สนทนาธรรม ฟังธรรม อ่านธรรมะ บทความธรรมะ หลักธรรมคำสอน กฎแห่งกรรม dhamma

ธรรมะออนไลน์ => กลอนธรรมะ => ข้อความที่เริ่มโดย: ไหลเย็น ที่ มิถุนายน 12, 2015, 11:53:10 PM



หัวข้อ: มั่งมี นั้นเป็นสุข - ไม่มี กลับสุขกว่า
เริ่มหัวข้อโดย: ไหลเย็น ที่ มิถุนายน 12, 2015, 11:53:10 PM
เจ้าชายสิทธัตถะประกอบครบด้วยทรัพย์ศฤงคารมีปราสาท ๓ หลัง
ห้อมล้อมด้วยเหล่าบริวาร มีบัลลังก์แห่งกษัตริย์รออยู่ให้ขึ้นครอง
แต่พระองค์ทรงสละสิ้น เสด็จไปโดยลำพังอย่างผู้ไม่มีทุกอย่าง
บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณอยู่ใต้ต้นโพธิ์ กลับได้พบบรมสุขยิ่งกว่า

****************************


ร่ำรวย นั้นเป็นสุข
ก็ยังทุกข์ ไม่เหือดหาย
กลัวทรัพย์ จะกลับกลาย
ภัยทั้งหลาย ก็มากมี
แม้สละ ละทุกอย่าง
กลับพบทาง แห่งสุขี
มรรคญาณ ฌานลาภี
เป็นสุขที่ เหนือสิ่งใด


(http://image.dek-d.com/27/0294/9595/119262022)


****************************
โดย อุตฺตมสาโร ภิกขุ

 “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราจักขอเตือนพวกท่านให้รู้ว่า
สิ่งทั้งหลายที่เกิดมาในโลก มีความเสื่อมสลายเป็นธรรมดา
ท่านทั้งหลายจงทำหน้าที่อันเป็นประโยชน์แก่ตน และคนอื่น
ให้สำเร็จบริบูรณ์ ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

************************

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! บรรดาทางทั้งหลาย มรรคมีองค์แปดประเสริฐที่สุด
บรรดาบททั้งหลาย บทสี่คืออริยสัจประเสริฐที่สุด
บรรดาธรรมทั้งหลาย วิราคะ คือ การปราศจากความกำหนัดยินดีประเสริฐที่สุด
บรรดาสัตว์สองเท้า พระตถาคตเจ้าผู้มีจักษุประเสริฐที่สุด
มรรคมีองค์แปดนี่แล เป็นไปเพื่อทรรศนะอันบริสุทธิ์ หาใช่ทางอื่นไม่
เธอทั้งหลายจงเดินไปตามทางมรรคมีองค์แปดนี้
อันเป็นทางที่ทำมารให้หลงติดตามมิได้
เธอทั้งหลายจงตั้งใจปฏิบัติเพื่อทำทุกข์ให้สิ้นไป
ความเพียรพยายาม เธอทั้งหลายต้องทำเอง
ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอกทางเท่านั้น
เมื่อปฏิบัติตนดังนี้ พวกเธอจักพ้นจากมารและบ่วงแห่งมาร”

**************

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ความทุกข์ทั้งมวลมีมูลรากมาจาก ตัณหา อุปาทาน
ความทะยานอยากดิ้นรน และความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา
รวมถึง

ความเพลินใจในอารมณ์ต่างๆ สิ่งที่เข้าไปเกาะเกี่ยวยึดถือไว้โดยความเป็นตนเป็นของตนที่จะไม่ก่อทุกข์ ก่อโทษให้นั้นเป็นไม่มี หาไม่ได้ในโลกนี้
เมื่อใดบุคคลมาเห็นสักแต่ว่าได้เห็น ฟังสักแต่ว่าได้ฟัง รู้สักแต่ว่าได้รู้
เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆเพียงสักว่าๆ ไม่หลงใหลพัวพันมัวเมา
เมื่อนั้นจิตก็จะว่างจากความยึดถือต่างๆ ปลอดโปร่งแจ่มใสเบิกบานอยู่บานอยู่”


------------------

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! เธอจงมองดูโลกนี้โดยความเป็นของว่างเปล่า
มีสติอยู่ทุกเมื่อ ถอนอัตตานุทิฏฐิ คือความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตนเสีย
ด้วยประการฉะนี้ เธอจะเบาสบายคลายทุกข์คลายกังวล
ไม่มีความสุขใดยิ่งไปกว่าการปล่อยวางและการสำรวมตนอยู่ในธรรม

*************

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ไม่มีความสุขใดเสมอด้วยความสงบ
ความสุขชนิดนี้สามารถหาได้ในตัวเรานี้เอง
ตราบใดที่มนุษย์ยังวิ่งวุ่นหาความสุขจากที่อื่น
เขาจะไม่พบความสุขที่แท้จริงเลย
มนุษย์ได้สรรค์สร้างสิ่งต่างๆขึ้นไว้เพื่อให้ตัวเองวิ่งตาม
แต่ก็ตามไม่เคยทัน
การแสวงหาความสุขโดยการปล่อยใจให้ไหลเลื่อนไปตามอารมณ์ที่ปรารถนานั้น
เป็นการลงทุนที่ไม่มีผลคุ้มเหนื่อย
เหมือนบุคคลลงทุนวิดน้ำในบึงใหญ่เพื่อต้องการปลาเล็กๆเพียงตัวเดียว
มนุษย์ส่วนใหญ่มักวุ่นวายอยู่กับเรื่องกาม เรื่องกิน และเรื่องเกียรติ
จนลืมนึกถึงสิ่งหนึ่งซึ่งสามารถให้ความสุขแก่ตนได้ทุกเวลา
สิ่งนั้นคือ ดวงจิตที่ผ่องแผ้ว
เรื่องกามเป็นเรื่องที่ต้องดิ้นรน เรื่องกินเป็นเรื่องที่ต้องแสวงหา
และเรืองเกียรติเป็นเรื่องที่ต้องแบกไว้
เมื่อมีเกียรติมากขึ้น ภาระที่จะต้องแบกเกียรติเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งของมนุษย์ผู้หลงตนว่าเจริญแล้ว
ในหมู่ชนที่เพ่งมองแต่ความเจริญทางด้านวัตถุนั้น จิตใจของเจาเร่าร้อนอยู่ตลอดเวลา
ไม่เคยประสบความสงบร่มเย็นเลย เขายินดีที่จะมอบตัว
ให้จมอยู่ในคาวของโลกอย่างหลับหูหลับตา
เขาพากันบ่นว่าหนักและเหน็ดเหนื่อย พร้อมๆกันนั้น
เขาได้แบกก้อนหินวิ่งไปบนถนนแห่งชีวิตอย่างไม่รู้จักวาง”

****************

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! คนในโลกส่วนใหญ่เต็มไปด้วยความกลับกลอก
และหลอกลวงหาความจริงไม่ค่อยได้ แม้แต่ในการนับถือศาสนา
ด้วยอาการดังกล่าวนี้ โลกจึงเป็นเสมือนระงมอยู่ด้วยพิษไข้อันเรื่อรังตลอดเวลา
ภายในอาคารมหึมาประดุจปราสาทแห่งกษัตริย์ มีลมพัดเย็นสบาย
แต่สถานที่เหล่านั้น มักบรรจุไปด้วยคนซึ่งมีจิตใจเร่าร้อนเป็นไฟอยู่เป็นอันมาก
ภาวะอย่างนั้นจะมี ความสุขสู้ผู้มีใจสงบอยู่โคนไม้ได้อย่างไร”

*****************

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! การแสวงหาทางออกอย่างพวกเธอนี้เป็นเรื่องประเสริฐแท้
การแก่งแย่งกันเป็นใหญ่เป็นโตนั้น ในที่สุดทุกคนก็รู้เองว่า
เหมือนแก่งแย่งกันเข้าไปสู่กองไฟมีแต่ความรุ่มร้อน กระวนกระวาย
เสนาบดีดื่มน้ำด้วยภาชนะทองคำกับคนจนๆ ที่ดื่มน้ำด้วยภาขนะที่ทำด้วยกะลามะพร้าว
เมื่อมีความพอใจย่อมมีความสุขเท่ากัน นี่เป็นข้อยืนยันว่า
ความสุขนั้นอยู่ที่ความรู้สึกทางใจเป็นสำคัญ
อย่างพวกเธออยู่ที่นี่มีแต่ความพอใจ แม้กระท่อมจะมุงด้วยใบไม้
ก็มีความสุขกว่าอยู่ในพระราชฐานอันโอ่อ่า
แน่นอนทีเดียว คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตนั้นไม่ใช่คนใหญ่คนโต
แต่เป็นคนที่รู้สึกว่าชีวิตของตนมีความสุข สงบ เยือกเย็น
ปราศจากความเร่าร้อนกระวนกระวาย”

******************

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ลาภยศนั้นเป็นเหยื่อของโลก ที่น้อยคนนักจะสละและวางได้
จึงแย่งลาภแยกยศกันอยู่เสมอ เหมือนปลาที่แย่งเหยื่อกันกิน
แต่หารู้ไม่ว่าเหยื่อนั้นมีเบ็ดเกี่ยวอยู่ด้วย หรือ เหมือนไก่ที่แย่งไส้เดือนกันจิกตีกัน
ทำลายกันจนพินาศกันไปทั้งสองฝ่าย น่าสลดสังเวชจิตยิ่งนัก
ถ้ามนุษย์ในโลกนี้ลดความโลภลง ทีการเผื่อแผ่เจือจานโอบอ้อมอารี
ถ้าเขาลดโทสะลง มีความเห็นอกเห็นใจกัน มีเมตตากรุณาต่อกัน
และลดโมหะลง ไม่หลงงมงาย ใช้เหตุผลในการตัดสินปัญหาและดำรงชีวิต
โลกนี้จะน่าอยู่อีกมาก แต่ช่างเขาเถิด หน้าที่โดยตรงและเร่งด่วนของเธอคือ
ลดความโลภ ความโกรธ และความหลงของเธอเองให้น้อยลง
แล้วจะประสบความสุขความเยือกเย็นขึ้นมาก เหมือนคนลดไข้ได้มากเท่าใด
ความสบายกายก็มีมากขึ้นเท่านั้น”

***************

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ทำไมมนุษย์จึงยอมตัวอยู่ภายใต้การจองจำของสังคม
ซึ่งมีแต่ความหลอกหลอน สับปรับและแปรผัน
ทำไมมนุษย์จึงยอมตัวเป็นทาสของสังคมจนแทบจะกระดิกกระเดี้ยตัวมิได้
จะทำอะไรจะคิดอะไรก็ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของสังคมไปเสียหมด
สังคมจึงกลายเป็นเครื่องจองจำชีวิต
ที่มนุษย์ซึ่งสำคัญตัวว่าเจริญแล้วช่วยกันสร้างขึ้น เพื่อผูกมัดตัวเองให้อึดอัดรำคาญ
มนุษย์ยิ่งเจริญขึ้นก็ดูเหมือนจะมีเสรีภาพน้อยลงทั้งทางกายและทางใจ
ดูๆแล้วความสะดวกสบายและเสรีภาพของมนุษย์จะสู้สัตว์เดรัจฉานบางประเภทไม่ได้
ที่มันมีเสรีภาพที่จะทำอะไรตามใจชอบอยู่เสมอ
ดูอย่างเช่นฝูงวิหดนกกา มนุษย์เราเจริญกว่าสัตว์ตามที่มนุษย์เราชอบพูดกัน
แต่ดูเหมือนพวกเราจะมีความสุขน้อยกว่าสัตว์
ภาระใหญ่ที่ต้องแบกไว้คือเรื่องกาม เรื่องกิน และเรื่องเกียรติ
มันเป็นภาระหนักยิ่งของมนุษยชาติ
สัตว์เดรัจฉานตัดไปได้อย่างหนึ่งคือเรื่องเกียรติ คงเหลือแต่เรื่องกามและเรื่องกิน
นักพรตอย่างพวกเธอนี้ตัดไปได้อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องกาม คงเหลือแต่เรื่องกินอย่างเดียว
ปลดภาระไปได้อีกมาก แต่การกินอย่างนักพรตกับการกินของผู้บริโถคกามก็ดูเหมือนจะบริโถคแตกต่างกันอยู่
ผู้บริโภคกามและยังหนาแน่นอยู่ในโลกีย์วิสัย บริโภคเพื่อยุกามให้กำเริบ
จะต้องกินอย่างมีเกียรติ กินให้สมเกียรติ
มิใช่กินเพียงเพื่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ได้อย่างสมณะ
ความจริงร่างกายคนเรามิได้ต้องการอาหารอะไรมากนัก
เมื่อหิวร่างกายก็ต้องการอาหารเพียงเพื่อบำบัดความหิวเท่านั้น
แต่เมื่อมีเกียรติเข้ามาบวกด้วย จึงกลายเป็นเรื่องกินอย่างเกียรติยศ
และแล้วก็มีภาระตามมาอย่างหนักหน่วง คนจำนวนมากเบื่อเรื่องนี้
แต่จำต้องทำเหมือนโคหรือควาย ซึ่งเหนื่อยหน่ายต่อแอกและไถ
แต่จำใจต้องลากมันไป ลากมันไป อนิจจา !”

*************

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! การครองเรือนเป็นเรื่องยาก เรือนที่ครองไม่ดี
ย่อมก่อทุกข์ให้มากมาย การอยู่ร่วมกับคนพาลเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง”

*********

ดับความเพลินที่มาแห่งทุกข์ ฟังเหมือนง่าย แต่ก็ต้องทำเพราะมันสำคัญทั้งชีวิต

 ปุณณะ ! รูป ที่เห็นด้วย ตา ก็ดี, เสียง ที่ฟังด้วย หูก็ดี, กลิ่น ที่ดมด้วย จมูก ก็ดี, รส ที่ลิ้ม ด้วย ลิ้น ก็ดี,โผฏฐัพพะ ที่สัมผัสด้วย กาย ก็ดี, ธรรมารมณ์ ที่รู้แจ้งด้วย ใจ ก็ดี, อันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจเป็นที่ยวนตายวนใจให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ มีอยู่;ภิกษุย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พรำสรรเสริญ ไม่เมาหมกซึ่งอารมณ์ มีรูปเป็นต้นนั้น. เมื่อภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่พรำสรรเสริญ ไม่เมาหมก ซึ่งอารมณ์ มีรูปเป็นต้นนั้นอยู่,นันทิ (ความเพลิน) ย่อมดับไป.ปุณณะ ! เรากล่าวว่า “ความดับไม่มีเหลือของทุกข์มีได้ เพราะความดับไม่เหลือของความเพลิน”ดังนี้ แล.

อุปริ. ม. ๑๔/๔๘๑/๗๕๖.
*********************
ทำไมโลกจึงเกิดภัยธรรมชาติรุนเเรงมากขึ้น และ คนมีความอดยาก

คนกับสภาพแวดล้อม
ปัญหา ทางพระพุทธศาสนาเชื่อหรือไม่ว่า ความประพฤติดีหรือชั่วของมนุษย์ มีผลกระทบกระเทือนต่อการทำงานของธรรมชาติ ?

พุทธดำรัสตอบ “..... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใดพระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรมสมัยนั้น แม้พวกข้าราชการก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อข้าราชการไม่ตั้งอยู่ในธรรมแม้พราหมณ์และคฤหบดีก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพราหมณ์และคฤหบดีไม่ตั้งอยู่ในธรรม แม้ชาวนิคมและชาวชนบทก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อชาวนิคมและชาวชนบทไม่ตั้งอยู่ในธรรม พระจันทร์และพระอาทิตย์ย่อมโคจรไม่สม่ำเสมอ เมื่อพระจันทร์พระอาทิตย์โคจรไม่สม่ำเสมอ หมู่ดาวนักษัตรก็ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เมื่อหมู่ดาวนักษัตรโคจรไม่สม่ำเสมอ วันและคืนย่อมหมุนเวียนโคจรไม่สม่ำเสมอ เมื่อวันและคืนหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็หมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ..... ฤดูและปีก็หมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ... เทวดาย่อมกำเริบเมื่อเทวดากำเริบ ฝนย่อมไม่ตกต้องตามฤดูกาล... ข้าวกล้าทั้งหลายก็สุกไม่เสมอกัน
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ผู้บริโภคข้าวที่สุกไม่เสมอกัน ย่อมมีอายุสั้น มีผิวพรรณเศร้าหมอง มีกำลังน้อย มีโรคภัยไข้เจ็บมาก....”

ธรรมิกสูตร จ. อํ. (๗๐)
ตบ. ๒๑ : ๙๗-๙๘ ตท. ๒๑ : ๘๖-๘๗
ตอ. G.S. II : ๘๔-๘๕
**************
จงสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยการให้รู้อริยสัจ


ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอเอ็นดูใคร และใครถือว่าเธอ
เป็นผู้ที่เขาควรเชื่อฟัง เขาจะเป็นมิตรก็ตาม อำมาตย์ก็ตาม
ญาติหรือสายโลหิตก็ตาม;
ชนเหล่านั้น อันเธอพึงชักชวนให้เข้าไปตั้งมั่น
ในความจริงอันประเสริฐสี่ประการ
ด้วยปัญญาอันรู้เฉพาะตามที่เป็นจริง.
ความจริงอันประเสริฐสี่ประการอะไรเล่า ?
สี่ประการคือ :-
ความจริงอันประเสริฐคือ ทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือ เหตุให้เกิดแห่งทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์,
และความจริงอันประเสริฐคือ ทางดำเนินให้ถึงความดับ
ไม่เหลือแห่งทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้
เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า
“ ทุกข์ เป็นอย่างนี้,
เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้,
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้,
ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้”
ดังนี้.
มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๔๔/๑๗๐๖.
**************
คนที่เหมาะสมต่อการสิ้นทุกข์


ปัญหา บุคคลควรปฏิบัติต่อขันธ์ ๕ อย่างไร จึงจะสิ้นทุกข์ได้ ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ไม่รู้จริง ไม่รู้ทั่วถึง ไม่เบื่อหน่าย ไม่สละเสียซึ่ง รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ จัดเป็นคนอาภัพต่อการสิ้นทุกข์
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่รู้จริง รู้ทั่วถึง เบื่อหน่าย และสละเสียซึ่ง รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ จึงเป็นผู้เหมาะสมต่อการสิ้นทุกข์
ปริชานสูตร ขันธ. สํ. (๕๖-๕๗)
ตบ. ๑๗ : ๓๓ ตท. ๑๗ : ๒๙-๓๐
ตอ. K.S. ๓ : ๒๖-๒๗
*******************
ทำอย่างไรจึงจะถูกพุทธประสงค์

ปัญหา ภิกษุที่บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ควรจะปฏิบัติตนอย่างไร หรือไม่ควรจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าเป็นผู้ อยู่ในธรรม อย่างแท้จริง หรือว่าจะปฏิบัติกิจเบื้องต้นอย่างไร จึงจะถูกต้องพระพุทธประสงค์ ?

พุทธดำรัสตอบ “......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณ์ คาถา อุทาน อติวุตตกะ ชาดก อัพภูธรรม เวทัลละ เธอย่อมปล่อยให้วันคืนล่วงไป ละการหลีกออกเร้นอยู่ไม่ประกอบความสงบใจในภายใน เพราะการเรียนธรรมนั้น ภิกษุนี้เรียกว่าเป็นผู้มากด้วยการเรียน ไม่ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม
“อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมแสดงธรรมตามที่ได้สดับมาแล้ว ตามที่ได้เรียนมาแล้ว โดยพิสดาร เธอย่อมปล่อยให้วันคืนล่วงไป... ไม่ประกอบความสงบใจในภายใน.... ภิกษุนี้เรียกว่าเป็นผู้มากด้วยการแสดงธรรม ไม่ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม
“อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมทำการสาธยายธรรมตามที่ได้สดับมาแล้ว ตามที่ได้เรียนมาแล้ว โดยพิสดาร เธอย่อมปล่อยให้วันคืนล่วงไป... ไม่ประกอบความสงบใจในภายใน.... ภิกษุนี้เรียกว่าเป็นผู้มากด้วยการสาธยายธรรม ไม่ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม
“อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตามด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ได้สดับมาแล้ว ตามที่ได้เรียนมาแล้ว เธอย่อมปล่อยให้วันคืนล่วงไป... ไม่ประกอบความสงบใจในภายใน.... ภิกษุนี้เรียกว่าเป็นผู้มากด้วยการตรึกตรองธรรม ไม่ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม
“อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเล่มเรียนธรรม คือ สุตตะ... เวทัลละ เธอย่อมปล่อยให้วันคืนล่วงไป... ไม่ละการหลีกออกเร้นอยู่ ประกอบความสงบใจในภายใน.... เพราะการเล่าเรียนธรรมนั้น ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรมอย่างนี้แล.....
“ดูก่อนภิกษุ นั่นโคนต้นไม้ นั่นเรือนว่าง เธอจงเพ่งฌานอย่าประมาท อย่าเป็นผู้มีความเดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นอนุสาสนีของเราเพื่อเธอทั้งหลายฯ”

ธรรมวิหาริกสูตร ที่ ๑ ป. อํ. (๗๓)
ตบ. ๒๒ : ๙๘-๙๙ ตท. ๒๒ : ๙๘-๙๙
ตอ. G.S. III : ๗๑-๗๒
****************
อุทกํ หิ นยนฺติ เนตฺติกา
อุสุการา นมยนฺติ เตชนํ
ทารุํ นมยนฺติ ตจฺฉกา
อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตาติ

*******
คนไขน้ำย่อมไขน้ำ
ช่างศรย่อมดัดลูกศร
ช่างไม้ย่อมถากไม้
บัณฑิตย่อมฝึกตน
****************
อันว่าคุณค่าศีล
หนักกว่าหินในภูผา
อักโข มโหฬาร์
เป็นหัวหน้าธรรมทั่วไป
ศีลนำสู่สุคติ
คุมสมาธิไม่หวั่นไหว
สมาธิมิแกว่งไกว
ปัญญาได้เกิดไวดี
ศีลให้ไร้เวรภัย
อยู่สุขใจได้ทุกที่
กุศลธรรมแห่งกรรมดี
ย่อมต้องมีศีลเบื้องต้น
นรชนทั้งหญิงชาย
ผู้ใฝ่ใจในกุศล
ชำระศีลแห่งตน
สุขเหลือล้นพ้นพรรณา

******************************
อาทิ สีลํ ปติฏฺฐา จ    กลฺยาณานญฺจ มาตุกํ
ปมุขํ สพฺพธมฺมานํ     ตสฺมา สีลํ วิโสธเย
 
 ศีลเป็นเบื้องต้น เป็นที่ตั้งอาศัย เป็นประดุจมารดาผู้ให้กำเนิดคุณงามความดีทั้งหลาย  
เป็นประมุขแห่งกุศลธรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้น นรชนพึงชำระศีลของตนให้บริสุทธิ์เถิด

---------------------------------------
น  เวทา  สมฺปรายาย          น  ชาติ  นปิ  พนฺธวา  
สกญฺจ  สีลสํสุทธํ               สมฺปรายสุขาวหํ.      

เวทมนตร์  ชาติกำเนิด   พวกพ้อง  นำสุขมาให้ในสัมปรายภพไม่ได้
ส่วนศีลของตนที่บริสุทธิ์ดีแล้ว  จึงนำสุขมาในสัมปรายภพได้

---------------------------------------------
สีลํ  รกฺเขยฺย  เมธาวี          ปตฺถยาโน  ตโย  สุเข
ปสํสํ  วิตฺติลาภญฺจ             เปจฺจ  สคฺเค  ปโมทนํ.     

ผู้มีปัญญาเมื่อปรารถนาสุข  ๓  อย่าง  คือ  ความสรรเสริญ
ความได้ทรัพย์  และความละไปบันเทิงในสวรรค์  ก็พึงรักษาศีล.

บทความและไฟล์ภาพ ในเว็บไซต์แห่งนี้อาจนำมาจากเว็บไซต์อื่นๆ ที่ทีมงานคิดว่ามีประโชยน์ต่อผู้อ่าน โดยให้ผู้อ่านเกิดควมบันเทิง และให้ความรู้ โดยที่เราจะให้เครดิตทุกครั้งที่นำมา หากไฟล์ภาพหรือบทความใด ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ต้องการให้นำมาแสดง โปรดแจ้งมาที่ tumcomputer@hotmail.com ทางทีมงานจะได้นำบทความนั้นออกทันที ขอบคุณครับ


เว็บนี้จัดทำโดย นายสุรัตน์ ศรลัมภ์ และครอบครัว อุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวร และผู้มีพระคุณ

HTML Hit Counters