูงไม่ไ่ด้ เพราะเราก็ยังอาศัยลมคือธาตุลมให้ดำรงชีพอยู่ได้แล้วจะไปเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้เหนือคนอื่นได้อย่างไร เพรายังอาศัยลมหายใจเหมือ หมู หมา กา ไก่ วัว ควาย ขอทาน โสเภณี คนเก็ยขยะเก็บของเก่าขาย คนยากจน นี่ยังอาศัยกายสังขารให้ดำรงชีพอยู่เหมือนทั้งสัตว์เดรัจฉานและปุถุชนคนทั่วไปแล้วจะไปดีเลิศเกินกว่าเขาได้อย่างไร อย่าสำคัญตนผิด เพราะนั่นไม่ใช่เรา เราไม่ใช่นั้น นั่นไม่มีในเรา เราไม่มีในนั้นดังนี้

พึงเปลื้องจิตออกจากไฟคือโมหะ ไฟคือความหลงความยึดสมมติที่กิเลสสร้างขึ้นให้จิตรู้จิตเสพย์นั้นเสียว่า เราสำคัญอย่างนี้ สูงอย่างนี้ เลิศอย่างนี้ นี่คือเรา เราคือนี่ หลงตนสำคัญตนว่าเบิศเลอดีกว่าใคีไปทั่วทั้งๆที่ตัวเรานั้นก็ยังอาศัยลมหายใจเหมือนสัตว์เดรัจฉานปุถุชนคนทั่วไป พึงบะไฟคือความพอใจ ไฟคือความอยาก ยินดีที่ตนเป็นนั่นเป็นนี่สำคัญอย่าวนั้นอย่างนี้เสีย ไฟจากโมหะ จากราคะนั้นก็จักเผาเราไม่ได้

ก็เมื่อเราเป็นแค่ธาตุ๖ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ อาศัยวิญญาณธาตุที่เข้าไปยึดครองรูปธาตุทั้งหลายเหล่านั้น อาศัยวิญญาณแค่ทำหน้าที่รู้เท่านั้นซึ่งวิญญาณก็ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราแปรเปลี่ยนไปเรื่อย ย รู้ไปทั่ว ยึดสมมติไปทั่ว บังคับก็ไม่ได้ สิ่งที่มันรู้ก็ไม่มีเราเลยมีแต่สมมติและความลุ่มหลงเท่านั้น แล้วจะไปเอาอะไรกับธาตุมันเล่า สิ่งไรๆที่มากระทบทั้งที่ชอบ ไม่ชอบใจ ยินดี ยินร้าย ก็ล้วนแต่เป็นสมมติที่กิเลสสร้างขึ้นทั้งนั้น เมื่อธาตุ ๖ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในนั้น นั่นไม่มีในเรา ก็ไม่จำเป็นต้องไปหลงยึดตามสิ่งที่ใจรู้ ไฟคือโมหะก็จะเผาเราไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ดีแล้วใน "อาทิตตปริยายสูตร" ว่า ขันธ์ ๕ คือของร้อน ไม่ใชเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ควรสำคัญว่า ขันธ์ ๕ เป็นเรา เป็นของเที่ยงแท้แน่นอน เมื่อไม่ยึดขันธ์ ๕ ไฟคือกิเลสย่อมเผาเราไม่ได้ ดังนี้




เมื่อ ธาตุ ๖ ไม่ใช่เรา กายนี้ไม่ใช่เรา เราจะไปยึดมั่นเอาไว้เพื่อสิ่งไรๆ มันย่อมหาประโยชน์ไรๆไม่ได้นอกจากทุกข์ เมื่อมันเป้นทุกข์ ก็ไม่ควรจะไปยื้อเอาสิ่งใดกับมัน ยึดไปก็หาประโยชน์สุขจีรังยั่งยืนไม่ได้ มันไม่ใช่ของเที่ยงแม้แน่นอนยั่งยืนนาน ดังนั้นเมื่อธาตุ ๖ ไม่ใช่เราเราก็ต้องใช้มันเพียงทำกิจการงานนั้นๆ ยืมมันมาใช้ทำกิจการงานชอบชั่วคราวแล้วก็สละคืนทิ้งไป

๑. ไม่มีเราในธาตุลม ลมธาตุไม่มีในเรา เราไม่ใช่ธาตุลม ลมธาตุไม่ใช่เรา
๒. ไม่มีเราในธาตุไฟ ไฟธาตุไม่มีในเรา เราไม่ใช่ธาตุไฟ ไฟธาตุไม่ใช่เรา
๓. ไม่มีเราในธาตุน้ำ น้ำธาตุไม่มีในเรา เราไม่ใช่ธาตุน้ำ น้ำธาตุไม่ใช่เรา
๔. ไม่มีเราในธาตุดิน ธาตุดินไม่มีในเรา เราไม่ใช่ธาตุดิน ธาตุดินไม่ใช่เรา
๕. ไม่มีเราในธาตุอากาศ อากาศธาตุไม่มีในเรา เราไม่ใช่ธาตุอากาศ อากาศธาตุไม่ใช่เรา
๖. ไม่มีเราในธาตุวิญญาณ วิญญาณธาตุไม่มีในเรา เราไม่ใช่ธาตุอากาศ อากาศธาตุไม่ใช่เรา

เมื่อธาตุ ๖ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่มัน มันไม่มีในเรา เราไม่มีในมัน เมื่อรู้ตามจริงดังนี้เราก็ไม่จำเป็นต้องไปยึดเอาว่า เราเป็นนั่นเป็นนี่ สำคัญตัวว่าดีเลิศกว่าคนนั้นคนนี้ เราดีเก่งอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะมันไม่ใช่เรา เพราะความเข้าไปยึดเอาธาตุ ๖ มาเป็นอัตตานุทิฐิไรๆมันไม่ใช่สิ่งยั่งยืนมันเป็นไปเพื่อทุกข์ จะมีก็เพียงแค่บาปและบุญเท่านั้นที่ติดตามเราไปแม้ธาตุ ๖ นี้ดับไปแล้ว เราจึงใช้เพียงธาตุ ๖ ไว้เพื่อทำกิจการงานอันเป็นไปเพื่อความชอบ
ทีนี้เมื่อเรารู้กระทบจากสิ่งภายนอกไม่ว่าจะเป็นคำพูด คำจา คำด่า คไชม คำสรรเสริญ นินทา การกระทำไรๆที่ทำให้ชอบและไม่ชอบใจก็ตาม สิ่งที่ภายนอกกระทำมากระทบสัมผัสนั้นเป็นเรารึ ผมรึที่เป็นเรา(ผมขาดร่วงก็ไม่เห็นเราจะขาดใจตาย) ขนรึที่เป็นเรา(ขนขาดร่วงก็ไม่เห็นเราจะขาดใจตาย) เล็บรึที่เป็นเรา(เล็บหักหรือถูกตัดก็ไม่เห็นเราจะขาดใจตาย) ฟันรึที่เป็นเรา(ฟันหักหรือถูกตัดก็ไม่เห็นเราจะขาดใจตาย) หนังรึที่เป็นเรา(หนังหลุดร่วงนิดหน่อยไม่เห็นเราจะขาดใจตาย) ก็ในเมื่อ อาการทั้ง ๓๒ ไม่ใช่เรา ไม่มีเราในนั้น สิ่งใดที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่ผู้อื่นกล่าวและกระทำมากระทบสัมผัสให้รู้ก็ย่อมไม่ใช่เรา อาการทั้ง ๓๒ ก็เพียงธาตุ ๕ ที่เป็นไปในกายนี้ อาศัยใจยึดครองทำให้รู้ แต่มันก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่เป้นนั่น นั่นไม่เป้นเรา ไม่มีเราในนั้น นั่นไม่มีในเรา แล้วจะไปยึดเอาสิ่งไรๆเอามาให้ทุหข์ว่านี่ๆนั่นๆสิ่งนี้สิ่งนั้นเป็นเราได้เล่า แม้เมื่อหมายยึดเอามันว่าเป็นเราแต่มันก็ไม่อยู่ยืนนานย่อมดับสลายไปในที่สุดหาสุขได้ก็ไม่ยั่งยืน สิ่งที่คอยติดตามเราไปตลอดคือ กุศลจิต กุศลกรรม กุศลธรรมทั้งปวงที่ กาย วาจา ใจ เราได้กระทำ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เมื่อเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน
เมื่อรูปไม่ใช่เราแล้ว ว่าโดยขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สิ่งใดสิ่งหนึ่งเหล่านี้หรือที่เป็นเรา เราหรือที่เป็นมัน ก็ไม่ใช่เลย ไม่มีเราในมัน ไม่มีมันในเรา เราไม่ใช่มัน มันไม่ใช่เรา ดังนั้นแล้ว มันจะสุข จะทุกข์ เจตนาจะหวนระลึกความจำได้หมายรู้ในสิ่งไร จะปรุงแต่งตรึกนึกคิดเรื่องราวความรู้สึกไรๆ จะรู้สิ่งไรๆก็มิใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีตัวเราในนั้น ในนั้นไม่มีตัวเรา ก้สักแต่เพียงรู้สภาวะธรรมอาการของจิตจริงๆที่เกิดขึ้นโดยปราศจากความอนุมานไปเรื่อยๆเท่านั้นพอแต่ไม่ไปยื้อยึดยุ่งเสพย์กับมันเมื่อรู้สัมผัสใดๆเกิดก็ไม่ไปต่อเติมปรุงเสริม ปล่อยมันทิ่งเป็นเพียงสภาวะธรรมเท่านั้นจากการรู้อาการจิรงๆของมัน
http://www.thammaonline.com/15430.msg17989#msg17989 (http://www.thammaonline.com/15430.msg17989#msg17989)

    แล้วอัตตา สังโยชน์ เราจะคลาย ขันธ์ก็จะแยกออกเป็นกองๆ แล้วจะตัดขาดได้ไม่ได้ก็อยู่ที่เราอบรมจิตมาดีพอให้เห็นของจริงมากน้อยแค่ไหนพอจะทำให้มันเบื่อหน่ายได้หรือไม่





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 09, 2015, 10:52:12 AM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 9/4/58 #๑

เมื่อวันที่ 8/4/58 ได้มีความรู้สึกในจิตว่าเรานี้ได้เพียรมาดีแล้วแต่ทำไมไม่ถึงธรรมใดเลย

- เมื่อเดือนกันยายน-ตุลาคม ปี 2550 เราก็ได้พบกับความสูญเสียจนจะฆ่าตัวตายให้เสียได้ เพราะเรายึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งนี้ๆเป็นของเที่ยงแท้ยั่งยืน จนได้รู้ความไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน เห็นความสุขที่ไม่ยั่งยืนในทางโลก สภาวะธรรมไรๆ ตัวตนบุคคลใด สัตว์ใดๆ สิ่งของไรๆ จะสามารถมีอายุอยู่ได้นานแค่ไหนก่อนที่จะดับสูญไปนั้นอยู่ที่กาลเวลา การดูแลรักษา สภาพแวดล้อมหรือสภาวะธรรมภายนอก สภาวะธรรมภายใน ไม่ก็การดับสูญ ตาย สลายไป ไม่มีสิ่งใดยั่งยืนนาน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป สภาวะธรรมไรๆหรือสิ่งของตัวตนบุคคลใดจะสามารถตั้งอยู่ได้นานแค่ไหนก็อยู่ที่เหตุปัจจัยตามกาลเวลา การดูแลรักษา สภาพแวดล้อมภายนอก และ สภาวะธรรมภายในเท่านั้น แต่สุดท้ายก็ต้องดับสูญไปอยู่ดี ไม่มีสิ่งใดที่พ้นจากความดับสูญ ตาย สลายไปได้
- เมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน ปี 2558 เราก็ได้ทุกข์กับการที่เรายึดมั่นถือมั่นว่าทำไมเราไม่มีอย่างเขาบ้าง ทำไมเราไม่ได้อย่างเขาบ้าง ทำไมเขามีบุญเยอะขนาดนี้ ทำไมเราไม่มีบุญบารมีบ้าง อยากจะเป็นบุคคลอย่างนั้นบ้าง อยากจะเป็นบุคคลอย่างนี้บ้าง อยากได้รับโอกาสอย่างนั้น อยากได้รับโอกาสอย่างนี้ เราเป็นคนเก่งอย่างนั้น เราเป็นคนเก่งอย่างนี้ เรามีภูมิธรรมอย่างนั้น เรามีภูมิธรรมอย่างนี้ เราต้องได้อย่างนั้น เราต้องได้อย่างนี้ สำคัญตัวอย่างนั้นอย่างนี้ไปทั่ว จนก่อให้เกิดการกระทำที่ยังความฉิบหายมาให้ เมื่อยังความเศร้าหมองใจอยู่นั้น เราได้ตั้งว่าจะไม่กิน จะไม่นอน จะทำสมาธิปและเจริญสติโดยส่วนเดียว แล้วก็มีเหตุให้เห็นว่า ที่ทุกข์อยู่นี้ ที่เกิดการกระทำไรๆอยู่นี้ เพราะเรายึดตัวตนว่าเป็นเราเป็นเขา ยึดอัตตาเอาทุกสิ่ง อุปาทานเอาทุกอย่าง ทั้งๆที่สิ่งไรๆก็ตามแต่ไม่มีในเรา เราไม่มีในมัน นั่นไม่ใช่เรา เราไม่ใช่นั่น นั่นไม่ใช่ของเรา ก็เมื่อไม่มีก้อนกิเลสที่เรียกว่าเรา ตัวเราแล้ว จะเพิกไปทิศไรๆในสิบทิศนี้ก็ไม่มีสิ่งไรๆ ไม่มีตัวตนไรๆ ทุกข์ก็ไม่มี ความเศร้าหมองใจก็ไม่มี เพราะไม่มีคำว่าเรา ไม่มีสิ่งที่เป็นเรา ไม่มีเราในสิ่งใด สิ่งใดๆไม่มีในเรา มีธรรมเอกผุดขึ้นเห็นความเป็นอนัตตา ณ ที่นั้น ความเศร้าหมองใจดับไป ดังนี้

- เมื่อหวนระลึกถึงใน อนิจจะสัญญา อนัตตะสัญญา ที่เราเคยได้รับรู้สัมผัสมาดังนี้แล้ว ก็ประดุจดั่งว่าเราจักบรรลุโสดาบันได้ในไม่เนิ่นช้านี้

- แต่ทว่าเราก็ยังสำคัญตนผิด แล้วได้ทำการอธิษฐานจิตไว้ว่า แม้ตอนนี้ตนจะมีความฟุ้งมาก หากจะมีโอกาสบรรลุโสดาบันก็ดี หรือ จะสามารถเผยแพร่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ถูกต้องและตรงตามจริง แล้วสามารถช่วยให้คนที่ทุกข์ได้รู้และพ้นทุกข์ตาม ขอให้ได้สามาธิได้ฌาณ ๔ บ้าง มีธรรมเอกผุดขึ้นจนตัดขาดสักกายทิฐิบ้าง แต่มันหาเป็นเช่นนั้นไม่ จึงคลายความเพียรลวงไป



- จนเมื่อมาในวันนี้ได้ทบทวนพิจารณาตนเองใหม่
๑. หวนระลึกถึงสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นตอนที่หลวงพ่อเสถียรสอนแล้วเรานำมาปฏิบัติว่า จิตมันรู้ทุกสิ่ง แต่มัยรู้แค่สมมติที่กิเลสสร้างขึ้น ไม่เคยรู้ขอบจริงเลย อุปาทาน อัตตาจึงเกิดมีขึ้น เมื่อเราไม่ยึดสิ่งไรๆที่จิตรู้ มีความตรึกนึกคิด อาการเจ็บปวด ผัสสะทางกาย เป็นต้น รู้แค่ของจริงที่เป็นปัจจุบันคือ ลมหายใจ มีวิตกด้วยพุทโธเป็นเบื้องหน้าเท่านั้น เมื่อจิตมันไม่ยึดสิ่งไรๆ อัตตาจึงไม่มี เราจึงถึงสภาวะธรรมอันเป็นจริงได้
๒. หลวงปู่บุญกู้สอนไว้เสมอว่าให้มี ศีล ทาน ภาวนา มีความเพียร จิตมันชินกับของปลอมมานาน ต้องเพียรอบรมจิตให้รู้ของจริงมันจึงคลายอุปาทานได้ ตัวตนจึงไม่มี
๓. เมื่อเรานี้ไม่มีตัวตน ไม่มีความสำคัญกับสิ่งไรๆ ความจำได้หมายรู้อันเป็นเราก็ไม่มี เมื่อเราไม่มีค่าความสำคัญไม่มีตัวตนต่อตัวตนบุคคลใด สัตว์ใด สิ่งใด จะหมายรู้ไปขอธรรมไรๆกับครูบาอาจารย์ท่านไหนท่านก็คงไม่สนใจ เพราะครูบาอาจารย์ท่านจะเทสน์สั่งสอนโดยรวมหรือเจาะจงเฉพาะคนที่มีบุญบารมีคู่ควรมาเกิดบ้างหรือผู้ที่จะบรรลุธรรมได้เท่านั้น อย่างเราๆนี้เมื่อไม่มีความหมายกับใครบุคคลใด ไม่มีบารมี สิ่งที่เรานี้ทำได้ที่คู่ควรกับเราก็มีแต่ อยู่กับลมหายใจรู้ลมในปัจจุบัน มีพุทโธอยู่ทุกขณะลมเข้าออกเท่านั้น
๔. เพราะปารถนามากจึงจำจดจำจ้องเอาสภาวะธรรมที่อยากจะเข้าถึงมาก ที่ผ่านๆมานี้เมื่อเราคลายความยึดมั่นทำไปโดยไม่รู้จักฌาณและญาณไม่รู้จักอะไรทั้งนั้นนอกจากพุทโธเป็นลมหายใจก็จึงเห็นได้ ดังนี้แล้วแม้จะรู้อ่านมาเยอะ เห็นมาสัมผัสสมา ปารถนาก็ช่างความคิดมัน มันไม่ใช่เรา ที่มันคิดไม่มีเราเลย จะเกิดสิ่งไรๆก็ช่างมันล้างความตรึกนึกคิดทั้งปวงอันเป้นไปเพื่ออุปาทานนั้นทิ้งเสียเพราะมันแค่สมมติ แล้วกลับมาเพียงพุทโธ ไปเรื่อยๆ แบบพระอาจารย์ณรงค์สอนว่า "หลวงปู่ฝั้นสอนว่า การทำสมาธิ ให้พุทโธไปตามลมหายใจเข้าออก ทำเหมือนเราเดินทางไกล จะพบเจออะไรก็รู้แล้วผ่านเลยไปไม่แวะเข้าหาเข้าดู ขับรถดูทางข้างหน้าไปตามทางเรื่อยๆเพื่อให้ถึงปลายทาง"



๕. วันที่ 9/4/58 เราบังเอิญได้มาอ่านเจอธรรมของหลวงตามหาบัวเทศนาสั่งสอนเรื่อง ทุกขเวทนา ตามเวบนี้ http://www.oknation.net/blog/Aug-saraporn/2014/02/10/entry-1 (http://www.oknation.net/blog/Aug-saraporn/2014/02/10/entry-1)
ความโดยย่อว่า

ฉะนั้น จงพยายามน้อมโอวาทคำสั่งสอนของท่าน
เข้ามาเป็นครูเป็นอาจารย์สอนตนอยู่เสมอ
ท่านสอนว่าอย่างไร ให้นำโอวาทท่านที่สอนไว้แล้วนั้น
เข้ามาปฏิบัติต่อตัวเอง จะชื่อว่า
“เราอยู่กับครูกับอาจารย์ตลอดเวลา”
เหมือนได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
อยู่ตลอดกาลสถานที่
การปฏิบัติตนเป็นหลักสำคัญ ที่เป็นความแน่ใจสำหรับเรา
การอาศัยครูอาศัยอาจารย์นั้นเป็นของไม่แน่นอน
ย่อมมีความพลัดพรากจากไป ท่านไม่พลัดพรากเราก็พลัดพราก
ท่านไม่จากเราก็จาก เพราะโลกอนิจจัง มีอยู่ด้วยกันทั้งท่านและเราไม่ผิดกันเลย
สิ่งที่พอจะยึดเอาได้ ก็คือหลักธรรมของท่าน
จงยึดมาประพฤติปฏิบัติสำหรับตัวด้วยความเอาจริงเอาจัง
เพื่อเห็นเหตุเห็นผล เพื่อกำชัยชนะภายในใจ
ชัยชนะนี้เป็นชัยชนะอันเลิศประเสริฐสุดในโลก
ไม่มีชัยชนะใดจะเสมอเหมือนเลย
เรายื้อแย่งเอาชนะตน !
คือกิเลสที่ถือว่าเป็น“ ตน” เป็น “ตัว”
เป็นเราเป็นของเรามาตั้งกัปตั้งกัลป์ นี้เป็นเรื่องใหญ่โตมาก
จะทำเล่นเหมือนเด็กเล่นตุ๊กตา เดี๋ยวกิเลสจะขยี้ขยำเอา
เพราะถือมาเป็นเวลานานแล้ว
จงรีบพิจารณาให้รู้แจ้งและปล่อยวาง
จิตใจจะได้ว่างเปล่าจากทุกข์ ไม่ฉุกละหุกกันตลอดไป
การสั่งสมคำว่า “เป็นเรา เป็นของเรา” มานี้
นับกัปนับกัลป์ไม่ได้แล้ว
ถ้ากิเลสเป็นวัตถุ
ความสั่งสมมานานถึงขนาดนั้น
จะเอาอะไรมาเทียบเล่าในโลกนี้?
ถึงจะใหญ่โตยิ่งกว่าก้อนกิเลสตัณหาอาสวะ ก้อนเราก้อนของเราเหล่านี้
เพราะมีมากต่อมาก จะขนออกมาเทียบไม่หวาดไม่ไหว
ถ้าขนเล่น ๆ แบบกิน ๆ นอน ๆ
จะถากจะเถือ จะเจาะจะฟัน เพียงหนสองหนให้มันขาดไปนั้น
ย่อมเป็นไปไม่ได้
นอกจากจะพากันคว้าน้ำเหลวไปตาม ๆ กันเท่านั้น
จำต้องทุ่มเทกำลังลงอย่างหนักหนาทีเดียว
ตอนนี้ตอนจะชิงชัยชนะกัน เราก็เป็นนักปฏิบัติ
ไม่ต้องท้อถอยกับการรบกับกิเลสซึ่งมีอยู่ในตัวเราเอง

คำว่า“กิเลส”ก็คือ“ก้อนเรา”นั้นเอง
กิเลสเป็น “เรา”เป็น“ของเรา”อะไร ๆ เป็น“เรา”ทั้งนั้น
เหล่านี้คือ “กองกิเลสแท้ ๆ” ไม่น่าสงสัยเลย

ถ้าจะแยกให้เห็นเป็นชิ้นเป็นอัน
ตามความสัตย์ความจริง ในหลักธรรมชาตินั้นจริง
ต้องแยกด้วยความพากเพียร
โดยทางสติปัญญาเป็นเครื่องพิสูจน์ พิจารณากัน

การแยกธาตุ ธาตุก็ธาตุสี่ ธาตุ ๔
ก็รู้กันเต็มโลกเต็มสงสารอยู่แล้ว
แต่ถ้าจะให้รู้ถึงใจ ซาบซึ้งถึงใจจริง ๆ นั้นต้องภาคปฏิบัติ
พิจารณาด้วยปัญญาจนเห็นชัดเจนแล้วก็ซึ้งไปเอง
ถ้าลงได้ซึ้งถึงใจแล้ว ไม่ต้องบอกมันปล่อยเอง
เมื่อรู้อย่างถึงใจแล้วก็ปล่อยวางอย่างถึงใจเช่นกัน
การที่จะรู้อย่างถึงใจ ปล่อยวางอย่างถึงใจ
ต้องพิจารณาแล้วพิจารณาเล่า ซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนเป็นที่เข้าใจ
อย่าไปสำคัญว่า
นี่เราพิจารณาแล้ว นั้นเราพิจารณาแล้วในคราวนั้น
ด้วยความคาดหมาย นับอ่านครั้งนั้นครั้งนี้
โดยที่ยังไม่ซึ้งถึงขั้นปล่อยวางมันก็ยังไม่แล้ว
ต้องพิจารณาให้ถึงขั้นแล้วจริง ๆ
ด้วยความซาบซึ้งและปล่อยวาง
ถ้า“แล้วจริง” ก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาอีก
มันเข้าใจแล้ว ปล่อยวางได้หมด





** นี่ไงกิเลสความเป็นเรามันทับถมมาตั้งไม่รู้กี่กัป กี่กัลป์ กี่อสงไขย อยู่จะแค่หายใจเข้าแล้วออกจากไปบรรลุได้อย่างไร เราต้องเพียร และเพียร เสริมให้จิตเป็นกุศลให้มากๆ เพราะจะถึงธรรมไรๆ หรือ มรรค๔ ผล ๔ ใดๆก็ต้องมีจิตเป็นกุศลเพียงพอและได้รู้เห็นตามจริงอยู่บ่อยๆจนกว่าจะขนกองกิเลสทิ้งได้หมด หมั่นเจริญใน อิทธิบาท ๔, สัมมัปปธาน ๔, พละ ๕, มรรค ๘, โพชฌงค์ ๗ ให้มากจึงจะถึงวิมุตติหรือบรรลุโสดาบันได้ การเพิ่มความเพียรในธรรมเหล่านี้นนั้นก็เสริมด้วย พรหมวิหาร๔ ไปจนถึงเจโตวิมุติ ศีล กรรมบถ ๑๐ ทาน(ทานที่บริบูรณ์นั้นคือเรานั้นมีศีลบริบูรณ์พร้อม) ภาวนา คือ การอบรมใจ ทำทั้งสมาธิในกรรมฐาร ๔๐ และ มีสติปัฏฐานอยู่ทุกขณะ หลวงปู่บุญกู้ก็สอนอยู่ทุกวันทุกขณะแต่เรากลับไม่ถึงเอง

เมื่อเห็นดังนี้เราก็คลายอัตตาว่าจะต้องบรรลุเวลานั้นเวลานี้ วันนั้นวันนี้ บารมีเราไม่พอ บุญเราไม่มี กุศลเราไม่มีจะไปทำอย่างครูบาอาจารย์ได้อย่างไร ต้องเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อเจริญในเครื่องแห่งกุศลดังที่กล่าวมานั้น มันจะถึงไม่ถึงก็ช่างมัน เรามีปัญญาสะสมมาเท่านี้ก็ต้องพอใจที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงจะไม่มีอิสสา ไม่มีความเศร้าหมอง ให้เพียรและเพียรและเพียร โดยไม่ให้มีคำเรา ตัวเรา ตัวใครผุดขึ้นมาในจิต ผุดมาให้จิตรู้ (เพราะเมื่อมีคำว่าเรา ตัวเราผุดขึ้นมาในจิตเมื่อไหร่ อุปาทาน อัตตาจะมีเกิดขึ้น ณ ที่นั้นในเสี้ยววินาทีนั้นทันที) ดังนั้นเราต้องเพียรและเพียรและเพียรโดยไม่เข้าไปยึดว่า นี่เป็นเรา นี่เป้นของเรา เราควรแก่สิ่งนั้น เราควรแก่สิ่งนี้ เราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างนี้ เรามีดีอย่างนั้น เรามีดีอย่างนี้ เราถึงนั่นถึงนี่ เราเป็นคนนั้นคนนี้ เท่านั้นก็พอแล้ว









หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 09, 2015, 03:35:06 PM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 9/4/58 #๒

ทบทวนกรรมฐานที่ต้องเจริญให้มากในครั้งนี้

๑. กรรมบถ ๑๐ เป็นฐานแห่งกุศลทุกอย่าง เพราะสงเคราะห์ด้วยทั้ง กาย วาจา ใจ เป็นเบื้องต้นแห่งมรรค๘ เป็นเบืองต้นแห่งสัลเลขธรรม
๒. ทาน ประหารโลภะ ความโลภยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนอกกายตนอันเรานี้หวงแหนบ้าง ตะหนี่บ้าง
๓. พรหมวิหาร ๔ โดยเจริญไปแบบไม่มีประมาณ เป็นฐานของวิโมกข์ ๘ ให้เข้าถึงเจโตวิมุติ

๔. หาความพอใจยินดีในการปฏิบัติธรรม พอใจยินดีที่จะตั้งมั่นใน ศีล ทาน พรหมวิหาร ๔ ภาวนา
(ซึ่งความยินดีนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีปัญญาเห็นชอบตามจริงก่อน อาศัยการสงเคราะห์ลงในธรรม เปรียบเทียบผลได้ผลเสียที่เราได้รับได้สัมผัสบ้าง จนเกิดปัญญาเห็นว่าสุขทางโลกียะนี้มันอาศัยสิ่งของภายนอกที่ไม่เที่ยง สุขทางธรรมอาศัยภายในตนอันยั่งยืน จิตเป็นกุศลไม่มีอกุศลมันเป็นสุขอย่างหาประมาณมิได้ทุกข์ไม่มีเลย จนถึงโลกุตระ)

๖. ขยันความเพียร อุตสาหะไม่ท้อถอย เพียรเจริญในกุศลอันสืบต่อจากความพอใจยินดีในสิ่งนั้น ความเพียรที่กล่าวถึงนี้ได้แก่ สัมมัปปธาน ๔ คือ เพียรละอกุศลที่ยังไม่เกิดขึ้นหรือที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรทำกุศลให้เกิดขึ้น เพียงคงกุศลไว้ เพียรรักษากุศลไว้ไม่ให้เสื่อม สัมมัปปธานสมาธิก็เกิดขึ้น
๗. เจริญสัมมัปปธาน ๔ โดยอาศัย สติปัฏฐาน ๔ สังขารในความเพียรนั้น คือ รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม
- อย่างเราใช้จิตตานุปัสสนาเป็นหลักโดยดำเนินตามลำกับดังนี้
  ๗.๑ กรรมบถ ๑๐, ทาน, พรหมวิหาร ๔, ภาวนาโดยการทำสมาธิโดยพุทโธไปตามลมหายใจเข้าออก ไม่จับเอาสมมติความคิด ประดุจคนเดินทางไกล(เป็นกายานุปัสสนา)
  ๗.๒ อาศัยสติรู้ทันความตรึกนึกคิดก่อนจะกระทำทางกายและวาจาไป โดยเมื่อรู้ว่าเป็น รัก โลภ โกรธ หลง กุศล หรือ อกุศล มิจฉาทิฏฐิ วิปัสลาส คือ นิจจทิฏฐิวิปัลลาส, นิจจสัญญา มีความเห็นว่าเป็นของเที่ยงแท้แน่นอน คือ เป็นว่าสิ่งทั้งปวงไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ สิ่งของ เป็นของเที่ยงแท้แน่นอนยั่งยืนบ้าง ไม่แปรเปลี่ยนไปบ้าง ไม่ดับสูญบ้าง๑ / สักกายทิฏฐิ,มานะทิฐิ,อัตตานุทิฏฐิ,อัตตวาทุปาทาน,อัตตสัญญา : มีความเห็นเป็นตัวตน คือ เห็นว่าเราเป็นนั่นเป็นโน่นเป็นนี่ หรือ อยากเป็นนั่นเป็นโน่นเป็นนี่ อิจสา ๑ / ก็ให้หยุดเจตนาทาง กาย วาจา ใจ นั้นก่อนโดยอาศัยขันติ เพื่อไม่ให้ก้าวล่วงใน กรรมบถ ๑๐ ทาน พรหมวิหาร ๔ แบบไม่มีประมาณ จากนั้นมีพุทโธหรืออานาปานสติตั้งเป็นเบื้องหน้าสมาธิจะเกิดมีขึ้น ณ ที่นั้น
  ๗.๓ เจริญพิจารณาใน สัญญา ๑๐, อนิจจสัญญา, อนัตตสัญญา, อาการทั้ง ๓๒, ธาตุ ๖, อสุภะ, มรณัสสติ
  ๗.๔ เอาจิตจับที่จิต ให้จิตเห็นจิตในอาการจริงๆที่มีอยู่ของมันว่ามันมีอาการอย่างไร มีลักษณะเป็นอย่างไร หากละความคิดไม่ได้ก็รู้แค่อาการของจิต หากละวิตกวิจารได้มีสมาธินิ่งรู้กายใจอยู่ก็จะมีธรรมเอกผุดขึ้นเห็นเป็นแต่สภาวะธรรม
  ๗.๕ ไม่ยึดเอาสิ่งไรๆที่จิตรู้ เพราะสิ่งที่จิตรู้ล้วนเป็นสมมติทั้งหมด เพราะเมื่อเกิดผัสสะ เจตนาก็จะเกิดอาการที่มีลักษหวนระลึกตรึกถึงด้วยความหมายรู้ในสัญญาจากสิ่งที่รู้ผัสสะนั้นๆ เมื่อรู้สัญญาสังขารก็เกิดด้วยวิตกวิจาร ดังนั้นเจตนาเกิด สมมติก็เกิด อัตตาก็เกิดทันที ไม่ยึดเอาสิ่งที่ใจรู้ ดับที่วิญญาณ ดับที่ผัสสะนั้นจึงไม่ทุกข์

๘. เมื่อเห็นผลตามจริงดังนี้แล้วตามข้อ ๗ ความศรัทธาก็จะเกิดขึ้นพร้อมความยินดีนั้น มีจิตแน่วแน่มีลักษณะตามไปมุ่งไป ด้วยความพอใจยินดีในสิ่งนั้น เกิดเป็นฉันทะสมาธิ แล้วศรัทธา ๔ จักเกิดขึ้นด้วยปัญญาเห็นชอบ ความลังเลสงสัยในพระพุทธเ้า พระธรรม พระสงฆ์ บุญกรรมจะหายไปทันที

๙. เมื่อเกิดปัญญาเห็นชอบแล้วจิตมันจะรู้และยินดีในกุศลในสิ่งที่ควรทำ ก็จะเกิดความสอดส่องดูแลในกุศลนั้นๆอยู่เสมอให้คงอยู่ไม่เสื่อมไป
(ซึ่งจิตยินดีในกุศลนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกคนเพราะปกติเราทุกคนนี้จิตไม่ได้ใชั่ว ที่ชั่วนั้นเพราะโดนกิเลสหลอกมาตั้งเท่าไหร่ ชาตินี้มีบุญมากที่ได้เกิดมาเจอพระพุทธศาสนาและได้เห็นธรรม ครูบาแก๊บพระเพื่อท่านสอนเราไว้ว่า..ต่อให้เรายากดีมีจนก็มีบุญเสมอกันหมดไม่ต่างกันหากได้เข้ามาอยู่ในร่มโพธิ์ร่มไทรในพระพุทธศาสนาได้พานพบพระพุทธศาสนานี้ ดูหลวงปู่เหรียญท่านก็เป็นเด็กบ้านนอกแต่ท่านก็ได้รู้ธรรมแล้วบรรลุอรหันต์ ไม่ใช่คนรวยอะไรเลยก็ยังบรรลุอรหันต์ได้ ดูอย่างท่านสุปพุทธะผู้เป็นขอทานเป็นโรคเรื้อนได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วโอปนะยิโก คือ น้อมมาสู่ตนท่านก็บรรลุโสดาบันทันที อย่างพระองคุลีมาลย์เถระท่านเป็นโจรจิตใจหยาบช้าหมายจะฆ่าเพื่อบรรลุเจตนาตนเท่านั้นก็ยังกลับใจได้เมื่อรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า ดังนั้นครูบาอาจารย์สอนสิ่งใดท่านจะจงใจเทสนาให้ใครก็ช่างนั่นเป็นเรื่องของท่าน แต่เราต้องน้อมเอาธรรมที่ท่านสอนนั้นมาสู่ตน ก็จะเห็นธรรมได้ทันทีไม่ต่างกัน ดังนั้นไม่ว่าใครจะยากดีมีจน บารมีมากน้อย บุญมากหรือน้อยก็มีจิตยินดีในกุศลเช่นนี้ได้)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 10, 2015, 06:22:07 PM
ปริญญา การกำหนดรู้, การทำความเข้าใจโดยครบถ้วน มี ๓ คือ
       ๑. ญาตปริญญา กำหนดรู้ขั้นรู้จัก
       ๒. ตีรณปริญญา กำหนดรู้ขั้นพิจารณา
       ๓. ปหานปริญญา กำหนดรู้ถึงขั้นละได้



             [๔๗๓] ธรรม ๑๐ อย่างที่ควรให้บังเกิดขึ้นเป็นไฉน ได้แก่สัญญา ๑๐
คือ ความกำหนดหมายว่าไม่งาม ความกำหนดหมายในความตาย ความกำหนด
หมายในอาหารว่าเป็นของปฏิกูล ความกำหนดหมายความไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง
ความกำหนดหมายว่าไม่เที่ยง ความกำหนดหมายในสิ่งไม่เที่ยงว่าเป็นทุกข์ ความ
กำหนดหมายในทุกข์ว่าไม่ใช่ตัวตน ความกำหนดหมายในการละ ความกำหนด
หมายในวิราคธรรม ความกำหนดหมายในความดับ ธรรม ๑๐ อย่างเหล่านี้ควร
ให้บังเกิดขึ้น ฯ

สัญญา ๑๐ ความกำหนดหมาย, สิ่งที่ความกำหนดหมายไว้ในใจ มี ๑๐ อย่าง (โดยส่วนตัวเราเห็นว่า พุทโธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มีอยู่ใน สัญญา ๑๐ นี้) คือ
       ๑. อนิจจสัญญา กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร
       ๒. อนัตตสัญญา กำหนดหมายความเป็นอนัตตาแห่งธรรมทั้งปวง
       ๓. อสุภสัญญา กำหนดหมายความไม่งามแห่งกาย (ปฏิกูลสัญญา อาการทั้ง ๓๒)
       ๔. อาทีนวสัญญา กำหนดหมายโทษแห่งกาย คือมีอาพาธต่างๆ (โรคร้ายน่าเกลียดต่างๆ โรคฝี โรคหนอง โรคเรื้อน)
       ๕. ปหานสัญญา กำหนดหมายเพื่อละอกุศลวิตกและบาปธรรม (กุศลวิตก ๓, เลือกธรรมารมณ์ที่ควรเสพย์และไม่ควรเสพย์ ไม่ว่าจะเป็น ความพอใจยินดี-ความไม่ยินดี-อุเบกขา, กรรมบถ ๑๐, สัมมัปปธาน ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕,กรรมฐาน ๔๐ สติปัฏฐาน ๔)
       ๖. วิราคสัญญา กำหนดหมายวิราคะ คืออริยมรรคว่าเป็นธรรมอันสงบประณีต (อินทรีย์สังวร, มรรค ๘, โพชฌงค์ ๗)
       ๗. นิโรธสัญญา กำหนดหมายนิโรธ คืออริยผล ว่าเป็นธรรมอันสงบประณีต (วิมุตติ, มรรค ๑๐, จิตไม่จับเอาอะไรเลย รู้ก็เหมือนไม่รู้ รู้ก็ช่าง ไม่รู้ก็ช่าง แบบ อรูปฌาณ สัญญาเวทยิตนิโรธ **หากอย่างเราๆผู้ไม่ถึง วิมุตติ และ สมาบัติ ๘ ก็ให้พึงเห็นว่า..เมื่อความไม่ทุกข์ ไม่ว่างอยู่โดยความไม่รู้หนังตรึงๆหน่วงจิตมันเป็นอย่างไร, เมื่อจิตไม่มีกิเลสปรุงแต่งมันสุขเพียงไร ความไม่เร่าร้อนมันเป็นไฉน, จิตที่คลายความยึดจากสมมติคลายอุปาทานขันธ์ ๕ มันเป็นสุขขนาดไหน, เมื่อจิตไม่ยึดเอาสมมติไรๆสภาวะธรรมไรๆมันสุขแค่ไหน แม้ความสุข,ความทุกข์,ความไม่สุขไม่ทุกข์ไม่มี..จิตไม่เสพย์ไม่ยึดมันยังความบรมสุขมากแค่ไหน**)
       ๘. สัพพโลเก อนภิรตสัญญา กำหนดหมายความไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง (เห็นไตรลักษณ์ ทุกอย่างเป็นเพียงสมมติ ทุกอย่างเป็นเพียงสภาวะธรมไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ไม่ยินดียินร้ายในสิ่งใดๆรู้แต่ไม่เสพย์ จนให้มันเป็นเพียงสภาวะธรรมหนึ่งๆเท่านั้น)
       ๙. สัพพสังขาเรสุ อนิฏฐสัญญา กำหนดหมายความไม่น่าปรารถนาใน สังขารทั้งปวง (ปฏิฆะ ต่อ ขันธ์ ๕, ไม่มีความยินดีในขันธ์ ๕ และ ธาตุ ๖ อีก ด้วยพิจารณาเห็นใน ๘ ข้อสัญญาข้างต้นนั้น)
       ๑๐. อานาปานัสสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก(อานาปานสติ, พุทธานุสสติ+อานาปานสติ(พุทโธ หรือ อรหัง), เห็นตามจริงว่าลมหายใจนี้คือธาตุเป็นของจริงที่มีอยู่ในกาย หาความยินดีในการให้จิตรู้ของจริงก็คือลมหายใจเรานี้แหละ เป็นกายสังขาร)

อาพาธสูตร  http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=24&A=2597&Z=2711 (http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=24&A=2597&Z=2711)
คิริมานนทสูตร



             [๔๗๔] ธรรม ๑๐ อย่างที่ควรรู้ยิ่งเป็นไฉน ได้แก่นิชชิณวัตถุ ๑๐ คือ
ความเห็นผิดอันบุคคลผู้เห็นชอบย่อมละได้ อนึ่ง แม้อกุศลธรรมอันลามกมิใช่
น้อย ที่บังเกิดเพราะความเห็นผิดเป็นปัจจัยเขาก็ละได้ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อย
ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์เพราะความเห็นชอบเป็นปัจจัย ความดำริผิดอันบุคคลผู้
ดำริชอบย่อมละได้ อนึ่ง แม้อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อยที่บังเกิดเพราะความ
ดำริผิดเป็นปัจจัย เขาก็ละได้ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อย ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์
เพราะความดำริชอบเป็นปัจจัย การเจรจาผิดอันบุคคลผู้เจรจาชอบย่อมละได้ อนึ่ง
แม้อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อยที่บังเกิดเพราะเจรจาผิดเป็นปัจจัย เขาก็ละได้
ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อยย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะเจรจาชอบเป็นปัจจัย การ
งานผิดอันบุคคลผู้ทำการงานชอบย่อมละได้ อนึ่ง แม้อกุศลธรรมอันลามกมิใช่
น้อยที่บังเกิดเพราะการงานผิดเป็นปัจจัย เขาก็ละได้ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อยย่อม
ถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะการงานชอบเป็นปัจจัย การเลี้ยงชีพผิดอันบุคคล
ผู้เลี้ยงชีพชอบย่อมละได้ อนึ่ง แม้อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อยที่บังเกิดเพราะ
การเลี้ยงชีพผิดเป็นปัจจัย เขาก็ละได้ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อยย่อมถึงความเจริญ
บริบูรณ์ เพราะการเลี้ยงชีพชอบเป็นปัจจัย ความพยายามผิดอันบุคคลผู้พยายาม
ชอบย่อมละได้ อนึ่ง แม้อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อยที่บังเกิดเพราะความพยายาม
ผิดเป็นปัจจัย เขาก็ละได้ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อย ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์
เพราะความพยายามชอบเป็นปัจจัย ความระลึกผิดอันบุคคลผู้ระลึกชอบย่อมละได้
อนึ่ง แม้อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อยที่บังเกิดเพราะความระลึกผิดเป็นปัจจัย เขา
ก็ละได้ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อยย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะความระลึกชอบ
เป็นปัจจัย ความตั้งใจผิดอันบุคคลผู้ตั้งใจชอบย่อมละได้ อนึ่ง แม้อกุศลธรรม
อันลามกมิใช่น้อยที่บังเกิดเพราะความตั้งใจผิดเป็นปัจจัย เขาก็ละได้ ส่วน
กุศลธรรมมิใช่น้อยย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะความตั้งใจชอบเป็นปัจจัย
ความรู้ผิดอันบุคคลผู้รู้ชอบย่อมละได้ อนึ่ง แม้อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อยที่
บังเกิดเพราะความรู้ผิดเป็นปัจจัย เขาก็ละได้ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อยย่อมถึง
ความเจริญบริบูรณ์ เพราะความรู้ชอบเป็นปัจจัย ความพ้นผิดอันบุคคลผู้พ้นชอบ
ย่อมละได้ อนึ่ง อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อยที่บังเกิดเพราะความพ้นผิดเป็น
ปัจจัย เขาก็ละได้ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อยย่อมเจริญบริบูรณ์ เพราะความพ้น
ชอบเป็นปัจจัย ธรรม ๑๐ อย่างเหล่านี้ควรรู้ยิ่ง ฯ



             [๔๗๕] ธรรม ๑๐ อย่างที่ควรทำให้แจ้งเป็นไฉน ได้แก่อเสขธรรม
๑๐ คือ ความเห็นชอบเป็นของพระอเสขะ ความดำริชอบ ... เจรจาชอบ ... การงาน
ชอบ ... เลี้ยงชีพชอบ ... พยายามชอบ ... ระลึกชอบ ... ตั้งใจชอบ ... ความรู้ชอบ ... ความ
พ้นชอบ เป็นของพระอเสขะ ธรรม ๑๐ อย่างเหล่านี้ควรทำให้แจ้ง ฯ
             ธรรมร้อยหนึ่งดังพรรณนามานี้ เป็นของจริง แท้ แน่นอน ไม่ผิดพลาด
ไม่เป็นอย่างอื่น อันพระตถาคตตรัสรู้แล้วโดยชอบ ฯ
             ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวสูตรนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นดีใจ ชื่นชมภาษิตของ
ท่านพระสารีบุตร ดังนี้แล ฯ




อ่าน คิริมานนทสูตร กถามุข ได้ที่นี่ http://www.kanlayanatam.com/Mybookneanam/book_26.pdf (http://www.kanlayanatam.com/Mybookneanam/book_26.pdf)






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 13, 2015, 11:01:31 AM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 13/4/58

สัญญา ๑๐ โดยการเจริญปฏิบัติที่เราได้ดำเนินไปอยู่ # ๑

๑.อนิจจสัญญา

ดูกรอานนท์ ก็อนิจจสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง (ดูเรื่องขันธ์ 5 ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบ - ธัมมโชติ) ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ด้วยประการอย่างนี้ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอนิจจสัญญา ฯ

เพราะรู้จักอนิจจสัญญาตามจริง ได้เรียนรู้ทุกข์จากการที่เรามีนิจจสัญญา จนทำให้รู้ว่า
- บุคคลอันเป็นที่รัก สัตว์ สิ่งของ ขันธ์ ๕ และ สภาวะธรรมไรๆแม้แต่ตัวของเราเองไม่มีสิ่งใดคงอยู่ยืนนาน ทุกสิ่งทุกอย่างมีแต่วันจะดับสูญสลายไปจากเรา ไม่ว่าจะด้วยการดูแลรักษา กาลเวลา สภาวะธรรมภายนอก สภาวะธรรมภายใน และ ความตายผุพังดับสูญ
- ธรรมชาติของสัตว์โลกผู้ดำรงขันธ์ ๕ อยู่ เมื่ออุบัติเกิดขึ้นก็ต้องแก่ชรา มีความเจ็บป่วยไข้เป็นธรรมดา แล้วก็ตายไปในที่สุด แม้จะรูปธาตุไรๆก็เสื่อมสูญสลายผุพังไป ทำให้เห็นว่า แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์ เกิดมาแล้วก็ไม่รู้จะเจอวิบากกรรมอะไรบ้าง ความเกิดก็ไม่เที่ยงจากเด็กกลับกลายมาโตขึ้นจิตตอนเด็กกับตอนโตก็แปรสภาพไปไม่ใช่อันเดิมแต่อาศัยปัจจัยที่มีมานั้นให้เกิดขึ้น แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์แก่ตัวมารูปขันธ์นี้ก็แปรสภาพไปไม่เหมือนเดิมเริ่มเสื่อมโทรมไปผุพังไปหมายจะให้รูปขันธ์คงสภาพอันงามอยู่ละเอียดดูอยู่ก็ไม่ได้ ไม่ว่าจะยากดีมีจนก็เป็นเหมือนกันหมด เมื่อรูปขันธ์เริ่มเสื่อมโทรมแปรไปจะหมายจะยังรูปขันธ์ให้ทำกิจการงานไรๆก็ไม่ได้ดั่งปารถนา รูปขันธ์ทั้งปวงนี้ย่อมมีความเสื่อมสลายเจ็บไข้ได้ปวยการสภาวะธรรมธาตุที่เสื่อมโทรมไม่สมดุลย์บ้างธาตุต่างๆเริ่มดับสูญไปบ้างก็เกิดความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยนั้น แล้วในที่สุดรูปขันธ์ก็ไม่คงอยู่ยั่งยืนนานแล้วดับสลายไปในที่สุด
- ธรรมมารมณ์ทั้งปวงไม่ว่าจะสุข จะทุกข์ จะไม่สุขไม่ทุกข์ พอใจ ไม่พอใจ เร่าร้อน สุขอิ่มใจ ความทรงจำ จำได้จำไว้ ความตรึกนึกคิดปรุงแต่ง สิ่งใดๆที่ใจรู้ ไม่มีสิ่งใดคงทนทานเลยสักแต่อาศัยสภาวะธรรมภายนอกภายในปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่อยู่ยืนนาน ความเข้าไปปารถนาเอาธัมมารมณ์ที่ชอบใจพอใจให้อยู่ยืนนานย่อมหาประโยชน์สุขไม่ได้นอกจากทุกข์
- ก็เพราะคนเรานี้หนอยึดเอาสิ่งที่ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนนาน รอแต่ความดับสูญไปมาเป็นสุขของตน ไขว่คว้าแสวงหาอยู่ให้ได้มาซึ่งสิ่งอันไม่เที่ยงนั้นจนเร่าร้อนไปทั่ว พอไม่ได้ก็ทุกข์ พอได้ก็สุขแต่เมื่อสิ่งนั้นๆสลายไปก็ทุกข์เร่าร้อนแสวงหาต่อไม่รู้จบ ดังนั้นเราจะปารถนาไปเอาอะไรหนอกับสิ่งไม่เที่ยงเหล่านี้

- เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็จะเห็นว่าไม่มีสิ่งไรที่จะยั่งยืนทาน ที่เราเห็นว่าสุขของเราคือมีบ้าน รถ เงิน ทอง สามี-ภรรรยาสวยสดงดงามไรๆ ความหอมหวานซาบซ่านไรๆ สิ่งเหล่านี้เรียกว่าความสุขทางโลก เป็นสุขที่อาศัยสิ่งอันไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนให้เกิดมีขึ้นเท่านั้น ไม่นานความสุขหรือสิ่งอันเป็นที่รักอันนั้นก็ต้องดับสูญสลายไป ตามเหตุปัจจัยต่างๆเหล่านั้น เมื่อเราเข้าไปปารถนา แสวงหาซึ่งสิ่งอันไม่เที่ยงอยู่นี้ ย่อมยังกายใจของเราให้เร่าร้อนไปทั่วไม่รู้จบ เพราะสิ่งไม่เที่ยงเหล่านั้นไม่ได้ติดตามเราไปด้วยตลอดเวลาทุกขณะเมื่อเมื่อยังชีพอยู่หรือตายไปก็ตามซึ่งมีแต่บุญกับบาปเท่านั้นที่จะติดตามเราไปได้ เราจะยังแสวงหาเอาสิ่งไม่เที่ยง สิ่งที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย สิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเพื่อสิ่งใดหนอ แสวงหาไปก็เป็นทุกข์ พอใจไปก็เป็นทุกข์ ยินดีไปก็เป็นทุกข์
- ดังนั้นให้กระทำในทางโลกียะนี้ตามสมควรแก่สิ่งเหล่านั้น ขันธ์ ๕ ธาตุ ๖ สภาวะธรรมไรๆเหล่านั้น อันเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์สุขแก่ตนเองและผู้อื่นตามกาลอันควรเพื่อยังกุศลให้เกิดขึ้นคงกุศลไว้ไม่เสื่อมไปแก่เรา แต่ไม่ยึดเอาสิ่งไม่เที่ยงไรๆเหล่านี้มาเป็นอารมณ์ที่ตั้งแห่งจิตให้เร่าร้อนแสวงหาอยากได้ต้องการเกิดฐานะอันจำเป็นที่จะมี ให้แสวงหาอุปสมะ คือ ทางอันสันติสงบสุขที่ยั่งยืนดีกว่า อันได้แก่ บุญกุศล อมตะธรรมอันเป็นไปเพื่อนิพพานดังนี้




สรูป

ให้พิจารณาให้เห็นว่า ขันธ์ ๕ ธาตุ ๖ อายตนะ ๑๒ ไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ขันธ์ทั้งปวงไม่เที่ยง เกิด เกิด เจ็บ ตาย ดับสูญสลายไปอยู่ทุกๆขณะ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นสิ่งไม่เที่ยงไรๆให้เกิดกทุกข์เร่าร้อนกายใจ จิตมันรู้แต่สมมติที่กิเลสสร้างล่อหลอกว่าสิ่งนี้ๆยั่งยืนนานไม่ดับสูญไป หรือไม่สูญไปง่าย สิ่งนี้ๆเป็นของเที่ยง ไม่ว่าจะนานแค่ไหนก็ยังจะคงอยู่สืบไป เป็นอย่างนี้ๆสืบไปไม่แปรเปลี่ยน หรือ แม้รู้ว่ามันต้องเสื่อม และ ดับสูญสลายไปก็ตามแต่ก็ถือว่าสิ่งนี้ยังไม่ดับสูญไปในขณะนี้ๆ สิ่งนี้ๆยังคงอยู่อีกนาน สิ่งนี้ๆเป็นของเที่ยงแท้แน่นอนแก่เราจนวันตาย แล้วจิตมันก็ยึดเอาแต่สมมตินั้นมาจนเห็นเป็นของเที่ยงแท้ยั่งยืนนาน ทั้งที่จริงๆไม่มีสิ่งไรๆจากสภาวะธรรมที่ เที่ยงแท้ยั่งยืน คงอยู่นาน ไม่แปรเปลี่ยน ไม่ดับสูญ ทุกอย่างจักต้องดับสูฐสลายไป จะช้าหรือแล้วก็ขึ้นอยู่กับ กาลเวลา สภาพแวดล้อมสภาวะธรรมภายนอก สภาวะธรรมภายใน การดูแลรักษา และ ความตายหรือผุพังสลายไป








หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 13, 2015, 01:03:28 PM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 13/4/58

สัญญา ๑๐ โดยการเจริญปฏิบัติที่เราได้ดำเนินไปอยู่ # ๒

๒.อนัตตสัญญา

ดูกรอานนท์ ก็อนัตตสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า จักษุเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา หูเป็นอนัตตา เสียงเป็นอนัตตา จมูกเป็นอนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา กายเป็นอนัตตา โผฏฐัพพะเป็นอนัตตา ใจเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา (ดูเรื่องอายตนะ 12 ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบ - ธัมมโชติ) ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ในอายตนะทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ๖ ประการเหล่านี้ ด้วยประการอย่างนี้ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอนัตตสัญญา ฯ



คิริมานนทสูตร กถามุข

-รูปสัญญา นามสัญญา-
   
 วิสุทฺธจิตฺเต อานนฺท เท.ว สญฺญา สุตฺวา โส
อาพาโธ ฐานโส ปฏิปสฺสมฺเภยฺย
ดังนี้ ดูกรอานนท์ เมื่อท่านไปถึงสำนักพระคิริมานนท์แล้ว
ท่านจงบอกสัญญา ๒ ประการ คือ รูปสัญญา๑ นามสัญญา๑
คือว่า รูปร่าง กายตัวตนทั้งสิ้นก็ดี คือนามได้แก่จิตเจตสิกทั้งหลายก็ดี
ก็ให้ปลงธุระเสีย อย่าถือว่ารูปร่างกายจิตเจตสิกเป็นตัวตน
 และอย่าเข้าใจว่าเป็นของของตน
ทุกสิ่งทุกอย่างความจริงเป็นของภายนอกสิ้นทั้งนั้น

ดูกรอานนท์ ถ้าหากว่า รูปร่างกายเป็นตัวตนเราแท้
เมื่อล่วงสู่ความแก่เฒ่าชรา ตาฝ้า หูหนวก เนื้อหนังเหี่ยวแห้ง
ฟันโยกคลอน เจ็บปวด เหล่านั้น เราก็จักบังคับได้ตามประสงค์
ว่าอย่าเป็นอย่างนั้น อย่าเป็นอย่างนี้ นี่เราบังคับไม่ได้ตามประสงค์
 เขาจะเจ็บ จะไข้ จะแก่ จะตาย เขาก็เป็นไปตามหน้าที่ของเขา
เราหมดอำนาจที่จะบังคับบัญชาได้ เมื่อตายเราจะพาเอาไปสักสิ่งสักอันก็ไม่ได้
 ถ้าเป็นตัวตนของเราแล้ว เราก็คงจะพา เอาไปได้ตามความปรารถนา

ดูกรอานนท์ ถึงจิตเจตสิกก็ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของของตน
 หากว่าจิตเจตสิกเป็นเรา หรือเป็นของของเรา เราก็จักบังคับได้ตามประสงค์
ว่า จิต ของเราจงเป็นอย่างนี้จงเป็นอย่างนั้น จงสุขสำราญทุกเมื่อ
อย่าทุกข์อย่าร้อนเลยดังนี้ ก็จะพึงได้ตามปรารถนา นี่หาเป็น เช่นนั้นไม่
 เขาจะคิดอะไรเขาก็คิดไป เขาจะอยู่จะไปก็ตาม เรื่องของเขา
เพราะเหตุร่างกายจิตใจเป็นอนัตตา
ไม่ใช่ ตัวตน ไม่ใช่ของของตน ให้ปลงธุระเสีย
อย่าเข้าใจถือเอา ว่าเป็นตัวตนและของของตนเถิด.

ดูกรอานนท์ ท่านจงไป บอกซึ่งสัญญาทั้ง ๒ ประการคือรูปและนามนี้
โดยเป็น อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนและไม่ใช่ของของตน
ให้พระคิริมานนท์ แจ้งทุกประการ เมื่อพระคิริมานนท์แจ้งแล้ว
การอาพาธ ความเจ็บปวดและทุกขเวทนา
ก็จะหายจากร่างกายของพระคิริมานนท์หมดสิ้น จะหายอาพาธโดยรวดเร็วด้วย

 ภนฺเต อริยกสฺสป ข้าแต่พระอริยกัสสปะผู้เป็นประธานในสงฆ์
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแก่ข้าฯ ด้วยประการ ดังนี้แล.





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 13, 2015, 03:40:17 PM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 13/4/58

สัญญา ๑๐ โดยการเจริญปฏิบัติที่เราได้ดำเนินไปอยู่ # ๒

๒.อนัตตสัญญา

เพราะรู้จักอนัตตาสัญญาตามจริง ได้เรียนรู้ทุกข์จากอัตตสัญญา จนทำให้เรารู้ว่า

- แม้เมื่อเราเกิดรู้ผัสสะในอายตนะ ๑๒ (รู้-รูปทางตา รู้-เสียงทางหู รู้-กลิ่นทางจมูก รู้-รสทางลิ้น รู้-อาการต่างๆทางกาย รู้อารมณ์ด้วยใจ รู้-รูป-เวทนา-สัญญา-ความคิดปรุงแต่ง-ผัสสะใดๆสิ่งใดๆที่ใจรู้) แล้วเกิดมี อัตตาสัญญา ว่า เราเป็นสิ่งนั้น เราเป็นสิ่งนี้ เราเป็นคนนั้น เราเป็นคนนี้ เราควรแก่สิ่งนี้ สิ่งนี้ควรแก่เรา เราไม่ควรแก่สิ่งนี้ สิ่งนี้ไม่ควรแก่เรา เราสำคัญอย่างนี้ เราดีอย่างนี้ เราเลิศอย่างนี้ นี่เขา นี่เรา เขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ควรและไม่ควรเหมาะสมกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ นี่บ้าน นี่รถ นี่เงิน นี่ทอง นี่สวยงาม นี่ไม่สวยงาม ตีค่าความสำคัญไปเป็นตัวตนอย่างนั้นอย่างนี้ นี่เสียงเพราะเสียงไม่เพราะ นี่หอม นี่เหม็น นี่อร่อยนี่ไม่อร่อย สัมผัสทางกายอย่างนี้สบาย อย่างนี้ทุกข์ นี่เจ็บ นี่ปวด ความคิดว่านี่เป็นเรา สิ่งที่ใจรู้นี้เป็นเรา เป็นของเรา นี่สบายนี่เมื่อเห็นเป็นอย่างนี้ๆสิ่งนี้ๆแล้วจิตย่อมจับเอาความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนี้ๆว่าเป็นตน เป็นของตน เป็นเขา เป็นของเขา เป็นคน สัตว์ สิ่งของเกิดขึ้น จนเกิดการกระทำไรๆทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดี อันเป็นไปในความเร่าร้อนเป็นทุกข์จากผลอันกระทำอย่างนั้น ซึ่งความจริงแล้วไม่มีสิ่งใดเลยที่เป็นเราเป็นของเรา
- เมื่อเราหมายสำคัญตนผิดว่าเป็นเทพบ้าง เป็นพรหมบ้าง เป็นคนเก่งบ้าง คนรวยบ้าง เป็นคนทำงานดีบ้าง เป็นคนที่มีบุญบารมีเยอบ้าง เป็นคนที่ควรแก่สิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่ควรแก่สิ่งนั้นสิ่งนี้บ้าง เพราะถือว่านั่นคือเรา เราก็จะเกิดการกระทำทางกาย วาจา ใจ อันเป็นไปโดยประมาท ไม่สำรวมในอินทรีย์ ดำเนินกาย วาจา ใจ ไปเพื่อสิ่งอันเร่าร้อน จนเกิดความผิดพลาดแล้วได้รับผลของกรรมนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
- เหมือนเมื่อเราสำคัญตนว่า ตนมีบุญบารมีมากแล้ว ก็ไม่หมายจะทำกุศลผลบุญต่อ บุญที่มีอยู่ก็ถูกใช้ไปเรื่อยๆจนหมดไป เมื่อหมดไปแล้วก็ต้องมาตะเกียกตะหายหาหรือเสียใจเสียดายในภายหลังไม่สิ้นสุด
- เหมือนเมื่อเราสำคัญตนว่าตนเป็นพรหม เป็นเทวดามาเกิดตนก็ต้องทำเพื่อกลับไปเสพย์สุขเป็นพรหมเป็นเทวดาดั่งเดิมโดยละเลยการปฏิบัติเพื่อพ้นจากกองทุกข์บ้าง หรือ สำคัญตนว่าตนอยู่สูงกว่าใครทั้งๆที่ยังขันธ์ ๕ ตามอัตภาพไม่ต่างจาก หมู หมา กา ไก่ ควาย สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายอยู่ ยังอาศัยลมเป็นกายสังขารหล่อเลี้ยงขันธ์อยู่ ยังอาหารบริโภคเพื่อดำรงขันธ์อยู่ ยังแสวงหาสิ่งนั้นสิ่งนี้เพื่อยังสุขทางโลกอยู่
- เหมือนเมื่อเราสำคัญตนว่า ตนเป็นคนทำงานเก่ง ไม่มีใครทำได้อย่างตน ตนเป็นผู้สำคัญ ไม่มีใครแทนได้ ตนเป็นคนที่เพรียบพร้อมดีเลิศแล้วไม่มีใครยิ่งกว่าด้วยความยึดในอัตตสัญญานั้น ก็เกิดความหลงตน ทนงตนแล้วก็ คิด พูด ทำไปโดยไม่มีความประมาณตน ไม่สำรวมตน ผมเพราะความสำคัญตนอย่างนี้ก็จะทำให้เกิดอกุศลวิตกว่า สิ่งนี้เหมาะควรแก่เรา สิ่งนี้ไม่เหมาะควรแก่เรา แล้วก็จะเกิดทั้งสิ่งที่ชอบไม่ชอบเกิดสังขารเวียนอยู่แล้วก็เกิดเป็นการกระทำอันทำให้ถึงความฉิบหายได้จาก วจีกรรม กายกรรม มโนกรรม
- บุคคลอันเป็นที่รัก สัตว์ สิ่งของ สฬายตนะภายนอก และ ขันธ์ ๕ ธาตุ ๖ อายตนะ ๑๒ หรือ สภาวะธรรมไรๆไม่มีสิ่งใดที่เป็นเรา-เป็นเขา เป็นของเรา-ของเขา เราไม่สามารถจะไปบังคับสิ่งไรๆให้เป็นไปดั่งใจเราได้แม้แต่ขันธฺ ๕ ของเราเองก็ตาม เพราะหากเป็นเราเป็นของเรา เราย่อมจะบังคับให้มันเป็นไปดั่งใจของเราปารถนาได้ แต่ไม่มีเลยสักอย่างที่จะบังคับให้มันเป็นไปตามที่ใจเราปารถนา จับต้องบังคับก็ไม่ได้ เพราะไม่มีสิ่งใดที่เป็นตัวตน เป็นเรา เป็นของเราเลย

+ เมื่อเข้าไปยึดเอาว่า รูปคือกายนี้เป็นเราเป็นของเรา แต่ก็บังคับจำต้องให้มันเป็นไปตามใจเราปารถนาไม่ได้ ก็เป็นทุกข์ บังคับไม่ให้มันเกิดขึ้นหรือดับไปดั่งใจปารถนาก็ไม่ได้ ก็รูปขันธ์นี้เมื่อมันจะเกิด จะเป็นไป จะเสื่อม จะดับสูญ มันก็ไม่เคยจะมีเราเลยในนั้นไม่เห็นว่ามันจะบอกจะถามเราเลย มันอยากจะแปรเป็นไปอย่างไรมันก็เป็นไปของมันเองไม่มีเราในนั้นเลย
ดังนั้น เราจึงไม่ใช่รูป รูปไม่ใช่เรา เราไม่มีในรูป รูปไม่มีในเรา..ดังนี้
+ เมื่อเข้าไปยึดเอาว่า เวทนานี้เป็นเรา แต่ก็บังคับจับต้องให้มันเป็นไปตามใจเราปารถนาไม่ได้ จะบังคับให้มันสุขตลอดไปก็ไม่ได้ จะบังคับให้มันไม่ทุกข์ก็ไม่ได้ จะบังคับให้มันเฉยว่างไม่ยินดียินร้ายก็ไม่ได้ บังคับไม่ให้มันเกิดขึ้นหรือดับไปดั่งใจปารถนาก็ไม่ได้ มันจะสุข จะทุกข์ จะเฉยๆมันก็เป็นไปของมันเองตาเหตุปัจจัยแต่ไม่มีเราในนั้นที่ทำให้มันเป็นไปเลย มันไม่เคยสุขเพราะเป็นเรามีเราไม่อิงอามิสหรือสิ่งล่อใจภายนอกเลย ก็เป็นทุกข์ ก็รูปขันธ์นี้เมื่อมันจะเกิด จะเป็นไป จะเสื่อม จะดับสูญ มันก็ไม่เคยจะมีเราเลยในนั้นไม่เห็นว่ามันจะบอกจะถามเราเลย มันอยากจะแปรเป็นไปอย่างไรมันก็เป็นไปของมันเองไม่มีเราในนั้นเลย
ดังนั้น เราจึงไม่ใช่เวทนา เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่มีในเวทนา เวทนาไม่มีในเรา..ดังนี้
+ เมื่อเข้าไปยึดเอาว่า สัญญา ความสำคัญมั่นหมายของใจ จำได้หมายรู้ของใจนี้ๆเป็นเรา แต่ก็บังคับจับต้องให้มันเป็นไปตามใจเราปารถนาไม่ได้ จะบังคับให้มันจำเรื่องนี้ๆ สิ่งๆที่ตนพอใจยินดีก็ไม่ได้ บังคับให้มันลืมเรื่องนี้ไม่จำเรื่องราวสิ่งที่ไม่ชอบใจก็ไม่ได้ บังคับไม่ให้มันเกิดขึ้นหรือดับไปดั่งใจปารถนาก็ไม่ได้ แม้เมื่อมันจะเกิดจะสำคัญมั่นหมายสิ่งใดๆของใจไว้มันก็ไม่ได้มีความจดจำเรื่องของเราเลย จำเรื่องนั้นเรื่องนี้สิ่งภายนอกไปหมดไม่มีเราเลย จำรูป รส กลิ่น เสียง โผฐัพพะ ธรรมมารมณ์นั่นโน่นนี่ไปทั่ว แต่ในความจำได้หมายรู้ ความจดจำสำคัญมั่นหมายของใจนี้ๆไม่มีเราในนั้นเลย
ดังนั้น เราจึงไม่ใช่สัญญา สัญญาไม่ใช่เรา เราไม่มีในสัญญา สัญญาไม่มีในเรา..ดังนี้
+ เมื่อเข้าไปยึดเอาว่า สังขารเป็นเรา แต่ก็บังคับจับต้องให้มันเป็นไปตามใจเราปารถนาไม่ได้ จะบังคับให้มันตรึกนึกปรุงแต่งเรื่องนี้ๆที่ตนพอใจต้องการก็ไม่ได้ ไม่ให้ไปปรุงแต่งตรึกนึกคิดสิ่งอื่นๆที่ตนไม่ต้องการก็ไม่ได้ บังคับไม่ให้มันเกิดขึ้นหรือดับไปดั่งใจปารถนาก็ไม่ได้ มันปรุงแต่งตรึกนึกเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปทั่ว แต่ไม่เคยปรุงแต่งตรึกนึกถึงเราเลย ไม่มีเราในนั้นเลย
ดังนั้น เราจึงไม่ใช่สังขาร สังขารไม่ใช่เรา เราไม่มีในสังขาร สังขารไม่มีในเรา..ดังนี้
+ เมื่อเข้าไปยึดเอาว่า วิญญาณเป็นเรา แต่ก็บังคับจับต้องให้มันเป็นไปตามใจเราปารถนาไม่ได้ จะบังคับให้มันรู้แต่สิ่งที่เราต้องการก้ไม่ได้ ไม่ให้รู้สิ่งที่เราไม่ต้องการก้ไม่ได้ มันเกิดมารู้ของมันเอง เมื่อสิ่งที่ปรุงแต่งไรๆที่เกิดขึ้นให้มันรู้ดับ ความที่มันรู้ในสิ่งนั้นๆก็ดับตามไป ไม่เป็นไปตามที่เราบังคับได้เลย แม้เราหมายจะบังคับให้มันรู้ของจริงสภาวะธรรมจริงเท่านั้นไม่ไปรู้อย่างอื่นแต่เราก็บังคับมันไม่ได้เลย มันกลับรู้ทุกสิ่งที่เป็นสมมติไม่รู้ของจริงเลย สิ่งที่มันรู้คือสมมติทั้งหมดความตรึกนึกคิดอันกิเลสเร่าร้อนปรุงแต่งทั้งหมด ไม่มีเราเลยที่มันรู้
ดังนั้น เราจึงไม่ใช่วิญญาณ วิญญาณม่ใช่เรา เราไม่มีในวิญญาณ วิญญาณไม่มีในเรา..ดังนี้

- ก็เมื่อรู้ว่า เราไม่ใช่สิ่งนั้นสิ่งนี้ เราไม่ใช่คนนั้นคนนี้ เราไม่สำคัญอย่างนั้นอย่างนี้ เราไม่ได้ประเสริฐเลิศเลออย่างนั้นอย่างนี้ เราไม่ใช่ผู้มีบุญบารมีเหนือผู้อื่นอย่างนั้นอย่างนี้ เราไม่ใช่ผู้ควีตีตนเสมอใครอย่างนั้นอย่าง ไม่มีสิ่งใดที่เห็นว่าควรแก่เราหรือไม่ควรแก่เรา ไม่มีเ้ราในสิ่งนั้นสิ่งนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่มีในเรา แม้ขันธ์ ๕ หรือ ธาตุ ๖ อันเรามีใจครองอยู่นี้ ก็ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา แล้วเราจะไปแสวงหาหมายเอาสิ่งใดว่าเป็นเรา ว่าเราควรได้ ว่านี่ควรแก่เราได้เล่า ก็เมื่อความไม่มีตัวตนประจักษ์แจ้งอยู่ดังนี้แล้ว
ดังนั้น ความไปหมายว่าสิ่งนี้ๆเป็นเรา เป็นของเรา เรามีในสิ่งนั้น สิ่งนั้นมีในเรา เราควรและไม่ควรแก่สิ่งนั้น สิ่งนั้นควรและไม่ควรแก่เรา ย่อมนำความทุกข์และความฉิบหายอันเป็นมหาทุกข์มาให้ เราจึงไม่ควรเอาสิ่งไรๆ เรื่องราวๆมาเป็นที่ตั้งแห่งใจให้ยึดมั่นว่าเป้นตัวตนของเรา ของเขาให้เกิดทุกข์อีก ละความเป็นตัวตนเหล่านั้นเสียจึงจะไม่ทุกข์อีก




สรูป

ให้พิจารณาให้เห็นว่า ขันธ์ ๕ ธาตุ ๖ อายตนะ ๑๒ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในสิ่งเหล่านั้น สิ่งเหล่านั้นไม่มีในเรา เราไม่ใช่สิ่งนั้น สิ่งนั้นไม่ใช่เรา เราไม่มีความสำคัญอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่ควรและไม่ควรแก่เรา ไม่มีสิ่งนั้นสิ่งที่ควรหรือไม่ควรแก่เขา เราไม่ดีเลิศเกิดกว่าใครกว่าสิ่งใดเพราะต่างยังขันธ์ ๕ อันที่รอแต่วันจะเสื่อมเหมือนกัน บังคับให้เป็นไปดั่งใจไม่ได้เหมือนกัน กล่าวโดย อายตนะ ๑๒ คือ
- ตา หุ จมูก ลิ้น กาย ใจ อันใดนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในสิ่งเหล่านั้น สิ่งเหล่านี้ไม่มีในเรา สิ่งเหล่านี้ไม่อยู่ใต้บังคับบัญญาเรา เราไม่สามารถจะยื้อยึดจับต้องให้มันเป็นไปดังใจได้
- รูป เสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะ ธรรมารมณ์ไรๆ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีความสำคัญอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่ควรและไม่ควรแก่เรา ไม่มีสิ่งนั้นสิ่งที่ควรหรือไม่ควรแก่เขา เราไม่ดีเลิศเกิดกว่าใครกว่าสิ่งใดเพราะต่างยังขันธ์ ๕ อันที่รอแต่วันจะเสื่อมเหมือนกัน
- ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นสิ่งไม่ที่ไม่มีตัวตนให้เกิดความทุกข์เร่าร้อนกายใจ จิตมันรู้แต่สมมติที่กิเลสสร้างล่อหลอกว่าสิ่งนี้ๆเป็นเรา  เป็นเขา เป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ แล้วจิตมันก็ยึดเอาแต่สมมตินั้นมาจนเห็นเป็นตัวตน ทั้งที่จริงๆไม่มีสิ่งไรๆนอกจากสภาวะธรรม ไม่มีสิ่งไรๆที่เป็นตัวตนเลย






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 16, 2015, 10:37:10 AM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 13/4/58

สัญญา ๑๐ โดยการเจริญปฏิบัติที่เราได้ดำเนินไปอยู่ # ๓

๓.อสุภสัญญา

ดูกรอานนท์ ก็อสุภสัญญาเป็นไฉน
ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้นั่นแล เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา
มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆว่า
ในกายนี้มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม เนื้อหัวใจ
ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด
เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร
ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่งามในกายนี้
ด้วยประการดังนี้ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอสุภสัญญา ฯ

เพราะรู้จักอนัตตาสัญญาตามจริง ได้เรียนรู้ทุกข์จากอัตตสัญญา จนทำให้เรารู้ว่า

- อสุภะสัญญานี้ พระพุทธเจ้าให้เห็นจนเกิดปัญญาเป็นวิปัสสนาในตน ไม่ได้ให้ไปมองที่ภายนอก มองเข้ามาเห็นในกายเรานี้แลว่า เป็นสิ่งปฏิกูล มีอาการทั้ง ๓๒ เป็นของที่เน่าเหม็นน่าเกลียดไม่น่าพิศมัยใคร่ยินดี ควรทำให้แจ้งซึ่งความสุขอันพ้นจากปฏิกูลของเน่าเหม็นไม่งามทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งเรานี้จะเข้าถึงส่วนนี้ได้ตามจริงนั้น ต้องอาศัยสมาธิ มีอุปจาระสมาธิ มีปฐมฌาณเป็นต้น แม้มีสมาบัติก็ตามแต่หากยังเข้าไม่ถึงซึ่ง อนิจจสัญา และ อนัตตาสัญญา ก็จะไม่สามารถม่างกายออกมาได้ แม้จะม่างออกมาได้หากไม่มีบุญเก่าก็ไม่สามารถที่จะเกิดความเบื่อหน่ายที่ยังความไม่เสื่อมให้เกิดขึ้นอันเป็นโลกุตระได้เลย จะม่างร้อยครั้งก็ยังมีอนิจัง อนัตตาอยู่ดังเดิม เพราะจิตเรานี้มันสะสมกิเลสตัณหาว่าเป็นของเที่ยงแท้ยั่งยืน ว่าเป็นเราเป็นของเรา เป็นตัวเราตัวเขามานับไม่รู้กี่อสงไขย กี่แสนมหากัปป์ มันยังไม่เคยได้รู้ของจริงจนมากพอที่จะขนที่เลสอันเป็นก้อนที่มีมากแม้จักรวาลนี้ก็ไม่พอเป็นภาชนะกักเก็บมันออกหมด ดังนั้นการม่างกายนี้จึงเป็นธรรมขั้นสูงเพราะต้องมีสัมมาทิฐิก่อน มีจิตเป็นกุศลดีแล้ว ตั้งมั่นชอบดีแล้ว เป็นเหตุให้เกิดปัญญารู้แจ้งตามจริง ผู้ที่จะม่างกายนี้จึงมีอยู่น้อย ส่วนมากจะมีแต่สายพระป่าเท่านั้น เพราะพระสายพระป่าท่านตั้งด้วยเจโตวิมุตติ มีศีลเป็นฐานแห่งกุศลทั้งปวง ตั้งสติกำกับอยู่ในอินทรีย์สังวร เพียรเจริญในสมาธิเป็นกำลังให้สังขารด้วยพละ ๕ และ สติปัฏฐาน ๔ จนเกิดสมาธิตั้งมั่นชอบควรแก่งานเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ทำให้รู้อนิจจสัญญาและอนัตตสัญญแจ้งแก้ใจก่อนเป้นหลักแล้วมีชณะจิตนั้นสืบต่อลงม่างกายออกเป็นอาการทั้ง ๓๒ ไม่เกี่ยวข้องรวมกันให้ขาดจากกัน จากนั้นก็จะมาพิจรณาดูว่าแต่ละอาการที่เราม่างมันออกมาจากกายอันมีหนังหุ้มเป็นที่สุดรอบ ไม่ว่าเราหรือใครที่ว่าสวยว่างาม มันมีเราหรือใครในนั้นไหม มีสิ่งใดควรแก่ความใคร่พิศมัยอีกไหม เมื่อแยกม่างออกมาตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้นตามลำดับออกมาก็ไม่เห็นจะมีเราในอาการนั้นๆ ในอาการนั้นๆก็ไม่มีเราเลย เมื่ออาการทั้ง ๓๒ นี้ไม่มีในเรา เราไม่มีในอาการทั้ง ๓๒ เหล่านี้ รูปขันธ์ก็พังทลายลง จิตไม่ยินดีในรูปขันธ์อีก ปัญญาก็เกิดขึ้นตัดสักกายทิฐิ แสดงผลให้ถึงซึ่งมรรค ๔ ผล ๔ มีพระโสดาบัน พระสกิทาคามีเป็นเบื้องต้น ดังนี้
- ดังนั้น อสุภสัญญา หรือ อาการทั้ง ๓๒ นี้เมื่อจะเจริญก็ต้องเข้าถึงความไม่เที่ยง ความไม่มีตัวตนอันแท้จริงที่ถึงใจออกมาจากใจให้ได้ก่อน แล้วจึงนำเอากรรมฐานนี้มาพิจารณาด้วยความมีจิตที่ตั่งมั่นชอบควรแก่งานตั้งแต่อุปจารสมาธิ หรือ ปฐมฌาณเป็นต้น เมื่อรูปขันธ์พังลมแยกกออกเป็นกองๆแล้ว ขันธ์ทั้ง ๕ ก็พังลงไม่สมบูรณ์ จิตจะเริ่มน้อมพิจารณาในของจริงเห็นเพียงสภาวะธรรมที่ไม่มีตัวตน แยกขันธ์ ๕ ออกให้หมดเป็นกอง จนไม่เหลืออะไรอีก การม่างกายนี้โดยอสุภสัญญาจึงเป็นฐานสำคัญให้แยกซึ่งขันธ์ทั้ง ๕ ออกเป็นกองดังนี้
- หากเมื่อผู้ไม่มีสมาธิ ยังไม่ถึงซึ่งอนิจจสัญญา อนัตตสัญญา เมื่อจะเจริญพิจารณาในอสุภสัญญานี้ก็ให้พึงจับเอาอาการใดอาการหนึ่งในอาการทั้ง ๓๒ ประการนี้มาเป็นอารมณ์พิจารณาควบคู่ไปพร้อมกับอานาปานสติเพื่อยังสมาธิให้เกิดขึ้นพร้อมกับสติกับกุศลวิตกที่สังขารอยู่นั้น เมื่อมีสมาธิเห็นตามจริงได้ อนิจจัง อนัตตาก็จะเกิดขึ้นแจ้งแก่ใจ แยกม่างกายออกจนไม่เหลือรูปขันธ์ได้เอง






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 16, 2015, 12:13:00 PM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 13/4/58

สัญญา ๑๐ โดยการเจริญปฏิบัติที่เราได้ดำเนินไปอยู่ # ๔

๔.อาทีนวสัญญา

ดูกรอานนท์ ก็อาทีนวสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้น อาพาธต่างๆ จึงเกิดขึ้นในกายนี้ คือ โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคที่ใบหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราด หูด โรคละอองบวม โรคอาเจียนโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีไข้สันนิบาต อาพาธอันเกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธอันเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธอันเกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธอันเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นโทษในกายนี้ ด้วยประการดังนี้ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอาทีนวสัญญา ฯ

เพราะรู้จักอนัตตาสัญญาตามจริง ได้เรียนรู้ทุกข์จากอัตตสัญญา จนทำให้เรารู้ว่า

- ก็กายเรานี้แลมีความเจ็บป่วยอยู่เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นไปไม่ได้เลย ร่างกายที่เจ็บป่วยอยู่นี้ก็ไม่ทนอยู่ได้นานย่อมยังความเสื่อมสูญให้เกิดขึ้น ก็ร่างกายคือรูปขันธ์ หรือ ธาตุ ๕(ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ) เมื่อได้กอปรกันเกิดขึ้นไม่มีชีวิต ไม่มีความรู้สึกอะไรเลยทั้งสิ้น แต่อาศัยวิญญาณนี้เข้าไปยึดครอง จึงเกิดมีชีวิตเจริญขึ้นมา
- ก็เมื่อกายเรานี้มีความแปรปรวนของธาตุ ๕ ไป ย่อมเกิดโรคเกิดอาพาธกำเริบขึ้น จะหมายบังคับว่าขอกายของเราจงอย่าเป็นอย่างนี้เลย ขอจงหายเจ็บป่วยไป ขอจงมีกายอันวิจิตรดีงามก็ไม่ได้ เพราะไม่อยู่ในฐานที่จะบังคับให้เป็นไปดั่งใจได้ เพราะกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตน
- ดังนั้น รูปขันธ์ หรือ ธาตุ ๕ คือ กายนี้ เป็นที่ประชุมไปด้วยโรค เป็นของที่เสื่อมสูญสลาย ไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา บังคับให้เป็นไปดั่งใจก็ไม่ได้ มันก็เกิดจะดับจะแปรสภาพเปลี่ยนไปยังไงมันก็เป็นไปของมันเอง ไม่ใช่เราไปบังคับให้มันเป็นดั่งใจได้
- เมื่อกายนี้ยังความแปรเปลี่ยนไปของธาตุให้เกิดขึ้น ก็ทำให้เกิดความเจ็บปวดอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่ขี้ ไม่เยียวก็ไม่ได้ ทนร้อน ทนหนาว ทนเจ็บ ทนปวดก็ไม่ได้ ซ้ำยังเปาะบางเดี๋ยวเป็นโรคนั้นโรคนี้กำเริบขึ้น เมื่อมีโรคอันกำเริบขึ้นกายก็ทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวด ดูเป็นที่น่ารังเกลียดไม่น่าใคร่ปารถนายินดี เป็นที่น่าขยะแขยงต่อผู้พบเห็น
- เมื่อโรคกำเริบขึั้นก็รังแต่จะทำลายให้กายนี้ดับสูญอยู่ทุกขณะไม่ว่าจะเป็น โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคที่ใบหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราด หูด โรคละอองบวม โรคอาเจียนโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีไข้สันนิบาต อาพาธอันเกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธอันเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธอันเกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธอันเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ โรคทั้งหลายเหล่านี้ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนล้วนเกิดขึ้นที่กายทั้งนั้น เราจะยังความใคร่ในกายอันเป็นที่ประชุมไปด้วยโรคนี้อีกหรือ จะปารถนาไม่หมดจรดยั่งยืนนานก็ไม่ได้ บังคับให้เป้นดั่งใจก็ไม่ได้
- เมื่อกายนี้เป็นรังของโรคภัยไข้เจ็บเป็นรังของเชื้อโรคทั้งหลายเป็นของไม่สะอาด เป็นของไม่ยั่งยืน ไม่มีตัวตนดังนี้แล้ว เราจึงพึงควรจะละทิ้งความยึดมั่นถือมั่นในกายหรือกองธาตุอันเป็นที่ประชุมไปด้วยโรคและของเน่าเหม็นทั้งปวงนี้ไปเสีย ให้พึงตั้งจิตละเสียซึ่งรูปขันธ์ เห็นมันสักแต่เป็นเพียงอาการทั้ง ๓๒ ที่เน่าเหม็นไม่งาม ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนในอาการทั้ง ๓๒ นั้นเมื่อม่างกายออกมา เป็นที่ประชุมของโรคที่น่าขยะแขยง ตุ่มผื่น น้ำดี น้ำหนองกำเริบบ้าง เห็นกายนี้เป็นเพียงแค่ธาตุ เราสักแต่ยืมมันมาใช้เพื่อเจริญในกุศล กรรมฐาน ศีล ทาน ภาวนาเท่านั้น เมื่อถึงคราวก็ต้องสละคืนมันไป เมื่อเราตายมันก็ไม่ได้ตายตามเราไปด้วย จะมีก็เพียงบุญกุศล บาปกรรมอกุศลเท่านั้นที่จะติดตามส่งผลต่อเราไปทุกภพทุกชาติไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นเราพึงเพิกถอนจิตของจากรูปขันธ์ ออกจากอาการทั้ง ๓๒ ออกจากที่ประชุมโรค ออกจากธาตุ ๖ เหล่านี้ไปเสีย แล้วพึงตั้งจิตจับเอาแต่กุศลจิต กุศลกรรม กุศลธรรมทั้งปวงไรๆที่เราได้สร้างและทำมาดีแล้ว ตั้งตนอยู่ในมงคล ๓๘ ประการ ทั้งศีล ทาน ภาวนา ความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ บุพการีไรๆมาเป็นที่ตั้งแห่งจิตแทน






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 16, 2015, 01:16:57 PM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 13/4/58

สัญญา ๑๐ โดยการเจริญปฏิบัติที่เราได้ดำเนินไปอยู่ # ๕

๕. ปหานสัญญา ๑

ดูก่อนอานนท์ ก็ปหานสัญญาเป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งกามวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งพยาบาทวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งวิหิงสาวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันชั่วช้า อันเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นแล้ว ดูก่อนอานนท์ นี้เรียกว่า ปหานสัญญา.

เพราะรู้จักสภาวะธรรมตามจริง ได้เรียนรู้ทุกข์จากอกุศลวิตก ความตรึกนึกปรุงแต่งสมมติทั้งปวง จนทำให้เรารู้ว่า

- เมื่อรู้เห็นตามจริงว่า ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ อาการทั้ง ๓๒ ธาตุ ๖ ไม่คงอยู่ยั่งยืนนาน มีแต่ความแปรปรวน เสื่อมโทรม ดับสูญไป ไม่จีรังยั่งยืนอยู่ได้
- เมื่อรู้เห็นตามจริงว่า ขันธ์ ๕ อาการทั้ง ๓๒ ธาตุ ๖ อายตนะ ๑๒ ไม่อาจจะบังคับให้เป็นไปดั่งใจเราได้ ไม่มีสิ่งใดที่เป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวตนของเราหรือของใครจริง จะหมายเอาว่าสิ่งนี้ๆเป็นเรา เป็นของเรา สิ่งนี้ๆเป็นเขา เป็นของเขา สิ่งนี้เหมาะควรแก่เรา-สิ่งนี้ไม่เหมาะควรแก่เรา สิ่งนี้เราควรมีควรได้ควรเป็นของเรา-สิ่งนี้เราไม่ควรจะเกิดมีแก่เรา เราเป็นคนสำคัญอย่างนั้นอย่างนี้ๆ สิ่งนี้ไม่เหมาะควรแก่เขา สิ่งนี้ควรเกิดแก่เขาไม่ใช่เราก็ไม่ได้ เมื่อปารถนาไปเช่นนั้นสำคัญมั่นหมายเอาเป็นตัวตนอย่างนั้นๆย่อมยังความทุกข์และความฉิบหายมาให้ เพราะต้องตะเกียกตะกายไขว่คว้าดิ้นรนเร่าร้อนเอากับสภาวะธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนของเราหรือใครหรือสัตว์ใดหรือสิ่งใด แม้จะหมายเอาตัวตนในสิ่งไรๆ บุคคลใด สัตว์ใด สภาวะธรรมไรๆทั้งปวงก็ไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นไปดังใจเราปารถนาได้ ไม่ว่าจะเป็นสภาวะธรรมไรๆนามรูปใดๆในรูปกายนี้ก็ดี ขันธ์ทั้ง ๕ ก็ดี กาย เวทนา จิต ธรรม ทั้งปวงที่เกิดมีในภายนอก-ภายในก็ดี ไม่มีตัวตนของเราของเขาเลยสักอย่าง
- รูปที่รู้ทางตาที่เรามองเห็นนั้นทั้งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ รักหรือเกลียดกลัว เราจะหมายไปยึดครองรูปนั้นว่าเป็นเรา ให้มาเป็นของเราแล้วกระทำบังคับให้เป็นไปดั่งใจก็ไม่ได้ จะบังคับให้ตารับรู้แต่รูปที่ชอบใจ ให้รูปภายนอกมีแต่รูปที่พอใจเป้นที่ต้องการก็ไม่ได้
- เมื่อมีคนด่าคนพูดเสียงหรือชื่อเรา ชื่อนั้นหรอที่เป็นเรา ไม่มีใครเรียกชื่อนั้นเราก็ไม่ได้ตาย จะมีคนพูดด่านินทาหรือสรรเสริญเรา เราก็ยังคงหายใจอยู่เป็นปกติ ขาไม่ขาดหูไม่หนวกเพราะได้ยินคำนินทาสรรเสริญนั้น แม้หมายจะให้หูนี้ได้ยินแต่เสียงที่พอใจไม่ได้ยินเสียงที่เกลียดชังก็ไม่ได้ จะบังคับให้เสียงที่ไม่พอใจเปี่ยนเป็นเสียที่ยินดีก็ไม่ได้
- จมูกได้กลิ่นหอมหรือเหม็น กลิ่นที่เหม็นเราจะบังคับให้มันหอม หรือ ให้จมูกรู้แต่กลิ่นที่หอมได้มั้ย ก็ไม่ได้
- รสชาติไรๆที่อร่อยกลมกล่อมเป็นที่ชอบใจหรือรสชาติแสบลิ้นไม่เป็นที่พอใจ เมื่อเรารู้รสนั้นแล้วเราตายรึไม่ แม้หมายจะบังคับให้มันเปลี่ยนเป็นรสชาติที่พอใจที่นุ่มลิ้น หรือ ให้ลิ้นนี้รับรู้แต่รสที่ชอบใจเท่านั้นได้หรือไม่ ก็ไม่ได้
- เมื่อเรารู้กระทบทางกายอันเป็นที่สบายหรือเป็นที่เจ็บปวดทุกข์ไม่สลายกายเราจะบังคับว่าให้กายนี้จงไม่รู้สึกแต่ที่สบายและให้สิ่งที่มากระทบนั้นทีแต่อันเป็นที่สบายไม่เจ็บปวดกาย ก็ไม่ได้
- เมื่อรู้กระทบทางใจไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ชอบหรือเกลียด สุขหรือสุข ยินดี-ไม่ยินดี ความจำได้หมายรู้ ความสำคัญมั่นหมายของใจ ความคิดปรุงแต่งเรื่องราวไรๆ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วจักทำให้เราตายหรือไม่ ก็ไม่ตาย มันก็เกิดมีของมันเป็นปกติตามธรรมชาติของสังขาร จะบังคับให้มันรู้เกิดแต่สุข จดจำแต่สิ่งที่บยินดี คิดแต่สิ่งที่ชอบก็ไม่ได้ จะบังคับให้ใจมันรู้แต่สุข ไม่รับรู้ทุกข์ ให้รู้แต่ความจำที่ใคร่ยินดี ให้รู้แต่ความคิดอารมณ์ตวามรู้สึกที่พอใจก็ไม่ได้
- อายตนะ ๑๒ จึงไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราก็ไม่ได้

- ที่เราเห็นว่านี่เป็นเรา ตัวตนของเรา นั่นเป็นตัวตนของเขา นั่นเป็นสัตว์ สิ่งของไรๆแล้ว เมื่อพิจารณามีกายนอกก็ดีจะผิวพรรณขาวสวยงาม หล่อเหลา หน้าอกใหญ่ หล่อตุง กลิ่นหอมหวน เสียงไฟเราะ ผิวเนื้อนุ่ม เย้ายวนใจไปต่างๆนาจนเกิดกำหนัดบ้าง กับที่มีผิวทราม ดำสกปรก ไม่งาม อกเล็ก กลิ่นเหม็น เสียงไม่ไพเราะ ผิวเนื้อกระด้างแข็ง น่าเกลียดน่าขยะแขยงนั้น เวลาโดนของมีคมบาดมีน้ำสีแดงๆที่เรียกว่าเลือดไหลออกมาเหมือนกันไหม เวลาเป็นแผลอักเสบมีน้ำหนอง น้ำเหลืองไหลเยิ้มออกมาเหมือนกันไหม เวลาถูกของแข็งกระทบตีจะเขียวฟกช้ำต่อมาก็เป้นรอยคล้ำม่วงแดงเหมือนกันไหม ไม่มีกายภายนอกจะดูละเอียดหรือหยาบอ่างไรแต่มันก็ไม่ต่างกันเลยใช่ไหม ย้อนมาดูที่กายเรานี้มันก็เป็นเหมือนกายนอกที่เราพิจารณาไปไม่ต่างกัน เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วลองน้อมดูตัวตนในเราหรือเขาสิว่ามีสิ่งใดหนอที่เป็นเราหรือเขาบ้าง ผมหรือที่เป็นเราหรือเขา ขนหรือที่เป็นเราหรือเขา เล็บหรือที่เป็นเราหรือเขา ฟันหรือที่เป็นเราหรือเขา หนังหรือที่เป็นเราหรือเขา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ที่ร่วงที่เราตัดออกมาที่เราขัดออกมานี้ มันเป็นเราไหม พอมันหลุดออกไปแล้วเราตายตามมันไปไหม พอมันหลุดออกจากกายเราแล้วจะเอาไฟเผาจนไหม้เกรียมย่อยสลายไปในอากาศแล้วเราเร่าร้อนถูกเผาไหม้เกรียมตายสลายไปในอากาศด้วยไหม ไส้ติ่งบ้าง ตับบ้าง ไตบ้าง ปอดบ้าง เมื่อเราตัดออกมากองอยู่เบื้องหน้าแล้วเราตายไปกับมันไหมพอเอาออกมาข้างนอกแล้วเขาจะเอาไปแช่เย็น กรีดผ่าตรวจสอบ เอาไปขายต่อให้ใคร แล้วเราไปรู้สึกเย็น เจ็บปวด ถูกขาย ตายไปกับมันบ้างไหม ย่อมไม่เป็นเช่นนั้นเลย เมื่อจะหมายสัมผัสในอาการทั้ง ๓๒ นั้นก็ไม่เกินลักษณะที่ อ่อนแข็ง เอิบอาบซึมซาบ เคลื่อนตัวพัดขึ้นลงตรึงไหว ร้อน เย็นเลย มีช่องว่างเลยใช่ไหม ลักษณะอาการทั้งหลายนี่เป้นคุณลักษณะของธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ กายเรานี้ อาการทั้ง ๓๒ ประการนี้ก็เป็นแค่ธาตุทั้งปวงดังนี้ เมื่อธาตุ ๕ มีความแปรปรวนดับสูญไปมันก็เกิดการไม่สมดุลย์ทำให้เกิดสภาวะสูญเสียเกิดเป็น ปวดขี้ ปวดเยี่ยว หิวข้าว กระหาย โรคลม โรคน้ำดี น้ำเหลือง โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย เปื่อยเน่าผุพังเป้นที่ประชุมไปด้วยโรค ดังนั้นเราจึงไม่มีในอาการทั้ง ๓๒ อาการทั้ง ๓๒ จึงไม่มีในเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา

** เมื่อเห็นว่าขันธฺ ๕ อายตนะ ๑๒ อาการทั้ง ๓๒ ธาตุ ๖ ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืนจีรัง ไม่คงทนนาน มีความแปรเปลี่ยนเสื่อมสูญ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่องเรา ไม่ใช่ตัวตน  เป็นทุกข์แล้ว ม้างกายออกมาแล้วก็ไๆม่เห้นสิ่งไรๆที่เป็นเราเป็นเขาเป็นใครเป็นสัตว์ใดเป็นสิ่งใด เมื่อตายไปสิ่งเหล่านี้ตายตามแต่ไม่ได้ติดตามเราไปด้วย สิ่งที่ตามเราไปด้วยได้คือ บุรพกรรม วิบากกรรม กุศลกรรม อกุศลกรรม บาปและบุญเท่านั้นที่จะเป็นแดนเกิด เป็นผู้ติดตาม เป็นที่พึ่งพาอาศัย เราจะทำกรรมได้ไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป เราจะเป็นทายาท คือว่าจะต้องได้รับผลของกรรมนั้นสืบไป
..เมื่อรู้ดังนี้แล้ว เราก็ต้องเพียรเจริญให้เกิดขึ้น เพียรสะสม เพียรอบรมรักษาให้คงอยู่ซึ่ง กุศลผลบุญทั้งปวง จะได้ไม่ล่วงลงสู่นรกภูมิหรือสิ่งที่ชั่ว จะได้หลุดพ้นจากความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์ จะได้หลุดพ้นจากที่ประชุมโรค จะได้ถึงอมตะธรรมและที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ๆ
**

- เมื่อเราได้เจริญปฏิบัติตามที่หลวงพ่อเสถียร, หลวงปู่แหวน วัดป่าหนองนกกรด, หลวงปู่บุญกู้, หลวงปู่เยื้อน โอภาโส ก็ยังจิตปุถุชนอย่างเราให้ได้เข้าถึงได้มีโอกาสได้เห้นได้สัมผัสตามจริง จนถึงสภาวะความเป็นผู้รู้ตามจริงด้วยปัญญา ที่ไม่ใช่แค่คำบริกรรมและไม่ใช่แค่ความทำไว้ในใจระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ก็ได้เห็นดังนี้ว่า
..อกุศลธรรมอันลามกจัญไรทั้งปวงเกิดมาแต่วิตกที่กิเลสสร้างขึ้นหลอกให้จิตยึด วิตกวิจารล้วนเกิดขึ้นโดยสมมติ อาศัยเจตนาเข้าไปทำไว้ในใจอันเกิดเป็นลักษณะที่หวนระลึกตรึกถึงสัญญาไรๆบ้าง อาศัยความรู้ในความสำคัญมั่นหมายของใจ ความจำได้หมายรู้ในสิ่งนั้นๆสภาวะธรรมนั้นๆบ้าง ดังนั้นแล้ว เมื่อเจตนาเกิดขึ้น สัญญาเกิดขึ้น สภาวะธรรมจริงที่รู้ผัสสะก็ได้ดับไปแล้ว แต่เรื่องราวอาการไรๆเวทนาไรๆยังคงอยู่ได้เพราะอาศัยจิตเข้าไปยึดเอาสัญญานั้นๆแล้วเกิดความตรึกนึกปรุงแต่งอันเป้นไปในสมมติที่กิเลสสร้างขึ้นหลอกจิตให้เข้ายึดไปทั่ว ดังนั้นเมื่อวิตกวิจารเกิดขึ้นย่อมยังสมมติอกุศลธรรมอันลามกจัญไรให้เกิดขึ้น วิตกนี้จึงไม่เป็นสิ่งที่ควรยึดเอามาเป็นที่ตั้งแห่งจิตเลย เพราะประกอบไปด้วยอกุศลธรรม พึงทำจิตให้เป็นปฏิฆะต่อวิตก ไม่ยินดีในความตรึกนึกคิดไรๆที่มีเกิดขึ้น พึงตั้งรู้เพียงว่าเราตรึกนึกคิดอยู่ คิดกุศลหรืออกุศล รัก โลภ โกรธ หลง มีอาการของจิตเป็นไฉนเท่านั้น
- เมื่อรู้ว่าเมื่อใดที่วิตกเจตสิกมีเกิดขึ้น เมื่อนั้นสมมติที่กิเลสสร้างขึ้นย่อมตั้งอยู่เบื้องหน้าเราแล้ว ซึ่งวิตกเจตสิกเป็นธรรมชาติของสังขารขันธ์ที่มีเกิดขึ้น มันจะเกิดมันก็เกิดขึ้นเองของมัน มันจะดับก็ดับไปเองของมัน จะบังคับให้มันไปคิดเรื่องที่ชอบ ละเรื่องที่ไม่ชอบก็ไม่ได้ ดังนั้นทางที่เราจะปหานอกุศลวิตกนี้ให้ลดลงจนสิ้นไปได้นั้นก็ต้องมีความเพียร อันเรียกว่า สัมมัปปธาน ๔ อาศัยศรัทธาพละให้เกิดขึ้นเป็นฐาน
- อย่างเราๆนี้ผู้ยังเป็นปุถุชนอยู่หมายจะเจริญในปธาน ๔ ได้ก็ต้องมีศรัทธาในพระพุทธเจ้าก่อนแล้วระลึกเอาคุณที่ว่าด้วย "อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ“ คุณที่ว่าด้วยความแห่งความเป็นครูผู้ฝึกบุรุษที่สมควรฝึกอย่างไม่มีใครยิ่งกว่าของพระพุทธเจ้ามาน้อมปฏิบัติดังนี้คือ

พึงระลึกว่า พระตถาคตเจ้าผู้ประเสริฐสุดในจักรวาลนี้ ได้ฝึกบุรุษที่สมควรฝึกโดยวิโมกข์ ๘ เท่าที่เราพอจะจำได้โดยย่อพระองค์ทรงตร้สสอนว่า ให้เจริญวิโมกข์ ๘ ไปใน ศีล พรหมวิหาร ๔ อันบุคคลเจริญโดย พละ ๕ บ้าง, มรรค ๘ บ้าง, โพชฌงค์ ๗ บ้าง, วิมุตติ บ้าง เป็นต้น ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละแล้ว สละคืนแล้ว ไม่เสียดายยึดมั่นติดใคร่ในขันธ์ ๕ นี้แล้ว ด้วยรูปว่า แม้ชาติหน้าจะไม่มาเกิดอีกก็ไม่ล่วงสู่นรกภูมิ แม้ชาติหน้าต้องมาเกิดอีกก็ไม่ล่วงเข้าสู่อบายภูมิ เพราะได้เจริญธรรมอันประกอบด้วยกุศลทั้งปวงเหล่านี้ไปแบบไม่มีประมาณยังให้ถึงความหลุดพ้นนั้นแล้ว

โดยตัวเรานี้มีปัญญาน้อยนิด ยังปุถุชนอยู่ที่พอจะเห็นได้เจริญได้นั้น ก็สงเคราะห์ลงในพละ ๕ อันมี ศรัทธาพละเป้นเบื้องต้นเชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เชื่อบาป บุญ คุณ โทษ มีโอกาสได้สัมผัสรู้เห็นในสมมติทั้งปวงอันกิเลสสร้างขึ้นให้จิตยึดได้บ้าง จึงพอจะเห็นทางดังนี้ว่า

- มี ศีล อันเป็นเครื่องพ้นจากทุกข์อันเร่าร้อน เป็นศีลที่ละเว้นจากความเบียดเบียนผู้อื่นอันที่ตนได้ทำมาดีแล้ว แผ่ไปในทุกทิศที่มองเห็นอยู่เป็นเบื้องหน้า
- มี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อันน้อมไปในการสละไม่มีอคติต่อใคร แผ่เอาบุญกุศลไรๆที่ตนมีอยู่นี้ที่ได้เจริญมาดีแล้วงดงามแล้วนั้นสละให้ไปสู่ สรรพสัตว์ทั้งปวง มนุษย์ทั้งปวง เทวดาทั้งปวง พรหมทั้งปวง อมนุษย์ทั้งปวง มารทั้งปวง แบบไม่จำกัด ไม่มีประมาณแผ่ไปทั่วแล้ว ให้เขาได้เป็นสุข พ้นจากทุกข์ คงไว้ซึ่งสิ่งอันเป็นที่รักที่หวงแหน จนถึงความวางใจไว้กลางๆไม่ยินดียินร้ายด้วยเห็นถึงความเป็นกรรมทายาทของตน
- มี ทาน คือ การสละให้โดยฆ่าความโลภตะหนี่นี้ได้ ความสละสิ่งที่ตนพึงมีพึงได้ที่พอจะช่วยเขาได้บ้างไม่มากก็น้อยตามแต่กำลังตนให้เขาโดยหวังให้ผู้รับเป็นสุขพ้นจากทุกข์ด้วยสิ่งที่เราสละให้นั้น มีแก่บิดา มารดา บุพการี(นี่เป็นความกตัญญู กตเวที) ญาติ พี่ น้อง มิตรสหาย เป็นต้น แล้วแผ่กระจายไปทั่วทุกทิศตามพรหมวิหาร ๔ นั้น
- มี ภาวนา คือ สมถะ+วิปัสสนา อันเป็นเครื่องอบรมจิตให้ตั้งมั่นชอบเป็นกุศลแล้ว ฆ่าแล้วซึ่งจากกิเลสนิวรณ์ทั้งปวงอันได้ทำมาดีแล้ว อันเป็นไปเพื่อความพ้นจากกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ แล้วแผ่เอาผลกุศลจากกรรมฐานและความพ้นทุกข์นั้นไปทั่วทุกทิศ





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 17, 2015, 09:50:08 AM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 13/4/58

สัญญา ๑๐ โดยการเจริญปฏิบัติที่เราได้ดำเนินไปอยู่ # ๕

ปหานสัญญา ๒

ดูก่อนอานนท์ ก็ปหานสัญญาเป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งกามวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งพยาบาทวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งวิหิงสาวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันชั่วช้า อันเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นแล้ว ดูก่อนอานนท์ นี้เรียกว่า ปหานสัญญา.

เพราะรู้จักสภาวะธรรมตามจริง ได้เรียนรู้ทุกข์จากอกุศลวิตก ความตรึกนึกปรุงแต่งสมมติทั้งปวง จนทำให้เรารู้ว่า

- ทีนี้เมื่อแผ่ไปอย่างนี้แล้วจิตจะยังความผ่องใสดับซึ่งอกุศลวิตกอันลามกจัญไรทั้งปวง
- เมื่อบางครั้งที่เราแม้แผ่ไปอย่างนี้แล้วยังคงมีอาการที่ขัดใจ ขุ่นเคืองใจ ติดใจข้องแวะในสิ่งไรๆ บุคคลไรๆ สัตว์ไรๆ อมนุษย์ตนใด เทวดาองค์ใด เทพองค์ใด พรหมองค์ใด มารตนใดอยู่ เราก็จะพึงกำหนดจิตดังนี้
๑. แผ่เมตตาให้แก่ตนเองก่อนเพื่อใ้ตนเองปราศกิเลสอันเร่าร้อนและความทุกข์กายใจทั้งปวง จากนั้นแผ่เมตตาความปารถนาดีอันน้อมไปในการสละให้ แผ่เอากุศลผลบุญทั้งปวงที่เรามีไปสู่เจ้ากรรมนายเวรให้เป็นมิตรที่ดีต่อกันเมื่อเราถึงธรรมเห็นธรรมก็ขอให้เขาได้รู้ตามธรรมอันดีที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ดีแล้วนั้นด้วย แล้วพึงเจริญจิตขึ้นว่าเราเป้นมิตรที่ดีต่อเจ้ากรรมนายเวรแล้วทเขาได้สละเวรพยาบาทต่อเราแล้ว เราเป็นมิตรที่ดีต่อสัตวืทั้งปวง มนุษย์ทั้งหลาย สัมภเวสี  พระภูมิเจ้าที่ เทวดาอารักษ์ทั้งหลาย
๒. หวนระลึกถึงศีลานุสสติ(ศีลอันงามไรๆที่เราให้ความสำคัญ) จาคานุสสติ(ทานอันใดที่เราได้ทำมาดีแล้ว บริบูรณ์งดงามแล้ว) เทวตานุสสติ(บุญกุศลอันใดที่เทวดาเหล่านั้นได้ทำแล้วขึ้นไปจุติเสพย์สุขอยู่บนสวรรค์ชั้นต่างๆแล้วเราก็เจริญเอาบุญนั้น กล่าวโดยย่อคือ เจริญใน มงคลสูตรทั้ง ๓๘ ประการ) ทุกๆครั้งเราจะเจริญโดยลำดับอย่างนี้คือ

    ก. ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าทุกลมหายใจเข้าออก คือ
- อรหัง ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็น ผู้ไกลจากกิเลส ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิงแล้วของพระพุทธเจ้า
- พุทโธ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็น
        ๑. ผู้รู้ (ปัญญารู้เห็นตามจริง เห็นอริยะสัจ ๔ สัมมาทิฐิ ยถาภูญาณทัสสนะ รู้สมมติที่กิเลสสร้างขึ้นให้จิตยึดให้เสพย์ให้ลุ่มหลงกับสภาวะธรรมจริงๆ)
        ๒. ผู้ตื่น (ด้วยเกิดปัญญารู้เห็นสมมติและสภาวะธรรมจริงๆ จึงเป็นผู้ตื่นจากความลุ่มหลงสมมตินั้น ตั้งมั่นเพียรละและดับซื่งอกุศลธรรมทั้งปวง ตั้งอยู่ใน ศีล พรหมวิหาร ๔ ทาน ภาวนา เพื่อให้หลุดพ้นจากสมมติที่กิเลสสร้างขึ้นให้จิตยึดให้เสพย์ให้ลุ่มหลงทั้งปวงให้ถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้)
        ๓. ผู้เบิกบาน (คือ สัมมาญาณอันใด ความมีปัญญาที่มีลักษณะตัดขาดโดยสิ้นเชิงแล้ว ความสลัด-ความดับ-ความหลุดพ้นจากกองทุกข์กองกิเลสอันเร่าร้อนทั้งปวง ถึงซึ่งสัมมาวิมุตติความหลุดพ้นชอบอันใด)

- เมื่อน้อมเอาคุณของพระพุทธเจ้ามาตั้งเป็นอารมณ์แห่งสติความระลึกถึง จิตยังความสงบใจ เป็นสุข มีกุศลธรรมอันใด ความยินดีในการภาวนา ฉันทะสมาธิ และ ปธานสมาธิ ก็เกิดขึ้นพร้อมกันนั้น

    ข. พึงระลึกถึงศีลอันไม่ขาดไม่ทะลุข้อใด อันที่เราให้ความสำคัญที่สุดแก่ใจ เอามาตั้งเป็นอารมณ์แห่งสติความระลึกถึง ก็จะยังจิตใจเราให้ผ่องใส พร้อมกันนั้นยินดีในการเจริญศีลอันเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ เพื่อละเว้นจากความเบียดเบียนนั้นสืบไป ยังกุศลธรรมอันใด ฉันทะสมาธิ และ ปธานสมาธิให้เกิดขึ้นพร้อมกันนั้น
(สีลานุสสติ)

    ค. พึงระลึกถึงความกตัญญูรู้คุณของ พ่อ แม่ และ บุพการีทั้งหลาย ให้ระลึกถึงคุณอันประเสริฐที่ท่านมีให้เรา ได้สละให้เรามาดีแล้วนั้น จากนั้นให้พึงระลึกถึงความกตเวทีการที่เราได้กระทำการใดๆเพื่อทดแทนบุญคุณท่านแล้ว นั้นคือ ได้เลี้ยงดู พ่อ แม่บุพการีทั้งหลายอย่างดีแล้วบ้าง ได้ช่วยในกิจการงานต่างๆเพื่อแบ่งเบาภาระท่านแล้วบ้าง ได้ทำในสิ่งที่ดีงามให้แก่ท่านแล้วบ้าง ได้สละให้สิ่งใดๆที่ดีงามเอื้อต่อประโยชน์สุขกายใจให้แก่ท่านแล้วบ้างไม่ว่าจะเป็นอามิสทานหรือธรรมทานไรๆก็ตาม แล้วพึงน้อมระลึกว่าคุณแห่งความกตัญญูกตเวทีนี้เราได้ทำมาดีแล้ว เอามาตั้งเป็นอารมณ์แห่งสติความระลึกถึง ความยินดีเป้นสุขที่กุศลธรรมอันใด ฉันทะสมาธิ และ ปธานสมาธิ ก็เกิดขึ้นพร้อมกันนั้น
(จาคานุสสติ)

    ง. พึงระลึกถึงเมตตาทานอันใดที่เราได้ทำมาดีแล้ว มีจิตน้อมไปในการสละให้แก่ผู้อื่นมาดีแล้วนั้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของอามิสทาน หรือ กุศลผลบุญไรๆที่มีเรามีที่เราได้สละให้แก่เขา หรือ ธรรมอันเป็นเครื่องออกจากทุกข์ไรๆที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนมาดีแล้วได้แบ่งปันไปให้เขาเพื่อให้เขาได้พ้นทุกข์เป็นธรรมทาน โดยเริ่มจาก พ่อ แม่ บุพการี ลูก เมีย ญาติ พี่ น้อง มิตร จนถึงบุคคลใดๆที่ไม่รู้จักก็ดี สัตว์ใดๆ เทวดาใดๆ อมนุษย์ใดๆ พรหมใดๆ บุคคลใดที่เกลียดชังก็ดี มารใดๆ เอามาตั้งเป็นอารมณ์แห่งสติความระลึกถึง กุศลธรรมอันใด ฉันทะสมาธิและปธานสมาธิก็เกิดขึ้นพร้อมกันนั้น
(จาคานุสสติ)

    จ. พึงระลึกถึงว่า เทวดาทั่วหมื่นจักรวาลได้มาประชุมกัน ณ เบื้องหน้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระสมณโคดมมหามุนีย์ แล้วขอให้พระตถาคตเจ้านั้นได้ทรงแสดงมงคลสูตรอันประกอบด้วยคุณแก่มนุษย์และเทวดาทั้งหลายเพื่อใช้ในการเจริญปฏิบัติอันเป็นกำลังแห่งกุศลผลบุญทั้งปวง พระตถาคตเจ้าจึงได้ทรงแสดงมงคลทั้ง ๓๘ ประการนั้นไว้ ซึ่งมงคลสูตรเหล่านี้ บัณฑิตผู้ฉลาดผู้ปารถนาในบุญกุศลและอนมตะสุขพึงเจริญปฏิบัติอยู่ พระอริยะเจ้าทั้งหลายตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปก็พึงเจริญปฏิบัติอยู่ จนถึงเทวดา เทพเจ้า และ พรหมทั้งหลายทุกชั้นฟ้าทั่วหมื่นโลกจักวาลก็พึงปฏิบัติในมงคลสูตรทั้ง ๓๘ ประการนี้ ดังนั้น ดังนั้นแล้ว ถ้าจะระลึกถึงเทวตานุสสติเป้นอารมณ์ให้ทบทวนตรวจตราดูข้อปฏิบัติทั้งปวงดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ว่าข้อได้เราทำไว้ดีแล้วบริบูรณ์แล้วไว้ที่ควรแก่การคงรักษาไว้ไม่ให้เสื่อม ข้อใดที่เรายังขาดตกอยู่ควรเร่งเพียรให้เกิดขึ้นแล้วรักษาไว้ให้คงอยู่ พึงระลึกว่ายิ่งทำได้มากยิ่งมีบุญกุศลบารมีมาก ยิ่งอยู่สุขสบายบนสวรรค์และเข้าถึงพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้ง่าย โดยพึงระลึก ศรัทธา ศีล จาคะ สุตะ หิริ โอตัปปะ พึงตรวจสอบดูข้อวัตรปฏิบัติดังนี้คือ

มงคลชีวิต 38 ประการ

มงคลที่ ๑ ไม่คบคนพาล
มงคลที่ ๒ คบบัณฑิต
มงคลที่ ๓ บูชาบุคคลที่ควรบูชา
มงคลที่ ๔ อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม
มงคลที่ ๕ มีบุญวาสนามาก่อน

มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ
มงคลที่ ๗ พหูสูต
มงคลที่ ๘ มีศิลปะ
มงคลที่ ๙ มีวินัย
มงคลที่ ๑๐ มีวาจาสุภาษิต

มงคลที่ ๑๑ บำรุงบิดามารดา
มงคลที่ ๑๒ เลี้ยงดูบุตร
มงคลที่ ๑๓ สงเคราะห์ภรรยา-สามี
มงคลที่ ๑๔ ทำงานไม่คั่งค้าง
มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน

มงคลที่ ๑๖ ประพฤติธรรม
มงคลที่ ๑๗ สงเคราะห์ญาติ
มงคลที่ ๑๘ ทำงานไม่มีโทษ
มงคลที่ ๑๙ งดเว้นจากบาป
มงคลที่ ๒๐ สำรวมจากการดื่มน้ำเมา

มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม
มงคลที่ ๒๒ มีความเคารพ
มงคลที่ ๒๓ มีความถ่อมตน
มงคลที่ ๒๔ มีความสันโดษ
มงคลที่ ๒๕ มีความกตัญญู
มงคลที่ ๒๖ ฟังธรรมตามกาล

มงคลที่ ๒๗ มีความอดทน
มงคลที่ ๒๘ เป็นคนว่าง่าย
มงคลที่ ๒๙ เห็นสมณะ
มงคลที่ ๓๐ สนทนาธรรมตามกาล
มงคลที่ ๓๑ บำเพ็ญตบะ
มงคลที่ ๓๒ ประพฤติพรหมจรรย์

มงคลที่ ๓๓ เห็นอริยสัจ
มงคลที่ ๓๔ ทำพระนิพพานให้แจ้ง
มงคลที่ ๓๕ จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม
มงคลที่ ๓๖ จิตไม่โศก
มงคลที่ ๓๗ จิตปราศจากธุลี
มงคลที่ ๓๘ จิตเกษม







หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 17, 2015, 03:26:36 PM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 13/4/58

สัญญา ๑๐ โดยการเจริญปฏิบัติที่เราได้ดำเนินไปอยู่ # ๖

วิราคะสัญญา ๑

ดูกรอานนท์ ก็วิราคสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง (อุปธิ = ที่ตั้งแห่งทุกข์ - ธัมมโชติ) ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ธรรมเป็นที่สำรอกกิเลส ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์  ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าวิราคสัญญา ฯ

๖.วิราคะสัญญา     
ธรรมที่ทำให้เกิดการสละคืนอุปธิทั้งปวง และธรรมที่ทำให้ตัณหาสิ้นไปโดยอาการเจริญปัญญาให้ใจมุ่งมั่น ต่อการทำลายล้างกิเลสที่เกิดขึ้น


เมื่อเจริญใน สัญญา ๑๐ ทั้ง ๕ ข้อข้างต้น ยังจิตใจให้แจ่มใสเบิกบานแล้ว มีความสงบรำงับจากกิเลส เป็นสุขอันเกิดแต่ความที่เปลื้องจิตจากกิเลสนิวรณ์ทั้งปวงแล้ว อาศัยสัมมัปปธาน ๔ เป็นเหตุให้เกิดมีสติสังขารอยู่โดยรอบรู้เห็นตามจริงซึ่ง กาย เวทนา จิต ธรรม  ย่อมรู้ตามจริงทันทีว่า จิตอันปราศจากความกำหนัดฝักใฝ่ใคร่ได้ที่จะเสพย์ในอารมณ์นั้นๆมันเป็นไฉน มีสุขอย่างไร มันไม่มีความฟุ้งซ่านแบบไหน สมองมันโปร่งมันโล่งไม่ยินดียินร้ายอย่างไร เราจึงได้รู้ความทุกข์อันเกิดแก่ราคะ ฉันทะราคะ กามฉันทะ โลภะ โทสะ โมหะ ทั้งปวงว่ามันเป็นทุกข์ขนาดไหน

- โดยปุถุชนอย่างเราๆนี้แล พึงสัมผัสรับรู้ได้เพียงน้อยนิดเท่าที่จะพอมีปัญญาสัมผัสได้จึงรู้ตามจริงว่า ธรรมชาติขันธ์ ๕ เรานี้แยกกันไม่ได้รวมกันอยู่ มันมีเกิดดับโดยธรรมชาติของมันไปอย่างนั้นแต่ไม่ข้องเกี่ยวกันเลย มันแยกของมันออกเป็นกองๆ ผัสสะจึงไม่มี จิตที่รู้ผัสสะจึงไม่มีเพราะมันแยกกันอยู่ มีความเป็นไปตามธรรมชาติของมัน และจิตเดิมเรานี้มันสงบ แยกกองออกจากขันธ์ ๕ จิตมันทำหน้าที่แค่รู้เท่านั้นไม่มีอื่นอีกเลย แต่อาศัยที่จิตเรานี้มันสั่งสมรับรู้ยึดมั่นเอาแต่สมมติของปลอมที่กิเลสสร้างขึ้นมานานไม่รู้กี่อสงไขยมหากัปป์ จึงเข้าไปยึดเอา ผัสสะไรๆโดยเจตนามาเป็นที่ตั้งแห่งจิต แล้วก็ไปดึงเอาสัญญาบ้างความตรึกนึกปรุงแต่งอารมณ์น้อมเข้ามาหามายึดจึงทำให้ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ข้องเกี่ยวกันสัมพันธ์กันเกิดเป็น ราคะ ตัณหา อุปาทาน สืบมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ
- เราได้เห็นตามจริงที่หลวงตามหาบัวสอน(ซึ่งได้รับรู้ตามจริงโดยสมาธิก่อนแล้วได้มาอ่านที่หลวงตาสอนจึงทำให้เข้าใจตามจริง) ว่า จิตมันทำหน้าที่แค่รู้ รู้เท่านั้นไม่มีเกิด ไม่มีดับ ที่เกิดและดับไปมันมันเพียงสังขารเพียงกิเลสไม่ใช่จิต ที่เรารู้ดังนี้เพราะเคยได้เห็นจิตมันก็อยู่สงบนิ่งของมันเห็นกองขันธ์แยกกัน กุศลธรรม อกุศลธรรม มันก็เกิดขึ้นปรุงแต่งของมันไป เกิดดับของมันไป จิตแยกออกมานิ่งอยู่ ไม่มีเจตนา ไม่รู้ผัสสะ ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขารปรุงแต่งตรึกนึกสมมติ จิตมันรู้เห็นแต่เพียงสภาวะธรรมหนึ่งๆอันแยกขาดจากกันของใครของมันเท่านั้น ไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร คือสิ่งไร มันแค่เห็นแค่รู้ไม่ได้เกิดดับไปกับสภาวะธรรมปรุงแต่งเหล่านั้นเลย
- ก็จนเมื่อจิตคลายจากสมาธิอันนิ่งว่างสงบไม่มีวิตกวิจารนั้นแล้วก็จึงรู้กระบวนการอันเป็นไปของมันดังนี้ว่า..๑. เมื่อมีสิ่งไรๆมากระทบทางสฬายตนะ ก็เกิดผัสสะกับอายตนะภายนอก จิตเดิมนี้มันก็นิ่งอยู่ไม่ข้องเกี่ยวกันมันก็จะรู้แค่ว่ามีสภาวะธรรมหนึ่งๆเกิดขึ้นเท่านั้น..๒. แต่อาศัยสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นมารายล้อมอยู่ให้จิตรู้..๓. จิตนี้เมื่อมันหลงอยู่ไม่รู้มันจึงเข้าไปยึดเอาสภาวะนั้นมาเป็นอารมณ์ที่ตั้ง..๔. ความปรุงแต่งโดยเจตนาเจตสิกที่จะเข้าไปรู้ว่าสภาวะธรรมนั้นๆคืออะไรก็เกิดขึ้น โดยมีลักษณะที่หวนระลึก ตรึกนึกเข้าไปหาสัญญาไรๆที่จำได้หมายรู้ในสิ่งนั้นๆ..๕. เมื่อสัญญาเกิดสมมติบัญญัติก็เกิดขึ้น ณ ที่นั้น ความรู้ว่าอาการต่างๆจึงเกิดขึ้น แล้วความปรุงแต่งสังขารก็เกิดขึ้นเสวยอารมณ์เหล่านั้นเป็นเวทนา..๖. จากนั้นความตรึกนึกคิดอันที่กิเลสสร้างขึ้นก็เกิดขึ้นดำเนินไป..๗. เมื่อจิตไปยึดเอาสัญญาไว้มากแค่ไหนความเสวยอารมณ์ความรู้สึก ตรึกนึกคิดปรุงแต่งอันเป็นไปกิเลสต่อสิ่งนั้นๆก็อยู่นานเท่านั้น.. 
- จึงทำให้เราเข้าใจตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่าดังนี้ว่า "ธรรมชาติของจิตนั้นผ่องใส แต่อาศัยกิเลสที่จรมาทำให้ใจเศร้าหมอง" เมื่อเราเห็นความเป็นอยู่จริงๆของขันธ์ ๕ ที่เราลุ่มหลงอยู่นี้ มันเป็นยังไง ดังนี้ นี่เรียกว่า เกิดสัมมาทิฐิ เพราะได้รู้เห็น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ตามจริง เห็นใน ขันธ์ ๕ และ พระอริยะสัจ ๔ ที่เป็นสภาวะธรรมตามจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนนั่นเอง
- ด้วยเหตุดังนี้ ความที่เคยสัมผัสถึงซึ่งสภาวะธรรมจริงดังนี้ทำให้ความกำหนัดยินดีจางลง ความแสวงหาทะยานอยากลดลง อุปาทานขันธ์ ๕ ทั้งปวงคลาย ญาณอันเป็นไปในมรรคเกิดขึ้นเรียกว่า สัมมาทิฐิ มีสัมมาสติสังขารโดยรอบเป็นสัมมาสังกัปปะ สืบต่อให้เห็นตามจริงถึงกุศลและอกุศล สัมมา และ มิจฉา เป็นเหตุให้เกิดอินทรีย์สังวร หรือ ศีลสังวร เมื่อจิตเป็นสุขด้วยกุศลไม่มีความเร่าร้อนกาย-วาจา-ใจ ฉันทะ..ในอิทธิบาท ๔ ก็บังเกิดขึ้นยินดีในศีลนั้น เป็นเหตุให้กาย วาจา ใจตั้งอยู่ในกุศลปกคลุมศีลนั้นด้วยอาศัยสัมมัปปธาน ๔ เพียรละอกุศลที่ยังไม่เกิดหรือที่เกิดขึ้นแล้ว ทำกุศลให้เกิดขึ้น คงกุศลไว้ รักษากุศลไว้ไม่ให้เสื่อมตั้งอยู่ด้วยมีสติสังขารให้เป็นไปสัมมัปปธาน ๔ ยังให้กายสุจริต,วาจาสุจริต,ใจสุจริต เมื่อสุจริต ๓ ตั้งอยู่โดยบริบูรณ์ สติก็มีกำลังมากด้วยกุศล สังขารโดยรอบด้วยความเพียรชอบ คือ สัมมัปปธาน ๔ กาย-วาจา-ใจก็ตั้งอยู่ใน จรณะ ๑๕ โดยอัตโนมัติ เกิดเป็นมหาสติสังขารโดยรอบซึ่ง กาย เวทนา จิต ธรรม ให้บริบูรณ์ เข้าถึงปัญญารู้เห็นตามจริงสงเคราะห์ลงในธรรมเห็นเป็นเพียงสภาวะธรรมเท่านั้น เมื่อเห็นดังนี้จิตก็ยิ่งจะเพียรปฏิบัติเพื่อตัดขาดพ้นจากสภาวะธรรมกองทุกข์นั้น เมื่อเพียรอยู่เห็นอยู่จิตก็อิ่มเอมใจ สงบใจจากกิเลส เมื่อจิตปราศจากกิเลสก็บังเกิดสุข ผลจากสุขทำให้สมาธิเกิดขึ้น เมื่อสมาธิเกิดขึ้นก็จะเกิด ยถาภูญาณทัสสนะ ความรู้เห็นสภาวะตามจริงอันปราศจากโมหะก็บังเกิดขึ้น วิราคะ คือ ปัญญาแห่งมรรคก็จะเกิดขึ้นด้วยกาลนั้น อุเบกขาความไม่ยินดียินร้ายว่างอยู่ด้วยวิราคะก็เกิดขึ้น ดังนี้ เมื่อปัญญานั้นไม่เพียงแค่เห็น แล้ว ญาณอันเป็นไปในปัญญาเกิดขึ้นเรียกว่า วิราคะ อันมีลักษณะตัดจึงเกิดขึ้น เมื่อจิตมันคลายมันตัดจึงไม่มีจิตไปติดใจข้องแวะสิ่งไรๆเกินกว่าจะเห็นแค่สภาวะธรรมหนึ่งๆอันเกิดมีอยู่ตั้งอยู่และดับไปเท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นเพียงสภาวะธรรมหนึ่งๆเท่านั้นไม่มีเกินนี้ เมื่อตัดได้ขาดวิมุตติก็เกิดขึ้นนิโรธความดับทุกข์ก็แจ้งขึ้นเป็นวิชชา

 "แต่แม้กระนั้นเมื่อเรายังโลกียะอยู่ก็มิอาจตัดขาดได้เพราะเคียวคือปัญญาที่ใช้ตัดนั้นทื่อเกินไปด้วยจิตมันชินมันยังหลงของปลอมอยู่ ยังเห็นของจริงไม่เพียงพอมันจึงตัดไม่เข้า จึงเกิดแค่เพียง สัมมาทิฐิ สืบต่อใน สัมมาสังกัปปะ สืบไปครบองค์ ๘ แห่งมรรค มีมหาสติสังขารโดยรอบซึ่ง กาย เวทนา จิต ธรรม ให้บริบูรณ์ เข้าถึงปัญญารู้เห็นตามจริงในสงเคราะห์ในธรรมเห็นเป็นเพียงสภาวะธรรมเท่านั้น  แล้วเราจะทำอย่างไรให้จิตรู้ของจริงจนหน่ายคลายอุปาทานแล้วหลุดพ้นจากเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์เหล่านี้ได้โดยสิ้นเชิง แม้เพียงแค่ได้สัมผัสเพียงเล็กน้อยก็ยังประโยชน์สุขแก่เราถึงเพียงนี้หากดับได้โดยสิ้นเชิงจะเป็นบรมสุขถึงเพียงไหน พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนว่า.. เราก็ต้องเจริญ มรรค ๘ ให้มาก จึงจะถึง โพชฌงค์ ๗ และ วิมุตติ ได้

  แล้วเราจะทำอย่างไรให้จิตรู้ของจริงจนหน่ายคลายอุปาทานแล้วหลุดพ้นจากเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์เหล่านี้ได้โดยสิ้นเชิง แม้เพียงแค่ได้สัมผัสเพียงเล็กน้อยก็ยังประโยชน์สุขแก่เราถึงเพียงนี้หากดับได้โดยสิ้นเชิงจะเป็นบรมสุขถึงเพียงไหน พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนว่า.. เราก็ต้องเจริญ มรรค ๘ ให้มาก จึงจะถึง โพชฌงค์ ๗ และ วิมุตติ ได้
- การเจริญมรรคให้มากนั้นทำไฉน มีอะไรเป็นกำลัง มีอะไรเป็นฐาน ทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นเครื่องแห่งกุศลทั้งปวง มีศีลเป็นฐาน "ศีล" นี้แลคือ "อินทรีย์สังวร" ศีลอันเกิดแต่ความรู้เห็นตามจริงแห่งสภาวะธรรมทั้งปวง ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ไม่มีเราในขันธ์ ๕ - ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา ขันธ์ ๕ เป็นที่ประชุมโรคกายโรคใจ ขันธ์ ๕ แยกเป็นกองๆเป็นไปตามสภาวะธรรมของมันไม่ผัสสะกัน นี่เป็นสัมมาทิฐิ ความคิดชอบ คือ กุศลวิตกบังเกิดขึ้นมีสติสังขารโดยรอบด้วยความเพียรอยู่ที่จะไม่ก้าวล่วงศีลต่อใคร อิทรีย์สังวรณ์เป็นไฉน กล่าวโดยย่อคือ สำรวมกายและใจสำรวมใน อายตนะ ๑๒ สิ่งใดมีเกิดขึ้นก็สักแต่ว่ารู้ รู้ในปัจจุบันโดยไม่ตรึกนึกคิดปรุงแต่งต่อ ตัวเรานี้ได้พิจารณาโดยหวนระลึกถึงเหมือนสมัยเราเด็กๆ(มีช่วงเวลานึงที่เกิดเสมาธิแล้วจดจำเรื่องราวในสมัยเด็กๆได้เยอะมากได้เอาไปถามแม่ แม่ก็ตอบว่าจริงเช่นนั้น) คือ
      ๑. เห็นผู้หญิงแก้ผ้าก็ยังไม่เกิดความกำหนัด นั่นเพราะสมัยนั้นเห็นก็สักแต่ว่าเห็น คือ เห็นเพียงมีสิ่งนั้นๆอยู่เบื้องหน้า ไม่เอาอารมณ์เหล่านั้นมาปรุงแต่งสืบต่อ เขาแก้ผ้าก็แค่แก้ผ้าอยู่เบื้องหน้าเท่านั้นไม่มีอะไรเกินที่เห็นไม่สืบต่อไปในอกุศลธรรมอันลามกจัญไรทั้งปวง
      ๒. ได้ยินเสียงไรๆก็ไม่กำหนัด เพราะได้ยินก็สักแต่ได้ยินไม่ปรุงต่อแม้ใครจะมาพูดลามกเหล่าใดต่อเรา เราก็สักแต่ว่ารู้ว่าเขาพูด เขาพูดคำนี้ๆออกมาเท่านั้น ไม่สืบปรุงแต่งต่อเกินกว่าที่จิตรู้ว่ามีแค่เสียงอย่างนี้ๆ คำพูดนี้ๆ ออกมาเท่านั้น
      ๓. เมื่อได้รู้กลิ่น ก็รู้แค่ว่ามันมีกลิ่นแบบนี้ๆ มันไม่รู้ว่าคืออะไร รู้แค่ว่ามันมีสภาพอย่างนี้ๆเท่านั้น ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันหอมหรือเหม็น เพราะมันแค่รู้กลิ่น ก็สักแต่รู้อย่างนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญเกินกว่ารู้แล้วก็ผ่านไป
      ๔. เมื่อได้รู้รส มันก้ไม่ได้มีความชอบไม่ชอบไรๆมีรสอะไรก็รู้ว่ามันเป้นอย่างนั้นเท่านั้นไม่เกินกว่านั้นเลยเมื่อกินสิ่งใดลงไปในท้องมันก็รู้แค่ว่า ได้รู้รสแอบบนี้ๆเคี้ยวสิ่งหนึ่งที่อ่อนแข็ง นุ่มเหนี่ยว หรือละเอียดเคี้ยวง่าย แล้วกลืนกินลงไป จากนั้นก็อิ่มท้องไม่ปวดท้องเท่านั้น
      ๕. เมื่อรู้สัมผัสทางกาย มันก็รู้แค่ว่ามีสภาวะนี้ๆ อ่อน แข็ง ร้อน เย็น ตรึงไหวเคลื่อนไป เอิบอาบซาบซ่านชุ่มชื่นในกายภายนอกบาง เป้นอาการที่มีอยู่ภายในกายบ้าง
      ๖. เมื่อเกิดรู้ทางใจสิ่งใดอันใด ตอนเด็กๆเราก็ร๔ู้ว่ามันมีสิ่งนี้ๆแบบนี้ๆเกิด ก็รู้แค่นั้นแหละ ไม่รู้สมมติบัญญัติว่าคืออะไรทั้งสิ้น รู้แค่มีอาการแบบนี้ๆเกิดขึ้น รู้แค่นั้น (แต่บางครั้งไม่รู้ว่าเป็นอะไรก็ร้องไห้ขึ้นมาเพราะรู้อาการนั้น เพราะไม่มีบัญญัติสิ่งคิดใดๆสืบต่อ)






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 17, 2015, 06:57:39 PM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 13/4/58

สัญญา ๑๐ โดยการเจริญปฏิบัติที่เราได้ดำเนินไปอยู่ # ๖

วิราคะสัญญา ๒

- การสำรวมกาย วาจา ใจ ก็อาศัยสำรวมในสฬายตนะให้รู้ก็สักแต่ว่ารู้ในปัจจุบัน ไม่สืบต่อ เมื่อจะเกิดความคิดเหล่าใดที่เป็นอกุศลวิตกสืบต่อ เราก็ต้องขจัดความคิดฟุ้งซ่านอันที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอก ด้วยพึงตั้งอานาปานสติ หรือ พุทธานุสสติ มีพุทโธ หรือ อรหัง เป็นเบื้องหน้า ให้กำหนดหายใจเข้า-ออกยาวจนสุดใจเพื่อดึงสติและสัมปชัญญะเกิดขึ้น แล้วพิจารณาดังนี้

ก. พึงระลึกถึงว่า เราจักไม่คิด-พูด-ทำในสิ่งอันใดที่เป็นไปเพื่อการเบียดเบียนทำร้ายใคร เราจักไม่เพ่งภัณฑะ(ของรักของมีค่า)ของผู้อื่น เราจักรู้จักพอ จักไม่ตริตรองนึกถึงไปในกาม ราคะ เมถุน หรือ สิ่งเหล่าใดเพื่อสนองความอยากเสพย์ อยากได้ อยากมี อยากเป็นของตน เราจักเป็นผู้แสวงหาความสงบวสันติ เราจักไม่หมายที่จะติดใจข้องแวะใครๆ ไม่หมายจะตั้งความขัดเคืองใจต่อใคร จักเป็นผู้มีความรอดใจข่มใจอยู่ อดโทษไม่เพ่งโทษผู้อื่น  จักเป็นไม่ปารถนาให้ใครถึงความทุกข์ยากฉิบหาย เราจักเป็นผู้แสวงหาอุปสมะ คือ ดำรงชีพเลี้ยงชีพอยู่ด้วยใฝ่ยินดีในความสงบสันติ จักเห็นเขาเป็นมิตรที่ดีต่อเรา เป็นดั่งบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวเสมอกัน จักมีความปารถนาดีให้เขาเป็นสุขไม่มีทุกข์ด้วยความมีจิตสงเคราะห์ให้น้อมไปในการสละ เราจักไม่อิจสาริษยาใคร จักเป็นผู้ยินดีต่อเขาทุกเมื่อเสมอด้วยตน เมื่อเขาพ้นทุกข์ประสบสุข คงไว้ซี่งสิ่งอันเป็นที่รักใคร่หวงแหนของเขา จักเป็นผู้มีใจเป็นกลางไม่อคติยินดียินร้ายต่อใครเพราะ เกลียด กลัว รัก หรือ ไม่รู้ตามจริง
...(ศีล+ทาน+พรหมวิหาร [สัมมาวาวาจา+สัมมากัมมันตะ+สัมมาอาชีวะ], กศลวิตก ๓, สัมมัปปธาน ๔[สัมมาวายามะ] ที่สังขารโดยรอบด้วย สัมมาสติ)...

ข. รู้ว่าวิตกคือสมมติ เมื่อไรเจตนาอันมีลักษณะตรึกนึกหวนระลึกทำใจไว้ที่จะเข้าไปรู้ในความจำได้หมายรู้ใดๆเกิด สัญญาเกิด สมมติบัญญัติเกิด เวทนาเกิด สังขารปรุงแต่งอุปาทาน  ดังนั้นเมื่อเจตนาที่ตั้งใจจะเข้าไปรู้หวนระลึกถึงในความจำได้หมายรู้ไรๆสมมติก็เกิดขึ้นทันที เมื่อรู้ว่าเป็นสมมติเราก็ไม่ควรไม่จับเอามันมาเสพย์มาเป็นที่ตั้งแห่งจิต สิ่งเหล่านั้นเหล่าใดที่มันตรึกนึกอยู่มันดับไปแล้วแต่จิตเข้าไปยึดเอาสัญญาไว้อยู่สมมติจึงมีเวทนาจึงมี พึงอยู่กับของจริง คือ กายสังขาร ได้แก่ลมหายใจ คือ ธาตุลมที่มีจริงๆอยู่ในกายนี้จริงๆ มีสภาพพัดขึ้นพัดลงเคลื่อนตัวไปตาม จมูก หน้าผาก ลำคอ หกน้าอก ท้องน้อย เป็นต้น จากนั้นความคิดก็จะเหลือเพียงสภาวะธรรมเท่านั้น
...(ยถาภูญาณทัสสนะ -> สัมมาทิฐิ+สัมมาสมาธิ)...

ค. ฝึกขัดใจในความคิดนั้นบ้างโดยพึงดึงจิตขึ้นพยายามอดกลั้น พึงตั้งกุศลวิตกไรๆที่เป็นไปเพื่อสลัดทิ้งกิเลสนิวรณ์ข่มใจไว้ ไม่ให้คิดสืบเรื่องราวนั้นๆต่อ เริ่มแรกอาจจะหายใจเข้ายาวๆแล้วกลั้นไว้จนสุดแล้วค่อยหายใจออกยาวแล้วกลั้นไว้จนสุดแล้วตั้งหลักปักไว้ที่ปลายจมูกรู้ลมหายใจเข้าออกเท่านั้น พึงระลึกว่าวิตกเหล่าใดล้วนเป็นสมมติทั้งหมด พึงตั้งใจมั่นว่าเราจักไม่เสพย์สมมติที่กิเลสสร้างขึ้น ไม่สืบเรื่องราวสมมติต่อ ให้รู้จักขัดใจในความคิดนั้นบ้างเพื่อสร้างกำลังให้ขันติ โดยพึงดึงจิตขึ้นพยายามอดกลั้นข่มใจไว้ไม่ให้คิดสืบเรื่องราวนั้นๆก่อน(อาจจะระลึกในกายคตาสติ เป็นอาการทั้ง ๓๒ บ้าง ธาตุ ๖ บ้าง อสุภะบ้าง) แล้วพึงตั้งจิตดึงสติขึ้นรู้ว่ากำลังรู้สึกตรึกนึกปรุงแต่งไปอย่างไร เป็นไปในรัก โลภ โกรธ หลง อย่างไร ติดใจสิ่งไหน แสวงหาอะไร ทำไว้ในใจอย่างไร แล้วจากนั้นให้พึงเอาจิตจับรู้สภาวะธรรมจริงๆ คือ อาการความรู้สึกจริงๆของจิตที่มันรู้ในอาการนั้นๆเท่านั้น(ปรมัตถธรรม)
...(สติ, ขันติ+โสรัจจะ, สัมมาสังกัปปะ, จิตตานุปัสสนา+สัมมาสมาธิ -> ยถาภูญาณทัสสนะ)...

**  ความทำไว้ในใจโดยแยบคายแล้ว ตั้งจิตมั่นที่จะทำในความคิดดี พูดดี ทำดี ละเว้นการเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่นทาง กาย วาจา ใจ คือ กรรมบถ ๑๐, สัลเลขสูตรอันใด คือ ความคิด พูด ทำ อันประกอบไปด้วยคุณประโยชน์ต่อผู้อื่นให้เกิดมีขึ้น ยังสติสังขารโดยรอบให้ความผ่องใส อิ่มเอม สงบ สุข อันปราศจากความเร่าร้อนเศร้าหมองกายใจตนนั้นบังเกิดมีขึ้น คงอยู่ในตนไม่เสื่อมไป สลัดทิ้งความโลภความคิดที่หมายจะได้เสพย์สิ่งอันปรนเปรอตนด้วยความจิตปารถนาดีอันน้อมไปในการสละให้ มีจิตสงเคราะห์ ยินดีเมื่อเขาเป็นสุขและคงไว้ซึ่งสิ่งอันเป็นที่รักที่หวงแหนโดยปราศจากความริษยา ความไม่อคติลำเอียงไม่ยินดียินร้ายว่างอยู่โดยกุศลจิตเหล่าใด ละความหลงไม่รู้ด้วยภาวนานั้น

- การที่จะเจริญใน ศีล ทาน พรหมวิหาร ๔ ให้บริบูรณ์ได้นั้น ก็ต้องอาศัยภาวนาทั้งสมถะและวิปัสสนา ในการอบรมจิตให้เกิดกุศลปราศจากกิเลสนิวรณ์ร่วมด้วย อานิสงส์ที่ได้ คือ สมาธิและปัญญา การอบรมจิตให้ตั้งมั่นคู่กับสติ+สัมปะชัญญะนั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับผู้หมายจะพ้นทุกข์จากกิเลสเครื่องเร่าร้อนนี้ ครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านจะสอนหลักๆอยู่ 2 อย่างคือ
- รู้ลมหายใจเข้า-ออกอยู่ทุกขณะจิต อย่าทิ้งลมหายใจ
- ภาวนาพุทโธ จนพุทโธเป็นลมหายใจเข้าออก อย่างทิ้งพุทโธ ลมหายใจนี้คือของจริง คือ ธาตุลมที่มีอยู่ในกาย เป็นของจริง พระพุทธเจ้าตรัสว่าลมหายใจคือกายสังขาร เพราะกายที่ต้องการลม ไม่มีลมกายก็ตาย ให้จิตจดจ่อตั้งไว้ที่ปลายจมูกปักหลักไม่เคลื่อนไหลไปตามลม แล้วภาวนาพุทโธไป เมื่อเข้าถึงสมาธิได้ พุทโธจากแค่คำบริกรรมจะกลายมาเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เพราะความเข้าไปรู้เห็นตามจริงด้วยมรรคญาณ และ ญาณคือปัญญา หากไม่ชินไม่ตรงจริตก็ให้น้อมเอามาทั้ง ๔๐ กรรมฐานซึ่งแยกแยะไว้ตามจริตแล้ว

*   การอบรมจิตให้เป็นสมาธินี้จะเป็นฐานแห่งปัญญา ในขณะเดียวกันก็เป็นการฝึกสติเกิดคู่กับสัมปะชัญญะทำให้สติสัมปชัญญะบริสุทธิ์มีกำลังมาเป็นมหาสติ(สัมมาสติ)
 
** เพราะเมื่อมีเจตนาตั้งจิตมั่นสำรวมระวังในศีล(อินทรีย์สังวร) -> สัมมัปปธานสติเกิดที่ใด สมาธิก็อยู่ที่นั่น แต่สมาธินั้นจะมีกำลังมากพอให้เกิดปัญญาไหมมันก็ต้องฝึกอบรมให้ตั้งมั่นชอบ เมื่อมหาสติเกิดเต็ม กาย เวทนา จิต ธรรม ธัมมวิจะยะที่เป็นญาณ คือ มรรคญาณ ก็จะเกิดขึ้น เมื่อรู้เห็นดังนี้แล้วดำรงความเพียรอยู่โดยชอบคือสัมมาวายะจะถึงวิราคะ คือ ปัญญาแห่งมรรคก็ด้วยประการอย่าางนี้

** เมื่อทำอยู่อย่างนี้ เรียกว่ามีอินทรีย์สังวรณ์บริบูรณ์ ยังให้สุจริต ๓ นั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และไม่เสื่อมไป

- เมื่อเจริญตามใน กรรมบถ ๑๐ หรือ สัลเลขสูตรนี้ ย่อมยังสติให้เกิดขึ้นสังขารอยู่โดยรอบซึ่งกุศลจิต จนเกิดเป็นกำลังแห่งปธานสติสังขารโดยรอบร่วมกับกุศลจิต,พรหมวิหาร ๔,อบรมจิตภาวนาทั้งสมถะและวิปัสสนา เพื่อสลัดทิ้งซึ่งอกุศลธรรมอันลามกและสลัดทิ้งธัมมารมณ์เหล่าใดอันยังอกุศลนิวรณ์ให้เกิดขึ้นทั้งปวง เพื่อยังให้ศีล ทาน พรหมวิหาร ๔ ภาวนา เหล่าใดอันเป็นเครื่องละเว้นซึ่งความเบียดเบียนเกิดขึ้น ถึงความหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องเร่าร้อนโดยบริบูรณ์ อานิสงส์ คือ มี สุจริต ๓ บริบูรณ์





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 17, 2015, 07:07:19 PM
บันทึกกรรมฐานวันที่ 13/4/58

สัญญา ๑๐ โดยการเจริญปฏิบัติที่เราได้ดำเนินไปอยู่ # ๖

วิราคะสัญญา ๓




- เมื่อความรู้เห็นชอบเกิด -> ความคิดออกจากทุกข์ก็เกิด -> อินทรีย์สังวรณ์ก็เกิดขึ้น
- เมื่ออินทรีย์สังวรณ์เกิด -> ความแสวงหาอุปสมะก็เกิด -> ความเพียรขจัดกิเลสเครื่องเร่าร้อนก็เกิดขึ้น
- เมื่อสัมมัปธาน ๔ เกิด -> สติก็เกิดขึ้นสังขารโดยรอบ -> สมาธิก็เกิดมีขึ้น
- เมื่อสมาธิอันตั้งมั่นชอบเกิดมีขึ้น -> ความรู้เห็นในสภาวะธรรมตามจริงก็เกิดขึ้น
- เมื่อความรู้เห็นในสภาวะธรรมตามจริงเกิดขึ้น -> นิพพิทาญาณ..ความหน่ายด้วยรู้เห็นตามจริงในสภาวะธรรม และ วิราคะ..ความไม่ยึดจับหรือความสลัดทิ้งซึ่งความกำหนัดยินดีในกามทั้งปวงก็เกิดขึ้น
  (วิราคะนี้เป็นปัญญาญาณ ที่จะดับหรือตัดขาดซึ่งกิเลสเครื่องเร่าร้อนทั้งปวง)

- ดังนั้น เมื่อศีล+ทาน+พรหมวิหาร ๔+ภาวนา(อินทรีย์ ๕ + พละ ๕ + ปธาน ๔) มีอยู่ ณ ที่ใด สติก็อยู่ที่นั่น(ครูบาอาจารย์ท่านกล่าวโดยภาวนาว่า จิตรู้ลมที่ไหน สติอยู่ที่นั่น)
- เมื่อสติเกิดระลึกรู้ทันอยู่ที่ใด สมาธิก็ย่อมมีเกิดอยู่ที่นั้นตามเสมอๆไม่ขาดกัน
- แต่สมาธิอันควรแก่งานที่เอื้อต่อสตินั้นก็ต้องมีสัมปะชัญญะความรู้ตัวทั่วพร้อมในขณะที่จิตจดจ่ออยู่นั้นเกิดขึ้นด้วย ดังนั้นสติและสัมปะชัญญะจึงเป็นของคู่กันเพื่อให้สมาธินั้นเอื้อต่อปัญญาให้เกิดยถาภูญาณทัสสนะ ผู้ที่ไม่เคยเห็นสภาวะธรรมก็เห็นด้วยการนี้แหละ
- ดังนั้น สมาธิเป็นกำลังของจิต ทำให้จิตมีกำลังมากไม่เอนเอียงอ่อนไหวแล้วแยกออกจากกิเลสทั้งปวง ดังนั้นจิตตั้งมั่นชอบเมื่อไหร่ ปัญญาก็มีในที่นั่น
เหล่านี้เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสให้ถึงสุจริต ๓ บริบูรณ์




-  ด้วยการที่สติสังขารโดยรอบเหล่านี้ย่อมสังขารเอากุศลธรรม ธรรมมารมณ์ที่เป็นกุศลเหล่าใดให้เกิดขึ้น และคงไว้ รักษาไว้ไม่ให้เสื่อม จนเป็นปกติจิตทำให้ กาย เวทนา จิต ธรรม รับรู้แต่กุศลจนเป็นปกติด้วยกำลังแห่งมหาสตินั้นโดยบริบูรณ์

- เมื่อมหาสติเกิดมันจะรู้ทัน กาย จิต เจตสิก อันเกิดมีขึ้นก่อนที่จะเสพย์ เห็นความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เห็นกองขันธ์ ๕ แยกขาดกัน สิ่งเหล่านี้เป็นสัมมาทิฐิ เมื่อจิตเห็นดังนี้แล้ว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจิตจะสงเคราะห์ลงในธรรมเองอัตโนมัติ จนเกิดเห็นเป็นเพียงสภาวะธรรมหนึ่งๆมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเท่านั้น แม้จะเข้าไปรู้สภาวะธรรมไรๆโดย ผัสสะ เจตนา สัญญาไรๆ สมมติบัญญัติ แต่จิตก็ไม่ยึด ไม่จับ เพราะไม่เสพย์ ไม่สืบต่อเรื่องราวปรุงแต่งสมมติตามที่กิเลสมันสร้างขึ้น
(นี่เรียกเป็นผู้รู้แล้ว)
**ส่วนการมานั่งตรึกนึกคิดอนุมานลงในธรรมเอาว่า นี่คือทุกข์ มันทำให้เศร้าโศรก เสียใจ ร่ำไร รำพัน ไม่สบายกายใจ คับแค้นกายใจ ความอนุมานว่าศีลคือกุศลด้วยเชื่อตามๆกันมาบ้าง ความอนุมานว่าสมาธินี้คือการปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์เพราะเชื่อตามๆกันมาบ้าง ความอนุมานว่าเจริญสติปัฏฐานนี้ทำให้บรรลุธรรมเพราะเชื่อตามๆกันมาบ้าง ความอนุมานเอาว่าทานทำให้รวยบ้างเพราะเชื่อตามๆกันมา ความอนุมานเอาว่าสมุทัยคือตัณหาเพราะเชื่อตามๆกันมาบ้าง
    กล่าวคือความตรึกนึกคิดอนุมานมีเกิดขึ้นเหล่าใดสิ่งนั้นไม่ใช่ธัมมวิจยะอย่างที่เราเข้าใจตามๆกันมา ไม่ใช่สัมมาทิฐิตามความเข้าใจตามๆกันมา แต่เป็นเพียง การโยนิโสมนสิการ คือ คิดพิจารณาตามในขั้นต้นเท่านั้น ไม่ใช่ว่าทำไว้ในใจโดยแยบคายแต่อย่างใด เป็นเพียงโอปนยิโก คือ น้อมเอาธรรมของพระพุทธเจ้ามาเจริญพิจารณาเท่านั้น สัมมาทิฐิที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้เพราะมียถาภูญาณทัสสนะ ธัมมวิจยะจะเกิดขึ้นได้แท้จริงก็ต้องด้วยเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม เป็นเพียงสภาวธรรมหนึ่งๆ เห็นขันธ์นั้นแยกจากกัยทำงานในส่วนๆของมันไป หรือ เห็นลำดับเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ตั้งอยู่ แล้วดับไป ในสมาธิตั้งแต่ปฐมฌาณขึ้นไปเท่านั้น ไม่ใช่เห็นโดยตรึกนึกคิดเอา แต่เห็นการทำงานของมันตามจริง แม้เห็นในฌาณอย่างนั้นแล้วจิตไม่มีกำลังบังคับนิมิตนั้นหรือคล้อยตามนิมิตนั้นก็ไม่ใช่ของจริงเช่นกัน

- เมื่อรู้ของจริงก็เกิดความหน่าย(นิพพิทาญาณ) คิดหาทางละ หาทางหลุดพ้น เพียรปหานกิเลสอยู่เพื่อสำกรอกออกแห่ง โลภะ กาม นันทิ ราคะ โทสะ โมหะทั้งปวง(มรรค ๘ - ศีล, ทาน, กุศลวิตก ๓, ภาวนา) ความสงบใจจากกิเลสเกิดจิตตั้งมั่นรู้สมมติและของจริงไม่หวั่นไหวโลดแล่นไปกับกิเลสเกิดสภาวะที่จิตตัดไม่ลุ่มหลงส้องเสพย์อกุศลธรรมสมมติเหล่าใด ไม่ยินดียินร้ายปราศจากความติดใจฝักใฝ่ยินดีในสภาวะธรรมทั้งปวง เรียกอุเปกขาสัมโพชฌงค์ คือ ความวางเฉยไม่ยินดียินร้ายในสภาวะธรรมทั้งปวง (วิราคะ)
(นี่เรียกเป็นผู้ตื่นแล้ว)

- เมื่อเห็นเป็นเพียงสภาวะธรรมอย่างนี้ๆ จิตมันก็เริ่มคลายจากกิเลสเครื่องผูดรัดอันเร่าร้อน จิตก็เพียรสังขารรอบอยู่โดยสติปัฏฐาน ๔ เพื่อขจัดเครื่องผูกมัดอันเร่าร้อนนั้นเพื่อถึงความดับซึ่งสมมติกิเลสอันเร่าร้อนนั้น
(นี่เรียกเป็นผู้ตื่นแล้ว)

- เมื่อดับเพลิงทุกข์ ดับเพลิงกิเลสเครื่องเร่าร้อน ถึงนิโรธความดับธัมมารมณ์อกุศลธรรมอันลามกใดๆสิ้นไปได้ ยังความสงบสุขร่มเย็นกายใจ ปราศจากนิวรณ์ความฟุ้งซ่านใจใดๆ ไม่มีอกุศลธรรมเครื่องเร่าร้อนให้กำเริบอีก สิ้นภพ สิ้นชาติ นี่เรียกว่า ผู้เบิกบาน




เมื่อทบทวนธรรมอันที่เราพอจะรู้เห็นตามจริงได้ดังนี้ๆแล้ว ความสำคัญมั่นหมายของใจในวิราคะสัญญานั้น ปุถุชนอย่างเรานี้พอจะเห็นความระลึกถึงอารมณ์เหล่านั้นได้ว่า คือ พุทโธ คุณของพระพุทธเจ้าที่ว่าด้วยความเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นี้เอง พึงรำลึกถึงว่า

๑. ความเป็นผู้รู้ คือ รู้สมมติ รู้ว่าหลงอยู่ รู้ว่าสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ที่เราเห็นว่าเป็น คน สัตว์ สิ่งของ สวย ไม่สวย ละเอียด หยาบ ทราม ชอบ ไม่ชอบ สุข ทุกข์ เฉยๆ สี เสียง กลิ่น รส โผฐัพพะ สิ่งที่ใจรู้อกุศลธรรมอันลามกทั้งปวง สักแต่เป็นเพียงแค่สมมติที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกเราให้ลุ่มหลง ให้เห็นเป็นตัวตนเห็นเป็นของเที่ยงแท้ยั่งยืนอยู่เท่านั้น ทั้งๆที่จริงๆแล้วมันเป็นเพียงสภาวะธรรมเท่านั้นไม่มีสิ่งใด ไม่มีตัวตนบุคคลใด ไม่มีสัตว์ใด ไม่มีรูปนาม ไม่มีธาตุใดๆทั้งสิ้น เห็นสภาวะธรรมตามจริง ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นที่ประชุมแห่งทุกข์
(ปัญญา สัมมาทิฐิ)
- ขั้นระลึก พึงระลึกถึงสภาวะจิตที่ไม่หยิบจับเอาสมมติความลุ่มหลงทั้งปวง ไม่จับเอาสิ่งไรๆทั้งปวง ไม่ยินดีพิศมัยกับสิ่งไรๆ พึงรู้แค่ว่านั่นเป็นเพียงสมมติที่กิเลสสร้างขึ้น ไม่ว่าจะ รูป เสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะ ธรรมมารมณ์ ความเสวยอารมณ์ ความจำได้หมายรู้ ความตรึกนึกคิดปรุงแต่งไรๆทั้งปวง สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสมมติที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกให้จิตยึดเป็นอุปาทานเท่านั้น เราไม่ควรลุ่มหลง

๒. ความเป็นผู้ตื่น คือ ตื่นจากสมมติทั้งปวง เจริญปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์ความลุ่มหลงทั้งปวง
(มรรค ๘ คือ สุจริต ๓(ศีล, ทาน, กุศลวิตก ๓), ภาวนา(อินทรีย์ ๕, พละ ๕, สติปัฏฐาน ๔) -> โพชฌงค์ ๗(วิราคะ))
- ขั้นระลึก พึงระลึกถึงว่า มรรค ๘ นี้ คือ ทาง เป็นทางหลุดพ้นที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ดีแล้ว เป็นทางแห่งกุศล ดังนั้นเราก็ต้องเจริญมรรคให้มาก ให้พึงหวนระลึกถึง การกระทำไรๆทาง กาย วาจา ใจ ของเราที่ได้ทำมาดีแล้วเป็นสิ่งที่เกื้อกูลต่อผู้อื่น, ความละเว้นจากการเบียดเบียนทำร้ายพรากสิ่งอันเป็นที่รักที่หวงแหนของผู้อื่น, ความเพียรอยู่ไม่ปล่อยให้ กาย วาจา ใจ ของตนหลงไปตามสมมติตัวตนเหล่าใดที่กิเลสสร้างขึ้น, ความปหานกิเลสเหล่าใดอันที่ตนทำได้แล้วดีแล้ว, เป็นไปเพื่อละ สละทิ้ง สละคืนความลุ่มหลงทั้งปวงไม่ยินดีในขันธ์ ๕, ธาตุ ๖, นามรูป, สภาวะธรรมไรๆ อีกแล้ว ระลึกถึงคุณประโยชน์และผลที่ตนเองและผู้อื่นนั้นได้รับเมื่อเราได้กระทำทางกายวาจาใจมาดีแล้วนั้น




๓. ความเป็นผู้เบิกบาน คือ พ้นจากกิเลส สงัดจากกิเลส ดับสิ้นกิเลสแล้ว
(นิโรธ, วิมุตติ)
- ขั้นระลึก พึงระลึกถึงสภาวะจิตของเราที่ไม่มีกิเลส ไม่มีความเร่าร้อน ไม่มีความฟุ้งซ่าน ไม่มีสภาวะธรรมไรๆมาให้กายใจเราเศร้าหมอง มันเป็นสุขกายใจอย่างไร มันประกอบด้วยคุณประโยชน์ต่อเราแค่ไหน




สัลเลขสูตร

http://www.thammaonline.com/15198.msg17147#msg17147 (http://www.thammaonline.com/15198.msg17147#msg17147)

กุณฑลิยสูตร
http://www.nkgen.com/765.htm (http://www.nkgen.com/765.htm)



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 18, 2015, 08:20:25 PM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 13/4/58

สัญญา ๑๐ โดยการเจริญปฏิบัติที่เราได้ดำเนินไปอยู่ # ๗

นิโรธสัญญา

ดูกรอานนท์ นิโรธสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ธรรมเป็นที่ดับโดยไม่เหลือ ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่านิโรธสัญญา ฯ

เมื่อเจริญใน สัญญา ๑๐ ทั้ง ๖ ข้อข้างต้น ยังจิตใจให้แจ่มใสเบิกบานแล้ว มีความสงบรำงับจากกิเลส เป็นสุขอันเกิดแต่ความที่เปลื้องจิตจากกิเลสนิวรณ์ทั้งปวงแล้ว ย่อมรู้ตามจริงทันทีว่า จิตอันปราศจากความกำหนัดฝักใฝ่ใคร่ได้ที่จะเสพย์ในอารมณ์นั้นๆมันเป็นไฉน มีสุขอย่างไร มันไม่มีความฟุ้งซ่านแบบไหน สมองมันโปร่งมันโล่งไม่ยินดียินร้ายอย่างไร

- โดยปุถุชนอย่างเราๆนี้แล พึงสัมผัสรับรู้ได้เพียงน้อยนิดเท่าที่จะพอมีปัญญาสัมผัสได้จึงรู้ตามจริงว่า ธรรมชาติขันธ์ ๕ เรานี้แยกกันไม่ได้รวมกันอยู่ มันจีมีเกิดดับขึ้นของมันโดยธรรมชาติของมันไปอย่างนั้นแต่ไม่ข้องเกี่ยวกันเลย มันแยกของมันออกเป็นกองๆ มีความเป็นไปตามธรรมชาติของมัน และจิตเดิมเรานี้มันสงบ แยกกองออกจากขันธ์ ๕ จิตมันทำหน้าที่แค่รู้เท่านั้นไม่มีอื่นอีกเลย แต่อาศัยที่จิตเรานี้มันสั่งสมรับรู้ยึดมั่นเอาแต่สมมติของปลอมที่กิเลสสร้างขึ้นมานานไม่รู้กี่อสงไขยมหากัปป์ จึงเข้าไปยึดเอา ผัสสะไรๆมาเป็นที่ตั้งแห่งจิตแล้วก็ไปดึงเอาสัญญาบ้างความตรึกนึกปรุงแต่งอารมณ์น้อมเข้ามาหามายึดจึงทำให้ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ข้องเกี่ยวกันสัมพันธ์กันเกิดเป็น ราคะ ตัณหา อุปาทาน สืบมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ
- เราได้เห็นตามจริงที่หลวงตามหาบัวสอน(ซึ่งได้รับรู้ตามจริงโดยสมาธิก่อนแล้วได้มาอ่านที่หลวงตาสอนจึงทำให้เข้าใจตามจริง) ว่า จิตมันทำหน้าที่แค่รู้ รู้เท่านั้นไม่มีเกิด ไม่มีดับ ที่เกิดและดับไปมันมันเพียงสังขารเพียงกิเลสไม่ใช่จิต ที่เรารู้ดังนี้เพราะเคยได้เห็นจิตมันก็อยู่สงบนิ่งของมันเห็นกองขันธ์แยกกัน กุศลธรรม อกุศลธรรม มันก็เกิดขึ้นปรุงแต่งของมันไป เกิดดับของมันไป จิตแยกออกมาไม่รู้ผัสสะ ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร จิตมันรู้เห็นแต่เพียงสภาวะธรรมหนึ่งๆอันแยกขาดจากกันเท่านั้น ไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร คือสิ่งไร มันแค่เห็นแค่รู้ไม่ได้เกิดดับไปกับสภาวะธรรมปรุงแต่งเหล่านั้นเลย
- ก็จนเมื่อจิตคลายจากสมาธิอันนิ่งว่างสงบไม่มีวิตกวิจารนั้นแล้วก็จึงรู้กระบวนการอันเป็นไปของมันดังนี้ว่า..๑. เมื่อมีสิ่งไรๆมากระทบทางสฬายตนะ ก็เกิดผัสสะกับอายตนะภายนอก จิตเดิมนี้มันก็นิ่งอยู่ไม่ข้องเกี่ยวกันมันก็จะรู้แค่ว่ามีสภาวะธรรมหนึ่งๆเกิดขึ้นเท่านั้น..๒. แต่อาศัยสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นมารายล้อมอยู่ให้จิตรู้..๓. จิตนี้เมื่อมันหลงอยู่ไม่รู้มันจึงเข้าไปยึดเอาสภาวะนั้นมาเป็นอารมณ์ที่ตั้ง..๔. ความปรุงแต่งโดยเจตนาที่จะเข้าไปรู้ว่าสภาวะธรรมนั้นๆคืออะไรก็เกิดขึ้น โดยมีลักษณะที่หวนระลึก ตรึกนึกเข้าไปหาสัญญาไรๆที่จำได้หมายรู้ในสิ่งนั้นๆ..๕. เมื่อสัญญาเกิดสมมติบัญญัติก็เกิดขึ้น ณ ที่นั้น ความรู้ว่าอาการต่างๆจึงเกิดขึ้น แล้วความปรุงแต่งสังขารก็เกิดขึ้นเสวยอารมณ์เหล่านั้นเป็นเวทนา..๖. จากนั้นความตรึกนึกคิดอันที่กิเลสสร้างขึ้นก็เกิดขึ้นดำเนินไป..๗. เมื่อจิตไปยึดเอาสัญญาไว้มากแค่ไหนความเสวยอารมณ์ความรู้สึก ตรึกนึกคิดปรุงแต่งอันเป็นไปกิเลสต่อสิ่งนั้นๆก็อยู่นานเท่านั้น..  
- จึงทำให้เราเข้าใจตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่าดังนี้ว่า ธรรมชาติของจิตนั้นผ่องใสสว่าง แต่อาศัยกิเลสที่จรมาทำให้ใจเศร้าหมอง นี่เรียกว่า "นิโรธควรให้แจ้ง" มันเป็นอย่างนี้จึงได้รู้ว่าความดับทุกข์เป็นยังไง ความเป็นอยู่จริงๆของขันธ์ ๕ ที่เราลุ่มหลงอยู่นี้มันเป็นยังไง ดังนี้ นี่เรียกว่า เกิดสัมมาทิฐิ เพราะได้รู้เห็น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ตามจริง เห็นในพระอริยะสัจ ๔ ที่เป้นสภาวะธรรมตามจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนนั่นเอง
- ด้วยเหตุดังนี้ ความที่เคยสัมผัสถึงซึ่งนิโรธแม้จะเป็นเพียงโลกียะในเพียงช่วงขณะเวลาไม่กี่วันก็ตาม จึงเป็นบรมสุขอย่างยิ่ง ไม่มีจิตไปติดใจข้องแวะสิ่งไรๆ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นเพีนยงสภาวะธรรมหนึ่งๆเท่านั้นไม่มีเกินนี้ ไม่มีกิเลสเครื่องเศร้าหมองกำเริบขึ้นแล้วเราจะทำอย่างไรให้จิตรู้ของจริงจนหน่ายคลายอุปาทานแล้วหลุดพ้นจากเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์เหล่านี้ได้โดยสิ้นเชิง แม้เพียงแค่ได้สัมผัสเพียงเล็กน้อยก็ยังประโยชน์สุขแก่เราถึงเพียงนี้หากดับได้โดยสิ้นเชิงจะเป็นบรมสุขถึงเพียงไหน พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนว่า.. เราก็ต้องเจริญ มรรค ๘ ให้มาก จึงจะถึง โพชฌงค์ ๗(วิราคะ) และ นิโรธ(วิมุตติ) ได้

การทำนิโรธให้แจ้ง ทำให้เห็นทางและถึงความดับทุกข์โดยชอบ ไม่อิงอาศัยเครื่องล่อใจอันเป็นของไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นที่ประชุมแห่งทุกข์ แต่อย่างเราๆนี้เเป็นแค่เพียงปุถุชน จะทำไฉนถึงจะรับรู้ถึงนิโรธนั้นได้ จะถึงความจำได้หมายรู้ในนิโรธสัญญานั้นได้

๑. ให้พึงระลึกถึงความไม่มีทุกข์ ความดับสิ้นทุกข์เหล่าใดก็ตาม ที่เกิดมีมาแล้วแก่ตนบ้าง
๒. ให้พึงระลึกถึงความปราศจากความเศร้าหมองกายใจใดๆทั้งปวง
๓. ให้ระลึกถึงผลอันเกิดแต่วิราคะ คือ ผลอันเกิดจากการปหานกิเลสทั้งปวง ความชนะมารคือกิเลสเหล่าใด ความที่จิตรู้และตื่นจากโมหะแล้วตัดปหานสยบรำงับกิเลสลงได้(แม้จะตัดได้ตามกำลังปัญญาที่พอจะมีอยู่ก็ตาม)




เมื่อทบทวนธรรมอันที่เราพอจะรู้เห็นตามจริงได้ดังนี้ๆแล้ว ความสำคัญมั่นหมายของใจในวิราคะสัญญานั้น ปุถุชนอย่างเรานี้พอจะเห็นความระลึกถึงอารมณ์เหล่านั้นได้ว่า คือ พุทโธ คุณของพระพุทธเจ้าที่ว่าด้วยความเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นี้เอง พึงรำลึกถึงว่า

๑. ความเป็นผู้รู้ คือ รู้สมมติ รู้ว่าหลงอยู่ รู้ว่าสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ที่เราเห็นว่าเป็น คน สัตว์ สิ่งของ สวย ไม่สวย ละเอียด หยาบ ทราม ชอบ ไม่ชอบ สุข ทุกข์ เฉยๆ สี เสียง กลิ่น รส โผฐัพพะ สิ่งที่ใจรู้อกุศลธรรมอันลามกทั้งปวง สักแต่เป็นเพียงแค่สมมติที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกเราให้ลุ่มหลง ให้เห็นเป็นตัวตนเห็นเป็นของเที่ยงแท้ยั่งยืนอยู่เท่านั้น ทั้งๆที่จริงๆแล้วมันเป็นเพียงสภาวะธรรมเท่านั้นไม่มีสิ่งใด ไม่มีตัวตนบุคคลใด ไม่มีสัตว์ใด ไม่มีรูปนาม ไม่มีธาตุใดๆทั้งสิ้น เห็นสภาวะธรรมตามจริง ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นที่ประชุมแห่งทุกข์
(ปัญญา สัมมาทิฐิ)
- ขั้นระลึก พึงระลึกถึงสภาวะจิตที่ไม่หยิบจับเอาสมมติความลุ่มหลงทั้งปวง ไม่จับเอาสิ่งไรๆทั้งปวง ไม่ยินดีพิศมัยกับสิ่งไรๆ พึงรู้แค่ว่านั่นเป็นเพียงสมมติที่กิเลสสร้างขึ้น ไม่ว่าจะ รูป เสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะ ธรรมมารมณ์ ความเสวยอารมณ์ ความจำได้หมายรู้ ความตรึกนึกคิดปรุงแต่งไรๆทั้งปวง สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสมมติที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกให้จิตยึดเป็นอุปาทานเท่านั้น เราไม่ควรลุ่มหลง

๒. ความเป็นผู้ตื่น คือ ตื่นจากสมมติทั้งปวง เจริญปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์ความลุ่มหลงทั้งปวง
(มรรค ๘ - ศีล, ทาน, กุศลวิตก ๓, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, ภาวนา, โพชฌงค์ ๗(วิราคะ))
- ขั้นระลึก พึงระลึกถึงว่า มรรค ๘ นี้ คือ ทาง เป็นทางหลุดพ้นที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ดีแล้ว เป็นทางแห่งกุศล ดังนั้นเราก็ต้องเจริญมรรคให้มาก ให้พึงหวนระลึกถึง การกระทำไรๆทาง กาย วาจา ใจ ของเราที่ได้ทำมาดีแล้วเป็นสิ่งที่เกื้อกูลต่อผู้อื่น, ความละเว้นจากการเบียดเบียนทำร้ายพรากสิ่งอันเป็นที่รักที่หวงแหนของผู้อื่น, ความเพียรอยู่ไม่ปล่อยให้ กาย วาจา ใจ ของตนหลงไปตามสมมติตัวตนเหล่าใดที่กิเลสสร้างขึ้น, ความปหานกิเลสเหล่าใดอันที่ตนทำได้แล้วดีแล้ว, เป็นไปเพื่อละ สละทิ้ง สละคืนความลุ่มหลงทั้งปวงไม่ยินดีในขันธ์ ๕, ธาตุ ๖, นามรูป, สภาวะธรรมไรๆ อีกแล้ว ระลึกถึงคุณประโยชน์และผลที่ตนเองและผู้อื่นนั้นได้รับเมื่อเราได้กระทำทางกายวาจาใจมาดีแล้วนั้น



๓. ความเป็นผู้เบิกบาน คือ พ้นจากกิเลส สงัดจากกิเลส ดับสิ้นกิเลสแล้ว
(นิโรธ, วิมุตติ)
- ขั้นระลึก พึงระลึกถึงสภาวะจิตของเราที่ไม่มีกิเลส ไม่มีความเร่าร้อน ไม่มีความฟุ้งซ่าน ไม่มีสภาวะธรรมไรๆมาให้กายใจเราเศร้าหมอง มันเป็นสุขกายใจอย่างไร มันประกอบด้วยคุณประโยชน์ต่อเราแค่ไหน





สัลเลขสูตร

http://www.thammaonline.com/15198.msg17147#msg17147 (http://www.thammaonline.com/15198.msg17147#msg17147)





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 27, 2015, 09:37:50 AM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 13/4/58

สัญญา ๑๐ โดยการเจริญปฏิบัติที่เราได้ดำเนินไปอยู่ # ๘

สัพพะโลเก อะนะภิระตะสัญญา

ดูกรอานนท์ สัพพโลเกอนภิรตสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละอุบายและอุปาทานในโลก (อุปาทาน = ความยึดมั่นถือมั่น - ธัมมโชติ) อันเป็นเหตุตั้งมั่น ถือมั่น และเป็นอนุสัยแห่งจิต (อนุสัย = กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน - ธัมมโชติ) ย่อมงดเว้น ไม่ถือมั่น (สัพพโลเกอนภิรตสัญญา = การกำหนดหมายในความไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง - ธัมมโชติ) ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าสัพพโลเกอนภิรตสัญญา ฯ

เมื่อเจริญใน สัญญา ๑๐ ทั้ง ๗ ข้อข้างต้น ยังจิตใจให้แจ่มใสเบิกบานแล้ว มีความสงบรำงับจากกิเลส เป็นสุขอันเกิดแต่ความที่เปลื้องจิตจากกิเลสนิวรณ์ทั้งปวงแล้ว ย่อมรู้ตามจริงทันทีว่า จิตรู้สิ่งใด..สิ่งนั้นคือสมมติทั้งหมด ไม่มีของจริงเลย, กิเลสอาศัยสฬายตนะเป็นเครื่องล่อจิตให้รู้ ให้เสพย์ ให้ลุ่มหลง ให้ยึดมั่นถือมั่นตัวตน, ความเข้าไปรู้และเสพย์สมมติเหล่าใดที่กิเลสสร้างขึ้นย่อมมีแต่ทุกข์, ความเข้าไปปารถนายึดมั่นถือมั่นสมมติสำคัญมั่นหมายใจไว้ว่าเที่ยง ว่าเป็นตัวตน เป็นทุกข์, จิตไม่ยึดไม่จับเอาสมมติไรๆ สักแต่เพียงรู้แต่ไม่เสพย์และความรู้จักธรรมมารมณ์ที่ควรเสพย์ ความทุกข์ย่อมหยั่งไม่ถึง

- โดยปุถุชนอย่างเราแล้วยังเข้าไม่ถึงซึ่งสันดานแห่งพระอริยะเจ้า เมื่อได้รู้เห็นตามจริงอันเรียกว่าสัมมาทิฐิดังนี้แล้ว ได้เพียรอยู่ ปหานอยู่ซึ่ง อกุศลธรรมอันลามกทั้งปวง จากนั้นเมื่อจิตมันรู้ของจริงมากขึ้น จิตเรามันก็ไม่ยึดเอาอารมณ์ใดๆทั้งปวงมาเป็นที่ตั้งแห่งจิต เพราะรู้ว่าล้วนเป็นสมมติทั้งหมด เพราะของจริงมันไม่มีอะไรนอกเนือเกิดสภาวะธรรมเลย ด้วยเหตุนี้แม้แต่จิตเองเราก็ไม่ยึด เพราะจิตมันกลับกลอกรู้แต่สมมติจะไปบังคับให้มันรู้แต่ของจริงตามใจปารถนาก็ไม่ได้ จะบังคับให้มันเสพย์แต่กุศลก็ไม่ได้ จึงไม่ยึดจับเอาอะไรทั้งสิ้นใน ขันธ์ ๕, ธาตุ ๖, อายตนะ ๑๒ ผลที่ได้คืออุปาทานคลาย
- แต่บางครั้งเมื่ออุปาทานเราคลายจิตมันก็มีกำลังมาก มันจะไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข ไม่มีความว่าง(ไม่สุขไม่ทุกข์)  แล้วมันก็แยกขันธ์เองบ้าง บางครั้งก็รู็แต่สภาวะธรรมไม่มีตัวตน ไม่มีชื่อ ไม่มีสิ่งไรๆเลย รู้แค่ว่าเป็นสภาวะสภาวะหนึ่งๆเท่านั้นบ้าง ไม่มีความตรึกนึกคิดว่างโล่งเบาสมอง เบากาย ไม่เร่าร้อน ไม่ร้อนรุ่ม ไม่มีเครื่องรุมเร้าให้เศร้าหมองกายใจ ไม่มีสิ่งใดให้ยึดมั่นถือมั่น แต่บางครั้งมันก็เกิดหลุดมีอาการรู้อยู่ นิ่งว่างอยู่มีสติอยู่ตลอด แต่เหมือนตรึงๆเนือยๆหนักๆหมองๆจิต เมื่อทบทวนดีแล้วก็ให้เห็นตามจริงว่า จิตนี้มันล่องลอยอยู่ไม่มีที่ยึดนั่นเองจึงเกิดอาการนี้ขึ้น ดังนั้นเมื่อจิตมันรู้แต่ของจริง มันก็รู้จักกายสังขารว่าเป็นของจริง กายสังขารคือลมหายใจเข้าออกนั่นเอง กายสังขารเป็นธาตุลมในกายนี้ ให้เอาจิตยึดที่ลมหายใจไปเรื่อย อาการตรึงๆเนือยหนักๆจิตก็หายไป

- เมื่อยิ่งเพียรอบรมใจใน กรรมบถ ๑๐, ทาน, กุศลวิตก ๓ และ ภาวนา ก็ยิ่งทำให้เราเห็นว่า ความไม่ยึดเอาจิต ไม่ยึดเอาสิ่งที่จิตรู้ ไม่ยึดมั่นถือมั่นใน ขันธ์ ๕, ธาตุ ๖, อายตนะ ๑๒ นี้แลเป็นตัวดับวงจรปฏิจสมุปบาท
- เมื่อจิตเห็นจิตดังนี้แล้ว แม้ธรรมมารมณ์เหล่าใดที่เป็นอกุศลธรรมอันลามกทั้งปวงเกิดมีขึ้น มันก็รู้แค่มีสภาวะธรรมหนึ่งๆเกิดมีขึ้นมาผัสสะเท่านั้น(รูป+ตา+วิญญาณ ผัสสะจึงมี) เจตนาก็ไม่มี สัญญาก็ไม่เกิด เวทนาไม่เกิด สังขารก็ไม่ปรุงแต่งสมมมติเรื่องราว เมื่อจิตมันเห็นจิตดังนี้มันก็แค่รู้เพียงสภาวะธรรมนั้นๆ ไม่มีความสำคัญเหล่าใดอยู่ แม้จะมองเห็น แม้รับรู้เสียง แม้รู้กลิ่น แม้รู้สัมผัสด้วยกาย แม้รู้สัมผัสด้วยใจ มันก็ไม่สืบต่อเรื่องราวอีก อาสวะกิเลส(กิเลสอย่างกลาง)ก็ไม่อาจจะกำเริบขึ้นมาได้ การสำรวมอินทรีย์หรืออินทรีย์สังวรของพระอรหันต์ท่านก็ทำฉะนี้เอง จึงทำให้เห็นว่า ความไม่ยึด ความละ ความดับที่จิต หรือวิญญาณธาตุ หรือวิญญาณขันธ์ นี้แลทำให้เจตนาไม่เกิด อาสวะกิเลสไม่กำเริบ (แต่อนุสัยกิเลสก็ยังคงเป็นสภาวะธรรมหนึ่งๆอยู่ แต่ไม่กำเริบขึ้นมาเพราะไม่มีเจตนาไปกระตุ้น) จิตก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ เองอัตโนมัติ กรรมบถ ๑๐ กุศลวิตก ๓ ภาวนาเกล่าใดก็เกิดขึ้นมีเอง




 การอบรมจิตเพื่อละอุปาทานดังนี้(หลวงพ่อเสถียร พระอริยะสงฆ์แห่งวัดถ้ำผาแดงผานิมิต ท่านเคยสอนไว้ช่วงวันที่ 2-4 มกราคม 2558 เท่าที่พอจะจำได้ประกอบกับความคิดอนุมานของตน) ทำให้เห็นตามจริงเลยว่า การละอาสวะกิเลส ก็ต้องละที่เจตนา สมจริงดั่งบทประพันธ์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่กล่าวถึง ฝ. กับ ผ. สนทนาธรรมกันว่า จะทำอย่างไรจึงจะละอาสวะกิเลสได้ดังนี้คือ

ผ. ถามว่า การปฏิบัติก็มุ่งต่อความพ้นจากกิเลส แต่ทำไมตั้งใจจะละอาสวะให้หมดไป จึงไม่หมดไปได้อย่างใจ

ฝ. ตอบว่า อาสวะเป็นกิเลสที่ไม่ประกอบด้วยเจตนา ต้องอาศัยอริยมรรคที่เป็นกุศลพ้นเจตนาจึงละไว้ได้ การตั้งใจละนั้นเป็นกุศลที่ประกอบด้วยเจตนา เพราะฉะนั้นจึงละอาสวะไม่ได้ คงละได้แต่กิเลสที่ประกอบด้วยเจตนา แต่ก็ละได้ชั่วคราว ภายหลังอาจเกิดขึ้นได้อีก เพราะเป็นโลกิยกุศล

ผ. พูดว่า อ้อ อย่างนี้นี่เล่า ข้าพเจ้าไม่รู้ว่ากิเลสที่ไม่ประกอบด้วยเจตนา ต้องละด้วยกุศลที่พ้นจากเจตนา คือ อริยมรรค ส่วนกิเลสที่ประกอบด้วยเจตนา เป็นกรรมวัฏฝ่ายบาป ต้องละด้วยกุศลที่ประกอบด้วยเจตนา ซึ่งเป็นกรรมวัฏฝ่ายบุญ

ฝ. พูดว่า ถ้าตั้งใจจะละอาสวะได้ง่าย ๆ เหมือนอย่างตั้งใจทำกรรมวัฏฝ่ายบุญแล้ว พระอรหันต์ก็คงหาได้ง่าย ๆ ในโลก พระอริยสงฆ์คงไม่น่าอัศจรรย์เท่าไหร่ แม้พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี เสขบุคคล ๓ จำพวกนี้ก็ต้องอาศัยอริยมรรค ซึ่งเป็นกุศลที่พ้นจากเจตนา จึงจะฆ่าสังโยชน์ได้





ดังนั้น เมื่อดับที่วิญญาณธาตุ จิตก็ไม่ยึดจับเอาสิ่งไรๆมาเสพย์มาตั้งในความยึดมั่นถือมั่น เจตนาก็ไม่มี เมื่อละเจตนาได้ กิเลสอย่างกลางก็ดับไป ยิ่งเพียรอบรมจิตอย่างนี้ๆ ไม่ย่อท้อแล้วถอยความเพียรไปส้องเสพย์ตามอกุศลธรรม ยิ่งทำให้แจ้งใจมากเท่าไหร่ จิตเห็นจิตรู้เห็นของจริงมากเท่าไหร่ กิเลสก็ยิ่งเบาบางมากเท่านั้น ยิ่งทำให้แจ้งมากเท่าไหร่ อนุสัยกิเลสก็ยิ่งถูกขจัดไปมากเท่านั้น ดังนี้

โดยตัวเรานี้ยังปุถุชนอยู่ ก็เห็นและได้สัมผัสจากสภาวะจริงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงเห็นทางเจริญในข้อนี้ได้ตามที่เคยสัมผัสจริงประกอบความอนุมานเอาในเรื่องอนุสัยกิเลสเพียงเท่านี้






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 28, 2015, 05:52:29 PM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 13/4/58

สัญญา ๑๐ โดยการเจริญปฏิบัติที่เราได้ดำเนินไปอยู่ # ๙

สัพพะสังขาเรสุ อะนิฏฐะสัญญา

ดูกรอานนท์ สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมอึดอัด ย่อมระอา ย่อมเกลียดชังแต่สังขารทั้งปวง (สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา = การกำหนดหมายในความไม่น่าปรารถนาในสังขารทั้งปวง - ธัมมโชติ) ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าสัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา ฯ

(เลือกความไม่พอใจยินดีที่ควรเสพย์)

จากที่เราได้กรรมฐานมาหมดใน สัญญา ๑๐ ทั้ง ๘ ข้อ ได้เกิดขึ้นเป็น สัมมาทิฐิ โดยโลกียะตามปะสาปุถุชนผู้อยากมีสันดานพระอริยะเจ้า ได้เล็งเห็นว่า

๑ ขันธ์ ๕, ธาตุ ๖, อายตนะ ๑๒ ทั้งหลายเหล่านี้ นี้ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีเราในขันธ์ ขันธ์ ไม่มีในเรา เรราจะไปแสวงหาปารถนาเอาสิ่งไรๆกับมันไม่ได้ ยิ่งปารถนาในขันธ์ ๕ ก็ยิ่งทุกข์ มันเป็นเพียงแค่สภาวะธรรมหนึ่งๆที่เกิดมีขึ้นเท่านั้น อาศัยกิเลสที่จรมาให้จิตยึดแล้วเข้าไปตั้งว่า เป็นคน สัตว์ สิ่งของ ประณีต ละเอียด หยาบ ทราม เป็นตัวตนของเขา-ของเรา เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ เป็นของเที่ยง จักเป็นสุขเมื่อได้ลิ้ม-ได้เสพย์-ได้มี-ได้เป็นอย่างนั้นๆนี้ๆ จนเกิดความยึดมั่นถือมั่นว่า สิ่งนี้ๆควรแก่เรา สิ่งนี้ๆไม่ควรแก่เรา สิ่งนี้ๆเราควรได้ สิ่งนี้ๆไม่ควรเกิดมีแก่เรา จนเกิดเป็นตัวตนถาถมแล้วก็แสวงหาไม่รู้จบบนสิ่งที่ไม่เที่ยงมีแต่วันที่จะบุบสลายผุพังไป ไม่มีตัวตนที่จะจับบังคับให้เป็นไปดั่งใจได้เหล่านี้ ที่จิตได้รู้ผัสสะโดยสมมติที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกให้จิตยึดจิตหลงจิตเสพย์
๒. ขันธ์ ๕, ธาตุ ๖, อายตนะ ๑๒ ทั้งหลายเหล่านี้ เป็นแต่ของเน่าเหม็น ความเห็นว่างาม ว่าละเอียด ประณีต เพราะมีหนังหุ้มเป็นที่สุดรอบบ้าง เมื่อลอกหนังออกก็ไม่มีสิ่งใดน่าดูชมเลย เมื่อแยกอาการทั้ง ๓๒ ม้างกายออกมา ก็ไม่เห็นจะมีตัวตนบุคคลใดที่เราว่างาม ว่าประณีต อยู่ในอาการเหล่านั้นเลย สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้มีแต่จะผุพังไปเน่าสลายไป ไม่ยั่งยืนนาน ไม่ว่าเราหรือใครก็จักเหลือเพียงธาตุเท่านั้น เมื่อลมไม่มี ธาตุไปก็ดับไป ธาตุน้ำก็ดับไป ดินก็ผุกังสลายไป อากาศก็อาศัยอยู่ไม่ได้ ตัวรู้ก็ไม่มีอยู่ในอาการเหล่านั้น เมื่อได้เสพย์ก็ประมาณเหมือนว่าเสพย์เอาศพ เมื่อไม่มีสิ่งใดยั่งยืนนาน ไม่คงอยู่กับเราตลอดไป เมื่อตายไปเราก็นำมันไปด้วยไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
    เหมือนคนที่เกิดกำหนัดแล้วช่วยตัวเอง แกล้งให้น้ำอสุจิเคลื่อน ทั้งๆที่ไม่ได้ทำจริง ไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่เสพย์ความใคร่จากธรรมารมณ์ความตรึกนึกคิดสมมติเรื่องราวของตนเองทั้งสิ้น ไม่มีอยู่จริงเลยฉันใด
    แม้เมื่อได้เสพย์ในเมถุนกับเพศตรงข้ามที่พึงพอใจของตน ก็เหมือนนำอวัยเพศเข้าไปผัสสะน้ำคล้ำ น้ำหนอง ก้อนเนื้อ เส้นเอ็น น้ำเลือด น้ำดี ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ ขี้ อาการทั้ง ๓๒ เหล่าใดที่ไม่มีตัวตน ธาตุ ๕ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ ที่มีแค่ อ่อนแข็ง เอิบอาบ เคลื่อนตัวตรึงไหว อุ่นๆ ร้อนๆ เย็นๆ ช่องว่างที่ทำให้ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ เคลื่อนตัวได้ เสพย์สุขสมมติไปกับสภาวะธรรมก้อนธาตุที่สงเคราะห์รวมกันบ้าง ติดใจในโผฐัพพะที่ตนได้รู้อารมณ์นั้นๆบ้าง พอสักพักความรู้สึกนั้นก็จางหายดับไป ไม่อยู่ยั่งยืนยาน บังคับให้มันรู้สึกอย่างนี้ๆ ได้รับอารมณ์อย่างนี้ๆไปตลอดก็ไม่ได้
๓. ขันธ์ ๕, ธาตุ ๖, อายตนะ ๑๒ ทั้งหลายเหล่านี้ เป็นที่ประชุมของโรค ไม่น่าพิศมัยเลย มีสภาพที่น่าเกลียด
๔. ความเสวยอารมณ์ ความจำได้หมายรู้ ความปรุงแต่งให้จิตรู้ ธรรมมารมณ์เหล่าใด ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน เกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุปัจจัยเครื่องล่อใจทั้งปวงให้มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่เพราะเหตุปัจจัยเครื่องล่อใจนั้นยังตรึงอยู่ โดยสัญญาสมมติบ้าง ดับไปเมื่อเสร็จกิจของมัน หรือ เมื่อความตรึงอยู่แห่งความจำไกด้หมายรู้ในเครื่องล่อใจนั้นๆดับไป บังคับให้เป็นดั่งใจไม่ได้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ทุกอย่างเป็นเพียงสมมติที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกล่อให้จิตรู้แล้วยึดมั่นอุปาทานเท่านั้น เมื่อเสพย์ตามธรรมารมณ์ทั้งปวงย่อมนำความกระหาย ความทะยานอยากแสวงหาจนเกิดทุกข์ ไม่มีสิ่งเหล่าใดที่ควรว่างาม ว่าประณีต แม้แต่วิญญาณธาตุตัวรู้เหล่าใด มันก็รู้แต่สมมติเหล่านี้ที่กอิเลสสร้างขึ้นมาหลอกทั้งนั้น ไม่เคยรู้ของจริงเลย ซึ่งของจริงๆแล้วมันก็แค่เพียงสภาวะธรรมหนึ่งๆที่มีขึ้นไม่เที่ยง ไม่มีรูปลักษณ์ ไม่มีตัวตน ไม่มีสิ่งไรๆทั้งสิ้น แล้วจะไปหมายเอาสมมติของปลอมกับสิ่งที่ไม่ยืนนาน ไม่มีรูปลักษณ์ ไม่มีตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราไปเพื่อสิ่งใด สิ่งเหล่านี้เมื่อมันยังคงมีอยู่มันก็กลับกลอกให้เราหลงตามแล้วก็ยังความฉิบหายมาให้ ฉะนั้นควรแล้วหรือที่จะใฝ่ใจใคร่ยินดีในมัน
๕. ขันธ์ ๕ ธาตุ ๖ สังขารธรรมทั้งปวงเหล่าใด เป็นตัวทุกข์ทั้งนั้น ตั้งแต่เมื่อเรามาอาศัยอยู่เมื่อมันมีเกิดขึ้นมา เราก็ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว เมื่อมันเกิดขึ้นเดี๋ยวก็งามบ้าง เดี๋ยวก็หยาบบ้าง น่าเกลียดบ้าง เมื่อมันเกิดขึ้นเดี๋ยวก็หลงสมมตินั้นบ้าง หลงสมมตินี้บ้าง เมื่อมันผ่านกาลเวลามาตามสมควรมันก็มีแต่สิ่งน่าเกลียดเน่าเหม็นน่าขยะแขยงทั้งนั้น บังคับมันก็ไม่ได้ เมื่อภายในมันแปรปรวนกำเริบเดี๋ยวมันก็เจ็บก็ปวด เดี๋ยวตรงนี้ก็บุบพังสลาย เดี๋ยวตรงนั้นก็เสื่อมโทรม บังคับให้มันไม่เจ็บไม่ปวดไม่ทุกข์ทรมานไม่เสื่อมโทรมไปก็ไม่ได้ เมื่อมันไม่สามารถจะพยุงตนเองไว้ได้มันก็ดับสูญไป บังคับให้มันคงอยู่ก็ไม่ได้ แล้วจะไปปารถนาแสวงหามันอยู่อีกเพื่อสิ่งใดกับสิ่งที่ประชุมไปด้วยความเสื่อมโทรม ประชุมโรง เป็นของเสื่อมสูญ เป็นของไม่มีตัวตน เป็นของไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แม้อาศัยมันอยู่นี้มันก็ยังความกำเริบขึ้นแต่สิ่งเน่าเหม็น




หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฒโน เท่าที่เราพอจะจำได้ ท่านได้เทสนาสั่งสอนไว้ว่า ขันธ์ ๕ ธาตุ ๖ นามรูป ทั้งปวง ความสุขทางโลกียะนี้อาศัยของไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนนานมาเป็นสุขของตน เมื่อเราตายมันก็ไม่ได้ติดตามไปด้วย มีแต่บุญและบาปเท่านั้นที่ติดตามไป ดังนั้นเราจึงควรอบรมจิตให้มาก ให้เจริญในกุศล มีศีล ทาน ภาวนา ให้มาก จะเป็นกำไรในชีวิตที่ติดตามเราไปเมื่อตาย เมื่ออบรมจิตให้รู้จักของจริงได้มากก็ละความหลงได้มาก

ด้วยเหตุดังนี้เมื่อเราพิจารณาน้อมมาใส่ตนก็เห็นว่า

- คนรัก สัตว์ สิ่งของเหล่าใด มันผุพังดับสูญอยู่ทุกขณะไม่คงทนยืนนาน พอมันดับสูญไปก็โศรกเศร้าเสียใจ หรือ เมื่อไม่ได้ในสิ่งนั้นตามปารถนาก็ตะเกียกตะกายเป็นทุกข์คอยแสวงหามันไม่รู้จบรู้สิ้นรู้พอ หาความสุขไม่ได้ สมดั่งหลวงปู่สอนไว้

- แม้เมื่อเราตายไปแล้ว จะหมายกายอันวิจิตนี้ตามไปก็ไม่ได้ ธาตุมันก็กลับไปเป็นธาตุดังเดิม จะหมายเอาสุขเวทนาความโสมนัสเหล่าใดตามไปด้วยก็ไม่ได้ จะหมายเอาความจำได้หมายรู้ที่รักที่พอใจตรึงใจอยู่ไปด้วยก็ไม่ได้ จะหมายเอาความปรุงแต่งที่พอใจยินดีที่ตนชอบตามไปด้วยก็ไม่ได้ จะหมายเอาจิตที่รู้สิ่งดีๆที่รักที่พอใจไปด้วยก็ไม่ได้ แม้ขนาดยังชีพอยู่นี้ยังไม่สามารถจะเป็นเช่นนั้นได้ แล้วเมื่อตายไปมันจะติดตามเราไปได้อย่างไร แม้ยังชีพอยู่เราจะทำกรรมใดไว้เป็นบุญหรือบาปเราก็ยังได้รับผลจากการกระทำเหล่านั้น แล้วเมื่อตายไปทำไมจะยังไม่ได้รับผลนั้นสืบต่ออีก สมดั่งหลวงปู่สอนไว้

- ดังนั้นแล้วขันธ์ ๕ สังขารธรรมทั้งปวงนี้เป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดีเลย ยิ่งเมื่อได้เพียรเจริญตามที่หลวงพ่อเสถียรชี้แนะเพียงแค่ว่ากายเรานี้คือธาตุ ๖ วิญญาณหรือจิตมันรู้แค่สมมติ แล้วพิจารณาในสัญญา ๑๐ นี้ จนได้เห็นตามจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนทั้งหมด ไม่มีข้อโต้แย้งไรๆเลย ก็ยิ่งเห็นว่า สังขารธรรมทั้งปวง มันไม่มีอะไรเลย ไม่ใช่สิ่งน่าปารถนายินดีเลย มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่เป็นไปของมันไม่เกี่ยวกับเราเลย เป็นที่ปรชุมไปด้วยโรค ด้วยทุกขเวทนา โทมนัส เป็นที่กลับกลอกหลอกลวงโดยสมมติ เราไม่ควรยึดมั่นไม่ควรยินดีใน ขันธ์ ๕, ธาตุ ๖, อายตนะ ๑๒ สภาวะธรรมภายนอก สภาวะธรรมภายในทั้งหลาย กล่าวคือ สังขารธรรมทั้งปวงทั้งภายในและภายนอกทั้งหลายเหล่านี้เป็นตัวทุกข์ ไม่น่ายินดีเลย

- ของจริงมีอยู่ก็เพียงกายสังขาร คือ ลมหายใจเข้า หายใจออก นี้เท่านั้น ที่มีอยู่จริง เป็นของจริง เป็นสิ่งที่รู้ได้ตามจริง ไม่เป็นที่ประชุมของสมมติ ไม่ใช่ที่ประชุมของโรค ไม่มีภัย ดังนั้นรู้กายสังขารนี้โดยแจ่มแจ้งตามจริงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งห่างไกลสังขารธรรมที่เป็นทุกข์มากเท่านั้น




เพิ่มเติมวันที่ 12/5/58 เวลา 9.00 น.

     เพราะเจริญสัญญา ๑๐ มาใน ๘ ข้อเบื้องต้นก่อน แล้วมาเจริญใน สัพพะสังขาเรสุ อะนิฏฐะสัญญา ที่เรากำหนดใจกับสุรายาเมาตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนในข้อนี้ไว้ว่า เราย่อมอึดอัด ย่อมระอา ย่อมเกลียดชังแต่เหล้า และ ความบ้ากามอยากเสพย์ราคะเมถุนสัมผัสทางกาย

  - นั่นเพราะมองเห็นโทษ เห็นทุกข์จากเหล้า มันทำให้เราเป็นคนบ้าฟุ้งซ่านขาดการยับยั้งช่างใจ ทำให้ทำผิดได้ทั้งหมด ทำได้แม้ฆ่าคนโดยไม่สะทกสะท้ายระอา ละอายใจต่อบาป ทำร้ายคนที่รักยิ่งชีพ คือ พ่อ แม่ ลูก เมียได้ ทำให้เราไม่มีเงินหมดเงินให้ลูก หมดเงินที่จะทำบุญ หมดเงินที่จะให้แม่ หมดเงินที่จะครองชีพให้พ้น ๑ วัน มันทำให้เสียการเสียงานสูญเสียทุกอย่าง กินเหล้าเมื่อไหร่งานเสียเมื่อนั้นเกิดเรื่องร้ายๆขึ้นเมื่อนั้น รวมไปถึงเรื่องราคะเมถุนด้วย แม้ระลึกในข้อนี้อย่างนี้จึงเลิกเหล้าและเลิกบ้ากามได้มาระยะหนึ่งแล้ว

  - เพราะสุรายาเมาและราคะเมถุนที่ฝักใฝ่ใคร่ แสวงหา ทำให้อยากไม่รู้จักพอมันทำให้ครอบครัวเรานี้ถึงความฉิบหาย อั่งเปาต้องมารับเคราะห์ก็เพราะเรานี้เสพย์สุรายาเมาและราคะเมถุนมีความฝักใฝ่ยินดีใคร่แสวงหาทำให้อยากไม่รู้จักพอ

  - เมื่อเห็นทุกข์ เห็นโทษจากมัน เกลียดชังมัน ขยะแขยงมันอย่างนี้ๆ มีความอึดอัดระอาต่อมัน ตัดความแสวงหา ไม่แสวงหามันอีก ไม่ยึดเอาอารมณ์ทางโลกเพื่อพ้นทางโลกอันประกออบไปด้วยทุกข์มีสุขอยู่บนสิ่งไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา หมายใจว่าควรไม่ควรแก่เรา (สัมมาสังกัปปะคิดออกจากทางโลกดูบันทึกกรรมฐานวันที่ 10/5/58)






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 28, 2015, 06:03:15 PM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 13/4/58

สัญญา ๑๐ โดยการเจริญปฏิบัติที่เราได้ดำเนินไปอยู่ # ๑๐

อานาปานัสสติ

ดูกรอานนท์ อานาปานัสสติเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอเป็นผู้มีสติหายใจออก เป็นผู้มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น
**คือ การกำหนดลมหายใจเข้าออก โดยมีสติตั้งไว้ที่ลมหายใจไม่หลุดไปจากลมหายใจ เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ว่ายาว เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ว่าสั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการบรรเทา กามราคะ และความหลงไหล นานาประการ**

ราหุโลวาทะสูตร
อานาปานสติภาวนา

           [๑๔๖] ดูกรราหุล เธอจงเจริญอานาปานสติภาวนาเถิด เพราะอานาปานสติที่บุคคล
เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผล มีอานิสงส์ใหญ่. ก็อานาปานสติอันบุคคลเจริญอย่างไร
ทำให้มากอย่างไร จึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่? ดูกรราหุล ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี
อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติ
หายใจออก มีสติหายใจเข้า. เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว
ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว.  เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น
ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจออก ย่อมสำเหนียก
ว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุขหายใจออก ย่อม
สำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุขหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจออก ย่อม
สำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริงหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริงหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่นหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่นหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจออก ย่อม
สำเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง
หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยงหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียก
ว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจากราคะหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจาก
ราคะหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจออก ย่อมสำเหนียก
ว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่
สละคืน หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่สละคืน หายใจเข้า. ดูกรราหุล
อานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
ดูกรราหุล เมื่ออานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ลมอัสสาสะ
ปัสสาสะ อันมีในภายหลัง อันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติทราบชัดแล้ว ย่อมดับไป หาเป็น
อันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติไม่ทราบชัดแล้ว ดับไปไม่ได้ดังนี้.





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 29, 2015, 12:26:34 PM

๘. อานาปานสติสูตร (๑๑๘) # ๑
-------------------------------


            [๒๘๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของอุบาสิกาวิสาขา
มิคารมารดา ในพระวิหารบุพพาราม เขตพระนครสาวัตถี พร้อมด้วยพระสาวก
ผู้เถระมีชื่อเสียงเด่นมากรูปด้วยกัน เช่น ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหา-
*โมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสป ท่านพระมหากัจจายนะ ท่านพระมหาโกฏฐิตะ
ท่านพระมหากปิณะ ท่านพระมหาจุนทะ ท่านพระเรวตะ ท่านพระอานนท์ และ
พระสาวกผู้เถระมีชื่อเสียงเด่นอื่นๆ ก็สมัยนั้นแล พระเถระทั้งหลายพากันโอวาท
พร่ำสอนพวกภิกษุอยู่ คือ พระเถระบางพวกโอวาทพร่ำสอนภิกษุ ๑๐ รูปบ้าง
บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๒๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๓๐ รูปบ้าง บางพวก
โอวาทพร่ำสอน ๔๐ รูปบ้าง ฝ่ายภิกษุนวกะเหล่านั้น อันภิกษุผู้เถระโอวาทพร่ำ
สอนอยู่ ย่อมรู้ชัดธรรมวิเศษอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าที่ตนรู้มาก่อน ฯ
             [๒๘๓] ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมประทับนั่ง
กลางแจ้ง ในราตรีมีจันทร์เพ็ญ วันนั้นเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ทั้งเป็นวัน
ปวารณาด้วย ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเหลียวดูภิกษุสงฆ์ ซึ่งนิ่งเงียบอยู่โดย
ลำดับ จึงตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราปรารภในปฏิปทานี้
เรามีจิตยินดีในปฏิปทานี้ เพราะฉะนั้นแล พวกเธอจงปรารภความเพียร เพื่อถึง
คุณที่ตนยังไม่ถึง เพื่อบรรลุคุณที่ตนยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งคุณที่ตนยังไม่ทำ
ให้แจ้ง โดยยิ่งกว่าประมาณเถิด เราจักรออยู่ในเมืองสาวัตถีนี้แล จนถึงวันครบ
๔ เดือนแห่งฤดูฝน เป็นที่บานแห่งดอกโกมุท ๑- พวกภิกษุชาวชนบททราบข่าว
ว่า พระผู้มีพระภาคจักรออยู่ในเมืองสาวัตถีนั้น จนถึงวันครบ ๔ เดือนแห่ง
ฤดูฝน เป็นที่บานแห่งดอกโกมุท จึงพากันหลั่งไหลมายังพระนครสาวัตถี เพื่อ
เฝ้าพระผู้มีพระภาค ฝ่ายภิกษุผู้เถระเหล่านั้นก็พากันโอวาทพร่ำสอนภิกษุนวกะ
@๑. คือวันเพ็ญเดือนสิบสอง
เพิ่มประมาณขึ้น คือ ภิกษุผู้เถระบางพวกโอวาทพร่ำสอนภิกษุ ๑๐ รูปบ้าง บาง-
*พวกโอวาทพร่ำสอน ๒๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๓๐ รูปบ้าง บางพวก
โอวาทพร่ำสอน ๔๐ รูปบ้าง และภิกษุนวกะเหล่านั้น อันภิกษุผู้เถระโอวาท
พร่ำสอนอยู่ ย่อมรู้ชัดธรรมวิเศษอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าที่ตนรู้มาก่อน ฯ
             [๒๘๔] ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมประทับนั่ง
กลางแจ้ง ในราตรีมีจันทร์เพ็ญ เป็นวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน เป็นที่บาน
แห่งดอกโกมุท วันนั้นเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรง
เหลียวดูภิกษุสงฆ์ ซึ่งนิ่งเงียบอยู่โดยลำดับ จึงตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร-
*ภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้ไม่คุยกัน บริษัทนี้เงียบเสียงคุย ดำรงอยู่ในสารธรรม
อันบริสุทธิ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับ
บริษัทที่ควรแก่การคำนับ ควรแก่การต้อนรับ ควรแก่ทักษิณาทาน ควรแก่การ
กระทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลกอย่างหาที่อื่นยิ่งกว่ามิได้ ภิกษุสงฆ์นี้
บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่เขาถวายของน้อย มีผลมาก และถวายของมาก
มีผลมากยิ่งขึ้น ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัท อันชาวโลก
ยากที่จะได้พบเห็น ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทอันสมควร
ที่แม้คนผู้เอาเสบียงคล้องบ่าเดินทางไปชมนับเป็นโยชน์ๆ ฯ
             [๒๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ผู้เป็น
พระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระ
ได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษ
แล้วเพราะรู้ชอบ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ผู้เป็นอุปปาติกะ เพราะ
สิ้นสัญโญชน์ส่วนเบื้องต่ำทั้ง ๕ จะได้ปรินิพพานในโลกนั้นๆ มีอันไม่กลับ
มาจากโลกนั้นอีกเป็นธรรมดา แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ผู้เป็นพระสกทาคามี
เพราะสิ้นสัญโญชน์ ๓ อย่าง และเพราะทำราคะ โทสะ โมหะให้เบาบาง
มายังโลกนี้อีกครั้งเดียวเท่านั้น ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่
ภิกษุสงฆ์นี้ ก็มีอยู่ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ผู้เป็นพระโสดาบัน เพราะ
สิ้นสัญโญชน์ ๓ อย่าง มีอันไม่ตกอบายเป็นธรรมดา แน่นอนที่จะได้ตรัสรู้ใน
เบื้องหน้า แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความเพียร
ในอันเจริญสติปัฏฐาน ๔ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
             [๒๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบ
ความเพียรในอันเจริญสัมมัปปธาน ๔ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความ
เพียรในอันเจริญอิทธิบาท ๔ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความ
เพียรในอันเจริญอินทรีย์ ๕ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความ
เพียรในอันเจริญพละ ๕ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความ
เพียรในอันเจริญโพชฌงค์ ๗ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความ
เพียรในอันเจริญมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้
ก็มีอยู่ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความ
เพียรในอันเจริญเมตตาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความ
เพียรในอันเจริญกรุณาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความ
เพียรในอันเจริญมุทิตาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความเพียร
ในอันเจริญอุเบกขาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความเพียร
ในอันเจริญอสุภสัญญาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความเพียร
ในอันเจริญอนิจจสัญญาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
             [๒๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบ
ความเพียรในอันเจริญอานาปานสติอยู่ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อม
มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อม
บำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้ ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ทำให้มากแล้ว
ย่อมบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้ ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้ว ทำให้มาก
แล้ว ย่อมบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ฯ



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 29, 2015, 12:28:34 PM

๘. อานาปานสติสูตร (๑๑๘) # ๒
   (ฐานการเจริญอานาปานสติ เป็นกำลังให้ อินทรีย์สังวร บริบูรณ์)
-------------------------------


             [๒๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร
ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใน
ธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า เธอย่อมมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า
หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจ
เข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลม
ทั้งปวง หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า สำเหนียก
อยู่ ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้
ปีติ หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก ว่าเราจัก
เป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร
หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเรา
จักระงับจิตสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า สำเหนียกอยู่
ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจ
เข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจออก ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจออก ว่าเราจักเป็น
ผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณา
ความคลายกำหนัด หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด
หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็น
ผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความ
สละคืนกิเลส หายใจเข้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว
อย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ฯ



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 29, 2015, 12:29:36 PM

๘. อานาปานสติสูตร (๑๑๘) # ๓
   (การเจริญ สติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ ด้วยอานาปานสติ)
-------------------------------


             [๒๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้วอย่างไร ทำ
ให้มากแล้วอย่างไร จึงบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด เมื่อภิกษุหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้า
ยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น
หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้
กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจ
เข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับกายสังขาร
หายใจเข้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกาย
มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวลมหายใจออก ลมหายใจเข้านี้ ว่าเป็นกายชนิดหนึ่ง
ในพวกกาย เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกาย
มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้
ปีติ หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเรา
จักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้า สำเหนียก
อยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้
จิตสังขาร หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจออก
ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและ
โทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการใส่ใจลมหายใจออก
ลมหายใจเข้าเป็นอย่างดีนี้ ว่าเป็นเวทนาชนิดหนึ่ง ในพวกเวทนา เพราะฉะนั้นแล
ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนด
รู้จิต หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจัก
ทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า สำเหนียกอยู่
ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า สำเหนียกอยู่
ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจออก ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าว
อานาปานสติแก่ภิกษุผู้เผลอสติ ไม่รู้สึกตัวอยู่ เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น
ภิกษุจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌา
และโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณา
ความไม่เที่ยง หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจออก ว่าเราจัก
เป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้
ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส
หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจ
ออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจเข้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ เธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสด้วย
ปัญญาแล้ว ย่อมเป็นผู้วางเฉยได้ดี เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่า
พิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและ
โทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้ว
อย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้ ฯ



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 29, 2015, 12:33:35 PM

๘. อานาปานสติสูตร (๑๑๘) # ๔
   (การเจริญ โพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ ด้วยอานาปานสติ)
-------------------------------


             [๒๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วอย่างไร
ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌา
และโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น สติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว
ไม่เผลอเรอ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด สติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ
ในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า
ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความ
บริบูรณ์แก่ภิกษุ เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความ
พิจารณาธรรมนั้นได้ด้วยปัญญา ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า
ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์
ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ เธอ
เมื่อค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมด้วยปัญญาอยู่ ย่อมเป็นอันปรารภ
ความเพียรไม่ย่อหย่อน ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณา
ธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ในสมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์
ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ปีติ-
*ปราศจากอามิสย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภ
ความเพียรแล้ว ในสมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น
ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ
และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้
ในสมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า
ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ
และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมมีจิตตั้งมั่น ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข
ย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น
ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความ
เจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้น
ได้เป็นอย่างดี ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้
เป็นอย่างดี ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น
ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึง
ความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความ-
*เพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น
สติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ...
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร
รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น สติย่อม
เป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ...
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร
รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น สติย่อม
เป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด สติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ
ในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า
ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความ
บริบูรณ์แก่ภิกษุ เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความ
พิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า
ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์
ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ เมื่อ
เธอค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญาอยู่ ย่อมเป็นอัน
ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรม
นั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ในสมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อม
เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น
วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ปีติปราศจากอามิส
ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภ
ความเพียรแล้ว ในสมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น
ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ
และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้
ในสมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุ
ชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ย่อมถึง
ความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมมีจิต
ตั้งมั่น ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข
ย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น
ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความ
เจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้น
ได้เป็นอย่างดี ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้
เป็นอย่างดี ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น
ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึง
ความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้ว
อย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้ ฯ
             [๒๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างไร ทำให้
มากแล้วอย่างไร จึงบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ
ในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัย
นิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ... ย่อม
เจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ... ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ... ย่อมเจริญปัสสัทธิ
สัมโพชฌงค์ ... ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ... ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์
อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้ว
อย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ฯ
             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ


จบ อานาปานสติสูตร ที่ ๘
-----------------------------------------------------



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 29, 2015, 01:36:07 PM

บันทึกกรรมฐาน สัญญา ๑๐ โดยย่อที่เป็นหัวใจของสัญญา ๑๐ ที่เราพอจะมีปัญญาเห็นได้ # ๑

สัญญา ๑๐ ความกำหนดหมาย, สิ่งที่ความกำหนดหมายไว้ในใจ มี ๑๐ อย่าง (โดยส่วนตัวเราเห็นว่า พุทโธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน, และ การเลือกธรรมมารมณ์ที่ควรเสพย์ ละธรรมมารมณ์ที่ไม่ควรเสพย์ มีอยู่ใน สัญญา ๑๐ นี้ ทั้งหมด) คือ




       ๑. อนิจจะสัญญา      
ขันธ์ ๕ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์โดยอาการ พิจารณามองเห็นว่า ไม่เที่ยง

- ผู้รู้ : รู้เห็นสภาวะธรรมของขันธ์ตามจริง จากยถาภูญาณทัสสนะ นี่เรียกว่า สัมมาทิฐิ ของพระอริยะเจ้า (ญาณอันเป็นไปในมรรค)
- อนิจจะสัญญา เป็นการเจริญให้เข้าถึงความพอใจยินดี ที่ไม่ควรเสพย์(ละความพอใจในขันธ์ ๕) / เกิดความไม่พอใจยินดีที่ควรเสพย์



       ๒. อนัตตะสัญญา      
อายตนะ ภายนอก ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะ ภายใน 6 รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์โดยอาการ พิจารณามองเห็นว่า ไม่มีตัวตน

- ผู้รู้ : รู้เห็นสภาวะธรรมของอายตนะ ๑๒ นามรูปที่ได้รู้ผัสสะตามจริง จากยถาภูญาณทัสสนะ นี่เรียกว่า สัมมาทิฐิ ของพระอริยะเจ้า (ญาณอันเป็นไปในมรรค)
- อนัตตะสัญญา เป็นการเจริญให้เข้าถึงความพอใจยินดี ที่ไม่ควรเสพย์ (ละความพอใจในอารมณ์ที่รู้ผัสสะ) / เกิดความไม่พอใจยินดีที่ควรเสพย์




สัญญา ๑๐ ในข้อที่ ๑-๒ นี้คือ มรรคญาณ ปัญญาในทางมรรค เกิดขึ้นในโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ไม่ใช่ตรึกนึกคิดเอา แต่เห็นสภาวะธรรมจริงๆด้วย ถ้าได้จากความคิด สัญญา ๑๐ อีก ๘ ข้อจะไม่มีทางเข้าถึงได้เด็ดขาด




       ๓. อสุภะสัญญา      
อาการ ๓๒ ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจตับ พังผืด ไต ปอด ลำไส้ใหญ่ ลำไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี เสลดหนอง เลือด เหงื่อ มัน น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร เป็นต้น โดยอาการพิจารณาเห็น ความเป็นของไม่งาม ไม่น่าพิศมัย ในกายนี้

- ผู้รู้ : รู้เห็นสภาวะธรรมของรูปขันธ์ ที่ได้รู้ผัสสะตามจริง จากยถาภูญาณทัสสนะ คือ ม้างกายในสายพระป่า จนไม่เห็นมีเราในรูปขันธ์ ในรูปขันธ์ไม่มีเรา นี่เรียกว่า สัมมาทิฐิ ของพระอริยะเจ้า (ญาณอันเป็นไปในมรรค)

- อสุภะสัญญา เป็นการเจริญให้เข้าถึงความพอใจยินดี ที่ไม่ควรเสพย์ (ละความพอใจยินดีในรูปขันธ์) / เกิดความไม่พอใจยินดีที่ควรเสพย์



       ๔. อาทีนะวะสัญญา      
ผลของโรคต่าง ๆ  และ เหตุของโรคต่าง ๆ โดยอาการพิจารณาเห็น ความเป็นโทษ ในกายนี้

- ผู้รู้ : รู้เห็นสภาวะธรรมของรูปขันธ์ ที่ได้รู้ผัสสะตามจริง จากยถาภูญาณทัสสนะ คือ ม้างกายในสายพระป่า จนไม่เห็นมีเราในรูปขันธ์ ในรูปขันธ์ไม่มีเรา เห็นความเน่าเปื่อผุพังสลายไปของอาการทั้ง ๓๒ นี่เรียกว่า สัมมาทิฐิ ของพระอริยะเจ้า (ญาณอันเป็นไปในมรรค)
- ผู้รู้ : เป็นการเจริญให้เข้าถึงความพอใจยินดี ที่ไม่ควรเสพย์ (ละความพอใจยินดีในรูปขันธ์) / เกิดความไม่พอใจยินดีที่ควรเสพย์



สัญญา ๑๐ ในข้อที่ ๓-๔ นี้คือ กายคตาสติ เป็น มรรคญาณ ไปสู่ปัญญา สู่ ปหานสัญญา เป็นยถาภูญาณทัสสนะไปสู่วิราคะสัญญาปุถุชนนี้ยังแยกก็ได้เพียงสัญญาจดจำเอาเ้ท่านั้น แต่พระโสดาปัตติมรรคขึ้นไปท่านม้างกายออกขาดสิ้นไม่เหลือตัวตนเลย ปัญญาญาณก็จะเกิดขึ้น ณ ที่นั้นจะละสังโยชน์ได้มากน้อยก็เริ่มที่ตรงนี้




       ๕. ปหานะสัญญา      
กามวิตก ,พยาบาทวิตก , วิหิงสาวิตก , อกุศลกรรมทั้งปวงโดยอาการสำเหนียกด้วยอารมณ์ ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป  ย่อมทำให้ถึงซี่งความไม่มี
(ที่เราเห็นกรรมฐาน คือ มรรคมีองค์ ๘ สัมมาวายามะ แล้วเพียรใน กุศลวิตก ๓, เลือกธรรมารมณ์ที่ควรเสพย์และไม่ควรเสพย์ คือ โสมนัสที่ควรเสพย์และโสมนัสที่ไม่ควรเสพย์ ๑ โทมนัสที่ควรเสพย์และโทมนัสที่ไม่ควรเสพย์ ๑ อุเปกขาที่ควรเสพย์และอุปกขาที่ไม่ควรเสพย์ ๑, กรรมบถ ๑๐, สีลสังวร, สัมมาวายามะ หรือ วิริยะฉันทะ หรือ สัมมัปปธาน ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, กรรมฐาน ๔๐, สติปัฏฐาน ๔)

- ผู้ตื่น : รู้เห็นสภาวะธรรมทั้งปวงตามจริง จากยถาภูญาณทัสสนะ เกิดสัมมาทิฐิหลุดจากความลุ่มหลง เกิดนิพพิทาญาณบ้างแล้ว (ญาณอันเป็นไปในมรรค ทำให้แก่กล้าเข้าถึงญาณแห่งปัญญา) แล้วก็เพียรที่จะละ จะบรรเทาความลุ่มหลงทั้งหลายให้สิ้นไป เพื่อให้หลุดพ้นจากสมมติของปลอมอันเป็นทุกข์ที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกให้จิตหลงทั้งสิ้นนี้
- ปหานะสัญญา ความไม่พอใจยินดีที่ควรเสพย์



       ๖. วิราคะสัญญา      
ธรรมที่ทำให้เกิดการสละคืนอุปธิทั้งปวง และธรรมที่ทำให้ตัณหาสิ้นไปโดยอาการเจริญปัญญาให้ใจมุ่งมั่น ต่อการทำลายล้างกิเลสที่เกิดขึ้น
(ที่เราเห็นกรรมฐาน คือ  สีลสังวร หรือ ปาฏิโมกข์สังวร, สติสังวร หรือ อินทรีย์สังวร, สติปัฏฐาน ๔, กรรมฐาน ๔๐(กายานุปัสสนา) นั้นคือ มรรค ๘, โพชฌงค์ ๗)

- ผู้ตื่น : รู้เห็นสภาวะธรรมทั้งปวงตามจริง จากยถาภูญาณทัสสนะ เกิดสัมมาทิฐิหลุดจากความลุ่มหลง เกิดนิพพิทาญาณแล้ว แล้ว ภาวนาใน ศีล ทาน กรรมฐาน ๔๐ สังวรปธาน พละ ๕ จนอินทรีย์แกร่งกล้ามากพอให้มรรคบริบูรณ์ดีแล้ว เกิดญาณอันเป็นไปในทางปัญญา เรียกว่า สัมโพชฌงค์ ๗ เมื่อโพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์ดีแล้วเด็ดเดี่ยวไม่ยินดีในสังขารทั้งปวงอีกจนเกิดปัญญาญาณที่เป็นการตัด ตัดขาดสะบั้นหลุดออกตายไปไม่มีหวนกลับมาอีก
- วิราคะสัญญา ธรรมารมณ์ที่ควรเสพย์ เกิดสัมมาญาณ แล้วตัด(คือ มีทั้ง โสมนัสที่ควรเสพย์และโสมนัสที่ไม่ควรเสพย์ ๑ โทมนัสที่ควรเสพย์และโทมนัสที่ไม่ควรเสพย์ ๑ อุเปกขาที่ควรเสพย์และอุปกขาที่ไม่ควรเสพย์ ๑)
(ข้อนี้เราพอจะสัมผัสได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น)



ปหานสัญญา เป็นไปในมรรคเพื่อทะลายความหลงออกให้ถึงปัญญา, วิราคะสัญญา เป็นไปเพื่อปัญญารู้แจ้งดับสนิทซึ่งเพลิกกิเลสเพลิกทุกข์โดยสิ้นเชิง, นิโรธ เป็นผลจากวิราคะ เป็นวิมุตติ หลุดพ้นแล้ว




       ๗. นิโรธะสัญญา      
ธรรมชาตินั่นสงบ ประณีต ระงับได้แล้วซึ่ง อุปธิ และตัณหา โดยไม่เหลือโดยอาการทรงอารมณ์ เสวยผลแห่งการเข้าถึงนิพพาน
(ที่เราเห็นกรรมฐาน คือ วิมุตติ, มรรค ๑๐, จิตไม่จับเอาอะไรเลย รู้ก็เหมือนไม่รู้ รู้ก็ช่าง ไม่รู้ก็ช่าง แบบ อรูปฌาณ สัญญาเวทยิตนิโรธ)

**หากอย่างเราๆผู้ไม่ถึง วิมุตติ และ สมาบัติ ๘ ทางกรรมฐานสำหรับเราๆนี้ก็ให้ทำดังนี้คือ**

วิธีที่ ๑ จับเอาที่จิตอันเป็นสุขไม่มีทุกข์ก่อน แล้วยกจิตไปอากิญจัญญายตนะ เข้าวิโมกข์ ๘
๑. ให้เราพึงคำนึงถึงว่า(หวนระลึกถึง หวนคิดถึง)..เมื่อความไม่ทุกข์ ไม่ว่างอยู่โดยความไม่รู้หนังตรึงๆหน่วงจิตมันเป็นอย่างไร, เมื่อจิตไม่มีกิเลสปรุงแต่งมันสุขเพียงไร ความเป็นมิตรต่อสัตว์และมนุษย์ทั้งปวง ความไม่เร่าร้อนปราศจากความรัก โลภ โกรธ หลงสงบว่างร่มเย็นกายใจ ประดุจห้วงมหาสมุทรที่นอ่งว่างสงบเย็น ไม่กระเพื่อมแปรปรวนฟุ้งซ่าน ไม่แสวงหา ไม่ขัดข้องใจ ไม่ผูกความขุ่นเคืองใจมันเป็นไฉน, จิตที่คลายความยึดจากสมมติคลายอุปาทานขันธ์ ๕ มันเป็นสุขขนาดไหน, เมื่อจิตไม่ยึดเอาสมมติไรๆสภาวะธรรมไรๆมันสุขแค่ไหน แม้ความสุข,ความทุกข์,ความไม่สุขไม่ทุกข์ก็ไม่มี..จิตไม่เสพย์ไม่ยึดมันยังความบรมสุขมากแค่ไหน ให้น้อมเอาความรู้สึกอย่างนั้น**
๒. ระลึกถึงว่าหากเราไม่แสวงหา-เราก็ไม่ร้อนรุ่มเป็นทุกข์จากความใคร่ได้ที่จะเสพย์, หากเราไม่ผูกเวรติดข้องขัดเคืองใจใคร-มันก็ไม่เร่าร้อน เดือดดานเป็นทุกข์, หากเราไม่ยึดติดลุ่มหลงอยู่กับสิ่งไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืนนาน ไม่มีตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราก็ไม่พรัดพราก ไม่แสวงหา ไม่ประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่พอใจ ไม่เกิดความผิดหวัง ก็ไม่ทุกข์ ละอารมณ์ทางโลกอันเป็นไปเพื่อกิเลสสมมติเหล่านี้ก็ไม่ทุกข์ น้อมเข้าทางธรรมอารมณ์ทางธรรมคือไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่จับเอาสิ่งใดทั้งสิ้น ทุกสิ่งเป็นสูญ ไม่ยึดจับเอาอะไรในสังขารทั้งปวง จากนั้นก็แผ่เอาความไม่ยึดเอาสิ่งใดแม้แต่กายใจตน ไม่เอาไม่สนกายและใจตนนี้ แผ่ไปให้ทั่วจักรวาลจนจิตสงบนิ่งแช่อยู่ แต่มีสติสัมปะชัญญะรู้อยู่ แล้วจะรับได้ถึงอารมณ์นั้นที่ว่างมีกำลังนิ่งแช่ไม่มีกาย ไม่มีจิต ไม่มีสมมติ ไม่มีอารมณ์ปรุงแต่ง ไม่สุข ไม่ทุกข์ ว่างสงบนิ่งอยู่ แล้วก็เกิดอาการที่ไม่ใช่อุเบกขาขึ้นไม่จับเอาอะไรเลย เหมือนตอนที่เราฝึกเจริญวิโมกข์ ๘ เมื่อแผ่อุเบกขาไปไม่มีประมาณตอนที่เข้าสวดมนต์แผ่เมตตาหลวงและกรรมฐานที่วัดกับหลวงปู่บุญกู้

วิธีที่ ๒ ตั้งฐานไว้ที่พรหมวิหาร ๔ สืบต่อไป ศีล ทาน ไปแบบไม่มีประมาณลัดเข้าวิโมกข์ ๘
๑. พึงตั้งจิตปารถนาให้ตนเป็นผู้ประกอบด้วยสุข ไม่มีความทุกข์กายใจ ปราศจากกิเลส รัก โลภ โกรธ หลงเครื่องเร่าร้อนกายใจทั้งปวง เป็นผู้ไม่มีผูกเวรพยาบาท เป็นผู้ปราศจากความทุกข์ลำบากเศร้าหมองกายใจ เป็นผู้ดำรงชีพอยู่เป็นสุขทุกเมื่อ พึงกระทำจิตไปดังนี้จนมีจิตแน่วแน่เป็นกุศลสลัดพ้นจากความเศร้าหมองทั้งปวงได้
๒. ทำไว้ในใจว่าเราจักเป็นมิตรที่ดีกับคนทุกคน เริ่มจากพ่อแม่บุพการีก่อน(ถือเป็นความกตัญญูกตเวทียิ่ง) แล้วไปถึงคนที่รัก ที่สนิท ที่เกลียด ที่ชัง ที่ไม่รู้จักก็ตาม สัตว์ทุกตน อมนุษย์ทุกตน เทพเจ้าเทวดานางฟ้าทุกองค์ สัมภเวสีทั้งปวง วิญญาณทั้งปวง พระยายมราช ยมทูตทั้งหลายไม่มีละเว้น
   (ความเป็นมิตรที่ดี คือ สภาวะที่จิตเรานี้มีไมตรีสัมพันธ์ที่ดีต่อเขา ไม่มีความผูกแค้นตั้งความชอบใจและไม่ชอบใจต่อเขา ความที่ให้การสนิทใจต่อกัน มีจิตปารถนาดีให้เขาเป็นสุขไม่มีทุกข์ มีจิตแบ่งปันสิ่งที่ดีงามในกุศลต่อกัน ไม่ผูกเบียนเบียนทำร้ายกันทั้งทาง กาย วาจา ใจ ยินดีเมื่อเขามีความสำเร็จประโยชน์สุขไม่มีทุกข์ประดุจดั่งคนในครอบครัวอันเป็นที่รักของตน เป็นต้น)
 - แล้วแผ่เอาความเป็นมิตรที่ดีนั้นไปสู่ท่านเหล่านั้นให้ทั่วทุกทิศทั่วทุกทิศ ด้วยพึงระลึกว่าบัดนี้เรามีจิตตั้งอยู่ด้วยความเป็นมิตรที่ดีต่อสัตว์ทั้งปวง เป็นผู้ไม่ผูกเวร ไม่ผูกพยาบาท มีจิตความสงเคราะห์แบ่งปัยสุข เป็นผู้มีความยินดีในสุขอันเป็นกุศลของตนเองและผู้อื่นทุกเมื่อ ได้เจริญมาดีแล้วตามที่สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าองค์พระบรมศาสดาของเราตรัสสอน มีจิตผ่องใสเบิกบานแล้วอยู่อย่างนี้ๆ ไม่มีความติดใจข้องแวะสิ่งไรๆให้เศร้าหมอง แม้จักตายไปในตอนนี้ขณะที่หายใจเข้าหรือออก เราก็จักไม่ตกลงสู่อบายภูมิ ไม่ตกนรก แต่จักขึ้นไปอยู่สวรรค์วิมาณอันประณีตงดงามบ้าง อยู่บนสวรรค์ชั้นพรหมบ้าง ถึงนิพพานบ้างด้วยเดชแห่งบุญบารมีนั้น
๓. ระลึกถึงความไม่เบียนเบียนทาง กาย และ วาจา ที่เรานี้มีศีลมาดีแล้วบริบูรณ์แล้ว(สีลานุสสติ ให้เอาศีลข้อที่เราทำมาดีแล้วหรือช่วงเวลาที่ตนปฏิบัติในศีลมาดีแล้วบริบูรณ์แล้วนั้นมาตั้งเป็นอารมณ์แห่งจิต)
 - พึงระลึกว่าแม้นศีลอันเป็นกุศลเพื่อเว้นจากความเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ประกอบไปด้วยคุณ เป็นไปเพื่อความถึงที่สุดแห่งกองทุกข์เหล่านี้ เราก็ได้ทำมาดีแล้วหนอ ได้เจริญปฏิบัติตามทางที่พระตถาคตเจ้าผุ้ประเสริฐนี้ตรัสสอนไว้ดีแล้ว ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ไม่เบียดเบียนแล้ว แม้จักตายไปในตอนนี้ขณะที่หายใจเข้าหรือออก เราก็จักไม่ตกลงสู่อบายภูมิ ไม่ตกนรก แต่จักขึ้นไปอยู่สวรรค์วิมาณอันประณีตงดงามบ้าง อยู่บนสวรรค์ชั้นพรหมบ้าง ถึงนิพพานบ้างด้วยเดชแห่งบุญบารมีนั้น พึงตั้งอยู่อย่างนี้จนจิตแจ่มใสเบิกบานด้วยฉันทะอิทธิบาท ๔ จากนั้นก็แผ่เอาศีลนั้นไปไม่มีประมาณ พึงมีจิตอันเว้นจากความผูกเวรเบียดเบียน จิตของความเป็นผู้ไม่เบียดบียนนั้นแผ่ไปทั่วทุกทิศ
๔. ระลึกถึงทานไรๆ ความกตัญญูและกตเวทีไรๆต่อพ่อแม่บุพการีที่ได้ทำมาดีแล้ว, ทานอันใดที่ได้มีให้ผู้อื่นโดยไม่ติดใจข้องแวะทั้งก่อนให้-ขณะให้-และหลังให้, แล้วระลึกถึงทานอันใดที่เราได้ทำโดยที่เรานั้นประกอบพร้อมด้วยศีล เพราะทานจะบริสุทธิ์ไม่ได้ถ้าผู้ให้ไม่มีศีล ส่วนเรื่องขอผู้รับนั้นมันก็แล้วแต่เขาเรื่องของเขา ความติดใจข้องแวะมันเป็นเรื่องของทางโลกแต่ทางธรรมนี้ไม่มีอย่างนั้น แค่เรามีศีลก็พอ (พึงตั้งเอาทานเหล่านั้นมาเป็นที่ตั้งแห่งจิตจนเกิดความอิ่มเอมสุขเบิกบาน เป็น จาคานุสสติ มีฉันทะอิทธิบาท ๔ มีฉันทะสมาธิเกิด)
 - พึงระลึกว่าแม้นทานอันบริสุทธิ์นี้ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดใน ๓ โลกได้ตรัสสอนไว้ดีแล้ว เราก็ได้ทำมาดีแล้ว มีการสละอันบริสูทธิ์บริบูรณ์แล้วนั้น แม้จักตายไปในตอนนี้ขณะที่หายใจเข้าหรือออก เราก็จักไม่ตกลงสู่อบายภูมิ จักเป็นผู้ไม่ลำบากยากแค้น ไม่ตกนรก แต่จักขึ้นไปอยู่สวรรค์วิมาณอันประณีตงดงามบ้าง อยู่บนสวรรค์ชั้นพรหมบ้าง ถึงนิพพานบ้างด้วยเดชแห่งบุญบารมีนั้น พึงตั้งแผ่เอาความอิ่มเอมสุขจากทานนั้นไปทั่วทุกทิศแบบไม่มีประมาณ

- ผู้เบิกบาน : ความหลุดพ้นจากความลุ่มหลงแห่งกองทุกข์ทั้งปวงแล้ว ความดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นแล้ว
(ข้อนี้เรายังไม่ถึงรู้เพียงปริยัติเท่านั้น แต่รับรู้ได้บ้างในทางโลกด้วยนิโรธที่เกิดจากการปฏิบัติที่เป็นกุศลพ้นความยึดมั่นถือมั่นในทางโลกียะ)



นิโรธ เป็นผลจากวิราคะ เป็นวิมุตติ หลุดพ้นแล้ว





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 10, 2015, 07:52:52 PM

บันทึกกรรมฐาน สัญญา ๑๐ โดยย่อที่เป็นหัวใจของสัญญา ๑๐ ที่เราพอจะมีปัญญาเห็นได้ # ๒

สัญญา ๑๐ ความกำหนดหมาย, สิ่งที่ความกำหนดหมายไว้ในใจ มี ๑๐ อย่าง (โดยส่วนตัวเราเห็นว่า พุทโธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน, และ การเลือกธรรมมารมณ์ที่ควรเสพย์ ละธรรมมารมณ์ที่ไม่ควรเสพย์ มีอยู่ใน สัญญา ๑๐ นี้ ทั้งหมด) คือ




       ๘. สัพพะโลเก อะนะภิระตะสัญญา      
อุปายะ และ อุปาทาน อันนอนเนื่องในอนุสัยจิตโดยอาการเจริญสติ ปัญญา โดยการงดเว้น และ ไม่ถือมั่น
(ที่เราเห็นกรรมฐาน คือ เห็นไตรลักษณ์ ทุกอย่างเป็นเพียงสมมติ ทุกอย่างเป็นเพียงสภาวะธรมไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ไม่ยินดียินร้ายในสิ่งใดๆรู้แต่ไม่เสพย์ จนให้มันเป็นเพียงสภาวะธรรมหนึ่งๆเท่านั้น)

- ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน : ปุถุชนอย่างเราๆเมื่อได้ลิ้มรสในข้อที่ ๑-๗ แล้ว เข้าถึงใจจริงๆแล้ว มีโอกาสได้สัมผัสนิโรธบ้างแล้ว แม้จะเพียงโลกียะก็ตาม สัมมาทิฐิของแท้ก็เกิดเห็นตามจริง นิพพิทาญาณก็ย่อมเกิดมีขึ้น ความไม่ยึดจับเอาสิ่งไรๆที่จิตรู้สมมติย่อมเกิดขึ้นอยู่เป็นนิจย์ เจตนาที่จะไม่ยึดเอาสิ่งสมมติเหล่าใดย่อมมีขึ้นแน่วแน่ขึ้น ไม่ยึดถือเอาอะไรในทางโลกทั้งสิ้น

- แต่ สัพพะโลเก อะนะภิระตะสัญญา จะเกิดมีขึ้นโดยใจตั้งมั่นได้ ก็ต้องทำนิโรธให้แจ้ง นิโรธนี้แจ้งใจเท่าไหร่ก็แน่วแน่ได้มากเท่านั้น ทำให้เรารู้เห็นดังนี้ว่า

ก. กิเลสทั้งปวง จะเกิดขึ้นมีได้ ก็เพราะจิตรู้และเสพย์สมมติของปลอมไม่รู้จริงนี้แล
ข. อารมณ์หรือสิ่งที่เป็นทางโลกทั้งปวง จะเกิดมีขึ้นได้ ก็เพราะจิตรู้และเสพย์กิเลสนี้แล
ค. อารมณ์หรือสิ่งที่เป้นทางโลกดับ อารมณ์ธรรมอันเป็นนิโรธจึงเกิดมีขึ้นได้


   นิโรธทางโลกียะที่เราเคยได้สัมผัสก็มีหลายระดับดังนี้คือ

๑. ระดับแรกๆของปุถุชนก็เป็นสภาวะที่ทุกข์ดับเกิดสุข
๒. ระดับต่อมาก็เกิดเป็นกุศลจิตอิ่มเอมร่มเย็นเป็นสุขเนื่องจากปราศจากกิเลสอกุศล ณ เวลานั้น
๓. ระดับต่อมาก็เกิดแต่กุศล สติ สมาธิ ถึงความไม่สุขไม่ทุกข์อิ่มเอมร่มเย็นแนบแน่นอยู่
๔. ระดับต่อมาก็เกิดจากการปหานกิเลสได้ แม้จะยังกดทับอยู่ ยังไม่อาจจะตัดขาดได้เลย แต่ความอิ่มเอมสุขที่ปหานยับยั้งกิลสให้ดับลงได้บ้าง นิโรธก็ย่อมเกิดมีขึ้นเป็นสุขยิ่ง
๕. ระดับต่อมาก็เกิดจากสภาวะที่เห็นความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน รู้สมมติ เห็นของจริง แล้วจิตไม่จับเอาสมมติ ตัดสมมติได้บ้างแล้วมาจับเอาแต่สภาวะธรรมจริง หรือจับที่จิตอันเป็นสุขนั้นบ้าง จิตอยู่ที่ลมหายใจตลอดเวลา มีลมหายใจเป็นเครื่องยึด เพราะเป็นของจริงเป็นกายสังขาร เป็นของใกล้ตัวที่ยึดง่ายสุดเห็นง่ายสุด โดยไม่ยึดถือสิ่งสมมติอีกบ้าง
๖. ระดับต่อมาก็วิราคะเกิดขึ้นตัดขาดสิ้น นิโรธก็เกิดแจ้งเป็นวิมุตติสุข(ตรงนี้มีแต่พระอริยะเจ้าเท่านั้นที่รู้ เพราะละสังโยชน์ได้แล้ว)

  หลวงปู่บุญกู้ ท่านได้เทสนาสอนว่า...
- ทำไมพระพุทธเจ้าให้ดูลมหายใจ เพราะลมเป็นกายสังขาร ร่างกายนี้ต้องการลมเพื่อดำรงชีพ ไม่มีลมหายใจมันก็ตาย แขนขาด ขาขาดนี้เรายังไม่ตาย แต่ขาดลมนี้ตาย ดูง่ายสุดใกล้ตัวสุด ยกจิตขึ้นได้ดีสุด เป็นที่ยึดดีสุด ประเสริฐสุด
- แต่บางคนดูลมเฉยๆไม่พอ จิตไม่มีกำลัง จิตหลุดจากลมง่าย ส่งจิตออกนอกง่าย ไม่จดจ่อที่ลมหายใจ สติไม่จับที่ลม ดังนั้นครูบาอาจารย์สายพระป่าท่านจึงให้ระลึกเอาพุทธานุสสติด้วย คือ พุทโธ กำกับไว้ตามลมให้ใจเข้าและออกเพื่อให้จิตมีกำลังจับได้ง่ายขึ้น และพุทโธนี้คือพุทธคุณมีอานิสงส์มาก ทำให้เข้าถึงความเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้านั้น





       ๙. สัพพะสังขาเรสุ อะนิฏฐะสัญญา      
สังขารทั้งปวงโดยอาการเจริญสติ ปัญญา โดยความรู้สึกอึดอัด ระอา เกลียดชัง แต่ สังขารทั้งปวง
(ที่เราเห็นกรรมฐาน คือ ปฏิฆะ ต่อ ขันธ์ ๕ ทั้งภายในและภายนอกตน ปฏิฆะต่อสมมติ เป็นปฏิฆะต่อกิเลสและเครื่องล่อใจทั้งหลาย เป็นปฏิฆะต่อนามรูปเหล่าใดอันเป็นไปทางโลก, ไม่มีความยินดีในขันธ์ ๕ และ ธาตุ ๖ อีก ด้วยพิจารณาเห็นใน ๘ ข้อสัญญาข้างต้นนั้น)

- ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน : เพราะรู้ เพราะตื่น และรับรู้ความเบิกบานบ้างแล้ว เห็นแล้วในสัญญา ๑๐ จนครบ ๙ ข้อข้างต้นความทำไว้ในใจว่าสังขารทั้งปวงเหล่านี้ที่เราเห็นเป็น ขันธ์ ๕ ธาตุ ๖ อายตนะ ๑๒ ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งภายในและภายนอกกายใจตน ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ สิ่งของทั้งเครื่องอุปโภค-บริโภค เครื่องใช้ปรนเปรอตามความพอใจตนและเครื่องอยู่อาศัย ทั้งงดงาม ประณีต กลาง หยาบ ที่รัก หรือเกลียด หรือเฉยๆ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ประกอบด้วยคุณ ไม่ใช่สุขที่ยั่งยืน ไม่ใช่สิ่งที่จะอยู่กับเราจนวันตาย ไม่ใช่สิ่งที่เป็นอมตะสุข เป็นของเน่าเหม็นน่ารังเกลียด เป็นสิ่งที่มีโทษ ไม่ประกอบด้วยคุณ เป็นสิ่งที่สร้างความเดือนร้อนและฉิบหายมาให้ เป็นสิ่งที่น่ารังเเกลียด เป้นเพียงธาตุไม่มีสิ่งใดเกินกว่านี้ เป็นแค่สภาวะธรรมที่ยังความฉิบหายมาสู่ตน

**  การที่ทำไว้ในใจแบบนี้ เป็นการตั้งปฏิฆะเพื่อให้จิตไม่ยินดีต่อสังขารทั้งปวง แม้เริ่มแรกจะเป็นการใช้โทสะก็ตาม แต่จัดเป็นการเลือกโทมนัสที่ควรเสพย์ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนแก่ท้าวสักกะเทวราช เป็นการเลือกธรรมมารมณ์ที่ควรเสพย์ พอเมื่อเป็นที่ระอาแก่ใจแล้ว ความจำได้หมายรู้ว่าสิ่งนี้ๆงดงาม สิ่งนี้ๆเป็นสุข สิ่งนี้ๆยั่งยืน สิ่งนี้ๆมีตัวตน สิ่งนี้ๆเป็นเรา สิ่งนี้ๆเป็นของเรา เราควรแก่สิ่งนี้ๆ สิ่งอื่นเหล่าใดนอกจากนี้ไม่ควร เป็นการทะลายความกำหนัดยินดี จนเมื่อไม่มีฉันทะราคะในสิ่งเหล่านั้นแล้ว จะไม่เกิดมีแม้ความแสวงหา ความชอบหรือชังทั้งสิ้น แต่เห็นว่าไม่ประกอบไปด้วยประโยชน์ ไม่มีความจำเป้นที่จะต้องเสพย์มันอีก นี้คือที่เราได้พบเจอเมื่อเลิกเหล้าและความบ้ากามเซ็กซ์จัด โดยกรรมฐานของพระพุทธเจ่า พระธรรมของพระพุทธเจ้า และมีสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ได้แก่ หลวงน้าพระครูนกแก้ว หลวงปู่แหวน หลวงปู่อินตอง หลวงปู่บุญกู้ หลวงพ่อเสถียร ท่านได้เทสนาสั่งสอนและได้สอนกรรมฐาน ได้สอนในสิ่งที่พระอรหันต์รู้และเจริญ ทำให้เรามีโอกาสได้สัมผัสเมื่อมีช่วงเวลาที่สิ่งเหล่านี้ดับสงัดไปอยู่นานถึง 3 เดือนกว่าๆ เกือบ 4 เดือน ทำให้ได้ลิ่มรสความเข้าถึงพระธรรมเป็นอย่างไรโดยแท้จริง

(ทีฆนขสูตร http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=4661&Z=4768 (http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=4661&Z=4768))




       ๑๐. อานาปานัสสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก
(ที่เราเห็นกรรมฐาน คือ อานาปานสติ, พุทธานุสสติ+อานาปานสติ(พุทโธ หรือ อรหัง), เห็นตามจริงว่าลมหายใจนี้คือธาตุเป็นของจริงที่มีอยู่ในกาย หาความยินดีในการให้จิตรู้ของจริงก็คือลมหายใจเรานี้แหละ เป็นกายสังขาร)

- ผู้รู้ ผู้ตืน ผู้เบิกบาน : เมื่อได้เป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มาบ้างแล้วแม้จะโลกียะก็ตาม แต่ก็ทำให้เราเห็นว่าของจริงๆทีอยู่จริงเมื่อได้เข้าถึง สัญญา ทั้ง ๙ ข้อ ข้างต้นนั้น มันไม่มีอะไรอื่นที่จะให้ยึดจับอีกนอกจากลมหายใจ เพราะลมหายใจนี้คือของจริงที่สุดเป้นของจริงแท้แน่นอน ร่างกายนี้ขาดลมหายใจมันก็ดับสูญไป ไฟ อาโป ปฐวี อากาศ วิญญาณ ก็ดับไปไม่มีอยู่ในกองขันธ์นี้ได้อีก หากเราได้เข้าถึงธรรมจริงๆแล้วจะเห็นว่า จิตมันไม่ยึดไม่เอาสภาวะธรรมไรๆทั้งสิ้นเพราะมันเห็นเป็นของปลอมของไม่ประกอบไปด้วยประโยชน์ เห็นว่ามันก็แค่สภาวะธรรมเท่านั้น ถ้าเมื่อเข้าสมาธิ จิตมันก็อยู่ยิ่งได้โดยไม่วิ่งแลนล่องลอยด้วยอำนาจแห่งสมาธิฌาณ หรือสมาบัตินั้นเอง แต่เมื่อปกติอยู่นี้จิตมันต้องอาศัยที่ยึดเพื่่อที่จะสามารถรับรู้สภาวะธรรมภายนอก ผัสสะ สภาวะธรรมภายในตามจริงโดยไม่เสียหลัก ดังนั้นเมื่อจิตเห็นทุกสิ่งเป็นสมมติเห็นสังขารทั้งปวงไม่ใช่ที่ยึดมั่นถือมั่น เมื่อจิตมันไม่มีที่ยึด มันจะไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่เฉยๆ ไม่ขุ่นมัน แต่มันไม่ผ่องใส เพราะสภาวะธรรมมันรายล้อมอยู่ตลอดเวลาในขณะที่ดำรงชีวิตประจำวันอยู่ อยู่เราๆปุถุชนคนธรรมดามันจึงเป็นอย่างนี้เพราะยัวงไม่ถึงสันดานแห่งพระอริยะเจ้า ดังนั้นกิเลสมันจึงยังจรมาอยู่ทุกขณะ ขันธ์ไม่แยกกันตลอด ก็จึงต้องอาศัยลมหายใจนี้แหละเป้นหลักให้จิตเป็นที่ยึดให้จิต เป็นของแท้ของจริงไม่มีอื่นอีก ประดุจพระพุทธเจ้าตรัสสอนพระสารีบุตรว่า ตถาคตมีอานาปารสติเป็นอันมาก ตถาคตรู้ลมหายใจอยู่ทุกขณะตลอดเวลาไม่ขาดไป อานาปานสติเป็นกรรมฐานอันประเสริฐ เราก็พึ่งมาเข้าใจเมื่อเห็นสภาวะธรรมมันแยกกันบ้างเล็กน้อย จิตไม่ยึดไม่จับไม่เสพย์สิ่งใดๆไม่เอาอะไรเลยแต่มันรู้สึกตรึกๆหนักๆไม่ผ่องใส เคว้งคว้าง จนเมื่อรู้ว่าจิตไม่มีหลักยึดเพราะยังเป็นปุถุชนอยู่เลยเอาจิตจับของแท้คือลมหายใจอยู่ทุกขณะอาการนี้จึงหายไปไม่เกิดขึ้นอีกเลย
- อานาปานสติ+พุทโธ นี้แหละทำให้ถึงซึ่ง ความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยแท้จริง หากอยากพ้นทางโลก ก็ต้องเจริญอานาปานสตินี้แล เพราะอานาปานสติเป็นอารมณ์ธรรมไม่ใช่อารมณ์ทางโลก เป็นอารมณ์ทางธรรม ผู้ที่ถึงธรรมเท่านั้นถึงจะเข้าถึงอานาปานสติได้  เพราะ พุทโธ คือ พระพุทธเจ้า ไม่ใช่อารมณ์ทางโลก แต่เป็นอารมณ์ทางธรรมเป็นอารมณ์แห่งมรรและผล หากจิตเป็นไปในทางโลกจะไม่สามารถถึงพุทโธได้ พุทโธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นคุณของพระพุทธเจ้าและผู้ที่ปฏิบัติถึงผล ๔ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเท่านั้น ปุถุชนทางโลกหรืออะไรที่เป็นทางโลกๆย่อมไม่มีพุทโธ ผู้ที่มีสันดานแห่งพระอริยะเจ้าเท่านั้นที่จะทำทุกอย่างให้เป็นไปเพื่อพุทโธได้
- อารมณ์ทางโลก คือ โลกียะ ประกออบไปด้วยกิเลสเครื่องเศร้าหมอง แสวงหาสิ่งปรนเปรอตน มีความสุขอยู่บนของไม่เที่ยง
- อารมณ์ทางธรรม คือ โลกุตระ ประกอบไปด้วยความพ้นจากเครื่องเศร้าหมองกายใจทั้งปวง มีสุขอยู่ที่ความหมดสิ้นไปแห่งกิเลส เมื่อหมดกิเลสก็ไม่มีทุกข์เกิดขึ้นอีกเลย เป็นอมตะสุข
- อารมณ์ทางโลก มันเป็นทุกข์ เพราะประกอบไปด้วยกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง แสวงหาความสุขบนสิ่งไม่เที่ยง อาศัยสิ่งไม่เที่ยงมาเป็นสุขของตน
- อารมณ์ทางธรรม มันเป็นสุข เพราะไม่ประกอบไปด้วยกิเลส มีสุขอยู่บนความหลุดพ้นจากสิ่งไม่เที่ยง-ไม่มีตัวตน ดับความรัก โลภ โกรธ หลงทั้งปวง

  หลวงปู่บุญกู้ ท่านได้เทสนาสอนว่า...
- ทำไมพระพุทธเจ้าให้ดูลมหายใจ เพราะลมเป็นกายสังขาร ร่างกายนี้ต้องการลมเพื่อดำรงชีพ ไม่มีลมหายใจมันก็ตาย แขนขาด ขาขาดนี้เรายังไม่ตาย แต่ขาดลมนี้ตาย ดูง่ายสุดใกล้ตัวสุด ยกจิตขึ้นได้ดีสุด เป็นที่ยึดดีสุด ประเสริฐสุด
- แต่บางคนดูลมเฉยๆไม่พอ จิตไม่มีกำลัง จิตหลุดจากลมง่าย ส่งจิตออกนอกง่าย ไม่จดจ่อที่ลมหายใจ สติไม่จับที่ลม ดังนั้นครูบาอาจารย์สายพระป่าท่านจึงให้ระลึกเอาพุทธานุสสติด้วย คือ พุทโธ กำกับไว้ตามลมให้ใจเข้าและออกเพื่อให้จิตมีกำลังจับได้ง่ายขึ้น และพุทโธนี้คือพุทธคุณมีอานิสงส์มาก ทำให้เข้าถึงความเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้านั้น






คัดลอกหัวข้อมาจาก พระอาจารย์สนทยา ธัมมวังโส (เพราะเห็นว่าความหมายจากการปฏิบัติถูกต้องกว่า ที่คัดลอกมาจากเวบธรรมมะไทย ความหมายจากธัมมโชติ)
ขอบคุณที่มาจาก  http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=75.0 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=75.0)



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 12, 2015, 09:22:02 AM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 21-23 เมษายน 2558





    หลังจากที่เราได้รู้ความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ได้พิจารณาม้างกายออกมาเป็นส่วนๆก็ไม่เห็นมีตัวตนเราในนั้น ไม่อายตนะภายนอกก็ไม่เที่ยง ไม่มีในเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราแล้ว โดยปกติเราจะทำสมาธิก่อนนอนทุกคืน บางครั้งก็มองไปในที่มืดในขณะที่หลับตาพร้อมรู้ลมหายใจและบริกรรมพุทโธไป

    เมื่อเราทำสมาธิโดยเพิกมองไปในที่มืดที่เราหลับตาอยู่ มองดูกำหนดหมายว่าความมืดไม่เห็นอะไรไม่มีประมาณนี้เป็นอากาศบ้าง จากนั้นก็มองไปหมายตาในที่จะมองเห็นเพดานห้องแม้หลับตาไม่ได้แหงนมองดูบ้าง ช่วงนี้จะมีสัญญาเกิดบ้างว่าเพดานห้องเป็นอย่างนี้ๆตามที่เราเคยมอองเห็นยามเช้าเมื่อลืมตาแหงนมอง (เหมือนที่เคยทำเมื่อตอนยังเด็กต่างกันเพียงตอนนี้กำหนดเอาความมืดบ้าง กำหนดว่าเป็นอากาศความมืดนั้นคือทึี่ว่างไปไม่มีประมาณเหมือนห้วงความมืดที่ว่างในจักรวาลบ้าง) ก็เกิดนิมิตเหมือนตาไปมองเห็นนิมิตชัดเจนถึงสิ่งหนึ่งเป็นก้อนสีขาวนวลหน่อย จะว่าก้อนปูนก็ไม่ใช่ ก้อนหินก็ไม่ใช่ มันบังคับเข้าไปมองให้ชัดขึ้นได้ ใหญ่ขึ้นได้ ถอยออกมาได้ แล้วก็นิ่งแช่ไม่ขยับจากตรงนั้น มันจ้องมองนิ่งแช่อยู่นานมากก็ไม่จางหายไป โดยสภาวะแรกมันแค่เห็นแล้วนิ่งแช่เพ่งดูอยู่ในสิ่งนั้นเท่านั้น ไม่มีความตรึกนึกคิดส่วนไรๆ ("สภาวะนี้สมัยเมื่ออายุ 14 ปี เราได้เคยทำ แต่เมื่อก่อนไม่รู้จักสมาธิ เพียงแค่อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นมากเลยอยากถอดจิตได้ ก็เลยทำเล่นๆโดยนอนแล้วเอาผ้าห่มหนาๆคลุมปิดทั้งตัวและหัว การหายใจก็ไปแบบผ่วเบาพอที่จะรับอากาศจากช่องว่างของผ้าและผ้าฝ้ายของผ้าห่ม แล้วก็กำหนดว่าเราจักมองเห็นเพดานห้องถ้ามองเห็นเมื่อไหร่เราก็จะไปดูหรือไปหาบุคคลที่เราต้องการจะดูบ้าง สถานที่ที่เราต้องการจะไปบ้าง แล้วก็เกิดเห็นตามนั้นก็เคยได้ไปตามเพื่อนในสมัยตอนเด็กนั้นเขาก็บอกว่าจริงตามที่เราเห็น")
    พอรู้ตัวมันก็เพ่งมองในสิ่งนั้นด้วยรู้ว่าคืออะไร พอหลุดออกมาอีกมันก็เกิดความรู้ตัวว่าทำสมาธิอยู่ สิ่งที่เห็นคือนิมิตอันเกิดแก่สมาธิ เพราะเรากำหนดใจไว้ที่จะมองไปในที่มืดอันกว้างแล้วมีจิตตั้งไว้ให้เห็นนิมิตหรือรูปภาพ ณ ที่นั้นที่นี้ เสียง ณ ที่นั้นที่นี้ หลังจากเกิดสภาวะนี้ได้นานประมาณ 7-10 นาที แล้วมันก็ดับไปเพราะจิตมันตื่นตัวไปรู้โดยวิตกสมมติมากขึ้น เมื่อพิจารณาดีๆแล้วก็เห็นว่า กสินท่านเพ่งอย่างนี้เองหนอ กสินมันเป็นอย่างนี้เอง

    เมื่อตื่นรู้ตัวก็พุทโธ ก็ทำให้ความกำหนัดยินดีในกามสงัดไป ช่วงวันและเวลานี้ ประมาณกลางคืน ช่วงเวลา 00.30 - 2.00 น. ของวันที่ 21-23 เรามักจะรู้ตัวอยู่โดย ตัวรู้แยกออกจากกาย แยกออกจากความตรึกนึกคิด แลเห็นว่า มันเกิดความตรึกนึกพิจารณาใน อสุภะสัญญา หรือ อาการทั้ง ๓๒ ในกายตน เปล่งวาจาออกมาเหมือนคนละเมอเป็นทั้งบาลีและคำแปลครบอากาทั้ง ๓๒ และในขณะบริกรรมนั้นมันก็เกิดนิมิตในกายตนเป็นส่วนต่างๆไปตามคำสวดพิจารณานั้น ซึ่งทั้งๆที่เราไม่เคยท่องจำอาการทั้ง ๓๒ ได้เลย ไม่เคยได้สวดครบและจำได้เกิด เกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ มังสัง เลยสักครั้ง แต่มันก็ช่วยยังให้จิตคลายกำหนัดได้มากในช่วงเวลานั้น พอเมื่อตัวรู้มันรู้ดังนี้โดยแยกจากกายก็ดี สังขารก็ดี มันนิ่งแช่ดูอยู่จนจบแล้วก็ตื่นขึ้นมา ตลอดตั้งแต่ วันที่ 21-23 เมษายน 2558
    เมื่อเราได้มาหวนระลึกพิจารณาก็เห็นว่าอาจจะด้วยสัญญาที่เราจดจำไว้ว่าหากเราม้างกายในฌาณได้ตามจริง เราจะบรรลุโสดาปัตติผลทันที มันจึงเกิดความสำคีัญมั่นหมายใจไว้อย่างนี้ๆจนนำมาฝันละเมอก็เป็นได้ แต่ในอีกส่วนหนึ่ง เมื่อมันพิจารณาอย่างนี้แม้ในขณะหลับก็ตาม มันก็ยังคุณประโยชน์ให้คลายกำหนัดได้มากขนาดนี้แม้จะเพียงชั่วคราวก็ตาม ถ้าเราสามารถทำได้ตามจริงจะทรงคุณค่าขนาดไหนกันหนอ

    ทุกเช้าในช่วงของวันที่ 21-25 เราจะพาอั่งเปาไปทำบุญ ถวายภัตรแก่พระอริยะสงฆ์ กวาดล้างกุฏิลานวัดที่กุฏิหลวงปู่บุญกู้เป็นประจำไม่ขาด แล้วก็พาอั่งเปาทำสมาธิทุกวัน และ สติวการเรียนให้ ซึ่งหลังจากลูกไปกวาดลานวัด นั่งสมาธิ และ พระอาจารย์มหาณัฐพงษ์ และ ครูบาอาจารย์สายพระป่าจาก อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร พระอริยะสงฆ์และพระสุปฏิปันโนทั้ง ๓ ท่าน ได้สอนอั่งเปานั่งสมาธิ รดน้ำมนต์และเคาะหัวให้อั่งเปา (ระอาจารย์มหาณัฐพงษ์ ท่านมาจากวัดป่าที่อเมริกาเพื่อมานำพระพุทธรูปและรูปหล่อของหลวงตามหาบัวที่ญาติโยมสร้างถวายจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ กลับวัดป่าที่อเมริกา)
ก็ทำใ้อั่งเปามีความรับผิดชอบมากขึ้น มีสมาธิมากขึ้น จดจำได้ดีขึ้นตามลำดับด้วย นั่นคงเป้นอานิสงส์จากสมาธิและคำสอนสั่งจากครูบาอาจารย์เป็นแน่แท้

** อาการที่สังขารมันตรึกนึกคิดปรุงแต่งเรื่องราวสมมติไปเรื่อยๆ โดยมีตัวรู้คือจิตที่เกิดประกอบกับสติแลดูรู้ทันอยู่ทุกขณะ แต่จิตไม่ได้ยึดเอามาร่วมเสพย์กับสังขาร สภาวะนี้โดยส่วนตัวของเราเรียกว่า "สภาวะที่จิตแลดูอยู่" "ไม่ใช่สภาวะรู้หรือตามรู้" มันจะเห็นสังขารแยกกับจิตโดยสิ้นเชิง ซึ่งสภาวะนี้เมื่อได้ฌาณโดยประมาณปี เดือนมีนาคม-เดือนเมษายน พ.ศ. 2549 อาการนี้จะมีอยู่ตลอดทั้ง 3 วัน 3 คืน จึงทำให้รู้จักคำที่หลวงพ่อปราโมทย์บอกว่าหลวงปู่ดุลย์ท่านบอกให้ตามรู้ ตามดูจิตไป ผลมันเป็นอย่างนี้เอง คือ ที่พระพุทธเจ้าตร้สสอนไว้ในสติปัฏฐานสูตรว่า "มีไว้รู้ ไม่ได้มีไว้เสพย์" มันเป็นอย่างนี้เอง





บันทึกกรรมฐานวันที่ 26 เมษายน 2558 เวลา 00.30 น. - 2.00 น.


    วันนี้ก็ได้เห็นตัวรู้แยกจากสังขารอีกเช่นเคย แต่ครั้งนี้ในนิมิตที่มันเห็นอยู่นั้น เป้นสีทองสว่างไสว มองไปไกลไม่มีที่สุด แต่เห็นความมีความพุงขึ้นเป้นแท่งบ้างเหมือนเสา แล้วก็พังลม วนอยู่อย่างนั้น เหมือนเพลิกไฟของดวงอาทิตย์ที่ลุกไหม้อยู่มีสะเก็ดไฟพุ่งขึ้นก็ว่าได้ "ในขณะนั้นเราสักแต่เพียงรู้และเห็นสีทองอยู่เท่านั้น ไม่มีความตรึกนุึกคิดสิ่งใดๆเลย แล้วไม่นาน จิตมันก็เกิดวิตกสลดสังเวชขึ้นมาเมื่อเห็นนิมิตนั้นว่า "คนทั้งหลายเหล่านี้น่าสงสารจริงหนอ ยังโง่งมงายอยู่ มีความสุขลุ่มหลงอยู่กับของไม่เที่ยง" ทั้งๆที่เห็นเพียงสีแล้วก็สิ่งที่เป้นเหมือนแท่งเสาเกิดขึ้นแล้วก็พังสลายไปจะเหมือนเสาอโศกก็ว่าได้" เมื่อจิตหลุดจากตรงนั้นก็ยังให้จิตผ่องใสไม่ยึดเอาสิ่งไรๆทั้งนั้นเหมือนกับว่าตนได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว จากนั้นก็หลับต่อ พอตื่นขึ้นมาเมื่อหวนระลึกถึงอารมณ์นั้นคราใดก็ยังให้จิตคลายจากอุปาทานตัวตนทั้งปวงสิ้นไป ประดุจเหมือนผู้ที่ได้เห็นธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว อารมณ์นี้เมื่อทรงอยู่ได้ไม่นานก็ดับไป แต่มันจะเกิดขึ้นมาอีกทุกครั้งเมื่อหวนระลึกถึงอารมณ์และนิมิตเหล่าใดที่เกิดมีขึ้นในตอนนั้น จนถึงวันนี้ วันที่ 29/4/58 ก็ยังมีอยู่





 


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 13, 2015, 10:31:19 AM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 10/5/58 เวลาประมาณ 12.00 น.

       วันนี้เราไปกวาดลานวัดที่กุฏิหลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน ขณะกวาดได้พึงคิดว่า ผู้คนที่มาทำบุญที่วัดทั้งหลลายมาเพราะอยากได้บุญอยากรวยจากผลทานเพราะหลวงปู่ท่านเป็นพระอริยะสงฆ์ แต่ไม่มีใครมาหาหลวงปู่เพราะอยากรู้ธรรมและบรรลุธรรมตามบ้างเลย ถึงแม้เรานี้จะบุญบารมีน้อย ไม่รวยไม่มีตำแหน่งหน้าตาที่ดีพอที่จะเข้าไปขอธรรมและพูดคุยกัยหลวงปู่ได้อย่างเจ้าขุนมูลนายเหล่านั้น แต่เราก็ทำเพื่อความถึงซึ่งพระนิพพาน ไม่ได้มาทำเล่นๆ หรือ หวังรวยล้นฟ้ามีอำนาจบารมี
       เมื่อมาดูที่ตนแล้ว แม้เราเองก็มีความหวังเช่นนี้เหมือนกันไม่ต่างจากเขาเลย ถึงแม้จะไม่รุนแรงมากขนาดเจ้าขุนมูลนายหรือคนที่คิดว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่ สูงส่งอย่างนั้นอย่างนี้ แต่มันก็เป็นความปารถนาเหมือนกัน คือ อยากร่ำรวยอยากมีเงินทองมากมายไว้ให้ลูกหลานใช้จ่ายอยู่อย่างสุขสบายไปตลอด เลี้ยงดูพ่อแม่มีเงินมากมายดูแลพ่อแม่และเป็นเสาหลักของบ้านได้ มีเงินทำบุญมากมายได้อย่างไม่ขัดสน เจริญในหน้าที่การงาน การเงิน ความรัก และ การเรียนรู้ทั้งหลาย เจริญทั้งทางธรรมและทางโลก จนเข้าถึงธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน ถึงพระนิพพานตามพระพุทธเจ้านั้น เป็นคนฉลาดๆ หัวไวๆ มีควาจำเป็นเลิศ มีหัวพลิกแพลงมีไหวพริบ แก้ปัญหาได้ทุกอย่างโดยง่าย เป็นผู้ฉลาดไม่มีที่สิ้นสุดสามารถไขปัญหาข้อข้องใจให้ผู้อื่นได้รู้ตาม ได้เห็นธรรมตามที่พระัพุทธเจ้าตรัสสอน ช่วยคนทั้งหลายให้หลุดพ้นทุกข์ตามได้ สามารถประกาศเผยแพร่ธรรมของพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนาให้ขจรไกลไปทั่วและยืนนานได้ นี่มันก็ปารถนาไม่ต่างจากเขาเลย

       สักพักเมื่อสติเกิดรู้ว่าตนส่งจิตออกออกอยู่ ทั้งๆที่ตั้งใจจะกวาดตราดแล้วเจริญสมาธิไปด้วย เพราะเป็นธุดงวัตร ๑๓ จึงได้คิดมองดูตนดั่งหลวงปู่เทศนาสอนว่า "เรามัวไปดูแต่คนอื่นไปรู้คนอื่น ก็ไม่รู้ตนเอง ไม่เห็นกิเลสตน ดังนั้นให้มองดูที่ตนเอง อย่าไปสนคนอื่น, การที่เราไปโกรธคนอื่น เบียดเบียนคนอื่น เพ่งโทษผู้อื่นนั้น ก็เพราะเมตตายังไม่มี เมตตาเป็นฐานให้ศีลบริสุทธิ์ ต้องมีเมตตาศีลให้มาก คือ มีความปารถนาดีอันน้อมไปในการสละให้, ความเป็นมิตรที่ดี(ความเป็นมิตรที่ดี คือ สภาวะที่จิตเรานี้มีไมตรีสัมพันธ์ที่ดีต่อเขา ไม่มีความผูกแค้นตั้งความชอบใจและ ไม่ชอบใจต่อเขา ความที่ให้การสนิทชิดเชื้อต่อกัน มีจิตแบ่งปันสิ่งที่ดีงามในกุศลต่อกัน ไม่ผูกเบียนเบียนทำร้ายกันทั้งทาง กาย วาจา ใจ ประดุจดั่งคนในครอบครัวอันเป็นที่รักของตน เป็นต้น)"

       ดังนั้นจึงมารู้ตนว่าเรานี้มีจิตเศร้าหมองเพราะไปติดใจข้องแวะกับผู้อื่น ใจแคบกับคนอื่น อิจสาผู้อื่น เรานี้ก็ได้เห็นสืบตามที่หลวงปู่สอน ทำให้เราเห็นว่า..

- ความเป็นมิตรที่ดีต่อผู้อื่น เว้นจากผูกเวร การเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่นแม้โดยเจตนา จะเกิดมีได้ก็ต้องอาศัย เมตตา เป็นฐานทั้งสิ้น
- ความสงเคราะห์ผู้อื่น อนุเคราะห์ แบ่งปัน อดโทษต่อผู้อื่น ความมีจิตน้อมไปในการสละให้ สละเสียซึ่งความใคร่ได้ที่จะเสพย์ปรนเปรอตน สลัดทิ้งความผูกขัดใจจนเกิดเป็นทาน และ อภัยทานตามมานี้ ก็เป็นเพราะอาศัย กรุณา เป็นฐาน เกิดร่วมกับเมตตาทั้งสิ้น
- ความที่เราไปขัดใจ ข้องแวะใจ ไม่ยินดี อิจสาริษยาผู้อื่น เราจะทำลายมันได้ก็ด้วย มุทิตา
- ความไม่ยึดถือเอาทั้งโลภทั้งโกรธ ทั้งชอบและไม่ชอบ ยินดีและไม่ยินดีนี้ คือ อุเบกขา ความวางใจไว้กลางๆไม่ลำเอียงเพราะรัก เพราะชัง เพราะไม่รู้ เพราะกลัว ไม่ยินดียินร้ายกับมัน เห็นว่าเป็นตามแต่บุญกรรมของเราและเขาที่สะสมมาทั้งในอดีตและปัจจุบันได้ส่งผลให้ได้พานพบเจอ

       เมื่อเห็นดังนี้แล้วจึงเห็นว่า เพราะนิจจะสัญญาและอัตตะสัญญา ที่มองว่าเที่ยงว่าเป็นตัวตนเป็นเราเป็นเขา สิ่งนี้ควรและไม่ควรแก่เขาหรือเรา สิ่งนี้ๆเราควรมีควรได้และไม่ควรมีควรได้แก่เขาหรือเรา นี้แหละคือเหตุให้ไม่ถึง พรหมวิหาร ๔ แบบเจโตวิมุตติสักที ดังนั้นเราจึงได้ละอัตตาเราลงเสียจิตก็สงบขึ้น

       เมื่อกวาดตราดต่อก็คิดอีกว่าเราจะทำอย่าไรถึงจะได้หลุดจากทางโลกอันเป็นทุกข์ได้ ก็คิดอยู่สักพักก็นึกถึงว่าถ้าเราถามข้อข้องใจกับหลวงปู่บุญกู้ก็คงดี หรือ มีครูบาอาจารย์สักท่านคอยชี้แนะสั่งสอนแต่สามารถสอบถามได้ทุกเมื่อก็คงดี แล้วจิตก็น้อมคิดถึงหลวงน้า(พระครูแก้ว) เมื่อคิดถึงครูบาอาจารย์ทั้ง 2 ท่าน สักพักจู่ๆก็มีความคิดแวบนึงเข้ามาว่า "หากเราอยากพ้นทางโลก ก็ละสิ่งใดที่ทำให้เกิดความเป็นในทางโลกเสียสิ" แล้วจึงหวนตรึกนึกคิดต่อว่าสิ่งที่เป็นทางโลกก็คือ

- ก็ที่เรานี้แหละหวนคิดไปขัดแย้งขัดใจไม่พอใจคนนั้นคนนี้อยู่ เห็นว่าสิ่งนี้ๆไม่เหมาะควรแก่เราบ้าง นี่ก็เป็นทางโลก
- ก็ที่เราอยากมีนั้นมีนี้ อยากได้นั่นได้นี่ อยากเป็นนั่นเป็นนี่ เห็นว่าสิ่งนี้ๆเหมาะควรแก่เราบ้าง นี่ก็เป็นทางโลก
- ก็ที่เราเห็นเขามีเขาเป็นแล้วอยากได้อยากมีอยากเป็นตามเขาบ้าง หรือไท่พอใจอิจสารอษยาเขาจนเคียดแค้นบ้าง นี่ก็ทางโลก
- ความที่ไม่รู้เห็นตามจริงในสภาวะธรรมทั้งปวง ความลุ่มหลงในสภาวะธรรมทั้งปวงจนเข้าไปฝักใฝ่ใคร่ได้แสวงหาที่จะเสพย์ จนยึดมั่นถือมั่นว่าสภาวะธรรมทั้งปวงยั่งยืนนาน เป็นเรา เป็นเขา เป็นของเรา  เป็นที่ควรและไม่ควรแก่ตน หรือ ควรและไม่ควรต่อใคร ความยึดมั่นถือมั่นเห็นเป็นสิ่งที่ยั่งยืน เป็นตัวตนทั้งสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ เกิดความแสวงหาเหล่าใดอยู่เพราะไม่รู้ว่ามันคือทุกข์ ปล่อยวางจากอุปาทานไม่ได้ นี่ก็ทางโลก




       เมื่อทบทวนกลับไปกลับมา เราก็สรุปโดยย่อได้ว่า ความเห็นว่าเที่ยง ว่าเป็นตัวตน อามณ์ปรุงแต่งให้เป็นไปใน รัก โลภ โกรธ หลง เหล่าใด สิ่งเหล่านี้เป็นทางโลกทั้งหมด หากเราจะพ้นทางโลก ก็ต้องละความเป็นตัวเป็นตนทางโลกไปเสีย เราจะละตัวตนทางโลกนี้ได้ก็ต้องละที่ความเห็นในทางโลกนั้นเสีย ละความเห็นสมมติทางโลกได้ก็ต้องละความคิดทางโลกเหล่านี้ไปเสีย ซึ่งความคิดทางกุศลธรรมจะไม่มี รัก โลภ โกรธ หลง ติดยึดในสุข ทุกข์ เฉยๆ เกลียด รัก ชอบ ชัง แสวงหา
       ดังนั้นเราก็แค่ไม่ไปยึดเอาธรรมมารมณ์เหล่าใด วิตกเหล่าใดที่เป็นไปในทางโลกทำให้อกุศลธรรมเกิดขึ้นมาก็เท่านั้นเองก็พอแล้ว
       หากเรายังทำไม่ได้ทุกขณะ ยังไม่บ่อย นั่นเพราะยังภาวนาไม่พอให้จิตมันรู้เห็นและละได้นั่นเอง ฐานแห่งภาวนาก็คือ ศีล, ทาน,  อิทธิบาท ๔, สัมมัปปธาน๔, พละ ๕ นั้นเอง

ละทางโลก เราจะพ้นจากทางโลกได้ ก็ต้องละที่ความคิดเห็นที่เป็นไปในทางโลก
    นั่นเพราะเรามีใจเป็นใหญ่มีใจเป็นประธาน มีธรรมมารมณ์ คือ ความคิดปรุงแต่งเป็นที่ยึดเสพย์แก่จิต

ละทางโลก เราจะพ้นจากทางโลกได้ ก็ต้องละในความที่จิตรู้สมมติ
    นั่นเพราะสมมติทั้งปวงมีใช้และเป็นไปแค่ในทางโลกเท่านั้น






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 15, 2015, 03:32:10 PM


ทบทวนกรรมฐานที่เจริญมาในวันที่ 15/5/58


สัญญา ๑๐ โดยย่อ # ๑ คือ

ก. พึงเห็นความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน พึงไม่ยึดมั่นถือมั่นว่ายั่งยืนและเป็นตัวตน แม้สภาวะธรรมภายในและภายนอกตน เกิดมาก็ต้องทุกข์ยากลำบากไม่รู้จะเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานฟรือคน แม้เป็นคนก็ไม่รู้จะพิกลพิการและมีอยู่มีกินหรือไม่ โตเจริญวัยมาก็ต้องยังชีพอยู่จะสบายหรือลำบากก็ตามแต่บุญกรรมที่ส่งผลตามมาบางคนพิการไม่พอยังยากจนอีกจะกินจะขี้จะเยี่ยวก็ลำบากอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็เริ่มอยากได้นั่นได้นี่
ข. ม้างกาย สลายอาการทั้ง ๓๒ ไม่มีเราในอาการทั้งปวง ในอาการทั้งปวงไม่มีเรา
ค. เป็นที่ประชุมโรคแล้วอาการทั้ง ๓๒ ก็เน่าเปื่อยประดุจโรคร้าย สักแต่เป็นแค่ธาตุที่พ่อแม่ให้มา คือ ดินและน้ำเป็นต้น เมื่อมีวิญญาณเข้ามาอาศัยจึงมี ไฟและลมตามมา มีอากาศอยู่ทุกอณู เมื่อลมดับ ไฟก็ดับ น้ำดับ ดินก็ดับ อากาศก็ดับ วิญญาญก็สูญ แล้วสลายไปไม่เหลือ

นี่คือ..............มรรคญาณ สัมมาทิฐิ...............



ง.๑ ละอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นโดย เมื่อเพิ่งตื่นนอนรู้สึกตัวจนถึงก่อนนอนจนหลับไป
- ให้พึงกำหนดลมหายใจเข้ายาว ระลึกบริกรรม "พุท" โดยน้อมเอาคุณของความเป็นผู้รู้เห็นในสมมติทั้งปวงและความเป้นผู้ตื่นจากสมมติทั้งปวงของพระพุทธเจ้า น้อมมาสู่ตน
- ให้พึงกำหนดลมหายใจออกยาว ระลึกบริกรรม "โธ" โดยน้อมเอาคุณของความเป็นผู้เบิกบานอันพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงของพระพุทธเจ้า น้อมมาสู่ตน
- พึงทำอยู่อย่างนี้ไปสักประมาณสัก 3-5 นาที หรือมากกว่านั้น ก่อนที่จะไปทำกิจวัตรประจำวันส่วนตัวไรๆ
- จากนั้นแผ่เมตตาให้ตนเอง แล้วแผ่เมตตาไปแบบไม่มีประมาณให้ทั่วทั้ง 12 ทิศ (ตามแต่จะมีเวลามากน้อยเพียงไร)
- กระทั่งก่อนเข้านอน ก็พึงเจริญเหมือนตื่นนอนไปจนหลับ หรือ จะแค่ทำอย่างใดอย่างหนึ่งโดยส่วนเดียวก็ได้จนหลับ

นี่คือ..............สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ...............

ง.๒ ละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วโดย พึงมีสติเป็นเบื้องหน้า เลือกธรรมมารมณ์ที่ควรเสพย์ แล้วตั้งจิตอยู่ใน จิตตานุสติปัฏฐาน รัก โลภ โกรธ หลง เกิดก็รู้ว่ามันเกิด
- แล้วเจริญ ทมะ(คิดชอบ)+อุปสมะ(ความสงบไม่เบียดเบียนแล้วยังใจให้เกิดอุเบกขาเป็นต้น) และ ขันติ(ความทนได้ทนไว้ รู้จักละ รู้จักปล่อย รู้จักวาง)+โสรัจจะ(สติและศีลสังวร) กิเลสตั้งอยู่ก็รู้ว่ายังอยู่
- จากนั้นให้รู้สมมติกิเลสตามจริงว่า แท้จริงแล้วมันก็เพียงสภาวะธรรมหนึ่งๆที่แยกกันไม่ไใช่จิต ไม่ได้อยู่ร่วมกับจิต แต่เพราะจิตเราน้อมไปหามัน(น้อมไปหาอารมณ์)เข้าไปยึดเอามันมาเสพย์ เจตนา สัญญา วิตกเกิดขึ้น สมมติจึงเกิดขึ้น สังขารขันธ์เป็นธัมมารมณ์หนึ่งที่ไม่ควรเสพย์ เมื่อรู้ดังนี้แล้วก็พึงละสมมติกิเลส พึงเห็นว่าสมมติกิเลสทั้งปวงเกิดมีขึ้นเพราะอารมณ์ทางโลก ความแสวงหาอารมร์ทางโลกเป็นทางให้กิเลสเกิดขึ้น เมื่อเราแสวงหาทางธรรมจึงไม่ควรเสพย์ทางโลกควรละเว้นเสียให้ได้ ปล่อยทิ้งอารมณ์ปรุงแต่งนั้นไปให้มันเป็นเพียงสภาวะธรรมหนึ่งๆเท่านั้น กิเลสตั้งอยู่ ก็รู้ว่ายังอยู่
- น้อมจิตเข้าสมาธิโดยมีลมหายใจเป็นเบื้องหน้า หรือตั้งกุศลวิตกที่พุทโธหนุนตามลมหายใจ เมื่อจิตนิ่งก็รู้ ให้รู้เพียงสภาวะธรรมหนึ่งๆเกิดมีขึ้นอยู่เท่านั้น เมื่อเราไม่เสพย์มันก็ดับไป เพราะไม่มีเหตุปัจจัยให้สืบต่อ กิเลสดับ ก็รู้ว่ากิเลสดับ

นี่คือ..............สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ยาถาภูญาณทัสสนะ...............

ง.๓ ทำกุศลให้เกิดมีขึ้นพึงทำใจไว้ตั้งอยู่ใน พรหมวิหาร ๔ ให้มากจนเป็นปกติจิตเป็นอาหารให้ ศีล และ ทาน เกิดงอกงามบริบูรณ์เป็นเบื้องหน้าทุกขณะจิตตั้งแต่ตื่นนอน ดำรงชีพอยู่ จนถึงกระทั่งเมื่อเข้านอน เป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิดสังขารโดยรอบมีสัมปะชัญญะเกิดร่วมจนสติแก่กล้าให้เกิดเป็นมหาสติ มีสมาธิกำกับตามอยู่แนบแน่นให้เห็นตามจริง

อุปมาเหมือน
- ศีลเป็นฐานเป็นพื้นบ้าน
- ทานเหมือนกระเบื้องที่ฉาบพื้นบ้านให้ดูงดงามเกิดความสบายกายใจ
- พรหมวิหาร ๔ เป็นเหมือนสีหรือปูนขาวที่คอยเสริมรอยแตกหรือช่องว่าหรือประสานระหว่างพื้นบ้านและกระเบื้องให้ติดแน่นราบเรียบไม่โปร่งเป้นโพรงจนบริบูรณ์ดีไม่ด่างพร้อย
ฉันใด ศีลเป็นเครื่องดำรงทางกายและวาจาเป็นฐานหลักของทุกสิ่ง ทานเป็นสิ่งเสริมกำลังให้อิ่มเอมเต็มกำลังใจ พรหมวิหาร ๔ เป็นเครื่องดำรงจิตให้กุศลศีลและทานบริบูรณฺ์ ฉันนั้น

แล้วเดินวิโมกข์ ๘ แม้จะเพียงโลกียะ หรือไม่ถึงสมาบัติ หรือไม่เกินปฐมฌาณก็ตาม แต่พึงตั้งใจไว้อย่างนั้น เพื่อเดินจิตไปในทางแห่งกุศลตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ดีแล้วนั้น จนเป็นปกติแห่งจริตสันดานตนก็จะทำให้กุศลเกิดมีขึ้นแล้วขจัดกิเลสได้มากขึ้น ดังนั้นให้ทำไว้ในใจไม่ว่าจะเพิกหน้าไปทางใด หรือจะอยู่แห่งหนใด ไม่ว่าจะทิศใดๆรอบตัวก็แผ่เอา ศีล ทาน พรหมวิหาร ๔ นี้ไปให้ทั่วทุกทิศ ทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง เบื้องเฉียง เบื้องบน เบื้องล่าง

นี่คือ..............สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ...............

ง.๔ คงรักษากุศลไว้ไม่ให้เสื่อม พึงตั้งอยู่ด้วยสติ ไม่ยินดียินร้าย มีอานาปานสติให้มาก มีพุทโธให้มาก อยู่ทุกขณะ ทุกลมหายใจ เป้นเหตุให้ สติกำลัง และสมาธิกำลัง มีเกิดขึ้นแก่กล้า ทำให้จิตน้อมจับแต่กุศลธรรมอันดีงาม เป้นบ่อเกิดแห่งกุศลมูลทั้งปวง ไม่เสพย์อกุศลธรรมอันลามกจัญไรอยู่ทุกขณะ พึงระลึกว่าแม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป้นพระบรมครูแห่งมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ก็ยังมีอานาปานสติเป้นอันมากรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่ทุกๆขณะ เราผู้กรายไหว้อยู่ก็พึงควรประพฤติตาม
(พร้อมทำไว้ในใจโดยความยินดีในกุศลว่า จิตอันเป็นกุศลมันเป็นสุขที่ร่มเย็น ไม่มีความติดใจข้องแวะในสิ่งไรๆ ไม่ร้อนรุ่ม ไม่เร่าร้อน ไม่เศร้าหมอง มีปกติอยู่โดยสุขปราศจากความทุกข์กายและใจ น้อมจิตไปให้เกิดฉันทะสมาธิและปธานสมาธิ ตั้งอยู่จนจิตแน่วแน่ดีแล้ว)

นี่คือ..............สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ...............




หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 19, 2015, 06:03:44 PM
ทบทวนกรรมฐานที่เจริญมาในวันที่ 15/5/58

สัญญา ๑๐ โดยย่อ # ๒ คือ


จ. เจริญใน พรหมวิหาร ๔ ศีล ทาน ภาวนาให้มากๆ โดยให้ตั้งมั่นทำไว้ในใจดังนี้
- ศรัทธาในพระพุทธเจ้าให้มากๆ ศรัทธาการตรัวรู้ธรรมและพระธรรมของพระพุทธเจ้าว่าประกอบด้วยคุณเครื่องออกจากทุกข์ มีความเชื่อว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม หากศรัทธาข้อนี้มีน้อยให้หวนระลึกดูว่า เวลาที่เราทำผิดศีลธรรมเราเร่าร้อน ร้อนรุ่ม ระแวง เศร้าหมอง หวาดกลัวความผิดที่ทำไหม กลัวคนรู้เห็นที่ตนทำไหม ไม่สบายกายไม่สบายใจอย่างไร ผู้คนเกลียดชังคับแค้นเรามากแค่ไหน เมื่อเราอยู่ในศีลธรรมขนาดแม้ข้อเดียวหรือแอม้ขณะช่วงเวลาหนึ่งๆ เรามีความสุขอิ่มเอมยินดีไหม จะไปที่ใดก็เป็นสุขไม่เร่าร้อน ไม่ร้อนรุ่ม ไม่เศร้าหมอง ไม่กลัว ไม่หวาดระแวง มีแต่ผู้คนเมตตารักใคร่เอ็นดูให้เกียรติ เงยหน้าไม่อายฟ้า ก้มหน้าไม่อายดิน มันเป็นอย่างนี้ไหม นี่ก็แสดงให้เห็นว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม และ ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมแห่งกุศลทรงชี้แนะสั่งสอนให้คนเดินบนทางแห่งกุศลดังนี้แล "ศรัทธาพละ" ก็เกิดมีขึ้นต่อพระพุทธเจ้า บาป บุญ มีจิตน้อมไปในกุศลธรรมทั้งปวง
- ทำใจไว้ให้พอใจยินดีในกุศลอันปราศจากอกุศลเครื่องเร่าร้อน เศร้าหมองกายใจทั้งปวง ให้เกิดเป็น "ฉันทะอิทธิบาท ๔" เป็นเหตุให้ "ฉันทะสมาธิ" เกิดมีขึ้น
- มีสติตั้งอยู่เป็นเบื้องหน้าทำไว้ในใจว่า เราจักละ จักถอน จักปหาน จักทำลาย จักทำลายซึ่งอกุศลธรรมทั้งปวง ไม่ให้มันกำเริบ ไม่ให้มีเกิดขึ้นแก่ใจเราอีก จะตั้งจิตไว้ไม่เสพย์ธรรมารมณ์อันเป็นอกุศลธรรมทั้งปวง จักทำให้จิตประกอบด้วยกุศลปรุงแต่ง จักทำให้จิตเต็มไปด้วยความเป็นมิตรอันประเสริฐปารถนาดีต่อผู้อื่นอันมีจิตน้อมไปในการสละ มีจิตอนุเคราะห์สงเคราะห์แบ่งปัน มีความยินดีเมื่อผู้อื่นเป็นสุขและคงไว้ซึ่งสิ่งที่มีค่าที่รักที่หวงแหน มีความวางใจไว้กลางๆไม่ลำเอียงอยู่เป็นนิจจ์ เราจักไม่เบียดเบียนทำร้ายหรือผูกโกรธแค้นเคืองผู้ใด สัตว์ใดแม้ทางกาย วาจา ใจ จักเลิกแสวงหา จักไม่อยากได้ของผู้อื่น จักเป็นผู้ไม่ตระหนี่ถี่เหนียวมีความสละให้ตามกำลังอยู่เป็นนิจจ์ "สังวรปธานสมาธิ" เกิดมีขึ้น จนเกิดวิริยะพละ
- มีสติตั้งอยู่เป็นเบื้องหน้าทำไว้ในใจว่า จักรู้ทันกาย วาจา ใจ มีสัมปะชัญญะกำกับอยู่ จนเห็นแจ้งชัดในธรรมทั้งปวง เพื่อยังกุศลให้เกิดมีขึ้น ตั้งอยู่ แล้วอกุศลเสื่อมสูญไป "สติพละ" ก็เกิดมีขึ้น
- มีสติสัมปะชัญญะตั้งอยู่เป็นเบื้องหน้า ทำไว้ในใจว่าเราจักมีอานาปานสติเป็นอันมากตามพระพุทธเจ้าองค์สเด็จพระบรมศาสดาแห่งเรา จนรู้แจ้งกายสังขารอยู่ทุกขณะ

- มีสติสัมปะชัญญะและสมาธิตั้งมั่นอยู่เป็นเบื้องหน้า ทำไว้ในใจว่า เราจักรู้อารมณ์โดยชอบตามจริง คือ
๑. รู้อารมณ์ด้วยกุศลโดยความเห็นชอบอยู่เป็นนิจจ์
๒. รู้อารมณ์ด้วยกุศลโดยความคิดชอบอยู่เป็นนิจจ์
๓. รู้อารมร์ด้วยกุศลโดยความพูดชอบอยู่เป็นนิจจ์
๔. รู้อารมณ์ด้วยกุศลโดยความทำชอบอยู่เป็นนิจจ์
๕. รู้อารมณ์ด้วยกุศลโดยความดำรงชีพชอบอยู่เป็นนิจจ์
๖. รู้อารมณ์ด้วยกุศลโดยความเพียรชอบอยู่เป็นนิจจ์
๗. รู้อารมณ์ด้วยกุศลโดยความระลึกชอบรู้ทันสภาวะธรรมทั้งปวงอยู่เป็นนิจจ์
๘. รู้อารมณ์ด้วยกุศลโดยความมีจิตตั้งมั่นชอบอยู่เป็นนิจจ์
๙. รู้อารมณ์ด้วยกุศลโดยความเป็นสภาวะธรรมตามจริงอันปราศจากความตรึกนึกอยู่เป็นนิจจ์
๑๐. รู้อารมณ์ด้วยกุศลโดยความตัดสมมติกิเลส ตัดอารมณ์ที่เป็นไปในทางโลกอยู่เป็นนิจจ์

"ทั้ง ๑๐ ข้อนี่คือทางให้เกิดและการบังเกิด "ปัญญาพละ" ให้เกิดขึ้น"

- พึงเจริญในข้อ จ. ให้มากตั้งจิตทำไว้ในใจหมายในอารมณ์ที่เราตัดสมมติกิเลสหรือที่เราเรียกมันว่าอารมณ์ทางโลกนี้ไว้อยู่เนืองๆ

นี่คือ..............สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ยาถาภูญาณทัสสนะ นิพพิทาญาณ วิราคะ...............

ฉ. ตั้งจิตทำไว้ในใจโดยแยบคาย หมายในอารมณ์อันเป็นผลจากการตัดสมมติกิเลสหรืออารมณ์ทางโลกเหล่านั้นได้บ้างแล้วอยู่เนืองๆ
    เลือกธรรมารมณ์ที่ควรเสพย์ คือ เลือกเอาธรรมมารมณ์เหล่าใดที่ทำให้กุศลเกิดขึ้น แล้วอกุศลเสื่อมลง
    ตั้งความโสมนัสต่อความไม่มีกิเลส คือ พอใจยินดีในความไม่มี รัก โลภ โกรธ หลง ยินดีในดับสิ้นเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ทั้งปวงสิ้นเชิง พอใจยินดีในความรฦู้สึกอาการอย่างนั้น ตั้งจิตระลึกถึง คำนึงถึงในอาการที่เราไม่มีทุกข์อันเร่าร้อนลุ่มหลงทั้งปวง   

นี่คือ..............สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณ คือ ยาถาภูญาณทัสสนะ นิพพิทาญาณ วิราคะ สัมมาวิมุตติ...............





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 26, 2015, 10:14:21 AM
ทบทวนกรรมฐานที่เจริญมาในวันที่ 15/5/58

สัญญา ๑๐ โดยย่อ # ๓ คือ

ช. เมื่อเจริญให้มากในข้อ ก-ฉ แล้ว(ซึ่งจากข้อ ฉ. เราจะเห็นว่าความที่ตัดกิเลสสมมติทางโลกออกได้แม้จะเล็กน้อยหรือแค่ชั่วคราว ยังเป็นบรมสุขอันยิ่งใหญ่ เพราะจิตไม่เสพย์กิเลสไรๆเลย มีแก่ความสงบว่างร่มเย็น จิตมันจะอิ่มเอมเป็นสุขอย่างมาก จนเมื่อจิตชินและชอบในอารมณ์นี้มากๆนั้นแหละ จิตมันจะเลือกจับเอาแต่ของจริงเอง)
    ตั้งความโสมนัสต่อสภาวะธรรมจริง คือ พอใจยินดีในอารมณ์ธรรมอันเสพย์แต่ของจริงสภาวะธรรมจริง ไม่เสพย์ยึดสมมติกิเลสทางโลก จากนั้นให้ทำไว้ในใจโดยแยบคายด้วยเห็นว่า โดยจริงแล้วขันธ์ ๕ มันแยกส่วนของมันไม่เกี่ยวข้องกัน ไม่มีชื่อ ไม่มีอารมณ์ ไม่มีสิ่งใด เป็นเพียงสภาวะธรรมเท่านั้น เหมือนกลุ่มสะสารหนึ่งๆที่กองแยกกันอยู่ แต่อาศัยที่วิญญาณขันธ์ อาศัยมโนมันน้อมไปหาอารมณ์ จึงเกิดเจตนาขึ้นมีลักษณะเหมือนหวนระลึกถึงที่จะรู้ผัสสะในอารมณ์นั้นๆ ทำให้เกิดการน้อมไปยึดในความจำได้หมายรู้ สมมติก็เกิดขึ้น เกิดความตรึกถึง ปรุงแต่งไปให้ขันธ์ ๕ สัมพันธ์กัน อุปทานความยึดความหลงสมมติก็มากเท่าการให้ความสำคัญในสิ่งที่รู้โดยสัญญานั้นๆ เพราะอาศัยเจตนาให้สมมติทางโลกและทุกข์ทั้งปวงเกิดมีขึ้น
    ดังนี้แล้วเราพึงไม่หมายเอาอารมณ์ทางโลกซึ่งเป็นอารมณ์แห่งสมมติซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์นั้นอีก พึงทำไว้ในใจโดยแยบคายไม่ยึดเอา งดเว้น ละเว้นซึ่ง..เจตนาคือความทำใจไว้ จงใจที่จะน้อมไปหาความจำได้หมายรู้ในอารมณ์ไรๆทางโลกไปเสียเพราะมันเป็นทุกข์

นี่คือ ผลจากสัมมาทิฐิ และ จากการที่ได้เคยสัมผัสความดับทุกข์แม้กดข่มไว้อยู่ยังตัดไม่ขาดก็ตาม จิตมันจะไม่ยึดจับเอาสมมติอะไรทั้งนั้นเองอัตโนมัติ..............สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณ คือ ยาถาภูญาณทัสสนะ นิพพิทาญาณ วิราคะ สัมมาวิมุตติ...............

ซ. ตั้งความโทมนัสต่อสภาวะธรรมสมมติทางโลก คือ ไม่พอใจยินดีต่ออารมณ์ทางโลก อึดอัด เกลียดชัง เบื่อหน่ายที่จิตเสพย์อารมณ์ทางโลก เพราะเมื่อมันเสพย์อารมณ์ทางโลกก็เท่ากับมันลากเราเข้าไปหาทุกข์อันไม่มีที่สิ้นสุด  จากนั้นให้ทำไว้ในใจโดยแยบคายด้วยเห็นว่า เราแสวงหาไม่รู้จบเพราะหลงเสพย์อารมณ์ทางโลก เสพย์สุขบนของไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ของเน่าเหม็น เป็นโรค เป็นธาตุ ๖ พอไม่ได้ก็เป็นทุกข์ พอได้ก็สุข พอพรัดพรากก็ทุกข์ วนไปวนมาเพราะหาความสุขจากภายนอก จากสิ่งไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เมื่อเสพย์สมมติว่าเป็นตัวตนเมื่อไหร ธรรมชาติของจิตมันคือคิด มันก็คิดแต่สมมติเรื่องราวเป็นตัวตนในอารมณ์นั้น ความแสวงหาที่จะเสพย์ ก็เกิดขึ้นไม่สิ้นสุด ทุกข์ก็วนเวียนอยู่ทุกขณะจิตไม่จบสิ้น ทั้งๆที่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่เกินธรรมธาตุเลย นี่ทุกข์กับธรรมธาตุที่ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เอาความสุขจากธรรมธาตุภายในภายนอกที่ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนมาเป็นความสุขของตน
    ดังนี้แล้วเราพึงไม่หมายเอาอารมณ์ทางโลก พึงอึดอัด ระอา เบื่อหน่าย เกลียดชังต่ออารมณ์ทางโลก คือ ความรัก โลภ โกรธ หลง ซึ่งอารมณ์เหล่านี้เมื่อมีต่อสิ่งไรๆแล้ว ย่อมให้ก่อเกิดความยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นของเที่ยง เป็นนั่น เป็นนี่

นี่คือ ผลจากสัมมาทิฐิ และ จากการที่ได้เคยสัมผัสความดับทุกข์แม้กดข่มไว้อยู่ยังตัดไม่ขาดก็ตาม จิตมันจะไม่ยึดจับเอาสมมติอะไรทั้งนั้นเองอัตโนมัติ เพราะเห็นโทษและทุกข์จากสมมติจนอิ่มใจแล้ว จึงเกิดความอึดอัด ระอา เกลียดชังในสิ่งนั้น ซึ่งความเกลียดชังในที่นี้ไม่ใช่โทสะ แต่เมื่อเห็นทุกข์ เห็นโทษจากสิ่งไรๆแล้วจิตมันจะรู้ว่าสิ่งนี้ทำให้มันเร่าร้อนทรมานมันก็จะไม่อยากจับเอาอารมณ์สมมติเหล่านั้น..............สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณ คือ ยาถาภูญาณทัสสนะ นิพพิทาญาณ วิราคะ สัมมาวิมุตติ...............

ฌ. เมื่อเจริญจากข้อ ก-ซ ให้มากแล้ว เราจะรู้ว่า สิ่งใดเป็นเหตุ สิ่งใดเป็นผล สิ่งใดควรทำให้แจ้ง สิ่งใดควรเทำควรจริญให้มาก จนรู้ถึงธัมมารมณ์ที่ควรเสพย์ และ ไม่ควรเสพย์ รู้โสมนัสที่ควรเสพย์และไม่ควรเสพย์ รู้โทมนัสที่ควรเสพย์และไม่ควรเสพย์แล้ว ก็จะเห็นตามจริงว่าสิ่งทั้งปวงมีแค่สภาวะธรรม ไม่มีอื่นอีก จิตมันจะไม่ยึดจับเอาสภาวะธรรมไรๆเองเลยโดยอัติโนมัติในตัวมันเอง แต่เมื่อมันไม่ยึดจับอะไรมันจะไม่มีหลักให้จิตอยู่ เพราะอย่างเราๆผู้ยังปุถุชนอยู่ ธรรมชาติของจิตมันย่อมน้อมไปหาอารมณ์ หาที่เกาะยึด มันจึงเกิดอาการว่างโดยตรึงๆ หนักๆ หน่วงๆจิต ไม่เบาผ่องใสสักเท่าไร พระอริยะเจ้าทั้งหลายเมื่อท่านไม่ยึดอุปาทานขันธ์ ๕ ท่านจะอยู่ในฌาณสมาบัติตลอดเวลา เรียกว่า โลกุตระ ทีนี้อย่างเราผู้เป็นเพียงปุถุชนอยู่ จะขจัดสภาวะที่จิตไม่มีที่ยึด ขจัดสภาวะว่างแต่หน่วงๆไม่ผ่องใสได้ ก็ต้องเลือกธรรมารมณ์ที่ควรเสพย์ คือ เลือกอุเบกขาที่ควรเสพย์ อุเบกขานั้นแม้จิตจะเคยรู้แต่ยังหาทางเข้ามันไม่ได้ เราก็ต้องให้จิตมันรู้ของจริง นั่นคือกายสังขาร ที่เรียกว่า ลมหายใจ นั่นเอง ลมหายใจนี้เป็นของจริงที่มีอยู่ในกาย เป็นธาตุที่มีอยู่ในกาย เป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการ จึงเรียกว่า กายสังขาร เราก็เอาจิตยึดที่ลมหายใจเจริญในิอานาปานสติ ซึ่ง อานาปานสติที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนนี้ เป็น วสีเข้าฌาณโดยเฉพาะ ให้เราน้อมจิตจับของจริงคือลมหายใจนี้ ให้รู้ลมหายใจเป็นอันมากตามพระพุทธเจ้าที่ตรัสกับพระสารีบุตรว่า ดูกรสารีบุตร ตถาคตเป็นผู้มีอานาปานสติเป็นอันมาก คือ รู้ลมหายใจเข้า-ออกอยู่ทุกขณะ เราก็เลือกอุเบกขาที่ควรเสพย์โดยให้เอาความว่างจาก สัญญา สังขาร มาตั้งอยู่ที่ลมเป็นหลักให้จิต จิตก็จะผ่องใสเบิกบาน เมื่อถึงระดับหนึ่ง ก็เข้าถึงสมาบัติได้




    ทั้ง ๓ ข้อนี้เราเกิดขึ้นเมื่อหลวงพ่อเสถียรสอนว่า ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์ แล้วท่านก็ม้างกายให้เรารู้ตาม สลายทั้งอาการ ๓๒ ประการ ให้เห็นว่ากายนี้มันเป็นเพียงธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ มันไม่มีชีวิต ไม่มีความรู้สึก เป็นเพียงกองธาตุเท่านั้น วิญญาณขันธ์ วิญญาณธาตุ และ จิต นี้คืออันเดียวกัน จิตเป็นธาตุรู้ จิตนี้มันรู้ทุกสิ่ง แต่สิ่งที่มันรู้ คือ สมมติ ไม่มีของจริงเลย กิเลสอาศัยสฬายตนะเป็นเคืร่องมือให้จิตยึดอุปาทาน เวทนานี้เกิดขึ้นมาเพราะสัญญา เวทนาจริงๆนั้นดับไปแล้วแต่จิตมันไปยึดเอาสัญญาความรู้สึกเสวยอารมณ์ในสิ่งนั้นๆมาตั้งเป็นที่ยึดแห่งจิต จึงเกิดเวทนาสืบต่อไม่หยุด อย่าทิ้งลมหายใจ อย่าทิ้งพุทโธ แล้วเรานั่งกรรมฐานโดยอารมณ์นั้นก่อนนอนอยู่ประมาณ 1 ชม. ก็ได้รับรู้ถึงอารมณ์ทั้ง ๓ ประการนี้ นี่สิ่งที่พระอรหันต์สอนมีผลมากขนาดนี้เลย มันถึงใจ มันหมดความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวงทันที





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2015, 04:07:41 PM

ทบทวนกรรมฐานทั้งหมด 10 ปีที่ผ่านมา

เป็นบันทึกและผล เมื่อแรกกรรมฐานหลังฌาณเสื่อม
ที่มีทั้งพระสูตรที่เราเข้าถึง ที่เราปฏิบัติถูก
และสำคัญความหมายและแนวปฏิบัติที่ผิดๆ
และบางช่วงเจตนาว่าตนดับทุกข์ได้บ้างแล้วเผยแพร่ธรรมที่ตนดับทุกข์ได้ให้ผู้อื่นไปโดยผิดๆบ้าง ด้วยเหตุนี้จึงต้องสังวรณ์ให้มากก่อนจะทำสิ่งใดลงไปนอกจากทำเป็นบันทึกทบทวนตัวเองแล้วแก้ไขให้ถูกต้อง
แต่ทั้งหมดก็เป็นผลให้สืบต่อเนื่องให้เกิด พละ ๕ จนได้เห็นในปัจจุบันนี้

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบันทึกเท่านั้นเพื่อทบกวนกรรมฐานที่เป็นพื้นฐานหลักของเราให้เกิดพละ ๕ มีทั้งถูกและผิดซึ่งปัจจุบันนี้เราจะแยกแยะได้แล้ว แต่จะนำเอาส่วนส่วนที่เป็นเหตุตั้งแต่น้อมจิตไปและนำไปสู่ผลมาปรับเสริมในพละ ๕ ปัจจุบัน



รู้เหตุ รู้ทุกข์ รู้ธรรม รู้ทำ ทุกข์ก็เบาบาง
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=7456.msg27477#msg27477 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=7456.msg27477#msg27477)

วิธีการปฏิบัติ และ พิจารณา ใน สมถะ-วิปัสนากัมมัฏฐาน (วิถี Admax)
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=7416.msg27357#msg27357 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=7416.msg27357#msg27357)

วิธีการเบื้องต้นที่ใช้พิจารณาระลึกรู้ใน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=7457.msg27485#msg27485 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=7457.msg27485#msg27485)

วิธีการเข้าถึงอุเบกขาจิต
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=7455.msg27472#msg27472 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=7455.msg27472#msg27472)

อาศัยตัณหาเพื่อละตัณหา (ฉันทะ)
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=8051.msg29883#msg29883 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=8051.msg29883#msg29883)

วิธีการเจริญเมตตาจิตในการสวดมนต์แผ่เมตตาให้แก่บุคคลทั้งหลาย
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=8226.msg30508#msg30508 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=8226.msg30508#msg30508)

ธรรมชาติที่ชื่อว่า จิต
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=8230.msg30512#msg30512 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=8230.msg30512#msg30512)

วิธีเจริญเข้าสู่สมาธิจิตเพื่อให้ใจเราสงบโดยง่าย
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=8682.msg32632#msg32632 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=8682.msg32632#msg32632)

อาปานานสติสูตร เป็นไปเพื่อความสงบจากความปรุงแต่งและเข้าสติปัฏฐาน ๔
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=8940.msg33777#msg33777 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=8940.msg33777#msg33777)

วิธีดับความติดข้องใจในการกระทำของผู้อื่น(ละจิตไม่ให้ไปผูกไว้กับผู้อื่น)
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=9815.msg36955#msg36955 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=9815.msg36955#msg36955)

สะกดจิตตนเองโดยไม่รู้ตัว
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=9816.msg36956#msg36956 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=9816.msg36956#msg36956)

วิธีเจริญพิจารณาเพื่อ..การปล่อยวาง กับ หน้าที่
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=9906.msg37186#msg37186 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=9906.msg37186#msg37186)

วิธีการนั่งสมาธิเพื่อตัดในรูปขันธ์และความรู้อารมณ์ใดๆ
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=10020.msg37603#msg37603 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=10020.msg37603#msg37603)

ภาวนาเสมอด้วยธาตุ ๕
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=10194.msg38201#msg38201 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=10194.msg38201#msg38201)

วิธีการเจริญเข้าสู่มรรคมีองค์ ๘
http://www.thammaonline.com/15140.msg17032#msg17032 (http://www.thammaonline.com/15140.msg17032#msg17032)
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=11468.msg41222#msg41222 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=11468.msg41222#msg41222)

วิธีดับความวิตก ตรึกนึก คิดฟุ้งซ่าน ไม่เป็นสมาธิ
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=11497.msg41299#msg41299 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=11497.msg41299#msg41299)

ท่านสุปพุทธกุฏฐิ
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=11557.msg41446#msg41446 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=11557.msg41446#msg41446)

สองพี่น้องประลองวิชา ปริยัติ หรือ กัมมัฏฐาน (แนะนำว่าควรอ่านมาก)
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=12480.msg43353#msg43353 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=12480.msg43353#msg43353)

กรรมฐานชาวบ้าน ว่าด้วยเรื่องการอบรมกาย
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=12524.msg43464#msg43464 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=12524.msg43464#msg43464)

กรรมฐานชาวบ้าน ว่าด้วยเรื่องการอบรมสมาธิ
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=12525.msg43470#msg43470 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=12525.msg43470#msg43470)

กรรมฐานชาวบ้าน ว่าด้วยการอบรมจิต
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=12526.msg43472#msg43472 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=12526.msg43472#msg43472)

วิธีสวดมนต์บทสวดอิติปิโสให้ถึงอนุสสติกรรมฐาน
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=12743.msg43893#msg43893 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=12743.msg43893#msg43893)

สวดมนต์ เพื่อให้ถึงกรรมฐาน ๕ (ธัมมจักกัปปวัตนสูตร )
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=13221.msg45167#msg45167 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=13221.msg45167#msg45167)

ถามตอบปัญหาธรรมะ เรื่องศีล หลวงพ่อฤาษีลิงดำ
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=12777.msg43975#msg43975 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=12777.msg43975#msg43975)

ภารทวาชสูตร..การสำรวมระวังปฏิบัติกาย-ใจ เพื่อละกามราคะ
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=13591.msg46400#msg46400 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=13591.msg46400#msg46400)

แนวกรรมฐาน ของผู้ศึกษาธรรม ชั้นนวกะ
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=13576.msg46351#msg46351 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=13576.msg46351#msg46351)

พุทธานุสสติ (แบบพิสดาร)
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=13366.msg45624#msg45624 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=13366.msg45624#msg45624)

แนวกรรมฐาน ของผู้ศึกษาธรรม ชั้นนักธรรมตรี
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=13637.msg46531#msg46531 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=13637.msg46531#msg46531)

สัญญา ๑๐ คิริมานนทสูตร
http://www.thammaonline.com/15182.msg17109#msg17109 (http://www.thammaonline.com/15182.msg17109#msg17109)

ธรรมารมณ์ที่ควรเสพย์ และ ธรรมารมณ์ที่ไม่ควรเสพย์
http://www.thammaonline.com/15183.msg17112#msg17112 (http://www.thammaonline.com/15183.msg17112#msg17112)

ธรรมอย่างสูงสิบหมวด สำหรับเปลื้องกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหมด
http://www.thammaonline.com/15184.msg17113#msg17113 (http://www.thammaonline.com/15184.msg17113#msg17113)

ธรรมชาติใดย่อมทำให้เร่าร้อน ธรรมชาตินั้นชื่อว่ากิเลส
http://www.thammaonline.com/15185.msg17124#msg17124 (http://www.thammaonline.com/15185.msg17124#msg17124)

ธรรมชาติที่ชื่อว่า จิต
http://www.thammaonline.com/15199.msg17148#msg17148 (http://www.thammaonline.com/15199.msg17148#msg17148)

มหาสัจจกสูตร สัจจกนิครนถ์ทูลถามปัญหา
http://www.thammaonline.com/15222.msg17210#msg17210 (http://www.thammaonline.com/15222.msg17210#msg17210)

สัลเลขสูตร "ว่าด้วยธรรมเครื่องขัดเกลา(กิเลสหรือดับกิเลส)"
http://www.thammaonline.com/15198.msg17147#msg17147 (http://www.thammaonline.com/15198.msg17147#msg17147)

๑. ภัทเทกรัตตสูตร
http://www.thammaonline.com/15270.msg17324#msg17324 (http://www.thammaonline.com/15270.msg17324#msg17324)

โพชฌงค์ ๗ องค์แห่งการตรัสรู้
http://www.thammaonline.com/15163.msg17064#msg17064 (http://www.thammaonline.com/15163.msg17064#msg17064)

"ศีล" สร้าง "สุข" (^.^) "สุข" สร้าง "สมาธิ"
http://www.thammaonline.com/15121.msg16987#msg16987 (http://www.thammaonline.com/15121.msg16987#msg16987)

คำแปลพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ (สมเด็จพระญาณฯ)
http://www.thammaonline.com/15167.msg17083#msg17083 (http://www.thammaonline.com/15167.msg17083#msg17083)

๑. ธรรมานุสติปัฏฐานว่าด้วย "นิวรณบรรพ(นิวรณ์๕)"
http://www.thammaonline.com/15196.msg17144#msg17144 (http://www.thammaonline.com/15196.msg17144#msg17144)
๒. ธรรมานุสติปัฏฐานว่าด้วย "ขันธบรรพ(ขันธ์๕)"
http://www.thammaonline.com/15195.msg17143#msg17143 (http://www.thammaonline.com/15195.msg17143#msg17143)
๓. ธรรมานุสติปัฏฐานว่าด้วย "อายตบรรพ(อายตนะภายใน-ภายนอก๖)"
http://www.thammaonline.com/15194.msg17142#msg17142 (http://www.thammaonline.com/15194.msg17142#msg17142)
๔. ธรรมานุสติปัฏฐานว่าด้วย "โพชฌงคบรรพ(โพชฌงค์๗)"
http://www.thammaonline.com/15193.msg17141#msg17141 (http://www.thammaonline.com/15193.msg17141#msg17141)
๕. ธรรมานุสติปัฏฐานว่าด้วย"สัจจบรรพ(อริยะสัจ๔)"
http://www.thammaonline.com/15192.msg17140#msg17140 (http://www.thammaonline.com/15192.msg17140#msg17140)

ว่าด้วยเรื่อง สติ
http://www.thammaonline.com/15214.msg17188#msg17188 (http://www.thammaonline.com/15214.msg17188#msg17188)

สวดมนต์ เพื่อให้ถึงกรรมฐาน ๑ (ทำวัตรเช้า)
http://www.thammaonline.com/15385.msg17678#msg17678 (http://www.thammaonline.com/15385.msg17678#msg17678)
สวดมนต์ เพื่อให้ถึงกรรมฐาน ๒ (ทำวัตรเย็น)
http://www.thammaonline.com/15386.msg17688#msg17688 (http://www.thammaonline.com/15386.msg17688#msg17688)
สวดมนต์ เพื่อให้ถึงกรรมฐาน ๓ (พระสูตร)
http://www.thammaonline.com/15389.msg17705#msg17705 (http://www.thammaonline.com/15389.msg17705#msg17705)
สวดมนต์ เพื่อให้ถึงกรรมฐาน ๔ (พระปริตร)
http://www.thammaonline.com/15390.msg17706#msg17706 (http://www.thammaonline.com/15390.msg17706#msg17706)
สวดมนต์ เพื่อให้ถึงกรรมฐาน ๕ (พระคาถา)
http://www.thammaonline.com/15391.msg17707#msg17707 (http://www.thammaonline.com/15391.msg17707#msg17707)
สวดมนต์ เพื่อให้ถึงกรรมฐาน ๖ (บทแผ่เมตตา)
http://www.thammaonline.com/15392.msg17708#msg17708 (http://www.thammaonline.com/15392.msg17708#msg17708)

บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
http://www.thammaonline.com/15430.msg17843#msg17843 (http://www.thammaonline.com/15430.msg17843#msg17843)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2015, 04:08:29 PM

๒. เทวทหสูตร
ว่าด้วยการกำจัดฉันทราคะในขันธ์ ๕


            [๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้;-
             สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมเทวทหะของศากยะทั้งหลายในสักกชนบท.
ครั้งนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกัน ปรารถนาจะไปสู่ปัจฉาภูมชนบทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวาย
อภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ปรารถนาจะไปสู่ปัจฉาภูมชนบท เพื่อสำเร็จการอยู่อาศัยในปัจฉา
ภูมชนบท. พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เธอทั้งหลายลาสารีบุตรแล้วหรือ?
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ยังมิได้ลาท่านพระสารีบุตร. พระผู้มี
พระภาคตรัสว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงไปลาสารีบุตรเถิด. สารีบุตรเป็นบัณฑิตอนุเคราะห์
เพื่อนพรหมจารี. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.
             [๗] ก็สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตรนั่งอยู่ในมณฑปเล็กๆ แห่งหนึ่งที่มุงด้วยตะใคร่น้ำ
ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค. ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท ทำประทักษิณพระผู้มีพระภาคแล้ว พากันเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร
กล่าวคำปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกัน ไปแล้ว จึงนั่งอยู่
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ข้าพเจ้า
ทั้งหลายปรารถนาจะไปปัจฉาภูมชนบท เพื่อสำเร็จการอยู่อาศัยในปัจฉาภูมชนบท. ท่านพระ-
*สารีบุตรกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย กราบทูลลาพระศาสดาแล้วหรือ? ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ก็กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง คฤหบดีผู้เป็นบัณฑิตบ้าง สมณะผู้เป็น
บัณฑิตบ้าง เป็นผู้ถามปัญหากะภิกษุผู้ไปไพรัชชประเทศต่างๆ มีอยู่ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ก็พวกมนุษย์ที่เป็นบัณฑิตทดลองถามว่า พระศาสดาของพวกท่านมีวาทะอย่างไร? ตรัสสอน
อย่างไร? ธรรมทั้งหลายพวกท่านฟังดีแล้ว เรียบร้อยดีแล้ว ใส่ใจดีแล้ว   ทรงจำดีแล้ว แทง
ตลอดดีแล้ว ด้วยปัญญาบ้างหรือ? ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อพยากรณ์อย่างไร? จึงจะชื่อว่าเป็นผู้
กล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว จะไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค ด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์
ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ จะไม่พึงถึงฐานะอันวิญญูชนจะติเตียนได้.
             ภิ. ข้าแต่ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าทั้งหลาย มาแม้แต่ที่ไกล เพื่อจะรู้เนื้อความแห่งภาษิต
นั้นในสำนักท่านพระสารีบุตร ดีละหนอ ขอเนื้อความแห่งภาษิตนั้น จงแจ่มแจ้งกะท่านพระ-
*สารีบุตรเถิด.
             [๘] ส. ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว. ภิกษุเหล่านั้น
รับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว. ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็กษัตริย์เป็น
บัณฑิตบ้าง พราหมณ์เป็นบัณฑิตบ้าง คฤหบดีเป็นบัณฑิตบ้าง สมณะเป็นบัณฑิตบ้าง เป็นผู้ถาม
ปัญหากะภิกษุผู้ไปไพรัชชประเทศต่างๆ มีอยู่ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็มนุษย์ทั้งหลายที่เป็น
บัณฑิต จะทดลองถามว่า พระศาสดาของท่านผู้มีอายุทั้งหลาย มีวาทะว่าอย่างไร ตรัสสอน
อย่างไร? ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระศาสดาของเราทั้งหลายตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะ. เมื่อท่าน
ทั้งหลายพยากรณ์อย่างนี้แล้ว กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง คฤหบดีผู้
เป็นบัณฑิตบ้าง สมณะผู้เป็นบัณฑิตบ้าง พึงถามปัญหายิ่งขึ้นไป ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ก็มนุษย์ทั้งหลายที่เป็นบัณฑิต จะทดลองถามว่า ก็พระศาสดาของท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ตรัสสอน
ให้กำจัดฉันทราคะในสิ่งอะไร. ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรท่าน
ผู้มีอายุทั้งหลาย พระศาสดาตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ.
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายพยากรณ์อย่างนี้แล้ว กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง
พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง คฤหบดีผู้เป็นบัณฑิตบ้าง สมณะผู้เป็นบัณฑิตบ้าง พึงถามปัญหา
ยิ่งขึ้นไป ก็มนุษย์ทั้งหลายที่เป็นบัณฑิต จะทดลองถามว่า ก็พระศาสดาของท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ทรงเห็นโทษอะไร จึงตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ?
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มี
อายุทั้งหลาย เมื่อบุคคลมีความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความกระหาย ความกระวน
กระวาย ความทะยานอยากในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ยังไม่ปราศจากไปแล้ว
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสย่อมเกิดขึ้น เพราะรูป เวทนา สัญญา สังขาร
และวิญญาณ แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระศาสดาของเราทั้งหลาย
ทรงเห็นโทษนี้แล จึงตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ.
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย แม้เมื่อท่านทั้งหลายพยากรณ์อย่างนี้แล กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง
พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง  คฤหบดีผู้เป็นบัณฑิตบ้าง สมณะผู้เป็นบัณฑิตบ้าง พึงถามปัญหา
ยิ่งขึ้นไป ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็มนุษย์ทั้งหลายที่เป็นบัณฑิตจะทดลองถามว่า ก็พระศาสดา
ของท่านผู้มีอายุทั้งหลาย  ทรงเห็นอานิสงส์อะไร?  จึงตรัสสอนให้กำจัดให้ฉันทราคะในรูป
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อบุคคลมีความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความกระหาย ความ
กระวนกระวาย ความทะยานอยากในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณปราศจากไปแล้ว
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสย่อมไม่เกิดขึ้นเพราะรูป เวทนา สัญญา สังขาร
และวิญญาณ แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระศาสดาของเราทั้งหลาย
ทรงเห็นอานิสงส์นี้แล จึงตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และ
วิญญาณ.
             [๙] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลเข้าถึงอกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ จักได้มีการอยู่
สบาย ไม่มีความลำบาก ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความเดือดร้อน ในปัจจุบันนี้ และเมื่อตาย
ไปแล้ว ก็พึงหวังสุคติไซร้ พระผู้มีพระภาคก็จะไม่พึงทรงสรรเสริญ การละอกุศลธรรมทั้งหลาย.
ก็เพราะเมื่อบุคคลเข้าถึงอกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมมีการอยู่เป็นทุกข์ มีความลำบาก มีความ
คับแค้น มีความเดือดร้อน ในปัจจุบัน และเมื่อตายไปแล้ว ก็พึงหวังได้ทุคติ ฉะนั้น
พระผู้มีพระภาค จึงทรงสรรเสริญ การละอกุศลธรรมทั้งหลาย.
             [๑๐] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย แต่เมื่อบุคคลเข้าถึงกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ จักได้มีการ
อยู่เป็นทุกข์ มีความลำบาก มีความคับแค้น มีความเดือดร้อน ในปัจจุบันนี้ และเมื่อตายไป
แล้ว ก็พึงหวังได้ทุคติไซร้ พระผู้มีพระภาค ก็จะไม่พึงทรงสรรเสริญ  การเข้าถึงกุศลธรรม
ทั้งหลาย.  ก็เพราะเมื่อบุคคลเข้าถึงกุศลธรรมทั้งหลายอยู่  มีการอยู่สบาย  ไม่มีความลำบาก
ไม่มีความคับแค้น  ไม่มีความเดือดร้อน  ในปัจจุบันนี้  และเมื่อตายไปแล้ว ก็พึงหวังได้สุคติ
ฉะนั้นพระผู้มีพระภาค  จึงทรงสรรเสริญ การเข้าถึงกุศลธรรมทั้งหลาย.  ท่านพระสารีบุตรได้
กล่าวคำนี้แล้ว.  ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตร ฉะนี้แล.

จบ สูตรที่ ๒.



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2015, 04:11:21 PM

นิทานสูตรที่ ๒

            [๕๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๓ อย่างนี้ เป็นเหตุให้
เกิดกรรม ๓ อย่างเป็นไฉน คือ ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็น
ที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีต ๑ ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้ง
แห่งฉันทราคะในอนาคต ๑ ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่ง
ฉันทราคะในปัจจุบัน ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภ
ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีตอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลปรารภ
ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีต ตรึกตรองตามด้วยใจ เมื่อเขาปรารภธรรม
อันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีต ตรึกตรองตามอยู่ด้วยใจ ย่อมเกิดความพอใจ ผู้ที่
เกิดความพอใจแล้ว ย่อมประกอบด้วยธรรมเหล่านั้น  ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าว
ความกำหนัดแห่งใจนั้นว่าเป็นสังโยชน์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพอใจย่อมเกิด
เพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีตอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคตอย่างไร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลปรารภธรรมอันที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคต ตรึกตรอง
ตามด้วยใจ เมื่อเขาปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคต ตรึกตรองตาม
อยู่ด้วยใจ ย่อมเกิดความพอใจ ผู้ที่เกิดความพอใจแล้ว ย่อมประกอบด้วยธรรม
เหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความกำหนัดแห่งใจนั้นว่าเป็นสังโยชน์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะ
ในอนาคตอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรม
อันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบันอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลปรารภ
ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบัน ตรึกตรองตามด้วยใจ เมื่อเขาปรารภ
ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบัน ตรึกตรองตามอยู่ด้วยใจ ย่อมเกิดความ
พอใจ ผู้ที่เกิดความพอใจแล้ว ย่อมประกอบด้วยธรรมเหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เรากล่าวความกำหนัดแห่งใจนั้นว่าเป็นสังโยชน์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพอใจ
ย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบันอย่างนี้แล ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ธรรมชาติ ๓ อย่างนี้แล เป็นเหตุให้เกิดกรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ธรรมชาติ ๓ อย่างนี้เป็นเหตุให้เกิดกรรม ๓ อย่างเป็นไฉน คือ ความพอใจย่อม
ไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีต ๑ ความพอใจย่อมไม่
เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคต ๑ ความพอใจย่อมไม่
เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบัน ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีตอย่างไร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลรู้ชัดซึ่งวิบากต่อไปของธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะ
ในอดีต ครั้นแล้วละเว้นวิบากนั้นเสีย ครั้นแล้วฟอกด้วยใจ เห็นตลอดด้วย
ปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้ง
แห่งฉันทราคะในอดีตอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความพอใจย่อมไม่เกิด
เพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคตอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย
บุคคลรู้ชัดซึ่งวิบากต่อไปของธรรมอันเป็นที่ตั้งฉันทราคะในอนาคต ครั้นแล้ว
ละเว้นวิบากนั้นเสีย ครั้นแล้วฟอกด้วยใจ เห็นตลอดด้วยปัญญา ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ความพอใจย่อมไม่เกิด เพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะ
ในอนาคตอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภ
ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบันอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล
รู้ชัดซึ่งวิบากต่อไปของธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบัน ครั้นแล้วละเว้น
วิบากนั้นเสีย ครั้นแล้วฟอกด้วยใจ เห็นตลอดด้วยปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความ
พอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบัน อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๓ อย่างนี้แล เป็นเหตุให้เกิดกรรม ฯ

จบสัมโพธิวรรคที่ ๑


-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
             ๑. ปุพพสูตร    ๒. มนุสสสูตร    ๓. อัสสาทสูตร    ๔. สมณสูตร
             ๕. โรณสูตร    ๖. อติตตสูตร    ๗. กูฏสูตรที่ ๑    ๘. กูฏสูตรที่ ๒
             ๙. นิทานสูตรที่ ๑    ๑๐. นิทานสูตรที่ ๒ ฯ
-----------------------------------------------------



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2015, 04:11:41 PM

อสังขาสูตร # ๑

             [๖๐๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาวาริกอัมพวัน ใกล้
เมืองนาฬันทา ครั้งนั้นแล นายบ้านนามว่าอสิพันธกบุตร สาวกของนิครณถ์
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่
ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรนายคามณี นิครณถ์-
*นาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวกอย่างไร อสิพันธกบุตรทูลว่า ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ นิครณถ์นาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวกอย่างนี้ว่า ผู้ที่ฆ่าสัตว์ต้องไป
อบายตกนรกทั้งหมด ผู้ที่ลักทรัพย์ต้องไปอบายตกนรกทั้งหมด ผู้ที่ประพฤติผิด
ในกาม ต้องไปอบายตกนรกทั้งหมด ผู้ที่พูดเท็จต้องไปอบายตกนรกทั้งหมด
กรรมใดๆ มาก กรรมนั้นๆ ย่อมนำบุคคลไป นิครณถ์นาฏบุตรย่อมแสดงธรรม
แก่พวกสาวกอย่างนี้แล พระเจ้าข้า ฯ
             [๖๐๙] พ. ดูกรนายคามณี ก็นิครณถ์นาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวก
ว่า กรรมใดๆ มาก กรรมนั้นๆ ย่อมนำบุคคลไป เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครๆ
จักไม่ไปอบาย ตกนรก ตามคำของนิครณถ์นาฏบุตร ดูกรนายคามณี ท่านจะ
สำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษฆ่าสัตว์รวมทั้งสมัยและไม่ใช่สมัย ทั้งกลางคืน
และกลางวัน สมัยที่เขาฆ่าสัตว์ หรือสมัยที่เขาไม่ฆ่าสัตว์ สมัยไหนมาก
กว่ากัน ฯ
             คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษฆ่าสัตว์รวมทั้งสมัยและมิใช่สมัย ทั้ง
กลางคืนและกลางวัน สมัยที่เขาฆ่าสัตว์น้อยกว่า สมัยที่เขาไม่ได้ฆ่าสัตว์มากกว่า
พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรนายคามณี ก็นิครณถ์นาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวกว่า กรรม
ใดๆ มาก กรรมนั้นๆ ย่อมนำบุคคลนั้นไป เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครๆ จักไม่
ไปอบาย ตกนรก ตามคำของนิครณถ์นาฏบุตร ฯ
             [๖๑๐] ดูกรนายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษลักทรัพย์
รวมทั้งสมัยและมิใช่สมัย ทั้งกลางคืนและกลางวัน สมัยที่เขาลักทรัพย์ หรือ
สมัยที่เขาไม่ได้ลักทรัพย์ สมัยไหนมากกว่ากัน ฯ
             คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษลักทรัพย์รวมทั้งสมัยและมิใช่สมัย ทั้ง
กลางคืนและกลางวัน สมัยที่เขาลักทรัพย์น้อยกว่า ส่วนสมัยที่เขามิได้ลักทรัพย์
มากกว่า พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรนายคามณี ก็นิครณถ์นาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวกว่า กรรม
ใดๆ มาก กรรมนั้นๆ ย่อมนำบุคคลนั้นไป เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครๆ จักไม่
ไปอบาย ตกนรก ตามคำของนิครณถ์นาฏบุตร ฯ
             [๖๑๑] ดูกรนายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษ
ประพฤติผิดในกามรวมทั้งสมัยและมิใช่สมัย ทั้งกลางคืนและกลางวัน สมัยที่เขา
ประพฤติผิดในกาม หรือสมัยที่เขามิได้ประพฤติผิดในกาม สมัยไหนมาก
กว่ากัน ฯ
             คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษประพฤติผิดในกามรวมทั้งสมัยและมิใช่
สมัย ทั้งกลางคืนและกลางวัน สมัยที่เขาประพฤติผิดในกามนั้นน้อยกว่า ส่วน
สมัยที่เขามิได้ประพฤติผิดในกามนั้นมากกว่า พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรนายคามณี ก็นิครณถ์นาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวกว่า
กรรมใดๆ มาก กรรมนั้นๆ ย่อมนำบุคคลไป เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครๆ จักไม่
ไปอบาย ตกนรก ตามคำของนิครณถ์นาฏบุตร ฯ
             [๖๑๒] ดูกรนายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษพูดเท็จ
รวมทั้งสมัยและมิใช่สมัย ทั้งกลางคืนและกลางวัน สมัยที่เขาพูดเท็จ หรือสมัย
ที่เขามิได้พูดเท็จ สมัยไหนมากกว่ากัน
             คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษพูดเท็จรวมทั้งสมัยและมิใช่สมัย ทั้ง
กลางคืนและกลางวัน สมัยที่เขาพูดเท็จนั้นน้อยกว่า ส่วนสมัยที่เขามิได้พูดเท็จ
นั้นมากกว่า พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรนายคามณี ก็นิครณถ์นาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวก กรรม
ใดๆ มาก กรรมนั้นๆ ย่อมนำบุคคลไป เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครๆ จักไม่ไป
อบาย ตกนรก ตามคำของนิครณถ์นาฏบุตร ฯ
             [๖๑๓] ดูกรนายคามณี ศาสดาบางท่านในโลกนี้ มักพูดอย่างนี้ มัก
เห็นอย่างนี้ว่า ผู้ฆ่าสัตว์ต้องไปอบายตกนรกทั้งหมด ผู้ที่ลักทรัพย์ต้องไปอบาย
ตกนรกทั้งหมด ผู้ที่ประพฤติผิดในกามต้องไปอบายตกนรกทั้งหมด ผู้ที่พูดเท็จ
ต้องไปอบายตกนรกทั้งหมด ฯ
             [๖๑๔] ดูกรนายคามณี สาวกที่เลื่อมใสในศาสดานั้น ย่อมมีความคิด
อย่างนี้ว่า ศาสดาของเรากล่าวอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ว่า ผู้ที่ฆ่าสัตว์ต้องไปอบาย
ตกนรกทั้งหมด สาวกของศาสดานั้นกลับได้ความเห็นว่า สัตว์ที่เราฆ่ามีอยู่ แม้เรา
ก็ต้องไปอบาย ต้องตกนรก เขายังไม่ละวาจานั้น ยังไม่ละความคิดนั้น ยังไม่
สละความเห็นนั้น ย่อมตั้งอยู่ในนรก เหมือนถูกนำมาขังไว้ ฉะนั้น (สาวก
ของศาสดานั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า) ศาสดาของเรากล่าวอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ว่า ผู้ที่
ลักทรัพย์ต้องไปอบายตกนรกทั้งหมด สาวกของศาสดานั้นกลับได้ความเห็นว่า
ทรัพย์ที่เราลักมีอยู่ แม้เราก็ต้องไปอบาย ต้องตกนรก เขายังไม่ละวาจานั้น ยัง
ไม่ละความคิดนั้น ยังไม่ละความเห็นนั้น ย่อมตั้งอยู่ในนรก เหมือนถูกนำมา
ขังไว้ ฉะนั้น ศาสดาของเรากล่าวอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ผู้ที่ประพฤติผิด
ในกามต้องไปอบายตกนรกทั้งหมด สาวกของศาสดากลับได้ความเห็นว่า กาเมสุ
มิจฉาจารที่เราประพฤติมีอยู่ แม้เราต้องไปอบาย ต้องตกนรก เขายังไม่ละวาจา
นั้น ยังไม่ละความคิดนั้น ยังไม่สละความเห็นนั้น ย่อมตั้งอยู่ในนรก เหมือน
ถูกนำมาขังไว้ ฉะนั้น ศาสดาของเรากล่าวอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ผู้ที่พูด
เท็จต้องไปอบายตกนรกทั้งหมด สาวกของศาสดานั้นกลับได้ความเห็นว่า คำเท็จ
ที่เราพูดมีอยู่ แม้เราต้องไปอบาย ต้องตกนรก เขายังไม่ละวาจานั้น ยังไม่ละ
ความคิดนั้น ยังไม่สละความเห็นนั้น ย่อมตั้งอยู่ในนรก เหมือนถูกนำมาขังไว้
ฉะนั้น ฯ



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2015, 04:28:32 PM

อสังขาสูตร # ๒


             [๖๑๕] ดูกรนายคามณี ก็พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงถึง
พร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษ
ที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิก-
*บานแล้ว เป็นผู้มีโชค เสด็จอุบัติขึ้นในโลกนี้ ตถาคตนั้นทรงตำหนิติเตียน
ปาณาติบาต และตรัสว่า จงงดเว้นจากปาณาติบาต ทรงตำหนิติเตียนอทินนาทาน
และตรัสว่า จงงดเว้นจากอทินนาทาน ทรงตำหนิติเตียนกาเมสุมิจฉาจาร และตรัส
ว่าจงงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ทรงตำหนิติเตียนมุสาวาท และตรัสว่า จงงดเว้น
จากมุสาวาท โดยอเนกปริยาย สาวกเป็นผู้เลื่อมใสในพระศาสดานั้น ย่อม
พิจารณาเห็นดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิติเตียนปาณาติบาตโดยอเนกปริยาย
และตรัสว่า จงเว้นจากปาณาติบาต ก็สัตว์ที่เราฆ่ามีอยู่มากมาย ข้อที่เราฆ่าสัตว์
มากมายนั้น ไม่ดีไม่งาม เราแลพึงเดือดร้อนเพราะข้อนี้เป็นปัจจัยแท้ เราจักไม่ได้ทำ
บาปกรรมนั้นหามิได้ เขาพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละปาณาติบาตนั้นด้วย ย่อม
งดเว้นจากปาณาติบาตต่อไปด้วย เป็นอันว่าเขาละบาปกรรม ก้าวล่วงบาปกรรมได้
ด้วยประการอย่างนี้ ฯ
             [๖๑๖] สาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิ
ติเตียนอทินนาทานโดยอเนกปริยาย และตรัสว่า จงงดเว้นจากอทินนาทาน
ทรัพย์ที่เราลักมีอยู่มากมาย ข้อที่เราลักทรัพย์มากมายนั้น ไม่ดี ไม่งาม เราแลพึง
เดือดร้อน เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัยแท้ เราจักไม่ได้ทำบาปกรรมนั้นหามิได้ เขา
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละอทินนาทานนั้นด้วย ย่อมงดเว้นจากอทินนาทาน
ต่อไปด้วย เป็นอันว่าเขาละบาปกรรม ก้าวล่วงบาปกรรมได้ ด้วยประการอย่างนี้ ฯ
             [๖๑๗] สาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิ
ติเตียนกาเมสุมิจฉาจารโดยอเนกปริยาย และตรัสว่า จงงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร
เราประพฤติผิดในกามมีอยู่มากมาย ข้อที่เราประพฤติผิดในกามมากมายนั้น ไม่ดี
ไม่งาม เราแลพึงเดือดร้อนเพราะข้อนั้นเป็นปัจจัยแท้ เราจักไม่ได้ทำบาปกรรม
นั้นหามิได้ เขาพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละกาเมสุมิจฉาจารนั้นด้วย ย่อมงด
เว้นจากกาเมสุมิจฉาจารต่อไปด้วย เป็นอันว่าเขาละบาปกรรมก้าวล่วงบาปกรรมได้
ด้วยประการอย่างนี้ ฯ
             [๖๑๘] สาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิ
ติเตียนมุสาวาทโดยอเนกปริยาย และตรัสว่า จงงดเว้นจากมุสาวาท ก็เราพูดเท็จ
มีอยู่มากมาย ข้อที่เราพูดเท็จมากมายนั้น ไม่ดี ไม่งาม เราแลพึงเดือดร้อน
เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัยแท้ เราจักไม่ได้ทำบาปกรรมนั้นหามิได้ เขาพิจารณาเห็นดังนี้
แล้วย่อมละมุสาวาทนั้นด้วย ย่อมงดเว้นจากมุสาวาทต่อไปด้วย เป็นอันว่าเขาละ
บาปกรรม ก้าวล่วงบาปกรรมได้ ด้วยประการอย่างนี้ ฯ
             [๖๑๙] สาวกนั้นละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต ละอทินนาทาน
งดเว้นจากอทินนาทาน ละกาเมสุมิจฉาจาร งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ละมุสา
วาท งดเว้นจากมุสาวาท ละปิสุณาวาจา งดเว้นจากปิสุณาวาจา ละผรุสวาจา งด
เว้นจากผรุสวาจา ละสัมผัปลาปะ งดเว้นจากสัมผัปลาปะ ละอภิชฌา ไม่โลภมาก
ละความประทุษร้าย คือ พยาบาท ไม่มีจิตพยาบาท  ละความเห็นผิด มีความ
เห็นชอบ ดูกรนายคามณี อริยสาวกนั้นนั่นแล ปราศจากอภิชฌา ปราศจาก
พยาบาทอย่างนี้ ไม่หลงงมงาย มีความรู้สึกตัว มีสติ มีใจประกอบด้วยเมตตา
แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้
ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่
ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณ
มิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ดูกรนายคามณี คนเป่าสังข์ผู้มีกำลัง
พึงยังบุคคลให้รู้แจ้งทั้ง ๔ ทิศได้โดยไม่ยากเลย ฉันใด กรรมที่ทำพอประมาณ
อันใด ในเมตตาเจโตวิมุติอันบุคคลอบรมแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้ กรรมนั้น
จะไม่เหลือ ไม่ตั้งอยู่ในรูปาพจรนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรนายคามณี อริย-
*สาวกนั้นนั่นแล ปราศจากอภิชฌา ปราศจากพยาบาทแล้วอย่างนี้ ไม่หลงงมงาย
รู้สึกตัว มีสติ มีใจประกอบด้วยกรุณา ... มีใจประกอบด้วยมุทิตา ... มีใจ
ประกอบด้วยอุเบกขาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็เหมือนกัน
ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง  เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์
ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความ
เป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ดูกรนายคามณี
คนเป่าสังข์ผู้มีกำลัง พึงยังบุคคลให้รู้แจ้งทั้ง ๔ ทิศได้โดยไม่ยาก ฉันใด กรรม
ที่ทำพอประมาณในอุเบกขาเจโตวิมุติที่บุคคลอบรมแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้
กรรมนั้นจะไม่เหลือ ไม่ตั้งอยู่ในรูปาพจรนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อพระผู้มี-
*พระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นายบ้านนามว่าอสิพันธกบุตรสาวกนิครณถ์ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้ง
นัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอพระ
ผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
จนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พระเจ้าข้า ฯ

จบสูตรที่ ๘





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 31, 2015, 08:41:07 PM

คันธภกสูตร

             [๖๒๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อุรุเวลกัปปะ นิคม
ของมัลลกษัตริย์ ในมัลลรัฐ ครั้งนั้นแล นายบ้านนามว่า คันธภกะเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควร
ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงเหตุเกิด
และเหตุดับแห่งทุกข์แก่ข้าพระองค์เถิด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนายคามณี
ก็เราพึงปรารภอดีตกาลแสดงเหตุเกิดและเหตุดับแห่งทุกข์แก่ท่านว่า ในอดีตกาล
ได้มีแล้วอย่างนี้ ความสงสัย ความเคลือบแคลงในข้อนั้นจะพึงมีแก่ท่าน ถ้าเรา
ปรารภอนาคตกาลแสดงเหตุเกิดและเหตุดับแห่งทุกข์แก่ท่านว่า ในอนาคตกาล
จักมีอย่างนี้ แม้ในข้อนั้น ความสงสัย ความเคลือบแคลง จะพึงมีแก่ท่าน
อนึ่งเล่า เรานั่งอยู่ ณ ที่นี้แหละ จักแสดงเหตุเกิดและเหตุดับแห่งทุกข์แก่ท่าน
ซึ่งนั่งอยู่ที่นี่เหมือนกัน ท่านจงฟังคำนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว นายคันธภก
คามณีทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า ดูกร-
*นายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์
โทมนัสและอุปายาส พึงเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะหมู่มนุษย์ในอุรุเวลกัปปนิคมตาย
ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์ หรือถูกติเตียน มีแก่ท่านหรือ ฯ
             คา. มีอยู่ พระเจ้าข้า ที่ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์โทมนัสและ
อุปายาส พึงเกิดมีแก่ข้าพระองค์ เพราะหมู่มนุษย์ในอุรุเวลกัปปนิคมตาย ถูก
จองจำ เสื่อมทรัพย์หรือถูกติเตียน ฯ
             พ. ดูกรนายคามณี ก็ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ โทมนัสและ
อุปายาส ไม่พึงเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะหมู่มนุษย์ในอุรุเวลกัปปนิคมตาย ถูกจองจำ
เสื่อมทรัพย์หรือถูกติเตียน มีอยู่แก่ท่านหรือ ฯ
             คา. มีอยู่ พระเจ้าข้า ที่ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ โทมนัส
และอุปายาส ไม่พึงเกิดมีแก่ข้าพระองค์ เพราะหมู่มนุษย์ ในอุรุเวลกัปปนิคมตาย
ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์หรือถูกติเตียน ฯ
             พ. ดูกรนายคามณี อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้ความโศก ความ
ร่ำไร ความทุกข์ โทมนัสและอุปายาส พึงเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะหมู่มนุษย์ชาว
อุรุเวลกัปปนิคมบางพวกตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์หรือถูกติเตียน ก็หรือว่า
อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์โทมนัสและ
อุปายาส ไม่พึงเกิดมีขึ้นแก่ท่าน เพราะหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคมบางพวกตาย
ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์หรือถูกติเตียน ฯ
             คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์โทมนัส
และอุปายาส พึงเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ เพราะหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคมเหล่า
ใดตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์หรือเพราะถูกติเตียน ก็เพราะข้าพระองค์ มี
ฉันทราคะ ในหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคมเหล่านั้น ส่วนความโศก ความร่ำไร
ความทุกข์โทมนัสและอุปายาส ไม่พึงเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ เพราะหมู่มนุษย์ชาว
อุรุเวลกัปปนิคมเหล่าใดตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์หรือถูกติเตียน ก็เพราะ
ข้าพระองค์ไม่มีฉันทราคะในหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคมเหล่านั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรนายคามณี ท่านจงนำไปซึ่งทุกข์อันใดด้วยธรรมที่เห็นแล้ว
ทราบแล้ว บรรลุแล้วโดยไม่ประกอบด้วยกาล หยั่งลงแล้ว ทั้งอดีตและอนาคต
ทุกข์เป็นอดีตกาลอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อเกิด ย่อมเกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหมดนั้นมีฉันทะ
เป็นมูล มีฉันทะเป็นเหตุ เพราะฉันทะเป็นมูลแห่งทุกข์ ทุกข์เป็นอนาคตกาล
อย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อเกิด จักเกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหมดนั้นมีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะ
เป็นเหตุ เพราะฉันทะเป็นมูลแห่งทุกข์ ฯ
             คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว พระดำรัสนี้ว่า
ทุกข์เป็นอดีตกาลอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อเกิด ย่อมเกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหมดนั้นมีฉันทะ
เป็นมูล มีฉันทะเป็นเหตุ เพราะฉันทะเป็นมูลแห่งทุกข์ ทุกข์เป็นอนาคตกาล
อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเกิด จักเกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหมดนั้นมีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะ
เป็นเหตุ เพราะฉันทะเป็นมูลแห่งทุกข์ ดังนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ กุมารนามว่าจิรวาสีบุตรของข้าพระองค์มีอยู่ เขาอาศัยอยู่ภายนอก
นคร ข้าพระองค์ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ส่งบุรุษไปด้วย สั่งว่า แน่ะนาย เจ้าจงไป
จงทราบกุมารจิวาสี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษนั้นยังไม่มาเพียงใด ความกระวน-
*กระวายใจย่อมมีแก่ข้าพระองค์ว่า อะไรๆ อย่าเบียดเบียนจิรวาสีกุมารเลย ดังนี้
เพียงนั้นๆ
             [๖๒๘] พ. ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความโศก ความร่ำไร
ความทุกข์ โทมนัสและอุปายาส พึงเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะจิรวาสีกุมารตาย ถูก
จองจำ เสื่อมทรัพย์หรือถูกติเตียนหรือ ฯ
             คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้เมื่อจิรวาสีกุมารยังมีชีวิตอยู่ ข้าพระองค์
ยังมีความกระวนกระวายใจ ไฉนความโศก ความร่ำไร ความทุกข์โทมนัสและ
อุปายาส จักไม่เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ เพราะจิรวาสีกุมารตาย ถูกจองจำ เสื่อม
ทรัพย์หรือถูกติเตียนเล่า พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรนายคามณี ข้อนั้นพึงทราบโดยปริยายนี้ว่า ทุกข์อย่างใด
อย่างหนึ่งเมื่อเกิด ย่อมเกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหมดนั้นมีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็นเหตุ
เพราะฉันทะเป็นมูลแห่งทุกข์ ดูกรนายคามณี  ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
เมื่อใด ท่านไม่ได้เห็นมารดาของจิรวาสีกุมาร ไม่ได้ฟังเสียง เมื่อนั้น ท่านมี
ความพอใจ ความกำหนัดหรือความรักในมารดาของจิรวาสีกุมารหรือ ฯ
             คา. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. เพราะอาศัยการเห็นหรือการฟัง ท่านจึงมีความพอใจ ความกำหนัด
หรือความรักในมารดาของจิรวาสีกุมารหรือ ฯ
             คา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความโศก ความร่ำไร ความ
ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส พึงเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะมารดาของจิรวาสีกุมารตาย
ถูกจำจอง เสื่อมทรัพย์หรือถูกติเตียนหรือ ฯ
             คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้เมื่อมารดาของจิรวาสีกุมารมีชีวิตอยู่
ข้าพระองค์พึงมีความกระวนกระวายใจ ไฉนความโศก ความร่ำไร  ความทุกข์
โทมนัสและอุปายาส จักไม่เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ เพราะมารดาของจิรวาสีกุมาร
ตาย ถูกจองจำ  เสื่อมทรัพย์หรือถูกติเตียนเล่า พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรนายคามณี ท่านพึงทราบความข้อนั้นโดยปริยายนี้ว่า ทุกข์อย่าง
ใดอย่างหนึ่งเมื่อเกิด ย่อมเกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหมดนั้นมีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็น
เหตุ เพราะฉันทะเป็นมูลเหตุแห่งทุกข์ ฯ

จบสูตรที่ ๑๑



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 31, 2015, 08:45:55 PM

หลวงปู่สุก ศึกษา วิชา ดำเนินธาตุ ทำลายธาตุ กับ ขรัวท่านโต วัดชายนา (น่าอ่าน) #๑

ทรงศึกษา วิชา ดำเนินธาตุ ทำลายธาตุ
(พรรษาที่สอง สถิตวัดโรงช้าง ยุคอยุธยา)
พรรษาที่สอง พระองค์ท่าน ทรงได้พบ กับพระอริยเถราจารย์ อีกพระองค์หนึ่งในสมาธินิมิต ท่านมีนามบัญญัติว่า ขรัวท่านโต ท่านเคยสถิตวัดชายทุ่ง ก่อนสถาปนาเป็นวัดป่าแก้ว ในรัชสมัยพระเจ้ารามาธิบดีที่ ๑ หรือเรียกว่าพระเจ้าอู่ทอง ขรัวท่านโตดำรงขันธ์อยู่ ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พระเจ้าอู่ทอง ท่านเข้ามาในสมาธินิมิตในครั้งนั้น ท่านมาบอกวิธีการ ให้แก่พระอาจารย์สุก สองอย่าง คือ
   การดำเนิน ความเป็นไปแห่งธาตุ ๑
   การทำลายธาตุ ๑
   และสอนให้ไม่หลงติดอยู่ในธาตุ และสอนให้ไม่หลงติดในฤทธิ์ ๑
    พระอริยเถราจารย์ บอกวิธีดำเนินธาตุ ทำลายธาตุ เพื่อให้เกิดฤทธิ์ แก่พระอาจารย์สุก โดยให้บริกรรมดำเนินธาตุ บริกรรมตั้งธาตุ บริกรรมรวมธาตุ เป็นหนึ่งเดียวพระอาจารย์สุก ทรงดำเนินการตั้ง ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ แล้วสัมปยุตธาตุ ประกอบธาตุทั้ง ๖ เป็นหนึ่งเดียว แล้วให้บริกรรมทำลายธาตุทั้ง ๕ ให้สลายไป ยกเว้นวิญญาณธาตุ ซึ่งเป็นธาตุรู้ ท่านกล่าวว่าทำให้เกิดอิทธิวิธี
    ขรัวท่านโต กล่าวต่อไปว่า การดำเนินธาตุ ทำลายธาตุ มิใช่จะทำได้ทุกคนบุคคลไหนมีวาสนาบารมีมาทางนี้ ข้าฯก็จะมาสอนให้เอง เหมือนอย่างที่ข้าฯมาสอนให้ท่านในครั้งนี้
    ขรัวท่านโต ยังกล่าวสอนพระอาจารย์สุกอีกว่า ฤทธิ์ทั้งหลายมีเกิด แล้วก็มีเสื่อมไม่เที่ยงแท้แน่นอน ย่อมแปรปรวนไป ถ้าบุคคลใดยังเป็นปุถุชนอยู่ ไม่รู้ความจริงแห่งพระไตรลักษณ์ ย่อมติด ย่อมหลง อยู่ในฤทธิ์ ไม่สามารถหลุดจากกิเลส ไปพระนิพพานได้ ฉะนั้นขอให้ท่านพิจารณาถึงความไม่เที่ยง ตลอดเวลา อย่าไปติด ไปหลงอยู่ในฤทธิ์ให้บำเพ็ญเพียรภาวนา ไปสู่นิพพานเถิด
     พระอาจารย์สุก ทรงฟังคำพร่ำสอนของ ขรัวท่านโต พระอริยเถราจารย์ ในสมาธินิมิตแล้ว พระองค์ท่านก็มั่นเพียรทำตามที่พระอริยเถราจารย์บอก และภายในเวลา ๓ ราตรี พระองค์ท่านก็บรรลุวิชาดำเนินธาตุ ทำลายธาตุ ได้สำเร็จฤิทธิบางอย่าง แต่ยังเป็นฤทธิ อย่างปุถุชน ยังมีหวั่นไหวบ้าง
     ถึงราตรีที่ ๔ ขรัวท่านโต ก็มาปรากฏในสมาธินิมิต ของพระอาจารย์สุกอีก ด้วยท่านทราบว่า พระอาจารย์สุก สำเร็จวิชาดำเนินธาตุ ทำลายธาตุแล้ว และในสมาธินิมิตราตรีนั้น ขรัวท่านโต กล่าวกับพระอาจารย์สุกว่า วิชาดำเนินธาตุ ทำลายธาตุ ที่เป็นไปในทางโลกีย์ ท่านก็สำเร็จแล้วต่อไปข้าฯ จะสอนวิชาดำเนินธาตุ ทำลายธาตุ ที่เป็นไปในทางโลกุตรธรรม นำทางท่านไปถึงมรรค ผล นิพพาน ตามคำสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ ให้ท่านดำเนินตั้งสภาวะความเป็นไป แห่งปฐวีธาตุ ธาตุดิน ๑ อาโปธาตุ ธาตุน้ำ ๑ เตโชธาตุ ธาตุไฟ ๑ วาโยธาตุ ธาตุลม ๑ อากาสธาตุ ธาตุอากาศ ช่องว่างภายในกาย ๑
วิญญาณธาตุ ธาตุวิญญาณ คือความรู้อะไรๆได้ ๑ พระอริยเถราจารย์กล่าวสอนต่อไปอีกว่า ในธาตุทั้ง ๖ นั้น

     ปฐวีธาตุ ธาตุดิน เป็นอย่างไร ปฐวีธาตุ ธาตุดินมี ๒ อย่างคือ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน ภายใน ปฐวีธาตุ ธาตุดิน
ภายนอกปฐวีธาตุ ธาตุดิน ๒ อย่างนั้น ปฐวีธาตุ ธาตุดินภายใน เป็นอย่างนี้คือ ธรรมชาติที่แข็ง ธรรมชาติที่กระด้าง ความแข็ง ภาวะที่แข็ง เป็นภายในเฉพาะตน เป็นอุปาทินนกรูปข้างใน คือรูปที่มีใจครอง ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ทั้งหมดนี้เรียกว่า ธรรมชาติที่แข็ง ธรรมชาติที่กระด้าง ความแข็ง ภาวะที่แข็ง เป็นภายในเฉพาะตน เป็นอุปาทินนกรูปข้างใน รูปในที่มีใจครอง แม้อย่างอื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุ ธาตุดินภายใน  ปฐวีธาตุ ธาตุดินภายนอก เป็นอย่างนี้คือ ธรรมชาติที่แข็ง ธรรมชาติที่กระด้าง ความแข็ง ภาวะที่แข็ง เป็นภายนอก เป็น อนุปาทินนกรูปข้างนอก คือรูปที่ไม่มีใจครองได้แก่ เหล็ก โลหะ ดีบุกขาว ดีบุกดำ เงิน แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้ว ประพาฬ เงินตรา ทอง แก้วมณีแดง แก้วมณีลาย หญ้า ท่อนไม้ กรวด กระเบื้อง แผ่นดิน แผ่นหิน ภูเขา ทั้งหมดนี้เรียกว่า ธรรมชาติที่แข็ง ธรรมชาติที่กระด้าง ความแข็ง ภาวะที่แข็ง เป็นธรรมชาติภายนอก เป็นอนุปาทินนกรูปข้างนอก คือรูปที่ไม่มีใจครอง แม้อย่างอื่นใดมีอยู่ นี้ก็เรียกว่าปฐวีธาตุ ธาตุดินภายนอก ปฐวีธาตุภายใน ปฐวีธาตุภายนอก ประมวลทั้ง ๒ อย่างนั้นเข้าเป็นหมวดเดียวกัน นี้ก็เรียกว่า ปฐวีธาตุ
 
     อาโปธาตุ ธาตุน้ำ เป็นอย่างไร อาโปธาตุ ธาตุน้ำนั้นมี ๒ อย่าง คือ อาโปธาตุ  ธาตุน้ำภายใน อาโปธาตุ ธาตุน้ำภายนอก อาโปธาตุ ๒ อย่างนั้น อาโปธาตุ ธาตุน้ำภายใน เป็นอย่างนี้คือ ความเอิบอาบ ธรรมชาติที่เอิบอาบ ความเหนียว ธรรมชาติที่เหนียว ธรรมชาติที่เกาะกุมรูป เป็นภายใน เฉพาะตน เป็นอุปาทินนกรูปข้างใน คือรูปข้างในมีใจครอง ได้แก่ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ทั้งหมดนี้เป็นความเอิบอาบ ธรรมชาติที่เอิบอาบ ความเหนียว ธรรมชาติที่เหนียว ธรรมชาติที่เกาะกุมรูป เป็นภายใน
เฉพาะตน เป็นอุปาทินนกรูปข้างใน คือรูปข้างในมีใจครอง แม้อย่างอื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า อาโปธาตุ ธาตุน้ำภายใน อาโปธาตุ ธาตุน้ำภายนอก ภายนอก เป็นอย่างนี้คือ ความเอิบอาบ ธรรมชาติที่ เอิบอาบ ความเหนียว ธรรมชาติที่เหนียว ธรรมชาติที่เกาะกุมรูป เป็นภายนอก เป็นอนุปาทินนกรูปข้างนอก รูปข้างนอกไม่มีใจครอง ได้แก่ รสรากไม้ รสลำต้น รสเปลือกไม้ รส ใบไม้ รสดอกไม้ รสผลไม้ นมสด นมส้ม เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้งน้ำอ้อย น้ำที่อยู่ใน พื้นดิน หรือน้ำที่อยู่ในอากาศ เป็นธรรมชาติที่มีความเอิบอาบ ธรรมชาติที่เอิบอาบ ความ
เหนียว ธรรมชาติที่เหนียวธรรมชาติที่เกาะกุมรูป เป็นภายนอก เป็นอนุปาทินนกรูปข้างนอก คือรูปไม่มีใจครองภายนอก แม้อย่างอื่นใดมีอยู่นี้เรียกว่า อาโปธาตุ ธาตุน้ำภายนอก อาโปธาตุ ธาตุน้ำภายภายใน อาโปธาตุธาตุน้ำภายนอก ประมวลทั้ง ๒ อย่างนั้น เข้าเป็น หมวดเดียวกันอย่างเดียวกันนี้เรียกว่า อาโปธาตุ คือธาตุน้ำ

     เตโชธาตุ ธาตุไฟเป็นอย่างไร เตโชธาตุ มี ๒ อย่าง คือ เตโชธาตุภายใน เตโชธาตุภายนอก ในเตโชธาตุ ๒ อย่างนั้น เตโชธาตุภายใน เป็นอย่างนี้คือความร้อนธรรมชาติที่ร้อน ความอุ่น ธรรมชาติที่อุ่น ความอบอุ่น ธรรมชาติที่อบอุ่น เป็นภายในเฉพาะตน เป็น อุปาทินนกรูปข้างใน คือรูปมีใจครอง ได้แก่ เตโชธาตุที่ทำให้ร่างกายเร่าร้อน เตโชธาตุที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรม เตโชธาตุที่เป็นเหตุให้เผาไหม้ เตโชธาตุที่ทำให้ของกินของดื่มของเคี้ยวของลิ้มถึงความย่อยไปด้วยดี นี้เรียกว่าความร้อน ธรรมชาติที่ร้อน ความอุ่น ธรรมชาติที่อุ่น ความอบอุ่น ธรรมชาติที่อบอุ่น เป็นภายในเฉพาะตน เป็นอุปาทินนกรูปรูปมีใจครอง ข้างใน แม้อย่างอื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า เตโชธาตุ ธาตุภายใน เตโชธาตุภายนอก เป็นอย่างนี้คือ ความร้อน ธรรมชาติที่ร้อน ความอุ่นธรรมชาติที่อุ่น ความอบอุ่นธรรมชาติที่อบอุ่น เป็นภายนอก เป็นอนุปาทินนกรูปข้างนอก คือรูปไม่มีใจครอง ได้แก่ ไฟฟืน ไฟสะเก็ดไม้ ไฟหญ้า ไฟมูลโค ไฟแกลบ ไฟหยากเยื่อ ไฟอสนีบาต ความร้อนแห่งไฟ ความร้อนแห่งดวงอาทิตย์ ความร้อนแห่งกองฟืน ความร้อนแห่งกองหญ้า ความร้อนแห่งกองข้าวเปลือก ความร้อนแห่งกองขี้เถ้า หรือความร้อนธรรมชาติที่ร้อน ความอุ่น ธรรมชาติที่อุ่น ความอบอุ่น ธรรมชาติที่อบอุ่น เป็นภายนอก เป็นอนุปาทินนกรูปข้างนอก รูปไม่มีใจครอง แม้อย่างอื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า เตโชธาตุภายนอก เตโชธาตุภายใน เตโชธาตุภายนอก ประมวลทั้ง ๒ อย่างนั้น เข้าเป็นหมวดเดียวกันนี้เรียกว่า เตโชธาตุ หรือธาตุไฟ

     วาโยธาตุ ธาตุลมเป็นอย่างไร วาโยธาตุมี ๒ อย่างคือ วาโยธาตุภายใน วาโยธาตุภายนอก ในวาโยธาตุ ๒ อย่างนั้น วาโยธาตุภายใน เป็นอย่างนี้คือ ความพัดไปมาธรรมชาติที่พัดไปมา ความเคร่งตึงแห่งรูป เป็นภายในเฉพาะตนเป็นอุปาทินนกรูปข้างใน คือรูปมีใจครอง ได้แก่ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำลมในท้อง ลมในไส้ ลมพัดไปตามตัว ลมศัสตรา ลมมีดโกน ลมเพิกหัวใจ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หรือความพัดไปมา ธรรมชาติที่พัดไปมา ความเคร่งตึงแห่งรูป เป็นภายใน เฉพาะตน เป็นอุปาทินนกรูปข้างใน แม้อย่างอื่นใดมีอยู่นี้เรียกว่า วาโยธาตุ ธาตุลมภายในวาโยธาตุภายนอก เป็นอย่างนี้คือ ความพัดไปมา ธรรมชาติที่พัดไปมา ความเคร่งตึงแห่งรูปเป็นภายนอกเป็นอนุปาทินนกรูปข้างนอก หรือรูปไม่มีใจครอง ได้แก่ ลมตะวันออก ลมตะวันตก ลมเหนือ ลมใต้ ลมมีฝุ่นละออง ลมไม่มีฝุ่นละออง ลมหนาว ลมร้อน ลมอ่อน ลมแรง ลมดำ ลมบน ลมกระพือปีก ลมครุฑ ลมใบตาล ลมเป่าปากหรือความพัดไปมา ธรรมชาติที่พัดไปมา ความเคร่งตึงแห่งรูป เป็นภายนอก เป็นอนุปาทินนก แม้อย่างอื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า วาโยธาตุภายนอก วาโยธาตุภายใน วาโยธาตุภายนอก ประมวลทั้ง ๒ อย่างนั้น เข้าเป็นหมวดเดียวกัน นี้เรียกว่าวาโยธาตุ ธาตุลม

      อากาศธาตุ คือช่องว่าง เป็นอย่างไร อากาศธาตุมี ๒ อย่าง คือ อากาศธาตุภายใน อากาศธาตุภายนอก ในอากาศธาตุ ๒ อย่างนั้น อากาศธาตุภายใน เป็นอย่างนี้คือ อากาศ ธรรมชาติอันนับว่าอากาศ ความว่างเปล่า ธรรมชาติอันนับว่าความว่างเปล่า ช่องว่างธรรมชาติอันนับว่าช่องว่าง ที่อันเนื้อและเลือดไม่ถูกต้องเป็นภายใน เฉพาะตน เป็นอุปาทินนกรูปข้างใน ได้แก่ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ช่องสำหรับกลืนของกินของดื่มของ
เคี้ยวของลิ้ม ช่องที่พักอยู่แห่งของกิน ของดื่ม ของเคี้ยวของลิ้ม และช่องสำหรับของกินของดื่มของเคี้ยวของลิ้มไหลออกเบื้องต่ำ หรือ อากาศ ธรรมชาติอันนับว่าอากาศ ความว่างเปล่า ธรรมชาติอันนับว่าความว่างเปล่า ช่องว่าง ธรรมชาติอันนับว่าช่องว่าง ที่อันเนื้อและเลือดไม่ถูกต้อง เป็นภายในเฉพาะตน เป็นอุปาทินนกรูปข้างใน แม้อื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่าอากาศธาตุ หรือช่องว่างภายใน อากาสธาตุภายนอก เป็นอย่างนี้คือ อากาศ ธรรมชาติอันนับว่าอากาศ ความว่างเปล่า ธรรมชาติอันนับว่าความว่างเปล่าช่องว่าง ธรรมชาติอันนับว่าช่องว่าง ที่อันมหาภูตรูป ๔ ไม่ถูกต้อง เป็นภายนอก เป็นอนุปาทินนกรูปข้างนอก นี้เรียกว่า อากาสธาตุช่องว่างภายนอก อากาสธาตุภายใน อากาสธาตุภายนอก ประมวลทั้ง ๒ อย่างนั้น เข้า เป็นหมวดเดียวกัน กองเดียวกัน นี้เรียกว่า อากาสธาตุ คือช่องว่าง

      วิญญาณธาตุ คือความรู้อะไรๆได้ เป็นอย่างนี้คือ จักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ มโนวิญญาณธาตุ นี้เรียกว่า วิญญาณธาตุ สภาวะธรรม หลักแห่งความเป็นไปเอง เหล่านี้เรียกว่า ธาตุ ๖ ประการ คือ ความเป็นไปเอง ๖ ประการ นี้เป็นการดำเนินธาตุ ตั้งธาตุ ฝ่ายโลกุตรธรรม

      ขรัวท่านโต กล่าวสอนต่อไปว่า ข้าฯจะบอกวิธีทำลายธาตุทั้ง ๖ เพื่อกรุยทางไปสู่อมตธรรม ท่านว่าธาตุอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ตรัสไว้ชอบนั้นมี ๖ ประการ

๖ ประการ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น
คือปฐวีธาตุ(ดิน)
อาโปธาตุ(น้ำ)
เตโชธาตุ(ไฟ)
วาโยธาตุ(ลม)
อากาสธาตุ(ช่องว่าง)
วิญญาณธาตุ ความรู้อะไรๆได้


ขอขอบพระคุณที่มาจาก  http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=6429.msg23841#msg23841 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=6429.msg23841#msg23841)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 31, 2015, 09:25:47 PM

หลวงปู่สุก ศึกษา วิชา ดำเนินธาตุ ทำลายธาตุ กับ ขรัวท่านโต วัดชายนา (น่าอ่าน) #๒

      ธาตุ ๖ ประการอัน พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธตรัสไว้ชอบแล้ว ก็จิตของท่าน (หมายถึงพระอาจารสุก) เป็นผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ จะพิจารณาอยู่อย่างไรเล่า จึงจะหลุดพ้น จากอาสวะกิเลส ไม่ยึดมั่น ถือมั่นในธาตุทั้ง ๖ อันเป็นภายใน ภายนอกนี้ ฯ ขรัวท่านโต กล่าวว่า พระพุทธเจ้า ตรัสสอนไว้ว่า ให้ภิกษุทั้งหลาย ครอง ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ ช่องว่าง วิญญาณธาตุ ธาตุรู้อะไรๆได้ โดยความเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน ไม่ให้ครองอัตตา คือความมีตัวตน โดยอาศัย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ ช่องว่าง วิญญาณธาตุ คือความรู้อะไรๆได้ เมื่อท่านครองธาตุ โดยความไม่มีตัวตน ท่านจึงจะทราบชัดเจนว่า จิต ไม่ควรยึดมั่น ถือมั่น และจะทราบชัด ไปอีกว่าจิตของท่านกำลังจะหลุดพ้น หรือหลุดพ้นแล้ว หลุดพ้น เพราะสิ้นกิเลส ดับคืนกิเลส ละความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทาน โดยอาศัยธาตุทั้ง ๖ และอนุสัย คือความตั้งใจ
และความปักใจมั่น โดยอาศัยธาตุทั้ง ๖ ได้ จะทำให้ท่านหลุดพ้นโดยเร็วพลัน เสร็จสิ้นคำกล่าวสอน ขรัวท่านโต ก็หายกลับไป จากนั้นพระอาจารย์สุก ก็ทรงออกจากสมาธิ ครั้งนั้นพระอาจารย์สุก พระองค์ท่านทรงมีพระสติ สัมปชัญญะ ระลึกถึงคำสอนของขรัวท่านโต อยู่เสมอเนื่องๆว่า การยึดติดธาตุ ๖ และฤทธิ์ต่างๆไม่สามารถนำทาง
พระองค์ท่านไปสู่ทางพระนิพพานได้ ถ้ายังไปหลงติดอยู่ ตามคำที่พระอริยเถราจารย์

สั่งสอนอบรมมา แต่นั้นมาพระองค์ท่านก็ ไม่ทรงติดอยู่ในฤทธิ์ ในอำนาจต่างๆ ทรงเห็นเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน และทรงทบทวนดำเนินการตั้งธาตุ ๖ และทำลายธาตุ ๖ ทั้งทางอิทธิ และทางโลกุตรธรรม

      คืนต่อมาขรัวท่านโต ท่านก็มาสอนเรื่องธาตุ ในสมาธิจิตของพระอาจารย์สุกอีกโดยกล่าวว่า สิ่งที่เป็นธาตุยังมีอีก เช่น จักขุธาตุ โสตธาตุ ฆานะธาตุ ชิวหาธาตุ กาย

     ธาตุ มโนธาตุ ท่านกล่าวว่าในธาตุเหล่านี้ มีธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุอยู่ด้วย
     ธาตุไฟ มีมากในจักขุ คือตา เมื่อตาเห็นรูปที่ดีก็ตาม เห็นรูปที่ทรามก็ตาม ให้ทำจิตเหมือนเปลวไฟ แล็บหายไป ความยึดมั่นถือมั่น ในรูป ที่มากระทบจักขุ ก็จะหายไป
      ธาตุลม มีมากในหู ได้ฟังเสียงที่ดีก็ตาม ได้ฟังเสียงที่ชั่วก็ตาม ให้ทำเหมือนลมพัดผ่านไป ความยึดมั่นในเสียงที่ดี และร้าย ก็ไม่มี
      ธาตุดิน มีมาก ในจมูก ได้กลิ่นที่ดีก็ตาม ได้กลิ่นที่ไม่ชอบใจก็ตาม ให้ทำจิตเหมือนดินสลายไป ความยึดมั่นถือมั่นในกลิ่น ดี ชั่ว ก็จะสลายไป
      ธาตุน้ำ มีมาก ในลิ้น ถ้าลิ้มรสที่ดีก็ตาม ได้ลิ้มรสที่ชังก็ตาม ให้ทำจิตเหมือนสายน้ำไหลไป ความยึดมั่นถือมั่น ติดในรส ก็สลายไป

       ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ มี มากในกาย ได้สัมผัสดีก็ตาม ได้สัมผัสชั่วก็ตาม ให้ทำจิต เหมือน ธาตุทั้ง๔ สลายไป ความยึดมั่นถือมั่น ในสัมผัส ก็จะสลายไป อากาศธาตุ มีมากในมโนธาตุ และวิญญาณธาตุ รู้ธรรมารมณ์ที่ดีก็ตาม รู้ ธรรมารมณ์ที่ชังก็ตาม ให้ทำจิตเหมือนอากาศสลายไป จะทำให้จิตเป็นกลางใน สภาวธรรมทั้งที่ดี และไม่ดี จะทำให้ท่านหลุดพ้นจากอายตนะ ๖ และธาตุทั้ง ๖ คลายความยึดมั่น ถือมั่นไปสู่ทางนิพพานแล

คืนต่อมาพระอาจารย์สุก ทรงยกธาตุ ๖ ประการ ขึ้นพิจารณา ไปสู่พระไตรลักษณะญาณ โดยความเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน ในธาตุทั้ง ๖ จิตของพระองค์ท่านก็ดำเนินทางไปสู่ภูมิแห่งวิปัสสนากรรมฐาน เจริญทางมรรคธรรม ทางผลธรรม เพื่อถึงเมืองแก้วอมตมหานิพพานธรรม ต่อไป กาลต่อมาพระองค์ท่านก็ไม่ยึดติดอยู่ในธาตุทั้ง ๖ และวิชาอิทธิฤทธิ์ ปล่อยวางได้ยิ่งๆขึ้นไป จิตของพระองค์ท่าน ก็หลุดพ้นขึ้นไปเรื่อยๆ

ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือพระประวัติ สมเด็จพระสังฆราช พระญาณสังวร มหาเถรเจ้า ( หลวงปู่สุก ไก่เถื่อน )
เรียบเรียงโดย พระครูสิทธิสังวร ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดราชสิทธาราม เจ้าคณะ 5 ( วัดพลับ )

(http://www.madchima.net/images/663_card_18.jpg)


ขอขอบพระคุณที่มาจาก  http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=6429.msg23841#msg23841 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=6429.msg23841#msg23841)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มิถุนายน 01, 2015, 08:57:34 PM


เรื่อง รูปฌาน และอรูปฌาน


http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=19.msg21#msg21 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=19.msg21#msg21)


ปัญจมฌาน ใน กรรมฐาน มัชฌิมา แบบลำดับ


http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=8158.msg30232#msg30232 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=8158.msg30232#msg30232)




หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มิถุนายน 19, 2015, 09:02:15 PM

บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะวันที่ วันที่ 8/6/58

วันนี้ได้ไปทำบุญกับหลวงน้า พระครูนกแก้ว ซึ่งหลวงน้าได้เทสนาสั่งสอนเรา เรามีใจหมายจะถามไว้ในใจกับหลวงน้า แต่ยังไม่ได้กล่าวถามแล้วหลวงน้าก็เทสนาสั่งสอนเท่าที่เรา ข้อความเท่าที่เราพอจะจำได้ประกอบกับความตรึกนึกคิดที่เรานั้นพอจะเข้าใจได้ ซึ่งไม่ตรงตามจริงที่หลวงน้าเทสนาสั่งสอนไปทั้งหมด เท่าที่พอจะจับใจความได้มีดังนี้ว่า

๑. คนที่ไม่ได้สมาธิ มีเพียงขณิกสมาธิ แล้วสามารถสงเคราะห์เข้าถึงธรรมชาติแล้วบรรลุธรรมได้ เขาเป็นคนที่บุญมาก มีบารมีเยอะ สะสมมามากแล้ว เพราะปกติคนธรรมดาทั่วไปที่บารมีไม่พร้อม จะไม่สามารถเข้าถึงสภาวะธรรมอันเป็นธรรมชาติโดยใช้ขณิกสมาธิได้ เหมือนสมัยพุทธกาล พระอรหันตสาวก เอตทัคคะแต่ละองค์แม้ไม่เคยเรียรรู้ธรรมอันใด ไม่เคยฝึกกสิน หรือ สมาธิ แต่เพียงเห็นต้นไม้ ใบหญ้า ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ พระจันทร์ พระอาทิตย์ และ ได้ฟังธรรรมของพระพุทธเจ้าเพียงเล็กน้อยก็บรรลุอรหันตผลได้ ท่าตนทั้งหลายเหล่านั้นล้วนสะสมบารมีธรีรมทั้งปวงมามากมายนับไม่ถ้วน ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถทำได้

๒. จิตนี้มันมีจิตดวงเดียวนี้แหละมันจะตกนรกหมดกไหม้ถูกไฟนรกแผดเผาจนดับสูญไปแต่มันก็ไม่ตาย มัะนดับไปมันก็เกิดใหม่ ตามแต่สภาวะธรรมของมันมีรูปลักษณ์ไปต่างๆ จิตมันนเหมือนหลอกไฟนี้แหละเปิดปิด เปิดปิด คือ เกิด-ดับๆ อยู่ตลอดเวลาตามแต่อารมณ์นั้นๆทีเกิดขึ้น แต่มันต่างจากหลอดไปตรงที่ไม่มีวันหมดอายุ แต่มันก็เกิด-ดับๆวนเวียนไปอย่างนั้นไม่จบสิ้น

    เราได้ถามหลวงน้าว่า ผมได้เห็นเหมือนจิตตนเองเองมีความสว่างใสดุจทอง แล้ว มีความสลดสังเวชวอันเป้นความไรู้สึกไม่ใช่ สุข ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่รัก ไม่ใช่เกลียด แล้วกล่าวว่า คนเรานี้โง่หนอ มีความสุขอยู่บนสิ่งไม่เที่ยง ประมาณนี้ เสร็จแล้วหลวงน้าจึงตอบคำถามและกล่าวสอนว่า ธรรมชาติของจิตนี้มันมีเป็น ร้อยแปด พันเก้าอาการ ไปจนถึงเป็นล้านๆอาการ พระพุทธเจ้าจึงมีกรรมฐานทั้ง ๔๐ ตามแต่จิตประเภทนั้นๆไว้ให้ ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดอาการไรๆ นิมิตไรๆ ความรู้สึกไรๆขึ้น มันก็แค่อาการหนึ่งๆของจิตเท่านั้นไม่มีเกินนี้
    ทีนี้ไม่ว่าจะเกิดอาการใดมีเกิดขึ้น จะเกิดนิมิตไรๆ จะเกิดอาการความรู้สึกอย่างไร จะเป็นจะตายก็ช่างมัน ให้สักแต่ว่ารู้เท่านั้น รู้ว่ามันเป็นเพียงปกติอาการของจิตที่มีอยู่มากมายหลายแบบจนนับไม่ถ้วนเท่านั้น เมื่อรู้ว่าปกติมันเป็นอย่างนั้นก็ไม่ต้องไปยึด ไปถือ ไปเสพย์ตามมัน มีความระลึกรู้ด้วยวางใจไว้เพียงแค่รู้แค่แลดูมันอยู่ด้วยความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เพียงเท่านั้นแค่นั้น นี่คือ รู้ ปกติ วาง เป็นความไม่ยึด ไม่ขัด ไม่เสพย์ ไม่หลงตาม สมาธิก็จะแน่วแน่ขึ้นเอง

พอเมื่อสนทนาได้ประมาณเกือบ 2 ชม. ก็ได้ลาหลวงน้ากลับพร้อมความเปลื้องจิตออก ไม่ยึดกับอาการไรๆของจิตอีกเพราะรู้ว่ามันเป็นเพียงอาการหนึ่งของจิตเท่านั้นที่มีมากมายนับไม่ถ้วน จึงเข้าถึงคำสอนของหลวงน้าที่สอนว่า
  รู้ ปกติ วาง


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มิถุนายน 19, 2015, 09:14:52 PM
ทางเข้าสมาธิ โดยมนสิการ คือ ความทำไว้ในใจ ใน อุปสมานุสสติ+เมตตา

๑. แสวงหาความสงบ ความสงบ นั้นคือ ความไม่สัดส่าย ฟุ้งซ่าย วอกแวก ไม่คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้หลายๆเรื่อง เดี๋ยวก็นั่นเดี๋ยวก็นี่
๒. ทำให้ใจสงบด้วย
- การรู้ลมหายใจเข้าออก จิตอยู่ที่ลมหายใจไม่ทิ้งไป ไม่ติดใคร่เรื่องราวไรๆให้หวนตรึกนึกคำนึงถึง ใช้คำบริกรรมพุทโธหนุนให้จิตมีกำลังจับอยู่ที่ลมหายใจ
- การทำใจหมายในความว่าง ไม่สัดส่ายไปตามความคิดปรุงแต่งจิต
๓. หากยังไม่สงบให้ทำไว้ในใจ หมายที่จะพักผ่อน หมายจะทิ้งกายใจลงพัก หมายจะทิ้งกายใจลงนอนเพื่อหลับ หมายจะทิ้งทุกสิ่งไปด้วยใจที่ช่างมัน

๔. เมื่อสงบใจได้บ้างแล้ว มีฟุ้งซ่านน้อยลง บางทีจะเห็นอาการที่มันขัดใจ บังคับให้สงบไม่ได้บ้าง เห็นอาการอึดอัดใจบ้าง ก็ให้ทำไว้ในใจดังนี้คือ
- มีจิตสงสารตนเอง ที่เร่าร้อน ร้อนรน ร้อนรุ่ม เพราะติดข้องขัดเคืองใจในเรื่องนั้นเรื่องนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้บ้าง
 - มีจิตปารถนาน้อมใจสงเคราะห์ ให้ตนเองคลายความเร่าร้อนนั้นๆไปเสีย  หายใจเข้า
 - พึงมีจิตปารถนาจะให้ตนเอง สละคืนความเร่าร้อน ถึงความคลายอาการที่เร่าร้อนกายใจไรๆนั้นๆไปเสีย หายใจออก
 - ทำไว้ในใจว่า จิตเอ๋ย จงอย่าเร่าร้อนอีกเลย อย่าร้อนรุ่มอีกเลย อย่ามีฉันทะราคะต่อใคร บุคคลใด สัตว์ใด สิ่งใดๆอีกเลย เพราะมันนำแต่ความเร่าร้อน ความแสวงหาปารถนาอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์มาให้ ขอเราจงเป็นสุข จงเป็นผู้ไม่มีความทุกข์เร่าร้อนกายใจทั้งปวง จงเป็นผู้ไม่มีเวรภัยอันยังความฉิบหายมาสู่ตน และเป็นผู้ปราศจากความผูกเวรภัยอันหมายใจในความฉิบหายต่อผู้อื่น ขอเนาจงดำรงชีพอยู่เป็นสุขปราศจากความเร่าร้อยกายใจในกาลทุกเมื่อเทอญ

๕. พึงทำความไม่เบียดเบียนต่อผู้อื่น ด้วยทำใจไว้ในความปารถนาดีต่อสรรพสิ่งทั้งปวงประดุจดั่งเขาเป็น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ น้อง ลูก เมีย สามี เป็นมิตรสหายที่ดี อันที่เราอยากให้เขาสำเร็จในประโยชน์สุขทั้งปวง ปราศจากความทุกข์เร่าร้อน ได้ดีมีสุขสำเร็จ พบแต่สิ่งที่ดีงาม แผ่ไปโดยหมายให้เป็นประดุจดั่งอากาศอันเป็นที่ว่างที่มีแทรกอยู่ในทุกๆอณูธาตุไม่มีเว้น ไม่ว่าที่รัก ที่เกลัยด ที่ละเอียด ที่หยาบก็เป็นเพียงสักแต่ว่าธาตุเสมอกัน  อากาศมีแทรกในธาตุทั้งปวงไม่ตั้งความรังเกลียดต่อสิ่งไรๆใดฉันใด เราก็แผ่เอาจิตความปารถนาดีของเราไปแทรกทั่วถึงซึ่งธรรมธาตุทั้งปวงไม่มีเว้นไปฉันนั้น
๖. เมื่อแผ่ไปอย่างนี้จิตที่น้ิมไปในการสงเคราะห์ แบ่งปัน สละให้ผู้อื่นย่อมเกิดมีขึ้น จิตที่น้อมไปในความยินดีที่ปู้อื่นสำเร็จปรโยชน์สุข ยังคงไว้ซึ่งประโยชน์สุขของเขาโดยปราศจากความอิจสาริษยาย่อมมีเกิดขึ้น เป็นจิตอันอัดปะทุขึ้นไปด้วยสุขแห่งกุศลย่อมมีเกิดขึ้น

๗. ด้วยความว่า อากาศ คือ ความว่างมีมากในใจตามวิชาธาตุ จะเป็นภวังคเจตสิกที่มีเกิดขึ้นในทุกๆวิถีจิตก็ดี จะเป็นอุเบกขาก็ดี ความไม่เป็นทั้งกุศลและอกุศลก็ดี เมื่อแผ่ไปอย่างนี้ จิตย่อมว่างอยู่ด้วยความเป็นกุศล เพราะอากาศมีมากในจิตด้วยประการดังนั้น ทำให้จิตเป็นสมาธิเกิดขึ้นโดยอุปจาระสมาธิ

๘.ทีนี้ไม่ว่าจะเกิดอาการใดมีเกิดขึ้น จะเกิดนิมิตไรๆ จะเกิดอาการความรู้สึกอย่างไร จะเป็นจะตายก็ช่างมัน ให้สักแต่ว่ารู้เท่านั้น รู้ว่ามันเป็นเพียงปกติอาการของจิตที่มีอยู่มากมายหลายแบบจนนับไม่ถ้วนเท่านั้น เมื่อรู้ว่าปกติมันเป็นอย่างนั้นก็ไม่ต้องไปยึด ไปถือ ไปเสพย์ตามมัน มีความระลึกรู้ด้วยวางใจไว้เพียงแค่รู้แค่แลดูมันอยู่ด้วยความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เพียงเท่านั้นแค่นั้น นี่คือ รู้ ปกติ วาง ไม่ยึด ไม่ขัด ไม่เสพย์ ไม่หลงตาม สมาธิก็จะแน่วแน่ขึ้นเอง

ผัสสะ → วิญญาณ → เจตานา+สัญญา+วิตก → วิญญาณ → เวทนา → วิญญาณ → ๑. ฉันทะ = ยินดี → วิญญาณ → สัญญา+เวทนา → วิญญาณ → ๒. นันทิ = ติดใจ, ติดใคร่, เสพย์ติดสิ่งนั้นๆ,  ตราตรึงใจอยู่ในสิ่งนั้นๆ → ๓. ราคะ = ความหมายใจผูกใฝ่ใจในสิ่งนั้น → ๔. แสวงหา → สัญญา+วิตก } กาม ความแสวงหาใคร่ปารถนาที่จะได้เสพย์ในอารมณ์นั้นๆทั้งปวง


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มิถุนายน 21, 2015, 09:14:03 PM

สัญญาสูตร(ความสำคัญมั่นหมายของใจ)

            [๒๑๔] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่-
*ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว
ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พึงมีหรือหนอแล การ
ที่ภิกษุได้สมาธิโดยประการที่ตนไม่พึงมีความสำคัญในปฐวีธาตุว่าเป็นปฐวีธาตุเป็น
อารมณ์ไม่พึงมีความสำคัญในอาโปธาตุว่าเป็นอาโปธาตุเป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความ
สำคัญในเตโชธาตุว่าเป็นเตโชธาตุเป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญในวาโยธาตุ
ว่าเป็นวาโยธาตุเป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญในอากาสานัญจายตนะว่าเป็น
อากาสานัญจายตนะเป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญในวิญญาณัญจายตนะ ว่าเป็น
วิญญาณัญจายตนะเป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญในอากิญจัญญายตนะว่าเป็น
อากิญจัญญายตนะเป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญในเนวสัญญานาสัญญายตนะว่า
เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนะเป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญในโลกนี้ว่าเป็นโลก
นี้เป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญในโลกหน้าว่าเป็นโลกหน้าเป็นอารมณ์ ไม่พึง
มีความสำคัญในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ ธรรมที่รู้แจ้ง ที่ถึง
แล้ว ที่แสวงหาแล้ว ที่ตรองตามแล้วด้วยใจ ก็แต่ว่าพึงเป็นผู้มีสัญญา ฯ
             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พึงมีได้อานนท์ การที่ภิกษุได้สมาธิโดย
ประการที่ตนไม่พึงมีความสำคัญในปฐวีธาตุว่าเป็นปฐวีธาตุเป็นอารมณ์ ... ที่ตรอง
ตามแล้วด้วยใจ ก็แต่ว่าพึงเป็นผู้มีสัญญา ฯ
             อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พึงมีได้อย่างไรเล่า การที่ภิกษุได้สมาธิ
โดยประการที่ตนไม่พึงมีความสำคัญในปฐวีธาตุว่าเป็นปฐวีธาตุเป็นอารมณ์ ... ที่
ตรองตามแล้วด้วยใจ ก็แต่ว่าพึงเป็นผู้มีสัญญา ฯ
             พ. ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีสัญญาอย่างนี้ว่า
ธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั้นประณีต คือ ความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความ
สละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสิ้นกำหนัด ความดับ นิพพาน
ดูกรอานนท์ พึงมีได้อย่างนี้แล การที่ภิกษุได้สมาธิโดยประการที่ตนไม่พึงมี-
*ความสำคัญในปฐวีธาตุว่าเป็นปฐวีธาตุเป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญในอาโป-
*ธาตุว่าเป็นอาโปธาตุเป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญในเตโชธาตุว่าเป็นเตโชธาตุ
เป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญในวาโยธาตุว่าเป็นวาโยธาตุเป็นอารมณ์ ไม่พึง
มีความสำคัญในอากาสานัญจายตนะว่าเป็นอากาสนัญจายตนะเป็นอารมณ์ ไม่พึง
มีความสำคัญในวิญญาณัญจายตนะว่าเป็นวิญญาณัญจายตนะเป็นอารมณ์ ไม่พึง
มีความสำคัญในอากิญจัญญายตนะว่าเป็นอากิญจัญญายตนะเป็นอารมณ์ ไม่พึง
มีความสำคัญในเนวสัญญานาสัญญายตนะ ว่าเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนะเป็น
อารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญในโลกนี้ว่าเป็นโลกนี้เป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความ
สำคัญในโลกหน้าว่าเป็นโลกหน้าเป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญในรูปที่ได้เห็น
เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ ธรรมที่รู้แจ้ง ที่ถึงแล้ว ที่แสวงหาแล้ว ที่ตรอง
ตามแล้วด้วยใจ ก็แต่ว่าพึงเป็นผู้มีสัญญา ฯ
             ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาค
แล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้ว เข้าไป
หาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้น
ผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว
ได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรท่านสารีบุตรผู้มีอายุ พึงมีได้หรือหนอแล การ
ที่ภิกษุได้สมาธิโดยประการที่ตนไม่พึงมีความสำคัญในปฐวีธาตุว่าเป็นปฐวีธาตุเป็น-
*อารมณ์ ฯลฯ ไม่พึงมีความสำคัญในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ
ธรรมที่รู้แจ้ง ที่ถึงแล้ว ที่แสวงหาแล้ว ที่ตรองตามแล้วด้วยใจ ก็แต่ว่าพึงเป็น
ผู้มีสัญญา ฯ
             ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูกรท่านอานนท์ผู้มีอายุ พึงมีได้ การที่ภิกษุ
ได้สมาธิ โดยประการที่ตนไม่พึงมีความสำคัญในปฐวีธาตุ ว่าเป็นปฐวีธาตุ
เป็นอารมณ์ ฯลฯ ไม่พึงมีความสำคัญในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ
ธรรมที่รู้แจ้ง ที่ถึงแล้ว ที่แสวงหาแล้ว ที่ตรองตามแล้วด้วยใจ ก็แต่ว่าพึง
เป็นผู้มีสัญญา ฯ
             อา. ดูกรท่านสารีบุตรผู้มีอายุ พึงมีได้อย่างไรเล่า การที่ภิกษุได้สมาธิ
โดยประการที่ตนไม่พึงมีความสำคัญในปฐวีธาตุว่าเป็นปฐวีธาตุเป็นอารมณ์ ฯลฯ
ไม่พึงมีความสำคัญในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ ธรรมที่รู้แจ้ง
ที่ถึงแล้ว ที่แสวงหาแล้ว ที่ตรองตามแล้วด้วยใจ ก็แต่ว่าพึงเป็นผู้มีสัญญา ฯ
             สา. ดูกรท่านอานนท์ผู้มีอายุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีสัญญา
อย่างนี้ว่า ธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือ ความสงบสังขารทั้งปวง
ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสิ้นกำหนัด ความดับ นิพพาน
ดูกรท่านอานนท์ผู้มีอายุ พึงมีได้อย่างนี้แล การที่ภิกษุได้สมาธิโดยประการที่ตน
ไม่พึงมีความสำคัญในปฐวีธาตุว่าเป็นปฐวีธาตุเป็นอารมณ์ ฯลฯ ไม่พึงมีความสำคัญ
ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ ธรรมที่รู้แจ้ง ที่ถึงแล้ว ที่แสวง
หาแล้ว ที่ตรองตามแล้วด้วยใจ ก็แต่ว่าพึงเป็นผู้มีสัญญา ฯ
             อา. ดูกรท่านสารีบุตรผู้มีอายุ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว การที่อรรถ
กับอรรถ พยัญชนะกับพยัญชนะ ของพระศาสดาและของสาวก เปรียบเทียบ
ได้กัน เสมอกัน ไม่ผิดกัน ในบทที่เลิศ ดูกรท่านสารีบุตรผู้มีอายุ เมื่อกี้นี้
กระผมเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้ทูลถามเนื้อความอันนี้ แม้พระผู้มีพระภาค
ก็ทรงพยากรณ์เนื้อความอันนี้ ด้วยบทเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้ แก่กระผม
เหมือนที่ท่านพระสารีบุตรพยากรณ์ ดูกรท่านสารีบุตรผู้มีอายุ น่าอัศจรรย์ ไม่เคย
มีมาแล้ว การที่อรรถกับอรรถ พยัญชนะกับพยัญชนะ ของพระศาสดาและของ
พระสาวก เปรียบเทียบกันได้ เสมอกัน ไม่ผิดกัน ในบทที่เลิศนี้ ฯ


จบสูตรที่ ๗

            เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔  บรรทัดที่ ๗๗๐๔ - ๗๗๗๓.  หน้าที่  ๓๓๕ - ๓๓๘.
 http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=24&A=7704&Z=7773&pagebreak=0 (http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=24&A=7704&Z=7773&pagebreak=0)
             ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=214 (http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=214)
             ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย ได้ที่ :-
[214] http://budsir.mahidol.ac.th/cgi-bin/Budsir.cgi/SearchItem?mode=1&valume=24&item=214&Roman=0 (http://budsir.mahidol.ac.th/cgi-bin/Budsir.cgi/SearchItem?mode=1&valume=24&item=214&Roman=0)
             สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔
http://www.84000.org/tipitaka/read/? (http://www.84000.org/tipitaka/read/?)สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๒๔
http://www.84000.org/tipitaka/read/?index_24 (http://www.84000.org/tipitaka/read/?index_24)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มิถุนายน 25, 2015, 02:34:08 PM

มนสิการสูตร(ความทำไว้ในใจ)

            [๒๑๕] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว
ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พึงมีได้หรือหนอแล การ
ที่ภิกษุได้สมาธิโดยประการที่ตนไม่พึงกระทำจักษุไว้ในใจ ไม่พึงกระทำรูปไว้ในใจ
ไม่พึงกระทำหูไว้ในใจ ไม่พึงกระทำเสียงไว้ในใจ ไม่พึงกระทำจมูกไว้ในใจ
ไม่พึงกระทำกลิ่นไว้ในใจ ไม่พึงกระทำลิ้นไว้ในใจ ไม่พึงกระทำรสไว้ในใจ ไม่
พึงกระทำกายไว้ในใจ ไม่พึงกระทำโผฏฐัพพะไว้ในใจ ไม่พึงกระทำปฐวีธาตุไว้
ในใจ ไม่พึงกระทำอาโปธาตุไว้ในใจ ไม่พึงกระทำเตโชธาตุไว้ในใจ ไม่พึง
กระทำวาโยธาตุไว้ในใจ ไม่พึงกระทำอากาสานัญจายตนะไว้ในใจ ไม่พึงกระทำ
วิญญาณัญจายตนะไว้ในใจ ไม่พึงกระทำอากิญจัญญายตนะไว้ในใจ ไม่พึงกระทำ
เนวสัญญานาสัญญายตนะไว้ในใจ ไม่พึงกระทำโลกนี้ไว้ในใจ ไม่พึงกระทำ
โลกหน้าไว้ในใจ ไม่พึงกระทำรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ
ธรรมที่รู้แจ้ง ที่ถึงแล้ว ที่แสวงหาแล้ว ที่ตรองตามแล้วด้วยใจ ก็แต่ว่าพึงทำ
ไว้ในใจ ฯ
             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ พึงมีได้ การที่ภิกษุได้สมาธิ
โดยประการที่ตนไม่พึงกระทำจักษุไว้ในใจ ไม่พึงกระทำรูปไว้ในใจ ... ไม่พึง
กระทำรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ ธรรมที่รู้แจ้ง ที่ถึงแล้ว ที่
แสวงหาแล้ว ที่ตรองตามแล้วด้วยใจ ไว้ในใจ ก็แต่ว่าพึงทำไว้ในใจ ฯ
             อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พึงมีได้อย่างไร การที่ภิกษุได้สมาธิโดย
ประการที่ตนไม่พึงกระทำจักษุไว้ในใจ ฯลฯ ไม่พึงกระทำรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน
อารมณ์ที่ทราบ ธรรมที่รู้แจ้ง ที่ถึงแล้ว ที่แสวงหาแล้ว ที่ตรองตามแล้วด้วยใจ
ไว้ในใจ ก็แต่ว่าพึงทำไว้ในใจ ฯ
             พ. ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า
ธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือ ความสงบสังขารทั้งปวง ความสละ
คืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสิ้นกำหนัด ความดับ นิพพาน ดูกร
อานนท์ พึงมีได้อย่างนี้แล การที่ภิกษุได้สมาธิโดยประการที่ตนไม่พึงกระทำจักษุ
ไว้ในใจ ไม่พึงกระทำรูปไว้ในใจ ไม่พึงกระทำหูไว้ในใจ ไม่พึงกระทำเสียง
ไว้ในใจ ไม่พึงกระทำจมูกไว้ในใจ ไม่พึงกระทำกลิ่นไว้ในใจ ไม่พึงกระทำ
ลิ้นไว้ในใจ ไม่พึงกระทำรสไว้ในใจ ไม่พึงกระทำกายไว้ในใจ ไม่พึงกระทำ
โผฏฐัพพะไว้ในใจ ไม่พึงกระทำปฐวีธาตุไว้ในใจ ไม่พึงกระทำอาโปธาตุไว้
ในใจ ไม่พึงกระทำเตโชธาตุไว้ในใจ ไม่พึงกระทำวาโยธาตุไว้ในใจ ไม่พึง
กระทำอากาสานัญจายตนะไว้ในใจ ไม่พึงกระทำวิญญาณัญจายตนะไว้ในใจ ไม่
พึงกระทำอากิญจัญญายตนะไว้ในใจ ไม่พึงกระทำเนวสัญญานาสัญญายตนะไว้ในใจ
ไม่พึงกระทำโลกนี้ไว้ในใจ ไม่พึงกระทำโลกหน้าไว้ในใจ ไม่พึงกระทำรูปที่ได้เห็น
เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ ธรรมที่รู้แจ้ง ที่ถึงแล้ว ที่แสวงหาแล้ว ที่ตรอง
ตามแล้วด้วยใจ ไว้ในใจ ก็แต่ว่าพึงกระทำไว้ในใจ ฯ

จบสูตรที่ ๘


            เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔  บรรทัดที่ ๗๗๗๔ - ๗๘๑๑.  หน้าที่  ๓๓๘ - ๓๔๐.
 http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=24&A=7774&Z=7811&pagebreak=0 (http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=24&A=7774&Z=7811&pagebreak=0)
             ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=215 (http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=215)
             ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย ได้ที่ :-
[215] http://budsir.mahidol.ac.th/cgi-bin/Budsir.cgi/SearchItem?mode=1&valume=24&item=215&Roman=0 (http://budsir.mahidol.ac.th/cgi-bin/Budsir.cgi/SearchItem?mode=1&valume=24&item=215&Roman=0)
             สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔
http://www.84000.org/tipitaka/read/? (http://www.84000.org/tipitaka/read/?)สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๒๔
http://www.84000.org/tipitaka/read/?index_24 (http://www.84000.org/tipitaka/read/?index_24)






จากสัญญาสูตรและมนสิการสูตร ทั้งสองพระสูตรนี้ทำให้เรารู้ว่า ที่เราเจริญปฏิบัติมาโดยความเข้าถึงและเห็นจริงตามที่หลวงพ่อเสถียรสอน เป็นความเข้าถึงสภาวะธรรมอันนี้ เข้าถึงอุปสมานุสสติอันพระอรหันต์ท่านเจริญ ความไม่ยึดเอาขันธ์ ๕ ไม่ยึดเอาวิญญาณธาตุ ไม่ยึดเอาจิตเพราะมันรู้แต่สมมติกิเลส ไม่ยึดเอาสิ่งที่จิตรู้โดยสมมติ เพราะมันเป็นเหยื่อล่อของกิเลส
- ไม่ยึดเอากายโดยทำไว้ในใจอันเป็นปฏิฆะต่อกายบ้าง เช่น เห็นรูปขันธ์เป็นเพียงอาการทั้ง 32 เป็นที่ประชุมโรค เป็นเพียงธาตุ ๕ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ เป็นเพียงสิ่งเน่าเฟะเน่าเปื่อย ไม่เที่ยง ไม่คงอยู่นานดั่งปัญญาจากอสุภะกรรมฐานนั้นว่า ที่มีอีดเน่าเปื่อย ย่อยสลายไป ไม่คงอยู่ได้นาน
- ไม่ยึดเอาธรรมมารมณ์ทั้งปวงโดยทำไว้ในใจอันเป็นปฏิฆะต่อธรรมมารมณ์บ้าง เช่น เห็นว่าความสุข ทุกข์ เฉยๆ ความจำได้หมายรู้ ความสำคัญมั่นหมายของใจในสิ่งทั้งปวง ความตรึกนึกคิดปรุงแต่งเรื่องราว อารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง ทั้งปวง สิ่งเหล่านี้ที่จิตรู้ล้วนเป็นสมมติที่กิเลสสร้างขึ้นหลอกจิตทั้งสิ้น อาศัยสฬายตนะเป็นเหยื่อล่อให้รู้ผัสสะแล้วจิตเข้าไปยึดเอาสมมติที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกล่อ ทำให้จิตไม่เคยรู้ของจริงเลย จะเวทนา สัญญา สังขารเหล่าใดที่ วิญญาณรู้ ล้วนเป็นสมมติทั้งหมด ผัสสะอันเป็นปัจจุบันมันดับไปตั้งนานแล้ว แต่จิตนั้นแหละเข้าไปยึดเอาสัญญาเวทนาจึงเกิดขึ้นค้างอยู่ เพราะจิตมันรู้แต่สมมติจากสัญญาทั้งปวง ไม่เคยรับรู้ของจริงเลย ของจริงมันเป็นเพียงสภาวะธรรมหนึ่งๆเท่านั้น ไม่มีชื่อ ไม่มีตัวตนบุคคลใด สิ่งใด อารมณ์ใด อาการใด จิตมันเป็นธาตุรู้ มันรู้หมดทุกอย่าง แต่มันรู้แค่สมมติที่กิเลสสร้างขึ้น  ดังนั้นเราจึงไม่ควรยึดแม้กระทั้งวิญญาณหรือจิต






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มิถุนายน 25, 2015, 03:59:30 PM
กรรมฐานวันที่ 25/6/58 ปัญญาอันเกิดจาก รูปกรรมฐาน

๑. ทวัตตสิงสาปาฐะ อาการทั้ง ๓๒ ขั้นแรกคือเห็นกายนี้เป็นเพียงอาการทั้ง ๓๒ นี่กอปรประชุมกันอยู่ ขั้นปัญญาคือ ม้างกายออกจน เห็นว่า ไม่มีตัวตนบุคคลใด ไม่มีเราในนั้น ในนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เห็นเป็นอนัตตา เช่น ผมที่หลุดร่วงออกมา ผมนี้หรือที่เป็นเรา ถ้าเป็นเราแล้วมันหลุดออกมาแล้วทำไมเรายังไม่ตาย เราหรือที่เป็นผมเหล่านั้น ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ เมื่อหลุดออกมาก็เป็นเพียงอาการที่อ่อนแข็ง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีเราในผม ในผมไม่มีเรา เราไม่เป็นผล ผมไม่เป็นเรา สักเป็นแต่ธาตุดินไม่มีตัวตนบุคคลใดสิ่งใดๆ ไม่มีเราในนั้น เราไม่ใช่นั้น นั่นไม่ใช่เรา

ธาตุวิภังคสูตร
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=8748&Z=9019 (http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=8748&Z=9019)



๒. อาทีนวสัญญา เริ่มแรกคือเป็นกายเป็นที่ประชุมของโรค ขั้นปัญญาคือเห็นความแปรปรวนของธาตุ เห็นกายนี้มีความเสื่อมแปรปรวนไปของโรค ไม่คงสภาพเดิมได้ บังคับไม่ได้



๓. อสุภะกรรมฐาน เริ่มแรกคือเห็นความไม่งามของกายจนหน่ายในราคะเมถุน ขั้นปัญญาคือเห็นความไม่เที่ยง จากร่างกายคนธรรมดาที่ว่างดงามเมื่อเวลาผันไปก็แแก่ เจ็บไข้ ตาย สุดท้ายก็เน่าเปื่อย ย่อยสลายไป กายนี้ก็ไม่คงความงามอยู่ได้นาน ไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน สุดท้ายก็ต้องตายเปื่อยเน่าสลายไป บังคับให้คงสภาพให้งดงามอยู่ก็ไม่ได้ จนเห็นความ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ยินดีในรูปขันธ์นี้อีก

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นโดยปัญญาจากกรรมฐานทั้ง 3 ประการนี้เป็นต้น


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มิถุนายน 25, 2015, 04:35:16 PM
๘. เจตนาสูตรที่ ๑
             [๑๔๕] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุย่อมจงใจ ย่อมดำริ และครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอารัมณปัจจัย
เพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่อมีอารัมณปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงมี
เมื่อวิญญาณนั้นตั้งมั่นแล้ว เจริญขึ้นแล้ว ความบังเกิดคือภพใหม่ต่อไปจึงมี เมื่อ
มีความบังเกิดคือภพใหม่ต่อไป ชาติ ชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัส
และอุปายาส จึงมีต่อไป ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการ
อย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่จงใจ ไม่ดำริ แต่ยังครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้น
เป็นอารัมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่อมีอารัมณปัจจัย ความตั้งมั่น
แห่งวิญญาณจึงมี เมื่อวิญญาณนั้นตั้งมั่นแล้ว เจริญขึ้นแล้ว ความบังเกิดคือ
ภพใหม่ต่อไปจึงมี เมื่อมีความบังเกิดคือภพใหม่ต่อไป ชาติชราและมรณะ โสก-
*ปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงมีต่อไป ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อม
มีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
             [๑๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่จงใจ ไม่ดำริ และไม่ครุ่นคิด
ถึงสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมไม่เป็นอารัมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่อไม่มี
อารัมณปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงไม่มี เมื่อวิญญาณนั้นไม่ตั้งมั่นแล้ว ไม่
เจริญขึ้นแล้ว ความบังเกิดคือภพใหม่ต่อไปจึงไม่มี เมื่อความบังเกิดคือภพใหม่
ต่อไปไม่มี ชาติชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสต่อไปจึงดับ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
จบ สูตรที่ ๘

๙. เจตนาสูตรที่ ๒
             [๑๔๗] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุย่อมจงใจ ย่อมดำริ และครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมเป็น
อารัมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่อมีอารัมณปัจจัย ความตั้งมั่นแห่ง
วิญญาณจึงมี เมื่อวิญญาณนั้นตั้งมั่นแล้ว เจริญขึ้นแล้ว ความหยั่งลงแห่งนามรูป
จึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมี
ผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะ
ภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสกปริเทว-
*ทุกขโทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการ
อย่างนี้ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่จงใจ ไม่ดำริ แต่ยังครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้น
ย่อมเป็นอารัมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่อมีอารัมณปัจจัย ความ
ตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงมี เมื่อวิญญาณนั้นตั้งมั่นแล้ว เจริญขึ้นแล้ว ความหยั่งลง
แห่งนามรูปจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็น
ปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย
จึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย
จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ
โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมี
ด้วยประการอย่างนี้ ฯ
             [๑๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่จงใจ ไม่ดำริ และไม่
ครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมไม่เป็นอารัมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่อ
ไม่มีอารัมณปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงไม่มี เมื่อวิญญาณนั้นไม่ตั้งมั่นแล้ว
ไม่เจริญขึ้นแล้ว ความหยั่งลงแห่งนามรูปจึงไม่มี เพราะนามรูปดับ สฬายตนะ
จึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชราและ
มรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสต่อไปจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้ง
มวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
จบ สูตรที่ ๙

๑๐. เจตนาสูตรที่ ๓
             [๑๔๙] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกร-
*ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมจงใจ ย่อมดำริ และย่อมครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นย่อม
เป็นอารัมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่อมีอารัมณปัจจัย ความตั้งมั่น
แห่งวิญญาณจึงมี เมื่อวิญญาณนั้นตั้งมั่นแล้ว เจริญขึ้นแล้ว ตัณหาจึงมี เมื่อมี
ตัณหา คติในการเวียนมาจึงมี เมื่อมีคติในการเวียนมา จุติและอุปบัติจึงมี เมื่อมีจุติ
และอุปบัติ ชาติ ชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงมี ความเกิด
ขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่จง
ใจ ไม่ดำริ แต่ยังครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมเป็นอารัมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่ง
วิญญาณ เมื่อมีอารัมณปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงมี เมื่อวิญญาณนั้น
ตั้งมั่นแล้ว เจริญขึ้นแล้ว ตัณหาจึงมี เมื่อมีตัณหา คติในการเวียนมาจึงมี เมื่อ
มีคติในการเวียนมา จุติและอุปบัติจึงมี เมื่อมีจุติและอุปบัติ ชาติชราและมรณะ
โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงมี ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้
ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
             [๑๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่จงใจ ไม่ดำริ และไม่ครุ่นคิด
ถึงสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมไม่เป็นอารัมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่อไม่มี
อารัมณปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงไม่มี เมื่อวิญญาณนั้นไม่ตั้งมั่นแล้ว
ไม่เจริญขึ้นแล้ว ตัณหาจึงไม่มี เมื่อไม่มีตัณหา คติในการเวียนมาจึงไม่มี เมื่อไม่มี
คติในการเวียนมา จุติและอุปบัติจึงไม่มี เมื่อไม่มีจุติและอุปบัติ ชาติ ชราและ
มรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสต่อไปจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์
ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้
จบ สูตรที่ ๑๐
กฬารขัตติยวรรคที่ ๔ จบ
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
             ๑. ภูตมิทสูตร ๒. กฬารขัตติยสูตร ๓. ญาณวัตถุสูตรที่ ๑
             ๔. ญาณวัตถุสูตรที่ ๒ ๕. อวิชชาปัจจยสูตรที่ ๑ ๖. อวิชชา
             ปัจจยสูตรที่ ๒ ๗. นตุมหากํสูตร ๘. เจตนาสูตรที่ ๑
             ๙. เจตนาสูตรที่ ๒ ๑๐. เจตนาสูตรที่ ๓ ฯ
-----------------------------------------------------


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มิถุนายน 25, 2015, 04:40:08 PM
คหบดีวรรคที่ ๕
๑. ปัญจเวรภยสูตรที่ ๑
             [๑๕๑] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถ-
*บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... ครั้งนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท แล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น
นั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า ดูกร
คฤหบดี เมื่อใดแล ภัยเวร ๕ ประการ ของอริยสาวกสงบแล้ว เมื่อนั้นอริยสาวก
ย่อมประกอบด้วยธรรมเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ ๔ อย่าง และญายธรรมอย่าง
ประเสริฐ อริยสาวกเห็นดีแล้ว แทงตลอดด้วยปัญญา อริยสาวกนั้นหวังอยู่
พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เราเป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน
สิ้นแล้ว มีปิตติวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นโสดาบัน
มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงจะตรัสรู้ในภายหน้า ฯ
             [๑๕๒] ภัยเวร ๕ ประการสงบแล้วเป็นไฉน ดูกรคฤหบดี บุคคลผู้
ฆ่าสัตว์ ย่อมประสพภัยเวรใด อันมีในชาตินี้บ้าง อันมีในชาติหน้าบ้าง ย่อม
เสวยเจตสิกทุกข์คือโทมนัสบ้าง เพราะปาณาติบาตเป็นเหตุ ภัยเวรของอริยสาวก
ผู้เว้นขาดจากปาณาติบาตสงบแล้วด้วยอาการอย่างนี้ บุคคลผู้ลักทรัพย์ย่อมประสพ
ภัยเวรใด อันมีในชาตินี้บ้าง อันมีในชาติหน้าบ้าง ย่อมเสวยเจตสิกทุกข์คือโทมนัส
บ้าง เพราะอทินนาทานเป็นเหตุ ภัยเวรของอริยสาวกผู้เว้นขาดจากอทินนาทาน
สงบแล้วด้วยอาการอย่างนี้ บุคคลผู้ประพฤติผิดในกาม ย่อมประสพภัยเวรใด
อันมีในชาตินี้บ้าง อันมีในชาติหน้าบ้าง ย่อมเสวยเจตสิกทุกข์คือโทมนัส
บ้าง เพราะกาเมสุมิจฉาจารเป็นเหตุ ภัยเวรของอริยสาวกผู้เว้นขาดจากกาเม-
*สุมิจฉาจารสงบแล้วด้วยอาการอย่างนี้ บุคคลผู้พูดเท็จ ย่อมประสพภัยเวรใด
อันมีในชาตินี้บ้าง อันมีในชาติหน้าบ้าง ย่อมเสวยเจตสิกทุกข์คือโทมนัสบ้าง
เพราะมุสาวาทเป็นเหตุ ภัยเวรของอริยสาวกผู้เว้นขาดจากมุสาวาทสงบแล้วด้วย
อาการอย่างนี้ บุคคลผู้ตั้งอยู่ในความประมาท เพราะดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย
ย่อมประสพภัยเวรใด อันมีในชาตินี้บ้าง อันมีในชาติหน้าบ้าง ย่อมเสวยเจตสิก
ทุกข์คือโทมนัสบ้าง เพราะการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความ
ประมาทเป็นเหตุ ภัยเวรของอริยสาวกผู้เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย
อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทสงบแล้วด้วยอาการอย่างนี้ ภัยเวร ๕ ประการนี้
สงบแล้ว ฯ
             [๑๕๓] อริยสาวกย่อมประกอบด้วยธรรมเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ ๔ อย่าง
เป็นไฉน ดูกรคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมประกอบด้วยความเลื่อมใส
อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไป
ดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม ดังนี้
ย่อมประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มี
พระภาคตรัสดีแล้ว อันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียก
ให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูพึงรู้เฉพาะตน ดังนี้ ย่อมประกอบด้วยความ
เลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้
ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม เป็นผู้ปฏิบัติสมควร คือ
คู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรของ
คำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็น
นาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้ ย่อมประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้า
ปรารถนา อันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญ
อันตัณหาและทิฐิไม่ครอบงำได้ เป็นไปเพื่อสมาธิ อริยสาวกย่อมประกอบด้วยธรรม
เป็นองค์แห่งโสดาปัตติ ๔ อย่างนี้ ฯ
             [๑๕๔] ก็ญายธรรมอันประเสริฐ อันอริยสาวกเห็นดีแล้ว แทงตลอด
ดีแล้วด้วยปัญญา เป็นไฉน ดูกรคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ กระทำไว้
ในใจโดยแยบคาย ถึงปฏิจจสมุปบาทเป็นอย่างดีว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะ
สิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้
จึงดับ ด้วยประการดังนี้ คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะ
สังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะ
นามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะตัณหา
เป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย
จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและ
อุปายาส ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ก็เพราะ
อวิชชาดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะ
ดับ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ
ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชราและมรณะโสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงดับ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ญายธรรมอันประเสริฐ
นี้ อริยสาวกนั้นเห็นดีแล้ว แทงตลอดดีแล้ว ด้วยปัญญา ฯ
             [๑๕๕] ดูกรคฤหบดี เมื่อใดแล ภัยเวร ๕ ประการนี้ของอริยสาวกสงบ
แล้ว เมื่อนั้น อริยสาวกย่อมประกอบด้วยธรรมเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ ๔ อย่าง
และญายธรรมอย่างประเสริฐนี้ อันอริยสาวกนั้นเห็นดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วย
ปัญญา อริยสาวกนั้นหวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เราเป็นผู้มีนรกสิ้น
แล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีปิตติวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาตสิ้น
แล้ว เราเป็นโสดาบันมีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงจะตรัสรู้ในภายหน้า ฯ
จบสูตรที่ ๑


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มิถุนายน 25, 2015, 04:41:35 PM
ทุติยวรรคที่ ๒
มหานามสูตรที่ ๑
             [๒๑๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธารามใกล้
พระนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ก็สมัยนั้นแล ภิกษุเป็นอันมาก กระทำ
จีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาค ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว
จักเสด็จจาริกโดยล่วงไป ๓ เดือน เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะได้ทรงทราบ
ข่าวว่า ภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาค ด้วยหวังว่า พระผู้มี
พระภาคผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยล่วงไป ๓ เดือน ครั้งนั้นแล
เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ทรงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว
ได้ตรัสทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันทราบข่าวดังนี้ว่า
ภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาค ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาค
มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยล่วงไป ๓ เดือน ดังนี้ ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ หม่อมฉันผู้อยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่ต่างๆ จะพึงอยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่
อะไรพระเจ้าข้า ฯ
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละๆ มหาบพิตร การที่มหาบพิตรเสด็จเข้า
มาหาตถาคตแล้วตรัสถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันผู้อยู่ด้วยธรรมเครื่อง
อยู่ต่างๆ จะพึงอยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่อะไร ดังนี้ เป็นการสมควรแก่มหาบพิตร
ผู้เป็นกุลบุตร ดูกรมหาบพิตร กุลบุตรผู้มีศรัทธาย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ไม่มีศรัทธา
ย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ปรารภความเพียรย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้เกียจคร้านย่อม
ไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีสติตั้งมั่นย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีสติหลงลืมย่อมไม่เป็นผู้
บริบูรณ์ ผู้มีจิตตั้งมั่นย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ไม่มีจิตตั้งมั่นย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์
ผู้มีปัญญาย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีปัญญาทรามย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ดูกรมหาบพิตร
มหาบพิตรทรงตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล้ว พึงทรงเจริญธรรม ๖ ประการ
ให้ยิ่งขึ้นไป ดูกรมหาบพิตร ในธรรม ๖ ประการนี้ มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึง
พระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก
เป็นสารถีฝึกบุรุษ ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดูกรมหาบพิตร สมัยใดอริยสาวก
ระลึกถึงตถาคต สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูก
โทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนิน
ไปตรง ดูกรมหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภพระตถาคต
ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบ
ด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวก
ผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกายสงบย่อมเสวยสุข จิตของ
อริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูกรมหาบพิตร อริยสาวกนี้อาตมภาพกล่าวว่า
เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่
ในหมู่สัตว์ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรมเจริญพุทธานุสสติ ฯ
             ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงพระธรรมว่า
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันบุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบ
ด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
ดูกรมหาบพิตร สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงพระธรรม สมัยนั้น จิตของอริยสาวก
นั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น
จิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรงเพราะปรารภพระธรรม ย่อมได้ความรู้อรรถ
ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่
อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ
อริยสาวกผู้มีกายสงบย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูกร
มหาบพิตร อริยสาวกนี้อาตมภาพกล่าวว่า เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์
ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้
ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรมเจริญธรรมานุสสติ ฯ
             ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงพระสงฆ์ว่า
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ผู้ปฏิบัติตรง ปฏิบัติ
เป็นธรรม ปฏิบัติชอบ นี้คือคู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มี
พระภาค เป็นผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรของทำบุญ ควรกระทำ
อัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดูกรมหาบพิตร สมัยใด
อริยสาวกระลึกถึงพระสงฆ์ สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม
ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนิน
ไปตรง ดูกรมหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภพระสงฆ์
ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบ
ด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจ
ประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข จิตของอริย-
*สาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูกรมหาบพิตร อริยสาวกนี้อาตมภาพกล่าวว่าเป็นผู้ถึง
ความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์
ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรมเจริญสังฆานุสสติ ฯ
             ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงศีลของตนว่า
ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย วิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฐิลูบ
คลำไม่ได้ เป็นไปเพื่อสมาธิ ดูกรมหาบพิตร สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงศีล สมัยนั้น
จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง ดูกรมหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิต
ดำเนินไปตรงเพราะปรารภศีล ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความ
ปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์
กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้วย่อม
เสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูกรมหาบพิตร อริยสาวกนี้
อาตมภาพกล่าวว่า เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้
ไม่มีความพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแส
ธรรมเจริญสีลานุสสติ ฯ
             ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงจาคะของ
ตนว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่เรามีจิตปราศจากมลทิน คือ
ความตระหนี่ มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีแล้วในการสละ ควร
แก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน อยู่ครองเรือน ในหมู่สัตว์ผู้ถูกมลทิน คือ
ความตระหนี่กลุ้มรุม ดูกรมหาบพิตร สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงจาคะ สมัยนั้น
จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะ
กลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง ดูกรมหาบพิตร
อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภจาคะ ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้
ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่
อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ
อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูกร
มหาบพิตร อริยสาวกนี้อาตมภาพกล่าวว่า เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์
ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้
ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรมเจริญจาคานุสสติ ฯ
             ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงเทวดา
ทั้งหลายว่า เทวดาชั้นจาตุมหาราชมีอยู่ เทวดาชั้นดาวดึงส์มีอยู่ เทวดาชั้น
ยามามีอยู่ เทวดาชั้นดุสิตมีอยู่ เทวดาชั้นนิมมานรดีมีอยู่ เทวดาชั้นปรนิมมิต
สวัสดีมีอยู่ เทวดาชั้นพรหมกายมีอยู่ เทวดาชั้นที่สูงขึ้นไปกว่านั้นมีอยู่ เทวดา
เหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปบังเกิดในเทวโลกชั้น
นั้นๆ แม้เราก็มีศรัทธาเช่นนั้นอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศีลเช่นใด
จุติจากโลกนี้แล้วไปบังเกิดในเทวโลกชั้นนั้นๆ แม้เราก็มีศีลเช่นนั้น เทวดา
เหล่านั้นประกอบด้วยสุตะเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปบังเกิดในเทวโลกชั้นนั้นๆ
แม้เราก็มีสุตะเช่นนั้น เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยจาคะเช่นใด จุติจากโลกนี้
แล้วไปบังเกิดในเทวโลกชั้นนั้นๆ แม้เราก็มีจาคะเช่นนั้น เทวดาเหล่านั้น
ประกอบด้วยปัญญาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปบังเกิดในเทวโลกชั้นนั้นๆ
แม้เราก็มีปัญญาเช่นนั้น ดูกรมหาบพิตร สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงศรัทธา
ศีล สุตะ จาคะและปัญญา ของตนและของเทวดาเหล่านั้น สมัยนั้น จิตของ
อริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง ดูกรมหาบพิตร อริยสาวก
ผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภเทวดาทั้งหลาย ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้
ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่
อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ
อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูกร
มหาบพิตร อริยสาวกนี้อาตมภาพกล่าวว่า เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้
ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้
ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรมเจริญเทวตานุสสติ ดังนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๑


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มิถุนายน 25, 2015, 04:42:29 PM
มหานามสูตรที่ ๒
             [๒๑๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธารามใกล้
พระนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ก็สมัยนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ
ทรงหายจากประชวร คือหายจากภาวะที่ประชวรไม่นาน ก็สมัยนั้น ภิกษุเป็น
อันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาค ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีจีวร
สำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยกาลล่วงไป ๓ เดือน เจ้าศากยะพระนามว่า
มหานามะได้ทรงสดับข่าวว่า ภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาค
ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยล่วงไป ๓ เดือน
ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้าง
หนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉัน
ได้ทราบข่าวมาดังนี้ว่า ภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาค
ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยล่วงไป ๓ เดือน
ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันผู้อยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่ต่างๆ พึงอยู่
ด้วยธรรมเครื่องอยู่อะไร พระเจ้าข้า ฯ
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละๆ มหาบพิตร การที่มหาบพิตรเสด็จเข้า
มาหาตถาคตแล้วตรัสถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันผู้อยู่ด้วยธรรมเครื่อง
อยู่ต่างๆ พึงอยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่อะไร ดังนี้ เป็นการสมควรแก่มหาบพิตรผู้เป็น
กุลบุตร ดูกรมหาบพิตร กุลบุตรผู้มีศรัทธาย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ไม่มีศรัทธา ย่อม
ไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ปรารภความเพียรย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้เกียจคร้านย่อมไม่เป็น
ผู้บริบูรณ์ ผู้มีสติตั้งมั่นย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีสติหลงลืมย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์
ผู้มีจิตตั้งมั่นย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ไม่มีจิตตั้งมั่นย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีปัญญาย่อม
เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีปัญญาทรามย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรทรง
ตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล้ว พึงเจริญธรรม ๖ ประการให้ยิ่งขึ้นไป ดูกรมหาบพิตร
ในธรรม ๖ ประการนี้ พึงทรงระลึกถึงพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดูกรมหาบพิตร
สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงพระตถาคต สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมไม่
ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริย-
*สาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง ดูกรมหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะ
ปรารภพระตถาคต ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์
อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริย-
*สาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้ว ย่อมเสวยสุข
จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรพึงเสด็จดำเนินเจริญ
ก็ได้ พึงประทับยืนเจริญก็ได้ พึงประทับนั่งเจริญก็ได้ พึงบรรทมเจริญก็ได้ พึง
ทรงประกอบการงานเจริญก็ได้ พึงประทับบนที่นอนอันเบียดเสียดด้วยพระโอรส
และพระธิดาเจริญก็ได้ ซึ่งพุทธานุสสตินี้แล ฯ
             ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงพระธรรม...
             ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงพระสงฆ์...
             ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงศีลของตน...
             ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงจาคะของตน...
             ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงเทวดาทั้งหลาย
ว่า เทวดาชั้นจาตุมหาราชมีอยู่ เทวดาชั้นดาวดึงส์มีอยู่ ... เทวดาผู้สูงขึ้นไปกว่า
นั้นมีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปบังเกิด
ในเทวโลกชั้นนั้นๆ แม้เราก็มีศรัทธาเช่นนั้น เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศีล ...
สุตะ ... จาคะ ... ปัญญาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปบังเกิดในเทวโลกชั้นนั้นๆ
แม้เราก็มีปัญญาเช่นนั้น ดูกรมหาบพิตร สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงศรัทธา ศีล
สุตะ จาคะ และปัญญา ของตนและของเทวดาเหล่านั้น สมัยนั้น จิตของ
อริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง ดูกรมหาบพิตร อริยสาวกผู้มี
จิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภเทวดาทั้งหลาย ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้
ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มี
ความปราโมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มี
กายสงบย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูกรมหาบพิตร
มหาบพิตรพึงเสด็จดำเนินเจริญก็ได้ พึงประทับยืนเจริญก็ได้ พึงประทับนั่งเจริญ
ก็ได้ พึงบรรทมเจริญก็ได้ พึงทรงประกอบการงานเจริญก็ได้ พึงประทับบนที่นอน
อันเบียดเสียดด้วยพระโอรสและพระธิดาเจริญก็ได้ ซึ่งเทวตานุสสตินี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๒


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มิถุนายน 25, 2015, 04:57:25 PM
นันทิยสูตร
             [๒๒๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธารามใกล้
พระนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคมีพระประสงค์
จะเข้าจำพรรษา ณ พระนครสาวัตถี เจ้าศากยะพระนามว่านันทิยะได้ทราบข่าวว่า
พระผู้มีพระภาคมีพระประสงค์จะเข้าจำพรรษา ณ พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล
เจ้าศากยะพระนามว่านันทิยะทรงมีพระดำริว่า ไฉนหนอ แม้เราก็พึงเข้าจำพรรษา ณ
พระนครสาวัตถี เราจักประกอบการงาน และจักได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคตามกาลอัน
สมควร ณ พระนครสาวัตถีนั้น ฯ
             ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงจำพรรษา ณ พระนครสาวัตถี เจ้าศากยะ
พระนามว่านันทิยะ ก็เข้าจำพรรษา ณ พระนครสาวัตถี ได้ทรงประกอบการงาน
และได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคตามกาลอันสมควร ณ พระนครสาวัตถีนั้น ก็สมัยนั้นแล
ภิกษุเป็นอันมากย่อมกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาค ด้วยหวังว่า พระผู้มี
พระภาคผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยล่วงไป ๓ เดือน เจ้าศากยะพระนาม
ว่านันทิยะได้ทรงทราบข่าวว่า ภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาค
ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยล่วงไป ๓ เดือน
ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่านันทิยะ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ทรงถวายบังคมแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มี
พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ทราบข่าวมาว่า ภิกษุเป็นอันมาก
กระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาค ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีจีวรสำเร็จ
แล้ว จักเสด็จจาริกโดยล่วงไป ๓ เดือน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันผู้อยู่
ด้วยธรรมเครื่องอยู่ต่างๆ พึงอยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่อะไร พระเจ้าข้า ฯ
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละๆ บพิตร การที่บพิตรเสด็จมาหาตถาคต
แล้วตรัสถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันผู้อยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่ต่างๆ
พึงอยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่อะไร ดังนี้ เป็นการสมควรแก่บพิตรผู้เป็นกุลบุตรแล
ดูกรบพิตร กุลบุตรผู้มีศรัทธาย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ไม่มีศรัทธาย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์
ผู้มีศีลย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ทุศีลย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ปรารภความเพียรย่อมเป็น
ผู้บริบูรณ์ ผู้เกียจคร้านย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีสติตั้งมั่นย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มี
สติหลงลืมย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีสมาธิย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ไม่มีสมาธิย่อมไม่
เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีปัญญาย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีปัญญาทรามย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์
ดูกรบพิตร บพิตรทรงตั้งอยู่ในธรรม ๖ ประการนี้แล้ว พึงเข้าไปตั้งสติไว้ภายใน
ในธรรม ๕ ประการ ดูกรบพิตร ในธรรม ๕ ประการนี้ บพิตรพึงทรงระลึกถึง
พระตถาคตว่า แม้ด้วยเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ...
เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดูกรบพิตร บพิตรพึงเข้าไปตั้งสติไว้ใน
ภายใน ปรารภพระตถาคต ด้วยประการดังนี้แล ฯ
             อีกประการหนึ่ง บพิตรพึงทรงระลึกถึงพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มี
พระภาคตรัสดีแล้ว ... อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดูกรบพิตร บพิตรพึงเข้าไปตั้ง
สติไว้ในภายใน ปรารภพระธรรมด้วยประการดังนี้แล ฯ
             อีกประการหนึ่ง บพิตรพึงทรงระลึกถึงกัลยาณมิตรทั้งหลายว่า เป็นลาภ
ของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่เรามีกัลยาณมิตรผู้เอ็นดู ผู้ใคร่ประโยชน์
ผู้กล่าวสอน ผู้พร่ำสอน ดูกรบพิตร บพิตรพึงเข้าไปตั้งสติไว้ในภายใน ปรารภ
กัลยาณมิตรด้วยประการดังนี้แล ฯ
             อีกประการหนึ่ง บพิตรพึงทรงระลึกถึงจาคะของตนว่า เป็นลาภของเรา
หนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่เรามีจิตปราศจากมลทินคือความตระหนี่ มีจาคะ
อันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนก
ทาน อยู่ครองเรือน ในหมู่สัตว์ผู้ถูกมลทินคือความตระหนี่ กลุ้มรุมแล้ว
ดูกรบพิตร บพิตรพึงเข้าไปตั้งสติไว้ในภายใน ปรารภจาคะด้วยประการดังนี้แล ฯ
             อีกประการหนึ่ง บพิตรพึงทรงระลึกถึงเทวดาทั้งหลายว่าเทวดาเหล่านั้น
ได้ก้าวล่วงความเป็นสหายแห่งเทวดาผู้มีคำข้าวเป็นภักษาแล้ว เข้าถึงกายอันสำเร็จ
ด้วยใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เทวดาเหล่านั้นย่อมไม่พิจารณาเห็นกิจที่ควรทำของตน
หรือการสั่งสมกิจที่ตนทำแล้ว ดูกรบพิตร ภิกษุผู้เป็นอสมยวิมุตย่อมไม่พิจารณา
กิจที่ไม่ควรทำของตน หรือการสั่งสมกิจที่ทำแล้ว แม้ฉันใด ดูกรบพิตร เทวดา
เหล่าใด ก้าวล่วงซึ่งความเป็นสหายแห่งเทวดาผู้มีคำข้าวเป็นภักษา เข้าถึงกายอัน
สำเร็จด้วยใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เทวดาเหล่านั้นย่อมไม่พิจารณาเห็นกิจที่ควรทำของ
ตน หรือการสั่งสมกิจที่ตนทำแล้ว ฉันนั้นเหมือนกันแล ดูกรบพิตร บพิตรพึง
เข้าไปตั้งสติไว้ในภายใน ปรารภเทวดาทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้แล ฯ
             ดูกรบพิตร อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการนี้แล ย่อมละซึ่ง
อกุศลธรรมทั้งหลายอันลามก ย่อมไม่ถือมั่น ดูกรบพิตร หม้อที่คว่ำย่อมไม่กลับ
ถูกต้องสิ่งที่คายแล้ว ไฟที่ไหม้ลามไปจากหญ้า ย่อมไหม้ของที่ควรไหม้ ย่อมไม่
กลับมาไหม้สิ่งที่ไหม้แล้ว แม้ฉันใด อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการนี้
ย่อมละอกุศลธรรมทั้งหลายอันลามก ย่อมไม่ถือมั่น (อกุศลธรรมอันชั่วช้า
เหล่านั้น) ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ
จบสูตรที่ ๓


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มิถุนายน 29, 2015, 04:45:30 PM
๘. ปิณโฑลยสูตร
ว่าด้วยเหตุที่ต้องดำรงชีพด้วยบิณฑบาต
             [๑๖๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้พระนครกบิลพัสดุ์
สักกชนบท. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงขับไล่พระภิกษุสงฆ์ในเพราะเหตุเรื่องหนึ่งแล้ว
เวลาเช้า ทรงผ้าอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครกบิลพัสดุ์
ครั้นแล้ว ในเวลาปัจฉาภัต เสด็จกลับจากบิณฑบาต เสด็จไปยังป่ามหาวัน เพื่อประทับพักใน
กลางวัน ครั้นเสด็จถึงป่ามหาวันแล้ว ได้ประทับนั่งพักกลางวัน ณ โคนต้นมะตูมหนุ่ม ครั้งนั้น
แล พระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกออกเร้นอยู่ในที่ลับ ได้เกิดพระปริวิตกขึ้นว่า เราแลได้ขับไล่
ภิกษุสงฆ์ให้ไปแล้ว ในภิกษุสงฆ์เหล่านี้ พวกภิกษุใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้
มีอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่เห็นเรา พึงเป็นผู้มีความกินแหนง มีใจแปรปรวน เหมือนลูกโค
น้อยๆ เมื่อไม่เห็นแม่ พึงมีความกินแหนง มีใจแปรปรวน ฉะนั้น เหมือนกับพืชที่ยังอ่อนๆ
ไม่ได้น้ำ พึงมีความผันแปรไป มีความเปลี่ยนแปรไป ฉะนั้น ถ้ากระไรเราพึงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์
ในบัดนี้ เหมือนกับที่ได้อนุเคราะห์มาแล้วในก่อนๆ ฉะนั้นเถิด.
             [๑๖๖] ครั้งนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหม ได้ทราบพระปริวิตกของพระผู้มีพระภาค ด้วย
ใจของตนแล้ว ได้หายไปจากพรหมโลก มาปรากฏเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค เหมือนกับ
บุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น ลำดับนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหม ทำ
ผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง แล้วประนมมือ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้อนี้เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคได้ทรงขับไล่
ภิกษุสงฆ์ไปแล้ว ในภิกษุสงฆ์เหล่านี้ พวกภิกษุที่ยังใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้
มีอยู่ เมื่อภิกษุสงฆ์เหล่านั้นไม่เห็นพระผู้มีพระภาค พึงเป็นผู้มีความกินแหนง มีใจแปรปรวน
เหมือนกับลูกโคน้อยๆ เมื่อไม่เห็นแม่ พึงมีความกินแหนง มีใจแปรปรวน ฉะนั้น เหมือน
กับพืชที่ยังอ่อนๆ เมื่อไม่ได้น้ำ พึงมีความผันแปรไป มีความเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้น พระเจ้าข้า
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงชื่นชมกะภิกษุสงฆ์ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงพร่ำสอนภิกษุสงฆ์
จงทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ในบัดนี้ เหมือนกับที่ได้ทรงอนุเคราะห์มาแล้วแต่ก่อนๆ ฉะนั้นเถิด.
พระผู้มีพระภาค ทรงรับอาราธนาโดยดุษณีภาพ. ลำดับนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหม ทราบว่า
พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาแล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณแล้ว อันตร-
*ธานไปจากสำนักของพระผู้มีพระภาคนั่นแล.
             [๑๖๗] ลำดับนั้นแล เป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออก จากที่พักผ่อนแล้ว
เสด็จไปยังนิโครธาราม แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้ ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงบันดาล
ด้วยอิทธาภิสังขาร ให้ภิกษุเหล่านั้นเกรงกลัว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ ทีละรูป
บ้าง สองรูปบ้าง ครั้นแล้วต่างก็ถวายบังคมแล้ว นั่งลง ณ สถานที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้น
ภิกษุเหล่านั้น นั่งลงเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาค จึงได้ตรัสพระพุทธวจนะว่า ดูกรภิกษุทั้ง-
*หลาย ข้อเลวทรามของการเลี้ยงชีพทั้งหลาย ก็คือการแสวงหาบิณฑบาต. ภิกษุทั้งหลาย ย่อม
ได้รับคำแช่งด่าในโลกว่า เป็นผู้มีมือถือบาตรเที่ยวแสวงหาบิณฑบาต. ดูกรภิกษุทั้งหลายก็กุลบุตร
ทั้งหลาย เป็นผู้เป็นไปในอำนาจแห่งเหตุ อาศัยอำนาจแห่งเหตุ จึงเข้าถึงความเป็นผู้แสวงหา
บิณฑบาตนี้แล ไม่ใช่เป็นคนหนีราชทัณฑ์ ไม่ใช่เป็นคนขอให้โจรปล่อยตัวไปบวช ไม่ใช่เป็น
คนมีหนี้ ไม่ใช่เป็นคนมีภัย ไม่ใช่เป็นคนมีอาชีพแร้นแค้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อีกอย่าง
หนึ่ง กุลบุตรนี้บวชแล้ว โดยที่คิดเช่นนี้ว่า เราทั้งหลายเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ
ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ครอบงำแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้มีทุกข์ครอบงำแล้ว มีทุกข์ประจำ
แล้ว ไฉนหนอ ความทำที่สุดแห่งกองทุกข์ ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏ. แต่ว่ากุลบุตรนั้น เป็นผู้
มากด้วยอภิชฌา มีราคะกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจ อันโทสะประทุษ
ร้ายแล้ว มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ มีใจไม่เป็นสมาธิ มีจิตหมุนไปผิด ไม่สำรวมอินทรีย์.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวบุคคลผู้เสื่อมแล้ว จากโภคะแห่งคฤหัสถ์ด้วย ไม่ทำประโยชน์ คือ
ความเป็นสมณะให้บริบูรณ์ด้วยว่า มีอุปมาเหมือนกับดุ้นฟืนในที่เผาศพ ซึ่งไฟติดทั้งสองข้าง
ตรงกลางก็เปื้อนคูถจะใช้เป็นฟืนในบ้านก็ไม่ได้ ฉะนั้น.
             [๑๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อกุศลวิตก ๓ อย่างนี้ คือ กามวิตก ๑ พยาบาทวิตก ๑
วิหิงสาวิตก ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลมีจิตตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ หรือเจริญอนิมิตต-
*สมาธิ อกุศลวิตก ๓ อย่างนี้แล ย่อมดับโดยไม่เหลือ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนิมิตตสมาธิควร
แท้ ที่จะเจริญจนกว่าจะละอกุศลวิตกนี้ได้. อนิมิตตสมาธิที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก.
             [๑๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทิฏฐิ ๒ อย่างนี้ คือ ภวทิฏฐิ ๑ วิภวทิฏฐิ ๑. ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย อริยสาวก ผู้ได้สดับแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นในทิฏฐิ ๒ อย่างนั้น ดังนี้ว่า เรายึดถือ
สิ่งใด ในโลกอยู่ จะพึงเป็นผู้ไม่มีโทษ สิ่งนั้นมีอยู่บ้างไหม? เธอย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า เรา
เรายึดถือสิ่งใดในโลกอยู่ พึงเป็นผู้ไม่มีโทษ สิ่งนั้นไม่มีเลย. เธอย่อมทราบชัดอย่างนี้ ก็เราเมื่อ
ยึดถือ พึงยึดถือรูปนั้นเอง เมื่อยึดถือ พึงยึดถือเวทนานั้นเอง เมื่อยึดถือ พึงยึดถือสัญญา
นั่นเอง เมื่อยึดถือ พึงยึดถือสังขารนั่นเอง เมื่อยึดถือ พึงยึดถือวิญญาณนั้นเอง ภพพึงมีแก่
เรา เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาสมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ พึงมีได้
ด้วยประการอย่างนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญ ความข้อนั้นเป็นไฉน รูป ฯลฯ
เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง? ภิกษุทั้งหลายกราบทูล
ว่า ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
             พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
             ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
             พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตาม
เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวของตัวเรา?
             ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
             พ. เพราะฉะนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
จบ สูตรที่ ๘.

อรรถกถา http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=165 (http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=165)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กรกฎาคม 04, 2015, 09:34:54 AM
มารไม่มี บารมี ไม่แก่กล้า (พระอาจารย์สนทยา ธัมมวังโส)

พระพุทธเจ้า ผู้เป็นครูของเหล่าเทวดา และมนุษย์ ทรงชนะมาด้วย ผลแห่งทาน ทานบารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมี เป็นบารมี สำคัญ ทุกภพทุกชาต ของความเป็นมนุษย์ และ เทวดา บารมีที่ปรากฏแล้ว ทุกชาติ ย่อมปรากฏ ทานบารมี เป็นหลัก อันว่าผลแห่งทาน คือ ปีติ และ สุข นั่นเอง...

อุปกิเลส หรือ จิตตอุปกิเลส 16
(ธรรมเครื่องเศร้าหมอง, สิ่งที่ทำให้จิตขุ่นมัว รับคุณธรรมได้ยาก ดุจผ้าเปรอะเปื้อนสกปรก ย้อมไม่ได้ดี — mental defilements)
1. อภิชฌาวิสมโลภะ (คิดเพ่งเล็งอยากได้ โลภไม่สมควร, โลภ กล้า จ้องจะเอาไม่เลือกควรไม่ควร — greed and covetousness; covetousness and unrighteous greed)
2. พยาบาท (คิดร้ายเขา — malevolence; illwill)
3. โกธะ (ความโกรธ — anger)
4. อุปนาหะ (ความผูกโกรธ — grudge; spite)
5. มักขะ (ความลบหลู่คุณท่าน, ความหลู่ความดีของผู้อื่น, การลบล้างปิดซ่อนคุณค่าความดีของผู้อื่น — detraction; depreciation; denigration)
6. ปลาสะ (ความตีเสมอ, ยกตัวเทียมท่าน, เอาตัวขึ้นตั้งขวางไว้ ไม่ยอมยกให้ใครดีกว่าตน — domineering; rivalry; envious rivalry)
7. อิสสา (ความริษยา — envy; jealousy)
8. มัจฉริยะ (ความตระหนี่ — stinginess; meanness)
9. มายา (มารยา — deceit)
10. สาเถยยะ (ความโอ้อวดหลอกเขา, หลอกด้วยคำโอ้อวด — hypocrisy)
11. ถัมภะ (ความหัวดื้อ, กระด้าง — obstinacy; rigidity)
12. สารัมภะ (ความแข่งดี, ไม่ยอมลดละ มุ่งแต่จะเอาชนะกัน — presumption; competing contention; contentiousness; contentious rivalry; vying; strife)
13. มานะ (ความถือตัว, ทะนงตน — conceit)
14. อติมานะ (ความถือตัวว่ายิ่งกว่าเขา, ดูหมิ่นเขา — excessive conceit; contempt)
15. มทะ (ความมัวเมา — vanity)
16. ปมาทะ (ความประมาท, ละเลย, เลินเล่อ — heedlessness; negligence; indolence)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖

 อุปสรรค การภาวนา ถ้ามีตัวใด อยู่ อุปสรรค ที่ภาวนาไม่ได้ก็สูง นี่แหละคือตัวปัญหา จริง ๆ ที่ผู้ภาวนา ๆ เท่าใด ก็ไม่สำเร็จสักที
ดังนั้น วันนี้นำ ทั้ง 16 ตัว มาให้ท่านทั้งหลาย เช็คตัวเอง ก่อนตั้งคำถามกับมาที่ฉัน ว่า ตัวเอง มีอะไรอยู่ ใน 16 ตัว บางทีอาจจะไม่ต้องถามฉันก็ได้ ว่า เพราะอะไร จึงภาวนาไม่สำเร็จ

ก่อนอื่น ต้องยก คำก่อนว่า บารมี หมายความว่าอะไร ?
 
   คำว่า บารมี มาจากคำบาลีว่า ปารมี
   แปลเอาใจความว่า  คุณสมบัติที่เต็ม หรือ ความเต็มรอบ ความไม่ขาด ความสมบูรณ์ด้วยคุณ

  บารมี ในพระพุทธศาสนา มี 10 ประการ
  ทาน ศีล เนกขัมมะ (การออกจากกาม คือ ถือบวช) ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิฐาน เมตตา อุเบกขา
 
  บารมี มี 3 ระดับ
   สามัญญบารมี คือ เติมอย่างทั่วไป  เป้าหมาย คือ ทำอย่างธรรมดา
   อุปบารมี คือ เติมด้วยอย่างพิเศษ   เป้าหมาย คือ ทำอย่างพิเศษ
   ปรมัตถบารมี คือ เติมด้วยอย่างที่สุด  เป้าหมาย คือ ทำอย่างเหนือโลก

  ยกตัวอย่าง
   การให้ทาน
    ทานบารมี ( ปกติไม่เติมคำว่า สามัญ ) ก็ให้ทาน อย่างทั่วไป เช่นการให้ทรัพย์ สิ่งของ วัตถุ ปัจจัย 4 เงิน ทอง ของตน ให้แก่ทั้งผู้ตกทุกข์ได้ยาก ให้แก่คนที่มีอยู่ มีความสุขแล้วก็ตาม อย่างนี้เรียกว่า ให้อย่างทั่วไป คือ ใครเขาก็ให้กันได้ ไม่ลำบากในการให้ เช่นพบขอทาน ก็ให้ไป 1 2 3 4 5 10 50 100 1000 เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่าให้โดยไม่ลำบาก ไม่เกินวิสัยของคนที่จะให้

    อุปบารมี ก็ให้ทานเช่นกัน แต่ในที่นี้ หมายมั่นเป็นการให้ อวัยวะ ของตนเพื่อผู้อื่น เช่น สละดวงตา แขน ขา เพื่อรักษาชีวิต ของบุคคลอื่น ๆ ( ไม่ใช่ของตน )นี่เรียกว่า ไม่ใช่เรื่องที่จะให้ใคร ง่าย ๆ เช่น สละไต 1 ข้าง ให้กับญาต สนิท สหาย สละดวงตา ให้กับผู้ที่เป็นที่รัก หรือ ไม่เป็นที่รัก อย่างนี้เป็นต้น

    ปรมัตถบารมี ก็ให้ทานเช่นกัน แต่ในที่นี้ กล่าวว่า ให้ทานโดย ทิ้งชีวิต คือ สละชีวิตของตน เพื่อผู้อื่น ไม่ว่าผู้ที่สละชีวิตให้ จะดี หรือ ชั่วก็ตาม ไม่มีเหตุผลใด ๆ แต่ต้องการ สละชีวิต ตนเอง เพื่อรักษาชีวิตผู้อื่น ในขณะนั้น ต้องกล่าวว่าเพียงรักษา เพราะจะสละ หรือ ไม่สละ บั้นปลายของทุกคนก็คือความตาย ดังนั้นในที่นี้ หมายถึงการสละชีวิตของตนเป็น เพื่อรักษาชีวิตของผู้อื่น ในขณะนั้น
    สำหรับปรมัตถบารมีนั้น ไม่ใช่เรื่อง ทำได้ง่าย ๆ เพราะการสละชีวิตของตนเอง นับว่า ต้องใช้คุณธรรมสูง จึงจะสละชีวิตได้

    ที่นี้ เรื่องของ บารมี นั้น ต้องเป็นการทำเพื่อพระนิพพาน เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น สามัญญะ อุปบารมี หรือ ปรมัตถบารมี ก็ต้องทำเพื่อเป้าหมายในการทำ พระนิพพานให้แจ้ง ดังนั้น การสร้างบารมี จึงมีสองแนวทาง คือ

     การสร้างบารมี เพื่อ เป็น อนุพุทธสาวก คือ ผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า
     การสร้างบารมี เพื่อ เป็น พระพุทธเจ้า แบบใดแบบหนึ่ง ตั้งแต่ พระปัจเจกพุทธเจ้า จนถึง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นเอง

     การสร้างบารมี เป็น ข่ม อุปกิเลส ในตัว
     
     อุปกิเลส มี 16 ตัว โดยย่อในทางกรรมฐาน
     อุปกิเลส บางตัวไม่สามารถขนะ เขาได้ โดยการทำแบบธรรมดา ที่เรียกว่า สามัญ
     อุปกิเลส บางตัวไม่สามารถชน เขาได้ โดยการทำแบบธรรมดา และ แบบพิเศษ
     อุปกิเลส บางตัวจะสามารถสยบ ลงได้ โดยการทำแบบปรมัตถ์ เท่านั้น

     ดังนั้นผู้ภาวนาต้องศึกษา และ เข้าใจ ในอุปกิเลส ทั้ง 16 ตัวว่า ยามใด ควรใช้ บารมี แบบไหน เป็นต้น ยกตัวอย่าง
      มานะ อติมานะ อุปกิเลสสองตัวนี้ไม่สามารถดับได้ แม้กระทั่งจิตเป็นฌาน แต่จะสามารถดับได้ โดยการเป็น พระอรหันต์ เท่านั้น ดังนั้น อุปกิเลสตัวนี้ สามัญ และ อุปบารมี ใช้ไม่ได้ ต้องเป็น ระดับ ปรมัตถ์ เท่านั้น ด้วยการ ตั้ง บารมีทั้ง 10 เพื่อพระนิพพาน

      มทะ ปมาทะ อุปกิเลสสองตัวนี้ สามารถดับได้ชั่วคราว โดย สามัญญะบารมี ด้วยการ อธิษฐาน และ ตั้งสัจจะ เป็นต้น

      อภิชฌาวิสมโลโภ พยาปาทะ อุปนาหะ เป็นต้นนี้ สามารถระงับได้ได้ชั่วคราว ใน ฌานจิตวิถี ด้วย อุปบารมี เป็นต้น ฌานจิต จัดเป็น อุปบารมี เพราะคนทั่วไปทำไม่ได้ ต้องมีคุณสมบัติทางจิตเป็นพิเศษขึ้นมา จึงจักทำได้ บารมี โดยตรง ก็คือ วิริยะ และ ปัญญา เป็นต้น

      จะเห็นได้ว่า ชนะมาร ต้อง ชนะ ด้วย บารมี การสร้างบารมี จึงเป็นเรื่องที่ควรทำเพราะ บารมี ต้องใช้เวลาไม่ใช่ จะเติมเต็มได้ทันที พระพุทธเจ้า ใช้เวลา 500000 อสงไขยชาติ จึงเต็ม ดังนั้นพวกเรา ที่ยังมีชีวิตตอนนี้ อาจจะเกิน 500000 อสงไขยแล้ว ก็ได้ แต่ที่แน่นอน ถ้าหัวใจของท่าน จิตของท่าน วิญญาณของท่าน ยังมีการสร้างบารมีมาอยู่ ก็จะมีคุณสมบัติ ในใจ คือ ความหน่าย ต่อ สังสารวัฏฏ์ อยู่เป็นปกติ นี่เรียกว่า พระโยคาวจร เวลาภาวนาธรรม ถ้าจิตของ พระโยคาวจร ตื่นขึ้นมา การดำเนินตามวิถีธรรม ก็จักเป็นไปโดยธรรมชาติแห่ง ผู้บำเพ็ญบารมี ดังนั้น เป้าหมายธรรมเบื้องต้น ก็คือ การตื่น

       การตื่น จะมีได้ ก็ต้องตั้งมั่น ใน ศีล สมาธิ และ ปํญญา
     
       การตื่น มี สามอย่าง ที่เรียกว่า ตื่น
         ตื่น ด้วย ศีล
         ตื่น ด้วย สมาธิ
         ตื่น ด้วย ปัญญา
     
      ตื่น ด้วย ศีล คือ อย่างไร ?
        เมื่อพระโยคาวจร ผู้บำเพ็ญภาวนามาใน วัฏฏะสงสาร นี้ไม่ว่าจะกี่ชาติก็ตาม เมื่อตื่น จะเป็นผู้ตั้งมั่น และมั่นคง ในศีล 5 ถึงแม้ไม่หมดจด แต่ก็คิดทำลายศีล การตื่น หมายถึง ธรรมสองอย่าง นั่นก็คือ หิริ และ โอตตัปปะ  นั่นเอง
   
      ตื่น ด้วย สมาธิ คือ อย่างไร ?
       เมื่อพระโยคาวจร ผู้บำเพ็ญภาวนามาใน วัฏฏะสงสาร นี้ไม่ว่าจะกี่ชาติก็ตาม เมื่อตื่น จะเป็นผู้น้อมจิตเข้าไปด้วยความแน่วแน่ แห่งสมาธิ ตั้งแต่ อุปจาระฌาน จนถึงอัปปนาฌาน ญาณที่เคยสั่งสมย่อมเกิดขึ้นตามวาสนาที่ได้สั่งสมมา เช่น ระลึกชาติได้ เป็นต้น การตื่นในสมาธิ หมายถึง ธรรมสองอย่าง คือ สติ สัมปชัญญะ นั่นเอง

      ตื่น ด้วย ปัญญา คือ อย่างไร ?
       เมื่อพระโยคาวจร ผู้บำเพ็ญภาวนามาใน วัฏฏะสงสาร นี้ไม่ว่าจะกี่ชาติก็ตาม เมื่อตื่น จะเป็นผู้น้อมจิตเข้าไปพิจารณา ธรรม คือ ความทุกข์ เหตุแห่งความทุกข์ การก้าวล่วงความทุกข์ และหนทางแห่งการก้าวล่วงแห่งความทุกข์ การพิจารณาธรรม สำหรับ อนุพุทธะ ก็คือ อริยะสัจจะ 4 ประการ สำหรับ พระโพธิสัตว์ ที่จักเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป จะพิจารณา ทุกข์ และ สาเหตุแห่งทุกข์เท่านั้น ส่วนการการก้าวล่วง และ หนทางแห่งการก้าวล่วง ไม่สามารถเห็นได้ เพราะต้องไปตรัสรู้เอาเอง ในฐานะ พระโพธิสัตว์ ผู้บำเพ็ญธรรมเพื่อเป็น พระพุทธเจ้า จะมีเพียง อนุพุทธะเท่านั้น ที่สามารถน้อมธรรม คือ อริยะสัจจะทั้ง 4 ( ในพระพุทธเจ้าพระองค์ นี้ ) เพราะว่าธรรมที่สำคัญในการพิจารณา ด้วยปัญญาต่างกัน ด้วยการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
       ดังนั้นการตื่น ด้วย ปัญญา ของพระอนุพุทธะ ก็คือ สัมมาทิฏฐิ นั่นเอง

    เจริญธรรม / เจริญพร

อุปสรรค ใหญ่ ของการสร้าง บารมี ก็คือ เวลา
และ เวลา แต่ละคน นั้น เพื่อทำ บารมี ให้เต็ม ไม่เท่ากัน
บางท่าน ก็อาจจะใช้เวลามาก
บางท่าน ก็อาจจะใช้เวลาอย่างยาวนาน
บางท่าน ก็อาจจะใช้เวลาอย่างยาวนานมาก ๆ

   ดังนั้น การก้าวล่วงเวลา เป็นสิ่งที่พระโยคาวจร ที่ฉลาด มักจะใช้กันในการเข้าถึงธรรม
  การก้าวล่วงเวลา ( เหนือกาลเวลา ) มีได้ในสภาวะเดียวก คือ สภาวะ อัปปนาจิต

  ดังนั้น ตั้งแต่อดีต แม้พระพุทธเจ้าเอง พระองค์ ก็จะอาศัยสมาธิ เป็นหลักในการเข้าถึงธรรม แม้เสวยวิมุตติ ก็อาศัยสมาธิ แม้ขณะแห่งการตรัสรู้ ก็อาศัย สมาธิ

  ดังนั้น ความสำคัญ ของ การบรรลุธรรม จริง ๆ อยู่ที่ การบำเพ็ญ สมาธิ
  ดังนั้นเวลาเราไปปฏิบัติธรรม การใช้ปัญญา การรักษาศีลนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องหนัก สำหรับผู้ภาวนา แต่ การใช้สมาธิ ตั้งแต่ อุปจาระสมาธิ ถึง อัปปนาสมาธิ เป็นเรื่องที่ผู้ภาวนาฝ่าด่านนี้ได้ยาก จากอดีต ถึงปัจจุบัน ก็ไม่เปลี่ยนแปลง

    ดังนั้น รูปแบบของการทำสมาธิ จึงมีแตกแขนงออกไปตามครูอาจารย์ กันมาก ในที่นี้จะไม่ขอกล่าว จะกล่าวเฉพาะที่พระพุทธเจ้า ทรงรับรองว่า เป็นการทำสมาธิ อย่างเลิศ นั่นก็คือ

      1.กายคตาสติ เป็นกรรมฐานแรก ที่ถูกส่งมอบให้แก่ ผู้บรรพชา ตั้งแต่เป็นสามเณร บทแรกก็คือ ตจปัญจกกรรมฐาน ว่า ด้วย เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ มีพระอรหันต์ อายน้อย ๆ ที่สำเร็จกรรมฐาน ส่วนนี้มากมาย เช่น สามเณรสังกิจจะ สามเณรทัพพะมัลละบุตร เป็นต้น
   
       2.พุทธานุสสติ เป็นกรรมฐานองค์ที่ 2 ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นธรรมอันเอก อันให้ถึงพระนิพพาน การเข้าถึง พระพุทธานุสสติ นั้นจัดว่าเป็นกรรมฐาน สำคัญ ประเทศไทย เรายุคนี้ ตามวัดต่าง ก็ใช้กรรมฐานนี้เป็นหลัก และดูเหมือนจะเป็นกรรมฐาน ที่ พื้นฐานอย่างมาก

      3.อานาปานสติ เป็นกรรมฐาน ที่พระพุทธเจ้า ตรัสไว้อย่างเสมอ ๆ ว่าที่สุด แม้พระองค์เองก็ทรงอยู่ ดำรงค์อยู่ ด้วย อานาปานสติ แม้ดับขันธ์ปรินิพพาน ก็ด้วยอานาปานสติ นั่นเอง
 
      4.โพชฌงค์ 7 อันสหรคต ด้วย กรรมฐานกองอื่น ๆ อันนี้อาจจะไปนิดสำหรับ พระโยคาวจร แต่จะไม่ยากเลย ถ้าเป็นพระโสดาบัน ไปแล้ว เพราะโพชฌงค์ อาศัย ผลสมาบัติ ในการเจริญภาวนา

      5.มหาสติปัฏฐาน 4 กรรมฐานส่วนนี้ เกื้อกูลสำหรับ ปัญญาวิมุตติ เป็นหลัก เป็นกรรมฐานที่ไม่ลำบากในการเจริญ แบบปัญญาวิมุตติ  ถึงแม้ บรรพะต่าง ๆ นั้นจะมีหลายหมวด แต่ส่วนใหญ่ ผู้ภาวนาจะหนักข้างทาง วิปัสสนา คือ ไปสายปัญญาวิมุตติ เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นแต่ มหาสติปัฏฐาน 4 เองนั้น เป็นธรรรม ที่เกื้อกูลทั้งสองสาย คือ เจโตวิมุตติ และ ปัญญาวิมุตติ
     ( แต่ปัจจุบัน จากที่ไปสังเกตการณ์ หลายสำนักแม้ สำนักใหญสายนี้ หนักข้างปัญญาวิมุตติ ยังไม่มีใครให้คำตอบ ทาง ด้าน ฌาน อัปปนาจิต หรือ วิธีการเข้า วิปัสสนา ผ่านอัปปนาจิต ให้ กับอาจารย์ได้ถูกต้องสักรูป ส่วนใหญ่จะแคลนออกไปว่า สู้สติ ไม่ได้ ประมาณนี้ นั่นก็หมายความว่า พัฒนา สติ เป็น สมาธิ พื้นฐาน แล้วกระทำการพิจารณาธรรม ตาม หมวดธรรม ตามหมวด ตามหมวดเวทนา แต่ แต่คนที่สอนก็ไม่สามารถเข้า ฌานจิตได้ ทดสอบมาหลายรูปแล้ว ส่วนใหญ่ เป็นนักคิด นักพูด เท่านั้น ข้อเสีย ในปัจจุบัน ที่ไปฟังและ คลุกคลีในสายนี้มา เป็น ปัญญาปรมัตถ์เทียม สละกิเลสได้ชั่วคราว ไม่สามารถสละได้ถาวร ส่วนตัวจึงไม่แนะนำในสายนี้ กับลูกศิษย์ เพราะถ้าไม่เอาดี ทางสมาธิ ซึ่งเป็นองค์สำคัญ ในระดับอุปจาระสมาธิ แล้ว ก็ยังผิดพลาดได้ ถึงแม้บางทีแสดงความเห็นว่า ขณิกะสมาธิ ก็สามารถหยั่งวิปัสสนา ได้ แต่นั่นหมายถึง อุคติตัญญ และ วิปจิตัญญู บุคคล นะ ที่จะสำเร็จธรรมได้ในขณะนั้น โอกาสมีน้อยมาก ที่จะได้บุคคลเหล่านี้ในปัจจุบัน )

เจริญพร


ขอขอบพระคุณที่มาจาก http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=18155.0 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=18155.0)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กรกฎาคม 04, 2015, 10:07:19 AM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 17/6/58 เวลา 10.00 น. โดยประมาณ

วันนี้จะเดินทางกลับจากบ้านมากรุงเทพฯ ได้ทำสมาธิและปลงจากปัญญาครอบครัวที่มีอยู่มากจนไม่รู้จะแบกรับอย่างไร ใจนคึงก็โมโหโกรธเคืองผู้อื่น ใจนึงก็เจ็บใจตนเอง ใจนึงก็เศร้าโศกร่ำไรรำพันเสียใจ ใจนึงถึงหวังปารถนาอยากให้เป็นดั่งใจระคนกันทั่วจนสมองจะระเบิด จึงได้ตั้งทำไว้ในใจถึงความสงบ สันติ ความดับ ความสละคืนกิเลส ความไม่ยึดสมมติ ไม่เสพย์สมมติกิเลส เมื่อจิตสงบแล้ว พึงเห็นว่าเพราะมีความกำหนัดยินดี ใคร่ยินดี กระสันที่จะอยากให้สิ่งนั้นสิ่งนี้คนนั้นคนนี้เป็นไปอย่างที่เราปารถนาพอใจ เมื่อไม่เป็นไปตามหวังก็เป็นทุกข์ แม้แค่เพียงเมื่อจิตแค่เริ่มเสพย์จิตยึดมั่นตั้งในความอยาก ยังไม่สืบต่อ ยังไม่รู้ผลว่าจะสมหวังหรือผิดหวังก็เป็นทุกข์แล้ว มองย้อนไปว่าที่เรามีความโกรธนี้ต่อครอบครัวเพราะเราเป็นคนใจแคบ ไม่มองความผิดตนที่มีต่อผู้อื่น ตั้งความปารถนาอยากให้คนอื่นเป้นอย่างนั้นอย่างนี้ ขนาดแม้แต่ตนยังบังคับไม่ได้ แล้วกับคนที่เราไม่ได้ตั้งความหวังปารถนาไรๆไว้เขาจะเป้นอย่างเราแต่เรากลับไม่ทุกข์และยังให้คำแนะนำดีๆด้วยซ้ำ แล้วเราทำถูกกับคนที่เรารักและรักเราอแล้วหรือที่ตั้งความไม่พอใจยินดีต่อเขาอย่างนี้ เมื่อทบทวนดีแล้วก็รู้ว่าเมตตาเรายังไม่พอ ทำให้หวนระลึกถึงตอนที่นั่งสมาธิแล้วเห็นพระพุทธเจ้าเป็นแก้วเสรด็จมาเป็นอันมากมาพาให้เมตตา จึงรู้ว่าชาตินี้เราคงมีเมตตาน้อยจึงเกิดเรื่องเครียดและปัญหาครอบครัวเยอะ เราจักทำเมตตาให้ถึงเจโตวิมุตติ ในปุถุชนก็คือเมตตาไปโดยไม่มีกิเลสในขณะนั้นจนเป้นนิสัยนั้นเอง เมื่อทำสมาธิต่อก็เจออุบายดังนี้ว่า

อุบายทรงอารมณ์ในพรหมวิหาร ๔ จนถึงการแผ่ความไม่เบียนเบียนและทาน ไปแบบพรหมวิหาร ๔

๑. เมตตา คือ มโนกรรม จิตที่ปารถนาดี เอ็นดู ปรานี ต่อผู้อื่นเสมอตน เห็นเป็นประดุจบุพการี พ่อ แม่ ญาติ พี่ น้อง ลูกหลาน บุคคลอันเป็นทึ่รัก มิตรที่ดีต่อกันไม่ขุ่นเคืองใจกัน น้อมไปในการสละให้ / ความมีใจ หรือ ทำใจไว้ ตั้งจิตในความเอ็นดูปรานี น้อมใจวาจากายไปในความสงบสุขยินดีต่อเขา คิดดี พูดดี ทำดีต่อเขาด้วยปารถนาให้เขาได้รับสุข ไม่คิดพูดทำในสิ่งใดอันเป็นไปในความเบียดเบียนทำร้ายให้เขาเดือดร้อน หวาดกลัว มีโทษ ผูกโทษต่อเขา / ไม่เพ่งโทษ ไม่ถือโทษ ไม่ผูกโกรธ ไม่ผูกกลัว ไม่ผูกพยาบาทต่อเขา ด้วยความรักใคร่ที่ไม่เป็นไปด้วยความหลง ความกำหนัด ผูกใฝ่ใคร่ปารถนาทั้งปวงต่อเขา แต่อยู่โดยความเว้นโทษไม่ผูกโทษใจน้อมเอื้อเฟื้อสิ่งดีๆให้เขาด้วยกาย วาจา ใจ หวังให้เขาเป็นสุข ไม่เร่าร้อน ไม่หวาดกลัว ไม่ระแวง ไม่รู้สึกผิด ไม่อยากแสวงหาให้ร้อนรุ่ม
- อุบายว่า หากเราไม่รู้จักปารถนาดีต่อผู้อื่น ไม่รู้จักอภัยต่อผู้อื่น แล้วจะมีใครไหนเลยจะหวังดีกับเราไม่มาคิดร้ายเบียดเบียนเรา
- มีจิตปารถนาดีต่อสรรพสิ่งทั้งปวงทั่วทุกสารทิศ เสมอตน เสมอกัน ประดุจคนในครอบครัว บุคคลอันเป็นที่รัก ญาติ มิตร ทั้งที่ยังกายอยู่ เห็นเป็นขันธ์ ๕ เสมอกันบ้าง ,อาการทั้ง ๓๒ เสมอกันบ้าง ,ธาตุ ๖ เสมอกันบ้าง
- อีกประการหนึ่ง คือ ทำไว้ในใจ..จับเอาความปารถนาดี ที่มีต่อสิ่งทั้งปวง ประดุจดั่งตน สิ่งตนรัก ตนชอบ ยินดีในกุศลประโยชน์สุขสมหวังอย่างไร ประดุจดั่งคนในครอบครัว บุคคลอันเป็นที่รัก ญาติ มิตรที่ปารถนาดีต่อกัน ไปทั่วทุกอนูทั่วเอกภพไม่ว่าสิ่งนั้นๆจะประกอบหรือตั้งอยู่ด้วย เฉพาะธาตุดินก็ดี เฉพาะธาตุน้ำก็ดี เฉพาะธาตุลมก็ดี เฉพาะธาตุไฟก็ดี เฉพาะอากาศธาตุก็ดี เฉพาะวิญญาณธาตุก็ดี หรือ ธาตุทั้ง ๖ นี้สงเคราะห์รวมกันก็ดี

๒. ทำไว้ในใจถึงความไม่เบียดเบียน ความไม่มีเวร ความไม่ผูกโกรธ ความไม่มีพยาบาท ความไม่ผูกใจเจ็บแค้นหมายให้เขาถึงความฉิบหาย ความไม่เป็นเวรภัยซึ่งกันและกันด้วยความมีจิตปารถนาดีซึ่งกันและกัน แผ่ไปทั่วไม่มีสิ้นสุด ไม่มีประมาณ ไปทั่วทุกอนูเอกภพ

๓. กรุณา ความสงสาร คือ มโนกรรม มีจิตสงเคราะห์ น้อมที่จะกระทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อช่วยเหลือเขา ให้เขาได้มีโอกาสที่ดีในชีวิตหรือได้รับสิ่งที่ดีงามที่เอื้อประโยชน์สุขแก่เขา
- อุบายว่า หากเราไม่มีจิตช่วยเหลืออนุเคราะห์แบ่งปันผู้อื่น อยู่โดยความเห็นแก่ตัว แล้วจะมีใครที่ไหนเขาจะอยากมาช่วยเหลือสงเคราะห์แบ่งปันเรา
- มีความสงสารเสมอกันทั่วทุกสรรพสิ่ง มีจิตแผ่ไปประดุจเหมือนอากาศธาตุอันเป็นที่ว่างที่แทรกอยู่ในทุกๆอนูธาตุนั้นเป็นอารมณ์ โดยไม่จำเพาะเจาะจงเฉพาะหรือจับยึดอยู่ที่ในกาย หรือ ไม่จำเพาะเจาะจงเฉพาะที่ในขันธ์ ๕ หรือ ไม่จำเพาะเจาะจงเฉพาะที่ในอาการทั้ง ๓๒ ประการ หรือ ไม่จำเพาะเจาะจงเฉพาะที่ในธาตุ ๖ แต่แผ่ไปทั่วประดุจดั่งอากาศอันเป็นที่ว่างไม่มีที่สิ้นสุดไปทั่วทุกเอกภพนั้น
- อีกประการหนึ่ง คือ ทำไว้ในใจ..ว่าความสงเคราะห์เอื้อเฟื้อมีจักมีแก่สิ่งทั้งปวง ความตั้งกายอยู่ย่อมถึงความสงเคราะห์มีน้อย กายเรานี้ยังคงเป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อมสูญ ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์ไว้อยู่ เราจักละกายนี้อันไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์ เป็นที่ประชุมโรคนี้ไปเสีย จักไม่ยังกายนี้อีก จักทำตัวประดุจเหมือนอากาศอันเป็นที่ว่างอันไม่มีประมาณประดุจดั่งเอกภพที่ว่างกว้างไปไม่มีที่สิ้นสุด ยกจิตขึ้นออกจากกายตั้งอยู่ในที่ว่างอันกว้างไกลไม่มีประมาณ ไม่มีที่สิ้นสุดประดุจอากาศ อวกาศ ดั่งเอกภพนั้น แผ่เอาความมีจิตสงเคราะห์ เอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือแบ่งปันให้แก่สรรพสิ่งทั้งปวงนั้นพ้นจากทุกข์ที่เกิดมีแต่รูปขันธ์นั้นให้ได้ประสบสุขนี้ไปไม่มีประมาณเหมือนเอกภพนั้น

๔. ทาน คือ ผลอันเกิดจาก เมตตาและกรุณาที่น้อมไปในการสละให้ จนเกิดการกระทำทางกายและวาจาอันเป็นไปเพื่อความสละให้ ด้วยปารถนาให้ผู้รับเป็นสุขจากการให้นั้นของตน
- อุบายว่า หากเราไม่รู้จักสละให้ผู้อื่น แล้วใครที่ไหนเลยเขาจะอยากสละให้เรา
- ระลึกถึงผลทานอันใดที่เราสละให้มาดีแล้วนั้น ที่ประกอบไปด้วยประโยชน์ต่อผู้อื่นเป็นอันมาก ระลึกถึงความสุขที่เขานั้นได้รับจากการสละให้ของเรา เอามาเป็นที่ตั้งแห่งจิต หรือ ระลึกว่าการสละให้ที่เราได้ทำมาแล้วนี้มีผลมาก เอาชนะหรือดับอุปกิเลสความโลภในตนได้ เป็นการปหานอกุศลธรรมอันหยายช้าได้ ทั้งได้ทำทานนี้ต่อพระรัตนตรัย พ่อ-แม่-บุพการี พระพุทธศาสนา พระอริยะสงฆ์ ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย มนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลายทั้งปวง ทานที่ทำมานี้มีผลมีอาสิงส์มาก เราได้ทำสำเร็จบรรลุบทตามที่พระอริยะทั้งหลายได้กระทำมาแล้ว ประกอบไปด้วยคุณจักส่งผลให้ตนได้รับผลทานอันนั้นแม้กาลปัจจุบัน อนาคตภายหน้า เมื่อละโลกนี้ไปแล้วและในชาติหน้า ให้เราไม่ต้องลำบาก มีอยู่มีกินมีใช้ มีคนเมตตาอนุเคราะห์แก่เราไม่ขาด จิตจะยังความอิ่มใจจนเต็มกำลังใจในทาน
- อีกประการหนึ่ง คือ มีจิตน้อมถึงความสละให้ที่เราได้ทำมาดีแล้วด้วยกายวาจาใจ ต่อสรรพสิ่งทั้งปวง ด้วยจิตอันยินดีที่เราได้สละให้ และ ยินดีที่ได้ทำในสิ่งที่เอื้อประโยชน์สุข ช่วยเหลือ ดูแล ทำนุบำรุง รักษาในสรรพสิ่งทั้งปวง แผ่ไปทั่วให้สรรพสิ่งทั้งปวงประดุจความเติมเต็มสุขอันดีงามไปทั่วทุกอณูธาตุซึ่งเป็นที่ว่างกล้างไปไม่มีประมาณประดุจความมืดโล่งว่างไม่มีที่สิ้นสุดในจักรวาลที่รอให้เราเอาความอิ่มใจไปเติมให้มันเต็มแบบไม่มีประมาณทั่วทั้งเอกภพ

๕. มุทิตา คือ มโนกรรม มีจิตเป็นสุขยินดีไปกับเขา ที่เขาเป็นสุข ไม่มีทุกข์ คงไว้ซึ่งสิ่งอันมีค่าและสำคัญในของเขา ได้พบโอกาสที่ดีในชีวิตและสิ่งที่ดีงามที่เอื้อประโยชน์สุขแก่เขา ไม่ริษยา
- อุบายว่า หากเราไม่รู้จักยินดีเป็นสุขต่อผู้อื่น เมื่อเราได้ดีมีสุขคงไว้ซึ่งสิ่งอันมีค่าอันเป็นที่รักหรือได้ทำในกุศลดีงาม..แล้วใครจะมาอนุโมทนายินดีด้วยใจเป็นสุขไปกับเรา, เมื่อเราคอยแต่ตะเกียกตะกายแก่งแย่งชิงดีให้ตนเหนือกว่าเขา อิสสาริษยาเขาแล้ว..เราก็ไม่ใช่แค่คิดเบียดเบียนคนอื่น แต่กลับเบียดเบียนตนเองให้มีแต่ความทุกข์เร่าร้อนเกายใจอยู่ไม่เป็นสุข
- แผ่เอาความจับเอาที่จิตอันเป็นสุขยินดีเสมอกันประดุจญาติมิตรบ้าง หรือ เป็นขันธ์ ๕ เสมอกันบ้าง, อาการทั้ง ๓๒ ประการ เสมอกันบ้าง, ธาตุ ๖ เสมอกันบ้าง ที่เขาคงไว้ซึ่งสิ่งอันเป็นที่รักที่หวงแหนได้รับสิ่งที่เป็นสุขยินดี ความยินดีมีอยู่ที่จิตนี้ไปถึงทั่วทุกอนูทั่วทุกเอกภพ
- อีกประการหนึ่ง คือ ความทำไว้ในใจ..จับเอาจิตอันเกษมยินดีแช่มชื่นรื่นรมย์อันเกิดมีแต่จิตนั้น ตั้งอยู่ที่จิตนั้น

๖. อุเบากขา คือ มโนกรรม ความวางใจไว้กลางๆ ความไม่ลำเอียง อันสืบต่อจาก เมตตาจิต กรุณาจิต มุทิตาจิต ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ลำเอียงเพราะกลัวหรือไม่รู้ตามจริง ไม่ตั้งความพอใจยินดี ไม่พอใจยินดีต่อสิ่งใด มีความเสมอกันหมดต่อสรรพสิ่ง ย่อมที่เห็นว่าคนเรามีกรรมเป็นของของตน มีกรมเป็นผู้ให้ผลติดตามและอาศัยบ้าง อยู่ที่กรรมที่เขาได้ทำในกาลก่อนและปัจจุบันบ้าง เป็นไปตามธรรมชาติของผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในครองขันธ์ ๕ อยู่บ้าง
- อุบายว่า สิ่งเหล่าใดที่ควรและไม่ควรเราได้ไตร่ตรองพิจารณาได้ทำด้วยความปารถนาดีน้อมไปในการสละช่วยเหลือต่อเขามาดีแล้ว ทุกสิ่งทุกอบ่างย่อมเป็นไปตามกรรมที่ทำไว้ไม่ว่าเราหรือเขาก็หลีกหนีไม่ได้ หากเรายังยินดียินร้ายไปกับเขา หรือ ติดข้องใจไปก็ไม่มีประโยชน์อันใดนอกจากทุกข์ ติดข้องใจสิ่งใดไปย่อมนำทุกข์และความฉิบหายมาให้
- แผ่เอาความว่างไม่มีความยินดี-ยินร้ายต่อสิ่งเหล่าใดไปแบบไม่มีประมาณ
- อีกประการหนึ่ง คือ ความทำไว้ในใจ..ไม่ยึดยินดีในกาย ไม่ยึดยินดีในใจ หรือ ไม่ยึดยินดีในเอาขันธ์ ๕ หรือ ไม่ยึดยินดีในอาการทั้ง ๓๒ หรือ ไม่ยึดยินดีในธาตุ ๖ เสมอกันบ้าง ไม่ยึดเอาสิ่งใดสักอย่าง ไม่ยึดเอาสิ่งทั้งปวง ด้วยเป็นว่าเพราะเป็นที่ประชุมแห่งทุกข์ แม้แต่กายและใจของตนก็ตาม ทุกข์นี้เกิดอยู่ที่กายที่ใจตนนี้แหละ กายที่เสื่อมโทรมเป็นที่ประชุมโรค ใจที่รู้แต่สมมติกิเลส ไม่รู้ของจริง ยึดเอาเพียงสมมติปรุงแต่งแต่สิ่งไรๆที่นำความทุกข์มาให้ ยังไฟให้แผดเผาตนให้เร่าร้อน ละทิ้งกายใจเหล่านั้นไปเสีย เพราะเป็นที่ประชุมทุกข์ดังนี้



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กรกฎาคม 13, 2015, 01:27:45 AM

อันว่ากายนี้ ก็อย่างนี้แหละ พึงเห็นเป็นธรรมดา เสีย ไม่ต้องปลง เห็นเป็นธรรมดา พอ.....จากพระอาจารย์ ธัมมวังโส

สำหรับร่างกาย ตอนนี้ มันก็เป็นปกติ ของเขา คือ ทรง กับ ทรุด เท่านั้น ทรงก็คือ มีแรง ทำงานต่อไป ทรุด ก็คือป่วย ต้องนอนเยียวยา สุดท้าย มันก็ต้อง มรณา มันเป็นธรรมดา ของมันอย่างนั้น ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย สภาวะของการมีชีวิตก็อย่างนี้นั่นแหละ เช้านี้ ขอให้ท่าน ภาวนา อภิณหปัจจเวกขณ กันบ้างนะ

เรามีความแก่เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้
เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้
เรามีความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้
เราจักพลัดพรากจากของที่รัก ของชอบใจทั้งหลาย
เรามีกรรมเป็นของๆตน เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
เรามีกรรมเป็นแดนเกิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธ์
เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมอันใดไว้
เป็นกรรมดีก็ตาม เป็นกรรมชั่วก็ตาม
เราจักต้องเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น
เราทั้งหลายพึงพิจารณาเนืองๆอย่างนี้แล.


เจริญพร


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กรกฎาคม 13, 2015, 08:50:24 PM

บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะ วันที่ 13/7/58

     วันนี้เข้ากะดึกออกกะเช้าเวลา 8.00 น. เมื่อถึงบ้านก็ดูหนังดูเวบข่าวก็ไปเห็นที่เขาโพสท์ภาพนู๊ด ทำให้เกิดความกำหนัดมาก แต่ก็ข่มใจไว้อยู่ และนอนตอนประมาณ 13.00 น. ได้ทำไว้ในใจก่อนนอนว่า

- จักไม่จับสละคืนกิเลสหายใจออกจนสุด จะสละคืนกิเลสหายใจเข้าลึกๆ แล้วค่อยๆผ่อนไป ทำให้เห็นของ วสีอุปจาระฌาณ(อุปจารสมาธิอย่างหยาบ จนถึงขั้นกลาง แต่ยังไม่ใช่อุปนาสมาธิหรือปฐมฌาณ) ว่า การกำหนดเข้าอุปจาระฌาณนี้ต้องอยู่ที่ลมหายใจเข้า-ออกยาว โดยตัดความคิดตามสมมติกิเลสทิ้งไปเสีย โดยค่อยๆหายใจเข้า-ออกยาวเบาๆ สติไม่หลุดจากลมหายใจ แม้จะบริกรรมพุทโธหรือไม่ก็ตาม คือ ให้มีวิจารตามรู้ลมหายใจเข้า-ออกแนบชิดอยู่อย่างนั้น (วิตก คือ พุทโธ , วิจาร คือ ลมหายใจ) จะเกิดความไม่เร่าร้อนมีความผ่องใสปราโทย์ ถึงปิติให้ความอิ่มจากไม่คิดฟุ้งซ่าน ให้ขนลุกซู่ เบาโหวงเหมือนลอยได้บางครั้งจิตมันเบาจนเหมือนจะลอยออกจากกายทำให้รู้สึกว่ากายนี้หนัก จะเพิกทิ้งกายนี้ไปเสียให้ได้ มีพลังอันอิ่มเอมอัดขึ้นให้ตรึงกายใจอยู่ ถึงความสงบใจได้โดยง่าย (บางครั้งเราทำก็ถึงความปราศจากกิเลสนิวรณ์ได้สืบต่อให้รู้สึกเป็นสุขอ่อนๆจากความสงบนั้นเข้าสู่สภาวะที่สติทำให้จิตจดจ่อมากขึ้นจนรู้แยกจากความตรึกนึกนิมิตใดๆ หรือ ทำให้แนบแน่นในนิมิตที่กำหนดขึ้นมาเพ่ง , บางครั้งก็แค่สงบแต่ยังมีกิเลสอ่อนๆที่คอยจะพุ่งแทรกจิตที่กำลังจะสงบจดจ่ออยู่)
- เมื่อวิตกเป็นไปในพุทโธ ด้วยจิตน้อมเอาความสละคืนกิเลส และ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานตามพุทธคุณของพระตถาคตเจ้านั้น ด้วยอุบายว่า ไม่มีวิตกอันใดที่ไม่เร่าร้อน แต่ประกอบด้วยคุณเท่า อรหัง หรือ พุทโธ นี้แล้ว และ ไม่มีความเข้าไปรู้อารมณ์ใดที่จะสงบสุขไม่ฟุ้งซ่านไม่เร่าร้อนเท่าลมหายใจนี้แล้ว รู้ลมหายใจมันไม่เร่าร้อน มันไม่ฟุ้งซ่าน มันไม่ทุกข์ รู้ลมหายใจทำให้สละคืนกิเลสไม่เร่าร้อน มีแต่ความสุขสงบเพราะปราศจากความคิดอันฟุ้งซ่านในกิเลสสมมติทั้งปวง


จากนั้นก็หลับไป

แล้วก็ฝันโดยสัญญาจากจิตใต้สำนคึกที่เรานี้มักมากในกามอยู่มากถึงมากที่สุดอัดปะทุแน่นโขขึ้นมา เกิดเป็นฝันว่า เราได้เจอผู้หญิงคนหนึ่งสวยมาก แต่ในฝันยังมีสติรู้ทันจิตในตอนนั้น ทำให้เกิดความข่มใจแล้วพิจารณาจนเกิดเห็น นันทิ ความติดใจในอารมณ์นั้นๆ อย่างแจ่มแจ้ง เมื่อรู้โดยอาการจริงโดยปราศจากคิดในอาการโดยบัญญัติในฝันนั้น ทำให้เห็นอาการจริงๆของนันทิ ที่ปกติเราจะแยกจากกาม ความน่าใครน่าปารถนาในอารมณ์นั้นๆไม่ออกเลย อาการมันจะมีลักษณะติดตามไปในอารมณ์นั้นด้วยความเพลิดเพลิน มีอาการที่รุ่มๆเร่าๆอ่อนๆ มีลักษณะเหมือนเส้นปะที่ต่อกันไปเรื่อยๆ โดยช่องว่างหรือช่องไฟของเส้นปะนั้นจะแคบหรือกว้างก็ขึ้นอยู่กับ ความรู้สึกที่น่าใคร่น่าปารถนาและความผูกใจใฝ่ยินดีในอารมณ์นั้น(ฉันทะราคะ) มีมากน้อยแค่ไหน นันทิอยู่ระหว่างกลางของสองอารมณ์นี้


»  -  ·  »  -  ·  »  -  ·  »  -  ·  »  -  ·

» - · » - · » - · » - · » - · » - · » - · » - ·

»-·»-·»-·»-·»-·»-·»-·»-·»-·»-·»-·»-·»-·»-·

-----------------------------------------------------

สักพักก็ตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำแล้วก็หลับต่อ

จากนั้นก็ฝันถึงผู้หญิงคนหนึ่งน่าตาดีมีใจให้เรา แต่ตอนนั้นเห็นว่าเขามีสามีแล้ว เพราะสามีเจ้าชู้มีเมียใหม่ แต่ต่อมาว่าเธอเลิกกับสามีแล้ว เพียงแต่ทำงานช่วยเหลืออยู่ เราจึงคิดพาเธอหนีไปอยู่ด้วยกัน เพราะความใคร่ ความกำหนัดโดยแท้ จนลืมไตร่ตรองก่อนว่าเขาเลิกกันแล้วจริงหรือไม่
- คติข้อแรกนี้ทำให้เห็นว่า ความกำหนัดในเมถุนนี้มันร้ายมากถึงขนาดเพ่งภัณฑะ และช่วงชิงเอาของคนอื่นได้โดยไม่แยแสเลย

จากนั้นก็ได้พาเธอออกมาอยู่ด้วย แต่ก็อยู่ด้วย แต่ก็อยู่ด้วยความกำหนัดเมถุน จะเอา จะอึ๊บเขาอย่างเดียวเลย จนในฝัน ฝันว่าน้ำสุกกะพุ่งกระจายเต็มหน้าเธอ เต็มตัวเขาและเราไปหมด ประหนึ่งเหมือนลงแช่น้ำสุกกะอย่างนั้น แม้จะดูเลอะเทอะน่าเกลียดกลิ้นคาวคลุ้งไปทั่ว แต่ในฝันนั้นก็เปรมปรีย์ยินดีเหลือเกิน
- คติข้อนี้ทำให้เห็นว่า การเสพย์เมถุนนี้เป็นของสกปรกน่าขยะแขยง แต่เพราะความกำหนัดในมันนี้แล แม้รู้ว่าสกปรก แม้รู้ว่าเป็นกองทุกข์ ก็ยังจะเสพย์มัน

จากนั้นจึงพากันไปล้างตัวทั้งๆที่แก้ผ้ากันเดินไปทั้งสองคน พยายามหาน้ำสะอาดเพื่อล้างน้ำสุกกะของเราสองคนออกไม่ให้ใครมาเห็นสภาพนี้ แต่บังเอิญน้ำที่มีให้เห็นใกล้ที่สุดเป็นน้ำในอ่าง มีจอกแหนสาหร่ายและฝุ่นสิ่งปฏิกุลเยอะ หากจะหาน้ำปะปาสะอาดก็ต้องเดินไปอีก และก็ต้องเปลือยกายไป แม้จะรู้ว่าน้ำนั้นมันสกปรกมากแต่ก็ยังพยายามตักกรองเอาน้ำในอ่างมาล้าง ซึ่งสิ่งที่ติดขึ้นมากับน้ำมีทั้งเศษใบไหม่ ฝุ่น สาหร่าย แหน เต็มหมดทั้งๆที่กรองแล้ว จากนั้นก็เอาน้ำนั้นลาดล้างน้ำสุกกะออก จริงอยู่ว่าน้ำสุกกะนั้นบางส่วนหลุดออกไปแต่ตัวเราและเธอแต่ร่างกายก็เต็มไปด้วยใบไม้ ฝุ่น สาหร่าย จอก แหน มาติดตัวแทนเช่นกัน
- คติข้อนี้ทำให้เห็นว่า การที่เราคลุกตัวอยู่กับความน่าใครน่าปารถนา ความติดใจ ความผูกใคร่ยินดีในการเสพย์เมถุนนี้ๆ ทำให้กายใจ ก็เหมือนนำกายใจตนเองให้เร่าร้อนคอยวิ่งหาสิ่งที่ปารถนา แสวงหาทางเพื่อจะปกปิดไม่ให้คนอื่นรู้ว่าตนทำสิ่งใดที่น่ารังเกลียดแค่ไหน แต่ถึงจะพยายามปิดบัง กดข่มไว้ มันก็ปกปิดไว้ไม่หมดเหมือนที่ไม่อาจจะล้างน้ำสุกกะให้สะอาดได้ ซ้ำยังเปลี่ยนเป็นรอยที่สกปรกน่ารังเกียจอันใหม่เพิ่มเติม ทั้งๆที่ตนเองรู้ดีแก่ใจว่าสิ่งที่ตนทำให้คนอื่นเห็นนั้นมันของปลอมไม่จริงความจริงคือตนนั้นสกปรกไปด้วยน้ำสุกกะจากการเสพย์เมถุนแต่ก็ยังทำ เหมือนรู้ว่าน้ำนั้นสกปรกแต่ก็ยังตักมาล้างตัว ล้างยังไงก็สกปรกเหมือนเดิมไม่สะอาดไปได้ ถึงคนจะไม่เห็นแต่แก้ผ้ากลางแจ้งนั้นฟ้าดินก็เห็นอยู่ดี

- แต่หากเรายอมรับว่าเรานี้สกปรกอย่างนี้ ทำสิ่งที่น่าอายอย่างนี้ ยอมรับคำติเตียนต่อผู้อื่นแล้วตั้งสมั่นในทางที่ถูกต้อง คือ ยอมเปลือยกายเดินไปหาน้ำปะปาที่สะอาดกว่าที่เห็นในเบื้องหน้า หรือ เพียรหาน้ำสะอาดที่ปราศจากสิ่งปฏิกูลโดยอาจจะค่อยเดินแอบๆไปหาน้ำก็ได้ จากนั้นชำระล้างร่างกายของตนให้สะอาด เราก็ไม่มีกายใจเป็นที่น่ารังเกลียดอีก ซึ่งความตั้งใจเพียรหาน้ำสะอาดที่จะชำระกายใจให้สะอาดดั่งการหาน้ำสะอาดมาชำระล้างกายนั้น ก็เป็นเหมือนเจริญในสัมมัปปธาน ๔ อันมีสติสัมปะชัญญะเป็นเบื้องหน้า เป็นความเพียรตั้งใจมั่นคอยสอดส่องด้วยสติคอยเสาะแสวงหาอุบายที่จะฆ่าราคะ เพื่อทำให้กานสะอาดคือเป็นกุศลนั้นเอง เมื่อเห็นอุบายก็เหมือนเจอน้ำสะอาด แล้วนำน้ำสะอาดนั้นมาชำระล้างร่างกายให้สะอาด มีสมาธิประดุจสบู่ที่ทาบนตัว มีปัญญาประดุจมือที่คอยขัดล้างน้ำสุกกะนั้นออกจากกายใจให้สะอาดดังนี้


สรุปการพิจารณาด้วยกุศลวิตก ความคิดออกจากทุกข์ มีเกิดในฝันอันเต็ใไปด้วยราคะเมถุนดังนี้ และ เรายังปฏิบัติไม่มากพอทำให้ยังฝันได้ขนาดนี้ ต้องทำให้มากกว่านี้


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กรกฎาคม 14, 2015, 11:58:57 PM
พระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลก ตอน 37 (เสาร์ 11 ก.ค.) ช่วง 1-2

คณะสงฆ์ จะบิณฑบาตร แต่ประชาชนในเมืองขับไล่ไม่ยอมให้ทาน พระสงฆ์ทั้งหลายจึงหลีกเร้นมา มาเจอพระศาสดา

พระศาสดาจึงตรัสถามว่า : ไม่มีใครให้ทานพวกเธอ หรือ !
ภิกษุทั้งหลายตอบรับว่า : ใช่พระเจ้าข้า ! แล้วทูลต่ออีกว่า ขอเราไปจากที่นี่กันเถอะ ผู้คนที่นี่ไม่ต้อนรับเรา ผู้คนที่นี่ไม่ชอบเรา เขาด่าทอ เหยียดหยาม ดูถูก ขัยไล่เรา
พระศาสดาจึงตรัสตอบว่า : เราจะไปจากที่นี่ก็ได้. แต่สิ่งที่ทำให้พวกเธอกระสับกระส่ายเร่าร้อนอยู่ที่นี่นั้น มันจะตามไปทำให้เธอกระสับกระส่ายเร่าร้อนอยู่ที่อื่นด้วยเช่นกัน
ภิกษุทั้งหลายตอบรับว่า : ไม่หรอกพระเจ้าข้า ! คนที่นี่ดูถูกเรา หัวเราะเยาะ ล้อเลียนเรา
พระศาสดาจึงตรัสตอบว่า : เธอก็เลยโกรธอย่างนั้นหรือ.. เธอคงจะพอใจถ้าพวกเขาต้อนรับเธอด้วยดอกไม้ใช่ไหม.. นั่นแปลว่า เธอทั้งหลสายมอบความสงบสุขไปให้เขาหมดแล้ว สิ่งภายนอกทำให้เธอทั้งหลายพอใจได้ และ ทำให้เธอทั้งหลายสั่นคลอนได้ด้วย
ภิกษุทั้งหลายตอบรับว่า : ขออภัยพระเจ้าข้า หากความทุกข์และความโกรธอยู่ในใจเรา เพราะสิ่งเร้าภายนอก นั่นเป้นเพราะเราไม่ได้รับสาร์นท่านด้วยใจ
พระศาสดาจึงตรัสตอบว่า : จงจำเอาไว้ว่าไม่มีใครยอมรับสิ่งใหม่ได้ง่ายๆหรอก พวกเธอพยายามทำลายความเชื่อของเขาที่มีมานาน ในตอนแรกพวกเขาจะล้อเลียนเธอ พวกเขาจะใช้ความรุ่นแรง ไม่ต้อนรับ ขับไล่ ด่าทอ ทำร้าย หลีกเลี่ยงพวกเธอ
แล้วภายหลังเขาจะต้อนรับพวกเธอ ดังนั้นพวกเธอจงอย่าทิ้งความอดกลั้น และ อดทน


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กรกฎาคม 15, 2015, 12:21:45 AM
พระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลก ตอน 37 (เสาร์ 11 ก.ค.) ช่วง 3

ประวัติ พระกีสาโคตมีเถรี เอตทัคคะเลิศทางผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง

ลูกยังมีชีวิตอยู่ในหัวใจเข้าเจ้า
เหตุของทุกข์คือยึดติดอยู่กับวัตถุต่างสิ่ง ไม่มว่า คน สัตว์ สิ่งของ
การเกิดและการตาย การอยู่ร่วมกันและพรัดพราก เป็นสิ่งเดีวกัน


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กรกฎาคม 15, 2015, 08:10:41 PM

ถาม

วิปัสสนา เริ่มปฏิบัติตั้งแต่เมื่อไหร่ ? ในการภาวนา
เราจะเริ่มทำวิปัสสนากันตอนไหน ?
ทำวิปัสสนาอย่างเดียวได้หรือไม่ ?
ฝึกสมาธิ แล้ว จะมีทำวิปัสสนา ได้อย่างไร ?





และคำถามอื่น ๆ ที่คล้าย ๆ กัน ถามโดย
 nirvarnar55 bajang nimit mongkol tcarisa kobyamkala akira akito jojo rainmain sakol fan paisalee staporn samapol kindman หมวยจ้า wiriya fasai catwoman และ อีกหลาย ๆ ท่าน ที่ค้นจดหมายยังไม่เจอ





พระอาจารย์ ธัมมะวังโสภิกขุ ตอบ

เนื่องเพราะว่า ทุกคนไปติดใจในคำว่า วิปัสสนา กันแบบที่ไม่ค่อยจะเข้าใจ และ ติดตามวิธีการฝึกแบบ พระพุทธเจ้า นั่นเองโดยไม่ได้ทบทวนแบบ พุทธสาวก

   การฝึกภาวนา แบบพระพุทธเจ้า ฝึกความตั้งใจ ไปสู่สมาธิ และการตรัสรู้ นี้เป็นคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะพระองค์ต้องค้นหาสัจจธรรม โดยพระองค์เอง คือการตรัสูรู้ชอบโดยพระองค์เอง เป็นหนัาที่ของพระพุทธเจ้า

   ที่นี้การฝึกแบบพระพุทธเจ้า ไม่ใช่วิถีการฝึกแบบพุทธสาวก เพราะพุทธสาวก ไม่ต้องตรัสรู้เอง แต่ต้องรู้ตาม ดังนั้นการฝึกของพุทธสาวก จึงต้องเป็นการฝึกแบบ

    ใช้ปัญญา ตามด้วยศรัทธา และ จบด้วยสมาธิ
    ดังนั้นจะเห็นว่า อริยะมรรคมีองค์ 8 นั้น สตาร์ท ที่ สัมมาทิฏฐิ ( คือ ปัญญามองเห็นตวามเป็นจริง ตามอริยะสัจจะ 4 ประการ ) การมองเห็นตามความเป็นจริงจนกระทั่งเข้าไปเปลี่ยนความเห็นให้เป็นความเห็นชอบถูกต้องได้นั้น ชื่อว่า วิปัสสนา

   ที่นี้การเห็นชอบ ที่เป็น วิปัสนา เปรียบเหมือนทฤษฏี นำทางแต่ไม่รู้ว่าจะถูกทั้งหมดไหม จึงมีธรรมสองส่วนแยกออกมา คือ ธรรมที่เรียกว่า รูป และ นาม
  
   การบริหารเรียนรู้เรื่องรูป ในพระพุทธศาสนา ใช้ข้อกำหนดคือ ศีล ๆ กล่าวได้ว่า เป็นความปกติของมนุษย์ ที่เห็นถูกต้องไม่ผิดต่อตนเอง มโนธรรม ก็ต้องดำรงอยู่ในศีล เพราะศีล เป็นตัวห้ามตัณหา ระดับที่หนึ่ง หากไม่มีศีล ทุกคนอยากได้อะไร อยากเป็นอะไร ก็พยายามทำให้ได้ โดยไม่ได้คำนึงถึงความเดือนร้อนที่จะเกิดขึ้น ทั้งแก่ตนเอง และผู้อื่น ดังนั้น ศีลจึงเป็นด่านที่สองต่อจาก วิปัสสนา

  มาถึงด่านสุดท้าย เป็นด่าน จิตใจ ล้วน ๆ การเข้าไปชนะใจ ข่มใจ รวมใจ เห็นแท้อย่างที่สุดนั้น ต้องอาศัยอำนาจสมาธิ เป็นกำลัง แต่อำนาจของสมาธิ จะม่ได้ก็ต้องมาจากความเพียร และสติ

  ดังนั้นคำถามว่า ปฏิบัติวิปัสสนา ตอนไหน ก็คือ ตั้งแต่คุณเริ่มเป็นผู้ถือเอาพระรัตนตรัย แล้วนั่นแหละ คือ คุณปฏิบัติวิปัสสนา แล้ว เพราะ วิปัสสนา แปลว่า การเห็นอย่างวิเศษ การเห็นแจ้ง ดังนั้นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง เป็นตัววิปัสสนาที่นำคุณเข้าไปสู่การเห็นตามความเป็นจริง เบื่อหน่าย ต่อ โลกธรรม และสังสารวัฏฏ์

   ส่วนการทำสมาธิ นั้นเป็นการทำให้ญาณ ข้อพิสูจน์ ให้ปรากฏตามที่เห็น เท่านั้น เมื่อจิตเห็นตามความเป็นจริงได้ จิตก็จะละจาก กิเลสไปในตัว



เจริญพร สั้น ๆ เท่านี้ก่อน      ([url]http://www.madchima.org/forum/Smileys/fantasticsmileys/wink.gif[/url])




หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กรกฎาคม 20, 2015, 12:28:03 PM

บันทึกกรรมฐาน วันที่ 17 กรกฎาคม 2558




ให้มีความยินดีในสมาธิ แต่ไม่ให้ปารถนาผลจากสมาธิ ไม่ปฏิบัติเพื่อ ฌาณ ญาณ อภิญญาไรๆ


- พึงเห็นด้วยปัญญาว่าจิตตั้งมั่นชอบเป็นสิ่งที่เอื้อต่อปัญญาชอบ และ เอื่อต่อสติสัมปะชัญญะ เป็นสิ่งดี สะสมให้เป็นกำลังใจให้จิตมีกำลังควรแก่งาน เป็นที่ควรทำ เป็นการปฏิบัติบูชาต่อพระพุทธเจ้า เป็นหน้าที่ๆควรทำของสมมติสาวกอย่างเรา เป็นความไม่ร้อนเร่า เป็นที่พักสบายของกายและใจ มีสติกำกับอยู่รู้ตามหายใจเข้าออก มันสงบ มันไม่เร่าร้อน มันไม่ฟุ้งซ่าน มีความคิดชอบด้วยพุทธโธ มันไม่เป็นที่ทุกข์แต่มีแต่ความสงบเบากายใจ ทำให้จิตมันเป็นที่สบายตัดขาดความคิดอันฟุ้งซ่าน ปราศจากอกุศลวิตกทั้งปวง เป็นการหาการงานชอบให้จิต
- ไม่ตั้งความพึงพอใจยินดีในญาณ หรือ ญาณ หรือ อภิญญาเหล่าใด เพราะมันไม่ใช่สิ่งปารถนา ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ยังไม่ใช่สิ่งที่ปุถุชนผู้ยังอกุศลธรรมอันลามกจัญไรอย่างเราควรจะมีควรจะได้ มันใม่ใช่เรื่องที่ปุถุชนคนมักมากในกามอย่างเราควรจะมี ควรจะหวังใคร่ปารถนา เพราะอาจจะทำให้หลงผิดหรือเสียสติได้ ไม่ปารถนาเอาผลจากสมาธิ ทำด้วยใจที่ยินดีในความเป็นที่สบายกายใจไม่เร่าร้อน ทำด้วยความยินดีว่าเป็นการปฏิบัติ เป็นพุทธบูชา เป็นการปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า ทำสมาธิไปโดยไม่หวังปารถนาเอาผลไรๆจากสมาธิ แค่รู้ว่าควรทำให้มาก ขอแค่ให้ได้ทำพอจะมันจะสงบจะตั้งมั่นหรือฟุ้งไม่เป็นสัมมาก็แค่ตามรู้ไม่ต้องไปหวังปารถนาไรๆขอแค่ให้ได้ทำประจำ สะสมไว้ให้เป็นกำลังก็พอ

- หลวงน้าพระครูนกแก้ว ท่านสอนเราว่า ไม่ว่าอะไรมันจะไปคิด ไปเห็น ไปรู้ หรือ เกิดสิ่งใดๆ อาการใดๆขึ้นในขณะที่ทำสมาธิอยู่ก็ตาม มันก็แค่ปกติของจิต แค่อาการหนึ่งๆของจิตที่มีอยู่นับล้านๆอาการจนนับไม่ถ้วนเท่านั้น รู้แค่นั้นแล้วก็วาง ไม่ต้องไปยึดไปสนใจ ตกใจ จดจ้องจะเอา จดจ้องจะได้ จดจ้องจะรู้ไรๆ ให้เพียงแค่ รู้ ปกติ วาง

- หลวงปู่บุญกู้ และ หลวงพ่อเสถียร ท่านสอนเราว่า..ให้ทำให้มากไว้เพื่อสะสมให้เป็นกำลังเรียกว่า พละ ๕ + ศีล(กุศลกรรมบถ ๑๐) คือเพียรเจริญใน ศรัทธา ศีล วิริยะ สมาธิ สติ ปัญญา ทำอินทรีย์ให้แก่กล้า ปฏิบัติมีความยินดีที่จะทำยินดีในการหลุดพ้นจากทุกข์ แต่ไม่ต้องไปหวังผลจากการปฏิบัตินั้นๆ ทำไปเรื่อยๆจะได้หรือไม่ได้ก็ช่างมันอย่าไปใส่ใจให้มากจนเป็นกิเลสตัณหา เพราะสุดท้ายถ้าไม่วันนี้ ก็วันหน้า หรือ ชาติหน้าเราก็คงได้เอง ให้คำนึงถึงว่าหากไม่ได้ชาตินี้ หรือ ได้ผลช้านั่นเพราะเราไม่เคยสะสมมันมาก่อนทำให้อินทรีย์เรายังไม่แก่กล้าพอ และ ยังไม่ถึงเวลาที่จะได้ เพราะจิตใจเรายังมีสันดานปุถุชนเป็นอันมากอยู่ ยังไม่มีหรือยังไม่พอให้สันดานแห่งพระอริยะเจ้านั้นเข้ามาสถิตย์ในกายใจเราได้ พอที่จะให้เราได้ผลในตอนนี้หรือตอนนั้น ดังนั้น..ให้ทำให้มากเข้าไว้ทำให้สม่ำเสมอก็พออย่าไปหวังเอาผลให้มันวุ่นวายเร่าร้อนเพ่งเล็งจนฟุ้งซ่านเร่าๆไปทั้งกายใจมันหาประโยชน์ไรๆไม่ได้นอกจากทุกข์ หมายใจยินดีแค่นี่พอ







บันทึกกรรมฐาน วันที่ 19 กรกฎาคม 2558

พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระนันทะเถระเมื่อก่อนจะบรรลุอรหันต์สมัยที่ยังคงกระสันในกามราคะอยู่นั้นว่า เพราะเธอยอมอ่อนข้อให้กับกิเลส กามราคะ เธอจึงเร่าร้อนกระสันอยู่ อย่าได้ยอมอ่อนข้อให้กิเลสกามราคะ ก็เมื่อพระตถาคตเจ้าพาไปดูนางฟ้ากลับมาแล้วพระเถระทรงเพ่งเพียรเจริญตามธรรมวินัย ธรรมปฏิบัติ สมถะ วิปัสสนา ไม่ยอมอ่อนข้อให้กิเลสทั้งปวง พระองค์ก็บรรลุอรหันตผล สิ่งอาสวะกิเลส เป็นผู้สะอาด เผาผลาญกิเลสสิ้นไม่มีหลงเหลืออยู่อีกเลย ดังนี้แล้ว เมื่อเราเป็นผู้กระสันอยู่เราได้หาวิธีร้อยแปดพันเก้าทั้ง 84000 พระธรรมขันธ์มาเจริญปฏิบัติแต่เราก็ยอมอ่อนข้อให้เกสเสมอๆ ด้วยเหตุนี้เมื่อรู้จากธรรมอันประเสริฐในการตัดความกระสันทั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนและที่พระนันทะเถระปฏิบัติมาดีแล้วนั้น พร้อมกับอ่านอนุพุทธประวัติของพระนันทะเถระและดูหนังเรื่องพระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก ทำให้เราเกิด ศรัทธา ฉันทะ ปิติ สุข เกิด เจตนาแน่วแน่ ตั้งอยู่ในวิริยะขึ้นมาอีกครั้ง จึงได้พบเห็นทางละดังนี้ว่า


  ทำใจไว้ ตั้งใจไว้ว่า เราจักไม่อ่อนข้อให้กิเลสดัวใด

- ทั้งความเพลินเพลิน ยินดีในความเพลิดเพลิน บันเทิงใจ ฟูใจ ตื้นตันระรื่นใจ

- ความน่าใคร่ปารถนา ความปารถนาใคร่ได้ที่จะเสพย์

- ความติดใคร่ ตรึงตราใจติดตาม ความติดใจข้องแวะ

- ความกำหนัดผูกใจยินดีด้วยความใคร่หมายเสพย์ในอารมณ์นั้น ความกะสัน ความอยาก ความแสวงหา

- ความขุ่นขัดใจ ความข้องใจ ความติดเคืองใจ ความเร่า ความร้อน ความอึดอัด คความอัดอั้น ความปะทุระอุขึ้นในใจ

- ความเศร้าหมองใจ ความปิดกัน ความขุ่นมัวหมองใจ ความหนักตรึงกายใจ ความหมองๆ ความมัวใจ

- ความรุมเร่าอยู่ในอารมณ์ ความไม่มีสติ ความระลึกไม่ได้ ความไม่รู้ตัว ความไม่รู้ปัจจุบัน





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กรกฎาคม 25, 2015, 05:17:47 PM
๑๐. นิทานสูตร


           [๒๒๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่นิคมของหมู่ชนชาว
เมืองกุรุ อันมีชื่อว่ากัมมาสทัมมะ แคว้นกุรุรัฐ ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้า
ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควร
ส่วนข้างหนึ่ง เมื่อท่านนั่งเรียบร้อยแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า น่า-
*อัศจรรย์ พระเจ้าข้า ไม่เคยมีมา พระเจ้าข้า คือปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นธรรมลึกซึ้ง
เพียงไร ทั้งมีกระแสความลึกซึ้ง แต่ถึงอย่างนั้น ก็ปรากฏเหมือนเป็นธรรมง่ายๆ
แก่ข้าพระองค์ ฯ
             [๒๒๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนี้
ดูกรอานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนี้ ปฏิจจสมุปบาทนี้ เป็นธรรมลึกซึ้ง ทั้งมีกระแส
ความลึกซึ้ง เพราะไม่รู้ ไม่ตรัสรู้ ไม่แทงตลอดธรรมนี้ หมู่สัตว์นี้จึงเป็นเหมือน
เส้นด้ายที่ยุ่ง เป็นเหมือนกลุ่มเส้นด้ายที่เป็นปม เป็นเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและ
หญ้าปล้อง ย่อมไม่ผ่านพ้นอบาย ทุคติ วินิบาต สงสาร ฯ
             [๒๒๖] ดูกรอานนท์ เมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย
อันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมเจริญ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมี
อุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
             [๒๒๗] ดูกรอานนท์ ต้นไม้ใหญ่มีรากหยั่งลงและแผ่ไปข้างๆ รากทั้ง
หมดนั้นย่อมดูดโอชารสไปเบื้องบน ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ ต้นไม้ใหญ่นั้น มีอาหาร
อย่างนั้น มีเชื้ออย่างนั้น พึงเป็นอยู่ตลอดกาลนาน แม้ฉันใด อานนท์ เมื่อ
ภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่
ตัณหาย่อมเจริญ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะ
อุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วย
ประการอย่างนี้ ฯ
             [๒๒๘] ดูกรอานนท์ เมื่อภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย
อันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วย
ประการอย่างนี้ ฯ
             [๒๒๙] ดูกรอานนท์ ต้นไม้ใหญ่ยืนต้นอย่างนั้น ทีนั้นบุรุษเอาจอบและ
ภาชนะมา ตัดต้นไม้นั้นที่โคนต้น แล้วขุดลงไป ครั้นขุดลงไปแล้ว คุ้ยเอารากใหญ่
เล็กแม้เท่าก้านแฝกขึ้น บุรุษนั้น ทอนต้นไม้นั้นเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่ แล้วพึง
ผ่า ครั้นผ่าแล้ว เจียกเป็นชิ้นๆ ครั้นเจียกให้เป็นชิ้นๆ แล้ว พึงผึ่งลม ตากแดด
ครั้นผึ่งลม ตากแดดแล้ว พึงเอาไฟเผา ครั้นเอาไฟเผาแล้ว พึงทำให้เป็นเขม่า
ครั้นทำให้เป็นเขม่าแล้ว พึงโปรยที่ลมแรง หรือลอยในแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยว
ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ ต้นไม้ใหญ่นั้น ถูกตัดเอารากขึ้นแล้ว ถูกทำให้เป็นดังตาลยอด
ด้วน ถึงความไม่มี ไม่เกิดอีกต่อไป แม้ฉันใด อานนท์ เมื่อภิกษุเห็นโทษ
เนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมดับ ฉันนั้น
เหมือนกัน เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะ
ภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชราและมรณะโสกปริเทวทุกขโทมนัสและ
อุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ


จบสูตรที่ ๑๐

จบทุกขวรรคที่ ๖



-----------------------------------------------------

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
                          ๑. ปริวีมังสนสูตร         ๒. อุปาทานสูตร
                          ๓. สังโยชนสูตรที่ ๑     ๔. สังโยชนสูตรที่ ๒
                          ๕. มหารุกขสูตรที่ ๑     ๖. มหารุกขสูตรที่ ๒
                          ๗. ตรุณรุกขสูตร         ๘. นามรูปสูตร            ๙. วิญญาณสูตร
                          ๑๐. นิทานสูตร ฯ

-----------------------------------------------------


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กรกฎาคม 27, 2015, 03:15:10 PM
พุทธานุสสติ ธรรมเพื่อละราคะ (พระสูตรที่ไม่รวมเข้าในวรรค)

            [๓๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม ๖ ประการ เป็นผู้ไม่ควร
             เพื่อพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ
             ความเป็นผู้ชอบการงาน ๑
             ความเป็นผู้ชอบคุย ๑
             ความเป็นผู้ชอบหลับ ๑
             ความเป็นผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ๑
             ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑
             ความเป็นผู้ไม่รู้ประมาณในโภชนะ ๑
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม ๖ ประการนี้แล
             เป็นผู้ไม่ควรเพื่อพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

             [๓๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการ
             เป็นผู้ควรเพื่อพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน
             คือ ความเป็นผู้ชอบการงาน ๑ ความเป็นผู้ชอบคุย ๑
             ความเป็นผู้ชอบหลับ ๑ ความเป็นผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ๑
             ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑
             ความเป็นผู้ไม่รู้ประมาณในโภชนะ ๑
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการนี้แล
             เป็นผู้ควรเพื่อพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

             [๓๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม ๖ ประการ
             เป็นผู้ไม่ควรเพื่อพิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายในอยู่ ฯลฯ
             เพื่อพิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายนอกอยู่ ฯลฯ
             เพื่อพิจารณาเห็นกายในกายทั้งกายในภายนอกอยู่ ฯลฯ

             [๓๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม ๖ ประการ
             เป็นผู้ไม่ควรเพื่อพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ ฯลฯ
             เพื่อพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายเป็นภายในอยู่ ฯลฯ
             เพื่อพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายเป็นภายนอกอยู่ ฯลฯ
             เพื่อพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ ฯลฯ

             [๓๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม ๖ ประการ
             เป็นผู้ไม่ควรเพื่อพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ
             เพื่อพิจารณาเห็นจิตในจิตเป็นภายในอยู่ ฯลฯ
             เพื่อพิจารณาเห็นจิตในจิตเป็นภายนอกอยู่ ฯลฯ
             เพื่อพิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งในภายในทั้งในภายนอกอยู่ ฯลฯ

             [๓๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม ๖ ประการ
             เป็นผู้ไม่ควรเพื่อพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ ฯลฯ
             เพื่อพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายเป็นภายในอยู่ ฯลฯ
             เพื่อพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายเป็นภายนอกอยู่ ฯลฯ
             เพื่อพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่
             ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ
             ความเป็นผู้ชอบการงาน ... ความเป็นผู้ไม่รู้ประมาณในโภชนะ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม ๖ ประการนี้แล
             เป็นผู้ไม่ควรเพื่อพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม ๖ ประการ
             เป็นผู้ไม่ควรเพื่อพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายเป็นภายในอยู่ ฯลฯ
             เพื่อพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายเป็นภายนอกอยู่ ฯลฯ
             เพื่อพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้งภายในภายนอกอยู่
             ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้ชอบการงาน
              ... ความเป็นผู้ไม่รู้ประมาณในโภชนะ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม ๖ ประการนี้แล
             เป็นผู้ไม่ควรเพื่อพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้งภายในภายนอกอยู่ ฯ

             [๓๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการ เป็นผู้ควรเพื่อ
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้งภายในภายนอกอยู่ ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน
คือ ความเป็นผู้ชอบการงาน ฯลฯ ความเป็นผู้ไม่รู้ประมาณในโภชนะ ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการนี้แล เป็นผู้ควรเพื่อพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลายทั้งภายในภายนอกอยู่ ฯ

            [๓๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตปุสสคฤหบดีประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ
             เป็นผู้พึงปลงใจเชื่อในพระตถาคต เห็นอมตธรรม ทำให้แจ้งอมตธรรมอยู่
             ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ
             ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ๑
             ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ๑
             ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ๑
             อริยศีล ๑
             อริยญาณ ๑
             อริยวิมุติ ๑

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตปุสสคฤหบดีประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล
             เป็นผู้พึงปลงใจเชื่อในพระตถาคต เห็นอมตธรรม ทำให้แจ้งอมตธรรมอยู่ ฯ

             [๓๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัลลิกคฤหบดี อนาถบิณฑิกสุทัตตคฤหบดี
จิตตคฤหบดีชาวมัจฉิกาสัณฑนคร หัตถกคฤหบดีชาวเมืองอาฬวี เจ้าศากยะ
พระนามว่ามหานามะ อุคคคฤหบดีชาวเมืองเวสาลี อุคคตคฤหบดี สูรอัมพัฏฐ-
*คฤหบดี ชีวกโกมารภัจ นกุลบิดาคฤหบดี ตวกัณณกคฤหบดี ปูรณคฤหบดี
อิสิทัตตคฤหบดี สันธานคฤหบดี วิชยคฤหบดี วัชชิยมหิตคฤหบดี เมณฑก-
*คฤหบดี วาเสฏฐอุบาสก อริฏฐอุบาสก สาทัตตอุบาสก ประกอบด้วยธรรม
๖ ประการ เป็นผู้ปลงใจเชื่อในพระตถาคต เห็นอมตธรรม ทำให้แจ้งซึ่งอมต-
*ธรรมอยู่ ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวใน
พระพุทธเจ้า ๑ ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ๑ ความเลื่อมใสอัน
ไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ๑ อริยศีล ๑ อริยญาณ ๑ อริยวิมุติ ๑ ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย สาทัตตอุบาสกประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล เป็นผู้ปลงใจเชื่อใน
พระตถาคต เห็นอมตธรรม ทำให้แจ้งอมตธรรมอยู่ ฯ

             [๓๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการ อันภิกษุพึงให้เจริญเพื่อ
รู้ยิ่งราคะ ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ ทัสสนานุตตริยะ ๑ สวนานุตตริยะ ๑
ลาภานุตตริยะ ๑ สิกขานุตตริยะ ๑ ปาริจริยานุตตริยะ ๑ อนุสสตานุตตริยะ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้ อันภิกษุพึงให้เจริญเพื่อรู้ยิ่งราคะ ฯ

             [๓๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการ อันภิกษุพึงให้เจริญเพื่อรู้
ยิ่งราคะ ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ พุทธานุสสติ ๑ ธัมมานุสสติ ๑
สังฆานุสสติ ๑ สีลานุสสติ ๑ จาคานุสสติ ๑ เทวตานุสสติ ๑ ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้แล อันภิกษุพึงให้เจริญเพื่อรู้ยิ่งราคะ ฯ

             [๓๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการ อันภิกษุพึงให้เจริญเพื่อรู้
ยิ่งราคะ ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ อนิจจสัญญา ๑ อนิจเจทุกขสัญญา ๑
ทุกเขอนัตตสัญญา ๑ ปหานสัญญา ๑ วิราคสัญญา ๑ นิโรธสัญญา ๑ ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้แล อันภิกษุพึงให้เจริญเพื่อรู้ยิ่งราคะ ฯ

             [๔๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการ อันภิกษุพึงให้เจริญเพื่อ
กำหนดรู้ราคะ ฯลฯ เพื่อความสิ้นไปรอบแห่งราคะ เพื่อละราคะ เพื่อสิ้นไป
แห่งราคะ เพื่อเสื่อมไปแห่งราคะ เพื่อความคลายกำหนัดราคะ เพื่อดับราคะ
เพื่อสละราคะ เพื่อปล่อยวางราคะ ฯลฯ

             [๔๐๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการ อันภิกษุพึงให้เจริญเพื่อ
รู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไปรอบ เพื่อละ เพื่อสิ้นไป เพื่อเสื่อมไป
เพื่อคลายไป เพื่อดับ เพื่อสละ เพื่อปล่อยวาง ซึ่งโทสะ โมหะ โกธะ
อุปนาหะ มักขะ ปฬาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเถยยะ ถัมภะ สารัมภะ
มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้แล
อันภิกษุพึงให้เจริญ เพื่อปล่อยวางปมาทะ ฯ


             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้จบลงแล้ว ภิกษุเหล่านั้นชื่นชม
ยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาค ฉะนี้แล ฯ


จบฉักกนิบาต
-----------------------------------------------------


๑. ราคสูตร, ๒. ทุจริตสูตร, ๓. วิตักกสูตร, ๔. สัญญาสูตร, ๕. ธาตุสูตร
๖. อัสสาทสูตร, ๗. อรติสูตร, ๘. ตุฏฐิสูตร, ๙. อุทธัจจสูตรที่ ๑, ๑๐. อุทธัจจ สูตรที่ ๒ ฯ




หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 01, 2015, 04:46:00 PM

บันทึกกรมมฐาน วันที่ 31 กรกรกฏาคม 2558

หลวงปู่บุญกู้ เทศนาวันเข้าพรรษา
ธรรมจากหลวงปู่บุญกู้ แกะเทปมาบางส่วน

- ความสุขทางโลกีย์ มันไปได้แค่หมดลม

- ความสุขทางโลกุตรธรรมนี้ มันไปได้เหนือโลก





หลวงปู่บุญกู้ เทศนาวันเข้าพรรษา
ธรรมจากหลวงปู่บุญกู้ แกะเทปมาบางส่วน

- เรามีกุศลมากเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะกุศลคือความฉลาดที่จะปล่อยวาง

- เราปล่อยวางได้แค่ไหน จิตใจมันก็สูงขึ้นได้เท่านั้น

- จิตใจเรามีทานได้มากแค่ไหน จิตใจก็สูงเหนือโลภมากเท่านั้น

- จิตใจเรามีศีลและมีเมตตามาก จิตใจเราก็สูงเหนือโกรธมาก

- จิตใจเรามีการศึกษา มีภาวนามากนี้ จิตใจก็สูงส่งมาก
   ความหลงก็น้อยลง ความโกรธความโลภก็น้อยลง
   ทั้งในชาตินี้ก็ดี ตายไปก็ดี แม้ไปถึงชาติหน้าก็ดี
   ก็เป็นผลทำให้เราเข้าไปตั้งต้นที่ดีกว่าชาตินี้
   แล้วก็เมื่อเรามีภาวนาแล้ว ก็ทำให้จิตยินดีในกุศล
   มีศีล มีทาน มีภาวนา ไปในทุกชาติ






ข้อควรจำเมื่อต้องมีการพบปะพูดคุยเจรจาปรับความเข้าใจ

เป็นอุบายธรรมทางแก้ปัญหาที่เราเห็นจากคำสอนของ "หลวงปู่บุญกู้  อนุวัฑฒโน" ซึ่งเราได้นำธรรมคำสอนข้างต้นของหลวงปู่ มาเจริญสมาธิภาวนาและพิจารณาตามให้เห็นโดยแยบคายด้วยปัญญาอันน้อยนิดของเราแล้ว "เราจึงได้นำธรรมเทศนาคำสอนของหลวงปู่มาเป็นอุบายธรรมนี้" เพื่อใช้เตือนสติบอกแก่น้องที่สนิทกันคนหนึ่ง ที่เขามีเรื่องทุกข์ใจกับคนที่เคยเคารพนับถือสนิทใจกัน แล้วเกิดคลายความรู้สึกดีต่อกันนั้น ซึ่งน้องเขาได้ถามเราว่าควรจะพูดคุยยุติ หรือหนี หรือให้ทำแบบไหน อย่างไร จึงจะยุติเรื่องทั้งปวงที่ร้ายๆเหล่านี้ได้ เราจึงนำธรรมของ หลวงพ่อบุญกู้ อนุวัฑฒโน มาแนะนำเตือนสติน้องเขา เป็นบทธรรมนี้จักเป็นประโยชน์ในภายหน้าไม่ว่าต่อเราเองหรือใครที่กำลังเจอเหตุการณ์นี้จึงบันทึกไว้ดังนี้




- สมัยไหน.. เสี้ยววินาทีใด วินาทีใด เวลาใด วันใด เดือนใด ปีใด ที่เธอมีใจตั้งมั่นอยู่ในความเป็นกุศลธรรมทั้งปวงอันทำให้เธอฉลาดในการปล่อยวาง มีความวางใจไว้กลางๆได้  ไม่ยึดมั่นถือมั่นใน รัก โลภ โกรธ หลง ไม่อคติลำเอียงเพราะรัก เพราะเกลียดชัง เพราะกลัว เพราะไม่รู้ตามจริง ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งไรๆทั้งสิ้นด้วยเห็นว่า..มันหาประโยชน์สุขไรๆไม่ได้นอกจากทุกข์ ติดข้องใจไปก็รังแต่เร่าร้อน ร้อนรุ่ม รุมเร้า เดือดเนื้อร้อนรนกายใจ อัดอั้น อึดอัด คับแค้นกายใจ ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เป็นทุกข์ไปเปล่าๆ
- สมัยนั้น.. ไม่ว่าเธอจะไปเจรจาสิ่งเหล่าใด ย่อมประกอบไปด้วยประโยชน์ ย่อมสำเร็จผลลงด้วยดีทั้งตนเองและผู้อื่น

นั่นเพราะอะไร เราอาศัยอะไรพูด เพราะเมื่อเธอดำรงมั่นอยู่ด้วยกุศลธรรมทั้งปวง มีความฉลาดในการปล่อยวางอยู่ดังนี้แล้ว เธอจักคลายความยึดมั่นถือมั่น มีสติเป็นเบื้องหน้าตั้งอยู่ด้วยสัมมาวายะ มีสังวรปธานเป็นกำลังปหานเสียซึ่งสมมติกิเลสอกุศลธรรมทั้งปวงที่จิตรู้ ทำให้เห็นว่า..ไม่มีสิ่งไรๆเลยหนอที่เป็นเรา เป็นของเรา จะหันไปทางไหนกระทบสัมผัสรับรู้สิ่งไรๆก็ไม่มีสิ่งใดที่จะหมายเอาได้ว่าเป็นเรา เป็นของเราได้ ทุกสิ่งล้วนไม่มีในเรา เราไม่มีในนั้น เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่เรา เราไม่เป็นนี่ นี่ไม่ใช่เรา  เมื่อไม่มีเราความสำคัญตน สำคัญมั่นหมายของใจไว้ต่อสิ่งไรๆก็ไม่มี ..สักแต่เห็นแค่เพียงว่าไม่มีสิ่งปรนเปรอหรือติดข้องขัดเคืองใจเหล่าใดจะจำเป็นสำคัญต่อเรา เราไม่ได้สำคัญมากมายอะไรกับใคร ตัวตนบุคคลใด สิ่งใดอย่างนั้นอย่างนี้เหมือนที่คิดที่เคยเป็นมา ไม่มีสิ่งไรๆที่ควรหรือไม่ควรแก่เรา ไม่มีสิ่งไรๆที่ควรเกิดมีขึ้นหรือไม่ควรเกิดมีขึ้นแก่เรา ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น ดำรงอยู่ เป็นไปตามเหตุปัจจัย เฉพาะหน้าที่ตามความจำเป็นที่ต้องมี ไม่มีอะไรเกินนี้..ดังนี้


-------------------------------------------------------------------------------------------------------

- สมัยไหน.. เสี้ยววินาทีใด วินาทีใด เวลาใด วันใด เดือนใด ปีใด ที่เธอมีใจตั้งมั่นอยู่ในความเป็นอกุศลธรรมทั้งปวง มีความยึดมั่นถือมั่นไม่รู้จักปล่อยวาง หาความวางใจไว้กลางๆไม่ได้ ยินดียินร้ายในทุกเรื่องจนติดตรึงอยู่ในอารมณ์ที่รัก ที่โลภ ที่โกรธ ที่หลง มีอคติลำเอียงเพราะรัก เพราะเกลียดชัง เพราะกลัว เพราะไม่รู้ตามจริง มีความติดใจข้องแวะ ขุ่นข้องขัดเคืองใจในสิ่งไรๆไปทั่ว ติดในสมมติกิเลสอารมณ์ที่เร่าร้อน ร้อนรุ่ม รุมเร้า  เดือดเนื้อร้อนรนกายใจ อัดอั้น อึดอัด คับแค้นกายใจ ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
- สมัยนั้น.. ไม่ว่าเธอจะไปเจรจาสิ่งเหล่าใด ย่อมไม่ประกอบไปด้วยประโยชน์ ยังให้เกิดแต่ความไม่สมปารถนา ความประสบในสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่พอใจ ความพรัดพราก ตะเกียกตะกายแสวงหาในอารมณ์ที่ชอบที่พอใจผลักไสในอารมณ์ที่เกลียดที่ชัง ย่อมยังความฉิบหาย สูญเสีย ให้เกิดมีขึ้นต่อทั้งตนเองและผู้อื่น

นั่นเพราะอะไร เราอาศัยอะไรพูด เพราะเมื่อเธอดำรงมั่นอยู่ด้วยอกุศลธรรมทั้งปวง มีความปิดกั้นสติ ลุ่มหลงให้เป็นผู้หลงลืม ติดอยู่ในสิ่งสมมติไม่รู้เห็นตามจริงอยู่ดังนี้แล้ว เธอจักคลายความปล่อยวางใจอันประกอบไปด้วยประโยชน์เสียได้ มีความลุ่มหลงเป็นเบื้องหน้าตั้งอยู่ด้วยความหลงตน ยึดเาอสมมติเป้นตัวตนว่ามีอยู่จริง ว่าเที่ยงแท้ยั่งยืน ทำให้เห็นว่า..ทุกสิ่งทุกอย่างนี้เป็นเรา เป็นของเรา จะหันไปทางไหนกระทบสัมผัสรับรู้สิ่งไรๆก็เห็นว่าเป็นเรา เป็นของเรา สิ่งนี้มีในเรา เรารมีในสิ่งนี้ เราเป็นนั่น เป็นนี่ หลงความสำคัญตน ริษยา อยากเอาชนะผู้อื่น ตั้งความสำคัญมั่นหมายของใจไว้ต่อสิ่งไรๆเป็นตัวเป็นตนไปหมด..ยึดในสิ่งปรนเปรอหรือติดข้องขัดเคืองใจว่าสำคัญจำเป็นต่อตน ตนมีความสำคัญมากมายต่อคนนั้น คนนี้ สิ่งนั้น สิ่งนี้ สิ่งใดไปหมด ยึดมั่นแสวงหาปารถนาในสิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์..ดังนี้





บันทึกกรมมฐาน วันที่ 1 สิงหาคม 2558

คืนนี้นอนกรรมฐาน จากคำที่หลวงปู่เทศนาสอนมา เราได้น้อมมาใส่ใจ เจริญจิตขึ้นทำใจปฏิบัติ วันนี้ก็เลยนอนกรรมฐาน ด้วยความไม่ยึดเอาสิ่งใดๆทั้งสิ้น ธรรมชาติของจิตมันคือคิด มันก็คิดว่าสัมยนั้น สมัยโน้น สมัยนี้ เราปฏิบัติอย่างไรมาหนอถึงเข้าสู่สมาธิ ถึงสัมมาสมาธิได้ จิตมันไม่มีอะไรจะไปยึดมั่นสิ่งไรๆให้ลำบาก มันก็นึดเอาตอนสมัยที่เกิดความทุกข์รุมเร้าอย่างมหาศาล จนจะฆ่าตัวตาย แล้วนร้องไห้ก้มกราบพระประธานที่หิ้งพระในบ้านร้องขอ บนบาน ศาลกล่าวกับท่านว่า ขอให้ผมเจอทางพ้นทุกข์เห็นอริยะสัจ ถึงใจในพระธรรมอันพ้นทุกข์ทั้งปวงของพระพุทธเจ้าแล้วดับทุกข์ได้ตอนนี้ได้ด้วยเทอญ ผมจะเผยแพร่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าให้คงอยู่จนตราบสิ้นกาลนาน พอจิตมันนึกคิดถึงตรงนี้ มันก็หวนระลึกถึงตอนที่ทำจิตตอนนั้นว่าทำยังไง ระลึกถึงความว่าง "หายใจเข้าระลึกถึงความว่างจากความคิดกิเลสสมมติทั้งปวง หายใจออกระลึกถึงความว่างความสิ้นไปความไม่มีในกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง" บ้างบริกรรม หายใจเข้า "ว่าง" หายใจออก "หนอ" ขณะนั้นตอนนั้นนั่งสมาธิอยู่อย่างนี้แล้วร้องไห้ไปไม่หยุด จนอยู่ๆจิตสงบ ว่างไม่มีความคิด ไม่มีสิ่งใด ความเสียใจไม่มีอีก นิ่งว่าง เห็นธรรมโดยสัญญาบ้าง สังขารบ้าง ตรึกขึ้นเป็นนิมิตประดุจเห็นพระพุทธเจ้า พระตถาคตองค์บรมศาสดา มาประทับนั่งแสดงธรรมเป็นเบื้องหน้าอยู่ต่อหน้าเรานี้ เห้นในพระอริยะสัจ เมื่อรู้จนถึงใจ จิตก็จับเส้น มี 4 สี ขาว แดง เหลือง เขียว เรายึดจับเอาสีเขียว ก็ได้ยินเสียงอันสงบ อบอุ่น กังวาล มีความกรุณาเป็นอันบาง กล่าวกับเราว่า เธอรู้แล้วหนอๆๆๆ... เมื่อจิตเรามันหวนระลึกตรึกนึกมาถึงตรงนี้ จิตมันก็จับเอาอารมณ์ว่างนั้นแทน เพราะความไม่ยึดสิ่งปรึุงแต่งไรๆ อยู่ๆจิตมันว่าง นิ่งแช่อยู่ในความว่างนั้นนานพอควร ไม่มีความคิดไม่มีสิ่งใด มันสงบอิ่มใจอยู่อย่างนั้น แต่จู่ๆก็เกิดอาการที่ว่ามีสภาวะที่อัดปะทุขึ้น ณ จุดๆหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร อัดปะทุอยู่สักพัก มันก็วูบเข้าไปรู้ว่ามันอัดปะทุอยู่ที่อก สักพักมันก็วูบ ก็รู้ว่าที่มันอัดปะทุนั้นคือลมที่เป็นกายสังขารหรือลมหายใจมันพยายามจะเดินผ่านเข้า-ออก แล้วก็วูบนึกจึงรู้ว่าตนเองกำลังจะตายเพราะไม่หายใจ แต่ในขณะแรกๆที่รู้ว่าไม่หายใจ แต่จิตเรามันก็ปล่อยทิ้งอย่างนั้นแหละ จนอยู่ๆมันวูบขนลุกซุ่มันจึงรีบหายใจอย่างเร็วแบบคนเป็นหอบหืดเลย พอหลุดจากสมาธิ ก็ได้แต่คิดใคร่ครวญว่า สัญญาสูตร มนสิการสูตร ว่าด้วยอนุสสติเป็นจริงอย่างนี้หนอ ความทำใจไว้ สละคืน ความดับกิเลส ก็เป็นสมาธิได้โดยไม่ยึด ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ยึดเอานิมิตเหล่าใดสักหวนระลึกถึงความจดจำสำคัญมั่นหมายถึงความว่างที่ ดับ ที่สละคืน หรือ สักแต่ทำไว้ในใจถึงความดับ ความว่าง ความสละคืน ก็เป็นสมาธิได้ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ดังนี้ โดยความว่างอันนั้นเราเห็นทางเข้าสมาธิอีกทางเพิ่มขึ้นแล้ว ขณะนี้ วันนี้ ยังไม่สงเคราะห์ลงธรรม ปัญญาจึงยังไม่เกิด แล้วก็นอนหลับไปปกติ






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 03, 2015, 10:29:52 AM

ขันธ์ 5 ต่างหากจากจิต
พระราชญาณวิสุทธิโสภณ (บัว ญาณสัมปันโน)
วัดป่าบ้านตาด (วัดเกษรศีลคุณ) ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2521


สิ่งภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่างๆ มีอยู่ทั่วไปตลอดเวลา เมื่อมีสิ่งรับทราบกัน สิ่งเหล่านั้นจะสัมผัสสัมพันธ์ไม่ขาดวรรคขาดตอนกับสิ่งภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ความมีสติ มีปัญญาเครื่องพิสูจน์กลั่นกรองกับสิ่งที่มาสัมผัสย่อมได้อุบายขึ้นมาเรื่อยๆ ท่านเรียกว่าฟังเทศน์ เมื่อสิ่งเหล่านั้นมาสัมผัสสัมพันธ์กับตัวเราย่อมเป็นการปลุกความรู้สึกขึ้นมา เมื่อจิตใจมีความตั้งมั่นต่อเหตุผลหรืออรรถธรรมอยู่แล้ว ก็ทราบได้ทั้งสิ่งดีและชั่วที่มาสัมผัส การพิจารณาตามนั้นเรียกว่าเรียนธรรม ปฏิบัติธรรม การเกิดข้อข้องใจขึ้นมาก็เกิดจากสิ่งเหล่านั้น

การพิจารณาแก้ไขข้อข้องใจจนปลิดเปลื้องตนไปได้ ก็อาศัยปัญญาพิจารณาให้ถูกทางตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้ จนผ่านพ้นไปได้เป็นพักๆ เป็นตอนๆ เรื่อยไปเรียกว่า เรียนความจริง ไม่ใช่เรียนให้เป็นความจำ เรียนเป็นความจำก็อย่างเราเรียนเราท่องตำรับตำราต่างๆ เรียกว่า เรียนเพื่อความจำ นี้เรียนเพื่อความจริง คือ เพื่อความรู้จริงเห็นจริงตามหลักธรรมชาติที่เป็นจริงซึ่งมีอยู่ทั้งภายนอกภายใน

เรียนเพื่อความจริงย่อมจะไม่มองข้ามสิ่งดีและชั่วที่มีอยู่กับตัวและสัมผัสสัมพันธ์กันอยู่เสมอ จะเห็นได้ตอนปัญญาเริ่มไหวตัวนั้นแหละ สมาธิมีความสบายมีความสงบ จิตไม่ค่อยวุ่นวาย เป็นความสะดวกสบายภายในใจ คือจิตไม่รบกวนตัวเองด้วยอารมณ์ต่างๆ ที่ได้รับจาก รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสที่เคยเกี่ยวข้อง แล้วนำอารมณ์อดีตเข้ามาครุ่นคิด มายุแหย่ก่อกวนจิตใจให้ว่าวุ่นขุ่นมัวขึ้นมา


เราจะไปตำหนิว่ารูปไม่ดี เสียงไม่ดี กลิ่นไม่ดี ก็ไม่ได้ ถ้าหากเราพิจารณาให้เป็นธรรมไม่ลำเอียงไปทางฝ่ายกิเลสก็ทราบได้ชัดว่า จิตใจเราไม่ดีเอง เราโง่เอง ใจคะนองไปรักสิ่งนั้น ไปชังสิ่งนี้ ไปเกลียดสิ่งนั้น ไปโกรธสิ่งนี้ ความรักความชังความเกลียดความโกรธ เป็นเรื่องของกิเลส ไม่เรื่องของธรรม เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงต้องใคร่ครวญด้วยดีเพื่อทราบความคิดปรุงต่างๆ กระเพื่อมขึ้นจากตัวเอง โดยอาศัยสิ่งที่มาสัมผัสนั้นเป็นสาเหตุให้กระเพื่อมขึ้นมา เรียนธรรมะจำต้องเรียนอยู่ที่ตรงนี้

จิตเมื่อมีความสงบย่อมมีความสบาย เพราะไม่มีอะไรกวนใจเหมือนจิตที่หาหลักเกณฑ์ไม่ได้ จิตไม่เคยสงบเลย คือจิตไม่มีหลัก ย่อมจะถูกสิ่งก่อกวนราวีอยู่ไม่หยุด และย่อมก่อกวนตนเองอยู่เสมอ เมื่อถูกก่อกวนให้ขุ่นมัวอยู่เสมอ ใจก็หาความสงบสุขไม่ได้ ปลงที่ไหนก็ปลงไม่ลง

ถ้าจิตปลงตัวเองไม่ได้แล้ว ไม่มีที่ไหนเป็นที่ควรปลง จะปลงที่ต้นไม้ ภูเขา ดินฟ้าอากาศ ในน้ำ บนบกก็ปลงไม่ลง ถ้าไม่ปลงที่ต้นเหตุซึ่งมันเกิดขึ้น คือ ใจอันเป็นตัวมหาเหตุ


มันเกิดที่ตรงไหนให้พิจารณาลงที่ตรงนั้น มันว้าวุ่นขุ่นมัวที่ตรงไหนให้สนใจดูและพิจารณาที่ตรงนั้น คำว่าตรงนั้นก็คือใจเรานั่นเอง ต้องหาสารส้มมาแกว่งลงไป คำว่าสารส้มก็หมายถึง การบริกรรมภาวนา ในขั้นริเริ่มเป็นอย่างนั้น เช่นกำหนดอานาปานสติหรือกำหนดพุทโธเป็นต้น ตามแต่อัธยาศัยชอบ นำธรรมบทนั้นมาเป็นคำบริกรรม จิตใจขณะที่บริกรรมอยู่ด้วยความไม่พลั้งเผลอ ย่อมเป็นเหมือนกับกลั่นกรองอารมณ์ให้เข้าสู่จุดเดียวให้แน่วแน่ลงไป เช่นเดียวกับสารส้มที่แกว่งลงไปในน้ำ ตะกอนก็ต้องนอนก้นลงไป น้ำก็ใสสะอาด แน่ะ เบื้องต้นต้องทำอย่างนี้ก่อน

พอใจมีความสงบอารมณ์ก็ไม่กวน ถ้าเป็นตะกอนก็ลงนอนก้นโอ่ง ขั้นเริ่มแรกต้องทำอย่างนั้น เพียงเท่านี้ก็สบาย แต่ยังไม่ค่อยเกิดความฉลาดหรือเกิดความแยบคายในแง่ต่างๆ เพราะจิตเป็นเพียงความสงบ เมื่อได้ความสงบก็เท่ากับเราได้ความสบาย เพราะความสงบเป็นบาทฐานให้เกิดความสุขความสบาย เรียกว่ามีที่พักของจิต มีหลักมีเกณฑ์ พอปลงจิตปลงใจลงได้ นั่งอยู่ก็สบาย นอนอยู่ก็สบาย เพียงขั้นสงบเท่านี้ก็สบาย เห็นผลประจักษ์ใจ

เวลาเจอความสบายจะไม่เจอที่ไหน จะเจอที่จิต เพราะจิตเป็นตัวยุ่งเป็นตัวไม่สบาย เมื่อได้อบรมตนในทางที่ถูกที่ควรตามหลักธรรมแล้ว ก็ปรากฏเป็นจิตสงบเป็นจิตสบายขึ้นมาให้เห็นอย่างเด่นชัดภายในใจ ในอิริยาบถต่างๆ เป็นไปด้วยความสะดวกสบายอยู่ที่ไหนก็พออยู่คนเรา เมื่อจิตมีความสบายเสียอย่างเดียว เรื่องอดเรื่องอิ่ม ขาดตกบกพร่อง มั่งมีศรีสุขอะไรนั้น มันเป็นสิ่งภายนอก ไม่ใช่ของจำเป็นยิ่งกว่าจิตได้หลักยึดได้ธรรมเป็นที่อาศัย ไม่ระเหเร่ร่อนเหมือนแต่ก่อน

สิ่งของปัจจัยเครื่องอาศัยภายนอกก็ไม่เป็นภัย เพราะตัวเองฉลาด มีความรอบคอบต่อสิ่งต่างๆ ซึ่งมาเกี่ยวข้องกับตน ท่านให้ชื่อว่าสมาธิ ความสงบ เป็นผลเกิดขึ้นจากการอบรมด้วยอารมณ์ของสมถะ คือ บทบริกรรมภาวนา

อารมณ์แห่งธรรม คือ ความคิดความปรุงในคำบริกรรมนี้ แม้จะเป็นความปรุงเหมือนกันกับความคิดปรุงต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะกิเลสผลักดันให้คิดให้ปรุง แต่ความคิดปรุงประเภทนี้เป็นความคิดปรุงในแง่ธรรมเพื่อความสงบ ผิดกับความคิดปรุงธรรมดาของกิเลสพาให้ปรุงอยู่มาก กิเลสพาให้คิดปรุงนั้น เหมือนเราเอามือหรือเอาไม้ลงกวนนั้นที่มีตะกอนอยู่แล้ว แท่นทีมันจะใสแต่กลับขุ่นมากขึ้นฉะนั้น แต่ถ้าเอาสารส้มลงกวนนั้นผิดกัน น้ำกลับใสขึ้นมา

นี่การนำอารมณ์เข้ามากวนใจ แทนที่ใจจะสงบ แต่กลับไม่สงบและกลับแสดงผลขึ้นมาให้เป็นความทุกข์ร้อนเสียอีก ถ้าเอาพุทโธเป็นต้น เข้าไปบริกรรมหรือแกว่งลงในจิต โดยบริกรรมพุทโธ ๆ แม้จะเป็นความคิดปรุงเหมือนกันก็ตาม แต่คำว่าบริกรรมนี้ซึ่งเปรียบเหมือนสารส้ม จึงทำให้ใจสงบเย็นลงไป

ท่านผู้สั่งสอนท่านมีเหตุมีผล เพราะท่านได้ดำเนินมาก่อนพวกเรา และรู้มาก่อนแล้วจึงได้นำมาสอนพวกเรา จึงไม่ใช่เป็นทางที่ผิด ความคิดปรุงเช่นนี้เรียกว่าเป็นฝ่ายมรรค เป็นฝ่ายระงับดับทุกข์ทั้งหลาย ความคิดปรุงตามธรรมดาของสมัญชนเราซึ่งไม่มีข้ออรรถข้อธรรมเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น เป็นความคิดปรุงที่เป็นสมุทัย อันเป็นแดนผลิตทุกข์ขึ้นมาเรื่อยๆ จนเป็นผลเดือดร้อน

ในขั้นแรกก็ให้ได้ทรงสมาธิสมบัติภายในใจ อย่าให้ใจว่างเปล่าจากสมบัติอันมีค่าตามลำดับ ต่อไปพิจารณาทางด้านปัญญา ฝึกหัดคิดอ่านไตร่ตรอง อะไรเข้ามาสัมผัสก็เทียบเคียงหาเหตุผล หาต้นหาปลายของมัน ไม่ปล่อยให้อารมณ์นั้นๆ มาคว้าเอาของดีไปกินเปล่า ดังที่เคยเป็นอยู่เสมอ อารมณ์นั้นมีอยู่เกิดอยู่เสมอ เดี๋ยวก็มีเรื่องหนึ่งขึ้นมาสะดุดในให้ได้คิดเป็นเงื่อนต่อไปอีก และเข้าใจในเงื่อนนั้นเข้าใจในเงื่อนนี้ แล้วปล่อยไปๆ นี่เป็นวาระที่จะตัดกิเลส ส่วนสมาธิเป็นเพียงควบคุมกิเลสเข้ามาสู่จุดรวมคือใจ ปัญญาเป็นผู้คลี่คลายขุดค้นหากิเลส และตัดฟันหรือทำลายที่ละชิ้นละอันโดยลำดับลำดา

นักปฏิบัติเราไม่สามารถปฏิบัติเพื่อทรงมรรคผลนิพพานได้แล้ว ไม่มีใครจะมีโอกาสสามารถยิ่งกว่าพระที่เป็นเพศอิสระ อยากพูดเต็มปากอย่างนี้ เพราะพวกเราเป็นนักปฏิบัติด้วย เป็นเพศนักบวชด้วย ซึ่งเป็นเพศที่ปลดเปลื้องภาระต่างๆ ออกมาแล้ว โลกเขารับรองชีวิตจิตใจความเป็นอยู่ทุกด้านทุกทาง ปัจจัยสี่ก็เหลือเฟือครอบโลกธาตุแล้ว ความเป็นอยู่ของเราสมบูรณ์แล้ว ถ้าเป็นน้ำก็ท่วมลิ้นท่วมปากท่วมท้องแทบตลอดเวลา เช่น น้ำอ้อย น้ำตาล น้ำส้ม น้ำหวาน น้ำโกโก้ กาแฟ สารพัดน้ำ

คำว่าปัจจัยสี่ที่ได้มาจากประชาชนทำบุญให้ทาน ด้วยศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสในพระศาสนาเรื่อยมามิได้ขาดนั้น คือจีวร เครื่องนุ่งห่มใช้สอยต่างๆ เช่นผ้าสังฆาฏิ สบง จีวร ผ้าอาบน้ำ ตลอดผ้าเพื่อใช้สอยต่างๆ ที่จำเป็นบิณฑบาต คือ อาหารการบริโภคทุกประเภท เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปในการประพฤติพรหมจรรย์เสนาสนะ ที่อยู่ที่อาศัย เช่น กุฏิ กระต๊อบ ร้านเล็กๆ พอได้อาศัยบังแดดกันฝน และนั่งสมาธิภาวนาหรือพักผ่อนนอนหลับคิลานเภสัช ยาแก้โรคชนิดต่างๆ ในเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย

สิ่งเหล่านี้มีสมบูรณ์ไม่ขาดตกบกพร่อง นอกจากผู้รับทานจากศรัทธาทั้งหลายจะบกพร่องในหน้าที่ของตนเสียเอง จนกลายเป็นนอนใจ ไม่คิดอ่านขวนขวายเท่านั้น

เพศนักบวชผู้ปฏิบัตินี้แลเป็นเพศที่เหมาะสม หรือใกล้ชิดติดกับอรรถกับธรรมกับมรรคผลนิพพานอย่างยิ่ง ถ้าทำให้เป็นไปตามหลักธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า เป็นไปตามเจตนาดั้งเดิมที่บวชมาเพื่อมรรคผลนิพพาน งานของพระทุกชิ้นทุกอันจะเป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพานทั้งนั้น เพราะงานโดยตรงของพระ เป็นงานเพื่อถอดถอนกิเลส เช่น เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ตั้งสติมีความรู้สึกตัว ระวังไม่ให้เผลอ ปัญญามีความคิดอ่านไตร่ตรองอยู่เสมอในสิ่งที่ควรละควรถอน สิ่งที่ควรบำเพ็ญ สิ่งที่ควรจะรู้แจ้งเห็นจริง พยายามทำ พยายามพิจารณาด้วยปัญญาอยู่ทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน เว้นแต่หลับเท่านั้น เป็นผู้ทำงานเพื่อรื้อถอนตนออกจากทุกข์ ด้วยอำนาจของความเพียรมีสติปัญญาเป็นเพื่อนสองอยู่โดยสม่ำเสมอ

กิเลสจะมาจากที่ไหน จะยกกองพันกองพลมาจากที่ไหนก็ยกมาเถอะ มันพังทลายทั้งนั้นแหละ แต่กิเลสมีอยู่ที่ใจ เหตุที่กิเลสมีมากจนทำให้เกิดทุกข์เป็นไฟทั้งกองภายในใจก็เพราะความไม่รู้ทันมัน ความไม่เข้าใจวิธีการแก้ การถอดถอนมัน และความเกียจคร้านอ่อนแอ ความสะเพร่ามักง่ายแบบสุกเอาเผากิน อยู่ไปวันๆ ซึ่งมีแต่เรื่องสั่งสมขึ้นมาโดยถ่ายเดียว กิเลสจะหาทางออกทางสิ้นไปช่องไหนได้ เมื่อมีแต่เปิดประตู คือทวารทั้งหกรับมันเข้ามาอยู่ตลอดเวลาดังที่เป็นอยู่นี้ ไม่ยอมปิดและขับไสไล่มันออกไปบ้าง

หลักธรรมท่านสอนไว้ทุกแง่ทุกมุมไม่มีทางต้องติ ฉะนั้น เราควรทำหน้าที่ให้เต็มภูมิ อย่าให้เสียเวล่ำเวลาในความเป็นนักบวชเพื่อประพฤติปฏิบัติธรรม อยู่ที่ไหนให้ถือว่างานเป็นของสำคัญประจำใจ อย่าเห็นงานใดมีความสำคัญยิ่งกว่างานถอดถอนตนให้พ้นจากทุกข์ ผู้นี้แหละผู้ที่ใกล้ชิดต่อมรรคผลนิพพาน ใกล้ต่อความสำเร็จ สุดท้ายก็ผ่านไปได้อย่างหายห่วง

สิ่งที่ปิดบังลี้ลับไม่ให้รู้ให้เห็นก็ไม่ใช่สิ่งใดที่ไหน ได้เคยพูดอยู่เสมอ มีแต่กิเลสทั้งนั้นที่ปิดบังไว้ ไม่ใช่กาล ไม่ใช่สถานที่ ไม่ใช่เวล่ำเวลา ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งใดมาปิดกั้นจิตใจไม่ให้บรรลุมรรคผลนิพพาน มีกิเลสอย่างเดียวเท่านั้น จะมีกี่แขนงก็รวมชื่อว่ากิเลส เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะตัณหาอะไร มันเป็นเรื่องกิเลสแตกแขนงออกไป

เหมือนกับต้นไม้ที่แตกกิ่งแตกก้านแตกแขนงออกไป ออกจากไม้ต้นเดียวนั้นแหละ กิเลสก็ออกจากใจดวงเดียว รากฐานของกิเลสแท้ท่านเรียกว่า อวิชชา มันตั้งรากตั้งฐานอยู่ภายในใจนั่นแล และครอบงำจิตใจไว้ แล้วก็แตกแขนงออกไปเป็นกิ่งเป็นก้านสาขาดอกใบไม่มีประมาณ ดังธรรมท่านว่า กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดอะไรเหล่านี้ มันเป็นกิ่งก้านสาขาของกิเลสอวิชชานั่นแล

เพราะฉะนั้น การพิจารณาจึงต้องพิจารณาตามกระแสของจิตที่เกี่ยวพันกันกับกิเลส ซึ่งทำให้ลุ่มหลงในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส เครื่องสัมผัสต่างๆ พิจารณาคลี่คลายโดยทางปัญญาจะถอดถอนได้ กิเลสผูกมัดจิตใจ กิเลสทำให้มืด กิเลสทำให้โง่ ตัวกิเลสเองมันไม่ได้โง่ มันฉลาด แต่เวลามันมาครอบครองใจเรา เราก็เป็นคนโง่ ไม่ทันกลมายาของมัน เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยหลักธรรมมีสติปัญญาเป็นต้น ซึ่งเป็นเครื่องมือที่กิเลสกลัว นำมาขับไล่ปราบปราม

นับบวชต้องเป็นผู้มีความอดทน ตามหลักของนักบวชเป็นอย่างนั้น มีความขยันหมั่นเพียรก็คือนักบวช ชอบคิดอ่านไตร่ตรองก็คือนักบวช ความไม่ลืมเนื้อลืมตัวก็คือนักบวช ความเอาจริงเอาจังในสิ่งที่ชอบธรรมทั้งหลายก็คือนักบวช นักบวชต้องเอาจริงเอาจังทุกงาน ไม่ว่างานภายนอกภายใน มีสติคอยกำกับรักษาใจเป็นประจำ มีปัญญาคอยพิจารณาไตร่ตรองเลือกเฟ้น สอดส่องดูว่าอันใดผิดอันใดถูก ปัญญาแนบนำอยู่เสมอ

ทุกข์ก็ทน คำว่าทุกข์มันไม่ใช่ทุกข์เพราะความเพียรเท่านั้น มันทุกข์เพราะการฝืนกับกิเลสเป็นสำคัญ ความขี้เกียจก็คือเรื่องของกิเลส ความอ่อนแอคือเรื่องของกิเลส เราฝืนความอ่อนแอ เราฝืนความเกียจคร้านซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยความเอาจริงเอาจังจึงเป็นทุกข์ ความเป็นทุกข์ที่ปรากฏอยู่นี้ ไม่ใช่เป็นทุกข์เพราะอะไร เป็นทุกข์เพราะความต่อสู้กับกิเลส ถ้าเรายังเห็นว่าความต่อสู้กับกิเลสเป็นเรื่องความทุกข์แล้ว ก็ไม่มีทางต่อสู้กับกิเลสได้ และไม่มีวันชนะกิเลสไปได้เลยแม้ตัวเดียว

เราต้องหาอุบายวิธีแก้ไขไม่นอนใจ ตราบใดที่กิเลสยังมีอยู่ภายในใจ การทำความเพียรต้องทำอย่างเข้มแข็งอยู่ตราบนั้น ถอยไม่ได้ ถ้าไม่อยากให้กิเลสบดขยี้แหลกเหลวน่ะ การนั่งนานเกิดความเจ็บปวด นั่นมันเป็นธรรมดา เดินนานก็เหนื่อยเราเปลี่ยนได้พลิกได้ แต่สำคัญที่ความทุกข์เพราะการต่อสู้กับกิเลสนี้มันไม่มีเวล่ำเวลา ถ้าเราไม่ต่อสู้มัน มันยิ่งเอาเราหนัก การต่อสู้มันก็เพื่อชัยชนะ จึงไม่ถือว่าเป็นความลำบากลำบนเพราะเราต้องการอยู่เหนือกิเลส เราต้องการชนะกิเลส เรากลัวกิเลส เราจะเอาอะไรไปสู้กับมัน

เหมือนนักมวยเขาขึ้นชกกันบนเวที ถ้ากลัวกันอยู่แล้วก็ไม่ได้ต่อยกัน เพราะต่างคนก็ต่างหวังเอาชนะกันนั้นเอง หวังชนะทุกคน มันพลีชีพด้วยกันในขณะนั้น จะไปขี้เกียนอ่อนแอในขณะชกกันอยู่บนเวทีได้หรือ ขาดกำลังใจนิดหนึ่งก็ต้องแพ้ เผลอนิดนิเดียวก็ต้องแพ้ถูกหามลงเปลว่าไง ดีแล้วหรืออย่างนั้นน่ะ

เราเป็นนักรบก็ต้องให้เป็นอย่างนั้น ให้เป็นเหมือนนักมวยขึ้นต่อยกันบนเวที จิตใจอยู่กับความชนะทั้งนั้น กำลังใจเป็นรากฐานแห่งความชนะก็มีประจำใจ การตั้งความชนะกิเลสไว้เป็นรากฐานสำคัญ แล้วก้าวเดินเข้าไป ทุกข์ก็ยอมรับว่าทุกข์เพราะต่อสู้กัน เราเข้าสงครามระหว่างกิเลสกับจิต ในธรรมท่านกล่าวไว้ โย สหสฺสํ สหสฺเสน สงฺคาเม มานุเส ชิเน, เอกญฺจ เชยฺยมตฺตานํ, ส เว สงฺคามชุตฺตโม. การชนะสงครามที่คูณด้วยล้าน ก็หาได้เป็นความชนะอันประเสริฐไม่ เพราะการชนะเหล่านั้นเป็นเครื่องก่อเวร ผู้แพ้ก็เป็นทุกข์ ผู้ชนะก็ต้องได้ระมัดระวังตัว และเป็นต้นเหตุแห่งความก่อเวรผูกพันกันไปเรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด

แต่ผู้ชนะกิเลสภายในใจของตนเพียงคนเดียวนั่นแล เป็นผู้ประเสริฐสุดยิ่งกว่าการชนะในสงครามที่คูณด้วยล้านนั้นเป็นไหนๆ ความชนะเหล่านั้นสู้ความชนะกิเลสของตนไม่ได้ นี่เป็นพุทธภาษิต

พวกเราอยู่ๆ ก็จะให้เกิดความชนะขึ้นมาโดยไม่มีการต่อสู้ อย่าหาญคิด กระรอกกระแตที่มันเคยกัดกัน ต่อสู้กันเพื่อเอาชนะกันจะหัวเราะเอา แหละว่า โอ้โฮ พระวัดป่าบ้าตาดนี่โง่ชะมัดเชียว พากันวาดมโนภาพนั่งเอาชนะ นอนเอาชนะ สัปหงกงกงันเอาชนะโดยไม่คิดหาทางต่อสู้บ้างเลย พระเหล่าที่นอนชนะ กินชนะนี่มาจากที่ไหนกันบ้างวะ ดูว่ามาจากหลายจังหวัด หลายภาค หลายประเทศด้วยนี่ เวลาพากันมาอยู่วัดป่าบ้านตาดแล้ว สอบไล่ได้ระดับปริญญาเอกมีนัยน์ตาข้างเดียวกันหมด พวกเรามองไปไหนเห็นแต่พระปริญญาเอกแบบนี้เต็มวัด ถามองค์ไหนก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันอย่างคล่องปากว่า พวกข้า(พระ)มันพวกนอนกิน กิเลสแตกกระเจิงโดยไม่ต้องทำความเพียรหรือต่อสู้ให้ลำบากเหมือนพวกแกหรอก

นี่ถ้าไม่อยากให้กระรอกกระแตแตกหนีจากวัดกันหมดละก้อ ต้องเป็นนักต่อสู้ต้องมีสติปัญญาไม่ฉลาดไม่ได้ มีสักแต่ว่าตนทำความเพียร เดินจงกรมไปเรื่อยๆ เฉยๆ โดยไม่มีสติสตัง ก็ไม่จัดว่าเป็นความเพียรเพราะโลกเขาเดินได้ทั้งนั้น แม้แต่เด็กก็ยังเดินได้ เดินไม่มีสติรักษาตน ไม่มีความรู้สึกตัวในความเพียรของตัว ไม่จัดว่าเป็นความเพียร สติขาดระยะใดก็ชื่อว่าความเพียรได้ขาดระยะนั้น ถ้าลงว่าสติได้ขาดแล้วความเพียรก็ขาดทันที สติเป็นธรรมจำเป็นทุกกาลสถานที่ ปล่อยไม่ได้

สติเป็นของสำคัญ เป็นพื้น เราพูดอย่างเต็มปาก เพราะเคยเห็นคุณค่าของสติ ตอนเริ่มฝึกหัดมาอย่างนั้นด้วย ล้มลุกคลุกคลานเราก็เคยเป็นมาเสียจนพอตัว ไม่กลัวใครจะมาแข่ง จนบางครั้งเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจตนเองว่า ตนมีวาสนาน้อย เกิดมารกศาสนา เพื่อนฝูงทั้งหลายท่านมีความสงบเย็นใจ มีอรรถมีธรรมได้เล่าถวายครูบาอาจารย์ฟัง ให้ท่านได้แก้ไขเพิ่มเติมให้เป็นขั้นเป็นตอนไป แต่เราไม่เห็นมีอะไร มีแต่ความล้มลุกคลุกคลาน มองดูทีไรมีแต่จิตถูกกิเลสมันเผาอยู่ตลอด เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ บางทีแทบจะร้องไห้ก็มี แต่นี่เป็นเพียงขณะใดขณะหนึ่ง ไม่ตลอดไป

แต่อีกขณะหนึ่งจิตมันก็พลิกกันปั๊บว่า ครูบาอาจารย์แต่ก่อนท่านก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน ท่านก็เป็นคนๆ หนึ่ง ท่านสอนเราเพื่อให้เป็นคนอย่างท่าน เพื่อให้รู้ให้เห็นอย่างท่าน ทำไมเวลานี้เราก็มุ่งหน้าและตั้งหน้าตั้งตามาประพฤติปฏิบัติธรรมกับท่านด้วยความเต็มใจ ทำไมมาตำหนิติเตียนตนไม่เข้าเรื่องเข้าราวอย่างนี้ เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมาบ้าง เรามาเพื่อความรู้เห็นอรรถธรรม ตลอดถึงมรรคผลนิพพาน ทำไมทำไม่ได้ รู้ไม่ได้ เมื่อเรามีความเพียรอยู่ เอาซิเป็นอะไรเป็นกัน คิดยุ่งให้เสียเวลาทำไม จิตก็เกิดความห้าวหาญขึ้นมาและตะเกียกตะกายต่อไป

จิตเมื่อได้การอบรม การฝึก การปลุกปลอบด้วยอุบายต่างๆ อันเป็นการช่วยจิตอยู่ตลอดเวลา จิตย่อมมีความเพียร มีกำลังใจและมีความสะดวกราบรื่น สงบเย็นลงได้ นี่แหละหลักการประพฤติปฏิบัติต่อจิตใจที่มีกิเลสครองอำนาจ ย่อมลำบากทรมานพอๆ กันนักปฏิบัติเรา

เราพร้อมทุกอย่างแล้วเวลานี้ ว่างที่สุดไม่มีใครว่างเกินพระสำหรับเมืองไทยเรา ผู้นับถือพุทธศาสนา ถือพระเป็นสิริมงคลต่อจิตใจ เขาเคารพเลื่อมใส การทำบุญให้ทานเท่าไหร่ไม่อัดไม่อั้น ไม่เสียดาย อยากได้บุญกับพระผู้ตั้งใจฆ่ากิเลสตัวมหาโจรตัวมหาพินาศ ทำให้โลกให้พินาศก็คือกิเลสที่เข้าสิงจิตหรือหนุนจิตให้เป็นไป เมื่อท่านผู้ใดเป็นผู้ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติ เพื่อกำจัดสิ่งเหล่านี้ให้หมดไปจากใจแล้วธรรมสมบัติเริ่มปรากฏขึ้นมา ตั้งแต่สมาธิสมบัติ ปัญญาสมบัติ จนกระทั่งวิมุตติสมบัติ ท่านผู้นั้นย่อมเป็นที่พึงใจทั้งตนทั้งผู้สนับสนุน

เพราะฉะนั้น เวลานี้เราไม่มีอะไรบกพร่องอาหารการบริโภคก็ดูเอา อยากได้น้อยเท่าไรก็ยิ่งมีมามาก วันหนึ่งๆ ถ่ายบาตรไม่ทราบกี่ครั้งกี่หน นี่คือน้ำใจของประชาชนที่มีความยินดีต่อผู้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติกำจัดกิเลส เขาอยากได้บุญด้วย เขาทำอย่างเราไม่ได้เขาก็อยากได้บุญ ให้เท่าไรไม่เสียดาย ให้มากให้น้อยเท่าไรเป็นที่พอใจ มีความยิ้มแย้มแจ่มใส ตื้นตันใจ พอใจ อิ่มเอิบ ข้าวยังไม่ตกถึงท้องก็ไม่หิว เพราะอิ่มทานการบริจาคด้วยความพอใจ

เราผู้ตั้งหน้ารบก็เอาให้จริงให้จัง เป็นเจตนาคนละอย่าง เขามีเจตนาอย่างนั้นกับเรา เราก็มีเจตนาอย่างนี้กับตน เพื่อถอดถอนกิเลสอาสวะให้หมดไปๆ อย่าคุ้นกับความทุกข์ ไม่ใช่เป็นของน่าคุ้น ไม่ใช่เป็นของน่าชิน เหมือนดอกไฟกระเด็นมาถูกเราเราชินไหม กระเด็นมาถูกน้อยก็เจ็บร้อนน้อยทุกข์น้อย ถูกมากก็ร้อนมาก ทุกข์ที่เกิดขึ้นมาจากไฟคือกิเลสที่ทำให้เราร้อนก็เหมือนกัน ไม่ว่าประเภทใดเกิดขึ้นมา มันเป็นธรรมชาติที่ร้อนที่ทำให้เกิดความทุกข์ทั้งนั้น แล้วเราจะมีความเคยชินกับมันได้อย่างไร สิ่งที่เคยชินไม่ได้ก็คือทุกข์ แสดงขึ้นเมื่อไรก็ต้องเดือดร้อนเมื่อนั้น เราจึงไม่ควรนอนใจกับมัน ให้เร่งความพากเพียรเข้าไปอย่าท้อถอย การเร่งความเพียรทุกประโยคก็คือการก้าวหนีทุกข์ การวิ่งหนีทุกข์ จะเป็นสิ่งที่ขี้เกียจได้อย่างไร

สติ เป็นของสำคัญ ปัญญา เป็นของสำคัญ นี้เป็นหลักสำคัญมากในการประกอบความเพียร อย่าปล่อย นี่สอนเสมอ สอนหมู่เพื่อนเรื่องสติเรื่องปัญญา เพราะไม่เห็นอันใดที่เด่นมาในการแก้กิเลสอาสวะทุกประเภท จนกระทั่งหมดความสงสัยภายในใจที่นอกเหนือไปจากสติปัญญา โดยมีความเพียรเป็นเครื่องสนับสนุนนี้เลย เราเคยเห็นคุณค่าของสติปัญญามาอย่างนี้ เราจึงพูดเต็มปาก สติไม่มี สติล้มลุกคลุกคลานก็เคยเป็นมาแล้วอย่างที่เล่าให้ฟัง ปัญญาไม่มี ไม่ทราบจะคิดอะไรให้เป็นอรรถเป็นธรรมให้เป็นสติปัญญา ท่านพูดว่าปัญญาๆ ก็ไม่รู้ นี่ก็เคยเป็นมาพอแล้ว เวลาพิจารณาจิตอบรมจิตหลายครั้งหลายหนอย่างเอาจริงเอาจัง ก็ไม่ทนต่อความเอาจริงเอาจังด้วยความมีสติจดจ่อ ใจสงบลงจนได้ เมื่อสงบลงได้แล้วก็ปรากฏเป็นความสุข ความแปลกประหลาดยิ่งกว่านั้นก็เป็นความอัศจรรย์ตามขั้นของจิต

ความเพียรเริ่มละที่นี่ เพราะเห็นผล เมื่อเห็นผลของงานแล้วความเพียรหากเป็นมาเอง เอ้า ทีนี้พิจารณาแยกแยะทางด้านปัญญาอย่างเอาจริงเอาจัง จดจ่อพิจารณาหาอุบายพลิกแพลงตนเอง ไม่คอยแต่ครูบาอาจารย์บอกวิธีนั้นวิธีนี้ นั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของตนผลิตขึ้นมาเอง ไม่ดีไม่เหมาะ ปัญญาที่เกิดขึ้นจากความคิดความเห็นของตัวเอง เกิดขึ้นกับตัวเองนั้นกินไม่หมด ยิ่งแตกแขนงออกไปเรื่อยๆ คิดเท่าไรพิจารณาเท่าไร ยิ่งแตกแขนงออกไปไม่มีสิ้นสุด จนกระทั่งกระจายไปรอบตัวรอบจักรวาล นั่งอยู่ที่ไหนก็มีแต่สติปัญญาทำหน้าที่คุ้ยเขี่ย ขุดค้น ปราบปรามกิเลส

ถ้ากิเลสเป็นด้านวัตถุ ลงสติปัญญานี้ได้ออกก้าวเดินแล้วด้วยความสง่าผ่าเผย องอาจกล้าหาญ มีความเฉลียวฉลาดรอบตัว เราเดินไปตามทางก็ดี หรือในทางจงกรมก็ดี ก็เหมือนว่าเราฆ่ากิเลส เผากิเลสอยู่ตลอดเวลา ฆ่ากิเลสตายระเนระนาด ทั้งการเดินการนั่งมีแต่การฆ่ากิเลส นั่งก็นั่งฆ่ากิเลส ยืนก็ฆ่ากิเลส ยืนที่ไหนฆ่าแต่กิเลส ด้วยสติปัญญาศรัทธาความเพียรทั้งนั้น หากกิเลสเป็นวัตถุแล้วซากศพของกิเลสเกลื่อนไปหมด แต่ก่อนล้วนกิเลสมันสั่งสมตัวมันไว้กี่กัปกี่กัลป์ ทำลายจิตใจ ทีนี้ถูกสติปัญญาฟาดฟันหั่นแหลกกันลงไป ตายระเนระนาด ไปที่ไหนมีแต่เรื่องกิเลสตาย นี่สติปัญญาขั้นนี้เป็นอย่างนี้

ต้องให้รู้จักการรู้จักงาน รู้จักวิธีรบ วิธีรับ วิธีต่อสู้ วิธีหลบหลีก จึงเรียกว่าปัญญาอันคมกล้า ถ้ามีแต่กิเลสคมกล้า ไอ้เราก็มืดดำกำตาหรือมืดแปดทิศแปดด้าน ถ้าปัญญาได้สว่างจ้าขึ้นมาภายในใจแล้วจะรอบตัว กิเลสมาแง่ไหน คิดขึ้นเรื่องใด อะไรมาสัมผัส สติปัญญาทันทั้งนั้น นอกจากทันกับอารมณ์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกันแล้ว ยังตามวินิจฉัยกันจนเป็นที่เข้าใจ ปล่อยวางๆ ไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติขึ้นมา

ที่นี่เอาละ เรื่องความขี้เกียจเรื่องความกลัวทุกข์นั้นหายหน้าไปหมดเลย ไม่มีคำว่ากลัวทุกข์ ไม่มีคำว่ากลัวตาย มีแต่จะเอาให้รู้ เป็นก็ให้รู้ตายก็ให้รู้ หรือว่าเป็นก็ให้พ้นตายก็ให้พ้นจากทุกข์ พ้นจากกิเลสไปโดยถ่ายเดียว เป็นสิ่งที่ต้องการ คำว่าแพ้นี้ให้ตายเสียดีกว่า อย่าให้แพ้แบบหมอบราบทั้งๆ ที่มีชีวิตอยู่นี้เลย เป็นไปไม่ได้ ถ้าแพ้ก็ให้แพ้แบบตายเลย เป็นมวยบนเวทีก็ให้ถูกน็อคล้มลงไป ตายเลย อย่างนี้จึงว่าแพ้ อยู่ๆ ก็ไปยกมือไหว้เขา ว่ายอมแพ้ไม่ได้

จิตขั้นนี้สติปัญญาขั้นนี้ เชื่อตัวเองขนาดนั้นแล ให้ท่านทั้งหลายพิจารณาเอาเอง เมื่อถึงขั้นเชื่อตัวเอง เชื่ออย่างนั้น คือ เชื่อกำลังความสามารถของสติปัญญา อยากพบเห็นข้าศึกคือกิเลสเท่านั้น กิเลสตัวไหนที่มาขวางใจ อยู่ตรงไหนบ้าง มันพิจารณาซอกแซก ซิกแซ๊ก คุ้ยเขี่ยขุดค้นหาจนแหลก เพราะเมื่อสติปัญญามีกำลังกล้าขึ้นมาแล้ว ข้าศึกมันหลบตัวมันซ่อนตัว จึงต้องขุดค้นคุ้ยเขี่ย พอเจอกันแล้วก็ฟาดกันละที่นี่ เรียกว่าได้งานหรือเจอข้าศึกแล้ว ฟาดลงไป พอเหตุผลพร้อมแล้วกิเลสขาดสะบั้นลงไปเห็นชัดนี่ตัวนี้ขาดลงไปแล้ว ทีนี้คุ้ยเขี่ยหาอีก หางาน พอเจอเข้าก็ได้งานและต่อสู้ขาดลอยไปอย่างนี้เรื่อยๆ จิตก็เพลินในความเพียร

ใจยิ่งเด่นขึ้นๆ เห็นชัดเจนโดยลำดับลำดา กิเลสมีมากมีน้อยเห็นชัดว่าเป็นภัยต่อจิตอย่างยิ่ง เมื่อเป็นเช่นนั้นจะนอนใจได้อย่างไร เอาดำเนินไปซิ เมื่อความเพียรมีอยู่ไม่หยุดไม่ถอย จะไม่พ้นจากคำที่กล่าวนี้ไปได้เลย เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้ในทางคงวามเพียรนี้ ต้องเป็นไปอย่างนี้จริงๆ ไม่สงสัย เอาให้จริง

ทำอะไรอย่าทำแบบจับๆ จดๆ อย่าหัดนิสัยจับๆ จดๆ ให้มีความจดจ่อ ให้มีความจริงใจกับสิ่งนั้นจริงๆ ทำอะไรก็เพื่อผลประโยชน์ อย่าสักแต่ว่าทำผ่านมือๆ ไป เป็นนิสัยจับจดใช้ไม่ได้ เวลาจะทำความพากเพียรถอดถอนกิเลสก็จะทำแบบจับๆ จดๆ ปล่อยๆ วางๆ เป็นคนหลักลอย เลยไม่มีอะไรเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นของตัวได้เลย มีแต่ความเหลาะแหละเต็มตัว นั้นหรือเป็นตัว เป็นตัวไม่ได้ เชื่อตัวเองไม่ได้

เอาให้เชื่อตัวเองได้สิ พระพุทธเจ้าสอนให้เชื่อตัวเอง จาก อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ คือความหวังพึ่งตนเอง ด้วยสติปัญญาศรัทธาความเพียรของตัวเอง พระองค์มอบไว้แล้วทุกอย่าง เครื่องมือถูกต้องหมดแล้ว เอ้า นำมาประกอบ นำมาฟาดฟันกิเลส กิเลสจะตายด้วยสติปัญญา กิเลสกลัวสติปัญญา กิเลสประเภทใดก็ตามไม่พ้นจากสติปัญญานี้ไปได้ นี่กิเลสกลัวมาก และตายด้วยสติปัญญาศรัทธาความเพียรนี้ด้วย ไม่ได้ตายด้วยอย่างอื่น สิ่งที่พอกพูนกิเลสอย่าสนใจนำมาใช้ สิ่งใดที่กิเลสจะยุบยอบลงไป หรือจะสลายลงไปจากจิต ให้นำสิ่งนั้นมาใช้เสมอ สติปัญญาเอาให้ดี

เราอยากเห็นหมู่เพื่อน เราอยากได้ยินหมู่เพื่อนมีความพากเพียร ว่าได้รู้อย่างนั้น ว่าได้เห็นอย่างนั้นมันมีกำลังใจ โอ้ การเทศน์มานี้ไม่เสียเวล่ำเวลา ไม่เสียอรรถเสียธรรมที่สอนเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถอดจากหัวใจออกมาสอนทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วได้ปรากฏผลออกมาเป็นสักขีพยาน เหมือนพระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ, อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญติ พระอัญญาโกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอๆ นั่นแล

เหตุเบื้องต้นก็คือพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รู้เห็นธรรม บรรลุอริยธรรมขั้นต้นคือพระโสดาบัน แล้วเปล่งอุทานออกมาต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ด้วยความถึงใจว่า ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วต้องดับทั้งนั้น ด้วยความรู้ซึ้งถึงใจจริงๆ วาระสุดท้ายพระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานอนุโมทนาธรรมของพระอัญญาโกณฑัญญะว่า อญญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ, อญญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญติ พระอัญญาโกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ๆ  อิติหิทํ อายสฺมโต โกณฺฑญฺญสฺส, อญฺญาโกณฺฑญฺโญเตฺวว นามํ อโหสีติ. อันนี้จึงได้เป็นมิตตกนามของพระอัญญาโกณฑัญญะตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

นี่คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นผู้ที่รู้เห็นธรรมคนแรก ที่เป็นสักขีพยานของพระพุทธเจ้า ไม่เสียพระทัย ไม่เสียพระกำลัง ไม่เสียเวลาที่ทรงสั่งสอนเป็นปฐมเทศนาแก่พระเบญจวัคคีย์ทั้งห้าครั้งแรกแห่งความเริ่มเป็นศาสดาของโลก และทรงแสดงอนัตตลักขณะสูตรให้แก่พระเบญจวัคคีย์ทั้งห้าฟัง

รูปํ อนิจฺจํ, เวทนา อนิจฺจา, สญฺญา อนิจฺจา, สงฺขารา อนิจฺจา, วิญฺญาณํ อนิจฺจํ, รูปํ อนตฺตา, เวทนา อนตฺตา, สญฺญา อนตฺตา, สงฺขารา อนตฺตา, วิญฺญาณํ อนตฺตา.

ฟังซิ เอาฟังให้ซึ้งซิ มันอยู่ในตัวของเรานี้น่ะ ฟัง รูปํ อนิจฺจํ มันแปรตัวอยู่ตลอดเวลา อย่าชินชากับคำว่ามันแปรอยู่ตลอดเวลา ให้ซึ้งด้วยปัญญา จะทราบว่าสิ่งที่เราอาศัยอยู่นี้แปรอยู่ตลอดเวลา เราอยู่ด้วยความแปร ความแปรปรวน อยู่ด้วยความทุกข์ทรมาน อยู่กับของหาหลักเกณฑ์อันแน่นอนไม่ได้ อยู่กับความว่างเปล่าจากสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา

รูปํ อนตฺตา ถือเป็นตัวเป็นตนที่ไหน คือ ธาตุสี่ดินน้ำลมไฟ เราไปถือมาเป็นตัวเป็นตนได้อย่างไร ดินก็เป็นดิน น้ำก็เป็นน้ำ ก็ชัดๆ อยู่แล้ว ลมก็เป็นลม ไฟก็เป็นไฟ ชัดๆ อยู่แล้ว ไปถือว่าเป็นคนได้อย่างไร ไปถือว่าเป็นเราได้อย่างไร ดิน น้ำ ลม ไฟ น่ะ ไม่ละอายเขาบ้างเหรอ ปัญญาให้ซื้งลงไปตามนั้นซิ

สัญญา ความจำได้หมายรู้ จำอะไรก็ลืมๆ ไปหมด เมื่อต้องการจำอีกก็ปรุงขึ้นมาอยู่อย่างนั้น

สังขาร ความปรุง ความคิด ไม่ว่าคิดดีคิดชั่ว คิดเรื่องอดีตอนาคต คิดอะไรดับทั้งนั้น เอาสาระแก่นสารอะไรกับมัน เอาการเหล่านี้มันก็เหมือนพยับแดดนั้นเอง มองดูไกลๆ ก็เหมือนเป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นตนเป็นตัว เวลาเข้าไปใกล้ๆ แล้วก็ไม่เห็นมีอะไร นี่พิจารณาค้นเข้าไปจริงๆ แล้ว

ในที่ว่าอัตภาพร่างกายนี้มันไม่มีอะไร เต็มไปด้วย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ทั้งนั้น มันมีเราอยู่ที่ตรงไหนพอจะถือว่าเป็นเราเป็นของเรา เราไม่อายความจริงบ้างเหรอ เราไม่อายกิเลสบ้างเหรอ หรือเราก็เป็นกิเลส เป็นตัวเดียวกับกิเลส เป็นตัวหลง ถึงไม่อายกันนั้นก็ยิ่งเพิ่มความโง


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 07, 2015, 12:53:05 PM
มิลินทปัญหา

- ตอนที่ ๘ -

มิลินทปัญหา วรรคที่ ๓ (ต่อ)

ปัญหาที่ ๖ ถามเรื่องผู้ถึงเวทย์

     พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
     “ ข้าแต่พระนาคเสน เวทคู คือผู้ถึงเวทย์มีอยู่หรือ? ”
     พระเถระจึงย้อนถามว่า
     “ มหาบพิตร ในข้อนี้ใครชื่อว่าเวทคู ? ”
     พระเจ้ามิลินท์ตรัสตอบว่า
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อัพภันตรชีพ คือสิ่งที่เป็นอยู่ในภายในนี้ ย่อมเห็นรูปด้วยตาได้ยินเสียงด้วยหู สูดดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องสัมผัสด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ นี้แหละชื่อว่า “ เวทคู ” โยมจะเปรียบให้พระผู้เป็นเจ้าฟัง เหมือนหนึ่งว่าเราทั้งสองนั่งอยู่ที่ปราสาทนี้ปรารถนาจะแลดูออกไปทางช่องหน้าต่างใด ๆ ก็แลดูออกไปทางช่องหน้าต่างนั้น ๆ จะเป็นทางตะวันออก หรือทางตะวันตก ทางเหนือ ทางใต้ ก็ได้ตามประสงค์ฉันใด อัพภันตรชีพ คือสิ่งที่เป็นอยู่ในภายในร่างกายนี้ ต้องการจะดูออกไปทางทวารใด ๆ ก็ดูออกไปทางทวารนั้น ๆ แล้วก็ได้เห็นรูปด้วยตา ได้ฟังเสียงด้วยหู ได้สูดดมกลิ่นด้วยจมูก ได้รู้รสด้วยลิ้น ได้ถูกต้องสัมผัสด้วยกาย ได้รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ฉันนั้น ”
     พระนาคเสนถวายพระพรตอบว่า
     “ อาตมภาพจะกล่าวให้ยิ่งขึ้นไป คือเราทั้งสองนั่งอยู่ที่ปราสาทนี้ ต้องการจะแลออกไปทางช่องหน้าต่างใด ๆ จะเป็นทางตะวันออกหรือตะวันตก ทางเหนือ ทางใต้ ก็ได้เห็นรูปต่าง ๆ ฉันใด
     บุคคลต้องได้เห็นรูปด้วยตา หู จมูก ลิ้น กายใจ อันเป็น อัพภันตรชีพ อย่างนั้นหรือ ?
     ต้องได้ฟังเสียงด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันนั้นหรือ?
     ต้องได้สูดกลิ่นด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันนั้นหรือ?
     ต้องได้รู้รสด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันนั้นหรือ?
     ต้องถูกต้องสัมผัสด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันนั้นหรือ ?
     ต้องรู้ธรรมารมณ์ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันนั้นหรือ? ”
     “ ไม่ใช่ฉันนั้น พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ขอถวายพระพร คำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อนกับคำหลังของมหาบพิตร ย่อมไม่สมควรแก่กัน เหมือนอย่างว่าเราทั้งสองนั่งอยู่ที่ปราสาทนี้ เมื่อเปิดช่องหน้าต่างเหล่านี้ไว้ แล้วแลออกไปภายนอกทางอากาศอันกว้างใหญ่ ก็ต้องเห็นรูปได้ดี ฉันใด อัพภันตรชีพ นั้น เมื่อเปิดจักขุทวารหันหน้าออกไปภายนอกทางอากาศอันกว้างใหญ่ก็เห็นรูปได้ดี เมื่อเปิดหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้แล้วหันหน้าออกไปภายนอกทางอากาศอันกว้างใหญ่ ต้องเห็นรูปได้ดีฉันนั้น อย่างนั้นหรือ ? ”
     “ ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ขอถวายพระพร คำหลังกับคำก่อนหรือคำก่อนกับคำหลังของมหาบพิตร ย่อมไม่สมควรแก่กัน เหมือนอย่างว่า มียาจกเข้ามารับพระราชทานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากมหาบพิตร แล้วออกไปยืนอยู่ที่ซุ้มประตูภายนอก มหาบพิตรทรงรู้หรือไม่? ”
     “ อ๋อ…รู้ซิ พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ขอถวายพระพร ผู้ที่ได้รับพระราชทานแล้วเข้าไปภายใน ยืนอยู่ตรงพระพักตร์ของมหาบพิตร พระองค์รู้หรือว่าผู้นี้เข้ามาในภายใน มายืนอยู่ข้างหน้าเรา ? ”
     “ รู้ พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ อัพภันตรชีพ นั้น เมื่อวางรสไว้ที่ลิ้น ก็รู้ว่าเป็นรสเปรี้ยว หรือรสเค็ม รสขม รสเผ็ด รสฝาด รสหวานหรือไม่ ? ”
     “ รู้ พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ เมื่อรสเหล่านั้นไม่เข้าไปภายใน อัพภันตรชีพ นั้น รู้หรือไม่ว่าเป็นรสเปรี้ยว รสเค็ม รสขม รสเผ็ด รสฝาด รสหวาน ? ”
     “ไม่รู้ พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ นี่แหละ มหาบพิตร จึงว่าคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อนกับคำหลังของมหาบพิตรไม่สมควรแก่กัน ไม่สมกัน
     เหมือนกับมีบุรุษผู้หนึ่งให้บรรทุกน้ำผึ้งตั้ง ๑๐๐ หม้อ มาเทลงในรางน้ำผึ้ง แล้วมัดปากบุรุษนั้นไว้ จึงเอาทิ้งลงไปในรางน้ำผึ้งบุรุษนั้นจะรู้จักรสน้ำผึ้งหรือไม่? ”
     “ ไม่รู้ พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ เพราะอะไรล่ะ มหาบพิตร ? ”
     “ เพราะน้ำผึ้ง ไม่เข้าไปในปากของเขา ”
     “ ขอถวายพระพร ด้วยเหตุนี้แหละ จึงว่าคำหลังกับคำต้น หรือคำต้นกับคำหลังของมหาบพิตร ไม่สมควรแก่กัน เข้ากันไม่ได้”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมไม่อาจสนทนากับพระผู้เป็นเจ้าในข้อนี้ได้แล้ว ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแสดงข้อนึ้ให้โยมเข้าใจเถิด ”
     ลำดับนั้น พระเถระจึงแสดงให้พระเจ้ามิลินท์เข้าพระทัย ด้วยถ้อยคำอันเกี่ยวกับ อภิธรรม ว่า
     “ ขอถวายพระพร จักขุวิญญาณ ย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะอาศัย ตา กับ รูป แล้วจึงมี เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ อันเกี่ยวข้องกับจักขุวิญญาณนั้น เกิดขึ้นตามปัจจัยถึง โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ ก็เกิดขึ้นได้เพราะอาศัย หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐัพพะ ใจกับธรรมารมณ์แล้วจึงเกิด เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ เหมือนกัน เป็นอันว่าผู้ชื่อว่า “ เวทคู ” ไม่มีในข้อนี้ ขอถวายพระพร”
     พระเจ้ามิลินท์บรมกษัตริย์ ได้ฟังชัดก็โสมนัสปรีดา มีพระราชดำรัสตรัสสรรเสริญว่า
     “ พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนานี้ สมควรแล้ว ”


อธิบาย
   คำว่า “ เวทคู ” แปลว่า ผู้ถึงเวทย์ ท่านหมายความว่า เป็นผู้ถึงชึ่งความรู้ คือผู้รับรู้สิ่งต่าง ๆ พระเจ้ามิลินทร์เข้าใจว่า เวทคู นั้นเป็น สัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นของมีชีวิตอยู่ภายใน อันเรียกว่า อัพภันตรชีพ ว่าเป็นผู้เห็นรูปด้วยตา ฟังเสียงด้วยหู หรือดมกลิ่นด้วยจมูก เป็นต้น ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด

   ส่วนที่ถูกนั้น พระนาคเสนท่านกล่าวว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน หรือ อัพภันตรชีพ คือสิ่งที่เป็นอยู่ในภายใยเป็นเวทคูเลย การที่รู้อารมณ์ต่าง ๆ นั้น ได้แก่ วิญญาณ อันเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ ต่างหากดังนี้ คือข้อนี้ท่านมุ่งแสดงเป็นปรมัตถ์ ( คือเรื่องของจิตและเจตสิก) ไม่ได้มุ่งแสดงเป็นสมมุติ ( คือธรรมะทั่วไป ) ถ้าว่าเป็นสมมุติ เวทคู นั้นก็มีตัวตน ดังนี้



 ปัญหาที่ ๗ ถามถึงความเกี่ยวกับแห่งจักขุวิญญาณกับมโนวิญญาณ

     “ ข้าแต่พระนาคเสน จักขุวิญญาณ เกิดในที่ใด มโนวิญญาณ ก็ตามไปเกิดในที่นั้นหรือ ? ”
     “ อย่างนั้น มหาบพิตร ”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า จักขุวิญญาณเกิดก่อน มโนวิญญาณเกิดทีหลัง หรืออย่างไร ? ”
     “ ขอถวายพระพร จักขุวิญญาณเกิดก่อน มโนวิญญาณเกิดทีหลัง”
     “ ข้าแต่พระนาคเสน ก็จักขุวิญญาณบังคับมโนวิญญาณไว้หรือว่า เราจักเกิดในที่ใดเจ้าจงเกิดในที่นั้น หรือมโนวิญญาณสั่งจักขุวิญญาณไว้ว่า เจ้าจักเกิดในที่ใด เราก็จักเกิดในที่นั้น อย่างนั้นหรือ ?”
     “ ไม่ใช่อย่างนั้น มหาบพิตร วิญญาณทั้งสองนั้นพูดจากันไม่ได้”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้น ไฉนจึงว่าจักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น ”
     “ ขอถวายพระพร ที่ว่าอย่างนั้น เพราะเป็นของลุ่ม ๑ เป็นประตู ๑ เป็นที่สะสมมา ๑ เป็นสิ่งที่เคยประพฤติมา ๑ ”

เพราะเป็นของลุ่ม

     “ ข้าแต่พระนาคเสน จักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น เพราะเป็นของลุ่ม นั้นคืออย่างไร ขอนิมนต์อุปมาด้วย? ”
     “ ขอถวายพระพร เมื่อฝนตกลงมามหาบพิตรทรงเข้าพระทัยว่า น้ำจะไปทางไหน ? ”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ที่ลุ่มมีอยู่ทางใดน้ำก็ต้องไปทางนั้น”
     “ ขอถวายพระพร เมื่อฝนตกลงมาอีกน้ำจะไหลไปทางไหน ?”
     “ ข้าแต่พระนาคเสน น้ำก่อนไปทางใด น้ำใหม่ก็ต้องไปทางนั้น”
     “ ขอถวายพระพร น้ำก่อนสั่งน้ำหลังไว้หรือว่า เราไปทางใด เจ้าจงไปทางนั้น หรือว่าน้ำหลังสั่งน้ำก่อนไว้ว่า เจ้าจักไปทางใด เราก็จักไปทางนั้น ? ”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า น้ำทั้งสองนั้นพูดจากันไม่ได้ แต่น้ำนั้นไหลไปได้ เพราะทางนั้นเป็นทางลุ่ม เป็นทางต่ำต่างหาก”
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือจักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น เพราะที่นั้นเป็นที่ลุ่ม เป็นที่ต่ำจักขุวิญญาณไม่ได้สั่งมโนวิญญาณไว้ว่า เราเกิดในที่ใด เจ้าจงเกิดในที่นั้น มโนวิญญาณก็ไม่ได้สั่งจักขุวิญญาณไว้เหมือนกัน วิญญาณทั้งสองนั้นไม่มีการพูดจากันแต่ว่าเกิดในที่นั้นในสิ่งนั้น เพราะที่นั้นสิ่งนั้นเป็นเหมือนที่ลุ่มที่ต่ำ ฉะนั้น”

เพราะเป็นประตู

     “ ข้าแต่พระนาคเสน ข้อที่ว่าจักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น เพราะเป็นประตู นั้นอย่างไร ขอได้โปรดอุปมาด้วย ? ”
     “ ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่าหัวเมืองชายแดนของพระราชา มีป้อมค่ายประตูหอรบแน่นหนาแข็งแรง แต่มีประตูเข้าออกเพียงประตูเดียว มีผู้อยากจะออกไปจากพระนครนั้น จะออกไปทางไหน ? ”
     “ ออกไปทางประตูซิ พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ขอถวายพระพร ยังมีบุรุษอีกคนหนึ่งอยากจะออกไป เขาจะออกไปทางไหน? ”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า บุรุษคนก่อนออกไปทางประตูใด บุรุษคนหลังก็ต้องออกไปทางประตูนั้นแหละ”
     “ ขอถวายพระพร บุรุษคนก่อนสั่งบุรุษคนหลังไว้หรือว่า เราออกทางประตูใด เจ้าจงออกทางประตูนั้น หรือบุรุษคนหลังสั่งบุรุษคนก่อนไว้ว่า เจ้าออกทางประตูใด เราก็จักออกทางประตูนั้น ? ”
     “ ข้าแต่พระนาคเสน บุรุษทั้งสองนั้นไม่ได้บอกกันไว้เลย แต่เขาออกไปทางเดียวกัน เพราะทางนั้นเป็นประตู ”
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร จักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น เพราะที่นั้นเป็นประตู ไม่ใช่จักขุวิญญาณสั่งที่มโนวิญญาณไว้ หรือมโนวิญญาณสั่งจักขุวิญญาณไว้ ทั้งสองนั้นไม่มีการพูดจากัน แต่เกิดขึ้นในที่แห่งเดียวกัน เพราะที่นั้นเป็นประตู”

เพราะเป็นที่สะสมมา

     “ ข้าแต่พระเป้นเจ้า ข้อว่าจักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น เพราะเป็นที่สะสมมา นั้นคืออย่างไรขออุปมาให้แจ้งด้วย ? ”
     “ ขอถวายพระพร เกวียนเล่มแรกไปก่อนแล้ว มหาบพิตรจะเข้าพระทัยว่า เกวียนเล่มที่ ๒ จะไปทางไหน ? ”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เกวียนเล่มแรกไปทางใด เกวียนเล่มหลังก็ต้องไปทางนั้น”
     “ ขอถวายพระพร เกวียนเล่มก่อนสั่งเกวียนเล่มหลังไว้หรือว่า เราไปทางใดเจ้าจงไปทางนั้น หรือว่าเกวียนเล่มหลังสั่งเกวียนเล่มก่อนไว้ว่า เจ้าจักไปทางใด เราก็จักไปทางนั้น ? ”
     “ ไม่ได้สั่งไว้เลย ผู้เป็นเจ้า เพราะเกวียนทั้งสองนั้นไม่มีการพูดกัน แต่ไปทางเดียวกันเพราะทางนั้นเป็นทางที่สะสมมาแล้ว ”
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร จักขุวิญญาณกับมโนวิญญาณไม่ได้สั่งกันไว้เลย แต่เกิดในที่แห่งเดียวกันเพราะเป็นที่สะสมมาแล้ว”

เพราะเป็นสิ่งที่เคยประพฤติมา

     “ ข้าแต่พระนาคเสน ข้อว่าจักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น เพราะเป็นสิ่งที่เคยประพฤติมา นั้นคืออย่างไร ขอจงอุปมาให้ทราบด้วย? ”
     “ ขอถวายพระพร ผู้ที่เริ่มเรียนศิลปะในการนับด้วยนิ้วมือ หรือนับตามลำดับ หรือขีดเป็นรอยขีด หรือหัดยิงธนู ทีแรกก็ช้าก่อนต่อมาภายหลังก็ไวขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่เคยประพฤติแล้ว คือได้กระทำมาเสมอ ฉันใด
     จักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น จักขุวิญญาณไม่ได้สั่งมโนวิญญาณไว้เลยว่า เราเกิดในที่ใด เจ้าจงเกิดในที่นั้น มโนวิญญาณก็ไม่ได้สั่งจักขุวิญญาณไว้เลยว่า เจ้าจะเกิดในที่ใด เราก็จะเกิดในที่นั้นเพราะเป็นสิ่งที่เคยประพฤติมาแล้ว ฉันนั้น ”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า วิญญาณทั้งสองนั้นไม่มีการพูดจากันเลย แต่เกิดในที่แห่งเดียวกันเพราะได้เคยประพฤติมา ถึง โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ก็เหมือนกัน อย่างนั้นหรือ ? ”
     “ อย่างนั้น มหาบพิตร เป็นอันเหมือนกันหมด ”
     “ พระผู้เป็นเจ้ากล่าวแก้ถูกต้องดีแล้ว ”




อธิบาย
   ข้อนี้ได้ใจความว่า วิญญาณทั้ง ๕ คือ ความรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ย่อมเกิดในที่แห่งเดียวกับ มโนวิญญาณ คือความรู้สึกทางใจด้วย

   ยกตัวอย่างเช่น ตาเห็นรูปได้ชื่อว่า จักขุวิญญาณ เกิดขึ้นก่อนแล้ว มโนวิญญาณ จึงเกิดทีหลัง ทำให้รู้และเข้าใจได้ว่า รูปที่เห็นนั้นเป็นคน สัตว์ วัตถุสิ่งของ มีลักษณะเป็นประการใด เพราะถ้าไม่มี มโนวิญญาณ เข้าร่วมด้วย ก็เหมือนกับคนนั่งใจลอยเหม่อมองไปข้างหน้า เมื่อไปถามว่าเห็นอะไรไหม…เขาก็ตอบว่าเห็นแต่ไม่รู้ว่าเป็นสิ่งใด เพราะไม่ได้ตั้งใจดู อย่างนี้เป็นต้น ถึงจะเป็นการฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้นรส สัมผัสถูกต้อง ก็มีสภาพเช่นดียวกัน

   ฉะนั้น เพราะอาศัย จักขุวิญญาณ หรือ โสตวิญญาณ หรือ ฆานวิญญาณ หรือ ชิวหาวิญญาณ หรือ กายวิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตามเกิดขึ้นก่อนแล้ว มโนวิญญาณ จึงจะเกิดทีหลัง ดังนี้



 ปัญหาที่ ๘ ถามลักษณะผัสสะ

     “ ข้าแต่พระนาคเสน จักขุวิญญาณ เกิดในที่ใด เวทนา ก็เกิดในที่นั้นหรือ ? ”
     “ อย่างนั้น มหาบพิตร คือ จักขุวิญญาณ เกิดในที่ใด เวทนา ก็เกิดในที่นั้น ถึง สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ วิตก วิจาร ก็เกิดใน ในที่นั้น ธรรมทั้งหลายมี ผัสสะ เป็นต้น ก็เกิดในที่นั้น ขอถวายพระพร ”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ผัสสะ มีลักษณะอย่างไร ? ”
     “ ขอถวายพระพร ผัสสะ มีการ กระทบกัน เป็นลักษณะ”
     “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”
     “ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนกับแพะ ๒ ตัวชนกันอยู่ จักขุ เหมือนกับแพะตัวหนึ่ง รูป เหมือนกับแพะอีกตัวหนึ่ง ผัสสะ เหมือนกับการชนกันแห่งแพะทั้งสอง ”
     “ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งไป ”
     “ ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่า มือทั้งสองที่ตบกัน จักขุ เหมือนมือข้างหนึ่ง รูป เหมือนมืออีกข้างหนึ่ง ผัสสะ เหมือนการกระทบกันแห่งมือทั้งสอง ”
     “ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก ”
     “ ขอถวายพระพร เปรียบประดุจบุรุษเป่าปี่ ๒ เลาขึ้นพร้อมกัน จักขุ เหมือนปี่เลาหนึ่ง รูป เหมือนปี่อีกเลาหนึ่ง ผัสสะ เหมือนการรวมกันแห่งเสียงปี่ทั้งสองเลานั้น ”
     “ ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”

 ปัญหาที่ ๙ ถามถึงลักษณะเวทนา

     “ ข้าแต่พระนาคเสน เวทนา มีลักษณะอย่างไร ? ”
     “ ขอถวายพระพร เวทนา มีการ ทำให้รู้สึก เป็นลักษณะ อีกอย่างหนึ่ง มีการ เสวย เป็นลักษณะ ”
     “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”
     “ ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่ามีบุรุษผู้หนึ่ง ทำความดีความชอบต่อพระราชา เมื่อพระราชาทรงพอพระทัยแล้ว ก็ทรงพระราชทานทรัพย์ ยศ บริวาร ให้แก่บุรุษนั้น บุรุษนั้น ก็เพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ แล้ว เขาก็คิดว่าเราได้ทำความดีต่อพระราชาไว้แล้ว เราจึงได้เสวยความสุขอย่างนี้
     อีกนัยหนึ่ง เหมือนกับบุรุษคนหนึ่งทำบุญกุศลไว้แล้ว ได้ขึ้นไปบังเกิดในสวรรค์ เขาก็มีความสุขด้วยทิพย์สมบัติ แล้วเขาก็นึกได้ว่า เพราะเราได้ทำบุญกุศลไว้ในกาลก่อน เราจึงได้เสวยความสุขอย่างนี้
     อย่างนี้แหละ มหาบพิตร เรียกว่า เวทนา มีการ ทำให้รู้สึก เป็นลักษณะ หรือมีการ เสวย เป็นลักษณะ ”
     “ พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนาสมควรแล้ว ”

 ปัญหาที่ ๑๐ ถามลักษณะสัญญา

     “ ข้าแต่พระนาคเสน สัญญา มีลักษณะอย่างไร ? ”
     “ ขอถวายพระพร สัญญา มีการ จำ เป็นลักษณะ ”
     “ จำอะไร ? ”
     “ จำสีเขียว สีแดง สีขาว ขอถวายพระพร ”
     “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”
     “ ขอถวายพระพร เหมือนอย่างเจ้าพนักงานคลังของพระราชา ได้เข้าไปที่คลังแล้ว เห็นเครื่องใช้ต่าง ๆ ของพระราชา อันมีสีสันต่าง ๆ กัน คือ สีเขียวก็มี เหลืองก็มี แดงก็มี ขาวก็มี เลื่อมก็มี ก็จำไว้ได้เป็นอย่าง ๆ ไป ฉันใด สัญญา ก็มีการ จำ เป็นลักษณะฉันนั้น”
     “ ถูกแล้ว พระนาคเสน ”

 ปัญหาที่ ๑๑ ถามลักษณะเจตนา

     “ ข้าแต่พระนาคเสน เจตนา มีลักษณะอย่างไร ? ”
     “ ขอถวายพระพร เจตนา มีความ จงใจ เป็นลักษณะ อีกอย่างหนึ่งว่า เจตนา มีการ ประชุมแห่งการตกแต่ง เป็นลักษณะ ”
     “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”
     “ ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่าบุรุษผู้หนึ่งตกแต่งยาพิษขึ้นแล้ว ก็ดื่มเองด้วย ให้ผู้อื่นดื่มด้วย เขาก็เป็นทุกข์ ผู้อื่นก็เป็นทุกข์ ฉันใด บางคนจงใจทำความชั่วแล้วก็ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก พวกใดทำตามบุรุษนั้น พวกนั้นก็ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เหมือนกัน ฉันนั้น
     อีกประการหนึ่ง บุรุษผู้นั้นตกแต่งเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ให้มีรสอันเดียวกัน แล้วก็ดื่มเองบ้าง ให้ผู้อื่นดื่มบ้าง เขาก็เป็นสุข ผู้อื่นก็เป็นสุข ฉันใด
     บางคนจงใจทำความดีแล้วได้ขึ้นไปเกิดในสวรรค์ พวกใดทำตามบุรุษนั้น พวกนั้นก็ได้ขึ้นไปเกิดในสวรรค์เหมือนกัน ฉันนั้น
     อย่างนี้แหละ มหาบพิตร เรียกว่า เจตนา มีการ จงใจ เป็นลักษณะ อีกอย่างหนึ่งว่า มีการ ปรุงแต่ง เป็นลักษณะ”
     “ พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว ”

 ปัญหาที่ ๑๒ ถามลักษณะวิญญาณ

     “ ข้าแต่พระนาคเสน วิญญาณ มีลักษณะอย่างไร ? ”
     “ ขอถวายพระพร วิญญาณ มีการ รู้ เป็นลักษณะ ”
     “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”
     “ ขอถวายพระพร เปรียบประดุจบุรุษผู้รักษาพระนคร นั่งอยู่ที่ถนน ๔ แพร่งกลางพระนคร ต้องได้เห็นบุรุษผู้มาจากทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ฉันใด บุคคลเห็นรูป หรือฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส นึกถึงสิ่งใดด้วยใจ ก็รู้จักสิ่งนั้นได้ด้วย วิญญาณ ฉันนั้น วิญญาณมีการ รู้ เป็นลักษณะอย่างนี้แหละ มหาบพิตร ”
     “ ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน ”

 ปัญหาที่ ๑๓ ถามลักษณะวิตก

     “ ข้าแต่พระนาคเสน วิตก มีลักษณะอย่างไร ? ”
     “ ขอถวายพระพร วิตก มีการ ประกบแน่น เป็นลักษณะ”
     “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”
     “ ขอถวายพระพร ช่างไม้่ย่อมเข้าไม้ในที่ต่อ แล้วโบกด้วยปูนหรือทาด้วยสีให้สนิทฉันใด วิตก ก็มีการประกบแน่น มีการแนบแน่นเป็นลักษณะฉันนั้น”
     “ ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน ”

 ปัญหาที่ ๑๔ ถามลักษณะวิจาร

     “ ข้าแต่พระนาคเสน วิจาร มีลักษณะอย่างไร ? ”
     “ ขอถวายพระพร วิจาร มีการ ลูบคลำไปตามวิตก เป็นลักษณะ”
     “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”
     “ ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่ากังสดาล อันบุคคลเคาะด้วยสันดาบ ก็มีเสียงดังเป็นกังวานต่อ ๆ กันไป ฉันใด วิตก ก็เหมือนกับการเคาะ ฉันนั้น ส่วน วิจาร เหมือนกับเสียงดังครวญครางไป ”
     “ สมควรแล้ว พระนาคเสน ”

 จบวรรคที่ ๓

 มิลินทปัญหา วรรคที่ ๔

 ปัญหาที่ ๑ ถามลักษณะมนสิการ

     พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
     “ ข้าแต่พระนาคเสน มนสิการ มีลักษณะอย่างไร ? ”
     พระเถระตอบว่า
     “ ขอถวายพระพร มนสิการ มีการ นึก เป็นลักษณะ ”
     “ ถูกแล้ว พระนาคเสน ”

 ปัญหาที่ ๒ ถามลักษณะสิ่งที่มีภาวะอย่างเดียวกัน

     พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
     “ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าอาจแยกธรรมที่รวมเป็นอันเดียวกันเหล่านี้ ให้รู้ว่าต่างกันว่า อันนี้เป็น ผัสสะ อันนี้เป็น เวทนา อันนี้เป็น สัญญา อันนี้เป็น เจตนา อันนี้เป็น วิตก อันนี้เป็น วิจาร ได้หรือไม่?”
     “ ไม่อาจ ขอถวายพระพร ”
     “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”
     “ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนพ่อครัวของพระราชา เมื่อจะตกแต่งเครื่องเสวยก็ใส่เครื่องปรุงต่างๆ คือ นมส้ม เกลือ ขิง ผักชี พริก และสิ่งอื่น ๆ ลงไป ถ้าพระราชาตรัสสั่งว่า
     “ เจ้าจงแยกเอารสนมส้มมาให้เรา จงแยกเอารสเกลือ รสขิง รสหวาน รสเปรี้ยว มาให้เราทีละอย่าง ๆ ”
     พ่อครัวนั้นอาจแยกเอารสที่รวมกันอยู่เหล่านั้นมาถวายพระราชาว่า นี้เป็นรสเปรี้ยว นี้เป็นรสเค็ม นี้เป็นรสขม นี้เป็นรสเผ็ด นี้เป็นรสฝาด ได้หรือไม่ ? ”
     “ ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า ก็แต่ว่าเขาอาจรู้ได้ตามลักษณะของรสแต่ละรส”
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เมื่อ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา วิญญาณ วิตก วิจาร รวมกันเข้าแล้ว อาตมภาพก็ไม่อาจแยกออกให้รู้ได้แต่ละอย่าง ก็แต่ว่าอาจให้เข้าใจได้ตามลักษณะแห่งธรรมเป็นอย่าง ๆ ”
     “ ขอถวายพระพร เกลือ เป็นของจะต้องรู้ด้วย ตา ใช่ไหม? ”
     “ ใช่ พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ขอมหาบพิตรจงจำคำนี้ไว้ให้ดีนะ ”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้น เกลือ เป็นของรู้ด้วย ลิ้น อย่างนั้นหรือ ? ”
     “ อย่างนั้น มหาบพิตร ”
     “ ถ้าบุคคลรู้จักเกลือทั้งหมดด้วยลิ้น เหตุไฉนจึงบรรทุกเกลือมาด้วยเกวียน ควรบรรทุกมาเฉพาะความเค็มเท่านั้นไม่ใช่หรือ ? ”
     “ ไม่อาจบรรทุกมาแต่ความเค็มเท่านั้นได้ เพราะว่าของเหล่านี้เป็นของรวมกัน ส่วนความเค็มบุคคลอาจชั่งได้ด้วยตาชั่งหรือไม่มหาบพิตร? ”
     “ อาจชั่งได้ พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ มหาบพิตร จงจำคำนี้ไว้ให้ดีว่า บุคคลอาจชั่งความเค็มได้ด้วยตาชั่ง”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าว่าบุคคลไม่อาจชั่งความเค็มได้ด้วยตาชั่งอย่างนั้นหรือ? ”
     “ อย่างนั้น มหาบพิตร ”
     “ ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน ”




อธิบาย
   วิญญาณทั้ง ๕ ได้แก่ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ คือ ความรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จะต้องมี มโนวิญญาณ คือ ความรู้สึกทางใจ เข้าร่วมด้วย จึงจะสำเร็จประโยชน์ในการเห็น การฟัง การดม การลิ้นรส และการสัมผัส เป็นต้น

   เมื่อวิญญาณทั้ง ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นก่อน เช่น จักขุวิญญาณ เกิดขึ้นในที่ใด มโนวิญญาณ ก็เกิดในที่นั้น เพราะอาศัย จักขุ กับ รูป ธรรมทั้งหลายมี ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา วิญญาณ วิตก วิจาร มนสิการ ได้เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกัน แต่มีลักษณะต่างกัน ดังนี้

   ผัสสะ มีลักษณะ กระทบกัน เช่น จักขุ กับ รูป เรียกว่า จักขุวิญญาณ เป็นต้น

   เวทนา มีลักษณะ เสวยอารมณ์ คือทำให้รู้สึกมีความสุข มีความทุกข์ หรือ รู้สึกเฉย ๆ เป็นต้น สัญญา มีลักษณะ จำ เช่นเมื่อตาเห็นรูปก็จำได้ว่า มีสีสันวรรณะเป็นประการใด

   เจตนา มีลักษณะ จงใจ หรือ ประชุมแห่งการตกแต่ง หมายถึงมุ่งกระทำความดีหรือความชั่วด้วยความจงใจ

   วิญญาณ อันนี้ไม่ใช่วิญญาณที่มาถือกำเนิดในครรภ์ แต่ในที่นี้ท่านหมายถึง รู้ ในฎีกามิลินท์ท่านหมายถึง ประสาท เหมือนกัน

   วิตก มีลักษณะ ประกบแน่น หมายถึงการที่จิตตรึกอารมณ์

   วิจาร มีลักษณะ ลูบคลำไปตามวิตก คือจิตเคล้าอารมณ์ หรือจิตตรอง หรือพิจารณาอารมณ์ที่ตรึกนั้น

   วิตก กับ วิจาร ท่านอธิบายมีความหมายคล้ายกัน คือ วิตก เหมือนกับคนเคาะระฆัง เมื่อมีเสียงดังกังวานครวญครางขึ้นท่านเรียกว่า วิจาร ได้แก่อารมณ์คิดพิจารณานั้นเอง

   มนสิการ มีลักษณะ นึก ในข้อนี้ท่านไม่ได้ยกอุปมา เพราะได้เคยอุปมาให้พระเจ้ามิลินท์ได้ทราบไว้แล้ว

   รวมความว่า การที่จะเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสได้นั้น ไม่ใช่ อัพภันตรชีพ ( สิ่งที่เป็นอยู่ในภายในกายนี้) เป็น “ เวทคู ” คือเป็นผู้รับรู้ แต่การที่จะมีความรู้สึกได้เพราะอาศัย วิญญาณ ต่างหาก และวิญญาณทั้ง ๕ นี้ย่อมไหลไปสู่ มโนวิญญาณ เหมือนกับน้ำไหลไปสู่ที่ลุ่ม ฉะนั้น
   แต่ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นด้วยกัน อันมี ผัสสะ เป็นต้นนั้น ท่านไม่สามารถจะแยกออกมาได้ว่า อันนี้เป็นผัสสะ อันนี้เป็นเวทนาหรือ อันนี้เป็นสัญญา เปรียบเหมือนเครื่องแกงที่ผสมกันหมดแล้ว รสชาติของมันปรากฏอยู่ตามลักษณะของมัน แต่จะแยกออกมาไม่ได้

   คำเปรียบเทียบของพระนาคเสนเรื่องนี้เหมาะสมมาก คือเมื่อเครื่องแกงผสมเป็นน้ำแกงแล้ว เมื่อเราตักออกมาช้อนหนึ่งชิมดูย่อมมีรสเครื่องแกงทุกอย่างผสมอยู่ แต่จะแยกออกมาหาได้ไม่
   แต่เราพอบอกได้ว่า ความเผ็ดเป็นรสของพริก ความเค็มเป็นรสของเกลือ ความเปรี้ยวเป็นรสของน้ำส้มหรือมะนาว และความหวานเป็นรสของน้ำตาล เป็นต้น

   อนึ่ง เหมือนกับการบรรทุกเกลือ แต่จะไม่บรรทุกความเค็มมาด้วย หรือจะชั่งเฉพาะเกลือ แต่ไม่ชั่งความเค็มด้วยนั้นไม่สามารถจะกระทำได้ เพราะของเหล่านี้เป็นของรวมกัน ฉันใด
   ธรรมทั้งหลายอันมี ผัสสะ เป็นต้น ได้ปรากฏชัดตามลักษณะของตน แต่จะแยกออกมาแต่ละอย่าง ๆ มิได้เช่นกัน ฉันนั้น




ที่มา : http://www.geocities.com/SouthBeach/Terrace/4587/milindl.htm (http://www.geocities.com/SouthBeach/Terrace/4587/milindl.htm)



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 07, 2015, 01:58:49 PM

ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา วิญญาณ วิตก วิจาร

ที่เราพอจะมีปัญญาสัมผัสได้เพื่อค้นหาแนวทางเข้าสมาธิเมื่อสมาธิเสื่อม มีดังนี้

- การนั่งสมาธิ ต้องให้จิตแนบแน่นอยู่ที่ลมหายใจเข้า-ออก ไม่ต้องไปสนใจสิ่งภายนอก ให้หายใจเข้าออก-ยาวช้าๆเรื่อยๆ ไม่เร่ง ไม่รีบ
- เมื่อคิดหรือเห็นสิ่งใด ก็ให้รู้ว่าตนกำลังคิดเรื่องนี้ๆ เห็นสิ่งนี้ๆอยู่เท่านั้น ถ้าเมื่อเรารู้แล้วมันยังคิดสืบต่อก็ปล่อยมันคิดไปแล้วเราตามรู้มันไปแค่นั้น ถ้ารู้แล้วมันดับก็มาตั้งอยู่ที่ลมหายใจใหม่ อย่าไปบังคับไม่ให้คิดแต่ให้รู้ เมื่อมันดับไปแล้วก็ให้รู้ว่าวันดับแล้วยกจิตแนบแน่นที่ลมหายใจต่อ อย่างเกร็ง อย่าขัด อย่ายื้อ อย่าฉุด อย่าดึง อย่ารั้ง ทำให้ทันเป็นที่สบายพอ อะไรจะเป็นอย่างไรก็ช่างมันปล่อยให้มันเป็นไป



สิ่งที่เราพอจรับรู้ได้บ้างตามลำดับบ้าง ตามแต่ระลึกรู้ได้ในแต่ละขณะโดยแยกลำดับไม่ออกแค่รู้มันได้ตามลำดับที่เกิดขึ้นนี้ๆเท่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เมื่อจริงๆแล้วไม่สามารถแยกออกจากกันได้ รับรู้เอาได้ตามแต่คุณลักษณะในขณะนั้นๆว่าเป็นอย่างไร ตามที่พระนาคเสนเทศนาบอกพระเจ้ามิลินว่าแยกไม่ออกดังนี้

ทุกข์..เกิดจาก → อุปกิเลส..เกิดจาก → วิตก-วิจาร(เกิดจากความคิด ความเห็น อันเป็นไปในความยึดมั่นถือมั่นสมมติทั้งปวง)..เกิดจาก → ฉันทะ..เกิดจาก → เวทนา → สัญญา (ความจดจำสำคัญมั่นหมายของใจต่ออารมณ์ไรๆ เช่น จำได้หมายรู้ว่าอาการนี้ๆ คือ สุข หรือ ทุกข์ คือ สิ่งไรๆ) → วิญญาณ..เกิดจาก → เกิดจากเจตนา (ความจงใจ ตั้งใจให้เป็นไปต่างๆนาๆ) → สัญญา (ความหมายรู้อารมณ์ คือ ไอ้ตัวที่เราเห็นว่ามันทำหน้าที่หวนระลึกจับเอาความจำในสิ่งที่รู้กระทบในตอนแรกๆว่ามันคืออะไร ซึ่งมันเกิดขึ้นเมื่อเรารู้ผัสสะแต่ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไรที่เวทนายังมีอาการเฉยๆอยู่ ซึ่งตอนแรกเราเข้าใจว่ามันคือเจตนาที่ทำหน้าหวนระลึกจงใจที่จะรู้ความจดจำบัญญัติสมมติในสิ่งนั้นๆ) → เวทนา → ผัสสะ → (วิญญาณ + อารมณ์)



ลำดับการกระทบ

(อารมณ์ + สฬายตนะ + วิญญาณ) → ผัสสะ → เวทนา(กลางๆ-ไม่สุขไม่ทุกข์) → สัญญา (ความหมายรู้อารมณ์ คือ ไอ้ตัวที่เราเห็นว่ามันทำหน้าที่หวนระลึกจับเอาความจำในสิ่งที่รู้กระทบในตอนแรกๆว่ามันคืออะไร ซึ่งมันเกิดขึ้นเมื่อเรารู้ผัสสะแต่ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไรที่เวทนายังมีอาการเฉยๆอยู่ ซึ่งตอนแรกเราเข้าใจว่ามันคือเจตนาที่ทำหน้าหวนระลึกจงใจที่จะรู้ความจดจำบัญญัติสมมติในสิ่งนั้นๆ)เวทนา → ฉันทะ → เวทนา → เจตนา (ความจงใจในอารมณ์) → วิญญาณ → สัญญา → จิตรู้สมมติ → ฉันทะ → สังขาร (มี วิตก-วิจาร เป็นต้น) → มนสิการ(มีลักษณะที่ "นึก"..น้อมไปในอารมณ์นั้นๆ) → อุปกิเลส → ทุกข์



ดับความคิด → ก็ดับโดยการไม่ยึดฉันทะ-ปฏิฆะ(ที่มีต่อตัวตนบุคคลใด สัตว์ใดๆ สิ่งใดๆ ที่รัก ที่โลภ ที่โกรธ ที่หลง)
ดับฉันทะ → ก็ดับโดยการไม่ยึดสัญญา
ดับสัญญา → ก็ให้ดับโดยการไม่ยึดเจตนา
ดับเจตา → ก็ให้ดับโดยการไม่ยึดเวทนา
ดับเวทนา → ก็ดับโดยการไม่ยึดผัสสะ
ดับผัสสะ → ก็ดับโดยการไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ (ไม่ยึดสมมติที่จิตรู้ ว่าเป็น ตัวตน บุคคลใด อารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง อดีต อนาคต)
ดับความรู้ของจิต → ก็ต้องให้จิตพัก



ก็ให้ดับโดยการไม่ยึดสมมติ ตัวตน บุคคลใด อารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง
(สมมติว่าเป็น ตัวตน บุคคลใด อารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง)

(อุบายว่า..ให้จิตรู้ว่าสิ่งใดที่จิตรู้ สิ่งนั้นล้วนแต่เป็นอดีตที่ผ่านมาแล้ว หรือไม่ก็ปรุงแต่งไรๆในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ล้วนเป็นสิ่งสมมติทั้งสิ้น ไม่มีปัจจุบัน ไม่มีของจริงเลย ของจริง คือ ลมหายใจเข้า-ออก ที่กำลังพัดเข้า-พัดออก ที่กำลังเป็นไปในกายนี้เท่านั้น รู้ลมหายใจก็รู้ของจริงในปัจจุบันขณะ)


๑. การไม่ยึดความคิด → ก็ให้ไม่ยึดในความปรุงแต่งในอดีต-อนาคต-สมมติไรๆ
๒. การไม่ยึดความปรุงแต่งทั้งในอดีต-อนาคต-สมมติไรๆ → ก็ให้ไม่ยึดในฉันทะ (ความจงใจในอารมณ์ทั้งหลาย)
๓. การไม่ยึดฉันทะการ → ก็ให้ไม่ยึดในเจตนา (ความพอใจยินดีในอารมณ์นั้น)
๔. การไม่ยึดเจตนา (ความพอใจยินดีในอารมณ์นั้น) → ก็ให้ไม่ยึดในสัญญา (ความจำได้หมายรู้อารมณ์)
๕. ความไม่ยึดสัญญา (ความจำได้หมายรู้อารมณ์) → ก็ให้ไม่ยึดในเวทนา
๖. การไม่ยึดเวทนา → ก็ให้สักแต่ว่ารู้ (ให้สักแต่ว่ารู้ในเวทนาว่า มันสุข มันทุกข์ หรือ กลางๆ มันก็แค่ปกติอาการของจิต แล้วก็วาง ไม่ยึดเอามาเป็นอารมณ์ที่ตั้งแห่งจิต)
๗. การสักแต่ว่ารู้ → ก็ให้ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้




(อุบายว่า..เพราะจิตรู้สิ่งใด สิ่งนั้นล้วนแต่เป็นสมมติกิเลสที่สร้างขึ้นมาหลอกให้จิตเสพย์ ทุกอย่างล้วแต่เป็นอดีตที่ล่วงไปแล้ว หรือไม่มันก็ปรุงแต่งอนาคตที่ยังมาไม่ถึง แค่จิตมันเข้าไปยึดเอาความรู้สมมติให้สิ่งนั้นๆมาเกิดตั้งอยู่ตรงหน้าเท่านั้น มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ยึดมันไปก็หาประโยชน์สุขไรๆไม่ได้นอกจากความเร่าร้อนเป็นทุกข์)
๑. ดับความคิด → ก็ให้ดับที่ฉันทะ
๒. ดับฉันทะ → ก็ให้ดับที่เจตนา
๓. ดับเจตนา → ก็ให้ดับที่เวทนา
๔. ดับเวทนา → ก็ให้ดับที่จิต




หลวงปู่บุญกู้สอนว่า กายใจเรามันแค่ขันธ์ ๕ ธาตุ ๖ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา

ที่เจ็บปวดขานั้น
อาศัยจิตเข้าไปรู้แล้วยึดมั่นในเวทนา กายมันแค่ธาตุดินมันไม่มีความรู้สึกอะไร เพราะอาศัยใจนี้แหละ ยึดเวทนามันจึงเจ็บปวด

ที่เจ็บปวดขานั้น
เพราะลมหายใจเราไม่ละเอียดพอ ดังนั้นให้ตั้งมั่นอยู่ที่ลมหายใจ จนลมหายใจละเอียดเราจะไม่ยังกายอีก






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 07, 2015, 04:51:53 PM

อนุปทวรรค
๑. อนุปทสูตร (๑๑๑)

            [๑๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถ
บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุ
ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว ฯ
             [๑๕๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรเป็น
บัณฑิต มีปัญญามาก มีปัญญากว้างขวาง มีปัญญาร่าเริง มีปัญญาว่องไว มีปัญญา
เฉียบแหลม มีปัญญาทำลายกิเลส ดูกรภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรเห็นแจ้งธรรมตาม
ลำดับบทได้เพียงกึ่งเดือน ในการเห็นแจ้งธรรมตามลำดับบทของสารีบุตรนั้น เป็น
ดังต่อไปนี้ ฯ
             [๑๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องนี้ สารีบุตรสงัดจากกาม สงัดจาก
อกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวก อยู่ ก็ธรรม
ในปฐมฌาน คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข จิตเตกัคคตา ผัสสะ เวทนา สัญญา
เจตนา วิญญาณ ฉันทะ อธิโมกข์ วิริยะ สติ อุเบกขา มนสิการ เป็นอัน
สารีบุตรกำหนดได้ตามลำดับบท เป็นอันสารีบุตรรู้แจ้งแล้ว ทั้งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่
และถึงความดับ เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า ด้วยประการนี้ เป็นอันว่า ธรรมที่ไม่มีแก่เรา
ย่อมมี ที่มีแล้ว ย่อมเสื่อมไป เธอไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่อาศัย ไม่
พัวพัน พ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้วในธรรมนั้นๆ มีใจอันกระทำให้ปราศจาก
เขตแดนได้แล้วอยู่ ย่อมรู้ชัดว่า ยังมีธรรมเครื่องสลัดออกยิ่งขึ้นไปอยู่ และมี
ความเห็นต่อไปว่า ผู้ที่ทำเครื่องสลัดออกนั้นให้มาก ก็มีอยู่ ฯ
             [๑๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก สารีบุตรเข้าทุติยฌาน
มีความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะสงบวิตกและวิจาร
ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ อยู่ ก็ธรรมในทุติยฌาน คือ
ความผ่องใสแห่งใจภายใน ปีติ สุข จิตเตกัคคตา ผัสสะ เวทนา สัญญา
เจตนา วิญญาณ ฉันทะ อธิโมกข์ วิริยะ สติ อุเบกขา มนสิการ เป็นอัน
สารีบุตรกำหนดได้ตามลำดับบท เป็นอันสารีบุตรรู้แจ้งแล้ว ทั้งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่
และถึงความดับ เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า ด้วยประการนี้ เป็นอันว่า ธรรมที่ไม่มีแก่เรา
ย่อมมี ที่มีแล้ว ย่อมเสื่อมไป เธอไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่อาศัย ไม่
พัวพัน พ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้วในธรรมนั้นๆ มีใจอันกระทำให้ปราศจาก
เขตแดนได้แล้วอยู่ ย่อมรู้ชัดว่า ยังมีธรรมเครื่องสลัดออกยิ่งขึ้นไปอยู่ และมี
ความเห็นต่อไปว่า ผู้ที่ทำเครื่องสลัดออกนั้นให้มาก ก็มีอยู่ ฯ
             [๑๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก สารีบุตรเป็นผู้วางเฉย
เพราะหน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าตติยฌานที่
พระอริยะเรียกเธอได้ว่า ผู้วางเฉย มีสติ อยู่ เป็นสุข อยู่ ก็ธรรมในตติยฌาน
คือ อุเบกขา สุข สติ สัมปชัญญะ จิตเตกัคคตา ผัสสะ เวทนา สัญญา
เจตนา วิญญาณ ฉันทะ อธิโมกข์ วิริยะ สติ อุเบกขา มนสิการ เป็นอัน
สารีบุตรกำหนดได้ตามลำดับบท เป็นอันสารีบุตรรู้แจ้งแล้ว ทั้งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่
และถึงความดับ เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า ด้วยประการนี้ เป็นอันว่าธรรมที่ไม่มีแก่เรา
ย่อมมี ที่มีแล้ว ย่อมเสื่อมไป เธอไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่อาศัย ไม่
พัวพัน พ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้วในธรรมนั้นๆ มีใจอันกระทำให้ปราศจาก
เขตแดนได้แล้วอยู่ ย่อมรู้ชัดว่า ยังมีธรรมเครื่องสลัดออกยิ่งขึ้นไปอยู่ และมี
ความเห็นต่อไปว่า ผู้ที่ทำเครื่องสลัดออกนั้นให้มาก ก็มีอยู่ ฯ
             [๑๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก สารีบุตรเข้าจตุตถฌาน
อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ
ได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา อยู่ ก็ธรรมในจตุตถฌาน คือ อุเบกขา
อทุกขมสุขเวทนา ความไม่คำนึงแห่งใจ เพราะบริสุทธิ์แล้ว สติบริสุทธิ์ จิตเต-
*กัคคตา ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา วิญญาณ ฉันทะ อธิโมกข์ วิริยะ
สติ อุเบกขา มนสิการ เป็นอันสารีบุตรกำหนดได้ตามลำดับบท เป็นอันสารีบุตร
รู้แจ้งแล้ว ทั้งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และถึงความดับ เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า ด้วยประการนี้
เป็นอันว่า ธรรมที่ไม่มีแก่เรา ย่อมมี ที่มีแล้ว ย่อมเสื่อมไป เธอไม่ยินดี
ไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่อาศัย ไม่พัวพัน พ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้วในธรรม
นั้นๆ มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่ ย่อมรู้ชัดว่า ยังมีธรรม
เครื่องสลัดออกยิ่งขึ้นไปอยู่ และมีความเห็นต่อไปว่า ผู้ที่ทำเครื่องสลัดออกนั้น
ให้มาก ก็มีอยู่ ฯ
             [๑๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก สารีบุตรเข้าอากาสานัญ-
*จายตนฌานด้วยมนสิการว่า อากาศไม่มีที่สุด อยู่ เพราะล่วงรูปสัญญาได้โดย
ประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญาได้ เพราะไม่มนสิการนานัตตสัญญา ก็ธรรม
ในอากาสานัญจายตนฌาน คือ อากาสานัญจายตนสัญญา จิตเตกัคคตา ผัสสะ
เวทนา สัญญา เจตนา วิญญาณ ฉันทะ อธิโมกข์ วิริยะ สติ อุเบกขา
มนสิการ เป็นอันสารีบุตรกำหนดได้ตามลำดับบท เป็นอันสารีบุตรรู้แจ้งแล้ว
ทั้งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และถึงความดับ เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า ด้วยประการนี้ เป็นอันว่า
ธรรมที่ไม่มีแก่เรา ย่อมมี ที่มีแล้ว ย่อมเสื่อมไป เธอไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อัน
กิเลสไม่อาศัย ไม่พัวพัน พ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้วในธรรมนั้นๆ มีใจอัน
กระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่ ย่อมรู้ชัดว่า ยังมีธรรมเครื่องสลัดออกยิ่ง
ขึ้นไปอยู่ และมีความเห็นต่อไปว่า ผู้ที่ทำเครื่องสลัดออกนั้นให้มาก ก็มีอยู่ ฯ
             [๑๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก สารีบุตรล่วงอากาสา-
*นัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าวิญญาณัญจายตนฌานด้วยมนสิการว่า
วิญญาณไม่มีที่สุด อยู่ ก็ธรรมในวิญญาณัญจายตนฌาน คือ วิญญาณัญจายตน-
*ฌาน จิตเตกัคคตา ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา วิญญาณ ฉันทะ อธิโมกข์
วิริยะ สติ อุเบกขา มนสิการ เป็นอันสารีบุตรกำหนดได้ตามลำดับบท เป็นอัน
สารีบุตรรู้แจ้งแล้ว ทั้งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และถึงความดับ เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า
ด้วยประการนี้ เป็นอันว่า ธรรมที่ไม่มีแก่เรา ย่อมมี ที่มีแล้ว ย่อมเสื่อมไป
เธอไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่อาศัย ไม่พัวพัน พ้นวิเศษแล้ว พรากได้
แล้วในธรรมนั้นๆ มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่ ย่อมรู้ชัดว่า
ยังมีธรรมเครื่องสลัดออกยิ่งขึ้นไปอยู่ และมีความเห็นต่อไปว่า ผู้ที่ทำเครื่องสลัด
ออกนั้นให้มาก ก็มีอยู่ ฯ
             [๑๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก สารีบุตรล่วงวิญญาณัญ-
*จายตนฌานโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าอากิญจัญญายตนฌานด้วยมนสิการว่า ไม่
มีอะไรสักน้อยหนึ่ง อยู่ ก็ธรรมในอากิญจัญญายตนฌาน คือ อากิญจัญญายตน
ฌาน จิตเตกัคคตา ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา วิญญาณ ฉันทะ อธิโมกข์
วิริยะ สติ อุเบกขา มนสิการ เป็นอันสารีบุตรกำหนดได้ตามลำดับบท เป็นอัน
สารีบุตรรู้แจ้งแล้ว ทั้งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และถึงความดับ เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า
ด้วยประการนี้ เป็นอันว่าธรรมที่ไม่มีแก่เรา ย่อมมี ที่มีแล้ว ย่อมเสื่อมไป
เธอไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่อาศัย ไม่พัวพัน พ้นวิเศษแล้ว พรากได้
แล้วในธรรมนั้นๆ มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่ ย่อมรู้ชัดว่า
ยังมีธรรมเครื่องสลัดออกยิ่งขึ้นไปอยู่ และมีความเห็นต่อไปว่า ผู้ที่ทำเครื่องสลัด
ออกนั้นให้มาก ก็มีอยู่ ฯ
             [๑๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก สารีบุตรล่วงอากิญจัญ-
*ญายตนฌานโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ เธอเป็น
ผู้มีสติออกจากสมาบัตินั้น ครั้นแล้ว พิจารณาเห็นธรรมที่ล่วงแล้ว ดับแล้ว
แปรปรวนไปแล้วว่า ด้วยประการนี้ เป็นอันว่า ธรรมที่ไม่มีแก่เรา ย่อมมี ที่มีแล้ว
ย่อมเสื่อมไป เธอไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่อาศัย ไม่พัวพัน พ้นวิเศษ
แล้ว พรากได้แล้วในธรรมนั้นๆ มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่
ย่อมรู้ชัดว่า ยังมีธรรมเครื่องสลัดออกยิ่งขึ้นไปอยู่ และมีความเห็นต่อไปว่า ผู้ที่
ทำเครื่องสลัดออกนั้นให้มาก ก็มีอยู่ ฯ
             [๑๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก สารีบุตรล่วงเนวสัญญา
นาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ เพราะเห็น
ด้วยปัญญา อาสวะของเธอจึงเป็นอันสิ้นไป เธอย่อมมีสติออกจากสมาบัตินั้น ครั้น
แล้วย่อมพิจารณาเห็นธรรมที่ล่วงแล้ว ดับแล้ว แปรปรวนไปแล้วว่า ด้วยประการ
นี้ เป็นอันว่า ธรรมที่ไม่มีแก่เรา ย่อมมี ที่มีแล้ว ย่อมเสื่อมไป เธอไม่ยินดี
ไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่อาศัย ไม่พัวพัน พ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้วในธรรมนั้นๆ
มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่ ย่อมรู้ชัดว่า ยังมีธรรมเครื่องสลัด
ออกยิ่งขึ้นไปอยู่ และมีความเห็นต่อไปว่า ผู้ที่ทำเครื่องสลัดออกนั้นให้มากก็มีอยู่ ฯ
             [๑๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้กล่าวชอบ พึงกล่าวชมภิกษุรูปใดว่า เป็น
ผู้ถึงความชำนาญ ถึงความสำเร็จในอริยศีล ในอริยสมาธิ ในอริยปัญญา ใน
อริยวิมุติ ภิกษุรูปนั้นคือ สารีบุตรนั่นเอง ผู้ที่กล่าวชอบ พึงกล่าวชมว่า เป็นผู้
ถึงความชำนาญ ถึงความสำเร็จในอริยศีล ในอริยสมาธิ ในอริยปัญญา ใน
อริยวิมุติ ฯ
             [๑๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้กล่าวชอบ พึงกล่าวชมภิกษุรูปใดว่า เป็นบุตร
เป็นโอรสของพระผู้มีพระภาค เกิดแต่พระโอฐของพระผู้มีพระภาค เกิดแต่ธรรม
อันธรรมเนรมิต เป็นธรรมทายาท ไม่ใช่เป็นทายาทของอามิส ภิกษุรูปนั้นคือสารีบุตร
นั่นเอง ที่ผู้กล่าวชอบ พึงกล่าวชมว่า เป็นบุตรเป็นโอรสของพระผู้มีพระภาค
เกิดแต่พระโอฐของพระผู้มีพระภาค เกิดแต่ธรรม อันธรรมเนรมิต เป็นธรรม
ทายาท ไม่ใช่เป็นทายาทของอามิส ดูกรภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรย่อมประกาศ
ธรรมจักร อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าที่ตถาคตให้เป็นไปแล้ว ไปตามลำดับโดยชอบ
ทีเดียว ฯ
             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค แล ฯ

จบ อนุปทสูตร ที่ ๑
-----------------------------------------------------




             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  บรรทัดที่ ๒๓๒๔ - ๒๔๔๔.  หน้าที่  ๙๙ - ๑๐๓.
 http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=2324&Z=2444&pagebreak=0 (http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=2324&Z=2444&pagebreak=0)
             ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=153 (http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=153)
             ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย ได้ที่ :-
[153-165] http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali.php?B=14&A=153&Z=165 (http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali.php?B=14&A=153&Z=165)
             สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔
http://www.84000.org/tipitaka/read/? (http://www.84000.org/tipitaka/read/?)สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๑๔
http://www.84000.org/tipitaka/read/?index_14 (http://www.84000.org/tipitaka/read/?index_14)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 10, 2015, 09:05:42 PM

ความรักของหญิงสาวที่มีต่อท่านพระอานนท์(จบ)

แลแล้วพระอานนท์ก็กล่าวว่า "น้องหญิง! ชีวิตนี้เริ่มต้นด้วยเรื่องที่น่าละอาย ทรงตัวอยู่ด้วยเรื่องที่ยุ่งยากสับสน และจบลงด้วยเรื่องเศร้า อนึ่งชีวิตนี้เริ่มต้นและจบลงด้วยเสียงคร่ำครวญ เมื่อลืมตาขึ้นดูโลกนี้เป็นครั้งแรกเราก็ร้องไห้ และเมื่อจะหลับตาลาโลกเราก็ร้องไห้อีก หรืออย่างน้อยก็เป็นสาเหตุให้คนอื่นหลั่งน้ำตา เด็กร้องไห้พร้อมด้วยกำมือแน่นเป็นสัญญลักษณ์ว่าเขาเกิดมาเพื่อจะหน่วงเหนี่ยวยึดถือ แต่เมื่อจะหลับตานั้นทุกคนแบมือออก เหมือนจะเตือนให้ผู้อยู่เบื้องหลังสำนึก และเป็นพยานว่าเขามิได้เอาอะไรไปเลย

"น้องหญิง! อาตมาขอเล่าเรื่องส่วนตัวให้ฟังสักเล็กน้อย อาตมาเกิดแล้วในศากยวงศ์อันมีศักดิ์ ซึ่งเป็นที่เลื่องลือว่าบริสุทธิ์ยิ่งในเรื่องตระกูล อาตมาเป็นอนุชาแห่งพระบรมศาสดา และออกบวชติดตามพระองค์เมื่ออายุได้ ๓๖ ปี ราชกุมารผู้มีอายุถึง ๓๖ ปีที่ยังมีดวงใจผ่องแผ้วไม่เคยผ่านเรื่องรักๆ ใคร่ๆ มาเลยนั้นเป็นบุคคลที่หาได้ยากในโลก หรืออาจจะหาไม่ได้เลยก็ได้ น้องหญิงอย่านึกว่า อาตมาจะเป็นคนวิเศษเลิศลอยกว่าราชกุมารทั้งหลาย อาตมาเคยผ่านความรักมาและประจักษ์ว่า ความรักเป็นความร้าย ความรักเป็นสิ่งทารุณและเป็นเครื่องทำลายความสุขของปวงชน อาตมากลัวต่อความรักนั้น

ทุกคนต้องการความสมหวังในชีวิตรัก แต่ความรักไม่เคยให้ความสมหวังแก่ใครถึงครึ่งหนึ่งแห่งความต้องการ ยิ่งความรักที่ฉาบทาด้วยความเสน่หาด้วยแล้วจะเป็นพิษแก่จิตใจ ทำให้ทุรนทุรายดิ้นรนไม่รู้จักจบสิ้น ความสุขที่เกิดจากความรักนั้นเหมือนความสบายของคนป่วยที่ได้กินของแสลง เธออย่าพอใจในเรื่องความรักเลย เมื่อหัวใจถูกลูบไล้ด้วยความรัก หัวใจนั้นจะสร้างความหวังขึ้นอย่างเจิดจ้า แต่ทุกครั้งที่เราหวังความผิดหวังก็จะรอเราอยู่

น้องหญิง! อย่าหวังอะไรให้มากนัก จงมองดูชีวิตอย่างผู้ช่ำชอง อย่าวิตกกังวลอะไรล่วงหน้า ชีวิตนี้เหมือนเกลียวคลื่นซึ่งก่อตัวขึ้นแล้วม้วนเข้าหาฝั่งและแตกกระจายเป็นฟองฝอย จงยืนมองดูชีวิตเหมือนคนผู้ยืนอยู่บนฝั่งมองดูเกลียวคลื่นในมหาสมุทรฉะนั้น

"โกกิลาเอย! เมื่อความรักเกิดขึ้น ความละอายและความเกรงกลัวในสิ่งที่ควรกลัวก็พลันสิ้นไป เหมือนก้อนเมฆมหึมา เคลื่อนตัวเข้าบดบังดวงจันทร์ให้อับแสง ธรรมดาสตรีนั้นควรจะยอมตายเพราะความละอาย แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้นความละอายมักจะตายไปก่อนเสมอ เมื่อความใคร่เกิดขึ้นความละอายก็หลบหน้า เพราะเหตุนี้พระบรมศาสดาจึงตรัสว่าความใคร่ทำให้คนมืดบอด อนึ่งโลกมนุษย์ของเรานี้ เต็มไปด้วยชีวิตอันประหลาดพิสดารต่างชนิดและต่างรส ชีวิตของแต่ละคนได้ผ่านมาและผ่านไป ด้วยความระกำลำบากทุกข์ทรมาน ถ้าชีวิตมีความสุขก็เป็นความหวาดเสียวที่จะต้องจากชีวิตอันรื่นรมย์นั้นไป

"โกกิลาเอย! มนุษย์ทั้งหลายผู้ยังมีอวิชชาเป็นฝ้าบังปัญญาจักษุนั้น เป็นเสมือนทารกน้อยผู้หลงเข้าไปในป่าใหญ่อันรกทึบซึ่งเต็มไปด้วยอันตรายอันน่าหวาดเสียวและว้าเหว่เงียบเหงา มนุษย์ส่วนใหญ่แม้จะร่าเริงแจ่มใสอยู่ในหมู่ญาติและเพื่อนฝูง แต่ใครเล่าจะทราบว่าในส่วนลึกแห่งหัวใจเขาจะว้าเหว่ และเงียบเหงาสักปานใดแทบทุกคนว้าเหว่ไม่แน่ใจว่าจะยึดเอาอะไรเป็นหลักของชีวิตที่แน่นอน เธอปรารถนาจะเป็นอย่างนั้นด้วยหรือ?

"น้องหญิง! บัดนี้เธอมีธรรมเป็นเกาะที่พึ่งแล้วจงยึดธรรมเป็นที่พึ่งต่อไปเถิด อย่าหวังอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย โดยเฉพาะความรักความเสน่หาไม่เคยเป็นที่พึ่งจริงจังให้แก่ใครได้ มันเป็นเสมือนตอที่ผุ จะล้มลงทันทีเมื่อถูกคลื่นซัดสาด

"ธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าเขาจะอยู่ในเพศใดภาวะใด การกระทำที่นึกขึ้นภายหลังแล้วต้องเสียใจนั้น พระศาสดาทรงสอนให้เว้นเสีย เพราะฉะนั้นแม้จะประสบปัญหาหัวใจ หรือได้รับความทุกข์ยากลำบากสักปานใด ก็ต้องไม่ทิ้งธรรม มนุษย์ที่ยังมีอาสวะอยู่ในใจนั้น ย่อมจะมีวันพลั้งเผลอประพฤติผิดธรรมไปบ้าง เพราะยังมีสติไม่สมบูรณ์ แต่เมื่อได้สติในภายหลังแล้ว ก็ควรตั้งใจประพฤติธรรมสั่งสมความดีกันใหม่ ยิ่งพวกเรานักบวชด้วยแล้วจำเป็นต้องมีอุดมคติ การตายด้วยอุดมคตินั้นมีค่ากว่าการเป็นอยู่โดยไร้อุดมคติ

"น้องหญิง! ธรรมดาว่าไม้จันทร์นั้น แม้จะแห้งก็ไม่ทิ้งกลิ่น อัศวินก้าวลงสู่สงครามก็ไม่ทิ้งลีลา อ้อยแม้เข้าสู่ที่บดยนต์แล้วก็ไม่ทิ้งรสหวาน บัณฑิตแม้ประสบทุกข์ก็ไม่ทิ้งธรรม พระศาสดาทรงย้ำว่าพึงสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อรักษาธรรม

"โกกิลาเอย! เธอได้สละเพศฆราวาสมาแล้ว ซึ่งเป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ยากที่ใครๆ จะสละได้ ขอให้เธอเสียสละต่อไปเถิด และสละให้ลึกกว่านั้น คือไม่สละแต่เพียงเพศอย่างเดียว แต่จงสละความรู้สึกอันจะเป็นข้าศึกต่อเพศเสียด้วย เธอเคยฟังสุภาษิตอันกินใจยิ่งมาแล้วมิใช่หรือ ในคนร้อยคนหาคนกล้าได้หนึ่งคน ในคนพันคนหาคนเป็นบัณฑิตได้หนึ่งคน ในคนแสนคนหาคนพูดจริงได้เพียงหนึ่งคน ส่วนคนที่เสียสละได้ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่รู้ว่าจะมีหรือไม่ คือไม่ทราบจะคำนวณเอาจากคนจำนวนเท่าใดจึงจะเฟ้นได้หนึ่งคน สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นนักเสียสละตัวอย่างของโลก เคยมีกษัตริย์องค์ใดบ้างทำได้เหมือนพระพุทธองค์ ยอมเสียสละความสุขความเพลินใจทุกอย่างที่ชาวโลกปองหมายมาอยู่กลางดินกลางทราย ก็เพื่อทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่มนุษยชาติ การเสียสละของพวกเรา เมื่อนำไปเทียบกับการเสียสละของพระบรมศาสดาแล้ว ของเราช่างเล็กน้อยเสียนี่กระไร

"น้องหญิง! พระศาสดาตรัสว่าบุคคลอาจอาศัยตัณหาละตัณหาได้ อาจอาศัยมานะละมานะได้ อาจอาศัยอาหารละอาหารได้ แต่เมถุนธรรมนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้ชักสะพานเสีย คืออย่าทอดสะพานเข้าไปเพราะอาศัยละไม่ได้"

"ข้อว่าอาศัยอาหารละอาหารนั้น คือละความพอใจในรสของอาหาร จริงอยู่สัตว์โลกทั้งมวลดำรงชีพอยู่ได้เพราะอาหาร ข้อนี้พระศาสดาก็ตรัสไว้ แต่มนุษย์และสัตว์เป็นอันมากติดข้องอยู่ในรสแห่งอาหาร จนต้องกระเสือกกระสนกระวนกระวาย และต้องทำชั่วเพราะรสแห่งอาหารนั้น ที่ว่าอาศัยอาหารละอาหารนั้นคืออาศัยอาหารละความพอใจในรสแห่งอาหารนั้น บริโภคเพียงเพื่อยังชีวิตให้ชีวิตนี้เป็นไปได้เท่านั้น เหมือนคนเดินทางข้ามทะเลทราย เสบียงอาหารหมด และบังเอิญลูกน้อยตายลงเพราะหิวโหย เขาจำใจต้องกินเนื้อบุตรเพียงเพื่อให้ข้ามทะเลทรายได้เท่านั้น หาติดในรสแห่งเนื้อบุตรไม่"

"ข้อว่าอาศัยตัณหาละตัณหานั้น คือเมื่อทราบว่า ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ชื่อโน้นได้สำเร็จเป็นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี หรืออรหันต์ ก็มีความทะยานอยากที่จะเป็นบ้าง เพื่อพยายามจนได้เป็นแล้ว ความทะยานอยากอันนั้นก็หายไป อย่างนี้เรียกว่าอาศัยตัณหาละตัณหา"

"ข้อว่าอาศัยมานะละมานะนั้น คือเมื่อได้ยินได้ฟังภิกษุหรือภิกษุณี หรืออุบาสกอุบาสิกา ชื่อโน้นได้สำเร็จเป็นโสดาบันเป็นต้น ก็มีมานะขึ้นว่าเขาสามารถทำได้ ทำไมเราซึ่งเป็นมนุษย์และมีอวัยวะทุกส่วนเหมือนเขาจะทำไม่ได้บ้าง จึงพยายามทำความเพียร เผากิเลสจนได้บรรลุโสดาปัตติผลบ้าง อรหัตตผลบ้าง อย่างนี้เรียกว่าอาศัยมานะละมานะ เพราะเมื่อบรรลุแล้วมานะนั้นย่อมไม่มีอีก"

"ดูก่อนน้องหญิง! ส่วนเมถุนธรรมนั้น ใครๆ จะอาศัยละมิได้เลย นอกจากจะพิจารณาเห็นโทษของมันแล้วเลิกละเสีย ห้ามใจมิให้เลื่อนไหลไปยินดีในกามสุขเช่นนั้น น้องหญิง! พระศาสดาตรัสว่า กามคุณนั้นเป็นของไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน มีสุขน้อยแต่มีทุกข์มาก มีโทษมากมีความคับแค้นเป็นมูล มีทุกข์เป็นผล"


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 11, 2015, 01:24:02 PM

บันทึกกรรมฐาน วันที่ 8 สิงหาคม 2558 # ๑

๑. ให้มองเห็นดั่ง บุพการี ญาติ มิตร บุตร บุคคลอันเป็นที่รักที่หวงแหน

   - คือ..ทำไว้ในใจโดย พรหมวิหาร ๔ ทาน เข้าถึงศีล ได้แก่
ก. เมตตา ให้ทำไว้ในใจความรู้สึกเหล่าใดอันเป็นกุศลดีงามที่มีต่อเขาประดุจบุคคลอันเป็นที่รัก ที่เคารพ ที่ปารถนาดี มีความเอ็นดู ปรานี ของเรา (กุศล แปลว่า ความฉลาด) มีกุศลมากก็ฉลาดมาก ฉลาดในการปล่อยวางและปลงใจ มีความน้อมไปในการสละคืนอกุศลธรรม มีอกุศลวิตกเป็นต้น น้อมไปในการสละให้ ให้เกียรติ เคารพ ให้กุศลจิต กุศลกรรม กุศลธรรมอันงาม แก่เขา ไม่ตั้งอยู่ในอกุศลธรรมอันเบียดเบียนเขาแม้ กายก็ดี วาจาก็ดี ใจก็ดี ด้วยความเอ็นดูปรานีเสมอด้วยตน
[ตั้งในความสงบ อิ่มเอม สุข ด้วยความเอ็นดู ปรานี ปารถนาดี แทรกไปทั่วทุกอณูธาตุประดุจอากาศที่มีแทรกอยู่ในทุกธาตุไม่เลือกที่รักมักที่ชัง อยู่ในความไม่ยินดี ยินร้ายต่อสิ่งใด บุคคลใดทั้งสิ้น (หากถึงขณิกสมาธิก็ได้กุศลจิตและได้ศีลบริสุทธิ์ ขณิกสมาธิ ขณิกปิตินี้แหละนำมาซึ่งศีลอันเป็นกุศล, หากถึงอุปจาระสมาธิได้เมตตาที่ตั้งมั่นอันสงบใจจากกิเลสนิวรณ์ อันมีเมตตาเป็นฐาน ไม่มีทั้งที่รัก ที่ชัง มีแต่ความเอ็นดูปรานี ปารถนาดีแผ่ไปให้ทั่ว ไม่ลำเอียงเลือกที่รักมักที่ชัง มีความเสมอกันหมด, หากถึงอัปปนาสมาธิได้เมตตาฌาณสละคืนอกุศลทั้งปวง ตั้งอยู่ในความปารถนาดีไปทั่ว ๓ โลก ไม่ลำเอียง ไม่มีรัก ไม่มีเกลียด มีสุภวิโมกข์เป็นผล)]
ข. กรุณา ให้ทำไว้ในใจถึงความมีจิตสงเคราะห์ ตั้งมั่นในใจส่าเราจักเป็นผู้อนุเคราะห์แบ่งปัน เอื้อเฟื้อต่อสิ่งทั้งปวง น้อมไปในกุศลกรรมทาง กาย วาจา ใจ อันเป็นไปเพื่อความอันสละให้
[ตั้งจิตไว้ไม่ยึดด้วยกาย ละความยินดีด้วยกายแผ่ไปประดุจอากาศที่ว่างอันกว้างไม่มีสิ้นสุดแผ่คลุมไปไม่มีประมาณประดุจดั่งอากาศที่ว่างกว้างไปทั่วไม่มีประมาณนั้น หรืออุบายที่หมายเอาว่าอากาศเป็นที่ว่างซึ่งมีอยู่ในทุกที่ มีแทรกในทุกธาตุ มีที่ว่างอยู่ทั่วเป็นอันมากไม่มีประมาณ หากเทียบดูแล้วอากาศธาตุกับธาตุทั้งปวงทั่วทั้งโลกทั้งจักวาลนี้ จะมีอากาศเป็นที่สุด เป็นที่ว่างกว้างไปมีเป็นอันมากหาประมาณไม่ได้  เอาจิตจับที่ความว่างประดุจอากาศธาตุอันเป็นที่ว่างมีมากไม่มีประมาณนั้น(หากถึงขณิกสมาธิได้กุศลทานบริสุทธิ์, หากถึงอุปจาระสมาธิได้จิตที่สงเคราะห์สละให้แผ่ไปไม่มีประมาณปราศจากนิวรณ์น้อมไปในการไม่ตั้งอยู่จำเพาะกาย, หากได้อัปปนาสมาธิทำให้จิตสงัดจากกามถึงความไม่ตั้งอยู่ด้วยกาย ไม่ยินดีด้วยความสำคัญมั่นหมายของใจไว้ที่กาย เข้าในอรูปฌาณ อันมีอากาศเป็นที่ตั้งได้)]
ค. มุทิตา ให้ทำไว้ในใจถึงความยินดี เป็นสุขไปกับเขาเมื่อเขาพ้นจากทุกข์ประสบสุข คงไว้ซึ่งกุศลดีงามและสิ่งอันเป็นที่รักที่มีค่าแก่ของเขา เหมือนบุลคลที่เรารักให้ความสำคัญใจคงไว้ซึ่งความสุขของเขาฉันนั้น หรืออุบายว่าความอิ่มเอมเป็นสุขนี้มีอยู่ที่ใจ จะสุขได้ก็ด้วยใจนี้แหละ แลเวทำใจไว้ตั้งอยู่ที่ใจ จับสุขที่ใจนั้น [ทำไว้ในใจตั้งมั่นจับอยู่ที่วิญญาณอันตั้งอยู่แต่ความอิ่มเอมสุขยินดีอันปราศจากอกุศลธรรมความอิสสาริษยาทั้งปวงต่อเขาทั้งหลาย (หากได้ขณิกสมาธิกขาดจากความอิสสาริษยาในขณะนั้นมีจิตอันยินดีประกอบไปด้วยสุขแห่งกุศล,  หากได้อุปจาระสมาธิมีความอิ่มใจเป็นสุขด้วยกุศลปราศจากนิวรณ์ มีจิตน้อมจับจำเพาะจิตอันอิ่มเอมสุขแผ่ไปให้เขา(บ้างเกิดนิมิตเห็นจิตมีใจน้อมยึดที่จิตที่ผ่องใสนั้นเป็นอารมณ์), หากได้อัปปนาสมาธิ ย่อมเห็นว่าสุขนี้เกิดขึ้นที่ใจ จิตตั้งอยู่ที่ใจไม่เนื่องด้วยกาย ถึงวิญญานัญจายตนะ มีวิญญาณเป็นอารมณ์อันเป็นสุขที่มากไม่มีประมาณอยู่จับอยู่วิญญาณ)]
ง. อุเบกขา ให้ทำใจไว้ว่า เราตั้งอยู่ด้วยความกุศลอันปารถนาดี มีความทำในการสงเคราะห์ ยินดีที่เขาเป็นสุขแล้ว เขาจะทำอย่างไรต่อไปก็อยู่ที่กรรมของเขา เรามีกรรมเป็นของๆตน มีกรรมเป็นผล เป็นืี่ติดตามอาศัย ไม่ว่าเขาหรือเราจะสุขหรือทุกข์ต่างอยู่ที่กรรมในปัจจุบันและวิบากกรรมอันสะสมมา ติดข้องใจสิ่งไรๆไปก็ไม่เกิดประโยชน์สุขอันใดนอกจากทุกข์ หรืออุบายว่าจะสุขจะทุกข์ก็เนื่องอยู่ด้วยใจ รู้ ได้ด้วยวิญญาณ ความเนื่องอยู่ด้วยใจย่อมเป็นทุกข์ ตั้งมั่นในความสละคืนสังขารธรรมทั้งปวง(ขันธ์ ๕, ธาตุ ๖) วางจิตไว้ปลงจิตให้ไม่ยึดไม่จับเอาสิ่งใดอีก หรืออุบายว่าด้วยวิชาธาตุคืออากาศ(ความว่าง) มีมากในใจ ความไม่มีสุขไม่มีทุกข์ไม่มีความยินดียินร้ายคือความว่างที่มีอยู่ในใจ ตั้งมั่นว่าใจนี้ประดุจเป็นอากาศที่ว่างไม่มีความยินดียินร้ายแผ่ไปทั่วไม่มีประมาณ [ทำไว้ในใจตั้งอยู่ด้วยความไม่ยึดจับเอาสิ่งใดๆเลยทั้งสิ้น (หากได้ขณิกสมาธิ ย่อมได้ความสงบใจอันตั้งอยู่ด้วยกุศล มีวูบหรึ่งเกอดขึ้นด้วยขณิกปิติที่อิ่มใจด้วยความสงบนั้น มีความผ่องใสเบาๆ จิตจับที่ลมหายใจเอง ลมหายใจละเอียดขึ้นไม่สุขไม่ทุกข์อีก, หากได้อุปจาระสมาธิจะมีจิตอันปราศจากนิวรณ์ไม่ยึดจับเอาสิ่งใดทั้งสิ้น มีแต่ใจที่เสพย์ว่างอยู่ด้วยกุศลแผ่ไปทั่วไม่ว่าจะมีสิ่งใดเกิดขึ้นมักก็สักแต่รู้ไม่ยึดไม่เสพย์เกิดความเป็นผู้แลอยู่ได้ ไม่ยึดเอากายหรือสิ่งที่จิตรู้อีก, หากได้อัปปนาสมาธิเข้าถึงอากิญจัญญายตนะ ไม่มีกาย ไม่มีใจ มีแต่ความว่าง ความไม่ยึด ไม่ตั้งเอาสิ่งไรๆทั้งสิ้น]



๒. ปฏิกูลสัญญา หรืออาการทั้ง ๓๒ ประการ (ม้างกาย)

  - คือ..ทำไว้ในใจโดย เริ่มจากเห็นเป็นปฏิกูลสัญญาของน่าเกลียดเน่าเหม็น จนม้างกายออกทีละชิ้นๆ ทีละอาการถอดออกมาเริ่มจาก ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ลอกออกมาจนไม่เหลือกระดูก จนไม่เห็นมีตัวตนบุคคลใดเราหรือเขาในนั้น ในนั้นไม่มีตัวตนบุคคลใดที่เป็นเราเป็นเขา ก็สักแต่ว่าอาการหนึ่งๆอวัยวะอันเน่าเหม็นทั้งปวงเกากุมกันขึ้นเป็นกลุ่มก้อนเท่านั้น เป็นแค่ก้อนธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศที่มีแทรกทั่วในกลุ่มธาตุที่เกาะกุมกันนั้น ไม่มีตัวตนบุคคลใดของใครทั้งสิ้น ไม่ใช่เขาไม่ใช่เรา ไม่มีเขาไม่มีเรา ไม่ใช่ของเขาไม่ใช่ของเรา สักแต่ว่าอวัยวะทั้ง ๓๒ ประการ อันเป็นธาตุ ๕ เหล่านั้นเกาะกุมกันเกิดขึ้น อาศัยวิญญาณะาตุเข้าไปครอง ให้ธาตุเหล่านั้นมีใจครองเท่านั้น ไม่มีสิ่งใดเลยนอกจากธาตุ อันมีความเสื่อมเป็นธรรมดาไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน ไม่มีตัวตนบุคลใดเป็นเราหรือเขาในนั้นทั้งสิ้น ควรไหมหนอจะติดใจปารถนาเอาในสิ่งที่ไม่ใช่เขาไม่ใช่เรา ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ย่อมหาประโยชน์สุขใดๆไม่ได้นอกจากทุกข์ เป็นแต่ที่ประชุมทุกข์เท่านั้น

การม้างกายดูได้จากที่พระนาคเสนถามตอบปัญหากับพระเจ้ามิลินตาม Link นี้
http://www.dharma-gateway.com/dhamma/dhamma-25-01.htm (http://www.dharma-gateway.com/dhamma/dhamma-25-01.htm)





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 12, 2015, 10:10:57 PM

บันทึกกรรมฐาน วันที่ 8 สิงหาคม 2558 # ๒

๓. อินทรีย์สังวรณ์ มีสติปัฏฐาน ๔ เป็นเบื้องหน้าตั้งอยู่ในความสำรวมระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่กัยปัจจุบัน

   - คือ..ทำไว้ในใจโดย ไม่คิดไม่ยึดไม่ถือเอาความเข้าไปมองด้วยสัญญาในส่วนเล็กส่วนน้อยคืออนุพยัญชนะที่ตนสำคัญใจอันเป็นไปในสมมติกิเลสทางกามเมถุนมาเป็นที่ตั้งแห่งใจ ไม่ตรึกนึกคิดเอากิเลสสมมติสืบต่อ

- เห็น ก็สักแต่ว่าเห็น (เขาก็อยู่อย่างนั้นของเขามีอิริยาบถอยู่อย่างนั้นๆเท่านั้นแต่เรานี่ติดสมมติมาตรึกนึกคิดต่อจนเกิดความอยาก ก็เข้าไปมองในส่วนเล็กส่วนน้อยดูนม ดูตูด ดูเรียวขา ดูหุ่น ดูใบหน้า ตรึกถึงถึงอวัยวะเพศเขาบ้าง ตรึกนึกถึงอาการเสพย์เมถุนกับเขาบ้าง ตรึกนึกเอาว่าถ้าเขาถูกแบนี้หน้าตาความรู้สึกอาการต้องเป็นอย่างนี้จนเกิดความกำหนัดกระสันอยากเสพย์เมถุนกับเขา ทั้งๆที่เขาก็อยู่ของเขาอย่างนั้น "นี่เห็นได้เลยว่า กามคุณ ๕ เกิดมาแต่ความดำริถึง ตรึกนึกคิดปรุงแต่งหวนไปหาความจำได้หมายรู้ที่รักที่พอใจที่น่าใครปารถนาที่เราสำคัญใจไว้" ดังนั้นให้มองออกไปว่าที่เราเห็นนี้หนอ มีสีอะไรอยู่บ้างในเบื่องหน้านี้เท่านั้น ธรรมชาติของตาก็ย่อมเห็นอยู่ในปัจจุบันในที่ใกล้ที่ไกลสีสันต่างๆเท่านั้น แต่อาศัยใจนี้เข้าไปยึดครองเอาสมมติบัญญัติให้เห็นเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้อาศัยมโนวิญญาณนี้เข้ายึดปรุงแต่งสมมติกับสัญญาและสังขารตรึกนึกสมมติไปทั่วให้เห็นเกินเลยจากสิ่งที่เห็นในปัจจุบันที่มีสีนั้นๆเคล้าโครงนั้นๆอยู่ในลักษณะอาการนั้นๆเท่านั้น
    หรืออุบายว่า..ตั้งสติไว้แต่เบื้องหน้าโดยวิชาม้างกาย ถอดมันออกทีละอาการในรูปที่เราเห็นที่มองอยู่ด้วยอารมณ์ที่ใคร่ ปารถนา กระสันอยู่นั้น เริ่มจาก ผม ขน เล็บ ฟัน หนังลอกออกให้หมด จะเห็นแค่ก้อนอวัยวะต่างๆเกาะกุมกันไว้อยู่เท่านั้น อาศัยกระดูกเป็นเค้าโครง มีเส้นเอ็นร้อยรัดเอาให้ ให้อวัยวะที่อ่อนแข็งปะปนเปื้อนเลือดเกาะกุมกันไว้อยู่เท่านั้น มีเส้นเลือดและน้ำเลือดแสงฉานปกคลุมอยู่ทั่ว แยกออกมาทีละอาการแล้วดูสิว่า เส้นผมนั้นหรือที่เป้นเขา เขาหรือที่เป็นเส้นผม ขนหรือ เล็บหรือ ฟันหรือ หนังหรือ ปอดหรือ เลือดหรือ ไตหรือ ม้ามหรือ ที่เป็นเขา เขาหรือที่เป็นสิ่งนั้นๆอาการนั้นๆ เมื่อพิจารณาดังนี้แล้วก็ไม่เห็นจะมีบุคคลอันน่ากระสันน่าเสพย์เมถุนในนั้น ในมั่นก็ไม่ใช่บุคคลอันน่าใคร่น่าปารถนาเลย อาศัยลมที่เคลื่อนตัวผ่าน ปลายจมูก หน้าผาก กลางกระหม่อม โพรงกระโหลก ท้ายทอย คอหอย หน้าอก เหนือสะดือ 2 นิ้ว ไปหน้าขา หัวเข้า ปลายเท้า ลมในกายที่พัดขึ้นพัดลงนี้มีเพื่อทำให้เลือดไหลเวียนอยู่ อาศัยอากาศธาตุช่องว่างในกายนี้ทั้งหลายช่องว่างในน้ำเลือดหรืออวัยวะทั้งปวงเป็นอากาศช่องว่างให้ลมและน้ำขับเคลื่อไปได้ ก็กายนี้แลที่เราว่าสวยว่างามน่าใครปารถนาน่ากระสันน่าเสพย์เมถุนมันมีอยู่ก็เพียงเท่านี้(ถ้านึกไม่ออกให้ดูน้ำก๊อกในสายยางเวลาเปิดจะมีอากาศอยู่ในสายยางเสมอเพื่อทำให้น้ำผลักดันไปตามลมแรงดันเคลื่อนตัวที่พัดดันน้ำนั้น)
    หรืออุบายว่า..ตั้งสติไว้แต่เบื้องหน้าโดยวิชาธาตุ ไฟมีมากในตาผัสสะเหล่าใดมีเกิดขึ้นเหมือนที่เราเคยรับรู้นั้นคือเป็นเหมือนไฟแลบแปล๊บเท่านั้น ดังนั้นให้ทำเหมือนไฟแลบแปล๊บเผารูปทางตาดับไปเสีย)

- ได้ยิน ก็สักแต่ว่าได้ยิน (ธรรมชาติของหูก็ย่อมได้ยินเสียง จริงๆแล้วมันก็เป็นเพียงเสียงทุ้มแหลมดังเบาเท่านั้น เป็นเสียงเกิดจากลมที่เปล่งออกมาผ่านช่องเสียงที่กว้าง แคบ ลึก สั้น ออกมาเป็นรูปเสียงที่เป็นไปในลักษณะต่างๆเท่านั้น เหมือนลมที่พัดช่องเขา ช่องว่างมีเสียงออกมาในลักษณะต่างๆเท่านั้น แต่ใจเรานี้เองที่ไปสำคัญใจเอาว่ามันเป็นนั่นเป็นนี่คำนั้น-คำนี้ หมายความไปอย่างนั้น-อย่างนี้ เสียงนุ่ม-เสียงหยาบ เสียงที่พอใจ-ไม่พอใจ พอเมื่อจดจำเสียอันเป็นที่รักที่พอใจหรือเสียงจากสิ่งที่รักที่พอใจไว้ได้ ก็ให้ความสำคัญมั่นหมายใจว่าเป็นอย่าง ก็เกิดปรุงแต่งอันเป็นไปในราคะเมถุนบ้างว่า ผู้หญิงคนนี้เมื่อเสพย์อย่างนี้ มีอาการอย่างนี้ เธอได้เสพย์เมถุนในอาการอย่างนี้กับเราก็จะส่งเสียงร้องย่างนี้ อันนี้ก็ปรุงแต่งไปทั่วๆทั้งๆที่ความจริงได้ยินแค่เสียงที่มากับลมที่ผ่านช่องหู กระดูหู ซึ่งเสียงนั้นมีแค่อาการทุ้ม แหลม ดัง เบา ตามที่แต่ลมนั้นจะพัดผ่านวัตถุชองดินอันแคบหรือกว้างเท่านั้นไม่มีเกินนี้ มันก็สมมติขึ้นที่ใจทั้งสิ้นแม้เสียงอันเป็นไปในกามราคะเมถุนเหล่านี้ก็มาแต่ความสมมตืนึกคิดปรุงแต่งถึง ดำริถึงดังนี้[ไม่ว่าจะเป็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะเหล่าใด ที่มีความดำเนินไปใน กาม ราคะ เมถุน ย่อมมีเหตุอย่างนี้ตามที่พระพุทธเจ้าองค์บรมศาสดาตรัสสอนว่า "เรารู้แล้วกาม เจ้าเกิดมาจากความดำริถึง เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีก"])

- ได้กลิ่น ก็สักแต่ว่าได้กลิ่น (ธรรมชาติของจมูกย่อมได้กลินเป็นธรรมดา รู้กลิ่นที่มีอาการนั้นๆก็สักแต่รู้ว่าได้รู้อาการนั้นๆทางจมูกเท่านั้น กลิ่นนี้เป็นเพียงสิ่งที่โชยมาตามลมเท่านั้น รับรู้ทางจมูกที่หายใจเข้าไปเท่านั้น สุดลมหายใจเข้าก็ไม่รู้กลิ่นแล้ว หายใจออกก็ไม่รู้กลิ่นแล้ว กลิ่นที่รัก ที่เกลียด ก็สักแต่มีอยู่ด้วยลมเท่านั้น จะไปยึดเอาสิ่งใดหนอที่พัดไปพัดมาเท่านั้น ลมก็ไม่ได้มีความรักความชอบในกลิ่นไรๆทั้งสิ้น ทำใจประดุจลมก็สักแต่ว่าลมเท่านั้น ไม่ยินดียินร้ายต่อสิ่งใดๆ หรืออุบายว่าตั้งสติไว้แต่เบื้องหน้าโดยวิชาธาตุ ดินมีมากในจมูกทำให้ประดุจดั่งดินที่จมูกก็จักไม่รู้กลิ่นจักละกลิ่นที่ชอบใจและไม่ชอบใจเสียได้)

- ได้รู้รส ก็สักแต่ว่าได้รู้รส (ธรรมชาติของลิ้นย่อมรู้รส รู้ว่ารสชาติอย่างนั้นๆเกิดขึ้นทางลิ้นก็สักแต่รู้ว่ามีอาการนั้นๆเกิดขึ้นทางลิ้นเท่านั้น ที่ทั้งรสพอใจและไม่พอใจ ก็สักแต่มีอาการจำเพาะอย่างนี้ๆเท่านั้น หรืออุบายว่าตั้งสติไว้แต่เบื้องหน้าโดยวิชาธาตุ น้ำมีมากในลิ้นรสใดก็ตามรู้ได้ด้วยน้ำ ทำตัวประดุจน้ำให้ตั้งน้ำไว้ที่ลิ้นก็จักดับรสที่รักที่เกลียดได้)

- ได้รู้สัมผัสทางกาย ก็สักแต่ว่ารู้สัมผัสทางกาย (ตั้งสติไว้เบื้องหน้าก็สักแต่รู้ว่ามีสัมผัสทางกาย ก็รู้สักแต่ว่าร้อน เย็น สักแต่แข็ง อ่อน นุ่มเท่านั้น ธาตุ ๔ มีมากในกาย ทำใจไว้ให้เห็นกายนี้เป็นประดุจดั่งธาตุ ๔ ไม่ยินดียินร้ายด้วยธาตุภายนอกภายในก็มีเสมอกัน รู้ผัสสะก็สักแต่เพราะว่ากายเป็นธาตุ ๔ ที่มีใจครอง ทำตัวเป็นธาตุ ๔ ธาตุนั้นย่อมไม่มีความรู้สึกนึกคิดไรๆ เมื่อถอนคือไม่เอาจิตจับยึดครองธาตุทุกอย่างที่สัมผัสย่อมไม่มีอะไรให้รู้สึกทางกาย จักละเวทนาทางกายได้)

- ได้รู้สัมผัสทางใจ ก็สักแต่ว่ารู้สัมผัสทางใจ (ก็สักแต่รู้ว่ามีสัมผัสทางใจ ไม่ว่าจะมีความรู้สึกเสวยอารมณ์ความตรึกนึกคิดใดๆก็สักแต่รู้ว่ามีสิ่งนี้เกิดในมโนทวารให้จิตรู้เท่านั้น เป็นแค่อาการความรู้สึกอย่างหนึ่งเข้ามาให้จิตรู้ไม่มีเกินนี้ แต่เพราอาศัยคิดอาศัยสัญญาที่สมมติกิเลสสร้างขึ้นทำให้เกิดเป็น สุข ทุกข์ เฉยๆ ชอบ ชัง รัก โลภ โกรธ หลง ติดข้องใจสิ่งที่จิตรู้ไปก็หาประโยชน์ใดๆไม่ได้นอกจากทุกข์ ปลงจิตเสียไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ก็จะไม่ทุกข์ หรืออุบายว่าตั้งสติไว้แต่เบื้องหน้าโดยวิชาธาตุ อากาศมีมากในใจ ความไม่สุขไม่ทุกข์หรืออุเบกขาก็เป็นที่ว่างในใจ ทำใจประดุจเหมือนอากาศอันเป็นที่ว่างไม่มีประมาณ ไม่ยินดียินร้ายในสิ่งไรๆ ก็จักถึงอุเบกขาไม่ทุกข์อีก)




***แต่ไม่ว่าจะทางทวารใด ย่อมอาศัยจิต อาศัยวิญญาณ อาศัยมโนวิญญาณเข้าไปรู้ในทางนั้น หลังจากที่รู้ผัสสะอันเป็นประดุจฟ้าแลบแปล๊บนั้นแล้วที่มีแต่อาการลักษณะหนึ่งๆเท่านั้น หลังจากนั้นล้วนรู้ด้วยสมมติกิเลสอันเนื่องด้วยความหมายรู้อารมณ์ตรึกนึกปรุงแต่งอารมณ์ด้วยสมมติทั้งสิ้น แม้แต่เวทนาก็ตาม ซึ่งล้วนเป็นสมมติทั้งหมด ดังนั้นไม่ยึดจิต ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ สละคืนสังขารทั้งปวง สละคืนขันธ์ ๕ ไปเสีย ก็ไม่มีทุกข์ ของจริงมีอยู่ที่ลมหายใจเท่านั้น จิตจะจับที่ลมหายใจเอง***

***อีกประการหนึ่ง รู้ผัสสะใดก่อนก็ให้ละตัวนั้นก่อน ตามรู้ตัวนั้นหรือ ข่มใจจากกิเลสตัวนั้นแล้วถอนมันออกประดุจว่าปล่อยให้มันพรั่งพรูออกมาให้พอแต่เราก็สักแต่สว่ารู้ว่าดูมันไม่เข้าไปร่วมเสพย์***

***อีกประการหนึ่ง เมื่อจะเข้ากรรมฐาน ให้ปลงใจก่อน ปล่อยวาง เมื่อจิตมันจับสิ่งใดแล้วทำให้มันปลงใจปล่อยวางได้ก่อน ก็จับเอาสิ่งนั้นเป็นกรรมฐานตามรู้ ตั้งเอาสิ่งนั้นมาพิจารณาเป็นอารมณ์ก่อน ไม่ต้องไปขัดใจมัน แล้วมันจะเข้าสมาธิมีขณิกสมาธิ คือ ความสงบใจด้วยกุศล เอง แล้วค่อยเอาอารมณ์นั้นแหละทรงเข้ากรรมฐานที่ชอบใจภาายหลังจะเข้าสมาธิได้ง่าย***





จาก http://www.thammaonline.com/15304.msg17413#msg17413 (http://www.thammaonline.com/15304.msg17413#msg17413)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: seiha ที่ สิงหาคม 13, 2015, 11:31:59 AM
 ;) ;) ;) ;) ;) ;) ;) ;) ;) :( :( :( :( :( :( :( :( :( :( :(



---ออนไลน์ ในรูปแบบใหม่ล่าสุดจาก ปอยเปต --- รีสอร์ท ได้ที่นี่ royal1688 (https://www.royal-1688.net)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 18, 2015, 08:55:46 AM



พระตถาคตเจ้านั้นย่อมตรัสชี้แนะสั่งสอนสาวกดังนี้ว่า..
"สุขทางโลก หรือ สุขทางโลกียะนั้น ไม่เที่ยง ประกอบไปด้วยทุกข์"

นั่นเพราะ..
"สุขทางโลกียะนั้น มันเป็นสุขจากความเข้าไปยึดมั่นถือมั่นตัวตนในสิ่งไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน  ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ล้วนมีแต่ความเสื่อมสุญสลายไปทุกๆขณะ มันเป็นสุขที่ประกอบไปด้วยกามคุณ กามารมณ์ กามเมถุน มันสุขแค่ประเดี๋ยวชั่วคราว สุขแค่ชั่ววูบแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน ล้วนประกอบไปด้วยทุกข์ เพราะเมื่อเสพย์แล้วก็เกิดความทุกข์ลำบากจากการแสวงหาใคร่ที่จะเสพย์อีกบ้าง สูญเสียบ้าง เมื่อความสุขนั้นดับไปสูญไปบ้าง หรือ ยังซึ่งความฉิบหายให้เราและผู้อื่นในภายหลัง"





เช่น เมื่อกินเหล้า สูบบุหรี่ หรือ เมถุนแล้ว สุขกับการเสพย์มันก็แค่ประเดี๋ยวชั่ววูบชั่วคราว แล้วก็ดับไป เมื่อดับไปแล้วก็ทุกข์ร้อนรนตะเกียกตะกายแสวงหามาให้ได้เสพย์อีก เมื่อเสพย์มันแล้วก็ต้องแลกกับ กุศล ความดีงาม ภัณฑะ ทรัพย์สิน สิ่งของมีค่าทั้งปวงที่สั่งสมมา เพื่อแลกกับที่จะได้เสพย์มันเพียงชั่วคราวเท่านั้น



เราเองก็ได้รู้รสความสุขเพียงประเดี๋ยวชั่วครู่ชั่วคราวจากกามคุณ ๕ คือ ทั้งเหล้า ยา ปลาปิ้ง บุหรี่ เมถุน แต่ทำร้ายกุศลที่ดีงาม ทรัพย์สิน บุคคล สิ่งของอันเป็นที่รักที่หวงแหนยิ่ง ที่สั่งสมมาอย่างยากลำบาก ที่เก็บไว้เพื่อลูกเมีย เพื่อเตี่ยแม่ จนนำความสูญเสียความฉิบหายมาให้มีมากมานักต่อนักแล้ว ดังนั้นเราควรละความสุขทางโลก อันไม่เที่ยงสุขแค่ประเดี๋ยวประด๋าวชั่ววูบชั่วคราวนั้นเสีย ละความสุขในกามารมณ์ กามคุณ ๕ กามเมถุน ทั้งปวงเสียได้ เราจักไม่ทุกข์อีก




พระตถาคตตรัสสอนว่า เพราะละความสุขทางโลกียะที่มีแค่ชั่วคราววูบหนึ่ง ไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน ทั้งหลายเหล่านี้เสียได้ จึงถึงสุขแห่งโลกุตระอันเป็นนิรันด์ เป็นอมตะสุขได้

(ความไม่แสวงหา ความไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งไรๆ ความปล่อยวาง ความว่างจากกิเลส ความดับกิเลส ความสละคืน คือ  บรมสุข)






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 18, 2015, 01:05:35 PM

บันทึกกรรมฐาน วันที่ 14-15 สิงหาคม 2558

    - วันนี้..เราไม่ได้นอนแล้วทำสมาธิ เมื่อช่วงประมาณ 15.30 น. ทำสมาธิเข้าสมาธิมีลมหายใจละเอียดขึ้น ขาที่ปวดบวมอักเสบอยู่ก็ไม่ปวดขาอีก ไม่เป็นตะคริวด้วย นั่งอยู่จนถึงประมาณ 16.41 - 17.00 น. ขณะหนึ่งก็มีอาการปวดขาบ้างอยู่ "แต่เราก็ระลึกคำสอนหลวงปู่บุญกู้ว่า..ที่เราเจ็บปวดขานี้ นั่นเพราะลมหายใจยังหยาบอยู่ ถ้าลมหายใจเราละเอียดเมื่อไหร่ เวทนาทางกายก็จะดับไปไม่ปวดขาอีก" และ "อาศัยระลึกถึงคำสอนของหลวงพาอเสถียรที่ท่านกรุณาสอนเราว่า กำหนดนิมิตเพ่งดูด้วย "ธาตุ ๖" กายเรานี้มันแค่ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ แต่อาศัยใจเข้าไปยึดครองในธาตุเหล่านั้นให้รู้สึกเจ็บ ปวด สุขกาย สบายกายได้ ทั้งๆที่กายนี้มันรู้สึกเองไม่เป็นถ้าไม่มีจิตเข้าไปยึดครอง ดังนั้นแลเราจักถอนจิตที่ยึดครองกายนี้ไปเสียมันสักเป็นแต่แค่กองธาตุ ๕ ไม่มีชีวิตจิตใจเท่านั้น หาประโยชน์ใดๆไม่ได้ (ซึ่งอาการปวดจริงๆมันดับไปนานแล้วแต่อาศัยจิตเข้าไปยึดสัญญาเวทนาจึงเกิดขึ้นไม่หยุด แม้เวทนานี้ก็เพียงสมมติมีขึ้นโดยสัญญาเท่านั้นไม่ควรเอามายึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราสักแต่ว่ารู้ก็แค่นั้น)"
    - ก็เมื่อทรงอารมณ์อยู่นี้ ก็มีนั่งปวดฉี่และปวดขาก็ดับทุกขเวทนาด้วยประการอย่างนี้จนนิ่งดีแล้ว จิตมันไปจับเอากสินบ้าง เอากสินแสงเป็นอารมณ์(รู้โดยตนเองว่าเราเจตนาจะกำหนดกรรมฐานกองกสินเอง ไม่ใช่มันขึ้นมาเองไม่) จากแสงมีทองเหมือนแสงของดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์กลายเหลือเป็นวงแสงใสขาวสว่างในเบื้องหน้าวูบนึงไม่นานก็ดับไป จึงได้กำหนดเอาแสงนั้นใหม่อีก สักพักจิตมันจดจ่อได้สักนิดมันก็อยากจะเห็นพระพุทธเจ้า ก็กำหนดนิมิตสมมติเอาอีกว่าจะไปนิพพาน ก็เกิดทำให้อาการทั้งกายนี้อัดพุ่งขึ้นทำให้กายรู้สึกหนักทั้งๆที่จิตเบาเหมือนจะออกจากร่าง สักพักมันก็ปรุงแต่งเองอีกนั่นแหละว่าเห้นพระพุทธเจ้า เห็นเป็นกายเนื้อ อยู่ในปราสาทในนั่นเป็นที่โล่งเหมือนในถ้ำ แต่ถ้ำนั้นก็เป็นแก้วเหมือนกับถ้ำน้ำแข็ง ก็เป็นภาพไปตามที่จิตจะอุปโลคขึ้นมานั่นแหละ เห็นพระพุทธเจ้างดงามตระหง่านยิ้มให้อยู่ มีจีวรสีขาวสะอาดเป็นประกายมีเพชรระยิบระยับ มีมงกุฏิเพชรพลอยสีขาวเหมือนทองคำขาว แก้วมนีรัดทั้งที่พระเกศาที่ทำเป็นกระจุกพุ่มบนพระเศียร และ แขนตอนบน มีสร้อยสังวาลย์สวยงามมาก หน้าตาเหมือนคนไทยแต่งดงามหมดจรดหาที่เปรียบไม่ได้ ดูมีพระบารมี พระกรุณาธิคุณมาก นี่น่ะถ้าไม่มีสติรู้ว่าตนเองกำหนดนิมิตคิดสมมติเอาเองนะ เราคงหลงไปแล้วว่าตนเองมีอภิญญามีมโนมยิทธิ พอนึกถึงก็ขำตัวเองมาก..



    - แต่ก็รู้ตัวเองอยู่เสมอมีสติอยู่น้อมพิจารณาทบทวนอยู่เป็นเบื้องหน้าว่า..ที่เราเห็นนิมิตอย่างนี้เพราะเราเองนั้นแหละที่ปรุงแต่งกำหนดนิมิตมาอย่างนี้ๆอยู่ ที่ทำนี้เพียงเพื่อจะระลึกถึงเป็นพุทธานุสสติ เพื่อระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ระลึกถึงคุณว่าพระพุทธเจ้าดับสิ้นเชิงกิเลสอย่างนั้นก็คงจะมีพระวรกายและพระพักตร์อย่างนี้ๆ พระตถาคตเจ้าประกอบด้วยพระเมตตา พระกรุณา ประกอบด้วยวิชชาและจรณะ มีวิโมกข์ ๘ แจ่มแจ้งโลกเหล่าใด ก็ย่อมมีอิริยาบถ กิริยาท่าทาง ปฏิปทา งดงามอย่างนี้ๆ พระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยบารมี ๓๐ ทัศน์จนเต็มอิ่มบริบูรณ์จนสุดแล้วเป็นครูผู้สอนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายให้เลื่อมใสเห็นทางพ้นทุกข์ พระองค์ย่อมมีเครื่องทรงพระวรกาย น้ำเสียงที่นุ่ม อบอุ่น เมตตา กรุณา มีกำลังประดุจราชสีห์ กึงก้องมีพลังแต่นุ่มนวลอย่างนี้ๆ เพื่อให้ตนถึงคุณแห่งความเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ให้มีอกุศลธรรมเข้ามาแทรกเป็นเจตนาหลัก



    - ทีนี้เมื่อรู้ว่าตนเองกำหนดนิมิตเองได้เสมือนจริงขนาดนั้นแล้วมีกำลังทั้งย่อขยาย ดูได้ทุกมุมขนาดนั้นแล้ว ต่อมาก็เลยลองกำหนดนิมิตใหม่ขึ้นมาเป็นหญิงสาวสวยแล้วมาม้างกายดูบ้าง แต่จิตมันก็คงรูปนิมิตนั้นไม่นานก็ผละออกเสียแล้ว เราเลยกำหนดเป็นธาตุ ๖ ขึ้นมาพิจารณา จากนั้นก้อลองระลึกเอาว่า อวัยวะส่วนนี้เป็นธาตุนี้แล้วกองออกไว้ อวัยวะนี้ๆเป็นธาตุนี้แล้วกองออกไว้ จนเหลือแต่ดวงจิตที่เป็นสีทองสว่างไสวเป็นประกายได้สักพัก
    - จากนั้นเราก็หมายจะออกจากสมาธิ จึงได้กำหนดจิตแผ่เมตตาไปแบบไม่มีประมาณ แผ่ไปด้วยความสงบใจจากกิเลสอันดีแล้ว
๑. โดยตั้งระลึกเอาประกายสีทองนั้นแหละเป็นกำลังพรหมวิหาร ๔ ของเราที่แผ่ไปทั่ว เริ่มจากพ่อ แม่ บุพการี ลูก เมีย ญาติ พี่ น้อง มิตรสหาย บุคลคนที่เราเคยผูกเวรพยาบาทกัน เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย เมื่อเราแผ่ให้บุคคลอันเป็นที่รักของเราฉันใด เราก็จับเอาจิตนั้นแผ่ไปให้เขาอย่างนั้น จากนั้นก็ไปคนที่รู้จัก แผ่ไปยังคนไม่รู้จัก แผ่ออกไปทั่วโลก แล้วจิตมันก็มาหวนย้อนเอาธาตุ ๖ แล้วแผ่ไปทั่ว ๓ โลก โดยกำหนดว่า ขอให้ทิ่งสิ่งทุกอย่างทั้วหมื่นโลกธาตุนี้ ทั่วใน ๓ โลกนี้ ไม่ว่าจะโลกมนุษย์ สัตว์ทั้งปวง มาร สัมภเวสี นรกภูมิ พระยายมราช เทวดา ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ยักษ์ คนธรรม์ นาค ครุฑ ไปถึงพรหม ไม่ว่าจะดำรงขันธ์อยู่ด้วย ธาตุดินก็ดี ธาตุน้ำก็ดี ธาตุไฟก็ดี อากาศธาตุก็ดี วิญญาณธาตุก็ดี จะอยู่โดยธาตุใดธาตุหนึ่งหรือหลายธาตุรวมกันก็ดี มีจำเพาะวิญญาณธาตุ-เฉพาะจิตอยู่ก็ดี ขอให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นจงเป็นผู้มีสุข ปราศจากกิเลสทุกข์เครื่องเร่าร้อนเศร้าหมองกายใจ จงเป็นผู้ไม่ผูกเวรและไม่มีเวรภัยใดๆมาเบียดเบียน จงเป็นผู้ไม่พยายาทและไม่มีภัยพยาบาทใดๆมาเบียดเบียน จงเป็นผู้ปราศจากทุกขฺ โศก โรคภัย ทั้งปวง เป็นผู้มีกาย วาจา ใจ อยู่โดยกุศลปล่อยวางกิเลส โลภะ โทสะ โมหะซึ่งกันและกันปราศจากความเร่าร้อนกายใจ รักษาตนให้รอดพ้นจากทุกข์ภายทั้งสิ้นเทอญ
(อาการนี้แผ่ไปด้วยกุศลจิตดับอกุศลจิตได้แล้วสงบจากกิเลสทั้งปวงแล้ว แผ่ไปด้วยธาตุดังนี้ไม่มีประมาณมันแผ่ไปได้ทั่วถึงทั้งหมดไม่จำกัดกาลจำกัดจำเพาะขันธ์ ไม่มีผู้ใดที่ใดก็รับได้หมด หากเหมือนกำลังที่แผ่ไปแล้วเหมือนจิตเราเหนื่อยหรือ ระลึกถึงได้ไม่นาน ไม่มีกำลัง เราได้น้อมระลึกถึงเอาว่าพระตถาคตที่เป็นแสดงประดุจดวงอาทิตย์สีทองนั้นประทับผู้บนเหนือจิต{ในสมาธิมันจะเห็นเป็นสภาวะเราอยู่กลางรู้เห็นนิมิตของเรานั่นแหละ} แผ่นำทางเราออกไปแบบไม่มีประมาณกว้างไกลไปได้ทั่วทั้ง ๓ โลก ทั่วจักรวาลไม่มีสิ้นสุด ไม่มีประมาณ)
๒. จากนั้นเราก็เอาจิตอันประกอบด้วยความมีใจช่วยเหลือ สงเคราะห์แบ่งปันเอาบารมีทั้งปวงที่เป็นเป็นกรุณา แผ่ไปทั่วไม่มีประมาณทั่ว ๓ โลก ทั้งบุคคลที่รัก ที่ชัง ที่เกลียด เจ้ากรรมนายเวร ที่รู้จัก ไม่รู้จัก เทวดา มาร พรหมทั้งปวง แผ่ไปจนถึงทั่วจักรวาล ตั้งเอาแค่ความที่ไม่ยึดเอาธาตุทั้งปวงนี้ เหมือนประดุจตนอยู่ในอวกาสอันมืดกว้าง ว่างไปทั่วไม่มีประมาณ ที่มีสิ่งมีชีวิตหรือสามโลกนี้อยู่เป็นต้นไปทั่วให้เขาจงเป็นผู้ไม่มีทุกข์ ถึงซึ่งความสุขทั้งปวง
(อาการนี้เมื่อทำไปแล้วเหมือนจิตเรามีกำลังมากเหมือนจิตอยู่เหนือกายมีกำลังแผ่ไปทั่วทั้งจักรวาลได้ พอเมื่อกำลังไม่พอก็น้อมกำหนดเอาพระบารมีของพระตถาคตนั้นแผ่นำทางเราไป จิตอยู่ที่การแผ่ไปโดยไม่จำเพาะเจาะจงที่กายอีก)
๓. จากนั้นก็แผ่เอาความอิ่มเอมใจเป็นสุข สงบร่มในการสละให้ไปดีแล้วนั้น ที่มีอยู่ที่ใจเรานี้แผ่ไปทั่วจักรวาลไม่มีประมาณให้ได้รับสุขด้วยกุศลนี้ไปทั่ว ให้เขาได้คงไว้ซึ่งสมบัติ บุคคล สิงของทุกสิ่งอันเป็นที่รักที่หวงแหนยิ่งอยู่ไว้ไม่สูญสลายไป ยังจิตอันยินดีเป็นสุขของสรพพสิ่งทั้งหลายย่อมเป็นสุขประดุจเหมือนกันฉะนี้ น้อมรำลึกถึงจิตอันเป็นสุขที่มีอยู่แก่สรรพสิ่งทั้งปวงล้วนอาศัยเนื่องด้วยวิญญาณ สุขนี้อยู่ที่วิญญาณธาตุ อยู่ที่จิต ก็จับเอาจิตอันเป็นสุขนั้นเป็นอารมณ์แผ่ไปไม่จำเพาะเจาะจงอยู่ที่กาย
(อาการที่ทำแล้วจิตอิ่มเอมแต่นิ่งสงบดีมากด้วยสุขแห่งจิตนั้น จิตมันไม่ยึดกายอีก ความปวดฉี่ ปวดเมื่อยกายมันหายไปแล้ว)
๔. จากนั้นเราก็แผ่เอาความวางใจไว้กลางๆโดยเห้นว่าทุกสิ่นทุกอย่างล้วนเกิดแต่กรรม มีกรรมเป็นผู้ให้ผล ติดตาม และอาศัย ไม่ว่าบุญหรือบาป กรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตามเราไปให้พบเจอผลจากกรรมนั้น ก็ปลงใจไว้กลางๆเสีย แล้วตั้งเอาความไม่เพ่งโทษต่อกันและกัน ความไม่ยินดี-ยินร้ายต่อกัน ความว่างหรือความสงบใจจากกิเลส ความละวางความไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ความไม่หลงอยู่ไม่ปิดกั้นด้วยกิเลส ไม่ตั้งเอาทั้งสุขหรือทุกข์จากสิ่งไรๆมาเป้นอารมณ์ แผ่ออกไปทั่ว ด้วยสภาวะที่จิตไม่ยึดเอาสิ่งไรๆทั้งสิ้น ไปทั่วจักรวาล ด้วยหมายว่าจะยึดกายก็ทุกข์ ยึดอิริยาบถรูปลักษณ์ใดแห่งกายย่อมทุกข์ จิตเรานี้แม้เป็นสุขก็จริงอยู่ แต่ทุกข์ก็ที่จิตอันนี้แหละ ยึดจิตก็ทุกข์ ดังนั้นแล้ว ขันธ์ ๕ ทั้งปวงล้วนเป้นทุกข์ เราก็ไๆม่ยึดจับเอาสิ่งใดเลยทั้งสิ้นแม้สิ่งที่จิตรู้ ตั้งอยู่โดยความสงบว่างอันไม่ยึดเอาขั้นธ์ทั้งปวงแม้อันใดอันหนึ่งเป็นอารมณ์แผ่ไปทั้วทั้งจักรวาลให้ถึงกันให้เขาทั้งหลายยังความไม่ยินดียินร้าย ไม่ถือ ไม่เพ่งโทษซึ่งกันและกันด้วยจิตอันมีประมาณเช่นนี้โดยทั่วกัน
(ทำอย่างนี้ แม้ความฟุ้งก็ไม่มี จิตไม่ยึดเอาอะไรแม้ขันธ์ ๕ ของตน มันแผ่ออกไปเหมือนจิตหรือกายนี้ก็ตามถ้ายังรู้สึกกายอยู่เหมือนมันจะใหญ่กว้างไกลมีกำลังอันไม่ยินดียินร้ายต่อกันแผ่ไปไม่มีประมาณ)



    ต่อมา เวลา 20.00 น. เข้างานกะดึก ถึง 8.00 น. ได้มีช่วงเวลาพักในตอน 22.00 น. ของวันที่ 14 สิงหาคม 2558 ถึง เวลา 3.00 น. ของวันที่ 15 สิงหาคม 2558 ช่วงเวลาประมาณ 22.30 น. - 00.15 น. พอได้นอนพักบ้างเล็กน้อย แล้วตื่นขั้นมา เนื่องจากมีเสียงรบกวนให้นอนไม่หลับ จึงพยายามนอนให้หลับ แต่ก็ไม่หลับจึงนอนทำสมาธิไปเรื่อยๆแต่ก็ยังไม่หลับ
    จนลุกขึ้นมานั่งสมาธิเวลาโดยประมาณ 1.53 น. ของวันที่ 15 สิงหาคม 2558 ก็ตั้งใจเอาว่าจะนั่งทำสมาธินี้แหละถ้าจะหลับก็นั่งหลับไปเลย แต่กลับไม่หลับ มันเข้าสมาธิได้ กายเบา ไม่มีโงนเงนโยกเยกอะไร นั่งแช่อยู่ โดยก่อนที่จะเข้าสมาธินั้นมันมีความคิดใดๆอยู่ เราก็ปล่อยให้มันคิดตามไปเพราะคิดว่าจะนอนจึงไม่สนใจอะไรมากนัก แต่เพียงกำกับรู้ว่าตนทำสมาธิ ดูรู้ว่าตนคิด รู้ลมหายใจเข้าออกตั้งไว้มี่ปลายจมูก ดูลมไปอย่างนั้น ต่อมามันวูบเข้านิ่งแช่อยู่ในสภาวะว่าง พอรู้ตัวก็เกิดความคิดก็ปล่อยมันคิดไป ซึ่งในขณะทำสมาธิจิตมันจะคิดจะรู้สิ่งใดก็ปล่อยให้มันเป็นไปจนสุด แนบอารมณ์ไปกับมัน นิ่งแน่ใจคิดนั้น วูบนึงสักพักก็รู้ว่าตรกำลังคิดกำลังดูความคิดอยู่ด้วย สักพักมันเหมือนจิตมันเลิกจับความคิด มันเห็นแต่ความว่าง เหมือนตาเรานี้มองกายแต่ไม่มีกาย รู้ตัวว่าทำสมาธิแต่กลับไม่เห็นกายตน มันมีแต่ที่ว่าง และว่างเท่านั้น ไม่มีอะไรทั้งสิ้น สักพักเหมือนตัวที่ดูอารมณ์ว่างมันเบา มันอัดปะทุขึ้นแต่ไม่ใช่สุขที่อัดปะทุเหมือนที่เราเคยมาเพราะยังมีความคิดอยู่ทั้งหมดครบถ้วนและวิจารแต่รู้สึกมันอิ่มเอมดี ไม่ทรมานกายใจที่ไม่ได้นอน แต่กลับมีกำลังด้วยซ้ำ
    เมื่อนิ่งแช่อยู่อย่างนั้นนานพอควร..ก็เหมือนจิตจะออกจากร่างมันทรงอารมณ์นั่นอยู่ทำให้รับรู้ได้ว่ารูปร่างที่เราเห็นว่าว่างที่เป็นเคล้าโครงเหมือนเป้นร่างกายนี้มันหนักตรึงอยู่ แต่ไอ้ตัวที่เห็นความว่างคือตัวรู้นี้มันจะดันออก มันดันปะทุอัดแรงมากเหมือนกับตัวเราจะลอยขึ้น แต่เจ้าสภาพที่และเห็นว่าว่างนั้นมันกลับหนักจะกดลงหรือหลุดลงไปที่พื้นดิน นานพอควรแต่มันก็ไม่หลุดขาดจากกัน สักพักพอเข้าไปรู้อาการนี้อีกเริ่มมีความคิดมากขึ้นกว่าดิม แต่พยายามกดทรงอารมณ์นี้ไว้คือจับเอาอารมณ์นี้ไว้อยู่ พอสักพักไม่เกิด 30 วินาที ถึง 1 นาที มันก็หลุดวูบออกมาจากอาการนั้นก็เห็นความคิดตนเองอีก เราก็จำอาการนั้นไว้อยู่แล้วก็จับเอาแต่หลบตั้งไว้ที่ปลายจมูก ไปสักพักพอมันคิดก็ปล่อยจิตมันแนบความคิดไปแต่ในความคิดนั้นเราย่อมรู้เรื่องราวในนิมิตต่างๆที่เกิดขึ้นเสมอๆก็ปล่อยมันไป สักพักมันก็ดูความคิดอยู่แต่ไม่ร่วมคิดแล้วพอเรารู้สีักพักมันก็กลับมาการที่ดื่มที่เห็นแต่ความว่างอีก ทรงอยู่ได้สักพักก็หลุดอีกเป็นอย่างนี้อยู่ 2-4 ครั้งโดยประมาณจนถึง ตี 2.43 น. ของวันที่ 15 สิงหาคม 2558 ก็ลุกจากการทำสมาธิมาทำงานต่อ ซึ่งก็ยังคงมีกำลังกายใจอยู่ตามปกติ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 18, 2015, 03:00:50 PM

บันทึกกรรมฐาน วันที่ 16 สิงหาคม 2558

 ซึ่งในขณะทำสมาธิจิตมันจะคิดจะรู้สิ่งใดก็ปล่อยให้มันเป็นไปจนสุด ตามมันไปแนบมันไป คิดก็รู้ว่าคิด มันเหนื่อยมันก็นิ่ง ไม่เสพย์ไปกับความคิด เมื่อไม่เสพย์มันก็แยกจากความคิด เห็นผัสสะกองความคิดอยู่เบื้องหน้าบ้าง ฝั่งขวาบ้าง ฝั่งซ้ายบ้าง แต่ไม่รวมในจิต พอสติมีกำลังมากก็ดูเอาว่ามันคิดใน รัก โลภ โกรธ หลง ดูความเป็นไปของมัน มันคิดก็ดูมันว่ามันคิด ดูมันเกิดด้วยมีเหตุให้ มันตั้งอยู่จนสุด มันดับไปเมื่อเหตุดับ กลับมาสมาธิ

    เมื่อวานนี้(วันที่ 17 สิงหาคม 2558)เราไปหา หลวงปู่บุญกู้ เรียนถามกรรมฐานกับท่าน เราอดนอนทำสมาธิ เป็นอันมาก หลวงปู่ท่านเลยเมตตาสอนมาดังนี้ว่า นั่นมันสุดโต่งไปแล้ว กายเรานี้เป็นศูนย์กลางของการบำเพ็ญ ศีล ทาน ภาวนา ไม่มีกายก็ทำไม่ได้ หากเราไม่ดูแลกายให้ดีแล้วร่างกายเกิดเป็นอะไรขึ้นมา เราน่ะยังทำงานอยู่ยังไม่ได้บวชยังต้องเลี้ยงดูลูกเมีย ต้องรู้แลกายให้ดี การภาวนานัั้นทำได้ทั้ง 4 อริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถใดก็ได้ไม่ใช่ห้ามนอนห้ามหลับ ไปถามครูบาอาจารย์องค์ไหน จะพระอาจารย์ใหญ่ก็ได้ ดูสิว่าจริงไหม
    ศิษย์เพียรอย่างนี้ไม่ใช่ว่าครูบาอาจารย์จะชอบ เพียรผิดแบบนี้เรียกว่าสุดโต่ง ถ้าเราน่ะบวชแล้วไม่ได้ทำงาน ไม่มีภาระ อันนี้น่ะทำได้ อย่างเราน่ะมันไม่ใช่ฐานะ ต้องดูแลรักษาร่างกายให้ดี ให้กายมีกำลังดี สมองก็ดี จิตใจก็ดี สบายแข็งแรงควรแก่งานไม่ใช่ทรมานตน ร่างกายย่ำแย่ สมองก็แย่ จิตใจก็แย่ แต่ก็ไม่ใช่ให้อ่อนเหลาะแหละเมามันในอบายมุข ก็ต้องมีศีล ทาน กำชับไว้ให้ดี ศีลเป็นฐานของทุกสิ่ง ทำให้มันดีงามจิตก็เป็นกุศล ทานนี้ทำให้อิ่มใจเต็มใจเป็นสุข (ซี่งหลวงปู่ท่านสอนว่าทานนี้ถ้าเรามีมากก็ให้มากได้ มีน้อยก็ให้น้อย ไม่มีก็ใช้กำลังกายช่วยเหลือและทำ ทานจะบริสุทธิ์ได้ก็ด้วยศีล) อันนี้จึงเป็นทางสายกลาง เรื่องอาหารการกิน ดูแลร่างกายสม่ำเสมอละสิ่งอันเป็นอบายให้ร่างกายทรุดโทรม เราน่ะทำเพื่อหวังผลมากไปอย่างนี้ไม่ได้ ให้ทำสะสมไปอย่าเพิ่งหวังผล ทำกายใจให้เป็นที่สบาย ทำเหตุุให้ดี คือ รักษากุศล ศีล ทาน ภาวนา ถ้าหากภาวนาอย่างเดียวแล้วบรรลุธรรมได้อย่างนี้ก็ไม่ต้องมีศีลมีทาน ไม่ต้องทำในกุศลสิ ภาวนาอย่างเดียวมันบรรลุไม่ได้หรอกมันต้องมี ศีล ทาน ด้วย ศีลก็เป็นกำลังส่วนหนึ่ง ทานก็เป็นกำลังส่วนหนึ่ง ภาวนาก็เป็นกำลังส่วนหนึ่งที่สมกันเมื่อเต็มแล้วก็ส่งผลให้บรรลุได้ เหตุเรายังไม่ทำเลยจะไปเอาผลซะแล้วอย่างนี้มันจะได้อย่างไร บารมีที่ต้องสะสมมี ๑๐ ทัศน์ ๓๐ ทัศน์ ต้องเพียรคือ เพียรเจริญปฏิบัติใน ศ๊ล ทาน ภาวนา สะสมไปเรื่อย ไม่ตึง ไม่หย่อน อยู่กลางๆ ไม่สุดโต่งส่วนใดส่วนหนึ่ง ทำเหตุให้มันดี ถ้าเหตุมันดีมันก็ได้เอง นี่เหตุไม่ทำแต่จะเอาผลแล้วมันไม่ใช่ฐานะ (โดยความหมายถึงทำเหตุให้ดีให้เต็ม คือ พละ ๕ เป็นอาหารของจิตที่ต้องสะสมให้ดีให้มากให้เต็มไม่เร่งร้อนแต่ทำไปเรื่อยๆให้ดี ศรัทธาพละนี้เกิดได้ด้วยปัญญา(ศรัทธา ๔) กำลังความเชื่อนี้เป็นเหตุใน ศีล และ ทาน วิริยะพละคือเพียร)
    พระพุทธเจ้าท่านก็ทรมานกายมาแล้ว จนทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ร่างกายทรุดโทรมผุพังไปก็ไม่สามารถทำให้ถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ได้ก็จึงทรงยกเลิกเสีย แล้วมาดำเนินโดยทางสายกลาง


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 18, 2015, 03:29:44 PM
บันทึกกรรมฐาน วันที่ 17 สิงหาคม 2558

 ซึ่งในขณะทำสมาธิจิตมันจะคิดจะรู้สิ่งใดก็ปล่อยให้มันเป็นไปจนสุด ตามมันไปแนบมันไป คิดก็รู้ว่าคิด มันเหนื่อยมันก็นิ่ง ไม่เสพย์ไปกับความคิด เมื่อไม่เสพย์มันก็แยกจากความคิด เห็นผัสสะกองความคิดอยู่เบื้องหน้าบ้าง ฝั่งขวาบ้าง ฝั่งซ้ายบ้าง แต่ไม่รวมในจิต พอสติมีกำลังมากก็ดูเอาว่ามันคิดใน รัก โลภ โกรธ หลง ดูความเป็นไปของมัน มันคิดก็ดูมันว่ามันคิด ดูมันเกิดด้วยมีเหตุให้ มันตั้งอยู่จนสุด มันดับไปเมื่อเหตุดับ กลับมาสมาธิ

    เมื่อวานนี้(วันที่ 17 สิงหาคม 2558)เราไปหา หลวงปู่บุญกู้ เรียนถามกรรมฐานกับท่าน เราอดนอนทำสมาธิ เป็นอันมาก หลวงปู่ท่านเลยเมตตาสอนมาดังนี้ว่า นั่นมันสุดโต่งไปแล้ว กายเรานี้เป็นศูนย์กลางของการบำเพ็ญ ศีล ทาน ภาวนา ไม่มีกายก็ทำไม่ได้ หากเราไม่ดูแลกายให้ดีแล้วร่างกายเกิดเป็นอะไรขึ้นมา เราน่ะยังทำงานอยู่ยังไม่ได้บวชยังต้องเลี้ยงดูลูกเมีย ต้องรู้แลกายให้ดี การภาวนานัั้นทำได้ทั้ง 4 อริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถใดก็ได้ไม่ใช่ห้ามนอนห้ามหลับ ไปถามครูบาอาจารย์องค์ไหน จะพระอาจารย์ใหญ่ก็ได้ ดูสิว่าจริงไหม
    ศิษย์เพียรอย่างนี้ไม่ใช่ว่าครูบาอาจารย์จะชอบ เพียรผิดแบบนี้เรียกว่าสุดโต่ง ถ้าเราน่ะบวชแล้วไม่ได้ทำงาน ไม่มีภาระ อันนี้น่ะทำได้ อย่างเราน่ะมันไม่ใช่ฐานะ ต้องดูแลรักษาร่างกายให้ดี ให้กายมีกำลังดี สมองก็ดี จิตใจก็ดี สบายแข็งแรงควรแก่งานไม่ใช่ทรมานตน ร่างกายย่ำแย่ สมองก็แย่ จิตใจก็แย่ แต่ก็ไม่ใช่ให้อ่อนเหลาะแหละเมามันในอบายมุข ก็ต้องมีศีล ทาน กำชับไว้ให้ดี ศีลเป็นฐานของทุกสิ่ง ทำให้มันดีงามจิตก็เป็นกุศล ทานนี้ทำให้อิ่มใจเต็มใจเป็นสุข (ซี่งหลวงปู่ท่านสอนว่าทานนี้ถ้าเรามีมากก็ให้มากได้ มีน้อยก็ให้น้อย ไม่มีก็ใช้กำลังกายช่วยเหลือและทำ ทานจะบริสุทธิ์ได้ก็ด้วยศีล) อันนี้จึงเป็นทางสายกลาง เรื่องอาหารการกิน ดูแลร่างกายสม่ำเสมอละสิ่งอันเป็นอบายให้ร่างกายทรุดโทรม เราน่ะทำเพื่อหวังผลมากไปอย่างนี้ไม่ได้ ให้ทำสะสมไปอย่าเพิ่งหวังผล ทำกายใจให้เป็นที่สบาย ทำเหตุุให้ดี คือ รักษากุศล ศีล ทาน ภาวนา ถ้าหากภาวนาอย่างเดียวแล้วบรรลุธรรมได้อย่างนี้ก็ไม่ต้องมีศีลมีทาน ไม่ต้องทำในกุศลสิ ภาวนาอย่างเดียวมันบรรลุไม่ได้หรอกมันต้องมี ศีล ทาน ด้วย ศีลก็เป็นกำลังส่วนหนึ่ง ทานก็เป็นกำลังส่วนหนึ่ง ภาวนาก็เป็นกำลังส่วนหนึ่งที่สมกันเมื่อเต็มแล้วก็ส่งผลให้บรรลุได้ เหตุเรายังไม่ทำเลยจะไปเอาผลซะแล้วอย่างนี้มันจะได้อย่างไร บารมีที่ต้องสะสมมี ๑๐ ทัศน์ ๓๐ ทัศน์ ต้องเพียรคือ เพียรเจริญปฏิบัติใน ศ๊ล ทาน ภาวนา สะสมไปเรื่อย ไม่ตึง ไม่หย่อน อยู่กลางๆ ไม่สุดโต่งส่วนใดส่วนหนึ่ง ทำเหตุให้มันดี ถ้าเหตุมันดีมันก็ได้เอง นี่เหตุไม่ทำแต่จะเอาผลแล้วมันไม่ใช่ฐานะ (โดยความหมายถึงทำเหตุให้ดีให้เต็ม คือ พละ ๕ เป็นอาหารของจิตที่ต้องสะสมให้ดีให้มากให้เต็มไม่เร่งร้อนแต่ทำไปเรื่อยๆให้ดี ศรัทธาพละนี้เกิดได้ด้วยปัญญา(ศรัทธา ๔) กำลังความเชื่อนี้เป็นเหตุใน ศีล และ ทาน วิริยะพละคือเพียร)
    พระพุทธเจ้าท่านก็ทรมานกายมาแล้ว จนทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ร่างกายทรุดโทรมผุพังไปก็ไม่สามารถทำให้ถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ได้ก็จึงทรงยกเลิกเสีย แล้วมาดำเนินโดยทางสายกลาง

"หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน" ท่านได้กรุณาเทศนาสั่งสอนว่า.. "ความสุขทางโลกียะนี้ มันอาศัยสิ่งไม่เที่ยงมาเป็นสุขของมัน มันไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน มันสุขแค่ชั่วคราวแล้วก็ดับไป อยู่ได้นานสุดก็แค่เพียงหมดลมหายใจ สุขนั้นก็ต้องดับไป ก็ต้องพรัดพรากจากสุขนั้นไป ไม่สามารถเอาติดตามไปด้วยได้ ส่วนสุขทางโลกียะนี้มันอยู่ที่ใจ อยู่ที่ศีล ทาน ภาวนา มันลงที่ใจไม่ยึดเอาอามิสสิ่งใดมาเป้นสุขของมัน สุขทางโกุตระคือสุขจากการปล่อยวาง มีศีล ทาน ภาวนา ที่จะติดตามเราแม้ตายไป แม้เกิดใหม่ในทุกภพทุกชาติ"
"สุขทางโลกไม่เที่ยงแท้ยั่งยืนเพราะอาศัยสิ่งไม่เที่ยงมาเป็นสุขของมัน ความสุขทางโลกก็แค่เพียงหมดลมหายใจเท่านั้น..ดังนี้"


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 21, 2015, 10:28:32 PM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 19-20 สิงหาคม 2558 (ศีลลงใจ)

    ตั้งแต่วันที่ 8-9 สิงหาคม 2558 เป็นต้นมาจนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2558 ศีลก็เริ่มเข้าถึงใจเรา หลังจากที่เมื่อศีล กรรมบถ ๑๐ ที่เข้าถึงใจเรามานานสักระยะอยู่นั้น (จากที่ฟังเทศนาหลวงพ่อเสถียรจนเห็นสัมมาทิฐิของจริงตั้งแต่ตอนปีใหม่ 2558) ได้เสื่อมไปเมื่อประมาณ เดือนมีนาคม 2558 ที่ผ่านมา เราก็แทบจะไม่ได้มีศีลอีกเลย จนวันที่ 8 สิงหาคม 2558 เราได้ดูหนังพระพุทธเจ้า ตอนที่พระอานนท์จะถูกนางโกกิลาหมายปองจะให้เป็นสามีของนาง ซึ่งพระอานนท์ ถูกวางยาอยู่ได้ตื่นขึ้นมา เมื่อพบเห็นนางโกกิลาหมายจะคล้องพวงมาลาเอาเป็นสามีอยู่ในขณะนั้น แล้วตั้งสติไว้เบื้องหน้าทำสมาธิ แล้วระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นภาพที่พระตถาคตเจ้านั้นตรัสสอน(พอที่จะหวนระลึกได้ประกอบกับที่ตนเข้าใจและขยายความให้ความสำคัญกับประโยคนี้จนศีลถึงใจ) ว่า..

"ความสุขทางโลกียะไม่เที่ยงแท้ยั่งยืนเพราะอาศัยสิ่งไม่เที่ยงมาเป็นความสุขของตน มันสุขด้วยกามคุณ กามเมถุน มันสุขอยู่ได้แค่ประเดี๋ยวประด๋าวชั่วคราววูบเดียวแล้วก็ดับไป เมื่อหลงไหลในกามคุณ กามเมถุน หลงตัวหลงใจเข้าไปเสพย์มันแล้ว เราก็ประกอบไปด้วยความทุกข์ทรมานกายใจภายหลัง ทั้งจากความดับไปของมัน ความสิ้นไปของสุข ความสิ้นไปซึ่งสิ่งมีค่าจำเป็นที่แลกเพื่อจะได้มันมาเสพย์ ความเร่าร้อนแสวงหาทะยานอยากไม่รู้หยุด.."

"ดูกรอานนท์ ความสุขในโลกียะ คือ สุขทางโลก นั้นเป็นความสุขแค่ชั่วคราวประเดี๋ยวประด๋าวชั่ววูบหนึ่งเท่านั้น เธอจะยอมแลกทุกสิ่งที่ทำที่สะสมมาดีแล้ว ไม่ว่าจะเป็น สิ่งมีค่าโภคทรัพย์ สิ่งของบุคคลอันเป็นที่รัก กุศลธรรมทั้งปวง ศีล ทาน ภาวนา บารมีทั้งปวงที่สะสมมา เพื่อแลกกับความสุขในทางโลกที่มีแค่ชั่ววูบชั่วคราว เสร็จแล้วก็ประกอบไปด้วยทุกข์ในภายหลังอย่างนั้นหรือ.."
"สุขทางโลกไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน แต่ประกอบไปด้วยทุกข์ในภายหลังดังนี้ เพราะละสุขทางโลกได้ จึงถึงสุขห่งโลกุตระธรรมได้"

"หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน" ท่านได้กรุณาเทศนาสั่งสอนว่า.. "ความสุขทางโลกียะนี้ มันอาศัยสิ่งไม่เที่ยงมาเป็นสุขของมัน มันไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน มันสุขแค่ชั่วคราวแล้วก็ดับไป อยู่ได้นานสุดก็แค่เพียงหมดลมหายใจ สุขนั้นก็ต้องดับไป ก็ต้องพรัดพรากจากสุขนั้นไป ไม่สามารถเอาติดตามไปด้วยได้ ส่วนสุขทางโลกียะนี้มันอยู่ที่ใจ อยู่ที่ศีล ทาน ภาวนา มันลงที่ใจไม่ยึดเอาอามิสสิ่งใดมาเป้นสุขของมัน สุขทางโกุตระคือสุขจากการปล่อยวาง มีศีล ทาน ภาวนา ที่จะติดตามเราแม้ตายไป แม้เกิดใหม่ในทุกภพทุกชาติ"
"สุขทางโลกไม่เที่ยงแท้ยั่งยืนเพราะอาศัยสิ่งไม่เที่ยงมาเป็นสุขของมัน ความสุขทางโลกก็แค่เพียงหมดลมหายใจเท่านั้น..ดังนี้"

     ความสุขทางโลกเป็นความสุขแค่ชั่วคราว เราจะแลกทุกสิ่งความสุขชั่วคราวนั้น แล้วประกอบไปด้วยทุกข์ในภายหลังด้วยคำสอนประโยคนี้ ทำให้ศีลขึ้นมาถึงใจเราเป็นอันมากในขณะนั้น มีจิตเลิกอบายมุขทั้งปวง แล้วตั้งในศีล ๕ อีกครั้ง ด้วยความมีศีลอยู่เต็มกำลังใจที่จะทำเป็นเหตุให้อยู่ๆศีลกลับคืนมาเอง จากเหตุการณ์นี้ทำให้เราได้รู้ว่า การที่จะถึงธรรมข้อใดก็ตามแต่ ถ้าเอาลงใจไม่ได้ โยสิโสมนสิการ ทำไว้ในใจโดยแยบคายไม่ได้ ก็ไม่สามารถเข้าถึงธรรมข้อนั้นได้เลย นอกจากจะจดจำท่องบ่นเอาเท่านัน้ แต่เมื่อถึงใจเมื่อไหร่ ทำไว้ในใจโดยแยบคายแล้ว ย่อมเข้าถึง ธรรมอันงามที่พระพุทธเจ้า และ ครู้บาอาจารย์ทั้งหลายสั่งสอนทันที

(โดยปกติแล้ว..แม้ตอนกรรมบถ ๑๐ เสื่อม เราก็ยังตั้งในศีลบ้างอยู่ไม่ได้ทิ้งไปเลย ยังมั่นใน ศีล ๕ แต่ส่วนมากจะได้เพียง ๔ ข้อ เสื่อมศีลข้อ ๕ สุราเมรัย เพราะกำลังใจในศีลมันหมดไป ดังนั้นความทำให้เต็มใจในธรรมอันใด ศรัทธาเหล่าใดเกิดขึ้น ย่อมนำพาซึ่งความถึงใจมีกำลังใจที่จะทำในธรรมเหล่านั้นเป้นอันมาก)

ศีล แปลว่า ปกติ บางสำนักในพระพุทธศาสนานี้กล่าวว่า ศีล คือ ความปกติของคน มีแต่คนเท่านั้นจึงจะมีศีลได้

- ส่วนตัวเรานี้ในที่ๆมีศีลถึงในใจมีใจเข้าถึงศีล ได้โยนิโสมนสิการถึงศีลแล้ว จึงได้เห็นดังนี้ว่า ศีล คือ ปกติ เป็นความปกติของ กาย วาจา อันเกิดแต่ความที่ใจที่เป็นปกติไม่เร่าร้อน ไม่ฟุ้งซ่านใจ ไม่งุ่นง่านกระวนกระวายใจ คับแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อนเศร้าหมองเผาใจ มีปกติจิตที่ปราศจากไฟแห่งราคะ-โทสะ-โมหะแผดเผาใจจึงถึงศีลได้ จึงอยู่โดยความีศีลได้ จึงเป็นเหตุให้ว่า ศีลของพระพุทธเจ้านี้จะมีแก่เราได้ก็ด้วยปัญญาเห็นชอบ ดังนั้นแล้ว ศีล คือ ความปกติของกายใจเรานี้เอง

ศีล ทาน นี้..เกิดด้วยศรัทธา คือ ความเชื่อด้วยปัญญาศรัทธานั้นมี ๔ ประการดังนี้

๑. กัมมสัทธา เชื่อกรรม เชื่อกฎแห่งกรรม เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง คือ เชื่อว่า เมื่อทำอะไรโดยมีเจตนา คือ จงใจทำทั้งรู้ ย่อมเป็นกรรม คือ เป็นความชั่วความดีมีขึ้นในตน เป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป การกระทำไม่ว่างเปล่า และเชื่อว่าผลที่ต้องการ จะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ มิใช่ด้วยอ้อนวอนหรือนอนคอยโชค เป็นต้น
๒. วิปากสัทธา เชื่อวิบาก เชื่อผลของกรรม เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง คือ เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วย่อมมีผล และผลต้องมีเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว
๓. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน เชื่อว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของ จะต้องรับผิดชอบเสวยวิบาก เป็นไปตามกรรมของตน
๔. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มั่นใจในองค์พระตถาคต ว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณทั้ง 9 ประการ ตรัสธรรม บัญญัติวินัยไว้ด้วยดี ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ คือเราทุกคนนี้ หากฝึกตนด้วยดีก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุด บริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ทรงบำเพ็ญไว้

    ขั้นต้นแรกเริ่มนั้นเมื่อเกิดศรัทธาแล้วย่อมเห็นตามธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน ย่อมน้อมใจไปในศีล แต่คนเรานี้ปกติมันอยู่กับของปลอมอยู่กับสมมติกิเลสมายืนยาวนาน ดังนั้นจะให้จิตมันยอมรับศีลเลยคงลำบาก ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เอาศีลลงใจดังนี้
    ๑. เห็นทุกข์จากการไม่มีศีล เข้าถึงความสุขจากการมีศีล
    ๒. เห็นกรรมจากการมีศีลและไม่มีศีล เห็นอานิสงส์ และ ผลวิบากที่่ได้รับจากการไม่มีศีล
    ๓. เห็นทางพ้นทุกข์จากศีล ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน


บันทึกกรรมฐานวันที่ 21 สิงหาคม 2558 (ย้ำศีลเข้าฝังในใจด้วยเทศนาของหลวงปู่บุญกู้)






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 25, 2015, 08:10:23 AM
.....บันทึกกรรมฐานวันที่ 21 สิงหาคม 2558 (ศีลลงใจ)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 25, 2015, 06:13:55 PM
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
ฉฬวรรคที่ ๕
สังคัยหสูตรที่ ๑

             [๑๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ ๖ ประการนี้ ที่บุคคลไม่ฝึกฝน
ไม่คุ้มครอง ไม่รักษา ไม่สำรวมระวังแล้ว ย่อมนำทุกข์หนักมาให้ ผัสสายตนะ
๖ ประการเป็นไฉน คือ จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ ที่บุคคลไม่
ฝึกฝน ไม่คุ้มครอง ไม่รักษา ไม่สำรวมระวังแล้ว ย่อมนำทุกข์หนักมาให้ ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ ๖ ประการนี้แล ที่บุคคลไม่ฝึกฝน ไม่คุ้มครอง ไม่
รักษา ไม่สำรวมระวังแล้ว ย่อมนำทุกข์หนักมาให้ ฯ
             [๑๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ ๖ ประการนี้ ที่บุคคลฝึกฝนดี
คุ้มครองดี รักษาดี สำรวมระวังดีแล้ว ย่อมนำสุขมากมาให้ ผัสสายตนะ ๖
เป็นไฉน คือ จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ ที่บุคคลฝึกฝนดี คุ้มครองดี
รักษาดี สำรวมระวังดีแล้ว ย่อมนำสุขมากมาให้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ
๖ ประการนี้แล ที่บุคคลฝึกฝนดี คุ้มครองดี รักษาดี สำรวมระวังดีแล้ว ย่อม
นำสุขมากมาให้ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลง
แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ฯ
             [๑๓๐]    ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่สำรวมผัสสายตนะ ๖
                          นั่นแหละ เว้นการสำรวมในอายตนะใด ย่อมเข้าถึงทุกข์
                          บุคคลเหล่าใด ได้สำรวมระวังอายตนะเหล่านั้น บุคคล
                          เหล่านั้น มีศรัทธาเป็นเพื่อนสอง ย่อมเป็นผู้อันราคะไม่ชุ่มอยู่
                          บุคคลเห็นรูปที่ชอบใจและเห็นรูปที่ไม่ชอบใจแล้ว พึง
                          บรรเทาราคะในรูปที่ชอบใจ และไม่พึงเสียใจว่า รูปไม่น่ารัก
                          ของเรา (เราเห็นรูปไม่น่ารักเข้าแล้ว) ได้ยินเสียงที่น่ารัก
                          และเสียงที่ไม่น่ารัก พึงสงบใจในเสียงที่น่ารัก และพึง
                          บรรเทาโทสะในเสียงที่ไม่น่ารัก และไม่พึงเสียใจว่า เสียงไม่
                          น่ารักของเรา (เราได้ฟังเสียงที่ไม่น่ารักเข้าแล้ว) ได้ดมกลิ่น
                          ที่ชอบใจอันน่ายินดี และได้ดมกลิ่นที่ไม่สะอาด ไม่น่ารัก
                          ใคร่ พึงบรรเทาความหงุดหงิดในกลิ่นที่ไม่น่าใคร่ และไม่
                          พึงพอใจในกลิ่นที่น่าใคร่ ได้ลิ้มรสที่อร่อยเล็กน้อย และ
                          ลิ้มรสที่ไม่อร่อยในบางคราว ไม่พึงลิ้มรสที่อร่อยด้วยความ
                          ติดใจ และไม่ควรยินร้ายในเมื่อลิ้มรสที่ไม่อร่อย ถูกสัมผัส
                          ที่เป็นสุขกระทบเข้าแล้ว และถูกผัสสะที่เป็นทุกข์กระทบเข้า
                          แล้ว ไม่พึงหวั่นไหวในระหว่างๆ ควรวางเฉยผัสสะทั้งที่
                          เป็นสุข ทั้งที่เป็นทุกข์ทั้งสอง ไม่ควรยินดี ไม่ควรยินร้าย
                          เพราะผัสสะอะไรๆ นรชนทั้งหลายที่ทรามปัญญา มีความ
                          สำคัญในกิเลสเป็นเหตุให้เนิ่นช้า ยินดีอยู่ด้วยกิเลสเป็นเหตุ
                          ให้เนิ่นช้า เป็นสัตว์ที่มีสัญญา ย่อมวกเวียนอยู่ ก็บุคคล
                          บรรเทาใจ ที่ประกอบด้วยปัญจกามคุณทั้งปวงแล้ว ย่อมรักษา
                          ใจให้ประกอบด้วยเนกขัมมะ ใจที่บุคคลเจริญดีแล้วใน
                          อารมณ์ ๖ อย่างนี้ ในกาลใด ในกาลนั้น จิตของบุคคลนั้น
                          อันสุขสัมผัสกระทบเข้าแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหวในที่ไหนๆ
                          ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายปราบราคะและโทสะเสียแล้ว
                          ย่อมเป็นผู้ถึงนิพพานซึ่งเป็นฝั่งข้างโน้นแห่งชาติและมรณะ ฯ

จบสูตรที่ ๑


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 25, 2015, 06:24:07 PM

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค

สังคัยหสูตรที่ ๒

             [๑๓๑] ครั้งนั้นแล ท่านพระมาลุกยบุตร มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค
โปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ที่ข้าพระองค์สดับแล้ว พึงเป็นผู้ๆ เดียว
หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เถิด พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่า ดูกรมาลุกยบุตร ในการที่เธอขอโอวาทนี้ในบัดนี้ เราจักบอกกะพวก
ทหรภิกษุทำไม ก็ท่านใดแก่แล้ว เป็นผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยแล้ว ย่อม
ขอโอวาทโดยย่อ เราจักบอกแก่เธอนั้น ฯ

             [๑๓๒] มา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์แก่แล้ว  เป็นผู้เฒ่า
ผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยแล้วก็จริง ถึงกระนั้น ขอพระผู้มีพระภาคผู้สุคตโปรด
แสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์เถิด ไฉนข้าพระองค์พึงรู้ถึงพระภาษิตของพระผู้มี-
*พระภาค พึงเป็นผู้ได้รับพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ฯ
             พ. ดูกรมาลุกยบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปที่พึงรู้แจ้ง
ด้วยจักษุเหล่าใด เธอไม่เห็นแล้ว ทั้งไม่เคยเห็นแล้ว ย่อมไม่เห็นในบัดนี้ด้วย
ความกำหนดว่า เราเห็น มิได้มีแก่เธอด้วย เธอมีความพอใจ มีความกำหนัด
หรือมีความรักในรูปเหล่านั้นหรือ ฯ
             มา. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า ฯ
             พ. เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยหูเหล่าใด เธอไม่ได้ฟังแล้ว ทั้งไม่เคยได้ฟังแล้ว
ย่อมไม่ได้ฟังในบัดนี้ด้วย ความกำหนดว่า เราได้ฟัง มิได้มีแก่เธอด้วย เธอมี
ความพอใจ มีความกำหนัด หรือมีความรักในเสียงเหล่านั้นหรือ ฯ
             มา. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า ฯ
             พ. กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วยจมูกเหล่าใด เธอไม่ได้ดมแล้ว ทั้งไม่เคยได้ดม
แล้ว ย่อมไม่ได้ดมในบัดนี้ด้วย ความกำหนดว่า เราได้ดม มิได้มีแก่เธอด้วย
เธอมีความพอใจ มีความกำหนัด หรือมีความรักในกลิ่นเหล่านั้นหรือ ฯ
             มา. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า ฯ
             พ. รสที่พึงรู้แจ้งด้วยลิ้นเหล่าใด เธอไม่ได้ลิ้มแล้ว ทั้งไม่เคยได้ลิ้มแล้ว
ย่อมไม่ได้ลิ้มในบัดนี้ด้วย ความกำหนดว่า เราได้ลิ้ม มิได้มีแก่เธอด้วย เธอมี
ความพอใจ มีความกำหนัด หรือความรักในรสเหล่านั้นหรือ ฯ
             มา. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า ฯ
             พ. โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกายเหล่าใด เธอไม่ได้ถูกต้องแล้ว ทั้ง
ไม่ได้เคยถูกต้องแล้ว ย่อมไม่ได้ถูกต้องในบัดนี้ด้วย ความกำหนดว่า เราถูกต้อง
มิได้มีแก่เธอด้วย เธอมีความพอใจ มีความกำหนัด หรือมีความรักในโผฏฐัพพะ
เหล่านั้นหรือ ฯ
             มา. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งด้วยใจเหล่าใด เธอไม่ได้รู้แล้ว ทั้งไม่ได้
เคยรู้แล้ว ย่อมไม่รู้ในบัดนี้ด้วย  ความกำหนดว่า เรารู้ มิได้มีแก่เธอด้วย เธอมี
ความพอใจ มีความกำหนัด หรือความรักในธรรมารมณ์เหล่านั้นหรือ ฯ
             มา. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า ฯ

             [๑๓๓] พ. ดูกรมาลุกยบุตร ก็ในธรรมเหล่านั้น คือ รูปที่ได้เห็น
เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ และธรรมที่จะพึงรู้แจ้ง ในรูปที่ได้เห็นแล้ว เธอ
จักเป็นเพียงแต่ว่าเห็น ในเสียงที่ได้ฟังแล้ว เธอจักเป็นเพียงแต่ว่าได้ฟัง ใน
อารมณ์ที่ได้ทราบแล้ว เธอจักเป็นเพียงแต่ได้ทราบ ในธรรมที่ได้รู้แจ้ง เธอจัก
เป็นเพียงแต่ได้รู้แจ้ง ดูกรมาลุกยบุตร ในธรรมทั้งหลาย คือ รูปที่ได้เห็น
เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ และธรรมที่จะพึงรู้แจ้ง ในรูปที่ได้เห็นแล้ว เธอ
จักเป็นเพียงแต่ว่าเห็น ในเสียงที่ได้ฟังแล้ว เธอจักเป็นเพียงแต่ว่าได้ฟัง ในอารมณ์
ที่ได้ทราบแล้ว เธอจักเป็นเพียงแต่ได้ทราบ ในธรรมที่ได้รู้แจ้งแล้ว เธอจักเป็น
เพียงแต่ได้รู้แจ้งแล้ว ในกาลใด ในกาลนั้น เธอจักเป็นผู้ไม่ถูกราคะย้อม ไม่
ถูกโทสะประทุษร้าย ไม่หลงเพราะโมหะ เธอจักเป็นผู้ไม่ถูกราคะย้อม ไม่ถูก
โทสะประทุษร้าย ไม่หลงเพราะโมหะ ในกาลใด ในกาลนั้น เธอจักไม่พัวพัน
ในรูปที่ได้เห็น ในเสียงที่ได้ฟัง ในอารมณ์ที่ได้ทราบ หรือในธรรมารมณ์ที่ได้
รู้แจ้ง ดูกรมาลุกยบุตร ในโลกนี้ก็ไม่มี ในโลกอื่นก็ไม่มี ในระหว่างโลกทั้งสอง
ก็ไม่มี นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ

             มา. พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ย่อมรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งธรรม
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยย่อนี้ได้โดยพิสดารว่า

             [๑๓๔]    สติหลงไปแล้วเพราะเห็นรูป บุคคลเมื่อใส่ใจถึงรูปเป็น
                          นิมิตที่รัก ก็มีจิตกำหนัด เสวยอารมณ์นั้น ทั้งมีความติดใจ
                          ในอารมณ์นั้นตั้งอยู่ มีเวทนาอันมีรูปเป็นแดนเกิดเป็นอเนก
                          ทวีขึ้น และมีจิตอันอภิชฌาและวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อ
                          สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ห่างไกลนิพพาน สติ
                          หลงไปแล้ว เพราะได้ฟังเสียง บุคคลเมื่อใส่ใจถึงเสียงเป็น
                          นิมิตที่รัก ก็มีจิตกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งมีความติดใจ
                          ในอารมณ์นั้นตั้งอยู่ มีเวทนาอันมีเสียงเป็นแดนเกิดเป็นอเนก
                          ทวีขึ้น และมีจิตอันอภิชฌาและวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อ
                          สั่งสมทุกข์อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ห่างไกลนิพพาน สติหลง
                          ไปแล้วเพราะได้ดมกลิ่น บุคคลเมื่อใส่ใจถึงกลิ่นเป็นนิมิต
                          ที่รัก ก็มีจิตกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งมีความติดใจอารมณ์
                          นั้นตั้งอยู่ มีเวทนาอันมีกลิ่นเป็นแดนเกิดเป็นอเนกทวีขึ้น
                          และมีจิตอันอภิชฌาและวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อสั่งสมทุกข์
                          อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ห่างไกลนิพพาน สติหลงไปแล้ว
                          เพราะลิ้มรส บุคคลเมื่อใส่ใจถึงรสเป็นนิมิตที่รัก ก็มีจิต
                          กำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งมีความติดใจในอารมณ์นั้นตั้งอยู่
                          มีเวทนาอันมีรสเป็นแดนเกิดเป็นอเนกทวีขึ้น และมีจิตอัน
                          อภิชฌาและวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อสั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้
                          บัณฑิตกล่าวว่า ห่างไกลนิพพาน สติหลงไปแล้ว เพราะ
                          ถูกต้องโผฏฐัพพะ บุคคลเมื่อใส่ใจถึงโผฏฐัพพะเป็นนิมิต
                          ที่รัก ก็มีจิตกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งมีความติดใจในอารมณ์
                          นั้นตั้งอยู่ มีเวทนาอันมีโผฏฐัพพะเป็นแดนเกิดเป็นอเนก
                          ทวีขึ้น และมีจิตอันอภิชฌาและวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อ
                          สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ห่างไกลนิพพาน
                          สติหลงไปแล้วเพราะรู้ธรรมารมณ์ บุคคลเมื่อใส่ใจถึง
                          ธรรมารมณ์เป็นนิมิตที่รัก ก็มีจิตกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น
                          ทั้งมีความติดใจในอารมณ์นั้นตั้งอยู่ มีเวทนาอันมีธรรมารมณ์
                          เป็นแดนเกิดเป็นอเนกทวีขึ้น และมีจิตอันอภิชฌาและวิหิงสา
                          เข้าไปกระทบ เมื่อสั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า
                          ห่างไกลนิพพาน ฯ

             [๑๓๕]    บุคคลนั้นเห็นรูปแล้ว มีสติไม่กำหนัดในรูปทั้งหลาย มี
                          จิตคลายกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่มีความติดใจอารมณ์
                          นั้นตั้งอยู่ บุคคลนั้นเมื่อเห็นรูปและเสวยเวทนาอยู่ ทุกข์สิ้นไป
                          และไม่สั่งสมทุกข์ ฉันใด บุคคลนั้นเป็นผู้มีสติเที่ยวไป
                          ฉันนั้น เมื่อไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ใกล้
                          นิพพาน บุคคลนั้นได้ฟังเสียงแล้ว มีสติไม่กำหนัดในเสียง
                          ทั้งหลาย มีจิตคลายกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่มีความ
                          ติดใจอารมณ์นั้นตั้งอยู่ บุคคลนั้นเมื่อได้ฟังเสียงและเสวย
                          เวทนาอยู่ ทุกข์สิ้นไปและไม่สั่งสมทุกข์ ฉันใด บุคคลนั้น
                          เป็นผู้มีสติเที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้
                          บัณฑิตกล่าวว่า ใกล้นิพพาน บุคคลนั้นเมื่อดมกลิ่นแล้ว
                          มีสติไม่กำหนัดในกลิ่นทั้งหลาย มีจิตคลายกำหนัดเสวย
                          อารมณ์นั้น ทั้งไม่มีความติดใจอารมณ์นั้นตั้งอยู่ บุคคลนั้น
                          เมื่อดมกลิ่นและเสวยเวทนาอยู่ ทุกข์สิ้นไปและไม่สั่งสมทุกข์
                          ฉันใด บุคคลนั้นเป็นผู้มีสติเที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อไม่สั่งสม
                          ทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ใกล้นิพพาน บุคคลนั้น
                          ลิ้มรสแล้ว มีสติไม่กำหนัดในรสทั้งหลาย มีจิตคลายกำหนัด
                          เสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่มีความติดใจอารมณ์นั้นตั้งอยู่ บุคคล
                          นั้นเมื่อลิ้มรสและเสวยเวทนาอยู่ ทุกข์สิ้นไปและไม่สั่งสม
                          ทุกข์ ฉันใด บุคคลนั้นเป็นผู้มีสติเที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อไม่
                          สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ใกล้นิพพาน บุคคล
                          นั้นถูกต้องผัสสะแล้ว มีจิตไม่กำหนัดในผัสสะทั้งหลาย
                          มีจิตคลายกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่มีความติดใจอารมณ์
                          นั้นตั้งอยู่ บุคคลนั้นเมื่อถูกต้องผัสสะและเสวยเวทนาอยู่
                          ทุกข์สิ้นไปและไม่สั่งสมทุกข์ ฉันใด บุคคลนั้นเป็นผู้มีสติ
                          เที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิต
                          กล่าวว่า ใกล้นิพพาน บุคคลนั้นรู้ธรรมารมณ์แล้ว มีสติไม่
                          กำหนัดในธรรมารมณ์ทั้งหลาย มีจิตคลายกำหนัดเสวยอารมณ์
                          นั้น ทั้งไม่มีความติดใจอารมณ์นั้นตั้งอยู่ บุคคลนั้นเมื่อรู้
                          ธรรมารมณ์และเสวยเวทนาอยู่ ทุกข์สิ้นไปและไม่สั่งสมทุกข์
                          ฉันใด บุคคลนั้นเป็นผู้มีสติเที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อไม่สั่งสม
                          ทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่าใกล้นิพพาน ฯ

             ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งธรรมที่พระผู้มี-
*พระภาคตรัสโดยย่อนี้ได้โดยพิสดาร ด้วยประการฉะนี้ ฯ

             [๑๓๖] พ. ดูกรมาลุกยบุตร สาธุๆ เธอรู้ทั่งถึงเนื้อความแห่งธรรมที่เรา
กล่าวโดยย่อได้โดยพิสดารดีอยู่แล ว่า

             [๑๓๗]    สติหลงไปเพราะเห็นรูป บุคคลเมื่อใส่ใจถึงรูปเป็นนิมิต
                          ที่รัก ก็มีจิตกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งมีความติดใจอารมณ์
                          นั้นตั้งอยู่ มีเวทนาอันมีรูปเป็นแดนเกิดเป็นอเนกทวีขึ้น และ
                          มีจิตอันอภิชฌาและวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อบุคคลสั่งสม
                          ทุกข์อยู่อย่างนี้ เรากล่าวว่าไกลนิพพาน ฯลฯ

             [๑๓๘]    บุคคลนั้นรู้ธรรมารมณ์แล้ว มีสติไม่กำหนัดในธรรมารมณ์
                          มีจิตคลายกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่มีความติดใจอารมณ์
                          นั้นตั้งอยู่ บุคคลนั้นเมื่อรู้ธรรมารมณ์และเสวยเวทนาอยู่
                          ทุกข์สิ้นไปและไม่สั่งสมทุกข์ ฉันใด บุคคลนั้นเป็นผู้มีสติ
                          เที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ ฯลฯ เรากล่าว
                          ว่าใกล้นิพพาน ฯ

             ดูกรมาลุกยบุตร เธอพึงเห็นเนื้อความแห่งธรรมที่กล่าวแล้วโดยย่อนี้โดย
พิสดารอย่างนี้แล ฯ

             [๑๓๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระมาลุกยบุตรชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้
มีพระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ครั้ง
นั้นแล ท่านพระมาลุกยบุตรเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท
มีความเพียร มีจิตเด็ดเดี่ยว ไม่ช้าก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอด
เยี่ยมที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่ง
เอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่
ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แลท่านพระมาลุกย
บุตร ได้เป็นอรหันต์องค์หนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ

จบสูตรที่ ๒


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กันยายน 03, 2015, 01:18:45 AM

คาถาเลิกเหล้า แก้ความกำหนัดเมถุน




   สุขทางโลก หรือ สุขทางโลกียะนั้น มันสุขแค่ประเดั๋ยวชั่วคราว ไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน แต่ประกอบไปด้วยทุกข์
เช่น เมื่อกินเหล้า สูบบุหรี่ หรือ เมถุนแล้ว สุขกับการเสพย์มันก็แค่ประเดี๋ยวชั่ววูบชั่วคราว แล้วก็ดับไป เมื่อดับไปแล้วก็ทุกข์ร้อนรนตะเกียกตะกายแสวงหามาให้ได้เสพย์อีก เมื่อเสพย์มันแล้วก็ต้องแลกกับ กุศล ความดีงาม ภัณฑะ ทรัพย์สิน สิ่งของมีค่าทั้งปวงที่สั่งสมมา เพื่อแลกกับที่จะได้เสพย์มันเพียงชั่วคราวเท่านั้น

   เราเองก็ได้รู้รสความสุขเพียงประเดี๋ยวชั่วครู่ชั่วคราวจากกามคุณ ๕ คือ ทั้งเหล้า ยา ปลาปิ้ง บุหรี่ เมถุน แต่ทำร้ายกุศลที่ดีงาม ทรัพย์สิน บุคคล สิ่งของอันเป็นที่รักที่หวงแหนยิ่ง ที่สั่งสมมาอย่างยากลำบาก ที่เก็บไว้เพื่อลูกเมีย เพื่อเตี่ยแม่ จนนำความสูญเสียความฉิบหายมาให้มีมากมานักต่อนักแล้ว ดังนั้นเราควรละความสุขทางโลก อันไม่เที่ยงสุขแค่ประเดี๋ยวประด๋าวชั่ววูบชั่วคราวนั้นเสีย ละความสุขในกามารมณ์ กามคุณ ๕ กามเมถุน ทั้งปวงเสียได้ เราจักไม่ทุกข์อีก

    พระตถาคตตรัสสอนอย่างนี้ว่า เพราะละความสุขทางโลกียะที่มีแค่ชั่วคราววูบหนึ่ง ไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน ทั้งหลายเหล่านี้เสียได้ จึงถึงสุขแห่งโลกุตระอันเป็นนิรันด์ เป็นอมตะสุขได้



สุขทางโลก กับสุขทางธรรม

หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน ท่านสอนว่า...

… "ความสุขทางโลกียะมันอาศัยความเข้าไปยึดเอาสิ่งไม่เที่ยงมาเป็นความสุขของมัน เสพย์แล้วก็ดับไป แล้วก็ประกอบไปด้วยทุกข์ในภายหลัง มันสุขได้นานสุดแค่หมดลมหายใจของเรา มันไม่ได้ติดตามเราไปด้วย ส่วนสิ่งที่ติดตามเราไปทุกที่่ทุกภพทุกชาติ คือ บุญกับบาป แล้วทีนี้เราควรแล้วหรือ ที่จะยึดเอาสิ่งไม่เที่ยงมาเป็นสุขของตน"..

… "ส่วนโลกุตระสุข คือ สุขในการปล่อยวาง สุขด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น สุขด้วยตัวของมันเอง อิ่มเอมด้วยตัวของมันเอง ไม่ยึดสิ่งไรๆทั้งปวง มีแต่บุญจาก ศีล ทาน ภาวนา ที่จะติดตามเราไปทุกๆชาติ แล้วควรหรือไม่ควรที่เราจะน้อมมาพิจารณาแล้วเจริญปฏิบัติให้ถึงสุขแห่งโลกุตระนั้น" ...






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กันยายน 03, 2015, 01:42:57 AM

วิธีมนสิการระลึกเวลาเราใส่บาตรให้ทาน ทำนุบำรุงพุทธสถาน
ทำกิจการงานช่วยเหลืองานพระสงฆ์สามเณร

ประการที่ ๑

    ก็ให้เราพึงทำในใจไว้ว่า..การทำบุญใส่บาตรให้ทานอยู่นี้ เป็นการปฏิบัติบูชา สละคืนความโลภ โกรธ หลง ละซึ่งกิเลสความติดข้องใจทั้งปวงแห่งเราเพื่อถวายเป็น พูทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา พระพุทธศาสนา พระพุทธสถาน พระพุทธสาวก และ สมมติสงฆ์ สมมติสาวกทั้งหลาย เพื่อความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลประโยชน์สุขแก่ท่านทั้งหลายเหล่านั้น
(คนที่สละคืนกิเลสได้เมื่อทำบุญทำทานเขาย่อมคิดเห็นถึงอย่างนี้ๆว่า.. "จะมีสิ่งเหล่าใดบ้างหนอที่เมื่อเราทำแล้ว..จักพึงเอื้อประโยชน์สุขเกื้อกูลแก่ พระรัตนตรัย พระพุทธศาสนา พระพุทธสถาน ครูบาอาจารย์ พระ เณร สมมติสงฆ์ สมมติสาวกทั้งหลายได้บ้าง หรือ สิ่งเหล่าใดที่เราทำอยู่ในตอนนี้นั้น จะเป็นประโยชน์สุข เอื้อเฟื้อ เกื้อกูลให้แก่ พระรัตนตรัย และ พระพุทธศาสนา อย่างไรได้บ้าง")

     ** (แต่หากขณะนั้นเรามีจิตสละคืนความโลภไม่ได้ หรือ เพราะว่าอยากได้อานิสงส์ผลแห่งทานนี้ ก็เพียงแค่น้อมระลึกเอาว่า เพื่อความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลประโยชน์สุขแก่ท่านเหล่านั้น และ ตัวข้าพเจ้าเอง ลูก เมีย(สามี) ญาติพี่น้อง เพื่อสนิทมิตรสหาย บุพการีทั้งหลายทั้งในอดีตชาติ อดีตกาลจนถึงปัจจุบันนี้ทั้งที่ละโลกนี้ไปแล้วและที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้งหลาย ให้ท่านได้รับประโยชน์สุขและอานิสงส์อันนี้ทั้งปวงจงสำเร็จประโยชน์แก่ท่านเหล่านั้นในทันทีและในกาลทุกเมื่อเทอญ
         หากยังไม่ถึงพระนิพพานฉันใด ขอให้ข้าพเจ้าได้เจริญสำเร็จประโยชน์ทั้งในทางโลกและทางธรรม เข้าถึงธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน ได้เกิดเจอพระพุทธศาสนาไปทุกๆชาติ ขอให้ได้เจอและสดับฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า หากแม้ไม่เจอพระพุทธเจ้า ก็ขอให้ได้เจอพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้เจอพระอรหันต์สาวก ได้เจอพระอริยะสงฆ์ พระอริยะเจ้าทั้งหลาย ได้เรียนรู้ธรรมอันเป็นเครื่องออกจากทุกข์ทั้งสิ้นนี้จากท่านเหล่านั้นโดยง่าย
         ขอบุญอีกส่วนหนึ่งขอให้แก่เจ้ากรรมนายเวรให้เลิกแล้วต่อกัน ละเว้นจากความผูกเวรพยาบาทอาฆาตต่อกัน ด้วยเหตุดังนี้หากเมื่อข้าพเจ้าได้รับสุขกุศลผลบุญแห่งธรรมอันใดก็ขอให้ท่านเหล่านั้นได้รับสุขจากอานิสงส์นั้นด้วย เมื่อข้าพเจ้าได้รู้เห็นเข้าถึงกุศลธรรม ธรรมอันประเสริฐที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนหรือ พระอรหันต์ พระอริยะสงฆ์ สมมติสงฆ์ และ ครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้เทศนาธรรมสั่งสอนชี้นำทางเพื่อเป็นเครื่องออกจากทุกข์ ก็ขอให้เจ้ากรรมนายเวรได้รู้ตาม ถึงตาม สำเร็จประโยชน์สุขอันประเสริฐนี้ตามด้วยประการดังนี้)**




ประการที่ ๒

เวลาจะไปกวาดลานวัด หรือทำงานเอนกประสงค์ให้แก่วัด ให้พึงมนสิการระลึกอย่างนี้ว่า

วันนี้ๆ เราจะทำสิ่งใดถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมมะบูชา สังฆบูชาได้บ้างหนอ จักทำกิจการงานสิ่งใดที่เป็นประโยชน์แก่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่เราเคารพนับถือบูชา และ พุทธสถาน พุทธวัตถุในพระพุทธศาสนาแห่งนี้ได้บ้างหนอ

   เราจักถวายทาน ใส่บาตร ถวายน้ำปานะ กวาดลานวัด จักช่วยเหลือกิจการงานในวัด เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา จักทำกิจการงานทั้งหลาย หรือ ทานเหล่าใดทั้งปวง ที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้ อันเป็นการช่วยเหลือ เกื้อกูลซึ่งคุณประโยชน์ และ ความสุข แก่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่เราเคารพบูชา ที่อยู่ ณ ที่นี้ และ เพื่อการทำนุบำรุงดูแลรักษาซึ่งพุทธสถาน ที่อยู่ใน ณ ที่นี้ (แล้วให้น้อมระลึกถึงประโยชน์จากสิ่งที่เราทำนี้ไว้ในใจ ว่าจะมีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล จะสำเร็จประโยชน์สุขอันใด มีต่อพระรัตนตรัย และ ครูบาอาจารย์)

    แล้วทำไว้ในใจดังนี้ว่า..สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในขณะนี้ ไม่ใชเพื่อประโยชน์สุขในคำสรรเสริญ เยินยอ ชื่นชม หนือลาภ ยศ สักการะแต่ประการใด แต่เป็นไปเพื่อคุณประโยชน์ต่อพระรัตนตรัย และ ความละ ความดับ ความสละคืนเสียซึ่งความแสวงหา อยากได้ ความละโมบ โลภมาก ความอยากปรนเปรอตนเหล่าใดที่เป็นไปเพื่อคำสรรเสริญ เยินยอ ชื่นชม ลาภ ยศ สักการะ กิเลสโลภะ กาม ราคะ โทสะ โมหะทั้งปวง เพื่อถึงซึ่งความละสังโยชน์ได้ ถึงไตรลักษณ์ ถึงอนัตตสัญญาดังนี้..






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กันยายน 03, 2015, 01:55:29 AM

แสวงหาสุขทางโลกียะมันเป็นเรื่องของทางโลก แสวงหาสุขทางโลกุตระเป็นเรื่องในทางธรรม

ลำดับทั้งหมดนี้เห็นโดยสมาธิทีละขณะๆเกิดดับๆ เป็น 1010101010 โดยส่วนตัวเราเท่านั้น ที่รู้เห็นนี้ไม่มีลำดับที่ถูกจริงแน่นอน ก็สุดแล้วแต่ว่าจิตมันจะรู้สิ่งใดก่อน ไม่สามารถลำดับที่ถูกต้องได้ เพราะเรายังโลกียะยังเป็นเพียงปุถุชนเท่านั้น ที่รู้เห็นนี้มีทั้งจริงทั้งไม่จริง หรือ ไม่จริงทั้งหมด แต่อาศัยสัญญาจากที่รู้เห็นตามจริงด้วย ยถาภูญาณทัสสนะนี้มาเป็นธัมมะวิจะยะ วิเคราะห์ลงในธรรม เพื่อความคลายกำหนัด คลายอุปาทาน ถึงซึ่งนิพพิทาญาณ และ วิราคะเท่านั้น

รูป+ตา+วิญญาณ = ผัสสะ(เหมือนฟ้าแลบแปล๊บ) »→ มนะ »→ จิตรู้ผัสสะมีอาการเหมือนฟ้าแลบนั้น »→ เวทนา(กลางๆเฉยๆไม่ยินดียินร้าย) »→ เจตนา »→ ผัสสะ(อาการสภาพจริงๆที่เป็นเพียงสภาวะธรรมที่ไม่มีชื่อไม่มีบัญญัติ) »→ มโนวิญญาณ »→ วิญญาณ  »→ เวทนา(กลางๆเฉยๆไม่ยินดียินร้าย) »→ มนสิการ »→ เวทนา(โสมนัส,โทมนัส,อุเบกขา) »→ ฉันทะ »→ สัญญา(สมมติบัญญัติ) »→ มโนวิญญาณ »→  สังขาร  »→ วิญญาณ, จิต { ฉันทะ(ความพอใจยินดีในอารมณ์นั้นๆ) »→กาม(ความใคร่น่าปารถนายินดีในอารมณ์นั้นๆ) »→ นันทิ(ความติดใจในอารมณ์นั้นๆ) »→ ราคะ(ความกำหนัดยินดี ผุกใจหมายใฝ่ใครได้ที่จะเสพยืในอารมณ์นั้นๆ ความกระสัน) »→ ตัณหา(ความแสวงหา ความทะยานอยากในอารมร์ทั้งปวง) »→ มิจฉาทิฐิ(ทิฐิวิปปัลลาส, สัญญาวิปปัลลาส, นิจจะสัญญา, อัตตะสัญญา) »→ อุปาทาน(ความเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในอารมณืทั้งปวง) }



ดังนั้นถ้าดับความแสวงหาได้ก็ไม่ทุกข์ เลิกตั้งความพอใจยินดีและไม่พอใจยินดีในสิ่งไรๆ เลิกแสวงหา เราจะไม่ทุรนทุรายเพราะกามอีก





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กันยายน 09, 2015, 01:58:25 PM
กรรมฐานวันที่ 5 กันยายน 2558 ทำไมจึงต้องทำเหตุให้ดี เหตุคืออะไร เป็นไฉน

หลังจากที่ หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน ท่านได้เมตตาเทศนาสอนเรื่องสุดโต่งกับเรา แล้วบอกให้เราทำเหตุให้ดี จาก..บันทึกกรรมฐาน วันที่ 17 สิงหาคม 2558 เราได้มาใคร่ครวญพิจารณาเจริญใน ศีล ทาน ภาวนา ที่สมกันที่ควรกัน ทำให้รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงและทำให้ได้รู้ดังนี้ว่า

๑. ศีล คือ ความไม่เบียดเบียน เว้นจากความผูกเวรพยาบาท สละคืนโทสะ ศีลเป็นที่ตั้งแห่งสติ มีศีลได้สติก็สังขารโดยรอบแก่จิตให้เป็นกุศลด้วยความสำรวมระวังในศีล ไม่เบียดเบียนทางกายและวาจาเป็นหลัก ตัดขาดความผูกเวรพยาบาท ศีลนี้ละโทสะได้จึงถึงแก่ศีล การถือศีลโดยความขุ่นมัวใจยังใช้ไม่ได้ ศีลนี้มีเมตตาพรหมวิหาร ๔ เป็นบาทฐานยังให้ถึงศีลบริสุทธิ์ บริบูรณ์ได้ (มีขณิกสมาธิเป็นผลแห่งฐานกุศลจิต)

๒. ทาน คือ การสละคืนความโลภ เป็นความสละให้ ให้โดยปารถนาให้ผู้รับสำเร็จประโยชน์สุขจากการให้นั้นของเรา ทานตั้งโดย เมตตา กรุณา มุทิตา สังขารโดยรอบ(มีขณิกสมาธิเป็นผลแห่งฐานกุศลจิต)

๓. ภาวนา คือ การเจริญในทั้งสมถะ+วิปัสสนา เพื่อเพาะบ่มสมาธิ+ปัญญา สละคืนโมหะ ภาวนานี้ละความโง่ด้วยทำให้จิตรู้เห็นเข้าถึงสภาวะธรรมจริงของจริง อันปราศจากสมมติกิเลสความตรึกนึกคิดจอมปลอมทั้งปวง(สัมมาทิฐิ) เมื่อบ่มเพาะใน ศีล ทาน ภาวนา มาดีแล้วก็เป็นการทำเหตุให้เกิดปัญญาเป็นวิราคะ คือ ตัด ถึงวิมุตติได้



- ศีลและทานนี้มีความทำไว้ในใจโดยแยบคายในพรหมวิหาร ๔ ถึงในอุเบกขาเเป็นหลังคาปกคลุมพืชผลแห่งศีลและทานนั้น ทั้งหมดจึงเป็นกรรมฐานโดยแยบคายแล้วเพื่อยังกุศลทางกาย วาจา ใจ ให้เกิดมีขึ้น
- เมื่อทั้งหมดนี้คือกรรมฐานเหตุใดเราจึงควรปฏิบัติกรรมฐานเหล่านี้ โดยย่อแล้วเราย่อมรู้ดีว่า ศีล ก็คือกรรมฐาน ทานก็คือกรรมฐาน ผลของศีล และ ทาน เป็นอนุสสติ ๖ กรรมฐานนี้มีไว้ละความโง่ ความลุ่มหลงสมมติกิเลสทั้งปวง
- อนุสสติเมื่อปฏิบัติเห็นจริงแล้วย่อมรู้ว่าทั้งหมด คือ ความทำไว้ในใจโดยแยบคาย ทำไมเราต้องเน้นที่จะทำ ต้องเน้นที่จะเจริญ ศีล ทาน ภาวนา เพื่ออะไร เอาง่ายๆว่า ทั้งหมดนี้เป็นเหตุแห่งกุศลทั้งปวง เมื่อทำเหตุให้ดี เหตุดี จึงนำไปสู่ผล
- ทำเหตุดี-ผลก็ดี ทำเหตุชั่ว-ผลก็ชั่ว



ก. พิจารณาดูว่า อย่างเราเป็นคนฆ่าสัตว์เป็นนิตย์ เจอมดแมลงหรืออะไรก็ตบ แม้ไม่ตั้งใจอยากจะทำกายก็ทำเสียแล้วห้ามหรือยั้งไม่ทันตามสัญขาตญาณหรือสัญญาที่สำคัญไว้แก่ใจ ก็สิ่งทั้งปวงที่เป็นไปนั้นนั่นเพราะเราทำเหตุ คือ ทำใจตั้งเจตนายินดีหมายใจที่จะทำในปาณาติบาตเป็นนิตย์ไม่ให้ความสำคัญสนใจชีวิตเขาเราจึงฆ่าเขาเป็นนิตย์ เมื่อทำเหตุอย่างนี้ๆจนเต็มพอเมื่อเจออะไรขัดใจหน่อยยุง มด แมลงกัด หรือสิ่งไรๆที่ระคายเคืองตนมันก็บี้ปุ๊บตบปั๊บทันทีเพราะสัญญาก็ตั้งความต้องการของจิตไว้บังคับกายให้ทำอย่างนั้น อันนี้ก็โดยคร่าวๆในเหตุแห่งปาณาติบาต

ข. พิจารณาดูว่า คนลักทรัพย์ทำอยู่เป็นนิตย์ เพราะเหตุที่เข้าไปตั้งเจตนาหมายปองของๆผู้อื่นอยู่เป็นนิตย์ มันก็เคยชิน เมื่อมันเต็มก็เกิดเป็นความทะยานอยากที่จะได้ของเขาอยู่ประจำแม้เขาไม่ได้ให้ในสิ่งนั้นแก่เรา เมื่อมันปะทุแล้วทีนี้เมื่อเจออะไรมันก็จิ๊กเอาหมด อันนี้ก็โดยคร่าวๆในเหตุแห่งอทินนาทาน

ค. พิจารณาดูว่า คนที่ชอบผิดลูกเมียคนอื่น เพราะทำเหตุในความยินดีในเมถุนให้มีมากจนล้นปรี่ จึงเกิดความกระสันทัะยานอยากแสวงหาที่จะเสพย์ในราคะเมถุน จนไม่สนใจว่าคนๆนั้นจะเป็นบุคคลอันเป็นที่รักที่หวงแหนของใครหรือไม่ก็ตาม มันจะสนแต่จะเสพย์ในกามารมณ์อันเกิดแต่ความยึดมั่นถือมั่นติดใคร่ในการสัมผัสกายระหว่างเพศนั้น คือ เมถุนนั่นเอง จะเป็นใครหรืองบุคคลอันมีค่าและเป็นที่รักยิ่งของใครก็ช่างมันไม่สนมันเอาหมด ที่นี้พอเราระลึกอยู่เรื่อยๆ ได้ทำอยู่เรื่อยๆมันก็เป็นเหตุให้กาย วาจา ใจ เป็นไปในกาเมสุมิจฉาจารณ์เสมอๆจนมันเต็ม เป็นจริตนิสัยบารมีกามตัณหาเกิดเต็มมันก็จะแสวงหาทะยานอยากที่จะเสพย์เมถุนไปเรื่อยจนไม่สนลูกเมียตนหรือลูกเมียใครทั้งสิ้น อันนี้ก็โดยคร่าวๆในเหตุแห่งกามเมสุมิจฉาจารณ์

ง. พิจารณาดูว่า คนที่คิดว่าตนเป็นที่สุด ตนควรได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ สิ่งนี้ๆไม่ควรเกิดมีแก่ตน สิ่งนี้ๆเป็นตน เป็นของตนบ้าง ตนดีที่สุด ให้ใครเหนือกว่าตนไม่ได้ คนต้องสรรเสริญตน ตนต้องดีกว่าใคร ไม่พอใจที่ใครได้ดีกว่า มีจิตริษยา หมายใจไว้จะทำร้ายผู้อื่น อัตตาเหล่าใด เพราะมีใจอย่างนี้เป็นเหตุ สะสมมันไว้จนให้มันเต็มใจตนจึงเกิดมีความพูดชักจูงเพื่อประโยชน์ส่วนตน วาจาเกิดมาแต่ความคิด วิตกเป็นวจีสังารดังนี้ จึงเกิดการพูดปดอยู่เป็นนิตย์ ยุแยงคนอื่นให้แตกกัน พร่ำเพ้อกล่าวคำไม่จริง ส่อเสียดให้คนแตกกัน ด่าทอ เอาเรื่องของคนนี้ไปบอกคนโน้น เอาเรื่องของคนโน้นมาบอกคนนี้เพื่อให้เขาแตกกัน ยินดีที่เขาแตกกันไม่เป้นกลุ่มสามัคคี นั่นเพราะเขาทำในเหตุอันเป็นมิจจาวาจาดังนั้นมานานทับถมจนเป็นจริตนิสัย อันนี้ก็โดยคร่าวๆในเหตุแห่งมิจฉาวาจา หรือ วจีทุจริตทั้งปวง

จ. พิจารณาดูว่า คนชอบดื่มสุรา ลองคิดดูว่าเมื่อยังเด็กมีใครเกิดมาแล้วกินเหล้าบ้าง ก็ไม่มีเลย แต่พอเมื่อโต เรากินเรื่อยๆ ยินดีในสภาพแวดล้อมตอนกินเหล้าในวงเหล้า ยินดีในสุราเรื่อยๆด้วยเหตุอย่างนี้เป็นต้น ยินดีที่กินเหล้าแล้วทำในอกุศลลามกเรื่อยๆได้ด้วยสนุกสนานด้วยคิดว่ามันระบายกายใจตนได้บ้างเป็นต้น เมื่อทำกาย-วาจา-ใจในเหตุอย่างนี้เรื่อยๆ ทีนี้ความคิดนั้นการกระทำนั้นๆมันก็สะสมเป็นจริตนิสัยขึ้น จนเต็มปริ่มปะทุ ทำให้เป็นคนที่คิดถึงแต่เหล้า อยากกินแต่เหล้าทะยานอยากจะเสพย์เหล้าจนเป็นนิสัยขี้เหล้าที่เราเห้นกันดังนี้แหละ อันนี้ก็โดยคร่าวๆในเหตุแห่งสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน

ฉ. พิจารณาดูว่า คนที่ละโมบโลภมาก ย่อมทำในเหตุโดยความยึดตัวตนแนบแน่นในสิ่งที่ปรนเปรอตนเป็นนิตย์ มีความหวงแหนทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ยอมจะแบ่งปันอะไรให้ใครแม้แต่เล็กน้อยก็ตาม ถือเอาเป็นตัวตนผูกตนไปเรื่อย เมื่อสร้างความหวงแหนความตระหนี่ ความยินดีในสิ่งที่ปรนเปรอตนให้เป็นเหตุสะสมไปจนเต็มจนกลายเป็นจริตนิสัยที่หวงแหนตระหนี่ขี้เหนียวแค่ตน เมื่อมันเต็มปะทุก็จะมีแต่ความเสียดาย หวงแหนเป็นนิตย์ เพราะเหตุโดยยึดเอาความโลภเอาสิ่งไม่เที่ยงว่าเป็นสุขตนจนไม่ยอมแบ่งปันคิดแต่จะเอาโดยส่วนเดียว แสวงหาอยู่ไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งๆที่ไม่สามารถเอาสิ่งไรๆตายตามไปด้วยได้เลยนอกจากบุญกับบาป

ช. พิจารณาดูว่า ทีนี้เมื่อทำจิตให้ยินดีในกามคุณ ๕ อยู่เป็นนิตย์ ก็เป็นเหตุให้จิตเรานี้เติมเต็มในอกุศลบารมี มีแต่ความลุ่มหลงในสมมติทั้งปวงทับถมจนเป็นตัวตนอุปาทานมานับไม่ถ้วน หลงโง่คลุกอยู่แต่ในสมมติจนไม่สามารถรับรู้ของจริงได้ แม้จะเวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุดมานับไม่ถ้วนไม่รู้ว่ากี่ิสงไขยมันก้ยังยิ่งเพิ่มทับถมบารมีแห่งโมหะไปอย่างนั้น เสริมกำลังให้ โลภะ ราคะ โทสะ ไปทุกภพทุกชาติ ทีนี้เมื่อเราไม่ปฏิบัติใน ศีล ทาน ภาวนา จิตเราก็จะทำเหตุสะสมแต่ในของปลอม ของสมมติไปเรื่อยๆ จนเกิดวิปปัลลาส ๓ คือ สัญญาวิปลาส ๑ จิตตวิปลาส ๑ ทิฏฐิวิปปลาส ๑ (สุภสัญญา, สุขสัญญา, นิจจสัญญา และ อัตตสัญญา)



นี่แหละสาเหตุที่ว่าทำไมเราต้องปฏิบัติกรรมฐาน ต้องเจริญใน ศีล ทาน ภาวนา นั่นก็เพื่อทำเหตุแห่งกุศลให้ดีให้เต็มนั้นเอง
๑. ทำเหตุในศีลให้ดี..เพื่อล้างโทสะ(เมตตา)
๒. ทำเหตุในทานให้ดี..เพื่อล้างโลภะ(กรุณา,มุทิตา)
๓. ทำเหตุในนภาวนาให้ดี..เพื่อล้างโมหะ(อุเบกขา)





ธรรมจากพระอรหันต์
พระพุทธสารเถระ หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน
พระครูอุปัชฌาย์อาจารย์กรรมฐานของผมท่านสอนว่า

ทำเหตุให้ดี ทำเหตุให้ดี.. เหตุไม่ดีจะไปเอาผลได้อย่างไร เอาแต่ภาวนาอย่างเดียวแล้วบรรลุ ก็ไม่ต้องมีศีลทานกันแล้วสิ พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสรู้เห็นชัดแล้วว่าศีลทานภาวนานี้เป็นเหตุสะสมไปถึงผลแห่งกุศลดีงาม จึงต้องทำควบคู่กันจึงจะถึงทางหลุดพ้น

ศีล เป็นเหตุให้เราละความเบียดเบียน มีจิตเป็นกุศลไม่เร่าร้อน ไปอยู่ที่ไหนก็สบายกายใจ (ลองดูคนที่ผิดศีลนะมันเร่าร้อนไปอยู่ที่ไหนก็ไม่เป็นสุขสงบ)
ทาน เป็นเหตุให้ถึงความสละ ละความโลภ ไม่ที่ใดก้ไม่แสวงหาทะยานอยากให้เร่าร้อน
ภาวนา เป็นเหตุให้ถึงปัญญา ละความโง่ ความลุ่มหลงสมมติกิเลสทั้งปวง





- ที่พระท่านสอนว่า "ทำเหตุให้ดี" คนเราไม่รู้ว่าคืออะไร ทำไปเพื่ออะไร ทำไมหัด ทำไมปฏิบัติให้ตนมี "ศีล-ทาน-ภาวนา" ทำไปเพื่ออะไร ซึ่งธรรมข้อนี้ในหนังสือไม่มีสอน คนที่ไม่ปฏิบัติก็จะไม่รู้ได้เลย กล่าวได้แค่มันสูงเกินบ้าง พูดได้แค่ว่านี่คือฐานบ้าง แต่ไม่รู้เลยว่าทำไมจึงเป็นพื้นฐาน ทำไมจึงเป็นฐานขอกุศลธรรม ของสัมมา ของสัมโพชฌงค์ ของวิราคะ ของวิมุตติ จะพูดก็ได้ตามแต่สังสือบอกกล่าวเท่านั้น
- "การปฏิบัติ ศีล ทาน ภาวนา เป็นกรรมฐาน เป็นการทำเหตุให้ดี" เมื่อทำอยู่เป็นนิตย์ก็จะสร้างลักษณะนิสัยอันเรียกว่า "จริต" ให้ทับถมด้วยกุศลแทนของแลอมสมมติกิเลสที่ทับถมเรามานับอสงไขย
- ครูบาอาจารย์ท่านจึงกล่าวว่าทำเหตุให้ดี ทำให้มาก อย่าหวังผล เหตุไม่ดีจะไปเอสผลได้อย่างไร ทำเหตุให้ดี ทำของเก่าที่มีให้มันดีกว่าเดิม ดังนั้น "การปฏิบัติเกรรมฐานเหล่าใดที่ประกอบไปด้วย ศีล ทาน ภาวนา สมถะ+วิปัสสนา เป็นการทำเหตุดังนี้แล" ที่นี้ เมื่อทำเหตุให้ดีสะสมไปเรื่อยนับไม่ถ้วนจนเป็นจริตกุศลให้เกิดมีแก่จริตสันดานตน เมื่อตายไป ของเก่านี้ก็ตามไปในภพภูมิใหม่ด้วย

** "เมื่อเหตุมันดีมันเต็ม ท่านเรียกว่า บารมี" คือ "เต็มกำลังใจใน กุศล ศีล ทาน ภาวนา" คือ "บารมี ๑๐ ทัศน์" ** นั่นเอง







หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กันยายน 09, 2015, 07:23:33 PM
(๑) ความตรึกในการหลีกออกจากความพัวพันในกาม, (๒) ความตรึกในการทำความไม่มุ่งร้าย, (๓) ความตรึกในการไม่ทำคนอื่นให้ลำบาก.


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กันยายน 20, 2015, 08:04:48 PM
วิธีสำรวมอินทรีย์

แบบที่ ๑ ปหานด้วยอาศัยเจตนา


๑. เจตนาที่จะไม่อ่อนข้อให้กิเลส โดยมี "ขันติ" เป็นกำลัง "รู้ว่าควรละ ควรปล่อย ควรวาง" เป็นเหตุลงในสมาธิให้จิตตั้งมั่น คือ
เมื่ออกุศลธรรมเกิดมีขึ้นรู้ผัสสายตนะ ให้ตั้งใจมั่นมีเจตนาที่จะไม่เสพย์กิเลสความคิดปรุงแต่ง สักแต่ว่ารู้ ไม่ใช่เกลียด แล้วปล่อยให้ใจเราเป็นที่สบายไม่ต้องเกร็ง จดจ้องระแวงมัน มันจะเกิดก็ปล่อยมันเกิดไปแค่เรารู้มันแล้วไม่อ่อนข้อเสพย์มัน สละคืนมันสู่กองสังขารนั้น ไม่ยึดจิตที่รู้แล้วตามเสพย์สมมติไปกับมันอยู่ พอมันพรั่งพรูออกมาจนหมด พอมันเสร็จกิจของมัน มันก็ดับไปเอง โดยที่เราไม่ได้อ่อนข้อให้มัน ไม่ยอมน้อมใจไปเสพย์ตามมัน




๒. เจตนาโดย "เมตตา ศีล กรุณา ทาน มุทิตา" เป็นกำลัง "มีความปารถนาดีฉันท์มิตร ไม่เบียดเบียนใครแม้ทาง กาย วาจา ใจ ความสละคืน สละให้ ความเป็นยินดีไปพร้อมกับเขาดับความริษยาทั้งปวง"

1. เจตนาที่จะไม่เบียดเบียนทำร้าย ตั้งใจมั่นที่จะไม่เพ่งเล็งภัณฑะ คือไม่เพ่งเล็งหมายใจในสิ่งของ สัตว์ หรือ บุคคล อันเป็นที่รัก ที่มีค่า ที่หวงแหนของผู้อื่น
(ศีล ว่าด้วย "อนภิชฌา" องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงให้เห็นโทษของความโลภ ได้แก่ ไม่คิดเพ่งเล็งทรัพย์สินของบุคคลอื่นโดยอยากจะได้มาเป็นของตน
http://www.dhammathai.org/monktalk/dbview.php?No=370 (http://www.dhammathai.org/monktalk/dbview.php?No=370) : กรรมบท ๑๐ พระราชพรหมญาณ)

ให้ทำด้วยอาศัยพรหมวิหารถดังนี้

ก. เจตนาในความเป็นมิตรที่ดีต่อผุ้อื่น ตั้งใจมั่นที่จะไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ อันเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนทำร้ายให้เขาต้องมัวหมอง มีจิตอยากให้เขาเป็นสุขพ้นจากความมัวหมอง เศร้าหมองกายใจทั้งปวงเป็นฐาน(เมตตา) ทำให้เรานี้ไม่ขัดขุ่นข้องใจตนเอง

ข. ทำความสละคืน ความยึดมั่นติดในสังขารธรรมทั้งปวงทิ้งไปเสีย สละคืนซึ่งอกุศลวิตก และ สละฉันทะราคะของเราทั้งปวง ที่มีต่อเขาหรือภัณฑะของเขาทิ้งไป เพื่อให้เป็นความเอื้อเฟื้อแก่เขาไม่ให้เขาต้องมามัวหมอง เศร้าหมองกายใจ จากอกุศลวิตกของเรา(กรุณา+ทาน)

ค. ทำไว้ในใจโดย "ความยินดีที่คงไว้ซึ่งภัณฑะ ปราศจากความมัวหมอง แล้วใช้จิตจับเอาที่จิตอันเป็นสุขนั้นไปสู่เขา" เช่น สำเหนียกว่าหากมีคนมาเพ่งเล็งหมายใจ หมายปองมีจิตคิดอกุศลกับบุคคล หรือ สิ่งของอันเป็นที่รักที่มีค่าของเรา หรือ แม้แต่กับตัวเราเอง เราก็ย่อมไม่ยินดีแน่นอน ก็เมื่อไม่มีคนเพ่งเล็งหมายปองในบุคคล หรือ สิ่งของอันเป็นที่รักที่มีค่าของเรา แม้ด้วยตัวเราให้มัวหมองแม้ความคิดอันเป็นด้วยอกุศลธรรมทั้งปวง กลับมีแต่คนยินดีที่เราได้คงไว้อยู่ซึ่งสิ่งอันมีค่าเหล่านั้น หรือ ไม่มีจิตคิดอกุศลเหล่าใดต่อเรา อันทำให้เราต้องหม่นมัวหมองกายใจ เราก็ย่อมเป็นสุขยินดีแน่นอน จากนั้นให้เราระลึกถึงความสุขจากความคงไว้ซึ่งสิ่งอันเป็นที่รักและความไม่มัวหมองของเรา แล้วแผ่เอาสุขอย่างนั้นไปสู่เขา ให้เขาได้รับสุขอย่างนั้นเหมือนกับเรา

2. อนัตตสัญญา ให้พึงทำไว้ในใจ ด้วยความสำเหนียกว่า "เขาหรือสิ่งเหล่านั้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา"
"เราอย่าได้ไปปารถนาเอาสิ่งที่ไม่ใช่ของเราเลย มันทำให้เรารุ่มร้อนเป็นทุกข์"
"เราอย่าได้ไปเพ่งเล็งหมายใจปองอยากได้ หรือ พรากเอาภัณฑะของผู้อื่นเลย"

เมื่อเราตั้งมั่นในใจที่จะละอภิชฌาโทมนัสอยู่อย่างนี้ มีอินทีย์สังวรอยู่อย่างนี้ มีศีลสังวรอยู่อย่างนี้ ย่อมปหานอกุศลทิ้งไปได้ และ ยังกุศลให้เกิดขึ้นด้วยการภาวนานั้น




๓. เจตนาโดย "อุเบกขา" เป็นกำลัง "มีความวางเฉย "ความวางใจไว้กลางๆ ไม่ยึดเสพย์เอาความยินดี ยินร้ายใจอารมณ์ไรๆ" คือ

1. เจตนาที่จะไม่เสพย์ในอกุศลวิตก สมมติกิเลสใดๆทั้งปวง

2. พึงทำในใจไว้ด้วยการวางใจไว้ใน "ความไม่ติดใจข้องแวะ ยินดี ยินร้าย ในสิ่งไรๆที่รู้อารมณ์ที่เกิดมีขึ้นมาผัสสายตนะ"

พึงตั้งใจไว้มั่นด้วยความสำเหนียกว่า "ติดข้องใจไปตามสมมติที่กิเลสสร้างขึ้นมาให้จิตรู้ จิตยึด จิตเสพย์ ในอารมณ์ไรๆทั้งปวงไปก็มีแต่ทุกข์ มีแต่ความเร่าร้อน ร้อนรุ่ม แผดเผากายใจให้หมองไหม้ หาประโยชน์สุขใดๆไม่ได้นอกจากทุกข์ทุรนทุรายจากความปารถนาและแสวงหานั้น"




๔. เจตนาให้จิตรู้ปัจจุบันขณะเป็นกำลัง (สักแต่ว่ารู้) "ไม่ส่งจิตออกนอกเสพย์ไปตามความตรึกนึกคิด"
ตรงนี้แหละที่จะทำให้เรารู้ว่า "กาม..เกิดจากความดำริถึง" ตามที่พระตถาคตตรัสสอน คือ

1. ทำไว้ในใจ ตั้งจิตให้มั่นคงแน่วแน่ ไม่เสพย์ความคิดอกุศล มีจิตเป็นปฏิฆะไม่ยินดีในความคิดอกุศล ไม่เสพย์อกุศลวิตกทั้งปวง

2. ทำความสงบใจ เหมือนสงบนิ่งหน้าเสาธงเมื่อยังเด็กๆ โดยทำไว้ในใจถึงความสงบ ความสละคืน ความดับไปซึ่งสังขารความปรุงแต่งทั้งปวง ความไม่มีกิเลส ความดับสิ้นกิเลส ความเบิกบาน

3. ให้หวนระลึกถึงเมื่อตอนที่เรายังเด็ก จะเห็นได้ว่าเรา สมัยนั้นแม้เราจะเจอคนสวย สาวแก้ผ้า หนังโป๊ เราก็ยังมีใจวางเฉยอยู่ได้ นั่นเพราะที่เรารู้ผัสสายตนะ เราก็รู้เห็นอยู่แค่นั้นในปัจจุบัน ว่าแค่เป็นคน สัตว์ สิ่งของนั้นๆแค่มีท่าทางอาการลักษณะนั้นๆเท่านั้น คือ เห็นแค่เป็นหญิงหรือชาย เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ หรือคนแก่ แม้เห็นเขาใส่ชุดชั้นในก็รู้แค่ว่าเขาใส่ชุดชั้นใน แม้เห็นเขาใส่ชุดว่ายน้ำก็รู้แค่เขาใส่ชุดว่ายน้ำ แม้เห็นเขาเปลือยกายก็รู้อยู่แค่เขาไม่ใส่เสื้อผ้า กำลังอาบน้ำ กำลังนอน กำลังว่ายน้ำ กำลังยืน กำลังเดิน กำลังนั่งอยู่ กำลังทำกิจการงานของเขาอยู่เท่านั้น ไม่คิดสืบต่อเกินกว่านี้ ไม่เข้าไปมองโดยอนุพยัญชนะ คือ ไม่มองโดยดูส่วนเล็กส่วนน้อย อวัยวะต่างๆของเรา ไม่เข้าไปตั้งจิตไว้ด้วยราคะเมถุนต่อเขา เช่น ไม่มองดเขาใสู่เสื้อชั้นใน กางเกงใน ชุดว่ายน้ำ หรือเปลือยกาย แล้วคิดปรุงแต่งสมมติสืบต่อให้เป็นไปในราคะเทฝมถุนว่า นม หัวนม อวัยวะเพศ ความใหญ่ สีผิว ความนุ่ม กลิ่น รส เสียง ข้างในชุดที่ปกปิดไว้ของเขาต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วคิดสืบต่อว่าน่ารักน่าใคร่ปารถนา น่าเสพย์ น่าสัมผัสอวัยวะส่วนเล็กส่วนน้อยตรงนั้นตรงนี้ จนลามไปถึงการคิดปรุงแต่งสมมติไปว่าได้เสพย์เมถุนกับเขา มีอาการสัมผัสอย่างนั้นอย่างนี้ตามที่เราสำคัญใจไว้ต่อเขา ทั้งๆที่เขาก็อยู่อย่างนั้นของเขาไม่ได้มาเกี่ยวข้องอะไรกับเราเลย แต่จิตเรามันยังติดไปได้ ดำริสมมติไปทั่วจนเกิดความกระสันฝักใฝ่ที่จะเสพย์ จนเป็นทุกข์กับการแสวงหา นี่แหละ กามเกิดมาแต่ความดำริถึงสมจริงตามคำทั่พระพุืธเจ้าตรัสสอนไว้

ดังนั้นสักแต่ว่ารู้ คือ ไม่คิดสืบต่อสมมติเรื่องราวเกินเลยจากที่เห็นในปัจจุบัน ไม่มองเห็น ฟังเสียง ดมกลิ่น สัมผัสกาย สัมผัสระหว่างเพศ ตรึงนึกคิดจากสิ่งที่รู้นั้นโดยส่วนเล็กส่วนน้อย ไม่สำคัญใจยินดีในส่วนเล็กส่วนน้อย ไม่สำคัญมั่นหมายใจในราคะเมถุนต่อเขาดังนี้แล รู้แค่ปัจจุบันว่าเขามีลักษณะอาการ อิริยาบถ อย่างนั้นๆอยู่เท่านี้พอ

4. วิปัสสนา ตั้งใจมั่นมองดูแค่ว่าคนนั้นๆที่เรามองอยู่ในตัวเขามัสีอะไรย้าง ผมสีดำ แคง ทอง ผิวขาว เหลือง ดำ เสื้อกางเกงมีสีแดง น้ำเงิน เขียว ขาว ชมพู เหลือง.. ฯลฯ แล้วพึงดูโดยรวมว่าที่เห็นจากเขานี้มีสีอะไรบ้าง สีนั้นๆมีเคล้าโครงรูปร่างยังไง เท่านั้น ดูแค่สีที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น จากนั้นก็ดูว่าสีนั้นๆอยู่ในที่ใกล้ หรือที่ไกลเท่านี้พอแล้ว ไม่มีอื่นอีก





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กันยายน 20, 2015, 08:08:22 PM
วิธีสำรวมอินทรีย์

แบบที่ ๒ ปหานด้วยอาศัยกรรมฐานภาวนา


แบบที่ ๑ พิจารณาใน "กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน" คือ

1. ทำไว้ในใจ ตั้งจิตให้มั่นคงแน่วแน่ ไม่เสพย์ความคิดอกุศล มีจิตเป็นปฏิฆะไม่ยินดีในความคิดอกุศล ไม่เสพย์อกุศลวิตกทั้งปวง หายใจเข้า...ทำไว้ในใจ ตั้งจิตให้มั่นคงแน่วแน่ ไม่เสพย์ความคิดอกุศล มีจิตเป็นปฏิฆะไม่ยินดีในความคิดอกุศล ไม่เสพย์อกุศลวิตกทั้งปวง หายใจออก

2. ทำความสงบใจจากกิเลสโดยอุปสมะ

3. พึงตั้งจิตมั่นให้เป็นที่สงบ เพ่งดูด้วยความจดจ่อ หมายใจไว้ว่าเราจักรู้ของจริง

4. ม้างกายออกมา ดูว่า เสื้อผ้าหรือ ผมหรือ ขนหรือ นมหรือ โยนีหรือ น้ำลายหรือ น้ำมูตหรือ น้ำเหงื่อหรือ น้ำสุกกะหรือ หนังที่หุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบนี้หรือที่เป็นเขา มันออกมาจากตัวเขา เขาก็ยังอยู่ของเขาอย่างนั้นไม่ได้ติดตามสิ่งนี้ๆมาด้วย เมื่อม้างกายออกเริ่มจาก ขน ผม เล็บ ฟัน หนังของเขาออกที่ละอาการๆมากองๆรวมกันไว้ จนครบอาการทั้ง ๓๒ ประการ แล้วมองดูซิมันยังมีเขาอยู่อรกไหม ก็ไม่มีอะไรเลยนอกจากอาการที่น่ารังเกลียดเน่าเหม็นนั้นกองๆกันไว้อยู่เท่านั้น กลิ่นหรือ เสียงหรือที่เป็นเขา รสหรือที่เป็นเขา ก็หาไม่ได้ แล้วเราจะไปกระสันอะไรจากสิ่งนั้นๆที่ไม่มีเขาในนั้นเลย การสัมผัสกายแม้ระหว่างเพศ คือ ระหว่างชายหญิงก็ที่แค่อ่อน แข็ง ร้อน เย็น เอิบอาบ เคลื่อนไหวไปมานี้หรือที่เป็นเขา ฯลฯ ก็ไม่เห็นจะมีเขาในนั้น แล้วเราจะไปหมายใจสำคัญมันไว้ดับสิ่งเหล้านี้ว่าเป็นเขาแทนตัวเขาได้อย่างไรหนอ แม้เมื่อได้สิ่งเหล่านั้นมาถือครองไว้ก็ไม่ใช่เขาที่เราถือครองอยู่ดี แล้วจะไปหมายเอาสิ่งที่ไม่มีตัวตน ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเขาได้อีกหรือหนอ

5. เห็นเป็นธาตุ ๖ ว่าเขากับเราก็มี รูปขันธ์เหมือนกัน มีอาการทั้ง ๓๒ ประการเหมือนดันกัน ก็กายเราโดยอาการทั้ง ๓๒ ประการนี้ ก็สักแต่เป็นแค่ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ ที่เกาะกุมกันขึ้น เป็นรูปร่างสีสันที่มีลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ไปตามแต่ธาตุใดมีมากมีน้อย แล้วอาศัยใจอันเป็นวิญญาณธาตุเจ้ายึดครองเหมือนกันทั้งหมด ดังนั้นเมิ่อเขาก็มีอาการทั้ง ๓๒ ประการเหมือนเรา มีหนังหุ้มเป็นที่สุดรอบเหมือนกัน เขาก็าักแต่เป็นธาตุ ๖ เหมือนเรา แล้วจะไปพิศมัยอะไรเอากับสิ่งที่เราก็มี กับสิ่งที่เป็นเพียงธาตุ ไม่มีตัวตนบุคคลใดนี้

6. อสุภะ ก็กายที่เราเห็นว่างามนี้ อาการทั้ง ๓๒ ประการ ธาตุ ๖ เหล่าใด มันมีความผุพัง เน่าเปื่อย ย่อยสลายไปในที่สุด ดั่งศพในป่าช้าที่สัตว์ยื้อแย่งกันกินบ้าง ที่เมื่อก่อนตายก็งดงาม ต่อมาก็เหี่ยวย่น เป็นโรค เป็นฝี เป็นหนอง แล้วก็ตาย เขียวขึ้นอืด น้ำเลือด น้ำเหลืองไหลเยื้ม มีหนอนชอนไชกัดกินไปทั่วเหลือแต่กระดูกที่ผุพังสลายไป ไม่ว่าจะเป็นคนขาว คนดำ คนสวย คนไม่สวย คนแก่ หรือนยังวัยรุ่น ก็ต่างมีเลือดสีแดง มีน้ำเหลือง น้ำหนอง ตายเสร็จก็ขึ้นอืดบวมเขียว แล้วก็เปื่อยเน่าย่อยสลายไปเหมือนกันหมดไม่มีเว้น ไม่เที่ยงแท้ยั่งยืนนานอยู่ได้นาน มีความเสื่อมอยู่ทุกขณะ จะปารถนาเอาความไม่เที่ยงมาเป็นสุขของตนรึ มันสุขแล้วมันก็ค่อยๆทุกข์เพราความเสื่อมสลายอันเปฌนเอกลักษณ์ของมัน เอาความไม่เที่ยงมาเป็นสุขตนหรือ มันสุขแค่ชั่วคราวแระเดี๋ยวประด๋าวนายสุดก็แค่หมดลมหายใจเรา ตายไแก็เอาไปด้วยไม่ได้ เรายังจะปารถนามันอีกหรือ

"มันแค่สมมติกิเลสทั้งนั้นที่เห็นว่างาม แค่หนังหุ้มสิ่งเน่าเหม็นไว้ภายในเท่านั้น ของจริงที่รู้ได้ก็มีแค่ลมหายใจนี้เท่านั้นเอาจิตมาจับที่ลมนี่แหละขิงจริง"



แบบที่ ๒ พิจารณาใน "เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน" ต้องอาศัยการเข้าไปรู้ก่อนว่า นี่คือสุข นี่คือทุกข์ นี่คือความไม่สุขไม่ทุกข์ คือ

1. พึงเห็นว่าอุปกิเลสทั้งปวงนี้ล้วนแต่เกิดมาจากความคิด ความคิดทั้งปวงล้วนเกิดมาแต่ความสำคัญใจไว้ ความสำคัญใจทั้งปวงล้วนเกิดมาแต่ความพอใจยินดี ไม่พอใจยินดีในสมมติที่กิเลสสร้างขึ้นทั้งปวง

2. เมื่อเกิดมีผัสสะ ระหว่าง อายตนะภายนอก+สฬายตนะ+วิญญาณ จึงเกิดมีอาการแช่มชื่นรื่นรมณ์ ชื่นบาน พรุ่งพรูในอาการนี้ๆต่ออารมณ์ใด "ก็เพราะจิตรู้สิ่งนั้นแล้วน้อมไปหาอารมณ์ โดยความจงใจหมายเข้าไปรู้อารมณ์นั้นแหละ ว่าเป็นอะไรจนเกิดหวนระลึกถึงสัญญาหมายรู้อารมณ์นั้นขึ้น สมมติกิเลสก็เกิดเป็นเรื่องราวต่างๆขึ้นมาทันที รู้ว่านี่มันคือความโสมนัส สุขใจ ความเข้าไปยึดมั่นในอาการนี้คือความยินดีในอารมณ์" เมื่อมีความยินดีในอารมณ์นั้นด้วยความน่าใคร่ปารถนายินดี จิตเรานี้จะมีความติดตรึงตามในอารมณ์ประดุจดั่งถูกตาข่ายกุมล้อมขังใจเราไว้ แม้อาการนี้ยังไม่ส่งถึงทุกข์อย่างหยาบ แต่มันเป็นทุกข์อย่างกลางไปถึงละเอียดที่รู้ได้ยาก มีความอัดประดังด้วยความร้อนรุ่มเร่าร้อนบางๆอยู่ นี่เห็นได้เลยว่าความยึดเวทนาเหล่าใด แม้จะเป็นสุขก็ดี จะเป็นทุกข์ก็ดี หรือ จะเป็นไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี นี่มันทุกข์ทั้งนั้นเลย เมื่อรู้ดังนี้แล้วการสำรวมอินทรีย์นี้เราก็เริ่มจาก

ก. ดูความยินดีในอารมณ์ที่รู้สึกดีทางใจนั้น ก็ความยินดีนั้นแหละเกิดมีขึ้นด้วยอาการที่ติดตรึงยึดตามในอารมณ์นั้นด้วยอาการที่หมองๆด้วยอาการที่รุ่มๆเร่าๆใจอ่อนๆ นี่เป็นอกุศลฉันทะมันมีอาการทุกข์จากความยินดีในการยึดเวทนาในอารมณ์นั้นๆ ก็อาศัยสัญญานี้แหละจดจำอาการสำคัญใจที่ยินดีให้ยึดสืบต่อไม่รู้จบ

ข. เมื่อมีความติดตรึงยึดตามในอารมณ์นั้น ก็เกิดความตั้งใจหมายจะเข้าไปทำใจไว้ในอารมณ์นั้นๆ(เจตนาในกาม) แล้วก็เกิดความตรึกนั่น ตรึกโน่น ตรึกนี่ด้วยความเร่าๆรุ่มๆตามไปในอารมณ์ที่ยึดมั่นยินดีอยู่นั้น เหมือนกายใจถูกขังตรึงรุ่มเร่าตามไปอยู่ด้วยอารมณ์นั้น เรียกว่า ความรู้สึกที่มีอาการน่าใคร่น่าปารถนาในอารมณ์นั้นๆ นี่แหละเห็นได้เลยว่า กามเป็นทุกข์

ค. รู้อารมณ์ที่น่าใคร่น่าปารถนาไรๆแล้ว มันจะมีอาการติดใจในอารมณ์ที่เสพย์อยู่นั้นๆ เหมือนสิ่งนั้นไปที่ใดแม้เราจะไม่ผัสสะมันแล้วแต่มันยังตรึงติดใจในอารมณ์ประดุจเขาเอาเรือลากอวนจับลากเราไปตามเรือนั้น หาความว่างสงบว่างอยู่ไม่ได้ นี่ความติดใจมันทุกข์อยู่อยา่างนี้แล

ง. ความติดใจในอารมร์นั้นเป็นเหตุให้เกิดความกำหนัด กระสัน ผูกใจฝักใฝ่ใคร่จะเสพย์ในอารมณ์นั้นๆให้ได้อย่างแรง จนเกิดความแสวงหาเร่าร้อน เหฟมือนเราถูกไฟเดผาให้ร้อนรุ่มร้อนรน ทุรนทุรายตะเกียกตะกายที่จะหามาเสพย์ให้ได้ หวนระลึกถึงเมื่อไหร่ก็เร่าร้อนเมื่อนั้น ราคะมันทุกข์หนักอย่างนี้
(ราคะมีในที่ใด โทสะย่อมมีเกิดเพราะความไม่้สมปารถนานั้น โมหะความลุ่มหลงย่อมมีเป็นกำลังในมันเป็นอุันมาก)

3. ก็เมื่อรู้อย่างนี้แล้วว่า เวทนา ๓ ล้วนเป็นทุกข์ คนรวย คนมี คนจน คนงาม คนหยาบ ย่อมเป็นทุกข์จาก เวทนา ๓ นี้ด้วยกันทั้งนั้นไม่ต่างกันเลย เราก็ยังจะยึดมันอีกรึ คนรวยจะสำคัญว่าสุขตนมีเหนือใครได้อีกรึ ก็มีเวทนา ๓ ไม่ต่างจากคนจน คนพิดาร หรือ หมา แมวเลย ส่วนคนจนนี้จะสำคัญว่าแม้เรายากจนเราก็มีเวทนาเหมือนคนรวย เกิดมามีเวทนาเท่ากันกับคนรวยอย่างนั้นหรือ แล้วความเสมอกันนั้นอยู่นานไหม พอความรู้สึกนี้ดับไป เราก็กลับไปกระวนกระวายเป็นทุกข์อยากได้อยากมีอยากเป็นเหมือนเขาอีก ก็ตะเกียกตะกายแสวงหาสุขอย่างเขานั้นจนวันตายไม่รู้จบ จะแบกเอาทุกข์เอาความอยากนั้นตายตามเราไปอย่างนั้นหรือ ไปยึดเอาสุขจากสิ่งของภายนอก ยึดเอาสิ่งที่ไม่เที่ยงมาเป้นสุขของตนมันก็มีแต่ทุกข์ทั้งนั้น ทุกข์เพราะความเสื่อมสูญสลายไปไม่ยั่งยืนของมันนั้นเอง ตายไปก็เอาไปไม่ได้ ส่วนสุขที่เกิดแต่โลกุตระธรรมนั้นมันทำยากจริงแต่มันเป็นบรมสุขที่นิรันดร์ สุขเพระาความปล่อยวางไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งไรๆทั้งปวง แม้ตายไปแล้วสุขอันนี้ก็ติดตามเราไปด้วย ดังนั้นเราจะอยู่ดีสูงกว่าเขาได้ก็ด้วยความไม่ยึด ความปล่อยวาง ความเป็นกุศลจิตของเรานี้แหละ ทำให้จิตเราสูงเหนือ โลภ โกรธ หลง เราก็จะสูงกว่าแม้มหาเศรษฐี พระราชา คนจน คนรวย สัตว์ใดๆของโลก ด้วยเห็นดังนี้แล้ว ก็พึงละความยึดมั่นถือมั่นใน เวทนา ๓ นี้ๆไปเสียโดย

ก. รู้อารมณ์ไรๆอันเป็นที่รักก็ดี ที่เกลียดก็ช่าง ที่กลางๆก็ดี ก็สักแต่ว่ารู้เท่านั้น ไม่ตั้งเอาจิตไปคิดข้องแวะในอารมณ์นั้นๆ ก็แค่รู้ว่าเวทนาเกิดมีขึ้น

ข. พึงเห็นโทษในเวทนาเหล่านั้น โดยความสำเหนียกในทุกข์ที่จะเกิดมีว่า แม้สุขก็ทุกข์โดยความไม่เที่ยงไม่คงอยู่นาน แม้ทุกข์ก็ทุกข์โดยความไม่เที่ยงไม่คงอยู่นาน แม้ความไม่สุขไม่ทุกข์ก็ทุกข์ด้วยความไม่เที่ยง ไม่คงอยู่นาน

ค. เวทนาเหล่าใดเมื่อเรารู้โดยบัญญัติว่า มันคือสุข คือทุกข์ คือไม่สุขไม่ทุกข์ สิ่งเหล่านั้นที่เกิดขึ้นมันดับไปนานแล้ว แต่อาศัยสมมติกิเลสที่ยึดอาการแบบนั้นๆไว้โดยสัญญาจึงทำให้เหมือนว่ามันยังคงอยู่ในขณะนั้นๆ นี่เราถูกกิเลสสร้างสมมติขึ้นมาว่านี้คือสุข นี่คือทุกข์ นี่คือไม่สุขไม่ทุกข์ทั้งสิ้น จริงๆอาการนั้นๆมันดับไปตั้งแต่ผัสสะรู้โดยอาการจริงๆของมันแล้ว นี่เราจะยึดจะเสพย์สมมติเอาว่าสุข ว่าทุกข์อย่างนั้นหรือ คงหาประโยชน์ไม่ได้เลย แม้เพราะสุขที่ว่าสุขนักสุขหนานี้เมื่อพิจารณาในข้างต้นแล้วก็ประกอบไปด้วยทุกข์ทั้งสิ้น ทุกข์จากความยึด ทุกข์จากความหลงติดใคร่ในอารมณ์นั้นๆ ดังนั้นแล้วประโยชย์อะไรที่เราจะยังเสพย์สมมติที่เรียกว่าเวทนานี้อยู่ ควรละมันไปเสีย

ง. เวทนานี้อาศัยจิตเป็นเครื่องรู้ ก็เพราะจิตรู้อารมณ์เสพย์สมมติที่กิเลสสร้างขึ้นจึงเกิดมีเวทนา ๓ นี้อยู่ได้ ดังนั้นแล้วละสิ่งที่จิตรู้ทั้งปวงนี้ๆไปเสีย พึงสำเหนียกไว้ว่า จิตรู้สิ่งใดหลังผัสสะมาแล้วสิ่งนั้นคือสมมติทั้งหมด ดังนั้นหากไม่อยากจะหลงสมมติก็ไม่ยึดเอาสิ่งที่จิตรู้ โดยไม่ยึดเอาจิต มันจะรู้อะไรก็ช่างก็สักแต่ว่ารู้ สิ่งที่มันรู้ล้วนเป็นสมมติที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกให้จิตยึด
- จิตมันเข้าไปรู้สุข..เราก็ไม่เข้าไปยึดรู้เสพย์ตามมัน จิตไม่ใช่เรา-ไม่ใช่ของเรา สุขก็ไม่ใช่เรา-ไม่ใช่ของเรา สักแต่สมมติขึ้นมาให้จิตหลงยึดตามกิเลสความเร่าร้อนเท่านั้น
- จิตมันเข้าไปรู้ทุกข์..เราก็ไม่เข้าไปยึดรู้เสพย์ตามมัน จิตไม่ใช่เรา-ไม่ใช่ของเรา ทุกข์ก็ไม่ใช่เรา-ไม่ใช่ของเรา สักแต่สมมติขึ้นมาให้จิตหลงยึดตามกิเลสความเร่าร้อนเท่านั้น
- จิตมันเข้าไปรู้ความไม่สุขไม่ทุกข์..เราก็ไม่เข้าไปยึดรู้เสพย์ตามมัน จิตไม่ใช่เรา-ไม่ใช่ของเรา ความไม่สุขไม่ทุกข์ก็ไม่ใช่เรา-ไม่ใช่ของเรา สักแต่สมมติขึ้นมาให้จิตหลงยึดตามกิเลสความเร่าร้อนเท่านั้น
- เจริญไปอย่างนี้ๆเป้นเหตุให้มาก ก็จนเมื่อจิตเห็นจิต สติมันก็ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ไรๆทั้งสิ้น แม้จิตที่เป็นตัวรู้เองมันก็แค่ดูเฉยๆ เมื่อจิตเห็นจิต จิตไม่ยึดจิตแล้ว มันจะมีอาการที่ว่างสงบ แต่จะมีอาการตรึงๆหนักๆ เนือยๆที่จิตอยู่บ้าง ยังไม่ผ่องใสนัก เพราะจิตมันไม่มีที่ยึดนั่นเอง ธรรมชาติของขิตย่อมน้อมไปหาอารมณ์ ดังนั้นให้ตั้งฐานจิตไว้ที่ลมหายใจ ณ ปลายจมูก รู้ลมมันไปเพราะลมหายใจเป้นกายสังขาร เ)้นสิ่งที่กายต้องการ ลมหายใจนี้เป็นของจริงที่มีอยู่จริงๆที่สัมผัสได้ง่ายรู้ได้ง่าย เป็น 1 ใน ธาตุ๖ ที่มีอยู่ในกายนี้

* พระพุทธเจ้า องค์พระบรมศาสดาย่อมตรัสสอนว่า ให้ระลึกรู้ว่ามันเกิด ระลึกรู้ว่ามันดับ แต่ไม่เข้าไปเสพย์ มันสักแต่มีไว้รู้ ไม่ได้มีไว้เสพย์ ไม่ได้มีไว้ยึด *
* พระพุทธเจ้า องค์พระบรมศาสดาย่อมตรัสสอนว่า ให้ระลึกรู้ว่าอานาปานสติให้มาก แม้พระองค์เองก็รู้ลมหายใจเข้าออกอยู่ตลอดเวลาไม่ทิ้งไป ทรงมีอานาปานสติเป็นอันมาก*
การเจริญตามคำที่พระตถาคตผู้เป็นพระสัพพัญญุเจ้า เราก็มีพอจะมีปัญญาระลึกรู้ไดัดังนี้เท่านี้



แบบที่ ๓ พิจารณาใน "จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน" ต้องอาศัยการเข้าไปรู้ลักษณ์อาการของจิตก่อนว่า นี่คือรัก นี่คือโลภ นึี่คือโกรธ นี่คือหลง แล้วจึงพิจารณาตามจิตตานุปัสสนาจนเห็นแจ่มแจ้ง ก็อาศัยการรู้ของจริงนั้นและในการเจริญในข้อนี้ คือ

1. พึงพิจารณารุ้เหตุปัจจัยตามจริงของความคิดว่า ความคิดนี้เกิดแต่ความสำคัญมั่นหมายของใจในสิ่งไรๆไว้ ยิ่งสำคัญไว้มากยิ่งตรึกนึกคิดถึงมาก ความสำคัญมั่นหมายของใจก็เกิดมาแค่ความพอใจยินดีและไม่พอใจยินดี่ในอารมณ์นั้นๆ ความพอใจยินดีไม่พอใจยินดีในสิ่งไรๆก็ล้วนมาจาก$


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กันยายน 29, 2015, 08:50:48 PM
.....


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กันยายน 29, 2015, 09:23:00 PM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 29/9/58 ค้นหาวิธีการทำและเข้าถึงสมาธิ


๑. ให้นั่งสมาธิทำใจให้เป็นที่สบาย (ก่อนนั่งให้เดินจงกรมก่อนจะดีมาก เนื่องจากเป็นการทำสมาธิในท่าหยาบเป็นการเตรียมจิตให้พร้อมในการทำสมาธิ)

๒. ทำไว้ใจใจเหมือนปูลาดด้วยผ้าขาว สะอาด สงบไม่มีกิเลสเครื่องเร่าร้อน และ ความฟุ้งซ่านตรึกนึกไรๆ

๓. ทางที่ปูผ้าขาวนั้น คือทางเดินลมหายใจ เข้า และ ออก เป็นทางปูลาดทางเดินให้พระพุทธเจ้าได้เสด็จเข้ามา บริกรรมพุทโธ เป็นการเชิญให้องค์พระท่านเข้ามา รู้ลมหายใจตั้งมั่นไว้ที่ปลายจมูก



คุณแห่งพุทโธ ขจัด กิเลสกาม โลภะ ราคะ โทสะ โมหะ อกุศลธรรมอันลามกจัญไรทั้งปวงทิ้งไป

๔. หายใจเข้า ระลึก "พุท" น้อมเอาคุณของพระพุทธเจ้า แห่งความเป็น
- ผู้รู้ คือ รู้เห็นตัวตนสมมติกิเลสทั้งปวง ที่ลุ่มหลง ได้รู้เห็นสัมผัสของจริง อันปราศจากซึ่งสมมติกิเลสทั้งปวง
- ผู้ตื่น คือ ตื่นจากสมมติกิเลสทั้งปวง ไม่หลงมัวเมาอยู่อีก ไม่ลุ่มหลงเสพย์สิ่งสมมติกิเลสอยู่อีก ดำรงมั่นด้วยทางแห่งกุศลถึงความพ้นทุกข์ทั้งสิ้นนี้อันเป็นไปในทางแห่งสัมมา (โดยชอบ) ถึงซึ่งกรรมฐานทั้ง ๔๐ ทัศ วิโมกข์ ๘ วิชชา ๘ อภิญญาทั้ง ๖ วิปัสสนาทั้ง ๙ ญาณทั้ง ๑๖ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงถึงแล้ว มีแล้ว ได้แล้ว รู้เห็นแล้ว และ ตรัสสอนมาดีแล้วนั้นทั้งหลายทั้งปวง
- ผู้เบิกบาน คือ เบิกบานด้วยธรรม หลุดพ้นดับสิ้นแล้วซึ่งเพลิงกิเลส อกุศลธรรมอันลามกจัญไร ดับเพลิงทุกข์สิ้นเชิง เบิกบานอยู่ด้วยความพ้นทุกข์ ถึงความสิ้นทุกข์แล้ว
- ทำไว้ในใจน้อมเอา… คุณอันประเสริฐของพระพุทธเจ้า ทั้งหลายทั้งปวงนั้นเข้ามาสู่ตน ได้มาสถิตย์อยู่ในกายใจตน ในทวารทั้งปวง
(ทำไว้ในใจถึงคุณทั้งปวงเหล่านั้นของพระพุทธเจ้าเข้ามาตามทางลมที่ลาดปูไว้ หรือตามจุดพักลมต่างๆตั้งแต่ ่จุดปลายจมูก จุดหว่างคิ้วนาสิกหรือจุดกลางหน้าผาก จุดกลางกระหม่อม จุดโพรงกลวงกลางกระโหลก จุดท้ายทอย จุดตรงลำคอช่วงหลอดลมตรงลูกกระเดือกหรือจุดสุดคอกลวง จุดกลางหน้าอก หรือจุดลิ้นปี่ ท้องเหนือสะดือ 2 นิ้ว ไปขาถึงปลายเท้า แล้วกระจายหายไปในอากาศตามลม)

๕. หายใจออก ระลึก "โธ" น้อมเอาคุณของพระพุทธเจ้า แห่งความเป็น ผู้เบิกบานขจัดสิ้นสมกิเลส อกุศลธรรมทั้งปวง ดับหายสิ้นไปจากกายใจเราตามลมหายใจออก
(ทำไว้ในใจถึงกิเลสทั้งปวงสูญหายไปตามลมหายใจออก ตั้งแต่ปลายเท้า ขา จดท้องเหนือสะดือ 2 นิ้ว จุดลิ้นปี่หรือจุดกลางหน้าอก จุดตรงลำคอช่วงหลอดลมตรงลูกกระเดือกหรือจุดสุดคอกลวง จุดท้ายทอย จุดโพรงกลวงกลางกระโหลก จุดกลางกระหม่อม จุดกลางหน้าผากหรือจุดหว่างคิ้วนาสิก จุดปลายจมูก ให้สมมติกิเลสทั้งปวงหายไปในอากาศตามลมหายใจออก)



การวางใจเมื่ออยู่ในสมาธิ

๖. บริกรรมตามลมหายใจเข้าออกถึง พุทโธ ธัมโม สังโฆ จากนั้นเหลือแต่เพียงพุทโธตั้งหลักมั่นเสียบตอไว้ที่ปลายจมูก หรือ จุดพักลมใดๆก็ได้ที่ตนเห็นได้ชัดไปเรื่อยๆ

- จะเข้าไปตรึกนึกคิดเรื่องราวใดๆก็ช่างมัน ให้เราแค่รู้ว่าจิตมันคิดก็พอ ให้แค่รู้และตามรู้มันไปว่ากำลังตรึกถึงคิดไรๆอย่างนี้ๆอยู่เท่านั้น ไม่ต้องไปฝืนมันหรือพยายามข่มให้มันดับ มันคิดก็ปล่อยมันคิดให้พอใจให้มันเต็มใจมัน แต่เราต้องมีสติรู้ว่า..จิตมันคิด ให้มีสติรู้ตามมันไปว่า..นี่เป็นความปรุงแต่งตรึกนึกคิดให้เป็นไปใน.. อดีตบ้าง หรือ อนาคตบ้าง.. สมมติให้เป็นไปต่างๆนาๆบ้างตามแต่กิเลสที่ทับถมใจมันต้องการแสวงหา ตามแต่กิเลสความอยากที่มันหลอกให้จิตเสพย์จิตยึดสมมตินั้นๆ ..มันไม่ตั้งอยู่ที่ปัจจุบันไม่ใช่ของจริงเลย ดังนั้นให้เรารู้ว่ากำลังตรึกนึกสมมติเรื่องราวไรๆอยู่เท่านั้น  แค่รู้ก็พอ ให้สักแต่ว่ารู้ว่ามันเกิดมีขึ้น ธรรมชาติของจิตมันคือคิด ดั่งองค์พระสัพพัญญูตาเจ้าองค์พระบรมศาสดาได้ตรัสสอนว่า "ธรรมชาติใดคิด..ธรรมชาตินั้นชื่อว่า จิต" มันเป็นเพียงปกติของจิตที่มีเกิดอยู่ประจำๆเท่านั้น เพราะจิตที่ไม่มีกำลังมันอยู่นิ่งไม่ได้ต้องน้อมไปเสพย์อารมณ์ต้องหาที่ยึดเป็นเรื่องปกติของจิต มันเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ดังนั้นเมื่อเกิดความตรึกนึกคิดสิ่งๆไรให้ช่างมัน ปล่อยมันไปตามแต่มันจะคิด เพียงแต่เราต้องมีสติกำกับรู้อยู่ทุกขณะๆเท่านั้น รู้ว่าจิตมันคิด และ ตามรู้มันไป พอมันดับก็รู้ว่ามันดับ เมื่อมันดับไปแล้วถ้าไม่มีความคิดหรือว่างอยู่ก็มีสติรู้ตามมันไป หากมันวูบมันหลุดมารู้ตัวมาตรึกคิดตามปกติแล้วก็ค่อยกลับมารู้ลมหายใจภาวนาพุทโธต่อไป

- จะรู้เห็นเกิดมีนิมิตอะไรก็ตาม ให้เราแค่รู้ว่ามันเกิดก็พอ ให้แค่รู้และตามรู้มันไปว่ากำลังรู้เห็นนิมิตอย่างนี้ๆอยู่เท่านั้น ไม่ต้องตกใจ ไม่ต้องไปดีใจอยากได้มันแล้วจำจดจำจ้องใสสภาวะธรรมไรๆที่เกิดขึ้นแล้วมา..เฮ้ย..ถึงนี้แล้ว..เข้านี่ได้แล้ว..นี่ถึงตรงนี้แล้ว ไม่เข้าไปเสพย์ปรุงแต่ง ไม่ต้องเข้าไปรู้แล้วจำจดจำจ้องมัน หรือ ไม่ต้องไปฝืนมันหรือพยายามข่มให้มันดับเพื่อดึงจิตให้กลับมาอยู่ที่ลมหายใจและบริกรรมพุทโธ**แต่ให้มีสติกำกับอยู่ รู้ว่าเกิดนิมิตนิมิตนั้นแล้วดูมันไปเรื่อยๆ แค่รู้ก็พอ ให้สักแต่ว่ารู้ว่ามันเกิดมีขึ้น นิมิตหรืออาการสภาวะลักษณะของจิตนั้นๆมันดำเนินไปมีรูปร่างแบบไหนยังไงก็ช่างมัน ก็แค่รู้ว่ามันก็แค่อาการรูปร่างนิมิตไรๆมันก็เป็นเพียงแค่ปกติอาการหนึ่งๆของจิตที่มีอยุ่นับล้านๆแบบเท่านั้น เป็นเรื่องปกติของจิต มันเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันดับก็รู้ว่ามันดับ เมื่อมันดับไปถ้าไม่มีความคิดหรือว่างอยู่ก็มีสติรู้ตามสภาวะมันไป หากมันวูบมันหลุดมารู้ตัวมาตรึกคิดตามปกติแล้วก็ค่อยกลับมารู้ลมหายใจภาวนาพุทโธต่อไป "ถ้าไม่ทำตามนี้ก็พลาดโอกาสทองที่จะแวะไปเล่นฌาณซะแล้ว"

- ทำให้หมือนขับรถเดินทางไกลตามที่หลวงปู่ฝั้นสอนตามที่หลวงปู่ณรงค์ชี้แนะ สิ่งนั้นๆที่เรารู้เห็นก็แค่เพียงวิวทิวทัศน์ข้างทางเท่านั้น ถ้สแวะเล่นก้ได้เที่ยวชมวิวแต่การเดินทางของเราก็ช้าลงไปอีก ถ้าไม่แวะชมก็ไปเร็วขึ้น
- ทำตามหลวงน้าสอนว่า รู้ ปกติ วาง




การขจัดสิ่งรบกวนรอบกายทำให้ฟุ้งซ่านไม่เป็นสมาธิ

๗. เมื่อนั่งๆอยู่ แต่ไม่เป็นสมาธิ หรือ เกิดอาการคันๆเหมือนมดแมงมากัดด หรือ วูบวาบๆ หวิวๆ เสียวๆ เหมือนมีดกรีด เจ็บปวด เสียดแทง เหมือนหล่นจากที่สูง หรือหนักอั้งตรึงกายใจ ไม่ยอมหาย ไม่หลุดไปสักที ก็ให้ตั้งใจมีสติดำรงมั่น ระลึกถึง สมรณัสสติ คือ ความตาย ว่า

- อาการนี้ๆคือเราคงจะตายแล้วในไม่ช้า ไม่ชั่วขณะหายใจเข้าแล้วตาย ก็ชั่วขณะลมหายใจออกแล้วตาย ก็เมื่อจะตายแล้ว ตายไปก็ขอไปพระนิพพาน ไปสวรรค์ชั้นดุสิต ไปชั้นพรหม ระลึกพุทโธนึกถึงพระพุทธเจ้ายี่แหละ เมื่อตายไปจึงจะไปจุติที่นั่นได้ ดังนั้นแล้วก็ตายด้วยกุศลดีกว่า คือระลึกถึงพระพุทธเจ้าไปจนตายนี่แหละ แล้วก็ตั้งมั่นระลึกบริกรรมพุทโธคู่ลมหายใจเข้าออกต่อไปโดยสงบ
- เมื่อเจ็บจี๊ดเสียดแทง ก็ระลึกว่า เรากำลังจะตาย ไอ้ที่เจ็บเสียดจี๊ดนี้ เพราะถูกมีดพร้า ของมีคมเสียบแทงให้ตาย ก็เมื่อจะตายอยู่แล้ว ก็ขอตายอย่างกุศลนี่แหละ คือระถึงพุทโธ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า เมื่อตายไปจะได้ไม่ตกสู่ที่ชั่ว ตายไปแล้วนี่จะได้ไปหาพระพุทธเจ้า ไปกราบนมัสการพระองค์ท่านที่แดนพระนิพพาน หรือไปสวรรค์ชั้นดุสิต ชั้นพรหม แล้วก็ตั้งมั่นระลึกบริกรรมพุทโธคู่ลมหายใจเข้าออกต่อไปโดยสงบ
- เมื่อคันยุบยิบๆ คันจี๊ดๆ ทั้งๆที่ ที่นั่งสมาธิก็สะอาดสบาย ก็ระลึกว่าเรากำลังจะตาย ไอ้ที่คันอยู่นี้เพรากำลังโดนหนอน โดนแมลง หรือ สัตว์ทั้งหลาย พากันกัดยื้อแย่งกันกินร่างกายนี้อยู่ ก็เมื่อจะตายอยู่แล้วก็ขอตายอย่างกุศลนี่แหละ คือระถึงพุทโธ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า เมื่อตายไปจะได้ไม่ตกสู่ที่ชั่ว ตายไปแล้วนี่จะได้ไปหาพระพุทธเจ้า ไปกราบนมัสการพระองค์ท่านที่แดนพระนิพพาน หรือไปสวรรค์ชั้นดุสิต ชั้นพรหม แล้วก็ตั้งมั่นระลึกบริกรรมพุทโธคู่ลมหายใจเข้าออกต่อไปโดยสงบ




หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ตุลาคม 20, 2015, 09:34:01 AM

อัคคิสูตร
เจริญโพชฌงค์ตามกาล


             [๕๖๘] ครั้งนั้น ภิกษุเป็นอันมาก เวลาเช้า นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาต
ยังพระนครสาวัตถี (ความต่อไปเหมือนปริยายสูตรข้อ ๕๔๗-๕๕๐) พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนี้ ควรเป็นผู้อันเธอทั้งหลายพึงถาม
อย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น มิใช่กาลเพื่อเจริญโพชฌงค์เหล่า
ไหน เป็นกาลเพื่อเจริญโพชฌงค์เหล่าไหน? สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น มิใช่กาลเพื่อเจริญ
โพชฌงค์เหล่าไหน เป็นกาลเพื่อเจริญโพชฌงค์เหล่าไหน? พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกถูกเธอ
ทั้งหลายถามอย่างนี้แล้ว จักแก้ไม่ได้เลย และจักถึงความอึดอัดอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร?
เพราะเป็นปัญหาที่ถามในฐานะมิใช่วิสัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่แลเห็นบุคคลในโลก พร้อม
ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ที่จะ
ยังจิตให้ยินดีด้วยการแก้ปัญหาเหล่านี้ เว้นเสียจากตถาคต สาวกของตถาคต หรือผู้ที่ฟังจาก
ตถาคต หรือจากสาวกของตถาคตนั้น.
             [๕๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น มิใช่กาลเพื่อเจริญปัสสัทธิ
สัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะจิตหดหู่ จิตที่
หดหู่นั้น ยากที่จะให้ตั้งขึ้นได้ด้วยธรรมเหล่านั้น เปรียบเหมือนบุรุษต้องการจะก่อไฟดวงน้อยให้ลุก
โพลง เขาจึงใส่หญ้าสด โคมัยสด ไม้สด พ่นน้ำ และโรยฝุ่นลงในไฟนั้น บุรุษนั้นจะ
สามารถก่อไฟดวงน้อยให้ลุกโพลงขึ้นได้หรือหนอ?
             ภิ. ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า.
             พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้นมิใช่กาลเพื่อเจริญ
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์
ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะจิตหดหู่ จิตที่หดหู่นั้น ยากที่จะให้ตั้งขึ้นได้ด้วยธรรมเหล่านั้น.
             [๕๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น เป็นกาลเพื่อเจริญธัมม-
*วิจยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ข้อนั้น
เพราะเหตุไร? เพราะจิตหดหู่ จิตที่หดหู่นั้น ให้ตั้งขึ้นได้ง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น เปรียบเหมือน
บุรุษต้องการจะก่อไฟดวงน้อยให้ลุกโพลง เขาจึงใส่หญ้าแห้ง โคมัยแห้ง ไม้แห้ง เอาปากเป่า
และไม่โรยฝุ่นในไฟนั้น บุรุษนั้นสามารถจะก่อไฟดวงน้อยให้ลุกโพลงขึ้นได้หรือหนอ?
             ภิ. ได้ พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้นเป็นกาลเพื่อเจริญ
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์
ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะจิตหดหู่ จิตที่หดหู่นั้น ให้ตั้งขึ้นได้ง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น.
             [๕๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น มิใช่กาลเพื่อเจริญ
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ข้อ
นั้นเพราะเหตุไร? เพราะจิตฟุ้งซ่าน จิตฟุ้งซ่านนั้น ยากที่จะให้สงบได้ด้วยธรรมเหล่านั้น เปรียบ
เหมือนบุรุษต้องการจะดับไฟกองใหญ่ เขาจึงใส่หญ้าแห้ง โคมัยแห้ง ไม้แห้ง เอาปากเป่า และ
ไม่โรยฝุ่นลงไปในกองไฟใหญ่นั้น บุรุษนั้นสามารถจะดับไฟกองใหญ่ได้หรือหนอ?
             ภิ. ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า.
             พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้นมิใช่กาลเพื่อเจริญ
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์
ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะจิตฟุ้งซ่าน จิตที่ฟุ้งซ่านนั้น ยากที่จะให้สงบได้ด้วยธรรมเหล่านั้น.
             [๕๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น เป็นกาลเพื่อเจริญ
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์
ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะจิตฟุ้งซ่าน จิตที่ฟุ้งซ่านนั้น ให้สงบได้ง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น เปรียบ
เหมือนบุรุษต้องการจะดับไฟกองใหญ่ เขาจึงใส่หญ้าสด โคมัยสด ไม้สด พ่นน้ำ และโรยฝุ่น
ลงในกองไฟใหญ่นั้น บุรุษนั้นจะสามารถดับกองไฟกองใหญ่นั้นได้หรือหนอ?
             ภิ. ได้ พระเจ้าข้า.
             พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้นเป็นกาลเพื่อ
เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญอุเบกขา
สัมโพชฌงค์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะจิตฟุ้งซ่าน จิตที่ฟุ้งซ่านนั้น ให้สงบได้ง่ายด้วยธรรม
เหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสติแลว่า มีประโยชน์ในที่ทั้งปวง.


จบ สูตรที่ ๓



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ตุลาคม 20, 2015, 09:39:12 AM
อาหารของโพชฌงค์ ๗

 พุทธพจน์ และ พระสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๑๙

 คลิกขวาเมนู
    [๓๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายนี้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร

ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้  แม้ฉันใด

โพชฌงค์ ๗ ก็มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร

ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน.

 

    [๓๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้สติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น  หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์?

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายเป็นที่ตั้งแห่งสติสัมโพชฌงค์ มีอยู่

การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น

นี้เป็นอาหารให้สติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์.

 

    [๓๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด

เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลและ

อกุศลที่มีโทษ และไม่มีโทษ ที่เลวและประณีต ที่เป็นฝ่ายดำและฝ่ายขาว มีอยู่ การกระทำให้มาก

ซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น

หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์.

 

    [๓๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้วิริยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น

หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ความริเริ่ม ความพยายาม ความบากบั่น

มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในสิ่งเหล่านี้ นี้เป็นอาหารให้วิริยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด

เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์.

 

    [๓๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้ปีติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น

หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายเป็นที่ตั้งแห่งปีติสัมโพชฌงค์

มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้ปีติสัมโพชฌงค์ที่ยัง

ไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์.

 

    [๓๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด

เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสงบกาย ความสงบจิต

มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในความสงบนั้น นี้เป็นอาหารให้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์.

 

    [๓๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้สมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด

เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธินิมิต อัพยัคคนิมิต มีอยู่

การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในนิมิตนั้น นี้เป็นอาหารให้สมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด

เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์.

 

    [๓๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด

เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายเป็นที่ตั้งแห่ง

อุเบกขาสัมโพชฌงค์ มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหาร

ให้อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์.

 

    [๓๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายนี้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร

ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ ก็มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะ

อาศัยอาหาร ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน.

จบ สูตรที่ ๒


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 02, 2015, 03:56:24 PM

กรรมฐานวันที่ 16 ตุลาคม 2558 การละความสำคัญมั่นหมายในราคะของใจ ล้างราคะสัญญา

วันนี้เข้าฟังเทสนาของหลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน จิตไม่เป้นสมาธิ มีความระส่ำ จึงทำความสงบใจ พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนว่า ทำอย่างไรหนอ จึงจะละความเร่าร้อนนี้ได้ ละความสำคัญใจในกิเลสทั้งปวงได้ พอได้ความสงบใจบ้างก็เกิดกุศลวิตกคิดออกจากทุกข์ผุดขึ้นมาว่า
- การละราคะ ก็ละที่ความไม่คิดสืบต่อจากที่รู้ในปัจจุบันด้วยนิมิตด้วยอนุพยัญชนะ จะละความตรึกตรองในนิมิตในอนุพยัญชนะได้ก็ต้องละที่เจตนาเข้าไปทำใจไว้ในอารมณ์นั้น จะละอารมณ์นั้นๆได้ก็ตค้องละที่ความจดจำสำคัญมั่นหมายของใจ ละที่ความสำคัญใจในราคะที่มีต่อสิ่งนั้นๆ ละความสำคัญใจในราคะต่อสิ่งนั้นๆได้ก็ต้องไม่ยึดสัญญา ละสัญญาก็ไม่ให้ความสำคัญในสิ่งไรๆอาการไรๆแม้แต่เวทนา จิตรู้ยึดแต่สัญญายึดแต่สมมติก็มาแต่ความสำคัญใจในความโสมนัส โทมนัสที่มีต่อสิ่งนั้นๆ เราก็ต้องไม่ยึดจิต ไม่ยึดจิตก็ไม่มีทั้งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ไม่ยึดสิ่งที่รู้อารมณ์ใดๆทั้งสิ้น
- การสละคืนความสำคัญใจในราคะ ก็ต้องไม่เสพย์ไม่ยึดในสัญญาแห่งราคะ เหมือนเราเป้นเด็กก็ไม่เคยมีความจำสำคัญมั่นหมายของใจในราคะต่อสิ่งไรๆเลยฉันใด เราก็ไม่ซ้องเสพย์ให้ความสำคัญใจในราคะต่อสิ่งไรๆฉันนั้น ตั้งจิตจับแต่กุศล ยึดเพียง ศีล ทาน พรหมวิหาร ๔ ภาวนา ละอภิชชา ละโทมนัสให้จงได้ ไม่ยึดจับเอาสิ่งไรๆทั้งสิ้น ตั้งแต่กุศล เพียรสร้างกุศลให้เกิดขึ้น คงกุศลไว้ รักษาไว้ไม่ให้เสื่อม ทำสมาธิเสพย์แต่กุศลล้างจิตเสพย์เอาแต่กุศล ล้างขยะอกุศลธรรมทั้งปวงทิ้งไป ตั้งโดยความสงบให้จิตจับจิตน้อมรับแต่กุศลให้มากที่สุด เป็นการล้างสัญญาใน ราคะ ละอภิชชา ละโทมนัส ปุถุชนอย่างเราๆไม่สามารถเข้าโลกุตระได้จึงไม่สามารถล้างขันธ์แบบพระอรหันต์ในสมาบัติได้ แต่ก็อาศัยสมาธิตั้งแต่ ความสงบใจ อุปจาระสมาธิขึ้นไปจนถึงปฐมฌาณ อารมณ์สมถะทั้งปวงนี้แหละล้างสัญญาขันธ์ให้ได้มากที่สุด จิตจึงจะมีแต่กุศล สะอาดได้[/size

ทางเจริญที่พอจะเห็นได้ในขณะนั้น

- ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ จิตรู้สิ่งใดล้วนเป็นสมมติที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกให้จิตหลงยึดทั้งสิ้นเป็นของปลอมทั้งนั้นไม่มีของจริงเลย
- เลือกธรรมารมณ์ที่ควรเสพย์ ไม่ยึดไม่เสพย์ไปตามอกุศลวิตก ไม่เสพย์ความคิด รู้ว่ามันระลึกในราคะก็รู้ว่ามันตรึกตรองในราคะ รู้แล้วก็ช่างมันปล่อยมันไปไม่เสพย์ตาม ละความสำคัญใจในราคะต่อสิ่งที่มันตรึกตรองถึง ไม่ยึด ไม่ให้ความสำคัญใจในราคะต่อสิ่งไรๆ ละความหมายรู้อารมณ์นั้นด้วยราคะ ชักนำอบรมจิตให้อยู่ในปัจจุบันบ้าง เช่นปัจจุบันเห็นอยู่เพียงคนทีมีผิว มีชุด มีหน้าตา ท่าทางอิริยาบถอยู่อย่างนี่ๆเท่านั้น เขาไม่ได้ข้องเกี่ยวกับเราเลย เราเองที่ไปยึดเอาความดำริในกามมาสำคัญใจต่อเขาลงในราคะ ทั้งๆที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย หลงเสพย์เร่าร้อนเพราะความคิดตริตรึกลงนิมิตในอนุพยัญชนะต่อเขาของเราเองเท่านั้น เสพย์ความเร่าร้อนจากสมมติความคิดตนโดยแท้ กามเกิดแต่ความดำริถึงอย่างนี้ๆ
- มีสติตั้งมั่นระลึกรู้ ตามรู้ แค่รู้ว่าคิดก็สักแต่รู้ว่าคิดเท่านั้น ไม่ยึดไม่เสพย์ความคิดสมมติ มันเกิดมีขึ้นก็รู้ว่ามันแค่สมมติที่กิเลสสร้างขึ้นให้จิตหลงเสพย์ให้จิตยึดแล้วเร่าร้อนตามมันไป เมื่อเกิดความรัก โลภ โกรธ หลง ก็รู้ว่ามีความรัก โลภ โกรธ หลง เกิดมีขึ้น ปล่อยความคิดมันไปให้มันคิดไป อาการนั้นเกิดมีขึ้นก็ตามรู้มันไป แต่ไม่ร่วมเสพย์ ให้เราแค่รู้เท่านั้น..จนมันกลายเป็นแค่สภาวะธรรมหนึ่งๆไม่มีตัวตนบุคคลไรๆไม่มีความหมายไรๆ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
- หมายรู้แค่กุศลแล้วตั้งมั่นทำสัมปะชัญญะเกิดขึ้นตื่นรู้ตัวเป็นกำลังให้สติตั้งอยู่ในปัจุบัน รู้กายรู้ใจในปัจจุบันให้มาก เพื่อดำรงกายใจเราให้ตั้งอยู่ในปัจจุบัน รู้ตัวรู้ใจในปัจจุบันที่เป็นอยู่กำลังดำเนินไปอยู่ในกิจการงานไรๆอิริยาบถไรๆ
- ทำให้จิตตั้งอยู่แต่ในกุศล ยินดีในกุศล เพียรสำคัญใจในกุศล หมายใจรู้แต่กุศล หมายใจจับเอาแต่กุศล แล้วสงเคราะฆ์กายใจลงตั้งมั่นใน ศีล ทาน พรหมวิหาร ๔ บ้าง ให้มากๆ เพียรตั้งอยู่ในกุศลเหล่านั้นให้บ่อยๆเนืองๆ เช่น
๑. ตั้งใจมั่นอยู่ในความเอ็นดูปรานีปารถนาดีประดุจมิตรประดุจคนในครอบครัวประดุจบุตรอันเป็นที่รักคนเดียว หรือ พ่อ แม่ พี่ น้อง คนที่มีค่าที่ห่วงใยหวงแหนเคารพถนุถนอมไรๆในชีวิตของเรา ไม่คิดร้าย ไม่คิดเบียดเบียน ไม่คิดรุกล้ำล่วงเกิน ไม่ทำอกุศลจิตอานาจารต่อกันและกัน
๒. ไม่หมายใจเพ่งเล็งสัตว์ สิ่งของ บุคคลอันเป็นที่รักที่มีค่าของใคร
๓. มีความเอื้อเฟื้อแก่กัน อิ่มเอมเป็นสุขยินดีที่เขาไม่ต้องมาแปดเปื้อนอกุศลธรรมอันลามกจัญไรเพราะเราเอง ตั้งจิตจับเอาความอิ่มเอมสุขนั้นไว้ให้มั่น
๔. ยินดีในความสงบใจจากกิเลส ยินดีในความไม่เร่าร้อนจากกิเลส ทำความสงบใจจากกิเลส ทำในไว้ในความสงบ ไม่ให้ความสำคัญ ไม่สำคัญใจไรๆไว้ต่อสิ่งใดๆทั้งสิ้นทั้งปวง

- ภาวนาอยู่ในอาการ ๓๒ บ้าง ภาวนาอยู่ในธาตุ ๖ บ้าง ภาวนาอยู่ในมรณะสติบ้าง ภาวนาอยู่ในอสุภะบ้าง ยินดีภาวนาอยู่ในความสงบใจ สงบนิ่ง ความว่าง ความไม่มี ความไม่ยึดเอาสิ่งไรๆทั้งปวง ความสละคืน เพียรในสมาธิเพียรเจริญในกรรมฐาน ๔๐ ให้เกิดสมาธิเข้าสู่ความสงบใจจากกิเลสสงบรำงับจากนิวรณ์ได้ เข้าอุปจาระสมาธิ เข้าปฐมฌาณ ทุติยะฌาณ ตติยฌาณ จตุตถฌาณ อารมณ์สมถะอันเป็นกุศลสงบรำงับอุปกิเลสนิวรณ์ทั้งปวงเป็นต้น เพื่อล้างจิตอกุศลธรรมออก ให้จิตมันจับเสพย์แต่กุศล ตั้งไว้ในกุศล คงกุศลไว้ไม่เสื่อมไป แม้เมื่อออกจากสมาธิจิตตั้งจับเอาที่ศีล ทาน ภาวนา อยู่ทุกๆขณะ มีจิตตั้งอยู่ลมหายใจตลอดเวลา ระลึกรู้เอาแต่สภาวะธรรมอาการจริงๆของจิต ของรูปภายนอกที่รับรู้เป็นต้น




หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 05, 2015, 06:17:47 PM
เวลาที่หดหู่ ท้อแท้หมดหวัง ซึมเศร้า หมดอาลัยตายอยาก เหนื่อยหน่าย เศร้าหมอง เกียจคร้าน ง่วงนอน เป็นเวลาที่ควรแก่ การวิเคราะห์ธรรม ความสักแต่รู้สภาวะธรรมเพื่อเห็นจริง รู้ของจริง รู้ตัวสมมติ เห็นธรรมเห็นไตรลักษณ์ ความเพียร ความอิ่มใจ ให้ทำดังนี้

๑. สติเป็นเบื้องหน้า มีความตั้งใจมั่นเจตนาที่จะไม่เสพย์อกุศลธรรมทั้งปวง ยังความสงบใจให้เกิดมีขึ้น
๒. เมื่อมันเกิดมีสิ่งไรๆอารมณ์ไรๆเกิดขึ้นอยู่ก็ตามให้ตั้งมั่นอยู่ในความพอใจยินดีที่มันเกิดขึ้น ด้วยตั้งใจหมายที่จะรู้สภาวะธรรมจริงๆที่ปราศจากสมมติ หมายใจไว้ว่าจะรู้มันให้บ่อยให้มากเพื่อให้เกิดความหน่ายสมมติของปลอมล้างสมมติกิเลสที่ทับถมใจเรามานับไม่ถ้วนนั้น ตั้งใจที่จะรู้เพื่อล้างอกุศลธรรมทั้งปวงให้ได้ ตั้งมั่นด้วยเจตนาว่ามันเกิดล้านครั้ง เราก็จะรู้ให้ทันมั่น จะตามรู้มันทุกๆครั้งไปเสมอๆ
๓. จากนั้นจับอาการจริงๆจากสภาวะธรรมทั้งปวงที่เกิดมีขึ้นโดยปราศจากความตรึกนึกคิดไรๆ ตั้งมั่นเจตนาที่จะรู้อาการจริงๆจากอารมณ์เหล่านั้น ตั้งจิตปักหลักไว้ว่าเราสักแต่เพียงเป้นผู้รู้ไม่ใช่ผู้เสพย์ แล้วตามรู้อาการที่มากระทบสัมผัสให้เกิดมีขึ้นในสฬายตนะนั้นไป ตั้งมั่นจับเอาความรู้สึกจากผัสสะนั้นๆเท่านั้น
**แต่หากทำไม่ได้ ฏ้ให้ตริ ตรอง นึกคิดตามถึงสภาวะที่เกิดมีขึ้นว่า**
- อาการความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นที่เรารับรู้อยู่นี้ๆมันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์
- จากนั้นก็ตรองถึงสืบเสาะดูว่าอารมณ์นี้ๆอาการความรู้สึกนี้ๆเกิดมาจากอะไร มีอะไรเป็นเหตุให้เกิดขึ้น เพราะเหตุใด ติดใจอะไร สำคัญใจอย่างไร พอใจยินดีสิ่งไหน
- ยังความสงบใจให้เกิดขึ้น
๔. เมื่อทำไว้ในใจตามในข้อที่ ๑-๓ และเมื่อเจริญและทำได้แล้ว เมื่อเราได้รู้อาการจริงจนมันดับไป ด้วยจิตยินดีที่มันเกิดขึ้น ที่เราจะรู้ของจริงในมัน ธรรมชาติของจิตเมื่อมันได้รู้ได้เห็นอะไรสมใจหรือเจอสิ่งที่ไม่เคยรู้มันจะสำคัญใจในสิ่งนั้นมาก ความเพียรก็จะเกิดขึ้นสังขารโดยรอบทันที เป็นสังวรปธาน
๕. ธรรมชาติหากมีสติ มีสัมปะชัญญะ มีจิตตั้งมั่นเกิดอารมณ์สมถะ หรือ เกิดจิตตั้งมั่นน้อมใจไปโดยแบบวิปัสสนา เมื่อพิจารณาตามข้อที่ ๑-๔ อย่างนี้ลงตามจริงย่อมเห็นของจริง จิตมันย่อมเกษมอิ่มเอมตื้นตันใจ ความเศร้าหมองนัน้ก็ดับไป


เวลาฟุ้งซ่าน ระส่ำ เร่าร้อน เป็นเวลาที่ควรแก่การทำความสงบใจ สมาธิ อุเบกขา ให้ทำดังนี้

๑. ทำไว้ในใจถึงความสงบใจ ระลึกถึงธรรมชาติที่สงบ ธรรมชาติที่ไม่วุ่นวาย ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่คิด ไม่ปรุง ธรรมชาตินั้นประณีต สงบเบาโล่ง เป็นที่สบายกายใจ
๒. ปลงใจจากสิ่งทั้งปวง ยอมรับความจริง ประมาณตน ปลงใจ ปล่อยวาง
- ทำใจไว้ว่าอย่างเราๆนี้ได้แค่ไหนก็แค่นั้น เราทำบุญมาแค่นี้ก็ทำได้เพียงเท่านั้น ปารถนาในสิ่งที่ไม่ใช่เรา-ไม่ใช่ของเรา-ไม่มีในเราไปก็เป็นทุกข์ เพราะไม่เ)้นสิ่งที่เราจะพึงได้ พึงควร พึงมี ที่เรามีอยู่เป็นไดยังไงก็แค่นั้น เราบังคับสิ่งไรๆให้เป้นไปดั่งใจไม่ได้เพราะมันไม่ใข่เรา ไม่ใช่ของเรา ยอมรับมันแล้วปลงใจเสีย
- มีสติเป็นเบื้องหน้าระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์ว่า..เราจักตายอยู่มะรอมมะล่ออยู่แล้ว เราจักตายตอนตักข้าวเข้าปากหรือตอนเคี้ยวคำข้าวหรือตอนกลืนคำข้าว เราจักตายตอนอาบน้ำ เราจักตายเพราะโดยแมลงหรือสัตว์มีพิษกัด เเราจักตายเพราะอุบัติเหตุ ราจักตายเพราะโรคกำเริบ เราจักตายเมื่อตอนเมื่อยืน เราจักตายเมื่อตอนเมื่อเดิน เราจักตายเมื่อตอนเมื่อนั่ง  เราจักตายเมื่อตอนกำลังนอน เราจักตายเมื่อตอนกำลังตื่นนอน เราจักตายเมื่อตอนหายใจเข้า เราจักตายตอนหายใจออก เรามีความตายอยู่เบื้องหน้าเป็นที่แน่นอน จะล่วงพ้นไม่ได้ เมื่อเรามีความตายเป็นเบื้องหน้าอยู่อย่างนี้ เราควรมีสติเป็นที่สุดรอบพึงละความปารถนาในสิ่งที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่เที่ยง ไม่พึงหอบความเศร้าหมองใจตายตามเราไป ไม่พึงหอบเอาอภิชฌาและโทมนัสตายตามไปด้วย เมื่อเป้นอย่างนั้นก็จะลงนรกไปเสียได้ เราควรระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ปลงใจเสียจากกิเลสทั้งปวง พึงน้อมเอาคุณแห่งความดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิงของพระพุทธเจ้านั้นมาสู่ตน มาสู่ขันธ์ ๕ มาสู่ธาตุ ๖ เพื่อชำระล้างให้ ขันธ์ ๕ ธาตุ ๖ ของเรามีสะอาดบริสุทธิ์
- น้อมเอาคุณแห่งความเป็น อรหัง พุทโธ ความหมดสิ้นกิเลสอกุศลธรรมอันลามกจัญไรทั้งปวง ความเป็นผู้รู้(รู้แจ้งเห็นจริงใน โมหะและสมมติกิเลส) ผู้ตื่น(ตื่นจาก โมหะและสมมติกิเลส) ผู้เบิกบาน(เบิกบานแล้ว จากโมหะและสมมติกิเลส) ของพระพุทธเจ้ามาสู่ตน เป็นดารเชิญองค์พระท่านมาสู่กายใจตน แล้วขัดชำระล้างในธาตุ ๖ ดังนี้
ก. ธาตุลม คือ ลมที่พัดขึ้น พัดลง ในกายนี้ มีลมหายใจ อาการที่เคลื่อนตัวไหวไปมาทั้งปวงในร่างกาย แล้วหายใจเข้า..น้อมเอาคุณแห่ง อรหัง พุทโธ นี้เข้ามาชำระล้างธาตุลมในกายเราให้สะอาดบริสุทธิ์ หายใจออก..น้อมเอาคุณแห่ง อรหัง พุทโธ ชำระล้างเอาสมมติกิเลส อกุศลธรรมอันลามกจัญไรทั้งปวง จากธาตุลมจากกายใจเราทิ้งไปตามลมหายใจออก ให้หายไปในอากาศ
(หากให้ดีก็ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ครั้งที่ 1 น้อมเอาคุณของพระพุทธเจ้า ครั้งที่ 2 น้อมเอาคุณของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรสไว้ดีแล้วเพื่อออกจากทุกข์ ครั้งที่ 3 น้อมเอาคุณของพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ถ้าบริกรรมก็ระลึกตามบทสวดธาตุ ๖ ของวัดอโสการามไป)
ข. ธาตุไฟ คือ ไฟที่ให้ความอบอุ่นในร่างกาย อุณหภูมิ ไฟที่ย่อยอาหารในกายนี้ อาการที่ร้อนเย็นทั้งปวงในร่างกาย  แล้วหายใจเข้า..น้อมเอาคุณแห่ง อรหัง พุทโธ นี้เข้ามาชำระล้างธาตุไฟในกายเราให้สะอาดบริสุทธิ์ หายใจออก..น้อมเอาคุณแห่ง อรหัง พุทโธ ชำระล้างเอาสมมติกิเลส อกุศลธรรมอันลามกจัญไรทั้งปวง จากธาตุไฟจากกายใจเราทิ้งไปตามลมหายใจออก ให้หายไปในอากาศ
(หากให้ดีก็ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ครั้งที่ 1 น้อมเอาคุณของพระพุทธเจ้า ครั้งที่ 2 น้อมเอาคุณของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรสไว้ดีแล้วเพื่อออกจากทุกข์ ครั้งที่ 3 น้อมเอาคุณของพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ถ้าบริกรรมก็ระลึกตามบทสวดธาตุ ๖ ของวัดอโสการามไป)
ค. ธาตุน้ำ คือ น้ำที่ให้ความเอิบอาบในร่างกาย นำเลือด น้ำดี เสลด น้ำลาย น้ำเหลือง น้ำปัสาวะ อาการที่เอิบอาบทั้งปวงในร่างกาย  แล้วหายใจเข้า..น้อมเอาคุณแห่ง อรหัง พุทโธ นี้เข้ามาชำระล้างธาตุน้ำในกายเราให้สะอาดบริสุทธิ์ หายใจออก..น้อมเอาคุณแห่ง อรหัง พุทโธ ชำระล้างเอาสมมติกิเลส อกุศลธรรมอันลามกจัญไรทั้งปวง จากธาตุน้ำจากกายใจเราทิ้งไปตามลมหายใจออก ให้หายไปในอากาศ
(หากให้ดีก็ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ครั้งที่ 1 น้อมเอาคุณของพระพุทธเจ้า ครั้งที่ 2 น้อมเอาคุณของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรสไว้ดีแล้วเพื่อออกจากทุกข์ ครั้งที่ 3 น้อมเอาคุณของพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ถ้าบริกรรมก็ระลึกตามบทสวดธาตุ ๖ ของวัดอโสการามไป)
ง. ธาตุดิน คือ ดินที่แค่นแคะ อ่อนแข็งในร่างกาย ก้อนเนื้อ หัวใจ เส้นเอ็น กระดูก อาการที่อ่อนแข็งทั้งหลายในกายนี้ แล้วหายใจเข้า..น้อมเอาคุณแห่ง อรหัง พุทโธ นี้เข้ามาชำระล้างธาตุดินในกายเราให้สะอาดบริสุทธิ์ หายใจออก..น้อมเอาคุณแห่ง อรหัง พุทโธ ชำระล้างเอาสมมติกิเลส อกุศลธรรมอันลามกจัญไรทั้งปวง จากธาตุดินจากกายใจเราทิ้งไปตามลมหายใจออก ให้หายไปในอากาศ
(หากให้ดีก็ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ครั้งที่ 1 น้อมเอาคุณของพระพุทธเจ้า ครั้งที่ 2 น้อมเอาคุณของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรสไว้ดีแล้วเพื่อออกจากทุกข์ ครั้งที่ 3 น้อมเอาคุณของพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ถ้าบริกรรมก็ระลึกตามบทสวดธาตุ ๖ ของวัดอโสการามไป)
ง. ธาตุอากาศ คือ อากาศที่ว่าง ช่องว่างในร่างกาย ช่องจมูก ช่องหู ช่องปาก ช่องทวาร แก๊สที่อยู่ในกาย อาการที่ว่าง ช่องว่างระหว่างธาตุทำให้ธาตุไม่สัมผัสกระทบกันทั้งหลาย แก๊สในกระเพราะอาหาร ใสช่องหู ช่องปาก ช่องทวาร ตด ในกายนี้ แล้วหายใจเข้า..น้อมเอาคุณแห่ง อรหัง พุทโธ นี้เข้ามาชำระล้างธาตุว่าง อากาศธาตุในกายเราให้สะอาดบริสุทธิ์ หายใจออก..น้อมเอาคุณแห่ง อรหัง พุทโธ ชำระล้างเอาสมมติกิเลส อกุศลธรรมอันลามกจัญไรทั้งปวง จากธาตุอากาศจากกายใจเราทิ้งไปตามลมหายใจออก ให้หายไปในอากาศ
(หากให้ดีก็ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ครั้งที่ 1 น้อมเอาคุณของพระพุทธเจ้า ครั้งที่ 2 น้อมเอาคุณของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรสไว้ดีแล้วเพื่อออกจากทุกข์ ครั้งที่ 3 น้อมเอาคุณของพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ถ้าบริกรรมก็ระลึกตามบทสวดธาตุ ๖ ของวัดอโสการามไป)
จ. ธาตุวิญญาณ คือ วิญญาณที่รู้ ตัวรู้ ธาตุรู้ รู้ร้อน รู้เย็น รู้เจ็บ รู้ปวด รู้อิ่ม รู้รัก รู้โลภ รู้โกรธ รู้สุข รู้ทุกข์ อาการที่รู้ทั้งปวง รู้กระทบสัมผัสทั้งปวงทั้งอาการทางกายและอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทางใจ แล้วหายใจเข้า..น้อมเอาคุณแห่ง อรหัง พุทโธ นี้เข้ามาชำระล้างธาตุรู้ วิญญาณธาตุในกายเราให้สะอาดบริสุทธิ์ หายใจออก..น้อมเอาคุณแห่ง อรหัง พุทโธ ชำระล้างเอาสมมติกิเลส อกุศลธรรมอันลามกจัญไรทั้งปวง จากธาตุรู้ วิญญาณธาตุจากกายใจเราทิ้งไปตามลมหายใจออก ให้หายไปในอากาศ
(หากให้ดีก็ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ครั้งที่ 1 น้อมเอาคุณของพระพุทธเจ้า ครั้งที่ 2 น้อมเอาคุณของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรสไว้ดีแล้วเพื่อออกจากทุกข์ ครั้งที่ 3 น้อมเอาคุณของพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ถ้าบริกรรมก็ระลึกตามบทสวดธาตุ ๖ ของวัดอโสการามไป)
๓. ทำไว้ในใจถึงอากาศ ทำใจให้ประดุจอากาศ มีความว่าง อาการที่ว่างจากสิ่งทั้งปวง มาเป็นอารมณ์ที่ตั้งแห่งจิต ด้วยอุบายว่า อากาศมีมากในใจ ทำใจให้เป็นดั่งอากาศอันเป้นที่ว่างที่ไม่มีที่สิ้นสุดไม่มีประมาณ ไม่ยินดียินร้าย ไม่เข้าไปทำใจไว้ทั้งชอบทั้งชัง ไม่รักไม่เกลียดต่อสิ่งไรๆทั้งปวง
 ๔. ความวางเฉย มีใจวางไว้กลางๆไม่ยินดียินร้าย ความไม่ยินดียินร้ายด้วยเห็นว่าด้วยเหตุและผลสืบมาจากการกระทำสะสมมาแต่ปางก่อนจนถึงปัจจุบันนี้เป็นเหตุให้ได้รับผลอย่างนั้น
- ทำไว้ในใจถึงอุเบกขา ความวางเฉย ความไม่ติดใจข้องแวะในสิ่งไรๆทั้งปวง ทั้งการกระทบทางกาย ทั้งอารมณ์ความรู้สึกทางใจ ความตรึกนึกคิดไรๆทั้งปวง ตั้งสติเป็นเบื้องหน้าคิดก็รู้ว่าคิด หรือจะหายใจเข้า บริกรรม "คิด" หายใจออกบริกรรม "หนอ" ก็ได้ พึงตั้งใจไว้ว่าติดข้องใจมันไปไม่ว่าสิ่งไรๆก็มีแต่ทุกข์ ความวางใจอยู่ที่การวางเฉย ไม่ยินดียินร้าย จึงจะไม่ทุกข์
- ทำสมาธิบริกรรมในใจไว้ถึงความว่าง หายใจเข้า บริกรรม "ว่าง" หายใจออก บริกรรม "หนอ"
๕. ไม่จับสมมติ ความรู้สึกนึกคิดทั้งปวง มันมีแต่ให้เป้นไปในอดีบ้าง อนาคตบ้าง ปรุงแต่งอยากให้เป็นไปตามใจปารถนาบ้าง ไม่มีของจริงเลย ไม่รู้ปัจจุบัน พอเสพย์ตามมันไปก็หลงไปตามสมมติที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกให้จิตเสพย์ ละสิ่งที่จิตรู้ ไม่ยึดเอาสิ่งไรๆก็ตามที่จิตรู้ ไม่ให้ความใส่ใจสัมคัญมันก็ไม่ทุกข์ ไม่หลงตามมันไป พึงทำไว้ในใจด้วยอุบายว่า " จิตรู้สิ่งใด สิ่งนั้นคือสมมติ เป็นเพียงสมมติที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกให้จิตรู้ ให้จิตเสพย์ ให้จิตหลง ไม่ใช่ของจริง ของจริงๆที่มีในกายนี้ คือ กายสังขาร นั่นก็คือ ลมหายใจนั่นเอง ลมหายใจไม่ฟุ้งซ่าน ลมหายใจเป็นของจริง ลมหายใจเป้นสติ ลมหายใจเป็นปัจจุบัน รู้ของจริงก็มารู้ที่ลมหายใจเข้า-ออกนี้แล"
๖. ความไม่ยึด ความไม่จับ ไม่เสพย์สิ่งไรๆทั้งปวง ไม่เอาสิ่งใดเลย ไม่เอาอะไรทั้งสิ้น ไม่ตั้งใจ ไม่จงใจ ไม่ทำใจไว้ในสิ่งไรๆ เข้าไปทำใจไว้ในอารมร์ไรๆทั้งปวง ไม่ยึดอะไรทั้งนั้น ไม่ว่ากายใจตน หรือสิ่งไรๆในสามโลกก็ไม่ยึดไม่เอาทั้งนั้น


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 15, 2015, 02:50:23 PM


10-11-58 ฝึกเปลี่ยนความสำคัญใจจากอกุศลวิตกให้เป็นกุศลวิตกแทน สัมมัปปธาน ๔ เพื่อละอุปกิเลสความคิดอกกุศล

คิดในราคะ ให้ใช้พุทโธ อัดแทนที่บ้าง ให้ใช้ความคิดชอบ คิดในกุศล สงเคราะห์ลง พรหมวิหาร ๔ ศีล ทาน ภาวนา อัดแทนที่บ้าง




19-11-58 ละราคะตามกาล


ประการที่ ๑ ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้สมมติ มีสติเป้นเบื้องหน้าเอราสมาธินำ แล้วทำเจตนาในกุศล

1. มีสติรู้ทัน รัก โลภ โกรธ หลง
๒. พึงรู้ว่าตนสำคัญใจในอกุศลธรรมอันลามกจัญไรใดๆ แบบไหน อย่างไร ต่อสิ่งที่เรารู้อารมณ์อยู่นั้น
๓. ไม่ยึด ไม่หลง ไม่เสพย์ในสมมติ พึงละความสำคัญใจในธรรมลามก ด้วยความไม่ยึด เพราะนี่คือธรรมลามก ไม่ควรเสพย์ ไม่ให้ความสำคัญไรๆกับมัน
๔. ตั้งสติมีพุทโธ รู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออกเป็นเบื้องหน้า
๕. พึงตั้งมั่นสำคัญใจในสิ่งนั้นด้วยกุศล ศีล ทาน พรหมวิหาร ๔ ภาวนา
๖. พึงตั้งความสำคัญใจในอารมณ์ไรๆ ด้วยอุเบกขาไม่อิงอามิส ไม่ตั้งอยู่ด้วยราคะ
๗. รู้อาการสภาวะธรรม อารมณ์ความรู้สึกไรๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่ให้ความหมาย ไม่ให้ความสำคัญใจไรๆต่อมัน ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ คือ สักแต่ว่ารู้ว่ามีอาการความรู้สึกนี้ๆเกิดขึ้นมีอยู่เท่านั้น แล้วก็ปล่อยไป ผ่านเลยไป ไม่ไปติดใจข้องแวะ ตรึกถึง นึกถึง คิดถึง หวนระลึก คำนึงถึงสืบต่อกับมัน มันดับก็แค่รู้ว่าดับ





ประการที่ ๒ รู้สมมติแล้วใช้กุศลวิตกพิจารณาตรึกนึกตามอันไปแ่ทนที่อกุศลวิตก

๑. มีสติรู้ทัน รัก โลภ โกรธ หลง ความตรึกนึกปรุงแต่งสมมติสืบต่อ แต่งนั่นเติมนี้ให้เป้นไปในอนุพยัญชนะ ส่วนเล็กส่วนน้อยด้วยราคะ ด้วยโทสะ ด้วยโมะ
๒. พึงรู้ว่าตนสำคัญใจในอกุศลธรรมอันลามกจัญไรใดๆ แบบไหน อย่างไร ต่อสิ่งที่เรารู้อารมณ์อยู่นั้น

โดยปกติแล้ว เมื่อ 2 สภาวะนี้เกิดขึ้นบางครั้งความคิดนั้นก็ดับไป หากดับก็รู้แค่ว่ามันดับ ไม่สืบต่ออีก หากยังคงขัดใจยังค้างความตรึกนึกอยู่ก็พิจารณาต่อไปดังนี้..

๓. จากข้อที่ ๑ และ ๒ เราจะรู้ได้ว่า เพราะเรานี้มีความโสมนัส โทมนัส พอใจยินดี ไม่พอใจยินดี ชอบ ชัง สำคัญใจในธรรมลามก รัก โลภ โกรธ หลง ต่อสิ่งที่รู้อารมณ์เหล่านั้นอย่างไร เป็นเหตุให้เกิดความตรึกนึกคิดสมมติปรุงแต่งในอนุพยัญชนะ ไม่ใช่ของจริงในปัจจุบันที่รู้อารมณ์อยู่

(อาการที่พอจะรู้ได้ในบางขณะจิต ไม่ใช่ลำดับโดยจริง แต่อาศัยรู้ความสัมผัสในแต่ละขณะที่พอจะมีปัญญารู้ได้ คือ..
ผัสสะ -> เวทนาเสวยอารมณ์กลางๆ -> เจตนาที่จะเข้าไปรู้อารมณ์ที่รู้ผัสสะ + สัญญาความจำได้หมายรู้อารมณ์ -> สมมติ -> สุขใจ, ทุกข์ใจ -> ความสำคัญมั่นหมายของใจต่ออารมณ์ -> ฉันทะ, ปฏิฆะ -> เจตนา จงใจเสพย์ในอารมณ์ -> มนสิการ ความเข้าไปทำใจไว้ในอารมณ์ -> วิตก วิจาร -> ฉันทะราคะ -> วิตก วิจาร สมมติปรุงแต่ง -> ลุ่มหลงสมมติ)

....ด้วยเหตุดังนี้ๆจะทำให้เรารู้ได้ทันทีว่า...เพราะเราเป็นสุข ชอบใจ ยินดีในสิ่งที่เรากำลังรู้อารมณ์อยู่นั้นอย่างไร จึงให้ความสำคัญหมายใจในสิ่งที่รู้อารมณ์อยู่นี้ไปในทางอันลามกอย่างนั้น เป็นเหตุให้ถวิลหาคำนึงถึง ตรึกถึง นึกถึง ปรุงแต่งสมมติสืบต่อไปจากสิ่งที่รู้อารมร์ในปัจจุบันอยู่ เกิดเป็นความผูกใฝ่ในส่วนเล็กส่วนน้อยไปเรื่อย เกิดความกระสัน เงี่ยน ใครเสพย์ ทะยานอยากเสพย์ เร่าร้อน ร้อมรุ่มแผดเผากายใจตนอยู่อย่างนั้น ซึ่งเมื่อหวนระลึกดูแล้วทำไมสมัยเด็กๆเราก็เจอคนแก้ผ้า เจอคนสวย ก็รู้แต่ปัจจุบันเท่านั้น ไม่คิดสืบต่อสมมติอะไร นั่นเพราะจิตมันไม่ได้สำคัญใจไว้ด้วนราคะ โทสะ โมหะ ต่อสิ่งไรๆนั่่นเอง จึงไม่มีสมมติกิเลส ไม่เพ่งดูด้วยอนุพยัญชนะ ไม่ดูด้วยราคะ โทสะ โมหะ ** ด้วยเหตุดังนี้..การที่เราจะละความตรึกนึกอันฟุ้งในไปสมมติกิเลส ที่เป็นไปในอนุพยัญชนะด้วย ราคะ โทสะ โมหะ ไม่อยู่ที่ปัจจุบันขณะที่สักแต่ว่ารู้ เราก็ต้องตัดที่การให้ความสำคัญมั่นหมายใจของ ความสำคัญใจ มั่นหมายในอารมร์เหล่านั้นไปเสีย แล้วทำเหตุใหม่สะสมสำคัญมั่นหมายของใจด้วยความกุศล ความวางเฉย ไม่ปรุงแต่งสมมติกิเลสตรึกนึกคิดสืบต่อไปในอนุพยัญชนะ ไม่คิดเล็กคิดน้อย เรียกว่า..การล้างสัญญา โดยในระดับปุถุชนอย่างเรานี้ บางครั้งมีสมาธิมากหน่อยก็รู้ของจริงมีสติสัมปะชัญญะ มีจิตตั้งมั่นและปัญญาที่จะรู้เห็นจริงได้บ้าง เรียก ยถาภูญาณทัสสนะ หรือ สัมมาทิฐิ ล้างขันธ์ ๕ โดยฌาณได้บ้าง.. แต่โดยส่วนมากปุถุชนอย่างเรานี้ทีกำลังสมาธิไม่พอก็จะทำได้แต่ตรึกนึกคิดตามไป ให้คิดออกจากทุกข์เอา เรียก สัมมาสังกัปปะ ความคิดชอบ ความคิดชอยนี้หากทำเหตุให้ดี ก็นำไปสู่การปฏิบัติที่เปลี่ยรจริตเป้นกุศล เป็นบารมีกุศลแก่ตน นำพาไปสู่สัมมาทิฐิที่เป็นปัญญาญาณอันแท้จริงได้

    ดังนั้นพึงตั้งจิตขึ้นว่า..เราควรเมตตาตา เอ็นดูปรานี กรุณา สงสารตนเองและผู้อื่น ตั้งจิตใน ศีล ทาน ตั้งจิตในความยินดีเมื่อเขาพ้นทุกข์ประสบสุข วางเฉยไม่เอนเอียงอคติ ๔ คือ ลำเอียงเอนเอียงเพราะรัก เพราะชัง เพราะกลัว เพราะไม่รู้ตามจริง เช่น...

- บางครั้งเห็นข่าวสาวถูกรุมโทรม ก็ไปนึกถึงสัญญาหมายรู้ในหนังโป๊ที่เคยดูบ้างว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แน่นอน บางทีมีอารมณ์ทางเพศ พึงรู้เสียว่า..คนที่รับเคราะห์นั้นเขาก็เจ็บปวดสาหัสจนชีวิตแทบแตกสลายอยู่แล้ว เรายังจะเอาราคะอันลามกของเราไปเบียดเบียนให้ถาโถมซ้ำเติมเขาอีกอย่างนั้นหรือ มันไม่ใช่ฐานะที่ผู้ถึงซึ่งพระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์อย่างเราจะไปทำเช่นนั้น นี่เราจะเอาไฟคือราคะนี้แผดเผาเธอให้มัวหมองซ็ำเติมอีกหรือ แถมยังแผดเผาตนเองให้หมองไหม้ด้วยความกระสันกำหนัดให้เร่าร้อนสั่นเร่าด้วยอีก พึงละความสำคัญใจในธรรมอันลามกต่อเธอนั้นเสีย พึงเห็นเธอด้วยความเป็นประดุจญาติ พี่ น้อง มิตรสหายที่ถูกเคราะห์ภัยหยั่งเอาแล้ว ควรที่เราจะเมตตาสงสารเอื้อเฟื้อไม่คิดเบียดเบียน พึงสำคัญใจขึ้นว่า ขอให้เธอถึงความพ้นทุกข์ ขอให้เธอประสบสุข พึงถึงซึ่งความไม่เบียดเบียนเธอด้วยกายก็ดี วาจาก็ดี ใจก็ดี

หรือเห็นคนขาวสวยนุ่งสั้นห่มสั้น หรือถึงแม้จะแต่งตัวมิดชิดและเห็นเขางดงาม ก็กำหนัด กระสัน ใคร่ เงี่ยน ทะยานอยากใคร่ได้เสพย์ได้ครอบครอง พึงเห็นว่าเธอก็อยู่ของเธอตามปกติดีๆอยู่แล้ว งดงามบริบูรณ์ดีแล้ว นี่เราจะเอาไฟคือราคะนี้แผดเผาเธอให้มัวหมองไปทำไม แถมยังแผดเผาตนเองให้หมองไหม้ด้วยความกระสันกำหนัดให้เร่าร้อนสั่นเร่าด้วยอีก มันไม่ใช่ฐานะที่สาวกของพระรัตนตรัยอย่างเราจะพึงทำได้ พึงละความสำคัญใจในธรรมอันลามกต่อเธอนั้นเสีย พึงเห็นเธอด้วยความเป็นมิตรเมตตาสงสารไม่คิดเบียดเบียน ..พึงสำคัญใจขึ้นว่า เราจักไม่เพ่งเล็งหมายปองสิ่งของมีค่าและบุคคลอันเป็นที่รักที่มีค่าของผู้อื่น พึงถึงซึ่งความไม่เบียดเบียนเธอด้วยกายก็ดี วาจาก็ดี ใจก็ดี พึงตั้งใจมั่นพิจารณาขึ้นว่า..เพราะอะไรหนอเธอจึงงดงามอย่างนี้ เธอทำบุญมาด้วยอะไรหนอ มีศีล ทาน ภาวนาอย่างไรจึงสวยสดหมดจรดงดงามเช่นนี้ แม้นหากเราหมายใจจะได้มีคู่เช่นนี้ๆ เราจะต้องมีศีล ทาน ภาวนา มีตจิตเป็นกุศลบริสุทธิ์งดงามสักเพียงไรหนอจึงจะคู่ควรมีเนื้อคู่อย่างนี้ได้ ดังนั้นแลเราพึงละอกุศล แล้วยังกุศลให้เกิดขึ้น คงกุศลไว้ไม่ให้เสื่อมเพื่อความงดงามทั้งภายในภายนอกันที่หมายปองแก่เทวดาและมนุถษย์ทั้งหลาย

- บางครั้งเจอคนทำให้ไม่พอใจ เจอเรื่องที่เกลียดชังคับแค้นกายใจ ให้พึงคั้งจิตเมตตาตนเอง ปารถนาดีสงสารต่อตนเองที่ต้องเร่าร้อนเป็นทุกข์อยู่นี้ก่อนว่า..นี่เราเร่าร้อนเป็นทุกข์ขัดเคืองคับแค้นใจจนแทบอกจะแตกเลยหรือ การหยิบจับความโกรธแค้น ผูกเวร ผู้พยาบาทมันทุกข์ทรมานอย่างนี้ๆจนแทบอกจะแตกทะลุออกมาเลย เราไม่ควรไปยินร้ายขัดข้องใจ ติดใจข้องแวะสิ่งไรๆให้มันทุกข์ทรมาน ละความคิดข้องใจนั้นๆไปเสียติดแวะขัดเคืองขุ่นข้องใจในสิ่งไรๆไปทั้งที่รักที่ชังก็หาประโยชน์สุขไรๆไม่ได้นอกจากทุกข์ ละความติดข้องแวะใจเหล่านั้นไปเสียจึงจะไม่ทุกข์ แล้วแผ่เมตตาให้ตนเองมากๆให้ตนเป็นผู้มีสุข ไม่มีทุกข์  เป็นผู้ไม่เร่าร้อนด้วยกิเลสทุกข์ ตั้งใจมั่นทำไว้ในใจว่า..เราจักไม่ผูกเวรผูกโกรธ ผูกแค้น ผูกพยาบาทใคร จักมีความเข้าใจเป็นมิตรที่ดีต่อทุกคน พึงเว้นเสียซึ่งเวรพยาบาทด้วยจิตที่ปารถนาดี เอ็นดู ปรานี ต่อชนทั้งปวง ทำความสงบใจไม่เพย์อกุศลวิตก ...ยกจิตเอาความปารถนาให้ตนหลุดพ้นจากภัยทุกข์แห่งโทสะ ความโกรธแค้น ขุ้นข้อง ขัดเคืองใจให้สิ้นสลายไปจากใจเพื่อความไม่ร้อนรุ่มเร่าร้อนแผดเผาตน แล้วตั้งมั่นอยู่ในความเอ็นดู ปรานี ไม่ผูกเวรพยาบาทขึ้นมาเป็นที่ตั้งแห่งจิต จนกว่าจะสงบใจได่้ แล้วให้พึงตั้งจิตตรึกนึกทวนอารมณ์ไปดูว่า เราไม่พอใจอะไร เพราะเรื่องไหน ด้วยเพียงเท่านี้น่ะหรือที่เราอกจะแตกตายเร่าร้อนไม่หยุด หากคนทั้งโลกทำอย่างนี้กับเรา สิ่งไม่เป็นที่รักไม่พอใจทั้งโลกมีเกิดขึ้นแก่เราทุกๆขณะจิต เราจะต้องตามไปไม่พอใจเขาและสื่งเหล่านั้นทั้งหมดทุกคนทุกอย่างบนโลกเลยหรือ เรื่องเพียงเท่านี้เรากลับมาเร่าร้อนเสียได้ ยิ่งไม่ติดใจข้องแวะ ติดแวะขัดข้องขุ่นเคืองใจมากก็ทุกข์มาก มันเป็นความเบียดเบียนตนเองให้ถูกแผดเผาด้วยไปคือโทสะ และเผาคนอื่นด้วยไฟคือโทสะ แต่ก่อนจะเผาเขาได้ตนเองก็ไหม้เกรียมไปก่อนแล้ว โทสะไม่ควรยึด ไม่ควรเสพย์ดังนี้

ทุกสิ่งทั้งปวง ทั้งราคะ โทสะ ก็เกิดมาแต่ความที่จิตรู้สมมติ แล้วไปหลงยึดสมมติเอา อาการ ๓๒ ประการ ขันธ์ ๕ ธาตุ ๖ มาเป็นตัวตนที่ชอบใจ ไม่ชอบใจ ยินดี ยินร้าย ทั้งๆที่ทุกอย่างที่สมมติอยู่นั้นก็เสมอด้วยกันกับเรา มีสุข ทุกข์ มีความเสื่อม เป้นเกียงธาตุไม่ต่างกันเลย

** แล้วพึงตั้งจิตเห็นว่าสิ่งที่เรารู้อารมณ์ ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รู้รส ได้สัมผัสกาย ไดเ้สัมผัสใจอยู่นั้น ไม่มีสิ่งใดที่เป็นของเราเลย เขาไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีตัวตนบุคคลใด บังคับให้เป้นไปดั่งใจเราต้องการก็หาได้ไม่.. เราไม่ควรแก่สิ่งนั้น ไม่ได้เหมาะกับสิ่งนี้ เราไม่ได้สำคัญอย่างนั้น ไม่ได้มีความหมายอย่างนี้ ไม่มีสิ่งนี้ที่เป็นไปเพื่อเรา ไม่ใช่ตัวตน ความเข้าไปปารถนาในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนย่อมมีแต่ทุกข์เร่าร้อนแผดเผาตาเอง เพราะความไม่สมปารถนา ความประสบสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่พอใจ..แม้จะสมหวังปารถนาได้มาครอบครองก็อยู่ได้นานสุดแค่หมดลมหายใจ ไม่ยั่งยืนนาน ไม่ได้ติดตามเราไปด้วย แล้วก็ต้องพรัดพรากจากกันไป เสื่อมโทรม สูญสลายไปในที่สุด จะบังคับว่าขอให้เขาคงอยู่อย่างนั้น ขอให้เขาจงเป้นอย่างนี้ ขอให้เราจึงเป้นอย่างนั้น ขอให้เราจงเป็นอย่างนี้ ขอให้ไม่พรัดพราก ขอให้ไม่เสื่อมสูญไปก็ไม่ได้ นั่นเพราะความไม่ใช่ตัวตน..ดังนี้ **

อ้างอิงด้วยผัสสายตนะสูตร
ผัสสายตนะสูตรที่ ๑ http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=18&A=948&Z=968&pagebreak=0 (http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=18&A=948&Z=968&pagebreak=0)
ผัสสายตนะสูตรที่ ๒ http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=18&A=969&Z=989 (http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=18&A=969&Z=989)
ผัสสายตนะสูตรที่ ๓ http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=18&A=990&Z=1026 (http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=18&A=990&Z=1026)

๔. ไม่ยึด ไม่หลง ไม่เสพย์ในสมมติ พึงละความสำคัญใจในธรรมลามก ด้วยความไม่ยึด เพราะนี่คือธรรมลามก ไม่ควรเสพย์ ไม่ให้ความสำคัญไรๆกับมัน
๕. ตั้งสติมีพุทโธ รู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออกเป็นเบื้องหน้า
๖. พึงตั้งมั่นสำคัญใจในสิ่งนั้นด้วยกุศล ศีล ทาน พรหมวิหาร ๔ ภาวนา
๗. พึงตั้งความสำคัญใจในอารมณ์ไรๆ ด้วยอุเบกขาไม่อิงอามิส ไม่ตั้งอยู่ด้วยราคะ
๘. รู้อาการสภาวะธรรม อารมณ์ความรู้สึกไรๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่ให้ความหมาย ไม่ให้ความสำคัญใจไรๆต่อมัน ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ คือ สักแต่ว่ารู้ว่ามีอาการความรู้สึกนี้ๆเกิดขึ้นมีอยู่เท่านั้น แล้วก็ปล่อยไป ผ่านเลยไป ไม่ไปติดใจข้องแวะ ตรึกถึง นึกถึง คิดถึง หวนระลึก คำนึงถึงสืบต่อกับมัน มันดับก็แค่รู้ว่าดับ


      พระพุทธเจ้า ตรัสกับ ท่านโมฆะ มาณพว่า

  “ดูกรโมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ ตามพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า ถอนการตามหมายว่าเป็นตัวเป็นตนเสีย”

   ดังนั้น พระพุทธเจ้าสอนธรรม 3 อย่าง แก่ โมฆะมาณพ จนท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ กรรมฐาน 3 อย่างมีดังนี้

    1. เธอจงเป็นผู้สติ
    2. เธอจงมองโลกนี้โดยความเป็นของว่างเปล่า
    3. เธอจงถอนความสำคัญมั่นหมายว่า เป็นตัวเป็นตนเสีย จากโลก


โดยการปฏิบัติที่เราเจริญอยู่คือ

1. สติ+สมาธิ
2. ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ เพราะจิตรู้สิ่งใด สิ่งนั้นเป็นสมมติ ไม่ยึดสมมติก็ไม่ยึดสิ่งไรๆที่จิตรู้ ไม่ยินดียินร้$


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 22, 2015, 02:09:50 PM
อุปวาณสูตร
             [๗๘] ครั้งนั้นแล ท่านพระอุปวาณะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ฯลฯ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่ตรัสว่า ธรรม
อันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร
พระธรรมจึงชื่อว่าอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู
ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน พระเจ้าข้า ฯ
             [๗๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอุปวาณะ ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เห็นรูปด้วยจักษุแล้วเป็นผู้เสวยรูป เสวยความกำหนัดในรูป และรู้ชัดซึ่งความ
กำหนัดในรูปอันมีอยู่ในภายในว่า เรายังมีความกำหนัดในรูปในภายใน อาการที่
ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเป็นผู้เสวยรูป เสวยความกำหนัดในรูป และรู้ชัดซึ่งความ
กำหนัดในรูปอันมีอยู่ในภายในว่า เรายังมีความกำหนัดในรูปในภายใน อย่างนี้แล
เป็นธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควร
น้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ฯ
             [๘๐] อีกประการหนึ่ง ดูกรอุปวาณะ ภิกษุลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ
             [๘๑] อีกประการหนึ่ง ดูกรอุปวาณะ ภิกษุรู้แจ้งธรรมารมณ์ ด้วยใจ
แล้วเป็นผู้เสวยธรรมารมณ์ เสวยความกำหนัดในธรรมารมณ์ และรู้ชัดซึ่งความ
กำหนัดในธรรมารมณ์อันมีอยู่ภายในว่า เรายังมีความกำหนัดในธรรมารมณ์ในภาย-
*ใน อาการที่ภิกษุรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วเป็นผู้เสวยธรรมารมณ์ เสวยความ
กำหนัดในธรรมารมณ์ และรู้ชัดซึ่งความกำหนัดในธรรมารมณ์อันมีอยู่ในภายในว่า
เรายังมีความกำหนัดในธรรมารมณ์ในภายใน อย่างนี้แล เป็นธรรมอันผู้บรรลุจะพึง
เห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชน
พึงรู้เฉพาะตน ฯ
             [๘๒] ดูกรอุปวาณะ ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้วเป็น
ผู้เสวยรูป แต่ไม่เสวยความกำหนัดในรูป และรู้ชัดซึ่งความกำหนัดในรูปอันไม่มี
ในภายในว่า เราไม่มีความกำหนัดในรูปในภายใน อาการที่ภิกษุเป็นผู้เห็นรูปด้วย
จักษุแล้วเป็นผู้เสวยรูป แต่ไม่เสวยความกำหนัดในรูป และรู้ชัดซึ่งความกำหนัด
ในรูปอันไม่มีในภายในว่า เราไม่มีความกำหนัดในรูปในภายในอย่างนี้แล เป็น
ธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อม
เข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ฯ
             [๘๓] ดูกรอุปวาณะ อีกประการหนึ่ง  ภิกษุฟังเสียงด้วยหู สูดกลิ่นด้วย
จมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ
             [๘๔] ดูกรอุปวาณะ อีกประการหนึ่ง ภิกษุรู้ซึ่งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว
เป็นผู้เสวยธรรมารมณ์ แต่ไม่เสวยความกำหนัดในธรรมารมณ์ และรู้ชัดซึ่งความ
กำหนัดในธรรมารมณ์อันไม่มีในภายในว่า เราไม่มีความกำหนัดในธรรมารมณ์ใน
ภายใน อาการที่ภิกษุรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วเป็นผู้เสวยธรรมารมณ์ แต่ไม่เสวย
ความกำหนัดในธรรมารมณ์ และรู้ชัดซึ่งความกำหนัดในธรรมารมณ์อันไม่มีในภาย
ในว่า เราไม่มีความกำหนัดในธรรมารมณ์ในภายใน อย่างนี้แล เป็นธรรมอันผู้
บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน
อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ฯ
จบสูตรที่ ๘


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 22, 2015, 02:09:57 PM
อุปวาณสูตร
             [๗๘] ครั้งนั้นแล ท่านพระอุปวาณะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ฯลฯ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่ตรัสว่า ธรรม
อันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร
พระธรรมจึงชื่อว่าอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู
ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน พระเจ้าข้า ฯ
             [๗๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอุปวาณะ ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เห็นรูปด้วยจักษุแล้วเป็นผู้เสวยรูป เสวยความกำหนัดในรูป และรู้ชัดซึ่งความ
กำหนัดในรูปอันมีอยู่ในภายในว่า เรายังมีความกำหนัดในรูปในภายใน อาการที่
ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเป็นผู้เสวยรูป เสวยความกำหนัดในรูป และรู้ชัดซึ่งความ
กำหนัดในรูปอันมีอยู่ในภายในว่า เรายังมีความกำหนัดในรูปในภายใน อย่างนี้แล
เป็นธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควร
น้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ฯ
             [๘๐] อีกประการหนึ่ง ดูกรอุปวาณะ ภิกษุลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ
             [๘๑] อีกประการหนึ่ง ดูกรอุปวาณะ ภิกษุรู้แจ้งธรรมารมณ์ ด้วยใจ
แล้วเป็นผู้เสวยธรรมารมณ์ เสวยความกำหนัดในธรรมารมณ์ และรู้ชัดซึ่งความ
กำหนัดในธรรมารมณ์อันมีอยู่ภายในว่า เรายังมีความกำหนัดในธรรมารมณ์ในภาย-
*ใน อาการที่ภิกษุรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วเป็นผู้เสวยธรรมารมณ์ เสวยความ
กำหนัดในธรรมารมณ์ และรู้ชัดซึ่งความกำหนัดในธรรมารมณ์อันมีอยู่ในภายในว่า
เรายังมีความกำหนัดในธรรมารมณ์ในภายใน อย่างนี้แล เป็นธรรมอันผู้บรรลุจะพึง
เห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชน
พึงรู้เฉพาะตน ฯ
             [๘๒] ดูกรอุปวาณะ ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้วเป็น
ผู้เสวยรูป แต่ไม่เสวยความกำหนัดในรูป และรู้ชัดซึ่งความกำหนัดในรูปอันไม่มี
ในภายในว่า เราไม่มีความกำหนัดในรูปในภายใน อาการที่ภิกษุเป็นผู้เห็นรูปด้วย
จักษุแล้วเป็นผู้เสวยรูป แต่ไม่เสวยความกำหนัดในรูป และรู้ชัดซึ่งความกำหนัด
ในรูปอันไม่มีในภายในว่า เราไม่มีความกำหนัดในรูปในภายในอย่างนี้แล เป็น
ธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อม
เข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ฯ
             [๘๓] ดูกรอุปวาณะ อีกประการหนึ่ง  ภิกษุฟังเสียงด้วยหู สูดกลิ่นด้วย
จมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ
             [๘๔] ดูกรอุปวาณะ อีกประการหนึ่ง ภิกษุรู้ซึ่งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว
เป็นผู้เสวยธรรมารมณ์ แต่ไม่เสวยความกำหนัดในธรรมารมณ์ และรู้ชัดซึ่งความ
กำหนัดในธรรมารมณ์อันไม่มีในภายในว่า เราไม่มีความกำหนัดในธรรมารมณ์ใน
ภายใน อาการที่ภิกษุรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วเป็นผู้เสวยธรรมารมณ์ แต่ไม่เสวย
ความกำหนัดในธรรมารมณ์ และรู้ชัดซึ่งความกำหนัดในธรรมารมณ์อันไม่มีในภาย
ในว่า เราไม่มีความกำหนัดในธรรมารมณ์ในภายใน อย่างนี้แล เป็นธรรมอันผู้
บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน
อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ฯ
จบสูตรที่ ๘


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 23, 2015, 08:27:15 PM

ทบทวนกรรมฐานที่พอจะเข้าถึงได้ที่ผ่านมาในปี 2558 นี้

    โดยปกติแล้ว หากเราจำแต่คำครูบาอาจารย์สอน จำที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน จำพระสูตร จำพระอภิธรรม แต่เราไม่ได้ปฏิบัติในสะสมเหตุในอินทรีย์ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เราก็จะเข้าใจและรู้ได้แค่สัญญาในความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์ แต่ไม่เคยรู้ของจริง จริงๆเลย ไม่เคยเข้าถึงใจแม้จะเห็นอารมณ์เกิดแล้วดับไป แล้วมันก็มาใหม่ แล้วก็ดับไป แต่มันก็ไม่เข้าถึงใจเลย กลับเข้าไปยึดอัตตา ยึดอุปาทานในคำสอนที่ว่า ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์ ซึ่งจริงๆ ของจริงเป็นอย่างไร รับรู้ไม่ได้เลย สัมผัสไม่ได้ ไม่เห็นมันจริงๆ ไม่เคยสัมผัสจริง สัมผัสได้แต่สมมติเท่านั้น แล้วก็เข้าไปหลงว่าตนรู้จริงเห็นจริง อ่านจบครบพระไตรรู้ได้หมดแต่ไม่เคยรู้ของจริง ในโบราณนานมาก็มีสมัยพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกท่านว่าใบลานเปล่าบ้าง แม้พระนาคเสนผู้ยังพระพุทธศาสนาให้อยู่ครบ 5000 ปี เรียนจบครบไตรเพท เรียนจบครบพระไตรปิฏกทั้งหมด จบพระอภิธรรมทั้งหมดแต่ก็ไม่บรรลุอรหันต์ ไม่เคยรู้ของจริง ไม่ได้สัมผัสของจริง ก็จนเมื่ออบรมกาย วาจา ใจ อันดีแล้ว ทำเหตุคือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา มาเต็มดีแล้ว ก็จึงเข้าถึงได้ ดังนั้น พละ ๕ อินทรีย์ ๕ จึงเป็นเหตุสำคัญมากๆที่เราต้องเจริญ เป็นธรรมแห่งมรรค เป็นเครื่องบรรลุธรรรม นั้นเพราะ..
- ศรัทธาทำให้เกิด ศีล ทาน พรหมวิหาร ๔
- ศีล ทาน พรหมวิหาร ๔ ทำให้เกิดความไม่เร้าร้อน ทำให้จิตแจ่มใสเบิกบาน เป็นฐานของทุกอย่าง เป็นเหตุใกล้ให้สติและสัมปะชัญญะเกิด
- สติ สัมปะชัญญะ ทำให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิจดจ่อมากขึ้น ซึ่งสติและสัมปะชัญญะที่จะทำให้จิตตั้งมั่นชอบได้ก็ คือ กรรมฐาน ทั้ง ๔๐ กอง, กายานุนุปัสสนาสติปัฏฐาน
- สมาธิ มีปัญญาเป็นเหตุใกล้ให้เกิดขึ้น กล่าวคือ สมาธิทำให้เกิดญาณ ๒ ประเภทตามแต่ปัญญาของเราจะคมพอที่จะเข้าถึงได้ นั่นคือ ญาณอันเป็นไปในมรรค และ ญาณอันเป็นไปในปัญญา(ทางธรรม) นั่นเพราะสมาธิใน กรรมฐาน ทั้ง ๔๐ กอง, กายานุนุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นเครื่องกุศล ทำให้จิตสงัดจากนิวรณ์ทั้งปวง มีความตั้งมั่นจดจ่ออยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้นาน มียถาภูญาณทัสสนะ ความรู้เห็นตามจริงอันปราศจากความตรึกนึกคิดปรุงแต่งสมมติเป็นเหตุใกล้ ทำให้แลเห็นตามจริงอยู่ได้โดยไม่เข้าร่วม สมาธิชอบเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ เกิดธรรมเอกผุดขึ้นจากความรู้เห็นตามจริงของจริง รู้เห็นตัวสมมติ ตื่นจากสมมติ ฉลาดในการปล่อยวาง เบิกบานจากสมมติ
- ปัญญา มีวิปัสสนาเป้นเหตุใกล้ให้เกิดขึ้น คือ วิปัสสนาญาณ ๙ ญาณ ๑๖

กล่าวคือ..
- หากปัญญายังไม่คมก็เป็นมรรคญาณ คือ ลงในมรรคเราก็ได้สัมมาทิฐิ เห็นจริงด้วยปัญญาของจริง ไม่ใช่คิดเอาสมมติเอาว่าเป็นสัมมาทิฐิจากสัญญาความคิด
- หากปัญญาคมดีแล้วก็เป็นปัญญาญาณ คือ ถึงวิราคะ นิพพิทาญาณ มีลักษณะที่ตัดเข้าถึงวิมุตติทันที เข้าถึงพระอริยะบุคคลตามสังโยชน์ที่ตัดที่ละได้

ดังนั้นแล้ว การจะเข้าถึงสันดานพระอริยะของจริงเราจะขาดพละ ๕ ไม่ได้ และ ก็ต้อง มีทั้งสติและสมาธิ มีธรรมคู่คือทั้ง สมะ+วิปัสสนา เพราะในพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสสอนใครให้เจริญเรียนลัดเอาวิปัสสนาหรือเอาแต่สมาธิแล้วจะบรรลุสักคน ท่านให้เจริญคู่คือ อาศัยอิทธิบาท ๔ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ให้ยินดีใน ศีล ทาน พรหมวิหาร ๔ ทำสมาธิไปเรื่อย ติดขัดสิ่งใดก็ให้เอาสงเคราะห์วิเคราะห์ธรรมให้เกิดเห็นไตรลักษณ์ แล้วก็จะถึงความ รู้ ปกติ วาง สะสมมาเรื่อยๆจนเหตุมันดี บารมีมันเต็มก็จึงพ้นทุกข์ได้ แม้ฟังธรรมเพียงคำเดียว หรือ เฆ็นแค่ดิน หรือน้ำ หรือลม หรือไฟ อากาศก็บรรลุได้ เพราะเหตุที่ทำมามันเต็มแล้วมันยังจิตให้เกิดขึ้นครบหมดทุกวงจร ดังนั้นกุลบุตรผู้ฉลาดท่านจะไม่เรียนลัดเอาพระอภิธรรมมานั่งท่องบนจำยึดมั่นถือมั่น แต่ท่านจะปฏิบัติวิเคราะห์ธรรมไปเรื่อย รู้ ปกติ วาง ไปเรื่อย จนสมาธิมันเอื้อปัญญาให้เกิดขึ้นมีสติบริสุทธิ์จนมันอิ่มแล้วมันก็ตัดบรรลุได้ ซึ่งท่านต้องสะสมมานานมากมายไม่รู้กี่กัปป์ กี่อสงไขย เราเพิ่งจะเริ่มทำ อาจเป็นชาติแรกก็ได้เราก็ต้องเพียรทำเหตุไปเรื่อยๆให้มันดี ทำมาำกๆก็เป็นจริตนิสัยตน ทำมากขึ้นไปอีกก็เปลี่ยนจากจริตนิสัยเป็นบารมี




    สุขทางโลกมันมาจากกามราคะ มันสุขโดยการอาศัยความเข้าไปยึดเอาสิ่งไม่เที่ยงมาเป็นสุขของมัน มันสุขแค่ชั่วครั้งชั่วคราว วูบวาบๆ เดี๋ยวเดียวก็ดับไป ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน ไม่คงทนนาน ไม่คงอยู่ตลอดไป เมื่อเสพย์แล้วก็ต้องการเสพย์มันใหม่อีกไม่รู้จบ สุขทางโลกมันอิ่มไม่เป็น..ดังนี้

    สุขทางโลกมันมาจากกามราคะ มันอยู่ได้โดยการอาศัยเข้าไปยึดเอาสมมติ เข้าไปยึดเอาความเป็นตัวเป็นตนในสิ่งสมมติที่ไม่มีตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนสิ่งใดจริง ยึดเอาสมมติมาแล้วก็สำคัญใจไว้ว่า..เป็นนั่น เป็นโน่น เป็นนี่ จับยึดสมมติตัวตนอยู่อย่างนั้น อย่างนี้ ทั้งๆที่ความจริงแล้วไม่มีสิ่งไหนเหล่าใดที่เราจะสามารถจะบังคับให้มันเป็นไปดั่งใจได้ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่สมมติแห่งตัวตนที่เราหลงยึดไว้อยู่เท่านั้น..
     แต่ด้วยเหตุเพราะเรายึดสมมติกิเลส รู้แต่สมมติ ทำแต่เหตุในสมมติทับถมสะสมมานานนับไม่ถ้วนไม่รู้กี่อสงไขยกี่แสนมหากัปป์ จึงไปหลงเข้าใจว่า สิ่งนี้ๆเราจับต้องได้ รับรู้ได้ สัมผัสรู้สึกได้ มองเห็นได้ รู้เสียงได้ รู้กลิ่นได้ รู้รสได้ รู้สัมผัสด้วยกายได้ รู้อารมณ์รู้สึกนึกคิดทางใจ ด้วยเหตุนี้ๆเป็นต้น เราจึงเข้าใจหลงไปยึดเอาว่า..เพราะมันรับรู้ได้อย่างนั้นมันต้องเป็นตัวตนจริงๆของจริงไม่ใช่สมมติของปลอม
     ก็หากมันเป็นตัวตนแล้วไซร้ เราก็ต้องบังคับจับต้องให้มันเป็นไปดั่งใจปารถนาต้องการได้ว่า..ขอสิ่งนี้จงเป็นอย่างนั้น ขอสิ่งนั้นจงเป็นอย่างนี้ ขอจงเป็นดั่งเราปารถนานาไว้ ขอจงอย่าเป็นในสิ่งที่ชอบใจ ขอให้จงยั่งยืนนานไม่สูญสลายดับไปเลย ได้ดั่งใจปารถนาทุกอย่าง แต่มันก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ เราไม่อาจบังคับให้มันเป็นไปดั่งใจได้ เพราะแท้จริงแล้วมันไม่ใช่ตัวตนอันใดจริง เมื่อเสพย์แล้วก็ต้องการเสพย์มันใหม่อีกไม่รู้จบ สุขทางโลกมันอิ่มไม่เป็น..ดังนี้


    สุขทางโลกมันอยู่ด้วยความใคร่ปารถนาที่จะได้เสพย์นั่น เสพย์นี่ อยากมีอยากได้นั่น อยากมีอยากได้นี่ อยากครอบครองสิ่งนั้นสิ่งนี้ พอสมปารถนาก็เป็นสุข แต่สุขแค่ประเดี๋ยวประด๋าว วูบวาบๆ ชั่วคราวแล้วก็ดับ แล้วก็ติดใจใคร่ได้ปารถนาต่อไป ไม่รู้จบ ไม่รู้อิ่ม แล้วก็ทุกข์ที่ต้องแสวงหาโหยหามันมาเสพย์ให้ได้อีก

   พอไม่สมปารถนา หรือ พบเจอสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่พอใจ หรือ ความพรัดพราก ก็จะเป็นจะตาย คับแค้นกายใจ ร่ำไรรำพัน ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ไม่เอาอย่างนั้น ไม่พอใจอย่างนี้ ไม่ต้องการอย่างนี้ ทนอยู่ไม่ได้ จะขาดใจตายเสียให้ได้

   แม้จะเป็นอย่างนั้น ยิ่งไม่สมปารถนา ยิ่งเจอสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่พอใจ ก็ยิ่งปารถนาที่จะได้จะมีจะพบเจอสิ่งที่ตนเองยึดว่าดีที่เป็นที่รักที่พอใจมากขึ้นไปอีก แล้วก็เฝ้าถวิลหาปารถนา ตะเกียกตะกายให้ได้มาครอบครองซึ่งสิ่งนั้น หยุดไม่ได้ อิ่มไม่เป็น

   สุขทางโลกมันยึดเอาความเป็นตัวตน หลงไปว่าเที่ยงแท้ยั่งยืนนาน ทั้งๆที่มันอยู่ได้นานสุดก็แค่หมดลมหายใจเราเท่านั้น พอเราตายมันก็ไม่ได้ติดตามเราไปด้วย

   ยิ่งยึดตัวตนมากก็ยิ่งปารถนามาก ยิ่งปารถนามากก็ยิ่งทำเหตุในมันมาก ยิ่งฝักใฝ่สุขทางโลกมากมันยิ่งหิวโหยไม่หยุด ไม่พอ ไม่อิ่มเป็น




สุขทางธรรม มันคือ..ความฉลาดในการปล่อยวาง
สุขทางธรรม คือ สุขจากความไม่ยึดมั่นถือมั่น
สุขทางธรรม คือ สุขจากความไม่ปารถนา
สุขทางธรรม คือ วิราคะ สงัดจากกามราคะทั้งปวง
สุขทางธรรม คือ ความที่จิตมันอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง สุขได้ด้วยตัวมันเอง ไม่อาศัยเครื่องยึด ไม่จับของปลอม ไม่ยึดสมมติ
สุขทางธรรม คือ สุขที่ละจาก..ความสุขทางโลกที่สิ่งไม่เที่ยงมาเป้นเครื่องยึดที่โหยหาไม่รู้จบที่อิ่มไม่เป็น มาเป็นสุขที่อิ่มในความไม่มี..ดังนี้






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 24, 2015, 09:43:34 PM

บันทึกกรมฐานวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ไตรลักษณ์โดยสัญญาเจตนาที่จะรู้สึก กับไตรลักษณ์ของจริง

     วันนี้พิจารณาธรรมโดยความคิด และ จับเอาสภาวะธรรมความรู้สึกที่เกิดมีขึ้นแก่ตน พอดูหนังพระพุทธเจ้า ตอนพระกีสาโคตมีเถรี อุ้มลูกที่ตายเพื่อมาหาพระพุทธเจ้าให้รักษา

     แล้วพระพุทธองค์รับสั่งให้นางไปหาเมล็ดพันธุผักกาดหยิบมือหนึ่ง มาเป็นเครื่อปรุงยา
แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ผักกาดที่ได้จากบ้านที่ไม่เคยมีคนตายมก่อนเท่านั้นจึงสามารถใช้เป็นเครื่องปรุงยาได้



ปรากฏว่าทุกบ้านมีเมล็ดพันธุ์ผักกาดทั้งนั้น
แต่พอถามว่าที่บ้านนี้เคยมีคนตายหรือไม่ เจ้าของบ้านต่างก็ตอบเหมือนกันอีกว่า “ที่บ้านนี้ คนที่
ยังเหลือยู่นี้น้อยว่าคนที่ตายไปแล้ว” เมื่อทุกบ้านต่างก็ตอบนอย่างนี้นางจึงเข้าใจว่า “ความตาย
นั้นเป็นอย่างไร และคนที่ตาย ก็มิใช่ว่าจะตายเฉพาะลูกของเธอเท่านั้น ทุกคนเกิดมาก็ต้องตาย
เหมือนกันหมด” นางจึงวางร่างลูกน้อยไว้ในป่าแล้วกลับไปกราบทูลพระบรมศาสดาว่า “ไม่
สามารถจะหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากบ้านเรือนที่ไม่เคยมีคนตายได้”
พระพุทธองค์ได้สดับคำกราบทูลของนางแล้วตรัสว่า:-
“โคตมี เธอเข้าใจว่าลูกของเธอเท่านั้นหรือที่ตาย อันความตายนั้นเป็นของธรรมดาที่มีคู่
กับสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลก เพราะว่ามัจจุราชย่อมฉุดคร่าสัตว์ทั้งหมด ผู้มีอัธยาศัยเต็มเปี่ยม
ไปด้วยกิเลสตัณหา ให้ลงไปในมหาสมุทรคือ อบายภูมิ อันเป็นเสมือนว่าห้องน้ำใหญ่ ฉะนั้น”
นางได้ฟังพระดำรัสของพระบรมศาสดาจบลงก็ได้บรรลุอริยผลดำรงอยู่ในพระโสดาบัน
แล้วกราบทูลขอบรรพชา พระบรมศาสดารับสั่งให้ไปบรรพชาในสำนักของภิกษุณีสงฆ์ นาง
บวชแล้วได้นามว่า “กีสาโคตมีเถรี”


     ด้วยเหตุดังนี้ทำให้เราเกิดความสลดสังเวชตนว่า มัวแต่เข้าไปยึดมั่นถือมันเอาสิ่งไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนมาเป้นสุขของตนอยู่ได้ พอพรัดพรากก็ทุกข์เสียใจ พอสมหวังก็เพลิดเพลินหลงลืมแสวงหาให้ได้มาเสพย์อีกจนอิ่มไม่เป็น เอาความสุขสำเร็จของตนไปผู้กขึ้นไว้กับผู้อื่น เอาความสุขสำเร็จของตนไปผู้ขึ้นไม่กับสิ่งไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เอาความสุขสำเร็จไปยึดมั่นถือมั่นของปลอม สุดท้ายแล้วก็เอาสมมติอันเป้นไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนมาเป้นสุขของตน จึงเกิดความหน่ายคลายกำหนัดลง แล้วก็วางใจออกจากสิ่งทั้งปวง
     แต่ในขณะที่มีอาการอย่างนั้น ก็รู้จิตตนว่ามันแช่มชื่นปราโมทย์เพราะไม่ยึด แต่ก็ด้วยความแช่มชื่นนั้นแลจิตมันเลยเข้าไปยึดว่า ถ้ารู้อย่างนี้เห็นอย่างนี้ทำไว้ในใจอย่างนี้จะไม่ทุกข์ เรารู้แล้ว เราเห็นแล้ว เราเข้าถึงแล้ว เราเห็เนธรรมของจริงแล้ว นี่น่ะมันเข้าไปยึดตนหลงตนอีกว่ารู้เห็นเข้าถึงจริง อัตตานุทิฏฐิ มานะทิฏฐิเกิดขึ้นเต็มปี๊ดทันที ก็เลยกลายเป็นความหลงเข้าไปยึดกับสัญญาที่ว่า ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์ ยึดสภาวะที่ตนสัมผัสได้ว่าเป็นของจริงของแท้ เห็นจริง ยึดตัวตนกับสิ่งที่ตนเห็นมันว่ามันไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน กล่าวคือ เข้าไปยึดความไม่เที่ยง ความไม่มีตัวตน มาเป็นอุปาทานเข้าให้แล้ว จึงเห็นได้เลยว่า..จิตนี้มันโง่นะ อะไรมันก็ยึดพไม่หมดไม่ว่างเว้นเลย ที่สำคัญ แม้แต่ความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนมันก็ยังสำคัญใจยึดอุปาทานได้

     จากนั้นเราจึงได้พิจารณาว่า สมัยก่อนที่ทรงอารมณ์อยู่ได้หลายเดือนนั้นเราทำไฉนหนอ พิจารณาเช่นไร อย่างไร ความเศร้าหมองใจจากความเข้าไปยึดสัญญาว่าไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน จึงจะไม่เกิดมีขึ้นแก่เราอีกได้ จึงทวนกระแสความคิดแล้วนิ่งสำเหนียกรู้อาการของจิตอยู่(คือตั้งจิตไว้แค่รู้ไม่ตรึกนึกคิดไหลตามอารมณ์ไรๆ ตั้งสติเป็นเบื้องหน้าปักหลักวางจิตไว้ไม่เอนเอียงไม่คิดแทรกไม่สำคัญอะไรให้มันทำหน้าที่โดยธรรมชาติของมันคือแค่รู้เท่านั้น)
     ก็ให้เห็นว่า สมัยใดที่เราเห็นความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นตัวทุกข์ของจริง โดยที่ไม่ได้รู้ด้วยสมมติความรู้สึกนึกคิด ไม่ได้รู้ด้วยสัญญาว่า..สิ่งนี้ๆเป็นของไม่เที่ยง สิ่งนี้ๆเป็นของไม่มีตัวตน สิ่งนี้ๆเป็นกองทุกข์ คือ จิตมันรู้เห็นความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนจริงๆ ความไม่มีสิ่งไรๆ ความไม่มีอะไรนอกจากอาการหนึ่งๆโดยธรรมชาติ ไม่มีวิตก ไม่มีความคิดแทรกแทรงอารมณ์ โดยเมื่อเห็นแล้วไม่ได้ยึดว่าไม่มีตัวตน ไม่เที่ยง แต่เห็นด้วยความไม่มี ไม่มีอะไร ไม่ยึดแม้จะรู้ว่าไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เพราะมันไม่มีอะไรเลยก็แค่ความเป็นไปเป็นอยู่จริงของสภาวะธรรมหนึ่งๆเท่านั้น ไม่มีอื่นเลย ความเที่ยงหรือไม่เที่ยงก็ไม่มีเพราะเป็นแค่สิ่งหนึ่งๆเอกลักษณ์คุณสมบัติหนึ่งๆโดยธรรมชาติของสภาวะธรรมนั้นๆเท่านั้น ความมีตัวตนหรือไม่มีตัวตนก็ไม่มีเพราะเป็นแค่สิ่งหนึ่งๆเอกลักษณ์คุณสมมติหนึ่งๆโดยธรรมชาติของสภาวะธรรมนั้นๆเท่านั้น ไม่มีอะไรเลย รู้โดยความไม่มี รู้ด้วยจิตที่ไม่ยึด ไม่สำคัญใจ รู้โดยไม่คิด รู้ด้วยจิตที่ไม่เจตนาในความรู้สึก ไม่ต้องทำไว้ในใจอย่างไรทั้งสิ้น จึงจะถึงของจริง อาการที่หน่ายของจริง หน่ายด้วยความไม่มี หน่ายด้วยความวาง หน่ายด้วยญาณที่ไม่ยึด






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 25, 2015, 09:54:24 PM
สักแต่ว่ารู้ ละอุปกิเลส (อกุศลวิตก อกุศลธรรมอันลามกจัญไร)

ขั้นที่ ๑. มีสติเป็นเบื้องหน้า ดึงสติให้รู้ทันคิด อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดตอนนั้นๆว่าคิดอะไร เห็นภาพนิมิตยังไง สมมติปรุงแต่งอะไร กำลังดำเนินไปในทางใด มีกิเลสตัวใดเป็นที่ตั้ง กำลังจะปรุงไปแบบได้

ขั้นที่ ๒. ดำเนินได้ ๓ ทาง ตามแต่จะตรงจริต หรือ ตามแต่จะจับตัวไหนแล้วละได้ สะสมเหตุให้เรื่อยๆ ได้แก่อุบาย ๓ ประการนี้ คือ

ก. เลือกธรรมารมณ์ที่ควรเสพย์ คือ สัมมัปปธาน ๔ คือ เพียรระวัง เพียรละ เพียรเจริญ เพียรรักษา

[156] ปธาน 4 (ความเพียร ๔)
       1. สังวรปธาน คือ เพียรระวัง,ยับยั้ง (เพียรระวังหรือเพียรปิดกั้น คือ เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น)
       2. ปหานปธาน คือ เพียรละ (เพียรละหรือเพียรกำจัด คือ เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว)
       3. ภาวนาปธาน คือ เพียรเจริญ (เพียรเจริญ หรือเพียรก่อให้เกิด คือ เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมี)
       4. อนุรักขนาปธาน คือ เพียรรักษา (เพียรรักษา คือ เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่นและให้เจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์)

       ปธาน 4 นี้ เรียกอีกอย่างว่า สัมมัปปธาน 4, สัมมาวายามะ (ความเพียรชอบ, ความเพียรใหญ่)

ทางปฏิบัติ

- เมื่อรู้ทันคิดทันจิตทันใจที่ปรุงแต่งสมมติกิเลสใน "ขั้นที่ ๑." ให้พึงตั้งใจมั่นด้วยสติเป็นเบื้องหน้า สงเคราะห์ลงใน สัมมาสังกัปปะ กุศลวิตก ๓ คือ

[69] กุศลวิตก 3 (ความตรึกที่เป็นกุศล, ความนึกคิดที่ดีงาม)
       1. เนกขัมมวิตก (ความตรึกปลอดจากกาม, ความนึกคิดในทางเสียสละ ไม่ติดในการปรนปรือสนองความอยากของตน)
       2. อพยาบาทวิตก (ความตรึกปลอดจากพยาบาท, ความนึกคิดที่ประกอบด้วยเมตตา ไม่ขัดเคืองหรือเพ่งมองในแง่ร้าย)
       3. อวิหิงสาวิตก (ความตรึกปลอดจากการเบียดเบียน, ความนึกคิดที่ประกอบด้วยกรุณาไม่คิดร้ายหรือมุ่งทำลาย)

๑. เนกขัมมสังกัปป์ คิดออกจากกามราคะ คิดออกจากทุกข์
 - แบบที่ ๑.๑ ให้มีสติเป็นเบื้องหน้า ปักหลักไว้ที่ปลายจมูก รู้ลมหายใจเข้า บริกรรม "พุท" น้อมเอาคุณแห่งความเป็น ผู้รู้เห็นซึ่งสมมติกิเลสความลุ่มหลง ผู้ตื่นจากสมมติกิเลสความลุ่มหลง ผู้เบิกบานมีจิตพ้นแล้วจากสมมติกิเลสความลุ่มหลง..มาสู่ตน รู้ลมหายใจออก บริกรรม "โธ" กำหนดเอาพุทโธนี้แหละอัดลงไปทับลงไป ชะล้างอกุศลวิตกที่เกิดขึ้นให้หายไปในอากาศพร้อมลมหายใจออกนั้น
** โดยการกำหนดลมหายใจนั้นให้หายใจเข้าและออกยาวเพื่อทำให้ลมหายใจเป็นปกติ เวลาที่เราเกิด รัก โลภ โกรธ หลง ลมหายใจเราไม่เป็นปกติ ทำให้ใจเราระส่ำไม่สงบ การกำหนดหายใจเข้าออกยาวนี้จะช่วยกายใจเราเป็นปกติ มีสติสัมปะชัญญะตั้งในความสงบ แถมยังรักษาโรคทางกายได้เพราะโรคทางกายเกิดจากความบกพร่องของธาตุใดธาตุหนึ่งหรือหลายๆธาตุในร่างกาย ซึ่งอวัยวะต่างๆในอาการทั้ง ๓๒ นี้ทำหน้าที่ควบคุมธาตุในกายหากอวัยวะในร่างกายคือธาตุ ๔ ในขันธ์ ๕ นี้ไม่สมดุลย์กันก็จะเกิดโรคในกาย เวลาเกิดโรคลมหายใจเราจะไม่เป็นปกติ ดังนั้นการเดินลมหายใจเข้ายาว หายใจออกยาว ทำใจไว้ปรับธาตุในกายให้เป็นปรกติจะช่วยบรรเทาโรคได้และเกิดการรักษาตัวที่ดีขึ้น
 - แบบที่ ๑.๒ ให้มีสติเป็นเบื้องหน้า ตั้งต้นไว้ที่ปลายจมูก รู้ลมหายใจเข้า บริกรรม "พุท" พร้อมกำหนดระลึกว่า...ลมหายใจวิ่งผ่านจากปลายจมูก -> เข้ามาที่โพรงจมูก -> เข้ามาที่จุดโพรงกลวงกลางกระโหลกศีรษะ...รู้ลมหายใจออก บริกรรม "โธ" พร้อมกำหนดระลึกถึงลมเคลื่อนออกจาก จุดโพรงกลวงกลางกระโหลกศีรษะ -> ออกมาที่โพรงจมูก -> ลมหายใจวิ่งออกผ่านจากปลายจมูกไป
 - แบบที่ ๑.๓ ให้มีสติเป็นเบื้องหน้า ตั้งต้นไว้ที่กลางกระหม่อม รู้ลมหายใจเข้า บริกรรม "พุท" พร้อมกำหนดระลึกว่า..ลมหายใจวิ่งผ่านกลางกระหม่อม(กลางศีรษะเบื้องบน) -> เข้ามาที่จุดโพรงกลวงกลางกระโหลกศีรษะ...รู้ลมหายใจออก บริกรรม "โธ" พร้อมกำหนดระลึกถึงลมเคลื่อนออกจาก จุดโพรงกลวงกลางกระโหลกศีรษะ -> วิ่งผ่านออกมาที่กลางกระหม่อม(กลางศีรษะเบื้องบน) ให้ลมหายไปในอากาศ
 - แบบที่ ๑.๔ ให้มีสติเป็นเบื้องหน้า ตั้งต้นไว้ที่ท้องตรงจุดเหนือสะดือประมาณ ๒ นิ้ว ซึ่งเวลาเราหายใจเข้าจะรู้สึก รู้ตามผัสสะว่าลมผ่านเคลื่อนที่จุดท้อง ณ ตรงนี้ได้ก่อนและง่ายเสมอๆ เป็นแบบกำหนดจุดลมผ่านโดยทั่วไป
** บางสำนักว่าดังนี้คือ ท้องน้อยใต้สะดือ ๒ นิ้ว (มัชฌิมาแบบลำดับ) หรือ กลางสะดือ(บางตำรา) ซึ่งจุดนี้แต่ละสำนักจะสอนต่างกันแต่ฐานที่นี้คือที่ตั้งแห่งสตินั่นเอง เป็นส่วนที่จิตใช้สติระลึกรู้
 - แบบที่ ๑.๕ กำหนดจุดที่ตั้งของจิต ประดุจว่าจิตอาศัยตั้งอยู่ที่นั้น เป็นฐานรู้ ใช้เป็นฐานที่มั่นยึดสติได้ ตามที่หลวงพ่อเยื้อน ขันติพโล ท่านสอนเอาไว้ว่า

อุบายการภาวนา ให้หาน้ำเย็นๆ 1 แก้ว ดื่มลงไป นั่งนิ่งๆ มีสติระลึกรู้ตามน้ำเย็นไปเรื่อยๆ ค่อยๆ สังเกตไปเรื่อยๆ น้ำเย็นจะค่อยๆ แผ่วๆ ตรงสุดท้ายที่ความเย็นหยุดนิ่ง ให้เอาเป็นฐานการระลึกรู้ของการภาวนา  จะภาวนาอะไรก็ได้ แต่จริงๆ ตรงนั้นคือตัวผู้รู้

จะลืมตาหรือไม่ลืมตา ก็ระลึกรู้ตรงนี้ได้ ให้รู้สึกอยู่ตรงน้ำ การกำหนดตรงนี้แตกต่างจากการกำหนดลมที่ต้องมีลมเข้า ลมออก  แต่ตรงนี้ น้ำเป็นตัวนำทางความรู้สึกเข้าไป และระลึกรู้อยู่ตรงนี้ ตรงความเย็นของน้ำหยุดอยู่ ดูผู้รู้สึกอยู่ตรงนี้ เป็นฐานการระลึกรู้การภาวนา หลับตาก็รู้ได้ ความรู้ตรงนี้ไม่เกี่ยวกับลม ลมก็คือธาตุลม ธาตุรู้ก็คือธาตุรู้

ส่วนมากนักปฏิบัติจะเอาลมเป็นธาตุรู้ แต่ที่อาตมาปฏิบัติมาแล้ว ไม่ต้องใช้ลมตามไป แต่ใช้ธาตุรู้เป็นที่ตั้ง ธาตุรู้ตรงนี้ปรุงแต่งไม่ได้ เราไปคิดที่อื่นก็ไม่ได้ เพราะความรู้อยู่ตรงนี้ ไม่ว่าจะเดินไปไหนหรือทำงานก็แล้วแต่ ก็อยู่ตรงนี้ตลอด ถึงความเย็นของน้ำจะหายไป แต่ตำแหน่งความเย็นยังคงอยู่ การภาวนา ตรงนี้เป็นการกำจัดความฟุ้งซ่าน การปรุงแต่ง จิตแล่นออกจากกาย จิตจะอยู่กับผู้รู้อย่างเดียว และต่อไปทำอย่างไรต่อ ก็ให้รู้สึกอยู่ตรงนี้ มันจะปรุงแต่งไม่ได้ ธาตุที่ปรุงแต่งไม่ได้เรียกว่า จิต แต่ที่ว่าปรุงแต่งไม่ใช่จิต เป็นอาการของจิต ถ้าไปถึงจิตแล้ว จิตจะนิ่งอยู่ตลอดเวลา ความรู้สึกจะไม่เคลื่อนไหวไปตามกายที่เคลื่อนไหว แต่อยู่ในตำแหน่งรู้ และนิมิตทั้งหมดก็หายไป

ในตัวของเราคือจิต ตัวผู้รู้เป็นจิตตัวจริงไม่ใช่อาการของจิต จะให้ความยึดมั่นถือมั่นนอกจากผู้รู้ไม่มี หลวงปู่ดูลย์จึงว่า จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ก็เป็นลักษณะเช่นนี้

หลวงพ่อเยื้อน ขันติพโล (ลูกศิษย์หลวงปู่ดุลย์ อตุโล และ หลวงตามหาบัว)


๓. เลือก


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 27, 2015, 12:42:26 AM
คิดใน พรหมวิหาร ๔ ศีล ทาน

คิดเพื่อละความสำคัญใจ
1.1 เมื่อรู้ใจรู้กายในปัจจุบันยนั้นแล้ว ว่ากำลังคิดกุศลธรรมอันลามกจัญไร ให้ตั้งจิตดู(หากสำเหนียกเป็น) หรือ ให้คิดทวนกระแสเข้าหาเหตุมันว่า นี่เราแสวงหา ถวิลหาอะไรอยู่ สำคัญใจไว้ไฉน เพราะยินดีอย่างไรๆจึงสำคัญใจไว้ เพราะแช่มชื่นรู้สึกมันว่า


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 27, 2015, 12:43:36 AM
[123] สัปปุริสบัญญัติ 3 (บัญญัติของสัตบุรุษ, ข้อปฏิบัติที่สัตบุรุษวางเป็นแบบไว้ หรือกล่าวสรรเสริญไว้, ความดีที่คนดีถือลงกัน — things established by righteous people; recommendation of the good)
       1. ทาน (การให้ปัน, สละของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น — giving; generosity; charity; benefaction)
       2. ปัพพัชชา (การถือบวช, เว้นการเบียดเบียน ดำรงในธรรม คือ อหิงสา สัญญมะ และทมะ อันเป็นอุบายให้ไม่เบียดเบียนกัน และอยู่ร่วมกันด้วยความสุข — renunciation consisting in non-violence, restraint and self-control)
       3. มาตาปิตุอุปัฏฐาน (การบำรุงมารดาบิดา, ปฏิบัติมารดาบิดาของตนให้เป็นสุข — support of mother and father)

A.I.151.   องฺ.ติก. 20/484/191.



[***] สามัญลักษณะ 3 ดู [76] ไตรลักษณ์.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 20
[139] ฆราวาสธรรม 4 (ธรรมสำหรับฆราวาส, ธรรมสำหรับการครองเรือน, หลักการครองชีวิตของคฤหัสถ์ - virtues for a good household life; virtues for lay people)
       1. สัจจะ (ความจริง, ซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง - truth and honesty)
       2. ทมะ (การฝึกฝน, การข่มใจ ฝึกนิสัย ปรับตัว, รู้จักควบคุมจิตใจ ฝึกหัดดัดนิสัย แก้ไขข้อบกพร่อง ปรับปรุงตนให้เจริญก้าวหน้าด้วยสติปัญญา - taming and training oneself; adjustment)
       3. ขันติ (ความอดทน, ตั้งหน้าทำหน้าที่การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร เข้มแข็ง ทนทาน ไม่หวั่นไหว มั่นในจุดหมาย ไม่ท้อถอย - tolerance; forbearance)
       4. จาคะ (ความเสียสละ, สละกิเลส สละความสุขสบายและผลประโยชน์ส่วนตนได้ ใจกว้าง พร้อมที่จะรับฟังความทุกข์ ความคิดเห็น และความต้องการของผู้อื่น พร้อมที่จะร่วมมือ ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่คับแคบเห็นแก่ตนหรือเอาแต่ใจตัว - liberality; generosity)

       ในธรรมหมวดนี้ ทมะท่านมุ่งเอาด้านปัญญา ขันติท่านเน้นแง่วิริยะ.



[220] ธรรมสมาธิ 5 (ธรรมที่ทำให้เกิดความมั่นสนิทในธรรม เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติธรรมถูกต้อง กำจัดความข้องใจสงสัยเสียได้ เมื่อเกิดธรรมสมาธิ คือความมั่นสนิทในธรรม ก็จะเกิดจิตตสมาธิ คือความตั้งมั่นของจิต - concentration of the Dhamma; virtues making for firmness in the Dhamma)
       1. ปราโมทย์ (ความชื่นบานใจ ร่าเริงสดใส - cheerfulness; gladness; joy)
       2. ปีติ (ความอิ่มใจ, ความปลื้มใจ - rapture; elation)
       3. ปัสสัทธิ (ความสงบเย็นกายใจ, ความผ่อนคลายรื่นสบาย - tranquillity; reaxedness)
       4. สุข (ความรื่นใจไร้ความข้องขัด - happiness)
       5. สมาธิ (ความสงบอยู่ตัวมั่นสนิทของจิตใจ ไม่มีสิ่งรบกวนเร้าระคาย - concentration)

       ธรรม หรือคุณสมบัติ 5 ประการนี้ ตรัสไว้ทั่วไปมากมาย เมื่อทรงแสดงการปฏิบัติธรรมที่ก้าวมาถึงขั้นเกิดความสำเร็จชัดเจน ต่อจากนี้ ผู้ปฏิบัติจะเดินหน้าไปสู่การบรรลุผลของสมถะ (คือได้ฌาน) หรือวิปัสสนา แล้วแต่กรณี ดังนั้น จึงใช้เป็นเครื่องวัดผลการปฏิบัติขั้นตอนในระหว่างได้ดี และเป็นธรรมหรือคุณสมบัติสำคัญของจิตใจที่ทุกคนควรทำให้เกิดมีอยู่เสมอ





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 30, 2015, 11:16:17 AM
จรณะ ๑๕

กุศลกรรมบถ ๑๐ (ศีลพระโสดาบัน)
ทางแห่งกรรมดี, ทางทำดี, ทางแห่งกรรมที่เป็นกุศลธรรมดีอันเป็นทางนำไปสู่สุคติมี ๑๐ อย่าง คือ

       ก. กายกรรม ๓ ได้แก่
           ๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากทำลายชีวิต
           ๒. อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้
           ๓. กาเมสุมิจฉาจาร เวรมณี เว้นจากประพฤติผิดในกาม
       ข. วจีกรรม ๔ ได้แก่
           ๔. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากพูดเท็จ
           ๕. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดส่อเสียด
           ๖. ผรุสาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดคำหยาบ
           ๗. สัมผัปปลาปา เวรมณี เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ
       ค. มโนกรรม ๓ ได้แก่
           ๘. อนภิชฌา ไม่โลภคอยจ้องอยากได้ของเขา
           ๙. อพยาบาท ไม่คิดร้ายเบียดเบียนเขา
           ๑๐. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบตามคลองธรรม


สำรวมอินทรีย์
ผัสสายตนสูตรที่ ๓

             [๘๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
ไม่ทราบชัดความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่ง
ผัสสายตนะ ๖ ตามความเป็นจริง พรหมจรรย์อันเธอไม่อยู่จบแล้ว เธอเป็นผู้ไกล
จากธรรมวินัยนี้ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นผู้ฉิบหายแล้วในธรรม
วินัยนี้ เพราะข้าพระองค์ไม่ทราบชัดความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบาย
เครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ ตามความเป็นจริง ฯ
             พ. ดูกรภิกษุ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน จักษุเที่ยงหรือ
ไม่เที่ยง ฯ
             ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ
             ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ
หนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ
             ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
             ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ
             ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ
หนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ
             ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรภิกษุ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย
แม้ในจักษุ แม้ในหู แม้ในจมูก แม้ในลิ้น แม้ในกาย แม้ในใจ เมื่อเบื่อหน่าย
ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณ
หยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ
ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯ

จบสูตรที่ ๑๑
จบมิคชาลวรรคที่ ๒

1. มีสติสัมปะชัญญะ ความกายรู้ใจ รู้ตัวอยู่เสมอๆ รู้จักหยุด รู้จักพอ รู้จักประมาณตน ในการดำรงชีพ
ไม่ว่าจะเรื่องการกิน เรื่องการอยู่ เรื่องการใช้ เรื่องการเสพย์สิ่งทั้งปวง

2. ทำเหตุให้ดี ทำเหตุให้มาก คือ พละ ๕ ได้แก่ ศรัทธา(ศรัทธา ๔ ผลคือ หิริ โอตัปปะ ศีล ทาน) วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
- พละ ๕ นี้ ท่านเรียกอีกอย่างว่าอินทรีย์ พระป่าเราจะเรียกว่าเหตุ การเจริญพละ ๕ คือ การทำเหตุให้ดี พละ ๕ เป็นอาหารเครื่องกุศลของจิต เป็นอาหารเสริมความหลุดพ้นทุกข์
- เหตุใน พละ ๕ นี้เป็นบ่อเกิดแห่งจริตนิสัยแห่งกุศลให้สถิตอยู่ในสันดานปุถุชน ผลที่ได้คือเป็นบารมีของจิต กล่าว คือ ทำมากก็กลายเป็นจริตนิสัย เมื่อเป็นจริตนิสัยมากเข้าๆจนมันอิ่มมันเต็มกำลังใจ..มันก็จะกลายเป็น บารมี

  วิธีการทำเหตุนี้..หลวงปู่บุญกู้อนุวัฑฒโน ท่านได้กรุณาสอนเราว่า ให้ทำให้เป็นที่สบาย ไม่ต้องเกร็ง ไม่ต้องไปหวังผลลัพธ์จากเหตุให้มากจนทำให้จิตหดหู่ ท้อถอย ฟุ้งซ่าน ไม่ทำแบบสุดโต่งด้วยความลุ่มหลงมัวเมา ให้ทำตามสติกำลังอยู่เนืองๆ ทำสะสมเหตุให้ดีให้มากเข้าไว้ แต่ไม่ต้องไปหวังผล จะได้หรือไม่ได้ช่างมันขอแค่ให้เราได้ทำไว้ก่อนเป็นพอ "เหตุไม่ดี..แล้วจะไปเอาผลได้ยังไง"

- เราพอจะเข้าใจสิ่งที่ท่านสอนแล้วนำมาตีความปฏิบัติได้ดังนี้คือ ให้เราทำให้เป็นที่สบาย ทำเรื่อยๆไม่เร่งรีบ ในวันหนึ่งๆจะทำได้มากได้น้อยก็ช่างมันขอให้ได้ทำทุกวัน ทำสะสมเหมือนหยอกกระปุกเพียรทำไม่ย่อหย่อน ขอให้ได้ทำได้สะสมไว้ก็พอใจไม่ต้องไปหวังผล "ยินดีแต่ไม่ปารถนาลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งนั้นๆ" หากยังไม่ได้ก็ให้ระลึกว่า..เพราะเหตุในสิ่งนี้ๆของเรามันยังไม่ดี ยังไม่พอ ผลลัพธ์จึงยังไม่แสดงไม่มีไม่ได้ เราก็แค่ทำเหตุไปเรื่อยๆ สบายๆขอแค่ได้ทำไว้ก่อนก็พอ ไม่ใช่พอทำไม่ได้แล้วก็คลายความเพียร อันนี้ในปาฏิโมกข์เป็นพระท่านก็ปรับอาบัติปาจิตตีย์เลยนะ ดังนั้นให้ทำไปเรื่อยๆ หากท้อแท้เหนื่อยหน่ายก็เจริญ โพชฌงค์ตามกาล  เช่น..
๑. ยินดีในความพ้นทุกข์ ยินดีในอภิญญา เตวิชโช ฉฬภิญโญ ปฏิสัมภิทาญาณ..เราก็เพียรทำเหตุใน ศีล(ศรัทธา ๔) ทาน(ศรัทธา ๔) ภาวนา(สติ{สติปัฏฐาน ๔} สมาธิ [กรรมฐาน ๔๐ สายสุขวิปัสสโก จะเน้นลมหายใจแบบธรรมดาไปไม่กำหนดจุด เข้าขณิกสมาธิ เข้าอารมณ์สมถะ อุปจาระสมาธิ อัปปนาสมาธิ เอกัคคตา เข้าปัญญาเลย ไม่แวะเล่นของเล่น ไม่เอากสิน ไม่เอานิมิต, ส่วนสายเตวิชโช ฉฬภิญโญ ปฏิสัมภิทา ท่านเจริญอานาปานสติกำหนดจุดดูจุดพักลม เพ่งลมที่จุดใดจุดหนึ่งบ้าง หลายจุดบ้าง, เพ่งอารมณ์, เล่นกสิน, ทัวัตติงสาการหรืออาการ ๓๒ ประการ, เล่นธาตุ ๖ ป่าช้า ๙ อสุภะ ๑๐ ลงธาตุลงกสิน, เล่นนิมิต, แวบเล่นของเล่น, พรหมวิหารเจโตวิมุตติ, เข้าสัมมาสมาธิด้วย รูปฌาณ ๔(รวมกสินฌาณเป้น รูปฌาณ ๕) และ อรูปฌาณ ๔(รวมสัญญาเวฯ เป็นอรูปฌาณ ๕) ซึ่งท่านจะขมักเขม้นเพียรทำเป็นอันมาก แต่ไม่หมกมุ่น เพราะรู้ว่าจำเป็นต้องทำ จำเป็นต้องต้องมีญาณนั้นญาณนี้ อิทธิฤทธิ์อย่างนั้นอย่างนี้ รู้ความจำเป็นที่จะต้องมีเพื่อใช้ช่วยเหลือเกื้อกูลชนทั้งปวง สัตว์โลก เทวดา มาร พรหมทั้งปวง เพื่อให้เข้าถึงธรรมที่ถูกต้องและตรงตามจริง ไม่ได้ทำเพราะอยากเพราะอัตตา] ปัญญา)ไปเรื่อยๆ จะได้มากได้น้อย หรือ ไม่ได้เลย ก็อย่าไปสนใจใส่ใจมัน แม้จะได้ยินคนอื่นพูดว่าทำได้ เข้าถึง เห็นนั่น เห็นนี่ เราก้แค่ยินดีไปกับเขาไม่ต้องไปริษยาเขา หรือยิ่งปารถนาลุ่มหลงมัวเมา พึงรู้แค่ว่าเราอาจจะยังไม่เคยสะสมเหตุนี้ๆมาเลยในชาติก่อนๆ มันจึงไม่มีกำลังเสบียงเพียงพอจะให้แสดงผล เราก็แค่เพียรทำต่อไปเรื่อยๆ ไปสบายๆ เพราะเหตุนี้ๆเมื่อเต็มก็จะส่งผลให้ได้อย่างนั้นในภายหน้า
    หากเราไปยึดอัตตาในผลของมันแล้ว ทั้งๆที่เราตั้งใจปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ นั่นกลับกลายไปยึดเอาทุกข์มาครอบครองให้หนักอีกซ้ำเก่า ยิ่งยึดยิ่งทุกข์ ความพ้นทุกข์คือไม่ยึด คลายความยึดมั่นนั้นเสีย มันไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอน แม้คนที่บอกว่าเห้นได้ตอนนั้นแต่สิ่งที่เขาเอามาพูดนั้นมันก็เป็นอดีตไปแล้ว ไม่ได้อยู่แล้ว ดับไปแล้วในปัจจบันขณะนั้นๆ เมื่อมันไม่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ยั่งยืนนาน ไม่เที่ยง แล้วควรหรือที่เราจะไปปารถนาใคร่ได้ที่จะเสพย์ ไปริษยาเขา ยึดมั่นถือมั่นกับความไม่เที่ยงของเขาหรือเราหรือใครๆเหล่านั้น
    ฌาณก็ดี ญาณก็ดี หลวงปู่มั่นท่านสอนว่ามันก็แค่สังขารตัวหนึ่งเท่านั้น มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ความปารถนาในสิ่งที่ไม่เที่ยงไม่มีตัวตนมันเป็นทุกข์ ดังนั้นแล้วสิ่งเหล่านี้เราจะไปบังคับ ยื้อยึด ฉุดรั้ง จับบังคับให้มันเป็นไปดั่งใจก็ไม่ได้ เพราะมันไม่มีตัวตนอันที่เราจะไปบังคับมันได้ เมื่อมันไม่มีตัวตนดังนี้ ควรแล้วหรือที่เราจะต้องเอาสิ่งนี้มายึดอุปาทานว่าเราต้องรู้ต้องเห็นต้องได้อย่างเขา ไปริษยาเขาให้ตนร้อมรุ่ม ระส่ำ ไม่เป็นสุขสบายกายใจ ไปคว้าตัวตนเอากับอากาศที่มองไม่เห็นที่ไม่มีตัวตน ที่เราไม่สามารถจะไปยึดบังคับให้มันเป็นไปดั่งใจได้ เพราะมันไม่มีตัวตน ถ้าคนอื่นเขาทำแล้วเขาได้ก็แสดงว่าทางนี้มันพ้นทุกข์จริงแต่เราเราไม่ได้สักทีนั้นเพราะเรายังไม่เคยสะสมเหตุมา จิตมันจึงไม่มีกำลังพอจะเห็นของจริง
    อุปมาเหมือนเอาแก้วน้ำเล็กๆเท่ากำมือ 1 ใบ ไปรองรับน้ำในบึงใหญ่มันจะรับน้ำในบึงนั้นได้อย่างไร จะรับได้ก็ต้องมีแก้วที่ใหญ่และลึกเท่าบึงนั้น ดังนัน้เราก็ต้องค่อยสร้างก่อสร้างแก้วใบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆให้มันเพียงพอที่จะรับน้ำในบึงนั้นได้ เปรียบน้ำนั้นเป็น สติ สมาธิฌาณ ญาณ ปัญญา, เปรียบแก้วเป็นกายใจเรานี้แล

    หัวใจสำคัญใน พละ ๕ นั้นคือ เราต้องหาความยินดีใน พละ ๕ ศีล ทาน ภาวนา ให้ได้เสีย ถ้าเราหาความยินดีได้ก็จะทำได้โดยไม่ยากไม่ขุ่นเคืองใจ ไม่ติดใจข้องแวะในการปฏิบัติ แล้วจะก่อเกิดความเพียรที่จะกระทำด้วย.. ด้วยเหตุดังนี้ เราจึงต้องหาความพอใจยินดีในการปฏิบัติให้ได้ก่อน ความพอใจยินดีนี้เป็นที่ตั้งให้น้อมนำไปในสิ่งทั้งปวง ทีนี้เมื่อเรายินดีที่จะทำ ก็ทำได้เป็นที่สบายกายใจไม่ลำบาก จิตมันจะตั้งมั่นใจการทำเหตุ โดยที่รู้ว่าเหตุนี้มันดี เพราะเหตุยังไม่พอจึงยังไม่ส่งผม ไม่หวังผลมากเกินไปให้หดหู่ฟุ้งซ่าน ไม่ทำด้วยความลุ่มหลง ทีนี้ก็จะเกิดความเพียรเจริญ สำรวมระวังด้วยสติสังขารขึ้นโดยรอบ ตั้งในความความเพียรระวังยับยั้ง + เพียรปหานะ และ มีความเพียรเจริญ + เพียรรักษาคงไว้ไม่ให้เสื่อม(ปธาน ๔) ยิ่ง เป็นบารมีของจิต

สัมมัปธาน ๔


1. สังวรปธาน คือ เพียรระวัง,ยับยั้ง (เพียรระวังหรือเพียรปิดกั้น คือ เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น)
2. ปหานปธาน คือ เพียรละ (เพียรละหรือเพียรกำจัด คือ เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว)
3. ภาวนาปธาน คือ เพียรเจริญ (เพียรเจริญ หรือเพียรก่อให้เกิด คือ เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมี)
4. อนุรักขนาปธาน คือ เพียรรักษา (เพียรรักษา คือ เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่นและให้เจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์)

สรุป จรณะ ๑๕ โดยย่อคือ

๑.กุศลกรรมบถ ๑๐
๒.สำรวมอินทรีย์ รู้ผัสสะจำเพาะปัจจุบันขณะ เห็นความ ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตน เพื่อละความคิดสืบต่อ
๓.รู้จักหยุด รู้จักพอ รู้จักประมาณตน
๔ พละ ๕

ทั้งหมด ๔ ข้อ คือ  ศีล ทาน ภาวนา


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 01, 2015, 10:26:56 AM

ปุณณสูตร

             [๑๑๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่-
*ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอ
ประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อที่
ข้าพระองค์ได้สดับแล้วพึงเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความ
เพียร มีใจเด็ดเดี่ยว อยู่เถิด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรปุณณะ รูปที่พึงรู้แจ้ง
ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด
มีอยู่ ถ้าภิกษุยินดี กล่าวสรรเสริญ พัวพันรูปนั้น เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นยินดี
กล่าวสรรเสริญ พัวพันรูปนั้น ความเพลินก็เกิดขึ้น ดูกรปุณณะ เพราะความ
เพลินเกิดขึ้น จึงเกิดทุกข์ ฯลฯ ดูกรปุณณะ ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่า
ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุ
ยินดี กล่าวสรรเสริญ พัวพันธรรมารมณ์นั้น เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นยินดี
กล่าวสรรเสริญ พัวพันธรรมารมณ์นั้น ความเพลินก็บังเกิดขึ้น ดูกรปุณณะ
เพราะความเพลินเกิดขึ้น จึงเกิดทุกข์ ฯ
             [๑๑๓] ดูกรปุณณะ รูปทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุไม่ยินดี
ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันรูปนั้น เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นไม่ยินดี ไม่กล่าว
สรรเสริญ ไม่พัวพันรูปนั้น ความเพลินก็ดับไป ดูกรปุณณะ เพราะความเพลิน
ดับไป ทุกข์จึงดับ ฯลฯ ดูกรปุณณะ ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุไม่ยินดี
ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้น เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นไม่ยินดี
ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้น ความเพลินก็ดับไป ดูกรปุณณะ
เพราะความเพลินดับไป ทุกข์จึงดับ ดูกรปุณณะ ด้วยประการฉะนี้ เธอนั้นจึง
ไม่ห่างไกลจากธรรมวินัยนี้ ฯ
             [๑๑๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังไม่เบาใจในธรรมนี้
เพราะข้าพระองค์ยังไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ
และความสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ เธอจะ
สำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอย่อมพิจารณาเห็นจักษุว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่น
ไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้หรือ ฯ
             ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดีละ ภิกษุ ก็ในข้อนี้ จักษุเป็นอันเธอพิจารณาเห็นด้วยดีด้วยปัญญา
อันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่
ตัวตนของเรา ผัสสายตนะที่ ๑ นี้เป็นอันเธอละขาดแล้วเพื่อไม่เกิดอีกต่อไป
ด้วยอาการอย่างนี้ ฯลฯ
             เธอพิจารณาเห็นใจว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตน
ของเรา ดังนี้หรือ ฯ
             ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดีละ ภิกษุ ก็ในข้อนั้น ใจจักเป็นอันเธอพิจารณาเห็นด้วยดีด้วย
ปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา
นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ผัสสายตนะที่ ๖ นี้ จักเป็นอันเธอละขาดแล้วเพื่อความ
ไม่เกิดอีกต่อไป ด้วยอาการอย่างนี้ ดูกรปุณณะ ดีละ เธออันเรากล่าวสอนแล้ว
ด้วยโอวาทอันย่อนี้ จักอยู่ในชนบทไหน ฯ
             ท่านพระปุณณเถระทูลว่า พระเจ้าข้า ชนบทชื่อสุนาปรันตะมีอยู่ ข้าพระ-
*องค์จักอยู่ในชนบทนั้น ฯ
             [๑๑๕] พ. ดูกรปุณณะ พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทดุร้าย หยาบ
คายนัก ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักด่า จักบริภาษเธอ ในข้อนั้น เธอ
จักมีความคิดอย่างไร ฯ
             ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักด่า จัก
บริภาษข้าพระองค์ไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ว่า มนุษย์ชาว
สุนาปรันตชนบทนี้เจริญหนอ เจริญดีหนอ ที่เขาไม่ประหารเราด้วยมือ ข้าแต่
พระผู้มีพระภาค ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต ในข้อนี้
ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ฯ
             พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหารเธอด้วย
มือเล่า ในข้อนั้น เธอจักมีความคิดอย่างไร ฯ
             ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหาร
ข้าพระองค์ด้วยมือไซร้ ในข้อนั้น  ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์
ชาวสุนาปรันตชนบทเจริญหนอ เจริญดีหนอ ที่เขาไม่ประหารเราด้วยก้อนดิน
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต
ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ฯ
             พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหารเธอด้วย
ก้อนดินเล่า ในข้อนั้น เธอจักมีความคิดอย่างไร ฯ
             ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหาร
ข้าพระองค์ด้วยก้อนดินไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พวก
มนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้เจริญหนอ เจริญดีหนอ ที่เขาไม่ประหารเราด้วย
ท่อนไม้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ข้าแต่
พระสุคต ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ฯ
             พ. ดูกรปุณณะ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหารเธอด้วย
ท่อนไม้เล่า ในข้อนั้น เธอจักมีความคิดอย่างไร ฯ
             ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหาร
ข้าพระองค์ด้วยท่อนไม้ไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์
ชาวสุนาปรันตชนบทนี้เจริญหนอ เจริญดีหนอ ที่เขาไม่ประหารเราด้วยศาตรา
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต
ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ฯ
             พ. ดูกรปุณณะ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหารเธอด้วย
ศาตราเล่า ในข้อนั้น เธอจักมีความคิดอย่างไร ฯ
             ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหาร
ข้าพระองค์ด้วยศาตราไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พวก
มนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้เจริญหนอ เจริญดีหนอ ที่เขาไม่ปลงเราเสียจากชีวิต
ด้วยศาตราอันคม ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้
ข้าแต่พระสุคต ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ฯ
             [๑๑๖] พ. ดูกรปุณณะ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักปลงเธอ
เสียจากชีวิตด้วยศาตราอันคมเล่า ในข้อนั้น เธอจักมีความคิดอย่างไร ฯ
             ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักปลง
ข้าพระองค์เสียจากชีวิตด้วยศาตราอันคมไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิด
อย่างนี้ว่า พระสาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคนั้น อึดอัดระอาเกลียดชังอยู่ด้วย
กายและชีวิต ย่อมแสวงหาศาตราสำหรับปลงชีวิตเสีย มีอยู่ ศาตราสำหรับปลง
ชีวิตที่เราแสวงหาอยู่นั้น เราได้แล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในข้อนี้ ข้าพระองค์
จักมีความคิดอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ฯ
             พ. ดีละๆ ปุณณะ เธอประกอบด้วยทมะและอุปสมะเช่นนี้ จักอาจอยู่
ในสุนาปรันตชนบทได้ บัดนี้ เธอย่อมรู้กาลอันควรไปได้ ฯ
             [๑๑๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มี-
พระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว เก็บ
เสนาสนะแล้ว ถือบาตรและจีวรหลีกจาริกไปทางสุนาปรันตชนบท เมื่อเที่ยวจาริก
ไปโดยลำดับ ก็บรรลุถึงสุนาปรันตชนบท ได้ยินว่า ท่านพระปุณณะอยู่ในสุนา-
ปรันตชนบทนั้น ครั้งนั้นแล ในระหว่างพรรษานั้น ท่านพระปุณณะให้ชาว-
สุนาปรันตชนบทแสดงตนเป็นอุบาสกประมาณ ๕๐๐ คน ได้ทำวิชชา ๓ ให้แจ้ง
และปรินิพพานแล้ว ครั้งนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุลบุตรชื่อว่าปุณณะที่พระผู้มีพระภาคตรัสสอนด้วยพระ
โอวาทอย่างย่อนั้น ทำกาละแล้ว กุลบุตรนั้นมีคติเป็นอย่างไร มีอภิสัมปรายภพเป็น
อย่างไร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรชื่อว่าปุณณะ เป็น
บัณฑิต กล่าวคำจริง กล่าวธรรมสมควรแก่ธรรม มิได้ลำบากเพราะเหตุแห่งธรรม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรชื่อว่าปุณณะปรินิพพานแล้ว ฯ

จบสูตรที่ ๕



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 01, 2015, 10:36:30 AM

ผัสสายตนสูตรที่ ๑

             [๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่ทราบชัด ความเกิด
ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ ตามความ
เป็นจริง พรหมจรรย์อันเธอไม่อยู่จบแล้ว เธอเป็นผู้ไกลจากธรรมวินัยนี้ เมื่อ
พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นผู้ฉิบหายในศาสนานี้ เพราะข้าพระองค์ไม่ทราบชัด
ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖
ตามความเป็นจริง ฯ
             พ. ดูกรภิกษุ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอพิจารณาเห็นจักษุ
ว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ดังนี้หรือ ฯ
             ภิ. หามิได้ พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดีละ ภิกษุ ในข้อนี้ การที่เธอพิจารณาเห็นจักษุด้วยอาการอย่างนี้ว่า
นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้ จักเป็นอันเธอเห็นดี
แล้วด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง นี้แล เป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯลฯ
             พ. เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอพิจารณาเห็นใจว่า นั่นของเรา
นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ดังนี้หรือ ฯ
             ภิ. หามิได้ พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดีละ ภิกษุ ในข้อนี้ การที่เธอพิจารณาเห็นใจว่า นั่นไม่ใช่ของเรา
นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้ จักเป็นอันเธอเห็นดีแล้วด้วยปัญญา
อันชอบ ตามความเป็นจริง นี้แล เป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ

จบสูตรที่ ๙



ผัสสายตนสูตรที่ ๒

             [๘๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
ไม่ทราบชัดความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ
๖ ตามความเป็นจริง พรหมจรรย์อันภิกษุนั้นไม่อยู่จบแล้ว เธอเป็นผู้ไกลจากธรรม
วินัยนี้ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ข้าพระองค์เป็นผู้ฉิบหายแล้วในธรรมวินัยนี้ เพราะ
ข้าพระองค์ไม่ทราบชัดความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออก
แห่งผัสสายตนะ ๖ ตามความเป็นจริง ฯ
             พ. ดูกรภิกษุ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอพิจารณาเห็นจักษุ
ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้หรือ ฯ
             ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดีละ ภิกษุ ในข้อนี้ การที่เธอพิจารณาเห็นจักษุว่า นั่นไม่ใช่ของ
เรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้ จักเป็นอันเธอเห็นดีแล้วด้วย
ปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง ด้วยอาการอย่างนี้ ผัสสายตนะที่ ๑ นี้จักเป็น
อันเธอละได้แล้ว เพื่อมิให้ผัสสายตนะนั้นเกิดขึ้นอีกต่อไป ฯลฯ
             ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดีละ ภิกษุ ในข้อนี้ การที่เธอพิจารณาเห็นใจว่า นั่นไม่ใช่ของเรา
นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้ จักเป็นอันเธอเห็นดีแล้วด้วยปัญญา
อันชอบ ตามความเป็นจริง ด้วยอาการอย่างนี้ ผัสสายตนะที่ ๖ นี้จักเป็นอันเธอ
ละได้แล้ว เพื่อมิให้ผัสสายตนะนั้นเกิดขึ้นอีกต่อไป ฯ

จบสูตรที่ ๑๐



ผัสสายตนสูตรที่ ๓

             [๘๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
ไม่ทราบชัดความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่ง
ผัสสายตนะ ๖ ตามความเป็นจริง พรหมจรรย์อันเธอไม่อยู่จบแล้ว เธอเป็นผู้ไกล
จากธรรมวินัยนี้ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นผู้ฉิบหายแล้วในธรรม
วินัยนี้ เพราะข้าพระองค์ไม่ทราบชัดความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบาย
เครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ ตามความเป็นจริง ฯ
             พ. ดูกรภิกษุ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน จักษุเที่ยงหรือ
ไม่เที่ยง ฯ
             ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ
             ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ
หนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ
             ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
             ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ
             ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ
หนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ
             ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรภิกษุ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย
แม้ในจักษุ แม้ในหู แม้ในจมูก แม้ในลิ้น แม้ในกาย แม้ในใจ เมื่อเบื่อหน่าย
ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณ
หยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ
ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯ
จบสูตรที่ ๑๑
จบมิคชาลวรรคที่ ๒


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 02, 2015, 12:16:01 PM
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค

ฉฬวรรคที่ ๕

สังคัยหสูตรที่ ๑

             [๑๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ ๖ ประการนี้ ที่บุคคลไม่ฝึกฝน
ไม่คุ้มครอง ไม่รักษา ไม่สำรวมระวังแล้ว ย่อมนำทุกข์หนักมาให้ ผัสสายตนะ
๖ ประการเป็นไฉน คือ จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ ที่บุคคลไม่
ฝึกฝน ไม่คุ้มครอง ไม่รักษา ไม่สำรวมระวังแล้ว ย่อมนำทุกข์หนักมาให้ ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ ๖ ประการนี้แล ที่บุคคลไม่ฝึกฝน ไม่คุ้มครอง ไม่
รักษา ไม่สำรวมระวังแล้ว ย่อมนำทุกข์หนักมาให้ ฯ

             [๑๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ ๖ ประการนี้ ที่บุคคลฝึกฝนดี
คุ้มครองดี รักษาดี สำรวมระวังดีแล้ว ย่อมนำสุขมากมาให้ ผัสสายตนะ ๖
เป็นไฉน คือ จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ ที่บุคคลฝึกฝนดี คุ้มครองดี
รักษาดี สำรวมระวังดีแล้ว ย่อมนำสุขมากมาให้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ
๖ ประการนี้แล ที่บุคคลฝึกฝนดี คุ้มครองดี รักษาดี สำรวมระวังดีแล้ว ย่อม
นำสุขมากมาให้ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลง
แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ฯ

             [๑๓๐]    ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่สำรวมผัสสายตนะ ๖
                          นั่นแหละ เว้นการสำรวมในอายตนะใด ย่อมเข้าถึงทุกข์
                          บุคคลเหล่าใด ได้สำรวมระวังอายตนะเหล่านั้น บุคคล
                          เหล่านั้น มีศรัทธาเป็นเพื่อนสอง ย่อมเป็นผู้อันราคะไม่ชุ่มอยู่
                          บุคคลเห็นรูปที่ชอบใจและเห็นรูปที่ไม่ชอบใจแล้ว พึง
                          บรรเทาราคะในรูปที่ชอบใจ และไม่พึงเสียใจว่า รูปไม่น่ารัก
                          ของเรา (เราเห็นรูปไม่น่ารักเข้าแล้ว) ได้ยินเสียงที่น่ารัก
                          และเสียงที่ไม่น่ารัก พึงสงบใจในเสียงที่น่ารัก และพึง
                          บรรเทาโทสะในเสียงที่ไม่น่ารัก และไม่พึงเสียใจว่า เสียงไม่
                          น่ารักของเรา (เราได้ฟังเสียงที่ไม่น่ารักเข้าแล้ว) ได้ดมกลิ่น
                          ที่ชอบใจอันน่ายินดี และได้ดมกลิ่นที่ไม่สะอาด ไม่น่ารัก
                          ใคร่ พึงบรรเทาความหงุดหงิดในกลิ่นที่ไม่น่าใคร่ และไม่
                          พึงพอใจในกลิ่นที่น่าใคร่ ได้ลิ้มรสที่อร่อยเล็กน้อย และ
                          ลิ้มรสที่ไม่อร่อยในบางคราว ไม่พึงลิ้มรสที่อร่อยด้วยความ
                          ติดใจ และไม่ควรยินร้ายในเมื่อลิ้มรสที่ไม่อร่อย ถูกสัมผัส
                          ที่เป็นสุขกระทบเข้าแล้ว และถูกผัสสะที่เป็นทุกข์กระทบเข้า
                          แล้ว ไม่พึงหวั่นไหวในระหว่างๆ ควรวางเฉยผัสสะทั้งที่
                          เป็นสุข ทั้งที่เป็นทุกข์ทั้งสอง ไม่ควรยินดี ไม่ควรยินร้าย
                          เพราะผัสสะอะไรๆ นรชนทั้งหลายที่ทรามปัญญา มีความ
                          สำคัญในกิเลสเป็นเหตุให้เนิ่นช้า ยินดีอยู่ด้วยกิเลสเป็นเหตุ
                          ให้เนิ่นช้า เป็นสัตว์ที่มีสัญญา ย่อมวกเวียนอยู่ ก็บุคคล
                          บรรเทาใจ ที่ประกอบด้วยปัญจกามคุณทั้งปวงแล้ว ย่อมรักษา
                          ใจให้ประกอบด้วยเนกขัมมะ ใจที่บุคคลเจริญดีแล้วใน
                          อารมณ์ ๖ อย่างนี้ ในกาลใด ในกาลนั้น จิตของบุคคลนั้น
                          อันสุขสัมผัสกระทบเข้าแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหวในที่ไหนๆ
                          ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายปราบราคะและโทสะเสียแล้ว
                          ย่อมเป็นผู้ถึงนิพพานซึ่งเป็นฝั่งข้างโน้นแห่งชาติและมรณะ ฯ


จบสูตรที่ ๑


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 02, 2015, 12:18:26 PM
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค

สังคัยหสูตรที่ ๒

             [๑๓๑] ครั้งนั้นแล ท่านพระมาลุกยบุตร มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค
โปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ที่ข้าพระองค์สดับแล้ว พึงเป็นผู้ๆ เดียว
หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เถิด พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่า ดูกรมาลุกยบุตร ในการที่เธอขอโอวาทนี้ในบัดนี้ เราจักบอกกะพวก
ทหรภิกษุทำไม ก็ท่านใดแก่แล้ว เป็นผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยแล้ว ย่อม
ขอโอวาทโดยย่อ เราจักบอกแก่เธอนั้น ฯ
             [๑๓๒] มา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์แก่แล้ว  เป็นผู้เฒ่า
ผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยแล้วก็จริง ถึงกระนั้น ขอพระผู้มีพระภาคผู้สุคตโปรด
แสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์เถิด ไฉนข้าพระองค์พึงรู้ถึงพระภาษิตของพระผู้มี-
*พระภาค พึงเป็นผู้ได้รับพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ฯ
             พ. ดูกรมาลุกยบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปที่พึงรู้แจ้ง
ด้วยจักษุเหล่าใด เธอไม่เห็นแล้ว ทั้งไม่เคยเห็นแล้ว ย่อมไม่เห็นในบัดนี้ด้วย
ความกำหนดว่า เราเห็น มิได้มีแก่เธอด้วย เธอมีความพอใจ มีความกำหนัด
หรือมีความรักในรูปเหล่านั้นหรือ ฯ
             มา. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า ฯ
             พ. เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยหูเหล่าใด เธอไม่ได้ฟังแล้ว ทั้งไม่เคยได้ฟังแล้ว
ย่อมไม่ได้ฟังในบัดนี้ด้วย ความกำหนดว่า เราได้ฟัง มิได้มีแก่เธอด้วย เธอมี
ความพอใจ มีความกำหนัด หรือมีความรักในเสียงเหล่านั้นหรือ ฯ
             มา. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า ฯ
             พ. กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วยจมูกเหล่าใด เธอไม่ได้ดมแล้ว ทั้งไม่เคยได้ดม
แล้ว ย่อมไม่ได้ดมในบัดนี้ด้วย ความกำหนดว่า เราได้ดม มิได้มีแก่เธอด้วย
เธอมีความพอใจ มีความกำหนัด หรือมีความรักในกลิ่นเหล่านั้นหรือ ฯ
             มา. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า ฯ
             พ. รสที่พึงรู้แจ้งด้วยลิ้นเหล่าใด เธอไม่ได้ลิ้มแล้ว ทั้งไม่เคยได้ลิ้มแล้ว
ย่อมไม่ได้ลิ้มในบัดนี้ด้วย ความกำหนดว่า เราได้ลิ้ม มิได้มีแก่เธอด้วย เธอมี
ความพอใจ มีความกำหนัด หรือความรักในรสเหล่านั้นหรือ ฯ
             มา. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า ฯ
             พ. โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกายเหล่าใด เธอไม่ได้ถูกต้องแล้ว ทั้ง
ไม่ได้เคยถูกต้องแล้ว ย่อมไม่ได้ถูกต้องในบัดนี้ด้วย ความกำหนดว่า เราถูกต้อง
มิได้มีแก่เธอด้วย เธอมีความพอใจ มีความกำหนัด หรือมีความรักในโผฏฐัพพะ
เหล่านั้นหรือ ฯ
             มา. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งด้วยใจเหล่าใด เธอไม่ได้รู้แล้ว ทั้งไม่ได้
เคยรู้แล้ว ย่อมไม่รู้ในบัดนี้ด้วย  ความกำหนดว่า เรารู้ มิได้มีแก่เธอด้วย เธอมี
ความพอใจ มีความกำหนัด หรือความรักในธรรมารมณ์เหล่านั้นหรือ ฯ
             มา. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า ฯ
             [๑๓๓] พ. ดูกรมาลุกยบุตร ก็ในธรรมเหล่านั้น คือ รูปที่ได้เห็น
เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ และธรรมที่จะพึงรู้แจ้ง ในรูปที่ได้เห็นแล้ว เธอ
จักเป็นเพียงแต่ว่าเห็น ในเสียงที่ได้ฟังแล้ว เธอจักเป็นเพียงแต่ว่าได้ฟัง ใน
อารมณ์ที่ได้ทราบแล้ว เธอจักเป็นเพียงแต่ได้ทราบ ในธรรมที่ได้รู้แจ้ง เธอจัก
เป็นเพียงแต่ได้รู้แจ้ง ดูกรมาลุกยบุตร ในธรรมทั้งหลาย คือ รูปที่ได้เห็น
เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ และธรรมที่จะพึงรู้แจ้ง ในรูปที่ได้เห็นแล้ว เธอ
จักเป็นเพียงแต่ว่าเห็น ในเสียงที่ได้ฟังแล้ว เธอจักเป็นเพียงแต่ว่าได้ฟัง ในอารมณ์
ที่ได้ทราบแล้ว เธอจักเป็นเพียงแต่ได้ทราบ ในธรรมที่ได้รู้แจ้งแล้ว เธอจักเป็น
เพียงแต่ได้รู้แจ้งแล้ว ในกาลใด ในกาลนั้น เธอจักเป็นผู้ไม่ถูกราคะย้อม ไม่
ถูกโทสะประทุษร้าย ไม่หลงเพราะโมหะ เธอจักเป็นผู้ไม่ถูกราคะย้อม ไม่ถูก
โทสะประทุษร้าย ไม่หลงเพราะโมหะ ในกาลใด ในกาลนั้น เธอจักไม่พัวพัน
ในรูปที่ได้เห็น ในเสียงที่ได้ฟัง ในอารมณ์ที่ได้ทราบ หรือในธรรมารมณ์ที่ได้
รู้แจ้ง ดูกรมาลุกยบุตร ในโลกนี้ก็ไม่มี ในโลกอื่นก็ไม่มี ในระหว่างโลกทั้งสอง
ก็ไม่มี นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ
             มา. พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ย่อมรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งธรรม ที่พระผู้มี-
*พระภาคตรัสแล้วโดยย่อนี้ได้โดยพิสดารว่า
             [๑๓๔]    สติหลงไปแล้วเพราะเห็นรูป บุคคลเมื่อใส่ใจถึงรูปเป็น
                          นิมิตที่รัก ก็มีจิตกำหนัด เสวยอารมณ์นั้น ทั้งมีความติดใจ
                          ในอารมณ์นั้นตั้งอยู่ มีเวทนาอันมีรูปเป็นแดนเกิดเป็นอเนก
                          ทวีขึ้น และมีจิตอันอภิชฌาและวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อ
                          สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ห่างไกลนิพพาน สติ
                          หลงไปแล้ว เพราะได้ฟังเสียง บุคคลเมื่อใส่ใจถึงเสียงเป็น
                          นิมิตที่รัก ก็มีจิตกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งมีความติดใจ
                          ในอารมณ์นั้นตั้งอยู่ มีเวทนาอันมีเสียงเป็นแดนเกิดเป็นอเนก
                          ทวีขึ้น และมีจิตอันอภิชฌาและวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อ
                          สั่งสมทุกข์อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ห่างไกลนิพพาน สติหลง
                          ไปแล้วเพราะได้ดมกลิ่น บุคคลเมื่อใส่ใจถึงกลิ่นเป็นนิมิต
                          ที่รัก ก็มีจิตกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งมีความติดใจอารมณ์
                          นั้นตั้งอยู่ มีเวทนาอันมีกลิ่นเป็นแดนเกิดเป็นอเนกทวีขึ้น
                          และมีจิตอันอภิชฌาและวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อสั่งสมทุกข์
                          อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ห่างไกลนิพพาน สติหลงไปแล้ว
                          เพราะลิ้มรส บุคคลเมื่อใส่ใจถึงรสเป็นนิมิตที่รัก ก็มีจิต
                          กำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งมีความติดใจในอารมณ์นั้นตั้งอยู่
                          มีเวทนาอันมีรสเป็นแดนเกิดเป็นอเนกทวีขึ้น และมีจิตอัน
                          อภิชฌาและวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อสั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้
                          บัณฑิตกล่าวว่า ห่างไกลนิพพาน สติหลงไปแล้ว เพราะ
                          ถูกต้องโผฏฐัพพะ บุคคลเมื่อใส่ใจถึงโผฏฐัพพะเป็นนิมิต
                          ที่รัก ก็มีจิตกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งมีความติดใจในอารมณ์
                          นั้นตั้งอยู่ มีเวทนาอันมีโผฏฐัพพะเป็นแดนเกิดเป็นอเนก
                          ทวีขึ้น และมีจิตอันอภิชฌาและวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อ
                          สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ห่างไกลนิพพาน
                          สติหลงไปแล้วเพราะรู้ธรรมารมณ์ บุคคลเมื่อใส่ใจถึง
                          ธรรมารมณ์เป็นนิมิตที่รัก ก็มีจิตกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น
                          ทั้งมีความติดใจในอารมณ์นั้นตั้งอยู่ มีเวทนาอันมีธรรมารมณ์
                          เป็นแดนเกิดเป็นอเนกทวีขึ้น และมีจิตอันอภิชฌาและวิหิงสา
                          เข้าไปกระทบ เมื่อสั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า
                          ห่างไกลนิพพาน ฯ
             [๑๓๕]    บุคคลนั้นเห็นรูปแล้ว มีสติไม่กำหนัดในรูปทั้งหลาย มี
                          จิตคลายกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่มีความติดใจอารมณ์
                          นั้นตั้งอยู่ บุคคลนั้นเมื่อเห็นรูปและเสวยเวทนาอยู่ ทุกข์สิ้นไป
                          และไม่สั่งสมทุกข์ ฉันใด บุคคลนั้นเป็นผู้มีสติเที่ยวไป
                          ฉันนั้น เมื่อไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ใกล้
                          นิพพาน บุคคลนั้นได้ฟังเสียงแล้ว มีสติไม่กำหนัดในเสียง
                          ทั้งหลาย มีจิตคลายกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่มีความ
                          ติดใจอารมณ์นั้นตั้งอยู่ บุคคลนั้นเมื่อได้ฟังเสียงและเสวย
                          เวทนาอยู่ ทุกข์สิ้นไปและไม่สั่งสมทุกข์ ฉันใด บุคคลนั้น
                          เป็นผู้มีสติเที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้
                          บัณฑิตกล่าวว่า ใกล้นิพพาน บุคคลนั้นเมื่อดมกลิ่นแล้ว
                          มีสติไม่กำหนัดในกลิ่นทั้งหลาย มีจิตคลายกำหนัดเสวย
                          อารมณ์นั้น ทั้งไม่มีความติดใจอารมณ์นั้นตั้งอยู่ บุคคลนั้น
                          เมื่อดมกลิ่นและเสวยเวทนาอยู่ ทุกข์สิ้นไปและไม่สั่งสมทุกข์
                          ฉันใด บุคคลนั้นเป็นผู้มีสติเที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อไม่สั่งสม
                          ทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ใกล้นิพพาน บุคคลนั้น
                          ลิ้มรสแล้ว มีสติไม่กำหนัดในรสทั้งหลาย มีจิตคลายกำหนัด
                          เสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่มีความติดใจอารมณ์นั้นตั้งอยู่ บุคคล
                          นั้นเมื่อลิ้มรสและเสวยเวทนาอยู่ ทุกข์สิ้นไปและไม่สั่งสม
                          ทุกข์ ฉันใด บุคคลนั้นเป็นผู้มีสติเที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อไม่
                          สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ใกล้นิพพาน บุคคล
                          นั้นถูกต้องผัสสะแล้ว มีจิตไม่กำหนัดในผัสสะทั้งหลาย
                          มีจิตคลายกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่มีความติดใจอารมณ์
                          นั้นตั้งอยู่ บุคคลนั้นเมื่อถูกต้องผัสสะและเสวยเวทนาอยู่
                          ทุกข์สิ้นไปและไม่สั่งสมทุกข์ ฉันใด บุคคลนั้นเป็นผู้มีสติ
                          เที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิต
                          กล่าวว่า ใกล้นิพพาน บุคคลนั้นรู้ธรรมารมณ์แล้ว มีสติไม่
                          กำหนัดในธรรมารมณ์ทั้งหลาย มีจิตคลายกำหนัดเสวยอารมณ์
                          นั้น ทั้งไม่มีความติดใจอารมณ์นั้นตั้งอยู่ บุคคลนั้นเมื่อรู้
                          ธรรมารมณ์และเสวยเวทนาอยู่ ทุกข์สิ้นไปและไม่สั่งสมทุกข์
                          ฉันใด บุคคลนั้นเป็นผู้มีสติเที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อไม่สั่งสม
                          ทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่าใกล้นิพพาน ฯ
             ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งธรรมที่พระผู้มี-
*พระภาคตรัสโดยย่อนี้ได้โดยพิสดาร ด้วยประการฉะนี้ ฯ
             [๑๓๖] พ. ดูกรมาลุกยบุตร สาธุๆ เธอรู้ทั่งถึงเนื้อความแห่งธรรมที่เรา
กล่าวโดยย่อได้โดยพิสดารดีอยู่แล ว่า
             [๑๓๗]    สติหลงไปเพราะเห็นรูป บุคคลเมื่อใส่ใจถึงรูปเป็นนิมิต
                          ที่รัก ก็มีจิตกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งมีความติดใจอารมณ์
                          นั้นตั้งอยู่ มีเวทนาอันมีรูปเป็นแดนเกิดเป็นอเนกทวีขึ้น และ
                          มีจิตอันอภิชฌาและวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อบุคคลสั่งสม
                          ทุกข์อยู่อย่างนี้ เรากล่าวว่าไกลนิพพาน ฯลฯ
             [๑๓๘]    บุคคลนั้นรู้ธรรมารมณ์แล้ว มีสติไม่กำหนัดในธรรมารมณ์
                          มีจิตคลายกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่มีความติดใจอารมณ์
                          นั้นตั้งอยู่ บุคคลนั้นเมื่อรู้ธรรมารมณ์และเสวยเวทนาอยู่
                          ทุกข์สิ้นไปและไม่สั่งสมทุกข์ ฉันใด บุคคลนั้นเป็นผู้มีสติ
                          เที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ ฯลฯ เรากล่าว
                          ว่าใกล้นิพพาน ฯ
             ดูกรมาลุกยบุตร เธอพึงเห็นเนื้อความแห่งธรรมที่กล่าวแล้วโดยย่อนี้โดย
พิสดารอย่างนี้แล ฯ
             [๑๓๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระมาลุกยบุตรชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้
มีพระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ครั้ง
นั้นแล ท่านพระมาลุกยบุตรเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท
มีความเพียร มีจิตเด็ดเดี่ยว ไม่ช้าก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอด
เยี่ยมที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่ง
เอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่
ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แลท่านพระมาลุกย
บุตร ได้เป็นอรหันต์องค์หนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ

จบสูตรที่ ๒



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 05, 2015, 11:35:42 AM
วันที่ 4 ธันวาคม 2558

วันนี้ได้มีโอกาสไฟฟังพระธรรมเทศนาของหลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน ท่านได้เทศนาสอนเหมือนที่เราเข้าใจที่ท่านสอนให้ทำเหตุมาว่า การปฏิบัติแรกๆมันยาก การทำดีมันยาก ค่อยๆทำไปทีละนิดสะสมไปเรื่อยๆ ทำบ่อยๆ ทำกุศลให้มากในกาย วาจา ใจ เรื่องอกุศลก็ค่อยๆลดลง ให้มันนานขึ้นจึงเกิดมีได้ เวลามันคิดชั่วเราก็คิดดีแทรกแทรงโดยทำใจให้เอื้อเฟื้อปารถนาดี สงเคราะห์ให้ คนที่ชอบทำร้ายเบียดเบียนคนอื่นให้ช้ำใจ พรากชีวิตผู้อื่นนั้น ลักขโมยของผู้อื่น ชอบไปผิดลูกเมียเขา พรากคนรักเขา กระทำไม่ดีชอบด่า ชอบว่าให้ร้ายคนอื่น ยุยงให้ผู้อื่นแตกคอกัน ชอบลุ่มหลงมอมเมาขาดสติในกามารมณ์ ในสุรายาเสพย์ติดที่ทำให้ขาดสติ ระลึกไม่ได้ เพราะมีนิสัยสันดานติดมาจากนรกมันสะสมมานาน และเพราะเขาได้สะสม ศีล ทาน ภาวนามา มากพอก็จะมาเกิดเป็นคนได้ พอมาได้เกิดเป็นคนแต่กรรมอกุศลทั้งปวงที่เขาทำมานั้นมีมากทำให้เขามีหน้าตาดุร้ายบ้าง พิการบ้าง หม่นหมองไม่งดงามบ้าง และสันดานจากนรกที่เคยเป้นสัตว์นรถที่ทำไม่ดีนี้สะสมมามากติดตามเขามาด้วย เขาเลยยังแก้ไม่ได้ ยังทำกาย วาจา ใจ เบียดเบียนทำร้านตนเองและผู้อื่นอยู่ แล้วเขาไม่ทำเหตุในกุศลเพิ่มมันก็ยิ่งชั่วไปใหญ่ เมื่อเขามีกรรมอย่างนั้นเราก็ไม่พึงข้องใจในเขา อย่าไปติดใจในเขา พึงสงเคราะห์เขาเสีย อย่าไปคิด พูด ทำ เพื่อเบียดเบียนเขาเพิ่มเติมซ้ำเติมเขาอีก เขาเป็นอย่างนั้นทั้งกายและใจเขาก็ได้รับทุกข์มามากพอแล้ว ทั้งเร่าร้อน, ร้อนรุ่ม, ถูกไฟกิเลสกรรมไฟนรกแผดเผาต้องกายใจให้หดหู่, วุ่นวาย, ฟุ้งซ่านมามากเต็มที่เขาแล้ว ควรอดโทษไว้แก่เขาสงเคราะห์เขาเสีย หากนิสัยจากนรกที่ติดตามมานี้เป็นตัวเราเองเมื่อรู้ว่านิสัยในนรกมีมากติดตามมาก็เพียรเจริญในกุศล ศีล ทาน ภาวนา ให้มากสะสมไปเรื่อยๆ เมื่อมันดีมีกำลังเรียกว่า พละ ๕ มันก็จะกลายเป็นอุปนิสัย คิด พูด ทำ ในกุศลโดยชอบไม่เร่าร้อนเป็นทุกข์ ท่านผู้รู้ผู้ภาวนาท่านมองมาดูที่ตนเองอย่างนี้ เมื่อเป็นอุปนิสัยก็จะกลายเป็นจริตสันดาน ตามไปทุกภพชาติ เมื่อมีจริตสันดานในกุศลที่เต็มที่เต็มกำลังใจก็กลายเป็นบารมี อินทรีย์ก็จะแก่กล้า ทีนี้จิตมันจะไม่ปล่อยให้อกุศลเล็ดลอดออกมาได้ ภาวนาก็ให้รู้ลมหายใจมีพุทโธนี้แหละ พิจารณาธาตุ ๖ ตามบทสวดมนต์ธาตุ

(เพิ่ม..อากาศธาตุ คือ ช่องว่างในกายนี้ที่ทำให้ธาตุไม่ผัสสะกัน อากาศในกายก็เป็นพวกแก๊ส อากาสธาตุเป็นช่องว่างมันเป็นที่ๆแก๊สทั้งปวงอาศัยอยู่, ..วิญญาณธาตุ คือ จิต คือ ตัวรู้ จิตนี้มันไม่ตายตามร่างกายไปก็ร่างกายดับสูญก็ไปเมื่อตายจากกายนี้จิตออกจากกายนี้ก็ไม่ใช่จิตเดิมที่เป็นอยู่ตอนมีชีวิตอยู่ด้วยรูปขันธ์นั้นแล้ว จิตมันก็แล่นท่องเที่ยวไปเกิดในสวรรค์บ้าง นรกบ้าง เป็นสัตว์หรือคนเข้านึดครองรูปขันธ์ มีรูปร่างหน้าตาผิวพรรณทรามบ้าง หยาบบ้าง งดงามบ้าง ละเอียดบ้าง จิตที่รู้ที่ยึดครองธาตุ ๕ คือ ลม ไฟ น้ำ ดิน อากาศ ก็ดับไปไม่มีอีกไม่คงอยู่อีก แม้ตอนยังที่ชีพอยู่จิตเรานี้ก็ไม่เที่ยง ไม่รู้สิ่งใดได้นาน ไม่ตั้งอยู่ในสิ่งใดได้นาน กลับกลอง เหลาะแหละ ไปรู้นั่นนี้ไปทั่วแต่ไม่ยั่งยืนนาน หมายใจจะไปบังคับให้เป็นดั่งใจก็ไม่ได้ ไม่สามารถบังคับได้ว่าขอจิตจงรู้และยึดแต่สิ่งนี้ ขอจิตจงอย่ารู้อย่ายึดสิ่งนั้น ขอสิ่งที่รู้นี้ไม่สูญไป จงอยู่ยั่งยืนตลอดไปก็ไม่ได้ จิตมันรู้มันฉลาดยึดฉลาดเสพย์แต่สมมตืของปลอมที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกจิตให้ยึดโดยอาศัย อายตนะเป็นเครื่อล่อให้จิตหลง โดยมากแล้วจิตรู้สิ่งใดล้วนเป็นสมมติทั้งหมดไม่ว่าจะเวทนาสุข,ทุกข์,เฉยๆก็ช่าง ความคิดปรุงแต่งก็ช่าง ล้วนเกิดมาแต่ความรัก โลภ โกรธ หลงทั้งปวงสมมติให้เกิดมีขึ้นมาหลอกให้จิตยึด จะบังคับให้มันรู้ของจริงก็ไม่ได้เพราะไม่ใช่ตัวตน ไม่มีตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์ ..ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ก็ด้วยจิต..ท่องเที่ยวไปด้วยจิต เกิด ดับจากขันธ์อย่างไรด้วยวิญญาณนั้นก็ตามที แต่เราก็บังคับให้มันเป็นดั่งปารถนาไม่ได้ มันดับจากกายนี้ก็เกิดขึ้นเป็นจิตใหม่ไปแล้วไม่ใช่จิตเดิมแท้ ดังนี้ **ดังนั้นทำจิตให้เป้นพุทโธเพื่อให้มันอยู่ได้ด้วยตัวของมัน เป็นผู้รู้เห็นสมมติความลุ่มหลง ผู้ตื่นจากสมมติความลุ่มหลง ผู้เบิกบานแล้วหมดสิ้นสมมติความลุ่มหลง)

ละราคะทางทวาร คือ รู้ว่าตนเองคิด รู้ว่าคิดในราคะ รู้ว่าที่เป็นอดีตบ้าง อนาคตบ้าง ปรุงสิ่งสมมติไปตามที่ใจปารถนาบ้าง แล้วเอากุศลวิตกเข้าแทรกกำหลายอกุศลวิตก คิดต่อรูปนั้นในทางที่ดี แล้วกลับมารู้ปัจจุบันว่า เห็นอะไรในปัจจุบัน เขามีท่าทางอาการอย่างไร ทำกิจการงานไรๆอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือของจริงแต่เรานั้นเองที่ไปคิดสืบต่อสมมติมองส่วนเล็กส่วนน้อยคิดเอาสัญญานั่นนี่มาผสมปนเปไปหมดจนกระสัน เงี่ยน เป็นทุกข์ เสียงก็รู้แต่เสียงนั้นในปัจจุบันแค่มีอาการอย่างนั้นอย่างนี้ ดัง เบา ทุ้ม แหลม แม้จะรู้เสียงผู้หญิง ผู้ชาย นก กา วัว ควาย แมว หมา ก็รู้แล้วคิดชอบมีกุศลวิตกคิดกับเสียงนั้นในทางที่ดี กลิ่น รส สัมผัสกาย.. สัมผัสใจให้รู้ตัวว่ากำลังคิด กำลังสมมติ กำลังติดในราคะ กระสัน เงี่ยนเพราะคิด เพราะแสวงหา ถวิลหา อยาก รู้ปัจจุบันในอารมณ์

ทำปัจจุบันให้แจ้ง ทำเหตุให้รู้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสกาย สัมผัสใจ ในปัจจุบันให้มาก ทำให้แจ้งจนกลายเป็นอุปนิสัยติดในความคิด เป็นจริตสันดาน ก็จะสร้างบารมีที่ สักแต่ว่ารู้อยู่ที่ปัจจุบันขณะไม่คิดสืบต่ออีก


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 06, 2015, 04:29:44 PM
วันที่ 6-12-58

มองเห็นว่างาม ไม่งาม สวยเสมอกันเหมือนกันหมด สวยต่างกัน บุคคลหรือสิ่งหนึ่งสวย แต่อีกบุคคลหรืออีกสิ่งหนึ่งไม่สวย


**ก. ความสวย หรือ ไม่สวย**

ความสวย หรือ ไม่สวย นี้คือ สัญญา

- สวย ไม่สวย หยาบกระด้าง ละเอียด ประณีต  เป็นสัญญา คือ ความจดจำสำคัญมั่นหมาายของใจ..สำคัญใจไว้ว่านี่คือสวย นี่คือไม่สวย นี่คือสวยมาก นี่คือสวยน้อย สีนี้สวย สีนี้ไม่สวย รูปร่างอย่างนี้สวย รูปร่างอย่างนี้ไม่สวย (วรรณะ,สันฐาน)



**ข. เหตุแห่งสัญญาที่ว่าสวย หรือ ไม่สวย**

เหตุแห่งสัญญาที่ว่าสวย หรือ ไม่สวย นี้คือ ฉันทะ ปฏิฆะ

หลายสิ่งหลายอย่าง หลายคนที่เรามองว่า สวยๆพอๆกันก็เพราะมีฉันทะในสิ่งนั้นๆเสมอๆกัน
๑. ความจดจำสำคัญมั่นหมาายของใจ..จากความปรุงแต่งใน ฉันทะ..ความพอใจยินดี รู้ผัสสะแล้วเป็นที่สบายกายใจ ก็เข้าไปตั้งสมมติปรุงแต่งลงอุปาทานสัญญาจดจำว่านี่คือ สวย, ปฏิฆะ..ไม่พอใจยินดี รู้ผัสสะแล้วเป้นที่อึดอัด อัดอั้น ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ก็เข้าไปตั้งสมมติปรุงแต่งลงอุปาทานสัญญาจดจำว่านี่คือ ไม่สวย
๒. ก็เพราะความชอบใจยินดีในอารมณ์นี้แหละ จึงทำให้เกิดความต้องการ หมายใจที่จะเสพย์ในสิ่งนั้นๆ ใคร่ปารถนา แสวงหา จนกำหนัดกระสันมีใจผูกใฝ่ในอารมณ์ให้เร่าร้อน เมื่อพบเจออารมณ์ที่ตรงข้ามกันก็เกิดความยินร้าย หมายใจไว้ว่าเป็นสิ่งไม่ต้องการ ไม่อยากได้ ไม่อยากพบอยากเจอ อยากจะผลักหนีให้ไกลตนจนเกิดความกลัวบ้างเร่าร้อนหวาดระแวง
(ฉันทะราคะ)



**ค. เหตุแห่งความยินดี ยินร้าย**

เหตุแห่งความพอใจยินดี ไม่พอใจยินดี ความยินดี-ยินร้าย ก็คือ เวทนา ความหน่วงนึกในอารมณ์ ๑๘

๑. เมื่อจิตรู้ผัสสะ มีอาการเหมือนประกายไฟ เหมือนฟ้าแลบแปล๊บ ความเสวยอารมณ์แรกๆมันยังเป็นกลางๆ แล้วก็ดับไป

๒. จากสัญญาจดจำอารมณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนฟ้าแลบแปล๊บนั้นแหละสืบต่อให้จิตน้อมเข้าไปรู้อาการที่ผัสสะนั้นแหละ ทำให้เกิดสภาพจริงๆอาการจริงๆของอารมณ์นั้นๆให้เรารู้ (แต่ทั้งๆที่ของจริงมันดับไปแระ) แรกๆก็ยังเฉยๆเป็นกลางๆต่ออาการจริงนั้นๆอยู่

๓. แต่ด้วยธรรมชาติของจิตที่น้อมไปหาอารมณ์ และ สัญญาหมายรู้อารมณ์ทำให้อาการสภาวะนั้นๆเกิดสืบต่อมาอีกเรื่อยๆให้จิตรู้อาการที่เกิดขึ้นเนืองๆ จึงทำให้เกิด "ความหน่วงนึกรู้สึกแช่มชื่น ชื่นบานรื่นรมณ์ หรือ ความหน่วงนึกรู้สึกเหมือนเสียดขัดให้งุ่นง่าน ขัดๆต่ออาการจริงๆในอารมณ์ที่รู้นั้น"
(เราเข้าใจในสภาวะนี้ว่า จิตเข้าจับอนุสัยกิเลส)

๔. ก็เพราะความรู้สึกหน่วงนึกอารมณ์นี้ๆนี่เอง ที่ทำให้เกิดกลุ่มสภาวะธรรมหนึ่งขึ้นทำให้ตรึงใจไว้ในอารมณ์ ให้จิตเหมือนจิตถูกหน่วงเหนี่ยวลากจูงให้เข้าไปตรึงในอาการนั้นๆ จิตจึงเกิด "ความพอใจยินดี และ ไม่พอใจยินดี" แล้วจงใจเข้าไปทำใจไว้ในอารมณ์นั้นๆ ด้วยความติดใจว่า นี่คืออะไร มันเป็นอะไร สิ่งใด (เป็นสภาวะที่ติดข้องใจในอาการความรู้สึกจริงๆที่เกิดมีขึ้นอยู่)
(อาการนี้เราเข้าใจว่านี่คือ อนุสัยกิเลสสร้างอุปกิเลสก่อตัวขึ้นแล้ว)

๕. เมื่อเกิดความเข้าไปทำใจไว้ในอารมณ์นั้นๆ นี่แหละที่เป็นตัวไปเรียกเอาสัญญา ความจำได้หมายรู้ในอารมณ์  ความสำคัญมั่นหมายของใจ ทีนี้แหละสมมติทั้งปวงว่าสิ่งนี้คืออะไร เป็นอย่างไร มันออกมาหมด ความหน่วงนึกรู้สึกที่ว่า แช่มชื่น ชื่นบานรื่นรมณ์ นี่คือ สุข ส่วนความหน่วงนึกรู้สึกเหมือนเสียดขัดให้งุ่นง่าน ขัดๆต่ออาการที่มีนั้น คือ ทุกข์ ในขณะเดียวกันก็รู้ว่าสิ่งที่รู้สัมผัสอยู่นี้คือ คน เพศ สัตว์ สิ่งของ เสียง กลิ่น รส สัมผัสกาย (อุปกิเลส นิวรณ์เหล่าใดเกิดขึ้นมาเบื้องหน้าให้จิตหลงยึดเสพย์แล้ว)

๖. เมื่อรู้สมมติบัญญัติแล้ว ก็จะเกิดความปรุงแต่งไปตาม สัญญา ความสำคัญมั่นหมายของใจ สังขาร ในมโนทวารลงใส่ใจจนเกิด "ฉันทะ และ ปฏิฆะ" หลงไปตามสมมติที่กิเลสมร้างขึ้นมาหลอกให้จิตรู้ จิตเสพย์ จิตหลง จิตยึดทางอายตนะ แล้วก็เกิดความตรึงตราติดใจในอารมณ์ ติดใคร่ ผูกใจฝักใฝ่หมายใจในอารมณ์ ขัดข้องขุ่นเคืองใจ มัวหมอง เศร้าหมองในอารมณ์โดยสมมติบัญญัติขึ้นมาทันทีว่า เจ็บ ปวด สบาย เกลียด ชัง ชอบ รัก สวย ไม่สวย ประณีต ไม่ประณีต เบื่อหน่าย หดหู่ ฟุ้งซ่าน
(เราเข้าใจว่านี่คือ อุปกิเลส, นิวรณ์ สำแดงฤทธิ์เดชแล้ว)

๗. เมื่อเข้ามารู้ในสมมติปรุงแต่ง ก็เกิดความติดใจ ตรึงตราในอารมณ๋ เหนี่ยวดึงให้เกิดอารมณ์ที่ใคร่ปารถนายินดีในอารมณ์ที่เสพย์เสวยอยู่นั้น เรียก กาม นันทิ ฉันทะราคะ ผูกใจหมายหมกมุ่นลุ่มหลงมัวเมาในอารมณ์ กำหนัด กระสัน เงี่ยน ตัณหา ทะยานอยาก แสวงหา ถวิลหาใคร่ได้ที่จะเสพย์ในอารมร์ทั้งปวง
(เราเข้าใจว่านี่คือ กิเลสอย่างหยาบ สำแดงฤทธิ์เดชแล้ว)




๑. กิเลสชั้นละเอียด ทำให้สันดานเศร้าหมอง
๒. กิเลสชั้นกลาง ทำให้มโนทวารเศร้าหมอง
๓. กิเลสชั้นหยาบ ทำให้วจีทวารและกายทวารเศร้าหมอง

จากผลการปฏิบัติที่เคยเห็นได้รู้สัมผัสในสมาธิ โดยเข้าสมาธิแล้วเดินทางปัญญา จะเห็นได้ว่า



กิเลส โลภะ กาม ราคะ โทสะ โมหะ ทั้งหลายมีอยู่โดย 3 ระดับ

ระดับที่รู้ว่าเกิดผัสสะ
ระดับที่รู้สภาวะธรรมจริง
ระดับที่รู้สมมติปรุงแต่งตรึกนึกคิด




ในพระสูตร อาทิตตปริยายสูตร ที่พระพุทธเจ้าตรัสเทสนาต่อชฏิล ๓ พี่น้อง ตามที่หลวงปู่ฤๅษีลิงดำอธิบายไว้ว่า
ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ราคัคคิ โทสักคิ โมหัคคิ ยกเอาราตะมานั้นเพราะว่า เพราะราคะเป็นเหตุนั้นแหละจึงมีโทสะ ถ้าไม่มีราคะก็ไม่มีโทสะ ดังนั้นก็ต้องขจัดไฟราคะ โทสะ โมหะ กอยู่ไม่ได้




แนวทางปฏิบัติ

ก. สำรวมระวังในผัสสายตนะ ๖

1. พระตถาคต ย่อมสอนดังนี้ว่า รูปที่รู้ด้วยตา เสียงที่รู้ด้วยหู กลิ่นที่รู้ด้วยจมูก รสที่รู้ด้วยลิ้น สัมผัสที่รู้ด้วยกาย สัมผัสที่รู้ด้วยใจ เป็นสิ่งที่บุคคลควรฝึกฝน คุ้มครอง รักษา สำรวมระวัง
เมื่อรู้อารมณ์ในทางใดก็ดี จะรูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี สัมผัสกายก็ดี สัมผัสใจก็ดี เมื่อรู้อารมณ์ที่ชอบใจ หรือ ไม่ชอบใจก็ตาม ท่านให้พึงบรรเทาราคะในอารมณ์ที่ชอบ, ไม่พึงเสียใจในอารมณ์ที่ไม่ชอบ ว่าพบเจออารมร์ที่ไม่ชอบใจ วางเฉยในผัสสะทั้งปวง
- โดยแนวปฏิบัติส่วนตัวของเราเพื่อให้เกิดความปลงใจ คือ ไม่ตั้งความพอใจยินดีและไม่พอใจยินดีในสิ่งที่รู้อารมณ์ไรๆ ไม่สำคัญใจว่าเป็นที่รัก ที่ชัง ก็เพราะไปสำคัญใจต่อ รูป เสียง กลิ่น รส โผฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่มากระทบให้รู้เหล่านั้น ..ด้วยราคะ ใจของเราก็จึงกระสันกำหนัด เพราะสำคัญใจไว้ต่อสิ่งนั้นๆด้วยความไม่ชอบใจ ไม่ยินดี ว่าเป็นที่เสียใจ ที่กลัว ที่หวาดระแวง  เราจึงเกิดความอยากจะผลักหนีให้ไกลตน เกลียดชังไม่อยากพบเจอ
ดังนั้นไม่ว่าจะสิ่งไรๆก็ช่าง เราอย่าไปติดใจข้องแวะในสิ่งไรๆเลย ติดใจของแวะในสิ่งไรๆไปมันก็หาประโยชน์สุขไรๆไม่ได้เลยนอกจากทุกข์ ดังนั้นพึงละความติดข้องใจในอารมณ์ไรๆเหล่านั้นไปเสีย ทิ้งไป สละคืนไป แล้วทำใจให้ผ่องใสว่างไสวอยู่ทุกเมื่อ

2.  พระตถาคต ย่อมสอนดังนี้ว่า รูปที่รู้ด้วยตา เสียงที่รู้ด้วยหู กลิ่นที่รู้ด้วยจมูก รสที่รู้ด้วยลิ้น สัมผัสที่รู้ด้วยกาย สัมผัสที่รู้ด้วยใจ เป็นสิ่งที่บุคคลควรฝึกฝน คุ้มครอง รักษา สำรวมระวัง
เมื่อรู้อารมณ์ในทางใดก็ดี จะรูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี สัมผัสกายก็ดี สัมผัสใจก็ดี ก็สิ่งเหล่านั้นมันไม่เที่ยงแท้ยั่งยืนนาน อยู่ได้นานสุดก็แค่หมดลมหายใจของเรา ไม่ได้ติดตามเราไปด้วย แม้เราหมายใจจะบังคับให้อารมณ์ทั้งปวงขอให้จงเป็นอย่างนั้น ขอให้จงเป็นอย่างนี้ก็ไม่ได้ แม้แต่ตัวเรานี้เราจะหมายใจไปบังคับให้รู้อารมณ์ทางสฬายตนะนั้นๆตลอดไปได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ดังนี้

- โดยแนวปฏิบัติส่วนตัวของเราเพื่อให้เกิดความปลงใจ  คือ  เพราะสิ่งภายนอกเหล่านั้นไม่มีตัวตน จะไปเจอสิ่งที่สวยที่รักที่ต้องการไรๆก็รู้ว่า เขาไม่ได้เกิดมาหรือมีอยู่เพื่อเรา เขาไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา อย่าไปพึงปารถนาในสิ่งที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราเลย ยิ่งปารถนามากก็ยิ่งทุกข์มากละความปารถนาติดใจนั้นๆไปเสียเพราะเขาไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ได้มีอยู่เพื่อเรา

- เมื่อไปประสบสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่พอใจ ก็พึงสังวรว่า เพราะเราไปให้ความสำคัญใจต่ออารมณ์เหล่านั้น มันจึงมาเกิดมีบทบาทสำคัญต่อเราเป็นอันมาก ทำให้โทมนัสเป้นอันมาก ทั้งๆที่สิ่งที่รักหรือที่เกลียดมันก็เป็นแค่เพียงอาการทั้ง ๓๒ เป็นธาตุ ๖ เหมือนกันหมด เป็นรูปธรรมก็ดี เป็นนามธรรมก็ดีเสมอกันหมด ก็แค่สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปไม่ต่างกันเสมอกันหมดทุกสิ่ง ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีความงามเสมอกันหมดดังนี้(สุภะวิโมกข์) แต่เพราะเราเข้าไปตั้งเข้าไปยึดให้ความสำคัญใจในปฆิฆะต่อสิ่งนั้นๆเอาไว้มาก จึงใส่ใจต่อสิ่งนั้นว่าเป็นสิ่งที่ ไม่ขอบ เกลียด ชัง กลัว เสียใจ มากจนเป็นทุกข์เร่าร้อน ร้อนรุ่มกายใจ ดังนั้นเราก็เลิกให้ความสำคัญมั้นหมายของใจในปฏิฆะต่อสิ่งนั้นๆเสีย แม้เมื่อรู้เห็นไปก็ไม่ทุกข์กับสิ่งนั้นอีก



ข. สักแต่ว่ารู้

1. สักแต่ว่ารู้ในปัจจุบันนั้นๆ คือ รู้ว่ามีสีหรือแสงประกายอะไร อย่างไรอยู่เท่านั้น นี่เรียกว่า พิจารณาวรรณะ

2. สักแต่ว่ารู้ในปัจจุบันนั้นๆ คือ รู้ว่าสีเหล่านั้น สิ่งเหล่านั้น มีรูปลักษณ์ เคล้าโคลง ลักษณะอย่างไร สูง ยาว สั้น แค่นแคะ กลม รี สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม คือรูปลักษณ์เคล้าโครงรูปแบบต่างๆ



ค. สมมติ (ละสมุทัย)

1. อุบายว่าจิตรู้สิ่งใดก็ตาม สิ่งนั้นล้วนเป็นสมมติทั้งหมด สมมติที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกให้จิตลุ่มหลงแล้วยึดมั่นถือมั่นตัวตน โดยอาศัยทวาร คือ อายตนะเป็นเครื่องล่อหลอกจิต เราทุกข์ทรมานก็เพราะจิตมันรู้แต่สมมติ เราสุขกับสิ่งไม่เที่ยงไม่มีตัวตนก็เพราะจิตมันรู้แต่สมมติ ดังนั้นแล้วเราจะไม่ยึดจิต ไม่สนสิ่งที่จิตรู้หรือตรึกนึกคิดทั้งปวงเพราะมันคือสมมติของปลอมที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกจิต

2. ของจริงนี้มีอยู่ในกายเรา พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เป็นกายสังขาร เป็นสิ่งที่กายต้องการ เป็นสิ่งที่เนื่องด้วยกายให้คงอยู่ นั่นก็คือลมหายใจนั่นเอง พึงคำนึงตรึกตรองอยู่เนืองๆว่าลมหายใจนี้เป็นของจริง เป็นวาโยธาตุ เป็นกายสังขารที่มีอยู่จริงในกายเรา ลมหายในนี้ไม่ทำให้เร่าร้อน ลมหายใจนี้ไม่มีโทษ ลมหายใจนี้เป็นที่สงบ ดังนั้นจิตรู้ลมหายใจอยู่ตลอดเวลาคือรู้ของจริง รู้ปัจจุบัน รู้สงบ ไม่ใช่ทุกข์
** หากจับลมอย่างเดียวไม่ได้ คือ อยู่กับลมหายใจไม่ได้นาน ครูบาอาจารย์ท่านให้ใช้พุทโธกำกับ พุทโธนี้เป็นมูลกรรมฐาน เป็นยอดกรรมฐานทั้งปวง พุทโธนี้มีคุณมาก สร้างกำลังให้จิตจดจ่ออยู่ได้นาน ทำให้สลัดจิตจากนิวรณ์  ถ้าจิตว่างพุทโธหายนั่นแสดงว่าจิตกลายเป็นพุทโธแล้ว คือ
- เป็นผู้รู้เห็น ถึงสมมติของปลอมที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกจิต ให้ลุ่มหลงมัวเมาติดยึดอยู่
- เป็นผู้ตื่น จากสมมติของปลอมที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกจิต ไม่ลุ่มหลงมัวเมาติดยึดอยู่อีก
- เป็นผู้เบิกบาน คือไม่ยึดติดลุ่มหลงอีกแล้วซึ่งสมมติของปลอม ความพ้นจากสมมติกิเลสทั้งปวงแล้ว




ท่าน DEV วัดเกาะตอบคำถามในทาง พระอภิธรรมว่า

ลักษณะที่เห็นรูปอย่างนึง แล้วรู้สึกว่าเท่ ว่าน่ารัก ว่าสวย ว่างาม หรือ ว่าแปลก ว่าน่าเกลียด ว่าน่าขยะแขยง

ลักษณะของความงามที่มีต่างๆกัน กับความไม่งามที่มีต่างๆกัน ที่เกิดเพราะอาศัยการเห็นรูปๆนึงเป็นปัจจัย

ตัวลักษณะความสวย ความไม่สวย นี้เป็นธรรมอะไรครับ

เป็นรูปคงไม่ใช่ แสดงว่าต้องเปนเจตสิกหนึ่งที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยรูปนั้นๆจึงปรากฏความเท่ ความน่ารัก ความสวย ความไม่สวยที่แผลกๆกัน


รูปร่างที่เห็นเป็นคน ผู้หญิง ผู้ชาย
เมื่อแตกย่อยออกแล้ว แท้จริงก็เป็นเพียงรูปธาตุต่างๆ มาประชุมรวมกันใช่มั้ยครับ
รูปธาตุ ก็มีลักษณะที่หยาบ ละเอียด ทราม ประณีต ต่างกันไปตามเหตุปัจจัย

แต่หากไม่มีจิต/เจตสิก ที่รับรู้รูปนั้น ก็ไม่มีประโยชน์อันใด
ดังนั้น ความรู้สึกว่าเท่ ว่านักรัก ว่าสวย ว่างาม ว่าน่าเกลียด ว่าน่าขยะแขยง
ก็คือความนิยมชมชอบที่แต่ละคนเห็นแล้วรู้สึกพึงพอใจ หรือไม่พึงพอใจ
หากพึงพอใจก็เป็นโลภมูลจิต ซึ่งมีโลภเจตสิกประกอบอยู่นั่นเอง
หรือหากไม่พึงพอใจ ก็เป็นโทสมูลจิต ซึ่งมีโทสเจตสิกประกอบอยู่นั่นเองครับ





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 08, 2015, 09:41:06 AM
จากผลการปฏิบัติที่เคยเห็นได้รู้สัมผัสในสมาธิ โดยเข้าสมาธิแล้วเดินทางปัญญา จะเห็นได้ว่า

กิเลส โลภะ กาม ราคะ โทสะ โมหะ ทั้งหลายมีอยู่โดย 3 ระดับ

ระดับที่รู้ว่าเกิดผัสสะ
ระดับที่รู้สภาวะธรรมจริง
ระดับที่รู้สมมติปรุงแต่งตรึกนึกคิด




หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 12, 2015, 07:27:47 PM

"เรื่องที่ห่างกรรมฐานมานาน ไม่เจริญ ศีล ทาน ภาวนามานาน แล้วเกิดนิวรณ์ กับ ขาดสติบ่อยๆมาก ใจจดจ่อได้ไม่นาน"


 ..ทางแก้หลักๆก็อยู่ที่หา "ฉันทะ" ในการปฏิบัติให้ได้นั่นแหละ เช่น ดูหนังพระพุทธเจ้า ดูสภาวะธรรมตามจริง รู้เห็นตามจริง ทั้ง 2 สิ่งนี้จะทำให้เกิดความปราโมทย์ ปิติ แล้วก็เชื่อและศรัทธาในพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก จะทำให้เรามีความตั้งใจมั่น ยินดีในการปฏิบัติด้วยจิตปราโมทย์ คือ แช่มชื่นใจ ผ่องใส เบิกบานจากกิเลส จับเอาแต่พุทโธนี้แหละ พุทโธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เราอยากให้จิตเป็นพุทโธ ก็บริกรรมพุทโธนี้แหละ พุทโธทำให้สงบรำงับจากกิเลสได้ เมื่อรู้เห็นตามนี้ จิตจะจับเอาแต่พุทโธ

 ..ว่างๆเล่นๆไม่มีไรทำก็พุทโธๆเรื่อยๆ พอมีงานก็ทำงาน มีจิตรู้ตัวว่าทำงาน รู้ตัวว่าปัจจุบันนี้ยืน เดิน นั่ง นอน รู้ทันความคิดความรู้สึกที่มีอยู่ นี่ก็เป็นสติสัมปะชัญญะที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน

 ..การรู้ลมหายใจ อานาปานสติ หรือ พุทโธ ก็ตาม คนไม่รู้ธรรมไม่ปฏิบัติจะหมิ่นธรรมนี้มากว่าเป็นสมถะบ้าง ว่าไม่ทำให้บรรลุบ้าง แต่จริงๆแล้ว 2 สิ่งนี้ มีคุณมากดังนี้ คือ

๑. "อานาปานสติ และ พุทโธ สองสิ่งนี้คือ สติ โดยตรง"..เป็นการฝึกสติสร้างสติแบบบ้านๆธรรมดาๆให้เข้าถึงมหาสติ กล่าวคือ ลมหายใจอยู่ที่ไหน..สติอยู่ที่นั่น, พุทโธ อยู่ที่ไหน ไม่หลุดไป..สติก็อยู่ที่นั่น นี่คือ..การฝึกสติโดยตรงทำให้จิตไม่ฟุ้งซ่านจับเอาความสงบเป็นกุศลแต่ได้สมาธิเครื่องกุศลมาเป็นของแถมด้วย
๒. "อานาปานสติ และ พุทโธ สองสิ่งนี้คือ ท่านยกเข้าโพชฌงค์ ๗ ได้"..ทำอานาปานสติ และ ทำพุทธานุสสติด้วยการบริกรรมพุทโธนี้ เพื่อทำให้จิตเป็นพุทโธ เมื่อจิตเป็นพุทโธแล้วคำบริกรรมพุทโธจะหายไป

 .."เพราะจิตเป็นผู้รู้เห็นถึงสมมติแล้ว จิตตื่นจากสมมติแล้ว ความคิดทั้งปวง วิตก วิจาร จึงหายไป" เมื่อวิตกวิจารหายไป จิตเป็นผู้ตื่นอยู่จากสมมติ ก็จะเห็นธรรมตามจริงในสภาวะธรรมจริง แล้วก็ให้มีสติรู้อยู่ว่าทำสมาธิ รู้ว่าเกิดสภาวะอะไรขึ้นแล้วก็ดูมันไป พิจารณาธรรมตามจริงให้เป็นปัญญา หากเราสะสมปัญญามาดีแล้วก็จะถึงวิราคะได้ เป็นผู้เบิกบานเพราะสมมติกิเลสถูกเฉือดตัดทิ้งแล้ว ถ้าตัดไม่ได้ก็ให้จำไว้ว่า..

- รู้ คือ มีสติรู้ว่านี้เราเพียงเห็นนิมิตที่จิตมันสร้างขึ้นมา แค่สิ่งหนึ่งๆที่เกิดมีขึ้นอยู่เท่านั้น
- ปกติ คือ รู้ว่านี้แค่อาการหนึ่งๆของจิตที่มีอยู่นับล้านๆแบบตามปกติเท่านั้น
- วาง คือ ปล่อยวางสิ่งที่รู้เห็น ไม่เอามายึดมั่นถือมั่นว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เห็นนั่นเห็นนี่ เว้นเสียแต่ว่าเอามาวิเคราะห์ลงในธรรมเพื่อให้เกิดปัญญาตัดสมมติกิเลส


เมื่อออกจากสมาธิ ศีล ทาน ภาวนา กุศลธรรมทั้งปวงจะมีเกิดขึ้นสังขารแก่เราเองโดยรอบเอง

แม้ไม่สามารถเข้าถึงได้ตามนี้ ก็ให้ระลึกว่า รู้ ปกติ วาง

รู้ว่า..สติ ฌาณ สมาธิ ปัญญา ก็แค่สังขาร ที่เกิดสงเคราะห์กับจิต ให้จิตเอาไว้ยึดเพื่อใช้ในกิจการงานอันควรเท่านั้น มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเป็นธรรมดา ตามปกติ..วิสัยของสังขาร และ วิญญาณ(จิต) เราจะไปบังคับให้เมันเป็นดั่งใจไม่ได้ ถ้าบังคับได้ก็คงบังคับให้มันถึงอภิญญา ๖ วิชชา ๘ ถึงสัมมาวิมุตติกันได้แล้ว แต่หาทำเช่นนั้นได้ไม่เพราะจิตไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา บังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน ตามปกติ..ของสังขาธรรม คือ ขันธ์ ๕ นั้นแหละ
แล้วก็วาง..ก็ปล่อยมันไปอย่าไปใส่ใจยึดมั่นถือมั่นให้มาก ทำำให้จิตเราเศร้าหมองเปล่าๆ พระพุทธเจ้าสอนให้ทำจิตให้ผ่องใส สว่างไสวควรยินดี (อาโลกะสัญญา) ปราศจากกิเลสนิวรณ์ ดังนั้นการที่ได้แล้วเสื่อม หรือ ทำไม่ได้นี่ ไม่ใช่มีแต่เราคนเดียว ทุกคนบนโลกก็ล้วนเป้นกันตามปกติ แม้พระพุทธเจ้าก็ยังเจอความเกิดดับ ไม่เที่ยง บังคับไม่ได้ของสังขาร

 ..เมื่อรู้ดังนี้แล้วก็ปล่อยวางความใคร่ปารถนาที่จะมี จะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่อยากจะอยู่ จะเป็นอย่างนี้ๆ ปารถนาใคร่ได้ที่จะเสพย์ในอารมณ์อาการความรู้สึกนั้นๆไปเสีย มันเป็น ภวะตัณหา วิภวะตัณหา กามตัณหา ปลงใจเสียว่า เราทำเหตุมาน้อย มันก็ได้แค่นี้แหละเป็นปกติธรรมดา ก็แค่สะสมไปเรื่อยให้มากขึ้นเท่านั้นเองเดี๋ยวพอถึงเวลาก็ได้เองแหละ สิ่งที่เราควรทำ หน้าที่ของสาวก สมมติสาวกของเราพึงจะทำได้คือ ทำเหตุให้ดี ทำสะสมไปเรื่อยๆก็พอ ทำความเพียรอยู่ โดย เพียรระวังกิเลส เพียรละกิเลส เพียรเจริญกุศล เพียรรักษากุศล ตามสติกำลังที่มี จากเล็กไปใหญ่ จากน้อย ไปมาก ให้ประจำๆ จากจำกัดเวลา ไปจนถึงเนืองๆ



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 13, 2015, 01:32:37 PM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 12/12/2558
โดยเรียนรู้จากผลกรรมฐานที่ทำมาตลอดปีที่ได้พบเจอและเรียนรู้กรรมฐานจากพระอรหันต์

ทำให้เห็นทุกข์ ได้รู้เห็นตัวทุกข์จากการกำหนดรู้
ทำให้เห็นสมุทัย รู้เห็นสมุทัยที่ควรละ
ทำให้เห็นความดับทุกข์ รู้เห็นความดับทุกข์ที่ควรทำให้แจ้ง
ทำให้เห็นทางพ้นทุกข์ที่ควรเจริญให้มาก รู้เห็นทางดับทุกข์ที่ควรทำให้มากนั้น

วิธีละวิญญานูปาทานขันธ์ หรือ อุปาทานวิญญาณ เป็นเหตุให้ละ อุปาทานขันธ์ ๕

พิจารณาเพื่อให้เห้นแนวทางและเข้าถึงความปลงใจ

             ทำจิตให้เห็นสมมติ เพราะจิตรู้สมมติ จึงจะถึงพุทโธ คือ จิตถึงความเป้นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ตามพระสัพพัญูเจ้า องสมเด็จพระบรมศาสดา ธรรมชาติของเรานี้ยึดจิตเป็นหลัก เพราะจิตเป็นตัวรู้ จิตเป็นตัวเสพย์ จิตเป็นตัวยึด ยึดอัตตาในไตรลักษณ์ก็จิตเป็นเป็นตัวยึด ยึดอัตตาว่าไม่มีตัวตนจิตก็เป็นตัวยึด คนที่ยึดอัตตาในไตรลักษณ์ ยึดอัตตาในอนัตตา ล้วนไม่เคยสัมผัสของจริงแต่เพียงจดจำตามๆกันมาเท่านั้นไม่ใช่คนรู้ธรรมจริงแต่อย่างใด ดังนั้นแล เราจะไม่อัตตาในไตรลักษณ์ ไม่อัตตาในอนัตตา เราก็ต้องเข้าถึงและเห็นของจริง คือ ให้จิตมันเห็นจริงไม่ใช่สักแต่เพียงมาตั้งอัตตาจดจำในความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน
             การที่จะให้จิตเข้าถึงของจริงแท้ จิตเดิมแท้ เราต้องรู้อุบายชำระจิตโดยตรง เพื่อให้จิตมันมีกำลังเข้าถึงปัญญาแห่งการหลุดพ้นทุกข์ ซึ่งจิต หรือ วิญญาณนี้ ก็คือดวงจิตเรานี้เอง จะอยู่ จะไป จุติที่ใด ก็ด้วยวิญญาณนี้เข้าไปยึดครองรูปขันธ์บ้าง เข้าไปอยู่ในภพภูมิต่างๆบ้าง  แต่วิญญาณเรานี้แลเราไม่สามารถบังคับได้ว่า จักให้มันไปจุติ ณ ที่นี้ๆ จะให้มันยึดเอาแต่เพียงอารมณ์นี้ จะให้มันรู้แต่ปรมัตถธรรม จะให้มันถึงวิมุติ จะให้มันมีรูปลักษณะอาการอย่างนี้ ให้มันกำกับนิมิตนี้ก็ไม่ได้ ตายจากรูปขันธ์ไป ก็บังคับให้มันจงมีรูปลักษ์ตามที่ต้องการไปอยู่ในภพภูมิดีๆก็ไม่ได้ พอตายจากรูปขันธ์ มันก็เปลี่ยนจากรูปลักษณ์เดิมไปเป็นสิ่งใหม่อื่นไปเรื่อย ดับจากรูปแบบนี้ ไปเป็นรูปแบบนั้น โน้น นี่ไปเรื่อย เกิดขึ้น แปรปรวน เปลี่ยนแปลง ดับเปลี่ยนไปเรื่อย บังคับไม่ได้เลย ให้มันคงอยู่ในความงามไม่ดับไปก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ตัวตน ดังนั้นแล วิญญาณ จึงเป็นตัวทุกข์ เป็นสมุทัย ผมอาศัยอะไรพูด.. ก็ด้วยว่าผลลัพธ์จากที่ได้เรียนรู้ตามจริงเห็นจริงตามที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนเอาไว้ว่า "จิตนี้มันเป็นตัวรู้ มันรู้หมดทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่มันไม่รู้ แต่สิ่งที่มันรู้ล้วนแต่เป็นสมมติทั้งนั้นมันไม่รู้ของจริงเลย
             ดังนั้นจิตนี้ไม่ใช่ตัวยึด เพราะจิตมันรู้แต่สมมติกิเลสเท่านั้น ไม่ควรยึดสิ่งที่จิตรู้ กิเลสมันอาศัยอายตนะ 12 หลอกให้จิตยึดจิตหลงในสมมติไหลไปตามกิเลสทั้งปวง ดังนั้นการที่จะทำให้จิตล้างของสมมติปลอมที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกจิตได้ เราก็ต้องไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ สำเหนียกว่าจิตรู้สิ่งใดล้วนเป็นสมมติกิเลสของปลอมทั้งสิ้น เห็นเป็นคน สัตว์ สิ่งของ ความตรึกนึกคิดคำนึงถึงต่างๆ ความหวนคำนึงถึง อารมณ์นั้น อารมณ์นี้ สัญญาความสำคัญมั่นหมายของใจ ความเข้าไปรู้ว่าสุข ว่าทุกข์ ว่าเฉยๆ เวทนา ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณก็สมมติ ของจริงมันไม่มีอะไรทั้งสิ้นไม่มีชื่อธาตุ ไม่มีอะไรเลย เป็นที่ว่าง มีแค่อาการที่เรารู้สึกได้ มีแค่กองอาการสภาวะธรรมหนึ่งๆเท่านั้น อันที่จิตมีปัญญาจึงจะเห็นจริงได้ ไม่ใช่จดจำอัตตาเอาว่านี่เป้นสภาวะธรรม ดังนั้นจิตที่รู้ด้วยปัญญจึงเป็นของจริง ก็เมื่อเรายังรู้เห็นแต่เพียงความคิดเท่านี้ รู้เพียงความสำคัญมั่นหมายของใจ ของจริงมันดับไปตั้งแต่ผัสสะเกิดมีขึ้นแล้ว รู้ว่านี่เป็นสุข เป็นทุกข์ มีความคิดเมื่อไหร่ก็สมมติเมื่อนั้น ดังนั้นแล้วยังจะควรยึดจิตนี้อีกหรือ ทั้งๆที่มันรู้แต่ของปลอมจนทับถมมามากแล้วไม่รู้กี่อสงไขย หลอกให้เราหลงยึดสมมติไปเรื่อยไม่สิ้นสุด ไม่ยึดจิตจึงจะไม่ยึดสมมติ ทำปัญญาความรู้เห็นตามจริงเกิดขึ้นให้จิตรู้ จิตมันก็จะไม่ยึดจับสมมติ




              เมื่อได้พิจารณาตามบทเพื่อปลงใจแล้วเราก็จะเห็นได้ว่า..ซึ่งทางเดียวที่มีอยู่นั้น ก็คือ "สักแต่ว่ารู้..ว่าจิตมันรู้สมมติเห็นสมมติอะไร รู้ว่ามันกำลังตรึกนึกคิดสมมติของปลอมเป็นไปตามกิเลสอย่างไรอยู่ก็แค่นั้น แล้วก็ปล่อยวางมันเสีย..วางเฉยต่อสิ่งที่มันรู้นั้น..ไม่ติดใจข้องแวะสิ่งไรๆเพราะมันประโยชน์เหล่าใดกับสมมติกิเลสของปลอมที่ทำให้เร่าร้อนนั้นไม่ได้เลยนอกจากทุกข์ ปล่อยผ่านเลยไปไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ทั้งปวง เพราะจิตรู้ เห็น คิดตรึกตรองสิ่งใดล้วนเป็นสมมติทั้งสิ้น" เมื่อทำเหตุนี้ๆให้มากเข้าจิตมันก็เริ่มรู้ว่าสมมติไม่มีค่า มันก็จะไม่ยึดจับเอาสมมติ แต่มันจะน้อมหาของจริงแทน หากจิตไม่ยึดสิ่งใดเมื่อจิตมันไม่มีกำลังด้วยตัวเองมันหาที่ยึดไม่ได้ มันก็จะว่างแบบโหวงๆเหวงๆ หน่วงๆ ตรึงๆจิต ด้วยธรรมชาติของจิตคือน้อมไปหาอารมณ์ หาที่ยึดเพราะจิตมันไม่มีกำลังอยู่ด้วยตัวมันเอง ซึ่งของแท้มีอยู่ในกายเรานี้แล ของแท้คือ ลมหายใจ อัสสาสะ-ปัสสาสะนี้นี่เอง เอาจิตจับที่ลมหายใจเข้า-ลมหายใจออก ลมนี่เป้นกายสังขาร เป้นสิ่งที่กายต้องการ เนื่องด้วยกาย เป็นของจริง เป็นธาตุจริง ดูลมหายใจไปตั้งไว้ปักหลักที่ปลายจมูกไปเรื่อย ดูลักษณะอาการของมันไปเรื่อยๆ






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 14, 2015, 10:42:39 AM
ชาติ คือ ความเกิด เกิดมาเพื่อเจอทุกข์ ประสบทุกข์ที่หาที่สุดไม่ได้ ต้องเกิดมาเจอความไม่สมปารถนาดั่งใจหวังต้องการ ต้องเกิดมาพบเจอสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่พอใจ เกลียด ชัง สิ่งที่ไม่น่ายินดีทั้งหลายทั้งปวงไม่มีที่สิ้นสุดตราบที่ยังชีพอยู่ ถึงแม้จะมีหรือได้ในทุกสิ่งทุกอย่างสมดังปารถนา แต่ก็ล่วงพ้นความไม่เที่ยงแท้ยั่งยืนอยู่ได้นานสุดก็แค่หมดลมหายใจเราไปไม่ได้ เพราะไม่ยึดเอาสมมติของปลอมอันเป็นสิ่งไม่เที่ยงมาเป็นสุขของตน สุดท้ายก็ต้องพรัดพรากไปไม่ด้วยกาลเวลา การดูแลรักษา สภาพแวดล้อมภายนอก สภาวะธรรมปรุงแต่งภายใน และ ความตาย ไม่มีใครจะล่วงพ้นสิ่งนี้ๆไปได้ หมายจะไปบังคับสิ่งใดให้เป็นไปดั่งใจก็ไม่ได้ จะบังคับให้สิ่งนั้น สิ่งโน้น สิ่งนี้ ขันธ์ ๕ ธาตุ ๖ สังขารภายใน สังขารภายนอก นามรูปทั้งปวงให้เป็นไปดั่งใจก็ไม่ได้ จะบังคับให้สิ่งนี้จงตั้งอยู่ตลอดไปก็ไม่ได้ จะบังคับให้สิ่งนั้นจงดับสูญไปไม่เกิดมีขึ้นก็ไม่ได้ ไม่ให้หนาว ไม่ให้ร้อน ไม่ให้หิว ไม่ให้ปวดขี้ ไม่ให้ปวดเยี่ยว ไม่ให้เหนื่อย ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ป่วย ไม่ให้เป็นโรค ไม่ให้แก่ ไม่ให้ร่างกายอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดจิตใจที่ต้องการไม่เสื่อมสูญไป ให้คงไว้แต่สิ่งที่พอใจยินดีต้องการก็ไม่ได้ จะหมายใจให้สิ่งเหล่าใด บุคคลใด สัตว์ใด ให้ทำอย่างนั้น ให้ทำอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ ให้รู้สึก ให้จดจำ ให้คิด ให้พูด ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ดังใจก็ไม่ได้ แม้แต่กาย ความรู้สึกนึกคิด และจิตใจเราของเราเองเรายังไม่สามารถจะบังคับให้มันเป็นไปตามปารถนาต้องการได้ นับประสาอะไรกับสิ่งภายนอกเหล่านั้นยิ่งไม่มีสิทธิ์จะบังคับมันได้เลย ขอให้เป็นดั่งใจ เพราะไม่มีสิ่งใดที่เป็นเรา เป็นของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ไม่ใช่ตัวตนของใคร ไม่ใช่ตัวตนของสิ่งใด

ดังนั้น ความเกิดจึงเป็นทุกข์ เพราะต้องเกิดมาเจอ ความไม่สมดั่งหวังปารถนาทั้งหลาย ความพรัดพรากจากสิ่งอันเป้นที่รักที่พอใจทั้งหลาย ความประสบสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่พอใจทั้งหลาย เป็นโรค เจ็บป่วยไข้ แก่ ชรา สุดท้ายก็ต้องตาย ความไมเที่ยงแท้ยั่งยืน ความไม่มีตัวตน สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป้นทุกข์ ดังนี้..พระพุทธเจ้า องค์พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า..แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์ เพราุะต้องเกิดมาเจอทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงดังนี้

การที่ต้องมาพบเจอ ความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ชรา โรคา พยาธิ และ ความตาย ก็เพราะมีการเกิดนี้แล ดังนั้นเหตุของ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็คือ ชาติ ความเกิดนี้แล

โรคา พยาธิ คือ ความเป็นโรค ความเจ็บไข้

ชรา คือ ความแก่

มรณะ คือ ความตาย

   ทำความเข้าใจแล้วำพิมพ์บันทึกโดยย่อเพื่อเตือนสติตนจากพระธรรมคำสอนเรื่อง สัมมาทิฐิใน เทวทูตทั้ง ๔ ของ สมเด็จพระญาณสังวร พระสังราช (เจริญ) สกลมหาสังฆปรินายก
ขอขอบพระคุณที่มาจาก ที่มา http://sammatitti.blogspot.com/2012/10/blog-post_8.html (http://sammatitti.blogspot.com/2012/10/blog-post_8.html)

ขอขอบพระคุณ เฮียนั้ม..ที่แนะนำและโพสท์ Link ให้พิจารณาศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้ครับ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 14, 2015, 01:44:58 PM
อุเบกขา คือ ความว่าง ความไม่มี อุปมาเหมือน อากาศธาตุ อันเป็นที่ว่าง ช่องว่าง ไปตลอดทางไม่มีประมาณฉันนั้น
- อุเบกขาที่จะถึงด้วยวิราคะ คือ อุเบกขาที่มีสติสัมปะชัญญะกำกับอยู่ด้วยจิตตั้งมั่นชอบ ผลของอุเบกขานี้ทำให้เกิดปัญญา เกิดญาณรู้เห็นตามจริง ซึ่งทำหน้าที่ตัดสังโยชน์
สุญญตา คือ ความดับ ความหมดสิ้น ความสูญ ความสละคืนสังขารทั้งปวง
- เป็นผลเกิดมาจากวิราคะ สัมมาวิมุตติ




เรามักจะเจอบุคคลอยู่ 2 ประเภท ที่เป็นเพียงปุถุชน แล้วศึกษาธรรมปฏิบัติของพระพุทธเจ้า คือ

1. บุคคลที่ปฏิบัติโดยส่วนเดียว
2. บุคคลที่เรียนอภิธรรมไม่ปฏิบัติ

ซึ่ง บุคคลที่ 1. มักจะบอกแก่เราว่า ไม่ต้องอ่านมากรู้มาก แม้จะอ่านแนวทางปฏิบัติของครูบาอาจารย์ หรือ จะอ่านพระสูตรการปฏิบัติ ท่านก็ว่าไม่ต้องอ่าน ไม่ต้องสวดมนต์ ไม่ต้องรับศีล รับพร แต่แปลกใจที่ท่านเหล่านั้นก็ปฏิบัติไม่ถึง และ ยังเปิดเทป เปิดยูทูป เปิดหนังสือครูบาอาจารย์ที่นับถืออ่านเช่นกัน

ซึ่ง บุคคลที่ 2 มักจะบอกว่าไม่ต้องไปลงสมถะมันติดสุข สมถะไม่ใช่ทางหลุดพ้น ไม่ต้องทำสมาธิก็เห็นจริงใจ แต่เขาเหล่านั้นไม่มีใครที่จะได้สมาธิแม้แต่ขณิกสมาธิเลย ขณิกสมาธินี้ขั้นต้นที่เราได้สัมผัสมาคือความสงบ ขณิกสมาธิละเอียดนี้ก็ตามรู้อาการที่เกิดมีขึ้นได้ แต่ยังไม่เป็นปัจจุบันขณะ ไม่เห็นลำดับ ไม่ถึงของจริงแท้ ยังปะปนกับความคิดตน ทำให้หลงนิมิตว่าจริงได้ง่าย



     ดังนั้นแลเมื่อเราพิจารณาเห็นดังนี้ ซึ่งสิ่งที่เป็นกับตัวเรานี้ เราไม่ได้เรียนอภิธรรม ไม่รู้จักและสนใจที่จะอ่านในพระอภิธรรม แต่โดยสันดกานมักที่จะเห็นจริงแล้วตั้งปณิธานไว้ว่า จะยังพระพุทธศาสนาให้อยู่ตราบสิ้นกาลนาน ครบสิ้นพุทธันดร ยังให้เกิดมีผู้ที่บารมีเต็มดีแล้วควรแก่พระนิพพาน หรือ ละสังโยชน์ได้บ้างได้รู้ตามธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนและศรัทธาในพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุดังนี้เราได้มาพิจารณาเห็นว่า

- ปริยัติ เวลาที่เราอ่านพระธรรม ส่วนมากจะเป็นของครูบาอาจารย์ พระสูตรไรๆ อ่านเรียนรู้เพื่อควมมีใจถึงธรรม มีใจตั้งมั่นในจุดมุ่งหมายเพื่อรู้ธรรมของพระพุทธเจ้าให้ยิ่งๆขึ้น ให้เห็นแนวทางปฏิบัติกรรมฐาน การวางกาย วาจา ใจ และ ถึงความปลงใจน้อมไปในธรรมอันเป็นกุศลเพื่อความหลุดพ้น

- ปฏิบัติ เวลาที่เราปฏิบัติกรรมฐาน สิ่งไรๆที่รู้มาให้ทิ้งให้หมด ให้ทำใจเป็นที่สบาย ยินดีในสมาธิ ไม่หวังปารถนาเอาสิ่งไรๆ ไม่ไปหวนระลึกคำนึกในปริยัติที่เรียนรู้จดจำมา เอาความรู้นั้นนั้นทิ้งไปให้หมด ให้จดจำเพียงว่า พระพุทธเจ้าสอนให้รู้ลมหายใจและพุทธานุสสติ ครูบาอาจารย์สอนให้อย่าทิ้งพุทโธ พุทโธคือพระพุทธเจ้า พุทโธนี้มีคุณมาก พุทโธเป็นกำลังให้จิต พุทโธนี้สลัดซึ่งกามราคะ โทสะ โมหะได้ พุทโธเป็นกรรมฐานกองใหญ่คือเป็นทั้งยอดและพื้นฐานกรรมฐาน ให้ทำพุทโธไปเรื่อยๆ ตั้งปักหลักที่ปลายจมูกระลึกไว้ว่า..

๑. ตั้งจิตมั่นที่จะปฏิบัติเพื่อเป็น พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ไม่มีอื่นนอกจากนี้อีก
๒. สิ่งสัมผัสรับรู้ในภายนอกเหล่าใด ความปรุงแต่งตรึกนึกคิดสมมติภายในเหล่าใด ล้วนสมมติ ไม่ใช่เครื่องยึด เมื่อเข้าไปเสพย์ล้วนมีแต่ทุกข์ หาสุขไรๆไม่ได้ เราอย่างไปติดใจข้องแวะทั้ง สิ่งที่รู้สัมผัสภายนอก และ ความตรึกนึกคิดสมมติกิเลสภายใน ละมันไปเสีย มันเป็นทุกข์ จิตรู้สิ่งใดล้วนเป็นสมมติทั้งสิ้น
๓. เมื่อจะทำพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ก็ต้องทำจิตให้เป็น พุทโธ คือ เป็นผู้รู้เห็นตัวสมมติ ผู้ตื่นจากตัวสมมติ ผู้เบิกบานหลุดพ้นจากความลุ่มหลงสมมติ ซึ่งของจริงที่มีอยู่ในกายเรานี้ที่รู้ได้อยู่ทุกๆขณะก็คือ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมหายใจนี้เป็นที่สงบ ลมหายใจเป็นที่สบาย ลมหายใจนี้ไม่มีโทษ ลมหายใจนี้ไม่ทำให้เร่าร้อน รู้ลมหายใจย่อมไม่มีทุกข์ดังนี้ **แม้พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า พระองค์ทรงเป็นผู้มีอานาปานสสติเป็นอันมาก คือ รู้ลมหายใจอยู่ทุกๆขณะตลอดเวลา ทรงตรัสอีกว่า ลมหายใจนี้เป็นวาโยธาตุในกายเรา เป็นกายสังขาร เป็นสิ่งที่เนื่องด้วยกาย เป็นสิ่งที่กายต้องการ เมื่อรู้ว่ามีคุณมากขนาดนี้ก็ให้เราตั้งพุทโธนี้ไว้ในใจ บริกรรมพุทโธไปตามลมหายใจ ด้วยพุทโธนี้ คือ พุทธานุสสติ คือ การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า
- ปฏิบัติโดยปักหลักไว้ที่ปลายจมูกไม่เอนเอียงหวั่นไหวไปตามลม หายใจเข้ายาว บริกรรม "พุท" , หายใจออกยาวบริกรรม "โธ" เพื่อทำจิตน้อมไปให้ถึงความเป็นพุทโธ..คือ ทำจิตให้ถึงความเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนั่นเอง




** เมื่อจิตเป็นพุทโธแล้ว คำบริกรรมจะหายไป จะเหลือแต่สภาวะที่รู้เห็นตามจริงโดยปราศจากสมมติที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกจิต ไม่มีความคิด แต่มีความแนบอารมณ์ไว้อยู่ สำเหนียกรู้อยู่ซึ่งสภาวะธรรมทั้งปวงที่เกิดมีขึ้น

** เมื่อรู้เห็นตามจริงก็จะเกิดสภาวะที่ จิตเป็นผู้ตื่น คือ จิตจะไม่ยึดจับสมมติกิเลส จิตรู้แต่ของจริงมันจะไม่จับยึดสมมติกิเลสไรๆ จะปักหลักแต่ลมหายใจเท่านั้นจิตจะน้อมไปแต่ ศีล ทาน ภาวนา สมาธิ มีสติสัมปะชัญญะสังขารโดยรอบ มีปัญญา ศรัทธาในพระพุทธเจ้า เป็นอันมาก จิตสำนึกรู้ซึ่งกฏแห่งกรรม บาป บุญ คุณ โทษ ตามจริง จิตจะไม่ติดใจข้องแวะสิ่งไรๆเลย เพราะจิตมันรู้ว่าสมมติกิเลสมันหาประโยชน์ไรๆไม่ได้นอกจากทุกข์

** เมื่อจิตถึงความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น จิตจะไม่ติดใจข้องแวะในสิ่งไรๆทั้งสิ้น ความคิดแทบจะไม่มี มีแต่รู้ปัจจุบัน และตั้งมั่นอยู่ที่ลมหายใจเท่านั้น เมื่อคิดก็จะเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์มีเนกขัมมะวิตกเป็นอันมาก กิเลสย่อมเข้ามาปะปนไม่ได้ แม้จะมีรายล้อมให้จิตรู้ แต่จิตจะก็ไม่จับยึดเอาทั้งสิ้นจะเห้นเป็นแต่เพียงสภาวะธรรมหนึ่งๆเกิดมีขึ้นอยู่เท่านั้น ไม่มีค่า ไม่ใส่ใจยินดี มีสติสัมปะชัญญะสังขารโดยรอบแต่กุศลตลอดเวลา เป็นผู้ไม่มีทุกข์อีก จิตใจแจ่มใส เบิกบาน เพราะไม่ยึดสมมติ ไม่ติดคิด ไม่เร่าร้อนต่ออารมณ์เพราะไม่ติดใจข้องแวะให้เกิดมี ราคะ โทสะ โมหะ นี่เรียกว่าถึงความเป็นผู้เบิกบานแล้ว
  - แต่ข้อระวังในอารมณ์นี้คือ คนส่วนมากเมื่อถึงอารมณ์นี้มักจะหลงยึด ว่าตนรู้แล้วเห็นจริงสูงกว่าดีกว่าผู้อื่น ผู้อื่นด้อยกว่า เห็นเขาพูดคุยเล่นกันก็มองว่าคนอื่นไม่ทำไม่ปฏิบัติ ไปเพ่งโทษคนอื่นเอาเสียได้ ตีตนเสมอผู้อื่น ถือตัวว่าดีกว่าผู้อื่น อันนี้เป็นอุปกิเลสทั้งนั้น ด้วยเหตุดังนี้จงระวังอย่าให้จิตมันหลอกจิตทำสัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณ มรรคญาณให้เป็นอุปทานเป็นกิเลสตัณหาไป แทนที่จะต่อยอดสิ่งที่มีที่เกิดขึ้นนั้นของตนให้มันดี ดังนั้นเมื่อถึงสภาวะนี้ให้รู้ว่า อารมร์ความรู้สึกทั้งปวงสักแต่เป็นเพียงสังขาร มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เสื่อมไปอยู่ทุกขณะ ไม่เป็นที่ควรแก่การยึดมั่นถือมั่น ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน บังคับไม่ได้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตน..[/i]
  - พึงจำคติของพระสารีบุตรเมหาเถระ และ พระราหุลมหาเถระ เอาไว้ว่า เราเป็นเพียงผู้ไม่รู้ สิ่งที่เรารู้นี้ช่างน้อยนัก แค่เพียงเศษเสี้ยวธุลีที่ท่านผู้รู้และพระพุทธเจ้า พระสงฆ์สาวกทั้งปวงท่านรู้เท่านั้น เรายังปฏิบัติมาน้อยเห็นมาน้อย ต้องทำให้อย่างนี้ๆให้ยิ่งๆขึ้นไปอีก ธรรมของพระพุทธเจ้ามีมากเท่าเม็ดทรายบนโลกนี้เราจักเรียนรู้ให้มากเป้นผู้พหูสูตร จะรู้ธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและจากครูบาอาจารย์ทั้งหลายให้มากประมาณเท่าเม็ดทรายบนโลกนี้..
  - ดังนั้นเมื่อมันเกิดอยู่นี้ ให้จดจำว่ามันมีคุณอย่างไรๆ ควรแก่น้อมนำมาเจริญให้ถึงอยู่เนืองๆหรือไม่ และในขณะที่อารมณ์นี้เกิด จิตจะเป็นสมาธิง่ายมาก แค่หายใจเข้าตั้งปักหลักที่ปลายจมูกรู้ลมเข้าผ่ายโพรงจมูกเข้าจากเบื้องหน้ามาภายในก็ถึงสมาธิแล้ว ให้สืบต่อให้จิตเป็นฌาณ แล้วเข้าออกฌาณ รู้วสีฌาณได้ ทบทวนคือย้อนพิจารณาว่าเราปฏิบัติเป็นมาอย่างไร สะสมเหตุอย่างไร ทำใจไว้อย่างไรๆ พิจารณาอย่างไรจึงเข้ามาตรงนี้ได้ เผื่อเมื่อเสื่อมจะได้กลับมาเจริญใหม่ได้ เพราะมันเพียงแค่โลกียะฌาณเท่านั้น ทิ้งความเบิกบานในโลกียะฌาณ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในโลกียะฌาณ




ดังนั้นจากประสบการเรียนรู้ประฏิบัิตโดยตรงของเราสรุปได้ดังนี้ว่า

๑. ปริยัติ รู้เพื่อปลง, รู้แล้ววาง
๒. ปฏิบัติ ทำเพื่อเข้าถึงของจริง, วางทิ้งทั้งหมดแล้วทำ






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 17, 2015, 11:59:48 AM

บันทึกกรรมฐานวันที่ 16 ธันวาคม 2558 เรื่อง อายตนะ ๑๒ ผัสสายตนะ ๖ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตน

   วันนี้เราได้หวนระลึกในหนังพระพุทธเจ้าตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐี ก่อนตาย ท่านสอนเรื่อง อายตนะ ๑๒ ผัสสายตนะ ๖ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเราจะเห็นมากในพระสูตร แต่ไม่เคยเข้าใจลึกซึ่ง จักเอามาพิจารณาได้แค่เพียงเบื้องต้นโดยบัญญัติให้คลายราคะลงบ้างเช่น ผู้หญิงที่เราเห็น ที่เรากระสัน เขาไม่ใช่ของเรา ไม่ได้เกิดมาเพื่อเรา ดังนั้นอย่าหมายใจปารถนาในเขาเลย (อนภิชฌา)แล้วปลงใจเสียที่จะฝักใฝ่หมายใจใคร่ได้กระสันในเขา ตั้งอยู่ทำเหตุที่ปัจจุบันว่าเราแค่เห็นคนนี้ๆ สิ่งนี้ๆ ผ่านไป ผ่านมา อยู่ในอิริยาบถนั้นๆ ไม่มีเกินนี้ แต่จิตมันไปคิดสมมติเกินเลย อย่าไปให้ความสำคัญในสมมติ อย่าติดสมมติของปลอม เราทำอยู่อย่างนี้ๆเสมอมา **แต่ไม่เคยเข้าใจว่า ทำไมพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า สฬายตนะ จักษุก็ดี โสตะก็ดี ฆานะก็ดี ชิวหาก็ดี กายก็ดี ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตน
    จนมาในวันนี้ได้ทำสมาธิก่อนไปงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งได้อธิษฐานว่าขอให้เราได้เห็นและเข้าถึงดั่งพระราชนิพนธ์ที่องค์สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (เจริญ สุวัฑฒโน) ท่านเข้าถึงแล้วได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้
    แลในขณะนั้นสาวๆสวนๆงดงามทั้งนั้นเดินผ่านไปมาชิดใกล้เสียดสีเราบ้างก็มี เราก็เกิดความกระสัน จึงได้มองไปที่พระเมรุแล้วอธิษฐานแล้วทำสมาธิขณะยืนรอถวายดอกไม้จันทร์อยู่นั้น พร้อมกับมองคนใดก็ตามที่มองแล้วเราเกิดกำหนัด พลันก็ได้เห็นสมดังปารถนาขณะที่เกิดความสงบใจว่า สฬายตนะ จักษุก็ดี โสตะก็ดี ฆานะก็ดี ชิวหาก็ดี กายก็ดี ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตน โดยอุปมาตามความเข้าใจของเราได้ดังนี้ว่า..

นาย ก. ข. .ค ง. จ. เป็นนายทวารเฝ้าอยู่ประตู ณ ทางห้าแพร่งล้อมรอบเมือง แล้วมี..นาย ฉ. เป็นนายทวารหอคอย ณ ป้อมปราการอยู่คอยแลดูสิ่งที่เกิดมีขึ้นอยู่ท่ามกลางทาง ๕ แพร่งนั้น ทำหน้าที่คอยเข้าไปตรวจสอบรับ-ส่งข่าวสารที่นายทวารเฝ้าประตูทั้ง ๕ ทิศได้รับรู้เหตุการณ์ ส่งไปให้พระราชารู้

นาย ก.ก็ดี นายข.ก็ดี นายค.ก็ดี นายง.ก็ดี นายจ.ก็ดี ทั้งห้าคนนี้ เมื่อมีใครรู้สิ่งใดเหตุการณ์ใดๆขึ้น นาย ฉ. ก็จะรู้เห็นด้วยว่ามีเหตุการณ์อะไรอะไรเกิดขึ้น ณ ประตูนั้นๆ พร้อมควบม้าเร็วเข้าไปดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางประตูนั้นๆ จากนั้น นาย ฉ. ก็จะนำข่าวที่ได้มารวบรวมเรียบเรียงลงบันทึกเอาสิ่งที่นาย ก. หรือ ข. หรือ ค. หรือ ง. หรือ จ. รู้เห็น ไปบอกให้พระราชารู้ พระราชาก็จะทำการพิจารณาตรึกตรองตามสิ่งที่นาย ฉ. บอกไปพร้อมดูข้อมลในสานส์ที่ได้รับรู้มาจากนาย ฉ. นั้น..ดังนี้แล

    อุปมา..เปรียบเหมือน..

- เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประตูทาง ๕ แพร่งให้ นาย ก., นาย ข., นาย ค., นาย ง., นาย จ. รู้เหตุการณ์ ณ ที่นั้น คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฐัพพะ เป็นของภายนอก ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา

- เปรียบประตูเหล่านั้นคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย..ประตูทั้ง ๕ ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตนของเรา สักแต่เป็นช่องทางเปิดรับสิ่งต่างๆที่จะมีมาในทางนั้นๆเท่านั้น

- ส่วน นาย ก., นาย ข., นาย ค., นาย ง., นาย จ. ที่เฝ้าประตูทั้ง ๕ ก็คือ วิญญาณทางทวารทั้ง ๕ ได้แก่

๑. จักขุวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางตา)

๒. โสตวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางหู)

๓. ฆานวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางจมูก)

๔. ชิวหาวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางลิ้น)

๕. กายวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางกาย)

**ผู้ที่รู้สิ่งต่างๆทางประตูทั้ง 5 ก็คือนายทวาร ก. ข. ค. ง. จ. ทั้ง ๕ คนที่รู้ ซึ่งรู้เหตุการณ์ ณ ที่นั้นแล้วก็จบเรื่องราวที่รู้ ณ ที่นั้น..ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตนของเรา**


- ส่วนนาย ฉ. ผู้เฝ้าสังเกตุการณ์แลดูอยู่หอคอยกลางทาง ๕ แพร่งนั้น ก็คือ ใจ หรือ มโนวิญญาณ

๖. มโนวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางใจ) รู้ ไม่ใช่เราที่รู้

**ผู้ที่คอยแลดูอยู่บนหอคอยป้อมปราการกลางทาง ๕ แพร่ง ผู้ที่คอยขี่ม้าเร็วเข้าไปรับรู้ข่าวสารเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนายทวารที่เฝ้าอยู่ประตูทั้ง ๕ แพร่ง ก็คือนาย ฉ. ไม่ใช่เราที่รู้ ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตน แล้วนาย ฉ. ก็นำเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมเขียนบันทึกเรียบเรียงสำนวนแล้วมาแจ้งให้พระราชารู้ แล้วก็กลับไปป้อมปราการดังเดิม ไม่อยู่บอกเล่าอะไรที่เกิดขึ้นนอกจากทิ้งสาร์นไว้ให้อ่าน

- ส่วนพระราชาที่เป็นเจ้าเมืองอยู่รอรับข่าวสารนั้น ก็คือ จิต นั่นเอง

** เพราะพระราชาเป็นใหญ่ในเมือง เป็นผู้ที่รู้หมดสิ้นทุกสิ่งที่เกิดมีขึ้นในเมืองโดยไม่ต้องเข้าไปรู้ในเหตุการณ์จริงนั้นๆเอง ได้แต่รอให้นาย ฉ. บันทึดกสานส์ส่งมาให้รู้เท่านั้น โดยที่ไม่เคยรู้เลยว่าสานส์จาก นาย ฉ. ที่เขียนมารายงายนั้นนั้นเป็นของจริงหรือของปลอม จงลุ่มหลงว่าตนนี่รู้มากเป็นใหญ่รู้หมด มีแต่คนคอยรับใช้ก็มักจะลุ่มหลงในบทความที่นาย ฉ. ส่งมาให้ทั้งๆที่ไม่ได้รู้เห็นเหตุการณ์จริงด้วยตัวเอง จนคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นตน ฉันนั้นแล

ดังนั้นวิญญาณขันธ์ หรือวิญญาณทางทวารทั้ง ๖ ทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตน


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 18, 2015, 10:04:07 PM
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

๑๐. จูฬสาโรปมสูตร
อุปมานักบวชกับผู้แสวงหาแก่นไม้


             [๓๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก
เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พราหมณ์ชื่อปิงคลโกจฉะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ครั้นแล้ว ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว
จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม
สมณพราหมณ์พวกนี้ เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ
ชนเป็นอันมาก สมมติว่าเป็นคนดี คือ ปูรณกัสสป มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ
สัญชัยเวลัฏฐบุตร นิครนถ์นาฏบุตร พวกนั้นทั้งหมดรู้ยิ่งตามปฏิญญาของตนๆ หรือทุกคนไม่รู้ยิ่ง
เลย หรือว่าบางพวกรู้ยิ่ง บางพวกไม่รู้ยิ่ง.
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อย่าเลย พราหมณ์ ข้อที่ว่าพวกนั้นทั้งหมดรู้ยิ่งตามปฏิญญา
ของตนๆ หรือทุกคนไม่รู้ยิ่งเลย หรือว่าบางพวกรู้ยิ่ง บางพวกไม่รู้ยิ่งนั้น จงงดไว้เถิด เราจัก
แสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงฟังธรรมนั้น จงกระทำไว้ในใจให้ดี เราจักกล่าว ปิงคลโกจฉพราหมณ์
ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว.
             [๓๕๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการ
แก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลย
กระพี้ ละเลยเปลือก ละเลยสะเก็ดไปเสีย ตัดเอากิ่งและใบถือไป สำคัญว่าแก่น บุรุษผู้มีจักษุเห็น
เขาผู้นั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ไม่รู้จักแก่น ไม่รู้จักกระพี้ ไม่รู้จักเปลือก ไม่รู้จัก
สะเก็ด ไม่รู้จักกิ่งและใบ จริงอย่างนั้น บุรุษผู้เจริญนี้ มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้
เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ ละเลยเปลือก
ละเลยสะเก็ดไปเสีย ตัดเอากิ่งและใบถือไป สำคัญว่าแก่น และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของ
เขา จักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา หรืออีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้
แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลย
กระพี้ ละเลยเปลือกไปเสีย ถากเอาสะเก็ดถือไป สำคัญว่าแก่น. บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาผู้นั้นแล้ว
พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ไม่รู้จักแก่น ไม่รู้จักกระพี้ ไม่รู้จักเปลือก ไม่รู้จักสะเก็ด
ไม่รู้จักกิ่งและใบ จริงอย่างนั้น บุรุษผู้เจริญนี้ มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยว
เสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ ละเลยเปลือกไป
เสีย ถากเอาสะเก็ดถือไป สำคัญว่าแก่น และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขาจักไม่สำเร็จ
ประโยชน์แก่เขา. หรืออีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหา
แก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ไปเสีย
ถากเอาเปลือกถือไป สำคัญว่าแก่น. บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาผู้นั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษ
ผู้เจริญนี้ ไม่รู้จักแก่น ไม่รู้จักกระพี้ ไม่รู้จักเปลือก ไม่รู้จักสะเก็ด ไม่รู้จักกิ่งและใบ จริง
อย่างนั้น บุรุษผู้เจริญนี้ มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อ
ต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ไปเสีย ถากเอาเปลือกถือไป สำคัญว่าแก่น
และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขา จักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา. หรืออีกอย่างหนึ่ง เปรียบ
เหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มี
แก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่นไปเสีย ถากเอากระพี้ถือไป สำคัญว่าแก่น. บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาผู้นั้น
แล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ไม่รู้จักแก่น ไม่รู้จักกระพี้ ไม่รู้จักเปลือก ไม่รู้จัก
สะเก็ด ไม่รู้จักกิ่งและใบ จริงอย่างนั้น บุรุษผู้เจริญนี้ มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหา
แก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่นไปเสีย ถากเอากระพี้
ถือไป สำคัญว่าแก่น และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขา จักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา. หรือ
อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้
อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ตัดเอาแก่นนั้นแหละถือไป รู้อยู่ว่าแก่น. บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขา
ผู้นั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ รู้จักแก่น รู้จักกระพี้ รู้จักเปลือก รู้จัก
สะเก็ด รู้จักกิ่งและใบ จริงอย่างนั้น บุรุษผู้เจริญนี้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้
เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ตัดเอาแก่นนั่นแหละถือไป รู้อยู่ว่าแก่น
และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขาจักสำเร็จประโยชน์แก่เขา ฉันใด.
             [๓๕๕] ดูกรพราหมณ์ ฉันนั้นเหมือนกันแล กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธา
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ท่วมทับแล้ว ถูกความทุกข์ท่วมทับแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า
ไฉนหนอ ความกระทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏ. เขาบวชอย่างนั้นแล้ว ยังลาภ
สักการะและความสรรเสริญให้บังเกิดขึ้น. เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยม ด้วยลาภสักการะ
และความสรรเสริญนั้น. เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญอันนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นว่า
เรามีลาภสักการะและความสรรเสริญ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ ไม่ปรากฏ [หรือมีคนรู้จักน้อย] มี
ศักดาน้อย. อนึ่ง เขาไม่ยังฉันทะให้เกิด ไม่พยายาม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่า
และประณีตกว่า ลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อน ท้อถอย
เปรียบเหมือนบุรุษคนนั้น ที่มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่
เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ ละเลยเปลือก ละเลยสะเก็ดไปเสีย
ตัดเอากิ่งและใบถือไป สำคัญว่าแก่น และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขา จักไม่สำเร็จ
ประโยชน์แก่เขา ฉันใด. ดูกรพราหมณ์ เราเรียกบุคคลนี้ว่า มีอุปมาฉันนั้น
             [๓๕๖] ดูกรพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพ-
*ชิต ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
ท่วมทับแล้ว ถูกความทุกข์ท่วมทับแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ไฉนหนอ ความกระทำที่สุด
แห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏ. เขาบวชอย่างนี้แล้ว ยังลาภสักการะและความสรรเสริญให้
บังเกิดขึ้น. เขาไม่มีความยินดี มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญ
นั้น. เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญอันนั้น. เขายังฉันทะให้
เกิด พยายาม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่า และประณีตกว่า ลาภสักการะและ
ความสรรเสริญ ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย. เขาย่อมยังความถึงพร้อมแห่ง
ศีลให้สำเร็จ. เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยม แล้วด้วยความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น. เพราะ
ความถึงพร้อมแห่งศีลอันนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นว่า เรามีศีล มีกัลยาณธรรม ส่วนภิกษุอื่น
นอกนี้ เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม. อนึ่ง เขาไม่ยังฉันทะให้เกิด ไม่พยายาม เพื่อทำให้แจ้งซึ่ง
ธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่า และประณีตกว่าความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติ
ย่อหย่อน ท้อถอย. เปรียบเหมือนบุรุษคนนั้น ที่มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้
เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ ละเลยเปลือก
ไปเสีย ถากเอาสะเก็ดถือไป สำคัญว่าแก่น และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขา จักไม่สำเร็จ
ประโยชน์แก่เขา ฉันใด. ดูกรพราหมณ์ เราเรียกบุคคลนี้ว่า มีอุปมาฉันนั้น.
             [๓๕๗] ดูกรพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิต ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
ท่วมทับแล้ว ถูกความทุกข์ท่วมทับแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ไฉนหนอ ความกระทำ
ที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏ. เขาบวชอย่างนั้นแล้ว ยังลาภสักการะและความ
สรรเสริญให้บังเกิดขึ้น. เขาไม่มีความยินดี มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ด้วยลาภสักการะและความ
สรรเสริญนั้น เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญอันนั้น. อนึ่ง
เขายังฉันทะให้เกิด พยายาม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่า และประณีตกว่า ลาภ
สักการะและความสรรเสริญนั้น ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย. เขาย่อมยัง
ความถึงพร้อมแห่งศีลให้สำเร็จ. เขามีความยินดีด้วยความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น แต่มีความ
ดำริยังไม่เต็มเปี่ยม. เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความถึงพร้อมแห่งศีลอันนั้น. อนึ่ง เขายัง
ฉันทะให้เกิด พยายาม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่า และประณีตกว่า ความ
ถึงพร้อมแห่งศีลนั้น ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย. เขาย่อมยังความถึงพร้อม
แห่งสมาธิให้สำเร็จ. เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยม ด้วยความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น
เพราะความถึงพร้อมแห่งสมาธิอันนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นว่า เรามีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์
เป็นอันเดียว ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิดแล้ว. เขาไม่ยังฉันทะให้เกิด
ไม่พยายาม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่า และประณีตกว่าความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น
ทั้งเป็นผู้ประพฤติย่อหย่อน ท้อถอย. เปรียบเหมือนบุรุษนั้นที่มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหา
แก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ไปเสีย
ถากเอาเปลือกถือไป สำคัญว่าแก่น และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขา จักไม่สำเร็จประโยชน์
แก่เขาฉันใด. ดูกรพราหมณ์ เราเรียกบุคคลนี้ว่า มีอุปมาฉันนั้น.
             [๓๕๘] ดูกรพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิต ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส อุปายาส
ท่วมทับแล้ว ถูกความทุกข์ท่วมทับแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ไฉนหนอ ความกระทำที่สุด
แห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏ. เขาบวชอย่างนั้นแล้ว ยังลาภสักการะและความสรรเสริญให้
บังเกิดขึ้น เขาไม่มีความยินดี มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญ
นั้น. เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น. อนึ่ง เขายังฉันทะ
ให้เกิด พยายาม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่า และประณีตกว่า ลาภสักการะและ
ความสรรเสริญนั้น ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย. เขาย่อมยังความถึงพร้อม
แห่งศีลให้สำเร็จ. เขามีความยินดีด้วยความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น แต่มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม.
เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความถึงพร้อมแห่งศีลอันนั้น. อนึ่ง เขายังฉันทะให้เกิด
พยายาม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่า และประณีตกว่า ความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น
ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย เขาย่อมยังความถึงพร้อมแห่งสมาธิให้สำเร็จ.
เขามีความยินดีด้วยความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น แต่มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม. เขาไม่ยกตน ไม่
ข่มผู้อื่น เพราะความถึงพร้อมแห่งสมาธิอันนั้น. อนึ่ง เขายังฉันทะให้เกิด พยายาม เพื่อทำให้
แจ้งซึ่งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่า และประณีตกว่า ความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น ทั้งเป็นผู้มีความ
ประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย. เขาย่อมยังญาณทัสสนะให้สำเร็จ. เขามีความยินดี มีความ
ดำริเต็มเปี่ยม ด้วยญาณทัสสนะอันนั้น. เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นว่า เรารู้
เราเห็น ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ ไม่รู้ไม่เห็นอยู่. อนึ่ง เขาไม่ยังฉันทะให้เกิด ไม่พยายาม เพื่อทำ
ให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่า และประณีตกว่าญาณทัสสนะนั้น ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติ
ย่อหย่อน ท้อถอย. เปรียบเหมือนบุรุษคนนั้น ที่มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยว
เสาะหาแก่นอยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่นไปเสีย ถากเอากระพี้ถือไป สำคัญว่าแก่น
และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขา จักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา ฉันใด. ดูกรพราหมณ์ เรา
เรียกบุคคลนี้ว่า มีอุปมาฉันนั้น.
             [๓๕๙] ดูกรพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ท่วมทับ
แล้ว ถูกความทุกข์ท่วมทับแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ไฉนหนอ ความกระทำที่สุดแห่ง
กองทุกข์ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏ. เขาบวชอย่างนั้นแล้ว ยังลาภสักการะและความสรรเสริญให้
เกิดขึ้น. เขาไม่มีความยินดี มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น.
เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญอันนั้น. อนึ่ง เขายังฉันทะให้
เกิด พยายาม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่า และประณีตกว่า ลาภสักการะและความ
สรรเสริญนั้น ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย. เขาย่อมยังความถึงพร้อม
แห่งศีลให้สำเร็จ. เขามีความยินดีด้วยความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น แต่มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม
เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความถึงพร้อมแห่งศีลอันนั้น. อนึ่ง เขายังฉันทะให้เกิด
พยายาม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่า และประณีตกว่า ความถึงพร้อมแห่งศีล
นั้น ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย. เขาย่อมยังความถึงพร้อมแห่งสมาธิ
ให้สำเร็จ. เขามีความยินดีด้วยความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น แต่มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม
เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความถึงพร้อมแห่งสมาธิอันนั้น. อนึ่ง เขายังฉันทะให้เกิด
พยายาม เพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่า และประณีตกว่า ความถึงพร้อมแห่ง
สมาธินั้น ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย เขาย่อมยังญาณทัสสนะให้
สำเร็จ. เขามีความยินดีด้วยญาณทัสสนะนั้น แต่มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม. เขาไม่ยกตน
ไม่ข่มผู้อื่น เพราะญาณทัสสนะอันนั้น. อนึ่ง เขายังฉันทะให้เกิด พยายาม เพื่อทำให้แจ้ง
ซึ่งธรรมเหล่าอื่นยิ่งกว่า และประณีตกว่า ญาณทัสสนะนั้น ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่
ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย. ดูกรพราหมณ์ ก็ธรรมที่ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ญาณทัสสนะเป็น
ไฉน? ภิกษุในพระศาสนานี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก
มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่. แม้ธรรมข้อนี้ ก็ยิ่งกว่าและประณีตกว่าญาณทัสสนะ.
             อีกข้อหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่. แม้ธรรมข้อนี้ ก็
ยิ่งกว่าและประณีตกว่าญาณทัสสนะ.
             อีกข้อหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป
บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข.
แม้ธรรมข้อนี้ ก็ยิ่งกว่าและประณีตกว่าญาณทัสสนะ.
             อีกข้อหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌานไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับ
โสมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่. แม้ธรรมข้อนี้ ก็ยิ่งกว่าและประณีตกว่า
ญาณทัสสนะ.
             อีกข้อหนึ่ง เพราะล่วงเสียซึ่งรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะปฏิฆสัญญาดับไป
เพราะไม่ใส่ใจซึ่งนานัตตสัญญา ภิกษุย่อมบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน ด้วยพิจารณาว่า
อากาศหาที่สุดมิได้. แม้ธรรมข้อนี้ ก็ยิ่งกว่าและประณีตกว่าญาณทัสสนะ.
             อีกข้อหนึ่ง เพราะล่วงเสียซึ่งอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุย่อมบรรลุ
วิญญาณัญจายตนฌาน ด้วยพิจารณาว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้. แม้ธรรมข้อนี้ ก็ยิ่งกว่าและ
ประณีตกว่าญาณทัสสนะ.
             อีกข้อหนึ่ง เพราะล่วงเสียซึ่งวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุย่อมบรรลุ
อากิญจัญญายตนฌาน ด้วยพิจารณาว่า น้อยหนึ่งไม่มี. แม้ธรรมข้อนี้ ก็ยิ่งกว่าและประณีตกว่า
ญาณทัสสนะ.
             อีกข้อหนึ่ง เพราะล่วงเสียซึ่งอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุย่อม
บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน. แม้ธรรมข้อนี้ ก็ยิ่งกว่าและประณีตกว่าญาณทัสสนะ.
             อีกข้อหนึ่ง เพราะล่วงเสียซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุย่อม
บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ. เพราะเห็นด้วยปัญญาของเธอ อาสวะทั้งหลายย่อมสิ้นไป. แม้ธรรมข้อนี้
ก็ยิ่งกว่าและประณีตกว่าญาณทัสสนะ. ดูกรพราหมณ์ ธรรมเหล่านี้แล ที่ยิ่งกว่าและประณีตกว่า
ญาณทัสสนะ.
             เปรียบเหมือนบุรุษคนนั้นที่มีความต้องการแก่น แสวงหาแก่น เที่ยวเสาะหาแก่นอยู่
เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ตัดเอาแก่นนั้นแหละถือไป รู้อยู่ว่าแก่น และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้
แก่นของเขา จักสำเร็จประโยชน์แก่เขา ฉันใด. ดูกรพราหมณ์ เราเรียกบุคคลนี้ว่า มีอุปมา
ฉันนั้น.
             [๓๖๐] ดูกรพราหมณ์ ดังพรรณนามาฉะนี้ พรหมจรรย์จึงมิใช่มีลาภสักการะและความ
สรรเสริญเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความถึงพร้อมแห่งศีลเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความถึงพร้อมสมาธิ
เป็นอานิสงส์ มิใช่มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ พรหมจรรย์นี้มีเจโตวิมุติอันไม่กำเริบ เป็น
ประโยชน์ เป็นแก่น เป็นที่สุด.
             เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ปิงคลโกจฉพราหมณ์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่
คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยประสงค์ว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉันใด ธรรมที่
พระองค์ทรงประกาศแล้วโดยอเนกปริยาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน. ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระองค์กับ
พระธรรมและภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึง
พระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.

จบ จูฬสาโรปมสูตร ที่ ๑๐
จบ โอปัมมวรรค ที่ ๓

-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรในวรรคนี้
                          เรื่องพระโมลิยะภัคคุนะ เรื่องภิกษุชื่ออริฏฐะ
                          เรื่องอันธวัน เรื่องพระปุณณะ นิวาปสูตร
                          ปาสราสิสูตร จูฬหัตถิปโทปมสูตร มหาหัตถิ
                          ปโทปมสูตร มหาสาโรปมสูตร จูฬสาโรปม
                          สูตร.

-----------------------------------------------------


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 20, 2015, 08:54:36 PM

20/12/58 เมื่อจิตไม่ตั้งมั่น

ตั้งแต่หลังเข้าพรรษามาเรายินดีในศีลมาตลอด จึงตั้งมั่นในศีล แต่ไม่ได้ทำสมาธิเลย นานๆถึงจะนั่งบ้าง หรือ เพ่งกสินไฟและอาโลกสัญญาก่อนนอนบ้าง จะมีก็เจริญสติไปเรื่อย ใช้ขณิกสมาธิพิจารณาธรรม เป้นเหตุให้จิตตั้งมั่นไม่พอทำให้จิตไม่เกิดกุศลัปัญาฉลาดในการปล่อยวางเรื่องราวต่างๆ เป็นเหตุให้เข้าไปยึดจับเอาทุกสิ่งมาเป็นที่ตั้งแห่งจิต จนเกิดอุปกิเลส และ การกระทำที่เป็นไปตามสมมติกิเลสเป็นอันมาก ซึ่งเกิดทุกข์มากๆ จึงได้เข้าสมาธิ พิจารณาให้ปลงใจ เพราะห่างสมธิมานานได้มากสุดก็แค่ความสงบกับเห็นวสีเข้าสมาธิลางๆเท่านั้น ซึ่งได้แค่ขณิกสมาธิ คือ ความสงบใจเท่านั้น แต่ก็ยังพอยกขึ้นพิจารณากิเลสได้ โดยเห็นโดยเนกขัมมะวิตกได้ดังนี้



     ก. ครั้งนั้นได้เกิดอารมณ์ที่ปลงใจด้วยกุศล ทำให้เห็นว่า

    เมื่อคราที่เราไม่ติดใจข้องแวะในสิ่งไรๆ ไม่เกิดความน่าใครน่าปารถนาในสิ่งไรๆ ไม่ตรึงตราใจในอารมณ์ เพราะจิตไม่ยึดอารมณ์ไรเวทนาอันใด ไม่มีความติดตรึงน้อมในอารมณ์ไรๆ ไม่เกิดความกำหนัดหมายใจฝักใฝ่ใคร่เสพย์ในอารมณ์ ความเร่าร้อน ความทุกข์ ความกระสันเงี่ยน ความโกรธแค้นผูกเวรผู้กแค้น มีใจคิดเบียดเบียน ร้อนรุ่ม เร่าร้อน ลุ่มหลงในอารมณ์สมมติที่เกิดจากอุปกิเลส คือ ความคิดนั้นนั้นก็ไม่มีเลย มันสบาย เบา ผ่องใส ปราโมทย์ อิ่มเอิบ เป็นสุขด้วยความสงบใจจากกิเลสนั้น



     ข. ย้อนหวนคำนึงถึงเมื่อตอนก่อนจะปลงใจจากกิเลสนั้น มันทุกข์จริงๆ

- แค่ได้เห็นผู้หญิงที่เราสำคัญว่า สวยเซ็กซี่ ขาว ใส่ชุดอันวิจิตรที่ให้เห็นรูปทรงส่วนต่างๆชัดเจน..ก็ติดใจข้องแวะร้อมรุ่มกระสันหมายใจฝักใฝ่ที่จะได้เสพย์เมถุนกับเขาจนทนไม่ไหว
- แค่ได้ยินเสียงผู้หญิงก็ฟังสำเนียงด้วยสำคัญใจว่า เซ็กซี่..ก็ติดใจข้องแวะมันคิดไปถึงเสียงในกามเมถุน แล้วก็เงี่ยนกระสัน ถูกราคะกลุ้มรุมอย่างแรงมันร้อนรุ่มกระสันจนทนไม่ไหว
- แค่ได้กลิ่มน้ำหอมจากหญิงที่้เราสำคัญว่า สวยเดินสวนทางกัน..ก็ติดใจข้องแวะร้อมรุ่มกระสันผูกใจใคร่เสพย์อยากสูดดม
- แค่ได้สัมผัสถูกต้องกายหญิงที่เราสำคัญใจไว้งาม..ก็ติดใจข้องแวะ มันก็ร้อมรุ่มกระสันอยากจะสัมผัสไปทั่วร่างเขา อยากลูบไล้เสพย์เมถุนกับเขา ทำให้กระสันอย่างมาก

- แค่ได้เห็นบุคคลหรือสิ่งไรๆที่เราสำคัญว่า ไม่พอใจยินดีเขา ไม่ชอบ เกลียดชัง ก็ติดใจข้องแวะด้วยความขุ่นข้องขัดเคืองใจ เร่าร้อนผูกความขัดเคืองใจ จนมีจิตเบียดเบียนหมายใจอยากทำลายให้สิ่งนั้นบุคคลเหล่านั้นจงฉิบหายไปเสีย
- แค่ได้ยินเสียงบุคคลหรือสิ่งไรๆที่เราสำคัญว่า ไม่พอใจยินดีเขา ไม่ชอบ เกลียดชัง ก็ติดใจข้องแวะด้วยความขุ่นข้องขัดเคืองใจ เร่าร้อนผูกความขัดเคืองใจ จนมีจิตเบียดเบียนหมายใจอยากทำลายให้สิ่งนั้นบุคคลเหล่านั้นจงฉิบหายไปเสีย
- แค่ได้กลิ่มบุคคลหรือสิ่งไรๆที่เราสำคัญว่า ไม่พอใจยินดีเขา ไม่ชอบ เกลียดชัง ก็ติดใจข้องแวะด้วยความขุ่นข้องขัดเคืองใจ เร่าร้อนผูกความขัดเคืองใจ จนมีจิตเบียดเบียนหมายใจอยากทำลายให้สิ่งนั้นบุคคลเหล่านั้นจงฉิบหายไปเสีย
- แค่ได้ลิ้มรสอาหารหรือสิ่งไรๆที่เราสำคัญว่า ไม่พอใจยินดี ไม่ชอบ ก็ติดใจข้องแวะด้วยความขุ่นข้องขัดเคืองใจ เร่าร้อนผูกความขัดเคืองใจ จนมีจิตเบียดเบียนหมายใจอยากทำลายให้สิ่งนั้นบุคคลเหล่านั้นจงฉิบหายไปเสีย
- แค่ได้สัมผัสบุคคลหรือสิ่งไรๆที่เราสำคัญว่า ไม่พอใจยินดีเขา ไม่ชอบ เกลียดชัง ก็ติดใจข้องแวะด้วยความขุ่นข้องขัดเคืองใจ เร่าร้อนผูกความขัดเคืองใจ ไม่อยากพบเจอ อยากจะผลักหนีให้ไกลตน จนมีจิตเบียดเบียนหมายใจอยากทำลายให้สิ่งนั้นบุคคลเหล่านั้นจงฉิบหายไปเสีย

นี่น่ะทำให้เห็นเลยว่า นี่มันทุกข์จริงๆ ทุกเพราะอุปนิสัยความคิดทั้งสิ้น ทั้งๆที่มันก็แค่สมมติเอาสิ่งที่เป็นอดีตผ่านไปแล้ว ทำให้เหมือนเกิดขึ้นอยู่ ณ เบื้องหน้าปัจจุบัน หรือ คิดสมมติปรุงแต่งสืบต่อจากสิ่งที่รู้อารมณ์ให้เป็นไปตามอุปนิสัยวันดานตาม ราคะ โทสะ โมหะของตน หรือ คิดปรุงไปใรอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ไม่ใช่ปัจจุบันเลยทุกข์ก็เพราะคิด เพราะติดในสมมติกิเลสนี่แหละ



จากเหตุการณ์นี้เราจึงได้หวนพิจารณาว่า จะทำไฉนหนอถึงจะหลุดพ้นจากความทุกข์เหล่านี้ไปได้ ก็ได้พิจารณาเห็นว่า

จากเหตุการณ์นี้เราจึงได้หวนพิจารณาว่า จะทำไฉนหนอถึงจะหลุดพ้นจากความทุกข์เหล่านี้ไปได้ ก็ได้พิจารณาเห็นว่า

ความสุข อันหาประมาณมิได้นั้น คือ โลกุตระ แล้วสุขในโลกียะ ก็มาจาก.. ➠ ความไม่ติดใจข้องแวะยินดียินร้ายในสิ่งไรๆทั้งปวง

ความไม่ติดใจข้องแวะในสิ่งไรๆทั้งปวง ก็มาจาก.. ➠ ความไม่คิดปรุงแต่งสมมติสืบต่อ แค่เพียงสักแต่ว่ารู้เท่านั้น

ความไม่คิดปรุงแต่งสมมติสืบต่อ แค่เพียงสักแต่ว่ารู้ ก็มาจาก.. ➠ ความฉลาดในการปล่อยวางนั่นเอง

ความฉลาดในการปล่อยวาง ก็มาจาก.. ➠ กุศลจิต กุศลธรรมนั่นเอง

กุศลจิต ก็มาจาก.. ➠ อุบายเครื่องกุศล คือ คิดชอบ คิดออกจากทุกข์ จิตมีพรหมวิหาร ๔ เว้นจากการเบียดเบียนด้วยศีล ทาน คือ ละอภิชฌา ความละโมบ ยินดี อยากได้ไปทั่วไม่เว้นแม้บุคคลและสิ่งของของผู้อื่น โทมนัส ความคิดเบียดเบียน ความยินร้ายผูกแค้นเคืองหมายใจทำร้ายเขาให้ฉิบหาย มีความสละให้ผู้อื่นไม่เห็นแก่ตัว ไม่ลุ่มหลงหวงแหนลุ่มหลงในสิ่งที่ปรนเปรอตน อบรมจิตด้วยภาวนา คือ สติ สมาธิ ปัญญา

พรหมวิหาร ๔ ศีล ทาน ภาวนา ก็มาจาก.. ➠ การทำเหตุแห่งกุศลบารมีให้ดี

อีกประการหนึ่ง..ทบทวนกลับไปกลับมา ก็ได้พิจารณาเห็นแน่ชัดอีกว่า ความไม่ติดใจข้องแวะ ฉลาดในการปล่อยวาง ล้วนมาจาก สติ สมาธิ ปัญญา กล่าวคือ

ความสุข อันหาประมาณมิได้นั้น คือ โลกุตระ แล้วสุขในโลกียะ ก็มาจาก.. ➠ ความไม่ติดใจข้องแวะยินดียินร้ายในสิ่งไรๆทั้งปวง

ความไม่ติดใจข้องแวะในสิ่งไรๆทั้งปวง ก็มาจาก.. ➠ ความไม่คิดปรุงแต่งสมมติสืบต่อ แค่เพียงสักแต่ว่ารู้เท่านั้น

ความไม่คิดปรุงแต่งสมมติสืบต่อ แค่เพียงสักแต่ว่ารู้ ก็มาจาก.. ➠ ความฉลาดในการปล่อยวาง คือ กุศลจิตนั่นเอง

กุศลจิต หรือ ความฉลาดในการปล่อยวาง ก็มาจาก.. ➠ ความที่จิตไม่เสพย์ไม่ยึดในอกุศลวิตก

ความที่จิตไม่เสพย์ไม่ยึดในอกุศลวิตก ก็มาจาก.. ➠ จิตที่ตั้งมั่นชอบ คือ จิตตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียน จิตตั้งอยู่ด้วยความไม่ลุ่มหลงเสพย์สิ่งสมมติของปลอม
(เพราะจิตตั้งมั่นชอบเรียกได้ว่า จิตเป็นพุทโธ จะมีสติสัมปะชัญญะสังขารโดยรอบล้างความหมายรู้อารมณ์ที่เป็นไปในอกุศล ละความสำคัญมั่นหมายใจที่เป็นไปในอกุศล ไม่วิตกจริตฟุ้งเฟ้อ แยกจิตตัวรู้ กับสังขารปรุงแต่งจิต ทำให้จิตไม่มีความหดหู่ ฟุ้งซ่าน)

สัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นชอบด้วยกุศล ก็มาจาก.. ➠ อุบายเครื่องกุศล คือ คิดชอบ คิดออกจากทุกข์ด้วยมีสติเป็นเบื้องหน้า ไม่มีสติหลงลืมไปตามสมมติกิเลส มีสติสังขารด้วยโดยรอบให้จิตตั้งอยู่ใน พรหมวิหาร ๔, เว้นจากการเบียดเบียนด้วย ศีล ทาน คือ ละอภิชฌา ความละโมบ ยินดี อยากได้ไปทั่วไม่เว้นแม้บุคคลและสิ่งของของผู้อื่น โทมนัส ความคิดเบียดเบียน ความยินร้ายผูกแค้นเคืองหมายใจทำร้ายเขาให้ฉิบหาย มีความสละให้ผู้อื่นไม่เห็นแก่ตัว ไม่ลุ่มหลงหวงแหนลุ่มหลงในสิ่งที่ปรนเปรอตน, อบรมจิตด้วยภาวนา คือ สติ สมาธิ ปัญญา (อุบายเครื่องกุศลทั้งปวง ล้วนมีสติเป็นเบื้องหน้าทั้งหมด ทำให้จิตจดจ่อตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ด้วยกุศล)

พรหมวิหาร ๔ ศีล ทาน ภาวนา ที่ทำให้เกิด สัมมาสมาธิ ก็มาจาก.. ➠ การทำเหตุสะสมในอุบายแห่งกุศลทั้งปวง

การทำเหตุแห่งกุศลบารมีให้ดีทำได้จากการ อบรม กาย วาจา ใจ ดังนี้

 ๑. ทำจิตให้หัดเสพย์หัดรู้อารมณ์แต่ปัจจุบันขณะ ไม่ตรึกนึกคิดสมมติสืบต่อจากปัจจุบันที่รู้อารมณ์อยู่นั้น จนเป็นอุปนิสัย,
 ๒. มีสติ+สัมปะชัญญะ,
 ๓. มีความพอใจรักใคร่ยินดีความตั้งใจ ตั้งจิตมุ่งมั่นใน ศีล ทาน มีพรหมวิหาร ๔ คลุม,
 ๔. มีความเพียรในธรรมเครื่องกุศลที่ทำให้เฉลาดในการปล่อยวาง ไม่เหลาะแหละ เพียรระวังอกุศลไม่ให้เกิดมีขึ้น เพียรละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรเจริญกุศลให้เกิดมีขึ้น เพียรรักษากุศลคงไว้ไม่ให้เสื่อม ทำจิตให้ผ่องใสสว่างไสวดุจดวงประทีป อาโลกะสัญญา มีจิตปราศจากนิวรณ์,
 ๕. ภาวนาอบรมจิตด้วยความมีสติสัมปะชัญญะเป็นเบื้องหน้าในปัจจุบัน
 ๖. ภาวนาอบรมจิตด้วยการเจริญสมาธิในกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง,
 ๗. ภาวนาอบรมจิตด้วยปัญญาในธรรมโดยหมั่นไตร่ตรองพิจารณาลงในธรรมด้วยการมีจิตตั้งมั่นเข้าไปรู้จากสภาพจริงที่เกิดขึ้นโดยปราศจากความคิด แต่ถ้าหากตัดคิดไม่ได้ก็ให้ใช้ปัญญาทางโลกด้วยวืเคราะห์ไตร่ตรองในความจำได้หมายรู้ความสำคัญมั่นหมายของใจไรๆให้เห็นในผล และ เห็นถึงเหตุ โดยกำหนดรู้ทุกข์จากมัน จากความรู้สมมติจากอารมณ์เหล่านั้นก็ดี จากความคิดก็ดี จากการกระทำไรๆทางกายและวาจาก็ดี หวนระลึกถึงความเป็นมาที่ทำให้ผลอันเป็นทุกข์เกิดมีขึ้นนั้น ให้รู้เห็นในสิ่งที่ควรละ แล้วเพียรตัด ถาก ขุด ที่รากเหง้าของมันออกมาให้สิ้นไป
 ๘. เห็นแจ้งสภาวะธรรม ความดับสิ้นไม่มีสมมติกิเลส พิจารณาเห็นสาเหตุที่ทำให้เราเข้าถึงความไม่เสพย์ ไม่หลง ไม่ยึดในสิ่งเหล่าใดที่ทำให้กายใจเราเร่าร้อนไม่สงบสุข จนเห็นทางทำเหตุเพื่อถึงความดับความพ้นทุกข์ที่เกิดมีอยู่นั้น มีความพอใจยินดี ตั้งใจไม่่กลับกลอกเหลาะแหละในทางปฏิบัติอันสะสมเหตุที่ดับจะสมมติกิเลสเหล่านั้น แล้วทำเหตุนั้นให้มาก อย่าไปสนใจผล จนเมื่อมันอิ่มมันเต็มมันก็จะกลายเป็น อุปนิสัย ไปจนถึงบารมีแก่เราเอง.





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 25, 2015, 12:17:40 AM
พระพุทธเจ้า และ พระอรหันต์สาวกทั้งปวง ย่อมเทศนาให้เราปลงใจให้ได้ก่อน โดยให้เราเห็นทุกข์ เห็นความยากเข็ญลำบากในสิ่งที่เราลุ่มหลงสมมติ ยึดมั่นถือมั่นอยู่ เพื่อให้จิตเรามันอ่อนควรแก่งานแล้วปลงใจ มีใจใฝ่ธรรมเครื่องกุศล มีใจน้อมไปในธรรมเพื่อหลุดพ้นจากทุกข์ เมื่อจิตอ่อนควรแก่งานดังนี้ท่านจึงค่อยสอนกรรมฐาน ที่ท่านไม่เทศกรรมฐานเลยนั้นเพราะเหตุนี้ๆซึ่งเป้นเหตุให้นำพาผู้คนปลงใจลงใน ศีล ทาน ภาวนา ได้เป็นอันมาก แต่คนที่ไม่รู้ มักไม่เห็นค่า เพราะคิดว่าเป็นเปลือกไม่ใช่แก่น แต่หากไม่รู้ว่านี้คือ ใบ นี้คือกิ่ง นี้คือกรัพี้ นี้คือลำต้น นี้คือแก่น ก็สำคัญว่าสิ่งนั้นสิ่งโน้นสิ่งนี้เป็นแก่นไปทั่ว ซึ่งคนหมู่นี้มักจะไม่มีศีล หรือทำได้บ้างไม่ได้บ้าง หรือไม่ทำเลย ไม่มีทาน หรือทำบ้างไม่ทำบ้าง หรือไม่ทำเลย แต่บ้าภาวนาโดยการจดจำ ซึ่งไม่ใช่ภาวนาด้วยความปล่อยวางปลดเปลื้องให้ถึงปัญญา


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 25, 2015, 02:11:47 AM

กรรมฐานวันที่ 25 ธันวาคม 2558 ทางเจริญธรรมคู่อันงาม ทมะ อุปสมะ

จากการปฏิบัติกรรมฐานทั้งปวง เราได้ใครครวญเสมอๆว่า ทมะ อุปสมะคืออะไร เหตุทำอย่างไร เข้าอย่างไร ถึงอย่างไร จนแจ้งชัดขึ้นมาบ้างตามที่ปุถุชนผู้มีปัญญาน้อยอย่างเราจะเข้าถึงได้ว่า ธรรมพระพุทธเจ้ามี ๓ ระดับ ขั้นต้น ขั้นกลาง และที่สุด

ขั้นต้นของ ทมะ อุปสมะ อยู่ที่ เมตตา ศีล ทาน


ขั้นกลางของ ทมะ อุปสมะ อยู่ที่ จาคะ สมาธิในพรหมวิหาร ๔ (พรหมวิหาร ๔ ทั่วไปไม่ใช่เจโตวิมุตติ)



ส่วนในขั้นสุดที่ปัญญหาแห่งปุถุชนไม่ถึงของจริงอย่างพระอริยะท่าน จะพอรู้เห็นได้ในโลกียะฌาณ ซึ่งมีทั้งจริงบ้างปลอมบ้าง และปฏิบัติให้ผลได้บ้างแล้ว แต่จิตก็ยังกลับกลอกกลับมายึดกิเลสเหมือนเดิมอยู่โดยยังไม่สิ้นไป คือ "สติ เจตนา มนสิการ สมาธิ ปัญญา วิมุตติ" ดังนี้

ทมะ     :   มีอาการที่เจตนาเข้าไปทำใจไว้ในอารมณ์แห่งกุศล ทำไว้ในใจถึงกุศล ทำไว้ในใจโดยแยบคายถึงความไม่ยึด ความไม่ติดใจข้องแวะในสิ่งไรๆทั้งภายนอกทั้งภายใน ความว่าง เป็นที่ว่าง ความไม่มี
มีสติตั้งอยู่เป็นเบื้องหน้า ขันติ โสรัจจะ ให้สติสังขารอยู่โดยรอบ

อุปสมะ  :   ความสิ้น ความดับ ความสละคืน เป็นผลอันเกิดจากทมะนั้น
มีสมาธิ ปัญญา วิราคะ วิมุตติ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดผล




การเพ่งกสินแสง อาโลกกสิน อาโลกสัญญา

เอาจิตกำหนดนิมิตความจำได้ในวงแสง จับที่วงแสงสว่าง ดวงแก้ว แสงไฟที่สว่างไสว แต่ให้จิตเพ่งที่ประกายแสงที่ทอออกมาจากดวงแสงสว่างนั้นๆเท่านั้น ด้วยรู้ว่านี้คือแสง บริกรรม อาโลกังกสินัง แสงๆ หรือทำไว้ในใจให้รู้ว่าแสงก็ได้


**แต่หากทำอาโลกสัญญาในอิทธิบาท ๔ คือ จิตที่สว่างไสว ให้นึกถึงดวงจิตที่สว่างไสวเป็นสีทองเป็นประกายจ้าที่เราเคยเห็นในสมาธิ หากลืมแล้วระลึกไม่ได้แล้ว ก็ให้เอาจิตกำหนดรูปที่จำได้ถึงที่ดวงแก้ว ดวงไฟ หลอดไฟสปอร์ตไลท์สีขาวหรือเหลืองทอง ดวงดาว ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ที่สว่างไสว แล้วเพ่งในอารมณ์นั้นไปเรื่อยๆ เอาจิตเพ่ง ทำว่าจิตเรานี้แหละปกติสว่างไสวเป็นเหมือนดวงไฟที่สว่างไสวนั้น เวลาเราใช้จิตเพ่งเรากำหนดทำอยู่ 2 จุดที่เป็นสติ คือ

1. หลับตามองออกไปที่เบื้องหน้ากำหนดระลึกถึงดวงไฟที่สว่างไสวนั้น

2. หลับตากำหนดว่าจิตเป็นดวงไฟ เอาจิตเพ่งดวงไปสภาวะที่สติจับเป็นฐานที่อาศัยจิตคือเหนือสะดือขึ้นมานิดหน่อย สังเกตุรู้โดยจุดพักลม จุดที่ลมผัสสะที่ท้องที่รู้สึกได้ในอานาปานสติ

3. กำหนดว่าดวงไฟที่สว่างไสวเหล่านั้นคือ ดวงจิต คือ มโน คือ ปฏิสนธิวิญญาณของเรา ที่ปกติมันสว่างไสวเพราะไม่มีกิเลส อาศัยกิเลสที่จรมาให้หม่นหมองเหมือนหมอกบังจันทร์ ดังนั้นก็ทำให้ดวงจิตนั้นสว่างไสว คือ กำหนดดวงไฟนั้นแหละเอาจิตจับจำเพาะดวงไฟที่สว่างไสวนั้นโดยไม่สน ไม่ยึดความคิดทั้งปวง กิเลสทั้งปวง พึงตั้งว่าจิตไม่มีกิเลส ดวงจิตจึงสว่างไสว ทำใจให้ไม่มีกิเลสนิวรณ์ก็คือเอาจิตจับแต่ดวงไฟที่สว่างไสวเท่านั้น ไม่ทำให้ดวงไฟนั้นหม่นหมอง ทำไปเรื่อยๆ บ้างดวงไฟแยยกร่างย้ายไปมุมบน ล่าง ซ้าย ขวา หรือซ้อนกัน ก็แค่ให้รู้ ทำใจให้เฉยรู้แค่เป้นดวงแสง มันจะไปที่ไหนก็ช่างก็คือดวงจิตที่สว่างไสว คือดวงแสง แต่ไม่เอาจิตวิ่งไปตามมัน ปักหลักตัวรู้ไว้กับที่ มันจะเกิด จะดับก็ช่างมัน ปักหลักตัวรู้ให้อยู่กับที่ไว้ เดี๋ยวมันก็ปรากฏมาใหม่เอง อยู่เบื้องหน้าเลย ภาวะนี้ถ้าจิตวูบ มันดิ้งลงไปในนิมิต รู้แต่อยู่ไม่มีความคิดเหมือนคลับคล้ายคลับคลาลางๆ เหมือนจะจำอะไรไม่ได้ เหมือนจะวูบไห เหมือนจะหลัง จะดิ่งไปในนิมิตก็ช่างมันปล่อยมันไปให้สุดนั้นแหละ มันจะเข้าฌาณเอง






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 04, 2016, 08:47:05 AM

อินทรีย์สังวร ว่าด้วย สติ สัมปะชัญญะ ลงใน สัมมัปปธาน ๔

สติ ทำให้เกิดขึ้นเป็นอินทรีย์สังวร ควบคุมใจในปัจจุบันขณะ มีความรู้อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเป็นปัจจุบันในเบื้องหน้า อยู่ด้วยความสักแต่ว่า คลุมจิตอยู่ให้ถึงความปลงใจ ปล่อยวาง ไม่เอาอารมณ์ความรู้สึกไรๆมาปรุงแต่งสมมติเสพย์ความตรึกนึกคิดสมมติไปทั่วให้ทวีคูณกิเลสตัณหาสมมติกิเลสอกุศลธรรมทั้งปวง คือ

รู้อารมณ์ความรู้สักนึกคิดสมมติปรุงแต่งไรๆทางใจ..ก็สักแต่ว่า..รู้ว่ามีอารมณ์ความรู้นึกคิดปรุงแต่งอย่างนั้นๆขึ้นในใจ รู้ว่าเป็นอกุศลธรรมเหล่าใด ก็ให้สักแต่ว่ารู้ว่าอกุศลธรรมเหล่านั้นมีเกิดขึ้นแก่ตน ยังคงมีอยู่ในตน ยังคงมีมากหรือน้อยในตน ไม่ได้ให้รู้เพื่อเศร้าหมองกายใจ ไม่ได้ให้รู้เพื่ออัดอั้นคับแค้นกายใจ ร่ำไรรำพัน ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ แต่ที่ให้รู้ว่ามีอกุศลเกิดขึ้น มีมาก หรือ น้อยในตนนั้นก็เพื่อให้รู้ว่า..เรานั้นยังคงมีกิเลสตัณหาอกุศลธรรมทั้งปวงนี้มากอยู่ มีกิเลสเหล่าใดมาก เกิดขึ้นบ่อยๆที่ควรปหานก่อน มีกิเลสเหล่าใดน้อย หรือที่ยังหลงเหลืออยู่ที่ต้องขจัดให้สิ้นไป แลเพื่อให้รู้ว่า..เหตุเรายังทำไม่พอ หรือ ทำไม่ถูกจุด ไม่ถูกที่ ไม่ถูกทาง ยังไม่เห็นทางเข้า ยังไม่แม่นวสี ยังโออนอ่อนอยู่ ยังคล้อยตามกิเลสอยู่ ยังติดหลงในสมมติอยู่ ยังทำไว้ในใจยังไม่เป็น จิตยังมีกำลังไม่พอต่อสู้กับกิเลสที่ทับถมอยู่ในจิตมานับล้านๆอสงไขยให้สิ้นไปได้ ทำให้รู้ว่า..เรายังต้องเพียรเจริญสะสมในเหตุอีกมาก ด้วยความไม่หวั่นไหว ไม่เอนเอียงโอนอ่อนให้กิเลสมัน ด้วยทำความเพียรประครองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ให้มั่นที่จะขจัดกิเลสไม่หลงเสพย์ ไม่ติดใคร่ในสมมติกิเลสทั้งปวง ให้ถึงความดับ ความไม่มีกิเลส เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานตามพระทศพล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดา

สัมปะชัญญะ ทำให้เกิดขึ้นเป็น อินทรีย์สังวร ควบคุมกาย วาจา ในปัจจุบันขณะ มีความรู้ตัวเป็นปัจจุบันในเบื้องหน้า อยู่ด้วยความสักแต่ว่า คือ

ได้เห็น..ก็สักแต่ว่า..เห็น.. คือ เมื่อเห็นก็รู้เพียงว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นๆ คืออะไร กำลังทำกิจการงานใด ดำเนินไปอย่างไร มีอิริยาบถไรๆอยู่เในปัจจุบันท่านั้น ..ส่วนเรานี้ก็มองย้อนมาดูว่าเรากำลังอยู่อย่างไรทำกิจการงานไรๆอยู่ กำลังดำเนินไปอย่างไร มีอิริยาบถอย่างไรในปัจจุบัน ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องยุ่งเกี่ยวสัมพันธ์ สัมผัสไรๆกับเขา แต่จิตเรานี่แหละมันคิดเกินความจริงเกินสิ่งที่รู้เห็นมันติดคิดสมมติในราคะจึงเงี่ยนกระสันคิดไปถึงเมถุน จึงมองเขาโดยนิมิต มองด้วยอนุพยัญชนะ ..สิ่งที่เราเห็นตรึงตราใจอยู่นั้นๆ มันก็แค่เพียงสิ่งหนึ่งๆที่มีอยู่นับล้านๆที่กระตุ้นความเสวยอารมณ์ปั่นคนอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ให้ฟุ้งกระจายขึ้นมาประดุจพายุให้จิตหลงเสพย์ อาศัยความจำได้หมายรู้อารมณ์ ความสำคัญมั่นหมายของใจในอารมณ์อันเป็นไปในราคะต่อสิ่งที่เรารับรู้อยู่นั้นๆ สร้างความตรึกนึกติดใคร่มาให้เราหลงยึดเสพย์สมมติ หมายใจใคร่กระสันเงี่ยน เป็นทุกข์
ดังนั้นเราก็ต้องทำเหตุให้รู้เพียงปัจจุบันรู้ว่า..
๑. ปัจจุบันนั้นๆห็นอะไร รูปลักษณ์อย่างไร สีอะไร(สีผม สีผิว สีเสื้อผ้า) เขากำลังทำกิจการงานใด อยู่ในอิริยาบถไรๆเท่านั้น อยู่ใกล้ อยู่ไกลกับเรา
๒. รู้ว่าตนตรึกนึกคิดสืบต่อสมมติ ติดสมมติอะไรใคร่กระสันตรงไหนอย่างไร ก็ละคสามผูกใจหมายใจ สำคัญใจไว้ต่อสมมตินั้นๆไปเสีย หรือ เมื่อรู้ว่าตนคิดสืบต่อสมมติเป็นไปในราคะ ก็ให้มีสติเป็นเบื้องหน้า หายใจเข้ายาว-หายใจออกยาว บริกรรมระลึกถึง พุทโธ ทำจิตน้อมไปถึงความเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ของพระสัพพัญญูเจ้า ให้เราได้ถึงตามคุณนั้นของท่าน หรือ ตั้งจิตพิจารณาใน อาการ ๓๒ บ้าง ม้างกายออกดูว่ามีตัวตนเราเขาในอาการนั้นๆไหมจนเห็นความไม่มีเราหรือเขาในนั้น ในนั้นไม่มีเราหรือเขา หรือ กำหนดนิมิตระลึกถึงดวงจิตที่ปกติสว่างไสวแต่ต้องมัวหมองอับแสงเพราะกิเลสที่จรมาก็ให้ปักหลักดวงจิตนั้นไว้ตั้งมั่นปักไว้ไม่เอนเอียงไปติดสมมติกิเลสขัดล้างทำจิตให้สว่างไสวดุจดวงอาทิตย์ ลักษณะของแสงคือ ส่องสว่าง เป็นประกาย ไม่มืดมิด แม้กลางวัน แม้กลางคืน
๓. รู้อารมณ์ตามจริง ของจริง อาการจริง โดยไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ อุบายว่าจิตรู้สิ่งใดล้วยนเป็นสมมติทั้งหมด ทำจิตประดุจอากาศอันเป็นที่ว่างไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีประมาณบ้าง, อุปสมานุสสติ โดยทำไว้ในใจไม่เสพย์สิ่งที่จิตรู้แล้วตั้งจิตมั่นอยู่ในความไม่มีบ้าง ,วิราคะสัญญา นิโรธสัญญา ตือ ความดับสิ้นกิเลสบ้าง ความสละคืนบ้าง

ได้ยิน..ก็สักแต่ว่า..ได้ยิน...

ได้กลิ่น..ก็สักแต่ว่า..ได้กลิ่น...

ได้รู้รส..ก็สักแต่ว่า..ได้รู้รส...

ได้รู้สัมผัสทางกาย..ก็สักแต่ว่า..รู้สัมผัสทางกาย...


สติ และ สัมปะชัญญะ ท่านอาศัย..ทำความชอบใจ ความพอใจ ความใฝ่ใจยินดีในกุศลความปล่อยวาง ไม่ติดใจยินดี,ไม่ติดใจข้องแวะในบาปอกุศลเพื่อความพ้นทุกข์ให้เกิดมีขึ้น แล้วพยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ ปฏิบัติให้เกิดมีขึ้น

๕. สัมมัปปธานสังยุต
ว่าด้วยสัมมัปปธาน ๔


[๑๐๙๐] สาวัตถีนิทาน. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายแล้วตรัส
ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมัปปธาน ๔ เหล่านี้ สัมมัปปธาน ๔ เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุในธรรมวินัยนี้

- ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้
- เพื่อไม่ให้บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น ๑
- เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๑
- เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น ๑
- เพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความมียิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์
เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมัปปธาน ๔ เหล่านี้แล.


[๑๐๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคาไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ทิศปราจีน บ่า
ไปสู่ทิศปราจีน แม้ฉันใด ภิกษุเจริญสัมมัปปธาน ๔ กระทำให้มากซึ่งสัมมัปปธาน ๔ ย่อมเป็น
ผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๑๐๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเจริญสัมมัปปธาน ๔ กระทำให้มาก ซึ่งสัมมัปปธาน ๔ อย่างไรเล่า ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้
เพื่อไม่ให้บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น ๑ เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๑ เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น ๑ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความมียิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อความ
ไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุเจริญสัมมัปปธาน ๔ กระทำให้มากซึ่งสัมมัปปธาน ๔ อย่างนี้แล ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน
โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน.

ปาจีนนินนสูตร ๖ สูตร สมุททนินนสูตร ๖ สูตร ๒ อย่าง เหล่านั้น
อย่างละ ๖ สูตร รวมเป็น ๑๒ สูตร เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าวรรค (พึงขยายความคังคาเปยยาลแห่งสัมมัปปธานสังยุต ด้วยสามารถสัมมัปปธาน)



จบ วรรคที่ ๑


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 04, 2016, 07:44:53 PM


บันทึกกรรมฐาน วันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๙
วันนี้เป็นวันครบรอบวันตายของ เตี่ยกิมคุณ เบญจศรีวัฒนา ครบ ๓ ปี

วิธีดูลมหายใจในการเจริญสมาธิ ด้วยพุทโธ และ อานาปานสติ
(ทำให้มีขึ้น เกิดมีขึ้นซึ่งจิตตั้งมั่น)

   อานาปานสติ คนทั่วไปมักจะเพ่งเอาแต่ลมเข้าลมออกเท่านั้น แม้จะปักหลักจุดไว้ที่ปลายจมูก หรือที่หว่างคิ้ว หรือที่กระหม่อม หรือที่โพรงสมองกวง หรือที่ท้ายทอย หรือที่คอ หรือที่หน้าอก หรือที่ท้องก็ตาม แต่ส่วนตัวจำเพาะเราแล้วได้เจริญปฏิบัติคิดพิจารณาทบทวนจากผลโดย โดยสัญญาความจำได้หมายรู้ ความสำคัญมั่นหมายของใจ ที่พิจารณาเห็นมีสติรู้อยู่เมื่อตอนเข้าฌาณสมาธิ ได้บ่อยๆนั้น มันไม่ได้เพ่งลมเข้าออกอย่างนั้น แต่จิตมันเพ่งรู้ผัสสะที่ลมแรกเข้าแล้วดูที่ปลายลมเมื่อสุดลมหายใจเข้า เพ่งรู้ผัสสะที่ลมแรกออกแล้วดูที่ปลายลมหายใจออก

การเจริญที่พอจะจำได้มีดังนี้

- ดูอาการลมที่หายใจเข้า.. ต้นลมมันผ่านแตะกระทบสัมผัสที่ปลายจมูก มีอาการลักษณะที่ตรึงเคลื่อนไหวเข้าโพรงจมูก ปลายลมสุดที่ไหน ลมหายใจเข้าก็สุดที่นั่น
- ดูอาการลมที่หายใจออก ต้นลมมันผ่านโพรงจมูกไป มีอาการลักษณะที่ตรึงเคลื่อนไหวแตะกระทบสัมผัสปลายจมูกด้านใน ปลายลมสุดที่ไหน ลมหายใจออกก็สุดที่นั่น
- การทำจิตให้เป็นปกติ ไม่ต้องเกร็ง ไม่ต้องกลัวจะเจอหรือไม่ได้นั่นนี่ ไม่ต้องตั้งหวังตั้งท่าทรอหรืออยากที่จะเจอสภาวะนั้นๆสภาวะนี้ ทำจิตทำใจให้ประดุจเหมือนสักแต่เป็นผู้รู้ผู้อยู่แต่ไม่มีหน้าที่จะเข้าไปสั่งการหรือไปทำไรๆทั้งสิ้น นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะพึงทำได้ เช่น ไม่ว่าเราจะคัน จะเจ็บ จะปวด จะวูบสาบเหมือนหล่นจากที่สูง เสียปี๊ดขึ้นเหมือนจะขาดใจตาย จะเอนเอียงโยกเยก จะหลับ จะผงก หรือไรๆก็ตาม ให้พึงระลึกรู้ว่าเราทำได้แค่สักแต่ว่ารู้อาการที่เกิดมีขึ้นเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ไปสั่งการบังคับทำอะไรได้ แล้วก็รู้ลมหายใจเข้าออกและบริกรรมพุทโธเพื่อให้จิตมีกำลังต่อไป จนเมื่อจิตมีกำลังและชินกับการสักแต่รู้อาการมันก็จะไม่หวั่นไหวไปตามอาการไรๆที่เกิดขึ้น มันจะทำหน้าที่แค่ดู แค่รู้ ตามรู้ แลดูอยู่เท่านั้น ทำกายให้พร้อมเป็นปกติอยู่ที่ลมหายใจ อยู่ที่การหายใจ กำหนดลมหายใจเข้ายาว ออกยาว อยู่ประจำ จะทำให้กายเป็นปกติ จิตและกายเป็นที่สบายตั้งมั่นง่าย



- สมถะกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง หลวงพ่ออเสถียร ธิระญาโน ท่านสอนเมื่อเราไปกราบนมัสการท่านประมาณวันที่ 28-29 ธันวาคม 2558 และ ได้ร่วมสมทบทุนสร้างวัด วัดป่าโศกขามป้อม พร้อมนำข่าวสารบุญนี้ไปบอกให้แก่ญาติสนิท มิตรสหายทั้งหลายได้ร่วมกันทำบุญสมทบทุนสร้างวัดด้วยกันได้เงินมาจำนวนหนึ่งภายในเวลาประมาณ 1 ชม. ซึ่งคำสอนของหลวงพ่อตามที่เราพอจะจดจำได้โดยสัญญาว่า มีไว้เพื่อให้จิตเข้าความปล่อยวาง ความไม่มี ให้จิตได้พัก เป็นที่พักจิต จิตนี้มันทำงานอยู่ตลอดเวลาไม่เคยได้หยุดพักเลย กรรมฐานมีไว้เพื่อความไม่มี ไม่เสพย์ ไม่ยุ่งของจิต ให้จิตได้พัก ทำให้จิตมีกำลังมากพอที่จะรู้เห็นของจริง เข้าถึงความไม่มี ความดับ ความสูญ เกิดปัญญาเป็นกำลังแก่วิปัสสนาสืบไป





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 08, 2016, 11:58:35 AM
สรุปหัวข้อการล้างราคะสัญญาที่มีต่ออารมณ์ที่รู้ไรๆ คือ

๑. ลม
๒. สัมปะชัญญะ
๓. อิริยาบถ
๔. สมมติ



แนวทางการเจริญปฏิบัติเมื่อดำรงชีวิตประจำวันได้ดังนี้

๑. สติ รู้ทันความปรุงแต่งจิต คือ รู้ว่าเสพย์สมมติกิเลสของปลอมอยู่ คือ
ก. รู้ว่าเกิดความตรึกนึกคิดคำถึงถึงใน ราคะ โทสะ โมหะ
ข. รู้ว่าสำคัญใจให้เป็นไปใน ราคะ โทสะ โมหะ ต่ออารมณ์นั้นๆ
(ถ้าไม่รู้ตัวว่าเสพย์ความจำได้หมายรู้ ตรึกนึกคิดสมมติ เราก็จะหลงอยู่ในสมมติที่สร้างขึ้นมานั้น ดังนั้นต้องมีสติกำกับเพื่อรู้ตัวรู้ใจก่อน)



๒. สมาธิ คือ มีสติเป็นเบื้องหน้าทำให้เกิดจิตตั้งมั่นขึ้นไม่กวัดแกว่งไปตามสมมติกิเลส
ก. พรหมวิหาร ๔
ข. อานาปานสติ
ค. พุทธานุสสติ
ง. ธัมมานุสสติ
จ. สังฆานุสสติ
ฉ. สีลานุสสติ
ช. จาคานุสสติ
ซ. อุปสมานุสสติ
(ลม คือ หมวดนี้ ถ้าไม่มีสติเพ่งอยู่ในอารมณ์เดียวได้สมาธิก็ไม่เกิดขึ้น เพราะสติเป้นตัวนำสมาธิให้เกิดมีขึ้นจดจ่ออยู่ได้นาน)



๓. สัมปะชัญญะ คือ รู้ปัจจุบันขณะในกิจการงานและอิริยาบถที่ตนกำลังดำเนินไปอยู่ในปัจจุบัน
ก. สัมปะชัญญะบรรพ
ข. อิริยาบถบรรพ
(ในหัวข้อที่แยกระหว่าง สัมปะชัญญะ และ อิริยาบถไว้ เพื่อให้จดจำระลึกรู้กายใจได้ง่าย แต่ทั้ง ๒ อย่างนี้คือ สัมปะชัญญะทั้งหมด)




๔. สมมติ คือ รู้เห็นสมมติตามจริง รู้ว่ากำลังลุ่มหลงตามสมมติกิเลส ตื่นจากสมมติ เบิกบานด้วยความละ ดับ พ้นจากความลุ่มหลงสมมติ

ก. สัญญา ๑๐
ก-๑. อนิจจสัญญา คือ รู้เห็นสมมติตามจริง คือ ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง
ก-๒. อนัตตสัญญา คือ รู้เห็นสมมติตามจริง คือ อายตนะ ๑๒, ผัสสายตนะ ๖(ความรู้อารมณ์ที่ผัสสะในอายตนะ ๑๒) เป็นอนัตตา
ก-๓. อสุภสัญญา คือ รู้เห็นสมมติตามจริง คือ อาการ ๓๒ ประการ
ก-๔. อาทีนวสัญญา คือ รู้เห็นสมมติตามจริง คือ กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก เป็นที่ประชุมโรค เป็นกองเแห่งความ เจ็บ ปวด ทุกข์
ก-๕. ปหานสัญญา คือ ตื่นจากสมมติ ยินดีในความไม่หลงเสพย์สมมติ แล้วทำความเพียรประครองไว้ใน สัมมัปปธาน ๔
ก-๖. วิราคสัญญา คือ อุปสมานุสสติ(ดูใน สัญญาสูตร และ มนสิการสูตร)
ก-๗. นิโรธสัญญา คือ อุปสมานุสสติ(ดูใน สัญญาสูตร และ มนสิการสูตร)
ก-๘. สัพพโลเกอนภิรตสัญญา คือ ตื่นจากสมมติไม่หลงสมมติกิเลสของปลอม
ก-๙. สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา คือ ไม่ติดใจยินดี ความเอืมระอาในสังขารธรรมซึ่งเป็นกองทุกข์ทั้งปวง
ก-๑๐. อานาปานสติ

ข. เวทนานุปัสนา รู้ว่าตนกำลังสุข ทุกข์ เฉยๆ รู้ว่าสุข ทุกข์ เกิดหรือดับไป, เมื่อรู้ว่าเกิดแล้วก็ให้ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ อุบายว่าจิตรู้สิ่งใดล้วนเป้นสมมติทั้งสิ้น

ค. จิตตานุปัสสนา รู้ว่ากิเลส เกิด ดับ แต่สักแต่ว่ารู้ว่ายังมีกิเลสอยู่มากหรือเบาบางลงจนถึงความสิ้นไป โดยไม่ร่วมเสพย์หลงไปตามสมมติ, เมื่อรู้ว่าเกิดแล้วก็ให้ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ อุบายว่าจิตรู้สิ่งใดล้วนเป้นสมมติทั้งสิ้น

ง. ธัมมานุปัสสนา รู้ว่านิวรณ์เกิด หรือ ดับ รู้ว่านิวรณ์ยังมีอยู่หรือสิ้นไป ทำอริยะสัจ ๔ ให้แจ้งประจักษ์ใจ




หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 10, 2016, 09:30:41 AM
ธรรมชาติของพระอริยะที่ท่านสอนให้มองย้อนดูตน เพื่อสอนให้เรามีสติ กาย เวทนา จิต ธรรม ภายในเรามี ภายนอกมี ไม่ต่างกัน ขณะนี้สิ่งใดเกิด มีมากหรือน้อย เราควรที่จะละสิ่งใดก่อน ควรทำความเพียรตั้งใจไว้ ประครองใจเพื่อการปหานสิ่งใดให้มาก แล้วปลงใจเสีย ไม่ยึด ไม่เสพย์ ไม่หลงอยู่ ท่านผู้ถึงแล้วย่อมมีอุบายวาทะอันวิตรทำให้จิตผู้ฟังน้อมมาสู่ตน ถึงความเห็นจริง

ธรรมชาติของปุถุชนที่มักจะกล่าวว่า ให้ดูตนเอง กลับไปดูตนเอง ทำนั่นหรือยัง ทำนี่หรือยัง เจริญนี่หรือยัง ว่ากล่าวต่อผู้อื่นบ้าง รังเกลียดในบุญกุศลของผู้อื่นบ้าง นั่นเพราะตนมักขุ่นมัวใจต่อผู้อื่นบ้าง ยินดีเพลิดเพลินในความยกตนได้บ้าง ข่มผู้อื่นได้บ้าง ไม่ยินดีต่อกุศลของผู้อื่นบ้าง สักแต่ทำตามสิ่งที่อ่านๆฟังๆที่เชื่อตามๆกันมาบ้าง
ธรรมชาติของบุคคลผู้ที่มักจะกล่าวชักชวนผู้อื่นให้ทำในกุศลโดยไม่เจาะจง มีใจหมายให้ผู้อื่นได้รับสุขแห่งกุศลดีงาม มีจิตเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น มีอุบายแห่งวาทะอันสื่อให้ถึงตามจริตผู้อื่นได้ ไม่อวดโม้ ไม่อวดตน ไม่ยกตน ไม่หลงตน ไม่ข่มผู้อื่น ไม่ผูกความโกรธแค้น ไม่เบยดเบียน ไม่พร่ำเพ้อ ไม่เพ้อเจ้อ ไม่ส่อเสียด ไม่พูดเสียดแทง พูดแต่คำจริง เป็นผู้รับฟัง เป็นผู้มักกล่าวอนุโมทนากะผู้อื่น ยินดีในความสุขสำเร็จแห่งกุศลของผู้อื่น  ไม่ริษยาในกุศลความสำเร็จของผู้อื่น เป็นผู้สละ ไม่หวังลาภสักการะ เป็นผู้ไม่ละเลยแม้กุศลเพียงเล็กน้อย เป็นผู้เห็นค่าในกุศลธรรมแม้เพียงเล็กน้อย เป็นผู้เพียรอยู่ทำจิตให้ถึงซึ่งกุศลธรรมทั้งปวง ท่านว่าเป็นกุลบุตรผู้แสวงหาประโยชน์อันพระอริยะเข้าบรรลุบทที่กระทำแล้ว


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 10, 2016, 01:54:25 PM
วิชชา คือ พุทโธ
อวิชชา คือ ไม่เห็นพุทโธ

วิชชา  คือ จิตรู้เห็นตามจริง
อวิชชา คือ จิตลุ่มหลงสมมติ ไม่รู้ซึ่งสมมติ

วิชชา คือ ถึงธรรมอันแจ้งใน อนิจจัง ทุกขขัง อนัตตา
อวิชชา คือ วิปปัลลาส

วิชชา คือ ดับเจตนาและจิต
อวิชชา คือ อนุสัยกิเลส

วิชชา คือ วิชชา ๘ อันเป็นญาณโลกุตระ
อวิชชา คือ ไม่ถึงวิชชา ๘


อวิชชาสูตร
             [๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นแห่งอวิชชาย่อมไม่ปรากฏในกาลก่อน
แต่นี้ อวิชชาไม่มี แต่ภายหลังจึงมี เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวคำนี้อย่างนี้ว่า ก็
เมื่อเป็นเช่นนั้น อวิชชามีข้อนี้เป็นปัจจัยจึงปรากฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อม
กล่าวอวิชชาว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของอวิชชา
ควรจะกล่าวว่านิวรณ์ ๕ แม้นิวรณ์ ๕ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มี
อาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของนิวรณ์ ๕ ควรกล่าวว่า ทุจริต ๓ แม้ทุจริต ๓ เรา
ก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของทุจริต ๓ ควร
กล่าวว่า การไม่สำรวมอินทรีย์ แม้การไม่สำรวมอินทรีย์เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้
กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารแห่งการไม่สำรวมอินทรีย์ ควรกล่าวว่าความ
ไม่มีสติสัมปชัญญะ แม้ความไม่มีสติสัมปชัญญะเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้
กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่า
การกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย แม้การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายเราก็กล่าวว่า
มีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการทำไว้ในใจโดยไม่แยบ
คาย ควรกล่าวว่าความไม่มีศรัทธา แม้ความไม่มีศรัทธาเราก็กล่าวว่ามีอาหาร
มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีศรัทธา ควรกล่าวว่า การ
ไม่ฟังสัทธรรม แม้การไม่ฟังสัทธรรมเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร
ก็อะไรเป็นอาหารของการไม่ฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่า การไม่คบสัปบุรุษ ดูกร-
*ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้ การไม่คบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่ฟัง
สัทธรรมให้บริบูรณ์ การไม่ฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีศรัทธาให้
บริบูรณ์ ความไม่มีศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายให้
บริบูรณ์ การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีสติสัมปชัญญะ
ให้บริบูรณ์ ความไม่มีสติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่สำรวมอินทรีย์ให้
บริบูรณ์ การไม่สำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังทุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ ทุจริต ๓
ที่บริบูรณ์ ย่อมยังนิวรณ์ ๕ ให้บริบูรณ์ นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังอวิชชาให้
บริบูรณ์ อวิชชานี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดหยาบตกลงเบื้องบนภูเขา
เมื่อฝนตกหนักๆ อยู่ น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขา ลำธารและห้วย
ให้เต็ม ซอกเขา ลำธารและห้วยที่เต็ม ย่อมยังหนองให้เต็ม หนองที่เต็มย่อม
ยังบึงให้เต็ม บึงที่เต็มย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม แม่น้ำน้อยที่เต็มย่อมยังแม่น้ำใหญ่
ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่ที่เต็มย่อมยังมหาสมุทรสาครให้เต็ม มหาสมุทรสาครนั้น มี-
*อาหารอย่างนี้ และเต็มเปี่ยมอย่างนี้ แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การไม่คบ
สัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่ฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ ... นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์
ย่อมยังอวิชชาให้บริบูรณ์ อวิชชานี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฉันนั้น
เหมือนกันแล ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าววิชชาและวิมุตติว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มี
อาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของวิชชาและวิมุตติ ควรกล่าวว่า โพชฌงค์ ๗ แม้
โพชฌงค์ ๗ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของ
โพชฌงค์ ๗ ควรกล่าวว่า สติปัฏฐาน ๔ แม้สติปัฏฐาน ๔ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร
มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสติปัฏฐาน ๔ ควรกล่าวว่า สุจริต ๓
แม้สุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของ
สุจริต ๓ ควรกล่าวว่า การสำรวมอินทรีย์ แม้การสำรวมอินทรีย์เราก็กล่าวว่า
มีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการสำรวมอินทรีย์ ควร
กล่าวว่า สติสัมปชัญญะ แม้สติสัมปชัญญะเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่า
ไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่า การทำไว้ในใจ
โดยแยบคาย แม้การทำไว้ในใจโดยแยบคายเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่า
ไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ควรกล่าวว่า
ศรัทธา แม้ศรัทธาเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็น
อาหารของศรัทธา ควรกล่าวว่า การฟังสัทธรรม แม้การฟังสัทธรรมเราก็กล่าวว่า
มีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการฟังสัทธรรม ควรกล่าว
ว่า การคบสัปบุรุษ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้ การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์
ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังศรัทธาให้
บริบูรณ์ ศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์ การทำ
ไว้ในใจโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ สติสัมปชัญญะ
ที่บริบูรณ์ ย่อมยังการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์ การสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อม
ยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์
สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์
ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ วิชชาและวิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์
อย่างนี้ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดหยาบตกลงเบื้องบนภูเขา
เมื่อฝนตกหนักๆ อยู่ น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขา ลำธารและห้วย
ให้เต็ม ซอกเขา ลำธารและห้วยที่เต็มย่อมยังหนองให้เต็ม หนองที่เต็ม
ย่อมยังบึงให้เต็ม บึงที่เต็มย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม แม่น้ำน้อยที่เต็ม ย่อมยัง
แม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่ที่เต็ม ย่อมยังมหาสมุทรสาครให้เต็ม มหาสมุทร
สาครนั้นมีอาหารอย่างนี้ และเต็มเปี่ยมอย่างนี้ แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย
การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ ... โพชฌงค์ ๗ ที่
บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ วิชชาและวิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้ และ
บริบูรณ์อย่างนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ
จบสูตรที่ ๑


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 10, 2016, 03:07:29 PM
อวิชชาวิชชาสูตร
             [๑๐๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อวิชชาเป็นประธานแห่งการเข้าถึงอกุศลธรรม
ทั้งหลาย ความไม่ละอายบาป ความไม่กลัวบาป เป็นของมีมาตามอวิชชานั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีอวิชชาไม่เห็นแจ้ง ย่อมมีความเห็นผิด ผู้มีความเห็น
ผิด ย่อมมีความดำริผิด ผู้มีความดำริผิด ย่อมมีวาจาผิด ผู้มีวาจาผิด ย่อมมีการ
งานผิด ผู้มีการงานผิด ย่อมมีการเลี้ยงชีพผิด ผู้มีการเลี้ยงชีพผิด ย่อมมีความ
พยายามผิด ผู้มีความพยายามผิด ย่อมมีความระลึกผิด ผู้มีความระลึกผิด
ย่อมมีความตั้งใจผิด ผู้มีความตั้งใจผิด ย่อมมีความรู้ผิด ผู้มีความรู้ผิด ย่อมมี
ความหลุดพ้นผิด ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิชชาเป็นประธานแห่งการเข้าถึงกุศลธรรมทั้งหลาย
หิริและโอตตัปปะเป็นของมีมาตามวิชชานั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีวิชชา
เห็นแจ้ง ย่อมมีความเห็นชอบ ผู้มีความดำริชอบ ย่อมมีวาจาชอบ ผู้มีวาจาชอบ
ย่อมมีการงานชอบ ผู้มีการงานชอบ ย่อมมีการเลี้ยงชีพชอบ ผู้มีการเลี้ยงชีพชอบ
ย่อมมีความพยายามชอบ ผู้มีความพยายามชอบ ย่อมมีความระลึกชอบ ผู้มีความ
ระลึกชอบ ย่อมมีความตั้งใจชอบ ผู้มีความตั้งใจชอบ ย่อมมีความรู้ชอบ ผู้มี
ความรู้ชอบ ย่อมมีความหลุดพ้นชอบ ฯ
จบสูตรที่ ๕


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 10, 2016, 03:12:40 PM
เพศนักบวชผู้ปฏิบัตินี้แลเป็นเพศที่เหมาะสม หรือใกล้ชิดติดกับอรรถกับธรรมกับมรรคผลนิพพานอย่างยิ่ง ถ้าทำให้เป็นไปตามหลักธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า เป็นไปตามเจตนาดั้งเดิมที่บวชมาเพื่อมรรคผลนิพพาน งานของพระทุกชิ้นทุกอันจะเป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพานทั้งนั้น เพราะงานโดยตรงของพระ เป็นงานเพื่อถอดถอนกิเลส เช่น เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ตั้งสติมีความรู้สึกตัว ระวังไม่ให้เผลอ ปัญญามีความคิดอ่านไตร่ตรองอยู่เสมอในสิ่งที่ควรละควรถอน สิ่งที่ควรบำเพ็ญ สิ่งที่ควรจะรู้แจ้งเห็นจริง พยายามทำ พยายามพิจารณาด้วยปัญญาอยู่ทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน เว้นแต่หลับเท่านั้น เป็นผู้ทำงานเพื่อรื้อถอนตนออกจากทุกข์ ด้วยอำนาจของความเพียรมีสติปัญญาเป็นเพื่อนสองอยู่โดยสม่ำเสมอ

กิเลสจะมาจากที่ไหน จะยกกองพันกองพลมาจากที่ไหนก็ยกมาเถอะ มันพังทลายทั้งนั้นแหละ แต่กิเลสมีอยู่ที่ใจ เหตุที่กิเลสมีมากจนทำให้เกิดทุกข์เป็นไฟทั้งกองภายในใจก็เพราะความไม่รู้ทันมัน ความไม่เข้าใจวิธีการแก้ การถอดถอนมัน และความเกียจคร้านอ่อนแอ ความสะเพร่ามักง่ายแบบสุกเอาเผากิน อยู่ไปวันๆ ซึ่งมีแต่เรื่องสั่งสมขึ้นมาโดยถ่ายเดียว กิเลสจะหาทางออกทางสิ้นไปช่องไหนได้ เมื่อมีแต่เปิดประตู คือทวารทั้งหกรับมันเข้ามาอยู่ตลอดเวลาดังที่เป็นอยู่นี้ ไม่ยอมปิดและขับไสไล่มันออกไปบ้าง

หลักธรรมท่านสอนไว้ทุกแง่ทุกมุมไม่มีทางต้องติ ฉะนั้น เราควรทำหน้าที่ให้เต็มภูมิ อย่าให้เสียเวล่ำเวลาในความเป็นนักบวชเพื่อประพฤติปฏิบัติธรรม อยู่ที่ไหนให้ถือว่างานเป็นของสำคัญประจำใจ อย่าเห็นงานใดมีความสำคัญยิ่งกว่างานถอดถอนตนให้พ้นจากทุกข์ ผู้นี้แหละผู้ที่ใกล้ชิดต่อมรรคผลนิพพาน ใกล้ต่อความสำเร็จ สุดท้ายก็ผ่านไปได้อย่างหายห่วง

สิ่งที่ปิดบังลี้ลับไม่ให้รู้ให้เห็นก็ไม่ใช่สิ่งใดที่ไหน ได้เคยพูดอยู่เสมอ มีแต่กิเลสทั้งนั้นที่ปิดบังไว้ ไม่ใช่กาล ไม่ใช่สถานที่ ไม่ใช่เวล่ำเวลา ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งใดมาปิดกั้นจิตใจไม่ให้บรรลุมรรคผลนิพพาน มีกิเลสอย่างเดียวเท่านั้น จะมีกี่แขนงก็รวมชื่อว่ากิเลส เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะตัณหาอะไร มันเป็นเรื่องกิเลสแตกแขนงออกไป

เหมือนกับต้นไม้ที่แตกกิ่งแตกก้านแตกแขนงออกไป ออกจากไม้ต้นเดียวนั้นแหละ กิเลสก็ออกจากใจดวงเดียว "รากฐานของกิเลสแท้ท่านเรียกว่า อวิชชา" มันตั้งรากตั้งฐานอยู่ภายในใจนั่นแล และครอบงำจิตใจไว้ แล้วก็แตกแขนงออกไปเป็นกิ่งเป็นก้านสาขาดอกใบไม่มีประมาณ ดังธรรมท่านว่า กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดอะไรเหล่านี้ มันเป็นกิ่งก้านสาขาของกิเลสอวิชชานั่นแล

**โดยส่วนตัวเราแล้ว อนุสัยกิเลส(ธรรมมารมณ์ เป็นภายนอกที่ยังกระเพื่อมฟุ้งขึ้น) และ เจตนา(เป็นจิต เป็นมโนกรรมในภายใน) ก็คือ อวิชชา ที่สถิตอยู่ในจริต สันดานแห่งจิต ติดตามอยู่ทุกภพชาติ **

เพราะฉะนั้น การพิจารณาจึงต้องพิจารณาตามกระแสของจิตที่เกี่ยวพันกันกับกิเลส ซึ่งทำให้ลุ่มหลงในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส เครื่องสัมผัสต่างๆ พิจารณาคลี่คลายโดยทางปัญญาจะถอดถอนได้ กิเลสผูกมัดจิตใจ กิเลสทำให้มืด กิเลสทำให้โง่ ตัวกิเลสเองมันไม่ได้โง่ มันฉลาด แต่เวลามันมาครอบครองใจเรา เราก็เป็นคนโง่ ไม่ทันกลมายาของมัน เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยหลักธรรมมีสติปัญญาเป็นต้น ซึ่งเป็นเครื่องมือที่กิเลสกลัว นำมาขับไล่ปราบปราม

นับบวชต้องเป็นผู้มีความอดทน ตามหลักของนักบวชเป็นอย่างนั้น มีความขยันหมั่นเพียรก็คือนักบวช ชอบคิดอ่านไตร่ตรองก็คือนักบวช ความไม่ลืมเนื้อลืมตัวก็คือนักบวช ความเอาจริงเอาจังในสิ่งที่ชอบธรรมทั้งหลายก็คือนักบวช นักบวชต้องเอาจริงเอาจังทุกงาน ไม่ว่างานภายนอกภายใน มีสติคอยกำกับรักษาใจเป็นประจำ มีปัญญาคอยพิจารณาไตร่ตรองเลือกเฟ้น สอดส่องดูว่าอันใดผิดอันใดถูก ปัญญาแนบนำอยู่เสมอ

ทุกข์ก็ทน คำว่าทุกข์มันไม่ใช่ทุกข์เพราะความเพียรเท่านั้น มันทุกข์เพราะการฝืนกับกิเลสเป็นสำคัญ ความขี้เกียจก็คือเรื่องของกิเลส ความอ่อนแอคือเรื่องของกิเลส เราฝืนความอ่อนแอ เราฝืนความเกียจคร้านซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยความเอาจริงเอาจังจึงเป็นทุกข์ ความเป็นทุกข์ที่ปรากฏอยู่นี้ ไม่ใช่เป็นทุกข์เพราะอะไร เป็นทุกข์เพราะความต่อสู้กับกิเลส ถ้าเรายังเห็นว่าความต่อสู้กับกิเลสเป็นเรื่องความทุกข์แล้ว ก็ไม่มีทางต่อสู้กับกิเลสได้ และไม่มีวันชนะกิเลสไปได้เลยแม้ตัวเดียว

เราต้องหาอุบายวิธีแก้ไขไม่นอนใจ ตราบใดที่กิเลสยังมีอยู่ภายในใจ การทำความเพียรต้องทำอย่างเข้มแข็งอยู่ตราบนั้น ถอยไม่ได้ ถ้าไม่อยากให้กิเลสบดขยี้แหลกเหลวน่ะ การนั่งนานเกิดความเจ็บปวด นั่นมันเป็นธรรมดา เดินนานก็เหนื่อยเราเปลี่ยนได้พลิกได้ แต่สำคัญที่ความทุกข์เพราะการต่อสู้กับกิเลสนี้มันไม่มีเวล่ำเวลา ถ้าเราไม่ต่อสู้มัน มันยิ่งเอาเราหนัก การต่อสู้มันก็เพื่อชัยชนะ จึงไม่ถือว่าเป็นความลำบากลำบนเพราะเราต้องการอยู่เหนือกิเลส เราต้องการชนะกิเลส เรากลัวกิเลส เราจะเอาอะไรไปสู้กับมัน

เหมือนนักมวยเขาขึ้นชกกันบนเวที ถ้ากลัวกันอยู่แล้วก็ไม่ได้ต่อยกัน เพราะต่างคนก็ต่างหวังเอาชนะกันนั้นเอง หวังชนะทุกคน มันพลีชีพด้วยกันในขณะนั้น จะไปขี้เกียนอ่อนแอในขณะชกกันอยู่บนเวทีได้หรือ ขาดกำลังใจนิดหนึ่งก็ต้องแพ้ เผลอนิดนิเดียวก็ต้องแพ้ถูกหามลงเปลว่าไง ดีแล้วหรืออย่างนั้นน่ะ

เราเป็นนักรบก็ต้องให้เป็นอย่างนั้น ให้เป็นเหมือนนักมวยขึ้นต่อยกันบนเวที จิตใจอยู่กับความชนะทั้งนั้น กำลังใจเป็นรากฐานแห่งความชนะก็มีประจำใจ การตั้งความชนะกิเลสไว้เป็นรากฐานสำคัญ แล้วก้าวเดินเข้าไป ทุกข์ก็ยอมรับว่าทุกข์เพราะต่อสู้กัน เราเข้าสงครามระหว่างกิเลสกับจิต ในธรรมท่านกล่าวไว้ โย สหสฺสํ สหสฺเสน สงฺคาเม มานุเส ชิเน, เอกญฺจ เชยฺยมตฺตานํ, ส เว สงฺคามชุตฺตโม. การชนะสงครามที่คูณด้วยล้าน ก็หาได้เป็นความชนะอันประเสริฐไม่ เพราะการชนะเหล่านั้นเป็นเครื่องก่อเวร ผู้แพ้ก็เป็นทุกข์ ผู้ชนะก็ต้องได้ระมัดระวังตัว และเป็นต้นเหตุแห่งความก่อเวรผูกพันกันไปเรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด

แต่ผู้ชนะกิเลสภายในใจของตนเพียงคนเดียวนั่นแล เป็นผู้ประเสริฐสุดยิ่งกว่าการชนะในสงครามที่คูณด้วยล้านนั้นเป็นไหนๆ ความชนะเหล่านั้นสู้ความชนะกิเลสของตนไม่ได้ นี่เป็นพุทธภาษิต


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 10, 2016, 06:03:03 PM
             [๖๕] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ที่นาลกคาม แคว้นมคธ ครั้ง
นั้นแล ปริพาชกชื่อว่าสามัณฑกาณิ เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้
ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วนั่ง
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรท่านพระสารีบุตร
อะไรหนอเป็นเหตุให้เกิดสุข อะไรหนอเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ฯ
             ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ การเกิดเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
การไม่เกิดเป็นเหตุให้เกิดสุข ดูกรผู้มีอายุ เมื่อมีการเกิด เป็นอันหวังได้ทุกข์นี้
คือ ความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย อุจจาระ ปัสสาวะ
สัมผัสไฟ สัมผัสท่อนไม้ สัมผัสศาตรา ญาติก็ดี มิตรก็ดี มาประชุมพร้อมกัน
ย่อมโกรธเคืองเขา ดูกรผู้มีอายุ เมื่อมีการเกิด เป็นอันหวังได้ทุกข์นี้ ดูกร
ผู้มีอายุ เมื่อไม่มีการเกิด เป็นอันหวังได้สุขนี้ คือ ความไม่หนาว ความไม่ร้อน
ความไม่หิว ความไม่ระหาย ไม่ต้องอุจจาระ ไม่ต้องปัสสาวะ ไม่ต้องสัมผัสไฟ
ไม่ต้องสัมผัสท่อนไม้ ไม่ต้องสัมผัสศาตรา ญาติก็ดี มิตรก็ดี มาประชุม
พร้อมกัน ย่อมไม่โกรธเคืองเขา ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อไม่มีการเกิด เป็น
อันหวังได้สุขดังนี้ ฯ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 11, 2016, 09:00:23 AM
โธวนสูตร
             [๑๐๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในทักษิณาชนบท มีธรรมเนียมการล้าง
กระดูกแห่งญาติผู้ตาย ในธรรมเนียมการล้างกระดูกนั้น มีข้าวบ้าง น้ำบ้าง
ของขบเคี้ยวบ้าง ของบริโภคบ้าง เครื่องลิ้มบ้าง เครื่องดื่มบ้าง การฟ้อนบ้าง
เพลงขับบ้าง การประโคมบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเนียมการล้างนั้นมีอยู่
เรามิได้กล่าวว่า ไม่มี แต่ว่าการล้างนั้นแลเป็นของเลว เป็นของชาวบ้าน
เป็นของปุถุชน ไม่เป็นของอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ย่อมไม่เป็นไป
เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ
เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เราจักแสดงการ
ล้างอันเป็นของพระอริยะ ซึ่งเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด
เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพานโดย
ส่วนเดียว ที่สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเกิดเป็นธรรมดาอาศัยแล้ว ย่อมพ้นจาก
ความเกิด ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากความแก่ ผู้มีความตายเป็น
ธรรมดา ย่อมพ้นจากความตาย ผู้มีความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความ
โทมนัสและความคับแค้นใจเป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากความโศก ความร่ำไร
ความทุกข์ ความโทมนัสและความคับแค้นใจ เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การล้างที่เป็นของพระอริยะ ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย
เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้
เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว ที่สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเกิดเป็นธรรมดาอาศัยแล้ว
ย่อมพ้นจากความเกิด ... จากความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัส
และความคับแค้นใจได้นั้น เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความเห็นชอบ
ย่อมล้างความเห็นผิด ล้างอกุศลบาปธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะความเห็นผิด
เป็นปัจจัย และกุศลธรรมเป็นอันมากย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะความ
เห็นชอบเป็นปัจจัย ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความดำริชอบ ย่อมล้างความดำริผิด ... ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีวาจาชอบ ย่อมล้างวาจาผิด ... ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีการงานชอบ ย่อมล้างการงานผิด ... ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีการเลี้ยงชีพชอบ ย่อมล้างการเลี้ยงชีพ
ผิด ... ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความพยายามชอบ ย่อมล้างความ
พยายามผิด ... ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความระลึกชอบ ย่อมล้างความระลึก
ผิด ... ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความตั้งใจชอบ ย่อมล้างความตั้งใจผิด ... ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความรู้ชอบ ย่อมล้างความรู้ผิด ... ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความหลุดพ้นชอบ ย่อมล้างความหลุดพ้นผิด
ล้างอกุศลบาปธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะความหลุดพ้นผิดเป็นปัจจัย และ
กุศลธรรมเป็นอันมากย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะความหลุดพ้นชอบเป็น
ปัจจัย ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย การล้างที่เป็นของพระอริยะนี้นั้นแล ย่อมเป็นไป
เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ
เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว ที่สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเกิด
เป็นธรรมดาอาศัยแล้ว ย่อมพ้นจากความเกิด ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ย่อมพ้นจาก
ความแก่ ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากความตาย ผู้มีความโศก ความ
ร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัสและความคับแค้นใจเป็นธรรมดา ย่อมพ้นจาก
ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัสและความคับแค้นใจได้ ฯ
จบสูตรที่ ๗


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 11, 2016, 09:02:46 AM
นิทธมสูตร
             [๑๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายอันบุคคลพึงปัดเป่ามี ๑๐
ประการนี้ ๑๐ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเห็นผิด อันบุคคลผู้
มีความเห็นชอบปัดเป่าแล้ว และธรรมอันลามกมิใช่น้อยที่เกิดขึ้นเพราะความเห็น
ผิดเป็นปัจจัย อันเขาปัดเป่าแล้ว ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อย ย่อมถึงความเจริญ
บริบูรณ์เพราะความเห็นชอบเป็นปัจจัย ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความดำริผิด อันบุคคลผู้มีความดำริชอบปัดเป่าแล้ว ... ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย การเจรจาผิด อันบุคคลผู้มีการเจรจาชอบปัดเป่า
แล้ว ... ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย การงานผิด อันบุคคลผู้มีการงานชอบปัดเป่า
แล้ว ... ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย การเลี้ยงชีพผิด อันบุคคลผู้มีการเลี้ยงชีพชอบ
ปัดเป่าแล้ว ... ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพยายามผิด อันบุคคลผู้มีความพยายามชอบ
ปัดเป่าแล้ว ... ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความระลึกผิด อันบุคคลผู้มีความระลึกชอบปัดเป่า
แล้ว ... ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความตั้งใจผิด อันบุคคลผู้มีความตั้งใจชอบปัดเป่า
แล้ว ... ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความรู้ผิด อันบุคคลผู้มีความรู้ชอบปัดเป่าแล้ว ... ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความหลุดพ้นผิด อันบุคคลผู้มีความหลุดพ้นชอบ
ปัดเป่าแล้ว และอกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อย ที่เกิดขึ้นเพราะความหลุดพ้นผิด
เป็นปัจจัย อันเขาปัดเป่าแล้ว ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อย ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์
เพราะความหลุดพ้นชอบเป็นปัจจัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายอันบุคคลพึง
ปัดเป่ามี ๑๐ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๑๐





อเสขสูตร
             [๑๑๑] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถาม
พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า อเสขะๆ ดังนี้ ภิกษุเป็น
อเสขะด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรภิกษุ ภิกษุใน
ธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเห็นชอบอันเป็นอเสขะ ประกอบด้วยความ
ดำริชอบอันเป็นอเสขะ ประกอบด้วยการเจรจาชอบอันเป็นอเสขะ ประกอบ
ด้วยการงานชอบอันเป็นอเสขะ ประกอบด้วยการเลี้ยงชีพชอบอันเป็นอเสขะ
ประกอบด้วยความพยายามชอบอันเป็นอเสขะ ประกอบด้วยการระลึกชอบอันเป็น
อเสขะ ประกอบด้วยความตั้งใจชอบอันเป็นอเสขะ ประกอบด้วยความรู้ชอบอัน
เป็นอเสขะ ประกอบด้วยความหลุดพ้นชอบอันเป็นอเสขะ ดูกรภิกษุ ภิกษุย่อม
เป็นอเสขะ ด้วยประการอย่างนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๑๑





อเสขธรรมสูตร
             [๑๑๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เป็นของพระอเสขะมี ๑๐ ประการนี้
๑๐ ประการเป็นไฉน คือ ความเห็นชอบอันเป็นอเสขะ ๑ ความดำริชอบอันเป็น
อเสขะ ๑ การเจรจาชอบอันเป็นอเสขะ ๑ การงานชอบอันเป็นอเสขะ ๑ การ
เลี้ยงชีพชอบอันเป็นอเสขะ ๑ ความพยายามชอบอันเป็นอเสขะ ๑ การระลึก
ชอบอันเป็นอเสขะ ๑ ความตั้งใจชอบอันเป็นอเสขะ ๑ ความรู้ชอบอันเป็นอเสขะ ๑
ความหลุดพ้นชอบอันเป็นอเสขะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เป็นของพระอเสขะ
มี ๑๐ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๑๒
จบสมณสัญญาวรรคที่ ๑


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 14, 2016, 09:45:38 AM

บันทึกกรรมฐานวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๙ กสิน

กสิน แปลว่า เพ่ง เป็นการเพ่งเอาอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งใน กสิน ๑๐ ให้เป็นสติจดจ่อทำจิตให้ระลึกถึงมีนิมิตในอารมณ์นั้นโดยส่วนเดียว ทำให้จิตตั้งมั่นจดจ่อแนบแน่นในอารมณ์

วิธีการการเพ่งกสิน คือ จับเอาคุณลักษณะและคุณสมบัติของอารมณ์ที่เพ่งอยู่นั้นเป็นอารมณ์ที่ตั้งแห่งสติ ให้จิตระลึกถึงแห่งคุณลักษณะและคุณสมบัติของอารมณ์เป็นนิมิตอารมณ์ของจิต เมื่อสามารถประครองจิตให้เข้าถึงคุณลักษณะและคุณสมบัติในอารมณ์ใดก็ตามในกสิน ๑๐ ทำให้จิตตั้งมั่นได้ กสินกองอื่นก็ได้เช่นกัน สมดั่งที่หลวงปู่ฤๅษีฯ หรือ พระราชพรหมญาณ ท่านสอนไว้

ยกตัวอย่างเช่น

"อาโลกะกสิน"
ให้ดูคุณลักษณะและคุณสมบัติของแสง นั่นคือ อาการที่สว่างไสว อาการที่เป็นประกาย ส่องสว่าง สุกสว่าง อาการที่สว่างโร่แจ้งทำให้มองเห็นได้ชัด เหมือนเวลากลางวันที่เรามองเห็นสิ่งต่างๆได้ชัด

- เวลาเพ่ง "อาโลกะกสิน" ให้กำหนดเพ่งเอาประกายแสงที่ทอออกมอ ระลึกถึงอารมณ์ที่สว่างไสว อาการที่สว่างโร่แจ้งประดุจกลางวัน ที่มองเห็นได้ชัดไม่ว่าสิ่งไรๆ อันไหน จะอยู่ที่ไหนก็มองเห็นได้ชัด จะบริกรรม อาโลกังกสิัง แสงๆ ร่ำไปก็ได้ หรือ ทำไว้ในใจให้รู้ว่าเป็นแสงโดยไม่บริกรรมก็ได้
  แม้ยามเวลากลางวัน ที่เราดำเนินชีวิตไปอยู่แลเห็นความสว่างโร่แจ้งที่มองเห็นได้ชัดก็กำหนดรู้ว่าคือคุณลักษณะและคุณสมมติของแสง พอว่างๆก็นั่งหลับตาทำสมาธิกำหนดนิมิตเพ่งกสินเป็นเดวงแสงมองดูที่ประกายแสงจากความจำได้หมายรู้อารมร์ที่เห็นมานั้นเป็นอารมณ์มีสติรู้ว่าคุณลักษณะสมบัตินี้ๆคือแสง เป็นอาโลกกสินได้ตลอดเวลาทั้งกลางวัน
  แม้กลางคืน เมื่อเจอแสงไรๆ หลอดไฟ ดวงจันทร์ ก็กำหนดคุณลักษณะที่สว่างไสว เป็นประกายให้มองเห็นได้แม้เวลากลางคืนที่มืดมิดนั้นเป็นอาโลกกสินได้เช่นกัน

  กำหนดกสินแสงทั้งกลางวันกลางคืนอย่างนี้

- ส่วนกสินดิน ก็ดูลักษณะสีของดิน ท่านให้เลือกเป็นดินสีอรุณ คือมีคุณสมมติของดินเป็นสีออกน้ำตาลส้มแดงเหมือนดินที่สกลนคร และ ดูลักษณะที่แค่นแข็งหรืออ่อน
- ส่วนกสินไฟ ก็ดูลักษณะที่ร้อน ที่แผดเผา ที่อบอุ่น คุณสมบัติที่เผาไหม้ทุกสิ่ง ให้ความสว่างได้ดุจดวงประทีป คบเพลิง
- ส่วนกสินลม ก็ดูลักษณะที่ตรึก หย่อน กระทบ มีคุณสมบัติการเคลื่องตัว ไหวไป ดูลมพี่พัดกระทบตัวเรา กระทบยอดไหม กำหนดดูลมหายใจเข้า-ออกยาว ที่ต้นลมที่กระทบ การเคลื่อนตัวของลม ปลายลมที่สุด ที่รู้สัมผัสได้จากลมหายใจ ลมหายใจอันเป็นภายในกายเราเป็นอย่างไร ลมภายนอกก็เป็นอย่างนั้น
- ส่วนกลินสีแดง ก็ดูคุณสมบัติของสีคือแดง อาการที่แดงเข้มมีลักษณะเหมือนเลือดเรานี้แหละ

ยกตัวอย่างทำกสินโดยย่ออย่างนี้ๆ



- เวลาเจริญ "อาโลกะสัญญา ในอริยะสัจ ๔ กรรมฐาน" ให้กำหนดจิตเป็นดวงแก้วหรือดวงแสงที่สุกสกาวสว่างไสวเป็นอารมณ์ เมื่อเกิดกิเลสนิวรณ์ขึ้นให้พึงระลึกรู้ตามพระธรรมที่องค์พรัะบรมศาสดาตรัสสอนว่า "จิตเดิมแท้นั้นมีปกติที่สว่างไสว แต่อาศัยกิเลสที่จรมาทำให้เศร้าหมอง" แล้วกำหนดนิมิตขึ้นว่าจิตเรานี้มีปกติที่สว่างไสวดจดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ อาศัยกิเลสนิวรณ์เหล่านี้แลเป็นประดุจเมฆหมอกที่เคบื่อนมาบดบังความสว่างไสวนั้นทำให้ใจเศร้าหมอง แล้วตั้งจิตมั่นขัดล้างจิตโดยความไม่ติดใจข้องแวะในอารมณ์กิเลสนิวรณ์ไรๆที่จรมาให้จิตรู้ ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ ด้วยเหตุเพราะจิตที่ไม่เคยอบรมมานั้นมีกำลังน้อยไม่พอต่อกรกับกิเลสดังนั้นเราจึงตั้องตั้งจิตมั่นปักหลักตอกเสาเข็มยึดจิตไว้ให้มั่น ประครองดวงจิตไว้ไม่ให้เอนเอียงน้อมหาอารมณ์ไรๆที่สมมติกิเสสร้างขึ้นมาหลอกให้จิตหลงเสพย์และเข้ายึดครองสมมติของปลอมทั้งปวง ทำจนจิตตั้งมั่นเห็นนิมิตเป็นดวงกสินแสงที่สว่างโร่แจ้ง งดงาม ไม่เศร้าหมอง

- ส่วนอาการที่สลัว สว่างไม่มาก ก็เหมือนจิตที่มีกิเลสจรมาบดบังจิตให้จิตนั้นถูกปิดกั้นความสว่างผ่องใสลง ทำให้จิตมัวหมอง เศร้าหมอง เหมือนคราบริ้วรอยฝุ่นละอองบนโต๊ะที่ไม่ค่อยได้เช็ดถูทำความสะอาด

- ส่วนอาการที่อับแสง คือ มืดมิด มองไม่เห็น เหมือนเราอยู่ในที่มืด ก็เหมือนจิตที่ถูกกิเลสบดบีังจนมิด จิตลุ่มหลงเสพย์ติด ยึดมั่น ถือคลองในกิเลสนิวรณ์ สมมติของปลอมจนเป้นหนึ่งเดียว เหมือนคราบริ้วรอยฝุ่นละอองบนโต๊ะที่ฝั่งแน่น เนื่องจากไม่เคยได้เช็ดถูทำความสะอาดเลย






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 16, 2016, 07:11:56 PM

เหตุและผลที่ต้องทำเหตุให้ดี ทำเหตุให้มาก และ ความปลงใจเห็นทุกข์ในโลก

พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าโดยมากในยุคปัจจุบันนี้ ย่อมเทศนาชี้แนะดังนี้ว่า

จริงๆแล้วคนเราอาศัยของเก่ามา เป็นเหตุปัจจัยให้ได้รับผลกรรมจากสิ่งที่ทำในอดีตนั้นมาสู่ปัจจุบัน
- หากของเก่าทำทานมาดีจึงมีฐานะบ้าง รวยบ้าง มีเงินใช้จ่ายมากมาย มีบริวารมาก
- หากทำในศีลก็มีรูปร่างหน้าตาที่หมดจรดงดงาม ผิวพรรณดี อายุยืน ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน
- หากทำจิตภาวนามาดี ก็มีสติปัญญามาก เป็นคนฉลาดหลักแหลม
- แต่จะมีสิ่งใดมากน้อยก็ตามแต่ของเก่าที่สะสมมา


หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน ท่านสอนผมดังนี้ว่า เราเกิดมาชาตินี้ เพื่อทำของเก่าให้มันดี หากไม่เสริมของเก่าให้ดีก็มีแต่วันหมดไป ซึ่งคนเราที่เกิดมาย่อมจำแนกได้ดังนี้ว่า

- มาสว่าง ไปสว่าง
- มาสว่าง ไปมืด
- มามืด ไปสว่าง
- มามืด ไปมืด

- มาสว่าง
ก็คือ เกิดมามีของเก่าสะสมมาดีก็เจริญด้วย โภคทรัพย์สมบัติ ร่ำรวยอยู่สบาย มีบริวารดี มีหน้าตาดีงดงาม ฉลาดหลักแหลม ทำอะไรก็มีโอกาสดีประสบโชคลาภดีงาม
- มามืด
ก็คือ เกิดมายากจนข้นแค้น นีหน้าขี้เหร่ หรือ พิการ โง่ไม่มีปัญญาไหวพริบ ทำอะไรก็ติดขัดลำบากไม่มีโชค ไม่มีลาภ มีแต่ความสะดุด ผิดที่ ผิดกาล ไม่เจริญ

1. คนมาสว่างไปมืด
ก็คือ คนที่มีของเก่ามาดี แต่ไม่สร้างไม่สั่งสมต่อให้มันดียิ่งๆขึ้น ก็พอใช้บุญเก่าจดหมด ชีวิตก็เริ่มย่ำแย่ เกิดไปชาติหน้าก็มืดมน หรือแม้ปัจจุบันจะทำทั้งบุญและบาปคละเคล้ากันไปแค่บุญบาปที่ทำเสมอกันก็ไม่ส่งผล ก็มีแต่ระรอวันให้บุญเก่านี้ค่อยหมดไปเรื่อยๆ สุขบายแค่ในตอนนี้ แต่ลำบากในภายภาคหน้า ชาติหน้า ภพหน้า
2. คนมาสว่างไปสว่าง
ก็คือ คนที่มีของเก่ามาดี มาชาตินี้ก็ทำของเก่าให้มันดียิ่งขึ้นเป็นกำไรชีวิต ยังสั่งสมให้ของเก่ามันดีจนเต็ม ก็เป็นบารมี มีทั้งโภคทรัพย์สมบัติภายนอกและโภคทรัพย์สมบัติในภายใน จะชาตินี้ชาติหน้าก็ดี ภพนี้ภพหน้าก็ดี รอแต่วันที่อิ่มแล้วไปถึงพระนิพพาน
3. คนมามืดไปสว่าง
ก็คือ คนที่มีของเก่ามาไม่ดี ยากจนค้นแค้นลำบาก ทำอะไรก็ติดขัด ไม่ถูกที่ ไม่ถูกกาล ไม่ถูกเวลา ไม่ถูกทาง ยังความฉิบหายให้เกิดมีขึ้นอยู่ประจำๆตลอดเวลา แต่เพียรละอกุศลธรรมทั้งปวง ตั้งมั่นในกุศลธรรมทั้งปวง มีศีล ทาน ภาวนา ตั้งมั่นความดีไม่ย่อท้อ แม้เจอเรื่องร้ายๆหรือทำแล้วติดขัดติดปัญหา ไม่ร่ำรวย งดงาม ไม่มีปัญญาเหมือนเขา ไม่มีโอกาสดีๆในทุกๆเรื่อง ประสบแต่สิ่งร้ายๆ แต่ก็มีจิตตั้งมั่นไม่เสื่อมศรัทธาในกุศล ตั้งมั่นสะสมใน ศรัทธา ศีล ทาน วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ท่านเรียกว่าทำของเก่าให้มันดี แม้ปัจจุบันจะลำบากแค้น แต่ไปภายหน้าจะสุขสบายไม่มีทุกข์ ถึงแม้ชาตินี้ทั้งชาติจะลำบาก แต่ก็เป้นผู้อยู่โดยไม่มีทุกข์ เป็นผู้ที่ทุกข์หยั่งไม่ถึง แม้ไม่มีโภคทรัพย์สมบัติภายนอก แต่อัดเต็มไว้ด้วยโภคทรัพย์สมบัติในภายใน ไปชาติหน้า ภพหน้าก็สุขสบาย ร่ำรวยมีบริวารมาก มีหน้าตางดงามผิวพรรณดี มีสติปัญญาดี
4. คนมามืดไปมืด
ก็คือ คนที่มีของเก่ามาไม่ดี ยากจนค้นแค้นลำบาก ทำอะไรก็ติดขัด ไม่ถูกที่ ไม่ถูกกาล ไม่ถูกเวลา ไม่ถูกทาง ยังความฉิบหายให้เกิดมีขึ้นอยู่ประจำๆตลอดเวลา แล้วยังทำชั่วทำบาปสร้างเวรกรรมสืบไป ทำแต่ความเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น มีแต่ความประสงค์ร้ายต่อผู้อื่น มีความตระหนี่ขี้เหนียว เพ่งเล็งแต่สิ่งอันเป็นที่รักที่มีค่าของผู้อื่น ไม่ใช่ปัญญาแก่ไขปัญหา ใช้แต่อารมณ์ ใช้กำลัง ไม่สร้างบุญกุศลเพิ่ม มีแต่อกุศลบารมีสะสมทับถมไม่สิ้นสุด แม้ชาตินี้ในปัจจุบนหรือภายหน้า หรือชาติหน้า หรือภพหน้าก็มีแตต่ความลำบากฉิบหาย เกิดมายากจนค้นแค้น พิการ ไม่มีดีทั้งในปัจจุบันและกาลในภายหน้า

ท่านจึงสอนอยู่เสมอดังนี้ว่า
- สุขทางโลก มันอาศัยยึดเอาสิ่งไม่เที่ยงมาเป็นสุขของมัน สุขชั่วคราวก็หมดไป อยู่ได้นานสุดแค่หมดลมหายใจ ตายไปก็เอาไปด้วยไม่ได้ ...ส่วนสุขทางธรรม คือ ความฉลาดในการปล่อยวาง ทำบุญกุศล สิ่งนี้มันจะติดตามเราไปตลอดทุกชาติทุกที่ทุกหนทุกแห่ง
- สุขทางโลก นี้มันสุขจริง แต่สุขแล้วก็ค่อยๆทุกข์ไปหน้า ทุกข์จากความแสวงหาเสพย์ในสิ่งไม่เที่ยงบ้าง แม้เมื่อได้เสพย์สมดั่งใจแต่พอสุขนั้นดับไปก็ดิ้นรนทุรนทุรายแสวงมามันมาเสพย์ให้ได้อีกบ้าง ทุกข์เพราะไม่สมปารถนาบ้าง ทุกข์เพราะประสบในสิ่งอันไม่เป็นที่รักบ้าง ทุกข์เพราะความพรัดพรากบ้าง ...ส่วนสุขทางธรรม นี่มันอมตะสุข มันยากลำบากในตอนแรกที่เจริญ ต้องใช้กำลังศรัทธาที่แน่วแน่ ตั้งในกุศล ศีล ทาน ภาวนา มีกำลังความเพียรอย่างมากไม่ย่อท้อ ตั้งมั่นสั่งสมกำลังสติ ตั้งมั่นสั่งสมกำลังสมาธิ ตั้งมั่นสั่งสมกำลังปัญญา จะลำบายากเย็นเท่าไหร่ก็ไม่ท้อถอย มีแต่ต้องสู้และแน่วแน่เท่านั้น แต่เมื่อทำเหตุนี้ๆให้ดีมีกำลังแล้ว มันก็อิ่มเต็มกำลังใจ มันสุขด้วยตัวของมันเอง สุขจากความปล่อยวาง จะไปที่ใดก็เป็นสุขอิ่มเอม สงบร่มเย็น ไม่มีทุกข์ ไม่หวาดระแวง ไม่หวาดกลัว ไม่เร่าร้อน ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถูกโลภะ ราคะ โทสะ โมหะกลุ้มรุม ไม่เกรงกลัวความตาย..เพราะแม้จะตายจากโลกนี้ไป ก็ได้ไปเสวยสุขในสุคติภูมิเป็นเทพบุตร เทพธิดา ไปชั้นจาตุมมหาราชิกา ชั้นดุสิต ชั้นพรหมเป็นต้น เกิดชาติหน้าก็มีครบพร้อมซึ่งรูปร่างหน้าตา โภคทรัพย์สมบัติบริวาร และ สติปัญญา เมื่อเสร็จกิจสิ้นสังโยชน์ก็ไม่ต้องมาทนทุกข์ิอีกชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายแล้วก้ไปเสวยสุขบนแดนนิพพาน



ฐานะ เงินทอง หน้าที่การงาน ยศ ทั้งหลาย อยู่ในนานสุดก็แค่หมดลมหายใจเรา เมื่อตายไปแล้วก็เอาสิ่งใดติดตามไปไม่ได้

        แม้กายเรานี้ คือ ขันธ์ ๕ ก็ต้องเป็นอนัตตาต่อเรา คือ ตายไปก็ไม่มีตัวตนต่อเราอีก แม้เราเองก็ไม่มีตัวตนต่อขันธ์ ๕ เมื่อตายไปก็ไม่มีเราอยู่ในขันธ์ ๕ แล้ว เราก็เป็นอนัตตาแก่ขันธ์ ๕ ขนาด ขันธ์ ๕ ที่เราเอามโน คือ ใจเข้ายึดครองอยู่นี้มันยังไม่มีตัวตนต่อเรา ขนาดเราที่ยึดครองอาศัยขันธ์ ๕ อยู่นี้ก็ไม่อาจจะอยู่ยั่งยืนนานกับมันได้ เมื่อตายแล้วจิตที่เข้ายึดครองขันธ์ ๕ เหล่านี้ก็ไม่มีอีก ไม่มีตัวตนของเราในขันธ์ ๕ แล้วจะนับปะสาอะไรกับสิ่งภายนอกที่เราแสวงหาอยู่นั้นๆว่าเป็นตัวตนต่อเราหรือใครได้ แม้ได้ยึดครองมาก๋็อยู่ไม่ยั่งยืนนาน สุดท้ายก็ต้องสูญไป ไม่คงอยู่อีก ไม่มีตัวตนต่อกันอีก "ไม่มีขันธ์ในเรา เราไม่มีในขันธ์ ไม่มีตัวตนต่อกันและกัน"

       ทุกวันนี้เราแสวงหาอยู่กับที่ไม่เที่ยง เอาความสุขสำเร็จไปผูกขึ้นไปว้กับสิ่งไม่เที่ยงทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ ล้วนไม่เที่ยงทั้งนั้น แต่เราเอาความสุขสำเร็จของเราเข้าไปยึดครองสิ่งไม่เที่ยงเหล่านั้นว่าเป็นความสุขตน เป็นความสำเร็จตน สุดท้ายก็ต้องพรัดพราก ไม่ด้วยกาลเวลา ก็สภาพแวดล้อม ไม่ด้วยการดูแลรักษา ก็สภาวะความปรุงแต่งแปรปรวนในภายใน และความตายในที่สุด บังคับให้เป็นดั่งใจไม่ได้ ฉุดรั้งจับต้องให้เป็นดั่งใจไม่ได้ เพราะไม่มีตัวตน

      เมื่อตายไปแล้วก็มีแต่บุญกับบาปที่ติดตามเราไป หากทำกุศลมาเยอะก็เป็นกำไรชีวิตสืบต่อไปในภพหน้าชาติหน้า หากทำอกุศลกรรมมาเยอะกรรมนั้นก็ติดตามให้ขาดทุนสูญเสีย ล่มสลายในเหตุบารมีในภายหน้า ชาติหน้า ภพหน้า คนเราอายุมากสุดก็แค่ 100 ปี จะต้องรอให้ถึง 100 ปีก่อนจึงจะค่อยมาสะสมเสบียงไว้เลี้ยงตนในภายหน้าอย่างนั้นหรือ ถ้าทำเช่นนั้นเวลาคงไม่พอที่จะทำอะไรได้ ดังนั้นเวลาที่มีอยู่นี้เราควรที่จะค่อยๆทำไปสะสมกุศล เจริญใน ศีล ทาน ภาวนาไปเรื่อย มีทานก็ได้กำไรเหนือความโลภ มีศีลก็ได้กำไรเหนือโทสะ มีภาวนาก็ได้กำไรเหนือความโง่ ความลุ่มหลง ทำชาตินี้หากมีกำลังมากก็ได้ชาตินี้ด้วย ตายไปแล้วก็ติดตามไปในภพหน้าด้วย ท่านเรียกว่า นี่คือกำไรชีวิต ทำกำไรชีวิตให้กับตนเอง


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 20, 2016, 09:14:40 PM
สุขทางโลกมันมาจากกามราคะ มันสุขโดยอาศัยยึดเอาสิ่งไม่เที่ยงมาเป็นสุขของมัน มันสุขแค่ชั่วครั้งชั่วคราววูบวาบเดี๋ยวเดียวก็ดับไป ไม่ยั่งยืนคงทนอยู่ตลอดไป อยู่ได้นานสุดก็แค่หมดลมหายใจเรานี้เอง เมื่อเสพย์แล้ว ก็ต้องการเสพย์มันใหม่อีกไม่รู้จบ สุขทางโลกมันอิ่มไม่เป็น

สุขทางโลกมันอยู่ด้วยความใคร่ปารถนาจะเสพย์นั่นเสพย์นี่ อยากมีอยากได้นั่น อยากมีอยากได้นี่ พอสมปารถนาก็เป็นสุข วูบวาบชั่วคราวแล้วก็ดับ แล้วก็ติดใจปารถนาต่อไม่รู้จบ ไม่รู้อิ่ม แล้วก็ทุกข์ที่ต้องแสวงหาโหยหามันมาเสพย์ให้ได้อีก

พอไม่สมปารถนา หรือ พบเจอสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่พอใจ หรือ ความพรัดพราก ก็จะเป็นจะตาย คับแค้นกายใจ ร่ำไรรำพัน ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ไม่เอาอย่างนั้น ไม่พอใจอย่างนี้ ไม่ต้องการอย่างนี้ ทนอยู่ไม่ได้ จะขาดใจตายเสียให้ได้

แม้จะเป็นอย่างนั้น ยิ่งไม่สมปารถนา ยิ่งเจอสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่พอใจ ก็ยิ่งปารถนาที่จะได้จะมีจะพบเจอสิ่งที่ตนเองยึดว่าดีที่เป็นที่รักที่พอใจมากขึ้นไปอีก แล้วก็เฝ้าถวิลหาปารถนา ตะเกียกตะกายให้ได้มาครอบครองซึ่งสิ่งนั้น หยุดไม่ได้ อิ่มไม่เป็น

สุขทางโลกมันยึดเอาความเป็นตัวตน หลงไปว่าเที่ยงแท้ยั่งยืนนาน ทั้งๆที่มันอยู่ได้นานสุดก็แค่หมดลมหายใจเราเท่านั้น พอเราตายมันก็ไม่ได้ติดตามเราไปด้วย

ยิ่งยึดตัวตนมากก็ยิ่งปารถนามาก ยิ่งปารถนามากก็ยิ่งทำเหตุในมันมาก ยิ่งฝักใฝ่สุขทางโลกมากมันยิ่งหิวโหยไม่หยุด ไม่พอ ไม่อิ่มเป็น

สุขทางธรรมมันคือความฉลาดในการปล่อยวาง สุขทางธรรมคือสุขจากความไม่ยึดมั่นถือมั่น สุขทางธรรมคือสุขจากความไม่ปารถนา สุขทางธรรมคือวิราคะ สงัดจากกามราคะทั้งปวง สุขทางธรรมคือความที่จิตมันอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง สุขได้ด้วยตัวมันเอง ไม่อาศัยเครื่องยึด ไม่จับของปลอม ไม่ยึดสมมติ..ดังนี้

สุขทางโลกียะ สุขมันสุขจริง แต่มันสุขเพราะอาศัยผัสสะจากความรู้โดยสมมติจากสิ่งไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน สุขทางโลกมันอิ่มไม่เป็น มันไม่รู้จักอิ่ม มันไม่รู้จกพอ มันพอไม่เป็น ยิ่งหวนระลึกถึง ยิ่งคำนึงถึง ยิ่งต้องการ ยิ่งแสวงหาทะยานอยาก กระสัน หมายใจฝักใฝ่ ต้องการใคร่ได้ที่จะเสพย์ไม่มีหยุด ไม่มีอิ่ม ไม่มีพอ

สุขทางโลกตระ มันคือ อมตะสุข สุขในการไม่ยึด สุขที่ได้จากการปล่อยวาง สุขโดยความไม่มีใจเข้ายึดครองในสิ่งใด ไม่มีความหมายใจแสวงหาต้องการสิ่งไรๆ ยิ่งหวนระลึกถึง ยิ่งคำนึงถึง ยิ่งอิ่มใจ อิ่มเอม มีความสงบกายสงบใจ ร่มเย็นเป็นสุข ปล่อยวาง ไม่มีใจหมายเข้ายึดครองสิ่งไรๆให้กระสัน เงี่ยน แสวงหาทะยานอยาก เป็นทุกข์


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 27, 2016, 01:22:46 AM

โลณกสูตร

             [๕๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษนี้ทำบาป
ไว้อย่างไรๆ เขาจะต้องเสวยกรรมนั้นอย่างนั้นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ การอยู่ประพฤติ
พรหมจรรย์ของผู้นั้นย่อมมีไม่ได้ โอกาสที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ ย่อม
ไม่ปรากฏ ส่วนผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษนี้ทำกรรมที่จะต้องเสวยผลไว้ด้วย
อาการใดๆ เขาจะต้องเสวยวิบากของกรรมนั้นด้วยอาการนั้นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้
การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ของผู้นั้นย่อมมีได้ โอกาสที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์โดย
ชอบย่อมปรากฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบาปกรรมแม้เล็ก
น้อย บาปกรรมนั้นก็นำเขาเข้านรก ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบาปกรรม
เพียงเล็กน้อย เช่นนั้นแหละ บาปกรรมนั้นย่อมให้ผลทันตาเห็น แต่ส่วนน้อย
ไม่ปรากฏ ปรากฏเฉพาะส่วนที่มาก บุคคลเช่นไร ทำบาปกรรมแม้เล็กน้อย
บาปกรรมนั้นก็นำเขาเข้านรก ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่
อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา มีคุณน้อย มีอัตภาพเล็ก
มีปรกติอยู่เป็นทุกข์ เพราะวิบากเล็กน้อย บุคคลเห็นปานนี้ ทำบาปกรรมแม้เล็ก
น้อย บาปกรรมนั้นก็นำเขาเข้านรก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเช่นไรเล่า ทำ
บาปกรรมเล็กน้อยเช่นนั้นเหมือนกัน บาปกรรมนั้นให้ผลทันตาเห็น แต่ส่วนน้อย
ไม่ปรากฏ ปรากฏเฉพาะส่วนมาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้
เป็นผู้อบรมกาย อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญา มีคุณไม่น้อย มีอัตภาพใหญ่
มีธรรมเป็นเครื่องอยู่หาประมาณมิได้ บุคคลเช่นนี้ทำบาปกรรมเล็กน้อยเช่นนั้น
เหมือนกัน บาปกรรมนั้นให้ผลทันตาเห็น แต่ส่วนน้อยไม่ปรากฏ ปรากฏเฉพาะ
แต่ส่วนมาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษพึงใส่ก้อนเกลือลงในขันใบ
น้อย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน น้ำในขันเพียงเล็กน้อยนั้น พึง
เค็มดื่มกินไม่ได้ เพราะก้อนเกลือโน้นใช่ไหม ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่าใช่
พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ฯ
             ภิ. เพราะในขันน้ำมีน้ำนิดหน่อย ฉะนั้นน้ำนั้นจึงเค็ม ดื่มไม่ได้ เพราะ
ก้อนเกลือนี้ พระเจ้าข้า ฯ
             พ. เปรียบเหมือนบุรุษพึงใส่ก้อนเกลือลงในแม่น้ำคงคา เธอทั้งหลายจะ
สำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน แม่น้ำคงคาพึงเค็ม ดื่มไม่ได้ เพราะก้อนเกลือโน้น
หรือไม่ ฯ
             ภิ. หามิได้ พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ฯ
             ภิ. เพราะในแม่น้ำคงคานั้น มีห้วงน้ำใหญ่ ฉะนั้น ห้วงน้ำใหญ่นั้นจึง
ไม่เค็ม ดื่มได้ เพราะก้อนเกลือโน้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำ
บาปกรรมเพียงเล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็นำเขาเข้านรก ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้
ทำบาปกรรมเล็กน้อย เช่นนั้นเหมือนกัน บาปกรรมนั้นให้ผลทันตาเห็น ส่วน
น้อยไม่ปรากฏ ปรากฏแต่เฉพาะส่วนมาก ... ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ถูกจองจำเพราะทรัพย์กึ่ง
กหาปณะบ้าง ถูกจองจำเพราะทรัพย์หนึ่งกหาปณะบ้าง ถูกจองจำเพราะทรัพย์ร้อย
กหาปณะบ้าง ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ไม่ถูกจองจำแม้เพราะทรัพย์กึ่งกหาปณะ
ไม่ถูกจองจำแม้เพราะทรัพย์หนึ่งกหาปณะ ไม่ถูกจองจำแม้เพราะทรัพย์ตั้งร้อย
กหาปณะ ก็บุคคลเช่นไรเล่า ถูกจองจำเพราะทรัพย์กึ่งกหาปณะบ้าง ถูกจองจำ
เพราะทรัพย์หนึ่งกหาปณะบ้าง ถูกจองจำเพราะทรัพย์ร้อยกหาปณะบ้าง ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนขัดสน มีสิ่งของของตนน้อย มีโภค-
*ทรัพย์น้อย บุคคลเช่นนี้ย่อมถูกจองจำเพราะทรัพย์กึ่งกหาปณะบ้าง ถูกจองจำ
เพราะทรัพย์หนึ่งกหาปณะบ้าง ถูกจองจำเพราะทรัพย์ร้อยกหาปณะบ้าง บุคคลเช่น
ไรเล่า ไม่ถูกจองจำแม้เพราะทรัพย์กึ่งกหาปณะ ไม่ถูกจองจำแม้เพราะทรัพย์หนึ่ง
กหาปณะ ไม่ถูกจองจำแม้เพราะทรัพย์ร้อยกหาปณะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล
บางคนในโลกนี้ เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์เหลือเฟือ มีโภคะมากมาย บุคคลเช่นนี้
ย่อมไม่ถูกจองจำแม้เพราะทรัพย์กึ่งกหาปณะ ไม่ถูกจองจำแม้เพราะทรัพย์หนึ่ง
กหาปณะ ไม่ถูกจองจำแม้เพราะทรัพย์ร้อยกหาปณะ ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุ
ทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบาปกรรมไว้เพียงเล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็
นำเขาเข้านรก ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ได้ทำบาปกรรมเล็กน้อยไว้เช่นนั้น
เหมือนกัน บาปกรรมนั้นให้ผลทันตาเห็น ส่วนน้อยไม่ปรากฏ ปรากฏเฉพาะแต่
ส่วนมาก ฯลฯ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเจ้าของแกะหรือคนฆ่าแกะบางคน
สามารถที่จะฆ่า หรือจองจำคนลักแกะ หรือเอาไฟเผา หรือทำตามที่ตนปรารถนา
บางคนไม่สามารถที่จะฆ่า หรือจองจำคนลักแกะ หรือเอาไฟเผา หรือทำตามที่
ตนปรารถนาได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เจ้าของแกะหรือคนฆ่าแกะเช่นไรเล่า สามารถ
ที่จะฆ่า หรือจองจำคนลักแกะ หรือเอาไฟเผา หรือทำตามที่ตนปรารถนา ดูกร-
*ภิกษุทั้งหลาย เจ้าของแกะหรือคนฆ่าแกะบางคนในโลกนี้ เป็นคนขัดสน มีสิ่ง
ของของตนน้อย มีโภคทรัพย์น้อย เจ้าของแกะหรือคนฆ่าแกะเช่นนี้ สามารถที่
จะฆ่า หรือจองจำคนลักแกะ หรือเอาไฟเผา หรือทำตามที่ตนปรารถนา ดูกร-
*ภิกษุทั้งหลาย เจ้าของแกะหรือคนฆ่าแกะเช่นไรเล่า ไม่สามารถที่จะฆ่า หรือ
จองจำคนลักแกะ หรือเอาไฟเผา หรือทำตามที่ตนปรารถนา ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เจ้าของแกะหรือคนฆ่าแกะบางคนในโลกนี้ เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะ
เหลือเฟือ เป็นพระราชา หรือมหาอำมาตย์ของพระราชา เจ้าของแกะหรือคน
ฆ่าแกะเช่นนี้ ไม่สามารถที่จะฆ่า หรือจองจำคนลักแกะ หรือเอาไฟเผา หรือ
ทำตามที่ตนปรารถนา ความจริงเจ้าของแกะหรือคนฆ่าแกะนั้น อันคนผู้ประนมมือ
ย่อมจะขอเขาได้ว่า ข้าแต่ท่าน ขอท่านจงให้แกะหรือทรัพย์ที่เป็นมูลค่าของแกะ
แก่ฉันเถิด แม้ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้
ทำบาปกรรมแม้เพียงเล็กน้อย บาปกรรมนั้นย่อมนำเขาเข้านรก ส่วนบุคคลบางคน
ในโลกนี้ ได้ทำบาปกรรมเล็กน้อยไว้เช่นนั้นเหมือนกัน บาปกรรมนั้นย่อมให้ผล
ทันตาเห็น ส่วนน้อยไม่ปรากฏ ปรากฏแต่เฉพาะส่วนมาก ฯลฯ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษนี้ทำกรรมไว้อย่างไรๆ
เขาจะต้องเสวยกรรมนั้นอย่างนั้นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์
ของผู้นั้นย่อมมีไม่ได้ โอกาสที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบย่อมไม่ปรากฏ ส่วน
ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษนี้ทำกรรมที่จะต้องเสวยผลไว้ด้วยอาการใดๆ เขาจะ
ต้องเสวยวิบากของกรรมนั้นด้วยอาการนั้นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ การอยู่ประพฤติ
พรหมจรรย์ของผู้นั้นย่อมมีได้ โอกาสที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบย่อมปรากฏ ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐  บรรทัดที่ ๖๕๖๖ - ๖๖๔๖.  หน้าที่  ๒๘๐ - ๒๘๓.
 http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=6566&Z=6646&pagebreak=0 (http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=6566&Z=6646&pagebreak=0)
             ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=540 (http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=540)
             ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย ได้ที่ :-
[540] http://budsir.mahidol.ac.th/cgi-bin/Budsir.cgi/SearchItem?mode=1&valume=20&item=540&Roman=0 (http://budsir.mahidol.ac.th/cgi-bin/Budsir.cgi/SearchItem?mode=1&valume=20&item=540&Roman=0)
             สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐
http://www.84000.org/tipitaka/read/? (http://www.84000.org/tipitaka/read/?)สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๒๐
http://www.84000.org/tipitaka/read/?index_20 (http://www.84000.org/tipitaka/read/?index_20)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 27, 2016, 10:45:43 PM

เกสปุตตสูตร
             [๕๐๕] ๖๖. สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนิคมของพวกกาลามะชื่อว่า เกสปุตตะ
พวกชนกาลามโคตร ชาวเกสปุตตนิคมได้สดับข่าวมาว่า พระสมณโคดมศากยบุตร
ทรงผนวชจากศากยสกุลแล้ว เสด็จมาถึงเกสปุตตนิคมโดยลำดับ ก็กิตติศัพท์อัน
งามของพระสมณโคดมพระองค์นั้นแล ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ... ทรงเบิกบานแล้ว ทรงจำแนกธรรม
พระองค์ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วย
พระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม พระองค์ทรงแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะใน
ท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อม
ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปาน-
*นั้น ย่อมเป็นความดีแล ครั้งนั้น ชนกาลามโคตร ชาวเกสปุตตนิคมได้เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ บางพวกถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการ
ปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประนมมือ
ไปทางพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประกาศชื่อและ
โคตรแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกนั่งเฉยๆ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
เมื่อต่างก็นั่งลงเรียบร้อยแล้ว จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า มีสมณ
พราหมณ์พวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม สมณพราหมณ์พวกนั้น พูดประกาศ
แต่เฉพาะวาทะของตัวเท่านั้น ส่วนวาทะของผู้อื่นช่วยกันกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น
พูดกด ทำให้ไม่น่าเชื่อ พระเจ้าข้า มีสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม
ถึงพราหมณ์พวกนั้น ก็พูดประกาศแต่เฉพาะวาทะของตนเท่านั้น ส่วนวาทะของ
ผู้อื่นช่วยกันกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดกด ทำให้ไม่น่าเชื่อ พระเจ้าข้า พวก
ข้าพระองค์ยังมีความเคลือบแคลงสงสัยในสมณพราหมณ์เหล่านั้นอยู่ทีเดียวว่า ท่าน
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร
กาลามชนทั้งหลาย ก็ควรแล้วที่ท่านทั้งหลายจะเคลือบแคลงสงสัย และท่าน
ทั้งหลายเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในฐานะที่ควรแล้ว มาเถิดท่านทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำ
สืบๆ กันมา อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่า ได้ยินอย่างนี้ อย่าได้ยึดถือโดยอ้าง
ตำรา อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน อย่าได้ยึดถือโดย
ความตรึกตามอาการ อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตัว อย่าได้
ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้
เป็นครูของเรา เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล
ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว
เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรม
เหล่านั้นเสีย ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ความโลภ เมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อสิ่งไม่เป็น
ประโยชน์ พวกชนกาลามโคตรต่างกราบทูลว่า เพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์
พระเจ้าข้า ฯ
             พ.  ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้โลภ ถูกความโลภครอบงำ มีจิต
อันความโลภกลุ้มรุมนี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้
สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เพื่อทุกข์ สิ้นกาลนาน บุคคลผู้โลภ ย่อม
ชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้ ฯ
             กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ.  ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความโกรธเมื่อเกิดขึ้น
ในภายในบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อสิ่งไม่ใช่ประโยชน์ ฯ
             กา. เพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ
             พ.  ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำ มีจิต
อันความโกรธกลุ้มรุมนี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้
สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ สิ้นกาลนาน บุคคลผู้โกรธย่อม
ชักชวนผู้อื่น เพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้ ฯ
             กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ.  ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ความหลง เมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อสิ่ง
ไม่เป็นประโยชน์ ฯ
             กา. เพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ
             พ.  ดูกรกาลามชนทั้งหลาย บุคคลผู้หลง ถูกความหลงครอบงำ มีจิต
อันความหลงกลุ้มรุมนี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้
สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เพื่อทุกข์ สิ้นกาลนาน บุคคลผู้หลง ย่อม
ชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้ ฯ
             กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ.  ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ฯ
             กา. เป็นอกุศล พระเจ้าข้า ฯ
             พ.  มีโทษหรือไม่มีโทษ ฯ
             กา. มีโทษ พระเจ้าข้า ฯ
             พ.  ท่านผู้รู้ติเตียนหรือท่านผู้รู้สรรเสริญ ฯ
             กา. ท่านผู้รู้ติเตียน พระเจ้าข้า ฯ
             พ.  ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์
เพื่อทุกข์หรือหาไม่ ในข้อนี้ท่านทั้งหลายมีความเห็นอย่างไร ฯ
             กา. ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อ
ทุกข์ ในข้อนี้ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็นเช่นนี้ ฯ
             พ.  ดูกรกาลามชนทั้งหลาย เราได้กล่าวคำใดไว้ว่า ดูกรกาลามชน
ทั้งหลาย มาเถอะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้
ฟังมา ... อย่าได้ยึดถือโดยนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้
ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน
ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์
เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย เพราะอาศัยคำที่เราได้กล่าวไว้แล้ว
นั้น เราจึงได้กล่าวไว้ดังนี้ ดูกรกาลามชนทั้งหลาย มาเถอะท่านทั้งหลาย ท่าน
ทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา ... อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือ
ว่า สมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่า
นี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้
ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุข เมื่อนั้น ท่าน
ทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่ ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะ
สำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความไม่โลภเมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษ ย่อมเกิดเพื่อ
ประโยชน์หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ฯ
             กา. เพื่อประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ
             พ.  ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ไม่โลภ ไม่ถูกความโลภครอบงำ
มีจิตไม่ถูกความโลภกลุ้มรุมนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ
สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่
โลภ ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ฯ
             กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ.  ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ความไม่โกรธ เมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อ
สิ่งไม่เป็นประโยชน์ ฯ
             กา. เพื่อประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ
             พ.  ดูกรกาลามชนทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่โกรธ ไม่ถูกความโกรธครอบงำ
มีจิตไม่ถูกความโกรธกลุ้มรุมนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ
สิ่งใดเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่โกรธ
ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ฯ
             กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ.  ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ความไม่หลง เมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อ
สิ่งไม่เป็นประโยชน์ ฯ
             กา. เพื่อประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ
             พ.  ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ไม่หลง ไม่ถูกความหลงครอบงำ
มีจิตไม่ถูกความหลงกลุ้มรุมนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ
สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่
หลง ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ฯ
             กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ.  ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ฯ
             กา. เป็นกุศล พระเจ้าข้า ฯ
             พ.  มีโทษหรือไม่มีโทษ ฯ
             กา. ไม่มีโทษ พระเจ้าข้า ฯ
             พ.  ท่านผู้รู้ติเตียนหรือท่านผู้รู้สรรเสริญ ฯ
             กา. ท่านผู้รู้สรรเสริญ พระเจ้าข้า ฯ
             พ.  ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อ
ความสุขหรือหาไม่ ในข้อนี้ ท่านทั้งหลายมีความเห็นอย่างไร ฯ
             กา. ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อ
ความสุข ในข้อนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็นเช่นนี้ ฯ
             ดูกรกาลามชนทั้งหลาย เราได้กล่าวคำใดไว้ว่า ดูกรกาลามชนทั้งหลาย
มาเถอะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา อย่าได้
ยึดถือตามถ้อยคำสืบๆ กันมา อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่า ได้ยินว่าอย่างนี้ อย่าได้ยึดถือ
โดยอ้างตำรา อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน อย่าได้ยึดถือโดย
ตรึกตามอาการ อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตน อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่า
ผู้พูดสมควรเชื่อได้ อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา
เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรม
เหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้
บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้นท่าน
ทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่ เพราะอาศัยคำที่เราได้กล่าวไว้แล้วนั้น เรา
จึงได้กล่าวไว้ดังนี้ ดูกรกาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้น ปราศจากความ
โลภ ปราศจากความพยาบาท ไม่หลงแล้วอย่างนี้ มีสัมปชัญญะ มีสติ
มั่นคง มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓
ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอด
โลก ทั่วสัตว์ทุกข์เหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอัน
ไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน
อยู่ มีใจประกอบด้วยกรุณา ... มีใจประกอบด้วยมุทิตา ... มีใจประกอบด้วย
อุเบกขาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน
ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลกทั่วสัตว์ทุกเหล่า
ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่
หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ดูกรกาลามชนทั้งหลาย
อริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิตไม่มีความเบียดเบียนอย่างนี้ มีจิตไม่
เศร้าหมองอย่างนี้มีจิตผ่องแผ้วอย่างนี้ ย่อมได้รับความอุ่นใจ ๔ ประการใน
ปัจจุบันว่าก็ถ้าปรโลกมีจริง ผลวิบากของกรรมทำดีทำชั่วมีจริง เหตุนี้เป็นเครื่อง
ให้เราเมื่อแตกกายตายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ ความอุ่นใจ
ข้อที่ ๑ นี้ พระอริยสาวกนั้นได้แล้ว ก็ถ้าปรโลกไม่มี ผลวิบากของกรรมทำดี
ทำชั่วไม่มี เราไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์เป็นสุข บริหารตนอยู่
ในปัจจุบันนี้ ดังนี้ ความอุ่นใจข้อที่ ๒ นี้ พระอริยสาวกนั้นได้แล้ว ก็ถ้าเมื่อ
บุคคลทำอยู่ ชื่อว่าทำบาป เราไม่ได้คิดความชั่วให้แก่ใครๆ ไหนเลยทุกข์
จักมาถูกต้องเราผู้ไม่ได้ทำบาปกรรมเล่า ดังนี้ ความอุ่นใจข้อที่ ๓ นี้ พระอริย
สาวกนั้นได้แล้ว ก็ถ้าเมื่อบุคคลทำอยู่ ไม่ชื่อว่าทำบาป เราก็ได้พิจารณาเห็น
ตนว่าเป็นคนบริสุทธิ์แล้วทั้งสองส่วน ดังนี้ ความอุ่นใจข้อที่ ๔ นี้ พระอริย
สาวกนั้นได้แล้ว ดูกรกาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้
มีจิตไม่มีความเบียดเบียนอย่างนี้ มีจิตไม่มีเศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตผ่องแผ้ว
อย่างนี้ ย่อมได้รับความอุ่นใจ ๔ ประการนี้แลในปัจจุบัน ฯ
             กา. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้อนี้เป็น
อย่างนั้น ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระอริยสาวกนั้น มีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิต
ไม่มีความเบียดเบียนอย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตผ่องแผ้วอย่างนี้
ท่านย่อมได้ความอุ่นใจ ๔ ประการในปัจจุบัน ... ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของ
พระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอพระองค์โปรดทรงจำพวกข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสก
ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ






สาฬหสูตร
             [๕๐๖] ๖๗. สมัยหนึ่ง ท่านพระนันทกะ อยู่ที่ปราสาทของนางวิสาขา
มิคารมาตา ในปุพพาราม ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล นายสาฬหะหลาน
ชายของมิคารเศรษฐี กับนายโรหนะหลานชายของเปขุณิยเศรษฐี ได้ชวนกันเข้า
ไปหาท่านพระนันทกะจนถึงที่อยู่ กราบไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว
ท่านพระนันทกะได้กล่าวว่า ดูกรสาฬหะและโรหนะ มาเถอะท่านทั้งหลาย ท่าน
ทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา ... สมณะนี้เป็นครูของเรา ดูกร
สาฬหะและโรหนะ เมื่อใด ท่านพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล
ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์
แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เมื่อนั้น ท่าน
ทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย ดูกรสาฬหะและโรหนะ ท่านทั้งหลายจะสำคัญ
ความในข้อนั้นเป็นไฉน ความโลภมีอยู่หรือ นายสาฬหะและนายโรหนะรับรองว่า
มี ขอรับ ฯ
             น.  ดูกรสาฬหะและโรหนะ ความข้อนี้เรากล่าวว่า อภิชฌาบุคคลผู้โลภ
มากด้วยความอยากได้นี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้
สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ สิ้นกาลนาน
บุคคลผู้โลภย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้ ฯ
             สา. จริงอย่างนั้น ขอรับ ฯ
             น.  ดูกรสาฬหะและโรหนะ ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ความโกรธมีอยู่หรือ ฯ
             สา. มี ขอรับ ฯ
             น.  ดูกรสาฬหะและโรหนะ ความข้อนี้เรากล่าวว่า ความพยาบาท บุคคล
ผู้ดุร้ายมีจิตพยาบาทนี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้
สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ สิ้นกาลนาน บุคคล
ผู้โกรธย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้ ฯ
             สา. จริงอย่างนั้น ขอรับ ฯ
             น.  ดูกรสาฬหะและโรหนะ ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ความหลงมีอยู่หรือ ฯ
             สา. มี ขอรับ ฯ
             น.  ดูกรสาฬหะและโรหนะ ความข้อนี้เรากล่าวว่า อวิชชา บุคคลผู้
หลงตกอยู่ในอำนาจอวิชชานี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูด
เท็จก็ได้ สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ สิ้นกาล
นาน บุคคลผู้หลงย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้ ฯ
             สา. จริงอย่างนั้น ขอรับ ฯ
             น.  ดูกรสาฬหะและโรหนะ ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ฯ
             สา. เป็นอกุศล ขอรับ ฯ
             น.  มีโทษหรือไม่มีโทษ ฯ
             สา. มีโทษ ขอรับ ฯ
             น.  ท่านผู้รู้ติเตียนหรือท่านผู้รู้สรรเสริญ ฯ
             สา. ท่านผู้รู้ติเตียน ขอรับ ฯ
             น.  ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์
เกื้อกูล เพื่อทุกข์หรือหาไม่ ในข้อนี้ ท่านทั้งหลายมีความเห็นอย่างไร ฯ
             สา. ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์
เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ในข้อนี้ ผมมีความเห็นอย่างนี้ ฯ
             น.  ดูกรสาฬหะและโรหนะ เราได้กล่าวคำใดไว้ว่า ดูกรสาฬหะและ
โรหนะ มาเถอะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟัง
มา ... อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใด ท่าน
ทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรม
เหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ผู้ใดสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อ
สิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรม
เหล่านี้เสีย ดังนี้ เพราะอาศัยคำที่ได้กล่าวไว้แล้ว ฉะนั้น เราจึงได้กล่าวไว้ดังนี้
ดูกรสาฬหะและโรหนะ มาเถอะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่ายึดถือตามถ้อยคำ
ที่ได้ยินได้ฟังมา ... อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่า สมณะนี้เป็นครูของเรา
เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้
ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ผู้ใดสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้าถึง
ธรรมเหล่านั้นอยู่ ดูกรสาฬหะและโรหนะ ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็น
ไฉน ความไม่โลภมีอยู่หรือ ฯ
             สา. มี ขอรับ ฯ
             น.  ดูกรสาฬหะและโรหนะ ความข้อนี้เรากล่าวว่า อนภิชฌาบุคคลผู้ไม่
โลภไม่มากด้วยความอยากได้นี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ
สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่
โลภย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ฯ
             สา. จริงอย่างนั้น ขอรับ ฯ
             น.  ดูกรสาฬหะและโรหนะ ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็น
ไฉน ความไม่โกรธมีอยู่หรือ ฯ
             สา. มี ขอรับ ฯ
             น.  ดูกรสาฬหะและโรหนะ ความข้อนี้เรากล่าวว่า ความไม่พยาบาท
บุคคลผู้ไม่โกรธมีจิตใจไม่พยาบาทนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่
พูดเท็จ สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน บุคคลผู้
ไม่โกรธย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ฯ
             สา. จริงอย่างนั้น ขอรับ ฯ
             น.  ดูกรสาฬหะและโรหนะ ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ความไม่หลงมีอยู่หรือ ฯ
             สา. มี ขอรับ ฯ
             น.  ดูกรสาฬหะและโรหนะ ความข้อนี้เรากล่าวว่า วิชชา  บุคคลผู้ไม่
หลงถึงความรู้แจ้งนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ สิ่งใด
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่หลง ย่อม
ชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ฯ
             สา. จริงอย่างนั้น ขอรับ ฯ
             น.  ดูกรสาฬหะและโรหนะ ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ฯ
             สา. เป็นกุศล ขอรับ ฯ
             น.  มีโทษหรือไม่มีโทษ ฯ
             สา. ไม่มีโทษ ขอรับ ฯ
             น.  ท่านผู้รู้ติเตียนหรือท่านผู้รู้สรรเสริญ ฯ
             สา. ท่านผู้รู้สรรเสริญ ขอรับ ฯ
             น.  ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อ
ความสุข หรือไม่เล่า ในข้อนี้ ท่านทั้งหลายมีความเห็นอย่างไร ฯ
             สา. ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุข ขอรับ ในข้อนี้ ผมมีความเห็นเช่นนี้ ฯ
             น.  ดูกรสาฬหะและโรหนะ เราได้กล่าวคำใดไว้ว่า ดูกรสาฬหะและ
โรหนะ มาเถอะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟัง
มา อย่าได้ยึดถือถ้อยคำสืบๆ กันมา อย่าได้ยึดถือโดยความตื่นข่าวว่า เขาว่า
อย่างนี้ อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ยึดถือโดยนึกเดาเอาเอง อย่าได้ยึดถือโดย
คาดคะเน อย่าได้ยึดถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกัน
กับทิฐิของตัว อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ยึดถือโดยความ
นับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรม
เหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ผู้
ใดสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้น
ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่ ดังนี้ เพราะอาศัยคำที่ได้กล่าวไว้แล้วนั้น
ฉะนั้น เราจึงได้กล่าวไว้ดังนี้ ดูกรสาฬหะและโรหนะ อริยสาวกนั้นปราศจาก
ความโลภ ปราศจากความพยาบาท ไม่หลงแล้วอย่างนี้ มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง
มีใจประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปตลอดทิศ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็
เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลกทั่ว
สัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความ
เป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีใจประกอบด้วย
กรุณา ... มีใจประกอบด้วยมุทิตา ... มีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศ ๑
อยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง
เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบ
ด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มี
ความเบียดเบียนอยู่ พระอริยสาวกนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า ขันธ์ ๕ นี้มีอยู่ ธรรมชาติ
ชนิดทรามมีอยู่ ธรรมชาติชนิดประณีตมีอยู่ การที่สัญญานี้สลัดสังขารทุกข์เสียได้
อย่างสูงมีอยู่ เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ
แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว
รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่น
เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรามีโลภะ ข้อนั้นเป็นการ
ไม่ดี บัดนี้ โลภะนั้นไม่มี ความไม่มีโลภะเป็นความดี เมื่อก่อนเรามีโทสะ ...
เมื่อก่อนเรามีโมหะ ข้อนั้นเป็นการไม่ดี บัดนี้ โมหะนั้นไม่มี ความไม่มีโมหะ
นั้นเป็นความดี เธอย่อมเป็นผู้ไม่มีความทะยานอยาก ดับสนิท เยือกเย็น เสวย
สุข มีตนเป็นประหนึ่งพรหมอยู่ในปัจจุบัน ฯ



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 28, 2016, 01:01:08 AM
๕. สัมมัปปธานสังยุต
ว่าด้วยสัมมัปปธาน ๔

อาศัย..ศีล..เป็นที่ตั้งแห่ง วิริยะอิทธิบาท ๔ หรือ วิริยะพละ หรือ วิริยินทรีย์ หรือ สัมมัปปธาน ๔ หรือ สัมมาวายามะแห่งมรรค

             [๑๐๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การงานที่จะพึงทำด้วยกำลังอย่างใดอย่างหนึ่ง อันบุคคล
ทำอยู่ การงานที่จะพึงทำด้วยกำลังทั้งหมดนั้น อันบุคคลอาศัยแผ่นดิน ดำรงอยู่บนแผ่นดิน จึง
ทำได้อย่างนั้น แม้ฉันใด ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญสัมมัปปธาน ๔ กระทำให้มาก
ซึ่งสัมมัปปธาน ๔ ฉันนั้นเหมือนกัน.

             [๑๐๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญสัมมัปปธาน ๔
กระทำให้มากซึ่งสัมมัปปธาน ๔ อย่างไรเล่า? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม
ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อไม่ให้บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น ๑ เพื่อ
ละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๑ เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น ๑ เพื่อความตั้งอยู่
เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความมียิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความ
บริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึง
เจริญสัมมัปปธาน ๔ กระทำให้มากซึ่งสัมมัปปธาน ๔ อย่างนี้แล (พึงขยายความพลกรณียวรรค
ด้วยสามารถสัมมัปปธานอย่างนี้).


จบ วรรคที่ ๓





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 28, 2016, 02:16:22 AM
นันทกสูตร

ศรัทธา ต้องประกอบด้วยศีล เจโตสมาธิ ปัญญา


             [๒๐๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระ-
*นันทกะชี้แจงภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญร่าเริงด้วย
ธรรมีกถา ในอุปัฏฐานศาลา ฯ
             ครั้งนั้น เป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จ
เข้าไปยังอุปัฏฐานศาลา ประทับยืนรอจนจบกถาอยู่ ณ ซุ้มประตูด้านนอก ครั้น
ทรงทราบว่ากถาจบแล้ว ทรงกระแอมและเคาะที่ลิ่มประตู ภิกษุเหล่านั้นเปิดประตู
ให้พระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลา
ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ ครั้นแล้ว ได้ตรัสกะท่านพระนันทกะว่า ดูกรนันทกะ
ธรรมบรรยายของเธอนี่ยาวมาก แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ เรายืนรอฟังจนจบกถาอยู่ที่ซุ้ม
ประตูด้านนอกย่อมเมื่อยหลัง ฯ
             เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระนันทกะรู้สึกเสียใจ สะดุ้ง
กลัว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
ไม่ทราบเกล้าเลยว่า พระผู้มีพระภาคประทับยืนอยู่ที่ซุ้มประตูด้านนอก ถ้า
ข้าพระองค์พึงทราบเกล้าว่า พระผู้มีพระภาคประทับยืนอยู่ที่ซุ้มประตูด้านนอกแล้ว
แม้คำประมาณเท่านี้ ก็ไม่พึงแจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์เลย ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค
ทรงทราบว่า ท่านพระนันทกะเสียใจ จึงตรัสกะท่านพระนันทกะว่า ดีแล้วๆ
นันทกะ ข้อที่เธอทั้งหลายพึงสนทนาด้วยธรรมีกถานี้ สมควรแก่เธอทั้งหลาย
ผู้เป็นกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา ดูกรนันทกะ เธอทั้งหลายผู้
ประชุมกันพึงทำกิจ ๒ อย่าง คือ ธรรมีกถาหรือดุษณีภาพของพระอริยะ ดูกร
นันทกะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา แต่ไม่มีศีล อย่างนี้เธอชื่อว่ายังไม่บริบูรณ์ด้วยองค์
นั้น เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า อย่างไรหนอ เราจึงเป็นผู้มี
ศรัทธาและมีศีล เมื่อใดแล ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธาและมีศีล เมื่อนั้น เธอชื่อว่า
เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น ดูกรนันทกะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธาและมีศีล แต่ยัง
ไม่ได้เจโตสมาธิในภายใน อย่างนี้เธอชื่อว่ายังไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น เธอพึง
บำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า อย่างไรหนอ เราจะพึงเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล
และได้เจโตสมาธิในภายใน เมื่อใดแล ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล และได้
เจโตสมาธิในภายใน เมื่อนั้น เธอชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น ดูกรนันทกะ
ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล ได้เจโตสมาธิในภายใน แต่ยังไม่ได้การเห็นแจ้งซึ่ง
ธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง อย่างนี้เธอชื่อว่าเป็นผู้ยังไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น ดูกร
นันทกะ เปรียบเหมือนสัตว์ ๒ เท้าหรือ ๔ เท้า แต่เท้าข้างหนึ่งของมันเสีย
พิการไป อย่างนี้มันชื่อว่า เป็นผู้ไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น ฉันใด ดูกรนันทกะ
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้มีศรัทธา มีศีล และได้เจโตสมาธิในภายใน แต่
ยังไม่ได้การเห็นแจ้งซึ่งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง อย่างนี้เธอชื่อว่าเป็นผู้ยังไม่บริบูรณ์
ด้วยองค์นั้น เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า อย่างไรหนอ เราจะพึง
มีศรัทธา มีศีล ได้เจโตสมาธิในภายใน และได้การเห็นแจ้งซึ่งธรรมด้วยปัญญา
อันยิ่ง ดูกรนันทกะ เมื่อใดแล ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล ได้เจโตสมาธิใน
ภายใน และได้การเห็นแจ้งซึ่งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง เมื่อนั้น เธอชื่อว่าเป็นผู้
บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว
เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปยังพระวิหาร ฯ
             ครั้งนั้นแล เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน ท่านพระ-
*นันทกะกล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย บัดนี้ พระผู้มีพระภาคทรง
ประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงด้วยบท ๔ แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะ
เข้าไปยังพระวิหาร ด้วยพระดำรัสว่า ดูกรนันทกะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา แต่
ไม่มีศีล อย่างนี้เธอชื่อว่าเป็นผู้ยังไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้น
ให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า อย่างไรหนอ เราจะพึงเป็นผู้มีศรัทธาและมีศีล เมื่อใดแล
ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา และมีศีล เมื่อนั้น เธอชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น ดูกร
นันทกะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธาและมีศีล แต่ยังไม่ได้เจโตสมาธิในภายใน ฯลฯ
อย่างนี้เธอชื่อว่ายังไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วย
คิดว่า อย่างไรหนอ เราจะพึงเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล ได้เจโตสมาธิในภายใน
และได้การเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง ดูกรนันทกะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล
ได้เจโตสมาธิในภายใน และได้การเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง อย่างนี้เธอ
ชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น ฯ
             ดูกรอาวุโสทั้งหลาย อานิสงส์ในการฟังธรรมตามกาล ในการสนทนา
ธรรมตามกาล ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุใน
พระธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามใน
ที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์
สิ้นเชิง แก่ภิกษุทั้งหลาย ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุย่อมแสดงธรรม ... แก่ภิกษุ
ทั้งหลายด้วยประการใดๆ เธอย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของพระศาสดานั้นๆ
เป็นที่เคารพสรรเสริญ ด้วยประการนั้นๆ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑ ในการ
ฟังธรรมตามกาล ในการสนทนาธรรมตามกาล ฯ
             อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมแสดงธรรม ... แก่ภิกษุทั้งหลาย ดูกรอาวุโส
ทั้งหลาย ภิกษุย่อมแสดงธรรม ฯลฯ แก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการใดๆ เธอ
ย่อมซาบซึ้งอรรถ และซาบซึ้งธรรมในธรรมนั้น ด้วยประการนั้นๆ นี้เป็น
อานิสงส์ประการที่ ๒ ในการฟังธรรมตามกาล ในการสนทนาธรรมตามกาล ฯ
             อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมแสดงธรรม ... แก่ภิกษุทั้งหลาย ดูกรอาวุโส
ทั้งหลาย ภิกษุย่อมแสดงธรรม ฯลฯ แก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการใดๆ
เธอย่อมแทงตลอดบทแห่งอรรถอันลึกซึ้งในธรรมนั้น เห็นด้วยปัญญา ด้วย
ประการนั้นๆ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓ ในการฟังธรรมตามกาล ในการ
สนทนาธรรมตามกาล ฯ
             อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมแสดงธรรม ... แก่ภิกษุทั้งหลาย ดูกรอาวุโส
ทั้งหลาย ภิกษุย่อมแสดงธรรม ฯลฯ แก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการใดๆ
เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญด้วยประการนั้นๆ ยิ่งขึ้นไปว่า ท่านผู้นี้
บรรลุ แล้วหรือกำลังบรรลุเป็นแน่ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔ ในการฟังธรรม
ตามกาล ในการสนทนาธรรมตามกาล ฯ
             อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามใน
ท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ
บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่ภิกษุทั้งหลาย ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุย่อมแสดง
ธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์
พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่ภิกษุทั้งหลาย
ด้วยประการใดๆ ในภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่าใดเป็นพระเสขะ ยังไม่บรรลุ
อรหัต ปรารถนาธรรมอันเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่ ภิกษุเหล่านั้นฟังธรรม
นั้นแล้ว ย่อมปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่
บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ส่วนภิกษุเหล่าใดเป็นพระอรหันต-
*ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุ
ประโยชน์ของตนแล้ว มีกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพสิ้นสุดแล้ว หลุดพ้น
แล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุเหล่านั้นฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมประกอบธรรมเครื่องอยู่
เป็นสุขในปัจจุบัน นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๕ ในการฟังธรรมตามกาล ในการ
สนทนาธรรมตามกาล ดูกรอาวุโสทั้งหลาย อานิสงส์ในการฟังธรรมตามกาล ใน
การสนทนาธรรมตามกาล ๕ ประการนี้แล ฯ

จบสูตรที่ ๔


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 29, 2016, 06:12:22 AM

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒
ทีฆนิกาย มหาวรรค

๘. สักกปัญหสูตร (๒๑)

             [๒๔๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ -
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละ ณ เวทิยกบรรพต
ด้านทิศอุดรแห่งพราหมณคามชื่ออัมพสัณฑ์ อันตั้งอยู่ด้านทิศปราจีน แห่งพระ
นครราชคฤห์ ในแคว้นมคธ ฯ
             ก็สมัยนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพได้บังเกิดความขวนขวาย เพื่อจะเฝ้า
พระผู้มีพระภาค ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงพระดำริว่า บัดนี้ พระผู้มีพระ-
*ภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรง
เห็นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละ ณ เวทิยกบรรพต ด้านทิศอุดร
แห่งพราหมณคามชื่ออัมพสัณฑ์ อันตั้งอยู่ด้านทิศปราจีน แห่งพระนครราชคฤห์
ในแคว้นมคธ ครั้นแล้ว จึงตรัสเรียกพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์มาตรัสว่า ดูกรท่าน
ผู้นิรทุกข์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ ประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละ ณ เวทิยกบรรพต
ด้านทิศอุดร แห่งพราหมณคาม ชื่ออัมพสัณฑ์ อันตั้งอยู่ด้านทิศปราจีนแห่ง
พระนครราชคฤห์ ในแคว้นมคธ ถ้ากระไร พวกเราควรจะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ทูลรับท้าวสักกะจอม
เทพแล้ว ฯ
             ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพตรัสเรียกปัญจสิขคันธรรพบุตรมาตรัสว่า
ดูกรพ่อปัญจสิขะ พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละ ณ เวทิยก-
*บรรพต ด้านทิศอุดรแห่งพราหมณคาม ชื่ออัมพสัณฑ์ อันตั้งอยู่ด้านทิศปราจีน
แห่งพระนครราชคฤห์ ในแคว้นมคธ พวกเราควรจะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ปัญจสิขคันธรรพบุตรทูลรับท้าวสักกะจอม
เทพแล้ว ถือเอาพิณมีสีเหลืองดังผลมะตูม คอยตามเสด็จท้าวสักกะจอมเทพ
ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพแวดล้อมไปด้วยพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ มีปัญจสิข-
*คันธรรพบุตรนำเสด็จ ได้หายไปในชั้นดาวดึงส์ มาปรากฏ ณ เวทิยกบรรพต ด้าน
ทิศอุดรแห่งพราหมณคาม ชื่ออัมพสัณฑ์ อันตั้งอยู่ด้านทิศปราจีน แห่งพระนคร
ราชคฤห์ ในแคว้นมคธ เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ออก หรือคู้แขนที่
เหยียดออกเข้า ฉะนั้น ฯ
             ก็สมัยนั้น เวทิยกบรรพตและพราหมณคามชื่ออัมพสัณฑ์สว่างไสวยิ่งนัก
ด้วยเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย และได้ยินว่าพวกมนุษย์ในหมู่บ้านโดยรอบพา
กันกล่าวอย่างนี้ว่า วันนี้ไฟติดเวทิยกบรรพตเข้าแล้ว วันนี้ไฟไหม้เวทิยกบรรพต
วันนี้ เวทิยกบรรพตไฟลุกโพลง เพราะเหตุไรเล่า วันนี้ เวทิยกบรรพตและ
พราหมณคาม ชื่ออัมพสัณฑ์ จึงสว่างไสวยิ่งนัก มนุษย์พวกนั้นพากันตกใจ ขน
พองสยองเกล้า ฯ
             ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพรับสั่งกะปัญจสิขคันธรรพบุตรว่า ดูกรพ่อ
ปัญจสิขะ พระตถาคตทั้งหลาย เป็นผู้เพ่งฌาน ทรงยินดีในฌาน ในระหว่างนั้น
ทรงเร้นอยู่ อันผู้เช่นเรายากที่จะเข้าเฝ้า ถ้ากระไร พ่อควรจะให้พระผู้มีพระภาค
ทรงพอพระหฤทัยก่อน พ่อให้พระองค์ทรงพอพระหฤทัยก่อนแล้ว ภายหลัง พวก
เราจึงควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ฯ
             ปัญจสิขคันธรรพบุตรทูลรับท้าวสักกะจอมเทพแล้ว จึงถือเอาพิณมีสี
เหลืองดังผลมะตูม เข้าไปยังถ้ำอินทสาละ ครั้นแล้วประมาณดูว่า เพียงนี้ พระ
ผู้มีพระภาคจะประทับอยู่ไม่ไกล ไม่ใกล้เรานัก และจักทรงได้ยินเสียงเรา แล้ว
ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ปัญจสิขคันธรรพบุตรยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว
ถือพิณมีสีเหลืองดังผลมะตูมบรรเลงขึ้น และได้กล่าวคาถาเหล่านี้ อันเกี่ยวด้วย
พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พระอรหันต์ และกาม ว่า
             [๒๔๘]    ดูกรแม่ภัททาสุริยวัจฉสา ฉันขอไหว้ท้าวติมพรุบิดาเธอ โดยเหตุ
                          ที่เธอเกิดเป็นนางงาม ปลูกความปลื้มให้แก่ฉัน เหมือนลม
                          เป็นที่ปรารถนาของผู้มีเหงื่อ หรือน้ำดื่มเป็นที่ปรารถนาของผู้
                          ระหาย เธอผู้จำรัสโฉม เป็นที่รักของฉัน คล้ายกันกับธรรม
                          เป็นที่รักของเหล่าพระอรหันต์ฉะนั้น ขอเธอช่วยดับความ
                          เร่าร้อน เหมือนช่วยวางยาคนไข้ผู้กระสับกระส่าย หรือให้
                          โภชนะแก่ผู้หิว หรือดับไฟที่ลุกอยู่ด้วยน้ำ ขอให้ฉันซบลงจด
                          ณ ถันและอุทรของเธอ เหมือนช้างผู้ร้อนจัดในหน้าร้อน หยั่งลง
                          สระโบกขรณี มีน้ำเย็นประกอบด้วยละอองแห่งเกสรดอกปทุม
                          ฉะนั้น ฉันมึนเมาแล้ว เพราะช่วงขาอันสมบูรณ์ด้วยลักษณะ
                          ไม่รู้สึกถึงเหตุการณ์ เหมือนช้างเหลือขอ ไม่ยอมรับรู้แหลน
                          และหอกซัด ด้วยถือว่าตนชนะแล้ว ฉะนั้น ฉันมีใจจดจ่อในเธอ
                          ฉันไม่อาจกลับดวงจิตที่แปรปรวนไปแล้ว เหมือนปลาที่กลืนเบ็ด
                          เสียแล้ว ฉะนั้น นางผู้เจริญ ขอเธอเอาขาซ้ายกระหวัดฉันไว้ ขอ
                          เธอผู้มีดวงตาอันอ่อนหวาน จงกระหวัดฉันไว้ ขอเธอผู้งดงามจง
                          สวมกอดฉัน นั่น เป็นข้อที่ฉันปรารถนายิ่งนัก ความใคร่ของ
                          ฉันในเธอผู้มีผมเป็นลูกคลื่น ถึงจะมีน้อยก็เกิดผลมาก เหมือน
                          ทักษิณาที่ถวายในพระอรหันต์ ฉะนั้น บุญอันใดที่ฉันได้ทำไว้
                          แล้วในพระอรหันต์ผู้คงที่ มีอยู่ ดูกรนางผู้งามทั่วสรรพางค์
                          ขอบุญอันนั้นของฉัน จงอำนวยผลแก่ฉัน พร้อมกับด้วยเธอ
                          บุญอันใดที่ฉันได้ทำไว้ในปฐพีมณฑลนี้ มีอยู่ ดูกรนางผู้งาม
                          พร้อม ขอบุญอันนั้นของฉันจงอำนวยผลแก่ฉัน พร้อมกับด้วย
                          เธอ ดูกรแม่สุริยวัจฉสา ฉันปรารถนาเธอเหมือนพระศากย-
                          *บุตรพุทธเจ้า ทรงเข้าฌานอยู่พระองค์เดียว มีพระปัญญารักษา
                          พระองค์ ทรงมีพระสติ เป็นมุนี ทรงแสวงหาอมตะ พระผู้-
                          *จอมปราชญ์ได้บรรลุพระสัมโพธิญาณอันสูงสุดแล้ว พึงชื่นชม
                          ฉันใด เธอผู้งดงาม ถ้าฉันได้อยู่ร่วมกับเธอ ก็จะพึงชื่นชม
                          ฉันนั้น ถ้าท้าวสักกะผู้เป็นอิสระของพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ จะ
                          ประทานพรแก่ฉันไซร้ ฉันจะพึงเลือกเอาเธอเป็นแท้ ความ
                          อยากได้ของฉันมั่นคงถึงเพียงนี้ ดูกรแม่ผู้เฉลียวฉลาด ท่าน
                          ผู้ใดมีธิดาเช่นนี้ ฉันขอน้อมไหว้ท่านผู้นั้น ซึ่งเป็นบิดาของเธอ
                          ซึ่งเป็นประดุจสาลพฤกษ์เผล็ดดอกไม่นาน ฉะนั้น ฯ
             [๒๔๙] เมื่อปัญจสิขคันธรรพบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้
ตรัสกะปัญจสิขคันธรรพบุตรว่า ดูกรปัญจสิขะ เสียงสายของท่านเทียบได้กับ
เสียงเพลงขับ และเสียงเพลงขับของท่านเทียบได้กับเสียงสาย ก็เสียงสายของ
ท่าน ไม่เกินเสียงเพลงขับ และเสียงเพลงขับ ไม่เกินเสียงสาย ก็คาถาเหล่านี้
อันเกี่ยวด้วยพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พระอรหันต์และกาม ท่าน
ประพันธ์ขึ้นเมื่อไร ฯ
             ปัญจสิขคันธรรพบุตรทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ประพันธ์
ขึ้นเมื่อสมัยที่พระผู้มีพระภาคแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ใต้ต้นไม้อชปาลนิโครธ แทบ
ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในอุรุเวลาประเทศ ก็สมัยนั้น ข้าพระองค์ได้รักใคร่ธิดาของ
ท้าวติมพรุคันธรรพราชผู้มีนามว่า ภัททาสุริยวัจฉสา แต่นางรักใคร่กับผู้อื่นเสีย
คือรักใคร่บุตรของมาตลีสังคาหกเทวบุตร นามว่า สิขัณฑิ เมื่อข้าพระองค์ไม่ได้
นางนั้นโดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จึงถือเอาพิณมีสีเหลืองดังผลมะตูม เข้า
ไปยังนิเวศน์ของท้าวติมพรุคันธรรพราช ครั้นแล้วจึงถือพิณมีสีเหลืองดังผลมะตูม
บรรเลงขึ้น และได้กล่าวคาถาเหล่านี้ อันเกี่ยวด้วยพระพุทธเจ้า พระธรรม
พระสงฆ์ พระอรหันต์ และกามว่า
                          ดูกรแม่ภัททาสุริยวัจฉสา ฉันขอไหว้เท้าติมพรุบิดาเธอ โดยเหตุ
                          ที่เธอเกิดเป็นนางงาม ปลูกความปลื้มให้แก่ฉัน ฯลฯ ดูกรแม่
                          ผู้เฉลียวฉลาด ท่านผู้ใดมีธิดาเช่นนี้ ฉันขอน้อมไหว้ท่านผู้นั้น
                          ซึ่งเป็นบิดาของเธอ ซึ่งเป็นประดุจสาลพฤกษ์เผล็ดดอกไม่นาน
                          ฉะนั้น ฯ
             [๒๕๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว นาง
ภัททาสุริยวัจฉสา ได้กล่าวกะข้าพระองค์ว่า ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ ฉันมิได้เห็น
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นในที่เฉพาะพระพักตร์เลย เป็นแต่ฉันเคยได้ยินเมื่อ
เข้าไปฟ้อนในสุธรรมาสภาของเทวดาชั้นดาวดึงส์เท่านั้น เมื่อท่านแสดงพระผู้มี-
*พระภาคพระองค์นั้นได้แล้ว วันนี้จงมาร่วมสมาคมกับพวกเราเถิด ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ข้าพระองค์ก็ได้ร่วมสมาคมกับนางนั้น หลังจากนั้น ข้าพระองค์มิได้พูด ฯ
             ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงพระดำริว่า ปัญจสิขคันธรรพบุตร
ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค และพระผู้มีพระภาคก็ทรงปราศรัยกับปัญจสิขคัน-
*ธรรพบุตร ดังนี้แล้ว ตรัสเรียกปัญจสิขคันธรรพบุตรมาตรัสว่า พ่อปัญจสิขะ พ่อ
จงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคตามคำของเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าวสักกะ
จอมเทพ พร้อมด้วยอำมาตย์และบริษัท ขอถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาค
ด้วยเศียรเกล้า ปัญจสิขคันธรรพบุตรทูลรับท้าวสักกะจอมเทพแล้วถวายบังคม
พระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าวสักกะจอมเทพ
พร้อมด้วยอำมาตย์และบริษัท ขอถวายบังคมพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ฯ
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรปัญจสิขะ ท้าวสักกะจอมเทพ พร้อมด้วย
อำมาตย์และบริษัท จงมีความสุขอย่างนั้นเถิด เพราะว่าพวกเทวดา มนุษย์ อสูร
นาค คนธรรพ์ และชนเป็นอันมากเหล่าอื่นใด ซึ่งปรารถนาสุขมีอยู่ ฯ
             [๒๕๑] ก็พระตถาคตทั้งหลาย ย่อมตรัสประทานพรเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่
เห็นปานนั้นอย่างนี้แล ท้าวสักกะจอมเทพ อันพระผู้มีพระภาคตรัสประทานพร
แล้ว เสด็จเข้าไปยังถ้ำอินทสาละ ของพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค
แล้วได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แม้พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ก็เข้าไปยัง
ถ้ำอินทสาละ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ถึงปัญจสิขคันธรรพบุตร ก็เข้าไปยังถ้ำอินทสาละ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว
ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง สมัยนั้น ถ้ำอินทสาละ ซึ่งมีพื้นไม่สม่ำเสมอ
ก็สม่ำเสมอ ซึ่งคับแคบ ก็กว้างขวางขึ้น ความมืดในถ้ำหายไป ความสว่างเกิด
ขึ้น ด้วยเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย ฯ
             [๒๕๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท้าวสักกะจอมเทพว่า นี้
เป็นของน่าอัศจรรย์ของท่านท้าวโกสีย์ นี้เป็นเหตุไม่เคยมีของท่านท้าวโกสีย์ คือ
การที่พระองค์ผู้มีกิจมาก มีกรณียะมากเสด็จมาในที่นี้ ฯ
             ท้าวสักกะจอมเทพทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ประสงค์จะ
มาเฝ้าเยี่ยมพระผู้มีพระภาคตั้งแต่นานมาแล้ว แต่มัวสาละวนด้วยกิจกรณียะบาง
อย่างของพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ จึงมิสามารถมาเฝ้าเยี่ยมพระผู้มีพระภาคได้ ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สลฬาคาร ในพระนคร
สาวัตถี ครั้งนั้น ข้าพระองค์ได้ไปยังพระนครสาวัตถี เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค
แต่สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่ด้วยสมาธิบางอย่าง นางปริจาริกาของ
ท้าวเวสวัณมหาราช นามว่า ภุชคี เป็นผู้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค นางยืน
ประนมมือนมัสการอยู่ ข้าพระองค์ได้กล่าวกะนางภุชคีว่า ดูกรน้องหญิง ขอท่าน
จงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคตามคำขอของเราว่า ท้าวสักกะจอมเทพพร้อมด้วย
อำมาตย์และบริษัท ขอถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า เมื่อ
ข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว นางภุชคีได้ตอบข้าพระองค์ว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์
มิใช่เวลาที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นเสียแล้ว ข้าพระองค์
จึงสั่งไว้ว่า ดูกรน้องหญิง ถ้าอย่างนั้นเมื่อใด พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากสมาธิ
แล้ว เมื่อนั้น ท่านจงกราบบังคมพระผู้มีพระภาคตามคำของเราว่า ท้าวสักกะ
จอมเทพ พร้อมด้วยอำมาตย์และบริษัท ขอถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาค
ด้วยเศียรเกล้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น้องหญิงนั้น ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค
ตามคำของข้าพระองค์แลหรือ พระผู้มีพระภาคยังทรงระลึกถึงคำของน้องหญิงนั้น
ได้อยู่หรือ ฯ
             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรจอมเทพ น้องหญิงนั้น ไหว้อาตมภาพ
แล้ว อาตมภาพระลึกได้ถึงคำของน้องหญิงนั้น และอาตมภาพออกจากสมาธิ
เพราะเสียงกงรถของพระองค์ ฯ
             ท้าวสักกะจอมเทพทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เทวดาเหล่าใดที่เข้าถึง
หมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ก่อนพวกข้าพระองค์ ข้าพระองค์ได้ยินมา ได้รับมาต่อหน้า
เทวดาเหล่านั้นว่า เมื่อใด พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จ
อุบัติในโลก เมื่อนั้น ทิพยกายย่อมบริบูรณ์ อสุรกายย่อมเสื่อมไป ข้อนี้
ข้าพระองค์ได้เห็นพยานแล้วว่า เมื่อพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จ
อุบัติในโลก ทิพยกายย่อมบริบูรณ์ อสุรกายย่อมเสื่อมไป ฯ
             ในเมืองกบิลพัสดุ์ นี้เอง ได้มีศากยธิดานามว่า โคปิกา เป็นคนเลื่อมใส
ในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ บำเพ็ญศีลบริบูรณ์ นางคลายจิตในความ
เป็นสตรี อบรมจิตในความเป็นบุรุษ เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึง
สุคติโลกสวรรค์ ถึงความอยู่ร่วมกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ ถึงความเป็นบุตรของ
ข้าพระองค์ พวกเทวดาในดาวดึงส์นั้น รู้จักเธออย่างนี้ว่า โคปกเทวบุตรๆ ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุอื่นสามรูป ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เข้าถึง
หมู่คนธรรพ์อันต่ำ คนธรรพ์พวกนั้นเพียบพร้อมไปด้วยกามคุณ ๕ บำเรออยู่ มา
สู่ที่บำรุงบำเรอของข้าพระองค์ โคปกเทวบุตรได้ตักเตือนคนธรรพ์พวกนั้นผู้มาสู่ที่
บำรุงบำเรอของข้าพระองค์ว่า ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ เอาหน้าไปไว้ที่ไหน พวกท่าน
รวบรวมพระธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้นไว้ เราเป็นแต่สตรี เลื่อมใสใน
พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ บำเพ็ญศีลบริบูรณ์ คลายจิตในความเป็น
สตรี อบรมจิตในความเป็นบุรุษ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงสุคติ
โลกสวรรค์ ถึงความอยู่ร่วมกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ ถึงความเป็นบุตรของท้าวสักกะ
จอมเทพ แม้ในที่นี้ พวกเทวดารู้จักเราว่า โคปกเทวบุตรๆ ส่วนพวกท่าน
ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเข้าถึงหมู่คนธรรพ์อันต่ำ พวกเราได้เห็น
สหธรรมิกที่เข้าถึงหมู่คนธรรพ์อันต่ำ นับว่าได้เห็นรูปที่ไม่น่าดูแล้ว ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ เมื่อคนธรรพ์พวกนั้นถูกโคปกเทวบุตรตักเตือนแล้ว เทวดาสององค์กลับ
ได้สติในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงกายอันเป็นชั้นพรหมปุโรหิต ส่วนเทวดาองค์หนึ่ง
คงตกอยู่ในกามภพ ฯ
             [๒๕๓]    เราเป็นอุบาสิกาของพระพุทธเจ้าผู้มีจักษุ นามของเราได้ปรากฏ
                          ว่า โคปิกา เราเลื่อมใสยิ่งแล้วในพระพุทธเจ้า พระธรรม
                          และมีจิตเลื่อมใสบำรุงพระสงฆ์ เพราะความที่พระธรรมของ
                          พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นแหละ เป็นธรรมดี เราได้เป็นบุตร
                          ท้าวสักกะ มีอานุภาพมาก มีความรุ่งเรืองใหญ่หลวง เข้าถึง
                          ชั้นไตรทิพย์ แม้ในที่นี้ พวกเทวดารู้จักเราว่า โคปกเทวบุตร
                          เราได้มาเห็นพวกภิกษุที่เป็นสาวกของพระโคดม ซึ่งเคยเห็นมา
                          แล้ว ครั้งที่เรายังเป็นมนุษย์ และบำรุงด้วยข้าวน้ำ สงเคราะห์
                          ด้วยการล้างเท้าและทาเท้าให้ในเรือนของตน มาเข้าถึงหมู่คน
                          ธรรพ์ อยู่ในหมู่คนธรรพ์ ท่านพวกนี้เอาหน้าไปไว้ไหน จึง
                          ไม่รับธรรมของพระพุทธเจ้า ก็ธรรมที่วิญญูชนพึงรู้เฉพาะตัว
                          อันพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงดีแล้ว แม้
                          เราก็เข้าไปหาพวกท่าน ได้ฟังสุภาษิตของพระอริยะทั้งหลาย
                          เราได้เป็นบุตรท้าวสักกะ มีอานุภาพมาก มีความรุ่งเรืองใหญ่-
                          *หลวง เข้าถึงชั้นไตรทิพย์ ส่วนพวกท่านเข้าไปนั่งใกล้
                          พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธเจ้าผู้
                          ยอดเยี่ยม ยังมาเข้าถึงกายอันต่ำ การอุปบัติของพวกท่านไม่
                          สมควร เราได้มาเห็นสหธรรมิกเข้าถึงกายอันต่ำ นับว่าได้เห็น
                          รูปที่ไม่น่าดูแล้ว พวกท่านผู้เข้าถึงหมู่คนธรรพ์ ต้องมาสู่ที่
                          บำเรอของพวกเทวดา ขอให้ท่านดูความวิเศษอันนี้ของเราผู้อยู่
                          ในเรือนเถิด เราเป็นสตรี วันนี้เป็นเทวบุตร ผู้พร้อมพรั่งไป
                          ด้วยกามอันเป็นทิพย์ คนธรรพ์พวกนั้นมาพบโคปกเทวบุตร
                          อันโคปกเทวบุตร ผู้สาวกพระโคดมตักเตือนแล้ว ถึงความ
                          สลดใจ คิดว่า เอาเถิด พวกเราจะพากเพียรพยายาม พวก
                          เราจะไม่เป็นคนใช้ของผู้อื่น บรรดาคนธรรพ์ทั้ง ๓ นั้น คน
                          ธรรพ์ ๒ คน ระลึกถึงคำสอนพระโคดมแล้ว ปรารภความ
                          เพียร คลายจิตในภพนี้ ได้เห็นโทษในกามแล้ว ตัดกาม
                          สังโยชน์ และเครื่องผูก คือกามอันเป็นบ่วงของมาร ซึ่งยาก
                          ที่จะล่วงไปได้ ก้าวล่วงเสีย ซึ่งพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ เพราะ
                          ตัดเสียได้ ซึ่งกามคุณอันมีอยู่ ประดุจช้างตัดบ่วงบาสได้
                          ฉะนั้น เทวดาทั้งหมด พร้อมทั้งพระอินทร์ พร้อมทั้งท้าว
                          ปชาบดี เข้าไปนั่งประชุมกันในสภา ชื่อ สุธรรมา ล้วนเป็น
                          ผู้แกล้วกล้า ปราศจากราคะ บำเพ็ญวิรชธรรมอยู่ ก็หาก้าว
                          ล่วงเทวดาพวกนั้นไม่ ท้าววาสพผู้เป็นใหญ่ยิ่งของเทวดา ทรง
                          เห็นเทวดาเหล่านั้นในท่ามกลางหมู่เทวดาแล้ว ได้ทรงสลด
                          พระทัยว่า ก็เทวดาเหล่านี้เข้าถึงกายอันต่ำ บัดนี้ กลับก้าวล่วง
                          พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ เมื่อท้าวสักกะเกิดสลดพระทัย เพราะ
                          ทรงพิจารณาเทวดาเหล่านั้น โคปกเทวบุตรได้ทูลท้าววาสพว่า
                          พระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมชน มีอยู่ในมนุษยโลก ทรงครอบงำกาม
                          เสียได้ ปรากฏพระนามว่า พระศากยมุนี เทวดาพวกนั้นเป็น
                          บุตรของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นผู้เว้นจากสติแล้ว อัน
                          ข้าพระองค์ตักเตือน กลับได้สติ บรรดาท่านทั้ง ๓ นั้น ท่าน
                          ผู้หนึ่ง คงเข้าถึงกายคนธรรพ์อยู่ในภพนี้ อีก ๒ ท่านดำเนิน
                          ตามทางตรัสรู้ เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว จะเย้ยพวกเทวดาก็ได้
                          การประกาศธรรมในพระวินัยนี้ เป็นเช่นนี้ บรรดาพระสาวก
                          มิได้มีสาวกรูปไรสงสัยอะไรเลย เราทั้งหลายขอนอบน้อม
                          พระชินพุทธเจ้าผู้เป็นจอมชน ทรงข้ามโอฆะได้แล้ว ทรงตัด
                          ความสงสัยได้แล้ว บรรดาคนธรรพ์ทั้ง ๓ นั้น คนธรรพ์ ๒ คน
                          นั้น รู้ธรรมอันใดของพระองค์แล้ว ถึงความเป็นผู้วิเศษ เข้า
                          ถึงกายอันเป็นชั้นพรหมปุโรหิต บรรลุคุณวิเศษแล้ว ข้าแต่
                          พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอประทานพระวโรกาส ถึงพวกข้าพระองค์
                          ก็มาเพื่อบรรลุธรรมนั้น หากพระองค์ทรงกระทำโอกาสแล้ว จะ
                          ขอทูลถามปัญหา ฯ
             [๒๕๔] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า ท้าวสักกะนี้เป็นผู้-
*บริสุทธิ์สิ้นเวลานาน จักตรัสถามปัญหาข้อใดข้อหนึ่งกะเรา ท้าวเธอจักถามปัญหา
นั้นทุกข้อ ซึ่งประกอบด้วยประโยชน์ จักไม่ถามปัญหาที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
อนึ่ง เราอันท้าวเธอตรัสถามแล้ว จักพยากรณ์ข้อความใด ท้าวเธอจักทรงทราบ
ข้อความนั้นได้พลันทีเดียว ฯ
             ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท้าวสักกะจอมเทพด้วยพระคาถาว่า
                          ดูกรท้าววาสพ พระองค์ปรารถนาไว้ในพระทัย เพื่อจะตรัสถาม
                          ปัญหาข้อไร ก็จงตรัสถามปัญหาข้อนั้นกะอาตมภาพเถิด อาตมภาพ
                          จะกระทำที่สุดแห่งปัญหานั้นๆ แก่พระองค์ ฯ
จบ ภาณวารที่หนึ่ง
             [๒๕๕] ท้าวสักกะจอมเทพ อันพระผู้มีพระภาคทรงให้โอกาสแล้ว ได้
ทูลถามปัญหาข้อแรกกะพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พวก
เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ มีอะไรเป็นเครื่องผูกพันใจไว้ อนึ่ง
ชนเป็นอันมากเหล่าอื่นนั้น เป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีอาชญา ไม่มีศัตรู ไม่มีความ
พยาบาท ย่อมปรารถนาว่า ขอพวกเราจงเป็นผู้ไม่มีเวรอยู่เถิด ก็และพวกเขามี
ความปรารถนาอยู่ดังนี้ ก็ไฉน เขายังเป็นผู้มีเวร มีอาชญา มีศัตรู มีความพยาบาท
ยังจองเวรกันอยู่ ท้าวสักกะจอมเทพได้ทูลถามปัญหากะพระผู้มีพระภาคด้วยประการ
ฉะนี้ ฯ
             พระผู้มีพระภาคอันท้าวสักกะจอมเทพทูลถามปัญหาแล้ว ทรงพยากรณ์ว่า
ดูกรจอมเทพ พวกเทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ มีความริษยาและ
ความตระหนี่เป็นเครื่องผูกพันใจไว้ อนึ่ง ชนเป็นอันมากเหล่าอื่นนั้น เป็นผู้ไม่มีเวร
ไม่มีอาชญา ไม่มีศัตรู ไม่มีความพยาบาท ย่อมปรารถนาว่า ขอพวกเราจงเป็น
ผู้ไม่มีเวรอยู่เถิด ก็และพวกเขามีความปรารถนาอยู่ดังนี้ ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังเป็น
ผู้มีเวร มีอาชญา มีศัตรู มีความพยาบาท ยังจองเวรกันอยู่ พระผู้มีพระภาค
อันท้าวสักกะจอมเทพทูลถามปัญหาแล้ว ทรงพยากรณ์ด้วยประการฉะนี้ ฯ
             ท้าวสักกะจอมเทพทรงดีพระทัย ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระ-
*ภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้อนี้เป็น
อย่างนั้น ในข้อนี้ ข้าพระองค์ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากถ้อยคำที่จะพูดว่า
อย่างไรแล้ว เพราะได้ฟังการพยากรณ์ปัญหาของพระผู้มีพระภาค ฯ
             [๒๕๖] ท้าวสักกะจอมเทพทรงชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ในปัญหาพยากรณ์ข้อแรกดังนี้แล้ว จึงได้ทูลถามปัญหากะพระผู้มีพระภาคยิ่งขึ้นไป
ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็ความริษยาและความตระหนี่ มีอะไรเป็นเหตุ มี
อะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมี ความริษยา
และความตระหนี่จึงมี เมื่ออะไรไม่มี ความริษยาและความตระหนี่จึงไม่มี ฯ
             ภ. ดูกรจอมเทพ ความริษยาและความตระหนี่มีอารมณ์เป็นที่รักและ
อารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นกำเนิด อันเป็นแดนเกิด เมื่อ
อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักมีอยู่ ความริษยาและความตระหนี่
จึงมี เมื่ออารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักไม่มี ความริษยาและความ
ตระหนี่จึงไม่มี ฯ
             ส. ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็น
ที่รัก มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด
เมื่ออะไรมี อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักจึงมี เมื่ออะไรไม่มี
อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักจึงไม่มี ฯ
             ดูกรจอมเทพ อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รัก มีความพอ
ใจเป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นกำเนิด เป็นแดนเกิด เมื่อความพอใจมี อารมณ์
อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักจึงมี เมื่อความพอใจไม่มี อารมณ์อันเป็น
ที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักจึงไม่มี ฯ
             ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ความพอใจมีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย
มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมี ความพอใจจึงมี เมื่ออะไร
ไม่มี ความพอใจจึงไม่มี ฯ
             ดูกรจอมเทพ ความพอใจมีความตรึกเป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นกำเนิด
เป็นแดนเกิด เมื่อความตรึกมี ความพอใจจึงมี เมื่อความตรึกไม่มี ความพอใจ
จึงไม่มี ฯ
             ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ความตรึกมีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย
มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมี ความตรึกจึงมี เมื่ออะไรไม่มี
ความตรึกจึงไม่มี ฯ
             ดูกรจอมเทพ ความตรึกมีส่วนแห่งสัญญาอันประกอบด้วยปปัญจธรรม
เป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นกำเนิด เป็นแดนเกิด เมื่อส่วนแห่งสัญญาอันประกอบ
ด้วยปปัญจธรรมมี ความตรึกจึงมี เมื่อส่วนแห่งสัญญาอันประกอบด้วยปปัญจธรรม
ไม่มี ความตรึกจึงไม่มี ฯ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 29, 2016, 06:17:47 AM
            [๒๕๗] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่า
ดำเนินปฏิปทาอันสมควรที่จะให้ถึงความดับส่วนแห่งสัญญา อันประกอบด้วย
ปปัญจธรรม ฯ
             ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวโสมนัส โดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควร
เสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี โทมนัสก็แยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควร
เสพก็มี และอุเบกขาก็แยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ดูกร
จอมเทพ อาตมภาพกล่าวโสมนัสโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควร
เสพก็มี ก็ที่กล่าวถึงโสมนัสดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยอะไร ในโสมนัสทั้ง ๒ นั้น
บุคคลพึงทราบโสมนัสอันใดว่า เมื่อเราเสพโสมนัสนี้ อกุศลธรรมเจริญขึ้น
กุศลธรรมเสื่อม โสมนัสเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ บุคคลพึงทราบโสมนัสอันใด
ว่า เมื่อเราเสพโสมนัสนี้ อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น โสมนัสเห็น
ปานนั้น ควรเสพ ในโสมนัสทั้ง ๒ นั้น ถ้าโสมนัสอันใดมีวิตก มีวิจาร อันใด
ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ใน ๒ อย่างนั้น โสมนัสที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ประณีตกว่า
ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวโสมนัสโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่
ควรเสพก็มี ฉะนี้แล ที่กล่าวถึงโสมนัสดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยข้อนี้ ฯ
             ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวโทมนัสโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี
ที่ไม่ควรเสพก็มี ที่กล่าวถึงโทมนัสดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยอะไร ในโทมนัสทั้ง ๒
นั้น บุคคลพึงทราบโทมนัสอันใดว่า เมื่อเราเสพโทมนัสนี้ อกุศลธรรมเจริญขึ้น
กุศลธรรมเสื่อม โทมนัสเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ บุคคลพึงทราบโทมนัสอันใดว่า
เมื่อเราเสพโทมนัสนี้ อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น โทมนัสเห็นปานนั้น
ควรเสพ ในโทมนัสทั้ง ๒ นั้น ถ้าโทมนัสอันใด มีวิตก มีวิจาร อันใด ไม่มีวิตก
ไม่มีวิจาร ใน ๒ อย่างนั้น โทมนัสที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ประณีตกว่า ดูกร-
*จอมเทพ อาตมภาพกล่าวโทมนัส โดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควร
เสพก็มี ฉะนี้แล ที่กล่าวถึงโทมนัสดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยข้อนี้ ฯ
             ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวอุเบกขาโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี
ที่ไม่ควรเสพก็มี ที่กล่าวถึงอุเบกขา ดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยอะไร ในอุเบกขา
ทั้ง ๒ นั้น บุคคลพึงทราบอุเบกขาอันใดว่า เมื่อเราเสพอุเบกขานี้ อกุศลธรรม
เจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม อุเบกขาเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ บุคคลพึงทราบอุเบกขา
อันใดว่า เมื่อเราเสพอุเบกขานี้ อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น อุเบกขา
เห็นปานนี้ ควรเสพ ในอุเบกขาทั้ง ๒ นั้น ถ้าอุเบกขาอันใด มีวิตก มีวิจาร
อันใดไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ใน ๒ อย่างนั้น อุเบกขาที่ไม่วิตก ไม่มีวิจาร ประ-
*ณีตกว่า ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวอุเบกขาแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี
ที่ไม่ควรเสพก็มี ฉะนี้แล ที่กล่าวถึงอุเบกขาดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยข้อนี้ ฯ
             ภิกษุผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล จึงจะชื่อว่า ดำเนินปฏิปทาอันสมควรที่จะให้ถึง
ความดับแห่งส่วนสัญญาอันประกอบด้วยปปัญจธรรม ฯ
             พระผู้มีพระภาคอันท้าวสักกะจอมเทพทูลถามปัญหาแล้ว ทรงพยากรณ์
ด้วยประการฉะนี้ ฯ
             ท้าวสักกะจอมเทพทรงดีพระทัย ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระ-
*ภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้อนี้เป็น
อย่างนั้น ในข้อนี้ ข้าพระองค์ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากถ้อยคำที่จะพูดว่า
อย่างไรแล้ว เพราะได้ฟังการพยากรณ์ปัญหาของพระผู้มีพระภาค ฯ
             [๒๕๘] ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระ-
*ภาคในปัญหาพยากรณ์ข้อนี้ ดังนี้แล้ว จึงได้ทูลถามปัญหากะพระผู้มีพระภาคยิ่งขึ้น
ไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติแล้วเพื่อ
ความสำรวมในปาติโมกข์ ฯ
             ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวกายสมาจารโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพ
ก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี วจีสมาจารก็แยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพ
ก็มี และการแสวงหาก็แยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ฯ
             ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวกายสมาจารโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพ
ก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ก็ที่กล่าวถึงกายสมาจารดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยอะไร ใน
กายสมาจารทั้ง ๒ นั้น บุคคลพึงทราบกายสมาจารอันใดว่า เมื่อเราเสพกายสมา-
*จารนี้ อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม กายสมาจารเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ
บุคคลพึงทราบกายสมาจารอันใดว่า เมื่อเราเสพกายสมาจารนี้ อกุศลธรรมเสื่อม
กุศลธรรมเจริญขึ้น กายสมาจารเห็นปานนี้ ควรเสพ ดูกรจอมเทพ อาตมภาพ
กล่าวกายสมาจารโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ฉะนี้แล
ที่กล่าวถึงกายสมาจารดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยข้อนี้ ฯ
             ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าววจีสมาจารโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพ
ก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ก็ที่กล่าวถึงวจีสมาจารดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยอะไร ในวจี-
*สมาจารทั้ง ๒ นั้น บุคคลพึงทราบวจีสมาจารอันใดว่า เมื่อเราเสพวจีสมาจารนี้
อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม วจีสมาจารเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ บุคคล
พึงทราบวจีสมาจารอันใดว่า เมื่อเราเสพวจีสมาจารนี้ อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรม
เจริญขึ้น วจีสมาจารเห็นปานนี้ ควรเสพ ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าววจีสมา-
*จารโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ฉะนี้แล ที่กล่าวถึง
วจีสมาจารดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยข้อนี้ ฯ
             ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวการแสวงหาโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพ
ก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ก็ที่กล่าวถึงการแสวงหาดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยอะไร ใน
การแสวงหาทั้ง ๒ นั้น บุคคลพึงทราบการแสวงหาอันใดว่า เมื่อเราเสพการแสวง
หานี้ อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม การแสวงหาเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ
บุคคลพึงทราบการแสวงหาอันใดว่า เมื่อเราเสพการแสวงหานี้ อกุศลธรรมเสื่อม
กุศลธรรมเจริญขึ้น การแสวงหาเห็นปานนี้ ควรเสพ ดูกรจอมเทพ อาตมภาพ
กล่าวการแสวงหาโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ฉะนี้แล
ที่กล่าวถึงการแสวงหาดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยข้อนี้ ฯ
             ภิกษุผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล จึงจะชื่อว่าปฏิบัติแล้วเพื่อสำรวมในปาติโมกข์ ฯ
             [๒๕๙] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติ
แล้วเพื่อความสำรวมอินทรีย์ ฯ
             ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวรูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยนัยน์ตาโดยแยกเป็น ๒
คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี กล่าวเสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยหู โดยแยก
เป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี กล่าวกลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจมูก
โดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี กล่าวรสที่จะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น
โดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี กล่าวโผฏฐัพพะที่จะพึงรู้
แจ้งด้วยกาย โดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี กล่าวธรรม
ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ โดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ฯ
             เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท้าวสักกะจอมเทพ ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมทราบเนื้อความแห่งภาษิต
ที่ตรัสโดยย่อนี้ ได้โดยพิสดารอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลเสพรูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยนัยน์ตา
เห็นปานใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยนัยน์ตา
เห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ เมื่อบุคคลเสพรูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยนัยน์ตา เห็นปานใด
อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยนัยน์ตาเห็นปานนี้
ควรเสพ เมื่อบุคคลเสพเสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยหู เห็นปานใด ... เมื่อบุคคลเสพ
กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจมูก เห็นปานใด ... เมื่อบุคคลเสพรสที่จะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น
เห็นปานใด ... เมื่อบุคคลเสพโผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกาย เห็นปานใด ... เมื่อ
บุคคลเสพธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ เห็นปานใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรม
เสื่อม ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ เห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ เมื่อบุคคลเสพธรรมที่
จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ เห็นปานใด อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น ธรรมที่
จะพึงรู้แจ้งด้วยใจเห็นปานนี้ ควรเสพ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทราบ
เนื้อความแห่งภาษิตที่ตรัสโดยย่อนี้ได้โดยพิสดารอย่างนี้ ในข้อนี้ ข้าพระองค์
ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากถ้อยคำที่จะพูดว่าอย่างไรแล้ว เพราะได้ฟังการ
พยากรณ์ปัญหาของพระผู้มีพระภาค ฯ
             [๒๖๐] ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มี
พระภาค ในปัญหาพยากรณ์ข้อนี้ ดังนี้แล้ว จึงได้ทูลถามปัญหากะพระผู้มีพระภาค
ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ สมณพราหมณ์ทั้งหมด มีวาทะเป็นอย่างเดียว
กัน มีศีลเป็นอย่างเดียวกัน มีฉันทะเป็นอย่างเดียวกัน มีความปรารถนาเป็น
อย่างเดียวกัน หรือหนอ ฯ
             ดูกรจอมเทพ สมณพราหมณ์ทั้งหมด มีวาทะเป็นอย่างเดียวกัน มีศีล
เป็นอย่างเดียวกัน มีฉันทะเป็นอย่างเดียวกัน มีความปรารถนาเป็นอย่างเดียวกัน
หามิได้ ฯ
             ก็เพราะเหตุไร สมณพราหมณ์ทั้งหมด จึงไม่มีวาทะเป็นอย่างเดียวกัน
ไม่มีศีลเป็นอย่างเดียวกัน ไม่มีฉันทะเป็นอย่างเดียวกัน ไม่มีความปรารถนาเป็น
อย่างเดียวกัน ฯ
             โลกมีธาตุเป็นอันมาก มีธาตุต่างกัน ในโลกที่มีธาตุเป็นอันมาก มีธาตุ
ต่างกันนั้น สัตว์ทั้งหลายยึดธาตุใดๆ อยู่ ย่อมยึดมั่นธาตุนั้นๆ ด้วยเรี่ยวแรงและ
ความยึดถือ กล่าวว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า เพราะเหตุนั้น สมณพราหมณ์
ทั้งหมด จึงไม่มีวาทะเป็นอย่างเดียวกัน ไม่มีศีลเป็นอย่างเดียวกัน ไม่มีฉันทะ
เป็นอย่างเดียวกัน ไม่มีความปรารถนาเป็นอย่างเดียวกัน ... ฯ
             [๒๖๑] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ สมณพราหมณ์ทั้งหมดมีความสำเร็จ
ล่วงส่วน มีความเกษมจากโยคะล่วงส่วน มีพรหมจรรย์ล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน
หรือหนอ ฯ
             ดูกรจอมเทพ สมณพราหมณ์ทั้งหมด มีความสำเร็จล่วงส่วน มีความ
เกษมจากโยคะล่วงส่วน มีพรหมจรรย์ล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน หามิได้ ฯ
             ก็เพราะเหตุไร สมณพราหมณ์ทั้งหมด จึงไม่มีความสำเร็จล่วงส่วน
ไม่มีความเกษมจากโยคะล่วงส่วน ไม่มีพรหมจรรย์ล่วงส่วน ไม่มีที่สุดล่วงส่วน ฯ
             ภิกษุเหล่าใดน้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา ภิกษุเหล่านั้น มีความ
สำเร็จล่วงส่วน มีความเกษมจากโยคะล่วงส่วน มีพรหมจรรย์ล่วงส่วน มีที่สุด
ล่วงส่วน เพราะเหตุนั้น สมณพราหมณ์ทั้งหมด จึงไม่มีความสำเร็จล่วงส่วน ไม่มี
ความเกษมจากโยคะล่วงส่วน ไม่มีพรหมจรรย์ล่วงส่วน ไม่มีที่สุดล่วงส่วน ฯ
             [๒๖๒] ท้าวสักกะ จอมเทพ ทรงชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของ พระผู้มี
พระภาค ในปัญหาพยากรณ์ข้อนี้ ดังนี้แล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ตัณหาเป็นดังโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร ย่อมฉุดคร่าบุรุษนี้ไป
เพื่อบังเกิดในภพนั้นๆ เพราะฉะนั้น บุรุษนี้ย่อมถึงอาการขึ้นๆ ลงๆ ปัญหา
เหล่าใด ที่ข้าพระองค์ไม่ได้แม้ซึ่งการกระทำโอกาสในสมณพราหมณ์เหล่าอื่นนอก
พระธรรมวินัยนี้ ปัญหาเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเห็นกาลไกล โปรด
พยากรณ์แก่ข้าพระองค์แล้ว และลูกศรคือความสงสัยเคลือบแคลงของข้าพระองค์
พระผู้มีพระภาคทรงถอนขึ้นแล้ว ฯ
             ดูกรจอมเทพ พระองค์ยังทรงจำได้หรือว่า เคยตรัสถามปัญหาเหล่านี้กะ
สมณพราหมณ์เหล่าอื่น ฯ
             ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังจำได้ว่า เคยถามปัญหาเหล่านี้กะ
สมณพราหมณ์เหล่าอื่น ฯ
             ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นพยากรณ์อย่างไร ถ้าพระองค์ไม่หนักพระทัย
ขอให้ตรัสบอกเถิด ฯ
             ข้าพระองค์ไม่มีความหนักใจ ในสถานที่พระองค์ และท่านที่เป็นอย่าง
พระองค์ประทับนั่งอยู่แล้ว ฯ
             ถ้าเช่นนั้น จงตรัสบอกเถิด ฯ
             ข้าพระองค์เข้าใจสมณพราหมณ์เหล่าใดว่า เป็นสมณพราหมณ์ผู้อยู่ป่า
มีเสนาสนะอันสงัดแล้ว ข้าพระองค์เข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถามปัญหา
เหล่านี้ ท่านเหล่านั้นถูกข้าพระองค์ถามปัญหาแล้ว ย่อมไม่สบายใจ เมื่อไม่สบาย
ใจ กลับย้อนถามข้าพระองค์ว่า ท่านชื่อไร ข้าพระองค์ถูกท่านเหล่านั้นถามแล้ว
จึงตอบว่า ข้าพเจ้าคือท้าวสักกะจอมเทพ ท่านเหล่านั้นยังสอบถามข้าพระองค์
ต่อไปว่า ท่านกระทำกรรมอะไรจึงลุถึงฐานะอันนี้ ข้าพระองค์จึงได้แสดงธรรม
ตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เรียนมา แก่ท่านเหล่านั้น ท่านเหล่านั้นดีใจด้วยเหตุเพียง
เท่านี้ว่า พวกเราได้เห็นท้าวสักกะจอมเทพ และท้าวเธอได้ตอบปัญหาที่พวกเรา
ได้ถามแล้วเป็นของแน่นอน ท่านเหล่านั้นกลับเป็นผู้รับฟังข้าพระองค์ แต่
ข้าพระองค์หาได้เป็นผู้รับฟังท่านเหล่านั้นไม่ ก็ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระองค์
ชั้นโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้ใน
เบื้องหน้า ฯ
             พระองค์ยังทรงจำได้หรือ ถึงการได้รับความยินดี การได้รับความโสมนัส
เห็นปานนี้ ก่อนแต่นี้ ฯ
             ข้าพระองค์ยังจำได้ถึงการได้รับความยินดี การได้รับความโสมนัส เห็น
ปานนี้ ก่อนแต่นี้ ฯ
             พระองค์ยังทรงจำได้ถึงการได้รับความยินดี การได้รับความโสมนัส เห็น
ปานนี้ ก่อนแต่นี้ อย่างไรเล่า ฯ
             [๒๖๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว สงครามระหว่างเทวดา
และอสูรได้ประชิดกันแล้ว ก็ในสงครามคราวนั้น พวกเทวดาชนะ พวกอสูรแพ้
เมื่อข้าพระองค์ชนะสงครามนั้นแล้ว ได้มีความดำริอย่างนี้ว่า บัดนี้ พวกเทวดาใน
เทวโลกนี้จักบริโภคโอชาทั้งสอง คือ ทิพย์โอชา และอสุรโอชา การได้รับความ
ยินดี การได้รับความโสมนัสของข้าพระองค์นั้น ประกอบไปด้วยทางมาแห่งอาชญา
ประกอบไปด้วยทางมาแห่งศาตรา ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลาย
กำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน
ส่วนการได้รับความยินดี การได้รับความโสมนัสของข้าพระองค์ เพราะได้ฟัง
ธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้น ไม่เป็นทางมาแห่งอาชญา ไม่เป็นทางมาแห่งศาตรา
ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ
เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน ฯ
             ดูกรจอมเทพ ก็พระองค์ทรงเห็นอำนาจประโยชน์อย่างไรเล่า จึงทรง
ประกาศ การได้รับความยินดี การได้รับความโสมนัส เห็นปานนี้ ฯ
             ข้าพระองค์เห็นอำนาจประโยชน์ ๖ ประการ จึงประกาศการได้รับ
ความยินดี การได้รับความโสมนัส เห็นปานนี้ ฯ
             [๒๖๔] ข้าพระองค์เห็นอำนาจประโยชน์ประการที่หนึ่งอย่างนี้ว่า
                          เมื่อเราเกิดเป็นเทวดาดำรงอยู่ในภพดาวดึงส์นี้ เรากลับ
                          ได้อายุเพิ่มขึ้นอีก ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอจงทรงทราบ
                          อย่างนี้เถิด ดังนี้
จึงประกาศการได้รับความยินดี การได้รับความโสมนัส เห็นปานนี้ ฯ
             [๒๖๕] ข้าพระองค์เห็นอำนาจประโยชน์ประการที่สองอย่างนี้ว่า
                          เราจุติจากทิพยกายแล้ว ละอายุอันมิใช่ของมนุษย์แล้ว
                          เป็นผู้ไม่หลง จักเข้าสู่ครรภ์ในตระกูลอันเป็นที่พอใจของเรา
                          ดังนี้
จึงประกาศการได้รับความยินดี การได้รับความโสมนัส เห็นปานนี้ ฯ
             [๒๖๖] ข้าพระองค์เห็นอำนาจประโยชน์ประการที่สามอย่างนี้ว่า
                          เรานั้น ยินดีแล้ว ในศาสนา ของท่าน ที่มิได้หลง ปัญหา
                          เรามีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง จักอยู่โดยธรรม ดังนี้
จึงประกาศการได้รับความยินดี การได้รับความโสมนัส เห็นปานนี้ ฯ
             [๒๖๗] ข้าพระองค์เห็นอำนาจประโยชน์ประการที่สี่อย่างนี้ว่า
                          ถ้าความตรัสรู้จักมีแก่เราในภายหน้า โดยธรรมไซร้
                          เราจักเป็นผู้รู้ทั่วถึงอยู่ นั่นแหละ จักเป็นที่สุดของเรา ดังนี้
จึงประกาศการได้รับความยินดี การได้รับความโสมนัส เห็นปานนี้ ฯ
             [๒๖๘] ข้าพระองค์เห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ห้าอย่างนี้ว่า
                          หากเราจุติจากกายมนุษย์แล้ว ละอายุอันเป็นของ
                          มนุษย์แล้ว จักกลับเป็นเทวดาอีก จักเป็นผู้สูงสุดในเทวโลก
                          ดังนี้
จึงประกาศการได้รับความยินดี การได้รับความโสมนัส เห็นปานนี้ ฯ
             [๒๖๙] ข้าพระองค์เห็นอำนาจประโยชน์ประการที่หกอย่างนี้ว่า
                          พวกเทวดาชั้นอกนิฏฐาเหล่านั้นเป็นผู้ประณีตกว่า มียศ
                          เมื่อภพที่สุดเป็นไปอยู่ นิวาสนั้นจักเป็นของเรา ดังนี้
จึงประกาศการได้รับความยินดี การได้รับความโสมนัส เห็นปานนี้ ฯ
             ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นอำนาจประโยชน์ หกประการนี้แล
จึงประกาศการได้รับความยินดี การได้รับความโสมนัส เห็นปานนี้ ฯ
             [๒๗๐] ข้าพระองค์มีความดำริยังไม่ถึงที่สุด ยังมีความสงสัย
เคลือบแคลง เที่ยวเสาะแสวงหาพระตถาคตอยู่ตลอดกาลนาน
             ข้าพระองค์สำคัญสมณะเหล่าใด ซึ่งเป็นผู้มีปรกติอยู่เงียบสงัด
เข้าใจว่าเป็นพระสัมพุทธเจ้า ได้เข้าไปหาสมณะเหล่านั้น ท่าน
เหล่านั้นถูกข้าพระองค์ถามว่า ความพอใจเป็นอย่างไร ความ
ไม่พอใจเป็นอย่างไร ก็หาชี้แจงในมรรคและข้อปฏิบัติไม่
ในเวลาที่ท่านเหล่านั้นรู้ข้าพระองค์ว่า เป็นสักกะมาจากเทวโลก
จึงถามข้าพระองค์ทีเดียวว่า ท่านทำอะไรจึงได้ลุถึงฐานะนี้
             ข้าพระองค์จึงแสดงธรรมตามที่ฟังมา แก่ท่านเหล่านั้น ให้ปรากฏ
ในหมู่ชน ท่านเหล่านั้นมีความพอใจด้วยเหตุเพียงเท่านี้ว่า
             พวกเราได้เห็นท้าววาสวะแล้ว ในเวลาใด ข้าพระองค์ได้เห็น
พระสัมพุทธเจ้า ผู้ข้ามความสงสัยได้แล้ว ในเวลานั้น
             ข้าพระองค์เป็นผู้ปราศจากความกลัว วันนี้ ได้เข้ามานั่งใกล้
พระสัมพุทธเจ้าแล้ว ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระพุทธเจ้า ผู้ทรง
กำจัดเสียได้ซึ่งลูกศรคือตัณหา ซึ่งหาบุคคลเปรียบมิได้เป็น มหา-
*วีระ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นเผ่าพันธุ์ พระอาทิตย์ ข้าแต่
พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์กับพวกเทวดากระทำความนอบ-
*น้อมอันใดแก่พรหม ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพระองค์ขอถวาย
ความนอบน้อมนั้นแด่พระองค์ ข้าพระองค์ขอทำความนอบน้อม
แด่พระองค์ด้วยตนเอง พระองค์ผู้เดียวเป็นผู้ตรัสรู้พระนิพพาน
             พระองค์เป็นศาสดาอย่างยอดเยี่ยมในโลกกับทั้งเทวโลก จะหา
บุคคลเปรียบพระองค์มิได้ ฯ
             [๒๗๑] ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ได้ตรัสเรียกปัญจสิขคันธรรพ-
*บุตรมาแล้วตรัสว่า พ่อปัญจสิขะ พ่อเป็นผู้มีอุปการะแก่เรามาก ด้วยเหตุที่พ่อ
ให้พระผู้มีพระภาคทรงพอพระหฤทัยก่อน พ่อให้พระองค์ทรงพอพระหฤทัยก่อนแล้ว
ภายหลังพวกเราจึงได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น
เราจักตั้งพ่อไว้ในตำแหน่งแทนบิดา พ่อจักเป็นราชาแห่งคนธรรพ์ และเราจะให้
นางภัททาสุริยวัจฉสาแก่พ่อ เพราะว่า นางนั้น พ่อปรารถนายิ่งนัก ฯ
             ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพเอาพระหัตถ์ตบปฐพี แล้วทรงเปล่งอุทาน
๓ ครั้งว่า
                          ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า พระ-
                          *องค์นั้น ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธ-
                          *เจ้าพระองค์นั้น ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา-
                          *สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
             [๒๗๒] ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรม
อันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน บังเกิดขึ้นแก่ท้าวสักกะจอมเทพว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับเป็นธรรมดา และบังเกิด
ขึ้นแก่เทวดาแปดหมื่นพวกอื่น ปัญหาที่เชื้อเชิญให้ถามที่ท้าวสักกะจอมเทพทูล
ถามนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แล้ว ด้วยประการดังนี้ เพราะฉะนั้น คำว่า
สักกปัญหา จึงเป็นชื่อของไวยากรณ์ภาษิตนี้ ฉะนี้แล ฯ


จบสักกปัญหสูตร ที่ ๘
-----------------------------------------------------



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 30, 2016, 02:52:25 AM

อวิชชาสูตรที่ ๑

             [๙๕] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ฯลฯ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมข้อหนึ่ง
ซึ่งเมื่อภิกษุละได้แล้ว ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น มีอยู่หรือ พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ธรรมข้อหนึ่งซึ่งเมื่อภิกษุละได้แล้ว ย่อมละ
อวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น มีอยู่ ฯ
             ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมข้อหนึ่งซึ่งเมื่อภิกษุละได้แล้ว ย่อมละ
อวิชชาได้ วิชชาเกิดขึ้นนั้น เป็นไฉน พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรภิกษุ ธรรมข้อหนึ่ง คือ อวิชชาแล ซึ่งเมื่อภิกษุละได้แล้ว
ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น ฯ
             ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เมื่อภิกษุรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึง
ละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรภิกษุ เมื่อภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ซึ่งจักษุโดยความเป็นของไม่เที่ยง
จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น เมื่อภิกษุรู้อยู่เห็นอยู่ซึ่งรูปทั้งหลาย ฯลฯ ซึ่ง
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัส
เป็นปัจจัย โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น ดูกรภิกษุ
เมื่อภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น ฯ

จบสูตรที่ ๖


อวิชชาสูตรที่ ๒
             [๙๖] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง ฯลฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมข้อหนึ่ง
ซึ่งภิกษุละได้แล้ว ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น มีอยู่หรือหนอแล ฯ
             พ. ดูกรภิกษุ ธรรมข้อหนึ่งซึ่งภิกษุละได้แล้ว ย่อมละอวิชชาได้ วิชชา
ย่อมเกิดขึ้น มีอยู่ ฯ
             ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมข้อหนึ่งซึ่งภิกษุละได้แล้ว ย่อมละ
อวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น เป็นไฉน พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรภิกษุ ธรรมข้อหนึ่ง คือ อวิชชาแล ซึ่งภิกษุละได้แล้ว ย่อมละ
อวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น ฯ
             ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เมื่อภิกษุรู้อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงละ
อวิชชาได้  วิชชาจึงเกิดขึ้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรภิกษุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น
เธอย่อมรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรม
ทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมเห็นนิมิตทั้งปวงโดยประการอื่น คือ
เห็นจักษุโดยประการอื่น เห็นรูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา
หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย โดยประการอื่น ฯลฯ
เห็นใจ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา
หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย โดยประการอื่น
ดูกรภิกษุ เมื่อภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงละอวิชชาได้ วิชชา
จึงเกิดขึ้น ฯ
จบสูตรที่ ๗


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 30, 2016, 03:00:15 AM
คิลานวรรคที่ ๓
คิลานสูตรที่ ๑
             [๘๘] สาวัตถีนิทาน ฯ ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในวิหารโน้น มีภิกษุรูปหนึ่ง
เป็นผู้ใหม่ ไม่ปรากฏนามและโคตร เป็นผู้อาพาธ ถึงความทุกข์ เป็นไข้หนัก
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงอาศัยความเอ็นดู
เสด็จเข้าไปหาภิกษุนั้นเถิด พระเจ้าข้า ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงสดับคำว่า
ภิกษุใหม่ และว่าเป็นไข้ ทรงทราบชัดว่าเป็นภิกษุไม่ปรากฏชื่อและโคตร เสด็จ
เข้าไปหาภิกษุนั้น ภิกษุนั้นได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้ว
ปูอาสนะไว้ที่เตียง ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุนั้นว่า อย่าเลย
ภิกษุ เธออย่าปูอาสนะไว้ที่เตียงเลย อาสนะที่เขาจัดไว้เหล่านี้มีอยู่ เราจักนั่ง
บนอาสนะนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะซึ่งเขาจัดไว้ ครั้นแล้วได้ตรัส
ถามภิกษุนั้นว่า เธอพอทนได้หรือ เธอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาลด
น้อยลง ไม่เจริญแก่กล้าหรือ ความทุเลาย่อมปรากฏ ความกำเริบไม่ปรากฏหรือ ฯ
             ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้
ทุกขเวทนาของข้าพระองค์แก่กล้ายิ่งนัก ไม่ลดน้อยไปเลย ความกำเริบปรากฏ
ความทุเลาไม่ปรากฏ พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรภิกษุ เธอไม่มีความรังเกียจ ไม่มีความเดือดร้อนไรๆ หรือ ฯ
             ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มีความรังเกียจ มีความเดือดร้อน
ไม่น้อยเลย พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรภิกษุ เธอไม่ติเตียนตนเองโดยศีลบ้างหรือ ฯ
             ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ติเตียนตนโดยศีลเลย
พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรภิกษุ ถ้าเธอไม่ติเตียนตนโดยศีล เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอจะมี
ความรังเกียจ มีความเดือดร้อนเพราะเรื่องอะไรเล่า ฯ
             ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงเพื่อสีลวิสุทธิเลย พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรภิกษุ ถ้าว่าเธอยังไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วเพื่อสีลวิสุทธิ
ไซร้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอจะรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วประพฤติเพื่ออะไรเล่า ฯ
             ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงแล้วเพื่อคลายจากราคะ พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดีแล้วๆ ภิกษุ เป็นการถูกต้องดีแล้ว ที่เธอรู้ทั่วถึงธรรมที่แสดงแล้ว
เพื่อคลายจากราคะ ดูกรภิกษุ เพราะว่าธรรมที่เราแสดงแล้ว ล้วนมีความคลาย
จากราคะเป็นความมุ่งหมาย ฯ
             [๘๙] พ. ดูกรภิกษุ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน จักษุเที่ยง
หรือไม่เที่ยง ฯ
             ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
             พ. หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
             ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ
             ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ
หนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ
             ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า
             พ. ดูกรภิกษุ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย
แม้ในจักษุ ฯลฯ แม้ในใจ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด
จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติ
สิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็น
อย่างนี้มิได้มี ฯ
             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุนั้นชื่นชมยินดี
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ธรรม
จักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความ
เกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ฯ
จบสูตรที่ ๑

คิลานสูตรที่ ๒
             [๙๐] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปหนึ่งในวิหารโน้น เป็นผู้ใหม่ ไม่ปรากฏชื่อและโคตร
เป็นผู้อาพาธ ถึงความทุกข์ เป็นไข้หนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทาน-
*โอกาส ขอพระผู้มีพระภาค ทรงอาศัยความอนุเคราะห์เสด็จไปหาภิกษุนั้นเถิด
พระเจ้าข้า ฯ
             ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงสดับคำว่าภิกษุใหม่ เป็นไข้ทรงทราบชัด
ว่า เป็นภิกษุไม่ปรากฏชื่อและโคตร จึงเสด็จเข้าไปหาภิกษุนั้น ภิกษุนั้นได้เห็น
พระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ครั้นแล้วปูอาสนะไว้ที่เตียง ครั้งนั้นแล พระผู้มี
พระภาคได้ตรัสกะภิกษุนั้นว่า อย่าเลย ภิกษุ เธออย่าปูอาสนะที่เตียงเลย อาสนะ
ที่เขาจัดไว้เหล่านี้มีอยู่ เราจักนั่งบนอาสนะนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบน
อาสนะซึ่งเขาจัดไว้ ครั้นแล้วได้ตรัสกะภิกษุนั้นว่า ดูกรภิกษุ เธอพอทนได้หรือ
เธอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาลดน้อยลง ไม่เจริญแก่กล้าหรือ
ความทุเลาย่อมปรากฏ ความกำเริบไม่ปรากฏหรือ ฯ
             ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่
ได้ ฯลฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ติเตียนตนโดยศีลเลย พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรภิกษุ ถ้าเธอไม่ติเตียนตนโดยศีลไซร้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอจะ
มีความรังเกียจ มีความเดือดร้อนเพราะเรื่องอะไรเล่า ฯ
             ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงเพื่อสีลวิสุทธิเลย พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรภิกษุ ถ้าเธอยังไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วเพื่อสีลวิสุทธิไซร้
เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอจะรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วประพฤติเพื่ออะไรเล่า ฯ
             ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรง
แสดงแล้วเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดีแล้วๆ ภิกษุ เป็นการถูกต้องดีแล้ว ที่เธอรู้ทั่วถึงธรรมอันเรา
แสดงแล้วเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน เพราะว่าธรรมที่เราแสดงแล้ว ล้วนมีอนุปาทา-
*ปรินิพพานเป็นความมุ่งหมาย ฯ
             [๙๑] พ. ดูกรภิกษุ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน จักษุเที่ยง
หรือไม่เที่ยง ฯ
             ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ
             พ. หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส แม้สุขเวทนา
ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เที่ยง
หรือไม่เที่ยง ฯ
             ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ
             ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ
หนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า  นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ
             ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรภิกษุ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย
แม้ในจักษุ ฯลฯ แม้ในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิด
เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด
จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีวิญญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า
ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความ
เป็นอย่างนี้มิได้มีฉะนี้ ฯ
             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุนั้นชื่นชม ยินดี
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิต
ของภิกษุนั้นหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ดังนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๒


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กุมภาพันธ์ 15, 2016, 12:11:20 PM
บันทึกกรรมฐานวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ "พุทโธ"
พุทโธ พุทธะ พระพุทธเจ้า คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

พุทโธ พุทธะ พระพุทธเจ้า คือ ผู้รู้แจ้งเห็นจริงในตัวสมมติของปลอมและของจริง ผู้ตื่นจากสมมติของปลอม ผู้เบิกบานหลุดพ้นจากสมมติของปลอมทั้งปวง

หลวงปู่บุญกู้เทศนาสั่งสอน วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ (รวมโดยย่อว่า)

พุทโธ พุทธะ พระพุทธเจ้า คือ ผู้รู้ เป็นผู้รู้แจ้งโลก ผู้รู้แจ้งสังขารทั้งปวง
    ธรรมชาติของปุถุชนคนเรานี้ก็มีจิตเป็นผู้รู้ แต่มันรู้เพียงสมมติของปลอม มันปรุงไปรู้อดีตบ้าง ปรุงไปรู้อนาคตที่ยังมาไม่ถึงบ้าง สมมติไปอดีต อนาคต ไม่รู้ตัว ไม่รู้ปัจุุบันขณะ ไม่รู้ของจริงเลย
    พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้รู้แจ้งโลก จึงทรงตรัสสอนให้เราได้เป็นผู้รู้จักตัวสมมติของปลอม กับ ของจริง(ยถาภูญาณทัสสะ, สัมมาทิฐิ, อริยะสัจ๔) พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนให้เราถึงซึ่งความเป็นผู้ตื่นจากสมมติของปลอม เพียรเพื่อดับสิ้นถึงความลุ่มหลงสมมติของปลอมนั้น(อริยะมรรค ๘, โพชฌงค์ ๗, นิพพิทา, วิราคะ) และ เป็นผู้เบิกบานหลุดพ้นแล้วจากความลุ่มหลงสมมติทั้งปวงตามพระองค์(นิโรธ, วิมุตติ)
     พระพุทธเจ้า องค์พระบรมศาสดาได้ทรงสอนให้เราอยู่กับปัจจุบัน รู้ปัจจุบัน เห็นปัจจุบัน แจ่มแจ้งในปัจจุบัน มีศีล ทาน ภาวนาเครื่องกุศล อินทรีย์สังวรณ์ มีสีลสังวรณ์ ภาวนาเป็นปัจจุบัน ไม่หลงไปกับสัญญาอกุศลธรรมอันลามก ไม่หลงไปกับสมมติกิเลสของปลอมที่สร้างขึ้นมาหลอกให้จิตหลงเสพย์หลงยึดว่าจริง ไม่ติดความคิดสมมติไปอดีตบ้างหรืออนาคตบ้าง คำสอนและกรรมฐานทั้งปวงของพระพุทธเจ้าจึงเป็นปัจจุบัน มีแต่ปัจจุบันเท่านั้น

โดยส่วนตัวของเราแล้วจากที่มีบุญมีโอกาสได้หลวงปู่บุญกู้และครูบาอาจารย์พระอริยะสงฆ์ทั้งหลายสั่งสอนกรรมฐาน ศีล ทาน ภาวนา โดยตรงได้เข้าถึง พุทโธ มาบ้างแล้วแม้เล็กน้อยก็ตาม ตามคำครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านได้เมตตาและกรุณาชี้แนะสั่งสอน เราจึงได้เห็นตรงตามที่หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน ผู้เป็นครูของเรานั้น โดยไม่ผิดเพี้ยน เป็นที่ตื้นตันอิ่มใจว่าเราเห็นไม่ผิดทาง ปฏิบัติมาไม่ผิดทาง ด้วยเราเห็นดังนี้ว่า...

ก. พุทโธ คือ ผู้รู้ปัจจุบัน

ข. พุทโธ คือ ปัจจุบัน

ค. การทำพุทโธให้เป็นปัจจุบันโดยกรรมฐาน คือ อานาปานสติ+พุทธานุสสติ ว่าด้วยพุทโธนั่นเอง

- เมื่อหายใจเข้าก็รู้ชัดว่าหายใจเข้า ระลึกหน่วงนึกตรึกถึงความเป็นผู้รู้แจ้งโลกแจ้งชัดในปัจจุบันไม่หลงตามตัวสมมติของปลอม ตื่นจากสมมติถึงความเบิกบานแล้วหลุดพ้นจากสมมติของปลอมกิเลสเครื่องเศร้าหมองที่เผากายใจเรานี้ บริกรรมว่า "พุท"
(การรู้ว่าตนกำลังหายใจเข้า รู้ว่าหายใจเข้าสั้นหรือยาว คือ ปัจจุบันขณะที่เกิดมีขึ้น มีคำบริกรรมว่า "พุท" อันจิตเราตรึกหน่วงนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าผู้รู็แจ้งโลกอยู่นั้น กำกับอยู่เป็นผู้รู้คู่กับจิต ให้จิตเรารู้แจ้งมีกำลังรู้ปัจจุบันไม่สัดส่ายหลงตามสมมติกิเลสของปลอม)

- เมื่อหายใจออกก็รู้ชัดว่าหายใจเข้า ระลึกหน่วงนึกตรึกถึงความเป็นผู้รู้แจ้งโลกแจ้งชัดในปัจจุบันไม่หลงตามตัวสมมติของปลอม ตื่นจากสมมติถึงความเบิกบานแล้วหลุดพ้นจากสมมติของปลอมกิเลสเครื่องเศร้าหมองที่เผากายใจเรานี้ บริกรรมว่า "โธ"
(การรู้ว่าตนกำลังหายใจออก รู้ว่าหายใจออกสั้นหรือยาว คือ  ปัจจุบันขณะที่เกิดมีขึ้น มีคำบริกรรมว่า "โธ" อันจิตเราตรึกหน่วงนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าผู้รู็แจ้งโลกอยู่นั้น กำกับอยู่เป็นผู้รู้คู่กับจิต ให้จิตเรารู้แจ้งมีกำลังรู้ปัจจุบันไม่สัดส่ายหลงตามสมมติกิเลสของปลอม)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กุมภาพันธ์ 15, 2016, 12:13:54 PM
พุทโธ พุทธะ พระพุทธเจ้า คือ ผู้รู้ เป็นผู้รู้แจ้งโลก ผู้รู้แจ้งสังขารทั้งปวง
    ธรรมชาติของปุถุชนคนเรานี้ก็มีจิตเป็นผู้รู้ แต่มันรู้เพียงสมมติของปลอม มันปรุงไปรู้อดีตบ้าง ปรุงไปรู้อนาคตที่ยังมาไม่ถึงบ้าง สมมติไปอดีต อนาคต ไม่รู้ตัว ไม่รู้ปัจุุบันขณะ ไม่รู้ของจริงเลย
    พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้รู้แจ้งโลก จึงทรงตรัสสอนให้เราได้เป็นผู้รู้จักตัวสมมติของปลอม กับ ของจริง(ยถาภูญาณทัสสะ, สัมมาทิฐิ, อริยะสัจ๔) พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนให้เราถึงซึ่งความเป็นผู้ตื่นจากสมมติของปลอม เพียรเพื่อดับสิ้นถึงความลุ่มหลงสมมติของปลอมนั้น(อริยะมรรค ๘, โพชฌงค์ ๗, นิพพิทา, วิราคะ) และ เป็นผู้เบิกบานหลุดพ้นแล้วจากความลุ่มหลงสมมติทั้งปวงตามพระองค์(นิโรธ, วิมุตติ)
     พระพุทธเจ้า องค์พระบรมศาสดาได้ทรงสอนให้เราอยู่กับปัจจุบัน รู้ปัจจุบัน เห็นปัจจุบัน แจ่มแจ้งในปัจจุบัน มีศีล ทาน ภาวนาเครื่องกุศล อินทรีย์สังวรณ์ มีสีลสังวรณ์ ภาวนาเป็นปัจจุบัน ไม่หลงไปกับสัญญาอกุศลธรรมอันลามก ไม่หลงไปกับสมมติกิเลสของปลอมที่สร้างขึ้นมาหลอกให้จิตหลงเสพย์หลงยึดว่าจริง ไม่ติดความคิดสมมติไปอดีตบ้างหรืออนาคตบ้าง คำสอนและกรรมฐานทั้งปวงของพระพุทธเจ้าจึงเป็นปัจจุบัน มีแต่ปัจจุบันเท่านั้น

ด้วยเหตุดังนี้ การที่เราเจริญภาวนามีพุทโธเป็นลมหายใจเข้า-ออกนี้ จึงรู้ได้ว่า

ก. พุทโธ คือ ผู้รู้ปัจจุบัน

ข. พุทโธ คือ ปัจจุบัน


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กุมภาพันธ์ 23, 2016, 10:33:34 AM


คำสอน เรื่อง นโม สำคัญอย่างไร คืออะไร จากหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ

๑. มูลมรดกอันเป็นต้นทุนทำการฝึกฝนตน

เหตุใดหนอ นักปราชญ์ทั้งหลาย จะสวดก็ดี จะรับศีลก็ดี หรือจะทำการกุศลใด ๆ ก็ดี จึงต้องตั้งนโมก่อน จะทิ้งนโมไม่ได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้นโมก็ต้องเป็นสิ่งสำคัญจะยกขึ้นพิจารณา ได้ความปรากฏว่า น คือธาตุน้ำ โม คือธาตุดิน พร้อมกับบทพระคาถาขึ้นมาว่า มาตาเปติก สมฺภโว โอทนกุมฺมาสปจฺจโย – สัมภวธาตุของมารดาบิดาผสมกันจึงเป็นตัวตนขึ้นมา เมื่อคลอดจากครรภ์มารดาแล้ว ก็ได้รับข้าวสุกและขนมกุมมาสเป็นเครื่องเลี้ยง จึงเจริญเติบโตขึ้นมาได้ น เป็นธาตุของมารดา โมเป็นธาตุของบิดา ฉะนั้นเมื่อธาตุทั้ง ๒ นี้ผสมกันเข้าไป ไฟธาตุของมารดาเคี่ยวเข้าจนได้นามว่า กลละ คือน้ำมันหยดเดียว ณ ที่นี้เองปฏิสนธิวิญญาณเข้าถือปฏิสนธิได้ จิตจึงได้ปฏิสนธิในธาตุนโมนั้น เมื่อจิตเข้าไปอาศัยแล้ว กลละก็จะค่อยเจริญขึ้นเป็นอัมพุชะคือ เป็นก้อนเลือด เจริญจากก้อนเลือดมาเป็น ฆนะ คือเป็นแท่ง และเปสิคือชิ้นเนื้อ แล้วขยายตัวออกคล้ายรูปจิ้งเหลน จึงเป็นปัญจสาขา คือ แขน ๒ ขา๒ หัว๑ ส่วนธาตุ พ คือลม ธ คือไฟ นั้น เป็นธาตุเข้ามาอาศัยภายหลังเพราะจิตไม่ถือเมื่อละจากกลละนั้นแล้ว กลละก็ต้องทิ้งเปล่าหรือสูญเปล่า ลมและไฟก็ไม่มี คนตาย ลมและไฟก็ดับหายสาบสูญไป จึงว่าเป็นธาตุอาศัย ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ธาตุทั้ง ๒ คือนโมเป็นดั้งเดิม ในกาลต่อมาเมื่อ คลอดออกมาแล้วก็ต้องอาศัย น มารดา โม บิดา เป็นผู้ทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงมา ด้วยการให้ข้าวสุกและขนมกุมมาสเป็นต้น ตลอดจนการแนะนำสั่งสอนความดีทุกอย่าง ท่านจึงเรียกมารดาบิดาว่า ปุพพาจารย์ เป็นผู้สอนก่อนใคร ๆ ทั้งสิ้น มารดาเป็นผู้มีเมตตาจิตต่อบุตรธิดาจะนับประมาณมิได้ มรดกที่ท่านทำให้ กล่าวคือรูปกายนี้แล เป็นมรดกดั้งเดิม ทรัพย์สินเงินทองอันเป็นของภายนอกก็เป็นไปจากรูปกายนี้เอง ถ้ารูปกายนี้ไม่มีแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ชื่อว่าไม่มีอะไรเลย เพราะเหตุนั้นตัวของเราทั้งนี้เป็น “ มูลมรดก ” ของมารดาบิดาทั้งสิ้น จึงว่าคุณท่านทั้งสองจะนับประมาณมิได้เลย ปราชญ์ทั้งหลายจึงหาได้ละทิ้งไม่ เราต้องเอาตัวเราคือ นโม ขึ้นตั้งขึ้นก่อน แล้วจึงทำกิริยาน้อมไหว้ภายหลัง นโมท่านแปลว่านอบน้อมนั้นเป็นการแปลเพียงกิริยา หาได้แปลต้นกิริยาไม่ มูลมรดกนี้แลเป็นต้นทุนทำการฝึกหัดปฏิบัติตน ไม่ต้องเป็นคนจนทรัพย์สำหรับทำทุนปฏิบัติ

๒. มูลฐานสำหรับทำการปฏิบัติ

นโม เมื่อกล่าวเพียง ๒ ธาตุเท่านั้น ยังไม่สมประกอบหรือยังไม่เต็มส่วน ต้องพลิกสระพยัญชนะดังนี้คือ เอาสระอะจากตัว น มาใส่ตัว ม เอาสระโอจากตัว ม มาใส่ตัว น แล้วกลับตัว มะ มาไว้หน้าตัว โน เป็น มโน แปลว่า ใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงได้ทั้งกายและใจเต็มตามสมควรแก่การใช้เป็นมูลฐานแห่งการปฏิบัติได้มโนคือใจนี้เป็นดั้งเดิม เป็นมหาฐานใหญ่ จะทำอะไรจะพูดอะไรก็ย่อมเป็นไปจากใจนี้ทั้งหมด ในพระพุทธพจน์ว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฎฐา มโนมยา – ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ พระบรมศาสดาจะทรงบัญญัติพระธรรมวินัย ก็ทรงบัญญัติออกไปจากใจคือมหาฐานนี้ทั้งสิ้น เหตุนี้เมื่อพระสาวกผู้ได้มาพิจารณาตามจนรู้จักมโนแจ่มแจ้งแล้ว มโนก็สุดบัญญัติ คือพ้นจากบัญญัติทั้งสิ้น สมบัติทั้งหลายในโลกจึงต้องออกไปจากมโนทั้งสิ้น ของใครก็ก้อนของใคร ต่างคนต่างถือเอาก้อนอันนี้ถือเอาเป็นสมบัติบัญญัติตามกระแสแห่งน้ำโอฆะ จนเป็นอวิชชาตัวก่อภพก่อชาติด้วยการไม่รู้เท่า ด้วยการหลง หลงถือว่าตัวเป็นเรา เป็นของเราไปหมด


หลวงปู่บุญกู้ท่านเทศนาสอนเมื่อวันที่ ๑๒ กุทภาพันธ์ ๒๕๕๙ เรื่องกายมุลมรดกจากพ่อแม่และศีล

เท่าที่เราพอจะจำได้ประกอบกับควาาตรึกตรองเข้าใจของเรามีดังนี้ว่า..โลกเรานี้มีหลายทวีป คนเกิดในทวีปใด บ้านใด เมืองใด ก็นับคือจารีตประเพณี ความเชื่อ และ ศาสนาตามในพื้นที่นั้นๆต่างๆกันไป ไม่ใช่ว่าจะเกิดมาเจอพระพุทธศาสนาทุกคน พระพุทธเจ้า
        พุทธะ คือผู้รู้ รู้แจ้งโลก รู้แจ้งสังขาร รู้แจ้งเรื่องบาปบุญคุณโทษ เวรกรรม สวรรค์ นรก พระพุทธเจ้าจึงสอนให้รู้เรื่องทุกข์และสุข เรื่องบาปและบุญ เรื่องกรรมชั่วและกรรมดี เรื่องกุศลและอกุศล เรื่องผลของกรรม สอนให้รู้จักนรกและสวรรค์ มรรค ผล นิพพาน เพื่อให้เราได้เป็นผู้รู้แจ้งชัดตามพระศาสดาแล้วกระทำความดีเพื่อถึงความหลุดพ้นทุกข์
ดังนั้นหากคนที่เกิดในพื้นที่นั้นๆไม่ได้ชี้แนะสั่งสอนหรือรู้แจ้งถึงกรรม วิบากกรรม บาป บุญ ไม่สอนการละเว้นอกุศล เพียรทำกุศล ศีล ทาน ภาวนา มรรค ผล นิพพาน คนนั้นก็จะไม่รู้จักดีและชั่ว บูญละบาป ก็ย่อมก้าวล่วงที่ต่ำได้ง่าย ด้วยผลของกรรมนั้นเมื่อกายเนื้อนี้แตกตายไปก็ไปเกิดในนรกบ้าง ไปเกิดเป็นเปรตบ้าง เกิดเป็นสัตว์นรกบ้าง เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง ต้องทำกุศล สะสมศีล มีศีล ๕ จึงจะได้เกิดมาเป็นคนอีก
จากที่กล่าวมาข้างต้นด้วยวัฏฏะสงสารการเวียนว่ายตายเกิดไม่สิ้นสุดตามบุญและกรรมที่ทำมานี้จะเห็นได้ว่า..กายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราตายจากกายเนื้อนี้แล้วไปเกิดเป็นคนบ้าง สัตว์บ้าง สัตว์นรกบ้าง เปรตบ้าง ไปไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ กี่ภพ กี่ชาติ กี่กัปป์ กี่อสงไขย กี่แสนมหากัปป์ เวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนั้น เราได้กายนี้มาจากพ่อแม่เป็นผู้ให้กำเนิดกาย ถ้าไม่มีพ่อแม่เราก็เกิดมาไม่ได้ เพราะมีพ่อแม่ให้กายนี้มา เราจึงมาอยู่ในกายนี้ได้ กายนี้มีชีวิตเป็นเราได้ก็เพราะดวงจิตเราเข้ามาอาศัยมายึดครองเอากายนี้ที่พ่อแม่ให้กำเนิดมา เป็นมูลมรกจากพ่อแม่  ก่อนหน้านี้จิตเดิมเรานี้มันไปเกิดไปอาศัยยึดครองกายอื่นๆเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้มามากมาย ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง คนบ้าง ตายจากกายเนื้อก็ไปเกิดเป็นมารบ้าง สัตว์นรกบ้าง เปรตบ้าง เทวดาบ้าง แล้วก็มาอาศัยกายเนื้อนี้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง คนบ้างอีก วนเวียนไปนับไม่ถ้วน

** จากคำสอนหลวงปู่มั่น และ หลวงปู่บุญกู้ ทำให้เราเห็นชัดแจ้งขึ้นดังนี้ว่า เพราะกายนี้มันไม่อยู่ยั่งยืนนาน มันมีความเกิดขึ้น แปรปรวน เสื่อมโทรม แล้วก็ดับสลายไปในที่สุด วนเวียนไปมาตามวัฏฏะสงสาร เกิดเป็นสิ่งนั้น แล้วก็ดับไปเกิดเป็นสิ่งนี้ แล้วก็ดับไปเกิดเป็นสิ่งโน้น เวียนว่ายไปทั่วไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน ทั้งกายเนื้อที่เราเข้ายึดครอง ทั้งจิตที่ยึดครองก็แปรปรวนไปเรื่อย แล้วก็เสื่อมโทรม ดับสูญสลายไปจากกัน ไม่เที่ยงแท้ยั่งยืนนาน ไม่คงอยู่ได้นาน มีความตายเป็นที่แน่นอน มีความดับสูญไปเป็นที่สุด จะหมายไปบังคับหรือสั่งให้มันเป็นไปดั่งใจปารถนาก็ไม่ได้ แล้วกายที่เราหวงแหนพอใจยินดีอยู่นี้ไม่นานมันก็แตกตายดับสูญไปไม่คงอยู่กับเราอีก ไม่มีตัวตนอันให้จิตเรานี้เข้ายึดครองเป็นตัวตนไรๆได้อีก เหลือแค่กองธาตุที่ไม่มีค่าอะไร แล้วจิตเราก็ตายจากกายนี้ไปเกิดในภพโน้นมีกายอย่างโน้น เกิดในภพนั้นมีกายอย่างนั้น เดี๋ยวก็เวียนว่ายตายเกิดมาเป็นคนบ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นสัตว์นรกบ้าง เป็นเทวดาบ้าง แล้วกายเนื้อที่เป็นคนในตอนนี้มันก็ไม่มีตัวตนอีก กายนี้จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แต่อาศัยจิตนี้แหละเข้ามายึดครองจึงเห็นและหลงยึดว่าเป็นเรา เป็นตัวตนของเรา กายเป็นอนัตตาต่อเรา เราเป็นอนัตตาต่อกาย เราก็ไม่มีตัวตนต่อกายนี้เพราะเมื่อเราตายจากกายนี้ไปก็ไม่มีจิตเข้ายึดครองกายนี้อีก เราก็เป็นอนัตตาต่อกาย **





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กุมภาพันธ์ 25, 2016, 06:48:48 AM
ทำเหตุในศีล

ศีล เป็นเหตุแห่งกุศลทั้งปวง เมื่อทำเหตุให้ดีจึงนำไปสู่ผลที่ดี
- ทำเหตุดี-ผลก็ดี ทำเหตุชั่ว-ผลก็ชั่ว


ก. พิจารณาดูว่า อย่างเราเป็นคนฆ่าสัตว์เป็นนิตย์ เจอมดแมลงหรืออะไรก็ตบ แม้ไม่ตั้งใจอยากจะทำกายก็ทำเสียแล้วห้ามหรือยั้งไม่ทันตามสัญขาตญาณหรือสัญญาที่สำคัญไว้แก่ใจ ก็สิ่งทั้งปวงที่เป็นไปนั้นนั่นเพราะเราทำเหตุ คือ ทำใจตั้งเจตนายินดีหมายใจที่จะทำในปาณาติบาตเป็นนิตย์ไม่ให้ความสำคัญสนใจชีวิตเขาเราจึงฆ่าเขาเป็นนิตย์ เมื่อทำเหตุอย่างนี้ๆจนเต็มพอเมื่อเจออะไรขัดใจหน่อยยุง มด แมลงกัด หรือสิ่งไรๆที่ระคายเคืองตนมันก็บี้ปุ๊บตบปั๊บทันทีเพราะสัญญาก็ตั้งความต้องการของจิตไว้บังคับกายให้ทำอย่างนั้น อันนี้ก็โดยคร่าวๆในเหตุแห่งปาณาติบาต

ข. พิจารณาดูว่า คนลักทรัพย์ทำอยู่เป็นนิตย์ เพราะเหตุที่เข้าไปตั้งเจตนาหมายปองของๆผู้อื่นอยู่เป็นนิตย์ มันก็เคยชิน เมื่อมันเต็มก็เกิดเป็นความทะยานอยากที่จะได้ของเขาอยู่ประจำแม้เขาไม่ได้ให้ในสิ่งนั้นแก่เรา เมื่อมันปะทุแล้วทีนี้เมื่อเจออะไรมันก็จิ๊กเอาหมด อันนี้ก็โดยคร่าวๆในเหตุแห่งอทินนาทาน

ค. พิจารณาดูว่า คนที่ชอบผิดลูกเมียคนอื่น เพราะทำเหตุในความยินดีในเมถุนให้มีมากจนล้นปรี่ จึงเกิดความกระสันทัะยานอยากแสวงหาที่จะเสพย์ในราคะเมถุน จนไม่สนใจว่าคนๆนั้นจะเป็นบุคคลอันเป็นที่รักที่หวงแหนของใครหรือไม่ก็ตาม มันจะสนแต่จะเสพย์ในกามารมณ์อันเกิดแต่ความยึดมั่นถือมั่นติดใคร่ในการสัมผัสกายระหว่างเพศนั้น คือ เมถุนนั่นเอง จะเป็นใครหรืองบุคคลอันมีค่าและเป็นที่รักยิ่งของใครก็ช่างมันไม่สนมันเอาหมด ที่นี้พอเราระลึกอยู่เรื่อยๆ ได้ทำอยู่เรื่อยๆมันก็เป็นเหตุให้กาย วาจา ใจ เป็นไปในกาเมสุมิจฉาจารณ์เสมอๆจนมันเต็ม เป็นจริตนิสัยบารมีกามตัณหาเกิดเต็มมันก็จะแสวงหาทะยานอยากที่จะเสพย์เมถุนไปเรื่อยจนไม่สนลูกเมียตนหรือลูกเมียใครทั้งสิ้น อันนี้ก็โดยคร่าวๆในเหตุแห่งกามเมสุมิจฉาจารณ์

ง. พิจารณาดูว่า คนที่คิดว่าตนเป็นที่สุด ตนควรได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ สิ่งนี้ๆไม่ควรเกิดมีแก่ตน สิ่งนี้ๆเป็นตน เป็นของตนบ้าง ตนดีที่สุด ให้ใครเหนือกว่าตนไม่ได้ คนต้องสรรเสริญตน ตนต้องดีกว่าใคร ไม่พอใจที่ใครได้ดีกว่า มีจิตริษยา หมายใจไว้จะทำร้ายผู้อื่น อัตตาเหล่าใด เพราะมีใจอย่างนี้เป็นเหตุ สะสมมันไว้จนให้มันเต็มใจตนจึงเกิดมีความพูดชักจูงเพื่อประโยชน์ส่วนตน วาจาเกิดมาแต่ความคิด วิตกเป็นวจีสังารดังนี้ จึงเกิดการพูดปดอยู่เป็นนิตย์ ยุแยงคนอื่นให้แตกกัน พร่ำเพ้อกล่าวคำไม่จริง ส่อเสียดให้คนแตกกัน ด่าทอ เอาเรื่องของคนนี้ไปบอกคนโน้น เอาเรื่องของคนโน้นมาบอกคนนี้เพื่อให้เขาแตกกัน ยินดีที่เขาแตกกันไม่เป้นกลุ่มสามัคคี นั่นเพราะเขาทำในเหตุอันเป็นมิจจาวาจาดังนั้นมานานทับถมจนเป็นจริตนิสัย อันนี้ก็โดยคร่าวๆในเหตุแห่งมิจฉาวาจา หรือ วจีทุจริตทั้งปวง

จ. พิจารณาดูว่า คนชอบดื่มสุรา ลองคิดดูว่าเมื่อยังเด็กมีใครเกิดมาแล้วกินเหล้าบ้าง ก็ไม่มีเลย แต่พอเมื่อโต เรากินเรื่อยๆ ยินดีในสภาพแวดล้อมตอนกินเหล้าในวงเหล้า ยินดีในสุราเรื่อยๆด้วยเหตุอย่างนี้เป็นต้น ยินดีที่กินเหล้าแล้วทำในอกุศลลามกเรื่อยๆได้ด้วยสนุกสนานด้วยคิดว่ามันระบายกายใจตนได้บ้างเป็นต้น เมื่อทำกาย-วาจา-ใจในเหตุอย่างนี้เรื่อยๆ ทีนี้ความคิดนั้นการกระทำนั้นๆมันก็สะสมเป็นจริตนิสัยขึ้น จนเต็มปริ่มปะทุ ทำให้เป็นคนที่คิดถึงแต่เหล้า อยากกินแต่เหล้าทะยานอยากจะเสพย์เหล้าจนเป็นนิสัยขี้เหล้าที่เราเห้นกันดังนี้แหละ อันนี้ก็โดยคร่าวๆในเหตุแห่งสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน

ฉ. พิจารณาดูว่า คนที่ละโมบโลภมาก ย่อมทำในเหตุโดยความยึดตัวตนแนบแน่นในสิ่งที่ปรนเปรอตนเป็นนิตย์ มีความหวงแหนทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ยอมจะแบ่งปันอะไรให้ใครแม้แต่เล็กน้อยก็ตาม ถือเอาเป็นตัวตนผูกตนไปเรื่อย เมื่อสร้างความหวงแหนความตระหนี่ ความยินดีในสิ่งที่ปรนเปรอตนให้เป็นเหตุสะสมไปจนเต็มจนกลายเป็นจริตนิสัยที่หวงแหนตระหนี่ขี้เหนียวแค่ตน เมื่อมันเต็มปะทุก็จะมีแต่ความเสียดาย หวงแหนเป็นนิตย์ เพราะเหตุโดยยึดเอาความโลภเอาสิ่งไม่เที่ยงว่าเป็นสุขตนจนไม่ยอมแบ่งปันคิดแต่จะเอาโดยส่วนเดียว แสวงหาอยู่ไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งๆที่ไม่สามารถเอาสิ่งไรๆตายตามไปด้วยได้เลยนอกจากบุญกับบาป

ช. พิจารณาดูว่า ทีนี้เมื่อทำจิตให้ยินดีในกามคุณ ๕ อยู่เป็นนิตย์ ก็เป็นเหตุให้จิตเรานี้เติมเต็มในอกุศลบารมี มีแต่ความลุ่มหลงในสมมติทั้งปวงทับถมจนเป็นตัวตนอุปาทานมานับไม่ถ้วน หลงโง่คลุกอยู่แต่ในสมมติจนไม่สามารถรับรู้ของจริงได้ แม้จะเวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุดมานับไม่ถ้วนไม่รู้ว่ากี่ิสงไขยมันก้ยังยิ่งเพิ่มทับถมบารมีแห่งโมหะไปอย่างนั้น เสริมกำลังให้ โลภะ ราคะ โทสะ ไปทุกภพทุกชาติ ทีนี้เมื่อเราไม่ปฏิบัติใน ศีล ทาน ภาวนา จิตเราก็จะทำเหตุสะสมแต่ในของปลอม ของสมมติไปเรื่อยๆ จนเกิดวิปปัลลาส ๓ คือ สัญญาวิปลาส ๑ จิตตวิปลาส ๑ ทิฏฐิวิปปลาส ๑ (สุภสัญญา, สุขสัญญา, นิจจสัญญา และ อัตตสัญญา)


นี่แหละสาเหตุที่ว่าทำไมเราต้องปฏิบัติกรรมฐาน ต้องเจริญใน ศีล ทาน ภาวนา นั่นก็เพื่อทำเหตุแห่งกุศลให้ดีให้เต็มนั้นเอง
๑. ทำเหตุในศีลให้ดี..เพื่อล้างโทสะ(เมตตา)
๒. ทำเหตุในทานให้ดี..เพื่อล้างโลภะ(กรุณา,มุทิตา)
๓. ทำเหตุในนภาวนาให้ดี..เพื่อล้างโมหะ(อุเบกขา)


ธรรมจากพระอรหันต์
พระพุทธสารเถระ หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน
พระครูอุปัชฌาย์อาจารย์กรรมฐานของผมท่านสอนว่า

ทำเหตุให้ดี ทำเหตุให้ดี.. เหตุไม่ดีจะไปเอาผลได้อย่างไร เอาแต่ภาวนาอย่างเดียวแล้วบรรลุ ก็ไม่ต้องมีศีลทานกันแล้วสิ พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสรู้เห็นชัดแล้วว่าศีลทานภาวนานี้เป็นเหตุสะสมไปถึงผลแห่งกุศลดีงาม จึงต้องทำควบคู่กันจึงจะถึงทางหลุดพ้น

ศีล เป็นเหตุให้เราละความเบียดเบียน มีจิตเป็นกุศลไม่เร่าร้อน ไปอยู่ที่ไหนก็สบายกายใจ (ลองดูคนที่ผิดศีลนะมันเร่าร้อนไปอยู่ที่ไหนก็ไม่เป็นสุขสงบ)
ทาน เป็นเหตุให้ถึงความสละ ละความโลภ ไม่ที่ใดก้ไม่แสวงหาทะยานอยากให้เร่าร้อน
ภาวนา เป็นเหตุให้ถึงปัญญา ละความโง่ ความลุ่มหลงสมมติกิเลสทั้งปวง


- ที่พระท่านสอนว่า "ทำเหตุให้ดี" คนเราไม่รู้ว่าคืออะไร ทำไปเพื่ออะไร ทำไมหัด ทำไมปฏิบัติให้ตนมี "ศีล-ทาน-ภาวนา" ทำไปเพื่ออะไร ซึ่งธรรมข้อนี้ในหนังสือไม่มีสอน คนที่ไม่ปฏิบัติก็จะไม่รู้ได้เลย กล่าวได้แค่มันสูงเกินบ้าง พูดได้แค่ว่านี่คือฐานบ้าง แต่ไม่รู้เลยว่าทำไมจึงเป็นพื้นฐาน ทำไมจึงเป็นฐานขอกุศลธรรม ของสัมมา ของสัมโพชฌงค์ ของวิราคะ ของวิมุตติ จะพูดก็ได้ตามแต่สังสือบอกกล่าวเท่านั้น
- "การปฏิบัติ ศีล ทาน ภาวนา เป็นกรรมฐาน เป็นการทำเหตุให้ดี" เมื่อทำอยู่เป็นนิตย์ก็จะสร้างลักษณะนิสัยอันเรียกว่า "จริต" ให้ทับถมด้วยกุศลแทนของแลอมสมมติกิเลสที่ทับถมเรามานับอสงไขย
- ครูบาอาจารย์ท่านจึงกล่าวว่าทำเหตุให้ดี ทำให้มาก อย่าหวังผล เหตุไม่ดีจะไปเอสผลได้อย่างไร ทำเหตุให้ดี ทำของเก่าที่มีให้มันดีกว่าเดิม ดังนั้น "การปฏิบัติเกรรมฐานเหล่าใดที่ประกอบไปด้วย ศีล ทาน ภาวนา สมถะ+วิปัสสนา เป็นการทำเหตุดังนี้แล" ที่นี้ เมื่อทำเหตุให้ดีสะสมไปเรื่อยนับไม่ถ้วนจนเป็นจริตกุศลให้เกิดมีแก่จริตสันดานตน เมื่อตายไป ของเก่านี้ก็ตามไปในภพภูมิใหม่ด้วย

** "เมื่อเหตุมันดีมันเต็ม ท่านเรียกว่า บารมี" คือ "เต็มกำลังใจใน กุศล ศีล ทาน ภาวนา" คือ "บารมี ๑๐ ทัศน์" ** นั่นเอง


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กุมภาพันธ์ 28, 2016, 10:50:41 AM
สิ่งทั้งปวงนี้ทั้งหมดเป็นความรู้เห็นได้เข้าถึงสัมผัสโดยส่วนตัวของเราเท่านั้น มีทั้งจริงทั้งปลอมที่นำมาแบ่งปันแต่เป็นการรู้เห็นจากการปฏิบัติล้วนๆ ท่านผู้รู้หรือผู้ศึกษาต้องพิจารณาแยกแยะถูกผิดด้วย หากผิดเพี้ยนบิดเบือนคำสอนพระตถาคตก็ผิดที่ตัวเราเท่านนั้น ไม่ใช่พระพุทธเจ้าสอนผิด หรือ ครูบาอาจารย์สอนผิด เพราะทั้งปวงเป็นปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตน

..บนโลกใบนี้ไม่มีใครที่ไม่มีสมาธิแล้วบรรลุอรหันต์ได้มันขัดกับมรรคของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
..ดังนั้นทุกคนในพระพุทธศาสนาจึงต้องมีทั้ง สมถะและวิปัสสนาคู่กัน มีอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ วิปัสสนาจะเกิดได้ก็ด้วยสมาธิ เพราะสมาธิเป็นเหตุของปัญญา หรือ มีแต่สมาธิไม่อบรมปัญญาก็บรรลุไม่ได้ คนที่อ่านท่องจำหรือหลับหูหลับตาปฏิบัติอย่างเดียวอันใดอันหนึ่งมันไม่เห็นธรรมหรอก ไม่มีสมาธิบรรลุธรรมไม่ได้เห็นธรรมไม่ได้ มีสมาธิไม่อบรมปัญญามันก็บรรลุธรรมไม่ได้ "มันผิดกับมรรค" เพราะมรรคมีองค์ 8 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
..คนโง่คนพาลคนหลงนี้มีศีล สมาธิ ปัญญาไม่ได้ เพราะมีความหลงแต่อันใดที่ตนพอใจเท่านั้น
..คนฉลาดท่านจะทำกิจเหล่าใดอันพระอริยะเจ้าบรรลุบทอันกระทำแล้วนั้น คือ ศีล ทาน ภาวนา ภาวนาก็คือการอบรมจิตด้วยสมถะ+วิปัสสนา ซึ่งวิปัสสนาของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ไปนั่งท่องจำนึกๆเอาว่าเป็นการภาวนา **วิปัสสนาจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีสมาธิตั้งมั่นปิดกั้นอกุศลธรรม รู้เห็นของจริง เข้าไปเห็นของจริงบ่อยๆ ไม่ใช่วูบวาบๆหรือจับผลัดจับผลูหลงไปเห็นแค่ครั้งเดียวแล้วทึกทักว่าจริง ท่านให้เข้าไปเห็นให้บ่อยโดยที่ไม่ปรุงแต่งสัญญาความคิดมันเกิดเห็นเอง มีธัมมวิจยะคือ พิจารณาลงธรรมที่เห็นในขณะนั้นโดยไม่ใช้ความคิด ท่านเรียกสำเหนียกรู้ธรรมในสมาธิ ปัญญามันเกิดเดินในสมาธิมันไม่เห็นตัวตนอะไรทั้งสิ้น ไม่มีอะไรทั้งนั้น **จากที่เราเคยพบเจอสัมผัสมาได้บ้างมีทั้งจริงทั้งไม่จริง ยังต้องรอทำให้แจ้งใจอีกมาก** คือ มันไม่มีอะไรสิ่งใดเลย มันไม่รู้อะไรทั้งสิ้น เห็นมีแค่อะไรสักอย่างไม่รู้ อยู่ฝั่งโน้นบ้าง ฝั่งนี้บ้างก็เกิดดับๆ สืบต่อเป็นปัจจัยอาศัยกันบ้าง เห็นแค่มันมี เกิด ดับ ว่าง ไปมาอยู่อย่างนั้น นอกนั้นไม่มีอะไรเลย มองภายในตนมันก็ว่างไปหมด มองไปทางใดมันก็ว่างไปหมด ไม่มีสิ่งใดจะยึดได้ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ สิ่งนั้นสิ่งนี้ว่าเป็นเราเป็นสิ่งใด มันว่างไปหมด มีแต่อะไรก็ไม่รู้เป็นไปตามลักษณะดังกล่าวมานั้น พอออกจากสมาธิอันนั้นจึงรู้ว่ามันคืออะไรสิ่งใด พอออกมาเสร็จนี่ความปรุงแต่งสมมติเพียบเลย
..ดังนั้นคนเรียนอภิธรรมไม่ปฏิบัติไปนั่งนึกคิดเอาว่านี่เป็นกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธรรมานุปัสสนา แล้วไปสาธยายปรามาศผู้ปฏิบัติว่าโง่อยู่แต่ลมหายใจ ทำอย่างอื่นไม่เห็น โดยที่ไม่รู้ว่า อานาปานสติ, สัมปะชัญญะ, ทวัตติงสาการ(อสุภะภายใน), ธาตุ ๔, ป่าช้า ๙ หรือ อสุภะ(ภายนอก),ฌาณ ๔ คือ วิปัสสนาทางกาย ดังนั้นคนเหล่านี้จึงไปไม่รอด เพราะไปนั่งนึกคิดรู้แต่สมมติความคิดตนเท่านั้นไม่เคยเห็นของจริง จับไฟว่าร้อนก็คิดว่าตนเองรู้จริงรู้อาการแล้ว อันนั้นมันความคิด เห็นว่าร้อน ว่าไฟ มันของปลอมทั้งนั้น แล้วก็เวลาที่จิตปฏิบัติถึงนะมันจะอยู่ที่ลมหายใจของมันเอง มันจับลมกหายใจเองเลยอัตโนมัติ อันนี้นักท่องจำจะไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ถึง สำหรับปุถุชนเป็นอย่างนี้ ส่วนพระอริยะเจ้าผมไม่รู้ เพราะผมไปไม่ถึงจึงกล่าวได้แต่แบบปุถุชนเท่านั้น ไม่รู้สิ่งที่ท่านรู้เห็น


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กุมภาพันธ์ 29, 2016, 09:17:41 AM

บันทึกกรรมฐาน วันที่ ๒๙ กุทภาพันธ์ ๒๕๕๙
เรื่อง "ศีล"


ศีล เหล่าใดเป็นศีลเพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้


       ศีลที่จะทำให้เกิดสมาธิได้ ต้องมีคุณสมบัติที่ปุถุชนเข้าถึงได้แล้วทำสันดานแห่งพระอริยะเกิดมีขึ้นแก่ผู้เจริญนั้น นั่นคือ
๑. ศีล..ที่ไม่ทำให้กายใจเราเร่าร้อน ..แต่เป็นศีลที่ทำให้เราเป็นที่สบายเย็นใจ
๒. ศีล..ที่ทำไว้ในใจโดยแยบคายซึ่งกุศลไม่หลงอยู่ น้อมไปในการสละประโยชน์สุขอันปรนเปรอตน เกื้อกูลอิสระสุขแก่ผู้อื่น
๓. ศีล..เพื่อการละเว้นความเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น คือ
- เว้นจากความโลภ เว้นจากอภิชฌา เว้นจากราคะความกำหนัดกระสัน เว้นจากความตระหนี่
- เว้นจากความโกรธ เว้นจากโทมนัส เว้นจากความเกลียดผูกเวร เว้นจากความผูกแค้นพยาบาท เว้นจากความริษยา
- เว้นจากความลุ่มหลงสมมติของปลอม เว้นจากความหลงในสุขอันไม่เที่ยงแท้ยั่งยืนนาน สุขเพียงวูบวาบๆประเดี๋ยวประด๋าวชั่วคราวก็ดับไป แล้วประกอบไปด้วยทุกข์ในภายหลัง ยิ่งหวนระลึกถึงก็ยิ่งเป็นทุกข์
   ..ทุกข์เพราะมันแปรปรวน และ ดับไปของมัน
   ..ทุกข์เพราะความพรัดพราก
   ..ทุกข์เพราะความตรึกหน่วงนึกพอใจยินดี ในสิ่งไม่เที่ยง ไม่อยู่ยั่งยืนนาน อยู่ได้นานสุดกก็แค่หมดลมหายใจของตน
   ..ทุกข์เพราะความตรึกหน่วงนึกพอใจยินดี ในสิ่งที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ไม่มีตัวตน บังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน
   ..ทุกข์เพราะความคำนึงถึงถวิลหาด้วยความติดใจ ติดใคร่ แสวงหา ปารถนาทะยานอยากใคร่ได้ที่จะเสพย์
๔. ศีลที่เป็นรากฐานเอื้อประโยชน์ให้จิตตั้งมั่นไม่กวัดแกว่งเอนไหวไปตามกิเลส ..แต่เป็นไปเพื่อความฉลาดในการปล่อยวาง ไม่หลงอยู่กับสมมติของปลอม ศีลอันเป็นไปเพื่อสุขที่เนื่องด้วยใจที่อิ่มเอมเป็นสุขจากกุศลปล่อยวาง สุขจากการไม่แสวงหาความเนื่องด้วยกายและวาจา ยิ่งหวนระลึกถึงก็ยิ่งเป็นสุขจากศีลนั้น
๕. ศีลอันเป็นมรรคมีองค์ ๘ ศีลที่ประกอบด้วยสังวรปธาน(สัมมัปปธาน ๔) อันมีสติสัมปะชัญญะคลุมให้ตั้งอยู่ใน ๔ ข้อข้างต้นนั้น นั่นก็คือ ศีลของพระพุทธเจ้าเท่านั้น



๑. ศรัทธา ใจจะถึงศีลได้เราก็ต้องมีศรัทธาก่อน นั่นคือ ศรัทธาพระพุทธเจ้า เชื่อองค์พระบรมศาสดา เชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
- พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เชื่อด้วยปัญญา ปัญญาพิจารณาในความเป็นเหตุเป็นผล ทบทวนตรวจสอบได้ สัมผัสและเห็นได้จริง ไม่ใช่เชื่อตามๆกันมา เอนเอียงเชื่อเพราะรักใคร่ เพราะเกลียด เพราะกลัว เพราะพลง เพราะไม่รู้ตามจริง
** ดังนั้นผู้ใดที่ไม่ศรัทธาพระพุทธเจ้าก็จะเข้าไม่ถึงธรรม ไม่ถึงความเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ตามพระพุทธเจ้า จิตเข้าไม่เป็นพุทธะ หรือเข้าถึงได้ก็ยากลำบากมากเพราะมันจะมีกิเลสนิวรณ์คอยขัดไม่ให้เราเข้าถึงรู้แจ้งชัดได้

พุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ก. ศรัทธาความเป็นผู้รู้ของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงรู้อะไร รู้แจ้งโลก รู้แจ้งธรรม รู้แจ้งสังขารธรรม รู้เหตุและผล รู้แจ้งดีและชั่ว รู้แจ้งคุณและโทษ รู้แจ้งชัดซึ่งกุศลและอกุศล รู้แจ้งชัดเรื่องกรรมและผลของกรรม รู้แจ้งชัดทางหลุดพ้นทุกข์และบ่วงกรรม ไม่มีใครเสมอเหมือน

ข. ศรัทธาความเป็นครูผู้สอนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ศรัทธาความเป็นครูผู้ฝึกสอนบุรุษเพื่อถึงความหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้เข้าถึงธรรมอันลึกซึ้งได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เมื่อเชื่อสิ่งนี้เราก็จะเชื่อว่า..พระพุทธเจ้าสอนความจริง สอนทางกุศลดีงาม สอนทางชอบ สอนให้เรารู้จักกรรมและผลของกรรมตามความจริง พระตถาคตจึงได้ทรงสอนให้เราละเว้นในสิ่งที่ควรละ และ รู้จักเจริญในสิ่งที่ควรเจริญ

ค. เมื่อพิจารณาตรึกตรองถึงความเป็นเหตุเป็นผลอันเป็นข้อละเว้นทางกายและวาจาที่เรียกว่า ศีล อันพระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ดีแล้ว ที่สอนให้เจริญข้อละเว้นเหล่านั้นให้มาก จะเห็นได้ว่า..พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้แจ้งประจักษ์ทุกข์จากการกระทำทั้งปวง และ ผลของกรรมที่จะสืบทอดติดตามเรามาให้ได้รับผลของกรรมนั้น ดังนี้คือ..

- พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราใช้ปัญญาอันแยบคายพิจารณากำหนดรู้ทุกข์ ทุกข์จากการที่ดำรงชีพอยู่โดยไม่รู้จักหรือไม่สนใจให้ความสำคัญว่าสิ่งไหนดีหรือชั่ว ถูกหรือผิด กุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ดำรงชีพอยู่โดยความเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอยู่เป็นนิตย์มันให้ผลลัพธ์เป็นยังไง มันเร่าร้อน ร้อนรุ่มกลุ้มรุม ให้ร้อนรนระส่ำไม่เป็นปกติที่สบายกายใจยังไง แล้วผลแห่งการกระทำเหล่านั้นในภายหน้าจะส่งผลสืบต่อให้เป็นไปอย่างไร

- พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราใช้ปัญญาอันแยบคายพิจารณาเห็นเหตุแห่งทุกข์ ทรงตรัสสอนให้เรารู้เห็นตามจริงถึงต้นตอที่ทำให้เราเร่าร้อน ร้อนรุ่ม ระส่ำดั่งไฟสุมกลุ้มรุมกายใจ ไม่รู้จักถูกและผิด ไม่รู้จักดีและชั่ว ไม่รู้จักกุศลและอกุศล ไม่รู้จักสิ่งที่ควรและไม่ควร นั่นก็คือ อภิชฌา และ โทมนัส สิ่งนี้เป็นเหตุที่ควรละ แล้วให้ละที่เหตุอันนั้น

              อภิชฌา ในคำนั้นเป็นอย่างไร คือ จิตใจไม่บริสุทธิ์ มีใจประสงค์ร้ายเบียดเบียนผู้อื่น จิตใจแอบแฝงใคร่ได้หวังช่วงชิงฉุดพรากประโยชน์สุขของผู้อื่นมาปรนเปรอเป็นของตน มีความติดใคร่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ความดีใจ ความยินดี ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ความกำหนัดนักแห่งจิต เพ่งเล็งหมายปองอยากได้ของผู้อื่นมาครอบครองเป็นของตน นี้เรียกว่าอภิชฌา.
               โทมนัส ในคำนั้นเป็นอย่างไร คือ จิตใจขุ่นขัดไม่รื่นเริง ความไม่สำราญทางใจ ทุกข์ทางใจ ความตับแค้นใจ อัดอั้นใจ อึดอัดใจ เวทนาที่ไม่สำราญเป็นทุกข์ ความโกรธ ความเกลียด ความเครียด ความแค้น ความพยาบาม ความมีจิตหมายให้ผู้อื่นฉิบหาย อันเกิดแก่สัมผัสทางใจ นี้เรียกว่า โทมนัส.



สุขจากการการละอภิชฌาโทมนัส
ทางที่ละอภิชฌาโทมนัส
 เพราะเราไม่มีศีล และ มีศีลที่ละอภิชฌา โทมนัส ใช่ไหม

- พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราใช้ปัญญาอันแยบคายพิจารณากำหนดรู้ทุกข์ ทุกข์จากการที่มีชีวิตอยู่ด้วยการละเว้นจาก อภิชฌา, โทมนัส มันเป็นยังไง มันเร่าร้อน ร้อนรุ่มกลุ้มรุมให้ร้อนรนไม่เป็นที่สบายกายใจยังไง

- ความสุขในการไม่เจริญศีลข้อละเว้นทาง กาย วาจา ใจ ของพระพุทธเจ้านั้น มันยั่งยืนหรือเกิดขึ้นเพียงชั่ววูบแล้วก็ดับไป แล้วก็แสวงหาทะยานใคร่กระทำต่อเรื่อยๆจนเป็นจริต อุปนิสัย
(จึงมักมีคำสอนว่าคนดีทำดีง่าย ทำชั่วได้ยาก คนชั่วทำดียาก ทำชั่วได้ง่าย สุขทางโลกมันเริ่มจากสุขมากไปหาความทุกข์ยากลำบากเสื่อมสูญในภายหน้า ไม่คงอยู่เที่ยงแท้ยั่งยืนอยู่นานสุดก็แค่หมดลมหายใจเรานี้เท่านั้น ยิ่งเสพย์ยิ่งขาดทุนยิ่งทุกข์ยิ่งเร่าร้อนสูญเสีย ยังผลให้บารมีการขาดทุนเสื่อมสูญติดตามเราไปทุกภพทุกชาติ)

- ความสุขในการเจริญศีลข้อละเว้นทาง กาย วาจา ใจ ของพระพุทธเจ้านั้น
(จึงมักมีคำสอนว่าคนดีทำดีง่าย ทำชั่วได้ยาก คนชั่วทำดียาก ทำชั่วได้ง่าย สุขทางธรรมมันเริ่มจากทุกข์ยากลำบากไปหาอมตะสุขที่ไม่มีเสื่อม เป็นบารมีกำไรชีวิตพอกพูนขึ้นติดตามเราไปในทุกภพทุกชาติ)

 จากการก้าวล่วงเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นทางวจีกรรม และ กายกรรม มันส่งผลยังไง มันดีหรือไม่ดี เป็นสุขหรือเป็นทุกข์
 



ศีล ต้องบริสุทธิ์แค่ไหนถึงจะเกิดสมาธิ


ศีลของตนนั้นบริสุทธิ์พอจะเป็นสัมมาสมาธิได้ไหม ให้พิจารณารู้สภาวะจิตของตนดังนี้คือ


ขณะที่เราเจริญในศีลนั้น มีจิตประครองอยู่ด้วยความเพียรเผากิเลสอกุศลธรรมอันลามกจัญไร เพื่อปิดกั้นบาปอกุศลทั้งปวงที่ยังไม่เกิดขึ้นหรือที่เกิดขึ้นแล้ว
ขณะที่เราเจริญในศีลนั้น
ขณะที่เราเจริญในศีลนั้น เรามีความตื่นตัวรูู้ตัวอยู่เสมอๆหรือไม่ รู้ปัจจุบันขณะที่ตนกำลังดำเนินไปอยู่เสมอๆ ทุกๆขณะที่ทำอะไรหรือไหม่ทำให้สติตั้งมั่นเป็นอารมณ์เดียว น้อมนำจิตให้จดจ่อตั้งมั่นตาม ทำให้ถึงความสงบใจไม่กวัดแกว่งไปตาม อภิชฌา โทมนัส ทำให้เราไม่เร่าร้อนกายใจ มีจิตประครองอยู่ด้วยความเพียรเผากิเลสอกุศลธรรมอันลามกจัญไร



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มีนาคม 01, 2016, 07:13:58 PM

บันทึกกรรมฐานวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๙

เมื่อปฏิบัติรู้จิตตานุปัสนา แล้วอึดอัดที่รู้ว่าตนเองมีอกุศลธรรมมาก

เมื่อเราปฏิบัติแล้วรู้ทันจิต รู้ว่าราคะตนเองมีเยอะ มีมาก ห้ามไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ บังคับให้ดับไปก็ไม่ได้ บังคับให้มันเกิดแต่กุศลจิตก็ไม่ได้ บังคับมันให้เป็นไปตามต้องการไม่ได้ จะให้กุศลจิตตั้งอยู่ตลอดไปก็ไม่ได้ ยิ่งกดข่มอกุศลธรรมในตนมันก็ยิ่งคุกรุ่นฟุ้งขึ้น ยิ่งยังความขัดเคืองใจ ไม่พอใจยินดีในตนยิ่งนัก

เหตุทั้งหมดนี้มาจากอุปกิเลส คือ ความตรึกหน่วงนึกจากความจดจำสำคัญหมายรู้อารมณ์ไรๆในอกุศลธรรมอันลามกจัญไร แล้วเราจะทำยังไงไม่ให้มันขัดอึดอัดใจตน พึงเจริญดังนี้ว่า..

๑. รู้ว่าธรรมชาติสันดานของปุถุชนทั่วไปมันก็มีปกติจิตคิดในอกุศลธรรมอันลามกอย่างนี้เป็นธรรมดา

- หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน ครูผู้มีความอนุเคราะห์เอื้อเฟื้อสอนกรรมฐานให้แก่เรา ท่านเคยสอนเราโดยส่วนตัวเมื่อเราไปหาท่านและขอกรรมฐานพร้อมขออโหสิกรรมท่านว่า.. "อกุศลธรรมความคิดอกุศลผมมีเยอะเหลือเกินจะปหานยังไงก็ไม่หมด ยิ่งกดข่มมันไว้มากเท่าไหร่ยิ่งฟุ้งขจรขึ้นมากเท่านั้น เผมเป็นทุกข์เพราะความคิดเหล่านี้มาก จะทำยังไงจึงจะดับมันได้ครับ"..
- ท่านก็หัวเราะแล้วบอกกับเราว่า.. "เราน่ะมันก็คนธรรมดาทั่วไป มันก็เหมือนคนอื่นๆนั้นแหละ มันดับความคิดไม่ได้หรอก ความคิดอกุศลมันก็มีขึ้นอยู่เป้นธรรมดานั้นแหละ ก็ให้รู้ว่ายังมีมันอยู่เป็นเรื่องปกติเหมือนคนทั่วไปนั่นแหละ ทำเหตุใน ศีล ทาน ภาวนา ให้มาก ทำไปเรื่อยๆ อย่าหวังผล ขอแค่ให้ได้ทำ ทำสะสมเหตุมันไปเรื่อยๆ เมื่อสะสมมันมากพอแล้วเดี๋ยวก็จะดีเองแหละ"..
(การทำเหตุสะสมนี้ พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนไว้ ซึ่งพระตถาคตนั้นจะทรงเรียกว่า.. "อาหาร" องค์พระบรมศาสดาทรงตรัสไว้เสมอๆว่า หิริและโอตตัปปะ, อาหารของการคบสัตตบุรุษ, อาหารของสัทธรรม, อาหารของศรัทธา, อาหารของการทำไว้ในใจโดยแยบคาย โยนิโสมนสิการ, อาหารของสติสัมปะชัญญะ, อาหารของการสำรวมอินทรีย์, อาหารของสุจริต ๓, อาหารของมรรค ๘, อาหารของสติปัฏฐาน ๔, อาหารของโพชฌงค์ ๗)

- ดังคำสอนนี้แล้ว เมื่อความตรึกหนวงนึกคิดมันเกิดมีขึ้น ก็แค่ให้รู้ว่า..ราคะ โทสะ โมหะ เกิดมีอยู่แก่เรา เพราะเรายังมีความลุ่มหลงสมมติของปลอมอยู่ เป็นธรรมดาของปุถุชนคนทั่วไปจะมีขึ้นได้ ไม่ได้แปลกไปจากปุถุชนคนอื่นเลย อย่าใส่ใจกับมันให้มากทำใจให้ชินชาเฉยๆกับมันให้มากเข้าไว้ แค่ไม่เข้าไปร่วมเสพย์กับมันก็พอ เมื่อมันเกิดขึ้นก็ทำไว้ในใจไม่ไปติดใจข้องแวะกับมัน ไม่ต้องไปดิ้นรนเร่าร้อนยินดียินร้ายกับมัน มันมีเกิดขึ้นประจำๆเป็นปกติจิตของเราอยู่แล้วเพราะเราแค่ปุถุชนคนทั่วไป มันเป็นปกติของคนธรรมดาทั่วไปอย่างเราๆที่จะมีขึ้นได้อยู่แล้ว
- เมื่อมันเกิดก็เพียงรู้ว่าเรายังมีกิเลสตัวนี้ๆอยู่ มีมากหรือมีน้อยก็เท่านั้น ยังต้องคบหาสัตบุรุษและเรียนรู้พระสัทธรรมของพระพุทธเจ้าให้มาก เพื่อทำศรัทธาด้วยปัญญา ยังต้องศรัทธาพละอีกมากเพื่อเข้าถึงความทำไว้ในใจโดยแยบคายในปัจจุบันไม่ลุ่มหลงสมมติกิเลสของปลอมอีกมากเป็นเหตุให้สติสัมปะชัญญะเกิดมีขึ้นบริบูรณ์เพื่อเป็นกำลังให้อินทรีย์แก่กล้าเต็มที่ เมื่ออินทรีย์สังวรบริบูรณ์ก็จะยังเหตุในสุจริต ๓ คือ มรรคให้เจริญยิ่งๆขึ้น เพื่อทำให้สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม แจ้งชัดมีกำลังบริบูรณ์ เพื่อบ่มอาหารที่เยี่ยมยอดให้แก่สัมโพชฌงค์ ๗ ธรรมอันเป็นเครื่องตรัสรู้ แล้วก็ไม่ต้องไปใส่ใจให้ความสำคัญกับความตรึกหน่วงนึกอารมณ์นั้นๆ

๒. รู้ว่าเราติดสมมติของปลอม ติดความคิดอันเร่าร้อน เราก็เลือกธัมมารมณ์ที่ควรเสพย์
(โดยแค่เพียงเสพย์ความคิดอันเป็นกุศล เป็นที่สงบเย็นใจ ไม่เร่าร้อน ไม่ร้อนรุ่มสุมใจ ไม่มีโทษ ไม่มีทุกข์นั่นคือ "พุทโธ')

- เมื่อมันเกิดมีขึ้น เรารู้ได้เลยว่ามันเร่าร้อนอึดอัด อัดอั้นร้อนรุ่ม รุ่มเร้ากลุ้มรุมกายใจ ทั้งเบื่อ ทั้งเกลียด ทั้งหน่ายความตรึกหน่วงนึกอันเกิดแต่ความจดจำสำคัญหมายรู้อารมณ์ในอกุศลธรรมอันลามกจัญไรเหล่านี้ แต่ก็บังคับไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่ตัวตน ความคิดไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ความคิด ความคิดไม่ใช่ตัวตนของเรา ความคิดนั้นไม่มีเรา เราไม่มีในความคิดเหล่านั้น ก็ความคิดเหล่านี้มันก็สิ่งสมมติทั้งนั้นของปลอมทั้งนั้นพอเมื่อเสพย์หรือเข้าไปยุ่งกับมันเรานี้ก็กระสันหน่วงหนักทีเดียว นี่ทุกข์เพราะคิด ทั้งที่พอใจยินดีและไม่พอใจยินดีมันก็ทุกข์ทั้งนั้น
- เมื่อรู้ดังนี้เราก็ไม่ต้องไปสนใจเสพย์ในความคิดเหล่านั้น หากหยุดคิดไม่ได้ ก็ให้พิจารณาดูว่าความคิดอันใดหนอเป็นมี่สงบ ความคิดอันใดหนอเป็นที่สบาย ความคิดอันใดหนอเป็นที่ร่มเย็นใจ ความคิดอันใดหนอไม่มีโทษ ความคิดอันใดหรอไม่มีทุกข์ ความคิดอันใดหนอจึงจะพ้นจากกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้
- ความคิดที่ไม่เร่าร้อน ไม่มีโทษ ไม่มีทุกข์ เป็นที่สงบเย็นกายสบายใจ มีอยู่ 1 เดียว คือ พุทโธ
ก. พุทโธ คือ พระพุทธเจ้า,
ข. พุทโธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน,
ค. พุทโธ คือ พุทโธ คือ ผู้รู้..คือ รู้แจ้งชัดปัจจุบัน ผู้ตื่น..คือ ตื่นจากสมมติของปลอม ผู้เบิกบาน..คือ ไม่หลงอยู่กับสมมติกิเลส,
ง. พุทโธ นี้คือ ปัจจุบัน, หายใจเข้า ทำไว้ในใจถึงพระพุทธเจ้า ตรึกหน่วงนึกว่า "พุท", หายใจออก ทำไว้ในใจถึงพระพุทธเจ้า ตรึกหน่วงนึกว่า "โธ"
จ. ความตรึกหน่วงนึกอารมณ์ถึง..พุทโธ จะทำให้จิตเรานี้เป็น..พุทโธ มีสันดานแห่งพระอริยะสถิตย์ขึ้น คือ มีสันดานแห่งความเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่มีความตรึกหน่วงนึกใดที่มีคุณมากเท่าพุทโธ

- แล้วก็ทำไว้ในใจเอาจิตตรึกหน่วงนึกถึงเพียง "พุทโธ" ทุกลมหายใจเข้าและออก จิตก็จะสงบไม่มีทุกข์ ไม่เร่าร้อน ดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะ ไม่เสพย์สมมติ เป็นที่เย็นใจ เป็นที่สบายสำราญใจยิ่งนัก
หากทำสมาธิบ่อยๆจนเห็นจริงบ้างแล้ว เห็นขันธ์แยกเป็นกองๆของใครของมันได้ หรือเห็นลำดับวิถีจิตจากของจริงไม่ใช่ตรึกนึกคิดเอา ให้หาเรียนวิชาขันธ์ ๕ หัดแยกขันธ์ ๕ ออกเป็นส่วนๆ พิจารณาแต่ละกองเห็นความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตน ความเข้าไปยึดครองสิ่งที่ไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวตนเป็นทุกข์ จนเห็นความเป็นไปของมันแยกจากดวงจิต "เมื่อแยกขันธ์ ๕ ออกเป็นกองๆจากกันแล้ว ก็จะเห็นว่าความคิดนั้นไม่มีในเรา" ก็สักแต่เพียงกองอะไรสักอย่างวุ้งวิ้งๆอยู่กองหนึ่งเท่านั้น ไม่มีค่าอะไร ไม่มีความหาย
  เว้นแต่เมื่อเราเข้าไปอยากรู้มันว่าคืออะไรหรือเข้าไปร่วมเสพย์มัน เมื่อนั้นสมมติของปลอมความไม่อยู่กับปัจจุบันขณะก็เกิดขึ้นให้กระสันหน่วงหนักเลยทีเดียว "นี่น่ะมันสมมติของปลอมทั้งนั้น มันไม่มีคุณอะไรเลย มีแต่โทษและทุกข์ สู้พุทโธไม่ได้นี่ของจริงนี่ปัจจุบัน"


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มีนาคม 06, 2016, 11:12:20 AM
ศีล ทาน ภาวนา เป็นเหตุให้บารมีเต็มยังไง
ศีล ทาน ภาวนา เป็น มรรค
มรรคข้อที่ 1 คือ ปัญญา เห็นโลกเป็นของว่าง(ละสังโยชน์ได้ข้อใดข้อหนึ่ง หากเป้นเพียงปุถุชนที่เจริญมรรค ท่านเรียกกุลบุตรผู้ฉลาด ผู้มีความคิดชอบเดินตามทางที่พระอริยะทั้งหลายบรรลุบทอันกระทำแล้ว) มรรคข้อที่ 2 เป็นสัญญา ๑๐,พรหมวิหาร ๔ มรรคข้อที่ 3,4, เป็นศีล มรรคข้อที่ 5 เป็นทาน มรรคข้อที่ 6,7,8 เป็นภาวนา (มรรคข้อ 6 เป็นอิทธิบาท ๔ มรรคข้อที่ 7,8 สติ สมาธิ ปัญญา) มรรค ๘ คือ สุจริต ๓
สุจริต ๓ หรือ มรรค ๘ เป็นอาหารของ สติปัฏฐาน ๔
สติปัฏฐาน ๔ เป็นอาหารของโพชฌงค์ ธรรมเครื่องตรัสรู้


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มีนาคม 14, 2016, 11:51:52 PM
หลวงปู่บุญกู้ เทศนาสอนเรื่อง มีคนที่คอยเบียดเบียนเรา กลั่นแกล้งเรา ในที่ทำงานหรือที่ใดๆ เทศนาวันที่ 11 มีนาคม 2559

โดยย่อหลักๆคือ

1. ใช้ปัญญา ไม่ใช้อารมณ์
2. พิจารณาความบกพร่องตน
3. ทำศีล ทาน ภาวนาอบรมจิต หนุนให้ใจเป็นปกติไม่เร่าร้อน และ ปล่อยวาง


---------------------------------------------

ยกตัวอย่างชีวิตของเรา

- อย่างเรานี้กรรมมีมากจะทำอะไรก็ผิด ขัดหู ขัดตาเขาไปหมด ติดขัดไปหมด ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน ที่วัด ที่ใดๆก็ตาม แม้จะตั้งใจทำดีเต็มกำลังใจเราสุดแล้ว บ่อยๆครั้งที่ท้อใจจนอยากลาออกจากงาน อยากเลิกไปทำบุญ อยากหนีบวช แต่ก็ทำไม่ได้มีภาระหน้าที่ที่คนเป็นลูก เป็นพ่อ เป็นสามี จะต้องรับผิดชอบอยู่ ซึ่งจะเจอบ่อยมากๆจนท้อใจเลย

ก็ได้มีหลวงปู่เทศนาสอนเราดังนี้

1. เรื่องกรรมว่า
- มาสว่างไปสว่าง
- มาสว่างไปมืด
- มามืดไปสว่าง
- มามืดไปมืด

2. ทำเหตุ พรหมวิหาร ๔ ศีล ทาน ภาวนา
ท่านก็สอนให้ทำเหตุให้ดี ทำให้มากเข้าไว้ บ่อยๆ อย่าไปหวังผล ให้ได้ทำเป็นพอ



- ด้วยการเจริญตามหลวงปู่สอน ไม่เก่งเกินครู ไม่เถียง ไม่ขัดแย้ง และตั้งใจทำตามที่ครูสอน เมื่อเราต้องเจอกรรมที่ไม่ว่าจะทำอะไรตั้งใจทำดีแค่ไหนก็ขัดหูขัดตาไม่ถูกกาลเขาไปหมด ถูกติเตียนไปหมด แต่บางคนทำไม่ดีเลยแต่มีฐานะดีคนหล่านั้นกลับก็นับถือกราบไหว้ เมื่อเราได้สะสมเหตุตามหลวงปู่สอนเมื่อเจอดังนี้แทนที่เราจะไปโกรธคนที่ด่าเรา ริษยาคนที่ทำอะไรก็ดีนั้น เราก็ตั้งจิตไว้ในความสงบใจ แล้วพึงพิจารณาว่าคนนี้ๆเขาทำบุญอะไรมาหนอจึงอุดมด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ แล้วกาลก่อนนี้เราทำกรรมมาอย่างไร มีอย่างไรจึงเลำบากอย่างนี้ๆแล้วก็ปลงใจยอมรับความจริงนั้น
- เมื่อพิจารณาในกรรมแล้วก็ตั้งความสงบใจ ไม่ยึดจับสิ่งใดๆ เหมือนสงบนิ่งทำใจให้สงบสมัยเด็กๆ แล้วก็ค่อยมาดูลมหายใจ+พุทโธ ซึ่งปกติแล้วเวลาเขาด่าติเตียนว่ากล่าวว่าร้ายเราเราก็ต้องเดือนร้อนอยู่แล้วมันกองไฟปะทุขึ้นเลยสุมใจนี้ให้อัดอั้นคับแค้นเกรี้ยวกราด หากเราใช้ปัญญาเราก็จะไม่ยึดความโกรธเพราะรู้ว่ามันเป็นมหาทุกข์ มหาภัย หากเรายึดความโกรธมันก็มีแต่ทุกข์กับความฉิบหายเข้ามาสู่เราแล้วจะต้องไปเสียดายเสียใจในภายหลัง ตั้งจิตไม่ยึดสมมติกิเลสความคิดปรุงแต่งสมมติ แล้วทำจิตไว้ให้ไม่มีความติดใจข้องแวะต่อสิ่งทั้งปวงแทน โดยตั้งอารมณ์อยู่ด้วยความเป็นมิตรต่อสิ่งทั้งปวง ไม่ตั้งความยินดี ยินร้าย ปารถนา ริษยา พยยาบาท ไม่หวั่นไหวต่อคำนินทา สรรเสริญ ตั้งจิตอยู่ที่ความเป็น "อนัตตาต่อตนเอง" ด้วยอนัตตสัญญา คือ
- กายนี้ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย
- รูป เสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะ ความรู้อารมณ์ด้วยใจ..ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
- เราไม่ใช่..รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่รู้ทางกาย สัมผัสความรู้ด้วยใจ สิ่งนี้ไม่ใช่ของเรา
- เราไม่สำคัญต่อใครและสิ่งใด เราไม่ใช่สิ่งนั้น เราไม่ใช่สิ่งนี้ เราไม่สำคัญอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีสิ่งที่ควรหรือไม่ควรแก่เรา
- โลกนี้เกิดมาที่อยู่ 3 อย่างที่เจออยู่ทุกวัน นั่นคือ ชอบ ชัง เฉยๆ มันเจออยู่ปกติของมันอยู่แล้ว อล้วยังจะไปยึดมันอีกทำไม ควรจะชินกับมันได้แล้ว
(ปัญญาระดับปุถุชนของเราก็คือ..ใช้ความคิดพิขารณาเอาลงธรรม มีจิตเป็นกุศล กุศลแปลว่าฉลาด คนที่มีจิตเป็นกุศลจะมีความฉลาดในการปล่อยวาง สังเกตึุดูคนที่มีฌาณ ทรงฌาณท่านจะฉลาดมาก ฉลาดในการปล่อยวาง พิจารณาถึงเวรกรรมเป็นหลักว่าเราทำสิ่งใดมาจึงเป็นอย่างนี้ เขาทำสิ่งใดมาจึเป็นอย่างนี้ เป็นศรัทธาจากพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้รู้แจ้งโลกได้สอนให้รู้จักบุญ บาป กรรมดี กรรมชั่ว)
- แล้วน้อมจิตพิจารณาให้ปลงใจว่า เรานี้ทำอกุศลกรรมสะสมมาเยอะ มีบุญน้อยนัก จึงขัดหูขัดตาเขาไปหมด ไม่เจริญสักที ถ้าขัดหูขัดตาเขาเราก็ต้องดูว่าสิ่งที่เราทำนี้มันผิดหรือมันถูกมันเบียดเบียนใครไหม
- เขาด่าเพราะเราพลาดพลั้งในส่วนใด บางครั้งเราอาจจะตั้งใจทำดีแต่ที่ขัดเขาเพราะบางครั้งประมาทมองข้ามในบางส่วนเล็กๆน้อยๆไป เมื่อรู้แล้วก็แก้ไขใหม่ ไม่มาร่่ำไรรำพัน เพราะคิดไปก็ทุกข์ ไม่ว่าเราจะคิดหรือไม่คิดเรื่องนี้มันก็เกิดขึ้นแล้วอยู่ดี ความผิดพลาดของเราก็เกิดขึ้นแล้ว ความถูกกล่าวว่าติเตียนก็เกิดขึ้นแล้ว ไม่คิดยังดีกว่าเราจะได้ไม่ร้อนรุ่มตามคำติเตียนเขาไป แค่นี้ก็ได้อบรมจิตตนให้ผ่องใสเป็นกุศลฉลาดในการปล่อยวางไม่จับกิเลสอกุศลแล้ว

- เมื่อทำความสงบใจได้ นี่กุศลเกิดขึ้นมำให้ฉลาดในการปล่อยวางไม่มีสิ้นสุด ปัญญาก็เกิดขึ้นมาเรื่อยๆเพราะมันไม่คิดฟุ้งซ่านไปกับความโกรธแค้นพยาบาท คนเราลองตามอารมร์กิเลสปัญญามันถูกปิดกั้นหมด ถ้าปลงใจสงยบใจได้นี่กุศลเกิดปัญญาเกิดจับสมาธิง่าย จับลมหายใจง่าย จิตตั้งมั่นไม่เอนเอียงไปตามกิเลสดีเลยล่ะ
- แล้วเราก็ตั้งต้นทำดีใหม่อีก หลวงปู่บุญกู้ ท่านสอนว่า คนเราเมื่อมีกรรมเยอะมันจะทำอะไรก็ติดขัดไปหมด ผิดที่ผิดทาง ขวางหูขวางตาเขา คนที่โง่นั้นพอทำแล้วเห็นว่าทำไปก็ไม่ได้ดี แล้วก็เลิกทำดีเสียได้ อันนี้ก็ทำให้อกุศลกรรมมันสะสมขึ้นไปอีก ยิ่งเป็นไปตามกรรมมากขึ้น
- หลวงปู่บุญกู้ ท่านสอนว่า..คงความดีไว้ เพียรเจริญ ศีล ทาน ภาวนาอบรมจิตให้ดี ศรัทธาต่อพระพุทธเจ้าเป็นกำลังให้เกิดความยินดีทำดี เพียรทำดี เพียรเจริญสติ เพียรเจริญสมาธิ เพียรเจริญปัญญา หากกรรมมีเยอะไม่ใช่ว่าทำแค่วันสองวันแล้วจะได้ดี บางคนสะสมมานับสิบๆชาติ หรือเป็นอสงไขย จึงได้มี อายุ วรรณะ สุข พลังที่ดีได้ ทำอะไรก็ดีไปหมด ดังนั้นเมื่อรู้ตนมีบุญน้อยก็ทำ ศ๊ล ทาน ภาวนา ให้มากเข้าไว้

สิ่งที่ทำให้เรานี้ไม่หลงไปตามกิเลส ไม่เสพย์เสวยอารมณ์ความคิดปรุงแต่งอกุศล คือ สติ สัมปะชัญญะ
สติจะดีงามได้ ก็ต้องอาศัยเครื่องช่วย เรียกว่ากำลัง คือ ความเพียรเจริญในศีล ทาน ภาวนา
ศีล ทาน ภาวนา จะดีงามได้ ก็ต้องมี ศรัทธาต่อพระพุทธเจ้า เป็นกำลัง

----------------------------------------------------------------------

แบ่งปันแนวทางเจริญปฏิบัติกันครับ แนวทางนี้เป็นการพลิกแพลงใช้โดยส่วนตัวของผม หากผิดพลาดประการใดไม่ใช่ครูบาอาจารย์หรือพระตถาคตสอนผิดแต่อย่างไร แต่เพราะปัญญาของปุถุชนอย่างผมเจริญปฏิบัติเข้าถึงได้แค่นี้เท่านั้น

แต่หากแนวทางนี้มีประโยชน์แก่ท่านใช้ละโทสะได้ ขอให้ท่านทั้งหลายพึงรู้ไว้ว่า ธรรมอันพระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนไว้ดีแล้วนั้น ที่ครูบาอาจารย์สืบทอดถ่ายทอดมานี้ มีคุณมาก แค่เรารู้จักโอปนยิโก แล้วนำมาประยุกค์ใช้ตามกาลย่อมเกิดการอบรม กาย วาจา ใจ ให้สุจริต เป็นกำลังให้โพชฌงค์ดีนัก ดังนี้ครับ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มีนาคม 21, 2016, 03:06:50 PM

ว่าด้วยสมาธิ ทำไมหลายๆคนจึงทำสมาธิไม่ได้ จากการปฏิบัติของเราเห็นดังนี้คือ

๑. ตั้งใจมากไป
๒. ปารถนากระสันเกินไป




๑. การตั้งใจมากไป..เป็นไฉน ความตั้งที่จะทำ ทำให้จิตนั้นหดหู่ เศร้าหมอง ไม่เป็นที่สบาย ไม่เป็นธรรมชาติ มีความระแวง กลัว เช่น กลัวตนจะไม่ได้สมาธิ กลัวตนจะไม่มีจิตตั้งมั่น กลัวปวดฉี่ขณะทำสมาธิ กลัวปวดขาขณะนั่งสมาธิ กลัวมด ยุง แมลงกัดเวลาทำสมาธิ กลัวจะทำไม่ได้ ตั้งใจที่จะทำมากจนเกิดความเกร็งกายไม่เป้นสบาย มีจิตพะวงไม่เป้นที่สบาย เป็นเหตุให้ตั้งมั่นได้ยาก
- ทางแก้ ทำใจให้เป็นที่สบาย ง่ายๆ ไม่ต้องเกร็ง มีสติเป็นเบื้องหน้า เริ่มจาก

ก. นั่งเล่นๆพุทโธไปเรื่อยๆ ดูว่าพุทโธนี้มันสบายเป็นความคิดที่ไม่มีโทษ มีแต่คุณนานานับประมาณไม่ได้ ดูว่าเมื่อเราพุทโธแล้วจิตมันอยู่ที่ปัจจุบันคือลมหายใจไหม นี่เห็นธรรมเลยนะ เห็นปัจจุบันคือพุทโธ เกิดสัมปะชัญญะ เห็นจิตมีสติตั้งมั่นที่ลมและคำบริกรรมกำกับรู้อยู่ อันนี้ท่านเรียกคิดชอบ คิดลงธรรมตามสิ่งที่ตนพอจะระลึกสัมผัสได้ พอพิจารณาไปเรื่อยอย่างนี้มันเห็นและได้สัมผัสธรรมที่เกิดขึ้นบ้าง จิตก็เกิดความเพียรที่จะทำเพื่อความรู้เห็นยิ่งๆขึ้น ยิ่งจับรู้สัมผัสสภาวะได้มากมันยิ่งเกิดปิดติอิ่มใจเป็นสุข จิตมันก็จะเลิกฟุ้งซ่าน

ข. ถ้ากลัวปวดเยี่ยว กลัวแมลงกัด กลัวของหาย กลัวต่างๆนาๆนี้..จิตมันจะพะวงมากทั้งฟุ้งซ่าน ทั้งหดหู่ทำสมาธิได้ยาก แม้จะทำสมาธิได้บ้างแต่จะเกิดอาการที่เรียกว่าเสียววืดขึ้นไม่ยอมหายคลายไม่ได้สลัดไม่หลุด หลายคนจะเข้าใจผิดว่าเป็นปิติ จริงๆมันไม่ใช่ปิติ มันคืออาการความกลัวที่เกิดขึ้น เพราะจิตมีขณิกสมาธิละเอียดได้บ้างจึงพอจะจับปริ่มๆอาการความรู้สึกของสิ่งที่เราเรียกว่ากลัว พะวง ระแวงได้ชัดก็เท่านั้น ดังนั้นถ้ามันพะวงมาก ให้คิดลงธรรมปลงใจย่อมรับมันเสีย เช่น
- กลัวปวดขี้ปวดเยี่ยวตอนที่กำลังเข้าสมาธิก็เพียงทำใจให้สบายคิดเสียว่ามันเป็นธรรมชาติของกาย ทุกคนต้องขี้ ต้องเยี่ยวอยู่แล้ว ปวดก็แค่ลุกไปเยี่ยวไปขี้แล้วทำใหม่
- กลัวของหายตอนเข้าสมาธิได้ถ้าของอยู่ข้างกายก็เอามาวางบนตักหรือข้างเสีย หรือ ปลงใจเสียให้ได้ไม่ให้จิตยึดมั่นถือมั่นสิ่งไรๆทั้งปวงดังนี้
.. ปลงใจไม่ยึดสิ่งภายนอกคนเรามันต้องพรัดพรากเป็นที่สุด จะต้องเสียของรักของจำเริญใจทั้งสิ้นไป หากถึงคราวมันจะต้องเสียให้ดูแลรักษาให้ตายมันก็ต้องเสียไปอยู่ดีแต่ถ้ารักษาดีหน่อยก็เสียน้อยลงแค่นั้น คิดซะว่าให้ทานเป็นต้น
.. ปลงใจลงที่กายนี้เอาความไม่เที่ยงไม่มีตัวตนลงในกายนี้ จะเห็นเลยว่าขนาดกายเราแท้ยังไม่ยั่งยืน ไม่ใช่ตัวตน จะนับเอาอะไรกับอย่างอื่นภายนอกได้อีกมันก็ต้องเสื่อมสูญพรัดพรากดับไปเป็นธรรมดา
.. แผ่เมตตาให้ตนมากๆให้ตนเป็นสุขปราศจากทุกข์ อยากได้อันใดสิ่งใดก็แผ่ให้ตนเป็นกำลังโดยกำหนดนิมิตว่ามีพระตถาคตทรงพระกรุณาแผ่บารมีเป็นฉัพพรรณรังสีแป่มาสู่ตนให้เข้าถึงคุณ อรหัง ความไม่มีกิเลสเครื่องเร่าร้อน พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แล้วแผ่เมตตาไปแบบไม่มีประมาณสืบไปจิตจะตั้งมั่นดีนัก
.. ปลงใจโดยหาข้อธรรมไรๆก็ได้มาพิจารณาจิตมันจะปลงคลายอาการเกร็งอยู่เป็นธรรมชาติๆของมันแล้วก็เป็นที่สบายๆ เข้าสมาธิได้ง่าย ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะตรึกหน่วงนึกอะไรก็เป็นสมาธิได้หมด แต่สมาธิที่ควรแก่การดับทุกข์ของพระพุทธเจ้าคือจิตตั้งมั่นอันปราศจากกิเลสนิวรณ์ พระองค์จึงทรงตรัสสอนให้ทำกุศลศีลทาน คิดดี พูดดี ทำดี คิดเป็นกุศลเป็นสัมมาสังกัปปะ กุศลแปลว่าฉลาด ฉลาดในธรรม ในกาลปล่อยวาง แต่การทำแบบนี้สำหรับผู้มักคิดท่านเรียก ใช้กุศลจิตคิดดับอกุศลจิต กศลวิตกดับอกุศลวิตกเป็นนามดับนาม เป็นประโยชน์ดีมากแต่จิตจะติดคิดเป็นนิสัยซึ่งต่างจากการทำ พุทโธ ดูลมหายใจ หรือ ทำเพ่งกสิน หรือ อุปสมานุสสติ เป็นต้น



๒. ปารถนากระสันเกินไป..เป็นไฉน ความอยากได้สมาธิอยากถึงสมาธิปารถนาในฌาณมากไป ปารถนาอยากได้ในอภิญญามากไป ปารถนากระสันจะได้นั่นได้โน่นได้นี่มากไป ยิ่งปารถนามากยิ่งฟุ้งซ่านมาก ต้องมีสติเป็นเบื้องหน้าทำจิตไว้ในความสงบไม่จับความตรึกนึกฟุ้งซ่านกระสันมาเป็นอารมณ์ดังนี้คือ

ก. พุทโธ พุทโธคือผู้รู้ ผู้แจ้งชัดรู้ชัดปัจจุบัน รู้พุทโธคือรู้ปัจจุบันขณะ พุทโธคือพระพุทธเจ้า พระบรมศาสดา ผู้ไม่มีใครเสมอเหมือนเป็นที่สุดในสามโลกทั้ง อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ สมาธิ ฌาณ อภิญญา ญาณ บารมี ปัญญา ไม่มีใครเสมอเหมือน แค่ระลึกถึงพุทโธก่อนตายแม้ไม่เคยทำบุญมายังได้ไปสวรรค์ชั้นดุสิต(ดูจากพระสูตรที่มีเศรษฐีขี้เหนียวไม่นับถือพระพุทธเจ้าและลูกตายไปก่อนตายลูกระลึกถึงพระพุทธเจ้าจึงไปเกิดเป็นเทวดาแม้ไม่เคยทำบุญใดๆมา) เมื่อรู้ว่าพุทโธมีคุณมากดังนี้ พุทโธคือพระศาสดา เราก็จะไปเอาฌาณ เอาญาณ เอาอภิญญา เอาปัญญาความหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง เอาวิชชา ๓ วิชชา ๘ เอาฉฬภิญโญ เอาปฏิสัมภิทาญาณนี้กับพุทโธนั่นแหละ จะไปเอากับพระพุทธเจ้า ดังนี้แล้วก็ตั่งจิตมั่นทำไว้ในใจปักหลักรู้ลมหายใจเข้าออกไว้ที่ปลายจมูกไม่หวั่นไหวไปตามลมแล้วก็บริกรรมตรึกหน่วงนึกถึงพุทโธไปเรื่อยจะกำหนดรูปพระพุทธเจ้าด้วยก็ยิ่งดี ต่อไปมันจะดับ จะดิ่งวูบ แช่อยู่ก็ช่างมันปล่อยมันไประลึกแค่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตามจิตจับที่พระพุทธเจ้าอย่างเดียว อย่างนี้นี่เข้าสมาธิได้ไวนัก

ข. ทำไว้ในใจถึงคุณ อรหังของพระพุทธเจ้า คือ ความดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ไม่มีกิเลสทุกข์ ความดับ ความไม่มี ความสละคืน มันคือความว่างนั่นเอง เอาความว่างเป้นอารมณ์ ขอคุณแห่งสัมมาอรหังของพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแก่ตนน้องเอาความไม่มีกิเลสไม่หดหู่ฟุ้งซ่านของพระพุทธเจ้ามาสู่ตน เอาจิตจับความว่าง ความไม่มีนั้น
- หายใจเข้าตรึกนห่วงนึกถึงความว่างบริกรรมว่า "ว่าง" หายใจออกตรึกนห่วงนึกถึงความว่างบริกรรมว่า "หนอ"
- อากาศมีมากในใจ ทำใจประดุจอากาศธาตุ(อากาศคือความว่างไม่มีที่สิ้นสุด ความว่างนี้คือความไม่มี พื้นที่ว่างทั้งหมดไม่มีกิเลสนิวรณ์..เมื่อทำใจให้เป็นอากาศใจก็ว่างจากกิเลสนิวรณ์อกุศลธรรมอันลามกจัญไรทั้งปวง)
- ทำไว้ในใจถึงความไม่มี ไม่เอา ไม่หยิบจับเอาสิ่งใดๆทั้งสิ้น ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ทั้งปวง ทำไว้ในใจถึงความไม่มี ความดับ ความสละคืนเป็นที่ตั้งแห่งจิต (หากหัดเข้ารูปฌาณอันนี้คือละสมมติความตรึกนึกคิดฟุ้งซ่าน,หากเป็นอรูปฌาณท่านเรียกทางทำไว้ในใจเข้าสู่อกิญจัญญายตนะ)





ทั้งหมดนี้เป็นอาหารให้แก่การเดิน โพชฌงค์ตามกาล



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มีนาคม 22, 2016, 09:00:38 PM
บันทึกกรรมฐาน วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๙

ทำไมต้องพระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์
จึงสอนให้ห็นทุกข์ สอนให้ปลงใจ เห็นไตรลักษณ์
และ การฝึกสมาธิจนเข้าวสีฌาณได้


      พอดีวันนี้หมอนัดตรวจอาการหูอักเสบ จึงไปหาตามหมอนัด แต่หมอติดผ่าตัดต้องรออีกนานประมาณ 2 ชม. เราเลยรู้สึกเบื่อๆเซ็งๆไม่อยากรอ แต่ขณะที่รอพอมองไปทางไหนๆผู้ช่วยพยาบาลกับหมอหญิงก็ใส่ชุดโครตบางเลย เห็นแล้วก็เพลิน..พอเพลินก็คิดเกินที่เห็น..เลยกระสันกำหนัดหนัก
       ก็พอดีมีสติรู้แล้วเปลี่ยนล้างสัญญาจากการรู้รูปด้วยราคะลงในธรรม หัดคิดกุศลแทน หัดทำสันดานพระอริยะคือลงไตรลักษณ์ให้หมด จึงทำกุศลวิตกตรึกนึกคิดว่า..

๑. เขาทำบุญอะไรมาหนอถึงได้สระสวยงดงามอย่างนี้ เราต้องทำบุญอย่างไหนบ้างหนอถึงจะงดงามมีหน้าที่การงานฐานะดีคู่ควรและเป็นที่ชอบใจแก่คนสวยๆอย่างนี้บ้าง

๒. แล้วก็นั่งมองดู กกน. ไปดูขาเรียวๆขอผู้ช่วยพยาบาลคนสวยๆไปด้วยใจตรึกหน่วงนึกคิดลงธรรมว่า..
- สิ่งที่เห็นอยู่นี้ ที่เราติดใจอยู่นี้มันจะอยู่ได้อีกนานไหมหนอ แม้ได้สิ่งที่เห็นมาครอบครองแล้ว แต่ความจำเริญใจนั้นจะอยู่ได้นานสักเท่าไหร่
- เหมือนเราสมัยยังเป็นวัยรุ่นแรกๆก็มีคนที่ตนรักที่ตนหลงไหลอยู่เพียงคนเดียวเท่านั้น พอนานไปสิ่งนั้นก็ไม่จำเริญใจแล้ว ก็เบื่อหน่ายติดใจอันใหม่ที่สำคัญใจไว้ว่าสวยว่างดงาม ตั้งความสำคัญมั่นหมายของใจหมายปองในรูปแบบนั้นๆ จดจำสำคัญใจอย่างนั้นไว้เยอะมากจนทับถมเต็มใจ เป็นเหตุให้เราสำคัญใจหมายรู้อารมณ์ไร รู้รูปที่ตาเห็นนั้นด้วยราคะ รู้เสียงที่หูได้ยินด้วยราคะ รู้กลิ่นที่จมูกได้รับด้วยราคะ รู้สัมผัสกายกับต่างเพศด้วยราคะ มีใจรู้ความรู้สึกทั้งปวงด้วยราคะ จนมันติดเป้นนิสัยสะสมจนเป็นมิจฉาบารมี เห็นปุ๊บเงี่ยนปั๊บ อยากอึ๊บทันที .."นี่กามราคะมันอิ่มไม่เป็น ยิ่งเสพย์ยิ่งนึกถึงยิ่งแสวงหากระสัน"
- ก็เลยมองๆไปจิตมันหน่วงนึกเห็นความไม่เที่ยงของขาสวยๆ หุ่นดีๆ หน้าตางามๆ ก็พอดีมียายแก่ๆเดินผ่านมาจึงทำให้เราเห็นว่า..ที่เราจำเริญใจกำหนัดอยู่นี้ไม่นานก็เป็นของน่าเบื่อ แปรปรวน เสื่อมโทรม สูญสลาย รอวันดับไปแบบป้าคนนี้ มันเห็นความไม่ยั่งยืนในความงามนั้นเลยหายกำหนัด
- จากนั้นเอาจิตน้อมเข้ามาภายใน..รู้ว่าเรากำหนัดเงี่ยนเพราะติดความตรึก ความนึกคิดสมมติเกิดสิ่งที่เห็นในปัจจุบัน ด้วยความหมายรู้อารมณ์ไรๆด้วนสำคัญใจไว้ในราคะนั้นเอง จิตมันไม่ตั้งมั่นที่ปัจจุบัน สัมปะชัญญะไม่มีไม่เกื้อกูลแก่สติ เราจึงควรตั้งมั่นในปัจจุบันให้มากทำสัมปะชัญญะให้เกิดขึ้นคู่สติ เมื่อเห็นดังนั้นจิตมันก็ตั้งอยู่ที่ปัจจุบันแทน เห็นรูป ได้ยิน ได้กลิ่น ได้สัมผัสกาย เสวยอารมณ์ทางใจเฉพาะปัจจุบัน แล้วก็เจริญพุทโธไปเรื่อยๆ มันเลยปลงใจได้เพราะมีสมาธิหนุนให้เกิดความฉลาดในการปล่อยวาง จิตไม่ยึดทางโลก พอไม่ยึดทางโลกเลยมานั่งสมาธิ..
- เพราะจิตที่ปลงได้แล้วคลายความยึดทางโลกแต่มาหน่วงนึกถึงอารมณ์ธรรมแทน นึกถึงความไม่มี มีจิตหน่วงนึกอยู่ในอารมณ์ฌาณที่เคยเข้าถึง มันสุข มันว่าง มันสงบไม่ไปยุ่งกับภายนอกที่มีแต่ทุกข์ จิตหน่วงนึกลงภายในจับอารมณ์ฌาณสมาธิแทน พุทโธไปเรื่อยหน่วงนึกถึงพระพุทธเจ้าเอาคุณแห่ง อรหัง และ พุทโธ มาเป็นอารมณ์ มันก็เข้าสมาธิได้ทันที จิตมันพักมันดับมืดไม่มีความคิดแช่อยู่นิ่งเลย สักพักมันหลุดอารมณ์ออกมาแต่รู้สึกว่าจิตมีกำลังมากมีกำลังอัดแน่นภายในเหมือนตัวพองโตขึ้นอย่างนั้น แล้วก็เริ่มรับรู้สิ่งรอบข้างเหมือนปกติ
- แต่ด้วยจิตมันไม่อยากหลุดจากสมาธิ เราจึงทำไว้ในใจจับเอาอารมณ์ปริ่มๆของสมาธิที่ยังมีอยู่นิดๆเป็นอารมณ์ มันก็วูบเข้าไปใหม่อีก สักพักนึงมันก็หลุดวูบออกมาจับรู้อารมณ์ภายนอก เราก็ทำไว้ในใจให้คลายความยึดอารมณ์ภายนอกแล้วปลงใจจากอารมณ์ภายนอก แต่จับหน่วงนึกถึงอารมณ์ฌาณเอามาตั้งเป็นอารมณ์มันก็เข้าไปในสมาธิอีก ทีนี้แรกๆมันจะนิ่งแช่อยู่พอรู้ตัวแล้วไม่เอาจิตเข้าไปหาอารมณ์นั้นมากไป ทำแค่รู้อยู่ เลยลองถอยออกมาอารมณ์ปกติ คือ คลายอารมณ์ที่จิตมันจับสมาธินั้นแล้วหน่วงนึกอารมณ์ที่มารับรู้ตามปกติเป็นที่ตั้งของจิตมันก็ถอยออกมาที่ภาวะนั้นทันที แล้วลองคลายอารมณ์ปกติไปหน่วงนึกอารมณ์สมาธิในแต่ละระดับที่เคยเจอ จิตมันก็วูบไปตามนั้นทันที ลองเล่นไปมาอยู่จนนานเท่าไหร่ไม่รู้ เลยออกจากสมาธิ พอออกจากสมาธิแผ่เมตตาเสร็จ..คนรอบข้างไม่กล้านั่งข้างเราหนีออกไปนั่งที่อื่นหมด แล้วจ้องมองเราอยู่ เรารู้สึกอายและคิดว่าเขาคงเกรงใจเห็นนั่งสมาธิเลยไม่อยากรบกวนมั้ง ไม่ก็เห็นว่าเราบ้า..




แต่ครั้งนี้ทำให้ฉันแจ้งชัดขึ้น 2 อย่างคือ

1. ทำไมพระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์มักเทศนาให้เห็นทุกข์และไตรลักษณ์ไม่สอนกรรมฐานเลยทันที..นั่นเพราะให้กำหนดรู้ทุกข์ เพื่อเกิดความปลงใจ เมื่อปลงใจได้จิตมันคลายจากทางโลกน้อมมาทางธรรมแล้วจิตมันจะตั้งมั่นง่าย แล้วจิตจะน้อมเข้าภายมาในเห็นสิ่งที่ควรละ แจ้งในการทำความอิ่ม ความพอ ความดับ ความไม่มี รู้สิ่งที่ควรทำให้มาก แล้วเข้าถึงปัญญาเป็นที่สุด

2. สมาธิ วสี จึงเข้าใจคำที่พระตถาคตตรัสสอนว่า เพราะละสิ่งนี้ๆได้ สิ่งนี้ๆดับ จึงเข้าถึงจุดนี้ๆได้..เราเห็นว่าการทำไว้ในใจถึงวสีไม่มีสอนในตำรา มันต้องรู้เองเท่านั้น แต่ละคนทำต่างกัน แต่การทำไว้ในใจคงไม่ต่างกันมากนั่นคือ..
2.1 ทำใจให้คลายอารมณ์ที่เป็นอยู่ในปัจุบัน
2.2 ทำใจไว้หน่วงนึกถึงอารมณ์ที่จะเข้า

    อุปมาเหมือน..เด็กที่กินนมแม่ไม่ยอมหย่านม เพราะจิตติดหน่วงนึกในจำเพาะนมที่กินมาตลอด แม้เห็นของอื่นสิ่งอื่นก็ไม่ต้องการ ก็จนเมื่อจิตคลายจากความยึดมั่นถือมั่นในนมได้ แล้วหน่วงนึกถึงของกินอย่างอื่น จึละและผละจากนมมากินข้าง กินขนม กินสิ่งอื่นๆได้ฉันใด
    การเข้าสู่สมาธิมีจิตตั้งมั่นชอบก็ต้องละทางโลกด้วยเช่นกัน และ การจะเลื่อนจากสมาธิจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งจะสูงขึ้นหรือถอยออกก็ต้องทำไว้ในใจถึงความคลายจากอารมณ์ปัจจุบัน ไปทำใจไว้ในใจหน่วงนึกอารมณ์ที่จะไปต่อด้วยเช่นกันฉัน

สิ่งที่เราเข้าใจตามนี้นะอาจจะไม่ถูกไม่ตรงตามจริง..แต่มันใช้ได้กับเราและดับราคะของเราได้ในวันนี้

กรรมฐานของพระพุทธเจ้า หากตั้งใจทำจริง ต้องการพ้นทุกข์จริงๆ หากกจะเอาจริงไม่ยากเลย แค่ทำไว้ในใจเป็น
- ฟังธรรมพระอรหันต์เยอะๆ
- มีความยินดีทำในศีล ทาน
- มีความเพียรทำเหตุให้มากๆ
- ฝึกสติ สัมปะชัญญะ ให้เกิดขึ้นบ่อยๆให้มากๆเพื่อให้จิตเป็นกุศล มีความฉลาด
- ฝึกสมาธิ ปัญญา ให้มากๆเพื่อให้เราฉลาดในธรรมรู้เห็นตามจริงไม่มีสมมติ







หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มีนาคม 28, 2016, 12:34:48 PM

บันทึกกรรมฐาน วันที่ 28 มีนาคม 2559

สัมมาทิฐิ เป็นเรื่องของพระอริยะ ของปุถุชนคือ สัมมาสังกัปปะ

สัมมาทิฐิ โดยแท้จริงแล้ว เป็นของพระอริยะเจ้าทั้งหลาย สัมมาทิฐิไม่ใช่มานั่งนึกนั่งคิดเอาไรๆทั้งสิ้น สัมมาทิฐิ เป็น ยถาภูญาณทัสสนะ คือ ปัญญาในธรรม การรู้เห็นตามจริง ของจริง ไม่ใช่ตรึกหน่วงนึกเอา และ สัมมาทิฐิ เป็น นิพพิทาญาณ และ วิราคะ กล่าวได้ดังนนี้ว่า

สัมมาทิฐิ มีลำดับดังนี้

๑. เกิดความรู้เห็นตามจริง ของจริงแท้ ไม่ใช่ความตรึกหน่วงนึกคิด เป็น ญาณทัสสนะ
๒. เห็นความไม่เที่ยง ความไม่คงทนถาวรยั่งยืนอยู่ได้นาน มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แปรปรวน เสื่อมโทรม และ ดับสูญไปเป็นที่สุด เห็นของจริงไม่ใช่มานั่งคิดเอา ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เป็น นิพพิทาญาณ
๓. เห็นความไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา สักแต่ว่าสิ่งหนึ่งๆ ก้อนกองหนึ่งๆเกาะกุมรวมกันสงเคราะห์กัน เป็นเหตุปัจจับแก่กัน อาศัยกันเกิดมีขึ้น สักแต่ว่าเป็นธรรมหนึ่งๆนั้นๆไม่มีอะไรทั้งสิ้น ความว่าง ความไม่มี เราไม่ใช่สิ่งนั้น สิ่งนั้นไม่ใช่เรา ไม่มีเราในสิ่งไรๆ สิ่งไรๆไม่มีในเรา เห็นของจริงๆไม่ใช่มานั่งตรึกหน่วงนึกคิดเอา ทำให้เกิดอาการที่ตัด เป็น วิราคะ ตัดสังโยชน์ได้ ถึงความสละคืน


ความคิดเป็นเพียงสัมมาสังกัปปะ คิดออกจากทุกข์เอาสมมติมาหน่วงนึกเป็นอารมณ์ทั้งสิ้น ถ้าผู้ที่ถึงสัมมาทิฐิแท้จริงแล้ว ท่านจะไม่มี ไม่เอา ไม่เห็น อะไรทั้งสิ้น ทุกสิ่งในโลกคือความไม่มีอะไรทั้งนัน

"ด้วยการตรึกหน่วงนึกน้อมไปในอารมณ์ธรรมจากคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ ความไม่เที่ยงทำให้เบื่อหน่าย" เมื่อเราทำงานพักกลางวันจิตมันหน่วงนึกอารมณ์อยู่อย่างนี้ๆไปเรื่อยๆ จนจิตมันปลงสงบขึ้นอารมณ์ธรรมเกิดหน่วงนึกถึงดูคนสวยๆตรงหน้า แล้วกปลงใจเกิดอารมณ์สมถะแบบอ่อนๆ ทำให้เห็นดังนี้(แต่ก็ยังเป็นเพียงสัมมาสังกัปปะ เพราะลืมตาดูหน่วงนึกคชตรึกตรอง ไม่ได้เห็นในสมาธิตามจริง) "เราจึงเข้าใจที่หลวงพ่อเสถียรท่านจะหัวเราทุกครั้งที่เราพูดถึงว่าเราเห็นสัมมาทิฐิ และ เข้าใจคำที่หลวงปู่บุญกู้สอนเราว่ามันเป็นความคิดชอบ คิดออกจากทุกข์ คิดลงในธรรมมันเป็นการฝึกสร้างสัมมาทิฐิของปุถุชนคนธรรมดาทั่วไป" เพราะที่เราหลงว่าเป็นสัมมาทิฐิ มันคือความคิดเท่านั้น สัมมาทิฐิเกิดมีแต่พระอริยะเจ้าเท่านั้น มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น โดยเข้าใจว่าโสดาปัตติมรรคยังละสังโยชน์ได้เพียงหนึ่งอย่าง สองอย่าง แต่ยังไม่ถึงพระโสดาบันจริงๆที่ละสังโยชน์ได้ ๓ เมื่อละครบ ๓ อย่างจึงเป็นพระโสดาบันแท้ เรียก โสดาปัตติผล

-ดังนี้แล้ว..ตราบใดที่ยังเป็นแค่ปุถุชน ก็อย่าหลงปัญญาทางโลกโดยสมมติของตนว่า..ได้สัมมาทิฐิ




หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 02, 2016, 11:47:16 AM

บันทึกรรมฐาน ๒ เมษายน ๒๕๕๖

ทุกข์ จริง ชิน ถอน

วันนี้ไปฟังหลวงปูบุญกู้เทศนาตอนท่าย และ พาแม่ พี่สาว และ อั่งเปาไปถวายสังฆทาน หลวงปู่บุญกู้เทศนาสอนเรื่องพระรัฐปาลเถระ พระรัฐบาลเถระ เอตทัคคะในทางผู้บวชด้วยศรัทธา โดยย่อว่า..ท่านเป็นลูกเศรษฐี พระราชาถามว่าทำไมท่านจึงบวชทั้งๆที่มีทุกอย่าง ทั้งหน้าตา รูปร่าง เงินทอง สุขภาพ พลานามัย อายุ วรรณะ สุขะ พละ

ท่านขึงเทศนาสอนว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์พระบรมศาสดาเทศนาสอนว่า แม้จะมีคนที่ประกอบไปด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ได้ทุกสิ่งทุกอย่างตามปารถนาหมดสิ้น แต่ก็ไม่มีใครจะล่วงพ้น ความเจ็บ ความป่วย ความชราไปได้ แล้วในที่สุดก็พรัดพราก ต้องตาย แล้วก้เวียนว่าย เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในวัฏฏะสงสารไม่มีสิ้นสุด
(ทำให้นึกถึงเตี่ยแม่ที่แก่ชรา เตี่ยแก่ชรา แล้วก็เจ็บ ตาย แม่ก็แก่ชราและเจ็บป่วยต้องไปหาหมออยู่ตอนนี้)

แล้วหลวงปู่ก็เทศนาเพิ่มเติมว่า ร่างกายเราเมื่อล่วงพ้นตอนเด็ก ก็โตขึ้น เป้จวัยรุ่น วัยกลางคน แล้วก็แก่ชรา เจ็บป่วย เป็นโรค แล้วก็ตายในที่สุด
(อันนี้เรามองย้อนใส่ตัวเองสลดใจยิ่งนัก เห็นตนที่เจ็บป่วยและแก่ตัวลงยิ่งสลดใจต่อร่างกายนี้มาก เกิดความปลงใจ)

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=13&A=6825&Z=7248 (http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=13&A=6825&Z=7248)


เมื่อคืนวันนี้เวลาประมาณเที่ยงคืน เราระส่ำนอนไม่หลับคิดถึงเรื่องราวที่ไม่พอใจยินดีต่างๆนาๆ จนระส่ำไม่เ)็นที่สบาย นอนไม่หลับ ขึงถึงประมาณตี 1 แม้พยายามทำสมาธิก็ไม่ได้ จึงได้หวนระลึกทำไว้ในใจดังนี้ว่า..

- เรื่องมันผ่านไปแล้วเราจะไปติดใจอะไรอีกหนอ
- เราใจแคบเกินไปไหม
- เราทำนั้นผิดที่ผิดทางไปไหม
- เราต้องเอื้อเฟื้อความสุขสำเร็จเป็นที่สบายกายใจไปสู่ผู้อื่นให้มากกว่านี้ เมื่อทุกคนเสมอกันก็ควรที่จะได้รับเช่นกัน ไม่ควรตั้งความยินดียินร้ายติดใจข้องแวะสิ่งไรๆเพราะมันหาประโยชน์สุขไรๆไม่ได้นอกจากทุกข์ และ โทษภัย


จากนั้นเราก็ทำไว้ในใจเพื่อที่จะทำความสงบใจดังนี้ว่า..

- เจริญพุทโธ มีสติเป็นเบื้องหน้าทำพุทโธให้เกิดขึ้นในใจเราให้เป็นผู้รู้ รู้ในปัจจุบันขณะ มีสัมปะชัญญะไม่เอนเอียงตามความคิดความรู้สึกปรุงแต่งสมมติ ตั้งปักหลังอยู่ในปัจจุบันขณะ
- ทุกข์ ปุถุชนอย่างเราก็ทำเพื่อปลงใจให้จิตมันเบื่อหน่ายที่จะไปเสพย์ความสำคัญมั่นหมายของใจนั้นๆย้ำคิดย้ำทำให้เกิดความคิดปรุงแต่งสมมติไปทั่วขึ้นมา ทำเหตุให้นิพพิทาญาณเกิดขึ้น คือ กำหนดรู้ทุกข์ดูความระส่ำจนนอนไม่หลับของเราสิ นี่มันคิดสมมติอดีตที่ผ่านไปแล้วให้เกิดขึ้นเสพย์อารมณ์เร่าร้อนขุ่นข้องใจอยู่ในปัจจุบันเสียได้ มันดีหรือไม่ดี มันมีคุณหรือโทษ มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์เล่า มันไม่ดีมีโทษเป็นทุกข์ใช่หรือไม่ ดังนั้นอย่าไปติดใจข้องแวะความคิดที่ประกอบไปด้วยทุกข์นั้นเลย
- จริง ปุถุชนอย่างเราก็ทำเพื่อให้จิตน้อมไปในการคลายความยึดมั่นถือมั่น ทำเหตุเพื่อการละเหตุในการสร้างสมมติแห่งทุกข์ คือ จับเอาอาการความรู้สึกที่ตนนั้นเรียกว่าทุกข์เรียกว่าชังดูเพื่อเห็นสิ่งที่ควรละ โดยน้อมดูความรู้สึกจากอาการที่เกิดมีขึ้นต่อกายใจตน เห็นว่ามันมีแค่อาการที่ขุ่นหมอง ที่อัดๆร้อนๆรุ่มๆอยู่ที่เกิดจากการเสพย์ความคิดนี้ๆอยู่เท่านั้น ยิ่งเข้าไปร่วมกับความคิดนั้นๆมากเท่าไหร่อาการนี้ๆก็เกิดแรงขึ้นและอยู่นานขึ้นเท่านั้น จะถอนความคิดก็ทำไม่ได้ จะดับความคิดก็บังคับไม่ได้ จะให้ความสงบตั้งอยู่แทนอยู่ยั่งยืนนานก็ไม่ได้ ทำได้แค่ปล่อยให้จิตมันคิด เมื่อปล่อยมันคิดไปเรื่อยๆโดยที่เราตั้งสติอยู่เป็นเบื้องหน้าทำพุทโธไปไม่สนใจใส่ใจความคิดนั้นคือไม่เข้าไปเสพย์ตามความคิดมีแวบเข้าไปรู้ตัวขึ้นมาก็ทำแค่รู้ว่าเราคิดสิ่งนี้ๆ ติดใจ ขัดใจ ข้องแวะร่วมไปในความคิดหรือสิ่งนี้ๆ พอเมื่อจิตนิ่งมีกำลังไม่สัดส่าย มันจะเห็นเลยว่าเพราะจิตมันน้อมไปจงใจเข้าไปหาในความจำได้หมายรู้อารมณ์จดจำสำคัญมั่นหมายของใจในเรื่องที่รักที่ชัง มันก็จึงตรึกสร้างสมมติล่อหลอกจิตให้ลงเสพย์ตามขึ้นมา ไม่มีอะไรอื่นอีกเลยนอกจากความคิดที่เกิดจากความจดจำในอารมณ์ที่รักที่ชังมาปรุงเรื่องราวสมมติต่างๆนาๆให้ตนเป็นทุกข์ไปอีก ควรหรือไม่ควรที่จะไปติดใจข้องเสพย์ความจำได้หมายรู้อารมณ์อันเป็นทุกข์นั้น
- ชิน ปุถุชนอย่างเราก็ทำเพื่อให้ปลงใจได้ ทำเหตุให้ปลงใจไม่ยินดียินร้ายให้ความสำคัญต่ออาการที่เป็นุสขเป็นทุกข์ทั้งปวงที่เกิดมีขึ้นในปัจจุบัน คือ อาการเหล่านี้ๆที่มันร้อนๆเร่าๆ รัก โลภ โกรธ หลง กำหนัด กระสัน เงี่ยน ความคิดที่เป็นไปใน รัก โลภ โกรธ หลง มันมีเกิดขึ้นอยู่ทุกๆวันทุกๆเวลาทุกๆขณะอยู่แล้ว รายล้อมเราไปอยู่ทุกวันไม่มีหยุดเป็นเรื่องปกติของใจอยู่แล้ว ห้ามไม่ให้เกิด ไม่ให้เป็น ไม่ให้ปรุงก็ไม่ได้ คิดเรื่องนี้แล้วก็ไปเรื่องโน้นเรื่องที่ผ่้านมาก็ดับไปทุกข์กับเรื่องใหม่แทน แล้วก็มาคิดเรื่องเดิมให้เป็นทุกข์ เรื่องที่กำลังคิดอยู่ก็ดับ แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปๆมาๆไปเรื่อยของมันไม่สิ้นสุด นี่มันเป็นอยู่ทุกวัน ไม่เนื่อยไม่หน่ายมันบ้างหรือ มันเป็นปกติของใจมันอย่างนี้อยู่แล้ว ไม่ใช่อะไรแปลกใหม่เลยเราควรจะชินกับมันได้แล้ว ควรจะชินชากับมันเฉยๆกับมันไม่ควรใส่ใจอะไรกับมันอีก จะไปใส่ใจสิ่งที่ทำให้กายใจเราเร่าร้อนเหมือนจุดไฟเผาตนให้มอดไหม้เป็นทุกข์ทำไม
- ถอน ปุถุชนอย่างเราก็ทำเพื่อกดข่มบ้าง เพื่อทำเหตุละถอนใจออกจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองเครื่องแผดเผากายใจตนได้บ้างบางเวลา บางขณะ คือ ปลงจิตทำสมาธิพุทโะไป เอาจิตน้อมเข้าจับอาการความรู้สึกที่เกิดขึ้นไว้ เช่น ความอึดๆอัดๆ อึกๆอักๆ เร่าๆ รุ่มๆ ร้อนๆ ระส่ำ สั่นกระสัน อัดปะทุ เกร็งๆดันๆ หดหู่ ห่อเหี่ยว เศร้าหมอง มัวหมอง ขุ่นๆไม่ผ่องใส ดุอาการมันไป มันเกิดตรงนี้มบ้าง ตรงโน้นบ้าง เหมือนกลุ่มก้อนเมฆดับครึ้นฝนที่มาปกคลุมรายล้อมจิตที่ผ่องใสอยู่ตลอดเวลา มันก็มีอยู่แค่นี้อยู่ทุกๆขณะจิต เวียนวนไปมาตลอดเวลาไม่มีอะไรอื่นอีก เราก็ควรจะชินกับมันได้แล้ว จะไปสนใจใส่ใจทำมันให้มีค่าต่อใจขึ้นมาทำไม ตั้งใจมั่นให้จิตไม่กวัดแกว่งตามความขุ่นหมองที่รายล้อมจิตนั้นๆ ตั้งใจมั่นทำพุทโธไปพร้อมกับดูมันไปปล่อยมันเกิดรายล้อมใจอยู่อยู่อย่างนั้นด้วย..ความชิน ความช่างมัน สักพักจิตมันก็นิ่งว่างอาการที่เร่าร้อนทั้งปวงดับไป ไม่มีแล้ว จิตมันเฉนเป็นที่สบายมีกำลัง แล้วจิตมันก็เข้าไปรู้ว่ามันไม่มีความร้อนความขุ่นหมองอีกแล้ว สักพักชั่วพริบตานั้นความตรึกหน่วงนึกก็ค่อยเกิดขึ้นพร้อมกับอาการที่สบายๆเบาๆว่าเราถอนมันแล้ว ควรถอนมันทิ้งไปเสียให้หมด มันดับไปแล้วถอนแล้วไม่มีแล้ว เราไม่ควรไปให้ความสำคัญใส่ใจยินดียินร้ายกับมันอีก มันก็มีแค่นั้นเอง(ความตรึกหน่วงนึกกับวติในขณะนี้เหมือนมันจะแยกกันอยู่ด้วยอานิสงส์ของพุทโธ) เหมือนดั่งเกิดมีกองไฟอยู่ แล้วเราไม่เติมเชื่อไฟต่อ ตัดเชื้อไฟออกจากกองไฟ ไฟมันก็เผาไหม้ต่อไม่ได้

จากนั้นเราก็อธิษฐานจิตทำสมาธิไปเรื่อยๆจนหลับแล้วให้ตื่นมาตอน 7.00 น. โดยได้พักร่างกายเต็มที่ (เนื่องจากเป็นช่วงสลับกะแล้วหยุดวันเดียวทำให้วันที่ 1 เมษายนเราแทบจะไม่ได้นอนเลย)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 02, 2016, 11:57:19 AM
ย้ำตนเองให้รู้ตัว ให้รู้จักเจียมตัว ไม่หลงตน เราไม่มีตัวตน

เราไม่สำคัญต่อใคร ไม่ดีกว่าใคร ไม่มีโอกาสดีๆเหมือนใครเขา

ทำดีที่สุดก็ได้แค่นี้ไม่มีมากกว่านี้อีก เป็นแค่อากาศที่ว่างเปล่า

ดังนั้นใช้ร่างกายและจิตใจนี้ตั้งมั่นทำประโยชน์สุขให้เกิดมีแก่ผู้อื่น

จักสละให้เอื้อเฟื้อความสุขสำเร็จแก่ผู้อื่น

..จากที่เราพบประสบพบเจอในชีวิต ไม่ว่าจะทางโลกก็ดี หรือ ทางไหนๆก็ตาม จนถึงทุกวันนี้เราก็พบเจอแต่ความผิดที่ ผิดกาล ไม่ถูกที่ถูกทาง แม้จะตั้งใจดีเจตนาทำดี แต่ก็ไม่เคยได้ดีเลย กลับเจอแต่เรื่องร้ายๆ ถ้อยคำถากถาง สายตาเหยียดหยาม ถูกมองดูต่ำ เงินเดือน 10,000 บาท ใช้นี้เป็นแสน เลี้ยงลูกลำบาก เงินกินมีกินสบายบ้างอดกินบ้าง เงินทำบุญก็มีน้อยไม่เหมือนเขา เวลาไปทำบุญอยากทำเยอะๆก็ไม่มีเงินจะทำ ทำน้อยเมื่อหลายๆคนที่มาทำบุญเพราะแสวงหาลาภก็มองไม่ดีต่อเรา จะไปที่ใดก็ลำบากแทบจะไม่มีคนใดเมตตา ทำอะไรก็ไม่เจริอญ ทำคุณคนไม่ขึ้น ช่วยเขาเราเจ็บบ่อยครั้ง เจอแต่เหตุการณ์ร้ายๆบ่อยๆเนืองๆ เพราะเรามีกรรมเยอะ ไม่มีบุญ ไม่มีค่า อายุ วรรณะ สุขะ พละ มีน้อย และ โอกาสดีๆที่จะได้ทำอะไรตามปารถนามากมาย นับครั้งได้เลยก็ว่าได้กี่ครั้งในชีวิต แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นความภาคภูมิใจต่อเราที่สุดคือ ได้เกิดมาเป็นลูกเตี่ยกับแม่ที่ปฏิบัติดำรงอยู่ในพระพุทธศาสนาอย่างดี มีพี่สาวพี่ชายที่ดี ได้มีภรรยาที่เป็นแม่ของลูกที่งดงามเบญจกัลยาณีประดุจนางฟ้ามาโปรด ได้ลูกใช้ผู้ประกอบไปด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อดทนมีจิตใจดีงาม เป็นกำลังใจให้ปะป๊าทุกครั้งที่ล้มหรือเหนื่อยล้า มีครูบาอาจารย์พระอริยะสงฆ์สั่งสอนแต่เมื่อก่อนก็เข้าไม่ถึงไม่แจ้งใจ เพราะเอาอารมณ์ที่ผิดหวังไม่สมปารถนามาเป้นที่ตั้งแห่งอารมณ์ เอาความอยาก เอาความโกรธแค้น เอาความหลง มาตั้งอยู่ในใจทุกๆขณะ

..จนปัจจุบันนี้ก็ได้โชคดีพบหลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน ท่านได้อนุเคราะห์ชี้แนะสั่งสอนทางธรรมให้ ทำให้ดำรงชีวิตกับความยากลำบากได้ดีขึ้น แม้จะเจออะไรร้ายๆก็เอาใจลงธรรมตามที่หลวงปู่เทศนาสอนเราไว้ก่อน ถึงแม้ว่าชีวิตนี้จะเจอเรื่องร้ายๆมากมายจนเหนื่อยล้าในชีวิตอยากตายๆไปเสียได้ แต่เพราะได้ธรรมของพระพุทธเจ้าที่หลวงปู่บุญกู้เทศนาสั่งสอนญาติโยมทั้งหลายถ่ายทอดให้ออกมาให้เข้าใจง่าย ทำให้เราไม่ว่าจะเห็นดิน หิน ทราบ น้ำ ลม ไฟ อากาศ คน สัตว์ ต้นไม้ ใบหญ้า เมฆ หมอก ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง คนเดินไปมา ศพ สถานที่ ภัยธรรมชาติ ฤดูที่แปรผัน ก็เห็นธรรมได้ แต่ใจก็ยังเป็นเพียงแค่ปุถุชนที่เอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ รวมทั้งพระอริยะเจ้าทั้งหลายมาสถิตย์ใส่สันดานตนเพื่อหวังหลุดพ้นทุกข์ตามท่านทั้งหลายนั้น จึงทำให้บ้างก็ควบคุมสงบใจได้ บ้างก็ขันแตก บ้างก็เห็นธรรม บ้างก็มืดบอด เพราะเป็นแค่ปุถุชน รู้ได้แบบปุถุชน มีปัญญาโดยสัญญา มีความตรึกหน่วงนึกเป็นธรรมชาติของจิต จึงทำได้เพียงเท่านี้เท่านั้น
..ทุกวันนี้ชีวิตก็ดีขึ้นบ้างด้วยอานิสงฆ์ที่หลวงปู่แผ่บุญกุศลให้เรา และ การที่เราได้พบเจอหลวงปู่ ได้ฟังพระสัทธรรมจากหลวงปู่ที่ท่านอนุเคราะห์เอื้อเฟื้อประสิทธิ์ประสาทความรู้แจ้งให้ได้เห็นจริงจนเกิดศรัทธาด้วยปัญญาต่อ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ และ หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน พร้อมทั้งครูบาอาจารย์ทุกท่านที่ได้อนุเคราะห์เมตตาเอื้อเฟื้อธรรมอันงามให้มา เราจึงเกิดความตั้งมั่นในคำสอนของหลวงปู่ แม้มีที่ไม่เข้าใจเพราะเราแค่ปุถุชนปัญญาน้อยนักทำให้ปฏิบติแรกๆที่ไม่รู้ก็มีความขัดใจฝืนใจทำอยู่บ้าง ..แต่หลวงปู่บุญกู้ ท่านก็ย้ำสอนให้ อดทนรู้จักขัดใจมันบ้างตั้งมั่นทำเหตุให้ดี จนมีชีวิตที่ดีขึ้นถึงวันนี้ แม้จะไม่สามารถเปลี่ยนชีวิตที่ถูกลิขิตไว้ได้ว่า ต้องพานพบเจอแต่สิ่งร้ายๆ เรื่องร้ายๆ เป้นที่รังเกลียด ไม่เป็นที่รักที่จำเริญใจใคร ถูกดูหมิ่นดูแคลน ถูกด่าว่ากล่าวไม่เว้นแม้จะทำดี ถูกคนใส่ร้ายกลั่นแกล้งนาๆเพื่อเอาผลประโยชน์เข้าตัวเขา ถูกกล่าวหาเสียๆหายๆ ถูกกดขี่ ข่มเหง ฯลฯ ..แต่มันไม่ทำให้เราเลวร้าย มีจิตใจชั่วช้าไปกับเรื่องราวนั้นๆ ต้องตรอมตรมทุกข์เศร้าโศรกเสียใจ ร่ำไรรำพันไปกับสิ่งเหล่านั้นเรื่องราวนั้นๆ จะต้องเป็นคนไม่ดีไปตามคำใส่ร้ายหรือเหตุการณ์นั้นๆ นั่นเพราะได้เรียนรู้ธรรมจากหลวงปู่บุญกู้ด้วยศรัทธายิ่ง และเราได้ตั้งใจมั่นที่จะทำตามที่หลวงปู่สอนให้มากที่สุดเท่าที่สติกำลังเราจะมีจะพึงทำได้ ทำให้เราอยู่ได้จนถึงทุกข์วันนี้ ไม่ยินดียินร้ายกับใครหรือสิ่งใด แม้จะมีแวบเข้ามาแล้วหลงเสพย์ตามให้ใจเศร้าหมองบ้างแต่ก็มีสติไหวทันแล้วละความติดข้องใจ ละความติดใจข้องแวะนั้นๆไปได้ แล้วตั้งอยู่ใน ศีล ทาน ภาวนา มีพุทโธทุกลมหายใจเข้าและออก มีพุทโธเป็นสติกำลัง มีพุทโธเป็นปัจจุบัน มีพุทโธเป้นจิตเป็นตัวรู้

ดังนี้แล้ว เราต้องย้ำในใจเสมอๆว่า ชีวิตเรามันลำบาก มันติดดินดูด้อยค่า เราไม่สำคัญอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีค่าอะไรต่อใคร เราไม่ใช่คนนั้น เราไม่ใช่คนนี้ เราไม่ใช่ผู้มีบุญบารมี เราเป็นผู้บุญน้อย เป้นผู้ด้อยโอกาส ไม่คู่ควรแก่สิ่งใดๆ เมื่อมันไม่มีบุญบารมี่ ไม่มีอะไรจะเสียอยู่แล้ว เราไม่ใช่นั้น เราไม่ใช่นี้ นี่ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ตัวตน ดังนั้นจึงต้องตั้งมั่นทำสิ่งที่ดีเป็นกุศลเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่นให้มาก อย่าให้เสียชาติเกิดมา เมื่อตนเองไม่สำคัญไม่มีอะไรจะเสียอยู่แล้วจะไปหวงแหนบุญบารมีไปติดข้องใจใครหรือสิ่งใดๆเอามาเผากายใจตนให้มอดไหม้เร็วขึ้นไปทำไม ใครอยากได้อะไรโหยหาาบุญบารมีอะไรก็ให้เขาไป บางครั้งเขาจำเ)้นที่จะต้องใช้เพื่อพ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก ผัว เมีย ญาติๆ เพื่อนอันเป็นที่รักมากกว่าเราด้วยซ้ำ เรามันบุญน้อยต้อยต่ำ แม้จะเอาให้เขาไปเพื่อให้เขาได้เ)็นสุขอย่าได้ตรอมทุกข์ทนเหมือนเรามันยังจะมีค่ากว่าเลย ขนาดเราทำบุญมาตั้งแต่จำความได้ กรรมฐานมาตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบันชีวิตก็ยังเป็นอยู่อย่างนี้ทำได้แค่นี้ ดังนั้นจะไปหวงบุญให้ตนเองหรือปิดกั้นที่จะทำให้คนนั้นคนนี้โดยเฉพาะไปก็ไม่มีประโยชน์ บางคนที่มีชีวิตแบบเราหรือลำบากกว่าเราก็มีเราก็เอาสิ่งที่มีอยู่ให้เป้นประโยชน์แก่เขาเสียจะดีกว่า สละเสีย มันไม่มีอะไรมากกว่านี้อีก
 
........................


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 03, 2016, 02:54:38 PM
**ข้อสำคัญสุดหลวงตามหาบัวท่านสอนว่าให้ปลงใจให้ได้ ถ้าปลงใจไม่ได้ ไปเอาช้างเอาม้า เอาภูเขาเลากา เอาของทั้งโลกมามันก็ทำไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องกำหนดรู้ทุกข์ให้ได้ก่อน**

      พระพุทธเจ้าก่อนที่พระองค์จะเกิดนิพพิทาญาณ แล้วออกบวช พระองค์ก็ทรงเห็นทุกข์ก่อนทั้งสิ้น ทุกข์จากความรัก โลภ โกรธ หลง ความไม่สมหวังตามปารถนา ความพรัดพราก ความประสบสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่พอใจ ทุกข์จากการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้วเพื่อได้ปฏิบัติบนทางพ้นทุกข์จึงเห็นชัดแจ้งโลกว่าสังขารโลกทั้งปวง เป็นตัวทุกข์ ความมีขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์ ความเข้ายึดขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์ ความมีใจเข้ายึดครองธาตุ ดิน น้ำ ลม ไป อากาศ เป็นทุกข์

      ปุถุชนอย่างเราๆนี้ก็ทำได้โดยความตรึกหน่วงนึกพิจารณา เรียกว่าสัมมาสังกัปปะ คิดออกจากทุกข์ลงในธรรมอันสมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าทรงตรัสไว้ดีแล้วนั้นจนเห็นทุกข์ เห็นตัวตนแห่งทุกข์ จิตมันจะน้อมลงในธรรมพร้อมตั้งใจมั่นเจริญใน ศีล ทาน ภาวนาไปเรื่อยๆจนเกิดสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ รู้เห็นตามจริงของจริงโดยปราศจากสัญญา และ ความหน่วงนึกตรึกนึกคิด อนุมานเอาเอง เห็นแจ้งถึงความไม่มีในโลก ลงสู่ มรรค ผล นิพพาน สืบไป..

      การปฏิบัติจริงๆนั้นคืออย่าไปหลักการอะไรมากนะ ให้จดจำหลักสำคัญๆในการปฏิบัติไว้ เช่น จุดหลักสำคัญการเจริญกรรมฐานกองนี้ๆคืออะไร ไปแบบไหน เพื่ออะไร แสวงผลอย่างไรได้เท่านั้นก็พอ แล้วเจริญปฏิบัติไปเรื้อยๆทำเพื่อถวายเป็นพระพุทธบูชา พระธรรมะบูชา พระสังฆบูชา มีความยินดีแต่ไม่ปารถนาเจริญปฏิบัติเพื่อสะสมบารมีธรรม กุศลบารมี เพื่อถึงความหลุดพ้นจากบ่วงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ในอนาคตอันใกล้นี้ หรือ เบื้องหน้า ภายหน้า กาลหน้า ชาติหน้า เพื่อไม่ให้เราตกล่วงไปในสิ่งที่ชั่ว ให้ตั้งใจมั่นเจริญใน ศีล ทาน ภาวนา ทำพละ ๕ อินทรีย์ ๕ สะสมไว้ไปเรื่อยๆจนมีอินทรีย์แก่กล้าเพื่อเป็นบารมี ๑๐ ทัศน์ สามารถยกขึ้นเป็นบารมี ๓๐ ทัศน์จนเต็มกำลังใจให้หลุดพ้นทุกข์ แม้ตายไปถึงเราจะไม่บรรลุเป็นพระอริยะสงฆ์พระอรหันต์แต่ก็จะไม่ไปอบายภูมิจักต้องขึ้นสวรรค์เป็นเทพบุตร เทพธิดา เป็นพรหม เป็นต้น

แนวทาง หลักการ กับการปฏิบัติ มันจะต่างกันนะ

      เรียกว่าปริยัติเป็นอย่างนี้ ปฏิบัติเป็นอีกอย่าง แต่อาศัยแนวทางจากปริบัตินั่นแหละในการปฏิบัติ
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย และ พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านย่อมสอนให้กำหนดรู้ทุกข์ให้เป็นเสียก่อน กำหนดรู้ทุกข์ได้ก็ปลงใจได้ มีจิตน้อมไปในธรรมได้

     - ทางปริยัติ การกำหนดรู้ทุกข์ก็คือ พระอริยะสัจ นั้นแหละ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค บางคนที่เรียนแต่ปริยัติไม่ปฏิบัติก็จะรู้เพียงว่าทุกข์คือความโศรกเศร้าร่ำไรรำพันคับแค้นกายใจไม่สบายกายไม่สบายใจ คือรู้เพียงทุกขเวทนาเท่านั้น เรียนแต่อภิธรรมก็ไปยกเอาว่านามธรรม รูปธรรมเป็นตัวทุกข์ จนทำนามรูปให้เป็นอัตตาแก่ตนไป แต่ยังสัมผัสจริงไม่ได้ สัมผัสได้แต่ความคิดสมมติเท่านั้น จึงมักจะตีความบอกไปว่ามันเป็นลำดับแก่กันต้องเห็นสิ่งนี้ก่อน อันนี้ทีหลัง จนพอเข้าเอาอภิธรรมแล้วก็ทิ้งสมาธิไป แต่ไปนั่งเพ่งนั่งมองเอาความคิดอนุมานของตนเองจนหลงว่าเป็นของจริง
     - แต่โดยการปฏิบัติแล้วใน อรรถถะ เนื้อความ และ พยัญชนะ รูปแบบและลักษณะถ้อยคำที่ใช้ อันบริบูรณ์แล้วไม่ขาดไม่เกิดดีงามแล้วของพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงสอนให้เห็น "ผล" ก่อน คือ ทุกข์ และ นิโรธ เพราะเป็นสิ่งที่ปุถุชนคนทั่วไปรับรู้ง่าย เข้าถึงได้ สัมผัสได้ ทำให้เห็นชัดในปัจจุบัน และ หน่วงนึกตรึกถึงได้ ทำให้มีความยินดีปารถความเพียรเพื่อการในภายหน้าได้ แล้วจึงแสดงให้เห็นถึง "เหตุ" ที่ทำให้สิ่งนี้ๆเกิดมีขึ้นว่าเพราะอะไร ควรละ หรือ ควรเจริญให้มากที่ไหนยังไง เพื่อดับผลอันไหน เกิดผลเหล่าใดขึ้นมาในภายหลัง พระตถาคตนั้นตรัสสอนให้เราเห็นโลกเป็นที่ว่าง เห็นความไม่มี แม้นามรูป นามธรรมก็ไม่มีทุกอย่างล้วนสมมติทั้งสิ้น อาศัยกิเลสสร้างสมมติขึ้นมาหลอกให้จิตยึดจิตหลงทับถมไปเรื่อยโดอยอาศัยประตู่รับรู้คือ สฬายตนะ ได้แก่..ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ..นั่นเอง ดังนั้นให้เราปฏิบัติเพื่อถึงความเป็นผู้รู้ตามพระพุทธเจ้าองค์พระบรมครู จนถึงความเป็นผู้ตื่น ผู้เบิกบานตามพระพุทธเจ้าไปนั้นเอง

ทางปริยัติว่าการกำหนดรู้ทุกข์ คือ ท่านให้สังเกตุรู้อาการความรู้สึกแล้วไปนั่งแยกว่านี่ของจริง นี่ปรมัตถธรรม นี่สมมติบัญญัติ โดยคิดเทียบเคียงกับความจำที่อ่านที่รู้มา แล้วคิดลงธรรมว่าของจริงมันเป็นแบบสัมผัสอยู่เพียงเท่านี้ไม่มีอื่น
- เรียนรู้ทุกข์จากสิ่งต่างๆอันเป็นนามธรรม รูปธรรม ท่องจำกันไปว่านี้รูป นี่นาม จนครบอภิธรรม 7 คัมภีร์
- หากคนที่มีอภิธรรมเป็นอัตตาท่านก็ให้เรารู้ทุกข์ว่า สิ่งนี้ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์ เป็นธาตุ เป็นรูปธรรม นามธรรม บ่นท่องจดจำเอาถึงนามรูป วิถีจิต ที่ตนไม่มีทางเข้าถึงด้วยการมานั่งตรึกนึกคิดอนุมานเอาได้เลย หากปฏิบัติลงใจไม่ได้ นักอภิธรรมก็จะมีนามรูปเป็นตัวตนเป็นอัตตาเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์โดยความคิดอนุมาน เพราะติดความจำ ติดความคิดสืบไป หลงตนว่ามีปัญญาแก้ไม่ได้ ครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านจึงบอกให้ทิ้งความรู้ในอภิธรรมไปก่อนแล้วมาเริ่มปฏิบัติไปแล้วความรู้เห็นทั้งหมดในอภิธรรมจะเกิดเห็นชัดเอง

ทางปฏิบัติการกำหนดรู้ทุกข์ คือ ท่านให้รู้แค่ว่าการมีชีวิตถือครองขันธ์ ๕ มีใจยึดครองอุปาทานขันธ์ ๕ แล้วยึดเอาตัวตนทั้งปวงนี้มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์
- ท่านให้มีสติสัมปะชัญญะแค่รู้สภาวะอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดมีขึ้นไม่อาศัยความคิดสืบต่อสมมติแล้วก็ปล่อยเลยไปไม่ยินดียินร้ายหลงเสพย์อกุศลธรรม ให้รู้ธรรมารมณ์ที่ควรเสพย์และธรรมารมณ์ที่ไม่ควรเสพย์ ไม่มีรูปธรรม ไม่มีนามธรรม ให้รู้กายรู้ใจตนในภายใน ภายนอก ตั้งมั่นใน ศีล ทาน ภาวนา
- ศีล เป็นฐานแห่งกุศล ทำให้กายใจเป็นปกติไม่เร่าร้อน เป้นที่สบายเย็นใจ ไปที่ใดก็สบาย ไม่มีทุกข์ ไม่หวาดระแวง หวาดกลัวความผิด ไม่เบียดเบียนตนเองและผู่้อื่น ไม่ก้าวล่วงสู่อบายมุขและตายก้ไม่ตกสู่อบายภูมิ ไม่มีความเร่าร้อน ร้อมรุ่ม รุมเร้ากายใจ เป้นที่เย็นสบายกายใจดีนัก ไม่มีความฟุ้งซ่าน หดหู่
- ทาน ทำให้อิ่มใจ ถึงจาคานุสตติได้ก็ถึงความสละ อิ่มเอิบเต็มใจไม่ต้องการสิ่งไรๆอีก มีใจน้อมไปในการสละ เอื้อเฟื้อ อนุเคราะห์ แบ่งปันต่อผู้อื่น มีจิตอิ่มเอิบ อิ่มเต็มไม่ต้องการสิ่งใดๆอีกเหมือนอิ่มข้าวแล้วก็ไม่หิวอีก ใจก็เป็นสุขจากความไม่อยากไม่ต้องการ ทำให้จิตเป็นสมาธิได้ง่าย
- ศีลและทานเป็นของคู่กันเกื้อหนุนกัน ศีล และ ทาน ทำให้ภาวนาบริบูรณ์สมดั่งพระชินสีห์ตรัสกับพระอานนท์ไว้ใน อานิสงส์สูตร
- ภาวนาอบรมจิตในสมาธิ ท่านให้ทิ้งความรู้ทั้งปวงไปให้หมด แล้วก็ฝึกกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง ให้เลือกเอากองใดกองหนึ่งที่ชอบใจไป ทำให้เป้นที่สบายไม่หดหู่ ฟุ้งซ่าน ง่ายสุดก็พุทโธคู่ลมหายใจเข้าออกนี้แหละ จนมีจิตตั้งมั่นดี เห็นโลกเป็นที่ว่าง เป็นของว่าง
- ภาวนาอบรมจิตในปัญญา ก็หัดน้อมเอาเมื่อสักแต่ว่ารู้ เมื่อน้อมเอาสังขารโลกเข้ามาลงใจได้ มีสิ่งใดบ้างที่อยู่กับเราติดตามเราไปในทุกภพทุกชาติแม้เมื่อตายไป ก็ไม่เห็นจะมีอะไรที่เป็นอย่างนั้น สิ่งทั้งปวงอยู่กับเราได้นานสุดก็แค่หมดลมหายใจนี้เท่านั้น เมื่อเราตายก็ไม่มีสิ่งใดติดตามไปด้วยเลย มีแต่บุญและบาปเท่านั้นที่จะติดตามเราไปทุกภพทุกชาติ เราไม่สามารถบังคับสิ่งไรๆให้เป้นไปดั่งใจเราได้เลย ไม่มีสิ่งใดเป็นตัวตนของเรา ไม่ตัวตนของเรา อุปมาเหมือนกองดินที่เราจะปั้น จะหัก จะจับ จะต่อให้เป็นไปอย่างไรรูปแบบได้ก็ได้มันก็เจ็บปวดไม่เป็น ไม่มีความรู้สึก ก็เหมือนกับร่างกายเรานี้ประกอบเด้วยธาตุ ๕ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อาดอากาศ แต่อาศัยใจเรา หรือ ดวงจิต คือ มโน หรือ วิญญาณนี้เข้ายึดครองในธาตุ ๕ เหล่านั้นมันจึงเจ็บเป็นปวดเป็นรู้สึกนั่นนี่ได้  แม้แต่ร่างกายที่อาศัยพ่อแม่ให้มานี้เมื่อตายไปแล้วเราก็เป็นอนัตตาต่อกายนี้แล้ว คือ ไม่ใช่ตัวตนของกา่ยนี้อีก ไม่มีตัวตนในกายนั้นแล้ว ความเข้าไปปารถนาในสิ่งอันไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนจึงเป็นทุกข์ ท่านให้้กำหนดรู้ทุกข์ในขันธ์ ๕ ธาตุ ๖ สังขารธรรม สังขารโลกทั้งปวงอย่างนี้ จนแจ้งชัด อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถึงความไม่มีเกิดปัญญาลงในมรรคหรือผล
- ภาวนาอบรมจิตในปัญญา ก็อาศัยสมาธิตัดขาดจากความตรึกหน่วงนึกคิด เห็นสภาวะธรรมภายในทั้งปวง ภายในเป็นอย่างไร ภายนอกก็เป็นอย่างนั้นไม่ต่าง ถึงความไม่มี เห็นของจริงไม่อิงสมมติของปลอม มีจิตเป็นพุทโธ คือ ผู้รู้ตามพระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ท่านให้เข้าไปเห็นมันบ่อยๆจนแจ้งชัดไม่ใช่เห็นครั้งเดียวมาอนุมานเอาจิตก็จะลงใน มรรค(พรหมวิหาร ๔ ศีล ทาน สมาธิ มาเองเกิดขึ้นเอง) ผล(ละสังโยชน์ได้สำเร็จเป็นพระอริยะสงฆ์ เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าแท้จริง) นิพพาน(บรรลุอรหันต์)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 20, 2016, 04:01:13 PM

วันวิสาขบูชา 20 พ.ค. 2559 กรรมและผลของกรรมที่ทำให้ถึงพระนิพพาน และไปไม่ถึงพระนิพพาน


อธิบาย....ธรรมอันนี้เป็นความรู้เห็นโดยส่วนตัวที่ข้าพเจ้าเท่านั้น ซึ่งได้รู้เห็นมาจากการปฏิบัติ สดับ ฟัง อ่าน ศึกษาพิจารณาตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และ ครูบาอาจารย์ หากผิดพลาดบิดเบือนไม่จริงอันใดขอให้ท่านทั้งหลายรู้ไว้ว่า มันมาจากความเห็นผิดโดยส่วนตัวของข้าพเจ้าคนเดียวเท่านั้นตามที่ได้แจ้งไว้ ไม่เกี่ยวกับพระธรรมคำสอนของพระตถาคต และครูบาอาจารย์แต่อย่างใด ซึ่งพระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์นั้นท่านได้สอนมาดีแล้วถูกตรงแล้ว แต่เป็นเพราะความเข้าใจผิดเห็นผิดหลงผิดของผมเองเท่านั้นที่ทำให้ธรรมของพระตถาคต และ ครูบาอาจารย์ที่ท่านสอนนั้นบิดเบือนไม่เป็นจริง

...แต่หากธรรมบทนี้มีประโยชน์ เอื้อประโยชน์ ช่วยให้ท่านเข้าถึงธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ดีแล้ว เกิดศรัทธาด้วยปัญญา ถึงพระรัตนตรัย ขอให้ท่านทั้งหลายจงรู้ไว้เลยว่า ธรรมทั้งปวงของพระสัพพัญญูสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธจ้า พระบรมศาสดา ให้ผลได้ไม่จำกัดกาลจริงๆ ผู้รู้ผู้ปฏิบัติย่อมรู้ได้เฉพาะตน สามารถพลิกแพลงปรับใช้ได้ตามกาลไม่จำกัด เป็นธรรมเครื่องออกจากทุกข์ได้จริง ดังนี้



...พระพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงตรัสรู้เรื่องกรรมแจ้งสังขารโลกไม่มีมีใครยิ่งกว่า บัดนี้ผมจักขอกล่าวบทธรรมอันเป็นกรรมไปสู่ผลที่ไม่ถึงพระนิพพาน และ กรรมอันเป็นเหตุส่งผลให้ไปถึงให้ถึงพระนิพพาน
...กรรม คือ การกระทำทั้งในอดีตกาลก่อนที่ส่งผลให้เป็นวิบากกรรมในปัจจุบันนี้ และ การกระทำในปัจจุบันนี้ อันชื่อว่ากรรม อันเป็นเหตุเป็นผลให้เข้าถึงความพ้นทุกข์ดังนี้...

การที่เราอ่านเยอะรู้ธรรมมาก รู้หมดทุกอย่าง ครบ 84000 พระธรรมขันธ์ แต่ก็ไม่อาจได้สัมผัสของจริงนั้นเลย เคยคิดมั้ยครับเพราะอะไร
- บ้างเราไปนั่งๆนึกดูอาการจริงแต่ก็ได้แค่การอนุมานเอาไม่มีของจริงเลย
- บ้างอ่านท่องจำอย่างเดียวไม่ปฏิบัติ ก็ได้แต่ความคิด รู้เห็นเกินความคิดอนึุมานไม่ได้ ไม่มีของจริง
- บ้างหลับหูหลับตาปฏิบัติเอาตามๆกันมาแบบหลับหูหลับตาทำ

เคยคิดไหมรู้ธรรมทั้งมากมายแต่เข้าไม่ถึงธรรมเลย เคยถามตนเองไหมครับ ติดความคิดหลงความคิดแล้วก็ถือตัวตนว่าจริงไปทั่วไม่หยุด

โดยส่วนตัวผมนี้ผมได้ถามตัวเองบ่อยๆว่านี่มาถูกทางไหม เราทำถูกไหม ทำไมไม่ถึง ไม่เห็นไม่ได้สักที มีโอกาสได้สัมผัสแบบปริ่มๆบ้างแต่ก็ทำไม่ได้ ทรงได้ไม่นาน พอระยะเวลาผ่านไปก็มาเป็นเหมือนเดิม ได้กัดฟันไม่หลับไม่นอนไม่กิน 2 วัน หนึ่งคืน เหมือนจะเข้าสมาธิได้ แต่ก็แค่ได้สมาธิไปไม่ถึง เรียนรู้อภิธรรมมากมาย อ่านพระไตรปิฏกยิ่งกว่าติวสอบเข้ามหาลัย ก็ไม่เห็นจริง/ไม่ถึงสักที ถึงแค่อัตตาตน ท่องจำไม่หยุดว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ไม่เคยเห็นจริงสักที ได้กแต่อนุมานเอาว่านี่มันดับ ไม่เที่ยง ผัสสะแล้วดับไป นี่มันบังค้บไม่ได้ นี่มันเป็นทุกข์ ผมเฝ้าตอบปัญหาตนเองมาเสมอๆว่าทำไมไม่ถึงสักที



..ก็จนวันนึงได้เข้าไปหาหลวงปู่บุญกู้บอกสิ่งที่ตนเป็นอยู่นี้แก่ท่าน ขอคำชี้แนะจากท่าน ท่านนี่ด่าผมเลย เหตุไม่ทำ มันจะไปเอาผลได้ยังไง วินาทีนั้น เหมือนฟ้าฟาดใส่หัวเปรี้ยงหนึ่ง ทบทวนความจำทั้งหมดที่ทำๆมา เหตุยังไม่ทำจะไปถึงผลได้ยังไง ๓ อย่างนี้ควบคู่กันไปจะเห็นธรรมตรงตามพระพุทธเจ้าทันทีไม่ลำบากเลย สมดั่งพระศาสดาตรัสสอนว่า..
- วิมุตติเกิดมีบริบูรณ์ได้ ก็ต้องมีสัมโพชฌงค์อันบริบูรณ์เป็นเหตุเป็นอาหาร
- สัมโพชฌงค์จะบริบูรณ์ได้ ก็ต้องมีมหาสติปัฏฐานอันบริบูรณ์
- มหาสติปัฏฐานจะบริบูรณ์ได้ ก็ต้องมีสุจริต ๓ อันบริบูรณ์ นั่นคือ มรรค ๘ นั่นเอง ศีล ทาน ภาวนาก็อยู่ในมรรค
- สุจริจ ๓ จะบริบูรณ์ได้ก็ต้องมี สติ และ สัมปะชัญญะที่บริบูรณ์ สติสัมปะชัญญะนี้ ก็อาศัยเกิดมีจากการอบรมกาย วาจา ใจ ของเราใน ศีล ทาน ภาวนา นั่นเอง

* ศีล เป็นเหตุใกล้ให้สติ สัมปะชัญญะ
* จาคะได้ความอิ่มใจเป็นเหตุใกล้ให้สมาธิ
* ศีลและจาคะเป็นเหตุเอื้อแก่ภาวนา 
* สมาธิเป็นเหตุใกล้ให้ปัญญา เป็นมหาสติปัฏฐาน ถึง โพชฌงค์ คือ วิราคะ

   กรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง ก็ล้วนสอนให้ทำไว้ในใจมีสติเป้นเบื้องหน้า มีสติตั้งมั่นจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน เป็นเหตุให้จิตตั้งมั่นแน่วแน่เป้นอารมณ์เดียวตาม ทั้งสิ้น
มหาสติปัฏฐาน ๔ พระพุทธเจ้าสอนให้มีกายเป็นเบื้องหน้าก่อนสิ่งอื่น เพราะ กายานุปัสสนา เป็นเหตุให้เกิด สติ สัมปะชัญญะ คลายอุปาทาน ความยึดมั่นขันธ์ ๕ ลง จนถึงละสังโยชน์ได้ มีฐานให้ปัญญาคือ ฌาณ ๔ พระอรหันต์สุขวิปัสสโกทุกรูปท่านมีสมาธิถึง ฌาณ ๔ หมดท่านจึงเดินปัญญาได้ สมดั่งพระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า มรรคมีองค์ ๘ ทางนี้เป็นทางเดียวในการพ้นทุกข์ หากไปนั่งท่องจำเอาอย่างเดียวแล้วบรรลุได้ก็ไม่ต้องมีมรรค ๘ สิ หากหลับหูหลับตานั่งสมาธิอย่างเดียวแล้วบรรลุธรรมได้ก็ไม่ต้องมีวิปัสสนาสิ อันนี้ขัดกับมรรค ๘ ทั้งหมด

   ดังนั้นแลท่านผู้เจริญในธรรมทั้งหลาย เป็นผู้รู้ธรรมทั้งหลาย ครูผมผู้เป็นพระที่มีบารมีเต็มให้ถึงพระนิพพานแล้ว ท่านจึงสอนว่า ทำเหตุให้ดี สะสมมันไป ทำบ่อยๆให้มากๆเรื่อยๆเนืองๆสะสมไปแต่อย่าสุดโต่งไป ทำสะสมเหตุไปเรื่อยๆเนืองๆไม่ขาดมีมากทำมากมีน้อยทำน้อยตั้งมั่นในกุศล



   แต่อย่าอัตตาบ้าบุญบ้าธรรมเพราะอันนี้คือความลุ่มหลง สมดั่งพระบรมศาสดาตรัสสอนในการเจริญอิทธิบาท ๔ ว่า เธอจงมีความเพียรอยู่ประครองจิตไว้ใน ศีล ทาน ภาวนา(สมาธิ+ปัญญา) ไม่ให้ย่อหย่อนจนเกินไป ไม่ตรึงจนเกินไป ไม่อยู่ไม่เป็นไม่ทำด้วยความหดหู่ เศร้าหมอง เหนื่อยหน่าย เสียใจ ท้อแท้ สิ้นหวัง ไม่ฟุ้งซ๋าน ทะยานนอยากไขว้คว้า พร่ำเพ้อ เพ้อเจ้อ มีความยินดีในธรรรแต่ไม่ใช่ปารถนา เพียรอยู่ประครองจิตไว้ให้ทำเป็นที่สบายกายใจ ไม่ตรึงไม่หย่อนกลางๆ ไม่หดหู่่ ไม่ฟุ้งซ่าน



** ครูผมท่านสอนว่า..เกิดมาชาตินี้ได้เป็นคนทั้งทีอย่าเสียชาติเกิด ให้เอากำไรไปด้วย นั่นคือ ศีล ทาน ภาวนา เพราะทั้ง ๓ สิ่งนี้คือเหตุแห่งบารมี ๑๐ ทัศน์ เหตุไม่ดีจะไปเอาผลได้ยังไง ทำเหตุบ่อยๆสะสมก็เป็นอุปนิสัย สะสมไปเรื่อยก็เป็นจริต บารมี ติดตามเราไปทุกภพชาติ ให้ได้เสวยผลทั้งในปัจจุบันชาตินี้ และ ภพหน้า ชาติหน้า เมื่อมันเต็มก็จะบรรลุธรรมเอง หรือ มีคนมาสกิตปัญญาอั่งยิ่งให้เอง ศีล ทาน ภาวนา นี้เป็น มรรค ๘ ทางนี้ทางเดียวเท่านั้นที่จะพ้นทุกข์ได้ หากสะสมเหตุอกุศลไปเรื่อยไม่รู้จักทำกำไรชีวิตนี้ เกิดมาชาตินี้ก็ขาดทุน ตายไปก็ลงไปสู่ที่ชั่วเสียดายที่ได้เกิดมาเป็นคน เพราะกว่าจะเป็นคนได้นี้ลำบากนัก ต้องสะสมศีลมามากตั้งเท่าไหร่จึงจะพอเกิดเป็นคนได้ ต้องสะสมทานทั้งเท่าไหร่จึงจะมีธนะสานสมบัติ บริวารอยู่สุขสบายอย่างวันนี้ได้ ต้องสะสมภาวนามามากตั้งเท่าไหร่จึงจะไม่เป็นคนโง่ มีปัญญาดี ใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่มีทุกข์ ไม่เบียดเบียนได้
เกิดเป็นคนว่ายากแล้ว เกิดมาเจอพระพุทธศาสนานี้ยากยิ่งกว่า ดังนั้นเมื่อรู้เมื่อเจอแล้วก็รีบเจริญปฏิบัติ ศีล ทาน ภาวนา ตามที่พระพทุธเจ้าสอน พระพุทธเจ้าพระบรมศาสดาทรงตรัสรู้ อย่าให้เสียชาติเกิด ให้เป็นกำไรชีวิตติดตามเราไปทุกภพชาติ

อย่าไปท่องจำให้รกสมอง อย่าไปอนุมานคาดคะเนหลอกตนให้มาก อย่าติดความคิดตนให้มาก ทำเหตุให้ดีเถิดท่านทั้งหลาย เหตุไม่ดีจะไปเอาผลได้ยังไง



ศีล ที่ทำให้เกิดมีขึ้นของ สติ สัมปะชัญญะ สมาธิ ทีนี้เราต้องศีลขนาดไหน จึงจะถึงสมาธิได้

- เมื่อไหร่ที่มีศีลอยู่โดยความไม่เร่า ร้อน เป็นที่เย็นใจ สบายกายใจ ไปที่ใดก็สบาย เมื่อนั่นความฟุ้งซ่านจักไม่มี ไม่มีความเร่าร้อน ความกลัว ความอึดอัน ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท เป็นที่สบายไม่เร่าร้อนกายใจ อยู่สบาย

ทาน ที่ทำให้เกิดมีขึ้นของ สติ สัมปะชัญญะ สมาธิ ทีนี้เราต้องมีทานขนาดไหน จึงจะถึงสมาธิได้

- อาศัยศีลเป็นฐาน แล้วเมื่อไหร่เรามีทานอยู่โดยความไม่อยากไม่หวัง สละ ยินดีสละ ไม่ติดใจข้องแวะในการสละ เป็นที่อิ่มเอมใจ เป้นที่พรั่งพรูเอิบอาบอิ่มสุข ไม่ต้องการสิ่งใดอีก มันอิ่มใจเป็นปิติ สุข สงบสบายกายใจ ถึงจาคานุสสติ ความอิ่มเต็มไม่ต้องการแสวงหาอีก

สมาธิ ที่ทำให้เกิดมีขึ้นของปัญญา ทีนี้เราต้องมีสมาธิขนาดไหน จึงจะถึงปัญญาได้

- สมาธิ ที่ทำให้ถึงปัญญา คือ สมาธิที่มีสติสัมปะชัญญะตั้งมั่นมีจิตตั้งมั่นแน่วแน่ เกิดเป็นมหาสติปัฏฐาน จิตแยกขาดจากสมมติความคิด เห็นชัดความว่าง ความไม่มี แทงตลอดแจ้งชัด ของจริง กับสมมติ จิตเป็นพุทโธ คือ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

* ส่วนจะถึงปัญญาได้แค่ไหนตัดสังโยชน์ได้ไหมอยู่ที่ปัญญาเราคมแค่ไหน สะสมเหตุมาดีพอรึยัง ทำอินทรีย์ของเราให้แก่กล้าพอยังนั่นเอง*





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 26, 2016, 10:23:28 PM

ทาน

การทำทาน จะช่วยให้มีเงิน ทรัพย์สิน ธนสารสมบัติ มีบริวารมาก มีความอิ่มใจ อิ่มบุญ เป็นสุข


- เวลาทำทานพระป่าท่านจะบอกเรื่อง "กรรม" ว่าคนที่ชาตินี้เกิดมาร่ำรวย สบายกายใจ มีบริวารมาก มีความสะดวกสบายไม่ขัดสนลำบากกายใจ ที่เหลือก็เพียงแค่ปฏิบัติทำเหตุให้ดีให้เต็ม ทำของเก่าให้ดีพอกพูนยิ่งๆขึ้น ก็จะมีบารมีถึงพระนิพพาน
   เหมือนดั่งพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย ท่านทำทานมาดีแล้ว สะสมเหตุแห่งทานมานับอสงไขย สั่งสมบารมีทานมาดีแล้วเต็มแล้ว เมื่อมาจุติบนโลกนี้ ท่านก็มีครบพร้อมหมดแล้ว ทั้งเงินทอง บริวาร ทรัพย์ สมมบัติ มี อายุ วรรณะ สุขะ พละดีแล้ว ทำอะไรก็ดีก็เจริญรุ่งเรืองไปหมด มีความสะดวกสบายกายใจไม่มีความลำบากยากแค้น ที่เหลือก็เพียงทำภาวนาที่ใจให้ถึงปัญญาหลุดพ้นทุกข์ ด้วยเหตุดังนี้แม้ท่านทั้งหลายเหล่านั้นจักสละตนออกบวชปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นทุกข์ด้วย ท่านก็ไม่ลำบาก เพราะฐานะทางครอบครัว พ่อ แม่ บุพการี ญาติ พี่ น้อง ลูก เมีย บริวาร ก็มีเงินทอง ธนะสารสมบัติ ไว้พร้อมมูลให้ใช้จ่ายได้มากมายสุขสบายกายใจไม่ลำบาก

- ดังนั้นเวลาเราทำทานพึงหวังอย่างนี้ว่า..บุญแห่งทานในชาตินี้จะส่งผลให้เราสุขสบายทั้งในปัจุบันและภายหน้า มีความอิ่มใจ อิ่มเต็มกำลังใจ เป็นสุข ไม่มีโลภ ไม่มีราคะความอยากได้กระสันอีก ทำให้เราสะดวกสบายปฏิบัติเข้าถึงธรรมได้ง่าย ร่ำรวยเงิน ทอง ธนะสารสมบัติ และ บริวารมาก เจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ทำอะไรก็ดี ก็เจริญสมดั่งใจปารถนาหรือยิ่งกว่าไปหมดทุกอย่าง ในทางครอบครัวเราแม้เราจะออกบวชปฏิบัติเขาก็มีเงินทองมากมายไว้ใช้จ่ายอย่างสุขสบายไม่ขัดสนไม่ลำบากให้เป็นห่วงเป็นบ่วงแก่เรา ไม่ต้องพะวงหน้าพะวงหลังว่าบวชหรือปฏิบัติแล้วจะทำให้คนทางบ้านไม่มีกินไม่มีใช้ ทำให้ทางบ้านยากจน ยากแค้น อดอยาก ปากแห้ง เป็นอุปสรรคในการออกบวชปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นสิ้นกองทุกข์

- ทำทานนี้หลวงปู่บุญกู้ ท่านสอนเหตุแห่งกรรมของทาน และ การทำว่า มีมากเราก็ทำมาก มีน้อยเราก็ทำน้อย ไม่มีเงินเราก็อกกแรงกายแรงใจช่วยเหลือทำงาน ทำทานไม่ใช่ทำทีเดียวเยอะๆแล้วไม่ทำอีกเลย หรือทำน้อยๆแต่ขออานิสงส์ซะมากมายเกินบารมีที่ตนจะพึงได้ เหมือนเราหยอกกระปุกมีเงิน 100 จะเอาของที่ราคาเกินหนึ่งร้อยก็ไม่ได้ การทำทานแม้เล็กน้อยสะสมไปไม่ขาดก็เป็นบารมีทานก้อนใหญ่ได้ ท่านมาว่าทำมากน้อยนี้ให้ดูกำลังของตนที่จะทำได้ทำแล้วไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นในภายหน้า ทำแล้วไม่มีความหวงแหนเสียดาย จะมากน้อยก็ตามทให้ทำสม่ำเสมอเรื่อยๆเนืองๆเป็นประจำไม่ขาด
   เพราะคนเราทำบุญกรรมมาต่างกันแต่ชาติก่อนๆ แต่เพราะถือศีลจึงได้เกิดมาเป็นคนอีก ด้วยกำลังแห่งวิบากกรรมแต่ปางก่อนทำให้คนเรายากดีมีจน มีกำลังและโอกาสทำกุศลต่างกัน ท่านจึงสอนให้เกิดมาเป็นคนชาตินี้แล้วอย่าให้เสียชาติเกิด เกิดมาก็เอากำไรชีวิตติดตัวไปด้วยนั่นคือ ทำบุญทำกุศลธรรมทั้งปวง ทำเหตุในศีล ทาน ภาวนาให้ดีสะสมไปเรื่อย เมื่อตายไปสิ่งนี้แหละจะติดตามเราไปทุกภพทุกชาติ ให้ทำอย่าไปหวังผลให้มากตั้งมั่นทำสะสมไปเรื่อยๆ ให้มันเต็มจนพอถึงพระนิพพานได้ ทานนี้คือการสละ ละโลภ ความอยากได้ หวงแหนสิ่งปรนเปรอตนเกินความจำเป็น นี่ก็ได้ทาน คนรวยก็ทำทานได้มาก คนจนก็มีโอกาสทำได้น้อยตามกำลังลงมาเป็นเรื่องของกรรมแต่ขอให้ทำให้มากเข้าไว้ การทำให้มากเข้าไว้ก็คือ..การทำศีล ทาน ภาวนาให้สม่ำเสมอประจำๆไม่ขาด
   ทานนี้เป็นทางปูให้ถึงกรรมฐานถึงพระนิพพานเพราะละโลภได้ ทำจิตให้เป็นสุขสงบสบายไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งไรๆ คนโลภคนตระหนี่ขี้เหนียวนี้ทำทานไม่ได้ ทาน คือ ความอิ่มใจ อิ่มเอม สุข สุขเพราะไม่ยึด สุขจากการให้ สุขจากความไม่หวงแหน ไม่มีใจเข้ายึดครองในอามิสสิ่งของนั้นๆ ให้แล้วเพื่อหวังประโยชน์สุขเกิดมีแก่ผู้อื่น ไม่มาติดใจข้องแวะเสียใจเสียดายในภายหลัง เพราะไม่มีใจเข้ายึดครองในสิ่งของอันนั้นแล้ว ให้แล้วถือเว้นขาดจากความครอบครอง เมื่อเกิดความอิ่มใจ ท่านเรียกปิติ ปิติแล้วก็เป็นเป็นสุข สุขแล้วก็สงบเบาเย็นใจ เมื่อจิตสงบเบาเย็นใจไม่ฟุ้งซ่านตัดขาดความโลภ จิตก็ตั้งมั่นง่าย ถาวนาได้ง่าย ถึงวิราคะง่าย

- อันนี้คือเหตุที่ทำทานทุกครั้งที่เราทำ ยินดีแต่ไม่ปารถนา ไม่อัตตาบุญ แต่ทำบ่มสะสมเหตุบารมีให้ตนในภายหน้าเพื่อเข้าปฏิบัติเพื่อถึงพระนิพพานได้ง่าย มีมากก็ทำมาก มีน้อยก็ทำน้อย ไม่มีก็เอาร่างกายจิตใจเข้าทำช่วยเหลือ

- ทานนี้ คือ การสละ ให้ มีความอิ่มใจเป็นสุข ขั้นสุดในจาคะคือถึงความอิ่มเต็มบารมีไม่ต้องการอีกเหมือนอิ่มข้าวอิ่มแล้วไม่หิวไม่ต้องกินอีกแล้ว ถึงความอิ่มเต็มในขันธ์ ๕ ตัดพ้นไม่ยินดียินร้าย ถึงความสละคืนสังขารทั้งปวง ความไม่ยึด ไม่เอา ไม่มีสิ่งไรๆในโลกอันจิตเข้าไปยึดครองอีกด้วยความอิ่มเต็ม ความสละคืน พระนิพพาน

- อันนี้ท่านเรียกทำเหตุ เหตุและอานิสงส์ในทานมีอย่างนี้เป็นต้น



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 28, 2016, 10:08:45 PM
สติปัฏฐาน ๔

๑. เจริญกาย ได้..สติ สัมปะชัญญะ สมาธิ สิ้นความหวาดกลัว ระแวง เป็นที่สบายกายใจ จิตมีกำลังมาก เป็นสมาธิง่าย ไม่เบียดเบียน ไม่แสวงหา ไม่หลงไหลติดใคร่รูปว่างาม รูปนี้เป็นที่รักที่ชอบใจ รูปนี้ที่เกลียดที่ไม่ชอบไม่ยินดี
- จิตเป็นพุทโธลงปัญญา ถึงความว่าง ความไม่มีในโลก เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาต่อกาย เกิดนิพพิทาต่อรูปขันธ์ เกิดวิราคะจิตแล่นเข้าสู่อริยะมรรค อริยะผล
๒. เจริญเวทนา ได้..สมุทัย ความวางใจไว้กลางๆ ไม่ยินดียินร้าย ยึดมั่นถือมั่นสุข ทุกข์ ถึงความปลงใจในโลก ไม่มีความปารถนาในโลกเพราะรู้ชัดว่าล้วนทุกข์ทั้งนั้น ดำรงชีพชอบอยู่กับร้อนเป็น-อยู่กับเย็นได้
- จิตลงปัญญาเห็นทุกขอริยะสัจ เห็นเทวทูตทั้ง ๔ เกิดนิพพิทา เห็นแจ้งมีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิด มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่ดับ คลายอเวทนานุปาทาน เกิดวิราคะจิตแล่นเข้าสู่อริยะมรรค อริยะผล
๓. เจริญจิต ได้รู้แยกจริงแยกสมมติ
- จิตลงปัญญาเห็นทุกขอริยะสัจ เห็นสิ่งที่ควรละ เกิดนิพพิทา ไม่ติดใจข้องแวะในสิ่งไรๆ ไม่ยินดียินร้าย เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาต่อจิต คือ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เห็นกามว่าเกิดแต่ความคิด ความดำริถึง เกิดวิราคะละโมหะในสมมติของปลอมได้ จิตแล่นเข้าสู่อริยะมรรค อริยะผล
๔. เจริญธรรม ได้รู้นิวรณ์ตน พ้นกิเลสแล้วหรือยังมีกิเลสอยู่ แจ้งชัดพระอริยะสัจ ๔ สิ้นความหดหู่ ฟุ้งซ่าน ลังเลสงสัยในธรรม
- จิตลงปัญญา เกิดนิพพิทาต่อขันธ์ ๕ ถึงวิราคะตัดขาดสิ้น ละมโน คือ ดวงจิต(มโน ไม่ใช่วิญญาณขันธ์) ดับสิ้นอุปาทานขันธ ์๕ ถึงพระนิพพาน




เมื่อจะเจริญ ไม่ต้องไปนั่งเพ่งจำจดจำจ้องเอามันแค่รู้แล้วทำไว้ในในตั้งจิตมั่นไม่เอนเอียง แล้วเจริญตามลำดับดังนี้

ลม หรือ พุทโธ (หายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้ หน่วงนึกถึงความเป็นผู้รู้ของจริงต่างหากจากสมมติ ผู้ตื่นจากสมมติของปลอม ผู้เบิกบานพ้นจากกิเลสทุกข์ของพระพุทธเจ้าน้อมมาสู่ตน เมื่อจิตสงบเป็นปกติดีแล้วค่อยให้มาดูว่าเรารู้สัมผัสสภาวะที่เคลื่อนของลมหายใจตรงไหนมากที่สุดค่อยจับเอาจุดนั้นเป็นที่ตั้งของสติไว้ระลึกดูลม เมื่อจิตนิ่งดีแล้วมีความรู้สึกอิ่มไม่ติดใคร่สมมติภายนอก คิดน้อยลง หรือไม่คิดเลย สงบ มีความชุ่มชื่นใจจากความไม่ติดใจข้องแวะสิ่งไรๆซ่านอยู่(ขณิกสมาธิ)ให้พึงรู้ไว้ว่าเพราะเรามารู้ของจริงไม่ยึดสมมติทางกายและใจจึงสงบเย็นใจไม่ฟุ้งซ่านดังนี้แล้วทำไว้ในใจว่าเราจักทิ้งสมมติในกายนี้ไปเสีย ไม่ยึดกายนี้แล้ว ไม่ยึดความรู้อารมณ์ทาง หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ยึดสมมติความคิดทั้งปวง จะทิ้งความยึดมั่นถือมั่นแห่งตัวตนสมมตินั้นไปเสีย เพราะของจึงมันไม่มีอะไรเลยนอกจากสมมติ เราจักสละคืน แล้วเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานตามพระศาสดา แจ้งชัดของจริง เข้าถึงความไม่มี)
สัมปะชัญญะ (สภาวะที่เรากำลังดำเนินไป, กำลังเป็นอยู่, กำลังกระทำอยู่ ในปัจจุบัน)
อิริยาบถ ๔ (รู้ตัวรู้สภาวะปัจจุบันว่า กำลังอยู่ในอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอนไรๆ แล้วตั้งมั่นรู้อิริยาบถๆนั้นไว้เสีย จากนั้นดูว่ามีสภาวะความรู้สึกเป็นไปแบบไหน อย่างไรในขณะนั้นๆ เหมือนกรรมฐานเดินจงกรม เดินจงกรมธาตุ)
สมมติ ("สำเหนียกไว้เลยว่าจิตรู้สิ่งใดสิ่งนั้นล้วนเป็นสมมติทั้งหมด ไม่ให้ความสำคัญใจกับมัน ทำใจให้ชินกับมันเพราะมันเกิดขึ้นทุกวันดับไปทุกวันแทบทุกเวลาด้วยซ้ำ มันไม่ได้สำคัญอะไรกับชีวิตเรานี้ ติดใจข้องแวะไปก็หาประโยชน์สุขไรๆไม่ได้นอกจากทุกข์เท่านั้น ชินชาต่ออาการ วางเฉย ไม่เสพย์เพราะมันมีแต่สมมติทั้งนั้น ของจริงแท้ที่เกิดมีขึ้นอยู่ในทุกขณะๆก็คือพุทโธนี้แหละ คือลมหายใจเรานี้ที่เป็นของจริง เป็นธาตุ ๔ เป็นกายสังขาร เป็นปัจจุบันขณะ"..อาศัยสติที่ตั้งมั่นเป็นอารมร์เดียว ทำให้จิตตั้งมั่นจดจ่ออยู่วได้นานจากการเจริญใน ลม หรือ พุทโธ หรือ กรรมฐาน ๔๐[ศีล กรรมฐานทั้ง ๔๐ มีไว้ฝึกสติให้ตั้งมั่นจดจ่อเป็นอารมณ์เดียว ทานและกรรมฐาน ๔๐ มีอานิสงส์คือจิตตั้งมั่นจดจ่ออยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้นาน เรียก สัมมาสมาธิ เป็นเหตุใกล้ให้ปัญญา] ขึ้นพิจารณาใน อสุภะสัญญา, อาทีนวะสัญญา, ธาตุ ๔ หรือ ธาตุ ๖, นวสีวถิกา[ป่าช้า ๙ - อสุภะ ๑๐], เวทนา[ความรู้สึกในกระทบสัมผัส], จิต[ความรู้สึกนึกคิด], ธรรม[นิวรณ์ ๕ - อริยะสัจ ๔ - ของจริงแยกต่างหากจากสมมติ])




โดยความรู้ความเข้าใจของเราที่เป็นในแบบปุถุชนที่ได้จากการปฏิบัติมาโดยส่วนตัวคือ ที่สุดของมหาสติปัฏฐาน ๔ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ได้เห็นชัดตัวสมมติ เป็นผู้รู้สมมติ คือ รู้ตัวสมมติ รู้ว่าสมมติเป็นยังไง แบบไหน อย่างไหน เห็นแจ้งชัดของจริง ต่างหากจากสมมติ ตื่นจากสสมติ เบิกบานแล้วพ้นจากสมมติกิเลสของปลอม รู้แจ้งแทงตลอดถึงความไม่มี เกิดปัญญาตัดสิ้น สละคืน



วิธีดูสมมติ (ทำเหตุให้เห็นสมมติให้จิตวิ่งลงมรรคและผล) คือ ให้ดูว่าสิ่งเหล่าใดก็ตามที่เราะพิจารณาอยู่ในขณะนั้น มันยั่งยืนอยู่ได้นานติดตามเราไปแม้ตายหรือไม่ หรือมันเสื่อมไปทุกๆขณะอยู่ได้นานสุดก็แค่หมดลมหายใจเรานี้เอง, เวลาที่สิ่งนั้นๆมันเกิดขึ้นมามันมีเราอยู่ในนั้นไหม หรือ มีสิ่งนั้น-สิ่งโน้น-สิ่งนี้ คนนั้น-คนโน้น-คนนี้ ภายนอกนู่น-นั่น-โน่น-นี่ไปทั่ว..แต่กลับไม่มีเราอยู่ในนั้นเลย ทั้งๆที่มันกำลังเกิดขึ้นเห็นมีอยู่กับเราแท้ๆ.. เวลาที่สิ่งเหล่านั้นมันเกิดขึ้นมันเกิดขึ้นด้วยตัวของมันเองหรือสิ่งอื่นใด เราหรือที่เป็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นหรือที่เป็นเรา เราหรือที่มีอยู่ในสิ่งนั้น สิ่งนั้นหรือที่มีอยู่ในเรา
ปัญญา (มรรคและผล) คือ ความว่าง ความไม่มี อิ่ม ความสละคืน

ธรรมทั้งปวงนี้ไม่มีในหนังสือ ล้วนเป็นทางเข้าเจริญปฏิบัติจากครูบาอาจารย์ พระอรหันต์ที่ท่านได้กรุณาสอนแก่เราเป็นหังข้อหรือวิธีสั้นๆง่ายๆ แล้วเราเอามาเจริญปฏิบัติจนเห็นผลได้ และได้ทำซ็ำๆจนแน่ชัดในทางที่ดำเนินไป





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มิถุนายน 01, 2016, 10:02:17 PM
อนุสสติ ๖ เพื่ออิทธิบาท ๔
พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ กับ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสะ

พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ เป็นศรัทธา สร้างให้เกิด ความพอใจยินดีในกุศลตามที่พระศาสดาตรัสสอน เรียกว่า ฉันทะอิทธิบาท ๔

ศรัทธานี้ พระพุทธเจ้า องค์พระบรมศาสดาตรัสสอนให้ใช้ปัญญาจึงเชื่อ ไม่ใช่เชื่อแบบคนโง่ เชื่อในสิ่งที่ลูบคลำไม่ได้ ไม่มีจริง ไม่เป็นเหตุเป็นผล ทบทวนมูลเหตุไม่ได้

พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง รู้แจ้งสังขารโลก รู้ไม่มีหมด ไม่มีสิ้นสุด เห็นแจ้งสมมติของปลอม เห็นแจ้งของจริงอันเรียกว่าปรมัตถธรรม เป็นผู้ตื่นแล้วจากสมมติของปลอม และเบิกบานพ้นดังสิ้นแล้วซึ่งจากสมมติกิเลสของปลอมทั้งปวงไม่ติดหลงอยู่อีก
ด้วยเหตุดังนี้ๆ พระศาสดานั้นเมื่อยังทรงพระชนน์อยู่จึงสั่งสอนให้เห็นในทุกข์ ทุกข์จากการติดสมมติของปลอม หลงเวียนว่ายในสังขารโลก สอนถึงเหตุของทุกข์ สอนถึงความดับทุกข์ และ ทางพ้นทุกข์ ด้วยพระองค์ทรงแจ้งชัดในสิ่งทั้งปวง จึงได้สอนเรารู้ถึง บาป บุญ คุณ โทษ สอนเรื่องกรรม และ ผลของกรรม พระองค์ทรงชี้แนะด้วยความเป็นเหตุเป็นผลถึงการกระทำ ผลของการกระทำ ผลที่จะได้รับ ปัจจัยอันสืบต่อให้ได้รับผลนั้นๆ หากเป็นมิจฉายจ่อมรับผลอันเป็นมิจจาสืบไปไม่สิ้นสุด หากเป็นกุศลย่อมได้รับผลแห่งกุศลสืบไป ด้วยเพราะเรามีกรรมเป็นของๆตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล เป็นกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตามอาศัย เราจะทำกรรมใดไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป เราต้องเป็นทายาทได้รับผลของกรรมนั้นสืบไป ดังนี้แลพระศาสดาเมื่อยังทรงพระชนน์อยู่จึงสอนให้ทำในกุศล สอนให้ทำเหตุในกุศล มีศีลอันเป็นความปกติเป็นฐาน มีทานอันเป็นฐานให้อิ่มใจ มีภาวนาอันเป็นฐานแห่งปัญญา

- ศีล..เมื่อมีแล้วย่อมไม่เบีบยดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่มีความผูกเวรพยาบาท จะทำสิ่งใดก็เป็นที่สบายเย็นใจไม่เร่าร้อนมีกายใจเป็นปกติ ไม่หดหู่ ฟุ้งซ่าน ระแวงหวาดกลัว เมื่อมีศีลนี้จึงถึงความเป็นมนุษย์ มีปกติไม่เร่าร้อน มีชีวิตอยู่อย่างแช่มชื่นเป็นสุข สงบ จิตตั้งมั่นดี เป็นเหตุใกล้ให้เกิดมีสติสัมปะชัญญะสังขารโดยรอบด้วยกุศล แม้เมื่อตายจากโลกนี้ไปก็ไม่ล่วงสิ่งที่ชั่ว ทำให้เกิดความสงบสบายอุ่นใจอยู่เสมอๆ
- ทาน..เมื่อทำแล้วย่อมอิ่มใจ อิ่มเอมเป็นสุข จิตนี้อิ่มเต็มสลัดจากความอยากหวนแหน ความตระหนี่ขี้เหนี่ยว ตัดขาดจากการเอาใจไปผูกขึ้นไว้กับสิ่งอันปรนเปรอตน ไม่ดิ้นรนแสวงหา จิตมีความสงบไม่เร่าร้อนด้วย โลภะ กาม นัททิ ราคะ เป็นเหตุใกล้ให้จิตตั้งมั่นง่าย ถึงความสละคืน
- ภาวนา สมถะ+วิปัสสนา กรรมฐาน ๔๐ สติปัฏฐาน ๔ ทำแล้วสมาธิและปัญญาย่อมเกิดขึ้น จิตไม่ติดใจข้องแวะสิ่งไรๆในโลก สงบเย็นกายสบายใจ ไม่มีจิตผูกขึ้นไว้กับสิ่งไรๆ ความลุ่มหลงติดใคร่สมมติของปลอมจึงไม่มี สติตั้งมั่นในอารมณ์เดียวทำให้จิตตั้งมั่นตามเป็นจดจ่อในอารมณ์เดียวได้นาน จิตเดินเข้าสัมโพชฌงค์ ๗ ทำให้ปัญญาคม ถึงวิราคะ คือ ตัด ละสังโยชน์ได้

พระศาสดาย่อมสอนให้มนุษย์และเทวดาทั้งหลายตั้งมั่นในศีล ทาน ภาวนา มีพระอริยะสงฆ์ พระอริยะสาวกทั้งหลายนี้เป็นต้นผู้ได้สดับฟังธรรมคำสอนนี้แล้วปฏิบัติตาม จิตแล่นลงสู่ มรรค ผล นิพพาน เมื่อเราจักตั้งมั่นกระทำอยู่ตามพระศาสดาตรัสสอนย่อมพึงหวังให้เห็นและถึงธรรมของพระศาสดา มีจิตเป็นพุทโธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ตามพระพุทธเจ้าองค์พระบรมศาสดาอย่างพระอริยะสาวกทั้งหลายนั้นๆ

เมื่อเรารู้เห็นธรรมใดตามที่พระศาสดาตรัสสอนด้วยความเป็นเหตุเป็นผล สัมผัสได้ ทบทวนตรวจสอบพิจารณาได้ เห็นชอบด้วยปัญญา เห็นชัดตามจริงที่น้อมพิจารณาสัมผัสได้ ความเป็นเหตุเป็นผลสิ่งนี้เป็นมูลฐาน สิ่งนี้เป็นเหตุปัจจัย สิ่งนี้มีเกิดขึ้น สิ่งนี้จึงมี สิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงดับ จึงไม่เกิดขึ้น เห็นชัดในกรรมเกิดหิริโอตตัปปะ เชื่อในพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้โดยชอบจริง ผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้งจริง อันนี้เรียกศรัทธาในพระพุทธศาสนา ที่พระสัพพัญญูเจ้าตรัสสอน ดังนั้นผุ้ที่ศรัทธาในพระพุทธเจ้าด้วยปัญญาเห็นชอบมีสัมมาทิฐิแจ้งชัดในสัจจะธรรมเห็นตามจริงที่พระพทธเจ้าตรัสสอนเท่านั้นจึงจะทำในพุทธานุสสติได้ ผู้ที่เห็นแจ้งชัดในพระธรรมเท่านั้นจึงจะทำในธัมมานุสสติได้ ผู้ที่ถึงพร้อมด้วยปฏิปทาตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้นจึงจะแจ้งชัดว่าพระอริยะสงฆ์มีอยู่จริง จึงทำในสังฆานุสสตินี้ได้

เมื่อศรัทธาในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นของจริงแท้แน่นอน เห็นแจ้งชัดว่าสุขทางโลกนี้เป็นทุกข์ มันเป็นสุขอันไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน ไม่คงทนอู่ได้นาน เห็นแจ้งชัดว่าสุขทางธรรมนี้มันยั่งยืนคงอยู่ติดตามไปทุกภพชาติ เห็นแจ้งชัดถึงความไม่ใช่ตัวตนของเรา เขา ใคร สัตว์ใด สิ่งใด ความบังคับจับต้องให้เป็นดั่งใจไม่ได้ ความหลงในสิ่งอันไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์ เห็นชัดพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และสอนทางพ้นทุกข์ จิตย่อมเกิดความยินดีน้อมนำทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

** เพราะศรัทธาด้วยปัญญาอย่างนี้ๆเป็นต้นในพระพุทธเจ้า พระบรมศาสดานี้เอง จึงทำให้บุคคลผู้มีความศรัทธามีจิตถึงพระรัตนตรัย และ น้อมนำปฏิบัติใน ศีล ทาน ภาวนา อันประกอบไปด้วยอิทธิบาท ๔ ดังนี้

- เกิดฉันทะ ความยินดีชื่นชอบพอใจใน ศีล ทาน ภาวนา และ ตั้งมั่นเจริญปฏิบัติใน ศีล ทาน ภาวนาได้
- มีวิริยะในสังวรปธาน คือ จิตมีความเพียรประครองใจไว้อยู่สายกลาง ไม่ย่อหย่อนเกินไป หรือ ประครองมากไปจนสุดโต่ง
- มีจิตตะความเอาใจใส่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทีเจริญ เห็นคุณประโยชน์ และ โทษของความเสื่อมไป หากมีและไม่มีซึ่ง ศีล ทาน ภาวนาที่เจริญอยู่นั้น โดยปราศจากนิวรณ์ความไม่หดหู่ฟุ้งซ่านใน ศีล ทาน ภาวนา
- มีวิมังสะ ประครองใจไว้ไม่ประมาท ตรวจสอบทบทวนดู ศีล ทาน ภาวนาของตน ไม่ให้ย่อหย่อนเกินไป ไม่ทำไปด้วยความหดหู่ ไม่ทำไปด้วยความฟุ้งซ่าน ต่อหน้าผู้อื่นเราประครอง ศีล ทาน ภาวนา ไว้ให้ดีอย่างไร..ลับหลังเขาหรือแม้ไม่มีใครเห็น เราก็ต้องประครองทำไว้อย่างนั้นไม่เปลี่ยน อยู่โดยความไม่ประมาทประครองไว้ทั้งกลางวัน กลางคืน



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มิถุนายน 04, 2016, 12:06:53 AM

การระลึกปฏิบัติใน พุทธานนุสติ ลงอิทธบาท ๔

หากมีกำลังความศรัทธาในพระพุทธเจ้าดีแล้ว จิตเราจะตั้งมั่นน้อมนำปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าตรัสสอน ตั้งมั่นใน ศีล ทาน ได้เป็นอย่างดีจิตมีกำลังตั้งมั่นที่จะเจริญศีลและทานให้บริบูรณ์ดีงาม ภาวนาบริกรรมพุทโธโดยไม่มีข้อสงสัยใดๆทั้งสิ้นด้วยรู้ว่าเป็นพุทธานุสสติ มีจิตหน่วงนึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงคุณความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานของพระศาสดา  หน่วงนึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ระลึกหน่วงนึกถึงพระอริยะสงฆ์ที่ควรกราบไหว้ต้อนรับ ด้วยเป็นผู้มีจิตเห็นชอบแล่วนไปในมรรค ผล นิพพานแล้ว ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรงแล้วตามพระพุทธเจ้าตรัสสอน และได้สืบทอดธรรมเครื่องพ้นทุกข์จากพระพุทธเจ้าเผยแพร่มาสู่เรา

- กรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง มีพุทธนุสสติด้วยพุทโธนี้ง่ายสุด ทำพุทโธไม่ได้ก็ไปกรรมฐานกองอื่นไม่ได้..

- พุทโธนี้มีคุณมาก..เป็นมูลแห่งกรรมฐานทั้งปวงมีคุณต่างๆดังนี้
๑. พุทโธนี้ทำอินทรีย์ ๕ ให้แก่กล้ามีกำลังด้วย ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา หากไม่มีศรัทธาพละต่อพระพุทธเจ้าจะบริกรรมพุทโธและจิตถึงพระรัตนตรัยไม่ได้ เพราะพุทธเจ้าคือพระศาสดาเป็นผู้ตรัสรู้ธรรมและสั่งสอนธรรมเครื่องออกจากทุกข์ทั้งปวงมาแก่มนุษย์ และ เทวดาทั้งหลาย มีศีล ทาน ภาวนา เช่น กรรมฐานที่เราเจริญอยู่นี้เป็นต้น มีพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีจิตเป็นพุทโธแล้ว ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรงแล้ว ได้เข้าถึงธรรมนั้นแล้วเป็นตัวอย่างให้เรายึดปฏิบัติตามถ่ายทอดธรรมของพระพุทธเจ้ามาสู่เราให้เราได้รู้ธรรมเครื่องออกจากทุกข์นั้นตาม
๒. พุทโธนี้มีกำลังมากเป็นกำลังให้สติตั้งมั่นเป็นอารมณ์เดียวจับอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกได้ดียิ่งนัก ทำให้จิตตั้งมั่นจดจ่ออยู่ในอารมณ์เดียวได้นาน ทำให้เกิดสติ สัมปะชัญญะ สมาธิ ปัญญาที่สมกันมีกำลังเกิดขึ้นได้บ่อย
๓. พุทโธ..นี้คือปัจจุบัน กล่าวคือ พุทโธคือผู้รู้ รู้ในปัจจุบันตัดขาดสมมติความคิดที่เป็นอดีตบ้างอนาคตบ้าง หายใจเข้าหน่วงนึกพุท..รู้ว่าตนกำลังหายใจเข้าในปัจจุบัน หายใจออกหน่วงนึกโธ..รู้ว่าตนกำลังหายใจออก นี่คือรู้ปัจจุบันขณะแล้ว
๔. พุทโธ..นี้คือของจริง กล่าวคือ รู้ตัวว่ากำลังหายใจเข้าหน่วงนึกพุท รู้ตัวว่าหายใจออกหน่วงนึกโธ ลมหายใจนี้คือของจริง เป็นกายสังขารเป็นสิ่งที่เนื่องด้วยกาย เป็นสิ่งที่กายต้องการ ลมหายใจเป็นวาโยธาตุที่มีอยู่ในกายนี้เป็นของจริงเป็นธาตุที่มีอยู่จริงในโลก รู้ลมหายใจที่เคลื่อนไหวตัวเข้าออก เกิดความตรึงหย่อนในกายนี้(ในกายก็ดูที่ท้องเป็นต้นเมื่อมีลมอัดเขาก็ทำให้เกิดความตรึงลอออกก็เกิดความหย่อน) พุทโธคือผู้รู้ รู้ของจริงคือวาโยธาตุ ลมอัสสาสะ ลมปัสสาสะแห่งกายนี้ เมื่อจิตตั้งมั่นดับความจำได้หมายรู้ความสำคัญใจไรๆ ดับสมมติความคิดที่เป็นอดีตบ้างอนาคตบ้างได้ ทำให้รู้เพียงสภาวะธรรมปัจจุบันที่เป็นอยู่ นี่ก็เป็นผู้รู้ของจริง
    เมื่อภาวนาพุทโธจิตไม่กวัดแกว่งไปที่อื่นสำเหนียกรู้ลมหายใจเข้าออกในปัจจุบันขณะชัดเจน เมื่อจิตตั้งมั่นอยู่ไม่มีคำบริกรรมแล้ว มีสติเป็นเบื้องหน้าในอารมณ์เดียว มีจิตรู้จดจ่อนิ่งแช่อยู่ในอารมณ์เดียวได้นาน ไม่มีความคิด มีความสำเหนียกรู้ธรรมในปัจจุบันที่เป็นอยู่ สัมผัสของจริงมีธรรมเอกผุดขึ้นให้แจ้งชัดถึงความไม่มี เห็นโลกเป็นของว่างแจ้งชัดอนัตตาของจริงในปัจจุบันขณะ อันนี้เรียกจิตเป็นพุทโธ เป็นผู้รู้ของจริง.. เมื่อเห็นชัดว่าที่เราเห็นเราเข้าใจว่าเป็นนั่น เป็นโน่น เป็นนี่ สิ่งนั้น สิ่งนี้ได้นั้น แท้จริงก็เพียงติดสมมติกิเลสความคิด ที่เกิดจากความจำได้หมายรู้ต่ออารมณ์ทั้งปวงอันมีขึ้นเมื่อเวทนาเกิดระคนแกว่งให้อนุสัยกิเลสนั้นฟุ้งขึ้นด้วยการกระทบสัมผัสทางสฬายตนะ กิเลสมันอาศัยอายตนะ ๑๒ นี้แลเป็นเคืรอ่งล่อหลอกให้จิตหลง ซึ่งของจริงแท้แล้วมันไม่มีอะไรเลย อันนี้เรียกจิตเป็นพุทโธ เป็นผู้รู้ตัวสมมติอันแยกจากของจริงแท้แล้ว
๕. พุทโธ..นี้คือมรรค เมื่อจิตได้รู้แจ้งชัดของจริง รู้ตัวสมมติของปลอม จิตแล่นลง ศีล ทาน ภาวนา ครบองค์มันเองเลย ดวงจิตคือมนะมันรู้แจ้งชัดว่า..จิตรู้สิ่งใดสิ่งนั้นคือสมมติทั้งหมด ดวงจิตคลายอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ คือ ร่างกาย,ความรู้สึกในอารมณ์ที่มากระทบ, ความจำ, เจตนากริยาที่คิด, ความรู้ซึ่งสมมติจากความคิดนั้นๆ(เพราะจิตคือวิญญาณขันธ์มันรู้แต่จากเจตนาความคิดโดยสมมตินี้เอง จึงกล่าวได้ว่าจิตหรือวิญญาณขันธ์รู้สิ่งได้สิ่งนั้นล้วนเป็นสมมติทั้งหมด) มีจิตตั้งมั่นใน ศีล ทาน ภาวนาไม่แปรเปลี่ยน นี่เรียกว่าเป็นผู้ตื่นแล้ว ไม่หลงอยู่อีก จิตเข้าสู่มรรค
๖. พุทโธ..นี้คือผล เมื่อจิตได้รู้แจ้งชัดของจริงต่างหากจากสมมติ เป็นผู้ตื่นจากสมมติ ตั้งมั่นใน ศีล ทาน ภาวนาไม่แปรเปลี่ยน จนเมื่อดับความยึดความหลงในส่วนต่างๆตามกำลังความคมของปัญญาที่จะพึงตัดได้ขาด อุปาทานแลความทุกข์ส่วนนั้นไม่มีให้ยึดให้หลงอีก เรียกว่าละสังโยชน์ได้ตามระดับปัญญาที่มีนั้นๆ นี่เรียกผู้เบิกบานหลุดพ้นจากความหลงสมมติกิเลสของปลอมแล้ว ความดับไปซึ่งกิเลสความหลงแห่งสังโยชน์ที่ร้อยรัดใจตามแต่ระดับปัญญาจะพึงทำได้นั้นๆ จิตเข้าสู่ผล
..นี่คือ พุทโธ จิตที่มีพุทโธเป็นเครื่องยึด และ จิตที่เป็นพุทโธ คือ จิตถึงความความเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มันเป็นอย่างนี้ๆเป็นต้น..









หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มิถุนายน 08, 2016, 01:41:24 PM
พุทโธกับอิทธิบาท ๔

๑. ฉันทะกับพุทโธ..เมื่อทำพุทธานุสติ..ให้ตั้งมั่นในศรัทธาต่อพระพุทธเจ้า องค์พระบรมศาสดาก่อน..โดยพิจารณาถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนแล้วเรานำมาน้อมลงใจปฏิบัติมันให้ผลมันเป็นทางพ้นทุกข์จริง พระองค์ทรงสละตนลำบากตรากตรำปฏิบัติหาแนวทางพ้นทุกข์เพื่อถึงความตรัสรู้และสั่งสอนเวไนยสัตว์พร้อมทั้งเวทดา มาร พรหมทั้งหลาย ทั้งๆที่เมื่อทรงตรัสรู้แล้วจะไม่ประกาศธรรมไม่ประกาศธรรมเครื่องออกจากทุกข์ไม่ประกาศศาสนาก็ได้ เพราะมันลำบากยากยิ่งที่จะทลายความเชื่อเดิมๆที่ปะปนกับอกุศลธรรมอันลามกของปุถุชนคนธรรมดาทั่วไปให้เห็นชอบตามจริง แล้วนำธรรมอันเป็นที่ประกอบไปด้วยประโยชน์ ปฏิบัติสบายๆมาให้คนอื่นได้รับรู้และหลุดพ้นทุกข์กัน พระพุทธเจ้าจะมีจริงไหมหลวงปู่บุญกู้ครูของเราท่านสอนว่า..พระนี้บวชจะบวชเองไม่ได้..โดยส่วนตัวเรานี้ที่เห็นพระอริยะสงฆ์ท่านสอนในเราเจริญ ศีล ทาน ภาวนาสะสมเหตุให้ดี เพราะกาย วาจา ใจของท่านนั้นประกอบไปด้วย ศีล ทาน ภาวนา อย่างเห็นได้ชัดไม่มุสาวาท พระพุทธรูปท่านก็กราบไหว้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าองค์พระบรมศาสดา ธรรมของพระพุทธเจ้าผู้รู้ผู้ปฏิบัติย่อมรู้ได้เฉพาะตน เป็นสิ่งที่วิญญูชนสรรเสริญปฏิบัติตาม และ พระอรหันต์ก็มีอยู่จริงให้ได้เห็นจนทุกวันนี้แม้เราเองก็ได้รู้สัมผัสมา ดังนั้นผู้ทีเห็นจริงด้วยปัญญาว่าสิ่งนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ธรรมปฏิบัตินี้ๆของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องออกจากทุกข์ได้จริง พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรมเครื่องออกจากทุกข์นี้จริงแท้แน่นอนไม่มีความลังเลสงสัย แล้วน้อมนำปฏิบัติตามก็สำเร็จเป็นพระอริยะสงฆ์ให้เราเห็นอยู่มากมาย ดังนั้นเมื่อได้สัมผัสจริงและรู้ดังนี้แล้วหากเราอยากพ้นทุกข์ ทำให้ทุกข์เบาบางลงเราก็ต้องเชื่อมั่นพระตถาคต องค์พระบรมศาสดา พระธรรมอันที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์ผู้เห็นชอบจริงตามพระศาสดาแล้วเจริญปฏิบัติตามจนถึงความหลุดพ้นทุกข์ตามพระพุทธเจ้าได้ และได้ลำบากตรากตรำสเผยแพร่พระธรรมคำสอนอันนั้นของพระพุทธเจ้ามาสู่เราให้ได้เรียนรู้และถึึงความกหลุดพ้นทุกข์ตาม ..เมื่อเกิดศรัทธาจิตเราจะเกิดความชื่นชอบชื่นชมต่อพระศาสดาและตั้งใจมั่นที่จะปฏิบัติอย่างแน่วแน่ ขณะเดียวกันก็จะน้อมพิจารณาได้ถึงความยินดีในการหลุดพ้นทุกข์ตามพระตถาคต ยินดีในการภาวนาเพื่อล่วงออกจากทุกข์ ไม่ถูกทุกข์หยั่งเอาอีก ยินดีให้จิตเราเป็นพุทโธ คือ ผู้รู้ของจริงแยกต่างหากจากสมมติ ตื่นจากสมมติ เบิกบานหลุดพ้นดับสิ้นเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์จากสมมติโดยสิ้นเชิงตามพระศาสดา..

๒. วิริยะกับพุทโธ..พระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์พระอรหันต์ท่านสอน..ให้มีความเพียรประครองใจไว้อยู่ให้ตั้งใจมั่นทำไปเรื่อยๆ..ยินดีชื่นชอบให้จิตเป็นพุทโธตามพระตถาคตแล้วเพียรทำเรื่อยๆบ่อยๆเนืองๆเพื่อสะสมเหตุแห่งภาวนาไปเรื่อยๆ ให้ทำเป็นพุทธบูชา ทำเพื่อสะสมเหตุแห่งศรัทธาพละ สัทธินทรีย์ และ การภาวนาไปเรื่อยๆ ทำให้มากเข้าไว้..แต่ไม่ใช่จดจ้องจะเอาจิตเป็นพุทโธให้ได้ตอนนี้เดี๋ยวนี้ให้มันกดดันให้จิตเกิดความหดหู่ตนเอง ยิ่งทำไม่ได้ยิ่งเศร้าหมองกายใจไปใหญ่ หรือ สำคัญหมายมั่นใจว่าทำแล้วจะต้องได้ ฌาณ ญาณ อภิญญาอย่างนั้นอย่างนี้ จนกดดันตนเองให้หดหู่เศร้าหมองกายใจเพราะต้องการทำให้ได้เดี๋ยวนี้ทันที..

๓. จิตตะกับพุทโธ..พระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์พระอรหันต์ท่านสอน..ให้เรายินดีให้จิตเป็นพุทโธมีความเพียรตั้งไว้อยู่ เอาใจใส่ในการปฏิบัติไม่ท้อถอย ทำให้มากเข้าไว้ ..แต่อย่าหวังปารถนาจำจดจำจ้องต้องการจะเอาผล..ผลนี้จะได้ไม่ได้ช่างมันแต่ขอให้เราได้ทำไว้ก่อน ได้ทำให้มากเข้าไว้เป็นพอ "คำว่าทำให้มาก คือ ทำบ่อยๆเนืองๆไม่ขาดเป็นพอ"..ให้เพียงรู้ว่าเจาทำอบรมสะสมเหตุเพื่อทำจิตให้เป็นพุทโธ แต่ไม่ใช่จะผลให้ได้เดี๋ยวนี้ตอนนี้ มันทำให้จิตใจเราเศร้าหมอง เหนื่อยหน่าย เบื่อ ไม่อยากทำ ฟุ้งซ่านแล่นไปเรื่อยๆไม่มีหลักเปล่าๆ..ให้ทำเป็นที่สบายกายใจ ไม่ให้ลำบากเกินไป แต่ไม่หย่อนเกินไป อยู่กลางๆไม่สุดโต่งเกินไป..เมื่อจิตมันรู้ว่าทำแล้วมันไม่ยาก ไม่ลำบาก ทำแล้วเป็นที่สบายรู้สึกดี ชื่นบาน จิตมันก็จะผ่องใสต่อการปฏิบัติ การปฏิบัติมันก็มันแค่นี้เอง มันก็จะเกิดความยินดีและความเพียรในการทำไม่ขาด โดยปราศจากความเกียจคร้าน หดหู่ เหนื่อยหน่าย เศร้าหมอง ฟุ้งซ่าน ห่อหุ่มจิตเมือคิดถึงหรือเมื่อทำ
(ให้ทำไว้ในใจถึงความยินดีในการปฏิบัติ ยินดีในการที่ได้ทำให้บ่อยให้มาก ยินดีให้จิตเป็นพุทโธ เพื่อหลุดพ้นทุกข์ในภายหน้า แต่ไม่หวังผล ไม่แสวงหาเอาผล ไม่จำจดจำจ้องจะเอาผลให้ได้ เพราะที่ทำอยู่นี้มันคือทางกุศลอันเป็นไปเพื่อสิ่งนั้นอยู่แล้ว การที่เราจะได้รับผลนั้นช้าหรือเร็ว เต็มช้าหรือเต็มเร็ว มันก็อยู่ที่ว่าเรานั้นในกาลก่อน ชาติก่อน จนถึงปัจจุบันขณะนี้เราสะสมมันมาได้มากน้อยเพียงใด ด้วยเหตุดังนี้ให้สำเหนียกไว้เลยว่าเราเพิ่งจะเริ่มเจริญปฏิบัติสะสมมันเท่านั้นยังต้องสะสมเหตุนี้ไปอีกนานโขจึงจะเต็มอิ่มได้..โดยให้ระลึกเสมอๆทุกครั้งที่เราเกิดเบื่อหน่าย ขี้เกียจ หดหู่กายใจ ฟุ้งซ่านเตลิดไปในการปฏิบัติว่า..พระพุทธเจ้านั้นทรงอบรมทำเหตุสะสมมานานมากไม่รู้กี่อสงไขย เมื่อมันเต็มจึงทรงตรัสรู้จิตเป็นพุทโธได้ เราทำเหตุสะสมแค่ครั้งสองครั้ง หรือ แค่ไม่กี่ปีไม่มีชาติจะไปถึงได้ยังไง เมื่อเหตุยังสะสมมาไม่ดีทั้งแต่ชาติก่อนจนถึงปัจจุบันชาติแล้วจะไปเอาผลได้อย่างไร ดังนั้นให้ทำสะสมเหตุไปเรื่อยๆไม่ให้ขาด โดยไม่ต้องหวังผลใดๆทั้งสิ้น หากมันเต็มบารมีแล้ว เต็มกำลังใจเราแล้วมันจะแสดงผลออกมาเอง "อันนี้เรียก..ยินดีแต่ไม่ปารถนา')..

๔. วิมังสะกับพุทโธ..ให้ทบทวนพิจารณาดูกายใจตนเองอยู่สม่ำเสมอว่า..
    ๔.๑ ทุกครั้งที่เราปฏิบัตินี้หรือพยายามประครองจิตตนให้เป็นไปในการประปฏิบัติอยู่นี้ เราทำด้วยความเบื่อหน่าย หดหู่ เศร้าหมองใจไหม ฟุ้งซ่านหรือไม่ หากใช่ก็แสดงว่า
..เราละเลยการปฏิบัตินานเกินไป ปฏิบัติไม่ปะติดปะต่อกัน ไม่ประครองกายใจตนทำสะสมเหตุให้ดีให้มากบ้าง..
..แต่หากเราปฏิบัติอยู่เป็นประจำแล้วทำให้มากแล้วก็แสดงว่าเราจำจดจำจ้องจำจะเอาผลให้ได้มากเกินไปบ้าง..หรือ..ทำแบบสุดโต่งหลับหูหลับตาทำจนเกินไปบ้าง..
    ๔.๒ มีสติยั้งคิดมีสัมปะชัญญะรู้ตัวทุกครั้งก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรไหม หากมีน้อยก็แสดงว่าเรายังทำมาไม่พอ ไม่ถูกจุด
    ๔.๓ หากมีสติสัมปะชัญญะแล้วแต่ยังไม่อาจจะละวางหยุดยั้งอกุศลที่กำลังเจริญขึ้นได้ อันนี้ก็แสดงว่าสติสัมปะชัญญะเรายังมีกำลังน้อยอยู่ เรายังทำสะสมเหตุมาน้อยอยู่ ยังต้องสะสมเหตุให้มันปะติดปะต่อกันเกิดขึ้นได้นานติดกัน มีกำลังมากเข้าไว้ ยังต้องทำพุทโธทำให้มากไปเรื่อยๆ ตั้งมั่นแค่ได้ทำก็พอแล้ว
**หลวงปู่บุญกู้ท่านสอนว่า บางครั้งเราก็ต้องรู้จักหัดมีขันติ รู้จักข่มใจ รู้จักขัดใจมันบ้าง เอาจิตตรึกหน่วงนึกในกุศลเห็นผลดีผลร้าย คุณและโทษของสิ่งนั้นๆอยู่เสมอๆจนแจ้งว่าสิ่งนี้ ควรละ ควรปล่อย ควรวาง ควรอดใจไว้ แล้วเอากุุศลธรรมหรือความคิดกุศลไรๆอัดเข้าไปแทนให้มันเว้นระยะของอกุศลธรรมให้มากเข้าไว้**
    ๔.๔ หากมีสติสัมปะชัญญะเกิดขึ้นแล้วเรารู้กายใจไม่ยินดียินร้ายกับมันได้ เพิกเฉยต่ออกุศลธรรมทั้งปวงเห็นว่ามันก็แค่ปกติของจิต อาการหนึ่งๆของจิตที่มีอยู่นับล้านๆแบบซึ่งเกิดขึ้นอยู่ประจำๆอยู่แล้ว แล้วเราละอกุศลธรรมเหล่านั้นได้เป็นครั้งคราว หรือบ่อยๆที่ทำได้ แสดงว่าเรามาถูกทางแล้วแต่ยังต้องทำเหตุให้มากเพิ่มขึ้นอีกก็เท่านั้นเอง
**หากทำจนแล้วจนรอดแต่ก็ยังไม่ได้ หรือทำได้บ้างๆแต่นานๆครั้งแต่ใจยังระส่ำกระสับกระส่ายยังเกิดความเร่าร้อยอยู่ แสดงว่า ศีลของเรายังบกพร่องอยู่  เพราะศีลและทานนี้จะประกอบไปด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ทำให้เรามีจิตใจดีไม่ติดใจข้องแวะไรๆ ไม่เร่าร้อน ไม่ร้อนรุ่ม ระแวง หวาดกลัว ไม่โลภ ไม่อยากได้ของเขา ไม่ตระหนี่ หวงแหน ไม่กระสันทะยานอยากแสวงหาที่จะกระทำในสิ่งที่มันปรนเปรอเกินความจำเป็นให้สมใจตน ทำให้ไปที่ใดก็เย็นใจเป็นสุข อยู่ที่ใดก็เย็นใจเป็นสุข ทำอะไรก็เย็นใจเป็นสุข เพราะไม่มีความเบียดเบียนในกายใจ มีความอิ่มใจ เป็นสุข สบาย สงบไม่หดหู่ ไม่ฟุ่้งซ่านฟุ้งเฟ้อ สงบ จิตตั้งมั่นดี เมื่อจิตตั้งมั่นมันจะว่างจากความคิดทำให้สติสัมปะชัญญะครบพร้อมมีกำลังมาก เวลามีอะไรแปลกปลอมเข้ามามันก็รู้หมดแล้วดับไปในทันทีไม่มีกำลังสืบต่อ**




คำว่าให้ทำให้มาก คือ ทำบ่อยๆเนืองๆไม่ขาดเป็นพอ มีความเพียรตั้งใจมั่นที่จะทำประครองใจไว้อยู่ ไม่ว่าต่อหน้าหรือลับหลังใครเราเพียรให้เป็นที่ยินดีอย่างไรก็ทำอย่างนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ถึงความเป็นพุทโธ คือ ผู้รู้แล้ว ทรงได้เห็นกายเรานี้เป็นที่ประชุมโรค กายนี้เบื้องบนแต่ปลายเท่้าขึ้นไป เยบื้องล่างแต่ปลายผมลงมามีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบห่อหุ้มของอันสกปรกไม่สะอาดเอาไว้ มีอยู่เพียงอาการ ๓๒ ประการ มี ขน ผม เล็บ ฟัน หนังเป็นต้น สักแต่เป็นเพียงธาตุ อันรอวันที่จะเร่าเปื่อยผุพังเสื่อมสูญสลายไป ไม่คงอยู่ยั่งยืนนาน ไม่มีตัวตนบุคคลใด ไม่ว่าเราไม่ว่าเขา ทรงเห็นกายในกายอย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นเมื่อเราจะมีจิตเป็นพุทโธก็เพียรพิจารณาให้เห็นแม้ลืมตาหลับตา ม้างกายออกจนเห็นชัดว่า เราไม่มีในสิ่งนั้น ในสิ่งนั้นไม่มีเรา สิ่งนั้นไม่มีในเรา เราใช่ไม่สิ่งนั้น สิ่งนั้นไม่เป็นเรา สิ่งนั้นไม่ใช่เรา เราไม่เป็นสิ่งนั้น พิจารณาด้วยปัญญากลับไปกลับมาตรงนี้ จนไม่เห็นมีสิ่งใดนอกจากความไม่มี ความว่าง ของจริงมันไม่มี แต่เพราะสมมติจึงมี จิตแล่นเข้าสู่ผลตัดสังโยชน์ขาดได้

พระพุทธเจ้านี้สว่างไสวดุจดวงประทีปมีจิตปภัสสร สว่างโร่แจ้งเป็นประกาย เมื่อทำพุทโธย่อมอบรมใจให้สว่างไสวตามพระศาสดา เปิดเผยไม่เคลือบแคลงอแบแฝง ไม่มีกิเลส เลสนัยย์ห่อหุ้มเจือปน มีความเพียรประครองใจไว้อยู่ให้สว่างไสวไม่เศร้าหมองด้วยกิเลส





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กรกฎาคม 12, 2016, 10:19:21 AM

หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน เทศนาเรื่อง วิธีเจริญการกรรมฐาน ทำเพื่ออะไร และ กายคตาสติ พระพุทธเจ้าสอนให้เห็นประจักษ์ในไตรลักษณ์



http://board.postjung.com/977206.html (http://board.postjung.com/977206.html)

https://mega.nz/#!iE50jCbb!RfPuyjMXnZYzac8KyBM3C-XYaMyrXJvKE71bJ8R7SsU (https://mega.nz/#!iE50jCbb!RfPuyjMXnZYzac8KyBM3C-XYaMyrXJvKE71bJ8R7SsU)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 04, 2016, 12:29:20 PM
หลวงปู่ บุญกู้ อนุวัฑฒโน สอนกรรมฐาน มีตอนหนึ่งว่า

- กรรมฐานกองใดเราทำแล้วได้สมาธิ ให้ทำกรรมฐานกองนั้นไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา
- กายที่จิตเราอาศัยอยู่นี้ มันก็ร่างกายอันเดิมๆ แบบเดิมๆ มีลมหายใจ มีมือ มีแขน มีแข้ง มีขา ใช้ยืน(ก็ยืนแบบเดิมๆ คือ ใช้ขายันพื้นเอาตัวตั้งขึ้นเหมือนเดิม) เดิน(ก็เดินแบบเดิมๆ คือ ใช้ขาก้าวย่างเคลื่อนที่ไปเหมือนเดิม) นั่ง(ก็นั่งแบบเดิมๆ คือ ก็ใช้ก้นนั่งเหมือนเดิม) นอน(ก็นอนแบบเดิมๆ คือ เอาลำตัวนอนเหมือนเดิม) หายใจ(ก็หายใจแบบเดิมๆ คือ มีลมหายใจเข้า-ลมหายใจออก)

- ดังนี้แล้ว เราก็เอากรรมฐานแบบเดิมๆที่เราเคยได้ ที่เราเคยเข้าถึงนั้นแหละเจริญ ทำมันไปเรื่อยๆมันก็ได้เอง


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 10, 2016, 03:20:02 PM
การเข้าสมาธิ โดยความเข้าใจส่วนตัวของเราว่า เป็นวสีที่เราทำ และ ทำได้บ่อยที่สุด

ก. "น้อมใจไปไม่ยึดเอากาย ตัดกาย คลายอุปาทานรูปขันธ์ ไม่ยินดีในกายให้ได้ก่อนทำสมาธิ"

1. เพราะมีจิตตั้งมั่นแน่วแน่ ตัดทางโลก ไม่ยินดีในทางโลก แม้สิ่งภายนอกที่ตนเคยรับรู้สัมผัสมาทั้งปวงก็ตาม มีสัมปะชัญญะตั้งมั่นในปัจจุบัน มีสติจับตั้งไว้เพียงปัจจุบัน น้อมใจลงธรรมตั้งมั่นที่จะเจริญในกรรมฐาน เพื่อทำสมาธิละความยินดีในโลก ไม่ตั้งจิตถวิลหาสิ่งที่ล่วงมาแล้วอันตั้งขึ้นเป็นอารมณ์แล้วทำให้ใจหดหู่ ไม่ตั้งจิตถวิลหาสิ่งที่ตนไม่เคยรู้ไม่เคยสัมผัส ไม่ตั้งจิตอนุมานสิ่งที่เป็นเบื้องหน้าที่ยังมาไม่ถึง

2. ไม่ยินดีในกายนี้ คือ รูปขันธ์(ร่างกาย, อาการทั้ง ๓๒ ม้างกายออกจนไม่เป็นตัวตน ไม่มีเราในนั้น ในนั้นไม่มีเรา นั่นไม่ใช่เรา เราไม่ใช่นั่น นั้นไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่ของสิ่งนั้น นั่นไม่ใช่ตัวตน, ธาตุ ๕ คือ ดิน(แค่นแข็ง-อ่อนนุม ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น) น้ำ(เอิบอาบ ซาบซ่านไหลเวียน) ลม(เคลื่อนตัว พัดไหวไป ลมหายใจ ลมในกระเพาะอาหาร) ไฟ(อาการที่ร้อน ให้ความอบอุ่นในร่างกาย) อากาศ(ที่ว่างอันเป็นที่อาศัยของแก๊ซหรือก๊าซตามธรรมชาติ ตด ก็เป็นอากาศอันมีแก๊สอัดแน่นอยู่ ), กายนี้ประชุมไปด้วยโรค ความเจ็บป่วยอาพาตทั้งหลาย ความแก่ และ ความตายดับสูญสลายไปเป็นที่สุด ไม่คงอยู่ยั่งยืนนาน ประครองดูแลลำบาก ไม่เป็นที่สำราญใจ หาสิ่งใดดีๆไม่ได้เลย)

3. เมื่อเห็นดังนี้แล้วจิตน้อมเกิดความเบื่อหน่ายในกาย ให้ตั้งจิตมั่นว่าจักทิ้งกายนี้ไปเสียได้.. มันจะเป็นอะไรก็ช่างมัน มันไม่ใช่เรา เราไม่ใช่มัน มันไม่ใช่ตันตน เอาใจเข้ายึดครองมันไว้อยู่ก็รังแต่จะเจ็บ จะป่วย อาพาต ปวด เจ็บ คัน เต็มไปด้วยโรคนั่น โน่น นี่ ปวดขี้ ปวดเยี่ยว กินข้าว ต้องพยุงกายอย่างนั้นอย่างนี้ สุดท้ายมันก็ตาย เราก็ต้องเป็นอนัตตาต่อกายนี้ คือ ไม่มีใจครองกายนี้แล้ว ดวงจิตก็เดินทางไปต่อตามบุญและกรรมสืบไป เหมือนคนตาย พอหมดลมหายใจก็ตาย ตายแล้วไม่ใช่เพียงกายเป็นอนัตตาต่อเขา แต่ดวงจิตเขาเองก็เป็นอนัตตาต่อกายนี้ ไม่มีใจเข้ายึดครองมันอีก

4. ตั้งจิตมั่นไม่ยินดี ไม่เอาใจเข้ายึดครองกายนี้อีก สิ่งที่เป็นปัจจุบันในกายนี้ เป็นของแท้มีอยู่ก็เพียง กายสังขาร หรือ กายลม คือ ลมหายใจเข้ากับลมหายใจออกนี้เท่านั้นเ

๑. การทำ "อานาปานสติ" ให้เอาจิตตั้งมั่นปักหลักปักตอไว้รู้ลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูกไม่ไหวเอนไปตามลม, ถ้าเพ่งจุดปลายจมูกไม่ได้รู้สึกมึนปวดหัว ให้ลองเอาจิตดูลมหายใจที่เคลื่อนผ่านเข้าโพรงจมูกมันเคลื่อนไปลึกสุดตรงไหน และ ลมหายใจออกผ่านตรงใดออกจากโพรงจมูกไป หรือ ทำตามหลักท่านพ่อลีสอน ดูตามจุดที่ลมเคลื่อน ปลายจมูก  หว่างคิ้วหรือหน้าผาก กลางกระหม่อม กลางโพรงกระโหลก ท้ายทอย ลำคอกลวง หน้าอก ท้องน้อย เมื่อหายใจออกก็ย้อนกลับไปทีละจุดวนกลับไป, แต่หากที่สุดแล้วยังทำไม่ได้ ยังปวดหัว ไม่เป็นที่สบายก็ให้ดูสัมผัสลมที่จุดหน้าอก ถ้าทำแล้วแน่นหน้าอกหายใจลำบาก ให้เพ่งมารู้สัมผัสลมผ่านที่ท้องน้อยหากรู้สึกปวดหน่วงเหมือนปวดปัสสาวะ หรือหายใจลำบากเพราะจิตมันไปบังคับท้องกับลมหายใจใก็ห้ทำตัวตามสบายให้เพียงแค่มีสติรู้ว่าตนกำลังหายใจเข้าและกำลังหายใจออกก็พอ

๒. การทำ "สัมปะชัญญะ" ความรู้ตัวในปัจจุบัน เป็นการฝึกไม่ให้ตนคิดฟุ้งซ่านสืบต่อจากสิ่งที่รู้เห็นหรือดำเนินไปในปัจจุบันขณะ เมื่อรู้ตัวว่ากำลังทำสมาธิอยู่จิตจะวอกแวกน้อย เพราะสัมปะชัญญะนี้จะช่วยไม่ให้จิตฟุ้งซ่านส่งจิตออกนอก เมื่อเจริญคู่ "อานาปานสติ" ซึ่งอานาปานสตินี้มีคุณมากเป็นกรรมฐานที่รู้ปัจจุบัน เป็นปัจจุบันโดยเฉพาะ คือ รู้ลมหายใจเข้า หายใจออก เป็นการรู้ปัจจุบันขณะ จะทำให้ละความฟุ้งซ่าน ติดคิด ติดสมมติความคิดไปได้ ..ดังนั้นครูบาอาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า คนที่ฟุ้งซ่านให้เจริญ อานาปานสติ

๓. หากจิตไม่มีกำลังอยู่ลมหายใจได้ไม่นาน ให้ทำ "พุทธานุสสติ+อานาปานสติ" โดยก่อนทำให้เราตั้งใจไว้มั่นแน่วแน่ในศรัทธาต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์พระศาสดาว่า พระพุทธเจ้าประกอบไปด้วยคุณมีพระเมตตา และ พระกรุณาดุจห้วงมหรรนพ, “อระหัง” คือ ผู้ไม่มีกิเลส, “สัมมาสัมพุทโธ” คือ ผู้ตรัสรู้ชอบได้ด้วยตนเอง, “สุคะโต” คือ เป็นผู้ได้แล้วด้วยดี, “โลกะวิทู” คือ เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง รู้แจ้งสังขารโลก รู้แจ้งในเหตุทั้งปวง พร้อมทั้งความเป็นไป ให้เกิดผล รู้แจ้งในกรรมของสัตว์ทั้งปวง, “ปุริสทัมมสารถิ” คือ เป็นผู้ฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่าให้ถึงความพ้นจากกองทุกข์ตาม “สัตถา เทวะมนุสสานัง” คือ เป็นครูผู้สอนทางกุศลหลุดพ้นจากทุกข์ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย, “พุทโธ” คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม, “ภะคะวา” คือ ผู้จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ มีทั้งเบื้องต้น คือ ธรรมที่เห็นง่าย เข้าใจง่าย สัมผัสได้ง่าย สอนทำสะสมเหตุให้ดำเนินไปสู่ผล คือ ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา, มีทั้งท่ามกลาง คือ ธรรมอันเป็นไปเพื่อสติปัฏฐาน ๔ และ สัมโพชฌงค์ธรรมเครื่องตรัสรู้, มีทั้งขั้นสุด คือ ธรรมวิมุตติธรรม ถึงความดับทุกข์
ดังนี้แล้ว..เมื่อผู้ใดน้อมระลึกถึงแม้พระนามของพระพุทธเจ้า ว่า.. "พุทโธ" จึงเป็นความหน่วงนึกคิดระลึกถึงอันไม่มีโทษ ทำให้ผู้ระลึกถึงนี้ปราศจากกิเลสตัณหา กามราคะ โทสะ โมหะ ความฟุ้งซ่าน ความสะดุ้งหวาดกลัว ทำให้ผู้ระลึกถึงดำรงอยู่ด้วยมีสติสัมปะชัญญะ มีจิตตั้งมั่นชอบในปัจจุบัน พร้อมด้วยปัญญาไม่ในล่วงสิ่งที่ชั่ว จักเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานตามพระศาสดา แม้เมื่อตายตอนระลึกถึงก็ไม่ล่วงอบายภูมิ แล้วหน่วงนึกระลึกถึงว่า พุทโธ คือ ผู้รู้ปัจจุบันเห็นเห็นของจริงต่างหากจากสมมติของปลอม ตื่นจากสมมติ หลุดพ้นจากสมมติของปลอมทั้งสิ้นนี้ พุทโธ คือ พระพุทธเจ้า เป็นนามของพระพุทธเจ้า เมื่อกล่าวพุทโธ คือ การการระลึกถึงพระพุทธเจ้า ทำพุทโธให้เป็นลมหายใจ ให้จิตมันระลึกถึงมีพระพุทธเจ้าอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ความคิดถึงพุทโธนี้ประเสริฐสุด พระพุทธเจ้านั้นปราศจากเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์โดยสิ้นเชิง หน่วงนึกระลึกถึงแล้วไม่มีโทษ แต่กลับทำให้จิตมีกำลัง เป็นกุศล ปราศจากกิเลสตามพระพุทธเจ้าอีก บริกรรมพุทโธนี้ดีสุดไม่มีอื่นใดเทียบ แล้วหายใจเข้าบริกรรมพุท หายใจออกบริกรรมโธ พึงตั้งมั่นจักไม่ยึดเอากายนี้อีก จดจ่อรู้อยู่ที่พุทโธทุกลมหายใจเข้าออกเท่านั้น
 **   ผู้ที่ระลึกบริกรรมพุทโธไม่ได้ เพราะยังไม่มี สัทธินทรีย์ คือ ศรัทธาพละ ต่อ พระพุทธเจ้า

๔. หากทำพุทโธแล้วจิตยังไม่นิ่งให้ทำ "มรณัสสติ+อานาปานสติ" โดยตั้งจิตระลึกถึงความตาย ก่อนทำให้หน่วงนึกตรึกคิดว่า เราจักตาย เราจักเป็นอนัตตาต่อกายนี้ คือ ไม่มีตัวตนต่อกายนี้อีก ไม่มีจิตเข้ายึดครองกายนี้อีก กายนี้จักเป็นอนัตตาต่อเราเมื่อตาย เราจักไม่ยังกายนี้อีก หายใจเข้าเราก็จักตาย หายใจออกเราก็จักตาย เมื่อจะตายอยู่แล้วอย่าให้ตายเพราะกิเลสตัณหาเลย อย่าเอากิเลสตายตามเราไปเลยมันจักไม่ล่วงพ้นอบายภูมิ ดังนั้นโยนกิเลสนั้นทิ้งไปเสีย มารู้เพียงลมหายใจนี้พอ ไม่มีลมหายใจเราก็ตาย แขนขาด ขาขาด ตัดไตออกข้างนึง ตัดไส้ออกเราก็ยังไม่ตาย แต่หมดลมหายใจนี้เราตายเลย พระพุทธเจ้าให้ระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก เป็น มรณัสสติ อันเป็นหนึ่งในกรรมฐานแห่งอนุสสติ ๑๐ จะหายใจเข้าระลึกบริกรรม มรณัง หายใจออกระลึกบริกรรม มรณัง กำกับรู้ว่าจักตายหายใจเข้า จักตายหายใจออกทุกลมหายใจนี้ไปก็ได้

**การเจริญแบบนี้เป็นการตัดนิวรณ์ ตัดเรื่องราวทางโลก เพราะธรรมชาติของจิตมันคือคิด มันติดสมมติ สัมปะชัญญและสตินี้ช่วยให้เป้นปัจจุบัน ไม่ส่งจิตออกนอก

**เพราะละความยึดมั่นกับสิ่งทั้งปวงในโลกนี้ได้ ไม่ยินดีในกายทางโลกนี้อีกแล้ว "เพราะละจิตที่ยึดเหนี่ยวอุปาทานรูปขันธ์ได้ จิตจึงตัดทางโลกยกเข้าทางธรรมสมาธิได้ " และ "เพราะละสมมติอุปาทานทางโลกได้ จึงเห็นทางธรรมได้ "

** เจริญตามนี้ขั้นต่ำได้ ขณิกปิติ(มีอาการที่วูบหนึ่งจิตดิ่งเข้าความสงบ ความใส่ใจในภายนอกน้อยลง จิตส่งออกนอกน้อยลง), ขณิกสมาธิ(สงบ) ความสงบ สบายกาย สบายใจ ภาวะที่เหมือนอบอุ่มสบายกาย ร่มเย็นสบายใจ จิตเริ่มมีกำลัง เมื่อเจริญไปเรื่อยๆภาวะอะไรจะเกิดขึ้นก็ช่างมันสักแต่ว่ารู้ว่ามีอาหารนี้ๆเกิด มันจะคิดอะไๆรก็ปล่อยมันคิดไป รู้ว่ามันคิดไม่ต้องหยุด ไม่ต้องห้าม ให้มีสติสัมปะชัญญะเป็นพอ จิตมันเมื่อไม่ติดในสงบหรือความปรุงแต่งนึกคิด มันจะดิ่งลงลึกเข้าไปอีก เรียกว่าเพราะละสภาะของขณิกสมาธิได้ ไม่ตั้งมั่นให้คงสภาวะนั้นไป ไม่มีกลัวมันวูบดิงไปอย่างไรก็ปล่อยมันไป แล้วจิตมันจะดิ่งลงสู่อุปจาระสมาธิเอง บางครั้งรับรู้ไม่ทันจิตก็เข้าปฐมฌาณเลยเป็นภาวะที่เหมือนจะมีความคิดแต่้ก็ไม่มีความคิด จะว่าความคิดไม่มีก็ไม่ใช่ มันหน่วงตรึกนึกแล่้วก็นิงแช่ แต่เรื่องราวไรๆมันดำเนินไปอยู่ แล้วก็ไม่มีความคิดมีแต่ว่างสลับกันไปมา จนกล่าจิตจะลงลึกอีก จึงจะแช่ว่างรู้ภาวะอยู่เท่านั้น


ละอุปาทานความงุ่นง่านใจกับอารมณ์ภายนอก และ ความคิดภายใน

ข. น้อมใจไปไม่ยึดเอาจิต ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ ไม่ยึดวิญญาณขันธ์ คลายอุปาทานเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

5. ไม่ยินดีในสมมติอารมณ์ความรู้สึกหน่วงนึกตรึกคิดทั้งปวง เวทนา, สัญญา, สังขาร มีใจวางไว้กลางๆไม่เอนเอียงตามด้วยรู้ว่า เป็นสมมติ เมื่อเราหลงตามมัน เราก็รู้แต่สมมติ เข้าใจแต่สมมติ รู้สึกแต่สมมติ จดจำแต่สมมติ ตรึกคิดคำนึงถึงแต่สมมติ

6. ไม่ยินดีใน วิญญาณ(ความรู้สัมผัสทั้งทางกายและใจ) ด้วยสำเหนียกว่า จิตนี้มันเก่ง มันรู้ทุกสิ่ง แต่สิ่งที่มันรู้ มันรู้เพียงสมมติของปลอมเท่านั้น ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ ไม่ว่าจะคัน ไมว่าจะเจ็บ ไม่ว่าจะปวด ไม่ว่าจะสุข ไม่ว่าจะทุกข์ ไม่ว่าถวิลใจติดใคร่ แสวงหาอยากได้ อยากมี อยากเป็น ไม่อยากได้ ไม่ว่าจะความกระสันกำหนัดนักในใจ ไม่ว่าจะความโกรธแค้น อาฆาต ความติดข้องใจหลงอยู่ในกิเลสทั้งปวง ความรู้สัมผัสแล้วเห็นว่าเป็น คนก็ดี สัตว์ก็ดี สิ่งของก็ดี เวทนาสุข-ทุกข์-เฉยๆก็ดี เห็นเป็นนามก็ดี เห็นเป็นรูปก็ดี ทั้งหมดล้วนแต่รู้โดยสมมติทั้งสิ้น ดังนี้แล้วอย่าไปติดข้องใจสิ่งใดกับมันแค่รู้แล้วก็ผ่านเลยไป

- เหมือนพระอาจารย์ณัฐพงษ์ท่านกล่าวว่า.. หลวงปู่ฝั้นสอนว่า.."ให้ทำสมาธิเหมือนเราขัยบรถเดินทางไกล เจออะไรก็ไม่ต้องไปใส่ใจมัน มันก็แค่สิ่งที่อยู่ข้างทางทั่วไปๆไปที่มีอยู่ตลอดแนวทาง"

- เหมือนหลวงน้าพระครูแก้วท่านสอนเราว่า.."สิ่งนี้ๆก็เพียงแค่อาการหนึ่งๆของจิตที่มีอยู่นับล้านๆแบบที่มีเกิดมาให้เราเห็นเรารู้ทางใจตามปกติ มันไม่มีอะไรสลักสำคัญไปกว่านั้น ความจริงมันเป็นอยู่อย่างนั้น เท่านั้นเอง ให้รู้ เห็นว่าเป็นปกติของจิต แล้วก็วาง ไม่ต้องไปใส่ใจยึดอุปาทานมัน"

- เหมือนหลวงพ่อเสถียรท่านสอนเราว่า.."จิตมันรู้ทุกสิ่ง แต่จิตรู้สิ่งใดสิ่งนั้นล้วนเป็นสมมติทั้งสิ้นไม่มีของจริงเลย ..กิเลสนี้มันฉลาดอาศัยอายตนะ ๑๒ เป็นเครื่องล่อจิตให้ติดหลงสมมติของปลอมจากการกระทบสัมผัสของอายตนะทั้งหลาย เมื่อจิตมันรู้จักแค่สมมติมันจึงไปอุปาทานเอาของปลอมทั้งหลายมาเป็นเครื่องยึดลุ่มหลง ยิ่งยึดสิ่งที่จิตรู้มันไปมากเท่าไหร่ก็มีแต่ทุกข์มากเท่านั้น เมื่อเราไม่ยึดจิตมันก็ก็ไม่ทุกข์ เพราะไม่ยึดติดสมมติของปลอม"

- เหมือนหลวงปู่บุญญกู้ท่านสอนเราไว้ว่า.."จิตมันรู้แต่ของปลอมมาเยอะ มันจึงยึดแต่ของปลอมมาตลอด เราต้องฝึกสะสมเหตุให้มาก ทำเหตุให้มากๆ คือ ทาน ศีล ภาวนาไม่ขาดให้จิตมันมีกำลังมาก ทานทำให้อิ่มใจ ศีลทำใจเย็นใจ ภาวนาอบรมจิตทำให้จิตมีกำลังมาก เมื่อจิตมีกำลังมากก็เข้าไปเห็นของจริงบ่อยๆ สิ่งที่เห็นมันมีทั้งจริงและไม่จริง นิมิตนี้เราเอามากำลังหนดดูเพื่อละกิเลสได้ เวลากำหนดนิมิตให้จิตตั้งมั่นอธิษฐานให้เล็กได้ ใหญ่ได้ ดูมุมไหนก็ได้ แล้วค่อยอธิษฐานกำหนดไปเพื่อให้เราละกิเลส เช่น การม้างกาย เมื่อรู้ว่าจิตมันเห็นสมมติมากกว่าของจริง หากเห็นอะไรแล้วไม่แน่ใจว่าจริงไหมก็ให้ถอยออกมาก่อนแล้วค่อยเข้าไปดูมันใหม่ ทำซ้ำๆจนแน่ชัดในสิ่งที่เห็น เมื่อเห็นบ่อยๆมากๆสะสมไปเรื่อยๆ จิตมันก็คลายอุปาทานลงไปเรื่อยๆ มันก็ละความติดหลงสมมติของปลอมลงไปเรื่


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 12, 2016, 10:51:27 AM
พิจารณาธาตุ ๖ ให้คลายอุปาทาน

ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่า ไม่ต้องไปดูไกล ให้ดูที่กายเรานี้แหละ

1. ดิน มันแข็ง มันนุ่ม มันอ่อน เช่น เนื้อ หนัง ฟัน กระดูก

2. น้ำ ชุ่มชื่น เอิบอาบ เช่น น้ำลาย น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง

3. ลม เคลื่อนไหว พัดขึ้น พัดลง เช่น ลมหายใจ

4. ไฟ อบอุ่น ร้อน เย็น เช่น อุณหภูมิในร่างกาย สิ่งที่ทำให้กายอบอุ่น

5. อากาศ ธาตุว่าง ช่องว่างต่างๆ เช่น รูหู รูจมูก ช่องปาก ช่องว่างที่ๆมีก๊าซอาศัยอยู่ เช่น ตด

(คำนิยามของก๊าซและแก๊ส http://www.si.mahidol.ac.th/th/division/sd/div_knowledgesdetail.asp?div_id=51&kl_id=9 (http://www.si.mahidol.ac.th/th/division/sd/div_knowledgesdetail.asp?div_id=51&kl_id=9))

6. วิญญาณ ธาตุรู้ รู้ทุกอย่าง แต่มันยึดรู้เอาแต่สมมติทั้งสิ้น


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 17, 2016, 08:11:43 PM
ฝึกหัดทำวสีสมาธิโดยทำนิพพิทา ความปลงใจในโลก

การฝึกวสีต้องเริ่มจากทำไว้ในใจให้เป็น นักกรรมฐานที่ท่านได้วสีฌาณ ท่านจะรู้ดีว่าไม่ใช่ท่านไปตั้งทำเอาจุดนั้นจุดนี้เป็นเท่านั้น *..แต่ลำดับแรกก่อนที่ท่านจะไปตั้งหน่วงนึกเข้าตามจุดพักลมหายใจหรือนิมิตเหล่าใดได้ ท่านต้องทำไว้ในใจตัดละทิ้งจากสภาวะธรรมอารมณ์ไรๆที่เป็นอยู่ในปัจจุบันขณะนั้นๆไปได้ก่อน(ปลงใจจากอารมณ์ปัจจุบันที่เป็นอยู่ได้) แล้วก็ทำไว้ในใจเข้าไปในสภาวะที่จะทำ แล้วกำหนดจุดที่เป็นวสีของท่านเป็นที่ตั้งหน่วงนึกเข้าสภาวะของจิต
     ..เช่น ตัดใจละความยึดความติดใคร่ลุ่มหลงในโลกแม้ขันธ์ ๕ ที่ตนอาศัยอยู่ทิ้งไปเสียให้ได้ก่อน แล้วเอาจิตน้อมตั้งมั่นเข้าจับในสภาวะธรรมที่จะทำ..โดยจับเอาอาการลักษณะสภาวะที่เคยเข้าถึงได้นั้นๆจึงเข้าได้ เป็นการใช้สัญญาที่จดจำจากลักษณะอาการของสภาวะธรรมที่เป็นฌาณหรือญาณที่เคยเข้าได้นั้นๆ เรียกว่า ใช้สัญญา ความจำได้หมายรู้อารมณ์*..หรือ บางท่านทำไว้ในใจที่ความว่างจากกิเลสสมมติทั้งปวง ความดับ ความไม่มี นิพพาน

     หากคนฝึกใหม่ไม่เคยเข้าฌานได้..เวลาฝึกทำตามครูบาอาจารย์ท่านสอนไป ต้องปล่อยให้จิตมันเป็นไปของมันเอง โดยไม่ไปจำจดจำจ้องที่จะเอาจะได้อย่างนั้นอย่างนี้ ไม่กระสันได้ ไม่หวังผล ยินดีแต่ไม่ปารถนา ปล่อยจิตให้มันสบายๆ ทำสะสมเหตุไปไม่หวังผลโดยระลึกขอแค่ให้ได้ทำก็เป็นที่พอใจแล้ว พอเหตุมันมีมากจิตมันมีกำลังเข้าถึงได้บ่อยๆ จิตมันจะจดจำสภาวะของมันเอง กล่าวคือ
ก. ตั้งมั่นปฏิบัติเพราะรู้ว่า นี่คือการทำเป็น พุทธปูชา ธรรมมะปูชา สังฆปูชา มาตาปิตุปูชา ครูอุปัชฌาอาจาริยะปูชา ปฏิบัติเพื่อถวายเป็นเครื่องสักการะบูชาแก่พระพุทธเจ้า บูชาแก่พระธรรม บูชาแก่พระสงฆ์ บูชาแก่พ่อแม่บุพการี บูชาแก่ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ทั้งหลาย
ฃ. ทำด้วยรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ดี รู้ว่ามันทำให้กายใจเราไม่ฟุ้งซ่าน นั่นเพราะการฝึกอบรมจิตนี้..มันเป็นการฝึกฝนทำให้จิตเรามีสติสัมปะชัญญะเป็นเบื้องหน้าอยู่เนืองๆ อยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่ส่งออกนอก ไม่เสพย์สมมติ
ค. ทำเหตุสะสมภาวนาบารมี อบรมจิตเพื่อสะสมเหตุบารมีไปเรื่ิอยๆ ระลึกไว้เลยว่า..แค่เราทำสมาธิแล้วประครองจิตไม่ให้ส่งออกนอกมีความรู้ตัวรู้กายรู้ใจอยู่ในปัจจุบันขณะที่กำลังเป็นอยู่ไม่สัดส่ายส่งจิตออกนอกไปเสพย์สมมติได้แม้ชั่วขณะจิตหนึ่งนี้ บารมีภาวนาเราก็มากโขเลย ยิ่งทำได้มากยิ่งมีอานิสงส์มากมันยิ่งทำให้จิตเรามีกำลังมากตั้งมั่นได้ง่าย เพราะเมื่อมีสติสัมปะชัญญะตั่งมั่นได้บ่อยมากเท่าไหร่ จิตก็ตั่งมั่นตามได้ง่ายมากขึ้นเท่านั้น
     ..เช่น เวลานั่งหลับตาทำสมาธิ ให้มีสติตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งทีเกิดมีขึ้นในปัจจุบัน ยกตัวอย่างคือ
ค.๑ บริกรรมพุทโธคู่ลมหายใจให้จิตเรามีกำลังรู้ลมในทุกขณะมากขึ้น แล้วปักหลักรู้ลมหายใจที่กำลังเข้าและออกสัมผัสผ่านที่ปลายจมูก จิตอยู่กับพุทโธไม่หลุดจากลมหายใจไป เป็นต้น และ มองออกไปเบื้องหน้าเห็นสภาวะที่มืดโล่งกว้างไม่มีอะไรเลยอยู่นั้น ระลึกรู้ว่าปัจจุบันมันเป็นอย่างนั้นมีแค่นั้นแหละไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรทั้งสิ้น
ค.๒ กำหนดนิมิตโดยมโนสัญญา เช่น กสิน เอาจิตหน่วงนึกถึงวงกสินนั้นในเบื้องหน้า ก็ให้รู้ตัวว่าเรากำลังกำหนดนิมิตวงกสินนั้นๆขึ้นมาเป็นอารมณ์ในการทำสมาธิอยู่
      ทำแบบ 2 ข้อนี้ นี่เรียกว่าเป็นการรู้ตัวรู้กายใจที่ทำที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแล้ว เมื่อมันคิดเกิดนิมิตเรื่องราวไรๆก็รู้ว่า..จิตมันรู้สมมติ เสพย์สมมติ หลงสมมติ ไม่ใช่ของจริง มันสมมติเรื่องราวทั้งที่ผ่านมาแล้วหรือที่ไม่รู้ไม่เห็นหรือที่ยังไม่้คยเกิดขึ้นให้มาอยู่เบื้องหน้าทั้งที่ของจริงในปัจจุบันเรื่องเหล่านั้นไม่มีอยู่เลย ของจริงแท้ที่มีอยู่ คือ ลมหายใจ พุทโธ ความมืดว่างเปล่าไม่มีอะไรเลยในเบื้องหน้า หรือ วงกสินที่กำหนดขึ้นมาในที่โล่งมืดในเบื้องหน้าอยู่เท่านั้น แค่ฝึกทำไปเรื่อยๆอย่างนี้ประครองกายใจให้อยู่กับปัจจุบันอย่างนี้ ฝึกดับความคิดฟุ้งซ่านส่งจิตออกนอกอย่างนี้ ก็เรียกว่า..อบรมจิต ทำเหตุสะสม สมาธิและปัญญาแล้ว



การฝึกเริ่มแรกของการฝึกวสีโดยความปลงใจในโลก

๑. ทิ้งกาย (ไม่สนกาย ตั้งจิตจักทิ้งกายไป)
๒. ทิ้งอารมณ์ความรู้สึกจากภายนอก (ไม่สนอารมณ์ภายนอก ตั้งจิตจักวางเฉยไม่ยินดียินร้ายต่อโลกในภายนอก)
๓. ละอารมณ์ความรู้สึกภายในใจ (จิตรู้สิ่งใดสิ่งนั้นคือสมมติทั้งหมด ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ก็ไม่ยึดสมมติ)

๑. ทิ้งกาย..
๑.๑ กายเนื้อเรานี้เป็นของเน่าเหม็น เป็นของไม่สะอาด(อาการ ๓๒) เป็นที่ประชุมโรคร้ายเน่าเหม็นไม่น่ายินดี เป็นเพียงที่แนะชุมขึ้นของธาตุ ๖ ที่นับวันจะมีแต่ผุพังเสื่อมสูญสลายไปในที่สุด ไม่เป็นที่จำเริญใจ ไม่เป็นที่น่ายึดเหนี่ยว
๑.๒ ระลึกหน่วงนึกน้อมเข้าไปในดวงจิต(กำหนดนิมิตเข้าไปมองไปถามดวงจิต)  แล้วตรึกไถ่ถามใจตนว่าแน่ะดวงจิตของจริงอท้เป็นอย่างนี้แล้วเธอยังจะเอาของไม่สะอาดเน่าเหม็น ไม่คงทนอยู่ได้นานนี้ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เป็นที่ตั้งแห่งความยินดี ด้วยหลงมันเพียงเพราะรู้เห็นแต่สมมติเท่านั้นอีกหรือ
เราควรละมันไปได้แล้ว แล้วตั้งมั่นทำไว้ในใจละทิ้งกายคือรูปขันธ์นี้ไปเสีย หน่วงนึกว่าพ่อแม่มอบกายนี้แก่เรามา ให้จิตเราเดินทางมาอาศัยเข้าไปยึดครองก็เพียงเพื่ออาศัยใช้งานมันในการเจริญปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นทุกข์เท่านั้น หากเราจักกระทำความกตัญญูนอกจากการเลี้ยงดูแลท่านแล้ว เราก็ควรใช้กายนี้ทำให้เราเข้าถึงธรรมเครื่องหลุดพ้นทุกข์ทั้งสิ้นนี้ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน แล้วนำธรรมเหล่านั้นแลเอื้อประโยชน์สุขให้แกท่านในภายหน้า
แล้วตั้งมั่นทำไว้ในใจไมเอาจิตยึดมั่นในกายคือรูปขันธ์นี้อีก

๒. ทิ้งอารมณ์ความรู้สึกจากภายนอก
๒.๑ น้อมพิจารณาว่า เรื่องราวไรๆสิ่งไรๆภายนอกที่มากระทบเรานี้ มีอยู่เพียงแค่ ที่ทำให้เป็นสุข และที่ทำให้เป็นทุกข์ สิ่งที่ทำให้สุขก็อยู่กับเราได้ไม่นาน สิ่งที่ทำให้ทุกข์ก็มีเข้ามาอยู่ไม่ขาด ตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมา ไปเรียน ไปทำงาน กินข้าว เลิกเรียน เลิกงาน กลับบ้าน กินข้าว จนถึงตอนเข้านอน ก็มีแต่ความวุ่นวาย มีแต่เรื่องราวสิ่งไรๆทำให้เราต้องแบกรับกอบเอาความทุกข์แวะเวียนมากระทบอยู่ไม่ขาด ทั้งจากคนรอบข้างในชีวิต ครอบครัว ที่เรียน ที่ทำงาน สิ่งของทั้งปวง ..เมื่อเราขวานขวายแสวงหาสิ่งที่ทำให้สุขไปแม้ได้มันมาสมใจอยากแต่มันก็ไม่ยั่งยืนนาน มันสุขกับสิ่งนั้นๆได้แค่วูบวาบๆชั่วคราว แล้วก็ดับไป อยู่ได้นานสุดก็แค่หมดลมหายใจเรานี้แหละไม่คุ้มกับที่มันทำให้จิตใจเราเศร้าหมองจากการติดใคร่หมายใจฝักใฝ่แสวงหามันมาเสพย์มายึดครอง ดังนี้แลโลกนี้มันมีแต่ทุกข์ จากความไม่มี ไม่ได้ ไม่เป็นดั่งใจต้องการ ที่รัก ที่ชัง ที่เกลียด ที่ไม่ยั่งบืน ที่ไม่ใช่ตัวตน ที่สุดแล้วก็ตายไปโดยไม่เป็นแก่นสาร แล้วยังจะไปติดใจยึดเอาอะไรจากภายนอกมาอีกหรือ ละๆมันไปเสีย เราจะไม่ทุกข์ เรื่องภายนอกมันก็ส่วนเรื่องภายนอกมันแปรปรวนเป็นไปตามธรรมชาติของสิ่งทั้งปวงโลกทั้งสิ่งที่รัก ที่ชัง มันเป็นสัจจะธรรม มันมีอยู่แค่นั้น เมื่อยึดถือไปก็มีแต่ทุกข์เท่านั้น ดังนั้นอย่าไปใส่ใจสนใจให้ความสำคัญกับมัน ติดใจข้องแวะสิ่งไรๆไปก็หาประโยชน์สุขไรๆไม่ได้นอกจากทุกข์ ไม่ติดใจข้องแวะใส่ใจให้ความสำคัญกับสิ่งไรๆก็ไม่ทุกข์ เพราะมันเป็นธรรมชาติทั่วไปที่มีทั่วไปอยู่นับล้านๆแบบในโลกเราซึ่งสิ่งทั้งปวงไม่ว่าอะไร ไม่ว่าใครก็ต้องพบเจอ คือ สิ่งที่ทำให้เป็นสุข สิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ สิ่งที่ทำให้ไม่สุขไม่ทุกข์ หรือ สิ่งที่พอใจยินดี - ไม่พอใจยินดี - สิ่งที่ไม่ยินดียินร้าย หรือ รัก - ชัง - เฉยๆ

เมื่อความจริงมันเป็นอยู่อย่างนี้ แค่นี้ แล้วจะไปเอาอะไรกับสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตในโลกใบนี้ได้เล่า ควรละความยึดมั่นในโลกนั้นๆไปเสียมันไม่มีสิ่งใดน่าหลงใหลยินดี แล้วยกจิตขึ้นเพิกเฉยต่อธัมมารมณ์ภายนอกไรๆนั้นสิ่นไปเสีย

๓. ละอารมณ์ความรู้สึกภายในใจ
๓.๑ ติดสุข สบาย ทุกข์
๓.๒ สังขารความคิด ความตรึกหน่วงนึกถึง มันเกิดจากความจำได้หมายรู้ในสิ่งนั้น ตรึกสมมติเอาความจำได้หมายรู้ในสิ่งที่มันผ่านไปแล้วดับไปแล้วนั้นๆขึ้นมาว่าเป็นอย่างนั้น เหตุการณ์ย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็สมมติให้มันเป็นแบบนั้น สมมติให้มันเป็นแบบนี้ สมมติเรื่องราวนั้นๆสืบต่อไปเรื่อยในเรื่องที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นบ้าง ไม่มีอยู่จริงบ้าง ยังมาไม่ถึงบ้าง คาดคะเนให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามใจที่เพลอดเพลิน ที่รัก ที่ต้องการ ที่ชัง ที่เกลียด ที่ไม่ต้องการ นี่แนะ จิตมันสมมติเอาทั้งนั้น มันติดสมมติมันก็ปรุงไปเรื่อย โดยแท้จริงสิ่งเหล่านั้นไม่มีอยู่เลย ไม่เกิดขึ้นเลย จิตมันสมมติ มันรู้อต่สมใติ มันหลงติดอย ู่ตั้งมั่นรู้อยู่แต่ในสิ่งสมมติล้วนๆทั้งสิ้น ที่มีให้เห็นรู้จริงอยู่ในปัจจุบัน คือลมหายใจกำลังเคลื่อนตัวเข้าแลัออกอยู่นี้ และ พุทโธ เท่านั้น พุทโธ คือพระพุทธเจ้า พุทโธเป็นกริยาอาการของจิตที่รู้ รู้ปัจจุบัน รู้ของจริงต่างหากจากสมมติ ตื่นจากสมมติไม่หลงติดอยู่ในสมมติ เบิกบานหลุดพ้นแล้วจากสมมติกิเลสของปลอม กล่าวคือ
๓.๒.๑.ขณะที่เรารู้ว่าจิตมันรู้มันหลงยึดเอาแต่สมมติ รู้ว่าปัจจุบันของแท้คือเรากำลังลมหายใจเข้าออกนี้ แล้วตั้งมั่นรู้ในปัจจุบันที่ลมหายใจนั้น นี่เรียกว่า จิตเป็นผู้รู้แล้ว จิตเราก็ถึงซึ่งพุทโธอันว่าด้วยคุณแห่งความเป็นผู้รู้แล้ว
๓.๒.๒.เมื่อจะทำลมหายใจให้เป็นพุทโธ คือผู้รู้ อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก โดยเอาจิตหน่วงนึกระลึกบริกรรมพุทโธกำกับอยู่ทุกลมหายใจเข้าและออก ตั้งจิตปักหลักปักตอไว้อยู่ที่ปลายจมูก ไม่ไหวไปตามลมไม่ให้จิตหลงส่งออกนอกไปตามสมมติแนบแน่นอยู่ปัจจุบันที่พุทโธแล้ว นี่เรียกว่าจิตเป็นผู้ตื่นแล้ว เพราะตั้งมั่นไม่หลงสมมติอีก จิตเราก็ถึงซึ่งพุทโธอันว่าด้วยคุณแห่งความเป็นผู้ตื่นแล้ว
๓.๒.๓.เมื่อจิตตั้งมันอยู่ในสภาวะธรรมปัจจุบัน ความตรึกหน่วงนึกดับ กิเลสนิวรณ์ไม่เหลืออยู่อีก คำบริกรรมพุทโธหายไปแล้ว สติตั้งมั่นในจุดเดียวได้ ทำให้จิตตั้งมั่นจดจ่ออยู่ในอารมณ์นั้นอารมณ์เดียวได้นานตามโดยปราศจากกิเลสสมมติที่ตรึกตรองจากความจดจำสำคัญมั่นหมายของใจ มันแช่อยู่ในความว่างแจ้งสว่าง สบาย เบา แช่มชื่น เย็นใจ ไม่หน่วงหนักตรึงใจ จิตมีกำลังอัดแน่นอยู่มากจนเหมือนสภาวะที่จิตอาศัยอยู่นี้ไม่พอที่จะรับมันเอาไว้ได้ มองไปที่ได้ก็ไม่มีอะไรทั้งสิ้น ว่างแปนราบไปหมด ไม่มีความติดใจข้องแวะสิ่งไรๆในโลกอีกด้วยขณะนั้นจิตมันเห็นว่าไม่มีอะไรที่ควรยึดถือว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เข้าอัปปนาสมาธิ นี่เรียกว่า จิตเริ่มเป็นผู้เบิกบานหลุดพ้นแล้วจากสมมติกิเลสเครื่องล่อใจทั้งหลาย จิตเราก็น้อมให้เป็นไปซึ่งพุทโธอันว่าด้วยคุณแห่งความเป็นผู้ตื่นแล้ว
เมื่อละสังโยชน์ได้ จิตก็เป็นพุทโธมากน้อยตามกำลังที่ละไ

ดังนั้น พุทโธ คือ กิริยาอาการของจิตมันเป็นอย่างนี้

๔. ดังนี้แล้วจิตเราจะเป็นพุทโธได้ก็ด้วย
ก. ละกาย ด้วยเห็นทุกข์ในกาย
ข. ละธรรมภายนอก ด้วยเห็นทุกข์จากโลก
ค. ละจิตอันเป็นธรรมภายใน ด้วยเห็นทุกข์ที่จิตมันรู้ มันยึด มันหลง และ เสพย์แต่สมมติ

๕. เมื่อกรรมฐานเสร็จแผ่เมตตา ต้องแผ่เมตตาให้ตนเองนี้เป็นผู้มีสขไม่มีกิเลสทุกข์ ไม่ผูกควาทโกรธเจ็บแค้นใคร ไม่อาฆาตพยาบาทใคร เป็นผู้มีความสุขเย็นกายเย็นใจ เป็นผู้ประครองกาย วาจา ใจ ให้ตรงต่อพระนิพพาน อันเป็นอมตะสุข ดับสิ้นซึ่งกิเลสแล้ว

หากแผ่เมตตาให้ศัตรูภัยพาลไม่ได้ ให้รู้ไว้เลยว่าเรายังมีใจคับแคบอยู่ เป็นผู้ผูกเวรคือผูกโกรธ เป็นผู้พยาบาทคืออาฆาตแค้นเขาอยู่ กิเลสยังมากหนาอยู่ จิตขาดความเมตตาเอ็นดูปรานีต่อเขา ก็แก้ที่ใจเรานี้แหละโดยทำไว้ในใจแผ่เมตตาให้ตนเองไม่ผูกเวรพยาบาทเขานั้นเอง คนเรามีรักกันเกลียดกันเพราะต่างฝ่ายต่างมีกิเลสนั้นเอง หากเราไม่มีกิเลสก็ไม่มีอะไรเป็นตัวถ่วงใจให้หน่วงตรึงจิต จิตมันก็ผ่องใสเป็นที่สบายไม่ยึดหลงอารมณ์ไรๆทั้งสิ้น





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 24, 2016, 09:26:13 AM

บันทึกกรรมฐาน วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๙

วิธีวางใจเมื่อทำสมาธิ

วันนี้เป็นช่วงสลับกะจากดึกมาเช้า ทำให้นอนตั้งแต่ 4 ทุ่ม ตื่นมา ตี 4 จึงเข้าทำสมาธิเวลาประมาณ ตี 5 พร้อมเปิดฟังเทศนาหลวงตามหาบัว ว่าด้วยวิธีทำสมาธิ จิตอยู่กับพุทโธ และ หลวง พ่อพุธ ฐานิโย วิธีทำสมาธิ จิตอยู่กับพุทโธ แล้วผลจากการปฏิบัติดังนี้ คือ

เริ่มต้นทำสมาธิ..ให้ทำใจให้เป็นที่สบายๆ ระลึกถึงความไม่มีทุกข์ใจ ไม่ลำบากกาย ทำสะสมเหตุไป ไม่ต้องประครองมากเกินไปหรือปล่อยละเลยเกินไป โดยระลึกว่า..หากมันจะเป็นสมาธิให้ทำยังไงมันก็เป็นสมาธิ หากมันจะไม่เป็นสมาธิให้จดจ้องประครองให้ตายมันก็ไม่เป็นสมาธิ ..ดังนั้นทำใจให้สบาย ปล่อยกายปล่อยใจให้โล่งเบาเป็นที่สบาย แล้วทำพุทโธไปเรื่อย ให้จิตอยู่กับพุทโธ

หากมีความคิดอื่นแทรก..ก็ให้มีสติเป็นเบื้องหน้ารู้ตัวว่าทำสมาธิอยู่ตั้งจิตมั่น ไม่หลงตามสมมติกิเลสความคิด แต่ปกติจิตเราหากอบรมมาน้อยมันไม่มีกำลัง ดังนั้นให้เราปักหลักรู้ลมหายใจมีพุทโธกำกับอยู่ไม่ออกจากพุทโธไป โดยหายใจเข้าออกให้ยาว ตั้งมั่นรู้ลมหายใจเข้าที่เคลื่อนผ่ายปลายหรือโพรงจมูกให้มั่น บริกรรมพุทยาวตามลมหายใจ หายใจออกยาวตั่งมั่นรู้ลมหายใจที่ผ่านโพรงหรือปลายจมูก บริกรรมโธยาวตามลมหายใจ แล้วมีสัมปะชัญญะและสติตั้งมั่นรู้อย ู่ทำใจแค่รู้ว่ามีสมมติกิเลสความคิดเกิดขึ้นมา แล้วก็ช่างมันปล่อยมันไปให้ทำแค่รู้ว่าคิดหรือสมมติเกิด

เมื่อรู้ว่าสมมติเกิด ก็เป็นผู้รู้จริงต่างหากจากสมมติแล้ว จากนั้นให้ทำจิตเป็นผู้ตื่นโดยตั้งมั่นปักหลักวางจิตไว้ไม่ไหวเอนให้อาจจะกำหนดนิมิตดั่งอุปมาว่า..

อุปมาเหมือน จิต เป็นดวงอาทิตย์ ปักหลักแย่นิ่งตรงกลางวงโคจรในจักรวาลไม่หมุนตัวหรือเคลื่อนโคจร ฉันใด..  ส่วนสมมติกิเลสความคิดมันก็เหมือนดาวเคราะห์บริวารที่หมุนเคลื่อนตัวโคจรวนรอบจิตคือดวงอาทิตย์ ฉันนั้น..

หรือ..จิตเป็นดวงแก้วมณี ดั่งดวงจันทร์เมื่อวันเพ็ญที่อยู่ท่ามกลางอากาศบนท้องฟ้ากว้างมีความสว่างไสวอยู่ฉันใด สมมติกิเลศความคิดก็เหมือนเมฆหมอกที่รายล้อมจรมาเคลื่อนมาคลุมจิตแสงสว่างก็ถูกบดบังไปฉันนั้น แล้วให้จิตจับที่ลมหายใจนี่แหละเป็นดั่งลมที่พัดเอาเมฆหมอกคือสมมติกิเลสความคิดออกไปจากจิต ทำให้จิตที่เป็นดั่งแก้วมณีดุจดวงจันทน์เมื่อวันเพ็ญตั้งตระหง่านเด่นสว่างไสวตามเดิม



เมื่อจิตอยู่กับพุทโธและลมหายใจได้ จิตจะมีกำลังมากมันเหมือนอาการที่ตัวเราภายในมีกำลังอัดปะทุไปทั่วร่าง เหมือนตนทรงกายอยู่ได้โดยไม่ประครองหรือเหมือนจะลอยได้ ช่วงนี้แหละต้องตั้งมั่นไม่ให้จิตเสพย์สมมติ

- มันง่วงจะหลับก็ตั้งมั่นทรงอยู่ที่ลมหายใจไว้ ตั้งมั่นพุทโธไปเรื่อย โดยหน่วงนึกว่าหากมันจะหลับก็นั่งหลับมันไปเลยนี่แหละ ได้ธุดงควัตรข้อ "เนสัชชิก" นี่บุญโขเลยนะนี่ หลับในสมาธิหลับในฌาณนี่อกุศลไม่เข้าแทรกแน่นอน เผลอๆไปเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ด้วย อะไรจะเกิดก็ช่างมันแต่รู้แล้วตั้งมั่นที่พุทโธเท่านั้นพอ

- มันจะวูบวาบๆขนลุกก็เฉยช่างมัน มันก็แค่จิตกับกายมันปรับตัวให้สมกันควรแค่ภาวนาเท่านั้น ความสงบใจจะเกิดขึ้น ความฟุ้งซ่านจะลดลง

- มันจะวูบลงไปจับแต่นิมิตที่อยู่ตรงหน้า ไม่บริกรรมพุทโธ เหมือนพุทโธหายไป หรือ เหมือนได้ยินคำบริกรรมพุทโธมันดำเนินไปของมันเองอยู่โดยที่เราไม่ได้ไปบังคับบริกรรมมันเลย แต่มันทำของมันเองเหมือนตัวบริกรรมนั้นมันอยู่อีกฟากหนึ่ง ส่วนมุมหนึ่งๆของตัวรู้กับนิมิตเบื้องหน้า สักพักคำบริกรรมก็ดับไม่มีคำบริกรรม ไม่ได้ยินคำบริกรรม ไม่มีพุทโธ มีอาการว่างจากเสียงและคำหน่วงนึกบริกรรมก็ช่างมัน ปล่อยมันไป ไม่ต้องให้ความสำคัญ หรือ รีบกลับมาบริกรรมพุทโธ แค่ให้เรารู้สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็พอ ดูอาการที่เกิดขึ้นนั้นมันไปเรื่อยๆก็พอ ปล่อยมันไป มันแค่อาการหนึ่งๆของจิตที่มีอยู่นับล้านก็เท่านั้น ไม่ได้สลักสำคัญอะไร ไปคิดตามมันยิ่งติดสมมติไปใหญ่ วางเฉยต่ออาการนั้นเสียแค่รู้อยู่ก็พอเสีย แค่ธาตุขันธ์มันกำลังแสดงให้เห็นว่า..วิตก วิจาร คือ "วจีสังขาร" ตามที่พระตถาคตตรัสสอน เป็นสิ่งที่เนื่องด้วยถ้อยคำพูด ความคิดหน่วงนึกตรึกเหล่าใดไม่มี เสียและวาจาเหล่านั้นก็จึงไม่มี ไม่มีเสียงพูดบริกรรมแม้ในใจเรานี้เอง (แต่ขณะนี้ไม่ใช้วิตกวิจารดับเพียงแค่จิตมันตั้งมั่นขึ้นแล้วคลายคำหน่วงนึกบริกรรมลง แล้วจดจ่อเอาอารมณ์หรือนิมิตที่จิตมันสนใจหน่วงนึกอยู่ข้างหน้าโดยส่วนเดียวเท่านั้นเอง หากเอาจิตไปจับที่คำบริกรรมเบาๆอีกฟากที่ยังรู้สึกได้ยินอยู่ ก็จะพุทโธต่อได้ ถ้าผู้ที่หายใจเข้าบริกรรมพุท หายใจออกบริกรรมโธ นับ 1,2,3,4,5,6,7,8,9,10,...108 จะรู้สึกได้ดี แต่ตามหลักแล้วไม่ต้องไปสนมันแค่ตามรู้มันไปเรื่อยๆ)
- หรือ..มันจะเหมือนอาการที่ใจเรามันคลุกจ้องแลดูรู้อยู่ในอารมณ์หรือนิมิตใดนิมิตหนึ่ง ไม่สนสิ่งอื่น ไม่สนเสียงภายนอก เหมือนจิตมันตั้งมั่นที่ลมหายใจหรือจุดพักลมใดๆอยู่แต่กลับไม่รู้สึกถึงลมหายใจแล้ว เสียงลมหายใจหายไปหรือเบาลง มีอาการเหมือนหูอื้อได้ยินภายนอกเบาเหมือนอยู่ในโลกส่วนตัวที่อยู่เบื้องหน้านั้น ไม่จับที่ลมแล้วก็ช่างมัน นั่นเป็นธรรมชาติของกาย ลมหายใจมันละเอียดขึ้นตามจิต ที่พระสมเด็จพระศาสดาตรัสสอนว่า ใจเป็นใหญ่ เป็นประธาน มโมกรรมเป็นประธานสำเร็จที่ใจก่อนสิ่งใดมันเป็นอย่างนี้.. แค่ธรรมชาติของจิต ธาตุขันธ์มันกำลังแสดงให้เห็นว่า..วิตก วิจาร คือ "วจีสังขาร" ตามที่พระตถาคตตรัสสอน เป็นสิ่งที่เนื่องด้วยถ้อยคำพูด ความคิดดับวาจาใดๆก็ดับ ไม่มีวาจา ไม่มีเสียงพูดบริกรรมแม้ในใจเรานี้เอง (แต่ขณะนี้ไม่ใช้วิตกวิจารดับเพียงแค่จิตมันตั้งมั่นขึ้นมันคลายคำบริกรรมลงจดจ่อเอาอารมณ์เบื้องหน้าหรือนิมิตข้างหน้าโดยส่วนเดียวเท่านั้นเอง)

- มันจะไปรู้เห็นอาการอย่างไรก็ช่างมัน มันเหมือนจะรู้อาการหนึ่งแล้วก็วูบนิ่งแช่ว่าง สักพักเหมือนจะไปรู้อะไรอีกแล้วก็วูบนิ่งแช่อยู่ ก็ช่างมัน ก็แค่อาการหนึ่งๆของจิตมีเกิดขึ้นให้เรารู้ ดูแล้วจะรู้ว่าเราบังคับไม่ได้จึงชื่อว่า สังขาราอนัตตา, วิญญาณังอนัตตา ไม่มีอะไรเกินนั้น ก็แค่รู้แล้วปล่อยมันไป "รู้ ปกติ วาง"

- มันจะนิ่งแช่อยู่เฉยๆไม่มีอะไรเลย แล้วรู้สึกเหมือนมันหายใจไม่ออก ไม่หายใจ ลืมหายใจ ก็ช่างมันให้หน่วงนึกสำเหนียกว่าตายเพราะกรรมฐานนี้เราก็ไปสวรรค์ ไปนิพพานแล้ว แล้วปล่อยมันไป มันไม่มีอะไรทั้งสิ้น เรามีความตายเป็นเบื้องหน้าอยู่แล้วตายในกรรมฐานนี้มีคุณมากช่างมัน เราจะได้ไม่ต้องไปทุกข์กับมันอีก นี่เป็นธรรมชาติของกายและจิต ซึ่งธาตุขันธ์มันกำลังแสดงให้เห็นว่า..ลมหายใจ คือ "กายสังขาร" ตามที่พระตถาคตตรัสสอน เป็นสิ่งที่เนื่องด้วยกาย เป็นสิ่งที่กายต้องการไม่ใช่จิต

- มันจะว่างไม่มีอะไรเลย พยายามจะคิดก็คิดไม่ออก นึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก ไม่มีความคิดเลย ก็ช่างมัน เพราะนั่นคือ..จิตเราถึงพุทโธ ความเป็นผู้รู้ รู้ในปัจจุบัน, ความเป็นผู้ตื่นจากสมมติของปลอม ไม่หลงเสพย์สมมติอยู่อีกได้แล้ว.. เราอยู่นิ่งๆเฉยๆมันสบายโล่งดีแล้ว เมื่อจะระลึกทำ ก็ช่างมันให้หน่วงนึกสำเหนียกว่าตายเพราะกรรมฐานนี้เราก็ไปสวรรค์ ไปนิพพานแล้ว แล้วปล่อยมันไป มันไม่มีอะไรทั้งสิ้น เรามีความตายเป็นเบื้องหน้าอยู่แล้วตายในกรรมฐานนี้มีคุณมากช่างมัน เราจะได้ไม่ต้องไปทุกข์กับมันอีก (อันนี้เรียกสมมติความตรึกนึกคิดดับ ธรรมเอกผุดขึ้นตรงนี้เพราะไม่มีสมมติแล้ว ของจริงคือเบื้องหน้าที่เห็นอยู่เท่านั้น คือ เห็นโลกเป็นของว่างเปล่านั่นเอง)

- มันจะสุขอัดปะทุขึ้น เกิดมาไม่เคยเจอความสุขอะไรอย่างนี้มาก่อนเลยในชีวิต ก็ช่างมัน เพราะจิตมันไม่หลงสมมติไม่เสพย์สมมติแล้ว จิตมันก็มีกำลังไม่มอมเมาสมมติกิเลสอยู่อีก..จิตเข้าถึงพุทโธความเบิกบาน หลุดพ้นจากสมมติกิเลสของปลอมเครื่องร้อยรัดใจ.. เวลาที่จิตมันมีกำลังไม่เสพย์สมมติของปลอม ไม่เสพย์สมมตืความคิด มันก็อยู่เบิกบานเป็นสุขได้ด้วยตัวของมันเองอย่างนั้นแหละ ไม่มีอะไรมากมายรู้และ้วก็ปล่อยมันเป็นไปของมัน

- มันจะว่างเปล่า นิ่งแช่อยู่ไม่มีอะไรเลย ไม่เห็นอะไรทั้งนั้นดูมันสว่างๆแต่ก็ไม่มีอะไรเลย สุขก็ไม่มี มีแต่ว่าง สงบไม่มีอะไรทั้งสิ้น พอเหมือนจะคิดหรืออะไรมันเพิกไปของมันทันทีเลย นั่นแสดงให้เห็นว่าจิตมันไวกว่าแสง และ ทั้งหมดทั้งปวงนี้มันไม่มีอะไรทั้งสิ้น ครูบาอาจารย์ท่านว่า..ก็ในเมื่อมันไม่มีแล้วจะให้มันมีมันเห็นอะไร ของมันไม่มีจะทำให้มันมีได้ยังไง ที่เราหลงอยู่คือยึดเอาสมมติจากความไม่มีอะไรตรงนี้แหละ เมื่อเห็นว่ามันไม่มีอะไร ไปทางไหนก็ไม่มีอะไร ภายในก็ไม่มี ภายนอกก็ไม่มี แล้วมันจะมีอะไรให้ยึดเป็นตัวตนอันใดในโลกได้ เมื่อของแท้จริงโลกมันว่างเปล่าอยู่อย่างนี้ เราก็แค่รู้ดูมันไปเรื่อยๆ ปล่อยจิตให้มันคลายหลงสมมติในโลกทั้งๆที่จริงเป็นเพียงของความว่างเปล่านั้นๆไปเสีย

** ทำอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปอยากได้ฌาณเหมือนเขาอยากได้ญาณเหมือนเขา อยากได้อภิญญาเหมือนเขา ของเก่าเรามันไม่มีสะสมไว้มันไม่เกิดขึ้นได้หรอก การเข้าสมาธิอย่างนี้ๆเป็นพื้นฐานของทุกอย่างทั้งฌาณก็ดี อภิญญาก็ดี ญาณทัสสนะก็ดี ปัญญานิพพิทาวิราคะก็ดี ..ทำอย่างนี้ได้จะจับกสินเอาอภิญญาก็ง่าย ไปจับเจโตวิมุติก็ง่าย ปัญญาวิมุตติก็ง่าย ทำสมาธิแบบสบายๆอย่างนี้ไม่ได้ก็ไปทำอย่างอื่นไม่ได้เช่นกัน"ศีล ยังไม่ทำอย่าไปหวังเอาความเย็นใจ, ทาน ยังไม่ทำอย่าไปหวังเอาความอิ่มใจ, สัมมัปปธาน ๔ ยังไม่ทำอย่าไปหวังเอาสติ สัมปะชัญญะ, ภาวนา ยังไม่ทำก็อย่าไปหวังสมาธิ สมาธิยังไม่ทำก็อย่าไปหวัง ฌาณ ญาณ ปัญญา" ..."ดังนั้นทำสะสมเหตุภาวนาอย่างนี้ไปเรื่อยๆสบายๆ จะได้ผลหรือไม่ได้ก็ช่างมัน เพราะว่าหากนจะเกิดมีมันเกิดมาเองไม่ต้องไปบังคับมันเลย หากมันจะไม่เกิดไม่มีให้บังคับให้ตายยังไงก็ไม่ได้หรอก" ด้วยเหตุดังนี้จึงชื่อว่า..สัพเพธัมมาอนัตตา สังขารทั้งปวงไม่มีตัวตน สมดั่งพระศาสดาตรัสสอนไว้ ดังนั้นเราจึงต้องฝึกฝนอบรมจิตด้วยประการดังนี้
เมื่อจิตมันมีสมาธิเต็มกำลังแล้ว มันจะเห็นของมันเอง เกิดปัญญาเอง เกิดญาณทัสสนะมีคุณวิเศษเอง ไม่ต้องไปอยากดู อยากเจอนั่น โน่น นี้ อะไรทั้งสิ้น เมื่อมันเต็มมันถึงคราวแปล้วมันได้เอง ..ให้ทำแค่มีสติระลึกรู้ แลดูอยู่เฉยๆ ไม่ต้องการ ไม่ต้องตกใจ ไม่ต้องเอะใจติดข้องสิ่งใด ให้เหมือนตอนหัดปฏิบัติใหม่แรกเริ่มที่ไม่รู้จักอะไรนอกจากพุทโธเป็นพอ.."ทำแค่แลดู แต่ไม่ไปต้องรู้" เป็นอย่างนี้**



    ไม่ต้องไปหลงตามปัญญาจากสัญญาความคิด ว่าเห็นสมุทัยนนั่น โน่น นี่ จะละโน่น ดับนั่น ดับนี้แล้วถึงธรรม หากจิตตั้งมั่นไม่ได้ปัญญาแท้จริงก็มีไม่ได้ มันจะมีกีแต่ปัญญาที่เป็นสมมติความคิดจากความจำที่มันอนุมานคาดตะเนเดาเอา หากหลงตามมันไปมันนั่นแหละคือตัวสมุทัยที่ทำให้เราหลงสมมติสัญญาความคิดคาดคะเน ตามที่หลวงตามหาบัวสอน (เราคาดว่านี่คือตัวที่เรียกว่าวิปัสสนูปกิเลส)





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เด็กหน้าวัด ที่ สิงหาคม 24, 2016, 01:04:00 PM
สาธุ... ครับผม


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 24, 2016, 01:35:19 PM
สาธุ ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมชมครับ ผมขอฝากบันทึกกรรมฐานไว้ที่เวบนี้หน่อยนะครับท่านเด็กหน้าวัด


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เด็กหน้าวัด ที่ สิงหาคม 24, 2016, 02:46:32 PM
ยินดีอย่างยิ่งเลยครับ อนุโมทนาบุญด้วยนะครับ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 27, 2016, 09:21:48 AM
บันทึกกรรมฐานวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๙

วิธีในการเจริญมหาสติปัฏฐานตามกาล(๑. ลม หรือ พุทโธ)

๑. ลม หรือ พุทโธ

๒. ปัจจุบัน

๓. อิริยาบถ

๔. สมมติ




๑. ลม หรือ พุทโธ ก็คือ อานาปานสติ + พุทธานุสสติ นั่นเอง เป็นกรรมฐานที่มีคุณมาก มีคุณสูง เป็นมูลกรรมฐาน เป็นขั้นสุดในกรรมฐานทั้งปวง
- อานาปานสตินี้พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระสารีบุตรว่า "ดูกร สารีบุตร เราเป็นผู้มีอานาปานสติเป็นอันมาก"
- พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรมก็ด้วยอานาปานสตินี้แล ส่วนพุทธานุสสติ บริกรรมว่า พุทโธ นั่นคือพระนามของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ผู้รู้(รู้แจ้งโลก รู้ปัจจุบัน รู้ของจริงต่างหากจากสมมติ) ผู้ตื่น(ตื่นจากสมมติของปลอม ตั้งอยู่บนทางแห่งสัมมาเพื่อดับสิ้นสมมติกิเลสของปลอม) ผู้เบิกบาน(หลุดพ้นจากสมมติกิเลสของปลอม ดับสิ้นสมมติกิเลสแล้ว)

วิธีเจริญ

๑. ทำ ศีล ทาน อบรมจิตให้มีพรหมวิหาร ๔ อันมีสัมมัปปธาน ๔ ประครองกายใจไว้อยู่


   ..ก่อนอื่นใดที่เราควรเจริญไม่ขาดคือ ฝึก สติ สัมปะชัญญะ โดยตั้งมั่นทำใน ศีล ทาน โดยมีพรหมวิหาร ๔ คลุมอบรมจิตให้เจริญ ศีล ทาน ได้ง่าย มีความเพียร ๔ ประครองไว้อยู่
   ..โดยตั้งมั่นที่จะมีศีลและทานก่อน แล้วเพียรอบรมจิตให้เป็นเมตตาอยู่เนืองๆ เพียรประครองจิตใน ศีล ทาน และ เมตตา ไว้ในกาลทุกเมื่อ เพื่อละความติดข้องในสิ่งไรๆทั้งปวงในโลก อันนี้เป็นการเจริญเมตตาภาวนาคู่ ศีล และ ทาน เมื่อมีความเพีบรใน สัมมัปปธาน ๔ ประครองไว้อยู่ ก็เป็นเหตุใกล้ให้เกิด สติ สัมปะชัญญะ สมาธิ
   ..จิตเมตตานี้..พระศาสดาตรัสสอนให้มีความรักเสมอด้วยตน ทำอย่างไรจึงจะเสมอด้วยตนได้ เราก็ต้องฝึกอบรมจิตระลึกอยู่เนืองๆว่า..
ก. เรามีความอยาก เขาก็มีความอยาก
ข. เรามีความโกรธ เขาก็มีความโกรธ
ค. เรามีความหลง เขาก็มีความหลง
ง. เรามีทำไม่ถูกกาล เขาก็มีทำไม่ถูกกาล
จ. เรามีกิเลส เขาก็มีกิเลส
ฉ. เราแสวงหาความสุขสำเร็จ เขาก็แสวงหาความสุขสำเร็จ
ช. เราไม่ต้องการทุกข์ เขาก็ไม่ต้องการทุกข์
ซ. เรามีทำผิดพลาด เขาก็มีทำผิดพลาด
ฌ. เรามีขี้เกียจเหนื่อยล้า เขาก็มีขี้เกียจเหนื่อยล้า
ญ. เรามีคนที่รักและเกลียด เขาก็มีคนที่รักและเกลียด
ฎ. เรามีความกลัว เขาก็มีความกลัว
ฎ. เรามีอคติลำเอียง เขาก็มีอคติลำเอียง
ฐ. เรามีอาการ ๓๒ ประการ เขาก็มีอาการ ๓๒ ประการ
ฑ. เราเป็นที่ประชุมโรค เขาก็เป็นที่ประชุมโรค
ฒ. เราเป็นทีี่ประชุมธาตุ ๖ เขาก็เป็นที่ประชุมธาตุ ๖
ณ. เรามีขันธ์ ๕ เขาก็มีขันธ์ ๕
ด. เราเป็นเพียงดวงจิตที่มีความแปรปรวนไปตามกรรม เขาก็เป็นดวงจิตอันมีความแปรปรวนไปตามกรรม
ต. เราเป็นสิ่งมีชีวิต เขาก็เป็นสิ่งมีชีวิต
ถ. เราแสวงหาความสงบ เขาก็แสวงหาความสงบ

ก็ทุกอย่างทั้งเราและเขาต่างก็เป็นสิ่งมีชีวิต เป็นสังขารที่มีในโลกด้วยกันทั้งสิ้น เป็นธรรมชาติที่มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนกัน ก็ย่อมมีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ดังนั้นแล้วเราจะไปติดข้องขัดเคืองใจ ผูกใจเจ็บแค้น ผูกอาฆาตปารถนาให้เขาฉิบหายก็หาประโยชน์สุขไรๆไม่ได้นอกจากโทษและทุกข์ต่อตัวเราเอง เพราะต่างก็เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตในโลกนี้เสมอกันเท่านั้น ซึ่งต่างก็มีกรรมเป็นแดนเกิด เป็นที่ติดตามอาศัย จะไปหมายมั่นเอาอะไรจากสิ่งมีชีวิตที่มีแต่ความแปรปรวน เสื่อมสูญ แล้วก็ดับไปได้เล่า เพราะละความติดใคร่ ติดข้องขัดเคืองใจ กับธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตทั่วไปออกเสียได้ เราจึงไม่เร่าร้อน ร้อนรนดั่งไฟสุมใจ ไม่มีสิ่งใดมาหน่วงตรึงขึงใจให้เศร้าหมอง ไม่ติดใคร่ก็ไม่ต้องร้อมรุ่มกระสันหนักให้ดิ้นรนแสวงหาที่จะได้มาครอบครองยิ่งหวนระลึกถึงยิ่งเป็นทุกข์ ไม่ติดข้องขัดเคืองใจก็ไม่เร่าร้อนให้จิตใจเราเศร้าหมองยิ่งหวนระลึกถึงยิ่งเป็นทุกข์ ไม่พึงควรไปจำเอาสิ่งที่แสวงหาประโยชน์สุขไม่ได้นอกจากทุกข์ทั้งปัจจุบันและภายหน้า สิ่งที่ทำให้เป็นสุขยั่งยืนอยู่ทุกๆขณะที่เข้าถึง แม้หวนระลึกถึงก็เป็นสุข คือ ความว่างจากทุกข์ ความไม่มีทุกข์ ..ถ้าเราและสิ่งมีชีวิตในโลกทั้งปวงนี้เป็นสุข ไม่มีทุกข์ คงไว้ซึ่งความสุขสำเร็จของตน ดังนี้แล้ว..สิ่งมีชีวิตทั้งหมดในโลกทั้งที่เรารักหรือชังจะกระทำความเบียดเบียนทำร้ายกันนั้น..ย่อมไม่มี
     ..ด้วยเหตุดังนี้จึงควรเป็นอย่างยิ่งที่เราจักกระทำความเมตา กรุณา มุิตา อุเบกขาแผ่ไปให้แก่สิ่งมีชีวิตทั้งปวงในโลก ดวงจิตทั้งปวงในโลก ได้รับความสุขสำเร็จประโยชน์ คงไว้ซึ่งสิ่งมีค่าของตน เพื่อละความเบียดเบียนซึ่งกันและกันได้ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะอยู่ในที่แจ้ง ที่มืด บ้านเรือน ที่พักอาศัย ที่โล่ง ที่แคบ เดิน 2 เท้า เดิน 4 เท้า เดิน 6 เท้า เดิน 8 เท้า มีปีก ไม่มีปีก บินได้ บินไม่ได้ เลื้อยคลาน บนดิน ใต้ดิน ในน้ำ ในอากาศ ตัวใหญ่ เล็ก ยาว สั้น หยาบ ละเอียด(สิ่งมีชีวิตที่เล็กมากมองไม่เห็นด้วยตา เช่น พวกเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย ริ้น ไร) สิ่งมีชีวิตทุกซอกมุมในโลก ดวงจิตในภพภูมิทั้งปวง


     ..เมื่อจะหัดแผ่เมตตาแบบเจโตวิมุตติให้ฝึกทำไว้ในใจเพื่อแผ่เมตตาให้เขาตามบทแผ่เมตตาดังนี้..

สัพเพ สัตตา สะทา โหนตุ อะเวรา สุขะ ชีวิโน

(หน่วงนึกถึงสิ่งมีชีวิตทั้งปวงในโลกไม่เบียดเบียนทำร้ายกัน)ขอให้สัตว์ทั้งหลาย อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย
(ขอให้สิ่งมีชีวิตทั้งปวงในโลกเป็นผู้มีสุข ปราศจากทุกข์ มีความเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน)จงเป็นผู้ดำรงชีพอยู่เป็นสุขทุกเมื่อเทอญ ฯ

สัพพัง ปุญญัง ผะลัง มัยหัง สัพเพ ภาคี ภะวันตุ เต

(หน่วงนึกถึงบุญกุศล บารมี ศีล ทาน ภาวนาทั้งปวงอันที่ตนได้ทำมาแล้วในคราวนี้ หรือแม้ในกาลก่อนก็ดี บารมีธรรมอันสะสมมาดีแล้วทั้งปวง)
ขอให้สัตว์ทั้งหลาย จงได้เสวยผลบุญ ที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญด้วย กาย วาจา ใจ แล้วนั้นเทอญฯ
(ตั้งจิตมั่นหน่วงนึกระลึกแผ่เอาบุญกุศลทั้งปวงไปให้สิ่งมีชีวิตในโลกทั้งที่รัก ที่ชัง ที่กลัว รู้จัก ไม่รู้จัก เล็ก ใหญ่ สั้น ยาว หยาบ ละเอียด ในที่โล่ง ที่แคบ ในพี่พักอาศับ บนดิน ใต้ดิน เบื้องบนในที่สูง ในอากาศ ในน้ำ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงในโลก อมนุษย์ พญายมราช ภูติผี สัมภเวสี นรกภูมิทุกชั้นจนถึงเปรต เทวดาอารักษ์ พระภูมิเจ้าที่ ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ พระอิมทร์ เทพบุตร เทพธิดา มหาเทพในสวรรค์ทุกชั้นฟ้า แผ่ไปไม่มีประมาณถึงชั้นพระนิพาน..)

ให้ฝึกหน่วงนึกระลึกหัดแผ่ไปให้ครบ แรกๆจะใช้เวลานาน พอเมื่อจิตมันชิน มันทำไว้ในใจเป็นมันวูบเดียว แค่ขณะจิตหนึ่งเท่านั้นสำเร็จครบหมดทันที

๒. ภาวนา สะสมเหตุให้ใจผ่อนคลาย ตั้งมั่น ฉลาดในการปล่อยวาง หรือ ทำให้พุทโธให้เป็นลมหายใจเข้า-ออก





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กันยายน 01, 2016, 12:59:28 PM

บันทึกกรรมฐานวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๙

วิธีในการเจริญมหาสติปัฏฐานตามกาล(๑. ลม หรือ พุทโธ)

๒. กรรมฐานภาวนา เจริญอานาปานสติ สะสมเหตุให้ใจผ่อนคลาย ตั้งมั่น ฉลาดในการปล่อยวาง หรือ ทำให้พุทโธให้เป็นลมหายใจเข้า-ออก

"ยิ่งเราเจริญได้ดีเท่าไหร่ บ่อยๆมากเท่าไหร่ ยิ่งสะสมมาก จิตเราก็ยิ่งมีกำลังมากเท่านั้น" และ ทำให้เอื้อประโยชน์แก่ สติ สัมปะชัญญะได้มากเท่านั้น "เพราะกรรมฐาน ๔๐ กองทั้งปวง เป็นการฝึกให้สติเราตั้งมั่นเป็นอารมณ์เดียวไม่สัดส่ายมีความรู้ตัวทั่วพร้อมกำกับอยู่ทุกขณะ ทำให้จิตตั้งมั่นจดจ่ออยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้นานตาม" เมื่อเราเจริญภาวนาอบรมจิตให้สติตั้งมั่นได้มากเท่าไหร่ จิตก็จะตั้งมั่นจดจ่อเป็นอารมณ์เดียวอยู่ได้นานมากเท่านั้น
   ..เมื่อจิตตั้งได้มากบ่อยๆเนืองๆ ก็ทำให้สติก็เกิดได้บ่อยขึ้น ไวขึ้น ถี่ขึ้นตาม สะอาดขึ้น บริสุทธิ์มากขึ้น มีกำลังมากขึ้น จิตก็บริสุทธิ์ตาม..เพราะเวลาที่จิตตั้งมั่น..สติมีกำลังระลึกรู้มากขึ้น จิตมันจะไม่สัดส่ายไหลไปตามสมมติความคิดปรุงแต่งที่จรมา ทำให้จิตเราได้พักอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง จิตจึงมีกำลังมากไม่เคลิ้มเอนเอียงไปตามกิเลสง่าย เห็นจริงต่างหากจากสมมติง่ายขึ้น..
   ..ด้วยเหตุดังนี้แล้ว เมื่อจิตเราตั้งมั่นมีสัมปะชัญญะและสติบริสุทธิ์ ไม่เอนเอียงหลงเคลิ้มไหลไปตามกิเลส ย่อมได้รับอานิสงส์ดังนี้คือ..
ก. มีกุศลจิตเกิดขึ้นง่าย กุศล แปลว่าฉลาด มีจิตเป็นกุศล จิตเราก็มีความฉลาดในการปล่อยวาง
ข. ทมะ (ความข่มใจจากกิเลสไว้ได้ สัมมาสังกัปปะ ความคิดชอบ )
ค. อุปสมะ(ความสงบใจจากกิเลส)
ง. ขันติ (ความทนได้, อดใจละไว้ได้ ด้วยรู้ธรรมารมณ์ที่ควรเสพย์ และ ธรมารมณ์ที่ไม่ควรเสพย์)
จ. โสรัจจะ(สีลสังวร รู้กาลอันควรที่ควรทำในปัจจุบัน, น้อมใจปล่อยวาง, ถึงความเย็นใจ )
ฉ. อุเบกขา(วางใจไว้กลางๆไม่ยินดี-ยินร้าย, วางเฉยไม่ยึดสมมติกิเลสของปลอม, ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้, ไม่ยึดสมมติ, ความว่าง, ความไม่มี)
ช. ปัญญา(ญาณทัสนะ ความรู้แจ้ง เห็นจริงตา่างหากจากสมมติ สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ, นิพพิทาญาณ, ความตื่น ความอิ่มพอกับสมมติไม่กระหายหลงใหลในสมมติของปลอมอยู่อีก, วิราคะ ตัดขาดจากสมมติ, วิมุตติ ความเบิกบานหลุดพ้นสมมติ)
 เป็นอานิสงส์

** ให้ภาวนาอบรมจิต บ่อยๆ อย่างน้อยช่วงเวลาเมื่อรู้ตัวตื่นนอนใหม่ๆ และ ช่วงก่อนนอนโดยทำจนหลับไปเลย  ผู้ใดที่ทรงฌาณได้บ่อยๆ สติสัมปะชัญญะมันจะเกิดขึ้นไวมาก เพราะเคยอบรมทำเหตุให้สติมีกำลังแล้วนั่นเอง และจิตมันจะจับลมหายใจเองเลยเพราะจิตมันรู้ด้วยตัวของมันเองว่านี่คือของจริง ไม่ยึดเอาสมมติอีก**


..หากเจริญได้น้อย ผิดพลาดบ่อยโดยความหลงลืม ระลึกไม่ได้ หรือ แทบจะทำไม่ได้เลย อย่าเพิ่งไปคร่ำเคร่งจดจ้องว่าจะเอาจะทำให้ได้เดี๋ยวนั้นตอนนั้น เพราะกำลังของสติเรายังน้อย ไม่มีกำลังสู้กิเลส บารมีเรานี้ยังน้อง ยังไม่มี ยังไม่เคยสะสมเหตุมา ต่างกับพระศาสดาและพระอริยะสงฆ์ทุกๆท่าน ท่านทำสะสมข้ามภพข้ามชาติมานานนับอสงไขยจึงทำได้ เมื่อรู้อย่างนี้..เราก็ต้องตั้งมั่นตั้งใจใน ศีล ทาน ภาวนา มากขึ้น..หน่วงนึกระลึกถึง ศีล ทาน ภาวนาให้บ่อยขึ้นแล้วตั้งจิตมั่นทำมันให้บ่อยๆขึ้น เมื่อระลึกถึงทุกๆขณะจิตมันจะชินแล้วจดจำให้ความสำคัญกับ ศีล ทาน ภาวนามากขึ้น มันจะระลึกถึง ศีล ทาน ภาวนามากขึ้น..หาความพอใจยินดีในศีล ทาน ภาวนาให้ได้ หากมีความพอใจยินดีใน ศีล ทาน ภาวนาได้จิตมันจดจ่อใน ศีล ทาน ภาวนาเองเลย ความเพียรใน ศีล ทาน ภาวนา เกิดขึ้นมาเองทันที..ข่มใจมากขึ้น ทำขันติให้มากขึ้น..แรกๆมันอาจจะเป็นขันอัดคือข่มอด ข่มอัด ลำบากทรมานนัก เพื่อที่จะทานความชอบ ความชังในตน ให้พยายามคิด ทบทวน เห็นทุกข์และโทษหากผิดศีลให้มาก แล้วทำพุทโธนี้แหละอัดเข้าไป เอาความคิดถึงพุทโธนี้เข้าแทนความอยาก ความชัง ความริษยา ความตระหนี่ของตน พึ่งระลึกว่าความคิดเหล่าใดทั้งปวงที่เป็นไปในอกุศล ย่อมนำพาทุกข์มาหาตนทั้งหมด ความคิดมันก็เพียงสมมติกระตุ้นอารมณ์กิเลส ไม่ยึดความคิดก็ไม่ยึดสมมติ

    เมื่อเรายังเป็นแค่ปุถุชนเราย่อมดับความคิดไม่ได้ วิธีแก้ที่ครูบาอาจารย์สอนให้เราโดยตรง มีดังนี้

1. หลวงปู่บุญกู้ ท่านสอนเราโดยตรงในสมัยที่ไปขอกรรมฐานท่านว่า หลวงปู่ครับผมทุกข์กับความคิดอกุศลธรรมอันลามกจัญไรของผมมาก ความคิดลามกจัญไรผมมีมากเหลือเหลือเกิน ท่านก็ได้กรุณาสอนเรามาว่า..อย่าไปคร่ำเคร่งกดดันตัวเอง เพราะเราน่ะมันก็แค่คนปกติธรรมดาทั่วไปเหมือนคนอื่นเขานั่นแหละ มันยังละไม่ได้หรอก มันเป็นธรรมชาติของคนธรรมดาทั่วไปที่จะมีอยู่ จะเกิดขึ้นมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าเราทำเหตุสะสมในอกุศลนั้นๆทับถมมากน้อยเนิ่นนานเท่าใด เวลาที่มันคิดชั่วคิดแต่สิ่งไม่ดี ก็ให้เราเอาความคิดดี ความมีจิตใจดีงามเอื้อเฟื้ออารีย์อัดเข้าไปแทน
    เอาความคิดดับความคิด เช่น ถ้ามันคิดให้เกิดโลภ คิดให้เกิดกำหนัด คิดให้เกิดโกรธแค้น คิดให้เกิดความเกลียดชัง คิดให้เกิดความพยาบาท เราก็เอาความคิดดีๆอัดเข้าไปแทน เอาพุทโธอัดเข้าไปบ้าง ทำพุทโธนี้ให้เป็นปัจจุบัน ลมหายใจนี้แหละเป็นของจริงที่อยู่ในปัจจุบันนี้ เอาความคิดเอ็นดู ปรานี เอื้อเฟื้อ อารีย์ที่ไม่มองในแง่ร้าย ไม่เบียดเบียนทำร้ายเขาเข้าไปแทนที่ เอาจิตใจที่ดีเข้าไปแทน หากเจอเรื่องร้ายจากภายนอกจากใครมาแแล้วเราไปคิดร้ายเขา พูดร้ายตอบเขา ทำไม่ดีตอบเขา เรานี้มันก็ไม่ต่างจากเขาเลย เอาจิตใจที่ดีทับถมแทนที่จิตใจไม่ดีอยู่ประจำๆมันก็จะสะสมเหตุดีมากขึ้น เกิดได้บ่อยขึ้น มากขึ้น จนไม่มีที่ว่างให้ความคิดชั่วเกิดขึ้นได้

2. หลวงพ่อเสถียร ท่านสอนเราโดยตรงสมัยที่เข้าไปหาท่านขอกรรมฐานจากท่านว่า หลวงพ่อครับความคิดจัญไรผมมันหลสยคักแท้ บ่มีมื่อได๋ผมบ่ทุกข์กับความคิดขัญไรนี้ๆ สิแก้มันจังได๋น้อความหลวงพ่อ ผมขอกรรมฐานใช้ละมันจากหลวงพ่อแน่ครับ หลวงพ่อท่านก็ได้กรุณาสอนเรามาว่า..มันแค่สมมติ มันติดสมมติ ความคึดก็สมมติ ความฮู้สึกเป็นนั่นเป็นนี่จังซั่นจังซี่อยากนั้นอยากนี่ก็สมมติทั้งเมิด ของปลอมเมิดนั่นแหละ กิเลสมันสร้างขึ้นมาหลอกให้จิตหลงตามทั้งสิ้น อย่าไปหลงยึดสมมติ อย่าไปหลงความคิดมันของปลอมทั้งนั้น จิตมันฮู้แต่สมมติ บ่ยึดสิ่งที่จิตรู้ กะบ่ยึดสมมติ อย่าทิ้งพุทโธ อย่าทิ้งลมหายใจ

3. หลวงปู่เยื้อน โอภาโส ท่านสอนเราโดยตรงเมื่อเราเข้าไปถามท่านที่ศาลาลุงชินว่า หลวงปู่ครับทำยังไงถึงจะละความคิดอกุศลได้ครับ ท่านก็ได้กรุณาสอนมาว่า โอ๊ยมันดับไม่ได้หรอก มันเป็นไปของมัน บังคับมันได้ที่ไหน มันเกิด มันเป็นไป มันดับของมันเอง ความคิดมันเป็นนาม ถ้าจะดับก็ดับที่นาม ใช้นามดับนามนี้แหละ (นามดับนามนี้..ก็เหมือนที่หลวงปู่บุญกู้สอนเราไว้นั่นเอง)

4. หลวงปู่อินตอง วัดป่าวีระธรรม กับ หลวงตาแหวน วัดป่าหนองนกกด อ.พังโคน จ.สกลนคร ท่านเป็นญาติทางแม่ของเรา วันนั้นกลับบ้านได้แล้วได้มีโอกาสไปกราบนมัสการและทำบุญกับท่าน รดน้ำท่านทั้ง 2 ในวันสงกรานต์ ท่านได้กรุณาสอนเรามาว่า พุทโธนี่ดีสุด ประเสริฐสุด ทิ้งพุทโธบ่ได้เลย อย่างทิ้งเด็ดขาด ให้เฮ็ดหลายๆ มันสิได้เอง เอาแต่เว่าบ่เฮ็ดมันบ่ได้ดอก

5. หลวงปู่ฤๅษีลิงดำ ท่านได้เทศนาไว้ว่า พระอริยะนี้ เวลาท่านเห็นอะไร รู้อะไรภายนอก ท่านพิจารณาเรื่องกรรมก่อนเลยว่า แต่หนก่อนนั้นๆ กาลก่อนโน้น ชาติก่อนโน้นคนๆนี้ทำกรรมอะไรมาหนอ เป็นบุญกุศลหรือบาปอกุศลเหล่าใด จึงเป็นวิบากให้มี รูปร่างหน้าตางดงามหรือขี้เหร่  มีโรคหรือไม่มีโรคร้าย ฐานะดีหรือยากแค้น บริวารมากหรือไม่มีใครเหลียวแลเลยอย่างนี้ๆ
(หลวงปู่บุญกู้เคยเทศนาไว้ว่า ศีล ทำให้รูปร่างหน้าตาผิวพรรณดีงามและอายุยืนไม่มีโรค, ทาน ทำให้มีทรพย์บริวารมากอยู่เป้นสุขสบาย, ภาวนาทำให้ฉลาดไม่เป็นคนโง่ไม่หลงง่าย)

6. ใช้ตัณหาละตัณหา เหมือนตอนที่พระศาสดาพาพะนันทะเถระ ผู้เป็นพระอนุชาที่กำลังกระสันกำหนัดนักจะสึกให้ได้ ขึ้นไปดูนางอัปสรทั้ง 500 ทำให้พระนันทะเถระนั้นยินดีในนางอัปสรยิ่งนัก แล้วมีจิตหมายปองนางอัปสรที่งดงามทั้ง 500 นั้น ขณะนั้นก็ได้สนทนาถามกับพระพุทธเจ้า มีตอนหนี่งที่พระพุทธเจ้าจะได้ตรัสรอบรองเรื่องนางอัปสรทั้ง 500 แก่พระนันทะเถระว่า เมื่อพระนันทะเถระนั้นตั้งใจมั่นพากเพียรเจริญปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระถาคต ย่อมได้ครอบครองนางอัปสรทั้ง 500 นี้แน่นอน ด้วยเดชแห่งบุญนั้น พระนันทะก็จึงตั้งใจพากเพียรเจริญปฏิบัติไม่ให้กิเลสเข้าครอบงำ มีความรู้ตัวอยู่ทุกๆขณะทุกๆอิริยาบถ ภาวนาอบรม กาย วาจา ใจไม่ขาด ไม่ให้กิเลสเล็ดลอดเข้ามาได้ ไม่นานก็บรรลุธรรมสำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วเข้าไปกราบขอยกเลิกซึ่งคำรับรองนั้นกับพระพุทธเจ้า ด้วยสิ่งที่พระพุทธเจ้าใช้อุบายกับพระนันทะเถระนี้แลเราได้นำเอาแนวทางนั้นมาประพฤติปฏิบัติตามเวลาเกิดความกรัสันกำหนัดนักต่อหญิงสาวงดงามที่เห็น โดยได้พึงน้อใระลึกว่า เรานี้มีบุญน้อย บารมีสะสมยังไม่พอที่จะได้ครอบครองเธอที่งดงามเหล่านั้น เรายังต้องสะสมบารมีธรรมทั้ง สัจจะ ศีล ทาน สุตะ จาคะ สติ สมาธิ ปัญญา อีกมากจึงจะมีบุญบารมีพอได้ครอบครองหญิงสาวที่งดงาม สวย รวย ฐานะ การงาน การเงินดีเช่นเธอเหล่านั้นได้ ด้วยเพราะบุคคลที่เกิดมาคู่กัน ย่อมมี ศรัทธา สัจจะ ศีล สุตะ จาคะ สติ สมาธิ ปัญญาเสมอกันดังคำสอนของพระศาสดาที่ว่า...
คู่บุพเพสันนิวาส

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภรรยาและสามีทั้งสองพึงหวังพบกันและกันทั้งในปัจจุบัน และในสัมปรายภพ ทั้งสองเทียวพึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน ภรรยาและสามีทั้งสองนั้น ย่อมได้พบกันและกันทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ.

ภรรยาและสามีทั้งสอง เป็นผู้มีศรัทธา รู้ความประสงค์ของผู้ขอ มีความสำรวม เป็นอยู่โดยธรรม เจรจาถ้อยคำที่น่ารักแก่กันและกัน ย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีความผาสุกทั้งสองฝ่าย มีศีลเสมอกัน รักใคร่กันมาก ไม่มีใจร้ายต่อกัน ประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว ทั้งสองเป็นผู้มีศีลและวัตรเสมอกัน ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์ เพลิดเพลินบันเทิงใจอยู่ในเทวโลก.

ฆราวาสชั้นเลิศ หน้า ๗๙
(ภาษาไทย) จตุกฺก. อํ. ๒๑/๖๑/๕๖.




หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กันยายน 01, 2016, 01:02:32 PM

บันทึกกรรมฐานวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๙

วิธีในการเจริญมหาสติปัฏฐานตามกาล(๑. ลม หรือ พุทโธ)

เมื่อจะเจริญตามกาล

เมื่อเพียรฝึกฝนทำเหตุตามข้อที่ ตามข้อที่ ๑ และ ๒ เป็นประจำ จะทำให้สติมีมาก เพราะมีความเพียรตั้งอยู่ใน ศีล ทาน ภาวนา สติเกิดก็จะมีมากตามเพื่อจะประครองให้เราดำรงใน ศีล ทาน ภาวนา ได้ดี

    ดังนี้แล้วเมื่อเห็นเมื่อรู้อะไรที่ทำให้เกิด ราคะ โทสะ โมหะ เราจะระลึกถึงพุทโธทันทีเลย หากหลงลืมให้สำเหนียกทบทวนตนอยู่เสมอๆว่า พุทโธ นี้คือ ปัจจุบัน, พุทโธ คือ สติ, พุทโธ คือ ผู้สงัดจากกิเลส พุทโธ คือ พระพุทธเจ้า ไม่มีคำบริกรรมใดประกอบไปด้วยคุณเท่าพุทโธ คำบริกรรมพุทโธนี้ไม่มีโทษ ไม่มีทุกข์ ตั้งอยู่ด้วยความไม่มีทุกข์ ไม่หลงสมมติความคิด
"แล้วฝึกหากเวลา เมื่อรู้ตัวว่าเกิดความหลงไปในราคะก็ดี หรือ โทสะก็ดี ให้เรานึกถึงพุทโธไว้ก่อนสิ่งอื่นใดทั้งปวงทันที" กำหนดลมหายใจเข้าออกบริกรรมพุทโธกำกับยาวๆไว้ก่อนสัก 3-5 ครั้ง แล้วค่อยๆผ่อนหายใจตามปกติบริกรรมพุทโธยาวหรือสั้นตามลมหายใจเข้าออกยาวหรือสั้นไปที่ปลายจมูกบ้าง หว่างคิ้วบ้าง หน้าผาก กลางกระหม่อมบ้าง โพรงกระโหลกบ้าง ท้ายทอย ลำคอบ้าง หน้าอกบ้าง ท้องน้อยบ้าง ใต้สะดือบ้าง ปลายเท้าบ้าง จุดทั้งหมดนี้เป้นจุดที่ลมผ่าน เป็นที่พักลม หรือ รู้ว่าที่ลมเคลื่อนตัวพัดเข้าโพรงจมูกเบาๆยาวๆไปให้สุดกึ๊กหยุดค้างอยู่ จิตรวมลงอารมณ์สมถะ หายใจออกลมเบาๆยาวบ้างสั้นบ้างจากภายในกายมีท้องน้อยเป็นต้นไหลผ่านออกมาทางโพรงจมูก หากเข้าอารมณ์สมถะไม่ได้ ก็เป็นการเรียกสติสัมปะชัญญะเรากลับมา แล้วตั้งมั่นรู้ที่ปัจจุบัน จากนั้นเอาความคิดชอบแทรกแทรงความคิดอกุศลอย่างนี้ๆเป็นต้นว่า..
- หากเป็นราคะเกิด ก็ระลึกทำตามธรรมชาติของพระอริยะสงฆ์ คือ น้อมนำเนาสันดานของพระอริยะเจ้ามาสถิตย์แทนสันดานปุถุชนในตน คือ พิจารณาดูกำก่อนเพื่อน นั้นเมือ่ท่านเจออะไรท่านมักจะคิดก่อนเลยว่า เขาทำบุญทำกรรมอะไรมาจึงมีผลรูหร่างหน้าดาหยาบหรือละเอียดอย่างนี้ หรือ พบเจอสิ่งดีสิ่งร้าย มีโอกาส ไม่มีโอกาสอย่างนี้ เมื่อพิจารณาใคร่ครวญเห็นแล้วย่อมเข้าใจว่า เมื่อเรามีความปารถนานี้ๆตั้งอยู่ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระบรมศาสดาตรัสสอนว่า ให้ทำบารมีตนให้คู่ควรเสมอกันจึงจะทำให้ ได้อยู่ ได้ทำ ได้มี ได้ครองเสมอกัน ที่เรากำลังคิดเกินเลยต่อเขาอยู่นี้เป้นการเพ่งภัณฑะขิงผู้อื่นบ้าง มีจิตคิดเบียดเบียนให้เขาที่งดงามต้องมัวหมองเพราะเราบ้าง ดังนั้นหากเราจะททำบารมีให้คู่ควรเขาดีแล้ว เราควรอดใจจากราคะไว้เสีย พึงมองเขาด้วยความเอื้อเฟือประโยชน์สุขอันดีงามแก่เขา

- หากเป็นโทสะ เวลาที่เราโกรธเขา แค้นเขา ริษยาเขา เขาได้มาเล่าร้อน จะเป็นจะตายอัดอั้นคับแค้นกายใจเหมือนเราไหม ก็ไม่เลย ก็มีแต่เราเท่านั้นผู้ที่ผูกโกรธอยู่กำลังถูกเผาด้วยไฟคือโทสะ ให้ทำเมตตาโดยพิจารณาแบบข้างต้น และ ทำจิตให้เกิดการให้อภัย เพราะการให้อภัย อภัยทานคือการช่วยเราเองไม่ให้เร่าร้อนด้วยไฟ คือ โทสะ ไม่ต้องอึดอัด คับข้อง คับแค้นกายใจ เมื่อเราให้อภัยเขาได้ เราไม่เร่าร้อนอะไรแล้ว หากเขาไม่พอใจพยายามที่จะหาทางทำร้ายเรา เขาเองนั้นแหละที่กำลังทำร้ายตนเอง เพราะถูกไฟ คือโทสะแผดเผา ให้มอดไหม้อยู่ด้วยผลของกรรมนั้น (โทสะสำเร็จที่ใจ ก็เป็นเจตนาเบียดเบียน คือ มโนกรรม) ในขณะที่เราผู้ไม่ผูกโกรธ ไม่พยาบาทมันสบายเฉยๆ ไปที่ใดก็เย็นใจไม่มีอะไร ไม่ใส่ใจให้ความสำคัญอะไรกับสิ่งที่เป็นทุกข์  นี่การให้อภัยมันเป็นอย่างนี้ มีความเย็นใจเป็นอานิสงส์

"...คิดดูสิว่า การให้อภัยผู้อื่น มันเป็นการช่วยใคร ? ที่จริง ก็เป็นการช่วยตัวเราเอง เราไม่ต้องเครียด ไม่ต้องเศร้าหมอง ไม่ต้องอึดอัดอีกแล้ว ถือว่าหมด มันหมดอยู่ที่ตัวเรา หมดอยู่ที่ในจิตใจของเรา..."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์ท่านพระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ
จากหนังสือ: โกรธทำไม หน้าที่ ๕๓

- หากเป็นโมหะ มันจะมีความหลงไหลไปตามอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ มีราคะหรือโทสะคลุกกรุ่นติดตรึงในอารมณ์ที่ตรึกตรองที่เกิดมีขึ้น เช่นเมื่อเกิดราคะจิตก็จะคลุกกรุ่นติดตรึงเวียนวนในความกระสัน ฝักใฝ่ ติดใคร่ หมายใจจะเสพย์นั้นๆวนไปวนมา จนไม่รู้ตัว เป็นผู้หลงลืมไม่รู้ตัว ระลึกไม่ได้ ไม่รู้ปัจจุบัน ไหลไปอดีตบ้าง อนาคตบ้าง สิ่งที่ไม่เคยเกิดไม่เคยมีขึ้นโดยอาศัยสัญญาแล้วปรุงแต่งเรื่องราวไปบ้าง
ให้ทำสติ สมาธิ ปัญญาให้เห็นจริงบ่อยๆ ปุถุชนอย่างเราๆนี้ เมื่อทำสติให้มีกำลังมากก็พอจะรู้ตัวในปัจจุบันไวขึ้นได้ เมื่อรู้ตัวว่าหลงไปตามสมมติเรื่องราวที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกจิตอยู่ไม่ว่าจะเป็นราคะก็ดี หรือโทสะก็ดี ให้พึงเจริญว่า..ความตรึกตรองที่เป็นไปใน ราคะ โทสะ ทั้งปวง เป็นทุกข์ ความคิดทั้งปวงล้วนเป็นสมมติที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกให้จิตเสพย์จิตหลงทั้งหมด ไม่ยึดความคิด ไม่ยึดอกุศลก็ไม่ทุกข์ แต่ธรรมชาติใดคิด ธรรมชาตินั้นชื่อว่าจิต ปุถุชนอย่างเราละความคิดไม่ได้ เราก็ตั้งมั่นในพุทโธนี้แหละ เพราะว่า..
- พุทโธ คือ ชื่อพระนามของพระพุทธเจ้า
- การบริกรรมตรึกถึงพุทโธ คือ กุศลวิตก
- พุทโธ คือ ของจริง เป็นกริยาของจิตที่มีสติสัมปะชัญญะ รู้ตัว รู้ใจ รู้ปัจจุบัน รู้ของจริง รู้ตัวตนที่สมมติ รู้แจ้งเห็นจริงซึ่งของจริงต่างหากจากสมมติ ไม่ติดใจข้องเสพย์หลงอยู่ในสมมติของปลอม

    เมื่อจะเจริญพุทโธ ให้ตั้งมั่นว่าเราจักเป็นผู้รู้ปัจจุบัน รู้ของจริงต่างหากจากสมมติตามพระตถาคต องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดา จะไม่หวั่นไหวไปตามสมมติกิเลสของปลอมถึงความเป็นผู้ตื่น และ ถึงความมีจิตดับสิ้นสมมติกิเลสของปลอมมีจิตผ่องใสดุจดวงประทืปไม่เร่าร้อนไม่หน่วงตตรึงจิตอีก ถึงความเป็นผู้เบิกบานพ้นจากสมมติกิเลสของปลอม
    เมื่อหายใจเข้าบริกรรมพุท หายใจออกบริกรรมโธ ความคิดเราก็เป็นกุศลวิตกแล้ว พุทโธนี้เป็นความคิดที่ไม่มีโทษ ไม่มีกิเลส ไม่เร่าร้อน มีความเย็นใจมีคุณหาประมาณไม่ได้ เพราะเป็นความตรึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ดับสิ้นไฟกิเลสโดยสิ้นเชิงแล้ว เป็นการเรียกชื่อพระพุทธเจ้า เรียกคุณของพระพุทธเจ้า (เปรียบเหมือนกับน้ำคนไทยเรียกน้ำฝรั่งเรียก water แต่มันคืออันเดียวกันฉันใด ถ้าภาษาไทย คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน, ถ้าภาษาบาลี คือ พุทธะหรือพุทโธ และ พุทโธเป็น พระนามของพระพุทธเจ้า เป็นกิริยาจิตที่มีอยู่จริงเข้าถึงได้จริงฉันนั้นแล)
    เมื่อเจริญพุทโธไปเรื่อยๆ จะทำให้จิตเรามีสัมปะชัญญะและสติ เพราะลมหายใจ คือ ของจริงที่มีอยู่ในกายเรา เป็นวาโยธาตุที่มีในกายที่ประชุมกันขึ้นเป็นกายนี้..นี่รู้ของจริงรู้ธรรมธาตุในกายแล้วอย่างนึง รู้ว่ากำลังหายใจเข้าหรือออกในปัจจุบันนั้นนี้แหละเป็นผู้รู้ตัวในปัจจุบันอยู่ ไม่ไหลไปตามอารมณ์สมมติความคิด คือ การฝึกให้จิตตนเป็นพุทโธ คุณที่ว่าด้วยความเป็น "ผู้รู้" นั่นเอง



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กันยายน 01, 2016, 01:07:23 PM

บันทึกกรรมฐานวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๙

วิธีในการเจริญมหาสติปัฏฐานตามกาล (ข. ปัจจุบัน)

ก. ลม หรือ พุทโธ

ข. ปัจจุบัน

ค. อิริยาบถ

ง. สมมติ


ข. ปัจจุบัน คือ สัมปะชัญญะ เป็นความรู้ตัวทั่วพร้อมในปัจจุบัน ว่า ตนกำลังดำเนินกิจการงานไรๆอยู่ กำลังเป็นไปแบบไหน อย่างไร มีสติรู้อยู่ในงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน "สัมปะชัญญะนี้มีคุณมากคู่กับสติ สำหรับปุถุชนอย่างเราๆนี้มีอานิสงส์ คือ ทำให้ไปติดข้องสมมติความคิดนั่นเอง"

วิธีฝึกแบบง่ายๆ

ให้พยายามรู้ตัวอยู่ทุกเมื่อ เวลาเจริญปฏิบัติ เราทำกิจการงานไรๆอยู่ เป้นไปแบบไหน ยังไง ก็ให้รู้ว่ากำลังอยู่อย่างนั้นทำสิ่งนั้นๆในปัจจุบัน ทำความสำเหนียกรู้ตัวในปัจจุบ้าง หรือ กำหนดคำบริกรรมว่าหนอๆ..
   .. "คำบริกรรมว่า "หนอ" ทั้งหลายทั้งปวงนี้ คือ สัมปะชัญญะ ทำความรู้ตัวทั่วพร้อมให้มีสัมปะชัญญะเกิดคู่กับสตินั่นเอง" ส่วนคำที่ใช้กำหนดรู้นั้นจะสั้นยาวก็ขึ้นอยู่กับถูกจริตใครมากน้อย คนติดสมมติมากคิดมากวิตกมากฟุ้งมากก็ใช้คำบริกรรมยาวเพื่อกำกับรู้อัดแทนสมมติกิเลสของปลอม สมมติความคิดฟุ้งซ่าน คิดน้อยฟุ้งน้อยก็ใช้คำบริกรรมกำหนดรู้สั้น ตามแต่จะถูกจริตตน แต่โดยมากแล้วคำที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนมาก็มีบอกให้เรากำหนดรู้ไว้อยู่แล้วตามแต่ละสำนักนั้นๆ อย่างเราครูบาอาจารย์ท่านสอนมาดังนี้เพื่อให้เรามีกำลังทั้ง สติ และ สัมปะชัญญะ สมัยที่เราบวชเรียนกรรมฐานกับพระครูสุจินต์ ธัมมวิมล ตลอดเวลา ๑ พรรษาท่านก็สอนเราทั้งพุทโธ ทั้งกำหนดหนอ ทั้งอานาปานสติ สอนวางใจให้เป็นปรกติ มีความสงบ กายใจ เป็นสุขสบายกายใจก่อนเข้าสมาธิ เพื่อให้จิตถึงสมาธิได้ง่ายตามที่พระศาสดาสอนเอาไว้ในอานิสงส์สูตรว่า ความสงบ มีสุขเป็นอานิสงส์, ความสุข มีสมาธิเป็นอานิสงส์ การฝึกสัมปะชัญญะให้เป็นกำลังร่วมกับสติและสมาธิ

ก. มองเห็น..ก็ให้รู้ตัวว่ามองเห็นอยู่..สำเหนียกรู้ว่าในปัจจุบันตนกำลังมองเห็นสิ่งนั้นๆอยู่ (ให้รู้สิ่งนั้นแค่เพียงปัจจุบันที่เห็นอยู่เท่านั้น มองจุดใหญ่ๆ รวมๆ ไม่มองส่วนเล็กส่วนน้อย ไม่มองที่ลับของเขา ไม่สืบต่อเรื่องราวเกินจากที่ตนเห็นไปตามสมมติกิเลสความคิด)
- บางท่านอาจจะใช้คำบริกรรมกำกับความรู้ตัว คือ เห็นหนอๆ, เห็นคนหนอๆ เห็นสัตว์หนอๆ เห็นผู้ชายหนอๆ, เห็นผู้หญิงหนอ, เห็นคนกำลังยืน, หรือกำลังวิ่ง, หรือกำลังเดิน, หรือกำลังนั่ง, หรือกำลังนอน, หรือกำลังเล่น, หรือออกกำลังกาย, หรือกำลังอยู่นิ่งไม่เคลื่อนไหว, เห็น(สิ่งไรๆทำลักษณะนี้ๆ)อยู่หนอๆ

ข. ได้ยิน..ก็ให้รู้ตัวว่าได้ยิน..สำเหนียกรู้ว่าในปัจจุบันตนกำลังได้ยินได้ฟังเสียงอยู่เท่านั้น เมื่อรู้ว่าเป็นเสียงอะไร ก็ให้รู้แค่นั้นไม่ต้องไปติดสมมติความคิดสืบต่อ เมื่อเรากำลังได้ยินเสียงเขาพูดสนทนากับเรา เราก็แค่รู้ว่าเขากำละงพูดอย่างนั้นๆ เขากำลังพูดคำนั้นๆกับเรา เขากำลังสนทนาคำนั้นกับเรา เขากำลังพูดสนทนาเรื่องนั้นๆกับเรา เขากำลังพูดถึงตรงนั้นๆกับเราอยู่ (รู้ความหมายของคำนั้นๆที่ได้ยินอยู่ โดยไม่สำคัญใจหมายรู้คำพูดเหล่านั้นให้เป็นไปความพอใจยินดีหรือไม่พอใจยินดี ไม่สืบต่อสมมติความคิดให้เป็นคำที่รัก ที่ชัง)
- บางท่านอาจจะใช้คำบริกรรมกำกับความรู้ตัว คือ ได้ยินหนอๆ, ได้ยิน(คำพูดนี้ๆ)อยู่หนอ, เสียงหนอๆ, รู้เสียงหนอๆ(คือ ใช้บัญญัติแทนคำกำหนดรู้ เมือ่เรารู้ต้นเสียงว่าเป็นเสียงอะไร อย่างไร ความหมายยังไง แบบไหน)

ค. พูด..ก็ให้รู้ตัวว่าพูด..สำเหนียกรู้ว่าในปัจจุบันตนกำลังพูด กำลังคุยสนทนาอยู่กับใคร อย่างไร  ฝึกพูด Present งาน กำลังพูด Present งาน กำลังพูดเรื่องอะไร พุดถึงสิ่งใด ถึงตรงไหนแล้ว
- บางท่านอาจจะใช้คำบริกรรมกำกับความรู้ตัว คือ พูดหนอๆ พูดเรื่องอะไร พูดถึงตรงไหน
- บางท่านอาจจะบริกรรมกำกับความรู้ตัว คือ พูดหนอๆ, กำลังพูด(เรื่องนี้ๆ)อยู่หนอ, พูดถึง(ช่วงนี้ๆ ตอนนี้ๆ)แล้วหนอ, กำลังจะพูด(เรื่องราวนี้ๆต่อ)อยู่หนอ

ง. ทำงาน..ก็ให้รู้ตัวว่าทำงาน..สำเหนียกรู้ว่าในปัจจุบันตนกำลังทำงาน งานอะไร งานแบบไหน รูปลักษณะงานอย่างไร ทำไปถึงตอนไหน ขั้นไหน ถึงช่วงไหนแล้ว
- บางท่านอาจจะใช้คำบริกรรมกำกับความรู้ตัว คือ ทำงานหนอๆ, ทำงาน(ลักษณะนี้ๆ)อยู่หนอๆ, ทำงาน(ถึงจุดนี้ๆ)แล้วหนอๆ

จ. ได้กลิ่น..ก็ให้รู้ตัวว่าอยู่..สำเหนียกรู้ว่าในปัจจุบันตนกำลังรู้กลิ่น
- บางท่านอาจจะใช้คำบริกรรมกำกับความรู้ตัว คือ กลิ่นหนอๆ(อันนี้คือรู้กลิ่นแล้วแต่ไม่หลงติดคิดสืบต่อไปรสชาติที่รักที่ชัง), หอมหนอๆ, เหม็นหนอๆ, กลิ่นตามลมหนอๆ

ฉ. กิน..ก็ให้รู้ตัวว่ากินอยู่..สำเหนียกรู้ว่าในปัจจุบันตนกำลังกิน กินอะไรอยู่ก็รู้ว่ากำลังกินสิ่งนั้น สำเหนียกรู้ว่ากินสิ่งนั้นๆอยู่ กำลังเคี้ยวก็ให้รู้ตัวว่าเคี้ยว สำเหนียกรู้ว่าตนกำลังเคียวอยู่ เคี้ยวขนม เคี้ยวคำข้าว เป็นต้น
- บางท่านอาจจะใช้คำบริกรรมกำกับความรู้ตัว คือ กินหนอๆ, เคี้ยวหนอๆ, เคี้ยวข้าวหนอๆ

ช. ดื่มน้ำ..ก็ให้รู้ตัวว่าดื่มน้ำอยู่..สำเหนียกรู้ว่าในปัจจุบันตนกำลังดื่มน้ำ กำลังกลืนน้ำลงคอ ลงท้อง เป็นต้น
- บางท่านอาจจะใช้คำบริกรรมกำกับความรู้ตัว คือ ดื่มน้ำหนอๆ, ดื่มหนอๆ

ซ. ได้รส..ก็ให้รู้ตัวว่าอยู่..สำเหนียกรู้ว่าในปัจจุบันตนกำลังรู้รส
- บางท่านอาจจะใช้คำบริกรรมกำกับความรู้ตัว คือ รสหนอๆ(อันนี้คือรู้รสแล้วแต่ไม่หลงติดคิดสืบต่อไปรสชาติที่รักที่ชัง), รู้รสหนอๆ, เค็มหนอๆ, หวานหนอๆ, เผ็ดหนอๆ, จืดหนอๆ

ฌ. ขับรถ..ก็ให้รู้ตัวว่ากำลังขับรถ..สำเหนียกรู้ว่าในปัจจุบันตนกำลังขับรถ ขับไปไหน ปลายทางที่ใด ทางเบื้องหน้าเป็นแบบไหน อย่างไร เดินทางไปถึงไหนแล้ว
- บางท่านอาจจะใช้คำบริกรรมกำกับความรู้ตัว คือ ขับรถหนอๆ, กำลังขันรถ(ไปปลายทางที่นั้นๆ)อยู่หนอๆ, ขับรถ(ถึงสถานที่นี้ๆ)แล้วหนอๆ, ทางข้างหน้า(เป็นแบบนี้ๆ)หนอๆ, เราขับรถ(ถึงที่นี้ๆ)แล้วหนอ

ญ. อ่าน..ก็ให้รู้ตัวว่าอ่าน..สำเหนียกรู้ว่าในปัจจุบันตนกำลังอ่าน อ่านอะไร ภาษาอะไร เรื่องราวยังไง เกี่ยวกับงาน เกี่ยวกับความบันเทิง อ่านไปถึงไหน บรรทัดไหน ข้อความใด ตัวอักษรใด วรรคใด
- บางท่านอาจจะใช้คำบริกรรมกำกับความรู้ตัว คือ อ่านหนอๆ, กำลังอ่าน(เรื่องนี้ๆอยู่)หนอๆ, กำลังอ่าน(ภาษานี้ๆอยู่)หนอๆ, กำลังอ่าน(ถึงตรงนี้ๆอยู่)หนอๆ

ฎ. เขียน..ก็ให้รู้ตัวว่าเขียน..สำเหนียกรู้ว่าในปัจจุบันตนกำลังเขียน เขียนอะไร ภาษาอะไร เรื่องราวยังไง เกี่ยวกับงาน เกี่ยวกับความบันเทิง เขียนไปถึงไหน บรรทัดไหน ข้อความใด ตัวอักษรใด วรรคใด
- บางท่านอาจจะใช้คำบริกรรมกำกับความรู้ตัว คือ เขียนหนอๆ, กำลังเขียน(เรื่องนี้ๆอยู่)หนอๆ, กำลังเขียน(ภาษานี้ๆตัวอักษรนี้ๆอยู่)หนอๆ, กำลังเขียน(ถึงตรงนี้ๆอยู่)หนอๆ

ฏ. ขี้..ก็ให้รู้ตัวว่าขี้..สำเหนียกรู้ว่าในปัจจุบันตนกำลังขี้อยู่
- บางท่านอาจจะใช้คำบริกรรมกำกับความรู้ตัว คือ ขี้หนอๆ

ฐ. เยี่ยว..ก็ให้รู้ตัวว่าเยี่ยว..สำเหนียกรู้ว่าในปัจจุบันตนกำลังเยี่ยวอยู่
- บางท่านอาจจะใช้คำบริกรรมกำกับความรู้ตัว คือ เยี่ยวหนอๆ ฉี่หนอๆ

ฑ. สัมผัสกาย..ก็ให้รู้ตัวว่าเยี่ยวรู้ทางกาย..สำเหนียกรู้ว่าในปัจจุบันตนกำลังรับรู้ทางกาย หรือรู้กระทบทางกาย หรือรู้สัมผัสทางกาย
- บางท่านอาจจะใช้คำบริกรรมกำกับความรู้ตัว คือ กระทบหนอๆ, สัมผัสหนอๆ, สัมผัสกายหนอๆ, รู้ด้วยกายหนอๆ, รู้กายหนอๆ

ฒ. ยืน..ก็ให้รู้ตัวว่ายืน..สำเหนียกรู้ว่าในปัจจุบันตนกำลังยืน ยืนทำอะไร ยืนดูสินค้า ยืนดูงาน ยืนมองสิ่งใด
- บางท่านอาจจะใช้คำบริกรรมกำกับความรู้ตัว คือ ยืนหนอๆ, กำลังยืนหนอๆ, ยืน(ทำกิจการงานนั้นๆอยู่)หนอๆ

ณ. เดินก็ให้รู้ตัวว่าเดิน..สำเหนียกรู้ว่าในปัจจุบันตนกำลังเดิน เดินไปไหน ปลายทางที่ใด เดินออกกำลังกาย เดินเพื่อนอะไร อย่างไร
- บางท่านอาจจะใช้คำบริกรรมกำกับความรู้ตัว คือ เดินหนอๆ, กำลังเดินหนอๆ, เดิน(เดินไปที่ไหน)หนอๆ, เดิน(เพื่อทำกิจการงานอะไรอยู่)หนอๆ

ด.นั่ง..ก็ให้รู้ตัวว่านั่ง..สำเหนียกรู้ว่าในปัจจุบันตนกำลังนั่ง นั่งทำอะไร นั่งทำงาน นั่งเล่น นั่งดูหนัง นั่งอ่านการ์ตูน นั่งอ่านหนังสือ
- บางท่านอาจจะใช้คำบริกรรมกำกับความรู้ตัว คือ นั่งหนอๆ, กายนิ่งหนอ, กำลังนั่งหนอๆ, นั่ง(เพื่อทำกิจการงานอะไรอยู่)หนอๆ

ต. นอน..ก็ให้รู้ตัวว่านอน..สำเหนียกรู้ว่าในปัจจุบันตนกำลังนอน นอนเพื่อหลับ นอนเล่นผ่อนคลาย ทำอะไร
- บางท่านอาจจะใช้คำบริกรรมกำกับความรู้ตัว คือ นอนหนอๆ, นอนนั่งหนอๆ, นอน(เพื่อทำกิจการงานอะไรอยู่)หนอๆ, นอนพักหนอๆ, นอนหลับหนอ, หลับหนอๆ(ข้อห้ามสำหรับปุถุชนอย่างเราๆ..หากเรากำลังจะนอนเพื่อหลับพักผ่อน เมื่อรู้ว่าตนกำลังจะนอนหลับแล้ว ก็ปล่อยให้กายใจเป็นที่สบายปกติ ไม่ต้องไม่บริกรมอะไรนึกรู้อะไร ปล่อยให้มันหลับไปเลย ไม่ต้องไปนึกคิดต่อ ไม่งั้นจะเป็นโรคนอนไม่หลับเพราะทำความตื่นตัวอยู่)

ถ. กายนิ่ง ก็ให้รู้ว่ากายนิ่ง..สำเหนียกรู้ว่าในปัจจุบันตนกำลังนิ่งอยู่ นิ่งแช่อยู่ ยืนนิ่งอยู่ นั่งนิ่งอยู่ นอนนิ่งอยู่ กำลังนิ่งแช่อยู่ไม่เคลื่อนไหว
- บางท่านอาจจะใช้คำบริกรรมกำกับความรู้ตัว คือ นิ่งหนอๆ, นิ่งอยู่หนอๆ, กำลัง(ยืน นั่ง นอน สงบ ไม่เคลื่อนไหว)นิ่งหนอๆ

ท. จิตนิ่งอยู่ ว่างอยู่ สงบอยู่..ก็ให้รู้ว่านิ่งอยู่..สำเหนียกรู้ว่าในปัจจุบันตนนิ่ง เฉย แช่ ว่าง สงบ ไม่มี ไม่คิด
- บางท่านอาจจะใช้คำบริกรรมกำกับความรู้ตัว คือ ว่างหนอๆ, จิตว่างหนอๆ, จิตนิ่งหนอๆ, สงบหนอๆ

ธ. คิดเพ้อ คิดสมมติ ไม่อยู่ในปัจจุบัน คิดหลงไปในอดีตบ้าง คิดหลงไปในสิ่งที่ยังมาไม่ถึงบ้าง คิดหลงไปในสิ่งที่ไม่มีอยู่บ้าง คิดปรุงเรื่องราวที่ไม่มีอยู่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงให้เป็นไปใน ราคะ โทสะ โมหะบ้าง..ก็ให้รู้ว่าคิด..สำเหนียกรู้ว่าในปัจจุบันตนกำลังคิด กำลังติดความคิด กำลังเสพย์ติดความคิด กำลังติดสมมติความคิด กำลังหลงสมมติความคิดของปลอมไปตามกิเลส กำลังติดเสพย์ กำลังเสพย์สมมติ กำลังหลงสมมติ
- บางท่านอาจจะใช้คำบริกรรมกำกับความรู้ตัว คือ คิดหนอๆ, ปรุงหนอๆ, กำลังคิดหนอๆ, ติดคิดหนอๆ, สมมติหนอๆ, หลงสมมติหนอๆ, ติดสมมติหนอๆ, เสพย์สมมติของปลอมอยู่หนอๆ, ติดสมมติความคิดอยู่หนอๆ, สมมติกิเลสหนอๆ
(ข้อนี้..เมื่อรู้ตัวแล้วให้กลับไปรู้ตนใหม่ตามที่เป็นอยู่ที่ตรงกับข้อใดจาก ก.- ท. ที่เป็นอยู่)

น. พูดเพ้อออกมา..ก็ให้รู้ตัวว่าพูดเพ้อ..สำเหนียกรู้ว่าในปัจจุบันตนกำลังพร่ำเพ้อ เพ้อถึงสิ่งไหน เพ้อถึงเรื่องอะไร เรื่องราวไรๆ วิตกอย่างไร คิดมากถึงเรื่องอะไรให้เพ้ออกมา
- บางท่านอาจจะบริกรรมกำกับความรู้ตัว คือ กำลังเพ้อหนอๆ, พร่ำเพ้อหนอๆ, กำลังเพ้อ(เรื่องนี้)หนอๆ, ฟุ้งซ้านพร่ำเพ้อ(เรื่องนี้ๆ)อยู่หนอๆ, คิดเพ้อหนอๆ, สมมติหนอ, ติดสมมติหนอๆ
- แล้วให้กลับมารู้ตัวว่ากำลังทำกิจการงานไรๆ เป็นไปอย่างไรในปัจจุบันนั้นๆอยู่ทันที
(วิตก วิจาร เป็นวจีสังขาร สำคัญมั่นหมายใจต่อสิ่งใดมาก ก็ตรึกหน่วงนึกถึงสิ่งนั้นมาก ก็จึงเพ้อ พร่ำเพ้อ พูดสบถถึง เพ้อพกในสิ่งนั้นออกมา อันนี้เพราะไม่รู้ตัวอยู่ในปัจจุบันทั้งสิ้นว่ากำลังคิดเพ้อหลวงไปตามความคิด ..ดังนั้นเมื่อรู้ตัวว่าพูดพร่ำเพ้อ กำลังเพ้อ เพ้อเรื่องอะไร แบบไหน ย่อมอยู่ในปัจจุบันที่เป็นย่อมส่งต่อไปถึงความระลึกรู้วจีสังขาร วิตก วิจาร ตามไปด้วย ตามต่อไปถึงความยินดียินร้าย ความสำคัญมั่นหมายของใจ โสมนัส โทมนัส จิตยึดหลงสิ่งใด สัมปะชัญญะความรู้ตัวในการพูดนี้มันเสริมสติไปถึงนั่นเลย เข้ามหาสติได้นี้เห็นชัดเลย อย่างไรก็ดีห่างรู้ตัวว่ากำลังเพ้อให้กลับมาอยู่ปัจจุบันว่าตนกำลังทำกิจการงานใดอยู่ในขณะนั้นๆ)
(ข้อนี้..เมื่อรู้ตัวแล้วให้กลับไปรู้ตนใหม่ตามที่เป็นอยู่ที่ตรงกับข้อใดจาก ก.- ท. ที่เป็นอยู่)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กันยายน 09, 2016, 04:09:21 AM
บันทึกกรรมฐานวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๙

วิธีในการเจริญมหาสติปัฏฐานตามกาล (ค. อิริยาบถ)

ก. ลม หรือ พุทโธ

ข. ปัจจุบัน

ค. อิริยาบถ

ง. สมมติ

๓. อิริยาบถ คือ สัมปะชัญญะ แต่แยกออกจากกลุ่มสัมปะชัญญะได้ เพราะมีแนวเจริญวิธีตามแบบของเขา การฝึกอิริยาบถจะช่วยให้มี สติ สัมปะชัญญะ สมาธิ ตั้งอยู่ในทุกๆอิริยาบถ ๔ เช่น เดินจงกรม เป็นต้น อิริยาบถช่วยให้ได้สมาธิ และ รู้ตัวปัจจุบันให้มองเห็นแจ้งชัดว่าที่จิตเรากำลังติดสมมติอยู่นั้น เพราะอะไรจึงเรียกว่าสมมติ ก็เมื่อเรา ยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ ณ ที่ส่วนหนึ่ง คนที่เราติดใจข้องแวะ อยู่ในที่อีกส่วนหนึ่ง แต่เราเอาสมมติจากสัญญาทั้งปวงนี้มาเสพย์ขึ้นให้เสมือเขาอยู่ต่อหน้าให้เราเสพย์อารมณ์ความรู้สึกรัก หรือ ชัง ขึ้น เขาก็อยู่ตรงนั้นของเขา อยู่ในที่ใกล้ก็ดี ที่ไกลก็ดี ไม่เกี่ยวข้องกับเราเลย..ดังว่า..

1. ว่าด้วยราคะ.. เมื่อเราได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้สัมผัสกายบางๆเบาๆ เช่น เดินผ่าน เดินสวนกัน มีกระทบสัมผัสกายเล็กๆน้อย สัมผัสที่อ่อนนุ่ม นุ่มนวลที่ชอบใจ แล้วเกิดราคะ ความกำหนัด ความกระสันใคร่เสพย์ ความติดใคร่อยากได้ที่จะเสพย์ ความหมายมั่นฝักใฝ่ที่จะได้มา ความใคร่ถวิลหา ความแสวงหาเพื่อให้ได้มาครอบครองทั้งปวง เพราะเอามาคิดไปใหญ่ในราคะ ว่าเขานี้มันน่าเสพย์เมถุนด้วยหนัก ถ้าได้เสพย์ด้วยเขาคงจะมีท่าทีอาการอย่างนั้น แบบนั้น แบบนี้ ต่อมาเราก็เกิดกระสันกำหนัดนัก ทั้ังๆที่เราไม่ได้ทำอะไรเขาเลย เรื่องราวเหล่านั้นไม่มีอยู่จริง ไม่เกิดขึ้นจริง
    เมื่อเรามีความรู้ตัวเกิดขึ้น รู้ว่าตนเองกำลังยืนอยู่ ณ ที่ส่วนหนึ่งก็ดี เดินอยู่ก็ดี กำลังย่างก้าวท้าวซ้ายหรือขวาอยู่ก็ดี กำลังกดเท้าซ้ายหรือขวาลงพื้นอยู่ก็ดี กำลังนั่งอยู่สมาธิ นั่งไขว่ห้าง นั่งบนพื้น บนเก้าอีก บนที่นั่งอยู่ก็ดี กำลังนอนเหยีดตัวอยู่ก็ดี ขดตัวอยู่ก็ดี นอนหงายอยู่ก็ดี นอนตะแครงอยู่ก็ดี นอนคว่ำอยู่ก็ดี "ซึ่งอิริยาบถอาการทางกายทั้งปวงของเราที่กำลังดำเนินไปอยู่นี้ มันก็อยู่ ณ ที่นี้ ที่ไกล้หรือไกลเขาอยู่ก็ดี เราก็อยู่ของเราในส่วนตรงนี้ เขาก็อยู่ของเขาในส่วนตรงนั้น มันไม่ได้ข้องเกี่ยวกันเลย มันไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ไรๆอย่างที่หน่วงนึกตรกถึงอยู่นั้นเลย ไม่เคยไปทำอะไรกับเขาจริงอย่างนั้นเลย..แต่เราต่างหากที่ไปติดใคร่ใจต่อเขาแล้วเอามาสมมติลงใจนี้..นี่เราโง่เสพย์ราคะกับความคิดสมมติของตนเองทั้งสิ้น กำหนัดก็เพราะคิด ติดใคร่ก็เพราะคิด ติดใจก็เพราะคิด ติดตรึกใจก็เพราะคิด ตราตรึงอยู่ก็เพราะคิด สมดั่งคำพระศาสดาตรัสสอนไว้เลยว่า..กาม เกิดแต่ความคิด" ติดใจข้องแวะสิ่งไรๆไปก็หาประโยชน์สุขไม่ได้นอกจากทุกข์ ไม่ติดใจข้องแวะให้ความสำคัญใจในสิ่งไรๆก็ไม่ทุกข์
2. ว่าด้วยโทสะ.. เมื่อเราได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้สัมผัสกายบางๆเบาๆ เช่น เดินผ่าน เดินสวนกัน มีกระทบสัมผัสกายเล็กๆน้อย สัมผัสที่อ่อนนุ่ม นุ่มนวลที่ชอบใจ แล้วเกิดโทสะ ความโกรธ เกลียด ชัง ไม่เป็นที่จำเริญใจ เสียใจ คับแค้นอัดอั้นกายใจ ร่ำไร รำพัน ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ คับข้องใจ โศรกเศร้า เศร้าหมองกายใจ โทมนัสทั้งปวง เพราะเอามาคิดไปใหญ่ในโทสะ ว่าเขาทำท่าทีหรือพูดกล่าวแบบนี้ๆได้ยังไง ไม่ดีเลย ที่เขาพูดหรือทำนั้นๆมันเป็นการล้อเรียนเราบ้าง ด่าเสียดแทง เหยียดหยาม ให้ร้ายต่อเราบ้าง นี่เราไปติดข้องใจ ให้ความสำคัญ คิดความสมมตินึกคิดไปเอง
    เมื่อเรามีความรู้ตัวเกิดขึ้น รู้ว่าตนเองกำลังยืนอยู่ ณ ที่ส่วนหนึ่งก็ดี เดินอยู่ก็ดี กำลังย่างก้าวท้าวซ้ายหรือขวาอยู่ก็ดี กำลังกดเท้าซ้ายหรือขวาลงพื้นอยู่ก็ดี กำลังนั่งอยู่สมาธิ นั่งไขว่ห้าง นั่งบนพื้น บนเก้าอีก บนที่นั่งอยู่ก็ดี กำลังนอนเหยีดตัวอยู่ก็ดี ขดตัวอยู่ก็ดี นอนหงายอยู่ก็ดี นอนตะแครงอยู่ก็ดี นอนคว่ำอยู่ก็ดี "ซึ่งอิริยาบถอาการทางกายทั้งปวงของเราที่กำลังดำเนินไปอยู่นี้ มันก็อยู่ ณ ที่นี้ ที่ไกล้หรือไกลเขาอยู่ก็ดี เราก็อยู่ของเราในส่วนตรงนี้ เขาก็อยู่ของเขาในส่วนตรงนั้น มันไม่ได้ข้องเกี่ยวกันเลย เขาก็พูดก็ทำไปของเขาอย่างนั้น เป็นแบบนั้นของเขามาตั้งนานแล้ว ไม่ได้มาทำที่ภายในเร่างกายจิตใจเรานี้ เขาทำแต่เพียงภายนอก..แต่เราต่างหากที่ไปติดใจข้องแวะจากท่าทีของเขาแล้วเอามาสมมติลงใจนี้..เวลาที่เราไม่มีที่รักที่ชัง มันเร่าร้อนโกรธแค้นใครไหมเล่า ไม่ว่าเขาจะทำท่าทีอาการอย่างไร เหมือนคนที่เรารักใคร่เอ็นดู เอื้อเฟื้อ ไม่ว่าเขาจะทำท่าดี มีวจีอย่างไรออกมาต่อเรา แล้วเรามีความเกลียดชังโกรธแค้นไรๆเขาบ้างหรือไม่ ก็ไำม่มี กับเฉยๆ ไม่ติดข้องใจ ไม่ติดใจข้องแวะเพราะไม่ให้ความสำคัญใจไรๆต่อท่าทีและอาการการแสดงออกของเขานั้นๆ..นี่มันเร่าร้อนเพราะไปติดใจข้องแวะกับสมมติความคิดจากการเข้าไปยึดตั้งเอาความพอใจยินดีปารถนาของเราที่มีต่อสิ่งภายออกรอบๆตัวเราเองแท้ๆ ทั้งๆที่สิ่งนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา เราจะไปบังคับอะไรเขาได้ เรายังบังคับเราไม่ให้โกรธเขาไม่ได้แล้วจะไปเอาอะไรกับเขากันเล่า ติดใจข้องแวะสิ่งไรๆไปก็หาประโยชน์สุขไม่ได้นอกจากทุกข์ ไม่ติดใจข้องแวะให้ความสำคัญใจในสิ่งไรๆก็ไม่ทุกข์

วิธีเจริญสัมปะชัญญะในอิริยาบถ ๔

1. ยืน ก็ให้รู้ชัดว่าตนกำลังยืน
2. เดิน ก็ให้รู้ชัดว่าตนกำลังเดิน
3. นั่ง ก็ให้รู้ชัดว่าตนกำลังยืนนั่ง
4. นอน ก็ให้รู้ชัดว่าตนกำลังยืนนอน


การฝึกสัมปะชัญะลงในบรรพกรรมฐาน เพื่อเป็นกำลังให้สติและสมาธิ

1. ยืน ยืนสงบนิ่ง
2. เดิน เดินจงกรม
3. นั่ง นั่งสมาธิ
4. นอน นอนตะแครงขวาสีหไสยยาท หรือ นอนหงาย ทำสมาธิ

1. การเจริญสมาธิด้วยการยืน

- ยืนสงบนิ่ง

แบบที่ 1 ..เริ่มต้นปฏิบัติโดย..การที่เราหลับตาสงบนิ่งเหมือนธรรมดาทั่วไปก่อน ไม่ต้องไปตรึกนึกเอาอภิธรรมใดๆเข้ามาพิจารณา ให้ทำแค่ความสงบใจเท่านั้น ทำความสงบง่ายๆสบายๆเหมือนสมัยเด็กที่ยืนสงบนิ่งหน้าเสาธงหลังสวดมนต์ตอนเข้าแถวก่อนเข้าเรียน

แบบที่ 2 ..ปฏิบัติโดยการ..ระลึกรู้แค่เพียงลมหายใจเข้า-ออก โดย หายใจเข้ายาวๆระลึกบริกรรมในใจว่า "พุทธ" หายใจออกยาวๆระลึกบริกรรมในใจว่า "โธ" (จะระลึกรู้บริกรรมคำใดๆก็ได้ หรือจะไม่บริกรรมเลยแค่รู้ลมหายใจเข้า-ออกเฉยๆก็ได้) สักประมาณ 3-5 ครั้งแล้วลดหลั่วการหายใจเข้า-ออกเรื่อยๆจนเป็นการหายใจตามปกติ พิจารณารู้สัมผัสจากลมหายใจเข้าและออก จิตจดจ่อรู้ลมหายใจเป็นอารมณ์แห่งจิต กระทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เนืองๆ จนกว่าเราจะมีสภาพจิตที่นิ่งสงบ อบอุ่น ไม่ฟุ้งซ่าน

แบบที่ 3 ..กำชับสัมปะชัญญะพร้อมระลึกพิจารณาอิริยาบถของกายที่กำลังยืนอยู่นี้ พร้อมหายใจเข้าพึงระลึกรู้บริกรรมในใจว่า "ยืน" (โดยอาจระลึกรู้ลากเสียงคำบริกรรมยาวตามการหายใจเข้า) แล้วหายใจออกพึงระลึกรู้บริกรรมในใจว่า "หนอ" (โดยอาจระลึกรู้ลากเสียงคำบริกรรมยาวตามการหายใจออก) มีจิตจดจ่อรู้ลมหายใจหรือสภาพอิริยาบถของกายที่ยืนอยู่อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์แห่งจิต กระทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เนืองๆ จนกว่าเราจะมีสภาพจิตที่ นิ่ง สงบ อบอุ่น ปิติอิ่มเอมใจ ว่าง  ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เกิดความคิดปรุงแต่งใดๆแก่จิต ให้ปฏิบัติเจริญเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เนืองๆ จนทำให้สภาพจิตดังกล่าวนั้นเกิดบ่อยขึ้น นานขึ้น และ สามารถเข้าสมาธิถึงระดับจิตดังที่กล่าวมานี้ในตอนไหนเวลาใดก็ได้ แม้ยามที่เราลืมตาอยู่ก็ตาม หากกระทำได้เช่นนี้แล้ว แม้จะยืนลืมตาอยู่สภาพจิตก็จะไม่ไหวติงใดๆเกิดเป็นสมาธิที่ควรแก่งานคือการปฏิบัติในกิจการงานต่างๆนั่นเอง


ยืนเอาจิตพิจารณาธาตุ
เหยียบอยู่รู้ดิน ยืนเอาจิตรับความรู้สึกทางกายที่หยัดพื้นอยู่รู้อาการที่แค่นแข็ง รู้สึกถึงฝ่าเท้าที่กดลงตามน้ำหนักตัวอ่อนๆ บริกรรม ปฐวีๆ


2. การเจริญสมาธิด้วยการเดิน

แบบที่ 1 เดินจงกรม 6 ชั้น

- เดินจงกรม 1 ชั้น

ขอขอบพระคุณที่มาของรูปจาก http://www.watpitch.com/7-29-walking-back-and-forth.html (http://www.watpitch.com/7-29-walking-back-and-forth.html)

คนเราส่วนมากจะเดินจงกรมในแบบธรรมดาทั่วไป คือ เมื่อขาซ้ายก้าวย่างเดินไปเหมือนเราเดินตามปกติ ก็ระลึกบริกรรมในใจว่า "ซ้ายย่างหนอ" เมื่อขาขวาก้าวย่างเดินไปเหมือนเราเดินตามปกติ ก็ระลึกบริกรรมในใจว่า "ขวาย่างหนอ" มีจิตระลึกรู้ในอิริยาบถการขยับตัวก้าวเดินของกายเป็นอารมณ์ การเดินในชั้นเดียวนี้ผู้ที่อบรมจิตมีสมาธิมาดีแล้ว เมื่อปฏิบัติโดยการเดินในแบบนี้ก็จะเข้าสมาธิได้ง่ายไม่ยุ่งยาก ไม่วอกแวก ไม่ฟุ่งซ่าน มีแต่ความสงบ อบอุ่น ปิติอิ่มเอมใจ แต่หากบุคคลใดที่ยังไม่มีสมาธิเลย ยังไม่ได้อบรมณ์จิตใดๆมา เมื่อก้าวเดินในแบบดังกล่าวแล้วมีจิตวอกแวก ฟุ้งซ่าน เอาสิ่งภายนอกมาตั้งเป็นอารมณ์อยู่ให้เปลี่ยนการเดินโดนเลือกตามแบบ 2-5 ชั้น ต่อไป


- เดินจงกรม 2 ชั้น

ขอขอบพระคุณที่มาของรูปจาก http://www.watpitch.com/7-36-the-second-step-of-walking.html (http://www.watpitch.com/7-36-the-second-step-of-walking.html)

คำบริกรรมจะต่างกันกับสำนักที่เราเรียนมาโดยตรงจากพระอาจารย์สุจินต์ ธัมมะวิมล ในสำนักที่เราบวชเรียนจะใช้คำว่า "ลงหนอ" ไม่ใช่ "เหยียบหนอ" แต่การย่างก้าวเหมือนกัน จะใช้คำบริกรรมใดๆก็ได้ไม่สำคัญ สำคัญที่การมีสสัมปะชัญญะ สติ สมาธิ รู้สภาวะปัจจุบันนั้นๆ

มีวิธีการเดินดังนี้ คือ ยืนสงบนิ่ง รู้ตัวว่ายืน หายใจเข้า บริกรรม "ยืน"  ลากเสียงยาวสั้นไปตามลมหายใจเข้ายาวหรือสั่น มีความสำเหนียดรู้ตัวอยู่ว่ายืนและหายใจเข้า - หายใจออก บริกรรม "หนอ"  ลากเสียงยาวสั้นไปตามลมหายใจเข้ายาวหรือสั่น มีความสำเหนียดรู้ตัวอยู่ว่ายืนและหายใจออก หายใจเข้าออกนับ 1 ครั้ง ให้ทำสัง 5 ครั้ง หรือ ซัก 1 นาที
..จากนั้นยกเท้าซ้ายขึ้น โดยที่ยังไม่ก้าวขาออกไป ระลึกบริกรรมในใจว่า "ซ้ายยกหนอ"
..ต่อมาให้เหยียดเท้าก้าวย่างเดินออกมาตามปกติแล้วแตะกดลงบนพื้นพร้อมเคลื่อนตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย อยู่ในท่าเตรียมพร้อมที่จะย่างก้าวเดินจงกรมของขาอีกข้างต่อไป แล้วระลึกบริกรรมในใจว่า "ย่างหนอ"
..กระทำเช่นนี้ในการเดินก้าวย่างทั้งข้างซ้ายและขวาแล้วตั้งจิตระลึกรู้ในอิริยาบถการขยับตัวก้าวเดินของกายเป็นอารมณ์ เริ่มปฏิบัติจากครั้งละ 10 - 20 นาที แล้วนานขึ้นเรื่อยๆตามสะดวกไปจนกว่าจะเกิดสมาธิจิตมีใจจดจ่อ ไม่วอกแวก ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เกิดความคิดปรุงแต่งใดๆแก่จิต มีแต่เพียงความ นิ่ง ว่าง สงบ อบอุ่น ปิติอิ่มเอมใจ ให้ปฏิบัติเจริญเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เนืองๆ จนทำให้สภาพจิตดังกล่าวนั้นเกิดบ่อยขึ้น นานขึ้น และ สามารถเข้าสมาธิถึงระดับจิตดังที่กล่าวมานี้ในตอนไหน เวลาใดก็ได้

- เดินจงกรม 3 ชั้น


ขอขอบพระคุณที่มาของรูปจาก http://www.watpitch.com/7-37-the-third-step-of-walking.html (http://www.watpitch.com/7-37-the-third-step-of-walking.html)

คำบริกรรมจะต่างกันกับสำนักที่เราเรียนมาโดยตรงจากพระอาจารย์สุจินต์ ธัมมะวิมล ในสำนักที่เราบวชเรียนจะใช้คำว่า "ลงหนอ" ไม่ใช่ "เหยียบหนอ" แต่การย่างก้าวเหมือนกัน จะใช้คำบริกรรมใดๆก็ได้ไม่สำคัญ สำคัญที่การมีสสัมปะชัญญะ สติ สมาธิ รู้สภาวะปัจจุบันนั้นๆ

มีวิธีการเดินดังนี้ คือ มีวิธีการเดินดังนี้ คือ ยืนสงบนิ่ง รู้ตัวว่ายืน หายใจเข้า บริกรรม "ยืน"  ลากเสียงยาวสั้นไปตามลมหายใจเข้ายาวหรือสั่น มีความสำเหนียดรู้ตัวอยู่ว่ายืนและหายใจเข้า - หายใจออก บริกรรม "หนอ"  ลากเสียงยาวสั้นไปตามลมหายใจเข้ายาวหรือสั่น มีความสำเหนียดรู้ตัวอยู่ว่ายืนและหายใจออก หายใจเข้าออกนับ 1 ครั้ง ให้ทำสัง 5 ครั้ง หรือ ซัก 1 นาที
..จากนั้นยกเท้าซ้ายขึ้น โดยที่ยังไม่ก้าวขาออกไป ระลึกบริกรรมในใจว่า "ซ้ายยกหนอ"
..ต่อมาให้เหยียดก้าวเท้าออกมาแล้วยกลอยค้างไว้อยู่โดยยังไม่นำเท้าลงแตะพื้นระลึกบริกรรมในใจว่า "ย่างหนอ"
..จากนั้นให้กดเท้าย่างลงบนพื้นพร้อมโยกตัวเคลื่อนไปด้านหน้าเล็กน้อยอยู่ในท่าเตรียมพร้อมที่จะย่างก้าวเดินจงกรมของขาอีกข้างต่อไป แล้วระลึกบริกรรมในใจว่า "ลงหนอ"
..กระทำเช่นนี้ในการเดินก้าวย่างทั้งข้างซ้ายและขวาแล้วตั้งจิตระลึกรู้ในอิริยาบถการขยับตัวก้าวเดินของกายเป็นอารมณ์ เริ่มปฏิบัติจากครั้งละ 10 - 20 นาที แล้วนานขึ้นเรื่อยๆตามสะดวกไปจนกว่าจะเกิดสมาธิจิตมีใจจดจ่อ ไม่วอกแวก ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เกิดความคิดปรุงแต่งใดๆแก่จิต มีแต่เพียงความ นิ่ง ว่าง สงบ อบอุ่น ปิติอิ่มเอมใจ ให้ปฏิบัติเจริญเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เนืองๆ จนทำให้สภาพจิตดังกล่าวนั้นเกิดบ่อยขึ้น นานขึ้น และ สามารถเข้าสมาธิถึงระดับจิตดังที่กล่าวมานี้ในตอนไหน เวลาใดก็ได้



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กันยายน 28, 2016, 02:46:51 PM
- เดินจงกรม 4 ชั้น
มีวิธีการเดินดังนี้ คือ มีวิธีการเดินดังนี้ คือ ยืนสงบนิ่ง รู้ตัวว่ายืน หายใจเข้า บริกรรม "ยืน"  ลากเสียงยาวสั้นไปตามลมหายใจเข้ายาวหรือสั่น มีความสำเหนียดรู้ตัวอยู่ว่ายืนและหายใจเข้า - หายใจออก บริกรรม "หนอ"  ลากเสียงยาวสั้นไปตามลมหายใจเข้ายาวหรือสั่น มีความสำเหนียดรู้ตัวอยู่ว่ายืนและหายใจออก หายใจเข้าออกนับ 1 ครั้ง ให้ทำสัง 5 ครั้ง หรือ ซัก 1 นาที
..จากนั้นยกเท้าซ้ายขึ้น โดยที่ยังไม่ก้าวขาออกไป ระลึกบริกรรมในใจว่า "ซ้ายยกหนอ"
..ต่อมาให้เหยียดก้าวเท้าออกมาแล้วยกลอยค้างไว้อยู่โดยยังไม่นำเท้าลงแตะพื้นระลึกบริกรรมในใจว่า "ย่างหนอ"
..จากนั้นให้เคลื่อนเท้าย่างลงลอยขนานห่างจากพื้นเล็กน้อยแล้วระลึกบริกรรมในใจว่า "ลงหนอ"
..จากนั้นให้กดเท้าย่างลงบนพื้นพร้อมโยกตัวเคลื่อนไปด้านหน้าเล็กน้อยอยู่ในท่าเตรียมพร้อมที่จะย่างก้าวเดินจงกรมของขาอีกข้างต่อไป แล้วระลึกบริกรรมในใจว่า "ถูกหนอ"
..จากนั้นกระทำเช่นนี้ในการเดินก้าวย่างทั้งข้างซ้ายและขวาแล้วตั้งจิตระลึกรู้ในอิริยาบถการขยับตัวก้าวเดินของกายเป็นอารมณ์ เริ่มปฏิบัติจากครั้งละ 10 - 20 นาที แล้วนานขึ้นเรื่อยๆตามสะดวกไปจนกว่าจะเกิดสมาธิจิตมีใจจดจ่อ ไม่วอกแวก ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เกิดความคิดปรุงแต่งใดๆแก่จิต มีแต่เพียงความ นิ่ง ว่าง สงบ อบอุ่น ปิติอิ่มเอมใจ ให้ปฏิบัติเจริญเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เนืองๆ จนทำให้สภาพจิตดังกล่าวนั้นเกิดบ่อยขึ้น นานขึ้น และ สามารถเข้าสมาธิถึงระดับจิตดังที่กล่าวมานี้ในตอนไหน เวลาใดก็ได้

- เดินจงกรม 5 ชั้น
มีวิธีการเดินดังนี้ คือ มีวิธีการเดินดังนี้ คือ ยืนสงบนิ่ง รู้ตัวว่ายืน หายใจเข้า บริกรรม "ยืน"  ลากเสียงยาวสั้นไปตามลมหายใจเข้ายาวหรือสั่น มีความสำเหนียดรู้ตัวอยู่ว่ายืนและหายใจเข้า - หายใจออก บริกรรม "หนอ"  ลากเสียงยาวสั้นไปตามลมหายใจเข้ายาวหรือสั่น มีความสำเหนียดรู้ตัวอยู่ว่ายืนและหายใจออก หายใจเข้าออกนับ 1 ครั้ง ให้ทำสัง 5 ครั้ง หรือ ซัก 1 นาที
..จากนั้นยกเท้าซ้ายขึ้น โดยที่ยังไม่ก้าวขาออกไป ระลึกบริกรรมในใจว่า "ซ้ายยกหนอ"
..ต่อมาให้เหยียดก้าวเท้าออกมาแล้วยกลอยค้างไว้อยู่โดยยังไม่นำเท้าลงแตะพื้นระลึกบริกรรมในใจว่า "ย่างหนอ"
..จากนั้นให้เคลื่อนเท้าย่างลงลอยขนานห่างจากพื้นเล็กน้อยแล้วระลึกบริกรรมในใจว่า "ลงหนอ" จากนั้นให้วางเท้าแตะลงถูกบนพื้นระลึกบริกรรมในใจว่า "ถูกหนอ"
..จากนั้นให้กดเท้าลงบนพื้นพร้อมโยกตัวเคลื่อนไปด้านหน้าเล็กน้อยแล้วระลึกอยู่ในท่าเตรียมพร้อมที่จะย่างก้าวเดินจงกรมของขาอีกข้างต่อไป บริกรรมในใจว่า "กดหนอ"
..จากนั้นกระทำเช่นนี้ในการเดินก้าวย่างทั้งข้างซ้ายและขวาแล้วตั้งจิตระลึกรู้ในอิริยาบถการขยับตัวก้าวเดินของกายเป็นอารมณ์  เริ่มปฏิบัติจากครั้งละ 10 - 20 นาที แล้วนานขึ้นเรื่อยๆตามสะดวกไปจนกว่าจะเกิดสมาธิจิตมีใจจดจ่อ ไม่วอกแวก ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เกิดความคิดปรุงแต่งใดๆแก่จิต มีแต่เพียงความ นิ่ง ว่าง สงบ อบอุ่น ปิติอิ่มเอมใจ ให้ปฏิบัติเจริญเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เนืองๆ จนทำให้สภาพจิตดังกล่าวนั้นเกิดบ่อยขึ้น นานขึ้น และ สามารถเข้าสมาธิถึงระดับจิตดังที่กล่าวมานี้ในตอนไหน เวลาใดก็ได้

- เดินจงกรม 6 ชั้น
พระอาจารย์ธัมมะวังโส วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย อ.เมือง จ.ลำพูน พระอริยะสงฆ์สายมัชฌิมาแบบลำดับ ท่านได้กรุณาสอนการเดินจงกรรม ๖ ชั้น และ จงกรมธาตุ ๔ นี้ให้แก่เราดังนี้คือ มีวิธีการเดินดังนี้ คือ ยืนสงบนิ่ง รู้ตัวว่ายืน หายใจเข้า บริกรรม "ยืน"  ลากเสียงยาวสั้นไปตามลมหายใจเข้ายาวหรือสั่น มีความสำเหนียดรู้ตัวอยู่ว่ายืนและหายใจเข้า - หายใจออก บริกรรม "หนอ"  ลากเสียงยาวสั้นไปตามลมหายใจเข้ายาวหรือสั่น มีความสำเหนียดรู้ตัวอยู่ว่ายืนและหายใจออก หายใจเข้าออกนับ 1 ครั้ง ให้ทำสัง 5 ครั้ง หรือ ซัก 1 นาที
..จากนั้นยกส้นเท้าซ้ายขึ้นแต่ปลายเท่ายังแตะพื้นอยู่ ระลึกบริกรรมในใจว่า "ซ้ายยกส้นหนอ"
..จากนั้นยกเท้าซ้ายขึ้น โดยที่ยังไม่ก้าวขาออกไป ระลึกบริกรรมในใจว่า "ยกหนอ"
..ต่อมาให้เหยียดก้าวเท้าออกมาแล้วยกลอยค้างไว้อยู่โดยยังไม่นำเท้าลงแตะพื้นระลึกบริกรรมในใจว่า "ย่างหนอ"
..จากนั้นให้เคลื่อนเท้าย่างลงลอยขนานห่างจากพื้นเล็กน้อยแล้วระลึกบริกรรมในใจว่า "ลงหนอ"
..จากนั้นให้วางเท้าแตะลงถูกบนพื้นระลึกบริกรรมในใจว่า "ถูกหนอ"
..จากนั้นให้กดเท้าลงบนพื้นพร้อมโยกตัวเคลื่อนไปด้านหน้าเล็กน้อยแล้วระลึกอยู่ในท่าเตรียมพร้อมที่จะย่างก้าวเดินจงกรมของขาอีกข้างต่อไป บริกรรมในใจว่า "กดหนอ"
..จากนั้นกระทำเช่นนี้ในการเดินก้าวย่างทั้งข้างซ้ายและขวาแล้วตั้งจิตระลึกรู้ในอิริยาบถการขยับตัวก้าวเดินของกายเป็นอารมณ์  เริ่มปฏิบัติจากครั้งละ 10 - 20 นาที แล้วนานขึ้นเรื่อยๆตามสะดวกไปจนกว่าจะเกิดสมาธิจิตมีใจจดจ่อ ไม่วอกแวก ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เกิดความคิดปรุงแต่งใดๆแก่จิต มีแต่เพียงความ นิ่ง ว่าง สงบ อบอุ่น ปิติอิ่มเอมใจ ให้ปฏิบัติเจริญเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เนืองๆ จนทำให้สภาพจิตดังกล่าวนั้นเกิดบ่อยขึ้น นานขึ้น และ สามารถเข้าสมาธิถึงระดับจิตดังที่กล่าวมานี้ในตอนไหน เวลาใดก็ได้



การเดินจงกลมใช้ระยะไปกลับ 25 ก้าว ศิษย์พระอาจารย์ ธัมมะวังโส ฝึกก้าวย่างลักษณะคล้ายอย่างภาพ แต่ต่างด้วยการกำหนดคำ ไม่มีคำว่า ยืน, ยก, เหยียด, ย่าง, ก้าว, จรด(ปลาย)เท้า, ยืนหนอ มีเพียงการใช้คำกำหนด ปฐวี, เตโช, วาโย, อาโป, ปฐวี นี่เป็นเคล็ดวิชาหนึ่งเดียวที่ไม่มีอื่นใครเหมือน เรียกว่า "จตุธาตุววัฏฐานธาตุ" กำหนดเท้าข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ แต่ต้องกำหนดให้ทัน การเดินจงกลมมีได้ทั้งที่เป็นสมถะและวิปัสสนาแต่ไม่ขอกล่าว การฝึกจงกลมเดินนั้นครูอาจารย์หลากหลายท่านให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด ท่านที่ปรารถนาในรูปแบบสาวกบารมีจะสำเร็จธรรมใดใดก็ด้วยวิถีจงกลมเป็นหลัก การนั่งสำเร็จธรรมเป็นของพระพุทธเจ้าเท่านั้น พระอาจารย์ธัมมะวังโส ท่านให้บรรดาศิษย์ใส่ใจฝึกด้วยท่านประจักษ์ด้วยวิธีนี้มาก่อน ทั้งครูบาเจ้าเพชร วชิรมโน แห่งอัญญาวิโมกข์โพธิรังษี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ก็รับรองเช่นกัน ซึ่งครูบาเจ้าเพชรนั้นท่านได้รับคำชี้แนะในเรื่องการจงกลมเดินสำเร็จธรรมจากหลวงปู่โอวเจี๊ยะ จุนโท วัดป่าภูริฑัตตปฏิปทาราม อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ดังนั้นการฝึกเดินจงกลมจึงมีความสำคัญกับเราเราท่านท่านทุกคน พระสงฆ์ที่เดินจงกลมแสดงฤทธิ์ฉกาจจนเป็นที่เลื่องลือในวิชากรรมฐานสายมัชฌิมาย่นฟ้าย่อพสุธาคือ ขรัวตาแสง วัดมณีชลขัณฑ์ จ.ลพบุรี พระอาจารย์รูปสำคัญของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมฺรังษี วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ

การเดินจงกรมธาตุ

   มั่นคง ดิน
   ยก ไฟ
   เคลื่อน ลม
   ลง น้ำ

เมื่อจะเดินหมุนกลับให้ทำดังนี้

1. ให้ยืนก่อน แล้วบริกรรมยืนหนอๆไปสัก 5 ครั้ง
2. หมุนกลับ ให้ยกปลายเท้าขวาขึ้น แล้วเคลื่อนฝ่าเท้าไปด้านข้างหมุนไปด้านขวาเรียงลำตัว บริกรรม "กลับ" เอาขาซ้ายเคลื่อนหมุนตามขาขวาไปพร้อมหัวตัวหมุนไปวางฝ่าเท้าประกบกันไป บริกรรม "หนอ" หมุนตัวให้เหมือนวนรอบโบสถ์จะดีสุด ทำไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมุนกลับมาด้านเสร็จ
3. ให้ยืนก่อน แล้วบริกรรมยืนหนอๆไปสัก 5 ครั้ง
4. เดินก้าวย่างต่อไปให้ครบตามที่อธิษฐานจิต เป็นพุทธบูชา หรือจะออกจากเดินจงกรมก็ได้

p9



3. การเจริญสมาธิด้วยการนั่ง

- นั่งคู่บัลลังค์ เอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือวางไว้บนตักมือขวาทับมือซ้าย ตั้งตัวให้ตรงเพื่อให้หายใจได้สะดวก เพราะหากนั่งงอตัวไปข้างหน้าจะทำให้การสูดลมหายใจเข้าออกลำบากเพราะท้องและปอดบิดงอกดทับไว้อยู่ แล้วตั้งมั่นจะที่นั่งทำสมาธิ
- มีความรู้ตัวว่ากำลังนั่งอยู่ นั่งเพื่อเจริญสมาธิ
- ระลึกถึงจิตที่ผ่องใส เบิกบานเป็นที่สบายกายใจ ไม่ติดใจข้องแวะสิ่งไรๆในโลก คือ ความไม่ติดใคร่ ไม่ติดข้อง ไม่มีทุกข์ ไม่หน่วงนึกตรึกถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้ว ไม่ข้องแวะสมมติอดีต ไม่คาดหมายคำนึงถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ไม่ติดปรุงสมมติอนาคต ไม่ใคร่อยากรู้อยากเห็นในสิ่งที่ตนไม่รู้ไม่เห็นไม่มีในตน ไม่ติดใคร่ในสิ่งที่ไม่มีในตน ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของตน
- ตั้งมั่นรู้ปัจจุบันว่าตนกำลังทำสมาธิอยู่ กำลังนั่งขัดสมาธิ เจริญสมาธิอยู่ในปัจจุบัน วิตกวิจารเกิดคือสมมติ จิตที่ส่งออกนอกเป็นสมมติ เพราะล้วนเกิดแต่กิเลสมันสร้างสมมติขึ้นมาหลอกให้จิตเสพย์ จิตยึด จิตหลง แล้วเพิ่มกำลังให้มัน ดังนั้นปุถุชนอย่างเราๆนี้ตรู้สิ่งใดล้วนเป็นสมมติทั้งหมด ถอดจิตออกจากสมมติ ตัดวงจรปฏิจจสมุปปบาทด้วยไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้เพราะมันเป็นสมมติ
- ของจริงแท้มีอยู่ในกายเรานี้ไม่ใช่ภายนอก ไม่ใช่ความจดจำ ไม่ใช่ความตรึกตรอง ที่เกิดมีขึ้นอยู่ทุกๆขณะนั่นคือ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก, พุทโธ คือ ของจริง กล่าวคือ..ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานเป็นกริยาของจิตที่เป็นไปในปัจจุบันนั้นๆ, เมื่อรู้ว่าจิตรู้สมมติ จิตส่งออกนอกคือสมมติ ลมหายใจคือของจริงในขณะนั้นๆ อันนี้ก็เป็นผู้รู้ในพุทโธแล้ว เมื่อไม่เคลิ้มไหลไปตามสมมติที่ตรึก แล้วกลับมาตั้งมั่นรู้อยู่ที่ลมหายใจในปัจจุบัน แล้วบริกรรมพุทโธไปให้จิตมีกำลังเป็นพุทโธ อันนี้ก็เป็นผู้ตื่นแล้ว, เมื่อจิตตั้งมั่นอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง ไม่ติดใจข้องแวะสิ่งไรๆ สักแต่เพียงรู้แล้วก็วางไม่ยึด ไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์จะทำให้จิตเป็นสุขได้ด้วยตัวของมันเอง จนเมื่อสะสมเหตุอย่างนี้นานเข้ามากเข้าๆจิตจะเห็นของจริงด้วยตนเอง เกิดนิพพิทาวิราคะด้วยตนเอง หากเราสะสมมาน้อยก็ต้องใช้เวลาอีกนานไม่ใช่แค่วันหรือสองวัน ไม่ใช่แค่ปีนี้ปีหน้า ไม่ใช่แค่สิบปียี่สิบปี แต่มันต้องสะสมเป็นหลายๆชาติให้บารมีมันเต็ม จิตมันถึงจะเกิดนิพพิทาวิราคะได้ ถ้าเราคิดว่าต้องสะสมอีกหลายชาติแล้วไม่อยากทำเมื่อตายไปก็เสียชาติเกิดที่ไม่เอากำไรชีวิตนี้ๆไปด้วย แต่ถ้าเราทำสะสมตั้งแต่ตอนนี้ ทำให้มากแต่เป็นที่สบายกายใจไม่กระสันเอาผล หมายถึง เจริญบ่อยๆเนืองๆเรื่อยๆเป็นประจำๆไม่ให้ขาดมีเวลามากก็ทำมาก มีเวลาน้อยก็ทำน้อย ขั้นต่ำก็ทำก่อนนอนจนหลับไปเลย หรือตื่นนอนก่อนลุกล้างหน้าแปรงฝันไปเรียนหรือทำงานอย่างน้อยวันละ 10-20 นาที แต่ไม่ใช่ทำแบบเอาเป็นเอาตายหมกมุ่นทำด้วยความฟุ้งซ่านขาดสติอย่างนี้เรียกว่าหลง ปฏิบัติให้สบายๆปารถนาจะปฏิบัติเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมะบูชา สังฆบูชา และ สะสมบุญบารมี 10 ทัศน์ไป ไม่กระสันปารถนาจะเอาผล คืออยากได้อภิญญา อยากเห็นั่นเห็นนี่ มีอย่างนั้นมีอย่างนี้ อยากได้ฌาณ ญาณ ของพวกนี้พอมันเต็มพอถึงเวลามันได้เอง ไม่ต้องไปแสวงหามันมันมาเอง ถ้ายังสะสมมันมาไม่พอไม่มีของเก่าสะสมมาแต่ปางก่อนจะทำให้ตายกระสันจนขาดใจตายก็ไม่ได้อยู่ดี แต่ถ้ามันเต็มมีสะสมมาอยู่เฉยๆมันก็มาเองแม้จะไม่อยากมีไม่อยากได้มันก็มีเอง "ก็ฌาณ ญาณ อภิญญาเหล่าใดทั้งพวกนี้ๆ ปุถุชนอย่างเราๆนี้เมื่อมีเมื่อได้มันมาแล้ว เราจะสามารถใช้มันในทางกุศลได้ไหม ใช้เพื่อให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลซึ่งทางแห่งการพ้นจากกิเลสกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ของตนเองและผู้อื่นได้ไหม ยิ่งเอาไปใช้ในทางที่คิด ด่้วยความเห็นความเข้าใจผิดๆ คิดผิดๆ ยิ่งทำให้ปิดทางพระนิพพานมากขึ้นเท่านั้น ใช้ผิดที่ผิดทางชีวิตเราเองก็ฉิบหาย" ดังนี้..จึงกล่าวว่าอย่าไปหวังกระสันในผล ให้ทำเป็นที่สบาย ทำเป็นพุทธบูชา ไม่ต้องไปอยากรู้ในสิ่งที่ตนไม่รู้ ไม่ต้องไปอยากเห็นในสิ่งที่ตนไม่เห็น ไม่ต้องไปอยากมีในสิ่งที่ตนไม่มี ให้ทำสะสมเหตุให้ดีไว้เป็นพอ
- เมื่อรู้แนวทางดังนี้แล้ว ก็สำเหนียกรู้ตนว่านั่งทำสมาธิอยู่ แล้วก็พุทโธไปเรื่อย จิตเป็นพุทโธ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานตามพระพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระบรมศาสดาได้เมื่อไหร่ เราก็จะรู้ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนได้เองเมื่อนั้น


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กันยายน 29, 2016, 09:54:08 AM
4. การเจริญสมาธิด้วยการนอน

             [๒๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไสยา (การนอน) ๔ อย่างนี้ ๔ อย่าง
เป็นไฉน คือ เปตไสยา (นอนอย่างคนตาย) ๑ กามโภคีไสยา (นอนอย่าง
คนบริโภคกาม) ๑ สีหไสยา (นอนอย่างราชสีห์) ๑ ตถาคตไสยา (นอนอย่าง
ตถาคต) ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เปตไสยาเป็นไฉน คนตายโดยมากนอนหงาย
นี้เราเรียกว่าเปตไสยา ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กามโภคีไสยาเป็นไฉน คนบริโภคกามโดยมากนอน
ตะแคงข้างซ้าย นี้เราเรียกว่ากามโภคีไสยา ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สีหไสยาเป็นไฉน สีหมฤคราชย่อมสำเร็จการนอน
ข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเลื่อมเท้า สอดหางเข้าในระหว่างโคนขา มันตื่นขึ้นแล้ว
ยืดกายเบื้องหน้าแล้ว เหลียวดูกายเบื้องหลัง ถ้ามันเห็นความผิดแปลกหรือความ
ละปรกติแห่งกาย มันย่อมเสียใจด้วยเหตุนั้น ถ้ามันไม่เห็นอะไรผิดปรกติ มันย่อม
ดีใจด้วยเหตุนั้น นี้เราเรียกว่าสีหไสยา ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ตถาคตไสยาเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้
สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน นี้เราเรียกว่าตถาคตไสยา ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ไสยา (การนอน) ๔ อย่างนี้แล ฯ


ไสยาสน์การนอน ๔

๑. กามโภคีไสยาสน์ การนอนของบุคคลผู้บริโภคกามคุณ (คือนอนตะแคงข้างซ้าย)
 

ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock   
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่างๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด


๒. เปตไสยาสน์ การนอนของเปรต (คือนอนหงาย)

ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock   
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่างๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด


๓. สีหไสยาสน์ การนอนของราชสีห์ (คือนอนตะแคงข้างขวา)
 

ครูบาพรหมจักรนอนสีหไสยาสน์
ที่มา : http://www.krubajong.com/kruba/promma.php (http://www.krubajong.com/kruba/promma.php)


๔. ตถาคตไสยาสน์ การบรรทมของพระตถาคตเจ้า (ทรงบรรทมตะแคงข้างขวา)
 
ภาพ : พระพุทธรูปปางไสยาสน์
http://www.sarapee.ac.th/www/index.php/2011-02-25-06-11-42/662-2011-03-01-04-43-14 (http://www.sarapee.ac.th/www/index.php/2011-02-25-06-11-42/662-2011-03-01-04-43-14)
            พุทธไสยาสน์ หรือ คถาคตไสยาสน์ พระตถาคต ทรงบรรทมตะแคงข้างขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีพระสติสัมปชัญญะในการบรรทม บางท่านเรียกว่า "จตุตถไสยาสน์" 

วิธีการนอนแบบพระพุทธเจ้าที่ทรงแนะนำพระภิกษุ

           -- โดยพระพุทธเจ้าทรงพักผ่อนพระวรกายในส่วนสมอง ขณะสำเร็จสีหไสยาเพียงวันละ 4 ชั่วโมง 
           -- พระองค์ทรงแนะนำให้ ภิกษุนอนวันละ 4 ชั่วโมง และนอนด้วยการสำเร็จสีหไสยาสน์ มีสติสัมปชัญญะและทำสัญญาในการตื่นขึ้นไว้ในใจ ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี
             -- กลับตื่นขึ้นแล้ว พึงชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเป็นเครื่องกางกั้น ด้วยการเดินจงกรมและการนั่งตลอดปัจฉิมยาม (อีก 4 ชั่วโมง) แห่งราตรี
           -- นั่นคือก่อนจะนอนภิกษุต้องตั้งสติ คือตั้งใจไว้ก่อนว่า นอนอย่างมีสติสัมปชัญญะ และตื่นขึ้นในเวลาที่กำหนด


นอนแบบ“สีหไสยาสน์”
นอนด้วยท่าทางสงบ นอนตะแคงขวาเพื่อไม่ให้บีบทับหัวใจมากเกินไป มือขวาวางหงายไว้บนหมอนข้างแก้มขวา มือซ้ายวางราบไปตามลำตัว ขาขวาวางเหยียดไปแบบธรรมชาติไม่ต้องเกร็งให้ตรงเกินไป โคนขาซ้ายทับขาขวาอย่างพอเหมาะ เข่าซ้ายพับงอเล็กน้อย ปลายเท้าซ้ายวางลาดตํ่าไว้หลังเท้าขวา เป็นการช่วยพยุงร่างให้ทรงตัวในท่านอนได้นาน

ที่มา ; http://www.watpitchvipassana.com/purity-dhamma-34-sleeping.html (http://www.watpitchvipassana.com/purity-dhamma-34-sleeping.html)

กุศโลบายการวางเท้าเหลื่อมเท้า
เหตุที่วางเท้าเหลื่อมเท้านั้น เพราะว่าคนเรามีอุ้งเท้าที่โค้ง เมื่อวางเท้าซ้ายเหลื่อมเท้าขวา อุ้งเท้าซ้ายจะวางอยู่บนสันเท้าขวา ซึ่งมีความโค้งมนส้นเท่าขวาจะรองรับน้ำหนักของเท้าซ้ายได้พอดี และไม่พลัดตกลงมาเท้าทั้งสองที่เหยียดออกไปก็ไม่ถึงกับต้องตรง แต่จะงอเข่าทั้งสองข้างลงเล็กน้อยจะทำให้หัวสะบ้าเข่าข้างซ้ายกดทับลงบนข้อพับด้านขาขวา ข้อพับขวาจะมีลักษณะโค้งอ่อนนุ่ม ก็จะพยุงหัวเข่าซ้ายไว้ไม่ให้พลิก
         มือซ้ายที่วางบนร่างกายด้านซ้ายนั้น  ไม่เหยียดตรง แต่จะงอเล็กน้อยให้น้ำหนักอยู่ตรงกลางระหว่างข้อศอกกับปลายก็จะเป็นท่านอนที่ถูกต้องกับสรีระของคนเรา

ขอขอบพระคุณที่มาจาก http://www.trueplookpanya.com/true/ethic_detail.php?cms_id=24124 (http://www.trueplookpanya.com/true/ethic_detail.php?cms_id=24124)


นอนอย่างไรจึงเรียก
“สีหไสยาสน์”
โดย.. มหานาลันทา

            เมื่อพูดถึงพระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์ ท่านที่เป็นชาวพุทธก็ย่อมจะนึกถึงภาพของพระนอนที่มีขนาดต่างๆ ตั้งแต่เล็กสุดจนถึงใหญ่สุด  ที่ประดิษฐานอยู่ตามัดวาอารามทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
            พระพุทธไสยาสน์นี้จะอยู่ในอิริยาบถนอนตะแคงข้างขวา หลับพระเนตรพระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายวางทอดทาบไปตามร่างกายด้านซ้ายพระหัตถ์ขวาหงายอยู่กับพื้นข้างพระเขนย พระบาททั้งสองตั้งเรียงซ้อนกัน ลักษณะการนอนดังกล่าวนี้ เรียกว่าสีหไสยาสน์ เป็นการนอนของราชสีห์ว่ากันว่า  ราชสีห์นั้นเป็นสัตว์ที่มีอำนาจ และสง่างามในท่วงท่าและอิริยาบถ แม้ในการนอนก็ต้องนอนด้วยอาการอันสำรวม  คือเวลานอนจะใช้เท้าลูบฝุ่นที่นอนให้เรียบเสมอกัน  แล้วจึงจะตะแคงตัวด้านขวาลงนอน  เท้าทั้งสี่จะอยู่ในอาการอันสำรวม ไม่เหนียดหรือกางออกเหมือนสัตว์อื่น และจะกำหนดในใจว่าจะนอนอย่างมีสติสัมปชัญญะ และตื่นขึ้นในเวลาที่กำหนด
            ก็ในพระพุทธศาสนานั้น  พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุผู้กระทำความเพียรเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง ให้สำเร็จการนอนอย่างราชสีห์ หรือสีหไสยาสน์  ดังที่กล่าวมาแล้ว  แต่มีข้อแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย เพราะที่กล่าวมาแล้วนั้น  กล่าวตามลักษณะของพระพุทธรูปที่ช่างปั้นขึ้น
            แต่จริง ๆ แล้ว ท่านสอนให้นอนตะแคงขวา ศีรษะหนุนหมอน มือซ้ายวางทาบไปตามร่างกายด้านซ้าย มือขวาวางหวายแนบกับในหน้า  เพื่อไม่ให้คอพลิกไปมา วางเท้าเหลื่อมเท้า กำหนดในใจ มีสติสัมปชัญญะตลอดเวลาและจะตื่นขึ้นในเวลาที่กำหนด
            ข้อที่บอกว่าวางเท้าเหลื่อมเท้านั้น เพราะว่าคนเรามีอุ้งเท้าที่โค้ง เมื่อวางเท้าซ้ายเหลื่อมเท้าขวา อุ้งเท้าซ้ายจะวางอยู่บนสันเท้าขวา ซึ่งมีความโค้งมนส้นเท่าขวาจะรองรับน้ำหนักของเท้าซ้ายได้พอดี และไม่พลัดตกลงมาเท้าทั้งสองที่เหยียดออกไปก็ไม่ถึงกับต้องตรง แต่จะงอเข่าทั้งสองข้างลงเล็กน้อยจะทำให้หัวสะบ้าเข่าข้างซ้ายกดทับลงบนข้อพับด้านขาขวา ข้อพับขวาจะมีลักษณะโค้งอ่อนนุ่ม ก็จะพยุงหัวเข่าซ้ายไว้ไม่ให้พลิก มือซ้ายที่วางบนร่างกายด้านซ้ายนั้น  ไม่เหยียดตรง แต่จะงอเล็กน้อยให้น้ำหนักอยู่ตรงกลางระหว่างข้อศอกกับปลายก็จะเป็นท่านอนที่ถูกต้องกับสรีระของคนเรา
            ผิดกับรูปปั้นที่ช่างต้องปั้นให้มีเท้าทั้งสองซ้อนกัน  เพื่อที่ต้องการแสดงให้เห็นว่า  พระบาทของพระพุทธเจ้าเรียบเสมอกัน และต้องปั้นให้พระบาททั้งสองเหยียดตรง และพระหัตถ์ซ้ายที่วางทาบบนพระวรกายนั้นก็เหยียดตรงเช่นกัน
            พระพุทธเจ้าของเรานั้นทรงแสดงธรรมตอนหัวค่ำช่วง ๒๒.๐๐-๒๔.๐๐ น.แก่สาวกที่มาจากทิศต่าง ๆ เวลาพ้นเที่ยงคือไปจนตี่สองทรงแสดงธรรมแก่เหล่าเทวดา  เวลาใกล้รุ่งค่อนสว่างทรงพิจารณาถึงหมู่สัตว์ว่าผู้ใดจะมีอุปนิสัยบรรลุก็จะเสด็จไปโปรด
            เพราะฉะนั้นในช่วงเวลาทั้งสามยามนี้พระองค์จะเสด็จบรรทมสีหไสยาสน์ซึ่งแต่ละช่วงจะไม่เกิน ๒ ชั่วโมง
            เห็นได้ว่าการนอนในท่าสีหไสยาสน์นี้  จะมีคุณอเนกประการแก่ผู้ที่ตรากตรำทำงานอย่างเคร่งเครียด เช่น นักเรียน นักศึกษา ที่ต้องดูหนังสือสอบ รวมทั้งนักบริหารทั้งหลาย ขอให้ท่านทั้งหลายลองสำเร็จการนอนแบบสีหไสยาสน์แล้วจะพบว่าเมื่อตื่นขึ้นมาท่านจะทำงานต่อไปได้อย่างสดชื่น  และจะรู้ว่าจิตนี้อัศจรรย์จริง

จากหนังสือ      ธรรมลีลา ฉบับที่ 37 ธันวาคม 2546

ขอขอบพระคุณที่มาจาก http://www.kanlayanatam.com/sara/sara28.htm (http://www.kanlayanatam.com/sara/sara28.htm)



 


พระพุทธไสยาสน์นี้จะอยู่ในอิริยาบถนอนตะแคงข้างขวา หลับพระเนตรพระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายวางทอดทาบไปตามร่างกายด้านซ้ายพระหัตถ์ขวาหงายอยู่กับพื้นข้างพระเขนย พระบาททั้งสองตั้งเรียงซ้อนกัน ลักษณะการนอนดังกล่าวนี้ เรียกว่าสีหไสยาสน์ เป็นการนอนของราชสีห์ว่ากันว่า ราชสีห์นั้นเป็นสัตว์ที่มีอำนาจ และสง่างามในท่วงท่าและอิริยาบถ แม้ในการนอนก็ต้องนอนด้วยอาการอันสำรวม คือเวลานอนจะใช้เท้าลูบฝุ่นที่นอนให้เรียบเสมอกัน แล้วจึงจะตะแคงตัวด้านขวาลงนอน เท้าทั้งสี่จะอยู่ในอาการอันสำรวม ไม่เหนียดหรือกางออกเหมือนสัตว์อื่น และจะกำหนดในใจว่าจะนอนอย่างมีสติสัมปชัญญะ และตื่นขึ้นในเวลาที่กำหนด

ขอขอบพระคุณที่มาจาก http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=nayrotsung&month=06-03-2009&group=4&gblog=11 (http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=nayrotsung&month=06-03-2009&group=4&gblog=11)


     หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง-วิปัสสนาญาณ ๙ "ความเพียรของบุคคลผู้ตื่นอยู่" หมายความว่า การพยายามบังคับจิตให้มีลักษณะสดชื่นแจ่มใสอาจหาญร่าเริงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีลักษณะหดหู่ ท้อแท้ งัวเงีย ของบุคคลผู้ต้องการจะหลับ ในทางปฏิบัติมีหลักใหญ่ๆ อยู่ว่า ถ้าไม่ถึงเวลานอน ก็จะดำรงจิตให้อยู่ในลักษณะที่กล่าวนี้ทุกอิริยาบถ เว้นอิริยาบถนอน ครั้นถึงเวลานอน ก็มีสติกำหนดระยะเวลาที่จะนอน ตามที่กำหนดไว้ แล้วนอนด้วยอาการที่เรียกว่า "สีหไสยา" แล้วตื่นตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ คำว่า "สีหไสยา" แปลว่า นอนอย่างราชสีห์ ต้องนอนตะแคงข้างขวา เท้าเหลื่อมกันพอสบาย และนอนโดยอิริยาบถเดียวนี้จนตลอดเวลา ไม่มีการดิ้น เวลาที่กำหนดไว้สำหรับบรรพชิตผู้บำเพ็ญเพียรภาวนาคือ มัชฌิมยามเพียงยามเดียว หลับลงไปด้วยการกำหนดธรรมะข้อใด ต้องตื่นขึ้นมาด้วยการกำหนดธรรมะข้อนั้น แล้วพิจารณาต่อไปตลอดเวลาที่ตื่นอยู่ไม่มีระยะขาดตอน นี้เรียกว่า "ชาคริยานุโยค" มีความหมายคล้ายๆ กับว่าผู้นั้นไม่เคยเผลอสติ แม้กระทั่งเวลาหลับ ก็ไม่เปิดโอกาสให้กิเลสครอบงำ โดยไม่ต้องกล่าวถึงเวลาตื่น จึงไม่มีการฝันร้าย ฝันลามก และถึงกับไม่มีการฝันเลย ข้อปฏิบัติเหล่านี้ถือว่าไม่มีทางผิดในทุกกรณี แม้แต่ฆราวาสหรือแม้แต่เด็กๆ เพียงแต่จะต้องปรับปรุงข้อปลีกย่อย เช่น เวลา เป็นต้น ให้เหมาะสมเท่านั้น โดยส่วนใหญ่มุ่งหมายถึงความเป็นบุคคลที่มีร่างกายกระปรี้กระเปร่า มีจิตใจสดชื่นแจ่มใสร่าเริง มีสติสัมปชัญญะเต็มตัวอยู่ตลอดเวลาที่ตื่นอยู่ เมื่อหลับก็หลับอย่างสนิท เมื่อตื่นก็แจ่มใสเต็มที่ สิ่งที่ตนกระทำอยู่ก็เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วทั้งทางโลกและทางธรรมดังกล่าวแล้ว การปฏิบัติเช่นนี้ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้บำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุนิพพาน ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในสิกขา ๓ หรือในมรรคมีองค์ ๘ เป็นต้น จนกว่าจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทาง แม้กระนั้นแล้วข้อปฏิบัติที่เรียกว่าอปัณณกปฏิปทา ๓ ประการนี้ ก็ยังคงมีอยู่ประจำตัวด้วยอำนาจความเคยชินเป็นนิสัย



ขอขอบพระคุณที่มาจาก http://sompong-industrial.blogspot.com/2014/12/blog-post_292.html (http://sompong-industrial.blogspot.com/2014/12/blog-post_292.html)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 25, 2016, 10:26:11 PM
ในกรรมภพก่อน ความหลงเป็นอวิชชา กรรมที่ประมวลมาเป็น
สังขาร ความพอใจเป็นตัณหา ความเข้าถึงเป็นอุปาทาน ความคิดอ่านเป็นภพ
ธรรม ๕ ประการในกรรมภพก่อน เหล่านี้ เป็นปัจจัยแห่งปฏิสนธิในอุปปัตติภพนี้
ปฏิสนธิเป็นวิญญาณ ความก้าวลงเป็นนามรูป ประสาท (ภาวะที่ผ่องใสใจ) เป็น
อายตนะ ส่วนที่ถูกต้องเป็นผัสสะ ความเสวยอารมณ์เป็นเวทนาในอุปปัตติภพนี้
ธรรม ๕ ประการในอุปปัตติภพนี้เหล่านี้ เป็นปัจจัยแห่งกรรมที่ทำไว้ในปุเรภพ
ความหลงเป็นอวิชชา กรรมที่ประมวลมาเป็นสังขาร ความพอใจเป็นตัณหา
ความเข้าถึงเป็นอุปาทาน ความคิดอ่านเป็นภพ (ย่อมมี) เพราะอายตนะทั้งหลาย
ในภพนี้สุดรอบ ธรรม ๕ ประการในกรรมภพนี้เหล่านี้ เป็นปัจจัยแห่งปฏิสนธิ
ในอนาคต ปฏิสนธิในอนาคตเป็นวิญญาณ ความก้าวลงเป็นนามรูป ประสาทเป็น
อายตนะ ส่วนที่ถูกต้องเป็นผัสสะ ความเสวยอารมณ์เป็นเวทนา ธรรม ๕ ประ-
*การในอุปปัตติภพในอนาคตเหล่านี้ เป็นปัจจัยแห่งกรรมที่ทำไว้ในภพนี้ พระ-
*โยคาวจร ย่อมรู้ ย่อมเห็น ย่อมทราบชัด ย่อมแทงตลอด ซึ่งปฏิจจสมุปบาท
มีสังเขป ๔ กาล ๓ ปฏิสนธิ ๓ เหล่านี้ โดยอาการ ๒๐ ด้วยประการดังนี้


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 27, 2016, 01:24:01 PM
๒. มหานิทานสูตร (๑๕)
             [๕๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-
             สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ กุรุชนบท มีนิคมของชาวกุรุ
นามว่า กัมมาสทัมมะ ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วน
ข้างหนึ่ง ครั้นท่านพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลความข้อนี้กะ
พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ปฏิจจสมุปบาทนี้ลึกซึ้งสุดประมาณ และปรากฏเป็นของลึก ก็แหละถึงจะ
เป็นเช่นนั้น ก็ยังปรากฏแก่ข้าพระองค์ เหมือนเป็นของตื้นนัก ฯ
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธออย่าพูดอย่างนั้น อานนท์ เธออย่าพูดอย่างนั้น
อานนท์ ปฏิจจสมุปบาทนี้ ลึกซึ้งสุดประมาณและปรากฏเป็นของลึก ดูกรอานนท์
เพราะไม่รู้จริง เพราะไม่แทงตลอด ซึ่งธรรมอันนี้ หมู่สัตว์นี้ จึงเกิดเป็นผู้ยุ่งประดุจ
ด้ายของช่างหูก เกิดเป็นปมประหนึ่งกระจุกด้าย เป็นผู้เกิดมาเหมือนหญ้ามุง
กระต่ายและหญ้าปล้อง จึงไม่พ้นอุบาย ทุคติ วินิบาต สงสาร ดูกรอานนท์
เมื่อเธอถูกถามว่า ชรามรณะ มีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอพึงตอบว่า มี ถ้าเขาถามว่า
ชรามรณะมีอะไรเป็นปัจจัย เธอพึงตอบว่า มีชาติเป็นปัจจัย เมื่อเธอถูกถามว่า
ชาติมีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอพึงตอบว่า มี ถ้าเขาถามว่า ชาติมีอะไรเป็นปัจจัย
เธอพึงตอบว่า มีภพเป็นปัจจัย เมื่อเธอถูกถามว่า ภพมีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอ
พึงตอบว่า มี ถ้าเขาถามว่า ภพมีอะไรเป็นปัจจัย เธอพึงตอบว่า มีอุปาทานเป็น
ปัจจัย เมื่อเธอถูกถามว่า อุปาทานมีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอพึงตอบว่า มี ถ้าเขา
ถามว่า อุปาทานมีอะไรเป็นปัจจัย เธอพึงตอบว่า มีตัณหาเป็นปัจจัย เมื่อเธอ
ถูกถามว่า ตัณหามีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอพึงตอบว่า มี ถ้าเขาถามว่า ตัณหามี
อะไรเป็นปัจจัย เธอพึงตอบว่า มีเวทนาเป็นปัจจัย เมื่อเธอถูกถามว่า เวทนามี
สิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอพึงตอบว่า มี ถ้าเขาถามว่า เวทนามีอะไรเป็นปัจจัย เธอ
พึงตอบว่า มีผัสสะเป็นปัจจัย เมื่อเธอถูกถามว่า ผัสสะมีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอ
พึงตอบว่า มี ถ้าเขาถามว่า ผัสสะมีอะไรเป็นปัจจัย เธอพึงตอบว่า มีนามรูป
เป็นปัจจัย เมื่อเธอถูกถามว่า นามรูปมีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอพึงตอบว่า มี ถ้า
เขาถามว่า นามรูปมีอะไรเป็นปัจจัย เธอพึงตอบว่า มีวิญญาณเป็นปัจจัย เมื่อ
เธอถูกถามว่า วิญญาณมีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอพึงตอบว่า มี ถ้าเขาถามว่า
วิญญาณมีอะไรเป็นปัจจัย เธอพึงตอบว่า มีนามรูปเป็นปัจจัย ดูกรอานนท์
เพราะนามรูปเป็นปัจจัยดังนี้แล จึงเกิดวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงเกิด
นามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงเกิดผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิด
เวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงเกิดชาติ เพราะชาติเป็น
ปัจจัย จึงเกิดชรามรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส ฯ
             ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมมีด้วยประการฉะนี้ ฯ
             [๕๘] ก็คำนี้ว่า เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงเกิดชรามรณะ เรากล่าวอธิบาย
ดังต่อไปนี้-
             ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้ โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้
กล่าวไว้ว่า เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงเกิดชรามรณะ ดูกรอานนท์ ก็แลถ้าชาติมิได้
มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน คือ มิได้มีเพื่อความเป็นเทพแห่งพวก
เทพ เพื่อความเป็นคนธรรพ์แห่งพวกคนธรรพ์ เพื่อความเป็นยักษ์แห่งพวกยักษ์
เพื่อความเป็นภูตแห่งพวกภูต เพื่อความเป็นมนุษย์แห่งพวกมนุษย์ เพื่อความเป็น
สัตว์สี่เท้าแห่งพวกสัตว์สี่เท้า เพื่อความเป็นปักษีแห่งพวกปักษี เพื่อความเป็น
สัตว์เลื้อยคลานแห่งพวกสัตว์เลื้อยคลาน ดูกรอานนท์ ก็ถ้าชาติมิได้มีเพื่อความ
เป็นอย่างนั้นๆ แห่งสัตว์พวกนั้นๆ เมื่อชาติไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะชาติ
ดับไป ชราและมรณะจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งชรามรณะ
ก็คือชาตินั่นเอง ฯ
             ก็คำนี้ว่า เพราะภพเป็นปัจจัยจึงเกิดชาติ เรากล่าวอธิบายดังต่อไปนี้-
             ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบข้อความนี้ โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้
กล่าวไว้ว่า เพราะภพเป็นปัจจัยจึงเกิดชาติ ดูกรอานนท์ ก็ถ้าภพมิได้มีแก่ใครๆ
ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ เมื่อภพไม่มีโดย
ประการทั้งปวง เพราะภพดับไป ชาติจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งชาติ
ก็คือภพนั่นเอง ฯ
             ก็คำนี้ว่า เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ เรากล่าวอธิบายดัง
ต่อไปนี้-
             ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้ โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้
กล่าวไว้ว่า เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ ดูกรอานนท์ ก็ถ้าอุปาทานมิได้มี
แก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน
สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน เมื่ออุปาทานไม่มี โดยประการทั้งปวง เพราะ
อุปาทานดับไป ภพจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งภพ
ก็คืออุปาทานนั่นเอง ฯ
             ก็คำนี้ว่า เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน เรากล่าวอธิบายดัง
ต่อไปนี้-
             ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้ โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้
กล่าวไว้ว่า เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน ดูกรอานนท์ ก็ถ้าตัณหามิได้มี
แก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน คือรูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา
รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธรรมตัณหา เมื่อตัณหาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะ
ตัณหาดับไป อุปาทานจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งอุปาทาน
ก็คือตัณหานั่นเอง ฯ
             ก็คำนี้ว่า เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา เรากล่าวอธิบายไว้
ดังต่อไปนี้-
             ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้ โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้
กล่าวไว้ว่า เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา ดูกรอานนท์ ก็ถ้าเวทนามิได้มี
แก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน คือ เวทนาที่เกิดเพราะจักษุสัมผัส
โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส เมื่อเวทนาไม่มี
โดยประการทั้งปวง เพราะเวทนาดับไป ตัณหาจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งตัณหา
ก็คือเวทนานั่นเอง ฯ
             [๕๙] ดูกรอานนท์ ก็ด้วยประการดังนี้แล คำนี้ คือ เพราะอาศัย
เวทนาจึงเกิดตัณหา เพราะอาศัยตัณหาจึงเกิดการแสวงหา เพราะอาศัยการแสวงหา
จึงเกิดลาภ เพราะอาศัยลาภจึงเกิดการตกลงใจ เพราะอาศัยการตกลงใจจึงเกิดการ
รักใคร่พึงใจ เพราะอาศัยการรักใคร่พึงใจจึงเกิดการพะวง เพราะอาศัยการพะวง
จึงเกิดความยึดถือ เพราะอาศัยความยึดถือจึงเกิดความตระหนี่ เพราะอาศัยความ
ตระหนี่จึงเกิดการป้องกัน เพราะอาศัยการป้องกันจึงเกิดเรื่องในการป้องกันขึ้น
อกุศลธรรมอันชั่วช้าลามกมิใช่น้อย คือการถือไม้ ถือมีด การทะเลาะ การ
แก่งแย่ง การวิวาท การกล่าวว่า มึง มึง การพูดคำส่อเสียด และการพูดเท็จ
ย่อมเกิดขึ้น คำนี้เรากล่าวไว้ด้วยประการฉะนี้แล ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความ
ข้อนี้ โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้กล่าวว่า เรื่องในการป้องกันอกุศลธรรม
อันชั่วช้าลามกมิใช่น้อย คือการถือไม้ ถือมีด การทะเลาะ การแก่งแย่ง การ
วิวาท การกล่าวว่า มึง มึง การพูดคำส่อเสียด และการพูดเท็จ ย่อมเกิดขึ้น
ดูกรอานนท์ ก็ถ้าการป้องกันมิได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน
เมื่อไม่มีการป้องกันโดยประการทั้งปวง เพราะหมดการป้องกัน อกุศลธรรมอัน
ชั่วช้าลามกมิใช่น้อย คือการถือไม้ ถือมีด การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท
การกล่าวว่า มึง มึง การพูดคำส่อเสียด และการพูดเท็จ จะพึงเกิดขึ้นได้
บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งการเกิด
ขึ้นแห่งอกุศลธรรมอันชั่วช้าลามกเหล่านี้ คือ การถือไม้ ถือมีด การทะเลาะ การ
แก่งแย่ง การวิวาท การกล่าวว่า มึง มึง การกล่าวคำส่อเสียด และการพูดเท็จ
ก็คือการป้องกันนั่นเอง ฯ
             ก็คำนี้ว่า เพราะอาศัยความตระหนี่จึงเกิดการป้องกัน เรากล่าวอธิบาย
ดังต่อไปนี้-
             ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้ โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้
กล่าวไว้ว่า เพราะอาศัยความตระหนี่จึงเกิดการป้องกัน ดูกรอานนท์ ก็ถ้าความ
ตระหนี่มิได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน เมื่อไม่มีความตระหนี่
โดยประการทั้งปวง เพราะหมดความตระหนี่ การป้องกันจะพึงปรากฏได้
บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งการ
ป้องกัน ก็คือความตระหนี่นั่นเอง ฯ
             ก็คำนี้ว่า เพราะอาศัยความยึดถือจึงเกิดความตระหนี่ เรากล่าวอธิบาย
ดังต่อไปนี้-
             ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้ โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้
กล่าวไว้ว่า เพราะอาศัยความยึดถือจึงเกิดความตระหนี่ ดูกรอานนท์ ก็ถ้าความ
ยึดถือมิได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน เมื่อไม่มีความยึดถือโดย
ประการทั้งปวง เพราะดับความยึดถือเสียได้ ความตระหนี่จะพึงปรากฏ
ได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งความ
ตระหนี่ ก็คือความยึดถือนั้นเอง ฯ
             ก็คำนี้ว่า เพราะอาศัยการพะวงจึงเกิดความยึดถือ เรากล่าวอธิบาย
ดังต่อไปนี้-
             ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้ โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้
กล่าวไว้ว่า เพราะอาศัยการพะวงจึงเกิดความยึดถือ ดูกรอานนท์ ก็ถ้าการพะวงมิ
ได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน เมื่อไม่มีการพะวงโดยประการ
ทั้งปวง เพราะดับการพะวงเสียได้ ความยึดถือจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งความ
ยึดถือ ก็คือการพะวงนั่นเอง ฯ
             ก็คำนี้ว่า เพราะอาศัยความรักใคร่พึงใจจึงเกิดการพะวง เรากล่าวอธิบาย
ดังต่อไปนี้-
             ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้
กล่าวไว้ว่า เพราะอาศัยความรักใคร่พึงใจจึงเกิดการพะวง ดูกรอานนท์ ก็ถ้าความ
รักใคร่พึงใจมิได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน เมื่อไม่มีความรัก
ใคร่พึงใจโดยประการทั้งปวง เพราะดับความรักใคร่พึงใจเสียได้ การพะวงจะพึง
ปรากฏได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งการพะวง
ก็คือความรักใคร่พึงใจนั่นเอง ฯ
             ก็คำนี้ว่า เพราะอาศัยความตกลงใจจึงเกิดความรักใคร่พึงใจ เรากล่าว
อธิบายดังต่อไปนี้-
             ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้กล่าว
ไว้ว่า เพราะอาศัยความตกลงใจจึงเกิดความรักใคร่พึงใจ ดูกรอานนท์ ก็ถ้าความ
ตกลงใจมิได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน เมื่อไม่มีความตกลงใจ
โดยประการทั้งปวง เพราะดับความตกลงใจเสียได้ ความรักใคร่พึงใจจะพึงปรากฏ
ได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยความรักใคร่
พึงใจ ก็คือความตกลงใจนั่นเอง ฯ
             ก็คำนี้ว่า เพราะอาศัยลาภจึงเกิดความตกลงใจ เรากล่าวอธิบายดังต่อไปนี้-
             ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้กล่าว
ไว้ว่า เพราะอาศัยลาภจึงเกิดความตกลงใจ ดูกรอานนท์ ก็ถ้าลาภมิได้มีแก่ใครๆ
ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน เมื่อไม่มีลาภโดยประการทั้งปวง เพราะหมดลาภ
ความตกลงใจจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งความ
ตกลงใจ ก็คือลาภนั่นเอง ฯ
             ก็คำนี้ว่า เพราะอาศัยการแสวงหาจึงเกิดลาภ เรากล่าวอธิบายดังต่อ
ไปนี้-
             ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้ โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เรา
ได้กล่าวไว้ว่า เพราะอาศัยการแสวงหาจึงเกิดลาภ ดูกรอานนท์ ก็ถ้าการแสวงหา
มิได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน เมื่อไม่มีการแสวงหาโดย
ประการทั้งปวง เพราะหมดการแสวงหาลาภจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยของลาภ
ก็คือ การแสวงหานั่นเอง ฯ
             ก็คำนี้ว่า เพราะอาศัยตัณหาจึงเกิดการแสวงหา เรากล่าวอธิบายดังต่อ
ไปนี้-
             ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้กล่าว
ไว้ว่า เพราะอาศัยตัณหาจึงเกิดการแสวงหา ดูกรอานนท์ ก็ถ้าตัณหามิได้มีแก่ใครๆ
ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เมื่อ
ไม่มีตัณหาโดยประการทั้งปวง เพราะดับตัณหาเสียได้ การแสวงหาจะพึงปรากฏ
ได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยของการ
แสวงหาก็คือตัณหานั่นเอง ฯ
             [๖๐] ดูกรอานนท์ ธรรมทั้งสองเหล่านี้ รวมเป็นอันเดียวกันกับเวทนา
โดยส่วนสอง ด้วยประการดังนี้แล ฯ
             ก็คำนี้ว่า เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา เรากล่าวอธิบายดังต่อ
ไปนี้
             ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้กล่าว
ไว้ว่า เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา ดูกรอานนท์ ก็ถ้าผัสสะมิได้มีแก่ใครๆ
ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน คือจักษุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหา-
*สัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส เมื่อไม่มีผัสสะโดยประการทั้งปวง เพราะ
ดับผัสสะเสียได้เวทนาจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งเวทนา
ก็คือผัสสะนั่นเอง ฯ
             ก็คำนี้ว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดผัสสะ เรากล่าวอธิบายดังต่อ
ไปนี้-
             ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้กล่าว
ไว้ว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดผัสสะ ดูกรอานนท์ การบัญญัตินามกาย
ต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต อุเทศ เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุเทศ
นั้นๆ ไม่มี การสัมผัสเพียงแต่ชื่อในรูปกายจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             ดูกรอานนท์ การบัญญัติรูปกาย ต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต อุเทศ
เมื่ออาการ เพศ นิมิต อุเทศนั้นๆ ไม่มี การสัมผัสโดยการกระทบ จะพึง
ปรากฏในนามกายได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             ดูกรอานนท์ การบัญญัตินามก็ดี รูปกายก็ดี ต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ
นิมิต อุเทศ เมื่ออาการ เพศ นิมิต อุเทศนั้นๆ ไม่มี การสัมผัสเพียงแต่ชื่อ
ก็ดี การสัมผัสโดยการกระทบก็ดี จะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             ดูกรอานนท์ การบัญญัตินามรูปต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต อุเทศ
เมื่ออาการ เพศ นิมิต อุเทศนั้นๆ ไม่มี ผัสสะจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งผัสสะ
ก็คือนามรูปนั่นเอง ฯ
             ก็คำนี้ว่า เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงเกิดนามรูป เรากล่าวอธิบายดังต่อ
ไปนี้-
             ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้กล่าว
ไว้ว่า เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงเกิดนามรูป ดูกรอานนท์ ก็วิญญาณจักไม่หยั่งลง
ในท้องแห่งมารดา นามรูปจักขาดในท้องแห่งมารดาได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             ดูกรอานนท์ ก็ถ้าวิญญาณหยั่งลงในท้องแห่งมารดาแล้วจักล่วงเลยไป
นามรูปจักบังเกิดเพื่อความเป็นอย่างนี้ได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             ดูกรอานนท์ ก็ถ้าวิญญาณ ของกุมารก็ดี ของกุมาริกาก็ดี ผู้ยังเยาว์วัยอยู่
จักขาดความสืบต่อ นามรูปจักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งนามรูป
ก็คือวิญญาณนั่นเอง ฯ
             ก็คำนี้ว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดวิญญาณ เรากล่าวอธิบายดังต่อ
ไปนี้-
             ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้กล่าว
ไว้ว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดวิญญาณ ดูกรอานนท์ ก็ถ้าวิญญาณจักไม่ได้
อาศัยในนามรูปแล้ว ความเกิดขึ้นแห่งชาติชรามรณะและกองทุกข์ พึงปรากฏ
ต่อไปได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งวิญญาณ
ก็คือนามรูปนั่นเอง ด้วยเหตุผลเพียงเท่านี้แหละ อานนท์ วิญญาณและนามรูป
จึงยังเกิด แก่ ตาย จุติ หรืออุปบัติ ทางแห่งชื่อ ทางแห่งนิรุติ ทางแห่งบัญญัติ
ทางที่กำหนดรู้ด้วยปัญญาและวัฏฏสังสาร ย่อมเป็นไปด้วยเหตุเพียงเท่านี้ๆ ความ
เป็นอย่างนี้ ย่อมมีเพื่อบัญญัติ คือนามรูปกับวิญญาณ ฯ
             [๖๑] ดูกรอานนท์ บุคคลเมื่อจะบัญญัติอัตตา ย่อมบัญญัติด้วยเหตุ
ประมาณเท่าไร ก็เมื่อบุคคลจะบัญญัติอัตตา มีรูปเป็นกามาวจร ย่อมบัญญัติว่า
อัตตาของเรามีรูปเป็นกามาวจร เมื่อบัญญัติอัตตามีรูปหาที่สุดมิได้ ย่อมบัญญัติว่า
อัตตาของเรามีรูปหาที่สุดมิได้ เมื่อบัญญัติอัตตาไม่มีรูปเป็นกามาวจร ย่อมบัญญัติว่า
อัตตาของเราไม่มีรูปเป็นกามาวจร เมื่อบัญญัติอัตตาไม่มีรูปหาที่สุดมิได้ ย่อม
บัญญัติว่า อัตตาของเราไม่มีรูปหาที่สุดมิได้ ฯ
             ดูกรอานนท์ บรรดาความเห็น ๔ อย่างนั้น ผู้ที่บัญญัติอัตตามีรูปเป็น
กามาวจรนั้น ย่อมบัญญัติในกาลบัดนี้ หรือบัญญัติซึ่งสภาพที่เป็นอย่างนั้น หรือ
มีความเห็นว่า เราจักยังสภาพอันไม่เที่ยงแท้ที่มีอยู่ให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพที่
เที่ยงแท้ อานนท์ การลงความเห็นว่าอัตตาเป็นกามาวจร ย่อมติดสันดานผู้มีรูปที่
เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงควรกล่าวไว้ด้วย ฯ
             ดูกรอานนท์ บรรดาความเห็น ๔ อย่างนั้น ผู้มีบัญญัติอัตตามีรูปหาที่สุด
มิได้นั้น ย่อมบัญญัติในกาลบัดนี้ หรือบัญญัติซึ่งสภาพที่เป็นอย่างนั้น หรือมี
ความเห็นว่า เราจักยังสภาพที่ไม่เที่ยงแท้อันมีอยู่ให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพที่เที่ยงแท้
อานนท์ การลงความเห็นว่า อัตตาหาที่สุดมิได้ ย่อมติดสันดานผู้มีรูปที่เป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้น จึงควรกล่าวไว้ด้วย ฯ
             ดูกรอานนท์ บรรดาความเห็น ๔ อย่างนั้น ผู้ที่บัญญัติอัตตาไม่มีรูปเป็น
กามาวจรนั้น ย่อมบัญญัติในกาลบัดนี้ หรือบัญญัติซึ่งสภาพที่เป็นอย่างนั้น หรือ
มีความเห็นว่า เราจักยังสภาพอันไม่เที่ยงแท้ที่มีอยู่ให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพที่
เที่ยงแท้ อานนท์ การลงความเห็นว่าอัตตาเป็นกามาวจร ย่อมติดสันดานผู้มีอรูป
ที่เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงควรกล่าวไว้ด้วย ฯ
             ดูกรอานนท์ บรรดาความเห็น ๔ อย่างนั้น ส่วนผู้ที่บัญญัติอัตตาไม่มีรูป
ทั้งหาที่สุดมิได้นั้น ย่อมบัญญัติในกาลบัดนี้ หรือบัญญัติซึ่งสภาพที่เป็นอย่างนั้น
หรือมีความเห็นว่า เราจักยังสภาพที่ไม่เที่ยงแท้อันมีอยู่ให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพ
ที่เที่ยงแท้ อานนท์ การลงความเห็นว่า อัตตาหาที่สุดมิได้ ย่อมติดสันดาน
ผู้มีอรูป เพราะฉะนั้น จึงควรกล่าวไว้ด้วย ฯ
             ดูกรอานนท์ บุคคลเมื่อจะบัญญัติอัตตาย่อมบัญญัติด้วยเหตุมีประมาณเท่า
นี้แล ฯ
             [๖๒] ดูกรอานนท์ บุคคลเมื่อไม่บัญญัติอัตตา ย่อมไม่บัญญัติด้วยเหตุ
มีประมาณเท่าไร อานนท์ ก็เมื่อบุคคลไม่บัญญัติอัตตามีรูปเป็นกามาวจร ย่อมไม่
บัญญัติว่า อัตตาของเรามีรูปเป็นกามาวจร เมื่อไม่บัญญัติอัตตามีรูปอันหาที่สุดมิได้
ย่อมไม่บัญญัติว่า อัตตาของเรามีรูปหาที่สุดมิได้ หรือเมื่อไม่บัญญัติอัตตาไม่มี
รูปเป็นกามาวจร ย่อมไม่บัญญัติว่า อัตตาของเราไม่มีรูปเป็นกามาจร เมื่อไม่
บัญญัติอัตตาไม่มีรูปหาที่สุดมิได้ ย่อมไม่บัญญัติว่า อัตตาของเราไม่มีรูปหาที่สุดมิได้
อานนท์ บรรดาความเห็น ๔ อย่างนั้น ผู้ที่ไม่บัญญัติอัตตามีรูปเป็นกามาวจรนั้น
ย่อมไม่บัญญัติในกาลบัดนี้ หรือไม่บัญญัติซึ่งสภาพที่เป็นอย่างนั้น หรือไม่มีความ
เห็นว่า เราจักยังสภาพอันไม่เที่ยงแท้ที่มีอยู่ให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพที่เที่ยงแท้
อานนท์ การลงความเห็นว่า อัตตาเป็นกามาวจร ย่อมไม่ติดสันดานผู้มีรูปที่เป็น
อย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงควรกล่าวไว้ด้วย
             ผู้ที่ไม่บัญญัติอัตตามีรูปหาที่สุดมิได้นั้น ย่อมไม่บัญญัติในกาลบัดนี้ หรือ
ไม่บัญญัติซึ่งสภาพที่เป็นอย่างนั้น หรือไม่มีความเห็นว่า เราจักยังสภาพอัน
ไม่เที่ยงแท้ที่มีอยู่ให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพที่เที่ยงแท้ อานนท์ การลงความเห็นว่า
อัตตาหาที่สุดมิได้ ย่อมไม่ติดสันดานผู้มีรูปที่เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงควร
กล่าวไว้ด้วย
             ส่วนผู้ที่ไม่บัญญัติอัตตาไม่มีรูปเป็นกามาวจรนั้น ย่อมไม่บัญญัติในกาล
บัดนี้ หรือไม่บัญญัติซึ่งสภาพที่เป็นอย่างนั้น หรือไม่มีความเห็นว่า เราจักยังสภาพ
อันไม่เที่ยงแท้ที่มีอยู่ให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพที่เที่ยงแท้ อานนท์ การลงความเห็นว่า
อัตตาเป็นกามาวจร ย่อมไม่ติดสันดานผู้มีอรูปที่เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงควร
กล่าวไว้ด้วย
             ผู้ที่ไม่บัญญัติอัตตาไม่มีรูปหาที่สุดมิได้นั้น ย่อมไม่บัญญัติในกาลบัดนี้
หรือไม่บัญญัติซึ่งสภาพที่เป็นอย่างนั้น หรือไม่มีความเห็นว่า เราจักยังสภาพอัน
ไม่เที่ยงแท้ที่มีอยู่ให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพที่เที่ยงแท้ อานนท์ การลงความเห็นว่า
อัตตาหาที่สุดมิได้ ย่อมไม่ติดสันดานผู้มีอรูปที่เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงควร
กล่าวไว้ด้วย ฯ
             ดูกรอานนท์ บุคคลเมื่อไม่บัญญัติอัตตา ย่อมไม่บัญญัติด้วยเหตุมีประมาณ
เท่านี้แล ฯ
             [๖๓] ดูกรอานนท์ บุคคลเมื่อเล็งเห็นอัตตา ย่อมเล็งเห็นด้วยเหตุมี
ประมาณเท่าไร ก็บุคคลเมื่อเล็งเห็นเวทนาเป็นอัตตา ย่อมเล็งเห็นว่า เวทนาเป็น
อัตตาของเรา ถ้าเวทนาไม่เป็นอัตตาของเราแล้ว อัตตาของเราก็ไม่ต้องเสวยเวทนา
อานนท์ หรือเล็งเห็นอัตตา ดังนี้ว่า เวทนาไม่เป็นอัตตาของเราเลย จะว่าอัตตา
ของเราไม่ต้องเสวยเวทนาก็ไม่ใช่ อัตตาของเรายังต้องเสวยเวทนาอยู่ เพราะฉะนั้น
อัตตาของเรามีเวทนาเป็นธรรมดา อานนท์ บรรดาความเห็น ๓ อย่างนั้น ผู้ที่กล่าว
อย่างนี้ว่า เวทนาเป็นอัตตาของเรา เขาจะพึงถูกซักถามอย่างนี้ว่า อาวุโส เวทนา
มี ๓ อย่างนี้ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา บรรดาเวทนา
๓ ประการนี้ ท่านเล็งเห็นอันไหนโดยความเป็นอัตตา อานนท์ ในสมัยใด อัตตา
เสวยสุขเวทนา ในสมัยนั้น ไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา
คงเสวยแต่สุขเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น ในสมัยใดอัตตาเสวยทุกขเวทนาไม่ได้
เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา คงเสวยแต่ทุกขเวทนาอย่างเดียว
เท่านั้น ในสมัยใด อัตตาเสวยอทุกขมสุขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา
ไม่ได้เสวยทุกขเวทนา คงเสวยแต่อทุกขมสุขเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น
             ดูกรอานนท์ เวทนาแม้ที่เป็นสุขก็ดี แม้ที่เป็นทุกข์ก็ดี แม้ที่เป็นอทุกขม-
*สุขก็ดี ล้วนไม่เที่ยง เป็นเพียงปัจจัยปรุงแต่งขึ้น มีความสิ้นความเสื่อม ความ-
*คลาย และความดับไปเป็นธรรมดา เมื่อเขาเสวยสุขเวทนา ย่อมมีความเห็นว่า
นี้เป็นอัตตาของเรา ต่อสุขเวทนาอันนั้นดับไป จึงมีความเห็นว่า อัตตาของเรา
ดับไปแล้ว เมื่อเสวยทุกขเวทนา ย่อมมีความเห็นว่า นี้เป็นอัตตาของเรา ต่อ
ทุกขเวทนาอันนั้นแลดับไป จึงมีความเห็นว่า อัตตาของเราดับไปแล้ว เมื่อเสวย
อทุกขมสุขเวทนา ย่อมมีความเห็นว่า นี้เป็นอัตตาของเรา ต่ออทุกขมสุขเวทนา
อันนั้นแลดับไป จึงมีความเห็นว่า อัตตาของเราดับไปแล้ว ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า
เวทนาเป็นอัตตาของเรานั้น เมื่อเล็งเห็นอัตตา ย่อมเล็งเห็นเวทนาอันไม่เที่ยง
เกลื่อนกล่นไปด้วยสุขและทุกข์ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็น
อัตตาในปัจจุบันเท่านั้น เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ ข้อนี้จึงยังไม่ควรที่จะ
เล็งเห็นว่า เวทนาเป็นอัตตาของเรา แม้ด้วยคำดังกล่าวแล้วนี้ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า
ถ้าเวทนาไม่เป็นอัตตาของเราแล้ว อัตตาของเราก็ไม่ต้องเสวยเวทนา เขาจะพึง
ถูกซักอย่างนี้ว่า ในรูปขันธ์ล้วนๆ ก็ยังมิได้มีความเสวยอารมณ์อยู่ทั้งหมด ใน
รูปขันธ์นั้น ยังจะเกิดอหังการว่าเป็นเราได้หรือ ฯ
             ไม่ได้ พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ ข้อนี้จึงยังไม่ควรที่จะเล็งเห็นว่า ถ้าเวทนา
ไม่เป็นอัตตาของเราแล้ว อัตตาของเราก็ไม่ต้องเสวยเวทนา แม้ด้วยคำดังกล่าว
แล้วนี้ ส่วนผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า เวทนาไม่เป็นอัตตาของเราเลย อัตตาของเราไม่
ต้องเสวยเวทนาก็ไม่ใช่ อัตตาของเรายังต้องเสวยเวทนาอยู่ เพราะว่า อัตตาของ
เรามีเวทนาเป็นธรรมดา เขาจะพึงถูกซักอย่างนี้ว่า อาวุโส ก็เพราะเวทนาจะต้อง
ดับไปทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่เหลือเศษ เมื่อเวทนาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะ
เวทนาดับไป ยังจะเกิดอหังการว่า เป็นเราได้หรือ ในเมื่อขันธ์นั้นๆ ดับ
ไปแล้ว ฯ
             ไม่ได้ พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ ข้อนี้จึงยังไม่ควรที่จะเล็งเห็นว่า เวทนา
ไม่เป็นอัตตาของเราแล้ว อัตตาของเราไม่ต้องเสวยเวทนาเลยก็ไม่ใช่ อัตตาของ
เรายังต้องเสวยเวทนาอยู่ เพราะว่า อัตตาของเรามีเวทนาเป็นธรรมดา แม้ด้วยคำ
ดังกล่าวแล้วนี้ ฯ
             [๖๔] ดูกรอานนท์ คราวใดเล่า ภิกษุไม่เล็งเห็นเวทนาเป็นอัตตา ไม่
เล็งเห็นอัตตาว่าไม่ต้องเสวยเวทนาก็ไม่ใช่ ไม่เล็งเห็นว่าอัตตายังต้องเสวยเวทนา
อยู่ เพราะว่า อัตตาของเรามีเวทนาเป็นธรรมดา ภิกษุนั้น เมื่อเล็งเห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก และเมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะทกสะท้าน เมื่อไม่
สะทกสะท้านย่อมปรินิพพานได้เฉพาะตน ทั้งรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์
อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี อานนท์
ผู้ใดกล่าวอย่างนี้ว่า ทิฐิว่าเบื้องหน้าแต่ตาย สัตว์ยังมีอยู่ ว่าเบื้องหน้าแต่ตาย
สัตว์ไม่มีอยู่ ว่าเบื้องหน้าแต่ตาย สัตว์มีอยู่ด้วย ไม่มีอยู่ด้วย ว่าเบื้องหน้าแต่ตาย
สัตว์มีอยู่ก็หามิได้ ไม่มีอยู่ก็หามิได้ ดังนี้ กะภิกษุผู้หลุดพ้นแล้วอย่างนี้ การ
กล่าวของบุคคลนั้นไม่สมควร ฯ
             ข้อนั้น เพราะเหตุไร
             ดูกรอานนท์ ชื่อ ทางแห่งชื่อ ทางแห่งนิรุติ บัญญัติ ทางแห่งบัญญัติ
การแต่งตั้ง ทางที่กำหนดรู้ด้วยปัญญา วัฏฏะยังเป็นไปอยู่ตราบใด วัฏฏสงสาร
ยังคงหมุนเวียนอยู่ตราบนั้น เพราะรู้ยิ่ง วัฏฏสงสารนั้น ภิกษุจึงหลุดพ้น ข้อที่มี
ทิฐิว่า ใครๆ ย่อมไม่รู้ ย่อมไม่เห็นภิกษุผู้หลุดพ้น เพราะรู้ยิ่ง


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 03, 2016, 11:40:56 AM
วิธีการเจริญเมตตาจิตในขณะที่สวดมนต์แผ่เมตตา

ขอนอบน้อมแด่ พระพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ขอนอบน้อมแด่พระธรรม ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว
ขอนอบน้อมแด่พระสงฆ์ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ พระเถระ พระอริยะเจ้าทั้งหลาย  ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ที่ควรแก่การเคารพนพน้อม

    ธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่ผมโพสท์กล่าวทั้งหมด เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และตรัสไว้ดีแล้ว ประเสริฐแล้ว หาประมาณมิได้ พึงปฏิบัติและให้ผลได้ไม่จำกัดกาล เป็นธรรมเพื่อให้เราทั้งหลายได้เห็นทางพ้นทุกข์ จนถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ผมได้นำธรรมอันประเสริฐทั้งหลายเหล่านั้นมาพิจารณาปฏิบัติ กรรมฐาน สมถะ และ วิปัสนา ทำให้ผมได้รู้เห็นและขยายความข้อธรรมและแนวปฏิบัติต่างๆตามจริต และ สติกำลังร่วมกับปัญญาของผมได้ดังนี้...หากธรรมที่ผมได้โพสท์กล่าวนั้นมีความผิดพลาด ผิดเพี้ยน ไม่เป็นจริงด้วยประการใดๆ ขอท่านทั้งหลายพึงรู้ว่าธรรมนั้นมาจากความคิดพิจารณาด้วยสติปัญญาอันน้อยนิดของผมแล้วกลั่นกรองออกมาเป็นแนวทางปฏิบัตินั้นๆ หากเป็นคุณประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายให้พึงระลึกรู้โดยจริงว่า ธรรมอันประเสริฐทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นแล เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และตรัสสอน ไม่ใช่ธรรมของผมแต่อย่างใด

บัดนี้ข้าพเจ้าขอแสดงธรรมเรื่อง วิธีการเจริญเมตตาจิตในขณะที่สวดมนต์แผ่เมตตา ตามวิธีที่ผมศึกษาเรียนรู้ปฏิบัติมา เพื่อเป็นประโยชน์ในการดำเนินไปในธรรมดังนี้


วิธีเจริญเข้าสู่สมาธิจิตเพื่อให้ใจเราสงบโดยง่าย

1. เวลาทำสมาธิภาวนา ให้กระทำใน นั่ง ยืน เดิน นอน ตามแต่ที่เราพอใจหรือเหมาะสม
2. เมื่อเริ่มทำสมาธิให้กำหนดลมหายใจเข้าออกตามปกติ จะบริกรรมเช่นใดก็ตามแต่จะ พุทธ-โธ หรือ ยุบ-พอง หรือ ใดๆก็ตามแต่ที่จริตเราชอบ
3. ระลึกถึงสภาพจิตที่เป็นกุศลจิต คือ มีความสงบเย็นใจ ผ่องใส ไม่ติดข้องใจในสิ่งใด มีความเบาบาง ใสสว่าง
4. ระลึกจิตให้ทรงอารมณ์ในสภาพที่เป็นกุศลนี้ให้ตั้งอยู่ ให้คงอยู่ซักระยะ ระลึกเข้าความเบาสบาย ผ่องใส ไม่ติดข้องใจไว้ เพื่อไม่เ็ป็นการจดจ้องในอารมณ์ จะทำให้ปวดหัวได้
5. เมื่อทรงอารมณ์เข้าในสภาวะที่เป็นกุศลจิตนี้ สภาพจิตที่เป็นตัวรู้ของเรามันจะรู้สภาพปรมัตถธรรมที่เกิดนี้ของเรา แล้วตั้งจิตทรงอารมณ์ไว้ซักระยะ

- โดยปกติทั่วไป คนที่ไม่ศึกษาในพระธรรม หรือ เพิ่งเริ่มต้นศึกษาธรรมในพระพุทธศาสนานี้ หากยังวางจิตเข้าถึง เมตตาจิต กรุณาจิต ทานจิต มุทิตาจิตไม่ได้ มักจะเข้าใจแค่ว่าเวลาแผ่เมตตาให้คนอื่นเราก็สวดๆบทแผ่เมตตานั้นๆแล้วระลึกถึงบุคคลที่จะให้ ด้วยสภาพจิตที่อยากให้เขารักใคร่ตนกลับคืนบ้าง อยากให้เขาเลิกทำร้ายเบียดเบียนเราบ้าง โดยไม่ได้มุ่งเน้นในสภาพจิตที่เป็นเมตตาจริงๆที่จะส่งผลให้การสวดมนต์แผ่เมตตานั้นสำเร็จผลได้จริงๆ
- ผมเจอคนโดยมากมักกล่าวว่า เจอคนที่ชอบเบียดเบียนตนเองบ้าง ตนเองไม่พอใจเขาบ้าง เกลียดเขาบ้าง สวดบทแผ่เมตตาอยู่ทุกวันไม่เห็นเป็นผลเลย ซึ่งนั่นก็เพราะที่กระทำไปนั้นเพราะมุ่งเน้นผลตอบกลับซึ่งสภาพจิตเช่นนี้มันเต็มไปด้วยความโลภจนก่อเป็นตัณหาความทะยานอยากที่จะให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ จนจิตที่เป็นเมตตาจริงๆของตนนั้นถูกบดบังด้วยความอยากที่เป็นความโลภและตัณหาเข้ามาทดแทนจิตที่เป็นเมตตา ดังนั้นเมื่อสวดบทแผ่เมตตาแม้จะพันครั้งก็เหมือนท่องอ่านบทกลอนเล่นๆเพื่อสนองตัณหาตนไม่อาจเข้าถึงประโยชน์และคุณค่าที่แท้จริงของบทสวดนั้นได้

การปฏิบัติเพื่อเข้าถึงเมตตาจิตเพื่อการสวดมนต์แผ่เมตตาจิต

** เริ่มต้นให้แผ่เมตตาให้ตนเองก่อนนะครับ โดยเจริญจิตตั้งมั่นระลึกให้ตนเองนั้นมีสภาพกาย-วาจา-ใจ ดังนี้คือ

- โลกมีความเป็นไปของมันโดยธรรมชาติ ล้วนดำรงด้วยขันธ์มีความรู้สึกนึก มีความแปรปรวน มีความเอนเอียงไปเป็นตามธรรมชาติของมัน มีเหตุปัจจัยต่างๆที่ทำให้เราได้พบเจอในสิ่งที่รักที่ชังแต่ทุกสิ่งล้วนเป็นไปของมัน จะพึงหมายให้สิ่งอันเป็นที่รักที่จำเริญใจคงอยู่ ให้สิ่งที่ชังที่ไม่ชอบไม่จำเริญใจจงวินาสดับสูญไปให้ไกลตน ก็หาทำได้ไม่ เราย่อมบังคับมันไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตนเหล่าใดที่เราจะพึงทำได้ เพราะมันเป็นไปโดยธรรมชาติของมันอย่างนั้น จะเอาความความสุขสำเร็จของตนไปผูกขึ้นไว้กับผู้อื่น เอาความสุขสำเร็จของตนไปผูกขึ้นไว้กับสิ่งใดๆที่ไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวตนแล้วมันจะหาสุขอันใดได้เล่า การเอาความสุขสำเร็จของตนไปผูกขึ้นไว้กับผู้อื่นมันก็มีแต่ทุกข์อยู่ร่ำไป เลิกเอาความสุขของตนไปผูกขึ้นไว้กับผู้อื่นหรือสิ่งไรๆเสียจักไม่ทุกข์
- พึงรู้ว่าธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตความรู้สึกนึกคิดจิตใจมันเป็นแบบนั้น มีความเป็นไปอย่างนั้นของมันอยู่แล้ว แม้แต่ตัวเราเอง เลิกติดใจข้องแวะสิ่งเหล่านั้นไปเสียติดข้องใจไรๆไปก็หาความสุขใดๆไม่ได้นอกจากทุกข์
- ความติดใจข้องแวะสิ่งใดย่อมนำพาไปสู่ความเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ความเบียดเบียนทำให้เร่าร้อน ความเร่าร้อนเป็นทุกข์
- ความไม่ติดใจข้องแวะสิ่งไรๆในโลกย่อมไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ความไม่เบียดเบียนทำให้เย็นกายสบายใจ ความเย็นใจเป็นสุข

ด้วยเหตุดังนี้ๆ..เราทำความเมตตาตนเองโดยพึงทำไว้ในใจว่า

 - เราจักทำจิตให้ผ่องใสดุจดวงประทีป ละเว้นจากความเบียดเบียนทั้งปวง ยังจิตให้สงบรำงับจากบาปอกุศลทั้งปวงอยู่ ยังความเบาสบายเย็นใจ สุขอยู่ทุกเมื่อ
(ทำจิตน้อมระลึกถึงความไม่ติดใจข้องแวะในสิ่งไรๆในโลก ระลึกถึงดวงแก้วอันสว่างไสวมีความผ่องใสเป็นสุขปราศจากความหม่นมัวหมองคือกิเลสความลุ่มหลงทั้งรักทั้งชังทั้งปวง)
 - เราจักเป็นผู้ไม่ผูกจองเวรใคร คือ ไม่ผูกใจเจ็บ ผูกโกรธแค้นเคืองใคร จักสละซึ่งความโกรธเคืองทั้งปวง มีปกติจิตผ่องใสเอื้อเฟื้อเกื้อกูลเป็นที่สบายกายใจ
(พีงระลึกว่าเราทั้งหลายในโลกล้วนเป็นเพียงสิ่งที่มีชีวิตจิตใจมีสังขารอันเกิดแต่วิบากกรรมให้จิตจรมาอาศัยอยู่ ดังนั้นก็ล้วนมีทำถูกทำผิด พลั้งเผลอมีรัก โลภ โกรธ หลงเหมือนกันหมด จะเอาอะไรกับสิ่งมีชีวิตที่มีความคิดความรู้สึกปรุงแต่งไปต่างๆนาๆตามอกุศลได้เล่า แม้เราก็มีอยู่ ดังนี้พึงละความติดข้องใจไรๆต่อใครไปเสีย ผูกโกรธผูกเวรไปก็ทำให้ใจเราเศร้าหมองเปล่าๆ ทำใจเราให้เว้นด้วยสละจากความโกรธแค้นพยาบาทเบียดเบียนต่อใครไปเสียเป็นความเอื้อเฟื้อสงเคราะห์ให้เขาเหล่านั้นเป็นอภัยทาน เราก็ได้เมตตาบารมี ทานบารมี ดังนั้นพึงตั้งมั่นเอาความไม่มีโกรธพยาบาทผูเแค้นอาฆาตมาสู่ใจเรา ทำใจให้ผ่องใส)
- เราจักเป็นผู้ไม่ผูกใจเจ็บแค้นใคร จักทำใจให้ผ่องใสเว้นจากความพยาบาทหมายทำร้ายหรือต้องการให้ใครฉิบหาย จักสละซึ่งความผูกแค้นเคืองอาฆาตทั้งปวง มีปกติจิตผ่องใสเอื้อเฟื้อเกื้อกูลเป็นที่สบายกายใจ
(พึงระลึกว่าเราทั้งหลายในโลกล้วนเป็นเพียงสิ่งที่มีชีวิตจิตใจมีสังขารอันเกิดแต่วิบากกรรมให้จิตจรมาอาศัยอยู่ ดังนั้นก็ล้วนมีทำถูกทำผิด พลั้งเผลอมีรัก โลภ โกรธ หลงเหมือนกันหมด จะเอาอะไรกับสิ่งมีชีวิตที่มีความคิดความรู้สึกปรุงแต่งไปต่างๆนาๆตามอกุศลได้เล่า แม้เราก็มีอยู่ ดังนี้พึงละความติดข้องใจไรๆต่อใครไปเสีย ผูกพยาบาทเบียดเบียนต่อใครไปก็ทำให้ใจเราเศร้าหมองเปล่าๆ ทำใจเราให้เว้นด้วยสละจากความโกรธแค้นพยาบาทเบียดเบียนต่อใครไปเสียเป็นความเอื้อเฟื้อสงเคราะห์ให้เขาเหล่านั้นเป็นอภัยทาน เราก็ได้เมตตาบารมี ทานบารมี ดังนั้นพึงตั้งมั่นเอาความไม่มีโกรธพยาบาทผูกแค้นอาฆาตมาสู่ใจเรา ทำใจให้ผ่องใส)
 - เราทำความตั้งมั่นเว้นแล้วซึ่งความเบียดเบียนมีจิตเป็นศีลด้วยความเอื้อเฟื้อสละให้อยู่ดังนี้ ด้วยเดชแห่งบุญนั้นขอเราจงเป็นผู้ไม่มีความทุกข์เร่าร้อนกายและใจ ไม่มีโรค ไม่มีภัย พ้นจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองกายใจทั้งปวงนั้นเทอญ
(ระลึกถึง ๓ ข้อข้างต้นนั้น นั่นแหละคือมีใจเป็นศีล ศีล คือ เจตนาเครื่องกุศล เจตนาละเว้นจากอกุศลกรรมความเบียดเบียนทั้งปวง มีใจเอื้อเฟื้อน้อมไปในการสละเกื้อกูล ยินดีที่ผู้อื่นสำเร็จประโยชน์สุข ทำข้อนี้ไม่ใใช่ได้แค่เมตตาเท่านั้น เรายังได้สีลานุสสติเพราะใจเป็นศีล ได้จาคานุสสติเพราะใจเราทำอภัยทานด้วยสละความโกรธแค้นเบียดเบียนหมายจะทำเขาให้ฉิบหายนั่นเอง)
 - เราตั้งมั่นรักษากาย วาจา ใจไม่พ้นจากสมมติกิเลสเครื่องเร่าร้อนที่ล่อใจไว้อยู่ตามสติกำลัง ด้วยเหตุแห่งประการทั้งปวงนั้น ขอจงเป็นเครื่องปกปักรักษาให้เรารอดพ้นจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งปวง มีความเย็นกายสบายใจเป็นสุขอยู่ทุกที่ในกาลทุกเมื่อตราบจนถึงพระนิพพานนั้นเทอญ

หากยังทรงจิตให้มีปกติเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันไม่ได้ แนวทางนี้ก็เป็นเพียงหลักการสะกดจิตน้อมใจไปให้เป็นอย่างนั้น แต่อย่างไรก็ตามแนวทางนี้ก็เป็นการสะสมเหตุของปุถุชนอย่างเราๆที่จะพึงพอทำได้ เพื่อให้มีสันดานแห่งพระอริยะในภายหน้าสืบไปครับ

** จากนั้นสวดมนต์แผ่เมตตาพร้อมเจริญจิตตั้งมั่นเจริญในอุบายแนวทางของใจที่มอบเมตตาจิตแก่บุคคลแต่ละประเภทดังต่อไปนี้ **

    เมื่อเรามีความเย็นใจผ่องใสเป้นที่สบายแล้ว พึงเห็นว่าไม่ว่าเขา หรือเรา หรือใครๆ ก็ล้วนเป็นผู้ดำรงขันธ์อยู่ มีกายรูปร่างหน้าตา วาจาคำพูดกล่าว วจีเหล่าใด ใจอันเป็นอุปนิสัยจริตสันดาน ซึ่งต่างเกิดขึ้นมาแต่วิบากกรรมที่ติดตามมาแต่ปางก่อนทั้งสิ้น ต่างล่วงพ้นทุกข์ในอีกที่หนึ่งภพหนึ่งจรไปอีกที่หนึ่งภพหนึ่ง จรจากนรกบ้าง จรจากสวรรค์บ้าง จึงลงมาสู่ครรภ์ของมารดาในปัจจุบันชาตินี้ด้วยกันทั้งสิ้น ด้วยเหตุดังนี้พระศาสดาจึงสอนให้มี ทาน ศีล พรหมวิหาร๔ สัมมัปปธาน๔ สติ สัมปะชัญญะ สมาธิ ปัญญาเพื่อเป็นกุศลวิบากกรรมให้ติดตามเราไปทุกภพทุกชาติตราบจนถึงพระนิพพาน
    เมื่อยังปุถุชนอยู่เหมือนกันก็ต้องมีที่รักที่ชังมีความอคติลำเอียงเป็นธรรมดาไม่ว่าเขาหรือเรา ดังนี้แล้วจึงไม่ควรติดใจข้องแวะสิ่งใดๆต่อใครทั้งสิ้น เพราะต่างก็เป็นเพียงขันธ์ เป็นสังขารในโลก เป็นสิ่งที่ชีวิตที่เสมอด้วยกันหมด เพราะต่างเกิดขึ้นเพราะกรรมทั้งสิ้น
    เมื่อเราสงบเราเป็นสุบเราพ้นจากทุกข์ความเบียดเบียนเร่าร้อนแล้ว พึงเห็นว่าเขานั้นแลยังทุกข์อยู่ควรที่เราจะเอื้อเฟื้อสงเคราะห์เกื้อกูลให้เขาพ้นจากความเร่าร้อนที่มีอยู่นั้น อย่างที่เราเป็นสุขพ้นจากทุกข์เร่าร้อนอยู่ในตอนนี้ เมื่อต่างฝ่ายต่างเป็นปกติสุขไม่เร่าร้อน ย่อมไม่เบียดเบียนกัน เมื่อคิดได้ดังนี้แล้ว ก็แผ่เอาเมตตาน้อมไปในความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลความสุขสำเร็จปราศจากกิเลสความเร่าร้อนนั้นไปให้เขาพร้อมบทสวดแผ่เมตตานั้นๆไป


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 03, 2016, 11:41:23 AM
1. การแผ่เมตตาให้แก่บุคคลที่เรา รักใคร่ หรือ เคารพบูชา เช่น บุพการี พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ครูบาอาจารย์ ลุง ป้า น้า อา พี่ น้องภรรยา สามี ลูก หลาน เพื่อนสนิท มิตรสหาย
1.1 การแผ่เมตตาจิตให้กับ พ่อ แม่  ครูบาอาจารย์ ลูก หลาน ญาติ พี่ น้อง เพื่อนทั้งหลายนั้น เราต้องตั้งจิตระลึกถึงพระคุณที่มีเป็นอันมากของผู้ที่มีความอุปการะคุณ เอื้อเฟื้อ อนุเคราะห์ แบ่งปัน ปนะโยชน์สุขให้แก่เรา(พ่อ- แม่ บุพการี ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย) หรือ ปารถนาให้บุคคลที่อันเป็นที่รักเรานั้นมีความปกติสุข สงบ สบายกาย-ใจ มีความสำเร็จ เจริญก้าวหน้า(ญาติ พี่น้อง ภรรยา สามี บุตร หลาน เพื่อน)
1.2 ตั้งจิตที่ปารถนาให้ท่านทั้งหลายได้พบเจอสิ่งที่ดีงาม ได้ประสบกับความสุข ได้พ้นจากความทุกข์  เป็นผู้ไม่มีทุกข์ เป็นผู้ไม่มีภัยอันตรายใดๆทั้งปวง มีจิตระลึกให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้นมีความปิติ สงบสุข ยินดี เปรมปรีย์จิต
1.3 ตั้งจิตในความเอื้อเฟื้อ อนุเคราะห์ แบ่งปัน และ ตั้งจิตแผ่มอบให้ ด้วยใจที่หวังและปารถนาให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้นได้รับผลประโยชน์สุขหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งหลายที่มีที่เป็นอยู่นี้ จากบุญใดๆที่เราได้เจริญ ได้กระทำ ได้ปฏิบัติดี ได้ปฏิบัติชอบมา ทั้ง กาย วาจา และ ใจ ได้แผ่ไพศาลไปถึงแก่ท่านทั้งหลายเหล่านั้น ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีงาม เป็นผู้ไม่ผูกจองเวรใคร เป็นผู้ไม่พยาบาทเบียดเบียนใครและปราศจากผู้ที่จะมาผูกเวรพยาบาทในท่านทั้งหลายเหล่านั้น เป็นผู้มีปกติสุขมีจิตใจผ่องใสไม่เศร้ามัวใจ ไม่หมองมัวใจ ไม่ขุ่นมัวขัดเคืองใจ ปราศจากทุกข์ภัย-ขอให้โรคภัยทั้งหลายอย่าได้มากล้ำกลาย และได้หลุดพ้นจากทุกข์ทางกายและใจทั้งหลาย

2. การแผ่เมตตาให้แก่บุคคลทั่วๆไป เช่น คนที่เราพอจะรู้จักแต่ไม่ได้เกี่ยวพันธ์สัมพันธ์ใดๆเป็นการส่วนตัว หรือ บุคคลที่เราไม่รู้จักมักจี่ ไม่คุ้นเคยด้วยก็ดี
2.1 เวลาที่เราจะแผ่เมตตาจิตให้แก่เขาเหล่านั้น ให้พึงระลึกรู้ในจิตของเราดังนี้ก่อนว่า ให้มองเขาเหล่านั้นเหมือนเป็น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ญาติ พี่ น้อง ลูก หลาน เพื่อนของเรา
2.2 ตั้งความปารถนาให้เขามีความสุขกาย สบายใจ มีความปิติสุข ยินดี ปราศจากทุกข์ ทั้งกายและใจ
2.3 ตั้งจิตในความเอื้ออนุเคราะห์ แบ่งปัน แก่เขาทั้งหลายเหล่านั้นด้วยการให้ที่เป็น "ทาน" ที่ให้ด้วยใจปารถนาให้เขาได้รับประโยชน์สุขจากการให้นั้นๆของเรา แล้วพึงตั้งมั่นในใจดังนี้ว่า..ขอมอบผลบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ ที่มีคุณเป็นมหาศาลจากการเจริญกัมมัฏฐาน การปฏิบัติที่ดีงามด้วย กาย วาจา ใจ นี้ๆของเรา ให้แก่เขาทั้งหลายเหล่านั้นได้รับผลบุญกุศลนี้ เพื่อได้ล่วงพ้นจากความทุกข์ ได้ประสบกับความสุขกายสบายใจ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีงาม จงเป็นผู้ไม่ผูกจองเวรใคร จงเป็นผู้ไม่พยาบาทเบียดเบียนใครและปราศจากผู้ที่จะมาผูกเวรพยาบาทในท่านทั้งหลายเหล่านั้น ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้นจงเป็นผู้มีปกติสุขยินดี มีจิตใจผ่องใสไม่เศร้ามัวใจ ไม่หมองมัวใจ ไม่ขุ่นมัวขัดเคืองใจ ปราศจากทุกข์ภัย-ขอให้โรคภัยทั้งหลายอย่าได้มากล้ำกลาย และได้หลุดพ้นจากทุกข์ทางกายและใจทั้งหลาย


3. การแผ่เมตตาให้แก่บุคคลผู้ทำให้เราต้องความผิดหวัง เจ็บช้ำ ทุกข์ทน อัดอั้น คับแค้น ทรมานไปทั้งกายและใจ ทำให้เราต้องโศรกเศร้า เสียใจ หรือ เมื่อเราอยู่ด้วยแล้วไม่มีความสุข ไม่มีความยินดีเลย เกลียด กลัว เช่น ถูกแฟนทิ้ง ถูกเขาหลอก ถูกเขาด่า ถูกเขานินทา ถูกทำร้าย

3.1 กรณีที่ประสบกับความพรัดพราก เช่น ผิดหวัง-ไม่สมหวังในรัก เลิกรา-ร้างลากับคนที่รัก ถูกแฟนทิ้ง ซึ่งทำให้เราได้รับความผิดหวัง ช้ำใจ โศรกเศร้าเสียใจ เป็นต้น
3.1.1 เวลาที่เราจะแผ่เมตตาจิตให้แก่บุคคลที่ทำให้เราต้องประสบพบเจอกับสภาพความรู้สึกเช่นนี้ เราต้องพึงพิจารณาทบทวนให้เห็นถึง ข้อดี-ข้อเสีย และ ผลได้-ผลเสีย ความรู้สึก-นึกคิด ต่างๆ จากการที่เรานั้นได้ประสบพบเจอในความไม่สมหวังปารถนา และ ความพรัดพรากที่เป็นอยู่ในตอนนี้ แล้วเราก็จะมองเห็นว่า
- หากเรามีจิตที่คิด อาลัย อาวรณ์ เสียดาย ร้องไห้ เสียใจ ต้องการอยากจะได้กลับคืน หรือ หวนเวลากลับคืน หรือ ขอให้มันย้อนกลับจะขอแก้ไขส่วนใดๆที่ขาดตกไปด้วยความใคร่ครวญ สภาพความรู้สึกของจิตใจเรานั้นจะ เศร้าหมอง ขุ่นมัว อัดอั้น คับแค้น กรีด หวีด หวิวทั้งกายและใจ โศรกเศร้า ร่ำไร รำพัน จิตใจสั่นเครือ จิตใจอ่อนล้า จิตใจไร้แรงกำลัง ลมหายใจระรัว แผ่วเบาบ้าง ถี่ติดขัดบ้าง ไม่เป็นปกติสุข
- หากเรามีจิตที่คิด ผูกเวร จองเวร พยาบาท อาฆาตแค้น สภาพความรู้สึกของจิตใจเรานั้นจะ ขุ่นข้อง ขัดเคือง มัวหมอง อัดอั้น คับแค้นกายและใจ  ถี่ติดขัดบ้าง ไม่เป็นปกติสุข มีแต่ทุกข์ เพราะจิตใจและความตรึกนึกคิดของเรานั้นจะคอยคิดเคียดแค้น อยากแก้แค้นจะเอาคืน จนร้อนรุ่มไปทั้งกายและใจ จิตใจเดือดดานอยู่ไม่เป็นปกติสุข ฟุ้งซ่าน ทุรนทุราย เพราะคอยคิดที่จะหาทาง อาฆาต ทำร้าย เบียดเบียนบุคคลนั้นให้มันเป็นไปตามความทะยานอยากตน
- สิ่งทั้งหลายที่ผมกล่าวมานี้เกิดขึ้นและเป็นจริงใช่ไหมครับ เมื่อเกิดความ อาลัย-อาวรณ์  และ ผูกจองเวร-พยาบาท
- ดังนั้นเราต้องวางใจออกจากทั้ง 2 สิ่งนี้ให้ได้ เพื่อให้สภาพร้ายๆนี้ลดลงและหดหายไป โดยเรียนรู้และยอมรับในสัจธรรมที่ว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะสมหวังปารถนาใคร่ได้ดั่งใจเราหมดทุกอย่าง คนเรามีความพรัดพรากเป็นที่สุดไม่ด้วยเหตุใดก็เหตุหนึ่ง ซึ่งต่อให้ทำยังไงทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่อาจหวนย้อนวันเวลากลับคืนไปได้ ทำได้ในตอนนี้คือการอยู่กับตนเอง รู้ตนเอง ทำสภาพจิตให้สงบ ผ่องใส จนเป็นปกติสุข
- พึงเจริญจิตหวนรำลึกถึงสิ่งที่ดีงามที่ได้ทำให้เรานั้นเป็นสุขกายและใจ พึงหวนรำลึกถึงสิ่งที่ดีงามใดๆที่เขาทำให้เรานั้นเป็นสุขทั้งกาย-ใจ พึงหวนรำลึกถึงสิ่งที่ดีที่เป็นสุขเป็นกุศลใดๆที่เรานั้นเคยทำร่วมกันมา ให้พึงระลึกถึงความดีงามหรือกุศลกรรมใดๆที่เขาเคยมีให้แก่เรา พึงระลึกถึงกุศลกรรมนั้นมาตั้งเป็นอารมณ์แห่งจิต แล้วพึงระลึกถึงแต่ความดีของเขาหรือสิ่งดีๆที่เขาได้ทำให้เราเป็นสุขใจ มันจะทำให้จิตใจของเราแจ่มใส เบิกบาน มีความอิ่มเอม สงบและเป็นสุข แล้วความร้อนรุ่มใจใดๆจะลดน้อยลง แล้วจิตเราก็จะแลดูรู้เห็นว่าสิ่งนี้ๆเราควรละมันไปเสีย สิ่งนี้เราๆควรปล่อยมันไปเสีย สิ่งนี้ๆเราควรอดใจไว้เสีย สิ่งนี้ๆเราควรอดโทษไว้เสีย สิ่งนี้ๆเราควรวางมันไปเสีย มีจิตรู้ว่าเราควรอดใจละมันไว้ไม่ควรติดข้องใจใดๆในสิ่งนั้นเพราะมันหาประโยชน์ใดๆไม่ได้นอกจากทุกข์ แล้วจะเข้าถึงความดับไปแห่งความโกรธอันร้อนรุ่มใจนั้นๆ
- เมื่อจิตใจเราผ่อนคลายลง ผ่องใสขึ้น สงบขึ้น และ มีใจที่อดไว้ซึ่งโทษนั้นๆแก่เขา ให้พึงตรึกนึกว่า เขานั้นคงได้รับความทุกข์ทน ทรมาน คับแค้นใจ อัดอั้นใจ ฝืดเคือง ขัดข้องใจ ไม่มีความสงบสุขใดๆแก่ใจเขาเลย ซึ่งความสุขใดๆที่ขาดหายตกหล่นไปจากใจเขานั้นเราไม่สามารถให้ได้
- เหมือนดั่งเวลามีคนที่เราไม่ได้รัก ไม่ชอบใจ ไม่พอใจยินดี รำคาญ หรือ บุคคลใดที่คอยแต่ทำร้ายเราทั้งกายและใจเข้ามาอยู่เคียงข้างชิดใกล้กับเรา เราย่อมรู้สึกอึดอัดใจ ทุกข์ทน ทรมาน คับแค้นใจ ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ อยากจะหนีหรือผลักไสให้พ้นไปไกลๆจากเราใช่มั้ยครับ ลองเอาใจเขามายกใส่ใจเราในความรู้สึกเช่นนี้ๆก็คงไม่ต่างกัน
- ให้คิดเสียว่าหากเขาอยู่กับเรามันอาจจะไม่ดี หรือ ไม่เพียงพอที่จะทำให้เขามีความสุขทั้งกายและใจ หากแม้เขาอยู่กับเราต่อไปก็รังแต่ทำให้เขาเกิดความคับแค้น อัดอั้น ลำบาก ทุกข์กายและใจ สิ่งที่พอจะทำให้ได้ในตอนนี้คือการมีจิต เมตตา กรุณา ทาน และ มุทิตา ให้แก่เขาได้ ภายภาคหน้าเมื่อพานพบเจอกันจะได้ไม่ต้องอยู่กันแบบคับแค้นใจอีก
- เหมือนพ่อ-แม่ที่อยากให้ลูกตั้งใจเรียน ไม่เกเร ขยันทำงาน กตัญญู รู้คุณ เป็นเด็กดีอยู่ในโอวาท ต้องการอยากให้ลูกนั้นเรียนตามที่ตนเองพอใจต้องการเป็นต้น แต่ทว่าก็ไม่สามารถบังคับให้ลูกนั้นกระทำ หรือ เป็นไปดั่งใจที่ต้องการได้ ลูกก็ย่อมทะยานออกไปหาสิ่งที่ลูกนั้นปารถนาใคร่ได้ พอใจยินดี โดยที่พ่อ-แม่ห้ามไม่ได้ ถึงแม้เสียใจไปลูกก็คงไม่เข้าใจ เห็นใจ หรือ มองย้อนกลับมาดู และ ทำตามที่พ่อแม่ขอร้องต้องการได้ ที่พ่อ-แม่ทำได้นั้นก็เพียงแค่คอยดู และ ตักเตือนให้แง่คิดแนะนำ ประครองให้ลูกไม่พลาดพลั้งอยู่ห่างๆ ด้วยหวังให้ลูกนั้นได้รับสุขจากการกระทำต่างๆ
3.1.2 ให้ตั้งเจริญอยู่ในจิตที่ปารถนาให้เขานั้นได้พ้นจากทุกข์ประสบสุข  และ ได้รับความสุขยินดีกับเส้นทาง หรือ สิ่งที่เขาเลือกแล้วนั้น เหมือนที่พ่อ-แม่ หรือ ผู้มีความอุปการะคุณนั้นมีให้แก่เรา
3.1.3 ให้ตั้งเจริญอยู่ในจิตที่มีความสงสารด้วยความปารถนาให้เขาเป็นสุขมีจิตเอื้อเฟื้อ อนุเคราะห์ แบ่งปัน จากบุญใดๆที่เราได้เจริญ ได้กระทำ ได้ปฏิบัติดี ได้ปฏิบัติชอบมา ทั้ง กาย วาจา และ ใจ ได้แผ่ไพศาลถึงแก่เขาให้เขาได้รับสุขจากสิ่งที่เราได้ให้มอบเขานี้ ให้เขาได้พานพบได้อยู่กับสิ่งที่เขาต้องการ
3.1.4 ปล่อยให้เขาไปเป็น "อภัยทาน" อันประเสริฐแก่เขา เว้นเสียซึ่งโทษ อดโทษ และ ความเบียดเบียน พยาบาทแก่เขา เพื่อให้เขาได้มีอิสระสุขตามที่ต้องการ การที่เราปล่อยให้เขาจากไปนั้นมันอาจจะเป็นหนทางที่เป็นประโยชน์สุขให้กับเขา เขาอาจจะมีความสุข สบายยินดีมากกว่าที่อยู่กับเรา ความคับแค้น อัดอั้น เสียใจนั้นๆจะได้ไม่เกิดกับเขาอีกต่อไป เมื่อเขาได้เลือกที่จะไปแล้วก็ขอให้เขาอย่าพบเจอกับความโศรกเศร้า เสียใจ หรือ คับแค้นกายและใจอีกเลย ขอให้เขาได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีงาม เป็นผู้ไม่ผูกจองเวรใคร เป็นผู้ไม่พยาบาทเบียดเบียนใครและปราศจากผู้ที่จะมาผูกเวรพยาบาทในเขา ขอให้เขาเป็นผู้มีปกติสุขยินดี มีจิตใจผ่องใสไม่เศร้ามัวใจ ไม่หมองมัวใจ ไม่ขุ่นมัวขัดเคืองใจ ปราศจากทุกข์ภัย-ขอให้โรคภัยทั้งหลายอย่าได้มากล้ำกลาย และได้หลุดพ้นจากทุกข์ทางกายและใจทั้งหลาย

3.2 กรณีที่ประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่พอใจยินดี เช่น มีคนไม่ชอบใจเรา ไม่พอใจยินดีเรา หรือ เกลียดเรา แล้วคอยที่จะกลั่นแกล้ง บีบคั้น ด่าทอ ล่วงเกิน ใส่ร้าย-ทำร้าย ทำให้เราเกิดความคับแค้นใจ เสียใจ ทุกข์ ทรมานไปทั้งกายและใจ ทำให้เราต้องโศรกเศร้า เสียใจ ร่ำไร รำพัน หรือ เมื่อเราอยู่ด้วยแล้วไม่มีความสุข ไม่มีความยินดีเลย
3.2.1 เวลาที่เราจะแผ่เมตตาจิตให้แก่บุคคลที่ทำให้เราประสบพบเจอกับสภาพความรู้สึกเช่นนี้ ให้เราเจริญพิจารณามองว่า เขาเหล่านั้นเป็นบุคคลผู้น่าสงสาร เป็นบุคคลไม่มีปกติสุข มีความขุ่นมัวใจ ขัดข้องติดเคืองในใจอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถคงอยู่แบบปกติสุขได้ จึงต้องคอย คิด-พูด-ทำ ที่เป็นความฟุ้งซ่าน พร่ำเพ้อ เพ้อเจ้อ  ใส่ร้าย ทำร้าย เบียดเบียนผู้อื่นอยู่เสมอๆ เพื่อให้ตนเองได้พ้นจากความทุกข์ที่ อัดอั้น ฝืดเคือง ขัดข้อง ขุ่นมัว คับแค้น ที่มีมากจนฝังลึกอยู่ในใจเขานั้น
3.2.2 ลองนึกย้อนกลับดูว่าเวลาที่เรานั้นเกลียดใคร ไม่พอใจใคร แล้วใจเรามีความผูกจองเวรจองกรรม อาฆาต พยาบาท เบียดเบียนเขา ต้องการจะกลั่นแกล้ง บีบคั้น อยากทำร้ายเขา เพราะเราไม่ชอบใจ ไม่พอใจยินดีในตัวเขา สภาพจิตใจเราในขณะนั้นจะขุ่นเคืองใจ ขัดข้องใจ หมองมัวใจ มุ่งทะยานคอยคิดหาหนทางกลั่นแกล้ง บีบคั้น ทำร้ายเขาเสมอ มีความเดือดร้อนใจกลัวเขาได้ดีมีสุข ไม่มีความเย็นใจ มีความขุ่นเคืองหมองมัวใจอยู่ตลอดเวลา  ไม่มีความปกติสุขของจิตแบบคนทั่วไปที่อยู่โดยไม่คิดผูกจองเวร หรือ กระทำเพื่อเบียดเบียน อาฆาต พยาบาท ทำร้ายใคร
3.2.3 ให้ตั้งจิตด้วยใจปารถนาให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นได้มีชีวิตเป็นปกติสุข มีจิตใจสงบ-ผ่องใส
3.2.4 ตั้งจิตเจริญอยู๋ในความเอื้อเฟื้อ อนุเคราะห์ อุปการระ แบ่งปัน มอบให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นมีจิตที่สุขสว่าง สดใส ได้หลุดพ้นจากความอัดอั้น-คับแค้น-ขัดเคือง-ขุ่นข้อง-มัวหมอง ร้อนรุ่ม-ร้อนรนทั้งกายและใจ ให้ความมีใจผูกจองเวร อาฆาต พยาบาท เบียดเบียดทำร้ายใครๆทั้งหลายเหล่านี้ของเขาได้สูญสลายหายไปจากจิตใจของเขา เพื่อเขาทั้งหลายเหล่านั้นได้หลุดพ้นจากทุกข์ที่เป็นอยู่ มีจิตใจที่แจ่มใสเป็นที่รักใคร่แก่ผู้อื่น ปราศจากทุกข์ภัย-ขอให้โรคภัยทั้งหลายอย่าได้มากล้ำกลาย และได้หลุดพ้นจากทุกข์ทางกายและใจทั้งหลาย

- จะเห็นได้ว่าแนวทางที่ผมกล่าวมาทั้งหมด จะเว้นซึ่งการสนองความปารถนาแก่ตน เว้นซึ่งจิตที่คิดหวังผลให้สิ่งนั้นๆย้อนหรือส่งผลคืนแก่ตนด้วยความติดใจใคร่ได้เพลิดเพลินยินดีของเรา แต่เป็นความปารถนาดีที่จะให้ผู้อื่นด้วยใจ ด้วยเห็นว่าเขาทุกข์ร้อนอยู่ หรือ ปารถนาให้เขาเป็นสุขด้วยสภาพจิตที่ปารถนาดี ไร้ความขุ่นมัวใจ มีแต่ความสงบผ่องใสซึ่งเป็นปกติสุขในการปารถนาที่จะให้
- ลองเจริญและปฏิบัติดูครับอาจจะเป็นแนวทางเบื้องต้นที่จะช่วยให้เราแยกออกระหว่างความเป็น กุศลจิต และ อกุศลจิต พร้อมกับแยก โลภะ กับ เมตตา ออกจากกันได้ และ "ที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้เราสามารถเข้าสมาธิจิตได้ง่าย มีความสงบ ผ่องใส เบาบางไม่ขุ่นมัว"
- เรื่องนิมิต-มโนภาพที่กล่าวมาในตอนต้นนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ผมจะเอายกขึ้นมาเพื่ออวดตน หรือ อวดธรรมที่มีในตน ผมเป็นเพียงผู้ไม่รู้ เป็นแค่เศษส่วนเล็กๆของเศษผงเท่านั้น "ที่บอกว่าผมเห็นนี้ผมเห็นจริง แต่ว่าสิ่งที่ผมเห็นอาจจะไม่จริง" แต่ที่ยกขึ้นมาเพราะอยากในเป็นแนวทางให้ผู้เห็นมโนภาพ หรือ นิมิตทั้งหลายว่าไม่ตวรยึดติดจนเอามาตั้งเป็นอุปาทานให้แก่ตน ครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านจะสอนเราว่าควรใช้ปัญญาพิจารณาในนิมิต-มโนภาพที่จิตเราสร้างขึ้นมาให้เห็น เพราะมันมีทั้งจริงและอุปาทาน ดังนั้นเราจึงควรพิจารณาด้วยปัญญาลงสู่ความจริงที่รู้ว่านั่นเป็นเพียงมโนภาพที่สร้างขึ้นมาตามสภาพของความเป็นธรรมชาติของจิตที่รู้คิด รู้ปรุง รู้สร้างเรื่องราว จนเกิดเป็นความพอใจยินดี และ ต้องการ จนกลายเป็นภาพต่างๆที่เห็น จนถึงแก่รู้ในสภาพปรมัตถ์ในขณะจิตนั้น หากติดอยู่ในนิมิต-มโนภาพใดๆเราก็จะเกิดความหลงตนและจิตฟุ้งซ่านได้ง่ายครับ

ดูวิธีและสภาพจิตในการเจริญปฏิบัติเบื้องต้นใน พรหมวิหาร ๔ เพิ่มเติมตาม Link นี้ครับ
ในห้วข้อที่ ๔. ระลึกรู้ปฏิบัติทำใน พรหมวิหาร ๔ คือ
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=7456.0 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=7456.0)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 11, 2016, 12:14:46 PM
ความเพียรบริสุทธิ์ ที่เราเข้าใจ แจ้งใจ
มีความปราโมทย์ อิ่มใจ สงบจากอกุศล เป็นสุข
มีกำลังใจทุกครั้งที่นึกถึง มีความเข้าถึงใจดังนี้

“ ความเพียรที่บริสุทธิ์ คือ ทำความเพียรอยู่ด้วยใจเอื้อเฟื้อเกื้อกูลตนเองและผู้อื่นโดยไม่อิงอามิส แต่เพียรทำความดีเพื่อความดี ”

กล่าวคือ.. ไม่เพียรเพื่อต้องการของแลกเปลี่ยน ไม่เพียรด้วยความกระสันใคร่ผลตอบแทนทันที แต่เพียรเพราะรู้ว่าเป็นสิ่งดี มีประโยชน์สุขแก่ตนเองและผู้อื่น เมื่อเราทำความเพียรอยู่ครอบครัวญาติมิตร ผู้คนทั้งหลาย เทวดาฟ้าดิน โลกก็ไม่ติเตียน เพียรแล้วทำให้ชนะความเกียจคร้านที่พอกพูนตนได้ เมื่อทำความเพียรแล้วเราก็จะไม่เสียใจในภายหลังว่าเราน่าจะทำตั้งแต่ตอนนั้น ควรเพียรตั้งแต่ตอนนั้น เสียดายที่ตอนนั้นเราไม่ทำความเพียร
ความเพียรนี้..แม้จะมองไม่เห็นผล แต่ผลนั้นก็รู้ได้เฉพาะตนด้วยตนเองว่าความเพียรยังส่งผลแก่เราอยู่
เช่น.. ทำความเพียรแล้วไม่เห็นผลเป็นกิจจาลักษณะที่พึงจับรับรู้ลูบคลำได้ แต่การทำความเพียรนั้นก็ให้ผลประจักษ์แก่ใจตนว่า. ความเพียรเอาชนะความเกียจคร้านในตนได้ "ที่สำคัญคือความเพียรทำให้เราก้าวข้ามความทุกข์ยากลำบาก, ความยอมแพ้, ความพ่ายแพ้ต่อโชคชะตา ชะตาชีวิต วิบากกรรม เรื่องราวสิ่งร้ายๆที่เราได้พบเจออยู่ในขณะนั้นๆ ความทุกข์ยากลำบากมาได้แม้ชั่วขณะหนึ่งที่ได้ทำความเพียรนั้น..ก็ทำให้เราสามารลุกขึ้นหรือก้าวเดินไปต่อได้ในขณะนั้นๆที่เราตั้งมั่นมีความเพียรอยู่ไม่ย่อท้อ"

ที่สุดของความเพียร คือ เพียรทำความดีเพื่อความดีนั่นเอง

“ความเพียรต้องทำคู่กับปัญญา ไม่ใช่หลับหูหลับตาทำแบบมืดฟ้ามัวดิน ท่านเรียกกว่า หลง”

“ความเพียรที่แท้จริงนั้นต้องพร้อมด้วย ความรู้เห็นตามจริง ความแจ้งกระจ่างใจในสิ่งนั้น ควบคู่กับ สติ สัมปะชัญญะ จิตตั้งมั่นแน่วแน่ไม่หวั่นไหวเอนเอียงในสิ่งที่ทำความเพียรอยู่นั้น มีปัญญากำกับคลุมไว้อยู่เสมอขาดกันไม่ได้ วิเคราะห์ธรรม วิเคราะห์เหตุและผล แลเห็นทางแก้ปัญหา จนแน่ชัดกระจ่างใจว่าสิ่งใดที่ควรลดที่ต้องละ สิ่งใดที่ควรเพิ่ม ควรทำให้เกิดมีขึ้นหรือต้องทำให้มาก แล้วศรัทธาและฉันทะจึงจะเป็นไปด้วยเหตุและผลที่เป็นสัมมา คือ โดยสุจริตชอบธรรม”


ความเพียรที่บริสุทธิ์ คือ สัมมัปปธาน ๔ หรือ สัมมาวายามะ
ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช
ทรงรู้แจ้งชัดแล้วทรงสั่งสอนมา คือ

  ๑. เพียรระวังไม่ทำบาปที่ยังไม่เคยทำ
  ๒. เพียรระวังไม่ทำบาปที่เคยทำมาแล้ว
  ๓. เพียรกระทำกุศลธรรมชนิดใหม่ที่ตนยังไม่เคยทำ
  ๔. เพียรกระทำกุศลธรรมที่เคยทำมาแล้วให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป


[156] ปธาน 4 (ความเพียร - effort; exertion)
1. สังวรปธาน (เพียรระวังหรือเพียรปิดกั้น คือ เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น - the effort to prevent; effort to avoid)
2. ปหานปธาน (เพียรละหรือเพียรกำจัด คือ เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว - the effort to abandon; effort to overcome)
3. ภาวนาปธาน (เพียรเจริญ หรือเพียรก่อให้เกิด คือ เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมี - the effort to develop)
4. อนุรักขนาปธาน (เพียรรักษา คือ เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่นและให้เจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์ - the effort to maintain)

ปธาน 4 นี้ เรียกอีกอย่างว่า สัมมัปปธาน 4 (ความเพียรชอบ, ความเพียรใหญ่ - right exertions; great or perfect efforts).


** เวลาท้อกับความเพียร ให้พึงระลึกว่า แม้ไม่เห็นฝั่ง ลูบคลำผลไม่ได้ ไม่เห็นทางสำเร็จก็ตาม ให้พึงระลึกว่า..
“เราทำความเพียรเพื่อตัวเราเองนี่แหละ เพื่อฝึกตนสะสมเหตุให้จิตมีความมุ่งมั่นที่จะทำดีไม่หวั่นไหว ไม่ย่อท้อ มีความขยัน และอดทน ไม่พ่ายแพ้ต่อกิเลสนิวรณ์ความเกียจคร้าน"

นี่น่ะในขณะที่เรารู้ว่า..เราเพียรทำดีอยู่แต่กลับลูบคลำหาผลไม่ได้ แล้วจะเลิกเพียรเสียเพราะหาประโยชน์แก่ตนไม่ได้..ก็แสดงว่าเราเห็นตัวกิเลสนิวรณ์ความเกียจคร้านแล้ว นี่เรียกว่า.."เห็นธรรมชั้นสูงที่ใช้บรรลุธรรมในระดับการตามรู้ คือ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว ก็ให้รู้ว่านั่นแน่ะเราเห็นกิเลสนิวรณ์แล้ว ปกตินิวรณ์มันติดสมมติความคิดให้เรารู้สึกเป็นไปอย่างนี้ แล้วก็วาง"

- หลักปฏิบัติที่เริ่มจากปุถุชนนี้..เมื่อเรามีสติตามรู้เห็นว่าตนเสพย์กิเลสนิวรณ์เหล่าใด ก็ให้ภูมิใจปลื้มได้เลยว่า..เฮ้ยเราเห็นธรรมแล้ว
- แต่ไม่ใช่พอรู้แล้วไปนั่งขัดใจตนว่า ไม่เอา เจ็บแค้นเกลียดชัง เกลียดกลัวที่ตนมีแบบนั้นมันทำให้ตนหดหู่เศร้าหมองเปล่าไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้เป็น
- ความหน่ายระอาใจต่อกิเลสตนนั้น หมายถึง หิริ(ละอายต่อการทำชัวอกุศลผิดศีลธรรม),โอตตัปปะ(เกรงกลัวต่อวิบากกรรม คือผลจากการทำชั่วผิดศีลธรรม)..เมื่อมีหิริโอตตัปปะแล้วเราก็ทำความเพียรในสัมมาให้มาก(สัมมัปปธาน ๔) ซึ่งไม่ใช่ไปเจ็บแค้นเก็บกดอัดอั้นกับมัน..
- เมื่อกิเลสนิวรณ์เกิดก็ให้รู้ว่าดวงจิตเรานี้มีกิเลสนอนเนื่องอยู่ในใจ อันกำเริบลอยขึ้นด้วยผัสสะ ถูกกวนคนให้ฟุ้งกระจายด้วยเวทนา ลุ่มหลงด้วยเสพย์สมมติของปลอมปรุงแต่งจิตเป็นธรรมดา หากยังครองขันธ์ ๕ อยู่ เราก็ยังคงเป็นอย่างนั้นมีกิเลสอยู่อย่างนั้น ซึ่งเป็นปกติธรรมดาเหมือนคนทั่วไป..ดังนั้นเมื่อมันเกิดก็แค่เรารู้ว่าเรายังมีกิเลสอยู่ จงภูมิใจที่เรารู้มันเกิดขึ้นหรือมันดับไปก็พอ นี่เรียกสักแต่ว่ารู้..

**ถ้าไม่เสพย์อารมณ์ใด..ความรู้ผัสสะแม้อาการจริงหรือความเสวยเวทนาเหล่าใดย่อมไม่มี**

ซึ่งความเกียจคร้านอันนี้เกิดจาก..ความขัดใจท้อแท้ริษยา เพราะไม่ได้ตามความปารถนาของตน นี่แหละเห็นนิวรณ์ชัดแจ้งเลย เพราะมันมีกำลังมากกว่ากุศลความดีที่เราตั้งมั่นเพียรอยู่จึงส่งผลให้เรามีใจคลายความเพียรนั้นเสีย เราควรปหานมันด้วยใจที่ตั้งมั่นว่า..
- เรามาก้าวมาอยู่ถึงตรงนี้ได้ไม่ล้มพังทลายฉิบหายหมดสภาพก็ด้วยเพราะเพียรอยู่ ถึงแม้จะแลไม่เห็นฝั่งผลที่ปลายทางแต่มันก็ทำให้เราก้าวต่อไปได้ โดยไม่ถูกลูกเมียวงศาคณาญาติ และเทวดาติเตียน
- เราทำสะสมเหตุความดีชอบที่เรียกว่า..สัมมา มรรค ๘ เหล่าใด คือ สุจริต ๓ มีความเห็นชอบคิดดี พูดดี ทำดี, สะสมวิริยะบารมีอยู่ นั่นคือปลายทางของเรา
- ความอับจนฉิบหายย่อมไม่มีแก่ผู้ที่ตั้งมั่นเพียรทำดีอยู่นี้ แล้วมุ่งมั่นไม่เอนเอียงหวั่นไหวทำความเพียรต่อไป

หากเราครองเรือนเพียรทำงานทำดีแล้วไม่เห็นผล เมื่อเราเพัยรอยู่แล้วก็ไม่ต้องกลัวที่จะหารายได้เสริมในช่องทางต่างๆ เช่น ทำโอที ค้าขาย รับจ้างเพิ่มจากเวลาว่างหรือวันหยุด ไม่ดูถูกงาน ไม่ดูถูกเงินแม้น้อยนิด เราเพียรสะสมเหตุประหยัด เลิกละสิ่งปรนเปรอตนที่เกินความจำเป็น เช่น เหล้า บุหรี่ การพนัน แทงหวย เครื่องสำอางค์ เสื้อผ้ารองเท้าที่จะใช้



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 13, 2016, 12:14:38 PM

คาถาธรรมบท จิตตวรรคที่ ๓
            [๑๓]    นักปราชญ์ย่อมทำจิตที่ดิ้นรน กลับกลอกรักษาได้โดยยาก
                          ห้ามได้โดยยาก ให้ตรง ดังช่างศรดัดลูกศรให้ตรง ฉะนั้น
                          จิตนี้อันพระโยคาวจรยกขึ้นแล้วจากอาลัย คือเบญจกาม
                          คุณเพียงดังน้ำ ซัดไปในวิปัสสนากรรมฐานเพียงดังบก เพื่อ
                          จะละบ่วงมาร ย่อมดิ้นรน ดุจปลาอันชาวประมง ยกขึ้นแล้ว
                          จากที่อยู่คือน้ำโยนไปแล้วบนบก ดิ้นรนอยู่ ฉะนั้น การ
                          ฝึกฝนจิตที่ข่มได้ยาก อันเร็ว มีปรกติตกไปในอารมณ์
                          อันบุคคลพึงใคร่อย่างไร เป็นความดี เพราะว่าจิตที่บุคคล
                          ฝึกดีแล้วนำสุขมาให้ นักปราชญ์พึงรักษาจิตที่เห็นได้แสนยาก
                          ละเอียดอ่อนมีปกติตกไปตามความใคร่ เพราะว่าจิตที่บุคคล
                          คุ้มครองแล้วนำสุขมาให้ ชนเหล่าใดจักสำรวมจิตอันไปใน
                          ที่ไกล ดวงเดียวเที่ยวไป หาสรีระมิได้ มีถ้ำเป็นที่อยู่อาศัย
                          ชนเหล่านั้นจะพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร ปัญญาย่อมไม่บริบูรณ์
                          แก่บุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น ไม่รู้แจ่มแจ้งซึ่งพระสัทธรรม
                          มีความเลื่อมใสอันเลื่อนลอย ภัยย่อมไม่มีแก่พระขีณาสพ ผู้มี
                          จิตอันราคะไม่รั่วรด ผู้มีใจอันโทสะไม่ตามกระทบแล้ว
                          ผู้มีบุญและบาปอันละได้แล้ว ผู้ตื่นอยู่ กุลบุตรทราบกายนี้ว่า
                          เปรียญด้วยหม้อแล้ว พึงกั้นจิตนี้ให้เปรียบเหมือนนคร
                          พึงรบมารด้วยอาวุธคือ ปัญญา อนึ่ง พึงรักษาตรุณวิปัสสนา
                          ที่ตนชนะแล้ว และไม่พึงห่วงใย กายนี้อันบุคคลทิ้งแล้ว
                          มีวิญญาณปราศแล้วไม่นานหนอจักนอนทับแผ่นดิน ประดุจ
                          ท่อนไม้ไม่มีประโยชน์โจรหัวโจกเห็นโจรหัวโจก ก็หรือคน
                          มีเวรเห็นคนผู้คู่เวรกันพึงทำความฉิบหาย และความทุกข์ใดให้
                          จิตที่บุคคลตั้งไว้ผิดพึงทำบุคคลนั้นให้เลวยิ่งกว่าความฉิบหาย
                          และความทุกข์นั้นมารดาบิดาไม่พึงทำเหตุนั้นได้ หรือแม้ญาติ
                          เหล่าอื่นก็ไม่พึงทำเหตุนั้นได้ จิตที่บุคคลตั้งไว้ชอบแล้ว
                          พึงทำเขาให้ประเสริฐกว่าเหตุนั้น ฯ
จบจิตตวรรคที่ ๓



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 13, 2016, 12:29:43 PM

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 435

จิตตวรรค : ๗. เรื่องพระปูติคัตตติสสเถระ [๓๐]

ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภพระเถระ
ชื่อว่า ปูติคัตตติสสเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า " อจิรํ วตยํ กาโย"
เป็นต้น.

พระเถระกายเน่า
ได้ยินว่า กุลบุตรชาวกรุงสาวัตถีผู้หนึ่ง ฟังธรรมกถาในสำนัก
ของพระศาสดา ถวายชีวิตในพระศาสนา ได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว
ได้ชื่อว่า พระติสสเถระ. เมื่อกาลล่วงไป ๆ โรคเกิดขึ้นในสรีระของท่าน.
ต่อมทั้งหลาย ประมาณเท่าเมล็ดผักกาดผุดขึ้น. มัน (โตขึ้น) โดยลำดับ
ประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว ประมาณเท่าเมล็ดถั่วดำ ประมาณเท่าเมล็ด
กระเบา ประมาณเท่าผลมะขามป้อม ประมาณเท่าผลมะตูม แตกแล้ว.
สรีระทั้งสิ้น ได้เป็นช่องเล็กช่องน้อย ชื่อของท่านเกิดขึ้นแล้วว่า พระ-
ปูติคัตตติสสเถระ (พระติสสเถระผู้มีกายเน่า). ต่อมา ในกาลเป็นส่วน
อื่น กระดูกของท่าน แตกแล้ว. ท่านได้เป็นผู้ที่ใคร ๆ ปฏิบัติไม่ได้.
ผ้านุ่งและผ้าห่มเปื้อนด้วยหนองและเลือด ได้เป็นเช่นกับขนมร่างแห.
พวกภิกษุมีสัทธิวิหาริกเป็นต้นไม่อาจจะปฏิบัติได้ (จึงพากัน) ทอดทิ้ง
แล้ว. ท่านเป็นผู้ไม่มีที่พึ่งนอน ( แซ่ว ) แล้ว.


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 436
พระพุทธเจ้าทรงพยาบาลและทรงแสดงธรรม
ก็ธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่ทรงละการตรวจดูโลก
สิ้น ๒ วาระ (คือ) ในกาลใกล้รุ่ง เมื่อทรงตรวจดูโลก ทรงตรวจดูจำเดิม
แต่ขอบปากแห่งจักรวาล ทำพระญาณให้มุ่งต่อพระคันธกุฎี. เมื่อทรง
ตรวจดูเวลาเย็น ทรงตรวจดูจำเดิมแต่พระคันธกุฎี ทำพระญาณให้มุ่งต่อที่
(ออกไป ) ภายนอก. ก็ในสมัยนั้น พระปูติคัตตติสสเถระ ปรากฏแล้ว
ภายในข่ายคือพระญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้า. พระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัย
แห่งพระอรหัตของติสสภิกษุ ทรงดำริว่า "ภิกษุนี้ ถูกพวกสัทธิวิหาริก
เป็นต้น ทอดทิ้งแล้ว, บัดนี้ เธอยกเว้นเราเสีย ก็ไม่มีที่พึ่งอื่น" ดังนี้
แล้ว จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี เหมือนเสด็จเที่ยวจาริกในวิหาร เสด็จ
ไปสู่โรงไฟ ทรงล้างหม้อ ใส่น้ำ ยกตั้งบนเตา เมื่อทรงรอให้น้ำร้อน
ได้ประทับยืนในโรงไฟนั่นเอง: ทรงรู้ความที่น้ำร้อนแล้ว เสด็จไป
จับปลายเตียงที่ติสสภิกษุนอน. ในกาลนั้น พวกภิกษุ กราบทูลว่า
"ขอพระองค์ จงเสด็จหลีกไป พระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์จักยก๑ (เอง)
แล้ว ( ช่วยกัน ) ยกเตียง นำไปสู่โรงไฟ. พระศาสดาทรงให้นำรางมา
ทรงเทน้ำร้อน ( ใส่ ) แล้ว ทรงสั่งภิกษุเหล่านั้นให้ ( เปลื้อง ) เอา
ผ้าห่มของเธอ ให้ขยำด้วยน้ำร้อน แล้วให้ผึ่งแดด ลำดับนั้น พระ-
ศาสดา ประทับยืนอยู่ในที่ใกล้ของเธอ ทรงรดสรีระนั้นให้ชุ่มด้วยน้ำอุ่น
ทรงถูสรีระของเธอ ให้เธออาบแล้ว . ในที่สุดแห่งการอาบของเธอ,
ผ้าห่มนั้นแห้งแล้ว. ทีนั้น พระศาสดาทรงช่วยเธอให้นุ่งผ้าห่มนั้น ทรง
ให้ขยำผ้ากาสาวะที่เธอนุ่งด้วยน้ำ แล้วให้ผึ่งแดด. ทีนั้น เมื่อน้ำที่กายของ

๑. สำนวนภาษามคธ ใช้คหธาตุ.

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 437
เธอพอขาด (คือแห้ง) ผ้านุ่งนั้นก็แห้ง. เธอนุ่งผ้ากาสาวะผืนหนึ่ง
ห่มผ้ากาสาวะผืนหนึ่ง เป็นผู้มีสรีระเบา มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง นอนบน
เตียงแล้ว. พระศาสดาประทับยืน ณ ที่เหนือศีรษะของเธอ ตรัสว่า
" ภิกษุ กายของเธอนี้ มีวิญญาณไปปราศแล้ว หาอุปการะมิได้ จักนอน
บนแผ่นดิน เหมือนท่อนไม้" ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า
๗. อจิรํ วตยํ กาโย ปวึ อธิเสสฺสติ
ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺาโณ นิรตฺถํว กลิงคฺรํ.
"ไม่นานหนอ กายนี้จักนอนทับแผ่นดิน. กายนี้
มีวิญญาณไปปราศ อันบุคคลทิ้งแล้ว, ราวกับ
ท่อนไม้ไม่มีประโยชน์ฉะนั้น."

แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อจิรํ วต เป็นต้น ความว่า ภิกษุ
ต่อกาลไม่นานเลย กายนี้จักนอนทับแผ่นดิน คือจักนอนเบื้องบนแห่ง
แผ่นดิน ที่สัตว์นอนแล้วด้วยการนอนปกตินี้.
ด้วยบทว่า ฉุฑฺโฑ พระศาสดา ทรงแสดงเนื้อความว่า "กาย
นี้ จักเป็นของชื่อว่าเปล่า เพราะความมีวิญญาณไปปราศ ถูกทอดทิ้ง
แล้วนอน."
เหมือนอะไร ?
เหมือนท่อนไม้ ไม่มีประโยชน์.
อธิบายว่า เหมือนท่อนไม้อันไร้อุปการะ ไม่มีประโยชน์,
จริงอยู่ พวกมนุษย์ผู้มีความต้องการด้วยทัพสัมภาระ เข้าไปสู่ป่า

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 438
แล้ว ตัดไม้ตรงโดยสัณฐานแห่งไม้ตรง ไม้คดโดยสัณฐานแห่งไม้คด
ถือเอา (เป็น) ทัพสัมภาระ, แต่ตัดไม้เป็นโพรง ไม้ผุ ไม้ไม่มีแก่น
ไม้เกิดเป็นตะปุ่มตะป่ำที่เหลือ ทิ้งไว้ในป่านั้นนั่นเอง มนุษย์พวกอื่นผู้มี
ความต้องการด้วยทัพสัมภาระมาแล้ว ชื่อว่า หวังถือเอาชิ้นไม้ที่ถูกทิ้ง
ไว้นั้น ย่อมไม่มี, มนุษย์เหล่านั้น แลดูไม้นั้นแล้ว ย่อมถือเอาไม้ ที่
เป็นอุปการะแก่ตนเท่านั้น; ไม้นอกนี้ ย่อมเป็นไม้ถมแผ่นดินอย่างเดียว,
ก็ไม้นั้น พึงเป็นไม้แม้ที่ใคร ๆ อาจจะทำเชิงรองเตียงหรือเขียงเท้า หรือ
ว่าตั่งแผ่นกระดาน ด้วยอุบายนั้น ๆ ได้; ส่วนว่า บรรดาส่วน ๓๒ ใน
อัตภาพนี้ แม้ส่วนหนึ่ง ชื่อว่า เข้าถึงความเป็นของที่จะพึงถือเอาได้ด้วย
สามารถแห่งอุปกรณ์วัตถุ มีเชิงรองเตียงเป็นต้น หรือด้วยมุขเป็นอุปการะ
อย่างอื่น ย่อมไม่มี กายนี้มีวิญญาณไปปราศแล้ว ต่อวันเล็กน้อยเท่านั้น
ก็จักต้องนอนเหนือแผ่นดิน เหมือนท่อนไม้ไม่มีประโยชน์ฉะนั้น ดังนี้แล.

พระปูติคัตตติสสเถระนิพพาน
ในเวลาจบเทศนา พระปูติคัตตติสสเถระ บรรลุพระอรหัตพร้อม
ด้วยปฏิสัมภิทาแล้ว. แม้ชนอื่นเป็นอันมาก ก็ได้เป็นพระอริยบุคคลมี
พระโสดาบันเป็นต้น. ฝ่ายพระเถระบรรลุพระอรหัตแล้วก็ปรินิพพาน.
พระศาสดาโปรดให้ทำสรีรกิจของท่าน ทรงเก็บ ( อัฐิ ) ธาตุ แล้วโปรด
ให้ทำเจดีย์ไว้.
พวกภิกษุ กราบทูลถามพระศาสดาว่า " พระเจ้าข้า พระปูติ-
คัตตติสสเถระ บังเกิดในที่ไหน ?"

๑. ปวีคตํ.


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 439
พระศาสดา. เธอปรินิพพานแล้ว ภิกษุทั้งหลาย.
พวกภิกษุ. พระเจ้าข้า กายของภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยแห่ง
พระอรหัตเห็นปานนั้น เกิดเป็นกายเน่า เพราะเหตุอะไร ? กระดูกทั้ง-
หลายแตกแล้ว เพราะเหตุอะไร ? อะไรเป็นเหตุถึงควานเป็นอุปนิสัยแห่ง
พระอรหัตของท่านเล่า ?
พระศาสดา. ภิกษุทั้งหลาย ผลนี้ทั้งหมด เกิดแล้วแก่ติสสะนั่น
ก็เพราะกรรมที่ตัวทำไว้.
พวกภิกษุ. ก็กรรมอะไร ? ที่ท่านทำไว้ พระเจ้าข้า.
พระศาสดา ตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากระนั้น พวกเธอจงฟัง"
ดังนี้แล้ว ทรงนำอดีตนิทานมา (ตรัสดังต่อไปนี้ :-)

บุรพกรรมของพระติสสะ
ติสสะนี้เป็นพรานนก ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระ-
นามว่ากัสสปะ ฆ่านกเป็นอันมากบำรุงอิสรชน, ขายนกที่เหลือจากนก
ที่ให้แก่อิสรชนเหล่านั้น. คิดว่า "นกที่เหลือจากขาย อันเราฆ่าเก็บไว้
จักเน่าเสีย" จึงหักกระดูกแข้งและกระดูกปีกของนกเหล่านั้น ทำอย่าง
ที่มันไม่อาจบินหนีไปได้ แล้วกองไว้. เขาขายนกเหล่านั้นในวันรุ่งขึ้น,
ในเวลาที่ได้นกมามากมาย ก็ให้ปิ้งไว้ เพื่อประโยชน์แห่งตน. วันหนึ่ง
เมื่อโภชนะมีรสของเขาสุกแล้ว พระขีณาสพองค์หนึ่ง เที่ยวไปเพื่อบิณฑ-
บาต ได้ยืนอยู่ที่ประตูเรือนของเขา เขาเห็นพระเถระแล้ว ยังจิตให้เลื่อมใส
คิดว่า "สัตว์มีชีวิตมากมาย ถูกเราฆ่าตาย, ก็พระผู้เป็นเจ้ายืนอยู่ที่ประตู
เรือนของเรา และโภชนะอันมีรสก็มีอยู่พร้อมภายในเรือน, เราจะถวาย

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 440
บิณฑบาตแก่ท่าน " ดังนี้แล้วจึงรับบาตรของพระขีณาสพนั้น ใส่โภชนะ
อันมีรสนั้นให้เต็มบาตรแล้ว ถวายบิณฑบาตอันมีรส แล้วไหว้พระเถระ
ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ กล่าวว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าพึงถึงที่สุด
แห่งธรรมที่ท่านเห็นเถิด." พระเถระได้ทำอนุโมทนาว่า "จงเป็นอย่าง
นั้น."

ประมวลผลธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ผล (ทั้งหมด ) นั่นสำเร็จแล้วแก่ติสสะ ด้วย
อำนาจแห่งกรรมที่ติสสะทำแล้วในกาลนั้นนั่นเอง; กายของติสสะเกิดเน่า
เปื่อย, และกระดูกทั้งหลายแตก ก็ด้วยผลของการทุบกระดูกนกทั้งหลาย;
ติสสะบรรลุพระอรหัต ก็ด้วยผลของการถวายบิณฑบาตอันมีรสแก่พระ-
ขีณาสพ ดังนี้แล
เรื่องพระปูติคัตตติสสเถระ จบ.

เรื่องพระปูติคัตตติสสเถระ จบ.



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 24, 2016, 03:43:05 PM
หลวงปู่บุญกู้เทศนาวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๙
อาหาเรปฏิกูลบรรพ, อาการ ๓๒, อสุภะกรรมฐาน


หลวงปู่เทศนาสอนว่า..
- เมื่อเห็นว่าอาหารหน้าตาสวย อาหารชั้นดี เลิศ กลอ่มหอมหวล เราก็ดูแล้วอยากกิน น่ากินไปหมด
- ให้ลองตักเข้าปากเคี้ยวๆดู
- แล้วคายออกมาดู
- อาหารที่เรามองว่าสวยงาม หน้าตาน่ากิน ชั้นดีเลิศหรู แพงๆนั้น เมื่อเข้าปากเรากินเข้าไปมันก็เป็นอย่างที่เราคายออกมาดูอย่างนั้นแหละ

เมื่อคายอาหารที่เคี้ยวในปากนั้นออกมาแล้วเราสามารถกลืนกินกลับเข้าไปในปากในคอในท้องใหม่ได้อีกไหม เอาแค่ตักเข้าปากเราไปแม้ยังไม่ทันเคี้ยวแล้วคายออกมาดู เราจะรังเกียจมันไหมที่มันมีหน้าตารูปร่างอย่างที่เราคายออกมานั้น ทั้งๆที่คายออกมาจากปากตนแท้ๆ และทั้งๆที่อาหารที่มีหน้าตาอย่างนั้นแหละที่ร่างกายเราใช้ดูดซับเอาพลังงานไว้เลี้ยงชีพ เลี้ยงกายให้อยู่ต่อได้ นั่นและ..คือสิ่งที่อยู่ในกายเราที่เรียกว่า..อาหารใหม่

อาหารที่สวยน่ากิน มีกลิ่นหอมหวลชวนชิม มีรสชาติดีๆ แพงๆ หรูๆ เมื่อเราตักเข้าปากเคี้ยวกิน มันเป็นแบบนั้น

อาหารต่างๆที่ไม่มีพิษ ไม่มีโทษภัย ที่มีรูปร่างหน้าตาอย่างที่เราคายออกมานั้นแหละ ที่ร่างกายเราต้องการดูดซับเอาพลังงานและสารอาหารจากมัน.. ซึ่งไม่ใช่ร่างกายเราไปดึงเอาพลังงานและสารอาหารทั้งหลายจากรูปร่างหน้าตาที่งดงามของอาหาร กลิ่นที่หอมหวลของอาหาร สีที่ดูสวยน่ากินของอาหาร วัตถุดิบที่ราคาแพงของอาหาร รสชาติที่ชอบใจของอาหารใดๆเลยทั้งสิ้น
เมื่อถูกดูดซับเอาพลังงานและสารอาหารแล้ว ก็จะถูกขับออกมาเป็นอาหารเก่า คือ ขี้ในไส้ในรู้ทวารเรานั้นแหละ

แล้วท่านก็สอนให้เอาลงอาการ ๓๒ ประการ ลงอสุภะกรรมฐาน เห็นความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน


- เมื่อเราฟังเทศนาจากหลวงปู่บุญกู้แล้วน้อมนำมาปฏิบัติสืบต่อ ทำให้เราหวนระลึกถึงคำสอนในกรรมฐานอาหาเรปฏิกูลจาก พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ๒ ท่าน ในสมัยบวชเณรและบวชพระดังนี้คือ..

๑. สมัยที่บวชเณร กับหลวงปู่นิล มหันตปัญโญเถระ แล้วออกธุดงค์ไปกับพระสุรศักดิ์ซึ่งเป็นพี่ชายแท้ๆที่พาเราบวชเณร ซึ่งในสมัยนั้นได้กราบลา หลวงปู่นิล มหันตปัญโญเถระ พระอุปัชฌาย์ เพื่อขออนุญาตท่านออกธุดงค์ สมัยนั้นเพราะยังเด็กจึงได้ขอของดีดวงปู่นิลด้วย เพราะเณรเพื่อนบอกว่าหลวงปู่มีเยอะ(ตอนนั้นคิดในใจว่าคงได้พระกริ่ง พระสมเด็จ พระเก่าขลังๆ หรือพระคาถาดีๆเมตตามหานิยม)..

เมื่อเราได้เข้าไปขอของดีหลวงปู่นิลท่านจึงหัวเราะแล้วสอนเราว่า..
“ของดีในโลกนี้นอกจากพุทโธไม่มีหรอก..เอาพุทโธนี้แหละไปของดีที่สุดในโลกแล้ว”

    เราก็ผิดหวังนิดๆ เพราะตอนนั้นยังไม่รู้อะไรมาก รู้แค่บวชเฌรต้องไม่ผิดศีล ๑๐ แล้วต้องถือเอาศีลพระบางข้อด้วย บิณฑบาตร กรรมฐานทุกวัน รู้แค่นี้เท่านั้น เพราะรู้อย่างนี้สมัยนั้นจึงได้สมาธิบ่อยเพราะไม่คิดอะไรมากมายเกินกว่าพุทโธ แล้วเราจึงได้ขอเอาพระผงรูปเหมือนหลวงปู่ติดตัวไปด้วยแล้วกราบไหว้ทุกคืนก่อนทำสมาธิโดยการ หายใจเข้า “พุท” หายใจออก “โธ" ตามที่หลวงปู่นิลให้มา
จากนั้นก็ออกธุดงค์เดินทางจากจากวัดป่าโกศลประชานิระมิต อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น (วัดหลวงปู่นิล มหันตปัญโญ) ไปบ้านยายไปหาหลวงปู่อินตองที่วัดป่าวีระธรรม บ้านอุ่มเหม้า อ.พังโคน จ.สกลนคร เพราะท่านเป็นญาติทางแม่และเป็นที่เคารพรักบูชาของชาวบ้านและครอบครัวเราตั้งแต่เราจำความได้ (วัดนี้ผีเยอะมากๆดังรบกวนทั้งคืนแต่เราก็จำอยู่กุฏิท้ายวัดตรงป่าช้าของวัดเพราะตอนที่อยู่วัดหลวงปู่นิล เณรเพื่อนได้พาไปเจริญมรณัสสติที่เมรุและเบ้าฝีงศพผีตายโหงที่วัดทุกวัน พร้อมทั้งไปวัดสาขาที่วัดป่าภูเหล็กน้อนที่นั่นทั้งวัดมีพระองค์เดียวคือหลวงตาภูซึ่งหลวงปู่นิลได้ให้มาเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งวัดเป็นป่าช้าและโรงเหล็กตีดาบนักรบเก่ามีผีเยอะมากเจอเห็นจนชินที่จะกลัว แต่ละกุฏิอยู่ในป่าห่างกันอย่างต่ำก็ 300-500 ม. เราจึงชินกับป่าช้า)
ซึ่งเวลาที่ญาติโยมถวายภัตราหารแล้วเสร็จ ก่อนจะฉันจังหันเช้า(ฉันมื้อเดียว) หลวงปู่อินตองได้แสดงธรรมเทศนาแก่ญาติโยม แล้วสอนอาหาเรปฏิกูลบรรพ

๒. สมัยที่บวชพระ กับพระอาจารย์สุจินต์ ธัมมะวิมล ที่วัดป่าสมเด็จ(วัดป่าอาสภาวาส) อยู่หลังโรงเรียนบ้านลาน ต.บ้านลาน อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ท่านเป็นลูกศิษย์ของพระพุฒาจารย์อาจ อาสโก ท่านจะสอนกรรมฐานให้แก่พระและเณรในวัดทุกเช้า และสอนกรรมฐานหลายๆอย่างให้แก่เราตั้งแต่พุทโธ ยุบพอง เดินจงกรม วิธีปรับจิตให้เข้ากรรมฐานได้ง่าย (วัดนี้เป็นป่าช้าเก่ามีศพฝังอยู่ทุกพื่นที่ตารางนิ้วในวัด ตกกลางคืนเหมือนได้ยินเสียงร้องหวีดบ่อยๆเวลากลางคืน พอเข้ากรรมฐานตามที่หลวงพ่อท่านสอนจนได้สมาธิแล้วแผ่เมตตาไปไม่มีประมาณเสียงนั้นจึงหายไป)
ซึ่งเวลาที่ญาติโยมถวายภัตราหารแล้วเสร็จ ก่อนจะฉันจังหันเช้า(ฉันมื้อเดียว) ขณะนั้นเป็นช่วงเข้าพรรษาหลวงหลวงพ่อได้แสดงธรรมเทศนาแก่ญาติโยม แล้วสอนอาหาเรปฏิกูลบรรพ

..จากที่เคยปฏิบัติตามที่หลวงปู่อินตองและหลวงพ่อสมจิตท่านทั้งสองสอนเราเหมือนกัน จนทำให้ตอนนั้นมีจิตรู้ว่าที่เราฉันข้าวนี้เพียงเพื่อเลี้ยงชีพให้ยังกายนี้อยู่ได้เท่านั้นเอง ทั้งตอนบวชพระและบวชเณร

ซึ่งท่านทั้งสองได้สอนง่ายๆให้เราเห็นอาหาเรปฏิกูลได้จากการฉันในบาตรที่ตักอาหารที่ญาติโยมถวายแล้วตักรวมๆระคนกันในบาตรได้เห็นว่า..
    "ข้าวในบาตรนี้มีหน้าตาอย่างไร
เมื่อตักกินเข้าปากกลืนกินลงไป
อาหารใหม่ในท้องเราก็มีหน้าตาเหมือนอาหารในบาตรที่เรากำลังตักฉันอยู่นี้แหละ
กายเราต้องการอาหารไว้เลี้ยงพยุงมันให้อยู่ไปตามกาลเท่านั้นไม่มีเกินกว่านี้เลย”

..เมื่อเราหวนระลึกถึงช่วงเวลานั้นคำสอนและการปฏิบัติในตอนนั้น และความรู้สึกในตอนนั้นได้ พร้อมน้อมลงใจร่วมกับคำสอนของหลวงปู่บุญกู้ตามที่เราพอจะจดจำระลึกได้ในวันนี้ ประกอบกับการเจริญอาการ ๓๒ ลงอนัตตา ที่หลวงพ่อเสถียร ถิรญาโณ ท่านสอนแก่เราไว้..
..จึงเห็นชัดแจ้งใจขึ้นดังนี้ว่า..หากเราเจริญอาหาเรปฏิกูลนี้ เราเคี้ยวไปติดที่รสชาติหรือหน้าตาอาหาร ให้เรานึกถึงอาหารที่เราเคี้ยวๆแล้วคายออกมาดูนี้แหละ

- หากชอบใจรสชาติ ก็ให้เรารู้ว่าเราติดรสชาติอาหารแบบนี้ เราเจริญใจเพราะด้วยรสอย่างนี้ ติดรสอร่อยแบบนี้ แต่ที่จริงแล้วที่กายเราต้องการจะดูดซับพลังงานเพื่อเลี้ยงชีพเลี้ยงกายให้คงอยู่นี้กลับไม่ใช่อาหารที่มีรสชาติที่นุ่มลิ้น เลิศรสอย่างนั้น กลับไม่ใช่รสชาติที่ร่างกายเราต้องการแต่เป็นเพียงอาหารที่มีหน้าตาอย่างที่เราเคี้ยวแล้วคายออกมาดูนั้นแหละ ที่ร่างกายเราต้องการดูดซับเอาพลังงานมันมีหน้าตาแบบที่เราคายออกมานั้นแหละ

- หากชอบใจที่หน้าตาอาหาร ก็ให้เรารู้ว่าเราพอใจติดใจอาหารที่มีหน้าตาน่ากินแบบนี้ๆ งดงามแบบนี้ เป็นระเบียบแบบนี้ แต่ที่จริงแล้วที่กายเราต้องการจะดูดซับพลังงานเพื่อเลี้ยงชีพเลี้ยงกายให้คงอยู่นี้กลับไม่ใช่อาหารที่มีหน้าตางดงามนี้ กลับเป็นอาหารที่มีหน้าตาอยย่างที่เราเคี้ยวแล้วคายออกมาดูนั้นแหละ อาหารไม่ว่าจะหน้าตางดงามแค่ไหน พอตักเข้าไปไปมันก็เป็นแบบนี้เหมือนกันหมด อาหารที่ร่างกายเราต้องการดูดซับเอาพลังงานมันมีหน้าตาแบบที่เราคายออกมานั้นแหละ


เห็นอนิจจัง
..ขนาดอาหารหน้าตาสวยๆดีๆ มีกลิ่นชวนชิม มีรสเลิศ แต่สิ่งทั้งปวงก็ไม่เที่ยง ย่อมปรุงแต่งแปรปรวนดับสูญไป มีเพียงอาหารใหม่ที่เกิดขึ้นมาในกายเรานี้อันมีหน้าตารสชาติและกลิ่นดังคำข้าวที่เราคายออกมาดูนั้น แล้วก็ปรุงแต่งแปรปรวนดับสูญไป เป็นเพียงอาหารเก่าที่มีในลำไส้ในช่องทวารเป็นขี้ที่รอขับออกมาจากร่างกาย..สุดท้ายเป็นเพียงของไม่งามน่ารังเกียจ น่าขยะแขยง ไม่ควรดู ไม่ควรชม ไม่ควรรักษา
..แม้อาหารใหม่หรืออาหารเก่านั้นก็แปรปรวนเปลี่ยนไปเรื่อยไม่ใช่อันเดิม ไม่ใช่อย่างเดิม นี่ขนาดมันอยู่ในกายเราแท้ๆมันยังไม่เที่ยงเลย แล้วภายนอก ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเป็นต้น มันจะอยู่ยั่งยืนได้อย่างไรเล่า แล้วจะนับประสาอะไรกับภายนอกนั้น อาหารที่เห็นภายนอก ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง ภายนอกที่เราว่าเลิศว่างามว่าดีก็ย่อมจะล่วงพ้นจากความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความเสื่อมสูญไปไม่ได้ ดังนี้..

..ดังนั้นแล้วควรแล้วหรือที่เราจะติดใจในหน้าตาของอาหาร หรือกลิ่มที่หวลของอาหาร หรือรสชาติเลิศล้ำของอาหาร หรือวัตถุดิบที่แพงๆของอาหารเหล่านั้น เรายังจะติดตรึงในอาหารด้วยประประการเหล่านั้นอยู่อีกรึ เพราะสุดท้ายไม่ว่าอาหารจะดีสวยหรูงดงามแค่ไหน หอมหวลแค่ไหน อร่อยแค่ไหน ราคาแพงแค่ไหน เลิศหรูหายากแค่ไหน มันก็เป็นเพียงอาหารใหม่ในกายเราดั่งคำข้าวที่เราเคี้ยวแล้วคายออกมาดูนี้ แล้วก็เป็นอาหารเก่าที่ถูกดูซับพลังงานและสารหาอาหารต่างๆถูกขับออกมาเป็นขี้เท่านั้น


..หากจำภาพอาหารที่เราเคี้ยวไม่ได้ ก็ค่อยเคี้ยวๆแล้วคายออกมาดูหน้าตามันใหม่ว่าเป็นยังไง แล้วเราจะกลืนกลับเข้าไปได้ไหม..

- หากกลืนกินกลับเข้าไปใหม่ไม่ได้ ก็เอาทิ้งไปเสีย..
..ให้พึงรู้ว่านี้ อาหารที่หน้าตาน่ากิน กลิ่นที่หอมหวลชวนอยาก รสที่นุ่มลิ่นชุ่มใจ ที่เราเพิ่งตักเข้าปากไปแท้ๆเมื่อสักคู่นี้ พอเราคายออกมามันก็มีหน้าตาอย่างที่เห็นนี้แหละ แล้วเรายังจะพิศมัยในอาหารอันโอชะ เลิศรส หอมหวล งดงามเจริญตาอันใดได้อีกเล่า เพราะสุดท้ายแล้วมันก็เป็นได้แค่อาหารที่เราเพิ่งคายออกมานั้นเอง
..และทั้งๆที่เราเพิ่งคายออกมาจากปากตนเองแท้ๆกลับกินต่อไม่ได้ กลืนกลับเข้าไปใหม่ไม่ลง ในร่างกายเราก็มีของแบบนั้นอยู่เต็มท้อง เต็มกระเพาะและลำไส้ แล้วในกายเรานี้จะยังมีสิ่งใดให้ยึดว่างดงามไม่น่าเกลียด ว่าเป็นตัวตนของเราได้อีกเล่า เราหรือที่เป็นกองอาหารที่เพิ่งเคี้ยวเข้าไปเหล่านั้น
..แล้วให้ตักอาหารมาราดรวมแล้วคนๆคลุกเคล้ามันให้เป็นอันเดียวกัน แล้วมองดูก็อาหารที่เมื่อเราเคี้ยวแล้วกลืนลงท้องมันก็เป็นแบบนี้แล แค่นี้แหละที่ร่างกายต้องการ ไม่มีอื่นอีก หาใช่หน้าตาหรือรสชาติใดๆไม่
..อุปมาด้วยจานนั้นเป็นท้อง ข้าวในจานนั้นเป็นอาหารใหม่ที่เราตักกินเคี้ยวในปากแล้วกลืนลงท้องไป เมื่ออยู่ในท้องมันเป็นแบบนั้นแหละ จะอาหารที่รักที่ชัง รสชาติที่รักที่ชัง เมื่อลงในท้องในกายเรามันก็เป็นเหมือนดั่งกับข้าวที่เราคนรวมกันในจานนี้เท่านั้น
(พระป่าท่านฉันข้าวในบาตรก็เพื่อกรรมฐานอาหาเรปฏิกูลบรรพกองนี้)

- หากกลืนกินกลับเข้าไปใหม่ได้โดยที่ไม่ติดใจไรๆ เราก็ไม่ติดที่หน้าตาและรสชาติของอาหารในขณะเวลานั้นๆแล้ว
..ให้พึงรู้ได้จากการเคี้ยวกลืนกินกลับคืนไปนั้นว่า อาหารที่มีหน้าตารสชาติอย่างที่เราเคี้ยวกลับคืนไปนั้น ไม่ได้ทำให้เราตาย แต่กลับทำให้เราอิ่มท้องพยุงชีวิตและร่างกายนี้ให้ยังอยู่ต่อไปได้ ดังนี้แล้วการพยุงกานดำรงชีพอยู่ของเรานั้นไม่ใช่ที่หน้าตาปละรสชาติของอาหารอย่างเห็นได้ชัดเจน ร่างกายเราต้องการแค่สิ่งที่ไม่เป็นพิษที่สามารถดูดซับเอาพลังงานและสารอาหารต่างๆเอาไปหล่อเลี้ยงกายได้ก็เท่านั้นเอง แล้วก็กินอาหารต่อไปด้วยนึกถึงอารมณ์นั้น
..แล้วให้เริ่มกินอาหารโดยการตักเอาสิ่งที่เราจะกินทุกอย่างมาราดคนๆกวนๆใส่รวมกัน มองดูให้เห็นว่าสิ่งที่อยู่ในถ้วยจานเบื้องหน้านั้นแหละคือสิ่งที่ิอยู่ในกายเราอันเรียกว่า อาหารใหม่ ทุกครั้งที่กินก็ให้รู้ทันทีว่านั่นคืออาหารใหม่อันเป็นอาการ ๓๒ ในกายเรานี้ ในร่างกายคนทุกคนเป็นแบบนั้น
..แม้ร่างกายของเราหรือใครอันที่หนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบที่เรามองว่างดงามนี้ ถายในหนังอันหุ้มไว้อยู่นั้นก็เป็นดังอาหารใหม่นี้แลไม่มีสิ่งใดน่าใครน่าปารถนา
..หนังหุ้มกองเศษอาหารใหม่(กองเศษเนื้อ, เศษผัก, เศษข้าว, เศษเครื่องแกง, เศษแป้งที่บดย่อยคนรวมๆกัน)
..อาหารเก่า(กากจากอาหารที่ถูกดูซับพลังงานและสารอาหารแล้ว คือ ขี้)
..เมื่อปารถนาจับต้องสัมผัส สูดดม ครอบครองมันไป ก็เหมือนเราปารถนาครอบครองสัมผัส โอบกอด จูบดม ลูบเลียกองอาหารใหม่ที่มันคลุกคนถูกเคี้ยวให้ย่อยบดรวมระคนกันโดยดูไม่ออกเลยว่ามีอะไรในนั้นบ้าง เป็นที่น่ารังเกียจยิ่ง ที่เราโง่หลงไหลอยู่ในหนังที่หุ้มเศษกองอาหารที่น่ารังเกียจนี้เท่านั้นเอง แม้กายเราเองก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน

..ครูบาอาจารย์ท่านแจ้งชัดแทงตลอดแล้วในอาหาเรปฏิกูลนี้ ท่านจึงเห็นเป็นเพียง "หนังหุ้มขี้" ดังนี้


เห็นอนัตตา
..ในร่างกายเราก็มีของแบบนั้นอยู่เต็มท้อง เต็มหลอดอาหาร เต็มกระเพาะและลำไส้ แล้วในกายเรานี้จะยังมีสิ่งใดให้ยึดว่างดงามไม่น่าเกลียด ว่าเป็นตัวตนของเราได้อีกเล่า ก็ถ้าร่างกายนี้เป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวตนของเราแล้ว เราหรือที่เป็นกองอาหารหรือคำข้าวที่เพิ่งเคี้ยวกลืนลงท้องเข้าไปอยู่ในกายเป็นอาหารใหม่เหล่านั้น เราหรือที่เป็นอาหารเก่าที่ถูกดูดซับพลังงานและสารอาหารแล้วถูกขับออกมาทางช่องอากาศคือรูทวารหนักที่เรียกว่า “ขี้” นั้น
..ก็ถ้าอาหารใหม่หรืออาหารเก่ามันเป็นเรา เป็นตัวตนของเราแล้ว เราก็ต้องเป็นคำข้าวที่เคี้ยวเข้าไปนั้น เป็นขี้ที่ถูกขับออกมาทางช่องอากาศคือรูทวารหนักนั้นๆ
..เมื่อมันถูกขับออกมาจากร่างกายแล้วทำไมเรายังไม่ตาย ทพไมเรายังมีชีวิตอยู่ได้อีกหนอ ก็ไม่เห็นว่าจะมีเราอยู่ในอาหารใหม่หรืออาหารเก่าเหล่านั้นเลย แล้วจะเอาสิ่งใดมาพูดได้ว่ากายนี้อาการทั้ง ๓๒ แระการนี้เป็นเรา เป็นตัวตนของเราได้อีกเล่า
..เราหรือที่เป็นอาหารใหม่ เราหรือที่เป็นอาหารเก่าคือขี้ ก็ถ้าเราไม่ใช่อาหารใหม่หรืออาหารเก่าคือขี้แล้วร่างกายนี้จะเป็นเรา เป็นตัวตนของเราได้อย่างไรเล่า ดังนั้นร่างกายนี้จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา สักแต่มีไว้อาศัยเพื่อทำบารมีความดี และ ทาน ศีล ภาวนา เท่านั้น ดังนี้

(อาหาเรปฏิกูลบรรพ ลงอาการ ๓๒ ลงอสุภะกรรมฐาน)


** อาหาเรปฏิกูล นี้..ไม่ใช่ว่าเพราะรู้ว่าตนติดรสชาติเพลิดเพลินในรสแล้วคายทิ้ง ไม่ใช่ติดในรูปอาหารแล้วคายทิ้ง
** แต่ท่านให้พิจารณาระลึกรู้ตามรู้ทันว่าตนยังติดในรสหรือหน้าตาอยู่แบบนี้อยู่เท่านั้น
** ส่วนที่ให้คายออกมานั้น คือ ให้คายมาพิจารณาดูอาหารใหม่ในกาย ดูอาหารที่เราตักเข้าปากไปมันเป็นยังไง ดูอาหารที่ร่างกายเราต้องการดูซับพลังงานมันเป็นแบบไหน ไม่ใช่ที่รสชาติล้ำเลิศหรือหน้าตาที่งดงามของอาหารที่ร่างกายเราต้องการ แต่เป็นอาหารที่มีหน้าตาและรสชาติอย่างที่เราคายออกมาดูนั้นแหละที่ร่างกายเราต้องการเลี้ยงชีพ

ตัก
เคี้ยว
คาย
พิจารณา

คลุกๆคนๆ
กวนๆรวมกันในจานเดียว
อาหารใหม่ในท้อง

อาหารเก่า คืออาหารใหม่ที่ถูกดูดซับเอาพลังงานแล้วเหลือเป็นกากส่งออกมาทางช่องอาการ คือ รู้ทวาร รู้ก้น รู้ตูดเรานี้เอง ออกมาเป็นขี้นั้นแหละ



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 24, 2016, 03:46:44 PM
บันทึกกรรมฐาน 25 สิงหาคม แนวทางปลงใจทางโลกให้เข้าถึงสมาธิ

ขออภิวาทแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม
ขอนมัสการพระธรรม ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ดีแล้ว อันเป็นเครื่องของจากกองทุกข์
ขอนอบน้อมพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรงตามพระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ดีแล้ว

      ธรรมเหล่าใดที่ผมจะเผยแพร่ต่อไปนี้ เป็นพระธรรมตามที่พระพุทธเจ้าองค์พระบรมศาสดาตรัสสอน และ ครูบาอาจารย์ทั้งหลายผู้เป็นสงฆ์ของพระพุทธเจ้าได้เทศนาเผยแพร่สั่งสอนมาตรงดีแล้ว ซึ่งตัวผมนี้ได้นำเอาพระธรรมเหล่านั้น มาเป็นที่ตั้งมั่นปฏิบัติถึงแนวทางทำไว้ในใจให้เข้าถึงปฏิบัติได้ตามจริตของผม และเห็นผลได้จริงไม่จำกัดกาลในแบบปุถุชนคนธรรมดาทั่วไปที่แสวงหาทางพ้นทุกข์อย่างผมพอจะมีปัญญาเข้าถึงได้
- หากธรรมทั้งปวงที่จะเผยแพร่แบ่งปันแก่กัลยาณมิตรทั้งหลายเหล่านี้ บิดเบือน ผิดพลาด ไม่ตรงตามจริง เป็นของปลอมไม่ทำให้แจ้งชัดเห็นตามพระบรมศาสดาตรัสสอนได้ ขอให้ท่านทั้งหลายจงรู้ไว้ว่า ธรรมเหล่านี้กลั่นมาจากความคิดปรุงแต่งไปตามความเข้าไม่ถึงธรรมที่แท้จริงของผมแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ไม่ใช่ธรรมที่พระพุทธเจ้าและไม่ใช่ธรรมตามจริงที่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายเทศนาสอนมา
- แต่หากธรรมทั้งปวงเหล่านี้ทำให้ท่านทั้งหลายเข้าถึงธรรมที่พระศาสดาตรัสสอนได้ ให้ผลได้ตามจริง ขอให้ท่านทั้งหลายจงรู้ไว้เถิดว่า นี้แหละคือธรรมที่พระพุทธเจ้าองค์พระบรมศาสดาตรัสสอนไว้ดีแล้ ที่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายถ่ายทอดไว้ดีแล้ว ทำให้เห็นผลได้ไม่จำกัดกาล แค่เราทำไว้ในใจ(มนสิการ น้อมใจไป) ให้เข้าถึงได้เท่านั้นเอง
บัดนี้ ข้าพเจ้าขอเผยแพร่แบ่งปันแสดงธรรมเรื่อง แนวทางปลงใจทางโลกให้เข้าถึงสมาธิ  ดังนี้..

     เวลาที่เราจะทำสมาธิให้ได้ดีและไว เราก็ต้องตัดทางโลกให้ได้ เราต้องละทางโลกให้ได้ก่อนจึงจะเข้าทางธรรมได้ ...อุปมาเหมือนเมื่อเราจะนอนหลับ เราก็ต้องละความตื่นอยู่ออกไปฉันใด การเข้าทางธรรมก็ได้นั้น เราก็ต้องละความยึดเหนี่ยวทางโลกทิ้งออกไปให้หมดด้วยฉันนั้น
     แล้วจะละทางโลกออกไปอย่างไรได้ จะปลงใจทางโลกอย่างไร ไม่ต้องไปปลงที่ไหนให้ยาก ก็ปลงที่กายและใจเรานี้ ..ตัดกายนี้ทิ้งออกไปได้ จิตก็ไม่ยึดไม่พวงทางกายอีก แต่จิตมันก็จับอารมณ์ความรู้สึกที่ใจเพียงอย่างเดียว ทำแต่นี้ได้ก็เป็นอันว่าจิตมันจะจดจ้องอยู่กับความตรึกหน่วงนึกคิดถึงอารมณ์ที่กำลังปรุงแต่งอยู่เบื้องหน้านั้นๆ แล้วก็ตัดสมมติกิเลสอารมณ์ทางโลกที่ใจออกไปให้ได้ จิตมันก็น้อมเข้ามาทางธรรมได้เองแล้ว

๑. สมมติ (คิดพิจาณาให้ของจริงต่างหากจากสมมติกาย สมมติใจ สมมติกิเลส ถึงอนัตตาความไม่ใช่ตัวตน)
๒. มรณัสสติ(ระลึกถึงความตาย ถึงอนัตตาความเป็นปฏิภาคต่อกันบังคับไม่ได้)
๓. อนัตตา(คิดพิจารณาให้ถึงอนัตตาความไม่มีอยู่จริง)


๑.  วิธีเจริญ สมมติ

๑.๑ สมมติกาย
- เจริญ อสุภะสัญญา หรือ ปฏิกูลบรรพ หรือ ทวัตติงสาการ นั่นคือ ม้างกายในอาการทั้ง ๓๒ ประการออกมานั้นเอง เวลาจะเจริญให้ทำพุทโธตั้งอยู่เฉพาะหน้าก่อนจนจิตสงบ (ตรงนี้ผู้ที่ได้ฌาณหายใจเข้าสุดปุ๊บมันเข้าอารมณ์สมถะได้เลย มีอานาปานสติไว้ภายในทันที หากเรายังไม่มีฌาณยังไม่ได้ขณิกสมาธิคือ สมาธที่ได้ความสงบให้ตั้งมั่นพุทโธระลึกถึงพระพุทธเจ้าไว้เบื้องหน้าจนกว่าจิตจะมีอาการวูบวาบๆแวบหนึ่งเหมือนขนลุกซู่ลมกระจายออกทางรูขุมขนมีอาดการตัดความฟุ้งซ่านใจออกแล้วก็ถึงสงบ อันนี้เรียกขณิกสมาธิ) จากนั้นเริ่มพิจารณาดังนี้

ก.  รูปขันธ์เรานี้มันมีความแปรปรวน ผันแปร เกิดดับอยู่ทุกวันๆทุกขณะๆ ดับรูปของเมื่อวาน จึงเกิดรูปของวันนี้ขึ้นมาได้  แล้วก็เสื่อมสภาพไปตามสภาพแวดล้อม กาลเวลา และความปรุงแต่งแปรปรวนภายในกาย มีความดับสูญไปเป็นทีั่สุด ไม่คงทนอยู่ได้นานเลย นานสุดก็แค่หมดลมหายใจเรานี้เอง เมื่อเกิดขึ้น ก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย กล่าวคือ..
- ก่อนที่ดวงจิตของเราจะมาอาศัยร่างกายที่พ่อและแม่ให้เรามานี้ ครูบาอาจารย์ คือ หลวงปู่มั่น, หลวงปู่ฝั้น, หลวงตามหาบัว, หลวงปู่บุญกู้ ท่านสอนเอาไว้ว่า..กาลก่อนนั้นเราก็เคยอาศัยร่างกายอื่นมาแล้ว เกิดเป็นคนบ้าง เป็นสัตว์บ้าง เป็นเทวดาบ้าง เป็นสัตว์นรกบ้าง เป็นเปรตบ้าง ดวงจิตเรานี้เดินทางไปเรื่อยไม่มีที่สิ้นสุด ที่ดวงจิตของเรามาอาศัยอยู่ในกายนี้ได้นั้น เพราะอาศัย น(น้ำ)เป็นธาตุของมารดา โม(ดิน)เป็นธาตุของบิดา ผสมกันเข้าไป มีไฟธาตุของมารดาเคี่ยวเข้าจนได้นามว่า กลละ คือ น้ำมันหยดเดียว ณ ที่นี้เองปฏิสนธิวิญญาณ เข้าถือปฏิสนธิได้ จิตจึงได้ปฏิสนธิในธาตุนโมนั้น (ปฏิสนธิวิญญาณ คือ จิตหรือวิญญาณที่แสวงหาที่เกิดมาปฏิสนธิในครรภ์ เป็นจิตที่เกิดใหม่ในกลละที่แบ่งเพศหญิงหรือชายไว้แล้วนั้น ปฏิสนธิจิตหรือปฏิสนธิวิญญาณ คือ มโน..ใจ เป็นดวงจิตที่เป็นตัวทำให้กำเนิดขึ้นมา เป็นตัวเวียนว่ายตายเกิดปฏิสนธิขึ้นในร่างกายตามภพภูมินั้นๆที่ท่องเที่ยวไป กล่าวตือ ก็ตัวเรานี้แหละ พระป่าท่านเรียก ใจ หรือ มโน ไม่ใช่วิญญาณขันธ์ ) เมื่อจิตเข้าไปอาศัยแล้ว กลละก็จะค่อยเจริญขึ้นเป็น อัมพุชะ คือเป็นก้อนเลือด เจริญจากก้อนเลือดมาเป็น ฆนะ คือเป็นแท่ง และเปสิคือชิ้นเนื้อ แล้วขยายตัวออกคล้ายรูปจิ้งเหลน จึงเป็นปัญจสาขา คือ แขน ๒ ขา๒ หัว๑ ส่วนธาตุ พ คือลม ธ คือไฟ นั้น เป็นธาตุเข้ามาอาศัยภายหลังเพราะจิตไม่ถือเมื่อละจากกลละนั้นแล้ว กลละก็ต้องทิ้งเปล่าหรือสูญเปล่า ลมและไฟก็ไม่มี คนตาย ลมและไฟก็ดับหายสาบสูญไป จึงว่าเป็นธาตุอาศัย ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ธาตุทั้ง ๒ คือนโมเป็นดั้งเดิม ..จะเห็นได้ว่า แม้ในการก่อเกิดผมเข้ากันเป็นตัวคนนีั้ ก็มีการดับไปของสิ่งหนึ่งเพื่อเกิดขึ้นของสิ่งหนึ่ง สิ่งนั้นไม่คงทนอยู่ได้นานเลย เช่น เมื่อกลละดับ..อัมพุชะจึงเกิดมีขึ้น เมื่ออัมพุชะดับ..ฆนะและเปสิจึงเกิดขึ้นได้ เมื่อฆนะและเปสิดับรูปจิ้งเหลนดับไป..จึงเกิดเป็นรูปร่างคนมีแขนขาขึ้นมาได้ นี่แหละมันมันเกิดดับอยู่ทุกขณะแล้วจึงมาเป็นเราในปัจจุบันนี้เอง
- เมื่อเราคลอดออกมาสภาพร่างกายของเราก็เป็นทารก ช่วยตัวเองยังไม่ได้ มองไม่เห็น ก็เมื่อมีใจเข้ายึดครองในดวงตา ดวงตาที่ไม่มีใจครองก็ไม่มีแล้ว ก็จึงมองเห็นสิ่งต่างๆได้ ก็เมื่อสภาพร่างกายในวัยทารกนี้ดับไป ทุกวันๆ กายใหม่ที่เจริญวัยก็จึงเกิดขึ้นได้ ย่างเข้าสู่วัยเยาว์
- ก็เมื่อสภาพร่างกายในวัยเยาว์นี้ดับไป สภาพร่างกายในวัยรุ่นก็จึงเกิดขึ้นมีได้
- ก็เมื่อสภาพร่างกายในวันรุ่นเรานี้ดับไป ก็จึงเกิดสภาพร่างกายในวัยกลางคนนี้ขึ้นมาได้
- ก็เมื่อสภาพร่างกายในวัยกลางคนเราดับไป ก็จึงเกิดสภาพร่างกายของเราในวัยชราขึ้นมาได้
- สุดท้ายกายนี้ก็ดับสูญสลายไป แล้วเราจะไปยึดเอาอะไรได้บ้างจากกายนี้ ดังนี้แลจึงกล่าวได้ว่า จิตเราเดินทางมาอาศัยกายที่พ่อแม่เราสร้างมาให้นี้ ก็เพราะจะใช้กายนี้เพื่อทำดีสะสมบารมีของเรา ถ้าไม่มีพ่อแม่เราก็มาเกิดกำเนิดขึ้นไม่ได้ในโลกนี้ พ่อแม่จึงมีคนมาก เมื่อเราใช้กายที่พ่อแม่ให้มานี้อบรมกุศล ทาน ศีล ภาวนา สั่งสมบารมีธรรม ก็แสดงว่าเราได้ทดแทนคุณของบิดามารดาเป็นพื้นฐานแล้ว แล้วเมื่อเลี้ยงดูท่าน ดูแลท่านอย่างดี บอกกุศลธรรมแก่ท่านให้ท่านได้รู้ตาม ก็ยิ่งเป็นการทดแทนคุณบิดามารดาตามพระตถาคตตรัสสอนไว้ดีแล้วในเรื่อง กตัญญู กตเวที ต่อบิดา มารดา บุพการี

นี่ทำให้เราเห็นชัดเลยว่า กายเรานี้มันเกิดดับๆอยู่ตลอดเวลา เพราะคนเก่าดับไปคนใหม่จึงเกิดมีขึ้น ก็คนในวัยเด็กดับไป คนในวัยหนุ่มจึงมีเกิดขึ้น เพราะคนในวัยหนุ่มดับไป คนในวัยชราจึงเกิดมีขึ้นได้ สมดั่งพระนาคเสนตอบปัญหากับพระเจ้ามิลินทร์ไว้ สมกับที่พระศาสดานี้ตรัสสอนไว้ว่า รูปปังอนิจจัง รูปไม่เที่ยง

- ก็รูปเรานี้แต่เราสามารถบังคับให้มันเป็นไปดั่งต้องการคงสภาพที่พอใจไว้ ไม่ให้สภาพที่ไม่พอใจนี้เกิดขึ้นก็ไม่ได้ ปารถนาให้เป็นนั่น โน่น นี่ตามใจต้องการก็ไม่ได้ จะไปหมายบังคับมันด้วยหมายว่า
..ตาเป็นเรา ตาเป็นของเรา ตาเป็นตัวตนของเรา ขอตาจงอย่าฟ่าฟาง จงมีตาอันงดงาม ไม่เป็นโรค ไม่สายตาสั้น ไม่สายตายาว ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ปวด ได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ แม้รูปที่รู้ด้วยตานั้นเราจะไปบังคับได้ไหมว่าขอรูปที่รู้นี้จงอยู่ตลอดไปเถิด ขอรูปนี้อย่าดับไปเลย ยังคับให้ดวงตามันเห็น มันมอง มันรู้เอาแต่รูปที่ชอบ ไม่เห็นรูปที่เกลียดได้หรือไม่ ก็ไม่ใช่ ดังนี้จึงชื่อว่า แม้ร่างกายเราก็ดี ดวงตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่เราใช้รับรู้สิ่งภายนอกอยู่นี้ก็ดี ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นตัวตนของเรา เราไม่ใช่ตา ตาไม่ใช่เรา เราไม่มีในตา ตาไม่มีในเรา ดังนี้

ข. รูปขันธ์ ที่เรารักที่เราหวงแหนที่เรากลัวจะเสียมันไปอยู่ทุกๆขณะนี้มันเป็นเพียงของไม่สะอาดมีอาการ ๓๒ ประชุมสงเคราะห์รวมกันอาศัยกันและกันเพื่อพยุงไว้อยู่เท่านั้น ให้เข้าอุปจาระฌาณ ปฐมฌาณ จิตว่างจากกิเลสนิวรณ์ลงได้แล้ว ให้อธิษฐานจิตขอให้เกิดนิมิตอันเป็นร่างกายเรานี้ขึ้นมา แล้วแยกมันออกไปทีละอาการๆ ถอดมันออกมาทีละอาการๆ โดยพิจารณาอาการทั้ง ๓๒ ประการ เช่น ถอดเล็บ ถอดผม ถอดขน ถอดฟัน ถอดหนัง ถอดก้อนเนื้อ ถอดเส้นเอ็น ถอดเลือด นสมอง ไส้ใหญ่ ไส้น้อย ถอดกระดูก ออกมากองๆไว้ก็ไม่มีอะไรทั้งสิ้นที่เป็นเรา หรือ จะม้างออกมาพิจารณาอย่างหนึ่งก็ได้
.. เช่น เส้นผมนี้ที่หลุดร่วงออกมาจากกายนี้ เส้นผมนั้นหรือที่เป็นเรา เราหรือที่เป็นเส้นผม เส้นผมมีเราในนั้นไหม มีเราในเส้นผมนั้นไหม หากเส้นผมนั้นเป็นเราแล้ว มันร่วงออกมาทำไมเรายังไม่ตายหนอ และเราก็ต้องบังคับให้มันไม่หงอกไม่ร่วงได้ใช่ไหม แต่มันก็ไม่เป็นเช่นนั้นเลย แล้วอย่างนี้จะเอาอะไรมากล่าวว่า เส้นผมนั้นเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวตนแห่งเรา เราเป็นเส้นผม มีเราในเส้นผมได้เล่า ..แล้วเมื่อเส้นผมมันหงอกหรือหลุดร่วงออกมาแล้ว..มันมีค่าเกินกว่าสิ่งหนึ่งๆที่มีอยู่ทั่วไปในโลกที่มีสัมผัสอันอ่อนนุ่ม หรือแข็งไหม แล้วที่สุดมันก็ย่อยสลายไปตามกาลเวลาและความปรุงแต่งแปรปรวนเป็นไปของมันใช่ไหม ไม่คงอยู่ได้นานเลย ดังนี้แล้วจะเอาอะไรมากล่าวมายึดได้ว่าเส้นผมมีในเรา เพราะมันก็แค่สิ่งที่มีลักษณะอ่อนบ้างแข็งบ้างตามธรรมดาทั่วๆไปในโลกสิ่งหนึ่งเท่านั้น เหมือนที่เรารู้สึกได้กับสภาพแวดล้อมทั่วไปรอบๆตัวของเรานั่นเอง แม้นเมื่อเราม้างกายถอดอาการทั้ง ๓๒ ประการที่เหลืออยู่นั้นออกมากองๆไว้ ก็ไม่สามารถจะเข้าไปยึดครอง หมายมั่นสิ่งไรๆได้ว่า นั่นเป็นตัวตน เพราะจะมีให้เห็นอยู่ก็เพียง อาการทั้ง ๓๒ ประการทั้งหลายเหล่านั้นไม่ใช่เรา เราไม่ใช่สิ่งนั้น สิ่งนั้นไม่มีในเรา เราไม่มีในสิ่งนั้น สิ่งนั้นไม่เป็นเรา เราไม่เป็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตน แต่อาศัยเอาสิ่งนั้นๆมาประกอบสงเคราะห์เข้าร่วมกัน จึงสมมติเอาสิ่งที่รวมๆกันขึ้นมานี้ว่าเป็นเรา เป็นตัวตนของเราหรือใคร บุคคลใด สัตว์ใด สิ่งใด เท่านั้นเอง พระโสดาบันขึ้นไปท่านเห็นอย่างนี้

ค. รูปขันธ์ ภายนอกก็ดี ภายในกายเรานี้ก็ดี ล้วนเต็มไปด้วยโรค เป็นที่ประชุมโรคทั้งปวง พิจารณาตามพระศาสดาสอนใน อาทีนวสัญญา ดังนี้ว่า กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้น อาพาธต่างๆ จึงเกิดขึ้นในกายนี้ คือ โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคที่ใบหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราด หูด โรคละอองบวม โรคอาเจียนโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีไข้สันนิบาต อาพาธอันเกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธอันเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธอันเกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธอันเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นโทษในกายนี้ ด้วยประการดังนี้ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอาทีนวสัญญา ฯ

ก็โรคทั้งหลายเหล่านี้แลมีเกิดขึ้นในกายเราอยู่ทุกๆขณะ แม้ไม่ตั้งอยู่ไม่แสดงผลให้เห็นอยู่ แต่มันก็ทนหิว ทนเจ็บ ทนปวดไม่ได้ ไม


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 26, 2016, 05:51:44 PM
36-พระกุณฑธานเถระ
เอตทัคคะในทางผู้จับสลากเป็นที่หนึ่ง

พระกุณฑธาน เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในเมือง สาวัตถี มีชื่อว่า “ธานะ” ศึกษาศิลปะ
วิทยาจบไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์ ท่านครองชีวิตฆราวาสอยู่จนย่างเข้าสู่วัยชรา
วันหนึ่ง ได้มีโอกาสฟังพระธรรมเทศนาจากพระบรมศาสดาแล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใส
กราบทูลขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาทรงประทานการอุปสมบทให้ตาม
ประสงค์

มีหญิงสาวตามทุกย่างก้าว
เมื่อท่านได้อุปสมบทแล้วปรากฏว่าไม่ว่าท่านจะอยู่ในกุฏิที่พักของตน หรือไปในที่อื่น ๆ
แม้แต่เวลาที่ท่านออกบิณฑบาตตามหมู่บ้านก็ตามที จะมีหญิงสาวรูปร่างสวยงามเดินตามเป็นเงา
ตามตัวท่านอยู่ตลอดเวลา สำหรับท่านเองนั้นมองไม่เห็น แต่คนอื่น ๆ ทั่วไปจะเห็นกันอย่างชัด
เจน เมื่อท่านเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ประชาชนที่ใส่บาตรก็จะพากันพูดว่า “ส่วนนี้เป็นของ
ท่าน อีกส่วนหนึ่งนี้เป็นของหญิงสหายที่ติดตามท่าน” เวลาที่ท่านอยู่ในวัดก็จะถูกเพื่อนสหาย
ธรรมิกพูดจาเสียดสีท่านว่า “คนกุณฑะ” ซึ่งหมายถึงคนชั่วช้า ดังนั้น ท่านจึงได้ชื่อว่า “กุณฑธา
นะ"
พระกุณฑธานะ ตัวท่านเองไม่เห็น และไม่ทราบเลยว่ามีหญิงสาวติดตามท่านอยู่เสมอ
เมื่อท่านได้ฟังประชาชนที่ใส่บาตรพูดกันว่า “ส่วนนี้เป็นของท่าน อีกส่วนหนึ่งนี้เป็นของหญิง
สหายที่ติดตามท่าน” และการที่เพื่อน ๆ สหธรรมิกพูดจาเสียดสีว่าท่านเป็นคนชั่วช้านั้น ทำให้
ท่านเกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ ท่านจึงพูดโต้ตอบขึ้นด้วยถ้อยคำรุนแรง จนเป็นเหตุให้ทะเลาะ
กัน


 พระบรมศาสดาทรงทราบความรับสั่งให้ท่านเข้าเฝ้าแล้วตรัสเตือนท่านว่า:-

ดูก่อนธานะ กรรมเก่าของเธอยังชดใช้ไม่หมดไฉนเธอจึงสร้างกรรมใหม่อีก

จากนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสเล่ากรรมเก่าในอดีตให้ท่านฟัง

กรรมเก่าของท่าน

ในอดีตกาล ครั้งที่พระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ท่านธานะเกิดเป็นภุมเทวดา (เทวดา
ที่สิงสถิตตามภาคพื้นดิน) เห็นพระภิกษุ ๒ รูป มีความรักใคร่และสามัคคีกันอย่างมาก ไม่ว่าจะ
ไปที่ไหน ๆ ทั้งสองมักจะไปด้วยกันเสมอ จึงคิดที่จะทดลองใจท่านทั้งสองดูว่า จะชอบพอกัน
มั่นคงเพียงไหน มีอะไรที่จะทำให้ท่านแตกแยกกันได้หรือไม่ เทวดาจึงรอโอกาสอยู่จนถึงวัน
อุโบสถวันหนึ่ง เห็นท่านทั้งสองเดินทางมาเพื่อร่วมทำอุโบสถสังฆกรรม ณ อารามแห่งหนึ่ง ใน
ระหว่างทางพระรูปหนึ่งขอโอกาสเข้าไปถ่ายอุจจาระในป่าข้างทาง ส่วนอีกรูปหนึ่งรอคอยอยู่
ข้างนอก ภุมเทวดาเห็นเป็นโอกาสดี เมื่อพระรูปที่เข้าไปถ่ายอุจจาระในป่าเดินกลับออกมา จึง
แปลงร่างเป็นหญิงสาวสวยเดินตามหลังท่านออกมาจากป่าด้วย พร้อมกับแสดงกิริยาอาการ
เหมือนกับว่าเพิ่งผ่านการสำเร็จกามกิจกับท่านมา มีการจัดผ้านุ่งและจัดผม เป็นต้น ส่วนตัวพระ
รูปนั้นไม่รู้ไม่เห็นเลย แต่เพื่อพระรูปที่ยืนรอคอยอยู่นั้นมองเห็นชัดเจน
เมื่อท่านออกมาจากป่า จึงถูกพระเพื่อนรูปนั้นต่อว่าและกล่าวโทษตามที่ตนเห็นนั้น จึง
เกิดการโต้เถียงกันรุนแรงขึ้น และเรื่องก็รุกรามไปถึงหมู่ภิกษุทั้งหลาย ซึ่งต่างก็พากันรังเกียจภิกษุ
รูปนั้น ไม่ยอมร่วมทำอุโบสถสังฆกรรมด้วย ทำให้ท่านเกิดความทุกข์ร้อนใจเป็นอย่างยิ่ง
ภุมเทวดาผู้เป็นต้นเหตุนั้น เห็นเหตุการณ์รุกรามไปอย่างนั้น รู้สึกสำนึกผิด จึงเข้าไปแจ้งความจริง
แก่ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจึงได้ร่วมทำอุโบสถสังฆกรรมกันได้ แต่ความรักและความสนิทสนม
ระหว่างเพื่อนภิกษุทั้งสองรูปนั้น ไม่เป็นไปตามเดิม ต่างแยกกันอยู่แยกกันเดินทางแยกกันปฏิบัติ
กิจปฏิบัติธรรมจนสิ้นอายุขัย
ภุมเทวดา จุติจากชาตินั้นแล้วไปเกิดในเวจีมหานรก เสวยผลกรรมนั้น อย่างแสนสาหัส
จนถึงสมัยพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันนี้ จึงพ้นจากนรกนั้นแล้วมาเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ ใน
เมืองสาวัตถี มีชื่อว่า ธานะ ด้วยเศษแห่งผลกรรมของท่านนั้น เมื่อท่านบวชแล้วจึงมีรูปหญิงสาว
ติดตามท่านเป็นเงาตามตัวอยู่เสมอ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 22, 2017, 02:49:44 AM
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๕  พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๒
วิภังคปกรณ์


๖. ปัจจยาการวิภังค์
สุตตันตภาชนีย์


             [๒๕๕]    สังขารเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย
                          วิญญาณเกิดเพราะสังขารเป็นปัจจัย
                          นามรูปเกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย
                          สฬายตนะเกิดเพราะนามรูปเป็นปัจจัย
                          ผัสสะเกิดเพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย
                          เวทนาเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย
                          ตัณหาเกิดเพราะเวทนาเป็นปัจจัย
                          อุปาทานเกิดเพราะตัณหาเป็นปัจจัย
                          ภพเกิดเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย
                          ชาติเกิดเพราะภพเป็นปัจจัย
             ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เกิดเพราะชาติ
เป็นปัจจัย ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้
             [๒๕๖] ในปัจจยาการเหล่านั้น อวิชชา เป็นไฉน
             ความไม่รู้ทุกข์ ความไม่รู้ทุกขสมุทัย ความไม่รู้ทุกขนิโรธ ความไม่รู้
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่า อวิชชา
             [๒๕๗] สังขารเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เป็นไฉน
             ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร กายสังขาร
วจีสังขาร จิตตสังขาร
             ในสังขารเหล่านั้น ปุญญาภิสังขาร เป็นไฉน
             กุศลเจตนา เป็นกามาวจร เป็นรูปาวจร ที่สำเร็จด้วยทาน ที่สำเร็จ-
*ด้วยศีล ที่สำเร็จด้วยภาวนา นี้เรียกว่า  ปุญญาภิสังขาร
             อปุญญาภิสังขาร เป็นไฉน
             อกุศลเจตนาเป็นกามาวจร นี้เรียกว่า อปุญญาภิสังขาร
             อาเนญชาภิสังขาร เป็นไฉน
             กุศลเจตนาเป็นอรูปาวจร นี้เรียกว่า อาเนญชาภิสังขาร
             กายสังขาร เป็นไฉน
             กายสัญเจตนา เป็นกายสังขาร วจีสัญเจตนา เป็นวจีสังขาร มโนสัญ-
*เจตนา เป็นจิตตสังขาร
             เหล่านี้เรียกว่า สังขารเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย
             [๒๕๘] วิญญาณเกิดเพราะสังขารเป็นปัจจัย เป็นไฉน
             จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ
มโนวิญญาณ นี้เรียกว่า วิญญาณเกิดเพราะสังขารเป็นปัจจัย
             [๒๕๙] นามรูปเกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย เป็นไฉน
             นาม ๑ รูป ๑
             ในนามและรูปนั้น นาม เป็นไฉน
             เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ นี้เรียกว่า นาม
             รูป เป็นไฉน
             มหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้เรียกว่า รูป
             นามและรูปดังกล่าวมานี้ นี้เรียกว่า นามรูปเกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย
             [๒๖๐] สฬายตนะเกิดเพราะนามรูปเป็นปัจจัย เป็นไฉน
             จักขายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ มนาย-
*ตนะ นี้เรียกว่า สฬายตนะเกิดเพราะนามรูปเป็นปัจจัย
             [๒๖๑] ผัสสะเกิดเพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย เป็นไฉน
             จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโน-
*สัมผัส นี้เรียกว่า ผัสสะเกิดเพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย
             [๒๖๒] เวทนาเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย เป็นไฉน
             จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา
ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา นี้เรียกว่า
เวทนาเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย
             [๒๖๓] ตัณหาเกิดเพราะเวทนาเป็นปัจจัย เป็นไฉน
             รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมม-
*ตัณหา นี้เรียกว่า ตัณหาเกิดเพราะเวทนาเป็นปัจจัย
             [๒๖๔] อุปาทานเกิดเพราะตัณหาเป็นปัจจัย เป็นไฉน
             กามุปาทาน ทิฏฐปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน นี้เรียกว่า
อุปาทานเกิดเพราะตัณหาเป็นปัจจัย
             [๒๖๕] ภพเกิดเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย เป็นไฉน
             ภพ ๒ คือ กรรมภพ ๑ อุปปัตติภพ ๑
             ในภพ ๒ นั้น กรรมภพ เป็นไฉน
             ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร นี้เรียกว่า กรรมภพ
กรรมที่เป็นเหตุให้ไปสู่ภพแม้ทั้งหมด ก็เรียกว่า กรรมภพ
             อุปปัตติภพ เป็นไฉน
             กามภพ รูปภพ อรูปภพ สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญา-
*นาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ นี้เรียกว่า อุปปัตติภพ
             กรรมภพและอุปปัตติภพดังกล่าวมานี้ นี้เรียกว่า ภพเกิดเพราะอุปาทาน
เป็นปัจจัย
             [๒๖๖] ชาติเกิดเพราะภพเป็นปัจจัย เป็นไฉน
             ความเกิด ความเกิดพร้อม ความหยั่งลง ความเกิดจำเพาะ ความปรากฏ
แห่งขันธ์ ความได้อายตนะ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันใด
นี้เรียกว่า ชาติเกิดเพราะภพเป็นปัจจัย
             [๒๖๗] ชรามรณะเกิดเพราะชาติเป็นปัจจัย เป็นไฉน
             ชรา ๑ มรณะ ๑
             ในชราและมรณะนั้น ชรา เป็นไฉน
             ความคร่ำคร่า ภาวะที่คร่ำคร่า ความที่ฟันหลุด ความที่ผมหงอก ความ-
*ที่หนังเหี่ยวย่น ความเสื่อมสิ้นอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ
ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันใด นี้เรียกว่า ชรา
             มรณะ เป็นไฉน
             ความเคลื่อน ภาวะที่เคลื่อน ความทำลาย ความหายไป มฤตยู ความ-
*ตาย ความทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ ความทิ้งซากศพไว้ ความขาดแห่ง
ชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันใด นี้เรียกว่า มรณะ
             ชราและมรณะดังกล่าวมานี้ นี้เรียกว่า ชรามรณะเกิดเพราะชาติเป็นปัจจัย
             [๒๖๘] โสกะ เป็นไฉน
             ความโศกเศร้า กิริยาโศกเศร้า สภาพโศกเศร้า ความแห้งผากภายใน
ความแห้งกรอบภายใน ความเกรียมใจ ความโทมนัส ลูกศรคือความโศกเศร้า
ของผู้ที่ถูกความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคทรัพย์ ความเสื่อมเกี่ยวด้วยโรค
ความเสื่อมศีล หรือความเสื่อมทิฏฐิ กระทบแล้ว ของผู้ประกอบด้วยความเสื่อม
อย่างใดอย่างหนึ่ง ของผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว นี้เรียกว่า
โสกะ
             [๒๖๙] ปริเทวะ เป็นไฉน
             ความร้องไห้ ความคร่ำครวญ กิริยาร้องไห้ กิริยาคร่ำครวญ สภาพร้อง-
*ไห้ สภาพคร่ำครวญ ความบ่นถึง ความพร่ำเพ้อ ความร่ำไห้ ความพิไรร่ำ
กิริยาพิไรร่ำ สภาพพิไรร่ำ ของผู้ที่ถูกความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคทรัพย์
ความเสื่อมเกี่ยวด้วยโรค ความเสื่อมศีล หรือความเสื่อมทิฏฐิ กระทบแล้ว ของ
ผู้ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง ของผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่าง-
*หนึ่งกระทบแล้ว นี้เรียกว่า ปริเทวะ
             [๒๗๐] ทุกข์ เป็นไฉน
             ความไม่สบายกาย ความทุกข์กาย ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สบาย เป็น
ทุกข์อันเกิดแต่กายสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่ไม่สบายเป็นทุกข์อันเกิดแต่กาย
สัมผัส อันใด นี้เรียกว่า ทุกข์
             [๒๗๑] โทมนัส เป็นไฉน
             ความไม่สบายใจ ความทุกข์ใจ ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สบายเป็นทุกข์
อันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่ไม่สบายเป็นทุกข์อันเกิดแต่เจโตสัมผัส
อันใด นี้เรียกว่า โทมนัส
             [๒๗๒] อุปายาส เป็นไฉน
             ความแค้น ความขุ่นแค้น สภาพแค้น สภาพขุ่นแค้น ของผู้ที่ถูกความ
เสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคทรัพย์ ความเสื่อมเกี่ยวด้วยโรค  ความเสื่อมศีล หรือ
ความเสื่อมทิฏฐิ กระทบแล้ว ของผู้ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ของผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว นี้เรียกว่า  อุปายาส
             [๒๗๓] คำว่า ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้  ย่อมมีด้วยประการ
อย่างนี้นั้น ได้แก่ความไปร่วม ความมาร่วม ความประชุม ความปรากฏ
แห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ด้วยเหตุนั้น  จึงเรียกว่า
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

สุตตันตภาชนีย์ จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๕  บรรทัดที่ ๓๗๓๒ - ๓๘๔๕.  หน้าที่  ๑๖๑ - ๑๖๕.
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=35&A=3732&Z=3845&pagebreak=0 (http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=35&A=3732&Z=3845&pagebreak=0)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 25, 2017, 09:38:51 AM
ขันธ์ ๕
รูป = ร่างกาย ธาตุ ๔ ธาตุ ๕
เวทนา = ความเสวยรสความรู้สึกของอารมณ์ที่ผัสสะ
สัญญา = ความจำได้หมายรู้อารมณ์ ความสำคัญมั่นหมายของใจ
สังขาร = ความปรุงแต่งอารมณ์
วิญญาณ = จิต คือ ความคิด ตัวรู้ทางทวาร ๖ จักขุวิญญาณ โสตะวิญญาณ ฆานะวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ

มนะ มโน คือ ใจ คือ ดวงจิตเรานี้ที่ท่องเที่ยวไป เป็นผู้รู้จากตัวรู้ คือ มโนวิญญาณ ที่มีธัมมารมณ์มาผัสสะ




ขันธ์ ๕
รูป = ร่างกาย ธาตุ ๔ ธาตุ ๕ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ
เวทนา = ความรู้สึกในอารมณ์
สัญญา = ความสำคัญมั่นหมายของใจ
สังขาร = ความปรุงแต่งจิต กล่าวคือ ตัวปรุงแต่งความคิดนั่นเอง
วิญญาณ = จิต คือ ความคิด ความรู้สึกทางทวาร ตัวรู้ทางทวาร.. ๖ จักขุวิญญาณ โสตะวิญญาณ ฆานะวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ

มนะ, มโน คือ ใจ คือ ดวงจิตเรานี้ที่ท่องเที่ยวไป เป็นผู้รู้จากตัวรู้ คือ มโนวิญญาณ ที่มีธัมมารมณ์มาผัสสะ



ขันธ์ ๕
รูป = กาย
เวทนา = ตัวรู้อารมณ์
สัญญา = ตัวต้นสมมติ
สังขาร = ตัวปรุงสมมติ
วิญญาณ = ตัวรู้สมมติ
มนะ, มโน คือ ใจ

วิตก คือ ตรึก นึก ถึงสิ่งที่จดจำสำคัญใจไว้(สัญญา) สิ่งที่ล่วงมาแล้ว สิ่งที่ยังมาไม่ถึง สิ่งที่ไม่มีอยู่จริงก็ด้วยอาศัยสัญญาปรุงแต่ง
วิจาร คือ ตรอง แนบอารมณ์ในสิ่งที่ตรึก เป็นตัวสร้างเรื่องราวที่ตรึกให้สืบต่อ
เช่น
๑. ตรึกถึงผู้หญิง
๒. สร้างเรื่องราวสมมติ รูปร่าง ใบหน้า ท่าทาง อาการ อิริยาบถของผู้หญิงที่ตรึก
๓. ตรึกถึงเรื่องราคะ
๔. สร้างเรื่องราวสมมติ ลักษณะอาการอวัยวะส่วนเล็กส่วนน้อย อนุพยัญชนะเหล่าใด
๕. ตรึกถึงการมีเสพย์เมถุน
๖. สร้างเรื่องราวสมมติ ว่าผู้หญิงคนนั้นกำลังเสพย์เมถุนกับใคร หรือกับตน สืบเนื่องต่อจนกระสัน เงี่ยน

ว่าโดยขันธ์ ๕ การทำงานโดยลำดับขันธ์อันเกิดสมมติ ตามที่เราพอจะอนุมานเอาได้ประกอบกับความจำเมื่อเกิดสันสติขาดดังนี้ คือ
เวทนา สัญญา สังขาร(เจตนา ผัสสะ มนสิการ โสมนัส โทมนัส ยินดี ยินร้าย วิตก วิจาร) คือ สมมติ ..เมื่อทั้งหมดนี้เกิดขึ้นปรุงครบพร้อมลงสงเคราะห์วิญญาณเข้าไปรู้สมมติ เรียกว่าจิต ตามวิถีจิตในพระอภิธรรมนั้นเอง จิตอันนี้ คือ วิญญาณ เป็นตัวรู้ทางทวาร เป็นธรรมชาติที่คิดอันเรียกว่าจิต คือ รู้สำเร็จเสร็จศัพท์สมมติบัญญัติทั้งปวง มนะ หรือ มโน คือดวงจิตที่ท่องเที่ยวไปเกิดปฏิสนธิจุติไปตามกรรมในสังขารกรรมก็รู้ตัวคิดนี้แหละ คือ รู้แต่สมมติความคิด ไม่รู้ของจริงเลย ดังนี้จึงกล่าวว่า จิต(วิญญาณขันธ์)รู้สิ่งใดสิ่งนั้นคือสมมติทั้งหมด

สมดั่งพระศาสดาตรัสไว้ดังนี้ว่า ธรรมชาติใดคิด ธรรมชาตินั้นชื่อว่าจิต


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กุมภาพันธ์ 28, 2017, 02:45:00 PM
ก. อิทธิบาท ๔
- ทำให้เป็นที่สบายกายและใจ เรียบง่ายๆเบาๆสบาย ไม่ตึงไม่หย่อน
- ทำปฏิบัติบูชาพระรัตนตรัย พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ยินดีที่ได้ทำพอใจที่ได้ทำ รู้เพียงว่าทำแล้วจิตเรามีกำลังแผ่เมตตาให้ท่านเหล่านั้นพร้อมสัตว์ทั้งปวง ขันธ์ ๕ ทั้งปวง จะหยาบหรือละเอียด, เล็กหรือใหญ่, สั้นหรือยาวก็ตาม จะสัตว์ 2 เท้า, 4 เท้า หรือมากเท้า สัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์บก สัตว์น้ำ ในอาการ ในดิน ในที่ทั้งปวง ทุกผู้ ทุกรูป ทุกนาม ทุกดวงจิต คือ มนะ, มโนทั้งปวง ได้สำเร็จประโยชน์สุข สวัสดี ไม่มี้เวรภัยเบียดเบียนทั้งภายในและภายนอกตน
- ยินดีในธรรม แต่ไม่ปารถนากระสันจะเอาผลในตอนนั้น ตอนนี้ เดี๋ยวนั้นเดี๋ยวนี้ ให้ทำเพียงสะสมเหตุ เจาทำสะสมเป็นเดือน เป็นปี เป็น 10 ปี เป็นชาติๆ อสงไขยไม่ใช่แค่เพิ่งทำแล้วได้ ทำความพอใจให้เป็นที่สบายกายใจที่ได้ทำสะสมเหตุ
- มีสติสัมปะชัญญะรู้ใจรู้กายเนืองๆ เราพร่องหย่อนจาดสิ่งใดให้เติมสิ่งนั้น สิ่งใดที่ดีแล้วให้คงไว้ สิ่งใดสุดโต่งหรือมากเกินให้ลดลง
- ทำความปล่อยวางกายใจ เพราะจิต(มโน)เรานี้ท่องเทียวในภพภูมิต่างๆมานานนับอสงไขย อาศัยสังขารกรรม ทรงขันธ์ ๕ไว้ เกิดเป็นคนบ้าง สัตว์บ้าง สัตว์นรกบ้าง เทวดาบ้าง มารบ้าง มหาเทพบ้าง วนเวียนท่องเที่ยวจรไปมากมายไปสิ้นสุด ถูกอวิชชาเข้าครอบงำสะสมทับถมกิเลสลงใจใจมานานนับอสงไขยให้ยึดว่าเป็นตัวตน จับต้องรับรู้ได้เพียงสมมติ ไม่ยอมรับความพรัดพากไม่เที่ยง สุขที่สมหวังทุกข์เพราะผิดหวังเจอสิ่งไม่สมปารถนา ทุกข์เพราะเจอสิ่งอันไม่เป็นที่จำเริญใจ เมื่อกายนี้ก้อตั้งอยู่ได้ไม่นานบังคับไม่ได้ หาความเป็นเราในอาการทั้ง 32 ประการไม่ได้ เราไม่มีในนั้น เราไม่ใช่สิ่งนั้น นั้นไม่ใช่เรา นั้นไม่ใช่ของเรา สิ่งนั้นไม่มีในเรา
- น้อมใจไปดูว่ากายที่เราเอาใจเข้ายึดครองอยู่นี้ คือ เมื่อมโนคือจิตที่ท่องเที่ยวไปซึ่งเกิดแต่วิบากกรรม(ผลกรรมที่ทำในกาลก่อน) มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตามอาศัย ต้องเป็นไปตามวิบากกรรม เข้าปฏิสนธิในสังขารกรรม สังขารธรรม วิญญาณขันธ์ของกุมารหรือกุมาริกาก็แล่นเข้ายึดธาตุ ๔ มโนก็ยึดเอาวิญญาณขันธ์คือจิตที่รู้แต่สมมติทางมโนทวารที่ส่งธัมมารมณ์อันเป็นสมมติมาให้มโนนั้นรู้อีกรอบ
เมื่อจิตเรานี้จรออกไปเป็นอนัตตาต่อกายนี้ คือ เราไม่มีตัวตนต่อกายนี้แล้ว หากจิตเราไม่มีในกายนี้แล้ว กายอันเป็นที่ประชุมธาตุประชุมโรคนี้ก็เหมือนดั่งกองซากเนื้อหนัง ซากศพ บิดหับงอทับถมไม่มีรูปไม่มีร่างเป็นกองอสุภะ เหมือนดั่งซากซพทั่วไปหรือในสนามรบ เป็นกองธาตุเท่านั้นที่เน่าเปื่อยผุพังย่อยสลายไปในที่สุด ดังนั้นไม่ควรยึดเอากายนี้เป็นตัวตน สักแต่เพียงอาศัยไว้บ่มบารมี 10 ทัศน์ของตนเท่านั้น
- ทำใจให้ผ่องใสดุจดวงประทีป น้อมไปภายในตนไม่ส่งจิตออกนอก เห็นใจในภายในผ่องใสดูจดวงประทีป แต่อาศัยสมมติกิเลสที่จรมาทำให้มัวหมอง จิตรู้สิ่งใดสิ่งนั้นล้วนลมมติทั้งหมด อย่ายึดสิ่งที่จิตรู้  ดังนี้ว่า..
1. ด้วยเห็นโทษ รู้ทุกข์ เกิดมีขึ้นเมื่อเราเสพย์ในสิ่งใด แล้วไม่เสพย์สิ่งใด
2. ด้วยเห็นคุณ จิตชื่นบานผ่องใสเย็นใจ เกิดมีขึ้นเมื่อเราเสพย์ในสิ่งใด แล้วไม่เสพย์สิ่งใด
3. ติดใจข้องแวะสิ่งไรๆในโลกไปย่อมหาประโยชน์สุขไรๆไม่ได้นอกจากทุกข์
4. ไม่ติดใจข้องแวะสิ่งไรๆในโลกด้วยความไม่เอนเอียงอคติเพราะรัก เพราะชัง เพราะกลัว เพราะไม่รู้เห็นตามจริง จึงไม่มีทุกข์ ไม่มีโทษ

ข. เมื่อทำสมาธิอบรมจิต
ประการที่ 1. ให้ทำจิตไว้ในภายในรู้ลมที่พัดเคลื่อนซ่านเข้ามาให้ใจรู้ รู้ลมที่พัดซ่านเคลื่อนออกไปให้ใจรู้เท่านั้น
ประการที่ 2. ปักหลักปักตอรู้ลมหายใจไม่เอนไหลไปที่อื่นในจุดที่ลมผ่าน เช่น ปลายจมูก หน้าอก ท้องน้อย
ประการที่ 3. ให้หายใจเข้ายาวๆ ออกยาวๆ ตั้งจับเอาที่จุดลมผ่านทั้ง 3 จุดตามข้อ 2
ประการที่ 4. ให้หายใจเบาๆช้าๆเข้าออกยาวๆช้าๆเนิบๆ ตั้งจับเอาที่จุดลมผ่านทั้ง 3 จุดตามข้อ 2
ประการที่ 5. ให้ตามร่ลมไปที่จุดพักลมต่างๆที่ลมผ่าน เช่น ปลายจมูก หว่างคิ้ว กลางกระหม่อม โพรงกะโหลกศีรษะ ท้ายทอย ลำคอ หน้าอก ท้องน้อยเหนือสะดือ พัดออกไล่ลมย้อนตามจุดนั้นๆ
ประการที่ 6. มองดูไปที่เบื้องหน้าในขณะที่หลับตานั้น มองดูความว่างที่มืดๆตอนหลับตานั้นแหละ สำเหนียกรู้ว่านั่นแหละสิ่งที่เห็นที่เป็นไปในปัจจุบันแล้วรู้ลมเข้าลมออกไป

ค. หากตามรู้ลมหายใจไม่ได้ให้ทำความสงบใจพอ
- หากยังไม่ได้ให้ทำแค่สงบนิ่งเหมือนตอนเด็กๆสงบนิ่งหน้าเสาธงพอ หรือ ทำความสงบนิ่งจากสิ่งทั้งปวงรับรู้แค่ความสงบคู่กายที่เสพย์ลมหายใจเข้าลมหายใจออก

ง.. การฝึกตามรู้ สักแต่ว่ารู้แยกกับนิมิตวิตก ด้วยมนสิการทำไว้ในใจ
1. เมื่อรู้สิ่งใดมันคิดสิ่งใดก็ปล่อยมันไปแต่เราทำไว้ในภายในให้รู้ว่าเราคิดสิ่งนี้ เกิดแบบนี้ ต้องการอย่างนี้ มีอารมณ์ความรู้สึกอยากให้เป็นแบบนี้ๆเท่านั้น
2. ห้ามไปขัดมัน  ละมันว่าไม่ได้ๆ แล้วโยกสลับกลับไปนั่นไปนี่ ทำแค่ให้รู้ตามมันไปไม่ว่ามันจะตรึกนึกคิดอะไรแค่ตามรู้มันไปพอ เช่น..
ประการที่ 1. หากเมื่อมันนึกคิดถึงผู้หญิงหน้าตารูปร่างแบบนั้นแบบนี้ ก็ให้ตามรู้สักแต่รู้ว่า..อ๋อ..ใจเราชอบคนรูปร่างหน้าตาแบบนี้ มีกริยาวาจาท่าทางแบบนี้ ทรวดทรงองค์เอวแบบนี้ๆ แล้วแนบจิตตามนิมิตความรู้สึกนึกคิดนั้นไปแบบนี้
ประการที่ 2. หากเมื่อมันนึกคิดลงราคะก็ให้ตามรู้ทำสักแต่ว่ารู็ว่า อ๋อ..นี้เรามีความต้องการเมถุนอยู่ มีความต้องการเสพย์เมถุนกับผู้หญิงที่มีรูปร่างหน้าตาทรวดทรงอย่างนี้ๆ อ๋อนี่แบบนี้เองใจเรามันชอบแบบนี้นี่เอง เลยยังพอไม่ได้อิ่มไม่เป็น

จ. อาการเมื่อเกิดความรู้สึกที่สำคํญใจในราคะ
- เมื่อเราสำคํญใจในสิ่งใดด้วยราคะ เมื่อได้เฆ็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รู้รส ได้สัมผัส ได้สัมผัสใจ อาการธรรมชาติของจิตมันจะแล่นลงที่ต่ำไปที่อวัยวะเพศของเราในทันที จิตจ้องจับอยู่ที่ตรงนั้นร่วมกับการรู็อารมณ์ทางสฬายตนะ
ประการที่ 1. เมื่อจะแก้ให้ทำสมาธิปักหลักรู้ลมในจุดที่สูง เช่น หน้าอก ปลายจมูก
ประการที่ 2. ทำไว้ในใจในภายในลงจิตหรือดื่มน้ำลงไปแก้วหนึ่งเย็นที่ไหนจับเอาที่นั้นเป็นฐานที่ตั้งแห่งสติตามหลวงปู่เยื้อนสอน ซึ่งจุดนี้ตัวเราได้ทำตามมาสักพักแล้วมีความรู้สึกโดยส่วนตัวว่าจุดตรงนั้นแหละที่ดวงจิตเราอาศัยอยู่ ที่ใกล้มนะ มโนมากที่สุดให้ทำนิมิตไว้ในภายในตรงจุดนั้นอุปมาดั่งแก้วมณีอันสว่างไสวควรยินดี แล้วตั้งปักหลักทำจิตโดยความสงบนิ่งหรือรู้ลมพัดซ่านไปในจุดพอ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มีนาคม 11, 2017, 07:51:08 PM
อบรมณ์ปัญญา ๑

..หลวงปู่บุญกู้ ท่านมักจะบอกสอนเราเสมอๆว่า ใช้ปัญญาสิๆ ท่อนจะสอนให้เราใช้ปัญญาเสมอๆ ก่อนนั้นเราก้ไม่ค่อยจะเข้าใจในสิ่งใดมากนัก เพราะเราโง่นั่นเอง เข้าใจแต่ว่า ทำสมาธิจึงจะฉลาดมีปัญญา
..เพราะสิ่งที่เราขาดคือปัญญา ความทำให้แจ้ง รู้แจ้งคู่สติให้มีไหวพริบ เฉลียว และ ฉลาด ในการดำรงชีพ ซึ่งเราไม่มีสิ่งนี้เลยเพราะเราเป็นผู้โง่อยู่ไม่มีปัญญา ขาดปัญญาในตอนนี้มากโขจนไม่มีในใจในสมองเลย เรามัวเอาแต่นำปัญญาความรู้ความสามารถที่มีไปใช้ไม่ถูกที่ไม่ถูกทางไม่ถูกกาล เมื่อเราทำการสะสมเหตุอิทธิบาท ๔ อย่างนี้อยู่เสมอมา พร้อมกับได้รับรู้จากคนรอบๆข้างมากขึ้น จึงทำให้เรารู้มากขึ้นว่า ตอนนี้ตนขาดปัญญาอย่างยิ่ง ดังนี้ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2560 เป็นต้นมา เราจักอบรมกระทำปัญญาให้แจ้งชัดดังนี้..

แรกเริ่มให้ฝึกสติให้มีกำลังคู่สมาธิ ให้เจริญ ๔๐ กรรมฐาน
เพราะหากสติมีกำลังตั้งมั่นจดจ่อในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้นาน จิตก็จะเป็นสมาธิมีความตั้งมั่นจดจ่อแนบแน่นเป็นอารมณ์เดียวตาม

- ปฏิบัติในกรรมฐาน ๔๐ ให้ตนมีจิตผ่องใส มีใจเอื้อเฟื้อ เว้นจากความเบียดเบียน
- มีสติเป็นเบื้องหน้าทำไว้ในภายใน เราจักทำใจให้ถึงพุทโธ ถึงความเป็นผู้รู้ปัจจุบัน รู้ของจริงต่างหากจากสมมติ ตื่นจากสมมติไม่หลงสมมติอยู่อีก เบิกบานพ้นแล้วจากสมมติกิเลสของปลอมทั้งปวง
ความรู้ปัจจุบันต่างหากจากสมมติ คือการรู้ว่าปัจจุบันกำลังหายใจเข้า หายใจออก รู้วาโยธาตุอันเป็นธาตุที่มีประชุมอยู่ในกายนี้ บริกรรมพุทโธเป็นชื่อพระพุทธเจ้า เป็นคุณของพระพุทธเจ้าการกำชับจิตให้รู้ว่าเรากำลังทำจิตให้เป็นพุทโธ ถึงพุทโธ คือ รู้ปัจจุบันรู้ของจริงต่างหากสมมติ
- มีสติเป็นเบื้องหน้าทำไว้ในภายใน หน่วงนึกถึงความ ว่าง ความไม่มี ความสงบ สบาย เย็นใจ สงบนิ่งไปเรื่อย

รูปฌาณ เพียร ตามรู้ดูธรรมนั้นไป หากนิมิตกับสภาวะที่จิตมนสิการนิมิตนั้นแยกจากความตรึกสำเหนียกรู้ได้ ให้ทำสติไว้ตามดูให้ตลอด อย่าไปขัดไปขืน ให้จิตมันเป็นไปของมันจนอิ่มเต็ม ภาวะนี้หากไม่หลุดจะยังปัญญาเกิดขึ้นแต่จมปลีักอยู่เฉพาะสมาธิในขั้นนั้นๆ เว้นเสียอแต่จิตดูอิ่มแล้วมีกำลังทำความสำเหนียกจับนิมิตที่เบื้องหน้ามีอาการหายใจเข้าจิตยกขึ้นจากอุปจาระสมาธิเข้าสู่ฌาณ หรือ จากปฐมฌาณเข้าสู่ระดับฌาณที่สูงขึ้น
หากมีอาการที่นิมิตกับสภาวะที่จิตมนสิการนิมิตนั้นแยกจากความสำเหนียกรู้แต่ตรึกไม่ได้ ไม่มีสัญญา แต่รู้อาการเหตุการณ์ความเป็นไปทั้งหมดอยู่ทุกๆขณะ จิตดิ่งมีสภาวะเหมือนวูบแช่นอนนิ่งไม่กระเพื่อมต่อนิมิตนั้น ก็ปล่อยให้มันเป็นไป อย่าไปขัดไปขืน ให้จิตมันเป็นไปของมันจนอิ่มเต็ม สภาวะนี้จิตอิ่มเคลื่อนฌาณ
อรูปฌาณ เพียรตามรู้ดูธรรมนั้นไป
มนสิการอากาสานัญญายตนะ กายเป็นของว่าง ไม่เป็นสิ่งที่น่าใครยึดปารถนา ความพ้นจากกายนี้เป็นสุข ไม่ต้องมาเจ็บ มาทุกข์ มาร้อน มาป่วย มาทรมานกับกายนี้อีก มีใจตั้งอยู่โดยไม่เนื่อด้วยกาย ปฏิฆะต่อกาย มีใจหน่วงนึกถึงความเข้าไปในอากาศที่ว่างเบื้องบนอันกว้างใหญ่ไพศาลไม่สิ้นสุด อาศัยลม กายลมนี้ดันขึ้นไปสู่ความว่างอันพ้นจากกายนี้
มนสิการวิญญานัญญาจตนะ แม้ล่วงพ้นกายไปทุกข์ก็ยังหยั่งลงได้อยู่ ด้วยความสุขอยู่ที่จิต สุขก็สุขอยู่ที่ ความคงไว้ซึ่งจิตที่ผ่องใสสว่างไสวย่อมไม่มีทุกข์ เอาจิตจับที่จิต
มนสิการอากิญจายตนะ ความไม่มีทุกข์คือไม่ติดใจข้องแวะสิ่งไรๆทั้งปวง ไม่มีเจตนา ไม่มนสิการ ไม่ยึดเอาสิ่งไรๆทั้งสิ้นทั้งปวง ความว่าง ความไม่มี ความสละคืน ทุกอย่างล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัยของกรรม ดังว่ามนะย่อมจรท่องเที่ยวไป เกิด ดับ ตรงนี้ เกิดดับที่โน้น มีอาการปรุงแต่งให้เป้นไปล้วนแล้วแต่ด้วยวิบากกรรมที่ทำมาให้เป็นไป(กรรมเก่าแสดงผลให้เกิดขึ้นเป็นไปต่างๆนาๆ เพราะด้วยกรรมสมเด้จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงตรัสสอนให้ทำใน ทาน ศีล ภาวนา เพราะเป็นเจตนาในกุศล) เมื่อไม่ติดใจข้องแวะต่อกันความเบียดเบียนย่อมไม่บังเกิดมี ทุกข์ย่อมไม่มี เจตนากรรม ละเจตนาในธรรมารมณ์ทั้งปวงย่อมไม่มีทุกข์
เนวสัญญานาสัญญายตนะ ยังไม่ถึง
................

ฝึกสัมปะชัญญะ
ทำความรู้ตัวรู้กิจการงานที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันให้มาก ไม่ติดหลงไปตามสมมติความคิด หากเมื่อต้องใช้ความคิดก็รู้ว่าความคิดนั้นเป็นประโยชน์ใช้กับกิจการงานไรๆในปัจจุบัน เรากำลังคิดเรื่องอะไร แบบไหน ยังไงอยู่ในปัจจุบัน มีท่าทีและสภาวะเหตุการณ์สภาพแวดล้อมไรๆอยู่ปัจจุบัน การกำกับรู้ตัวว่า "หนอ" คือสัมปะชัญญะที่ก้าวไปสู่จิตที่ตั้งมั่นรู้ปัจจุบันด้วยปัญญา เช่น ยืนหนอ นั่งหนอ เดินหนอ นอนหนอ ยกหนอ ทำงานหนอ คิดหนอ รักหนอ โลภหนอ เงี่ยนหนอ โกรธหนอ แค้นหนอ ชังหนอ ขี้หนอ เยี่ยวหนอ กินหนอ หลงลืมหนอ การอบรมภาวนาจิตให้รู้ตัวในปัจจุบันกำกับรู้ด้วยคำว่า "หนอ" ขึ้นชื่อว่าเป็นการทำสัมปะชัญญะให้จิตตั้งมั่นลงตัวรู้เป็นปัญญารู้ปัจจุบันไม่หลงอยู่ในสมมติความคิดนั่นเอง ทำให้จิตตั้งมั่นง่าย เอื้อต่อสติ

ฝึกกำลังสติสัมปะชัญญและสมาธิตามกาลแบบง่ายๆ
    ...คิดก็รู้ว่าคิด คิดสิ่งใดอยู่ รัก โลภ โกรธ หลง กุศล อกุศล แต่ไม่ใช่ไปห้ามความคิด มันห้ามไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติของจิตคือวิญญาณขันธ์ที่มีธรรมชาติที่คิด ไม่ต้องไปปรุงสมมติเพิ่ม ไม่ต้องไปสืบต่อ ทำใจตั้งมั่นไว้แค่สักแต่ว่ารู้เท่านั้นพอ
    ...ดังนั้นเมื่อรู้ว่า..คิด กำลังคิด ก็ให้ทำความรู้โดยสักแต่ว่ารู้ความรู้สึกนึกคิดของอารมณ์นั้นว่าเป็นรัก โลภ โกรธ หลง เงี่ยน กระสันอยาก ชัง แค้น ผูกใจเจ็บแค้น(เวร) ผูกใจหมายทำลายให้เขาฉิบหายวอดวาย(พยาบาท) หลงลืม ไม่รู้ตัว รุ้ว่ากำลังตรึกนึกคิดเรื่องราวนั้นๆแบบนั้นด้วยอารมณ์ที่ชอบ ใคร่ ชัง เกลียด ยินดี ยินร้ายในสิ่งแบบนั้นอย่างนั้นๆอยู่ มีความสำเหนียกในใจรู้ว่า ความคิดนี้เป็นคุณหรือเป็นโทษ เมื่อเป็นโทษ ก็รู้ว่าความรู้สึกนึกคิดนี้ๆเป็นโทษ ไม่ควรเสพย์ เช่น..
     - เมื่อเกิดความคิดอยากได้ของผู้อื่น เงี่ยนกระสันอยากเสพย์เมถุน ผูกเวรพยาบาทผู้อื่น หรือกำลังหลงเคลิ้มไปตามควมคิดเหล่านี้ทำมีสติเป็นเบื้องหน้า ทำใจไว้ในภายในสำเหนียกรู้ ระลึกกำกับรู้ว่า..
"ความคิดนี้เป็นทุกข์ ไม่ควรเสพย์ สักแต่ว่ารู้ แล้วเฉยตค่อความคิดนั้นๆ แล้วก็ปล่อยวาง"
     - เมื่อเกิดสติมีขึ้น ณ ที่ใด ต่อสิ่งใด ความรู้สึกนึกคิดใด มีอาการที่รู้ตัวรู้ใจทันก่อนจะทำสิ่งใด มีความยับยั้งช่างใจ ไม่เผลหลงไหลตามความคิดสมมติกิเลสเหล่านั้น ความรู้สึกนึกคิดนี้ความเสพย์ให้มาก แล้วตั้งมั่นวางใจไว้พิจารณาดูสาภแวดล้อม ความคิดนี้มีคุณประโยชน์สุขเอื้อเฟื้อเกื้อกูลเว้นจากความเบียดเบียน ความคิดนี้ควรเสพย์



ฝึกปัญญาโดยการเปิดทัศนคติและอารมณ์ความรู้สึก

- เปิดโล่งกว้าง รับเอาความรู้เรียนรู้ทุกอย่าง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในสิ่งใหม่ๆ มองในหลายมุมมองที่จะเป็นไปได้ หรือพิจารณาประยุคใช้ในสิ่งที่มีกับความรู้ความเข้าใจที่ตนทีให้เข้ากันได้และได้ผลออกมาในทางที่แปลกใหม่ดีขึ้น กำจัดขยะในสมอง น้อมรับทุกๆสิ่ง ทำจิตให้ผ่องใส มีใจเอื้อเฟื้อ เว้นจากความเบียดเบียน
ทำให้แจ้งชัดวิชาความรู้ทั้งหมดทั้งปวงในทั้งทางโลกและทางธรรม
- เปิดน้อมรับเอาความรู้ใหม่ๆ แนวทางใหม่ๆ วิชาความรู้ต่างๆและวิชาความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอๆ มิขาด เรียกว่าเป็นการรู้โลก แจ้งในทางโลก ทุกวันมันวิวัฒนาการไปเรื่อยเราก็ต้องเปิดกว้างเรียนรู้ทุกอย่างให้มาก ยิ่งรู้มากก็ยิ่งแจ้งชัดมาก รู้ทางโลกก็แจ้งชัดทางโลก รู้ธรรมก็แจ้งชัดทางธรรม
- รับรู้คบมิตร วางตัวให้เป็น
เช่น การรู้จักคน เพื่อนเรียน เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน คนรอบข้าง โดยเราจะเข้าถึงคนได้ ต้องรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา อล้วจะทำอย่างไรให้เอาใจเขามาใส่ใส่ใจเราได้-ก็ต้องเป็นพวกเดียวกับเขาก่อน แล้วจะทำอย่างไรจึงเป็นพวกเดียวกับเขาได้-เราก็ต้องทำความเข้าใจในบุคคลนั้นๆ โดยสัมผัสดูอาการท่าทีเขา ทำความรู้จักใจเขา เปิดใจรับเขา เรียนรู้ยอมรับฟัง ประสานงาน ร่วมงาน ทำความคุ้นเคย เหมือนดั่งเราสนิทชิดชอบกับใครก็ย่อมรู้ได้ว่าเขารัก ชัง เกลียด ชอบ สิ่งใด เป็นคนแบบไหน ยังไง เป็นต้น
- ทำความแจ้งชัดในคุณ และโทษ ของอารมร์ความรู้สึก ธรรมมารมณ์ทั้งปวงที่เกิดมีขึ้นแก่ตนอยู่เสมอๆ แล้วแยกแยะให้แจ้งชัดว่าสิ่งไหนควรเสพย์ ไม่ควรเสพย์
- ทมะ คือ ข่มใจ ไม่ตามอารมณ์ความรู้สึก
ขันติ คือ รู้จักละ วาง อดทนรอกาลอันควร เรียกว่าฉลาดในกาลที่จะพูดจะทำ
โสรัจจะ คือ ประพฤติดีงาม ทำความเย็นใจเว้นจากความเบียดเบียนทั้งตนเองให้เร่าร้อนและหยั่งผุ้อื่นให้ฉิบหาย โดยเลือกธรรมมารมณ์ที่ควรเสพย์ รัก โลถ โกรธ หลง มันเบียดเบียนกายใจตนเองอยู่พึงละความติดใจข้องแวะนั้นๆกับมันไปเสีย ข้องใจอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้จากการรู้สัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มีแต่ทุกข์, สลัดทิ้ง สละคืน ทำไว้ในใจตั้งมั่นไว้ในใจ หรือหทัยวัตถุว่าจักไม่เอนเอียงเอนไหวเคลื้อมตามอารมร์ความรู้สึกนี้ๆ มันเป็นโทษ

อบรมปัญญทั้งทางโลกและทางธรรมโดยใช้โดยพละ ๕, อินทรีย์ ๕

มีสติ ปัญญาให้มาก
- สติ คือ เป็นประธานควบคุมทุกสิ่ง ทั้ง ศรัทธา วิริยะ สมาธิ ปัญญา
- ปัญญา คือ ความความรู้ความสามารถที่มี ความเข้าถึงชัดแจ้งโลกและธรรรม ความรู้จริง เห็นชัดตามจริง
- การมีสติปัญญากำกับคู่กัน คือ มีไหวพริบ มีหัวพลิกแพลงประยุคใช้ มีความคิดสร้างสรรค์ผลงาน ประครองชีวิตได้ดีทั้งทางโลกและทางธรรม มีความเป็นเหตุและผลที่ดี สามารถนำความรู้คึวามสามารถที่มีทั้งหมดมาประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ดีงาม ด้วยเหตุดังนี้ พระตถาคตเจ้า พระบรมศาสดานั้นจึงสอนสาวกให้มีสติปัญญาเสมอๆ โดยพระบรมศาสดาจะทรงสอนให้เราหัดรู้ทันกายใจตน ว่ากำลังเป็นไปในทิศทางไหนอย่างไร โดยทำสักแต่ว่ารู้ และไม่ร่วมเสพย์ทำตัวรู้ให้แยกจากความรู้สึกนึกคิด ทำปัญญาโดยความเลือกเฟ้นพิจารณาสิ่งที่รัรู้หรือสิ่งที่เกิดขึ้นโดยทำความเข้าใจต่อสิ่งนั้นๆให้มาก ฉลาดในการปล่อยวางและฉลาดพลิกแพลง
** หากมีปัญญาโดยขาดสติกำกับรู้ความยั้งคิด ยับยั้งชั่งใจไว้อยู่ คือ มีความรู้ความสามารถแต่ใช้ไม่เป็น ใช้ไม่ถูกกาล ไม่รู้จักวิธิใช้หรือนำมาใช้งานให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี
** ความไม่มีสติสัมปะชัญญะ คือ การระลึกไม่ได้ ไม่รู้เท่าทันกายใจ มีกิริยาที่ทำให้ยั้งคิดไม่ได้ แยกแยะสิ่งที่ควรไม่ควรทำไม่ได้ ยับยั้งชั่งใจทำใจให้ปล่อยวางไม่ได้ ไม่รู้ทันอารมณ์ความรู้สึกของกายใจในปัจจุบัน
** เมื่อขาดสติปัญญาก็ไม่เกิดผลย่อมเป็นการใช้อารมณ์ความรู้สึกสุ่มปัญญาไปในทางที่ผิด ดังนั้นคงที่เก่งฉลาดเป็นบัณฑิตเป็นศิษย์สาวกของพระอรหันตสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาต้องใช้ปัญญาได้ทั้งทางโลกและทางธรรมโดยมี สติ สัมปะชัญญ ศรัทธา วิริยะ สมาธิกำกับอยู่เสมอ

- คนที่ยังอาศัยทางโลกแต่มุ่งมั่นไปแบบลืมหูลืมตาไม่มีสติสัมปะชัญญะกำกับอยู่ ไม่อาศัยปัญญาเข้าใจโลก รู้แจ้งโลก เข้าถึงความเป็นโลก เขาเรียกฟุ้งซ่าน เคร่งเเครียดกับงานจนเกินเหตุทางโลกเขาก็ว่าบ้า  หมกมุ่น ออทิสติก แม้เก่งในงานแต่ก็ร่วมงานกับใครเขาไม่ได้ ไม่เป็นที่รักของคนรอบข้าง
    ...การทำหน้าที่ทางโลก เราต้องเข้าใจโลกและสภาพแวดล้อมรอบตัว คนรอบข้าง การจะทำสิ่งใดก็แล้วแต่ต้องมีสติสัมปะชัญญกำกับรู้ให้ระลึกเท่าทันได้ เปิดรับความรู้ให้มาก การที่บอกว่าตนไม่รู้ ตนโง่ แล้วขอความรู้ความช่วยเหลือจากผู้อื่นไม่ใช่เรื่องผิด เขาเรียกใจเปิดกว้างละมานะทิฐิในตนได้ ไม่ติดใจคำติฉินนินทา ความคิดใดเกิดขึ้นในอกุศลรู้ทันว่าความคิดนี้เป็นทุกข์ไม่ควรเสพย์ แค่รู้สักแต่แต่ไม่เสพย์ ข่มใจได้ ยอมได้แม้ผู้ที่อ่อนกว่าเป็นสมบัติของมหาบุรุษ เป็นมิตรได้กับคนทั้งโลก ไม่เอาความข้างนี้ไปบอกข้างโน้น ไม่ยุให้เขาแตกกัน ยินดีให้คนสามัคคีกัน แบ่งปันช่วยเหลือกีัน มีปัญญาฉลสาดรู้กาลที่จะพูดกล่าวสิ่งใด คือ ไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึกพูด เป็นผู้ที่ยอมรับฟังผู้อื่นแล้วก็ดูความเป็นเขาความต้องการของเขาแล้วพิจารณาการที่จะตอบคำพูดและความต้องการของเขาออกไปโดยไม่เอาอารมณ์ของตนเป็นใหญ่ กล่าวในช่วงที่เขาพูดจบช่วง เว้นช่วง ที่เขาพยายามจะสื่อ หรือช่วงเวลาที่เขาใ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 10, 2017, 05:26:14 PM
ดู/ฟัง/อ่าน -> เพื่อรู้แนวทาง หรือสถานการณ์

คิดวิเคราะห์ตาม -> เพื่อทำความเข้าใจ

ถามเมื่อไม่รู้ -> เพื่อความกระจ่างแจ้งชัด เพื่อความเข้าใจถึงสภาวะหรือสถานการณ์ที่เขาเป็นหรือเผชิญอยู่ ไม่งมหลงอนุมานโดยความไม่รู้ตามจริงอยู่

จด -> เพื่อจำ, เขียนบันทึก -> เพื่อทบทวนเมื่อลืม


ดู/ฟัง/อ่าน -> แล้วจำ คือสัญญา
ดู/ฟัง/อ่าน -> ไม่วิเคราะห์พิจารณาตาม คือ โง่ ไม่มีแก่นสาร
ดู/ฟัง/อ่าน -> ไม่รู้ ไม่เข้าใจก็เฉยไม่ถามให้เข้าใจแจ้งชัด คือ เขลา อคติลำเอียง
ดู/ฟัง/อ่าน -> ไม่จดจำ ทำความเข้าใจแล้วบันทึกไว้ คือ ผู้มักลืม ไม่มีแก่นสาร

**โง่ คือ ไม่ฉลาดคิดวิเคราะห์ไม่เป็น ทำได้แค่จำ ไม่มีทัศนคติ
**เขลา คือ ไม่มีไหวพริบ พลิกแพลงประยุกต์ใช้ไม่ได้ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีทัศนคติ



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 17, 2017, 11:59:48 AM
1
2
วิธีการ คิดหาหัวข้อดีๆ มาใช้ในการสนทนา
การได้รู้จักคนอื นๆ เป็นกิจกรรมปกติในชีวิตประจำวันของเรา ถึงแม้ว่าคุณจะเป็นคนเข้าสังคมเก่ง แต่ก็ยังมีบางคราวเหมือนกันที คุณอับจนคำพูดและเริ มนึกไม่ออกว่าจะหา
หัวเรื องอะไรมาใช้สนทนาดี โดยการเตรียมตัวจัดทำรายชื อหัวข้อสนทนาเอาไว้ในใจ คุณก็จะไม่มีวันต้องนึกหวั นว่าจะหมดเรื องคุยอีก ทั งหมดที ต้องทำก็แค่ดึงออกมาสัก
หัวข้อหนึ งแล้วปล่อยให้มันไหลลื นไปในการสนทนา
ส่วน 1 ของ 3: เรียนรู้เกี ยวกับการเริ มต้นสนทนาขั นพื นฐาน
คุยเรื องคนอื น. ความลับที ยิ งใหญ่ที สุดของการเป็นนักสนทนาที ดีคือการแค่ปล่อยให้คนอื นเป็นฝ่ายพูดคุยเรื องของพวกเขาเอง [1] เพราะอะไรนะรึ มันเป็น
ประเด็นหัวข้อที พวกเขาคุ้นเคยและอาจจะรู้สึกสะดวกใจที จะคุยด้วยไง ให้ลองเคล็ดลับเหล่านี :
สอบถามความคิดเห็น คุณสามารถเชื อมมันกับสิ งที เป็นไปในห้องขณะนั น สถานการณ์ปัจจุบัน หรืออะไรก็ตามที คุณอาจอยากสนทนาด้วย
เจาะลงไปในประเด็น "เรื องราวในชีวิต" ถามว่าคู่สนทนานั นมีพื นเพมาจากที ไหน เติบโตมายังไง และต่อมาเรื อยๆ
มีประเด็นเปิดการสนทนาที ต่างกันสำหรับคนที คุณมีความสนิทสนมต่างกัน. คำถามที คุณจะยกมาถามใครสักคนขึ นอยู่กับว่าคุณสนิทกับพวกเขาดีแค่ไหน นี เป็น
ตัวอย่างบทเปิดการสนทนาสำหรับบุคคลสองประเภทที คุณต้องสนทนาด้วย:
1 เรียนรู้เกี ยวกับการเริ มต้นสนทนาขั นพื นฐาน 2 ยืดบทสนทนา 3 ขยายขอบเขตออกไป เคล็ดลับ
Page 1 / 10
3
4
ผู้คนที คุณรู้จักดี: ถามเขาว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีอะไรน่าสนใจเกิดขึ นในช่วงสัปดาห์ที ผ่านมาหรือเปล่า โปรเจ็คต์งานหรือการเรียนของเขาไปได้ด้วยดีไหม ลูกเป็น
ไงบ้าง และเขาเพิ งได้ดูหนังหรือรายการทีวีดีๆ อะไรบ้างไหม
ผู้คนที คุณรู้จักแต่ไม่ได้เจอกันมาสักพักแล้ว: ถามเขาว่าเกิดอะไรขึ นบ้างนับแต่ครั งล่าสุดที ได้เจอกัน ดูว่าเขายังทำงานที เดิมหรือยังอาศัยอยู่ที เดิมหรือเปล่า ถามถึง
เรื องลูกและว่าเขามีเพิ มไหม (ถ้ามันเกี ยวโยงกัน) บางทีอาจถามว่าเขามีนัดเดทกับใครอยู่หรือเปล่า
เตือนตัวเองไว้ว่าต้องหลีกเลี ยงอะไรบ้าง. คุณย่อมรู้กฎเดิมๆ ดีอยู่แล้ว: อย่าพูดคุยเรื องศาสนา การเมือง เงิน ความสัมพันธ์ ปัญหาภายในครอบครัว ปัญหาสุขภาพ
หรือเรื องเพศสัมพันธ์กับคนที ไม่ได้สนิทอะไรกันนัก ความเสี ยงของการที จะไปพูดขัดเขานั นมีสูงเกินไป ฉะนั นเลี ยงไว้ก่อนจะดีกว่า พวกเหล่านี มักเป็นประเด็น
ที กระทบจิตใจด้วยเช่นกัน[2].
ค้นหาเรื องความสนใจและงานอดิเรก. คนเรานั นมีความซับซ้อน มีความสนใจ มีงานอดิเรกและความชอบความชังแตกต่างกันไป มีคำถามแตกต่างกันหลายรูป
แบบที คุณสามารถเอ่ยถามถึงความสนใจและงานอดิเรก ซึ งส่วนใหญ่แล้วจะนำไปสู่บทสนทนาต่อเนื องได้ด้วยตัวมันเอง คำถามที ควรถามก็เช่น:
คุณเล่นหรือติดตามกีฬาไหนเป็นพิเศษหรือเปล่า?
ชอบออนไลน์ไหม?
ชอบอ่านอะไรบ้าง?
เวลาว่างชอบทำอะไรล่ะ?
ชอบเพลงแนวไหน?
ชอบดูหนังแนวไหน?
ติดรายการทีวีเรื องอะไร?
ชอบเล่มเกมกระดานบ้างไหมแล้วเกมอะไร?
ชอบสัตว์หรือเปล่า? ชอบสัตว์อะไรมากที สุด?
Page 2 / 10
5
6
ยกเรื องครอบครัวมาคุย. หัวข้อที แน่นอนที สุดคือเรื องพี น้องและข้อมูลแบ็คกราวนด์ทั วๆ ไป (อย่างเช่นโตมาจากที ไหน) ให้แน่ใจว่าคุณได้โต้ตอบด้วยความกระ
ตือรือล้นเพื อกระตุ้นให้เขาเล่าเพิ มเติม[3] พ่อแม่อาจเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับคนที โตขึ นมาแบบมีปัญหาด้านการเลี ยงดู มีพ่อแม่ชอบทำร้ายร่างกาย หรือพ่อแม่
เพิ งจากไป หัวข้อเรื องลูกก็อาจเป็นเรื องไม่สะดวกใจคุยสำหรับคู่ที มีปัญหาเรื องการเป็นหมันหรือยังไม่ลงรอยเรื องความพร้อมจะมีบุตร หรือคนที อยากมีลูกแต่ยังไม่เจอ
คนที ถูกใจ คำถามบางคำถามที คุณอาจเอ่ยถามได้ก็เช่น:
คุณมีพี น้องบ้างไหม? มีกี คน?
(ถ้าเขาเป็นลูกโทน) การเป็นลูกคนเดียวนี มันรู้สึกยังไงบ้าง?
(ถ้าเขามีพี น้อง) พี น้องชื ออะไรกันมั ง?
พวกเขาอายุเท่าไหร่แล้ว?
พวกเขาทำงานอะไร? (ปรับคำถามตามอายุ พวกเขาเรียนโรงเรียน /มหาวิทยาลัยไหนหรือทำงานกันหรือยัง)
พวกคุณหน้าตาคล้ายกันไหม?
บุคลิกเหมือนกันหรือเปล่า?
คุณโตมาจากที ไหน?
ถามเรื องการท่องเที ยวหรือการผจญภัยที ผ่านมา. ถามคู่สนทนาว่าเขาเคยไปที ไหนมาบ้าง ถึงแม้เขาจะไม่เคยไปไหนเลย เขาก็น่าจะมีความสุขที ได้คุยเรื องที ที อยาก
จะไป โดยเฉพาะอย่างยิ งคุณควรจะถามว่า:
ถ้าคุณมีโอกาสได้ไปอยู่ประเทศอื น อยากไปอยู่ที ไหนและเพราะอะไร?
จากทุกเมืองที เคยไปเที ยวมา คุณชอบเมืองไหนที สุด?
พักร้อนคราวที แล้วไปไหนมา? เป็นไงบ้าง?
พักร้อนที ดีที สุด/แย่ที สุดที เคยไปมาคือที ไหน?
Page 3 / 10
7
8
ชวนพูดคุยเรื องอาหารและเครื องดื ม. อาหารอาจเป็นหัวข้อสนทนาที ดีกว่าเล็กน้อยเพราะมันมีโอกาสที คุณจะไปเจอะคนที มีปัญหาเรื องการติดสุราหรือคนที ไม่
ชอบดื ม ให้ระมัดระวังด้วยว่าบทสนทนานี จะไม่เกิดกับคนที กำลังควบคุมอาหารหรือวิธีการที พวกเขาพยายามลดนำ หนัก มันอาจนำไปสู่ทิศทางที เป็นลบได้ คุณ
ควรถามแบบนี แทน:
ถ้าเกิดต้องกินอาหารได้อย่างเดียวไปตลอดชีวิต อาหารจานนั นจะเป็นอะไร?
เวลาไปทานข้าวนอกบ้าน ชอบไปร้านไหน?
ชอบทำอาหารเองไหม?
ลูกกวาดที ชอบที สุดคือ?
ร้านอาหารที ห่วยที สุดเท่าที เคยกินมาคือที ไหน?
ถามถึงเรื องงาน. ตรงนี อาจยุ่งยากเล็กน้อยตรงที มันอาจลงเอยฟังดูเหมือนการสัมภาษณ์งานได้ กระนั น ถ้าคุณดำเนินการสนทนาด้วยความระมัดระวังและทำให้
มันกระชับกับอ่อนหวาน มันจะนำไปสู่การสนทนาที น่าสนใจได้ และอย่าลืมว่าคู่สนทนาอาจกำลังเรียนอยู่ เกษียณแล้ว หรือ "อยู่ในช่วงเปลี ยนงาน" คำแนะนำ
สำหรับผู้เริ มต้นก็เช่น:
คุณทำงานอะไร? ทำงาน (หรือเรียน) ที ไหน?
งานแรกที ทำคืออะไร?
เท่าที ผ่านมาใครเป็นหัวหน้างานที คุณชอบที สุด?
ตอนเป็นเด็กเคยคิดอยากทำงานอะไรเวลาที เป็นผู้ใหญ่?
ชอบตรงไหนมากที สุดในงานที ทำอยู่?
ถ้าเงินไม่ได้เป็นประเด็น คุณยังจะทำงานเดิมอยู่ไหม งานในฝันคืองานอะไร?
Page 4 / 10
9
10
หาว่าเหตุใดคุณสองคนถึงมาอยู่ในที เดียวกัน. หากคุณไม่เคยพบหน้าเขามาก่อน มันมีสิ งที ลึกลับมากมายให้ค้นหาว่าเหตุใดคุณสองคนจึงมาอยู่ในที เดียวกัน ถาม
คำถามอย่าง:
แล้วงั น คุณรู้จักเจ้าภาพได้ยังไง?
คุณมามีส่วนร่วมกับงานนี ทางไหน? (หรือ ถ้าเกี ยวข้องกัน) เพราะบริจาคเงิน? ในงานไตรกีฬา?
คุณหาเวลามามีส่วนร่วมกับงานทำนองนี ได้ยังไง?
เอ่ยคำชมอย่างจริงใจ. พยายามทำให้มันเป็นคำชมในสิ งที เขาได้ทำมากกว่าที จะเป็นสิ งที เขาเป็นอยู่ ซึ งจะทำให้คุณสามารถต่อบทสนทนาออกไปโดยการถาม
เขาถึงความสามารถนั นๆ ถ้าคุณชมคู่สนทนาว่าเขามีตาสวย เขาจะเอ่ยขอบคุณแล้วบทสนทนาก็แทบจะจบลงแค่นั น ให้แน่ใจว่าคุณยังคงแสดงความ
กระตือรือร้นเวลาที เอ่ยคำชมออกไปเพื อที จะดูจริงใจ[4] ประโยคดีๆ ที น่าใช้ก็เช่น:
คุณเล่นเปียโนเก่งจัง เล่นมานานเท่าไหร่แล้ว?
คุณดูขึ นพูดด้วยความมั นอกมั นใจดีจัง ไปเรียนรู้การพูดพรีเซนต์งานให้ดีแบบนี จากที ไหนมา?
คุณวิ งได้ยอดไปเลย แต่ละอาทิตย์ต้องฝึกยังไงบ้าง?
Advertisement
สร้างโปรไฟล์เลย
Page 5 / 10
1
2
ส่วน 2 ของ 3: ยืดบทสนทนา
ทำให้มันไม่เครียด. คุณไม่อาจคาดหวังปาฏิหาริย์บังเกิดขึ นตั งแต่การมีปฏิสัมพันธ์ขั นต้นกับใครสักคน สิ งที คุณจะคาดหวังได้ก็แค่มีสัมพันธไมตรีเกิดขึ น โอกาสดี
ที สุดที จะทำมันขึ นมาก็คือให้ยึดอยู่กับหัวข้อสนทนาที น่าสนใจและพูดคุยได้สนุกออกรส มันจะช่วยให้สามารถสอดแทรกมุกตลกเล็กๆ เข้าไปในบทสนทนาได้
ด้วย[5]
หลีกเลี ยงการพูดคุยเรื องปัญหาในชีวิตหรือสถานการณ์ด้านลบอื นๆ ถ้าหากคุณเห็นสายตาของคู่สนทนาเหม่อลอยออกไปเวลาที มีการหยิบยกประเด็นเหล่านี ขึ นมา
พูด มันก็เป็นเพียงเพราะมีคนแค่ไม่กี คนที คาดหวังจะได้พูดคุยปัญหาหรือสถานการณ์หนักหน่วงในบทสนทนาที ผ่อนคลายเป็นกันเอง
คนส่วนใหญ่มองหาประเด็นที สุภาพ น่าสนใจ และไม่เครียดมาสนทนา และการแทรกอะไรในเชิงลบเข้าไปมีแต่ทำลายบรรยากาศตอนนั นลง ทำให้การสนทนาจบ
ลงได้
อย่าพะวงเรื องความเงียบ. ความเงียบไม่จำเป็นต้องดูอึดอัด มันจะให้คุณได้รวบรวมความคิดเห็นประมวลคู่สนทนาหรือคิดหาหัวข้อที เขาน่าจะอยากคุย มันทำให้
คุณทั งคู่มีเวลาหายอกหายใจและได้หยุดพักย่อยความคิด[6]
อย่างไรก็ตาม ความเงียบก็ชวนให้อึดอัดได้ ถ้าคุณรู้สึกพะว้าพะวงหรือพยายามจะกลบเกลื อนความเงียบเพราะคุณเป็นกังวลกับมัน
Page 6 / 10
3
1
แบ่งปันความสนใจที มีร่วมกัน. เช่น ถ้าคุณพบว่าทั งคู่ต่างชอบการวิ ง ให้ใช้เวลามากขึ นในการคุยเรื องเหล่านี อย่างไรก็ดี ให้ใส่ใจด้วยว่าถึงอย่างไรเมื อถึงจุดหนึ ง
คุณก็จะต้องย้ายหัวข้อสนทนาไปเรื องอื น การสนทนาเรื องวิ งนานถึง 45 นาทีคงเป็นเรื องที ชวนอึดอัดสำหรับผู้คนส่วนใหญ่ [7]
สนทนาถึงคนอื นที มีความสนใจร่วมกันและความสำเร็จของพวกเขา เช่น คุณอาจรู้จักผู้ชนะการวิ งมาราธอนปีที แล้วด้วยกันทั งคู่ และคุณคนใดคนหนึ งอาจสามารถ
เล่ารายละเอียดว่าคนๆ นั นฝึกฝนอย่างไรถึงชนะได้
ในการพูดคุยเรื องความสนใจที มีร่วมกันนั น อาจพูดคุยเรื องอุปกรณ์เครื องเล่นใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ กลยุทธใหม่ๆ เป็นต้น
แนะนำสิ งใหม่ๆ ที คุณทั งคู่สามารถลองทำในความสนใจร่วมกันนี ได้ บางทีถึงอาจขนาดหาเวลาไปฝึกหรือลองอะไรใหม่ๆ ด้วยกัน
Advertisement
ส่วน 3 ของ 3: ขยายขอบเขตออกไป
จุดประกายทิศทางการสนทนาใหม่ด้วยการตั งข้อสมมติฐานขึ นมา. มันอาจฟังดูแปลกพิกลในทีแรก แต่ลองทำแล้วดูว่ามันจะเปิดการสนทนาให้ขยายออกไปได้
อย่างมีสีสันขนาดไหน นี คือตัวอย่างคำถามชวนคิดที อาจเพิ มรสชาติการสนทนาได้:
จากความสำเร็จทั งหมดที คุณได้ทำมา อะไรที คุณคิดว่าสำคัญที สุดสำหรับตัวคุณเอง /เป็นประโยชน์ที สุดสำหรับสังคม?
สมมติว่าคุณสามารถรำ รวย โด่งดัง หรือมีอิทธิพล คุณจะเลือกอย่างไหนและเพราะอะไร?
สร้างโปรไฟล์เลย
Page 7 / 10
2
3
นี เป็นช่วงเวลาดีที สุดในชีวิตคุณเลยหรือเปล่า?
ถ้าคุณสามารถเป็นเจ้าของของได้แค่ 10 อย่าง มันจะมีอะไรบ้าง?
ถ้าคุณต้องเลือกอาหารแค่ห้าอย่างกับเครื องดื มแค่สองอย่างไปตลอดชั วชีวิต คุณจะเลือกอะไร?
คุณเชื อว่าคนเราเป็นฝ่ายสร้างความสุขขึ นมาเองหรือรอมันเกิดขึ นมาเอง?
คุณจะทำอะไรถ้าเกิดมีผ้าคลุมล่องหน?
คุณเชื อในเจตจำนงเสรีหรือเปล่า?
คุณคิดว่าตัวเองจะกลายเป็นสัตว์อะไรถ้าเกิดมีคนเปลี ยนคุณเป็นสัตว์ได้?
ซูเปอร์ฮีโร่ตัวโปรดของคุณเป็นใครและเพราะอะไร?
คุณสามารถเชิญใครก็ได้ในประวัติศาสตร์มาร่วมทานข้าวเย็นที บ้านได้ห้าคน คุณจะเชิญใคร?
ถ้าพรุ่งนี คุณเกิดถูกล็อตเตอรี รางวัลที หนึ ง คุณจะใช้มันยังไง?
ถ้าสามารถเป็นคนดังได้หนึ งสัปดาห์ อยากมีชื อเสียงด้านไหน? (หรือจะเลือกเป็นคนดังคนใด?)
ยังเชื อในซานตาคลอสหรือเปล่า?
อยู่โดยไม่มีอินเทอร์เน็ตได้ไหม?
ทริปในฝันของคุณเป็นไง?
จดจำไว้ว่าหัวข้อไหนที ได้รับการตอบสนองอย่างดีในการสนทนา. ให้กลับมาหากลยุทธการพูดคุย "ที ได้ผล" นี อยู่เรื อยๆ ตราบเท่าที มันยังคงใช้ได้ผลต่อคุณ
เช่นเดียวกัน จดจำหัวข้อที ดูเหมือนผู้คนจะรู้สึกไม่สะดวกใจหรือรู้สึกเบื อหน่าย แล้วหลีกเลี ยงมันในอนาคต
อ่านเหตุการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน. ตามอ่านเรื องราวต่างๆ ที เกิดขึ นในโลกและลองถามความคิดเห็นของคู่สนทนาถึงประเด็นข่าวใหญ่ที เกิดขึ นล่าสุด (กระนั นพึงจำ
ไว้ว่าในกรณีส่วนใหญ่แล้ว ทางที ดีควรเลี ยงเรื องการเมือง)[8]
จดจำข่าวขำๆ ที เรียกเสียงหัวเราะจากคุณได้และเตือนให้คู่สนทนาได้นึกถึงข่าวขำๆ ที เขาเพิ งอ่านผ่านตามา
Page 8 / 10
4 ฝึกพูดให้กระชับ. การหาหัวข้อสนทนาที น่าสนใจเป็นแค่ส่วนหนึ งของการทำให้เกิดบทสนทนาที ดี แต่ที สำคัญไม่แพ้กันคือคุณจะสื อประเด็นนั นออกมาได้อย่างไร
[9] ให้แน่ใจว่าได้พูดหัวข้อนั นได้ตรงประเด็นโดยไม่ได้กล่าววกไปวนมาจนหาเป้าหมายไม่ได้
พยายามอย่าพูดวกออกนอกเรื องในระหว่างการหยิบยกประเด็นการสนทนา มิฉะนั นอาจเสี ยงที คู่สนทนาจะหมดความสนใจจะคุยกับคุณ!
Advertisement
เคล็ดลับ
อย่าเอาแต่ปั นคำถามที เอ่ยถึงข้างต้นในบทความระดมใส่คู่สนทนา มันอาจทำให้เขารู้สึกเหมือนกำลังถูกซักฟอก
พยายามเป็นมิตรและไม่ไปพูดกระทบกระเทียบใคร
ถ้าคุณพูดอยู่ในกลุ่ม ให้แน่ใจว่าได้ทำให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วม ถ้าคุณเริ มคุยกับคนๆ เดียวในกลุ่มและคาดหวังให้คนอื นนิ งฟังการสนทนา มันจะทำให้ทั งกลุ่มดูอึดอัด
ใจ
ฟังคำตอบของคู่สนทนาอย่างตั งใจ เพราะมันอาจนำไปสู่ประเด็นการสนทนาที เกี ยวข้องได้
คิดก่อนพูด คุณไม่สามารถกลืนสิ งที พูดออกไปแล้ว นอกจากนี ผู้คนยังมักจดจำการสนทนาที ได้คุยกับคุณ ฉะนั นอย่าทำตัวไม่เป็นมิตรเว้นแต่คุณอยากให้เขาจดจำคุณ
แบบนี
วิธีที ดีอย่างหนึ งในการทำให้บทสนทนาเดินหน้าอย่างมีสมดุลคือการผลัดกันถามคำถาม มันไม่จำเป็นต้องเป็นเหมือนการทายปัญหาถามตอบหรือเป็นการแข่งขันเพื อดู
ว่าคำถามของใครเข้าท่ากว่ากัน แต่มันเป็นวิธีที สุภาพในการรักษาบทสนทนาให้ต่อเนื องโดยไม่มีฝ่ายไหนคอยควบคุมอีกฝ่าย
Page 9 / 10
ใช่ ไม่
ถ้าเป็นครั งแรกที เจอคนๆ นั น พยายามหลีกเลี ยงคำพูดประชดประชัน ถึงแม้เขาจะเป็นคนแบบนั นก็ตาม คุณอาจจะอยากแซวเขาบ้าง กระนั นก็อย่าทำมากเกิน ไม่มี
ใครชอบการประชดประชันที มาก เกินไป
ตั งใจฟัง และพยายามมีส่วนร่วม หลังจากเขาตอบคำถามคุณ ดูว่ามันมีส่วนเกี ยวข้องกับประสบการณ์ใดของคุณ หรือตอบคำถามนั นเองถึงแม้เขาจะยังไม่ได้เอ่ยถาม
หลีกเลี ยง "คำตอบคำเดียว" (อย่างเช่น "ใช”่ , "ไม่ใช"่ และ "กด็ ี") เท่าที จะทำได้ เพราะมันทำให้การสนทนาไม่คืบหน้าไปไหน
ถ้าคุณเพิ งเจอใครครั งแรก จดจำชื อเขาให้ได้! มันอาจฟังดูง่าย แต่ก็ลืมกันง่ายเช่นกัน พยายามพูดชื อเขาในใจเร็วๆ ห้าครั งติดต่อกันตอนที เขาแนะนำตัวเอง
บทความวิกิฮาวอื น ๆ ที เกี ยวข้อง
แหล่งที มาและอ้างอิง
บทความนี เป็นประโยชน์กับคุณไหม
วิธีการ พูดคุยกับสาวได้อย่างไหลลื น (ลับเฉพาะสำหรับหนุ่ม ๆ!) วิธีการ แนะนำตัวเอง วิธีการ ดึงดูดหนุ่มราศีพฤษภ
วิธีการ เข้าไปคุยกับคนแปลกหน้า วิธีการ ได้รับความเคารพนับถือ วิธีการ จัดการกับคนที คิดลบ
วิธีการ รู้ว่าคุณเป็นคนนึกถึงแต่ตัวเองหรือไม่ วิธีการ สร้างความเชื อใจ วิธีการ อ่านภาษากาย
วิธีการ กอดผู้หญิง
ทำให้ฉันประห ล าดใจ
ค้นหาวิธีการ...
Page 10 / 10


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 25, 2017, 12:44:45 PM
เมื่องานติดขัดหรือเกิดปัญหาไม่สามารถจบงานได้ ให้พิจารณาแก้ไข 3 ข้อ ดังนี้

1. สังเกตุ-วิเคราะห์ คิดนอกกรอบความรู้ที่เรายึดถืออยู่ แล้วนำมาคำนวณตรวจสอบในเชิงทฤษฎี เมื่อแก้ไขในทางนี้ๆรูปแบบนี้ๆแล้วจะได้ผลลัพธ์อย่างไร รูปแบบไหน ค่าที่ได้ประมาณเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับผลจริงโดยความน่าจะเป็นในทางปฏิบัติแล้ว จะให้ผลตามจริงอย่างไร แบบไหน เท่าไหร่ เปอร์เซนต์ที่ได้มีค่าความผิดพลาด บวก/ลบ ตามจริงกี่เปอร์เซนต์
..เพราะไม่มีสิ่งใดๆในโลกนี้ที่ได้ตรงตามทฤษฏีเป๊ะๆเลย ทุกอย่างมีค่าสูญเสีย เบี่ยงเบน ขาดตก หรือเกินกว่าอยู่แล้ว เราเรียกสิ่งที่ว่าความผิดพลาด เมื่อทุกอย่างมีค่าความผิดพลาดเราต้องพิจารณาเสริมต่อเพื่อลดทอนความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นนั้นด้วย เรียกว่า การทดแทนความสูญ หรือลดแรงเสียดทาน
2. ผลจากการแก้ไขนั้นจะช่วยให้สิ่งนั้นๆสถานะนั้นๆที่คงค้างหรือกำลังเป็นอยู่ดีขึ้นได้มากหรือน้อยเพียงไร คิดเป็นเปอร์เซนต์เท่าใด ..ช่วยเพิ่มประสิทธภาพงานได้หรือไม่ ถ้าเพิ่มได้จะประสิทธิภาพนั้นๆจะเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซนต์ อยู่ในเกณฑ์ที่ดีหรือไม่ ดีขึ้นกี่เปอร์เซนต์
3. ผลจากการแก้ไขนั้นจะช่วยเราได้อย่างไร ในทางได้บ้าง คือ ช่วยตัดปัญญาที่เกิดขึ้นในส่วนใดได้บ้าง ทำให้ปัญหาที่เกิดมีอยู่นี้ลดหรือน้อยลงได้หรือไม่ และสามารถสืบต่อนำไปสู่การแก้ไขในส่วนอื่นๆหรือส่วนใดเพิ่มเติมให้ดีขึ้นอีกได่หรือไม่ อย่างไรได้บ้าง


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มิถุนายน 10, 2017, 01:55:25 PM
1. คลายใจจากทุกสิ่ง ละอุปาทานจากสมมติในโลกทั้งปวง ไม่ยึดจับสิ่งใดๆทั้งสิ้นทั้งปวงแม้ภายนอกและภายในกายใจนี้
2. มีสติอยู่เฉพาะหน้าตั้งจิตปักหลักไว้ที่ปลายจมูกรู้ลมหายใจเข้า-ออก


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กรกฎาคม 06, 2017, 08:45:56 AM
ความโดยย่อบางตอนจากธาตุวิภังคสูตร...ธาตุ ดิน น้ำไฟ  ลม อากาศ พึงเห็นธาตุนั้นๆ ด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเราไม่
ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็นแล้ว จะเบื่อหน่ายธาตุนั้นๆ และจะให้
จิตคลายกำหนัดจากธาตุนั้นๆได้ ฯ

             [๖๘๙] ต่อนั้นสิ่งที่จะเหลืออยู่อีกก็คือวิญญาณอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง บุคคล
ย่อมรู้อะไรๆ ได้ด้วยวิญญาณนั้น คือ..
..รู้ชัดว่า.. สุขบ้าง
..รู้ชัดว่า.. ทุกข์บ้าง
..รู้ชัดว่า.. ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง

- ดูกรภิกษุ เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ย่อมเกิดสุขเวทนา
- บุคคลนั้นเมื่อเสวยสุขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยสุขเวทนาอยู่
- เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือตัวสุขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ

    เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ย่อมเกิดทุกขเวทนา
บุคคลนั้นเมื่อเสวยทุกขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยทุกขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะ
เป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่
ผัสสะนั้น คือตัวทุกขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา
ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ย่อม
เกิดอทุกขมสุขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลัง
เสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้นแลดับไป
ย่อมรู้สึกว่าความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือตัวอทุกขมสุขเวทนาอันเกิด
เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ ฯ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กรกฎาคม 06, 2017, 08:47:46 AM
ธาตุวิภังคสูตร ๖ (อรูปฌาณด้วยอุเบกขาบริสุทธิ์ จาก วิญญาณธาตุอันบริสุทธิ์)

             [๖๙๑] ดูกรภิกษุ เปรียบเหมือนนายช่างทอง หรือลูกมือของนายช่างทอง
ผู้ฉลาด ติดเตาสุมเบ้าแล้ว เอาคีมคีบทองใส่เบ้า หลอมไป ซัดน้ำไป สังเกตดู
ไปเป็นระยะๆ ทองนั้นจะเป็นของถูกไล่ขี้แล้ว หมดฝ้า เป็นเนื้ออ่อน สลวย
และผ่องแผ้ว เขาประสงค์ชนิดเครื่องประดับใดๆ จะเป็นแหวน ตุ้มหู เครื่อง
ประดับ มาลัยทองก็ตาม ย่อมสำเร็จความประสงค์อันนั้นแต่ทองนั้นได้ ฉันใด
ดูกรภิกษุ ฉันนั้นเหมือนกันแล เมื่อเหลืออยู่แต่อุเบกขา อันบริสุทธิ์ ผุดผ่อง
อ่อนโยน สละสลวย และผ่องแผ้ว บุคคลนั้นย่อมรู้สึกอย่างนี้ว่า ถ้าเราน้อม
อุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่อากาสานัญจายตนฌาน และ
เจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ อุเบกขาของเรานี้ ก็จะเป็นอุเบกขา
อาศัยอากาสานัญจายตนฌานนั้น ยึดอากาสานัญจายตนฌานนั้น ดำรงอยู่ตลอดกาล
ยืนนาน ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่วิญญาณัญ-
*จายตนฌาน และเจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ อุเบกขาของเรานี้
ก็จะเป็นอุเบกขาอาศัยวิญญาณัญจายตนฌานนั้น ยึดวิญญาณัญจายตนฌานนั้น
ดำรงอยู่ตลอดกาลยืนนาน ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่
อากิญจัญญายตนฌาน และเจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ อุเบกขา
ของเรานี้ ก็จะเป็นอุเบกขาอาศัยอากิญจัญญายตนฌานนั้น ยึดอากิญจัญญายตนฌาน
นั้น ดำรงอยู่ตลอดกาลยืนนาน ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่องอย่างนี้
เข้าไปสู่เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น และเจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น เมื่อ
เป็นเช่นนี้ อุเบกขาของเรานี้ ก็จะเป็นอุเบกขาอาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
นั้น ยึดเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น ดำรงอยู่ตลอดกาลยืนนาน บุคคลนั้น
ย่อมรู้สึกอย่างนี้ว่า ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่
อากาสานัญจายตนฌาน และเจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น จิตนี้ก็เป็นสังขตะ
ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่วิญญาณัญจายตนฌาน
และเจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น จิตนี้ก็เป็นสังขตะ ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้
อันบริสุทธิ์ ผุดผ่อง อย่างนี้ เข้าไปสู่อากิญจัญญายตนฌาน และเจริญจิตมีธรรม
ควรแก่ฌานนั้น จิตนี้ก็เป็นสังขตะ ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่อง
อย่างนี้ เข้าไปสู่เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน และเจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น
จิตนี้ก็เป็นสังขตะ บุคคลนั้นจะไม่คำนึง จะไม่คิดถึงความเจริญหรือความเสื่อมเลย
เมื่อไม่คำนึง ไม่คิดถึง ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่
หวาดเสียว เมื่อไม่หวาดเสียว ย่อมปรินิพพานเฉพาะตนทีเดียว ย่อมทราบชัดว่า
ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความ
เป็นอย่างนี้มิได้มี ถ้าเขาเสวยสุขเวทนาอยู่ ย่อมรู้สึกว่า สุขเวทนานั้น ไม่เที่ยง
อันบัณฑิตไม่ติดใจ ไม่เพลิดเพลิน ถ้าเสวยทุกขเวทนาอยู่ ย่อมรู้สึกว่า ทุกขเวทนา
นั้น ไม่เที่ยง อันบัณฑิตไม่ติดใจ ไม่เพลิดเพลิน ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่
ย่อมรู้สึกว่า อทุกขมสุขเวทนานั้น ไม่เที่ยง อันบัณฑิตไม่ติดใจ ไม่เพลิดเพลิน
ถ้าเสวยสุขเวทนาก็เป็นผู้พรากใจเสวย ถ้าเสวยทุกขเวทนาก็เป็นผู้พรากใจเสวย
ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนาก็เป็นผู้พรากใจเสวย เขาเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด
ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด
ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด และรู้สึกว่า เบื้องหน้าแต่สิ้นชีวิต
เพราะตายไปแล้ว ความเสวยอารมณ์ทั้งหมดที่ยินดีกันแล้วในโลกนี้แล จักเป็น
ของสงบ ฯ
             [๖๙๒] ดูกรภิกษุ เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน อาศัยน้ำมันและไส้
จึงโพลงอยู่ได้ เพราะสิ้นน้ำมันและไส้นั้น และไม่เติมน้ำมัน และไส้อื่น ย่อมเป็น
ประทีปหมดเชื้อ ดับไป ฉันใด ดูกรภิกษุ ฉันนั้นเหมือนกันแล บุคคลนั้นเมื่อ
เสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อ
เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด และ
รู้สึกว่า เบื้องหน้าแต่สิ้นชีวิต เพราะตายไปแล้ว ความเสวยอารมณ์ทั้งหมดที่ยินดี
กันแล้วในโลกนี้แล จักเป็นของสงบ เพราะเหตุนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้สึก
อย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งประการนี้
ก็ปัญญานี้ คือความรู้ในความสิ้นทุกข์ทั้งปวง เป็นปัญญาอันประเสริฐยิ่ง ความ
หลุดพ้นของเขานั้น จัดว่าตั้งอยู่ในสัจจะ เป็นคุณไม่กำเริบ ดูกรภิกษุ เพราะสิ่ง
ที่เปล่าประโยชน์เป็นธรรมดา นั้นเท็จ สิ่งที่ไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดา ได้แก่
นิพพาน นั้นจริง ฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยสัจจะอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วย
สัจจะอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งประการนี้ ก็สัจจะนี้ คือนิพพาน มีความ
ไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดา เป็นสัจจะอันประเสริฐยิ่ง อนึ่ง บุคคลนั้นแล ยังไม่
ทราบในกาลก่อน จึงเป็นอันพรั่งพร้อม สมาทานอุปธิเข้าไว้ อุปธิเหล่านั้นเป็นอัน
เขาละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว ถึงความเป็นอีก
ไม่ได้ มีความไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยการสละ
อย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งประการนี้
ก็จาคะนี้ คือความสละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นจาคะอันประเสริฐยิ่ง อนึ่ง บุคคล
นั้นแล ยังไม่ทราบในกาลก่อน จึงมีอภิชฌา ฉันทะ ราคะกล้า อาฆาต พยาบาท
ความคิดประทุษร้าย อวิชชา ความหลงพร้อม และความหลงงมงาย อกุศลธรรม
นั้นๆ เป็นอันเขาละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว
ถึงความเป็นอีกไม่ได้ มีความไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วย
ความสงบอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปสมะอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ
อย่างยิ่งประการนี้ ก็อุปสมะนี้ คือความเข้าไปสงบราคะ โทสะ โมหะ เป็น
อุปสมะอันประเสริฐอย่างยิ่ง ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตาม
รักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติเท่านั้น นั่น เราอาศัยเนื้อความนี้
กล่าวแล้ว ฯ
             [๖๙๓] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า คนเรามีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อันเป็น
ธรรมที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมมเป็นไป
ก็เมื่อกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมม ไม่เป็นไปอยู่ บัณฑิตจะ
เรียกเขาว่า มุนีผู้สงบแล้ว นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูกรภิกษุ ความสำคัญ
ตนมีอยู่ดังนี้ว่า เราเป็น เราไม่เป็น เราจักเป็น เราจักไม่เป็น เราจักต้องเป็น-
*สัตว์มีรูป เราจักต้องเป็นสัตว์ไม่มีรูป เราจักต้องเป็นสัตว์มีสัญญา เราจักต้องเป็น
สัตว์ไม่มีสัญญา เราจักต้องเป็นสัตว์มีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ดูกรภิกษุ
ความสำคัญตนจัดเป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร ก็ท่านเรียกบุคคลว่า เป็นมุนี
ผู้สงบแล้ว เพราะล่วงความสำคัญตนได้ทั้งหมดเทียว และมุนีผู้สงบแล้วแล ย่อม
ไม่เกิดไม่แก่ ไม่ตาย ไม่กำเริบ ไม่ทะเยอทะยาน แม้มุนีนั้นก็ไม่มีเหตุที่จะต้อง
เกิด เมื่อไม่เกิด จักแก่ได้อย่างไร เมื่อไม่แก่ จักตายได้อย่างไร เมื่อไม่ตาย
จักกำเริบได้อย่างไร เมื่อไม่กำเริบ จักทะเยอทะยานได้อย่างไร ข้อที่เรากล่าว
ดังนี้ว่า คนเรามีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อันเป็นธรรมที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว ไม่มีกิเลส
เครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมม เป็นไป ก็เมื่อกิเลสเครื่องสำคัญตนและ
กิเลสเครื่องหมักหมม ไม่เป็นไปอยู่ บัณฑิตจะเรียกเขาว่า มุนีผู้สงบแล้ว นั่น
เราอาศัยเนื้อความดังนี้ กล่าวแล้ว ดูกรภิกษุ ท่านจงทรงจำธาตุวิภังค์ ๖ โดยย่อนี้
ของเราไว้เถิด ฯ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กรกฎาคม 06, 2017, 09:53:19 AM
หลักธรรมคำสอน พระอาจารย์นพพร  อาทิจฺจวํโส

วิญญาณธาตุ

พิจารณาธรรม วันอาทิตย์ที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๔ 
เวลา ๒๑.๒๓ น.
                ๖. วิญญาณธาตุ  ธาตุรู้มีความรู้สึก เรียกวิญญาณ  วิญญาณความรู้สึกภายใน ๖  วิญญาณความรู้สึกภายนอก ๖  วิญญาณความรู้สึกภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ วิญญาณความรู้สึกภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์

                วิญญาณ ความรู้สึกเกิดขึ้นที่ตา ขณะเห็นรูป ความรู้สึกเกิดขึ้นที่หู ขณะได้ยินเสียง ความรู้สึกเกิดขึ้นที่จมูก ขณะได้กลิ่น ความรู้สึกเกิดขึ้นที่ลิ้น ขณะได้รู้รส ความรู้สึกเกิดขึ้นที่กาย ขณะได้กระทบโผฏฐัพพะสัมผัส ความรู้สึกเกิดขึ้นที่ใจ ขณะได้รู้ธรรมารมณ์

                วิญญาณ ความรู้สึกเกิดขึ้นที่จิต ที่มีการกระทบสัมผัสกันแล้ว เป็นธรรมารมณ์ รู้ตามสัญญา รู้ตามอาการ รู้ตามลักษณะ ท่าทาง รู้ตามที่ได้ศึกษาเล่าเรียน รู้ตามจิตจินตนาการ รู้ตามสมมุติบัญญัติทั่วไปมีวิญญาณความรู้สึก ตามที่ได้เห็น ได้ยินได้ทราบได้รู้สึก ได้รู้ตามเห็นตามที่ได้ปฏิบัติตามให้มีให้เป็นขึ้น เรียกว่า ภาวนาก็ได้

                วิญญาณความรู้สึก ต้องใช้สติปัญญาพิจารณาตลอดใช่ไหม?  ใช่! รู้ตามสัญญาจริงไหม? จริง! วิญญาณมีลักษณะรู้สึก ตามที่ได้รู้ได้เห็นได้สัมผัสกับอารมณ์ รู้ตามสัญญาอารมณ์ รู้สึกแล้วปรุงแต่งไปตามอารมณ์ จะเป็นอตีตารมณ์ อารมณ์อดีต ปัจจุบันนังอารมณ์ อารมณ์ปัจจุบัน และบางคราวอาจรู้สึกได้ในอนาคตอารมณ์ อารมณ์อนาคต อันเป็นความรู้สึกของวิญญาณอย่างสูง อนิจจังไม่เที่ยงใช่ไหม? ใช่!

                 ถ้ามีสติสัมปชัญญะดี ก็มีความรู้สึกได้ตลอด ที่มีการกระทบสัมผัสใช่ไหม? ใช่!รู้สึกได้ตลอดมีไหม? มี!

รู้สึกได้ไม่ตลอดมีไหม? มี! รู้สึกแล้วทำเป็นไม่รู้ได้ไหม? ได้! รู้สึกแล้วก็มีใช่ไหม? ใช่ ! รู้สึกแล้วไม่เอาก็มีใช่ไหม ? ใช่ ! รู้สึกบางทีก็รู้ภายในใช่ไหม? ใช่ ! รู้สึกบางทีก็รู้ภายนอกใช่ไหม? ใช่! รู้สึกบางก็รู้ทั้งภายในภายนอกใช่ไหม? ใช่ ! รู้สึกแล้วอุเบกขาวางเฉยได้ไหม? ได้ !

                 ถ้าประสาทหรือกายะประสาททั้ง ๖ หรือทั้งหมด หรือส่วนใดส่วนหนึ่งในภายในตายไปเสีย ชำรุดเสีย พิการเสีย จะรู้สึกได้ไหม? ไม่ได้! แล้วตัวรู้ที่อาศัยประสาทสัมผัสหรือกายะประสาทสัมผัสหายไปไหน? หายไปที่จิตไม่รู้สัมผัส! ถ้าประสาทเสียหมด! ตายหมด! มันก็ว่างเปล่าทั้งหมด เพราะไม่มีวิญญาณความรู้สึกใช่ไหม? ใช่! มันว่างไปแล้ว ส่วนนั้นใช่ไหม? ใช่! ไม่มีวิญญาณความรู้สึกได้เลยจริงไหม? จริง! เป็นอนัตตาว่างเปล่าจากตัวตนได้ไหม? ได้!

                จิต มีอุปาทานยึดถือวิญญาณความรู้สึก ในความรู้สึกทั้งภายใน ทั้งภายนอกเป็นทุกข์ไหม? เป็น! จิตในจิตที่ยังอยากรู้สึกเป็นสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ใช่ไหม? ใช่!

                จิตพิจารณาจิต จิตรู้สึกในจิต รู้สึกในความรู้สึก ที่มีขณะจิต เกิดขึ้น ตั้งอยู่ดับไปของจิต ของความรู้สึกที่จิตจนถึงความสงบระงับจิต สงบระงับความรู้สึกที่จิต เป็นนิโรธะ ความดับทุกข์ที่จิต ตัณหาความรู้สึกอยากหมดไปเหลือเป็นความเป็นเองของจิต ที่มีความรู้สึกอุเบกขาวางเฉยโดยธรรมชาติ ไม่ยึดถือแต่มีความพอดีของจิต ของความรู้สึก เป็นมรรคจิต ที่จิตถอนออกจากอุปาทาน ที่ยึดมั่นในความรู้สึกทั้งหลาย ทั้งภายในทั้งภายนอก ในขณะจิตเดียวที่พ้นจากความรู้สึกผูกพันของวิญญาณความรู้สึก

                จิตสงบระงับความรู้สึกโดยชอบ ไม่หวั่นไหวในอารมณ์ ไม่หวั่นไหวกับความรู้สึก ธาตุทั้ง ๖ แม้มีอยู่ก็เหมือนไม่มี  ความรู้สึกในธาตุทั้ง ๖ ที่เคยมีว่าเป็นเรา เป็นของเรา เราเป็นธาตุ ๖ ธาตุ ๖ เป็นเรา  เรามีอยู่ในธาตุ ๖ ธาตุ ๖ มีอยู่ในเรา หมดความสงสัย สักกายทิฏฐิก็พลอยสิ้นไปด้วย ความลังเลสงสัยในธาตุ ๖ ก็ดับ  สีลพตปรามาสก็ไม่มี  กามราคะ ปฏิฆะ  ก็ไม่กระทบก่อกวน รูปราคะ อรูปราคะ ก็เป็นสิ่งธรรมดา อุทธัจจะก็หายฟุ้งซ่าน  มานะอวิชชา ก็อุเบกขาวางเฉยด้วยความรู้ จิตสงบมีญานรู้ในความรู้ พ้นจากความเป็นทาสของอารมณ์ ๖  ของธาตุรู้ ๖ อยู่ด้วย ใจสบาย  สงบ สงัด วิเวกจิต  ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นวัตถุธาตุ  จัดเป็นรูปธรรม อากาศวิญญาณ จัดเป็นนามธรรม เพราะเนื่องกับจิตและสัมพันธ์กับกาย จึงปรากฏเป็นรูปธรรมนามธรรม

                เป็นรูปเป็นนาม เป็นนามรูป รูปนามขันธ์ ๕  ในปัจจยาการ ท่านจัดเอานามไว้หน้า เอารูปไว้หลัง สมมุติเรียก  นามรูปเพราะอะไร? เพราะเอานามจิตความรู้สึกส่วนรู้เป็นสำคัญ ส่วนรูปหรือกาย เอาไว้เป็นบ่าวรับใช้จิตเจ้านาย !

                มีความรู้แต่ไม่ใช้ความรู้จะดีไหม? ไม่ดีค่ะ! ผู้มีความรู้ใช้ความรู้ซะหมดเลยดีไหม? ไม่ดีค่ะ! ความฉลาดพบกับความเฉียบขาด ผลเป็นไง ก็จ๋อยไปนะซิคะ! แฮ่!! ใครมีความรู้ก็วิจารณ์ได้ ใครไม่มีความรอบรู้ก็วิจารณ์บ่ได้ฮิ!! คนที่มีความรู้แล้วไม่วิจารณ์คงมีไม่ใช่เหรอ!! แฮ่!! คนดีด้วย เก่งด้วย มีความรอบรู้ด้วย มีความชำนาญด้วย เป็นยังไง! ก็ดีมากๆ !! คนดีมีศีลธรรมพ้นทุกข์ได้เป็นผู้ประเสริฐ วิญญาณ ความรู้สึกภายในวิญญาณ ความรู้สึกภายนอก เมื่อถึงกาลสมัยก็แปรไปเป็นอนัตตา ด้วยประการดังนี้แล

http://artitjawangso.com/%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B0/%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%99/83-2013-08-28-07-01-53 (http://artitjawangso.com/%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B0/%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%99/83-2013-08-28-07-01-53)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กรกฎาคม 10, 2017, 07:06:08 PM
วิญญาณธา่ตุ มีในที่ใด เวทนาเกิดขึ้นมีในที่นั้น

วิญญาณธาตุนี้ เป็นตัวรู้เวทนาสัมผัส นั่งสมาธิปวดขา เพราะมีใจเข้ายึดครองในขา เวทนาจึงเกิดมีที่นั่น


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 21, 2017, 02:29:26 PM
๓. อุทานสูตร
ว่าด้วยการตัดสังโยชน์และความสิ้นอาสวะ
             [๑๐๘] พระนครสาวัตถี. ฯลฯ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงเปล่งอุทานว่า ภิกษุ
น้อมใจไปอย่างนี้ว่า ถ้าว่าเราไม่พึงมี ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มี การ
ปฏิสนธิก็จักไม่มีแก่เรา ดังนี้ พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้.
             [๑๐๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอุทานอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง ได้ทูลถามว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ก็ภิกษุน้อมใจไปอย่างนี้ว่า ถ้าว่าเราไม่พึงมี ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี กรรม
สังขารจักไม่มี ปฏิสนธิก็จักไม่มีแก่เรา ดังนี้ พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้อย่างไร พระเจ้าข้า?
             พระผู้มีภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า
ฯลฯ ไม่ได้รับการแนะนำในสัปปุริสธรรม ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีรูป ๑
ย่อมเห็นรูปในตน ๑ ย่อมเห็นตนในรูป ๑ ตามเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ฯลฯ ตามเห็นสัญญา
โดยความเป็นตน ฯลฯ ตามเห็นสังขารโดยความเป็นตน ฯลฯ ตามเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑
ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ๑ ย่อมเห็นวิญญาณในตน ๑ ย่อมเห็นตนในวิญญาณ ๑. เขาย่อมไม่ทราบ
ชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยง ตามความเป็นจริงว่า เป็นของไม่เที่ยง.
ไม่ทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นทุกข์ตามความเป็นจริงว่า เป็นทุกข์.
ไม่ทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอนัตตา ตามความเป็นจริงว่า เป็น
อนัตตา. ไม่ทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันปัจจัยปรุงแต่ง ตามความเป็น
จริงว่า อันปัจจัยปรุงแต่ง. ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า แม้รูป แม้เวทนา แม้สัญญา แม้
สังขาร แม้วิญญาณ จักมี.
             [๑๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับแล้วแล ผู้ใดเห็นพระอริยเจ้า
ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ได้รับการแนะนำดีในอริยธรรม ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรม
ของสัตบุรุษ ได้รับการแนะนำดีในสัปปุริสธรรม ย่อมไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นตน ฯลฯ ไม่
พิจารณาเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ฯลฯ ไม่พิจารณาเห็นสัญญาโดยความเป็นตน ฯลฯ ไม่
พิจารณาเห็นสังขารโดยความเป็นตน ฯลฯ ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ฯลฯ เธอ
ย่อมทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยง ตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง.
ย่อมทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นทุกข์ ตามความเป็นจริงว่า เป็นว่า
ทุกข์. ย่อมทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอนัตตา ตามความเป็นจริงว่า
เป็นอนัตตา. ย่อมทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันปัจจัยปรุงแต่ง ตามความ
เป็นจริงว่า อันปัจจัยปรุงแต่ง. ย่อมทราบชัดตามความเป็นจริงว่า แม้รูป แม้เวทนา แม้สัญญา
แม้สังขาร แม้วิญญาณ จักมี. ย่อมทราบชัดตามความเป็นจริงเช่นนั้น เพราะเห็นความเป็น
ต่างๆ แห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. ดูกรภิกษุ เมื่อภิกษุน้อมใจไปอย่างนี้แล
ว่า ถ้าว่าเราไม่พึงมี ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มี ปฏิสนธิก็จักไม่มีแก่เรา
ดังนี้ พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ ด้วยอาการอย่างนี้แล.
             [๑๑๑] ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุน้อมใจไปอยู่อย่างนี้ พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์
เสียได้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อภิกษุรู้เห็นอย่างไร อาสวะทั้งหลายจึงจะสิ้นไปในกาลเป็น
ลำดับ.
             พ. ดูกรภิกษุ ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้วในโลกนี้ ฯลฯ ย่อมถึงความสะดุ้ง ในฐานะอันไม่ควร
สะดุ้ง. ดูกรภิกษุ ก็ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้ว ย่อมมีความสะดุ้ง ดังนี้ว่า ถ้าเราไม่พึงมี แม้ขันธ-
*ปัญจกของเราก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มี ปฏิสนธิของเราก็จักไม่มี ดังนี้. ดูกรภิกษุ ส่วนอริย-
*สาวกผู้ได้สดับแล้วแล ฯลฯ ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งในฐานะอันไม่ควรสะดุ้ง. ดูกรภิกษุ อริยสาวกผู้
ได้สดับแล้ว ไม่มีความสะดุ้งดังนี้ว่า ถ้าเราไม่พึงมี ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มี
ปฏิสนธิของเราก็จักไม่มี ดังนี้. ดูกรภิกษุ วิญญาณที่เข้าถึงรูปก็ดี เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ วิญญาณที่มีรูป
เป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์.
วิญญาณที่เข้าถึงเวทนาก็ดี ฯลฯ วิญญาณที่เข้าถึงสัญญาก็ดี ฯลฯ วิญญาณที่เข้าถึงสังขารก็ดี เมื่อ
ตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ วิญญาณที่มีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่อง
เสพ พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์. ภิกษุนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักบัญญัติการมา การไป
จุติ อุปบัติ หรือความเจริญงอกงามไพบูลย์แห่งวิญญาณ เว้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร
ดังนี้ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความกำหนัดในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ
ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นอันภิกษุละได้แล้วไซร้ เพราะละความกำหนัด
เสียได้ อารมณ์ย่อมขาดสูญ ที่ตั้งแห่งวิญญาณย่อมไม่มี วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งนั้น ไม่งอกงาม
ไม่แต่งปฏิสนธิ หลุดพ้นไป เพราะหลุดพ้นไป จึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่ จึงยินดีพร้อม
เพราะยินดีพร้อม จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น. เธอย่อมรู้ชัดว่า
ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้
มิได้มี. ดูกรภิกษุ เมื่อบุคคลรู้เห็นอย่างนี้แล อาสวะทั้งหลายย่อมสิ้นไป ในกาลเป็นลำดับ.
จบ สูตรที่ ๓.


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 22, 2017, 03:24:13 PM
มิลินทปัญหา
ทุติยวรรค
ธัมมสันตติปัญหา ที่ ๑

             ราชา  สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมิทาธิบดี  มีพระราชโองการถามอรรถปริศนาแก่พระ
นาคเสนว่า  ภนฺเต  นาคเสน  ข้าแต่พระนาคเสนผู้เป็นเจ้า  มนุษย์และบุรุษหญิงชายฝูงสัตว์ทั้ง
หลาย ๒ เท้าก็ดี ๔ เท่าก็ดี  หาเท้ามิได้ก็ดี  ครั้นเกิดมาในโลกนี้ถ้าเป็นชายเมื่อยังเป็นทารกอยู่
ครั้นเจริญวัยใหญ่ขึ้นก็กลายเป็นชายอื่นไป  ถ้าว่าเป็นสตรีก็เป็นสตรีอื่นไป ถ้าเป็นสัตว์สองเท้า
ก็กลายเป็นสัตว์สองเท้าอื่นไป ถ้าเป็นสัตว์สี่เท้าก็กลายเป็นสัตว์มีเท้ามากอันอื่นไปถ้าเป็นสัตว์
หาเท้ามิได้ก็กลายเป็นสัตว์หาเท้ามิได้อันอื่นไป ที่มีเท้ามากก็กลายเป็นสัตว์มีเท้ามากอันอื่นไป
อย่างนั้นหรือประการใด
             พระนครเสนวิสัชนาแก้ไขว่า  มหาราช  ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐในราช
สมบัติ  อันว่ามนุษย์และสัตว์เดียรัจฉานทั้งปวงเกิดมาแล้ว  จะได้กลายเป็นอื่นไปนั้นหามิได้
ฝ่ายมนุษย์นั้นที่เกิดมาเป็นสตรีผู้นั้นก็เป็นสตรี ที่เกิดมาเป็นบุรุษผู้นั้นก็เป็นบุรุษ  จะว่าด้วยสัตว์
เดียรัจฉานเล่าก็เหมือนกัน  เกิดมาแล้วเป็นนามเป็นรูปสิ่งหนึ่ง  และจะกลายเป็นนามรูปอื่นหามิ
ได้ ขอถวายพระพร
             สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นสาคลนคร  มีสุนทรพระราชโอการตรัสว่า  โยมยังสงสัย  นิมนต์
พระผู้เป็นเจ้าอุปมาให้แจ้งก่อน
             พระนาคเสนถวายพระพรอุปมาว่า มหาราช  ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร  เปรียบปาน
ดังบพิตรพระราชสมภารฉะนี้  เมื่อยังเป็นทารกแรกประสูตินั้น  พระกำนัลนางนมเชิญให้
บรรทมหงายอยู่บนพระที่พระยี่ภู่ ณ พระอู่ทอง  แต่เมื่อยังเป็นทารกอยู่นั้น  ครั้นทรงพระจำเริญ
มาคุ้มเท่าบัดนี้นี่  เป็นมหาบพิตรนี้หรือว่าเป็นอื่นไป
             พระเจ้ามิลินท์บรมกษัตริย์ตรัสว่า  เมื่อเป็นทารกอยู่นั้นก็เป็นทารกอยู่  ครั้นจำเริญมา
ก็เป็นอื่นไป  จะได้เรียกว่าทารกนั้นคือโยมนี้มิได้ เมื่อเล็กอย่างหนึ่ง  เมื่อโตอย่างหนึ่ง ตกว่า
เกิดมาแล้ว เมื่อเป็นทารกมีนามรูปอย่างหนึ่ง  ครั้นจำเริญใหญ่แล้วก็เป็นอื่นไป  กระนี้แหละ
พระผู้เป็นเจ้า
             พระนาคเสนถวายพระพรว่า  ถ้าบพิตรพระราชสมภารตรัสฉะนี้  มารดาของมนุษย์บุรุษ
สตรีก็ดี  เมื่อแรกเกิดในกลละก็เป็นอื่น  เมื่อกลละข้นเข้าเป็นอัพพุทะ  มารดาก็จะเป็นคนอื่น
เมื่อจะเป็นชิ้นมังสัง  มารดาก็จะกลายเป็นอื่น  เมื่อตั้งฆนะเป็นเนื้อแน่น  ตราบเท่าแตกเป็นปัญจ-
สาขากายาบริบูรณ์นั้น มารดาก็จะกลายเป็นอื่นๆ ไปทุกที  ตราบเท่าออกจากครรภ์มารดายัง
เป็นทารกอยู่  มารดาก็จะกลายเป็นมารดาอื่น  ครั้นจำเริญใหญ่  มารดาก็จะกลายเป็นคนอื่น  นี่
มารดาก็ยืนอยู่ผู้เดียวมิได้กลับไปเป็นอื่น  ถ้าจะถือว่าตัวกลายเป็นผู้อื่นแล้ว  นับถือไว้ว่าเป็น
มารดาทำไม  อนึ่งเล่าเรียนศิลปศาสตร์ไว้แต่น้อย  ครั้นใหญ่โตแก่เฒ่าไป  ศิลปศาสตร์ที่เล่าเรียน
ไว้ก็จะมิพลอยกลายตามกายแก่เฒ่าไปด้วยหรือ ก็เมื่อเปล่าทีเดียว  ไฉนจึงจะทรงพระดำริ
ผิดไปฉะนี้เล่า ขอถวายพระพร
             ฝ่ายพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากร  จึงตรัสว่าเมื่อเป็นไปอย่างนี้เล่า  พระผู้เป็นเจ้าจะเห็น
เป็นกระไร  จงวิสัชนาไปในกาลบัดนี้
             พระนาคเสนจึงมีวาจาถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ
ยิ่งมิ่งมหาศาล  เปรียบปานเหมือนอาตมาฉะนี้แล เมื่อยังเป็นทารกอยู่ก็ตัวอาตมา  ครั้นว่าจำเริญ
ใหญ่มาก็ตัวของอาตมา  จะได้กลับกลายเป็นอื่นหามิได้  เมื่อบพิตรตรัสว่า  เมื่อน้อยๆ เป็นผู้นี้
เมื่อใหญ่เป็นผู้อื่น  ก็ถ้าเมื่อเล็กนั้นตีนด้วน  หัวด้วน  หูฉีก  ปากแหว่งก็ดี  ถ้าใหญ่ขึ้นกลายเป็น
อื่นได้ก็จะกลับกลายมีกายเป็นปรกติหาตำหนิมิได้ นี้แหละรูปเข้าใจแรกเกิดเป็นสตรีก็เป็นสตรี
เป็นชายก็เป็นชาย  ถึงมาตรว่าอุภโตพยัญชนกะที่ข้างเป็นชาย  ข้างแรมกลายเป็นสตรีนั้นก็ดี
ดวงจิตก็ดวงเดียว รูปก็เดียวนั้น จะได้เป็นอื่นหามิได้  เช่นอาตมาฉะนี้  เมื่อน้อยก็ตัวอาตมา
เมื่อใหญ่จนได้บรรพชานี้ก็ตัวอาตมา  ขอถวายพระพร
             สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากรจึงตรัสประภาษว่า  โยมนี้ยังสงสัย  นิมนต์พระผู้เป็น
เจ้าอุปมาอุปไมยให้แจ้งก่อน
             พระนาคเสนถวายพระพรว่า  มหาราช  ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ปานประดุจ
ประทีปอันเดียวบุคคลตามไว้แต่หัวค่ำจนรุ่ง  จึงใส่ไส้เติมน้ำมันไปกว่าจะรุ่ง ตามไว้เมื่อปฐม-
ยามนั้นจะเป็นประทีปอื่น หรือว่าในมัชฌิมยามมิใช่ประทีปนั้น เป็นประทีปอื่น  หรือว่าในปัจฉิม-
ยามล่วงแล้วมิใช่ประทีปนั้น  จะได้เป็นประทีปอันอื่นหรือประการใด
             พระเจ้ามิลินท์ปิ่นสาคลนครจึงมีพระบวรราชโองการตรัสว่า จะเป็นประทีปอื่นหามิได้
ประทีปในปฐมยามตามไว้ก็เป็นประทีปอันนั้น เมื่อมัชฌิมยามตามอยู่ก็ประทีปอันนั้น  เมื่อ
ปัจฉิมยามตามไว้ก็ประทีปอันนั้น  จะได้เป็นประทีปอันอื่นหามิได้
             พระนาคเสนเจ้าซักถามว่า  เพราะเหตุอะไรเล่า  มหาบพิตรพระราชสมภาร
             สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์จึงมีพระราชโองการแก้ว่า  เพราะเหตุว่าประทีปอันเดียวตามไว้

   พระนาคเสนถวายพระพรว่า  ประทีปอันเดียวตามไว้มิได้กลายเป็นอื่นไป  ยถา  มีครุวนา
ฉันใดก็ดี ธรรมสันตติสืบสายแห่งรูปธรรมนามธรรมขอสัตว์ที่เกิดมาด้วยจิตปฏิสนธิคือจิตเกิด
มานั้น และสืบสายแห่งรูปธรรมนามธรรมนี้  เดิมเมื่อยังไม่ปฏิสนธิคือยังไม่เกิดมานั้น เมื่อจะ
บังเกิดเมื่อจะดับก็ดี  ธรรมอันอื่นจะเกิดก็ดี  ธรรมอันอื่นจะดับก็ดี  ครั้นปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น
รูปธรรมกับนามธรรมนี้  ก็เกิดขึ้นพร้อมกันไม่ก่อนไม่หลังกัน  สัตว์ที่เกิดมาด้วยจิตปฏิสนธินั้น
ถึงจะจำเริญใหญ่แก่เฒ่าไปประการใดก็ดี น จ อญฺโญ จะได้เป็นจิตอื่นรูปอื่นหามิได้  คือปัจฉิม-
วิญญาณจิต  จิตแรกปฏิสนธิเกิดมานั้น จะได้เป็นสัตว์อื่นจิตอื่นหามิได้  ก็จิตดวงเดียวเมื่อเกิดนั้น
เหมือนประทีปดวงเดียวตามไว้ตั้งแต่ปฐมยามตราบเท่าปัจฉิมยามนั้น  ขอถวายพระพร
             ขณะนั้นพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากร  มีพระบวรราชโองการตรัสว่า  ปัญหานี้โยมยังสงสัย
นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าอุปมาอุปไมยให้ภิยโยภาวะยิ่งไปกว่านี้
             พระนาคเสนจึงถวายอุปมาสืบไปอีกเล่าว่า  มหาราช  ดูรานะบพิตรพระราชสมภารเจ้าผู้
ประเสริฐยิ่งมิ่งมหาศาล  ขอถวายพระพร  เปรียบปานประดุจน้ำนมโค  ที่บุคคลรีดแล้วใส่
ภาชนะขังไว้นาน  เวลากาลล่วงไปก็กลายเป็นทธิ แล้วนานเข้าก็เป็นนวนีตะเป็นเปรียงไป  ก็คน
ทั้งหลายจะเรียกอย่างไร จะเรียกว่านวนีตะใช่น้ำนม  ทธิใช่น้ำนม  เปรียงใช่น้ำนม  จะเรียกฉะนี้
หรือประการใด
             พระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดีตรัสว่าหามิได้  เขาไม่เรียกอย่างนั้น  เขาก็เรียกว่าน้ำ
นมนวนีตะ นมทธิ  นมเปรียง  อาศัยน้ำนมเดิมนั้น
             พระนาคเสนถวายพระพรว่า ฉันใดก็ดี  ธรรมสันตติคือสืบต่อเป็นรูปธรรม  นามธรรม
ตั้งขึ้นเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นจิตแล้วจะจำเริญวัยใหญ่โตแก่เฒ่าไปประการใด  ก็ถึงซึ่งคงเรียกว่าจิตแรก
เกิดนั้น จะเป็นจิตอื่นจะเป็นผู้อื่นไปหามิได้  อุปไมยดุจนมโคอันกลายเป็นนวนีตะเป็นเปรียงนั้น
ใช่อื่นคือนมนั่นเอง  ขอบพิตรพระราชสมภารจงทราบพระญาณเถิด  ขอถวายพระพร
             พระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นประชากรได้ฟังก็ยินดีปรีดา มีพระราชโองการตรัสว่า พระผู้เป็นเจ้า
อุปมานี้สมควรกับปัญหาในกาลบัดนี้

ธัมมสันตติปัญหา คำรบ ๑ จบเท่านี้

กระทู้ถามตอบเรื่องราวประมาณนี้ https://pantip.com/topic/35598328/comment15


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 22, 2017, 03:24:52 PM
๑๐. ผู้ที่ตายไปแล้วหากกลับมาเกิดอีกจะยังเป็นคนเดิมหรือเป็นคนอื่น
พระยามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน ผู้ที่ตายไปแล้วกลับมาเกิดอีก เขาจะคงเป็นผู้นั้น หรือว่าเปลี่ยนไปเป็นอีกคน
พระนาคเสนทูลตอบว่า จะว่าเป็นผู้นั้นก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นอีกคนหนึ่งก็ไม่ใช่
พระยามิลินท์ : ขอเธอจงเปรียบเทียบให้ฟัง
พระนาคเสน : อาตมาภาพขอทูลถามว่า เมื่อพระองค์ยังทรงพระเยาว์บรรทมอยู่ภายในพระอู่ กับเมื่อพระองค์ทรงพระเจริญวัยเป็นผู้ใหญ่ขึ้นในบัดนี้นั้น จะนับว่าเป็นพระองค์เดียวกันหรือต่างพระองค์กัน
พระยามิลินท์ : ต่างกันเป็นคนละคนทีเดียว
พระนาคเสน : ถ้าเป็นอย่างนั้น บิดามารดาของบุคคลหนึ่งๆ ก็มีหลายคนและมีลูกหลายครั้งน่ะสิ เช่นเมื่อยังเป็นเด็ก บิดามารดามีลูกคนหนึ่งเติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาว ก็เป็นลูกอีกคนหนึ่ง ถึงปูนแก่เฒ่า ก็เป็นลูกอีกคนหนึ่ง
พระยามิลินท์ : หาเป็นเช่นนั้นไม่ แต่ถ้าเป็นเธอถูกถามเข้าบ้าง เธอจะตอบว่าอย่างไร
พระนาคเสน : อาตมาภาพก็ตอบว่า อาตมาภาพนี่แลเป็นเด็ก อาตมาภาพนี่แลเป็นผู้ใหญ่ อาศัยร่างกายอันนี้แล จึงนับว่าเป็นคนคนเดียวกัน
พระยามิลินท์ : ขอเธอจงเปรียบให้ฟังอีก
พระนาคเสน : การจุดโคมไฟ เขาอาจจะตามไว้ตลอดรุ่งได้มิใช่หรือ
พระยามิลินท์ : ได้สิเธอ
พระนาคเสน : เปลวไฟในยามที่ ๑ กับในยามที่ ๒ เป็นเปลวไฟอันเดียวกันหรือมิใช่
พระยามิลินท์ : ไม่ใช่
พระนาคเสน : และเปลวไฟในยามที่ ๒ กับในยามที่ ๓ ก็เป็นเปลวไฟอันเดียวกันหรือมิใช่
พระยามิลินท์ : ไม่ใช่
พระนาคเสน : ขอถวายพระพร หรือเปลวไฟในยามทั้งสามนั้น ในยามหนึ่งๆ เป็นเปลวไฟอย่างละชนิด
พระยามิลินท์ : หามิได้
พระนาคเสน : นั่นแลฉันใด ความสืบเนื่องแห่งรูปธรรมนามธรรมก็ฉันนั้น อันหนึ่งดับ อันหนึ่งก็เกิดขึ้นแทน สืบเนื่องกันเรื่อยๆ ไป เพราะฉะนั้น ผู้ที่ตายแล้วกลับมาเกิดอีก จะว่าเป็นผู้นั้นก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นอีกคนหนึ่งก็ไม่ใช่
พระยามิลินท์ : เธอเปรียบน่าฟัง
ที่มา : หนังสือ รู้ก่อนตายไม่เสียดายชาติเกิด โดย พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี)



- ตอนที่ ๖ -

 มิลินทปัญหา วรรคที่ ๒
 ปัญหาที่ ๑ ถามความสืบต่อแห่งธรรม
   สมเด็จพระเจ้ามิลินท์บรมกษัตริย์ พระบาทท้าวเธอได้ตรัสถามปัญหาต่อไปว่า
    “ ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ใดเกิดก็เป็นผู้นั้นหรือว่ากลายเป็นผู้อื่น? ”
     พระเถระถวายพระพรตอบว่า
     “ ไม่ใช่ผู้นั้น และไม่ใช่ผู้อื่น ”
     “ โยมยังสงสัยขอนิมนต์อุปมาก่อน ”
     “ ขอถวายพระพร มหาบพิตรเข้าพระทัยว่าอย่างไร…คือมหาบพิตรเข้าพระทัยว่า เมื่อมหาบพิตรยังเป็นเด็กอ่อน ยังนอนหงายอยู่ที่พระอู่นั้น บัดนี้ มหาบพิตรเป็นผู้ใหญ่แล้วก็คือเด็กอ่อนนั้น…อย่างนั้นหรือ? ”
     “ ไม่ใช่ พระผู้เป็นเจ้า คือเด็กอ่อนนั้นเป็นผู้หนึ่งต่างหาก มาบัดนี้โยมซึ่งเป็นผู้ใหญ่แล้วก็เป็นอีกผู้หนึ่งต่างหาก”
     “ มหาราชะ เมื่อเป็นอย่างนั้น มารดาก็จักนับว่าไม่มี บิดาก็จักนับว่าไม่มี อาจารย์ก็จักนับว่าไม่มี ผู้มีศีลก็จักนับว่าไม่มี ผู้มีศิลปะก็จักนับว่าไม่มี ผู้มีปัญญาก็จักนับว่าไม่มีทั้งนี้เพราะอะไร…เพราะว่ามารดาของผู้ยังเป็น กลละ อยู่ เป็นผู้หนึ่งต่างหาก มารดาของผู้เป็น อัพพุทะ คือผู้กลายจากกลละ อันได้แก่กลายจากน้ำใส ๆ เล็กๆ มาเป็นน้ำคล้ายกับน้ำล้างเนื้อ ก็ผู้หนึ่งต่างหากเมื่อผู้นั้นกลายเป็นก้อนเนื้อ มารดาก็ผู้หนึ่งต่างหาก เมื่อผู้นั้นกลายเป็นแท่งเนื้อ มารดาก็เป็นอีกผู้หนึ่ง เมื่อผู้นั้นยังเล็กอยู่ มารดาก็เป็นผู้หนึ่งอีกต่างหาก เมื่อผู้นั้นโตขึ้น มารดาก็เป็นอีกผู้หนึ่งต่างหาก อย่างนั้นหรือ…ผู้ศึกษาศิลปะ ก็เป็นผู้หนึ่งต่างหาก ผู้สำเร็จการศึกษาแล้วก็เป็นผู้หนึ่งต่างหาก ผู้ทำบาปกรรมก็เป็นผู้หนึ่งต่างหาก ผู้มีมือด้วนเท้าด้วน ก็เป็นผู้หนึ่งต่างหาก อย่างนั้นหรือ ? ”
     “ ไม่ใช่อย่างนั้น ผู้เป็นเจ้า ในเมื่อโยมกล่าวอย่างนี้ ส่วนพระผู้เป็นเจ้าจะกล่าวว่าอย่างไร ? ”
     “ ขอถวายพระพร เมื่อก่อนอาตมายังเป็นเด็กอ่อนอยู่ บัดนี้ ได้เจริญเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ อวัยวะทั้งปวงนั้น รวมเข้าเป็นอันเดียวกัน เพราะอาศัยกายอันนี้แหละ ”
     “ ขอได้โปรดอุปมาด้วย ”
     “ มหาราชะ เปรียบเสมือนว่า บุรุษคนหนึ่งจุดประทีปไว้ ประทีปนั้นจะสว่างอยู่ตลอดคือหรือไม่ ? ”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ประทีปนั้นต้องสว่างอยู่ตลอดคืน”
     “ มหาราชะ เปลวประทีปในยามต้น ก็คือเปลวประทีปในยามกลางอย่างนั้นหรือ? ”
     “ ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ เปลวประทีปในยามกลาง ก็คือเปลวประทีปในยามปลายอย่างนั้นหรือ ? ”
     “ ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ มหาราชะ เปลวประทีปในยามต้น ก็เป็นอย่างหนึ่ง เปลวประทีปในยามกลาง ก็เป็นอย่างหนึ่ง เปลวประทีปในยามปลาย ก็เป็นอย่างหนึ่ง อย่างนั้นหรือ ? ”
     “ ไม่ใช่อย่างนั้น ผู้เป็นเจ้า คือเปลวประทีปนั้นได้สว่างอยู่ตลอดคืน ก็เพราะอาศัยประทีปดวงเดียวกันนั้นแหละ ”
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ ธรรมสันตติ ความสืบต่อแห่งธรรม ย่อมสืบต่อกัน เมื่อสิ่งหนึ่งเกิด สิ่งหนึ่งดับ ย่อมติดต่อกันไม่ก่อนไม่หลัง เพราะฉะนั้น จะว่าผู้นั้นก็ไม่ใช่ จะว่าผู้อื่นก็ไม่ใช่ ย่อมถึงซึ่งการจัดเข้าในวิญญาณดวงหลัง ขอถวายพระพร”
     “ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก ”
     “ มหาราชะ ในเวลาที่คนทั้งหลายรีดนม นมสดก็กลายเป็นนมส้ม เปลี่ยมจากนมส้มก็กลายเป็นนมข้ม เมื่อเปลี่ยนจากนมข้น ก็กลายเป็นเปรียง ผู้ใดกล่าวว่า นมสดนั้นแหละคือนมส้ม นมส้มนั้นแหละคือนมข้น นมข้นนั้นแหละคือเปรียง จะว่าผู้นั้นกล่าวถูกต้องดีหรืออย่างไร ? ”
     “ ไม่ถูก พระผู้เป็นเจ้า คือเปรียงนั้นก็อาศัยนมสดเดิมนั้นแหละ”
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ธรรมสันตติ คือความสืบต่อแห่งธรรม ก็ย่อมสืบต่อกันไป อย่างหนึ่งเกิด อย่างหนึ่งดับ สืบต่อกันไปไม่ก่อนไม่หลัง เพราะฉะนั้น จะว่าผู้นั้นก็ไม่ใช่ จะว่า ผู้อื่นก็ไม่ใช่ ว่าได้แต่เพียงว่า ถึงซึ่งการสงเคราะห์เข้าในวิญญาณดวงหลังเท่านั้น ขอถวายพระพร ”
     “ พระผู้เป็นเจ้าแก้ไขนี้สมควรแล้ว ”
   This download is available to users running genuine Microsoft Windows. Click the icon for more information.   สรุปความ   
      
ปัญหานี้พระเจ้ามิลินท์เข้าใจว่า คนที่เกิดมาแล้วจากเด็กมาเป็นผู้ใหญ่ ท่านเข้าใจว่าเป็นคนละคนกัน
  พระนาคเสนจึงชี้แจงว่า ความจริงก็เป็นคนเดียวกัน แต่ที่ท่านตอบว่า จะเป็นผู้นั้นก็ไม่ใช่จะเป็นผู้อื่นก็ไม่ใช่นั้น ก็เพราะอาศัย สันตติ ความสืบต่อกัน เปรียบเหมือนเปลวไฟและนมสดที่เปลี่ยนไป
  เมื่อเปลี่ยนไปแล้ว จะว่าเป็นของเดิมก็ไม่ได้ จะว่าเป็นของอื่นก็ไม่ใช่ แต่ต้องอาศัยความสืบต่อกันไป เหมือนกับร่างกายที่เกิดมาก็อาศัยอวัยวะเดิมแลัวค่อยเปลี่ยนแปลง เติบโตขึ้นมาจนกว่าจะแก่เฒ่าไป ก็ชื่อว่าเป็นบุคคลเดียวกันนั่นเอง


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 25, 2017, 09:28:24 AM
จากมิลินทปัญหา - ตอนที่ ๖ - มิลินทปัญหา วรรคที่ ๒ - ปัญหาที่ ๑ ถามความสืบต่อแห่งธรรม (สันตติธรรม)

       ทำให้เห็นชัดถึงวิญญาณธาตุ หรือ จิตเดิม หรือ มนะ หรือ มโน นี้ได้ชัดเจนขึ้น ดังที่ครูบาอาจารย์ หลวงปู่บุญกู้ เป็นต้น สอนไว้ว่า ธาตุ ๖ จิตเรานี้ท่องเที่ยวไป เกิดเป็นสัตว์บ้าง เป็นคนบ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง เป็นสัตว์นรกบ้าง เป็นเทวดาบ้าง เป็นเทพบ้าง เป็นคนบ้าง อาศัยเพราะมีทานจึงมีมิตรที่ทรัพย์บริวาร อาศํยมีศีลจึงได้เกิดเป็นคน อาศัยภาวนาจึงมีปัญญาไม่โง่ เป็นวิบากกรรมแห่งกุศลสะสมมาเป็นแดนเกิด เข้ายึดครองขันธ์ ๕ ต่างๆดังกล่าวนี้ ทั้งงาม ประณีต หยาบ ไม่งาม ก็ล้วนแล้วแต่กรรมนำไปเ)็นแดนเกิด เป็นที่พึ่งพาอาศัย
       ก็พอเมื่อมโนเรานี้ ถึงความปฏิสนธิหยั่งลงสู่ครรภ์ของมารดา จิตแรกที่เกิดปฏิสนที่มาอาศัยธาตุ ๕(ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ ไม่รวมวิญญาณเพราะกล่าวแยกวิญญาณธาตุ คือ มโน ออกมา) ที่พ่อแม่สร้างมาให้เราอาศัยกำเนิดเป็นคน ก็นับเอาความเป็นบุคคลนั้นๆตั้งแต่นั้นสืบมา พร้อมกับธาตุ ๕ ที่เป็นกายเรานี้ก็เติบโตขึ้นมาพร้อมๆกันนั้นเอง ความแปรเปลี่ยนทางกายธาตุ ๕ มีความเกิดดับของมันเป็นธรรมดาตามกาล อาหาร อุณหภูมิ จากแม่ จนเมื่อโตคลอดออกมาก กาบนี้ก็เป็นทารก ดับความเป็นทารถ ธาตุ ๕ ได้รับการดูแลบำรุงก็เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ความเกิดดับที่สืบต่อกันไม่ก่อน ไม่หลัง ความเป็นสันตติธรรมที่ใจเข้าบึดครองเบื้องต้นอธิบายให้เข้าใจง่ายได้ดังนี้ ดังนี้แลครูบาอาจารย์ท่านจึงกล่าวว่า จิตนี้ไม่ตาย จิตนี้ท่องเที่ยวไป กล่าวถึงวิญญาณธาตุในธาตุ ๖ คือ ปฏิสนธิจิตดังนี้



       หลวงหน้าสอนเราเมื่อวันที่ 8/6/59 ตอนเข้าไปหาหลวงหน้าแล้วบอกว่าเราทำสมาธิไป แล้วเข้าไปเจอจิตที่มันสว่างไสวเหมือนดวงอาทิตย์สีทองใหญ่มาก มันอิ่มเิบ จนเต็มแล้ว โดยนิมิตที่เห็นนั้นมีเพียงจิตที่ใหญ่มากมองไม่สิ้นสุดเหมือนเราอยู่บนตึกมองเห็นสิ่งรอบตัวไปไม่สิ้นสุด แล้วจิตมันก็สำรอกเอาความรัก ความชัง ความหลงออกมาด้วยความหน่าย เมื่อมีสิ่งที่เกิดขึ้น ดับไป หรือพุ่งขึ้นแล้วพังลง จิตมันสลดสังเวช หน่าย พร้อมสำเนียกด้วยตัวมันเองว่าคนเรานี้โง่หนอไปไปทุกข์กับสิ่งไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน แปรปรวนเป็นไปของมันเป็นธรรมดา เข้าไปจับ รั้งบังคับให้เป็นดังใจก็ไม่ได้แม้กระทั่งภายในกายตนนี้เอง ซึ่งเป็นอาการที่เห็นในฌาณ มีความคิดสลับกับไม่มีความคิด นิ่งมีแต่รู้สำเนียก ความรุ็ แช่เพ่งอยู่ พอมารู้ตัวก็กลับมาคิดได้ไม่เกิน 2-3 คำ ก็ดับลงอีก หลวงน้าก็หัวเราะแล้วพูดในเชิงที่ว่ามันไม่ใช่ อย่าไปอุปาทานมัน ให้รู้ ปรกติ วาง พร้อมสอนว่าจิตนี้เหมือนหลอดไฟนั้นแหละ เมื่อมีสิ่งมากระทบก็เหมือนเปิดสวิซท์มันใช้งาน เมื่อจิตพักก็เหมือนปิดสวิซท์ มันก็ติดๆ ดับๆไปเรื่อย แต่เราเห็นว่าจิตแล้วมันสว่างก็ดีแล้ว แต่อย่าไปยึดมัน อาการของจิตมีอยู่นนับบล้านๆอย่าง มันแค่อาการหนึ่งๆของจิตที่มีอยู่นนับล้านเท่านั้น รู้ ปรกติ วาง
       แต่โดยส่วนตัวเราแล้วหากไม่หลงผิดไปนั้น เพราะได้เห็นในฌาณดังนี้..จึงได้อาโลกะสัญญา อาโลกะกสิน วิญญาณกสินมา ในขั้นฝึกหัดเริ่มต้น (เพราะคนที่เข้าได้กสินแท้ๆแล้วจะเปลี่ยนมืดเป็นสว่าง สว่างเป็นมืดก็ได้ ปิด-เปิดสวิซท์รับรู้จิตได้) เห็นวิญญาณธาตุไม่ใช่ตัวเกิดดับ ตัวที่เกิดดับคือจิต มโนวิญญาณธาตุ วิญญาณขันธ์ ที่มันสุมรวมสมมติปรุงแต่งขึ้นมาให้รู้ความหมายในสิ่งนั้นๆแล้วมันก็ดับไป ซึ่งของแต่จริงของวิญญาณขันธ์ มันไม่มีรูปร่าง ไม่มีอะไร ไม่มีตัวตน แค่เกิดขึ้นมาให้รู้สมมติ แล้วมันก็ดับไป
       หากเราไม่หลงผิดทางนี้ ได้เคยทำอากาศกสินในสมัยก่อนนี้ โดยเพ่งที่ว่างอัดเป็นวงขยาย เหมือนพลังคลื่นเต่า พลังจิต แล้วก็รู้สึกมันอัดแน่น ก็เหมือนจะทำอากาศขึ้นเป็นลมที่พองออกได้ ยุบได้ เพิ่งมารู้ในสมัยปฏิบัติว่า มีอากาศกสิน ที่ว่างไม่มีสิ้นสุดอันธาตุไม่สัมผัสกัน และ ยุบ-พอง ยุบหนอ พองหนอ ท่านเอาคุณของธาตุลมมาพิจารณา คือ ธาตุลม เป็น ลมกสิน
รวมอาโลกะสัญญา วิญญาณกสิน อากาศกสิน ความสงบนิ่ง คุณพระนิพพาน อุปสมานุสสติ ความดับ ความสละคืน จากอุเบกขาหรือความว่างมีมากในใจ ลงกสินเป็น อากาศมีมากในใจ



       เพราะความจริงวิญญาณ คือ ธาตุรู้ นั้นมีมากจำแนกเป็นหลายอย่าง พระอาจารย์(.ครูบาอาจารย์ท่านหนึ่ง.) ได้สอนเราไว้ว่า เรานี้ต้องรู้จักว่า วิญญาณครองเป็นไฉน วิญญาณตัวไหนที่เป็นตัวท่องเที่ยวไป เหมือนกับเรารู้กาย มีกายครอง และ จิต มีจิตครอง




หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 25, 2017, 10:31:14 AM
ละวิญญาณขันธ์

การรู้จิต จิตเป็นตัวคิด ธรรมชาติใดคิดธรรมชาตินั้นชื่อว่าจิต ก็จิตที่เป็นตัวคิดนี้แหละกามจึงเกิด นันทิ ราคะ จึงมี การที่เราจะอยู่เหนือความคิดนี้ได้ จิตเราก็ต้องสูงกว่า ราคะ โทสะ โมหะ จิตจะสูงเหนือกว่าสมมติกิเลสเหล่านี้ได้ ก็ต้องอยู่ในที่ๆตะกอนกิเลสเอื้อมขึ้นไม่ถึง ดังนี้แล้ว ก็เปลี่ยน สัญญา สันดาร โดยมากมันมักคิดเกินกว่าที่เห็น ได้ยิน ได้กลิน ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสกาย สัมผัสใจ ก็ต้องดึงจิตออกมาให้อยู่เหนือมัน ใกห้มันเกิดขึ้นแล้วสำรอกมันออกจากจิต เสพย์ ไม่หวั่นไหว ไม่ข้องแวะ ไม่เผลอไผลไหลตาม ทำปัจจุบันให้แจ้ง ปัจจุบันนั้นแหละทำให้จิตเราสูงเหนือความคิดสมมติกิเลส


สะสมเหตุในมรรคให้เป็นสันดาร อบรมกรรมฐานให้อินทรีย์มีกำลัง

- เมื่อเราเกิดรู้สมมติกิเลสมีขึ้นแก่ตน เห็นตัวทุกข์เกิดขึ้น
- พึงรู้ว่าเราใจเรานี้อยู่เสมอหรือต่ำกว่าสมมติกิเลสเหล่านั้น ทำให้มันกลืนกินใจเราใจ เหมือนราหูอมจันทร์ ดังนั้นเราจะต้องไปไกลกว่ามัน 1 ก้าว จนถึง 100 ก้าว หรือใหญ่กว่าที่กิเลสมันจะกลืนกินเราได้
- เราจะทำไฉนให้ห่างออกจากมัน ลองหวนระลึกดูว่าเวลาที่เราไม่ติดใจข้องแวะสิ่งไรๆ เรามีความตรึกนึกคิดในสมมติกิเลสต่อสิ่งนั้นหรือไม่ ก็ไม่มี ก็เฉยๆ เราก็ไม่เร่าร้อน ดังนี้แล้วแน่นอนคือความนั่นเองทำให้สมมติกิเลสปะทุขึ้นให้ใจเร่าร้อน เราก็ควรจะละความคิดนั้นๆไปเสีย
- กรรมฐานมีมากมาย 40 กอง ล้วนแล้วแต่เอาไว้พักจิต พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ อานาปานสติ มรณัสสติ กายคตาสติ อุปสมานุสสติ หรือกองอื่น พรหมวิหาร ๔ เจโตวิมุตติ เป็นต้น
- ทำความรู้ตั้งมั่นสักแต่ว่ารู้ไว้ในใจ ไม่ให้ความสำคัญไรๆกับมัน มันแค่สมมติ จิตรู้สิ่งใดมีความคิดสิ่งนั้นล้วนรู้ด้วยสมมติทั้งหมด ไม่ยึดจิตก็ไม่ยึดสมมติ ไม่ทุกข์ร้อน ไปจนถึงไม่ยึดจับเอาอะไรเลยนอกจากลมหายใจที่กำลังเข้า กำลังออกนี้แหละของจริง วาโยธาตุในกายเ)็นกายสังขาร
- เมื่อรู้ว่าใจตนนี้กำลังมันน้อย ทานไม่ได้ หรือได้บ้างไม่ได้บ้าง เผลอไผลบ่อยๆบ้าง เราก็ต้องรู้ว่าความเห้นนี้ๆมันเป็นแค่ทางเท่านั้น เรายังไม่ได้เดินตามทางแท้ๆมันเลยได้แค่รู้กับคิดเอาเท่านั้น เราต้องสะสมอบรมจิตให้ไปตามเหตุ เพื่อให้จิตมีกำลังเดินไปในผลได้ตามจริง สิ่งใดที่ทำให้ฉลาดกในกายปล่อยวางมันได้เล่า ความอิ่มเต็ม หน่าย ไม่แสวงหา ความเย็นใจ ไม่เร่าร้อน กิเลสย่อมน้อย ใจผ่องใสย่อมไร้กิเลส มันก็คือ ทาน สีล ภาวนานี้เอง
- การจะยัง ทาน สีล ภาวนาไว้ได้ตลอดนี้ ก็ต้องรู้ปัจจุบันขณะของตน แล้วอะไรทำให้รู้ได้เล่าปัจจุบันนั้น มีสติก็รู้ปัจจุบัน สิ่งที่เกื้อกูลคู่สติก็คือสัมปะชัญญะ เราก็ทำสัมปะชัญญะให้แจ้ง รู้กิจการงานที่ทำในปัจจุบัน รู้อิริยาบถเป็นต้น จัดเป็น สัมปะชัญญกายานุปัสสนาทั้งสิ้น ดังนี้แลทำความรู้ตัว รู้ใจบ่อยๆ คู่กับรู้ลมหายใจ การรู้ลมอยู่ทุกขณะ เป็นกิริยาจิตของพุทโธ เป็นกิริยาจิตของผู้ทรงฌาณ เมื่อทรงฌาณนิวรณ์ย่อมอ่อน ย่อมดับ ย่อมดับ ย่อมตกเป้นเพียงตะกอนเพราะไม่มีเหตุให้สืบต่อ เมื่อทำความรู้นี้ๆเสมอกันไปด้วยใจรู้ว่าเป็นการเอาใจเราก้าวข้ามความคิด อยู่สูงเหนือสมมติความคิดกิเลสทั้งปวง ย่อมมีคุณเป็นอันมาก


สะสมเหตุพละ ๕ ในมรรคให้เป็นสันดาร อบรมกรรมฐานใช้ชีวิตประจำวัน

ราคะ โทสะ โมหะเกิด ให้รู้ตัวว่าธรรมอันเร่าร้อนประกอบไปด้วยทุกข์เกิดมีแก่ใจตน
- เราไม่ได้มีหน้าที่เสพย์ มีหน้าที่แค่รู้เท่านั้น
- ทำใจให้อยู่เหนือ โลภ โกรธ หลง
- เมื่อจะกระทำไรๆต่อมันให้มองหาประโยชน์จากมัน

เมื่อเกิด ราคะ โทสะ โมหะ ตอนขณะพบประ พูดคุย สนทนา
ก. มองดูความประโยชน์จากมันว่า ใจเรานี้ยังไม่สัอาดผ่องใส กอปรประชุมอยู่ด้วยกิเลสในจิต เอากิเลสมาเป็นเครื่องอยู่ของมัน นี่ใจเราอยู่สูงเหนืออารมณ์สมมติกิเลสไป 1 ก้าวแล้ว
ข. ให้มองดูสิ่งที่ทำให้มันเกิดมีขึ้นเราจะรู้ว่า เหตุให้มันเกิดขึ้นเพราะอะไร ติดใจข้องแวะสิ่งไหน เพราะอะไร นี่ใจเราก้าวข้ามอยู่สูงเหนืออารมณ์สมมติกิเลสไป 2 ก้าวแล้ว
ค. ฝ่ายตรงข้าม บุคคลเหล่านั้น สัตว์นั้น สิ่งนั้นๆ ที่ทำให้เราได้รู้เห็น ที่ทำให้เราได้รู้เราได้ยิน ที่ทำให้เราได้รู้เราลิ้มรส ที่ทำให้เราได้รู้สัมผัสกาย ที่ทำให้เราได้รู้สัมผัสใจอย่างนั้นๆเพื่ออะไร ทำกาย วาจา ใจ กระทบเราอย่างนี้ๆด้วยเหตุใด เขามีอะไรที่ร้อนเร่าในใจอยู่จึงแสดงออกมาอย่างนั้น เขาต้องการจะสื่ออะไร มีความต้องการของใจอย่างไร นี่ทำให้เรามองข้ามเหนืออารมณ์สมมติกิเลสขึ้นมาอีกก้าวแล้ว ใจเราก้าวข้ามอยู่สูงเหนือกว่าอารมณ์สมมติกิเลสไป 3 ก้าวแล้ว
ง. เมื่อทำตามข้อ ก. ข. ค. ย่อมเห็นเหตุที่มากระทบ เมื่อรู้แล้วเราก็ทำใจเหมือนเดาใจ ทบทวนแนงทาง เทียบเคียง จากอนุมานคาดคะเนเดาใจ จนเข้าข่ายสถิติตามความจริงในสิ่งต่างๆทางกาย วาจา ใจ ที่เราจะใช้โต้ตอบ เพื่อตอบสนองความต้องการในใจของฝ่ายตรงข้าม นี่แสดงว่าใจเราก้าวข้ามอยู่สูงเหนือกว่าอารมณ์สมมติกิเลสไป 4 ก้าวแล้ว
จ. เมื่อได้ แนวทางการพูด การทำที่ตะตอบโต้ตอบสนองใจเขาแล้ว กา่อนที่เราจะทำต้องกรองด้วยใจผ่องใส ไม่เบียดเบียนทำร้ายใครก่อน โดยการพิจารณาดังนี้
- พิจารณาเห็นคุณในสิ่งที่เรากำลังคิดจะพูด คิดจะทำอยู่นั้น
- พิจารณาเห็นโทษในสิ่งที่เราคิดจะพูด คิดจะทำอยู่นั้น
ฉ. พิจารณาจากสภาพจิตใจ อุปนิสัยของเขา อนุมานคาดคะเนเทียงเคียงความเป็นไปได้เมื่อเขาจะตอบสนองหรือโต้กลับเราในทางต่างๆทั้งดีและร้าย คุณและโทษต่อเขา และเราในภายหน้า ไม่ใช่แค่จบการสนทนา แต่หมายถึงเมื่อเรื่องสืบต่อไปภายหน้า วันหน้า หรือกว้างไกลไปในที่อื่น เมื่อพิจารณาดังนี้ ขณะนั้นใจเราอยู่สูงเหนือกิเลสไปอีก 5 ก้าวแล้ว (แรกๆเหมือนยุ่งยากมากขั้นตอน หากเราอบรมจิตบ่อยๆ ทำบ่อยจนเป็นอุปนิสัยสันดาร พร้อมกับทำสมาธิให้จิตเราได้พักมากๆ บ่อยๆ จิตเราก็จะมีกำลัง ลำดับเส้นทางเดินของมันอย่างเป็นระเบียบโดยสันดาร ความจำได้หมายรู้ของมันเองอัตโนมัติ จิตมันจะไปไวมาก สมดั่งคำว่าจิตไปไวกว่าแสง ดังนี้จิตเราจึงขาดไม่ได้ซึ่ง
- ปัญญาเห็นชอบตามจริงเป็นองค์แรก ที่ 1 ที่ควรระลึกรู้เพื่อให้เกิดแนวทางมากมายในการแก้ไขปัญหา
- สืบต่อในการระลึกรู้ด้วยทาน ศีล ความอิ่มใจพอ ความไม่เบียดเบียน และสัมมัปปธาน ๔ เป็นองค์ที่ 2
- สืบต่อในการระลึกรู้ด้วยสมาธิภาวนาเป็นองค์ที่ 3 อบรมจิตให้เป็นกุศล ฉลาดในการปล่อยวาง ให้จิตได้พัก แช่ นิ่ง ว่าง ไม่ไหวติงกระเพื่อม ไม่รับรู้ นี่คือ.."จิตได้พัก"
- เมื่อครบองค์จิตจะทำงานเป็นระบบขึ้นหมดความคิดฟุ้งซ่าน หมดความคิดฟุ้งเฟ้อที่ไม่จำเป็น คิดน้อยลง เมื่อจะคิดก็คิดเป็นระบบในสิ่งนั้นๆจำเพาะ ได้ไว มีเป้าหมายตั้งต้นที่ชัดเจน และตรงมากกว่าที่เคยเป็น เห็นจริงมากขึ้น ตีออกนอกกรอบความคิดความจำสัญญาที่เป็นอัตตาทั้งปวงที่ทับถมปิดกั้นเราไว้ เพราะมันลำดับ เหตุ ผล คุณ โทษ และการโต้ตอบว่า ถ้าเกิดเราทำอย่างนี้ๆ เขาควรจะเป็นยังไง ถ้าเขาตอบโต้มาอย่างนี้ๆ เราจะตอบโต้ยังไง)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 28, 2017, 09:26:45 AM
    กายคตาสติ หรือ กายานุปัสสนามีอย่างไร สิ่งนั้นล้วนเป็นกายทั้งหมด ตั้งแต่ลมหายใจ สัมปะชัญญะ อิริยาบถ ทวัตติงสาการ ธาตุ อสุภะ ล้วนเป็นการทั้งสิ้น ถ้าทำใจคือตั้งความสงบปักดิ่งลงแน่นิ่งไม่ได้ ให้ดูกายดังข้างต้นนั้นนี้ จนเมื่อเข้าฌาณได้แม้ใน รูปฌาณ ๔ ก็เป็นกายทั้งสิ้น
    จะพ้นกายก็นับแต่ อากาศ, ใจ-มโน, ละอุปาทานทั้งปวงไม่ยึดเอาอะไรทั้งสิ้น, ความปราศนิวรณ์สัญญา-สันดารเดิมแต่ก็ไม่ใช่ไม่มีความจำ เพราะยังมีความรู้เข้าใจจำได้อยู่, นิโรธสมาบัติดับ

- ความว่างจากกาย ความสละคืนกาย(ธาตุขันธ์) ความไม่มีกาย ไม่ยังกายอยู่อีกนี้ๆเป็นสุข
- จิตตั้งอยู่ภายในจิต จิตจับในจิต ไม่จับเอาสิ่งใด สุขในจิตจึงพรั่งพรู
- ไม่ยึดเอาอะไรทั้งนั้น ทุกสิ่งล้วนสมมติทั้งสิ้น
- นิโรธสมาบัติ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กันยายน 28, 2017, 03:57:32 PM
ทานกับฟังธรรม มันเป็นคนละส่วนกัน
ทาน คือ ให้
ฟังธรรม คือ ภาวนาเพิ่มปัญญาอบรมจิต

ศรัทธาคู่ปัญญา จึงเกิด ทาน ศีล ภาวนา ผมของความทำไว้ในใจโดยอยบคายด้วยปํญญาลงศรัทธา ทำให้เกิดมีความเพียรเป็นอานิสงส์

ความเพียรคู่สติ มีความระลึกรู้เท่าทันอยู่ทุกขณะที่เพียรอยู่ เมื่อมีสติสัมปะชัญญะกำกับรู้ตัวทั่วพร้อมในความเพียรนั้น ทำให้เกิดมีสมาธิตั้งมั่นแน่วแน่เป็นอารมณ์เดียวในสิ่งที่เพียรอยู่นั้นเป็นอานิสงส์

เมื่อมีสัมมาสติคู่สมาธิทำให้จิตได้พัก ไม่แล่นกระเพื่อมมั่วซั่วไปตามอารมณ์ที่มากระทบ ควาหดหู่ฟุ้งซ่านหมดไป ปัญญาความรู้มากมายเกิดมีขึ้น ลำดับร้อยเรียงเรื่ิองราวมากขึ้น จิตทำงานอย่างเป็นระบบหนุนความระลึกรู้และมองกว้างขึ้น จัดระเบียบความคิดในเหตุ ปัจจัย ผล ความน่าจะเป็นที่มีคุผณภาพดีขึ้นสูงขึ้น แต่ยัวเป็นเพียงทางโลกหรือโลกียะ เพราะเป็นระดับความคิด อุปมาอุปไมยเปรียบเทียบ อนุมานคาดคะเน จนเมื่อสติและสมาธิที่สมดับกลายเป็นอารมณ์เดียว ดิ่งลงแช่แนบนิ่งไม่ไหวติง นั่นคือจิตได้พัก จิตอิ่ม เป็นสุข มีกำลังอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องแล่นพล่านไปหาหรือเอาอารมณ์ไรๆที่มาตกกระทบใช้ยึดเหนี่ยวเป็นเครื่องอยูอาศัยของมัน จิตหยุดพล่าน จิตจะทำตัวสักแต่เป็นผู้รู้ เห็นของจริงต่างหากจากสมมติ อาศัยสัมมาสติกลั่นกรองแยกแยะ ลำดับเหตุ ปัจจัย ผล เห็นความเป็นไปตามจริงเกิดปัญญาเห็นธรรม จิตตื่นจากสมมติแล่นเข้าญาณคือมรรค(มัคสะมังคี) เป็นนิพพิทาญาน จิตแล่นเข้าญาณคือปัญญา แล่นตรงเข้าไปที่จิตเดิมแท้เพื่อชำระกิเลสคือ อวิชชา นิวรณ์ อกุศลมูล ๓ เป็นวิราคะสัมโพชฌงค์เข้าตัดอุปาทานสมมติทั้งปวง (ด้วยเหตุดังนี้สัมโพชฌงค์จึงมีแค่พระอริยะเท่านั้น พระอริยะเอาไว้ใช้ล้างขันธ์ดังนี้ ปุถุชนจะทำได้เพียงเข้าฌาณตามจุดโพชฌงค์ ๗ เท่านั้น) สิ่งที่ได้จากวิราคะคือผล คือวิมุตติ

เราเกิดมาลำบากเพื่อจะได้ศึกษาฝึกปรือเรียนรู้วิชา ใช้ชีวิตฝ่าฝันในหลายรูปแบบเพื่อให้ตนเองแกร่งกล้า ลับเขี้ยวเล็บตนเองให้คม เหมือนพระนเรศวร์มหาราช พระเจ้าตากสินมหาราช พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่๙ พระเจ้าอาเธอร์ ที่ต้องตกระกำลำบากก่อนเพื่อให้ได้เรียนรู้ฝึกปรือวิชาและความสามารถทั้งปวงในทุกๆด้านให้บริบูรณ์ เพื่อที่จะทวงคืนอิสระภาพ ประเทศชาติ และเพื่อปกครองชนทั้งหลายในภายหลังอย่างทรงธรรม และสามารถแก้ไขปัญหาพรัอมพัฒนาประเทศด้วยปัญญาอันกว้างไกลไร้ขีดจำกัดนั่นเอง

ความเพียร

ทางโลก เพียรเพื่อความสุขทางกาย ที่ใจอ่อนไหวไปยึดอารมณ์
ทางธรรม เพียรเพื่อความสุขใจที่ใจไม่ยึดอารมณฺ มีกำลังอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง

ทางโลก เพียรแสวงหาความต้องการทางกาย คือมีทรัพย์สินบริวารที่พร้อม
ทางธรรม เพียรแสวงหาเพื่อความต้องการของใจ คือถึงซึ่งความหลุดพ้นทุกข์

ทางโลก เพียรเพื่อสนองความต้องการให้ได้มาซึ่งสิ่งสมมติที่จิตรู้
ทางธรรม เพียรเพื่อสนองความต้องการหลุดพ้นซึ่งสมมติที่จิตรู้

ทางโลก เพียรเพื่อสนองเวทนาจากผัสสะที่มากระทบให้จิตรู้
ทางธรรม เพียรเพื่อละเวทนาจากผัสสะที่มากระทบให้จิตรู้

ทางโลก เพียรเพื่อได้ผัสสะที่รู้ทางสฬายตนะ
ทางธรรม เพียรเพื่อละผัสสะที่รู้ทางสฬายตนะ

ทางโลก เพียรเพื่อได้สิ่งที่จิตรู้
ทางธรรม เพียรเพื่อละสิ่งที่จิตรู้

ทางโลก เพียรยึดตัวรู้
ทางธรรม เพียรดับตัวรู้

ทางโลก เพียรสนองสันดาร (นิวรณ์)
ทางธรรม เพียรดับสันดาร (นิวรณ์)

ทางโลก เพียรสนองสันดร (อวิชชา)
ทางธรรม เพียรดับสันดร (อวิชชา)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กันยายน 28, 2017, 04:17:11 PM
..พระธรรมในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนนี้..
..เราสามารถนำมาใช้ในทางโลกได้ง่ายมาก เพราะมีสอนทั้งฆราวาส และ สมณะ..
..ซึ่งไม่ว่าในทางใดล้วนมีทั้ง จิตตวิทยา เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ บริหาร ดังนี้..

1. เราต้องรู้จักทุกข์ก่อน

 ทำไมจึงต้องกำหนดรู้ ด้วยเหตุดังว่า..ครอบครัว หมู่บ้าน ทีมงาน บริษัท ประชาชน ประเทศ เรามักจะเห็นผู้คนในสถานภาพต่างกัน บางคนมีเงินไม่มีบ้าน บางคนมีบ้านไม่มีเงิน บ่างคนมีที่แต่ทำกินไม่ได้ บางคนไม่มีที่แต่พยายามจะใช้ทำมาหากิน ประยุกต์ใช้ บางคนรวยล้นฟ้ามีทุกอย่าง บางคนขอทานกินไร้บ้าน บางคนมีครบแต่ขาดปัญญา บางคนไม่มีอะไรสักอย่างแต่มีปัญญา ด้วยเหตุอย่างนี้ๆเป็นต้นทำให้ทุกข์ของแต่ละคนไม่เท่ากัน และ ด้วยส่วยตัวของบุคคลนั้นแต่ละคนจะต่างกัน แม้มีสถานภาพเดียวกันแต่ก็ยังทุกข์ด้วยเหตุผลที่ต่างกัน นั่นเป็นเพราะจริตอุปนิสัยของตัวบุคคลนั้นต่างกัน ดังนั้นการจะดูแลเรื่องเศรษกิจต่างๆ เราต้องรู้ทั้วงส่วนบุคคล กลุ่มคนว่ามีความคิดต่าง ความเห็นตามตรงไหน ทัศนคติยังไง รวมถึงมองในสิ่งที่มีอยู่ คือ สถานะภาพครอบครัว บุคคล กลุ่มคน สิ่งแวดล้อม สภาพภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ สถานการณ์ของสังคม และการตลาดของเขาไปจนถึงระดับชาติ และระดับโลก มันจึงจำเป็นอย่างมากที่เราจะต้องเข้าถึงในคนหลายๆระดับ ทุกข์ของคนหลายๆรูปแบบ เพื่อจะเรียนรู้วิถีชีวิตของเขา หาข้อเด่น ข้อด้อยของเขา ภูมิความรู้ที่เขามี ความต้องการของใจ การตอบสนองความต้องการทางกายและใจเขา เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อตัวเขาเองและคนรอบข้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1.1 การกำหนดรู้ทุกข์ คือ การรู้จักธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต
ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตจำกัดความโดยรวมได้ดังนี้ว่า..

1. แปรปรวน, เปลี่ยนผันอยู่ทุกๆขณะจิต ไม่คงที่ กล่าวคือ..ธรรมชาติสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงในโลก ย่อมมีความรู้สึก มีความตรึกนึกคิดปรุงแต่ง นึกถึง ตรองถึง คำนึงถึงดังนี้
1.1 ความหน่วงนึกในอารมณ์ สุขกาย สุขใจ
1.2 ความหน่วงนึกในอารมณ์ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ
1.3 ความสำคัญมั่นหมายของใจ
1.4 ความปรุงแต่งอารมร์ความรู้สึก คือ รัก โลภ โกรธ หลง

สิ่งที่อยู่ภายในใจของสิ่งมีชีวิตทั้ง 4 ข้อนี้ เป็นธรรมชาติที่แปรปรวนกลับกลอกไปมา ไม่คงที่ ไม่ตั้งอยู่ได้นานแปรเปลี่บน เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไปตามเหตุปัจจัยต่างๆนาๆ ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตมันย่อมมีความแปรปรวนไปเรื่อย ไปต่างๆนาๆ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวอยาก เดี๋ยวไม่อยาก เดี๋ยวอิ่ม เดี๋ยวหิว เดี๋ยวเจ็บ เดี๋ยวป่วย เดี๋ยวแข็งแรง กลับคำ กลับใจ เดี๋ยวชอบ เดี๋ยวชัง เดี๋ยวรัก เดี๋ยวเกลียด แปรปรวนกลับไปกลับมาไม่สิ้นสุด ไม่ใช่เห็นเขาเมตตา เกื้อกูลรักใคร่จะทะนงตน มันแปรปรวนเป็นเกลียดชังผูกแค้นกันได้เสมอๆ ดังนั้นสิ่งที่เราควรรู้และปฏิบัติ จากธรรมชาติที่แปรปรวนของสิ่งมีชีวิต คือ..

ก. ในระดับการวางตัววางใจของเรา  ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย มีใจวางไว้กลางๆ ไม่ติดใจข้องแวะสิ่งใด ต่อสิ่งที่เขาแสดง
..เมื่อเขาแปรปรวนใช้อารมณ์ เราต้องใช้ปัญญามากกว่าความรู้สึกนึกคิดที่มากระทบใจเรา ไม่ว่าจะเป็นความรัก ชอบ ชัง ใคร่ โกรธ เกลียด หลง
- หากเรายินดีหลงไหลความเกื้อกูลเมตตาเขาเกินจริง จะทำให้เราทะนงตน เป็นคนย่ำกับที่หลงตน ไม่กระตือรือร้น
- หากเราเจ็บแค้นกับคำด่าเขา เราจะไม่เห็นประโยชน์ที่จะได้จากเหตุการณ์นั้น ไม่นำข้อคิดมาปรับปรุงตร ไม่แสวงหาสิ่งที่ดีกว่า ไม่ทำตนให้ดีกว่าที่เป็น ความเกลียดชังจะปิดกั้นปัญญาทันที

** ในทางเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์การปกครอง จิตวิทยาทำให้เห็นความแปรปรวนของคน มีความกลับกลอกเสมอๆ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเด็นดังนี้

ข. ในระดับคน หรือกลุ่มคน ผลประโยชน์ระหว่างคน หรือ บริษัท
- การพูดคุยส่วนบุคคล..สังเกตุต้องดูอารมณ์ ท่าที การแสดงออกของเขา ใช้ปัญญาความรู้ที่ชัดเจนตอบโจทย์ความต้องการในใจของเขา โดยไม่ใช้ความรู้สึกส่วนตัวของตน
- เรื่องการเจรจา..ทำให้เรารู้ว่าเมื่อคนมีความแปรปรวนอยู่ทุกขณะ เราก็ต้องรู้วิธีที่จะเข้าหาเขาในแต่ละอารมณ์ความรู้สึก และความรู้ความสามารถที่เรามีต้องครอบคลุมกว้างไกลมากขึ้น เพื่อจะตอบโจทย์ความต้องการในใจเขาได้ วันนี้เขาดีกับเรา วันหน้าอาจจะฆ่าเราก็ได้ ดังนั้นเราต้องตื่นตัวอยู่เสมอและหาความรู้ที่ครอบคลุมในงานนั้นๆ พร้อมแง่คิด แนวทางต่างๆเพื่อจะตอบความแปรปรวนของเขาในแต่ละระดับ เมื่อต้องคุยสนทนาเจรจาเมื่อเขาแข็งเราต้องดูท่าทีอารมร์ความรู้สึกเขา ดูความต้องการในใจของเขา ถามสิ่งที่เขาต้องการ มีลูกล่อลูกชนรับอารมร์เขา เขาแข็ง เราอ่อนรับฟังแต่มีจุดยืน แล้วใช้จุดยืนและความรู้หรือแนวทางที่เรามีนั้นแหละตอบโจทย์ทางใจของเขา เราต้องฉลาดในอารมณ์ที่รจะรับมือเขาใช้ปัญญามากกว่าความรู้สึก พร้อมเมื่อทำการตกลงใดๆเพื่อป้องกันความแปรปรวนก็ต้องมีเอกสารข้อมูลและหลักฐานการเจรจาบันทึกรับรองไว้ บันทึกเสียงไว้

ค. ในระดับชุมชน อำเภอ จังหวัด กลุ่มบริษัท ประเทศชาติ ระดับนี้ให้ดูเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลัก ซึ่งเมื่อมองกว้างๆเราจะเห็นว่า..เราไม่อาจจะตอบสนองความต้องการของใจเขาได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่จะตอบโจทย์ความต้องการของใจเขาได้แท้จริงนั้นคือ ให้เขาทำตอบสนองและได้รับผลลัพธ์นั้นด้วยตัวของเขาเอง เราทำได้แค่ยื่นแนวทาง ทรัพยากร และ วิธีการดำเนินการให้เขาได้เท่านั้น ผลลัพธ์เขาต้องเก็บเกี่ยวเอาเอง
- ดั่งในหลวพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราย รัชกาลที่ ๙ ของไทย ผู้ครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมวลชนชาวสยาม..ทรงได้ชี้ทางเศรษฐกิจพอเพียงให้ ก็มีทั้งคยนที่สนใจและคนที่ไม่สนใจ ซึ่งห้ามไม่ได้ เพราะเขามองภาพไม่ออก มองไม่เห็นภาพนั่นเอง คิดแต่เฉพาะหน้า ไม่คิดถึงภายหน้าในความยั่งยืนนั่นเอง ดังนั้นคนรวยบางคนจึงไม่เอา คนจนบางคนจึงไม่สน..ก็ว่ามันไม่รวย แต่คนที่ทำเขาเห็นผลได้ด้วยตัวของเขาเอง เขาก็จะเริ่มประมาณตนเอง ประเมินผลตนเอง เริ่มสร้างภูมิคุ้มกันตนเอง ความแปรปรวนลดลง มีจุดมุ่งหมายมากขึ้น แล้วก็เริ่มเห็นผลลัพธ์จนเป็นที่โจทย์จันไปทั่วโลก แม้ต่างประเทศก็มาขอแนวทาง ต่อมาพอคนที่ไม่สนใจได้เห็นภาพลักษณ์ก็ค่อยมาเร่งทำตาม ทำช้าก็ให้ผลช้าตามไป เหมือนเราสะสมเหตุช้าก็ได้ผลช้า สะสมเหตุไวก็เห็นผลไว

2. ไม่เที่ยง, ไม่มีตัวตน, เป็นทุกข์ กล่าวคือ..ธรรมชาติสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงในโลก ไม่มีความรู้สึกที่ยั่งยืน ไม่รักกระสันใคร่เสพย์ตลอดไป ไม่ต้องกการในสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นเสมอไป ไม่โกรธตลอดไป ไม่ลุ่มหลงตลอดไป จนรวมไปถึง ลาภ ยศ เงิน ทอง สรรเสริญ คนรัก ของมีค่า ก็ย่อมไม่รู้กับเขาตลอดไปเช่นกัน ย่อมมีความพรัดพรากเป็นที่สุด หากสิ่งนั้นๆไม่แปรปรวน หายจาก ผุพัง ตาย ดับสูญ สลายไปก่อน..ก็จะคงอยู่กับเขาได้นานสุดเพียงแค่หมดลมหายใจเขานี้เท่านั้น ดั่งโลกธรรม ๘ ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้..
2.1 ความไม่เที่ยง โดยทำความเข้าใจใน..โลกธรรม ๘ หมายถึง ธรรมดาของโลก เรื่องของโลก ธรรมชาติของโลกที่ครอบงำสัตว์โลกและสัตว์โลกต้องเป็นไปตามธรรมดานี้ 8 ประการอันประกอบด้วย
โลกธรรมฝ่ายอิฏฐารมณ์ คือ พอใจของมนุษย์ เป็นที่รักเป็นที่ปรารถนา
ลาภ หมายความว่า ได้ผลประโยชน์ ได้มาซึ่งทรัพย์
ยศ หมายความว่า ได้รับฐานันดรสูงขึ้น ได้อำนาจเป็นใหญ่เป็นโต
สรรเสริญ คือ ได้ยิน ได้ฟัง คำสรรเสริญคำชมเชย คำยกย่อง เป็นที่น่าพอใจ
สุข คือ ได้ความสบายกาย สบายใจ ความเบิกบาน บันเทิงใจเริงใจ
โลกธรรมฝ่ายอนิฏฐารมณ์ คือ ความไม่พอใจของมนุษย์ ไม่เป็นที่ปรารถนา
เสื่อมลาภ หมายความว่า เสียลาภไป ไม่อาจดำรงอยู่ได้
เสื่อมยศ หมายถึง ถูกลดอำนาจความเป็นใหญ่
นินทาว่าร้าย หมายถึง ถูกตำหนิติเตียนว่าไม่ดี ถูกติฉินนินทา หรือถูกกล่าวร้ายให้เสียหาย
ทุกข์ คือ ได้รับความทุกขเวทนา ทรมานกาย ทรมานใจ

2.2 ความไม่ใช่ตัวตน ซึ่งไม่ว่าจะเป็น สิ่งภายนอก คือ โลกธรรม ๘ และ สิ่งภายใน คือ อารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ได้แก้ โสมนัส โทมนัส รัก โลภ โกรธ หลง เป็นต้น สิ่งนั้นๆไม่ตกอยู่ภายใต้การบังคับของใคร ผู้ใดในโลก ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเขา ไม่เป็นที่บังคับ จับต้องให้เป็นไปได้ดั่งใจปารถนาหมดทุกประการได้ โลกธรรม ๘ เป็นสิ่งโลกบัญญัติขึ้นมาแต่เรานั้นแหละที่เข้าไปยึดเอง แม้แต่กายเราเขาตัดเอา ตับ ไต ปอด ไส้ ไปผ่าทั้งๆที่บอกว่าเป็นตน เป็นของตนเขาตัดออกก็ยังไม่ตาย เมื่อตัดออกเอามากองให้ดู ตับ ไต ปอด นั้นหรือที่เป็นเรา เป็นเขา ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใคร หาใช่ตัวตนของใครไม่

2.3 เมื่อเข้าใจใน ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต โลกธรรม ๘


3. กรรม คือ แรงจูงใจและการกระทำ
4. อิ่มไม่เป็น คือ การแสวงหาดิ้นรน และ ความพอเพียง คือ อิ่ม, หยุด


.....


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กันยายน 29, 2017, 01:45:30 PM
1.2 การกำหนดรู้ทุกข์ คือ การรู้สิ่งที่เขาเป็นอยู่ ที่แสดงออกมาอย่างนั้น
ทางพุทธเศรษฐศาสตร์และการปกครอง คือ การรู้วิถีดำรงชีพของเขา..อาชีโว, ด้วยประการดังนี้..

ก.)วิถีความรู้ชัดที่มี ..ทิฏฐิ
    ก๑.)ความรู้จริงโดยพื้นฐานที่เขามีอยู่
    ก๒.)มุมมองความคิดเห็น ทิศทางความเห็น-คิด-อ่านที่เขามี
    ก๓.)จุดยืนแห่งความรู้เห็นของเขา ที่นำไปสู่วิถีความคิดของเขา

ข.)วิธีคิดหรือแนวทางความคิดของเขา ..สังกัปปะ
    ข๑.)หลักการคิด จุดยืนที่เขาเอามาคิด
    ข๒.)ลำดับ ทิศทาง  แนวทางความคิด ความเป็นเหตุเป็นผลของในความคิดของเขา
    ข๓.)การผสมผสานความคิดต่างๆของเขา ที่นำไปสู่การกระทำต่างๆทั้งหลายทั้ง คิด พูด ทำของเขา

ค.)วิธีสื่อสาร จากการพูด การทำ..วาจา-กัมมันโต
    ค๑.)การแสดงออก การวางตัว
    ค๒.)วีธีการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่เขามี เพื่อจะสื่อให้ผู้อื่นรับทราบ
    ค๓.)วีธีการแสดงความคิดเห็นที่เขามี หรือวิธีการตอบโจทย์ความต้องการของใจคนที่เขามี

ง.)การดำรงชีพ..อาชีโว
    ง๑.)การรู้วิถีแนวทางการดำเนินชีวิตของเขา
    ง๒.)สถานภาพความเป็นอยู่
    ง๓.)กิจการงานที่ทำ
    ง๔.)วิธีคิด แนวความคิดของเขาต่อสิ่งต่างๆ

จ.ความมุ่งมั่นตั้งใจในสิ่งที่ทำ, ความขยัน, ความกระตือรือร้นในงาน..วายาโม

ฉ.ความระลึกได้ ความไตร่ตรองคำนึงถึง รู้ตัว รู้ใจ..สติ
    ฉ๑.)พิจารณาโดยความเป็นธรรมชาติ เข้าใจความเป็นธรรมชาติชอง คน สัตว์ สิ่งของ
    ฉ๒.)เสถียรภาพการรับรู้ ความเข้าใจความเป็นอยู่ ความเป็นไป ความต้องการ ความรู้สึกทั้งเขาและเรา
    ฉ๓.)ความพิจารณาคำนึงถึงที่กว้างกว่าความจมอยู่ ตั้งอยู่แค่ในความต้องการถึงผลลัพธ์ที่เห็นเฉพาะหน้า

ช.)ความสุขุม ใช้ปัญญามากกว่าความรู้สึกคิดอ่าน..สมาธิ
    ช๑.)ความมีใจเกื้อกูลกัน
    ช๒.)มีใจเว้นจากความมุ่งร้าย ไม่คิดร้ายต่อใคร-สิ่งใด กล่าวคือ ไร้ซึ่งความตระหนี่, ริษยา, อภิชฌา, โทมนัส
    ช๑.)เปิดมุมมองรับรู้สิ่งต่างๆด้วยความไม่ติดขัดข้องใจ ไม่ติดใจข้องแวะ
    ช๒.)ความมีใจสงบผ่องใส เย็นใจไม่ร้อนรุ่มร้อนรนตามความรู้สึกนึกคิด รักชอบ เกลียดชัง กลัว ไม่รู้แจ้งชัดความจริง

ซ.)ความรู้แจ้งแทงตลอดในสิ่งต่างๆ การใฝ่รู้
    ซ๑.)รับความรู้ใหม่ๆ ใฝ่ความรู้ ขยันศึกษาหาความรู้ ซึ่งต้องเพียรด้วยสติ ขณะเดียวกันก็ใช้ปัญญาวิเคราะห์พิจารณาสังเกตุดูเนื้อหา สภาพสถานการณ์ ความเป็นสิ่งนั้นๆ มุมมองที่สื่อออกมาจากสิ่งนั้นๆ จุดที่ใช้คิด หลักในการคิด วิธีคิดที่ทำให้ออกมาเป็นสิ่งนั้นๆ โดยสิ่งนี้เราต้องมีคุณสมบัติของนักปราชญ์ สุ จิ ปุ ลิ
 สุ(สุตตะ คือ การเรียนรู้ต่างๆ เช่น ความรู้จากการดู การอ่าน การฟัง)
 จิ(จินตะ คือ การคิดทำความเข้าใจ ความวิเคราะห์ตาม สังเกตุ พิจารณาในสิ่งที่รับรู้อยู่นั้น)
 ปุ(ปุจฉา คือ การถาม ไถ่ถามเพื่อความรู้ยิ่งรู้แจ้งใจ เมื่อไม่รู้สิ่งใดให้ถามเพื่อความเข้าใจยิ่งๆขึ้น ไม่แน่ใจให้ถาม ไม่รู้สถานการณ์ว่าควรไหมให้ถามก่อน)
 ลิ(ลิขิต คือ เขียน จด เมื่อเรารู้สิ่งใดทำความเข้าใจชัดเจนแล้วให้จดบันทุกไว้ทบทวนกันลืม หรือ สิ่งใดที่รู้แล้วยังไม่แน่ใจให้จดบันทึกไว้เพื่อหาความรู้เพิ่มเติม ทำความเข้าใจ หรือสอบถามผู้รู้ต่อไป)
          - ดู/ฟัง/อ่าน
          - สังเกตุ คิดวิเคราะห์พิจารณาตาม
          - ถามเมื่อไม่เข้าใจเพื่อความรู้ชัด
          - จด บันทึกไว้ทบทวนความจำกันลืม
          - ลงมือทำ ให้คุ้นชิน ทำให้เป็นให้ได้ เพื่อรู้วิธีและแนวทางการทำ และรู้ชัดตามจริง
    ซ๒.)ความคิดสร้างสรรค์ประยุกต์ใช้งาน คือ นำความรู้ที่มีมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ สภาพแวดล้อม ท้องถื่น ความต้องการของคน
    ซ๓.)การชักจูง การจุดประกายสร้างแรงบรรดาลใจต่อผู้อิื่น
    ซ๔.)ความฉะฉาน คิดไว ลำดับไว ตรองไว พิจารณาไว มองกว้างไกลไว สามารถแก้ปัญหาได้ทั้ง เฉียบพลันและคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าด้วยความเข้าใจจริงเป็นเหตุเป็นผลได้
** ซึ่งข้อนี้หากเราไม่มีพรสวรรค์ไม่ฉลาดจริง..เราต้องอาศัย
          - การเรียนรู้ ใช้ความรู้ที่แจ้งชัดแทงตลอดที่ครอบคลุมเป็นอันมาก
          - ทั้งต้องอาศัยประสบการณ์ การเจอสถานการณ์ที่กลื่นไม่เข้าคายไม่ออก ในรูปแบบต่างๆ คือ..เราคิดตอบโต้ไม่ทันในตอนนั้น แล้วมาคิดภายหลังว่าเจอแบบนี้เราควรตอบโจทย์ปัญหานั้นยังไงในหลายๆรูปแบบ หลายๆครั้ง
          - แสวงหาประโยชน์จากความผิดพลาดหรือความเสียหายนั้น ว่าเป็นครูเป็นกำไรชีวิต โดยไม่ใช่เอามาเจ็บใจเจ็บแค้นภายหลัง แต่เอามาใช้ประโยชน์จากมัน
          .. เช่นว่า.. หากเจอแบบนี้อีกเราจะทำแบบไหน ยังไงจึงจะตอบโจทย์แก้ปัญหาได้ แล้วทำสะสมเหตุไปเรื่อยๆจนมันลงใจ มันจะกลายเป็นอุปนิสัย จริตสันดาน ของเราในภายหน้าต่อไป
          .. เพราะหากคนที่พอพูดอะไรก็มีคนเออออตามตลอดไม่ว่าจะผิดหรือถูกใช่หรือไม่ใช่ ไม่มีใครกล้าเถียง เขาจะไม่สามารถได้รับปัญญาข้อนี้ได้เลย
          .. ดังนั้นที่เราถูกขัด ถูกแย้ง ถูกถอนหงอก ถูกย้อนศรกลับ ถูกตำหนิ ถูกด่าจนเถียงไม่ได้ ตอบโต้ไม่ออกนั้นก็เพื่อให้เราสะสมเหตุปัญญาในข้อนี้ เพราะมันจะทำให้เราขยันศึกษาหาความรู้ที่แจ้งชัดแทงตลอด เปิดกว้าง ไม่จำกัดยึดถือเฉพาะส่วนมากขึ้น

             _อุปมาเหมือนคนเล่นหมากรุก เล่นโกะ เล่นโอเทลโล่ หรือเกมส์ต่างๆ เมื่อแรกเริ่มเล่นนี้จะรู้กฏกติกาและวิธีเล่นเพียงเล็กน้อย จนเมื่อมีความสนใจจริงก็จะเรียนรู้กฏกติกาและวิธีเล่นของเกมส์มากขึ้น จนเมื่อเจอกับคนเก่งๆที่ตนสู้ไม่ได้ เห็นวิธีการเขาเดิน วิเคราะห์วิธีเล่นเขาโดยดูในมุมมองความคิด แนวทางการคิดวิเคราะห์ จุดยืนที่เขาจับ ภาพรวมทิศทางที่เป็นไป ทางแก้หมากแก้ปัญหา เมื่อดูแล้วเรานำมาวิเคราะห์พิจารณา ลงมือทำ ตีออกนอกกรอบเดิมๆที่ตนยึดถือหรือทำอยู่ มองให้กว้างในหลายๆทิศทาง ทั้งการอนุมานคาดคะเนที่จะเป็นไปได้ว่าเมื่อเราเดินหมากตรงจุดนี้ๆ เขาจะมีที่เดินใดๆมุมใดได้บ้าง เมื่อเดินมุมนี้เกมส์จะเปลี่ยนไปในทิศทางใด
_เมื่อฝึกทำสะสมบ่อยๆเล่ยบ่อยๆเป็นประจำๆจนชำนาญ จากเราใช้เวลานานมากในการคิดการเดิน จิตที่มีสติเป็นสมาธิคือมีความตั้งมั่นในสิ่งนั้นไม่สอดแทรกความฟุ้งซ่านเลอะเทอะให้รกสมอง มันจะเริ่มลำดับจัดระเบียบแบบแผนแนวคิด วิธีคิด จุดยืนต่างๆเป็นลำดับ เป็นระเบียบ จนเมื่อกลายเป็นความจำได้หมายรู้ที่ติดเป็นจริตอุปนิิสัยตน เมื่อเจอเหตุการณ์แบบเดิม สถานการณ์แบบเดิมมันจะหวนระลึกคำนึงถึงได้ทันท่วงที รวดเร็ว ว่องไวไม่ใช้เวลานาน..นี่เรียกว่าสะสมเหตุ ซึ่งจะต้องเริ่มจากความรู้ทิศทางที่ครอบคลุมที่ถูกต้อง จุดยืนความคิด การสังเกตุ การวิเคราะห์ ความคิดวิเคราะหฺตีออกนอกกรอบกว้างไกล ความเป็นไปได้ การลงมือทำ ความชำนาญการ ความคิดสร้างสรรค์ และการปรับปรุงประยุกต์ใช้ ดังนี้

_อุปไมยเปรียบเสมือน..เกมส์โอเทลโล่ หมากรุก โกะ เกมส์ต่างๆ คือ กิจการงานที่เราทำ ต้องทำ
_อุปไมยเปรียบเสมือน..คู่ต่อสู้ที่เก่งที่ทำให้เราจนตรอก คือ ผู้ที่จะขัดแย้งในงาน ต่อต้าน ไม่สนับสนุนคอยตำหนิว่ากล่าวในงานของเรา หรือผู้ที่มีไวยาวุฒิสูงกว่าเรา หรือผู้ที่จะทดสอบปัญญาความคิดแก้ปัญหาของเรานั่นเอง ซึ่งสิ่งมีชีวิตนี้จะเปลี่ยนทิศทางความคิดความรู้สึกวิธีการณ์ใหม่ๆได้เสมอๆนับล้านๆแบบตามอาการของจิต
_อุปไมยเปรียบเสมือน..รูปแบบของเกมส์ทิศทางของหมากต่างๆ คือ ภัยเศรษกิจ หรือ ผลกระทบจากสถานการณ์ต่างๆที่มีความแปรปรวนอยู่เสมอๆทุกๆขณะ ที่เราจะต้องแก้ปัญหาให้ผ่่านพ้นไปได้
(เหมือนแรกเริ่มเล่นเกมส์โอเทลโล่ เราใช้เวลา 5 นาที เมื่อรู้ครอบคลุมชำนาญการคล่องแคล่วคิดไวขึ้น จำกัดเวลาขึ้นเราจะใช้เวลาเกมส์เพียง 1 นาที)

             _ด้วยเหตุเพราะ..ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตนั้นมันมีความแปรปรวนอยู่เสมอๆ ตลอดเวลา ทุกขณะจิต..เมื่อรู้แล้วก็ทำความเข้าใจมากขึ้น เมื่อครอบคลุมก็แก้ไขสถานการณ์ได้ นี่เป็นคุณสมบัติของปฏิสัมภิทาญาณไม่ใช่ได้มาง่ายๆ เราต้องทำสะสมเหตุมันอย่างมาก
             _ส่วนคนที่เขาทำได้ มีพรสวรรค์ ชาติก่อน หรือกาลก่อนเขาก็เคยเจอแบบนี้แล้วสะสมเหตุแบบนี้มาก่อนเรามานาน หลายชาติ หลายกัปป์ หลายอสงไขยจนกลายเป็นจริตสันดารเขา พอเขาเกิดมาชาตินี้ก็จึงได้พรสวรรค์อุปนิสัยนั้นๆติดตามมานั่นเอง

สมดั่งคำของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดา ได้ทรงตรัสสอนไว้ว่า.. เรามีกรรมและวิบากกรรมเป็นของๆตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมนั้นแหละเป็นแดนเกิด เป็นที่ติดตามอาศัยแก่เรา เราจะทำกรรมใดไว้เป็นบุญหรือเป็นบาป เราจะเป็นทายาทคือว่าจะได้รับผลของกรรมนั้นสืบไปทุกภพทุกชาติ ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงสอนปัญญา ทาน ศีล ภาวนา ดังนี้ทุกอย่างล้วนแล้วแต่เป็นมีเหตุมีผลของมันเสมอๆ**


1.3 การกำหนดรู้ทุกข์ เพื่อการปกครอง

การปกครองคน กลุ่มงาน ทีม ครอบครัว
1. ศรัทธา สร้างความเชื่อมั่นต่อเขา ซึ่งความเชื่อจะเกิดขึ้นได้นั้นก็ต่อเมื่อเราทำความเชื่อใจ เราทำเชื่อมั่นให้คน กลุ่มคน ทีมงาน ลูกเมีย บริวาร เชื่อใจได้ว่า
ก. เราจะไม่ทำร้ายเขา
ข. เราจะช่วยเหลือเขา
ค. ซื่อสัตย์
ง. ไม่ทิ้งเขา เอื้อเฟื้อประโยชน์สุขโดยชอบธรรมแก่เขา
 ทำให้เขาเชื่อว่าเมื่อเขาร่วมมือหรือเชื่อมั่นในเราแล้วจะไม่มีผิดหวัง มีความจริงใจ สัตย์จริง ความตั้งใจแน่วแน่ที่จะช่วยเหลือของเรามองให้แก่เขา
- เมื่อความเชื่อมั่นเกิดขึ้นโดยชอบความยินดี ความร่วมมือ ความเกื้อกูล ความสัตย์ ของคน บึคคล กลุ่มคน ตครอบครัว บริวารย่อมเกิดมีแก่เราโดยไม่มีทางที่จะแปรเปลี่ยนได
- หากศรัทธาที่ยังไม่เกิดหรือพังลงไปแล้วเราก็ต้องเพียรสร้างศรัทธานั้นขึ้นมาใหม่โดยชอบ ให้เขาเชื่อใจมั่นใจในเรา ทั้งความสามารถที่จะแก้ปัญหา การพัฒนา ความจริงใจ ความตรง ความสัตย์ ดัวนั้นเราจึงต้องใฝ่รู้อยู่เสมอ
2. ปัญญา ปลูกฝังปัญญาโดยชอบให้เราและเขา โดยแบ่งปันวิชาความรู้ทั้งปวงเพื่อให้เขาดูแลกิจการงานที่ทำ และดูแลตนเองได้ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ ฝึกให้เขาใฝ่รู้
3. วิริยะ ปลูกฝังความเพียรให้เราและเขา
4. สติ ฝึกให้เราและเขาเป็นผู้มีสติ ระลึกได้ แยกแยะได้
5. จิตที่ผ่องใสตั้งมั่น

* วนครบรอบจนแทงตลอดได้ฐานกำลัง คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา อันควบคู่ไปพร้อมกับ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ในการดำรงชีพ สร้างปัญญาในการกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง มีทุกข์เป็นต้น*

2.
3.
4.
5.


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กันยายน 29, 2017, 09:01:32 PM
1.3 การกำหนดรู้ทุกข์ เพื่อการปกครอง

การปกครองคน กลุ่มงาน ทีม ครอบครัว
1. ศรัทธา สร้างความเชื่อมั่นต่อเขา ซึ่งความเชื่อจะเกิดขึ้นได้นั้นก็ต่อเมื่อเราทำความเชื่อใจ เราทำเชื่อมั่นให้คน กลุ่มคน ทีมงาน ลูกเมีย บริวาร เชื่อใจได้ว่า
ก. เราจะไม่ทำร้ายเขา
ข. เราจะช่วยเหลือเขา
ค. ซื่อสัตย์
ง. ไม่ทิ้งเขา เอื้อเฟื้อประโยชน์สุขโดยชอบธรรมแก่เขา
 ทำให้เขาเชื่อว่าเมื่อเขาร่วมมือหรือเชื่อมั่นในเราแล้วจะไม่มีผิดหวัง มีความจริงใจ สัตย์จริง ความตั้งใจแน่วแน่ที่จะช่วยเหลือของเรามองให้แก่เขา
- เมื่อความเชื่อมั่นเกิดขึ้นโดยชอบความยินดี ความร่วมมือ ความเกื้อกูล ความสัตย์ ของคน บึคคล กลุ่มคน ตครอบครัว บริวารย่อมเกิดมีแก่เราโดยไม่มีทางที่จะแปรเปลี่ยนได
- หากศรัทธาที่ยังไม่เกิดหรือพังลงไปแล้วเราก็ต้องเพียรสร้างศรัทธานั้นขึ้นมาใหม่โดยชอบ ให้เขาเชื่อใจมั่นใจในเรา ทั้งความสามารถที่จะแก้ปัญหา การพัฒนา ความจริงใจ ความตรง ความสัตย์ ดัวนั้นเราจึงต้องใฝ่รู้อยู่เสมอ
2. ปัญญา ปลูกฝังปัญญาโดยชอบให้เราและเขา โดยแบ่งปันวิชาความรู้ทั้งปวงเพื่อให้เขาดูแลกิจการงานที่ทำ และดูแลตนเองได้ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ ฝึกให้เขาใฝ่รู้
3. วิริยะ ปลูกฝังความเพียรให้เราและเขา
4. สติ ฝึกให้เราและเขาเป็นผู้มีสติ ระลึกได้ แยกแยะได้
5. จิตที่ผ่องใสตั้งมั่น

* วนครบรอบจนแทงตลอดได้ฐานกำลัง คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา อันควบคู่ไปพร้อมกับ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ในการดำรงชีพ สร้างปัญญาในการกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง มีทุกข์เป็นต้น*

2.
3.
4.
5.


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ตุลาคม 03, 2017, 01:30:13 AM
การก้าวข้ามขีดจำกัดของตนเอง

      การก้าวข้ามขีดจำกัดของตน คือ การแข่งกับตนเอง ไม่ได้แข่งกับใคร สู้กับตนเองเพื่อเอาชนะตนเอง ไม่ใช่เอาชนะใคร..ด้วยเหตุดังพระศาสดาตรัสสอนดังความว่า..เมื่อเราเอาความสุขสำเร็จไปผูกขึ้นไว้กับผู้อื่น ผลที่ได้คือทุกข์เท่านั้น เพราะย่อมหาความเบาสบายใจ สงบใจ เย็นใจไม่ได้ นอกจากความร้อนรุ่ม เร่าร้อนไปด้วยความใคร่ ความโลภ ความอยาก ความรัก ความชัง ความหลง ความริษยา 
การก้าวข้ามขีดจำกัดตนนั้นเมื่อรู้ว่าสิ่งไหนดี แบบไหนอย่างไรที่ยอดเยี่ยม ที่มีคุณค่าและประโยชน์สุขต่อตนเองและผู้อื่น ใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาเพื่อให้ทุกอย่างจบลงด้วยดีไม่สร้างความเสียหายสูญเสีย หรือสูญเสียน้อยที่สุด มากกว่าความรู้สึกรัก ชัง โลภ อยากในสิ่งที่ปรนเปรอตน ความเคียดแค้น ความไม่รู้จริง ความลุ่มหลง อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอันเป็นฝ่ายเร่าร้อน สร้างความเสียหายอย่ามหันต์จนถึงความฉิบหายจากการกระทำนั้น ย่อมตั้งมั่นที่จะกระทำ ..เมื่อทำแล้วคิดว่าตนทำไม่ได้ ทำได้แค่นี้ แค่นิดหน่อย หรือมีปัญญาแค่นี้ ให้เกิดความท้อถอย ..เราก็จะต้องยังสติสัมปะชัญญะ ความตั้งใจมั่น ทำความเพียรให้เกิดขึ้น ตั้งใจมั่นที่จะทำ ..ด้วยแลเห็นประโยชน์ที่ใช้ดำรงชีพของตนและคนรอบข้างว่า ขนาดทำได้เล็กน้อยเท่านี้..ก็ยังต่อลมหายใจให้เราก้าวต่อไปได้ด้วยดีจนถึงขณะนี้ตอนนี้ได้ หากทำสำเร็จมันจะเอื้อฟื้อประโยชน์สุขให้เกื้อกูลต่อเราและคนทั้งหลายได้มากยิ่งกว่านี้อีกขนาดไหน แม้จะไม่เห็นผลสำเร็จก็ยังดีที่ได้ทำ ที่มันไม่จบลงด้วยดีดั่งเราปารถนาไว้นั้นเพราะทุกอย่างมันยังไม่จบ มันแค่เพิ่งเริ่ม หรือแค่เห็นแสงสว่างกลางทางเท่านั้นเรื่องราวมันยังไม่จบ ยังไม่สำเร็จจบบริบูรณ์ด้วยดี เรายังจำเป็นต้องสานเรื่องราวกระทำมันต่ออีกจนกว่ามันจะจบบริบูรณ์ ดังนี้แล้วสิ่งที่เราก้าวข้ามขีดจำกัดนี้มีทั้งในทางโลกและทางธรรม เช่น..

ก. ทางโลก คือ การเรียนศึกษา วิชาความรู้ กิจการงานที่ทำ การปฏิบัติต่างๆ คอยพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ไม่ท้อถอย เพราะรู้ด้วยใจว่านี่เป็นสิ่งดีมีคุณประโยชน์ ใช้ดำรงชีพหรือเพื่อสอนลูกหลานในภายภาคหน้าได้ แม้สิ่งที่เราเพียรทำอยู่นั้นมองไม่เห็นผลสำเร็จเลย แต่เราก็รับรู้ได้เสมอๆว่า เพราะความตั้งใจมั่น เพียรทำด้วยสตินั้นแหละที่ต่อลมหายใจของเรามาจนถึงทุกวันนี้ ขณะเวลานี้ๆได้ ผู้ไม่ตั้งมั่นทำความเพียรด้วยสติสุดท้ายย่อมจมอยู่กลางมหาสมุทร แต่ผู้เพียรอยู่แม้มองไม่เห็นฝั่งก็ยังสามารถต่อลมหายใจเขามาได้จนเวลานี้
  - วิธีเจริญความเพียร ให้ตั้งเป้าหมาย จุดหมายไว้ เอาสติปัญญาตั้งใจไว้มั่นอยู่คู่ความเพียร พึงระลึกว่าเราทำได้มากกว่า เราไปได้ไกลกว่านี้ เราจะก้าวข้ามกำแพงที่ปิดกั้นความสามารถของเราอยู่นี้ จะพังกำแพงนั้นลงเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของตนออกไป เพื่อไปอยู่ในจุดที่สุงกว่าอันไม่มีที่สิ้นสุดไม่มีขีดจำกัดความสามารถของตนเอง คนอื่นทำได้ก้าวข้ามได้มีมาก เราก็ต้องข้ามได้ เข้าถึงได้ด้วยความชอบ แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศากยมุนีพระบรมศาสดา, พระเจ้าอโศกมหาราชพระมหาจักพรรษดิ์, พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ ๙ ของไทย พระองค์ก็ล้วนก้าวข้ามขีดจำกัดของตนทั้งสิ้น..ด้วย
๑. ปัญญา(สัมมาทิฏฐิ, ความมีความคิดเห็นก้าวข้ามสมมติกิเลสและความเห็นที่ปิดกั้นใจไม่ให้แจ้งโลกหรือกั้นความรู้ยิ่ง, การก้าวข้ามความคิดความเชื่อที่สุดแค่ที่ท่องจำหรือเชื่อตามๆกันมา)
๒. สัจจะ(พระอริยะสัจ ๔, ทาน ศีล ภาวนา)
๓. หัวใจนักปราชญ์ ดู/ฟัง/อ่านศึกษา คิดวิเคราะห์หัดสังเกตุทำความเข้าใจตาม ถามเมื่อไม่เข้าใจเพื่อความแจ้งกระจ่างในสิ่งนั้นๆ จดบันทึกไว้ทบทวนกันลืม ลงมือทำปฏิบัติ
๓. วิริยะ(ตั้งใจมั่น ความเพียรไม่ท้อถอย ขยันเรียนรู้ฝึกปรือทบทวนตน)
๔. ทมะ(ความคิดชอบ)
๕. ขันติ(ความอดใจไว้ได้)
๖. โสรรัจจะ(ประพฤติชอบ)
๗. จาคะ(ทานสละแล้ว การกระทำที่มีใจสละให้แล้วไม่หวงแหนในสิ่งที่ปรนเปรอตน)
๘. อุปสมะ(ความว่าง ความไม่มีความพ้นสมมติกิเลส)

ข. ทางธรรม คือ เอาชนะและขจัด สันดาร จริต อุปนิสัย(นิวรณ์) เจตนาแห่งอกุศล(มโนกรรม) และ สันดร อนุสัย (อวิชชา)ความเป็นสัตว์ที่ฝั่งลึกเป็นตะกอนทับถมเรามานานนับอสงไขย..เพื่อเข้าสู่ความเป็นมนุษย์ (สัตว์ ในทางธรรมคือผู้ที่ยึดครองขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) มีจิตผ่องใส(อบรมจิตภาวนา ดับอกุศลธรรมอันลามกจัญไร) มีใจเอื้อเฟื้อ เกื้อกูลแบ่งปัน(ปัญญาเกิดในจาคะ) เว้นจากความเบียดเบียน(ปัญญาเกิดในเจตนาเป็นศีล) ไม่อคติลำเอียง(ดับโมหะ คือ ความโง่ ความไม่รู้จริง ความลุ่มหลง) กล่าวคือ..มีใจประกอบด้วยความอารีย์ เอื้อเฟื้อเกื้อกูล สงเคราะห์ สละ แบ่งปัน ความผ่องใสยินดีในความสุขสำเร็จโดยชอบของผู้อื่น การไม่ติดใจข้องแวะสิ่งไรๆในโลก ไม่เอาความสุขสำเร็จชองตนไปผูกขึ้นไว้กับใครหรือสิ่งไรๆในโลก ความละเว้นการกระทำทางกายวาจาใจอันเป็นการเบียดเบียนทำร้ายตนเองและผู้อื่น ก้าวข้ามความรัก โลภ โกรธ หลง มีใจสูงเหลือตะกอนสมมติกิเลสอันนอนเนื่องที่ฟุ้งขึ้นแก่ใจเรานี้ อุปมาเหมือนดวงแก้วมณีอันอับแสงที่เกือกจมอยู่ในมหาสมุทรแห่งกิเลส ได้ลอยขึ้นไปในอากาศอันกว้างว่างแผ่ขยายแสงอันสว่างไาวผ่องใสกว้างไกลไม่สิ้นสุด ด้วยพ้นจากห้วงน้ำแห่งมหาสมุทรที่แปดเปื้อนไปด้วยกองกิเลสฉันนั้น
- วิธีเจริญความเพียร ฝึกให้ใช้ปัญญาเสมอๆ ใช้ปัญญาแก้ไขปัญหา ไม่คล้อยตามเอนเอียงความคิดความอ่านความเห็นอันเร่าร้อนด้วยความรัก ด้วยความชัง ด้วยความกลัว ด้วยความไม่รู้ความจริง สำเนียกในใจไว้เสมอๆว่าเราจะก้าวข้ามความโสมมแห่งกิเลสที่เร่าร้อน ร้อนรุ่มเผาผลาญกายใจเราให้ฉิบหายเมื่อหลงเสพย์หรือคล้อยตามมันไป จิตเราจักพ้นจากความเร่าร้อนอันยังความฉิบหายมาสู่ตนได้ เราไปได้ไกลกว่านี้ จิตเราสูงกว่านี้ได้อีก การเกือกในกองทุกข์แห่งสมมติกิเลสเป็นเรื่องของผู้มีสันดารปุถุชน ผู้มีสันดานแห่งพระสัตตะบุรุษหรือสันดานแห่งพระอริยะย่อมก้าวข้ามขีดจำกัดในสันดาร-สันดรของสัตว์ไปได้เสมอๆแน่นอน แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศากยมุนีพระบรมศาสดา, พระเจ้าอโศกมหาราชพระมหาจักพรรษดิ์, พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ ๙ ของไทย พระองค์ก็ล้วนก้าวข้ามขีดจำกัดของตนทั้งสิ้น..ด้วย
๑. ความเห็นชอบ
๒. ศรัทธา
๓. หิริ โอตตัปปะ
๔. ทาน ศีล ภาวนา
๕. อริยะสัจจ์ ๔
๖. อิทธิบาท ๔
๗. สัมมัปปธาน ๔
๘. พละ ๕
๙. สุจริต ๓
๑๐. มหาสติปัฏฐาน ๔
๑๑. สัมโพชฌงค์ ๗
๑๒. วิมุตติญาณ ๙. ญาณ ๑๖

หมายเหตุ อิทธิบาท ๔ และ พละ ๕ นี้ ธรรมคู่อันงาม คือธรรมที่ต้องเจริญคู่กันเอื้อประโยชน์ต่อกันเพื่อให้ได้ผลสูงสุด กับ ธรรมที่เกื้อกูลกันเป็นเหตุแก่กันสืบต่อกัน ..เป็นคนละอย่างกัน เช่น

ตัวอย่างธรรมคู่
ความจริง กรรม วิบากกรรม คู่ ไตรลักษณ์ นี้เป็นธรรมคู่ที่เอื้อประโยชน์กัน ความจริงอันเป็นเหตุเป็นผลโดยชอบธรรมนี้เป็นเหตุให้เกิดความรู้ยิ่งตามจริง คือ ปัญญา และ หิริ โอตตัปปะ
ปัญญา คู่ ความเชื่อ ๔ นี้เป็นธรรมคู่ที่เอื้อประโยชน์กัน ความไม่ปิดกั้น ไม่หลงตน ไม่ถือตัว ไม่ยึดหลง ไม่หลงอยู่ รู้แจ้งเห็นจริง ความจริง ความเป็นเหตุเป็นผลตรวจสอบพิจารณาเห็นชัดได้ ไม่เชื่อเพราะหลงงมงายขาดสติระลึกไม่ได้หรือเชื่อตามๆกันมาแบบไม่มีเหตุไม่มีผลไม่เป็นจริง ความละอายต่อบาปกรรม เกรงกลัวต่อบาปกรรม ต้องใช้คู่กับความเชื่อทั้งหมด นี่คือศรัทธาในพระพุทธศาสนา คือ สัทธาพละ, สัทถินทรีย์
สัทธา คู่ ฉันทะ นี้เป็นธรรมคู่ที่เอื้อประโยชน์กัน ความเชื่อด้วยความรู้เห็นตามจริงไม่ปิดกั้นด้วยสมมติกิเลสของปลอม ทำให้เกิดความตั้งใจที่จะทำ มีจุดหมาย เป้าหมายที่จะทำด้วยความยินดี นี้คือฉันทะอิทธิบาท ๔
สติ คู่ ปัญญา นี้เป็นธรรมคู่ที่เอื้อประโยชน์กัน ความระลึกได้ หวนระลึกคำนึกถึงความรู้ต่างๆด้วยพิจารณาตามจริง ทำให้ไม่ใช้ความรู้สึกมากกว่าความรู้เห็นตามจริง นี่เรียกหัวใจนักปราชญ์
สติ คู่ ความเพียร นี้เป็นธรรมคู่ที่เอื้อประโยชน์กัน ความระลึกได้ ระลึกรู้ คำนึงถึง หวนระลึกตรึกตรองพิจารณาร่วมกับสภาวะ สภาพอาการ ผล วิเคราะห์เปรียบเทียบในสิ่งที่ตนทำความเพียร ทำให้ไม่ตึงหรือย่อนไป ไม่กระสันในผล เป็นที่สบายกายใจ ทำให้ทำสะสมเหตุได้ด้วยดี รู้ปัจจุบัน จะเห็นชัดว่านี่คือตึงไปฟุ้งซ่านไปควรลด-ควรละ ดังนั้นให้ทำเป็นที่สบายกายใจ แต่เป็นประจำไม่ขาด ยินดีในผลแต่ไม่หวังกระสันเอาผลจนเกินไปว่าจะต้องเอาต้องได้เดี๋ยวนั้นตอนนั้น เหตุยังไม่ทำจะไปเอาผลได้ยังไง จะเห็นชัดว่าสิ่งนี้หย่อนไปเหลาะแหละไม่เป็นแก่นสารใช้สะสมเหตุไม่ได้ดังนั้นควรทำให้มาก บ่อยๆ เนืองๆ ประจำๆในสิ่งนี้ๆ ระลึกได้แยกแยะดีชั่วในสิ่งที่เกิดที่ทำ สิ่งใดควรละ ไม่ควรเสพย์ สิ่งใดคสรเสพย์ ควรทำให้เกิดมีในกายใจตน สติคู่ความเพียรชื่อว่า สังวรปธาน มีทั้งในอิทธิบาท ๔, พละ ๕, มรรค ๘, สุจริต ๓, สัมโพชฌงค์ ๗

ตัวอย่างธรรมสืบต่อ
สัทธาด้วยปัญญา เกิ้อกูลสืบต่อให้เกิด ฉันทะ ..เพราะมีความเชื่อในกรรม วิบากกรรม เชื่อในพระพุทธเจ้า ด้วยรู้เห็นตามจริง(สัทธา+ปัญญา) จึงเกิดความยินดีที่จะทำในสิ่งนั้นๆ(ฉันทะ)
สัทธาด้วยฉันทะ เกิ้อกูลสืบต่อให้เกิด จุดมุ่งหมาย เป้าหมาย ตั้งใจมั่นที่จะทำ ..เพราะมีสัทธา+ปัญญา+ความชอบใจยินดีในสิ่งนั้น จึงเกิดมีความตั้งใจที่จะทำระลึกได้
สัทธาด้วยฉันทะ เกิ้อกูลสืบต่อให้เกิด ความเพียร ..เพราะมีสัทธา+ปัญญา+ความชอบใจยินดี หมายมั่นสำคัญใจที่จะทำในสิ่งนั้น จึงเกิดมีความตั้งใจทำ ขยัน ขมักขเม้นทำในสิ่งนั้น
ความเพียร เกิ้อกูลสืบต่อให้เกิด สติ ..เพราะมีความตั้วใจทำ มีความเพียรขยันทำ ทำให้สติที่มีความระลึกได้สังขารขึ้นสุดรอบบ่อยขี้นมากขึ้น 
ความเพียรด้วยสติ เกิ้อกูลสืบต่อให้เกิด อินทรีย์สังวร ..เพราะคอยระลึกถึง คำนึงถึงตั้งใจทำอยู่ทุกขณะ ทำให้เกิดมีจิตสำรวมระวังเพียรประคองไว้อยู่ เป็นอินทรีย์สังวร
ความเพียรด้วยสติ เกิ้อกูลสืบต่อให้เกิด สมาธิ ..เพราะมีความเพียรประครองคำนึงถึง สำรวมระวังในใจอยู่ จิตไม่สัดส่ายไปทั่ว จิตส่งเข้าในโดยส่วนเดียวคือสังวร ทำให้จิตตั้งมั่นตามด้วยความเพียรแห่งสตินั้น
สติ คู่ สมาธิ เกิ้อกูลสืบต่อให้เกิด  ..เพราะสติตั้งมั่นจดจ่อในอารมณ์ใดอารมณ์หนี่งได้นาน จิตจึงตั้งมั่นเป็นอารมณ์เดียวได้นานตาม
สมาธิ คู่ ปัญญา เกิ้อกูลสืบต่อให้เกิด ..เพราะจิตตั้งมั่นเป็นอารมร์เดียวพ้นจากสมมติกิเลสฟุ้งซ่าน จิตจึงได้พัก เมื่อจิตได้พักก็มีกำลังโยนิโสพิจารณา จึงเกิดความรู้แจ้งแทงตลอด


ปัญญาทั้งหมดชื่อว่า ความรู้จริง แทงตลอด
ฉันทะทั้งหมดนี้เรียก ฉันทะอิทธิบาท ๔
ความเพียรทั้งหมดชื่อว่า สัมมัปปธาน ๔
สติทั้งหมดนี้เรียก สัมมาสติ
สมาธิทั้งหมดชื่อว่า สัมมาสมาธิ

ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรมย่อมมีอะไรที่เหมือนกัน คือ สติ สัมปะชัญญะ ปัญญา จุดหมาย ความตั้งใจมั่น ความเพียร สมาธิ กล่าวโดยย่อ คือ อิทธิบาท ๔ สะสมพละ ๕




หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ตุลาคม 06, 2017, 05:04:46 PM
1. รูปกายภายนอกเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะรู้เห็น ทุกข์มองด้วยความยินดี มองด้วยความยินร้าย มองด้วยฉันทะ มองด้วยปฏิฆะ ชอบ ชัง มองด้วยกาม มองด้วยนันทิ มองด้วยราคะ มองด้วยความเกลียด มองด้วยความกลัว มองด้วยความรัก มองด้วยความโลภ มองด้วยความโกรธ มองด้วยความหลง มองด้วยความกระสัน มองด้วยความหมายมั่นฝักใฝ่ใคร่เสพย์ นี่ทุกข์เพราะรูปภายนอกย่อมยังความร้อนรุ่ม เร่าร้อน ให้กายใจเรา

2. รูปกายภายในเป็นทุกข์ รูปขันธ์ ขันธ์ ๕ ที่ตนยึดตนครองประกอบไปด้วยโรค มีความไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีความเสื่อมเป็นธรรมดาจะล่วงพ้นความเสื่อมไปไม่ได้ มีความเกิด มีความแก่ มีความเจ็บ มีความตาย
ก. ต่อให้เป็นอมตะ ก็ล่วงพ้นความเจ็บ ปวด ป่วย ไข้ หรือโรคร้ายไปไม่ได้
ข. ต่อให้เป็นอมตะ ไม่มีโรค ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ที่สุดก็ต้องเสื่อมสภาพ เสื่อมถอยไปแปรผันไปตามกาลเวลา คือ มีการเจริญเติบโต จากเด็กมาสู่ผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ไปแก่ พยุงกายไว้ด้วยความลำบากยากเข็ญ
ค. ต่อให้เป็นอมตะ ไม่เจ็บไม่ปวด ไม่ป่วย ไม่ไข้ ไม่แก่ ไม่ตาย ก็ต้องพบกับความพรัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่เจริญใจทั้งสิ้นไป ประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่พอใจ ความไม่สมหวังปารถนาดังใจหวังต้องการ ความผิดพลาด พลาดพลั้ง สุข เศร้า เหงา รัก
ง. ต่อให้เป็นอมตะ ไม่เจ็บไม่ปวด ไม่ป่วย ไม่ไข้ ไม่แก่ ไม่ตาย เสกทุกอย่างเองได้ดังใจปารถนา สิ่งของ บริวาร คนรัก ก็ยังไม่ล่วงพ้นการเอาความสุขสำเร็จของตนไปผูกขึ้นไว้กับผู้อื่น,สิ่งอื่น คนมันทุกข์เพราะเอาความสุขสำเร็จของตนไปผูกขึ้นไว้กับผู้อื่น,สิ่งอื่นนี้แหละ (ดังที่กล่าวไว้ในข้อที่ 1 นั้นเอง)  สุดท้ายก็ไม่พ้นเวทนา คือ ความสุข ความทุกข์ เพราะยังซึ่งเวทนาเหล่านี้ยึดเวทนาเหล่านี้ความติดใจข้องแวะสิ่งทั้งปวงในสามโลกไปทั่วย่อมยังทุกข์มาให้ ย่อมแสวงหาความต้องการที่จะสมใจตนที่ตนเรียกว่าสุขไม่สิ้นสุด หยุดไม่ได้ พอไม่เป็น ไม่รู้จักอิ่ม ยิ่งได้ง่ายเสกขึ้นมาได้มากเท่าไหร่ยิ่งติดใจข้องแวะไปเรื่อยสะสมทับถมเข้าอย่างหนัก
- หากต้องเป็นอมตะด้วยความไม่ล่วงพ้นทุกข์จากรูปขันธ์ ๕ อันนี้ มันย่อมประกอบไปด้วยทุกข์ หาสุขไรๆไม่ได้ แม้จะเป็นอมตะด้วยอาการอย่างนี้ มันจะมีคุณค่าสิ่งใด จะตายก็ตายให้พ้นมันไปก็ไม่ได้ จะอยู่ก็ยากลำบาก ต้องยังซึ่งความหิว ความปวด ความเจ็บ ความป่วยไม่สิ้นสุด แต่ด้วยธรรมชาติของขันธ์ ๕ นี้ ที่สุดคือความดับสูญหรือตายเสมอทั่วกันหมด ไม่ว่าจะยาก ดี มี จน จึงชื่อว่าเป็นที่ประชุมโรคและความเสื่อม อิ่มไม่เป็น แสวงหาไม่หยุด อยู่ไม่ได้ด้วยตัเองต้องเอนไหลไปตามผู้อื่นสิ่งอื่นทุกๆขณะ
 เป็นตัวทุกข์ดังนี้

3. ก็ด้วยเหตุอย่างนี้ๆสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดา เมื่อยังทรงพระชนน์อยู่ย่อมตรัสสอนอย่างนี้ๆว่า

อะนิจจา วะตะสังขารา อุปปาทะวะยะธัมมิโน
อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ เตสัง วูปะสะโม สุโข
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีการเกิดขึ้นแล้ว
ย่อมเสื่อมไปเป็นธรรมดา เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป
ความเข้าไประงับได้แห่งสังขารเหล่านี้ ย่อมเป็นสุข


สัพเพ สัตตา มะรันติ จะ มะริงสุจะ มะริสสะเร
ตะเถวาหัง มะริสสามิ นัตถิ เม เอตถะ สังสะโย
สัตว์ทั้งหลายมีความตายรออยู่ ล้วนต้องตาย อย่างแน่นอน
แม้นตัวเราเองก็จักต้องตายเหมือนกัน อย่าได้กังขาเลย


อะจิรัง วะตะยัง กาโย ปะฐะวิง อะธิเสสะติ
ฉุฑโฑ อะเปตะวิญญาโน นิรัตถังวะ กะลิงคะลัง
ร่างกายนี้ไม่นานหนอ จักต้องนอนทับถมแผ่นดิน
อย่างปราศจากวิญญาณความรู้สึก ราวกับท่อนไม้
ไร้ซึ่งประโยชน์


4. เมื่อจิตถึงซึ่งในข้อที่ 1-3 ดังนี้แล้ว เรียกว่าจิตเราเป็นพุทธะ จิตเป็นพุทโธ พุทโธนี้กลายเป็นกิริยาจิตในตน คือ สภาวะอาการที่จิตเป็นผู้รู้ รู้อะไร..ก็รู้เห็นทุกข์นั่นเอง รู้ของจริง จึงกล่าวว่าพุทโธเป็นกรรมฐานใหญ่ เป็นมูลกรรมฐานในกรรมทั้งปวง ประกอบไปด้วยปัญญาแจ้งชัดจริงดังนี้ คนโง่จะทำพุทธานุสสติด้วยพุทโธไม่ได้ เพราะเขาทำได้แค่บ่นจำว่าพุทโธ จึงไม่รู้คุณ ไม่ถึงคุณของพุทธานุสสติอันว่าด้วยพุทโธนั่นเอง ส่วนผู้มีปัญหาจะทำคุณด้วยพุทโธว่าความเป็นผู้รู้แจ้งแทงตลอด รู้ปัจจุบัน รู้ของจริงต่างหากจากสมมติของปลอม..ดังนี้

4.1 เมื่อเห็นว่าที่ประชุมทุกข์ คือ กาย ลงใจได้แล้ว ใจย่อมมีความหน่าย คลายกำหนัดในขันธ์ ทั้ง ๕ ไม่ยึดสิ่งที่สัมผัสกาย เนื่องด้วยกาย ไม่ติดใจข้องแวะสิ่งไรๆในโลก มันเฉย นิ่งว่าง มันไม่เห็นคุณประโยชน์ที่จะไปข้องแวะสิ่งไรๆในโลก เพราะแม้แต่ที่ประชุมธาตุกาย มีกายครองยังไม่ใช่ตน ไม่เป็นที่ยึดได้แก่ตน สักแต่มีไว้เพื่อทำกิจการงานอันควรตามหน้าที่ฐานะของตน เอาไว้อาศัยสะสมบารมีธรรมให้เต็มเท่านั้น แล้วจะไปเอาอะไรกับสิ่งอื่น ของอื่น นี่เรียกเห็นกายลงที่ใจ กล่าวคือ
   ก. มีจิตสงบมากขึ้น ตัดจากความคิดมากขึ้น ไม่ติดสมมติกิเลสความคิดไรๆ ว่างมากขึ้น มีจิตที่ผ่องใสเบาใจ
   ข. ระลึกได้ดีขึ้น คือ ยับยั้งชังใจ หยุดตรองก่อนทำได้ดีขึ้นโดยไม่ระส่ำ กรีดอัด กลัดมันในใจ
   ค. ไม่มีความจงใจหรือทำไว้ในใจอันตริตรึกในถึงความใคร่-ความติดตรึงหน่วงใจ-ความหมายมั่นฝักใฝ่กระสันใคร่เสพย์ในอารมณ์เหล่าใด
   ง. ไม่มีเจตจำนงค์ที่ตรึกนึกคิดถึงบุคคลหรือสิ่งของอันมีค่าของผู้อื่น ไม่มีใจหมายมั่นผูกใฝ่อยากได้ของผู้อื่น ความฉุดคร่าหมายพรากของผู้อื่นไม่มี ไม่อยากเอา ไม่แสวงหา ไม่ทะยานอยาก ไม่มีใจคิดติดข้องแวะใครหรือสิ่งใดทั้งรักทั้งชัง
   จ. ไม่มีความหวงแหน ตระหนี่ คับข้องใจไม่ว่าเรื่องราวดีๆหรือสิ่งของที่มีค่าที่ตนได้ให้แก่ใคร หรือสิ่งที่ใครได้ให้แก่เรา ตอบสนองกลับเราในทางไม่ดี ไม่มีม่ความโกรธ ไม่มีความเกลียด ไม่มีความชัง ไม่มี เวร ไม่มีภัยต่อใครแม้เพียงเสี้ยววินาทีที่คิดก็ไม่มี

- กล่าวคือ..เมื่อละกายได้แม้ชั่วขณะหนึ่งจักมีเกิดขึ้นก็แต่เพียงอารมณ์ธรรม คือ
   ก. ใจที่มันเอื้อเฟื้อเกื้อกูล น้อมไปในการสละให้ ที่แผ่ขยายความแบ่งปันไปให้ซึ่งกันและกัน
   ข. ละความเบียดเบียนได้มากขึ้น ไม่มีใจคิดเบียดเบียนผู้อื่น(ไม่ผูกโกรธ ไม่ผูกแค้น ไม่อาฆาตหมายทำร้าย ใจคิดร้ายหมายให้ใครฉิบหาย หรือ ตายไปให้พ้นๆ ไม่มีเจตนาหมายทำให้ใครเดือดร้อน สูญเสีย เสียหาย) และ ตนเอง(กายใจตนเป็นที่เย็นเบาสบายไม่เร่าร้อน เป็นที่สบายเบาใจไม่ร้อนรุ่มแม้มีสิ่งใดเกิด สิ่งใดดับ อะไรที่มากระทบไม่ทำให้ใจฟุ้งซ่านหวั่นไหว)
   ค. แล้วจะเกิดมีอาการหนึ่งประดุจความสุขก็ไม่ใช่ เพราะยังไม่ถึงสุข แต่ก็สุข แต่มันเป็นที่สบายกายใจมาก มีอารมณ์ชื่นบาน จิตผ่องใสเบาซายซ่าน จับที่ลมได้มากขึ้น ฉลาดในการปล่อยวาไม่ว่าจะมีอะไรที่มากระทบก็ไม่ทำให้ใจฟุ้งซ่านหวั่นไหว ความฟุ้งซ่านติดคิดลดลงหรือหายไปเลย

     ..นี้เรียกเจตนา..เป็นศีล ศีลลงใจ..สร้างความปราโมทย์ คือ ความซาบซ่านผ่องใส เพราะจิตทำงานน้อยลงจากการละความพล่านตามสมมติความคิดกิเลสของปลอมทั้งหลายที่มาตกกระทบได้ดีขึ้นและมากขึ้น..ดัังนี้


ข้อมูลยังไม่เรียบเรียง
4.2 เมื่อความผ่องใสเกิดจะรู้สึกว่ากายใจตนเบาสบายบ้าง ไม่สัดส่ายติดใจข้องแวะกับสิ่งที่มากระทบ หรืออบอุ่นๆปกลุมแต่ไม่ร้อนกายใจ มีอาการที่อุ่นสบายใจไม่ร้อยรุ่มไหลตามอารมณ์ภายนอก หรือมีเพียงใจที่ไม่สัดส่ายส่งออกนอกทำให้เกิดเหมือนมีอาการที่กดหรือขยายอัดมีกำลังไม่โรยรายเหนื่อยอ่อนเหมือนก่อน

     ..นี้เรียกจิตปราโมทย์..สร้างความปิติ คือ ความอิ่มใจ อิ่มเองด้วยปราโมทย์นั้น..ดัังนี้

นีจึงชื่อว่า..ปิติ สงบ สร้างสุข (ความสงบ(ปัสสัทธิ) คือ จิตมันสงบละเสียจากโลกจากสิ่งทั้งปวง ไม่กระเพื่อม ไม่ไหลไปตามอารมณ์ความรู้สึก ความคิด กล่าวคือ จิตสงบจากสมมติ)

แรกเริ่มนี้แค่ขณิกปิติเท่านั้น จิตยังไม่ตั้งมั่น มันแค่สงบใจลงได้แต่ยังมีความฟุ้งของกิเลราบล้อมอยู่เพียงแค่ใจมีเจตนาไม่เสพบ์ ไม่จับ ไม่คว้า ไม่เอนไหวตาม

- เมื่อจะทำสมาธิจิตก็เพิกใจออก ถอนความยึดจากกายหรือสิ่งทั้งปวง มีสติตั้งรู้ลมหายใจไว้เฉพาะหน้า ไม่หน่ายหนี

- เมื่อละกายแม้เพียงความระอา ความรังเกียจดังนี้ ผลักใสไม่ติดข้องในกายนี้อีก จิตมันจะไม่ยึดเอาสิ่งใดที่เป็นกาย สภาวะนี้สำคัญมากๆที่เราต้องมีเครื่องให้จิตยึดรู้ว่าของจริงคืออะไร นั่นคือลมหายใจเข้า หายใจออกนี้เอง เพราะจิตที่ยังไม่ได้อบรม หรืออบรมสะสมเหตุมาไม่พอมันยังต้องการเครื่องยึดเหนี่ยว ลมนี้แหละของจริงอาการพัดเข้า พัดออก พัดขึ้น พัดลงเหล่าใด ความไหวไปในภายในให้พองตึง หย่อนแฟบ ลมในกระเพาะอาหาร ลมในลำไส้มันมีอยู่ในกายนี้เกิดประกอบกับกาย มีกายครองเป็นกายสังขาร เนื่องด้วยกายประชุมเข้าเป็นกาย ไม่มีลมหายใจเราก็ตายธาตุลมดับ แปรปรวนนี้เราตาย ลมนี้คือของจริงเป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการ แม้ในภายนอกลมที่พัดยอดหญ้า ใบไม้ ต้นไม้ ลมในถ้ำ ลมในทุ่งกว้าง มีโดยธรรมชาติของมันอย่างนั้น เป็นธาตุที่มีอยู่แล้วในโลก
- เมื่อรู้ลมเข้า ลมออกไม่สัดส่าย หรือจิตเพ่งเข้าภายในเช่น เหนือท้องน้อย หน้าออก หรือปลายจมูกก็ตาม เราจะเริ่มเกิดเกิดอาการวูบวาบๆ วูบหนึ่งขนลุกซู่ชูชัน บ้างตัวหนักอึ้ง บ้างเบาโหวง นี้เรียกขณิกสมาธิ

- เมื่อสติมีอารมณ์เดียวไม่สัดส่าย จิตเริ่มจดจ่ออยู่ในอารมณ์เดียวได้นานตาม บ้างแช่รู้อยู่ที่ลม บ้างเกิดนิมิตจิตจับแนบนิมิตเรื่องราวต่างๆเหมือนฝันแต่รู้ตัวอยู่จนเพ่งนิ่งได้นาน

- จนบ้างซาบซ่านจนน้ำตาไหล บ้างมีอาการเหมือนตัวเองเอนเอียงเซซ้ายเซขวาเหมือนจะล้มหลับ จะล้มลงด้านข้าง เมื่อทรงจิตไว้อยู่มันเต็มไม่หลุดจากสมาธิที่เป็นอยู่นั้น จิตจะเริ่มเบาเหมือนตัวเราเบาบ้างมีกำลังในภายในอัดปะทุหมุนเป็นวงเหวี่ยงจนกายเราหมุนตามไปเหมือนพายุหมุนเหวี่ยงแต่มีศูนย์กลางอยู่ตรงกลางทำให้เราไม่ล้มไป
(จุดนี้หาคนตื่นอาการมีจิตพล่านไปพยุงไม่ให้ตนล้มจิตจะหลุดจากสมาธิทันที ต้องให้มันเป็นไปของมันมีจิตส่งเข้าภายในที่จะตั้งจิตไว้อยู่กลางความเอนเอียง วางเฉยไม่ข้องแวะเป็นเพียงผู้แลดูรู้อยู่เท่านั้นจึงจะผ่านได้)


- ละกายได้จึงเห็นเวทนาเพราะไม่เอาจิตเข้ายึดครองกาย กายไม่มีใจครอง จึงเหลือแต่ใจโดดๆที่เห็นจำเพราะความรู้สึกซึ่งตัดขาดจากสัมผัสอันเนื่องด้วยกาย เห็นแจ้งชัดใน..ความหน่วงนึก ๑๘


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ตุลาคม 06, 2017, 05:06:45 PM
- จนเมื่อเห็นรู้ลมหรือมีนิมิตเกิดเห็นตัวลมหายใจเป็นเหมือนสีแสงเป็นเส้นว๊าบในโพรงถ้ำเคลื่อนพุ่งเข้ามมาก็ดี หรือเคลื่อนออกก็ดี มีจิตจับนิมิตนั้น เคลื่อนไหลไป เหมือนใจผลักหนีออกจากอารมณ์ความรู้สึก สภาวะอาการ สถานะที่เป็นอยู่ตรงหน้านั้น จิตเคลื่อนออกทั้งๆที่เพ่งตามนิมิตอยู่ จะเกิดขึ้น 2 สิ่ง 2 อาการดังนี้ คือ..

๑. เมื่อเกิดความรู้สึกวูบหนึ่งจากการที่จิตผลักออกจากสภาวะที่เป็นอยู่เฉพาะหน้านั้นได้ จิตมันจะวูบนิ่งแช่ลงว่าง แนบนิ่งอยู่เฉยๆ ตัดจากสิ่งทั้งหมด ซึ่งจากนี้สำหรับคนที่ยังไม่ชำนาญหรือยังไม่ได้วสีหรือเพิ่งเข้าได้ หรือเมื่อฌาณเสื่อมแล้วกลับมาทำสมาธิใหม่..มันจะเกิดมีชั่วขณะหนึ่งขณะที่จิตเราดิ่งวูบนั้นมันจะกลับมามีความรู้สึกตัวเกิดขึ้น..
- โดยขณะที่เราเข้าไปรู้ตัวรู้มันอยู่นั้น..หากมันกำลังจะเหมือนเรากำลังวูบสติกำลังจะหายไป หรือเหมือนกำลังจะหลับลึกวูบนิ่งว่างแช่ไปไม่รู้สึกรับรู้อะไร ก็ให้เราปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน ไม่ต้องไปดึงจิตที่กำลังจะวูบลงหรือแช่แน่นิ่งอยู่นั้นกลับมารู้ลมหายใจเข้าออก ไม่ต้องดึงจิตกลับมากำหนดใจให้เพ่งนิมิตอะไร  ไม่ต้องไหวกลับมามีสติที่จะไปตามรู้สิ่งอะไรหรือพิจารณาอะไรทั้งสิ้น ให้ปล่อยมันเป็นไปของมัน นั่นเพราะจิตของเรามันยังไม่มีกำลัง มันกำลังเข้าไปพักผ่อนให้ตนมีกำลังเท่านั้นเอง
- สภาวะนี้..หากเราพยายามไปตั้งหน้า ตั้งตา ตั้งสติ ตั้งรู้ ดึงกลับบังคับให้มันเปลี่ยนไปอารมณ์อื่นหรืออารมณ์ใดใด ปรุงไปสิ่งใด มันจะหลุดจากสมาธิทันที จะพลาดโอกาสเข้าถึงฌาณ หรืออัปนาสมาธิโดยทันที
- เมื่อใจมันได้พักมีกำลังแล้ว มนะ จะมีกำลังมาก ทำให้สติบริสุทธิ์ขึ้น สะอาดขึ้น จิตมีกำลังมากทั้งสติ สัมปะชัญญะ สมาธิ ปัญญาครบพร้อมของมันเอง ใจมันจะเริ่มบังคับในสมาธิได้โดยไม่หลุดจากสมาธิที่เป็นอยู่ สติจดจ่อในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้นานมากขึ้น จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวได้นานตาม มันจะจำได้ของมันเองทุกขบวนการขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบโดยที่เราไม่ต้องไปพยายามจะมีสติรู้หรือไปจำจดจ้องจดจำเอาสิ่งใดๆทั้งสิ้น

๒.  เมื่อเกิดความรู้สึกวูบหนึ่งจากการที่จิตผลักออกจากสภาวะที่เป็นอยู่เฉพาะหน้านั้นได้ จิตมันจะวูบนิ่งแช่ แนบนิ่งไปกับนิมิตเบื้องหน้าอยู่เฉยๆ มันไม่รับรู้สิ่งไรๆนอกจากนิมิตเบื้องหน้า ซึ่งจากนี้สำหรับคนที่ยังไม่ชำนาญหรือยังไม่ได้วสีหรือเพิ่งเข้าได้ หรือเมื่อฌาณเสื่อมแล้วกลับมาทำสมาธิใหม่..มันจะเกิดมีชั่วขณะหนึ่งขณะที่จิตเราดิ่งวูบนั้นมันจะกลับมามีความรู้สึกตัวเกิดขึ้น..
- โดยขณะที่เราเข้าไปรู้ตัวรู้มันอยู่นั้น..หากมันกำลังเพ่งแช่นิมิตอยู่แต่มีมนสิกาความทำไว้ในใจแนบแน่นในอารมณ์ตรงกับนิมิตนั้นอยู่ หรือเกิดความรำลึกถึงสิ่งไรๆ เกิดห้วงคำนึงหน่วงนึกคิด เกิดความตรึกสำเนียกรู้ต่อนิมิตนั้นอยู่ว่าคืออะไรยังไง สำเนียกในใจไว้ต่อนิมิตนั้นๆอยู่โดยจิตนั้นวูบแช่นิ่งจับนิมิตนั้นไม่เคลื่อนหนีจากนิมิตนั้นเลย หรือ จิตมันสำเนียกในใจเกิดความตรึกต่อนิมิตนั้น พูดอะไรของมันไปเองตามธรรมชา่ติของวิตกเจตสิก ทั้งที่เรารู้เรื่องชอบอยู่ก็ดีที่ไม่รู้เรื่องก็ช่าง ธรรมชาติใดคิดธรรมชาตินั้นชื่อว่าจิต ซึ่งจิตมันเป็นไปของมันเองอยู่ ต่อให้นิมิตที่เบื้องหน้านั้นดูไม่รู้เรื่อง ไม่มีอะไร ว่าง หรือมีแค่สีกับแสงทั่วๆไป แต่ใจมันกลับรู้เรื่องของมันได้ เข้าใจโดยอารมณ์ความรู้สึกต่อนิมิตนั้นๆของมันได้ แล้วสักพักพูวูบนิ่งแช่อยู่ อาการนี้จิตมันกำลังเป็นไปของมัน จิตมันพูดไปเองอยู่นั้นของมันได้ แต่ใจเรานี้มีความเข้าใจจิตที่มันเป็นไปของมันอยู่ ..ซึ่งอาการนี้เป็นอาการเริ่มแรกที่ใจแยกออกจากจิต มันจะเกิดความตรึกสลับกับแช่นิ่ง สลับกับมนสิการ สลับกลับมารู้ตัว สลับดิ่งวูบลงแช่แน่นิ่ง อาการนี้จิตมันกำลังเปลี่ยนอารมณ์ แล้วเมื่อมันเหมือนกำลังจะวูบหมดสติ ก็ให้เราปล่อยไปให้มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน ใจมันกำลังเข้าไปพัก
-สภาวะนี้..ให้เราไม่ต้องไปพยายามจะรู้ว่ามันคิดมันพูด มันพร่ำว่าอะไร ทำไว้ในใจยังไง ไม่ต้องไปพยายามตั้งหน้า ตั้งตา ตั้งสติเพื่อจะรู้จำจด จำจ้อง ไม่ต้องไปพยายามที่จะมีสติระลึกรู้อาการของมัน หรือ พยายามอยากที่จะจดจำสิ่งที่มันเป็นอยู่นั้นให้ได้ ให้ปล่อยมันไปตามธรรมชาติของมันจิตมันกำลังเป็นอารมณ์เดียวแล้วเข้าไปพัก ไม่อย่างนั้นจิตจะหลุดจากสมาธิทันที

- เมื่อจิตมันได้พักมีกำลังแล้ว มนะ จะมีกำลังมาก ทำให้สติบริสุทธิ์ขึ้น สะอาดขึ้น จิตมีกำลังมากทั้งสติ สัมปะชัญญะ สมาธิ ปัญญาครบพร้อมของมันเอง มันจะจำได้ของมันเองทุกขบวนการขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบโดยที่เราไม่ต้องไปพยายามจะมีสติรู้หรือไปจำจดจ้องจดจำเอาสิ่งใดๆทั้งสิ้น

- เมื่อใจมันได้พักมีกำลังแล้ว มนะ จะมีกำลังมาก ทำให้สติบริสุทธิ์ขึ้น สะอาดขึ้น จิตมีกำลังมากทั้งสติ สัมปะชัญญะ สมาธิ ปัญญาครบพร้อมของมันเอง ใจมันจะเริ่มบังคับในสมาธิได้โดยไม่หลุดจากสมาธิที่เป็นอยู่ สติจดจ่อในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้นานมากขึ้น จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวได้นานตาม มันจะจำได้ของมันเองทุกขบวนการขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบโดยที่เราไม่ต้องไปพยายามจะมีสติรู้หรือไปจำจดจ้องจดจำเอาสิ่งใดๆทั้งสิ้น
- โดยที่ใจ คือ ผู้รู้ ได้ทำหน้าที่เดิมแท้ของมัน คือ เป็นสักแต่เพียงตัวรู้ คือ ผู้รู้ ผู้แล ผู้เห็นอยู่เม่านั้น ไม่ใช่ผู้ร่วม ไม่ใช่ผู้เสพย์
- โดยที่จิต คือ เจตสิก เป็นตัวรู้สมมติบัญญัติอารมณ์ ตัวรู้ปรุงแต่ง ตัวรู้แต่ความเป็นสมมติที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกให้ใจหลง
(หากเอาลงธรรมจะเห็นชัดว่าธรรมชาติของโลกนี้ไม่มีอะไรแต่อาศับความปรุงแต่งความยึดข้องสะสมต่อความจำได้หมายรู้อารมณ์ทั้งหลายนี้แหละที่สร้างเรื่องราวตัวตนขึ้นมาจนเอาเกิดทุกข์ และหลงโลกอยู่นั่นเอง นี่ไม่ใช่คิดในขณะทำสมาธิแต่ปล่อยให้จิตมันเห็นของมันไปเมื่อออกจากสมาธิจะเหลือสัญญาจดจำต่อสิ่งนั้นๆอยู่แล้วเราเอามาวิเคราะห์อนุมานคาดคะเนลงธรรมไม่ให้ตนหลงกับนิมิตไปได้ดังนี้)

- เราฝึกสมถะ ๔๐ กรรมฐานนี้เพื่อให้จิตเรามันได้พัก เมื่อจิตมันได้พักก็จะมีกำลังอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง มันสุขด้วยตัวเองไม่อิงอามิส ไม่ผูกขึ้นไว้กับอารมณ์ความรู้สึกไรๆในโลกทั้งสิ้น ทำให้เกิดพละ ๕ สะสม มีอินทรีย์ ๕ ที่แก่กล้าขึ้น
- จนเมื่อจิตมันพักผ่อนจนอิ่ม รู้ตัวอีกทีความคิดหายไป

 จิตเคลื่อนเข้าปฐมฌาณ ขาวโพลนว่างไม่สิ้นสุดไม่ว่าจะเพิกไปทางใด



- ละกายได้จึงเห็นเวทนาเพราะไม่เอาจิตเข้ายึดครองกาย กายไม่มีใจครอง จึงเหลือแต่ใจโดดๆที่เห็นจำเพราะความรู้สึกซึ่งตัดขาดจากสัมผัสภายนอก
- ละเวทนาได้จึงเห็นจิตเพราะดับความรู้สึกยินดี ยินร้ายได้ จึงเห็นสมมติของปลอมปราศจากความคิดได้ ใจจึงคลายกำหนัดแล้วทำสักแต่ว่ารู้ ทำแค่แลดูอยู่เท่านั้น
- ละจิตได้จึงเห็นธรรมเพราะจิตไม่ข้องแวะซึ่งกาย เวทนา  จิตอันเป็นสมมติกิเลสความคิด ความไหลไปตามสมมติปรุงแต่ง จึงเห็นสภาพธรรมการทำงานตามจริงของขันธ์ เข้าถึงสัจจะ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ตุลาคม 08, 2017, 12:05:54 PM
ทีฆชาณุสูตร
            [๑๔๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมแห่งชาวโกฬิยะ
ชื่อ กักกรปัตตะ ใกล้เมืองโกฬิยะ ครั้งนั้นแล โกฬิยบุตรชื่อทีฆชาณุ เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น
แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์
ยังบริโภคกาม อยู่ครองเรือน นอนเบียดบุตร ใช้จันทน์ในแคว้นกาสี ยังทรงดอก-
*ไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยังยินดีเงินและทองอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมที่เหมาะแก่ข้าพระองค์ อันจะพึงเป็นไปเพื่อ
ประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบัน เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขในภายหน้าเถิด ฯ
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อม
เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบันแก่กุลบุตร ๔ ประการเป็นไฉน
คือ อุฏฐานสัมปทา ๑ อารักขสัมปทา ๑ กัลยาณมิตตตา ๑ สมชีวิตา ๑ ฯ
             ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็อุฏฐานสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยง
ชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน คือ กสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม รับ
ราชการฝ่ายทหาร รับราชการฝ่ายพลเรือน หรือศิลปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้ขยัน
ไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่องอันเป็นอุบายใน
การงานนั้น สามารถจัดทำได้ ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าอุฏฐานสัมปทา ฯ
             ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็อารักขสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ มีโภค-
*ทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว
ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ได้พร้อมมูล
ด้วยทำไว้ในใจว่า ไฉนหนอ พระราชาไม่พึงบริโภคทรัพย์เหล่านี้ของเรา โจรไม่
พึงลัก ไฟไม่พึงไหม้ น้ำไม่พึงพัดไป ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักจะไม่พึงลักไป ดูกร
พยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าอารักขสัมปทา ฯ
             ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็กัลยาณมิตตตาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ อยู่อาศัย
ในบ้านหรือนิคมใด ย่อมดำรงตน เจรจา สั่งสนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคม
นั้น ซึ่งเป็นคฤหบดี หรือบุตรคฤหบดี เป็นคนหนุ่มหรือคนแก่ ผู้มีสมาจาร
บริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ศึกษาศรัทธาสัมปทาตามผู้ถึง
พร้อมด้วยศรัทธา ศึกษาศีลสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ศึกษาจาคสัมปทาตามผู้
ถึงพร้อมด้วยจาคะ ศึกษาปัญญาสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ดูกรพยัคฆปัชชะ
นี้เรียกว่ากัลยาณมิตตตา ฯ
             ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็สมชีวิตาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ รู้ทางเจริญ
ทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก
ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่าย
ของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ ดูกรพยัคฆปัชชะ เปรียบเหมือนคนชั่งตราชั่ง
หรือลูกมือคนชั่งตราชั่ง ยกตราชั่งขึ้นแล้ว ย่อมลดออกเท่านี้ หรือต้องเพิ่ม
เข้าเท่านี้ ฉันใด กุลบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่ง
โภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วย
คิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือ
รายได้ ดูกรพยัคฆปัชชะ ถ้ากุลบุตรผู้นี้มีรายได้น้อย แต่เลี้ยงชีวิตอย่างโอ่โถง
จะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้ใช้โภคทรัพย์เหมือนคนเคี้ยวกินผลมะเดื่อฉะนั้น ก็ถ้า
กุลบุตรผู้ที่มีรายได้มาก แต่เลี้ยงชีพอย่างฝืดเคือง จะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้
จักตายอย่างอนาถา แต่เพราะกุลบุตรผู้นี้รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์
แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้
ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ ดูกร
พยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าสมชีวิตา ฯ
             ดูกรพยัคฆปัชชะ โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมีทางเสื่อม
๔ ประการ คือ เป็นนักเลงหญิง ๑ เป็นนักเลงสุรา ๑ เป็นนักเลงการ- ๑
มีมิตรชั่ว สหายชั่ว เพื่อนชั่ว ๑ ดูกรพยัคฆปัชชะ เปรียบเหมือนสระน้ำใหญ่
มีทางไหลเข้า ๔ ทาง ทางไหลออก ๔ ทาง บุรุษพึงปิดทางไหลเข้า เปิดทาง
ไหลออกของสระนั้น ฝนก็มิตกต้องตามฤดูกาล ด้วยประการฉะนี้ สระน้ำใหญ่
นั้นพึงหวังความเสื่อมอย่างเดียว ไม่มีความเจริญเลย ฉันใด โภคทรัพย์ที่เกิด
โดยชอบอย่างนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมมีทางเสื่อม ๔ ประการ คือ เป็น
นักเลงหญิง ๑ เป็นนักเลงสุรา ๑ เป็นนักเลงการ- ๑ มีมิตรชั่ว สหายชั่ว
เพื่อนชั่ว ๑ ฯ
             ดูกรพยัคฆปัชชะ โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมีทางเจริญ
๔ ประการ คือ ไม่เป็นนักเลงหญิง ๑ ไม่เป็นนักเลงสุรา ๑ ไม่เป็นนักเลง
การ- ๑ มีมิตรดี สหายดี เพื่อนดี ๑ ดูกรพยัคฆปัชชะ เปรียบเหมือน
สระน้ำใหญ่ มีทางไหลเข้า ๔ ทาง ไหลออก ๔ ทาง บุรุษพึงเปิดทางไหลเข้า
ปิดทางไหลออกของสระนั้น ทั้งฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล ด้วยประการฉะนี้
สระน้ำใหญ่นั้นพึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม ฉันใด โภคทรัพย์ที่เกิด
โดยชอบอย่างนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมมีทางเจริญ ๔ ประการ คือ ไม่เป็น
นักเลงหญิง ๑ ไม่เป็นนักเลงสุรา ๑ ไม่เป็นนักเลงการ- ๑ มีมิตรดี
สหายดี เพื่อนดี ๑ ดูกรพยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไป
เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขในปัจจุบันแก่กุลบุตร ฯ
             ดูกรพยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์
เพื่อความสุขในภายหน้าแก่กุลบุตร ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ สัทธา-
*สัมปทา ๑ สีลสัมปทา ๑ จาคสัมปทา ๑ ปัญญาสัมปทา ๑ ฯ
             ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็สัทธาสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้มีศรัทธา
คือ เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดูกรพยัคฆปัชชะ
นี้เรียกว่าสัทธาสัมปทา ฯ
             ดูกรพยัคฆปัชชะ สีลสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้น
จากปาณาติบาต ฯลฯ เป็นผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็น
ที่ตั้งแห่งความประมาท ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าสีลสัมปทา ฯ
             ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็จาคสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ มีจิต
ปราศจากมลทินคือความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามือชุ่ม
ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน ดูกรพยัคฆปัชชะ
นี้เรียกว่าจาคสัมปทา ฯ
             ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็ปัญญาสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ เป็นผู้มี
ปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาที่เห็นความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรก
กิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าปัญญาสัมปทา
ดูกรพยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุข
ในภายหน้าแก่กุลบุตร ฯ
                          คนหมั่นในการทำงาน ไม่ประมาท จัดการงานเหมาะสม
                          เลี้ยงชีพพอเหมาะ รักษาทรัพย์ที่หามาได้ มีศรัทธา
                          ถึงพร้อมด้วยศีล รู้ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ ชำระ
                          ทางสัมปรายิกประโยชน์เป็นนิตย์ ธรรม ๘ ประการดังกล่าวนี้
                          ของผู้ครองเรือน ผู้มีศรัทธา อันพระพุทธเจ้าผู้มีพระนาม
                          อันแท้จริงตรัสว่า นำสุขมาให้ในโลกทั้งสอง คือ ประโยชน์
                          ในปัจจุบันนี้และความสุขในภายหน้า บุญ คือ จาคะนี้
                          ย่อมเจริญแก่คฤหัสถ์ด้วยประการฉะนี้ ฯ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ตุลาคม 10, 2017, 09:41:40 AM

คำที่พระพุทธเจ้า พระบรมศาสดาตรัสกะผู้บวชเป็นภิกษุว่า
เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำให้ถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นโดยชอบเถิด

ข้อว่า.. ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ความหมาย คือ สัจจะ คือ พระอริยะสัจ ๔ ที่ทรงประกาศ รวมทั้งธรรมทั้งปวงที่ทรงแสดง 84000 ทาน ศีล ภาวนา เหล่าใด อันเป็นไปเพื่ออบรมอินทรีย์ ๕ มีพละ ๕ มรรค สุจริต ๓ โพชฌงค์ ผล วิมุตติ เป็นต้น
ข้อว่า.. ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ ความหมาย คือ ประพฤติ ปฏิบัติด้วย ศรัทธา ที่ถึงพร้อมด้วย ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา
ข้อว่า.. เพื่อทำให้ถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นโดยชอบเถิด ความหมาย คือ คำว่าที่สุดแห่งกองทุกข์ คือ ทุกข์นั้นสิ้นสุดแล้ว, ทุกข์นั้นสุดแล้ว, หมดแล้ว สิ้นแล้ว, พ้นแล้ว, ไม่มีอีกแล้ว ดังนั้นความว่าเพื่อทำให้ถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ คือ ทำให้ตนหลุดพ้นจากกองทุกข์, "ทำให้กองทุกข์เหล่านั้นมันสิ้นสุดลง" ไม่มีอีกแล้ว นั่นเอง


ก. สัจธรรมคู่ ๒ คือ ทุกข์ กับ สมุทัย เป็นเรื่องของโลก
- เข้าถึงก็เข้าใจแจ่มแจ้งในความเป็นโลก ความเป็นธรรมชาติของโลก สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต
- เข้าถึงก็รู้แจ้งชัดความเป็นโลก เห็นความเป็นโลกุตระ จำแนกแยกแยะรู้เห็นของจริงต่างหากจากสมมติ
- เเป็นเครื่องเข้าถึงจิตเป็นพุทโธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น

ข. สัจธรรมคู่ ๒ คือ นิโรธ กับ มรรค เป็นเรื่องของโลกุตระ เข้าถึงก็แจ้งธรรม
- เข้าถึงก็ตื่นจากโลก ตื่นจากสมมติ เดินสู่ทางโลกุตระ
- เข้าถึงก็เลิกบานพ้นแล้วจากสมมติกิเลาของปลอม
- เป็นเครื่องเข้าถึงจิตเป็นพุทโธ คือ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

ค. สัจธรรม คือ พรหมจรรย์(ทาน ศีล พรหมวิหาร ๔)
- เป็นเครื่องปฏิบัติเพื่อประครองกายใจเราไว้อยู่ด้วยความไม่อิงอามิส เข้าถึงสมาธิ

ง. สัจธรรม คือ สมาธิ
- เป็นเครื่องปฏิบัติเพื่อดำรงรักษาจิตไว้อยู่ด้วยความไม่อิงอามิส เข้าถึงปัญญา

จ. สัจธรรม คือ ปัญญา
- เป็นเครื่องเข้าถึงความเบิกบาน พ้นแล้วซึ่งความหลงโลก หลงสมมติ


**เมื่อแจ้งชัดโลก แทงตลอดความเป็นสังขารโลก จนเห็นโลกเป็นของว่าง ก็จึงเข้าถึงโลกุตระได้**

เพราะถึงทุกข์ ถึงโลกียะ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ตุลาคม 17, 2017, 11:26:56 PM
ทุกข์ คือ ธรรมชาติของโลก(โลกียะ)               ควรกำหนดรู้
สมุทัย คือ สิ่งที่เป็นโลก(โลกียะ)                   ควรละ
นิโรธ คือ โลกุตระ, ธรรมชาติของโลกุตระ          ควรทำให้แจ้ง
มรรค คือ ทางเข้าโลกุตระ, สิ่งที่เป็นโลกุตระ       ควรเจริญให้มาก


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 14, 2017, 10:32:18 PM
เข้านิพพิทา วิราคะในกาย

1. เข้าฌาณ ปล่อยให้จิตมันเป็นไปจนจิตอิ่มมีกำลัง สัมปชัญญะ คือ ความรู้ชัดในปัจจุบัน.. จะเกิดขึ้นอีกครั้งด้วยมหาสติปัฏฐาน ทำให้เกิดความรู้ตัวทั่วพร้อม เวลานี้เราจะอธิษฐานนิมิตได้ -> ม้างกายออกมา เป็นกองๆตามคุณลักษณะอาการ -> ก็จะเจอกลุ่มกองธาตุที่เกิดร่วมเคียงอาศัยกันอยู่เป็นก้อนเป็นกอง -> ถอนใจออกจากกองธาตุเสปะสปะเหล่านั้นไม่เอาใจเข้ายึดครองกองธาตุเหล่านั้นอีก ก็จะเหลือแต่ใจอยู่โดดๆ -> แล้วดูกองธาตุแห่งอาการทั้ง ๓๒ ประการ นั้นมันแสดงของจริงให้ดู -> เมื่อไม่มีใจเข้ายึดครอง ธาตุก็ไม่คงอยู่ร่วมกันต้องแยกขาดจากกันไปตามแต่ธาตุนั้นๆให้เห็นเอง -> กายนี้มีความเสื่อม สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็เนื่องด้วยกาย -> ความบริสุทธิ์ไม่ติดข้องแวะก็ด้วยไม่มีพันธะแห่งกาย ความปราศไปพ้นไปแห่งกายนี้เป็นสุข

2. เข้าฌาณ ปล่อยให้จิตมันเป็นไปจนจิตอิ่มมีกำลัง สัมปชัญญะ คือ ความรู้ชัดในปัจจุบัน.. จะเกิดขึ้นอีกครั้งด้วยมหาสติปัฏฐาน ทำให้เกิดความรู้ตัวทั่วพร้อม เวลานี้เราจะอธิษฐานนิมิตได้ -> ม้างกายออกมา ทีละอาการ ด้วยพิจารณาดูแต่ละอาการนั้นว่า เป็นเรา เป็นของเรา มีเราในนั้นไหม ในนั้นมีเราไหม -> ก็จะเจอกลุ่มกองรูปขันธ์อันเป็นกายในกายที่เกิดร่วมกันอาศัยกันอยู่เป็นก้อนเป็นกอง แต่ไม่มีเราอยู่ในนั้น ถึงอนัตตลักษณะ -> ถอนใจออกจากกองอาการทั้ง ๓๒ ประการที่เสปะสปะเหล่านั้นไม่เอาใจเข้ายึดครองกองรูปขันธ์เหล่านั้นอีก ก็จะเหลือแต่ใจอยู่โดดๆแยกจากกองรูป แล้วดูกองรูปนั้นว่ามีสิ่งเหล่านั้นที่กองอยู่ตรงหน้านี้ๆในเราไหม สิ่งนี้มีในเราไหม ถึงอนัตลักษณะ -> จากนั้นก็ทำแค่แลดูกองรูปขันธ์ คือ อาการทั้ง ๓๒ ประการ นั้นมันแสดงของจริงให้ดู -> เมื่อไม่มีใจเข้ายึดครอง ธาตุก็ไม่คงอยู่เป็นรูปร่วมกันได้ จักต้องแยกขาดจากกันไปตามแต่ธาตุนั้นๆให้เห็นเอง -> กายนี้มีความเสื่อม สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็เนื่องด้วยกาย -> ความบริสุทธิ์ไม่ติดข้องแวะก็ด้วยไม่มีพันธะแห่งกาย ความปราศไปพ้นไปแห่งกายนี้เป็นสุข

3. สายสมาธิ ปล่อยให้มันเป้นไปของมันจะเป็นอะไรก็ช่างมันไม่ต้องแวะดูแวะชมอะไรทั้งสิ้น ทำเหมือนขับรถเดินทางไกล ที่ต้องขับไปเป้นระยะทางยาวๆไม่แวะข้างทาง ขันธ์ มันจะแสดงชองจริงทุกอย่างของมันออกมาเองจนหมดทุกอย่าง


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 17, 2017, 10:27:53 PM
บันทึกกรรมฐานวันที่ 17/11/60 เวลา 03:00 น. - 06:00 น.

ธัมมารมณ์ที่ควรเสพย์ และ การสงบนิ่ง
จิตจับที่จิต อากาศกสิน วิญญาณกสิน อรูปฌาณ

   บันทึกกรรมฐานทั้งสิ้นทั้งปวงนี้ ล้วนแต่เป็นความรู้อย่างปุถุชนอย่างข้าพเจ้าจะเข้าไปรู้ัเห็น อนุมาน คาดคะเน ตรึกนึกพิจารณาหลังจากการปฏิบัติได้สภาวะนั้นๆตามที่บันทึึกไว้นี้แล้ว ซึ่งยังไม่ถูกต้องแต่ตรงตามจริง ยังสักแต่เป้นเพียงธรรมสมมติ ยังไม่แจ้งแทงตลอดก ยังทำไม่ได้ทุกครั้งที่ต้องการ ยังไม่ถึงวสี แต่เคยเข้าถึงได้เนืองๆพอที่จะรู้อาการที่จิตนี้มนสิการธรรมทั้งปวงได้ ซึ่งข้าพเจ้าได้ปฏิบัติตามที่สมด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระมหาศาสดาตรัสสอน อันมีพระอรันตสงฆ์ พระอริยะสงห์นำพระธรรมเหล่านี้มาเผยแพร่สั่งสอนให้ข้าพเจ้าได้รับรู้แล้วมาฝึดกกสืบต่อในแบบที่ตนพอจะมีปัญญาอย่างปุถุชนเดข้าใจได้เท่านั้น ด้วยเหตุดังนี้ หากแนวทางใดผิดเพี้ยนไม่ตรงตามจริง ท่านที่แวะเข้าชมบันทึกนี้ทั้งหลายโปรดจงรู้ไว้ว่า เป็นเพียงธรรมที่ข้าพเจ้าปฏิบัติแล้วพิจารณายได้อย่างปุถุชนเท่านั้น ยังไม่แจ้งแทงตลอดถูกต้องและตรงตามจริงตามที่พระพุทธศาสดาทรงตรัสสอน
    หากธรรมนี้เป็นจริงมีประโยชน์เหล่าใดทั้งปวงแก่ท่านที่แวะเยี่ยมชม ก็ขอให้ท่านทั้งหลายโปรดจงรู้ไว้ว่า พระธรรมคำสอนทั้งปวงของสมด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดา ที่ได้ทรงตรัสสอนมานี้ประกอบไปด้วยคุณ หาประมาณมิได้ ใช้ได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกจริตนิสัย สามารถพลิกแพลงให้เข้ากับจริตตนแล้วนำมาใช้งานได้อย่างง่ายแต่มีคุณประโยชน์สูง เห็นผลได้ไม่จำกัดกาล ดังนี้

ยังไม่เรียบเรียง

ธรรมสูงที่พระพุทธศาสดาสอนแก่พระสารีบุตร มีเป็นอันมาก แต่ธรรมทั้งปวงมีต้นตออยู่ที่ ธัมมารมณ์
ธัมารมณ์ที่ควเสพย์ และไม่ควรเสพย์
ธัมมารมณ์ที่เป็นความโสมนัส โทมนัส เอเปกขา ที่ควรเสพย์ และ ไม่ควรเสพย์
ถ้าเข้าฌาณไม่ได้ เอบกขาที่บริสุทธิ์ หรือจิตแยกกายเข้าเอกัคคตารมณ์ได้แล้ว
จัะไม่รู้จักความบริสุทธิ์ และ ไม่รู้จัก จิตสังขาร วิญญาณสังขาร
ยากที่จะแยกแยะธัมมารมณ์ได้ พระพุทธศาสดาจึงตรัสสอนว่า สมาธิ ก่อเกิดปัญญา ดังนี้
สมาธินี้ ปัญญานี้ใพระธรรมวินัยนี้ ไม่ใช้ความคิด
แต่ใช้ความเข้าไปรู้เห็นสัมผัสเอาได้ตามจริงโดยปราศจากคิด
เพื่อเข้าไปรู้เห็นสัมผัสตามจริงอันเป็นเดิมแท้ๆปราศจากความปรุงแต่งสมมตินั่นเอง
ส่วนปัญญาที่ใช้ความคิดเป็นทางโลกที่อาศัยสมมติอนุมานคาดคะเน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ
เมื่อรู้ตามนี้แล้ว กุลบุตรผู้ฉลาดในธรรม ย่อมรู้จักการเลือกเสพย์ธัมมารมร์ที่ควรเสพย์
และ ละจากธัมมารมณ์ที่ไม่ควรเสพย์
ธัมมารมณ์ใดที่เสพย์แล้วยังกุศลให้เกิดขึุ้น ทำอกุศลให้เสื่อมลง ธัมมารมณ์นั้นควรเสพย์
ธัมมารมณ์เหล่าใดที่เสพย์แล้วยังอกุศลให้เกิดมีขึ้น ทำกุศลให้เสื่อมลง ธัมมารมณ์นั้นไม่ควรเสพย์
ธัมมารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ เวทนา สัญญา สังขาร ความคิด คือ จิตสังขาร และ มโนวิญญาณ คือ วิญญาณสังขาร
อย่างปุถุชนเราๆนี้จะละธัมมารมณ์ที่ไม่ควรเสพย์ได้ก็ด้วย ละสมมติ
สมมติความคิดปรุงแต่งที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกให้จิตหลง จิตรู้ ..ธรรมชาติของจิตเรานี้ คือ ความคิด จึงรู้สิ่งใดด้วยสมมติความคิดทั้งสิ้น สิ่งนั้นล้วนเป็นสมมติทั้งหมด ..ดังนี้แล้ว จิตรู้สิ่งใด สิ่งนั้นล้วนเป็นสมมติทั้งหมด เรามองรู้เห็นสิ่งใดด้วยราคะ เพราะสำคัญหมายรู้อารมณ์นั้นด้วยราคะ เมื่อหมายรู้อารมณ์ใดด้วยสิ่งใด ก็ย่อมดำริงถึงสิ่งนั้นด้วยธรรมนั้น

ก็เมื่อรู้อย่างนี้กุลบุตรผู้ฉลาดเมื่อจะเว้นจากกาม นันทิ ราคะ ย่อมละสมมติความคิดของไปเสียได้

ละก็ละจิต เพราะธรรมชาติของจิตคือความคิดรู้ แล้วคิด ย้ำไปมากับสัมผัสที่รู้ทางสฬายตนะ

ย่อมอาศัยความเข้าไปสงบรำงับโดยความไม่ยึด ไม่ข้อง ไม่จับ ไม่เอา ว่าง ไม่มี
ความสงบนิ่ง ความที่มีอุเบกขาบริสุทธิ์ผุดผ่องนี้ ย่อมไม่มีสิ่งเจอปนข้องแวะสิ่งไร
มีความรู้ในปัจจุบันที่ว่าง สงบ จิตไม่กระเพื่อมหวั่นไหวไหลตามสมมติความคิดเหล่าใด
ทำแต่เพียงรู้ ตั้งมั่นนิ่งอยู่
รู้แต่ปัจจุบันเฉพาะหน้าที่ว่าง จิตมีกำลังตั้งจิตไว้เป็นกำลังที่ไม่อ่อนแอปลิวไหวตามกระแสสมมติ
ไม่ยึด ไม่จับเอาสิ่งใด นอกจากความนิ่งอยู่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวของจิต

สงบนิ่งนี้เป็นธรรมสูง ที่เด็กยืนสงบนิ่ง 1 นาทีหน้าเสาธง
ท่านให้ทำปัจจุบันที่หลับตาเบื้องหน้าไม่มีสิ่งไร ก็รู็แต่สัมผัสภายในคือจิตอันเป็นธรรมชาติที่คิด
ก็แม้เบื้องหน้าก็มีแต่ว่าง มืด ผัสสะรอบกายสงบนิ่งไม่มีไรๆ สิ่งที่เกิดขึ้นแก่ใจล้วนเป็นสมมติทั้งสิ้น
ควรหรือหนอที่ใจเราจะเข้าไปยึด ไม่จับ ไปข้อง ไปแวะเสพย์เอาสมมติของปลอมเหล่านั้น ก็ย่อมไม่ควร ย่อมไม่ใช่สุข ย่อมไม่ใช่ประโยชน์ ดังนี้แล้วจิตก็ว่างนิ่งเข้าที่ว่างเท่านั้น
เรียกอุปสมานุสสติ มีจิตว่างบริสุทธิ์ ปราศจากปรุงแต่งด้วยตัวของใจมันเอง

สงบนิ่งอย่างเด็กๆ ในทางโลก โลกียะนี้..เวลาว่างโล่ง สมองมันโล่ง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ติดคิด ไม่ย้ำคิดย้ำทำ

จิตก็จะเห็นสิ่งต่างๆได้มากขึ้น ลำดับความคิด ความจำ การแสดงเป็นระบบ ว่องไว ฉับไหว
เพราะไม่มีขยะ ความคิดฟุ้งซ๋านส่วนอื่นมาสะเปะสปะรกรุงรัง ทำให้พิจารณาได้ง่ายและเร็ว เพราะสมองมันโล่งทำงานง่าย

อุปมาเหมือนคลองน้ำ ที่มีสิ่งของตะกอน เศษขยะ ทั้งกิ่งไม้ใบไม้มากมายในคูคลองนั้น
เมื่อน้ำจะไหลย่อมกระทบ ย่อมขัด ย่อมลำบาก ย่อมไม่ไหลไปได้โดยสะดวก

ก็เมื่อตักเอาสิ่งปฏิกูลเหล่านั้นออกจากคลองได้แล้ว น้ำก็ย่อมไหลไปได้สะดวกฉันนั้น  เปรียบเกมือนใจเราเป็นคลอง จิตที่คิดเป็นน้ำ ขยะปฏิกูลเป็นสมมติสัญญาสะสม ดังนี้ นี่คือสิ่งที่ตอบโจทย์ว่าทำไมทางโลกบอกว่า นั่งสมาธิแล้วฉลาด ด้วยวิถีการทำงานของจิตที่พระพุทธศาสดาตรัสสอนไว้ดีแล้วดังนี้เป็นต้น
นี่คือทำไมทางโลกบอกว่า นั่งสมาธิแล้วฉลาดว่องไว ทำไมผู้ใหญ่จึงอยากให้เด็กนอนเยอะๆ แล้วจะตื่นมาฉลาด ก็ด้วยเหตุให้ได้พักสมองดังนี้ ส่วนในทางธรรมนี้ กรรมฐานทั้ง 40 กอง ทำให้จิตได้เข้าไปพัก เมื่อจิตได้เข้าไปพัก จะนิ่งสนิท ไม่ทำงาน กายก็ได้พักตาม สมองปรอดโปร่งแจ่มใส ไม่มีอะไรตกค้างในสมอง เพราะไม่มีสิ่งตกค้างในจิต จิตไม่สร้องเสพย์สมมติความคิด มีกำลังอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง ทำให้จิตควรแก่งานเลือกเฟ้นการเสพย์และไม่เสพย์ธัมมารมณ์ทั้งปวงได้ดี ไม่ติดกรอบสัญญา นิวรณ์ ลำดับเป็นระบบว่องไว นี่คือทำไมทางโลกบอกว่า นั่งสมาธิแล้วฉลาด หรือ นอนพักสมองแล้วจะฉลาด มีเหตุด้วยประการต่างๆ ดังนี้..




ส่วนทางธรรมโลกุตระ ปัญญาในทางธรรมนี้ คือ จิตทำสักแต่เพียงรู้ คือ เป็นจิตดั้งเดิม ที่มีเพียงรู้ไม่ได้ปรุงแต่งเสพย์เติม ตั้งมั่นนิ่งอยู่เท่านั้น ไม่ซ่านกระเซ็นไหลตามสัมผัสที่มากระทบ มีรู้ รู้ไม่มีสิ้นสิด รู้ด้วยความนิ่งแลดูความเป็นไปต่างๆอยู่เท่านั้น จิตจดจ่อตั้งมั่นไม่ไหวเอนอยู่แต่เพียงความว่างสงบบริสุทธิ์ปราศจากความปรุงแต่ง เห็นการทำงานจริงๆของขันธ์ต่างๆ เห็นความจริงอันปราศจากความตรึกนึกคิด ไม่มีความคิด นอกจากของจริงเดิมแท้ไม่มีสมมติ

การสะสมเหตุ คือ การสร้างรากฐาน เคล้าโครง ขึ้นร่างของอินทรีย์ ๕ คือ สัทธา ๔, วิริยะ, สติ, สมาธิ, ปัญญา นั้นเอง เพื่อเกิดสติปัญญเข้าสู้สุจริต ๓ คือ มรรค ๘ อันทำให้เกิดมหาสติปัฏฐาน ๔ และ สัมโพชฌงค์ ๗ สืบไป

อากาสานัญจายตนะ
เมื่อสงบนิ่งจิตบริสุทธิ์ว่าง จิตจดจ่อตั้งมั่นไม่ไหวเอนอยู่แต่เพียงความว่างสงบบริสุทธิ์ปราศจากความปรุงแต่ง เมื่อจิตตั้งอยู่ในที่ว่างไปไม่มีประมาณ ไม่ปรุง ไม่แต่ง จะมีสภาวะที่เหมือนความว่างมืดนิ่งนั้นดูดจิตเราออกไป เหมือนหลุมดำในอวกาศ ในจักรวาล เหมือนแบ๊คโฮลด์ในเอกภพที่ดูดเอาดวงดาวทั้งหลายเข้าหายไปฉันนั้น ซึ่งภายในหลุดดำหรือเบื้องหลังอีกมิติของหลุมดำนั้นก็จะเป็นอีกสถานที่หนึ่งๆที่ไม่ใช่จากที่เป็นอยู่ เป็นโลกใหม่ มิติใหม่ ดังนี้ให้ทำความสงบบริสุทธิ์สืบไปมันจะดูดจิตออกจากร่างก็ให้มันเป็นไป จิตเราเข้าสู่ อากาสานัญจายตนะ

วิญญาณกสิน
มนสิการที่ ๑. วิญญาณกสิน คือ การเอาจิตจับที่จิต คือ การสงบนิ่ง ทำไว้ในใจทตั้งมั่นที่ใจ ไม่ให้สัดส่าย ไหวไปตามสมมติความคิด หรือสิ่งไรๆ ทำใจให้ว่างปราศจากสิ่งใดปรุงแต่งจิต ปัจจุบันอยู่ที่ความว่าง ไม่มีอะไรทั้งนั้น ไม่คิด ไม่ตริ ไม่ตรึก ไม่ยึด ไม่จับ ไม่เอาอะไรทั้งสิ้น ทำแต่จิตให้มั่นคงไม่เอนไหวตั้งอยู่ปัจจุบันเฉพาะหน้า จับจิตให้มั่นคงไม่เอนเอียงไปที่ใด ไม่ไหลตามสมมติความคิด
มนสิการที่ ๒. วิญญาณกสิน เอาจิตตั้งมั่นด้วยพุทโธ พุทโธ ผู้รู้ปัจจุบันของจริง รู้ของจริงต่างหากจากสมมติ ไม่เสพย์ข้องแวะสมมติ มีจิตที่สงบบริสุทธิ์ ตื่นจากสมมติของปลอมคือไม่หยิบจับความคิด เบิกบ้านพ้นจากสมมติ คือไม่ข้องแวะสิ่งใดมีเพียงจิตโดดๆ จิตจับที่จิต ไม่เอาสิ่งไรๆทั้งสิ้น




หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 21, 2017, 01:04:37 PM
บันทึกกรรมฐาน วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

เรื่อง ทำเหตุใน "ศีล"

ศีล เหล่าใดเป็นศีลเพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้

เหตุแห่งทางที่จะละอภิชฌา-โทมนัส มี 3 ข้อดังนี้คือ

๑. หิริ ความละอายบาป ละอายใจต่อการทำความชั่ว

หิริ (อ่านว่า [หิ-หฺริ]) แปลว่า ความละอายแก่ใจ ความละอายต่อบาป หมายถึงความละอายใจตัวเองต่อการทำความชั่วความผิด ต่อการประพฤติทุจริตทั้งหลายและความละอายใจตัวเองที่จะละเว้นไม่ทำความดีซึ่งควรจะทำให้เกิดมีในตน เช่นบิดามารดามีความละอายใจที่จะไม่ดูแลบุตรของตน เช่นนี้เรียกว่ามีหิริ
หิริ เกิดขึ้นได้ด้วยการคิดถึงการศึกษา ฐานะ ยศศักดิ์ ชาติตระกูลของตน คิดถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น รวมกับความแกล้วกล้าของจิตใจที่จะไม่ทำชั่วเช่นนั้น

ดั่งพระเดชพระคุณ พระพุทธิสารเถระ หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฒฑโน ครูของเราผู้เเป็นพระอรหันตสาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดา ท่านได้แสดงสัทธรรมเทศนาสอนเอาไว้ ซึ่งการนี้ผมจักขออนุญาตกล่าวตามในภาษาแบบที่ผมเข้าถึงได้ เข้าใจได้ ดังนี้ว่า..

เรื่องกรรม
การกระทำทั้งปวงของเราคือกรรม ไม่ว่าอดีต ปัจจุบัน อนาคต การทำเหล่าใดคือกรรมทั้งสิ้น ดังนี้เราทำในปัจจุบันนี้ให้ดีเพื่อสืบต่อให้ดีไปในภายหน้า จริงๆแล้วคนเราอาศัยของเก่ามา เป็นเหตุปัจจัยให้ได้รับผลกรรมจากสิ่งที่ทำในอดีตนั้นมาสู่ปัจจุบัน
- หากของเก่าทำทานมาดีจึงมีฐานะบ้าง รวยบ้าง มีเงินใช้จ่ายมากมาย มีบริวารมาก
- หากทำในศีลก็มีรูปร่างหน้าตาที่หมดจรดงดงาม ผิวพรรณดี อายุยืน ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน
- หากทำจิตภาวนามาดี ก็มีสติปัญญามาก เป็นคนฉลาดหลักแหลม
- แต่จะมีสิ่งใดมากน้อยก็ตามแต่ของเก่าที่สะสมมา

(ดูเทสนาหลวงปุ่บุญกู้ว่า.. ทำไมเราถึงต้องทำสะสมเหตุ )
ไตรลักษณ์ หรือโลกธรรม ๘
ลาภ ยศ สรรเสริญ มันไม่เที่ยงอยู่ได้นานสึุดแค่หมดลมหายใจเรานี้ แต่สิ่งที่ติดตามเราไปก็ คือ กรรม คือบุญกับบาปเท่านั้น
- ละโลภได้ทาน มีทาน..ใจเราก็อยู่เหนือโลภ
- ละโทสะ ความโกรธแค้น ความพยาบาทเบียดเบียนได้ศีล มีศีล..ใจเราก็อยู่เหนือโทสะ
- ละหลงได้ภาวนา มีภาวนาอบรมจิตใจให้ผ่องใสอยู่ตลอดเวลา รู้จักพอ ฉลาดในการปล่อยวาง ..ใจเราก็อยู่เหนือโมหะ ความหลงติดข้องอยู่กับสมมติของปลอมในโลก ใจก็อยู่เหนือโลก(โลกียะผู้ข้องด้วยกิเลสตัณหาทะยานอยาก)
อานิสงส์
การได้เกิดมาเป็นคนนี้มันยาก ต้องมีศีลจึงจะได้ไปเป็นคน เกิดมาเจอพระพุทธศาสนานี้ยากกว่า การได้พบเจอพระพุทธศาสนามีพระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนธรรมนี้ยากมาก ดังนั้น..ก่อนตายเราได้หาได้ทำกำไรชีวิตไว้แล้วหรือ สิ่งที่เป็นกำไรชีวิตของเราสะสมให้เราได้รับผลสืบไปนั้นคือ ทาน ศีล ภาวนา กุศลผลบุญทั้งปวงเหล่านี้เราได้ทำแล้วหรือยัง..
- อานิสงส์จากการให้ทาน สละให้ และชอบช่วยเหลือแบ่งปันผู้อื่น ในภายหน้าก็จะสบายมีทรัพย์สิน ฐานะ บริวารดี มีมิตรกัลยาณมิตรมาก
- อานิสงส์จากการเจริญศีล ก็ทำให้ได้เกิดมาเป็นคนอีก มีรูปพรรณสันฐานอันงาม ครบ ๓๒ ประการ ไม่พิกลพิการ ไม่มีคนมุ่งร้าย ศัตรูภัยพาลแพ้ภัยตนเอง
- อานิสงส์จากการภาวนาอบรมจิต ก็ทำให้เป็นฉลาด มีไหวพริบไม่โง่ลุ่มหลงง่าย มีสติแยกแยะพิจารณาว่องไหว

(ดูเทสนาหลวงปุ่บุญกู้ว่า.. ทำไมเราถึงต้องทำสะสมเหตุ )

.. แต่หากเรายังไม่ได้ทำกำไรชีวิตสะสมเหตุเหล่านี้ก็เสียชาติเกิด ที่มีโอกาสได้เกิดเป็นคน ได้มาพบเจอพระพุทธศาสนา
.. เพราะบางคนบางพวกลำบากยากแค้นไม่มีมิตรขาดคนช่วยเหลือดูแล บางคนจิตใจสกปรกชั่วร้าย บางคนโง่ไม่ฉลาดไม่ทันโลก ไม่มีสติ หลงง่าย เพราะเขาไม่มีโอกาสได้เจอพระพุทธศาสนา ไม่มีโอกาสได้ฟังธรรมแท้จริงนำทางชีวิตให้พ้นจา่กสิ่งที่ชั่ว จึงไม่รู้จักการสะสมเหตุ ทาน ศีล ภาวนา ทำผิดศีลธรรมอันงามอยู่มากมาย ก็ทาน ศีล ภาวนานี้แหละที่จะเป็นบุญบารมีติดตามเราไปทุกภพชาติตราบจนถึงพระนิพพานตามพระพุทธศาสดา
(สิ่งที่ชั่ว โดยนัยยะที่เราเข้าใจ คือ สิ่งที่เป็นความเสื่อมเสีย เมื่อทำแล้วยังความเสื่อมเสียแห่งสติปัญญามาให้ ทำให้ใจเศร้าหมอง มัวหมองเร่าร้อนกาย วาจา ใจ ทำให้ดำรงชีพอยู่ด้วยความเย็นใจปราศจากเวรภัยต่อตนเองและผู้อื่นไม่ได้ นำเอาความฟุ้งซ่านไม่สงบกายใจ สัดส่ายเหลาะแหละ อ่อนไหวลุ่มหลงง่ายมาให้ มีชีวิตอยู่บนความเบียดเบียนทำร้ายตนองและผู้อื่นให้เดือนร้อนเสียหายอยู่เสมอ)
ระลึกถึงฐานันดร โครต ตระกูล ทรัพย์สมบัติ สิ่งที่ทำ เฝ้าเพียรสร้างทำสะสมมา อริยะทรพย์ที่ตนสะสมมา เช่น ทาน สีล ภาวนาเป็นต้น
ดังนี้แล้วเมื่อเรามีการศึกษาดี มีความรู้ มีหน้าที่การงาน มียศฐาบรรดาศักดิ์ มีฐานะดี มีอยู่มีกินดี มีสถานภาพการครองชีพของตนดีอยู่แล้ว สูงแล้ว เราจะไปเบียดเบียนทำร้ายกลั่นแกล้งคนอื่นหรือคนที่ต่ำกว่าเราไปทำไม เพื่อสิ่งใด ก็ทั้งๆที่ตนเองอยู่สูงกว่าเขามีฐานันดรที่ดีกว่าเขา ยศศักดินาดีอยู่แล้ว ยังจะไปเบียดเบียนเขาให้ได้อะไร ยิ่งเรามีดีกว่าเขาแล้วแต่เขาต่ำกว่าเราด้อยกว่าเรา เราจะยังไปเบียดเบียนทำร้ายเขาอีกทำไม อย่างนี้ก็เท่ากับว่าเราต่ำกว่าเขาเสียอีก..
ก. ดั่งคำสอนของพระบรมศาสดา คือ ยศฐาบรรดา ศักดิ์ โครตเหง้า เหล่าตระกูลของของเราเป็นชนชั้นที่ดีแล้ว สูงแล้ว ท่านต่างทำสะสมมาดีแล้วเพื่อตัวเรา ดังนี้แล้วอย่าปล่อยให้อารมณ์ชั่ววูบ หรือสุขเพียงชั่วคราวของเรา ทำให้สิ่งที่บรรพบุรุษเราทำสะสมมาดีแล้วต้องพินาศสิ้นไป
ข. ดั่งคำสอนของพระบรมศาสดา คือ อย่าปล่อยให้อารมณ์ชั่ววูบ หรือ สุขเพียงเล็กน้อยวูบวาบชั่วคราวเหล่านั้นของเรา มาทำให้สิ่งที่เราได้เพียรประครองสร้างสะสมเหตุมาดีแล้วนั้นต้องสูญเปล่า ทั้งโภคทรัพย์สมบัติ และ อริยะทรัพย์ที่ได้ทำมาดีงามแล้วทั้งหมดเหล่านี้ต้องสูญสิ้นวินาสพังลงไป..ด้วยการเสพย์เสวยอารมณ์ความรู้สึกชั่ววูบ หรือสุขเพียงเล็กน้อยที่เนื่องด้วยกายเพียงชั่วคราวเหล่านั้น..
ค. ดั่งคำสอนของพระบรมศาสดา คือ ขัดเขลาใจด้วยความเห็นเสมอด้วยตน
- เราไม่ชอบใจอย่างไร..ก็อย่าไปทำกับคนอื่นอย่างนั้น
- สิ่งใดที่เราถูกกระทำแล้วรู้สึกอัดอั้นคับแค้นกายใจ เราก็อย่าไปทำกับคนอื่นอย่างนั้น
- สิ่งใดที่เราทำ หรือถูกกระทำแล้วยังความเสื่อมฉิบหายให้เกิดมีแก่เรา เราก็อย่าไปทำกับคนอื่นเขาอย่างนั้น

 ..เช่น เราเป็นหัวหน้างาน มีตำแหน่งหน้าที่การงานฐานะดีใหญ่โตอยู่แล้ว ยังไปแกล้งลูกน้องที่ต่ำกว่าตน ไปเลียดเลียนเขา คอยหาทางกลั่นแกล้งทำร้ายเขา ทั้งๆที่ตนอยู่สูงกว่า ทำเหมือนอิจสา ริษยาเขา เทียบเขาไๆม่ได้ทั้งๆที่เขาต่ำกว่าตนแท้ ทำให้ให้ตนเศร้าหมองเร่าร้อนที่ต้องคอบหาทางเบียดเบียนทำร้ายเขา เป็นเหตุให้ตนอยู่แบบธรรมดาดีๆสบายๆเย็นใจไม่ได้ แถมยังเป็นบาปเป็นกรรมสะสมพกติดตัวไปด้วยอีกต่างหาก มิหนำซ้ำยังทำให้ตนเองและครอบครัวเสื่อมเสียเปล่าๆ หากมีใครมาคอยตั้งแง่ อคติ ๔ คือ ลำเอียงเพราะรัก เพราะชัง เพราะกลัว เพราะไม่รู้ตามจริง กับเรา คอยทำแบบที่เราทำเขานี้ทั้งๆที่เราไม่เคยคิดร้ายไม่เคยทำความเดือร้อนเบียบดเบียนให้เขา ดังนี้แล้วเราเป็นสุขหรือสำราญใจมากใช่หรือไม่ ก็คงไม่ใช่ใช่ไหม  สุดท้ายทุกสิ่งทุกอย่างทั้งปวงอันเป็นที่รัก ที่เจริญใจ ที่แสวงหา ต้องการ อยู่ได้นานสุดก็แค่หมดลมหายใจเรานี้เท่านั้น แล้วยังจะไปเบียดเบียนเขาอีก โกงกินชาติ ทำร้ายผู้อื่น หรือคนที่ต่ำกว่า หรือโกงกินทำร้ายประเทศชาติ มันก็สะสมกรรมชั่ว บารมีชั่วไว้เสวยทั้งที่ตอนยังมีชีวิตอยู่ บ้ั้นปลายชีวิต ภพ ภูมิ ชาติหน้าสืบไป
คนเราเกิดแต่กรรมสุดท้ายก็มีแต่บุญกับบาปเท่านั้นที่ติดตามเราไปปได้ สิ่งของ เงินทอง ชื่อเสียง มันอยู่ไม่นาน แต่ที่ยั่งยืนนานติดตามเราไปทุกๆขณะเวลา ทุกวัน ทุกปี ทุกภพ ทุกภูมิ ทุกชาติ คือ กรรม วิบากกรรมเท่านั้น ยศฐา ทรัพย์สิ่น สิ่งของหรือบุคลอันเป็นที่รักไม่ได้ตายติดตามเราไปด้วย รู้อย่างนี้กระนั้นยังจะสะสมบาปกรรมไปเพื่ออะไร ที่ตนมีอยู่มันก็ดีอยู่แล้ว ควรทำจิตให้ผ่องใส มีใจเอื้อเฟื้อ เว้นจากความเบียดเบียน ทำทาน ศีล ภาวนาอบรมจิต ไม่เหลาะแหละอ่อนแอหวั่้นไหวไปกับสิ่งที่ชั่ว สะสมเหตุในกุศลกรรมทั้งปวงเหล่านี้ มันจะสะสมเหตุดีบารมีกุศลติดตามเราไปให้ได้เสวยสุขรำราญในภายภาคหน้าทุกชาติภพ ตราบจนถึงพระนิพพานนั้นแล

๒. โอตตัปปะ ความกลัวบาป เกรงกลัวต่อความชั่วและผลของกรรมชั่ว

โอตตัปปะ (อ่านว่า โอดตับปะ) แปลว่า ความเกรงกลัว หมายถึงความสะดุ้งกลัวต่อผลของความชั่ว ต่อผลของความทุจริตที่ทำไว้
โอตตัปปะ เป็นอาการของจิตที่หวั่นไหวเมื่อจะทำความชั่ว เพราะกลัวความผิดที่จะตามให้ผลในภายหลัง เกิดขึ้นได้เพราะคิดถึงโทษหรือความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นจากการทำชั่ว จากการประพฤติทุจริตของตน เช่น ตัวเองเองต้องเดือดร้อน เกิดความเสียหาย เสียทรัพย์สินเงินทอง เสียอิสรภาพ หรือถูกคนอื่นตำหนิติเตียน ถูกสังคมรังเกียจ เป็นต้น
ง. ดั่งคำสอนของพระบรมศาสดาใน ศรัทธา ๔ ที่ว่า
_สัพเพ สัตตา กัมมัสสะกา กัมมะทายาทา
_กัมมะโยนิ กัมมะพันธุ กัมมะปะฏิสะระณา
..สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงมีกรรมเป็นของของตน, มีกรรมเป็นผู้ให้ผล,
..มีกรรมเป็นแดนเกิด, มีกรรมเป็นผู้ติดตาม,มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศ้ย
_ยัง กัมมัง กะริสสันติ, กัลฺยาณัง วา ปาปะกัง วา,
_ตัสสะ ทายาทา ภาวิสสันติ
..จักทำกรรมอันใดไว้, เป็นบุญหรือเป็นบาป,
..จักต้องเป็นผู้ได้รับผลกรรมนั้นๆ สืบไป
- ความเสมอด้วยความรู้สึกนึกคิด คือ สิ่งมีชีวิตในโลกล้วนมีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึกที่เสมอด้วยกัน ดังนี้จึงมีรัก มีโลภ มีโกรธ มีชอบ มีชัง มีลุ่มหลง เสมอด้วยกันทั้งสิ้นไม่ต่างกัน เมื่อเสมอด้วยกันแล้วจะอคติลำเอียงด้วยเลิกเพราะรัก เพราะชัง เพราะกลัว เพราะไม่รู้จริงกันเพื่อสิ่งใด ดังนี้ควรมีใจเป็นกลางเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันเพื่อประโยชน์และความสุขด้วยกัน เมื่อต่างคนต่างมีแต่สุขสำเร็จดีงามเสมอด้วยกันแม้จะในรูปแบบที่ต่างๆกันไปตามแต่ฐานะ สัตว์ย่อมไม่มีความปองร้ายเบียดเบียนกันให้รุ่มร้อน ร้อนรน ยังความฉิบหายให้กัน ไม่ทำร้ายกันสืบไป (ผู้ใดละเว้นความเบียดเบียนได้มากย่อมมีใจสูงกว่าและทุกข์น้อยกว่าคนที่เบียดเบียนเขามาก)
- ความเสมอด้วยกรรม ก็เมื่อสัตว์โลกทั้งหลาย ไม่ว่าจะงาม ทราม หยาบ ละเอียด ใหญ่ ยาว ขาว ดำหรือไรๆ ต่างมีกรรมเป็นแดนเกิด พึ่งพา อาศัย ติดตาม เป็นทายาทได้รับผลของกรรมนั้นสืบไปเสมอด้วยกัน จึงต้องมายึดครองขันธ์ ๔ เสมอกัน มาพบเจอกัน เพราะติดค้างกัน หรือทำร่วมกันมาแต่กาลก่อนไม่ว่า จะเป็นกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรมก็ตาม จึงทำให้มี ฐานะ รูปร่าง สันฐานที่ต่างกัน ได้รับโอกาสดีๆต่างกัน มาเจอกันบางฝ่ายเกื้อกูลกัน บางฝ่ายทำร้ายกัน ดังนี้แล้วเมื่อต่างก็เกิดแต่กรรม มันก็ไม่ต่างกัน แล้วจะแบ่งแยกกันเลือกที่รักที่ชังไปเพื่ออะไร เขาเป็นอย่างนั้นก็เพราะกรรมเก่าและใหม่ที่เขาได้ทำสะสมมาให้เป็นไป เราเป็นอย่างนี้ก็เพราะกรรมเก่าและใหม่ได้ทำสะสมมาให้เป็นไป เมื่อเสัตว์ต่างก็มีกรรมเป็นแดนเกิด พึ่งพา อาศัย ลิขิต สืบสานติดตามเสมอกัน จะทำการกระทำใดๆอันเบียดเบียนกันเพื่อสิ่งใด
- กายในกายที่เสมอกัน ไม่ว่าคนหรือสัตว์ ก็แค่อาการ ๓๒ ธาตุ ๖ ที่ประกอบเข้ากันเสมอกันทั้งสิ้น ดังนี้แล้วจะไปจงเกลียด จงชัง ลุ่มหลง รังแก กันเพื่อประโยชน์เหล่าใด มีหูซ้ายข้างเดียวเสมอกัน มีปอด 2 ข้างเสมอกัน มีเส้นเลือดเหมือนกัน มีเนื้อหนังเหมือนกัน จะกลั่นแกล้งกันก็เหมือนเราแกล้งตนเอง เพราะมีไม่ต่างกัน ดังนี้แล้วจะเลือกที่รัก มักที่ชัง เบียดเบียนทำร้ายกันเพื่อสิ่งใด ให้เป็นเวรเป็นกรรมอันเร่าร้อนกายใจซึ่งกันและกันเปล่าๆ กลั่นแกล้ว หรือผูกพยาบาทหวังทำร้ายฆ่ากันให้ฉิบหายไปข้างข้ามภพขชาติเหมือนพระองคุลีมาลย์ ที่ต่างเจ็บปวดเสมอกันทั้งผู้รับและผู้กระทำข้ามภพชาติกัน ไม่มีความสุขความเจริญเหล่าใดเกิดขึ้น มีแต่ความฉิบหายเท่านั้นที่จะเกิดขึ้นตั้งอยู่แก่กันและสืบไปทุกครั้งที่พบเจอกัน
- แรงกระทำเสมอกันกับแรงสะท้อนกลับ เพราะการกระทำทั้งปวงจะมีพลังสะท้อนกลับสู่เราทั้งสิ้น ทำดี เราก็ได้ดี เหมือนมีคนดีกับเรา..เราก็รักใคร่เคารพเขา ฉันใด เราเว้นจากความเบียดเบียนแก้ใคร..เราก็ได้รับเย็นกายสบายใจกลับคืนมาฉันนั้น เพราะไม่มีความเร่าร้อน ไปอยู่ที่ใดก็เย็นใจผ่องใสเป็นที่สบาย ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องระแวง ใครจะมาดีกว่าตน จะอยู่สูงกว่าตน หรือจะมาทำร้ายตน ไม่ต้องแสวงหาอาทรเอาสิ่งมด หรือความเคารพศรัทธาจากใครเพราะการทำดีมีใจเอื้อเฟื้อเว้นจากความเบียดเบียนของเรามันสร้างสิ่งนี้ให้แก่เราอยู่แล้ว ไม่มีความอิจฉา ริษยาต่อใคร ไม่ตระหนี่หวงแหนวิตกกังวลใจ
 หากคนเรามีกรรมเสมอกันไปในทิศทางเดียวกัน ย่อมมีความคิดนิสัย การกระทำที่เอื้อเฟื้อกัน หากทุกคนมีกรรมดีทั้งหมดเสมอด้วยกัน ก็ย่อมช่วยเหลือเกื้อกูลให้ซึ่งกันและกันให้ได้ดี ไม่เดบียดเบียนทำร้ายให้กันและกันต้องเป็นทุกข์กายใจ ดังนี้แล้วเราควรแผ่และควรกระทำทาง กาย วาจา ใจ อันดีงามมีจิตผ่องใส มีใจเอื้อเฟื้อ เว้นจากความเบียดเบียนของเราให้แก่เขาเสมอกันกับที่เราจำเริญใจ

โอตตัปปะ เป็นธรรมคุ้มครองโลกคู่กับหิริ เพราะคนที่มีโอตตัปปะย่อมกลัวที่จะทำความผิด ทำให้งดเว้นจากการประพฤติต่างๆ ได้ อันเป็นเหตุให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข เกิดสันติภาพขึ้น

๓. กำหนดรู้ทุกข์ แล้วสืบต่อครบไปในรอบ ๓ อาการ ๑๒ ใน พระอริยะสัจจ ๔

- สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาทรงตรัสสอนให้เราใช้ปัญญาอันแยบคายพิจารณากำหนดรู้ทุกข์ ทุกขอริยะสัจ พระอริยะสัจ ๔ พิจารณาดูสภาพความเป็นไปในสิ่งต่างๆเพื่อความแจ้งแทงตลอด ดังนั้นให้เรากำหนดรู้ซึ่งทุกข์เพื่อเข้าถึงความเป็นธรรมชาติของโลกจากสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น
- กำหนดรู้ทุกข์โดยธรรมชาติ สภาวะอาการ ความรู้สึก ที่เกิดมีแก่ตนว่า..

1/1. เมื่อเสพย์สิ่งนี้ๆ.. ความรู้สึกหน่วงนึกที่ได้เสวยต่ออารมณ์นั้นเป็นไฉน ลักษณะ อาการ สภาวะ ความจำสำคัญมั่นหมายรู้ในอารมณ์ ความตรึกนึก มุมมองต่างๆจากการรับรู้สัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหล่านั้นเป็นอย่างไร
1/2. เมื่อสิ่งนี้ๆเกิดมีขึ้นในเรา เรามีสิ่งนี้ๆแล้ว.. ความรู้สึกหน่วงนึกที่ได้เสวยต่ออารมณ์นั้นเป็นไฉน ลักษณะ อาการ สภาวะ ความจำสำคัญมั่นหมายรู้ในอารมณ์ ความตรึกนึก มุมมองต่างๆจากการรับรู้สัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหล่านั้นเป็นอย่างไร

2/1. เมื่อไม่เสพย์สิ่งนี้ๆ.. ความรู้สึกหน่วงนึกที่ได้เสวยต่ออารมณ์นั้นเป็นไฉน ลักษณะ อาการ สภาวะ ความจำสำคัญมั่นหมายรู้ในอารมณ์ ความตรึกนึก มุมมองต่างๆจากการรับรู้สัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหล่านั้นเป็นอย่างไร
2/2. เมื่อไม่มีสิ่งนี้ๆเกิดมีขึ้นในเรา เราไม่มีสิ่งนี้ๆแล้ว.. ความรู้สึกหน่วงนึกที่ได้เสวยต่ออารมณ์นั้นเป็นไฉน ลักษณะ อาการ สภาวะ ความจำสำคัญมั่นหมายรู้ในอารมณ์ ความตรึกนึก มุมมองต่างๆจากการรับรู้สัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหล่านั้นเป็นอย่างไร

๑ก. การที่เรามีชีวิตอยู่ตามปรกติด้วยความ ไม่มีศีลธรรมข้อละเว้น คือ มีปรกติอยู่ด้วยการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ มั่วกามเมถุน พูดปด ส่อเสียด หยาบคาย กินเหล้าเมายา อยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตน หมายใจแย่งชิงเอาของผู้อื่นมาครอบครอง ตระหนี่ ริษยา เป็นผู้มักโกรธ โวยวาย อารมณ์ร้าย มักอคติลำเอียงเพราะรัก-ชัง-กลัว-ไม่รู้ เป็นปรกตินิสัย ชีวิตเรานี้มันสุขเย็นกายสบายใจ หรือ ต้องร้อนรุ่ม เร่าร้อน แสวงหา หมกมุ่นใคร่ที่จะได้เสพย์สมในสิ่งนั้นๆหรือไม่อย่างไร

๑ข. การที่เรามีชีวิตอยู่ตามปรกติด้วยความ มีศีลธรรมข้อละเว้น คือ มีปรกติอยู่ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ผิดมั่วกามเมถุน ไม่พูดปด ไม่ส่อเสียด ไม่หยาบคาย ไม่กินเหล้าเมายา ไม่หมายเอาของคนอื่นมาเป็นของตน ไม่หมายใจแย่งชิงเอาของผู้อื่นมาครอบครอง ไม่ตระหนี่ ไม่ริษยา ไม่เป็นผู้มักโกรธ มีความยุติธรรมเป็นกลางไม่อคติลำเอียงเพราะรัก-ชัง-กลัว-ไม่รู้ เป็นปรกตินิสัย ชีวิตเรานี้มันสุขเย็นกายสบายใจ หรือ ต้องร้อนรุ่ม เร่าร้อน แสวงหา หมกมุ่นใคร่ที่จะได้เสพย์สมในสิ่งนั้นๆหรือไม่อย่างไร

๒ก. ความสุขในการ ไม่เจริญศีลข้อละเว้น ทาง กาย วาจา ใจ ของพระพุทธเจ้านั้น ..สุขนี้มันอยู่ยั่งยืน ขัดเกลาใจเราให้ไม่เร่าร้อนเย็นใจอยู่เป็นสุขได้โดยไม่อาศัยเครื่องล่อใจเหล่าใด ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ติดใคร่ไหลตาม ไม่หมกมุ่นความเสพย์สมอารมณ์หมาย  หรือ สุขเกิดขึ้นเพียงชั่ววูบแล้วก็ดับไป แล้วก็แสวงหาทะยานใคร่กระทำต่อเรื่อยๆจนเป็นจริต อุปนิสัย

(จึงมักมีคำสอนว่าคนดีทำดีง่าย ทำชั่วได้ยาก คนชั่วทำดียาก ทำชั่วได้ง่าย สุขทางโลกมันเริ่มจากสุขมากไปหาความทุกข์ยากลำบากเสื่อมสูญในภายหน้า ไม่คงอยู่เที่ยงแท้ยั่งยืนอยู่นานสุดก็แค่หมดลมหายใจเรานี้เท่านั้น ยิ่งเสพย์ยิ่งขาดทุนยิ่งทุกข์ยิ่งเร่าร้อนสูญเสีย ยังผลให้บารมีการขาดทุนเสื่อมสูญติดตามเราไปทุกภพทุกชาติ)

๒ข. ความสุขในการ เจริญศีลข้อละเว้น ทาง กาย วาจา ใจ ของพระพุทธเจ้านั้น ..สุขนี้มันอยู่ยั่งยืน ขัดเกลาใจเราให้ไม่เร่าร้อนเย็นใจอยู่เป็นสุขได้โดยไม่อาศัยเครื่องล่อใจเหล่าใด ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ติดใคร่ไหลตาม ไม่หมกมุ่นความเสพย์สมอารมณ์หมาย  หรือ สุขเกิดขึ้นเพียงชั่ววูบแล้วก็ดับไป แล้วก็แสวงหาทะยานใคร่กระทำต่อเรื่อยๆจนเป็นจริต อุปนิสัย

(จึงมักมีคำสอนว่าคนดีทำดีง่าย ทำชั่วได้ยาก คนชั่วทำดียาก ทำชั่วได้ง่าย สุขทางธรรมมันเริ่มจากทุกข์ยากลำบากไปหาอมตะสุขที่ไม่มีเสื่อม เป็นบารมีกำไรชีวิตพอกพูนขึ้นติดตามเราไปในทุกภพทุกชาติ)

ก. พิจารณาดูว่า..จากการก้าวล่วงเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ทางมโนกรรม, วจีกรรม และ กายกรรม มันส่งผลยังไง มันดีหรือไม่ดี เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ร้อนรุ่มหรือขัดเกลาใจให้เราเย็นสบายกายใจอยู่ได้ด้วยไม่อาศัยเครื่องปรนเปรล่อใจสิ่งใด
ข. พิจารณาดูว่า..จากการไม่ก้าวล่วงเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ทางมโนกรรม, วจีกรรม และ กายกรรม ดั่งในศีล ๕ เป็นต้น มันส่งผลยังไง มันดีหรือไม่ดี เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ร้อนรุ่มหรือขัดเกลาใจให้เราเย็นสบายกายใจอยู่ได้ด้วยไม่อาศัยเครื่องปรนเปรอล่อใจสิ่งใด


- ทำกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในละเว้นซึ่งความเบียดเบียน เมื่อเข้าถึง กรรม ไตรลักษณ์ หิริโอตัปปะ แล้ว เกิดความเห็นชอบ สัมมาทิฐิ จิตย่้อมแล่นลงในศีลอันงาม ศีลที่เป็นปรกติของจิต มีความเย็นใจไม่เร่าร้อน มีใจชื่นบานผ่องใส ที่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ จะเหลือศีลเพียงข้อเดียว คือ ศีลใจ นั่นคือ มีเจตนาเป็นศีลนั่นเอง
      ..เช่น..หากเราบวชอยู่แล้วบังเอิญคิดถึงผู้หญิงแล้วเกิดน้ำสุกกะหลั่งโดยไม่ได้ไปสัมผัสอวัยวะเพศแต่อย่างใดไม่มีการจับ หนีบ ลูบ แตะ เกร็งทั้งสิ้น ข้อนี้ยังไม่ถึงสังฆาทิเสส แต่อาจลงเป็นอาบัติสะสมคือ ทุกกฏ ดีที่สุดคือถามครูอุปัชฌาย์ แล้วปลงอาบัติ ขออยู่ปริวาสเพื่อล้างอาบัติยิ่งดีใหญ่
ต่อมาด้วยประการดังกล่าวจากความบังเอิญแล้วตนทำใจไว้ว่า ตนแค่คิดถึงผู้หญิงน้ำสุกกะก็หลั่งได้ ให้น้ำสุกกะไหลโดยไม่ได้เอามือจับแตะทำชักว่าว โดยประมาณคาดว่าไม่สำเร็จสังฆาทิเสส ..หลังจากนั้นก็ทำความนึกถึงผู้หญิงลงกามเมถุนด้วยหมายให้น้ำสุกกะหลั่งเองอีก จนสำเร็จผลตามต้องการ ถือเป็นอาบัติสังฆาทิเสส คือ เจตนาแกล้งให้น้ำอสุจิเคลื่อนไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม แม้ไม่ใช้มือ ร่างกายทำ แต่มีเจตนาให้สำเร็จความใคร่น้ำสุกกะหลัง ด้วยรู้ว่าตนเองแค่ทำความนึกถึงในเมถุนด้วยประการอย่างนี้ๆน้ำสุกกะก็หลั่งได้

     ดังนั้นภิกษุในพระธรรมวินัยนี้จึงมีเจตนาละเว้นสิ่งเหล่าใดทั้งปวงที่ก่อให้เกิดการผิดพระวินัยทั้งปวง มีเจตนาเป็นศีล มีเจตละเว้น มีศีลเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส แกุศลอันลามกจัญไรทั้งปวง เพื่อถึงซึ่งความหลุดพ้น ความไม่มีอีก

* การอาบัติในทางพระวินัย ร่วมด้วยเจตนา ๓ คือ
1. กระทำที่ใจ
2. ลงมือกระทำตามวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะด้วย กาย วาจา ใจ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นอันที่ตนต้องการ สำเร็จผลตามที่ตนต้องการ แต่ผลสำเร็จนั้นเป็นข้อห้าม ข้อละเว้น ข้ออาบัติในพระธรรมวินัย
3. ทำสำเร็จ
* หากครบองค์ ๓ ก็เป็นอาบัติตามพระวินัยทันที หากมีเจตนากระทำ แต่ไม่ได้ทำก็ยังไม่อาบัติในข้อนั้นๆ หากเจตนาทำและได้ทำแล้วแต่ไม่สำเร็จก็เป็นอาบัติอีกอย่าง อุปมาเหมือนทางโลกที่มีแบ่งโทษคดีหนังเบาในการฆ่าคน เป็น ฆ่าโดยเจตนา ฆ่าโดยไม่เจตนา ฆ่าโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งโทษจะหนักเบาต่างกันไป *

** ด้วยเหตุของการแสดงธรรมแห่ง หิริ-โอตตัปปะ คือ กรรม วิบากกรรม, โลกธรรม ๘, อานิสงส์, ความเสื่อม ความสูญเสียแห่งโภคทรัพย์และอริยะทรพย์ที่ตนสะสมมา ความเห็นเสมอกันไม่แบ่งแยกเขา-เรา ลงสู่การกำหนดรู้ทุกข์ เข้าสู่พระอริยะสัจ ๔ ทั้งหมดนี้แลทำให้ความละอายเกรงกลัวต่อบาปนี้ เกิดมีลงใจแก่ผู้ที่สะสมเหตุบารมีมาดีแล้ว ควรแก่การทำ ทาน ศีล ภาวนา ให้ถึงซึ่ง สุจริต ๓ และ มหาสติปัฏฐาน เพื่อยังโพชฌงค์ ๗ ให้เกิดขึ้น ถึงแก่วิมุติธรรม วิมุติสุข




ศีล ต้องบริสุทธิ์แค่ไหนถึงจะเกิดสมาธิ

ศีลของตนนั้นบริสุทธิ์พอจะเป็นสัมมาสมาธิได้ไหม ให้พิจารณารู้สภาวะจิตของตนดังนี้คือ

ขณะที่เราเจริญในศีลนั้น มีจิตประครองอยู่ด้วยความเพียรเผากิเลสอกุศลธรรมอันลามกจัญไร เพื่อปิดกั้นบาปอกุศลทั้งปวงที่ยังไม่เกิดขึ้นหรือที่เกิดขึ้นแล้ว

ขณะที่เราเจริญในศีลนั้น เรามีความตื่นตัวรูู้ตัวอยู่เสมอๆหรือไม่ รู้ปัจจุบันขณะที่ตนกำลังดำเนินไปอยู่เสมอๆ ทุกๆขณะที่ทำอะไรหรือไม่ ทำให้สติตั้งมั่นเป็นอารมณ์เดียว น้อมนำจิตให้จดจ่อตั้งมั่นตาม ทำให้ถึงความสงบใจไม่กวัดแกว่งไปตาม อภิชฌา โทมนัส ทำให้เราไม่เร่าร้อนกายใจ มีจิตประครองอยู่ด้วยความเพียรเผากิเลสอกุศลธรรมอันลามกจัญไร

- ศีลเครื่องละเว้นขัดเกลาจิตจากความเบียดเบียนและเครื่องเศร้าหมองทั้งปวงอันพระบรมศาสดาตรัสไว้ดีแล้ว ย่อมทำให้เย็นใจไม่เร่าร้อน
- ความเย็นใจไม่เร่าร้อน มีความผ่องใสชื่นบานเบาสบายไม่ตรึงหน่วงจิตเป็นอานิสงส์
- จิตที่ผ่องใสไม่เศร้าหมอง มีความอิ่มใจเป็นอานิสงส์
- ความอิ่มใจซาบซ่าน มีความสงบเป็นอานิสงส์
- ความสงบอันบริสุทธิ์ปราศจากความเจือปน มีสุขเป็นอานิสงส์
- ความสุขอันแช่มชื่นรมย์อันบริสุทธิ์ปราศจากเครื่องล่อใจ มีสมาธิเป็นอานิสงส์
- จิตที่ตั้งมั่นแนบแน่นไม่ปรุงแต่งสมมติเหล่าใด มีสติอันบริสุทธิ์ บริบูรณ์ ไม่ทำ ไม่บังคับ ไม่ปรุงแต่ง มีปัญญาเป็นอานิสงส์

เมื่อล่วงพ้นเกินกว่าอุปนิสัย แต่เป็นเจตนาเครื่องละเว้นอันแจ้งแทงตลอดลงใจ มันมีแต่ความเย็นกายสบายใจ ไม่เร่าร้อน จิตผ่องใส เย็นใจ ไม่คิดมาก ไม่คิดร่ำไร ไม่เพ้อรำพัน ตั้งมั่นอยู่ด้วยปัจจุบัน ไม่สัดส่ายคำนึงถึงสิ่งอันเป็นเครื่องเร่าร้อนเหล่าใดทั้งปวง

จิตแต่นั้นก็เข้าสมาธิได้ง่ายไม่ลำบาก ไม่ตั้งมั่นผิด



หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน แสดงธรรมเทศนา สอนวิธีทำเหตุให้ และ ผลของวิบากกรรมที่ติดตามเรามา  ดังนี้ว่า

๑. การทำเหตุ การปฏิบัติแรกๆมันยาก การทำดีมันยาก ค่อยๆทำไปทีละนิดสะสมไปเรื่อยๆ ทำบ่อยๆ ทำกุศลให้มากในกาย วาจา ใจ เรื่องอกุศลก็ค่อยๆลดลง อดทนอดกลั้นสำรวมระวังต่ออกุศลไว้ให้มันทิ้งระยะห่างให้นานขึ้นจึงเกิดมีเข้าแทรกได้ แล้วเว้นระยะห่างไปเรื่อยๆจนมันเว้นขาดจากกาย,วาจา,ใจของเรา
- เวลามันคิดชั่วเราก็คิดดีแทรกแทรงโดยทำใจให้เอื้อเฟื้อปารถนาดี แบ่งปัน สงเคราะห์ให้

๒. ผลของวิบากกรรมที่ไม่มี ศีล ทาน ภาวนา คนที่ชอบทำร้ายเบียดเบียนคนอื่นให้ช้ำใจ พรากชีวิตผู้อื่นนั้น ลักขโมยของผู้อื่น ชอบไปผิดลูกเมียเขา พรากคนรักเขา กระทำไม่ดีชอบด่า ชอบว่าให้ร้ายคนอื่น ยุยงให้ผู้อื่นแตกคอกัน ชอบลุ่มหลงมอมเมาขาดสติในกามารมณ์ ในสุรายาเสพย์ติดที่ทำให้ขาดสติ ระลึกไม่ได้ นั่นเพราะมีนิสัยสันดานติดมาจากนรกมันสะสมมานาน และเพราะเขาได้สะสม ศีล ทาน ภาวนามา มากพอก็จะมาเกิดเป็นคนได้ พอมาได้เกิดเป็นคนแต่กรรมอกุศลทั้งปวงที่เขาทำมานั้นมีมากทำให้เขามีหน้าตาดุร้ายบ้าง พิการบ้าง หม่นหมองไม่งดงามบ้าง และสันดานจากนรกที่เคยเป็นสัตว์นรถที่ทำไม่ดีนี้สะสมมามากติดตามเขามาด้วย เขาเลยยังแก้ไม่ได้ ยังทำกาย วาจา ใจ เบียดเบียนทำร้ายตนเองและผู้อื่นอยู่ แล้วเขาไม่ทำเหตุในกุศลเพิ่มมันก็ยิ่งชั่วไปใหญ่

๓. ทำจิตเป็นมิตรสงเคราะห์เขา เมื่อเขามีกรรม มีวิบากกรรมอย่างนั้นเราก็ไม่พึงข้องใจในเขา อย่าไปติดใจในเขา พึงสงเคราะห์เขาเสีย อย่าไปคิด พูด ทำ เพื่อเบียดเบียนเขาเพิ่มเติมซ้ำเติมเขาอีก เขาเป็นอย่างนั้นทั้งกายและใจเขาก็ได้รับทุกข์มามากพอแล้ว ทั้งเร่าร้อน, ร้อนรุ่ม, ถูกไฟกิเลสกรรมไฟนรกแผดเผาต้องกายใจให้หดหู่, วุ่นวาย, ฟุ้งซ่านมามากเต็มที่เขาแล้ว ควรอดโทษไว้แก่เขาสงเคราะห์เขาเสีย

๔. มองพิจารณาในวิบากกรรมย้อนมาสู่ตน หากนิสัยจากนรกที่ติดตามมานี้เป็นตัวเราเอง เมื่อรู้ว่านิสัยในนรกของเรามีมาก วิบากกรรมจากนรกมันติดตามเรามามาก ก็ให้เพียรเจริญในกุศล ศีล ทาน ภาวนา ให้มากสะสมไปเรื่อยๆ เมื่อมันดีมีกำลังเรียกว่า พละ ๕ มันก็จะกลายเป็นอุปนิสัย คิด พูด ทำ ในกุศลโดยชอบไม่เร่าร้อนเป็นทุกข์ ท่านผู้รู้ผู้ภาวนาท่านมองมาดูที่ตนเองอย่างนี้ เมื่อเป็นอุปนิสัยก็จะกลายเป็นจริตสันดาน ตามไปทุกภพชาติ เมื่อมีจริตสันดานในกุศลที่เต็มที่เต็มกำลังใจก็กลายเป็นบารมี อินทรีย์ก็จะแก่กล้า ทีนี้จิตมันจะไม่ปล่อยให้อกุศลเล็ดลอดออกมาได้ ภาวนาก็ให้รู้ลมหายใจมีพุทโธนี้แหละ พิจารณาธาตุ ๖ ตามบทสวดมนต์ธาตุไป





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 21, 2017, 03:13:04 PM
๓. กำหนดรู้ทุกข์ แล้วสืบต่อครบไปในรอบ ๓ อาการ ๑๒ ใน พระอริยะสัจจ ๔

- สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาทรงตรัสสอนให้เราใช้ปัญญาอันแยบคายพิจารณากำหนดรู้ทุกข์ ทุกขอริยะสัจ พระอริยะสัจ ๔ พิจารณาดูสภาพความเป็นไปในสิ่งต่างๆเพื่อความแจ้งแทงตลอด ดังนั้นให้เรากำหนดรู้ซึ่งทุกข์เพื่อเข้าถึงความเป็นธรรมชาติของโลกจากสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น
- กำหนดรู้ทุกข์โดยธรรมชาติ สภาวะอาการ ความรู้สึก ที่เกิดมีแก่ตนว่า..

1/1. เมื่อเสพย์สิ่งนี้ๆ.. ความรู้สึกหน่วงนึกที่ได้เสวยต่ออารมณ์นั้นเป็นไฉน ลักษณะ อาการ สภาวะ ความจำสำคัญมั่นหมายรู้ในอารมณ์ ความตรึกนึก มุมมองต่างๆจากการรับรู้สัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหล่านั้นเป็นอย่างไร
1/2. เมื่อสิ่งนี้ๆเกิดมีขึ้นในเรา เรามีสิ่งนี้ๆแล้ว.. ความรู้สึกหน่วงนึกที่ได้เสวยต่ออารมณ์นั้นเป็นไฉน ลักษณะ อาการ สภาวะ ความจำสำคัญมั่นหมายรู้ในอารมณ์ ความตรึกนึก มุมมองต่างๆจากการรับรู้สัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหล่านั้นเป็นอย่างไร

2/1. เมื่อไม่เสพย์สิ่งนี้ๆ.. ความรู้สึกหน่วงนึกที่ได้เสวยต่ออารมณ์นั้นเป็นไฉน ลักษณะ อาการ สภาวะ ความจำสำคัญมั่นหมายรู้ในอารมณ์ ความตรึกนึก มุมมองต่างๆจากการรับรู้สัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหล่านั้นเป็นอย่างไร
2/2. เมื่อไม่มีสิ่งนี้ๆเกิดมีขึ้นในเรา เราไม่มีสิ่งนี้ๆแล้ว.. ความรู้สึกหน่วงนึกที่ได้เสวยต่ออารมณ์นั้นเป็นไฉน ลักษณะ อาการ สภาวะ ความจำสำคัญมั่นหมายรู้ในอารมณ์ ความตรึกนึก มุมมองต่างๆจากการรับรู้สัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหล่านั้นเป็นอย่างไร

๑ก. การที่เรามีชีวิตอยู่ตามปรกติด้วยความ ไม่มีศีลธรรมข้อละเว้น คือ มีปรกติอยู่ด้วยการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ มั่วกามเมถุน พูดปด ส่อเสียด หยาบคาย กินเหล้าเมายา อยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตน หมายใจแย่งชิงเอาของผู้อื่นมาครอบครอง ตระหนี่ ริษยา เป็นผู้มักโกรธ โวยวาย อารมณ์ร้าย มักอคติลำเอียงเพราะรัก-ชัง-กลัว-ไม่รู้ เป็นปรกตินิสัย ชีวิตเรานี้มันสุขเย็นกายสบายใจ หรือ ต้องร้อนรุ่ม เร่าร้อน แสวงหา หมกมุ่นใคร่ที่จะได้เสพย์สมในสิ่งนั้นๆหรือไม่อย่างไร

๑ข. การที่เรามีชีวิตอยู่ตามปรกติด้วยความ มีศีลธรรมข้อละเว้น คือ มีปรกติอยู่ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ผิดมั่วกามเมถุน ไม่พูดปด ไม่ส่อเสียด ไม่หยาบคาย ไม่กินเหล้าเมายา ไม่หมายเอาของคนอื่นมาเป็นของตน ไม่หมายใจแย่งชิงเอาของผู้อื่นมาครอบครอง ไม่ตระหนี่ ไม่ริษยา ไม่เป็นผู้มักโกรธ มีความยุติธรรมเป็นกลางไม่อคติลำเอียงเพราะรัก-ชัง-กลัว-ไม่รู้ เป็นปรกตินิสัย ชีวิตเรานี้มันสุขเย็นกายสบายใจ หรือ ต้องร้อนรุ่ม เร่าร้อน แสวงหา หมกมุ่นใคร่ที่จะได้เสพย์สมในสิ่งนั้นๆหรือไม่อย่างไร

๒ก. ความสุขในการ ไม่เจริญศีลข้อละเว้น ทาง กาย วาจา ใจ ของพระพุทธเจ้านั้น ..สุขนี้มันอยู่ยั่งยืน ขัดเกลาใจเราให้ไม่เร่าร้อนเย็นใจอยู่เป็นสุขได้โดยไม่อาศัยเครื่องล่อใจเหล่าใด ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ติดใคร่ไหลตาม ไม่หมกมุ่นความเสพย์สมอารมณ์หมาย  หรือ สุขเกิดขึ้นเพียงชั่ววูบแล้วก็ดับไป แล้วก็แสวงหาทะยานใคร่กระทำต่อเรื่อยๆจนเป็นจริต อุปนิสัย

(จึงมักมีคำสอนว่าคนดีทำดีง่าย ทำชั่วได้ยาก คนชั่วทำดียาก ทำชั่วได้ง่าย สุขทางโลกมันเริ่มจากสุขมากไปหาความทุกข์ยากลำบากเสื่อมสูญในภายหน้า ไม่คงอยู่เที่ยงแท้ยั่งยืนอยู่นานสุดก็แค่หมดลมหายใจเรานี้เท่านั้น ยิ่งเสพย์ยิ่งขาดทุนยิ่งทุกข์ยิ่งเร่าร้อนสูญเสีย ยังผลให้บารมีการขาดทุนเสื่อมสูญติดตามเราไปทุกภพทุกชาติ)

๒ข. ความสุขในการ เจริญศีลข้อละเว้น ทาง กาย วาจา ใจ ของพระพุทธเจ้านั้น ..สุขนี้มันอยู่ยั่งยืน ขัดเกลาใจเราให้ไม่เร่าร้อนเย็นใจอยู่เป็นสุขได้โดยไม่อาศัยเครื่องล่อใจเหล่าใด ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ติดใคร่ไหลตาม ไม่หมกมุ่นความเสพย์สมอารมณ์หมาย  หรือ สุขเกิดขึ้นเพียงชั่ววูบแล้วก็ดับไป แล้วก็แสวงหาทะยานใคร่กระทำต่อเรื่อยๆจนเป็นจริต อุปนิสัย

(จึงมักมีคำสอนว่าคนดีทำดีง่าย ทำชั่วได้ยาก คนชั่วทำดียาก ทำชั่วได้ง่าย สุขทางธรรมมันเริ่มจากทุกข์ยากลำบากไปหาอมตะสุขที่ไม่มีเสื่อม เป็นบารมีกำไรชีวิตพอกพูนขึ้นติดตามเราไปในทุกภพทุกชาติ)

ก. พิจารณาดูว่า..จากการก้าวล่วงเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ทางมโนกรรม, วจีกรรม และ กายกรรม มันส่งผลยังไง มันดีหรือไม่ดี เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ร้อนรุ่มหรือขัดเกลาใจให้เราเย็นสบายกายใจอยู่ได้ด้วยไม่อาศัยเครื่องปรนเปรล่อใจสิ่งใด
ข. พิจารณาดูว่า..จากการไม่ก้าวล่วงเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ทางมโนกรรม, วจีกรรม และ กายกรรม ดั่งในศีล ๕ เป็นต้น มันส่งผลยังไง มันดีหรือไม่ดี เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ร้อนรุ่มหรือขัดเกลาใจให้เราเย็นสบายกายใจอยู่ได้ด้วยไม่อาศัยเครื่องปรนเปรอล่อใจสิ่งใด

- ทำกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในละเว้นซึ่งความเบียดเบียน เมื่อเข้าถึง กรรม ไตรลักษณ์ หิริโอตัปปะ แล้ว เกิดความเห็นชอบ สัมมาทิฐิ จิตย่้อมแล่นลงในศีลอันงาม ศีลที่เป็นปรกติของจิต มีความเย็นใจไม่เร่าร้อน มีใจชื่นบานผ่องใส ที่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ จะเหลือศีลเพียงข้อเดียว คือ ศีลใจ นั่นคือ มีเจตนาเป็นศีลนั่นเอง
      ..เช่น..หากเราบวชอยู่แล้วบังเอิญคิดถึงผู้หญิงแล้วเกิดน้ำสุกกะหลั่งโดยไม่ได้ไปสัมผัสอวัยวะเพศแต่อย่างใดไม่มีการจับ หนีบ ลูบ แตะ เกร็งทั้งสิ้น ข้อนี้ยังไม่ถึงสังฆาทิเสส แต่อาจลงเป็นอาบัติสะสมคือ ทุกกฏ ดีที่สุดคือถามครูอุปัชฌาย์ แล้วปลงอาบัติ ขออยู่ปริวาสเพื่อล้างอาบัติยิ่งดีใหญ่
ต่อมาด้วยประการดังกล่าวจากความบังเอิญแล้วตนทำใจไว้ว่า ตนแค่คิดถึงผู้หญิงน้ำสุกกะก็หลั่งได้ ให้น้ำสุกกะไหลโดยไม่ได้เอามือจับแตะทำชักว่าว โดยประมาณคาดว่าไม่สำเร็จสังฆาทิเสส ..หลังจากนั้นก็ทำความนึกถึงผู้หญิงลงกามเมถุนด้วยหมายให้น้ำสุกกะหลั่งเองอีก จนสำเร็จผลตามต้องการ ถือเป็นอาบัติสังฆาทิเสส คือ เจตนาแกล้งให้น้ำอสุจิเคลื่อนไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม แม้ไม่ใช้มือ ร่างกายทำ แต่มีเจตนาให้สำเร็จความใคร่น้ำสุกกะหลัง ด้วยรู้ว่าตนเองแค่ทำความนึกถึงในเมถุนด้วยประการอย่างนี้ๆน้ำสุกกะก็หลั่งได้

     ดังนั้นภิกษุในพระธรรมวินัยนี้จึงมีเจตนาละเว้นสิ่งเหล่าใดทั้งปวงที่ก่อให้เกิดการผิดพระวินัยทั้งปวง มีเจตนาเป็นศีล มีเจตละเว้น มีศีลเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส แกุศลอันลามกจัญไรทั้งปวง เพื่อถึงซึ่งความหลุดพ้น ความไม่มีอีก

* การอาบัติในทางพระวินัย ร่วมด้วยเจตนา ๓ คือ
1. กระทำที่ใจ
2. ลงมือกระทำตามวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะด้วย กาย วาจา ใจ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นอันที่ตนต้องการ สำเร็จผลตามที่ตนต้องการ แต่ผลสำเร็จนั้นเป็นข้อห้าม ข้อละเว้น ข้ออาบัติในพระธรรมวินัย
3. ทำสำเร็จ
* หากครบองค์ ๓ ก็เป็นอาบัติตามพระวินัยทันที หากมีเจตนากระทำ แต่ไม่ได้ทำก็ยังไม่อาบัติในข้อนั้นๆ หากเจตนาทำและได้ทำแล้วแต่ไม่สำเร็จก็เป็นอาบัติอีกอย่าง อุปมาเหมือนทางโลกที่มีแบ่งโทษคดีหนังเบาในการฆ่าคน เป็น ฆ่าโดยเจตนา ฆ่าโดยไม่เจตนา ฆ่าโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งโทษจะหนักเบาต่างกันไป *

** ด้วยเหตุของการแสดงธรรมแห่ง หิริ-โอตตัปปะ คือ กรรม วิบากกรรม, โลกธรรม ๘, อานิสงส์, ความเสื่อม ความสูญเสียแห่งโภคทรัพย์และอริยะทรพย์ที่ตนสะสมมา ความเห็นเสมอกันไม่แบ่งแยกเขา-เรา ลงสู่การกำหนดรู้ทุกข์ เข้าสู่พระอริยะสัจ ๔ ทั้งหมดนี้แลทำให้ความละอายเกรงกลัวต่อบาปนี้ เกิดมีลงใจแก่ผู้ที่สะสมเหตุบารมีมาดีแล้ว ควรแก่การทำ ทาน ศีล ภาวนา ให้ถึงซึ่ง สุจริต ๓ และ มหาสติปัฏฐาน เพื่อยังโพชฌงค์ ๗ ให้เกิดขึ้น ถึงแก่วิมุติธรรม วิมุติสุข




ศีล ต้องบริสุทธิ์แค่ไหนถึงจะเกิดสมาธิ

ศีลของตนนั้นบริสุทธิ์พอจะเป็นสัมมาสมาธิได้ไหม ให้พิจารณารู้สภาวะจิตของตนดังนี้คือ..

- ขณะที่เราเจริญในศีลนั้น มีจิตประครองอยู่ด้วยความเพียรเผากิเลสอกุศลธรรมอันลามกจัญไร เพื่อปิดกั้นบาปอกุศลทั้งปวงที่ยังไม่เกิดขึ้นหรือที่เกิดขึ้นแล้ว
- ขณะที่เราเจริญในศีลนั้น เรามีความตื่นตัวรู้ตัวอยู่เสมอๆหรือไม่ รู้ปัจจุบันขณะที่ตนกำลังดำเนินไปอยู่เสมอๆ ทุกๆขณะที่ทำอะไรหรือไม่ ทำให้สติตั้งมั่นเป็นอารมณ์เดียว น้อมนำจิตให้จดจ่อตั้งมั่นตาม ทำให้ถึงความสงบใจไม่กวัดแกว่งไปตาม อภิชฌา โทมนัส ทำให้เราไม่เร่าร้อนกายใจ มีจิตประครองอยู่ด้วยความเพียรเผากิเลสอกุศลธรรมอันลามกจัญไร

- ศีลเครื่องละเว้นขัดเกลาจิตจากความเบียดเบียนและเครื่องเศร้าหมองทั้งปวงอันพระบรมศาสดาตรัสไว้ดีแล้ว ย่อมทำให้เย็นใจไม่เร่าร้อน
- ความเย็นใจไม่เร่าร้อน มีความผ่องใสชื่นบานเบาสบายไม่ตรึงหน่วงจิตเป็นอานิสงส์
- จิตที่ผ่องใสไม่เศร้าหมอง มีความอิ่มใจเป็นอานิสงส์
- ความอิ่มใจซาบซ่าน มีความสงบเป็นอานิสงส์
- ความสงบอันบริสุทธิ์ปราศจากความเจือปน มีสุขเป็นอานิสงส์
- ความสุขอันแช่มชื่นรมย์อันบริสุทธิ์ปราศจากเครื่องล่อใจ มีสมาธิเป็นอานิสงส์
- จิตที่ตั้งมั่นแนบแน่นไม่ปรุงแต่งสมมติเหล่าใด มีสติอันบริสุทธิ์ บริบูรณ์ ไม่ทำ ไม่บังคับ ไม่ปรุงแต่ง มีปัญญาเป็นอานิสงส์

เมื่อล่วงพ้นเกินกว่าอุปนิสัย แต่เป็นเจตนาเครื่องละเว้นอันแจ้งแทงตลอดลงใจ มันมีแต่ความเย็นกายสบายใจ ไม่เร่าร้อน จิตผ่องใส เย็นใจ ไม่คิดมาก ไม่คิดร่ำไร ไม่เพ้อรำพัน ตั้งมั่นอยู่ด้วยปัจจุบัน ไม่สัดส่ายคำนึงถึงสิ่งอันเป็นเครื่องเร่าร้อนเหล่าใดทั้งปวง

จิตแต่นั้นก็เข้าสมาธิได้ง่ายไม่ลำบาก ไม่ตั้งมั่นผิด




หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน แสดงธรรมเทศนา สอนวิธีทำเหตุให้ และ ผลของวิบากกรรมที่ติดตามเรามา  ดังนี้ว่า

๑. การทำเหตุ การปฏิบัติแรกๆมันยาก การทำดีมันยาก ค่อยๆทำไปทีละนิดสะสมไปเรื่อยๆ ทำบ่อยๆ ทำกุศลให้มากในกาย วาจา ใจ เรื่องอกุศลก็ค่อยๆลดลง อดทนอดกลั้นสำรวมระวังต่ออกุศลไว้ให้มันทิ้งระยะห่างให้นานขึ้นจึงเกิดมีเข้าแทรกได้ แล้วเว้นระยะห่างไปเรื่อยๆจนมันเว้นขาดจากกาย,วาจา,ใจของเรา
- เวลามันคิดชั่วเราก็คิดดีแทรกแทรงโดยทำใจให้เอื้อเฟื้อปารถนาดี แบ่งปัน สงเคราะห์ให้

๒. ผลของวิบากกรรมที่ไม่มี ศีล ทาน ภาวนา คนที่ชอบทำร้ายเบียดเบียนคนอื่นให้ช้ำใจ พรากชีวิตผู้อื่นนั้น ลักขโมยของผู้อื่น ชอบไปผิดลูกเมียเขา พรากคนรักเขา กระทำไม่ดีชอบด่า ชอบว่าให้ร้ายคนอื่น ยุยงให้ผู้อื่นแตกคอกัน ชอบลุ่มหลงมอมเมาขาดสติในกามารมณ์ ในสุรายาเสพย์ติดที่ทำให้ขาดสติ ระลึกไม่ได้ นั่นเพราะมีนิสัยสันดานติดมาจากนรกมันสะสมมานาน และเพราะเขาได้สะสม ศีล ทาน ภาวนามา มากพอก็จะมาเกิดเป็นคนได้ พอมาได้เกิดเป็นคนแต่กรรมอกุศลทั้งปวงที่เขาทำมานั้นมีมากทำให้เขามีหน้าตาดุร้ายบ้าง พิการบ้าง หม่นหมองไม่งดงามบ้าง และสันดานจากนรกที่เคยเป็นสัตว์นรถที่ทำไม่ดีนี้สะสมมามากติดตามเขามาด้วย เขาเลยยังแก้ไม่ได้ ยังทำกาย วาจา ใจ เบียดเบียนทำร้ายตนเองและผู้อื่นอยู่ แล้วเขาไม่ทำเหตุในกุศลเพิ่มมันก็ยิ่งชั่วไปใหญ่

๓. ทำจิตเป็นมิตรสงเคราะห์เขา เมื่อเขามีกรรม มีวิบากกรรมอย่างนั้นเราก็ไม่พึงข้องใจในเขา อย่าไปติดใจในเขา พึงสงเคราะห์เขาเสีย อย่าไปคิด พูด ทำ เพื่อเบียดเบียนเขาเพิ่มเติมซ้ำเติมเขาอีก เขาเป็นอย่างนั้นทั้งกายและใจเขาก็ได้รับทุกข์มามากพอแล้ว ทั้งเร่าร้อน, ร้อนรุ่ม, ถูกไฟกิเลสกรรมไฟนรกแผดเผาต้องกายใจให้หดหู่, วุ่นวาย, ฟุ้งซ่านมามากเต็มที่เขาแล้ว ควรอดโทษไว้แก่เขาสงเคราะห์เขาเสีย

๔. มองพิจารณาในวิบากกรรมย้อนมาสู่ตน หากนิสัยจากนรกที่ติดตามมานี้เป็นตัวเราเอง เมื่อรู้ว่านิสัยในนรกของเรามีมาก วิบากกรรมจากนรกมันติดตามเรามามาก ก็ให้เพียรเจริญในกุศล ศีล ทาน ภาวนา ให้มากสะสมไปเรื่อยๆ เมื่อมันดีมีกำลังเรียกว่า พละ ๕ มันก็จะกลายเป็นอุปนิสัย คิด พูด ทำ ในกุศลโดยชอบไม่เร่าร้อนเป็นทุกข์ ท่านผู้รู้ผู้ภาวนาท่านมองมาดูที่ตนเองอย่างนี้ เมื่อเป็นอุปนิสัยก็จะกลายเป็นจริตสันดาน ตามไปทุกภพชาติ เมื่อมีจริตสันดานในกุศลที่เต็มที่เต็มกำลังใจก็กลายเป็นบารมี อินทรีย์ก็จะแก่กล้า ทีนี้จิตมันจะไม่ปล่อยให้อกุศลเล็ดลอดออกมาได้ ภาวนาก็ให้รู้ลมหายใจมีพุทโธนี้แหละ พิจารณาธาตุ ๖ ตามบทสวดมนต์ธาตุไป





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 07, 2017, 03:34:42 PM
 [๑๒๐] ปัญญาเครื่องความเป็นผู้ใคร่จะพ้นไปเสีย ทั้งพิจารณาหาทาง
และวางเฉยอยู่ เป็นสังขารุเปกขาญาณอย่างไร ฯ
             ปัญญาเครื่องความเป็นผู้ใคร่จะพ้นไปเสียจากความเกิดขึ้น ทั้งพิจารณา
หาทางและวางเฉยอยู่ ปัญญาเครื่องความเป็นผู้ใคร่จะพ้นไปเสียจากความเป็นไป
ทั้งพิจารณาหาทางและวางเฉยอยู่ ปัญญาเครื่องความเป็นผู้ใคร่จะพ้นไปเสียจาก
สังขารนิมิต ฯลฯ จากกรรมเครื่องประมวลมา จากปฏิสนธิ จากคติ จากความ
บังเกิด จากความอุบัติ จากชาติ จากชรา จากพยาธิ จากมรณะ จากความโศก
จากความรำพัน ปัญญาเครื่องความเป็นผู้ใคร่จะพ้นไปเสียจากความคับแค้นใจ
ทั้งพิจารณาหาทางและวางเฉยอยู่ เป็นสังขารุเปกขาญาณแต่ละอย่างๆ ฯ
             [๑๒๑] ปัญญาเครื่องความเป็นผู้ใคร่จะพ้นไปเสีย ทั้งพิจารณาหาทาง
แลวางเฉยอยู่ว่า ความเกิดขึ้นเป็นทุกข์ ความเป็นไปทุกข์ สังขารนิมิตเป็นทุกข์
ฯลฯ ความคับแค้นใจเป็นทุกข์ เป็นสังขารุเปกขาญาณแต่ละอย่างๆ ปัญญา
เครื่องความเป็นผู้ใคร่จะพ้นไปเสีย ทั้งพิจารณาหาทางและวางเฉยอยู่ว่า ความ
เกิดขึ้นเป็นภัย ความเป็นไปเป็นภัย ฯลฯ ความคับแค้นใจเป็นภัย เป็น
สังขารุเปกขาญาณแต่ละอย่างๆ ฯ
             [๑๒๒] ปัญญาเครื่องความเป็นผู้ใคร่จะพ้นไปเสีย ทั้งพิจารณาหาทาง
และวางเฉยอยู่ว่า ความเกิดขึ้นมีอามิส ความเป็นไปมีอามิส ฯลฯ ความ
คับแค้นใจมีอามิส ความเกิดขึ้นเป็นสังขาร ความเป็นไปเป็นสังขาร ฯลฯ ความ
คับแค้นใจเป็นสังขาร เป็นสังขารุเปกขาญาณแต่ละอย่างๆ ฯ
             [๑๒๓] ความเกิดขึ้นเป็นสังขาร ญาณวางเฉยสังขารเหล่านั้น เพราะ
เหตุนั้นจึงชื่อว่าสังขารุเปกขาญาณ แม้ธรรม ๒ ประการนี้ คือ สังขารและอุเบกขา
ก็เป็นสังขาร ญาณวางเฉยสังขารเหล่านั้น เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าสังขารุเปกขาญาณ
ความเป็นไปเป็นสังขาร ฯลฯ นิมิตเป็นสังขาร กรรมเครื่องประมวลมาเป็น
สังขาร ปฏิสนธิเป็นสังขาร คติเป็นสังขาร ความบังเกิดเป็นสังขาร ความอุบัติ
เป็นสังขาร ชาติเป็นสังขาร ชราเป็นสังขาร พยาธิเป็นสังขาร มรณะเป็นสังขาร
ความโศกเป็นสังขาร ความรำพันเป็นสังขาร ความคับแค้นใจเป็นสังขาร
ญาณวางเฉยสังขารเหล่านั้น เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าสังขารุเปกขาญาณ แม้ธรรม
๒ ประการ คือ สังขารและอุเบกขา ก็เป็นสังขาร ญาณวางเฉยสังขารเหล่านั้น
เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าสังขารุเปกขาญาณ ฯ
             [๑๒๔] การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขา ย่อมมีได้ด้วยอาการเท่าไร ฯ
             การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขา ย่อมมีได้ด้วยอาการ ๘ ฯ
             การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ย่อมมีได้ด้วยอาการเท่าไร
การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของพระเสขะ ย่อมมีได้ด้วยอาการเท่าไร การน้อมจิต
ไปในสังขารุเปกขาของท่านผู้ปราศจากราคะ ย่อมมีได้ด้วยอาการเท่าไร ฯ
             การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ย่อมมีได้ด้วยอาการ ๒ การ
น้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของพระเสขะ ย่อมมีได้ด้วยอาการ ๓ การน้อมจิต
ไปในสังขารุเปกขาของท่านผู้ปราศจากราคะ ย่อมมีได้ด้วยอาการ ๓ ฯ
             [๑๒๕] การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ย่อมมีได้ด้วย
อาการ ๒ เป็นไฉน ฯ
             ปุถุชนย่อมยินดีสังขารุเปกขา ๑ ย่อมเห็นแจ้งสังขารุเปกขา ๑ การ
น้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ย่อมมีได้ด้วยอาการ ๒ นี้ ฯ
             การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของพระเสขะ ย่อมมีได้ด้วยอาการ ๓
เป็นไฉน ฯ
             พระเสขะย่อมยินดีสังขารุเปกขา ๑ ย่อมเห็นแจ้งสังขารุเปกขา ๑
พิจารณาแล้วเข้าผลสมาบัติ ๑ การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของพระเสขะ ย่อม
มีได้ด้วยอาการ ๓ นี้ ฯ
             การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของท่านผู้ปราศจากราคะ ย่อมมีได้ด้วย
อาการ ๓ เป็นไฉน ฯ
             ท่านผู้ปราศจากราคะย่อมเห็นแจ้งสังขารุเปกขา ๑ พิจารณาแล้วเข้าผล-
*สมาบัติ ๑ วางเฉยสังขารุเปกขานั้นแล้ว ย่อมอยู่ด้วยสุญญตวิหารสมาบัติ
อนิมิตตวิหารสมาบัติ หรืออัปปณิหิตวิหารสมาบัติ ๑ การน้อมจิตไปใน
สังขารุเปกขาของท่านผู้ปราศจากราคะย่อมมีได้ด้วยอาการ ๓ นี้ ฯ
             [๑๒๖] การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชนและของพระเสขะ เป็น
อย่างเดียวกันอย่างไร ฯ
             ปุถุชนยินดีสังขารุเปกขา มีจิตเศร้าหมอง มีอันตรายแห่งภาวนา
มีอันตรายแห่งปฏิเวธ มีปัจจัยแห่งปฏิสนธิต่อไป แม้พระเสขะยินดีสังขารุเปกขา
ก็มีจิตเศร้าหมอง มีอันตรายแห่งภาวนามีอันตรายแห่งปฏิเวธในมรรคชั้นสูง มีปัจจัย
แห่งปฏิสนธิต่อไป การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชนและของพระเสขะ
เป็นอย่างเดียวกันโดยสภาพแห่งความยินดีอย่างนี้ ฯ
             [๑๒๗] การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ของพระเสขะและ
ของท่านผู้ปราศจากราคะ เป็นอย่างเดียวกันอย่างไร ฯ
             ปุถุชนย่อมพิจารณาเห็นสังขารุเปกขาโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์
และเป็นอนัตตา แม้พระเสขะก็พิจารณาเห็นสังขารุเปกขาโดยความเป็นของ
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา แม้ท่านผู้ปราศจากราคะ ก็พิจารณาเห็น
สังขารุเปกขาโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา การน้อมจิต
ไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ของพระเสขะและของท่านผู้ปราศจากราคะ เป็น
อย่างเดียวกันโดยสภาพแห่งการพิจารณาอย่างนี้ ฯ
             [๑๒๘] การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ของพระเสขะและ
ของท่านผู้ปราศจากราคะ มีความต่างกันอย่างไร ฯ
             สังขารุเปกขาของปุถุชนเป็นกุศล แม้ของพระเสขะก็เป็นกุศล แต่ของท่าน
ผู้ปราศจากราคะเป็นอัพยากฤต การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ของ
พระเสขะและของท่านผู้ปราศจากราคะ มีความต่างกันโดยสภาพเป็นกุศลและ
อัพยากฤตอย่างนี้ ฯ
             [๑๒๙] การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ของพระเสขะและ
ของท่านผู้ปราศจากราคะ มีความต่างกันอย่างไร ฯ
             สังขารุเปกขาของปุถุชน ปรากฏดีในกาลนิดหน่อย (ในเวลาเจริญ
วิปัสสนา) ไม่ปรากฏดีในกาลนิดหน่อย แม้สังขารุเปกขาของพระเสขะ ก็ปรากฏ
ดีในการนิดหน่อย สังขารุเปกขาของท่านผู้ปราศจากราคะ ปรากฏดีโดยส่วนเดียว
การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ของพระเสขะและของท่านผู้ปราศจาก
ราคะ มีความต่างกันโดยสภาพที่ปรากฏและโดยภาพที่ไม่ปรากฏอย่างนี้ ฯ
             [๑๓๐] การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ของพระเสขะและ
ของท่านผู้ปราศจากราคะ มีความต่างกันอย่างไร ฯ
             ปุถุชนย่อมพิจารณา เพราะเป็นผู้ยังไม่เสร็จกิจจากสังขารุเปกขา แม้
พระเสขะก็พิจารณาเพราะเป็นผู้ยังไม่เสร็จกิจจากสังขารุเปกขา ส่วนท่านผู้ปราศจาก
ราคะย่อมพิจารณาเพราะเป็นผู้เสร็จกิจจากสังขารุเปกขา การน้อมจิตไปใน
สังขารุเปกขาของปุถุชนของพระเสขะและของท่านผู้ปราศจากราคะ มีความต่างกัน
โดยสภาพที่ยังไม่เสร็จกิจและโดยสภาพที่เสร็จกิจแล้วอย่างนี้ ฯ
             [๑๓๑] การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ของพระเสขะและ
ของท่านผู้ปราศจากราคะ มีความต่างกันอย่างไร ฯ
             ปุถุชนย่อมพิจารณาสังขารุเปกขาเพื่อจะละสังโยชน์ ๓ เพื่อต้องการ
ได้โสดาปัตติมรรค พระเสขะย่อมพิจารณาสังขารุเปกขาเพื่อต้องการได้มรรคชั้นสูง
ขึ้นไป เพราะเป็นผู้ละสังโยชน์ ๓ ได้แล้ว ท่านผู้ปราศจากราคะย่อมพิจารณา
สังขารุเปกขา เพื่อต้องการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน เพราะเป็นผู้ละกิเลสทั้งปวง
ได้แล้ว การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ของพระเสขะและของท่าน
ผู้ปราศจากราคะ มีความต่างกันโดยสภาพที่ละกิเลสได้แล้วและโดยสภาพที่ยังละ
กิเลสไม่ได้อย่างนี้ ฯ
             [๑๓๒] การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขา ของพระเสขะและของท่านผู้
ปราศจากราคะ มีความต่างกันอย่างไร ฯ
             พระเสขะยังยินดีสังขารุเปกขาบ้าง ย่อมเห็นแจ้งสังขารุเปกขาบ้างพิจารณา
แล้วเข้าผลสมาบัติบ้าง ท่านผู้ปราศจากราคะย่อมเห็นแจ้งสังขารุเปกขาบ้างพิจารณา
แล้วเข้าผลสมาบัติบ้าง วางเฉยสังขารุเปกขานั้นแล้ว ย่อมอยู่ด้วยสุญญตวิหาร-
*สมาบัติ อนิมิตตวิหารสมาบัติ หรืออัปปณิหิตวิหารสมาบัติ การน้อมจิตไปใน
สังขารุเปกขาของพระเสขะและของท่านผู้ปราศจากราคะ มีความต่างกันโดยสภาพ
แห่งวิหารสมาบัติอย่างนี้ ฯ
             [๑๓๓] สังขารุเปกขาเท่าไร ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมถะ สังขารุเปกขา
เท่าไร ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนา ฯ
             สังขารุเปกขา ๘ ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมถะ สังขารุเปกขา ๑๐ ย่อม
เกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนา ฯ
             สังขารุเปกขา ๘ เป็นไฉน ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมถะ ปัญญาที่พิจารณา
หาทางแล้ววางเฉยนิวรณ์ เพื่อต้องการได้ปฐมฌาน เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑
ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยวิตกวิจาร เพื่อต้องการได้ทุติยฌาน เป็น
สังขารุเปกขาญาณ ๑ ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยปีติ เพื่อต้องการได้
ตติยฌาน เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยสุขและทุกข์
เพื่อต้องการได้จตุตถฌาน เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ว
วางเฉยรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา (และ) นานัตตสัญญา เพื่อต้องการได้
อากาสานัญจายตนสมาบัติ เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ว
วางเฉยอากาสานัญจายตนสัญญา เพื่อต้องการได้วิญญาณัญจายตนสมาบัติ เป็น
สังขารุเปกขาญาณ ๑ ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยวิญญาณัญจายตนสัญญา
เพื่อต้องการได้อากิญจัญญายตนสมาบัติ เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ ปัญญาที่พิจารณา
หาทางแล้ววางเฉยอากิญจัญญายตนสัญญา เพื่อต้องการได้เนวสัญญานาสัญญายตน-
*สมาบัติ เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ สังขารุเปกขา ๘ เหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นด้วย
อำนาจสมถะ ฯ
             [๑๓๔] สังขารุเปกขา ๑๐ เป็นไฉน ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนา ฯ
             ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยความเกิดขึ้น ความเป็นไป นิมิต
กรรมเครื่องประมวลมา ปฏิสนธิ คติ ความบังเกิด อุบัติ ชาติ ชรา พยาธิ
มรณะ ความโศก ความรำพัน ความคับแค้นใจ เพื่อต้องการได้โสดาปัตติมรรค
เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ ... เพื่อต้องการได้โสดาปัตติผลสมาบัติ เป็น
สังขารุเปกขาญาณ ๑ ... เพื่อต้องการได้สกทาคามิมรรค เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑
... เพื่อต้องการได้สกทาคามิผลสมาบัติ เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ ... เพื่อ
ต้องการได้อนาคามิมรรค เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ ... เพื่อต้องการได้อนาคามิผล
สมาบัติ เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ ... เพื่อต้องการได้อรหัตมัค เป็น
สังขารุเปกขาญาณ ๑ ... เพื่อต้องการได้อรหัตผลสมาบัติ เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑
... เพื่อต้องการสุญญตวิหารสมาบัติ สังขารุเปกขาญาณ ๑ ปัญญาที่พิจารณา
หาทางแล้ววางเฉยความเกิดขึ้น ความเป็นไป นิมิต กรรมเครื่องประมวลมา
ปฏิสนธิ คติ ความบังเกิด อุบัติ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ความโศก
ความรำพัน ความคับแค้นใจ เพื่อต้องการได้อนิมิตตวิหารสมาบัติ เป็น
สังขารุเปกขาญาณ ๑ สังขารุเปกขาญาณ ๑๐ เหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจ
วิปัสสนา ฯ
             [๑๓๕] สังขารุเปกขาเป็นกุศลเท่าไร เป็นอกุศลเท่าไร เป็นอัพยากฤต
เท่าไร สังขารุเปกขาเป็นกุศล ๑๕ เป็นอัพยากฤต ๓ เป็นอกุศลไม่มี ฯ
                          ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉย เป็นโคจรภูมิของสมาธิ-
                          จิต ๘ เป็นโคจรภูมิของปุถุชน ๒ เป็นโคจรภูมิของพระ-
                          *เสขะ ๓ เป็นเครื่องให้จิตของท่านผู้ปราศจากราคะหลีกไป ๓
                          เป็นปัจจัยแห่งสมาธิ ๘ เป็นโคจรแห่งภูมิแห่งญาณ ๑๐
                          สังขารุเปกขา ๘ เป็นปัจจัยแห่งวิโมกข์ ๓ อาการ ๑๘ นี้
                          พระโยคาวจรอบรมแล้วด้วยปัญญา พระโยคาวจรผู้ฉลาดใน
                          สังขารุเปกขา ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะทิฐิต่างๆ ฉะนี้แล ฯ
             ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด
เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาเครื่องความเป็นผู้ใคร่จะพ้นไปทั้งพิจารณา
หาทางและวางเฉย เป็นสังขารุเปกขาญาณ ฯ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 15, 2017, 10:00:57 PM
ฌาณเสื่อม วิธีหาคลองเก่า

ที่จำคลองเก่าไม่ได้เพราะ "จิตไม่มีกำลัง"..
ปรกติจิตมันสัดส่าย อ่อนไหว อ่อนแอ กระเอื่อม ซ่านเซนไปตามอารมร์ความรู้สึกที่รู้สัมผัส ที่จิตเห็น จิตรู้ เมื่อฌาณเราเสื่อม เราทำอย่างไรก็เข้าอีกไม่ได้ ยิ่งกระสันอยากได้คืน ยิ่งเข้าไม่ได้ ด้วยเหตุประการดังนี้คือ

1. อุปาทานมีมาก ด้วยความกระสันนั้น
2. ตัณหามีมาก ด้วยความใคร่เสพย์นั้น
3. กิเลสมีมาก ด้วยความตรึกนั้น
4. นิวรณ์มีมาก ด้วยความสำคัญมั่นหมายของใจ,หมายรู้อารมณ์ ด้วยสภาวะธรรมนั้นๆ


อธิบาย
 ..ปัจจัย 4 ประการ ข้างต้นทั้งหมดนี้ ล้วนทำให้จิตอ่อนแอ กระเพื่อม อ่อนไหว ซ่านเซน เหนื่อยล้า ไม่มีกำลัง..ดังนี้แล้วเราจึงควรทำให้จิตมีกำลังก่อน
 ..ด้วยธรรมชาติของจิตที่มีกำลัง มีสติบริสุทธิ์ ไม่กกระเพื่อไหวเอนซ่านเซ็นต่อผัสสะ อารมร์ที่มากระทบ สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองไม่อิงอามิสแล่นหาอารมณ์ไรๆมาเป็นเครื่องอยู่ของมัน มันจึงทำหน้าที่เดิมแท้ที่สักแต่ว่ารู้ นิ่งดูอยู่เฉยๆได้ เมื่อมันนิ่งรู้ดูอยู่เฉยๆเท่านั้นมันจะจดจำสภาวะธรรมทุกขั้นตอนได้เองอย่างไม่ผิดเพี้ยน ทั้งผัสสะ, สภาวะอาการความรู้สึก, นิมิต, มนสิการ ได้ครบหมดทุกขั้นตอน
 ..ดังนั้นเวลาทำสมาธิเข้าฌาณเราจึงไม่ต้องไปพยายามเพ่ง พยายามจดจำ สภาวะ อาการ ไม่ต้องหมายรู้อารมณ์ด้วยสัญญาถึงมนสิการ คือ การทำไว้ในใจต่ออารมณ์ของจิตด้วยสัญญาใดๆทั้งสิ้น ปล่อยให้มันเป็นไปของมันเอง
.. ถ้าจิตไม่มีกำลังมันจะจำไม่ได้ แต่ถ้าจิตมีกำลังมันจะจำได้ด้วยตัวของมันเอง โดยไม่ต้องไปหมายรู้อารมณ์ ผัสสะ สภาวะธรรม หรือวิธีที่จิตทำมนสิการใดๆด้วยสัญญา



วิธีแก้ คือ ทำให้จิตมีกำลัง จิตมันจะทำของเก่าได้เองทุกกระบวนการ

1. สงบนิ่ง ทำจิตสบายๆให้ผ่อนคลาย ไม่หยิบจับเอาอะไรมาเป็นอารมณ์ทั้งสิ้น หรือ ทำเพียงรู้ลมหายใจเข้าออกโดยไม่ต้องเพ่ง ไม่ต้องกำหนด ตั้มมั่นในใจว่าเราจะทำให้จิตได้พัก ปิดสวิทซ์การทำงานของจิต เพื่อให้จิตมีกำลัง ไม่ต้องสนฌาณ ญาณอะไรทั้งสิ้น รู้แต่เพียงว่าถ้าจิตมีกำลังจิตมันจะทำคลองเก่าได้ทั้งหมดเอง มันจะมนสิการของมันเองแบบสายๆ โดยไม่ต้องไปบังคับเพ่งอะไรทั้งสิ้น เพราะจิตมันฉลาดมันรู้เองว่าสิ่งไหนดีต่อมัน การที่มันได้พักดีต่อมันยังไง การเข้าไปพักต้องมนสิการแบบไหนยังไง
2. สมมติความรู้สึกนึกคิดเหล่าใดผ่านมาให้รู้ก็ทำจิตแค่รู้ว่าสมมติเกิด รู้ว่าคิด แล้วก็ปล่อยไปทำแต่รู้ ทำจิตให้ไม่หวั่นไหวไหลไปตามความคิด สมมติกิเลสที่สร้างขึ้นมาหลอกจิต รู้ว่าธรรมชาติของจิตมันคือคิด มันรู้แต่สมมติ ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ ทำเพียงแต่รู้ตามสถานะภาพจิตเดิมแท้เราเท่านั้นพอ
3. ทำไปเรื่อยๆด้วยผ่อนคลาย มันเผลอไหลไปตามคิดก็ช่างมันรู้ว่าคิดก็พอ ตามรู้ความคิดมันไปเท่านั้นพอ ไม่ต้องไปบังคับหยุดไม่ให้คิดเพราะธรรมชาติของจิตมันคือคิด ปล่อยมันคิดจนสุดแต่เราทำแค่รู้ความคิดเท่านั้น
.. เมื่อมันคิดจนสุดมันจะเกิดสภาวะหนึ่งที่จิตรู้ตัวนิ่งแต่ไม่หลุดจากสภาวะที่น้อมไปในอารมณ์นั้นๆ ตรงนี้จึงค่อยทำช้าๆเบาๆให้จิตมันสิการรู้ลม หรือมองดูไปที่เบื้องหน้ามืดๆ นั้นด้วยทำใจไว้ไม่สัดส่ายเพื่อให้จิตได้พักเท่านั้น สำเนียกว่าการที่จิตได้พักมันจึงจะเข้าฌาณได้ ถ้าจิตไม่ได้พักจะไม่มีกำลังเข้าฌาณได้ จิตมันจะทำสัญญาไว้เอง แล้วเราทำใจผ่อนคลายให้มันได้พักเท่านั้นพอ โดยนึกถึงอาการที่จิตวูบเข้าไปพักหลับสนิทปิดสวิทซ์การรับรู้ทั้งปวง
4. เมื่อเกิดอาการวูบวาบๆ หรืออะไรก็ช่าง วูบแนบนิ่งดิ่งลงก็ตามสำเนียกว่าเรามีหน้าที่แค่รู้ ไม่ได้มีหน้าที่เสพย์ ไม่ได้มีหน้าที่ปรุงแต่ง จิตเดิมแท้มันมีแต่เพียงรู้เท่านั้น ทำได้แค่รู้เท่านั้น ไม่มีหน้าที่อื่นใดนอกจากแค่รู้ แต่ไม่ต้องประครองมากเกินไปทำให้เป็นที่สบายๆไม่หน่วงตรึงจิต ไม่บังคับกดข่มจิตเพ่งอารมณ์จนเกินไปเพราะจะทำให้จิตมันตื่นขึ้นมารับรู้อารมณ์มากขึ้นไป ดังนี้แล้วเมื่อเกิดอาการอะไรให้ทำไว้ในใจเพียงแค่รู้ ไม่ต้องฉุกคิดไม่ต้องปรุง ไม่ต้องไปพยายามจำอะไรทั้งสิ้น จิตมีกำลังมันจะจำได้เอง สติมันจะบริสุทธิ์เอง ทำให้ไม่ต้องครองอะไรมากไปจากการทำให้จิตแค่รู้ ถ้าจิตไม่มีกำลังพยายามแค่ไหนก็จำไม่ได้ ตรงนี้วัดกำลังของจิตเราเองได้ดีเลย ทำให้เราได้รู้ว่าจิตเรามันล้ามันเหนื่อยมันอ่อนแอแค่ไหน
5. เมื่อจิตวูบดับแช่ นิ่ง ไม่รับรู้อะไร จนอิ่มมีกำลัง มันจะสุข เมื่อสุขประทุจนดับไป หากจิตมีกำลังพอมันจะเข้าฌาณ มีตริ ตรึก ความสำเนียก มนสิการได้ แต่ไม่มีเสียงคิด จิตมันทำไว้ในใจอย่างไปมันเพิกไปทันที เมื่อจิตมีกำลังมันจะทำให้สติมีกำลังมากในฌาณมันจะทำหน้าที่แยกจิตออกการสังขารทั้งปวง เอกัคคตาจะทำให้จิตได้พักมีอุเบกขาเกิดขึ้นประกอบจิต..ทำจิตให้เพียงแค่รู้ไม่สัดส่ายต่อนิมิตหรือสัมผัสแห่งสังขารเบื้องหน้าหากเข้าฌาณไม่ได้ถอบกลับมามีความรู้ความคิดความตรึก แม้จะแยกขาดจากนิมิตหรือสิ่งที่คิด นั่นมันแค่อุปจาระฌาณเท่านั้น ยังเข้าปฐมฌาณไม่ได้ เหตุนั้นเพราะจิตมีกำลังไม่พอเข้าอัปปะนาสมาธิ แล้วทะลุอัปปะนาสมาธิเข้าฌาณนั่นเอง เราก็แค่ทำจิตให้ได้พักบ่อยๆไม่ต้องไปให้ความสำคัญอะไรมากเกินกว่าการพักจิตแค่นั้นก็พอ

**หมายเหตุกรรมฐาน 40 เป็นอุบายพักจิตโดยทางแห่งสัมมา ซึ่งจะเป็นทั้งฝึกสติให้ตั้งมั่นในอารมร์ใดอารมณ์หนึ่งได้นาน เพื่อให้จิตตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบันเป็นอารมณ์เดียวได้นานตาม**
**หลับกับสมาธิเหมือนกันตรงทำไว้ในใจเพื่อเข้าไปพักถอนใจออกจากการรับรู้ทั้งปวง เพื่อให้กายและจิตมันพัก**





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 16, 2017, 12:58:52 AM
๑๐. โคตรภูญาณนิทเทส
แสดงโคตรภูญาณ
             [๕๙] ปัญญาในการออกและหลีกไปจากนิมิตภายนอก ชื่อว่าโคตรภูญาณ
เป็นอย่างไร
             คือ ชื่อว่าโคตรภู เพราะครอบงำความเกิดขึ้น ชื่อว่าโคตรภู เพราะครอบงำ
ความเป็นไป ชื่อว่าโคตรภู เพราะครอบงำนิมิต ชื่อว่าโคตรภู เพราะครอบงำกรรม
เป็นเครื่องประมวลมา ชื่อว่าโคตรภู เพราะครอบงำปฏิสนธิ ชื่อว่าโคตรภู เพราะ
ครอบงำคติ ชื่อว่าโคตรภู เพราะครอบงำความบังเกิด ชื่อว่าโคตรภู เพราะครอบงำ
ความอุบัติ ชื่อว่าโคตรภู เพราะครอบงำความเกิด ชื่อว่าโคตรภู เพราะครอบงำความ
แก่ ชื่อว่าโคตรภู เพราะครอบงำความเจ็บไข้ ชื่อว่าโคตรภู เพราะครอบงำความตาย
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๙๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๑. มหาวรรค]

                                                                 ๑. ญาณกถา ๑๐. โคตรภูญาณนิทเทส

ชื่อว่าโคตรภู เพราะครอบงำความเศร้าโศก ชื่อว่าโคตรภู เพราะครอบงำความ
รำพัน ชื่อว่าโคตรภู เพราะครอบงำความคับแค้นใจ ชื่อว่าโคตรภู เพราะครอบงำ
สังขารนิมิตภายนอก
             ชื่อว่าโคตรภู เพราะแล่นไปสู่ความไม่เกิดขึ้น ฯลฯ ชื่อว่าโคตรภู เพราะแล่นไป
สู่ความดับคือนิพพาน
             ชื่อว่าโคตรภู เพราะครอบงำความเกิดขึ้นแล้วแล่นไปสู่ความไม่เกิดขึ้น ชื่อว่า
โคตรภู เพราะครอบงำความเป็นไปแล้วแล่นไปสู่ความไม่เป็นไป ชื่อว่าโคตรภู เพราะ
ครอบงำนิมิตแล้วแล่นไปสู่อนิมิต ฯลฯ ชื่อว่าโคตรภู เพราะครอบงำสังขารนิมิต
ภายนอกแล้วแล่นไปสู่ความดับคือนิพพาน
             ชื่อว่าโคตรภู เพราะออกจากความเกิดขึ้น ชื่อว่าโคตรภู เพราะออกจากความ
เป็นไป ชื่อว่าโคตรภู เพราะออกจากนิมิต ชื่อว่าโคตรภู เพราะออกจากกรรมเป็น
เครื่องประมวลมา ชื่อว่าโคตรภู เพราะออกจากปฏิสนธิ ชื่อว่าโคตรภู เพราะออก
จากคติ ชื่อว่าโคตรภู เพราะออกจากความบังเกิด ชื่อว่าโคตรภู เพราะออกจาก
ความอุบัติ ชื่อว่าโคตรภู เพราะออกจากความเกิด ชื่อว่าโคตรภู เพราะออกจาก
ความแก่ ชื่อว่าโคตรภู เพราะออกจากความเจ็บไข้ ชื่อว่าโคตรภู เพราะออกจาก
ความตาย ชื่อว่าโคตรภู เพราะออกจากความเศร้าโศก ชื่อว่าโคตรภู เพราะออก
จากความรำพัน ชื่อว่าโคตรภู เพราะออกจากความคับแค้นใจ ชื่อว่าโคตรภู เพราะ
ออกจากสังขารนิมิตภายนอก
             ชื่อว่าโคตรภู เพราะแล่นไปสู่ความไม่เกิดขึ้น ชื่อว่าโคตรภู เพราะแล่นไปสู่
ความไม่เป็นไป ฯลฯ ชื่อว่าโคตรภู เพราะแล่นไปสู่ความดับคือนิพพาน
             ชื่อว่าโคตรภู เพราะออกจากความเกิดขึ้นแล้วแล่นไปสู่ความไม่เกิดขึ้น ชื่อว่า
โคตรภู เพราะออกจากความเป็นไปแล้วแล่นไปสู่ความไม่เป็นไป ชื่อว่าโคตรภู เพราะ
ออกจากนิมิตแล้วแล่นไปสู่อนิมิต ชื่อว่าโคตรภู เพราะออกจากกรรมเป็นเครื่อง
ประมวลมาแล้วแล่นไปสู่ความไม่มีกรรมเป็นเครื่องประมวลมา ชื่อว่าโคตรภู เพราะ
ออกจากปฏิสนธิแล้วแล่นไปสู่ความไม่มีปฏิสนธิ ชื่อว่าโคตรภู เพราะออกจากคติแล้ว
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๙๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๑. มหาวรรค]

                                                                 ๑. ญาณกถา ๑๐. โคตรภูญาณนิทเทส

แล่นไปสู่อคติ ชื่อว่าโคตรภู เพราะออกจากความบังเกิดแล้วแล่นไปสู่ความไม่
บังเกิด ชื่อว่าโคตรภู เพราะออกจากความอุบัติแล้วแล่นไปสู่ความไม่อุบัติ ชื่อว่า
โคตรภู เพราะออกจากความเกิดแล้วแล่นไปสู่ความไม่เกิด ชื่อว่าโคตรภู เพราะออก
จากความแก่แล้วแล่นไปสู่ความไม่แก่ ชื่อว่าโคตรภู เพราะออกจากความเจ็บไข้แล้ว
แล่นไปสู่ความไม่เจ็บไข้ ชื่อว่าโคตรภู เพราะออกจากความตายแล้วแล่นไปสู่ความ
ไม่ตาย ชื่อว่าโคตรภู เพราะออกจากความเศร้าโศกแล้วแล่นไปสู่ความไม่เศร้าโศก
ชื่อว่าโคตรภู เพราะออกจากความรำพันแล้วแล่นไปสู่ความไม่รำพัน ชื่อว่าโคตรภู
เพราะออกจากความคับแค้นใจแล้วแล่นไปสู่ความไม่คับแค้นใจ ชื่อว่าโคตรภู เพราะ
ออกจากสังขารนิมิตภายนอกแล้วแล่นไปสู่ความดับคือนิพพาน
             ชื่อว่าโคตรภู เพราะหลีกออกจากความเกิดขึ้น ชื่อว่าโคตรภู เพราะหลีกออก
จากความเป็นไป ฯลฯ ชื่อว่าโคตรภู เพราะหลีกออกจากสังขารนิมิตภายนอก
             ชื่อว่าโคตรภู เพราะแล่นไปสู่ความไม่เกิดขึ้น ชื่อว่าโคตรภู เพราะแล่นไปสู่
ความไม่เป็นไป ฯลฯ ชื่อว่าโคตรภู เพราะแล่นไปสู่ความดับคือนิพพาน
             ชื่อว่าโคตรภู เพราะหลีกออกจากความเกิดขึ้นแล้วแล่นไปสู่ความไม่เกิดขึ้น
ชื่อว่าโคตรภู เพราะหลีกออกจากความเป็นไปแล้วแล่นไปสู่ความไม่เป็นไป ฯลฯ
ชื่อว่าโคตรภู เพราะหลีกออกจากสังขารนิมิตภายนอกแล้วแล่นไปสู่ความดับ
คือนิพพาน
             [๖๐] โคตรภูธรรมเท่าไรเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมถะ โคตรภูธรรมเท่าไร
เกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนา
             คือ โคตรภูธรรม ๘ ประการเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมถะ โคตรภูธรรม ๑๐
ประการเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนา
             โคตรภูธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง เกิดขึ้นด้วยอำนาจสมถะ คือ
             ๑. ญาณที่ครอบงำนิวรณ์ เพื่อได้ปฐมฌาน ชื่อว่าโคตรภู
             ๒. ญาณที่ครอบงำวิตกวิจาร เพื่อได้ทุติยฌาน ชื่อว่าโคตรภู
             ๓. ญาณที่ครอบงำปีติ เพื่อได้ตติยฌาน ชื่อว่าโคตรภู
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๙๖}


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 16, 2017, 12:59:22 AM
๔. ญาณที่ครอบงำสุขและทุกข์ เพื่อได้จตุตถฌาน ชื่อว่าโคตรภู
             ๕. ญาณที่ครอบงำรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญา เพื่อได้
                  อากาสานัญจายตนสมาบัติ ชื่อว่าโคตรภู
             ๖. ญาณที่ครอบงำอากาสานัญจายตนสัญญา เพื่อได้วิญญาณัญจายตน-
                  สมาบัติ ชื่อว่าโคตรภู
             ๗. ญาณที่ครอบงำวิญญาณัญจายตนสัญญา เพื่อได้อากิญจัญญายตน-
                  สมาบัติ ชื่อว่าโคตรภู
             ๘. ญาณที่ครอบงำอากิญจัญญายตนสัญญา เพื่อได้เนวสัญญา-
                  นาสัญญายตนสมาบัติ ชื่อว่าโคตรภู
             โคตรภูธรรม ๘ ประการนี้เกิดขึ้นด้วยอำนาจสมถะ
             โคตรภูธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง เกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนา คือ
             ๑. ญาณที่ครอบงำความเกิดขึ้น ความเป็นไป นิมิต กรรมเป็นเครื่อง
                  ประมวลมา ปฏิสนธิ คติ ความบังเกิด ความอุบัติ
                  ความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ ความตาย ความเศร้าโศก
                  ความรำพัน ความคับแค้นใจ สังขารนิมิตภายนอก เพื่อได้
                  โสดาปัตติมรรค ชื่อว่าโคตรภู
             ๒. ญาณที่ครอบงำความเกิดขึ้น ฯลฯ เพื่อได้โสดาปัตติผลสมาบัติ
                  ชื่อว่าโคตรภู
             ๓. ญาณที่ครอบงำความเกิดขึ้น ฯลฯ เพื่อได้สกทาคามิมรรค ชื่อว่าโคตรภู
             ๔. ญาณที่ครอบงำความเกิดขึ้น ฯลฯ เพื่อได้สกทาคามิผลสมาบัติ
                  ชื่อว่าโคตรภู
             ๕. ญาณที่ครอบงำความเกิดขึ้น ฯลฯ เพื่อได้อนาคามิมรรค ชื่อว่าโคตรภู
             ๖. ญาณที่ครอบงำความเกิดขึ้น ฯลฯ เพื่อได้อนาคามิผลสมาบัติ
                  ชื่อว่าโคตรภู
             ๗. ญาณที่ครอบงำความเกิดขึ้น ฯลฯ เพื่อได้อรหัตตมรรค ชื่อว่าโคตรภู
             ๘. ญาณที่ครอบงำความเกิดขึ้น ฯลฯ เพื่อได้อรหัตตผลสมาบัติ ชื่อ
                  ว่าโคตรภู
             ๙. ญาณที่ครอบงำความเกิดขึ้น ฯลฯ เพื่อได้สุญญตวิหารสมาบัติ
                  ชื่อว่าโคตรภู
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๙๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๑. มหาวรรค]

                                                                 ๑. ญาณกถา ๑๐. โคตรภูญาณนิทเทส


             ๑๐. ญาณที่ครอบงำความเกิดขึ้น ความเป็นไป นิมิต กรรมเป็นเครื่อง
                    ประมวลมา ปฏิสนธิ คติ ความบังเกิด ความอุบัติ ความเกิด ความแก่
                    ความเจ็บไข้ ความตาย ความเศร้าโศก ความรำพัน ความคับแค้นใจ
                    สังขารนิมิตภายนอก เพื่อได้อนิมิตตวิหารสมาบัติ ชื่อว่าโคตรภู
             โคตรภูธรรม ๑๐ ประการนี้เกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนา
             โคตรภูธรรม ฝ่ายกุศลมีเท่าไร ฝ่ายอกุศลมีเท่าไร ฝ่ายอัพยากฤตมีเท่าไร
             คือ โคตรภูธรรม ฝ่ายกุศลมี ๑๕ ฝ่ายอัพยากฤตมี ๓ ฝ่ายอกุศลไม่มี
                                       โคตรภูธรรม ๘ ประการ คือ
                          (๑) มีอามิส๑- (๒) ไม่มีอามิส
                          (๓) มีที่ตั้ง๒- (๔) ไม่มีที่ตั้ง
                          (๕) เป็นสุญญตะ๓- (๖) เป็นวิสุญญตะ
                          (๗) เป็นวุฏฐิตะ๔- (๘) เป็นอวุฏฐิตะ
                          ๘ ประการเป็นปัจจัยแห่งสมาธิ
                          ๑๐ ประการเป็นโคจรแห่งญาณ
                          ๑๘ ประการเป็นปัจจัยแห่งวิโมกข์ ๓
                                       อาการ ๑๘ ประการนี้
                          อันพระโยคาวจรใดอบรมแล้วด้วยปัญญา
                          พระโยคาวจรนั้นเป็นผู้ฉลาดในญาณ
                          ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะทิฏฐิต่างๆ
             ชื่อว่าญาณ เพราะมีสภาวะรู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะมีสภาวะรู้ชัด
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการออกและหลีกไปจากนิมิตภายนอก
ชื่อว่าโคตรภูญาณ
โคตรภูญาณนิทเทสที่ ๑๐ จบ
เชิงอรรถ :
๑ อามิส ในที่นี้หมายถึงวัฏฏามิส โลกามิส และกิเลสามิส (ขุ.ป.อ. ๑/๖๐/๒๙๕)
๒ ที่ตั้ง ในที่นี้หมายถึงนิกันติ (ขุ.ป.อ. ๑/๖๐/๒๙๕)
๓ สุญญตะ ในที่นี้หมายถึงโคตรภูธรรมที่ประกอบด้วยนิกันติ (ขุ.ป.อ. ๑/๖๐/๒๙๕)
๔ วุฏฐิตะ ในที่นี้หมายถึงวิปัสสนาโคตรภูญาณ (ขุ.ป.อ. ๑/๖๐/๒๙๕)
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๙๘}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๑ หน้าที่ ๙๔-๙๘.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=31&siri=23 (http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=31&siri=23)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 22, 2017, 10:01:29 PM
บันทึกกรรมฐาน วันที่ 15-12-2560

หลักการทำสมาธิ

๑.) ส่งจิตเข้ารวมไว้ในภายใน ไม่ส่งจิตออกนอก* -> ๒.) ทำให้จิตได้พัก ปิดสวิทซ์การทำงานของจิต* -> ๓.) อานิสงส์จิตได้พัก จะเกิดสุขอัดปะทุพรั่งพรูจากภายในขึ้นมาซาบซ่านเต็มไปหมด -> ๔.) อานิสงส์สุขดับจิตจะมีกำลังอยู่ได้ด้วยตัวเองไม่ต้องอิงอาศัยสมมติอารมณ์ความรู้สึกเหล่าใดมาเป็นเครื่องอยู่ของจิต สติมีกำลังบริสุทธิ์ผุดผ่องเกิดขึ้นประกอบจิตทำให้แยกขาดระหว่างจิต กับ ขันธ์ ๕ -> ๔.) อานิสงส์จิตที่มีกำลังเข้าอัปปนาสมาธิ และ  ฌาณ

1. จิตส่งออกนอกมันไม่มีกำลัง จิตส่งเข้ารวมไว้ในภายในจึงมีกำลัง เมื่อรู้ดังนี้แล้วให้น้อมจิตเข้ามาไว้ภายใน ไม่สัดส่ายตามความรู้สึกนึกคิดที่มากระทบสัมผัสให้จิตรู้
เมื่อจิตส่งเข้าภายใน..มีจิตจับที่จิตไม่ซ่านไหวส่งออกนอกยึดจับเสพย์สัมผัสความรู้สึกสมมตินึกคิดต่ออารมณ์ใดๆที่จิตรู้..จิตจะรวมลงเข้าไว้ที่ภายในจิต
..อุปมานิมิตดั่งจิตตั้งมันเพ่งจับที่ภายในจุดๆหนึ่งที่เป็นการรับรู้ ซึ่งทำหน้าที่แค่รู้เท่านั้น ไม่มีหน้าที่เสพย์ หรือกระทำปรุงแต่งไรๆต่ออารมณ์ความรู้สึกนั้นๆ เป็นการเอาจิตจับที่จิตคือตัวรู้ ประครองให้จิตวิญญาณตัวที่ท่องเที่ยวไปของเรานี้ทำหน้าที่เดิมแท้ คือ แค่รู้นั่นเอง

2. เมื่อจิตเพ่งรวมไว้ภายในโดยไม่ประครองมากไป ทำเป็นที่สบายๆให้จิตมันเป็นไปของมันเอง จิตมันจะอิ่มอัดอยู่ในภายในแล้วมันจะวูบเข้าไปปัสสัทธิขั้นต้น..จิตจะนิ่งดับแช่เหมือนจะรู้อยู่ก็ไม่ใช่..ดับนิ่งไม่รับรู้อะไรก็ไม่ใช่..แต่ที่แน่นอนคือนิ่งแช่เฉยอยู่ไม่กระเพื่อมเอนไหวไรๆทั้งสิ้น..อาการนี้แหละทำให้จิตเรานี้ได้พักปิดสวิทซ์การทำงานของจิต..

3. จิตได้พัก..จึงเกิดสุขอันหาประมาณไม่ได้อัดปะทุพรั่งพรูจากภายในขึ้นมาให้จิตรู้..
เมื่อจิตสุขเต็มที่จากการได้พักจนสุขที่อัดปะทุนัันดับลงเหลือแต่ความนิ่งว่างอิ่มเอิบอยู่..จิตตั้งมั่นมีกำลังอยู่ได้ด้วยตัวของมันเองไม่ติดเครื่องล่อใจ เข้าสู่อัปปะนาสมาธิมีจิตไม่สัดส่ายกระเพื่อมอ่อนไหวไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอันเป็นสมมติที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกจิตให้เอนไหวอ่อนแอส่งออกนอกทั้งปวง มีสติบริสุทธิ์แยกจิตออกจากขันธ์ ..จิตมีความรู้อยู่ด้วยการไม่เสพย์สัญญาความปรุงแต่งจิต ไม่มีความคิด มีแต่มนสิการ คือ การทำไว้ในใจของจิต..ปัญญาจึงเกิดขึ้น..ญาณทัสนะปรากฏทำให้เกิดความรู้เห็นตามจริง


สรุป การทำสมาธิ เราจะทำอย่างไรก็ได้ให้จิตเข้าไปพักให้ได้ ไม่ต้องไปขัดขวาง ไม่ต้องปรุง ไม่ต้องอยากเห็นนั่นโน่นนี่ ปล่อยให้จิตมันวูบดับเข้าไปพัก เพื่อให้จิตมีแรงกำลัง อยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง ไม่อาศันเอาอารมณ์ปรุงแต่งสมมติความคิดมาเป็นเครื่องอยู่ของมัน จิตจึงจะเข้าอัปปนาสมาธิ และ เข้าฌาณได้ ..ทางที่ถูกต้องคือ 40 กรรมฐาน ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอน ซึ่งจะเป็นการฝึกสติให้จดจ่ออยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้นาน ทำให้จิตตั้งมั่นเป็นอารมณ์เดียวได้นานตาม กองกรรมฐานทั้ง 40 กองนี้มีไว้เพื่อให้จิตรวมเข้าไว้ในภายใน ให้จิตได้เข้าไปพัก จิตเข้าไปพักจิตก็จะมีกำลังอยู่ได้ด้วยตัวของมันเองไม่สัดส่ายตามอารมณ์ที่เข้ามากระทบ ทำให้จิตเข้าฌาณได้ ทำให้จิตทำหน้าที่เดิมแท้ของจิตได้ นั่นคือ สักแต่ว่ารู้นั่นเอง มีสติบริสุทธิ์แยกขาดจิตกับขันธ์ ๕

** ข้อสำคัญเริ่มแรกที่ฝึกทำสมาธิ จิตเรามักจะไม่มีกำลัง ให้ทำไว้ในใจว่าทำสมาธิน้อมรวมเข้าไปไว้ภายในจิต ให้จิตเข้าไปพัก(จิตเราเหนื่อยต้องการนอนพักไม่ต้องการรับรู้อะไร ไม่อยากคิดอะไรนอกจากมีใจเพียงต้องการจะนอนพักเท่านั้น ฉันนั้น..) ทำความพอใจที่ให้จิตได้เข้าไปพักเท่านั้นพอ.. จนเมื่อจิตมีกำลังมากแล้วจึงเล่นในฌาณต่อไป

วิธีการทำสมาธิ

ก่อนทำให้จำยุทธศาสตร์หลักของการทำสมาธิไว้ 5 อย่างดังนี้..

ก. จิตส่งออกนอกมันไม่มีกำลัง ยิ่งจิตส่งออกมากเท่าไหร่ก็ยิ่งใช้กำลังของจิตแล่นตามอารมณ์นั้นๆมาก จิตก็ทำงานหนักขึ้น บั่นทอนกำลังจิตลง กำลังของจิตยิ่งลดทอนลง
ข. จิตส่งเข้าในจึงมีกำลัง จิตรวมเข้าไว้ในภายในไม่สัดส่ายส่งออกนอกจึงจะมีกำลัง ไม่ต้องทำงานหนัก จิตเริ่มผ่อนคลายได้พัก เหมือนเรานอนหลับ
ค. จิตพักแช่แแน่นิ่งได้นานเท่าไหร่ จิตก็จะยิ่งมีกำลังมากเท่านั้น ยิ่งรวมลงไปลึกมากเท่าไหร่ ก็จะเข้าสมาธิได้ลึกไปมากฉันนั้น
ง. การทำสมาธิไม่ต้องไปประครองจิตมากไป ไม่ต้องไปบังคับจิตให้ทำความรู้ หรือเพ่ง หรือพยายามจำจดจำจ้องมากไป จะทำจิตตื่นตัวฟุ้งต่ออารมณ์ความรู้สึกหลึดจากสมาธิทันที (เพราะหากจิตตื่นตัวในขณะที่ไม่มีกำลังอยู่ได้ด้วยตัวเองนั้นมันจะทำให้จิตกระทำเจตนาต่ออารมณ์มาก บังคับมาก เพ่งเกินพอดี กดข่มบังคับเกินประครองใจ ซ่านไหลตามความรู้สึกง่าย จนฟุ้งซ่านระส่ำไม่หยุด ทำให้เข้าสมาธิไม่ได้)
จ. ให้ทำกายใจเป็นที่สบายๆสะสมเหตุไป ผ่อนคลาย ไม่ยึด ไม่เพ่ง ไม่หน่วงนึกคำนึงสิ่งใดมากไป ทำให้จิตผ่อนคลายเป็นที่สบายๆค่อยๆรวมลงเป็นอารมณ์เดียว แล้วได้เข้าไปพักก็พอ (ซึ่งทำจิตรวมลงเป็นอารมณ์เดียวไปพร้อมกับลมหายใจนี้ง่ายสุดจิตจะแล่นรวมลงตามลมที่พัดเข้าออกเป็นอารมณ์เดียวไว ง่าย สบายๆ มันจะซ่านไปทางไหนก็ตามรู้มันไปมันจบเสร็จกิจค่อยน้อมมาสิการมาดูลมจิตจะไม่หลุดจากสมาธิ หากดึงจิตบังคับประครองมากไปจิตจะหลุดทันที จิตไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา เป็นไปตามสังขารกรรม เราจึงไปบังคับมันไม่ได้ แต่อบรมจิตให้รับรู้มากขึ้นได้จนฉลาดพอจะเลือกเสพย์ธรรมมารมณ์ที่ควรเสพย์ หากมันจะวูบดับลงก็ปล่อยมันไปจิตมันเข้าไปพักหรือดิ่งรวมลงในขั้นสมาธิที่สูงขึ้น)


เมื่อทำสมาธิ

1. ระลึกรวมจิตลงเข้าไว้ในภายใน ณ จุดใดจุดหนึ่งที่เป็นฐานที่ตั้งแห่งความระลึก ในที่นี้เรารวมลงไว้ที่หทัย หรือ เหนือศูนย์นาภี 2 นิ้ว

2. ไม่ส่งจิตออกนอก ทำความรู้ว่าจิตรู้สิ่งใดสิ่งนันคือสมมติทั้งหมด ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ รวมถึงไม่ยึดกาย กายก็สมมติ เจ็บ ปวด คัน คิด เป็นสมมติ (ลองหลับตาปัจุบันแท้แล้วมีเพียงความมืดเท่านั้น จิตมีความตรึกนึกคิด รู้สิ่งใดด้วยความคิด สิ่งนั้นไม่มีอยู่จริงเลยในปัจจุบัน มันเป็นสมมติเท่านั้น กิเลสมันอาศัยความรู้สึกสัมผัสทางสฬายตนะ ปรุงแต่งคลัะเคล้าด้วยสมมติเป็นความตรึกนึกเกิดขึ้นให้จิตรู้ ให้รู้สมมติว่าเป็นความรู้สึกนั่นนี่หลอกให้จิตไหลเคลิ้มไปปรุงแต่งเรื่องราวตามสมมติกิเลสของปลอม ดังนั้นำไม่ควรยึดสิ่งที่จิตรู้)

3. เมื่อไม่เอาจิตยึดสิ่งใด จิตไม่ยึดสมมติความคิดไม่ยึดกาย มีอาการเหมือนจิตนิ่งไม่ไหวตามอารมณ์อยู่ เหมือนจะเสพย์อารมณ์ก็ไม่ใช่ รู้อยู่ไม่เข้าร่วมก็ไม่ใช่ จิตจะมีความรู้สึกวูบวาบๆซ่านมา มีอาการวูบหนึ่งขนลุงซู่ซาบซ่านเข้ามา ด้วยความรู้สึกอิ่มอัดมีกำลังในภายในเหมือนลอยได้หรือหนักอึ้งก็มีเป็นต้น มีอาการอยู่ครู่หนึ่ง

4. จิตมีความหน่ายคลายกำหนัดอุปาทาน จิตจะไม่ยึดเอาความรู้สึก นึก คิด และสิ่งไรๆที่จิตรู้ ไม่ยึดเอากายและความรู้สัมผัสทางกาย จิตจะมีความรู้สึกว่างๆกลางๆแต่เหมือนลอยๆโหวงไม่แต่ต้องสัมผัสเอาสิ่งไรๆทั้งสิ้น..มีอาการเหมือนหลีกเร้นจากการยึดจับทั้งปวง เหมือนความรู้สึกตอนเราง่วงมากแล้วกำลังเข้านอน.. ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่จิตอ่อนควรแก่งานคลายเกิเลสนิวรณ์ ซึ่งสำคัญมาก..
.. ให้ทำไว้ในใจว่าของแท้อื่นใดที่จิตรู้ไม่มี..นอกจากลมหายใจนี้ เอาจิตจับที่ลมหายใจเข้า-ออก มันจะเริ่มจับที่ลมหาายใจเองตลอดเวลา ซึ่งมันจะจับลมยาว เบา ทั้งเข้าและออกของมันเอง ..ตรงนี้ไม่ต้องไปจำจดจำจ้องมัน ไม่ต้องไปตั้งใจมั่นที่จะรู้ลมมากเกินไป ไม่ต้องตั้งใจมั่่นไม่ให้มันสัดส่ายเกินไป
.. หากตั้งใจหรือตั้งมั่น เจตนาจงใจที่จะรู้ลมหายใจหรือสิ่งใดๆมากเกินไปจิตที่ไม่มีกำลังมันจะตื่นตัวเกินจนไม่รวมลงสมาธิ กลับจะทำให้ใจเราเกิดความฟุ้งซ่านแทน
.. ดังนั้นให้ประครองแต่พอดี ไม่ต้องประครองมากไป ..ไม่หย่อนยานไปด้วยการทำความรู้ทั่วพร้อม คือ ตามรู้อาการความรู้สึกนึกคิดทันไป โดยทำสักแต่ว่ารู้ทำนิมิตแยกตัวรู้กับสิ่งที่ถูกรู้โดยที่จิตไม่เข้าร่วมเสพย์สิ่งที่รู้ ให้ทำแค่รู้แล้วปล่อยให้มันเป็นไปของมัน มันจะวูบรวมดิ่งลง หรือ จะเพ่ง หรือ จะมนสิการก็ตาม ทำแค่รู้แล้วปผล่อยให้มันเป้นไป ไม่ต้องไปอยากจดจำสิ่งที่มัน เพราะถ้าสติบริสุทธิ์จิตมันจะจำได้เองทุกอย่างแทงตลอดหมด โดยไม่ต้องไปจดจำหมายรู้อารมณ์ด้วยสัญญาไรๆทั้งสิ้น

5. เมื่อจิตไม่ยึดสิ่งใดนอกจากลมหายใจเป็นอารมณ์เดียว จิตอิ่มจิตวูบลงแช่นิ่งเหมือนจะรู้อยู่ก็ไม่ใช่ ไม่รู้ก็ไม่ใช่ แน่นิ่งอยู่ ไม่มีความคิด ไม่มีอะไรทั้งสิ้น อาการนี้จิตเข้าไปพัก ซึ่งตามที่เข้าสมาธิได้พอจะตรีกหวนระลึกตามสติกำลังอาการที่รับรู้ได้โดยลำดับดังนี้

๕.๑). จิตวูบรวมลงชั่วขณะหนึ่ง มีอาการเพียงวูบวาบๆ ซาบซ่านขนลุกซู่ จิตสงบลงได้ ได้ขณิกสมาธิ หากประครองจิตให้เพ่งในอารมณ์มากไป..จะทำให้จิตตื่นตัวรับรู้เกินไปในตอนนี้จิตจะหลุดจากสมาธิทันที ..ดังนั้นให้ปล่อนมันไปทำแค่รู้หรือตามรู้พอ มันจะน้อมอะไรก็ช่างเราแต่ตามรู้แล้วค่อยประครองมันมาที่ลมหรือรวมจิตลงไว้ในภายในช้าๆเบาๆ

๕.๒). จิตวูบรวมลงพักนานขึ้น มีอาการวูบแช่นิ่งเหมือนสะลึมสะลือพักพอรู้สภาวะพักหนื่ง มีจิตรู้ในความตรึกหน่วงนึกมนสิการแนบในอารมณ์อยู่ มีความอิ่มเอิบซาบซ่านแล้ววูบออกรู้อาการนั้นแต่ไม่หลุดจากสภาวะนั้นๆ จิตตื่นขึ้นรู้ มีความรู้ตัวตรึกตรองรู้ได้ในสภาวะนั้นสลับกับวูบนิ่งแช่ ได้อุปจาระสมาธิ
**สภาวะนี้..ถ้าปล่อยไปให้จิตมันเป็นไปของมันจิตจะรวมลงเข้าอัปปนาสมาธิ**
**แต่ถ้าพยามยามประครองจดจำกระทำจิตต่ออารมณ์..หมายรู้อารมณ์ด้วยสัญญาที่จะจดจำสภาวะอาการนั้นๆ จิตจะหลุดจากสมาธิทันที**

๕.๓).จิตวูบรวมลงพักแช่ได้นานมากหน่อย  มีอาการวูบรวมลงจุดเดียวดับแช่แน่นิ่งเหมือนจะมีความรู้ทั่วอยู่ก็ไม่ใช่-ไม่รับรู้อะไรเลยก็ไม่ใช่ มันแช่นิ่งอยู่ มีสุขเกิดขึ้นให้รู้ แต่แช่นิ่งรับสุขอยู่ เกิดความรู้ชัด จิตแค่รู้..ไม่กระทำบังคับไรๆ.. แนบนิ่งไปกับอารมณ์ไม่หลุดออก ได้อัปปะนาสมาธิ
(บางครั้งจิตแช่นิ่งรวมลงพักแช่ไวมากแล้วลงไปลึกมากตามที่จิตรวมลงเข้าไปพักลึก เห็นผัสสะเจตสิกว่าเป็นแบบไหนยังไง เพราะอาศัยการกระทบกับจิตจึงรู้สัมผัสเวทนาได้ ..การกระทบสัมผัสจะเห็นเหมือนฟ้าแลบแปลบบ้างก็มี แล้วเกิดการดำเนินไปของสังขารทั้งหลายสืบต่อไปจากธรรมของจริงเป็นปัจจุบันแท้ สืบต่อไปจนเกิดรู็สมมติขึ้น จะทำให้รู้ได้ทันทีว่านอกจากปัจจุบันแห่งผัสสะแล้ว สืบต่อมาเป็นสมมติทั้งหมด จากความจำได้หมายรู้ต่ออารมณ์ ตรึกขึ้นสมมติ, เหมือนความเปลี่ยนใปของสภาวะธรรมก็มี, จิตรับรู้การสะเทือนกระเพื่อมจากการกระทบกันก็มี หรือ เกิดอาการที่ไม่รู้ว่าอะไรแต่รู้สึกว่ามันเป็นอาการที่ระคน ไม่มีความคิด ไม่มีสัญญารู้ต่ออาการ จนเมื่อจิตมันถอนขึ้นมาหน่อยจึงรู้ว่าเป็นอารมณ์ที่อึดอัดกระวนกระวายแต่ก็ยังไม่รู้ว่าอะไร หรือเพราะอะไร จนถอยขึ้นมาอีกจึงรู้ว่าตนเองลืมหายใจ เพราะจิตเข้าไปไวมาก ดังกรรมฐานที่เราบันทึกไว้เมื่อปี พ.ศ. 2558-2559)

๕.๔). จิตพ้นจากการรวมลงเพ่งแช่เป็นอารณ์เดียว จิตตื่นขึ้นจากการพักจิต มีสติกำลังบริสุทธิ์เป็นมหาสติ ซึ่งทำหน้าที่แยกจิตออกการความยึดร่วมเสพย์ต่อนิมิตหรือความรู้สึกไรๆ ณ เบื้องหน้าในขณะนั้นๆ..จิตมีกำลังมากวูบออกมารู้ตัวทั่วพร้อม จิตตื่นรู้อยู่โดยไม่หลุดจากสภาวะ ..แต่ไม่รับรู้อะไรภายนอกแล้วทั้งสิ้นนอกจากปัจจุบันที่อยู่ตรงหน้า และจิตสำเนียกกระทำมนสิการในอารมณ์ได้ แต่มันไม่ทำ มันทำตามหน้าที่เดิมของมัน คือ ทำแค่รู้เท่านั้น ปล่อยให้สังขารมันเป็นไปของมัน ใหห้มันแสดงให้เห็นเอง มีอาการเหมือนมีความตรึกแต่ไม่มีความคิด หรือ..จิตแยกจากกันกับวิตกตรึกนึก แต่ยังมีวิตกอยู่ เห็นความตรึกคิดบ้างเป็นเสียงคิดที่กระทำในอารมร์อยู่ในส่วนข้างหนึ่ง มีวิจารแนบไปในอารมณ์ต่อนิมิตอยู่ ซึ่งแยกขาดออกเป็นคนละส่วนกับตัวรู้ ทำให้เห็นความเป็นไปของสังขาร แยกจิตกับขันธ์ ๕ หรือสังขาร อุปาทานขันธ์ไม่มีอีก สังขารุเปกขา
(ถึงแม้สิ่งที่จิตมันทำวิตกวิจารณ์แนบแน่นอารมณ์อยู่นั้นมันไมีมีอะไรเลย มันว่างเปล่า ไม่มีอะไรทั้งสิ้น ไม่มีตังตนบุคคล


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 22, 2017, 10:02:18 PM
ฌาณเสื่อม วิธีหาคลองเก่า

ที่จำคลองเก่าไม่ได้เพราะ "จิตไม่มีกำลัง"..
ปรกติจิตมันสัดส่าย อ่อนไหว อ่อนแอ กระเอื่อม ซ่านเซนไปตามอารมร์ความรู้สึกที่รู้สัมผัส ที่จิตเห็น จิตรู้ เมื่อฌาณเราเสื่อม เราทำอย่างไรก็เข้าอีกไม่ได้ ยิ่งกระสันอยากได้คืน ยิ่งเข้าไม่ได้ ด้วยเหตุประการดังนี้คือ

1. อุปาทานมีมาก ด้วยความกระสันนั้น
2. ตัณหามีมาก ด้วยความใคร่เสพย์นั้น
3. กิเลสมีมาก ด้วยความตรึกนั้น
4. นิวรณ์มีมาก ด้วยความสำคัญมั่นหมายของใจ,หมายรู้อารมณ์ ด้วยสภาวะธรรมนั้นๆ

อธิบาย
 ..ปัจจัย 4 ประการ ข้างต้นทั้งหมดนี้ ล้วนทำให้จิตอ่อนแอ กระเพื่อม อ่อนไหว ซ่านเซน เหนื่อยล้า ไม่มีกำลัง..ดังนี้แล้วเราจึงควรทำให้จิตมีกำลังก่อน
 ..ด้วยธรรมชาติของจิตที่มีกำลัง มีสติบริสุทธิ์ ไม่กกระเพื่อไหวเอนซ่านเซ็นต่อผัสสะ อารมร์ที่มากระทบ สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองไม่อิงอามิสแล่นหาอารมณ์ไรๆมาเป็นเครื่องอยู่ของมัน มันจึงทำหน้าที่เดิมแท้ที่สักแต่ว่ารู้ นิ่งดูอยู่เฉยๆได้ เมื่อมันนิ่งรู้ดูอยู่เฉยๆเท่านั้นมันจะจดจำสภาวะธรรมทุกขั้นตอนได้เองอย่างไม่ผิดเพี้ยน ทั้งผัสสะ, สภาวะอาการความรู้สึก, นิมิต, มนสิการ ได้ครบหมดทุกขั้นตอน
 ..ดังนั้นเวลาทำสมาธิเข้าฌาณเราจึงไม่ต้องไปพยายามเพ่ง พยายามจดจำ สภาวะ อาการ ไม่ต้องหมายรู้อารมณ์ด้วยสัญญาถึงมนสิการ คือ การทำไว้ในใจต่ออารมณ์ของจิตด้วยสัญญาใดๆทั้งสิ้น ปล่อยให้มันเป็นไปของมันเอง

.. ถ้าจิตไม่มีกำลังมันจะจำไม่ได้ แต่ถ้าจิตมีกำลังมันจะจำได้ด้วยตัวของมันเอง โดยไม่ต้องไปหมายรู้อารมณ์ ผัสสะ สภาวะธรรม หรือวิธีที่จิตทำมนสิการใดๆด้วยสัญญา


วิธีแก้ คือ ทำให้จิตมีกำลัง จิตมันจะทำของเก่าได้เองทุกกระบวนการ

1. สงบนิ่ง ทำจิตสบายๆให้ผ่อนคลาย ไม่หยิบจับเอาอะไรมาเป็นอารมณ์ทั้งสิ้น หรือ ทำเพียงรู้ลมหายใจเข้าออกโดยไม่ต้องเพ่ง ไม่ต้องกำหนด ตั้มมั่นในใจว่าเราจะทำให้จิตได้พัก ปิดสวิทซ์การทำงานของจิต เพื่อให้จิตมีกำลัง ไม่ต้องสนฌาณ ญาณอะไรทั้งสิ้น รู้แต่เพียงว่าถ้าจิตมีกำลังจิตมันจะทำคลองเก่าได้ทั้งหมดเอง มันจะมนสิการของมันเองแบบสายๆ โดยไม่ต้องไปบังคับเพ่งอะไรทั้งสิ้น เพราะจิตมันฉลาดมันรู้เองว่าสิ่งไหนดีต่อมัน การที่มันได้พักดีต่อมันยังไง การเข้าไปพักต้องมนสิการแบบไหนยังไง
2. สมมติความรู้สึกนึกคิดเหล่าใดผ่านมาให้รู้ก็ทำจิตแค่รู้ว่าสมมติเกิด รู้ว่าคิด แล้วก็ปล่อยไปทำแต่รู้ ทำจิตให้ไม่หวั่นไหวไหลไปตามความคิด สมมติกิเลสที่สร้างขึ้นมาหลอกจิต รู้ว่าธรรมชาติของจิตมันคือคิด มันรู้แต่สมมติ ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ ทำเพียงแต่รู้ตามสถานะภาพจิตเดิมแท้เราเท่านั้นพอ
3. ทำไปเรื่อยๆด้วยผ่อนคลาย มันเผลอไหลไปตามคิดก็ช่างมันรู้ว่าคิดก็พอ ตามรู้ความคิดมันไปเท่านั้นพอ ไม่ต้องไปบังคับหยุดไม่ให้คิดเพราะธรรมชาติของจิตมันคือคิด ปล่อยมันคิดจนสุดแต่เราทำแค่รู้ความคิดเท่านั้น
.. เมื่อมันคิดจนสุดมันจะเกิดสภาวะหฟนึ่งที่จิตรู้ตัวนิ่งแต่ไม่หลุดจากสภาวะที่น้อมไปในอารมณ์นั้นๆ ตรงนี้จึงค่อยทำช้าๆเบาๆให้จิตมันสิการรู้ลม หรือมองดูไปที่เบื้องหน้ามืดๆ นั้นด้วยทำใจไว้ไม่สัดส่ายเพื่อให้จิตได้พักเท่านั้น สำเนียกว่าการที่จิตได้พักมันจึงจะเข้าฌาณได้ ถ้าจิตไม่ได้พักจะไม่มีกำลังเข้าฌาณได้ ทำใจผ่อนคลายให้มันได้พักเท่านั้นพอ
4. เมื่อเกิดอาการวูบวาบๆ หรืออะไรก็ช่าง วูบแนบนิ่งดิ่งลงก็ตามสำเนียกว่าเรามีหน้าที่แค่รู้ ไม่ได้มีหน้าที่เสพย์ ไม่ได้มีหน้าที่ปรุงแต่ง จิตเดิมแท้มันมีแต่เพียงรู้เท่านั้น ทำได้แค่รู้เท่านั้น ไม่มีหน้าที่อื่นใดนอกจากแค่รู้ ดังนี้แล้วเมื่อเกิดอาการอะไรให้ทำไว้ในใจเพียงแค่รู้ ไม่ต้องฉุกคิดไม่ต้องปรุง ไม่ต้องไปพยายามจำอะไรทั้งสิ้น จิตมีกำลังมันจะจำได้เอง สติมันจะบริสุทธิ์เอง ไม่ต้องครองอะไรมากไปจากการทำให้จิตแค่รู้ ถ้าจิตไม่มีกำลังพยายามแค่ไหนก็จำไม่ได้ ตรงนี้วัดกำลังของจิตเราเองได้ดีเลย ทำให้เราได้รู้ว่าจิตเรามันล้ามันเหนื่อยมันอ่อนแอแค่ไหน
5. เมื่อจิตวูบดับแช่ จนอิ่มมีกำลัง มันจะสุข เมื่อสุขประทุจนดับไป หากจิตมีกำลังพอมันจะเข้าฌาณ มีตริ ตรึก ความสำเนียก มนสิการได้ แต่ไม่มีเสียงคิด จิตมันทำไว้ในใจอย่างไปมันเพิกไปทันที หากเข้าฌาณไม่ได้ถอบกลับมามีความรู้ความคิดความตรึก แม้จะแยกขาดจากนิมิตหรือสิ่งที่คิด นั่นมันแค่อุปจาระฌาณเท่านั้น ยังเข้าปฐมฌาณไม่ได้ เหตุนั้นเพราะจิตมีกำลังไม่พอเข้าอัปปะนาสมาธิ แล้วทะลุอัปปะนาสมาธิเข้าฌาณนั่นเอง เราก็แค่ทำจิตให้ได้พักบ่อยๆไม่ต้องไปให้ความสำคัญอะไรมากเกินกว่าการพักจิตแค่นั้นก็พอ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 28, 2017, 11:48:27 PM
วิธีคิดให้ส่งจิตเข้าใจ ทำสัญญา 10 และ ผล ในแบบปุถุชนที่ย่างเข้ามรรค
(ข้อมูลยังไม่เรียบเรียง ทำได้เป็นครั้งคราว ยังทรงอารมณ์ไม่ได้นาน)
(รอทำให้เข้าได้ประจำบ่อยๆจนแน่ใจจึงจะเรียบเรียงทางปฏิบัติได้ตามจริงอีกครั้ง)

1. น้อมใจเข้ามาภายใน กำหนดนิมิตดวงจิตในท่ามกลางสังขาร จับความนิ่งว่าง ความสงบ ความไม่มี ไม่ข้องเสพย์ ไม่เอา สละคืน รวมลงไว้ในภายในจิต

2. น้อมใจเข้ามาภายในอยู่ใจกลาง เหมือนเรานี้อยุ่ท่ามกลางกองรูปขันธ์ แล้วดูความแปรปรวนเป็นไปของกองรูปขันธ์ หรือ อาการทั้ง ๓๒ ประการ
- อุปมาเหมือนหอคอยสังเกตุการณ์ตรงใจกลางเมือง สามารถตรวจสอบรอบรู้ได้ทั้งความเคลื่อนไหวในภายในรั้วเมือง หรือรอบๆรั้วนั้นได้ โดยไม่ต้องออกไปดูในภายนอกเมื่อ เพียงแค่ปักหลักแลดูอยู่ใจกลางเมื่อแล้วแค่รู้ดูความเคลื่อนไว้แปรปรวนทั้งหลายรอบๆหอคอยสังเกตุการณ์นี้เท่านั้น เปรียบหอคอยเหมือนหลักที่เราตั้งจิตไว้ในใจกลาง, เปรียบบ้านเรื่องกำแพงสิ่งปลูกสร้างภายในเมื่องนี้เป็นกองรูปขันธ์ เปรียบเหมือนความเคลื่อนไว้ในเมืองนี้เป็นความแปรปรวนเป็นไปของกองรูปขันธ์ ในอาการทั้ง ๓๒ ประการ

3. จิตน้อมเข้าอนิจสัญญา เห็นความไท่เที่ยง แปรปรวน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป บังคับไม่ได้ ไม่อยู่ในบังคับของผูู้ใด แม้แต่ตัวรู้นี้ก็ตาม รู้สิ่งใดก็ได้ไม่นาน จะบังคับให้รู้ตามปารถนาไม่ได้ ให้คงความรู้นั้นไว้ ไม่จับความรู้นี้ก็ไม่ได้ของขันธ์

4. ม้างกาย เราไม่มีในสิ่งนั้น สิ่งนั้นไม่มีในเรา เราไม่ใช่สิ่งนั้น สิ่งนั้นไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เราตัวตน ไม่มีตัวตนสิ่งใดที่เป็นเราใน อาการทั้ง ๓๒ ประการ อาศัยเข้าอัปปนาสมาธิแล้วถอยมาอธิษฐานในอุปจาระ บังคับนิมิตได้ มีจิตรู้ตัวแยกนิมิตได้ ไม่หลงไปในนิมิต มีความรู้ว่ากำหนดขึ้นมาพิจารณา อย่างนี้ถือว่ากำลังจิตจึงจะใช้ได้ หากบังคับนิมิตไม่ได้ นิมิตเลือนหายไป หลงอุปาทานนิมิตที่ตนสร้างขึ้น อย่างนี้จิตไม่มีกำลังควรแก่งานให้เลิกทำำถอยจิตออกมาที่ความสงบ รู้ลมแล้วปล่อยให้แช่นิ่งรวมวูบลงจนจิตหลุดขึ้นมาเองค่อยอธิษฐานจิตกำหนดนิมิตใหม่

5. ชีวิตปรกติ มองดูที่สวยที่ง่าม ที่ใคร่ อาศัยปัญญาจากการม้างกาย พิจารณาดูว่า ที่รเาเห็นเขาว่าสวยงามนี้ สิ่งใดที่เป็นเขา เขาหรือที่เป็นสิ่งนั้น หนังหรือ ผมหรือ ขนหรือ เล็บหรือ เสียงหรือ กลิ่นหรือ สัมผัสกายหรือ สีัมผัสใจหรือที่เป็นเขา ก็หาไม่ได้ เมื่อม้างออกหมดก็จักมีเพียงแค่จิตที่จรท่องเที่ยวไป ที่จรมาอาศัยกายที่ำพ่อแม่เขาให้มานี้เท่านั้นที่คงเรียกความรับรู้ว่าเป็นเขาได้ แต่ถึงแม้กระนั้นสิ่งนั้นก็แปรปรวนเป็นไปตามกรรม ไม่เป็นไปในบังคับของผู้ใด มีกรรมเป็นแดนเกิด เป็นที่ติดตามอาศัย ส่งผลให้เขามีความเป็นไปได้รับผลต่างๆเป้นไปตามแต่กรรมลิขิตกำหนดให้พบเจอเป็นไป

6. จิตน้อมเข้าอนัตตสัญญา

ทั้ง 6 ข้อ เป็น สัญญา 10 อนิจสัญญา อนิจจสัญญา, อนัตตสัญญา, อสุภสัญญา

7. น้อมใจเข้าดูพิจารณาความเสื่อม เน่าเฟะ ประชุมไปด้วยโรค และ ขี้ กองกาย เห็นสัญญา 10 อาทีนวสัญญา

8. ทำปหานสัญญา, วิราคสัญญา, นิโรธสัญญา, สัพพโลเกอนภิรตสัญญา(ไม่เพลินหลงยึดจับอุปาทานสิ่งใด อุปาทานลดลง ดับลง), สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา(ความระอาในขันธ์ กำหนดรู้ทุกข์เห็นโทษภัยจากมัน แต่ในขณะก็พิจารณาดูคุณของมันเพื่อนำเอามาใช้ประโยชน์ เช่นเอาไว้ใช้สะสมเหตุเท่านั้น หรือ เรื่องใจก็เ)็นการใช้ตัณหาเพื่อละตัณหา) เข้าไปเห็นจริง จิตเห็นความเสื่อม ไม่ใช่ตัวตน จิตตัดความยึด เป็นอาการที่จิตเหมือนกระชากสำรอกออกตัดอารมณ์ความรู้สึกต่อกายทั้งปวงออก(เทียบเคียงอาการเป็นคำพูดได้แบบนี้เท่านั้น เพราะในขณะที่สำรอกจิตมันดับตัดปิดสวิทซ์การรับรู้ในอาการความรู้สึกนั้นๆทันที หากเราไม่หลงไปเองโดนจิตหลอกก็มีอาการด้วยประการเทียบเคียงแบบนี้ เพราะยังปุถุชนอยู่จึงต้องทำให้แจ้งอีกมากนัก ไม่ควรหลงอาการที่มีอยู่นัลล้านๆแบบของจิต แค่รู้ ปรกติ วาง) ทาน ศีล ภาวนา หรือ สีล สมาธิ ปัญญาเกิดขึ้นเองลงที่ใจเป็นมโนกรรม คือ กำกับที่เจตนาไว้ทันที เห็นเจตนาเด่นชัดต่ออารมณ์ทั้งปวง เรียกจิตแล่นลงมรรค และไม่กลับกลายเปลี่ยนไปผิดมรรค ทาน ศีล ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา เหมือนดั่งจิตปุถุชนที่กลับกรอกคงอยู่ไม่นานไม่ตลอดไปอย่างเด็ดขาด

9. จิตเข้า อานาปานสติ รู้ลมหายใจเอง จิตจับีท่ลมหายใจเองอยู่ตลอดเวลา


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 29, 2017, 07:26:15 AM
ส่งจิตเข้าใน แก้ฟุ้งซ่านคิดมาก

1. พุทธานุสสติ พุทโธ (รู้ปัจจุบัน)
2. อานาปานสติ(ทำปัจจุบัน)
3. เดินจงกรม
4. สัมปะชัญญะ
5. ทวัตติงสาการ กายคตาสติ อาการ 32 ประการ (ม้างกาย)
6. ธาตุ ๖ (อาศัยม้างกายลงธาตุ จิตตั้งอยู่กลางกองรูป ถอดออกหมดทำแค่รู้สัมผัส)
7. จิตจับที่จิต(ทำแค่รู้)
8. เมตตา (แผ่ให้ตนเอง น้อมเข้ามาภายในตนให้ไม่เเร่าร้อนสัดส่าย ไม่มีทุกข์ ไม่มีเวร ภัย พยาบาท อันตรายเบียดเบียน)
9. กสิน (ทำปัจจุบันที่เห็น หลับตารู้นิมิตตอนหลับตา ดูที่ความมืดในปัจจุบัน โดยไม่ตรึกนึก เข้าถึงได้ก็เกิดกสินสี แสง อากาศ แต่ถ้ากสินจริงๆเป็นการหน่วงนึกถึงภาพ คุณลักษณะภาพที่นึกถึง จนภาพนิ่งปรากฏในเบื้องหน้า บังคับได้ตามกำลังจิต)



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 01, 2018, 02:47:25 AM
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๓
ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค  http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=31&A=951&Z=1087&pagebreak=0 (http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=31&A=951&Z=1087&pagebreak=0)

             [๘๖] ปัญญาในการฟังธรรมแล้วสำรวมไว้ ชื่อว่าสีลมยญาณอย่างไร ฯ
             ศีล ๕ ประเภท คือ ปริยันตปาริสุทธิศีล ศีลคือความบริสุทธิ์มีส่วนสุด ๑
อปริยันตปาริสุทธิศีล ศีลคือความบริสุทธิ์ไม่มีส่วนสุด ๑ ปริปุณณปาริสุทธิศีล
ศีลคือความบริสุทธิ์เต็มรอบ ๑ อปรามัฏฐปาริสุทธิศีล ศีลคือความบริสุทธิ์อัน
ทิฐิไม่จับต้อง ๑ ปฏิปัสสัทธิปาริสุทธิศีล ศีลคือความบริสุทธิ์โดยระงับ ๑
             ในศีล ๕ ประเภทนี้ ปริยันตปาริสุทธิศีลเป็นไฉน ปริยันตปาริสุทธินี้
ของอนุปสัมบันผู้มีสิกขาบทมีที่สุด ฯ
             อปริยันตปาริสุทธิศีลเป็นไฉน อปริยันตปาริสุทธิศีลนี้ ของอุปสัมบัน
ผู้มีสิกขาบทไม่มีที่สุด ฯ
             ปริปุณณปาริสุทธิศีลเป็นไฉน ปริปุณณปาริสุทธิศีลนี้ ของกัลยาณ
ปุถุชนผู้ประกอบในกุศลธรรม ผู้กระทำให้บริบูรณ์ในธรรมอันเป็นที่สุดของพระ
อเสขะ ผู้ไม่อาลัยในร่างกายและชีวิต ผู้สละชีวิตแล้ว ฯ
             อปรามัฏฐปาริสุทธิศีลเป็นไฉน อปรามัฏฐปาริสุทธิศีลนี้ ของพระเสขะ
๗ จำพวก ฯ
             ปฏิปัสสัทธิปริสุทธิศีลเป็นไฉน ปฏิปัสสัทธิปาริสุทธิศีลนี้ของพระ-
*ขีณาสพสาวกพระตถาคตเจ้า ของพระปัจเจกพุทธเจ้า และของพระตถาคต
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ฯ
             [๘๗] ศีลมีที่สุดก็มี ศีลไม่มีที่สุดก็มี ในศีล ๒ อย่างนั้นศีลมีที่สุดนั้น
เป็นไฉน ศีลมีที่สุดเพราะลาภก็มี ศีลมีที่สุดเพราะยศก็มี ศีลมีที่สุดเพราะญาติ
ก็มี ศีลมีที่สุดเพราะอวัยวะก็มี ศีลมีที่สุดเพราะชีวิตก็มี ฯ
             ศีลมีที่สุดเพราะลาภนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมล่วงสิกขาบท
ตามที่ตนสมาทานไว้เพราะเหตุแห่งลาภ เพราะปัจจัยแห่งลาภ เพราะการณ์
แห่งลาภ ศีลนี้เป็นลาภปริยันตศีล ฯ
             ศีลมีที่สุดเพราะยศนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ... เพราะเหตุ
แห่งยศ ... ศีลนี้เป็นยสปริยันตศีล ฯ
             ศีลมีที่สุดเพราะญาตินั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ... เพราะ
เหตุแห่งญาติ ... ศีลนี้เป็นญาติปริยันตศีล ฯ
             ศีลมีที่สุดเพราะอวัยวะนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ... เพราะ
เหตุแห่งอวัยวะ ... ศีลนี้เป็นอังคปริยันตศีล ฯ
             ศีลมีที่สุดเพราะชีวิตนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมล่วง
สิกขาบทตามที่ตนสมาทานไว้เพราะเหตุแห่งชีวิต เพราะปัจจัยแห่งชีวิต เพราะ
การณ์แห่งชีวิต ศีลนี้เป็นชีวิตปริยันตศีล ศีลเห็นปานนี้เป็นศีลขาด เป็นศีล
ทะลุ ด่าง พร้อย ไม่เป็นไทย วิญญูชนไม่สรรเสริญ อันตัณหาและทิฐิจับต้อง
แล้ว ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ เป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อน ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความ
ปราโมทย์ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งปีติ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความระงับ ไม่เป็นที่ตั้งแห่ง
ความสุข ไม่เป็นที่ตั้งแห่งสมาธิ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งยถาภูตญาณทัสนะ ไม่เป็น
ไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ
ระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว ศีลนี้เป็น
ปริยันตศีล ฯ
             [๘๘] ศีลไม่มีที่สุดนั้นเป็นไฉน ศีลไม่มีที่สุดเพราะลาภก็มี ศีลไม่มี
ที่สุดเพราะยศก็มี ศีลไม่มีที่สุดเพราะญาติก็มี ศีลไม่มีที่สุดเพราะอวัยวะก็มี
ศีลไม่มีที่สุดเพราะชีวิตก็มี ฯ
             ศีลไม่มีที่สุดเพราะลาภเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้ความคิด
ก็ไม่ให้เกิดขึ้นเพื่อจะล่วงสิกขาบทตามที่ตนสมาทานไว้ เพราะเหตุแห่งลาภ
เพราะปัจจัยแห่งลาภ เพราะการณ์แห่งลาภ อย่างไรเขาจักล่วงสิกขาบทเล่า
ศีลนี้เป็นศีลไม่มีที่สุดเพราะลาภ ฯ
             ศีลไม่มีที่สุดเพราะยศนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ... เพราะ
เหตุแห่งยศ ... ศีลนี้เป็นศีลไม่มีที่สุดเพราะยศ ฯ
             ศีลไม่มีที่สุดเพราะญาตินั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ... เพราะ
เหตุแห่งญาติ ... ศีลนี้เป็นศีลไม่มีที่สุดเพราะญาติ ฯ
             ศีลไม่มีที่สุดเพราะอวัยวะนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ...
เพราะเหตุแห่งอวัยวะ ... ศีลนี้เป็นศีลไม่มีที่สุดเพราะอวัยวะ ฯ
             ศีลไม่มีที่สุดเพราะชีวิตนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้ความ
คิดก็ไม่ให้เกิดขึ้นเพื่อล่วงสิกขาบท ตามที่ตนสมาทานไว้ เพราะเหตุแห่งชีวิต
เพราะปัจจัยแห่งชีวิต เพราะการณ์แห่งชีวิต อย่างไรเขาจักล่วงสิกขาบทเล่า
ศีลนี้เป็นศีลไม่มีที่สุดเพราะชีวิต ศีลเห็นปานนี้เป็นศีลไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง
ไม่พร้อย เป็นไทย วิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฐิไม่จับต้อง เป็นไป
เพื่อสมาธิ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อน เป็นที่ตั้งแห่งความปราโมทย์ เป็น
ที่ตั้งแห่งปีติ เป็นที่ตั้งแห่งความระงับ เป็นที่ตั้งแห่งความสุข เป็นที่ตั้งแห่ง
สมาธิ เป็นที่ตั้งแห่งยถาภูตญาณทัสนะ ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อ
ความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อ
ความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว ศีลนี้เป็นอปริยันตศีล ฯ
             [๘๙] อะไรเป็นศีล ศีลมีเท่าไร ศีลมีอะไรเป็นสมุฏฐาน ศีลเป็น
ที่ประชุมแห่งธรรมอะไร ฯ
             อะไรเป็นศีล คือ เจตนาเป็นศีล เจตสิกเป็นศีล ความสำรวมเป็น
ศีล ความไม่ล่วงเป็นศีล ฯ
             ศีลมีเท่าไร คือ ศีล ๓ คือ กุศลศีล อกุศลศีล อัพยากตศีล ฯ
             ศีลมีอะไรเป็นสมุฏฐาน คือ กุศลศีลมีกุศลจิตเป็นสมุฏฐาน อกุศลศีล
มีอกุศลจิตเป็นสมุฏฐาน อัพยากตศีลมีอัพยากตจิตเป็นสมุฏฐาน ฯ
             ศีลเป็นที่ประชุมแห่งธรรมอะไร คือ ศีลเป็นที่ประชุมแห่งสังวร เป็น
ที่ประชุมแห่งการไม่ก้าวล่วง เป็นที่ประชุมแห่งเจตนา อันเกิดในความเป็น
อย่างนั้น ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงปาณาติบาต อทินนาทาน
กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา
พยาบาท มิจฉาทิฐิ ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงกามฉันทะ
ด้วยเนกขัมมะ ... ความพยาบาทด้วยความไม่พยาบาท ... ถีนมิทธิด้วยอาโลก
สัญญา ... อุทธัจจะด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน ... วิจิกิจฉาด้วยการกำหนดธรรม ...
อวิชชาด้วยญาณ ... อรติด้วยความปราโมทย์ ... นิวรณ์ด้วยปฐมฌาน ... วิตก
วิจารด้วยทุติยฌาน ... ปีติด้วยตติยฌาน ... สุขและทุกข์ด้วยจตุตถฌาน ... รูป
สัญญา ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญา ด้วยอากาสานัญจายตนสมาบัติ ...
อากาสานัญจายตนสัญญาด้วยวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ... วิญญาณัญจายตนสัญญา
ด้วยอากิญจัญญายตนสมาบัติ ... อากิญจัญญายตนสัญญาด้วยเนวสัญญานา
สัญญายตนสมาบัติ ... นิจจสัญญาด้วยอนิจจานุปัสนา ... สุขสัญญาด้วย
ทุกขานุปัสนา ... อัตตสัญญาด้วยอนัตตานุปัสนา ... นันทิด้วยนิพพิทานุปัสนา ...
ราคะด้วยวิราคานุปัสนา ... สมุทัยด้วยนิโรธานุปัสนา ... อาทานะด้วยปฏินิส
สัคคานุปัสนา ... ฆนสัญญาด้วยวยานุปัสนา ... ธุวสัญญาด้วย วิปริณามานุปัสนา
นิมิตด้วยอนิมิตตานุปัสนา ... ปณิธิด้วยอัปปณิหิตานุปัสนา ... อภินิเวสด้วย
สุญญตานุปัสนา ... สาราทานาภินิเวสด้วยอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา ... สัมโมหา-
*ภินิเวสด้วยยถาภูตญาณทัสนะ ... อาลยาภินิเวสด้วยอาทีนวานุปัสนา ... อัปปฏิ-
*สังขาด้วยปฏิสังขานุปัสนา ... สังโยคาภินิเวสด้วยวิวัฏฏนานุปัสนา ... กิเลสที่
ตั้งอยู่ร่วมกันกับทิฐิด้วยโสดาปัตติมรรค ... กิเลสหยาบๆ ด้วยสกทาคามิมรรค
กิเลสละเอียดด้วยอนาคามิมรรค ชื่อว่าศีลเพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วง
กิเลสทั้งปวงด้วยอรหัตมรรค ฯ
             [๙๐] ศีล ๕ คือ การละปาณาติบาตเป็นศีล เวรมณี การงดเว้นเป็นศีล
เจตนาเป็นศีล สังวรเป็นศีล การไม่ล่วงเป็นศีล ศีลเห็นปานนี้ ย่อมเป็นไป
เพื่อความไม่เดือดร้อนแห่งจิต เพื่อความปราโมทย์ เพื่อปีติ เพื่อปัสสัทธิ
เพื่อโสมนัส เพื่อการเสพโดยเอื้อเฟื้อ เพื่อความเจริญ เพื่อทำให้มาก เพื่อ
เป็นเครื่องประดับ เพื่อเป็นบริขาร เพื่อเป็นบริวาร เพื่อความบริบูรณ์ ย่อมเป็น
ไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ
ระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว ฯ
             บรรดาศีลเห็นปานนี้ สังวรปาริสุทธิ ความบริสุทธิ์ด้วยความสำรวม
เป็นอธิศีล จิตตั้งอยู่ในความบริสุทธิ์ด้วยความสำรวม ย่อมไม่ถึงความฟุ้งซ่าน
อวิกเขปปาริสุทธิ ความบริสุทธิ์คือความที่จิตไม่ฟุ้งซ่าน เป็นอธิจิต พระโยคาวจร
ย่อมเห็นสังวรปาริสุทธิโดยชอบ ย่อมเห็นอวิกเขปปาริสุทธิโดยชอบ ทัสนปาริสุทธิ
ความบริสุทธิ์แห่งทัสนะ เป็นอธิปัญญา
             ในความสำรวม ความไม่ฟุ้งซ่านและทัสนะนั้น ความสำรวม เป็นอธิ
ศีลสิกขา ความไม่ฟุ้งซ่าน เป็นอธิจิตสิกขา ความเห็นแจ้ง เป็นอธิปัญญา
สิกขา พระโยคาวจรเมื่อนึกถึงสิกขา ๓ นี้ ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อรู้ เมื่อเห็น
เมื่อพิจารณา เมื่ออธิษฐานจิต เมื่อน้อมใจไปด้วยศรัทธา เมื่อประคองความเพียร
ไว้ เมื่อตั้งสติมั่น เมื่อตั้งจิตไว้ เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง
เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อละธรรมที่ควรละ เมื่อเจริญธรรมที่ควร
เจริญ เมื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่าย่อมศึกษาทุกอย่าง ฯ
             [๙๑] ศีล ๕ คือ การละปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร
มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฐิ
การละกามฉันทะด้วยเนกขัมมะ การละความพยาบาทด้วยความไม่พยาบาท การ
ละถีนมิทธะด้วยอาโลกสัญญา การละอุทธัจจะด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน การละ
วิจิกิจฉาด้วยการกำหนดธรรม การละอวิชชาด้วยญาณ การละอรติด้วยความ
ปราโมทย์ การละนิวรณ์ด้วยปฐมฌาน การละวิตกวิจารด้วยทุติยฌาน การละ
ปีติด้วยตติยฌาน การละสุขและทุกข์ด้วยจตุตถฌาน การละรูปสัญญา
ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญา ด้วยอากาสานัญจายตนสมาบัติ การละ
อากาสานัญจายตนสัญญาด้วยวิญญาณัญจายตนสมาบัติ การละวิญญาณัญจายตน-
*สัญญาด้วยอากิญจัญญายตนสมาบัติ การละอากิญญายตนสัญญาด้วยเนวสัญญา
นาสัญญายตนสมาบัติ การละนิจจสัญญาด้วยอนิจจานุปัสนา การละสุข
สัญญาด้วยทุกขานุปัสนา การละอัตตสัญญาด้วยอนัตตานุปัสนา การละนันทิ
ด้วยนิพพิทานุปัสนา การละราคะด้วยวิราคานุปัสนา การละสมุทัยด้วย
นิโรธานุปัสนา การละอาทานะด้วยปฏินิสสัคคานุปัสนา การละฆนสัญญาด้วย
ขยานุปัสนา การละอายุหนะด้วยวยานุปัสนา การละธุวสัญญาด้วยวิปริณามานุปัสนา
การละนิมิตด้วยอนิมิตตานุปัสนา การละปณิธิด้วยอัปปณิหิตานุปัสนา การละ
อภินิเวสด้วยสุญญตานุปัสนา การละสาราทานาภินิเวสด้วยอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา
การละสัมโมหาภินิเวสด้วยยถาภูตญาณทัสนะ การละอาลยาภินิเวสด้วยอาทีน-
*วานุปัสนา การละอัปปฏิสังขาด้วยปฏิสังขานุปัสนา การละสังโยคาภินิเวสด้วย
วิวัฏฏนานุปัสนา การละกิเลสที่ตั้งอยู่ร่วมกันกับทิฐิด้วยโสดาปัตติมรรค การละ
กิเลสที่หยาบๆ ด้วยสกทาคามิมรรค การละกิเลสที่ละเอียดด้วยอนาคามิมรรค
การละกิเลสทั้งปวงด้วยอหัตมรรค การละนั้นๆ เป็นศีล เวรมณีเป็นศีล ...
เมื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่าย่อมศึกษา ฯ
             ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้นๆ ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่า
รู้ชัด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการฟังธรรมแล้วสำรวมไว้
เป็นสีลมยญาณ ฯ
 :)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 01, 2018, 02:48:13 AM
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๓
ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=31&A=1088&Z=1129&pagebreak=0 (http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=31&A=1088&Z=1129&pagebreak=0)

             [๙๒] ปัญญาในการสำรวมแล้วตั้งไว้ด้วยดี เป็นสมาธิภาวนามยญาณ
อย่างไร สมาธิอย่างหนึ่ง คือ เอกัคคตาจิต สมาธิ ๒ คือ โลกิยสมาธิ ๑
โลกุตรสมาธิ ๑ สมาธิ ๓ คือ สมาธิมีวิตกและวิจาร ๑ สมาธิไม่มีวิตกมีแต่
วิจาร ๑ สมาธิไม่มีวิตกไม่มีวิจาร ๑ สมาธิ ๔ คือ สมาธิมีส่วนเสื่อม ๑
สมาธิเป็นส่วนตั้งอยู่ ๑ สมาธิเป็นส่วนวิเศษ ๑ สมาธิเป็นส่วนชำแรกกิเลส ๑
สมาธิ ๕ คือ สมาธิมีปีติแผ่ไป ๑ สมาธิมีสุขแผ่ไป ๑ สมาธิมีจิตแผ่ไป ๑
สมาธิมีแสงสว่างแผ่ไป ๑ สมาธิมีการพิจารณาเป็นนิมิต ๑ สมาธิ ๖ คือ
สมาธิคือเอกัคคตาจิตมิได้ฟุ้งซ่านด้วยสามารถพุทธานุสสติ ๑ ธรรมานุสสติ ๑
สังฆานุสสติ ๑ สีลานุสสติ ๑ จาคานุสสติ ๑ เทวตานุสสติ ๑ สมาธิ ๗ คือ
ความเป็นผู้ฉลาดในสมาธิ ๑ ความเป็นผู้ฉลาดในการเข้าสมาธิ ๑ ความเป็นผู้
ฉลาดในการตั้งสมาธิ ๑ ความเป็นผู้ฉลาดในการออกจากสมาธิ ๑ ความเป็นผู้
ฉลาดในความงามแห่งสมาธิ ๑ ความเป็นผู้ฉลาดในโคจรแห่งสมาธิ ๑ ความ
เป็นผู้ฉลาดในการน้อมไปแห่งสมาธิ ๑ สมาธิ ๘ คือ สมาธิ คือเอกัคคตาจิต
มิได้ฟุ้งซ่านด้วยสามารถปฐวีกสิณ ๑ อาโปกสิณ ๑ เตโชกสิณ ๑ วาโยกสิณ ๑
นีลกสิณ ๑ ปีตกสิณ ๑ โลหิตกสิณ ๑ โอทาตกสิณ ๑ สมาธิ ๙ คือ
รูปาวจรสมาธิส่วนเลว ๑ ส่วนปานกลาง ๑ ส่วนประณีต ๑ อรูปาวจรส่วนเลว
๑ ส่วนปานกลาง ๑ ส่วนประณีต ๑ สุญญตสมาธิ ๑ อนิมิตตสมาธิ ๑
อัปปณิหิตสมาธิ ๑ สมาธิ ๑๐ คือ สมาธิคือเอกัคคตาจิตมิได้ฟุ้งซ่าน ด้วย
สามารถอัทธุมาตกสัญญา ๑ วินีลกสัญญา ๑ วิปุพพกสัญญา ๑ วิฉิททก
สัญญา ๑ วิกขายิตกสัญญา ๑ วิกขิตตกสัญญา ๑ หตวิกขายิตกสัญญา ๑
โลหิตกสัญญา ๑ ปุฬุวกสัญญา ๑ อัฏฐิกสัญญา ๑  สมาธิเหล่านี้รวมเป็น
๕๐ ฯ
             [๙๓] อีกอย่างหนึ่ง สภาพในความเป็นสมาธิแห่งสมาธิ ๒๕ ประการ
คือ สมาธิเพราะอรรถว่าอันสัทธินทรีย์เป็นต้นกำหนดถือเอา ๑ เพราะอรรถว่า
อินทรีย์เป็นบริวารแห่งกันและกัน ๑ เพราะอรรถว่าสัทธินทรีย์เป็นต้นบริบูรณ์
๑ เพราะอรรถว่ามีอารมณ์เป็นอันเดียว ๑ เพราะอรรถว่าไม่ฟุ้งซ่าน ๑ เพราะ
อรรถว่าไม่แส่ไป ๑ เพราะอรรถว่าไม่ขุ่นมัว ๑ เพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหว ๑
เพราะอรรถว่าหลุดพ้นจากกิเลส ๑ เพราะความที่จิตตั้งอยู่ด้วยสามารถความตั้งมั่น
ในความเป็นจิตมีอารมณ์เดียว ๑ เพราะอรรถว่าแสวงหาความสงบ ๑ เพราะ
อรรถว่าไม่แสวงหาธรรมอันเป็นข้าศึกแก่ความสงบ ๑ เพราะแสวงหาความ
สงบแล้ว ๑ เพราะไม่แสวงหาธรรมอันเป็นข้าศึกแก่ความสงบแล้ว ๑ เพราะ
อรรถว่ายึดมั่นความสงบ ๑ เพราะอรรถว่าไม่ยึดมั่นธรรมอันเป็นข้าศึกแก่ความ
สงบ ๑ เพราะยึดมั่นความสงบแล้ว ๑ เพราะไม่ยึดมั่นธรรมอันเป็นข้าศึก
แก่ความสงบแล้ว ๑ เพราะอรรถว่าปฏิบัติสงบ ๑ เพราะอรรถว่าไม่ปฏิบัติไม่
สงบ ๑ เพราะปฏิบัติสงบแล้ว ๑ เพราะไม่ปฏิบัติไม่สงบแล้ว ๑ เพราะ
อรรถว่าเพ่งความสงบ ๑ เพราะอรรถว่าเผาธรรมอันเป็นข้าศึกแก่ความสงบ ๑
เพราะเพ่งความสงบแล้ว ๑ เพราะเผาธรรมอันเป็นข้าศึกแก่ความสงบแล้ว ๑
เพราะอรรถว่าเป็นธรรมสงบ เป็นสภาพเกื้อกูลและนำสุขมาให้ ๑ สภาพใน
ความเป็นสมาธิแห่งสมาธิเหล่านี้รวมเป็น ๒๕ ฯ
             ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่า
รู้ชัด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการสำรวมแล้วตั้งไว้ดี เป็น
สมาธิภาวนามยญาณ ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ บรรทัดที่ ๑๐๘๘-๑๑๒๙ หน้าที่ ๔๕-๔๖.
http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=31&A=1088&Z=1129&pagebreak=0 (http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=31&A=1088&Z=1129&pagebreak=0)
             อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :-
http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=31&siri=16 (http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=31&siri=16)
             ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=31&i=92 (http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=31&i=92)
             ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :-
[92-93] http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=31&item=92&items=2 (http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=31&item=92&items=2)
             ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :-
[92-93] http://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=31&item=92&items=2 (http://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=31&item=92&items=2)
             สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑
http://84000.org/tipitaka/read/?index_31 (http://84000.org/tipitaka/read/?index_31)

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :-
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย




หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 01, 2018, 02:50:27 AM
๓. สมาธิภาวนามยญาณนิทเทส
แสดงสมาธิภาวนามยญาณ

             [๔๓] ปัญญาในการสำรวมตั้งจิตมั่น ชื่อว่าสมาธิภาวนามยญาณ เป็นอย่างไร
คือ
             สมาธิ ๑ อย่าง ได้แก่
                          เอกัคคตาจิต
             สมาธิ ๒ อย่าง ได้แก่
                          ๑. โลกิยสมาธิ
                          ๒. โลกุตตรสมาธิ
             สมาธิ ๓ อย่าง ได้แก่
                          ๑. สมาธิที่มีวิตกวิจาร
                          ๒. สมาธิที่ไม่มีวิตกมีเพียงวิจาร
                          ๓. สมาธิที่ไม่มีทั้งวิตกและวิจาร
             สมาธิ ๔ อย่าง ได้แก่
                          ๑. สมาธิที่เป็นส่วนแห่งความเสื่อม
                          ๒. สมาธิที่เป็นส่วนแห่งความตั้งอยู่
                          ๓. สมาธิที่เป็นส่วนแห่งคุณวิเศษ
                          ๔. สมาธิที่เป็นส่วนแห่งการชำแรกกิเลส
             สมาธิ ๕ อย่าง ได้แก่
                          ๑. สมาธิที่มีปีติแผ่ไป
                          ๒. สมาธิที่มีสุขแผ่ไป
                          ๓. สมาธิที่มีจิตแผ่ไป
                          ๔. สมาธิที่มีแสงสว่างแผ่ไป
                          ๕. สมาธิที่มีการพิจารณาเป็นนิมิต
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๖๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๑. มหาวรรค]

                                                                 ๑. ญาณกถา ๓. สมาธิภาวนามยญาณนิทเทส

             สมาธิ ๖ อย่าง ได้แก่
             ๑. สมาธิที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ (มีอารมณ์เดียว) ไม่ฟุ้งซ่านด้วย
อำนาจแห่งพุทธานุสสติ
             ๒. สมาธิที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งธัมมานุสสติ
             ๓. สมาธิที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งสังฆานุสสติ
             ๔. สมาธิที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งสีลานุสสติ
             ๕. สมาธิที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งจาคานุสสติ
             ๖. สมาธิที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งเทวตานุสสติ
             สมาธิ ๗ อย่าง ได้แก่
                          ๑. ความฉลาดในสมาธิ
                          ๒. ความฉลาดในการเข้าสมาธิ
                          ๓. ความฉลาดในการดำรงสมาธิ
                          ๔. ความฉลาดในการออกจากสมาธิ
                          ๕. ความฉลาดในการใช้สมาธิ
                          ๖ ความฉลาดในอารมณ์แห่งสมาธิ
                          ๗. ความฉลาดในการนำสมาธิให้สูงๆ ขึ้นไป
             สมาธิ ๘ อย่าง ได้แก่
             ๑. สมาธิที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งปฐวีกสิณ
             ๒. สมาธิที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งอาโปกสิณ
             ๓. สมาธิที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งเตโชกสิณ
             ๔. สมาธิที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งวาโยกสิณ
             ๕. สมาธิที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งนีลกสิณ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๖๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๑. มหาวรรค]

                                                                 ๑. ญาณกถา ๓. สมาธิภาวนามยญาณนิทเทส

             ๖. สมาธิที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งปีตกสิณ
             ๗. สมาธิที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งโลหิตกสิณ
             ๘. สมาธิที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งโอทาตกสิณ
             สมาธิ ๙ อย่าง ได้แก่
                          ๑. รูปาวจรสมาธิอย่างต่ำ
                          ๒. รูปาวจรสมาธิอย่างปานกลาง
                          ๓. รูปาวจรสมาธิอย่างประณีต
                          ๔. อรูปาวจรสมาธิอย่างต่ำ
                          ๕. อรูปาวจรสมาธิอย่างปานกลาง
                          ๖. อรูปาวจรสมาธิอย่างประณีต
                          ๗. สุญญตสมาธิ (สมาธิพิจารณาเห็นความว่าง)
                          ๘. อนิมิตตสมาธิ (สมาธิพิจารณาเห็นธรรมไม่มีนิมิต)
                          ๙. อัปปณิหิตสมาธิ (สมาธิพิจารณาเห็นธรรมไม่มีความตั้งปรารถนา)
             สมาธิ ๑๐ อย่าง ได้แก่
             ๑. สมาธิที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งอุทธุมาตก-
สัญญา (ความหมายรู้ซากศพที่พองขึ้น)
             ๒. สมาธิที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งวินีลกสัญญา
(ความหมายรู้ซากศพที่มีสีเขียว)
             ๓. สมาธิที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งวิปุพพกสัญญา
(ความหมายรู้ซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม)
             ๔. สมาธิที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งวิจฉิททก-
สัญญา (ความหมายรู้ซากศพที่ขาดจากกัน)
             ๕. สมาธิที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งวิกขายิตก-
สัญญา (ความหมายรู้ซากศพที่ถูกสัตว์กัด)
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๖๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๑. มหาวรรค]

                                                                 ๑. ญาณกถา ๓. สมาธิภาวนามยญาณนิทเทส

             ๖. สมาธิที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งวิกขิตตสัญญา
(ความหมายรู้ซากศพที่กระจัดกระจาย)
             ๗. สมาธิที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งหตวิกขิตตก-
สัญญา (ความหมายรู้ซากศพที่ถูกสับเป็นท่อน)
             ๘. สมาธิที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งโลหิตกสัญญา
(ความหมายรู้ซากศพที่มีโลหิต)
             ๙. สมาธิที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งปุฬุวกสัญญา
(ความหมายรู้ซากศพที่มีหนอน)
             ๑๐. สมาธิที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งอัฏฐิกสัญญา
(ความหมายรู้ซากศพที่มีแต่กระดูก)
             สมาธิเหล่านี้รวมเป็น ๕๕ อย่าง
             [๔๔] อีกอย่างหนึ่ง สมาธิมีความหมาย ๒๕ อย่าง คือ
             ๑. ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีความหมายว่าสัทธินทรีย์เป็นต้นกำหนดถือเอา
             ๒. ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีความหมายว่าอินทรีย์เป็นบริวารแห่งกันและกัน
             ๓. ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีความหมายว่าสัทธินทรีย์เป็นต้นบริบูรณ์
             ๔. ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีความหมายว่ามีอารมณ์เดียว
             ๕. ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีความหมายว่าไม่ฟุ้งซ่าน
             ๖. ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีความหมายว่าไม่ซ่านไป
             ๗. ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีความหมายว่าไม่ขุ่นมัว
             ๘. ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีความหมายว่าไม่หวั่นไหว
             ๙. ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีความหมายว่าหลุดพ้นจากกิเลส
สรุปว่า ชื่อว่าสมาธิ เพราะจิตตั้งมั่นด้วยอำนาจปรากฏชัดในเอกัคคตารมณ์
             ๑๐. ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีความหมายว่าแสวงหาความสงบ
             ๑๑. ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีความหมายว่าไม่แสวงหาธรรมที่เป็นข้าศึกแก่
ความสงบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๖๘}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๑. มหาวรรค]

                                                                 ๑. ญาณกถา ๓. สมาธิภาวนามยญาณนิทเทส

             ๑๒. ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีความหมายว่าแสวงหาความสงบแล้ว
             ๑๓. ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีความหมายว่าไม่แสวงหาธรรมที่เป็นข้าศึกแก่
ความสงบแล้ว
             ๑๔. ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีความหมายว่ายึดมั่นความสงบ
             ๑๕. ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีความหมายว่าไม่ยึดมั่นธรรมที่เป็นข้าศึกแก่
ความสงบแล้ว
             ๑๖. ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีความหมายว่ายึดมั่นความสงบแล้ว
             ๑๗. ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีความหมายว่าไม่ยึดมั่นธรรมที่เป็นข้าศึกแก่
ความสงบแล้ว
             ๑๘. ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีความหมายว่าปฏิบัติความสงบ
             ๑๙. ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีความหมายว่าไม่ปฏิบัติความไม่สงบ
             ๒๐. ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีความหมายว่าปฏิบัติความสงบแล้ว
             ๒๑. ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีความหมายว่าไม่ปฏิบัติความไม่สงบแล้ว
             ๒๒. ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีความหมายว่าเพ่งความสงบ
             ๒๓. ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีความหมายว่าเผาธรรมที่เป็นข้าศึกแก่
ความสงบ
             ๒๔. ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีความหมายว่าเพ่งความสงบแล้ว
             ๒๕. ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีความหมายว่าเผาธรรมที่เป็นข้าศึกแก่ความ
สงบแล้ว
             สรุปว่า ชื่อว่าสมาธิ เพราะสงบเกื้อกูลและเป็นสุข เหล่านี้เป็นความหมายแห่ง
สมาธิ ๒๕ ประการ
             ชื่อว่าญาณ เพราะมีสภาวะรู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะมีสภาวะรู้ชัด เพราะ
เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่าปัญญาในการสำรวมตั้งจิตมั่น ชื่อว่าสมาธิภาวนามยญาณ
สมาธิภาวนามยญาณนิทเทสที่ ๓ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๖๙}


ขอขอบคุณที่มาจาก http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=31&siri=16 (http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=31&siri=16)




หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 01, 2018, 03:45:44 AM
บันทึกกรรมฐานวันที่ 31/12/60 อานิสงส์จิตว่าง

วันนี้เวลาประมาณ 20.00 น. เราได้ไปทำบุญที่วัด เข้าไปในโบสถ์ กราบพระประธาน นั่งสมาธิ จิตน้องไปในศีล่วา บัดนี้ปัจจุบันนี้ที่เข้ามาอยู่ในโบสถ์นี้ เราไม่ได้ทำบาปกรรมอะไรต่อใคร สิ่งใด เรามีความสะอาดแล้วในศีล ครบพร้อมแล้วที่จะเจริญกรรมฐาน พลัยทให้จิตใจเราแจ่มใสเบิกบาน ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ติดคิด มันว่างเบาสบาย แล้วรำลึกถึงคำสอนของพระศาสดาในเจโตวิมุติ ว่าภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ประกอบไปด้วยศีล ไม่ว่าจะไปในทิศใด มีใจปราศจาก รัก โลภ โกรธ หลง แผ่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไปด้วยประการนี้ๆในทิศต่างๆนั้น ..เราได้ยกมือพนมขึ้นไหว้ต่อหน้าพระประธานได้น้อมใจระลึกทำตามว่า..ศิษย์พระตถาคตต้องทำแบบนี้ เราผู้ถึงแล้วซึ่งพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ จักประพฤติตาม คือ แผ่พรหมวิหาร ๔ ไปด้วยกำหนดในใจดังนี้..

1. สุภะนิมิต ปิติ สุข ความเสมอกัน เสมอด้วยตน แผ่ไป (ต่อมาเราตั้งแผ่ไปที่ผุ้ยึดครองขันธ์ ๕ อยู่ ไปทุกรูปทุกนาม ไปทุกดวงจิต) ..ด้วยอานิสงส์ที่จิตว่างสงบใจเป็นฐานเดิมอยู่แล้ว เมื่อทำไว้ในใจน้อมไปแบบนี้จิตมันน้อมไปในอารมณ์นั้นได้ในทันที

2. สุขอันว่างจากทุกข์ ความว่างจากทุกข์ ความไม่มีทุกข์แผ่ไป ..ด้วยอานิสงส์ที่จิตว่างสงบใจเป็นฐานเดิมอยู่แล้ว เมื่อทำไว้ในใจน้อมไปแบบนี้จิตมันน้อมไปในอารมณ์นั้นได้ในทันที

3. สุขตั้งอยู่ที่จิต สุขด้วยคงไว้ในภายในไม่ส่งออกนอกไม่ขาดสูญ เอาจิตจับที่จิต จนมีกำลังแผ่ความบริบูรณ์จับอยู่ที่จิตแผ่ขยายไป ..ด้วยอานิสงส์ที่จิตว่างสงบใจเป็นฐานเดิมอยู่แล้ว เมื่อทำไว้ในใจน้อมไปแบบนี้จิตมันน้อมไปในอารมณ์นั้นได้ในทันที

4. กรรม-วิบากกรรม, ตลอดไปจนถึงความคลาย ไม่ยึดจับ ไม่ข้องแวะ ความไม่มี ความสละคืนทุกสิ่งทั้งปวง เป็นที่พ้นจากทุกข์ แผ่ไป ..ด้วยอานิสงส์ที่จิตว่างสงบใจเป็นฐานเดิมอยู่แล้ว เมื่อทำไว้ในใจน้อมไปแบบนี้จิตมันน้อมไปในอารมณ์นั้นได้ในทันที

5. แสงสว่างแผ่ไป ..ด้วยอานิสงส์ที่จิตว่างสงบใจเป็นฐานเดิมอยู่แล้ว เมื่อทำไว้ในใจน้อมไปแบบนี้จิตมันน้อมไปในอารมณ์นั้นได้ในทันที


ด้วยประการดังนี้ทำให้เห็นชัดว่า..

1.. ทำจิตให้สงบด้วยนึกถึงเพียงปัจจุบัน ทาน ศีล ที่พร้อมมูลครบบริบูรณ์ในปัจจุบัน ทำให้ความเร่าร้อนร้อนคิดมากฟุ้งซ่านไม่มี ..ยังความสงบผ่องใสเบิกบานปราศจากกิเลสนิวรณ์ให้เกิดมีขึ้นแก่จิตได้ไว ..ทำให้เข้าสมาธิง่าย
(คงเหมือนที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระองคุลีมาลเถระให้ระลึกรู้อยู่ในปัจจุบันที่ได้ละเว้นการทำชั่วเบียดเบียนแล้ว และ ทั้งสัจจะที่ให้พระองคุลีมาลไปกล่าวแก่หญิงที่กำลังคลอดบุตร ตามองคุลีมาลปริตร ว่าด้วย..สัจจะในปัจจุบัน คือ นับแต่เราเกิดมาในพระพุทธศาสนานี้ เราไม่เคยเบียดเบียนทำร้ายใคร ดังนั้นการที่เราทำแบบนี้ถือเป็นอธิษฐานในสัจจะไปในตัวด้วย จนเมื่อจิตแล่นลงมรรคเราจึงขจัดสิ้นใจที่กลับกลอกแบบปุถุชนได้ 100 %)

2. หากจิตสงบว่างจากกิเลส ไม่มีความฟุ้งคิด ไม่ฟุ้งซ่าน จิตสงบ ว่าง เบาสบาย ผ่องใส เบิกบานนี้ทำให้ใจเรามนสิการในอารมณ์ได้ไวเหมือนในฌาณ ๒ ที่เมื่อทำไว้ในใจอย่างไรๆจิตมันพุ่งไปในอารมณ์นั้นทันทีโดยไม่มีความคิด


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 02, 2018, 03:14:31 AM
Group Blog : บันทึกการปฏิบัติเพื่อละราคะเมถุน ปี ๒๕๖๑ สมัยที่ได้พบเจอพระอรหันต์

บันทึกกรรมฐาน วันที่ 1-1-61 เวลา 23:30 น. ถึง วันที่ 2-1-61 เวลา 2:45 น.
สรุปหัวใจหลักวิธีทำไว้ในใจในการเจริญปฏิบัติ ทาน ศีล ภาวนา

หัวใจหลักใน ทาน ศีล ภาวนา ที่ทำที่ใจ ทำเจตนา ละเขจตนา
ให้ลงใจตามพระอริยะสาวก และ พระอรหันสาวก
ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาโลก เจริญปฏิบัติกัน

ก. ทาน ..ทำที่ใจ
ทำเหตุ ..ทำไว้ในใจเพื่อขจัดความโลภ ความตระหนี่ อภิชฌากลุ้มรุมในกายใจตน
ผลอานิสงส์ ..ถึงความอิ่มใจไม่คิดใคร่ ไม่กระสันอยาก ไม่แสวงหาอีก อิ่มใจไม่ติดใจข้องแวะสิ่งไรๆในในโลก
(น้อมใจไปถึงความอิ่มเอมเป็นสุขใจนั้น)
- เหตุ คือ รู้เห็นตามจริงใน..กรรม โลกธรรม ๘ ศรัทธา ๔ เข้าถึงความความสุขจากการให้ มีใจน้อมไปในความสละ เจตนาออกจากอภิชฌา
- สะสมเหตุละกิเลส คือ โลภะ ความตระหนี่ ความโลภ อยากได้ หวงแหนสิ่งที่ปรนเปรอบำเรอตน
- เห็นแจ้งชัดใน โลกธรรม ๘ ความไม่เที่ยง โลภะ กาม นันทิ ราคะมันหลอกให้เราเอาใจเข้ายึดครองทุกสิ่งในโลก แสวงหา ต้องการ กระสันอยาก จนมีเท่าไหร่ เสพย์มากแค่ไหนก็อิ่มไม่เป็น ..เมื่อจิตสูงเหนือโลภไม่เอาใจเข้ายึดครองสิ่งไรๆในโลก จิตก็รู้จักพอแผ่ขยายไปด้วยน้อมไปในการสละจิตจึงอิ่มเป็น ทุกสิ่งทุกอย่าง คน สัตว์ สิ่งของที่รักที่หวงแหนอยู่ได้นานสุดแค่หมดลมหายใจเรานี้เท่านั้น มีแต่บุญกับบาปเท่านั้นที่ติดตามไปทุกภพชาติ ให้ผล เป็นแดนเกิด เป็นที่ติดตามอาศัย เราเป็นทายาทกรรม
- มีใจน้อมไปใน ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลอยากให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์สุขจากสิ่งที่ตนสละให้ มีใจอยากให้ผู้อื่นได้รับหรือมีโอกาสดีๆได้รับสิ่งดีๆเป็นประโยชน์สุขเหมือนเขาบ้างเสมอด้วยตน
- มีใจสละขาดจากความเ)้นเจ้าของ ไม่เอาใจเข้ายึดครองไว้กับสิ่งที่ตนให้
- มีอานิสงส์ คือ ความอิ่มใจ อิ่มเต็มอัดแน่นในใจตัดขาดจากความติดใคร่ได้กระสันต้องการ

ข. ศีล ..ทำที่ใจ
ทำเหตุ ..ทำไว้ในใจเพื่อขจัดโทสะ ริษยา อภิชฌา โทมนัส ความเร่าร้อน ร้อนรุ่ม ขัดข้อง ข้องแวะ อัดอั้น คับแค้น โศรกเศร้า เสียใจ ร่ำไร รำพันกลุ้มรุมในกายในใจตน
ผลอานิสงส์ ..ถึงความเย็นใจ เป็นที่สบายกายใจ มีจิตแจ่ม ใสเบิกบาน สงบสุขเป็นที่สบายดบาใจแผ่ซ่านไป ไม่ติดใจข้องแวะสิ่งไรๆในโลก
(น้อมใจไปถึงความเย็นเบาใจ สงบสุขเป็นที่สบายกายใจนั้น)
- เหตุ คือ รู้เห็นตามจริงใน..กรรม โลกธรรม๘ มีหิริพละ มีโอตัปปะพละ ศรัทธา ๔ ความเห็นเสมอด้วยตน เข้าถึงโทษและทุกข์ในการไม่มีศีล เจตนาออกจากอภิชฌา-โทมนัส
- สะสมเหตุละกิเลศ คือ โทสะ และความเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
- เห็นแจ้งชัดใน ความเร่าร้อนร้อนรุ่มกลุ้มรุมกายใจจากการไม่มีศีล กรรม วิบากกรรม รู้แยกแยะดี ชั่ว บาป บุญ คุณ โทษ เรามีกรรมเป็นผู้ให้ผล เป็นแดนเกิด เป็นที่ติดตามอาศัย เราเป็นทายาทกรรมทุกภพทุกชาติไป
- มีใจน้อมไปใน ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลประโยชน์สุขแก่ผู้อื่นเสมอด้วยตน ด้วยอาการของจิตที่มีความแจ่มใสเบิกบานปราศจากทุกข์และความเร่าร้อนทั้งหลายแผ่ขยายไปนั้น
- มีอานิสงส์ คือ ความเย็นใจ อวิปติสสาร ปราโมทย์ เบิกบานใจ

ค. ภาวนา ..ทำที่ใจ
ทำเหตุ ..ทำไว้ในใจเพื่อให้จิตได้พักเท่านั้น ข้อนี้เป็นหัวใจหลักในการภาวนา.. จิตจะได้มีกำลังขจัดโมหะ ความโง่ ลุ่มหลง ติดใจข้องแวะโลก ความหลงไม่รู้เอาใจเข้ายึดครองโลกที่กลุ่มรุมกายใจตน
ผลอานิสงส์ ..ถึงความที่จิตผ่องใส สว่างไสว รู้ของจริงต่างหากจากสมมติ ตื่นจากสมมติ เบิกบานพ้นแล้วจากสมมติกิเลสของปลอม ตามสมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า พระบรมศาสดา
(ทำไว้ในใจถึงการภาวนาว่า..เพื่อต้องการให้จิตได้พัก น้อมใจรวมจิตไว้ในภายในที่เดียว เอาจิตจับที่จิต ทำความสงบ นิ่ง ว่าง ไม่คิด ไม่จับเอาสิ่งใด)
- เหตุ คือ รู้เห็นตามจริงต่างหากจากสมมติ เห็นทุกข์ ตัวทุกข์ เหตุแห้่งทุกข์ ตื่นจากสมมติ ละเหตุแห่งทุกข์ เห็นความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์ วัฏฏะ ไม่สิ้นสุด เกิดนิพพิทาญาณ เจตยาทำให้ถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ถึงความเบิกบาน
- สะสมเหตุละกิเลส คือ โมหะ ความโง่ลุ่มหลงไม่รู้ตัว ไม่รู้จริง เพื่อให้จิตฉลาดในธรรม ฉลาดในการปล่อยวาง ฉลาดในการเลือกเฟ้นธรรม จิตสามารถเลือกธัมมารมณ์ที่ควรเสพย์ได้ เสริมปัญญาความฉลาดให้จิต
- มนสิการไปให้จิตตั้งมั่นเป็นอารมณ์เดียวไม่สัดส่าย สงบ นิ่ง ว่าง วูบรวมลงแช่ไว้ในภายในให้จิตได้พัก "ความสงบ นิ่ง ว่าง แช่มีอารมณ์เดียวนี้เป็นอาหารของจิต" เป็นการเสริมเติมกำลังให้จิต ให้จิตมีกำลังอยู่ได้ด้วยตนเองไม่ไหลพล่านยึดจับเกาะเกี่ยวเอาอารมณ์ไรๆมาตั้งเป็นเครื่องอยู่ของจิต จิตทำสักแต่ว่ารู้ได้
- มูลกรรมฐาน ทำไว้ในใจภึงพระพุทธเจ้าพระบรมศาสดา โดยระลึกบริกรรมในพุทโธคู่ลมหายใจเข้าออกก็ได้ (พระอรหันตสาวกทุกรูปท่านสอนไว้ว่า..คนที่ระลึกบริกรรมพุทโธไม่ได้..ก็แสดงว่าไม่มีศรัทธาในพระพุทธเจ้า คนที่ระลึกธัมโมไม่ได้..ก็แสดงว่าไม่มีศรัทธาในพระธรรม คนที่ระลึกสังโฆไม่ได้..ก็ไม่มีศรัทธาในพระสงฆ์) ระลึกถึงความรู้เห็นตามจริงต่างหากจากสมมติ จิตตั้งอยู่เฉพาะหน้า รู้ปัจจุบัน ตื่นจากสมมติไม่ติดหลงสมมติความคิด สมมติสัจ สมมติบัญญัติ ตื่น หลุดพ้นแล้ว ถึงความว่าง,ความสงบ,ความไม่มี,ความสละคืน มีจิตเบาสบายเบิกบบานใจเป็นสุขหาประมาณมิได้ ไม่มีสิ่งใดในโลกให้ข้องแวะข้องเกี่ยวได้อีก
- มีอานิสงส์ คือ ทำให้เรามีจิตผ่องใส มีใจเบิกบาน เป็นสุข มีใจเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ละเจตนาในอกุศล ไม่มีความคิดชั่ว ไม่มีความคิดอกุศล มีเจตนาละเว้นจากความเบียดเบียน จิตฉลาดในการเลือกเฟ้นเสพย์ธรรม ฉลาดในการปล่อยวาง ไม่เอาใจเข้ายึดครองสังขารทั้งปวง อิ่ม พอ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งของสมาธิจะเกิดปัญญามากมายที่เราไม่เคยรู้เห็นจะพรั่งพรูขึ้นมาให้วิเคราะห์พิจารณาเลือกเฟ้นใช้งานในการดำรงชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรมโดยชอบ เมื่อพ้นจุดนี้ไปอีกจึงจะเกิดปัญญาธรรมอันจิตแจ้งชัดของจริงต่างหากจากสมมติ ถึงนิพพิทาถอนใจไม่ยึดครอง เกิดวิราคะตัดสิ้นกิเลสของปลอม ถึงความสละคืน ไม่มีสิ่งใดๆในโลกหน่วงยึดเกียวใจไว้ได้อีก


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 03, 2018, 06:07:56 AM
Group Blog : บันทึกการปฏิบัติเพื่อละราคะเมถุน ปี ๒๕๖๑ สมัยที่ได้พบเจอพระอรหันต์

บันทึกกรรมฐาน วันที่ 1-1-61 เวลา 23:30 น. ถึง วันที่ 2-1-61 เวลา 2:45 น.
สรุปหัวใจหลักวิธีทำไว้ในใจในการเจริญปฏิบัติ ทาน ศีล ภาวนา

ก. ทาน ละโลภได้ทาน ละตระหนี่ปรนเปรอตน เผื่อแผ่แบ่งปันสละให้ด้วยใจเอื้อเฟื้อเกื้อกูลประโยชน์สุขแก่กัน เราก็ได้ทาน

จิตเป็นทานก็เกิดความอิ่มใจ ใจมีกำลังอยู่เหนือโลภ
- เข้าถึงจาคานุสสติความสละที่พร้อมมูลเกื้อกูลประโยชน์สุขทั้งปวงแก่สัตว์ทั้งหลาย เกิดความปิติ อิ่มใจเป็นสุข อิ่มเต็มอัดแน่นในใจไม่ต้องการสิ่งใดอีก
- สุขตั้งอยู่ที่จิต จิตสุขเพราะสละ ถอนจากโลภ เพราะไม่เอาใจเข้ายึดครองสิ่งไรๆในโลกแม้ขันธ์ ๕ ที่ตนอาศัยอยู่จึงเป็นสุข จิตรู้ด้วยตัวเองว่า..สุขเพราะสละไม่ยึดครอง
- จิตมนสิการมีใจน้อมไปในอารมณ์ถอนขึ้นปิดสวิทซ์ตัดจากความมีใจเข้ายึดครอง คลายอุปาทานขันธ์ ๕ อิ่มในขันธ์ ๕ ไม่ยึด ไม่เอา ไม่ยังขันธ์ ๕ อยู่อีกด้วยประการดังนี้

ข. ศีล ละโกรธได้ศีล ทำที่เดียว คือ เจตนา ทำความละเว้นความเบียดเบียนทำร้ายต่อตนเองและผู้อื่น..ด้วยใจเอื้อเฟื้อเกื้อกูลประโยชน์สุข เย็นกาย สบายใจ ไม่เร่าร้อนต่อเผู้อื่นเสมอด้วยตนเอง คือ
1. ผู้อื่น เจตนาละเว้นจากความข้องแวะ ติดพัน อยากได้ หมายเอา คน สัตว์ สิ่งของ ขีวิต ของผู้อื่นมาครอบครองเป็นของตน ปรนเปรอตน
2. ตนเอง เจตนาละเว้นจากสิ่งที่ทำให้ตนระลึกไม่ได้ ฉุกคิดยับยั้งแยกแยะ ดี ชั่วไม่ได้  เจตนาละเว้นจากสิ่งที่ทำให้เราไม่รู้ตัว

ศีล ลงใจ เจตนาเป็นศีล เราก็เย็นใจเป็นที่สบายกายใจมีปรกติจิตที่ไม่เร่าร้อน อยู่ที่ได้ก็เบาใจ ไม่หวาดกลัว ระแวง เร่าร้อน หมกมุ่น ฟุ้งซ่าน ร้อนรุ่มกายใจ ใจก็มีกำลังอยู่เหนือโกรธ
- จิตไม่ติดใจข้องแวะสิ่งไรๆในโลก จิตที่ไม่ยึด ละเว้นเจตนาเบียดเบียนขาดสิ้นความเร่าร้อน จิตว่างไม่ลังเลสงสัย เห็นธรรมที่เสมอด้วยตนทั่วกัน จิตวิญญาณที่ครองขันธ์อยู่ล้วนเสมอกัน จิตที่อารมณ์ที่เสมอกัน รู้ด้วยความสงบ ไม่กระเพื่อมกวัดแกว่ง นิ่ง ความปิติ สุข เกิดขึ้นในภายใน ตัดความคิดรู้ปัจจุบันเฉพาะหน้าจิตเบาผ่องใส มีอาการที่แผ่ขยายไป
- มีใจน้อมไปในความเสมอด้วยกัน จิตแผ่เอาความผ่องใสเบิกบาน เย็นใจ ปราศจากกิเลสเครื่องเร่าร้อน
- จิตตั้งมั่นแนบอยู่ในความเย็นใจ แจ่มใส เบิกบานนั้นด้วยมีอาการที่แผ่ขยายไปทั่ว ไม่จำกัด ไม่มีประมาณ ทุกขันธ์ ทุกรูป ทุกนาม ทุกดวงจิต
- จิตตั้งอยู่ที่ความว่างจากทุกข์ ว่างเบากายสบายใจไม่มีเครื่องเร่าร้อน แผ่ขยายความว่างอันปราศจากทุกข์ แผ่เอาความว่างอันผ่องใสไม่มีทุกข์นี้ไปไม่จำกัด ไม่มีประมาณ ทุกขันธ์ ทุกรูป ทุกนาม ทุกดวงจิต
- จิตตั้งอยู่ที่จิตความสว่างไสว รื่นรมย์ สำราญ เบิกบานไม่มีสิ้นสุด จิตจับที่จิต จิตรวมลงอยู่ที่ดวงจิตที่แนบไปด้วย อัดแผ่ขยายออกไปไม่มีประมาณด้วยความสำราญ เบิกบานในสุขอันสว่างไสวนั้นไป ไม่จำกัด ไม่มีประมาณ ทุกขันธ์ ทุกรูป ทุกนาม ทุกดวงจิต
- จิตตั้งอยู่ด้วยความไม่ยึดครองสิ่งใด ไม่เอาใจเข้ายึดครองสิ่งไม่ ไม่ยึดจับอะไรเลย ทุกอย่างมันเป็นไปของมันด้วยกรรมตามสัจจะของมันเอง ความว่าง ความไม่มี ความสละคืน
- ความมนสิการน้อมใจเข้าไปในภายในความน้อมเข้าดูจิตเดิมแท้ ขัดเกลา ล้างขันธ์


ค. ภาวนาอบรมจิต ละโง่ได้ภาวนา
- ทางโลก ศึกษาเรียนรู้ ปฏิบัติ ก็เข้าถึงความรู้ในหลายทาง คิดตอบโจทย์แก้ไม่ทันก็จำไว้สะสมเหตุเป็นปัญญาถึงแนวทางแก้ไขของรูปแบบปัญหานี้ๆในคราวต่อไป เข้าสมาธิให้จิตได้พัก จิตมีกำลัง จิตสงบไม่ฟุ้งซ่านคิด ไม่ติดคิด ทำให้จดจำง่าย สมองทำงานเป็นระบบมากขึ้นว่องไวเพราะไม่มีความคิดความจำขยะที่ปิดกั้นจำกัดช่องทางการทำงานของสมองและปัญญา จากนั้นความรู้ที่ไม่เคยนึกถึง ไม่เคยคิด ที่ลืมไปแล้ว ที่ไม่เคยคำนึงถึง ที่ไม่เคยรู้จัก ปัญญาที่วิเคราะห์เทียบเคียงพิจารณาโดยแยบคายเสร็จสรรพพร้อมมูลในเหตุ และ ผล ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เกิดมีขึ้น มีจิตผ่องใส มีใจเอื้อเฟื้อเกื้อกูล เว้นจากความเบียดเบียน จะพรั่งพรูขึ้นมามากมายไม่หยุด
- ทางธรรม เข้าสมาธิอบรมจิตทำให้จิตได้พัก ไม่สัดส่ายกระเพื่อมจิตก็มีกำลัง ผ่องใสเบิกบานไม่ไหวเอนไปตามอารมณ์เครื่องล่อใจ มีกำลังอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่ติดคิด ไม่ฟุ้งซ่าน มีกำลังแยกแยะ มีจิตผ่องใส มีใจเอื้อเฟื้อเกื้อกูล เว้นจากความเบียดเบียน เกิดปัญญาญาณรู้เห็นตามจริงโดยสัมมา จิตมีกำลังเต็มที่ทำหน้าที่เดิมได้ คือ จิตทำแค่รู้ แลดูของจริงได้โดยไม่เข้าร่วมปรุงแต่งเสพย์อารมณ์ เห็นสมมติแห่งกาย สมมติแห่งความรู้สึกอารมณ์ สมมติแห่งจิต รากเหง้าแห่งสมมติ สันดาร สันดร แจ้งโลก เห็นธรรม ตัด ถอน สละคืน

ภาวนาเพื่อละโง่ โอปนะยิโกได้ง่าย ทำสมาธิภาวนาเพื่อให้จิตได้พัก อบรมจิตให้ฉลาดเไม่ติดหลงสมมติอยู่อีก ละโง่ก็ได้ปัญญา จิตถึงปัญญาก็เป็นผู้รู้ทั่วพร้อม เกิดความรู้ได้เฉพาะตน ปัจจัตตัง
- จิตเข้าไปดูของจริง เห็นความเป็นไป การทำงานตามจริงของมัน ทำสักแต่ว่ารู้ ไม่ข้องแวะ ไม่ยึดที่เห็น แต่ทำความรู้ตามจริง
- จิตเห็นการทำงานครบพร้อมขันธ์ ๕ เห็นผัสสะกระทบให้จิตกระเพื่อม ความเป้นไปของมันเหมือนดูหนังจอยักษ์ที่เราอยู่ท่ามกลางในเหตุการณ์นั้นๆ
- จิตคลายปิดสวิทซ์ตัดสิ่งที่คล้องหน่วงจิตไว้อยู่ตลอดเวลาเพราะเห็นความไม่มี เหมือนฟ้าแลบแปลบ เหมือนประกายแสงที่กระทบกันแปล๊บหนึ่งซึ่งไวมาก อุปมาเป็นโซ่ที่ถูกปลดมีดตัดตะขอที่คล้องลากหน่วงตรึงเราออก เกิดประกายแสงกระทบกันแวบหนึ่ง ขาดสิ้น
- จิตสำรอกออก สละคืน จิตเบา ไม่หน่วงจิตอีก น้อมเข้ากำลังในทางโดยชอบ แนบแน่นในสัมมา ทาน ศีล ภาวนา สติสัมปะชัญญะ เห็นชอบ คิดชอบ พูดชอบ ทำชอบ ดำรงจิตชอบ ความแนบแน่นประครองในสัมมา ความระลึกได้ประครองตั้งมั่น จิตตั้งมั่นจดจ่อ จิตสักแต่ว่ารู้แยกจากขันธ์สังขารทั้งปวงเหล่าใด จิตดำรงมั่นแลดูอยู่รู้แค่ธรรมไม่สัดส่าย เหตุให้เกิดสืบต่อแห่งจิตสังขารไม่มี วิญญาณสังขารไม่สืบต่อ จิตสังขารดับ ปิติ สุข ว่าง จิตตั้งมั่น ตัด


การอบรมจิตเบื้องต้นง่ายๆแต่ผลนั้นยิ่งใหญ่นัก คือ..

1. สวดมนต์(ทำให้จิตจดจ่ออยู่กับบทสวดมนต์ที่กำลังสวดน้อมใจไปตามคววามหมายของบทสวดมนต์นั้นๆ ไม่ส่งจิตออกนอกไปคิดอย่างอื่น)
2. สงบนิ่ง(ความสงบ ทำแค่ความสงบ จิตว่าง ไม่คิด ไม่ยึด ไม่จับ ไม่มี)
3. รู้ลมเข้า-ออก (ตามรู้ลมปักหลักปักตอไว้ปลายจมูกรู้ลมที่พัดเคลื่อนเข้า พัดเคลื่อนออก)
4. พุทโธ กำหนดบริกรรมตามลมด้วยคุณพระพุทธเจ้า คือ ผู้รู้ของจริงต่างหากจากสมมติ ตื่นจากสมมติ เบิกบานพ้นแล้วจากสมมติกิเลสของปลอม ผู้รู้จริงคือรู้ในปัจจุบัน ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก รู้ของจริง คือ ลมหายใจเป็นวาโยธาตุ เป็นกายสังขาร เป็นสิ่งที่สงเคราะห์ประกอบขึ้นให้เป็นกาย พยุงยังกายไว้อยู่ สมมิตก็คือความคิด ปรุงแต่ง จิตส่งออกนอกทั้งปวงเมื่อความคิดเกิดมีแสดงว่าสมมติเกิดทันที จิตรู้สิ่งใดด้วยความคิดสิ่งนั้นคือสมมติทั้งหมด ความคิดที่ไม่มีโทษมีคุณคือบริกรรมพุทโธ "ทำไปเรื่อยๆสบายๆจากนั้นจิตมันวูบดิ่งลง หรือ เหมือนวูบหลับลง หรือ วูบลงคล้ายจะกำลังหมดสติ ก็ให้ปล่อยมันไปไม่ต้องประครองมากไป ให้ทำแค่รู้แล้วปล่อยให้มันเป็นไปของมัน ..อาการนี้แค่จิตมันเข้าไปพัก" เมื่อจิตมันได้พักเสร็จมันจะมีกำลังดำเนินไปของมันเอง ทำแค่นี้เเข้าถึง เข้าเอกัคคตารมณ์ได้ หรือ เข้าภึงฌาณ 4 ได้
5. ส่วนเวลาทำงานดำเนินชีวิตไปตามปรกติ ก็ให้ทำสัมปะชัญญะ ทำความรู้ในปัจจุบันขณะ รู้กิจการงานที่ตนทำอยู่ในปัจจุบัน ยืน เดิน นั่ง นอน ทำงาน เขียนหนังสือ เขียนงาน  ขี้ เยี่ยว ดื่ม กิน  รู้กิจการงานในปัจจุบันที่ตนทำ ไม่ติดหลงสมมติความคิด


- นี่คือ ทาน ศีล ภาวนา สะสมเหตุอิทธิบาท ๔ ใน มรรค ๘ สุจริต ๓
นแนวทางหลักๆ ที่เเป็นหัวใจของการเจริญ ทาน ศีล ภาวนา  และ ผลเลยนะนี่ หนังสือไม่มีสอนนะแบบนี้ ในกูเกิลก็ไม่มี
* เวลาทำให้เป็นที่สบายกายใจ ไม่กระสันในผล แต่ไม่หย่อนยานเหลาะแหละ ให้ทำเป็นประจำๆเนืองๆ ตั้งไว้ว่าวันนี้ๆจเราจะทำจากเวลานี้ ถึงเวลานี้ แล้วค่อยเพิ่มมากขั้นไป ที่แน่นนอนทุกวันพระให้ทำได้ตลอดวัน สะสมเหตุไป รู้ตัวว่าตนทำสะสมเหตุไป อย่ากระสันผล ให้พอใจที่ได้ทำสะสมเหตุเป็นพอ ทำใจให้สบายๆ


ความรู้เห็นทั้งหลายทั้งปวงของข้าพเจ้านี้ ได้มาจากการเจริญปฏิบัติตามที่ครูบาอาจารย์สอน ไม่ขัดครู ไม่ลังเลสงสัย ตามคำสอนของหลวงปู่นิล มหันตปัญโญ(พระอุปัชฌาย์), หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฒโน (พระพุทธสารเถระ)(พระอุปัชฌาย์), พระครูมหานกแก้ว(หลวงน้า)(พระอุปัชฌาย์), หนังสือเทศนาคำสอนของหลวงปู่ฤๅษีฯ(พระราชพรหมญาณ), พระอาจารย์สนทยา ธัมมะวังโส(พระอุปัชฌาย์), หลวงพ่อเสถียร ถิระญาโร(พระอุปัชฌาย์), พระอาจารย์ณัฐพงษ์ และ (พระอุปัชฌาย์)ครูบาอาจารย์สายพระป่าอีกหลายท่านที่ได้สอนข้าพเจ้าโดยตรง หรือจากหนังสือคำสอนของพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตตะเถระ พระอาจารย์ใหญ่ ทุกๆท่าน



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 04, 2018, 02:47:12 AM
การเข้าสมาธิง่ายๆ 3 วิธี

วิธีที่ 1 น้อมใจไปรวมจิตลงเพียงเพื่อให้จิตได้พัก (วิธีนี้กล่าวคราวๆแล้วในเบื้องต้น ตามด้านบน)

วิธีที่ 2 เพ่งนิมิต หรือ คำบริกรรมเหล่าใดให้สติจดจ่อในอารีมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้นาน ทำให้จิตจดจ่อเป็นอารมณ์เดียวตาม (วิธีนี้มีสอนเยอะตามกรรมฐาน 40 เช่น พุทโธ อานาปานสติ กสิน ๑๐ จึงไม่ขอกล่าว)

วิธีที่ 3 มนสืการ สัญญา จิตจับอารมณ์แนบแน่นไม่ขาดกัน แล้วยกจิตขึ้นด้วยลม..
1. มนสิการในอารมณ์เครื่องกุศล อนุสสติ ๖ เป็นต้น หรือ พรหมวิหาร ๔ เจโตวิมุตติเหล่าใด เป็นมูลฐานให้จิตตั้งมั่น
2. ไม่กำหนดนิมิต แต่กำหนดจิตจับไว้ที่อารมณ์ความรู้สึกเย็นใจเบิกบานที่มีอาการแผ่ไปจากการได้เจริญในธรรมเครื่องกุศลเหล่านั้นแนบแน่นไม่ขาดกัน ไม่กระเพื่อม ไม่คลอนแคลน ไม่สัดส่าย
3. เมื่อจิตนิ่งแนบอารมณ์ได้ หายใจเข้ายาวๆ ลึกๆ ไม่ต้องหายใจแรงมาก ให้หายใจปรกติสบายๆ ไม่ให้ลมติดขัด
(จิตจะยกเข้าสมาธิตามกำลังของจิต มีการวูบรวมลงทีจุดเดียวเป็นสมาธิ ตั้งแต่ ขณิกสมาธิ อุปจาระสมาธิ อัปปนาสมาธิ ถึงปฐมฌาณ เป็นต้น)
4. หายใจออกผ่อนเบาสบายๆคลาย ดับ สลัดอารมณ์ที่จิตจับแนบก่อนหน้านี้ออกไปเหาะ รับสภาพความรู้สึกอารมณ์ อาการที่เข้ารวมลงอยู่ในปัจจุบัน
(เวลาตายลมหายใจสุดท้ายนี้สำคัญเพราะเป็นตัวจับอารมร์สุดท้าย คนเข้าฌาณ หรือได้วสีจะเข้าใจจุดนี้ที่สุด)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 07, 2018, 04:04:06 PM
    ธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่ผมโพสท์กล่าวทั้งหมด เป็นเพียงบันทึกผลจากการปฏิบัติ เจริญกรรมฐาน วิธีเข้าพิจารณาธรรมของผมจากการน้อมนำเอาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และตรัสไว้ดีแล้ว ประเสริฐแล้ว หาประมาณมิได้ เป็นธรรมที่ควรโอปะนะยิโก คือ น้อมเข้ามาสู่ตน ธรรมนั้นพึงปฏิบัติและให้ผลได้ไม่จำกัดกาล เป็นธรรมเพื่อให้เราทั้งหลายได้เห็นทางพ้นทุกข์ จนถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ซึ่งได้มีครูบาอาจารย์พระอริยะสงฆ์ พระอรหันตสงฆ์ ที่เป็นครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของผม มีหลวงปู่บุญกู้ อนุวัฒฑโน (พระพุทธสารเถระ วัดอโสการาม) เป็นต้น ท่านได้กรุณาแนะนำเทศนาสั่งสอนมาโดยตรงแก่ผม ผมได้โอปะนะยิโกน้อมเอาธรรมอันประเสริฐทั้งหลายเหล่านั้นมาพิจารณาปฏิบัติ กรรมฐาน สมถะ และ วิปัสนา ทำให้ผมได้รู้เห็นแนวทางปฏิบัติและเข้าถึงจนเห็นผลต่างๆตามจริต และ สติกำลังร่วมกับปัญญาของปุถุชนอย่างผมได้ดังนี้...

หากธรรมที่ผมได้โพสท์กล่าวนั้นมีความผิดพลาด ผิดเพี้ยน ไม่เป็นจริงด้วยประการใดๆ ขอท่านทั้งหลายพึงรู้ว่า..
..ธรรมนั้นมาจากปุถุชนที่ยังไม่ถึงธรรมจริงอย่างผมเท่านั้น
..ไม่ใช่พระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนโดยตรง
..ไม่ใช่ธรรมเทศนาจากพระอรหันตสงฆ์สาวกโดยตรง
..เป็นเพียงธรรมที่ปุถุชนผู้ยังสมมติของปลอม ยังไม่ถึงของจริง ยังเห็นสัมผัส และคิดพิจารณาด้วยสติปัญญาอันน้อยนิดอย่างผมมีโอกาสได้รู้เห็นตามสมมติของจิต แล้วกลั่นกรองออกมาเป็นแนวทางปฏิบัตินี้ๆเท่านั้น

หากเป็นคุณประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายให้พึงระลึกรู้โดยจริงว่า ธรรมอันประเสริฐทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นแล เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และตรัสสอน อันมีพระอรหันตสงฆ์สาวก และ พระอริยสงฆ์สาวก ของสมเด็จพระบรมพุทธศาสดาได้เผยแพร่สั่งสอนธรรมมาจนถึงผมและท่านทั้งหลาย ไม่ใช่ธรรมของผมแต่อย่างใด

บัดนี้ ผมขอสาธยายธรรมอันที่ปุถุชนอย่างผมพอจะรู้เห็นเข้าถึง เข้าใจ แจ้งใจได้ ดังต่อไปนี้..



บันทึกกรรมฐานวันที่ 3-1-61 เวลา 22.45 น.

จิตจับอารมณ์โดยไม่กำหนดนิมิต
ตั้งแต่ตอนปรกติที่มีกิเลสนิวรณ์สมมติความคิด(ซึ่งปรกติเราจะทำในอุปจาระสมาธิ)
แล้วยกจิตเข้าสมาธิ อาศัยมนสิการ สัญญา

ระลึกถึงศีลของพระพุทธเจ้า ที่มีอาสิสงส์ผลการเจริญทำให้ เย็นกาย สบายใจ ไม่เร่าร้อน เป็นที่สบาย เบิกบาน ไม่ร้อนรน หวาดกลัว หวาดระแวง ขุ่นข้อมหมองใจ มันเบาเย็นใจปราศจากความติดใจข้องแวะสิ่งไรๆในโลกทำให้ใจเบิกบานซาบซ่านภายในใจ..

๑. ระลึกถึงศีลที่พระบรมพุทธศาสดาตรัสสอน มีอานิสงส์ที่ไม่เร่าร้อน ทำให้เบาเย็นใจสบาย ผ่องใส เบิกบาน ซาบซ่าน ไม่มีเวร ไม่มีภัย ปราศจากความเบีดยเบียน ไม่มีความติดข้องใจสิ่งไรๆทั้งปวง

๒. เราทำไว้ในใจ น้อมใจไปถึงสภาวะปัจจุบันขณะ
กาลปัจจุบันนี้ สมัยนี้เราดำรงชีพอยู่โดยประกอบด้วยศีล เรามีศีลบริบูรณ์พร้อมด้วยความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลประโยชน์อิสระสุขแก่หมู่สัตว์ทั้งหลาย เว้นจาก..ความเบียดเบียน ติดพัน ข้องแวะ ระลึกไม่ได้ ไม่รู้ตัว ..ดำรงชีพในปัจจุบันอยู่ด้วย อนภิชฌา อโทมนัส ทำให้เราไม่ต้องหวาดกลัว ไม่หวาดระแวง ไม่ผูกโกรธ ไม่คับแค้น ไม่ข้องขัด ไม่ติดใจข้องแวะสิ่งไรๆในโลก เป็นที่สบายกายใจ เย็นซาบซ่านเบาใจ โสมนัส มีความอุ่นใจ ..แล้วเราก็
เอาจิตจับที่ความไม่เร่าร้อน เบาใจ เย็นใจเป็นที่สบายกายใจ มีผ่องใส มีใจเบิกบาน ซาบซ่าน ไม่มีเวร ไม่มีภัย ปราศจากความเบียดเบียน ไม่มีความติดข้องใจสิ่งไรๆทั้งปวง อันเป็นคุณของศีลที่พระบรมพุทธศาสดาตรัสสอนนั้น

๓. จิตจับที่จิต คือ ตัวรู้จับที่จิตสังขารที่มีอาการตั้งอยู่ที่ความผ่องใสเบิกบาน ซาบซ่าน เบาใจ มีจิตสงบ เป็นทีสบาย รื่มรมย์เป็นสุข ปราศจากความเร่าร้อน ปราศจากความคิดและความคิดใจข้องแวะสิ่งไรๆมาหน่วงตรึงติด

๔. จิตแนบแน่นเป็นอารมณ์เดียวกับความสำราญในศีลนั้นนิ่งอยู่ จิตรับรู้ถึงสุขโดยชอบ

๕. จิตจับอารมณ์นั้นไม่ไหวไปดังนี้..
๕.ก) โดยจิตจับอารมณ์นั้นแนบแน่นไว้ในที่เดิม ปักหลัก ปักตอไว้อยู่ไม่เคลื่อนไป
๕.ข) มีความรู้ตัวหายใจเข้าเบาสบายๆ มีลมหายใจเข้ายาวซ่านไปพร้อมกับมีอาการเหมือนความรู้สึกที่จิตจับอยู่นั้นยังกำลังให้จิตถูกปลดปล่อยจากความหน่วงตรึงจิต พ้นจากโซ่ตรวนของสุขทางโลกที่เนื่องด้วยกายที่อาศํยอามิสเครื่องล่อใจ
๕.ค) จิตดีดลอยตามลมหายใจเข้าออกห่างจากความผ่องใส ซาบซ่านรื่นรมย์นั้น แต่ความรู้สึกนั้นจิตยังจับมันปักหลักปักตอไว้ที่เดิม มีแต่ตัวรู้คือจิตวิญญาณนี้ดีดลอยห่างนิมิตขึ้นตามลมหายใจเข้า ..เมื่ถึงช่วงรอยต่อที่จิตคลายอารมณ์เก่า อารมณ์เก่า อารมณ์เก่าดับ เดินเข้าสู่อารมณ์ใหม่ จิตจะตวัดกระชากลมหายใจเข้าฟืดหนึ่ง ที่เข้าไปลึกสุดขึ้นสูงเฮือกสุดท้าย(เหมือนลมหายใจเข้าเฮือกสุดท้ายก่อนตาย เหมือนที่เราเห็นแม่ตายต่อหน้า 29-5-60 เวลา 7.11 น.) ..จืตเข้าสู่สมาธิ อุปจาระ หยาบ กลาง ละเอียด เอกัคคะตา ฌาณ ตามแต่กำลังของจิต
      ..อุปมาเหมือน.. เหมือนเราเดินออกจากสถานที่ๆหนึ่ง หรือออกจากบ้านเรา ไปอีกสถานที่หนี่ง สถานที่ที่เราออกมา หรือบ้านเรานี้ ก็ยังตั้งมั่นอยู่ที่เดิม ไม่เคลื่อนไปจากที่เดิม มีแต่เราที่เคลื่อนไปที่ใหม่ที่ต้องการจะไปฉะนั้น
๕.ง) หายใจออกมีใจสละ คลาย สลัดผลักออกจากอารมณ์ความรู้สึกก่อนหน้านี้ออกไป จิตเกาะยึดจับอยู่ที่สภาวะอาการความรู้สึกใหม่ที่เข้าไปนั้น
      ..อุปมาเหมือน..
- เราเอายางที่เหนียวพอจะรับน้ำหนักได้ดีเส้นหนึ่ง คล้องไว้ที่กิ่งไม้กิ่งหนึ่งไว้ โดยเรานำยางเส้นนั้นคล้องยึดจับกิ่งไม้ที่มีกำลังความเหนียวไม่อ่อนไม่แข็งไป
- เมื่อยางคล้องยึดจับกิ่งไม้นั้นอย่างมั่นคงพอแล้ว เราดึงยางยืดออกไปคล้องกิ่งไม้ที่สูงขึ้น เป็นกิ่งไม้ที่มีความหนักแน่นแข็งแรงขึ้นไปอีก
- จากนั้นกิ่งไม้ที่ยางคล้องไว้ตอนแรกย่อมโน้ม แอ่น งอมากกว่ากิ่งที่แข็งแรงกว่าด้านบนที่ยางเข้ายึดคล้องไว้
- จากนั้นยางที่คล้องกิ่งที่อ่อนกว่าย่อมหลุดจากกิ่งนั้น ยางคล้องไว้ตรึงอยู่ที่กิ่งที่แข็งแรงขึ้นนั้น

๖. ความอิ่มเอิบ สงบ ว่าง ซาบซ่าน ไม่มีความฟุ้ง แต่รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ มีอาการที่อุ่นสบายใจปกคลุม ไม่มีความหวาดกลัว หวากดระแวง เกลียดชัง อยาก ใคร รัก โลภ โกรธ หลงไม่มีอยู่อีก ให้ระลึกเรื่องอกุศลระลึกเท่าไหร่ก็ระลึกไม่ออก เพราะนิวรณ์อ่อนกิเลสไม่มีเหตุเกิด


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 08, 2018, 11:34:39 AM
บันทึกกรรมฐานวันที่ 3-1-61 เวลา 22.45 น.

จิตจับอารมณ์โดยไม่กำหนดนิมิต
ตั้งแต่ตอนปรกติที่มีกิเลสนิวรณ์สมมติความคิด(ซึ่งปรกติเราจะทำในอุปจาระสมาธิ)
แล้วยกจิตเข้าสมาธิ อาศัยมนสิการ สัญญา


หลวงน้า (ท่านพระครูนกแก้ว) ท่านเป็นพระอริยะสาวกของพระพุทธเจ้าอีกรูปหนึ่ง ท่านได้สอนเราว่า..

..นิมิตเหล่าใด แสง สี อาการ วิตก วาร ทั้งปวง มันเป็นเพียงธรรมชาติของจิต ซึ่งธรรมชาติของจิตนี้มันมีเป็นร้อยแปดพันเก้าอาการ ไปจนถึงเป็นล้านๆอาการ พระพุทธเจ้าจึงมีกรรมฐานทั้ง ๔๐ ตามแต่จิตประเภทนั้นๆไว้ให้ ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดอาการไรๆ นิมิตไรๆ ความรู้สึกไรๆขึ้น มันก็แค่อาการหนึ่งๆของจิตเท่านั้นไม่มีเกินนี้
..ทีนี้ไม่ว่าจะเกิดอาการใดมีเกิดขึ้น จะเกิดนิมิตไรๆ จะเกิดอาการความรู้สึกอย่างไร จะเป็นจะตายก็ช่างมัน ให้สักแต่ว่ารู้เท่านั้น รู้ว่ามันเป็นเพียงปกติอาการของจิตที่มีอยู่มากมายหลายแบบจนนับไม่ถ้วนเท่านั้น เมื่อรู้ว่าปกติมันเป็นอย่างนั้นก็ไม่ต้องไปยึด ไปถือ ไปเสพย์ตามมัน มีความระลึกรู้ด้วยวางใจไว้เพียงแค่รู้แค่แลดูมันอยู่ด้วยความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เพียงเท่านั้นแค่นั้น นี่คือ รู้ ปกติ วาง เป็นความไม่ยึด ไม่ขัด ไม่เสพย์ ไม่หลงตาม สมาธิก็จะแน่วแน่ขึ้นเอง



ก. ดั่งสมเด็จพระพุทธศาสดาตรัสสอนว่า...อริยะสาวกในพระธรรมวินัยนี้ไม่ว่าจะไปทิศใดย่อมประกอบด้วยศีล แผ่ศีลไปด้วยเจโตวิมุตติ ด้วยประการดังนี้..เราจึงน้อมนำทำตามสิ่งที่พระอริยะสาวกในพระธารรมวิยนี้บรรลุบทอันกระทำแล้ว โดยน้อมใจไปดังนี้..

- การแผ่ศีลด้วยพรหมวิหาร ๔ ทั่วไป เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แบบทั่วไป สวดแล้วน้อมจิตแผ่ไป หรือจะทำด้วยความเป็นรูปก็ได้ เย็นใจ ผ่องใส เบิกบาน สุข ไม่ติดใจข้องแวะ แผ่ ปิติ ความไม่มีทุกข์ สุข จิต แสง

- การแผ่ศีลที่ถึงความหลุดพ้นแบบพระพุทธเจ้า เป็นเจโตวิมุติ ไม่ยังอยู้หรือข้องแค่เพียงรูป อาศับ สุภะวิโมกข์ สุภะกสิน อาโลกะสัญญา อากาศ อากาศกสิน วิญญาณ วิญญาณกสิน มีความจำได้หมายรู้ก็ไม่ใช่ ไม่มีความจำได้หมายรู้ก็ไม่ใช่ ไม่ล่วงเจตนา เนวะสัญญานาสัญญายตนะ อาโลกะกสิน สุญญตา

- เราทำไว้ในใจ น้อมใจไปถึงสภาวะปัจจุบันขณะ กาลปัจจุบันนี้ สมัยนี้เราดำรงชีพอยู่โดยประกอบด้วยศีล เรามีศีลบริบูรณ์พร้อมด้วยความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลประโยชน์อิสระสุขแก่หมู่สัตว์ทั้งหลาย เว้นจาก..ความเบียดเบียน ติดพัน ข้องแวะ ระลึกไม่ได้ ไม่รู้ตัว ..ดำรงชีพในปัจจุบันอยู่ด้วย อนภิชฌา อโทมนัส ทำให้เราไม่ต้องหวาดกลัว ไม่หวาดระแวง ไม่ผูกโกรธ ไม่คับแค้น ไม่ข้องขัด ไม่ติดใจข้องแวะสิ่งไรๆในโลก เป็นที่สบายกายใจ เย็นซาบซ่านเบาใจ โสมนัส มีความอุ่นใจ ๔ ประการ..

- จิตเราจับความรู้สึกแนบแน่นรวมไว้ในภายใน จนสงบ จิตมีกำลังมากอิ่มเอิบ ซาบซ่าน ผ่องใส เบิกบานเต็มกำลัง มีอาการที่แผ่ขยายไปกว้างไป

- อาการที่จิตเคลื่อนเข้าไปตั้งมั่นจดจ่อเป็นอารมณ์เดียวได้ จากความสงบใจขณิกสมาธิที่เราเจอกับตัวเองนี้ มีด้วยกัน ๒ ทาง คือ
๑. จิตมนสิการจับความรู้สึกนั้นแน่น แล้วอาศัยอาการของลมหายใจเข้า คือ จิตเพ่งจับเอาอารมณ์ความรู้สึกซึ่งไม่มีนิมิตนั้นอย่างแนบแน่นมั่นคงปักหลักปักตอความรู้สึกนั้นไว้ จิตอาศัยลมหายใจเข้าจับอาการที่เคลื่อนไหวของลมไปยกจิตขึ้นออกจากอารมณ์ความรู้สึกที่จับอยู่ก่อนหน้านี้ ปลายลมหายใจเข้าที่ซ่านกระชากลึกเป็นตัวเคลื่อนจิตเข้าตั้งมั่นในอารมณ์เดียว
๒. เกิดนิมิตภาพเรื่องราวความคิด, สี, แสง จิตเพ่งจับที่นิมิตนั้น แล้วอาศัยลมหายใจเข้า คือ ขณะที่จิตได้ความสงบ เกิดอาการที่วูบวาบๆซาบซ่านเป็นขณิกสมาธิจิตรวมได้นิดหน่อย มันมักจะเกิดนิมิตจากความตรึกนึกคิด (เหมือนฝันแต่มีความรู้ตัวพอจะเพ่งจับนิมิตจากความตรึกนึกคิดปรุงแต่งที่สร้างขึ้นมานั้นได้บ้าง) จิตเพ่งจับภาพนิมิตความคิดที่เป้นเรื่องราวนั้น หรือ สี หรือ แสง จนแนบแน่นปักหลักปักต่อนิมิตนั้นไว้กับที่(เหมือนเรานั่งดูทีวีที่จอภาพเรื่องราวจะไม่เคลื่อที่ไปไหน มีแต่เราที่เคลื่อนไป) แล้วอาศัยลมหายใจเข้าจับอาการที่เคลื่อนไหวของลมไปยกจิตขึ้นออกจากนิมิตที่จับอยู่ก่อนหน้านี้ ปลายลมหายใจเข้าที่ซ่านกระชากลึกเป็นตัวเคลื่อนจิตเข้าตั้งมั่นในอารมณ์เดียว
๓. ในฌาณนี้จิตจะมนสิการในอารมณ์ได้ ส่วนที่แช่แน่นิ่งเหมือนจะรู้ก็ไม่ใช่ ไม่รู้อะไรก็ไม่ใช่ ไม่มีการกระทำไรในอารมณ์ได้นอกจากนิ่งสิ่งนี้เป็นสมาธิ เป็นอาการที่จิตได้พักแยกจากความปรุงแต่ง อาการนี้ที่เกิดวิปัสนาได้ไวเพราะมันปล่อยให้สังขารเป็นไปตามจริงไม่กำหนดบังคับนิมิต(พระอรหันต์สุกขวิปัสสะโกท่านเข้าไปทางนี้ ท่านเข้าฌาณได้แต่ไม่แวะเล่นฌาณ) ..แต่ในฌาณนี้จิตมันมนสิการได้ อธิษฐานกำหนดจิตนิมิตได้ แต่อาศัยปัญญาที่มีเต็มกำลังแล้วเป็นเครื่องรู้ให้เกิด นิพพิทา วิราคะ วิมุตติในฌาณนั้นๆได้

- แผ่เอาความสุขซาบซ่านเย็นใจ อิ่มเอม เบาใจซาบซ่านปราศจากความติดใจข้องแวะสิ่งไรในโลก เอื้อเฟื้อเกื้อกูลเว้นจากความเบียดเบียนเสมอด้วยตนไปไม่มีประมาณในทิศนั้น (ความปารถนาดีเอื้อเฟื้อเกื้อกูลเอ็นดูปรานีเสมอด้วยตน เห็นงามเสมอกันไม่มีแบ่งแยก ขันธ์ ๕ เสมอกัน อาการ ๓๒ ดวงจิตทุกดวงทียังเข้ายึดครองรูปขันธ์ ธาตุ ๖ เสมอกัน ดวงจิตยึดครองสังขารทั้งปวงเสมอด้วยกันหมด แม้ในภพนั้น ภูมินี้ ก็มีอยู่ด้วยประการดังนี้)

- แผ่เอาความอิ่มเอมซาบซ่าน สงบ ว่าง เป็นสุข เหตุเพราะความว่างความไม่มีกิเลส ความไม่ถูกทุกข์สัมผัสความว่างจากทุกข์ สุขอันเนื่องด้วยกายย่อมถูกทุกข์หยั่งเอาด้วยความไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกายยังเป็นที่ประชุมไปด้วยโรค ด้วยของสกปรก ความพ้นจากสังขารทั้งปวงเหล่านี้เป็นสุข สุขอันไม่เนื่องด้วยกาย ไม่ยังกายอยู่อีกแผ่ไปไม่มีประมาณมีแก่ดวงจิตทุกดวงทุกภพทุกภูมิในทิศนั้น
(สุขทางโลกมันเนื่องด้วยกาย สัมผัสกายมันอิ่มไม่เป็น ..สุขทางธรรมโลกุตระมันสุขที่ใจจากความอิ่ม เต็ม พอ ความไม่มี ความสละคืน ทุกข์ไม่อาจสัมผัสหยั่งลงได้อีก ..สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วก็เสื่อมไป เจบป่วย แก่ชรา แล้วก็ตาย ดับสูญไป ความไม่ยังกายนี้อยู่อีกความพ้นไปจากสังขารทั้งหลายเหล่านี้เป็นสุข อ้างอิง..บังสกุลเป็น บังสกุลตาย ธาตุ ๖ ใน ธาตุวิภังคสูตร ซึ่งก่อนหน้านี้ก็คิดว่าตนเองทำมาผิดทางพอดีไปเจอพระสูตรเหล่านี้จึงรู้ว่าทำมาถูกแล้วดีแล้วตรงตามพระบรมพุทธศาสดาของเราตรัสสอนไม่บิดเบือน)

(ทางเข้าอากาสานัญขายตนะมี 2 ทางที่เราเข้าถึงรับรู้ได้ คือ
๑. อาศัยนิมิต เพ่งนิมิตรูป, สี, แสง นิมิตทางลมอานาปานสติเป็นกสิน แล้วทำจิตเป็นปฏิฆะต่อกาย เพราะกายมันเป็นที่ประชุมทุกข์ รูป นิมิต ก็ทุกข์ ผลักจิตออกพ้นรูปทั้งปวง เช่น เพ่งที่ความืดว่างไปไม่มีประมาณ จับความมืดว่างนั้นแน่นิ่ง ด้วยหมายพ้นกาย เห็นความพ้นกายในที่นั้น แล้วเมื่อเข้าถึงยกจิตความมืดว่างนั้นแหละดูดจิตเราออกพ้นกาย
๒. จิตมนสิการความรู้สึก จับอารณ์เพ่งความรู้สึกเป็นกสินโดยไม่อาศัยนิมิต แล้วเอาจิตจับแนบแน่นอารมณ์ความรู้สึกนี้ไว้ไม่สัดส่าย จิตจะเพ่งความรู้สึกแทนนิมิต เมื่อจิตเลื่อนจิตจะทำคามแนบแน่นเพ่งความรู้สึกอารมณ์นี้เป็นกสินแทน)
- แผ่เอาสุขอันบริบูณ์พร้อมทุกสิ่ง สมบูรณ์พร้อมไป โดยเอาจิตจับที่จิต คือ สุขที่ไม่เนื่องด้วยกาย ไม่มีกาย พ้นกายแล้ว ไม่มีสัมผัสที่ต้องด้วยกาย ย่อมถึงความสงบอันบริสุทธิ์เหลือแต่จิตโดดๆ โสมนัสเกิดอยู่ที่จิต ความว่างไม่ใช่ตัวสุขแต่จิตเป็นตัวสุข ความคงทุกอย่างไว้อยู่ ด้วยความสงบอันบริสุทธิ์ไม่สัดส่ายตามสัมผัสอันเนื่องด้วยกายนี้ทำให้คงทุกอย่างไว้ภายในจิต จิตคงทุกอย่างรวมไว้อยู่ภายในจึงเป็นสุข เอาจิตจับที่จิต เมื่อจิตจับที่จิตตั้งที่จิต สุขที่มีอาการแผ่ไปเกิดขึ้น(เปรียบเหมือนอาการที่จิตรวมไว้ในภายในจิตไม่ส่งออกนอก จิตย่อมประกอบไปด้วยกำลังป็นสุขไม่สัดส่าย สุขอัดอยู่ที่จิตมีกำลังแผ่ไป เหมือนฌาณ ๓ ต่างกันแค่ ฌาณ ๓ มันซ่านอัดปะทุสุขขึ้นแค่ภายในรูปที่ใจเราเข้ายึดครองอยู่นี้เท่านั้น(มีมีอาการที่จิตไม่ยึดกายแล้วแต่มันรู้สึกได้เพียงแค่ขอบเขตในภายในจากก้นบึ้งปะทุขึ้นให้ตจิตรู้แต่ขอบเขตสุขนั้นมันไม่เกินที่อยู่ที่จิตเราเข้าอาศัยยึดครองเลย) วิญญานัญจายตนะมันซ่านแผ่ขยายไปไม่มีประมาณไม่ติดข้องขัดด้วยรูป ด้วยมีแค่จิต)
(เอาจิตจับที่จิต เป็นวิญญาณกสิน เอาจิตจับที่จิตแผ่สุขนี้ไปไม่มีประมาณในทิศนั้น)

- แผ่เอาความไม่ติดใจข้องแวะ ไม่ยึดเกาะเอาอะไรทั้งสิ้นไป ละเจตนาต่อสิ่งทั้งปวง ด้วยทุกสิ่งล้วนมีวิถีความเป็นไปของมันตามแต่กรรมกำหนดให้เป็นไป ความเข้าไปยึดความแปรปรวนด้วยหมายจะบังคับให้เป็นไปตามใจปารถนาในสัจจะอันเกิดแต่กรรมย่อมไม่ใช่ฐานะที่จะพึงมีได้ เพราะมีกรรม คือ การกระทำอยู่ในใจมีเจตนาเป็นนี้อยู่ฉันใด..วิบากกรรมอันเป็นผลสืบเนื่องย่อมผูกต่อให้ได้รับผลของกรรมนั้น..ใจนี้เย่อมถูกทุกข์หยังเอาอยู่ ความไม่ยึดข้องแวะ ไม่ติดข้องใจสิ่งไรๆนี้อีก ไม่กระทำกรรมเกาะเกี่ยวยึดเอาสิ่งไรๆ..ไม่มีเจตนากระทำใจไว้ต่อสิ่งไรๆ ย่อมถึงความว่างพ้นไปจากวิบากกรรมและสังขารกรรมทั้งปวงอันประกอบไปด้วยทุกข์..จึงเป็นสุข แผ่เอาความไม่มี ไม่ยึด ไม่เอา สละคืนสังขารกรรม ไม่ทำเจตนายึดข้องสิ่งใดทั้งปวงไปในทิศนั้นๆ(เป็นอารมณ์เดียวกับฌาณ ๔ ต่างแค่อาการที่ยังรูปข้องอยู่ที่รูป กับไม่ยังรูปไม่ข้องด้วยรูปจิตไม่ไหวติงด้วยอาการที่แผ่ขยายไปไม่มีประมาณ)

- ศีลที่พระบรมพุทธศาสดาตรัสสอนนั้นแผ่ไปด้วยปรการฉะนี้ ผู้แผ่ย่อมเย็นใจ เบาใจ ผ่องใส อิ่มเอิบ ซาบซ่าน ชื่นบาน เป็นสุข ผู้รับก็เป็นสุข ยังความอิ่มใจ ๔ ประการให้เกิดขึ้น เพราะจะไม่มีทางล่วงลงสู่ที่ชั่ว ได้ทำดีเว้นจากชั่วโดยชอบแล้ว

- จิตสะอาดสว่างไสวในภายในนี้ ไม่ใข่ วิญญานัญจายตนะ แต่เป็นสัญญาเวทิทนิโรธ (อารมณ์นี้เข้าไม่เข้า ไม่กล้าอนุมาน เป็นของพระอรหันต์ พระอริยะสงส์เท่านั้น ส่วนข้างต้นที่แผ่ไปใน ๔ ประการเป็นสิ่งที่ปุถุชนอย่างเราเข้าถึงได้ปฏิบัติได้ คนที่ไม่ได้อรูปแท้ๆจริงจะไม่เข้าใจเจโจตวิมุติดังนี้

ข. ความอิ่มเอิบ สงบ ว่าง ซาบซ่าน ไม่มีความฟุ้ง แต่รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ มีอาการที่อุ่นสบายใจปกคลุม ไม่มีความหวาดกลัว หวากดระแวง เกลียดชัง อยาก ใคร รัก โลภ โกรธ หลงไม่มีอยู่อีก

- ให้ระลึกเรื่องอกุศลระลึกเท่าไหร่ก็ระลึกไม่ออก เพราะนิวรณ์อ่อนกิเลสไม่มีเหตุเกิด ตรงนี้ปล่อยปล่อยให้จิตมันเป็นไปของมันเอง เดินไปเอง ไม่ต้องไปบังคับ ไม่เล่น ไม่เพ่ง ไปจับ ไปประครองอะไรทั้งสิ้นไม่ทำให้จิตมันตื่นตัว แล้วจิตมันจะเริ่มวูบรวมดิ่งลง มีอาการเหมือนคนจะวูบลงหมดสติ เหมือนจะไม่รับรู้อะไร เหมือนจะวูบหลับ แล้วก็แช่ แน่นิ่ง เหมือนจิตเรานี้จะจะรู้อยู่ก็ไม่ใช่-ไม่รู้อะไรก็ไม่ใช่ แช่แน่นิ่งเป็นอารมณ์เดียวอยู่อย่างนั้น อาการนี้จิตมันเข้าไปพัก

- เมื่อจิตได้พัก จิตจึงจะมีกำลังไม่สัดส่ายอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง ไม่กระเพื่อไหลตามอารมณ์ ไม่พร่านไหลไปทั่วเพื่อยึดเอาอารมณ์สมมิเหล่าใดมาเป็นเครื่องอยู่อาศํยของมัน จิตมีกำลังมาก จิตจึงทำหน้าที่แค่รู้ได้ เป็นตัวรู้ได้ ทำหน้าที่เดิมคือแค่รู้ได้ แล้วจะเห็นของจริงเองในตอนนั้น

- แต่หากมันว่าไม่มีอะไรก็ให้ปล่อยมันไปมันจะเป็นไปของมันเองแค่จิตมันยังมีกำลังไม่พอเห็นต้องให้มันเป็นไปเอง เมื่อเห็นจริงแค่ครั้งสองครั้งมันไม่บรรลุหอกเราถูกกิเลสทับถมมานับอสงไขยต้องใช้เวลาให้มันเห็นของจริงบ่อยๆ แล้วจะค่อยๆคลายอุปาทานเอง จิตจะไม่ยึดเอาอะไรทั้งสิ้น นอกจากลมหายใจ

- จิตคลายอุปาทานมีอาการที่จิตไม่ยึดไม่จับเอาอะไรทั้งสิ้นเพราะหน่าย คลายอุปาทาน คือ มันโหวงๆ ลอยๆ โคลงเคลง ครูบาอาจารย์ท่านสอนเราไว้ว่าอย่างทิ้งลมหายใจ หลวงพ่อเสถียรสอนไว้ เราเอาจิตจับที่ลมรู้ว่าลมหายใจนี้เ็นกายสังขาร เป้นธาตุ ๔ วาโยธาตุ เป็นของจริง จิตมันจะไม่ห่างจากลมหายใจเลยเมื่อทรงฌาณอยู่ได้)






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 09, 2018, 05:50:42 PM
  [๑๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือ อริยสัจ ๔
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ อริยสัจ ๔ อย่างไรเล่า? ภิกษุในพระศาสนานี้ ย่อมรู้ชัด
ตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา. ดังพรรณนามา
ฉะนี้. ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรม
บ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความ
เสื่อมในธรรมบ้าง ย่อมอยู่ อนึ่ง สติของเธอตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสัก
ว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออริยสัจ ๔ อยู่.

ทุกขอริยสัจ
             [๑๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน แม้ชาติก็เป็นทุกข์ แม้ชราก็เป็นทุกข์
แม้มรณะก็เป็นทุกข์ แม้โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ก็เป็นทุกข์ ความประจวบ
กับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้
แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์.
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชาติเป็นไฉน? ความเกิด ความบังเกิด ความหยั่งลง เกิด
เกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะครบ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ
อันนี้เรียกว่า ชาติ ก็ชราเป็นไฉน? ความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนังย่น
ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้
เรียกว่า ชรา ก็มรณะเป็นไฉน? ความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ความแตกทำลาย ความ
หายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความทำลายแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งซากศพไว้
ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่า มรณะ
ก็โสกะเป็นไฉน? ความแห้งใจ กิริยาที่แห้งใจ ภาวะของบุคคลผู้แห้งใจ ความผาก ณ ภายใน
ความแห้งผาก ณ ภายใน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรม คือ
ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่า โสกะ ก็ปริเทวะเป็นไฉน? ความคร่ำครวญ
ความร่ำไร รำพัน กิริยาที่คร่ำครวญ กิริยาที่ร่ำไรรำพัน ภาวะของบุคคลผู้คร่ำครวญ ภาวะของ
บุคคลผู้ร่ำไรรำพัน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์
อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่า ปริเทวะ ก็ทุกข์เป็นไฉน? ความลำบากทางกาย
ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์ ซึ่งเกิดแต่กายสัมผัส อันนี้เรียกว่า
ทุกข์ ก็โทมนัสเป็นไฉน? ความทุกข์ทางจิต ความไม่สำราญทางจิต ความเสวยอารมณ์อันไม่ดี
ที่เป็นทุกข์ ซึ่งเกิดแต่มโนสัมผัส อันนี้เรียกว่า  โทมนัส ก็อุปายาสเป็นไฉน? ความแค้น
ความคับแค้น ภาวะของบุคคลผู้แค้น ภาวะของบุคคลผู้คับแค้น ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความ
พิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรม คือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่า อุปายาส
ก็ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน? ความประสบ ความพรั่งพร้อม ความร่วม
ความระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ
หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาความไม่ผาสุก
ปรารถนาความไม่เกษมจากโยคะ ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก
ก็เป็นทุกข์ ก็ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน? ความไม่ประสบ ความไม่
พรั่งพร้อม ความไม่ร่วม ความไม่ระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่เกื้อกูล ปรารถนาความ
ผาสุก ปรารถนาความเกษมจากโยคะ ซึ่งมีแก่ผู้นั้น คือ มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่หญิง
น้องหญิง มิตร อำมาตย์ หรือญาติสาโลหิต อันนี้เรียกว่า ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก
ก็เป็นทุกข์ ก็ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน? ความปรารถนา ย่อมบังเกิด
แก่สัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเกิดเป็นธรรมดา ขอความ
เกิดอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้น สัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใด
ไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์ ความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา
ความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดา ... ความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์
ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึง
มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสเป็นธรรมดา ขอโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
อุปายาส อย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้น สัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่า
ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์ ก็โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์
เป็นไฉน? อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเหล่านี้เรียกว่า โดยย่อ
อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียก ทุกขอริยสัจ.
สมุทัยอริยสัจ
             [๑๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขสมุทัยอริยสัจ เป็นไฉน? ตัณหานี้ใด อันให้เกิดใน
ภพใหม่ ประกอบด้วยนันทิราคะ เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา
วิภวตัณหา ก็ตัณหานั้น เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่ไหน เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่ไหน? ที่ใด
เป็นที่รัก ที่เจริญใจ ในโลก ตัณหานั้น เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นั้น เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้ง
อยู่ในที่นั้น อะไร เป็นที่รัก ที่เจริญใจในโลก? ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รัก ที่เจริญใจ
ในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นั้น เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่นั้น รูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รัก ที่เจริญใจ ในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะ
ตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่นี้ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ  กายวิญญาณ มโน-
*วิญญาณ เป็นที่รัก ที่เจริญใจ ในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่นี้
จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส เป็นที่รัก ที่เจริญใจ
ในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่นี้ จักขุสัมผัสสชาเวทนา
โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา
มโนสัมผัสสชาเวทนา เป็นที่รัก ที่เจริญใจ ในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่
ย่อมตั้งอยู่ที่นี้ รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธัมมสัญญา
เป็นที่รัก ที่เจริญใจ ในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่นี้
รูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐัพพสัญเจตนา ธัมมสัญ-
*เจตนา เป็นที่รัก ที่เจริญใจ ในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้ง
อยู่ที่นี้ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา เป็นที่รัก
ที่เจริญใจ ในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่นี้ รูปวิตก
สัททวิตก คันธวิตก รสวิตก โผฏฐัพพวิตก ธัมมวิตก เป็นที่รัก ที่เจริญใจ ในโลก ตัณหา
เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่นี้ รูปวิจาร สัททวิจาร คันธวิจาร รสวิจาร
โผฏฐัพพวิจาร ธัมมวิจาร เป็นที่รัก ที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้
เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่นี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจ.
นิโรธอริยสัจ
             [๑๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นไฉน? ความดับด้วยสามารถความ
สำรอกโดยไม่เหลือ ความสละ ความสละคืน ความปล่อยวาง ความไม่มีอาลัย ในตัณหานั้น
ก็ตัณหานั้น เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่ไหน เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่ไหน? ที่ใดเป็น
ที่รัก ที่เจริญใจ ในโลก ตัณหานั้น เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นั้น เมื่อจะดับ ย่อม
ดับได้ที่นั้น ก็อะไรเป็นที่รัก ที่เจริญใจ ในโลก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รัก
ที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับที่นี้ รูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รัก ที่เจริญใจ ในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ
ย่อมละเสียได้ที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับที่นี้ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหา-
*วิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ เป็นที่รัก ที่เจริญใจ ในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ
ย่อมละเสียได้ที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับที่นี้ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส
กายสัมผัส มโนสัมผัส เป็นที่รัก ที่เจริญใจ ในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้
ที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับที่นี้ จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชา-
*เวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา เป็นที่รัก
ที่เจริญใจ ในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับที่นี้
รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธัมมสัญญา เป็นที่รัก
ที่เจริญใจ ในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับที่นี้
รูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐัพพสัญเจตนา ธัมมสัญ-
*เจตนา เป็นที่รัก ที่เจริญใจ ในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ที่นี้ เมื่อจะดับ
ย่อมดับที่นี้ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา
เป็นที่รัก ที่เจริญใจ ในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับ
ที่นี้ รูปวิตก สัททวิตก คันธวิตก รสวิตก โผฏฐัพพวิตก ธัมมวิตก เป็นที่รัก ที่เจริญใจ
ในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับที่นี้ รูปวิจาร สัททวิจาร
คันธวิจาร รสวิจาร โผฏฐัพพวิจาร ธัมมวิจาร เป็นที่รัก ที่เจริญใจ ในโลก ตัณหา เมื่อ
บุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับที่นี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า
ทุกขนิโรธอริยสัจ.
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
             [๑๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นไฉน? อริยมรรค
ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ
สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ก็สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน ความรู้ในทุกข์
ความรู้ในเหตุให้ทุกข์เกิด ความรู้ในความดับทุกข์ ความรู้ในข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อันนี้
เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะเป็นไฉน ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในความไม่
พยาบาท ความดำริในอันไม่เบียดเบียน อันนี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาเป็นไฉน?
การงดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการพูดส่อเสียด งดเว้นจากการพูดคำหยาบ งดเว้นจากการ
พูดเพ้อเจ้อ อันนี้เรียกว่า สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะเป็นไฉน? การงดเว้นจากการล้างผลาญชีวิต
งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม อันนี้เรียกว่า สัมมา-
*กัมมันตะ สัมมาอาชีวะเป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ละการเลี้ยงชีพที่ผิด สำเร็จการ
เลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงชีพที่ชอบ อันนี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะเป็นไฉน? ภิกษุใน
ธรรมวินัยนี้ ให้เกิดฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อมิให้
อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้
กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ ไม่เลือนหาย เจริญยิ่ง ไพบูลย์ มีขึ้น เต็มเปี่ยม
แห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว อันนี้เรียกว่า สัมมาวายามะ สัมมาสติเป็นไฉน ภิกษุในธรรม
วินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัส
ในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... พิจารณาเห็นธรรม
ในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ อันนี้
เรียกว่า สัมมาสติ สัมมาสมาธิเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใส
แห่งจิตในภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุข
อันเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป
บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข
เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ
ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้
เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.
             [๑๕๐] ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในบ้าง พิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม
คือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือความเสื่อมในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ
ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมบ้าง ย่อมอยู่ อนึ่ง สติของเธอ ตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่า
ความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ
ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ อริยสัจ ๔ อยู่


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 09, 2018, 07:15:01 PM
นิวรณ์ในสมาธิหลักๆที่เราเจอมีอยู่ด้วยกัน 5 แบบ คือ

- เกิดรู้ตัวลังเลสงสัยธรรมที่ดำรงอยู่ เมื่อเกิดอาการแปรปรวนเปลี่ยนแปลง หรือกำลังดำรรงอยู่ในสภาวะใดสภาวะหนึ่งจิตแยกรู้อาการ แล้วเกิดวคามลังเลสงสัย เฮ้ยนี่อะไร มันคืออะไร เฮ้ยถึงนี่แล้ว ทำให้จิตตื่นตัวเกินพอดีกระทำเจตนาไหลตามหรือพยายามจะต้านอารมณ์เพื่อจะได้รับรู้อารมณ์ที่เป็นอยู่นั้น
- เกิดความหน่วงจิตให้เคลื้มหลับ ซึงจะต่างจากอาการที่จิตรวมลง มีอาการที่จิตรวมลงมันวูบลงไปแน่นิ่งเหมือนจะรู้ตัวทั่มพร้อมก็ไม่ใช่เหมือนไม่รู้ก็ไม่ใช่ แช่นิ่งอยู่อารมร์เดียว ส่วนอาการที่ง่วงมันหน่วงตรึงจิตรู้สึกหดหู่ อาการที่หน่วงดึงจืต มันไม่ผ่องใสมีอาการหมองๆหนักจิต อาการที่ซึมเซา
- ความที่มีจิตซ่านไปในอารมณ์โน้น สิ่งนั้น สิ่งนี้ อยากได้แบบนั้นแบบนี้ กลัวจะเข้าถึงแบบนั้น กลัวจะสำเร็จได้แบบนี้ กลัวห่วงหน้าพวงหลัง ดึงจิตให้เกิดพะวง พลุกพล่านซ่านไป ซึ่งสืบต่อไป ปลิโพธ
- เกิดความสัดส่ายน้อมใจไปในราคะสัญญา บางครั้งเราเข้าสมาธิได้แล้วแต่อยากจะรู้ว่าเป็นสัมมาสมาธิไหม เพราะสัมมาสมาธิจะระลึกอกุศลไม่ออก จะไม่มีสัญญาในอกุศลเลย มันจะระลึกไม่ออก ซึ่งเมื่อรู้ดีังนี้แล้วแทนที่จะปล่อยจิตให้เป็นไปในปัจจุบันจนมีกำลังจึงลองดู แต่กลับไปลองของระลึกทันทีมันก็วูบหลุดออกมา แต่ถ้าทรงอารมร์เป็นมนสิการเป็น ใช้สัญญาในการทรงอารมณ์ไม่ให้หลุดก็เข้าสมาธิต่อได้ หากทำไม่ได้ก็อดไป อีกประการคือการที่อยากรู้อยากเห็น ด้วยมีความตราตรึงยินดีในอารมณ์ ความรู้สึก ภพ ภูมิ ต่างๆ รูปต่างๆที่เจริญใจเป็นต้น เช่นอยากเห้นนรกสวรรค์ อยากเห็นนางฟ้า เทพบุตร เทพธิดา หรือ พอเข้าไปเห็นแล้วเกิดความกำหนัด ยินดี หมายใจใคร่เสพย์ ก็จะหลุดออกมาทันที
- ความหลงสังขารที่แสดงอยู่เบื้องหน้า ความปรุงแต่ง แปรปรวน นิมิตเหล่าใดทัั้งปวง แปล้วเข้าไปยึดหลง โดยไม่รู้ว่าแค่สังขาร ความยินดีในสังขารทั้งปวงที่ตนรู้แล้วกำหนัดยึดเกี่ยวไว้ สิ่งนี้เป็นข้าศึกต่อ ฌาณ และ ปัญญาญาณลงมรรคญาณ หรือ ผล ละสังฌโยชน์ หรือทำให้มรรคที่มีอยู่นี้ยิ่งๆขึ้นไป


ทางแก้นิวรณ์ทั้งหมด มีทางเดียว คือ เจตนาให้จิตได้พัก รู้ ปรกติ วาง

- จิตได้พักมันจะได้พักผ่อนมีกำลัง เพราะถูกใช้งานตลอดเวลาไม่มีหยุด จะหลับก็หลับไปเลย หากหลับแล้วนิ่งไม่ฝันไม่รับรู้ แม่หลับเพียง ชั่วโมงเดียวตลอดกลางวันกลางคืน ก็แสดงว่าจิตเราได้พักแล้ว มนสิการน้อมรวมลงไว้ที่จิต เดินตามลมจากปลายจมูกรวมลงไว้ในภายในที่ท้องน้อยหรือจุดเหนือสะดือ 2 นิ้ว ทำไว้ในใจเพียงต้องการให้จิตได้พักเป็นพอ ไม่จะจะรู้อะไรเห็นอะไร นิมิตอะไรเกิด นิมิตอะไรดับ ความรู้สึกอะไรเกิด ความรู้สึกอะไรดับ สภาวะสังขารเหล่าใดเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรปรวน ดับไป เราก็จะไม่น้อมใจตามไปจะทำเพียงแค่ตามรู้ ทำแค่รู้แล้วปล่อยให้มันเป็นไปของมัน ไม่ทำเจตนาบังคับจิตไปในทิศทางใดที่ต้องการทั้งสิ้น ให้ทำแค่รู้แล้วปล่อยมันเป็นไปของมันก็พอ
- หากพะวงจะเอานั่นเอาโน่นเอานี่ เห็นนั่น โน่น นี่โดยที่จิตไม่มีกำลังจะทำได้ ให้ทำใจไว้ว่ากาลก่อนนี้เราสะสมมาดีแล้ว แม้กาลปัจจุบันนี้เราก็ได้สะสมมาดีแล้วสะสมเหตุเต็มเพียงพอที่จะล่วงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว
- เมื่อห่วง พ่อ แม่ ลูกเมีย ก็ให้พึงรู้ว่าการที่เราจะทำแทคคุณพ่อแม่ได้เราต้องถึงที่สุดแห่งกองทุกข บิดามารดาผู้ให้กำเนิดบุตรที่เกิดมาเพื่อเป็นพระอริยะนี้มีบุญมาก แต่ท่านยังชีพอยู่หรือละโลกนี้ไปแล้ว เราก็สามารถที่จะไปทดแทนคุณท่านได้เพื่อให้เห็นธรรมความหลุดพ้นทุกข์นั่นเอง รวมถึงลูกเมียของพระอริยะก็มีบุญมากได้มาร่วมอยู่ได้รู้ธรรมออกจากทุกข์ตาม ได้มาช่วยเหลือจุนเจือกันเพื่อให้เราได้ปฏิบัติเพื่อถึงมรรค ผล นิพพาน เมื่อเราถึงธรรมแล้วพ่อ แม่ ลูก เมีย ทำบุญบารมีกับเราสะสมเหตุเขาได้ง่ายและมีค่ามาก
- หากติดพุทธภูมิ พอเข้าสภาวะแล้วจิตผลักออกกลัวบรรลุ ให้พึงสำเนียกว่า พระพุทธเจ้าและพระอนุสาวก หรือ พระอรหันตสาวกทุกท่านล้วนแล้วแต่ทำสะสมบุญมานานหลายอสงไขย เห็นของจริงมาตั้งเท่าไหร่ ทำจนบารมีเต็ม บารมี 10 ทัศน์แสดงออกมาตลอดเวลา เราถึงเพียงนิดหน่อย ทาน ศีล ภาวนาเล็กน้อย เห็นจริงแค่ครั้งสองครั้งหรือเห็นประจำเพียงแค่ชาตินีัมันจะไปเทียบได้อย่างไรกับท่านเหล่านั้น มันไม่บรรลุง่ายๆหรอก ให้จิตมันเห็นไปของมันนั้นแหละสะสมเหตุอบรมจิตไว้ดีแล้ว


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 10, 2018, 12:30:23 PM
ความประมาทตามสมมติความคิดกิเลสเครื่องล่อใจ ทำให้เราต้องทผิดซ้ำๆ ต้องคอยขอโทษผู้อื่นจนตลอดชีวิต สู้เราเปลี่ยนวิถีชีวิตตนเองให้ดีงามมันเป็นสิ่งที่ดียิ่งกว่ามากโขประมาณมิได้


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 14, 2018, 11:12:03 AM
หมวด ๖ แห่งโพชฌงค์ที่ ๖

อาหารสูตร

อาหารของนิวรณ์

             [๕๒๒] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอาหารและสิ่งที่มิใช่อาหาร
ของนิวรณ์ ๕ และโพชฌงค์ ๗ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังเรื่องนั้น.
             [๕๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้กามฉันทะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ศุภนิมิตมีอยู่ การกระทำให้มากซึ่ง
อโยนิโสมนสิการในศุภนิมิตนั้น นี้เป็นอาหารให้กามฉันทะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว
ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น.
             [๕๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้พยาบาทที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิฆนิมิตมีอยู่ การกระทำให้มาก
ซึ่งอโยนิโสมนสิการในปฏิฆนิมิตนั้น นี้เป็นอาหารให้พยาบาทที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว
ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น.
             [๕๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไม่ยินดี ความเกียจคร้าน
ความบิดขี้เกียจ ความเมาอาหาร ความที่ใจหดหู่มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการใน
สิ่งเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น.
             [๕๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้อุทธัจจกุกกุจจะ ที่ยังไม่เกิด
เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไม่สงบใจมีอยู่ การ
กระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในความไม่สงบใจนั้น นี้เป็นอาหารให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่
เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น.
             [๕๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่ง
วิจิกิจฉามีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้วิจิกิจฉาที่
ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น.
อาหารของโพชฌงค์

             [๕๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้สติสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิด
เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายเป็นที่ตั้งแห่งสติ
สัมโพชฌงค์มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้สติสัม-
*โพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์.
             [๕๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด
เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลและ
อกุศล ที่มีโทษและไม่มีโทษ ที่เลวและประณีต ที่เป็นส่วนข้างดำและข้างขาว มีอยู่ การกระทำ
ให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิด
ขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์.
             [๕๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้วิริยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด
เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความริเริ่ม ความพยายาม
ความบากบั่น มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในสิ่งเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้วิริย-
*สัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์.
             [๕๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้ปีติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด
เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายเป็นที่ตั้งแห่งปีติ-
*สัมโพชฌงค์ มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้ปีติ-
*สัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์.
             [๕๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด
เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสงบกาย ความสงบจิต
มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในความสงบนี้ นี้เป็นอาหารให้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่
ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้วให้เจริญบริบูรณ์.
             [๕๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้สมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด
เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธินิมิต อัพยัคคนิมิต (นิมิต
แห่งจิตอันมีอารมณ์ไม่ฟุ้งซ่าน) มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในนิมิตนั้น นี้เป็น
อาหารให้สมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์.
             [๕๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด
เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา-
*สัมโพชฌงค์ มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์.
มิใช่อาหารของนิวรณ์

             [๕๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า ไม่เป็นอาหารให้กามฉันทะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย อศุภนิมิตมีอยู่ การกระทำให้มาก
ซึ่งโยนิโสมนสิการในอศุภนิมิตนั้น นี้ไม่เป็นอาหารให้กามฉันทะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิด
แล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น.
             [๕๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า ไม่เป็นอาหารให้พยาบาทที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย เจโตวิมุติมีอยู่ การกระทำให้มาก
ซึ่งโยนิโสมนสิการในเจโตวิมุตินั้น นี้ไม่เป็นอาหารให้พยาบาทที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว
ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น.
             [๕๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า ไม่เป็นอาหารให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความริเริ่ม ความพยายาม ความ
บากบั่น มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในสิ่งเหล่านั้น นี้ไม่เป็นอาหารให้ถีนมิทธะ
ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น.
             [๕๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า ไม่เป็นอาหารให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิด
เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสงบใจมีอยู่ การ
กระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในความสงบใจนั้น นี้ไม่เป็นอาหารให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิด
เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น.
             [๕๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า ไม่เป็นอาหารให้วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลและอกุศล
ที่มีโทษและไม่มีโทษ ที่เลวและประณีต ที่เป็นส่วนข้างดำและข้างขาว มีอยู่ การกระทำให้มาก
ซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้ไม่เป็นอาหารให้วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิด
แล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น.
มิใช่อาหารของโพชฌงค์

             [๕๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า ไม่เป็นอาหารให้สติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด
เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายเป็นที่ตั้งแห่งสติ
สัมโพชฌงค์ มีอยู่ การไม่กระทำให้มากซึ่งมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้ไม่เป็นอาหารให้สติ
สัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์.
             [๕๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า ไม่เป็นอาหารให้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่
เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล
และอกุศล ที่มีโทษและไม่มีโทษ ที่เลวและประณีต ที่เป็นส่วนข้างดำและข้างขาว มีอยู่ การ
ไม่กระทำให้มากซึ่งมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้ไม่เป็นอาหารให้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด
เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์.
             [๕๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า ไม่เป็นอาหารให้วิริยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด
เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความริเริ่ม ความพยายาม
ความบากบั่น มีอยู่ การไม่กระทำให้มากซึ่งมนสิการในสิ่งเหล่านั้น นี้ไม่เป็นอาหารให้วิริยสัม-
*โพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์.
             [๕๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า ไม่เป็นอาหารให้ปีติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด
เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายเป็นที่ตั้งแห่งปีติ-
*สัมโพชฌงค์ มีอยู่ การไม่กระทำให้มากซึ่งมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้ไม่เป็นอาหารให้ปีติ-
*สัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์.
             [๕๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า ไม่เป็นอาหารให้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่
เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสงบกาย ความสงบ
จิต มีอยู่ การไม่กระทำให้มากซึ่งมนสิการในความสงบนั้น นี้ไม่เป็นอาหารให้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์.
             [๕๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า ไม่เป็นอาหารให้สมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด
เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธินิมิต อัพยัคคนิมิต มีอยู่
การไม่กระทำให้มากซึ่งมนสิการในนิมิตนั้น นี้ไม่เป็นอาหารให้สมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิด
ขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์.
             [๕๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า ไม่เป็นอาหารให้อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่
เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายเป็นที่ตั้ง
แห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ มีอยู่ การไม่กระทำให้มากซึ่งมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้ไม่เป็น
อาหารให้อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์.
จบ สูตรที่ ๑



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 14, 2018, 11:12:19 AM
ปริยายสูตร

ปริยายนิวรณ์ ๕

             [๕๔๗] ครั้งนั้น ภิกษุมากรูป เวลาเช้า นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาต
ยังพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้มีความดำริว่า เวลานี้เราจะเที่ยวไปบิณฑบาตใน
พระนครสาวัตถีก่อน ก็ยังเช้านัก ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก
เถิด ภิกษุเหล่านั้นจึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้ปราศรัยกับพวกอัญญ-
*เดียรถีย์ปริพาชก ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้ว พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณ-
*โคดมแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายเหล่านี้ว่า มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละนิวรณ์ ๕
อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลังปัญญา แล้วเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง ดังนี้ แม้พวกเรา
ก็แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า มาเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละนิวรณ์ ๕ อัน
เป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลังปัญญา แล้วเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ในการแสดงธรรมของเรานี้ อะไรเป็นความแปลกกัน อะไรเป็นประโยชน์อันยิ่ง อะไรเป็นความ
ต่างกัน ระหว่างธรรมเทศนาของพวกเรากับธรรมเทศนาของพระสมณโคดม หรืออนุศาสนีของ
พวกเรากับอนุศาสนีของพระสมณโคดม.
             [๕๔๘] ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นไม่ชื่นชม ไม่คัดค้านคำพูดของอัญญเดียรถีย์ปริพาชก
พวกนั้น ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไปด้วยตั้งใจว่า เราทั้งหลายจักทราบเนื้อความแห่งคำพูดนี้
ในสำนักพระผู้มีพระภาค.
             [๕๔๙] ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นครั้นเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี เวลาปัจฉาภัต
กลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควร
ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เมื่อเช้า
วันนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ข้าพระองค์
ทั้งหลายได้มีความดำริว่า เวลานี้เราจะเที่ยวไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถีก่อน ก็ยังเช้านัก ถ้า
กระไร เราพึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเถิด ลำดับนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลาย
เข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้ปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ครั้นผ่าน
การปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกได้
พูดกะข้าพระองค์ทั้งหลายว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลาย
อย่างนี้ว่า มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละนิวรณ์ ๕ อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลัง
ปัญญา แล้วเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง ดังนี้ แม้พวกเราก็แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลาย
อย่างนี้ว่า มาเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละนิวรณ์ ๕ อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอน
กำลังปัญญา แล้วเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ในการแสดงธรรมของเรา
นี้ อะไรเป็นความแปลกกัน อะไรเป็นประโยชน์อันยิ่ง อะไรเป็นความต่างกัน ของพระสมณ-
*โคดมหรือของพวกเรา คือว่าธรรมเทศนาของพวกเรา กับธรรมเทศนาของพระสมณโคดม หรือ
อนุศาสนีของพวกเรากับอนุศาสนีของพระสมณโคดม.
             [๕๕๐] ครั้งนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลาย ไม่ชื่นชม ไม่คัดค้านคำพูดของอัญญเดียรถีย์
ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป ด้วยตั้งใจว่า เราทั้งหลายจักทราบเนื้อความ
ของคำพูดนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค.
             [๕๕๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มี
วาทะอย่างนี้ ควรเป็นผู้อันเธอทั้งหลาย พึงถามอย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ปริยายที่นิวรณ์
๕ อาศัยแล้วเป็น ๑๐ อย่าง ที่โพชฌงค์ ๗ อาศัยแล้วเป็น ๑๔ อย่าง มีอยู่หรือ? พวกอัญญ-
*เดียรถีย์ปริพาชกถูกเธอทั้งหลายถามอย่างนี้แล้ว จักแก้ไม่ได้เลย และจักถึงความอึดอัดอย่างยิ่ง
ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเป็นปัญหาที่ถามในฐานะมิใช่วิสัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่แลเห็น
บุคคลในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดาและมนุษย์ ที่จะยังจิตให้ยินดีด้วยการแก้ปัญหาเหล่านี้ เว้นเสียจากตถาคต สาวกของ
ตถาคต หรือผู้ที่ฟังจากตถาคต หรือจากสาวกของตถาคตนั้น.
             [๕๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปริยายที่นิวรณ์ ๕ อาศัยแล้วเป็น ๑๐ อย่าง เป็นไฉน?
             [๕๕๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้กามฉันทะในภายในก็เป็นนิวรณ์ แม้กามฉันทะใน
ภายนอกก็เป็นนิวรณ์ คำว่า กามฉันทนิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ กามฉันท-
*นิวรณ์นั้น ก็เป็น ๒ อย่าง.
             [๕๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้พยาบาทในภายในก็เป็นนิวรณ์ แม้พยาบาทในภายนอก
ก็เป็นนิวรณ์ คำว่า พยาบาทนิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ พยาบาทนิวรณ์นั้น
ก็เป็น ๒ อย่าง.
             [๕๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ถีนะก็เป็นนิวรณ์ แม้มิทธะก็เป็นนิวรณ์ คำว่า ถีนมิทธ-
*นิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ ถีนมิทธนิวรณ์นั้น ก็เป็น ๒ อย่าง.
             [๕๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อุทธัจจะก็เป็นนิวรณ์ แม้กุกกุจจะก็เป็นนิวรณ์ คำว่า
อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์นั้น ก็เป็น
๒ อย่าง.
             [๕๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้วิจิกิจฉาในธรรมทั้งหลายภายในก็เป็นนิวรณ์ แม้
วิจิกิจฉาในธรรมทั้งหลายในภายนอกก็เป็นนิวรณ์ คำว่า วิจิกิจฉานิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ
แม้โดยปริยายนี้ วิจิกิจฉานิวรณ์นั้น ก็เป็น ๒ อย่าง.
             [๕๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปริยายนี้แล ที่นิวรณ์ ๕ อาศัยแล้วเป็น ๑๐ อย่างนี้.
             [๕๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปริยายที่โพชฌงค์ ๗ อาศัยแล้วเป็น ๑๔ อย่าง เป็นไฉน?
             [๕๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้สติในธรรมทั้งหลายในภายในก็เป็นสติสัมโพชฌงค์
แม้สติในธรรมทั้งหลายในภายนอกก็เป็นสติสัมโพชฌงค์ คำว่า สติสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมา
สู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ สติสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง.
             [๕๖๑] แม้ธรรมทั้งหลายในภายใน ที่บุคคลเลือกเฟ้นตรวจตราถึงความพินิจพิจารณา
ด้วยปัญญา ก็เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ แม้ธรรมทั้งหลายในภายนอกที่บุคคลเลือกเฟ้นตรวจตรา
ถึงความพินิจพิจารณาด้วยปัญญา ก็เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คำว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง.
             [๕๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ความเพียรทางกายก็เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ แม้ความ
เพียรทางจิตก็เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ คำว่า วิริยสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้
วิริยสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง.
             [๕๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ปีติที่มีวิตกวิจารก็เป็นปีติสัมโพชฌงค์ แม้ปีติที่ไม่มี
วิตกวิจารก็เป็นปีติสัมโพชฌงค์ คำว่า ปีติสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้
ปีติสัมโพชฌงค์ ก็เป็น ๒ อย่าง.
             [๕๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ความสงบกายก็เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ แม้ความ
สงบจิตก็เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คำว่า ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดย
ปริยายนี้ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ก็เป็น ๒ อย่าง.
             [๕๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้สมาธิที่มีวิตกวิจารก็เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ แม้สมาธิ
ที่ไม่มีวิตกวิจาร ก็เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ คำว่า สมาธิสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้
โดยปริยายนี้ สมาธิสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง.
             [๕๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ความวางเฉยในธรรมทั้งหลายในภายใน ก็เป็นอุเบกขา
สัมโพชฌงค์ แม้ความวางเฉยในธรรมทั้งหลายในภายนอก ก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ คำว่า
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ก็เป็น
๒ อย่าง.
             [๕๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปริยายนี้แล ที่โพชฌงค์ ๗ อาศัยแล้วเป็น ๑๔ อย่าง.
จบ สูตรที่ ๒



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 14, 2018, 11:13:25 AM
อัคคิสูตร

เจริญโพชฌงค์ตามกาล

             [๕๖๘] ครั้งนั้น ภิกษุเป็นอันมาก เวลาเช้า นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาต
ยังพระนครสาวัตถี (ความต่อไปเหมือนปริยายสูตรข้อ ๕๔๗-๕๕๐) พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนี้ ควรเป็นผู้อันเธอทั้งหลายพึงถาม
อย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น มิใช่กาลเพื่อเจริญโพชฌงค์เหล่า
ไหน เป็นกาลเพื่อเจริญโพชฌงค์เหล่าไหน? สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น มิใช่กาลเพื่อเจริญ
โพชฌงค์เหล่าไหน เป็นกาลเพื่อเจริญโพชฌงค์เหล่าไหน? พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกถูกเธอ
ทั้งหลายถามอย่างนี้แล้ว จักแก้ไม่ได้เลย และจักถึงความอึดอัดอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร?
เพราะเป็นปัญหาที่ถามในฐานะมิใช่วิสัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่แลเห็นบุคคลในโลก พร้อม
ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ที่จะ
ยังจิตให้ยินดีด้วยการแก้ปัญหาเหล่านี้ เว้นเสียจากตถาคต สาวกของตถาคต หรือผู้ที่ฟังจาก
ตถาคต หรือจากสาวกของตถาคตนั้น.
             [๕๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น มิใช่กาลเพื่อเจริญปัสสัทธิ
สัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะจิตหดหู่ จิตที่
หดหู่นั้น ยากที่จะให้ตั้งขึ้นได้ด้วยธรรมเหล่านั้น เปรียบเหมือนบุรุษต้องการจะก่อไฟดวงน้อยให้ลุก
โพลง เขาจึงใส่หญ้าสด โคมัยสด ไม้สด พ่นน้ำ และโรยฝุ่นลงในไฟนั้น บุรุษนั้นจะ
สามารถก่อไฟดวงน้อยให้ลุกโพลงขึ้นได้หรือหนอ?
             ภิ. ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า.
             พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้นมิใช่กาลเพื่อเจริญ
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์
ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะจิตหดหู่ จิตที่หดหู่นั้น ยากที่จะให้ตั้งขึ้นได้ด้วยธรรมเหล่านั้น.
             [๕๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น เป็นกาลเพื่อเจริญธัมม-
*วิจยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ข้อนั้น
เพราะเหตุไร? เพราะจิตหดหู่ จิตที่หดหู่นั้น ให้ตั้งขึ้นได้ง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น เปรียบเหมือน
บุรุษต้องการจะก่อไฟดวงน้อยให้ลุกโพลง เขาจึงใส่หญ้าแห้ง โคมัยแห้ง ไม้แห้ง เอาปากเป่า
และไม่โรยฝุ่นในไฟนั้น บุรุษนั้นสามารถจะก่อไฟดวงน้อยให้ลุกโพลงขึ้นได้หรือหนอ?
             ภิ. ได้ พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้นเป็นกาลเพื่อเจริญ
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์
ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะจิตหดหู่ จิตที่หดหู่นั้น ให้ตั้งขึ้นได้ง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น.
             [๕๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น มิใช่กาลเพื่อเจริญ
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ข้อ
นั้นเพราะเหตุไร? เพราะจิตฟุ้งซ่าน จิตฟุ้งซ่านนั้น ยากที่จะให้สงบได้ด้วยธรรมเหล่านั้น เปรียบ
เหมือนบุรุษต้องการจะดับไฟกองใหญ่ เขาจึงใส่หญ้าแห้ง โคมัยแห้ง ไม้แห้ง เอาปากเป่า และ
ไม่โรยฝุ่นลงไปในกองไฟใหญ่นั้น บุรุษนั้นสามารถจะดับไฟกองใหญ่ได้หรือหนอ?
             ภิ. ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า.
             พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้นมิใช่กาลเพื่อเจริญ
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์
ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะจิตฟุ้งซ่าน จิตที่ฟุ้งซ่านนั้น ยากที่จะให้สงบได้ด้วยธรรมเหล่านั้น.
             [๕๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น เป็นกาลเพื่อเจริญ
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์
ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะจิตฟุ้งซ่าน จิตที่ฟุ้งซ่านนั้น ให้สงบได้ง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น เปรียบ
เหมือนบุรุษต้องการจะดับไฟกองใหญ่ เขาจึงใส่หญ้าสด โคมัยสด ไม้สด พ่นน้ำ และโรยฝุ่น
ลงในกองไฟใหญ่นั้น บุรุษนั้นจะสามารถดับกองไฟกองใหญ่นั้นได้หรือหนอ?
             ภิ. ได้ พระเจ้าข้า.
             พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้นเป็นกาลเพื่อ
เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญอุเบกขา
สัมโพชฌงค์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะจิตฟุ้งซ่าน จิตที่ฟุ้งซ่านนั้น ให้สงบได้ง่ายด้วยธรรม
เหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสติแลว่า มีประโยชน์ในที่ทั้งปวง.
จบ สูตรที่ ๓



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 14, 2018, 11:14:38 AM
เมตตสูตร

พรหมวิหาร ๔

             [๕๗๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวโกลิยะ ชื่อ หลิททว-
*สันนะ ในโกลิยชนบท ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปด้วยกัน เวลาเช้า นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้า
ไปบิณฑบาตยังหลิททวสันนนิคม ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้น มีความดำริว่า เวลานี้เราจะเที่ยวไป
บิณฑบาตยังหลิททวสันนนิคมก่อน ก็ยังเช้านัก ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญ-
*เดียรถีย์ปริพาชกเถิด.
             [๕๗๔] ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้น เข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้
ปราศรัยกับอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกได้พูดกะภิกษุเหล่านั้นว่า
             [๕๗๕] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า
มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละนิวรณ์ ๕ อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลังปัญญา แล้ว
จงมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน
โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง จงมีใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ เป็นมหรคต
หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลก ในที่ทุกสถาน อันมีสัตว์ทุก
หมู่เหล่า อยู่เถิด.
             [๕๗๖] จงมีใจประกอบด้วยกรุณา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓
ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง จงมีใจประกอบด้วยกรุณา
อันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลก ใน
ที่ทุกสถาน อันมีสัตว์ทุกหมู่เหล่าอยู่เถิด.
             [๕๗๗] จงมีใจประกอบด้วยมุทิตา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓
ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง จงมีใจประกอบด้วยมุทิตา
อันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลก ใน
ที่ทุกสถาน อันมีสัตว์ทุกหมู่เหล่าอยู่เถิด.
             [๕๗๘] จงมีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓
ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง จงมีใจประกอบด้วยอุเบกขา
อันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลก ในที่
ทุกสถาน อันมีสัตว์ทุกหมู่เหล่า อยู่เถิด.
             [๕๗๙] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย แม้พวกเราก็แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า มา
เถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายละนิวรณ์ ๕ อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลังปัญญา
แล้วจงมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือน
กัน ฯลฯ
             [๕๘๐] จงมีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓
ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง จงมีใจประกอบด้วยอุเบกขา
อันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลก ในที่
ทุกสถาน อันมีสัตว์ทุกหมู่เหล่าอยู่เถิด.
             [๕๘๑] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ในการแสดงธรรมของพวกเรานี้ อะไรเป็นความแปลก
กัน อะไรเป็นประโยชน์อันยิ่ง อะไรเป็นความแตกต่างกัน ของพระสมณโคดมหรือของพวกเรา คือ
ว่า ธรรมเทศนาของพวกเรากับธรรมเทศนาของพระสมณโคดม หรืออนุศาสนีของพวกเรากับ
อนุศาสนีของพระสมณโคดม.
             [๕๘๒] ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นไม่ชื่นชม ไม่คัดค้านคำพูดของอัญญเดียรถีย์ปริพาชก
เหล่านั้น ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป ด้วยตั้งใจว่า เราทั้งหลายจักทราบเนื้อความแห่งคำพูด
นี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค.
             [๕๘๓] ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้น ครั้นเที่ยวไปบิณฑบาตในหลิททวสันนนิคม เวลา
ปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ
ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
             [๕๘๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เมื่อเช้านี้ ข้าพระองค์ทั้งหลาย
นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังหลิททวสันนนิคม ข้าพระองค์ทั้งหลายได้มีความ
ดำริว่า เวลานี้ เราจะเที่ยวไปบิณฑบาตยังหลิททวสันนนิคมก่อน ก็ยังเช้าอยู่ ถ้ากระไรเราพึง
เข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเถิด.
             [๕๘๕] ครั้งนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลาย เข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก
ได้ปราศรัยกับอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึง
นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกได้พูดกะข้าพระองค์ทั้งหลายว่า.
             [๕๘๖] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า
มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละนิวรณ์ ๕ อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลังปัญญา แล้ว
จงมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน
โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง จงมีใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ เป็นมหรคต
หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลก ในที่ทุกสถาน อันมีสัตว์ทุกหมู่เหล่า
อยู่เถิด.
             [๕๘๗] จงมีใจประกอบด้วยกรุณา ...
             [๕๘๘] จงมีใจประกอบด้วยมุทิตา ...
             [๕๘๙] จงมีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒
ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง จงมีใจประกอบ
ด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไป
ทั่วโลก ในที่ทุกสถาน อันมีสัตว์ทุกหมู่เหล่า อยู่เถิด.
             [๕๙๐] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย แม้พวกเราก็แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า มา
เถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายละนิวรณ์ ๕ อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลังปัญญา แล้ว
จงมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ เหมือนกัน
ฯลฯ
             [๕๙๑] จงมีใจประกอบด้วยกรุณา ...
             [๕๙๒] จงมีใจประกอบด้วยมุทิตา ...
             [๕๙๓] จงมีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓
ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง จงมีใจประกอบด้วยอุเบกขา
อันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลก ในที่
ทุกสถาน อันมีสัตว์ทุกหมู่เหล่า อยู่เถิด.
             [๕๙๔] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ในการแสดงธรรมของพวกเรานี้ อะไรเป็นความแปลก
กัน อะไรเป็นประโยชน์อันยิ่ง อะไรเป็นความต่างกัน ของพระสมณโคดมหรือของพวกเรา คือว่า
ธรรมเทศนาของพวกเรากับธรรมเทศนาของพระสมณโคดม หรืออนุศาสนีของพวกเรากับอนุศาสนี.
ของพระสมณโคดม.
             [๕๙๕] ครั้งนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่ชื่นชม ไม่คัดค้านคำพูดของอัญญเดียรถีย์
ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป ด้วยตั้งใจว่า เราทั้งหลายจักทราบเนื้อความ
แห่งคำพูดนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค.
เมตตาเจโตวิมุติ มีอะไรเป็นคติ

             [๕๙๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะ
อย่างนี้ ควรเป็นผู้อันเธอทั้งหลายพึงถามอย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เมตตาเจโตวิมุติ
อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร มีอะไรเป็นคติ มีอะไรเป็นอย่างยิ่ง มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นที่สุด
กรุณาเจโตวิมุตติ ... มุทิตาเจโตวิมุตติ ... อุเบกขาเจโตวิมุตติ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร มีอะไร
เป็นคติ มีอะไรเป็นอย่างยิ่ง มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นที่สุด พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกถูกเธอ
ทั้งหลายถามอย่างนี้แล้ว จักแก้ไม่ได้เลย และจักถึงความอึดอัดอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร?
เพราะเป็นปัญหา ที่ถามในฐานะมิใช่วิสัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่แลเห็นบุคคลในโลกพร้อม
ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ ที่จะยัง
จิตให้ยินดีด้วยการแก้ปัญหาเหล่านี้ เว้นเสียจากตถาคต สาวกของตถาคต หรือผู้ที่ฟังจากตถาคต
หรือจากสาวกของตถาคต.
             [๕๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมตตาเจโตวิมุติ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร มีอะไร
เป็นคติ มีอะไรเป็นอย่างยิ่ง มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรม
วินัยนี้ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยเมตตา ฯลฯ ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์
อันสหรคตด้วยเมตตา อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ถ้าเธอหวัง
อยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลอยู่ เธอก็ย่อมมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งที่
ไม่ปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญ
ว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและสิ่ง
ปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมี
ความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลและสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูล
และในสิ่งไม่ปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงแยกสิ่งไม่ปฏิกูลและปฏิกูลทั้งสองนั้นออกเสียแล้ว
วางเฉยมีสติสัมปชัญญะอยู่ ก็ย่อมวางเฉย มีสติสัมปชัญญะในสิ่งทั้งสองนั้นอยู่ หรืออีกอย่างหนึ่ง
เธอย่อมเข้าถึงสุภวิโมกข์อยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเมตตาเจโตวิมุติว่า มีสุภวิโมกข์เป็น
อย่างยิ่ง เพราะภิกษุนั้นยังไม่แทงตลอดวิมุติอันยวดยิ่งในธรรมวินัย ปัญญาของเธอจึงยังเป็น
โลกีย์.
             [๕๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรุณาเจโตวิมุติ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร มีอะไร
เป็นอย่างยิ่ง มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อม
เจริญสติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยกรุณา อาศัยวิเวก
อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ถ้าเธอหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าปฏิกูลใน
สิ่งไม่ปฏิกูลอยู่ เธอก็ย่อมมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลนั้นอยู่ ฯลฯ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึง
แยกสิ่งไม่ปฏิกูลและปฏิกูลทั้งสองนั้นออกเสียแล้ว วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ ก็ย่อมวางเฉย
มีสติสัมปชัญญะอยู่ในสิ่งทั้งสองนั้น หรืออีกอย่างหนึ่ง เพราะล่วงรูปสัญญาเสียโดยประการทั้งปวง
เพราะปฏิฆสัญญาดับไป เพราะไม่กระทำไว้ในใจซึ่งนานัตตสัญญา เธอคำนึงอยู่ว่า อากาศไม่มีที่สุด
ย่อมบรรลุอากาสานัญจายตนะอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวกรุณาเจโตวิมุติ ว่ามีอากาสานัญ-
*จายตนะเป็นอย่างยิ่ง เพราะภิกษุผู้ยังไม่แทงตลอดวิมุติอันยวดยิ่งในธรรมวินัยนี้ ปัญญาของเธอ
จึงยังเป็นโลกีย์.
             [๕๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มุทิตาเจโตวิมุติ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร มีอะไร
เป็นคติ มีอะไรเป็นอย่างยิ่ง มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรม
วินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยมุทิตา
อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ถ้าเธอหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญ
ว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่ เธอก็ย่อมมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลนั้นอยู่ ฯลฯ ถ้าหวัง
อยู่ว่า เราพึงแยกสิ่งไม่ปฏิกูลและปฏิกูลทั้งสองนั้นออกเสียแล้ว วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่
ก็ย่อมวางเฉยมีสติสัมปชัญญะในสิ่งทั้งสองนั้นอยู่ หรืออีกอย่างหนึ่ง เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะ
เสียโดยประการทั้งปวง เธอคำนึงอยู่ว่า วิญญาณไม่มีที่สุด ย่อมบรรลุวิญญาณัญจายตนะอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวมุทิตาเจโตวิมุติว่า มีวิญญาณัญจายตนะเป็นอย่างยิ่ง เพราะภิกษุนั้น
ยังไม่แทงตลอดวิมุติอันยวดยิ่ง ในธรรมวินัยนี้ ปัญญาของเธอจึงยังเป็นโลกีย์.
             [๖๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุเบกขาเจโตวิมุติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร มีอะไร
เป็นคติ มีอะไรเป็นอย่างยิ่ง มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรม
วินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยอุเบกขา
อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ถ้าเธอหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญ
ว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่ เธอก็ย่อมมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า
เราพึงมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลนั้นอยู่
ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญว่า
ปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่ง
ปฏิกูลและไม่ปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลและในสิ่งไม่ปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้า
หวังอยู่ว่า เราพึงแยกสิ่งไม่ปฏิกูลและปฏิกูลทั้งสองนั้นออกเสียแล้ว วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่
ก็ย่อมวางเฉย มีสติสัมปชัญญะในสิ่งทั้งสองนั้นอยู่ หรืออีกอย่างหนึ่ง เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะ
เสียโดยประการทั้งปวง เธอคำนึงอยู่ว่า อะไรนิดหนึ่งไม่มี ย่อมบรรลุอากิญจัญญายตนะอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวอุเบกขาเจโตวิมุติว่า มีอากิญจัญญายตนะเป็นอย่างยิ่ง เพราะภิกษุนั้น
ยังไม่แทงตลอดวิมุติอันยวดยิ่งในธรรมวินัยนี้ ปัญญาของเธอจึงเป็นโลกีย์.
จบ สูตรที่ ๔


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 14, 2018, 11:15:48 AM
สคารวสูตร

นิวรณ์เป็นปัจจัยให้มนต์ไม่แจ่มแจ้ง

             [๖๐๑] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น พราหมณ์ชื่อว่าสคารวะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า.
             [๖๐๒] ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้มนต์แม้ที่บุคคล
กระทำการสาธยายไว้นาน ไม่แจ่มแจ้งในบางคราว ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้มนต์แม้ที่มิได้กระทำการสาธยายเป็น
เวลานาน ก็ยังแจ่มแจ้งในบางคราว ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่กระทำการสาธยาย.
             [๖๐๓] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรพราหมณ์ สมัยใดแล บุคคลมีใจฟุ้งซ่าน
ด้วยกามราคะ อันกามราคะเหนี่ยวรั้งไปและไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งกามราคะที่
บังเกิดแล้ว ตามความเป็นจริง สมัยนั้น เขาไม่รู้ไม่เห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง
แม้ซึ่งประโยชน์บุคคลอื่นตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองอย่างตามความเป็นจริง มนต์
แม้ที่กระทำการสาธยายไว้นาน ก็ไม่แจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย.
             [๖๐๔] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ ซึ่งระคนด้วยสีครั่ง สีเหลือง
สีเขียว สีแดงอ่อน บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตาม
ความ เป็นจริงได้ ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยกามราคะ อันกามราคะ
เหนี่ยวรั้งไป และไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งกามราคะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความ
เป็นจริง ในสมัยนั้น เขาย่อมไม่รู้ ไม่เห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์
บุคคลอื่นตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองนั้นตามความเป็นจริง มนต์แม้ที่กระทำการ
สาธยายไว้นาน ก็ไม่แจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย.
             [๖๐๕] ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยพยาบาท
อันพยาบาทเหนี่ยวรั้งไป และย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งพยาบาทที่บังเกิดขึ้น
แล้วตามความเป็นจริง ...
             [๖๐๖] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ ซึ่งร้อนเพราะไฟเดือดพล่าน มี
ไอพลุ่งขึ้น บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริง
ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยพยาบาท อันพยาบาทเหนี่ยวรั้งไป
และย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งพยาบาทที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ...
             [๖๐๗] ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยถีนมิทธะ
อันถีนมิทธะเหนี่ยวรั้งไป ย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งถีนมิทธะที่บังเกิดขึ้น
แล้วตามความเป็นจริง ...
             [๖๐๘] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ อันสาหร่ายและจอกแหนปกคลุม
ไว้ บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริง ฉันใด
ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยถีนมิทธะ อันถีนมิทธะเหนี่ยวรั้งไป และย่อม
ไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งถีนมิทธะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ...
             [๖๐๙] ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจ-
*กุกกุจจะ อันอุทธัจจกุกกุจจะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก
ซึ่งอุทธัจจกุกกุจจะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ...
             [๖๑๐] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ อันลมพัดต้องแล้ว หวั่นไหว
กระเพื่อม เกิดเป็นคลื่น บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็น
ตามความเป็นจริง ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจกุกกุจจะ
อันอุทธัจจกุกกุจจะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งอุทธัจจกุกกุจจะ
ที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ...
             [๖๑๑] ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง ในสมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยวิจิกิจฉา
อันวิจิกิจฉาเหนี่ยวรั้งไป และไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งวิจิกิจฉาที่บังเกิดขึ้นแล้ว
ตามความเป็นจริง สมัยนั้น เขาย่อมไม่รู้ ไม่เห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง แม้ซึ่ง
ประโยชน์บุคคลอื่นตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองอย่างตามความเป็นจริง มนต์แม้ที่
กระทำการสาธยายไว้นาน ก็ไม่แจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย.
             [๖๑๒] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำที่ขุ่นมัวเป็นเปือกตม อันบุคคล
วางไว้ในที่มืด บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความ
เป็นจริง ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยวิจิกิจฉา อันวิจิกิจฉา
เหนี่ยวรั้งไป และย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งวิจิกิจฉาที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความ
เป็นจริง สมัยนั้น เขาย่อมไม่รู้ ไม่เห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์
บุคคลอื่นตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองอย่างตามความเป็นจริง มนต์ที่กระทำการ
สาธยายไว้นาน ก็ไม่แจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย.
             [๖๑๓] ดูกรพราหมณ์ นี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้มนต์แม้ที่กระทำการสาธยายไว้
นาน ไม่แจ่มแจ้งในบางคราว ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย.
             [๖๑๔] ดูกรพราหมณ์ ส่วนสมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยกามราคะ ไม่ถูกกาม-
*ราคะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งกามราคะที่บังเกิดขึ้นแล้วตาม
ความเป็นจริง สมัยนั้น เขาย่อมรู้ ย่อมเห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง แม้ซึ่ง
ประโยชน์บุคคลอื่นตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองอย่างตามความเป็นจริง มนต์แม้ที่
มิได้กระทำการสาธยายเป็นเวลานาน ย่อมแจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่กระทำการสาธยาย.
             [๖๑๕] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำอันไม่ระคนด้วยสีครั่ง สีเหลือง
สีเขียว หรือสีแดงอ่อน บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น พึงรู้ พึงเห็นตาม
ความเป็นจริง ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยกามราคะ ไม่ถูก
กามราคะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งกามราคะที่บังเกิดขึ้นแล้ว
ตามความเป็นจริง ฯลฯ
             [๖๑๖] ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยพยาบาท
ไม่ถูกพยาบาทเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งพยาบาทที่บังเกิดขึ้น
แล้วตามความเป็นจริง ฯลฯ
             [๖๑๗] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำที่ไม่ร้อนเพราะไฟ ไม่เดือดพล่าน
ไม่เกิดไอ บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริงได้
ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยพยาบาท ไม่ถูกพยาบาทเหนี่ยวรั้ง
ไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งพยาบาทที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็น
จริง ฯลฯ
             [๖๑๘] ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยถีนมิทธะ
ไม่ถูกถีนมิทธะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งถีนมิทธะที่บังเกิด
ขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ฯลฯ
             [๖๑๙] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ อันสาหร่ายและจอกแหนไม่ปก-
*คลุมไว้ บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริงได้ ฉันใด
ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยถีนมิทธะ ไม่ถูกถีนมิทธะเหนี่ยวรั้งไป
และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งถีนมิทธะที่บังเกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง ฯลฯ
             [๖๒๐] ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจ-
*กุกกุจจะ ไม่ถูกอุทธัจจกุกกุจจะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก
ซึ่งอุทธัจจกุกกุจจะที่บังเกิดขึ้นแล้ว ตามความจริง ฯลฯ
             [๖๒๑] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ อันลมไม่พัดต้องแล้ว ไม่หวั่นไหว
ไม่กระเพื่อม ไม่เกิดเป็นคลื่น บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น พึงรู้ พึงเห็น
ตามความเป็นจริงได้ ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจ-
*กุกกุจจะ ไม่ถูกอุทธัจจกุกกุจจะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก
ซึ่งอุทธัจจกุกกุจจะที่บังเกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง ฯลฯ
             [๖๒๒] ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยวิจิกิจฉา
ไม่ถูกวิจิกิจฉาเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งวิจิกิจฉาที่บังเกิดขึ้น
แล้ว ตามความเป็นจริง ฯลฯ
             [๖๒๓] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำอันใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว อัน
บุคคลวางไว้ในที่แจ้ง บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น พึงรู้ พึงเห็นตามความ
เป็นจริงได้ ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยวิจิกิจฉา ไม่ถูก
วิจิกิจฉาเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งวิจิกิจฉาที่บังเกิดขึ้นแล้ว
ตามความเป็นจริง สมัยนั้น เขาย่อมรู้ ย่อมเห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง แม้ซึ่ง
ประโยชน์บุคคลอื่นตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองอย่างตามความเป็นจริง มนต์แม้ที่
มิได้กระทำการสาธยายเป็นเวลานาน ย่อมแจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่กระทำการสาธยาย.
             [๖๒๔] ดูกรพราหมณ์ นี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้มนต์แม้ที่มิได้กระทำการสาธยาย
เป็นเวลานาน ก็ยังแจ่มแจ้งได้ในบางคราว ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่กระทำการสาธยาย.
             [๖๒๕] ดูกรพราหมณ์ โพชฌงค์แม้ทั้ง ๗ นี้ มิใช่เป็นธรรมกั้น มิใช่เป็นธรรมห้าม
ไม่เป็นอุปกิเลสของใจ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่ง
ผล คือ วิชชาและวิมุติ โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน? คือสติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์
ดูกรพราหมณ์ โพชฌงค์ ๗ นี้แล มิใช่เป็นธรรมกั้น มิใช่เป็นธรรมห้าม ไม่เป็นอุปกิเลสของใจ
อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชา และ
วิมุติ.
             [๖๒๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สคารวพราหมณ์ได้กราบทูล พระผู้มี-
*พระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอพระโคดมผู้เจริญ โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสก
ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.
จบ สูตรที่ ๕


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 14, 2018, 11:16:30 AM
อภยสูตร

ความไม่รู้ความไม่เห็นมีเหตุมีปัจจัย

             [๖๒๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น
อภัยราชกุมารเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ตรัสทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
             [๖๒๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปุรณกัสสปกล่าวอย่างนี้ว่า เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี
เพื่อความไม่รู้ เพื่อความไม่เห็น ความไม่รู้ ความไม่เห็น ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เหตุไม่มี
ปัจจัยไม่มี เพื่อความรู้ เพื่อความเห็น ความรู้ ความเห็น ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ดังนี้ ใน
เรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างไร?
             [๖๒๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรราชกุมาร เหตุมี ปัจจัยมี เพื่อความไม่รู้
เพื่อความไม่เห็น ความไม่รู้ ความไม่เห็น มีเหตุ มีปัจจัย เหตุมี ปัจจัยมี เพื่อความรู้
เพื่อความเห็น ความรู้ ความเห็น มีเหตุ มีปัจจัย.
             [๖๓๐] อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุเป็นไฉน ปัจจัยเป็นไฉน เพื่อความไม่รู้
เพื่อความไม่เห็น ความไม่รู้ ความไม่เห็น มีเหตุ มีปัจจัย อย่างไร?
             [๖๓๑] พ. ดูกรราชกุมาร สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยกามราคะ อันกามราคะ
เหนี่ยวรั้งไป และย่อมไม่รู้ ไม่เห็น อุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งกามราคะที่บังเกิดขึ้นแล้ว
ตามความเป็นจริง แม้ข้อนี้แล ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เพื่อความไม่รู้ เพื่อความไม่เห็น ความ
ไม่รู้ ความไม่เห็น มีเหตุ มีปัจจัย แม้ด้วยประการฉะนี้.
             [๖๓๒] ดูกรราชกุมาร อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยพยาบาท ...
             [๖๓๓] ดูกรราชกุมาร อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยถีนมิทธะ ...
             [๖๓๔] ดูกรราชกุมาร อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจ-
*กุกกุจจะ ...
             [๖๓๕] ดูกรราชกุมาร อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยวิจิกิจฉา
อันวิจิกิจฉาเหนี่ยวรั้งไป และย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งวิจิกิจฉาที่บังเกิดขึ้นแล้ว
ตามความเป็นจริง แม้ข้อนี้แล ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เพื่อความไม่รู้ เพื่อความไม่เห็น ความ
ไม่รู้ ความไม่เห็น มีเหตุ มีปัจจัย ด้วยประการฉะนี้.
             [๖๓๖] อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมปริยายนี้ชื่ออะไร?
             พ. ดูกรราชกุมาร ธรรมเหล่านี้ชื่อนิวรณ์.
             อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นิวรณ์เป็นอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต นิวรณ์เป็นอย่างนี้ ข้า
แต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลถูกนิวรณ์แม้อย่างเดียว ครอบงำแล้ว ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความ
เป็นจริงได้ จะกล่าวไปไยถึงการถูกนิวรณ์ทั้ง ๕ ครอบงำเล่า.
             [๖๓๗] อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เหตุเป็นไฉน ปัจจัยเป็นไฉน เพื่อความรู้
เพื่อความเห็น ความรู้ ความเห็น มีเหตุ มีปัจจัยอย่างไร?
             [๖๓๘] พ. ดูกรราชกุมาร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัย
วิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ เธอเจริญสติสัมโพชฌงค์อยู่ ย่อมรู้ ย่อม
เห็นตามความเป็นจริง ด้วยจิตนั้น แม้ข้อนี้แล ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เพื่อความรู้ เพื่อความ
เห็น ความรู้ ความเห็น มีเหตุ มีปัจจัย ด้วยประการฉะนี้.
             [๖๓๙] ดูกรราชกุมาร อีกประการหนึ่ง ฯลฯ ภิกษุย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อัน
อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ เธอเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์อยู่
ย่อมรู้ ย่อมเห็นตามความเป็นจริง ด้วยจิตนั้น แม้ข้อนี้แล ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เพื่อความรู้
เพื่อความเห็น ความรู้ ความเห็น มีเหตุ มีปัจจัย ด้วยประการนี้.
             [๖๔๐] อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมปริยายนี้ชื่ออะไร?
             พ. ดูกรราชกุมาร ธรรมเหล่านี้ชื่อโพชฌงค์.
             อ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค โพชฌงค์เป็นอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต โพชฌงค์เป็นอย่างนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลผู้ประกอบด้วยโพชฌงค์แม้อย่างเดียว พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็น
จริงได้ จะกล่าวไปไยถึงการที่ประกอบด้วยโพชฌงค์ทั้ง ๗ เล่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้า
พระองค์ขึ้นภูเขาคิชฌกูฏ แม้ความเหน็ดเหนื่อยกาย ความเหน็ดเหนื่อยใจ ของข้าพระองค์ ก็
สงบระงับแล้ว และธรรมอันข้าพระองค์ก็ได้บรรลุแล้ว.
จบ สูตรที่ ๖

-----------------------------------------------------

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

             ๑. อาหารสูตร       ๒. ปริยายสูตร        ๓. อัคคิสูตร
             ๔. เมตตสูตร         ๕. สคารวสูตร         ๖. อภยสูตร
จบ หมวด ๖ แห่งโพชฌงค์ โพชฌงค์แห่งสังยุต



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 14, 2018, 11:40:38 AM
(รอทำให้แจ้งขึ้นอีก)

นิวรณ์ ๕ คือสิ่งใด มันเป็นมโนสังขาร หรือจิตสัขาร หรือวิญญาณสังขาร หรือเจตนา ..เราติดค้างใจนี้มาก ก่อนนี้ได้เห็นว่ามันเป็นตะกอนของจิต มันอยู่ในจิต อีกประการ ก็เห็นว่ามันเ็นความคุ้นชินของจิต ความหมายรู้อารมณ์ของจิต ซึ่งอะนไหนเราไม่แน่ชัด วันนี้จึงได้มีโอกาสถามหลวงปู่บุญกู้ แต่ด้วยมีญาติโยมเยอะจึงมีโอกาสไม่ถึงนาทีถามตอบหลวงปู่ เท่าที่พอจะจำได้มีใจความที่หลวงปู่ตอบประมาณดังนี้

- เราได้เล่าอาการที่เราเห็นนิวรณ์ให้หลวงปู่ฟัง ถามหลวงปู่บุญกู้ว่าเจตนาเป็นนิวรณ์ไหมครับ เพราะมีช่วงปีก่อนนี้ประมาณวันที่ 6/1/60 ผมได้เห็นนิวรณ์ตอนนั่งสมาธิกรรมฐานกับหลวงปู่บุญกู้ คือ พอเมื่อผมนั่งสมาธิไปรวมจิตไว้ในภายในปล่อยให้จิตได้พัก เมื่อจิตสงบ จิตได้สมาธิ นิ่ง ว่าง แช่ มันเกิดนิมิตเหมือนเมฆหมอกจางๆพน้อมกับอาการหนึ่งความรู้สึกอะไรก็ไม่รู้เคลื่อนตัวรายล้อมแทรกซึมจิตตัวรู้อยู่ แต่จิตตัวรู้มันนิ่งเฉย แล้วทำแค่รู้ ไม่ทำอะไรกับมัน ไม่เสพย์ ไม่ผลัก ไม่เข้าร่วม ไม่ใก้ความสำคัญเกินกว่าทำแค่รู้สิ่งนั้น แล้วก็วูบแช่ แล้วรู้ตัวอีกทีมีอาการอยู่ดังเดิม จึงมีเจตนาขึ้นหมายรู้อารมณ์ว่ามันคืออะไร สักพักเข้าไปรู้ว่า มันหมองๆ เนือยๆ หน่วงๆ ตรึงๆ รายล้อมจิต พยายามเข้ามาเกาะ แทรกซึมจิต ปรกคลุม ห่อหุ้มรัดจิต บีบกดตัวรู้ให้ร่วงจมลง แต่ยังไม่รู้ว่าคืออะไรแค่รู้ชัดทั่วพร้อมอาการ พอเมื่อเกิดความจำได้หมายรู้ จึงเห็นชัดว่ามันคือนิวรณ์มันรายล้อมจิต พยายามแซกซึมเข้ามาอยู่ในจิต คือ อาการที่หดหู่ ห่อเหี่ยว จึงรู้ว่าแต่เริ่มเดิมทีเป็นเพียงอาการที่จิตเสวยอารมณ์ความรู้สึก แต่อาศัย ความหมายรู้อารมณ์ มีมโนสัญเจตนาเข้าไปรู้ในอาการน้นว่าคืออะไร หมายรู้อารมณ์ นิวรณ์ เกิดจากสัญญา ความหมายรู้อารมณ์ด้วยสัญญา จิตสังขารเหล่าใด แต่จนแล้วจนรอดผ่านมา 1 ปี ผมก็ไม่ชัดแจ้งตัวตนของนิวรณ์ว่ามันคิออะไร อาการของจิต สัญญา เจตนา เป็นธัมมารมณ์อะไร

- หลวงปู่บุญกู้ท่านจึงสอนเราว่า..นิวรณ์ มันเป็นส่วนหนึ่งของจิต กามให้เห็นอสุภะ พยาบาทให้ใช้เมตตา (หลวงปู่พูดถึงนิวรณ์หดหู่ ฟุ้งซ่าน หลง แต่เราไม่ได้ยินเพราะหลวงปู่พูดเบามากได้ยินแค่กาม พยาบาท)



เมื่อกลับถึงบ้านเราให้หวนคำนึงถึุงเมื่อตอนกรรมฐานในทุกๆวัน ที่ข้ามพ้นมันได้ หนทางวิธีที่ใช้ เอามาประกอบกับคำสอนหลวงปู่แล้วลองเริ่มนั่งสมาธิใหม่ โดยหมายใจเข้าไปรู้นิวรณ์ ทำซ้ำๆบ่อยๆ พร้อมนึงถึงคำสอนหลวงปู่ ก็เกิดความแูกคิดถึงคำบางคำขึ้น ซึ่งคาดว่าเป็นคำที่หลวงปู่่สอนเรา แต่ยังไม่แน่ชัดเพราะไม่รู้ความคิดของคำนี้เกิดจากตนเองปรุงแต่งตามจริตตน หรือว่าจำได้ว่าหลวงปู่พูดจริงๆ (ส่วนนี้ไม่แน่ชัดไม่ได้ยินหลวงปู่พูด แต่เราตีความเองจากบางคำที่ได้ยินประกอบกับที่ตนเองเจอซึ่งไม่ใช่คำสอนหลวงปู่แบบตรงๆชัดเจนได้ดังนี้
..เราคาดคะเนจากความหน่วงนึกคิดที่เลิกลางจับต้นชนปลายไม่ถูกเพราะจะระลึกได้ว่าได้ยินคำใดจากหลวงปู่บ้าง เราจึงนึกคิดอนุมานเอาเองว่าหลวงปู่พูดถึงเรื่อง..นิวรณ์ ความหดหู่ ง่วงซึม ฟุ้งซ่าน หลง ได้ดังนี้ว่า
..ง่วง ห่อเหี่ยว หดหู่ ซึมเศร้า ใช้สติสัมปะชัญญะรู้ตัวตั้งใจมั่นไม่สัดส่าย ตามรู้เห็นตัวหดหู่ เห็นตัวซึ่มง่วงนี้
..ฟุ้งซ่าน ให้ตั้งสติสัมปะชัญญะรู้ตัวรู้กิจการงานที่ตนกำลังทำให้ปัจจุบัน ทำจิตให้ตั้งมั่นไม่ตามความคิด บริกรรมพุทโธ รู้ลมหายใจ รวมจิตลงสงบลงไว้ภายในจิต ไม่ติดสมมติความคิด (เหมือนเราตั้งสติไว้เฉพาะหน้าไมยึดสิ่งที่จิตรู้ เพราะล้วนเป็นสมมติทั้งหมด มีสมมติความคิดเป็นต้น รู้ด้วยคิดเมื่อไหร่ก็สมมติเมื่อนั้น แล้วรวมจิตลงไว้ในภายในให้จิตได้พัก) (เพราะวันนี้ 12/1/61 เรานั่งกรรมฐานกับหลวงปู่ เพราะฉี่บ่อยและเป็นหวัดไม่สบายกายใจ ทำให้เราฟุ้งซ่านมาก จึงฟังกรรมฐานแล้วตั้งสติไว้เฉพาะหน้ารวมจิตลงเกิดความคิดฟุ้งเราก็ระลึกในใจว่า..ละสมมติความคิดนั้นไปเสีย ปล่อยความคิดฟุ้งซ่านนั้นๆไปเสีย ช่างมันให้มันเป็นไปของมัน เราไม่สนมัน ความคิดไม่ใช่ใจ มาทำให้ใจเราฟุ้งซ่านวุ่นวายทำงานหนักให้เหนื่อยเปล่า เฉยกับความคิด ช่างความคิดมันปล่อย-ละ-วาง-เฉยกับความคิดเหล่านี้มันไปเสีย..ให้จิตเราได้พักเสียบ้าง แล้วระลึกรวมจิตลงหมายเพียงให้มันได้พัก จิตมันก็สงบ เราจึงอนุมานแบบนี้ นิวรณ์มันไม่ใช่จิตแต่เป็นส่วนหนึ่งของจิต)

คิดเอาเองไม่เห็นจริงว่า..เราคิดว่าละเจตนา ก็ละกรรม คือ ความคิด สัญญา นิวรณ์ได้ ละกิเลส หยาบ กลางได้

คิดเอาเองไม่เห็นจริงว่า.. เราคิดว่านิวรณ์เป็นสังโยชน์ 10 ละนิวรณ์ก็เท่ากับตัดสังโยชน์

อวิชชา เป็น สัญญาตัวรู้สมมติอุปาทานของจิต จิตยึดสัญญา รูปสัญญา โสตะสัญญา ฆานะสัญญา โผฐัพพะสัญญา ธัมมะสัญญา อาศัยผัสสะเกิดมีขึ้น อวิชชากาลก่อนจึงไม่มี แต่นี้ไปจึงมี



มหาสติปัฏฐาน ๔ และ โพชฌงต์ ๗ ใช้ฆ่านิวรณ์ ๕

1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน(อานาปานสติ, สัมปะชัญญะ, อิริยาบถ, ฌาณ) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน(ทำแค่รู้ความรู้สึก ตามรู้ว่าเกิดด้วยกาย หรือใจ อิงอามิส หรือไม่อิงอามิส อาการ, สมมติ) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน(เวทนา สัญญา สังขาร เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อะไรเป็นเหต เป็นอาหาร อะไรเป็นปัจจัย อะไรทำให้ตั้งอยู่ อะไรดับเพราะอะไร, สมมติความคิดกิเลวของปลอม)

..สติสัมโพชฌงค์ ธัมมะวิจยะสัมโพชฌงค์ วิริยะสัมโพชฌงค์ ปิติสัมโพชฌงค์

** ใช้ฆ่า หดหู่ เซื่องซึม ห่อเหี่ยว เบื่อหน่าย ง่วงนอน **



2. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน(อานาปานสติ, สัมปะชัญญะ, อิริยาบถ,,ฌาณ) เเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน(ทำแค่รู้ความรู้สึก ตามรู้ว่าเกิดด้วยกาย หรือใจ อิงอามิส หรือไม่อิงอามิส อาการ, สมมติ) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน(เวทนา สัญญา สังขาร เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อะไรเป็นเหต เป็นอาหาร อะไรเป็นปัจจัย อะไรทำให้ตั้งอยู่ อะไรดับเพราะอะไร, สมมติความคิดกิเลวของปลอม)

..สติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์(สงบใจจากกิเลส) สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์

** ใช้ฆ่า ฟุ้งซ่าน ซ่านไปในอดีตบ้าน อนาคตบ้าง ตามที่ยินดีบ้าง ตามที่ยินร้ายบ้าง ลงในกามราคะบ้าง ลงในความคับแค้น ผูกโกรธพยาบาทบ้าง **



3. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน(กายคตาสติ, ธาตุ ๔, อสุภะ, นวสีวถิกาป่าช้า ๙, ฌาณ)เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน(ทำแค่รู้ความรู้สึก ตามรู้ว่าเกิดด้วยกาย หรือใจ อิงอามิส หรือไม่อิงอามิส อาการ, สมมติ) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน(เวทนา สัญญา สังขาร เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อะไรเป็นเหต เป็นอาหาร อะไรเป็นปัจจัย อะไรทำให้ตั้งอยู่ อะไรดับเพราะอะไร, สมมติความคิดกิเลวของปลอม)

..สติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์

** ใช้ฆ่า กาม เหมือนฆ่าฟุ้งซ่านด้วยกามเกิดแต่ความดำริถึง ความหมายรู้อารมณ์สำคัญมั่นหมายของใจด้วยราคะ **



4. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน(อานาปานสติ, สัมปะชัญญะ, อิริยาบถ,,ฌาณ จาคะ ศีล เจตนาละเว้นด้วยเพรหมวิหาร ๔) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน(ทำแค่รู้ความรู้สึก ตามรู้ว่าเกิดด้วยกาย หรือใจ อิงอามิส หรือไม่อิงอามิส อาการ, สมมติ) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน(เวทนา สัญญา สังขาร เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อะไรเป็นเหต เป็นอาหาร อะไรเป็นปัจจัย อะไรทำให้ตั้งอยู่ อะไรดับเพราะอะไร, สมมติความคิดกิเลวของปลอม)

..สติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์

** ใช้ฆ่า พยาบาท เหมือนฆ่าฟุ้งซ่านด้วยปฏิฆะ ปฏิฆะเกิดแต่ความขัดข้องแวะไม่ยินดีไม่เจริญใจทั้งหลาย ความหมายรู้อารมณ์สำคัญมั่นหมายของใจ **



5. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ปัญญาเห็นแจ้งในพระอริยะสัจ ๔

.. สติสมาธิสัมโพชฌงค์ ธัมมะวิจยะสัมโพชฌงค์ วิริยะสัมโพชฌงค์ ปิติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ วิราคะสัมโพชฌงค์

** ใช้ฆ่า อวิชชา ความรู้แต่สมมติของปลอม เห็นแต่สมมติของปลอม ติดข้องหลงอยู่ ไม่รู้ของจริงต่างหากจากสมมติ ไม่เป้นตัวตนสมมติ ไม่ตื่นจากสมมติ หลงมัวเมาหมกมุ่นลุ่มหลงสมมติสุขแค่เนื่องด้วยกายแค่ติดข้องเวียนว่ายไม่มีสิ้นสุด **






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 23, 2018, 11:48:03 PM
บันทึกกรรมฐาน วันที่ 24/1/61 ธรรมที่ทำให้อิ่ม ฆ่าตัณหาที่ไม่รู้จักอิ่ม

หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฒฑโน ท่านกรุณาสอนเราว่า

..ละโลภได้ทาน ละโกรธได้ศีล ละหลงได้ปัญญา

..สุขทางโลกมันสุขที่เนื่องด้วยกาย อยู่ได้นานสุดแค่หมดลมหายใจเรานี้

..สุขทางธรรมมันเนื่องด้วยใจที่อิ่มพอ มันติดตามไปทุกภพชาติจนถึงนิพพาน



โลภ มันอยากได้แสวงหาไม่รู้จักพอ ได้มาเท่าไหร่มั่นอิ่มไม่เป็น จะทำยังไงให้มันอิ่มเป็นนะ

โทสะ มันร้อน มันเดือด เย็นไม่ได้ พอไม่เป็น จะทำยังไงให้มันอิ่มไม่ร้อน เย็นใจ ปล่อย ละ วาง พอเป็นนะ

กาม มันตราตรึงยินดี ให้ใจใคร่ได้ลิ้มสัมผัส จนหมกมุ่น ร้อนรุ่ม ระส่ำ เสพย์เท่าไหร่ก็ไม่พอ อิ่มไม่เป็น จะทำยังไงให้มันอิ่ม มันพอเป็นนะ

..เมื่อเราวิตกแบบนี้ ทำไว้ในใจแบบนี้ ลองน้อมดูธรรมที่เกิดขึ้น หวนระลึก และนั่งสมาธิด้วยทำมิจฉาให้เห็นความเป็นไปของมัน แล้วน้อมเอาคำสอนของหลวงปู่บุญกู้ อนุวัฒฑโน ผู้เป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ของเรา มาลงใจเจริญในใจขึ้น ทำให้เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของมัน ด้วยความเป็นปุถุชนที่รู้น้อยของเรา จึงเห้นทางแก้ให้อิ่มกิเลส พอไม่ต้องการ ไม่ไหลตามกิเลสอีกตามความเป้นปุถุชนของเราได้ ดังนี้..


ก. โลภ ละโลภได้ทาน
  ความติดใจยินดี อยากได้ต้องการ เร่าร้อน ร้อมรุ่มเพื่อให้ได้มาครองอิ่มไม่เป็น หวงแหน มีใจเข้ายึดครองตัวตนในโลกทั้งปวง ไม่รู้ตัว ไม่รู้จริง ไม่รู้พอ ทะยานอยากต้องการ อยากมี อยากเป็น ภวะตัณหา / ทานทำให้อิ่มใจ
ธรรมที่แก้ให้อิ่ม.. ใช้ทาน(การกระทำที่ให้) ภาวนาลงในโพชฌงค์+จาคะ เพื่อละ ให้อิ่มใจ อิ่มเต็มกำลังใจ ดังนี้

๑. ทำไว้ในใจถึงการที่เราเป็นผู้ให้สงเคราะห์คนอื่น
...(เราเป็นผู้สงเคราะห์โลก..หวังให้คนอื่นได้ประโยชน์สุขดีงาม..แล้วทำการให้)

๒. จิตจับที่จิต ไม่เอาใจเข้ายึดครองสิ่งไรๆในโลกทั้งปวง ไม่ติดใจยึดเกี่ยวสิ่งไรๆในโลก จิตแผ่น้อมไปในการสละ
...(ทำความสงบใจ ไม่ซ่านไหลตามสิ่งทั้งปวง สงบนิ่งรวมจิตลงไว้ภายในจิตไม่ส่งออกนอก ไม่ติดใจหลงตามสมมติความคิดของกิเลสที่ใช้หลอกล่อจิตให้ไหวตาม ทำความสงบใจจากกิเลส สงบนิ่งน้อมใจไปในการสละ ละอุปาทานความเข้าไปยึดถือเห็นเป็นตัวตนต่อสิ่งนั้นๆ..ด้วยทำไว้ในใจถึงการสละไม่เอาใจเข้ายึดครองสิ่งไรๆทั้งปวงในโลก เพราะมันอยู่ได้นานสุดแค่เพียงหมดลมหายใจเรานี้เท่านั้น สุขทางโลกมันเนื่องด้วยกาย เป็นสัมผัสที่ไม่ยั่งยืน อิ่มไม่เป็น บังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน ความรู้จักอิ่ม รู้จักหยุด รู้จักพอนี้มันทำให้ใจเราสบายเป็นสุขที่เนื้องด้วยใจ มันอิ่มเต็มกำลังใจ พอ จะอิ่มได้ก็ต้องสละ ไม่เอาใจเข้ายึดครองสิ่งไรๆในโลก)


ข. โทสะ ละโทสะได้ศีล
   ความข้องแวะ ขัดเคือง ติดข้อง ขัดข้อง ความเร่าร้อน ร้อมรุ่ม คับแค้น อัดปะทุ ระเบิด ขุ่นเคือง กลัว ระแวง ริษยา ยินร้าย ชิงชัง ผูกเกลียด ผูกโกรธ หมายรู้อารมร์ด้วยความเกลียดชังพยาบาทไม่รู้ตัว ทะยานอยากกระเสือกกระสนผลักไสหลีกหนี ไม่ต้องการพบ ไม่อยากเจอ ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น วิภวะตัณหา  / ศีลทำให้ใจเป็นปรกติ มีความเย็นใจไม่เร่าร้อน
ธรรมที่แก้ให้อิ่ม.. ใช้ศรัทธาอันประกอบด้วยศีล ภาวนาลงในโพชฌงค์+เมตตาตนเอง ลงเจโตวิมุติ ความเย็นใจ ผ่องใส เบิกบาน ไม่ติดใจข้องแวะสิ่งไรๆในโลก แผ่ความสุขด้วยกาย สุขด้วยใจ จิตรวมไว้ภายใน ปล่อย ละ วาง ไม่ทำเจตนาให้ล่วงบาปอกุศล ดังนี้

๑. ทำไว้ในใจถึงความเสมอนด้วยตนสงเคราะห์ลงในศรัทธาอันประกอบด้วยศีล
...(ก. มีกรรม วิบากรรม เป็นแดนเกิด ติดตาม อาศัย ให้เข้าครองขันธ์ ๕ ด้วยกรรมเหมือนกับเรา มีรูปกานและจิตใจที่งามหรือทรามต่างๆกันไป ทำผิดที่ผิดทางขัดใจคน ทำดีไม่ได้ดี ทำคุณคนไม่ขึ้น (มามืด) หรือ วิบากชั่วทำให้คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว ทำดีไม่ได้ มีใจกุศลเกื้อกูลผู้อื่นไม่ได้ ต้องเห็นแก่ตัว ตระหนี่ ริษยา หวาดกลัว ระแวง ทำกายและใจให้ร้อนรุ่มเะร้าร้อนติดข้องทำร้ายเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอยู่ทุกๆขณะจิต ไม่มีปรกติที่เย็นกายสบายใจ ผ่องใส สงบสุข(ไปมืด))
...(ข. สิ่งมีชีวิตจิตใจเสมอกัน ย่อมมีความรู้สึก ความรัก โลภ โกรธ หลง เสมอด้วยกัน เรามีเขาก็มี เรามีอยากเขาก็มีอยาก เรามีรักเขาก็มีรัก เรามีโลภเขาก็มีโลภ เรามีโกรธมีชังเขาก็มีโกรธมีชัง เรามีหลงเขาก็มีหลง เมื่อเราและเขาต่างก็มีเสมอกันล้วนแต่เป็นไปด้วยกรรมการกระทำทางกาย วาจา ใจความรู้สึก นึกคิด ปรุงแต่งสมมติทั้งปวงล้วนมาจากความยึดหลงเสมอกัน เรามีความรู้ในธรรมอบรมจิตสูงกว่าเขาดีกว่าเขา เราควรสงเคราะห์เขา เราก็อย่าไปโกรธแค้น เกลียดชังเขา ให้เขารับกรรมชั่วเพิ่ม จะทำให้เขาเป็นคนดีไม่ได้ ถ้าดีได้จะเว้นจากความเบียดเบียนทั้งสิ้นนี้)
...(ค. สงเคราะห์เมตตาตนเอง โกรธ แค้น พยาบาท มันทำให้เราเร่าร้อน ร้อนรุ่ม เดือดดาน กายใจไม่เป็นปรกติ อยู่โดยความเย็นกายสบายใจไม่ได้ ไม่มีกายใจเป็นปรกติ จะอยู่ที่ใดก็สบายเย็นใจสงบเบาสบายไม่ได้ ก็เพราะเราผูกเวรโกรธเคือง ผูกพยาบาทมุ่งร้ายนี้แล
    ที่เราอยากฆ่าสัตว์ อยากได้ของผู้อื่น อยากครอบครองบุคคลอันเป็นีท่รักของผู้อื่น อยากพูดทำร้ายผู้อื่นหรือพูดเพื่อประโยชน์ส่วนตนโดยความมิชอบ ความเสพย์สิ่งที่ทำให้ระลึกยับยั้งฉุกคิดแยกแยะดีชั่วไม่ได้ ทั้งหมดล้วนเพราะเราใจร้าย คิดร้าย มุ่งร้าย ใจชั่ว ไม่สงสารตนเองและผู้อื่นใจชั่วไม่สนว่าผู้อื่นจะต้องเจ็บปวดทุกข์ยากคับแค่นทรมานแค่ไหน มีแต่ใจเร่าร้อนที่จะทำชั่วนั้นก็เพราะด้วยโทสะนี้แล
    เราละโทสะได้ เราก็เย็นใจสบายไม่เร่าร้อน เมตตาตนเองสงเคราะห์ตนเอง ให้ตนมีปรกติที่ไม่เร่าร้อยเย็นใจ ไม่มีเวรภัย ผูกโกรธใคร ไม่มีพยาบาทผูกแค้นใครในกายใจตน)
...(ง. ไม่เอาความสุขสำเร็จของตนเอง ไปผูกขึ้นไว้กับใคร หรือสิ่งอื่นใดในโลก ก็เมื่อเราได้พิจารณาตามในข้อ ก., ข., ค. ข้างต้นนี้แล้วจะเห็นได้ทันทีว่า ความสุขสำเร็จของเรานี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้อื่นหรือสิ่งอื่นใดเลย มันอยู่ที่กายใจเรานี้เท่านั้น เมื่อเราไม่เอาใจเข้ายึดครองตัวตนสิ่งใดภายนอกว่าเป็นความสุขสำเร็จตน ไม่เอาความสุขสำเร็จของตนไปผูกขึ้นไว้กับสิ่งใดๆในโลก จึงไม่มีใจยึดครองสัมผัสที่รักที่ชังต่อสิ่งไรๆในโลก ดังนี้แล้วใจที่หมองไหม้สุมด้วยไฟโทสะเราไม่มี จิตใจอันชั่วร้าย ที่คิดชั่ว มุ่งร้ายทำลายหมายปองครอบครองฉุดพรากเอาชีวิต สิ่งของ บุคคลอันเป็นที่รักของผู้อื่นก็ไม่มี เราจะอยู่ที่ใดพบเจออะไรก็เย็นใจไม่ร้อนรุ่ม เมื่อเราเอาความสุขสำเร็จของตนเองไปผูกขึ้นไปกับสิ่งทั้งปวงในโลก ความไม่สมปารถนา ประสบสิ่งอันไม่เป้นที่รักที่เจริญใจ
    กล่าวคือ..ด้วยเราเอาใจหมายปองเข้ายึดความสำคัญมั่นหมายไว้ในใจว่า..เราต้องได้รับสัมผัสได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รู้รส ได้สัมผัสกาย ได้สัมผัสใจแบบนี้ๆ ตามที่ใจตนยินดีก็เรียกว่าสุข หากเราพบเจอการกระทำกระทบสัมผัสใดๆที่ไม่ใช่แบบที่ตนสำคัญมั่นหมายไว้ในใจไว้ว่าเป็นสุขมันก็ทุกข์ ทั้งๆที่ทุกอย่างมีความเป็นไปของมันตามกรรม จะมี จะได้ จะลำบาก จะดับสูญ จะเป็นไปก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ให้เราต้องพบเจอเท่านั้น เพราะเอาใจเข้ายึดครองสิ่งที่รัก จึงมีสิ่งที่ชัง
    เพราะใจมุ่งร้ายหมายปองจึงเร่าร้อนประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่เจริญใจทั้งสิ้นนี้ ดังนี้พึงละทิ้งเสียซึ่งการเอาความสุขสำเร็จของตนเองไปผูกขึ้นไว้กับผู้อื่น เพราะมันหาประโยชน์สุขไรๆไม่ได้นอกจากทุกข์ ถอนใจออกเสียว่านั้นไม่ใช่สุขแต่จริงของเรา สุขแท้จริงนี้ก็เหมือนความรู้สึกทรี่เราเมตตาตนเองจนตนเองไม่เร่าร้อนหมกไหม้จากไฟโทสะ ความสุขสำเร็จทั้งปวงอยู่ที่เราไม่ติดใจข้องแวะสิ่งไรๆให้เกิดทุกข์ทั้งสิ้นนี้นั่นเอง สุขอยู่ที่ใจไม่ใช่สัมผัสภายนอก การสงบสำรวมระวังอินทรีย์มีศีลสังวรณ์ด้วยถอนใจออกจากสมมติ ความคิดร้าย มุ่งร้ายหมายปองก้าวล่วงเบียดเบียนใครเราย่อมเย็นใจเป็นสุขเพราะปราศจากไฟแห่งโทสะ
    ดังนั้นสงบใจรวมทุกอย่างไว้ในภายในใจ ไม่ติดใจข้องแวะสิ่งไรๆเห็นเพียงธรรมชาติของโลก ธรรมชาติที่เนื่องด้วยกรรม ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกนึกคิดเป็นใหญ่ ไม่เอาความสุขสำเร็จของตนไปผูกขึ้นไว้กับใครหรือสิ่งอื่นใดในโลก มีใจเอื้อเฟื้อ เกื้อกูล เข้าใจกัน เห็นความเสมอด้วยตนดังนี้ จึงประกอบด้วยสุข)

๒. จิตจับที่จิต ไม่เอาใจข้องแวะ ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ ไม่เอาความสุขสำเร็จของตนไปผูกขึ้นไว้กับสิ่งทั้งปวงในโลก จิตแผ่น้อมเอาความเย็นใจเป็นที่สบายไม่ทีใจข้องแวะสิ่งไรๆน้อมไปในการสละ
...(ทำความสงบใจ ไม่ซ่านไหลตามสิ่งทั้งปวง สงบนิ่งรวมจิตลงไว้ภายในจิตไม่ส่งออกนอก ไมติดใจข้องแวะสมมติความคิดของกิเลสที่ใช้หลอกล่อจิตให้ไหวตาม ทำความสงบใจจากกิเลส ทำไว้ในใจถึงความไม่ติดใจข้องแวะความรู้สัมผัส ความคิด ความรู้สึกไรๆ สงบนิ่ง ไม่เอาความสุขสำเร็จของตนไปผูกขึ้นไว้กับใคร สิ่งอื่นใด หรือสัมผัสไรๆในโลก น้อมใจไปในตวามเมตตาสงเคราะห์ตังเราเองให้ไม่เร่าร้อน มีใจเป็นปรกติ เว้นจากความผูกโกรธ แค้น พยาบาท เบียดเบียน เพื่อให้ตนถึงความปรกติเย็นใจ เป็นที่สบายกายใจ แจ่มใสเบิกบาน ไม่ขุ่นร้อน ข้องเดือนเผาไหม้กายใจตน เมื่อความไฟโทสะดับจิตจะเย็นสบายปราโมทย์อิ่มใจเป้นสุขขึ้นมาทั้นที เมื่อรู้ดังนี้แม้เขายังทำสิ่งที่เบียดเบียนทำร้ายผู้อืนอยู่สัตว์ย่อมไม่เป็นปรกติมีความเร่าร้อนอยู่ทุกขณะ ไม่เย็นกายสบายใจ เมื่อดับไฟคือโทสะนี้ได้จิตจึงจะเป็นที่สบาย เหมือนที่เกิดขึ้นแก่เรา รวมจิตไว้ภายในจิตมีกำลัง มีอาการที่แผ่ น้อมเอาความเย็นกายสบายใจ เบาใจเป็นปรกติสุขของเรานี้แผ่ไปให้สัตว์ได้รับ ให้เขาเป็นปรกติ ถึงความเย็นกายสบายใจไม่เร่าร้อน ไม่เบียดเบียนกันเพราะความปรกติด้วยศีลอันประกอบด้วยความเกื้อกูลสละ สงเคราะห์ ไมซ่านไหวสูญเสีย ไม่ทำเจตนาที่ล่วงอกุศลให้เป็นบาปกรรม รู้ ปรกติ วาง)


- โมหะ ละความลุ่มหลงได้ปัญญา ด้วยรู้ของจริงต่างหากจากสมมติของปลอม

ค. กาม ละกามได้ความสุขที่เนื่องด้วยใจไม่อิงอามิส
  เพราะรู้แต่สมมติไม่รู้จริง จึงติดตรึงหมายใจในสัมผัสที่รู้สึกหมายรู้อารมณ์ ละกามจิตก็ผ่องใส ไม่หลงสมมติ กาม คือ ความรู้สึกที่มันตราตรึงยินดี หน่วงตรึงจิตให้ไหลตามอารมณ์
- มีอาการที่เกาะติดแนบชิดไหลตามอารมณ์ที่รู้สัมผัสอยู่นั้น เหมือนใจไหลไปตามสิ่งที่จิตรู้
- มีอาการที่ใจกระเพื่อมถูกดูดเกาะติดแนบชิดไหลตามอารมณ์ที่รู้สัมผัสอยู่นั้น เหมือนใจไหลไปตามสิ่งที่จิตรู้ ใจถูกดูดให้ไหลตามด้วยอารมณ์นั้น เพราะใจไม่มีกำลังอยู่ด้วยตนเองไม่ได้ ไม่หนักแน่น ไม่มั่นคงแข็งแรง ไม่มีหลัก ปลิวไหวไปตามแรงดูดนั้นไปเรื่อย แต่กลับยินดีในแรงดูดที่ทำให้ใจลอยไหวไปนั้น
- ทำให้ติดตึงหมกมุ่น โหยหาย เร่าๆร้อนๆ ร้อนรุ่มที่จะได้เสพย์เสวยรสอารมณ์นั้นๆ ยิ่งเสพย์ยิ่งติดตรึงเสพย์เท่าไหร่ก็ไม่พอ อิ่มไม่เป็น จิตสำคัญมั่นหมายยกเอาสิ่งที่โหยหานั้นมายึดกอดไม่ห่าง..ให้ตราตึงตรึกถึงอยู่ตลอด กามตัณหา / กามเกิดแต่ควมดำริถึง ตรึกถึงด้วยหมายรู้อารมณ์ในกาม นันทิ ราคะ เมถุน ทำปัจจุบันสัญญาล้างสัญญาความรู้อารมณ์ด้วยกาม
- อุปมาดั่งแม่เหล็กเคลื่อนรอยๆ ลูกตุ้มที่เบาก็ถูกดูดกวัดแกว่งลอยตามไปติดแที่แม่เหล็กนั้น ถึงแม้แม่เหล็กจะอยู่ห่างไม่ชิดติดลูกตุ้ม ลูกตุ้มที่เบาไม่มีน้ำหนั่งมั่นคงพอย่อมลอยเคลื่อนไหวไปตามแม่เหล็ก ไม่ว่าแม่เหล็กจะเคลื่อนไปไหน ทิศทางใด ลูกตุ้มที่ควรจะหนักแน่นนิ่งอยู่ ก็ไม่เป็นตัวของตัวเอง ต้องพล่านแล่นตามแม่เหล็กนั้นทุกครั้งไป ก็เมื่อลูกตุ้มนั้นหนักแน่นมีน้ำหักมั่นคงหนักหน่วง แม่เหล็กนั้นก็ไม่สามารถจะดูดเหล็กนั้นให้เคลื่อนตามได้
- อุปมานี้ฉันใด แม่เหล็กก็เป็นเหมือนตัวสมมติที่มากระทบให้จิตรู้ สภาวะการกระทบที่ทำให้ใจกระเพื่อมรู้สัมผัสของสมมตินี้ก็เป็นเหมือนผัสสะ แรงดึงดูดที่ดูดใจให้กระเพื่อมไหวตามก็เป็นเหมือนกาม ลูกตุ้มเหล็กก็เป็นเหมือนใจเราฉันนั้น
- เมื่อแม่เหล็กเคลื่อนมาใกล้ลูกตุ้มก็เกิดการกระทบสัมผัสกระเพื่อมที่ลูกตุ้ม การกระทบสัมผัสนั้นเป็นสัมผัสทางอายตนะ ที่กิเลสวางไว้หลอกใจ ให้ใจกระเพื่อมตาม ด้วยแรงดึงดูดจากอารมณ์สมมติซึ่งแรงดึงดูดนั้นคือกามนั้นเอง กามดูดจิตให้ไหวตราตรึง ติดตรึงไหลตามแนบชิดแม่&#


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 26, 2018, 08:41:06 PM
บันทึกกรรมฐาน วันที่ 26/1/61 เรื่องกามที่วิตกในใจ หลวงปู่ได้เทศนาไขข้อข้องใจให้หมด

กาม เราเห็นตรงเหมือนที่หลวงปู่แสดงธรรมไขข้อข้องใจให้ว่าเราทำถูกไหมหรือผิดไหม

ทานที่สละ ศีลที่สำรวม อบรมจิตให้เห็นจริง ถึงจริง ได้จริง เราไม่ทำไปรู้ไปจำมา พลิกแพลงพูดยังไง สิ่งนั้นจะได้มาก หรือน้อย เขาก็ได้ มันก็เป็นของเขา ไม่ใช่เราได้ หากเราลงมือทำเอง สิ่งได้มานั้นจะมากหรือน้อย เราก็ได้ มันก็เป็นของเรา ไม่ใช่คนอื่นได้


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กุมภาพันธ์ 06, 2018, 10:45:38 PM
1. ม้างกายเห็นธาตุ เห็นธาตุรู้เวทนาจากสัมผัสอันเนื่องด้วยกาย ไม่เอาใจเข้ายึดครองธาตุเห็นเวทนาอันเนื่องด้วยใจ อุเบกขาอันบริสุทธิ์เห็นจิตสังขาร จิตจับที่จิตเห็นจิตปลอม จิตปลอมหลุดเห็นจิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้ถึงธรรมเห็นกิเลสนิวรณ์ เห็นเหตุให้เกิด-เหตุให้ดับแห่งนิวรณ์รู้ตัวตนอวิชชา เห็นอวิชชาเข้าพระอริยะสัจ ๔ ถอน

2. ทิ้งกายเห็นเวทนา ละเวทนาเห็นจิต ถอนจิตเห็นธรรม เห็นนิวรณ์ ถอนอวิชา

3.


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ เมษายน 11, 2018, 03:25:44 PM
๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร (๑๓๕)

             [๕๗๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล สุภมาณพ โตเทยยบุตร
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วได้ทักทายปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค
ครั้นผ่านคำทักทายปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ
             [๕๘๐] สุภมาณพ โตเทยยบุตร พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถาม
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย
ให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ ปรากฏความเลวและความประณีต คือ มนุษย์
ทั้งหลายย่อมปรากฏมีอายุสั้น มีอายุยืน มีโรคมาก มีโรคน้อย มีผิวพรรณทราม
มีผิวพรรณงาม มีศักดาน้อย มีศักดามาก มีโภคะน้อย มีโภคะมาก เกิดใน
สกุลต่ำ เกิดในสกุลสูง ไร้ปัญญา มีปัญญา ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอแล
เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ ปรากฏความเลวและความ
ประณีต ฯ
             [๕๘๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็น
ของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรม
เป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้ ฯ
             ส. ข้าพระองค์ย่อมไม่ทราบเนื้อความโดยพิสดารของอุเทศที่พระโคดมผู้-
*เจริญตรัสโดยย่อ มิได้จำแนกเนื้อความโดยพิสดารนี้ได้ ขอพระโคดมผู้เจริญ
ได้โปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ โดยประการที่ข้าพระองค์จะพึงทราบเนื้อความ
แห่งอุเทศนี้โดยพิสดารได้เถิด ฯ
             พ. ดูกรมาณพ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจะกล่าวต่อไป
สุภมาณพ โตเทยยบุตร ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระเจ้าข้า ฯ
             [๕๘๒] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรมาณพ บุคคลบางคนใน
โลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคน
เหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือด หมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์
มีชีวิต เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขา
ให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีอายุสั้น ดูกรมาณพ
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีอายุสั้นนี้ คือ เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคน
เหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือด หมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์
มีชีวิต ฯ
             [๕๘๓] ดูกรมาณพ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษ
ก็ตาม ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศาตราได้
มีความละอาย ถึงความเอ็นดู อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่
เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม
สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์
เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีอายุยืน ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อ
มีอายุยืนนี้ คือ ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา
วางศาตราได้ มีความละอาย ถึงความเอ็นดู อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลใน
สรรพสัตว์และภูตอยู่ ฯ
             [๕๘๔] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม
เป็นผู้มีปรกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา
เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้
พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโรคมาก ดูกรมาณพ
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโรคมากนี้ คือ เป็นผู้มีปรกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือ
ก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา ฯ
             [๕๘๕] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม
เป็นผู้มีปรกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา
เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม
สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์
เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโรคน้อย ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไป
เพื่อมีโรคน้อยนี้ คือ เป็นผู้มีปรกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน
หรือท่อนไม้ หรือศาตรา ฯ
             [๕๘๖] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม
เป็นคนมักโกรธ มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่าเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง
พยาบาท มาดร้าย ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ เขาตาย
ไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม
สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็น
มนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีผิวพรรณทราม ดูกรมาณพ
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีผิวพรรณทรามนี้ คือ เป็นคนมักโกรธ มากด้วยความแค้นเคือง
ถูกเขาว่าเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท มาดร้าย ทำความโกรธ ความร้าย
และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ ฯ
             [๕๘๗] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม
เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่ามากก็ไม่ขัดใจ ไม่
โกรธเคือง ไม่พยาบาท ไม่มาดร้าย ไม่ทำความโกรธ ความร้าย และความ
ขึ้งเคียดให้ปรากฏ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขา
ให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามา
เป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนน่าเลื่อมใส ดูกรมาณพ
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเป็นผู้น่าเลื่อมใสนี้ คือ เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่มากด้วยความ
แค้นเคือง ถูกเขาว่ามากก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท ไม่มาดร้าย ไม่ทำ
ความโกรธ ความร้าย ความขึ้งเคียดให้ปรากฏ ฯ
             [๕๘๘] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม
มีใจริษยา ย่อมริษยา มุ่งร้าย ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความ
นับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ
วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป
ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง
จะเป็นคนมีศักดาน้อย ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีศักดาน้อยนี้ คือ มีใจ
ริษยา ย่อมริษยา มุ่งร้าย ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ
การไหว้ และการบูชาของคนอื่น ฯ
             [๕๘๙] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม
เป็นผู้มีใจไม่ริษยา ย่อมไม่ริษยา ไม่มุ่งร้าย ไม่ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความ
เคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติ-
*โลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป
ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็น
คนมีศักดามาก ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีศักดามากนี้ คือ มีใจไม่ริษยา
ย่อมไม่ริษยา ไม่มุ่งร้าย ไม่ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ
การไหว้ และการบูชาของคนอื่น ฯ
             [๕๙๐] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม
ย่อมไม่เป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อาศัย
เครื่องตามประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ
วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป
ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง
จะเป็นคนมีโภคะน้อย ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโภคะน้อยนี้ คือ ไม่ให้ข้าว
น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย เครื่องตามประทีป
แก่สมณะหรือพราหมณ์ ฯ
             [๕๙๑] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม
ย่อมเป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย
เครื่องตามประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึง
สุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมี
โภคะมาก ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโภคะมากนี้ คือ ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน
ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย เครื่องตามประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์ ฯ
             [๕๙๒] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม
เป็นคนกระด้าง เย่อหยิ่ง ย่อมไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกรับคนที่ควร
ลุกรับ ไม่ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ไม่ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง
ไม่สักการะคนที่ควรสักการะ ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ ไม่นับถือคนที่ควรนับถือ
ไม่บูชาคนที่ควรบูชา เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะ
กรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคน
เกิดในสกุลต่ำ ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเกิดในสกุลต่ำนี้ คือ เป็นคน
กระด้าง เย่อหยิ่ง ย่อมไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกรับคนที่ควรลุกรับ
ไม่ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ไม่ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง ไม่
สักการะคนที่ควรสักการะ ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ ไม่นับถือคนที่ควรนับถือ ไม่
บูชาคนที่ควรบูชา ฯ
             [๕๙๓] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม
เป็นคนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ย่อมกราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ลุกรับคนที่ควร
ลุกรับ ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง
สักการะคนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคน
ที่ควรบูชา เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้
พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเกิด
เป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนเกิดในสกุลสูง ดูกรมาณพ
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีสกุลสูงนี้ คือ เป็นคนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง
ย่อมกราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ให้อาสนะแก่คนที่สมควร
แก่อาสนะ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง สักการะคนที่ควรสักการะ เคารพคน
ที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคนที่ควรบูชา ฯ
             [๕๙๔] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม
ย่อมไม่เป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไร
เป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไร
เมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่า อะไรเมื่อทำ
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน เขาตายไป จะเข้าถึง
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้
อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ
ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีปัญญาทราม ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อ
มีปัญญาทรามนี้ คือ ไม่เป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไร
เป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไร
ไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่า
อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน ฯ
             [๕๙๕] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม
ย่อมเป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็น
อกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำ
ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไป
เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติ
โลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป
ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็น
คนมีปัญญามาก ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีปัญญามากนี้ คือ เป็นผู้เข้าไปหา
สมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ
อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อไม่
เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์
เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน ฯ
             [๕๙๖] ดูกรมาณพ ด้วยประการฉะŨ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 10, 2020, 01:40:11 PM

ธรรมละสังโยชน์ ๓


1. สัทธาพละ --> ถึงกรรมบถ(จิตรู้เห็นเข้าถึงทางกรรม) ใช้ละ.. สีลัพพตปรามาส

2. วิริยะพละ สติพละ สมาธิพละ --> จิตรู้เห็นเข้าถึงฉันทะ และปฏิฆะ ใช้ละ.. สักกายทิฏฐิ

3. ปัญญาพละ --> ญาณทัศนะ ความรู้เห็นตามจริง ใช้ละ.. วิจิกิจฉา




หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กุมภาพันธ์ 06, 2020, 01:07:56 PM
โสดาปัตติมรรค

- ถึงพระรัตนตรัย
- ทาน ศีล ภาวนา มีครบต่อเนื่องด้วยตัวมันเอง
- ศีลไม่กลับกลอก
- จิตตั้งในกุศล
- มุ่งตรงพระนิพพาน


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กุมภาพันธ์ 08, 2020, 04:04:54 PM
อุปมาธรรมละกามราคะเพื่อเดินไปสู่การเหลือเพียงกามฉันทะ

    อุปมาธรรมละกามราคะเพื่อเดินไปสู่การเหลือเพียงกามฉันทะนี้.. ซึ่งสภาพจริงมันเป็นปัจจัตตัง เหมือนหลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฒโน ท่านกรุณาสอนไว้ว่า..เราทำเราก็ได้ เราทำได้ที่เรามันก็เป็นของเรา เขาทำเขาได้เราเอามาพูดมันก็เป็นของเขาได้ไม่ใช่เราได้ เมื่อพูดไปก็เหมือนประกาศสิ่งที่เขาได้โดยเราแอบอ้างเท่านั้น อย่างนั้นแล้วศีลจะไปหาเอาลูบคลำเอาที่ไหน ..ดังนี้ความรู้โดยส่วนตัวนี้ผมบันทึกไว้เพื่อใช้ทบทวนกรรมฐาน จะไม่ปะติดปะต่อ ไม่เรียบเรียง แต่รู้ได้ด้วยตัวเอง
     หากท่านใดแวะชมต้องแยะแยะจริงแท้ถูกผิด หากตีความได้น้อมนำทำตามแล้วเจริญได้ดีถูกตรง ก็ขอให้ท่านรู้ไว้เลยว่าธรรมอันพระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้นให้ผลได้ไม่จำกัดกาล ไม่มีพระพุทธเจ้าจะไม่มีพระธรรม ไม่มีพระธรรมจะไม่มีพระสงฆ์ ไม่มีพระสงฆ์ก็จะไม่มีผู้เผยแพร่ธรรมแท้มาสู่เรา

อุปมาธรรมละกามราคะ เพื่อเดินไปสู่การเหลือเพียงกามฉันทะนี้ พอจะจำแนกเพื่อบันทึกกรรมฐานไว้ได้ดังนี้..


วันเสาร์ที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๓ ตรงกับวัน มาฆะบูชา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓

กามมันอิ่มไม่เป็น ตราบใดที่ยังไม่อิ่มกามก็มีอยู่ทุกเมื่อ ซึ่งจะรุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่ที่กำลังของจิต การละกามทั้งปวง จึงต้องทำให้ใจอิ่ม เมื่อใจอิ่มมันก็รู้จักพอ ..เมื่อใจมันพอ มันเบื่อหน่าย ระอา ..มันก็คลายในกามราคะ..นิพพิทา-วิราคะ -> ถอนออกสละคืน

การละกามในคน 2 ประเภท
 
1. คนที่อิ่มแล้ว ..ความอิ่มเต็มใจ ความพอ ไม่ต้องการอีก ย่อมมีใจน้อมไปในนิพพิทา วิราคะ เป็นไปเพื่อละกาม
     ..ธรรมนั้นเป็นไฉน อุปมาเหมือนดั่งบุคคลผู้กินอิ่ม ไม่โหยหา ไม่ต้องการ มีความพอแล้ว ไม่กระหาย
     - อุปไมยดั่งอาหารที่กินเป็นของโลกียะ
     - อุปไมยความอยากได้ต้องการโหยหากระหายนั้นเป็นกาม
     - อุปไมยความอิ่มพอนั้นเป็นความเต็มใจน้อมไปในการสละ เป็นอาหารเป็นกำลังในนิพพิทา วิราคะ

    ..จะเห็นได้ว่า ความอิ่มพอนี้ มันอิ่มที่ใจ เกิดที่ใจ ทำที่ใจ ซึ่งมีธรรมใช้ในหลายอย่างซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ดีแล้ว โดยกรรมฐานอันเป็นคุณแห่งการละนั้นก็เปรียบได้เหมือนการกำหนดเดินจิตกรรมฐานแห่งธรรมดังนี้ คือ..
     - อุปมาเปรียบเหมือนดั่งผู้เจริญจาคานุสสติ ความว่าสิ่งนี้เต็มแล้วเรามีแล้วได้แล้ว เพียงพอแก่เราแล้ว ..จิตถึงจาคะ คือ ถึงความเต็มกำลังใจน้อมเพื่อคลายกำหนัด เกิดนิพพิทา วิราคะ สละคืน
     - อุปมาเปรียบเหมือนคนอบรมจิตคลายสมมติกาย ทำที่ใจ ความเห็นในสมมติใจ ความเห็นในสมมติธรรม ความไม่ติดใจข้องแวะ ความวางเฉยไม่ยินดียินร้ายต่อธรรมสังขาร ความดำรงมั่นอยู่ การเดินจิต การถอน สละคืน



2. คนที่ยังไม่อิ่ม ..หากยังไม่อิ่ม ก็ต้องมารู้เห็นของจริง จนเกิดความหน่าย ความระอา นิพพิทา วิราคะ เพื่อละกาม
     ..ธรรมนั้นเป็นไฉน อุปมาเหมือนดั่งบุคคลผู้ยังไม่ได้กิน กินแล้วแต่ก็ยังไม่อิ่มยังไม่พอ ยังอยากได้ต้องการโหยหากระหายอยู่ไม่ขาด
     - อุปไมยดั่งอาหารที่กินเป็นของโลกียะ
     - อุปไมยความอยากได้ต้องการโหยหากระหายนั้นเป็นกาม
     - อุปไมยความยังไม่ได้กิน คือ ยังไม่เคยลิ้มลองสัมผัส
     - อุปไมยความกินแล้วยังไม่อิ่ม ไม่พอ คือ ความได้เสพย์แล้วมีแล้วแต่ไม่เต็มในใจ ไม่เพียงพอในใจ ยังโหยหา การทำให้อิ่มในกามไม่ใช่ต้องเสพย์กาม ด้วยยิ่งเสพย์ตามมันไปให้มากเท่าไหร่ กามมันก็อิ่มไม่เป็น แม้ได้ครบหมดทั้งโลกมันก็ยังอิ่มไม่เป็น เหมือนโอ่งน้ำก้นรั่วให้เทน้ำไปเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม ยิ่งคิดคำนึงถึงยิ่งโหยหา

    ก. ดังนั้นทำความอิ่มนี้ทำที่ใจให้มันอิ่ม ทำความหน่าย ความระอา ความถอน ถึงความสำรอกออก ซึ่งมีธรรมใช้ในหลายอย่าง เช่น..

     - สัญญา ๑๐
     - อสุภะสัญญา หรือ ทวัตติงสาการ หรือบางที่เรียกแทนโดยกายคตาสติ ความเห็นจริงในภายในกายนี้แล เป็นของไม่สะอาด มีอยู่เพียงเท่านั้น อาศัยหนังหุ้มเป็นที่สุดรอบ มีผม เล็บ ฟัน เป็นต้นให้ดูงาม ม้างกายออกจนไม่มีเรา ไม่ใช่เรา ไม่เป็นเรา ไม่มีเราในนั้น ในนั้นไม่มีเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ความไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตน คลายฉันทะถึงอนัตตา
     - อาทีนวสัญญา เห็นเพียงที่ประชุมโรค ไม่ควรยินดี เป็นไปเพื่อคลายฉันทะถึงความหน่ายระอาในกายนี้
     - จตุธาตุววัตถาน, ธาตุวิภังค์-ธาตุ ๖ เห็นสภาพจริง อาศัยจิตนี้จรมาอาศัย มีใจเข้ายึดครอง ความไม่ใช่ตัวตน
     - อสุภะ ๑๐ ความเห็นตามจริงในกายนี้ ถึงความไม่เที่ยง
     - พรหมวิหาร ๔ เจโตวิมุตติ

     ข. ซึ่งกรรมฐานข้างต้นจะทำความหน่ายระอาต่อใจอย่างไร ..ก็อุปมาเปรียบการกำหนดเดินไปของจิตอันเป็นธรรมกื้อกูลในวิราคะให้เข้าใจได้เหมือน..
     - อุปมาเปรียบเหมือนดั่งใช้ฉันทะละฉันทะ คือ ความเต็มใจยินดีออกจากกาม ความเห็นในสิ่งที่ยินดียิ่งกว่า เปรียบเหมือนใช้ทานละโลภ คือ มีใจยินดีในอริยะทรัพย์ ควายความตระหนี่หวงแหน ละความอยากได้ใคร่มีใคร่เสพย์ในโลกียะทรัพย์อันปรนเปรอตนเกินความจำเป็น
     - อุปมาสภาพธรรมแห่งนิพพิทา วิราคะ คือ จิตถึงสัพพโลเก อนภิรตสัญญา กำหนดหมายในความไม่เพลิดเพลินโลกียะทั้งปวง จิตถึงสัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา ถึงความความหน่าย ระอา จิตน้อมไปเพื่อคลายกำหนัด เป็นไปเพื่อความสละคืน
     - อุปมาการเดินจิตเปรียบเหมือนดั่ง..พรหมวิหาร ๔ เจโตวิมุตติ หรือ ธาตุวิภังค์-ธาตุ ๖ ..อบรมจิตเห็นในสมมติกาย ความเห็นในสมมติใจ ความเห็นในสมมติธรรม ความติดใจข้องแวะเป็นทุกข์ ความวางเฉยไม่ยินดียินร้ายต่อธรรมสังขาร ความดำรงมั่นอยู่ การเดินจิต ถอน สละคืน





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กันยายน 06, 2021, 02:09:21 PM
บันทึกกัมมัฏฐาน 6/9/64

   *บันทึกกรรมฐานทั้งสิ้นทั้งปวงนี้* ล้วนแต่เป็นความรู้อย่างปุถุชนอย่างข้าพเจ้าจะเข้าไปรู้ัเห็น อนุมาน คาดคะเน ตรึกนึกพิจารณาหลังจากการปฏิบัติได้สภาวะนั้นๆตามที่บันทึกไว้นี้แล้ว ซึ่งยังไม่ถูกต้องและตรงตามจริง ยังสักแต่เป็นเพียงธรรมสมมติ ยังไม่แจ้งแทงตลอดก ยังทำไม่ได้ทุกครั้งที่ต้องการ ยังไม่ถึงวสี แต่เคยเข้าถึงได้เนืองๆพอที่จะรู้อาการที่จิตนี้มนสิการธรรมทั้งปวงได้ ซึ่งข้าพเจ้าได้ปฏิบัติตามที่สมด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระมหาศาสดาตรัสสอน อันมีพระอรหันตสงฆ์ พระอริยะสงฆ์นำพระธรรมเหล่านี้มาเผยแพร่สั่งสอนให้ข้าพเจ้าได้รับรู้ แล้วมาฝึกสืบต่อในแบบที่ตนพอจะมีปัญญาอย่างปุถุชนเข้าใจได้เท่านั้น
    ด้วยเหตุดังนี้ หากแนวทางใดผิดเพี้ยนไม่ตรงตามจริง ท่านที่แวะเข้าชมบันทึกนี้ทั้งหลายโปรดจงรู้ไว้ว่า เป็นเพียงธรรมที่ข้าพเจ้าปฏิบัติแล้วพิจารณายได้อย่างปุถุชนเท่านั้น ยังไม่แจ้งแทงตลอดถูกต้องและตรงตามจริงตามที่พระพุทธศาสดาทรงตรัสสอน
    หากธรรมนี้เป็นจริงมีประโยชน์เหล่าใดทั้งปวงแก่ท่านที่แวะเยี่ยมชม ก็ขอให้ท่านทั้งหลายโปรดจงรู้ไว้ว่า พระธรรมคำสอนทั้งปวงของสมด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดา ที่ได้ทรงตรัสสอนมานี้ประกอบไปด้วยคุณ หาประมาณมิได้ ใช้ได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกจริตนิสัย สามารถพลิกแพลงให้เข้ากับจริตตนแล้วนำมาใช้งานได้อย่างง่ายแต่มีคุณประโยชน์สูง เห็นผลได้ไม่จำกัดกาล ดังนี้


อริยะสัจ ๔ กัมมัฏฐาน

เป็นกัมมัฏฐานโดยส่วนตัวของข้าพเจ้า เฟ้นเห็นตัวทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์ที่ควรละ แจ้งชัดความดับทุกข์ ถึงทางดับทุกข์ แบบสาสวะ คือ สะสมเหตุ โดยส่วนตัวเท่านั้น

คือ แนวทางการเจริญ พระอริยะสัจ ๔ แบบสาสะ สะสมเหตุ เพื่อเข้าถึงความ ไม่มีใจครอง เบิกบานพ้นแล้วจากสมมติกิเลสของปลอม  มีจิตแจ่มใส มีใจเอื้อเฟื้อ เว้นจากความเบียดเบียน ไม่ติดใจข้องแวะโลก เป็นผล

- โดยการเจริญพระอริยะสัจ ๔ กรรมฐานนี้ กว้างมาก เพราะเป็นการใช้กรรมฐานทั้ง ๔๐ หรือกองใดกองหนึ่งตามจริต ตั้งเป็นฐานจิต ฐานสมาธิ เข้าสู่อารมณ์ญาณทัสนะ คือ ใช้กรรมฐานทุกกองเจริญเข้าในมหาสติปัฏฐาน ๔  กาย เวทนา จิต ธรรม ตั้งฐานรู้ชัด + สัมมัปปธาน ๔ + อิทธิบาท ๔

ยกตัวอย่างเช่น

๑. พุทโธ+ลม สะสมมัคสมังคี มรรคสามัคคีรวมกัน เห็นสมมติกาย เห็นสมมติใจ(เวทนา และจิต เข้าสู้ธัมมารมณ์) เฆ็นสมมติธรรม(เห็นขันธสันดารของจิต)

๒. เมตตา(อาจจะกำหนดตามลมหายใจ เพื่อไม่ซ่านออกนอก และคลุมอารมณ์กัมมัฏฐาน) สะสมมัคสมังคี มรรคสามัคคีรวมกัน เห็นสมมติกาย เห็นสมมติใจ(เวทนา และจิต เข้าสู้ธัมมารมณ์) เฆ็นสมมติธรรม(เห็นขันธสันดารของจิต)

พิจารณาเห็นทุกข์ เห็นเหตุแห่งทุกข์ แจ้งชัดความดับทุกข์ มรรครวมขึ้นโครตภูญาณ ทำโพชฌงค์ เข้าสังขารุเปกขา รอบ ๓ อาการ ๑๒ แห่งพระอริยะสัจ ๔ เกิดขึ้น มีปัญญาญาณเกิดขึ้นตัดสังโยชน์

หมายเหตุที่ ๑
- โดยส่วนตัวของข้าพเจ้า ที่ข้าพเจ้ามีใจน้อมทำอย่างนี้ เพื่ออบรมจิตสะสมเหตุใน ปฏิสัมภิทาญาณ และ ปารถนาพุทธภูมิ
- ความรู้นี้มันเกิดขึ้นเอง อาจเป็นแนวทางที่ผิด ไม่ถูกตรงตามจริง และข้าพเจ้าไม่รู้ธรรม จึงจำกัดเรียกเฉพาะทางที่ข้าพเจ้าใช้เจริญในกรรมฐานทั้ง ๔๐ และ ญาณทัสนะ ด้วยองค์ธรรมเพื่อเฟ้นเห็นตัวทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์ที่ควรละ แจ้งชัดความดับทุกข์ ถึงทางดับทุกข์ ดังนี้ว่า อริยะสัจ ๔ กัมมัฏฐาน

หมายเหตุที่ ๒
- มหาสติปัฏฐาน ๔ เป็นกรรมฐานในญาณทัศนะ ที่เข้าได้กับทุกกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง ให้เป็นไปเพื่อ ญาณทัสนะ เพื่อโพชฌงค์ เพื่อวิมุตติ
- ทำไมพระป่าท่านสอนกายก่อน เพราะกายนี้เห็นง่ายสุด กายนี้คือที่ตั้งต้นแห่งเป็นสมาธิ เราอาศัยกายนี้อยู่ จับต้องได้ เห็นได้ สัมผัสได้ง่ายสุด เป็นฌาณ ๔ ใครรู้ลมหายใจก็รู้กายรู้ธาตุ ไม่รู้ลมก็ไม่รู้ธาตุ ม้างกายออกก็จะเห็นอนัตตา เห็นเวทนา เห็นจิตทันที จะอบรมจิตภาวนาได้ ดังความว่า..ทิ้งกายเห็นจิต ส่วนที่เรามามองกันว่าความรู้สึกนี้ๆ อาการนี้ๆ เพราะไม่มีสมาธิ ไม่อบรมสมาธิ ก็คือไม่อบรมกาย มันจะเห็นแต่ความคิดตัวเองเป็นส่วนใหญ่ เป็นเหตุให้หลงความคิดตัวเอง ไม่มีวิปัสนาเห็นแต่วิปัสนึก
- ดังนั้นผู้ที่กล่าวว่าพระป่าไม่เชี่ยวชาญขิต ข้อนี้ผิดมาก เพราะเชี่ยวชาญจึงรู้ทางรู้อุบาย และสอนได้ เพราะเชี่ยวชาญจิต ถึงบรรลุธรรมได้

** สมดั่งที่..องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดา ตรัสกับ สัจจกนิครนต์ ว่า ดูกร! อัคคิเวสนะ! อบรมกายเธอยังไม่รู้จักเลย เธอจะรู้การอบรมจิตได้อย่างไร **

- สมดั่งคำ หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฺฒโน ท่านสอนให้เห็นธาตุ ๖ เข้าธาตุวิภังค์ และสมดั่ง หลวงตาศิริ อินฺทสิริ ท่านสอนไว้ว่า หลงกายก็ม้างกายดู หลงใจก็ม้างกายดู การม้างกายก็ตือ กายานุปัสสนา การม้างใจก็คือ เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ลงธัมมานุปัสนา เป็นขันธ์ เห็นอนุสัยกิเลสอันนอนเเนื่องในจิต จิตทำรอบ ๓ อาการ ๑๒ ดั่งท่านว่าดังนี้..

หมายเหตุที่ ๓
- ความมีจิตแจ่มใจ (คือ ปราศจากกิเลสเครื่องเร่าร้อนหน่วงตรึงจิต คือ มีจิตเป็น พุทโธ แล้วนั่นเอง)
- มีใจเอื้อเฟื้อ (คือ มีใจเมตตา ทาน ถึง จาคะ)
- เว้นความความเบียดเบียน (คือ มีเจตนาเป็นศีล คือ ศีลลงใจ)
..เป็น สุจริต ๓ คือ มรรค เกิดขึ้นเมื่อมีอินทรีย์สังวรณ์บริบูรณ์
..ผลทั้งปวงเหล่านี้ย่อมเกิดแก่ผู้รู้ธรรมแท้ เจริญปฏิบัติมาดีแล้ว
(ไม่ได้หมายถึงตัวข้าพเจ้าถึงแล้วดังที่กล่าวมา เพียงแต่บันทึกทางธรรมนี้ไว้เท่านั้น)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 24, 2022, 11:05:52 AM
แก้ปัญหาชีวิตด้วย อริยะสัจ ๔

- ทุกข์ หรือปัญหาชิวิตของเราเป็นแบบไหน
- เหตุแห่งทุกข์ หรือต้นเหตุปัญหาของเราคืออะไร
- ความดับทุกข์ หรือหมดสิ้นปัญหาของเราเป็นแบบไหน
- ทางดับทุกข์ หรือทางแก้ปัญหาของเราคืออะไร


๑. ทำความเข้าใจในทุกข์ หรือปัญหาชีวิต เพื่อรู้ตัวทุกข์ หรือปัญหานั้น และเหตุสืบต่อของมัน
๒. ละที่เหตุแห่งทุกข์ หรือต้นเหตุของปัญหา
๓. ทำความสิ้นไปแห่งทุกข์ หรือความหมดสิ้นปัญหาให้แจ้ง เพื่อรู้ว่าความสิ้นทุกข์ หรือปัญหามีได้เพราะอะไร ทำสิ่งใด ละสิ่งใด
๔. ทำในทางดับทุกข์ หรือทางแก้ไขปัญหาให้มาก


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 24, 2022, 11:06:18 AM
นำ มรรค ๘ มาใช้ในชีวิต

๑. เห็นชอบ คือ มีวิธีคิดและความรู้ถูกต้องตามจริง มีปัญญาเลือกเฟ้นความคิดและอารมณ์
๒. คิดชอบ คือ ใช้ปัญญาไม่ใช้ความรู้สึก ในการใช้ชีวิตและแก้ปัญหา
๓. พูดชอบ คือ พูดจาสุภาพ อ่อนน้อม มีประโยชน์ ไม่ให้ร้ายกัน
๔. ประพฤติชอบ คือ ทำตัวสุภาพอ่อนโยน ไม่ก้าวร้าว
๕. เลี้ยงชีพชอบ คือ ดำรงชีพโดยสุจริต
๖. เพียรชอบ คือ มีความมุ่งมั่นด้วยสติ ไม่หมกมุ่น
๗. ระลึกชอบ คือ รู้ปัจจุบัน ยั้งคิดช่างใจ แยกแยะถึงผลลัพธ์ก่อนพูด-ทำ
๘. ตั้งมั่นชอบ คือ มีความจำจ่อ เอาใจใส่ในสิ่งที่ทำ ไม่ส่งจิตออกนอก


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 24, 2022, 11:06:56 AM
อิทธิบาท ๔ ใช้ในชีวิต

๑. ฉันทะ คือ ชอบ เพลิน พอใจยินดีในสิ่งที่ทำ อาศัยรู้ว่าเป็นประโยชน์สุข, หน้าที่, สิ่งที่ให้ผลดีภายหน้า
- ฉันทะ..บังเกิดแล้วเต็มใจ

๒. วิริยะ คือ เพียรด้วยสติ กำลังใจดี มุ่งมั่นตั้งใจในสิ่งที่ทำไม่ย่อท้อ อาศัยฉันทะ
- วิริยะ..พลังภายในต่อสู้

๓. จิตตะ คือ มีความจดจ่อเอาใจใส่ในสิ่งที่ทำ ไม่ทอดทิ้ง อาศัยวิริยะ
- จิตตะ..ตั้งหน้าไปให้ถึงที่สุด

๔. วิมังสา คือ ไตร่ตรองให้รู้และเข้าใจแจ้งชัดตามจริง รู้เหตุปัจจัยผล ควรเพิ่ม-ลดตรงไหน อาศัยจิตตะ
- วิมังสา..เข้าใจรู้ย่อมได้เห็นผล


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 24, 2022, 11:07:14 AM
พละ ๕ มาใช้ในชีวิต

สัทธาพละ คือ เชื่อด้วยปัญญารู้เห็นตามจริง รู้ชัดว่าการกระทำทุกอย่างมีผลสืบต่อเสมอ

วิริยะพละ คือ มีกำลังใจมุ่งมั่นในการเรียนหรือทำงาน ไม่ย่อท้อ อาศัยความเต็มใจทำโดยให้สิ่งที่เรามุ่งมั่นทำอยู่นั้นสร้างความสุขให้เรา หรือรู้ว่ามันคือหน้าที่, คืออนาคตของเรา

สติพละ คือ มีความรู้ตัว รู้สิ่งที่ทำในปัจจุบันอยู่ทุกเมื่อ ยั้งคิดแยกแยะได้ ไม่เผลอตัว

สมาธิพละ คือ มีใจจดจ่อ เอาใจใส่ในบทเรียนหรือการงาน ไม่ฟุ้งซ่าน

ปัญญาพละ คือ หมั่นเรียนรู้ สังเกตุสอดส่อง ทำความเข้าใจในบทเรียนหรือการงาน


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 24, 2022, 11:26:44 AM
หัวใจนักปราชญ์ ๔

๑. ฟัง คือ ตั้งใจ ดู/ฟัง ศึกษาเรียนรู้เนื้อหา ขั้นตอนวิธีทำ

๒. คิด คือ คิดวิเคราะห์ สังเกตุ ทำความรู้ความเข้าใจตามในสิ่งที่กำลังดูศึกษาอยู่นั้น

๓. ถาม คือ ไม่เข้าให้ถาม หาความรู้เพิ่ม แล้วฝึกทำให้ชำนาญ หรือตั้งคำถามไว้ในใจ(ตั้งสมมติฐาน) เพื่อหาคำตอบที่ถูกต้องตามจริง แล้วเลือกเฟ้นทำ(ทดลองทำหาความจริง) ตามสมมติฐานนั้น

๔. จด คือ จดบันทึก เมื่อรู้และเข้าใจถูกต้องตามจริงแล้ว ก็จดไว้ทบทวนกันลืม โดยจดในแบบที่เราเข้าใจได้ง่าย ครบถ้วน มีหัวข้อ-ขั้นตอน-องค์ประกอบ-ความเป็นไป และผลลัพธ์


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 24, 2022, 11:27:43 AM
วุฒิธรรม ๔ มาใช้ในชีวิต

1. สัปปุริสสังเสวะ (คบสัตบุรุษ) คือ “หาครูดี” มีความรู้และนิสัยดีจริง สอนได้ถูกตรงตามจริงทั้งแนวทางและการปฏิบัติ

2. สัทธัมมัสสวนะ (ฟังธรรม) คือ “ฟังคำครูให้ชัด” ต้องฟังคำครูให้เข้าใจไม่คลาดเคลื่อน รู้เนื้อหา-หัวข้อ-แนวทาง-ผล และจำกัดความได้

3. โยนิโสมนสิการะ (ตริตรองธรรม) คือ “ตรองคำครูให้ลึก” ไตร่ตรองให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตามจริงในสิ่งนั้นๆ

4. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ (ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม) คือ “ทำตามครูให้ครบ” น้อมเอาวิธีคิด-คำสอน-กาลควรใช้-การปฏิบัติมาทำให้ดีครบถ้วน


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 24, 2022, 11:28:23 AM
..หัวใจเศรษฐี อุ อา กา สะ..

๑. อุฏฐานสัมปทา คือ ขยันด้วยปัญญา
- ขยันทำงาน และใฝ่รู้ศึกษาในงาน
- รู้จักประยุกต์ใช้งาน ฉลาดปรับตัวให้ดีเข้ากับคน, กาล, สิ่งแวดล้อม

๒. อารักขสัมปทา คือ รู้จักแบ่งเก็บ-แบ่งใช้
- รู้รักษาโลกียะทรัพย์
- รู้รักษาอริยะทรัพย์ สิ่งที่โจรลักไม่ได้

๓. กัลยามิตตา คือ คบเพื่อนดี
- คบมิตรด้วยความดี ขยัน จริงใจ ใฝ่กุศล
- อีกประการคือ มีสติ-ปัญญากำกับรู้ คือ รู้แยกแยะพิจารณาอยู่ทุกเมื่อ

๔. สมชีวิตา คือ รู้จักพอเพียง
- รู้จักหยุด รู้จักพอ รู้จักประมาณตน

..ทำได้ “ไม่มีจน”


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 24, 2022, 11:37:36 AM
สังคหวัถุ ๔ มาใช้ในชีวิต

๑. ทาน คือ การมีน้ำใจไมตรีเอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อกัน การแบ่งปันสิ่งของที่ควรให้แก่กัน

๒. ปิยะวาจา คือ การเจรจากันด้วยถ้อยคำสุภาพ ไม่พูดโกหก ไม่มุ่งร้ายต่อกัน ไม่ใส่ร้ายส่อเสียด ไม่ดูหมิ่น ไม่พูดจาหยาบคาย ไม่พูดให้ผู้อื่นเสื่อมเสีย หรือแตกแยกกัน

๓. อัตถจริยา คือ การประพฤติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อกัน ไม่คิดร้ายต่อกัน เว้นจากการกระทำเบียดเบียนทำร้ายซึ่งกันและกัน

๔. สมานัตตตา คือ มีความเสมอต้นเสมอปลาย มีความจริงใจต่อกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง

นี้คือธรรมอันเป็นกัลยาณมิตร


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 24, 2022, 11:37:47 AM
ราชสังคหวัตถุ ๕

๑. อัสสเมธะ ความฉลาดในการบำรุงเรื่องพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตรและกสิกรรม

๒. ปุริสเมธะ ความฉลาดในการบำรุงคน ส่งเสริมคนดีที่มีความรู้ความสามารถให้รู้จักทำงานทำหน้าที่ของตน ๆ

๓. สัมมาปาสะ ความฉลาดในการดูแลสุขทุกข์ของประชาชนโดยการส่งเสริมอาชีพให้มีอยู่มีกิน

๔. วาชเปยยะ การพูดจาด้วยถ้อยคำสุภาพ รู้จักชี้แจงแนะนำด้วยถ้อยคำที่เหมาะสม เชื่อถือได้ มีประโยชน์ก่อให้เกิดความสามัคคี

๕. นิรัคคฬะ การบริหารบ้านเมืองไม่ให้มีเสี้ยนหนาม ไม่ให้มีโจรขโมย ประชาชนมีชีวิตที่เป็นสุขอย่างดี


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 24, 2022, 11:38:17 AM
ราชสังคหวัตถุ ๕ หัวหน้างาน

๑. อัสสเมธะ ฉลาดในการดูแลรักษาขยายผลงาน แจกจ่ายงานให้เหมาะสม ไม่ลำเอียง

๒. ปุริสเมธะ ฉลาดในการบำรุงคน ส่งเสริมคนดีมีความรู้ความสามารถให้มีหน้าที่การงานที่ดีเหมาะสม ควรที่เขาได้รับ

๓. สัมมาปาสะ ฉลาดในการดูแลรับฟังสุขทุกข์พนักงาน ส่งเสริมความรู้ในงานต่างๆให้ทำงานได้ดี มีค่าตอบแทนเหมาะสม

๔. วาชเปยยะ การพูดจาด้วยถ้อยคำสุภาพ รู้จักชี้แจงแนะนำด้วยถ้อยคำที่เหมาะสม เชื่อถือได้ มีประโยชน์ก่อเกิดความสามัคคี

๕. นิรัคคฬะ การบริหารงานไม่ให้มีอุปสรรค ให้ทีมงานมีสุขกับการทำงาน


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 24, 2022, 11:38:55 AM
ปุริสธรรม ๗ ในการเรียน

1. ธัมมัญญุตา
รู้หลักการเรียนรู้ วิธีคิด วิธีทำในบทเรียน รู้หน้าที่ รู้กฎเกณฑ์โรงเรียน

2. อัตถัญญุตา
รู้จุดมุ่งหมายในสิ่งที่ทำอยู่ มีเป้าหมายชัดเจน

3. อัตตัญญุตา
รู้ตน ว่ามีความรู้แค่ไหน ด้อยวิชาใด จุดใดที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม

4. มัตตัญญุตา
รู้ประมาณตน รู้ความพอดี

5. กาลัญญุตา
รู้เวลาที่ควรคิด-พูด-ทำอย่างไร

6. ปริสัญญุตา
รู้สังคมภายในห้องเรียน สังคมโรงเรียน สภาพแวดล้อมว่าเป็นอย่างไร

7.  ปุคคลัญญุตา
รู้ว่าใครมีนิสัย ความรู้ ความสามารถอย่างไง ควรคบหากับเขายังไง


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 24, 2022, 11:40:33 AM
อธิษฐานธรรม ๔ การเรียน

๑. ไม่พึงประมาทปัญญา คือ ไม่ประมาท ละเลยการเรียน หรือความรู้ต่างๆแม้ว่าเล็กน้อย ต้องทำความรู้ความเข้าให้แจ้งชัด ชำนาญ

๒. พึงตามรักษาสัจจะ คือ ในที่นี้หมายเอาเรื่องผลสำเร็จตามจริง ทำให้แจ้ง ทำให้ถึงเป้าหมายขึ้นมาได้จริงตามที่ตั้งใจไว้ รักษาได้โดยไม่ประมาทปัญญา

๓. พึงเพิ่มพูนจาคะ คือ สละทิ้งหมดความรักสบาย เพ้อฝัน ฟุ้งซ่าน ขี้เกียจ หดหู่ เบื่อหน่าย ยิ่งเพิ่มพูนจาคะมาก ปัญญาเราก็ยิ่งเข้าถึงสัจจะได้มากเท่านั้น

๔. พึงศึกษาอุปสมะ คือ จิตที่ทำจาคะสละคืนหมดสิ้น เป็นจิตที่ปกติ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 24, 2022, 11:40:59 AM
ฆราวาสธรรม ๔ ธรรมผู้ครองเรือน

๑. สัจจะ แปลว่า จริง ตรง แท้ มีความซื่อสัตย์เป็นพื้นฐาน เป็นคนจริงต่อความเป็นมนุษย์ของตน

๒. ทมะ แปลว่า ฝึกตน ข่มจิต และรักษาใจ บังคับตัวเองเพื่อลดและละกิเลส และรักษาสัจจะ

๓. ขันติ แปลว่า อดทน ไม่ใช่แพียงแต่อดทนกับคำพูดหรือการกระทำของผู้อื่นที่เราไม่พอใจ แต่หมายถึงการอดทนอดกลั้นต่อการบีบบังคับของกิเสส

๔. จาคะ แปลว่า เสียสละ บริจาคสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตน โดยเฉพาะกิเลสเพราะนั้นคือสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่กับตน ละนิสัยไม่ดีต่างๆ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 24, 2022, 11:41:20 AM
ปุริสธรรม ๗ ในการทำงาน

๑. ธัมมัญญุตา
รู้หลักการ รู้งาน รู้เหตุไปสู่ผลต่างๆ รู้กฎเกณฑ์หน้าที่ของตน
 
๒. อัตถัญญุตา
รู้จุดมุ่งหมาย-ผลลัพธ์สืบต่อในสิ่งที่ทำอยู่

๓. อัตตัญญุตา
รู้สถานภาพตนว่า มีความรู้ สติปัญญา ความสามารถยิ่งหย่อนจุดใด

๔. มัตตัญญุตา
รู้ประมาณตน รู้พอดี

๕. กาลัญญุตา
รู้สิ่งที่ควรคิด-พูด-ทำ เหมาะกับสถานการณ์

๖. ปริสัญญุตา
รู้สังคมภายในแผนก-องค์กร-ประเทศ-โลก ว่ามีวิถีชีวิต-สถานการณ์อย่างไร

๗. ปุคคลัญญุตา
รู้ว่าใครมีทัศนคติ นิสัย ภูมิความรู้ ถนัดอย่างไร ควรปฏิบัติและเข้าหาเขายังไง


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 24, 2022, 11:41:42 AM
อธิษฐานธรรม ๔ การงาน

๑. ไม่พึงประมาทปัญญา คือ ไม่ประมาท ละเลยการทำความรู้ความเข้าใจให้แจ้งชัดในทุกส่วนทุกขั้นตอนงานที่ทำ หรือเกี่ยวข้องจนชำนาญ

๒. พึงตามรักษาสัจจะ คือ ในที่นี้หมายเอาเรื่องผลสำเร็จตามจริง ทำให้แจ้งทำให้ถึงเป้าหมายขึ้นมาได้จริง ตามที่ตั้งใจไว้ รักษาได้โดยไม่ประมาทปัญญา

๓. พึงเพิ่มพูนจาคะ คือ สละทิ้งหมดความรักสบาย โลภอยากได้ ฟุ้งซ่าน ขี้เกียจ หดหู่ เบื่อหน่าย ยิ่งเพิ่มพูนจาคะมาก ปัญญาเราก็ยิ่งเข้าถึงสัจจะได้มากเท่านั้น

๔. พึงศึกษาอุปสมะ คือ จิตที่ทำจาคะสละคืน มุ่งชนะแบบ Win Win


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 24, 2022, 11:42:01 AM
สมชีวิธรรม ๔ ธรรมอันเป็นคู่สมรส

- สมสัทธา (มีความเชื่อเสมอกัน) คือเป็นคนคอเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน

- สมสีลา (มีความดีเสมอกัน) คือ มีศีลเสมอกัน มีความประพฤติเสมอกัน ไม่ใช่ อาทิ คนหนึ่งชอบออกงานสังคม อีกคนชอบสันโดษ

- สมจาคา(มีความเสียสละเสมอกัน) คือ ต้องเสียสละกิเลสส่วนตัว อย่าถืออัตตาของเรา อย่าถือเธอถือฉัน

- สมปัญญา (มีปัญญาเสมอกัน) มีความสามารถในการใช้ปัญญา และความสามารถในการใช้เหตุผลเสมอกัน


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 24, 2022, 11:43:00 AM
อริยทรัพย์ ๗ ทรัพย์ภายใน ๗ ประการ

๑. ศรัทธา ความเชื่อที่มีเหตุผล เช่น เชื่อว่าทุกการกระทำ(กรรม) มีผลสืบต่อเสมอ(วิบากกรรม)

๒. ศีล การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ประพฤติถูกต้องดีงาม เว้นการเบียดเบียน

๓. หิริ ความละอายใจต่อการทำความชั่ว

๔. โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อความชั่ว

๕. พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก

๖. จาคะ สงเคราะห์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อบรมจิตให้ปราศจากกิเลสอยู่เสมอ

๗. ปัญญา ความรู้ความเข้าใจถ่องแท้ในเหตุผล ดีชั่ว ถูกผิด คุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 24, 2022, 11:43:23 AM
อธิษฐานธรรม ๔

ปัญญา คือไม่ประมาทปัญญาในธาตุทั้ง ๖ รู้ชัดใน ธาตุทั้ง ๖ นี้ว่า "ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา"

สัจจะ คือ ความจริง เรื่องนิพพาน เป็นสิ่งที่ต้องตามรักษา ทำให้แจ้งทำให้ถึงขึ้นมา รักษาได้โดยไม่ประมาทปัญญา เข้าถึงด้วยปัญญา

จาคะ คือ การสละกิเลสออก จึงเป็นสิ่งที่ต้องเพิ่มพูนทำให้มาก เราสละกิเลสออกได้มากเท่าไหร่ คือปัญญาของเราที่จะเข้าถึงสัจจะได้มากขึ้นเท่านั้น

อุปสมะ คือ จิตที่จาคะสละออก ราคะ โทสะ โมหะหมดสิ้น นั่นคือความสงบราบคาบ เป็นสุดยอดสันติ สันติจึงเป็นธรรมที่พึงศึกษา


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 24, 2022, 11:43:39 AM
สัมปทา ๘ ธรรมผู้ครองเรือน ที่ศรัทธาพระพุธเจ้า

อุฏฐานสัมปทา ๑ อารักขสัมปทา ๑ กัลยาณมิตตตา ๑ สมชีวิตา  ๑ สัทธาสัมปทา ๑ ศีลสัมปทา ๑ จาคสัมปทา ๑ ปัญญาสัมปทา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๘ ประการนี้แล ฯ
๑. คนหมั่นในการทำงานด้วยปัญญา
๒. ไม่ประมาท
๓. จัดการงานเหมาะสม เลี้ยงชีพพอเหมาะ
๔. ตามรักษาทรัพย์ที่หามาได้
๕. มีศรัทธา
๖. ถึงพร้อมด้วยศีล รู้ถ้อยคำ
๗. ปราศจากความตระหนี่
๘. ชำระทางสัมปรายิกัตถประโยชน์(ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา) เป็นนิตย์

ธรรม ๘ ประการดังกล่าวนี้ ของผู้ครองเรือน ผู้มีศรัทธา ในพระพุทธเจ้า


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 24, 2022, 11:43:48 AM
คติธรรมจาก จูฬสัจจกสูตร ๑

เป็นเรื่องราวของสัจจกนิครนถ์ ผู้ยโส หลงตนว่าเก่ง รู้มาก ขนาดโต้วาทีกับเสา เสายังล้มพัง ได้ไปโต้วาทีกับพระพุทธเจ้าหมายทำลาย โดยสัจจกนิครนถ์ถือว่า ขันธ์ ๕ เป็นตัวตน สั่งได้ บังคับได้ เพราะเห็นพระราชาสั่งบังคับผู้ใต้บัญชา ฆ่า เนรเทศคนที่ควรทำได้ ถูกพระศาสดาทำลายมานะกลับว่า ถ้าเป็นตัวตนของเราก็สามารถบังคับขันธ์ ๕ ให้ไม่เสื่อม ให้งามประณีต ไม่เจ็บป่วย ไม่เสื่อมดั่งใจได้ แต่บังคับไม่ได้เพราะไม่ใช่ตัวตน

คติธรรมทั้งทางโลกและทางธรรม
๑. อย่าหลงตน อย่าหลงสิ่งที่ตนเป็น-อย่างหลงสิ่งที่ตนรู้เห็นว่าเป็นที่สุด
๒. ควรมีปกติอ่อนน้อม คือ มีสัมมาคารวะ มีนิวาโต มีสันตุษฐ๊ มีกตัญญุตา
๓. เรายังบังคับตนให้เป็นดั่งใจไม่ได้ จะไปเอาอะไรกับผู้อื่น ไม่มีสิ่งใดเป็นไปดั่งใจเราต้องการได้ ทุกสิ่งอยู่เหนือการควบคุม แม้บางสิ่งที่บังคับควบคุมได้นั้นมันก็ได้แค่เพียงชั่วคราวไม่ยั่งยืน
๔. อย่าสำคัญมั่นหมายกับใจต่อตัวตนบุคคลใด แม้แต่ตัวเราขันธ์เรานี้เอง ว่าเป็นตัวตนจับต้องได้ บังคับได้ อยู่การควบคุมของตน เพราะไม่มีสิ่งใดคงอยู่ยั่งยืนนาน นานสุดแค่หมดลมหายใจเรานี้เท่านั้น ทุกอย่างล้วนแล้วแต่เป็นไปของมัน ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน (ธัมมารมณ์ คือสิ่งที่ใจรู้ทั้งปวง ไม่ใช่ตัวตน)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 24, 2022, 11:44:21 AM
???? ..นำธรรมมาใช้ในชีวิต.. ????

เครื่อมดื่มที่มี คาเฟอีนสูง มีผลต่อระบบสมองส่วนกลางให้ทำงาน ทำให้นอนไม่หลับ คิดฟุ้งอยู่ตลอดเวลา เมื่อเสพย์มากกระตุ้นการฮอโมนส์ทางเพศ ทำให้มีภาวะความต้องการทางเพศร่วมด้วย

ในทางธรรมนี้ จัดเป็นวิตก ฟุ้งซ่าน ไม่หลับเพราะฟุ้งคิดตลอดเวลา มีอารมณ์ทางเพศเพราะมีวิตกความนึกในราคะเมถุน มีวิจารความคิดใคร่ควรญในราคะเมถุน เป็นอันมาก

ดังนี้แล้ว เมื่อจะแก้ แก้ด้วย ปัสสัทธิ คือ ละความคิด ทำใจให้ว่าง สงบ ผ่อนคลาย ไม่คิดมาก ไม่ส่งจิตออกนอก รู้ลมหายใจบริกรรม พุทโธ แทนความคิดฟุ้งซ่าน


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 24, 2022, 11:44:47 AM
(https://www.nirvanattain.com/images/2020/03/20/article_10-min_large.jpg)

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

๑. ทุกข์ ควรกำหนดรู้ คือ อุปาทานขันธ์ ๕  

๒. สมุทัย ควรละ คือ ตัณหา
- กามตัณหา อยากได้สิ่งที่ตราตรึงใจที่ยังไม่ได้เสพย์..อวิชชา
- ภวตัณหา อยากให้สิ่งที่มีคงอยู่ไม่เสื่อมไป..นิจจสัญญา
- วิภวตัณหา อยากให้ที่มีไม่ดับสลายไป..อัตตสัญญา

๓. นิโรธ ควรทำให้แจ้ง คือ สิ้นอุปาทาน

๔. มรรค ควรทำให้มาก คือ ละกิเลสทั้งหลาย ให้เหลือเพียงปัญญา

*คติธรรมนำมาใช้ในชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม*
๑. ธัมมารมณ์ สิ่งที่ใจรู้ทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน อย่าเอาใจไปผูกขึ้นไว้
๒. ใช้ปัญญา คือ อริยสัจ ๔ ในการดำรงชีพ
๓. อย่าทำตามใจอยาก ให้ทำด้วยปัญญา


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 24, 2022, 11:45:33 AM
(https://www.nirvanattain.com/images/2020/03/20/article_46-min.jpg)

คติธรรมจาก อนัตตลัขณสูตร

๑. รูป(ร่างกาย, อาการ ๓๒, ธาตุ ๕)
๒. เวทนา(ความรู้สึกอารมณ์เพราะอาศัยสัมผัส)
๓. สัญญา(ความจำสำคัญมั่นหมายของใจ)
๔. สังขาร(ความคิดสืบต่ออารมณ์ความรู้สึก)
๕. วิญญาณ(ความรู้สึกรับรู้อารมณ์ที่กระทบและสืบต่อ)

ภานใน ภายนอก ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ควรยึดครอง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เสื่อม อาพาธ บังคับไม่ได้

*คติธรรมนำมาใช้ในชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม*
๑. ปุถุชนมีดี มีร้าย แปรปรวน เพราะมีอุปาทานขันธ์ อย่าไปยึดถือคาดหวังกับใคร
๒. ทุกสิ่ง ไม่ใช่ตัวตน มีอายุไขยของมัน แปรปรวน เสื่อมพัง บังคับไม่ได้ อยู่เหนือการควบคุม ไม่ควรยึดหลง


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 24, 2022, 11:45:47 AM
คติธรรมจาก อาทิตตปริยายสูตร

- ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะ ธัมมารมณ์ เป็นของร้อน
- ความรู้สึกอารมณ์ใดๆเกิดขึ้นเพราะอาศัยตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย-ใจ..สัมผัส เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี เป็นของร้อน
- ร้อนเพราะไฟ คือ ราคะ, โทสะ, โมหะ
- ความมีใจเข้ายึดครองอายตนะ ๑๒ และความรู้สึกอารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งไฟ เผาให้ร้อน ไม่เอาใจเข้ายึดครองมีไว้สักว่ารู้ก็ไม่ร้อน

*คติธรรมนำมาใช้ในชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม*
๑. โลกธรรม ๘ เป็นของร้อน ไม่ควรเอาใจเข้ายึดครอง
๒. ทำสิ่งใดด้วยอาศัยความรู้สึก ไม่ใช้ปัญญา ย่อมนำทุกข์ร้อนมาให้
๓. สิ่งทีใจรู้ความรู้สึกอารมณ์อันเกิดแต่ผัสสะทั้งหลาย(ธรรมารมณ์ทั้งปวง) ไม่ควรเอาใจเข้ายึดครอง หมายปอง สำคัญมั่นหมายกับใจ เพราะเป็นของร้อน ร้อนเพราะไฟคือราคะ ร้อนเพราะไฟคือโทสะ ร้อนเพราะไฟคือโมหะ พึงละความรู้โดยสมมติเหล่านั้นไปเสีย เพื่อไม่ให้ไฟแผดเผากายใจตน ให้ทำสักแต่ว่ารู้ แล้วปล่อยผ่านไป ไม่ควรเสพย์ ถึงความว่าง ความไม่มี ความสละคืน


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 08:39:49 PM
..คติธรรมจาก พรหมชาลสูตร..

..กล่าวถึงการที่มีพรามณ์ ๒ คน คนหนึ่งไล่ตามติเตียน อีกคนไล่ตามสรรเสริญพระพุทธเจ้าไปตลอดทางจนสิ้น
..พระตถาคต ตรัสสอนให้ละอารมณ์ความรู้สึกต่อคำนินทาสรรเสริญนั้น แล้วใช้ปัญญาไตร่ตรองแทงตลอดไปจนถึงทิฏฐิ ภูมิความรู้ ความเชื่อ อุปาทาน

*คติธรรมนำมาใช้ในชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม*
๑. ละอารมณ์ความรู้สึก ไม่หวั่นไหวต่อคำนินทาสรรเสริญ
๒. พิจารณาในคำพูดเหล่านั้นว่า มีในเรา หรือไม่มีในเรา เพื่อปรับปรุงตน
๓. พิจารณาถึงความเห็น ภูมิความรู้ วิธีคิด ความเชื่อ สิ่งที่เขายึดหลงจากคำพูดนั้น ทำให้เรารู้ภูมิความรู้แนวคิดของเขา


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:09:51 PM
เมตตา คือ กำลังที่แผ่ไป เนื่องด้วยรูป
กรุณา คือ กำลังที่แผ่ไป เนื่องด้วยใจ
มุทิตา คือ จิตจับที่จิตรวมไว้ในภายใน มีกำลังแผ่ไปโดยธัมมารมณ์
อุเบกขา คือ ความไม่ทำเจตนา
เข้าสู่เนวสัญญานาสัญญายตะ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:10:03 PM
ปุถุชนรู้ธรรมใดก็เเสพย์ธรรมนั้น

ปุถุชนเสพย์ธรรมใดก็อุปาทานธรรมนั้น

ธรรมปลอมมีมากในปุถุชน เห็นสิ่งใดให้รู้สักแต่ว่าเห็นเป็นเพีจงอาการหนึ่งๆของจิตที่มีอยู่นับล้านๆแบบ ซึ่งมีอยู่ทั่วไป ไม่ได้สำคัญอะไรเกินนี้ ของแท้มีแค่ในพระอริยะเท่านั้น การรับฟังกันแม้สามีภรรยาคุยกัน ก็ชื่อว่า สุตะ แต่การรู้จากปุถุชนยังต้องใช้ปัญญากลั่นกรองเพราะของปลอมมีมาก ดังนี้..


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:12:29 PM
แก้ปัญหาชีวิตด้วย อริยะสัจ ๔

- ทุกข์ หรือปัญหาชิวิตของเราเป็นแบบไหน
- เหตุแห่งทุกข์ หรือต้นเหตุปัญหาของเราคืออะไร
- ความดับทุกข์ หรือหมดสิ้นปัญหาของเราเป็นแบบไหน
- ทางดับทุกข์ หรือทางแก้ปัญหาของเราคืออะไร

๑. ทำความเข้าใจในทุกข์ หรือปัญหาชีวิต เพื่อรู้ตัวทุกข์ หรือปัญหานั้น และเหตุสืบต่อของมัน
๒. ละที่เหตุแห่งทุกข์ หรือต้นเหตุของปัญหา
๓. ทำความสิ้นไปแห่งทุกข์ หรือความหมดสิ้นปัญหาให้แจ้ง เพื่อรู้ว่าความสิ้นทุกข์ หรือปัญหามีได้เพราะอะไร ทำสิ่งใด ละสิ่งใด
๔. ทำในทางดับทุกข์ หรือทางแก้ไขปัญหาให้มาก


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:13:11 PM
จะทำจิตอย่างไร?

เมื่อ “กามราคะ” แผดเผา เสียดแทง
.
…. “ พระวังคีสเถระ เมื่อยังไม่เป็นพระอรหันต์ บวชได้ใหม่ๆ เที่ยวบิณฑบาตพบสตรีคนหนึ่งเข้า ราคะเกิดขึ้นเสียดแทงจิต ต้องเข้าไปขอความช่วยเหลือจากพระอานนท์ :
…. “ กามราคะแผดเผาภายในของข้าพเจ้า จิตของข้าพเจ้าถูกไฟไหม้เสียแล้ว อุบายอย่างใดเป็นเครื่องดับได้ดี ข้าแต่ท่านผู้โคตมโคตร ! ขอท่านจงบอกเพื่อความเอ็นดูแก่ข้าพเจ้าเถิด.”
…. ท่านขอร้องกับพระอานนท์.
.
…. พระอานนท์จึงเตือนสติว่า...
…. “ เพราะยึดมั่นนิมิตนั่นไว้ด้วยสัญญา จิตของท่านจึงเดือดพล่าน #ท่านจงเว้นนิมิตที่ท่านเห็นว่างามและชวนกำหนัดนั่นเสียเถิด.
     จงอบรมจิตในอารมณ์ที่ไม่งามให้แน่วแน่เป็นหนึ่ง
     จงมองให้เห็นสังขารทั้งปวง เป็นของผู้อื่น เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
     จงดับความกำหนัดอันหยาบใหญ่เสียแล้วอย่าฟุ้งขึ้นอีก”
นี่เป็นคำเตือนสติของพระอานนท์.
ใน “อัฏฐกถาหาริตชาดก นวกนิบาต” เล่าเรื่องนี้ไว้.”


พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : จากหนังสือ “ตามรอยพระอรหันต์” พิมพ์ครั้งที่ ๘ สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, หน้า ๒๕๑
หมายเหตุ :
“กามราคะ” คือ ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม, ความใคร่ในกาม ( ข้อ ๔ ในสังโยชน์ ๑๐ )
“โคตมโคตร” คือโคตรเดียวกับพระผู้มีพระภาค ( ในที่นี้ หมายถึง พระอานนท์ )
“นิมิต” คือ เครื่องหมาย หรือ ภาพที่เป็นอารมณ์
“สัญญา” คือ ความจำได้หมายรู้ คือ หมายรู้ไว้ซึ่ง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และอารมณ์ที่เกิดกับใจ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:14:35 PM
..สมมติจิต..

จิตรู้สิ่งใดสิ่งนั้นเป็นสมมติทั้งหมด
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสกาย สัมผัสใจ ความรู้สึกนึกคิดในรัก ใคร่ อยาก โลภ โกรธ เกลียด ชัง กลัว หลง
ทั้งหมดล้วนเป็นแค่สมมติธัมมารมณ์ที่กิเลสวางไว้ล่อจิตทางมโนทวารให้หลงตามเท่านั้น ของจริงมันดับไปแล้ว แต่ใจเราเอามาตรึกนึก ด้วยหมายรู้ แล้วคิดสืบต่อเรื่องราวตามความจำได้หมายรู้ทำให้เหมือนมันเพิ่งเกิดขึ้น
ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้..ก็ไม่ยึดสมมติ
ลมหายใจนี้ของจริง
อย่าทิ้ง "พุทโธ"..อย่าทิ้ง "ลมหายใจ"


หลวงพ่อเสถียร ธิระญาโน


------------------------------------------------------


บันทึกกรรมฐาน ปี 64 ก่อนเข้าพรรษา เมตตาตนเอง+อานาปานสติ+จาคะ

..ลมหายใจนี้ไม่มีทุกข์ ลมหายใจนี้ไม่มีโทษ ลมหายใจนี้เป็นที่สบาย
..แล้วก็เอาใจมาจับรู้ลมหายใจ

..หายใจเข้า ระลึกถึงความว่าง โล่ง เบาสบาย เอาใจลอยขึ้นตามลมหายใจเข้า ลอยอยู่เหนืออารมณ์ความรู้สึกนึกคิด อัดอั้นกายใจทั้งปวง
..หายใจออก ระลึกถึงความปลดปล่อยกายใจของเราออกจากทุกสิ่งทุกอย่าง มันเบา สบาย เย็นใจ ผ่อนคลายๆ

หายใจเข้าจิตเบา โล่ง สบาย เย็นใจ ไม่มีเรื่องเครียด
หายใจออก เบาสบาย เย็นใจ ผ่อนคลาย ผ่อนคลาย

หายใจเข้า จิตเบา โล่ง สบาย เย็นใจ
หายใจออก ผ่อนคลาย ผ่อนคลาย



------------------------------------------------------


โรคซึมเศร้า

เกิดจากการย้ำคิดย้ำทำกับความผิดหวังซ้ำๆ เศร้า เหงา กลัว

..ทางแก้ไข คือ ยอมรับความจริง เมตตาให้อภัยตนเอง ทำใจให้ผ่อนคลาย ดังนี้

..ยอมรับความจริงกับทุกเรื่องที่เกิดขึ้น หายใจเข้า
..ให้อภัยตนเอง หายใจออก

..อภัยให้ตนเอง หายใจเข้า
..อภัยให้คนเอง หายใจออก

..ทำใจถึงความว่าง โล่ง
หายใจเข้า ใจเราเบาลอยขึ้นตามลมหายใจเข้าพ้นจากความคิดทั้งปวง
..ทำใจว่าเราปลดปล่อยตนเองจากพันธนาการทั้งปวง.  หายใจออก  จิตเบาโล่ง สบาย ผ่อนคลาย

..หายใจเข้า ว่าง โล่ง เย็นใจ
..หายใจออก ปล่อย เบาใจ ผ่อนคลายๆ



------------------------------------------------------


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:14:58 PM
..สมมติจิต..

จิตรู้สิ่งใดสิ่งนั้นเป็นสมมติทั้งหมด
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสกาย สัมผัสใจ ความรู้สึกนึกคิดในรัก ใคร่ อยาก โลภ โกรธ เกลียด ชัง กลัว หลง
ทั้งหมดล้วนเป็นแค่สมมติธัมมารมณ์ที่กิเลสวางไว้ล่อจิตทางมโนทวารให้หลงตามเท่านั้น ของจริงมันดับไปแล้ว แต่ใจเราเอามาตรึกนึก ด้วยหมายรู้ แล้วคิดสืบต่อเรื่องราวตามความจำได้หมายรู้ทำให้เหมือนมันเพิ่งเกิดขึ้น
ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้..ก็ไม่ยึดสมมติ
ลมหายใจนี้ของจริง
อย่าทิ้ง "พุทโธ"..อย่าทิ้ง "ลมหายใจ"


หลวงพ่อเสถียร ธิระญาโน


------------------------------------------------------


บันทึกกรรมฐาน ปี 64 ก่อนเข้าพรรษา เมตตาผู้อื่น

๑. มีจิตตั้งมั่นอยู่ ด้วยใจหมายให้หมู่สัตว์ได้รับประโยชน์สุขสำเร็จดีงาม น้อมใจไปในความสละ ชำระกิเลสออกจากใจ คือ ปราศจาก รัก ชัง กลัว หลง

..หากสละไม่ได้ ให้ทำความสงบใจผ่อนคลาย โดยตั้งใจว่า
- เราจะไม่เอากิเลสตนไปแผดเผาผู้อื่น
- เห็นเสมอกันด้วยธาตุมีใจครอง, กิเลส, กรรม
- พระพุทธเจ้าทรงแผ่ฉัพพรรณรังสีนำไป

๒. มีใจสงเคราะห์ปลดปล่อยสัตว์จากความทุกข์ ดังนี้..
๒.๑) ภายใน คือ ใจถึงกุศล ปราศจากกิเลสความเร่าร้อนแผดเผากายใจ



------------------------------------------------------


โรคไบโพล่า

เป็นการเกิดขึ้นทับซ้อนกันของจิตใต้สำนึกที่เก็บกด โกรธ แค้น กับใจที่รับรู้โดยขาดสติสัมปะชัญญะในปัจจุบัน

..วิธีบำบัด คือ ฝึกจิตให้เมตตา รู้ตัวในปัจจุบัน ดังนี้

..ปัจจุบัน เกิดความรู้สึกรัก ชัง กลัว หลง อันใดขึ้นกับใจเรา-ก็รู้ว่าความรู้สึกนั้นเกิดขึ้น ให้รู้ว่าความรู้สึกนั้นเป็นแค่สมมติปรุงแต่งจิตตามความยินดี-ยินร้ายของเรา หลงตามก็มีแต่ทุกข์ ไม่ยึดสิ่งที่ใจรู้ ก็ไม่หลงตามสมมติ ของแท้มีแค่ลมหายใจที่ไม่ปรุงแต่งจิต ให้รู้ลมหายใจเข้า-ออก รู้อิริยาบถ รู้กิจการงานที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน


------------------------------------------------------


๒.๒) ภายนอก คือ พ้นจากภัยอันตรายทั้งปวง ไม่มีทุกข์-โทษ-เวร-ภัย[/b][/color]


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:15:05 PM
..แก้โรควิตกกังวล..

สงบนิ่ง หายใจเข้านึกถึงความว่าง โล่ง เบา เย็นใจ
หายใจออก นึกถึงความผ่อนคลายๆ สบายกายใจ

ทำสิ ทำเพราะรู้ว่ามันคือสิ่งดี คือชีวิต คืออนาคตเรา คือยารักษาบำบัดจิตเรา รักษาจิตก็แก้ด้วยจิต ดังนั้นให้ตั้งใจมทำ เบื่อก็ทำเพราะเป็นยารักษาบำบัดจิตเรา เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องกินยารักบำบัด

- เวลาที่ฟุ้งซ่านเป็นเวลาที่เหมาะแแก่ ปัสสัทธิ คือ ความสงบใจ

- ความสงบจะมีลักษณะอาการที่..ผ่อนคลาย ปล่อย ละ วาง ไม่ยึด ไม่เกาะ ไม่เกี่ยว ไม่จับ ไม่คิดสิ่งใด มันว่าง โล่ง เบา เย็นใจ เป็นที่สบายกายใจ จิตใจเป็นอิสระสุข พ้นจากเครื่องผูกมัดร้อยรัดหน่วงตรึงใจทั้งปวง



- เวลาเราคิดถึงมัน ให้รู้ว่าเราคิดเรื่องลามกอีกแล้ว แล้วก็ระลึกในใจว่า..คิดหนอๆ (รู้ตัวว่าเรากำลังคิด) แล้วก็ให้รู้ตัวว่าความคิดนั้นมันมีโทษ มันทำให้เราทรมานร้อนรุ่มกายใจอยู่ปกติเย็นนใจไม่ได้ กระสับกระส่ายทรมาน ดังนั้นให้ทิ้งความคิดนั้นไปอย่าสนใจ แล้วไปหาอย่างอื่นทำ ถ้าไม่มีอะไรทำให้อยู่กับปัจจุบัน คือ กำลัง ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ขี้ ฉี่ ขับรถ ทำงาน เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้สัมผัส ก็ให้รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ในปัจจุบัน เช่น..

- อยู่อิริยาบถใดก็รู้ แล้วก็ทำใจรู้ว่าเรากำลังทำอิริยาบถนั้นๆอยู่
..ยืนก็ยืนหนอๆ(รู้ตัวว่ากำลังยืนอยู่) นั่งก็นั่งหนอๆ(รู้ตัวว่ากำลังนั่งอยู่) นอนก็นอนหนอๆ(รู้ตัวว่ากำลังนอนอยู่) เดินก็เดินหนอๆ(รู้ตัวว่ากำลังเดินอยู่) วิ่งก็วิ่งหนอ(รู้ตัวว่ากำลังวิ่งอยู่)

- ทำกิจการงานใดอยู่ก็รู้ว่ากำลังทำงานนั้นๆอยู่ แล้วก็ตั้งใจทำงานนั้นต่อให้เสร็จ
..เรียนอยู่ก็เรียนหนอๆ(รู้ว่าเรากำลังเรียนรู้อยู่ แล้วก็เอาใจจดจ่อการเรียนว่าเรากำลังวิชาอะไร บทไหน หัวข้ออะไร ทำลังเรียนถึงตรงไหน เนื้อหาอะไร)
..อ่านหนังสืออยู่ก็อ่านหนอๆ(รู้ว่าเรากำลังอ่านหนังสืออยู่ แล้วก็เอาใจจดจ่อกับหนังสือที่ออ่านว่า เรากำลังอ่านวิชาอะไร บทไหน หัวข้ออะไร กำลังอ่านถึงตรงไหน เนื้อหาอะไร)
..กินอยู่ก็กินหนอๆ(รู้ตัวว่ากำลังกินอยู่) ขี้อยู่ก็ขี้หนอๆ(รู้ตัวว่ากำลังขี้อยู่) ฉี่อยู่ก็ฉี่หนอๆ(รู้ตัวว่ากำลังฉี่อยู่) ขับรถก็ขับรถหนอๆ(รู้ตัวว่ากำลังขับรถอยู่)

- รับรู้อะไรได้ก็รู้
..เห็นก็เห็นหนอๆ(รู้ตัวว่ากำลังเห็นอยู่.. โดยมองในปัจจุบันที่เห็น ไม่คิดสืบต่อเกินกว่าที่เห็นในปัจจุบันจนไหลไปในเรื่องลามก ไม่มองส่วนเล็กส่วนน้อย รู้อยู่เฉพาะปัจจุบันที่เห็นไม่คิดสืบต่อ ไม่ให้ความสำคัญใจแล้วก้อปล่อยมันไป)
..ได้ยินก็ได้ยินหนอๆ(รู้ตัวว่าได้ยินเสียง ทำใจแค่รู้ว่าหูได้ยินเสียง ไม่ให้ความสำคัญใจแล้วก็ปล่อยมันไป)
..ได้กลิ่น ได้รู้รสอะไรก็รู้ว่าได้กลิ่น ได้รู้รส สัมผัสกาย ก็แค่รู้ว่าสัมผัสไม่คิดสืบต่อเกินกว่าที่เรารับรู้ไหลไปเรื่องลามก


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:15:14 PM
#เมตตาผู้อื่น

- ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด
- อย่าได้มีเวรภัย ความโกรธ เกลียด ชิงชัง ซึ่งกันและกันเลย
- อย่าได้มีความพยายาท ผูกแค้น มุ่งร้ายซึ่งกันและกันเลย
- อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจ อย่าได้มีโรคภัยเบียดเบียน อย่าได้มีความหิวกระหาย อย่าได้มีสะดุ้งหวาดกลัวเลย
- ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงมีความสุขกายสุขใจ กินอิ่ม หลับสบาย กายใจเป็นสุข รักษาตนให้รอดพ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ

------------------------------------

คนทุกคนมีร่างกายเหมือนเรา กินแล้วก็ต้องขี้ กินแล้วก็ต้องฉี่เ หมือนกัน เสมอกันไม่ว่าเราหรือใคร
- เรามี เรากิน เราอยู่ เขาก็มี เขาก็กิน เขาก็อยู่
- เขามีรัก ชัง กลัว หลง เราก็มีรัก ชัง กลัว หลง
- เราไม่มีอะไรต่างจากคนอื่นเลย เขาก็เหมือนเรา เราก็ไม่ต่างจากเขา เผลอๆคนอื่นเขาใจสะอาด กายสะอาดกว่าเดราด้วยนะ

- ให้มองคึนอื่นเสมอเหมือนตัวเอง แล้วเมตตาคนอื่นด้วยความเอ็นดู เราอยากให้้คนรักเราก็รักคนอื่น เราอยากให้คนอื่นคิดดีกับเรา เราก็คิอดดีีกับคนอื่น เราอยากสบายไม่มีทุกข์ อยากอยู่เป็นสุขโดยไม่มีรัก ชัง กลัว หลง เราก็เมตตาคนอื่นให้คนอื่นอยู่เป็นสุขไม่มีทุกข์ ปราศจากรัก ชัง กลัว หลง เหมือนเรา
- เวลาเจอใคร เกลียดสิ่งใด ให้ตั้งใจแผ่เอาความปารถนาดีมีสุขต่อเขา เสมอเหมือนเราต้องการให้มีความสุขกายสบายใจเหิดขึ้นกับเรา แผ่ให้เขาไป
..ไม่ว่ากายเรา กายเขาก็เป็นของสกปรกเสมอกัน เป็นของที่มีความเสื่อมโทรมอยู่ตลอดเวลา เราจะำไปรังเกลียดสิ่งที่เสมอเหมือนตัวเรา ก็เท่ากับเรารังเกลียดตัวเอง แผ่เอาใจที่ปราศจากความเกลียดชัง ด้วยใจยินดี เต็มใจ เข้าใจทุกอย่าง เข้าใจโลก เข้าใจความเสมอกัน ควรเอื้อเฟื้อกัน
..หากไปเจอที่สกปรกไม่ดี เราก็เลือกสถานที่ที่สะอาดที่ดีที่พอเหมาะกับเรา หากเลี่ยงสถานที่นั้นไม่ได้ก็ให้เราทำความสะอาดพื้นที่นั้นๆให้พอดีที่เราจะอยู่จะใช้มันได้
..เราทำความสะอาดให้ไปก็เป็นทานบารมีแก่เรา ดังนั้นเราทำไปอย่าไปคิดว่ายุงยากน่ารำคาญ แต่คิดว่าสละทำให้เป็นทาน นี้ได้ทานบารมีด้วย


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:15:40 PM
กรรมฐานจาก คันธภกสูตร ทุกข์เพราะฉันทะราคะ

คันธภกสูตร ฉันทะราคะเป็นเหตุแห่งทุกข์
เพราะมีฉันทะราคะกับ คน สัตว์ สิ่งของที่ตนเอาใจครอบครองอยู่ หรือที่ตนมีอยู่ เช่น ลูก เมีย สามี พี่ น้อง พ่อ แม่ ญาติสนิท มิตรสหาย

..แก้โดยโพชฌงค์ตามกาล คือ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เป็นความสงบใจจากกิเลสด้วยปัญญารู้เห็นตามจริง มีอาการที่สงบรำงับ ผ่อนคลาย เบาใจ เย็นใจ ไม่เร่าร้อน ปลงใจ ปล่อย ไม่เกี่ยวยึด
..ปุถุชนเรานี้แก้อุปาทานจากฉันทะราคะให้ถึงความสงบใจจากกิเลสโดย รู้ในกรรมตามจริงว่า มีกรรมนำพาให้พบเจอเป็นไป
..ทั้งกรรมในอดีตที่ทำมาแต่ชาติปางก่อน ..ชาติก่อนอาจเลว-ชาตินี้อาจเลว ..ชาติก่อนอาจเลว-ชาตินี้อาจดี ..ชาตินี้อาจดี-ชาติก่อนอาจเลว ..ชาติก่อนอาจดี-ชาตินี้ก็ดียิ่งขึ้น ทุกๆอย่างทุกๆการกระทำล้วนมีผลสืบต่อ จะดี จะร้าย ล้วนแล้วแต่เป็นไปด้วยกรรม
..หรือกรรมในกาลที่ผ่านมานี้
..หรือกรรมในปัจจุบันกาลนี้
..สมดั่งพระศาสดาตรัสสอนใน อุเบกขาอัปปมัญญาว่า ..เรามีกรรมเป็นเหตุ มีกรรมเป็นของๆตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นที่ติดตาม อาศัย เราเป็นทายาทกรรม ..บุญบารมีที่ทำสะสมติดตัวมาเท่านั้นที่ช่วยค้ำไว้ได้ หนักเป็นเบา เบาเป็นไม่ส่งผล หากบุญกุศลทำมาน้อยกว่าบาปอกุศลก็ต้องรับผลเป็นไปตามอกุศลกรรมนั้น ไม่มีใครจะล่วฃพ้น หรือไปห้ามมันได้
..ดังนั้นอย่าไปคาดหวัง เพราะถึงคาดหวังหรือโหยหาประวนกระวายใจไปก็ช่วยอะไรไม่ได้ ทุกอย่างมันขึ้นอยู่ที่ตัวเขาทำเองทั้งนั้น
..ให้ตั้งความรู้ตัวเพียงในปัจจุบันไม่ยึดเอาสมมติกิเลสที่ปรุงแต่งจิตมาให้ใจรู้ คือ ความคิด ความตรึกถึง คำนึงถึง หวนระลึกถึงที่ติดตราตรึงใจ ยินดี โหยหา กระหาย ยินร้าย ผลักไสทั้งปวง เอาใจมารู้ของจริงที่ไม่เจือสมมติกิเลสปรุงแต่งจิต คือลมหายใจเรานี้แล อย่าทิ้ง..พุทโธ เพราะพุทโธนี้เป็นทั้งคุณูประการองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นกิริยาจิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

สิ่งที่เป็นสุขที่สุดคือพ้นจากความคิดต่างๆ

- เอาใจเราอยู่เหนือความคิด อารมณ์ความรู้สึกเครียดๆทั้งปวง

- หายใจเข้า ทำใจเบา ว่าง โล่ง สบายๆ ไม่มีเรื่องเครียด ไม่มีเรื่องให้คิด

- หายใจออก ผ่อนคลายๆๆๆ

- ทำใจให้ว่าง โล่ง เบา สบาย หายใจเข้า

- ทำใจให้สบาย ผ่อนคลายๆ หายใจออก

เราจะรู้สึกเบาสบาย

https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=18&A=8263&Z=8344


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:16:45 PM
1.) แก้เป็นคนคิดมาก เก็บเอามาคิดทุกเรื่อง ย้ำคิด ย้ำทำ เอาใจไปผูกเกี่ยวไว้สำคัญมั่นหมายใจในความยินดียินร้ายกับทุกๆเรื่อง อยู่ด้วยอคติ ๔ คือ รัก, ชัง, กลัว, หลงไม่รู้ตามจริง

     ..เวลาเก็บอะไรมาคิดก็นึกเสียว่า ติดใจข้องแวะไปก็หาประโยชน์สุขไรๆไม่ได้นอกจากทุกข์ ติดใจข้องแวะไปก็มีแต่ทุกข์ ไม่ติดใจข้องแวะก้อไม่ทุกข์ ..ดังนั้นให้คิดเสียว่าอย่าไปติดใจข้องแวะมันเลย ช่างมัน ปล่อยมันไปบ้าง ให้จิตเราได้พักบ้าง
     ..โดยให้รู้ตัวว่า..เราเอาใจไปข้องเกี่ยวผูกใจไว้กับสิ่งนั้นๆมากไปจนเกินความจำเป็นให้ถูกทุกข์หยั่งเอาแล้ว เราควรปล่อย ควรละ ควรวางมันลงได้แล้ว ไม่ควรใส่ใจให้ความสำคัญมั่นหมายของใจกับสิ่งนั้นๆจนเกินความจำเป็นที่จะรับรู้ หรือทำในสิ่งนั้นๆ
     ..แล้วทำไว้ในใจถึงความปล่อย ความละ ความวาง ความสละคืน ความไม่ข้องเกี่ยวอีก คลายเงื่อนปมที่ผูกใจไว้ มีใจสลัดออกจากสิ่งนั้นๆ โดยสำเนียกไว้ในใจว่า..

..ติดใจข้องแวะ 100% ก็ทุกข์ 100%

..ติดใจข้องแวะ 75% ก็ทุกข์ 75%

..ติดใจข้องแวะ 50% ก็ทุกข์ 50%

..ติดใจข้องแวะ 25% ก็ทุกข์ 25%

..ไม่ติดใจข้องแวะเลย ก็ไม่ทุกข์เลย

..หมายเหตุ..
     ๑. ติดใจ แปลว่า ให้ความสำคัญมั่นหมายของใจกับสิ่งนั้นๆ ในความพอใจยินดี และไม่พอใจยินดี มีความติดตรึงใจยินดี, ข้องใจยินร้าย
     ๒. ข้องแวะ แปลว่า ใส่ใจให้ความสำคัญ, ข้องเกี่ยว
     ๓. ติดใจข้องแวะ แปลว่า ใส่ใจข้องเกี่ยวให้ความสำคัญมั่นหมายของใจในความพอใจยินดี และไม่พอใจยินดี

(2.) แก้เป็นคนคาดหวังกับทุกสิ่ง แคร์คนอื่นไปทั่ว

     ..อย่าเอาความสุขสำเร็จของตัวเองไปผูกขึ้นไว้กับคนอื่น สุข-ทุกข์มันเกิดขึ้นที่กายใจเรา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใคร
     ..ดังนั้น อย่าเอาความสุขสำเร็จของตนเองไปผูกขึ้นไว้กับผู้อื่น อย่าเอาเขามาเป็นชีวิต เป็นสุขทั้งชีวิตของเรา ให้รู้จักปล่อยผ่าน รู้จักละ รู้จักวาง ง
     ..ไม่ตั้งความคาดหวังปารถนา ที่จะได้รับผลการตอบสนองกลับให้เป็นไปดั่งที่ใจเราต้องการจากใคร เพราะเราไม่อาจจะไปคาดหวังปารถนากับสิ่งใดๆในโลกได้ ด้วยไม่มีอำนาจที่จะไปบังคับ สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน มีความแปรปรวนอยู่ตลอดเวลาจากใครได้
     ..ให้เอาใจมารู้อยู่ที่ปัจจุบัน รู้ลมหายใจ รู้ว่าตนกำลังทำอะไรอยู่ในปัจจุบัน ให้รู้หน้าที่ รู้กิจการงานสิ่งที่ตนต้องทำ สิ่งที่ถูก ที่ควรทำ กล่าวคือ รู้ธัมมารมณ์(สิ่งที่ใจรู้ทั้งปวง) ที่ควรเสพย์ และไม่ควรเสพย์ ได้แก่..

- รู้ความพอใจยินดีต่อารมณ์(โสมนัส) ที่ควรเสพย์ และไม่ควรเสพย์

- รู้ความไม่พอใจยินดีต่ออารมณ์(โทมนัส) ที่ควรเสพย์ และไม่ควรเสพย์

- รู้ความวางเฉยต่ออารมณ์(อุเบกขา) ที่ควรเสพย์ และไม่ควรเสพย์

กล่าวคือ…

- สิ่งใดมีคุณ มีประโยชน์สุขสำเร็จ ทำให้จิตผ่องใส มีใจเอื้อเฟื้อ เว้นจากความเบียดเบียน กุสลพอกพูน มีความรู้ตัวอยู่ทุกเมื่อ ไม่หลงลืม ตั้งอยู่โดยความไม่ประมาท
  ..สิ่งนั้นควรเสพย์

- สิ่งใดไม่มีคุณ ไม่มีประโยชน์ มีโทษ เป็นทุกข์ ยังความเสื่อมมาให้ ไม่รู้ตัว เป็นผู้หลงลืม ตั้งอยู่โดยความประมาท
  ..สิ่งนั้นควรละ

(3.) แก้เชื่อคนง่าย อ่อนไหวง่าย ใจง่าย เจ้าอารมณ์

     ..ใช้ปัญญา ตรองพิจารณารู้เห็นตามจริง ไม่ใช้ความรู้สึกเป็นที่ตั้ง
     ..กล่าวคือ..ความรัก โลภ โกรธ หลง มันคือสมมติกิเลสของปลอมที่วางไว้ล่อจิตให้หลงตาม สิ่งใดมีเกิดขึ้น ก็สักแต่ว่ารู้ว่ามันเกิด แล้วก็ปล่อยมันไป ช่างมัน อย่าสนใจให้ความสำคัญกับมัน อย่าใส่ใจสิ่งที่จิตรู้นั้น
     ..ให้เอากายใจเรามาอยู่กับปัจจุบัน รู้ตัวทั่วพร้อมว่ากำลังทำอะไร ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ฉี่ ขี้ ทำงาน อยู่สภาพแวดล้อมใด ที่บ้าน ที่ตลาด ร้านอาหาร ที่ทำงาน ปัจจุบันตรงหน้าคืออะไร ทำงาน ประชุม เขียนงาน ดูงาน ปฏิบัติงาน ดูหนัง ฟังเพลง พูดคุย เห็นหรือฟังก็รู้แค่ในสิ่งที่เห็นที่ฟังในปัจจุบันไม่คิดสืบต่อเกินความจำเป็นที่จะต้องทำ
     ..ง่ายที่สุด คือ เอาจิตมารู้ลมหายใจ เพราะลมหายใจคือของจริงไม่ปรุงแต่งสมมติ, เป็นของไม่ปรุงแต่ง, ไม่ใช่เครื่องปรุงแต่งจิต"
- หายใจเข้าบริกรรม พุท ลากเสียงยาวสั้นตามลมหายใจเข้ายาวหรือสั้น
- หายใจออกบริกรรม โธ ลากเสียงยาวสั้นตามลมหายใจออกยาวหรือสั้น
- พุทโธ คือ องค์พระ พุทโธ คือ กิริยาจิต เป็นความรู้ของจิต ดังนี้..

๑. กิริยาจิตที่ รู้ ..รู้ของจริงต่างหากจากสมมติ คือ..
..รู้เห็นสมมติ คือ รู้ว่า..รัก โลภ โกรธ หลง สิ่งที่จิตรู้นี้ คือ สิ่งที่ปรุงแต่งอารมณ์ให้จิตหลงตาม ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ก็ไม่ยึดสมมติ
..รู้ของจริง คือ ลมหายใจเป็นสิ่งที่ไม่ปรุงแต่ง เป็นที่สงบ สบาย ไม่มีทุกข์ ไม่มีโทษ
..รู้ปัจจุบัน คือ รู้ตัวทั่วพร้อมในปัจจุบันว่า กำลังรู้สึกนึกคิดอะไร กำลังทำกิจการงานใดๆอยู่ รู้ในปัจจุบันเพียงสิ่งที่เห็น ที่ได้ยิน ที่รู้กลิ่น ที่รู้รส ที่รู้สัมผัสกาย ที่รูปสัมผัสใจ คือ อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งปวง รู้โดยไม่คิดสืบต่อเรื่องราวจากมันเกินสิ่งที่รู้อยู่ในปัจจุบันนั้นๆ นี้คือ จิตเป็นพุทโธ คือ ผู้รู้

๒. กิริยาจิตที่ ตื่น ..ตื่นจากสมมติกิเลสของปลอม คือ..
..เมื่อรู้ว่าสมมติกิเลสของปลอมเกิดขึ้น แล้วทำใจออกจากสมมติกิเลสของปลอมนั้น ไม่จับยึดสมมติกิเลสของปลอมอีก ..แล้วมารู้แค่ของจริง รู้อยู่ที่ปัจจุบัน ทำได้โดย..
..ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ แล้วมารู้ลมหายใจ อันเป็นของที่ไม่ปรุงแต่งจิต ไม่ปรุงแต่งสมมติ รู้ปัจจุบันที่เป็นของจริงไม่คิดสืบต่อสมมติกิเลสจองปลอมจากสิ่งที่รู้อยู่ในปัจจุบัน

๓. กิริยาจิตที่ เบิกบาน ..เบิกบานพ้นจากสมมติกิเลสของปลอม จิตผ่องใส เบิกบาน เบา ว่าง โล่ง สงบ สยาย เย็นใจ ไม่เร่าร้อน


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:17:32 PM
(1)(.)เวลาเก็บอะไรมาคิดก้อ นึกเสียว่า ติดใจข้องแวะไปก้อหาประโยชน์สุขไรๆไม่ได้นอกจากทุกข์ ติดใจข้องแวะไปก็มีแต่ทุกข์ ไม่ติดใตจ้องแวะก้อไม่ทุกข์ ดังนั้นให้ระลึกรู้ดังนี้ว่า อย่าไปติดใจข้องแวะมัน ช่างมัน ปล่อยมันไปบ้าง ให้จิตเราได้พักบ้าง

(2)(.)อย่าเอาความสุขสำเร็จของตัวเองไปผูกขึ้นไว้กับคนอื่น สุข-ทุกข์มันเกิดขึ้นที่กายใจเรา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใคร ..ดังนั้น อย่าเอาความสุขสำเร็จของตนเองไปผูกขึ้นไว้กับใคร อย่าเอาเขามาเป็นชีวิต เป็นสุขทั้งชีวิตของเรา

(3)(.)ใช้ปัญญา ไม่ใช้ความรู้สึก


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:17:42 PM
บันทึกกรรมฐาน ปี 64 ก่อนเข้าพรรษา สิ่งที่เป็นสุขที่สุดคือพ้นจากความคิดต่างๆ

- เอาใจเราอยู่เหนือความคิด อารมณ์ความรู้สึกเครียดๆทั้งปวง

- หายใจเข้า ทำใจเบา ว่าง โล่ง สบายๆ ไม่มีเรื่องเครียด ไม่มีเรื่องให้คิด

- หายใจออก ผ่อนคลายๆๆๆ

- ทำใจให้ว่าง โล่ง เบา สบาย หายใจเข้า

- ทำใจให้สบาย ผ่อนคลายๆ หายใจออก

เราจะรู้สึกเบาสบาย


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:17:54 PM
บันทึกกรรมฐาน ปี 64 ก่อนเข้าพรรษา การฝึกอบรมจิตให้เป็นปกติ

ก. มีสติรู้อยู่ในอารมณ์ความรู้สึกสึกทั้งปวงที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ ทำไว้ในใจถึงความไม่ติดใจข้องแวะในสิ่งทั้งปวง มีใจผลักออกจากอารมณ์ความรู้สึกนั้นๆ

ข. มีความสำเหนียกอยู่ว่าเราจักไม่ยึดจับสิ่งใด ..หายใจเข้า ..จิตลอยขึ้นพ้นอารมณ์ความรู้สึกทั้งปวง ถึงความว่างโล่ง เบา เย็นใจ

ค. มีความสำเหนียกอยู่ว่าเราจักปล่อย ..หายใจออก ..ผ่อนคลาย เบา สบายใจ

ฝึกทำบ่อยๆสะสมเหตุจนเป็นปกติจิต จะทำให้..เมื่อจิตรู้ว่า ราคะ โทสะ โมหะเกิดขึ้น คลองจิตนั้นควรทำอย่างไร จนเข้าถึงสภาวะตัดแม้เพียงแค่คิดสำเหนียกในใจว่า.. อย่าไปติดใจข้องแวะมันเลย ติดใจข้องแวะร้อย-ก็ทุกข์ร้อย, ไม่ติดใจข้องแวะเลย-ก็ไม่ทุกเลย

ข้อนี้มิใช่ธรรมอื่นใดไกลตัว มิใช่ธรรมเพื่อสละคืนอันสูงเกิน ธรรมทั้งหมด คือ .."อานาปานสติ+เมตตาตนเอง"..เท่านั้นเอง ถ้าหากเราเคยทำได้เข้าถึงได้ เราก็ทำสิ่งยากให้ง่ายได้ ทำของง่ายให้สูงยิ่งๆขึ้นไปได้ เหมือน พุทโธ จากเพียงคำบริกรรมถ้าจิตเข้าถึงพุทธะ ถึงคุณพระพุทธเจ้าได้แล้ว พุทโธ ก็จะเป็นกิริยาจิตของเรา คือ..
- ผู้รู้..จิตรู้ปัจจุบัน จิตรู้เห็นของจริงต่างหากจากสมมติ
- ผู้ตื่น..จิตตื่นจากสมมติ จิตมาจับรู้ของจริง ไม่ข้องจับสมมติ
- ผู้เบิกบาน..จิตเบิกบานพ้นแล้วจากสมมติกิเลสของปลอม พ้นจากสมมติธัมมารมณ์ความรู้สึกทั้งปวง

- ขั้นต้น ที่ได้นี้ก็เป็นปกติจิต จิตมีความปกติ
- ขั้นกลาง จิตก็ทรงอยู่โดยมรรค
- ขั้นสุด จิตก็ถึงความตัด จนถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้(คือหมดสิ้นทุกข์แล้ว)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:19:16 PM
☸️ ..บันทึกกรรมฐานจาก ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร วันเข้าพรรษาปี 64.. ☸️

พระธัมมจักกัปปวัตนสูตร ที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นบทสรุปความโดยย่อจากพระสูตร ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยรู้จัก ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยได้ฟังจากใคร อาศัยสติ สัมปะชัญญ สมาธิ โยนิโสมนสิการ อนุโลม ปฏิโลม เข้าตามพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และข้าพเจ้าเป็นเพียงปุถุชนอยู่เท่านั้น ธรรมปลอมย่อมมีเยอะ มีผิดพลาด ไม่ใช่ธรรมจริง ท่านผู้อ่านต้องวิเคราะห์แยกแยะเอา ซึ่งทำเพื่อเป็นแนวทางทบทวนกรรมฐานตนเอง ทางปฏิบัติโดยอนุมานเอาว่าอาจจะมีประโยชน์ต่อหลายๆท่าน ณ ที่นี้ จึงได้แบ่งปันไว้ ส่วนในทางปฏิบัติมีแล้วตามที่สมเด็จพระตถาคตเจ้าตรัสสอนไว้ดีแล้ว หรือ ตามคำสั่งสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ทั้งหลานได้กรุณาสอนไว้

๑. ทุกข์ ควรกำหนดรู้ คือ อุปาทานขันธ์ ๕

..ขันธ์ ๕ คือ..

- รูป(ร่างกาย อาการทั้ง ๓๒ ประการ, ธาตุ ๕)

- เวทนา(ความรู้สึกอารมณ์เพราะอาศัยสัมผัส)

- สัญญา(ความจดจำสำคัญมั่นหมายของใจ)

- สังขาร(ความคิดปรุงแต่งสืบต่ออารมณ์ความรู้สึก)

- วิญญาณ(ความรู้สึกรับรู้อารมณ์ที่กระทบและสืบต่อ)


กล่าวคือ

- มีใจครองขันธ์ ๕ คือ ชาติ ความเกิด จิตจรมาเข้าอุปาทินนกรูป คือ กายนี้ที่พ่อแม่ให้มา นำไปสู่ ความแก่ ความเจ็บป่วย และความตาย

- มีใจเข้ายึดครองขันธ์ คือ เมื่อจิตจรมาอาศัยขันธ์ ๕ นี้ ก็มีใจเข้ายึดครอง ขันธ์ ๕ ทั้งภายในว่าเป็นตน เป็นของตน อยู่ในควบคุม เป็นตัวตนของเรา และภายนอกอาศัยการรับรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้ย กาย ใจ ว่าเป็นตัวตน เป็นบุคคล บังคับได้ พยายามเปลี่ยนแปลงปรุงแต่งให้เป็นดั่งใจปารถนาต้องการ อยากได้ อยากมี
..เอาใจเข้ายึดครองธรรมมารมณ์ทั้งหลาย คือ สิ่งที่ใจรู้ทั้งหลายด้วยให้จดจำสำคัญมั่นหมายของใจไว้ว่า..
..สิ่งนี้ๆ แบบนี้ๆ คือความสุขของตน เป็นตัวสุขโสมนัสของตน
..สิ่งนั้นๆ แบบนั้นๆ คือความทุกข์ของตน เป็นตัวทุกข์โทมนัสของตน
..สิ่งโน้นๆ แบบโน้นๆ คือความไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นสิ่งของ บุคคล ตัวตนที่เฉยๆไม่ยินดียินร้ายอุเบกขาของตน
..นี้คือเอาใจเข้ายึดครองตัวตนไปแล้ว ..จึงทุกเพราะพรัดพราก ..จึงทุกข์เพราะประสบสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่พอใจ ..จึงทุกข์เพราะไม่ได้ดั่งใจปารถนา


๒. สมุทัย ควรละ คือ ตัณหา

- กามตัณหา ตราตรึงใจยินดี(กามฉันทะ), อยากได้สิ่งที่ตราตรึงใจอยู่นั้นมาเสพย์ มาครอบครองดั่งใจปารถนา(ฉันทะราคะ) (ขณะที่ปารถนาสิ่งที่ตนปารถนาอยู่นั้น ตนยังไม่ได้เสพย์ หรือยังไม่แสดงผล หรือตนยังไม่มีอยู่ในขณะนั้นๆ)..อวิชชา, อุปาทาน
..ปารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์

- ภวตัณหา อยากมี คือ มีความอยากในสิ่งที่ตนมีอยู่ คือ อยากให้สิ่งที่ตนมี ที่ตนรัก ที่เจริญใจอยู่นั้น คงอยู่ ทรงตัว ไม่แปรปรวน ไม่เปลี่ยนไป ไม่เสื่อมไป..นิจจสัญญา ตลอดจนตวามเห็นว่าเที่ยง สัสสตทิฐิ คงอยู่ ยั่งยืน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
..ความพรัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่เจริญใจ นั่นก็เป็นทุกข์

- วิภวตัณหา ไม่อยากมี คือ มีความอยากให้สิ่งที่ตนมีอยู่ไม่ดับสลายไป ผลักไส อยากให้ไม่มีไม่เกิดขึ้นกับตน..อัตตสัญญา
..ความประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่เจริญใจ นั่นก็เป็นทุกข์ บังคับไม่ได้ อยู่เหนือการควบคุม ตลอดจนความเห็นว่าขาดสูญ อุจเฉททิฐิ ความสูญ ไม่มี (ไม่ใช่สุญตา สุญตญา คือ ความว่าง ว่างจากความยึดมั่นถืออมั่น ว่างจากความเป็นตัวตน อุปมาเหมือนว่าสักแต่ว่าธรรมธาตุหนึ่งๆเท่านั้น)

๓. นิโรธ ควรทำให้แจ้ง คือ สิ้นอุปาทาน สิ้นความยึดมั่นภือมั่น สิ้นความเอาใจเข้ายึดครอง สิ้นความเกิด สิ้นอุปาทินนกรูป สิ้น อุปาทินกสังขาร มีไตรลักษณ์เป็นธรรมให้เข้าถึงนิโรธ

๔. มรรค ควรทำให้มาก คือ ละกิเลสทั้งหลาย ให้เหลือเพียงปัญญา มีกายสุจริต วาจาสุจริต ใจสุจริต ทำให้มีจิตแจ่มใส มีใจเอื้อเฟื้อ เว้นจากความเบียดเบียน ปราศจากกิเลสนิวรณ์ มีปัญญาบริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็นไปเพื่อถึงไตรลักษณ์ เพื่อละ ตัณหา ๓

???? ..คติธรรมใช้ในโลกียะ.. ????

๑. ความว่า..สัพเพธัมมา อนัตตาติ คือ ธัมมารมณ์ทั้งหลาย อันได้แก่..สิ่งที่ใจรู้ทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน อย่าใส่ใจให้ความสำตัญจนเกินความจำเป็น อย่าเอาความสุขสำเร็จของตนไปผูกขึ้นไว้กับสิ่งที่ใจรู้ทั้งปวง เพราะจะมีแต่ทุกข์

๒. ใช้ปัญญา คือ อริยสัจ ๔ ในการดำรงชีพ คือ รู้เหตุ รู้ผล(มีกล่าวไว้ในสัปปุริสสธรรม ๗) กล่าวคือ ..รู้ผลเสีย รู้เหตุเสียที่ต้องแก้ไข รู้เป้าหมายผลสำเร็จ รู้ทางปฏิบัติให้เข้าถึงผลสำเร็จนั้น

๓. อย่าทำสิ่งใดตามใจอยาก ให้ทำด้วยสติปัญญากำกับรู้อยู่เสมอ

๔. ทาน ศีล ภาวนา ทำเพื่อละกิเลสออกไป จนเหลือแต่ปัญญาล้วนๆ

???? ..ธรรมโลกุตตระ.. ????

๑. ความว่า.. สัพเพธัมมา อนัตตาติ คือ ธัมมารมณ์ทั้งหลาย สิ่งที่ใจรู้ทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน
..อย่าใส่ใจให้ความสำคัญจนเกินความจำเป็น อย่าเอาความสุขสำเร็จของตนไปผูกขึ้นไว้กับสิ่งที่ใจรู้ทั้งปวง เพราะจะมีแต่ทุกข์
..ทุกข์เพราะความไม่เที่ยง มีความแปรปรวน เสื่อม พัง ดับไป อยู่ได้นานสุดแค่หมดลมหายใจเรานี้เท่านั้น ทุกอย่างมีอายุไขยของมัน จะต้องดับไปในที่สุด จะช้า จะเร็ว ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา, สภาพแวดล้อมที่มากระทบ, กาลเวลา, ความแปรปรวนภายใน แล้วก็ดับไปในที่สุด
..ทุกข์เพราะบังคับให้เป็นดั่งใจไม่ได้ เพราะไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นไปเพื่อเรา ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของเรา ไม่มีเราในนั้น ในนั้นไม่มีเรา สิ่งนั้นไม่เป็นเรา ไม่เป็นตัวตน
..วิธีแก้ สมดั่งหลวงพ่อเสถียรท่านได้กรุณาสอนข้าพเจ้าไว้ว่า จิตรู้สิ่งใด..สิ่งนั้นคือสมมติทั้งหมด ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้..ก็ไม่ยึดสมมติทั้งปวง มารู้ลมหายใจเข้า-ออก คือ ของจริง รู้พุทโธ คือของจริง คือ กิริยาจิต อย่าทิ้งพุทโธ

๒. สมุทัย คือ ตัณหา ๓ คือ ความอยาก มีไตรลักษณ์เป็นธรรมแก้ อาศัยส่วนสุดแห่งทิฏฐิเกิดขึ้น เป็นสิ่งตรงข้ามกับไตรลักษณ์ คือ อวิชชา อุปาทาน ฉันทะราคะ นิจจสัญญา อัตตสัญญา
..ยิ่งตามตัณหา ๓ ยิ่งห่างจากไตรลักษณ์
..ยิ่งเข้าใกล้ไตรลักษณ์ ก็ยิ่งห่างตัณหา ๓ ..ปัญญายิ่งเกิดมีขึ้นมากเท่านั้น

..ดังนั้นให้ใช้ธรรมโพชฌงค์ อนุสสติ อัปปมัญญา ๔ เป็นต้น น้อมใจลงในมหาสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม เข้าไปรู้เห็นตามจริง เป็นเพียงธาตุ ถึงไตรลักษณ์ เพื่อละตัณหา และเวทนาทั้งปวงที่เกิดจากผัสสะ เมื่อละเวทนาได้จะเหลือแค่ธัมมารมณ์ เหลือแค่ผัสสะเป็นความกระเพื่อมของจิต เหลือแค่ความกระทบใจ ให้รับรู้ว่า..มีสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
..สมดั่งพระศาสดาตรัสว่า ผู้นเป็นคู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษนี้ เป็นผู้ถึงไตรลักษณ์แท้จริงแล้ว จึงดับตัณหาได้ เพราะเมื่อไตรลักษณ์เกิดขึ้น จะตัดกิเลสตัณหาทันที ซึ่งต้องเขาไปในสังขารุเปกขาเท่านั้น ดังนี้ผู้ฝึกหัดเพียงแค่คิดตามอย่าหลงว่าตนถึงไตรลักษณ์ หรือหลงไปว่าแค่คิดนึกเอาจะบรรลุธรรมได้ ต้องมีสัมมาสมาธิด้วยเท่านั้น ที่เราฝึกสมถะ กรรมฐาน ๔๐ ก็เพื่อให้มีสติตั้งมั่น ให้จิตมีกำลัง กิเลสอ่อนกำลัง จนเหลือแต่ปัญญาบริสุทธิ์ แล้วพิจารณธรรมเพื่อตัด ดังนี้ไม่ว่าจะสมถะและวิปัสสนาจึงเป็นของคู่ดันแยกจากกันไม่ได้

..ละ กามตัณหา ..กามอ่อนๆ เป็นความความตราตรึงใจ ชอบใจ ยินดี ..อย่างกลาง เป็นความหมายใจใคร่เสพย์สิ่งที่ตนติดตราตรึงใจนั้นๆ ..อย่างสุด คือหมกมุ่นต้องการครอบครอง เป็นอวิชชา, อุปาทาน
..ความว่า รูปตัณหา เสียงตัณหา กลิ่นตัณหา รสตัณหา สัมผัสกายตัณหา ล้วนคือรูปธรรม ตัณหานี้ๆ คือ กามคุณ ๕ ซึ่ง กามคุณ ๕ ทั้งหมดนี้ก็คือ เวทนาขันธ์ เพราะติดความรู้สึกอารมณ์ที่รู้สัมผัส แล้วยินดี ชอบใจ ปลื้มใจ ซาบซ่านใจ แช่มชื่นใจ ก็จึงยึดมั่นถือมั่นเอาใจเข้ายึดครองสัมผัสความรู้สึกนั้นๆ เรียกว่า เวทนานุปาทาน คือ อุปาทานเวทนา คือ สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ก็เมื่อเป็นความรู้สึกให้ใจรู้ เป็นความรู้โสมนัส โทมนัส อุเบกขา ก็เป็นเวทนาทางใจ คือ ธัมมารมณ์ ความยึดเวทนานี้ก็คืออุปาทาน ยึดธัมมารมณ์
..เหมือนนึกถึงราคะเมถุน หรือราคะในรูปธรรมทั้งปวง เราไม่ได้ยึดเอาว่า เราต้องเสพย์สิ่งนั้นๆกับใคร สิ่งใด เราไม่ได้สำคัญยึดอุปาทานว่า..เป็นบุคคลนั้นๆ หรือสิ่งนั้นๆ ..แต่เราสำคัญใจยึดหลงเอาความรู้สึกอารมณ์ที่รู้สัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่ซาบซ่านใจ แช่มชื่นใจ เจริญใจ ชอบใจ พอใจยินดีเหล่านั้นต่างหาก เป็นความติดตราตรึงใจสืบมา
..แก้ด้วย กำหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เจริญมรรคให้มาก เจริญทาน, ศีล, จาคะ, สุจริต ๓, มหาสติปัฏฐาน ๔, อสุภะสัญญา, ธาตุ ๖, จิต, ธัมมารมณ์, ปรมัตถธรรม,โพชฌงค์, นิพพิทาวิราคะ, ถึงวิชชา, วิมุตติ
(นันทิ เป็นความติดตรึงใจจากสิ่งที่เคยเสพย์แล้ว ปารถนาจะเสพย์สิ่งนั้นอีก)

..ละ ภวะตัญหา มีความเห็นว่าเที่ยง แก้ด้วย สัทธรรมในกรรม และนิพพาน ..อีกนัยแห่งจิต คือ มีใจปารถนาอยากให้สิ่งที่ตนมี ที่ตนรัก ที่ตนเจริญใจ คงอยู่ ทรงตัว ไม่แปรเปลี่ยน ไม่เสื่อมไป เป็นการหมายใจบังคับ เป็นนิจจสัญญา สัสสตทิฏฐิ
..แก้ด้วย อนิจจสัญญา

..ละ วิภวะตัณหา มีความเห็นว่าสูญ แก้ด้วย สัทธรรมในกรรม และนิพพาน ..อีกนัยแห่งจิต คือ มีใจปารถนาให้มีแต่สิ่งที่เจริญใจ ที่ตนต้องการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ไม่ดับ ไม่สูญสลายไป ..มีความขัดใจผลักไสให้สิ่งที่ไม่เจริญใจตนนั้นสูญไป ไม่เกิดขึ้นกับตน เป็นการหมายใจบังคับ เป็นอัตตสัญญา อัตตานุทิฏฐิ อุจเฉททิฏฐิ
..แก้ด้วย อนัตตสัญญา

๓. มรรค ทางดับทุกข์ แท้จริงแล้วคือการ ทำจิตให้ผ่องใส มีใจเอื้อเฟื้อ เว้นจากความเบียดเบียน
..ซึ่ง มรรค มีองค์ ๘ เป็นการทำกุศลเพื่อละอกุศล ละกิเลสตัณหาทั้งปวง เพื่อให้เหลือแต่ปัญญาล้วนๆ กล่าวคือ..
..มีกายสุจริต มีวาจาสุจริต มีมโนสุจริต ปราศจากกิเลสนิวรณ์
..เพื่อให้เหลือแต่ปัญญา คือ ญาณทัสนะ ความรู้เห็นตามจริง ในมหาสติปัฏฐาน ๔ โดยบริบูรณ์รวมเป็น ๑ เข้าถึงโพชฌงค์ ถึง วิชชา คือ อริยะสัจ ๔ ในรอบ ๓ อาการ ๑๒ ตัดสิ้นสังโยชน์ ๑๐ ถึงวิมุตติ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:19:35 PM
บันทึกกรรมฐานเข้าพรรษา 64

ก.) เหตุเพราะ..ไตรลักษณ์ เป็นปฏิฆะต่อ ตัณหา ๓ การรู้ไตรลักษณ์ จึงเป็นไปเพื่อละ ตัณหา แต่การอัตตาไตรลักษณ์ คือ ปุถุชน ส่วนพระอริยะสาวกนั้น คือ ความว่าง ความไม่มี ความสละคืน อัตตาไตรลักษณ์จึงมีเพีนงปุถุชนเท่านั้น

ข.) มรรค คือ ละกิเลสตัณหา จนเหลือเพียงแต่ปัญญาล้วนๆ โดยการเข้าถึงดังนี้..

๑. รู้เห็นตามจริงในทางกรรม ทุกๆการกระทำมีผลสืบต่อ ทำให้เข้าถึงสัทธาพละ

๒. ทำดี ละชั่ว เป็นธรรมที่ตั้งแห่งสัมมัปปธาน ๔ เพื่อประโยชน์ดังนี้..
- เพื่อตัดกำลังของกิเลสตัณหาในใจตน
- เป็นเหตุให้สัมปะชัญญะ คือ ความรู้ตัว รู้เท่าทันการกระทำทางกาย วาจา ใจ และ สติ คือ ความระลึกรู้ รู้เท่าทันความคิด มีสติสัมปชัญญะเกิดบ่อยขึ้นจนมีกำลังให้สติตั้งมั่นเป็นอารมณ์เดียวได้

๓. มีความรู้ตัวทั่วพร้อม มีสติตั้งมั่นจดจ่อกับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งอยู่ได้นาน ก็จะรู้เท่าทันธัมมารมณ์ คือ รู้เท่าทันจิต ทันกิเลสตัณหา แยกแยะได้ ยับยั้งได้ จำแนกได้ รู้ผลสืบต่อได้ชัด รู้ธัมมารมณ์ที่ควรเสพย์ รู้สิ่งที่ควรทำ เป็นสติพละ
- เป็นเหตุให้จิตมีกำลังเพราะตั้งอยู่ ไม่สัดส่ายอ่อนไหวตามสมมติธัมมารมณ์ที่กิเลสวางไว้ล่อจิตทางมโนทวาร
- เมื่อจิตไม่กระเพื่อม อ่อนไหว สัดส่ายออกนอกไหลตามกิเลสไปทั่ว จิตก็จะทำงานน้อยลง จิตก็จะเริ่มมีแรงกำลังอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องไปอิงอาศัยธัมมารมณ์เป็นเครื่องอยู่ นี้เป็นสมาธิพละ

๔. เข้าถึงสมาธิ
- ประการที่ ๑ เพื่อให้จิตตั้งมั่น มีกำลังไม่อ่อนไหวตามกิเลส ทำให้ความคิดลดลง ความปรุงแต่งน้อยลง กิเลสอ่อนกำลังลง เข้าไปเห็นสภาพธรรมตามจริง(สภาวะจิตเห็นจิต)โดยปราศจากจิตปรุงแต่งให้เป็นไป(สภาวะจิตหลอกจิต)มากขึ้น คือ ญาณทัสนะ สมดั่งพระบรมศาสดาตรัสว่า..สัมมาสมาธิ เป็นเหตุใกล้แห่งปัญญา
- ประการที่ ๒ เพื่อให้จิตจดจ่อตั้งมั่นเป็นอารมณ์เดียวอยู่ได้นาน เพื่อเห็นความเป็นจริงของสังขารเจ้าถึงสภาพวะธรรม หากสมาธิไม่พอเข้าได้แค่วูบวาบๆกำลัวจะตั้งมั่น หรือกำลังจะถึงสภาวะธรรมจิตก็หลุดออกมาแล้ว) จนจิตอ่อนควรแก่งาน(คือ กิเลสไม่มีกำลังให้จิตอ่อนไหวตาม) ถึงปัญญาแท้ เห็น ธัมมารมณ์ทั้งหลายเป็นอนัตตา ถึงความตัด

ค.) อนุมาน คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษ ได้ ๘ บุรุษ อย่างที่ปุถุชนพอจะสามารถลูบคลำได้ ดังนี้..

๑. จิตที่แล่นลงมรรค คือ ไม่กลับกลาย ไม่เสื่อมอีก

๒. พระโสดาบัน คือ รู้ว่าสิ่งทั้งปวงไม่เป็นไปเพื่อบังคับ ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจบังคับของเรา อยู่ได้นานสุดแค่หมดลมหายใจเรานี้เท่านั้น ล้วนแล้วแต่เป็นไปด้วยกรรม มีกรรรมให้ผล เป็นทายาทกรรม ความหมกมุ่นเป็นที่ตั้งแห่งไฟแผดเผาใจ

๓. พระสกิทาคา คือ มีใจน้อมไปเห็นโทษในกาม แม้ความตราตรึงใจก็เป็นทุกข์ มีจิตตรงต่อพระนิพพาน

๔. พระอนาคามี คือ ละเสียซึ่งความตราตรึงใจในสิ่งทั้งปวง เพราะล้วนแล้วแต่ไม่ใช่ตัวตน มีความแปรปรวนอยู่ทุกขณะเป็นธรรมดา แต่ด้วยจิตนี้ไม่ตาย ยังคงหมายรู้ ไม่อุปาทานขันธ์ภายนอก แต่อุปาทานจิต

๕. พระอรหันต์ คือ รู้แจ้งแทงตลอดถึงซึ่งสัพเพธัมมา อนัตตาติ คือธรรมทั้งปวง(ธัมมารมณ์ทั้งปวง)ที่ใจรู้ ไม่ใช่ตัวตน จิตไม่ทำอุปาทานขันธ์อีก แต่จะอุปาทานเฉพาะกิจ คือ เมื่อต้องใช้พูด คุย ฟัง สนทนา กระทำทางกาย ทำกิจของสงฆ์ ก็จึงทำมโนสัญเจตนาอุปาทานขันธ์ คือ ยึดเฉพาะขันธ์นั้นๆมาใช้ตามหน้าที่ของมัน เราจึงเห็นว่าพระอรหันต์ ยืน เดิน นั่ง นอน พูด คุย เหมือนคนปกติ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:20:25 PM
..บันทึกกรรมฐานจาก อนัตตลัขณสูตร ช่วงเข้าพรรษา ปี 64..

พระอนัตตลักขณสูตร ที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นบทสรุปความโดยย่อจากพระสูตร ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยรู้จัก ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยได้ฟังจากใคร อาศัยโยนิโสมนสิการอนุโลม ปฏิโลม เข้าตามพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และข้าพเจ้าเป็นเพียงปุถุชนอยู่เท่านั้น ธรรมปลอมย่อมมีเยอะ มีผิดพลาด ไม่ใช่ธรรมจริง ท่านผู้อ่านต้องวิเคราะห์แยกแยะเอา ซึ่งทำเพื่อเป็นแนวทางทบทวนกรรมฐานตนเอง ทางปฏิบัติโดยอนุมานเอาว่าอาจจะมีประโยชน์ต่อหลายๆท่สน ณ ที่นี้ จึงได้แบ่งปันไว้ ส่วนในทางปฏิบัติมีแล้วตามที่สมเด็จพระตถาคตเจ้าตรัสสอนไว้ดีแล้ว หรือ ตามคำสั่งสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ทั้งหลานได้กรุณาสอนไว้

ขันธ์ ๕ คือ..

๑. รูป(ร่างกาย อาการทั้ง ๓๒ ประการ, ธาตุ ๕)
๒. เวทนา(ความรู้สึกอารมณ์เพราะอาศัยสัมผัส)
๓. สัญญา(ความจดจำสำคัญมั่นหมายของใจ)
๔. สังขาร(ความคิดปรุงแต่งสืบต่ออารมณ์ความรู้สึก)
๕. วิญญาณ(ความรู้สึกรับรู้อารมณ์ที่กระทบและสืบต่อ)

..ทั้งภายใน(เรา) ภายนอก(เขา, สัตว์, สิ่งของ) ที่ใกล้ ที่ไกล หยาบ(มองเห็นได้, สัมผัสได้) ละเอียด(มองเห็นด้วยตาเปล่าไม่ได้, สัมผัสไม่ได้ด้วยกาย)
..ไม่ใช่ตัวตน ไม่เป็นตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่เป็นไปเพื่อเรา ไม่เป็นไปเพื่อยึดครอง บังคับไม่ได้

เพราะมีความแปรปรวนเป็นธรรมดา มีความเสื่อม อาพาธ ไม่คงทนอยู่ได้นาน บังคับให้เป็นดั่งใจไม่ได้ จะบังคับไม่ให้เสื่อม ไม่ให้แปรปรวน ให้เป็นอย่างนั้น ให้เป็นอย่างนี้ อย่ามีอย่างนั้น อย่าเป็นอย่างนี้ อย่าเสื่อม อย่าแปรปรวน อย่าอาพาธ ให้งามประณีต ให้คงอยู่
ให้รับรู้อย่างนี้-อย่ารับรู้อย่างนั้น
ให้รู้สึกอารมณ์อย่างนี้-อย่ารู้สึกอารมณ์อย่างนั้น
ให้จำอย่างนี้-อย่าจำอย่างนั้น
ให้คิดสืบต่ออารมณ์อย่างนี้-อย่าคิดสืบต่ออารมณ์อย่างนั้น
ให้รับรู้สิ่งนี้-อย่ารับรู้สิ่งนั้น
แต่ก็บังคับให้เป็นอย่างนั้นไม่ได้ ไม่มีอำนาจบังคับได้ ไม่ได้มีไว้เพื่อบังคับ เพราะอยู่เหนือการควบคุม จึงมีไว้แต่สักว่ารู้ ไม่ใช่ตน ไม่เป็นตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ดังนี้..

???? ..คติธรรมนำมาใช้ทางโลก.. ????

๑. ปุถุชนมีดี มีร้าย แปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะมีอุปาทานขันธ์ อย่าไปยึดถือ ตั้งความคาดหวังกับใคร

๒. ทุกสิ่ง ไม่ใช่ตัวตน มีอายุไขยของมัน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา มีความเสื่อมพังไม่ด้วยกาลเวลาก็ด้วยการดูแลรักษา ..ไม่ด้วยการดูแลรักษาก็ด้วยสิ่งแวดล้อมที่มากระทบ ..ไม่ด้วยสิ่งแวดล้อมที่มากระทบก็ด้วยความแปรปรวนภายใน ..บังคับไม่ได้ ..ไม่ควรยึดหลง ..ไม่ควรเอาใจเข้ายึดครองว่าเป็นเรา ..เป็นของเรา ..หรือพยายามปรับเปลี่ยนปั้นแต่งให้เป็นดั่งใจต้องการ เพราะฝืนความจริงธรรมชาติ
..ทุกข์ก็เพราะพยายามปรับเปลี่ยนมันให้เป็นดั่งใจตนตราตรึงใคร่หลงปารถนา อยากได้ต้องการ ไม่อยากได้ผลักไส แต่ก็ไม่ได้ดั่งใจต้องการ ด้วยเพราะสิ่งทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน
..ไม่ว่าจะคน สัตว์ สิ่งของ ความรัก ความชัง ล้วนแล้วแต่มีอายุไขยของมันตามเหตุปัจจัย และบังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน

๓. เพราะยึดความคิดจึงทุกข์
..คนเราทุกข์ เพราะเอาใจเข้ายึดครองตัวตนในขันธ์
..มีใจเข้ายึดครองตัวตนในขันธ์ เพราะยึดแต่สมมติที่ใจรู้
..ยึดแต่สมมติที่ใจรู้ เพราะยึดหลงความคิด
..เราถูกความคิดสมมติปรุงแต่งครอบงำให้ยินดี ยินร้าย รักบ้าง โบภบ้าง โกรธบ้าง หลงบ้าง ไปเก็บเอาเรื่องราวที่ผ่านไปแล้วมาคิดบ้าง
..เก็บเอาเรื่องที่ชอบ ที่ชัง มาคิดวนเอาตามใจที่ใคร่หลงปารถนา หรือ โกรธแค้นชิงชัง หรือ เรื่องร้ายๆที่ผ่านไปแล้วมาปรุงแต่งสมมติขึ้นมาใหม่ ทำให้เหมือนเรื่องมันกำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันบ้าง ให้ใจหลงเสพย์ตาม แล้วก็ทุกข์ นี้คือทุกข์เพนาะความคิด ทุกเพราะสมมติ
..ไม่ยึดมั่นถือมั่นความคิดสืบต่อปรุงแต่งสมมติอารมณ์ให้จิต ก็ไม่ทุกข์

สมดั่งพระพุทธเจ้าตรัสในพระสูตรว่า

สังขารา อะนัตตา ฯ            
สังขาร (ความคิดปรุงแต่ง) เป็นอนัตตา

สังขารา จะ หิทัง ภิกขะเว        
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าความคิดเป็นตัวเรา

อัตตา อะภะวิสสังสุ,            
เป็นของๆ เราแล้วไซร้

นะยิทัง สังขารา อาพาธายะ    
สังขารความคิดคงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ

สังวัตเตยยุง,                
ไม่เป็นไปเพื่อให้เราทรมาณ-ลำบากใจ

ลัพเภถะ จะ สังขาเรสุ,        
จะทำคิดได้ตามความปรารถนาในสังขารว่า

เอวัง เม สังขารา โหตุ เอวัง    
ขอสังขารความคิดของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด

เม สังขารา มา อะเหสุนติ ฯ    
อย่าได้เป็นอย่างนั้น อย่าคิดไปอย่างนั้นเลย

ยัสฺมา จะ โข ภิกขะเว        
ก็เพราะเหตุที่สังขารไม่ใช่ตัวตนเรา-ของๆเรา

สังขารา อะนัตตา,            
ความคิดดี ความคิดชั่ว นี้ไม่ใช่เรา-ของๆเรา

ตัสฺมา สังขารา อาพาธายะ    
สังขารความคิดนี้ จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ

สังวัตตะติ,                
คือความคิดที่เป็นไป ทำให้เราไม่สบายใจ

นะ จะ ลัพภะติ สังขาเรสุ,        
และไม่ได้สังขารความคิดดั่งใจปรารถนาว่า

เอวัง เม สังขารา โหตุ        
ขอให้ความคิดปรุงแต่งเป็นแบบนี้เถิด

เอวัง เม สังขารา มา อะเหสุนติ ฯ    
อย่าได้คิดปรุงแต่งไปแบบนั้นเลย


???? ..โดยโลกุตระธรรม.. ????

เห็นความไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของขันธ์ ๕ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ไม่คงทนอยู่ได้นาน บังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่เป็นเรา มีไว้แต่สักว่ารู้ ไม่ได้มีไว้ให้เอาใจเข้ายึดครอง ตราตรึงใจ ใคร่หลง ปารถนา อยากมี อยากได้ อยากให้คงอยู่ อยากให้เป็น ผลักไส ไม่อยากมี ไม่อยากได้ ไม่อยากให้เสื่อม เพราะไม่ใช่ตัวตน

ม้าง ขันธ์ ๕ ออก

- รูป อาศัยธาตุ ๕ ที่พ่อแม่ให้มา ให้จิตเราจรมาอาศัยชั่วคราว แล้วก็แปรปรวน เสื่อม สลายไป
- เวทนา มันจะสุข จะทุกข์ จะเฉย มันก็ไม่เคยมีเราในนั้น ไม่เป็นไปเพราะเรา
- สัญญา มันจะจำได้หมายรู้สิ่งใด มันไม่มีเราในนั้นเลย สิ่งที่จำก็ไม่มีปัจจุบันที่เป็นเราเลย
- สังขาร มันจะปรุงแต่งจิตอารมณ์ใด นึกคิดสิ่งใด มันก็ไม่มีเราในสิ่งที่ปรุงแต่งนึกคิดนั้นเลย
- วิญญาณ มันรู้ๆทุกอย่าง แต่สิ่งที่มันรู้ไม่มีเราในนั้นเลย


ถ้า ขันธ์ ๕ เป็นเรา เมื่อผมร่วง เวทนา,.,.ฯ ดับ เราก็ตายตามมันไปแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ จึงมีไว้แค่ให้ระลึกรู้

๑. รูป.. เป็นเพียงแค่ธาตุ ๕ ที่พ่อแม่ให้มาสักแต่ว่าอาศัย แล้วก็สูญสลายไป ไม่มีเราในนั้น ในนั้นไม่มีเรา ไม่ใช่เรา ไม่เป็นเรา ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของเร
..มันจะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรปรวน เสื่อม พัง อย่างไรไม่เป็นไปเพื่อเรา ไม่ใช่เพื่อเรา ไม่ใช่ตัวตน

๒. เวทนา.. เป็นเพียงความรู้สึกเสวยอารมณ์เพราะอาศัยสัมผัส ไม่มีเราในนั้น ในนั้นไม่มีเรา ไม่เป็นเรา ไม่สช่ตัวตน
..สุข ทุกขฺ ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่เป็นไปตามบังคับเรา ไม่เป็นไปเพื่อเรา เป็นเพียงแค่ความรู้สึกสมมติจากการสัมผัสธาตุ ที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสกายให้รู้สึก ไม่ใช่จิต
..โสมนัส โทมนัส อุเบกขา ไม่เป็นไปตามบังคับเรา ไม่เป็นไปเพื่อเรา เป็นเพียงธัมมารมณ์ที่รายล้อมจิตให้รู้สัมผัสตามเหตุปัจจัยแห่งสังขาร ไม่ใช่จิต
..มันจะสุขโสมนัส จะทุกขโทนัส จะอขมสุขขมทุกขอุเบกขา  ก็ไม่ได้เป็นไปเพราะเรา ไม่มีเราในนั้น ในนั้นไม่มีเรา ไม่เป็นไปเพื่อเรา มันสุขโสมนัส จะทุกขโทนัส จะอขมสุขขมทุกขอุเบกขาเพราะสิ่งอื่น อย่างอื่นไปทั่ว ไม่ได้มีเราในนั้นเลย ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของเรา มันจะเกิดขึ้น แปรปรวน เสื่อม พัง อย่างไรไม่เป็นไปเพื่อเรา ไม่ใช่เพื่อเรา ไม่ใช่ตัวตนบังคับบัญชาไม่ได้

๓. สัญญา.. เป็นเพียงความจดจำสำคัญมั่นหมายของใจ ไส่มีเราสนนั้น ในนั้นไม่มีเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตน
..มันจะจดจำสิ่งใด ไม่เป็นไปตามบังคับเรา ไม่เป็นไปเพื่อเรา ในความจำนั้นไม่มีเรา เราไม่มีในความจำนั้น มันจดจำสิ่งอื่นไปทั่ว แต่จำเราไม่ได้เลย ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน

๔. สังขาร.. เป็นเพียงของปรุงแต่งอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ไม่มีเราในนั้น ในนั้นไม่มีเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตน
..มันจะปรุงแต่งจิตอารมณ์ใด นึกคิดสิ่งใด มันก็ไม่มีเราในสิ่งที่ปรุงแต่งนึกคิดนั้นเลย มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เสื่อม หาย ไม่อยุ่ใต้บังคับบัญชาของเรา ในความคิดปรุงแต่งจิตนั้นไม่มีเรา ไม่เป็นไปเพื่อเรา มันปรุงแต่งสมมติความคิดจากคนอื่นสิ่งอื่นไปทั่ว แต่ไม่เป็นไปเพราะเราเลย ไม่ใช่เรา ไม่วช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตน

๕. วิญญาณ.. เป็นเพียงตัวรับรู้ รู้สึกได้ ไม่มีเราในนั้น ในนั้นไม่มีเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตน
..มันรู้ๆทุกอย่าง แต่สิ่งที่มันรู้ไม่มีเราในนั้นเลย ไม่มีเราในความรู้นั้น ในนั้นไม่มีเรา มันรู้สิ่งอื่นอย่างอื่นไปทั่ว แต่ไม่เคยรู้ตัว ไม่เคยรู้เรา ไม่เคยรู้ปัจจุบันเลย รู้แต่สมมติเท่านั้น  ไม่เป็นไปเพื่อเรา ไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของเรา มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยง บังคับไม่ได้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตน


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:20:41 PM
..บันทึกกรมฐานจาก อาทิตตปริยายสูตร ช่วงเข้าพรรษา ปี 64..

ละกามด้วยพระสูตรนี้

- ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะ ธัมมารมณ์ เป็นของร้อน
- ความรู้สึกอารมณ์ใดๆเกิดขึ้นเพราะอาศัย ตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย-ใจ..สัมผัส เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี เป็นของร้อน
- ร้อนเพราะไฟ คือ ราคะ, โทสะ, โมหะ
- ความมีใจเข้ายึดครองอายตนะ ๑๒ และความรู้สึกอารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งไฟ แผดเผาให้ร้อน ไม่เอาใจเข้ายึดครองมีไว้สักว่ารู้ก็ไม่ร้อน

???? ..คติธรรม.. ????

๑. โลกธรรม ๘ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นของร้อน ไม่ควรเอาใจเข้ายึดครองให้สำคัญมั่นหมายของใจในความยินดี ยินร้าย ..เพราะมีความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ มีนินทา มีทุกข์ เป็นธรรมดา ..มีความแปรปรวน อาพาธ มิใช่ตัวตน เมื่อเอาใจเข้ายึดครองย่อมเป็นที่ตั้งแห่งไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ แผดเผากายใจตนให้หมองไหม้ในปัจจุบัน และภายหน้า

๒. ทำสิ่งใดด้วยอาศัยอารมณ์ความรู้สึก ไม่ใช้ปัญญา ..ย่อมนำความทุกข์ร้อนแผดเผากายใจตนมาให้ในปัจจุบัน และภายหน้า

???? ..ทางโลกุตระธรรม.. ????

- รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่เนื่องด้วยกาย สัมผัสที่เนื่องด้วยใจ เป็นของร้อน

- ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นของร้อน

- ความรู้สึกเสวยอารมณ์เหล่าใด เกิดขึ้นอาศัย ตาสัมผัส หูสัมผัส จมูกสัมผัส ลิ้นสัมผัส กายสัมผัส ใจสัมผัส เป็นของร้อน เป็นที่ตั้งแห่งไฟ

- ร้อนเพราะไฟกิเลส อันได้แก่ ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ

- เพราะเป็นของร้อนในอายตนะ ๑๒ เป็นที่ตั้งแห่งไฟในความรู้สึกเสวยอารมณ์ จึงไม่เป็นไปเพื่อเอาใจเข้ายึดครอง ไม่ควรเอาใจเข้ายึดครอง จึงไม่เป็นไปเพื่อตราตรึงใจ ไม่ควรตราตรึงใจ ไม่เป็นไปเพื่อควรปารถนา ไม่ควรตั้งปารถนา ไม่เป็นไปเพื่อใคร่เสพย์ เป็นของไม่ควรเสพย์ เพราะเป็นที่ตั้งให้ไฟแผดเผากายใจตนให้หมองไหม้ เร่าร้อน ร้อนรุ่ม สุมไฟให้กายใจตน พึงรู้โดยความสักว่ารู้ พึงรู้สึกโดยความสักว่ารู้สึก เป็นปกติแห่งธรรม รู้เห็นตามจริงให้แจ้งแทงตลอด เพื่อคลายความร้อน คลายความกำหนัด คลายความยึดมั่นถือมั่น คลายอุปาทาน เป็นน้ำรดไฟ คือราคะ ไฟ คือโทสะะ ไฟ คือมือหะ ให้สิ้นไป

- อริยะสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดว่า อายตนะ ๑๒ เวทนา ๑๘ เป็นของร้อน เป็นไฟ ไม่ควรเสพย์ ไม่ควรเอาใจเข้ายึดครอง เมื่อเอาใจเข้ายึดครองย่อมหาประโยชน์สุขใดๆไม่ได้นอกจากทุกข์


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:20:54 PM
..กรรมฐานจาก จูฬสัจจกสูตร ช่วงเข้าพรรษา ปี 64..

เป็นเรื่องราวของสัจจกนิครนถ์ ผู้ยโส หลงตนว่าเก่ง รู้มาก ขนาดโต้วาทีกับเสา เสายังล้มพัง ได้ไปโต้วาทีกับพระพุทธเจ้าหมายทำลายล้าง โดยสัจจกนิครนถ์ถือว่า ขันธ์ ๕ เป็นตัวตน สั่งได้ บังคับได้ เพราะเห็นพระราชาสั่งบังคับผู้ใต้บัญชาได้ ฆ่า เนรเทศคนที่ควรทำได้ ถูกพระศาสดาทำลายมานะกลับมาว่า ถ้าเป็นตัวตนของเราก็สามารถบังคับขันธ์ ๕ ให้ไม่เสื่อม ให้งามประณีต ไม่เจ็บป่วย ไม่เสื่อมดั่งใจได้ แต่บังคับไม่ได้เพราะไม่ใช่ตัวตน

???? ..คติธรรมจากพระสูตร.. ????

๑. อย่าหลงตน ว่าเก่ง ว่าเลิศ ว่าทำได้ ว่ารู้มาก คนที่ยิ่งกว่าเรามีมากนัก อย่าหลงกับตำแหน่ง หน้าที่การงาน ควรบริการงานให้ชอบธรรม เอื้อเฟื้อเกื้อดูลกัน ดุจพระราชาเอื้อเฟื้อข้าราชบริภาร และราษฎรษ์

๒. เรายังบังคับตนให้เป็นดั่งใจไม่ได้ จะไปเอาอะไรกับผู้อื่น มันไม่มีใครทำถูกใจเราได้ทั้งหมด แม้แต่ตัวเราเอง ดังนั้นให้มองว่าทุกคนมีชีวิตจิตใจ มีรัก โลภ โกรธ หลงเสมอกันหมด มีความรู้ความสามารถที่ต่างกัน ย่อมมีความแตกต่างในการทำงาน หรือทางอื่นๆเสมอทั้งในแง่คิด การพูด การทำ

???? ..ยกตัวอย่างอุปมา.. ???? เช่น

๑. คนเรามักหลงว่าตนเก่ง ทำงานดี ไม่มีใครแทนที่ตนได้ ก้อเปรียบกับสัจจกนิครนถ์ที่หลงตัวแล้วแพ้ไป

๒. การเอาชนะคนที่หลงตนได้ เราก็ต้องมีความรู้มากกว่า ไม่คิดทำลายเขาแต่คิดสงเคราะห์เขา

๓. เรามักจะไปยึดว่าคนในที่ทำงาน คนนั้นเป้นแบบนี้คนนี้เป็นแบบนั้น อยากให้เขาปฏิบัติต่อเราตามที่เราชอบ เป็นการคาดหวังเพราะยึดมั่นตามหลักสัจจกนิครนถืที่ว่า พระราชาสั่งงานทหารทำงานได้ สั่งอำมาตย์ ข้าราชการทำงานได้ สามารถสั่งฆ่าคน หรือ เนรเศคนท่ควรทำได้ จนหลงตัวตน ว่ามีอำนาจยังคับได้
..โดยแท้จริงแล้ว แม้เราเองก็บังคับไม่ได้เป็นดั่งใจไม่ได้ทั้งหมด จะไปหมายเอาอะไรกับผู้อื่นมันมีแต่ทุกข์ทั้งนั้น ปารถนาเอากับเขาร้อย เราก็ทุกข์ร้อย ไม่ปารถนาเลย เราก็ไม่ทุกข์เลย

???? ..คติในทางธรรมโลกุตระธรรม.. ????

ให้ทำตามหลวงตาศิริท่านสอนว่า หลงกายก็ให้ม้างกายดู หลงใจก็ให้ม้างใจดู ลงเป็นรูปธาตุ นามธาตุ ไตรลักษณ์


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:21:10 PM
สัปปุริสธรรม 7 ใช้สะสมเหตุทางโลก

๑. รู้เหตุ คือ..
- รู้เหตุของความรัก โลภ โกรธ หลงของคนว่าเกิดจากอะไร เพื่อตอบความต้องการของงาน หรือเข้าใจบุคคลแวดล้อมได้
- รู้ต้นเหตุของกิจการงาน และสิ่งต่างๆ ว่าทำอย่างนี้ จะส่งผลอย่างไรต่อไป ให้ผลยังไงต่อเรา และงาน
- รู้หลักการ คือรู้หลักการทำงาน กระบวนการทำงาน วิธีทำ วิธีคิด วิธีดำเนินงาน เป็นการหาสมุทัย สิ่งที่ควรละ ไม่ควรทำ และ หามรรค สิ่งที่ควรทำให้มาก
- รู้งาน รู้หน้าที่ รู้กฏเกณฑ์ กติกาการทำงาน

๒. รู้ผล คือ..
- รู้ว่าผลลัพธ์ต่างๆอย่างแจ้งชัด ว่าเป็นแบบไหน เกิดมีขึ้นได้อย่างไร ต้องทำอย่างไร มีอะไรเป็นเหตุให้ถึงผลลัพธ์นั้นบ้าง เป็นการกำหนดรู้ทุกข์ และ ทำให้แจ้งในนิโรธ
- รู้เป้าหมายของงานที่ทำ มีเป้าหมายในการทำงาน ทำทุกอย่างให้มีเป้าหมาย เพื่อถึงความสำเร็จ เช่น เป้าหมายสุขกับงาน ก้อก็ทำความคิดมุมมองให้สุขกับงาน หรือ ต้องการความสำเร็จงาน ก็ต้องทำงานในส่วนต่างๆให้เกิดผลสำเร็จในงาน

๓. รู้ตน คือ..
รู้ตนเอง พิจารณาตนเอง ทบทวนตนเอง ว่าเป็นคนยังไง มีนิสัยแบบไหน อยู่ในสถานภาพแบบใด มีกำลังแค่ไหน มีความรู้ความสามารถอะไร มีดีตรงไหน มีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร ควรคงสิ่งใดไว้ ควรเพิ่มสิ่งใด ควรลดลอะไร แล้วแก้ไขข้อบกพร่องตน เปิดใจเรียนรุ้สิ่งใหม่ๆ หรือเสริมความรู้อยู่เสมอ เป็นอิทธิบาท ๔

๔. รู้ประมาณ คือ..
รู้ประมาณตน เองว่าแัจจุบันทำได้แค่ไหน ต้องตรวจสอบให้ครบพร้อม ไม่ทำเกินตัว ไม่สุดโต่ง ไม่ย่อหย่อน มีความพอดีไม่ว่าจะทำในสิ่งไหน กิจการงานใดๆ

๕. รู้กาล คือ..
รู้เวลาที่เหมาะสมในการกระทำต่างๆ ไม่ว่าจะเพิ่มเติมงาน แสดงความคิด ชัดจูง แนะนำ
- รู้ว่าเวลาไหนเหมาะจะทำสิ่งใด ควรแก่การปฏิบัติแบบไหน ต้องใช้ความรู้ความสามารถใด คือ รู้สิ่งที่ควรใช้ต่อกาล สิ่งที่ควรคิดในขณะนั้นๆ ควรพูดในขณะนั้นๆ ควรทำในจณะนั้นๆ

๖. รู้สังคม คือ..
รู้สังคม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชุมชน สังคมในที่นั้นๆ ไม่ว่าจะแผนกงาน องค์กร สิ่งแวดล้อม สังคมพื้นที่ สังคมประเทศ สังคมโลก เพื่อรู้ใตการปรับตัวใช้ชีวิตความเป็นอยู่ร่วมกับเขาได้ พูดภาษาเดียวกัน คือ คุยกันรู้เรื่อง ใช้ชีวิตร่วมกับเขาได้
หลักความรู้เรียกว่า SQ
 
๗. รู้บุคคล คือ..
รู้จักนิสัยใจคอของบุคคลใกล้ชิด บุคคลรอบข้าง เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้อง ผู้ติดต่อสัมพันธ์งานกับเรา ผู้เกี่ยวข้องกับเรา ว่าแต่ละคนเป้นยังไง ใครมีอัธยาศัย ทัศนคติ มุมมอง ความรู้ ความสามารถแบบไหน อยู่ในสถานะยังไง เราจะต้องเข้าหาเขา คบหา ร่วมงาน พูดคุย และปฏิบัติ ชักนำ ชี้แนะ แนะนำ หรือปฏิเสธต่อบุคคลนั้นๆยังไง เพื่อเข้าถึงใจคน และเข้าหาได้อย่างถูกต้อง
หลักการแพทย์เรียกจิตวิทยา หลักบริหารเรียกว่าเก่งคน หลักพิชัยสงครามเรียกว่ารู้เขารู้เรา

พระพุทธเจ้าตรัสสอนการฝึกทักษะทั้ง ๗ อย่างนี้มา 2600 ปีแล้ว สิ่งนี้คือสิ่งที่พระมหาบุรุษสะสมกันทุกๆชาติ เป็นนิสัยของสัปปบุรุษ แต่เรามองข้ามกันไปเพราะความไม่รู้จริงในสิ่งนั้นๆ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:21:43 PM
อารมณ์สมถะ

โดยส่วนตัวแล้วได้รู้เห็นดังนี้ว่า

ขั้นต้น คือ มีใจอยู่เหนืออารมณ์ความรู้สึกทั้งปวง เข้าใจรู้อยู่โดยความไม่ยึด ไม่เสพย์ ไม่คล้อยตาม จิตมีกำลังดี ตั้งด้วยกุศล กิเลสอ่อนกำลัง คือ มีจิตอ่อนควรแก่งาน เป็นฐานที่ตั้งให้กรรมฐานทั้งปวง มีอารมณ์ที่ปล่อย คลาย ไม่ฟุ้ง ไม่คิดมาก ขณิกสมาธิอย่างละเอียดขึ้นไป ถึงอุปจาระสมาธิอย่างหยาบ ฉันทะสมาธิ

ขั้นกลาง คือ อารมณ์สมถะ คือมีจิตตั้งมั่นในกุศลสมาธิ ไม่หยิบไม่หยับ ทำความรู้ ้ข่าใจรู้ มีสติตั้งมั่น กุศลเดินในจิต มีหิริพละ โอตัปปะพละ จิตฉลาดไม่ข้องเสพย์อกุศล ไม่จับอกุศล นิวรณ์อ่อนกำลัง ให้นึกอกุศลอย่างไรพยายามนึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก อุปจาระสมาธิอย่างกล่าง ถึงละเอียดขึ้นไป อัปปนาสมาธิ รูปฌาณ ๔ วิริยะสมาธิ สังวรปธานสมาธิ

ขั้นสุด คือ อารมณ์สมถะนี่เป็นไปเพื่อ ญาณทัสนะ เพื่อวิปัสสนา เพื่อนิพพิา วิราคะ วิมุตติ อารม์ณ์สมะถะที่เดินเข้ามหาสติ เดินเข้าโพชฌงค์ วิปัสสนามีสมถะเป็นกำลังให้จิต จิตคะสมาธิ วิมังสาสมาธิ มรรครวม สติ  สัมปะชัญญา สมาธิ รวมกันลง เป็นปัญญา

ตั้งหมดคือความรู้เฉพาะตนของปุถุชน มิใช่ธรรมแท้


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:21:58 PM
???? [ ๑๔๕ ] ดูกรราหุล! ????

???? เธอจงเจริญ เมตตาภาวนาเถิด
เพราะเมื่อ เธอเจริญเมตตาภาวนาอยู่
????จักละพยาบาทได้????

???? เธอจงเจริญ กรุณาภาวนาเถิด
..เมื่อเจริญกรุณาภาวนาอยู่
????จักละวิหิงสาได้????

???? เธอจงเจริญ มุทิตาภาวนาเถิด
..เมื่อเจริญมุทิตาภาวนาอยู่
????จักละอรติได้????

???? เธอจงเจริญ อุเบกขาภาวนาเถิด
..เมื่อเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่
????จักละปฏิฆะได้????

???? เธอจงเจริญ อสุภภาวนาเถิด
..เมื่อเจริญอสุภภาวนาอยู่
????จักละราคะได้????

???? เธอจงเจริญ อนิจจสัญญาภาวนาเถิด
..เมื่อเจริญอนิจจสัญญาภาวนาอยู่
????จักละอัสมิมานะได้????


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:22:14 PM
บันทึกกกรรมฐาน มกราคม 65 ดับฉันทะ

ดับฉันทะ ด้วย ปฏิกูล เห็นจริงในอสุภะสัญญา กายคตาสติทั้งหลาย คือ..

๑. พิจารณาอาการ ๓๒ ประการ ม้างกายออกไม่มีตัวตน ไม่มีเราในนั้น ในนั้นไม่มีเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่เป็นเรา เราไม่เป็นนั้น เราไม่ใช่สิ่งนั้น สิ่งนั้นไม่เป็นเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน

๒. น้อมพิจารณาอาการ ๓๒ ลงเห็นธาตุ ไม่ไม่สิ่งใด ตัวตนอันใด ไม่อาจจะเรียกสิ่งนั้นๆว่าเป็นอะไรหรือสิ่งใดได้ มันสักแต่ว่าธาตุที่มีอยู่ทั้วไปเท่านั้น  ทั้งภายนอกภายในเรานี้ สักแต่ว่าธาตุที่กอแปรกันขึ้นมา ไม่อาจจะยึดเอาว่าเป็นตัวตนบุคคลใดได้ ไม่มีสิ่งใดที่เป็นเรา เราไม่เป็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตน  

- ดังนี้แล้ว ความยึดมั่นถือมั่น หมายรู้อารมณ์ด้วยฉันทะราคะต่อบุคคล ว่างาม ว่าน่าใคร่น่าปารถนา ว่าเป็นที่ตราตรึงใจ ล้วนแล้วแต่ถือเอาโดยนิมิต ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ(ส่วนเล็ก ส่วนน้อย ส่วยนในทมี่ลับทั้งปวง) ว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ให้โหยหา กระหาย กระสันอยาก โดยความคิดสืบต่อจากที่รู้เห็นตามจริงทั้งสิ้น ..ข้อนี้จึงชื่อว่า..การรู้โดยสมมติ ผลอันเกิดจากการรู้สมมติ คือ ความโหยหา กระทาย กระสันอยาก ใคร่เสพย์ เป็นทุกข์ ทรมาน ระส่ำ เร่าร้อน ร้อนรุ่ม อยู่อย่างปกติเย็นใจไม่ได้ ..สมดั่งคำของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ทรงตรัสไว้ว่า กามเกิดอจากความดำริถึง เพราะถือเอาโดยนิมิต ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ดังนี้..

- เหตุแห่งความหมายรู้อารมณ์(วิตักกสัญญา)ต่อสิ่งนั้นๆไว้ด้วยกามราคะ ก็คือ ความสำคัญมั่นหมายของใจ(ฉันทะสัญญา)ต่อสิ่งนั้นๆไว้ด้วยราคะ ความสำคัญมั่นหมายของใจก็เกิดจากสัญญา คือ ความจำได้ จำไว้ในอารม์ทั้งหลาย สัญญาก็เกิดจากการรับรู้แล้วจดจำ พบเจอซ็ำๆ ทำซ้ำๆ จนคุ้นชินเป็นปกติจิต เรียกว่า จริต เรียกว่า อุปนิสัย

.. ทางแก้เหล่านี้ ตามหลักกรรมฐาน คือ..

ก. ปุถุชนเรานี้..พึงเห็นในความไม่งามปฏิกูล อสุภะ เห็นเป็นเพียงอาการ ๓๒ ประการ แล้วน้อมลง..จตุววัตถานธาตุ จนเห็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่เป็นบุคคลใด ไม่เป็นสิ่งใด สีดแต่ว่าธาตุที่กอปรกันขึ้นมาเท่านั้น

ข. ปุถุชนเรานี้..ใช้สัมมาสังกัปปะละสมมติ เป็นสมมติละสมมติ เป็นการกล่อมจิตให้เห็นโทษ เป็นการพิจารณากำหนดรู้ทุกข์ และละสมมติ ลงกรรมฐาน คือ เมื่อรู้อารมณ์ด้วยกามราคะ ให้พึงรู้ว่า เราหมายรู้อารมณ์ด้วยฉันทะราคะ โดยการถือเอานิมิต และอนุพยัญชนะ เป็นที่ตั้งแห่งจิต เพราะสิ่งนั้นตนพอใจยินดี ตนไม่มี ตนไม่ได้ ตนไม่เคยเสพย์ ไม่เคยได้ พึงรู้ว่า ความคิดนั้นเป็นสมมติปรุงแต่งไม่ใช่ความจริง เราสมมติมันขึ้นมาเอง พอเอามาเป็นที่ตั้งแห่งจิต เอาจิตเข้าร่วมกับสมมติปรุงแต่งความคิด ก็ทำให้เหมือนว่าเรื่องราวที่ตนสมมติปรุงแต่งขึ้นมานั้น ราวกับมันกำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันตอนนี้ ทำให้ใจอยาก กระหาย กระสัน ใคร่ได้ที่จะเสพย์ในอารมณ์ที่รู้ สิ่งที่รู้อยู่นั้นๆ เพราะตนไม่ได้เสพย์ จนร้อนรุ่ม ไม่สบายกายใจ ระส่ำกายใจเป็นทุกข์
..ดังนั้น พึงน้อมใจไปว่าเราถูกทุกข์หยั่งเอาแล้ว โดยสมมติ โดยความคิด โดยสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง โดยความนึกถึง โดยคิดสืบต่อ ไม่ใช่ของจริง เราเกิดราคะกับความคิด เสพย์ราคะกับความคิดตัวเอง เป็นสิ่งที่น่าละอาย ไม่ควรเกิดมีแก่เรา ดังนี้ พึงละความคิดนั้นเสีย ความคิดนั้นไม่ควรเสพย์ ไม่ควรยินดี ไม่ควรให้ความสำคัญเอามาตั้งเป็นเครื่องอยู่ของจิต จิตรู้สิ่งใดสิ่งนั้นเป็นสมมติทั้งหมด พึงละความรู้โดยสมมตินั้นเสีย ของแท้มีแค่ลมหายใจเรานี้เท่านั้น คือปัจจุบันที่กำลังมีลมหายใจเข้า หายใจออก ลมหายใจคือ วาโยธาตุ ใจจตุววัตถานธาตุ เป็นของจริง สภาพจริง มารู้ลมหายใจคือรู้ของจริง นี่เรากลายเป็นผู้รู้แล้ว เป็นผู้ตื่นแล้ว จิตเป็นพุทโธตามพระตถาคตเจ้าแล้ว ดังนั้นหายใจเข้าน้อมเอาความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เชิญองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้ามาตั้งที่จิต หายใจเข้า ระลึกพุทธ หายใจออก ระลึก โธ อย่าทิ้งพุทโธ

๓. น้อมพิจารณาความเสื่อมเน่าปฏิกูลน้อมลงธาตุ ธาตุคือนสู่ธาตุคือป่าช้า ๙ หรือ อสุภะ ๑๐ จนเห็นความเสื่อม เห็นอนัตตาความไม่ใช่ตัวตน ไม่เป็นเรา ไม่เป็นเขา ไม่เป็นสิ่งใด ไม่มีค่า ไม่มีประโยชน์ ไม่มีอะไร เป็นที่ว่าง ไม่ใช่ตัวตน เป็นที่สละคืนเป็นที่สุด


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:22:29 PM
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงกรรมฐาน ๔๐ มหาสติปัฏฐาน ๔ เพื่อให้เราดับกิเลส แล้วเหลือแต่ปัญญาล้วนๆ ซึ่งเป็นอุบายอบรมณ์จิตที่รู้เห็นได้ตามจริงว่า พระพุทธศาสนาสั่งสอนให้ใช้ปัญญาไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึกในการดำรงชีพ ถ้าหากเราทำสิ่งใดด้วยใช้อารมณ์ความรู้สึก กิเลสก็จะบดบังปัญญาไปจนหมดสิ้น

ประการที่ ๑ บุคคลผู้ใช้อารมณ์ความรู้สึกเป็นใหญ่ พระบรมศาสดาจึงให้อบรมจิตก่อน จนเหลือแต่ปัญญาล้วนๆ สมดั่ง
- บุคคลเหล่านี้ใช้ สมถะนำ วิปัสนาตาม
อบรมณ์กรรมฐาน ๔๐ เข้า มหาสติปัฏฐาน ๔

ประการที่ ๒ บุคคลผู้ใคร่ครวญเลือกเฟ้นประโยชน์เป็นเบื้องหน้า สกัดกั้นอารมณ์ความรู้สึกไว้ รู้ธรรมารมณ์ที่ควรเสพย์ พระบรมศาสดาจึงให้กำหนดรู้เพื่อให้เกิดความรู้เห็นตามจริง มีจิตน้อมไป โดยการกำหนดหมายรู้ก่อน เมื่อเข้าใจรู้แล้ว ให้พึงสร้างกำลังให้ใจปลดเปลื้องจากกิเลสเพื่อเข้าถึงปัญญาแท้จริง คือ ความจริงอย่างแท้จริง
- บุคลเหล่านี้ใช้ วิปัสนานำ สมถะตาม
มีสัญญา ๑๐ เป็นต้น หรือ ฝึกตรองเอาจิตน้อมไปตามพระสูตร มีพระธรรมจักรกัปปวัตนสูตร, อนัตลักขณสูตร, อาทิตปริยายสูตร เป็นต้น

ประการที่ ๓ บุคคลผู้ใคร่ครวญเป็นอารมณ์เดียว มีใจหยั่งลงรู้เห็นความยินดียินร้าย ทำแต่สักว่ารู้ มีความรู้ตัวทั่วพร้อมทั้งภายนอกภายในอยู่ เห็นความสำคัญมั่นหมายของใจ เห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นจาคานุสติ
- บุคคลเหล่านี้ได้แก่ คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ เป็นผู้มี สมถะและวิปัสนาไปพร้อมๆกัน เป็นผู้สะสมเหตุมาเต็มแล้ว ฟังธรรมก็บรรลุธรรมได้ทันที มีในสมัยพุทธกาล เราจะเข้าถึงบุคคลประการที่ ๓ นี้ได้ก็ต้องสะสมเหตุจนเต็ม ทำสะสมเหตุทุกอย่างในบารมี ๑๐ ประการ อบรมจิตแม้ใน ๒ ประการข้างต้นไปเรื่อยๆ ให้จิตรู้เห็นตามจริงบ่อยๆจนลงใจติดตามไปทุกภพชาติจนอินทรีย์ ๕ พละ ๕ เต็มบริบูรณ์


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:23:24 PM
ทำบุญกับพระที่ไหน ๆ
ก็ต้องไม่ลืมพระที่บ้าน
พ่อแม่เรานี่แหละ
อย่ามองข้ามท่านไป
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

การแก้กรรม ไม่ใช่ไปทำพิธีกับพระ
ใครก็แก้ไม่ได้หรอก
"กรรม" คือการกระทำ
"การแก้กรรม" ก็คือการแก้ไขพฤติกรรม
เคยทำชั่วก็หยุดซะ
ทำดีอยู่แล้ว ก็ทำให้ดียิ่งขึ้น
หลวงปู่จำปา กิตติธโร

ใครจะรู้สึกกับคุณอย่างไร
ก็อย่าไปใส่ใจมาก
หากคุณเอาความสุขของคุณ
ไปผูกติดกับสายตาของคนอื่น
คุณจะหาความสุขได้ยาก
พระไพศาล วิสาโล

ระวังหูของเรา
ดีกว่าเฝ้าปิดปากคนอื่น
หลวงปู่จันทร์ กุสโล

แกล้วกล้าและเด็ดขาด
ในการกระทำที่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
จะดีตรงไหน
ชยสาโรภิกขุ

ความชั่ว ....ไม่ใช่ของธรรมดาที่เกิดขึ้นในตนเอง
เพราะเราต้องทำมันจึงจะชั่ว
ถ้าไม่ทำ มันก็ไม่เกิด นี่จึงเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติ
ท่านพ่อลี ธัมมธโร

ถ้าหัวใจเรามันสกปรก
มันยุ่ง มันเหยิง มันวุ่น มันวาย
ธรรมะจะเข้าสู่หัวใจเราไม่ได้
หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต

ดูไม้ท่อนนี้ซิ สั้นหรือยาว
สมมุติว่า คุณอยากได้ไม้ที่ยาวกว่านี้ ไม้ท่อนนี้มันก็สั้น
แต่ถ้าอยากได้ไม้ที่สั้นกว่านี้ ไม้ท่อนนี้มันก็ยาว
หลวงพ่อชา สุภัทโท

..ให้หมั่นทำความดีเอาไว้เรื่อย ๆ เป็นนิสัย
อย่าประมาท
เมื่อถึงวันสุดท้ายของชีวิตแล้ว
เราก็จะไม่กลัวตาย
เพราะเรารู้แล้วนี่ ว่าเมื่อตายแล้ว
เราจะไปอยู่ไหน
เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกลัวตาย..
หลวงพ่อสุดใจ ทันตมโน

อย่าพยายามทำตัว
เป็นเจ้าของใคร หรืออะไร
เพราะสิ่งที่เราจะเป็นเจ้าของได้
มีเพียงลมหายใจของตัวเอง
แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:23:55 PM
บันทึกกัมมัฏฐาน 6/9/64

   บันทึกกรรมฐานทั้งสิ้นทั้งปวงนี้ ล้วนแต่เป็นความรู้อย่างปุถุชนอย่างข้าพเจ้าจะเข้าไปรู้ัเห็น อนุมาน คาดคะเน ตรึกนึกพิจารณาหลังจากการปฏิบัติได้สภาวะนั้นๆตามที่บันทึึกไว้นี้แล้ว ซึ่งยังไม่ถูกต้องแต่ตรงตามจริง ยังสักแต่เป้นเพียงธรรมสมมติ ยังไม่แจ้งแทงตลอดก ยังทำไม่ได้ทุกครั้งที่ต้องการ ยังไม่ถึงวสี แต่เคยเข้าถึงได้เนืองๆพอที่จะรู้อาการที่จิตนี้มนสิการธรรมทั้งปวงได้ ซึ่งข้าพเจ้าได้ปฏิบัติตามที่สมด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระมหาศาสดาตรัสสอน อันมีพระอรหันตสงฆ์ พระอริยะสงฆ์นำพระธรรมเหล่านี้มาเผยแพร่สั่งสอนให้ข้าพเจ้าได้รับรู้ แล้วมาฝึกสืบต่อในแบบที่ตนพอจะมีปัญญาอย่างปุถุชนเข้าใจได้เท่านั้น
    ด้วยเหตุดังนี้ หากแนวทางใดผิดเพี้ยนไม่ตรงตามจริง ท่านที่แวะเข้าชมบันทึกนี้ทั้งหลายโปรดจงรู้ไว้ว่า เป็นเพียงธรรมที่ข้าพเจ้าปฏิบัติแล้วพิจารณายได้อย่างปุถุชนเท่านั้น ยังไม่แจ้งแทงตลอดถูกต้องและตรงตามจริงตามที่พระพุทธศาสดาทรงตรัสสอน
    หากธรรมนี้เป็นจริงมีประโยชน์เหล่าใดทั้งปวงแก่ท่านที่แวะเยี่ยมชม ก็ขอให้ท่านทั้งหลายโปรดจงรู้ไว้ว่า พระธรรมคำสอนทั้งปวงของสมด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดา ที่ได้ทรงตรัสสอนมานี้ประกอบไปด้วยคุณ หาประมาณมิได้ ใช้ได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกจริตนิสัย สามารถพลิกแพลงให้เข้ากับจริตตนแล้วนำมาใช้งานได้อย่างง่ายแต่มีคุณประโยชน์สูง เห็นผลได้ไม่จำกัดกาล ดังนี้

อริยะสัจ ๔ กัมมัฏฐาน

เป็นกัมมัฏฐาโดยส่วนตัวของข้าพเจ้า เฟ้นเห็นตัวทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์ที่ควรละ แจ้งชัดความดับทุกข์ ถึงทางดับทุกข์ แบบสาสวะ คือ สะสมเหตุ โดยส่วนตัวเท่านั้น

คือ แนวทางการเจริญ พระอริยะสัจ ๔ แบบสาสะ สะสมเหตุ เพื่อเข้าถึงความ ไม่มีใจครอง เบิกบานพ้นแล้วจากสสมมติกิดเลสของปลอม  มีจิตแจ่มใส มีใจเอื้อเฟื้อ เว้นจากความเบียดเบียน ไม่ติดใจข้องแวะโลก เป็นผล

- โดยการเจริญพระอริยะสัจ ๔ กรรมฐานนี้ กว้างมาก เพราะเป็นการใช้กรรมฐานทั้ง ๔๐ หรือกองใดกองหนึ่งตามจริต ตั้งเป็นฐานจิต ฐานสมาธิ เข้าสู่อารมณ์ญาณทัสนะ คือ ใช้กรรมฐานทุกกองเจริญเข้าในมหาสติปัฏฐาน ๔  กาย เวทนา จิต ธรรม ตั้งฐานรู้ชัด + สัมมัปปธาน ๔ + อิทธิบาท ๔

ยกตัวอย่างเช่น

๑. พุทโธ+ลม สะสมมัคสมังคี มรรคสามัคคีรวมกัน เห็นสมมติกาย เห็นสมมติใจ(เวทนา และจิต เข้าสู้ธัมมารมณ์) เฆ็นสมมติธรรม(เห็นขันธสันดารของจิต)

๒. เมตตา(อาจจะกำหนดตามลมหายใจ เพื่อไม่ซ่านออกนอก และคลุมอารมณ์กัมมัฏฐาน) สะสมมัคสมังคี มรรคสามัคคีรวมกัน เห็นสมมติกาย เห็นสมมติใจ(เวทนา และจิต เข้าสู้ธัมมารมณ์) เฆ็นสมมติธรรม(เห็นขันธสันดารของจิต)

พิจารณาเห็นทุกข์ เห็นเหตุแห่งทุกข์ แจ้งชัดความดับทุกข์ มรรครวมขึ้นโครตภูญาณ ทำโพชฌงค์ เข้าสังขารุเปกขา รอบ ๓ อาการ ๑๒ แห่งพระอริยะสัจ ๔ เกิดขึ้น มีปัญญาญาณเกิดขึ้นตัดสังโยชน์

หมายเหตุที่ ๑
- โดยส่วนตัวของข้าพเจ้า ที่ข้าพเจ้ามีใจน้อมทำอย่างนี้ เพื่ออบรมจิตสะสมเหตุใน ปฏิสัมภิทาญาณ และ ปารถนาพุทธภูมิ
- ความรู้นี้มันเกิดขึ้นเอง อาจเป็นแนวทางที่ผิด ไม่ถูกตรงตามจริง และข้าพเจ้าไม่รู้ธรรม จึงจำกัดเรียกเฉพาะทางที่ข้าพเจ้าใช้เจริญในกรรมฐานทั้ง ๔๐ และ ญาณทัสนะ ด้วยองค์ธรรมเพื่อเฟ้นเห็นตัวทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์ที่ควรละ แจ้งชัดความดับทุกข์ ถึงทางดับทุกข์ ดังนี้ว่า อริยะสัจ ๔ กัมมัฏฐาน

หมายเหตุที่ ๒
- มหาสติปัฏฐาน ๔ เป็นกรรมฐานในญาณทัศนะ ที่เข้าได้กับทุกกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง ให้เป็นไปเพื่อ ญาณทัสนะ เพื่อโพชฌงค์ เพื่อวิมุตติ
- ทำไมพระป่าท่านสอนกายก่อน เพราะกายนี้เห็นง่ายสุด กายนี้คือที่ตั้งต้นแห่งเป็นสมาธิ เราอาศัยกายนี้อยู่ จับต้องได้ เห็นได้ สัมผัสได้ง่ายสุด เป็นฌาณ ๔ ใครรู้ลมหายใจก็รู้กายรู้ธาตุ ไม่รู้ลมก็ไม่รู้ธาตุ ม้างกายออกก็จะเห็นอนัตตา เห็นเวทนา เห็นจิตทันที จะอบรมจิตภาวนาได้ ดังความว่า..ทิ้งกายเห็นจิต ส่วนที่เรามามองกันว่าความรู้สึกนี้ๆ อาการนี้ๆ เพราะไม่มีสมาธิ ไม่อบรมสมาธิ ก็คือไม่อบรมกาย มันจะเห็นแต่ความคิดตัวเองเป็นส่วนใหญ่ เป็นเหตุให้หลงความคิดตัวเอง ไม่มีวิปัสนาเห็นแต่วิปัสนึก
- ดังนั้นผู้ที่กล่าวว่าพระป่าไม่เชี่ยวชาญขิต ข้อนี้ผิดมาก เพราะเชี่ยวชาญจึงรู้ทางรู้อุบาย และสอนได้ เพราะเชี่ยวชาญจิต ถึงบรรลุธรรมได้

** สมดั่งที่..องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดา ตรัสกับ สัจจกนิครนต์ ว่า ดูกร! อัคคิเวสนะ! อบรมกายเธอยังไม่รู้จักเลย เธอจะรู้การอบรมจิตได้อย่างไร **

- สมดั่งคำ หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฑฺฒโน ท่านสอนให้เห็นธาตุ ๖ เข้าธาตุวิภังค์ และสมดั่ง หลวงตาศิริ อินฺทสิริ ท่านสอนไว้ว่า หลงกายก็ม้างกายดู หลงใจก็ม้างกายดู กายม้างกายก็ตือ กายานุปัสสนา การม้างใจก็คือ เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ลงธัมมานุปัสนา เป็นขันธ์ เห็นอนุสัยกิเลสอันนอนเเนื่องในจิต จิตทำรอบ ๓ อาการ ๑๒ ดั่งท่านว่าดังนี้..

หมายเหตุที่ ๓
- ความมีจิตแจ่มใจ (คือ ปราศจากิเลสเครื่องเร่าร้อนหน่วงตรึงจิต คือ มีจิตเป็น พุทโธ แล้วนั่นเอง)
- มีใจเอื้อเฟื้อ (คือ มีใจเมตตา ทาน ถึง จาคะ)
- เว้นความความเบียดเบียน (คือ มีเจตนาเป็นศีล คือ ศีลลงใจ)
..เป็น สุจริต ๓ คือ มรรค เกิดขึ้นเมื่อมีอินทรีย์สังวรณ์บริบูรณ์
..ผลทั้งปวงเหล่านี้ย่อมเกิดแก่ผู้รู้ธรรมแท้ เจริญปฏิบัติมาดีแล้ว
(ไม่ได้หมายถึงตัวข้าพเจ้าถึงแล้วดังที่กล่าวมา เพียงแต่บันทึกทางธรรมนี้ไว้เท่านั้น)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:27:33 PM
มีหลัก 3 อย่างที่เราใช้เมื่ออยู่กับคนคอยจับผิด ไม่เป็นมิตรกับเรา ให้ทำดังนี้

1. เรารับผิดชอบหน้าที่การงานตัวเองให้ดี และใฝ่เรียนรู้ศึกษาในงานที่ทำหรือด้านอื่นๆเพิ่มเติม
- เพราะคนที่ชอบจับผิด มักจะเอาสิ่งเล็กสิ่งน้อยมาหาเรื่องใส่ร้ายเรา เมื่อเรารับผิดชอบงานดี จุดที่เค้าจะเล่นเราก็ทำไม่ได้
- เมื่อเรามีความรู้ที่แน่น หรือมีความรู้ในส่วนอื่นๆมาก เขาก็จะกลัวเรา ไม่กล้าผลีผลามทำร้ายเรา เผลอๆอาจจะเปลี่ยนพฤติกรรมเขาด้วย

2. ผูกมิตร การผูกมิตร เราจะผูกมิตรยังไง เมื่อเขาไม่สนใจเรา เราก็แค่เป็นคนที่มีกาย วาจา ใจ ดังนี้..

๒.๑) เมตตา คือ มีใจเอื้อเฟื้อ เกื้อกูลกัน ไม่ผูกแค้นเขา
๒.๒) กรุณา คือ มีการสงเคราะห์ให้ความช่วยเหลือต่อพวกเขา
๒.๓) มุทิตา คือ ไม่ริษยาเขา เขาได้ดีก็ยินดีกับเขา โดยให้มองว่า สิ่งนั้นมันเป็นของเขา มันเป็นสิ่งที่เขาควรได้รับ
- ทั้ง ๓ ข้อนี้เมื่อทำแล้ว เป็นการผูกมิตรที่ฝ่ายตรงข้ามมองว่า เขาไม่ได้เสียผลประโยชน์กับเรา และเราไม่มีพิษภัยกับเขา เขาก็จะเปิดใจคุยมากขึ้น

๒.๔) อุเบกขา คือ วางใจไว้กกลางๆไม่ยินดี ยินร้ายกับเขา
..เช่น เราเอื้อเฟื้อสงเคราะห์ช่วยเหลือเขาแล้ว เขายังอคติกับเรา เหมือนไม่รู้คุณเรา ก็ให้มองว่า..สิ่งที่เราทำให้เขานั้น เราทำให้ทานเขาไป และอย่าใส่ใจให้ความสำคัญกับตัวเขา และการกระทำของเขาเกินความจำเป็น
- ข้อนี้เมื่อเราทำแล้ว จะทำให้เราสามารถอยู่กับสังคมของเขาได้ โดยไม่ทุกร้อนไปกับการกระทำของเขาครับ

3. รักษากาย วาจา ใจ ให้คงความดีของเราไว้ ไม่ให้เสื่อม เพราะเขาจะไม่สามารถช่วงชิงความดีของเราไปได้ แล้วสิ่งทั้งหมดที่เราทำมันก็จะแสดงผลเอง จะแสดงผลช้าหรือเร็วหรือไม่แสดงผลเลยก็ช่าง ให้เรารู้ว่าสิ่งที่เราทำคือความดี เป็นสิ่งดี ทำแล้วสบายใจพอ
- ข้อนี้เมื่อเราทำแล้ว เราจะไปอยู่ที่ใดก็ไม่ต้องเร่าร้อน กังวลใจ หวาดกลัวใครจะมาทำร้ายเอาคืนเรา


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 09:59:39 PM
(https://www.nirvanattain.com/images/2020/03/20/article_49-min.jpg)

ธาตุ ๔ หมายถึง สิ่งที่ทรงสภาวะของตนอยู่เอง คือมีอยู่โดยธรรมดา เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีผู้สร้าง ไม่มีอัตตา มิใช่สัตว์ มิใช่ชีวะ เป็นส่วนประกอบของรูปขันธ์ หรือส่วนประกอบของชีวิตที่เป็นสสาร เช่น ส่วนที่เป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เอ็น เนื้อ โลหิต น้ำเหลือง เป็นต้น ธาตุ ๔ หรือมหาภูตรูป (รูปใหญ่หรือร่างกายกาย คือ ส่วนประกอบที่สามารถมองเห็นได้และจับต้องได้ สัมผัสได้ ร่างกายประกอบด้วยธาตุ ๔ ได้แก่

ภิกษุทั้งหลาย ! ธาตุมีสี่อย่างเหล่านี้ สี่อย่างเหล่าไหนเล่า ? สี่อย่าง คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ
ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล คือ ธาตุสี่อย่าง
( บาลี – นิทาน. สํ. ๑๖/๒๐๓/๔๐๓ )

ภิกษุทั้งหลาย ! ปฐวีธาตุเป็นอย่างไรเล่า ? ปฐวีธาตุที่เป็นไปในภายในก็มี ที่เป็นภายนอกก็มี

ภิกษุทั้งหลาย ! ปฐวีธาตุที่เป็นไปในภายในเป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนใดเป็นของแข็ง เป็นของหยาบ อันวิญญาณธาตุอาศัยแล้ว ซึ่งมีอยู่ในตน เฉพาะตน กล่าวคือ ผมทั้งหลาย ขนทั้งหลาย เล็บทั้งหลาย ฟันทั้งหลาย หนังเนื้อเอ็นทั้งหลาย กระดูกทั้งหลาย เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ ลำไส้สุด อาหารในกระเพาะ อุจจาระ หรือแม้ส่วนอื่นอีกไร ๆ

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุที่เป็นไปในภายใน

ภิกษุทั้งหลาย ! ปฐวีธาตุที่เป็นไปในภายในก็ตาม ที่เป็นภายนอกก็ตาม นี้แหละเรียกว่า ปฐวีธาตุ

ภิกษุทั้งหลาย ! อาโปธาตุเป็นอย่างไรเล่า ? อาโปธาตุที่เป็นไปในภายในก็มี ที่เป็นภายนอกก็มี

ภิกษุทั้งหลาย ! อาโปธาตุที่เป็นไปในภายในเป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนใดเอิบอาบเปียกชุ่ม อันวิญญาณธาตุอาศัยแล้ว ซึ่งมีอยู่ในตน เฉพาะตน กล่าวคือ น้ำดี เสลด หนอง โลหิต เหงื่อ มัน น้ำตา น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำเมือก น้ำลื่นหล่อข้อ น้ำมูตร หรือแม้ส่วนอื่นอีกไร ๆ

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า อาโปธาตุที่เป็นไปในภายใน

ภิกษุทั้งหลาย ! อาโปธาตุที่เป็นไปในภายในก็ตาม ที่เป็นภายนอกก็ตาม นี้แหละเรียกว่า อาโปธาตุ

ภิกษุทั้งหลาย ! เตโชธาตุเป็นอย่างไรเล่า ? เตโชธาตุที่เป็นไปในภายในก็มี ที่เป็นภายนอกก็มี

ภิกษุทั้งหลาย ! เตโชธาตุที่เป็นไปในภายในเป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนใดเป็นของเผา เป็นของไหม้ อันวิญญาณธาตุอาศัยแล้ว ซึ่งมีอยู่ในตน เฉพาะตน กล่าวคือ ธาตุไฟที่ยังกายให้อบอุ่นอย่างหนึ่ง ธาตุไฟที่ยังกายให้ชราทรุดโทรมอย่างหนึ่ง ธาตุไฟที่ยังกายให้กระวนกระวายอย่างหนึ่ง ธาตุไฟที่ทำอาหาร ซึ่งกินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว ลิ้มแล้ว ให้แปรไปด้วยดีอย่างหนึ่ง หรือแม้ส่วนอื่นอีกไร ๆ

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า เตโชธาตุที่เป็นไปในภายใน

ภิกษุทั้งหลาย ! เตโชธาตุที่เป็นไปในภายในก็ตาม ที่เป็นภายนอกก็ตาม นี้แหละเรียกว่า เตโชธาตุ

ภิกษุทั้งหลาย ! วาโยธาตุเป็นอย่างไรเล่า ? วาโยธาตุที่เป็นไปในภายในก็มี ที่เป็นภายนอกก็มี

ภิกษุทั้งหลาย ! วาโยธาตุที่เป็นไปในภายในเป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนใดเป็นลม ไหวตัวได้ อันวิญญาณธาตุอาศัยแล้ว ซึ่งมีอยู่ในตน เฉพาะตน กล่าวคือ ลมพัดขึ้นเบื้องสูงอย่างหนึ่ง ลมพัดลงเบื้องต่ำอย่างหนึ่ง ลมนอนอยู่ในท้องอย่างหนึ่ง ลมนอนอยู่ในลำไส้อย่างหนึ่ง ลมแล่นไปทั่วทั้งตัวอย่างหนึ่ง และลมหายใจเข้าออกอย่างหนึ่ง หรือแม้ส่วนอื่นอีกไร ๆ

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า วาโยธาตุที่เป็นไปในภายใน

ภิกษุทั้งหลาย ! วาโยธาตุที่เป็นไปในภายในก็ตาม ที่เป็นภายนอกก็ตาม นี้แหละเรียกว่า วาโยธาตุ

( บาลี – อุปริ. ม. ๑๔/๔๓๗-๔๓๙/๖๘๔-๖๘๗ )

คำสอนพระอริยเจ้า
ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ สัมพันธ์ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
ธาตุ ๔ เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งมูลฐานของสิ่งทั้งปวง แม้แต่ธรรมทั้งหลายที่เป็นนิยานิกธรรม อันจะดำเนินให้ถึงวิมุติด้วยสมถะวิปัสสนา ก็จะหนีจากธาตุสี่นี้ไม่ได้ แต่ธาตุ ๔ เป็นวัตถุธาตุล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับนามธรรมแลกิเลสใดๆ เลย ท่านจำแนกออกเป็นกองๆ ตามลักษณะของธาตุนั้นๆ

เช่น สิ่งใดที่มีอยู่ในกายนี้มีลักษณะข้นแข็ง ท่านเรียกว่า ธาตุดิน มี ๑๘ อย่าง คือ ผม ๑ ขน ๑ เล็บ ๑ ฟัน ๑ หนัง ๑ เนื้อ ๑ เอ็น ๑ กระดูก ๑ เยื่อในกระดูก ๑ ม้าม ๑ หัวใจ ๑ ตับ ๑ พังผืด ๑ ไต ๑ ปอด ๑ ไส้ใหญ่ ๑ ไส้น้อย ๑ อาหารใหม่ ๑ อาหารเก่า ๑ (ถ้าเติมกะโหลกศีรษะ และมันสมอง ศีรษะเข้าด้วยก็เป็น ๒๐ พอดี แต่ที่ไม่เติม เพราะไปตรงกับกระดูก และเยื่อในกระดูก จึงยังคง เหลือ ๑๘)

ธาตุน้ำ สิ่งใดที่มีลักษณะเหลวๆ ท่านเรียกว่า ธาตุน้ำ มี ๑๒ คือ น้ำดี ๑ น้ำเสลด ๑ น้ำเหลือง ๑ น้ำเลือด ๑ น้ำเหงื่อ ๑ นั้นมันข้น ๑ น้ำตา ๑ น้ำมันเหลว ๑ น้ำลาย ๑ น้ำมูก ๑ น้ำมันไขข้อ ๑ น้ำมูตร ๑

ธาตุไฟ สิ่งใดที่มีลักษณะให้อบอุ่น ท่านเรียกว่า ธาตุไฟ มี ๔ คือ ไฟทำให้กายอบอุ่น ๑ ไฟทำให้กายทรุดโทรม ๑ ไฟช่วยเผาอาหารให้ย่อย ๑ ไฟทำความกระวนกระวาย ๑

ธาตุลม สิ่งใดที่มีลักษณะพัดไปมาอยู่ในร่างกายนี้ สิ่งนั้นท่านเรียกว่า ธาตุลม มี ๖ คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ทำให้มึน งง หาว เอื้อมอ้วกออกมา ๑ ลมพัดลงข้างล่างทำให้ระบายเผยลม ๑ ลมในท้อง ทำให้ปวดเจ็บท้องขึ้นท้องเฟ้อ ๑ ลมในลำไส้ ทำให้โครกคราก คลื่นเหียน อาเจียน ๑ ลมพัดไปตามตัว ทำให้กายเบา แลอ่อนละมุนละไม ขับไล่เลือด และโอชาของอาหาร ที่บริโภคเข้าไปให้กระจายซึมซาบไปทั่วสรรพางกาย ๑ ลมระบายหายใจเข้าออก เพื่อยังชีวิตของสัตว์ให้เป็นอยู่ ๑ หรือจะนับเอาอากาศธาตุคือช่องว่างที่มีอยู่ตัวของเราเช่น ช่องปาก ช่องจมูก เป็นต้น เข้าด้วยก็ได้ แต่อากาศธาตุ ก็เป็นลมชนิดหนึ่งอยู่แล้ว จึงสงเคราะห์เข้าในธาตุลมด้วย

สมมุติว่าเป็น
มนุษย์ทั้งหลาย ที่เราๆ ท่านทั้งหลายที่เห็นกันอยู่นี้ ถ้าจะพูดตามเป็นจริงแล้ว มิใช่อะไร มันเป็นแค่สักว่าก้อนธาตุมารวมกันเข้าเป็นก้อนๆหนึ่งเท่านั้น มนุษย์คนเราพากันมาสมมติเรียกเอาตามชอบใจของตน ว่านั่นเป็นคน นั่นเป็นสัตว์ นั่นเป็นนั่น เป็นนี่ต่างๆ นานาไป แต่ก้อนอันนั้น มันก็หาได้รู้สึกอะไรตามสมมติของตนไม่ มันมีสภาพเป็นอยู่อย่างไร มันก็เป็นอยู่อย่างนั้นตามเดิม

อย่างไปสมมติว่าหญิง ว่าชาย ว่าหนุ่ม ว่าแก ว่าสวย ไม่สวย ก้อนธาตุอันนั้นมันก็ไม่มีความรู้สึกอะไรเลย หน้าที่ของมัน เมื่อประชุมกันเข้าเป็นก้อนแล้ว อยู่ได้ชั่วขณะหนึ่ง แล้วมันก็ค่อยแปรไปตามสภาพของมัน ผลที่สุดมันก็แตกสลายแยกกันไปอยู่ตามสภาพเดิมของมันเท่านั้นเอง ใจของคนเราต่างหาก เมื่อความไม่รู้เท่าเข้าใจตามเป็นจริงแล้ว ก็ไปสมมติว่า เป็นคน เป็นหญิง เป็นชาย สวย-ไม่สวย สวยก็ชอบใจรักใคร่ อยากได้มาเป็นของตน ไม่สวย ก็เกลียด เหยียดหยาม ดูถูกไม่ชอบใจ ไม่อยากได้อยากเห็น ใจไปสมมติเอาเอง แล้วก็ไปหลงติดสมมติของตัวเอง เพิ่มพูนกิเลส ซึ่งมันหมักหมมอยู่แล้ว ให้หนาแน่นขึ้นอีก กิเลสอันเกิดจากความหลงเข้าใจผิดนี้ ถ้ามีอยู่ในจิตสันดานของบุคคลใดแล้ว หรืออยู่ในโลกใดแล้ว ย่อมทำบุคคลนั้น หรือโลกนั้น ให้วุ่นวายเดือดร้อนมากแลน้อย ตามกำลังพลังของมัน สุดแล้วแต่มันจะบันดาลให้เป็นไป ฯ

ธาตุล้วนๆ
ความจริงธาตุ ๔ มันก็เป็นธาตุล้วนๆ มิได้ไปก่อกรรมทำเข็ญให้ใครเกิดกิเลสหลงรักหลงชอบเลย ถึงก้อนธาตุจะขาวจะดำสวยไม่สวย มันก็มีอยู่ทั่วโลก แล้วก็มีมาแต่ตั้งโลกโน่น ทำไมคนเราพึ่งเกิดมาชั่วระยะไม่กี่สิบปี จึงมาหลงตื่นหนักหนา จนทำให้สังคมวุ่นวาย ไม่ทราบว่าอะไรเป็นอะไร มืดบอดยิ่งกว่ากลางคืน ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าของพวกเราทั้งหลาย ผู้ทรงประสงค์ความสันติสุขแก่โลก จึงทรงจำแนกสมมติ ที่เขาเหล่านั้นกำลังพากันหลงติดอยู่เหมือนลิงติดตัง ออกให้เป็นแต่สักว่าธาตุ ๔ ดังจำแนกมาแล้วข้างต้น หรือจะเรียกว่า พระองค์ทรงบัญญัติให้เป็นไปตามสภาพของเดิม เพื่อให้เขาเหล่านั้นที่หลงติดสมมติอยู่แล้ว ให้ค่อยๆ จางออกจากสมมติ แล้วจะได้เห็นสภาพของจริง บัญญัตินี้ไม่เป็นตนเป็นตัว เป็นสภาพธรรมอันหนึ่ง แล้วบัญญัติเรียกชื่ออ เป็นเครื่องหมายใช้ชั่วคราวเท่านั้น ถ้าผู้มาพิจารณา เห็นกายก้อนนี้ เป็นสักแต่ว่าธาตุ ๔ แล้ว จะไม่หลงเข้าไปยึดเอาก้อนธาตุมาเป็นอัตตาเลย อันเป็นเหตุให้เกิดกิเลสหยาบช้า ฆ่าฟันกันล้มตายอยู่ทุกวันนี้ ก็เนื่องจากความหลง เข้าไปยึดก้อนธาตุว่าเป็นอัตตาอย่างเดียว

ผู้ใคร่ในธรรมข้อนี้ จะทดลองพิจารณาให้เห็นประจักษ์ ด้วยตนเองอย่างนี้ก็ได้ คือ พึงทำใจให้สงบเฉยๆ อยู่ อย่าได้นึกอะไร แลสมมติว่าอะไรทั้งหมด แม้แต่ตัวของเรา ก็อย่านึกว่า นี่คือเราหรือคน แล้วเพ่งเข้ามาดูตัวของเรา พร้อมกันนั้น ก็ให้มีสติทำความรู้สึกอยู่ทุกขณะว่า เวลานี้เราเพ่งวัตถุสิ่งหนึ่ง แต่ไม่มีชื่อว่าอะไร เมื่อเราทำอย่างนี้ได้แล้ว จะเพ่งดูสิ่งอื่น คนอื่น หรือถ้าจะให้ดีแล้ว เพ่งเข้าไปในสังคมหมู่ชนมากๆ ในขณะนั้น อาจทำให้เกิดความรู้สึกอะไรขึ้นมาในใจแปลกๆ และเป็นสิ่งน่าขบขันมาก อย่างน้อยหากท่านมีเรื่องอะไรหนักหน่วง และยุ่งเหยิงอยู่ภายในใจของท่านอยู่แล้ว เรื่องทั้งหมดนั้นหากจะไม่หายหมดสิ้นไปทีเดียว ก็จะเบาบาง แลรู้สึกโล่งใจของท่านขึ้นมาบ้างอย่างน่าประหลาดทีเดียว

หากท่านทดลองดูแล้ว ไม่ได้ผลตามที่แสดงมาแล้วนี้ ก็แสดงว่าท่านยังทำใจให้สงบ ไม่ได้มาตรฐานพอจะให้ธรรมเกิดขึ้นมาได้ ฉะนั้นจึงขอให้ท่านพยายามทำใหม่ จนได้ผล ดังแสดงมาแล้ว แล้วท่านจะเกิดความเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า เป็นคำสอนที่ นำผู้ปฏิบัติให้ถึงความสันติได้แท้จริง ฯ

อนึ่ง คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นคำสอนเพื่อสันติ ผู้ที่ยังทำใจของคนให้สงบไม่ได้แล้ว จะนำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นสันติ มาพิจารณาก็ยังไม่เกิดผล หรือมาตั้งไว้ ในใจของตน ก็ยังไม่ติด

สภาพเดิมของธาตุ
ฉะนั้น จึงขอเตือนไว้ ณ โอกาสนี้เสียเลยว่าผู้จะเข้าถึงธรรม ผู้จะเห็นธรรม รู้ธรรม ได้ธรรม พิจารณาธรรมในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งที่แสดงมาแล้ว และกำลังแสดงอยู่ หรือที่จะแสดงต่อไปนี้ก็ดี ขอได้ตั้งใจทำความสงบเพ่งอยู่เฉพาะในธรรมนั้นๆ แต่อย่างเดียว แล้วจึงเพ่งพิจารณาเถิด จึงจะเกิดความรู้ความเข้าใจในธรรมนั้นๆ อย่างถูกต้อง

เรื่อง ธาตุ ๔ เป็นสภาวธรรมเป็นจริงอยู่ตามธรรมชาติแล้ว แต่คนเรายังทำจิตของตนไม่ให้เข้าถึงสภาพเดิม (คือความสงบ) จึงไม่เห็นสภาพเดิมของธาตุ ธาตุ ๔ เมื่อผู้มาพิจารณา ให้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว จะเห็นว่า ธาตุเป็นสักแต่ว่าธาตุ มันมีสภาพเป็นอยู่เช่นไร มันก็เป็นอยู่เช่นนั้นตามสภาพของมัน ธาตุมิได้ก่อกวนให้ใครเกิดกิเลสความรักแลความหวัง หรือโลภโกรธหลงอะไรเลย ใจของคนเราก็เป็นธาตุเหมือนกัน เรียกว่ามโนธาตุ หากผู้มา พิจารณาให้เห็นสิ่งทั้งปวง เป็นแต่สักว่าธาต คือเห็นธาตุภายใจ (คือกายก้อนนี้) และธาตุภายนอก (คือนอกจากกายของเรา) และมโนธาตุ (คือใจ) ตามเป็นจริงแล้ว ความสงบสุข ก็จะเกิดมีแก่เหล่าประชาสัตว์ทั่วหน้ากัน สมตามพุทธประสงค์ที่พระพุทธองค์ตั้งปณิธานไว้ ทุกประการ

ขอขอบคุณที่มาจาก https://www.nirvanattain.com/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4/%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B8.html (https://www.nirvanattain.com/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4/%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B8.html)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 25, 2022, 11:26:44 PM
(https://www.nirvanattain.com/images/2020/04/18/article_131-min.jpg)

นางอุตตรา ผลแห่งบุญ : ผลของการปฏิบัติเมตตาและวิปัสสนาภาวนา
 
ปริยัติธรรม
หนังสือนิทานบำเพ็ญบุญ 100 เรื่อง
เมื่อปุณณะเศรษฐีได้เป็นเศรษฐีฉับพลัน ลูกสาวก็เป็นที่หมายปอง.. สุมนเศรษฐีทวงบุญคุณ บีบให้นางอุตตราแต่งงานกับลูกชายตน

เมื่อปุณณะเศรษฐีสร้างเรือนใหม่แล้ว เรือนหลังนี้ก็เปิดต้อนรับภิกษุ ภิกษุณี คนในครอบครัวมีศรัทธาทำทาน มีศีล มีกัลยาณธรรมเป็นนิตย์ บุตรสาวคือนางอุตตราก็เป็นที่ต้องการของตระกูลใหญ่ ต่างต้องการได้นางมาเป็นบุตรสะใภ้ เพื่อเกี่ยวดองเป็นญาติกับปุณณะเศรษฐี

สุมนเศรษฐีตัดสินใจเจรจาสู่ขอนางอุตตรให้กับบุตรชายของตน เมื่อปุณณะเศรษฐีตอบปฏิเสธ สุมนเศรษฐีก็พูดทวงบุญคุณว่า "ท่านปุณณะ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ท่านอาศัยครอบครัวของเราเลี้ยงชีพ ทั้งการงาน และที่อยู่อาศัย แม้แต่ที่นาที่ท่านไปไถแล้วเกิดเป็นทองคำนั้นก็เป็นที่นาของเรา จงยกธิดาให้บุตรชายของเราเถิด มิตรภาพของพวกเราจะได้ยาวนานขึ้นอีก" แต่ปุณณะเศรษฐีก็ยังปฏิเสธด้วยการกล่าวว่า "บุตรชายของท่านสุมนเป็นมิจฉาทิฏฐิ ถ้าแต่งไปแล้วนางอาจไม่ได้ทำบุญ ลูกของเราอยู่ห่างจากพระรัตนตรัยไม่ได้ ผมไม่อาจให้แต่งงานกับลูกชายท่านได้"

ข่าวที่ปุณณะเศรษฐีไม่ยกนางอุตตราให้กับบุตรชายของสุมนเศรษฐีได้แพร่กระจายไป พวกเศรษฐีและคหบดีชาวราชคฤห์ที่สนิทสนมกับสุมนเศรษฐี ต่างพากันมาขอร้องวิงวอนให้ปุณณะเศรษฐีเห็นแก่ไมตรีอันยาวนาน อย่าทำลายไมตรีเลย

ปุณณะเศรษฐีพูดคุยกับนางอุตตราผู้เป็นธิดาแล้ว บุตรสาวยินยอม สุมนเศรษฐีจึงจัดพิธีสู่ขอและรับนางไปสู่ตระกูลในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ

ครอบครัวสามีเป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่งงานแล้ว นางอุตตราอดทำบุญ... ปุณณะเศรษฐีส่งเงินให้ว่าจ้างหญิงคณิกามาบำเรอสามีแล้วใช้เวลานั้นบำเพ็ญบุญ

นับแต่แต่งงานเข้าสู่ตระกูลสามีแล้ว นางอุตรามิได้มีโอกาสประพฤติกุศลอย่างเดิมเลย ไม่ได้เข้าไปบำรุงภิกษุ ภิกษุณี ทั้งไม่ได้โอกาสนิมนต์พวกท่านมาในเรือนเลย นับจากวันเข้าพรรษาเป็นต้นมา นางไม่ได้ถวายทานหรือฟังธรรมเลยตลอด ๒ เดือนครึ่ง เหลือเวลาอีกเพียงครึ่งเดือน (๑๕ วัน) ก็จะครบไตรมาส จะถึงวันออกพรรษา

นางอุตตราตัดสินใจส่งข่าวไปหาปุณณะเศรษฐีผู้เป็นบิดาว่า "พ่อจำ เหตุใดพ่อจึงให้พวกเขาจับลูกมาขังไว้แต่ในเรือน พ่อทำอย่างนี้สู้ทำให้ลูกเสียโฉม หรือให้ไปเป็นนางทาสีคนพวกอื่นเสียยังดีกว่า การที่มาอยู่ในตระกูลมิจฉาทิฏฐิไม่ประเสริฐเลย ตั้งแต่ลูกมาอยู่ในสกุลนี้ ลูกยังไม่เคยได้ทำบุญกุศลเลย ไม่ได้พบภิกษุ ภิกษุณีเลย"

ปุณณะเศรษฐีได้ข่าวแล้วเสียใจ ครุ่นคิดหาทางออกให้แก่บุตรสาว แล้วตัดสินใจส่งคนนำเงิน ๑๕,๐๐๐ กหาปณะไปให้ลูก พร้อมจดหมายสั่งว่า "ลูกรัก ในนครนี้ มีหญิงคณิกา(หญิงงามเมือง, โสเภณี หญิงแพศยา) ชื่อสิริมาอยู่ เจ้าจงให้คนไปเชิญมาเจรจาให้นางรับเป็นนางบำเรอสามีของเจ้า โดยจ่ายให้นางวันละ ๑,๐๐๐ กหาปณะ (๑,๐๐๐ X ๑๕ วัน =๑๕,๐๐๐ กหาปณะ) ให้บำเรอ ๑๕ วัน ระหว่างนี้ตัวลูกก็จงทำบุญต่าง ๆ ตามสบาย"นางอุตตราให้คนไปเชิญนางสิริมามาพูดคุย นางสิริมาตอบตกลงแล้ว จึงพาไปพบสามี และให้เหตุผลว่า "นายจำ หญิงคนนี้จะเป็นหญิงบำเรอของท่านตลอด ๑๕ วัน ส่วนดิฉันจะขออนุญาตถวายทาน ฟังธรรมตลอด ๑๕ วัน ขอได้โปรดอนุญาตให้ดิฉันทำบุญกับพระผู้เป็นเจ้าที่ดิฉันเคารพนับถือได้ตามสะดวกด้วยนะ"

สามีเห็นรูปโฉมนางสิริมาแล้ว เกิดความเสน่หามาก ตอบตกลงตามคำของภรรยา (นางอุตตราผู้เป็นภรรยายินยอมอนุญาตด้วยความเต็มใจ สามีจึงไม่ผิดศีลข้อ ๓)

พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์เข้าออกเขตเรือนของสุมนเศรษฐีต่อเนื่อง ๑๕ วัน...นางอุตตรารอดจากเนยใสร้อนเพราะอานุภาพเมตตา

วันรุ่งขึ้น นางอุตตราก็ทูลเชิญพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ให้เสด็จมาจากพระเวฬุวันมหาวิหารเพื่อรับมหาทานในเรือนหลังนี้ตลอด ๑๕ วัน พระพุทธเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว นางมีจิตปิติโสมนัสว่า "เราจะได้อุปัฏฐากพระศาสดา จะได้ฟังธรรมติดต่อกันไปจนถึงวันมหาปวารณา"

กลับถึงเรือนแล้ว นางดำเนินการจัดแจงโรงครัว เตรียมเสบียงและไทยธรรมต่าง ๆ ให้เพียงพอกับการทำบุญ ๑๕ วัน

นับแต่วันรุ่งขึ้นเรื่อยไปจนถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ (รวม ๑๔ วัน) นางก็ได้กระทำบุญต่าง ๆ เหล่านั้นแต่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ ฝ่ายสามีก็เพลิดเพลินการอภิรมย์กับนางสิริมา

บ่ายของวันขึ้น ๑๔ ค่ำนั้น นางอุตตรายังคงสั่งการคนงานให้ทำกิจต่าง ๆ เช่น หุงต้ม นึ่ง ผัด เพื่อให้พร้อมถวายทานในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ อันเป็นวันออกพรรษาและวันมหาปวารณา

ฝ่ายสามีคิดว่า พรุ่งนี้เป็นวันมหาปวารณาของคนที่นับถือพระพุทธเจ้า เมียอันธพาลของเราเที่ยวทำอะไรอยู่ที่ไหนนะ? แล้วเดินไปที่หน้าต่าง มองไปที่โรงครัว ก็เห็นนางอุตตรามีผ้านุ่งห่มเปรอะเปื้อนขะมุกขะมอมวุ่นอยู่กับกิจต่าง ๆ จึงคิดว่า นางอันธพาลมีเงินมากมายแต่กลับเลือกจะทำอะไรโง่ ๆ เพื่ออุปัฏฐากพวกสมณะโล้น แทนที่จะเที่ยวไปในที่ต่าง ๆ ดูชมสิ่งที่สวยงาม, เมื่อคิดถึงตอนนี้แล้วเขาก็เดินหัวเราะกลับไปห้องนอน

ความเป็นไปของเขาตกอยู่ในสายตาของนางสิริมาผู้แอบดูอยู่ นางเกิดความหึงหวงว่า "เรามีความสุขดีที่ได้มาอยู่ในเรือนแห่งนี้ เขาก็รักเราดี เราก็มีใจรักใคร่เขา วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่นางอุตตราว่าจ้างเรามาบำเรอเขา เขาก็คงคิดถึงเมีย จึงมาแอบดูด้วยความรักและห่วงใย น่าเสียดายความสุข ถ้าเราต้องออกจากเรือนนี้ไป มีทางเดียว เราต้องทำให้นางเสียโฉม หรือไม่ก็ตายไป เราก็จะได้อยู่ในฐานะภรรยาของเขา ได้เป็นใหญ่ในเรือนนี้แท้จริง"

นางสิริมาเดินออกจากเรือนมุ่งเข้าไปในโรงครัว โดยที่นางอุตตราไม่ทันระวังตัว นางสิริมาก็หยิบทัพพีตักน้ำมันที่เดือดพล่านในกะทะทอดขนมขึ้น เดินเข้าไปใกล้ ๆ นางอุตตราเหลือบเห็นเข้าพอดี รู้ความประสงค์ร้าย จึงแผ่เมตตาให้นางสิริมาว่า

"สหายหญิงของเรามี อุปการะแก่เรามาก เพราะนางแท้ ๆ เราจึงได้ถวายทาน และฟังธรรม จักรวาลก็แคบเกินไป พรหมโลกก็ต่ำเกินไป นางมีคุณใหญ่แก่เรามาก ถ้าเราโกรธนาง น้ำมันก็จงลวกตัวเถิด ถ้าเราไม่มีความโกรธ น้ำมันร้อนก็อย่าลวกเราเลย"

ทันทีที่คิดจบ นางสิริมาก็เข้าถึงตัว พลิกทัพพีเทน้ำมันราดลงบนศีรษะนางอุตตราน้ำมันร้อนกลับเป็นเสมือนน้ำเย็น
นางอุตตรายังมีกิริยาปกติไม่ร้อน ไม่ทุรนทุราย นางสิริมาคิดว่าน้ำมันคงหายร้อน จึงรีบเดินไป ตักใหม่ คราวนี้ พวกนางทาสีตั้งหลักได้แล้วถือไม้ชี้หน้าว่า "หยุดนะ นั่งตัวร้าย จงทิ้งทัพพีลงเดี๋ยวนี้เลย เลิกคิดทำอันตรายแม่ของพวกเราถ้าไม่หยุด พวกเราจะรุมตีเจ้าให้ตาย"

นางสิริมาเกิดความหวาดกลัว ทิ้งทัพพีน้ำมันลงพื้น พวกนางทาสีก็กรูเข้าไปทำร้ายนางทันที ตบ ตี ทุบ ถีบ จนนางล้มกองกับพื้น นางอุตตราร้องห้ามแล้วพวกทาสีก็ยังไม่ฟังในที่สุดนางจึงตัดสินใจเข้าไปยืนคร่อมร่างนางสิริมาไว้ นางทาสีทุกคนจึงได้หยุดถอยออกไป

นางอุตตราก้าวออกมายืนดูนางสิริมา เห็นสภาพสะบักสะบอม จึงกล่าวว่า "เหตุใดเจ้าทำกรรมหนักเช่นนี้เล่า?" นางสิริมานิ่ง นางอุตตราสั่งให้นางทาสีอุ้มร่างวางบนเตียงให้ปฐมพยาบาล ทำความสะอาดบาดแผล เปลี่ยนเสื้อผ้าให้ใหม่ และกล่าวโอวาทไปพลาง

นางสิริมารู้สำนึกว่าทำความผิดครั้งใหญ่แล้วเพราะความหึงหวง ทั้งที่เป็นเพียงคนนอกเรือน คิดว่า "ถ้านางอุตตราไม่ห้ามปราม ป่านนี้พวกทาสีคงรุมทำร้ายเราจนตายแน่เราช่างผิดมหันต์ เราต้องขอโทษนางตอนนี้แหละ ไม่อย่างนั้นศีรษะเราจะแตกออกเป็น ๗เสี่ยงแน่" คิดดังนั้นแล้ว จึงหมอบกราบลงที่เท้านางอุตตรา กล่าวขอโทษว่า "แม่เจ้า แม่จงยกโทษให้แก่ดิฉันด้วยเถิด"

นางอุตตรา : สิริมาเอ๋ย ตัวเราเป็นลูกที่มีพ่อ ถ้าพ่อเรายกโทษให้ เราก็จะยกโทษให้

นางสิริมา : แม่อุตตรา ถ้าอย่างนั้นดิฉันจะไปขอขมาต่อท่านปุณณะเศรษฐีบิดาของท่านในวันนี้แหละ

นางอุตตรา : ปุณณะเศรษฐีเป็นพ่อบังเกิดเกล้าของเราในสังสารวัฏ แต่ถ้าพ่อบังเกิดเกล้าที่นำเราออกจากวัฏฏะ ยกโทษให้ เราก็จะยกโทษให้

นางสิริมา : แล้วใครเล่า เป็นบิดาบังเกิดเกล้านำออกจากวัฏฏะของแม่เจ้า?

นางอุตตรา : พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นางสิริมา : แต่ดิฉันไม่มีความคุ้นเคยกับพระองค์เลย จะขอให้ยกโทษได้อย่างไร?

นางอุตตรา : เราจะเป็นภาระให้เอง พรุ่งนี้ พระศาสดาจะเสด็จนำหมู่ภิกษุสงฆ์มายังที่นี่ (มีการจัดเตรียมโรงปะรำ โรงครัว ไว้พร้อมสรรพแล้ว) ตัวเธอจงนำสิ่งของที่ควรทำสักการะมาเข้าเฝ้าพร้อมกับเรา แล้วท่านก็จงกราบทูลขอขมาโทษเถิด

นางสิริมารับคำแล้วกลับไปยังเรือนตนเอง (สำนักหญิงคณิกา) สั่งหญิงบริวาร ๕๐๐ คน ให้ช่วยกันตระเตรียมของฉันของเคี้ยวต่าง ๆ และเครื่องไทยธรรมที่สมควรแก่สมณะไว้ให้พร้อมสรรพ

นางสิริมากราบทูลขอขมาโทษ พระศาสดาตรัสธรรม... นางอุตตราบรรลุเป็นพระสกทาคามี นางสิริมาเป็นพระโสดาบัน

รุ่งเช้า นางก็สั่งให้คนช่วยกันนำวัตถุสิ่งของเหล่านั้นมายังเรือนของนางอุตตราพระพุทธเจ้าเสด็จมาพร้อมภิกษุสงฆ์ประทับนั่งยังที่ ๆ จัดไว้ นางอุตตราเริ่มนำข้าวเป็นต้น ใส่ลงในบาตรพระศาสดาและภิกษุสงฆ์จนครบ แต่นางสิริมาถือภาชนะข้าวอยู่ไม่กล้าจะเข้าไปถวาย นางอุตตราจึงรับสิ่งของเหล่านั้นถวายแทน

พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์เสร็จภัตกิจแล้ว นางสิริมาพร้อมด้วยบริวารเข้ามาหมอบกราบลงเบื้องพระบาท พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า "พวกท่านมีความผิดอะไรหรือ?"

นางสิริมาได้กราบทูลความผิดของตน และความดีที่นางอุตตรามีคุณธรรม น้ำมันร้อน ไม่อาจทำอันตรายนางได้ อีกทั้งนางยังมีความกรุณาห้ามปรามมิให้พวกทาสีทำร้าย เมื่อหม่อมฉันกราบขอขมาโทษ นางก็กล่าวว่า ถ้าบิดาบังเกิดเกล้าผู้นำออกจากวัฏฏะคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกโทษให้ นางก็จะยกโทษให้...

พระพุทธเจ้าตรัสถามนางอุตตราว่า เรื่องเป็นอย่างที่สิริมาเล่าหรือ? นางอุตตรารับว่าเป็นอย่างนั้น, พระศาสดาตรัสถามถึงความคิดเมตตาที่เกิดขึ้นขณะจะถูกนางสิริมาราดด้วยน้ำมันร้อนนั้นว่าคิดอย่างไร? นางก็ทูลถึงความคิดที่ว่า นางสิริมามีคุณใหญ่ เป็นผู้ที่ทำให้ตนเองมีโอกาสได้ทำบุญ...

พระพุทธเจ้าตรัสอนุโมทนาว่า "ดีแล้วอุตตรา การชนะความโกรธ เป็นสิ่งสมควรการจะเอาชนะคนขี้โกรธก็ต้องไม่โกรธตอบ, เจอคนด่าบริภาษ ก็พึงชนะด้วยการไม่ด่า ไม่บริภาษตอบ, เจอคนตระหนี่จัด ก็พึงชนะด้วยการให้, เจอคนพูดเท็จ ก็พึงชนะด้วยคำจริง"

แล้วตรัสพระคาถาว่า...

"พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชนะความไม่ดีด้วยความดี พึงชนะความตระหนี่ด้วยการให้ พึงชนะคนพูดไม่จริงด้วยคำจริง"

จบพระเทศนา นางสิริมาพร้อมด้วยบริวาร ๕๐๐ บรรลุเป็นพระโสดาบัน (ดู ร.อ.๓/๓๗๔-๙)

อรรถกถาวิมานวัตถุเล่าว่า จบพระคาถานี้แล้ว พระศาสดาได้ตรัสอริยสัจ ๔ จบแล้ว นางอุตตราบรรลุเป็นพระสกทาคามี, สามีของนาง, สุมนเศรษฐีและภรรยาบรรลุเป็นพระโสดาบัน, นางสิริมาและบริวารบรรลุเป็นพระโสดาบัน

นางอุตตราเกิดในสวรรค์ดาวดึงส์ส่วนนางสิริมาเกิดในสวรรค์นิมมานรดี

ต่อมา นางอุตตราสิ้นชีวิต เกิดเป็นเทพธิดาในภพดาวดึงส์ครั้งหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานเถระจาริกมาในเทวโลก อุตตราเทพธิดาพบแล้วเข้ามาไหว้ พระเถระถามถึงกุศลกรรมที่ทำไว้ นางก็เรียนว่า สมัยเป็นมนุษย์ครองเรือน ไม่มีความริษยา ไม่ตระหนี่ ไม่ตีเสมอ ไม่โกรธ อยู่ในโอวาทของสามี เข้าจำอุโบสถมีองค์ ๘ เป็นนิตย์ชอบให้ทาน ยินดีในสิกขาบท ๕ (ศีล ๕)... จบแล้วได้ร้องขอให้พระเถระเป็นธุระเข้าเฝ้าพระศาสดาแล้ว ช่วยกราบทูลด้วยว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุตตราอุบาสิกา ขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรกล้า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้พยากรณ์ดิฉันไว้ในสามัญผลอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ไม่น่าอัศจรรย์เลย เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ดิฉันไว้สกทาคามิผลแล้ว"(ดู ขุ.วิ.ข้อ ๑๕, วิมาน.อ.๑๐๒-๑๑๒)

ขอขอบคุณที่มาจาก https://www.nirvanattain.com/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1/%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2-%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%8D-%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%B2.html (https://www.nirvanattain.com/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1/%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2-%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%8D-%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%B2.html)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 26, 2022, 12:26:11 AM
บันทึกกรรมฐานวันที่ 24/5/65 เวลา 09:00 น. - 09:40 น.

เมื่อเข้ากรรมฐานหมายใจที่จะพูดน้อยคิดก่อนพูด จากเป็นคนพูดมากเป็นลิงหลับ ยากพูดน้อย ให้เข้ากรรมฐานดังนี้

1. จิต มีธรรมชาติ คือ คิด อาศัยวิตก และวิจาร สืบต่อมาเป็นวาจา เป็นวจีสังขาร (ทุกครั้งที่เรานึกคิดจะมีเสียงพูดในใจนั่นก็เป็นวจีสังขารแต่นั้นแล้วโดยที่ยังไม่เปล่งเสียงออกมา)

- ที่เราพูดมากนั้นก็เพราะว่า เรานั้นคิดมาก คิดจนฟุ้งทำให้กลั่นกรองความคิดไม่ได้ จนเกิดความอยากกระหายที่จะพูด คือ มีความอยากกระหายที่จะกล่าวให้ผู้อื่นได้ยินได้รับฟังมากนั่นเอง

- ดังนี้..พึงละเสียซึ่งความคิดปรนเปรอตามความอยากตนทั้งปวงนั้น

- ดังนี้..พึงละเสียซึ่งความคิดอยากตามสมมติกิเลส เมื่อเราคิดน้อยลง ให้ความสำคัญในสิ่งที่จะพูดน้อยตามความเหมาะสม รู้กาลอันควรจะกล่าว

2. วิตก วิจาร อันประกอบด้วยความจำได้หมายรู้ปรนเปรอตนเป็นของร้อน ทำให้ใจอัดปะทุ ทะยานอยากใคร่ตาม ทนอยู่ได้ยาก เมื่อวิตก วิจาร ประกอบด้วยสัญญาปรนเปรอตนเป็นของร้อน ย่อมเป็นธรรมารมณ์ที่ไม่ควรเสพย์ ให้พึงวางใจไว้ดังนี้..

2.1) พึงมีสติเป็นเบื่องหน้า มีใจดำรงมั่นอยู่ไม่หวั่นไหวไหลตามความคิด ไหลตามความคิดจำปรนเปรอตนที่ไม่ควรเสพย์ ความว่าง ความสละคืน ความไม่มี เป็นที่สบายกายใจ ไม่มีทุกข์ เป็นธรรมารมณ์ที่ควรเสพย์

- ให้ตั้งจิตไว้เหมือนสงบนิ่ง หายใจเข้านึกถึงเอาใจลอยอยู่ออกจากความคิด เรื่องเครียด เรื่องปรนเปรอตนนั้นๆตามลมหายใจเข้า

- หายใจออกปักใจบลงที่ฐานจิตในภายในที่จุดนาภี พึงทำลมปัก แทงตัดเอาความคิดทั้งปวงเหล่านั้นลอยออกไปตามลมหายใจออก

- หายใจเข้านึกถึงความเบา ว่าง โล่ง เย็นใจ เป็นที่สบายกายใจ

- หายใจออกผ่อนคลาย ผ่อนคลาย ปล่อยทุกอย่าง เป็นที่สบายกายใจ

- หายใจเข้านึกถึงความว่าง ความสละคืน ความไม่มี

- หายใจออกมันสบาย ผ่อนคลาย ผ่อนคลาย

2.2) เจริญมหาสติ พึงละเจตนาความสำคัญมั่นหมายปรนเปรอตนนั้นเสีย มันเป็นของร้อน เป็นทุกข์ เมื่อความคิดที่ปรุงแต่งใด สำคัญมั่นหมายใจใดๆเกิดขึ้นแล้ว อุปมาเหมือนดวงจิต ดวงแสงพุ่งขึ้นจากภายในขึ้นมา เรารู้ว่านั่นคือเจตนาอกุศลปรนเปรอตน จะตราตรึงใจก็ดี จะติดตรึงใจก็ดี อยากก็ดี รักก็ดี จะใคร่ดก็ดี จะโกรธก็ดี จะชังก็ดี จะกลัวก็ดี จะอ่อนไหวตามก็ดี จะไม่รู้ก็ดี จะหลงก็ดี ให้พึงละเจตนานั้นเสีย..

- พึงทำไว้ในใจละสิ่งนั้นว่า สิ่งใดที่จิตรู้ สิ่งนั้นคือสมมติทั้งหมด ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ก็ไม่มีทุกข์ ..นี้คือวิธีที่พระอริยะสาวกในพระธรรมวินัยนี้ไม่ยึดเสพย์ธัมารมณ์ทั้งปวง

- ของแท้มีแค่ลมหายใจเรานี้เท่านั้น ลมหายใจไม่ปรุงแต่งจิต ไม่ปรุงแต่งความรู้สึกนึกคิด ลมหายใจเป็นที่สบายกายใจ ลมหายใจไม่มีโทษ พึงเอาจิตมาจับรู้ที่ลมหายใจเรานี้ คือรู้ของจริง ไม่ปรุงแต่ง เป็นกายสังขาร เป็นวาโยธาตุอันประกอบขึ้นเป็นกายนี้ ไม่มีทุกข์

*..นี้คือวิธีที่พระอริยะสาวกในพระธรรมวินัยนี้พึงทำความรู้วาโยธาตุในกายอยู่ดังนี้ ตลอดจนถึงความไม่ยั่งยืนคงอยู่ได้นาน ไม่ใช่ตัวตนตน ควบคุมไม่ได้ ความเอาใจเข้ายึดครองเป็นทุกข์ คือ เอาใจเข้ายึดสิ่งที่ไม่ทเี่ยง ไม่ใชตัวตน ว่าเป็นเรา เป็นเขา มีความยึดปารถนาในสิ่งไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน เป็นทุกข์
(ส่วนความมีใจครอง หมายเอาอุปาทินนกรูป ธาตุ ๕ อันวิญญาณธาตุ คือจิตเราจรมาเข้ายึดครองตามกรรม ตามมูลมรกที่พ่อแม่ให้มา  คือ ความเกิดนั่นเอง)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 26, 2022, 01:16:14 AM
บันทึกกรรมฐานวันที่ 26/5/65 00:00

คติธรรมจากประวัติของนางอุตตรามหาอุบาสิกา ผลแห่งบุญ : ผลของการปฏิบัติเมตตาและวิปัสสนาภาวนา

ปกติแล้ว..เราจะแผ่เอาความปารถนาดีด้วยใจมีที่มั่นเป็นกุศล ปราศจากกิเลสเครื่องเร่าร้อนกายใจ แผ่เอาสุขจากความเย็นใจไม่มีทุกข์ภัย เย็นกายสบายใจนั้นไปสู่ผู้อื่น ให้เขาได้รับความสุขนั้นตาม โดยปราศจากทุกข์ภัยความเร่าร้อนกายใจ เหมือนดั่งเราได้รับสุขอยู่นั้น

จากประวัตินางอุตตรามหาอุบาสิกานี้ ทำให้เราตั้งจิตถึงเมตตาต่อผู้อื่นด้วยความกตัญญู กตเวที อันเป็นมงคลอันสูงสุดอย่างหนึ่งที่สมเด็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดา ทรงแสดงในมงคลสูตร อีกทั้งยังใช้ดับโทสะได้ดังนี้

1. การเมตตาอีกประการหนึ่ง เราสามารถเจริญเมตตาด้วยตั้งจิตกตัญญูกตเวทีแผ่ไปได้ โดยระลึกถึงความมีอุปปการะคุณของผู้อื่น คุณงามความดีของเขา รู้อุปการะคุณ และบุญคุณของผู้อื่น ไม่หมื่นคุณท่าน แล้วแผ่เอาความสำนึกในคุณของท่านเหล่านั้นไป โดยใจเราปราศจากความเกลียด ชัง กลัว หลง ริษยา ตั้งจิตในความปราถนาดีไปถึงท่านทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยใจหมายให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้นเป็นสุข ไม่มีทุกข์ ไม่มีโทษภัยมากล้ำหลาาย รักษาตนรอดพ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้น เช่น คุณของบิดามารดา บุพการี ผู้มีอุปการะคุณแก่เราเป็นต้น

2. การเมตตาอันควรแก่ผู้ประทุษร้ายตนนั้น แม้เขานั้นจะปองร้ายเรา หาข้อดีของเขาไม่ได้เลยก็ตามที พึงเห็นว่า..เพราะมีเขากระทำกาย วาจา ใจ ต่อเราอย่างไร เราจึงได้สะสมบารมีทาน ศีล ภาวนาอย่างนี้ๆได้ ..หรือเพราะมีเขาให้เห็นอยู่อย่างนั้นเราจึงสำรวมระวังอินทรีย์ ระวังตัว และเห็นโทษภัยจากผลลัพธ์ในการกระทำอย่างนั้นๆของเขา โดยสังเกตุดูจากการที่เราและผู้อื่นแวดล้อมรู้สึกต่อเขาอย่างไร รวมถึงการคิด พูด ทำ แบบนั้นของเขาส่งผลต่อจิตใจเขาให้เร่าร้อน กระวนกระวาย ดั่งไฟแผดเผากายใจเขาอย่างไร หาความสงบ สุข เบา สบายไม่มีโทษได้ไหม
- ก็ด้วยเพราะเขานี้แล เป็นตัวแปรให้เราสะสมบารมีนี้อยู่ได้ และทำให้เราเห็นทุกข์โทษภัย และผลตอบรับสะท้อนกลับจากการคิด พูด ทำต่างๆอย่างนั้น เพื่อให้เราได้ระลึกรู้สำรวมระวังอินทรีย์ พึงขอบคุณเขาด้วยบุญอันนั้น แล้วแผ่สุขให้เขาด้วยคุณอันนั้น ประดุจดั่งนางอุตตรามหาอุบาสิกาเจริญจิตเมตตาจิตภาวนาต่อนางสิริมา หญิงคณิกาผู้หมายปองร้ายท่านอยู่ ดังนี้..


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 26, 2022, 09:12:55 PM
บันทึกกรรมฐานจาก คันธภกสูตร เข้าพรรษา ปี 64

กล่าวถึงว่า เพราะมีฉันทะราคะกับบุคคลที่รัก เช่น ลูก เมีย สามี เป็นต้น ห่วงหาอาธรณ์ จึงทุกข์

..แก้โดย ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สงบใจด้วยปัญญา ให้เข้ามารู้ในกรรมตามจริงว่า สัตว์มีกรรมนำพาให้เป็นไป ทั้งกรรมในชาติก่อน-ที่ทำผ่านมานี้ หรือในปัจจุบันนี้ เรามีกรรมเป็นของๆตน ให้ผล ติดตาม อาศัย เป็นทายาทกรรม บุญที่ทำสะสมมาเท่านั้นช่วยค้ำไว้ได้
..อย่าไปคาดหวัง คาดหวังไปก็ช่วยอะไรไม่ได้ อยู่ที่ตัวเขาทำเท่านั้น
..ไม่ยึดความคิดโหยหา ผลักไส เอาใจมารู้ปัจจุบันของจริง คือ ลมหายใจไม่ใช่ของปรุงแต่งจิต


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 26, 2022, 10:15:26 PM
อาพาธสูตร หรือ คิริมานนทสูตร

สัญญา ๑๐ ประการ ได้แก่ อนิจจสัญญา ๑ อนัตตสัญญา ๑ อสุภสัญญา ๑ อาทีนวสัญญา ๑ ปหานสัญญา ๑ วิราคสัญญา ๑ นิโรธสัญญา ๑ สัพพโลเกอนภิรตสัญญา ๑ สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา ๑ อนาปานัสสติ ๑

อนิจจสัญญา - ความไม่เที่ยงในอุปาทานขันธ์ ๕
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย วิญญาณไม่เที่ยง ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ด้วยประการอย่างนี้

อนัตตสัญญา - ความเป็นอนัตตาในอายตนะภายในและภายนอก ๖ ประการ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่าจักษุเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา หูเป็นอนัตตา เสียงเป็นอนัตตา จมูกเป็นอนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา กายเป็นอนัตตา โผฏฐัพพะเป็นอนัตตา ใจเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา ย่อมพิจารณาเห็น
โดยความเป็นอนัตตาในอายตนะทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ๖ ประการ

อสุภสัญญา - ความเป็นของไม่งาม
ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้ มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาด มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม เนื้อหัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่งามในกายนี้

อาทีนวสัญญา - ความเป็นโทษในกาย
ย่อมพิจารณาเห็นว่ากายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้น อาพาธต่างๆ จึงเกิดขึ้นในกายนี้ อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีไข้สันนิบาต อาพาธอันเกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธอันเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธอันเกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธอันเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ

ปหานสัญญา - การละอกุศลธรรม
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลาย

วิราคสัญญา -  ธรรมเป็นที่สำรอกกิเลส
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่าธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง  ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ธรรมเป็นที่สำรอกกิเลส ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์

นิโรธสัญญา - ธรรมเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือ
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่าธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรม
เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ธรรมเป็นที่ดับโดยไม่เหลือ ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์

สัพพโลเกอนภิรตสัญญา - ละอุบายและอุปาทาน ไม่ถือมั่น
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละอุบายและอุปาทานในโลก อันเป็นเหตุตั้งมั่น ถือมั่น และเป็นอนุสัยแห่งจิต ย่อมงดเว้น ไม่ถือมั่น

สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา - ความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมอึดอัด ย่อมระอา ย่อมเกลียดชังสังขารทั้งปวง

อานาปานัสสติ
นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้าเป็นผู้มีสติหายใจออก เป็นผู้มีสติหายใจเข้า
- เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว  เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว
- เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น  เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น
- จักเป็นผู้กำหนดรู้กายทั้งปวง หายใจออก จักเป็นผู้กำหนดรู้กายทั้งปวง หายใจเข้า
- จักระงับกายสังขาร (ลมหายใจ) หายใจออก จักระงับกายสังขาร หายใจเข้า
- จักกำหนดรู้ปีติ หายใจออก จักกำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า
- จักกำหนดรู้สุข หายใจออก จักกำหนดรู้สุข หายใจเข้า
- จักกำหนดรู้จิตตสังขาร (เวทนา) หายใจออก จักกำหนดรู้จิตตสังขาร หายใจเข้า
- จักระงับจิตตสังขาร หายใจออก จักระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า
- จักกำหนดรู้จิต หายใจออก จักกำหนดรู้จิต หายใจเข้า
- จักยังจิตให้บันเทิง หายใจออก จักยังจิตให้บันเทิง หายใจเข้า
- จักตั้งจิตให้มั่น หายใจออก จักตั้งจิตให้มั่น หายใจเข้า
- จักเปลื้องจิต หายใจออก จักเปลื้องจิต หายใจเข้า
- จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออก จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจเข้า
- จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัด หายใจออก จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัด หายใจเข้า
- จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความดับสนิท หายใจออก จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความดับสนิท หายใจเข้า
- จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสลัดคืน หายใจออก จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสลัดคืนหายใจเข้า


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 12:31:18 AM
บันทึกกรรมฐาน 12 พ.ค. ปี 65 ว่าด้วยเรื่องความคิดสืบต่อ

การคิดสืบต่อในอกุศลตามกิเลสตัณหา คือ การที่เราจงใจและเต็มใจเปิดรับ อัญเชิญให้ความทุกข์เร่าร้อน ร้อนรุ่ม เป็นไฟสุมใจเข้ามาแผดเผากายใจตนเอง

การตรึกถึงพุทโธ เป็นมหากุศล เพราะว่า..
- เป็นการอัญเชิญน้อมเอาองค์พระพุทธเจ้ามาตั้งในจิต

- เป็นการน้อมเอากิริยาจิตอันเป็นผู้รู้ คือ..รู้ปัจจุบัน รู้ของจริงต่างหากจากสมมติกิเลสของปลอมอันเร่าร้อนแผดเผากายใจตน

- เป็นการน้อมเอากิริยาจิตอันเป็นผู้ตื่น คือ..ตื่นจากสมมติกิเลสของปลอมมีโทษเป็นทุกข์ ยกใจออกจากทุกข์ มีกำลังใจดีไม่กระเพื่อมไหวเอนตามสมมติกิเลสของปลอม มีสติปัญญาเลือกเฟ้นอารมณ์ที่ควรเสพย์ และไม่ควรเสพย์
..ทั้งความพอใจยินดีที่ควรเสพย์ และไม่ควรเสพย์
..ทั้งความไม่พอใจยินดีที่ควรเสพย์ และไม่ควรเสพย์
..ทั้งความวางเฉย มีใจวางไว้กลางๆ คือ สักแต่ว่ารู้ ทำใจแค่รู้โดยไม่เอนเอียงที่ควรเสพย์ และไม่ควรเสพย์

- เป็นการน้อมเอากิริยาจิตอันเป็นผู้เบิกบาน คือ..มีใจเบิกบานพ้นแล้วจากสมมติกิเลสของปลอม ถึงความมีจิตแจ่มใส มีใจเอื้อเฟื้อ เว้นจากความเบียดเบียน ..มีอาการที่ผ่องใส-เบา-โล่ง-เย็นใจเป็นผล


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 12:32:50 AM
การดับไฟโทสะ คือ การดับไฟที่เผาไหม้ใจตนเอง

เมื่อโกรธคนที่ร้อนเป็นฟืนเป็นไฟคือเราเอง เราต่างหากที่ถูกไฟโทสะเผาไหม้กายใจอยู่นั้น ส่วนเขานั้นไม่ได้มารู้สึกอะไรกับกายใจเราเลย
ดังนั้นการให้อภัย การไม่ใส่ใจใความสำคัญมั่นหมาย ไม่ติดใจข้องแวะ มันเป็นการดับไฟที่กำลังเผาไหม้กายใจของเรานี้เอง ดับไฟคือโทสะ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 12:33:39 AM
ธรรมมะกับงาน หากถูกเขาว่ากล่าว หรือด่า หรือใส่ร้าย หรือเราไม่พอใจใคร

- ให้ใช้ขันติสู้กับกิเลสของตนเองไม่ให้ทำตามกิเลสให้เสียหาย รู้สิ่งไหนควรปล่อย ละวาง ควรเอาสติปัญญาสิ่งใดมาตั้งไว้
- แล้วใช้สติปัญญาพิจารณาสิ่งที่เขาพูดกล่าว มองดูความจริง สิ่งใดเกื้อหนุน เกื้อกูลกัน สิ่งใดควรเปิดมุมมอง เวลาใดที่ควรพูด เวลาใดไม่ควรพูด
- ตั้งใจถึงการแก้ปัญหาไว้ด้วยการชนะแบบ Win Win คือไม่เสียหายแม้ฝ่ายใด และได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย เพราะจะช่วยกันลดปัญหา และลดการสร้างศัตรู ภัย พาล
- สิ่งใดหากพูดแก้ไปจะเสียใหญ่ให้ละไว้ก่อน สิ่งไหนเมื่อพูดแล้วเรื่องบานปลายให้เว้นไว้
- สิ่งใดประกอบด้วยประโยชน์ให้รู้กาลอันควรพูด คือ ในกาลที่เขารับฟัง กาลที่เขาคลายจากอคติลำเอียง กาลที่จำเป็นต้องเปิดมุมมองเพื่อแก้ไขปัญหา กาลที่มีโอกาสให้อธิบายสาธยาย กาลที่เรามีความรู้ในสิ่งนั้นๆเพียงพอเต็มที่แล้ว ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเป็นอันมากนั่นเอง

- เมื่อเราทำดีครบพร้อมแล้ว ใครจะมาอคติกับเรา ก็ช่างเขา เรารับฟังได้ แต่ไม่รับ เขาก็ทุกข์ของเขาเอง ทุกข์เพราะไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะแผดแผาเขากลับคืนเอง แต่หากรับฟังพิจารณาเห็นข้อผิดเรา เราก็ต้องแก้ไข พิจารณาเห็นประโยชน์เราก็ควรทำ

ศาสนาพุทธ คือ ศาสนาแห่งปัญญา ไม่ใช่นั่งปล่อยเขากร่นด่าโดยไร้เหตุผล ให้มันผ่านๆจบๆไป ปล่อยให้ตนถูกทำร้ายโดยไม่เกิดประโยชน์ มิใช่ทางสร้างบารมี


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 12:34:58 AM
บันทึกกรรมฐาน 10 มีนาคม ปี 65

อย่าเอาความคิดแย่ๆอันเป็นสมมติกิเลสแห่งทุกข์ ที่กิเลสวางไว้ล่อจิตทางใจโดยอาศัยสมมติแห่งอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดมาตั้งใส่ไว้ในใจตน เพราะเมื่อหลงตามมันแม้เพียงชั่ววูบเดียว มันจะขโมยสิ่งมีค่า ทรัพย์สมบัติ และทุกสิ่งทุกอย่างของเราไป

- ทรัพย์สมบัติของเรา ก็คือ ความรู้ การเรียน วุฒิการศึกษา เงินทอง ของมีค่า ทรัพย์สินทั้งปวง ความสามารถ ความเพียร สติ สมาธิ และปัญญา ชีวิต อนาคต และทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งทางโลกียทรัพย์ และอริยะทรัพย์ ตลอดจนถึงคุณค่าชีวิตความเป็นมนุษย์จากเราไปสิ้น จนไม่เหลือความเป็นคน ต่ำกว่าสัตว์เดรัจฉาน ต้องทุกข์ร้อนหมกไหม้ไฟสุมไหม้ใจอยู่ตลอดเวลา


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 12:37:34 AM
บันทึกกรรมฐาน 4 มีนาคม ปี 65

จิตเดิมเรานี้ ท่องเที่ยวไปไม่สิ้นสุด เป็นคนบ้าง สัตว์เดรัจฉานบ้าง สัตว์นรกบ้าง เทวดาบ้าง ตามแต่กรรมที่ทำไว้ มาชาตินี้ได้กายธาตุที่พ่อแม่ให้มาอาศัย (จึงชื่อว่าเกิดขึ้นโดยธาตุ) ให้จิตเรามาอาศัยอยู่ชั่วคราว เพื่อสร้างบุญบารมีไม่ให้สูญเปล่าที่ได้เกิดมาเป็นคน เป็นลูกของพ่อและแม่ สุดท้ายแล้วธาตุก็กลับคืนสู่ธาตุ ดังนี้ชื่อว่าได้กำไรชีวิตติดตามไปด้วยแล้ว

แลด้วยเหตุดังนี้ บุตรธิดาควรกตัญญูต่อพ่อแม่ บุพการี ..และเหตุดังนี้จึงชื่อว่า..เกิดแต่ธาตุ ดับไปคืนสู่ธาตุ

มูลมรดกกรรมฐานที่หลวงปู่มั่นสอนไว้ดังนี้..
นะ คือ ธาตุน้ำ เป็นธาตุของมารดา
โม คือ ธาตุดิน เป็นธาตุของบิดา

อาศัยสัมภวธาตุของบิดามารดารวมกันจึงเป็นตัวตนขึ้นมา อาศัยธาตุไฟของมาดาเคี่ยวจนเป็นกลละ ณ ที่นี้เองที่ให้ ปฏิสนธิวิญญาณ เจ้าถือปฏิสนธิได้

ดั่งที่พระอัสสชิเถระ แสดงธรรมโดยย่อแก่อุปติสสะมานพ โดยกล่าวคาถาว่า “เย ธัมมา เหตุปปภวา, เตสัง เหตุง ตถาคโต อาหะ, เตสัญจะ โย นิโรโธ จะ, เอวัง วาที มหาสมโณฯ” “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้นและความดับของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะทรงสั่งสอนอย่างนี้”

จบธรรมกถานี้ อุปติสสะก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันทันที


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 12:41:15 AM
ปฏิบัติธรรม ไปตามวาระสะดวก งานมากไม่เหมาะกับ โยคาวจร ก็ต้องวางลงบ้าง แต่ถ้ามันจำเป็นต่อการดำรงชีพ ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการภาวนาให้เหมาะสม ในการทำงาน สามารถฝึกแบบสติ คือเคลื่อนไหวได้ตามแนวสติปัฏฐาน ( ค่อยเป็นค่อยไป)
แต่ถ้าเอาตามแนว มรรคสมังคี ก็หนีการทำสมาธิไม่ได้ ก็ต้องแบ่งเวลาเข้าสมาธิบ้าง

พระอาจารย์เมตตากำกับไว้พร้อมให้แนวทางกรรมฐาน


การละราคะ เป็น คุณธรรมระดับ พระอนาคามี ดังนั้นถ้าจะให้ถูกต้อง ควรต้องไปทำคุณสมบัติของพระโสดาบันมาให้ได้ก่อน อยากรู้ว่าได้เป็นพระโสดาบันหรือยัง ก็ให้อธิษฐาน เข้าผลสมาบัติดู ถ้าเข้าไม่ได้ ก็แสดงว่ายังไม่ได้เป็น ถ้าเข้าได้ ก็จะทรงผลสมาบัติด้วย สุญญตาสมาบัติเป็นเวลา 24 -30 ชม. ด้วยอำนาจ ผลสมาบัติ ซึ่ง ปัญญาวิมุตติ ก็ต้องทำได้แบบนี้

ดังนั้นคาถากันราคะ สำหรับบุคคลที่ยังไม่เป็น พระโสดาบัน ก็คือ

เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ สลับกลับไปมา พร้อมนิมิต

..ข้าพเจ้า ขออนุญาตพระอาจารย์เพื่อโพสท์บันทึกไว้ทบทวน และแบ่งปันว่าเป็นส่วนที่ไม่ใช่ข้อห้ามแล้ว


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 12:44:32 AM
ธรรมระบายทุกข์

ทำงานให้เป็นธรรมกรรมฐาน


การทำงานให้ถึงกรรมฐาน มีวิธีดังนี้
1. รู้หน้าที่ รู้กิจการงานที่ตนต้องทำ
2. มีใจจดจ่อในงาน ไม่ส่งจิตออกนอกไปคิดเนื่องนั้น คิดเรื่องนี้ คิดถึงคนนั้น คิดถึงคนนี้ให้ใจไม่อยู่กับงาน ให้รู้ปัจจุบันขณะว่าเรากำลังทำสิ่งใด รู้ว่ากำลังทำงานอะไร รู้ว่าเราทำถึงไหน รู้ว่าเราทำสิ่งใดอยู่ และจะดำเนินงานนั้นไปอย่างไร รู้ว่างานที่เราทำคืออะไร
3. ทำความรู้ความเข้าใจในงานที่ตนกำลังทำอยู่นั้น เนื้อหางานคืออะไร ทำเพื่อสิ่งใด มีอะไรเปฌนเหตุ มีอะไรเป็นผล
4. คอยสอดส่องดูแลในงาน ตรวจสอบทบทวนว่าสิ่งใดมีแล้วดีแล้ว สิ่งใดขาดที่ต้องเติม สิ่งใดที่ต้องเสริม มีวิธีทำอย่างไรให้งานนั้นออกมาดี เสริมเพิ่ม ปรับเปลี่ยน ปรับแต่งส่วนใดให้งานออกมาดีได้บ้าง ต้องทำสิ่งใดในงานต่อเพื่อให้งานเสร็จสิ้นสำเร็จด้วยดี

การทำงานแบบนี้ เป็นการฝึกสติ สัมปัชัญญะ สมาธิ และปัญญา ลงในอิทธิบาท ๔


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 12:45:24 AM
บันทึกกกรรมฐาน ธรรมะระบายทุกข์

- การทำคุณคนไม่ขึ้น ไม่มีใครรัก ไม่มีคนจริงใจ ไว้ใจใครไม่ได้ พึ่งพาใครไม่ได้ มีมีคนคอยช่วยเหลือ ขาดญาติ มิตร
- นั่นหมายความว่า แต่เริ่มเดิมทีในกาลก่อนนั้น เรายังทำทานบารมี จาคะบารมียังไ และศีลบารมียังไม่เต็มกำลังใจนั่นเอง จึงทำให้กลิ่นทานบารมี กลิ่นจาคะบารมี และกลิ่นศีลบารมี ยังไม่หอมทวนลม แม้ในชาตินี้ทำมาดีแล้วแต่มันยังไม่เต็มกำลังใจให้เป็นบารมีนั่นเอง
- ด้วยเหตุดังนี้ เราจึงพบเจอคนที่ไม่รู้คุณคน ไม่มีใครรัก ไม่มีมิตรสหาย ที่เราพบเจอนั้นก็เพื่อให้เราอบรมกายใจในทานบารมี จาคะบารมี และ ศีลบารมีให้มันเต็มกำลังใจเรา

ทางแก้ไข และ สะสมบารมีของเรา มีดังนี้
1. ให้/ทำ โดยไม่หวังผลตอบแทน
..ให้ทำใจเปิดออก เอื้อเฟื้อแก้คนและสัตว์ทั้งปวงเสมอด้วยตน คือเรามีความยินดีในการได้รับประโยชน์สุขสำเร็จดีงามอย่างไร ก็ทำด้วยใจหมายให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์สุขดีงามอย่างนั้นเสมอด้วยตน หรือยิ่งกว่า โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆจากคนและสัตว์เหล่าใดกลับคืน
2. ทำเพื่สละคืนกิเลสเครื่องเร่าร้อนในใจตน
..ให้ทำทาน สละ เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน เพื่อเกื้อกูลประโยชน์สุขเย็นใจแก่ตนเอง ให้ปราศจากความเร่าร้อน และจุนเจือประโยชน์สุขดีงามแก่ผู้อื่น เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างไม่ร้อนเร่าแผดเผาไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะแก่กัน
3. ตั้งใจไว้ความไม่ติดใจข้องแวะ ไม่เพ่งโทษกัน รู้อดโทษ อภัยทานให้กัน ไม่ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ สละคืนอกุศลธรรมอันเร่าร้อนทั้งปวง ไม่หยิบ ไม่จับ ไม่ยึด ไม่เพ่งโทษกัน ด้วยพึงละเสียซึ่งความเป็นประโยชน์ส่วนตน ปรนเปรอกายใจตนสนองความต้องการตามที่รักที่ชัง ถึงความเป็นธรรมชาตินั้นสงบ ธรรมชาตินั้นสบาย ธรรมชาตินั้นว่าง เบาเย็นใจ ความว่าง ความไม่มี ความสละคืน ใจไม่มีอคติลำเอียง
4. ไม่เอาความสุขสำเร็จของตนไปผูกขึ้นไว้กับผู้อื่น หากแม้เมื่อเราทำดีแล้วครบพร้อมแล้ว แต่ยังติดค้างคาใจกับผลสนองตอบกลับการกระทำจากผู้อื่น ให้เราวางใจไว้โดยไม่เอาความสุขสำเร็จของตนไปผูกขึ้นไว้กับผู้อื่น อย่าหวังว่าการสนองตอบความต้องการของใจเราจากเขา คือ ความสุข แต่สิ่งที่เราเอื้อเฟื้อเขาแล้วนั้นแลคือสุขของเรา สุขจากการให้ สุขจากการแบ่งปัน เมื่อทำให้เสร็จก็ไม่เอาใจไปผูกติดกับสิ่งที่ให้ เขาจะแสดงการตอบรับที่ดีกลับคืนหรือไม่มันเรื่องของเขา ตัวเขา มันอยู่เหนือการควบคุมของเรา เราไม่มีอำนาจใดๆจะไปบังคับเขาได้ เพราะเขาไม่ใช่เรา ไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ด้วยเหตุดังนี้แล้ว อย่าไปติดใจข้องแวะจาการกระทำไรๆของใคร และไม่เอาความสุขสำเร็จของไปผูกขึ้นไว้กับใคร สุขและทุกข์มันอยู่ที่ใจเราสร้างขึ้นมาเองทั้งนั้น เมื่อไม่ยึดก็ไม่หน่วงตรึงจิต เมื่อไม่เอาความสุขสำเร็จไปผูกขึ้นไว้กับใครหรือสิ่งใด เราก็ไม่มีทั้งที่รักและที่ชัง ก็จะไม่มีทุกข์จากการกระทำของสิ่งใดบุคคลใดมาทำร้ายเราได้อีก ให้อิสระกับใจตนเอง


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 12:48:58 AM
เรื่องความพรัดพราก

1. การรู้ว่าทุกอย่าง มีช่วงระยะเวลาของมัน
- จะทำให้เรายอมรับได้ง่ายขึ้นครับ

2. การที่เรารู้ว่า เขาไม่ใช่ของเรา ไม่ได้เกิดมาเพื่อเรา บังคับไม่ได้ เหนือการควบคุม
- จะทำให้เราปล่อยวางได้ครับ

3. การที่เรารู้ว่า การเอาใจเข้ายึดครองกอดไว้ซึ่งสิ่งที่ไม่เที่ยงด้วยหมายใจให้มันคงอยู่กับเราตลอดไปมันก็มีแต่ทุกข์ และ การที่เรารู้ว่า การเอาใจเข้ายึดครองสิ่งที่ไม่ใช่ของเรา เหนือการควบคุม ไม่ใช่ตัวตน ปารถนาให้มันเป็นดั่งใจเราต้องการ เราย่อมไม่ได้ตามใจปารถนานั้นๆจากมันเลยนอกเสียจากทุกข์
- จะทำให้เราตัดใจได้ครับ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 12:49:49 AM
อานันทสูตรที่ ๑

       ● ว่าด้วยปัญหาของพระอานนท์
(#สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว #ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ #สติปัฏฐาน ๔ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว #ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ #โพชฌงค์ ๗ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว #ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์.)

 [๑๓๘๐] พระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ #ธรรมอย่างหนึ่งอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว #ย่อมยังธรรม ๔ ข้อ
#ให้บริบูรณ์ ธรรม ๔ ข้ออันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว #ย่อมยังธรรม ๗ #ข้อให้บริบูรณ์
ธรรม ๗ ข้อ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว #ย่อมยังธรรม ๒ #ข้อให้บริบูรณ์ มีอยู่หรือ
หนอ?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า #มีอยู่ อานนท์.

[๑๓๘๑] อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ธรรมอย่างหนึ่งอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังธรรม ๔ ข้อให้บริบูรณ์ ธรรม ๔ ข้อให้บริบูรณ์ ธรรม ๔ ข้อ ... ธรรม ๗ ข้อ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังธรรม ๒ ข้อให้บริบูรณ์เป็นไฉน ?
     พ. ดูกรอานนท์ ธรรมอย่างหนึ่ง คือ #สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว #ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ #สติปัฏฐาน ๔ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว #ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ #โพชฌงค์ ๗ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว #ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์.

 ● [๑๓๘๒] ดูกรอานนท์ ก็สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ ?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว
หรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า จักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก
ย่อมรู้ชัดว่า จักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า
ในสมัยใด ภิกษุเมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น
หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น
ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจเข้า
ในสมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเรากล่าวกายอันหนึ่ง ในบรรดากายทั้งหลาย ซึ่งได้แก่ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า      
เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ ในสมัยนั้น #ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ #พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้.

 [๑๓๘๓] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า
จักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติหายใจออก หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักเป็นผู้กำหนดรู้สุขหายใจออก ... หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขารหายใจออก ... หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจออก ... หายใจเข้า
ในสมัยนั้น #ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ข้อนั้น เพราะเหตุไร?

[๑๓๘๔] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า
จักเป็นผู้กำหนดรู้จิตหายใจออก ... หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้บันเทิงหายใจออก ... หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักตั้งจิตมั่นหายใจออก ... หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจออก  ...
หายใจเข้า
ในสมัยนั้น #ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติพึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเราไม่กล่าวซึ่งการเจริญ
สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ สำหรับผู้มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้นแหละ
อานนท์ ในสมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติพึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้.

 [๑๓๘๕] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด
ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า #จักพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออก ... หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาเห็นโดยความคลาย
กำหนัดหายใจออก ... หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาเห็นโดยความดับหายใจออก  ...หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก ... หายใจเข้า
ในสมัยนั้น #ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัด
อภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ เธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสนั้นด้วยปัญญา จึงวางเฉย
เสียได้เป็นอย่างดี

เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ ในสมัยนั้น #ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้.

 [๑๓๘๖] ดูกรอานนท์ สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ #ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์.

 ●● [๑๓๘๗] ดูกรอานนท์ ก็สติปัฏฐาน ๔ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร #ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์?  
     ในสมัยใด ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่
ในสมัยนั้น #สติของเธอย่อมตั้งมั่น ไม่หลงลืม ในสมัยใด สติของภิกษุตั้งมั่น ไม่หลงลืมในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ ในสมัยนั้น #สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ ในสมัยนั้น เธอมีสติอยู่อย่างนั้นย่อมค้นคว้าพิจารณาสอดส่องธรรมนั้นด้วยปัญญา.

[๑๓๘๘] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด ภิกษุมีสติอยู่อย่างนั้น #ย่อมค้นคว้าพิจารณาสอดส่องธรรมนั้นด้วยปัญญา ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ในสมัยนั้น #ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ เมื่อเธอค้นคว้าพิจารณาสอดส่องธรรมนั้นด้วยปัญญา เป็นอันชื่อว่า ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน

 [๑๓๘๙] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด #เมื่อภิกษุค้นคว้าพิจารณาสอดส่องธรรมนั้นด้วยปัญญา เป็นอันชื่อว่า ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ในสมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ #วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ ปีติอันหาอามิสมิได้ ย่อมเกิดแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียร.

 [๑๓๙๐] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด #ปีติอันหาอามิสมิได้ ย่อมเกิดแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียร ในส้มยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ #ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ แม้กายของภิกษุผู้มีใจเอิบอิ่มด้วยปีติก็ย่อมสงบ แม้จิตก็ย่อมสงบ.

 [๑๓๙๑] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด #แม้กายของภิกษุผู้มีใจเอิบอิ่มด้วยปีติก็ย่อมสงบ แม้จิตก็ย่อมสงบ ในสมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ #ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ จิตของภิกษุผู้มีกายสงบ มีความสุข ย่อมตั้งมั่น.

 [๑๓๙๒] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด #จิตของภิกษุผู้มีกายสงบ มีความสุข ย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว #ภิกษุย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ เธอย่อมเพ่งดูจิตซึ่งตั้งมั่นอย่างนั้นอยู่ด้วยดี.

 [๑๓๙๓] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด #ภิกษุย่อมเพ่งดูจิตซึ่งตั้งมั่นอย่างนั้นอยู่ด้วยดี ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว #ภิกษุย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ.

 [๑๓๙๔] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา ... เห็นจิตในจิต ... เห็นธรรมในธรรม ในสมัยนั้น สติของเธอย่อมตั้งมั่น ไม่หลงลืม.

 [๑๓๙๕] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด สติของภิกษุย่อมตั้งมั่น ไม่หลงลืม ในสมัยนั้น #สติสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สติสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ (พึงขยายเนื้อความให้พิสดารเหมือนสติปัฏฐานข้อต้น)
เธอย่อมเพ่งดูจิตซึ่งตั้งมั่นอย่างนั้นอยู่ด้วยดี.

 [๑๓๙๖] ดูกรอานนท์  #ในสมัยใด ภิกษุย่อมเพ่งดูจิตซึ่งตั้งมั่นอย่างนั้นอยู่ด้วยดี #ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ.

 [๑๓๙๗] ดูกรอานนท์ สติปัฏฐาน ๔ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์.

 [๑๓๙๘] ดูกรอานนท์ #ก็โพชฌงค์ ๗ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร #ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์ ?

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์  ...
วิริยสัมโพชฌงค์ ... ปีติสัมโพชฌงค์ ... ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ... อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ดูกรอานนท์ โพชฌงค์ ๗ อันภิกษุเจริญ
แล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์.
            จบ สูตรที่ ๓
          
 
พระไตรปิฎกไทย (ฉบับหลวง)
เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๓๓๕-๓๓๙
 ข้อที่ ๑๓๘๐-๑๓๙๘


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 12:50:32 AM
การอบรมจิต เมื่ออยู่กับคนชอบเอาเปรียบ เห็นแก่ตัว หน้าไหว้หลังหลอก

   คนเอาเปรียบเห็นแก่ตัวในโลกนี้มีทุกที่ จะไปที่ไหนก็ต้องพบเจออย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการที่เราจะอยู่ร่วมกับเขาได้จึงสำคัญ เพราะหากแม้หนีจากที่นี่ได้ ที่อื่นก็มี อยู่ที่จะมีมากหรือน้อยเท่านั้นเอง แต่ไม่มีสักที่ที่จะไม่มีเลย วิธีใช้ชีวิตร่วมกับเขา คือ

1. อย่าเอาความสุขสำเร็จของตนไปผูกขึ้นไว้กับผู้อื่น
..สุขทุกข์มันอยู่ที่ใจของเรา มันเกิดขึ้นที่ใจ ตั้งอยู่ก็ตั้งที่ใจของเรา มันดับก็ดับที่ใจของเรา ไม่ได้เกิดจากผู้อื่นภายนอก
..ที่ปุถุชนทั่วไปเห็นว่าสุขทุกข์นั้นเกิดมาจากบุคคลนั้น บุคคลนี้ทำให้เป็น แต่แท้จริงแล้วเราแค่ยึดเอาเขามาเป็นตัวแปรความคิดของเราให้เกิดสุขหรือทุกข์เท่านั้น นี่จะเห็นได้ว่าใจเราทำและใจเราเสพย์เองทั้งนั้น
..เมื่อรู้แล้วว่าสุขทุกข์อยู่ใจเราคิดเราทำ เกิดที่ใจ ดับที่ใจ เราก็ไม่จำเป็นต้องเอาความสุขของตนไปผูกขึ้นไว้กับใครอีกต่อไป ไม่ค้องไปคาดหวังการตอบสนองกลับจากใครให้เป็นไปดั่งที่ใจเราชอบเราต้องการ ไม่ต้องไปคาดหวังการตอบสนองความต้องการในใจเราจากใคร เพราะมันหาประโยชน์สุขแท้จริงใดๆไม่ได้เลย นอกเสียจากทุกข์ และทุกข์เท่านั้น ..เมื่อเราไม่เอาใจไปผูกไว้กับใครคนนั้น คนนี้ ไม่คาดหวังการตอบสนองกลับจากใครว่าเขาทำแบบไหนจึงจะเป็นสุขของเรา เขาแบบไหนเป็นทุกข์เรา เราก็ไม่ทุกข์เพราะเขาอีก
..ดังนี้แล้วเราจึงไม่ควรใส่ใจให้ความสำคัญกับใครมากเกินความจำเป็น ไม่ควรเอาเขามาเป็นสุข หรือทุกข์ของเรา และหากเขาเป็นตัวทุกข์ของเรา เราก็ยิ่งไม่ควรเอาเขามาผูกตั้งไว้กับใจของเราให้เราเป็นทุกข์อีก

2. สุขและทุกข์เป็นของร้อน
..เมื่อเห็นว่าการยึดทั้งสุขและทุกข์มันทำให้ใจเร่าร้อน ดั่งไฟสุมใจแผดเผากายใจตนให้มอดไหม้ ก็ให้รู้ว่า สุข และทุกข์นั้นเป็นแค่เพียง.. ความรู้สึกอันเกิดแต่อารมณ์สัมผัส(คือ ธัมมารมณ์ สิ่งที่ใจรับรู้ทั้งปวง), เป็นความรู้สึกเสวยอารมณ์อันเกิดแต่สัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จะเข้าไปยึดเอาว่า..ขอสุขนี้จงเกิดขึ้นกับเราตลอดไปก็ไม่ได้ จะบังคับความรู้สึกสุขให้อยู่กับเราตลอดไปก็ไม่ได้ ย่อมไม่มีอำนาจใดๆไปบังคับมันได้ เพราะมันเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยปรุงแต่งจิตให้ใจเสวยอารมณ์ ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตนของเรา สุขไม่ใช่เรา เราไม่ใช่สุข สุขไม่มีเราในนั้น ไม่มีเราในสุข เป็นเพียงความรู้สึกเสวยอารมณ์อันเกิดแต่สัมผัสเท่านั้นไม่มีอื่นอีก มีความแปรปรวนตลอดเวลา ไม่คงทนอยู่ได้นาน แล้วก็เสื่อม บังคับไม่ได้ ไม่มีอำนาจใดจะไปบังคับมันให้เป็นดั่งใจได้ ็ถ้าสุขทุกข์นั้นเป็นเรส เป็นของเราแล้ว เราก็ย่อมบังคับมันให้เป็นไปดั่งใจได้ แต่ก็หาทำได้ไม่ เพราะสุขและทุกข์ไม่ใช่เรา ไม่มีไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรม  ความเข้าไปยึดถือเอาสุขและทุกข์ อุปาทานยึดเอาตัวตนในสุขและทุกข์ ย่อมเป็นไฟเผากายใจเราให้หมองไหม้ ดังนั้นสุขก็ดี ทุกข์ก็ก็ดี สักแต่มีไว้แค่เพียงให้ระลึกรู้ ไม่ได้มีไว้ให้ยึด เพราะเป็นของร้อน

3. อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน
..ให้มองเขาว่าไม่ข้องเกี่ยวกับงานเรา งานนั้นมีเรารับผิดชอบเต็มๆคนเดียว เป็นหน้าที่ของเรา เขาไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับหน้าที่ของเรา
..อุปมาเหมือนเวลาเราทำงานร่วมกับใคร แล้วสลับกันพักเที่ยง หรือมีกิจธุระได้รับมอบหมสยงานอื่นให้ทำอยู่ เหลือเราทำงานนั้นๆอยู่คนเดียว เมื่อเราทำงานคนเดียวโดยไม่มีเขามายุ่งเกี่ยว เราก็ยังทำงานนั้นได้ ไม่ว่างานจะเยอะ หรือจะน้อย เราก็ต้องรับผิดชอบทำตามหน้าที่ให้แล้วเสร็จทันตามกำหนดเวลา หรือปริมาณจำนวนนั้นๆ
..ดังนี้จะเห็นว่า งานของเราไม่เกี่ยวกับเขาเลย งานจะมีมากหรือน้อย จะสำเร็จได้มันไม่เกี่ยวกับเขาเลย มันอยู่ที่เราทำทั้งนั้น อย่างนี้เราจะเริ่มละตัวตนของเขาออกไปได้แล้ว เริ่มเห็นเขาไม่มีบทบาทในชีวิตเราแล้ว ไม่มีความคาดหวังการตอบสนองกลับความต้องการในใจของเรา ไม่ใส่ใจให้ความสำคัญกับเขา
..จนที่สุด เขาก็แค่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง กองธาตุ ๖ หรือขันธ์ ๕ กลุ่มกองหนึ่งที่มีรายล้อมเราเท่านั้น ไม่ใช่ตัวตน แค่ของว่างเปล่า แม้เรามองเห็นได้ สัมผัสได้ พูดคุยด้วยได้ แต่ไม่มีบทบาทอะไรกับชีวิตเราอีกเลย แค่ของว่าง แค่อนัตตา

เคล็ดลับประครองใจใน 3 ข้อข้างต้น

- วิบากกรรม+ทานบารมี
(หากทานเรามีมากจะมีคนช่วนเหลือเราเอง แต่ที่ไม่มีคนช่วยเหลือ เพราะชาติก่อนไม่เคยวละให้ หรือช่วยเหลือใครไว้เลย หรือเราอาจเคยเอาเปรียบเขามาในกาลก่อน ดังนั้นเราก็ยกให้เขาเป็นทานไป เพื่อสะสมบารมีทานของเราเอง ละเว้นความผูกแค้นคิดเบียดเบียนเขาจนเบียดเบียนใจตนเองให้เป็นทุกข์หมองไหม้สละให้เขาไปเป็นอภัยทาน)
- ให้เจริญเมตตาตนเอง+อานาปานสติ+จาคะ
- ให้เจริญเมตตาแก่ผู้อื่น โดยเอาผลจากการเมตตาตนเองนั้นแผ่ไป

อาฬวกยักษ์ ผู้กระด้างปราศจากความอดทน ดุร้าย สู้รบกับพระพุทธเจ้าอย่างทรหดยิ่งกว่ามาร ตลอดราตรี พระจอมมุนีทรงเอาชนะได้ด้วยขันติวิธีที่ทรงฝึกมาดีแล้ว ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้นขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 12:55:09 AM
"พุทโธ เป็นอย่างไร"

" .. หลวงปู่ได้เมตตาตอบว่า "เวลาภาวนาอย่าส่งจิตออกนอก" ความรู้อะไรทั้งหลายทั้งปวงอย่าไปยึด "ความรู้ที่เราเรียนกับตำหรับตำรา หรือจากครูบาอาจารย์ อย่าเอามายุ่งเลย" ให้ตัดอารมณ์ออกให้หมด

แล้วก็เวลาภาวนาไปให้มันรู้ "รู้จากจิตของเรานั่นแหละ จิตของเราสงบเราจะรู้เอง" ต้องภาวนาให้มาก ๆ เข้า "เวลามันจะเป็น จะเป็นของมันเอง" ความรู้อะไร ๆ ให้มันออกจากจิตของเรา

"ความรู้ที่ออกจากจิตที่สงบนั่นแหละ เป็นความรู้ที่ลึกซึ้งถึงที่สุด" ให้มันรู้ออกจากจิตเองนั่นแหละมันดี คือจิตมันสงบ ทำจิตให้เกิดอารมณ์อันเดียว "อย่าส่งจิตออกนอก ให้จิตอยู่ในจิต" แล้วให้จิตภาวนาเอาเอง

"ให้จิตเป็นผู้บริกรรมพุทโธ พุทโธอยู่นั่นแหละ" แล้วพุทโธนั่นแหละจะผุดขึ้นในจิตของเรา "เราจะได้รู้จักว่า พุทโธ นั้นเป็นอย่างไร" แล้วรู้เอง .. เท่านั้นแหละ ไม่มีอะไรมากมาย .. "

หลวงปู่ดุลย์ อตุโล


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 12:56:10 AM
การรนำพระอริยะสัจ ๔ มาใช้ในทางโลก # ๑
ความเป็นพระอริยสัจ ๔ คือ

(.)*ทุกข์ คือ มีใจครอง*(.)

(.)*สมุทัย คือ ไม่รู้*(.)

(.)*นิโรธ คือ ไม่มีใจครอง*(.)

(.)*มรรค คือ ทำความรู้แจ้งเห็นจริง*(.)


การนำพระอริยะสัจ ๔ มาใช้ในทางโลก # ๒
อริยะสัจ ๔ ที่นำมาให้ได้ใช้สะสมเหตุในทางโลก

1. ทุกข์ คือ การประพฤติปฏิบัติตัวของเราที่ก่อเกิดปัญหาชีวิต

2. สมุทัย คือ Adtitude ทัศนคติ มุมมอง ความเชื่อ, Mindset แนวทางความคิด อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของเราที่มีต่อสิ่งต่างๆ ส่งผลให้เกิดการกระทำต่างๆ

3. นิโรธ คือ ความสุขสำเร็จหมดสิ้นปัญหาของเรา

4. มรรค คือ Mindset การจัดการทางความคิด และการกระทำ, ปรับเปลี่ยน Adtitude ทัศนคติ มุมมอง ความเชื่อ เพื่อความขจัดสิ้นปัญหา


การนำพระอริยะสัจ ๔ มาใช้ในทางโลก # ๓
อริยะสัจ ๔ ใช้แก้ปัญหาชีวิต

- ทุกข์ หรือปัญหาชิวิตของเราเป็นแบบไหน
- เหตุแห่งทุกข์ หรือต้นเหตุปัญหาของเราคืออะไร
- ความดับทุกข์ หรือหมดสิ้นปัญหาของเราเป็นแบบไหน
- ทางดับทุกข์ หรือทางแก้ปัญหาของเราคืออะไร

๑. ทำความเข้าใจในทุกข์ หรือปัญหาชีวิต เพื่อรู้ตัวทุกข์ หรือปัญหานั้น และเหตุสืบต่อของมัน
๒. ละที่เหตุแห่งทุกข์ หรือต้นเหตุของปัญหา
๓. ทำความสิ้นไปแห่งทุกข์ หรือความหมดสิ้นปัญหาให้แจ้ง เพื่อรู้ว่าความสิ้นทุกข์ หรือปัญหามีได้เพราะอะไร ทำสิ่งใด ละสิ่งใด
๔. ทำในทางดับทุกข์ หรือทางแก้ไขปัญหาให้มาก


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 12:59:11 AM
โพชฌงค์แก้โรคซึมเศร้า

แก้หดหู่ ซึมเศร้า ห่อเหี่ยว เป็นอาการที่ใจถูกบีบอัดให้ทนอยู่ไม่ได้ ไม่มีที่ให้ตั้งขึ้น ไม่มีเครื่องยึด ความไหว ความไม่ได้ ความไม่มี หดหู ดิ่งลง ทนอยู่ไม่ได้ ลงเป็นอาการซึมเศร้าภาวะทางจิต

ทางแก้ให้เดินโพชฌงค์ตามกาล โดยธรรมฆ่า ถีนะ มิทธะ คือ
1. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
2. วิริยสัมโพชฌงค์
3. ปีติสัมโพชฌงค์

ธัมมะวิจะยะ คือ การทำความรู้สภาวะธรรมที่เกิดขึ้น เห็นชัดในธรรมชาติ ถึงสิ่งที่ไม่ใช่เรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ของเรา บังคับไม่ได้ ไม่มีอำนาจจะไปบังคับให้เป็นไปดั่งใจได้ ไม่ใช่ตัวตน มีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา ไม่คงอยู่ยั่งยืนนาน นานสุดแค่หมดลมหายใจเรานี้เท่านั้น
..การเอาใจยึดครอง เอาใจไปผูกขึ้นไว้กับสิ่งทั้งปวงในโลก คาดหวัง ใคร่ปารถนาเกินความจำเป็นล้วนแล้วแต่หาประโยชน์สุขใดๆไม่ได้นอกจากทุกข์ เพราะทุกอย่างมีความแปรปรวนเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่เป็นไปในบังคับบัญชาของใคร
..ทำเหตุให้ดี เหตุดีมีมาก สิ่งดีย่อมแสดงผล ..แต่หากเหตุดีมีน้อย เหตุไม่ดีมีมาก สิ่งไม่ดีย่อมแสดงผล มันเป็นธรรมดาตามเหตุปัจจัย ตามผลของการกระทำ คือ กรรม เราเป็นทายาทกรรม
..เลือกเฟ้นธรรมอันเหมาะสมแก่กาลนั้นให้จิตตั้งขึ้นด้วยสติ เห็นถึงความเป้นปกติตามธรรมชาติ ไม่มีใครฝืนธรรมชาติได้ ไม่ว่า เทวดา มาร พรหม ยม ยักษ์ทั้งปวง

ดังนี้แล้ว เมื่อเกิดผิดหวัง ท้อแท้ หดหู่ เสียใจ ซึมเศร้า ให้หน่วงนึกในใจว่า มันเป็นเรื่องธรรมชาติ อยู่เหนือการควบคุมของเรา เราไม่มีอำนาจอันใดไปบังคับควบคุมมันให้เป็นดั่งใจได้ สิ่งที่เหนือการควบคุมของเรา มันไม่ใช่ความผิดของเรา เราทำเต็มที่แล้ว ดีที่สุดแล้ว ทุกอย่างย่อมกลับคืนสู่ธรรมชาติ คือ อยู่ในรูปของความไม่ใช่ตัวตน แปรปรวน ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืนอยู่ได้นาน เอาใจเข้ายึดครอง เอาใจไปผูกขึ้นไว้ ตั้งความปารถนากับมันก็มีแต่ทุกข์ ไม่เอาความสุขสำเร็จของตนไปผูกขึ้นไว้กับสิ่งนั้นๆย่อมไม่ทุกข์

วิริยะ ความเพียร เมื่อรู้ความเป็นธรรมชาติของสิ่งทั้งปวงด้วยธัมมวิจยะนั้นแล้ว ย่อมรู้ว่าสิ่งนั้นไม่ควรเสพย์ ไม่ควรเอามาเป็นเครื่องยึด ไม่ควรเอามาตั้งไว้ในใจ เมื่อรู้แล้วก็สักแต่ว่ารู้ รู้ว่าไม่ใช่สิ่งควรเสพย์แล้วปล่อยมันไป ความหดหู่ ซึมเศร้า ห่อเหี่ยว เป็นอาการที่ใจถูกบีบอัดให้ทนอยู่ไม่ได้เป็นทุกข์ แล้วตั้งหน้าไปที่จะไม่จับเอาความขุ่นใจนั้นมาเสพย์ น้อมใจไปในสิ่งดีงามให้เกิดขึ้น สิ่งที่นึกถึงเมื่อไๆหร่แล้วมีความอิ่มใจ ซาบซ่าน ผ่องใส กระปี้กระเป่า


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 12:59:50 AM
มีสติพร้อม
จะทำสิ่งใดก็ตาม เราต้องมีสติพร้อม คือ อย่าให้มีโทสะ อย่าให้อารมณ์เข้ามาควบคุมสติ อย่าให้เรื่องส่วนตัวและขาดเหตุผลมาอยู่เหนือความจริง


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 01:00:15 AM
ทำด้วยใจสงบ
เราจะทำบุญก็ดี เราจะทำอะไรก็ดี จงทำด้วยความสงบ อย่าทำด้วยอารมณ์แห่งความร้อน
เพราะการทำด้วยอารมณ์ร้อนนั้น มันจะพาเราไปสู่หายนะ เมื่อเกิดอารมณ์ร้อน
เราจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จงอย่าทำ นั่งให้จิตใจมันสบายเสียก่อน เมื่อจิตใจสบายแล้ว ปัญญาก็เกิด เมื่อเกิดปัญญาแล้ว จะทำสิ่งใดก็เป็นไปโดยความสะดวก


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 01:00:33 AM
บริจาค
ทำบุญสังฆทานเป็นจาคะ จาคะเป็นการบริจาคโภคทรัพย์ภายนอ ก
การสวดมนต์เป็นการภาวนา การภาวนาเป็นการบริจาคภายใน
เพราะฉะนั้น ถ้านับในด้านทิพย์อำนาจ 
การบริจาคภายในย่อมได้กุศล มากว่า การบริจาคภายนอก นี่คือเรื่องของนามธรรม


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 01:00:50 AM
หยุดพิจารณา
คนเรานี้ ถ้าไม่มีอะไรทำอยู่ในที่วิเวกคนเดียว จิตมันจะฟุ้งซ่าน
และถ้าภาวะนั้นตนไม่ปล่อยให้จิตฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ คือ หยุดพิจารณา
แล้วค้นสัจจะของ ศีล สมาธิ ปัญญา  ย่อมที่จะค้นหาสัจจะในธรรมะได้


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 01:01:10 AM
โลกิยะหรือโลกุตระ
คนที่เดินทางโลกุตระ ย่อมไปดีทางโลกิยะไม่ได้
คนที่เดินทางโลกิยะย่อมสำเร็จทางโลกุตระได้ยาก เพราะอะไร ?
ถ้าคนหนึ่งสำเร็จได้ทั้งโลกิยะ และโลกุตระง่ายแล้ว
ทำไม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธโคดม ต้องสละราชบัลลังก์แห่งจักรพรรดิไปเป็นธรรมราชาเล่า ถ้าเป็นไปได้ พระองค์เป็นมหาจักรพรรดิพร้อมทั้งธรรมราชา ไม่ดีหรือ? แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะโลกของโลกิยะและโลกุตระเดินคู่ขนานกัน  เราต้องตัดสินใจ ต้องมีความเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญในการที่จะเลือกทางใดทางหนึ่ง


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 01:03:07 AM
1. สมมติกิเลส  มันเป็นสมมติอารมณ์ที่ให้ค่าอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ให้ความหมายว่าอาการแบบนี้ๆเรียกว่า รัก โลภ โกรธ หลง แต่เป็นการให้ค่าความสำคัญมั่นหมายของใจต่อความรู้สึกจนทนอยู่ได้ยาก
- ถ้าในส่วนที่พระอริยะท่านสอนคือ มันคือสมมติธัมมารมณ์ที่ใจรู้ ที่เกิดขึ้นรายล้อมจิตทั่วไป ซึ่งวางไว้ล่อใจให้หลงตามทาง มโนทวาร ..มันแค่อาการหนึ่งๆของจิตที่มีอยู่นับล้านๆแบบทั้วไป ไม่มีอะไรเกินนี้

2. สมมติความคิด คือ ปรุงแต่งสืบต่อจากที่รู้อยู่ในปัจจุบัน เป็นการสืบต่อเรื่องราวไปตามอารมณ์ต่างๆ ส่งจิตออกนอก
- หรือ การหวนระลึก คำนึงถึง สิ่งที่ผ่านมาแล้ว หรือเรื่องที่ยังไม่เปิดขึ้น แล้วปรุงแต่งเรื่องราวสืบต่อตามความรัก ชัง กลัว หลง จนทำให้เหมือนเรื่องนั้นกำลังเกิดขึึ้นอยู่ต่อหน้าในปัจจุบันนั้นๆ ทั้งๆที่ผ่านมาแล้ว หรือยังไม่เคยเกิดขึุ้นเลย


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 01:05:26 AM
บันทึกกรรมฐาน 28 ต.ค. 64 คลองธรรมมุทิตาจิต

๑. หมั่นทำปัตตานุโมทนามัย คือ อนุโมทนา สาธุ ไปกับเขา

๒. เอาใจเราน้อมไปรับรู้ความสุขสำเร็จจากเขา เวลาที่ใครมีสุข ไม่ว่าบุคคลอันเป็นที่รัก ญาติ มิตร หรือศัตรู
     ๒.๑. ให้เราน้อมใจเราไปจับเอาความรู้สึกของเขา ดูว่า ..ความสุขนั้นมันเป็นแบบไหนนะ มันมีความรู้สึกเป็นอย่างไร มั เย็นใจ นอิ่มเอม มันซาบซ่าน แช่มชื่น ฟูฟ่อง รื่มรมย์จิตใจยังไง
     ๒.๒. เมื่อเราจับรู้ความรู้สึกสุขจากเขาได้ ให้เอาความรู้สึกนั้นมาน้อมใส่กายใจ เราจะรู้ว่าความสุขสำเร็จของเขานั้นทำให้เราเป็นสุขได้ด้วย
     ๒.๓. จะเห็นว่า..ที่เรามีความสุขไปกับเขาด้วย เพราะตอนนั้น..ใจเราจับที่ความสุขสำเร็จของผู้อื่น ปลื้มใจยืนดีไปกับความสุขสำเร็จที่เขามี ใจเราปราศจากความติดข้องสงสัย ไม่มีความขุ่นใจ ขัดเคืองใจ ในสุขนั้นที่เขามี เพราะเราเอาใจรับรู้ถึงความเติมเต็มบริบูรณ์ไม่พร่องไม่ขาดนั้น ข้อนี้ทำให้เห็นว่า แค่เราเป็นสุขไปความสุขสำเร็จของเขา ไม่ว่าจะเป็นใคร เราก็มีความสุขเต็มอิ่มเกิดขึ้นกับใจแล้ว ไม่มีความขาด ไม่มีความด้อย ไม่มีความยินดีกับสิ่งทั้งปวง แม้ขณะนั้นตนเองไม่ได้มีอะไรเลยก็ตาม

๓. เมื่อพิจารณาคลองธรรมแล้ว ..เราจะเห็นว่า สุขทุกข์ มันเกิดขึ้นที่กายใจเรานี้เอง ไม่ได้ไปเกิดกับที่อื่น หรือสิ่งอื่นใดเลย ดังนี้แล้ว..เราริษยาเขาเกิดขึ้นได้ด้วยเพราะเรารู้สึกขาด เรารู้สึกด้อย เรารู้สึกไม่มี ไม่เราพอใจสิ่งที่ตนเองมี ที่ตนเองได้รับ เราละโมบอยากได้ไม่พอใจสิ่งที่ตนมี แล้วคิดว่าสิ่งนั้นที่เขาได้ควรเป็นของตน ตนควรได้รับ ริษยา อยากเป็นอย่างเขา อยากเหนือกว่าเขา ..ทั้งที่ตนไม่ขาด ไม่พร่อง แต่ทำให้ตนขาดพร่อง เพราะไม่รู้ค่าในตนเอง ไม่เห็นคุณค่าสิ่งที่มี ของแม้เล็กน้อยประการใดแม้ได้มาก็ถือว่าได้ ของใดไม่ได้มานั้นเพราะยังไม่ถึงเวลาของเรา ลาภสักการอย่างนั้นไม่ได้มีมาเพื่อเรา เพราะเรายังพร่องอยู่ หรือเราอยังใส่ใจไม่เพียงพอ ทำไม่เพียง หรือทำไม่ถูกจุด ยังจับหลักไม่ได้ หรือเพราะความเพียรพยายามของเรายังไม่เต็มที่ หรือเพราะสติยังตั้งมั่นไม่พอ หรือเพราะใจเรายังไม่มีกำลังจดจ่ออันควรแก่งาน หรือเพราะการทำความรู้ความเข้าใจของเรายังไม่เพียงพอชัดแจ้ง ทำให้ยังไม่ถึงเวลาแห่งความสำเร็จของเรา ..เพราะเราไม่เข้าใจในจุดนี้ตรงนี้.. เราจึงริษยาเขาเพียงเพราะสำคัญมั่นหมายไว้ในใจว่า.. เราจะต้องได้เท่านั้น ต้องได้เท่าคนนั้น เราจะต้องได้เท่าคนนี้ เราจะต้องได้มากกว่าคนโน้น เราจะต้องได้ดีกว่า หรือเสมอกัน ข้อนี้บ่งบอกถึงความที่เราบกพร้อง ขาด ด้อย มีปมด้อย เพราะเราสร้างมันขึ้นมาแก่กายใจตนเองทั้งสิ้น

---------------------------------------------------

มุทิตากรรมฐาน

๑. เมื่อรู้ว่าสุขทุกข์เกิดขึ้นที่ใจ ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะใจเราน้อมไปส่งออกไปหากิเลสที่รายล้อมเกาะกุมใจทั้งสิ้น จิตที่เกิดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดไรๆ ไม่ว่าจะเป็นรัก โลภ โกรธ หลง ชอบ ชัง เฉย ล้วนแล้วแต่เป็นธัมมารมณ์ที่เกิดขึ้นให้ใจรู้เสพย์ทั้งสิ้น หากไม่ส่งจิตไปหมายรู้หมายเสพย์ซึ่งธัมมารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจเรา ใจเราก็จะมีกำลัง ก็จะไม่ทุกข์ ที่ใจอ่อนแรง อ่อนแอ อ่อนไหวง่าย เป็นทุกข์ ..ก็เพราะน้อมใจไปหาอารมณ์ทั้งสิ้น

๒. เมื่อรู้ดังนี้แล้ว..ให้เอาจิตจับที่จิต จิตส่งเข้าใน ทวนกระแสเข้าไปในใจ รวมไว้ที่ฐานจิต ไม่ทำเจตนาต่ออารมณ์ ทำความรู้อยู่ที่ใจตน เป็นการคงทุกอย่างไว้ในภายใน ไม่สัดส่ายสูญเสียออกไปที่ไหน

๓. ไม่ว่าอะไรจะเกิดรู้ ก็ทำสักแต่ว่ารู้ไม่เข้าหา ไม่น้อมใจไป รู้ปักหลักปักตอตรึงอยุ่ที่ใจที่ตัวผู้รู้ จนกายเป็นเพียงผู้แล ไม่ส่ง ไม่ซ่าน ไม่ทำ

หมายเหตุ
๑. สติตั้งมั่นเป็นอารมณ์เดียวโดยมีความรู้อยู่เป็นอามณ์
๒. เป็นการสร้างกำลังให้จิต
๓. จิตทำสักแต่ว่ารู้ โดยไม่ส่งออกนอกได้
๔. เป็นเหตุฝึกทำอุเบกขาสัมโพชฌงค์


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 01:06:48 AM
บันทึกกรรมฐาน 28 ต.ค. 64 การสาธุ เป็นการอนุโมทนา เป็นมุทิตา

สมัยใดเมื่อเราสาธุการ มีใจอนุโมทนาต่อใครแล้ว เรามีใจเบิกบาน เบา เย็นใจ อิ่มใจ ปราศจากความเคลือบแคลงใจ ริษยา สมัยนั้นชื่อว่า เราถึง มุทิตาจิต

การสาธุการ หรือ อนุโมทนาจิตนี้..เป็นข้อเบื้องต้นง่ายๆให้เราเข้าใจอาการของจิตที่เป็นมุทิตา

*** ยกตัวอย่างเช่น ***

 ..หากใครสักคนที่เราชอบใจ เอ็นดู ให้ความสำคัญ ทำในสิ่งที่ดีงามให้เราปราบปลื้มใจ ยินดี หรือ มีใครโพสท์ธรรมใดที่เราเจริญใจ เราทำการสาธุการ คือ มีใจอนุโมทนาเขาด้วยความเต็มใจ บริสุทธิ์ใจ

 ..กล่าวคือ.. มีใจปราศจากความริษยา เคลือบแคลงใจ ไม่มีอรดี ไม่ริษยา ไม่พอใจยินดี, ไม่มี ปฏิฆะ เกลียดชัง ต่อเขา
 ..ด้วยเรามีใจเห็นว่า ..สิ่งนี้ดี มีประโยชน์ดีงามต่อเขาและเรา หรือผู้อื่นก็ตาม สิ่งนี้ยังให้เกิดประโยชน์สุขสำเร็จดีงามอันควรที่เขาจะได้รับ นั่นคือใจเราถึงมุทิตาจิตแล้ว

***************************

การให้ทาน กับการอนุโมทนาสาธุ ในโลกเรานี้เหมือนกันอยู่ด้วยประการดังนี้คือ

1. ให้ทานเพื่อผ่านๆ หรือ กล่าวอนุโมทนาสาธุแบบผ่านๆ

2. ให้ทานด้วยหวังผล หรือ อนุโมทนาสาธุเพื่อหวังผล

3. มีใจเป็นทานจิตพร้อมด้วยกรุณา หรือ มีใจเป็นอนุโมทนาจิตพร้อมด้วยมุทิตาจิต

4. มีทานจิตสละคืนโลภะ หรือ มีอนุโมทนาจิตสละคืนโทสะ ริษยา ความไม่พอใจยินดี อรดี

***************************


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 01:08:24 AM
ถ้าเราเป็นผู้รู้สมมุติอันนี้

เมื่อมันจับไข้...ก็หาหยูกยาให้มันกิน
เมื่อมันร้อน...ก็อาบน้ำให้มัน
เมื่อมันเย็น...ก็หาความอบอุ่นให้มัน
เมื่อมันหิว...ก็หาข้าวให้มันกิน

แต่ให้เรารู้ว่าให้ข้าวมันกิน...มันก็จะตายอยู่
แต่ในเวลานี้ยังไม่ถึงคราวจะตาย
เหมือนถ้วยใบนี้...ยังไม่แตก
ก็รักษาถ้วยใบนี้...ให้มัน เกิดประโยชน์เสียก่อน

หลวงพ่อชา สุภทฺโท


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 01:14:02 AM
**  บันทึกกรรมฐาน 10/10/65
ความว่า สัพเพธัมมา อนัตตาติ  คือ ธรรมทั้งปวง ไม่ใช่ตัวตน
**

..แท้แล้ว ธรรมทั้งปวงที่ว่านี้ คือ ธัมมารมณ์ เป็นสิ่งที่ใจรู้ กว่าวคือ สิ่งที่ใจรู้ทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน เราไม่ต้องไปมองอื่นไกลว่าเป็นสิ่งภายนอกภายใน หรือไม่ต้แงไปแปลผิดว่า สัพเพธรรมมา อนัตตา คือ ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น อุปาทานธรรมใด แต่มันคือ ธัมมารมณ์สิ่งที่ใจรู้ทั้งปวง ใจรู้อะไร ใจมันรู้หมดทั้งภายนอกภายใจนี้แหละ ทุกสิ่งที่ใจรู้มันต่อต่อมาเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ใจรับรู้ทั้งหมด ไม่มีเว้น ดังนั้นมัวไปตัดไม่มองภายนอกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันจะเป็นการสร้างอุปาทานไตรลักษณ์ขึ้นในใจเราทั้งสิ้น ค้องมองย้อนมาดูในภายในกายใจตนนี้แหละ สิ่งที่ใจรู้ทั้งปวง รู้อะไรบ้างล่ะ
..รู้อ่อน รู้แข็ง งามประณีต สวย ทราม หยาบ ไม่สวย ล้วนรวมลงความรู้สึกที่ใจตอบสนองกลับทั้งสิ้น คือ เสวยสุขโสมนัส ทุกขโทมัน อขมสุขขมทุกขอุเบกขา ชอบ ชัง ตราตรึง ติดตาม ใคร่ได้ อยากให้คงอยู่ไม่เสื่อม ผลักไส ไม่อยากให้เกิดขึ้น ไม่อยากพบเจอ กระวนกระวาย หมกมุ่น ดิ้นรน แสวงหา มันเกิดขึ้นที่ใจทั้งหมด มันรู้ที่ใจ เกิดที่ใจทั้งหมด เมื่อมองเห็นธัมมารมณ์ ก็จะเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแท้ๆ แม้ในไตรลักษณ์ ก็ไม่ใช่ตัวตนให้ลูบคลำ ให้จิตรู้ จิตจำนงค์ มันแปรปรวนไปของมันตามเหตุปัจจัย แต่ไม่มีสิ่งใดที่จะไม่ดับไปในที่สุด หรือเราจะมีอำนาจบังคับให้มันแสดงความไม่มีตัวตนให้ประจักษ์ดั่งใจเราต้องการก็ไม่ได้ ไตรลักษณ์ ก็เป็นธัมมารมณ์ เมื่อรู้ดังนี้ จึงจะไม่ยึดสมมติเอาได้ แต่ไม่ใช่เห็นแค่นิดหน่อยจะลงใจได้ ต้องสะสมไปจนใจมันอิ่มเต็มในปัญญา

..ด้วยประการดังนี้.. จึงสมกับ หลวงตาสิริ และ หลวงพ่อเสถียร ที่กรุณาสอนข้าพเจ้าไว้ว่า อย่ายึดสิ่งที่จิตรู้ จิตรู้สิ่งใดล้วนเป็นสมมติทั้งหมด ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ ก็ไม่ยึดสมมติทั้งหมด ลมหายใจนี้เป็นของจริง ไม่ใช่ของปรุงแต่ง ไม่ใช่เครื่องปรุงแต่งจิต เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีไว้เพื่อปรุงแต่งจิต ไม่ใช่ของสมมติ เป็นวาโยธาตุ ที่มีทั้งภายใน และภายนอก เป็นสิ่งที่กายต้องการ อย่าทิ้งลมหายใจ อย่าทิ้งพุทโธ

..นั่นเพราะอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทุกอย่างมันปรุงมาแล้วให้ใจรู้ แม้ในสภาวะธรรมจริง..แต่หากเข้าไปรู้โดยมีใจกำหนดหมายรู้ให้เป็นนั่นเป็นนี่-สืบต่อมีอย่างนั้นอย่างนี้-มีอาการรูปร่างแบบนี้แบบนั้น..มันก็เป็นสิ่งปรุงสืบต่อมาแล้วให้เห็น..เป็นสิ่งที่ปรุงแต่งสืบต่อ
..ดังนี้แล้ว..การเข้าไปรู้โดยความไม่ปรุง ไม่ทำ ไม่กำหนดหมาย ไม่ถือเอาโดยนิมิต จึงชื่อว่าของจริง ..สิ่งไม่ปรุง คือ ความไม่มี
..สมดั่งพระบรมศาสดาตรัสสอนว่า โลกเป็นของไม่มี จงเห็นโลกเป็นของว่าง จึงถึงจิตอันบริสุทธิ์แท้จริง
..สมดั่งพระศาสดาตรัสไว้ และพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรได้กล่าวกับพระอานนมหาเถระไว้ว่า ธรรมชาตินั้นสงบ ธรรมชาตินั้นสบาย ความว่าง ความไม่มี สุญญตา ความสละคืน จาคะ

ก. ด้วยประการฉะนี้ สัพเพ ธัมมา อนัตตา คือ ธัมมารมณ์ ทั้งปวง ดังนี้..

ข. จิตรู้สิ่งใด สิ่งนั้นเป็นสมมติทั้งหมด ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ ก็ไม่ยึดสมมติ อย่าทิ้งลมหายใจ ลมหายใจคือของจริง ไม่ใช่ของปรุงแต่ง ไม่ได้มีไว้เพื่อปรุงแต่งจิต เป็นวาโยธาตุ ลมหายใจ คือสิ่งที่กายต้องการ เป็นกายสังขาร ไม่มีลมหายใจก็ตาย อย่าทิ้งพุทโธ เพราะพุทโธ คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือกิริยาจิตที่เป็นมหาปัญญา เพราะพุทโธ คือกิริยาจิตที่รู้เห็นของจริงต่างหากจากสมมติ(รู้ปัจจุบัน รู้สมมติ รู้ของจริง), คือกิริยาจิตที่ตื่นจากสมมติ(มีใจออกจากสมมติกิเลสของปลอม ไม่เสพย์สมมติ), คือกิริยาจิตที่เบิกบานพ้นแล้วจากสมมติกิเลสของปลอม(แจ่มใส เบิกบาน เย็นใจ สงบ สบาย ไม่เร่าร้อน)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 01:17:21 AM
บันทึกกรรมฐาน 10/10/65

ก.) เหตุเพราะ..ไตรลักษณ์ เป็นปฏิฆะต่อ ตัณหา ๓ การรู้ไตรลักษณ์ จึงเป็นไปเพื่อละ ตัณหา แต่การอัตตาไตรลักษณ์ คือ ปุถุชน ส่วนพระอริยะสาวกนั้น คือ ความว่าง ความไม่มี ความสละคืน อัตตาไตรลักษณ์จึงมีเพีนงปุถุชนเท่านั้น

ข.) มรรค คือ ละกิเลสตัณหา จนเหลือเพียงแต่ปัญญาล้วนๆ โดยการเข้าถึงดังนี้..

๑. รู้เห็นตามจริงในทางกรรม ทุกๆการกระทำมีผลสืบต่อ ทำให้เข้าถึงสัทธาพละ

๒. ทำดี ละชั่ว เป็นธรรมที่ตั้งแห่งสัมมัปปธาน ๔ เพื่อประโยชน์ดังนี้..
- เพื่อตัดกำลังของกิเลสตัณหาในใจตน
- เป็นเหตุให้สัมปะชัญญะ คือ ความรู้ตัว รู้เท่าทันการกระทำทางกาย วาจา ใจ และ สติ คือ ความระลึกรู้ รู้เท่าทันความคิด มีสติสัมปชัญญะเกิดบ่อยขึ้นจนมีกำลังให้สติตั้งมั่นเป็นอารมณ์เดียวได้

๓. มีความรู้ตัวทั่วพร้อม มีสติตั้งมั่นจดจ่อกับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งอยู่ได้นาน ก็จะรู้เท่าทันธัมมารมณ์ คือ รู้เท่าทันจิต ทันกิเลสตัณหา แยกแยะได้ ยับยั้งได้ จำแนกได้ รู้ผลสืบต่อได้ชัด รู้ธัมมารมณ์ที่ควรเสพย์ รู้สิ่งที่ควรทำ เป็นสติพละ
- เป็นเหตุให้จิตมีกำลังเพราะตั้งอยู่ ไม่สัดส่ายอ่อนไหวตามสมมติธัมมารมณ์ที่กิเลสวางไว้ล่อจิตทางมโนทวาร
- เมื่อจิตไม่กระเพื่อม อ่อนไหว สัดส่ายออกนอกไหลตามกิเลสไปทั่ว จิตก็จะทำงานน้อยลง จิตก็จะเริ่มมีแรงกำลังอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องไปอิงอาศัยธัมมารมณ์เป็นเครื่องอยู่ นี้เป็นสมาธิพละ

๔. เข้าถึงสมาธิ
- ประการที่ ๑ เพื่อให้จิตตั้งมั่น มีกำลังไม่อ่อนไหวตามกิเลส ทำให้ความคิดลดลง ความปรุงแต่งน้อยลง กิเลสอ่อนกำลังลง เข้าไปเห็นสภาพธรรมตามจริง(สภาวะจิตเห็นจิต)โดยปราศจากจิตปรุงแต่งให้เป็นไป(สภาวะจิตหลอกจิต)มากขึ้น คือ ญาณทัสนะ สมดั่งพระบรมศาสดาตรัสว่า..สัมมาสมาธิ เป็นเหตุใกล้แห่งปัญญา
- ประการที่ ๒ เพื่อให้จิตจดจ่อตั้งมั่นเป็นอารมณ์เดียวอยู่ได้นาน เพื่อเห็นความเป็นจริงของสังขารเจ้าถึงสภาพวะธรรม หากสมาธิไม่พอเข้าได้แค่วูบวาบๆกำลัวจะตั้งมั่น หรือกำลังจะถึงสภาวะธรรมจิตก็หลุดออกมาแล้ว) จนจิตอ่อนควรแก่งาน(คือ กิเลสไม่มีกำลังให้จิตอ่อนไหวตาม) ถึงปัญญาแท้ เห็น ธัมมารมณ์ทั้งหลายเป็นอนัตตา ถึงความตัด

ค.) อนุมาน คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษ ได้ ๘ บุรุษ อย่างที่ปุถุชนพอจะสามารถลูบคลำได้ ดังนี้..

๑. จิตที่แล่นลงมรรค คือ ไม่กลับกลาย ไม่เสื่อมอีก

๒. พระโสดาบัน คือ รู้ว่าสิ่งทั้งปวงไม่เป็นไปเพื่อบังคับ ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจบังคับของเรา อยู่ได้นานสุดแค่หมดลมหายใจเรานี้เท่านั้น ล้วนแล้วแต่เป็นไปด้วยกรรม มีกรรรมให้ผล เป็นทายาทกรรม ความหมกมุ่นเป็นที่ตั้งแห่งไฟแผดเผาใจ

๓. พระสกิทาคา คือ มีใจน้อมไปเห็นโทษในกาม แม้ความตราตรึงใจก็เป็นทุกข์ มีจิตตรงต่อพระนิพพาน

๔. พระอนาคามี คือ ละเสียซึ่งความตราตรึงใจในสิ่งทั้งปวง เพราะล้วนแล้วแต่ไม่ใช่ตัวตน มีความแปรปรวนอยู่ทุกขณะเป็นธรรมดา แต่ด้วยจิตนี้ไม่ตาย ยังคงหมายรู้ ไม่อุปาทานขันธ์ภายนอก แต่อุปาทานจิต

๕. พระอรหันต์ คือ รู้แจ้งแทงตลอดถึงซึ่งสัพเพธัมมา อนัตตาติ คือธรรมทั้งปวง(ธัมมารมณ์ทั้งปวง)ที่ใจรู้ ไม่ใช่ตัวตน จิตไม่ทำอุปาทานขันธ์อีก แต่จะอุปาทานเฉพาะกิจ คือ เมื่อต้องใช้พูด คุย ฟัง สนทนา กระทำทางกาย ทำกิจของสงฆ์ ก็จึงทำมโนสัญเจตนาอุปาทานขันธ์ คือ ยึดเฉพาะขันธ์นั้นๆมาใช้ตามหน้าที่ของมัน เราจึงเห็นว่าพระอรหันต์ ยืน เดิน นั่ง นอน พูด คุย เหมือนคนปกติ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 10:55:13 PM
โรคไบโพล่า

..ไบโพล่าเป็นการเกิดขึ้นทับซ้อนกันของจิต คือ อารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ระหว่าง..จิตใต้สำนึกที่เก็บกด กับ จิตตัวรู้ที่ขาดสัมปะชัญญะและสติในปัจจุบัน

1. จิตใต้สำนึกที่เก็บกดของเรา คือ ความจดจำสำคัญมั่นมั่นหมายลึกๆในใจของเรา ที่มีต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดหรือสิ่งที่เรากำลังรับรู้สัมผัสอยู่นั้นๆ เกิดขึ้นกับสมมติอารมณ์ความรู้สึกที่ขัดใจ ชิงชัง โกรธ แค้น กลัว อึดอัด ระอา ผลักไสปะทุขึ้นในใจ อยากระบายออกมา

2. ใจที่รับรู้อารมณ์ของเรา เป็นจิตที่รับรู้ความรู้สึก นึก คิด และสภาพแวดล้อม แต่รู้โดยหลงตามสมมติอารมณ์ ความรู้สึก นึก คิด ที่เกิดมีขึ้นกับใจในขณะนั้นๆ กล่าวคือ

2.1) ขาด สติ คือ ความระลึกรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกในปัจจุบัน ยับยั้ง แยกแยะได้

2.2) ขาด สัมปะชัญญะ คือ ความรู้ตัวในปัจจุบันว่ากำลังทำอะไร รู้อากัปกิริยาอาการอิริยาบถที่ตนกำลังดำรงอยู่ในปัจจุบัน รู้กิจการงานสิ่งที่ตนกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน รู้ตัวว่าใจเรารู้ความรู้สึกใด

- สติและสัมปะชัญญะรวมกันเป็นความรู้ตัวทั่วพร้อมในปัจจุบัน ทำให้เลือกกระทำ แยกแยะ ยับยั้งสิ่งที่ควทำ ไม่ควรทำทาง กาย วาจา ใจ เราได้

..คนเป็นไบโพล่า คือ คนที่คิดฟุ้งซ่าน(คิดฟุ้งซ่าน คือ นึกถึงหลายๆเรื่องสลับไปมาในเสี้ยววินาที) จะทำให้เกิดภาวะการตรึกถึง นึกถึง หลายสิ่งหลายอย่างสลับไปมาในเฟสเส้นระนาบเวลาเดียวกัน คือ จิตที่ตรึกนึกมันเกิดสลับไวมากติดต่อกันจนเหมือนเกิดขึ้นพร้อมกัน
..ทำให้เราเข้าใจว่ามีใครกระซิบข้างหูตัวเอง
แต่ที่จริงแล้วคือจิตใต้สำนึกเราเอง มี่ิยากจะทำอีกอย่างที่ขัดกับการกระทำที่รู้ตัว
..เช่น ในเสี้ยววินาที เรากำลังนึกถึงสิ่งดี และระหว่างนั้นเราก็นึกถึงการอาละวาด
..ทีนี้เมื่อใจเราจับการนึกถึงสิ่งดีอยู่ ความนึกคิดที่ทับซ้อนกันของจิตใต้สำนึกเรา คือ ความไม่พอใจ โกรธ อยากอาละวาดก็เกิดขึ้นให้ใจเรารับรู้ในชั่วขณะเสี้ยวเวลาติดต่อกัน
..จนกลายเป็นว่า เราหลงความคิดตัวเองว่ามีคนสั่งให้อาละวาด ทั้งๆที่สิ่งนั้นคือความคิดเราเองในจิตใต้สำนึกจองเราเอง

..พอเรารับรู้ความคิดจิตใต้สำนึกนั้นแต่ไม่มีสติระลึกรุ้ยับยั้ง แยกแยะไม่ได้ ก็เลยเข้าใจว่ามีองค์สั่งทำ. เลยอาละวาดตามจิตใต้สำนึกตน. นี่มันองค์บ้า กับ องค์บอชัดๆ
..ทีนี้เราพอจะเข้าใจอาการไบโพล่าในขั้นจิตใต้สำนึกมั้ยครับ

..ทีนี้ไบโพล่าระดับกลาง คือ การที่ใจเราเลือกไม่ได้ หรือลังเล ระหว่างดีกับชั่ว, นิ่งกับโวยวาย, ทำกับไม่ทำ ตามความอยากกระทำของเรา
..เช่น เจอเพื่อนทำให้ไม่พอใจ เกิดความนึกขึ้น 2 อย่างคือ ให้อภัย กับ ด่ามันเลยโวยวายไปเลยเฮ้ย นี่คือการที่เรามีทั้งความรู้สึกดีกับชั่วเกิดขึ้นอยู่คู่กัน แสดงว่าเราเป็นคนดีนะครับนี่ ทีนี้เมื่อเราลังเลใจเลือกไม้ได้ว่าจะทำอะไร จะเลือกทางไหนดี มันก็เกิดความกดดันใจเราขึ้นมา จนเกิดการระเบิดขึ้นของโทสะ จึงเลือกตามสิ่งโกรธ เกลียด ชัง ผลักไส เพื่อระบาย โวยวายออกมา

ทางบำบัดแก้ไข คือ

๑. เมื่อเกิดอาการไบโพล่าขึ้น ให้ระลึกรู้ทันทีว่ามันคือสมมติปรุงแต่งจิตเรา หรือ เสียงในหัวในความคิดที่เกิดขึ้นของเรามันไม่ใช่ใคอื่นที่ไหน ไม่ใช่องค์เทพองค์ใด มันเป็นสมมติของปลอมที่เกิดจากจิตใต้สำนึกของเรานี่เอง
..ดังนั้น ใจรู้สิ่งใดโดยอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด หรือ รูปใด, เสียงใด สิ่งนั้นคือสมมติทั้งหมด ไม่สนสิ่งที่ใจรู้ ก็ไม่ยึดไม่หลงตามสมมติหลอกใจเราทั้งหมด ของแท้มีแค่ลมหายใจเรานี้เท่านั้น ลมหายใจเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงกายให้คงอยู่ได้ เป็นสิ่งที่กายเราต้องการ มารู้ลมหายใจเรานี้ดีที่สุด

..ลมหายใจนี้ไม่มีทุกข์ ลมหายใจนี้ไม่มีโทษ ลมหายใจนี้ไม่ทำร้ายเรา
..แล้วก็เอาใจมาจับรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หายใจเข้าสั้นก็รู้ ยาวก็รู้ กายใจออกสั้นก็รู้ ยาวก็รู้

..หายใจเข้า ระลึก พุท ลากเสียงพุทยาวหรือสั้นตามลมหายใจเข้า
..หายใจออก ระลึก โธ ลากเสียโธยาวหรือสั้นตามลมหายใจออก

..หายใจเข้า ระลึกถึงความว่าง โล่ง เบา สบาย ใจลอยขึ้นตามลมหายใจเข้าอยู่เหนืออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งปวง
..หายใจออก ระลึกถึงความปลดปล่อยกายใจของเรา มันเบา สบาย ผ่อนคลายๆ

..หายใจเข้า เบา ว่าง โล่ง เย็นใจ
..หายใจออก ปลดปล่อย สบาย ผ่อนคลาย

๒. รู้อิริยาบถของตนในปัจจุบัน คือ ปัจจุบันกำลัง ยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ ก็รู้ว่าปัจจุบันเรากำลังอยู่ในอิริยาบถนั้นๆ

..ฝึกเดินจงกรรม เริ่มต้นจาก

- ยืนตรงอยู่ ก็รู้ว่ายืน บริกรรมระบึกตามลมหายใจเข้าว่า ยืน ลากยาวตามลมหายใจเข้า ..หายใจออกบรืกรรมระลึก หนอ ลากเสียงยาวตามลมหายใจออก ทำสัก 3 ครั้ง
- เดิน

..ก้าวแรกที่เท้าซ้าย ..ยกเท้าซ้ายขึ้น ขณะเดียวกันกับยกเท้าขึ้นนั้นก็บริกรรมว่า ซ้ายยกหนอ รู้ว่ายกเท้าซ้ายขึ้น ..ย่างก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้าค้างไว้อย่าเพิ่งเอาเท้าลง ขณะเดียวกันกับย่างก้าวเท้าไปนั้นก็บริกรรม ย่างหนอ รู้ตัวว่าย่างก้าวเท้าไปอยู่ ..ปล่อยเท้าลงแตะพื้น ขณะเดียวกันกับปล่อยวางเท้าลงแต่พื้นนั้นก็บริกรรม ลงหนอ รู้ตัวว่าปล่อยเท้าลงแตะพื้น

..เท้าขวา ..ยกเท้าขวาขึ้น ขณะเดียวกันกับยกเท้าขึ้นนั้นก็บริกรรมว่า ขวายกหนอ รู้ว่ายกเท้าขวาขึ้น ..ย่างก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าค้างไว้อย่าเพิ่งเอาเท้าลง ขณะเดียวกันกับย่างก้าวเท้าไปนั้นก็บริกรรม ย่างหนอ รู้ตัวว่าย่างก้าวเท้าไปอยู่ ..ปล่อยเท้าลงแตะพื้น ขณะเดียวกันกับปล่อยวางเท้าลงแต่พื้นนั้นก็บริกรรม ลงหนอ รู้ตัวว่าปล่อยเท้าลงแตะพื้น

..ทำแบบนี้ไปเรื่อยวันละ 20 ก้าว

๓. กำลังทำกิจการงานอันใดอยู่ ก็รู้ว่าเรากำลังทำกิจการงานนั้นๆอยู่
..เช่น ..เรียนอยู่ ก็รู้ว่าเรากำลังเรียนอยู่ กำลังเรียนถึงตรงไหน บทใด หัวข้อใด เนื้อหาใด ครูสอนถึงตรงไหน ..อ่านหนังสืออยู่ ก็รู้ว่าเรากำลังอ่านหนังสืออยู่ อ่านถึงบทไหน หัวข้อใด บรรทัดใด เนื้อหาใดก็รู้ ..กำลังกินก็รู้ว่ากำลังกิน กำลังถ่ายอุจจาระก็รู้ว่ากำลังถ่ายอุจจาระ กำลังปัสสาวะก็รู้ว่ากำลังปัสสาวะ กำลังขับรถก็รู้ว่ากำลังขับรถ กำลังจะไปที่ไหน ขับถึงที่ทางใด ทางข้างหน้าเป็นอย่างไร ก็รู้ว่ากำลังขับรถอยู่ เดินทางถึงไหนแล้ว เราจะต้องไปทิศทางใดต่อ

๔. ฝึกอบรมจิต

..สงบนิ่งวันละ 20 นาที ทำใจให้ผ่อนคลายว่างโล่งสบายๆ หรือ จะนั่งสมาธิ หายใจเข้า พุท กายใจออก โธ

..เวลามีอารมณ์ ความรู้สึก นึก คิด ในความอยากได้ หรือรักใคร่ หรือกระหายอยากได้อยากทำ หรือกระสันใคร่เสพย์ หรือโกรธ หรือเดลียด หรือแค้น หรือชัง กรือกลัว หรือสับสน ไม่รู้ ลังเล หรือพลั้งเผลอ ก็ให้รู้ว่ากำลังเกิดอารมณ์ ความรู้สึก นึก คิด เหล่านั้นขึ้นกับใจเราอยู่

..เมื่อรู้ว่าอารมณ์ความรู้สึกใดเกิดขึ้น ก็ให้รู้ว่าความรู้สึกนั้นแท้จริงมันเป็นแค่สมมติปรุงแต่งจิตใจเราให้หลงตามความยินดี ยินร้าย ชอบ ชัง กลัว หลง อยากได้ ริษยา ของเราเท่านั้นเองไม่มีเกิดนี้ มันเป็นแค่สมมติความรู้สึกของปลอมที่เกิดขึ้นปรุงแต่งจิตให้หลงตามเท่านั้น มันใม่ใช่ตัวตนบุคคลใดของใครทั้งนั้น เราก็อย่าใส่ใจให้ความสำคัญกับมัน มันเกิดก็รู้ว่าเกิด ดับก็รู้ว่าดับ

..เวลาที่มันรู้ มันเกิด มันมี มันดับ อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดนั้นมันก็ไม่เคยมีเราในนั้นเลย ในนั้นไม่มีเรา ไม่เป็นไปเพราะเรา มันเกิดมันมีเพราะคนอื่น สิ่งอื่น สิ่งนั้น สิ่งนี้ไปทั่ว ..เมื่อมันไม่มีเรา แล้วเราจะใส่ใจมันไปทำไม แล้วกลับมารู้ของจริง คือ ลมหายใจเรา นี้แล

๕. เราจะไม่มีทุกข์ ไม่มีโทษภัยอะไร หากเราไม่ทำสิ่งใดที่เกินควร ที่ผิดต่อตนเองและผู้อื่น คือไม่ทำผิดต่อศีลธรรม อันดี และไม่คิด พูด ทำสิ่งใดที่มันเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น

..ดังนั้นการที่เราจะใช้ชีวิตอยู่แบบไม่มีทุกข์ โทษ ภัยใดๆมาเบียดเบียนได้ เราก็ต้องทำดังนี้คือ

- มีจิตแจ่มใส(มีใจผ่อนคลาย ปรอดโปร่ง ปราศจากกิเลส เครื่องร้อนใจและความคิดฟุ้งซ่านทั้งปวง)
..ทำได้โดยการฝึกสติสัมปะชัญญะ อบรมจิตตามข้อที่ 1-4 ข้างต้น

- มีใจเอื้อเฟื้อ(เมตตาผู้อื่นเสมอด้วยตน คือ มีความเอ็นดูปรานี ปารถนาดีต่อผู้อื่นให้ได้รับสุขเสมอเหมือนที่ตนเองอยากได้รับ)
..ทำได้โดยแผ่เมตตาให้ตนเองและผู้อื่น

- เว้นจากความเบียดเบียด(ไม่ คิด พูด ทำ ที่เป็นการทำร้ายเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เร่าร้อน หรือฉิบหาย)
..ทำได้โดยถือศีล ๕ ตั้งใจไว้อย่างเดียว คือ จะไม่เห็นแก่ตัว ไม่ทำสิ่งใดเกินงาม ไม่ทำตามความอยากได้ปรนเปรอกายใจตนอันเกินความจำเป็น


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 10:55:33 PM
ความคิดมันคือสมมติปรุงแต่ง

เวลาเราโกรธแค้นใคร หรือ น้อยใจพ่อแม่ เรื่องเหล่านั้นมันจบไปแล้ว น้องแพรวมาพูดกับพี่ในห้องนี้
..ขณะที่น้องแพรวคิดเสียใจนึกถึงสิ่งที่พ่อแม่ทำให้น้อยใจ ยิ่งคิดยิ่งเสีย เหมือนเรื่องราวนั้นกำลังเกินขึ้นอยู่ตรงหน้าในปัจจุบันใช่มั้ยครับ แต่โดยความจริงเนื่องนั้นมันจบไปนานแล้ว ไม่มีเรื่องนั้นอีกในปัจจุบัน
..นี่แสดงว่า ความคิดมันคือสิ่งสมมติปรุงแต่งเรื่องราว ปรุงแต่งอารมณ์ความรู้สึกใช่มั้ยครับ มันเป็นของปลอม ของไม่จริงถูกมั้ยครับ
..แล้วทีนี้เราจะไปเอาอะไรกับความคิดความจำความสมมติปรุงแต่งอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นล่ะ มันของปลอมทั้งนั้น
..ดังนี้จิตรู้สิ่งใด(ด้วยความคิด) สิ่งนั้นคือสมมติทั้งหมด อย่ายึดสิ่งที่จิตรู้ คือไม่ยึดสมมติความคิด จองแท้มีแค่ลมหายใจเรานี้เท่านั้น มารู้ลมหายใจ หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ
เวลาคิดให้คิดในสิ่งดีๆ คิดถึงจิตผ่องใส เบา ว่าง โล่ง สบาย เย็นใจ คิดเอื้อเฟื้อแบ่งปันสุขดีงาม คิด พูด ทำ ในสิ่งที่ไม่ทำร้ายตนเองและคนอื่น
เวลาเรียนเราใช้ความคืดจำเพื่อทบทวนบทเรียน สูตรคำนวณ เนื้อหาบทเรียน เพื่อทำความเข้าใจ และสอบได้
ใช่ความคิดให้ถูกจุด ก็มีคุณ หลงตามความคิดอกุศลที่เป็นกองทุกข์ก็มีโทษ


อีกประการ ไม่ว่าในโลกความจริง หรือในความคิด หากเราโดนใส่ร้าย เราก็แค่มาทบทวนกายใจเราว่า..

1. ขณะนั้นและปัจจุบันเราดำรงอยู่ด้วย..กาย วาจา ใจ ที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว มุ่งร้ายหมายทำร้ายเบียดเบียนให้คนอื่นฉิบหายแล้วหรือไม่
..ถ้าขณะนั้นและปัจจุบันเราดำรง กาย วาจา ใจ มีความคิด พูด ทำ โดยปราศจากความเห็นแก่ตัว ไม่เบียดเบียนทำร้ายตนเองและผู้อื่น ขณะนั้นเรามีศีลของพระพุทธเจ้า เราเย็นใจได้เลย
..ดังนี้เราบอกกับคนอื่น หรือความคิดใส่ร้ายนั้นได้เลยว่า..ดูก่อน มาร.. เราเว้นจากความเบียดเบียนด้วยศีลธรรมอันดีแล้ว เธอจะทำร้ายเราไม่ได้อีกแล้ว เธอจะใส่ร้ายเราไม่ได้อีก
..แล้วมารในใจ หรือคน หรือความคิดใส่ร้ายใดๆนี้ ก็จะเจ็บปวดทรมานด้วยตัวเขาเอง แล้วก็จะหายไป

2. ถ้าขณะนั้นและปัจจุบัน เรามีสติสัมปะชัญญะ มีใจตั้งมั่นแน่วแน่รู้ตัวอยู่ทุกเมื่อ รู้เท่าทันสิ่งที่คิด พูด ทำ รู้ยับยั้ง แยกแยะถูก ผิด ดี ชั่ว บาป บุญ คุณ โทษได้อยู่ทุกเมื่อ ไม่ทำผิดศีลธรรม ไม่ทำผิดต่อใคร
..ดังนี้เราบอกกับคนอื่น หรือความคิดใส่ร้ายนั้นได้เลยว่า..ดูก่อน มาร.. เรามีจิตตั้งมั่นดีแล้ว มีความรู้ตัวทั่วพร้อม ดำรงจิตอยู่ด้วยศีลธรรมอันดีแล้ว เธอจะทำร้ายเราไม่ได้อีกแล้ว เธอจะใส่ร้ายเราไม่ได้อีก
..แล้วมารในใจ หรือคน หรือความคิดใส่ร้ายใดๆนี้ ก็จะเจ็บปวดทรมานด้วยตัวเขาเอง แล้วก็จะหายไป

3. ถ้าขณะนั้นและปัจจุบันเราได้รู้ บาป บุณ คุณ โทษ แยกแยะสิ่งดี สิ่งชั่วได้ แล้วเลือทำในสิ่งดีที่ถูกต้อง ไม่เป็นไปในสิ่งชั่ว ไม่เป็นไปเพื่อทำร้ายเบียดเบียนใครแล้ว จิตเราถูกปลดปล่อยด้วยกุศล คือความฉลาดเลือกทำสิ่งดี ปล่อย ละวางสิ่งชั่วที่ผูกกายใจเราไว้ มีจิตเบาสบาย ไม่หน่วงตรึงจิต
..ดังนี้เราบอกกับคนอื่น หรือความคิดใส่ร้ายนั้นได้เลยว่า..ดูก่อน มาร.. ปัญญาเราเกิดขึ้นแล้ว เรามีจิตแจ่มใสเบิกบานแล้วปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เธอจะทำร้ายเราไม่ได้อีกแล้ว เธอจะใส่ร้ายเราไม่ได้อีก
..แล้วมารในใจ หรือคน หรือความคิดใส่ร้ายใดๆนี้ ก็จะเจ็บปวดทรมานด้วยตัวเขาเอง แล้วก็จะหายไป

4. ถ้าขณะนั้น เราไม่อยู่ใน 3 อย่าง ข้างต้นนั้น  ก็ให้พูดกับคนอื่น หรือเสียงใส่ร้ายในใจได้เลยว่า
..ดูก่อน มาร.. เราพบทาง 3 ประการเพื่อพ้นจากการใส่ร้ายของเธอแล้ว เธอจะทำอะไรเราไม่ได้อีก เธอจะใส่ร้ายเราไม่ได้อีกแล้ว
..แล้วมารในใจ กรือคน หรือความคิดใส่ร้ายใดๆนี้ ก็จะเจ็บปวด ทามารด้วยตัวเขาเอง แล้วก็จะหายไป


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 11:02:53 PM
#เมตตาผู้อื่น#

๑. มีจิตตั้งมั่นอยู่ ด้วยใจหมายให้หมู่สัตว์ได้รับประโยชน์สุขสำเร็จดีงาม น้อมใจไปในความสละ ชำระกิเลสออกจากใจ คือ ปราศจาก รัก ชัง กลัว หลง

..หากสละไม่ได้ ให้ทำความสงบใจผ่อนคลาย โดยตั้งใจว่า
- เราจะไม่เอากิเลสตนไปแผดเผาผู้อื่น
- เห็นเสมอกันด้วยธาตุมีใจครอง, กิเลส, กรรม
- พระพุทธเจ้าทรงแผ่ฉัพพรรณรังสีนำไป

๒. มีใจสงเคราะห์ปลดปล่อยสัตว์จากความทุกข์ ดังนี้..
๒.๑) ภายใน คือ ใจถึงกุศล ปราศจากกิเลสความเร่าร้อนแผดเผากายใจ

- ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด
- อย่าได้มีเวรภัย ความโกรธ เกลียด ชิงชัง ซึ่งกันและกันเลย
- อย่าได้มีความพยายาท ผูกแค้น มุ่งร้ายซึ่งกันและกันเลย
- อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจ อย่าได้มีโรคภัยเบียดเบียน อย่าได้มีความหิวกระหาย อย่าได้มีสะดุ้งหวาดกลัวเลย
- ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงมีความสุขกายสุขใจ กินอิ่ม หลับสบาย กายใจเป็นสุข รักษาตนให้รอดพ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ



------------------------------------


คนทุกคนมีร่างกายเหมือนเรา กินแล้วก็ต้องขี้ กินแล้วก็ต้องฉี่เ หมือนกัน เสมอกันไม่ว่าเราหรือใคร

- เรามี เรากิน เราอยู่ เขาก็มี เขาก็กิน เขาก็อยู่
- เขามีรัก ชัง กลัว หลง เราก็มีรัก ชัง กลัว หลง
- เราไม่มีอะไรต่างจากคนอื่นเลย เขาก็เหมือนเรา เราก็ไม่ต่างจากเขา เผลอๆคนอื่นเขาใจสะอาด กายสะอาดกว่าเดราด้วยนะ

- ให้มองคึนอื่นเสมอเหมือนตัวเอง แล้วเมตตาคนอื่นด้วยความเอ็นดู เราอยากให้้คนรักเราก็รักคนอื่น เราอยากให้คนอื่นคิดดีกับเรา เราก็คิอดดีีกับคนอื่น เราอยากสบายไม่มีทุกข์ อยากอยู่เป็นสุขโดยไม่มีรัก ชัง กลัว หลง เราก็เมตตาคนอื่นให้คนอื่นอยู่เป็นสุขไม่มีทุกข์ ปราศจากรัก ชัง กลัว หลง เหมือนเรา
- เวลาเจอใคร เกลียดสิ่งใด ให้ตั้งใจแผ่เอาความปารถนาดีมีสุขต่อเขา เสมอเหมือนเราต้องการให้มีความสุขกายสบายใจเหิดขึ้นกับเรา แผ่ให้เขาไป
..ไม่ว่ากายเรา กายเขาก็เป็นของสกปรกเสมอกัน เป็นของที่มีความเสื่อมโทรมอยู่ตลอดเวลา เราจะำไปรังเกลียดสิ่งที่เสมอเหมือนตัวเรา ก็เท่ากับเรารังเกลียดตัวเอง แผ่เอาใจที่ปราศจากความเกลียดชัง ด้วยใจยินดี เต็มใจ เข้าใจทุกอย่าง เข้าใจโลก เข้าใจความเสมอกัน ควรเอื้อเฟื้อกัน
..หากไปเจอที่สกปรกไม่ดี เราก็เลือกสถานที่ที่สะอาดที่ดีที่พอเหมาะกับเรา หากเลี่ยงสถานที่นั้นไม่ได้ก็ให้เราทำความสะอาดพื้นที่นั้นๆให้พอดีที่เราจะอยู่จะใช้มันได้
..เราทำความสะอาดให้ไปก็เป็นทานบารมีแก่เรา ดังนั้นเราทำไปอย่าไปคิดว่ายุงยากน่ารำคาญ แต่คิดว่าสละทำให้เป็นทาน นี้ได้ทานบารมีด้วย


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 11:08:06 PM
..แก้โรควิตกกังวล..

สงบนิ่ง หายใจเข้านึกถึงความว่าง โล่ง เบา เย็นใจ
หายใจออก นึกถึงความผ่อนคลายๆ สบายกายใจ

ทำสิ ทำเพราะรู้ว่ามันคือสิ่งดี คือชีวิต คืออนาคตเรา คือยารักษาบำบัดจิตเรา รักษาจิตก็แก้ด้วยจิต ดังนั้นให้ตั้งใจมทำ เบื่อก็ทำเพราะเป็นยารักษาบำบัดจิตเรา เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องกินยารักบำบัด

- เวลาที่ฟุ้งซ่านเป็นเวลาที่เหมาะแแก่ ปัสสัทธิ คือ ความสงบใจ

- ความสงบจะมีลักษณะอาการที่..ผ่อนคลาย ปล่อย ละ วาง ไม่ยึด ไม่เกาะ ไม่เกี่ยว ไม่จับ ไม่คิดสิ่งใด มันว่าง โล่ง เบา เย็นใจ เป็นที่สบายกายใจ จิตใจเป็นอิสระสุข พ้นจากเครื่องผูกมัดร้อยรัดหน่วงตรึงใจทั้งปวง



- เวลาเราคิดถึงมัน ให้รู้ว่าเราคิดเรื่องลามกอีกแล้ว แล้วก็ระลึกในใจว่า..คิดหนอๆ (รู้ตัวว่าเรากำลังคิด) แล้วก็ให้รู้ตัวว่าความคิดนั้นมันมีโทษ มันทำให้เราทรมานร้อนรุ่มกายใจอยู่ปกติเย็นนใจไม่ได้ กระสับกระส่ายทรมาน ดังนั้นให้ทิ้งความคิดนั้นไปอย่าสนใจ แล้วไปหาอย่างอื่นทำ ถ้าไม่มีอะไรทำให้อยู่กับปัจจุบัน คือ กำลัง ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ขี้ ฉี่ ขับรถ ทำงาน เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้สัมผัส ก็ให้รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ในปัจจุบัน เช่น..

- อยู่อิริยาบถใดก็รู้ แล้วก็ทำใจรู้ว่าเรากำลังทำอิริยาบถนั้นๆอยู่
..ยืนก็ยืนหนอๆ(รู้ตัวว่ากำลังยืนอยู่) นั่งก็นั่งหนอๆ(รู้ตัวว่ากำลังนั่งอยู่) นอนก็นอนหนอๆ(รู้ตัวว่ากำลังนอนอยู่) เดินก็เดินหนอๆ(รู้ตัวว่ากำลังเดินอยู่) วิ่งก็วิ่งหนอ(รู้ตัวว่ากำลังวิ่งอยู่)

- ทำกิจการงานใดอยู่ก็รู้ว่ากำลังทำงานนั้นๆอยู่ แล้วก็ตั้งใจทำงานนั้นต่อให้เสร็จ
..เรียนอยู่ก็เรียนหนอๆ(รู้ว่าเรากำลังเรียนรู้อยู่ แล้วก็เอาใจจดจ่อการเรียนว่าเรากำลังวิชาอะไร บทไหน หัวข้ออะไร ทำลังเรียนถึงตรงไหน เนื้อหาอะไร)
..อ่านหนังสืออยู่ก็อ่านหนอๆ(รู้ว่าเรากำลังอ่านหนังสืออยู่ แล้วก็เอาใจจดจ่อกับหนังสือที่ออ่านว่า เรากำลังอ่านวิชาอะไร บทไหน หัวข้ออะไร กำลังอ่านถึงตรงไหน เนื้อหาอะไร)
..กินอยู่ก็กินหนอๆ(รู้ตัวว่ากำลังกินอยู่) ขี้อยู่ก็ขี้หนอๆ(รู้ตัวว่ากำลังขี้อยู่) ฉี่อยู่ก็ฉี่หนอๆ(รู้ตัวว่ากำลังฉี่อยู่) ขับรถก็ขับรถหนอๆ(รู้ตัวว่ากำลังขับรถอยู่)

- รับรู้อะไรได้ก็รู้
..เห็นก็เห็นหนอๆ(รู้ตัวว่ากำลังเห็นอยู่.. โดยมองในปัจจุบันที่เห็น ไม่คิดสืบต่อเกินกว่าที่เห็นในปัจจุบันจนไหลไปในเรื่องลามก ไม่มองส่วนเล็กส่วนน้อย รู้อยู่เฉพาะปัจจุบันที่เห็นไม่คิดสืบต่อ ไม่ให้ความสำคัญใจแล้วก้อปล่อยมันไป)
..ได้ยินก็ได้ยินหนอๆ(รู้ตัวว่าได้ยินเสียง ทำใจแค่รู้ว่าหูได้ยินเสียง ไม่ให้ความสำคัญใจแล้วก็ปล่อยมันไป)
..ได้กลิ่น ได้รู้รสอะไรก็รู้ว่าได้กลิ่น ได้รู้รส สัมผัสกาย ก็แค่รู้ว่าสัมผัสไม่คิดสืบต่อเกินกว่าที่เรารับรู้ไหลไปเรื่องลามก


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 11:10:06 PM
ธัมมะจักรกัปปวัตนสูตรโดยย่อ

กล่าวโดยย่อ

ก. ทุกข์ เป็นความไม่สบายกายใจ อัดอั้นคับแค้นกายใจทั้งหลาย คือ ความมีใจครอง
..เพราะมีใจครองจึง ตัณหา มีภพ มีชาติ มีขันธ์ ๔ และ ขันธ์ ๕
 
ข. สมุทัย เป็นเหตุแห่งทุกข์ คือ ความไม่รู้เห็นตามจริง
..เพราะความไม่รู้เห็นตามจริงต่างหากจากสมมติ จึงหลงไป จึงรู้สึกในผัสสะ จึงเสวยสมมติเวทนาทางให้หลงไปตามสมมติที่กิเลสวางไว้หลอกจิตทางสฬายตนะ

ค. นิโรธ เป็นความดับทุกข์ คือ ความไม่มีใจครอง
..เพราะไม่มีใจครอง จึงไม่มีตัวตน ไม่มีการแสวงหา และอุปาทานในสิ่งอันไม่เที่ยง เป็นทุกข์นั้นอีก ภพจึงไม่มี ชาติจึงไม่มี ขันธ์ ๔ และ ขันธ์ ๕ จึงสิ้นไป จิตถึงความเบิกบานพ้นแล้วจากสมมติ

ง. มรรค เป็นทางดับทุกข์ คือ ความรู้เห็นตามจริงต่างจากสมมติ
..เพราะรู้เห็นตามจริงต่างหากจากสมมติ ดังเช่นว่า..โลกียธรรมอยู่ด้วยกิเลสเพราะความไม่รู้, กิเลสฟุ้งด้วยมีใจครอง, โลกดำรงอยู่ด้วยธาตุอันไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน เป็นทุกข์, ของแท้จริงแล้วไม่มีอะไรให้ติดใจข้องแวะได้เลย หาประโยชน์ไรๆไม่ได้นอกจากทุกข์ มีแต่สมมติทั้งนั้น, จิตจึงตื่นจากสมมติ ดึงกิเลสขึ้นเพื่อเกี่ยวตัดกิเลสตัณหาอุปาทานออกจากจิต(ญาณ)ด้วยปัญญา

   หากผิดพลาดประการใดขอพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พ่อแม่ครูบาอาจารย์ และท่านผู้รู้ทุกท่านอดโทษให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
..ด้วยเพราะข้าพเจ้าเป็นเพียงปุถุชนผู้น้อมใจไปในโลกกุตระตามที่พระอริยะสาวกบรรลุบทอันกระทำแล้ว แต่เพราะยังปุถุชนอยู่สมมติจึงยังมีมาก ยังรู้เห็นแค่เพียงโลกียะแบบโลกๆ จึงรู้เห็นได้เพียงเท่านี้ พละ ๕ ยังไม่ใี เพิ่งสะสม อินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ยังไม่ถึงธรรมแท้ กิเลสตัณหายังมีมากปิดกั้นอยู่, ยังสะสมเหตุอยู่,  ยังไม่มีทาน ศีล ภาวนา, ยังไม่ถึงศีล สมาธิ ปัญญาอันแท้จริง ..แต่ด้วยพราะวันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา วันที่พระรัตนตรัยเกิดขึ้นครบ 3 ประการ จึงใคร่ขอแสดงหัวใจพระธรรมจักรกัปปวัตนสูตร คือ พระอริยะสัจ ๔ มาโดยย่อมาดังนี้


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 27, 2022, 11:13:32 PM
เรื่องการดูดวงสำหรับคนไบโพล่าจนเกิดการเกลียดชังมุ่งร้าย ให้รู้ว่าแท้จริงมันแค่สิ่งที่คาดเดาเอาเท่านั้น

..ดังนั้นถ้าอบรมกายใจดังนี้ ก็ไม่ต้องกลัว หรือใส่ใจเรื่องใส่ร้ายอะไรอีก และจะไม่ทุกข์อีกเลย

1. อบรมจิตตัวเองให้ผ่องใส มีกำลังใจดี มีพลังจิต มีความฟุ้งซ่านน้อยลงจนหมดไป โดย
- ฝึกสงบนิ่ง ระลึกถึงความว่าง โล่ง เบา เย็นใจ ไม่มีความคิด
- ทำสมาธิ หายใจเข้า..ระลึก พุท. ..หายใจออก..ระลึก โธ.

2. ไม่เห็นแก่ตัว ใจกว้าง มีใจเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น เสมอด้วยตน
..คือ เอ็นดูปรานีต่อผู้อื่น อยากให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์สุขสำเร็จ เช่นเดียวกันกับที่เราได้รับ หรือที่เราต้องการมี

3. เว้นจากการคิดร้าย มุ่งร้าย หมายทำลายผู้อื่น  เว้นจากการพูดหยาบคาย ดุด่า ใส่ร้ายให้คนอื่นเสียหาย เว้นจากการกระทำที่มุ่งร้าย เบียดเบียนทำร้ายร่างกายจิตใจผู้อื่น หรือ มีศีล ๕ เป็นต้น


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 28, 2022, 02:56:18 AM
เอาพรหมิวิหาร ๔ เป็นอารมณ์กรรมฐานในภายในกายใจตน ฝึกพรหมวิหารเจโตวิมุตติ

เมตตา มีรูปนิมิต เอาความสุขอันเนื่องด้วยกายเป็นอารมณ์ ความสุขกายลงใจ มีปกติกายบริบูรณ์ ไม่ลำบากกาย อิ่มหนำสำราญ อุปาทินนกรูปทั้งปวง
- แผ่ไปภายนอกสุขด้วยความมีอุปาทินกรูปอันเกิดแต่กรรมเสมอกัน ที่จิตสัตว์จรมาอาศัยนี้มีความบริบูรณ์ ้เป็นสุขสำเร็จ สวัสดี สำราณ สบาย

กรุณา มีอรูปนิมิต เอาความสุขที่เนื่องด้วยใจไม่อาศัยกายกำกับเป็นอารมณ์ โดยอาศัยความเสวยธัมมารมณ์ความรู้สึก จิตสบาย เย็นใจ ไม่เร่าร้อน
- แผ่ไปภายนอกด้วยใจปราศจากกิเลสทุกข์เครื่องเร่าร้อนใจทั้งปวงเสมอกัน ไม่ยึดเสิ่งภายนอกที่เนื่องด้วยกาย ยังใจให้อยู่เย็นเป็นสุข

มุทิตา มีจิตตนิมิต เอาดวงจิตอันสว่างไสวไม่เศร้าหมอง มีความรู้เป็นอารมณ์ สุข-ทุกข์เกิดที่จิต จิตสุขเพราะไม่เสพย์ทุกข์ จิตทุกข์เพราะไม่เสพย์สุข เพราะมีธัมมารมณ์สิ่งที่จิตรู้เป็นอามิสเครืองยึดเสพย์ พึงรู้ธัมมารมณ์ควรเสพย์
- แผ่ไปด้วยความมีจิตแจ่มใสเบิกบาน มีใจเแอื้อเฟื้อ เว้นจากความเบียดเบียน ยินดีเสมอกัน มีความไม่เศร้าหมองแผ่ไป

อเบกขา มีความไม่มี ความสบาย ความสละคืนเป็นอารมณ์ ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ คือ ไม่ยยึดธัมมารมณ์ สัพเพธัมมาอนัตา ธรรม(ธรรมารมณ์)ทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน สึุขเพราะไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ เพราะธัมมารมณ์มีความแปรปรวนตลอดเวลา ไม่เที่ยง อยู่เหนือดการคควบคุม เป็นทุกข์ เมื่อทำไว้ในใจต่อธัมมารมณ์ใดล้วนแล้วแต่มีผลสบต่อทั้งสิ้น
- แผ่ไปด้วยความว่าง ความไม่มี ความไม่ยึดเสพย์ ถึงความละเว้นการการกระทำต่อธัมมารมร์ทั้งปวง ความสละคืนทั่วกัน


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 30, 2022, 11:29:59 PM
ซึมเศร้าต้องเมตตาตนเอง ไบโพล่าต้องเมตตาผู้อื่น

แต่ทั้ง 2 อย่าง ต้องมีสติสัมปะชัญญะ โดยฝึกมหาสติปัฏฐาน ๔ ให้รู้ปัจจุบันก่อนเป็นหลักสำคัญ

แล้วก็เอา เมตตานี้ใช้คู่กับอานาปานสติในหมวดกาย และใจ ในหมวดเวทนากับจิต เมื่อคล่องแล้วก็ใช้คู่ดับ สติปัฏฐานทั้ง ๔


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 30, 2022, 11:41:27 PM
(1.) แก้เป็นคนคิดมาก ย้ำคิด ย้ำทำ เอาใจไปผูกเกี่ยวไว้ในทุกๆเรื่อง ทั้งในสิ่งที่รัก ที่ชัง ที่กลัว ที่ไม่รู้ความจริง

     ..เวลาเก็บอะไรมาคิดก็นึกเสียว่า ติดใจข้องแวะไปก็หาประโยชน์สุขไรๆไม่ได้นอกจากทุกข์ ติดใจข้องแวะไปก็มีแต่ทุกข์ ไม่ติดใจข้องแวะก้อไม่ทุกข์ ..ดังนั้นให้คิดเสียว่าอย่าไปติดใจข้องแวะมันเลย ช่างมัน ปล่อยมันไปบ้าง ให้จิตเราได้พักบ้าง
     ..โดยให้รู้ตัวว่า..เราเอาใจไปข้องเกี่ยวผูกใจไว้กับสิ่งนั้นๆมากไปจนเกินความจำเป็นให้ถูกทุกข์หยั่งเอาแล้ว เราควรปล่อย ควรละ ควรวางมันลงได้แล้ว ไม่ควรใส่ใจให้ความสำคัญมั่นหมายของใจกับสิ่งนั้นๆจนเกินความจำเป็นที่จะรับรู้ หรือทำในสิ่งนั้นๆ
     ..แล้วทำไว้ในใจถึงความปล่อย ความละ ความวาง ความสละคืน ความไม่ข้องเกี่ยวอีก คลายเงื่อนปมที่ผูกใจไว้ มีใจสลัดออกจากสิ่งนั้นๆ โดยสำเนียกไว้ในใจว่า..

..ติดใจข้องแวะ 100% ก็ทุกข์ 100%

..ติดใจข้องแวะ 75% ก็ทุกข์ 75%

..ติดใจข้องแวะ 50% ก็ทุกข์ 50%

..ติดใจข้องแวะ 25% ก็ทุกข์ 25%

..ไม่ติดใจข้องแวะเลย ก็ไม่ทุกข์เลย

..หมายเหตุ..
     ๑. ติดใจ แปลว่า ให้ความสำคัญมั่นหมายของใจกับสิ่งนั้นๆ ในความพอใจยินดี และไม่พอใจยินดี มีความติดตรึงใจยินดี, ข้องใจยินร้าย
     ๒. ข้องแวะ แปลว่า ใส่ใจให้ความสำคัญ, ข้องเกี่ยว
     ๓. ติดใจข้องแวะ แปลว่า ใส่ใจข้องเกี่ยวให้ความสำคัญมั่นหมายของใจในความพอใจยินดี และไม่พอใจยินดี

(2.) แก้เป็นคนคาดหวังกับทุกสิ่ง แคร์คนอื่นไปทั่ว

     ..อย่าเอาความสุขสำเร็จของตัวเองไปผูกขึ้นไว้กับคนอื่น สุข-ทุกข์มันเกิดขึ้นที่กายใจเรา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใคร
     ..ดังนั้น อย่าเอาความสุขสำเร็จของตนเองไปผูกขึ้นไว้กับผู้อื่น อย่าเอาเขามาเป็นชีวิต เป็นสุขทั้งชีวิตของเรา ให้รู้จักปล่อยผ่าน รู้จักละ รู้จักวาง ง
     ..ไม่ตั้งความคาดหวังปารถนา ที่จะได้รับผลการตอบสนองกลับให้เป็นไปดั่งที่ใจเราต้องการจากใคร เพราะเราไม่อาจจะไปคาดหวังปารถนากับสิ่งใดๆในโลกได้ ด้วยไม่มีอำนาจที่จะไปบังคับ สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน มีความแปรปรวนอยู่ตลอดเวลาจากใครได้
     ..ให้เอาใจมารู้อยู่ที่ปัจจุบัน รู้ลมหายใจ รู้ว่าตนกำลังทำอะไรอยู่ในปัจจุบัน ให้รู้หน้าที่ รู้กิจการงานสิ่งที่ตนต้องทำ สิ่งที่ถูก ที่ควรทำ กล่าวคือ รู้ธัมมารมณ์(สิ่งที่ใจรู้ทั้งปวง) ที่ควรเสพย์ และไม่ควรเสพย์ ได้แก่..

- รู้ความพอใจยินดีต่อารมณ์(โสมนัส) ที่ควรเสพย์ และไม่ควรเสพย์

- รู้ความไม่พอใจยินดีต่ออารมณ์(โทมนัส) ที่ควรเสพย์ และไม่ควรเสพย์

- รู้ความวางเฉยต่ออารมณ์(อุเบกขา) ที่ควรเสพย์ และไม่ควรเสพย์

กล่าวคือ…

- สิ่งใดมีคุณ มีประโยชน์สุขสำเร็จ ทำให้จิตผ่องใส มีใจเอื้อเฟื้อ เว้นจากความเบียดเบียน กุสลพอกพูน มีความรู้ตัวอยู่ทุกเมื่อ ไม่หลงลืม ตั้งอยู่โดยความไม่ประมาท
  ..สิ่งนั้นควรเสพย์

- สิ่งใดไม่มีคุณ ไม่มีประโยชน์ มีโทษ เป็นทุกข์ ยังความเสื่อมมาให้ ไม่รู้ตัว เป็นผู้หลงลืม ตั้งอยู่โดยความประมาท
  ..สิ่งนั้นควรละ

(3.) แก้เชื่อคนง่าย อ่อนไหวง่าย ใจง่าย เจ้าอารมณ์

     ..ใช้ปัญญา ตรองพิจารณารู้เห็นตามจริง ไม่ใช้ความรู้สึกเป็นที่ตั้ง
     ..กล่าวคือ..ความรัก โลภ โกรธ หลง มันคือสมมติกิเลสของปลอมที่วางไว้ล่อจิตให้หลงตาม สิ่งใดมีเกิดขึ้น ก็สักแต่ว่ารู้ว่ามันเกิด แล้วก็ปล่อยมันไป ช่างมัน อย่าสนใจให้ความสำคัญกับมัน อย่าใส่ใจสิ่งที่จิตรู้นั้น
     ..ให้เอากายใจเรามาอยู่กับปัจจุบัน รู้ตัวทั่วพร้อมว่ากำลังทำอะไร ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ฉี่ ขี้ ทำงาน อยู่สภาพแวดล้อมใด ที่บ้าน ที่ตลาด ร้านอาหาร ที่ทำงาน ปัจจุบันตรงหน้าคืออะไร ทำงาน ประชุม เขียนงาน ดูงาน ปฏิบัติงาน ดูหนัง ฟังเพลง พูดคุย เห็นหรือฟังก็รู้แค่ในสิ่งที่เห็นที่ฟังในปัจจุบันไม่คิดสืบต่อเกินความจำเป็นที่จะต้องทำ
     ..ง่ายที่สุด คือ เอาจิตมารู้ลมหายใจ เพราะลมหายใจคือของจริงไม่ปรุงแต่งสมมติ, เป็นของไม่ปรุงแต่ง, ไม่ใช่เครื่องปรุงแต่งจิต"
- หายใจเข้าบริกรรม พุท ลากเสียงยาวสั้นตามลมหายใจเข้ายาวหรือสั้น
- หายใจออกบริกรรม โธ ลากเสียงยาวสั้นตามลมหายใจออกยาวหรือสั้น
- พุทโธ คือ องค์พระ พุทโธ คือ กิริยาจิต เป็นความรู้ของจิต ดังนี้..

๑. กิริยาจิตที่ รู้ ..รู้ของจริงต่างหากจากสมมติ คือ..
..รู้เห็นสมมติ คือ รู้ว่า..รัก โลภ โกรธ หลง สิ่งที่จิตรู้นี้ คือ สิ่งที่ปรุงแต่งอารมณ์ให้จิตหลงตาม ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ก็ไม่ยึดสมมติ
..รู้ของจริง คือ ลมหายใจเป็นสิ่งที่ไม่ปรุงแต่ง เป็นที่สงบ สบาย ไม่มีทุกข์ ไม่มีโทษ
..รู้ปัจจุบัน คือ รู้ตัวทั่วพร้อมในปัจจุบันว่า กำลังรู้สึกนึกคิดอะไร กำลังทำกิจการงานใดๆอยู่ รู้ในปัจจุบันเพียงสิ่งที่เห็น ที่ได้ยิน ที่รู้กลิ่น ที่รู้รส ที่รู้สัมผัสกาย ที่รูปสัมผัสใจ คือ อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งปวง รู้โดยไม่คิดสืบต่อเรื่องราวจากมันเกินสิ่งที่รู้อยู่ในปัจจุบันนั้นๆ นี้คือ จิตเป็นพุทโธ คือ ผู้รู้

๒. กิริยาจิตที่ ตื่น ..ตื่นจากสมมติกิเลสของปลอม คือ..
..เมื่อรู้ว่าสมมติกิเลสของปลอมเกิดขึ้น แล้วทำใจออกจากสมมติกิเลสของปลอมนั้น ไม่จับยึดสมมติกิเลสของปลอมอีก ..แล้วมารู้แค่ของจริง รู้อยู่ที่ปัจจุบัน ทำได้โดย..
..ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ แล้วมารู้ลมหายใจ อันเป็นของที่ไม่ปรุงแต่งจิต ไม่ปรุงแต่งสมมติ รู้ปัจจุบันที่เป็นของจริงไม่คิดสืบต่อสมมติกิเลสจองปลอมจากสิ่งที่รู้อยู่ในปัจจุบัน

๓. กิริยาจิตที่ เบิกบาน ..เบิกบานพ้นจากสมมติกิเลสของปลอม จิตผ่องใส เบิกบาน เบา ว่าง โล่ง สงบ สยาย เย็นใจ ไม่เร่าร้อน


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 31, 2022, 12:05:50 AM
จิตที่เป็นปกติ คือ จิตที่ผ่องใส เบิกบาน มีลักษณะที่เบา โล่ง ไม่มีความหน่วงตรึงจิต เย็นใจ ไม่มีความติดใจข่องแวะสิ่งไรๆ รู้สิ่งใดก้อไม่มีใจเข้ายึดครองร่วมเสพย์ จิตมีกำลังอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่อ่อนไหวไหลตามซ่านไปกับสิ่งใด..กล่าวคือ จิตไม่มีกิเลสนั่นเอง

- จิตมีปกติไม่ติดใจข้องแวะ เพราะจิตตั้งมั่น
- จิตมีปกติตั่งมั่น เพราะจิตอยู่ได้ด้วยตัวเอง
- จิตมีปกติอยู่ได้ด้วยตัวเอง เพราะจิตมีกำลัง
- จิตมีปกติมีกำลังใจดี เพราะเบาใจไม่หน่วงตรึงจิต
- จิตมีปกติเบาใจไม่หน่วงตรึงจิต  เพราะปล่อย
- จิตมีปกติที่ปล่อย เพราะจิตผ่อนคลาย
- จิตมีปกติผ่อนคลาย เพราะจิตไม่ยึดจับ
- จิตมีปกติไม่ยึดจับ เพราะจิตถึงความอิ่มเอมใจ
- จิตมีปกติอิ่มเอมใจ เพราะแช่มชื่น
- จิตมีปีปกติแช่มชื่น เพราะผ่องใส
- จิตมีปกติผ่องใส เพราะมีความเย็นใจ
- จิตมีปกติเย็นใจ เพราะจิตอยู่ด้วยกุศล
- จิตมีปกติอยู่ด้วยกุศล เพราะจิตเป็นศีล
- จิตมีปกติเป็นศีล เพราะจิตมีปกติเว้นจากความเบียดเบียน
- จิตมีปกติเว้นจากความเบียดเบียน เพราะจิตรู้จักสละให้ ละความปรนเปรอตน ไม่เห็นแก่ตัว
- จิตมีปกติสละให้ ละความปรนเปรอตน ไม่เห็นแก่ตัว เพราะจิตมีปกติเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน
- จิตมีปกติเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน เพราะเห็นเสมอด้วยตน
- จิตมีปกติเห็นความเสมอด้วยตน เพราะจิตมีปกติเห็นในโลกธรรม ๘
- จิตมีปกติเห็นโลกธรรม ๘ เพราะกำหนดหมายรู้ในไตรลักษณ์
- จิตมีปกติกำหนดหมายรู้ในไตรลักษณ์ เพราะมีหิริพละ โอตัปปะพละ
- จิตมีปกติอยู่ด้วยหิริพละ โอตตัปปะพละ เพราะจิตมีปกติตั้งอยู่ด้วยศรัทธา ๔
- จิตมีปกติตั้งอยู่ด้วยศรัทธา ๔ เพราะจิตมีปกติรู้เห็นตามจริงในกรรม
- จิตมีปกติรู้เห็นตามจริงในกรรม เพราะรู้เห็นในอุปาทินนกรูป อุปาทินนกสังขาร
- จิตรู้เห็นตามจริงในอุปาทินนกรูป อุปาทินนกสังขาร เพราะได้รู้พระสัทธรรม
- จิตได้รู้พระสัทธรรม เพราะพบเจอสัปปะบุรุษ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 31, 2022, 12:23:35 AM

บันทึกกรรมฐานก่อนวันเข้าพรรษา ปี 2564 การฝึกอบรมจิตให้เป็นปกติ

ก. มีสติรู้อยู่ในอารมณ์ความรู้สึกสึกทั้งปวงที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ ทำไว้ในใจถึงความไม่ติดใจข้องแวะในสิ่งทั้งปวง มีใจผลักออกจากอารมณ์ความรู้สึกนั้นๆ

ข. มีความสำเหนียกอยู่ว่าเราจักไม่ยึดจับสิ่งใด ..หายใจเข้า ..จิตลอยขึ้นพ้นอารมณ์ความรู้สึกทั้งปวง ถึงความว่างโล่ง เบา เย็นใจ

ค. มีความสำเหนียกอยู่ว่าเราจักปล่อย ..หายใจออก ..ผ่อนคลาย เบา สบายใจ

ฝึกทำบ่อยๆสะสมเหตุจนเป็นปกติจิต จะทำให้..เมื่อจิตรู้ว่า ราคะ โทสะ โมหะเกิดขึ้น คลองจิตนั้นควรทำอย่างไร จนเข้าถึงสภาวะตัดแม้เพียงแค่คิดสำเหนียกในใจว่า.. อย่าไปติดใจข้องแวะมันเลย ติดใจข้องแวะร้อย-ก็ทุกข์ร้อย, ไม่ติดใจข้องแวะเลย-ก็ไม่ทุกเลย

ข้อนี้มิใช่ธรรมอื่นใดไกลตัว มิใช่ธรรมเพื่อสละคืนอันสูงเกิน ธรรมทั้งหมด คือ .."อานาปานสติ+เมตตาตนเอง"..เท่านั้นเอง ถ้าหากเราเคยทำได้เข้าถึงได้ เราก็ทำสิ่งยากให้ง่ายได้ ทำของง่ายให้สูงยิ่งๆขึ้นไปได้ เหมือน พุทโธ จากเพียงคำบริกรรมถ้าจิตเข้าถึงพุทธะ ถึงคุณพระพุทธเจ้าได้แล้ว พุทโธ ก็จะเป็นกิริยาจิตของเรา คือ..
- ผู้รู้..จิตรู้ปัจจุบัน จิตรู้เห็นของจริงต่างหากจากสมมติ
- ผู้ตื่น..จิตตื่นจากสมมติ จิตมาจับรู้ของจริง ไม่ข้องจับสมมติ
- ผู้เบิกบาน..จิตเบิกบานพ้นแล้วจากสมมติกิเลสของปลอม พ้นจากสมมติธัมมารมณ์ความรู้สึกทั้งปวง

- ขั้นต้น ที่ได้นี้ก็เป็นปกติจิต จิตมีความปกติ
- ขั้นกลาง จิตก็ทรงอยู่โดยมรรค
- ขั้นสุด จิตก็ถึงความตัด จนถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้(คือหมดสิ้นทุกข์แล้ว)


บันทึกสืบต่อการกรรมฐาน

...ครั้นแล้วเมื่อข้าพเจ้าเจริญกรรมฐานตามที่หลวงปู่บุญกู้ พระอาจารย์ธัมมะวังโส และพระครูนกแก้วสอน ประกอบกับนั่งสมาธิฟังเทศนาของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย หลวงตาศิริ อินทรสิริ และสิ่งที่หลวงพ่อเสถียรสอนโดยตรงให้แก่ข้าพเจ้า จิตอยู่อย่างนี้ตามนี้ ด้วยความเห็นดั่งในขั้นต้น ขั้นกลาง และที่สุดอย่างนั้น แล้วจึงเจริญเข้าสู่..พระธัมมจักกัปปะวัตนะสูตร , อนัตตลักขณะสูตร , อาทิตตปริยายสูตร ตลอดจนอานาปานสติ กสิน พรหมวิหาร ๔ สืบต่อในมหาสติปัฏฐาน ๔ ทำให้สิ่งที่ไม่เคยเข้าใจเลยมาตลอดชีวิต ไม่เคยมี ไม่เคยได้ยิน ได้ฟังจากใคร ก็บังเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าตามแต่อธิบายบางส่วนในพระสูตรนั้นไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังรู้อย่างงูๆปลาๆ อย่างปุถุชนคนโง่เขลากิเลสหนายู่ ซึ่งการคิดอนุมานเอามีมากกว่าเห็นสภาพจริง จึงยังมีของปลอมอยู่มาก เพราะยังไม่สามารถแทงตลอด แ ต่ก็ทำให้รู้ได้ว่า ธรรมของสมเด็จพระบรมศาสดานี้เป็นของจริง สามารถรับรู้และเห็น พร้อมเข้าถึงได้จริง ไม่จำกัดกาล เป็นอกาลิโก ควรแก่โอปะนะยิโก คือน้อมมาสู่ตน ดังนี้...


???? นั่งภาวนาก็หวังเอาจิต จิตคือ ผู้รู้ จิตคือ พุทโธ
???? อยากได้จิตก็จับเอาลมหายใจไปก่อน เพราะจิตอยู่ในลมหายใจ ผู้รู้ คือ พุทโธ คือ จิต
???? เอาพุทโธ มาทำไม? เอามาเป็นสรณะที่พึ่ง เมื่อเห็นพุทโธแล้ว ก็เอาสติไปจับเอาพุทโธ
???? เมื่อลมหายใจหาย จะปรากฎเห็นตัวพุทโธ ขึ้นมา พุทโธ คือ ผู้รู้ ไม่มีตัวตน มีแต่ความรู้ รู้อยู่เฉยๆ นั่นแหละ คือ 'จิต' ของเรา
???? แล้วก็เอาสติ ไปจับเอาจิต /พุทโธ /ผู้รู้ สติก็ไปรับรู้อยู่กับผู้รู้ อยู่อย่างนั้น เป็นอันว่า เราได้ พุทโธ เห็นพุทโธ ได้จิตแล้ว

???? หลวงตาศิริ อินฺทสิริ ????

????????????????????????????????

???? .."พุทโธ คือ ผู้รู้ อาศัยอยู่ที่ลมหายใจ"

????.."จิต คือ ผู้รู้ จิตของเรารู้อยู่ไหน จิตก็อยู่ที่นั่น"

????.."โลกบังธรรม"..
????.."อารมณ์บังจิต"..
????.."สมมติบังวิมุติ"..
????.."ขันธ์ ๕ บังพระนิพพาน"..

????.."เพิกโลกออกจากธรรม"..
????.."เพิกอารมณ์ ..ออกจากจิต"..
????.."เพิกสมมติ ..ออกจากวิมุตติ"..
????.."เพิกขันธ์ ๕ ..เจอพระนิพพาน"..

???? ..หลวงตาศิริ อินทสิริ.. ????
..วัดถ้ำผาแดงผานิมิต ต. บัวเงิน
..อ. น้ำพอง จ. ขอนแก่น

????????????????????????????????

    ????..สมมติกาย..????

????ทางเข้าถึงต้องอาศัยอุปจารฌาณ ถึงปฐมฌาณ เมื่อมีความแน่วแน่ดีแล้วบังคับได้ ให้ทำการอธิษฐานจิตขึ้นมาพิจารณา(อย่างนี้ยังเป็นการกำหนดหมายรู้กายในกาย ของแท้เมื่อขันธ์แยกจึงเห็นจริงไม่ต้องกำหนด แต่เข้าไปรู้จริงด้วยตัวของมันเอง จิตทำธัมมะวิจยะก็ทำของมันเองเมื่อมรรครวมเข้าสู่สังขารุเปกขา)
????ม้างกายอาการ ๓๒ ประการ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ที่เราหลงออกมาดูว่า..
????เส้นผม..เป็นเราไหม
????เส้นผม..เป็นตัวตนของเราไหม
????เส้นผม..มีเราไหม
????มีเราใน..เส้นผมไหม

????ย่อมเห็นชัดว่า..
????เส้นผม..ไม่ใช่เรา
????เราไม่ใช่..เส้นผม
????ในเส้นผม..ไม่มีเรา
????ไม่มีเราใน..เส้นผม

????เมื่อม้างกายเอาอาการ ๓๒ ประการ มากองๆรวมกันไว้ ก็จะรู้ว่าเราไม่ใช่สิ่งนั้น สิ่งนั้นไม่ใช่เรา ไม่มีเราในนั้น ในนั้นไม่มีเรา นั่นไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา

???? หลวงพ่อเสถียร ธิระญาโณ ????

????????????????????????????????

????????????????????????????????

      ????.. เวทนา ..????

????..เวทนา คือ ความรู้สึก
????..ธรรมชาติอันบุคคลรู้สึกได้
????ละราคานุสัย ในสุขเวทนา
????ละปฏิฆานุสัย ในทุกขเวทนา
????ละอวิชชานุสัย ในอทุกขมสุขเวทนา
     ➖➖➖➖➖➖➖➖
????สุขโสมนัสอันใดเกิดขึ้น
????เพราะอาศัยเวทนา
????นั้นคือรสอร่อยของเวทนา
????เวทนา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์
????มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
????นั้นคือโทษเลวทรามของเวทนา
????การกำจัด การละเสีย
????ซึ่งฉันทราคะในเวทนา
????นั้นคืออุบาย ..
????เป็นเครื่องออกจากเวทนา..

 ???? อริยสัจจากพระโอษส์ ????

????????????????????????????

   ???? สมมติเวทนาทางกาย ????

????เมื่อเราม้างกายออก เห็นธาตุในอาการ ๓๒ เห็นในธาตุ ๕ มีใจครอง
ธาตุภายในมีอย่างไร ภายนอกก็อย่างนั้น คือ มีแต่แข็ง อ่อน เอิบอาบ เกาะกุมกัน เคลื่อนไหว พอง หย่อน ร้อน เย็น อบอุ่น เผาไหม้ ช่องว่าง ไม่มีเกินนี้เลย
????แต่เพราะใจเราสำคัญมั่นหมายไว้ต่ออาการนั้นๆว่า สุข ทุกข์ เฉยๆ ตามความยินดี ยินร้าย กลางๆ จึงยึดหลงไป
????เมื่อรู้ดังนี้จะเห็นสมมติเวทนา คือเหตุแห่งกามคุณ ๕ ไม่ยึดสิ่งที่ใจรู้ เพื่อละเวทนา, กามคุณ ๕
????สุขอันเนื่องด้วยใจ พุทโธ คือ สุขที่แท้จริง

????????????????????????????????????????

???? สมมติเวทนาทางใจ ????

????จิตรู้สิ่งใดสิ่งนั้นเป็นสมมติทั้งหมด
????จะสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉยๆก็ดี มันเป็นแค่ความรู้สึก
????จะชอบ จะชัง กลางๆก็ดี มันก็แค่ความสำคัญมั่นหมายในอารมณ์
????ทั้งหมดล้วนเป็นแค่สมมติธัมมารมณ์ ที่กิเลสวางไว้ล่อจิตทางมโนทวาร ให้จิตเราหลงตามเท่านั้น
????ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ ก็ไม่ยึดสมมติ
????ไม่ใส่ใจให้ความสำคัญ สักแต่ว่ารู้แล้วปล่อยมันไป
????ของแท้มีแค่ลมหายใจเรานี้เท่านั้น
????อย่า..ทิ้ง "พุทโธ"
????อย่า..ทิ้ง "ลมหายใจ"

  ???? ..หลวงพ่อเสียร ธิระญาโน.. ????

????????????????????????????????

     ????..สมมติจิต..????

????จิตรู้สิ่งใดสิ่งนั้นเป็นสมมติทั้งหมด
???? รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสกาย สัมผัสใจ ความรู้สึกนึกคิดในรัก ใคร่ อยาก โลภ โกรธ เกลียด ชัง กลัว หลง
????ทั้งหมดล้วนเป็นแค่สมมติธัมมารมณ์ที่กิเลสวางไว้ล่อจิตทางมโนทวารให้หลงตามเท่านั้น ของจริงมันดับไปแล้ว แต่ใจเราเอามาตรึกนึก ด้วยหมายรู้ แล้วคิดสืบต่อเรื่องราวตามความจำได้หมายรู้ทำให้เหมือนมันเพิ่งเกิดขึ้น
????ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้..ก็ไม่ยึดสมมติ
????ลมหายใจนี้ของจริง
????อย่าทิ้ง "พุทโธ"..อย่าทิ้ง "ลมหายใจ"

???? หลวงพ่อเสถียร ธิระญาโน ????

    ???? ธัมมานุปัสสนา ????

????ธรรมชาตินั้น ย่อมสลาย
????..เหตุนั้นจึงเรียกว่า รูป.
????ธรรมชาตินั้น อันบุคคลรู้สึกได้
????..เหตุนั้นจึงเรียกว่า เวทนา.
????ธรรมชาตินั้น ย่อมหมายรู้ได้พร้อม
????..เหตุนั้นจึงเรียกว่า สัญญา.
????ธรรมชาตินั้น ย่อมปรุงแต่งให้เป็นของปรุงแต่ง
????..เหตุนั้นจึงเรียกว่า สังขาร
????ธรรมชาตินั้น ย่อมรู้แจ้ง
????..เหตุนันจึงเรียกว่า วิญญาณ.

พิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือ ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ใช่ตัวตน มีสติตั้งมั่นอยู่ ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักแต่ว่ารู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึก

????????????????????????????????

  ???? ขันธ์ ๕ ????

????รูป อาศัยธาตุที่พ่อแม่ให้มา ให้จิตเราอาศัยชั่วคราว แล้วก็สลายไป
????เวทนา มันจะสุข จะทุกข์ จะเฉย มันก็ไม่เคยมีเราในนั้น ไม่เป็นไปเพราะเรา
????สัญญา มันจะจำได้หมายรู้สิ่งใด มันไม่มีเราในนั้นเลย สิ่งที่จำก็ไม่มีปัจจุบันที่เป็นเราเลย
????สังขาร มันจะปรุงแต่งจิตอารมณ์ใด นึกคิดสิ่งใด มันก็ไม่มีเราในสิ่งที่ปรุงแต่งนึกคิดนั้นเลย
????วิญญาณ มันรู้ๆทุกอย่าง แต่สิ่งที่มันรู้ไม่มีเราในนั้นเลย

ถ้า ขันธ์ ๕ เป็นเรา เมื่อผมร่วง เวทนา,.,.ฯ ดับ เราก็ตายตามมันไปแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ จึงมีไว้แค่ให้ระลึกรู้

    ???? นิวรณ์ ๕ ????

๑.) กามฉันทะ ให้ภาวนา อสุภะสัญญา /เห็นภายในภายนอก

๒.) พยาบาท ให้ภาวนา อัปปมัญญา ๔ เห็นเสมอด้วยอุปาทินกะสังขาร

๓.) ถีนมิทธะ ให้ภาวนา อนุสสติ ๗
????ในสมาธิ : อาโลกสัญญา+สัมมัปปธาน ๔

๔.) อุทธัจจะกุกกุจจะ ให้ภาวนา จงกรมธาตุ ยืน (ปฐวี) /ยกส้นขึ้น (เตโช) /เคลื่อนเท้า หน้า หลัง ข้าง (วาโย) /หย่อนเท้าลง (อาโป) /ยืน (ปฐวี)
????ในสมาธิ : อานาปานสติ /อุปสมานุสสติ อุเบกขามีมากใจ /เมตตาตนเอง+อานาปานสติ ไม่ยึดสมมติความคิด ทำใจว่าง โล่ง ผ่อนคลาย ถึงความไม่มี ความสละคืน

๕.) วิจิกิจฉา ให้ภาวนา ธาตุ ๔, ๖

????????????????????????????????




    ...ทั้งหมดนี้ คือ ธรรมของพระอริยะสาวกผู้ปฏิบัติตรงแล้วของพระพุทธเจ้า พระบรมศาสดา ที่ปุถุชนเข้าไปรู้เห็นได้ ถึงได้ เมื่อถึง จิตจะทำความรู้ด้วยตัวมันเองว่า อีกประมาณเท่าไหร่หนอเมื่อเข้าสู่สภาวะอีกจะบรรลุธรรมใดธรรมกหนึ่ง หรือ เมื่อยังธรรมใดให้เกิดขึ้นจะเข้าถึงธรรมนั้นโดยแท้
- หากเป็นโลกกียะมันก็แปรปรวนกลับกรอก แล้วก็ดับใด
- หากเป็นโลกุตรจะไม่แปรปรวรกลับกรอก

    ...วิธีการข่มใจไว้(ทมะ) การปักใจไว้(ขันติ) การมีใจปล่อย(ปัสสัทธิ) การมีใจเบาโล่ง(ปิติ) การมีใจตั้งมั่นรู้ในภายในมีกำลังอยู่ได้ด้วยตัวเองไม่กวัดแกว่ง(สมาธิ) การละใจ(อุเบกขา) การมีใจสละคืน(จาคะ)..
- ละปฏิฆะอาศัยฉันทะ เมตตาเจโตวิมุตติ ทาน จาคานุสสติ ความเสมอด้วยขันธ์ ๕ ความเสมอด้วยสังขารปรุงแต่งจิต ความเสมอด้วยกิเลส ความเสมอด้วยวิญญาณขันธ์ ความเสมอด้วยจิต เห็นอนิจจสัญญา อนัตตตสัญญา ความเสมอด้วยธาตุ ๖
- ละฉันทะ อาศัยธัมมะวิจยะ ม้างกาย ม้างจิต เห็นอนิจจสัญญา อนัตตสัญญา อสุภะสัญญา เห็นธาตุ ๖ ถึงความอิ่ม
- ละอุเบกขาที่ไม่ควรเสพย์ อาศัยจิต อาศัยธรรม(ธรรม คือ ธัมมารมณ์ ความรู้แจ้งธัมมารมณ์ รู้ธัมมารมณ์ที่ควรเสพย์) อนิจจสัญญา อนัตตสัญา หมายมั่นครอบครองเป็นทุกข์

- สุญญตา คือเห็นโลกเป็นของว่าง ..ที่ว่าว่างนี้..คือว่างจากความเป็นตัวตนบุคคลใด เห็นธรรมชาติของโลกที่มีแต่ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน เหนือการควบคุม เป็นทุกข์ เป็นธรรมธาตุ ไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเกินนี้ มีแต่ความว่าง ความไม่มี ความสละคืน
- นี้เรียกการเข้าถึงความไม่มีนั่นเอง ซึ่งมีแต่พระอริยะสาวกเท่านั้นที่ทำได้





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มิถุนายน 05, 2022, 10:55:19 AM
กามเกิดมาจากอะไร เรารู้เห็นอะไร -> เราเห็นแล้วนึกถึงอะไร -> เราคิดยังไงกับสิ่งที่เห็นนั้น -> เราให้ความสำคัญใจไว้ยังไงกับสิ่งที่รู้เห็นนั้น -> เราชอบใจตรงไหน -> ตรางตรึงใจสิ่งใด -> เพราะอะไร -> เราจะถอนมันยังไง

การถอด คือ ตามรู้ความรู้สึก ตามรู้อาการ หรือ พิจารณาอสุภะต่อสิ่งที่เห็นนั้น หรือรู้ว่าราคะเกิดแล้วเปลี่ยนอารมณ์ หรือข่มใจไว้ หรือกำหนดรู้ทุกข์ หรือมองเป็นอนิจจัง หรือมองเป็นอนัตตา


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มิถุนายน 05, 2022, 11:07:27 AM

คาถากันราคะ

ข้าพเจ้าโชคดีที่ครูผู้เป็นพระอริยะสาวกได้สอนซึ่งการละราคะไว้ให้ ซึ่งข้าพเจ้าทำได้ตามสติกำลังของปุถุชน โดยรู้ในใจว่า่หากเข้าถึงที่พระอาจารย์ท่านสอนจะเข้าถึงธรรมใดธรมหนึ่งได้อย่างแน่นอนดังนี้..

การละราคะ เป็น คุณธรรมระดับ พระอนาคามี ดังนั้นถ้าจะให้ถูกต้อง ควรต้องไปทำคุณสมบัติของพระโสดาบันมาให้ได้ก่อน อยากรู้ว่าได้เป็นพระโสดาบันหรือยัง ก็ให้อธิษฐาน เข้าผลสมาบัติดู ถ้าเข้าไม่ได้ ก็แสดงว่ายังไม่ได้เป็น ถ้าเข้าได้ ก็จะทรงผลสมาบัติด้วย สุญญตาสมาบัติเป็นเวลา 24 -30 ชม. ด้วยอำนาจ ผลสมาบัติ ซึ่ง ปัญญาวิมุตติ ก็ต้องทำได้แบบนี้

ดังนั้นคาถากันราคะ สำหรับบุคคลที่ยังไม่เป็น พระโสดาบัน ก็คือ

เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ สลับกลับไปมา พร้อมนิมิต

เมื่อนิมิตเกิดขึ้นแล้ว ก็ให้ภาวนาว่า เกสา อนิจจัง 3 วัน ทุกอย่าง 3 วัน รวมเบ็ดเสร็จ ก็ 15 วัน ถ้าได้จริง ๆ ก็ละราคะได้จริง

การละราคะเริ่มจากเบาไปหาหนัก สำหรับบุคคลที่ไม่ใช่พระ

1. เมื่อมีความกำหนัด ก็ให้พิจารณา ถึงความเป็นปฏิกูล ในกายตนเอง หากยังละไม่ได้ ก็ให้นึกถึงคุณที่สามารถสะกด ความกำหนัดได้เป็นเวลา ในขณะที่พิจารณาธรรม เช่น ละได้ 1 ชม 1 วัน 1 สัปดาห์ อย่างนี้เป็นต้น ก็จะค่อยเห็นคุณไปเรื่อย ๆ

2. เมื่อมีความกำหนัด สามารถละได้ด้วยการข่มไว้ ได้นาน ก็ให้ละด้วยอำนาจสมาบัติ ชื่อว่า การละอย่างชั่วคราว อำนาจสมาบัติ ทำให้จิตว่าง จากราคะ ( นิวรณ์ ) ได้ ตามกำหนดสมาบัติ

3.เมื่อมีความกำหนด ให้กำหนดวิปัสสนาด้วยอำนาจญาณแห่ง พระสกทาคามี จะเป็นการละถาวร เลย เป็นพระอนาคามี

4.ความกำหนัดไม่มีในพระอนาคามี แล้ว ดังนั้นการละความกำหนัดหมดแค่ พระสกทาคามี


ข้าพเจ้าได้ขอครูโพสท์เพื่อบันทึกไว้ทบทวนแล้วโดยส่วนนี้ผู้อื่นดูได้ เพราะส่วนนี้เป็นส่วนชี้แนะสั่งสอนพื้นฐานทั่วไป ไม่ใช่ส่วนที่ลงลึกในพระกรรมฐาน


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มิถุนายน 13, 2022, 07:12:58 PM
โรคซึมเศร้า

..สมมติจิต..

จิตรู้สิ่งใดสิ่งนั้นเป็นสมมติทั้งหมด
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสกาย สัมผัสใจ ความรู้สึกนึกคิดในรัก ใคร่ อยาก โลภ โกรธ เกลียด ชัง กลัว หลง
ทั้งหมดล้วนเป็นแค่สมมติธัมมารมณ์ที่กิเลสวางไว้ล่อจิตทางมโนทวารให้หลงตามเท่านั้น ของจริงมันดับไปแล้ว แต่ใจเราเอามาตรึกนึก ด้วยหมายรู้ แล้วคิดสืบต่อเรื่องราวตามความจำได้หมายรู้ทำให้เหมือนมันเพิ่งเกิดขึ้น
ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้..ก็ไม่ยึดสมมติ
ลมหายใจนี้ของจริง
อย่าทิ้ง "พุทโธ"..อย่าทิ้ง "ลมหายใจ"

หลวงพ่อเสถียร ธิระญาโน

------------------------------------------------------

บันทึกกรรมฐาน ปี 64 ก่อนเข้าพรรษา เมตตาตนเอง+อานาปานสติ+จาคะ

..ลมหายใจนี้ไม่มีทุกข์ ลมหายใจนี้ไม่มีโทษ ลมหายใจนี้เป็นที่สบาย
..แล้วก็เอาใจมาจับรู้ลมหายใจ

..หายใจเข้า ระลึกถึงความว่าง โล่ง เบาสบาย เอาใจลอยขึ้นตามลมหายใจเข้า ลอยอยู่เหนืออารมณ์ความรู้สึกนึกคิด อัดอั้นกายใจทั้งปวง
..หายใจออก ระลึกถึงความปลดปล่อยกายใจของเราออกจากทุกสิ่งทุกอย่าง มันเบา สบาย เย็นใจ ผ่อนคลายๆ

หายใจเข้าจิตเบา โล่ง สบาย เย็นใจ ไม่มีเรื่องเครียด
หายใจออก เบาสบาย เย็นใจ ผ่อนคลาย ผ่อนคลาย

หายใจเข้า จิตเบา โล่ง สบาย เย็นใจ
หายใจออก ผ่อนคลาย ผ่อนคลาย


------------------------------------------------------

 
โรคซึมเศร้า

เกิดจากการย้ำคิดย้ำทำกับความผิดหวังซ้ำๆ เศร้า เหงา กลัว

.. เพราะความเอาใจเข้ายึดครองสิ่งที่อยู่เหนือการควบคลุม ไม่เที่ยง ไม่คงอยู่ยั่งยืนนาน เอาใจเข้ายึดของครองชั่วคราวที่อยู่เหนือการควบคุม ทำให้ใจเศร้าหมอง เกิดความหดหู่ ซึมเศร้า  ไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมรับอารมณ์ ปลงใจจากเหตุการณ์ หรือ ไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ยอมรับสิ่งที่เป็น ไม่ยอมรับว่ามันอยู่เหนือการควบคุม จิตจึงกอดยึดไว้ ปล่อย ละ วาง สละคืนไม่ได้ จนเกิดเป็นความปกติเคยชินของจิต
.. ทำให้เมื่อเกิดอารมณ์ความรู้สึกที่จรมา สังขารปรุงแต่งจิตที่เกิดขึ้นให้ใจรู้(ธัมมารมณ์) แล้วยึดเสพย์ หรือกระทบสัมผัสสิ่งไรๆที่ทำความจดจำสำคัญมั่นหมายผูกขึ้นไว้กับจิตใต้สำนึกที่หดหู่ไม่รับอารมณ์ จึงเกิดอาการซึมเศร้า ทำให้เกิดเหตุการร้ายๆขึ้น เช่น การทำร้ายตัวเอง การฆ่าตัวตาย เป็นต้น
.. โรคซึมเศร้า และไบโพล่า ถือเป็นโรคทางจิตในทางการแพทย์ โดยในส่วนของพระพุทธศาสนานี้ ถือเป็นกิเลสที่นอนเนื่องใจจิตในสันดาร เรียกว่านิวรณ์ ซึ่งมีอยู่ ๕ อย่าง จำแนกได้ 10 เป็นสังโยชน์ 10 เมื่อจะแก้ ก็แก้ได้ด้วยโพชฌงค์ ๗ จำแนกได้ เป็น โพชฌงค์ ๑๔
 
(๑)  ถีนมิทธะ คือความหดหู่ ความง่วงเหงาหาวนอน เป็นหนึ่งในนิวรณ์ ๕

ถีนมิทธนิวรณ์ เป็นไฉน?

ถีนมิทธะนั้น แยกเป็นถีนะอย่างหนึ่ง มิทธะอย่างหนึ่ง.

ถีนะ เป็นไฉน?

ความไม่สมประกอบแห่งจิต ความไม่ควรแก่การงานแห่งจิต ความท้อแท้ ความถดถอย ความหดหู่ ความห่อเหี่ยว อาการที่หดหู่ ภาวะที่หดหู่ ความซบเซา อาการที่ซบเซา ซึมเศร้า ภาวะที่ซบเซาแห่งจิต อันใด นี้เรียกว่า ถีนะ.

มิทธะ เป็นไฉน?

ความไม่สมประกอบแห่งนามกาย ความไม่ควรแก่งานแห่งนามกาย ความปกคลุม ความหุ้มห่อ ความปิดบังไว้ภายใน ความง่วงเหงา ความหาวนอน ความโงกง่วง ความหาวนอน อาการที่หาวนอน ภาวะที่หาวนอน อันใด นี้เรียกว่า มิทธะ

ถีนมิทธะ เกิดจาก อรติ คือ ความไม่ยินดี ความเกียจคร้าน และความเมาอาหาร คืออิ่มเกินไป แก้ได้ด้วยอนุสติ คือระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย เป็นต้น
 

(๒)  เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะเป็นเหตุให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ เหมือนความไม่ยินดี ความเกียจคร้าน ความบิดขี้เกียจ ความเมาอาหาร และความที่จิตหดหู่

เมื่อบุคคลมีจิตหดหู่ ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ ฯ

เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะเป็นเหตุให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น หรือถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว อันบุคคลย่อมละได้ เหมือนความริเริ่ม ความพากเพียร ความบากบั่น

เมื่อบุคคลปรารภความเพียรแล้ว ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว อันบุคคลย่อมละได้ ฯ

(๓)  สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น มิใช่กาลเพื่อเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ เพราะจิตที่หดหู่นั้น ยากที่จะให้ตั้งขึ้นได้ด้วยธรรมเหล่านั้น

สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น เป็นกาลเพื่อเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์ เพราะจิตหดหู่ จิตที่หดหู่นั้น ให้ตั้งขึ้นได้ง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น

สติ มีประโยชน์ในที่ทั้งปวง
 

ถีนมิทธะ เป็นหนึ่งในนิวรณ์ 5 อันเป็นสิ่งกั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม ทำให้จิตเศร้าหมอง และทำปัญญาให้อ่อนกำลัง ซึ่งมีห้าอย่าง คือ กามฉันทะ, พยาบาท, ถีนมิทธะ, อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา


ทีนี้เราจะเอาธัมมะวิจยะ-การวินิจฉัยธรรมใดแก้ จะเอาวิริยะ-ความเพียรใดแก้ จะเอาปิติตความอิ่มใจใดแก้ไขรักษา

ทางแก้ให้ทำดังนี้

1. ให้เรามีสติเป็นเบื้องหน้า แล้วทำธัมมะวิจยะ คือ เอาใจวินิจฉัยเหตุว่า

..อาการที่จิตไม่ยอมรับอารมณ์ หดหู่ ซึมเศร้านี้ เกิดมาแต่ความไม่พอใจยินดีใส่สิ่งใด
..เพราะสิ่งใดเป็นเหตุ สิ่งใดเป็นผล
..เราเอาใจเข้ายึดครองสิ่งนั้นไว้อย่างไร คาดหวังไว้อย่างไรกับมัน
..เมื่อพิจารณารู้ต้นเหตุของมันแล้ว ก็ให้เราพึงรู้ว่า..สิ่งนั้นอยู่เหนือการควบคุมของเรา ไม่ใช่ตัวตน บังคับไม่ได้ ทุกสสิ่งทุกอย่างไม่อาจได้หรือเป็นไปดั่งใจเราปารถนาทั้งหมดทุกอย่าง สิ่งเหล่านั้นอยู่เหนือการควบคุรุมบังคับของเรา ไม่ใช่ตัวตน มันเป็นเพียงของชั่วคราว ถึงเวลาแล้วก็ดับไป พ้นไป พรัดพราก สูญไป ไม่ควรเอาใจเข้ายึดครอง ไม่ควรติดใจข้องแวะมัน ไม่ควรใส่ใจให้ความสำคัญจนเกินความจำเป็น
..หากเเราเอาใจไปผูกติดใจข้องแวะกับมันร้อย ก็ทุกข์ร้อย หากเราไม่เอาใจไปผูกติดข้องแวะกับมันเลย..ก็ไม่ทุกข์เลย
..สุข และทุกข์นี้ของเรา ไม่ได้ไปเกิดกับใคร สิ่งใด บุคคลใด หากแต่เกิดจากการวางใจของเรานี้เอง คือ หากเราสำคัญมั่นหมายใจกับสิ่งใดมากก็ทุกข์มาก หากเราสำคัญมั่นหมายใจกับสิ่งใดน้อยก็ทุกข์น้อย
..ดังนั้น อย่าเอาความสุขสำเร็จของตนไปผูกขึ้นไว้กับผู้อื่น หรือสิ่งอื่นใด เพราะมันหาประโยชน์สุขใดๆไม่ได้นอกจากทุกข์
..พึงถอนใจที่ยึดกอดมันอยู่นั้นออกไปเสีย

------------------------------------------------------

2. ให้​​​​​ทำ เมตตาตนเอง + อานาปานสติ + จาคะ เพื่อเอาสติตั้งมั่นกับภายในใจตนเอง จิตก็จะมีกำลังตั้งขึ้น เป็นสร้างความสุขให้กายใจตนเอง มีความเพียรดำรงมั่นอยู่ด้วยใจไม่หวั่นไหวไปกับธัมมารมณ์ หรือ ไม่หวั่นไหวไปกับความตรึกนึกถึงสิ่งอื่นใดที่จรมาให้ใจเสพย์ แล้วคิดสืบต่อสิ่งที่นึกนั้นจนเกิดเป็นเรื่องราวให้ใจเศร้าหมอง นอกจากการทำไว้ในใจถึงความสละคืนใจที่เศร้าหมองทั้งปวงของเรา กล่าวคือ
๑.) เป็นการเพียงระวังความคิดเที่ทำให้ใจศร้าหมองที่ยังไม่เกิดขึ้น
๒.) เป็นการเพียรละความคิดที่ทำให้ใจเศร้าหมองที่เกิดขึ้นแล้ว
๓.) เป็นการเพียรทำใจให้เกิดความแจ่มใสเบิกบานขึ้นมา และฉลาดในการเลือกเสพย์อารมณ์ความรู้สึกนึกคิด
๔.) เป็นการประครองคงความแจ่มใสเบิกบานของใจเอาไว้ ไม่ให้เสื่อม

***วิธีเจริญ สติ และ สมาธิ ใดๆก็ตาม***
1. แรกเริ่มเลยต้องทำให้ใจเป็นกุศลก่อน คือ มีใจปราศจากความคิดกิเลสเครื่องเร่าร้อนเป็นไฟสุมใจ ใจจะเบาสบายไม่ติดใจข้องแวะโลก คิดแต่สิ่งดีงาม ไม่หน่วงตรึงจิต
2. เมื่อใจเป็นกุศลก็จะเกิดความเบา โล่ง เย็นใจ ไม่เร่าร้อน ไม่วอกแวก ไม่คิดมาก จิตใจก็จะผ่องใส
3. เมื่อจิตใจเราผ่องใสก็จะเหมาะแก่การทำสมาธิ

เมื่อรู้เงื่อนไขแล้วก็ให้เจริญปฏิบัติดังนี้

..ทางแก้ไข คือ ยอมรับความจริง เมตตาให้อภัยตนเอง ทำใจให้ผ่อนคลาย ดังนี้

..ยอมรับความจริงกับทุกเรื่องที่เกิดขึ้น หายใจเข้า
..ให้อภัยตนเอง หายใจออก

..อภัยให้ตนเอง หายใจเข้า
..อภัยให้คนเอง หายใจออก

..ทำใจถึงความว่าง โล่ง
หายใจเข้า ใจเราเบาลอยขึ้นตามลมหายใจเข้าพ้นจากความคิดทั้งปวง
..ทำใจว่าเราปลดปล่อยตนเองจากพันธนาการทั้งปวง.  หายใจออก  จิตเบาโล่ง สบาย ผ่อนคลาย

..หายใจเข้า ว่าง โล่ง เย็นใจ
..หายใจออก ปล่อย เบาใจ ผ่อนคลายๆ


** ทำไปเรื่อยๆจนจิตนิ่ง ถ้ายังไม่นิ่งก็ให้ทำสะสมเหตุไปเรื่อๆ จนถึงจุดๆนึงจะเกิดความอิ่มใจ สงบเบาเพราะใจปล่อย จิตเป็นสุข มีจิตตั้งมั่น มีสติคลุมอยู่ทุกเมื่อ **

------------------------------------------------------

3. เจริญมหาสติปัฏฐาน ๔ เพื่อช่วยให้รู้เท่าทันกายใจอยู่ตลอดเวลาไม่ให้เผลอไผล มีผลสืบต่อให้จิตเข้าถึงฌาณรู้เห็นตามจริงในธรรมทั้งปวง
กล่าวโดยย่อ คือ..

ก. รู้เท่าทันกายและใจ

ข. จำแนกจดจำให้มีสติตั้งมั่นขึ้นพิจารณาได้ดังนี้คือ
1. รู้ลมหายใจ หรือ พุทโธ + สัมปะชัญญะ
2. รู้สมมติกาย
3. รู้สมมติใจ

ค. มหาสติปัฏฐานสูตร จำแนกได้ ๔ ประการ คือ
1. กายานุปัสสนา
2. เวทนานุปัสสนา
3. จิตตานุปัสสนา
4. ธัมมานุปัสสนา

1. ก่อนหน้านี้ได้รู้วิธีทำ เมตตา + อานาปานสติ + จาคะ ไปแล้ว เมื่อเราจะเจริญ เราก็เอากรรมฐานกองเดิมนี้แหละทำให้สติตั้งมั่น ไม่วอกแวกอ่อนไหวง่าย รู้ยับยั้งช่างใจ แยกแยะพิจารณาได้ด้วยตัวเอง ไม่อ่อนไหวเอนเอียงไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอันเกิดแต่สัมผัสเหล่าใดที่มากระทบกายใจตน

2. เมื่อได้ดั่งข้อที่ 1 นั่นหมายถึง สติและสัมปะชัญญะเรามีกำลังมากขึ้นแล้ว ทำให้มีจิตั้งมั่นอยู่ด้วยความรู้ตัวทั่วพร้อม แล้วจึงค่อยพิจารณาลง
- สมมติกาย(อาการ ๓๒, ธาตุ ๔, ธาตุ ๖, ป่าช้า ๙, อสุภะ ๑๐, ฌาณสมาธิ)
- สมมติใจ(เวทนา(สมมติเวทนาทางกาย สมมติเวทนาทางใจ), จิต(สมมติธัมมารมณ์), ธรรม(นิวรณ์ ๕, ขันรธ์ ๕, อริยะสัจ ๔))

------------------------------------------------------


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มิถุนายน 13, 2022, 07:20:58 PM
กุศลจิตเป็นเหตุให้เกิดสมาธิได้ง่าย

*..การจะเข้าสมาธิได้นั้น ต้องอาศัยสุขในกุศลเป็นเหตุให้ถึงสมาธิ*

 

*..ที่กล่าวเช่นนั้น ด้วยเพราะความสุข มีอาการที่แช่มชื่นรื่นรมย์* ทำให้เบาใจ ใจปล่อย ใจสบาย ไม่พะว้าพะวง ไม่ยึดกอด ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่หวาดกลัว ไม่โกรธแค้น ไม่ชัง ไม่หลง ไม่หมกมุ่น ดังนี้แล้วจิตจะเข้าสมาธิง่าย เพราะจิตไม่ยึดเกาะธัมมารมณ์ที่รายล้อมจิต ทำให้จิตนี้ผ่องใส แช่มชื่น รื่นรมย์ เบา สบาย ไม่หน่วงตรึงจิต

 

*..แล้วเราจะไปหาสุขแบบนั้นได้จากที่ไหนกันเล่า สุขแบบนั้นเกิดมีได้ด้วยใจที่เป็นกุศล* กุศล แปลว่า ฉลาด คือ จิตเรานี้ฉลาด ฉลาดในธรรม ฉลาดเลือกเสพย์ธัมมารมณ์

*..ดังนี้ กุศลจิต จึงทำให้ใจเบา สบาย เย็นใจ มีใจเอื้อเฟื้อ เว้นจากความเบียดเบียน ไม่ติดใจข้องแวะโลก _ทำให้สติตั้งขึ้นง่าย_ * *..เป็นเหตุให้ใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่สะดุ้งหวาดกลัว ไม่พะวง ไม่สั่นไหว* ไม่ยึดกอดสิ่งใดๆ ไม่อ่อนไหวตามความรู้สึกที่ใจรู้ไปทั่วจนใจไม่มีกำลัง *จิตอยู่โดยปราศจากรัก ชัง กลัว หลง ไม่หน่วงตรึงจิต* *_..นี่คือผลที่ได้เฉพาะหน้าในจิตที่เป็นกุศลตัวเดียวเท่านั้น_*

 

*จิตที่เป็นกุศลนี้..สืบต่อให้ใจแจ่มใส เบิกบาน อันเรียกว่าจิตปราโมทย์*

 

*จิตปราโมทย์นี้..สืบต่อถึงความปิติ อิ่มเอมใจ อิ่มใจ*

 

*- ปิติในขั้นต้น* คือ อิ่มใจ ไม่โหยหา อิ่มเต็มพอ รู้จักพอ

 

*- ปิติในขั้นกลาง และขั้นสุด คือ ปิติ ทั้ง ๕ ได้แก่..*

*๑.) ขุททกาปีติ* ปีติเล็กน้อย พอขนชูชันน้ำตาไหล

*๒.) ขณิกาปีติ* ปีติชั่วขณะ ทำให้รู้สึกแปลบๆเป็นขณะๆ ดุจฟ้าแลบ เสียวซ่านถึงรูขุมขน

*๓.) โอกกันติกาปีติ* ปีติเป็นระลอก หรือปีติเป็นพักๆ ทำให้รู้สึกซู่ลงมาๆ ในกายดุจคลื่นซัดต้องฝั่ง

*๔.) อุพเพคาปีติ* หรือ อุพเพงคาปีติ ปีติโลดลอย เป็นอย่างแรง ให้รู้สึกใจฟู แสดงอาการหรือทำการบางอย่างโดยมิได้ตั้งใจ เช่น เปล่งอุทาน เป็นต้น หรือให้รู้สึกตัวเบา เหมือนลอยขึ้นไปในอากาศ

*๕.) ผรณาปีติ* ปีติซาบซ่าน ให้รู้สึกเย็นซ่านเอิบอาบไปทั่วสรรพางค์ ปีติที่ประกอบกับสมาธิ ท่านมุ่งเอาข้อนี้

 

*ขุททกาปีติและขณิกาปีติ* สามารถเข้าถึงได้ด้วยศรัทธา *โอกกันติกาปีติ* นั้นถ้ามีมากย่อมทำอุปจารสมาธิให้เกิดขึ้น *อุพเพคาปีติ* ที่ยึดติดกับดวงกสิณ ทำให้ทั้งกุศลและอกุศลเกิดขึ้น และขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญ *ผรณาปีติ* บุคคลทำให้เกิดขึ้นในสภาวะแห่ง อัปปนาสมาธิ

 

*จิตที่เป็นปิตินี้..สืบต่อถึงความสงบใจจากกิเลส คือ ปัสสัทธิ มีอาการที่ใจปล่อย ไม่ยึดจับสิ่งใด ไม่หน่วงตรึงจิต สงบ สบาย เบาโล่งกายใจ*

 

*จิตที่เป็นปัสสัทธินี้..สืบต่อให้จิตเป็นสุข มีอาการที่แช่มชื่น รื่นรมย์ ปะทุซาบซ่านขึ้นมา ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่หน่วงตรึงจิต*

 

*จิตที่เป็นสุขนี้..สืบต่อถึงความมีจิตตั้งมั่น จิตมีกำลังอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง* คือ.. จิตไม่อ่อนไหวไหลพร่าน แล่นไปยึดกอดเอาธัมมารมณ์ใดๆไปทั่ว เพื่อเอามาเป็นเครื่องอยู่ของจิต เพราะอาการที่จิตไม่ยึดเกาะธัมมารมณ์ที่รายล้อมจิต จิตจดจ่ออยู่เป็นอารมณ์เดียว *ตามสติที่ตั้งมั่นรู้เป็นอารมณ์เดียวด้วยกุศล* *อยู่ด้วยใจมีความรู้ตัวทั่วพร้อมเป็นกำลังให้จิต* ไม่ไหวเอนไปตามสิ่งใดๆ *นี้แล คือ สมาธิที่ควรแก่งาน*

 

_ด้วยเหตุดังนี้แล *หากจะทำสมาธิ ก็ต้องทำให้ใจเป็นกุศลให้ได้ก่อน* สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดา ทรงตรัสสอนทางกุศลไว้ดีแล้วคือ *ความมีใจเอื้อเฟื้อ เว้นจากความเบียดเบียน นั่นก็คือ ทาน ศีล พรหมวิหาร ๔* ของพระพุทธเจ้า นั่นเอง_



หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กรกฎาคม 03, 2022, 09:48:19 PM
วิธีฝึกวางใจต่ออารมณ์ ให้ใช้ปัญญาไม่ใช้ความรู้สึก ทำให้เย็นใจไม่เร่าร้อน

ไม่ตอบโต้กลับสืบต่อความรู้สึกอันเกิดแต่สัมผัสทั้งปวง ที่ใจเรามีต่อ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทีเนื่องด้วยกาย สัมผัสที่เนื่องด้วยใจที่มากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ใช้ปัญญาใคร่ครวญสิ่งที่เหมาะสม

สิ่งที่มากระทบให้ใจเรารู้สึก รัก ชัง กลัว หลง ล้วนแต่อยู่เหนือการควบคุมของเรา เราไม่อาจบังคับให้มันเป็นไปดั่งใจเราต้องการได้ทั้งสิ้น

ดังนี้แล้วต้องรู้เข้าใจว่า..สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่อาจควบคุมบังคับได้ มันอยู่เหนือการควบคุมของเรา มันเป็นแค่ความรู้สึกอันเกิดแต่สัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่กิเลสวางไว้ล่อให้ใจเราหลงตามทางทวาร ๖ เท่านั้น ไม่ควรสืบต่อให้ความสำคัญ ..แล้วปล่อยวาง คือ รู้จักวางใจให้เป็น คือ รู้ว่าจะจัดการยังไงกับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือ รู้ว่าเราควรจะวางใจของเราไว้อย่างไรกับเรื่องนี้ คือ รู้จักเลือกเฟ้นธัมมารมณ์ที่ควรเสพย์ และไม่ควรเสพย์

เช่นว่า.. ไม่ควรเสพย์อารมณ์ความรู้สึก รัก ชัง กลัว หลง ที่เกิดขึ้น โต้ตอบกลับสิ่งที่เหนือการควบคุมของเรานั้น แต่ใช้ปัญญาใคร่ครวญทำความเข้าใจในสิ่งนั้น เลือกเฟ้นถึงความเหมาะในกาลอันควรจะ คิด พูด ทำ ต่อสิ่งนั้นๆ ณ ขณะนั้นๆ

นี้เรียกปัญญานำ ..แต่หากทานไม่ไหวให้ใช้สมถะนำ คือ สงบเอาใจรวมลงให้จิตมีกำลัง เอาจิตสงบรำงับเป็นปัสสัทธิ เป็นกุศล จิตมีกำลังตั้งมั่นอยู่ได้ด้วยตัวเองไม่ไหวเอนตามกิเลสเป็นฐานที่ตั้งให้ใช้ปัญญาเลือกเฟ้นใคร่ครวญสิ่งที่เหมาะสมแก่กาล ณ ขณะเวลานั้นๆต่อไป


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กรกฎาคม 03, 2022, 10:32:34 PM
วิธีแผ่เมตตาให้ถึงเจโตวิมุตติ

การแผ่เมตตาให้เอาพุทโธแผ่ไป คือ ให้เอาจิตที่เป็นพุทโธ

ผู้รู้ คือ รู้ปัจจุบัน รู้เห็นของจริงต่างหากจากสมมติ

ผู้ตื่น คือ ตื่นจากสมมติ ไม่ข้องเสพย์อกุศลธรรมอันเร่าร้อน ตื่นจากสมมติธัมมารมณ์ทั้งปวง ไม่ยึดกอดเอา..ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ..มาสุมไฟแผดเผากายใจตนอีก

ผู้เบิกบาน คือ เป็นผู้มีกายใจเบิกบานพ้นแล้วจากสมมติธัมมารมณ์กิเลสของปลอม ถึงความเย็นใจไม่เร่าร้อน

เมตตา คือ การเอาจิตที่เป็นพุทโธแผ่ไปในภายนอกต่อบุคคลอื่นนั่นเอง โดยอาศัยรูป อาศัยนิมิต อาศัยความเสมอกันด้วยอุปาทินนกะรูป อุปาทินนกะสังขาร เป็นที่หมายให้จิตเราที่เป็นพุทโธนี้แผ่ไป


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กรกฎาคม 04, 2022, 12:14:44 AM
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน พระราชพรหมญาณ ----> หน้า 69

*พิจารณาขันธ์ ๕ เป็นวิปัสสนาญาณ*

         อันนี้ไม่มีอะไรพิศดาร ท่านสอนให้พิจารณาว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา โดยให้พิจารณาเป็นปกติ เมื่อเห็นว่าขันธ์ ๕ ป่วยก็รักษา เพื่อให้ทรงอยู่ แต่เมื่อมันจะพังก็ไม่ตกใจ หรือมันเริ่มป่วยไข้ ก็คิดว่า ธรรมดามันต้องเป็นอย่างนี้ เราจะรักษาเพื่อให้ทรงอยู่ ถ้าทรงอยู่ได้ ก็จะอาศัยเพื่องานกุศลต่อไปถ้าเอาไว้ไม่ได้ มันจะผุพังก็ไม่มีอะไรหนักใจ ความทุกข์จะเกิดแก่ตัวเองหรือใคร อะไรก็ตามไม่ผูกจิตติดใจอย่างนี้ จนกระทั่งบรรลุอรหัตตผล ตามนัยที่ท่านพระสารีบุตรกล่าวไว้ใน ขันธวรรคแห่งพระไตรปิฎก

 *(จบวิปัสสนาญาณโดยย่อเพียงเท่านี้)*


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กรกฎาคม 05, 2022, 02:25:51 AM
วิธีแผ่กรุณาให้ถึงเจโตวิมุตติ

การแผ่กรุณา ให้เอาอิสระสุขในพุทโธที่เนื่องด้วยใจแผ่ไป ให้จิตเข้าถึงพุทโธ

คือ มีอิสระสุขอันเนื่องด้วยความแจ่มในเบิกบานใจไม่ข้องด้วยกาย อิสระสุขที่ไม่อิงอามิสกามคุณ ๕ คือ อิสระสุขความเบิกบานใจที่ไม่ข้องอิงอามิสด้วยกายอีก

ผู้รู้ คือ รู้เห็นของจริงต่างหากจากสมมติ กายเป็นของชั่วคราว เป็นสักแต่ว่าธาตุ เป็นมูลมรดกธาตุที่พ่อแม่ให้มาอาศัยชั่วคราว มีเจ็บ ป่วย ไข้ เสื่อมโทรม ผุพังสลายไป ธาตุคืนสู่ธาตุ เมื่อยังกายอยู่ก็ต้องหิว กระหาย เจ็บปวด ปวด ไม่ใช่ตัวตน อยู่เหนือการควบคุม สักแต่ว่าธาตุ ไม่มีเราในนั้น ในนั้นไมเป็นเรา เราไม่ใช่มัน มันไม่ใช่เรา ความโหยหาทั้งปวงมาจากความรู้สึกอันเกิดแต่สัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ติดตรึง ตราตรึง สำคัญมั่นหมายใจไว้ ทำให้กระหายที่ใจ เมื่อไม่ข้องด้วยกายอยู่อีกคือสุขอันบริสุทธิ์ ละสุขที่เนื่องด้วยกาย ถึงสุขที่เนื่องด้วยใจ สุขที่เนื่องด้วยกายมันอิ่มไม่เป็น สุขที่เนื่องด้วยใจ มันอิ่มเป็น ไม่ต้องใช้สิ่งใดมาอิงอาศัย

ผู้ตื่น คือ ตื่นจากสมมติ ไม่ข้องเสพย์ความรู้สึกอันเกิดแต่สัมผัสทางกาย แล้วสำคัญมั่นหมายใจให้ติดตรึง ตราตรึงใจ กระหาย ต้องการ โหยหา มีใจอกออกจากสมมติเวทนาทางกาย คือ กามคุณ ๕

ผู้เบิกบาน คือ เป็นผู้มีกายใจเบิกบานพ้นแล้วจากสมมติธัมมารมณ์กิเลสของปลอม ถึงความเย็นใจไม่เร่าร้อน

กรุณา คือ การเอาจิตที่เป็นพุทโธแผ่ไปในภายนอกต่อบุคคลอื่น โดยไม่ข้องด้วยสมมติเวทนาทางกาย ไม่ยึดในกามคุณ ๕ ปักลงไปในจิตอย่างเดียว เอาความเป็นพุทโธเบิกบานพ้นจากสมมติไม่ติดตรงตรึงใจกามคุณ ๕ ของจิตนี้แผ่ไป ไม่ยังกายอยู่อีก พ้นจากกายไปก็พ้นจากกามคุณ ๕ ให้จิตตั้งเอาแสง เอาพระรัศมี หรือพระฉัพพรรณรังษีแห่งพุทธะที่กว้างไปไม่มีที่สิ้นสุดของจิตที่เป็นพุทโธนั้นเป็นอารมณ์ออกจากกาย ออกจากกามคุณ ๕ จนถึงความว่าง ความไม่มีในกามคุณ ๕ ทั้งปวงนั้นแผ่ไป


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 06, 2022, 09:40:06 AM
ทำไว้ในใจถึงจิตที่เป็นพุทโธ (กรรมฐานด้วยพุทโธ)

1. มีอานาปานสติ + พุทโธ เป็นเบื้องหน้า ทำพุทโธเป็นวิตก ด้วยทำไว้ในใจถึงความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ทำจิตเป็นพุทธะ เข้าถึงพุทธะตามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดา ด้วยธรรมแห่งพุทธานุสสตินั้น จิตเราเป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า

2. ผู้รู้ คือ รู้ของจริงต่างหากจากสมมติ ทำกายใจให้สบายๆ ผ่อนคลาย โล่งๆสบาย ไม่หน่วงตรึงจิต วางจิตไว้ในท่ามกลาง ทำสักแต่ว่ารู้ สิ่งที่รู้ๆอยู่นั้นไม่ว่า ความรู้สึกอันเกิดแต่ผัสสะ วิตก วิจาร  มโนภาพ ว่างเปล่า ล้วนแล้วแต่เป็นอาการหนึ่งๆของจิตทั้งสิ้น เป็นเพียงธัมมารมณ์ที่จิตรู้ ทำไว้ในใจโดยจิตอยู่ท่ามกลางสักแต่ว่ารู้ว่ามีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ข้องเสพย์ ไม่สืบต่อ

3. ผู้ตื่น คือ ตื่นจากสมมติ เมื่อรู้ของจริงต่างหากจากสมมติสักแต่ว่าธัมมารมณ์ที่ใจรู้นี้มีทั้งที่ควรเสพย์ และไม่ควรเสพย์ ไม่ว่าจะความ โสมนัส โทมนัส อุเบกขา ล้วนมีทั้งสิ่งที่ควรเสพย์ และไม่ควรเสพย์ พึงตั้งจิตไว้มั่น ความไว้ในภายในไม่ข้องเสพย์ ต่อเมื่อจิตเข้าไปคลุกคลีแนบอารมณ์ในสิ่งใด พึงประครองใจไว้ได้เพียงสักแต่ว่ารู้ รู้ตามไป เห็นความเป็นไปของมัน ดูอยู่ก็รู้ว่าดู เห็นอยู่ก็รู้ว่าเห็น ปรุงอยู่ก็รู้ว่าปรุง เอานิมิตนั้นเป็นเครื่องให้ใจรวมไว้ แต่ประครองไม่ให้เข้ามากไป ไม่ถอยออกมากไป ให้รู้ตามว่ามีสิ่งนี้เกิดขึ้น เรื่องราวๆ อารมณ์ความรู้สึกแบบนี้ เกิดขึ้นด้วยการปรุงแต่งตามเหตุปัจจัย เราดูอยู่ นิมิตใดกำหนดขึ้นมาก็รู้ว่ากำหดขึ้นมาเอง นิมิตใดเกิดขึ้นเองก็รู้ว่าเกิดขึ้นเองด้วยมีเหตุปัจจัยภายในมโน มนะ ที่ทำให้เกิดขึ้น ปรุงแต่งไป สักแต่ว่าธัมมารมณ์ เราใช้รู้ใช้ดูเพื่อเข้าใจจิต มีความรู้ตัวอยู่ทุกเมื่อ แนบอารมณืก็รู้ แล้วปล่อยไป ตามรู้ไป (เวลาที่จิตแนบอารมณ์มันมักจะตัดส่วนอื่นภายนอกแต่เรามีสติรู้อยู่ว่ามีสิ่งนี้เกิด ราวกับจิต แยกจากกัน จิตหนึ่งแนบชิดคิดตาม หรือแนบนิ่งก็ตาม แต่อีกจิตรู้ว่ามันคืออะไรกำลังทำอะไร นี้คือตัวแล นี่มีสัมปะชัญญะร่วมสติ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม กล่าวถึงความเป็นผู้ตื่น คือมีความรู้ตัวทั่วพร้อมนี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสติและสัมปชัญญะ)

๔. ผู้เบิกบาน คือ เบิกบานพ้นแล้วจากสมมติกิเลสของปลอม

ในขั้นต้น คือ จิตมีกำลังอยู่ได้ด้วยตัวเอง รู้จักละ รู้จักปล่อย รู้จักวาง ไม่ข้องเสพย์ ไม่สืบต่อ

ในขั้นกลาง คือ นิวรณ์ออ่อนกำลัง จิตไม่มีอกุศล ระลึกอกุศลไม่ออก นึกในอกุศลเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก (มีในชั้นฌาณ)

ในขั้นสุด คือ มรรคสามัคคีกันรวมลงเป็น 1 แทงตลอดสังขารุเปกขา ถึงความสละคืนกิเลสทั้งปวง


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 24, 2022, 09:28:05 AM
???? [ ๑๔๕ ] ดูกรราหุล! ????

???? เธอจงเจริญ เมตตาภาวนาเถิด
เพราะเมื่อ เธอเจริญเมตตาภาวนาอยู่
????จักละพยาบาทได้????

???? เธอจงเจริญ กรุณาภาวนาเถิด
..เมื่อเจริญกรุณาภาวนาอยู่
????จักละวิหิงสาได้????

???? เธอจงเจริญ มุทิตาภาวนาเถิด
..เมื่อเจริญมุทิตาภาวนาอยู่
????จักละอรติได้????

???? เธอจงเจริญ อุเบกขาภาวนาเถิด
..เมื่อเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่
????จักละปฏิฆะได้????

???? เธอจงเจริญ อสุภภาวนาเถิด
..เมื่อเจริญอสุภภาวนาอยู่
????จักละราคะได้????

???? เธอจงเจริญ อนิจจสัญญาภาวนาเถิด
..เมื่อเจริญอนิจจสัญญาภาวนาอยู่
????จักละอัสมิมานะได้????


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 24, 2022, 09:56:14 AM
ริษยา มีอาการที่ขัดใจด้วยมีอรดีตั้งในจิต มีความยินร้าย ติดใจข้องแวะ ขุ่นข้องขัดเคืองใจ ความผลักไส วิภวะตัณหา

การแก้ริษยา ครูบาอาจารย์ท่านว่าเบื้องต้นให้เลิกเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น

ขั้นกลางให้เจริญมุทิตาภาวนา ยินดีไปกับความสุขสำเร็จ
็ของผู้อื่น ประดุจเหมือนเห็นบุคคลอันเป็นที่รักได้ประสบความสำเร็จดีงาม

ขั้นสุด ริษยาเพราะยึดมั่นถือมั่นตัวตนในสิ่งนั้น อาศัยความสำคัญมั่นหมายของใจ คือ ยินดีในสิ่งยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตนนั้นๆ เมื่อยินดีก็มีโลภะเป็นมูลฐานให้เกิดภวะตัณหา ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น

เมื่อเกิดความยินดี อยากได้ อยากมี อยากเป็น ก็ย่อมเกิดปฏิฆะไปในตัวทันที มีความสำคัญมั่นหมายของใจยินร้ายในสิ่งที่ตนไม่ต้องการไปด้วย อรดี คือ ความยินร้าย ยินร้ายถึงความไม่ได้ดั่งที่ใจตนต้องการนั่นเอง ก็เกิดผลักไส ไม่ต้องการ

ทีนี้เมื่อเห็นคนอื่นได้ในสิ่งที่ตนต้องการ อยากได้ อยากมี อยากเป็น แต่ตนนั้นไม่ได้ ไม่มี ไม่เป็นอย่างที่ต้องการแบบเขา ก็เกิดริษยา อรดีขึ้นในใจอ่อนๆ ไม่มีมุทิตาจิต เริ่มจากอยากได้อย่างเขา หนักขึ้นก็เกิดการเปรียบเทียบสิ่งที่ตนมีกับสิ่งที่เขามี และไม่พอใจสิ่งที่ตนมีตนเป็น หนักขึ้นใจก็พาล ชิงชัง เกลียดชังที่ผู้อื่นได้ แต่ตนไม่ได้ สืบต่อให้ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะแผดเผากายใจตน ด้วยความยึดมั่นถือมั่นตัวตนในสิ่งนั้นๆนั่นเอง

ดังนี้พึงละที่ใจ คือ ละไฟกระหาย กระสันอยาก ด้วยละความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ความอยากเกิดแต่โลภะเป็นมูล ละความอยากได้อยากมี ละภวะตัณหาด้วยการละโลภะ ละโภะด้วยละความอยากทั้งปวงเกิดแต่ความสำคัญมั่นหมายของใจถึงความยินดีในสิ่งนั้นๆว่าเป็นสุข

ละความสำคัญมั่นหมายของใจด้วยเห็นว่า สิ่งเหล่านั้นมันอยู่เหนือการควบคุมของเรา ไม่ใช่ตัวตน บังคับไม่ได้ ถึงแม้ได้มาครองก็อยู่กับเราเพียงชั่วคราว นานสุดแค่หมดลมหายใจเรานี้เท่านั้น ไม่สามารถบังคับให้อยู่กับเราตลอดไปได้ มันอยู่เหนือการควบคุมของเรา เพราะสิ่งทั้งปวงที่ใจเรารับรู้ยึดมั่นถือมั่นอยู่นั้นไม่ใช่ตัวตน

เมื่อรู้ว่าเป็นอนัตตาก็ไม่ควรเอาความสุขสำเร็จของตนไปผูกขึ้นไว้ ละความเอาใจเข้ายึดครองด้วยความรู้เห็นตามจริงว่ามันเป็นเพียงสมมติสิ่งหนึ่งๆที่สร้างขึ้นที่มีในอยู่ในโลกนับล้านๆแบบให้ใจเรารู้เท่านั้น เราทำเพียงแค่รู้ แล้วเข้าใจว่ามันอยู่เหนือการควบคุม แล้วอย่าไปติดใจข้องแวะมัน คือ อย่าใส่ใจให้ความสำคัญกับมันเกินความจำเป็น โดยพึงรู้ว่ามันไม่ใช่สุขของเรา สุขทุกข์เกิดที่ใจเรานี้ ไม่ได้เกิดที่สิ่งนั้น สิ่งนั้นไม่ใช่ทั้งชีวิตของเรา ไม่มีเราในนั้น ในนั้นไม่มีเรา เราไม่ได้ยังกายได้อยู่นี้เพราะสิ่งนั้น สิ่งนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา สักแต่เป็นเพียงสมมติสิ่งหนึ่งๆในโลกที่มีอยู่นับล้านๆอย่าง  หากเอาใจเข้ายึดครองมันว่าเป็นตัวตนของเรา ย่อมยังความฉิบหายมาให้ ความปารถนาในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน อยู่เหนือการควบคุมย่อมมีแต่ทุกข์ ไม่ติดใจข้องแวะใส่ใจให้ความสำคัญก็ไม่ทุกข์


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 24, 2022, 09:56:46 AM
*การพอใจในสิ่งที่ตนมี เป็นการละโลภ ละกาม ละราคะ ละเบียดเบียนริษยา*

ริษยา
- อย่าคิดเปรียบเทียบว่าตนได้ตนเสีย เขาได้ตนไม่ได้ เราทำเยอะกว่า เขาไม่ทำ ให้พอใจในสิ่งที่ตนมีตนได้เราก็จะไม่มีการเปรียบเทียบ มีใจยินดีในความสำเร็จของผู้อื่น จิตเป็นพุทโธ คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่มีการได้การเสีย มีแต่สิ่งนี้มีประโยชน์สุข หรือไม่มีประโยชน์สุข มีใจเกื้อกูล ดังนี้จะเห็นว่าสิ่งนั้นๆไม่ได้อยู่ที่ปริมาณ ใครทำมาก ทำน้อย ใครได้ ใครเสีย แต่อยู่ที่เราเห็นสัตว์มีสุขสำเร็จดีงาม สุขนั้นเกิดที่ใจ
- เห็นว่าแม้เล็กน้อยของตนที่มีที่ได้ ก็คือยังได้มา แม้เล็กน้อยก็คือเรายังมีอยู่ ส่วนสิ่งที่เขาได้มานั้นมันไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่เจ้าของมัน เราจึงไม่ได้มา เราเป็นเจ้าของสิ่งใดก็ได้สิ่งนั้นตามที่มีสะสมมา สิ่งนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของเขาเราจึงไม่ได้ครอบครอง
- การที่ผู้อื่นมีผู้อื่นได้ ย่อมยังประโยชน์สุขแก่เขา เมื่อเราแม้ยังเป็นผู้แผ่ซึ่งสุขอยู่นี้ควรยินดีกับเขาในประโยชน์สุขสำเร็จของผู้ คือ ประโยชน์สุขสำเร็จดีงามของผู้อื่น คือ ความสุขของเรา เราจักเป็นผู้มีใจแผ่ไปไม่มีประมาณด้วยประการดังนี้ เพราะนั่นคือเราได้เห็นสัตว์พ้นทุกข์นั่นเอง
- ขัดใจ ยินร้ายต่อสัมผัสที่ได้รู้อารมณ์ทาง ตา หู จมูก ลิ้น สัมผัสกาย ก็พึงละความติดใจข้องแวะในอารมณ์ที่รู้นั้นๆไปเสีย สิ่งนั้นหาประโยชน์สุขไรๆต่อเราไม่ได้ มีแต่ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ แผดเผากายใจตน
- แต่หากเรามีใจยินดีเป็นสุขไปด้วยในประโยชน์สุขสำเร็จดีงามที่เขาทำ เขามี เขาเป็น ที่เราได้รับรู้ทาง หู ตา จมูก ลิ้น สัมผัสกาย เราจะไม่ร้อน จะเย็น เบาใจ

*คลองเข้ามุทิตาจิต คือ เอาจิตจับที่จิต รู้จักอิ่ม รู้จักพอ รู้จักเต็ม ยินดีในสิ่งที่ตนมีตนได้ มีจิตที่แผ่สุขเกื้อกูล ยินดีในความไม่มีทุกข์แก่หมู่สัตว์ คงความสุขนั้นไว้ตั้งในจิต ไม่ติดใจข้องแวะ ไม่ขัดไม่ข้องใจ*

- แต่ถ้าเขาได้มาโดยมิชอบ มิใช่กุศล เบียดเบียน พึงรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นของร้อน สุขนั้นของเขาไม่บริบูรณ์ ย่อมมีความเสื่อม ไม่เที่ยง ไม่คงทนอยู่ได้นาน เขาก็ต้องเร่าร้อนแสวงหาสุขนั้นอันไม่เที่ยงอยู่ร่ำไป เราพึงเห็นว่าเขาถูกทุกข์หยั่งเอาแล้ว สุขนี้ชั่วคราว สุขนี้เหมาะแก่เขาแล้ว พึงยินดีกับเขาเสียว่า เขาได้รับสุขจากสิ่งไม่เที่ยง ก่อนที่เขาจะไม่มีโอกาสได้รับ หรือมันจะสุญสลายไป อย่างน้อยก็ยังทำให้เขาได้เคยสุข เมื่อสัตว์เป็นสุข พอใจสิ่งที่มี ย่อมไปแสวงหา ย่อมไม่เบียดเบียนกัน ดังนี้ตอนที่เขาได้รับสุขนั้น เขาก็จะเลิกเบียดเบียนกันแม้ชั่วขณะหนึ่งก็ตาม ก็จะไม่มีทุกย์แก่สัตว์ พึงยินดีต่อเขา แต่พึงวางใจรู้ว่า สุขโดยไม่ชอบธรรม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ อยู่เหนือการควบคุม ไม่ใช่ตัวตน


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 24, 2022, 10:15:11 AM
เมื่อหวนระลึกถึงสิ่งใดในอดีต จะด้วยรักก็ดี โหยหาก็ดี ใคร่ได้ก็ดี ต้องการก็ดี อยากได้ อยากให้มีให้เป็นก็ดี โกรธก็ดี เกลียดก็ดี ชังก็ดี ผลักไสก็ดี ใจลอยแนบชิดไปในอารมณ์ความรู้สึก สัมผัสที่ชอบที่ชังไรๆก็ดี ไม่อยู่ในปัจจุบันกับสิ่งที่ทำอยู่เป็นอยู่

โดยให้ทำดังนี้..

ก.) รู้ว่าหวนระลึกถึงอยู่ โหยหาอยู่ ผลักไสอยู่ แล้วให้บอกกับใจตนว่า
๑. มันผ่านมาแล้ว เป็นอดีตไปแล้ว
๒. มันล่วงเลยมาแล้ว ปัจจุบันนี้ไม่มีอยู่แล้ว
๓. สิ่งนั้นมันคือเรื่องราวเก่าๆเรื่องหนึ่งๆในชีวิต ที่เราได้พบเจอ ได้เคยได้สัมผัสแล้ว ปัจจุบันไม่มีอยู่แล้วในตอนนี้

ข.) บอกกับใจตนให้รู้สัจธรรมว่า..สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยงหนอ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่คงทนอยู่ได้นาน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาจะล่วงพ้นไปไม่ได้เลย สุดท้ายก็ดับไป หมดไป สูญไป บังคับไม่ได้ หมายให้คงอยู่ก็ไม่ได้ หมายให้มันไม่เกิดขึ้นกับตนก็ไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างมันอยู่เหนือการควบคุมของเรา เราสักแต่เพียงรู้ให้ความเข้าใจมันว่ามันเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน การเอาใจเข้ายึดครองสิ่งไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนก็มีแต่ทุกข์ เราเอาใจเข้ายึดครองด้วยกิเลส เพราะรัก เพราะชัง เพราะไม่เข้าใจในความเป็นจริงของมัน โลกมันเป็นแบบนี้ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อยู่เหนือการควบคุม ไม่ใช่ตัวตน บัดนี้เราได้เห็นความจริงของโลก คือสัจธรรมนี้แล้ว ดังนี้..

ค.) เอาจิตมาจับรู้ที่ลมหายใจเข้าออกของเรานี้ ลมหายใจไม่มีทุกข์ ลมหายใจไม่มีโทษ ลมหายใจเป็นที่สบาย ลมหายใจคือของจริง ด้วยเหตุว่า
- ลมหายใจเป็นของจริง เพราะเป็นธาตุ ๔ ในกายนี้ คือ วาโยธาตุ ที่หล่อเลี้ยงให้กายนี้
- ลมหายใจเป็นของจริง เพราะไม่ใช่ของปรุงแต่งจิต ไม่ใช่เครื่องปรุงแต่งอารมณ์ความรู้สึกทั้งปวง

ง.) ปล่อยใจผ่อนคลายตามลมหายใจเข้า ปล่อยใจผ่อนคลายตามลมหายใจออก ทำไว้ในใจถึงความปล่อย ละ วาง สละคืนอารมณ์ความรู้สึกแห่งสมมติทั้งปวงออกจากกายใจตน
..ทำให้เป็นที่สบายกายใจ ผ่อนคลาย สงบลง

จ.) กลับมารู้ปัจจุบัน รู้กิจการงานที่กำลังทำอยู่ เอาใจแนบกับปัจจุบัน กับกิจการงานที่ทำอยู่ ปัจจุบันนี้แหละคือความสุข ไม่มีฟุ้ง ไม่มีคิด พ้นจากสมมติธัมมารมณ์ที่กิเลสวางไว้ล่อให้ใจเราหลงตาม พ้นจากไฟคือราคะ พ้นจากไฟคือโทสะ พ้นจากไฟคือโมหะ ที่แผดเผากายใจตน

การที่ใจเราทำสักแต่ว่ารู้ โดยรู้ว่าสัจธรรมของโลกมันเป็นแบบนั้น มีใจไม่ถือ ไม่ยึดครอง ไม่ยึดกอด ไม่เกาะเกี่ยว ย่อมไม่หน่วงตรึงจิต ไม่ทำให้ใจเราเศร้าหมอง การไม่ติดใจข้องแวะโลกหรือสิ่งทั้งปวงในโลกย่อมไม่เป็นทุกข์
..ติดใจข้องแวะร้อยก็ทุกข์ร้อย
..ติดใจข้องแวะห้าสิบก็ทุกข์ห้าสิบ
..ไม่ติดใจข้องแวะเลยก็ไม่ทุกข์เลย

การเอากายใจมาทำสักแต่ว่ารู้ในปัจจุบัน รู้กิจการงานที่ควรทำมันไม่มีทุกข์ ไม่มีโทษ ความคิดสมมติปรุงแต่งกิเลสใดๆก็ไม่อาจจะทำร้ายเราได้อีกเลย ดังนี้

ตั้งแต่ข้อ ก. จนถึง ข้อ จ. ทั้งหมดนี้ คือ พุทโธ เป็นการเดินจิตให้ใจเข้าถึงพุทโธ มีใจเป็นพุทโธ คือ..
๑. ความเป็นผู้รู้ รู้ของจริงต่างหากจากสมมติ
๒. ความเป็นผู้ตื่น ตื่นจากสมมติ (คือ สมมติความคิด สมมติกิเลสอันเป็นอารมณ์ความรู้สึกหน่วงนึกปรุงแต่งของจิตที่ใจรู้ ที่กิเลสวางไว้ล่อใจให้หลงตามทางสฬายตนะ)
๓. ความเป็นผู้เบิกบาน คือ มีจิตแจ่มใส มีใจเอื้อเฟื้อ เว้นจากความเบียดเบียน พ้นแล้วจากสมมติกิเลสของปลอม เบาสบาย เย็นใจ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 24, 2022, 10:15:23 AM
แก้อุทธัจจ กุกกุจจะ
ฟุ้งซ่าน ไม่สงบ ก็ให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน ไม่สงบ เครียด หงุดหงิด จะมีอาการที่ระคน ปะปน อยู่กับสิ่งปัจจุบันไม่ได้ เคืองขัด ไม่เจริญใจ

อุทธัจจกุกกุจจะ แยกเป็น 2 คำ คือ อุทธัจจะ กับ กุกกุจจะ อุทธัจจะ หมายถึง ความ ฟุ้งซ่าน อึดอัด กลัดกลุ้ม กังวล ทำให้เกิดความเครียด ความหงุดหงิด ในคำภาษาไทยใช้ อุทธัจจ คือความฟุ้งซ่าน ความประหม่า ความขวยเขิน กุกกุจจะ หมายถึง ความรำคาญใจ ความวิตก กังวล ทำให้อึดอัด กลุ้มใจ เมื่อนำรวมกันเป็น อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

ทางแก้
1. การกล่อมจิต หรือใช้เครื่องล่อใจ
- มีสติเป็นเบื้องหน้า ให้หาความเพลิน อาศัยตัณหาละตัณหา
- มีสติเป็นเบื้องหน้า ให้หาความเต็มใจ ยินดีในสิ่งปัจจุบันที่เป็นอยู
2. เจริญ ปัสสัทธิ จิตแล่นเข้า ทมะ อุปสมะ
- ทำความรู้ว่า มันคืออาการหนึ่งๆของจิตที่มีอยู่นับล้านๆแบบที่เกิดขึ้นให้ใจรู้(ธัมมารมณ์)
- เจริญพุทธานุสสติ ภาวนาพุทโธ
..หายใจเข้าบริกรรมว่า..พุท นึกถึงความรู้ว่าอาการนี้คือกิเลสนิวรณ์ เราจักตื่นจากกิเลสนิวรณ์ไม่หลงตามความรู้สึกที่ฟุ้งซ่าน ไม่สงบของใจที่รู้อยู่นี้
..หายใจออกบริกรรมว่า..โธ นึกถึงความว่าง ความสงบ ความไม่มี พ้นจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอันระคน สับสน ไม่สงบ ที่หน่วงตรึงจิตให้ไหลตามนี้อยู่อีก ..มีใจเข้าถึงความเบา เย็นใจ ไม่เร่าร้อน เบิกบานพ้นแล้วจากสมมติธัมมารมณ์กิเลสของปลอมทั้งปวง
ยังจิตให้ถึงซึ่งพุทธะ คือ
..ผู้รู้ของจริงต่างหากจากสมมติ
..ผู้ตื่นจากสมมติกิเลสของปลอม(ความคิด ความรู้สึกโดยสมมติสัจจ์)
..ผู้เบิกบานพ้นแล้วจากสมมติธัมมารมณ์กิเลสของปลอง เครื่องเร่าร้อนแผดเผากายใจตนทั้งหลาย


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ สิงหาคม 28, 2022, 09:10:58 PM
มุทิตาภาวนา

1. ถึงความเป็นอนัตตาในภายนอก ถึงความเป็นอนัตตาในภายใน คือ กาย และ อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งปวงที่ใจรู้ ที่เกิดขึ้นกับใจตนนี้ก็มิใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา
2. ไม่เอาความสุขสำเร็จของตนไปผูกขึ้นไว้กับสิ่งไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา
3. เพราะมีตัวตนจึงเป็นทุกข์ ไม่มีตัวตนก็ไม่ทุกข์
4. สุขแท้เกิดขึ้นที่ใจเรานี้เท่านั้น ความพ้นไปจากตัวตนเป็นสุข
5. เอาจิตจับที่จิต จิตทำแค่รู้ ไม่เอาใจเข้ายึดครองตัวตนสิ่งใดๆทั้งปวง ถึงความไม่มีใจครอง รูป และ ธัมมารมณ์ทั้งปวง


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กันยายน 04, 2022, 12:51:48 PM
คาถาศักดิ์สิทธิ์ ที่หลวงปู่มั่น ภาวนาอยู่เสมอ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ

ปัญจะ มาเร ชิโน นาโถ ปัตโต สัมโพธิ มูตตะมัง
จะตุสัจจัง ปะกาเสติ ธัมมะจักกัง ปะวัตตตะ
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โหตุ เม ชะยะมังคะลัง ฯ

(สวด 9 จบ)

สวดเป็นประจำทุกวัน เพื่อป้องกันอันตรายทั้งปวง


คำแปล :

ข้าพเจ้าขอนอบน้อมบูชาพระพุทธองค์
ผู้ทรงชนะมารทั้งห้า
ผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาวิมุติ
ผู้ทรงประกาศอริยสัจสี่
ผู้ยังให้พระธัมมจักรให้หมุนไป
ด้วยการกล่าวสัจจวาจานี้
ขอชัยมงคลจงมีแก่ข้าพเจ้าเทอญ

(ใช้ท่องเพื่อป้องกันอันตรายทั่งปวง ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก)
เป็นพระคาถาปราบมารจาก พระอาจารย์มั่น ภูริตโต ใช้สวดเพื่อป้องกันอันตรายต่าง ๆ ไม่ว่าจะ
เป็นจากอุบัติเหตุในบ้าน, อุบัติเหตุบนท้องถนน หรือแม้แต่อันตรายที่อาจจะเกิดได้จากคน สัตว์
หรือสิ่งของต่าง ( รวมถึงผู้ที่มักจะมีมารผจญ หรือขัดขวาง ทำให้เกิดอุปสรรคนานัปการ ใครที่
ดวงตก ก็สามารถใช้พระคาถานี้ สวดเพื่อพลิกฟื้นชะตาได้เช่นกัน


นอกนั้นยังสามารถสวดพระคาถาบริกรรมนึกถึงพุทธคุณน้อมจิตเข้าสมาธิ หรือใช้ในการตั้งสติสัมปะชัญญะ ปัญญา ในการดำรงชีพทางโลกได้อีกด้วย ดังนี้..

ชนะมารในภายใน

คือ..ชนะกิเลสตัณหาที่เกิดขึ้นภายในกายใจตนทั้งปวง ประครองใจไว้ให้ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวไปกับกิเลสตัณหาที่เกิดขึ้นในกายใจตน เห็นสักแต่เพียงธัมมารมณ์ ที่เกิดขึ้นให้ใจรู้ สัพเพธัมมาอัตตาตื ธัมมารมณ์ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ใช่ตัวตนของเรา สักแต่เพียงว่าเกิดขึ้นให้ใจรู้ ไม่ได้มีไว้เสพย์
- ทำไว้ในใจประดุจดั่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดา ที่ทรงไม่หวั่นไหวต่อมาร ลูกสาวของพญามารทั้ง ๓ คือ ตัณหา ราคะ อรดี ทั้งปวง แม้จะเข้ามารายล้องตัวท่าน (จิต มนะ มโน) ก็ไม่หวั่นไหวต่อกิเลส(ตัณหา ราคะ อรดี) หยั่งความสงบลงในกายใจ ใข้ปัญญาต่อกรกิเลสตัณหา(ตัณหา ราคะ อรดี)ทั้งปวง
ตัณหา คือ ความทะยานอยาก ความร่านรน อยากได้อยากเอาเพื่อตน
ราคา (=ราคะ) คือ ความกำหนัด ความติดใคร่ในอารมณ์
อรดี (=อรติ) คือ ความไม่ยินดี ไม่พอใจ
มาจากคำว่า อ (ไม่) + รติ (ความยินดี)


เช่นว่า...

1. หากเรามีใจอยากได้ต้องการในสิ่งใด คน สัตว์ สิ่งของ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  ก็ให้รรู้ว่าธิดามาร คือ นางตัณหา เข้ามาครอบงำจิตใจเราแล้ว
- ให้เราพึงมีใจตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่อนางตัณหา พึงรู้ตัวทั่วพร้อมว่านั่นเพราะว่าเราเอาใจเข้ายึดครองตัวตนในสิ่งนั้นๆ จึงเอาความสุขสำเร็จของตน เอาลมหายใจของตนไปผูกขึ้นไว้กับสิ่งนั้นๆ ดังนี้พึงละการเอาความสุขสำเร็จ-เอาลมหายใจของออกจากสิ่งนั้นๆ ด้วยเห็นว่า สุขที่ได้จากสิ่งอื่นอย่างอื่นไม่ยั่งยืน สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่สุขอันยั่งยืน มันอิ่มไม่เป็น ได้แล้วก็ยังทะยานอยากโหยหาอีกไม่สิ้นสุด เมื่อลิ้มรสมันแล้วก็อยากให้มันคงอยู่ ไม่เสื่อมไป ไม่ต้องให้จางสูญสลายไป อยากให้อยู่กับตนตลอดไป ไม่ต้องการสิ่งที่ตนไม่ชอบ ที่ตนขัดใจ ยังความเสื่อมให้ตน วนเวียนไปไม่สิ้นสุด แต่ก็หาทำได้ไม่ เพราะทุกสิ่งอยู่เหนือการควบคุมของเรา อยู่ได้นานสุดแค่หมดลมหายใจเรานี้เท่านั้น ไม่ติดตามไปด้วย
- สุขแท้จริงอยู่ที่กายใจตน จะเกิดมีได้ด้วยความไม่เอาใจเข้ายึดครองตัวตนในสิ่งใด ถึงความไม่มีตัวตน ถึงความไม่มีใจครองเป็นสุข มันเบา เย็นใจ สิ่งเหล่านั้นที่เคยทำให้กายใจเราร้อนรุ่มสุมไฟก็มิอาจทำร้ายเราได้อีก

2. หากใจเรามีความกระสันอยาก กระหายใคร่ได้มาเสพย์มาครอบครอง ก็ให้รู้ว่าธิดามาร คือ นางราคะ เข้ามาครอบงำจิตใจเราแล้ว
- ให้เราพึงมีสติเป็นเบื้องหน้า พึงรู้ชัดว่ารสอารมณ์ทั้งปวง มันไม่ใช่ตัวตน สักแต่เพียงมีไว้ให้ระลึกรู้อไม่ได้มีไว้ให้ครอบครอง ติดเเสพย์ สักเป็นแต่ว่าธาตุ ๕ อ่อนแข็ง เอิบอาบ เกาะกุมกัน ซาบซ่าน เคลื่อนไหว พอง ตรึง หย่อน ร้อน เย็น ว่างเปล่า ช่องว่าง ให้รู้สึกรับรู้สัมผัสได้ ความเอาใจเข้ายึดครองตัวตน ติดใจใคร่เสพย์ร้อย ก็ทุกข์ร้อง ติดใจใคร่เสพย์ห้าสิบก็ทุกข์ห้าสิย ไม่ติดใจใคร่เสพย์เลยก็ไม่ทุกข์เลย ดังนี้แล้วพึงไม่ควรติดใจใคร่ในสิ่งนั้นๆ มันเป็นสักแต่ว่าธาตุ ไม่ใช่ของเรา ไมเป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา เป็นของว่างเปล่า มีไว้แค่ให้ระลึกรู้ว่าเป็นสักแต่ว่าธาตุต่างๆที่อิงอาศัยแค่ชั่วคราวแล้วก็ต้องสละคืน ไม่ได้มีไว้ให้ใจเข้ายึดครอง

3. หากเราเกิดมีใจยินร้าย คือ ขุ่นข้องขัดเคืองใจ ริษยา ก็ไม่หวั่นไหวต่อธิดามาร คือ นางอรตี มาครอบงำจิตใจเราแล้ว
- ให้เราพึงใช้น้ำเมตตา เมตาใคร เราก็เมตตาตนเองนี่แหละ เอาน้ำเมตตารดใจตนไม่ให้เร่าร้อน ขุ่นขัด สิ่งที่ข้องขัดล้วนเหนือการควบคุม ไม่ใช่ตัวตน ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใข่ตัวตนของเรา เป็นอนัตตา เมื่อไม่มีตัวตน ไม่ใช่ของตนจะดิ้นคว้าไปก็มีแต่ทุกข์ ข้องแวะขุ่นขัดร้อยก็ทุกข์ร้อย ข้องแวะขุ่นขัดห้าสิบก็ทุกข์ห้าสิบ ไม่ข้องแวะขุ่นขัดเลยก็ไม่ทุกข์เลย หยั่งความสงบลงใจด้วยเอาน้ำเมตตารดใจตนเอง เมตตาตนเอง สงสารตนเองที่เร่าร้อนกับสิ่งไม่ใช่ตัวตน ทำกายใจให้ผ่อนคลาย ปล่อย ละ วาง สละคืน ถึงความเย็นใจ

ดังนี้..
- ความไม่ติดใจข้องแวะ คือ ไม่เอาใจเข้ายึดครอง ถอนใจออกจากฉันทะ ปฏิฆะ รตี ราคะ อรตี ตัณหา
- การไม่เอาความสุขสำเร็จไปผูกขึ้นไว้กับใคร ไม่เอาลมหายใจของตนไปผูกขึ้นไว้กับสิ่งใด คือ การรู้ว่าสุขเกิดที่ใจ สุขภายนอกมันอิ่มไม่เป็น จะสุขใจได้ก็ด้วยความไม่มีใจครอง ้ข่าถึงความว่าง ความไม่มีตัวตน ความสละคืนตัวตนและอุปธิทั้งปวง



ชนะมารในภายนอก

คือ..ปัญหาต่างๆ ทั้งบุคคล ปัญหาแวดล้อมที่ถาโทมเข้ามาดั่งพญามารยิงห่าธนูใส่พระศาสดาฉันนั้น เแต่พระศาสดาก็ไม่หวั่นไหวด้วยพระปัญญาอันยิ่งรู้แจ้งแทงตลอด เราผู้ศึกษาอยู่ก็ควรเจริญปัญญาตามเพื่อพิชิตปัญหาต่างๆดังนี้คือ
1. รู้งาน
2. รู้เหตุ รู้ผล รู้กระทบ รู้สืบต่อ
3. รู้ตน
4. รู้ขอบเขต
5. รู้คน
6. รู้กาล กาลใดควรนิ่ง ควรอด ควรละ ควรปล่อย ควรวาง กาลใดควรพูด ควรทำ ควรแสดง (บางตนการปล่อยให้เขาพูด ทำ ไปจนอิ่ม เขาก็จะรู้จักรับฟัง / บางคนเตลิด ก็ต้องใช้ความรู้แจ้งชัดแทงตลอดตามจริงเข้าสงบระงับเขา / บางคนชอบแถไปเรื่อย เมื่อตนผิดชอบเปลี่ยนเรื่องพูดให้เผลตาม เราก็ต้องใช้ความรู้ชัดตามจริง และเจาะจงที่จุดมุ่งหมายไม่แปรผันนั้นสู้เขาเพื่อไม่ให้หลงประเด็นตาม ไม่หวั่นไหวกับการชักแม่น้ำที่เขานำมาพูดกลบเกลื่อน แต่เจ่ะประเด็นจี้ชุดที่ต้องการ)
7. รู้ว่าสิ่งใดทำแล้วมีประโยชน์ สิ่งใดทำแล้วไม่เกิดประโยชน์
8. รู้พระอริยะสัจ ๔


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กันยายน 12, 2022, 02:26:57 PM
การไม่เอาความสุขสำเร็จไปผูกขึ้นไว้กับผู้อื่น มีทางปฏบัติหลายระดับ เริ่มจากเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดดังนี้

1. อิงอามิส หาเครื่องล่อใจ กล่อมจิต

     ..คือ เอาใจไปจับยึดในสิ่งอื่น ไม่ให้ตนเอาใจไปผูกความสุขสำเร็จขึ้นไว้กับเขา เพื่อให้ใจเราไม่ดึงเอาเขามาตั้งไว้ในใจ ตัดเขาออกไปจากใจ ไม่เอาเขามาเป็นเครื่องอยู่ของใจ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เที่ยวกับเพื่อน ออกกำลังกาย ออกไปดูฟ้า ดูน้ำแทนที่จะคำนึงถึงเขา

- หากเป็นกิจการงาน การเรียน ก็ให้เอาการเรียน หรือ กิจการงานเป็นหลัก เช่น
..หาความสนุกในการเรียน หรือกิจการงาน เอาชนะขีดจำกัดตนเองในการเรียน หรือกิจการงาน
..ตลอดจนเอาใจจับอยู่กับการเรียน หรือกิจการงาน รู้ว่าตนกำลังทำงานอะไร รู้กำลังทำสิ่งไหน ปัจจุบันกำลังทำอะไร แล้วต้องทำสิ่งใดต่อไป

2. เจริญในสัมปชัญญะ เอาใจน้อมเข้ามารู้กับหน้าที่และสิ่งที่ตนต้องทำในปัจจุบัน

     ..เมื่อยังเอาใจไปผูกไว้กับคนอื่นสิ่งอื่นอยู่ ชื่อว่ายังไม่พ้นจากการเอาใจไปผูกขึ้นไว้หาที่เกาะอยู่ ให้มีสติเป็นเบื้องหน้ารวมใจเข้ามาภายในเฉพาะตน ทำความรู้ตัวทั่วพร้อม เอาจิตอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับสิ่งที่มี อยู่กับกิจการงานที่ทำ รู้อยู่กับหน้าที่ของตนในงาน ในฐานะ ในสิ่งที่ต้องทำ ทำด้วยรู้หน้าที่ของตน ไม่ส่งจิตออกนอก "นี้เรียก..เจริญมหาสติปัฏฐาน คือ สัมปชัญญะบรรพ ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน"

3. สัมมาทิฏฐิ คือ รู้พระอริยะสัจ ๔

3.1) กำหนดรู้ทุกข์ ทุกข์ของเราคือะไร ทุกข์ของเราเป็นไฉนหนอ พิจารณาให้เห็นทุกข์จากการเอาสุขของตนไปผูกขึ้นไว้กับผู้อื่น
..ก็เมื่อเอาใจเราไปผูกขึ้นไว้แล้วมันเป็นอย่างไรเรา มันสุข หรือทุกข์ มันเร่าร้อน หรือเย็นใจ มันสบาย หรือทนอยู่ได้ยาก ก็ที่มันทุกข์เพราะอุปาทานในเขา การกระทำของเขา ผลตอบรับของเขา สิ่งที่เขาทำกับเรา หรือ ผลที่เราได้รับจากการกระทำทั้งปวงของเขา เพราะอุปาทานว่าสิ่งนี้เราควรได้ สิ่งนี้เราควรมี สิ่งนี้ควรเป็นของเรา และ สิ่งนั้นไม่ควรแก่เรา สิ่งนั้นไม่ควรเกิดมีกับเเรา สิ่งนั้นไม่ควรให้เราได้รับ..ใช่หรือไม่ (*อุปาทาน คือ การเอาเอาใจเข้ายึดครอง ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นๆ*) ทั้งที่แท้แล้วไม่ใช่ตัวตนบุคคลของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา อยู่เหนือการควบคุม ก็เมื่อมันเป็นทุกข์ ควรแล้วหรือที่เราจะอุปาทานเขาต่อไป เมื่อรู้ว่าทุกข์คืออุปาทานเขา หากเราไม่อุปาทานเขาเราก็จะไม่ทุกข์(นี่เราเห็นเป้าหมายแล้ว คือ เห็นตัวทุกข์ และเห็นสิ่งที่ต้องทำให้ถึงที่สุดแห่งมัน เห็นสิ่งที่เราจะต้องทำให้ถึงความจบสิ้นแห่งมันแล้ว นี่เรียกเห็นตัวทุกข์)
..ก็แล้วเราจะละอุปาทานเขาเช่นไร มันต้องมีเงื่อนต้นแห่งอุปาทานนั้นๆ ถ้าจะให้ขาดไม่ใช่ตัดกิ่งใบ ต้องตัดรากถอนโคนให้สิ้น ดังนี้แล้วเราจึงควรเฟ้นหาเหตุ หาเงื่อนต้นแห่งทุกข์ คือ อุปาทานนั้นๆของเรา

3.2) เฟ้นหาเหตุแห่งทุกข์นั้น หากเรายังเข้าไม่ถึงญาณทัสนะเพียงใด คือ ยังสันตะติไม่ขาด ยังไม่เห็นของจริง ไม่ถึงสังขารุเปกขา ก็ให้เรามีสติเป็นเบื้องหน้า ตั้งจิตให้มั่น แต่ปล่อยกายใจให้ผ่อนคลาย น้อมเข้ามาในภายใน มีใจสงบอยู่ดูความเคลื่อนไหวของจิต น้อมใจไปพิจารณาย้อนทวนกระแสจิตกลับว่า..

..ทำไมหนอเราถึงเอาความสุขไปผูกขึ้นไว้กับเขา เราต้องการอะไร ติดใจข้องแวะใจสิ่งใด ยินดีอย่างไร ยินร้ายอย่างไร อะไรคือเหตุแห่งทุกข์ของเรา

..เหตุแห่งความยินดียินร้าย ติดใจข้องแวะต่อเขานั้นคืออะไร เมื่อพิจารณาแล้วจะรู้ว่าเกิดขึ้นเพียงเพราะเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้น การกระทำ ผลตอบกลับ ผลสะท้อนกลับ จากสิ่งเหล่านั้น-บุคคลเหล่านั้นที่มีต่อเรา ให้เราได้รับ หรือ ผลประโยชน์ที่เราได้รับ ผลได้ ผลเสีย ด้วยปริมาณที่กระทบ ที่ได้รับตอบกลับเท่านั้นเอง "นี่เองที่ทำให้เราเป็นคนเห็นแก่ตัว" เมื่อรู้ดังนี้แล้วจะทำให้เรารู้ทันทีว่า..เหตุนั้นเพราะกิเลสตัณหานั่นเอง เพราะกิเลสตัณหาจึงมีปริมาณ จึงมีมาก-น้อย จึงมีได้-มีเสีย

..แล้วกิเลสตัวไหนที่ทำให้เราติดใจข้องแวะยินดี ยินร้ายต่อการกระทำของเขา หรือ สิ่งที่มากระทบ หรือ ปริมาณอย่างนั้น ตัวรัก ตัวโลภ ตัวโกรธ หรือตัวหลง กล่าวโดยย่อ คือ ใจไม่เป็นกลาง เอนเอียงเพราะรัก ชัง กลัว หลงไม่รู้แจ้งเห็นจริง (รวมไปถึงไม่รู้กรรม ไม่รู้ผลสืบ ไม่รู้พระอริสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) เป็นกิเลสตัวไหน
(สังเกตุดูจากคนที่เรารัก ที่เราชัง ที่เรากลัว ที่เราไม่รู้ตามจริง เรามีผลตอบกลับจากการกระทำเขาอย่างไร แม้ในการกระทำเดียวกัน หรือมากกว่ากัน เราแบ่งแยกด้วย อคติ ๔ อย่างนี้ เราจึงเป็นผู้เห็นแก่ตัว เราเป็นผู้เห็นแก่ตัวก็ด้วย ไฟจากราคะ ไฟจากโทสะ ไฟจากโมหะนั่นเอง)

..เมื่อรู้ว่ากิเลสตัวไหนที่ทำให้ใจเรายินดี ยินร้าย แล้วเอาความสุขสำเร็จและลมหายใจของตนไปผูกขึ้นไว้กับผู้อื่น เราก็จะเห็นกรรม เราจะรู้ทันทีว่า..
..เพราะมีมโนกรรมอย่างไร ด้วยใจอ่อนไหวไหลตามอารมณ์ความรู้สึกอันเกิดแต่กระทบสัมผัสแบบไหนจึงทนอยู่ได้ยาก ทำให้ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ แผดเผากายใจตน ..เมื่อพิจารณาแล้วจะรู้ว่าใจไม่มีความรู้ชัด เพราะใจไม่มีกำลัง เพราะใจไม่มีพลัง ใจขาดพลัง ไม่มีกำลังอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่รู้ตัว แยะแยะไม่ได้ จึงแล่นหาธัมมารมณ์เป็นเครื่องอยู่ จึงอ่อนไหวไหลตามกิเลสได้ง่าย

- เหตุที่ใจเราขาดความรู้ ขาดกำลัง แยกแยะไม่ได้ เป็นเพราะเหตุใด เป็นเพราะอะไรหนอ ทำไมเราไม่มีพลังใจ เมื่อพิจารณาโดยแยบคายแล้วจะรู้ว่า..

..เพราะใจเราขาดกำลังปัญญา จึงไม่รู้ว่านี้เป็นทุกข์ นี่เป็นโทษ นี้เป็นเหตุ นี้เป็นความพ้นทุกข์ นี่เป็นทางพ้นทุกข์ จึงปล่อยใจให้อ่อนไหวไหลพล่านไปทั่ว ไม่สามารถวิเคราะห์ แยกแยะพิจารณา คุณ และโทษ สิ่งที่มากระทบสัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อ่อนไหวไปตามความรู้สึกอันเกิดแต่สัมผัส จิตรู้สิ่งใดก็อ่อนไหวตาม

..ที่ใจเราขาดปัญญา เป็นเพราะอะไรหนอ มีอะไรเป็นเหตุ เมื่อพิจารณาดีแล้วจะเห็นว่า..ทุกครั้งที่เราทำกิจการงานใดด้วยใจที่ตั้งมั่น จดจ่ออยู่ในอารมณ์นั้นเป็นหนึ่งเดียว ไม่สัดส่าย ไม่ส่งจิตออกนอก คือ ใจไม่ฟุ้งซ่านคิดไปเรื่องอื่นไปทั่ว สืบต่อความคิดจนใจไม่อยู่กับกิจการงานที่ทำ ใจติดอยู่กับสมมติความคิดที่เป็นอดีตบ้าง อนาคตบ้าง ที่รักที่ใคร่บ้าง ที่เกลียดที่ชังบ้าง ที่ไม่รู้แจ้งเห็นจริงบ้าง) ทำให้เราจดจำได้ สามารถทำความรู้ความเข้าใจ วิเคราะห์พิจารณาอย่างถี่ถ้วนได้ จนเข้าถึงใจ ความรู้ลงใจ แจ้งชัดใจได้ ก็ที่เราเรียกว่าใจตั้งมั่นนี้..มันก็คืออาการของสมาธิ ดังนั้นเหตุแห่งปัญญา ก็คือ สมาธิ ดังนี้เหตุที่ใจขาดปัญญา เพราะไม่มีกำลังสมาธิ แล้วสมาธิสำคัญอย่างไรต่อปัญญา
..ในทางธรรม เพราะสัมมาสมาธิทำให้ใจตั้งมั่นรู้อยู่ร่วมกับสติสัมปชัญญะ ไม่คลอนแคลนหวั่นไหว ใจมีกำลังตั้งมั่นอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องอิงอาศัยเอาสิ่งใดมาเป็นเครื่องอยู่ของจิต จิตแยกจากขันธ์ แยกจากธัมมารมณ์ เป็นญาณทัสนะเพื่อน้อมใจไปในสังขารุเปกขา(สังขารุเปกขาคือ ญาณ ปัญญา มีสังขาร และอุเบกขา เป็นความวางเฉยต่อสังขาร)
- สังขารุเปกขาในสมถะ คือ วางเฉยต่อสังขาร มีใจคลายออกจากสังขารเพื่อเลื่อนฌาณ เช่น วางเฉยนิวรณ์เพื่อต้องการได้ปฐมฌาน วางเฉยต่อวิตกวาจารเพื่อเข้าทุติยฌาณ วางเฉยปิติเพื่อเข้าตติยฌาณ วางเฉยสุขและทุกข์เพื่อเข้าจตุถฌาณ วางเฉนรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา และนานัตสัญญาเพื่อเข้าอรูปฌาณอากาสานัญจายตนะฌาณ ไปตลอดถึงฌาณ ๘ เนวสัญญานาสัญยตนะ สมาบัติ
- สังขารุเปกขาในวิปัสสนา คือ มรรค ๘ สามัคคีกันรวมเป็นหนึ่งเดียว แทงทะลุขึ้น มีธรรมเอกผุดขึ้นเข้าสู่ญาณทัสสนะในสังขารุเปกขา รู้เห็นตามจริงในนามรูป เมื่อรู้เห็นตามจริงจนกระจ่างใจ เกิดความหน่าย คลายกำหนัด จิตเข้าถึงความว่าง ความไม่มี ความสละคืน ปัญญาตัด สำรอกออกซึ่งอุปธิทั้งปวง ปุถุชนเข้าสังขารุเปกขาเพื่อเข้าถึงโสดาปัติมรรคขึ้นไป ส่วนพระเสขะเข้าสังขารุเปกขาเพื่อเข้าถึงมรรคทื่สูงขึ้น จนบรรลุอรหันต์ผล
..ในทางโลก สมาธิช่วยให้ความฟุ้งซ่านหายไป ใจสงบเกิดความเบาสบายผ่อนคลาย ข้อสำคัญคือทำให้จิตเราได้พัก จิตของเราจะทำงานตลอดเวลาเข้าไปรรับรู้กระทบสัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ตลอดเวลาจนไม่ได้พักเลย ทำให้ใจไม่มีกำลังอ่อนไหว ฟุ้งซ่าน ขาดการแยกแยะยั้งคิดพิจารณาโดยแยบคายได้ง่าย สมาธิยังช่วยทำให้ใจเราจัดระเบียบความรู้ ความคิด ความจำ อย่างเป็นระบบบ จัดเก็บเป็นที่เป็นทาง เรียกใช้ความรู้ ความคิด ความจำได้ง่าย ถูกที่ที่จัดเก็บไว้ เรียงลำดับอย่างเป็นระบบ เป็นที่เป็นทางมากขึ้น มีความรู้ผุดขึ้นโดยไร้กรอบคววามคิด

..เหตุที่ใจเราขาดกำลังสมาธิ เป็นเพราะอะไรหนอ เพราะจิตไม่ตั้งมั่น ไม่แน่วแน่ ไม่มีกำลัง จิตไม่มีกำลังเพราะเราส่งจิตออกนอกตลอดเวลา ไม่รวมเข้าไว้ในภายใน ไหลพล่านไปตามกระแสทำเจตนามโนกรรมตามกิเลสที่รายล้อมจิต เพราะไม่รู้เห็นว่ามันสักแต่ว่าเป็นธัมมารมณ์ที่เกิดขึ้นให้ใจรู้ ไม่ได้มีไว้เสพย์ ที่ไม่รู้จักธัมมารมณ์และไหวเสพย์เพราะขาดกำลังสติ ขาดการภาวนาอบรมจิต จึงแยกแยะไม่ได้

..เหตุที่ใจเราขาดกำลังสติ ใจไม่มีความรู้ตัวทั่วพร้อมตั้งมั่นอยู่ เป็นเพราะอะไรหนอ ด้วยเพราะใจมีอกุศลทับถมไว้มาก จึงมีความคิดแล่นไปในอคติเอนเอียงอยู่ตลอดเวลา จิตจึงมีอกุศลเป็นใหญ่กว่าความรู้ตัว อกุศลมีมากเพราะใจขาดความเอื้อเฟื้อ ยังความเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอยู่ และขาดการอบรมจิต

..เหตุที่ใจเราขาดความเอื้อเฟื้อ ยังความเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น มีใจเศร้าหมองอยู่ เป็นเพราะอะไรหนอ เพราะขาดกุศลธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน คือ ทาน ศีล พรหมวิหาร ๔ และการภาวนาอบรมจิต

..ก็แล้วเหตุที่บุคคลขาดทาน ศีล พรหมวิหาร ๔ และการภาวนาอบรมจิต เป็นเพราะอะไรหนอ เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า นั่นเพราะไม่รู้ในบาป บุญ คุณ โทษนั่นเอง

..เหตุที่บุคคลไม่รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ เป็นเพราะอะไรหนอ เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า นั่นเพราะไม่รู้ในกรรม

..เหตุที่บุคคลไม่รู้ในกรรม เป็นเพราะอะไรหนอ เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า เพราะไม่รู้ใน ศรัทธา ๔ ในข้อที่ว่าด้วยเรื่องกรรม ผลของกรรม คือ เรามีกรรมเป็นของๆตน มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ให้ผล เป็นกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นผู้อาศัย เราจะทำกรรมใดไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป เราจะเป็นทายาท คือว่าจะได้รับผลของกรรมนั้นสืบไป

..เหตุที่บุคคลไม่รู้จัก ศรัทธา ๔ ไม่รู้จักกรรม ไม่เข้าใจ ไม่ใส่ใจกรรม เป็นเพราะอะไรหนอ ด้วยเพราะไม่รู้ ไม่ห็นตามจริง ไม่ยอมรับ ไม่เข้าถึงใน โลกธรรม ๘ (อนิจจัง)

..เหตุที่บุคคลไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ ในโลกธรรม ๘ (อนิจจัง) เป็นเพราะอะไรหนอ เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า เพราะความมีใจครอง และการเอาใจเข้ายึดครอง ยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน)

..เหตุที่บุคคลเอาใจเจ้ายึดครอง เป็นเพราะอะไรหนอ เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า เพราะความเห็นว่ามีตัวตน เป็นตัวตน เป็นของๆตน ความยึดถือตัวถือตน ความเป็นตัวเป็นตน (อัตตา)

..เหตุที่มีอัตตา ตัวตน เป็นเพราะอะไรหนอ เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า เพราะมีอวิชชา ความไม่รู้เห็นตามจริง ไม่แทงตลอด ไม่มีสัมมาทิฏฐิ ไม่รู้ในอริยะสัจ ๔

..เหตุที่มีอวิชชา ไม่รู้ในพระอริยะสัจ ๔ เป็นเพราะอะไรหนอ เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า เพราะไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟังพระสัทธรรม คือ ธรรมแท้

..เหตุที่ไม่ได้ฟังพระสัทธรรม คือ ธรรมแท้ เป็นเพราะอะไรหนอ เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า เพราะไม่มีโอกาสได้พบเจอสัปปบุรุษ

3.3) เมื่อรู้ว่าเหตุแห่งทุกข์มันมีอย่างนี้ๆแล้ว เราย่อมรู้ว่าสิ่งใดที่ควรละ เราจะละเหตุแห่งทุกข์นั้นอย่างไร จะทำไฉน เราจึงจำเป็นต้องทำความดับทุกข์ให้แจ้ง เพื่อให้รู้ว่าความสิ้นไปแห่งทุกข์นี้เป็นไฉน และทางอันที่เราควรทำเพื่อละเหตุแห่งทุกข์นั้นเป็นอย่างไร โดยพิจารณาว่า..
..สิ่งใดมีเกิดขึ้น แล้วทำให้สิ่งใดดับไป
..สิ่งใดดับไป แล้วทำให้สิ่งใดมีเกิดขึ้นได้
..สิ่งใดมีเกิดขึ้น จึงทำให้สิ่งนั้นมีตาม
..สิ่งใดดับไม่มี จึงทำให้สิ่งนั้นดับไม่มีตาม
..ในตอนนี้ ปัจจุบันนี้ เราขาดสิ่งใด เรามีสิ่งใด สิ่งใดควรคงไว้ สิ่งใดควรเพิ่มเติมให้มากขึ้น
..เมื่อกำหนดพิจารณารู้จนแจ้งใจแล้ว คือ ได้รู้เห็นตามจริงกระจ่างใจแล้ว สิ่งรู้แจ้งเห็นจริงนั้นคือทางดับทุกข์ของเรา บุคคลทั้งหลาย

3.4) เมื่อรู้ทางดับทุกข์ แล้วก็เจริญในทางนั้นให้มาก
- แล้วสิ่งใดที่จะช่วยให้ทางดับทุกข์ของเรานั้นถูกตรง และเราสามารถทำให้เราเข้าถึงความดับทุกข์นั้นได้จริง เราก็ต้องทำด้วยความเต็มใจยินดี มีความเพียรด้วยสติ มีใจตั้งมั่นไม่วอกแวก ท้อแท้เหนื่อยหน่าย คอยใช้ปัญญาสอดส่องดูแล คือ มีอิทธิบาท ๔ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ก็จะถึงความดับทุกจบ์ที่ถูกต้องได้จริง

-----------------------------------


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กันยายน 15, 2022, 09:42:59 AM
- ดังนี้เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดา เมื่อทรงจะแสดงพระสัทธรรม

..จึงทรงแสดงผลก่อนเหตุ เพื่อให้บุคคลสัมผัสได้ รู้เห็นได้ เข้าใจได้ง่าย คือทุกข์ และนิโรธ ให้บุคคลมีใจน้อมไปหาเหตุได้ง่าย คือ สมุทัย และมรรค

..จึงทรงแสดงอนิจจัง คู่กับ อนัตตา

..จึงทรงแสดงโลกธรรม ๘ คู่กับ กรรม และผลสืบต่อของกรรม

..จึงทรงแสดงกรรม และผลสืบต่อของกรรม คู่กับ บาป บุญ คุณ โทษ ให้รู้จักกำหนดรู้ทุกข์

..จึงทรงแสดงบาป บุญ คุณ โทษ คู่กับ ทาน ศีล พรหมวิหาร ๔ และ ภาวนา พิจารณารู้เหตุแห่งทุกข์ เห็นความดับทุกข์ และทางพ้นทุกข์ เพื่อให้เข้าถึงพระอริยะสัจ๔


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กันยายน 17, 2022, 12:41:31 AM
 [๑๒๐] ปัญญาเครื่องความเป็นผู้ใคร่จะพ้นไปเสีย ทั้งพิจารณาหาทาง
และวางเฉยอยู่ เป็นสังขารุเปกขาญาณอย่างไร ฯ
             ปัญญาเครื่องความเป็นผู้ใคร่จะพ้นไปเสียจากความเกิดขึ้น ทั้งพิจารณา
หาทางและวางเฉยอยู่ ปัญญาเครื่องความเป็นผู้ใคร่จะพ้นไปเสียจากความเป็นไป
ทั้งพิจารณาหาทางและวางเฉยอยู่ ปัญญาเครื่องความเป็นผู้ใคร่จะพ้นไปเสียจาก
สังขารนิมิต ฯลฯ จากกรรมเครื่องประมวลมา จากปฏิสนธิ จากคติ จากความ
บังเกิด จากความอุบัติ จากชาติ จากชรา จากพยาธิ จากมรณะ จากความโศก
จากความรำพัน ปัญญาเครื่องความเป็นผู้ใคร่จะพ้นไปเสียจากความคับแค้นใจ
ทั้งพิจารณาหาทางและวางเฉยอยู่ เป็นสังขารุเปกขาญาณแต่ละอย่างๆ ฯ
             [๑๒๑] ปัญญาเครื่องความเป็นผู้ใคร่จะพ้นไปเสีย ทั้งพิจารณาหาทาง
แลวางเฉยอยู่ว่า ความเกิดขึ้นเป็นทุกข์ ความเป็นไปทุกข์ สังขารนิมิตเป็นทุกข์
ฯลฯ ความคับแค้นใจเป็นทุกข์ เป็นสังขารุเปกขาญาณแต่ละอย่างๆ ปัญญา
เครื่องความเป็นผู้ใคร่จะพ้นไปเสีย ทั้งพิจารณาหาทางและวางเฉยอยู่ว่า ความ
เกิดขึ้นเป็นภัย ความเป็นไปเป็นภัย ฯลฯ ความคับแค้นใจเป็นภัย เป็น
สังขารุเปกขาญาณแต่ละอย่างๆ ฯ
             [๑๒๒] ปัญญาเครื่องความเป็นผู้ใคร่จะพ้นไปเสีย ทั้งพิจารณาหาทาง
และวางเฉยอยู่ว่า ความเกิดขึ้นมีอามิส ความเป็นไปมีอามิส ฯลฯ ความ
คับแค้นใจมีอามิส ความเกิดขึ้นเป็นสังขาร ความเป็นไปเป็นสังขาร ฯลฯ ความ
คับแค้นใจเป็นสังขาร เป็นสังขารุเปกขาญาณแต่ละอย่างๆ ฯ
             [๑๒๓] ความเกิดขึ้นเป็นสังขาร ญาณวางเฉยสังขารเหล่านั้น เพราะ
เหตุนั้นจึงชื่อว่าสังขารุเปกขาญาณ แม้ธรรม ๒ ประการนี้ คือ สังขารและอุเบกขา
ก็เป็นสังขาร ญาณวางเฉยสังขารเหล่านั้น เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าสังขารุเปกขาญาณ
ความเป็นไปเป็นสังขาร ฯลฯ นิมิตเป็นสังขาร กรรมเครื่องประมวลมาเป็น
สังขาร ปฏิสนธิเป็นสังขาร คติเป็นสังขาร ความบังเกิดเป็นสังขาร ความอุบัติ
เป็นสังขาร ชาติเป็นสังขาร ชราเป็นสังขาร พยาธิเป็นสังขาร มรณะเป็นสังขาร
ความโศกเป็นสังขาร ความรำพันเป็นสังขาร ความคับแค้นใจเป็นสังขาร
ญาณวางเฉยสังขารเหล่านั้น เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าสังขารุเปกขาญาณ แม้ธรรม
๒ ประการ คือ สังขารและอุเบกขา ก็เป็นสังขาร ญาณวางเฉยสังขารเหล่านั้น
เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าสังขารุเปกขาญาณ ฯ
             [๑๒๔] การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขา ย่อมมีได้ด้วยอาการเท่าไร ฯ
             การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขา ย่อมมีได้ด้วยอาการ ๘ ฯ
             การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ย่อมมีได้ด้วยอาการเท่าไร
การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของพระเสขะ ย่อมมีได้ด้วยอาการเท่าไร การน้อมจิต
ไปในสังขารุเปกขาของท่านผู้ปราศจากราคะ ย่อมมีได้ด้วยอาการเท่าไร ฯ
             การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ย่อมมีได้ด้วยอาการ ๒ การ
น้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของพระเสขะ ย่อมมีได้ด้วยอาการ ๓ การน้อมจิต
ไปในสังขารุเปกขาของท่านผู้ปราศจากราคะ ย่อมมีได้ด้วยอาการ ๓ ฯ
             [๑๒๕] การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ย่อมมีได้ด้วย
อาการ ๒ เป็นไฉน ฯ
             ปุถุชนย่อมยินดีสังขารุเปกขา ๑ ย่อมเห็นแจ้งสังขารุเปกขา ๑ การ
น้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ย่อมมีได้ด้วยอาการ ๒ นี้ ฯ
             การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของพระเสขะ ย่อมมีได้ด้วยอาการ ๓
เป็นไฉน ฯ
             พระเสขะย่อมยินดีสังขารุเปกขา ๑ ย่อมเห็นแจ้งสังขารุเปกขา ๑
พิจารณาแล้วเข้าผลสมาบัติ ๑ การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของพระเสขะ ย่อม
มีได้ด้วยอาการ ๓ นี้ ฯ
             การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของท่านผู้ปราศจากราคะ ย่อมมีได้ด้วย
อาการ ๓ เป็นไฉน ฯ
             ท่านผู้ปราศจากราคะย่อมเห็นแจ้งสังขารุเปกขา ๑ พิจารณาแล้วเข้าผล-
*สมาบัติ ๑ วางเฉยสังขารุเปกขานั้นแล้ว ย่อมอยู่ด้วยสุญญตวิหารสมาบัติ
อนิมิตตวิหารสมาบัติ หรืออัปปณิหิตวิหารสมาบัติ ๑ การน้อมจิตไปใน
สังขารุเปกขาของท่านผู้ปราศจากราคะย่อมมีได้ด้วยอาการ ๓ นี้ ฯ
             [๑๒๖] การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชนและของพระเสขะ เป็น
อย่างเดียวกันอย่างไร ฯ
             ปุถุชนยินดีสังขารุเปกขา มีจิตเศร้าหมอง มีอันตรายแห่งภาวนา
มีอันตรายแห่งปฏิเวธ มีปัจจัยแห่งปฏิสนธิต่อไป แม้พระเสขะยินดีสังขารุเปกขา
ก็มีจิตเศร้าหมอง มีอันตรายแห่งภาวนามีอันตรายแห่งปฏิเวธในมรรคชั้นสูง มีปัจจัย
แห่งปฏิสนธิต่อไป การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชนและของพระเสขะ
เป็นอย่างเดียวกันโดยสภาพแห่งความยินดีอย่างนี้ ฯ
             [๑๒๗] การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ของพระเสขะและ
ของท่านผู้ปราศจากราคะ เป็นอย่างเดียวกันอย่างไร ฯ
             ปุถุชนย่อมพิจารณาเห็นสังขารุเปกขาโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์
และเป็นอนัตตา แม้พระเสขะก็พิจารณาเห็นสังขารุเปกขาโดยความเป็นของ
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา แม้ท่านผู้ปราศจากราคะ ก็พิจารณาเห็น
สังขารุเปกขาโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา การน้อมจิต
ไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ของพระเสขะและของท่านผู้ปราศจากราคะ เป็น
อย่างเดียวกันโดยสภาพแห่งการพิจารณาอย่างนี้ ฯ
             [๑๒๘] การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ของพระเสขะและ
ของท่านผู้ปราศจากราคะ มีความต่างกันอย่างไร ฯ
             สังขารุเปกขาของปุถุชนเป็นกุศล แม้ของพระเสขะก็เป็นกุศล แต่ของท่าน
ผู้ปราศจากราคะเป็นอัพยากฤต การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ของ
พระเสขะและของท่านผู้ปราศจากราคะ มีความต่างกันโดยสภาพเป็นกุศลและ
อัพยากฤตอย่างนี้ ฯ
             [๑๒๙] การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ของพระเสขะและ
ของท่านผู้ปราศจากราคะ มีความต่างกันอย่างไร ฯ
             สังขารุเปกขาของปุถุชน ปรากฏดีในกาลนิดหน่อย (ในเวลาเจริญ
วิปัสสนา) ไม่ปรากฏดีในกาลนิดหน่อย แม้สังขารุเปกขาของพระเสขะ ก็ปรากฏ
ดีในการนิดหน่อย สังขารุเปกขาของท่านผู้ปราศจากราคะ ปรากฏดีโดยส่วนเดียว
การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ของพระเสขะและของท่านผู้ปราศจาก
ราคะ มีความต่างกันโดยสภาพที่ปรากฏและโดยภาพที่ไม่ปรากฏอย่างนี้ ฯ
             [๑๓๐] การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ของพระเสขะและ
ของท่านผู้ปราศจากราคะ มีความต่างกันอย่างไร ฯ
             ปุถุชนย่อมพิจารณา เพราะเป็นผู้ยังไม่เสร็จกิจจากสังขารุเปกขา แม้
พระเสขะก็พิจารณาเพราะเป็นผู้ยังไม่เสร็จกิจจากสังขารุเปกขา ส่วนท่านผู้ปราศจาก
ราคะย่อมพิจารณาเพราะเป็นผู้เสร็จกิจจากสังขารุเปกขา การน้อมจิตไปใน
สังขารุเปกขาของปุถุชนของพระเสขะและของท่านผู้ปราศจากราคะ มีความต่างกัน
โดยสภาพที่ยังไม่เสร็จกิจและโดยสภาพที่เสร็จกิจแล้วอย่างนี้ ฯ
             [๑๓๑] การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ของพระเสขะและ
ของท่านผู้ปราศจากราคะ มีความต่างกันอย่างไร ฯ
             ปุถุชนย่อมพิจารณาสังขารุเปกขาเพื่อจะละสังโยชน์ ๓ เพื่อต้องการ
ได้โสดาปัตติมรรค พระเสขะย่อมพิจารณาสังขารุเปกขาเพื่อต้องการได้มรรคชั้นสูง
ขึ้นไป เพราะเป็นผู้ละสังโยชน์ ๓ ได้แล้ว ท่านผู้ปราศจากราคะย่อมพิจารณา
สังขารุเปกขา เพื่อต้องการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน เพราะเป็นผู้ละกิเลสทั้งปวง
ได้แล้ว การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ของพระเสขะและของท่าน
ผู้ปราศจากราคะ มีความต่างกันโดยสภาพที่ละกิเลสได้แล้วและโดยสภาพที่ยังละ
กิเลสไม่ได้อย่างนี้ ฯ
             [๑๓๒] การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขา ของพระเสขะและของท่านผู้
ปราศจากราคะ มีความต่างกันอย่างไร ฯ
             พระเสขะยังยินดีสังขารุเปกขาบ้าง ย่อมเห็นแจ้งสังขารุเปกขาบ้างพิจารณา
แล้วเข้าผลสมาบัติบ้าง ท่านผู้ปราศจากราคะย่อมเห็นแจ้งสังขารุเปกขาบ้างพิจารณา
แล้วเข้าผลสมาบัติบ้าง วางเฉยสังขารุเปกขานั้นแล้ว ย่อมอยู่ด้วยสุญญตวิหาร-
*สมาบัติ อนิมิตตวิหารสมาบัติ หรืออัปปณิหิตวิหารสมาบัติ การน้อมจิตไปใน
สังขารุเปกขาของพระเสขะและของท่านผู้ปราศจากราคะ มีความต่างกันโดยสภาพ
แห่งวิหารสมาบัติอย่างนี้ ฯ
             [๑๓๓] สังขารุเปกขาเท่าไร ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมถะ สังขารุเปกขา
เท่าไร ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนา ฯ
             สังขารุเปกขา ๘ ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมถะ สังขารุเปกขา ๑๐ ย่อม
เกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนา ฯ
             สังขารุเปกขา ๘ เป็นไฉน ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมถะ ปัญญาที่พิจารณา
หาทางแล้ววางเฉยนิวรณ์ เพื่อต้องการได้ปฐมฌาน เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑
ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยวิตกวิจาร เพื่อต้องการได้ทุติยฌาน เป็น
สังขารุเปกขาญาณ ๑ ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยปีติ เพื่อต้องการได้
ตติยฌาน เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยสุขและทุกข์
เพื่อต้องการได้จตุตถฌาน เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ว
วางเฉยรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา (และ) นานัตตสัญญา เพื่อต้องการได้
อากาสานัญจายตนสมาบัติ เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ว
วางเฉยอากาสานัญจายตนสัญญา เพื่อต้องการได้วิญญาณัญจายตนสมาบัติ เป็น
สังขารุเปกขาญาณ ๑ ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยวิญญาณัญจายตนสัญญา
เพื่อต้องการได้อากิญจัญญายตนสมาบัติ เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ ปัญญาที่พิจารณา
หาทางแล้ววางเฉยอากิญจัญญายตนสัญญา เพื่อต้องการได้เนวสัญญานาสัญญายตน-
*สมาบัติ เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ สังขารุเปกขา ๘ เหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นด้วย
อำนาจสมถะ ฯ
             [๑๓๔] สังขารุเปกขา ๑๐ เป็นไฉน ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนา ฯ
             ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยความเกิดขึ้น ความเป็นไป นิมิต
กรรมเครื่องประมวลมา ปฏิสนธิ คติ ความบังเกิด อุบัติ ชาติ ชรา พยาธิ
มรณะ ความโศก ความรำพัน ความคับแค้นใจ เพื่อต้องการได้โสดาปัตติมรรค
เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ ... เพื่อต้องการได้โสดาปัตติผลสมาบัติ เป็น
สังขารุเปกขาญาณ ๑ ... เพื่อต้องการได้สกทาคามิมรรค เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑
... เพื่อต้องการได้สกทาคามิผลสมาบัติ เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ ... เพื่อ
ต้องการได้อนาคามิมรรค เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ ... เพื่อต้องการได้อนาคามิผล
สมาบัติ เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ ... เพื่อต้องการได้อรหัตมัค เป็น
สังขารุเปกขาญาณ ๑ ... เพื่อต้องการได้อรหัตผลสมาบัติ เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑
... เพื่อต้องการสุญญตวิหารสมาบัติ สังขารุเปกขาญาณ ๑ ปัญญาที่พิจารณา
หาทางแล้ววางเฉยความเกิดขึ้น ความเป็นไป นิมิต กรรมเครื่องประมวลมา
ปฏิสนธิ คติ ความบังเกิด อุบัติ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ความโศก
ความรำพัน ความคับแค้นใจ เพื่อต้องการได้อนิมิตตวิหารสมาบัติ เป็น
สังขารุเปกขาญาณ ๑ สังขารุเปกขาญาณ ๑๐ เหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจ
วิปัสสนา ฯ
             [๑๓๕] สังขารุเปกขาเป็นกุศลเท่าไร เป็นอกุศลเท่าไร เป็นอัพยากฤต
เท่าไร สังขารุเปกขาเป็นกุศล ๑๕ เป็นอัพยากฤต ๓ เป็นอกุศลไม่มี ฯ
                          ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉย เป็นโคจรภูมิของสมาธิ-
                          จิต ๘ เป็นโคจรภูมิของปุถุชน ๒ เป็นโคจรภูมิของพระ-
                          *เสขะ ๓ เป็นเครื่องให้จิตของท่านผู้ปราศจากราคะหลีกไป ๓
                          เป็นปัจจัยแห่งสมาธิ ๘ เป็นโคจรแห่งภูมิแห่งญาณ ๑๐
                          สังขารุเปกขา ๘ เป็นปัจจัยแห่งวิโมกข์ ๓ อาการ ๑๘ นี้
                          พระโยคาวจรอบรมแล้วด้วยปัญญา พระโยคาวจรผู้ฉลาดใน
                          สังขารุเปกขา ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะทิฐิต่างๆ ฉะนี้แล ฯ
             ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด
เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาเครื่องความเป็นผู้ใคร่จะพ้นไปทั้งพิจารณา
หาทางและวางเฉย เป็นสังขารุเปกขาญาณ ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ บรรทัดที่ ๑๔๓๔-๑๕๘๓ หน้าที่ ๕๙-๖๕.
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=1434&Z=1583&pagebreak=0 (http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=1434&Z=1583&pagebreak=0)
             ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]
             อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=31&siri=22 (http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=31&siri=22)
             ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=31&i=120 (http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=31&i=120)
             ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :-
[120-135] http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=31&item=120&items=16 (http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=31&item=120&items=16)
             อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :-
http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=6330 (http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=6330)
             The Pali Tipitaka in Roman :-
[120-135] http://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=31&item=120&items=16 (http://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=31&item=120&items=16)
             The Pali Atthakatha in Roman :-
http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=6330 (http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=6330)
             สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑
http://84000.org/tipitaka/read/?index_31 (http://84000.org/tipitaka/read/?index_31)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กันยายน 17, 2022, 09:39:39 PM
สังขารุเปกขาในระดับปุถุชนที่เข้าใจง่าย เข้าถึงได้ 1

ก. ปัญญาในสมถะ คือ ทำสักแค่ว่ารู้ ทำแค่รู้ มีใจผลักออกจากอารมณ์ เคลื่อนไปในอารมณ์ที่ดีกว่า เป็นปัญญาในสมถะ

1. แก้ฟุ้งซ่าน เหม่อลอยไปตามความคิด มีใจอ่อนไหวไหลตามไปในรัก โลภ โกรธ หลง
     ..อาศัยขณิกสมาธิ คือ ความสงบใจ (ในขั้นหยาบนี้ นิวรณ์ อุปกิเลสยังมีรายล้อมอยู่ แต่จิตไม่จับ ไม่ยึด ไม่เสพย์) น้อมเข้ามาในภายใน พิจารณาให้เห็นว่า..

1.1 เพราะใจเราอ่อนไหวไปตามสมมติความคิดกิเลสของปลอมจึงเร่าร้อน เพราะใจเราอ่อนไหวติดใคร่หมายมั่นในสิ่งที่มากระทบให้ใจรู้ทั้งปวงไปตามสมมติความคิดกิเลสของปลอมจึงทนอยู่ได้ยาก เพราะใจอ่อนไหวตามสมมติความคิดกิเลสของปลอมข้องแวะเกลียดชัง ผลักไส ต่อต้าน ไม่อยากพบ ไม่อยากเจอ ไม่อยากให้เกิดมีกับตนจึงทนอยู่ได้ยาก จะบังคับไม่ให้เกิดกับตนก็ไม่ได้ เพราะใจขาดปัญญาทำให้ไม่รู้ว่ามันเป็นแค่อาการหนึ่งๆของจิตที่มีอยู่นับล้านๆแบบที่มันเกิดขึ้นกับใจอยู่ตลอดเวลา อยู่เหนือการควบคุม เป็นทุกข์เพราะใจคอยอ่อนไหวไหลตามสมมติความคิดกิเลสของปลอม

1.2 ความสงบใจจากกิเลส เพราะอาศัยใจปล่อย ละ วาง ไม่ยึด ไม่เสพย์ ใจเราทำสักแต่ว่ารู้ ว่ามันแค่อาการหนึ่งๆของจิตที่มีอยู่นับล้านๆแบบที่เกิดขึ้นให้ใจรู้ มันเป็นเพียงสังขารที่อิงอาศัยกันเกิดขึ้นแต่สัมผัสที่ตกกระทบใจแล้วปรุงแต่งอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดสืบต่อไป เพราะใจรู้ดเังนี้ ไม่สืบต่อดังนี้ ปล่อย ละ วาง ไม่ยึด ไม่เสพย์ ถึงความว่าง ใจว่างจากสมมติกิเลสปรุงแต่งจิต ถึงความสงบ ถึงความไม่มี ถึงความสละคืน เราจึงผ่อนคลายสบายกายใจ เย็นใจไม่เร่าร้อน เป็นสบายกายใจนัก

1.3 เมื่อรู้ดังนี้แล้ว ให้มีสติเป็นเบื้องหน้า ทำไว้ในใจเคลื่อนใจออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด มีใจน้อมไปในการไม่จับ ไม่เอา ไม่ยึด ไม่เสพย์ ถึงความว่าง ความไม่มี ความสละคืน
- ขณะนี้จะเห็นความรู้สึกทั้งปวงเป็นเพียงสังขารที่อิงอาศัยกันเกิดขึ้นให้ใจรู้ ให้ใจหลงเสพย์ จิตจะเคลื่อนออกจากกองสังขารนั้น เกิดมนสิการน้อมใจไปในความสงบ ปล่อย ละ วาง ไม่ติดใจข้องแวะอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งปวง แม้ภายนอก หรือภายใจ (แรกเริ่มที่ฝึกหัดใหม่จะตั้งด้วยมโนกรรม คือ เจตนา อาศัยใจหน่าย ผลักไสจากสังขาร จากธัมมารมร์ทั้งปวง)

1.4 คาถาแก้ความฟุ้งซ่าน

..อย่าไปติดใจข้องแวะมันเลย ติดใจข้องแวะมันไปก็หาประโยชน์สุขใดๆไม่ได้นอกจากทุกข์ ไม่ติดใจข้องแวะมันก็ไม่ทุกข์

- คำว่า "ติดใจ" ในที่นี้ คือ การเอาใจเข้าไปข้องเกี่ยว ยินดี ติดใจ ใคร่ตาม หมายมั่นต้องการปารถนา
- คำว่า "ข้องแวะ" ในที่นี้ คือ เอาใจเข้าไปข้องเกียว ยินร้าย ขุ่นข้อง ขัดเคืองใจ หมายมั่นเกลียดชัง ผลักไส
- คำว่า "มัน" ในที่นี้ คือ ธัมมารมณ์ทั้งปวง สังขารทั้งปวง คือ สิ่งที่รับรู้กระทบสัมผัสในภายนอก อาการความรู้สึกนึกคิดอันเกิดแต่กระทบสัมผัสในภายใน
- การไม่ติดใจข้องแวะ ในที่นี้หมายถึง การไม่เอาใจเข้าไปข้องเกี่ยว คือ ตั้งความสำคัญมั่นหมายของใจยินดี ยินร้าย รัก ชัง กลัว หลง สักแต่ว่ารู้แล้วก็ปล่อยผ่านไป ไม่เอาใจเอายึดครอง ไม่เอาใจเข้าไปข้องเกี่ยว ใหฟ้เกิดความสืบต่อ


2. แก้ใจไม่มีกำลัง เพราะอาศัยอุปจาระสมาธิ

"คาถาแก้อารมณ์ จิตรู้สิ่งใดสิ่งนั้นคือสมมติทั้งหมด ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้ก็ไม่ยึดสมมติ"
"ของแท้มีแค่ลมหายใจเรานี้เท่านั้น อย่าทิ้งลมหายใจ อย่าทิ้งพุทโธ"

คำสอนของหลวงพ่อเสถียร ถิระญาโน จาก หลวงตาศิริ อินทสิริ

2.1 เพราะใจอยู่เหนือการควบคุม ทำให้ไม่อาจจะทรงอารมณ์นั้นได้ตลอดเวลา เมื่อกิเลสที่จรมาเกิดขึ้นให้ใจรู้ โดยอาศัยเครื่องล่อใจ คือ รูป เสียง กลิ้น รส โผฐฐัพพะ ธัมมารมณ์ เมื่อใดที่ใจเรารู้สิ่งเหล่านี้โดยสมมติ ย่อมเป็นเหตุให้เกิดทุกข์เมื่อนั้น เรามีความสำคัญมั่นหมายของใจไว้ต่อสิ่งนั้นอย่างไร ความทุกข์ด้วยประการฉันนั้น

2.2 เมื่อได้รู้อย่างนี้แล้วพึงไม่ตั้งความสำคัญมั่นหมายใดๆไว้กับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะ ทำสักแต่ว่ารู้แล้วก็ปล่อยมันไป เราก็จะไม่ยึดสมมติ ก็ไม่มีทุกข์

2.3 ของแท้มีแค่ลมหายใจเรานี้เท่านั้น เพราะลมหายใจคือ กายสังขาร กายเรานี้อาศัยลมหายใจหล่อเลี้ยงกายไว้จึงยังทรงรูปของมันไว้ได้อยู่

2.4 ของแท้มีแค่ลมหายใจเรานี้เท่านั้น เพราะลมหายใจเป็นธาตุ ๑ ใน ธาตุ ๖ คือ วาโยธาตุในกายนี้ เคลื่อนไหวเข้าออกในกาย ทำให้กายเคลื่อนตัวเหยียดออก แผ่ออก ขยายออกด้วยลมหายใจเข้า ทำให้กายเคลื่อนตัวผ่อนลง หด คู้เข้าด้วยลมหายใจออก

2.5 ลมหายใจนี้ไม่มีทุกข์ ลมหายใจไม่มีโทษ ลมหายใจเป็นที่สบายกายใจ เพราะลมหายใจไม่ใช่เครื่องปรุงแต่งจิต ไม่ใช่เครื่องปรุ่งแต่งสมมติให้จิต รู้ลมหายใจจิตจึงไม่ยึดสมมติ รู้ลมหายใจจิตจึงไม่ปรุงแต่งจิต เพราะลมหายใจไม่ใช่ของปรุงแต่งจิต อย่าทิ้งลมหายใจ อย่าทิ้งพุทโธ

คำว่าสมมติ มีจำแนกด้วยกันดังนี้

ก. สมมติความคิด คือความคิดสืบต่อเรื่องราวต่างๆไม่อยู่กับปัจจุบัน ไปอดีตบ้าง อนาคตบ้าง ตามที่รักบ้าง ที่ชังบ้าง ที่กลัวบ้าง ที่หลงไมม่รู้ตามจริงบ้าง

ข. สมมติสัจจ์ คือ สภาพอาการแท้จริง ที่มีอยู่จริงเดิมแท้ของธรรมธาตุโดยปราศจากการจำกัดความหมายในอาการนั้นๆ เป็นการรับรู้เอาแค่อาการที่มากระทบสัมผัสจากสิ่งทั้งปวงโดยไม่จำกัดความหมายของสิ่งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ ใจ คน สัตว์ สิ่งของ รับรู้ได้ด้วยอาการสัมผัสรับรู้ทางสัมผัสในสฬายตนะ เช่น ลมหายใจก็รู้สักแต่ว่าอาการที่สัมผัสได้ คือ เคลื่อน ไหว พอง หย่อน เป็นต้น

ค. สมมติกิเลส คือ ความรักโลภ โกรธ หลง ที่เกิดขึ้นกับจิต เกิดปรุงแต่งให้ใจรู้โดยความอาศัยความคิดสืบต่อ กล่าวคือ..
- ความคิดที่ใคร่เสพย์ ความคิดสมมติสืบต่อเรื่องราวที่ใคร่ ..ความนึกคิดในราคะนั้น มีความหมายรู้สำคัญมั่นหมายของใจเป็นสมุทัย ..ก็เพราะใจเรามีราคะเป็นเครื่องอยู่ที่ตั้งแห่งใจ ด้วยความสำคัญมั่นหมายเอาผูกขึ้นไว้กับใจต่อสิ่งที่รู้อยู่นั้นๆด้วยราคะ ..ใจเราก็รู้สิ่งนั้นด้วยราคะ เมื่อรู้สิ่งใดด้วยราคะ ใจก็จะตรึกถึงนึกถึงราคะ แล้วก็คิดสืบต่อเรื่องราวในราคะ
- เมื่อจิตเสพย์ความคิดที่มีราคะเป็นที่ตั้ง จึงทนอยู่ได้ยาก ทุรนทุราย เร่าร้อนเป็นไฟแผดเผากายใจด้วยไฟราคะ
- โดยกิเลสราคะนี้อาศัยความรู้สึกนึกคิดอันเกิดแต่สัมผัสนี้เป็นธัมมารมณ์เครื่องล่อจิต สิ่งนี้สำคัญที่สุด เพราะละสิ่งนี้ได้จึงเห็นธัมมารมณ์ จึงเห็นธาตุที่แท้จริง

- เมื่อเข้าอุปจาระสมาธิได้ นิวรณ์จะอ่อน ไม่มีความกำหนัด สงัดจากกาม สงัดจากอกุศล อุปจาระฌาณละเอียดจะเหมือนละกิเลสได้ เหมือนบรรลุธรรมเพราะสงัดจากกิเลส จิตตั้งมั่นไม่สัดส่ายแต่รับรู้ทุกอย่างได้ทั้งภายนอกหรือภายในตามแต่อริริยาบถและกิจการงานที่ทรงอยู่ แต่มันเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมาธิ ทำได้เป็นครั้งคราว นึกอกุศลไม่ออก ทรงอารมณ์ได้ทั้งขณะเคลื่อนไหว หรือหยุดนิ่ง

- เมื่อรู้ดังนี้แล้ว เราจะทำไฉนหนอจึงละความรู้อารมณ์ด้วยราคะอย่างนี้ๆไปได้ เมื่อรู้ว่าสำคัญใจด้วยราคะ ตรึกตรองในราคะ จะละก็ละที่เหตุ คือ

      ๑. ความคิดสืบต่อ ก็ละที่การไม่สืบต่อ ทำแค่รู้แล้วปล่อยผ่านมันไป

      ๒. ความนึกถึง ก็ละที่การสำคัญมั่นหมายของใจ คือ การไม่ให้ความสำคัญกับใจต่อสิ่งที่รู้อยู่นั้น ทางแก้ก็เริ่มจาก
          ๒.๑ ความหน่ายระอา คือ กำหนดรู้ทุกข์ในราคะ ที่ร้อนรุ่มเพราะมีราคะ ติดในราคะ เพราะเอาใจเข้ายึดครองราคะ
          ๒.๒ รู้ของจริงต่างหากจากสมมติในสิ่งที่ยึด คือ อาการ ๓๒ ทั้งประการ, ธาตุ ๖, อสุภะกรรมฐาน, สัญญา ๑๐
          ๒.๓ รู้ชัดเหตุแห่งทุกข์นั้น เพราะรู้สิ่งนั้น-ธัมมารมณ์นั้นๆโดยสมมติที่กิเลสวางไว้ล่อใจเราให้หลงตามทางสฬายตนะ จึงสืบต่อสมมติกิเลสอันเร่าร้อน ต้องแก้โดยละสมมติ

      ๓. เมื่อปฏิบัติรวมประการทั้ง ๒ ข้อ ข้างต้นแล้ว เพื่อไม่ให้จิตยึดสมมติกิเลส ไม่เอาสมมติกิเลสมาเป็นที่ตั้งแห่งจิต ไม่รู้ธัมมารมณ์ด้วย ราคะ โทสะ โมหะ ..เราก็ต้องไม่ยึดในอาการความรู้สึกอันเกิดแต่สัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงรวมลงเป็นทางปฏิบัติด้วยประโยคคาถาว่า..

"จิตรู้สิ่งใดสิ่งนั้นเป็นสมมติทั้งหมด ไม่ยึดสิ่งที่จิตรู้(ธัมมารมณ์)ก็ไม่ยึดสมมติ ของแท้มีแค่ลมหายใจเรานี้เท่านั้น อย่าทิ้งลมหายใจ อย่าทิ้งพุทโธ คำสอนของหลวงพ่อเสถียร ถิระญาโน จาก หลวงตาศิริ อินทสิริ"

- สัพเพธัมมาอนัตตาติ จะเข้าถึงได้ด้วยการปฏิบัตินี้

- ความสำคัญมั่นหมายของใจ อีกประการหนึ่ง ซึ่งที่มีทับถมในใจมากจนกลายเป็นจริตนิสัยสันดาน ก็คือ นิวรณ์


3. แก้นิวรณ์ ด้วยอาศัยปฐมฌาณ

คาถา ให้เข้าถึง
..เพราะอิงอาศัยนิวรณ์ ความคิด ความจดจำสืบต่อในอกุศลทั้งปวงที่เกิดจากจิต ทำให้ใจเศร้าหมอง เป็นทุกข์
..เพราะความมีจิตแจ่มใส มีใจเอื้อเฟื้อ เว้นจากความเบียดเบียน มีเจตนาเป็นศีล พ้นแล้วจากกิเลสนิวรณ์เป็นสุข

- เมื่ออยู่ในอุปจาระฌาณนิวรณ์ก็อ่อนลงไม่ฟุ้งขึ้น อารมณ์เหมือนสละคืนกิเลสได้แล้ว ปิดการรับรู้ภายนอก เสียงภายนอกเบาจนเหมือนไม่ได้ยินเสียงจากภายนอก เพราะจิตจดจ่อในอารมณ์ที่อยู่ตรงหน้าเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นลม มีนิมิต หรือว่างโล่ง ไม่มีนิมิต หรือนิ่งอยู่ หรือ มีอาการเหมือนตัวรู้แยกจากความนึกคิดก็ตาม ลมหายใจหายไปบ้าง เหมือนไม่หายใจบ้าง พุทโธดับไปบ้าง หรือเสียงจิตบริกรรมพุทโธอยู่อีกฟากหนึ่ง ไม่ได้อยู่ที่ตัวรู้เหมือนเวลาปกติที่เราเป็น (กล่าวคือเวลาปกติของปุถุชนความรู้จะเป็นอันเดียวกับจิต เจตนาเป็นตัวเดียวกัน อารมณ์ความรู้สึกนึกเป็นอันเดียวกัน)

- เมื่อมีใจน้อมไปในปฐมฌาณ ให้จิตตัวรู้ทิ้งอารมณ์สภาวะธรรมที่อยู่เบื้องหน้า ไม่ใช่ผลักจิตออก แต่เป็นการเคลื่อนอารมณ์ของจิต มีวิธีอยู่ ๒ ประการ ที่ผู้เขียนพอจะมีปัญญาเข้าถึงได้อย่างปุถุชน คือ..

๑. แนบจิตเคลื่อนไหลไปตามลมหายใจ เป็นการยกจิตขึ้นเคลื่อนไปอีกสภาวะหนึ่งตามลมหายใจ (เหมาะกับจิตที่มีกำลังจดจ่อแนบอารมณ์กับนิมิต หรือสี หรือแสงได้ดี) ..โดยเอาจิตจับนิมิตตรงหน้าที่เกิดขึ้นอยู่ไว้มั่น ปักใจแนบเป็นอารมณ์เดียวกับนิมิต แล้วทำไว้ในใจว่า..เราจักเคลื่อนออกจากนิมิตตรงหน้านี้เพื่อเข้าสู่ธรรมที่สูงขึ้น ..โดยเอาจิตแนบตามลมหายใจเข้า(ข้อนี้สำคัญ) เคลื่อนจิตออกจากนิมิตตรงหน้าที่เกิดขึ้นอยู่ เพื่อเลื่อนขึ้นไปในธรรมที่สูงขึ้น  หายใจออกจิตตั้งอารมณ์ในธรรมนั้น
(ธรรมชาติของคนที่กำหนดพุทโธ จะจับลมหายใจเข้าเป็นอันรดับแรก จิตจึงเคลื่อนไปตามความเคยชินดังนี้..)

๒. ทำไว้ในใจละองค์ธรรม เพื่อเข้าถึงองค์ธรรม เป็นการละจากองค์ธรรมหนึ่ง เพื่อเข้าถึงอีกองค์ธรรมหนึ่ง แนบจิตรู้อารมณ์สภาวะองค์ธรรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน รู้ว่าหากองค์ฺธรรมใดดับ องค์ธรรมใดจะสืบต่อ องค์ธรรมที่เราต้องการจะเคลื่อนไปนั้นต้องสงัดจากองค์ธรรมใด สิ่งใดต้องดับ-สิ่งใดตั้งอยู่จึงเคลื่อนไปจุดนั้นได้ ในที่นี้จะเข้าสู่ปฐมฌาณ เราจับรู้อารมณ์ของอุปจาระฌาณว่ามันมีปรุงแต่งหลายอย่าเกิดขึ้น มีการกระทำ เช่น คิด กระทำใจ มิมิต ยังมีอารมณ์นิวรณ์อ่อนๆ จะความง่วงก็ดี ความหน่ายก็ดี ความเฉยไม่รู้ก็ดี ความจดจ่อนิ่งว่างแต่หน่วงตรึงจิตก็ดี สิ่งนี้คือนิวรณ์ทั้งสิ้น เมื่อรู้แล้วก็ให้ทำไว้ในใจเอาใจแนบอารมณ์จับรู้ที่สภาวะธรรมนั้นไว้เป็นอารมณ์เดียว มีใจอยากออกจากสภาวะธรรมปัจจุบัน ดับสภาวะธรรมนั้น จักเอาใจเคลื่อนออกจากสภาวะนั้น โดยการทำไว้ในใจว่าเพราะอิงอาศัยนิวรณ์ ความคิด ความจดจำสืบต่อ เป็นทุกข์ มีใจถอนออกจากอุปจาระสมาธิ โดบกำหนดหมายใจให้สงัดจากนิมิต สงัดจากความคิด สงัดจากกิเลส กำหนดหมายใจเข้าสู่ปฐมฌาณ (การเคลื่อนของจิตวิธีนี้ จะว่ามีนิมิตก็ไม่ใช่ไม่มีนิมิตก็ไม่ใช่ แต่ที่แน่ชัดคือมีแต่ตัวรู้ และตัวถูกรู้ อาการปรุงแต่งที่ใจรู้ ..ซึ่งจิตตัวรู้จะเกิดความรู้ถึงอาการความรู้สึกขององค์ธรรมที่จิตแนบรู้อยู่เป็นกองธรรมกองหนึ่ง และ จิตตัวรู้จะมนสิการกองธรรมอีกกองที่กำหนดหมาย จากนั้นจิตจะจับรู้ว่ากองธรรมที่กำหนดหมายนั้นตั้งอยู่ที่ใด แล้วจะเคลื่อนตัวไปองค์ธรรมกองนั้น โดยใจเราที่เป็นตัวรู้จะรู้ว่ากองที่เคลื่อนไปนั่นมีสภาวะอาการความรู้สึกอย่างไร เช่น สงบ สงัด เย็นที่สบาย ซาบซ่าน อิ่มเอิบ แช่มชื่น เป็นต้น) นี้เป็นสังขารุเปกขาโดยปัญญาในสมถะ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ตุลาคม 12, 2022, 08:12:24 PM
สังขารุเปกขาในระดับปุถุชนที่เข้าใจง่าย เข้าถึงได้ 2

ต้องรู้ก่อนว่า สิ่งนี้มีแต่พระอริยะสาวก คือ พระโสดาปัติมรรค ขึ้นไปเท่านั้นที่ทำได้ เป็นบุคคลผู้เห็นธรรมแล้วจิตหยั่งลงสู่ธรรมแท้ ไม่กลับกลาย ไม่กลับกลอก

ข. ปัญญาในวิปัสสนา คือ การอบรมอินทรีย์ ทำให้แจ้งในสังขาร จิตรู้ชัดอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในโลกุตระ ของคู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ คือ มรรค-ผล ตั้งแต่โสดาปัตติมรรคให้แจ้ง ให้สูงขึ้น จนเข้าถึงอรหันตผล เพราะละอวิชชา ละอุปาทานตัวตนแห่งสังขารอันเป็นสังโยชน์ข้อนั้นๆในแต่ละระดับได้


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ตุลาคม 14, 2022, 11:18:36 AM
การลด ละ เลิก อกุศลกรรม ที่เมื่อทำแล้วกลับฟุ้งซ่าน 1

1. ให้รู้ก่อนว่า..มันจะมีช่วงที่ใจเราต้องการทำอกุศลกรรมนั้นๆอยู่มากในช่วงเวลาหนึ่งที่เราจะเลิกทำ เหตุนั้นมาจากความเคยชินในการทำอย่างนั้นเป็นประจำ จนติดเป็นจริตนิสัย ในขันธสันดาน ถ้าอดทนข่มใจไว้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนผ่านมันไปได้ จริตนิสัย ขันธสันดานนั้นๆจะอ่อนกำลังลง

- เหตุนั้นเพราะไม่มีการสืบต่ออกุศลอีกด้วยปัญญาสมถะ อาศัยการทรงอารมณ์ไว้เป็นหลัก กล่อมใจให้ออกจากเป็นรอง ตามรู้อารมณ์ความรู้สึก รู้เห็นจริงในความเป็นโลก ละแบบทางโลก .."เอาใจน้อมออกจากอกุศลด้วยอาศัยกุศลธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวอารมณ์จิตใจกดข่ม ถอนออกจากใจ คือ ทมะ จาคะ อุปสมะ แบบสาสวะ สะสมเหตุ".. เป็น อารมณ์สมถะ จนเบาบางลงนานไปกำเริบที

- หรือ หากถอนจนขาดด้วยวิปัสสนาญาณ มันก็จะไม่กำเริบอีก เพราะถึงความว่าง ความสงบ ความไม่มี ความสละคืนแบบอนาสวะ ถอนออกหมด สิ่งนั้นไม่มีตัวตนกับกายใจเราอีก การเอาใจไปผูกความสุขสำเร็จขึ้นไว้กับสิ่งนั้นจึงไม่มีอีก เห็นเป็นสักแต่ว่าธาตุ สักแต่ว่าสิ่งหนึ่งๆที่มีอยู่นับล้านๆแบบในโลก อาการหนึ่งๆของจิตที่มีอยู่นับล้ายแบบล้าานๆอาการ

อธิบาย การทำจนเป็นจริตนิสัย เป็นนิวรณ์ เป็นขันธสันดานแห่งจิต

ก. เป็นนิวรณ์เป็นขันธสันดานจดจำสำคัญมั่นหมายของใจ ให้หมายรู้ธัมมารมณ์ด้วยกิเลสในประการนั้นๆ

ข. เป็นอวิชชาเกิดจากการลิ้มรสนั้นแล้วชอบใจ แล้วเกิดความจดจำสำคัญมั่นหมายของใจให้หมายรู้ธัมมารมณ์ด้วยกิเลสในประการนั้นๆ

..นั่นคือ ความหลง ไม่รู้เห็นตามจริง ว่ามันเป็นแค่การเสวยอารมณ์ความรู้สึกอันเกิดแต่สัมผัสให้เกิดความยินดี ยินร้าย

..แล้วจดจำสำคัญมั่นหมายเอาไว้กับใจ นำเอามายึดกอดขึ้นไว้เป็นที่ตั้งแห่งจิต
..จนเกิดมีความเอาใจเข้ายึดครอง เอาใจผูกขึ้นไว้ถือเป็นตัวตนแห่งความสุขสำเร็จของตน

..จึงเกิดความหมายปอง แสวงหา แม้ได้มาครองแล้ว เคยลิ้มรสแล้ว ลิ้มรสเต็มที่แล้วก็ยังอิ่มไม้เป็น ยิ่งลิ้มรสยิ่งติดตราตรึงใจหมายปอง นี่เรียกว่า.."กามมันอิ่มไม่เป็น"

..ประการทั้งหมดนี้คือ "อวิชชา" ความหลง ไม่รู้เห็นตามจริง ไม่รู้ในพระอริยะสัจ ๔ ที่เกิดขึ้นไม่ก่อน ไม่หลัง แต่เดิมไม่มี ปัจจุบันนี้มี ต่อไปจึงมี อาศัยนิวรณ์ ความจดจำสำคัญหมายรู้ในธัมมารมณ์สถิตเป็นขันธสันดาน เป็นอาหารแห่งอวิชชา ดังนี้..



2. ตั้งใจมั่นทำการลด ละ เลิกในอกุศลกรรมแล้ว ใจมีสติรู้ แต่ต้านทานไม่ได้

..เหตุนั้นเพราะเราให้ความสำคัญที่จะลดละเลิกกับมันมากไป จนกลายเป็นการจำจดจำจ้องในมัน ตื่นตัวระวังมากไป จนกลายเป็นความฟุ้งซ่าน ให้ตรึกถึง นึกถึง ตรองถึง คำนึงถึงในมันบ่อยๆ บ่อยขึ้นจนแทบจะตลอดเวลา

..ดังนี้แทนที่จะลด ละ เลิกมันได้ แต่กลับกลายเป็นสร้างความจดจำหมายรู้ธัมมารมณ์ต่างๆด้วยกิเลสกำเริบฟุ้งขึ้นอีกไม่หยุด นั่นเพราะเราทำความสำคัญมั่นหมายกับใจเอาไว้มากจนเกินความจำเป็นไปว่า ถ้าเจอสิ่งนี้ - ต้องไม่ทำสิ่งนี้ ..แต่กลับกลายเป็นการทำสัญญาย้ำกับใจไว้ว่าสิ่งนี้ย่อมมีคู่กันเสมอ มีสิ่งนี้ ก็จะมีสิ่งนี้

- ทำให้ใจเราจะคอยตรึกนึกถึงมันทุกครั้งเมื่อพบเจอสิ่งหนึ่งที่เราจดจำทำสัญญาคู่กันไว้

..ประการแรกนึกถึงเพราะไม่อยากให้มี ..แต่ธรรมชาติของปุถุชน ..เมื่อตรึกถึงย่อมมีตรองถึง มีคำนึง คิดถึงสืบต่อ

..เช่น ถ้าเจอพระห้ามคิดลามก แล้วจดจำสำคัญมั่นหมายไว้ในใจเอาไว้มาก กลัวจะหลุด กลัวจะบาปอกุศล จนกลายเป็นทำสัญญากับใจไว้ว่า เมื่อเห็นพระ ก็จะต้องมีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอันลามกนี้คู่กันไปด้วย แม้ขณะแวบแรกไม่มีแต่ใจนึกก็จะเข้าไปนึกถึงความคิดลามกนั้น เพราะสำคัญใจมากไปจึงกลายเป็นทำสัญญากับใจไว้ให้ทั้ง ๒ สิ่งนี้คู่กัน ..ดังนั้นทุกครั้งที่พบเจอพระเราจะนึกถึงอกุศลธรรมอันลามก เพราะเราทำสัญกับใจเอาไว้นั่นเอง นี่เรียกเพียรแบบผิดๆ ที่เป็นวิปัสสนูปะกิเลส คือ เพียรด้วยการตำจดจำจ้อง มีความตั้งใจดีในกุศลแต่ว่าใจขาดทานกำลัง ศีลกำลัง สติกำลัง สัมปชัญญะกำลัง สมาธิกำลัง ปัญญากำลัง

ทางแก้

ก. อย่าให้ใจเราจำจดจำจ้องกับมันมากไป อย่าให้ความสำคัญกับมันมากไป

..ทำได้โดย ยึดมั่นในมิชฌิมาด้วยอิทธิบาท ๔ คือ ปฏิบัติเดินทางสายกลาง ทำให้ทุกอย่างพอดี ทีสมกัน ด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา คือ..

- ไม่ตั้งใจมากไป จนใจเกิดความจำจดจำจ้องระวังในอกุศลกรรม จนตรึกถึง นึกถึง ตรองถึง คำนึงถึงอกุศลกรรมตัวนั้นไม่ขาด นี้เรียกเข้าไปใกล้มันมากเกินไป หรือ ให้ความสำคัญกับมันมากไปจนฟุ้งซ่าน เป็นกิเลสนิวรณ์

- ไม่ถอยห่างเกินไป จนเหลาะแหละขาดความใส่ใจที่จะลด ละ เลิก ผลัดวันประกันพรุ่ง

- ทำให้เป็นที่สบายกายใจ ไม่กระสันในผล ทำด้วยใจผ่อนคลายสบายๆ แต่ทำบ่อยๆเนืองๆไม่ละเลย จนเป็นปกตินิสัย กล่าวคือ รู้ว่าการปฏิบัติในกุศลธรรมนี้ๆให้ผลได้ไม่จำกัดกาล ให้ผลได้ทุกเมื่อ หากมีกำลังมากก็ให้ผลมาก มีกำลังน้อยก็ให้ผลน้อย เราจึงทำเพื่อสะสมเหตุกำลังในพละ ๕ คือ..

..การระลึกใน ทาน ศีล พรหมวิหาร ๔ ได้กำลังศรัทธา

..การปฏิบัติทำใน ทาน ศีล พรหมวิหาร ๔ ได้กำลังความเพียร

..การประครองกายใจตนใน ทาน ศีล พรหมวิหาร ๔ ได้กำลังสติ
..โดยเมื่อมีอกุศลเกิดขึ้น ให้ทำแค่รู้แล้วปล่อยมันไป
..ไม่ใช่ไปพยายามกดข่มมันไว้ไม่ให้เกิดขึ้น เพราะกิเลสสังขารปรุงแต่งจิตไม่ใช่ตัวตน อยู่เหนือการควบคุม มันบังคับไม่ได้ ยิ่งกดข่มยิ่งปะทุ
..แต่ให้เราประครองกายใจตนไว้ไม่ให้หวั่นไหวไหลตามมัน
..เพราะรู้เห็นว่ามันเป็นธรรมชาติของปุถุชนที่จะมีอกุศลในสันดานเกิดขึ้นตามปกติ จิตเดิมแท้มีหน้าที่ทำสักแต่ว่ารู้ รู้แล้วปล่อยมันไป ใจเราแค่ประครองไว้ไม่ให้หวั่นไหวคล้อยตาม ด้วยน้อมใจไปดังนี้..
๑.) ประครองใจตนน้อมไปใน ทาน ..ละโลภปรนเปรอตนทั้งปวง ก็มีทาน และ เป็นเมตตา กรุณา ให้ทาน-ให้อภัยทานแก่ตนเองไม่ให้ถูกไฟราคะแผดเผากายใจ ถึงความอิ่มใจไม่เร้าร้อน รู้จักอิ่ม รู้จักพอ ไม่กระสันใคร่สพย์อีกจึงไม่เร่าร้อน
..ระลึกถึงทาน การสละให้ที่ตนทำมาดีแล้ว ก็เป็นจาคานุสสติกรรมฐาน
๒.) ประครองใจตนน้อมไปใน ศีล ..ละโกรธ เกลียด ชัง ริษยาในใจตน ก็มีศีล และ เป็นการเมตตา กรุณาต่อตนเองไม่ให้ถูกไฟโทสะแผดเผากายใจ ถึงความเย็นใจไม่เร้าร้อน
..ระลึกถึงศีล การเว้นจากความเบียดเบียน ที่ตนทำมาดีแล้ว ก็เป็นสีลานุสสติกรรมฐาน
๓.) ประครองใจตนน้อมไปใน พรหมวิหาร ๔ มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ต่อตนเอง และผู้อื่น เป็นการประครองใจตนเองในถึงพร้อมในกุศลทาน กุศลศีล..โดยไม่เร่าร้อน ขุ่นข้องกายใจตน
..อีกทั้งเป็นการอบรมจิตตน ให้ใจนิ่ง เฉย วางใจด้วยความเป็นกลางต่อสิ่งที่มากระทบสัมผัสให้เสวยความรู้สึก ทั้งภายนอกตน(รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์) และ ภายในตน(ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ทำให้กายใจตน ไม่ให้หวั่นไหวไปในอกุศล ถึงความสงบใจไม่เร้าร้อน
..ระลึกถึงพรหมวิหาร ๔ เข้าถึงมหาสติปัฏฐาน ๔ ถึงเจโตวิมุตติ โดยการเอากายอยู่ในเมตตา, เอาเวทนาอยู่ในกรุณา, เอาจิตอยูู่ในมุทิตา, เอาธรรมอยู่ในอุเบกขา, ความว่าง ความไม่มี ความสละคืนได้อุปสมานุสสติ

..การที่ตั้งกายใจคงไว้ซึ่ง ทาน ศีล พหรมวิหาร ๔ ได้กำลังสมาธิ
..กล่าวคือ การนำเอากุศล ทาน ศีล พรหมวิหาร ๔ เข้ามาตั้งไว้ในใจ เป็นเครื่องบ่มใจให้ไม่คลอนแคลนหวั่นไหวถึงความสงบใจจากธัมมารมณ์ทั้งปวง จิตมีกำลังตั้งอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง ไม่อาศัยธัมมารมณ์ใดๆมาเป็นเครื่องอยู่ของจิต
..ระลึกถึงพรหมวิหาร ๔ เข้าถึงเจโตวิมุตติ, อุปสมานุสสติ

..การที่ใจรู้จักเลือกเสพย์ในทาน ศีล พรหมวิหาร ๔ ไม่คล้อยตามความรัก ชัง กลัว หลงไม่รู้เห็นตามจริง ได้กำลังปัญญา
..การที่ใจรู้จัก เลือกเฟ้นธัมมารมณ์ที่ควรเสพย์และไม่ควรเสพย์ กล่าวคือ..
๑. ความพอใจยินดีที่ควรเสพย์และไม่ควรเสพย์
๒. ความไม่พอใจยินดีที่ควรเสพย์และไม่ควรเสพย์
๓. ความวางเฉยที่ควรเสพย์และไม่ควรเสพย์ ได้กำลังปัญญา

..สิ่งใดเสพย์แล้วกุศลธรรมดับลง แต่อกุศลธรรมพอกพูนขึ้น สิ่งนั้นไม่ควรเสพย์
..สิ่งใดที่เสพย์แล้วกุศลธรรมพอกพูนขึ้น อกุศลธรมดับลง สิ่งนั้นควรเสพย์
..สิ่งใดที่เสพย์แล้วกุศลและอกุศลดับลง สิ่งนั้นต้องรู้กาล รู้ปล่อย รู้ละ และรู้จักวางใจต่อมันให้เป็น
..สิ่งใดเสพย์แล้วกุศลธรรมและอกุศลธรรมเกิดมีขึ้น สิ่งนั้นต้องรู้กาล รู้ปล่อย รู้ละ และรู้จักวางใจต่อมันให้เป็น

ทั้งหมดนี้เป็นการไม่ขึงไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป เอากุศลตั้งเป็นฐานให้จิตแทนอกุศล แทนที่จะนึกระแวงในอกุศล เราเปลี่ยนมาตั้งใจเป็นกุศลธรรมแทน ลดค่าและความกลัวอกุศลลง มันเกิดขึ้นก็แครู้ มันก็ปกติของปุถุชนทั่วไปมีได้ทุกคนแค่มากน้อยต่างกัน ใจเราจะลดความสำคัญของอกุศลธรรมลง แต่มีใจตั้งใจกุศลธรรมมากขึ้น ทำสะสมเหตุไปเรื่อยๆสบายๆไม่กระสันเอาผล รู้ว่าเหตุที่สะสมนี้ให้ผลได้ตามกำลังที่บา่มสะสมมา ในขณะเดียวกันก็เป็นการเลือกสิ่งที่ควรเสพย์และไม่ควรเสพย์ถึงความ ปล่อย ละ วาง สงบใจจากกิเลส


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ตุลาคม 16, 2022, 01:03:25 AM
การลด ละ เลิก อกุศลกรรม ที่เมื่อทำแล้วกลับฟุ้งซ่าน 2

ข. อย่าให้ความสำคัญกับมันมากไป จนเอามันมาผูกขึ้นไว้เป็นความสุขสำเร็จของตน
การให้ความสำคัญว่าควรละอกุศลเป็นสิ่งดี ถูกต้อง แต่หากเราเอาความต้องการที่จะทำให้ได้โดยขาดสติปัญญา จนกลายเป็นยึดกอดเอาความคิดที่จะละมัน จนไปกระตุ้นใจให้นึกถึงมันอยู่เรื่อยๆตลอดเวลา
 
ยกตัวอย่างเช่น คนที่คิดในราคะมาก ไปหาหรือกราบไหว้ครูบาอาจารย์ ใจก็กลัวท่านรู้วาระจิตว่าตนราคะเยอะ จนกลายเป็นระวังมากไป ให้ความสำคัญมากไป เมื่อถึงคราวเจอครูบาอาจารย์กลับกลายเป็นไปคิดถึงราคะแทน แวบแรกตรึกด้วยความหวั่นกลัวพยายามประครอง แต่ในขณะที่กลัวราคะเกิดประครองไม่ให้ราคะเขาแทรกนั้น จิตเราก็ได้จับเอาราคะเป็นที่ตั้งแห่งจิต จากนั้นน้อมไปในสัญญาเก่าที่เคยคิดในราคะเลยสัมผัสรับรู้เคยเกิดขึ้นกับตน ก็ทำให้ราคะฟุ้งขึ้น สร้างความทุกข์ทรมาน กลัวบาปอกุศลแก่ตน ทั้งๆที่เตรียมใจไว้แล้ว ซึ่งจะเป็นการสำคัญใจไว้กับมันมากไป จนกลายเป็นการเอาใจไปผูกขึ้นไว้กับมัน กลับกลายสวนทางเป็นการตริ ตรึก นึก คิด ถึงมันคล้อยตามมันแทน ..นี่เรียกตั้งใจมากไปจนฟุ้งซ่าน สำคัญใจไว้กับมันมากไปจนฟุ้ง จิตขาดกำลัง
 
ทางแก้
 
การที่เราตั้งใจมากไป จนจิตมีสติระวังมันมากไปจนกลายเป็นจำจดจำจ้องให้คอยจับตาความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นเป็นใหญ่ จนไปกระตุ้นให้สติไปกระตุ้นเรียกความคิดถึงมัน ทำให้มันโผล่ขึ้นมาในขณะนั้นๆ ตอนนั้นๆตลอดเวลา
..นี้คือ จิตมีสติมากไปจากความเพียรตั้งใจมากไป จนจิตขาดกำลังเพราะขาดสมาธิ สมาธิ คือ ใจไม่มีกำลัง คิดระวังถึงมันมากไป จนทำให้ใจอ่อนไหวไหลตามมันง่าย

มีวิธีแก้ให้กำหนดหมายทำไว้ในใจดังนี้

1. ทำใจให้ผ่อนคลายสบายๆ

2. อย่าไปติดใจข้องแวะกับความตรึก นึก คิดนั้นๆ

3. อย่าเอาใจไปผูกขึ้นไว้กับมัน เราทำกายใจตามปกติไปสบายๆ

4. มันเกิดขึ้น ก็สลัดมันออกตามลมหายใจ ทำจิตเป็นพุทโธ คือ กิริยาจิตที่รู้ของจริงต่างหากจากสมมติ ตื่นจากสมมติ เบิกบานพ้นแล้วจากสมมติกิเลสของปลอม ดังนี้..


- หายใจเข้า กำหนดหมายทำไว้ในใจถึง..ใจตัวรู้ของเรานี้ ลอยขึ้นเหนืออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอกุศลทั้งปวง
(ข้อนี้เป็นทั้งการระงับกายสังขาร ความเจ็บปวดกาย ความฟุ้งซ่านใจ และยังเป็นการฝึกน้อมใจไปเข้าสู่ปัสสัทธิ ความสงบใจจากกิเลส
..ขั้นต้นได้ในขณิกสมาธิ ได้ความสงบใจ
..ขั้นละเอียดจะเป็นอารมณ์ของอุปจาระฌาณ)

- หายใจออก กำหนดหมายทำไว้ในใจถึง..ลมหายใจออกพัดเอาอกุศลธรรมทั้งปวงทิ้งออกไปจากใจตัวรู้ของเรานี้
(ข้อนี้เป็นทั้งการระงับกายสังขาร ความเจ็บปวดกาย ความฟุ้งซ่านใจ และยังเป็นการฝึกน้อมใจไปเข้าสู่ปัสสัทธิ ความสงบใจจากกิเลส
..ขั้นต้นได้ในขณิกสมาธิ ได้ความสงบใจ
..ขั้นละเอียดจะเป็นอารมณ์ของอุปจาระฌาณ)


- หายใจเข้า กำหนดหมายทำไว้ในใจถึง..จิตตั้งมั่นลอยอยู่โดดๆ สว่างไสว ผ่องแผ้ว เย็นใจ ไม่ยื้อ ไม่ทำ ไม่จับ ไม่ยึดสิ่งใด อยู่ในที่ว่าง โล่ง
(ข้อนี้เป็นทั้งการระงับกายสังขาร ความเจ็บปวดกาย ความฟุ้งซ่านใจ เป็นอาโลกสัญญาในอิทธิบาท ๔ และยังเป็นการฝึกน้อมใจไปเข้าสู่วิเวก คนที่เข้าฌาณได้จะรู้สภาวะนี้ จะจำสภาพฌาณได้และยิ่งง่ายต่อการฝึกวสีฌาณ)

- หายใจออก กำหนดหมายทำไว้ในใจถึง..จิตตั้งมั่นลอยอยู่โดดๆ สว่างไสว ผ่องแผ้ว เย็นใจ ไม่ยื้อ ไม่ทำ ไม่จับ ไม่ยึดสิ่งใด อยู่ในที่ว่าง โล่ง
(ข้อนี้เป็นทั้งการระงับกายสังขาร ความเจ็บปวดกาย ความฟุ้งซ่านใจ เป็นอาโลกสัญญาในอิทธิบาท ๔ และยังเป็นการฝึกน้อมใจไปเข้าสู่วิเวก คนที่เข้าฌาณได้จะรู้สภาวะนี้ จะจำสภาพฌาณได้และยิ่งง่ายต่อการฝึกวสีฌาณ)

- หายใจเข้า ทำไว้ในใจแค่เพียงสักแต่ว่ารู้ รู้โดยไม่สำคัญมั่นหมายกับสิ่งใด..จิตเดิมแท้มีหน้าที่แค่รู้ด้วยความรู้ตัวทั่วพร้อม ไม่ไหวตาม ไม่เข้าหา ไม่ผลักไส
(ข้อนี้เป็นการทำให้ใจตัวรู้ของเรานี้ มีกำลังไม่ไหวเอน รู้ว่าธัมมารมณ์มีไว้แค่ให้รู้ไม่ได้มีหน้าที่เสพย์ สิ่งใดเกิดมีขึ้นให้ใจรู้จะจากอาการความรู้สึกภายในตัวรู้ หรือจากอาการภายนอกตัวรู้ ก็สักแต่เป็นแค่อาการหนึ่งๆของจิตที่มีอยู่นับล้านๆแบบ มันเกิดมาแค่ให้รู้ ไม่ได้มีไว้เสพย์ เมื่อมันเกิดขึ้นก็ทำแค่รู้ตามดูมันไป โดยไม่ให้ความหมายไรๆกับมัน
..ขั้นต้นก็จะรู็สึกถึงการเกิดดับของจิต หรือเกิดนิมิตเห็นความเกิดดับของจิตเป็นแสงพุ่งขึ้นโดยที่ใจมีความรู้ว่าแสงนั้นคือคือกิเลสตัวไหน อารมณ์ใด จิตกุศล หรืออกุศล
..ขั้นกลางสัมผหัสได้ถึงนิวรณ์
..ขั้นสุดสันตะติขาด)


- หายใจออก ทำไว้ในใจแค่เพียงสักแต่ว่ารู้ รู้โดยไม่สำคัญมั่นหมายกับสิ่งใด..จิตเดิมแท้มีหน้าที่แค่รู้ด้วยความรู้ตัวทั่วพร้อม ไม่ไหวตาม ไม่เข้าหา ไม่ผลักไส
(ข้อนี้เป็นการทำให้ใจตัวรู้ของเรานี้ มีกำลังไม่ไหวเอน รู้ว่าธัมมารมณ์มีไว้แค่ให้รู้ไม่ได้มีไว้ให้เสพย์ สิ่งใดเกิดมีขึ้นให้ใจรู้จะจากอาการความรู้สึกภายในตัวรู้ หรือจากอาการภายนอกตัวรู้ ก็สักแต่เป็นแค่อาการหนึ่งๆของจิตที่มีอยู่นับล้านๆแบบ มันเกิดมาแค่ให้รู้ ไม่ได้มีไว้เสพย์ เมื่อมันเกิดขึ้นก็ทำแค่รู้ตามดูมันไป โดยไม่ให้ความหมายไรๆกับมัน จิตเดิมแท้มีกน้าที่แค่รู้ ไม่ได้มีหกน้าที่เสพย์ จึงผุดผ่องสว่างไสว
..ขั้นต้นก็จะรู็สึกถึงการเกิดดับของจิต หรือเกิดนิมิตเห็นความเกิดดับของจิตเป็นแสงพุ่งขึ้นโดยที่ใจมีความรู้ว่าแสงนั้นคือคือกิเลสตัวไหน อารมณ์ใด จิตกุศล หรืออกุศล
..ขั้นกลางสัมผหัสได้ถึงนิวรณ์
..ขั้นสุดสันตะติขาด)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ตุลาคม 16, 2022, 03:15:30 AM
เมื่อเกิดราคะ โทสะ โมหะ แล้วเมตตาแก่ตนเอง ให้ทานตนเอง, แผ่ศีลให้ตนเอง, ภาวนาพุทโธ + อานาปานสติ

..พึงรู้ด้วยปัญญาก่อนว่า เพราะจิตไม่กำลัง ขาดกำลังใจที่ดี กิเลสนิวรณ์จึงเข้าแทรก เมื่อคล้อยตามธัมมารมณ์ที่ใจรู้อันนั้น ใจเราก็จะฟุ้งซ่านไปตามกิเลสกาม โลภะ ราคะ โทสะ โมหะ เอนเอียงไปด้วย อคติ ๔ คือ..
รัก(อยาก ใคร่ ยินดี)
ชัง(โกรธ ริษยา ยินร้าย)
กลัว(ข้องใจ ระแวง)
หลง(ไม่รู้เห็นตามจริง ไม่รู้ปัจจุบัน หลงตามความคิดมี่ชอบ ที่ชัง)

ความฟุ้งซ่าน พระพุทธเจ้าพระบรมศาสดาสอนให้ทำความสงบใจจากกิเลส โดยใช้ธรรมแก้กิเลสทีเป็นธรรมตรงข้ามกับกิเลสนั้นเพื่อความตั้งขึ้นแต่จิตและสติ

ก. หากทำด้วยเมตตา

1. เมตตาตนเองโดยทาน คือ การให้ สละให้ ให้ทานตนเอง ถึงการให้อภัยทานแก่ตน คือ การให้ตนมีอิสระสุขพ้นจาก ไฟ คือ ราคะ ที่แผดเผากายใจตน
..เพราะความโลภ ตราตรึงใจ ติดตรึงใจ ให้กระสันใคร่เสพย์ปรนเปรอตนอยู่นั้น ทำให้ใจเราเร่าร้อน ใจกระวนกระวาย ใจระส่ำสั่นไหวไหลตามอารมณ์ใคร่ได้มาครอง ดั่งไฟสุมอยู่ในใจให้เร่าร้อน อยู่เป็นปกติสุขเย็นใจไม่ได้
..ดังนี้การให้อภัยทานแก่ตนเอง จึงเป็นการให้อิสระสุขยินดี สบาย ผ่อนคลาย ไม่เร่าร้อน ไม่มีโทษ ปราศจากเวร ปราศจากภัย ปราศจากความกระสันอยากให้แก่ตนเอง
..นั่นเพราะ ความโลภ กามตราตรึง นันทิติดตรึงใจ ราคะใคร่ปารถนาได้เสพย์นั้น คือ เวร และ ภัยอันตราย ต่อกายใจของเรานั่นเอง มันทำให้เราเร่าร้อนทนอยู่ได้ยาก อยู่เป็นปกติไม่ได้

..เราให้อภัยทานแก่ตนเองได้โดย การสละคืนโลภะ กาม ราคะ ความติดตราตรึงใจใคร่ได้ทั้งปวง เป็นทำให้กายใจเรานั้นถึงความอิ่มใจแก่ตนเอง ให้ความอิ่มพอแก่ตนเอง ให้ความพอเพียงกับตนเอง ใจก็จะไม่เร่าร้อนอยากได้เพราะใจอิ่มแล้ว พอแล้ว มีความอิ่มเต็มกำลังใจ ไม่แสวงหาอีก ด้วยละโลภได้แล้ว

- ตั้งจิตในปัจจุบันขณะนั้นๆว่า ..กามมันอิ่มไม่เป็น ได้เท่าไหร่ก็ไม่พอ แม้ได้สมใจอยากแล้วก็ยังจะแสวงหาอยู่อีกไม่มีสิ้นสุด กามมันอิ่มไม่เป็น ปัจจุบันนี้สิ่งที่เรามีอยู่ก็เพียงพอแล้ว ควรพอใจกับสิ่งที่มี ปัจจุบันที่มีก็มีค่าพอในสุขนี้แล้ว เราได้เคยแบ่งปันสิ่งของความสุขสำเร็จแก่ผู้อื่นมาแล้ว บัดนี้เราจักให้ทานตนเอง ลมหายใจตั้งไว้ในความอิ่มใจ ไม่ติดใจ ไหลตามสิ่งใด สิ่งภายนอกแค่ของปรนเปรออารมณ์ความรู้สึกอันเกิดแต่สัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายเท่านั้น ไม่ใช่สุขที่เนื่องด้วยใจอย่างแท้จริง สุขที่เนื่องด้วยใจ คือความอิ่มเอมใจ พอ ไม่ร้อนรุ่ม ดิ้นรนแสวงหา ไม่โลภ ไม่ติดตราตรึงใในสิ่งใด ไม่ใค่ได้หมายปองเสพย์สิ่งใดให้เร่าร้อน ทุกอย่างจะมีจะได้ตามเหตุปัจจัย สิ่งใดที่เป็นของเรามันก็จะเป็นของเราและเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็จะได้มาเอง แต่สิ่งที่ไม่ใช่ของเราอย่างไรก็ไม่ใช่ของเรา ดิ้นรนไขว่คว้าให้ตายก็ไม่ได้มาครอง เพราะใคร่อยากจึงเร่าร้อน เพราะเอาใจเข้ายึดครองหมายปองจึงถูกไฟราคะแผดเผา  ถ้าเราพอแล้ว อิ่มแล้วก็ไม่เร่าร้อนกายใจ ไม่มีใจเข้ายึดครองหมายปองในสิ่งใดให้ร้อนรุ่มอีก ดังนี้..

พิจารณาปรับจิต
- หายใจเข้า กำหนดจิตนึกถึงความพอแล้ว ถอนใจออกจากความใคร่ปารถนา คือ ไฟราคะ ทั้งปวง ไม่เอาลมหายใจเอาความสุขสำเร็จของตนไปผูกขึ้นไว้กับสิ่งใด ความสุขสำเร็จของเราไม่ได้เกิดมีขึ้นเพราะได้ครอบครองสิ่งเหล่านั้นตามใจปารถนา แต่อยู่ที่การไม่เอาชีวิต เอาลมหายใจ เอาความสุขทั้งชีวิตของตนไปผูกขึ้นไว้กับมัน
- หายใจออก กำหนดจิตนึกถึงความพอแล้ว ถอนใจออกจากความใคร่ปารถนา คือ ไฟราคะ ทั้งปวง ไม่เอาลมหายใจเอาความสุขสำเร็จของตนไปผูกขึ้นไว้กับสิ่งใด สุขที่ได้ครอบครองในสิ่งภายนอกนั้นมันไม่ยั่งยืนทนอยู่ได้นาน มันสุขแค่วูบสาบๆประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้น แล้วก็หมดไป ดับไป อยู่ได้นานสุดแค่หมกดลมหายใจเรานี้เท่านั้น แต่สุขจากความอิ่มเต็มกำลังใจจากการไม่เอาความสุขสำเร็จของตนไปผูกขึ้นไว้กับสิ่งใดนี้ จะติดตามเราสืบไป เมื่อหวนระลึกถึงเมื่อใดก็อิ่มสุขอยู่เต็มใจในกาลทุกเมื่อ มันอิ่มเอมเต็มกำลังใจ ไม่หน่วงตรึงจิต

อบรมจิตด้วยการให้ทานตนเอง จนเข้าถึงจาคะ
- หายใจเข้า ทำไว้ในใจถึงความไม่เอาใจเข้ายึดครองไปผูกความสุขสำเร็จของตนขึ้นไว้กับสิ่งใด มีใจคลายออก ปล่อยออก
- หายใจออก ทำไว้ในใจถึงความไม่เอาใจเข้ายึดครองไปผูกความสุขสำเร็จของตนขึ้นไว้กับสิ่งใด มีใจคลายออก ปล่อยออก
- หายใจเข้า ทำไว้ในใจถึงความพอเพียงแล้ว มีใจผ่อนคลาย ปล่อยออก
- หายใจออก ทำไว้ในใจถึงความพอเพียงแล้ว มีใจผ่อนคลาย ปล่อยออก
- หายใจเข้า ทำไว้ในใจถึงความอิ่มใจปราศจากสิ่งใดมาหน่วงตรึงจิต ถึงความสละคืนโลภ กาม นันทิ ราคะทั้งปวง
- หายใจออก ทำไว้ในใจถึงความอิ่มใจปราศจากสิ่งใดมาหน่วงตรึงจิต ถึงความสละคืนโลภ กาม นันทิ ราคะทั้งปวง
- หายใจเข้า กำหนดจิตเข้ามารู้ในภายในไม่ส่งออกนอก ตามลมหายใจเข้าผ่าน ปลายจมูก โพรงจมูก หว่างคิ้ว โพรงกระโหลก คอ หน้าอก ท้อง(เหนือสะดือ สะดือ ใต้สะดือรู้ลมได้ถึงจุดไหนเอาถึงจุดนั้น) (เป็นการเอากำลังให้จิต)
- หายใจออก กำหนดจิตเข้ามารู้ในภายในไม่ส่งออกนอก ตามลมหายใจเข้าผ่าน ปลายจมูก โพรงจมูก หว่างคิ้ว โพรงกระโหลก คอ หน้าอก ท้อง(เหนือสะดือ สะดือ ใต้สะดือรู้ลมได้ถึงจุดไหนเอาถึงจุดนั้น) (เป็นการเอากำลังให้จิต)
- หายใจเข้า กำหนดจิตเข้ามารวมไว้ในภายใน นึกถึงความเบา ว่าง โล่ง อิ่มใจ เป็นสุข มีกำลังใจดี ไม่กวัดแกว่งสัดส่าย(เอากำลังให้จิต)
- หายใจออก กำหนดจิตเข้ามารวมไว้ในภายใน นึกถึงความเบา ว่าง โล่ง อิ่มใจ เป็นสุข มีกำลังใจดี ไม่กวัดแกว่งสัดส่าย(เอากำลังให้จิต)
- หายใจเข้า รู้ว่าหายใจเข้า
- หายใจออก รู้ว่าหายใจออก
- ตามรู้ลมหายใจเข้า - ลมหายใจออก

2. เมตตาตนเองโดยศีล คือ การเว้นจากการกระทำที่เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น การตั้งกายใจตนไว้ในศีล คือ การมีกายใจเป็นปกติ มีความสุจริตทั้งกาย วาจา ใจ พ้นจาก ไฟ คือ โทสะ ที่แผดเผากายใจตน
..เพราะโทสะ ปฏิฆะ อรดี ความขุ่นข้องขัดเคืองใจ ยินร้าย โกรธ เกลียด ชัง กลัว ระแวง กังวลนั้น ทำให้ใจเราเร่าร้อน ใจกระวนกระวาย ใจระส่ำสั่นไหวขุ่นขัดผลักไสไม่ต้องการพบเจอ ดั่งไฟสุมอยู่ในใจให้เร่าร้อน อยู่เป็นปกติสุขเย็นใจไม่ได้
..ดังนี้การแผ่ศีลให้แก่ตนเอง จึงเป็นการแผ่เอาความเย็นใจ สบาย ผ่อนคลาย ไม่เร่าร้อน ไม่หวาดกลัว ไม่หวาดระแวง ทำให้กาย วาจา ใจของตนไม่มีเวร ไม่มีพิษ ไม่มีภัย ปราศจากความริษยา ยินร้าย ขุ่นข้องขัดเคืองใจให้แก่ตนเอง
..นั่นเพราะ โทสะความขุ่นใจ โกรธ อรดีความขุ่นข้องขัดเคืองใจ ยินร้าย ปฏิฆะโกรธ เกลียด ชัง กลัว ระแวง กังวลนั้น คือ เวร และ ภัยอันตราย ต่อกายใจของเรานั่นเอง มันทำให้เราเร่าร้อนทนอยู่ได้ยาก อยู่เป็นปกติไม่ได้

..เราแผ่ศีลให้แก่ตนเองได้โดย การสละคืนโทสะ ทำให้มีความเย็นใจ ไม่เร่าร้อน ไม่กังวล เพราะไม่ระแวง ไม่หวาดกลัว ไม่ขุ่นข้องขัดเคืงใจ ไม่ยินร้าย เพราะตนประพฤติชอบดีแล้ว

- ตั้งจิตในปัจจุบันขณะนั้นๆว่า ..ปัจจุบันนี้เราไม่ได้ละเมิดศีล มีศีล ๕ เป็นต้น ปัจจุบันนี้เราเว้นซึ่งความเบียดเบียนแล้ว แม้ภายนอก และภายในกายใจตน มันเป็นสุขเย็นใจ เบาสบายไม่เร่าร้อน ลมหายใจตั้งไว้ในความเย็นใจ ผ่อนคลาย

พิจารณาปรับจิต
- หายใจเข้า กำหนดจิตนึกถึงถึงความมีศีลของตนในปัจจุบัน ความละเว้นอกุศลกรรมทำความเย็นใจให้เกิดขึ้นในจิต (อาการของผู้มีศีล ใจจะโล่ง สงบ เบาใจ สบายกายใจ ไม่มีความขุ่นช้องชัดเคืองใจ ไม่สะดุ้งหวาดกลัว ไม่ริษยา ไม่ถือกอดจับความขุ่นข้อง มีใจผ่อนคลายปล่อยออก ให้จับเอาอาการนี้)
- หายใจออก กำหนดจิตนึกถึงถึงความมีศีลของตนในปัจจุบัน ความละเว้นอกุศลกรรมทำความเย็นใจให้เกิดขึ้นในจิต (อาการของผู้มีศีล ใจจะโล่ง สงบ เบาใจ สบายกายใจ ไม่มีความขุ่นช้องชัดเคืองใจ ไม่สะดุ้งหวาดกลัว ไม่ริษยา ไม่ถือกอดจับความขุ่นข้อง มีใจผ่อนคลายปล่อยออก ให้จับเอาอาการนี้) ความละเว้นอกุศลกรรมทำความเย็นใจให้เกิดขึ้นในจิต

อบรมจิตด้วยการแผ่ศีลตนเอง จนเข้าถึงอุปสมะ
- หายใจเข้า กำหนดหมายทำไว้ในใจถึง..ใจเราถูกปลดปล่อยจากความเศร้าหมอง หน่วงตรึงจิต ด้วยศีล
- หายใจออก กำหนดหมายทำไว้ในใจถึง..ใจเราถูกปลดปล่อยจากความเศร้าหมอง หน่วงตรึงจิต ด้วยศีล
- หายใจเข้า ทำไว้ในใจถึงการละเว้น(ถอน ละ เว้น ตัด สละคืน) จากความรู้สึกนึกคิดที่เป็นไฟแห่งโทสะ ปฏิฆะ อรดี ริษยาทั้งปวง (อินทรีย์สังวรณ์)
- หายใจออก ทำไว้ในใจถึงการละเว้น(ถอน ละ เว้น ตัด สละคืน) จากความรู้สึกนึกคิดที่เป็นไฟแห่งโทสะ ปฏิฆะ อรดี ริษยาทั้งปวง (อินทรีย์สังวรณ์)
- หายใจเข้า ทำไว้ในใจถึงความว่าง ความสงบ ความไม่มี รวมไว้ในภายใน ละเจตนาที่เป็นไปเพื่อความขุ่นข้องขัดเคืองใจ ยินร้าย ริษยา ระทม เดือดดาน ปะทุ ผูกโกระ(เวร) ผูกแค้น(พยาบาท)
- หายใจออก ทำไว้ในใจถึงความว่าง ความสงบ ความไม่มี รวมไว้ในภายใน ละเจตนาที่เป็นไปเพื่อความขุ่นข้องขัดเคืองใจ ยินร้าย ริษยา ระทม เดือดดาน ปะทุ ผูกโกระ(เวร) ผูกแค้น(พยาบาท)
- หายใจเข้า ทำไว้ในใจถึงความสุจริต ๓ โดยชอบ มีใจสละคืนอุปธิทั้งปวง(ล้างกิเลสออกจากใจ ล้างกิเลสออกจากขันธ์) ถึงความเบา ว่าง โล่ง เย็นใจ แจ่มใส ปราโมทย์
- หายใจออก ทำไว้ในใจถึงความสุจริต ๓ โดยชอบ มีใจสละคืนอุปธิทั้งปวง(ล้างกิเลสออกจากใจ ล้างกิเลสออกจากขันธ์) ถึงความเบา ว่าง โล่ง เย็นใจ แจ่มใส ปราโมทย์
- หายใจเข้า ทำไว้ในใจถึงความเบา ว่าง โล่ง เย็นใจ
- หายใจออก ทำไว้ในใจถึงความเบา สบายกายใจ ผ่อนคลายๆ
- หายใจเข้า รู้ว่าหายใจเข้า
- หายใจออก รู้ว่าหายใจออก
- ตามรู้ลมหายใจเข้า - ลมหายใจออก

3. เมตตาตนเองโดยการภาวนาอบรมจิตให้ปลดเปลื้องจากกิเลส ฝึกให้จิตมีกำลังตั้งอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง โดยไม่เอนไหวไหลตามธัมมารมณ์ความรู้สึกทั้งปวง จิตเข้าถึุงพุทโธ มีจิตเป็นพุทโธ นี่คือเมตตาอันเนื่องด้วยใจ มีลทมหายใจเป็นฐาน มีอาโลกะสัญญาเป็นรูปอารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งกสิน เป็นอิทธิบาท ๔

ประการที่ ๑ กำหนดจิตรวบถอนเอาสมมติธัมมารมณ์แห่งกิเลสทั้งปวงที่รายล้อมจิตอยู่ ทิ้งออกจากจิต ตามลมหายใจเข้า-ออก
(เหมาะกับการดำเนินชีวิตในปัจจุบันตามปกติ หรืออยู่ในสถานการณ์ที่กำลังทำกิจการงานต่างๆอยู่)

- หายใจเข้า(รวบดึง ถอน สมมติกิเลส สมมติอารมณ์ สมมติความรู้สึกนึกคิดนั้นๆที่รายล้อมจิตอยู่ รวบดึงออกจากจิตตามลมหายใจเข้า)
- หายใจออก(พัด ซัด เหวี่ยง ผลักออกไปจากใจตนตามลมหายใจออก)
- ทำกายใจให้ผ่อนคลายหายใจเข้า
- ทำกายใจให้เบาโล่งสบายหายใจออก
- หายใจเข้า ระลึก พุท
- หายใจออก ระลึก โธ
- หายใจเข้า กำหนดจิตถึงพุทโธ คือถึงความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานพ้นแล้วจากสมมติกิเลสของปลอม หายใจเข้า
- หายใจออก กำหนดจิตถึงพุทโธ คือถึงความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานพ้นแล้วจากสมมติกิเลสของปลอม หายใจออก
- หายใจเข้า มีจิตเป็นพุทโธ ถึงความเป็นจิตเดิมแท้อันสว่างไสว เบา สบาย เย็นใจ หายใจเข้า
- หายใจออก มีจิตเป็นพุทโธ ถึงความเป็นจิตเดิมแท้อันสว่างไสว เบา สบาย เย็นใจ หายใจออก


ประการที่ ๒ กำหนดจิตถอนออกจากสมมติธัมมารมณ์แห่งกิเลสทั้งปวงที่รายล้อมจิตอยู่ ตามลมหายใจเข้า-ออก
(เหมาะใช้งานในขณะที่กำลังฝึกสมาธิแล้วมีจิตฟุ้งซ่าน หรืออกุศลนิวรณ์แทรกเข้าสมาธิ)

- หายใจเข้า เอาใจ คือ ดวงจิตตัวรู้ของเราลอยขึ้นออกจากสมมติธัมมารมณ์แห่งกิเลส อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งปวงที่รายล้อมจิตอยู่ ลอยขึ้นตามหายใจเข้า
- หายใจออก เอาใจ คือ ดวงจิตตัวรู้ของเราที่ลอยขึ้นมาตั้งมั่นไว้ แล้วเอาลมหายใจออกพัดเอาสมมติธัมมารมณ์แห่งกิเลส อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งปวงที่รายล้อมจิตอยู่นั้นซัดปลิวออกไปให้หมด
- หายใจเข้า กำหนดจิตลอยตั้งมั่นอยู่โดดๆในที่โล่ง ว่าง
- หายใจออก กำหนดจิตลอยตั้งมั่นอยู่โดดๆในที่โล่ง ว่าง
- หายใจเข้า ระลึกในพุทโธ เชิญองค์พระพุทธเจ้าเข้ามาสถิตย์อยู่ในใจ
- หายใจออก ระลึกในพุทโธ เชิญองค์พระพุทธเจ้าเข้ามาสถิตย์อยู่ในใจ
- หายใจเข้า เอาจิตเดินตามลม ตามรู้การเคลื่อนตัวลอยไปของลมหายใจเข้า ตามได้จนสุดจุดพักลมได้จนสุด บางท่านถึงจุดเหนือสะดือที่ท้องพองขึ้น บางท่านถึงจุดรวมที่สะดือ หรือบางท่านลึกลงใต้สะดือจุดที่ท้องพองด่านล่าง
(จุดต่างๆล้วนเป็นจุดพักลม คือ จุดที่ใช้กำหนดตั้งลมหายใจเพื่อเข้าฌาณสมาธิทั้งสิ้น)


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ตุลาคม 18, 2022, 02:14:40 PM
เมื่อเกิดราคะ โทสะ โมหะ แล้วเทำปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกชา

..พึงรู้ด้วยปัญญาก่อนว่า เพราะจิตไม่กำลัง ขาดกำลังใจที่ดี กิเลสนิวรณ์จึงเข้าแทรก เมื่อคล้อยตามธัมมารมณ์ที่ใจรู้อันนั้น ใจเราก็จะฟุ้งซ่านไปตามกิเลสกาม โลภะ ราคะ โทสะ โมหะ เอนเอียงไปด้วย อคติ ๔ คือ..
รัก(อยาก ใคร่ ยินดี)
ชัง(โกรธ ริษยา ยินร้าย)
กลัว(ข้องใจ ระแวง)
หลง(ไม่รู้เห็นตามจริง ไม่รู้ปัจจุบัน หลงตามความคิดมี่ชอบ ที่ชัง)

ความฟุ้งซ่าน พระพุทธเจ้าพระบรมศาสดาสอนให้ทำความสงบใจจากกิเลส โดยใช้ธรรมแก้กิเลสทีเป็นธรรมตรงข้ามกับกิเลสนั้นเพื่อความตั้งขึ้นแต่จิตและสติ

ข. ทำด้วยปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา

1. สงบนิ่ง กำหนดหมายในความสงบ ความสบาย ความผ่อนคลาย ความไม่มี
2. อุเบกขาตั้งไว้ในฐานจิต กำหนดหมายในความว่าง ความสงัด ความไม่มี
2. อุปสมานุสสติ กำหนดหมายในความว่าง ความไม่มี ความสละคืนอุปธิทั้งปวง


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ตุลาคม 18, 2022, 07:58:33 PM
ละโลภ ได้ทาน มีทานก็อิ่มใจ มีใจสูงเหนือโลภ

ละโกรธ ได้ศีล มีศีลเย็น สะอาดใจ มีใจสูงเหนือโกรธ

ละหลง ได้ปัญญา อบรมสมาธิ ฝึกจิต ภาวนาก็มีกำลังใจ ใจอยู่สูงเหนือหลง

..หลวงปู่บุญกู่ อนุวัฒฑโน พ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้เมตตาสอนกรรมฐานให้แก่เรา

หลวงปู่ท่าน ได้เข้าพระนิพพานในวันที่ 6 กันยายน 2565 เวลา 05:59 ปัจจุบันบรรดาลูกศิษย์ได้ตั้งสังฆสะรีระของท่าน ที่อาคารหลวงพ่อทรงธรรม วัดอโศการาม บรรดาญาติโยมทุกท่านสามารถเข้าไปสักการะกราบไหว่สังฆสรีระ และ พระธาตุของท่าน ได้ในเดือนนี้ ถึง วันพระราชทานเพลิงศพ ในเดือนพฤศจิกายน 2565




ทาน

..หลวงปู่บุญกู้ท่านได้กรุณาสอนเราไว้ว่า.. ให้สละออกซึ่งสิ่งของปรนเปรอตนที่ใช้ได้เพียงแค่โลกนี้ ไม่ติดตามเราไปด้วย อยู่กับเราได้นานสุดแค่หมดลมหายใจเรานี้เท่านั้น ไม่มีเงิน ก็สละวัตถุสิ่งของ ไม่มีวัตถุสิ่งของให้สละได้..ก็ใช้แรงกายแรงใจทำกุศลช่วยเหลือ แบ่งปัน มีมากก็ให้มากได้ มีน้อยก็ให้น้อย ไม่มีก็เอาแรงกายแรงใจช่วยงานวัด ทำกุศล

..พระพุทธเจ้านี้ทรงมีพระปัญญาอันยิ่งแล้ว รู้ว่าสัตว์ไม่เสมอกันด้วยกรรม วิบากกรรม.. ไม่ว่าจะเป็นบุญ หรือ บาป ที่ติดตามมาให้เป็นไป ทำให้มั่งมี ร่ำรวย พอใช้ อับจน ต่างๆกันไป

- เหตุแห่งความมั่งมีตราบที่ยังไม่ถึงพระนิพพานนี้ คือ ทานการสละให้ ได้อิ่มเต็มกำลังใจ ผลทานส่งผลให้ไม่อดอยากในภพภูมิภายหน้าต่อไป

- เหตุแห่งการเข้าถึงพระนิพพาน คือ การสละความโลภ กาม นันทิ ราคะ ได้ ผลจากการสละคืนนี้มีใจปลดเปลื้องจากกิเลสเข้าถึงพระนิพพานได้


ดังนี้แล้ว..องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้พระปัญญาอันยิ่ง แล้วทรงโปรดสั่งสอนสัตว์ให้รู้จักเปลี่ยนจากทรัพย์สิน เงิน ทอง สิ่งของ แรงกาย แรงใจ มาเป็นบุญ เพื่อเป็นกำลังส่งต่อบารมีให้ตนเองไม่อับจนในทุกภพชาติจนบารมีเต็มกำลังใจ ดังนี้คือ..

๑. ขั้นต้นเริ่มจากสละสิ่งของภายนอก คือ ทรัพย์สิน เงิน ทอง สิ่งของ แรงกายแรงใจช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกิจการงานด้วยจิตเป็นกุศล ใจเข้าถึงทาน ถึงความอิ่มใจจากการให้
- หากเราสร้างบารมีทาน เมื่อมันเต็ม ทางโลกเราก็มีครบหมดทุกสะดวกสบายอยู่ดีกินดีไม่ลำบาก มีทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว เหลือแค่ทำใจให้พ้นทุกข์อย่างเดียว เหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระบรมศาสดา และ พระอริยะสาวกอีกหลายรูป ที่ตอนยังเป็นคฤหัสถ์อยู่นั้นมีความเป็นอยู่สุขสบายไม่ลำบาก เพราะท่านได้สะสมบารมีทานมาเต็มแล้ว ก็มีฐานะดี วรรณะดี มีครบพร้อม เหลือแค่เพียงปฏิบัติใจให้พ้นกิเลสได้เท่านั้น เหมือนเราเห็นหลายคนมีฐานะดีสะดวกสบายไม่ต้องทำอะไรมาก มีทุกสิ่งทุกอย่างใช้จ่ายไม่ขัดสน ทำให้ไม่ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ มีเวลามาทำบุญ และปฏิบัติธรรมสบายๆกายใจ นี้เรียกมาสว่างไปสว่าง

๒. ขั้นกลาง ให้รู้จักอภัยทาน คือ ละโทษ งดโทษ เว้นโทษ เว้นภัย เว้นพยาบาท ริษยา ใจเข้าถึงศีล ถึงความสะอาดเย็นใจ



๓. ขั้นสุด ทีใจเป็นทาน เข้าถึงจาคานุสสติ (ส่วนสุดนี้จะรู้ได้เฉพาะตนถึงได้เฉพาะพระอริยะสาวกตั้งแต่โสดาปัติมรรคขึ้นไปเดินเข้าถึงในผล) คือ น้อมเข้ามาภายใน คือ จาคะ เพื่อละโลภ ถึงความมีกำลังใจดี ใจเข้าถึงภาวนา

- ระลึกถึงการได้สละให้อันดีแล้ว ได้เอื้อเฟื้อ ได้เกื้อกูล ได้แบ่งปันประโยชน์สุขสำเร็จดีงามทั้งปวงแล้ว
 
..ต่อผู้ภายนอกแก่ผู้อื่น โดยอาศัยการแบ่งปันสละให้สิ่งของ

..ต่อตนเองภายในกายใจตน โดยอาศัยการสละความอยากใคร่ได้ปรนเปรอกิเลสความเห็นแก่ตัวของตนเอง ความตระหนี่หวงแหน อภิชาทั้งปวง

..เมื่อสละให้ด้วยความเอื้อเฟื้อ เกื้อกูลแบ่งปันแล้ว จิตจะปราบปลื้มใจ ถึงความอิ่มใจแล้ว ทุกๆครั้งที่เราระลึกถึงการให้นั้นเมื่อใด..ก็จะปราบปลื้มอิ่มใจขึ้นมาเมื่อนั้น
(นี้เรียกพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเป็นสิ่งที่ให้ผลได้ไม่จำกัดกาล ..เมื่อน้อมมาสู่ตน คือ การประพฤติปฏิบัติตาม ย่อมเกิดประโยชน์ ..ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน คือ เราสามารถรับรู้ เห็นผลนั้นได้ด้วยตัวเอง)

..ใจเข้าถึงภาวนา ถึงความมีกำลังใจ อบรมจิตเพื่อให้ถึงความสละคืนโลภะทั้งหลาย จิตเดินเข้าสู่ความละเว้นมีใจออกจากความติดใคร่ยินดีทั้งปวง เพราะใจอิ่มเต็มเป็นสุขแล้ว เข้าสู่ฐานที่ตั้งแห่งสมาธิด้วยความมีใจสุจริต จนเข้าถึงอิ่มเต็มในขันธ์ ๕
ไม่ต้องการอีก จิตคลายอุปาทานขันธ์ รู้สึกเหมือนขันธ์แยกกัน
- ตัวรู้แยกจากกาย
- ตัวรู้แยกจากความรุ้สึกอันเกิดแต่กระทบสัมผัส
- ตัวรู้แยกจากความหมายรู้อารมณ์
- ตัวรู้แยกจากสมมติแห่งอารมณ์ความรู้สึกที่ปรุงแต่งจิต
- ตัวรู้แยกจากสิ่งที่ใจรู้ทั้งปวง
- เข้าสู่มหาสติ
- จิตมีกำลัง ทำแค่รู้ ถึงความรู้ชัดด้วยปัญญาลงใจ
- ถึงวิชชา ถึงความไม่มี
- มีใจสละออก สำรอกออก ถึงความสละคืนขันธ์ ๕


- จาคะเข้าถึงพระนิพพานอย่างนี้





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ตุลาคม 19, 2022, 04:05:47 PM

ศีล

ความปกติของใจ มีศีลก็เย็นใจ ใจสะอาด มีใจปกติ

ความหน่วงตรึงจิต มีอาการที่ให้เร่าร้อน ข้องขัด ติดขัด ขุนข้องขัดคืองใจ อาการที่ใจถูกบีบรัดหน่วง เบียดเสียด ทนอยู่อยู่ได้ยาก ใจไม่ปกติ อาการนี้ชื่อริษยา ยินร้าย เวร โกรธ เกลียด พยาบาท โทสะทั้งปวง

แก้ใจให้ปกติด้วยศีล ศีลเป็นธรรมเย็น เป็นความปกติ เป็นธรรมตรงข้ามกับกิเลส โทสะ


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ตุลาคม 19, 2022, 04:07:07 PM

ภาวนา

การอบรมจิตนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ สำหรับปุถุชนธรรมใช้ชีวิตในโลกตามปกติทั่วไป กับ ปุถุชนผู้ปฏิบัติตามสิ่งอันพระอริยะสาวกบรรลุอันกระทำแล้ว

1. สำหรับปุถุชนธรรมใช้ชีวิตในโลกตามปกติทั่วไป

เป็นการฝึกสติ สมาธิ ปัญญา แบบคนธรรมดา เพื่อให้ความฟุ้งซ่านลดลง เหตุนั้นเพราะ

๑. การใช้สติในทางโลก

สตืทั่วไป สติทำให้เรารู้ตัว รู้ปัจจุบัน ไม่เหม่อลอย ไม่เลื่อนลอย ระลึกจดจำได้ ไม่หลงลืม

สติที่ตั้งมั่น หากเรามีสติตั้งมั่น ใจเราก็จะตั้งมั่นรู้ในปัจจุบัน มีใจจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน ทำให้ตามรู้ในสิ่งต่างๆได้ดี จดจำได้ ไม่หลงลืม ระลึกได้ คือ จดจำนึกย้อนทบทวนได้ หวนระลึกได้ สามารถนึกย้อนทบทวนแยกแยะสิ่งต่างๆได้โดยไม่รวมปะปนกัน ใจมีกำลังรู้ตัวในปัจจุบัน สามารถยับยั้งช่างใจ รู้จักยั้งคิด วิเคราะห์ แยกแยะ เป็นเหตุให้ทำกิจการงานใดๆด้วยใช้ปัญญา เลือกสิ่งที่ควรทำ และสิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่ใช้อารมณ์ความรู้สึกในการตัดสินใจและกระทำ
- เมื่อสติตั้งมั่น ก็จะทำให้ใจเราตั้งมั่นตาม เมื่อสติจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน ใจเราก็จะจดจ่อเป็นอารมณ์เดียวได้นานตาม สติจึงเป็นเหตุให้เกิดสมาธิ กรรมฐาน ๔๐ ก็เป็นไปเพื่อให้มีสติตั้งมั่นเป็นเบื้องหน้า ทำให้ใจมีกำลังอยู่ได้ด้วยตัวเองในท่ามกลาง ใจทำสักแต่ว่ารู้ได้ดีมีใจน้อมไปในวิปัสนาในขั้นสุด

๒. การใช้สมาธิในทางโลก

สมาธิทั่วไป สมาธิทำให้ใจเรามีกำลังจดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันได้นาน โดยไม่ฟุ้งซ่าน ใจลอย

สมาธิที่ตั้งมั่น หากเรามีสมาธิตั้งมั่น ทำให้ใจเรามีกำลังตั้งอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่คล้อยตามสมมติอารมณ์ความรู้สึกชอบ ชัง พอใจยินดี ไม่พอใจยินดี(ยินร้าย) มีใจจดจ่ออยู่ในกิจการงานที่ทำอยู่นั้นโดยส่วนเดียวได้นาน โดยไม่เอาความคิด ความรู้สึก สิ่งแวดล้อมที่ไม่จำเป็นนอกเหนือจากสิ่งที่ควรทำ หรือ กิจการงานที่ทำในปัจจุบันอยู่นั้นเข้ามาแทรกแทรงปะปน ฟุ้งซ๋าน จนใจไม่อยู่กับสิ่งที่ควรต้องทำหรือกิจการงานที่ทำอยู่นั้น(เป็นอาการที่ใจสัดส่ายส่งจิตออกนอก คือ อ่อนไหวตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดสมมติที่ปรุงแต่งจิต จิตไม่ตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบัน)
- เมื่อเรามีใจตั้งมั่น ไม่อ่อนไหวยินดียินร้ายตามความคิด หรือสิ่งรบเร้า เราสามารถเอาใจจดจ่ออยู่กับกิจการงานที่ทำได้นานตาม ทำให้รู้เห็นในกิจการงานนั้นๆได้อย่างครบถ้วน ทุกความเป็นไป ทุกการเปลี่ยนแปลง ทุกขั้นทุกตอนไม่ตกหล่น จึงเป็นผลทำให้เรามีความเข้าใจในสิ่งนั้นได้ดี


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ตุลาคม 24, 2022, 08:39:50 PM
บันทึกกรรมฐาน วันที่ 23 ตุลาคม 2565 13:00 ณ วัดอโศการาม

หลวงปู่อุทัย ได้มาแสดงธรรมเทศนา ในงานบำเพ็ญกุศล หลวงปู่บุญกู้ อนุวัฒฑโน

  ..คราวนั้นเราได้อธิษฐานจิตขอหลวงปู่อุทัยโปรดเทศนาชี้ทางละอกุศลธรรมอันลามกจัญไรที่เกิดมีแก่ผมด้วยเทอญ ขณะนั้นหลวงปู่อุทัยได้กันมามองมาเบื่องหน้าแนวแถวเรานั่งอยู่ (ไม่ได้หมายว่ามองมาเฉพาะเรา) แล้วหลวงปู่ยิ้มแล้วได้กรุณาแสดงธรรม ให้เราได้รู้ในสัทธรรม คือ ธรรมแท้ ดังนี้ว่า.. มันเกิดจากตัวรู้นี้แหละ ตัวรู้นี้แหละสำคัญ มันรู้ๆไปหมด รู้ดี รู้ชั่ว รู้คิด รู้พูด รู้ทำ ก็ตัวรู้นี้แหละคือเหตุทั่งปวง

  ..จากนั้นกลวงปู่อุทัยได้แสดงธรรมเทศนาต่อ เท่าที่เราพอจะจำได้ หวนระลึกได้ ปรุงแต่งนึกคิดอนุมานเอาได้ โดยอาจไม่ถูกต้องครบพร้อมทั้งหมด จะกล่าวโดยความเข้าใจพร้อมความอนุมานปรุงแต่งนึกคิดของเรามีโดยประมาณความ ดังนี้ว่า..

  ..กุศล อกุศล อัพยกฤต เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันเป็นอนิจจัง  เวียนเกิด เวียนดับไปเรื่อย ไม่ว่าอะไรในโลกก็ไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวง คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะ ธัมมารมณ์ ไม่เที่ยง โลกไม่เที่ยง ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง

  ..ใจนี้เป็นตัวรู้ก่อนทุกอย่าง วิญญาณคือใจนี้เป็นสิ่งแรกที่รู้อารมณ์ รู้ผัสสะ เกิดที่ตัวรู้ก่อน เมื่อมันรู้ มันก็เกิดการสังขารไปเรื่อย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันเกิดขึ้นของมัน ตั้งอยู่ของมัน ดับไปของมัน วนเวียนไปเรื่อยไม่สิ้นสุด นี้ชื่อวัฏฏะ คือ วนเวียนไป (ขณะนั้นเราพิจารณาตามความว่า..มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของมันนี้ คือ กุศลก็ดี อกุศลก็ดี เป็นกลางไม่ใช่ทั้งกุศลและอกุศลก็ดี เราอนุมานว่ากล่าวถึงอนัตตา คือ บังคับไม่ได้ อยู่เหนือการควบคุม บังคับให้เกิด ให้ตั้งอยู่ ให้ดับไปไม่ได้ มันเป็นไปของมันเอง ไม่ใช่ตัวตน โดยปริยายในตัวของประโยคนี้แล้ว)

  ..หากจะละมัน เราต้องรู้ด้วยตัวเองว่า อะไรทำให้มันเกิดขึ้น อะไรทำให้มันคงอยู่ อะไรทำให้มันดับไป สิ่งใดคือเป็นของมัน ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นลอยๆ มันไม่มีความบังเอิญ ทุกอย่างล้วนเกิดแต่เหตุ จะละก็ละที่เหตุ อะไรคือเหตุแห่งความเกิดขึ้นของมัน อะไรคือเห็นแห่งความตั้งอยู่ของมัน อะไรคือเหตุแห่งความดับไปของมัน ทุกอย่างมันเกิดจากตัวรู้ เหตุคือมันรู้อะไร มันรู้สึกอะไร มันรู้จำอะไร มันปรุงอะไร มันเอาอะไรมานึก มาคิด มาสังขาร

  ..สิ่งที่มันเกิดขึ้น สิ่งที่มันตั้งอยู่ สิ่งที่มันดับไป มันคือรูปกับนาม

รูปนาม ก็คือ ขันธ์ ๕

รูป ก็คือ ธาตุ ๔ แยกรูปออกมาเป็นธาตุ ๔ จำแนกเป็นธาตุ ๑๘ จำแนกออกมาเป็นธาตุทั้งหลาย
นาม ก็แยกออกมา ๔ คือ เวทนา คือนาม สัญญาคือนาม สังขารคือนาม ตัวรู้คือนาม

ธรรมทั้งปวงเมื่อพิจารณาลงขันธ์ ๕ แยกขันธ์ ๕ ออกมา ก็จะเหลือเพียงรูปกับนาม แยกออกมาก็ไม่มีสิ่งใดเลยนอกจากรูปกับนาม

ที่นี้เมื่อตัวรู้เป็นเหตุรู้ เหตุปรุง เหตุเกิดขึ้น เหตุตั้งอยู่ เหตุดับไป เมื่อเราจะละก็ละที่ตัวรู้ จะดับก็ดับที่ตัวรู้นี้แหละ เหมือนหลวงปู่บุญกู้ ตัวรู้ดับไปแล้ว ก็ไม่มีปรุงแต่งเพิ่มเติม ไม่มีตัวรู้ในธาตุขันธ์นี้อีก
รูป คือ รูปขันธ์ คือ ธาตุ ๑๘ , นาม คือ เวทนา สัญญา สังขาร ตัวรู้ กุศล อกุศล อัพยกฤต เมื่อมันจะเกิดขึ้นมันก็เกิดขึ้นของมัน เมื่อมันจะตั้งอยู่มันก็ตั้งอยู่ของมัน เมื่อมันจะดับไปมันก็ดับไปของมัน มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เราก็ไม่ต้องไปบังคับมัน ไม่ต้องไปปรับแต่งมัน ยิ่งไปบังคับไปปรับแต่งมันยิ่งแปรปรวน บางคนยิ่งเตลิด ยิ่งเป็น เหตุมันอยู่ที่เราสำคัญใจต่อสิ่งที่รู้ว่าจดจำสำคัญมั่นหมายไว้อย่างไร จะทำก็ทำที่ตัวรู้นี้ ทำกายใจให้ปกติสบายๆ

ศีล คือ ความปกติ เป็นความปกติของคน ศีลเป็นความปกติของใจ ถ้าใจปกติอะไรที่ไม่ใช่ความปกติ เกิดขึ้นมันก็รู้ โลภเกิดขึ้นมันก็รู้ โทสะเกิดขึ้นมันก็รู้ เพราะมันไม่ใช่ความปกติ โลภมันไม่ใช่ความปกติ โทสะมันไม่ใช่ความปกติ (ความนี้เราพิจารณาตามในขณะนั้น ได้อนุมานว่า อินทรีย์สังวรเกิดแต่ศีล เจตนาเป็นศีลนี้คืออินทรีย์สังวรณ์, นี้เองมรรค ความสุจริต ๓ คือ ผลที่ศีลลงใจ ใจถึงศีลแล้ว ไม่ลูบคลำศีลแล้ว ไม่พร่องศีลแล้ว ความปกติของใจนี้แล สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว เพราะใจถึงก่อน ใจเป็นเหตุ เมื่อใจถึงความปกติ เมื่อศีลลงใจ ความคิดก็ดี คำพูดก็ดี การทำก็ดี ก็จะเป็นปกติตาม..)

- เพราะตัวรู้เป็นเหตุให้เกิดความนึก ความหมายรู้ เมื่อนึกก็จำได้ ก็คิดปรุงแต่ง เป็นวิตกสังขาร วิจารสังขาร

[..โดยนัยย์เมื่อคราวสันตติเราขาดนั้น..
..เมื่อตัวรู้นี้รู้ ขณะรู้อารมณ์อาการเหมือนฟ้าแลบแปลบให้ใจรู้ ให้กระทบ กระเพื่อม ..ก็เหมือนจะมีความจดจำอาการก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่ โดยไม่ใช่เนวะสัญญานาสัญญายตนะ แต่เป็นอาการที่จิตมันรู้อยู่ในปัจจุบันกับสังขารแล้วก็ดับ นิ่ง แช่ ว่าง
..เมื่อตัวรู้ดับแล้ว อาศัยความจำที่ทรงจำอาการนั้นๆไว้อยู่ ให้เกิดความติดตราตรึงใจอ่อนๆ ไม่ว่าจะด้วยความหมายรู้ อยากรู้ เพลิน ยินดี ยินร้ายก็ตามจะมีความตราตรึงใจนี้ร่วมด้วยเสมอ (สภาวะนี้เราอนุมานว่า คือ กามอ่อนๆ เพราะถ้ามันไม่สนใจสภาวะธรรมมันก็จะเกิดดับไปเฉยๆ แต่เพราะตัวรู้ตราตรึงอาการนั้นมันจึงทำมโนกรรมจงใจตรึกด้วยความหมายรู้ว่าสิ่งนั้นมันคืออะไร) แล้วก็ดับ
..เมื่อความตราตรึงใจนั้นดับ การจับอารมณ์ก็เกิดขึ้น ความตรึกก็เกิดขึ้น เป็นมโนกรรม
..ตัวรู้มีสภาวะที่ทำความรู้ในสิ่งที่ถูกรู้นั้น มีใจเข้าหาสิ่งที่ถูกรู้นั้น ทำใจไว้ถึงสิ่งที่ตัวรู้ได้รู้แล้วนั้น (อนุมานว่าคือมนสิการ / ตัวรู้ทำความตรึกในสภาพที่เป็นมนสิการ) แล้วก็ดับ
..แต่เมื่อตัวรู้ทำไว้ในใจถึงสิ่งที่ถูกรู้แล้วนั้น มีใจแล่นไปหาสิ่งที่ถูกรู้ (อนุมานว่าคือเจตนา / ตัวรู้ทำความตรึกในสภาพที่เป็นเจตนา) ณ จุดที่ตัวรู้นั้นได้รู้ ..แต่สิ่งที่รู้แล้วนั้นมันก็ดับไปแล้ว เหลือเพียงความจำ ที่ทรงจำไว้ถึงสภาวะที่ถูกรู้นั้น ดังนี้ตัวรู้จึงจับอารมณ์ด้วยความหมายรู้..แต่ว่าอารมณ์ที่จับนั้นเป็นเพียงสิ่งทีทรงจำสภาพของตัวที่ถูกรู้เท่านั้น(อนุมานว่าคือสัญญา  / ตัวรู้ทำความความตรึกในสภาพที่จับสัญญา)
..ตัวรู้นี้แหละที่ทำความตรึก คือ ตัวรู้ทำกิริยาที่จับอารมณ์และน้อมใจไป มีใจแล่นไปหาความจำเพราะอยากรู้ว่าตัวถูกรู้นั้นมันคืออะไร อาการที่นึกถึง อาการที่หวนระลึกถึงด้วยความอยากรู้ว่ามันคืออะไร แล้วความตรึกน้อมใจไปหาสัญญาก็ดับ
..เมื่อความจำได้หมายรู้นั้นเกิดขึ้น ความรู้สึกอันเกิดแต่สัมผัสก็เกิดขึ้น(อนุมานว่าเป็นสมมติของเวทนาที่เป็นอาการความรู้สึก) ความยินดี ยินร้าย ชอบ ชังความคิดสืบต่อเรื่องราวก็เกิด จากนั้นก็ปรุงแต่งสังขารไปไม่สิ้นสุด]


- วิตก วิจาร เป็นวจีสังขาร

- ธาตุ เป็นกายสังขาร ลมหายใจเป็นกายสังขาร

จึงเข้าใจเรื่อง จิต มีจิตสังขาร วิญญาณ มีวิญญาณสังขาร มโน มีมโนสังขาร มากขึ้นไปอีก





สรุปในการละ วาง ดับ ที่เราพอจะมีปัญญาเข้าถึงได้เมื่อได้ฟังเทศนาหลวงปู่อุทัยน้อมมาใส่ตน

1. ทำที่ตัวรู้ รูปนาม กุศล อกุศล อัพกฤต เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป วนเวียนไม่สิ้นสุด ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน
2. ละที่เหตุ หาเหตุของมันด้วยแยกขันธ์ แยกรูป แยกนาม เหตุเกิดที่ไหน ละที่นั่น
3. ทำกายใจให้ปกติด้วยศีล เอาศีลเป็นเหตุแห่งกุศล ศีลลงใจ ก็เย็นใจ ใจสะอาดเป็นปกติ ศีลลงใจจะระลึกอกุศลไม่ออก ไม่มีอกุศล มีจิตเป็นพุทโธ มีศีลเป็นอารมณ์อุปจาระฌาณให้ใจปกติสงัดจากกิเลส
4. กิเลสเป็นของไม่ปกติ เป็นของแปลกปลอมของตัวรู้ ใจสะอาดจะรู้ความไม่ปกติ อบรมจิตให้มีกำลังให้ถึงความปกติด้วยศีล ตามลำดับแห่งมรรค ๘ แล้ว จิตเป็นพุทโธจึงเห็นชอบ เห็นชอบจึงมีศีล ศีลนำมาซึ่งความมุ่งมั่นตั้งใจด้วยสติ ทำสติให้เกิดขึ้น สติทำสมาธิให้เกิดขึ้น สมาธิทำปัญญาให้เกิดขึ้น ปัญญาเข้ามหาสติ มหาสติเข้าสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์เข้าถึงวิชชา เข้าถึงพระอริยะสัจ ๔ รอบ ๓ อาการ ๑๒





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ตุลาคม 26, 2022, 06:51:46 PM
เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา วิญญาณกสิน


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ตุลาคม 27, 2022, 11:59:29 AM
การที่เราวนๆซ้ำๆเดิมๆ ราคะ ริษยา หลง เพราะเรางมงาย ยึดหลง ว่าสิ่งที่ตนหลงนั้นถูก จริง ใช่ แม้แต่อนัตตายังอุปาทานเป็นตัวตนอนัตตาได้

โดยแท้แล้ว

คนเราเสพย์ธรรมใด ก็อุปาทานธรรมนั้น (อวิชชาเกิดแล้ว)

หลงธรรมใด ก็ยึดกอดธรรมนั้น (อัตตาเอาใจเข้ายึดครองว่าเป็นตัวเป็นตนสืบไป)

นี้เรียกทุกข์ ทุกขอริยะสัจ ไม่รู้ทุกข์ก็ไม่มีทางถึงธรรมได้ (ทุกข์ควรกำหนดรู้)

ดังนั้น.. การจะทำสิ่งที่ตนมุ่งหมายให้สำเร็จได้ ก็ต้องกำจัดความงมงายของตัวเองก่อน ดังนี้..(กำหนดรู้ทุกข์)

เลิกอุปาทานตน เลิกอุปาทานธัมมารมณ์ที่ตนเสพย์ เลิกอปาทานความเชื่อ เลิกอุปาทานธรรม (นี้เป็นส่วนหนึ่งในกาลามสูตร ๑๐ ประการ) เพราะนี้คือโลก เป็นกับดักที่กิเลสวางไว้ล่อใจทางสฬายตนะ

- รู้ความเป็นโลกจึงแสวงหาโลกุตระ
- พ้นโลกจึงเห็นโลกุตระ
..ก็คือเลิกอุปาทาน






เพราะอุปาทาน ราคะ โทสะ โมหะ ยินดี ยินร้าย ริษยา โกรธแค้น อยากเอาชนะ อยากมีอยากเป็น อยากไม่มี หลงอุปาทานด้วยกาม (ทุกขสมุทัย)

- กามตัณหา คือ ตราตรึงใจ ใคร่เสพย์ได้ครอง ยึดอุปาทานตัวตน ไม่รู้ธรรมแท้
- ภวะตัณหา คือ อยากให้สิ่งที่มีที่เจริญใจนั้นตั้งอยู่ตลอดไป
- วิภวะตัณหา คือ อยากให้ไม่มี อยากให้สิ่งไม่เจริญใจไม่มี หรือ อยากให้สิ่งที่มีที่เจริญใจไม่สูญไป

กล่าวโดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ (ทั้งหมดนี้คือธรรม) เป็นตัวทุกข์

ขันธ์ ๕ ภายใน คือ กาย  เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ขันธ์ ๕ ภายนอก ก็ รูป นาม ภายนอก

เมื่อจะละ ละที่ตัวรู้ (ทุกขสมุทัย)
เหมือนหลวงพ่อเสถียร และ หลวงปู่บุญกู้ เมตตาสอนเรา เหมือนหลวงปู่อุทัยได้แสดงธรรมสั่งสอนในวันที่ 23/10/65 ณ วัดอโสการาม






ละตัวรู้นั้นอย่างไร

1. ทำไว้ในใจกำหนดหมายให้ตัวรู้ รู้ว่าธรรมทั้งปวงไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ทุกอย่างมีอายุไขยของมัน มีความแปรปรวนดับไปเป็นธรรมดา ล่วงพ้นไปไม่ได้ ธาตุก็กลับคืนสู่ธาตุ นานสุดอยู่ได้แค่หมดลมหายใจเรานี้เท่านั้น (รู้อนิจจัง)
2. กำหนดรู้คุณ และโทษ ในสิ่งทั้งปวง (กำหนดรู้ทุกข์)
3. ทำไว้ในใจกำหนดหมายให้ตัวรู้ รู้ว่าธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน บังคับไม่ได้ อยู่เหนือการควบคุม สักแต่ว่าธาตุ ๕ มีใจครอง และไม่มีใจครอง (รู้อนัตตา)
4. ไม่เอาความสุขสำเร็จของตนไปผูกขึ้นไว้กับสิ่งใด (ละอัตตา)
5. ละความสำคัญมั่นหมายของใจในธรรมทั้งปวง คือ เลือกความยินดี ยินร้าย วางเฉย ที่ควรเสพย์ และไม่ควรเสพย์ (เลือกธัมมารมณ์ที่ควรเสพย์ และไม่ควรเสพย์ ผลที่ได้ตามมา คือ อินทรีย์สังวรณ์)
6. ไม่ติดใจข้องแวะโลก
7. ทำจิตให้ผ่องใส มีใจเอื้อเฟื้อ เว้นจากความเบียดเบียน (สุจริต ๓)
8. จิตถึงพุทโธ (นี้คือภาวนา ผลจากภาวนา) คือ..
     - ผู้รู้ (รู้ของจริงต่างหากจากสมมติ)
     - ผู้ตื่น (ตื่นจากสมมติกิเลสของปลอม)
     - ผู้เบิกบาน (เบิกบานพื้นแล้วจากสมมติกิเลสของปลอม)






หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 01, 2022, 01:11:40 PM
1. เมื่อพบสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่เจริญใจ เป็นทุกข์ เบื่อหน่าย ไม่อยากเจอ นี้คือภาวะอัตตา อุปาทาน ๑
- เป็นอัตตาในภายนอก อกุศลธรรมเกิดขึ้น

2. เมื่อน้อมเข้ามาภายในด้วยรู้ว่า ทุกข์เพราะเอาใจเข้ายึดครองตัวตนในสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่เจริญใจ มีใจกำหนดหมายรู้ว่า ควรทำอนัตตา กำหนดใจหมายรู้ในอนัตตา นี้คือภาวะอัตตา อุปาทาน ๒
- อัตตาในอนัตตา กำหนดหมายลูบคลำอนัตตาแล้ว มุ่งหมายในอนัตตา ขณะนั้นตัวตนของอนัตตาเกิดขึ้นเป็นตัวเป็นตน เป็นอัตตาในกุศลธรรม

3. เมื่อทำไว้ในใจหมายละความขุ่นขัด อาการที่ใจยึดเกาะอารมณ์ความรู้สึก มีใจผลักออก มีใจหมายให้ตัวรู้ทำอนัตตา แล้วเดินจิตทำ ปุถุขนผู้หมายใจนี้ จะให้ผลลัพธ์อยู่ ๒ ประการ คือ

ประการที่ 1 แต่ตัวรู้ก็ทำอนัตตาไม่ได้ นั่นเพราะยึดกอดอนัตตาไว้อยู่ นี้เรียกอุปาทานตัวตนในอนัตตา พยายามบังคับ แต่มันอยู่เหนือการความคุม เพราะนามไม่ใช่ตัวตน นี้เรียกลูบคลำอยู่ด้วยอุปาทานในอนัตตา

ประการที่ 2 จิตเข้าถึงอนัตตา ไม่จับกุศล อกุศล ไม่ยึดอารมณ์ความรู้สึก ไม่กำหนดหมายอนัตตา สักแต่ว่ารู้ ปล่อย ละ วาง ถึงความว่าง ความไม่มี ความสละคืน แม้แบบสาสวะสะสมเหตุ หรืออนาสวะถึงความทำให้มรรคสูงขึ้นไปสู่ผล นี้เรียกอัพยกฤต





สรุป

ทำไว้ในใจกำหนดรู้ที่ตัวรู้ ตัวรู้เป็นตัวยึด ตัวกอด เอาใจออกจากตัวรู้ ให้จิตนี้ที่จรไปทำจิตเดิมแท้คือแค่รู้ ไม่ยึด ไม่กอด ไม่จับ ไม่เสพย์ มีใจปล่อยออก ทั้งความรู้ว่าเพราะอัตตาจึงทุกข์ ๑ ทั้งจิตต้องทำอนัตตา ต้องสละคืน ๑ จิตไม่กำหนดหมาย ถึงธรรมชาติที่สงบ ธรรมชาติที่สบาย ธรรมชาติที่ไม่มี ธรรมชาติที่สละคืน





หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 01, 2022, 01:22:32 PM
เจริญ อนัตตลักขณสูตร / อาทิตตปริยายสูตร


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2023, 11:00:34 AM
สันโดษ คือ มีกำลังใจดี ใจมีพลัง ใจมีกำลังอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างปกติ ไม่อ่อนไหวไหลเอนพล่านไปตามอารมณ์ ไม่ฟุ้งซ่านดิ้นรน ใจไม่กระเพื่อม ไม่โหยหา ไม่กระสัน ไม่อยาก ไม่เบื่อ ไม่หน่าย ไม่ผลักไส ไม่ข้องขัด แต่อยู่ด้วยความเบาสบายเย็นใจไม่เร่าร้อน

โดดเดี่ยว คือ อยู่ผู้เดียวโดด ไม่มีผู้ใดแวดล้อม แต่ไม่ได้หมายถึงว่าอยู่โดยปกติสุขยินดีไม่เร่าร้อน เพราะใจยังมีครบความต้องการ อากได้ คาดหวัง ผลักไส เหงา เศร้า รัก โลภ โกรธ หลง ใจยังตราตรึง ติดตรึง โหยหา ข้องขัด


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กุมภาพันธ์ 02, 2024, 11:54:41 PM
`จาคะ อธิษฐานธรรม ๔ โดยธรรมนี้เกิดเห็นโดยส่วนตัวแต่ผมผู้เดียว ไม่ใช่โดยตรงจากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาตรัสสอน จึงไม่ใช่ธรรมของจริงแท้ ยังเป็นเพียงธรรมปลอม หากแต่เป็นความรู้ด้วยการเข้าถึงสภาวะธรรมโดยส่วนตัวของปุถุชนอย่างผมพอจะมีปัญญาเข้าถึงตามธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ดีแล้วนั้นได้ เคยเห็นจิตกระทำแล้วบ้าง อาจแม้เพียงโลกียะ หรือจิตหลอกจิตก็ตามแต่ แต่ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า เราฝึกสมาธิเพื่อสิ่งใด การเข้าฌาณ คลองฌาณเบื้องต้นนั้น จิตมีมโนกรรมอย่างไรเท่านั้น มิได้อวดอ้างแอบอ้างความสืบต่อหรือแจ้งว่าตนบรรลุธรรมใด เป็นเพียงบันทึกกรรมฐานส่วนตัวของผมเท่านั้น`

*แต่หากธรรมนี้ทางนี้ทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจและให้ผลได้ ให้รู้ไว้เลยว่าธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ผลได้ไม่จำกัดกาล และมีคุณมาก มีดังนี้เป็นต้นครับ*

จาคะ คือ การเผื่อแผ่เสียสละ เอื้อเฟื้อ มีน้ำใจช่วยเหลือ ใจกว้าง พร้อมที่จะรับฟังและร่วมมือ ไม่คับแคบเอาแต่ตัว

- ในทางธรรม คือ สละคืนอุปธิทั้งปวง คือ กิเลสตัณหาทั้งปวง อิ่มเต็มขันธ์ ๕ จิตเคลื่อนไปแทงขึ้นสังขารุเปกขาทำความแจ้งชัดในมหาสติปัฏฐาน กาย เวทนา จิต ธรรม อันยิ่งแล้วสำเร็จในอรหันตผล ถึงซึ่งพระนิพพาน

- ในทางโลก คือ การสะสมเหตุจาคะ ได้ดังนี้..
      ๑.) สละความเห็นแก่ได้ รู้จักให้ มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน..เป็นการสลัดทิ้งความตระหนี่ หวงแหน ใคร่ได้
           ..ผลที่ได้ คือ ทานที่ถึงจาคะ คือ รู้ประมาณ รู้จักพอ รู้จักอิ่มเป็น (คือ สละสิ่งของปรนเปรอตนเอื้อเฟื้อแก่ผู้อื่น เพื่อความเกื้อกูลกัน)..ซึ่งทำให้เรามีความเผื่อแผ่ มีมิตรมาก มีความอิ่มเอิบใจ และไม่อ่อนไหวกับสิ่งล่อใจจนหลงผิดทำผิดพลาด
      ๒.) สละความเห็นแก่ตัว รู้จักใจกว้างให้อภัย อดโทษ เว้นโทษ ละเว้นนระงับความเบียดเบียนกัน..เป็นการสลัดทิ้งความผูกโกรธ ผูกแค้น ผูกพยาบาท
           ..ผลที่ได้ คือ จาคะที่ถึงศีล (คือ สละความเห็นแก่ตัวสุขสบายส่วนตน สละความสุขปรนเปรอตน เพื่อความสุขร่วมกันกับผู้อื่นโดยปราศจากการเบียดเบียนทำร้ายซึ่งกันและกัน)..ซึ่งทำให้เราไม่ทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่น มีความเย็นใจไม่เร่าร้อน ไม่หวาดกลัว ไม่พะวง ไม่หวาดระแวงด้วยไม่มีการล่วงกรรมคือกระทำผิดเบียดเบียนทำร้ายต่อผู้ใดโดยชอบธรรม มีจิตผ่องใส และไม่เกิดการกระทำวู่วามโดยขาดความยั้งคิดได้
      ๓.) สละความสำคัญตัวถือตน รู้จักอ่อนน้อม ถ่อมตน ไม่สำคัญตนว่าสำคัญต่อผู้ใดหรือสิ่งใด พึงตระหนักรู้ว่าเราก็เป็นเพียงหนึ่งในองค์ประกอบของสิ่งนั้นหรือสภาพแวดล้อมนั้นๆ โดยมีหน้าที่ทำอะไรบ้างได้เท่านั้นเอง
           ..ผลที่ได้ คือ จาคะที่ถึงภาวนา ละความถือตัวสำคัญตน (มานะทิฏฐิ), ละความเห็นสำคัญว่าเป็นเรา เป็นของเรา (อัตตานุทิฐฐิ), ละความยึดมั่นถือมั่นเอาใจเข้ายึดครอง (อุปาทาน)..เป็นการสลัดทิ้งความยึดหลงทนงตน ..ซึ่งทำให้เราไม่เป็นคนยกตนข่มท่าน ทะนงตน และหลงตนจนประมาทพลาดพลั้งได้


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กุมภาพันธ์ 04, 2024, 03:03:59 PM
ฝึกสมาธิเพื่ออะไร จิตทำมโนกรรมอย่างไรจึงเข้าสู่ฌาณได้ง่าย

ฝึกสมาธิเพื่ออะไร จิตทำมโนกรรมอย่างไรจึงเข้าสู่ฌาณได้ง่าย

`ธรรมนี้เกิดเห็นโดยส่วนตัวแต่ผมผู้เดียว ไม่ใช่โดยตรงจากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาตรัสสอน จึงไม่ใช่ธรรมของจริงแท้ ยังเป็นเพียงธรรมปลอม หากแต่เป็นความรู้ด้วยการเข้าถึงสภาวะธรรมโดยส่วนตัวของปุถุชนอย่างผมพอจะมีปัญญาเข้าถึงตามธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ดีแล้วนั้นได้ เคยเห็นจิตกระทำแล้วบ้าง อาจแม้เพียงโลกียะ หรือจิตหลอกจิตก็ตามแต่ แต่ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า เราฝึกสมาธิเพื่อสิ่งใด การเข้าฌาณ คลองฌาณเบื้องต้นนั้น จิตมีมโนกรรมอย่างไรเท่านั้น มิได้อวดอ้างแอบอ้างความสืบต่อหรือแจ้งว่าตนบรรลุธรรมใด เป็นเพียงบันทึกกรรมฐานส่วนตัวของผมเท่านั้น`

*แต่หากธรรมนี้ทางนี้ทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจและให้ผลได้ ให้รู้ไว้เลยว่าธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ผลได้ไม่จำกัดกาล และมีคุณมาก มีดังนี้เป็นต้นครับ*





*เราฝึกสมาธิ..เพื่อให้จิตตั้งมั่นด้วยสติ มีกำลังอยู่ได้ด้วยตัวเอง*

*เมื่อจิตตั้งมั่นด้วยสติ..ก็จะเกิดผู้รู้*

*เมื่อจิตเป็นผู้รู้ชัด..ก็จะเกิดผู้ตื่น*

*เมื่อจิตเป็นผู้ตื่น..จิตก็จะเกิดนิพพิทา*

*เมื่อเป็นนิพพิทา..จิตจะน้อมเข้าฌาณได้ง่ายและไว* _(เหตุเพราะจิตหน่ายต่อโลก จิตคลายความยึดมั่นถือมั่นในโลก ใจคลายจากสภาพแวดล้อมของโลกความเป็นโลกที่เป็นอยู่ ที่ยึดอยู่ ที่อยู่จับอยู่ ที่ติดตรึงใจ ที่ตราตรึงใจไว้อยู่นั้นๆ คือ คลายจากกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฐัพพะ จิตจะจับที่ลมหายใจ (ตลอดจนต้นลมหายใจและปลายลมหายใจ) หรือจับนิมิตทางลม หรือจับกสินนิมิต หรือนิมิตต่างๆได้มั่น ..จิตคลายออกจากโลกโดยอาศัย..ลมหายใจ หรือนิมิตเหล่านั้น เพื่อเคลื่อนออกจากโลก แล้วยกจิตขึ้นอยู่ในสภาวะที่ใจไม่กวัดแกว่ง เอนเอียง อ่อนไหว คล้อยตาม น้อมใจไปในโลก ใจมีพลังตั้งอยู่ได้ด้วยตัวเอง ทำให้เคลื่อนจิตเข้าฌาณได้ง่าย สติที่เกิดพร้อมบริสุทธิ์..จะจดจำคลองธรรมคลองเข้าฌาณได้ง่าย ดังนั้นไม่ต้องไปจำจดจำจ้องคลองธรรม วสีใดๆ ให้ปล่อยมันเคลื่อนไป เมื่อเข้าได้บ่อยๆก็จะเกิดความรู้พร้อมในคลองธรรมหรือวสีเอง จะได้วสีก็ต้องฝึกบ่อนๆให้เข้าได้บ่อยๆจิตจะเห็นของธรรม ขณะเข้าจิตอยู่กับปัจจุบันอาจจะไม่นึกถึงการจดจำสภาวะ แต่เมื่อสติบริสุทธิ์ทุกๆครั้งที่ออกจากสมาธิก็จะยังคงเหลือสัญญาอยู่เสมอ เพราะสัญญาเกิดพร้อมด้วยสติระลึกรู้)_

*เมื่อจิตเข้าฌาณอันเป็นสัมมาสมาธิได้..จิตก็จะเกิด สุจริต ๓ (มรรคมีองค์ ๘)*

เมื่อจิตเป็นฌาณพร้อมด้วยสุจริต ๓ (มรรคมีองค์ ๘)..มรรคก็จะสืบต่อได้นานด้วยกำลังฌาณสมาธิ

เมื่อสุจริต ๓ (มรรคมีองค์ ๘) สืบต่อได้นาน ก็จะเกิดมัคสมังคีอ มัคสามัคคีกันเป็นองค์เดียว
_(เห็นชอบ คิดชอบ วาจาชอบ ประพฦฤติชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งมั่นชอบ รวมเป็นองค์เดียว ทั้งหมดนี้เป้นสถภาวะธรรมในองค์ธรรมเดียว)_

*เมื่อกิดมัคสมังคี (มรรคสามัคคีรวมกันเป็นหนึ่ง)..จิตก็จะแทงขึ้นญาณทัสนะ คือ มหาสติปัฏฐาน ๔*

*เมื่อจิตเข้าถึงมหาสติปัฏฐาน ๔..ก็จะเกิดสัมโพชฌงค์ ๗*

*เมื่อเกิดเกิดสัมโพชฌงค์ ๗ ก็จะเกิดสู่วิชชา ปัญญา ฌาณ*

*เมื่อเข้าสู่วิชชา ปัญญา ฌาณ ก็จะถึง พระอริสัจ ๔ ใน รอบ ๓ อาการ ๑๒*


หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ กุมภาพันธ์ 04, 2024, 04:17:34 PM
การดูลมในอาณาปานสติเพื่อวสีฌาณ

`การดูลมในอาณาปานสติเพื่อวสีฌาณ ธรรมนี้เกิดเห็นโดยส่วนตัวแต่ผมผู้เดียว ไม่ใช่โดยตรงจากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาตรัสสอน จึงไม่ใช่ธรรมของจริงแท้ ยังเป็นเพียงธรรมปลอม หากแต่เป็นความรู้ด้วยการเข้าถึงสภาวะธรรมโดยส่วนตัวของปุถุชนอย่างผมพอจะมีปัญญาเข้าถึงตามธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ดีแล้วนั้นได้ เคยเห็นจิตกระทำแล้วบ้าง อาจแม้เพียงโลกียะ หรือจิตหลอกจิตก็ตามแต่ แต่ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า เราฝึกสมาธิเพื่อสิ่งใด การเข้าฌาณ คลองฌาณเบื้องต้นนั้น จิตมีมโนกรรมอย่างไรเท่านั้น มิได้อวดอ้างแอบอ้างความสืบต่อหรือแจ้งว่าตนบรรลุธรรมใด เป็นเพียงบันทึกกรรมฐานส่วนตัวของผมเท่านั้น`

*แต่หากธรรมนี้ทางนี้ทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจและให้ผลได้ ให้รู้ไว้เลยว่าธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ผลได้ไม่จำกัดกาล และมีคุณมาก มีดังนี้เป็นต้นครับ*

1. ดูลมหายใจเข้ายาวหรือสั้น ดูลมหายใจออกยาวหรือสั้น
    - เพื่อรู้ว่าขณะที่จิตเราเริ่มนิ่งขึ้น ละเอียดขึ้น ลมหายใจมีลักษณ์อย่างไร ลมหายใจนั้นสั้นหรือยาว แรงหรือเบา ช้าหรือเร็ว

2. เมื่อจิตละเอียดขึ้น นิ่งขึ้น สงบขึ้น น้อมเข้าสมาธิ ลมหายใจเป็นอย่างไร
    - จิตเราจับสภาวะใดของลมหายใจ..ต้นลมหายใจเข้า-ต้นลมหายใจออก หรือ ตามลมหายใจที่เคลื่อนเข้าจากต้นลมไปจนสุดปลายลม-ตามลมหายใจที่เคลื่อนออกจากต้นลมไปจนสุดปลายลม หรือ จิตทำความรู้ลมเคลื่อนเข้า..จิตจับที่ปลายลมหายใจเข้า-จิตทำความรุ้ลมเคลื่อนออก..จิตจับที่ปลายลมหายใจออก หรือ จิตจับนิมิตใดตามลมหายใจเข้า-จิตจับนิมิตใดตามลมหายใจออก หรือ เกิดนิมิตทางลมหายใจเข้า-ออกเเมื่อจิตเคลื่อเข้าสมาธิ
    - ลมหายใจมีลักษณะอย่างไร ละเอียดอ่อนบางเบาเหมือนแทบไม่หายใจแต่รู้ว่ามีลมเคลื่อนหล่อเลี้ยงกายอยู่ หรือ ลมหายใจแรง ลมหายใจยาวหรือสั้น (สังเกตุที่ปลายลมหายใจ ดูปลายลมหายใจเข้า ปลายลมหายใจออก จะเข้าใจสภาวะกายสังขาร คือ ลมหายใจที่น้อมเข้าสมาธิ) หรือ ลักษณะนิมิตและการจับนิมิตของจิตเป็นอย่างไร กล่าวคือ ..นิมิตมีลักษณะอย่างไร อาการของนิมิตเป็นแบบไหน อาการของจิตที่จับนิมิตในตอนนั้นเป็นอย่างไร อารมณ์ของจิตต่อนิมิตเป็นไฉน จิตจับนิมิตแบบใด จับในเบื้องหน้า จับเป็นพื้นกว้าง หรือ จิตจับนิมิตเบื้องหน้าไว้ มีใจหน่ายออกจากนิมิตเบื้องหน้า หรือ จิตจับนิมิตเบื้องหน้าไว้ มีใจน้อมออกไปสู่ความว่าง ความสงบ ความไม่มี หรือจิตเห็นนิมิตเบื้องหน้าอยู่นั้นด้วยความไม่มีอะไรเป้นที่ว่าง โล่ง เป็นที่สบาย เป้นสิ่งไม่มี แล้วน้อมใจออกยกจิตขึ้นไปในความไม่มี

3. เมื่อถึงสมาธิจิตอยู่ที่ลมหายใจ หรือทิ้งลมหายใจ หรือคงลมหายใจไว้ หรือจิตจับที่นิมิตอื่นใดเฉพาะหน้า ไม่สนกาย ไม่สนสิ่งภายนอก ไม่สนลมหายใจ ไม่ใช้ความคิดแล้ว กล่าวคือ..ในสภาวะนั้นๆมีลักษณะอาการอย่างไร









.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.


ต่อ......

บทความและไฟล์ภาพ ในเว็บไซต์แห่งนี้อาจนำมาจากเว็บไซต์อื่นๆ ที่ทีมงานคิดว่ามีประโชยน์ต่อผู้อ่าน โดยให้ผู้อ่านเกิดควมบันเทิง และให้ความรู้ โดยที่เราจะให้เครดิตทุกครั้งที่นำมา หากไฟล์ภาพหรือบทความใด ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ต้องการให้นำมาแสดง โปรดแจ้งมาที่ tumcomputer@hotmail.com ทางทีมงานจะได้นำบทความนั้นออกทันที ขอบคุณครับ


เว็บนี้จัดทำโดย นายสุรัตน์ ศรลัมภ์ และครอบครัว อุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวร และผู้มีพระคุณ

HTML Hit Counters