สนทนาธรรม ฟังธรรม อ่านธรรมะ บทความธรรมะ หลักธรรมคำสอน กฎแห่งกรรม dhamma

ธรรมะออนไลน์ => สมาธิ วิปัสนากรรมฐาน => ข้อความที่เริ่มโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 26, 2013, 04:44:15 PM



หัวข้อ: วิธีดับความวิตก ตรึกนึก คิดฟุ้งซ่าน ไม่เป็นสมาธิ
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 26, 2013, 04:44:15 PM
วิธีดับความวิตก ตรึกนึก คิดฟุ้งซ่าน ไม่เป็นสมาธิ


ขอนอบน้อมแด่ พระพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ขอนอบน้อมแด่พระธรรม ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว
ขอนอบน้อมแด่พระสงฆ์ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ พระเถระ พระอริยะเจ้าทั้งหลาย  ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ที่ควรแก่การเคารพนพน้อม

ธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่ผมโพสท์กล่าวทั้งหมด เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และตรัสไว้ดีแล้ว ประเสริฐแล้ว หาประมาณมิได้ พึงปฏิบัติและให้ผลได้ไม่จำกัดกาล เป็นธรรมเพื่อให้เราทั้งหลายได้เห็นทางพ้นทุกข์ จนถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ผมได้นำธรรมอันประเสริฐทั้งหลายเหล่านั้นมาพิจารณาปฏิบัติ กรรมฐาน สมถะ และ วิปัสนา ทำให้ผมได้รู้เห็นและขยายความข้อธรรมและแนวปฏิบัติต่างๆตามจริต และ สติกำลังร่วมกับปัญญาของผมได้ดังนี้...หากธรรมที่ผมได้โพสท์กล่าวนั้นมีความผิดพลาด ผิดเพี้ยน ไม่เป็นจริงด้วยประการใดๆ ขอท่านทั้งหลายพึงรู้ว่าธรรมนั้นมาจากความคิดพิจารณาด้วยสติปัญญาอันน้อยนิดของผมแล้วกลั่นกรองออกมาเป็นแนวทางปฏิบัตินั้นๆ หากเป็นคุณประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายให้พึงระลึกรู้โดยจริงว่า ธรรมอันประเสริฐทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นแล เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และตรัสสอน ไม่ใช่ธรรมของผมแต่อย่างใด

บัดนี้ข้าพเจ้าขอแสดงธรรมเรื่อง วิธีดับความวิตก ตรึกนึก คิดฟุ้งซ่าน ไม่เป็นสมาธิ ตามวิธีที่ผมศึกษาเรียนรู้ปฏิบัติมา เพื่อเป็นประโยชน์ในการดำเนินไปในธรรมดังนี้



หลายครั้งที่ผมนั่งสมาธิแล้วชอบ วิตก ตรึกนึกฟุ้งซ่านไม่เป้นสมาธิ เข้าไม่ได้แม้ขณิกสมาธิ ทั้งๆที่เมื่อก่อนเคยทำสมาธิได้ถึงความสงบว่างมีสติแลดูอยู่ มีจิตจดจ่อได้นาน สามารถเข้าสมาธิจิตเมื่อไหร่ ตอนไหนก็ได้
มาเมื่อมาถึง 2 ช่วงเวลาที่เกิดขึ้นแก่ผมทำให้ผมไม่อาจเข้าสมาธิได้เลยคือ

1. ประสบพบเจอกับความทุกข์กายใจ ที่ขณะนั้นสำหรับผมมันหนักมาก ทำให้ผมไม่ได้ทำสมาธิต่อ เดี๋ยวนี้พอจะเข้าสมาธิก็เข้าไม่ได้เพราะจิตมัวหลงไปกับความ รัก โลภ โกรธ หลง ที่เกิดขึ้นแก่จิตอยู่ขณะนั้นๆทำให้จิตใจฟุ้งซ่านกระสับกระส่าย ระส่ำระส่ายไปหมด
2. พอมีคนมาสอนให้พิจารณาในวิปัสนา(บอกผมเจริญแต่วิปัสนาส่วนเดียว) ยิ่งทำให้ผมตรึกนึกคิดมากขึ้น ยิ่งรู้เห็นมากก็ยิ่งตรึกนึกคิดมากไม่เป็นสมาธิ แม้พิจารณาธรรมในวิปัสนามันก็เป็นได้แค่วิปัสนึก ไม่เห้นจริง ไม่รู้จริง จิตไม่มีกำลังมากพอจะพิจารณาใดๆ มีแค่ความคิดตนเองที่อนุมานเอาเท่านั้น

ทางแก้ไขวิตกจริต ตรึกนึกคิดขณะทำสมาธิ ทั้งด้วยกิเลสหรือติดในอนุมานจากการเรียนวิปัสนานี้ ผมได้พบเจอตามที่หลวงปู่มั่นสอนไว้ และ พบที่เป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดังนี้
1. อาปานานสติ
2. กำหนดนิมิตขึ้นมาพิจารณา
3. พิจารณาธรรม

-------------------------------------------------------------------------------------------


1. อาปานานสติ

- สิ่งแรกที่พระพุทธเจ้ารู้ ก็คือลมหายใจนี้แหละ และ พระพุทธก็มีอาปานานุสสติกรรมฐานเป็นอันมาก ดั่งที่พระราชพรหมญาณ (หลวงปู่ฤๅษีลิงดำ)ท่านสอนว่า
- แม้พระอรหันต์ก็ไม่ทิ้งลมหายใจ
- แม้พระพุทธเจ้าก็ตรัสแก่พระสารีบุตรว่า "สารีบุตรดูก่อน สารีบุตรเราเองก็เป็นผู้มากไปด้วยอานาปานุสสติกรรมฐาน" คำว่า "มาก" ก็หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นปกติ ทั้งนี้เพราะอานาปานุสสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานระงับกายสังขาร คือเป็นกรรมฐานคลายอารมณ์เครียดของจิตใจ และเป็นกรรมฐานคลายอารมณ์เครียดทางร่างกาย มีทุกขเวทนา เป็นต้น
- เราทรงอานาปานุสสติกรรมฐานได้ ก็เหมือนกับคนฉีดมอร์ฟีน เป็นยาระงับ ระงับเวทนา อานาปานุสติกรรมฐานจงทำให้มาก จงอย่าละ ถ้าใครแสดงอาการเลว แสดงว่าคนนั้นทิ้งกำหนดลมหายใจเข้าออก
- ถ้าการกำหนดลมหายใจเข้าออกว่างเกินไป ก็ใช้คำภาวนาควบ เวลาหายใจเข้านึกว่า "พุท" เวลาหายใจออกนึกว่า "โธ" พยายามกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกไว้เป็นปกติ

1.1 ให้ทิ้งความรู้ทั้งหมดใส่หีบไว้ก่อน ดั่งที่หลวงปู่มั่นพระอาจารย์ใหญ่ท่านกล่าวสอนไว้

1.2 กำหนดรู้ลมหายใจเข้า-ออก หายใจเข้ายาว-หายใจออกยาวก้รู้ หายใจเข้าสั้น-หายในออกสั้นก็รู้ หายใจเข้ายาว-หายใจออกสั้นก็รู้ หายใจเข้าสั้น-หายใจออกยาวก็รู้ มีสติรู้ลมจดจ่ออยู่จิตจะสงบ

1.3 ไม่ส่งจิตออกนอก คือ ไม่เอาจิตปล่อยไปตามอดีต ไม่ปล่อยไปตามอนาคต มีสติรู้ปัจจุบัน

      1.3.1 สิ่งใดๆที่มันผ่านไปแล้ว มันจบไปแล้ว เราจักไม่เอาจิตไม่ย้ำคิดคำนึงถึงใน รูปใด เสียงใด กลิ่นใด รสใด โผฐฐัพพะใด ธัมมารมณ์ใด หรือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ใดๆที่ล่วงเลยมาแล้ว
      1.3.2 สิ่งใดๆที่มันยังมาไม่ถึง เราจักไม่เอาจิตไม่ย้ำคิดคำนึงถึงใน รูปใด เสียงใด กลิ่นใด รสใด โผฐฐัพพะใด ธัมมารมณ์ใด หรือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ใดๆที่ยังมาไม่ถึง สิ่งที่มายังไม่ถึงมันเป็นได้แค่ความคิดปรุงแต่งคาดคะเนอนุมานเอาเท่านั้น
      1.3.3 พึงรู้ในปัจจุบันขณะ รู้ลมหายใจเข้า-ออก
1.4 ไม่เอนไหวไปตามสัญญา คือ ความจำได้จำไว้ หรือ ความสำคัญมั่นหมายใดๆของใจ
      1.4.1 ไม่เผลอไผลตามสัญญาจนเกิดเป็นความปรุงแต่งเป็นเรื่องราวต่างๆนาๆทั้งที่พอใจยินดี-ไม่พอใจยินดี  และ ทั้งที่ใจปารถนา-ทั้งที่ใจไม่ปารถนาใดๆ
      1.4.2 ความตรึกนึกคิดปรุงแต่งเรื่องราวใดๆทั้งที่เป็น อดีต และ อนาคต ทั้งหลายนี้เพราะมีสัญญาเป็นที่สุด มีสัญญาเป็นใหญ่
      1.4.3 เมื่อเราเอาจิตใจเข้าไปเสพย์ในสัญญาใดๆที่ทำให้อกุศลเกิดขึ้นแล้ว ความปรุงแต่งเรื่องราวต่างๆก็เกิดขึ้นตามที่พอใจยินดี-ไม่พอใจยินดี เมื่อความโสมนัสเกิด-ก็ปารถนาใคร่ได้ เมื่อความโทมนัสเกิด-ก็ไม่ชอบอยากจะผลักหนีให้ไกลตน ต้องละความติดข้องใจในสัญญานั้นๆด้วยหาประโยชน์ไม่ได้นอกจากทุกข์ ไม่เข้าไปยึดเอาสัญญานั้นๆมาอีก รู้กายรู้ใจในปัจจุบันว่ากำลังทำอะไรอยู่
      1.4.4 พึงระลึกในสิ่งที่ดีเป็นกุศลใดๆที่ทำให้จิตใจของเรานั้นแจ่มใส เบิกบาน เป็นสุขโดยปราศจากความเพลิดเพลินติดใจยินดี แล้วน้อมมารู้กายใจในปัจจุบันขณะนั้นว่ากำลังทำสมาธิอยู่ และ นี่ก็คือมหากุศลกรรมอันมีอานิสงส์เป็นอันมากแก่ตนเอง คนในครอบครัว และ คนอื่น พึงตั้งเจตนาในกุศลกรรมที่กำลังกระทำอยู่นั้น
      1.4.5 พึงรู้ในปัจจุบันขณะ รู้ลมหายใจเข้า-ออก

จากข้อที่ 1.1-1.3 จะเห็นว่าการส่งจิตออกนอกทั้งหลายนั้น มีสัญญาเป็นใหญ่ เอาความปรุงแต่งจิตที่เป็นสัญญา คือ ความจำได้ จำไว้ ความสำคัญมั่นหมายใดๆของใจมาตั้งเสพย์อารมณ์นั้นๆ ทั้งๆที่มันผ่านมาแล้ว ทั้งที่ยังมาไม่ถึง ทั้งที่ปรุงต่อเรื่องราวไปเอง อนุมานเอาไปเอง การรู้เห็นในปัจจุบันนี้เป็นธรรมอันประเสริฐที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเพื่อไม่หลงไป ฟุ้งไป


หัวข้อ: วิธีดับความวิตก ตรึกนึก คิดฟุ้งซ่าน ไม่เป็นสมาธิ
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 26, 2013, 04:50:33 PM
2. กำหนดนิมิตขึ้นมาเพื่อพิจารณา

2.1 กำหนดจิตพิจารณาอสุภกรรมฐาน ให้เห็นเป็นอาการทั้ง 32 อาการแยกเป็นส่วนๆไม่มีตัวตนบุคคลใด เห็นส่วนใดก่อนให้พิจารณาส่วนนั้นส่วนเดียวจนเห็นจริงค่อยย้ายไปที่อื่น จิตจะยังความสงบลงเป็นสมาธิ

                 พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระสุภัททะเถระก่อนจะปรินิพพานว่า
- สุภัททะ … เธอจงพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ...รูป และนามทั้งหลาย ตามความเป็นจริง คือ ความเปลี่ยนแปลงเน่าเปื่อยไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเขา ไม่ใช่ตัวตนของเขา

2.2 กำหนดจิตพิจารณา มหาภูตธาตุ คือ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ หรือ พิจารณาธาตุ ๕ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ หรือ พิจารณาธาตุ๖ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ จนเห็นแยกเป็นธาตุไม่มีตัวตนบุคคลใด จนแยกเห็นเป็นเพียงรูปและนาม

                 พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕
                 มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ มหาราหุโลวาทสูตร
                 เรื่องพระราหุล  ภาวนาเสมอด้วยธาตุ ๕

             [๑๔๐] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนา (อบรมจิต) เสมอด้วยแผ่นดินเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้. ดูกรราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงที่แผ่นดิน แผ่นดินจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.
             [๑๔๑] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้. ดูกรราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายล้างของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงในน้ำ น้ำจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำ ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.
             [๑๔๒] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้. ดูกรราหุล เปรียบเหมือนไฟที่เผาของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ไฟจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.
             [๑๔๓] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยลมเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตของเธอได้ ดูกรราหุล เปรียบเหมือนลมย่อมพัดต้องของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลมจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยลม ฉันนั้น เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.
             [๑๔๔] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้. ดูกรราหุล เปรียบเหมือนอากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศ ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.

2.3 กำหนดนิมิตพิจารณาใน ฐีติภูตัง คือ จิตดั้งเดิม

         การเจริญปฏิบัติแล้วบรรลุธรรมในเวลาอันสั้นของพระสุภัททะเถระก่อนพระพุทธเจ้าจะทรงปรินิพพาน
 - แสงจันทร์นวลผ่องสุกสกาวเมื่อครู่นี้ดูจะอับรัศมีลง สุภัททะภิกษุแหงนขึ้นดูท้องฟ้า เมฆก้อนใหญ่กำลังเคลื่อนเข้าบดบังแสงจันทร์จนมิดดวงไปแล้ว แต่ไม่นานนัก เมฆก้อนนั้นก็เคลื่อนคล้อยไป แสงโสมสาดส่องลงมาสว่างนวลดังเดิม
           ทันใดนั้นดวงปัญญาก็พลุ่งโพลงขึ้นในดวงใจของสุภัททะภิกษุ เพราะนำดวงใจไปเทียบด้วยดวงจันทร์
           "อา!" ท่านอุทานเบาๆ "จิตนี้เป็นธรรมชาติที่ผ่องใส มีรัศมีเหมือนจันทร์เจ้า แต่อาศัยกิเลสที่จรมาเป็นครั้งคราว จิตนี้จึงเศร้าหมอง เหมือนก้อนเมฆบดบังดวงจันทร์ให้อับแสง"              

            มุตโตทัยกัณฑ์ที่ ๖. มูลการของสังสารวัฏฏ์
         ฐีติภูตํ อวิชฺชา ปจฺจยา สงฺขารา อุปาทานํ ภโว ชาติ
คนเราทุกรูปนามที่ได้กำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์ล้วนแล้วแต่มีที่เกิดทั้งสิ้น กล่าวคือมีบิดามารดาเป็นแดนเกิด ก็แลเหตุใดท่านจึงบัญญัติปัจจยาการแต่เพียงว่า อวิชฺชา ปจฺจยา ฯลฯ เท่านั้น อวิชชา เกิดมาจากอะไรฯ ท่านหาได้บัญญัติไว้ไม่ พวกเราก็ยังมีบิดามารดาอวิชชาก็ต้องมีพ่อแม่เหมือนกัน ได้ความตามบาทพระคาถาเบื้องต้นว่า ฐีติภูตํ นั่นเองเป็นพ่อแม่ของอวิชชา ฐีติภูตํ ได้แก่ จิตดั้งเดิม เมื่อฐีติภูตํ ประกอบไปด้วยความหลง จึงมีเครื่องต่อ กล่าวคือ อาการของอวิชชาเกิดขึ้น เมื่อมีอวิชชาแล้วจึงเป็นปัจจัยให้ปรุงแต่งเป็นสังขารพร้อมกับความเข้าไปยึดถือ จึงเป็นภพชาติคือต้องเกิดก่อต่อกันไป ท่านเรียก ปัจจยาการ เพราะเป็นอาการสืบต่อกัน วิชชาและอวิชชาก็ต้องมาจากฐีติภูตํเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อฐีติภูตํกอปรด้วยวิชชาจึงรู้เท่าอาการทั้งหลายตามความเป็นจริง นี่พิจารณาด้วยวุฏฐานคามินี วิปัสสนา รวมใจความว่า ฐีติภูตํ เป็นตัวการดั้งเดิมของสังสารวัฏฏ์ (การเวียนว่ายตายเกิด) ท่านจึงเรียกชื่อว่า "มูลตันไตร" (หมายถึงไตรลักษณ์) เพราะฉะนั้นเมื่อจะตัดสังสารวัฏฏ์ให้ขาดสูญ จึงต้องอบรมบ่มตัวการดั้งเดิมให้มีวิชชารู้เท่าทันอาการทั้งหลายตามความเป็นจริง ก็จะหายหลงแล้วไม่ก่ออาการทั้งหลายใดๆ อีก ฐีติภูตํ อันเป็นมูลการก็หยุดหมุน หมดการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ด้วยประการฉะนี้
                 จิตเดิมในที่นี้คือ จิตประภัสสร คือจิตที่ปราศจากกิเลศนิวรณ์ครับ แต่ยังมีกิเลศอนุสัยนอนเนื่องอยู่ในจิตสันดาน ถ้าจิตหมดกิเลศ พระพุทธเจ้าเรียกว่า จิตเกษม
                 หลวงปู่มั่น= "พระอรหันต์ทั้งหลาย จิตไม่มี มีแต่สติ เพราะจิตสังขารมันเป็นตัวสังขาร สังขารไม่มีในจิตของพระอรหันต์"

      2.3.1 กำหนดนิมิตรู้ถึง จิตดั้งเดิม เป็นแก้วใสสว่างปราศจากความปรุงแต่งจิตใดๆ และ ความคิดอารมณ์ความรู้สึกปรุงแต่งใดๆนั้นเป็นคนละส่วนกับจิต แค่เข้ามาปรุงแต่งประกอบเกิด-ดับพร้อมกับจิต (อภิธรรมปรมัตถสังคหะ คือ เจตสิก)
      2.3.2 พึงระลึกกำหนดเห็นเข้าถึง จิตที่ปราศจากการปรุงแต่งใดๆ เมื่อจะเกิดความปรุงแต่งใดๆไม่ว่าจะเป็น กุศลจิต หรือ อกุศลจิต เข้ามาในจิต ก็ระลึกเห็นเป็นเพียงส่วนปรุงแต่งประกอบภายนอกเข้ามาร่วมประกอบเกิดดับร่วมกับจิตเดิมแต่ไม่ใช่จิต(พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า จิตนี้เป็นธรรมชาติ ที่ผ่องใสมีรัศมีเหมือนดวงจันทร์ แต่ถูกกิเลสที่จรมาเป็นครั้งคราว จิตนี้จึงเศร้าหมองเหมือนก้อนเมฆบดบังดวงจันทร์ให้อับแสง)
      2.3.3 พึงระลึกกำหนดเห็นเมื่อจิตปราศจากความปรุงแต่งประกอบ ไม่ว่าจะเป็นวิตกตรึกนึกในเรื่องใดๆ สิ่งใดๆ จิตย่อมว่างใสสว่าง นิ่งสงบ
      2.3.4 พึงระลึกอยู่เช่นนี้ให้ยิ่งแล้ว จิตจะสงบตั้งมั่น

               พสมฺปยุตฺตปจฺจโย (พระธรรม 7 คัมภีร์)
ธรรมที่สัมปยุตกันเป็นปัจจัย ธรรมที่ประกอบพร้อมกัน ๔ ประการ คือธรรม ๒ อย่าง

เมื่อเวลาเกิด ก็เกิดพร้อมกัน
เมื่อเวลาดับ ก็ดับพร้อมกัน
มีอารมณ์เป็นอันเดียวกัน
มีที่อาศัยอันเดียวกัน
เรียกสัมปยุต ได้แก่ จิต และ เจตสิก ที่เป็นนามธรรมด้วยกัน เป็นปัจจัย และผลของปัจจัยของกันและกัน แม้จะมีหน้าที่ ต่างกันแต่ก็สัมปยุตประกอบกันได้สนิท ดังจะยกตัวอย่างนามขันธ์ ๔ เวทนาขันธ์ทำหน้าที่เสวยอารมณ์ สัญญาขันธ์ ทำหน้าที่จำอารมณ์ สังขารขันธ์ทำหน้าที่ปรุงแต่งอารมณ์ วิญญาณขันธ์ ทำหน้าที่รู้อารมณ์ แม้จะต่างหน้าที่กันแต่ก็สัมปยุตกันสนิท เหมือนอย่างเภสัชจตุมธุรส ประกอบด้วยของ ๔ อย่าง คือ น้ำมันเนย ๑ น้ำมันงา ๑ น้ำผึ้ง ๑ น้ำตาล ๑ มีรสเข้ากันสนิทจนไม่อาจจะแยกรสออกจากกันได้

               หลวงพ่อพุทธกล่าวถึงฐีติภูตังของหลวงปู่มั่น
สภาวธรรมส่วนที่เป็นสัจธรรมเกิดขึ้นในจิตของผู้ปฏิบัติ มีแต่สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ ซึ่งท่านอาจารย์มั่นเรียกว่า "ฐีติภูตัง" ซึ่งมีความหมายว่า "ฐีติ" คือ ความตั้งเด่นของจิต อยู่ในสภาพที่สงบนิ่งเป็นกิริยาประชุมพร้อมของอริยมรรค ยังจิตให้บรรลุถึงความสุคติภาพโดยสมบูรณ์ เมื่อจิตประชุมพร้อม ภายในจิตมีลักษณะ สงบ นิ่ง สว่าง อำนาจของอริยมรรคสามารถปฏิบัติจิตให้เกิดภูมิรู้ ภูมิธรรมอย่างละเอียด ภูมิรู้ ภูมิธรรมซึ่งเกิดขึ้นอย่างละเอียด ไม่มีสมมติบัญญัติ เรียกว่า "ภูตัง" หมายถึงสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่โดยธรรมชาติของมันอย่างนั้น


หัวข้อ: วิธีดับความวิตก ตรึกนึก คิดฟุ้งซ่าน ไม่เป็นสมาธิ
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤษภาคม 26, 2013, 04:59:43 PM
3. กำหนดจิตพิจารณาธรรม หรือ สภาวะธรรมใดๆ

3.1 กำหนดรู้สภาวะธรรมทั้งหลายในลมหายใจเข้า-ออก  รู้ลมที่ผัสสะแตะที่ปลายจมูก

      3.1.1 ลมหายใจยาวรู้
      3.1.2 ลมหายใจสั้นรู้
      3.1.3 ลมหายใจแรงรู้
      3.1.4 ลมหายใจเบารู้
      3.1.5 ลมหายใจหยาบรู้
      3.1.6 ลมหายใจร้อนรู้
      3.1.7 ลมหายใจเย็นรู้
      3.1.8 ลมหายใจแสบรู้
      3.1.9 ลมหายในละเอียดรู้
      3.1.10 น้อมเข้าพิจารณารู้สภาพธรรมจริงๆ ถึงสิ่งที่ประกอบร่วมในลมหายใจนั้นเช่น
                  มันมีความตรึงไหว เคลื่อนตัว เคลื่อนไหว อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของธาตุลมร่วมอยู่
                  มันมีความอ่อน-แข็ง-นุ่ม อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของธาตุดินร่วมอยู่
                  มันมีความอุ่น เย็น ร้อน อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของธาตุไฟร่วมอยู่
                  มันมีความเอิบอาบ ความเหนี่ยวร่วม ดูดซึม อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของธาตุน้ำ
                  มันมีความว่าง ช่องว่างแทรกระหว่างธาตุนั้นๆอยู่ในทุกอนุของธาตุคืออากาศ

3.2 หากจิตน้อมไปพิจารณาธรรมใดๆก็ปล่อยเลยไปอย่าไปฝืน แต่ต้องให้มีสติระลึกรู้ไม่ส่งจิตออกนอกกายนอกใจตน คือ มีสติระลึกรู้ กาย เวทนา จิต ธรรม ในปัจจุบันขณะนั้นๆ

      3.2.1 ระลึกรู้(มีสติแลดูอยู่-มีสติรู้ทัน)ในกาย ให้กำหนดรู้ หรือ รู้ตามในอิริยาบถใดๆที่เรากระทำอยู่ในปัจจุบัน เช่น กำลังอยู่ท่ายืน เดิน นั่ง หรือ นอน กำลังดำเนินกายอย่างไรอยู่ รู้ในลมหายใจเข้า รู้ในลมหายใจออก พิจารณาเห็นจิตสังขารเมื่อหายใจเข้า พิจารณาเห็นจิตสังขารเมื่อหายใจออก พิจารณาดับจิตสังขารเมื่อหายใจเข้า พิจารณาดับจิตสังขารเมื่อหายใจออก
      จิต ส่วนที่หมายถึงจิตตสังขาร มีความหมายถึง สิ่งปรุงแต่งอันเกิดแต่จิต  ท่านได้ให้คำจำกัดความไว้ดังนี้
      ๑. ปัจจัยปรุงแต่งจิต ได้แก่ สัญญา และ เวทนา
      ๒. สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางใจ ได้แก่ เจตนาที่ก่อให้เกิดมโนกรรม คือ มโนสังขาร (การกระทำทางใจ เช่น ความคิด)
        - ดังนั้น จิตตสังขารหรือจิตสังขาร จึงมีความหมายครอบคลุมถึงทั้งเวทนา,สัญญาและมโนสังขาร
        - ดังคำว่า เห็นจิต  ดูจิต  จิตเห็นจิต  สติเห็นจิต ต่างล้วนหมายถึง การมีสติระลึกรู้เท่าทันจิตตสังขาร ที่ครอบคลุมทั้ง เวทนา,สัญญา และมโนสังขาร คือ ความคิดนึกที่ประกอบด้วยอาการของจิตเช่นโทสะ โมหะ ราคะ ฟุ้งซ่าน หดหู่ ฯลฯ.เหล่านี้นี่เอง
      3.2.2 ระลึกรู้(มีสติแลดูอยู่-มีสติรู้ทัน)ในเวทนา ให้กำหนดรู้ หรือ รู้ตามในความเสวยอารมณ์ สุข ทุกข์ เฉยๆ ใดๆที่เกิดขึ้นแก่ กายตน ใจตน ทุกข์ที่รับรู้จากทางสฬายตนะใดๆของตน จนเห็นในเหตุจากการเกิดเวทนานั้น จิตจะยังความสงบลงเป็นสมาธิ
      3.2.3 ระลึกรู้(มีสติแลดูอยู่-มีสติรู้ทัน)ในความรู้สึกปรุงแต่งนึกคิด โลภะ ราคะ โทสะ โมหะ ให้กำหนดรู้ หรือ รู้ตาม ในความรู้สึกความปรุงแต่งนั้นๆที่เป็นไป จนเห็นในเหตุของความปรุงแต่งนั้น จิตจะยังความสงบลงเป็นสมาธิ
      3.2.4 ระลึกรู้(มีสติแลดูอยู่-มีสติรู้ทัน)ในธรรมทั้งหลายทั้งหมดที่ได้รู้ ได้เคยศึกษามา ให้กำหนดรู้ หรือ รู้ตาม ในธรรมทั้งหลายทั้งหมดที่ได้รู้ ได้เคยศึกษามาจากพระสูตรใดๆ โดยน้อมเข้ามาพิจารณาในกายและใจเรานี้ หรือ พิจารณาให้เห็นจริงถึงสภาวะธรรมใดๆที่เกิดขึ้นแก่กายและจิตตน ไม่ว่าจะเป็น กุศลธรรม อกุศลธรรม หรือ อัพยกตธรรม จนเห็นความเกิด-ดับใดๆ รู้เห็นตามจริงถึงสภาวะธรรมใดๆที่มีหรือไม่มีในตน จิตจะยังความสงบลงเป็นสมาธิ

3.3 การกำหนดจิตพิจารณา

       3.3.1 กำหนดระลึกพิจาณาเข้าสู่ เมตตาเจโตวิมุตติ กรุณาเจโตวิมุตติ มุทิตาเจโตวิมุตติ อุเบกขาเจโจวิมุตติ จิตจะสงบ สุข เป็นสมาธิลงได้ง่าย
       3.3.2 กำหนดพิจารณาในขันธ์ทั้ง ๕
                             ขันธ์  ๕ ได้แก่
            รูป       คือ     ร่างกาย
       เวทนา       คือ     ความรู้สึกสุข ความทุกข์ เฉยๆ การเสวยอารมณ์,ความรู้สึกในรสของอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการผัสสะ
       สัญญา       คือ     ความจำมั่นหมาย
       สังขาร       คือ     ความคิดปรุงแต่ง
      วิญญาณ      คือ     ความรู้อารมณ์ต่างๆ
สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่เรา...ไม่ใช่เขา   ไม่ใช่ของเรา...ไม่ใช่ของเขา  
ไม่ใช่ตัวตนของเรา...ไม่ใช่ตัวตนของเขา.. สิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยง มีการเกิดขึ้น
ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา....
- แม้เกิดรู้อารมณ์ใดๆ รู้ผัสสะใด เช่น กัน ปวด ขนลุก เสียววูบ เหมือนจิตหลุด อึดอัด หรือตรึกนึกคิดพะว้าพะวงใดๆก็ตามแต่ ให้พึงรู้ว่ามันสักแต่เป็นเพียงจิตเข้าไปรู้ในการกระทบสัมผัส และ ความปรุงแต่งใดๆนั้น ทาง หู ตา มูก ลิ้น กาย ใจ โดยสิ่งนี้ๆไม่ใช่เรา สิ่งนี้ๆไม่ใช่ของเรา เราสักแต่เป็นเพียงผู้รู้ผู้แลดูอยู่ ไม่ใช่ผู้ไปเข้าร่วมกับอารมณ์ความรู้สึกปรุงแต่งนั้นๆ พึงเจริญสติขึ้นระลึกรู้แลดูอยู่อย่างนี้ไปเรื่อง เช่น เมื่อคันเราก็รู้ว่าคัน ในอาการคันนั้นสักแต่เกิดขึ้นแก่จิตที่ไปรู้อารมณ์ความรู้สึกจากรูปขันธ์ รูปขันธ์ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา สิ่งนี้ๆไม่ใช่เรา เราสักแต่เป็นเพียงผู้รู้ผู้แลดูอยู่เท่านั้นไม่ใช่ผู้เข้าไปร่วมความปรุงแต่งนั้นๆ
- หากยังไม่หายเจริญสติเข้ารู้ว่า อาการคันนั้นๆ รู้แค่ความรู้สึกในผัสสะนั้นๆ เช่น เมื่อเกิดอาการคันแล้ว เราก็แลดูว่า ที่รู้สึกทางกายนั้นเป็ยเช่นไร มันจี๊ดๆ มันเหมือนเนื่อขยุบขยิบ เหมือนมีสภาพแข็ง อ่อน นุ่ม มากระทบวนไปมา ซึ่งอาการนี้เป็นการที่จิตเข้าไปรู้ผัสสะจากอายตนะภายใน ๖ + อายตนะภายใน ๖ มีสติแลดูสภาพจริงนั้นอยู่ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราสักแต่เป็นเพียงผู้รู้แลดูอยู่เท่านั้น ไม่มีตัวตนบุคคลใดๆเข้าร่วมอยู่ นอกจากสภาพที่ปรุงแต่งจากผัสสะนั้น รูป+กาย+วิญญาณ = ผัสสะ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีตัวตนบุคคลใดทั้งสิ้น
       3.3.3 กำหนดพิจารณาหวนระลึกถึงสิ่งที่เป็น กุศลจิต กุศลกรรม ใดๆที่เราได้กระทำมาแล้ว ไม่ว่าจะได้มีศีลแล้ว ได้มีเจตนาตั้งมั่นได้กระทำในสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นด้วยใจที่เว้นจากความกระทำโดยเพลิดเพลิน ละความพยาบาทเบียดเบียนแล้ว มีความปารถนาดีต่อสัตว์หรือบุคคลใด มีจิตปารถนาช่วยเหลือ อนุเคราะห์ แบ่งปัน เอื้อเฟื้อ เกื้อกูลสัตว์หรือบุคคลใด ได้มีทานคือการสละแล้ว ได้สละให้โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน ให้เพื่อหวังให้ผู้รับนั้นมีความสุขกาย สบายใจ มีความยินดีเมื่อเขาเป้นสุขพ้นจากทุกข์ ก่อให้เกิด ปราโมทย์ ปิติ ปัทสัทธิ สงบ สุข มีสมาธิเป็นอานิสงส์

                ดั่งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้แก่พระองคุลีมาลย์เถระดังนี้ว่า
                - อกุศลกรรมใดๆที่เคยทำมาแล้ว เมื่อหวนระลึกถึง ย่อมทำให้จิตใจนี้เศร้าหมอง
                - กุศลกรรมใดๆที่เคยทำมาแล้ว เมื่อหวนระลึกถึง ย่อมทำให้จิตใจแจ่มใส เบิกบาน
                - เธอจงหมั่นบำเพ็ญกุศล รักษาศีล รักษาใจให้แจ่มใสเบิกบานอยู่ทุกขณะจิตเถิด

               ดั่งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้แก่ปุกกุสะ บุตรของ มัลลกษัตริย์ดังนี้ว่า
           ดูก่อนปุกกุสะ...จิตนี้ผุดผ่อง..แต่ต้องเศร้าหมองด้วยอุปกิเลสที่จรมา
ปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมไม่รู้ข้อนั้นตามเป็นจริง ผู้มิได้เรียนรู้ย่อมไม่มีการอบรมจิต
ส่วนอริยสาวกผู้ที่ได้ฝึกฝนปฏิบัติดีแล้วย่อมทราบข้อนั้นตามเป็นจริง อริยสาวก
ผู้ได้สดับย่อมมีการอบรมจิต
           ปุกกุสะ เราไม่เล็งเห็นธรรมะอื่นแม้สักอย่างที่เปลี่ยนแปลงได้เร็วเหมือนจิต
ท่านจงกำหนดจิตระลึกถึงคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า...คุณของพระธรรม
คุณของพระสงฆ์  ศีลอันดีงามของตน..ทานที่ท่านสละแล้ว..และเทวดาที่แตกต่างกัน
ในทาน ศีล และการปฏิบัติภาวนา เมื่อท่านกำหนดจิตระลึกถึงอยู่ดังนี้หรืออย่างใด
อย่างหนึ่ง ในคราวนั้นจิตของท่านย่อมไม่มีราคะ โทสะ โมหะครอบงำ ย่อมเป็นจิตตรง
โดยการระลึกถึงอยู่ ย่อมได้ความเข้าใจในอรรถธรรม ได้ความปราโมทย์อันประกอบ
กับธรรม ได้ความปราโมทย์แล้วปิติก็เกิด  ปิติเกิดแล้วกายก็สงบ กายสงบแล้ว
ก็ได้ความสุข ได้ความสุขแล้วจิตก็ตั้งมั่น อันนี้แหละเรียกว่าผู้ถึงความสงบ ถึงความไม่มีทุกข์ ถึงกระแสธรรม


------------------------------------------------------------------------------------------------


* หากเมื่อมีสมาธิอยู่ แต่เกิด เสียววูบกาย-ใจ สั่นลอย เหมือนจิตจะออกจากร่างไม่หาย ส่วนตัวผมปฏิบัติอย่างนี้คือ

- กำหนดจิต หายใจเข้า-ออก ระลึกกำหนดจิตเข้าไว้ที่ หทัย คือ หัวใจ หรือ ห้องหทัยวัตถุ คือ ทรวงอก (หลวงปู่ชากล่าวว่า หทัย คือ หัวใจ)(สมเด็จญาณกล่าวว่า หทัย คือ หัวใจที่เต้นอยู่นี้)
- ระลึกรู้(มีสติแลดูอยู่-มีสติรู้ทัน) ว่า อาการนี้ก็เป็น จิตสังขาร เป็นความปรุงแต่งที่เกิ้ดขึ้นประกอบจิตเท่านั้น ไม่ใช่จิต แลดูรู้คตวามปรุงแต่งจิตนั้นไป แล้วเราจะเห็นถึงความเกิด-ดับของสภาพนั้น บางครั้งแลเห็นถึงสภาพที่เกิดนี้นั้นบ้างก็เพราะระแวง ยุง ริ้น ไร จะมากัด หรือ รบกวน บ้างก็เห็นถึงความเข้าปรุงแต่งปรับสภาพจิตก่อนถึงความสงบจะยังลงแก่จิต เป็นต้น


หัวข้อ: วิธีดับความวิตก ตรึกนึก คิดฟุ้งซ่าน ไม่เป็นสมาธิ
เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มิถุนายน 01, 2013, 03:31:39 PM


พระพุทธเจ้าตรัสว่า โรคที่ทำให้คนเราป่วยมีสองประเภทคือ
๑. โรคทางการกาย กายิกโรค
๒. โรคทางใจ เจตสิกโรค
อ่านเพิ่มเติมตาม Link นี้ครับ http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/buddhadas/bdd-09.htm (http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/buddhadas/bdd-09.htm)

ความคิด ตรึกนึก ฟุ้งซ่าน จึงเป็น เจตสิกโรค โรคทางใจ ดังนั้นเมื่อเราอาพาธเช่นนี้แล้วแนวทาง 3 ประการข้างต้นก็ถือเป็นการแก้ไขโรคทางใจของเรานั่นเอง หากท่านยังไม่หายสนิทให้เจริญสัญญา ๑๐ ในคิริมานนทสูตร ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระอานนท์ให้ไปกล่าวแก่พระคิริมานนท์ ดูได้ตาม Link นี้ครับ

http://www.thammaonline.com/15182/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2-%E0%B9%91%E0%B9%90-%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3 (http://www.thammaonline.com/15182/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2-%E0%B9%91%E0%B9%90-%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3)











บทความและไฟล์ภาพ ในเว็บไซต์แห่งนี้อาจนำมาจากเว็บไซต์อื่นๆ ที่ทีมงานคิดว่ามีประโชยน์ต่อผู้อ่าน โดยให้ผู้อ่านเกิดควมบันเทิง และให้ความรู้ โดยที่เราจะให้เครดิตทุกครั้งที่นำมา หากไฟล์ภาพหรือบทความใด ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ต้องการให้นำมาแสดง โปรดแจ้งมาที่ tumcomputer@hotmail.com ทางทีมงานจะได้นำบทความนั้นออกทันที ขอบคุณครับ


เว็บนี้จัดทำโดย นายสุรัตน์ ศรลัมภ์ และครอบครัว อุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวร และผู้มีพระคุณ

HTML Hit Counters