หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 27, 2014, 10:32:14 PM บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑ เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๑ (อสุภะกรรมฐาน) - พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้มองเห็นเป็นมารดา เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นป้า เป็นน้า เป็นอา เป็นเครือญาติ (ภารทวาชสูตร) - พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้ระลึกเจริญในอานาปานสติ ให้มีความรู้ตัวในปัจจุบันรู้ว่ากำลังตามรู้ลมหายใจ รู้ว่ากำลังกายใจเข้า รู้ว่ากำลังหายใจออก รู้กองลมทั้งปวง จิตจดจ่ออยู่ที่ลมตรงปลายจมูก หน้าอก หรือ ท้องน้อยเป็นต้น ย่อมถึงความคลายกำหนัดในกายสังขารและจิตสังขารเป็นต้นได้(กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, คิริมานนทสูตร, สัญญา ๑๐) กายคตาสติสูตร [๒๙๔]พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กายคตาสติอัน ภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง (ก็เพื่อให้ทั้งกายและใจมั่นคง ไม่เลื่อนไหลลงสู่ความง่วงงุนซึมเซา หรือภวังค์ง่ายๆ) ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า เธอย่อมมีสติ หายใจออก มีสติ หายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร (เมื่อ)ส่งตนไปในธรรมอยู่ อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ [เรียกเฉพาะว่า อานาปานสติ พึงรู้ระลึกว่า เป็นการใช้สติเป็นสำคัญไปในกายที่หมายถึงลมหายใจอันเป็นกายสังขารอย่างหนึ่ง ที่พรั่งพร้อมทั้งสัมมาสมาธิที่หมายถึงมีความตั้งมั่น ยังมิได้มีจุดประสงค์ในฌานสมาธิระดับประณีตลึกซึ้ง ในขั้นนี้หรืออานาปานสติจึงควรประกอบด้วยสติ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงจะได้ไม่ให้เลื่อนไหลลงภวังค์หรือนิมิตได้ง่ายๆ เพราะไม่มีเจตนาลงลึกไปในฌานสมาธิในระดับประณีตลึกซึ้งแต่อย่างใด ถ้าเคลิบเคลิ้มหรือเลื่อนไหลลงภวังค์หรือหลับหรือเกิดนิมิตขึ้นอยู่เสมอๆ ก็อย่าหลับตาให้ลืมตา หรือแม้ลุกขึ้นยืนปฏิบัติก็ยังได้, อนึ่งพึงสังเกตุว่า เหตุเพราะสติระลึกอยู่กับลมหายใจได้ดี จึงหมายถึงย่อมไม่ซัดส่ายสอดแส่ไปคิดปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่าน หรือก็คือการละความคิด(ดำริ)พล่านออกไปปรุงแต่งภายนอกกายสังขารคือลมหายใจนั่นเอง จึงเป็นไปตามหลักเหตุปัจจัยปฏิจจสมุปบันธรรมนั่นเอง จิตจึงเป็นธรรมเอกตั้งมั่นได้, เมื่อพิจารณาโดยแยบคายย่อมได้ทั้งความเพียร สติ สมาธิ และปัญญา] ราหุโลวาทะสูตร อานาปานสติภาวนา
- เมื่อเราได้น้อมนำมาพิจารณาปฏิบัติอย่างนี้ เอาลมหายใจมาเป็นอารมณ์ ได้รับอานิสงส์..คือ รู้และเห็นว่าการอยู่กับปัจุบันมีสติรู้ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกอยู่ในปัจจุบันอยู่ทุกขณะนี้ประเสริฐมาก มีอานิสงส์มาก เป็นความสงบสุขอันโล่งเบาเย็นไม่เร่าร้อน ทำให้เรารู้สึกถึงความแช่มชื่นปราโมทย์ ไม่เร่าร้อนจากการที่ราคะเมถุนถูกสลัดทิ้งไป - มีความอิ่มเอมเป็นสุขเข้าถึงความสงบกายและใจประดุจมีสมาธิอันมีกำลังมากเข้าปกคลุมก่ายใจเราอยู่ทุกขณะ และความคิดอสุศลธรรมอันลามกจัญไรใดๆก็หายไปไม่กำเริบเกิดขึ้น แม้พยายามจะหวนตรึกนึกถึงก็นึกไม่ออก นึกได้แต่ธรรมอันงานอันปราศจากราคะเท่านั้น ถึงความไม่ติดใจข้องแวะในสิ่งไรๆอารมณ์ใดๆ วางเฉยนิ่งว่างอยู่ ความกลัวก็ไม่มี ความเกลียดก็ไม่มี ไม่พอใจก็ไม่มี แต่แต่จิตที่เบิกบานอันยินดีในกุศลธรรมทั้งปวงแม้ในขณะลืมตาหรือหลับตา - เมื่อว่างจากกิจการงานไรๆแล้ว มีความรู้ตัวอยู่ มีจิตแนบอยู่ที่ลมหายใจ ก็เข้าสู่ความนิ่งว่างมีแต่ความสำเหนียกไม่มีความตรึกนึก มีแต่สุขที่พรั่งพรูออกมาอย่างเกิดมาไม่เคยพบเจอเลยใจชีวิต จนถึงความสงบว่างมีแต่จิตรู้จิต มีแต่จิตเห็นจิตนิ่งว่างแช่อยู่ มีสัมปะชัญญะรู้ตัวอยู่เกิดแยกจากความติดแช่ในสภาวะธรรมนั้นๆ จนจะหมายใจไว้ว่าจะทำอย่างไรจิตก็จะเพิกไปทันที ไม่มีความตรึกนึกคิดอันใดให้ยุ่งเหยิงวุ่นวายแค่สำเหนียกรู้อยู่ แลดูอยู่ รู้ตัวอยู่เท่านั้น - เมื่อออกมาจากจุดนั้นแล้วก็ประดุจดั่งมีความสงบจดจ่อแน่นิ่งอันปราศจากราคะปกคลุมอยู่ทั่วกายทั้งกลางวันและกลางคืน ทรงอยู่ได้มากสุด 4 วัน 3 คืน ไม่ติดใจสิ่งไรๆปารถนาเพียงจักบวชเท่านั้น - เมื่อมีอานาปานสติตั้งอยู่เฉพาะในภายใน จิตจะเพิกไปทางใด ก็ให้ได้เห็นธรรมทั้งภายในและภายนอก เกิดธรรมเอกผุดขึ้นย่อมรู้ได้เห็นได้เสมอๆ ถึงซึ่งวิราคะอยู่ ณ ที่นั้น หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 27, 2014, 10:51:51 PM บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑ เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๒ (อสุภะกรรมฐาน) - พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เข้าไปตั้งในอานาปานสติไว้ แล้วระลึกเจริญในอสุภะกรรมฐาน เป็นซากศพผุพังเน่าเปื่อยย่อยสลายไป ในภายนอก ให้เห็นเป็นของไม่งาน ไม่น่าใคร่ปารถนายินดี กายนั้นๆแม้เมื่อก่อนจะงดงามแค่ไหนก็ไม่คงอยู่นานก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย พองอืด เขียวคล้ำ เน่าเปื่อยย่อยสูญสลายไป ต่อให้งามแค่ไหนที่สุดก็อยู่ที่ความผุพังเน่าเปื่อย แล้วก็ตายและก็ดับสูญคืนสู่ดินไปบังคับให้กายอันงามนั้นคงอยู่ไม่เสื่อมไม่สูญไปก็ไม่ได้ดังนี้เป็นต้น ซึ่งพระตถาคตจะตรัสสอนให้จับเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งคือ กระดูกโดยส่วนเดียว หนังที่เน่าเปื่อยโดยส่วนเดียว หรือเนื้อที่เน่าเปื่อยโดยส่วนเดียว น้ำเหลืองจากศพโดยส่วนเดียว จากสภาพใดสภาพหนึ่งในอสุภะ ๑๐ นั้น เช่น จากศพที่อืดเขียวบวม หรือ จากศพที่เน่าเหม็นน้ำเลื้อน้ำหนองไหล เป็นต้น มาพิจารณา(อสุภสูตร, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน,นางสิริมา [๑๑๙]) ๖. อสุภสูตร
จบสูตรที่ ๖ กายคตาสติสูตร [๒๙๙]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเห็นศพที่เขาทิ้งใน ป่าช้า อันตายได้วันหนึ่ง หรือสองวัน หรือสามวัน ที่ขึ้นพอง เขียวช้ำ มีน้ำเหลืองเยิ้ม จึงนำเข้ามาเปรียบเทียบกายนี้ว่า แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้ เป็นธรรมดามีความเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้ เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่า เจริญกายคตาสติ ฯ (นวสีวถิกาบรรพ แสดงอาการของศพไว้ ๙ ระยะหรือแบบ) [๓๐๐]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเห็นศพที่เขาทิ้งใน ป่าช้า อันฝูงกาจิกกิน(ลูกนัยตา ฯ)อยู่บ้าง ฝูงแร้งจิกกิน(เนื้อหนัง ตับ ไต ฯ)อยู่บ้าง ฝูงนกตะกรุมจิกกิน(ไส้ใหญ่ ไส้น้อย ฯ)อยู่บ้าง หมู่สุนัขบ้านกัดกิน(แขน ขา ฯ)อยู่บ้าง หมู่สุนัขป่ากัดกิน(กัดแทะกระดูก อวัยวะน้อยใหญ่ ฯ)อยู่บ้าง สัตว์เล็กสัตว์น้อยต่างๆชนิดฟอนกิน(แทะเล็มส่วนต่างๆทั่วกาย)อยู่บ้าง จึงนำเข้ามาเปรียบเทียบกายนี้ว่า แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้ เป็นธรรมดา มีความเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้ เมื่อภิกษุนั้น ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ [๓๐๑]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเห็นศพที่เขาทิ้งใน ป่าช้า ยังคุมเป็นรูปร่างอยู่ด้วยกระดูก มีทั้งเนื้อและเลือดเส้นเอ็นผูกรัดไว้...... เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า ยังคุมเป็นรูปร่างด้วยกระดูก ไม่มีเนื้อ มีแต่เลือดเปรอะเปื้อนอยู่ เส้นเอ็นยังผูกรัดไว้...... เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า ยังคุมเป็นรูปร่างด้วยกระดูกปราศจากเนื้อและเลือดแล้ว แต่เส้นเอ็นยังผูกรัดอยู่...... เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า เป็นท่อนกระดูก ปราศจากเส้นเอ็นเครื่องผูกรัดแล้ว กระจัดกระจายไปทั่วทิศต่างๆ คือ กระดูกมืออยู่ทางหนึ่ง กระดูกเท้าอยู่ทางหนึ่ง กระดูกแข้งอยู่ทางหนึ่ง กระดูกหน้าขาอยู่ทางหนึ่ง กระดูกสะเอวอยู่ทางหนึ่ง กระดูกสันหลังอยู่ทางหนึ่ง กระดูกซี่โครงอยู่ทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกอยู่ทางหนึ่ง กระดูกแขนอยู่ทางหนึ่ง กระดูกไหล่อยู่ทางหนึ่ง กระดูกคออยู่ทางหนึ่ง กระดูกคางอยู่ทางหนึ่ง กระดูกฟันอยู่ทางหนึ่ง กะโหลกศีรษะอยู่ทางหนึ่ง จึงนำเข้ามาเปรียบเทียบกายนี้ว่า แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้เป็นธรรมดา มีความเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้ เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มี ความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่า เจริญกายคตาสติ ฯ [๓๐๒]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเห็นศพที่เขาทิ้งใน ป่าช้า เป็นแต่กระดูก สีขาวเปรียบดังสีสังข์...... เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า เป็นท่อนกระดูก เรี่ยราดเป็นกองๆ มีอายุเกิน ปีหนึ่ง...... เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า เป็นแต่กระดูก ผุเป็นจุณ จึงนำเข้ามาเปรียบ เทียบกายนี้ว่า แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้ เป็นธรรมดา มีความเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้ เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ - เมื่อเราได้พิจารณาอย่างนี้ เวลาที่ตัวเรารู้ว่ามีจิตเป็นราคะเกิดขึ้น ก็จะตั้งอานาปานสติไว้ในภายในก่อน มีพุทโธระลึกถึงคุณอันเป็นผู้รู้, ผู้ตื่นจากโมหะ, ผู้เบิกบาน เป็นลมหายใจเข้าออกเป็นตั้งแห่งจิต ทำให้จิตเบาโล่งสงบเย็นขึ้น ทุเลาความเร่าร้อนลงได้บ้างแล้ว มีความอบอุ่นจากสมาธิยังจิตให้ตั้งมั่นอยู่ จากนั้นก็ได้ยกเอาศพที่เน่าเปื่อยแหวกภายในให้เห็นอวัยวะน้อยใหญ่ภายในมีหนอนชอนไชอยู่บ้าง ถูกหมู่สัตว์ยื้อแย่งกัดกินอวัยวะภายในอยู่บ้าง(หวนระลึกภาพตามที่เคยไปล้างป่าช้ากับมูลนิธิร่วมกตัญญูแล้วเห็นศพในสภาพนั้นๆบ้าง หรือตอนบวชได้ไปสวดศพเห็นหน้าศพอืดพองบ้าง) ซึ่งจะยกมาพิจารณาเพียงอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือสภาพศพแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น อานิสงส์ที่ได้รับ.. คือ ให้เราเห็นเพศตรงข้ามสักแต่เป็นเพียงซากศพ เห็นเป็นโครงกระดูกมีหนังแห่งติดหุ้มอยู่เท่านั้นบ้าง - เมื่อพิจารณาอย่างนั้นจนแยบคายในสภาวะที่หนังแห้งหุ้มติดกระดูกนั้น ก็เกิดอานิสงส์..ให้เห็นเป็นเพียงส่วนสะดูกขาวขุ่นเท่านั้น - เมื่อพิจารณาเพียงกระดูกมากเข้าๆ จนจับเอาพิจารณาโดยส่วนที่เป็นกระดูกเชิงกรานกระบังลมโดยส่วนเดียวทุกครั้งที่เป็นสัญญาเกิดขึ้นเมื่อทำสมาธิระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าว่าด้วยคุณเป็นผู้รู้ ผู้ตืน ผู้เบิกบานด้วยธรรม ผนวกกับลมหายใจเข้าออก บริกรรมพุทโธไป ก็เกิดอานิสงส์ว่า..เมื่อหายใจเข้าเห็นกระดูกเคลื่อน หายใจออกกระดูกก็เคลื่อน - จิตจึงคลายกำหนัดมีความสงบนิ่งอยู่มีสภาวะที่สงบว่างปกคลุมดูจิตมีกำลังมากตั้งมั่นอยู่ แต่เบากายไม่ตรึงหน่วงจิต มีสติสัมปะชัญญะรู้อยู่ทุกขณะทั้งลมหายใจและทรงสภาวะธรรมอันพิจารณาเห็นเป็นอสุภะนั้นอยู่ - เห็นความย่อยสลายของกาย รูปขันธ์อันเป็นธาตุดินก็คืนสู่ธาตุดิน ไม่คงอยู่นาน ไม่เที่ยง ไม่อาจจะยื้อรั้งให้คงอยู่กับเราได้ - กายนั้นๆแม้เมื่อก่อนจะงดงามแค่ไหนก็ไม่คงอยู่นานก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย พองอืด เขียวคล้ำ เน่าเปื่อยย่อยสูญสลายไป ต่อให้งามแค่ไหนที่สุดก็อยู่ที่ความผุพังเน่าเปื่อย แล้วก็ตายและก็ดับสูญคืนสู่ดินไปบังคับให้กายอันงามนั้นคงอยู่ไม่เสื่อมไม่สูญไปก็ไม่ได้ดังนี้เป็นต้น หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 28, 2014, 11:19:20 PM บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑ เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๓ (อสุภะกรรมฐาน ว่าด้วย อาการทั้ง ๓๒ ประการ) - พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้ระลึกเจริญในอานาปานสติ ให้มองโดย อสุภะเป็นซากศพผุพังเน่าเปื่อยย่อยสลายไป ในภายนอก จนเกิดปัญญาเห็นเป็นอาการทั้ง ๓๒ ประการ ทั้งภายในตนและภายนอกตน(ผู้อื่นที่เรามองเห็น) (กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, ทวัตตติงสปาโฐ) กายคตาสติสูตร [๒๙๗]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุย่อมพิจารณากายนี้แล ข้างบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป ข้างล่างแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า (มันสมอง) ดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร [สิ่งต่างๆเหล่านี้ ล้วนแต่ปฏิกูล ไม่งาม แต่เมื่อมาเป็นเหตุปัจจัยประกอบกันเป็นกลุ่มก้อนตัวตนหรือฆนะขึ้น มีผม ขน เล็บ ฟัน หนังอันแสนสกปรกมาปกปิดห่อหุ้ม และยังเป็นมายาเครื่องล่อลวงให้เห็นเป็นไปว่าเป็น มวลรวมหรือตัวตน(ฆนะ)ที่สวยงามขึ้นมาอีกด้วย แต่เมื่อจำแนกแยกชำแหละออกเป็นส่วนๆด้วยปัญญา ก็ย่อมยังแลเห็นได้ว่าโดยเนื้อแท้แล้ว ล้วนประกอบมาแต่สิ่งที่ไม่งาม เป็นปฏิกูล ไม่สะอาด และยังล้วนต้องคืนกลับสู่สภาวะเดิมๆด้วยอำนาจพระไตรลักษณ์ เหมือนกันหมดสิ้นทุกบุคคลเขาเรา - ทวัตติงสาการ] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนไถ้มีปากทั้ง ๒ ข้างเต็มด้วยธัญญชาติต่างๆ ชนิด คือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วทอง งา และข้าวสาร บุรุษผู้มีตาดี แก้ไถ้นั้นออกแล้ว พึงเห็นได้ว่า นี้ข้าวสาลี นี้ข้าวเปลือก นี้ถั่วเขียว นี้ถั่วทอง นี้งา นี้ข้าวสาร ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แล ข้างบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป ข้างล่างแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า (มันสมอง) ดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ (แสดงภาพรวม) [ปฏิกูลมนสิการ การพิจารณากายให้รู้ความจริงว่า เมื่อแยกแยะชำแหละพิจารณาโดยละเอียดแต่ละส่วนด้วยปัญญาแล้ว จะเห็นส่วนประกอบต่างๆของร่างกายทั้ง ๓๒ (ทวัตติงสาการ) ล้วนไม่งาม ประกอบด้วยแต่สิ่งปฏิกูล ไม่สะอาด ก็เพราะเมื่อประกอบกันเป็นตัวตนเป็นสังขารร่างกายโดยมวลรวมหรือฆนะแล้ว ก็เกิดมายาล่อลวงให้แลเห็นเป็นไปว่าเป็นสิ่งสวยงาม จึงไม่สามารถแลเห็นตามความเป็นจริงได้ ฝ่ายไถ้ที่มีปาก ๒ ข้าง อีกปากหนึ่งนั้นก็คือก้นรั่ว ก็ยังนำมาพิจารณาให้เกิดปัญญาได้อีกว่า จึงเติมไม่รู้จักเต็ม จึงกินไม่รู้จักพอ เป็นไถ้อันแสนปฏิกูลสกปรกชนิดที่บรรจุเท่าใดก็ไม่รู้จักเต็ม จึงต้องหมั่นเติมให้เต็มให้อิ่มอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นภาระเวร,เป็นภาระกรรมที่ต้องคอยดูแลต้องรักษาไปตลอดกาลนานจนสิ้นกาละ ทางหนึ่งพึงเข้าทางปาก อีกทางหนึ่งพึงขับถ่ายออกมา ก็แสนปฏิกูลเหลือกำลัง ภายในไส้เล็กก็ล้วนคลุกเคล้าเป็นปฏิกูลสั่งสมไปด้วยซากพืช อีกทั้งอสุภะซากศพของสัตว์น้อยใหญ่ทั้งปวง น้ำลาย น้ำย่อย น้ำดี ฯ. คลุกเคล้ากันแลไม่น่าดู เหม็นเปรี้ยวไม่น่าดอมดม ไม่สวยงามประกอบกันแลเป็นปฏิกูลยิ่งนัก ภายในจึงเป็นไปดุจดั่งสุสานใหญ่ที่แสนปฏิกูล ที่หมักหมมกันจนเป็นคูถเป็นมูตรอันยิ่งเน่าเหม็นยิ่งๆขึ้นไปภายในไส้ใหญ่ จนย่อมไม่มีใครอยากลิ้มหรือดอมดมอีกต่อไป เป็นดั่งนี้สิ้นทั้งในกายตนแลผู้อื่นล้วนสิ้น] - ด้วยพระธรรมคำสอนนี้เราได้พิจารณาปฏิบัติโดยมีลมหายใจตั้งไว้ภายใน เห็นรู้รูปโดยมีอาการทั้ง ๓๒ ในเบื้องหน้า ได้เห็นว่าอาการทั้งหมดเหล่านี้สงเคราะห์ประกอบรวมกันขึ้นมาโดยแบ่งหน้าที่กันทำงานต่างๆกันไปมีหนังหุ้มเป็นที่สุดรอบจึงเกิดเป็นตัวตน คนใดๆ สัตว์ใดๆขึ้นมา ๑. ทั้งๆที่รูปขันธ์ที่ไม่ว่าเราหรือใครๆได้เข้ามาอาศัยอยู่นี้ ก็มีเพียงแค่อาการทั้ง 32 ประการ ที่สงเคราะห์ประกอบกันทำงานร่วมกันอยู่เท่านั้น มีแต่ความเสื่อมโทรมอยู่ทุกวัน สักแต่รอให้ถึงเวลาที่จะดับสูญไป ด้วยเหตุดังนี้มันจึงมีไว้อาศัยเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น ไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเที่ยงไม่ได้เลย ดังนี้จึงเรียกว่า รูปขันธ์ไม่เที่ยงไม่คงอยู่ สักแต่มีไว้อาศัยใช้ทำในกิจการงานใดๆเพียงชั่วคราว สักแต่มีไว้ระลึกรู้ดูสภาวะและสภาพที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรปรวน เสื่อมโทรม และ ดับไปเท่านั้น เข้าไปยึดมั่นถือมั่นไม่ได้เลย เพราะมันไม่เที่ยง เมื่อเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งอันไม่เที่ยงมีแต่จะเสื่อมโทรมสลายไปทุกขณะเวลา มันก็ไม่พึงได้ตามใจปารถนา มันจึงมีแป็นทุกข์ ๒. รูปขันธ์ มันก็มีแค่ อาการทั้ง 32 ประการเหล่านี้รวมกันแยกกันอยู่ก็ไม่ได้ เพราะเมื่อแยกกันอยู่ก็ไม่อาจทำหน้าที่ของกันและกันได้ มีแต่จะยังความเสื่อมโทรมและสูญสลายมาให้ ลองหวนระลึกถึงอวัยวะทั้งหลายที่เขาแช่ดองไว้ในโหลแก้วตามโรงพยาบาลหรือศูนย์วิทยาศาสตร์ เมื่อแยกกันออกมาแล้วมันก็หยุดทำงานมีแต่สภาพที่คงนิ่งอยู่ไม่มีความเคลื่อนไหวทำงานใดๆใช่มั้ยครับ และแม้เขาจะดองอยู่ในฟอร์มาลีนหรือแช่เย็นไว้มันก็ยังความเสื่อมโทรมแปรเปลี่ยนและสูญสลายไปทุกๆขณะจะช้าเร็วอยู่ที่การดูแลรักษาของเราใช่ไหมครับ ดังนั้นรูปขันธ์หรืออาการทั้ง 32 ประการเหล่านี้มันจึงไม่เที่ยง ๓. เพราะมีอาการทั้ง 32 ประการเหล่านี้รวมกันและยังทำงานในหน้าที่ของกันและกันอยู่มันจึงมีคนนั้นคนนี้ มีสัตว์นั้นๆ มีสิ่งของนั้นๆได้ รูปขันธ์ หรือ อาการทั้ง 32 ประการนี้เราจะไปบังคับยื้อยึดฉุดรั้งใดๆให้มันเป็นไปดั่งใจได้ไหม มันก็ไม่ได้ใช่มั้ยครับ ห้ามไม่ให้เจ็บไม่ให้ปวดก็ไม่ได้ ห้ามไม่ให้แก่ไม่ให้เสื่อมโทรมสูญสลายไปก็ไม่ได้ แล้วควรหรือไม่ที่เราจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรูปขันธ์ ว่าเป็นตัวตน ว่านี่เป็นเรา นี่เป็นของเรา นี่เป็นเขา นี่เป็นของเขา ก็ด้วยเพราะเหตุดังนี้ รูปขันธ์ จึงชื่อว่าไม่มีตัวตน ไม่ใช่ของเรา ๔. หากมีเพียงแค่อาการใดอาการหนึ่งจาก 32 ประการนี้ ก็ไม่อาจจะเรียกว่าเป็นคนหรือสัตว์ได้ ดังนี้แล้วเราจะไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่สักแต่เพียงมีไว้แค่อาศัยอยู่ชั่วคราว สิ่งที่สักแต่เพียงอาศัยการสงเคราะห์ประกอบร่วมกันโดยมีอาการที่เรียกว่า ผม ขน เล็บ ฟัน และ หนังที่หุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบปกปิดอาการอันเน่าเหม็นภายในไว้นี้ว่าเป็นสิ่งที่มีตัวตน มีเขา มีเรา นี่เป็นเขา นี่เป็นเรา ได้หรือไม่ ๕. ความเข้าไปปารถนาเอากับสิ่งอันไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน มันเป็นทุกข์ เราจึงควรเพิกถอนความสำคัญมั่นหมายของใจอันยึดมั่นในอาการทั้ง 32 หรือ รูปขันธ์ เหล่านี้ออกไปเสีย พึงเห็นมันเป็นของไม่เที่ยง เป็นสิ่งไม่มีตัวตน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมโทรม ดับไป เพียงมีไว้ระลึกรู้ไม่ได้มีไว้เสพย์ในกิเลสตัณหาจากรูปขันธ์นั้นจนเกิดเป็นความยึดมั่นถือมั่นอุปาทาน ๖. เมื่อได้ทำความเข้าใจให้เห็นตามจริงดังนี้แล้ว จิตย่อมน้อมวิเคราะห์ลงในธรรม แล้วเห็นว่า เราไม่มีในรูป รูปไม่ใช่เรา เราไม่มีในรูปนั้นเป็นไฉน รูป คือ ร่างกายของเรานี้ มีอาการทั้ง 32 ประการ พึงพิจารณาให้เห็นดังนี้ว่า ผมหรือที่เป็นเรา, ขนหรือที่เป็นเรา, เล็บหรือที่เป็นเรา, หนังหรือที่เป็นเรา, เนื้อหรือที่เป็นเรา, เอ็นหรือที่เป็นเรา กระดูกหรือที่เป็นเรา, เยื่อในกระดูกหรือที่เป็นเรา, ม้ามหรือที่เป็นเรา, หัวใจหรือที่เป็นเรา, ตับหรือที่เป็นเรา พังผืดหรือที่เป็นเรา, ไตหรือที่เป็นเรา, ปอดหรือที่เป็นเรา, ไส้ใหญ่หรือที่เป็นเรา, ไส้น้อยหรือที่เป็นเรา อาหารใหม่หรือที่เป็น, อาหารเก่าหรือที่เป็นเรา, น้ำดีหรือที่เป็นเรา, เสลดหรือที่เป็นเรา, น้ำเหลืองหรือที่เป็นเรา เลือดหรือที่เป็นเรา, เหงื่อหรือที่เป็นเรา, มันข้นหรือที่เป็นเรา, น้ำตาหรือที่เป็นเรา, เปลวมัน(มันเหลว)หรือที่เป็นเรา น้ำลายหรือที่เป็นเรา, น้ำมูกหรือที่เป็นเรา, น้ำมันไขข้อหรือที่เป็นเรา, น้ำมูตรหรือที่เป็นเรา, (มันสมอง)หรือที่เป็นเรา - ก็เมื่อรูปขันธ์ คือ อาการทั้ง 32 ประการทั้งหลายเหล่านี้ อันเราได้พิจารณาใน อนุโลม ปฏิโลม โดยแยบคายแล้ว ก็ไม่เห็นจะมีเราหรือมีสิ่งใดที่เป็นเราอยู่ในรูปขันธ์ คิแ อาการทั้ง 32 ประการเหล่านั้น ด้วยเหตุดังนี้ "เราจึงไม่มีในรูป" (อนัตตา) - ก็เมื่อรูปขันธ์ คือ อาการทั้ง 32 ประการทั้งหลายเหล่านี้ อันเราได้พิจารณาใน อนุโลม ปฏิโลม โดยแยบคายแล้ว ก็ไม่เห็นจะมีรูปขันธ์ คือ อาการใดๆใน 32 ประการเหล่านี้ที่จะเป็นเรา ด้วยเหตุดังนี้ "รูปจึงไม่ใช่เรา" (อนัตตา) - ก็เมื่อรูปขันธ์ คือ ร่างกายของเรานี้ อาศัยอาการทั้ง 32 ประการทั้งหลายเหล่านี้รวมกันอยู่ก็จึงได้สมมติเอาว่าเป็นเรา ก็เมื่อแยกอาการทั้ง 32 ประการออกมามี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้นนั้นออกมาจากรูปขันธ์ แยกออกมากองๆไว้อย่างนี้แล้ว เราจะเห็นรูปขันธ์มีอยู่ในเราหรือใครๆบ้างไหม มันก็หาไม่ได้ใช่ไหม ที่จะเห็นได้นั้นก็มีแต่กองสิ่งเน่าเหม็น ไม่มีร่างกายไรๆในเราหรือใครๆ รูปขันธ์ก็ไม่มีในเราและตัวตนบุคคลใดเหลืออีก ด้วยเหตุดังนี้ "รูปจึงไม่มีในเรา" (อนัตตา) - ก็เพราะ รูปขันธ์ คือ อาการทั้ง 32 ประการทั้งหลายเหล่านี้ไม่มีตัวตนอันที่จะไปบังคับใดๆได้ อาการทั้ง 32 ประการนี้ จึงมีความเสื่อมโทรมไปทุกๆขณะเวลา - เมื่อเห็นดังข้อที่ ๑-๖ นี้แล้ว เราก็ย่อมรู้ว่า รูปขันธ์ คือ อาการทั้ง 32 ประการเหล่านี้ มันมีความแปรเปลี่ยนเสื่อมโทรมไปทุกขณะ ไม่นานก็เสื่อมสลายแล้วดับไปเป็นของไม่เที่ยง ไม่คงอยู่นาน จะสูญสลายไปช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา สภาพแวดล้อม สภาพธรรมที่ปรุงแต่งทั้งภายในภายนอกและกาลเวลา มันเป็นกองทุกข์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในรูป รูปไม่มีในเรา รูปไม่ใช่เรา รูปไม่ใช่ของเรา สักแต่มีไว้ระลึกรู้ มีไว้อาศัยชั่วคราว เมื่อเราเข้าไปปารถนาหมายมั่นในรูปขันธ์ไปมันก็เสียแรงเปล่า ปารถนาไปทำไมให้มันเป็นทุกข์เปล่าๆ หากเมื่อเราไม่ปารถนาที่จะเอาความทุกข์ก็เพิกถอนความสำคัญมั่นหมายยึดมั่นถือมั่นในรูปขันธ์ทิ้งไปเสีย ถอนความยึดมั่นถือมั่นออกจากสิ่งอันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน เราก็จักไม่ทุกข์อีก หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ พฤศจิกายน 30, 2014, 03:23:48 PM บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑ เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔ ในกายเรานี้) - พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (ทวัตติงสาปาฐะ, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, ภารทวาชสูตร, คิริมานนทสูตร สัญญา ๑๐) ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร # ๑ อุปมาอริยสัจกับรอยเท้าช้าง
หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 02, 2014, 09:53:46 AM บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑ เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔ ในกายเรานี้) - พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (ทวัตติงสาปาฐะ, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, ภารทวาชสูตร, คิริมานนทสูตร สัญญา ๑๐) ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร # ๒ อุปมาอริยสัจกับรอยเท้าช้าง
หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 02, 2014, 09:54:10 AM บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑ เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔ ในกายเรานี้) - พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (มหาหัตถิปโทปมสูตร) ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร # ๓ อุปมาอริยสัจกับรอยเท้าช้าง
หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 02, 2014, 10:39:28 AM บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑ เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔ ในกายเรานี้) - พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (ทวัตติงสาปาฐะ, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, จตุธาตุววัฏฐาน) จตุธาตุววัฏฐาน จตุธาตุววัฏฐาน หรือเรียกว่า ธาตุกรรมฐาน หมายความว่า การพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ที่ปรากฏในร่างกายจนกระทั่งเห็นเป็นแต่เพียงกองแห่งธาตุ โดยปราศจากความจำว่าเป็นหญิง ชาย เรา เขา สัตว์ บุคคลใดๆ เสีย องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่ในมหากุศลจิต มหากิริยาจิต คำว่า ธาตุ หมายถึง การธำรงไว้ซึ่งลักษณะของตน ธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นมหาภูตรูป เพราะเป็นรูปใหญ่ เป็นประธาน เป็นที่รองรับรูปทั้งหมดที่เหลือ คือ เพราะการรวมกันของธาตุดิน ความแข็งจึงเกิดได้ เพราะการรวมกันของธาตุน้ำ ความเอิบอาบจึงเกิดได้ เพราะการรวมกันของธาตุไฟ ความร้อนจึงเกิดได้ และเพราะการรวมกันของธาตุลม ความเบาแห่งการเคลื่อนไหวจึงเกิดได้ การกำหนดจตุธาตุววัฏฐานนี้ ผู้เจริญจะต้องพิจารณาธาตุ ๔ ที่มีอยู่ภายในตน ธาตุ ๔ ที่มีอยู่ภายตนนี้ มี ๔๒ คือ ธาตุดิน ๒๐ ธาตุน้า ๑๒ ธาตุไฟ ๔ ธาตุลม ๖ (https://www.madchima.net/images/199_image002.gif) วิธีการกำหนดโดยความเป็นธาตุ มีดังนี้ ๑. การกำหนดธาตุโดยไม่แยกกัน - พึงพิจารณาว่า ปฐวีธาตุเหล่านี้ ถูกเกาะกุมไว้ด้วยกันโดยอาโปธาตุ ถูกทำให้อุ่นโดยเตโชธาตุ ถูกค้ำจุนไว้โดยวาโยธาตุ ธาตุ ๓ (คือ อาโป เตโช วาโย) ถูกรวมเข้าด้วยกันอย่างนี้ - อาโปธาตุอาศัยอยู่ในปฐวีธาตุ ถูกทำให้อุ่นโดยเตโชธาตุ ถูกค้ำจุนไว้โดยวาโยธาตุ ธาตุ ๓ (คือ ปฐวี เตโช วาโย) ถูกยึดไว้ด้วยกันรวมกันได้อย่างนี้ - เตโชธาตุอาศัยอยู่ในปฐวีธาตุ ถูกยึดไว้ด้วยกันโดยอาโปธาตุ ถูกค้ำจุนไว้โดยวาโยธาตุ ธาตุ ๓ (คือ ปฐวี อาโป วาโย) ถูกทำให้อุ่นอย่างนี้ - วาโยธาตุอาศัยอยู่ในปฐวีธาตุ ถูกยึดไว้ด้วยกันโดยอาโปธาตุ ถูกทำให้อุ่นโดยเตโชธาตุ ธาตุ ๓ (คือ ปฐวี อาโป เตโช) ถูกค้ำจุนไว้อย่างนี้ - ธาตุ ๓ (น้ำ ไฟ ลม) อาศัยปฐวีธาตุ ถูกยึดไว้ด้วยกันโดยอาโปธาตุ ธาตุ ๓ จึงไม่กระจัดกระจาย - ธาตุ ๓ (ดิน น้ำ ลม) อุ่นโดยเตโชธาตุ จึงไม่มีกลิ่น - ธาตุ ๓ (ดิน น้ำ ไฟ )ค้ำจุนไว้โดยวาโยธาตุ จึงดำเนินไปและอยู่รวมกันได้ ไม่แตก กระจัดกระจาย สรุป ธาตุทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อิงอาศัยซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ๒. การกำหนดธาตุโดยเหตุและปัจจัย - พิจารณาโดยเหตุ ๔ คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร เป็นปัจจัยสร้างธาตุขึ้นมา เหตุ ๔ คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร - ธาตุทั้ง ๔ ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากกรรม กรรมนี้แหละทำให้มีการเกิดด้วยอำนาจของชนกกรรม ทำ ให้กรรมและวิบากของกรรมเป็นไป และทำให้เกิดปัจจัยต่างๆที่เข้าไปอุดหนุนเกื้อหนุนให้ธาตุ ๔ เป็นไป - ธาตุ ๔ นี้ เกิดมาจากจิต ทำให้ปัจจัยต่างๆ เป็นไป ปฏิสนธิจิตทำให้รูป คือ ธาตุทั้ง ๔ เกิดพร้อม กันกับจิต - ธาตุ ๔ นี้ ตั้งอยู่ได้ไม่เน่าเสียไป ก็ด้วยการอุปการะของ อุตุ คือไออุ่นที่หล่อเลี้ยงธาตุทั้ง ๔ - ธาตุ ๔ นี้ มีอาหารเป็นผู้หล่อเลี้ยงให้ตั้งอยู่และเจริญได้ ๓. การกำหนดธาตุโดยลักษณะ - ลักษณะของปฐวีธาตุ คือ ความแข็ง - ลักษณะของอาโปธาตุ คือ การซึมซาบ - ลักษณะของเตโชธาตุ คือ ความเย็น ร้อน - ลักษณะของวาโยธาตุ คือ ไหว เคลื่อนไปมา เมื่อสิ่งใดปรากฏชัดในการรับรู้ในขณะที่มีสติสัมปชัญญะก็ให้ระลึกรู้โดยความเป็นเพียงธาตุเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ชีวิต เป็นเพียงแต่สภาวะของธรรมชาติ คือ ธาตุดิน น้ำไฟ ลม ๔. การกำหนดธาตุโดยความเสมอกันและไม่เสมอกัน - ปฐวีธาตุและอาโปธาตุ เสมอกันเพราะความมีน้ำหนัก - ส่วนเตโชธาตุและวาโยธาตุ เสมอกันเพราะความเบา - อาโปธาตุและเตโชธาตุ ไม่เสมอกัน อาโปธาตุสามารถกำจัดความแห้งของเตโชธาตุได้ - ปฐวีธาตุและวาโยธาตุ ไม่เสมอกัน เพราะปฐวีธาตุขัดขวางการออกไปของวาโยธาตุ วาโยธาตุก็สามารถทำลายปฐวีธาตุได้ ๕. การกำหนดธาตุโดยความเป็นหุ่น - เปรียบเหมือนการทำหุ่นจำลองเป็นมนุษย์สตรี บุรุษ แล้วมีเชือกสาหรับชักเพื่อให้หุ่นนั้น เดิน ยืนนั่ง นอน เต้นรำ หุ่นนี้ คือ ร่างกาย ผู้ทำหุ่นคือ กิเลสในอดีต ที่เป็นเหตุให้กายนี้ถูกสร้างขึ้นจนสมบูรณ์ เชือก คือ เส้นเอ็น ดินเหนียว คือ เนื้อ สีที่ทำ คือ ผิวหนัง ช่องทั้งหลายคืออากาศ เพราะอาศัยอาภรณ์ เครื่องประดับต่างๆ จึงได้ชื่อว่าบุรุษหรือสตรี การเคลื่อนไหวไปได้ของหุ่นก็ด้วยวาโยธาตุที่เกิดจากจิตที่คิดจะเดิน ยืน คู้เข้า เหยียดออก สนทนาพูดจำได้ มนุษย์หุ่นเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกับวิญญาณธาตุ ตกอยู่ในอำนาจความโกรธ ความโศกเศร้า ความทุกข์ เพราะอวิชชา พวกเขาหัวเราะสนุกสนานหรือเล่นด้วยกันได้ มีอาหารรักษาหุ่นเหล่านี้ไว้ และชีวิตินทรีย์รักษาไว้ ทำให้หุ่นเหล่านี้เดินไป ที่สุดแห่งชีวิตทำให้หุ่นแตกกระจัดกระจาย และเมื่อกรรมและกิเลสยังมีอยู่ หุ่นใหม่ก็จะเกิดขึ้นอีก การเกิดขึ้นครั้งแรกของหุ่นนั้นไม่สามารถรู้ได้ จุดสุดท้ายของหุ่นนั้นใครๆ ไม่สามารถมองเห็นได้ ผู้ปฏิบัติพึงกำหนดกายนี้โดยเปรียบกับหุ่นว่าอาการเหล่านี้ กิจกรรมเหล่านี้ว่า “ไม่มีสัตว์ ไม่มีชีวะ เป็นเพียงแต่สภาวะ” ๖. พิจารณาธาตุโดยความเป็นอารมณ์ - เมื่อพิจารณาธาตุ ๔ โดยประการต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ผู้ปฏิบัติพึงพิจารณาโดยความเป็นนามและรูป คือ ธาตุทั้งหลายเป็นรูป จิตพร้อมเจตสิกต่างๆ ที่พิจารณารูปเหล่านั้นโดยความเป็นจริง เป็นนาม แล้วพิจารณาต่อไปอีกว่า นามรูปเป็นทุกข์ เป็นตัณหา เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ แล้วกำหนดรู้ว่า ความดับทุกข์ได้ต้องดับที่ตัณหา มรรคมีองค์ ๘ นั้นเป็นหนทางไปสู่ความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง นิมิต ภาวนา และ มรรค ผล ที่ได้จากการเจริญจตุธาตุววัฏฐาน การเจริญจตุธาตุววัฏฐานนี้ ไม่มีอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต คงมีแต่บริกรรมนิมิตอย่างเดียว คือธาตุทั้ง ๔ ที่มีอยู่ในร่างกายตนนั้นเอง ส่วนภาวนานั้นได้ ๒ อย่าง คือ บริกรรมภาวนาและอุปจารภาวนา สำหรับอัปปนาภาวนาอันเป็นตัวฌานนั้นเกิดขึ้นไม่ได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะธาตุทั้ง ๔ นี้เป็นสภาวะล้วนๆ ผู้เจริญต้องใช้ปัญญาอย่างแรงกล้า จึงจะรู้เห็นในสภาวะเหล่านี้ได้ เหตุนี้สมาธิของผู้เจริญจึงไม่มีกาลังพอที่จะถึงฌาน ดังนั้น หากว่าการพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ที่มีอยู่ในกายตน โดยมีปัญญาเป็นประธานนี้ทำให้พิจารณาธาตุ ๔ โดยความเกิดดับ ก็จะทำให้ผู้ที่เจริญธาตุ ๔ นั้นสามารถสำเร็จมรรคผลได้ อานิสงส์ของจตุธาตุววัฏฐาน ๑. เห็นความไม่ใช่ตัวตน (อนัตตลักษณะ) ๒. ละความเห็นว่าเป็นสัตว์ บุคคล ชาย หญิงได้ ๓. ไม่กลัวภัยต่างๆ ๔. สามารถตัด ระงับ ความพอใจและไม่พอใจได้ มีจิตมั่นคงไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา ๕. ทำให้เป็นผู้มีปัญญากว้างขวาง ๖. เข้าถึงพระนิพพาน ๗. ถ้าไม่เข้าถึงพระนิพพานในภพนี้ ก็จะไปสู่สุคติ จบจตุธาตุววัฏฐาน อ้างอิง บทเรียนพระอภิธรรมทางไปรษณีย์ ชุดที่ ๙ สมถกรรมฐาน ตอนที่ ๓ บรรณานุกรม ๑) ปรมัตถโชติกะ หลักสูตรชั้นมัชฌิมอภิธรรมิกะโท : พระสัทธัมมโชติกะ : อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย : โรงพิมพ์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทิพยวิสุทธิ์ ; พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๓๙ ๒) วิมุตติมรรค พระอุปติสสเถระ รจนา พระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) และคณะแปลจากฉบับภาษาอังกฤษ ของพระเอฮารา พระโสมเถระ และพระเขมินทเถระ ๓) วิสุทธิมรรค ๑๐๐ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) แปลและเรียบเรียง ๔) พระสูตร และ อรรถกถา แปลขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่มที่ ๗ ภาคที่ ๑- ๒ ๕) การเจริญสมาธิ ตามแนวทางพระพุทธศาสนา BUDDHIST MEDITATION ผศ.ดร.นฤมล มารคแมน สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๔๔ ขอบคุณภาพจาก https://pixserv.clipmass.com (https://pixserv.clipmass.com),https://www.packagetourtravel.com,https://image.ohozaa.com ขอขอบพระคุณที่มาจาก ท่าน raponsan https://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5260.msg19399#msg19399 (https://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5260.msg19399#msg19399) หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 02, 2014, 10:43:55 AM บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑ เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔ ในกายเรานี้) - พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (ทวัตติงสาปาฐะ, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, จตุธาตุววัฏฐาน) (https://www.bknowledge.org/bknow/userfiles/image/human_body/9_body.gif) จตุธาตุววัฏฐาน ๔ # ๑ สำหรับวันนี้ จะขอพูดเรื่องสมถภาวนาจนจบ คำว่าจบในที่นี้หมายความว่าจะเว้นอรูปฌานทั้ง ๔ เสีย เพราะถือว่าไม่มีความจำเป็น สำหรับวันนี้ก็จะพูดเรื่องจตุธาตุววัฏฐานสี่ หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า ธาตุ ๔ สำหรับกรรมฐานบทนี้เป็นกรรมฐานพิจารณา ไม่ใช่กรรมฐานภาวนา คำว่าภาวนาหมายความว่า จับคาถาบทใดบทหนึ่งเข้ามาภาวนาให้จิตทรงตัว แต่ว่าสำหรับกรรมฐานกองนี้เป็นกรรมฐานพิจารณา เป็นกรรมฐานที่เหมาะสำหรับท่านที่เป็นพุทธจริต คำว่าพุทธจริตเป็นอารมณ์รู้ หมายถึงว่าคนทุกคนก็มีด้วยกันทุกคน เวลาใดที่มีอารมณ์ปลอดโปร่งเห็นว่าโลกเป็นทุกข์ อัตภาพร่างกายมีสภาพเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงเป็นท่ามกลาง มีความแตกสลายไปในที่สุด เห็นว่าเป็นอนิจจังหาความเที่ยงไม่ได้ เป็นทุกขังเป็นความทุกข์ อนัตตามันจะสลายตัว ถ้าอารมณ์ของเราเกิดขึ้นอย่างนี้ เห็นว่าร่างกายไม่เป็นเรื่องเป็นราว มีความตายไปในที่สุด ชื่อว่าเวลานั้นอารมณ์จิตเราเป็นพุทธจริต เป็นจิตที่ตกอยู่ในความฉลาด ฉะนั้นกรรมฐานบทหนึ่งในพุทธจริตที่เรายังไม่ได้พูดกันมาก็เหลือจตุธาตุววัฏฐานสี่ คือท่านให้พิจารณาว่า ร่างกายของเรานี้เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ คือ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ เอามาผสมกันเข้าเป็นเรือนร่าง แล้วก็มีอากาศธาตุ มีวิญญาณธาตุเข้ามาสิงรวมเป็นธาตุ ๖ ประการด้วยกัน เนื้อแท้เดิมจริงๆ มันมี ๔ ธาตุดินได้แก่ของที่แข็ง มีหนัง มีเนื้อ มีกระดูก เป็นต้น ธาตุน้ำได้แก่น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำลาย ปัสสาวะ เป็นต้น ธาตุไฟได้แก่ความอบอุ่นในร่างกาย ธาตุลมได้แก่การที่พัดไปมาในร่างกาย มีลมหายใจเป็นต้น รวมความว่าร่างกายนี้ต้องมีธาตุ ๔ ประกอบกัน ทั้งธาตุแต่ละธาตุก็ต้องมีความแข็งแรงสม่ำเสมอกัน ร่างกายของเราจึงจะมีความสมบูรณ์พูนสุข อันการที่ร่างกายป่วยไข้ไม่สบายแสดงว่าธาตุอย่างใดอย่างหนึ่งมันบกพร่อง มีการทรงตัวไม่เสมอกัน เหมือนกับเรามีโต๊ะ ๔ ขา แต่ขาหนึ่งมันหักหรือมันร่อยไปเสียก็แสดงว่าตั้งไม่สนิท ถ้ามันร่อยลงไป ๒ ขา ก็แสดงว่าเอียงลงไปแล้ว แม้แต่ก้านกล้วยมันก็หนัก ร่างกายของเราก็เหมือนกัน มีความสมบูรณ์แข็งแรงปกติใช้งานได้สะดวก ก็ได้แก่ธาตุทรงตัวสม่ำเสมอกัน เมื่อธาตุส่วนใดส่วนหนึ่งมีความทรุดโทรมเรียกว่าพอเสื่อมตัวลงไป ร่างกายก็ต้องแสดงถึงการทรุดโทรมให้ปรากฏ แล้วในที่สุดธาตุแต่ละธาตุทั้ง ๔ ธาตุนี้มันก็จะต้องสลายตัวไป ถึงเวลาตายเราจึงว่าธาตุลมหายไป ธาตุไฟหายไป เหลือ ๒ ธาตุ คือธาตุน้ำกับธาตุดิน ในเมื่อมีดินกับน้ำ ไม่มีความอบอุ่นเข้าประคับประคอง น้ำก็ละลายดิน ดินก็เกิดอาการยุ่ย เกิดอาการอืดพองขึ้นมา หนังเปื่อยเนื้อเปื่อย เน่า ทว่าไม่เน่าเปล่ามีการส่งกลิ่นเหม็น แล้วก็ค่อยสลายตัวไปทีละน้อยละน้อย ธาตุน้ำแห้งไป ธาตุดินก็ยุบตัวลงสลายไป เป็นอันว่าร่างกายของเราประกอบไปด้วยธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ มันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็มีความเสื่อมไปลดน้อยถอยลงไปทีละน้อยๆ เราจะเห็นว่าความเป็นเด็กเกิดขึ้น เรามีการเจริญขึ้นด้วยธาตุ จนถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาวแสดงว่าธาตุ ๔ ประกอบสมบูรณ์ พออายุมากลงความสมบูรณ์กับเวลาที่เสื่อมลงไปยามแก่มาถึง สิ่งที่เข้าไปปรนเปรอไม่พอกับสิ่งที่เสื่อมสลายตัวไป ของที่เต็มอยู่มันก็พร่องคือว่าเนื้อหนัง เนื้อมันน้อยลงหนังก็เริ่มเหี่ยว ความเปล่งปลั่งไม่ปรากฏ มีการสลายตัวของธาตุดินมองเห็นชัด แล้วในที่สุดธาตุดินก็สลายตัวทรงไม่ได้ กายทรงตัวอยู่ไม่ได้ นี่มันตาย มานั่งพิจารณาดู ร่างกายเราเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ขณะใดที่ธาตุทั้ง ๔ ไม่สามัคคีกันเมื่อไหร่ก็พังเมื่อนั้น แล้วมาดูการพิจารณาดูธาตุ ๔ เพื่อประโยชน์อะไร พิจารณาเพื่อตัดความเมาในธาตุคือร่างกายเสีย ว่าเราจะไปนั่งเมามันในร่างกายของเราว่า มันจะทรงตัวนั้นมันไม่มี เราจะหาความผ่องใสในร่างกายตลอดกาลตอลดสมัยมันก็ไม่มี หาความแข็งแรงหาการคล่องตัวตลอดไปมันก็ไม่มี เพราะธาตุทั้ง ๔ นี้มันจะทรงตัวความแข็งแรงไม่เสมอกัน มันจะพร้อมเพรียงกันก็อยู่ชั่วขณะหนึ่ง สักวันหนึ่งปีหนึ่งอาจจะหลายครั้งที่มีธาตุบางอย่างกะพร่องกะแพร่งร่อยหรอไปเสื่อมตัวลงไป อาหารป่วยมันก็เกิด นี่มองเห็นสภาวะของธาตุมันไม่ดี มันไม่ทรงตัว แล้วก็มองดูต่อไปด้วยว่าธาตุนี้มันเกิดมาแล้วมันไม่ทรงตัว ในที่สุดมันเป็นอย่างไร มันก็พังสลายตัวไปในที่สุด แล้วเราจะไปนั่งมัวเมาในธาตุเพื่อประโยชน์อะไร ธาตุ ๔ ไม่ทรงตัว ธาตุของเราไม่ทรงตัว ธาตุของบุคคลอื่นก็ไม่ทรงตัว การปรารถนาในการมีคู่ครองก็เพราะว่าเรามีโมหจริต คือ ความโง่ไม่ได้คิดถึงความเป็นจริง เพราะการมีคู่ครองนี้สร้างความเป็นห่วงให้เกิดขึ้น มีอารมณ์ยึดถือให้เกิดขึ้น ความจริงเราปรารถนาจะเปลื้องความทุกข์ แต่การแสวงหาร่างกายของบุคคลอื่นๆ มาคู่กับร่างกายเรา หวังจะเป็นคู่ครองซึ่งกันและกัน มันไม่ใช่เปลื้องทุกข์มันเพิ่มทุกข์ ต้องรับภาระร่างกายของเราเองด้วย รับภาระร่างกายของบุคคลอื่นด้วย ทีแรกเราก็ทุกข์แต่ตัวเรา เมื่อเอาบุคคลอื่นเข้ามาเราก็ทุกข์ เพื่อบุคคลอื่นอีกทุกข์เพราะอยู่เป็นคนคู่ไม่พอ ความโง่ยังสร้างต่อไป อยากจะมีลูก อยากจะมีลูกผู้หญิง อยากจะมีลูกผู้ชาย อยากจะมีหลาน นี่มันเป็นอาการของความโง่ไม่มีที่สิ้นสุด สร้างความห่วง สร้างอุปาทาน สร้างความยึดมั่นผูกพันในสิ่งที่ไม่ทรงตัว ฉะนั้นในความทุกข์ไม่มีถึงที่สุด หาที่จบก็ไม่ได้ องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบรรลุอภิเสกสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว องค์สมเด็จพระประทีบแก้วเห็นโทษของการมัวเมาอยู่ในธาตุ ๔ มัวเมาในธาตุของตัวหรือว่าเมาในธาตุของบุคคลอื่นด้วย คนเมาแต่ธาตุของตัวยังพอดี เรียกว่าทุกข์น้อย ถ้าเมาในธาตุของบุคคลอื่นด้วยเรียกว่าทุกข์หนักขึ้นไป ถ้ายิ่งเมาอยากจะมีลูก เมาอยากจะมีหลาน เมาอยากจะมีเหลนก็ยิ่งหนักเข้าไปอีกเท่าตัว พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ภาระหะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ทั้งหาเป็นภาระอันหนัก แต่เพียงธาตุ ๔ ของเราประกอบเข้าเรียกว่าขันธํห้า เท่านี้ก็ปรนเปรอมันไม่ไหวอยู่แล้ว ไปเลี้ยงมันทั้งวันมันก็ไม่รู้จักอิ่ม มันก็ไม่รู้จักพอ ปรนเปรอมันตลอดกาลตลอดสมัย มันก็ไม่มีความหยุดยั้งในความต้องการ บำรุงร่างกายขนาดไหนก็ดีมันก็ไม่วายจะทรุดโทรม ประคับประคองเท่าไรก็ตามมันก็ไม่พ้น ที่จะตายไม่พ้นที่จะพัง นี้คือร่างกายของเราคนเดียว พระพุทธเจ้าท่านก็บอกหนักแสนหนัก มันแบกจะไม่ไหวอยู่แล้ว ต้องไปแบกร่างกายของบุคคลอื่นเข้า เราจะเป็นคนโง่หรือคนฉลาด มันเพิ่มทุกข์ แสดงว่าอารมณ์โง่มันเกิดขึ้น การที่จะตัดความโง่ตัวนี้ได้ก็ต้องปลดร่างกายของคนอื่นทิ้ง แล้วก็หาทางมาปลดร่างกายของเรา มานั่งนึกดูว่าเราคนเดียวเราก็ยังแย่ หาที่สุดของความทุกข์ไม่ได้ ถ้าเราไปแบกเข้าอีกขันธ์ห้าหนึ่งก็หนักอีกเท่าตัว เพียงแต่ตัวของเราก็เอาชีวิตไม่รอด เดิมทีเราถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาวร่างกายสมบูรณ์บริบูรณ์ เวลาที่อายุกาลผ่านวัยไป มาถึงอายุกาลผ่านวัยไป มาถึงอายุนี้แล้วความเสื่อมมันก็ปรากฏ องค์สมเด็จพระบรมสุคตบอกวางร่างกายของบุคคลอื่นเสียเป็นปัจจัยของความทุกข์ เห็นเรามาแบกแต่ร่างกายของเราแต่ผู้เดียว เมื่อต้องมาแบกร่างกายของเราคนเดียวก็นั่งมองดูว่ามันหนักหรือมันเบา มันหนักไปด้วยภาระทั้งปวงต้องหาอาหารมาให้อิ่ม เวลานี้จะกินอย่างนี้ เวลาโน้นจะกินอย่างโน้น เวลานั้นต้องกินอย่างนั้น ความอยากของมันไม่สิ้นสุด หนักเฉพาะการกินก็หนักแย่อยู่แล้ว เครื่องประดับประดาเครื่องแต่งตัวมันก็อยากจะได้ไอ้นั่น มันก็อยากได้ไอ้นี่ อาหารแต่ละชิ้น ผ้าแต่ละชิ้นที่จะได้ก็ได้มาด้วยความทุกข์ความเหนื่อยยาก เอามาหนักเท่านี้ก็ยังไม่พอ ประเดี๋ยวก็ป่วยโน่นประเดี๋ยวก็ป่วยนี่ ป่วยอย่างนั้น ป่วยอย่างนี้ ต้องรักษาพยาบาลมัน อาการป่วยก็เป็นทุกข์ การจะหาเงินมารักษาก็แสนจะทุกข์ แสนจะเหนื่อยยาก นั่นก็เป็นอาการของความทุกข์ของร่างกาย มันดีตรงไหน และถึงแม้จะประคับประคองประการใดก็ดี จะรักษาอย่างไรก็ดี บำรุงอย่างไรก็ดี ในที่สุดมันก็ตาย ในเมื่อมันจะต้องตายแบบนี้ เราจะไปแบกมันทำไมต่อไป ถ้าเรายังจะต้องเกิดอีกเราก็แบกมันรูปนี้ตลอดไป เราเลิกแบกมันเสียดีกว่า โยนมันทิ้งไป การที่โยนมันทิ้งก็ไม่ได้หมายความว่า จะไปเชือดคอตาย ผูกคอตายโยนทิ้ง ไม่ใช่อย่างนั้น โยนมันออกไปเสียจากใจจะได้ไม่ต้องห่วงมันมากนัก ถือว่ามันเป็นที่อาศัยชั่วคราว ขณะใดที่เรายังอาศัยมันอยู่ ก็ประคับประคองมันตามหน้าที่ ให้มีความรู้สึกว่านี่เราทำตามหน้าที่เท่านั้น เราไม่ได้รักมันเราไม่ได้ห่วงมัน ขณะที่เรายังอาศัยมันอยู่ ถ้ามันทรุดโทรมมากเกินไปแบบเดียวกับบ้านที่อาศัย ปล่อยให้หลังคารั่วปล่อยให้พื้นผุ ผลที่สุดเราเองก็เป็นผู้ลำบากมากเกินไป ทั้งๆ ที่รู้ว่าบ้านมันเก่าอยู่ทุกวัน หลังคารั่วพอฝนมันรั่วแดดส่อง หาอะไรมาปกปิดกันความร้อนชั่วขณะ พื้นมันผุก็หาสิ่งของเท่าที่จะซ่อมแซมได้มาซ่อมแซมมัน ประคับประคองมันไว้ แต่ว่าไม่ได้รักมัน กำหนดจิตว่าเมื่อถึงเวลาที่จะต้องจากกันเมื่อไร เราก็จะไม่ห่วงใยขันธ์ห้านี้เป็นอันขาดและเราก็ไม่ต้องการมันอีก เพราะเราไปพบมันอีกเมื่อไรก็จะพบกับความทุกข์แบบนี้ไม่มีที่สิ้นสุด วิธีที่เราไม่ต้องการจะพบมันก็พิจารณาสักกายทิฏฐิ พิจารณาว่ามันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในมัน มันไม่มีในเรา ธาตุ ๔ มันเป็นเรือนร่างที่เราอาศัยชั่วคราว เราไม่เห็นว่ามันสวยที่ไหน ไม่เห็นว่ามันดีที่ไหน มันเต็มไปด้วยความทุกข์ ขึ้นชื่อว่าธาตุแบบนี้เราไม่ต้องการมันอีก คิดไว้อย่างนี้เสมอ เราไม่ต้องการมันอีก คิดไว้อย่างนี้เสมอ เราไม่ต้องการธาตุ ๔ เป็นเรือนร่างต่อไป ขึ้นชื่อว่าความเกิดที่มีธาตุ ๔ ไม่มีสำหรับเรา และแล้วต้องหาทางอ้อมต่อไปว่า ถ้าเราจะไม่ต้องมาเกิดจะทำอย่างไร อันดับแรกเราต้องตัดโลภะความโลภ โดยการให้ทาน อย่างนี้ต้องมีอารมณ์เป็นปกติ ไม่ใช่จะมานึกว่าจะไม่เกิด จะไม่เกิด มันเป็นไปไม่ได้หรอก เราต้องตัดมัจฉริยะ ความตระหนี่ ตัดโลภะความโลภ อย่าให้มันข้องอยู่ในใจ อย่าทะเยอทะยานเกินไปจะมีความผูกพันในทรัพย์สินเกินไป ตายแล้วไม่มีใครเอาไปได้ เมื่อตัดความโลภ โดยการให้ทานโดยการบริจาค จิตจะได้มีความเบา เราต้องตัดโทสะ ความโกรธ โดยการทรงพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ เราต้องตัดตัวยึดถือ คืออุปาทานในขันธ์ห้าเสีย ได้แก่การพิจารณาพบความจริงของร่างกายว่ามันเป็นทุกข์ ความผูกพันมันจึงจะไม่มี นี่ถ้าเราพิจารณาแบบนี้ชื่อว่าพิจารณาทั้งด้านสมถะและวิปัสสนาร่วมกัน สมถภาวนาจำจะต้องมีอยู่เสมอ แต่สมถะจะทรงตัวได้ต้องอาศัยวิปัสสนาญาณประคับประคอง วิปัสสนาญาณจะติดอยู่กับจิตใจของเราได้ตลอดกาลตลอดสมัยก็ต้องมีสมถะเป็นเครื่องสนับสนุน ทั้ง ๒ อย่างนี้แยกกันไม่ออก ถ้าแยกกันเหลือส่วนใดส่วนหนึ่ง เราก็ซวยเต็มที เพราะความดีมันจะไม่ทรงตัว การพิจารณาธาตุ ๔ เราควรจะเห็นว่าถ้าเราพิจารณาแล้วก็ควรจะน้อมเข้าไปสู่อสุภกรรมฐานในตัวด้วย เพราะธาตุ ๔ นอกจากมันจะไม่ทรงตัวเป็นปกติ ยังมีความไม่เที่ยงมีการเปลี่ยนแปลงเป็นทุกข์มีการสลายตัวไปในที่สุด และยังเต็มไปด้วยความสกปรกโสมมอีกด้วย เป็นของน่าเกลียดของโสโครก นี่มองกรรมฐานจุดใดจุดหนึ่งแล้วอ้อมลงไปหาจุดจบเพื่อเป็นการทำลายจิตที่ผูกพันไว้ได้ ฉะนั้น การเจริญพระกรรมฐานจึงจำเป็นจะต้องรู้กรรมฐานหมดทั้ง ๔๐ อย่าง ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องศึกษาให้ครบแล้วก็ หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 04, 2014, 03:29:25 PM บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑ เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔ ในกายเรานี้) - พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (ทวัตติงสาปาฐะ, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, จตุธาตุววัฏฐาน) (https://www.bknowledge.org/bknow/userfiles/image/human_body/9_body.gif) จตุธาตุววัฏฐาน ๔ # ๒ ต่อไปสำหรับท่านที่ปรารถนาจะเจริญพระกรรมฐานเพื่อฝึกทิพจักขุญาณ โดยใช้บทภาวนาว่า นะ มะ พะ ทะ บทนี้สำคัญมากถ้าใช้เป็นทิพจักขุญาณจะมีความแจ่มใสเป็นพิเศษ ในตอนต้นก็ขอให้ทุกท่านให้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยเสียก่อน การพิจารณาในสมถะบทใดก็ตามนั้นและวิปัสสนาญาณก็ดีเป็นของดีมากถ้ายังทรงจิตอยู่ได้ จิตไม่วอกแวกไม่คลาดเคลื่อนไปให้พิจารณาไปเสมอๆ จะเป็นการตัด ถ้าเราเจริญกรรมฐานเราต้องการตัดกิเลสจริงๆ ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ ถ้าตัดได้ตัดให้มันหมดไป เมื่อเห็นว่าพิจารณาจิตมันจะซ่านเกินไปก็จับคำภาวนา รักษาอารมณ์ให้ทรงตัว ในอันดับแรกเราเคยภาวนาว่าอย่างไรให้ทรงตัว ก็ภาวนาอย่างนั้นเสียก่อนจนกว่าจิตจะสบายถึงที่สุด เมื่อมีความอิ่มของจิตดีเรียบร้อยแล้ว จิตเรียบเป็นระเบียบดีจึงจับคำว่า นะ มะ พะ ทะ ภาวนาต่อไปแทน แต่เมื่อภาวนาว่า นะ มะ พะ ทะ ไม่ใช่จะอยากเห็นโน่น อยากเห็นนี่ อยากให้ปรากฏความสว่าง ถ้าทำอย่างนี้ไม่มีผล ให้รักษาอารมณ์ตน โดยเฉพาะ ใช้คำภาวนาว่า นะ มะ พะ ทะ อย่างเดียว จะมืดจะสว่างอย่างไรก็ช่าง อะไรจะปรากฏหรือไม่ปรากฏก็ช่าง ไม่สนใจ สนใจรักษาคำว่า นะ มะ พะ ทะ อย่างเดียว พอจิตเป็นสมาธิทรงตัวดีแล้ว ถึงขั้นอุปจารสมาธิอารมณ์จิตจะสว่างไสว หลับตาจะมีความรู้สึกเหมือนว่าเรานั่งอยู่ในเวลากลางวัน มันมีความสว่างทั่วตัว ถ้าบังเอิญจิตเป็นทิพจักขุญาณเห็นภาพใดๆ ตามที่เราต้องการ จะมีความแจ่มใสเป็นพิเศษ เห็นชัดแม้แต่ผมแต่หนวดเส้นเล็กๆ ก็สามารถจะมองเห็นได้ คุณประโยชน์ของการเจริญกรรมฐานกองนี้ก็เพื่อว่าจะได้ทรงวิชชาสาม สามารถค้นคว้าพิจารณาหาความจริงในหลักเกณฑ์ของพุทธศาสนาได้อย่างแท้จริง ต่อจากนี้ไปขอให้บรรดาภิกษุสามเณร พุทธบริษัทชายหญิงพากันตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาต่อไป จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา ที่มา หนังสือ กรรมฐาน 40 ของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ขอบคุณภาพจาก www.bknowledge.org (https://www.bknowledge.org),www.kmitl.ac.th,https://1.bp.blogspot.com,www.watermis.com,www.212cafe.com ขออนุญาตสรุปตามความเข้าใจของผม(หมายถึงตัวท่าน raponsan สรุป) จตุธาตุววัฏฐาน เป็นกรรมฐานที่ต่างจากกรรมฐานอื่นๆ ตรงที่เป็นกรรมฐานพิจารณา เป็นการพิจารณาธาตุกรรมฐาน เหมาะสำหรับผู้มีพุทธจริต(ปัญญาจริต) ต้องคิด ต้องนึก ต้องใคร่ครวญ จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ให้ดีก่อน ทำให้หลายคนอาจคิดว่ายาก ผมนึกถึงคำว่า" วิปัสสนึก"ขึ้นมาได้ ผมได้มีโอกาสคุยกับแม่ชีทศพร ถามท่านว่า ทำไมผมขึ้นวิปัสสนาไม่ได้ ท่านตอบว่า สมาธิคุณแข็งไป วิปัสสนาต้องมีวิปัสสนึกก่อน ถึงตรงนี้บางคนอาจแย้งว่า การนึกไม่ใช่วิปัสสนา ผมเห็นด้วยครับ แต่อารมณ์กรรมฐาน ผมว่าน่าจะมาจากจริตวาสนาบารมีของคนนั้นๆ ไม่น่าจะมีอะไรที่ตายตัว กลับมาเรื่องวิปัสสนึก การพิจารณาธาตุในลักษณะนี้ ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือ จะได้สมถะ ความหมายของผมก็คือ วิปัสสนึกเป็น สมถะนั่นเอง (ขอไม่คุยวิปัสสนา เนื่องจากไม่สันทัด) การพิจาณาธาตุตามแนวอภิธรรม มี ๖ วิธีด้วยกัน ๑. การกำหนดธาตุโดยไม่แยกกัน ๒. การกำหนดธาตุโดยเหตุและปัจจัย ๓. การกำหนดธาตุโดยลักษณะ ๔. การกำหนดธาตุโดยความเสมอกันและไม่เสมอกัน ๕. การกำหนดธาตุโดยความเป็นหุ่น ๖. พิจารณาธาตุโดยความเป็นอารมณ์ การพิจารณาธาตุตามแนวนี้ จะไ้ด้เพียงอุปจารสมาธิเท่านั้น แม้จะได้แค่อุปจารสมาธิ ก็เพียงพอสำหรับการวิปัสสนาเพื่อพ้นทุกข์แล้วครับ ขอคุยเท่านี้ครับ รู้สึกอึดอัด ผมแนบไฟล์ บทความเรื่อง "การพิจารณาธาตุกรรมฐาน" มาให้ดาวน์โหลดครับ https://www.madchima.org/forum/index.php?action=dlattach;topic=5260.0;attach=1855 (https://www.madchima.org/forum/index.php?action=dlattach;topic=5260.0;attach=1855) ขอขอบพระคุณที่มาจาก ท่าน raponsan https://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5260.msg19400#msg19400 (https://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5260.msg19400#msg19400) https://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5260.msg19401#msg19401 (https://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5260.msg19401#msg19401) หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 04, 2014, 03:57:48 PM บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑ เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (อาการทั้ง ๓๒ ประการ สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔) - พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (ทวัตติงสาปาฐะ, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, ภารทวาชสูตร, คิริมานนทสูตร สัญญา ๑๐) กายคตาสติสูตร [๒๙๗]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุย่อมพิจารณากายนี้แล ข้างบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป ข้างล่างแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า (มันสมอง) ดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร (ท์วัตติงสาการะปาโฐ คือ อาการทั้ง 32 ประการนี้ คือ กายคตาสติจะมีแต่เพียงในพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่มี เป็นการพิจารณาโดยแยบคายที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนดึงเข้าได้ถึง ฌาณ ๔ เข้าสมถะเห็นเป็น อสุภะ ธาตุ กสิน ก็ได้ เข้าสู่วิปัสนาเห็นเป็นเพียงธาตุหรือรูปนามก็ได้ ในอนุสสติ ๑๐ บทท์วัตติงสาการะปาโฐ คือ กายคตาสติ ส่วนในหมวดที่พระพุทธเจ้าจัดรวมว่าเป็นการพิจารณากายคตาสตินั้น ท์วัตติงสาการะปาโฐ จะเป็น ปฏิกูลบรรพ เป็นการพิจารณาส่วนหนึ่งในกายคตาสติที่รวมเข้ากัน 7 หมวด คือ อานาปานสติบรรพ๑ อิริยาบถบรรพ๑ สัมปชัญญะบรรพ๑ ปฏิกูลมนสิการบรรพ๑ ธาตุมนสิการบรรพ๑ นวสีวถิกาบรรพ๑ และ สัมมาสมาธิ คือ รูปฌาณ๔ หรือ กายานุสติปัฏฐาน นั้นเอง) - ก็กายเรานี้เป็นอย่างนี้แล กายเขาที่เราเสพย์อารมณ์กำหนัดราคะอยู่ก็เป็นดังนี้แล เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา อันมีหนังหุ้มเป็นที่สุดรอบเป็นของไม่สะอาดดังนี้แล กายเราและกายเขานี้ก็เป็นเช่นนี้แล สิ่งเหล่านี้ที่รวมอยู่ในกายเราและเขา - เมื่อไม่มีเรา_ในรูปขันธ์คือกายนี้(เมื่อพิจารณาแยกออกเป็นอาการทั้ง ๓๒ ประการออกมา) และ รูปขันธ์คือกายนี้_ไม่มีในเรา(เมื่อแยกกายออกเป็นอาการทั้ง ๓๒ ประการ ก็ไม่อยู่เป็นร่างกายเป็นรูปขันธ์ได้ รูปขันธ์จึงไม่มีในเรา) - ดังนั้นเราจักพึงหวังเอาปารถนาในอาการทั้ง 32 เหล่านั้นในเขาก็ไม่เกิดประโยชน์ไรๆนอกจากทุกข์อันรุ่มร้อนมัวหมองใจ จากการปารถนายึดมั่นถือมั่นในของไม่สะอาดเหล่านั้นดังนี้ เจริญจิตขึ้นพิจารณาในบุคคคลที่เราเห็นอยู่ที่กำลังเกิดราคะอยู่นี้ว่า กายของเขานี้มีสภาพอย่างไรซึ่งประกอบไปด้วยอาการทั้ง ๓๒ อันเป็นที่ประชุมกันชองธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ (อากาศ วิญญาณ) อย่างไรบ้าง - เบื้องต้นเราต้องทำความเข้าใจดังนี้ก่อนว่า (https://www.madchima.net/images/199_image002.gif) ขอขอบคุณที่มาของรูปจากคุณณัฐพลศร ตามกระทู้นี้ครับ https://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5260.0 (https://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5260.0) เมื่อเราเจริญปฏิบัติพิจารณาตามตัวเรานี้ได้เห็นทางพิจารณาและได้สัมผัสดังนี้ ๑. ขั้นตอนพิจารณาปฏิบัติในธาตุดิน เราจะรู้อย่างไรว่าธาตุเหล่านี้คือธาตุดิน เพราะที่มองเห็นมันก็เป็นคนทั้งตัว ตับ ไต กระเพาะ เล็บ มันก็เป็นอย่างที่เรารู้มาตั้งแต่เด็กจะให้มองเป็นดินยังไง " ข้อนี้พระตถาคตให้เอาเอกลักษณ์ของธาตุ คือ สภาพคุณลักษณะของธาตุดินเป็นอารมณ์ นั่นคือ รู้ในสภาพที่อ่อนและแข็ง ไม่ต้องไปรู้สภาพอะไรอื่นให้รับรู้สภาพนี้จากจากการสัมผัสรู้สึกถึงอาการที่เป็นเอกลักษณ์หรือคุณลักษณะของธาตุดินเท่านั้น(ถ้าทางวิปัสนานี้ท่านจะให้รู้จนเห็นไม่มีตัวตนบุคคลใดสักแต่เป็นเพียงรูปนาม ธาตุดินก็คือรูป เป็นมหาภูตรูป๔)" " ทีนี้เราลองจับดูหนังของเรามันก็อ่อนนุ่มใช่ไหม นั่นคือคุณสมบัติของธาตุดิน คือ มีความอ่อนนุ่มหรือแข็ง ดังนั้นหนังจึงเป็นธาตุดิน ผมก็มีลักษณะอ่อนนุ่มนั้นก็เป็นลักษณะของธาตุดิน เล็บมันแข็งใช่ไหมดังนั้นเล็บก็เป็นธาตุดิน เนื้อก็อ่อนนุ่มเนื้อจึงเป็นธาตุดิน หากเป็น ตับ ไต ไส้ กระเพาะอาหาร เราอาจจะยังไม่เคยจับใช่ไหม แต่คนกับสัตว์ก็เหมือนกันเราคงพอจะได้สัมผัสกันว่า มันมีความอ่อนนุ่มและแข็งเท่านั้น กระดูกก็แข็งก็แสดงว่าอวัยวะภายในมีตับ ไต กระดูกเป็นต้น คือธาตุดินที่มีอยู่ในกายเรา ก่อตัวรวมกัมกับน้ำบ้าง ลมบ้าง ไฟบ้าง อากาศศบ้างขึ้นเป็นรูปร่างเป็นอวัยวะต่างๆและตัวของคน สัตว์ขึ้นมานั่นเอง ร่างกายเราจึงประกอบด้วยธาตุดิน ด้วยประการฉะนี้" - หากอยากรู้ว่ากายเรานี้ อวัยวะชิ้นนั้นๆคือธาตุใดก็ให้ลองไปซื้อเครื่องใน หมู วัว เป็ด ไก่ เอามาจับๆและเพ่งพิจารณาดูว่ามันมีสภาพอย่างไร เวลาจับๆบีบๆนี่มัน อ่อนนุ่ม หรือ แข็ง เป็นใหญ่ในทุกพื้นที่ที่จับใช่ไหม นั่นแสดงว่าอวัยวะชิ้นนั้นคือธาตุดินนั่นเอง - หากอยากรู้ว่าอวัยวะที่เป็นธาตุดินมีดินรวมตัวกันขึ้นเป็นรูปทรงนั้นๆ มันเกิดขึ้นเพราะเหตุใดหนอเป็นปัจจัยปรุงแต่ง มีธาตุใดๆรวมอยู่บ้างหนอ ก็ให้ลองหลับตาแล้วจับๆบีบๆดูที่อวัยวะชิ้นนั้น เราจะได้รับความรู้สึกว่าเหมือนมีบางสิ่งที่มีสภาพอันเอิบอาบ ซึมซาย เกาะกุม เคลื่อนตัวไหลออกมาจากอวัยวะชิ้นนั้นๆ เมื่อเรามองดูก็จะเห็นเป็น น้ำเลือด น้ำหนอง มันข้น เป้นต้น เช่น หั่นดูมีเลือดหรือน้ำเหลืองภายในบ้าง มันก็คือธาตุน้ำนั่นเอง-นั่นก็แสดงว่าธาตุดินจะก่อตัวกันขึ้นเป็นรูปร่างแบบใดๆได้ก็ต้องมีน้ำเป็นตัวเกาะกุมดินเข้ารวมกันให้มีรูปทรงลักษณะเช่นนั้น เมื่อบีบเคลื่อนสภาพมันดูคือลองเอาเครื่องในหรือก้อนเนื้อจุ่มลงไปในน้ำแล้วล้องบีบดูจะเห็นเหมือนมีลมเคลื่อนตัวทำให้ผุดขึ้นเป็นฟองในน้ำบ้าง นั่นก็แสดงว่าธาตุดินจะก่อตัวกันขึ้นเป็นรูปร่างแบบใดๆได้ก็ต้องมีลมร่วมอยู่เพื่อพยุงรูปทรงในส่วนนั้นให้คงสภาพอยู่ด้วย เมื่ออวัยวะที่สดใหม่อยู่ก็จะมีความอุ่นมีอุณหภูมิประมาณหนึ่งในอวัยวะส่วนนั้นบ้าง-นั่นก็แสดงว่าธาตุดินจะก่อตัวกันขึ้นเป็นรูปร่างแบบใดๆได้ก็ต้องมีต้องอาศัยธาตุไฟเพื่อเผาผาญหลอมรวมให้อยู่ร่วมเกาะกุมกันด้วย เมื่อเราสังเกตุหรือผ่าดูอวัยวะชิ้นนั้นๆจะเห็นว่ามันมีช่องอณุเล็กๆแทรกอยู่เต็มไปหมดบ้าง-นั่นก็แสดงว่าธาตุดินจะก่อตัวกันขึ้นเป็นรูปร่างแบบใดๆก็ตาม ก็ต้องมีอากาศธาตุเแทรกอยู่ในทุกอณุของดินเพื่อให้มันเป็นช่องสำหรับความยืดหยุ่นเคลื่อนตัวและแทรกซึมระบายเกาะกุมรวมให้ธาตุอื่นๆได้นั่นเอง อันนี้จะเห็นว่า ในอวัยวะภายในหรือชิ้นเนื้อหนึ่งๆจะประกอบไปด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ อันประครองอาศัยกันอยู่เพื่อรวมตัวกันขึ้นเป็นธาตุนั้นๆเป็นรูปทรงของอวัยวะส่วนนั้นส่วนนี้อยู่ภายในกายเราเพื่อทำหน้าที่ต่างๆในสถาวะที่สมดุลย์กันจะขาดกันไม่ได้จึงสามารถดำเนินไปทำหน้าที่ซึ่งกันและกันต่อไปได้ ดั่งตับ ไต ไส้ กระดูก เป็นต้น - จากนั้นลองเอาอวัยวะหรือชิ้นเนื้อเหล่านั้น ไปวางทิ้งไว้ในที่ใดๆก็ตามมี พอระยะเวลาผ่านไปก็จะเห็นว่า เมื่อน้ำเหือดแห้งลงสภาพดินของอวัยวะส่วนนั้นๆแทนที่จะอ่อนนุ่มกลับกลายเป็นแข็งแม้ยังคงสภาพดินอยู่แต่ความอ่อนนุ่มก็ไม่คงอยู่แล้ว เมื่อขาตธาตุน้ำการเกาะกุมรวมกันของสภาพธุาตทั้งหลายอันจะทำให้คงอยู่ในสภาพเดิมของดินก็ไม่มีแล้ว เมื่อลมหายไปความทรงตัวอยู่ของธาตุดินก็ไม่มีแล้ว เมื่อไฟดับไปความหลอมรวมสภาพไรๆของดินก็ไม่มีแล้ว - จากนั้นไม่นานธาตุดินที่เป็นอวัยวะส่วนนั้นๆก็เสื่อมโทรมแปรเปลี่ยนและดับสลายไปในที่สุด ๒. แม้ในธาตุน้ำ ลม ไฟ ก็พิจารณาในกายอย่างนี้เป็นต้นส่วนเอกลักษณ์คุณลักษณะใดๆของธาตุ น้ำ ลม ไฟ ก็มีดังรูปที่ผมคัดลอกมาจากท่านณัฐพลศรแล้วจึงไม่ต้องอธิบายซ้ำซ้อนนะครับ จะยกตัวอย่างเพียงคราวๆที่พอไว้เป็นแนวคิดพิจารณาดังนี้ ๒.๑ ก็ดูจากภายนอก เช่น ปัสสาวะที่เราฉี่ออกมา น้ำมูกที่เราสั่งออกมา น้ำตาที่ไหลออกมา น้ำเลือด น้ำหนองที่ไหลออกมาลองสัมผัสดูว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร เอกลักษณฺ์ของมันคือ ความเอิบอาบ ซาบซ่าน เกาะกุม เหมือนกันหมดใช่ไหม นั่นคือเอกลักษณ์ของธาตุน้ำ ในกายเรานี้ก็ประกอบไปด้วยน้ำอันเกาะกุมซาบซ่านให้คงสภาพกายรวมกันไว้อยู่ฉะนี้แล ๒.๒ เมื่อเราดูภายนอกคงเคยเห็นลมพัดเข้าออกถ้ำหรือภายในบ้านมันเคลื่อนตัวตรึงไหวพัดผ่านเราไปอย่างไร แม้ในกายเราก็มีอย่างนั้นภายในกายเราเหมือนถ้ำหรือบ้านให้ลมพัดผ่านเคลื่อนตัว ดั่งลมในกระเพาะอาหารมันจะมีความพัดขึ้นเคลื่อนตัวออกมาทำให้เราเรอออกมา หรือ ลมที่พัดลงลมในสำไส้ที่ออกมาเป็นตดเราจะรู้ความเคลื่อนตัวตึงไหวของมันได้ใช่ไหมครับ อันนี้เราทุกคนรู้สึกได้ ๒.๓ เมื่อเราดูภายนอกเราย่อมเห็นไปที่เผาไหม้ เผาผลาญ ลุกโชนหลอมละลายรวมตัวกันไม่ว่าสิ่งใดๆทั้ง หิน เหล็ก น้ำมัน ไม้บ้าง มันหลอมได้หมดทุกอย่าง สภาพที่เราพอจะรู้สึกกับไฟได้คือมีสภาพร้อน แผดเผา ทำให้แสบร้อนบ้าง หรือ ภายนอกที่เป็นสภาพอากาศอุณหภูมิมันก็มีสภาพที่ทำให้ทั้งร้อน อบอุ่น และ เย็น ดังนี้ แม้ในกายเราไฟอันเป็นธาตุที่หล่อหลอมอยู่ก็มีสภาพเช่นนี้ คอยย่อยเผาผลาญอาหารบ้าง คอยปรับสภาพอุณหภูมิ หรือ ความอบอุ่น ร้อน เย็นในกายบ้าง ลองจับแขน จับแกล้ม เอามือแตะหน้าผาก หรือเอามือไปรองฉี่ที่เราเพิ่งฉี่ออกมา หรือเมื่อเลือดออกลองเอามือไปแต่เลือดดู จะเห็นว่ามันมีสภาพอุ่นบ้าง ร้อนบ้าง เย็นบ้างเป็นต้นออกมาจากกายเรานี้ เมื่อสภาพที่ไฟมีมากอันไม่สมดุลย์กับธาตุอื่นในกายก็เป็นเหตุให้เป็นไข้ ตัวร้อนบ้างเป็นต้น ลองพิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆก็จะเห็นความแยกเป็นธาตุในกายเราอันแม้ยังทรงบัญญัติอยู่ก็ตาม ดังตัวอย่างการพิจารณาของธาตุดินที่เป็นอวัยวะทั้งหลายในกายเรา ที่มีเกิดขึ้นในกายเราอย่างนี้ เราก็จะเริ่มเห็นว่ากายเหล่านี้มันประกอบไปด้วยธาตุ ๕ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศอันเป็นที่ว่าง-ช่องว่างหรือเป็นรูกวงในกายเรานี้ อาศัยกันเกิดขึ้นเพื่อยังทรงสภาพหลอมรวมเกาะกุมเคลื่อนตัวพยุงกันอยู่ มีวิญญาณธาตุอันเป็นธาตุรู้ดังนี้ จึงรวมเป็น ๖ ธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ หลอมรวมอาศัยกันขึ้นมาเป็นคน สัตว์ สิ่งของ ไม่มีตัวตนบุคคลใดที่เป็นนอกจากนี้ มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรเปลี่ยนเสื่อมโทรม และ สูญสลายดับไปในที่สุด เหมือนพิจารณาเห็นในอสุภะกรรมฐานเราจักเห็นความเสื่อมโทรมและสูญสลายไปในที่สุดของร่างกาย อวัยวะ อาการทั้ง 32 ไรๆ อันเป็นธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ ทั้งปวงในกายนี้ จำแนกอยู่เป็นประจำเนืองๆจะเข้าเห็นได้ถึงธาตุภายในกายด้วยประการเบื้องต้นดังนี้ เพิ่มเติมการพิจารณาธาตุด้วยการเพ่งกสินธาตุเทียบเคียง - อีกประการหนึ่งการจะให้มองเห็นเป็นธาตุนั้น โดยอาศัยการเพ่งกสิน เพื่อดับกามคุณ๕ เห็นเป็นธาตุ เช่น เพ่งธาตุดิน มีผลออกมาจะเห็นร่างกายของคนเป็นดินไปหมด (ซึ่งอานิสงส์จากการเพ่งกสินดินนี้ผมพบเจอมาด้วยตนเอง) ลองเพ่งกสินดินดูด้วยน้อมระลึกให้เห็นโทษของกามคุณ๕ เพื่อให้ละกามราคะได้ ให้เจริญเพ่งในกสินดังนี้ครับ ๑. โดยให้พึงเอาวงกสินดินมาเพ่งจนจดจำได้แม้ลืมตาหลับตาแล้วเพ่งระลึกไป จากนั้นก็พึงเพ่งดูรูปหรือนิมิตของวงกสินนั้นไปเรื่อยๆ พร้อมบริกรรมว่า ปฐวี กสินัง ดินๆๆๆๆ เริ่มแรกให้ทำเช่นนี้ไปก่อนจนสามารถเพ่งดวงกสินแล้วจิตรวมสงบลงได้ ในนิมิตที่เพ่งนั้นเราก็สามารถบังคับให้เล็กใหญ่ตามใจได้ เมื่อเราจะพึงระลึกนึกถึงเมื่อไหร่ก็เห็นนิมิตภาพวงกสินนั้นได้ทันที แล้วพึงเห็นภาพนิมิตนั้นได้นานตามปารถนา ทำให้ได้ตามนี้ก่อน ๒. ทีนี้เมื่อเรามองดูกายตนก็เพ่งดูเทียบพร้อมรำลึกถึงภาพดวงกสินดินนั้น แล้วบริกรรมว่า ปฐวี กสินัง ดินๆๆๆๆ เริ่มต้นอย่างนี้ไปเป็นการใช้กสินให้เห็นเป็นธาตุไม่ใช่เอาอภิญญา ซึ่งผมพลิกแพลงใช้เพื่อละกามราคะ อาจจะต่างจากครูบาอาจารย์ที่สอนในวิธีเจริญอภิญญา ซึ่งท่านสามารถทำน้ำให้เป็นดินได้ ทำดินให้เป็นน้ำได้ (รายละเอียดการเพ่งในแบบอภิญญาทั้งหลายมีสอนจากครูบาอาจารย์มากมาย โดยเฉพาะของพระราชพรหมญาณ ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์สายอภิญญา) หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 04, 2014, 04:31:31 PM บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๒ เมื่อตรึกนึกคิด หวนคำนึงถึงปรุงแต่งผัสสะทางใจแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) - พระตถาคตตรัสสอนว่า ให้เห็นว่าสักแต่เป็นเพียงความคิด - พระตถาคตตรัสสอนว่า ให้เห็นว่าสักแต่เป็นเพียงธรรมารมณ์ที่เป็นอกุศลลามกจัญไรที่ไม่ควรเสพย์ ดังนั้นให้มีสติรู้แยกแยะถูกผิด ดีชั่ว แล้วเลือกสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์ปราศจากทุกข์ นั่นคือ เลือกธรรมารมณ์ที่ควรเสพย์ - พระตถาคตตรัสสอนว่า ให้ละความพอใจยินดีและไม่พอใจยินดี อันทำให้เกิดความกำหนัดฝักใฝ่หมกมุ่นถวิลหาใคร่ที่จะเสพย์เมถุนกับบุคคลที่เรานั้นกำลังตรึกนึกคิดถึงเขาอยู่นั้นๆไปเสีย ละความตรึกนึก และ บุคคลเรื่องราวที่ตรึกนึกนั้นๆไปเสีย เหล่านั้นไปเสีย สิ่งที่นึกนั้นไม่จริงสักแต่เป็นเพียงนิมิตที่เราปรุงแต่งเรื่องราวสร้างขึ้นโดยอาศัยความจำได้จำไว้ปรุงแต่งประกอบเข้าไปเท่านั้น โดยทั้งๆที่ความจริงแล้ว เขาไม่ได้มายุ่งเกี่ยวหรือกระทำการใดๆรู้สึกใดๆกับเราเลย เราบ้าเสพย์ความคิดตนเองไปเท่านั้นทั้งที่ไม่จริง ติดอยู่ในโลกแห่งความคิดหรือโลกส่วนตัวนั้นๆก็เป็นดั่งคนบ้าขาดสติลุ่มหลงเพ้อฝันเท่านั้น กลับมาอยู่กับปัจจุบันโลกแห่งความจริง ด้วยวิเคราะห์เห็นตามพระธรรมคำสอนดังนั้นแล้ว ตัวเราจึงตั้งจิตมั่นทำไว้ในใจโดยหมาย วิธีดับราคะ เมื่อเกิดความตรึกนึกคำนึงถึง ดังนี้คือ - ธรรมดาสิ่งที่ล่วงมาแล้ว สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง ย่อมอาศัยความตรึกนึกอันไปไปในราคะกำหนัดในเมถุน(ความมีเพศสัมพันธ์)ทำให้เกิดความปรุงแต่งเสพย์อารมณ์อันเป็นไปในราคะตามความติดใจเพลิดเพลินนั้นๆ ดังนั้นเมื่อจะละก็ละที่ความคิด - เมื่อพิจารณาเห็นในธรรมารมณ์ที่ควรเสพย์และไม่ควรเสพย์ตามจริงดังนั้น ตัวเราจึงเห็นโทษของอกุศลวิตก จึงได้ตั้งจิตมั่นทำไว้ในใจโดยหมายใน เนกขัมมวิตก ความตริในทางพรากจากกาม , ความนึกคิดในทางเสียสละ ไม่ติดในการปรนปรือสนองความอยากของตน ดังนี้คือ ๑. เริ่มแรกสุดเลยให้พึงละอกุศลและทำกุศลให้เกิดขึ้น ด้วยถือใน เนกขัมมะ คือ การบวช ถ้าปุถุชนฆราวาสทั่วไปก็ให้ตั้งจิตมั่นบวชใจ ซึ่งจะทำได้สำเร็จดีนั้น เราก็ต้องมี ศรัทธา คือ ความเชื่อด้วยปัญญาพิจารณาเห็นได้จากความเป็นเหตุเป็นผลตรวจสอบได้ตามจริง ไม่มีความครางแครงใจสงสัยอีก โดยเริ่มจาก เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก่อน เมื่อเชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็ต้องเชื่อในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่าศีลเป็นฐานที่ตั้งแห่งกุศล ศีลเป็นรากฐานของทุกอย่าง เพรามีศีล สมาธิจึงเกิดมีได้ เพราะมีสมาธิ ปัญญาญาณจึงเกิดมีได้ เพราะมีปัญญา(สัมมาญาณรวมถึงโพชฌงค์ ๗) วิมุตติความหลุดพ้นจึงมีได้..ดังนี้ เปรียบดั่งต้นไม้ เพราะมีรากอยู่จึงจะเจริญงอกงามแผ่กิ่งก้านสาขาออกดอกออกผลได้ เปรียบศีลเป็นดั่งรากต้นไม้ หากรากดีแน่นหนา ลำต้นของต้นไม้จึงจะเจริญเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาได้ เปรียบสมาธิเป็นดั่งลำต้นของต้นไม้นั้น เมื่อมีศีลที่ดีหยั่งรากลึกแน่นหนาสมาธิจึงจะเจริญงอกงามแผ่กระจายงอกงามดุจกิ่งก้านสาขาขึ้นปกคลุมลำต้นให้งดงามใหญ่โตเป็นร่มเงาขึ้นมาได้ เปรียบดอกผลเป็นดั่งปัญญาญาณ เพราะมีกิ่งก้านสาขาเติบโตขึ้นมาแผ่กระจากปกคลุมจึงเกิดผลิดอกออกผมขึ้นมาได้ ถ้าไม่มีสมาธิคือกิ่งก้านสาขา มีแต่ลำต้นก็ไม่มีทางหรือเป็นไปได้ยากที่ต้นไม้นั้นจะผลิดอกออกผล เพราะดอกผลของต้นไม้นั้นย่อมขึ้นอยู่ตามกิ่งก้านใบสาขาที่แผ่กระจายออกมา ดังนั้นถ้าไม่มีสมาธิก็ยากที่จะเกิดปัญญารู้เห็นตามจริงโดยปราศจากความคิดอนุมานคาดคะเนได้ ดังนั้นเมื่อรู้เห็นดังนี้ มีความศรัทธาในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ก็ต้องเชื่อและศรัทธาตามจริงว่า ศีล เป็นฐานให้เกิดสมาธิ ศีลที่บริบูรณ์ดีแล้วจึงจะสร้างสมาธิได้ เมื่อศรัทธาอย่างนี้ก็จะเกิดเป็นกำลังใจ เรียกว่า พละ มีศรัทธาพละเป็นต้น ทำให้เรามีความตั้งจิตมั่นที่จะดำรงในศีล เกิดเป็นวิริยะพละ กำลังใจแห่งความเพียรที่จะกระทำ ยิ่งถ้าทำแลเวได้ผลดีก็ก่อให้เกิดฉันทะอิทธิบาท ๔ พอใจยินดีที่จะมีศีลดำรงศีล ยิ่งเป็นศีลข้อใดที่เราให้ความสำคัญไว้มากอยากจะให้เกิดความบริสุทธิ์มีมากในศีลข้อนั้น แล้วเมื่อเราทำได้ก็ยิ่งจะทำใหัเรามีความยินดีมากที่เราทำได้นั้น เป็นบ่อเกิดแห่ง วิริยะอิธิบาท ๔ นั้นมีเต็มกำลังใจเสริมให้มีวิริยะพละมากขึ้นไปอีก ทำให้เกิดมีใน จิตตะ และ วิมังสา แห่งอิทธิบาท ๔ สืบต่อมา ทำให้เกิดขึ้นมาซึ่ง สัมมัปปะธาน ๔ คือ ความเพียรที่จะละอกุศลที่ยังไม่เกิดหรือเกิดขึ้นแล้ว และ สร้างกุศลให้เกิดขึ้นแล้วคงรักษาไว้ไม่ให้เสื่อม โดยอาศัยสติคอยระลึกรู้แลดูจิตตนตลอดเวลา มีสัมปะชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อมในปัจจุบันขณะ เป็นผลให้เกิดมีสติสัมปะชัญญะที่พอควร ทำให้เกิดสมาธิที่พอควรได้ด้วย เหตุดังนี้เป็นต้น ทีนี้ก็ให้เราตั้งจิตมั่นทำไว้ในใจว่า ๑.๑ ถือเนกขัมมะ คือ บวช ตั้งจิตมั่นทำไว้ในใจว่า เราจักถือศีลข้อ อพรหมะจริยา เวระมณี สิกขา คือ จะละเว้นซึ่งสิ่งไรๆที่จะพรากพรหมจรรย์ไป เช่น ก.ไม่คิดกับผู้อื่นหรือเพศตรงด้วยจิตอันฝักใฝ่ใคร่ปารถนาน้อมไปในเรื่องเมถุน, ไม่คิดถึงผูัอื่นด้วยใจที่น้อมไปด้วยความฝักใฝ่หมายใจไว้มั่นในเรื่องเมถุน, ไม่คิดถึงผู้อื่นด้วยใจทึ่หมกมุ่นในราคะเมถุน ข.ไม่มองเพศตรงข้ามด้วยความมีใจน้อมไปในความฝักใฝ่ใคร่ถวิลหา หมายใจปารถนาใคร่ในเมถุนต่อเขา ค.ไม่พูดกับเพศตรงข้ามในเชิงชู้สาว คือ สนทนาด้วยความมีใจใคร่ปารถนา หมายมั่นด้วยใจใฝ่จะให้เป็นไปในเมถุน ง.ไม่ถูกต้องสัมผัสกายเพศตรงข้ามด้วยความมีใจน้อมฝักใฝ่ปารถนาหมายมั่นใคร่ใจในเมถุน, ไม่กระทำหรือแกล้งทำการอันใดให้น้ำอสุจิเคลื่อน, เว้นจากการเสพย์เมถุน - ให้ตั้งจิตมั่นที่จะดำรงกาย วาจา ใจดังนี้ โดยให้เริ่มจากกำหนดวันและเวลาจากน้อยไปหามากจนถึงตลอดชีวิต อานิสงส์ คือ มีสมาธิจากศีลอุโบสถ จิตละความฝักใฝ่ในเมถุน อีกทางคือมีสมาธิอันเอื้อต่อสติ ทำให้สติมีกำลังมากพอที่จะดำเนินไปในอาการ ๒ คือ ก.แยกแยะสิ่งที่ดีหรือไม่ดี กุสลหรือกุศล ถูกหรือผิด มีประโยชน์หรือไม่มีประโยน์ ข.เลือกเฟ้นทางที่ดีเป็นกุศลประกอบไปด้วยประโยชน์ ๑.๒ ถือเนกขัมมะ คือ บวช ตั้งจิตมั่นทำไว้ในใจว่า เราจักถือศีลข้อ วิกาลโภชนา เวระมณี สิกขา คือ จะละเว้นการกินข้าวเมื่อเวลาเที่ยงตรง หรือ เวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นตรงหัว กล่าวคือกินตอนเช้าเมื่อแดดออกเห็นเงามือและเวลาเพลก่อนเที่ยงตะวันตรงหัว แต่หากเข้างานกะ ให้ตั้งจิตทำดั่งพระตถาคตตรัสสอนว่า จะกินเพียงมื้อเดียวหรือสองมื้อ โดยระลึกว่ากินเพื่อยังชีพอยู่เท่านั้น ไม่กินตามความเพลิดเพลินอิ่มหนำสำราย คือ นึกได้ก็กินบ้าง อยากตอนไหนก็กินบ้างเป็นต้น อานิสงส์ คือ มีสมาธิจากศีลอุโบสถ จิตละความฝักใฝ่ในเมถุน เพราะไม่อยู่ด้วยความอิ่มสำราญทำให้จิตที่จะไปตรึกนึกถึงมีเมถุนน้อย เพราะไมีมีกำลังจะไปตรึกถึงถึงเมถุน อีกทางคือมีสมาธิอันเอื้อต่อสติ ทำให้สติมีกำลังมากพอที่จะดำเนินไปในอาการ ๒ คือ ก.แยกแยะสิ่งที่ดีหรือไม่ดี กุสลหรือกุศล ถูกหรือผิด มีประโยชน์หรือไม่มีประโยน์ ข.เลือกเฟ้นทางที่ดีเป็นกุศลประกอบไปด้วยประโยชน์ ๒. พึงดึงสติขึ้รกรรมฐาน เช่น ระลึกถึงพุทธคุณ ระลึกรู้ลมหายใจเข้าออกเป็นต้น ๒.๑ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ว่าด้วยคุณแห่ง อรหัง คือ ความที่พระพุทธเจ้านั้นได้ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิงแล้ว กำหนดนิมิตว่าพระตถาคตแผ่เอาคุณนั้นมาสู่ตน เพื่อให้ตนสลัดกิเลสทิ้งได้ ๒.๒. ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ว่าด้วยคุณแห่ง พุทโธ คือ ความที่พระพุทธเจ้านั้น เป็นผู้รู้ คือ สู้ว่าเป็นสมมติบัญญัติ รู้ทางหลุดพ้นจากสมมตินั้นๆ ผู้ตื่น คือ ตื่นจากความหลงมัวเมาคือโมหะ ผู้เบิกบาน คือ พ้นแล้วจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองได้บรรลุบทที่พระพุทธเจ้านั้นทำโดยบริบูรณ์ดีแล้ว กำหนดนิมิตว่าพระตถาคตแผ่เอาคุณนั้นมาสู่ตน เพื่อให้ตนสลัดกิเลสทิ้งได้ ๒.๓. เพื่อให้ตนสลัดกิเลสทิ้งได้ ก็ให้ระถึงว่าเราถึงซึ่งพระนิพพานที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนชีทางให้แล้ว แล้วคนที่จะไปนิพพานได้ก็ต้องมีคุณที่ควรแก่การไปถึง คือ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ่นแล้ว สลัดคืนกิงขันธ์ทั้งปวงแล้ว ว่างจากกิเลสทั้งปวงแล้ว ระลึกถงคสามว่างจากกิเลส ให้ระลึกเอาความว่างโล่งในสมองปราศจากความตรึกนึก คือ - มีอุเปกขาสัมโพชฌงค์ ความว่างอันมีวิราคะเป็นที่ตั้ง หรือ จะระลึกถึงความว่างในอุเปกขาฌาณที่ว่างสงบปราศจากความปรุงแต่งไรๆ ๓. ให้ตั้งจิตระลึกรู้เห็นตามจริงว่า เขาไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา สักแต่เป็นเพียงความคิดเป็นมโนภาพที่เราตรึกนึกปรุงแต่งสร้างเรื่องราวต่างๆขึ้นมาตามความรักใคร่พอใจยินดีของตนเท่านั้น มิใช่ความจริงเลย จากนั้นให้พึงกำหนดรู้ว่า ความหมายที่จะเสพย์เมถุน กระทำการเสพย์เมถุนพระพุทธเจ้าตรัสว่าเหมือนโรคเรื้อน ไม่ว่าจะแกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน หรือ เสพย์เมถุน ต่างก็ติดในความเพลิดเพลินนั้น เกิดความใฝ่หาและกระทำตามความต้องการนั้นๆเรื่อย เป็นเหตุให้จิตใจเศร้าหมอง กายก็ทรุดโทรมเป็นโรค เป็นแผล เป็นฝี เป็นหนอง เป็นสังคังยิ่งเกายิ่งมันยิ่งคันยิ่งเกา ยิ่งเกามากเท่าไหร่ก็ยิ่งเกิดแผลผุพองติดเชื้อลามไปมากเท่านั้น บ้างฉี่บ่อย บ้านเป็นหนองใน บ้างเป็นเอดส์ บ้างเป็นฝีมะม่วง เมื่อเกิดโรคเหล่านี้เราก็จะไม่สามารถปฏิบัติธรรมเพื่ออกจากทุกข์ได้ หรือ จะต้องใช้ชีวิตลำบาก หรือต้องตายเป็นต้น จะเห้นว่าผลเสียมากมายนักเพื่อแลกกับแค่น้ำอสุจินั้นเคลื่อนจากการแกล้งทำบ้างหรือเสพย์เมถุนบ้าง ดังนั้นเราก็ควรพึงละความกำหนัด ใคร่ปารถนา ฝักใฝ่ หมกมุ่น ถวิลหาที่จะได้เสพย์ในอารมณ์ความรู้สึกนั้นๆไปเสีย หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 04, 2014, 04:31:40 PM บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๓ ละโดย พรหมวิหาร ๔ เมื่อรู้ผัสสะทางสฬายตนะแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๑. เขาก็อยู่ของเขาดีๆแล้วแต่เรานี้เองเข้าไปตั้งความกำหนัดราคะอันมัวหมองนั้นแก่เขา ๒. เขามีชีวิตที่งดงามเบิกบานดีแล้ว เราจะนำความมัวหมองและทุกข์ไปหยั่งเอาเขาเพื่ออะไร เขาไม่ควรถูกต้องความมัวหมองจากเรา ๓. มองย้อนกลับมาสู่ตนก็จะเห็นว่า เรามีอารมณ์ความคิดความรู้สึกอย่างนี้ๆ เมื่อจะเพิกมองผู้ใดก็มักจะมองคนอื่นเป็นอย่างที่ตนคิดตนเป็นอย่างนั้น ตนมีราคะเมถุนก็มักจะมองคนอื่นมีราคะเมถุนเหมือนกัน แล้วก็ตรึกนึกปรุงแต่งเรื่องราวไปทั่วตามจิตตนที่เสพย์อารมณ์ทางใจอยู๋นั้น จึงเป็นคำกล่าวที่ว่า "ตนเป็นเช่นไร-ก็ย่อมจะมองคนอื่นอย่างนั้น..มันเป็นอย่างนี้แหละ" ทีนี้ "เมื่อเราจิตเป็นกุศล-ก็จะมองคนอื่นด้วยกุศลดังนี้" เมื่อรู้ว่าสิ่งใดที่เราควรละและสิ่งใดที่เราควรทำควรเจริญให้มากแล้ว ก็ให้เจริญปฏิบัติดังนี้ - ตั้งจิตแผ่ด้วยใจปารถนาให้เรานั้นเป็นผู้มีความสุขกายสุขใจแจ่มใสเบิกบาน ปราศจากความทุกข์ สงัดจากกามราคะ โลภะ โทสะ โมหะ เครื่องแห่งความร้อนรุ่มร้อนรนใจใดๆเหล่านี้ทั้งสิ้นไป โดยพึงระลึกว่า ๑. การที่เราเพียงแค่รู้ผัสสะทางสฬายตนะ เช่น มองเห็นเขาด้วยตาทั้งๆที่เขาก็อยู่ของเขาอย่างนั้นไม่ได้มาใฝ่ใจในเมถุนกับเราเลย มีแต่เราที่ใฝ่ในเมถุนแล้วก็เร่าร้อนกายใจใคร่ที่จะเสพย์ในเมถุน เราเป็นผู้ถูกทุกข์หยั่งเอาแล้ว เราควรสงสารตัวเองให้มาก แล้วปารถนาให้ตนได้เป็นสุขหลุดพ้นจากทุกข์อันเร่าร้อนนั้นเสีย ๒. หากเราจะแกล้งทำให้น้ำอะสุจิเคลื่อน ก็ให้พึงระลึกว่า นี่น่ะเราเสพย์ติดในความคิดปรุงแต่งด้วยความฝักใฝ่ในเมถุนของตน จนตนเองต้องมาเร่าร้อน ทั้งๆที่เขาก็อยู่ของเขาอย่างนั้น อยู่ที่ไหนทำอะไรอยู่ก็ไม่รู้ ไม่ได้มาเสพย์เมถุนกับเราเลยสักนิด เราปรุงแต่งความคิดอนุมานคาดคะเนสร้างเรื่องราวไปเมถุนไปทั่วเองทั้งหมดไม่ใช่เรื่องจริงเลย ดูสิว่าน่าสงสารตนเองที่เสพย์ติดอยู่กับความคิดไหม ทำให้ตนเองเร่าร้อนมัวหมองเปล่าๆ เราต้องสงสารตัวเองที่เร่าร้อนลุ่มหลงเพราะราคะเมถุนให้มากๆ ๓. เมื่อเราสงสารตัวเอง ก็เจริญจิตระลึกน้อมถึงคุณแห่งความเป็น อรหัง คือ ดับสิ้นเพลิงกิเลสทุกข์ และ พุทโธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น จากความลุ่มหลงมัวเมาในกิเลส สมมติ บัญญัติ ทรงได้ตื่นจากโมหะแล้ว ผู้เบิกบาน บริสุทธิ์บริบูรณ ์ดีแล้วนั้นแผ่มาสู่ตน เมื่อสงบใจได้ก็ให้พึงแผ่เมตตาให้ตนเองด้วยใจปารถนาให้ตนเป็นสุขพ้นจากกิเลสทุกข์ ไม่หลงอยู่ในกิเลสเครื่องลุ่มหลงมัวเมา ไม่ลุ่มหลงในสมมติบัญญัติอีก - ตั้งจิตแผ่ให้ตนเองด้วยความปารถนาให้เรานั้นเป็นผู้ไม่ติดใคร่ฝักใฝ่ปารนาใคร่ได้ที่จะเสพย์ในเมถุน ปารถาให้เราไม่คิดเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นด้วยราคะเมถุน ปารนาให้เราไม่ดำรงจิตอยู่ด้วยความหมายมั่นใจขลุกใคร่ที่จะพรากพรหมจรรย์ของตนเองและผู้อื่น - ตั้งจิตแผ่ให้เราจงเป็นไม่ผูกเวรไม่ผูกโกรธไม่ผูกแค้น ไม่ผูกพยาบาทอาฆาตมาดร้าย ไม่มีความเบียดเบียนหมายที่จะทำลายให้เขาฉิบหาย - ตั้งจิตแผ่ขอให้เราเป็นผู้มีจิตเป็นสุขกุศลแจ่มใสเบิกบานอันสลัดจากกิเลสทุกข์ทั้งปวงแล้ว - ตั้งจิตแผ่ขอให้เรานั้นจงเป็นผู้ มีอยู่ คงอยู่ รักษาอยู่ ซึ่งกายวาจาใจอันเป็นไปในกุศล ศีล+พรหมวิหาร ๔+ทาน+สมาธิ+สัมปชัญญะ+สติ+ปัญญา จนเข้าถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ฯลฯ เมื่อแผ่เมตตาให้ตนเองจนสงบใจได้แล้วความร้อนรุ่มใจย่อมถูกสลัดทิ้งไปเพราะความกำหนัดยินดีปารถนาใคร่ได้ที่จะเสพย์ในเมถุนอกุศลธรรมอันลามกจัญไรเหล่านั้นได้ถูกขจัดทิ้งหมดแล้วในใจเราในขณะนี้ ความผ่องใสจิตย่อมเกิดขึ้น จิตเป็นกุศลมากขึ้น "เมื่อจิตเราเป็นกุศล-ก็จะมองผู้อื่นด้วยกุศลเอ็นดูปารถนาดีอันน้อมไปในการสละ" จากนั้นให้ตั้งจิตทำไว้ในใจดังนี้ว่า ๑. พระตถาคตตรัสสอนอยู่เสมอๆให้สาวกทั้งหลายทำไส้ในใจ มีรูป มีอาการทั้ง ๓๒ ประการ มีปฐวีธาตุเสมอเหมือนด้วยเราเป็นต้น เป็นอารมณ์ แล้วทำไว้ในใจว่าเราจักมีความเอ็นดูปรานีปารถนาดีต่อคนและสัตว์ทั้งปวงบนโลกนี้ มีความพอใจยินดีที่คนอื่นเป็นสุขปราศจากทุกข์ ได้หลุดพ้นจากทุกข์ ยินดีเมื่อเขามีกายใจเบิกบานไม่เศร้าหมองด้วยกิเลสกามราคะทั้งปวง ด้วยเหตุดังนี้แล้ว เขาก็อยู่ของเขาปกติดีอยู่แล้ว ถึวเขาจะเคยทำผิดพลั้งหรือกำลังทำกายใจตนให้มัวหมองอยู่หรือไม่ก็ตามแต่ เราควรที่จะละจากการเอาอกุศลธรรมอันลามกจัญไรไปใส่ทับถมเขาเพิ่มเติม เพื่อความไม่ซ้ำเติมให้เขามัวหมองมากขึ้นไปอีก ดังนั้นเราผู้เป็นสาวกของพระตถาคตก็ควรยินดีที่จะทำให้เขาไม่เศร้าหมองกายใจ ไม่เอากิเลสทุกจ์อุนเศร้าหมองกายและใจไปหยั่งลงเขา ๒. เมื่อพิจารณาเห็นตามนี้แล้ว ให้เราพึงเจริญจิตขึ้นมีรูป คือ คนๆนั้น บุคลนั้นๆ เป็นสิ่งที่งดงามอันมีอยู่ในโลก เป็นอาการทั้ง 32 ประการเสมอเหมือนด้วยเรา ไม่ควรต่อความมัวหมองที่เราจะเอาไปหยั่งลงสู่เขา ควรที่เรานั้นจะมีความเอ็นดูปรานี ปารถนาดีอยากใหัเขาเป็นสุขปราศจากมลทินเครื่องมัวหมองอันเป็นทุกข์เร่าร้อนทั้งปวง เป็นสิ่งที่เขานั้นควรมี ควรเป็น ควรได้รับ เสมอด้วยตัวเราปารถนาจะได้มีได้รับความสุขอันบริสุทธิ์บริบูรณ์นั้น แล้วพึงตั้งจิตเจริญขึ้นด้วยความปารถนาดีต่อเขาอยากให้เขาเป็นสุขปราศจากกาม ราคะ โทสะ โมหะ ใดๆมาคลุกคลามกายและใจเขา เจริญจิตขึ้นแผ่เมตตาจิตต่อเขา ซึ่งการจะเข้าถึงซึ่งการจะแผ่เมตตาให้บุคคลที่เรามีจิตฝักใฝ่ในเมถุนนี้ได้นั้นเราก็ต้องมีเจตนาดังนี้คือ ๑. ตั้งจิตมั่นทำไว้ในใจที่จะถึงในพรหมจรรย์ คือ เจตนาที่จะถือเนกขัมมะ มีศีลขอ "อพรัหมมะจริยา เวระมณี สิกขา" นั่นคือ ไม่พรากหรือทำลายเพศพรหมจรรย์ของตนเองหรือผู้อื่น, ไม่แลมองเขาด้วยจิตที่ฝักใฝ่หมกมุ่นใคร่ปารถนาในเมถุน, ไม่พูดคุยกับเขาในเชิงชู้สาว คือ ไม่พูดคุยกับเขาด้วยความที่เรามีจิตน้อมไปในความกำหนัดฝักใฝ่ปารถนาหมกมุ่นคลุกใคร่ถวิลหาที่จะเสพย์เมถุนต่อเขา, ไม่ต้องสัมผัสกายเขาด้วยใจน้อมฝักใฝ่หมายมั่นใจใคร่ในเมถุน, ไม่แกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน, ไม่เสพย์เมถุน ๒. ตั้งจิตมั่นทำไว้ในใจปารถนาอยากให้เขาเป็นสุขปราศจากกิเลสทุกข์อันเร่าร้อนหยั่งลงคลุกคลามกายใจให้มัวหมอง ปารถนาให้เราและเขาเป็นมิตรที่ดีมีความเอ็นดูเอื้อเฟื้อต่อกันและกัน เห็นซึ่งกันและกันเป็นของงามอันควรแก่ความเอ็นดูปารถนาดีต่อกัน - ด้วยความเห็นเป็นคนด้วยกัน - เห็นเป็นสัตว์โลกด้วยกัน - เป็นเพียงขันธ์ ๕ เหมือนกัน - เป็นอาการทั้ง ๓๒ ประการอันมีหนังหุ้มเป็นที่สุดรอบเหมือนกัน - เป็นกอง ๔ ที่มาประชุมกันมีธาตุดินเป็นต้นเหมือนกัน - เป็นเพียงกองขันธ์กองธาตุ อันไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน อันเป็นที่ประชุมไว้แห่งทุกข์ทั้งปวงเหมือนกัน ด้วยเหตุดังนี้ๆจึงควรแก่ความเอ็นดูปารถานาดีต่อกัน ดั่งเราอยากให้คนอื่นเป็นมิตรที่ดี มีจิตใจดีงาม คิดในทางที่ดีเป็นกุศลต่อเราและบุคคลอันเป็นที่รักของเรา ไม่มองเราและบุคคลที่เรารักและหวงแหนยิ่งด้วยความกำหนัดราคะหมายที่จะเสพย์ในเมถุนฉันนั้น แล้วแผ่เอาควงามเอ็นดูปรานีอยากให้เขาเป็นสุขได้หลุดพ้นจากกองกิเลสทุกข์ ไม่มีไฟราคะคลุกคลามกายและใจนั้นไปสู่เขา - พึงตั้งเจตนามั่นมีความประสงค์ที่จะอนุเคราะห์เอื้อเฟื้อแบ่งปันสุขอันเป็นกุศลที่เจริญมาดีแล้วนี้ของเราให้แก่เขา ด้วยหวังให้เขาหลุดพ้นจากความมัวหมอง หม่นหมองไรๆ ปราศจากกาม ราคะ โทสะ โมหะ อันพึงมีเข้ามาคลุกคลามกายและใจเขานั้น ด้วยมีจิตตั้งอยู่ในความยินดีเมื่อเขาได้หลุดพ้นทุกข์แล้วได้รับความสุขนั้นๆจากเป็นต้น จากนั้นตั้งจิตทำไว้ในใจสละให้ซึ่งบุญกุศลทั้งปวงที่เราสะสมมาดีแล้วทำมาดีแล้วนี้ให้แก่เขาด้วยหวังให้เขาเป็นสุขแจ่มใสเบิกบานกายและใจ ปราศจากความร้อนรุ่มเศร้าหมองใจ ปราศจากเวรภัยอุปสรรคอันตรายใดๆทั้งปวง - ฉันบุตรหลาน ญาติมิตร หรือ บุคคลอันเป็นที่รักนั้นจะพึงมีให้แก่กัน แล้วพึงละจิตอันประกอบด้วยราคะที่มีต่อเขานั้นลงเสีย เพื่อให้เขานั้นอยู่เป็นสุขอันดีไม่มีความมัวหมองจากอกุศลธรรมอันลามกนั้นๆของเรา สละกุศลธรรมอันที่เราสะสมมาดีแล้วให้แก่เขาด้วยอยากให้เขาเป็นสุขผ่องใสปราศจากเวรภัยจาก กาม ราคะ โทสะ โมหะ ไรๆมาเบียดเบียน จนถึงแก่ความเปลื้องจิตออกจารูป่ี่รู้ผัสสะอยู่นั้นิและเปลื้องจิตตนอันไม่ติดในรูปขันธ์หรือกองธาตุ ๔ ทั้งปวง มีธาตุดินเป็นต้น สละคืนซึ่งรูปขันธ์ อาการทั้ง ๓๒ ประการทิ้งไป เพิกจิตไปจับยึดเอาความว่าง หรือ สีอันบริสุทธิ์ เช่น สีเขียวที่สว่างสงบเย็นเป็นอารมณ์(สังเกตุดูแสงสว่างที่บริสุทธิ์มักจะมีประกายสะท้อนเป็นสีเขียว หรือเวลาที่เราเคยถึงสมาธิจดจ่อดีแล้ว เวลาเราจะเบิกจิตออกจากกาย เช่นคุยกันทางจิตบ้าง จิตเราจะทิ้งกายแล้วไปจับเอาสีๆในนิมิตสมาธินั้นมีเสียง อย่างนี้เป็นต้น) จากนั้นให้แผ่เอาจิตอันสงเคราะห์นี้ไปสู่เขา (ซึ่งที่เราเคยรับรู้สัมผัสได้นั้น(หากไม่หลงไปว่าถึง) จิตสงเคราะห์ของเราจะมีกำลังมากหาประมาณมิได้ไม่อยู่เพียงแค่กายแค่รูปแต่จะแผ่ทั่งไปหมด) - เมื่อตั้งจิตแผ่ไปอย่างนี้ๆจิตอันร้อนรุ่มของเราก็จะดับไปและไม่มีจิตอันเป็นอกุศลธรรมอันลามกให้วิตกตรึกนึก เขาก็พ้นจากความเบียดเบียนอันเป็นไปในราคะอกุศลธรรมอันลามกจัญไรทั้งปวงเหล่านั้น เมื่อเราเข้าถึงความมีจิตเป็นสุขยินดีไปกับเขาเมื่อเขาเป็นปกติสุขแจ่มใสปราศจากกิเลสทุกข์อันมัวหมองกายและใจโดยปราศจากความริษยา จิตเราย่อมยังความผ่องใสยินดีโดยความไม่ติดข้องใจไรๆ ที่เราได้มีความเมตตา กรุณา มุทิตา(ขั้นต้น) และ ทาน นี้ๆให้แก่เขา โดยสละทิ้งซึ่งจิตอันเป็นราคะเมถุนที่เราเพลิดเพลินยินดีแต่ต้องทำให้เขามัวหมองไป ให้เป็นเมตตาทานอันประเสริฐแก่เขาได้พ้นจากทุกข์ภัยอันเบียดเบียนนั้น แล้วยังคงไว้ซึ่งความสะอาดบริสุทธิ์งดงามอันนั้นอยู่ จากนั้นให้เพิกจิตออกจากวามโล่งว่างที่แผ่สงเคราะห์ไปอยู่นั้น แล้วยกเอาจิตไปจับที่จิตที่ยินดีเป็นสุขไปกับเขานั้น - จากนั้นพึงเห็นคนเรานั้น ไม่มีสิ่งใดคงอยู่นาน สุขและทุกข์เกิดดับๆบังคับให้เป็นสุขไม่มีทุกข์ก็ไม่ได้ พอไม่เป็นไปตามปารถนาก็ทุกข์เจอความพรัดพรากผิดหวังก็ทุกข์ ดังนั้นความไม่ยึดเหนี่ยวสิ่งไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ไม่ใข่เรา ไม่ใช่ของเราทั้งสิ้น เราจึงไม่ทุกข์ ก็เพิกจิตออกไปจากทุกสิ่งทุกอสิ่งทุกอย่างสละคืนสิ่งที่ยึดจับยึดเหนี่ยวอยู่ทั้งหมด ไม่ตั้งจิตยึดจับเอาอะไรเลยมาเป็นที่ตั้งแห่งจิต จนถึงซึ่งความว่าง หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 04, 2014, 04:32:26 PM ละด้วยวิปัสสนา ธรรมดับราคะมีศีลเป็นหลักเมื่อเพียรทำจะเกิดสติและสัมปะชัญญะขึ้นมาเองรองมาคือสมาธิที่ควรแก่งานมากขึ้น โดยจะมีการรู้ลมหายใจเป็นการสร้างกำชังให้สาาธิจดจ่อมากขึ้น ซึ่งส่วนการฝึกนี้นั้นไม่ต้องอาศึย ยสมาธิมากก็ทำได้ แต่วิธีนี้จะสร้างสมาธเให้เอง แต่ในส่วยวิปัสสนาต้องอาศัยสมาธิจึงรู้ได้ เพราะมันมีกิเลสอย่างละเอียด ถ้าอย่างหยาบมันก็เห็นง่าย ถ้าละเอียดต้องอาศัยสมาธิจึงจะเห็น ถ้าไม่ทำสมาธหรื้อไม่มีสมาธิถึงอ๕ปจารฌาณ ก็รู้และทำแค่นี้ก่อน แล้วปฏิบัติให้ชำนาญจะเกิดสติ+สัมปะชัญญะและสมาธิที่พอควรได้ นี่ก็ชื่อว่าทำในสัมมัปปธาน๔ โดยมีสติในศีลและลมหายใจกำกับอยู่ -> ให้ถึงสมาธิที่เป็นวิราคะเป็นผล สมาธิที่ได้จะได้กับทั้งสติสัมปะชัญญะเกื้อหนุน และจาก พุทธานุสสติ อานาปานสติ อุปสมานุสสติ และ พรหมวิหาร๔ ได้เมตตาฌาณ เมื่อได้ตามนี้ค่อยพิจารณาวิปัสสนาญาณคือให้รู้ตามมัน เริ่มจากความคิดก่อนว่าเป็นควาาคิดกุศลหรืออกุศล แต่คิดก็กำกับรู้ว่าคิด แล้วค่อยๆจับเอาสภาพจริงคืออาการของจิต จากการเสพย์เสวยอารมณ์จากความคิดที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เริ่มจากอารมณ์หยาบก็จะเห็นง่าย ว่ามันมีอาการเป็นอย่างไร เช่น - รื่นเริงบันเทิงใจ พอใจยินดีในอารมณ์นั้นๆ เพลิดเพลินใจ ปลื้มตื้นตัน พองฟูใจ ติดใจในความเพลิดเพลิน น่าใคร่ปารถนาในในอารมณ์นั้นๆ ฝักใฝ่หมายมั่นใจหมกมุ่นใคร่ยินดีในอารมณ์นั้นๆ เร่าร้อนกายใจอัดหวีดทะยานอยากจะมีจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ใจหวีด วูบวาบ วาบหวิวทะยานอยากใคร่ได้ที่จะเสพย์ในอารมณ์นั้นๆ - ไม่สบายกายไม่สบายใจ ไม่พอใจยินดี ขุ่นมัวขัดใจ ขุ่นเคืองใจ เร่าร้อนอัดทะยานอยากใคร่ที่จะผลักไสอารมณ์นั้นๆให้ไกลจากตน - มัวหมองใจ เศร้าหมองใจ ตรึงๆกายใจ หนักหน่วงไม่เบาโล่งกายใจ หม่นหมองใจ ไม่แจ่มใสเบิกบานผ่องใสกายและใจ - แช่มชื่นกายใจ อิ่มเอม รื่นรมย์สบายกายและใจ สงบอบอุ่นแต่เบาโล่ง ร่มเย็นกายใจ จิตเบิกบานตั้งมั่น เมื่อเริ่มจากอารมณ์หยาบก็จะเห็นง่ายจากการที่เราได้เสพย์เสวยอารมณ์ความรู้สึกนั้นๆไปแล้วจะเห็นง่าย พอเห็นแล้วก็สักแต่รู้อาการของมัน ไม่ให้ความหมายไรๆรู้แค่ว่ามีลักษณะอาการของกายและใจแบบนี้ๆเกิดขึ้นกับเราเท่านั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญหมายรู้ไรๆ รู้มันไปเรื่อยๆ เมื่อสติมีกำลังพอควรแล้วรู้ในอาการนั้นแน่ชัดแล้ว พออารมณ์ใดอาการใดเกิดกลางๆอ่อนๆ สติก็จะรู้ทันทีพร้อมสัมปะชัญญะก่อนที่เราจะเสพย์มัน พอเมื่อชำนาญแล้ว ทีนี้พอจากนั้น จิตเกิดดับ จิตก็จะรู้จิตเองทันที โดยไม่ต้องจ้อง ไม่ต้องเพ่ง ไม่ต้องบังคับให้มันไปรู้ จนเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดดับๆไม่หยุด แม้ตัวรู้ในสภาวะนั้นๆ แม้ปัญญาที่เกิดเห็นว่าไม่มีสิ่งใดเลยนอกจากสภาวะธรรมก็เกิดมารู้ รู้แล้วก็ดับ แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ก็คือ ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป วนเวียนอย่างนั้นไม่รู้จบตราบเท่าที่ยังขันธ์ ๕ นี้อยู่ก็เท่านั้น จนเกิดความคลายกำหนัดราคะในสิ่งทั้งปวง - แม้ทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นเพียง สมถะ เพียงแต่เปลี่ยนวิธีปฏิบัติที่ใช้เพียงปัญญาจากความคิด(ปัญญาที่เกิดจากความคิด คือ สมถะ) ไปหัดใช้ปัญญาจากญาณ คือ สภาวะปัญญาที่เป็นไปในมรรค ๘ เป็นการอาศัยความเห็นตามจริงโดยปราศจากความคิดอนุมานเอาเข้าถึงทางแห่งมรรค ๘ นั่นเอง ซึ่งถ้ายังมีเจตนาที่จะทำอยู่ก็ยังเป็นสมถะไม่ถึงปัญญาญาณ ไม่ถึง สัมมาทิฐิ ยิ่งเจตนามากในสังขารทั้งปวง ก็ยิ่งติดในสังขารมากจนยึดถือตัดไม่ขาดแทงไม่ตลอด - แต่ไม่ใช่ว่าต้องห้ามไม่ใช้เจตนาที่จะทำในกุศล นั่นก็เพราะว่า..เพราะอาศัยกุศลโดยเจตนานั้นแหละ ทำให้เป็นประจำจนถึงจริตสันดานของมัน ทำโดยความไม่ตั้งผล ไม่ปารถนาผลไว้ ทำให้มากเพราะรู้ว่าเป็นสิ่งดีงาม ทำให้มากเพราะรู้ว่าคือกุศล จะเกิดจากเจตนาหรือไม่เจตนาก็ช่างมัน ทำไปเรื่อยๆตามครูบาอาจารย์สอนไม่เก่งเกินครู มันทำโดยเจตนาหรือไม่เราก็ช่างมัน สักแต่รู้ว่ามันดีเท่านั้น สักแต่รู้ตามสภาวะธรรมนี้ๆแบบนี้มันเกิดขึ้นแล้วดำเนินไปหรือดับไปแล้วเท่านั้น เมื่อทำให้มากแล้ว จิตก็จะรู้จิต จิตก็จะแลจิต จิตก็จะจับจิตของมันเอง คือ อยู่ๆเกิดขึ้นเอง จิตรวมเอง จิตเห็นจิตเอง จิตรู้จิตเอง โดยที่เราไม่ได้ตั้งเจตนาไรๆที่จะทำ ที่จะเห็น ที่จะได้ ที่จะรู้มันเลย อันนี้แหละคือ ปัญญาญาณ มันเกิดเอง รู้เอง ทรงสภาวะเอง ดำเนินไป แล้วดับไปเองเห็นจริงๆอยู่อย่างนี้ของมัน เรียก สัมมาทิฐิ นั่นคือ มรรค ๔ ได้เกิดแก่เราโดยปัญญาญาณแล้ว (มรรค ๔ คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ ได้แก่ มรรค ๔ และ ผล ๔) - ถ้าเจตนาที่จะทำแต่ยังทำไม่ได้จนชินเป็นจริตสันดาน แล้วมันจะเกิดขึ้นมาได้เองโดยไม่เจตนาก็คงยาก พระพุทธเจ้าจึงตรัส ๔๐ กรรมฐานไว้เพื่อสิ่งนี้ เริ่มแรกให้เป็นไปโดยเจตนาเป็นสมถะ จนเมื่ออิ่มตัวแล้วสภาวะธรรมไรๆก็จะเริ่มเกิดขึ้นเองโดยที่ไม่เจตนามากขึ้นเรื่อยๆ สภาวะนี้ก็แค่เพียรรู้ตามไปเรื่อยๆ จากนั้นก็ละเจตนานั้นเสียเป็นวิปัสสนา จนรู้เห็นตามจริง..ดังนี้ ให้จดจำง่ายๆว่า เมื่อไหร่ที่คิดแล้วทำ-นั่นคือเจตนา / แต่เมื่อไหร่ที่สักแต่เพียงรู้แลดูกายใจอยู่เท่านั้น คือ มีสติ+สัมปชัญญะ ไม่มีความคิด ไม่มีความทำไว้ในใจ แค่สำเหนียกรู้แลดูอยู่เท่านั้นแล้วเห็นการกระทำปรุงแต่งของสังขารมัน นั่นแหละคือ ปัญญาในวิปัสสนา / เมื่อถอยออกจากสภาวะนั้นแล้ว ปัญญารู้ตรงนั้นก็ดับ แต่ความจำได้สำคัญหมายรู้ยังคงอยู่ เห็นความเกิดดับอยู่ ดังนี้ อธิบาย ปัญญา วิชชา ญาณ (หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ) ปัญญา วิชชา ญาณ ๓ อย่างนี้ต่างกัน ถ้าจัดตามอริยสัจ ปัญญานั้นเป็นมรรค วิชชานั้นเป็นนิโรธ ส่วนญาณนั้นเป็นได้ทั้ง ๒ อย่างคื อวิปัสสนาญาณ นิพพิทาญาณ เช่นนี้เป็นมรรค ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ ๓ อย่างนี้เป็น นิโรธ แม้ญาณ อื่น ๆ ที่เป็นมรรคก็เป็นปัญญา ส่วนที่เป็นผล ก็เป็นวิชชา หรือ นิโรธ ปัญญา ความรู้แจ้ง แทงตลอด ญาณ ความรู้แจ้ง ตามความเป็นจริง วิชชา ความรู้แจ้ง ยถาภูตญาณทัศศนะ รู้เห็นตามความเป็นจริง (มัชฌิมากรรมฐานบอร์ด) ปัญญา ความรู้ทั่ว, ปรีชาหยั่งรู้เหตุผล, ความรู้ความเข้าใจชัดเจน, ความรู้ความเข้าใจหยั่งแยกได้ในเหตุผล ดีชั่ว คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น และรู้ที่จะจัดแจง จัดสรร จัดการ, ความรอบรู้ในกองสังขาร มองเห็นตามความเป็นจริง ดู ไตรสิกขา, สิกขา ปัญญา ๓ (ความรอบรู้, รู้ทั่ว, เข้าใจ, รู้ซึ้ง) ๑. จินตามยปัญญา (ปัญญาเกิดแต่การคิดการพิจารณาหาเหตุผล) ๒. สุตมยปัญญา (ปัญญาเกิดแต่การสดับการเล่าเรียน) ๓. ภาวนามยปัญญา (ปัญญาเกิดแต่การฝึกอบรมลงมือปฏิบัติ) ปฏิเวธ เข้าใจตลอด, แทงตลอด, ตรัสรู้, รู้ทะลุปรุโปร่ง, ลุล่วงผลปฏิบัติ สัทธรรม ธรรมที่ดี, ธรรมที่แท้, ธรรมของคนดี, ธรรมของสัตบุรุษมี ๓ อย่าง คือ ๑.ปริยัติสัทธรรม สัทธรรมคือสิ่งที่พึงเล่าเรียน ได้แก่ พุทธพจน์ ๒.ปฏิบัติสัทธรรม สัทธรรมคือสิ่งพึงปฏิบัติได้แก่ไตรสิกขา ๓.ปฏิเวธสัทธรรม สัทธรรมคือผลที่พึงบรรลุ ได้แก่ มรรคผล และนิพพาน; วิชชา ความรู้แจ้ง, ความรู้วิเศษ; วิชชา ๓ คือ ๑.ปุพเพนิ วาสานุสติญาณ ความรู้ที่ได้ระลึกชาติได้ ๒.จุตูปปาตญาณ ความรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย ๓.อา สวักขยญาณ ความรู้ที่ทำอาสวะให้สิ้น; วิชชา ๘ คือ ๑.วิปัสสนาญาณ ญาณในวิปัสสนา ๒.มโนมยิทธิ ฤทธิ์ทางใจ ๓.อิทธิ วิธิ แสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ ๔.ทิพพโสต หูทิพย์ ๕.เจโตปริยญาณ รู้จักกำหนดใจผู้อื่นได้ ๖.ปุพเพนิวาสานุสติ ๗.ทิพพจักขุ ตาทิพย์ (=จุตูปปาตญาณ) ๘.อาสวักขยญาณ อภิญญา ความรู้ยิ่ง, ความรู้เจาะตรงยวดยิ่ง, ความรู้ชั้นสูง มี ๖ อย่างคือ ๑) อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ ๒) ทิพพโสต หู ทิพย์ ๓) เจโตปริยญาณ ญาณที่ให้ทายใจคนอื่น ได้ ๔) ปุพเพนิวาสานุสติ ญาณที่ทำให้ระลึก ชาติได้ ๕) ทิพพจักขุ ตาทิพย์ ๖) อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป, ๕ อย่างแรกเป็นโลกียอภิญญา ข้อสุดท้ายเป็นโลกุตตรอภิญญา ญาณ ความรู้, ปรีชาหยั่งรู้, ปรีชากำหนดรู้; ญาณ ๓ หมวดหนึ่ง ได้แก่ ๑.อตีตังสญาณ ญาณใน ส่วนอดีต ๒.อนาคตังสญาณ ญาณในส่วนอนาคต ๓.ปัจจุปปันนังสญาณ ญาณในส่วนปัจจุบัน; อีกหมวดหนึ่ง ได้แก่ ๑.สัจจญาณ หยั่งรู้อริยสัจแต่ละอย่าง ๒.กิจจญาณ หยั่งรู้กิจในอริยสัจ ๓.กตญาณ หยั่งรู้กิจอันได้ทำแล้วในอริยสัจ; อีกหมวดหนึ่ง ได้แก่ วิชชา ๓ ญาณ ๑๖ ญาณที่เกิดแก่ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาโดยลำดับตั้งแต่ต้นจนถึงจุดหมาย คือมรรคผลนิพพาน ๑๖ อย่างคือ ๑.นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณกำหนดแยกนามรูป ๒.(นามรูป) ปัจจัยปริคคหญาณ ญาณกำหนดจับปัจจัยแห่งนามรูป ๓.สัมมสนญาณ ญาณพิจารณานามรูปโดยไตรลักษณ์ ๔.- ๑๒.(ตรงกับวิปัสสนาญาณ ๙) ๑๓.โคตรภูญาณ ญาณครอบโคตรคือหัวต่อที่ข้ามพ้นภาวะปุถุชน ๑๔.มัค คญาณ ญาณในอริยมรรค ๑๕.พลญาณ ญาณในอริยผล ๑๖.ปัจจเวกขณญาณ ญาณที่พิจารณาทบทวน; ญาณ ๑๖ นี้เรียกเลียนคำบาลีว่า โสฬสญาณ หรือ เรียกกึ่งไทยว่า ญาณโสฬส; ดู วิปัสสนาญาณ ๙ ยถาภูตญาณทัสสนะ ความรู้ความเห็นตาม เป็นจริง ญาณทัศนะ, ญาณทัสสนะ การเห็นกล่าวคือการหยั่งรู้, การเห็นที่เป็นญาณ หรือ เห็นด้วยญาณ อย่างต่ำสุดหมายถึง วิปัสสนาญาณ นอกนั้นในที่หลายแห่งหมายถึง ทิพพจักขุญาณบ้าง มรรคญาณบ้าง และในบางกรณีหมายถึง ผลญาณบ้าง ปัจจเวกขณญาณบ้าง สัพพัญญุตญาณบ้าง ก็มี ทั้งนี้สุดแต่ข้อความแวดล้อมในที่นั้นๆ อ้างอิง พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ และฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตโต ถ้าสำหรับสันดานปุถุชนอย่างตัวเรานี้ แม้เมื่อเห็นเมื่อรู้เมื่อทำได้แต่ยังไม่ขาดไม่รู้แจ้งแทงตลอดจึงยังนิพพิทาญาณไม่บริบูรณ์ได้บ้างไม่ได้บ้าง จึงควรต้องทำให้มาก และ มากยิ่งขึ้นซึ่งกรรมฐานการละความกำหนัดราคะเมถุนนี้ๆตั้งแต่ต้นวนเวียนไปจนกว่าจะรู้แจ้งแทงตลอดได้ หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 04, 2014, 08:43:46 PM วิธีเบื้องต้นส่วนหนึ่งในการเข้าถึง "มรรค มีองค์ ๘" ที่ผมพอจะมีสติกำลังมองเห็นมี ๘ ข้อดังนี้ ๑. เจริญปฏิบัติใน "กุศลกรรมบถ 10 ธรรมอันเป็นเครื่องเจริญปฏิบัติแห่งกุศล" ซึ่งเป็นการอบรมเจริญปฏิบัติในธรรมอันประกอบไปด้วย ศีล พรหมวิหาร๔ ทาน เป็นเบื้องต้นจนเกิดเห็นจริงในสัมมาทิฐิ เป็นไปเพื่อการดำรงกาย-ใจให้เข้าถึง กุศลมูล 3 และ ความสุจริต 3 อันเป็นไปในมรรค ๘ เพื่อยังให้ถึงอินทรีย์สังวร คงไม่ต้องอธิบายนะครับหากท่านศึกษาและเข้าใจในพระธรรมดีแล้ว หรืออ่านเพิ่มเติมที่นี่ https://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=12&A=8951&w=%A1%C3%C3%C1%BA%B6 (https://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=12&A=8951&w=%A1%C3%C3%C1%BA%B6) ๒. เจริญปฏิบัติใน "สัลเลขะสูตร" ธรรมเครื่องขัดเกลา(กิเลสหรือดับกิเลส) คือ เจริญเพื่อเกื้อหนุนในกุศลกรรมบถ 10 เหมือนศีลกับพรหมวิหาร๔ ที่เกื้อหนุนกัน แต่ส่วนนี้เป็นการพึงเจริญปฏิบัติโดยมองน้อมมาสู่ตน-เจริญในตนเมื่อมองเห็น เหตุ ปัจจัย จากภายนอกมี่มากระทบบ้าง ภายในบ้าง แล้วพึงเจริญสติระลึกรู้ ปฏิบัติ พิจารณาด้วยการแยกแยะถูก ผิด ดี ชั่ว เห็นคุณ และ โทษ แล้วพึงเจริญปฏิบัติทาง กาย วาจา ใจ เข้าสู่ในธรรมเครื่องขัดเกลานี้เพื่อการดำรงกาย-ใจให้เข้าถึง กุศลมูล 3 และ ความสุจริต 3 เหตุให้ อันเป็นเหตุให้ มรรค ๘ บริบูรณ์สั ถึงซึ่งอินทรีย์สังวรบริบูรณ์ อ่านที่นี่เพิ่มเติม https://www.nkgen.com/386.htm (https://www.nkgen.com/386.htm) ๓. การเจริญปฏิบัติใน "ศีล อันเป็นกุศล" ธรรมอันเป็นเครื่องปกติ เพื่อความไม่เบียดเบียนทางกายและวาจา ระลึกเป็นสีลานุสสติ ระลึกถึงศีลของตนอันไม่ขาด ไม่ทะลุ อันบริบูรณ์ดีแล้ว เมื่อระลึกอยู่เช่นนี้ไม่เพียงแต่เข้าสู่อุปจาระฌาณแต่ยังช่วยให้เราสำรวมระวังในศีลมากขึ้นทำให้เรามีกาย-วาจาสุจริตเป็นองค์ธรรมในมรรค ๘ เป็นเหตุให้อินทรีย์สังวรบริบูรณ์ เพราะผู้ที่ไม่มีศีลอันดีงามแล้วจะระลึกในสีลานุสสติไม่ได้ ศีลอันดีนี้เป็นไปเพื่อความให้ใจไม่ร้อนรุ่ม มีความผ่องใส เบิกบาน ปราโมทย์ ปิติ สุข สงบ จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ง่ายควรแก่งานเอื้อในอินทรีย์สังวรอันเป็นฐานแห่งสติปัฏฐาน ๔ อ่านที่นี่เพิ่มเติม https://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=24&A=2&w=%CD%D2%B9%D4%CA%D1%A7%CA%C7%C3%C3%A4 (https://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=24&A=2&w=%CD%D2%B9%D4%CA%D1%A7%CA%C7%C3%C3%A4) ๔. การเจริญปฏิบัติใน "พรหมวิหาร๔" เพื่อยังให้ใจถึงควาเป็นกุศล มีใจสุจริตละความผูกเวรอาฆาตพยาบาท ใช้ร่วมกับศีลให้ศีลบริบูรณ์ดีงามทำให้องค์ธรรมในมรรค ๘ บริบูรณ์ เป็นเหตุให้อินทรีย์สังวรบริบูรณ์ ควรเจริญให้มากจนเกิดจิตปารถนาดีให้ผู้อื่นเป็นสุขโดยไม่แยกแยะ ถึงความประสงค์ที่จะอนุเคราะห์แบ่งปันเกิดเป็นการสละให้โดยไม่หวงแหนในสิ่งไรๆที่ตนมีถครอบครองเป็นปัจจัยใช่สอยอยู่ ด้วยหวังให้ผู้รับได้ใช้ประโยชน์สุขจากการสละให้นั้นของเรา ดั่งความปารถนาดีที่บิดา-มารดานั้นจักมีให้บุตรอันเป็นที่รักเพียงคนเดียวด้วยหวังให้บุตรเป็นสุข มีจิตประสงค์ที่จะอนุเคราะห์เอื้อเฟื้อแบ่งปันให้บุตรปราศจากทุกข์มีแต่สุข เกิดเป็นการสละให้ในสิ่งอันดีงามเป็นประโยชน์สุขนั้นให้แก่บุตรได้พึงมีพึงใช้ มีจิตยินดีที่ตนได้สงเคราะห์แก่บุตรแล้ว หรือ มีปกติจิตยินดีเมื่อบุตรนั้นเป็นสุขกายและใจ เป็นการสละให้ที่สลัดจากความโลภอันตนยึดมั่นว่านี่เป็นเราเป็นของเราเสียได้ เรียกว่า "ทาน"(เมื่อระลึกถึงการสละให้อันงามนั้นก็เป็น จาคานุสสติ) พรหมวิหาร ๔ และ ทานนี้ เมื่อเจริญปฏิบัติเป็นประจำให้จิตยังให้จิตเข้าถึงเมตตาฌานเจโตวิมุตติ(ซึ่งภิกษุในพระธรรมวินัยนี้จะต้องถึงเจโตวิมุตติทุกองค์) ดั่งพระสูตรที่ว่านี้ https://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=19&A=3329&w=%BE%C3%CB%C1%C7%D4%CB%D2%C3 (https://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=19&A=3329&w=%BE%C3%CB%C1%C7%D4%CB%D2%C3) ดูวิธีเจริญจิตเพื่อแผ่เมตตาเบื้องต้นอันเป็นผลให้ถึงในเจโตวิมุตติตาม Link นี้ครับ https://www.madchima.org/forum/index.php?topic=8226.0 (https://www.madchima.org/forum/index.php?topic=8226.0) ๕. เจริญปฏิบัติใน "สมาธิ" เพื่อยังให้จิตตั้งมั่น เป็น สัมมาสมาธิ อันเอื้อต่อสติสัมปชัญญะเป็นเหตุให้เข้าถึงความรู้เห็นถูกต้องตามจริงไม่ใช่การอนุมานคาดคะเนตึกนึกเอาเองเกิดเป็นวิปัสสนาญาณ ที่เรียกว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ จนเกิดนิพพิทา+วิราคะ ถึงซึ่ง วิมุตติ ดังที่กล่าวใน มรรคข้อ สัมมาสมาธิ ในพระสูตรข้างต้น ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=23&A=9041&w=%AC%D2%B9%CA%D9%B5%C3 (https://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=23&A=9041&w=%AC%D2%B9%CA%D9%B5%C3) ๖. เจริญปฏิบัติใน "สติปัฏฐาน ๔" คือ ฐาน(ที่ตั้ง)แห่งสติ มีสติกำกับอยู่เป็นไปเพื่อวิมุตติ เพื่อให้แจ้งและรู้เท่าทันใน กาย เวทนา จิต ธรรม คือ สิ่งที่เกิดขึ้นและมีในกายและใจตนจนเห็นตามจริงทั้งกานและใจทั้งภายในและภายนอก มีสัมปชัญญะเกื้อหนุนให้รู้ตัวทั่วพร้อมในขณะนั้น - การเจริญปฏิบัติให้เริ่มที่กายานุสติปัฏฐานก่อนถึงจะเป็นผล เพราะเป็นการใช้สติดึงเอาสมาธิและสัมปชัญญะให้มีกำลังมากพอควรแก่งานและเป็นการเริ่มต้นพิจารณาเห็นในวิปัสสนาญาณตามจริงที่ไม่ใช่การตรึกนึกคิดคาดคะเนอนุมานเอาเอง เป็นการอบรมกายไปสู่จิตอันสัมผัสรับรู้และเห็นรับรู้ได้ง่าย - แล้วตามด้วย เวทนานุสติปัฏฐาน แล้วจึงเจริญปฏิบัติใน จิตตานุสติปัฏฐาน แล้วค่อยเจริญใน ธรรมมานุสติปัฏฐาน เป็นส่วนสุดท้ายตามลำดับ ถึงจะเป็นไปเพื่อการอบรมจิตอย่างแท้จริง จึงจะเห็นว่ามันสักแต่มีไว้ระลึกรู้ยังไง เห็นสิ่งที่มีเกิดขึ้นในตนและดับไปสูญไปแล้วจากตน พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเรียงเป็นลำดับให้แล้วตามนี้จึงจะเป็นไปเพื่อเข้าถึงโพชฌงค์ ๗ อย่างแท้จริง - หากไปหยิบเอามาเจริญปฏิบัติมั่วๆจะไม่มีทางเห็นตาจริงแน่นนอน เว้นเสียแต่ว่าบุคคลนั้นมีการสะสมไว้มาดีแล้วในกาลก่อน ดูเพิ่มเติมดังนี้ https://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=10&A=6265&w=%CA%B5%D4%BB%D1%AF%B0%D2%B9 (https://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=10&A=6265&w=%CA%B5%D4%BB%D1%AF%B0%D2%B9) และ https://www.nkgen.com/34.htm (https://www.nkgen.com/34.htm) และ https://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=12&A=7552&Z=7914 (https://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=12&A=7552&Z=7914) ดูเพิ่มเติมถึงปัจจัยอันเป็นอานิสงส์ต่อกันของสติปัฏฐาน ๔ ตาม Link นี้ครับ https://group.wunjun.com/ungpao/topic/539461-23343 (https://group.wunjun.com/ungpao/topic/539461-23343) ๗. เจริญปฏิบัติให้เข้าถึงใน "อุเบกขา" เพื่อละความพอใจยินดีและไม่พอใจยินดีเสียจงได้ นั่นคือ ละในสมุทัยนั่นเอง ไม่มีทั้งความพอใจยินดี(ฉันทะ,โสมนัส) และ ไม่พอใจยินดี(ปฏิฆะ,โทมนัส) อยู่ด้วยความมีใจกลางๆไม่หยิบจับเอาความพอใจและไม่พอใจมาเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์ มีความสงบว่าง ผ่องใส ไม่หมองหม่นใจ มีสติระลึกรู้แลดูอยู่เห็นธรรมด้วยประการทั้งปวงไม่อิงราคะ ย่อมสลัดกิเลสออกเสียได้ ยังจิตให้ถึง"อุเปกขาสัมโพชฌงค์"(เมื่อจะเจริญปฏิบัติใน อุปสมานุสสติ คือ ระลึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ก็ให้ระลึกถึงสภาพจิตที่เป็นอุเบกขาอันมี่สภาพจิตแบบนี้ๆเป็นอารมณ์ เพราะนี่คือคุณของพระนิพพาน) อุเบกขานั้นมี 10 อย่าง ไม่ใช่ว่ามีแค่ในพรหมวิหาร๔ เท่านั้น https://www.dhammahome.com/front/webboard/show.php?id=21483 (https://www.dhammahome.com/front/webboard/show.php?id=21483) ดูพระสูตรที่เกี่ยวข้องตามนี้ครับ https://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=19&A=5605&Z=5668 (https://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=19&A=5605&Z=5668) และ https://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=19&A=3640&Z=3778 (https://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=19&A=3640&Z=3778) และ https://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?book=1&bookZ=45&name=%E0%C1%B5%B5%CA%D9%B5%C3&book=19&bookZ=19 (https://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?book=1&bookZ=45&name=%E0%C1%B5%B5%CA%D9%B5%C3&book=19&bookZ=19) ๘. การเจริญพิจารณาในกายและใจให้เห็นกายภายในบ้าง-ภายนอกบ้างและสภาพจิตภายในบ้าง-ภายนอกบ้าง ให้พิจารณาลงในธรรมเกิดปัญญาเห็นจริงในวิปัสสนาญาณจนเหลือเพียง รูป-นาม ๘.๑ "อสุภะ คือ เห็นในความไม่สวยไม่งาม ไม่น่าพิศมัยยินดี" ก็เพื่อความเป็นไปในสัมมาสังกัปปะ คือ ดำหริชอบ ดำหริออกจากกาม ราคะ เจริญในพรหมจรรย์ และ รูป-นาม ซึ่งอสุภะนี้ตาเราเห็นได้โดยบัญญัติ เป็นซากศพในแบบต่างๆ ศพที่เขียวอืดบ้าง ศพที่ถูกยื้อแย่งกินบ้าง ศพที่ถูกชำแหระออกบ้าง ศพที่แขนขาดขาขาดหัวขาดดั่งในสนามรบบ้าง ศพที่มีน้ำเลือดน้ำเหลืองไหลออกบ้าง ศพที่มีแต่กระดูกบ้างเป็นต้น พิจารณาเห็นกายกายในกายนอกเห็นว่าเรามีเขามีโดยไม่แยกเพศ จนแยกเป็นอาการทั้ง 32 ต่อไป ๘.๒ "ปฏิกูลมนสิการ หมายถึงกายซึ่งเต็มไปด้วยของที่ไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ รวม ๓๒ ประการ" เมื่อเราพิจารณาเห็นเป็นปฏิกูล คือ เป็นอาการทั้ง 32 แล้วย่อมเห็นชัดว่า กายเรานี้มีเพียงอวัยวะภายในน้อยใหญ่ มีกระดูกเป็นโครงร่าง มีเนื้อนั้นหนุนโครงทรงไว้ภายใน มีหนังหุ้มเป็นที่สุดรอบ มี ขน ผม เล็บ ฟัน ใช้เพื่อการปกคลุดและทำหน้าที่ต่างๆ ที่เราไปติดใจก็ให้หนังหุ้มกับ ขนผม เล็บ ฟัน หนังนี้เอง เมื่อเห็นแยกเป็นอาการทั้ง 32 ไม่มีตัวตนบุคคลใดได้แล้ว ก็ให้พิจารณากายเรานี้สักเป็นแต่เพียงธาตุต่อไป ๘.๓ "ธาตุมนสิการ คือ การพิจารณาร่างกายของตนโดยให้เห็นแยกประเภทเป็นธาตุ ๔ แต่ละอย่างๆว่ามีในกายเราอยู่นี้" ธาตุดิน ที่เป็นของแข้นแข็งอันมี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ที่ต่างเมื่อไม่ได้มีการปรุงแต่งใดๆแล้ว ก็ล้วนไม่งาม เป็นปฏิกูล ไม่สะอาด ไม่เป็นที่ต้องการของใครๆ (โดยส่วนตัวผมนี้ได้เพ่ง ปฐวีกสิน ทำให้ช่วงเวลาหนึ่งที่เข้าถึงนั้น เห็นกายตนเองและผู้อื่นเป็นดินเกิดทำให้เกิดวิราคะผุดขึ้นในใจในกาลสมัยนั้น) ธาตุน้ำ ที่หมายถึงเป็น ของเอิบอาบ คือความเป็นของเหลว เช่น ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ น้ำมูตร ที่ล้วนปฏิกูล ไม่งามเช่นกัน ที่ต่างเมื่อไม่ปรุงแต่งใดๆแล้วก็ล้วนไม่งามไม่สะอาด ไม่เป็นที่ต้องการของใครๆ ธาตุลม ความเป็นของพัดไปมา ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมอันอยู่ในท้อง ลมอันอยู่ในลำไส้ ลมอันแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เช่น ลมหายใจอันไม่น่าปรารถนา ลมหมักหมมเหม็นเน่าอยู่ในท้อง ต่างล้วนเน่าเหม็น ล้วนไม่มีใครอยากดอมดม ไม่เป็นที่ต้องการของใครๆ ธาตุไฟ ความเป็นของเร่าร้อน สิ่งที่เป็นเครื่องอบอุ่นแห่งกาย และทั้งเป็นสิ่งที่เป็นเครื่องทรุดโทรมแห่งกาย สิ่งที่เป็นเครื่องเร่าร้อนแห่งกาย สิ่งที่เป็นเครื่องทำให้แปรปรวนไปด้วยดีแห่งของที่กินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว และของที่ลิ้มรสแล้ว กล่าวคือแปรปรวนของที่กินและลิ้มแล้วให้เป็นพลังงานและสารต่างๆออกมา ย่อมเกิดความร้อนหรือพลังงานและของเสียเน่าเหม็นจากการสันดาปภายในต่างๆเป็นมูตรคูถ เหงื่อ ฯ. ไม่เป็นที่ต้องการของใครๆ - "หากเป็นธาตุ ๕ ก็เพิ่ม อากาศธาตุ" เข้าไปเป็นที่ว่างกว้าง หรือ เป็นช่องว่างแทรกอยู่ในทุกๆอนูของทุกๆธาตุ - "หากเป็นธาตุ ๖ ก็เพิ่ม วิญญาณธาตุ" เข้าไป เป็นธาตุรู้ พิจารณาเห็นกายในกายนอกเห็นว่าเรามีเขามีไม่แยกเพศ - เมื่อเห็นแยกเป็นธาตุๆ ไม่มีตัวตนบุคคลใดได้แล้ว ย่อมเข้ารู้แน่ชัดและง่ายในวิปัสสนาญาณ เห็นว่านี่คือรูปธรรม นี่คือนามธรรม มีเอกลักษณ์ คุณลักษณะอาการอย่างไร มีสภาพจริงเป็นไฉน เจริญเข้าสู่สติปัฏฐาน ถึงโพชฌงค์๗(ธรรมอันเป็นเครื่องตรัสรู้) โดยบริบูรณ์ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของธาตุทั้ง ๔ ใน มหาหัตถิปโทปมสูตร ตาม Link นี้ครับ https://www.nkgen.com/770.htm (https://www.nkgen.com/770.htm) ๘.๔ เมื่อรู้เห็นแล้วว่า รูป มีคุณสมบัติและลักษณะแต่ละอย่างเป็นอย่างไรมีสิ่งใดบ้าง กับ นาม มีคุณสมบัติและลักษณะแต่ละอย่างเป็นอย่างไรมีสิ่งใดบ้าง ให้เจริญพิจารณามีสติระลึกรู้แลดูอยู่แค่สภาพนั้นๆที่เรารู้การกระทบสัมผัสในขณะนั้น ไม่ต้องไปแยกจำแนกว่าในสิ่งนี้ๆที่เราได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รู้รส ได้กระทบสัมผัส ได้รู้ด้วยใจ มันมีรูปธาตุใดๆรวมอยู่จึงก่อเกิดขึ้นเป็นสิ่งนั้น ตัวนั้น ๘.๕ การจะรู้แยกธาตุจริงๆนั้นที่ผมพอจะมีปัญญาอันน้อยนิดพอจะรู้เห็นทางได้มีดังนี้คือ - ไม่ใช่การเข้าไปรู้ว่า ในสิ่งนั้นๆ บุคลนั้นๆ รูปร่างนั้นๆ มันประกอบด้วยอะไร-รูปอะไร-ธาตุอะไร ๑ - แต่ให้รู้ว่าในขณะที่เราเกิดรู้ผัสสะใดๆ จากมโนใดๆ วิญญาณใดๆ ในขณะนั้นเป็นอย่างไร-มันมีคุณลักษณะ-สภาพจริง-สภาพธรรม-สภาวะธรรมเป็นอย่างไร มันถึงจะไม่มีตัวตนบุคคลใดทั้งสิ้น ๑ ๘.๕.๑ สิ่งที่เห็นทางตามันก็มีแต่ สีๆ กับ แสง เท่านั้น สภาพที่เรามองเห็นทางตานั้นเมื่อดูแล้วก็จะเห็นว่า มันมีแต่สีๆ สีเขียวบ้าง ขาวบ้าง แดงบ้าง เหลืองบ้าง น้ำเงินบ้าง ดำบ้าง ส้มบ้าง ฟ้าบ้าง ซึ่งสีๆที่เห็นนั้นๆก็เป็นรูปทรงโครงร่างต่างๆตามลักษณะเคล้าโครงนั้นๆของมัน สีเหล่านั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงไป-แปรผันไปตลอดเวลาอย่างไร และ แสงที่เห็นนั้น ก็มีสว่างจ้าบ้าง มีมืดมิดบ้าง เช่น ก. เมื่อรู้ผัสสะใดๆทางตาในขณะนั้น เช่น เห็นต้นไม้ ก็ให้พึงมีสติระลึกรู้แลดูว่า สิ่งที่เราเห็นอยู่นั้นมีสีอะไรบ้าง มีโครงร่างรูปร่างอย่างไร มีความเปลี่ยนแปรไปอย่างไรบ้าง จนเข้าไปเห็นเป็นสีๆที่มีรูปร่างต่างๆ มีความเปลี่ยนแปรไปเป็นธรรมดาทุกๆขณะเท่านั้น : เมื่อเห็นสี ก็รู้แค่สี เห็นความเปลี่ยนแปรไปของสี ไม่ต้องไปรู้ ตรึกนึก หรือ มองว่าในสีนี้มีแสงด้วย หรือ ตานี้เห็นได้ทั้งสีและแสง หรือ สีเขียวคือใบไม้ สีน้ำตาลดำคือลำต้นของต้นไม้ ให้รู้แค่สีๆที่มีรูปทรงนั้นๆเท่านั้น ไม่ต้องเข้าไปรู้อย่างอื่นอีก มันก็จะไม่มีตัวตน บุคคล หรือ สิ่งอื่นใดเลย ข. เมื่อเห็นแสงรู้ผัสสะในขณะนั้นเป็น แสงสว่าง ก็ให้พึงมีสติระลึกรู้แลดูว่า แสงสว่างนั้นมันจ้ามาก ลุกโพรง หรือ พร่ามัว แสงที่เข้าตาหรือที่เห็นนั้นมีลักษณะใด เป็นประกายอย่างไร และเปลี่ยนแปลงผันแปรไปอย่างไรในแต่ละขณะนั้นๆ : เมื่อเห็นแสง ก็รู้แค่แสงเป็นอารมณ์ เห็นความเปลี่ยนแปรไปของแสง ไม่ต้องไปรู้ ตรึกนึก หรือ มองว่าในแสงนี้มีสีด้วย หรือ ตานี้เห็นทั้งสีและแสง ไม่ต้องเข้าไปรู้อย่างอื่นอีก มันก็จะไม่มีตัวตน บุคคล หรือ สิ่งอื่นใดเลย กล่าวคือ.."การพิจารณาในวัณณะรูป(สี)นั้น หรือ สิ่งที่เห็นทางตาจนเห็นแจ้งนั้น ในขณะที่ตาเรามองเห็น หรือ ขณะที่ตาเราจดจ้องมองดูสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่นั้น..เราเห็นสีอะไรบ้าง ให้เอาสีมาตั้งเป็นอารมณ์รับรู้ทางตา ไม่ต้องเข้าไปรู้อย่างอื่นอีก มันก็จะไม่มีตัวตน บุคคล หรือ สิ่งอื่นใดเลย" ๘.๕.๒ เมื่อเราสัมผัสน้ำในโอ่ง อ่างน้ำ หรือแม่น้ำ เราจะรู้ว่าเมื่อเราเอามือกวัดแกล่งไปในน้ำ หรือ กระโดลงน้ำอย่างเร็ว จากธาตุน้ำนั้นซึ่งมีลักษณะเอิบอาบ-ชุ่มชื่น ซาบซ่าน-เกาะกลุม ก็จะมีสภาพแข็งอ่อนใช่ไหม นั่นเป็นคุณสมบัติของธาตุดินใช่ไหม - ขนาดสิ่งที่เราทุกคนนั้นเรียกว่าน้ำ เมื่อเข้าไปสัมผัสแล้วยังมีดินร่วมอยู่ด้วยใช่ไหม แล้วมันจะยังเรียกน้ำได้อีกไหม - ดังนั้นให้รู้แค่ลักษณะนั้นๆที่เราสัมผัสได้ ไม่ต้องไปเพ่งเอาว่าในน้ำนี้มีธาตุดินร่วมอยู่ด้วย มีธาตุไฟร่วมอยู่ด้วย มีธาตุลมร่วมอยู่ด้วย แต่ให้มีสติระลึกรู้แลดูอยู่ รู้ผัสสะในขณะที่สัมผัสน้ำนั้นๆว่าเรารู้สึกอย่างไร เช่น ก. เมื่อรู้สึก เอิบอาบ ชุ่มชื่น ซาบซ่าน ก็รู้แค่สภาพลักษณะนั้นๆ ไม่ต้องเข้าไปรู้ หรือ ตรึกนึกคิดว่านี่คือธาตุน้ำหรือในน้ำมีอะไรรวมอยู่บ้าง มีธาตุใดๆบ้าง ให้รู้แค่สภาพ เอิบอาบ ชุ่มชื่น ซาบซ่าน ไม่ไปรู้อย่างอื่นอีก มันถึงจะไม่มีตัวตนบุคคลใดทั้งสิ้น ข. เมื่อรู้สึก อ่อน แช็ง นุ่ม ก็ให้รู้แค่ในสภาพลักษณะนั้นๆ ไม่ต้องเข้าไปรู้ หรือ ตรึกนึกคิดว่าในน้ำก็มีธาตุนั้นด้วย ให้รู้แค่สภาพอ่อน-แข็งนั้น ไม่ไปรู้อย่างอื่นอีก มันถึงจะไม่มีตัวตนบุคคลใดทั้งสิ้น ๘.๕.๓ เมื่อรู้สึก ร้อน อุ่น เย็น ก็ให้รู้แค่ในสภาพลักษณะนั้นๆ ไม่ต้องเข้าไปรู้ หรือ ตรึกนึกคิดว่าในน้ำก็มีธาตุนั้นด้วย ให้รู้แค่สภาพร้อน-เย็นนั้น ไม่ไปรู้อย่างอื่นอีก มันถึงจะไม่มีตัวตนบุคคลใดทั้งสิ้น กล่าวคือ.."การพิจารณาจนรู้ในธาตุ หรือ รูปธรรมใดๆที่เรารับรู้ได้จากการกระทบสัมผัสกางกายนั้น ให้เรารู้แค่ว่า..ในขณะนั้นเรารู้ผัสสะคุณลักษณะสภาพใดได้ หรือ ในขณะนั้นเรารู้ผัสสะคุณลักษณะสภาพใดอยู่ ก็ให้เอาคุณลักษณะสภาพที่เรารับรู้ได้ในขณะนั้นมาเป็นอารมณ์พิจารณา ไม่ต้องเข้าไปรู้สิ่งใดๆอีก มันถึงไม่มีตัวตนบุคคลใด หรือ สิ่งใดๆอีก" - เมื่อรู้แค่ผัสสะนั้นๆไม่ไปรู้อย่างอื่นแล้ว จนเห็นชำนาญแล้ว ให้พิจารณามองย้อนดูว่า วันๆหนึ่งตั้งแต่วันที่พิจารณาจนถึงปัจจุบันที่นั้นเรารับรู้กระทบสัมผัสสิ่งใดๆบ้าง ก็จะเห็นเองว่าที่เรารู้นั้นๆมันมีเพียง สีๆ เสียงสูง-ต่ำ ทุ้ม-แหลม กลิ่นในลักษณะต่างๆ รสในลักษณะต่างๆ อ่อน แข็ง เอิบอาบ ตรึงไหวเคลื่อนที่ ร้อน เย็น ไม่มีตัวตนบุคคลใดเลย มีแต่สภาพการรับรู้นั้นๆเท่านั้นเอง ไม่มีสิ่งใดๆเลย ๘.๖ รู้ในลักษณะอาการความรู้สึกของจิตที่ปราศจากความนึกคิดปรุงแต่ง คือ มีสติแลดูอยู่รู้ตัวทั่วพร้อมเห็นในสภาวะลักษณะอาการของจิตที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะนั้นๆว่าเป็นอย่างไร ก. เมื่อแรกเริ่มอาจจะรู้อาการของจิตในขณะที่เราเจริญจิตตานุสติปัฏฐานหรือรู้ตัวว่าขณะนี้มี โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ แล้วดูลักษณะอาการของจิตใจในขณะที่เกิดอารมณ์ความรู้สึกนั้นๆว่าเป็นอย่างไร เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต เช่น ติดใจติดตามเพลิดเพลิน ขุ่นมัวขัดเคืองใน หมองหม่นใจ สั่นเครือติดตาม อัดอั้น อึดอัด คับแค้นใจ เป็นต้น พิจารณาดูว่าแต่ละอย่างๆนี้เป็นลักษณะอาการของจิตในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดใดๆ ที่ต้องรู้ส่วนนี้อยู่เนืองๆก็เพื่อเมื่อเกิดอารมณ์ความรู้สึกใดๆขึ้น แม้อย่าง ละเอียด อ่อนๆ กลางๆ หรือ หยาบ เราก็สามารถรู้ได้ทันทีว่า ขณะนั้นเสพย์อารมณ์ความรู้สึกใดๆอยู่ เพื่อจะละมันได้ทันที ข. เมื่อรู้สภาพลักษณะอาการของจิตจนชำนาญแจ่มแจ้งแทงตลอดแล้ว เมื่อใดที่มันเกิดขึ้นอีกก็ให้เราเข้าไปรู้ในสภาวะลักษณะอาการของจิตนั้นๆโดยไม่ต้องไปให้ความหมายของมันว่ามันคืออารมณ์ความรู้สึก รัก หรือ โลภ หรือ โกรธ หรือ หลงใดๆ แค่ให้จิตเข้าไปรู้จิต คือ มีสติแลดูอยู่ในลักษณะอาการของจิตในขณะนั้นๆว่าเป็นอย่างไรเท่านั้น ไม่มีตัวตน บุคคลใด ไม่มีสิ่งใดๆทั้งสิ้น เห็นลักษณะอาการนั้นๆว่ามัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ทรงอยู่ ดับไป ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดใดๆ สักแต่รู้อาการนั้นก็พอไม่ต้องเข้าไปรู้อย่างอื่นอีก ไม่ต้องไปให้ความหมายใดๆกับความรู้สึกในลักษณะอาการของจิตใดๆขณะนั้นๆทั้งสิ้น สักเพียงแต่รู้ก็พอ มันถึงไม่มีตัวตน บุคคลใด นี่เรียกว่าปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน คือ ความปรุงแต่งจิตเหล่านี้สักแต่มีไว้ให้ระลึกรู้และตามรู้มันไปเท่านั้น ไม่ได้มีไว้ให้เสพย์ ไม่ได้มีไว้ให้เข้าไปร่วม - เมื่อพิจารณารู้เห็นอย่างนี้จนชำนาญแล้ว ก็จะพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า มันมีแต่สภาพอาการความปรุงแต่งนี้เท่านั้น มันไม่ใช่จิต ปกติจิตเป็นสภาพสงบผ่องใสสักแต่อาศัยเพียงเป็นความปรุงแต่งจิตนี้ๆที่จรเข้ามาทำให้ใจเศร้าหมอง ความปรุงแต่งที่จรมานี้ไม่ใช่จิต จนเกิดมีสติแลดูอยู่เห็นตามจริงดังนี้แล้วแม้สิ่งไรๆ ความรู้สึกปรุงแต่งนึกคิดไรๆเกิดมา มันก็ไม่ใช่จิตไม่ใช่เรา เราก็จะไม่ไปเคลิบเคลิ้ม หลงตาม เสพย์อารมณ์ตามมันไป ด้วยเพราะเห็นแยกความปรุงแต่งจิตกับจิตนั้นแล้ว นี่เรียกว่า "จิตเห็นจิต" ** การเจริญปฏิบัติในข้อที่ ๘ ทั้งหมดนี้จัดเป็นการปฏิบัติใน สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ เป็นการเจริญปฏิบัติใน สัมมัปปธาน ๔ คือ ความเพียรชอบ ๔ ประการ ดังนี้คือ ** ๑. สังวรปธาน [เพียรระวัง] ๒. ปหานปธาน [เพียรละ] ๓. ภาวนาปธาน [เพียรเจริญ] ๔. อนุรักขนาปธาน [เพียรรักษา] อ่านเพิ่มเติมได้ตาม Link นี้ครับ https://www.madchima.org/forum/index.php?topic=13591.0 (https://www.madchima.org/forum/index.php?topic=13591.0) - สรุป..ให้เราพึงเพียรมีสติระลึกรู้เจริญพิจารณาว่า ในแค่ละขณะจิตที่เรารู้ผัสสะนั้นๆ เรารู้สิ่งใด รู้สภาพคุณลักษณะใด-รู้สภาพธรรมใดของธาตุ รู้ลักษณะอาการความรู้สึกใดๆ-เห็นสภาพธรรมใดๆของจิตก็พอ เห็นสภาพธรรมสิ่งไรๆว่าขณะนี้เกิดขึ้นในกายใจตนหรือสภาพธรรมนี้ๆดับไปไม่มีแล้วในกายใจตน เห็นว่ามันมีความผันแปรอย่างไร ไม่คงอยู่อย่างไร ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนอย่างไร จนเห็นความเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไปอย่างไร สิ่งนั้นมันก็จะไม่มีตัวตนบุคคลใดอีก เห็นถึงความไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร นอกจากรูปและนาม ในความรู้ความเข้าใจของผมนั้นสิ่งนี้ๆถึงจะเรียกว่า "วิปัสสนา" ดูเพิ่มเติมตามพระสูตรนี้ https://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_item.php?item=131&book=12&bookZ= (https://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_item.php?item=131&book=12&bookZ=) เห็นความเป็นไปตามจริงในปฏิจจสมุปปบาทอย่างไร ดูเพิ่มเติมที่นี่ https://nkgen.com/1mainpage1024.htm (https://nkgen.com/1mainpage1024.htm) - ซึ่งวิธีการเจริญทั้งหลายเหล่านี้อาจจะใช้ในสถานการณ์ที่ต่างกันไป และ เจาะจงแต่ละบุคคลไปตามแต่จริตนั้นๆ ที่ผมยกมานี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ปัญญาผมพอจะรู้ได้หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านทั้งหลาย และ ทำให้ท่านผู้อ่านได้เห็นตามจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน ลองเลือกแนวทางทั้งหลายนี้ตามแต่ที่ท่านคิดว่าตรงและถูกจริตของท่านมาน้อมพิจารณาและเจริญปฏิบัติดูนะครับจะเห็นทางเข้าสู่ มรรค ๘ ทางแห่งการพ้นทุกข์อย่างแท้จริงครับ เคยบันทึกผลแห่งการกรรมฐานไว้นานมากแล้วที่ Link นี้ https://www.madchima.org/forum/index.php?topic=13637.msg46531#msg46531 (https://www.madchima.org/forum/index.php?topic=13637.msg46531#msg46531) หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: dekinw ที่ ธันวาคม 05, 2014, 03:53:16 AM สาธุครับ
หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 08, 2014, 12:14:00 PM สาธุขอขอบคุณท่าน dekinw ที่ให้เกียรติแก่บันทึกของผมครับ นึ่เป็นเพียงบันทึกเท่านั้นเอาไว้ทบทวนการปฏิบัติของผม ซึ่งยังอ่อนๆอยู่ชี้ทางใครไม่ได้ แต่ถ้าท่านเห็นประโยชน์ผมก็ยินดีด้วยอย่างยิ่ง แต่ต้องกรองเอาผิดถูกนะครับ เพื่อการไม่ทำให้เดินผิดทางหรือลุ่มหลง เพราะผมเองยังแค่ปุถุชน ธรรมปฏิบัติอันใดของพระตถาคตได้ทรงตรัสไว้ดีแล้วที่ผมนำมาเจริญปฏิบัติ ผมก็เข้าถึงและสัมผัสได้อย่างปุถุชนเท่านั้นครับ
หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 08, 2014, 12:19:34 PM บันทึกกรรมฐานหลังจากที่ได้เจริญครบหมดในข้อ ๑-๓ แล้ว เวลาที่เราเกิดราคะเมถุนจิตใจจะหวิวสั่นเครือ มีความรู้สึกจิตวิ่งลงจากเบื้องบนตั้งแต่หน้าอกลงมาหยั่งที่อวัยวะเพศ เหมือนอวัยวะเพศจะพองขึ้นมีน้ำไหลจากท่อปัสสาวะ แต่เรายังติดคิดอยู่ พอเมื่อรู้แล้วเข้าใจว่าราคะเมถุนเกิด ยิ่งทำให้จิตใคร่ทะยานไปใหญ่ ได้แต่คิดระลึกว่าทำไฉนหนอถึงจะละมันได้ ดับมันได้ ไม่กำเริบ ไม่หลงมัน ไม่สืบต่อได้ สมาธิก็ไม่ถึงไม่จดจ่อพอ ฌาณก็ไม่มี ด้วยเหตุนี้เราจึงได้ปฏิบัติดังนี้ ๑. ตัังอานาปานสติไว้ภายในเป็นเอกเป็นเบื้องต้น ดั่งที่พระตถาคตตรัสสอนใน "อสุภะ สูตรที่ ๖" ๒.หวนระลึกถึงดั่งเราปวดท้องขับถ่ายอุจจาระ เราจะรู้สึกจุกเสียดดั่งมีลมอัดลูกโป่งเคลื่อนดันมาที่ไส้น้อยไส้ใหญ่ บางครั้งก็ดูว่าอาการปวดนี้ยังมีไม่มากจะทำกิจธุระก่อนก็ได้ บางครั้งปวดมากท้องรีบเข้าห้องน้ำ เราจึงคิดว่าเหตุไฉนหนอ เราถึงรู้ว่าตอนนี้ควรเข้าห้องน้ำ ตอนนี้ยังเบาอยู่ ตอนนี้ยังทรงได้อยู่ แล้วพอเห็นว่าอ่อนๆพอทรงได้ก็ทำงานต่อ ก็ลืมอาการปวดไปด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า เพราะหากตัดควมคิดว่า เราปวดขี้ เราต้องขับถ่ายออกแล้ว สิ่งที่เรารู้ก่อนคิดคือสภาวะธรรมของกายที่ส่งให้ใจรู้ ว่าเกิดอาการอย่างนี้ๆ พอใจรู้ ธรรมชาติของจิตนั้นคือคิดกอปรกับสัญญา มันก็คิดว่าปวดขี้ นี่น่ะทั้งๆที่เราเจอสภาวะจริงอยู่ทุกวันแต่กลับไม่รู้เอง มัวแต่คิดหาทางจนใช้ความคิดปิดกั้นความจริงไป เรานี่โง่จริงๆ สมองมีไว้คิด แต่วิญญาณธาตุมีไว้รู้เท่านั้น ๓. ดังนี้แล้วจึงเห็นและหวนระลึกถึงคำสอนของพระตถาคตที่ตรัสในสติปัฏฐานว่า สักแต่มีไว้ระลึกรู้ ไม่ได้มีไว้เสพย์ ทีนี้เวลาอาการไรๆเกิดขึ้นแก่เราแม้จะมีความคิดหรือไม่ก็ตาม เราจะตั้ง อานาปานสติ หรือจะเป็นพุทธโธไว้เบื้องต้นที่ภายในก่อน พอให้จิตตัดความคิดในบางขณะ แล้วก็ตั้งจิตที่ว่างแช่อยู่รู้แต่อาการของกายและใจที่เกิด แม้แต่คิดก็ดึงจิตแยกรู้แค่ว่ามันคิด คือ คิดก็รู้ว่าคิด คิดเป็นส่วนวิตก วิจาร คิดมันเป็นแค่การทำงานของสมอง คิดเป็นเรื่องของความปรุงแต่งในสังขารอันกอปรกับสัญญา เกิดอาการไรๆก็รู้ว่าอาการอย่างนี้ๆเกิดมีแก่เราเท่านั้น เจริญอยู่เหมือนดั่งที่เราเข้าไปรู้ว่าเราปวดขี้ มันรู้เพราะอาการนี้ๆเกิด ไม่ได้ไปจดจ้องเจตนาจะรู้ รู้อาการว่ามันเป็นอย่างไร เสียดมากหรือน้อย ทรงไหวไหม แต่พยายามรู้โดยไม่เจตนา รู้โดยไม่อิงสัญญา นั่นก็อาศัยมรรค ๘ นี้แล อาศัยให้กุศลมีเกิดขึ้น มีสติสัมปะชัญญะสังขารอยู่ - เหมือนตอนเรานั่งสมาธิได้ยินเสียงเขาทุบประตูที่ห้องข้างๆดังมาก แต่ในขณะนั้นเราแทบไม่ได้ยิน และไม่รู้ว่ามันคือเสียง รู้แค่สภาวะธรรมหนึ่งสภาวะธรรมนั้นมีอึกทึกเกิดขึ้นให้รู้ผัสสะนั้น จนเมื่อสำเหนียกกำหนดรู้ในอารมณ์นั้นก็เห็นรู้แค่ความอึกทึกแรงบ้าง หนักบ้าง เบาบ้าง อึกทึกอึมครึมกึกก้องปกคลุมอยู่นั้นนานพอควรสักระยะ พอจิตคลายจากทำสมาธิก็จึงรู้ว่านั่นคือเสียง แต่ยังไม่ดังมาก พอหลุดมารู้สึกตัวปกติจึงรู้ว่านั่นคือเสียงที่มีคนใช้ค้อนทุบเหล็กซึ่งดังมาก จากนั้นจึงเกิดความรำคาญหงุดหงิดไม่พอใจ เพราะตอนนั้นมันตีสองแล้ว เมื่อหวนระลึกอย่างนี้เราจึงเห็นว่านี่แสดงให้เห็นว่าหากแค่รู้สภาวะธรรมไม่มีความคิดต่อก็ไม่รู้อะไรไม่เกิดความอยาก ความขัดใจ ความใคร่ไรๆทั้งนั้น ๔. ด้วยเห็นข้างต้นจากข้อ ๑-๓ ไม่ว่าอาการไรๆเกิดขึ้นทางกายอย่างไร จิตก็มีเช่นนั้นเหมือนกัน เวลาจะมีอาการใดๆเกิดเราก็ตั้งกำหนดรู้ลมไว้ภายในเป็นที่ตั้งเบื้องต้น ดูอาการมันไป มันจะใคร่ใจหวิววูบวาบก็รู้ จะรู้สึกว่าตรงอวัยวะเพศเกิดสภาวะธรรมไรๆขึ้นจะรู้สึกพองตัวมีความเคลื่อนตัวไปขอสภาวะที่เอิบอาบซึมซาบไหลไปตามท่อปัสสาวะก็แค่รู้ ดูว่ามันมาก มันน้อย อาการยังไง ดูภายในตนว่ามันเกิดความอ่อนแข็งไหม ร้อนเร่าไหม อุ่นไหม เย็นไหม เคลื่อนตัวไหม เอิบอาบซึมซาบเกาะกุมไหม ว่างโล่งไงในขณะใดไหม เข้าไปรู้ไรๆไหม รู้อย่างไร สืบอย่างไร ไม่ให้ความหมายจากความรุ้สึกนั้นด้วยเดชแห่งพุทธเป็นต้นทำให้สลัดความคิดออก ด้วยเห็นว่าลมหายใจนี้บริสุทธิ์ไม่เร่าร้อน ไม่ประกอบด้วยความคิด ความฟุ้งซ่านบ้าง เป๊็นที่เบาโล่งของกายใจบ้าง เป็นที่สงบบ้าง ไม่ว่าอาการไรๆเกิดขึ้นก็แค่มีสภาวะธรรมนั้นๆเกิดเท่านั้นเอง - แต่การกระทำทั้งหมดนี้ยังด้วยเจตนาตั้งจิตไว้ทำมันอยู่ ยังคิดตามอยู่ ยังทำไว้ในใจคือสำเหนียกรู้ได้ในบางช่วงเท่านั้น จึงทำให้ยังผลแค่ข่มไว้เป็นสมถะอยู่ เพราะยังรู้อาการนั้นมีชื่ออย่างนั้นอย่างนี้อยู่ ยังเห็นเป็นธาตุดิน ไฟ ชม น้ำ อากาศ วิญญาณอย่างนั้นๆนีีๆเกิดขึ้นอยู่ ยังไม่ถึงปัญญา คือ สัมมาทิฐิ ให้เห็นชอบ เพราะยังคิดอนุมานเอาอยู่ - แต่เราก็ไม่ใส่ใจไม่ฝักใฝ่ในผล ไม่ตั้งความปารถนา มันจะเกิดอย่างไรก็ช่างมัน รู้เห็นอย่างนี้แหละไปเรื่อยๆ มันจะได้มันได้เอง ถ้าไม่ได้ให้แสวงไขว่คว้าจนตายก็ไม่ได้ ถ้าเจตนาจะทำยังทำไม่ได้..แล้วมันจะถึงความเกิดขึ้นและทรงอยู่โดยไม่เจตนาได้อย่างไร - ที่ทำอยู่นี่ก็คือสัมมัปธาน๔ แล้ว โดยมีศีลเป็นฐาน ถวายเป็นพุทธบูชา ดัวยเดชแห่งการกระทำในพุทธบูชานี้ เราคงถึงที่สุดแห่งกองทุกข์สักวัน สะสมบารมีการปฏิบัติไว้ดั่งรินน้ำใส่แก้วทีละหยดสองหยดสักวันมันก็จะเต็มไปเองอย่างแน่นอน ถ้าเราตั้งใจมั่นเจริญปฏิบัติดังนี้คือ ๑. มี ฉันทะอิทธิบาท ๔ คือ ความยินดี อันมีจิตตั้งมั่นแน่วแน่ไม่สัดส่ายใคร่ทำอยู่ในกุศลธรรมทั้งปวง ให้เป็นไปในความเพียรพยายาม คือ วิริยะอิทธิบาท ๔ เกิดสืบใน จิตตะอิทธิบาท ๔ คือ ความสนใจเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น คือ มีเจตนาตั้งจิตมั่นในกุศลทางกาย วาจา ใจนั้นๆ และ วิมังสาอิทธิบาท๔ คือ (ความไตร่ตรอง หรือ ทดลอง) คือ หมั่นใช้ปัญญา พิจารณาใคร่ครวญ ตรวจหาเหตุผล และตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง เป็นต้น ๒. มี ศีล เป็นบาทฐาน(มีอินทรีย์สังวร สำรวมระวังในอินทรีย์ ๖ รูปเพียงปัจจุบันทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่สืบปรุงแต่งเอานิมิตต่อ คือ ศีล มีศีล ๕ ศีล ๘ เป็นต้น เกิดเป็นฐานของสมาธิ ฌาณ ปัญญา เหตุนั้นเพราะ..เมื่อมีความสังวรอยู่ สำรวมระวังในกายและวาจานั้น สติย่อมตั้งระลึกรู้ให้เกิดขึ้นอยู่เนื่องๆเป็นอันมาก เมื่อเกิดความรู้ตัวทั่วพร้อมในปัจจุบันว่ากำลังทำกิจใดๆอยู่บ้าง มีสัมปะชัญญะมีอยู่ ตามรู้กายรู้ใจอันควรเหมาะดีแล้ว สมาธิย่อมเกิดในที่นั้นเพราะจดจ่อสภาวะนั้นๆอยู่ในที่นั้น ซึ่งเริ่มเกิดจากสติสัมปะชัญญะที่อาศัยรู้สิ่งที่เสพย์ดำเนินไปอยู่บ้าง เกิดความหวนระลึกรู้ตรึกนึกคิดอันเกิดแต่สัญญาบ้าง เมื่อกุศลอันเกิดมีใน สติ สมาธินั้นมากพอแล้ว ความแช่มชื่นก็เกิดมี ปิติ สุข สงบ จิตตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิ เกิดความรู้เห็นตามจริงโดยความคิดอันเกิดจากความทำไว้ในใจโดยแยบคาย(โยนิโสมนสิการ คิดสืบค้นใน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค โดยความสำเหนียกจะกำหนดรู้ในสภาวะธรรมนั้นๆตามเหตุปัจจัย ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความดับไป ความเป็นปฏิฆะต่อกันบ้าง ความเกิดฉันทะให้สืบต่อบ้าง ทั้งในกุศลธรรมและอกุศลธรรมทั้งปวงบ้าง เป็น สัมมาสังกัปโป) จนเมื่อเกิดปัญญารู้เห็นตามจริงปราศจากการคิดอนุมานก็ทำให้สัมมาทิฐิเกิดขึ้นเป็นประธานแห่งมรรค ๓. มี พรหมวิหาร ๔ ความมีจิตเอ็นดูปรานีปารถนาดี ไม่เป็นศัตรูภัยพาลต่อกัน มีจิตสงเคราะห์เผื่อแผ่แบ่งปันต่อกัน มีความยินดีในความสุขสำเร็จหรือการคงไว้ซึ่งสุขสำเร็จซึ่งกันและกันอันดีปราศจากความริษยา มีความวางใจไว้กลางๆโดยแยบคายด้วยเห็นในเจตนาและผลของการกระทำโดยเจตนานั้นๆ โดยไม่ลำเอียงเพราะรัก เพราะเกลียด เพราะกลัว เพราะไม่รู้จริง ๔. มี ทาน ความสืบจากจิตอันเอ็นดูปรานี-เผื่อแผ่-ยินดีในสุขสำเร็จของผู้อื่น เกิดเป็นการสละให้ เมื่อสละให้แล้วไม่มาติดใจข้องแวะในภายหลัง ๕. ตั้งมั่นในพละ ๕ พละ คือ กำลัง เป็นการเติมเสริมสร้างกำลังให้กายและใจ ก. ศรัทธา(มีใจเดียวแน่วแน่เชื่อโดยไม่คลางแคลงสงสัย เกิดเจตนาอันดี ทำให้จิตตั้งมั่น ศรัทธา ๔ คือ ก/๑. กัมมสัทธา เชื่อว่า กรรมมีจริง (เกิดเป็นกำลังใน ศีล พรหมวิหาร ๔ และ ทาน เป็นต้น) ก/๒. วิปากสัทธา เชื่อว่า ผลของกรรมมีจริง (เกิดเป็นกำลังใน ศีล พรหมวิหาร ๔ และ ทาน เป็นต้น) ก/๓. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่า เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตนจริง (เกิดเป็นกำลังใน ศีล พรหมวิหาร ๔ และ ทาน เป็นต้น) ก/๔. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อ การตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า (เกิดความมีจิตตั้งมั่น สละคืนกิเลส รู้คุณของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนโดยไม่คลางแคลงใจ มีกำลังใจดี) ข. วิริยะพละ(เกิดกำลังความเพียรเจริญปฏิบัติอยู่ไม่ลดละ ท้อหรือถดถอย พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้มีอิทธิบาท๔ ให้มาก จึงจะเกิดความเพียรได้ ความเพียรนั้นจะก็เป็นกำลังความเพียรในสัมมัปปธาน ๔) ค. สมาธิ(จิตตั้งมั่นจดจ่อแน่วแน่เป็นหนึ่งเดียว จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน ควรแก่งาน สัมมาสมาธิ) ง. สติ(ความระลึกรู้ ถ้าระลึกรู้โดยความหวนระลึกรู้โดยสัญญาบ้าง ความระลึกรู้โดยความคิดบ้าง ถือเป็นสติแบบบ้านๆทั่วไป แต่หากรู้ ตามรู้ เห็นในสภาวะธรรมตามจริงอันตัดจากความตรึกนึกคิดและเจตนา คือ สัมมาสติ) จ. ปัญญา(ความรู้อันเกิดจากความเห็นตามจริงไม่ตรึกนึกคิดอนุมานเอา มี วิตกวิจารแห่งองค์ฌาณเป็นต้นให้โยสิโสทำไว้ในใจโดยแยบคายพิจารณาตามจริง เกิดเป็นสัมมาทิฐิ เป็น มรรค) - เมื่อยังจิตอย่างนี้ ก็เกิดสติสัมปะชัญญะมากขึ้น เกิดความไม่ลูบคลำเจตนาขึ้น อยู่ๆก็มีวูบหนึ่งขนลุกบ้าง ตรึงๆกายบ้าง วูบวาบบ้าง แล้วก็มีความอบอุ่นแต่โล่งจิตโล่งสมองปรอดโปร่งปกคลุมกายใจเกิดความน้่งแช่อยู่รู้แค่อารมณ์นั้นๆ หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 09, 2014, 10:09:10 PM [เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขาร]
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๕ บรรทัดที่ ๖๘๑๗ - ๖๘๘๖. หน้าที่ ๒๙๔ - ๒๙๗. https://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=35&A=6817&Z=6886&pagebreak=0 (https://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=35&A=6817&Z=6886&pagebreak=0) ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :- https://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=35&i=505 (https://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=35&i=505) สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๕ https://www.84000.org/tipitaka/read/? (https://www.84000.org/tipitaka/read/?)สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๓๕ https://www.84000.org/tipitaka/read/?index_35 (https://www.84000.org/tipitaka/read/?index_35) หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 10, 2014, 03:33:21 AM บันทึกกรรมฐานเมื่อ: มีนาคม 06, 2014, 03:32:58 PM » ๒. อุบายการเจริญปฏิบัติแบบสมถะเพื่อถึงกุศลจิต มีจิตจดจ่อและอุเบกขาเป็นผล ๒.๑ การละกิเลสด้วยการเปลี่ยนความคิด คือ กุศลวิตก (สัมมาสังกัปปะ) - ปกติแล้วคนเราจะเกิดกามราคะขึ้นมานั้น ก็ด้วยเห็นในรูปใดๆทางตาเป็นใหญ่ นั้นคือ เห็นบุคคลเพศตรงข้ามทางตาแล้วเกิดความพอใจเพลิดเพลินยินดี จากนั้นก็ตรึกนึกคิดปรุงแต่งไปพร้อมกับสัญญาสำคัญใจมองเขาให้เป็นไปในราคะ คือ สนองในความอยากเสพย์เมถุน จนเกิดเป็นความปารถนาใคร่ได้ที่จะเสพย์ในอารมณ์แห่งเมถุน จนเกิดความร้อนรุ่ม เร่าร้อนกลุ้มรุมทั้งกายและใจ ยังให้เกิดความถวิลหาทะยานอยากใคร่ได้ปารถนาที่จะเสพย์ - สัมมาสังกัปปะ หมายถึง ดำริชอบ หรือความนึกคิดในทางที่ถูกต้อง เป็นหนึ่งในมรรค 8 หรือ มรรคมีองค์แปด สัมมาสังกัปปะ มี 3 อย่าง ได้แก่ ๑. เนกขัมมสังกัปป์ (หรือ เนกขัมมวิตก) คือ ความดำริที่ปลอดจากโลภะ ความนึกคิดที่ปลอดโปร่งจากกาม ไม่หมกมุ่นพัวพันติดข้องในสิ่งสนองความอยากต่างๆ ความคิดที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว ความคิดเสียสละ และความคิดที่เป็นคุณเป็นกุศลทุกอย่าง จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากราคะหรือโลภะ ๒. อพยาบาทสังกัปป์ (หรือ อพยาบาทวิตก) คือ ดำริในอันไม่พยาบาท ความดำริที่ไม่มีความเคียดแค้น ชิงชัง ขัดเคือง หรือเพ่งมองในแง่ร้ายต่างๆ โดยเฉพาะมุ่งเอาธรรมที่ตรงข้าม คือเมตตา กรุณาซึ่งหมายถึงความปรารถนาดี ความมีไมตรี ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากโทสะ ๓. อวิหิงสาสังกัปป์ (หรือ อวิหิงสาวิตก) คือ ดำริในอันไม่เบียดเบียน ไม่มีการคิดทำร้ายหรือทำลายด้วยความไม่รู้ เพราะคึกคะนอง ทำโดยไม่มีความโลภหรือความโกรธมาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะมุ่งเอาธรรมที่ตรงข้าม ปัญญาคือเข้าใจโลกนี้ตามความเป็นจริง รู้ชัดในกฎแห่งกรรม หรือมีสามัญสำนึกในสิ่งที่ถูกต้องดีงามเอง จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากโมหะ - กุศลวิตก 3 ประการนี้ ไม่กระทำความมืดมน กระทำปัญญาจักษุ กระทำญาณ ยังปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพาน - เมื่อเกิดรับรู้ทางสฬายตนะใดๆแล้วเกิดกิเลสทุกข์ คือ กาม ราคะ (โลภะ) โทสะ โมหะ ให้เจริญจิตขึ้นในกุศลวิตกดังนี้ครับ ๒.๑.๑ ก. เมื่อเกิดกามราคะขึ้นแก่จิตเมื่อเราได้รับรู้ทางตา - ให้พึงรู้ตัวทั่วพร้อมว่าเราถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว โดยความพอใจยินดีในสิ่งที่มีที่เป็นของบุคคลนั้นๆที่เราเห็น จนเกิดปารถนาใคร่ยินดีได้ที่จะเสพย์ในอารมณ์ใดๆที่รับรู้อยู่ เกิดความกำหนัดใคร่ได้ที่จะเสพย์ในเมถุนแล้ว พึงระลึกว่าทั้งๆที่บุคคลที่เราเห็นเขาก็เป็นอยู่ของเขาอย่างนั้น เรานั้นแหละที่ไปติดใจตรึกนึกปรุงแต่งเสพย์อารมณ์จา กความคิดอันเป็นไปในกามราคะจนทำให้เรารุ่มร้อนเร่าร้อนกายใจ - ให้เปลี่ยนความคิดที่มองเขาใหม่ดังนี้ ก. คิดใหม่มองใหม่ดั่งท่านพระบิณโฑลภารทวาชะเถระท่านตอบคำถามแก่พระเจ้าอุเทนว่า พระผู้มีพระภาคผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสไว้ดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย - เธอทั้งหลายจงมาตั้งจิตว่า เป็นมารดา ในสตรีปูนมารดา - เธอทั้งหลายจงตั้งจิตว่าเป็นพี่สาวน้องสาว ในสตรีปูนพี่สาวน้องสาว - เธอทั้งหลายจงตั้งจิตว่าเป็นธิดา ในสตรีปูนธิดา ขอถวายพระพร ข้อนี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ผู้ยังเป็นหนุ่มแรกรุ่น มีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ผู้ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน ฯ ข. คิดใหม่มองให้โดยดูว่าบุคคลนั้นๆที่เราเห็นอยู่เขาทำบุญมาอย่างไรหนอจึงมีรูปร่างหน้าตา ผิวพรรณอันหมดจดงดงาม ฉลาด เป็นที่น่ารักน่าชื่นชมปารถนาแก่เราแลบุคคลทั้งหลาย มีความอยู่ดีกินดีเป็นสุขกายสบายใจอย่างนี้ ข.๑ คงเป็นเพราะในชาติก่อนนี้เขาเจริญได้เจริญปฏิบัติใน "ทาน" มาดีแล้วบริบูรณ์แล้วได้งดงามมาแล้วหนอ ข.๒ คงเป็นเพราะในชาติก่อนนี้เขาเจริญได้เจริญปฏิบัติใน "ศีล" มาดีแล้วบริบูรณ์แล้วได้งดงามมาแล้วหนอ ข.๓ คงเป็นเพราะในชาติก่อนนี้เขาเจริญได้เจริญปฏิบัติใน "สมาธิ" และ "วิปัสสนา" มาดีแล้วบริบูรณ์แล้วได้งดงามมาแล้วหนอ ข.๔ คงเป็นเพราะในชาติก่อนนี้เขาเจริญได้เจริญปฏิบัติใน "พรหมวิหาร ๔" มาดีแล้วบริบูรณ์แล้วได้งดงามมาแล้วหนอ (พรหมวิหาร ๔ เป็นอาหารเสริมที่ใช้บำรุงรากฐานอย่างดี ให้เจริญใน ศีล ทาน สมาธิ สำเร็จบริบูรณ์ได้ด้วยดี เพราะมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) ๑. เมื่อเราปารถนาอยากจะมีคนรักที่งดงามดีพร้อมทุกอย่าง หรือ ปารถนาที่จะได้ครอบครอง ครองคู่กับที่คนเราชอบเราปลื้มใจอยู่ ดั่งเช่นคนที่เรามองเห็นและเสพย์ความกำหนัดใคร่ปารถนาอยู่นี้ เราก็ควรที่จะทำในบุญกุศลให้มากให้มีเสมอกันกับเขา นั่นคือเราต้องเพียร ขยัน อดทน เจริญปฏิบัติให้เรามีพรหมวิหาร๔ ศีล ทาน สมาธิ ปัญญาให้มีบารมีเต็มหรือมากพอกับเขาหรือสูงกว่าเพื่อให้มีบารมีคู่กัน ดั่งเราเห็นว่ามีคู่ครองบางคู่นั้นแม้ชายหน้าตาไม่งดงามแต่ผู้หญิงหน้าตางดงามครองคู่รักใคร่กันก็มี ผู้ชายจนผู้หญิงรวยสวยงดงามครองคู่กันก็มี หรือ คนหน้าตางดงามสมกันมีฐานะที่สมกันครองคู่กันก็มี นั่นเพราะเขาสร้ามบุญบารมีทั้ง ๕ ข้อดังกล่าวนี้เสมอกันมา ดังนั้นเมื่อเราปารถนาจะมีคู่ครองงดงาม มีนิสัย วาจา การกระทำ ที่สมกันกับเรา หรือ อยากให้บุคคลที่เราปารถนาอยู่นั้นเป็นคู่ครองเรา เราก็ต้องเพียรขยันอดทนอย่างไม่ลดละเพื่อที่จะสร้างบารมีทั้ง ๔ นี้ให้มากเสมอเขาหรือมากกว่าเขา ด้วยประการฉะนี้ ๒. สำหรับเมื่อเราถือเนกขัมมะ(เป็นฆราวาสแต่ถือบวชใจมีศีล ๕ หรือ ศีล ๘ เป็นเบื้องต้น) แม้จะเจอบุคคลที่เราพอใจยินดีเป็นที่งดงามหมดจดดั่งตนใคร่ได้ปารถนาดีแล้ว แต่เรามิอาจที่จะได้ยลหรือครองคู่ใดๆร่วมกับเขา ก็ให้พึงระลึกว่า เขาไม่ได้ถูกสร้างหรือลิขิตมาเพื่อเป็นคนของเรา ดังนั้นถึงแม้เราจะพึงปารถนาในเขาไป หรือ ตะเกียกตะกายไขว่คว้าเพื่อที่จะได้เขามามากเท่าไหร่จนแม้แลกด้วยกับชีวิตที่มีอยู่นี้ก็ไม่มีทางที่จะสมปารถนาไปได้ เพราะเขาไม่ได้ถูกสร้างเพื่อเกิดมาเป็นคนของเราดังนี้ แต่หากเป็นคนที่เขาถูกสร้างมาเพื่อกันและกันแล้วถึงแม้ไม่ต้องต้องพูด-ไม่ต้องไขว่คว้าปารถนา-ไม่ต้องไปทุ่มเทอะไรมากมายเขาก็จะถูกชักจูงให้ได้อยู่ครองคู่รักกันร่วมเคียงข้างกันอยุ่ดีไม่แคล้วคลาดกันไปดังนี้ ดังนั้นด้วยเพราะเขาไม่ได้เกิดมาเพื่อเรานั่นคงเป็นเพราะชาตินี้เราเกิดมาเพื่อสร้างในบารมีทั้ง ๔ ข้อนั้นให้เพียงพอแก่ตนเองเพื่อถึงความหลุดพ้นจากทุกข์อันร้อนรุ่มกายใจ เร่าร้อนกายใจ เจ็บปวดกายใจ อัดอั้นคับแค้นกายใจ ทรมานกายใจดั่งที่เราเผชิญอยู่เหล่านี้ให้สิ้นไปไม่มีอีก เราก็ควรที่จะเพียรขยัน อดทนเจริญปฏิบัติในทั้ง ๔ ข้อนี้ให้มากอย่างไม่ย่อท้อเพื่อในภายภาคหน้า หรือ ชาติหน้าเราจักมีนางแก้วเป็นคู่บารมีครองคู่กันและไปถึงซึ่งพระนิพพานด้วยกันดังนี้ (เป็นการใช้ตัณหาเพื่อละตัณหา ดั่งพระพุทธเจ้าตรัสสอนพระนันทะเถระซึ่งเป็นผู้มีราคะมากให้เปลี่ยนความคิดความกระทำใหม่โดยพาไปดูนางอัปสรบาสวรรค์ทั้งหลายพร้อมตรัสสอนเห็นเกิดความเห็นและความคิดอันเป็นอุบายในการปฏิบัติจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์) (https://image.free.in.th/v/2013/tl/140430125555.png) (https://pic.free.in.th/id/dabcd4a77593254519aefbe5378e151a) ค. บุคคลนั้นๆที่เราเห็นเขาก็อยู่ตามปกติของเขาอยู่อย่างนั้น เราเองที่ไปมองเอาส่วนเล็กส่วนน้อย ส่วนเว้าส่วนโค้ง จุดนั้นจุดนี้ของเขาแล้วเอามาคิดปรุงแต่งเสพย์อารมณ์จนเกิดความกำหนัดขึ้นมา เพราะว่าเรามองเขาอย่างนี้จึงทำให้เกิดราคะกลุ้มรุม ดังนั้นเราควรเปลี่ยนความคิดที่จะมองเขาเสียใหม่โดยมองในจุดที่เป็นจุดรวมๆ เพื่อให้กายใจเราสลัดจากความเร่าร้อนร้อมรุ่มที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมเราอยู่ดังนี้ เหตุที่กล่าวว่ามองเอาส่วนเล็กส่วนน้อยนั้นเป็นไฉน ที่ผมพอจะรู้เห็นได้คือ (ธรรมฃาติเมื่อรู้อารมณ์ใดๆทางตา) -> (สภาวะแรกก็สักแต่เห็นไม่มีบัญญัติ เห็นเป็นสีๆมีเคล้าโครงรูปร่างต่างๆเท่านั้น) -> (เข้าไปรู้สภาพที่เห็นอยู่+สัญญา = รู้บัญญัติเป็นตัวตนบุคล สัตว์ สิ่งของ) -> (เวทนา) -> (ฉันทะ พอใจยินดี/ปฏิฆะ ไม่พอใจยินดี) -> (เจตนา จงใจตั้งใจมองดูส่วนเล็กส่วนน้อย) -> (อกุศลวิตก+ความหวนระลึกถึงสัญญาความจดจำสำคัญมั่นหมายของใจใดๆ) -> (มองดูส่วนเล็กส่วนน้อยที่ใจเราให้สำคัญหมายรู้) -> (ความปรุงแต่งจิตอันเป็นไปใน "ฉันทะ" + "ปฏิฆะ") -> (ความปรุงแต่งจิตสมมติสร้างเรื่่องราว) -> โลภะ(เพลิดเพลิน) -> นันทิ(ติดใจเพลิดเพลิน) -> กาม(น่าใคร่น่าปารถนาในอารมณ์ไรๆที่ทำให้เราเพลิดเพลินอยู่นั้น) -> ราคะ(ฝักใฝ่หมายมั่นใคร่ปารถนาในอารมณ์นั้นๆ) -> ฉันทะราคะ" คือ ความกำหนัดมีใจจดจ่อผูกใฝ่คำนึงถึงติดใคร่พอใจยินดีในอารมณ์นั้นๆ -> (ฉันทะราคะ มีสภาวะที่จิตเรานั้น..มีความผูกใฝ่หมายมั่นจดจ่อแนบแน่นใคร่ปารถนาในอารมณ์ไรๆที่ตนมีความติดใคร่พอใจยินดีอยู่) (ร้อนรุ่ม รุ่มร้อน เร่าร้อน เดือดเนื้อร้อนใจกลุ้มรุม) -> (ทะยานอยาก ๓) -> (ทุกข์) ค.๑ คิดใหม่มองใหม่ในภาพรวมๆที่เราเห็น คือ บุคลนั้นอยู่ในอิริยาบถใด เช่น ยืน เดิน นั่ง หรือ นอน ไม่ไปสัดส่ายมองดูจ้องดูในอวัยะส่วนเล็กส่วนน้อยของเขาจนเกิดความปรุงแต่งนึกคิดอันเป็นไปในกามราคะ ทำให้เราเห็นเป็นเพียงแค่คน ไม่ว่าจะเพศไรๆที่อยู่ในอริยาบถต่างๆเท่านั้น (เป็นการดึง สัมปชัญญะ+สติ ขึ้นรู้เพียงสิ่งที่เห็นในปัจจุบันขณะอันไม่เอาความตรึกนึกคิดจากการสำคัญใจที่จะมองในราคะ) ค.๒ คิดใหม่มองใหม่ในภาพรวมๆที่เราเห็น คือ สีเสื้อ ดูว่าที่เราเห็นเขานุ่งห่มอยู่นั้นเป็นสีอะไร มีสีอะไรบ้าง รูปทรงของสีเหล่านั้นเป็นไฉน เพ่งจุดเพียงสีเท่านั้น เมื่อมองเช่นนี้แม้เราจะรู้เพศ รู้สีผิว สีเสื้อผ้า ความสูงต่ำ แต่ไม่ได้ใส่ใจที่หน้าตาและส่วนเล็กส่วนน้อยของเขาแล้ว (เรียกว่าใส่ใจมองในจุดใหญ่ๆที่มองเห็นได้ คือ ดูสีจากเสื้อผ้าเป็นอารมณ์ โดยไม่ได้เจาะเข้าไปดูส่วนเอว ส่วนนม ตรงอวัยะเพศเป็นยังไง ซึ่งความคิดที่จะมองดูและเพ่งเล็งอย่างนี้จะทำให้เกิดการตรึกนึกต่อเสพย์อารมณ์ของกิเลสสืบมา) ค.๓ คิดใหม่มองใหม่ในภาพรวมๆที่เราเห็น คือ เขาก็มีร่างกายอวัยวะต่างๆเหมือนเพศตรงข้ามคนอื่นๆทั่วไปที่เราพบเจอ มี 2 ขา 2 แขน มีผม มีคิ้ว มีหู มีเนื้อ มีหนังหุ้มเป็นที่สุดรอบเหมือนกับเพศตรงข้ามคนอื่นๆที่เราเคยพบเจอไม่ได้ต่างกันเลย ซึ่งคนที่เราเคยพบเจอเหล่านั้นก็ไม่ใช่ว่าเราจะมองด้วนราคะทุกคน ทั้งๆที่มีอวัยวะทั้งหมดเหมือนกันทุกอย่าง สิ่งที่ต่างก็เพียงแค่สี และ เคล้าโคลงรูปร่าง รูปพรรณสันฐานเท่านั้น เขาก็เป็นเพียงเพศตรงข้ามเหมือนคนอื่นที่เราได้เคยพบเจอทั่วไปเท่านั้น (เป็นการมองโดยมีความคิดที่ลงมองในรูปขันธ์ตามอาการต่างๆที่เหมือนกับเพศตรงข้ามคนอื่นๆที่เราไม่ได้สำคัญใจมองด้วยราคะที่เราเคยพบเจอ) หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 10, 2014, 03:35:10 AM บันทึกกรรมฐานเมื่อ: มีนาคม 06, 2014, 03:32:58 PM » ๒. อุบายการเจริญปฏิบัติแบบสมถะเพื่อถึงกุศลจิต มีจิตจดจ่อและอุเบกขาเป็นผล ๒.๑ การละกิเลสด้วยการเปลี่ยนความคิด คือ กุศลวิตก (ในปัญญาขั้นสมถะไปถึงสัมมาสังกัปปะที่แท้จริง) ง. ที่เราเกิดกามราคะกลุ้มรุมนั้น ก็เพราะเราสำคัญใจที่จะมองและตรึกนึกคิดต่อบุคคลที่เราเห็นนั้นด้วยราคะ(ราคะสังกัปปะ) เราก็ละทิ้งความคิดอันเป็นไปในกามนั้นเสีย แล้วเปลี่ยนความคิดใหม่โดยดึงเอาสิ่งที่รู้เห็นอยู่นี้มาวิเคราะห์ลงในธรรมให้เห็นตามจริง(ธัมมะวิจยะ) จนเกิดความเบื่อหน่ายแล้วสลัดทิ้งในกามราคะที่กลุ้มรุมกายใจเราเหล่านั้นให้คงอยู่สืบไปตามสติกำลัง เรียกว่า นิพพิทาในปัญญาของสมถะ ดังนี้ครับ ง.๑ คิดใหม่มองใหม่ด้วยเปลี่ยนและละในการให้ความสำคัญของใจจากสิ่งที่มองอยู่ มารู้ตัวอยู่กับปัจจุบันขณะ โดยให้หายใจออกจนสุดลมแล้วกลั้นหายใจไว้จนทนไม่ได้ แล้วค่อยหายใจเข้า แล้วตรึกนึกคิดใหม่ว่าการที่เราไปเพ่งเล็งเขาด้วยราคะอยู่นั้นมันสร้างความเร่าร้อนร้อนรุ่มกายใจจนเกิดความกำหนัดใครถวิลหา และ แม้เราเห็นเขาอยู่นั้นเราก็ไม่ได้สัมผัสกายใจไรๆของเขาเลย ซึ่งเขาก็อยู่ของเขาอย่างนั้นแต่เรานี้เองที่เข้าไปเสพย์อารมณ์ตรึกนึกคิดปรุงแต่งจนเสวยโทมนัสเวทนารุ่มร้อนกายใจ ทั้งๆที่เขาก็อยู่ของเขาตรงนั้นและเราอยู่ของเราที่ตรงนี้ไม่ได้เข้าไปใกล้หรือสัมผัสไรๆในเขาเลย "แม้เราไม่ได้สัมผัสไรๆในตัวเขา ไม่ได้ร่วมเสพย์ในเมถุนกับเขา ถึงกระนั้นเราก็ยังไม่ตายหนอ แต่การที่เราหายใจออกไป แล้วไม่หายใจเข้านี่สิจักทำให้เราทุรนทุรายจักตายเสียตรงนี้ให้ได้ กามราคะนั้นหนอไม่ได้สำคัญและเทียบไม่ได้เท่าลมหายใจที่หล่อเลี้ยงให้กายนี้ยังชีวิตเราให้อยู่ได้ ดังนั้นการจดจ่อเพ่งเล็งที่ลมหายใจเขาออกย่อมมีคุณประโยชน์มากกว่าที่เราจะไปเจาะจงเพ่งเล็งที่เรือนร่างอวัยวะส่วนเล็กส่วนน้อยของคนเพศตรงข้ามที่เราเห็นนั้นเสียอีก กามราคะนั้นหาประโยชน์ไรๆไม่ได้แก่เราเลยนอกจากทุกข์ดังนี้ (เป็นการดึงเอาสัมปชัญญะความรู้ตัวทั่วพร้อมในปัจจุบันขณะและสติความระลึกรู้เท่าทันอารมณ์ขึ้นมา คิดตรึกนึกวิเคราะห์ลงในธรรมอันเรียกว่าธัมมะวิจยะ เพื่อให้เห็นไปด้วยความไม่มีคุณประโยชน์จากกิเลสที่เกิดขึ้นทางสฬายตนะ(แม้ยังซึ่งบัญญัติอยู่แต่ก็เป็นไปด้วยการพิจารณาในการรับรู้ซึ่งสภาพที่เกิดขึ้นจริง) เมื่อยังในอารมณ์พิจารณาอย่างนี้อยู่เนื่องๆก็จะพิจารณาเห็นธรรมตามจริงอันมีความ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เช่น เมื่อเห็นเพศตรงข้ามที่พอใจราคะก็เกิด เมื่อหายใจออกจนสุดไม่หายใจเข้าราคะก็ดับไปแต่เกิดความต้องการที่จะหายใจเข้าแทน พอหายใจเข้าและออกจนเป็นปกติได้แล้ว จิตที่จดจ่ออยู่ที่ลมหายใจก็ดับไป จนพิจารณาเห็นตามจริงถึงความไม่เที่ยง ไม่คงอยู่ มีความเกิดดับๆอยู่ตลอดเป็นธรรมดาไม่คงอยู่นาน ความเข้าไปเสพย์หลงไหล ลุ่มหลงไป ใคร่ตามกับสิ่งไม่เที่ยง คือจิตสังขารหล่านี้มันเป็นทุกข์ จนถึงแม้กายเรานี้ก็ไม่คงอยู่ ไม่หายใจก็จักต้องตาย-ที่ยังชีพอยู่ก็ด้วยมีลมหายใจหล่อเลี้ยงชีวิต ไม่กินก็ตายเพราะไม่มีอาหารเครื่องประโยชน์ให้ร่างกายซึมซับดำรงชีพอยู่-มีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะกิน ไม่ขับถ่ายร่างกายก็แปรปรวนเสื่อมโทรมในอวัยวะต่างๆจนถึงความเสื่อมทุพลภาพของกายทั้งหมดนี้แล้วก็ตาย ทำให้เกิดปัญญาเห็นความไม่เที่ยงบ้าง เห็นความตายอยู่ทุกขณะบ้าง ย่อมเข้าถึงยถาภูญาณทัสสนะ ไม่ว่าจะบัญญัติ หรือ ปรมัตถธรรมอันเห็นเป็นเพียงธาตุหรือรูปนามไม่มีตัวตนบุคคลใดก็ตามและถึงแม้จะไม่เห็นทั้งหมดหรือตลอดเวลาก็จัดว่าเป็นปัญญาในขั้นต้นด้วย แม้อาจจะยังเกิดความเบื่อหน่ายบ้างไม่เบื่อบ้าง เข้าถึงแล้วบ้างไม่ถึงบ้างอันนี้ผมก็เรียกว่า นิพพิทาในขั้นสมถะปัญญา เกิดความเห็นตามจริงมีแลหาแนวทางเจริญปฏิบัติแสวงหาเพื่อถึงทางออกจากทุกข์ จนเมื่อเกิดความรู้เห็นตามจริงด้วยปัญญารู้แจ้งเห็นตามจริงอันไม่เสื่อมไป เพียรเจริญปฏิบัติเพื่อถึงความพ้นทุกข์ คือ ถึงซึ่งนิพพาน ย่อมเกิดนิพพิทาญาณในขั้นวิปัสสนาญาณอันแท้จริง) ง.๒ คิดใหม่มองใหม่ด้วยเจริญจิตขึ้นพิจาณาให้เห็นตามจึงถึงความไม่มีตัว ความไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราในจากสิ่งที่เรามองเห็นอยู่ โดยมองว่า บุคคลที่เราเห็นนั้นหนอแม้จะงดงาม สวยหยาดเยิ้ม หรือ หล่อเหลา น่าชื่นชมขนาดไหนก็ตาม แต่เขาก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แม้นหากเขานั้นเป็นของเราจริงแล้ว เราก็ย่อมที่จะสามารถบังคับสั่งให้เขาเป็นไปดั่งใจเราต้องการได้ว่า เออนะขอเธอจงมารักเราเถิด เออนะขอเธอจงเข้ามาหาเราเถิด เออนะขอเธอจงยอมพลีกายใจให้เราเกิด เออนะขอเธอจงยอมพลีกายใจให้เราด้วยใจรักอันปราศจากอามิสเครื่องล่อใจเถิด เออนะขอเธอจงมาร่วมใช้ชีวิตคู่กับเราเถิด แต่ทว่าถึงแม้เราจะปารถนาอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นตามใจปารถนาแต่มันก็หาเป็นไปสมดั่งใจเราหวังไม่ เพราะเราไม่อาจจะไป บังคับ ยื้อยึด ฉุดรั้ง สั่งให้เขากระทำทั้งกายและใจอย่างนั้นอย่างนี้ได้ดั่งใจเราหวังไม่ นั่นก็ด้วยเพราะเขาไม่ใช่เรา เขาไม่ใช่ของเรา สักแต่เป็นบุคคลที่เราเห็นแล้วก็จักเลยผ่านไป ไม่มีตัวตนอันที่เราจะเข้าไปตั้งความหวังปารถนาไรๆจากเขาได้ เพราะเขาไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราดังนี้ ยิ่งปารถนาในสิ่งที่ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราไป มันก็ยิ่งเป็นทุกข์อันถูกกลุ้มรุมด้วยความร้อนรุ่ม ร้อนรน เร่าร้อนกายใจ หาประโยชน์สุขไรๆไม่ได้เลยดังนี้ (เป็นการพิจารณาจนเห็นความไม่มีตัวตน เห็นความไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราในสิ่งทั้งปวงนี่ก็จัดเป็นยถาภูญาณทัสสนะอย่างหนึ่ง คือ ความรู้เห็นในทุกขอริยะสัจ และ เห็นความเป็นไปตามจริงด้วยปัญญาขั้นต้น(ในส่วนผมยกมานี้ผมหมายกล่าวถึงความเห็นตามจริงอันเป็นบัญญัติอยู่ เพราะยังคงเป็นบัญญัติอยู่บ้างหรืออาจจะเห็นรูปนามอยู่บ้างเล็กน้อย) แต่ก็เป็นทางเข้าสู่ความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งไรๆแล้ว จนเกิดความเบื่อหน่ายอันเป็นนิพพิทาเช่นกัน แต่เป็นนิพพิทาในแบบสมถะอันยังมีบัญญัติความคิดอนุมานเป็นใหญ่อยู่ โดยมีความหน่ายแบบเป็นๆหายๆถ้าไม่ทรงอารมณ์ไว้ด้วยเพราะยังคงเป็นบัญญัติเป็นปัญญาจากความคิดอนุมานเอา ยังไม่เห็นตามจริงโดยปราศจากความคิดอยู่ มีความติดใจอยู่ซึ่งยังถอนออกไม่หมด เพียงแต่คลายความยึดมั่นแล้วเห็นทางที่ควรเจริญแล้วบ้าง เป็นปัญญาโดยสมถะ ปัญญาจากความนึปกคิดอนุมาน ยังไม่ใช่สัมมาทิฐิและสัมมาสังกัปปะตามจริง จนเมื่อเกิดปัญญาเห็นแจ้งตามจริงในความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงธาตุหรือรูปนามไม่มีตัวตนบุคคลใด ไปจนเข้าถึงแลเห็นความ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสัจธรรม โดยปราศจากความตรึกนึกคิดอนุมาน คือ เห็นในสภาวะนั้นจริงๆโดยไม่ใช้ความคิด ปราศจากเจตนาความจงใจหมายทำ นี่เป็นปัญญาในวิปัสสนา จนเกิดความเบื่อหน่ายด้วยปัญญาโดยไม่ถ่ายถอน เพียรเจริญปฏิบัติเพื่อถึงความพ้นทุกข์ คือ ถึงซึ่งนิพพาน ย่อมเข้าถึงนิพพิทาญาณในขั้นวิปัสสนาญาณอันแท้จริง) * ปัญญา คือ ความรู้เห็นตามจริง , ญาณ คือ ความรู้แจ้งแทงตลอด (นี่คือความเข้าใจในขณะนั้น) นิพพิทาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๒๒ [๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อเข้าไปสงบ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพานโดยส่วนเดียว ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นว่า ไม่งามในกาย ๑ (เช่น ปฏิกูลมนสิการ, นวสีวถิกา, อสุภกรรมฐาน) มีความสำคัญว่า เป็นของปฏิกูลในอาหาร ๑ (เช่น ปฏิกูลมนสิการ, อาหาเรปฏิกูลสัญญา) มีความสำคัญว่า ไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง ๑ (เช่น โลกธรรม ๘) พิจารณาเห็นว่า ไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง ๑ (เช่น พระไตรลักษณ์) ย่อมเข้าไป ตั้งมรณสัญญาไว้ใน ภายใน ๑ (เช่น มรณสติ, พระไตรลักษณ์) ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้ มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อเข้าไปสงบ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฯ จบสูตรที่ ๙ ๒.๑.๑.ข การเปลี่ยนแปลงความคิดเมื่อเกิดราคะจากการรู้อารมณ์ทางทาง หู จมูก ลิ้น กาย ใจ - การเจริญจิตขึ้นเปลี่ยนแปลงความคิดเพื่อละในกามราคะเมื่อได้รับรู้ผัสสะทาง "หู" คือ "เสียง" ก็ให้พิจารณาเปลี่ยนแปลงความคิดไม่ต่างกันขอยกตัวอย่างคร่าวๆดังนี้ ก. เมื่อได้ยินเสียงไรๆก็ตามแล้วเอาไปคิดปรุงแต่งไปเองจนทำให้เราเกิดราคะ ที่เราได้ยินเสียงไรๆแล้วเกิดราคะนั่นเพราะเราได้ยินแล้วตรึกนึกคิดให้เป็นไปในราคะทั้งที่เป็นความจริงบ้างและไม่จริงบ้าง แต่ก็คิดเดาเอาว่าเป็นเสียงในการเสพย์เมถุนอยู่เช่นนั้นโดยที่ไม่รู้ว่าจริงไหมจนเกิดความกำหนัดแก่ตนให้ความร้อนรุ่มและเร่าร้อนกลุ้มรุมกายและใจตนเอง ก.๑ ให้ลองเปลี่ยนความคิดใหม่จากเสียงที่ได้ยินว่าอาจจะเป็นเสียงที่เกิดเพราะอาการอย่างอื่นไหม เช่น เขาเกิดอุบัติเหตุไหม เขามีความเจ็บป่วยในร่างกายไหม เขาร้องเรียกออกมาเพราะความทรมานไหม เขากรีดร้องออกมาเพราะถูกทำร้ายไหม ก.๒ ให้ลองเปลี่ยนความคิดใหม่ว่าากเสียงที่ได้ยินว่าอาจจะเป็นเสียงของสภาพแวดล้อมอื่นๆไหม เช่น เสียงพัดลม เสียงเปิดปิดประตู เสียงหนูวิ่ง แมงวิ่ง หมาวิ่ง เสียงแอร์ เสียงนกร้อง เสียงแมวร้อง เสียงหนูร้อง เสียงหมาร้อง เสียงผมพัดสิ่งของไรๆไหม ทั้งๆที่มันเป็นเพียงแค่เสียง และเราก็ไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นตามจริงว่าเป็นเสียงอะไรมีความจริงเป็นไฉนกลับไปตรึกนึกคิดเอาเป็นเอาตายในราคะอย่างนั้น ข. เมื่อได้ยินได้ฟังเสียงของเพศตรงข้ามที่พูดคุยสนทนากันอยู่แล้วเกิดราคะ นั้นก็เพราะด้วยเสียงนั้นทำให้เราเกิดความพอใจเพลิดเพลินยินดี จากนั้นเราก็เอามาปรุงแต่งนึกคิดเสพย์อารมณ์ให้เกิดความใคร่ปารถนาใคร่ได้ยินดีที่จะเสพย์ในเมถุน ก็พึงลองเปลี่ยนความคิดใหม่ดูดังนี้ว่า ข.๑ เสียงนี้มันก็เป็นเพียงสิ่งที่เรารับรู้ทางหู เมื่อรู้แล้ว คือ ได้ยินแล้ว ก็เอามาปรุงแต่งตรึกนึกคิดไปทั่วจนเป็นไปในกามราคะ เพราะเป็นเสียงที่ชอบที่พอใจเพลิดเพลินยินดีว่าไพเราะบ้าง แล้วก็ปรุงแต่งคิดไปว่าเหมือนเสียงที่เสพย์เมถุนอยู่บ้างหรือหากเมื่อเสพย์เมถุนแล้วจักเป็นสภาพแบบใดบ้าง หรือ เสียงเซ็กซี่บ้าง เสียงน่ารักเพลิดเพลินใจบ้าง ทั้งๆที่ปัจจุบันเขาก็อยู่ในส่วนในที่ของเขาและเราก็อยู่ของเราที่ตรงนี้ ไม่ได้เข้าใกล้ไม่ได้สัมผัสข้องเกี่ยวกันเลย แต่เรานั้นเองที่ได้ยินเสียงอันเป็นท่วงทำนองที่เสนาะใจแล้วเอามาคิดให้เป็นไปในราคะเอง (ดังนี้คือการเรียกสติสัมปชัญญะให้ตื่นขึ้นรู้ความจริงในปัจจุบันและสลัดจากการถูกความคิดอันเป็นไปในราคะกลุ้มรุม) หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 10, 2014, 03:40:04 AM บันทึกกรรมฐานเมื่อ: มีนาคม 06, 2014, 03:32:58 PM » ๒. อุบายการเจริญปฏิบัติแบบสมถะเพื่อถึงกุศลจิต มีจิตจดจ่อและอุเบกขาเป็นผล ๒.๑ การละกิเลสด้วยการเปลี่ยนความคิด คือ กุศลวิตก (ในปัญญาขั้นสมถะไปถึงสัมมาสังกัปปะที่แท้จริง) ข.๒ เสียงนี้มันก็เป็นเพียงสิ่งที่เรารับรู้ทางหู เมื่อรู้แล้ว คือ ได้ยินแล้ว ก็เอามาปรุงแต่งตรึกนึกคิดไปทั่วจนเป็นไปในกามราคะ ทั้งๆที่มันก็เป็นเพียงเสียงอันเป็นธรรมชาติที่หูเราจักพึงได้ยิน(นี่ถ้าไม่ได้ยินก็แสดงว่าหูหนวกแล้ว) ทั้งที่ตัวเขาก็ไม่ได้อยู่กับเรา ทั้งๆที่จริงแล้วหูของเรานั้นก็แค่ได้ยินเสียงอันมี น้ำหนัก ทำนอง และ ถ้อยคำต่างๆเท่านั้น ไม่ต่างจากที่เราได้รับฟังหรือได้ยินจากคนอื่น สัตว์อื่น สิ่งอื่นที่อยู่ในที่นี้ๆ หรือ ที่อยู่ในที่อื่นๆเลย แต่เราเองต่างหากที่ฟังแล้วไปคิดปรุงแต่งให้ความสำคัญมั่นหมายของเสียงนั้นในความรู้สึกเช่นนั้นจนเกิดราคะอันเร่าร้อนรุ่มร้อนกลุ้มรุมกายใจเอง นี่เรียกว่าเราเป็นผู้ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้วเพราะความคิด เป็นผู้หลงอยู่ในความคิดอันเรียกว่า ราคะสังกัปปะ - ก็ให้เราพึงละความสำคัญมั่นหมายในเสียงอันเป็นไปในราะคะนั้นทิ้งเสีย แล้วจับฟังแค่คำพูด หรือ ความหมายของคำพูดแต่ละคำเท่านั้น - ก็ให้เราพึงละความสำคัญมั่นหมายในเสียงอันเป็นไปในราะคะนั้นทิ้งเสีย แล้วจับฟังแค่สภาพของน้ำเสียงนั้นๆว่ากล่าวออกมาด้วยวาจาอย่างไร เช่น เขาพูดกระแทก พูดพร้ำเพ้อ พูดเพ้อเจ้อ พูดส่อเสียด พูดยุแยงตะแครงรั่ว พูดเหยียหยาม เมื่อรู้ดังนี้ก็ไม่ต้องไปคิดโต้ตอบกับเสียงที่ได้ยินเหล่านั้น ให้พึงระลึกรู้แค่ว่า เป็น "มิจฉาวาจา" ไม่ควรเอาอย่าง ไม่ควรเสพย์ ไม่ควรจะกล่าวออกจากปากเราเพราะมันไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขไรๆนอกจากทุกข์ เป็นวาจาอันเมื่อกล่าวแล้วก็จักมีภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ตนเองและผู้อื่น หรือ เขาพูดด้วยวาจาอันดีไพเราะ มีเหตุมีผลหรือสามารถทบทวนวิเคราะห์เห็นในเหตุและผลได้ ไม่พูดพร่ำเพ้อ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดจาส่อเสียดยุแยง ไม่พูดเหยียดหยัน มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น ก็ให้พึงระลึกรู้แค่ว่า เป็น "สัมมาวาจา" ควรที่จะเอาอย่าง ควรที่จะเสพย์ ควรที่จะกล่าว ควรที่จะเจริญให้มาก ควรที่จะออกจากปากของเรา ให้เรารู้แค่เพียงเท่านั้นก็พอ - แนวทางเบื้องต้นก็มีด้วยประการฉะนี้ ไม่ว่าจะเป็น "กลิ่น" หรือ "รส" หรือ "โผฐัพพะ" ก็เจริญอย่างนี้เหมือนกันทั้งหมด ขึ้นอยู่กับปัญญาและจริตนิสัยของแต่ละคนว่าจะเห็นในทุกข์ของมันเห็นอุบายวิธีการละของมันอย่างไร เห็นอุบายเจริญได้มากน้อยแค่ไหน อยู่ที่ จริตนิสัยและปัญญาของผู้ปฏิบัติเองทั้งนั้นครับ อุบายของผมอาจจะไม่ถูกกับหลายๆท่านและอุบายของท่านอาจจะใช้ไม่ได้กับผมดังนั้นท่านทั้งหลายเพียงดูอุบายของผมพอเป็นแนวทางแล้วก็วิเคราะห์พิจารณาให้เห็นถึงอุบายอันถูกจริตของท่านแต่ละคนจะเป็นประโยชน์ที่สุดครับ บันทึกกรรมฐานเมื่อ: มีนาคม 06, 2014, 04:34:38 PM » ๒.๒ การละกิเลสด้วยการเจริญเข้าสู่กอง สมถะกรรมฐาน(ว่าด้วยราคะ ๑) ๒.๒.๑ เจริญจิตขึ้นให้เห็นในสิ่งที่ควรเสพย์และไม่ควรเสพย์ มีความสำรวมกาย วาจา ใจ มีศีลสังวร จนสงเคราะห์ลงให้เห็นเป็นของไม่สวยไม่งามที่ไม่น่าพิศมัยยินดี เข้าพิจารณาในเป็น ปฏิกูลมนสิการ และ อสุภะกรรมฐาน สักเป็นแต่เพียงธาตุ เพื่อละกามราคะ ๒.๒.๑.ก เจริญจิตขึ้นระลึกในพุทธานุสสติเป็นฐานแห่งจิตและความระลึกรู้ เลือกสิ่งที่ควรเสพย์และไม่ควรเสพย์ ก. เมื่อเรารู้อารมณ์ใดๆทางสฬายตนะแล้วเกิดกามราคะ ก็ให้เกิดสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อมในปัจจุบันขณะ มีสติตั้งอยู่ระลึกรู้ว่าราคะเกิด จากนั้นให้เจริญอานาปานนสติ+พุทธานุสสติทำดังนี้ ๑. หายใจเข้ายาวๆจนสุดใจ มีสติรู้ว่าหายใจเข้ายาวพร้อมกำกับคำบริกรรมว่า "พุทธ" น้อมจิตระลึกถึงพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูป หรือ ภาพวาดพระพุทธเจ้าองค์ใดๆที่ทำให้เราสงบใจเมื่อระลึกถึง (โดยส่วนตัวผมจะระลึกถึงภาพของพระพุทธเจ้าที่เขาถ่ายติดใต้ต้นโพธิ์ด้วยผมพิจารณาและศรัทธาถึงความตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เองของพระพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้รู้-ผู้ตื่นจากโมหะ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เห็นถึงความสำรวมกาย วาจา ใจ มีสติและจิตตั้งมั่น มีความผ่องใส เบิกบาน สงบ สุขอันปราศจากกิเลสเป็นสภาวะธรรมที่ชื่อว่า "อระหัง" [ระลึกเอาความสุขอันปราศจากกิเลสมีความไม่ติดข้องใจยึดมั่นถือมั่นในสิ่งไรๆมันผ่องใสเบิกบานสงบสุขอย่างที่เราเห็นสภาวะของพระพุทธเจ้าดังในรูปนั้นเอง] มีพระเมตตาแผ่ออกไปทั่ว 84000 โลกธาตุ [ระลึกว่าพระเมตตาและพระกรุณาดุจห้วงมหรรณพนั้นแผ่มาสู่ตนให้หายความร้อนรุ่มใจ]) (เมื่อหายใจเข้ายาวจนสุดลมแล้ว เราอาจจะกลั้นลมหายใจไว้ แล้วระลึกถึงพระพุทธเจ้าดังนี้จะเป็นการดึงเอาความรู้ตัวทั่วพร้อมในปัจจุบันให้เกิดเร็วขึ้น) ๒. หายใจออกยาวๆจนสุดใจ มีสติรู้ว่าหายใจออกยาวพร้อมกำกับคำบริกรรมว่า "โธ" น้อมจิตระลึกถึงพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูป หรือ ภาพวาดพระพุทธเจ้าองค์ใดๆที่ทำให้เราสงบใจเมื่อระลึกถึง (โดยส่วนตัวผมจะระลึกถึงภาพของพระพุทธเจ้าที่เขาถ่ายติดใต้ต้นโพธิ์ด้วยผมพิจารณาและศรัทธาถึงความตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เองของพระพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้รู้-ผู้ตื่นจากโมหะ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เห็นถึงความสำรวมกาย วาจา ใจ มีสติและจิตตั้งมั่น มีความผ่องใส เบิกบาน สงบ สุขอันปราศจากกิเลสเป็นสภาวะธรรมที่ชื่อว่า "อระหัง" [ระลึกเอาความสุขอันปราศจากกิเลสมีความไม่ติดข้องใจยึดมั่นถือมั่นในสิ่งไรๆมันผ่องใสเบิกบานสงบสุขอย่างที่เราเห็นสภาวะของพระพุทธเจ้าดังในรูปนั้นเอง] มีพระเมตตาแผ่ออกไปทั่ว 84000 โลกธาตุ [ระลึกว่าพระเมตตาและพระกรุณาดุจห้วงมหรรณพนั้นแผ่มาสู่ตนให้หายความร้อนรุ่มใจ]) (เมื่อหายใจเข้าออกจนสุดลมแล้วเราอาจจะกลั้นลมหายใจไว้ แล้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าดังนี้จะเป็นการดึงเอาความรู้ตัวทั่วพร้อมในปัจจุบันให้เกิดเร็วขึ้น) - พึงเจริญอนุสสติด้วยอานาปานนสติและพุทธานุสสติเแล้วระลึกอย่างนี้สัก 3-5 ครั้ง คือ หายใจเข้า(พุทธ)+หายใจออก(โธ) นับเป็น 1 ครั้ง เพื่อดึง สัมปชัญญะ+สติ ขึ้นมารู้กายรู้ใจในปัจจุบันทำให้จิตสงบและผละออกจากกามราคะ ข. พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระอานนท์ว่าบุคคลใดก็ตาแม้จะระลึกถึงหรือเห็นพระพุทธเจ้าแล้วกล่าวคำว่า อระหังๆๆๆ อยู่อย่างนี้ แม้จะสงบรำงับจากกิเลสได้แต่ก็ยังขจัดทิ้งซึ่งกิเลสไม่ได้ หากเอาแต่ระลึกบริกรรมแต่ไม่ปฏิบัติตาม ด้วยเหตุดังนี้แล้วเราจะเจริญพุทธานุสสติอย่างไรให้หลุดพ้นซึ่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ๑. การยังความสำรวม กาย วาจา ใจ มีศีลสังวรด้วยพุทธานุสสติ(ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าอันว่าด้วย วิชชาจรณะสัมปันโณ และ ปุริสทัมสารถิ) ให้พึงกำหนดนิมิตเจริญปฏิบัติดังนี้คือ "พึงตรึกนึก รำลึกคำนึงถึงว่า พระพุทธเจ้านั้นทรงพระเมตตาและมีพระมหากรุณาธิคุณ ได้ทรงมาปรากฏอยู่เบื้องหน้าเราผู้เป็นสาวกแล้ว" เมื่อพระตถาคตมาอยู่เบื้องหน้านี้แล้ว และ พระตถาคตนั้นทรงมีความสำรวมกาย-วาจา-ใจอยู่ มี "ศีลสังวร" มี "วิชชาและจรณะ" อันบริบูรณ์พร้อมแล้ว ได้กระทำให้เราเห็นอยู่เบื้องหน้าดังนี้แล้ว เพื่อให้เราผู้เป็นสาวกเจริญปฏิบัติตาม เรายังจะเสพย์ในกามราคะอันร้อนรุ่มอันเป็นอกุศลธรรมอันลามกจัญไรต่อหน้าพระพุทธเจ้าได้อย่างไร เราผู้เป็นสาวกผู้ประพฤติตามอยู่นี้ควรสำรวมกาย-วาจา-ใจ ดั่งพระตถาคตที่ทำเป็นแบบอย่างนั้นแก่เรา พระตถาคตจะตรัสสอนเสมอว่าให้เลือกสิ่งที่ควรเสพย์และไม่ควรเสพย์ - สิ่งใดที่ทำให้กุศลธรรมเสื่อมลง แล้วอกุศลธรรมอันลามกจัญไรเกิดขึ้น พระตถาคตตรัสว่าสิ่งนั้นไม่ควรเสพย์ - สิ่งใดที่ทำให้อกุศลธรรมอันลามกจัญไรเลื่อมลง แล้วกุศลธรรมอันผ่องใสเบิกบาน มีความสงบร่มเย็น เป็นสุขอันปราศจากกาม ราคะ โทสะ โมหะ ปราศจากความเบียดเบียนเกิดขึ้น พระตถาคตตรัสว่าสิ่งนั้นควรเสพย์ ทรงสอนให้สาวกดำรงศีลไว้เป็นฐานที่ตั้งแห่งทานและภาวนา มีพรหมวิหาร ๔ คลุมไว้เป็นเครื่องป้องกันและเสริมให้บริบูรณ์ เพื่อความขัดเกลากิเลส (การสำรวมกาย วาจา ใจ แล้วเลือกสิ่งที่ควรเสพย์ ดูเพิ่มเติมที่ "สัลเลขะสูตร" ตาม Link นี้ https://www.nkgen.com/386.htm (https://www.nkgen.com/386.htm)) ๒. ด้วยเหตุดังนี้แล้ว ให้พึงหวนพิจารณารำลึกว่า พระตถาคตก็อยู่เบื้องหน้าเรานี้แล้ว และ แสดงธรรมแห่งกุศลอันควรเจริญปฏิบัติแก่เราแล้วอยู่ทุกขณะดังนี้ ก. แม้เรายืนอยู่-พระตถาคตก็ทรงพระวรกายยืนในเบื้องหน้าเรา ทรงได้สำรวมกาย-วาจา-ใจ มีสีลสังวร และ เลือกสิ่งที่ควรเสพย์ให้เราเห็นแล้วประพฤติตามอยู่นี้ ข. แม้เราเดินอยู่-พระตถาคตก็ทรงเสด็จนำหน้าเราไปอยู่นี้เสมอ ทรงได้สำรวมกาย-วาจา-ใจ มีสีลสังวร และ เลือกสิ่งที่ควรเสพย์ให้เราเห็นแล้วประพฤติตามอยู่นี้ ค. แม้เรานั่งอยู่-พระตถาคตก็ทรงประทับนั่งอยู่เบื้องหน้าเราอยู่นี้ ทรงได้สำรวมกาย-วาจา-ใจ มีสีลสังวร และ เลือกสิ่งที่ควรเสพย์ให้เราเห็นแล้วประพฤติตามอยู่นี้ ง. แม้เรานอนอยู่-พระตถาคตก็ทรงบรรทมอยู่เบื้องหน้าเรา หากมีหิ้งพระอยู่ที่บ้านก็ให้พึงรำลึกว่าพระตถาคตประทับบรรทมอยู่ที่นั่น หรือ ทรงพระญาณแลดูเราอยู่นี้ ทรงได้สำรวมกาย-วาจา-ใจ มีสีลสังวร และ เลือกสิ่งที่ควรเสพย์แม้ในยามนอนให้เราเห็นแล้วประพฤติตามอยู่นี้ ๓. ด้วยพระเมตตากรุณาที่พระองค์ทรงดูแลเป็นห่วงเราอยู่แลปฏิบัติให้เห็นอย่างนี้ แล้วเราผู้ไหว้อยู่ซึ่งพระตถาคตก็ควรประพฤติตาม คือ ต้องสำรวมในกาย วาจา ใจ มีสีลสังวร แล้วละเสียซึ่งกิเลสกามราคะอันเร่าร้อนร้อนรุ่มกายใจที่กำลังกลุ้มรุมเราอยู่นี้เสีย ด้วยพึงเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ควรเสพย์ เพราะมันหาประโยชน์สุขอันสงบร่มเย็นกายใจไม่ได้นอกจากทุกข์ด้วยประการฉะนี้แล (การพิจารณาให้เห็นถึงคุณและโทษตามจริงในกิเลสทำให้เกิดธรรมที่มีเสมอกันคือทั้ง ฉันทะและปฏิฆะเท่ากัน เกิดเป็นอุเบกขาขึ้นแก่จิต นี่ก็เป็นทางเข้าสู่อุเบกขาจิตประการหนึ่งที่ว่าด้วยการมีธรรมเสมอกัน) ๔. เพียรเจริญปฏิบัติอย่างนี้เป็นประจำ จิตที่น้อมไปหากามราคะจะเบาบางและสงบรำงับลง การสำรวมในกาย-วาจา-ใจก็บริบูรณ์ขึ้น เกิดเป็นศีลสังวรณ์ จนบังเกิดศีลที่บริสุทธิ์(สีลวิสุทธิ) เมื่อหวนระลึกถึงศีลที่สำเร็จบริบูรณฺ์นี้แล้ว ความร้อนรุ่มกายใจย่อมไม่มี จิตย่อมมีความผ่องใสปราโมทย์เบิกบาน มีปิติอิ่มเอม เป็นสุข จนเข้าถึงสัมมาสมาธิได้ด้วยประการฉะนี้ดังนี้ (การระลึกถึงคุณและปฏิปทาของพระพุทธเจ้าในพุทธานนุสสตินี้ ทำให้เราได้ทั้ง ศีล จาคะ สมาธิในสมถะ ได้ทั้งการอบรมกายและจิต) หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 10, 2014, 04:05:06 AM กรรมฐานอันยอดเยี่ยม กับอานิสงส์อันยอดยิ่ง ว่าด้วยผลแห่งการเจริญพุทธานุสสติ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี อีกนัยหนึ่ง [๑๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำ ให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อ ความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ธรรม อย่างหนึ่งคืออะไร คือพุทธานุสสติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฯ [๑๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำ ให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อ ความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ธรรม อย่างหนึ่งคืออะไร คือธัมมานุสสติ... สังฆานุสสติ... สีลานุสสติ... จาคานุสสติ... เทวตานุสสติ... อานาปานสติ... มรณสติ... กายคตาสติ... อุปสมานุสสติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อ ความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฯ จบวรรคที่ ๑ เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ บรรทัดที่ ๘๖๗ - ๘๘๓. หน้าที่ ๓๙.อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี อีกนัยหนึ่ง วรรคที่ ๑ อรรถกถาเอกธัมมาทิบาลี อรรถกถาวรรคที่ ๑#- ____________________________ พุทธานุสสติ ๒ คาถาบทนี้เป็นของพระสุภูติเถระ พระสุภูติเป็นน้องชายของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นพระอรหันต์ ที่เป็นเอตทัคคะ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเป็นเลิศ อันประกอบด้วยองค์ ๒ คือ พระสุภูติเป็นผู้เลิศแห่งภิกษุสาวกของเรา ผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่มีกิเลส พระสุภูติเป็นผู้เลิศแห่งภิกษุสาวกของเราผู้เป็นทักขิไณยบุคคล (ทักขิไณย ผู้ควรแก่ทักขิณา, ผู้ควรรับของทำบุญที่ทายกถวาย) ครั้งหนึ่งพระสุภูติได้กล่าวถึง อดีตชาติของตน ในสมัยพระพุทธเจ้า พระนามว่าปทุมุตระ (พระพุทธปทุมุตระ เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑๓ จากพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์) ครั้งนั้นพระสุภูติมีนามว่า นันทดาบส(หรือโกลิยะ) มีศิษย์ ๔,๔๐๐๐ คน เมื่อพระปทุมุตระมาโปรดนันทดาบสและศิษย์ พระศาสดาเสด็จมาทางอากาศ และเดินจงกรมบนอากาศให้นันทดาบสดู ได้สร้างศรัทธาอันยิ่งแก่นันทดาบส นันทดาบสได้นิมนต์ให้อยู่ ๗ วัน โดยจัดอาสนะเป็นดอกไม้นานาพรรณ พร้อมไทยธรรมเป็นผลไม้ พระศาสดาได้เข้านิโรธสมาบัติ ตลอด ๗ วัน ตลอด ๗ วันนั้น นันทดาบสได้เฝ้าพระศาสดาด้วยความปิติ พร้อมถือฉัตรดอกไม้ใหญ่ยืนกั้นไว้เหนือพระเศียรของศาสดา โดยไม่แตะต้องอาหารเลย หลังออกจากนิโรธสมาบัติพระศาสดา ได้ให้ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวอนุโมทนาแก่ดาบสทั้งหลาย จากนั้นพระองค์ได้เทศนาแก่ดาบส จบเทศนาดาบสทั้ง ๔๔,๐๐๐ คนได้สำเร็จอรหันตผล เว้นแต่นันทดาบสคนเดียวที่ไม่ได้คุณวิเศษเลย เพราะมีจิตฟุ้งซ่าน เฝ้าแต่ครุ่นคิดว่า ทำอย่างไรเราถึงจะเป็นดั่ง ภิกษุรูปที่พระศาสดาใช้ให้กล่าวอนุโมทนาได้ นันทดาบสได้ทูลถามพระศาสดาว่า ภิกษุรูปนั้นเป็นใคร พระศาสดาตรัสตอบว่า ภิกษุนั้นชื่อว่าถึงแล้วซึ่งตำแหน่งเอตทัคคะ ในองค์แห่งภิกษุผู้อยู่อย่างไม่มีกิเลส และในองค์แห่งภิกษุผู้เป็นทักขิไณยบุคคล นันทดาบสได้กล่าวความปรารถนาของตนต่อพระศาสดาว่า ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาสมบัติอื่น แต่ในอนาคตกาล ขอข้าพระองค์พึงเป็นสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ ๒ ดุจพระเถระนี้ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งเถิด. พระศาสดาทรงส่งอนาคตังสญาณไปตรวจดูอยู่ว่า ความปราถนาของดาบสนี้จักสำเร็จหรือไม่หนอ ทรงตรวจดูอยู่ ทรงเห็นความปรารถนาของดาบสจะสำเร็จโลยล่วงแสนกัปไปแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนดาบส ความปรารถนาของท่านจักไม่เป็นโมฆะ ในอนาคตกาลผ่านแสนกัปไปแล้ว. พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม จักเสด็จอุบัติขึ้น ความปรารถนาของท่านจักสำเร็จ ในสำนักของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมนั้น จากนั้นทรงพระดำรัสต่อไปว่า ท่านจงเจริญพุทธานุสสติอันยอดเยี่ยมกว่าภาวนาทั้งหลาย ท่านเจริญพุทธานุสสตินี้แล้วจักยังใจให้เต็มเปี่ยมได้ จักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๓ หมื่นกัลป จักได้เป็นจอมเทวดาเสวยเทวรัชสมบัติอยู่ ๘๐ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิอยู่ในแว่นแคว้น ๑๐๐๐ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์โดยคณานับมิได้ จักได้เสวยสมบัตินั้นทั้งหมด นี้เป็นผลแห่ง (การเจริญ)พุทธานุสสติ เมื่อท่องเที่ยวอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ จักได้โภคสมบัติเป็นอันมาก จะไม่มีความบกพร่องด้วยโภคะ นี้เป็นผลแห่ง (การเจริญ)พุทธานุสสติ ในแสนกัลป พระศาสดาทรงพระนามว่าโคดมโดยพระโคตร ซึ่งมีสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลก ท่านจักทิ้ง ทรัพย์ ๘๐ โกฏิ ทาสและกรรมกรเป็นอันมาก จักบวชในพระศาสนาของ พระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม จักยังพระสัมพุทธเจ้าโคดมศากยบุตรผู้ ประเสริฐให้ทรงยินดี จักได้เป็นสาวกของพระศาสดา มีนามชื่อว่าสุภูติ พระศาสดาพระนามว่าโคดม ประทับนั่ง ณ ท่ามกลางภิกษุสงฆ์แล้ว จักทรง ตั้งท่านว่าเป็นผู้เลิศใน ๒ ตำแหน่ง คือ ในคณะพระทักขิไณยบุคคล ๑ ในการอยู่โดยไม่มีข้าศึก ๑ พระสัมพุทธเจ้าผู้รุ่งเรือง ทรงเป็นนายกสูงสุดเป็นนักปราชญ์ ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว เสด็จเหาะขึ้นสู่อากาศ ดังพญาหงส์ในอัมพร เราอันพระโลกนาถทรงพร่ำสอนแล้ว นมัสการพระตถาคต มีจิต เบิกบาน เจริญพระพุทธานุสสติอันอุดมทุกเมื่อ ด้วยกุศลกรรมที่เราทำดี แล้วนั้น และด้วยการตั้งเจตนาไว้ เราละกายมนุษย์แล้ว ได้ไปสู่ภพดาวดึงส์ ได้เป็นจอมเทวดาเสวยทิพยสมบัติ ๘๐ ครั้ง และได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๐๐๐ ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ โดยคณานับมิได้ ได้เสวยสมบัติเป็นอันดี นี้เป็นผลแห่ง (การเจริญ) พุทธานุสสติ เมื่อท่องเที่ยวอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ เราย่อมได้โภคสมบัติเป็นอันมาก เรา ไม่มีความบกพร่องโภคะเลย นี้เป็นผลแห่ง (การเจริญ) พุทธานุสสติ ในแสนกัลปแต่กัลปนี้ เราได้ทำกรรมอันใดไว้ในกาลนั้น ด้วยผลแห่ง กรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่ง (การเจริญ) พุทธานุสสติ คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้ แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล. อ้างอิง : พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม(มหามกุฏ) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ สุภูติเถราปทาน. เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒ บรรทัดที่ ๑๕๐๒ - ๑๕๙๐. หน้าที่ ๖๗ - ๗๐. https://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=32&A=1502&Z=1590&pagebreak=0 (https://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=32&A=1502&Z=1590&pagebreak=0) อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๓. สุภูติวรรค ๑. สุภูติเถราปทาน (๒๑) https://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=23 (https://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=23) raponsan: หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 14, 2014, 08:47:50 AM บันทึกกรรมฐานเมื่อ: มีนาคม 06, 2014, 04:34:38 PM » ๒.๒ การละกิเลสด้วยการเจริญเข้าสู่กอง สมถะกรรมฐาน(ว่าด้วยราคะ ๑) ๒.๒.๑ เจริญจิตขึ้นให้เห็นในสิ่งที่ควรเสพย์และไม่ควรเสพย์ มีความสำรวมกาย วาจา ใจ มีศีลสังวร จนสงเคราะห์ลงให้เห็นเป็นของไม่สวยไม่งามที่ไม่น่าพิศมัยยินดี เข้าพิจารณาในเป็น ปฏิกูลมนสิการ และ อสุภะกรรมฐาน สักเป็นแต่เพียงธาตุ เพื่อละกามราคะ *อสุภะ ทวัตติงสาปาฐโฐ ธาตุกรรมฐาน ทวนอ่านที่นี่ https://www.thammaonline.com/15430.msg17844#msg17844 (https://www.thammaonline.com/15430.msg17844#msg17844) ๒.๒.๑.ง ระลึกเจริญพิจารณาเอาความตายมีอยู่เบื้องหน้าเป็นอารมณ์ คือ เจริญใน มรณะสติ - ให้พึงระลึกถึงความตายตลอดเวลา โดยให้พึงระลึกว่าเราจะต้องตายก่อน เช่น อาจจะนอนแล้วไหลตาย อาจจะนั่งแล้วช๊อคตาย อาจจะยืนแล้วหน้ามืดล้มหัวใจวายตาย อาจจะเดินแล้วล้มถูกหอนหรือของแหลมคมทิ่มตายตาย อาจจะกินแล้วติดคอตาย อาจจะกำลังขี้เยี่ยวอยู่แล้วตาย กำลังกินข้าวอยู่แล้วตาย หายใจเข้าอยู่ก็จักตาย หายใจออกอยู่ก็จักตาย ดังนั้นแล้วให้พึงเจริญระลึกอยู่ทุกขณะในเบื้องต้นอย่างนี้ว่า ๑. เราพึงมีชีวิตอยู่ได้ตลอดคืนหนึ่งวันหนึ่ง หรือ ตลอดวันหนึ่งวันหนึ่ง ๒. เราพึงมีชีวิตอยู่ได้แค่ชั่วขณะที่ ยืน เดิน นั่ง นอน ๓. เราพึงมีชีวิตอยู่ได้แค่ชั่วขณะที่กินข้าวเสร็จ หรือ กลืนข้าว 4 คำ บ้าง หรือ ชั่วคำหนึ่ง ๔. เราพึงมีชีวิตอยู่ได้แค่ชั่วหายใจเข้าออก หรือ ชั่วขณะหายใจเข้า หรือ ชั่วขณะหายใจออก - ดังนั้นแล้ว เมื่อเกิด กามราคะ ขึ้นมาในใจให้พึงเจริญปฏิบัติเบื้องต้นดังนี้ ก. เมื่อเรากำลัง ยืน เดิน ยั่ง นอน ในอิริยาบถใดๆเหล่าอยู่ แล้วไปเห็นเพศตรงข้ามทำให้เกิดราคะกำหนัดขึ้นมา "ก็ให้พึงพิจารณาว่าเมื่อเรา ยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ในอิริยาบถใดๆนี้เราก็จักตายไป เรามีความตายเป็นเบื้องหน้าอยู่ทุกขณะอย่างนี้แล้ว หากเราเอาจิตไปฝากขึ้นไว้กับราคะอันร้อนรุ่ม เมื่อตายด้วยประการฉะนี้เราก็จักลงนรกไปเสียแล้ว" ดังนั้นพึงเพิกมันถอนออกเสีย แล้วให้หายใจเข้าออกยาวๆแรงๆสัก 3-5 ครั้ง เพื่อดึงเอาความรู้ตัวและระลึกรู้ทันความปรุงแต่งจิตในปัจจุบันขึ้นมา มีสัมปชัญญะรู้อิริยาบถตนในปัจจุบันขณะ ยืนก็รู้ว่ายืน เดินก็รู้ว่าเดิน นั่งก็รู้ว่านั่ง นอนก็รู้ว่านอน มีสติรู้ว่ากำลังจะไปไหน จะไปทำอะไร กำลังตรึกนึกคิดอะไร แล้วพึงอยู่ด้วยความไม่ประมาท มีความสำรวมกายวาจาใจ แต่งกายให้เรียบร้อย แม้เมื่อต้องตายไปก็จักไปขึ้นสวรรค์ชั้นพรหมหรือนิพพานเพราะมีกรรมฐานเป็นอารมณ์ขณะที่ตาย ข. เมื่อเรากำลังกินข้าวอยู่ แล้วเราไปเห็นเพศตรงข้ามทำให้เกิดราคะกำหนัดขึ้นมา "ก็ให้พึงพิจารณาว่าแม้เมื่อขณะเรากลืนคำข้าวคำนี้แล้วเราก็จักต้องตายไป ไม่ก็ขณะเคี้ยวข้าวเราก็จักตายไป ไม่ก็ขณะตักข้าวเข้าปากเราก็จะต้องตายไป เรามีความตายเป็นเบื้องหน้าอยู่ทุกขณะอย่างนี้แล้ว หากเราตายด้วยเอากามราคะอันร้อนรุ่มกลืนกินลงไปกับคำข้าว ก็จักตายด้วยความร้อนรุ่มแล้วลงนรกไปเสียแล้ว" ดังนั้นพึงเพิกมันถอนออกเสีย แล้วให้หายใจเข้าออกยาวๆแรงๆสัก 3-5 ครั้ง เพื่อดึงเอาความรู้ตัวและระลึกรู้ทันความปรุงแต่งจิตในปัจจุบันขึ้นมา มีสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อมรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ กินข้าวก็รู้ว่ากำลังกินข้าวอยู่ พิจารณาดูคำข้าวที่เราเคี้ยวกลืนว่ามีสิ่งใดอยู่ กินเพื่ออะไร มีสติรู้ความปรุงแต่งจิตตนใจปัจจุบันขณะราคะมีอยู่ก็รู้ว่ามีอยู่ ราคะดับไปแล้วก็รู้ว่าราคะดับไป คำข้าวที่กินเคี้ยวกลืนอันปราศจากความกำหนัดราคะแล้วนี้ แม้เมื่อกินเคี้ยวกลืนไปแล้วต้องตายไป ก็จักไปขึ้นสวรรค์ชั้นพรหมหรือนิพพานเพราะมีกรรมฐานเป็นอารมณ์ขณะที่ตาย ค. เมื่อกำลังหายใจเข้าและออกอยู่นี้เราก็จะต้องตาย เมื่อไปเห็นเพศตรงข้ามแล้วเกิดราคะกำหนัดขึ้นมา "ก็ให้พึงพิจารณาว่าแม้เมื่อเรากำลังหายใจเข้าอยู่นี้เราก็จักตาย แม้เมื่อเรากำลังหายใจออกอยู่นี้เราก็จักตาย เรามีความตายเป็นเบื้องหน้าอยู่ทุกขณะอย่างนี้แล้ว หากเราเอาลมหายใจเข้าออกนี้ไปฝากขึ้นไว้กับราคะอันร้อนรุ่ม เมื่อเราตายด้วยประการฉะนี้เราก็จักลงนรกไปเสียแล้ว" ดังนั้นพึงเพิกมันถอนออกเสีย แล้วพึงระลึกรู้ลมหายใจเข้าออกอันสลัดจากราคะทิ้งเสีย มีพระพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้งทุกลมหายใจเข้าออกดีกว่าเป็นไหนๆ แม้เมื่อต้องตายไปก็จักไปขึ้นสวรรค์หรือไปพบพระตถาคตที่แดนนิพพานพราะมีกรรมฐานพุทธานุสติทุกลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ขณะที่ตาย - เมื่อพึงเจริญอยู่เนืองๆก็จะเข้าสู่ อุเบกขา และ ฌาณ ได้ หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 14, 2014, 10:40:58 AM ๑๐. มรณัสสติสูตรที่ ๒ [๒๙๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทสร้าง ด้วยอิฐ ใกล้บ้านนาทิกคาม ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย มรณัสสติอันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผล มาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ก็มรณัสสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางวันผ่านไป กลางคืนย่างเข้ามา ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เหตุแห่งความตายของเรามีมากหนอ คือ งูพึงกัดเรา แมลงป่องพึงต่อยเรา หรือตะขาบพึงกัดเรา เราพึงตายเพราะเหตุนั้น อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา เราพึงพลาดล้มลง อาหารที่เราฉันแล้วไม่พึงย่อย ดีของเราพึงกำเริบ เสมหะของเราพึงกำเริบ หรือลมที่มีพิษเพียงดังศัสตราของเราพึงกำเริบ เราพึงตาย เพราะเหตุนั้น อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้ อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละในกลางคืน มีอยู่หรือหนอ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมทราบอย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังไม่ได้ละ อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละในกลางคืน ยังมีอยู่ ภิกษุนั้นพึงทำฉันทะ ความพยายาม ความอุตสาหะ(ความพยายาม อดทนบากบั่น ไม่ย่อท้อ) ความเพียร(วิริยะ ) ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าโพกศีรษะถูกไฟไหม้ หรือมีศีรษะถูกไฟไหม้ พึงทำฉันทะ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อดับผ้าโพกศีรษะหรือศีรษะนั้น ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ย่อมทราบอย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้ อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละในกลางคืนไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์ ตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืนอยู่เถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางคืนผ่านไป กลางวันย่างเข้ามา ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เหตุแห่งความตายของเรามีมากหนอ คือ งูพึงกัดเรา แมลงป่องพึงต่อยเรา หรือตะขาบพึงกัดเรา เราพึงตายเพราะเหตุนั้น อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา เราพึงพลาดล้มลง อาหารที่เราฉันแล้วไม่พึงย่อย ดีของเราพึงกำเริบ เสมหะของเราพึงกำเริบ หรือลมที่มีพิษเพียงศาตราของเราพึงกำเริบ เราพึงตาย เพราะเหตุนั้น อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาป อกุศลที่เรายังละไม่ได้ อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละในกลางวัน มีอยู่หรือหนอ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมทราบอย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้ อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละในกลางวัน ยังมีอยู่ ภิกษุนั้นพึงทำฉันทะ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าโพกศีรษะถูกไฟไหม้ หรือมีศีรษะถูกไฟไหม้ พึงทำฉันทะ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อดับผ้าโพกศีรษะหรือศีรษะนั้น ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ย่อมทราบอย่างนี้ว่าธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้ อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละในกลางวันไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์ ตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืนอยู่เถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มรณัสสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ฯ จบสูตรที่ ๑๐ จบสาราณิยาทิวรรคที่ ๒ ----------------------------------------------------- รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. สาราณิยสูตรที่ ๑ ๒. สาราณิยสูตรที่ ๒ ๓. เมตตสูตร ๔. ภัททกสูตร ๕. อนุตัปปิยสูตร ๖. นกุลสูตร ๗. กุสลสูตร ๘. มัจฉสูตร ๙. มรณัสสติสูตรที่ ๑ ๑๐. มรณัสสติสูตรที่ ๒ ฯ ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ บรรทัดที่ ๗๒๕๕ - ๗๓๐๖. หน้าที่ ๓๑๘ - ๓๒๐. https://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=22&A=7255&Z=7306&pagebreak=0 (https://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=22&A=7255&Z=7306&pagebreak=0) ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :- https://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=291 (https://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=291) สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ https://www.84000.org/tipitaka/read/? (https://www.84000.org/tipitaka/read/?)สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๒๒ https://www.84000.org/tipitaka/read/?index_22 (https://www.84000.org/tipitaka/read/?index_22) หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 16, 2014, 12:58:21 AM วันนี้ตั้งใจจะไปทำสมาธิ ก็ได้สนทนาธรรมกับนาคเพื่อนที่จะบวชตลอดชีวิตก่อน เนื่องจากพระผู้เป็นพ่อของเขาได้บรรลุอรหันต์ทางเขาจึงมีจิตน้อมที่จะบวชตามเพราะหลวงพ่อปารภให้บวช และ มัีพระอรหันต์หลายองค์ที่เขาได้รู้จักและไปบวชด้วย เมื่อคุยกันพอให้หายคิดถึงกันแล้ว จึงเข้าไปทำสมาธิที่โบสถ์ ก่อนทำก็คิดไว้ว่าอย่างเราๆนี้จะทำให้ตายก็คงไม่ถึงสมาธิ มีความปลงใจไว้แล้ว แล้วตั้งใจไว้จักทำสมาธิสัก 1 ชม.
- พอทำสมาธิก็ตั้งอยู่ที่ลม พุทโธ ไปเรื่อยๆ สักพักจิตมันเกิดความขี้เกียจบริกรรมจึงคิดว่าสำเหนียกเอาดีกว่า จึงจับเอาที่ลมที่ปลายจมูกเคลื่อนผ่านหน้าอกเข้ามาลงไปสู่ท้องน้อยบ้าง จากท้องน้อยออกไปผ่านหน้าออกไปปลายจมูกบ้าง แต่ก็มีความคิดอยู่ แต่ก็ดึงจิตให้สำเหนียกมากที่สุด จนเมื่อสำเหนียกก็ไม่ได้ เลยปล่อยตามเลยมันจะคิดจะสำเหนียกก็ช่างมัน เลยหวนรำลึกถึงว่าเมื่อครั้งที่เราเคยมีจิตเป็นสมาธิจดจ่อได้นานเราก็บริกรรมแต่พุทโธแล้วมันเป็นไปของมันเอง เมื่อรู้ว่าจะไม่สามารถถึงสภาวะนั้นได้อีก ก็ปล่อยตามเลยเสียไม่ต้องไปจดจ้องสภาวะธรรมไม่ต้องไปเกร็งเพ่งมันปล่อยมันไปของมัน เพราะยิ่งเกร็งยิ่งเพ่ง ยิ่งจดจ้องสภาวะยิ่งปวงหัวยิ่งระส่ำไม่เป็นความสงบ - พอรู้ลมหายใจไปเรื่อยๆจิตนี้มันสุดยอดเดี๋ยวไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เดี๋ยวไปหาคนนั้นคนนี้ไม่หยุด พยายามอยู่ที่ลมก็แล้วมันก็ส่งออกนอกไปทั่ว จนปลงปล่อยมันคิดไปตามความอยากมันซะ แค่รู้ว่ามันคิดก็พอ จิตมันก็ส่งออกนอกไปเรื่อยเสพย์ตามเรื่องราวมันบ้างรู้ตัวว่าคิดบ้าง พอมารู้ตัวหน่อยก็ดึงสัมปะชัญญะขึ้นรู้ว่าทำสมาธิอยู่แล้วก็กลับมาอยู่ที่ลมพอมันคิดก็รู้ว่ามันคิดก็ปล่อยมันไป - จากนั้นพอมันคิดจนจบมันแล้วอยู่ๆก็เกิดความรู้สึกนึกคิดว่าเหนื่อยที่จะคิด คิดไปก็มีแต่ทุกข์ เสพย์ความคิดมากเท่าไหร่ก็ยิ่งทุกข์ จิตมันก็เลยคิดว่าผละออกจากจิตส่งออกนอกนั้นเสีย เอาจิตส่งเข้าในมันเป็นสุขกว่ามันสงบไม่อึดอัดเหมือนส่งจิตออกนอก - ต่อมาจิตมันก็ไปจับที่ลมแล้วไปจับระลึกเอาความสงบที่เคยสัมผัสจากสมาธิได้บ้างมันก็รู้สึกดี มันก็ไปจับเอาสุขที่เคยสัมผัสที่ปะทุอัดตั้งแต่ท้อง-มาลิ้นปี่ มาหน้าอก-ปะทุขึ้นไปกระหม่อมบ้าง พอมันไประลึกถึงสุขที่เคยสัมผัสได้จิตมันก็เกิดนิมิตที่เคยสัมผัสได้เมื่อกาลก่อนว่า มันว่างอย่างนี้ มันสุขอย่างนี้ มันสว่างอย่างนี้ แล้วก็เหมือนจิตมันมองเลื้อยเหมือนส่องกล้องเข้าไปภายในกาย โดยเลื่อนเข้าไปในโพรงจมูกเข้าไปหกลอดลมไปที่หน้าอกเลื่อนมาประมาณท้องที่เคยได้รับสุขที่พลั่งพลูนั้น ซึ่งในช่องว่างสว่างนวลตาเหมือนเวลาหลับตานั่งสมาธิแล้วลืมตาออกมามองโลกภายนอกใหม่ๆ มันก็มองที่นั้น แล้วจิตกนึ่งก็คิดขึ้นว่าอย่าไปติดนิมิตนี้เลยมันก็คิดปรุงแต่งไปทั่วตามความพอใจของเรา - จากนั้นก็มาดูที่ลมหายใจโดยมันจะบริกรรมหรือไม่บริกรรมก็ช่างมัน ลมมันเป็นเรื่องของกาย ลมเป็นกายสังขาร กายเท่านั้นที่ต้องก่ารลม เรานั้นเป็นแต่เพียงผู้รู้ว่ามีลมหายใจอยู่ รูปขันธ์นี้ยังดำเนินไปได้อยู่เท่านั้นไม่ได้ไปมีหน้าที่อื่นเกินกว่านี้ ก็แค่รู้ว่ากำลังหายใจเข้าหรือออกเท่านั้นพอ - ทีนี้พอดูลมหายใจไปได้สักพักจากลมหายใจที่แรงพอจะรู้ผัสสะตรงปลายจมูกได้บ้างได้ยินเสียงลมหายใจทางหูบ้าง ก็เริ่มเบาลงๆๆ แต่มันก็ยังหายใจเข้าออกยาวเหมือนเดิม บางครั้งก็เหมือนจะลมหายใจหายไปไม่มีลมเข้า-ออกจมูกเหมือนสูดเอาความว่างเปล่าเข้าออกเท่านั้น พอเมื่อคิดอย่างนี้จิตมันก็ให้ไปรู้สึกว่าจะหายใจไม่ทั่วท้องหรือเหมือนตนเองไม่หายใจ แต่ก็ตั้งจิตให้เพิกออกจากอาการนั้นแล้วดูอาการของกายนั้นแหละมันไปเรื่อยๆอีก ก็กลับมารู้สึกแค่กายเลค่ือนตัวยกพองขึ้นแล้วเคลื่อนตัวยุบลงเหมือนกายมันกำลังหายใจปกติแต่เพียงไม่รู้สึกถึงลทหายใจเข้าออกนอกจากความว่างเปล่าจากการกระเพื่อมเคลื่อนตัวของกายนั้น แต่มันก็รู้สึกสบายๆดีอยู่ เลยดึงสัมปะชัญญะไปรู้กายว่าเรานั่งสมาธิอยู่อย่างนี้ สภาวะกายนั่งขัดสมาธิอยู่อย่างนี้ กำลังรู้ลมอยู่อย่างนี้ กายเรานี้ก็กำลังดึงลมหายใจอยู่ สักพักจิตมันก็ไม่รู้ลมหายใจรู้แค่กายนั้นเคลื่อนตัวเลื่อนขึ้นพองขึ้นแล้วก็เคลื่อนตัวหดยุบลงจากการพองตัวนั้น เหมือนดั่งร่างกายเรานั้นกำลังหายใจอยู่ปกติแต่ทั้งๆที่ไม่มีลมหายใจเข้าเลยแต่กายมันก็ยังทำหน้าที่ของมันไปอย่างนั้น จึงคิดว่าอย่างนี้แม้เราไม่มีลมหายใจก็ยังไม่ตาย - แล้วสักพักเมื่อพิจารณาอาการของกายดังนี้ได้สักพัก มันก็เกิดนิมิตเหมือนก้องส่องเข้าไปภายในกายเห็นอวัยวะน้อยใหญ่ภายในกายของเราเองซึ่งเป็นรูปร่างกายเราแต่เห็นเพียงอวัยวะอาการทั้ง ๓๒ เท่านั้น เช่น เห็นเส้นเลือด เส้นเอ็น ไส้ใหญ่ ไส้น้อย ถุงน้ำดี กระเพาะอาหาร กระดูกเชิงกรานกระบังลม อันมีหนังหุ้มเป็นที่สุดรอบ จากนั้นก็นิ่งดูอยู่สักพักจึงติดว่านิมิตนี้หนอก็คงมาจากรูปอสุภะที่เราเคยเพ่งมองนั้นแหละแล้วเกิดสัญญาสร้างสังขารรอบให้เห็นเป็นนิมิตอีกครั้งเท่านั้น ก็เลยกลับมาที่ลมใหม่นิมิตก็จับจ่ออยู่ที่ความสว่างโร่ที่ไม่สว่างเกินไปแต่ไม่มืดครึ้มที่อยู่ในช่องคาดว่าเป็นในส่วนท้องหรือท้องน้อยที่เคยมีสภาวะธรรมอันเป้นสุขที่เกิดมาในชีวิตนี้ไม่เคยมีไม่เคยเจอพลั่งพลูออกมา นิ่งแช่ดูอยู่นั้นแล้วสักพักก็ออกจากสมาธิ นั้นเพราะปวดขาเพราะมีอาการกำเริบขึ้นของข้อกระดูกอักเสบ แต่ก็ยังตั้งเจตนาหายใจเข้าออกยาวให้ได้พุทโธ 108 ครั้ง(หายใจเข้าบริกรรมพุทธ-หายใจออกบริกรรมโธ ครบรอบพุทโธนับเป็น ๑) ทำจนทนไว้ไหวสั่นระระวแต่ก็ไม่ให้ความสำคัญมันคิดแค่ว่าถวายเป็นพุทธบูชาโดย บริกรรมพุทโธไปพร้อมระลึกเอาความเป็น ผู้รู้เห็นซึ่งโมหะคือความลุ่มหลง ผู้ตื่นจากโมหะแล้วได้ทำเพื่อออกจากทุกข์นั้นคือเดินในทางมรรคและผลโดยชอบเพื่อออกจากโมหะ ผู้เบิกบานหลุดพ้นจากโมหะเหล่านั้นแล้วโดยสิ้นเชิงคือดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกสิ้นเชิงแล้ว เสียงนาฬิกาไขลานวัดดังบอกชั่วโมง นั่งได้เพียง 45 นาที ทั้งที่ตั้งใจไว้สัก 1 ชม. จึงหวนรำลึกว่าถึงแม้เมื่อก่อนนจะเคยนั่ง 1-2 ชม. ก็ตาม แต่ตอนนั้นมันมีจิตเป็นสมาธิจึงทำได้ และตอนนี้ไม่มีสมาธิแถมยังเป็นโรคเอ็นและข้อเท้าอักเสบ เมื่อจะทำสมาธิก็ได้แต่นอนทำ ตอนนี้เริ่มต้นนั่งได้ขนาดนี้ก็มากโขแล้ว เมื่อออกจากสมาธิมาอยู่ในท่านั่งพับเพียบ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์สาวก อาการที่ตะคิวกินกับโรคเอ็นและข้อเท้าอักเสบที่เคยปวดมากก็เหมือนจะหายใจ จิตก็สงบด้วยไม่คิดมาก จึงลืมตาแผ่เมตตาไปโดยท่านั้นไปโดยไม่มีประมาณ มีจิตเพียงเป็นมิตรที่ดี ปารถนาดีให้เขาเป็นสุข ขอความสุขกายสบายใจความสวัสดีทั้งหลายจงมีแก่พ่อแม่ญาติพี่น้องตนเอง ทั้งที่มีชีวิตอยู่และตายไปแล้ว บุคคลที่รู้จักและไม่รู้จัก สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงทั้งที่มีกายเล็ก สั้น ผอม ใหญ่ กลาง ยาว อ้วนพี ไม่ว่าจะอยู่ในที่กว้าง ที่แคบ พื้นที่ใดๆซอกมุมใดๆก็ตามในโลกนี้ เจ้ากรรม นายเวร พระภูมิเจ้าที่ สัมภเวสีทั้งหลาย เทวดาอารักษ์ทั้งหลาย เทพบุตรเทพธิดาทั้งหลาย ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ อมนุษย์ทั้งหลาย ยักษ์ทั้งหลาย นาคทั้งหลาย คนธรรม์ทั้งหลาย ครุฑ ท่านพระยามัจจุราช ยมมูตทั้งหลาย วิญญาณทั้งหลายในนรกไปจนถึงเปรตทั้งหลาย พรหมทั้งหลาย เมื่อเสร็จก็ครบ 1 ชม. พอดี หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 16, 2014, 09:21:49 PM พระสุตตันตปิฎก
เล่ม ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น อัฏฐกวัคคิกะ กามสุตตนิทเทสที่ ๑ ว่าด้วยกาม ๒ อย่าง [๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่อสัตว์ปรารถนากามอยู่ ถ้ากามนั้น ย่อมสำเร็จแก่ สัตว์นั้นสัตว์นั้นได้ กามตามปรารถนาแล้ว ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่นอน. [๒] กามในคำว่า เมื่อปรารถนากามอยู่ ได้แก่ กาม ๒ อย่าง โดยหัวข้อ คือ วัตถุ- *กาม ๑ กิเลสกาม ๑. วัตถุกามเป็นไฉน? รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ชอบใจ เครื่องลาด เครื่องนุ่งห่ม ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา นา ที่ดิน เงิน ทอง บ้าน นิคม ราชธานี แว่นแคว้น ชนบท กองพลรบ คลัง และวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด อย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่า วัตถุกาม. อีกอย่างหนึ่ง กามที่เป็นอดีต กามที่เป็นอนาคต กามที่เป็น ปัจจุบัน ที่เป็นภายใน ที่เป็นภายนอก ที่เป็นทั้งภายในและภายนอก ชนิดเลว ชนิดปานกลาง ชนิดประณีต เป็นของสัตว์ผู้เกิดในอบาย เป็นของมนุษย์ เป็นของทิพย์ ที่ปรากฏเฉพาะหน้า ที่นิรมิตเอง ที่ผู้อื่นนิรมิต ที่หวงแหน ที่ไม่ได้หวงแหน ที่ยึดถือว่าของเรา ที่ไม่ยึดถือว่าของเรา ธรรมที่เป็นกามาวจรแม้ทั้งหมด ธรรมที่เป็นรูปาวจรแม้ทั้งหมด ธรรมที่เป็นอรูปาวจรแม้ทั้งหมด ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งตัณหา เป็นอารมณ์แห่งตัณหาชื่อว่ากาม เพราะอรรถว่า อันบุคคลพึงใคร่ เพราะอรรถว่า เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เพราะอรรถว่า เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา กามเหล่านี้ เรียกว่า วัตถุกาม. กิเลสกามเป็นไฉน? ความพอใจ ความกำหนัด ความพอใจและความกำหนัด ความดำริ ความกำหนัดมาก ความดำริและความกำหนัด ความพอใจคือความใคร่ ความกำหนัดคือความใคร่ ความเพลิดเพลินคือความใคร่ ในกามทั้งหลาย ความปรารถนาในกาม ความเสน่หาในกาม ความเร่าร้อนในกาม ความหลงในกาม ความติดใจในกาม ห้วงคือกาม ความประกอบในกาม ความยึดถือในกาม เครื่องกั้นกางคือกามฉันทะ ชื่อว่า กาม. สมจริงดังคำว่า ดูกรกาม เราเห็นรากฐานของท่านแล้วว่า ท่านย่อมเกิดเพราะความดำริ เราจักไม่ดำริถึงท่าน ท่านจักไม่มีอย่างนี้. กามเหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม. คำว่า เมื่อปรารถนากามอยู่ มีความว่า เมื่อใคร่ อยากได้ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย ชอบใจกามอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อปรารถนากามอยู่. [๓] คำว่า ถ้ากามนั้น ย่อมสำเร็จแก่สัตว์นั้น มีความว่า คำว่า สัตว์นั้น ได้แก่ สัตว์ ผู้เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร์ คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดาหรือมนุษย์. คำว่า กามนั้น ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ชอบใจ ซึ่งเรียกว่า วัตถุกาม. คำว่า ย่อมสำเร็จ มีความว่า ย่อมสำเร็จ สำเร็จโดยชอบ ได้ ได้เฉพาะ ประสบ พบ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ถ้ากามนั้น ย่อมสำเร็จแก่สัตว์นั้น. [๔] คำว่า ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่นอน มีความว่า คำว่า แน่นอน เป็นคำกล่าวโดย ส่วนเดียว เป็นคำกล่าวโดยไม่มีความสงสัย เป็นคำกล่าวโดยไม่มีความเคลือบแคลง เป็นคำกล่าว ไม่เป็นสองส่วน เป็นคำกล่าวไม่เป็นสองอย่าง เป็นคำกล่าวไม่รวมกัน เป็นคำกล่าวไม่ผิด คำว่า แน่นอนนี้ เป็นคำกล่าวกำหนดแน่. คำว่า อิ่ม คือ ความอิ่ม ความปราโมทย์ ความเบิกบาน ความบันเทิง ความร่าเริง ความรื่นเริง ความปลื้มใจ ความยินดี ความชื่นใจ ความชอบใจ ความเต็มใจ ที่ประกอบพร้อมเฉพาะด้วยกามคุณ ๕. คำว่า ใจ คือ จิต มนะ มานัส หทัย บัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ ที่เกิดแต่ ผัสสะเป็นต้นนั้น นี้เรียกว่า ใจ. ใจนี้สหรคต คือ เกิดร่วม เกี่ยวข้อง ประกอบ เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีวัตถุอย่างเดียวกัน มีอารมณ์อันเดียวกัน กับด้วยความอิ่มนี้. คำว่า ย่อมเป็น ผู้อิ่มใจ คือเป็นผู้มีใจยินดี มีใจร่าเริง มีใจเบิกบาน มีใจดี มีใจสูง มีใจปลาบปลื้ม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่นอน. [๕] คำว่า สัตว์นั้นได้กามตามปรารถนาแล้ว มีความว่า คำว่า ได้ คือ ได้ ได้แล้ว ได้เฉพาะ ประสบ พบ. คำว่า สัตว์ คือ สัตว์ นระ มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้มีกรรม มนุษย์. คำว่า ตามปรารถนา คือ รูป เสียง กลิ่น รส หรือโผฏฐัพพะ ตามปรารถนา ยินดี ประสงค์ มุ่งหมาย ชอบใจ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สัตว์นั้นได้กามตาม ปรารถนาแล้ว. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เมื่อสัตว์ปรารถนากามอยู่ ถ้ากามนั้น ย่อมสำเร็จแก่สัตว์นั้น สัตว์นั้นได้ กามตามปรารถนาแล้ว ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่นอน. [๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่อสัตว์นั้นปรารถนากามอยู่ เมื่อสัตว์มีฉันทะเกิดแล้ว ถ้ากามเหล่านั้น เสื่อมไป สัตว์นั้น ย่อมกระสับกระส่าย เหมือนสัตว์ที่ถูกลูกศรแทง เข้าแล้ว. [๗] คำว่า เมื่อสัตว์นั้นปรารถนากามอยู่ มีความว่า คำว่า เมื่อสัตว์นั้น ได้แก่ สัตว์ ผู้เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร์ คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือมนุษย์. คำว่า ปรารถนากามอยู่ คือ เมื่อใคร่ อยากได้ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย ชอบใจ. อีกอย่างหนึ่ง สัตว์ย่อมไป ออกไป ลอยไป แล่นไป เพราะกามตัณหา เปรียบเหมือนมนุษย์ย่อมไป ออกไป ลอยไป แล่นไปด้วยยานช้างบ้าง ยานม้าบ้าง ยานโคบ้าง ยานแพะบ้าง ยานแกะบ้าง ยานอูฐบ้าง ยานลาบ้าง ฉันใด สัตว์ย่อมไป ออกไป ลอยไป แล่นไป เพราะกามตัณหา ฉันนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อสัตว์นั้นปรารถนากามอยู่. [๘] คำว่า เมื่อสัตว์มีฉันทะเกิดแล้ว ความว่า คำว่า ฉันทะ ได้แก่ ความพอใจในกาม ความกำหนัดในกาม ความเพลินในกาม ความอยากในกาม ความเสน่หาในกาม ความเร่าร้อน ในกาม ความหลงในกาม ความติดใจในกาม ห้วงคือกาม ความประกอบคือกาม ความยึดถือ ในกาม เครื่องกั้นกางคือกามฉันทะ ความพอใจในกามนั้น เกิดแล้ว เกิดพร้อม เกิดขึ้น เกิดเฉพาะ ปรากฏแล้วแก่สัตว์นั้น. คำว่า สัตว์ คือ สัตว์ นระ มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้มีกรรม มนุษย์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อสัตว์มีฉันทะเกิดแล้ว. [๙] คำว่า ถ้ากามเหล่านั้นเสื่อมไป มีความว่า กามเหล่านั้นเสื่อมไปบ้าง สัตว์นั้น เสื่อมจากกามทั้งหลายบ้าง. กามเหล่านั้นเสื่อมไปอย่างไร? เมื่อสัตว์นั้น ดำรงอยู่นั่นแหละ โภคะเหล่านั้น ถูก พระราชาริบไปบ้าง ถูกโจรลักไปบ้าง ถูกไฟไหม้บ้าง ถูกน้ำพัดไปบ้าง ถูกพวกญาติผู้ไม่เป็นที่ ชอบใจนำไปบ้าง สัตว์นั้นไม่พบโภคทรัพย์ที่เก็บฝังไว้บ้าง การงานที่ประกอบไม่ดีเสียไปบ้าง คนผลาญสกุล ผู้แจกจ่ายกระจัดกระจายทำลายโภคะเหล่านั้นย่อมเกิดในสกุลบ้าง ความเป็นของ ไม่เที่ยงแห่งโภคะเป็นที่แปด กามเหล่านั้นย่อมเสื่อม เสียหาย กระจัดกระจาย รั่วไหล อันตรธาน สูญหายไปอย่างนี้. สัตว์นั้นย่อมเสื่อมจากกามทั้งหลายอย่างไร? โภคะเหล่านั้น ยังตั้งอยู่นั้นแหละ สัตว์ นั้นย่อมเคลื่อน ตาย อันตรธาน สูญหายไปจากโภคะเหล่านั้น สัตว์นั้นย่อมเสื่อม เสียหาย กระจัดกระจาย รั่วไหล อันตรธาน สูญหายไปจากกามทั้งหลายอย่างนี้ สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า โภคทรัพย์ทั้งหลาย ถูกโจรลักไป ถูกพระราชาริบไป ถูกไฟไหม้ เสียหาย อนึ่ง บุคคลผู้เป็นเจ้าของย่อมละทิ้งสรีรกาย กับทั้งข้าวของ เพราะ ความตาย นักปราชญ์ทราบเหตุนี้แล้ว พึงใช้สอยบ้าง พึงให้ทานบ้าง ครั้นให้ทาน และใช้สอยตามสมควรแล้ว เป็นผู้ไม่ถูกติเตียน ย่อมเข้า ถึงสถาน คือ สวรรค์. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กามเหล่านั้นย่อมเสื่อมไป. [๑๐] คำว่า สัตว์นั้นย่อมกระสับกระส่าย เหมือนสัตว์ที่ถูกลูกศรแทงเข้าแล้ว มี ความว่า สัตว์ผู้ถูกลูกศรที่ทำด้วยเหล็กแทงเข้าแล้วบ้าง ผู้ถูกลูกศรที่ทำด้วยกระดูกแทงเข้าแล้วบ้าง ผู้ถูกลูกศรที่ทำด้วยงาแทงเข้าแล้วบ้าง ผู้ถูกลูกศรที่ทำด้วยเขาแทงเข้าแล้วบ้าง ผู้ถูกลูกศร ที่ทำด้วยไม้แทงเข้าแล้วบ้าง ย่อมกระสับกระส่าย หวั่นไหว ดิ้นรน จุกเสียด เจ็บตัว เจ็บใจ ฉันใด ความโศกรำพัน เจ็บกาย เจ็บใจ และคับแค้นใจ ย่อมเกิดขึ้นเพราะวัตถุกามทั้งหลาย แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป สัตว์นั้นถูกลูกศรคือกามแทงเข้าแล้ว ย่อมกระสับกระส่ายหวั่นไหว ดิ้นรน จุกเสียด เจ็บกาย เจ็บใจ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สัตว์นั้นย่อม กระสับกระส่าย เหมือนสัตว์ที่ถูกลูกศรแทงเข้าแล้ว. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เมื่อสัตว์นั้นปรารถนากามอยู่ เมื่อสัตว์มีฉันทะเกิดขึ้น ถ้ากามเหล่านั้น เสื่อมไป สัตว์นั้นย่อมกระสับกระส่าย เหมือนสัตว์ที่ถูกลูกศรแทงเข้าแล้ว. [๑๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ใด ย่อมเว้นขาดกามทั้งหลาย เหมือนบุคคลเว้นขาดหัวงูด้วยเท้า ผู้นั้น เป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้. หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 16, 2014, 09:24:20 PM ว่าด้วยการเว้นขาดกามด้วยเหตุ ๒ ประการ
[๑๒] คำว่า ผู้ใด ย่อมเว้นขาดกามทั้งหลาย มีความว่า คำว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ผู้ ประกอบอย่างใด ผู้ชนิดอย่างใด ผู้มีประการอย่างใด ผู้ถึงฐานะใด ผู้ประกอบด้วยธรรมใด เป็น กษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร์ เป็นคฤหัสถ์ เป็นบรรพชิต เป็นเทวดา หรือเป็น มนุษย์. กาม ในคำว่า ย่อมเว้นขาดกามทั้งหลาย ได้แก่ กาม ๒ อย่าง โดยหัวข้อ คือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม ๑ วัตถุกามเป็นไฉน? รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ชอบใจ ฯลฯ กามเหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ กามเหล่านี้ เรียกว่า กิเลสกาม. คำว่า ย่อมเว้นขาดกาม คือ ย่อมเว้นขาดกาม โดยเหตุ ๒ ประการ คือ โดยการข่มไว้อย่าง ๑ โดยการตัดขาดอย่าง ๑. ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้อย่างไร? บุคคลผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยโครง กระดูก เพราะอรรถว่าเป็นของมีความยินดีน้อย ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยชิ้นเนื้อ เพราะอรรถว่าเป็นของสาธารณ์แก่ชนหมู่มาก ย่อมเว้นขาดกามโดย การข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยคบเพลิง เพราะอรรถว่าเป็นของตามเผา ย่อมเว้น ขาดกามโดยการข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง เพราะอรรถว่าเป็น ของให้เร่าร้อนมาก ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยความฝัน เพราะอรรถว่าเป็นของปรากฏชั่วเวลาน้อย ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่ากามทั้งหลาย เปรียบด้วยของขอยืม เพราะอรรถว่า เป็นของเป็นไปชั่วกาลที่กำหนด ย่อมเว้นขาดกาม โดยการข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยต้นไม้มีผลดก เพราะอรรถว่าเป็นของให้กิ่ง หักและให้ต้นล้ม ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยดาบและ มีด เพราะอรรถว่าเป็นของฟัน ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบ ด้วยหอกหลาว เพราะอรรถว่าเป็นของทิ่มแทง ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยหัวงู เพราะอรรถว่าเป็นของน่าสะพึงกลัว ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยกองไฟ เพราะอรรถว่าเป็นดังไฟกองใหญ่ให้เร่าร้อน ย่อม เว้นขาดกามโดยการข่มไว้ แม้ผู้เจริญพุทธานุสสติ ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ แม้ผู้เจริญ ธัมมานุสสติ ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ แม้ผู้เจริญสังฆานุสสติ ... แม้ผู้เจริญสีลานุสสติ ... แม้ผู้เจริญจาคานุสสติ ... แม้ผู้เจริญเทวตานุสสติ ... แม้ผู้เจริญอานาปานัสสติ ... แม้ผู้เจริญ มรณานุสสติ ... แม้ผู้เจริญกายคตาสติ ... แม้ผู้เจริญอุปสมานุสสติ ... แม้ผู้เจริญปฐมฌาน ... แม้ผู้ เจริญทุติยฌาน ... แม้ผู้เจริญตติยฌาน ... แม้ผู้เจริญจตุตถฌาน ... แม้ผู้เจริญอากาสานัญจายตน สมาบัติ ... แม้ผู้เจริญวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ... แม้ผู้เจริญอากิญจัญญายตนสมาบัติ ... แม้ผู้ เจริญเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้. ย่อมเว้นขาดกามโดย การข่มไว้อย่างนี้. ย่อมเว้นขาดกามโดยการตัดขาดอย่างไร? แม้บุคคลผู้เจริญโสดาปัตติมรรค ย่อมเว้น ขาดกามอันให้ไปสู่อบายโดยการตัดขาด แม้บุคคลผู้เจริญสกทาคามิมรรค ย่อมเว้นขาดกามส่วน หยาบโดยการตัดขาด แม้บุคคลผู้เจริญอนาคามิมรรค ย่อมเว้นขาดกามอันเป็นส่วนละเอียดโดย การตัดขาด แม้บุคคลผู้เจริญอรหัตมรรค ย่อมเว้นขาดกามโดยอาการทั้งปวง โดยประการทั้งปวง หมดสิ้น มิได้มีส่วนเหลือ โดยการตัดขาด. ย่อมเว้นขาดกามโดยการตัดขาดอย่างนี้ เพราะ ฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้ใดย่อม เว้นขาดกามทั้งหลาย. [๑๓] คำว่า เหมือนบุคคลเว้นขาดหัวงูด้วยเท้า มีความว่า งูเรียกว่าสัปปะ. เพราะ อรรถว่าอะไร งูจึงเรียกว่าสัปปะ. เพราะอรรถว่าเสือกไป งูจึงเรียกว่าสัปปะ. เพราะอรรถว่า ขนดไป งูจึงเรียกว่าภุชคะ. เพราะอรรถว่าไปด้วยอก งูจึงเรียกว่าอุรคะ. เพราะอรรถว่ามีหัวตก ไป งูจึงเรียกปันนคะ เพราะอรรถว่านอนด้วยหัว งูจึงเรียกว่าสิริสปะ. เพราะอรรถว่านอนในรู งูจึงเรียกว่าวิลาสยะ. เพราะอรรถว่านอนในถ้ำ งูจึงเรียกว่าคุหาสยะ. เพราะอรรถว่ามีเขี้ยวเป็น อาวุธ งูจึงเรียกว่าทาฒาวุธ. เพราะอรรถว่ามีพิษร้ายแรง งูจึงเรียกว่าโฆรวิสะ. เพราะอรรถว่ามี ลิ้นสองแฉก งูจึงเรียกว่าทุชิวหา. เพราะอรรถว่าลิ้มรสด้วยลิ้นสองแฉก งูจึงเรียกว่าทิรสัญญู. บุรุษผู้ใคร่ต่อชีวิต ไม่อยากตาย อยากได้สุข เกลียดทุกข์ พึงเว้น หลีก เลี้ยว อ้อมหนี หัวงูด้วยเท้า ฉันใด บุคคลผู้รักสุข เกลียดทุกข์ พึงเว้น หลีกเลี่ยง อ้อมหนีกามทั้งหลาย ฉันนั้น เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหมือนบุคคลเว้นขาดหัวงูด้วยเท้า. [๑๔] คำว่า ผู้นั้น เป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้ มี ความว่า คำว่า ผู้นั้น คือ ผู้เว้นขาดกามทั้งหลาย. ตัณหาเรียกว่า วิสัตติกา ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดกล้า ความพอใจ ความชอบใจ ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วยสามารถแห่ง ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดกล้าแห่งจิต ความปรารถนา ความหลง ความติดใจ ความยินดี ความยินดีทั่วไป ความข้อง ความติดพัน ความแสวงหา ความลวง ความให้สัตว์เกิด ความ ให้สัตว์เกี่ยวกับทุกข์ ความเย็บไว้ ความเป็นดังว่าข่าย ความเป็นดังว่ากระแสน้ำ ความซ่านไป ในอารมณ์ต่างๆ ความเป็นดังว่าเส้นด้าย ความกระจายไป ความให้อายุเสื่อมไป ความเป็น เพื่อน ความตั้งมั่น เครื่องนำไปสู่ภพ ความติดอารมณ์ ความตั้งอยู่ในอารมณ์ ความสนิท ความรัก ความเพ่งเล็ง ความผูกพัน ความหวัง ความจำนง ความประสงค์ ความหวังในรูป ความหวังในเสียง ความหวังในกลิ่น ความหวังในรส ความหวังในโผฏฐัพพะ ความหวังใน ลาภ ความหวังในทรัพย์ ความหวังในบุตร ความหวังในชีวิต ความปรารถนา ความให้สัตว์ ปรารถนา ความที่จิตปรารถนา ความเหนี่ยวรั้ง ความให้สัตว์เหนี่ยวรั้ง ความที่จิตเหนี่ยวรั้ง ความหวั่นไหว อาการแห่งความหวั่นไหว ความพรั่งพร้อมด้วยความหวั่นไหว ความกำเริบ ความใคร่ดี ความกำหนัดในที่ผิดธรรม ความโลภไม่เสมอ ความใคร่ อาการแห่งความใคร่ ความมุ่งหมาย ความปอง ความปรารถนาดี กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหาในรูปภพ ตัณหาในอรูปภพ ตัณหาในนิโรธ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพ- *ตัณหา ธัมมตัณหา โอฆะ โยคะ คันถะ อุปาทาน ความกั้น ความปิด ความบัง ความผูก ความเข้าไปเศร้าหมอง ความนอนเนื่อง ความกลุ้มรุมจิต ความเป็นดังว่าเถาวัลย์ ความปรารถนา วัตถุต่างๆ รากเหง้าแห่งทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ แดนเกิดแห่งทุกข์ บ่วงมาร เบ็ดมาร วิสัยมาร แม่น้ำตัณหา ข่ายตัณหา โซ่ตัณหา สมุทรตัณหา อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล เรียกว่า วิสัตติกา. คำว่า วิสัตติกา ความว่า เพราะอรรถว่าอะไร ตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา. [อันซ่านไป ในอารมณ์ต่างๆ] เพราะอรรถว่า ซ่านไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าแผ่ไป ตัณหา จึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าแล่นไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าครอบงำ ตัณหา จึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าสะท้อนไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้ พูดผิด ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่ามีมูลรากเป็นพิษ ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะ อรรถว่ามีผลเป็นพิษ ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าเปรียบด้วยเครื่องบริโภคเป็นพิษ ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. อีกนัยหนึ่ง ตัณหานั้นแผ่ไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สกุล คณะ ที่อยู่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ กามภพ รูปภพ สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ ในอดีต ในอนาคต ในปัจจุบัน แล่นไป ซ่านไป ในรูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ได้ยินแล้ว กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ทราบแล้ว และในธรรมที่พึงรู้แจ้ง ตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา. คำว่า ในโลก คือ อบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก. คำว่า เป็นผู้มีสติ ได้แก่เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่าง คือ เมื่อเจริญกายานุปัสสนา สติปัฏฐานในกาย ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เมื่อเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานในเวทนาทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เมื่อเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานในจิต ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เมื่อเจริญ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานในธรรมทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ. เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่างแม้อื่นอีก คือ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเว้นจากความเป็นผู้ไม่มีสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะ เป็นผู้กระทำธรรมทั้งหลายที่ควรทำด้วยสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้กำจัดธรรมทั้งหลายที่เป็น ข้าศึกต่อสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ไม่หลงลืมธรรมทั้งหลายที่เป็นนิมิตแห่งสติ. เป็น ผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่างแม้อื่นอีก คือ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยสติ ชื่อว่า เป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้อยู่ด้วยสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้คล่องแคล่วด้วยสติ ชื่อว่า เป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ไม่หวนกลับจากสติ. เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่างแม้อื่นอีก คือ ชื่อว่า เป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ระลึกได้ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้สงบ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็น ผู้ระงับ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ. ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะ พุทธานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะธรรมานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะสังฆานุสสติ ชื่อว่า เป็นผู้มีสติ เพราะสีลานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะจาคานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะ เทวตานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะอานาปานัสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะมรณานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะกายคตาสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะอุปสมานุสสติ. ความระลึก ความ ระลึกถึง ความระลึกเฉพาะ ความระลึก กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย ความ ไม่หลงลืม สติ สตินทรีย์ สติพละ สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ เอกายนมรรค ธรรมนี้ เรียก ว่า สติ. บุคคลเป็นผู้เข้าใกล้ เข้าชิด เข้าถึง เข้าถึงพร้อม เข้าไปถึง เข้าไปถึงพร้อม ประกอบ ด้วยสตินี้ บุคคลนั้นเรียกว่า มีสติ. คำว่า ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้ มีความว่า เป็นผู้มีสติ ย่อมข้าม ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลย ตัณหาชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลก เพราะ ฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้ เพราะ เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ผู้ใด ย่อมเว้นขาดกามทั้งหลาย เหมือนบุคคลเว้นขาดหัวงูด้วยเท้า ผู้นั้น เป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้. [๑๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า นรชนใด ย่อมปรารถนาไร่นา ที่ดิน เงิน โค ม้า ทาส คนภายใน สตรี พวกพ้อง กามเป็นอันมาก. [๑๖] คำว่า ไร่นา ที่ดิน เงิน มีความว่า ไร่นา คือ ไร่ข้าวสาลี ไร่ข้าวจ้าว ไร่ถั่ว เขียว ไร่ถั่วราชมาส ไร่ข้าวเหนียว ไร่ข้าวละมาน ไร่งา. คำว่า ที่ดิน คือ ที่เรือน ที่ฉาง ที่ หน้าเรือน ที่หลังเรือน ที่สวน ที่อยู่. คำว่า เงิน คือ กหาปณะ เรียกว่า เงิน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไร่นา ที่ดิน เงิน. หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 16, 2014, 09:24:53 PM ว่าด้วยทาส ๔ จำพวก
[๑๗] คำว่า โค ม้า ทาส คนภายใน มีความว่า โคทั้งหลายเรียกว่า โค. ปสุสัตว์ เป็นต้นเรียกว่า ม้า. คำว่า ทาส ได้แก่ ทาส ๔ จำพวก คือ ทาสที่เกิดภายใน ๑ ทาสที่ซื้อ มาด้วยทรัพย์ ๑ ผู้ที่สมัครเข้าถึงความเป็นทาสเอง ๑ เชลยผู้ที่เข้าถึงความเป็นทาส ๑. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า คนบางพวกเป็นทาสโดยกำเนิดบ้าง คนบางพวกเป็นทาสที่เขาซื้อมาด้วย ทรัพย์บ้าง คนบางพวกสมัครเข้าเป็นทาสเองบ้าง คนบางพวกเป็นทาส เพราะตกเป็นเชลยบ้าง. คำว่า คนภายใน ได้แก่ บุรุษ ๓ จำพวก คือ คนรับจ้าง ๑ กรรมกร ๑ พวกอยู่อาศัย ๑ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า โค ม้า ทาส คนภายใน. [๑๘] คำว่า สตรี พวกพ้อง กามเป็นอันมาก มีความว่า สตรีที่มีเจ้าของ เรียกว่า สตรี. คำว่า พวกพ้อง ได้แก่ พวกพ้อง ๔ จำพวก คือ พวกพ้องโดยเป็นญาติ ชื่อว่าพวกพ้อง ๑ พวกพ้องโดยโคตร ชื่อว่าพวกพ้อง ๑ พวกพ้องโดยการเรียนมนต์ ชื่อว่าพวกพ้อง ๑ พวกพ้อง โดยการเรียนศิลปะ ชื่อว่าพวกพ้อง ๑. คำว่า กามเป็นอันมาก คือ กามมาก. กามมากเหล่านี้ ได้แก่ รูปที่ชอบใจ เสียงที่ชอบใจ กลิ่นที่ชอบใจ รสที่ชอบใจ โผฏฐัพพะที่ชอบใจ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สตรี พวกพ้อง กามเป็นอันมาก. [๑๙] คำว่า นรชนใด ย่อมปรารถนา มีความว่า คำว่า ใด คือ เช่นใด ประกอบ อย่างใด จัดแจงอย่างใด มีประการอย่างใด ถึงฐานะอย่างใด ประกอบด้วยธรรมใด คือ เป็น กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร์ คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือเป็นมนุษย์ คำว่า นรชน คือ สัตว์ นระ มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้มีกรรม มนุษย์. คำว่า ย่อม ปรารถนา คือ ย่อมปรารถนา ย่อมตามปรารถนา ย่อมปรารถนาทั่วไป ย่อมติดพัน ในวัตถุกาม ทั้งหลาย ด้วยกิเลสกาม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นรชนใด ย่อมปรารถนา เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า นรชนใด ย่อมปรารถนา ไร่นา ที่ดิน เงิน โค ม้า ทาส คนภายใน สตรี พวกพ้อง กามเป็นอันมาก. [๒๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เหล่ากิเลสอันไม่มีกำลัง ย่อมครอบงำนรชนนั้น เหล่าอันตราย ย่อมย่ำยี นรชนนั้น เพราะอันตรายนั้น ทุกข์ย่อมติดตามนรชนนั้นไป เหมือน น้ำไหลเข้าสู่เรือที่แตกแล้ว ฉะนั้น. [๒๑] คำว่า เหล่ากิเลสอันไม่มีกำลัง ย่อมครอบงำนรชนนั้น มีความว่า คำว่า ไม่ มีกำลัง คือ กิเลสอันไม่มีกำลัง คือ ทุรพล มีกำลังน้อย มีเรี่ยวแรงน้อย เลว ทราม เสื่อม ตกต่ำ ลามก มีอัธยาศัยเลว เล็กน้อย กิเลสเหล่านั้น ย่อมครอบงำ ปราบปราม กดขี่ ท่วมทับ กำจัด ย่ำยีบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหล่ากิเลสอันไม่มีกำลัง ย่อมครอบงำ นรชนนั้น แม้ด้วยประการอย่างนี้. อีกนัยหนึ่ง สัทธาพละ วิริยพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ หิริพละ โอตตัปปพละ ไม่มีแก่บุคคลใด กิเลสเหล่านั้น ย่อมครอบงำ ปราบปราม กดขี่ ท่วมทับ กำจัด ย่ำยีบุคคลนั้น ผู้ไม่มีกำลัง มีกำลังทราม มีกำลังน้อย มีเรี่ยวแรงน้อย เลว ทราม เสื่อม ตกต่ำ ลามก มีอัธยาศัยเลว เล็กน้อย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหล่ากิเลสอัน ไม่มีกำลังย่อมครอบงำนรชนนั้น แม้ด้วยประการอย่างนี้. ว่าด้วยอันตราย ๒ อย่าง [๒๒] คำว่า เหล่าอันตรายย่อมย่ำยีนรชนนั้น มีความว่า อันตราย ได้แก่ อันตราย ๒ อย่าง คือ อันตรายที่ปรากฏ ๑ อันตรายที่ปกปิด ๑. อันตรายที่ปรากฏเป็นไฉน? คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว หมาป่า โค กระบือ ช้าง งู แมลงป่อง ตะขาบ โจร คนที่ทำกรรมชั่ว คนที่เตรียมจะทำ กรรมชั่ว และโรคทางจักษุ โรคทางโสต โรคทางฆานะ โรคทางชิวหา โรคทางกาย โรคทาง ศีรษะ โรคทางหู โรคทางปาก โรคทางฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้ เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรค- *ขี้กลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราดหูด โรคละลอก โรคคุดทะราดบวม โรคอาเจียนโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธสันนิบาต อาพาธเกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธเกิดแต่ความเพียรเกิน กำลัง อาพาธเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ความสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลาน อันตรายเหล่านี้ เรียกว่า อันตรายที่ปรากฏ. อันตรายที่ปกปิดเป็นไฉน? คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ ราคะ โทสะ โมหะ ความ โกรธ ผูกโกรธไว้ ลบลู่คุณท่าน ตีเสมอ ริษยา ตระหนี่ มายา โอ้อวด หัวดื้อ แข่งดี ถือตัว ดูหมิ่นท่าน มัวเมา ประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความ เร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อภิสังขาร คือ อกุศลธรรมทั้งปวง อันตรายเหล่านี้ เรียกว่า อันตรายที่ปกปิด. ที่ชื่อว่า อันตราย เพราะอรรถว่ากระไร จึงชื่อว่าอันตราย. เพราะอรรถว่าครอบงำ จึงชื่อว่าอันตราย. เพราะอรรถว่าเป็นไปเพื่อความเสื่อม จึงชื่อว่าอันตราย. เพราะว่าอรรถเป็น ที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงชื่อว่าอันตราย. เพราะอรรถว่า ครอบงำอย่างไร? จึงชื่อว่า อันตราย อันตรายเหล่านั้น ย่อมครอบงำ ปราบปราม กดขี่ ท่วมทับ กำจัด ย่ำยีบุคคลนั้น เพราะ อรรถว่าครอบงำ จึงชื่อว่าอันตราย อย่างนี้. เพราะอรรถว่าเป็นไปเพื่อความเสื่อมอย่างไร? จึงชื่อว่าอันตราย อันตรายเหล่านั้น ย่อม เป็นไปเพื่อความเสื่อม เพื่ออันตรธานไปแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย. อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็น ไปเพื่อความเสื่อม เพื่ออันตรธานไปแห่งกุศลธรรมเหล่าไหน? อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไป เพื่อความเสื่อม เพื่ออันตรธานไปแห่งกุศลธรรมเหล่านี้ คือ ความปฏิบัติชอบ ความปฏิบัติสมควร ความปฏิบัติไม่เป็นข้าศึก ความปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์ ความปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ความทำให้บริบูรณ์ในศีล ความเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองในอินทรีย์ ความเป็นผู้รู้จักประมาณใน โภชนะ ความประกอบเนืองๆ ในความเป็นผู้ตื่น สติสัมปชัญญะ ความประกอบเนืองๆ ใน อันเจริญสติปัฏฐาน ๔ ความประกอบเนืองๆ ในอันเจริญสัมมัปปธาน ๔ ความประกอบเนืองๆ ในอันเจริญอิทธิบาท ๔ ความประกอบเนืองๆ ในอันเจริญอินทรีย์ ๕ ความประกอบเนืองๆ ในอันเจริญพละ ๕ ความประกอบเนืองๆ ในอันเจริญโพชฌงค์ ๗ ความประกอบเนืองๆ ในอัน เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม เพื่ออันตรธานไปแห่ง กุศลธรรมเหล่านี้. เพราะอรรถว่า เป็นไปเพื่อความเสื่อมอย่างนี้ จึงชื่อว่า อันตราย. เพราะอรรถว่าเป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย อย่างไร? จึงชื่อว่าอันตราย อกุศล ธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นในอัตภาพนั้น ย่อมเป็นธรรมอยู่อาศัยในอัตภาพ เปรียบ เหมือนเหล่าสัตว์ที่อาศัยรู ย่อมอยู่ในรู ที่อาศัยน้ำ ย่อมอยู่ในน้ำ ที่อาศัยป่า ย่อมอยู่ในป่า ที่ อาศัยต้นไม้ ย่อมอยู่ที่ต้นไม้ ฉันใด อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นในอัตภาพนั้น ย่อม เป็นธรรมอยู่อาศัยในอัตภาพ ฉันนั้น เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลายอย่างนี้ จึง ชื่อว่าอันตราย. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ร่วมกับกิเลสอันอยู่อาศัยในภายใน ผู้อยู่ร่วมกับกิเลสที่ ฟุ้งซ่าน ย่อมอยู่ลำบาก ไม่ผาสุก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้อยู่ร่วมกับกิเลสอันอยู่อาศัยในภายใน ผู้อยู่ร่วมกับกิเลสที่ฟุ้งซ่าน ย่อมอยู่ลำบาก ไม่ผาสุกอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรมอัน ลามก มีความดำริอันซ่านไปในอารมณ์อันเกื้อกูลแก่สัญโญชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมอยู่ซ่านไปในภายในแห่งภิกษุนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ภิกษุนั้นจึงเรียกว่า ผู้อยู่ร่วมกับกิเลสอันอยู่อาศัยในภายใน อกุศลธรรมอัน ลามกเหล่านั้นย่อมกลุ้มรุมภิกษุนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ภิกษุนั้นจึงเรียกว่า ผู้อยู่ร่วมกับกิเลส ที่ฟุ้งซ่าน อีกประการหนึ่ง อกุศลธรรมอันลามก มีความดำริอันซ่านไปในอารมณ์อันเกื้อกูลแก่ สัญโญชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุ เพราะได้ยินเสียงด้วยโสต ... เพราะสูดกลิ่นด้วยฆานะ ... เพราะ ลิ้มรสด้วยชิวหา ... เพราะถูกต้องโผฏฐัพพพะด้วยกาย ... เพราะรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ อกุศล ธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมอยู่ซ่านไปในภายในแห่งภิกษุนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ภิกษุนั้นจึง เรียกว่า ผู้อยู่ร่วมกับกิเลสอันอยู่อาศัยในภายใน อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมกลุ้มรุม ภิกษุนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ภิกษุนั้นจึงเรียกว่า อยู่ร่วมกับกิเลสที่ฟุ้งซ่าน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ร่วมกับกิเลสอันอยู่อาศัยในภายใน ผู้อยู่ร่วมกับกิเลสที่ฟุ้งซ่าน ย่อมอยู่ลำบาก ไม่ผาสุก อย่างนี้แล. หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 16, 2014, 09:25:12 PM เพราะฉะนั้น เพราะอรรถว่าเป็นที่อยู่แห่งกุศลธรรมทั้งหลายอย่างนี้ จึงชื่อว่า อันตราย.
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการเหล่านี้ เป็น มลทินในภายใน เป็นอมิตรในภายใน เป็นข้าศึกในภายใน เป็นเพชฌฆาตในภายใน เป็นศัตรู ในภายใน ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน? คือ โลภะ เป็นมลทินในภายใน เป็นอมิตรในภายใน เป็นข้าศึกในภายใน เป็นเพชฌฆาตในภายใน เป็นศัตรูในภายใน โทสะ เป็นมลทินในภายใน เป็นอมิตรในภายใน เป็นข้าศึกในภายใน เป็นเพชฌฆาตในภายใน เป็นศัตรูในภายในโมหะ เป็นมลทินในภายใน เป็นอมิตรในภายใน เป็นข้าศึกในภายใน เป็นเพชฌฆาตในภายใน เป็นศัตรูในภายใน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล เป็นมลทินในภายใน เป็นอมิตร ในภายใน เป็นข้าศึกในภายใน เป็นเพชฌฆาตในภายใน เป็นศัตรูในภายใน. พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า- โลภะ ยังสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ให้เกิด โลภะ ยังจิตให้ให้กำเริบ โลภะ เป็นภัยเกิดขึ้นในภายใน พาลชน ย่อมไม่รู้สึกภัยนั้น คนผู้โลภแล้ว ย่อมไม่รู้อรรถ คนผู้โลภแล้ว ย่อมไม่เห็นธรรม เมื่อใด ความโลภ ครอบงำนรชน เมื่อนั้น นรชนนั้น ย่อมมีความมืดตื้อ โทสะ ยังสิ่งที่ไม่ เป็นประโยชน์ให้เกิด โทสะ ยังจิตให้กำเริบ โทสะ เป็นภัยเกิดขึ้นใน ภายใน พาลชน ย่อมไม่รู้สึกภัยนั้น คนผู้โกรธแล้วย่อมไม่รู้อรรถ คนผู้ โกรธแล้ว ย่อมไม่เห็นธรรม เมื่อใด ความโกรธครอบงำนรชน เมื่อนั้น นรชนนั้น ย่อมมีความมืดตื้อ โมหะ ยังสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ให้เกิด โมหะยังจิตให้กำเริบ โมหะ เป็นภัยเกิดขึ้นในภายใน พาลชน ย่อมไม่ รู้สึกภัยนั้น คนผู้หลงแล้ว ย่อมไม่รู้อรรถ คนผู้หลงแล้ว ย่อมไม่เห็นธรรม เมื่อใด ความหลงครอบงำนรชน เมื่อนั้น นรชนนั้น ย่อมมีความมืดตื้อ. เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลายอย่างนี้. จึงชื่อว่า อันตราย สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูกรมหาบพิตร ธรรม ๓ ประการแล เมื่อเกิด ขึ้นในภายในแห่งบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน? คือ โลภะ เมื่อเกิดขึ้นในกายในแห่งบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก โทสะ เมื่อเกิดขึ้นในภายในแห่งบุรุษ ย่อม เกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก โมหะ เมื่อเกิดขึ้นในภายใน แห่งบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก ดูกรมหาบพิตร ธรรม ๓ ประการนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในภายในแห่งบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก. พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นในตน ย่อมกำจัดบุรุษผู้มีจิตลามก เหมือนขุยไผ่กำจัดไม้ไผ่ ฉะนั้น. เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลายอย่างนี้. จึงชื่อว่า อันตราย สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ราคะ และโทสะ มีอัตภาพนี้เป็นเหตุ เกิดแต่อัตภาพนี้ ไม่ยินดีกุศล ยินดีแต่กามคุณ ทำให้ขนลุก บาปวิตกในใจ ตั้งขึ้นแต่อัตภาพนี้แล้ว ผูกจิตไว้ เหมือนพวกเด็กผูกกาที่ข้อเท้าไว้ ฉะนั้น. เพราะอรรถว่าเป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลายอย่างนี้. จึงชื่อว่าอันตราย คำว่า เหล่าอันตราย ย่อมย่ำยีนรชนนั้น มีความว่า อันตรายเหล่านั้น ย่อมครอบงำ ปราบปราม กดขี่ ท่วมทับ กำจัด ย่ำยีบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหล่าอันตราย ย่อม ย่ำยีนรชนนั้น. [๒๓] คำว่า เพราะอันตรายนั้น ทุกข์ย่อมติดตามนรชนนั้นไป มีความว่า เพราะ อันตรายนั้นๆ ทุกข์ย่อมติดตาม ตามไป ไปตามบุคคลนั้น คือ ชาติทุกข์ ย่อมติดตาม ตามไป ไปตาม ชราทุกข์ ... พยาธิทุกข์ ... มรณทุกข์ ... ทุกข์ คือ ความโศก ร่ำไร ลำบากกาย ทุกข์ใจ ความแค้นใจ ... ทุกข์ คือ ความเกิดในนรก ... ทุกข์ คือ ความเกิดในกำเนิดเดียรัจฉาน ... ทุกข์ คือ ความเกิดในวิสัยเปรต ... ทุกข์ คือ ความเกิดในมนุษย์ ... ทุกข์มีความเกิดในครรภ์เป็นมูล ... ทุกข์ มีความตั้งอยู่ในครรภ์เป็นมูล ... ทุกข์มีความคลอดจากครรภ์เป็นมูล ... ทุกข์ที่ติดตามสัตว์ที่เกิด แล้ว ... ทุกข์อันเนื่องแต่ผู้อื่นแห่งสัตว์ที่เกิดแล้ว ... ทุกข์อันเกิดแต่ความขวนขวายของตน ... ทุกข์อันเกิดแต่ความขวนขวายของผู้อื่น ... ทุกข์เกิดแต่ทุกขเวทนา ... ทุกข์เกิดแต่สังขาร ... ทุกข์เกิดแต่ความแปรปรวน ... โรคทางจักษุ โรคทางโสต โรคทางฆานะ โรคทางชิวหา โรคทาง กาย โรคทางศีรษะ โรคทางหู โรคทางปาก โรคทางฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคขี้กลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราดหูด โรคละลอก โรคคุดทะราดบวม โรคอาเจียนโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธสันนิบาต อาพาธเกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธเกิดแต่บริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธอันเกิดแต่ความเพียรเกิน กำลัง อาพาธอันเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวด อุจจาระ ปวดปัสสาวะ ทุกข์เกิดแต่สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลาน ทุกข์ เพราะความตายแห่งมารดา ทุกข์เพราะความตายแห่งบิดา ทุกข์เพราะความตายแห่งพี่ชายและ น้องชายทุกข์เพราะความตายแห่งพี่สาวและน้องสาว ทุกข์เพราะความตายแห่งบุตร ทุกข์เพราะ ความตายแห่งธิดา ทุกข์เพราะความฉิบหายแห่งญาติ ทุกข์เพราะความฉิบหายแห่งโภคทรัพย์ ทุกข์ เพราะความฉิบหายอันเกิดแต่โรค ทุกข์เพราะความฉิบหายแห่งศีล ทุกข์เพราะความฉิบหายแห่ง ทิฏฐิ ย่อมติดตาม ตามไป ไปตามบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะอันตรายนั้น ทุกข์ ย่อมติดตามนรชนนั้นไป. [๒๔] คำว่า เหมือนน้ำไหลเข้าสู่เรือที่แตกแล้ว ฉะนั้น มีความว่า น้ำไหลซึมเข้าสู่เรือ ที่แตกแล้ว คือ น้ำย่อมซึมเข้าไป ตามเข้าไป ไหลเข้าไปแต่ที่นั้นๆ คือ ย่อมซึมเข้าไป ตาม เข้าไป ไหลเข้าไป ข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง ข้างท้องบ้าง แต่ข้างๆ บ้าง ฉันใด เพราะอันตราย นั้นๆ ทุกข์ย่อมติดตาม ตามไป ไปตามบุคคลนั้น คือ ชาติทุกข์ ย่อมติดตาม ตามไป ไปตาม ฯลฯ ทุกข์เพราะความฉิบหายแห่งทิฏฐิ ย่อมติดตาม ตามไป ไปตามบุคคลนั้น ฉะนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหมือนน้ำไหลเข้าสู่เรือที่แตกแล้ว. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เหล่ากิเลสอันไม่มีกำลัง ย่อมครอบงำนรชนนั้น เหล่าอันตราย ย่อม ย่ำยีนรชนนั้น เพราะอันตรายนั้น ทุกข์ย่อมติดตามนรชนนั้นไป เหมือน น้ำไหลเข้าสู่เรือที่แตกแล้ว ฉะนั้น. หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 16, 2014, 09:25:28 PM ว่าด้วยผู้มีสติทุกเมื่อ
[๒๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เพราะเหตุนั้น สัตว์ผู้เกิดมา พึงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พึงเว้นขาดกาม ทั้งหลาย ครั้นเว้นขาดกามเหล่านั้นแล้ว พึงข้ามโอฆะได้ เหมือนบุคคล วิดน้ำในเรือแล้วไปถึงฝั่ง ฉะนั้น. [๒๖] คำว่า เพราะเหตุนั้น สัตว์ผู้เกิดมา พึงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ มีความว่า คำว่า เพราะเหตุนั้น คือ เพราะฉะนั้น เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะนิทาน นั้น สัตว์ผู้เกิดมา เมื่อเห็นโทษนั้นในกามทั้งหลาย ฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะเหตุนั้น. คำว่า สัตว์ผู้เกิดมา ได้แก่ สัตว์ นรชน มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้มีกรรม มนุษย์. คำว่า ในกาลทุกเมื่อ คือ ในกาลทุกเมื่อ ในกาลทั้งปวง ตลอดกาลทั้งปวง ตลอด กาลเป็นนิตย์ ตลอดกาลยั่งยืน ตลอดกาลเป็นนิรันดร์ ตลอดกาลเป็นอันเดียว ตลอดกาลติดต่อ ตลอดกาลเป็นลำดับ ตลอดกาลไม่ขาดระยะ ตลอดกาลไม่มีระหว่าง ตลอดกาลสืบเนื่อง ตลอด กาลไม่ขาดสาย ตลอดกาลกระชั้นชิด ในการก่อนภัต ในกาลหลังภัต ในยามต้น ในยามกลาง ในยามหลัง ในข้างแรม ในข้างขึ้น ในฤดูฝน ในฤดูหนาว ในฤดูร้อน ในตอนวัยต้น. ตอนวัยกลาง ในตอนวัยหลัง. คำว่า มีสติ (๑)- ได้แก่เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่าง คือ เมื่อ เจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในกาย ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เมื่อเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในเวทนาทั้งหลาย ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เมื่อเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานในจิต ก็ชื่อว่าเป็นผู้มี สติ เมื่อเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานในธรรมทั้งหลาย ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เป็นผู้มีสติโดย เหตุ ๔ อย่างแม้อื่นอีก คือ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเว้นจากความเป็นผู้ไม่มีสติ ฯลฯ บุคคลเป็น ผู้เข้าใกล้ เข้าชิด เข้าถึง เข้าถึงพร้อม เข้าไปถึง เข้าไปถึงพร้อม ประกอบด้วยสตินี้ บุคคล นั้นเรียกว่า มีสติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สัตว์ผู้เกิดมาพึงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ. [๒๗] คำว่า พึงเว้นขาดกามทั้งหลาย มีความว่า กามทั้งหลาย ได้แก่ กาม ๒ อย่าง โดยหัวข้อ คือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม ๑. วัตถุกามเป็นไฉน? รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ชอบใจ ฯลฯ กามเหล่านี้ เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ กามเหล่านี้ เรียกว่า กิเลสกาม. คำว่า พึงเว้นขาดกามทั้งหลาย คือ พึงเว้นขาดกามทั้งหลาย โดยเหตุ ๒ ประการ คือ โดยการ ข่มไว้อย่าง ๑ โดยการตัดขาดอย่าง ๑. พึงละเว้นขาดกาม โดยการข่มไว้อย่างไร? สัตว์ผู้เกิดมา เมื่อเห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยโครงกระดูก เพราะอรรถว่าเป็นของมีความยินดีน้อย พึง เว้นขาดกามโดยการข่มไว้ เมื่อเห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยชิ้นเนื้อ เพราะอรรถว่าเป็นของ สาธารณ์แก่ชนหมู่มาก พึงเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ เมื่อเห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วย คบเพลิง เพราะอรรถว่าเป็นของตามเผา พึงเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ ฯลฯ แม้เจริญเนวสัญญานา- *สัญญายตนสมาบัติ พึงเว้นขาดกามโดยการข่มไว้. พึงเว้นขาดกามโดยการข่มไว้อย่างนี้ ฯลฯ พึง เว้นขาดกามโดยการตัดขาดอย่างนี้ ๒- เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงเว้นขาดกามทั้งหลาย. [๒๘] คำว่า ครั้นเว้นขาดกามเหล่านั้นแล้ว พึงข้ามโอฆะได้ มีความว่า คำว่า เหล่า นั้น คือ สัตว์ผู้เกิดมา กำหนดรู้วัตถุกามทั้งหลาย ละ ละทั่ว บรรเทา ทำให้สูญสิ้น ให้ถึง ความไม่มีในภายหลัง ซึ่งกิเลสกาม คือ ละ ละทั่ว บรรเทา ทำให้สูญสิ้น ให้ถึงความไม่มีใน ภายหลัง ซึ่งกามฉันทนิวรณ์ ... พยาบาทนิวรณ์ ... ถีนมิทธนิวรณ์ ... อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ละ @(๑) ต่อไปนี้จงดูในข้อ ๑๔. @๒. (ล) จงดูละเอียดในข้อ ๑๒. ละทั่ว บรรเทา ทำให้สูญสิ้น ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง ซึ่งวิจิกิจฉานิวรณ์ พึงข้าม ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง เป็นไปล่วง กามโอฆะ ภวโอฆะ ทิฏฐิโอฆะ อวิชชาโอฆะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ครั้นเว้นขาดกามเหล่านั้นแล้ว พึงข้ามโอฆะได้. [๒๙] คำว่า เหมือนบุคคลวิดน้ำในเรือแล้วไปถึงฝั่ง ฉะนั้น มีความว่า บุคคลวิด สาดออก ทิ้งออกซึ่งน้ำในเรืออันทำให้หนัก บรรทุกหนักแล้ว พึงไปถึงฝั่งด้วยเรือที่เบา โดย เร็วไว โดยไม่ลำบาก ฉันใด สัตว์ผู้เกิดมา กำหนดรู้วัตถุกามทั้งหลาย ละ ละทั่ว บรรเทา ทำให้สูญสิ้น ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง ซึ่งกิเลสกาม คือ ละ ละทั่ว บรรเทา ทำให้สูญสิ้น ให้ถึงความไม่มีในภายหลังซึ่งกามฉันทนิวรณ์ ... พยาบาทนิวรณ์ ... ถีนมิทธนิวรณ์ ... อุทธัจจ- *กุกกุจจนิวรณ์ ... วิจิกิจฉานิวรณ์ พึงไปถึงฝั่งโดยเร็วไว โดยไม่ลำบาก ฉันนั้น. อมตนิพพาน เรียกว่า ฝั่ง ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับ เป็นที่ออกไป จากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด พึงถึง บรรลุ ถูกต้อง ทำให้แจ้งซึ่งฝั่ง. คำว่า ถึงฝั่ง คือ ผู้ใด ใคร่เพื่อจะถึงฝั่ง ผู้นั้นชื่อว่า ผู้ถึงฝั่ง ผู้ใดย่อมไปสู่ฝั่ง ผู้นั้นชื่อว่า ผู้ถึงฝั่ง ผู้ใด ถึงฝั่งแล้ว ผู้นั้นชื่อว่า ผู้ถึงฝั่ง. สมเด็จจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลผู้ข้ามพ้นแล้วถึงฝั่งแล้ว ดำรงอยู่บนบก ชื่อว่า เป็นพราหมณ์. ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่า พราหมณ์ เป็นชื่อพระอรหันต์ พระอรหันต์นั้น ถึงฝั่งด้วยการรู้ยิ่ง ถึงฝั่งด้วยการกำหนดรู้ ถึงฝั่งด้วยการละ ถึงฝั่งด้วยการเจริญ ถึงฝั่งด้วยการ ทำให้แจ้ง ถึงฝั่งด้วยการบรรลุ ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ด้วยการรู้ยิ่ง ถึงฝั่งแห่งทุกข์ทั้งปวง ด้วยการกำหนดรู้ ถึงฝั่งแห่งกิเลสทั้งปวง ด้วยการละ ถึงฝั่งแห่งอริยมรรค ๔ ด้วยการเจริญ ถึงฝั่งแห่งนิโรธ ด้วยการทำให้แจ้ง ถึงฝั่งแห่งสมาบัติทั้งปวง ด้วยการบรรลุ พระอรหันต์นั้น ถึงความชำนาญ ถึงความสำเร็จในอริยศีล ถึงความชำนาญ ถึงความสำเร็จในอริยสมาธิ ถึงความชำนาญ ถึงความสำเร็จในอริยปัญญา ถึงความชำนาญ ถึงความสำเร็จในอริยวิมุติ พระอรหันต์นั้น ไปสู่ฝั่งแล้ว ถึงฝั่งแล้ว ไปสู่ส่วนสุดแล้ว ถึงส่วนสุดแล้ว ไปสู่ที่สุดแล้ว ถึงที่สุดแล้ว ไปสู่ที่สุดรอบแล้ว ถึงที่สุดรอบแล้ว ไปสู่ความสำเร็จแล้ว ถึงความสำเร็จแล้ว ไปสู่ที่ป้องกันแล้ว ถึงที่ป้องกันแล้ว ไปสู่ที่ลับแล้ว ถึงที่ลับแล้ว ไปสู่ที่พึ่งแล้ว ถึงที่พึ่ง แล้ว ไปสู่ที่ไม่มีภัยแล้ว ถึงที่ไม่มีภัยแล้ว ไปสู่ที่ไม่จุติแล้ว ถึงที่ไม่จุติแล้ว ไปสู่ที่ไม่ตาย แล้ว ถึงที่ไม่ตายแล้ว ไปสู่นิพพานแล้ว ถึงนิพพานแล้ว พระอรหันต์นั้น อยู่จบแล้ว ประพฤติจรณะแล้ว มีทางไกลอันถึงแล้ว มีทิศอันถึงแล้ว มีที่สุดอันถึงแล้ว มีพรหมจรรย์ อันรักษาแล้ว ถึงทิฏฐิอันอุดมแล้ว มีมรรคอันเจริญแล้ว มีกิเลสอันละเสียแล้ว มีการแทง- *ตลอดมิได้กำเริบ มีนิโรธอันทำให้แจ้งแล้ว มีทุกข์อันกำหนดรู้แล้ว มีสมุทัยอันละแล้ว มีนิโรธ อันทำให้แจ้งแล้ว มีมรรคอันเจริญแล้ว มีธรรมที่ควรรู้ยิ่งอันได้รู้ยิ่งแล้ว มีธรรมที่ควรกำหนดรู้ กำหนดรู้แล้ว มีธรรมที่ควรละอันละแล้ว มีธรรมที่ควรเจริญอันเจริญแล้ว มีธรรมที่ควรทำให้ แจ้งอันทำให้แจ้งแล้ว พระอรหันต์นั้น มีอวิชชาเป็นลิ่มสลักอันถอนเสียแล้ว มีกรรมเป็นคูอัน กำจัดเสียแล้ว มีตัณหาเป็นเสาระเนียดอันถอนเสียแล้ว ไม่มีสัญโญชน์เป็นบานประตู เป็น ผู้ไกลจากกิเลสอันเป็นข้าศึก มีมานะเป็นธงอันให้ตกไปแล้ว มีภาระอันปลงเสียแล้ว มีโยค กิเลสมิได้เกี่ยวข้อง มีองค์ห้าอันละเสียแล้ว ประกอบด้วยองค์หก มีสติเป็นธรรมเอกเป็น เครื่องรักษา มีธรรมเป็นเครื่องอาศัยสี่ มีทิฏฐิสัจจะเฉพาะอย่างอันบรรเทาเสียแล้ว มีการแสวง หาอันชอบ ไม่หย่อน ประเสริฐ มีความดำริมิได้ขุ่นมัว มีกายสังขารอันระงับแล้ว มีจิตพ้นดีแล้ว มีปัญญาพ้นดีแล้ว เป็นผู้มีความบริบูรณ์ มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว เป็นอุดมบุรุษ เป็นบรมบุรุษ ถึงความบรรลุปรมัตถะ พระอรหันต์นั้น มิได้ก่อ มิได้กำจัด กำจัดตั้งอยู่แล้ว มิได้ละ มิได้ถือมั่น ละแล้วจึงตั้งอยู่ มิได้เย็บ มิได้ยก เย็บแล้วจึงตั้งอยู่ มิได้ดับ มิได้ให้ลุก ดับแล้วจึงตั้งอยู่ ดำรงอยู่ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณ- *ทัสสนขันธ์ ซึ่งเป็นอเสขะ แทงตลอดอริยสัจจะแล้วจึงตั้งอยู่ ก้าวล่วงตัณหาอย่างนี้แล้ว จึง ตั้งอยู่ ดับไฟกิเลสแล้วจึงตั้งอยู่ ตั้งอยู่เพราะเป็นผู้ไม่ต้องไปรอบ ยึดถือเอายอดแล้ว ตั้งอยู่ ตั้งอยู่เพราะเป็นผู้ซ่องเสพวิมุติ ดำรงอยู่ด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาอันบริสุทธิ์ ดำรง อยู่ด้วยความบริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดำรงอยู่ในความเป็นผู้ไม่แข็งกระด้างด้วยตัณหาทิฏฐิ มานะ อันบริสุทธิ์ ตั้งอยู่เพราะเป็นผู้หลุดพ้น ตั้งอยู่เพราะเป็นผู้สันโดษ ตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบแห่งขันธ์ ธาตุ อายตนะ คติ อุปบัติ ปฏิสนธิ ภพ สงสาร วัฏฏะ ตั้งอยู่ในภพอันมีในที่สุด ตั้งอยู่ ในสรีระที่สุด ทรงไว้ซึ่งร่างกายที่สุด. สมจริงดังประพันธ์คาถาว่า:- พระขีณาสพนั้น มีภพนี้เป็นที่สุด มีสรีระนี้เป็นทีหลัง มิได้ มีชาติ มรณะ สงสาร และภพใหม่. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหมือนบุคคลวิดน้ำในเรือแล้วไปถึงฝั่ง ฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เพราะเหตุนั้น สัตว์ผู้เกิดมา พึงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พึงเว้นขาดกาม ทั้งหลาย ครั้นเว้นขาดกามเหล่านั้น พึงข้ามโอฆะได้ เหมือนบุคคล วิดน้ำในเรือแล้วไปถึงฝั่ง ฉะนั้น ดังนี้. จบ กามสุตตนิทเทส ที่ ๑. ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ บรรทัดที่ ๑ - ๔๘๖. หน้าที่ ๑ - ๒๑. https://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=29&A=0&Z=486&pagebreak=0 (https://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=29&A=0&Z=486&pagebreak=0) ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :- https://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=1 (https://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=1) สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ https://www.84000.org/tipitaka/read/?สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๒๙ (https://www.84000.org/tipitaka/read/?สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๒๙) https://www.84000.org/tipitaka/read/?index_29 (https://www.84000.org/tipitaka/read/?index_29) หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 17, 2014, 09:11:21 PM Image เสขะปฏิปทา ๑๕ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม จะแสดงพระพุทธคุณนำในบทว่าวิชชาจรณสัมปันโน พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ได้แสดงวิชชาและจรณะมาตอนหนึ่งแล้ว จะได้แสดงในข้อว่าจรณะ ตามที่ท่านพระอานนท์ได้แสดง ที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ร้อยกรองไว้ในเสขะพลสูตร ซึ่งมีความโดยย่อว่า ครั้งหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าทรงได้รับเชิญเสด็จไปประทับเป็นครั้งแรก ในสัณฐาคารคืออาคารอันเป็นที่ประชุมของเจ้าศากยะในกรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งได้สร้างขึ้นใหม่ยังมิได้ใช้สอย พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งหมู่สงฆ์ก็ได้เสด็จไปประทับที่สัณฐาคาร ได้ตรัสแสดงธรรมแก่เจ้าศากยะทั้งหลายเป็นอันมาก แล้วได้โปรดให้ท่านพระอานนท์แสดงเสขะปฏิปทาแก่เจ้าศากยะทั้งหลายต่อไป พระองค์ก็ได้ทรงประทับพักผ่อนพระอิริยาบถโดยสีหไสยา ท่านพระอานนท์จึงได้แสดงเสขะปฏิปทาคือข้อปฏิบัติที่ทำให้เป็นเสขะบุคคล หรือข้อปฏิบัติของเสขะบุคคล ๏ เสขะบุคคล อันเสขะบุคคลนั้นก็หมายถึงท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปฏิมรรค จนถึงท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค ตามศัพท์ว่าเสขะก็แปลว่าผู้ศึกษา แต่เสขะคือผู้ศึกษาในพุทธศาสนานั้น มีความหมายสูงดังที่กล่าว ส่วนที่ต่ำลงมาคือยังไม่เป็นโสดาบันบุคคล ยังเป็นบุถุชน เรียกว่าเสขะก็มิใช่ อเสขะก็มิใช่ และท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผลเป็นพระอรหันต์ จึงเรียกว่าอเสขะที่แปลว่าผู้ไม่ต้องศึกษา คือเป็นผู้จบการศึกษาแล้ว ท่านพระอานนท์ก็ได้รับพระพุทธบัญชา แสดงเสขะปฏิปทา ๑๕ ประการแก่เจ้าศากยะทั้งหลาย และในตอนท้ายก็ได้กล่าวว่าเสขะปฏิปทาทั้ง ๑๕ ประการนี้ ก็เป็นจรณะคือข้อปฏิบัติเครื่องดำเนินถึงวิชชา เพราะฉะนั้น ในการแสดงอธิบายจรณะในพระพุทธคุณบทนี้ จึงมักจะยกเอาจรณะ ๑๕ ตามที่ท่านพระอานนท์ได้แสดงดังที่เล่ามากันโดยมาก ๏ เสขะปฏิปทา ๑๕ จรณะหรือเสขะปฏิปทา ๑๕ ประการนี้ ก็คือสีลสัมปทาถึงพร้อมด้วยศีล อินทรียสังวรความสำรวมอินทรีย์ โภชเนมัตตัญญุตาความรู้ประมาณในภัตตาหาร ชาคริยานุโยคความประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ นี้ ๔ ประการ และสัทธรรมอีก ๗ ประการอันได้แก่ สัทธา หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ วิริยะ สติ และปัญญา รวมเป็น ๗ ประการกับ รูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ อีก ๔ ประการ ก็รวมเป็น ๑๕ ประการ และโดยที่ได้แสดงจรณะ ๑๐ ประการมาแล้วตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเอง เพราะฉะนั้น จึงได้แสดงอธิบายไปแล้วหลายข้อ จึงจะไม่แสดงอธิบายข้อที่ซ้ำกัน สีลสัมปทาถึงพร้อมด้วยศีล กับอินทรียสังวรความสำรวมอินทรีย์ ได้แสดงอธิบายแล้ว ๏ โภชเนมัตตัญญุตา โภชเนมัตตัญญุตาความรู้ประมาณในภัตตาหาร ท่านสอนให้พิจารณาอาหารที่บริโภค ในขณะที่กำลังบริโภค ตามบทปฏิสังขาโยที่พระสวดกันอยู่ซึ่งมีความโดยย่อว่า บริโภคภัตตาหารก็มิใช่ว่าเพื่อเล่น มิใช่ว่าเพื่อมัวเมา มิใช่ว่าเพื่อเปล่งปลั่งประเทืองผิว แต่ว่าบริโภคภัตตาหารก็เพื่อที่จะบำบัดความหิวระหาย และป้องกันมิให้เกิดเวทนาที่เป็นทุกข์ และเพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ เพื่อดำรงกายให้เป็นไป นี้เป็นใจความโดยย่อ ซึ่งรวมความเข้าแล้วก็เป็นการพิจารณาว่า บริโภคเพื่อที่จะทะนุบำรุงร่างกาย เพราะร่างกายนี้ต้องอาศัยอาหารจึงดำรงอยู่ได้ และดำรงร่างกายอยู่ก็เพื่อว่าที่จะประพฤติพรหมจรรย์ คือปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า มิใช่เพื่อตัณหากิเลสต่างๆ และเมื่อพิจารณาดั่งนี้ก็จะทำให้ไม่เกิดหรือไม่ส่งเสริม รสะตัณหา ตัณหาในรส บริโภคเพื่อให้สำเร็จประโยชน์ที่ต้องการ คือเพื่อดำรงร่างกายดำรงชีวิตให้เป็นไปอยู่ เป็นไปอยู่ทำไม ก็เพื่อที่จะประพฤติพรหมจรรย์ กระทำกิจตามพระธรรมวินัย ประกอบกิจที่เป็นประโยชน์ เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็จะทำให้การบริโภคนั้น เป็นไปพอเหมาะพอควร ไม่น้อยไม่มากเกินไป เท่าที่ร่างกายต้องการ ไม่ถือเอารสอร่อยเป็นที่ตั้ง คือไม่ตามใจลิ้น และเมื่อพิจารณาดั่งนี้ แม้ว่าอาหารที่บริโภคจะมีรสไม่ถูกปากไม่ถูกลิ้น ก็จะสามารถบริโภคได้ เพราะเมื่อไม่ติดอยู่ในรส ไม่ติดอยู่ในรสะตัณหาแล้ว การบริโภคก็เป็นไปเพื่อให้สำเร็จประโยชน์ตามที่ต้องการ ไม่ใช่ว่าจะต้องเที่ยวแสวงหาอาหารที่มีรสตามที่ชอบ ถ้าไม่ได้ก็ไม่ยอมที่จะบริโภค หรือบริโภคแต่น้อย ถ้าได้อาหารที่มีรสถูกปากที่เอร็ดอร่อยก็บริโภคเสียใหญ่ และไม่เป็นเวล่ำเวลาอันสมควร ดั่งนี้เรียกว่าไม่รู้ประมาณในภัตตาหาร แต่เมื่อรู้ประมาณในภัตตาหาร ด้วยการพิจารณาดังกล่าว ก็จะทำให้การบริโภคอาหารเป็นไปโดยถูกต้อง พอเหมาะพอควร เพื่อทะนุบำรุงกายให้ดำรงอยู่ เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ ดั่งนี้ ๏ ชาคริยานุโยค ชาคริยานุโยคประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ ที่ท่านแสดงอธิบายไว้ ก็คือว่าในเวลากลางวัน ก็นั่งบ้าง เดินบ้าง ที่เรียกว่าเดินจงกรม ชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ ผ่องแผ้วจากกิเลสที่เป็นเครื่องกั้นใจทั้งหลาย คือเป็นเครื่องกั้นไว้มิให้บรรลุสมาธิและปัญญา ในเวลากลางคืนในปฐมยาม ก็นั่งบ้าง เดินบ้าง เปลื้องจิตให้บริสุทธิ์ ให้พ้นจากกิเลสเป็นเครื่องกั้นทั้งหลาย ในมัชฌิมยามของราตรี ก็พักด้วยการนอนโดยสีหไสยาคือนอนตะแคงเบื้องขวา และทำสติที่จะลุกขึ้น ที่จะตื่นขึ้น และก็ตื่นขึ้นในปัจจฉิมยามของราตรี ก็นั่งบ้างเดินบ้าง ชำระจิตให้บริสุทธิ์ ให้พ้นจากกิเลสซึ่งเป็นเครื่องกั้นจิตทั้งหลาย นี้ท่านแสดงถึงวิธีปฏิบัติเป็นเครื่องตื่นอยู่อย่างเต็มที่ แม้ว่าจะไม่ปฏิบัติอย่างเต็มที่ดั่งนี้ เอาเพียงปฏิบัติตามที่ท่านแปลคำนี้ไว้ว่า ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ ไม่เห็นแก่นอนมากนัก และเวลาที่ตื่นอยู่ก็ต้องคอยทำการเปลื้องจิต ปฏิบัติเปลื้องจิตจากกิเลสเป็นเครื่องกั้น มิให้จิตได้สมาธิได้ปัญญา โดยตรงก็คือนิวรณ์ทั้ง ๕ นั้นเอง คอยชำระจิตอยู่เสมอจากนิวรณ์ทั้ง ๕ คือกามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกาม พยาบาทความหงุดหงิดขึ้งเคียดโกรธแค้นขัดเคืองมุ่งร้ายหมายล้างผลาญ ถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ ปฏิบัติดั่งนี้เรียกว่าเป็นชาคริยานุโยค ก็รวมเป็น ๔ ข้อ ๏ ความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญา ส่วนสัทธรรม ๗ นั้น สัทธรรมก็แปลว่าธรรมะของสัตตบุรุษ คือผู้สงบรำงับ หรือธรรมะของคนดี ธรรมะที่ดี อันได้แก่ศรัทธาคือความเชื่อ และความเชื่อในพุทธศาสนานี้ ต้องการความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญา ที่เป็นญาณสัมปยุต ประกอบด้วยญาณคือความหยั่งรู้ ซึ่งเรียกว่าเป็นความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ คือว่าเลือกเชื่อเฉพาะสิ่งที่ควรเชื่อ และจะมีศรัทธาดั่งนี้ได้ก็ต้องใช้ปัญญา ต้องใช้ญาณพิจารณา ให้รู้ว่าอะไรควรเชื่อ อะไรไม่ควรเชื่อ และสำหรับพุทธศาสนิกชน ศรัทธาที่ต้องการเป็นข้อสำคัญในฐานะเป็นพุทธสาวก ก็คือตถาคตะโพธิสัทธา ความเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคตพุทธเจ้า ซึ่งความเชื่อดั่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัย การที่มาเจริญพุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า และให้รู้จักพระพุทธคุณดังที่สวดกันอยู่ว่า อิติปิโส ภควา อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ เป็นต้น ดั่งที่กำลังแสดงอยู่นี้ ระลึกถึงพระพุทธคุณให้มีความเข้าใจซาบซึ้งในพระพุทธคุณ แม้บทใดบทหนึ่ง เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะทำให้ได้ตถาคตะโพธิสัทธามากขึ้นๆ และก็จะทำให้ได้ศรัทธาในธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ๏ ศรัทธา ๓ เพราะฉะนั้น พระอาจารย์จึงได้แนะนำศรัทธาอีก ๓ ข้อไว้ ก็คือ กรรมสัทธา ความเชื่อในกรรม วิปากสัทธา ความเชื่อในผลของกรรม กัมมัสสกตาสัทธา ความเชื่อในความที่สัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน เมื่อมีศรัทธาอันมีลักษณะดังกล่าวนี้ จึงจะชื่อว่าเป็นศรัทธาในพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ให้ปลูกศรัทธาให้มีขึ้น ฉะนั้นแม้ข้อศรัทธานี้ ก็เป็นข้อที่ผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องมาพิจารณา ดูที่ศรัทธาคือความเชื่อของตน ว่าเป็นไปถูกตามที่พระพุทธเจ้าทรงประสงค์ให้เชื่อหรือไม่ ถ้าหากว่ายังไม่เข้าในหลักของศรัทธาตามที่กล่าวมานี้ ก็ชื่อว่ายังไม่เข้าหลักของศรัทธา ตามที่พระพุทธเจ้าทรงประสงค์ ยังเป็นศรัทธาอาจจะเป็นของตนเองที่มีมาตามสันดาน หรือว่าจากคำแนะนำของผู้อื่นที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้า ฉะนั้นแม้ข้อศรัทธานี้ ก็ต้องเป็นข้อที่ทุกๆ คนจะต้องปรับปรุง แก้ไขปฏิบัติศรัทธาของตนให้ถูกให้ตรง อันนับว่าเป็นอันดับแรก และเมื่อมีศรัทธาตรงแล้วก็จะทำให้เป็นที่ตั้งของกุศลธรรมทั้งหลายอื่นๆ ต่อไป ๏ หิริ โอตตัปปะ จึงถึงสัปปุริสธรรม หรือว่าสัทธรรม อันเป็นข้อที่ ๒ ที่ ๓ ก็คือหิริความละอายใจต่อความชั่ว โอตตัปปะความเกรงกลัวต่อความชั่ว ก็คือต่อผลของความชั่ว หิริโอตตัปปะนี้ท่านแสดงว่าเป็นเหตุใกล้ของศีล เมื่อมีหิริโอตตัปปะอยู่ ก็ย่อมจะทำให้มีศีลได้ ศีลก็จะมีสืบจากหิริโอตตัปปะ เพราะฉะนั้น หิริโอตตัปปะนี้จึงเป็นธรรมะสำคัญ จนถึงที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ว่าเป็นโลกบาล คือเป็นธรรมะที่คุ้มครองโลก ๏ พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ที่ได้สดับมาก และต่อไปก็คือพาหุสัจจะที่แปลว่าความเป็นผู้ที่ได้สดับมาก ในทางพุทธศาสนาก็คือความที่ได้สดับตรับฟัง ธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว ได้ทรงกล่าวไว้ดีแล้ว เป็นธรรมะที่งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถะคือเนื้อความ พร้อมทั้งพยัญชนะคือถ้อยคำ เป็นธรรมะที่กล่าวประกาศพรหมจรรย์พระศาสนา บริบูรณ์คือครบถ้วนไม่มีบกพร่อง บริสุทธิ์ก็คือถูกต้องไม่มีผิดพลาด สิ้นเชิงก็คือทั้งหมด ก็ตั้งใจสดับตรับฟัง ตั้งใจเรียนธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้วเหล่านี้ ท่องบ่นจำทรง สั่งสมด้วยวาจาก็คือว่าให้คล่องปาก จำได้ด้วยใจด้วย แล้วให้คล่องปากด้วย และขบเจาะด้วยทิฏฐิคือความเห็น อันได้แก่ทำความเข้าใจ ดั่งนี้ เรียกว่าพาหุสัจจะความเป็นผู้ที่ได้สดับตรับฟังมาก ๏ เพียรละ เพียรภาวนา สติ ปัญญา ข้อต่อไปก็คือเพียร เพียรปฏิบัติในการละส่วนที่เป็นอกุศลธรรมทั้งหลาย เพียรภาวนาอันหมายถึงว่าอบรมทำให้มีให้เป็นขึ้น ในส่วนที่เป็นกุศลธรรมทั้งหลาย ข้อต่อไปก็คือสติและปัญญา ก็คือปฏิบัติทำสติความระลึกได้ หรือความกำหนดลงไปให้ได้ ให้เป็นตัวสติ และปฏิบัติทำปัญญา คือความรู้รอบคอบตามเหตุตามผล ตามความเป็นจริง หรือว่ารู้ความจริงตามเหตุและผล ก็รวมเป็น ๗ ประการ เรียกว่าสัทธรรม ๗ หรือสัปปุริสธรรม ๗ ก็แปลว่าธรรมะของสัตตบุรุษเหมือนกัน และรูปฌานอีก ๔ ข้อ คือรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ อันหมายถึงเป็นสมาธิอย่างสูง เป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น จัดเป็นรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ โดยลำดับ ก็รวมเป็นจรณะ ๑๕ หรือว่าเสขะปฏิปทา ๑๕ ๏ ข้อปฏิบัติดำเนินถึงวิชชา พระพุทธเจ้าเองก็ทรงประกอบด้วยจรณะ เป็นจรณะสัมปันโนถึงพร้อมด้วยจรณะ และเมื่อถึงพร้อมด้วยจรณะ จรณะนี้เองเป็นเครื่องปฏิบัติ เป็นข้อปฏิบัติเครื่องดำเนินถึงวิชชา จึงทรงได้วิชชา ๓ วิชชา ๘ ตามที่ได้แสดงแล้ว เป็นวิชชาสัมปันโนผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา แต่ในบทพระพุทธคุณนี้เรียงวิชชาไว้หน้า คู่กันไปกับจรณะ ว่าวิชชาจรณะสัมปันโนผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ อีกอย่างหนึ่งทำความเข้าใจกันง่ายๆ ดังที่มีบางท่านแสดงว่าถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ก็คือถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ ถึงพร้อมด้วยรู้และความประพฤติที่คู่กันนี้ ก็หมายถึงว่ารู้ด้วยประพฤติด้วย มิใช่ว่ารู้แล้วก็ไม่ประพฤติ แต่ว่ารู้ด้วยประพฤติด้วย มีความประพฤติสมควรแก่ความรู้ แม้ว่าจะมีความเข้าใจดั่งนี้ก็ได้ และก็อาจอธิบายคำว่าจรณะ ถึงอรรถะจริยาของพระพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว ทรงเป็นวิชชาสัมปันโนถึงพร้อมด้วยวิชชาแล้ว ก็ทรงเสด็จจาริกไปทรงประกอบอรรถะจริยา คือประพฤติประโยชน์ ที่ท่านแสดงเอาไว้ ๓ ประการ คือ โลกัตถะจริยา ทรงประพฤติประโยชน์แก่โลก ญาตัตถะจริยา ทรงประพฤติประโยชน์แก่พระญาติ พุทธัตถะจริยา ทรงประพฤติประโยชน์โดยฐานะเป็นพระพุทธเจ้า ทรงประพฤติประโยชน์แก่โลกนั้น ก็คือทรงแสดงธรรมสั่งสอน ชี้ให้ทราบ และให้ปฏิบัติเพื่อบรรลุถึง ประโยชน์ปัจจุบันบ้าง ประโยชน์ภายหน้าบ้าง ประโยชน์อย่างยิ่งบ้าง แก่โลก ญาตัตถะจริยา ทรงประพฤติประโยชน์แก่พระญาตินั้น ก็คือทรงเสด็จไปโปรดพระญาติ ดังเช่นเสด็จไปโปรดพระพุทธบิดา และที่มีแสดงไว้อีกว่าได้เสด็จไปโปรด ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดาซึ่งได้เสด็จทิวงคตไปแล้ว และได้โปรดแก่พระญาติอื่นๆ พุทธัตถะจริยา ทรงประพฤติประโยชน์โดยฐานะเป็นพระพุทธเจ้านั้น ก็เช่นได้ทรงปฏิบัติพระองค์ดังที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ทรงปฏิบัติมาครบถ้วนทุกประการ โดยเฉพาะก็คือทรงแสดงธรรมะสั่งสอน ทรงแสดงธรรม ทรงบัญญัติพระวินัย ทรงตั้งพุทธบริษัทก็คือ ภิกษุบริษัท ภิกษุณีบริษัท อุปาสกบริษัท อุปาสิกาบริษัท ขึ้นในโลก ก็ชื่อว่าได้ทรงปฏิบัติโดยฐานะเป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงประกอบอรรถะจริยา คือทรงประพฤติประโยชน์ต่างๆ สมบูรณ์ ก็โดยที่เมื่อได้ตรัสรู้ ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชา ก็ทรงใช้วิชชา ทรงประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่างๆ ตามที่แสดงมา ซึ่งข้อที่ประพฤติประโยชน์ต่างๆ นี้ก็ชื่อว่าจรณะเหมือนกัน แม้นัยยะนี้พระพุทธองค์ก็ได้ทรงชื่อว่าวิชชาจรณสัมปันโน ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป ....................................................... คัดลอกมาจาก เทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ https://www.mahayana.in.th/tsavok/tsavok.html (https://www.mahayana.in.th/tsavok/tsavok.html) หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 17, 2014, 09:41:34 PM พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
ทางเสื่อม ๔ ประการแห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติ พระไตรปิฏกเล่มที่ 9 หน้าที่ 102 ทางเสื่อม ๔ ประการแห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติ [๒๘๐] อัมพัฏฐะ วิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้มีทางเสื่อมอยู่ ๔ ประการ ๔ ประการอะไรบ้าง คือ (๑) สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อยังไม่บรรลุวิชชาสมบัติ และจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ จึงหาบหิ้วบริขารดาบสเข้าไปสู่ราวป่าด้วยตั้งใจว่าจักบริโภคผลไม้หล่น เขาต้องเป็นคนรับใช้ ของท่านที่เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้ ข้อนี้เป็นทาง เสื่อมประการที่ ๑ แห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยม (๒) อีกอย่างหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อยังไม่บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ทั้งไม่สามารถจะหาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ จึงถือเสียมและตะกร้าเข้าไปสู่ราวป่า ด้วยตั้งใจว่าจักบริโภคเหง้า ราก และผลไม้ เขาต้องเป็นคนรับใช้ของท่านที่เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้ ข้อนี้เป็นทาง เสื่อมประการที่ ๒ แห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยม (๓) อีกอย่างหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อยังไม่ บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ไม่สามารถจะ หาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ ทั้งไม่สามารถจะหาเหง้า ราก และผลไม้บริโภคได้ จึงสร้างเรือนไฟไว้ใกล้บ้านหรือนิคมแล้วบูชาไฟอยู่เขาต้องเป็นคนรับใช้ของ ท่านที่เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้ ข้อนี้เป็นทางเสื่อมประการที่ ๓ แห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยม (๔) อีกอย่างหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อยังไม่ บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ไม่สามารถจะ หาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ ไม่สามารถหาเหง้า ราก และผลไม้ บริโภคได้ ทั้งไม่สามารถจะบูชาไฟได้ จึงสร้างเรือนมีประตู ๔ ด้านไว้ที่หนทางใหญ่สี่แพร่งแล้วพักอยู่ด้วยตั้งใจว่า เราจะบูชา ท่านผู้ที่เดินทางมาจากทิศทั้ง ๔ ตามสติกำลัง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม เขาต้องเป็นคนรับใช้ของท่านที่เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้ ข้อนี้เป็นทางเสื่อมประการที่ ๔ แห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยม อัมพัฏฐะ วิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมมีทางเสื่อมอยู่ ๔ ประการนี้แล อธิบาย ให้เข้าใจง่ายสำหรับท่านที่อ่านแล้ว ยังไม่เข้าใจ คือ พระพุทธเจ้าพระองค์ตรัสแสดงไว้ว่า สมณะพราหม์ ผู้ที่ยังไม่บรรลุ วิชชาและจรณะ มีความปรารถนา เพืื่อ ลาภ เพื่อ ยศ เพื่อ สรรเสริญ เพื่อ สุข(อันเจือด้วยตัณหา )ปรารถนาลามก เพื่อให้ผู้อื่น ยอมรับใช้ ด้วยคิดว่าตนเองเพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ที่ไม่มีในตน ข้อนี้เป็นทางแห่งความเสื่อม ของผู้ภาวนา เป็นด่านสำคัญของผู้ภาวนา ที่ไปไม่รอดเพราะเจือด้วย ปณิธานอันลามก ไม่ประกอบด้วยกุศล ดังนั้น อยากให้ท่านทั้งหลายที่เป็นทั้งศิษย์ สมาชิกธรรม ผู้ติดตามอ่านเมื่อเวลาจะภาวนาให้ตั้งปณิธาน เพื่อความสิ้นไปแห่งกิเลส และไม่ภาวนาเพื่อ โลกธรรม ทั้ง 8 เมื่อท่านคิดได้เห็นได้อย่างนี้จิตของท่านจะผ่องใส ด้วยปฏิบัติบูชา และความเสื่อม ด้วย วิชชา 3 และ จรณะ 15 จักไม่เกิดแก่ท่านทั้งหลาย ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลาย ตระหนักปณิธานในการภาวนา และ ปฏิบัิติบูชา ต่อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างยิ่งยวด หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 17, 2014, 09:41:40 PM จรณะ 15
รักษาศิล ในการปฏิบัติตนให้บริสุทธิ์ถึงจิตแท้ ให้หลุดพ้น เป็นการกระทำที่ไม่มีโลภ โกรธ หลง เข้ามาผูกพันธ์อยู่ในจิต การปฏิบัติตนให้อยู่ในศิล ให้ได้ละเอียดขึ้นไปตามระดับ โดยสังวรณ์อยู่ในจรณะ 15 ดังนี้ 1 สังวรศิล ประพฤติให้เข้าใจสิ่งดีชั่ว ในบาปบุญ คุณ โทษ ให้บริสุทธิ์ด้วยศิล ให้รู้ว่ามีศิลปกติอยู่ในตน รู้ทัน หลุดพ้นจาก ความโกรธ โลภ หลง ทังหลายทั้งปวง 2. สำรวมอินทรีย์ ระวังตนให้รู้ทั่วพร้อมทั้ง 6 ทวารนอก 6 ทวารใน ที่จะเกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากการกระทำนั้นๆ 3. โภชเนมัตตัญญุตา รู้จักประมาณตน รู้ตนให้พร้อม พอเหมาะ พอควรที่จะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะมีจะเกิดขึ้น ในอาหาร การกิน การใช้จ่าย 4. ชาคิยานุโยคะ พิจารณาควบคุมรู้อยู่ในการกระทำที่พึงประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในการสังวรศีล สำรวมอินทรีย์ โภชเนมัตตัญญุตาทั้ง 3 ข้อให้ถูกต้องตรงจริง 5 ศรัทธา เชื่อมันในหลักธรรมคำสอน ปฏิบัติตน รู้ตน เชื่อมั่นในตนว่าปฏิบัติอยู่ในทางที่ถูกต้องดีงามเป็นมัมมาแล้วจริง มีผลเกิดแล้ว เห็นผลแล้ว พากเพียรตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้เกิดผลยิ่งขึ้น 6 หิริ มีความละอายแก่ใจตนเองเมื่อรู้ว่าตนได้กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นทางกาย วาจา ใจ ในทางใดทางหนึ่งก็ดี ที่ไม่ถูกไม่ควรแล้ว รู้สึกผิดละอาจตนเอง และจะไม่ทำสิ่งที่ผิดนี้ให้เกิดขึ้นอีกเลย 7 โอตตัปปะ เกรงกลัวต่อบาปกรรมที่ตนได้กระทำสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร ไม่ดีไม่งาม ที่เกิดขึ้นนั้นๆ ระวังควบคุมตนไม่ให้เกิดอีก 8 พหุสัจจะ เห็นอยู่รู้อยู่ เข้าใจอยู่ ในผลของการปฏิบัติ ที่ถูกตรงบริสุทธิ์แท้ พูดจริงทำจริง มีความซื่อสัตย์ ตั้งใจทำจริง ให้ยิ่งๆ ขึ้นอีก 9 วิริยะ พากเพียร ประพฤติปฏิบัติ กระทำตนให้ดีให้ได้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก 10. สติ ควบคุมให้รู้ตัวทั่วพร้อม พิจารณารู้อยู่ เป็นอยู่ในการกระทำทวารทั้ง 6 ทวารนอก 6 ทวารใน 11. ปัญญา รู้แจ้งชัดในทุกสิ่งที่เกิด ที่มี ที่ถูก ที่ควร ได้ยิ่งๆ ขึ้น ปล่อยจิต วางจิต ทำจิตให้สงบ เกิดญานทั้ง 4 ในตนแล้ว 12. ปฐมฌาน เข้าสู่ความสงบระงับ จิตสงบ พ้นนิวรณ์ 5 ใจปลอดโปร่งติดอยู่ในอารมณ์เดียว (วิตก) มีวิจาร อ่านอยู่ในอารมณ์นั้น จิตเบิกบานเป็นหนึ่งเป็นอิสระ 13 ทุติยฌาน ระงับวิตกวิจาร มีปิติสุข จิตคิดอ่านอะไร วางวิตก วิจาร จิตเบิกบาน เสวยปิติสุขอยุ่ 14. ตติยฌาน ระงับบปิติ หมดความรู้สึกปิติ มีสติสัมปชัญญะ ควบคุมตนเอง รู้ตนเองชัด ขณะจิตสงบเสวยสุขอยู่ 15. จตุตฌาน ระดับสุขเป็นอุเบกขา เฉยวางสุข จิตผ่องใส สงบบริสุทธิ์ เป็นเอกถตาจิต จิตเป็นหนึ่ง ที่ประกอบด้วยมรรคมีองค์ 8 ถูกต้อง เอกสารอ้างอิง หลักการปฏิบัติตนที่จะให้บริสุทธิ์ ส.ศิลป 2525 ข่าวจาก: หัสชัย สิทธิรักษ์ วันที่: 07 ก.ย. 2551 เข้าอ่านทั้งหมด: 1940 [ ปิดหน้าต่างนี้ ] หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ ธันวาคม 17, 2014, 09:41:55 PM วิชาและจรณะ 15
permalink วิชชาจรณสัมปันโน มาจากคำ 2 คำ คือ วิชชาและจรณะ คำว่า วิชชา หมายเอาวิชชา 8 คือ วิปัสสนาญาณ ความ เห็นแจ้ง เห็นวิเศษ หมายถึง พระพุทธองค์ทรงเห็นแจ้งในสภาวธรรมตรงตามความเป็นจริง เช่น เห็นขันธ์ 5 ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา และยังทำให้สรรพสัตว์ ทั้งหลายต้องติดอยู่ในวัฏสงสารและต้องเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ซึ่งการเห็นแจ้งนั้น ไม่ใช่จะมองเห็นได้ด้วยตามนุษย์ แต่พระพุทธองค์ทรงรู้เห็นได้ด้วยตาธรรม คือ ตาภายใน มโนมยิทธิ ฤทธิ์ทางใจ คือ จะนึกให้เป็นอย่างไร ก็เป็นไปตามที่นึกได้ อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ เช่น เนรมิตกายคนเดียวเป็นหลายคนได้ ทิพพโสต มีหูทิพย์ มีญาณพิเศษที่จะฟังอะไรก็ได้ยินตามที่ปรารถนา เจโตปริยญาณ คือ รู้วาระจิตของผู้อื่น ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ความรู้ที่สามารถระลึกชาติหนหลังได้ว่า ชาติไหน เกิดเป็นอะไร ทิพพจักษุ คือ ตาทิพย์ พระองค์ทรงสามารถมองเห็นทุกสิ่งได้หมด ไม่ว่าจะอยู่ใกล้ไกลอย่างไร และระลึกชาติหนหลังของสัตว์อื่นได้ อาสวักขยญาณ คือ ความรู้ที่ทำลายอาสวะให้หมดสิ้น คือ ทรงขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป ไม่มีเหลือในขันธสันดานของพระองค์เลยแม้แต่นิดเดียว ดังที่ได้ตรัสกับสคารวมาณพว่า เมื่อจิตเราเป็น สมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง หลุดพ้นจากกิเลสแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นไม่มี การที่พระพุทธองค์ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชา 8 ประการนี้ จึงทำให้พระองค์สามารถกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไป และยังสั่งสอนให้สรรพสัตว์ทั้งหลายได้รู้เห็นจนสามารถกำจัดกิเลสไปได้หมด เหมือนอย่างกับพระองค์ วิชชา จึงเป็นความรู้ที่สามารถจะกำจัดความมืด คือ อวิชชา ให้หมดสิ้นไปได้อย่างถาวร จรณะ หมายถึง ความประพฤติอันงดงาม มี 15 ประการ ได้แก่ 1.ศีลสังวร คือ ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ 2.อินทรีย์สังวร คือ ความสำรวมอินทรีย์ทั้ง 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ 3.โภชเนมัตตัญญุตา คือ ความรู้จักประมาณในการบริโภค 4.ชาคริยานุโยค คือ การประกอบความเพียรที่ทำให้เป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ 5.ศรัทธา คือ ความเชื่อมั่น 6.สติ คือ ความระลึกได้ 7.หิริ คือ ความละอายบาป 8.โอตตัปปะคือ ความกลัวบาป 9.พาหุสัจจะ คือความเป็นผู้ได้สดับมาก ( พหูสูต ) 10.อุปักกะโม คือ เว้นจากพยายามเพื่อฆ่า และพยายามเพื่อลัก 11.ปัญญาและ รวมรูปฌาน 4 รวมเป็น 15สิ่ง เหล่านี้แสดงถึงว่า พระพุทธองค์ทรงมีศีลาจารวัตรที่งดงาม ทรงประพฤติปฏิบัติจรณะทั้ง 15 ประการมามากมายหลายภพหลายชาติ จึงทำให้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะจรณะทั้ง 15 ประการ เป็นพื้นฐานที่ทำให้พระองค์มีความหนักแน่น มั่นคงอย่างต่อเนื่องในการสร้างบารมี จนกระทั่งบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตามความปรารถนาที่ตั้งใจไว้ เพราะฉะนั้น คำว่า วิชชาจรณสัมปันโน จึง หมายความว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เพราะพระองค์ทรงประพฤติปฏิบัติจรณะทั้ง 15 ประการมาหลายภพหลายชาติ จึงทำให้พระองค์มีวิชชาที่รู้ในสิ่งที่สามารถกำจัดความมืด คือ อวิชชา และบรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ด้วยพระองค์เอง หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 08, 2015, 08:32:33 PM การเจริญจรณะ ๑๕ นั้น ให้เพียรเจริญปฏิบัติในกุศลกรรมบถ ๑๐
กุศลกรรมบถ ๑๐ ๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ๒. อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย ๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากประพฤติผิดในกาม ทั้ง ๓ นี้ จัดเป็นกายกรรม เพราะเป็นไปทางกายทวารโดยมาก ๔. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากพูดเท็จ ๕. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดส่อเสียด ๖. ผรุสาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดคำหยาบ ๗. สัมผัปปลาปา เวรมณี เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ ทั้ง ๔ นี้ จัดเป็นวจีกรรม เพราะเป็นไปทางวจีทวารโดยมาก ๘. อนภิชฌา ไม่โลภอยากได้ของเขา ๙. อพยาปาท ไม่พยาบาทปองร้ายเขา ๑๐. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบตามคลองธรรม ทั้ง ๓ นี้ จัดเป็นมโนกรรม เพราะเป็นไปทางมโนทวารโดยมาก หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 08, 2015, 09:00:48 PM บันทึกคำหลวงพ่อสอนที่พอจะหวนระลึกได้ โดยบันทึกกอปรกับความเข้าใจของตัวเราเอง หลวงพ่อเสถียรผู้เป็นพระอรหันต์ วัดถ้ำผาแดงผานิมิต บ.ดงเย็น ต.บัวเงิน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นศิษย์ในหลวงตาสิริ อินทระสิริ ผู้เป็นพระอรหันต์สายพระป่าอีกท่านหนึ่ง วันที่ 2-4 ม.ค. 58 เรามีโอกาสได้เข้าไปขอพระกรรมฐานท่านด้วยเพราะเป็นเพื่อนกันกับบุตรชายท่าน ซึ่งบุตรชายท่านก็จะบวชตลอดชีวิตในวันที่ 26 ม.ค. 58 ตอนนี้ได้เข้านาคอยู่ ณ วัดป่าที่เชียงยืน
วันที่ 5 ม.ค. 58 วันครบรอบวันตายเตี่ยกิมคุณ เบญจศรีวัฒนา เราได้มีโอกาสพาแม่และเป๋าเป่าไไปใส่บาตรท่านเป็นผู้แรกในวันครบรอบวันนิพพานของหลวงปู่นิล มหันตปัญโญ ผู้เป็นพระอรหันต์และเป็นครูอุปัชฌาย์เรา มีคำสอนที่พอจะหวนระลึกได้แล้วบันทึกไว้ตามความเห็นความเข้าใจของเราดังนี้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้สอนมาง่ายๆ ตั้งแต่ - ศีล เป็นฐานของทุกสิ่ง ให้มีศีลให้ดี ทานจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีศีล ถ้าจะภวายทาน หรือ สังฆทานใดๆ ท่านก็ให้เป็นผู้มีศีลก่อน ทานนั้นจึงจะสำเร็จได้ (พระอรหันต์ทุกๆองค์ก็สอนเรามาเช่นนี้) หลวงพ่อสอนให้ถือกรรมบถ ๑๐ เพราะเป็นศีลของพระอริยะเจ้า มีพระโสดาบันขึ้นไป(เราได้คุยกับบุตรชายหลวงพ่อตอนนำเกสาที่ปลงเข้านาคของยุตรชายท่านไปลอยน้ำที่แม่น้ำชี ณ อำเภอชนบท เนื่องจากบุตรชายท่านทำสมาธิแล้วเกิดนิมิตว่า กรรมบถ ๑๐ คือ มรรค เมื่อได้ถกอนุมานเหตุปัจจัยและผลนั้นตามสมควรแล้วก็เห็นว่า กรรมบถ ๑๐ คือ มรรคศีล (มรรคนี้ประกอบสงเคราะห์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา) - ทานจะบริบูรณ์ได้ ก็ต้องมีศีลก่อนเท่านั้น ศีลจึงเป็นฐานของทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็น พรหมวิหาร ๔ ทาน สติ สมาธิ ปัญญา - ศีลใช้ละกิเลสอย่างหยาบ สมาธิใช้ละกิเลสอย่างกลาง ปัญญา(มรรคญาณ)ใช้ละกิเลสอย่างละเอียด(อุปกิเลส) - เวลาทำสมาธิก็ให้รู้ลม บริกรรมพุทโธไป อย่าทิ้งลม อย่าทิ้งพุทโธ พุทโธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เมื่อจิตมันคิดก็รู้ว่ากำลังคิด อย่าติดความคิดอย่าติดนิมิต นิมิตที่เห็นก็แค่สมมติที่จิตมันสร้างขึ้นหลอกให้เราหลงให้ยึดมั่นถือมั่นในมันมันเป็นเครื่องมือของกิเลสทั้งนั้น จิตจริงๆเดิมๆนั้นมันว่างไม่มีอะไรเลย อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมัน ให้กลับมาอยู่ที่ลมหายใจ อยู่กับพุทโธไปมิให้ขาด (โดยส่วนตัวเราเมื่อพิจารณาแล้วเห็นตามจริงที่หลวงพ่อสอนว่า เมื่อจิตคิดก็รู้ว่า สิ่งที่คิดก็คือสมมติ นิมิตที่เห็นก็แค่สมมติที่จิตมันสร้างขึ้นหลอกให้เรายึดมั่นหลงตาม จิตรู้สิ่งที่คิดก็เป็นสมมติ จิตรู้สิ่งใด คิดสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นสมมติทั้งนั้น อย่าไปยึดสมมติ อย่าไปหลงตามนิมิตสมมติของกิเลส ของจริงคือลมหายใจ คือ กายสังขาร ลมหายใจเป็นกายสังขาร เป็นกายละเอียด ส่วนอาการทั้ง ๓๒ เป็นกายหยาบ (ซึ่งไม่ได้หมายถึงกายหยาบกายละเอียด มโนมยิทธิแต่อย่างใด แต่เป็นกายหยาบกายละเอียดที่พิจารณาปฏิบัติกรรมฐานล้วนๆเท่านั้น) - ไม่ต้องไปแยกวิตกวิจาร มันมาด้วยกัน วิตกคือพุทโธ จิตอยู่กับพุทโธคือวิจาร - กาย ขันธ์ ๕ แยกกาย(วิชาม่างกายในสายพระป่า หรือ วิชาสลายธาตุในมัชฌิมาแบบลำดับ) แยกอาการทั้ง ๓๒ จนไม่เหลือสมมติ หรือ แยกอาการทั้ง ๓๒ ออก สงเคราะห์ลงตามจริงจนเหลือเพียง ธาตุ ๖ คือ ดินธาตุ น้ำธาตุ ลมธาตุ ไฟธาตุ อากาศธาตุ(ช่องว่างในกายในธาตุทั้งปวง) วิญญาณธาตุ(ตัวรู้ทั้งปวง รู้ผัสสะ รู้นามรูปทั้งปวง) - สฬายตนะ อายตนะภายใน ๖ คือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ (สฬายตนะเป็นเครื่องมือของจิต เป็นเครื่องต่อให้เกิดกิเลส) เป็นเครื่องต่อให้เกิด วิญญาณ+ผัสสะ ใน สี(รูป) เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์(สิ่งที่ใจรู้ สังขารขันธ์ทั้งปวงเป็นต้น สมมติบัญญัติทั้งปวง ไปจนถึง นิพพาน) - วิญญาณธาตุ(ตัวรู้ทั้งปวง รู้ผัสสะ รู้นามรูปทั้งปวง แต่รู้เพียงสมมติบัญญัติ วิญญาณตา วิญญาณหู วิญญาณจมูก วิญญาณลิ้น วิญญาณกาย วิญญาณใจ (ธรรมารมณ์)) สุดท้ายจนเหลือเพียงแค่สภาวะธรรมไม่มีแม้แต่ชื่อธาตุไรๆทั้งนั้น ไม่มีสภาวะธรรมไรๆที่เป็นชื่อเป็นสมมติบัญญัติ มีแต่สภาวะธรรมล้วนๆ - จิตนี้ เมื่อรู้อารมณ์ไรๆแล้ว ก็เข้าไปยึดมั่นเกาะเกี่ยวเอาแต่สมมติที่รู้สัมผัสนั้นเป็นเหตุให้เกิดเวทนา จึงเป็นทุกข์ - อารมณ์พระนิพพานเป็นไฉน มีปฐมฌาณเป็นต้น มีความว่าง ว่างเท่านั้น ไม่มีอะไรเลย มีแต่ว่าง จะรู้ก็สภาวะธรรม เห็นโลกเป็นของว่างทั้งหมด -วิชาแยกกาย.. อาการทั้ง ๓๒ ประการ เช่น ถอดเล็บ ถอดผม ขน ฟัน หนัง ก้อนเนื้อ เส้นเอ็น เลือด กระดูก ก็ไม่มีอะไรทั้งสิ้น -สฬายตนะเป็นเครื่องมือของจิต จะจิต จะวิญญาณ จะมโน ก็คือ วิญญาณธาตุ ก็คือตัวรู้เท่านั้น จิตทำหน้าที่รู้เท่านั้น จิตอาศัยสฬายตนะเป็นเครื่องให้รู้สิ่งที่ผัสสะ -อายตนะเป็นเครื่องมือของกิเลส กิเลสอาศัยอายตนะเป็นเครื่องล่าจิต หลอกให้จิตลุ่มหลงของปลอม ติดหลงสมมติ -จิต คือ ตัวรู้ รู้ทุกอย่าง แต่รู้แค่สมมติบัญญัติ จิตไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์ -จิตนี้..เป็นตัวรู้ ตัวยึด ตัวจับเอาสมมติทุกอย่างมาเป็นอารมณ์ ให้เกิดเวทนา พอเกิดเวทนา ก็เข้าไปยึดต่ออีก ให้เกิดเป็นกิเลสตัณหา จิตไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงตัวรู้ รู้เท่านั้น แต่มันรู้แค่สิ่งสมมติ ไม่รู้สภาพจริงหรือปรมัตถธรรมเลย ตัวเราจริงๆนั้นมีแต่ความว่าง ว่างเท่านั้น ไม่มีอะไรเลย แต่เพราะอาศัยจิตนั้นแหละเป็นเครื่องรู้ เครื่องยึดมั่นถือมั่น ทำให้เกิดเวทนาและรูปนาม เกิดสมมติบัญญัติ เกิดกิเลสตัณหาสืบมา เมื่อรู้อกุศลธรรมอันลามกจัญไรเกิดขึ้นมีพุทธานุสสติหรืออานาปานสติเป็นเบื้องหน้า เมื่ออกุศลธรรมดับไปแล้ว ก็ปล่อยให้มันดับไปก็อย่าไปหวนระลึกมัน ให้มันขึ้นมาอีก อย่าเข้าไปยึดมัน ปล่อยมันดับไปของมัน มันเกิดดับเป็นธรรมดา ดับไปๆก็ปล่อยมันดับไป มันเกิดขึ้นก็ปล่อยมันไป มันเป็นไปของมันช่างมันอย่าไปยึดเอามันสักแต่มีไว้รู้เท่านั้น ร่างกายเราก็เป็นเพียง ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณธาตุเท่านั้นไม่มีสิ่งใด ทุกอย่างไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์ เรื่องที่เราปวดขามันแค่เวทนา จริงๆร่างกายคือธาตุดิน มันไม่รู้อะไรทั้งนั้น ไม่มีความรู้สึกนึกคิด ไม่รู้เจ็บรู้ปวดทั้งสิ้น จิตเท่านั้นที่เป็นตัวรู้ รู้เจ็บ รู้ปวด จริงๆแล้วความเจ็บปวดมันเกิดขึ้นและมันดับไปแล้ว แต่จิตมันรู้เจ็บแล้วไปยึดเอาความเจ็บนั้นมันจึงจับเอาอาการที่ว่าเจ็บปวดนั้นมาเป็นที่ตั้งอารมณ์ มันจึงเจ็บปวดสืบต่อไม่หยุด ทั้งๆที่ ที่จริงมันดับไปนานแล้ว แต่อาศัยจิตนั้นแหละเป็นตัวยึดอารมณ์นั้นๆ มันจึงเจ็บปวดไม่หยุด - ท่านพ่อลี ธัมมะธะโร สอนนั่งสมาธิ โดยเริ่มที่ฐานเป็นจุดเดิน ๕ จุด ให้ยึดไม่คลอนแคลนโครงเครงเหมือนหลักที่ปักแน่น ดังนี้คือ 1. เริ่มต้นให้จับที่ปลายจมูกหรือโพรงจมูกรู้ลมเข้าออก หายใจเข้า "พุท" หายใจออก "โธ" นับเป็น 1 ทำไปให้ถึง 10 อย่างนี้เสร็จรอบหนึ่ง(ซึ่งเราเพิ่มเป็นนับถอยหลัง จาก 10 ลงมาถึง 1 ด้วย นี่จึงครบรอบนับ 10) 2. จากนั้นหายใจเข้า "พุท" หายใจออก "โธ" นับเป็น 1 ลดลงมาเหลือเพียง 7 ครั้งนี้เสร็จรอบหนึ่ง(ซึ่งเราเพิ่มเป็นนับถอยหลัง จาก 7 ลงมาถึง 1 ด้วย นี่จึงครบรอบนับ 7) 3. จากนั้นหายใจเข้า "พุท" หายใจออก "โธ" นับเป็น 1 ลดลงมาเหลือเพียง 5 ครั้ง(ซึ่งเราเพิ่มเป็นนับถอยหลัง จาก 5 ลงมาถึง 1 ด้วย นี่จึงครบรอบนับ 5) 4. จากนั้นหายใจเข้า "พุท" หายใจออก "โธ" นับเป็น 1 ลดลงมาเหลือเพียง 3 ครั้ง(ซึ่งเราเพิ่มเป็นนับถอยหลัง จาก 3 ลงมาถึง 1 ด้วย นี่จึงครบรอบนับ 3) 5. จับที่โพรงจมูกทำจิตเบิกกว้างเปิดให้สบาย แล้วบริกรรม พุทโธ ไปธรรมดา ประมาณสัก 5 - 10 ครั้ง แล้วก็รู้ลมเข้าออกธรรมดาไม่ต้องบริกรรมก็ได้ 6. มีสติรู้ลมเข้าออกจิตจดจ่อจับ ๕ จุด คือ ปลายจมูก๑ → กลางหน้าผาก๑ → กลางกระหม่อมส่วนนอก๑ → โพรงกลวงในกระโหลกศีรษะ กลางสมอง(กระหม่อมภายในกลางกระโหลก)๑ (จุดนี้แหละที่ละทุกข์บรรเทาทุกข์เวทนาทั้งปวง) → กลางหน้าอก๑ (จากนั้นจะมาจับตามเฉพาะข้อที่ 5 ก็ได้) หลวงพ่อเสถียร ก็สอนจุดเดินลมหายใจที่เหมือนๆกันแต่มี ๗ คือ ปลายจมูก๑ → กลางหน้าผากหรือกลางหว่างคิ้ว๑ → กลางกระหม่อมภายนอก๑ → กลางกระโหลกสมองหรือท้ายทอยบน๑ → คอจุดกลางลูกกระเดือก๑ → กลางหน้าอก๑ → สะดือ(นาภี)๑ (ซึ่งที่หลวงพ่อสอนนี้ ถ้าหากเราจดจำหวนระลึกถึงสิ่งที่หลวงพ่อสอนไม่ผิดเพี้ยน ก็จะเห็นว่าเป็นอันเดียวกับการเดินลมหายใจในสัมโพชฌงค์ ๗ ของมัชฌิมาแบบลำดับ) - คำสอนหลวงพ่อนี้ เมื่อเราจะหมายพิจารณาในขั้นต้นก็เห็นธรรมในขั้นต้น เมื่อจะหมายพิจารณาในขั้นกลางเป็นสมาธิก็เห็นในสมถะ เมื่อเราหมายจะพิจารณาด้วยปัญญาอันสืบต่อสมาธิก็จะเกิดปัญญาญาณทั้งปวง เมื่อเรามาวิเคราะห์ในธรรมเราก็พิจารณารวมสรุปที่หลวงพ่อสอนตั้งแต่ กาย -> สฬายตนะ -> ผัสสะ -> จิต(วิญญาณ มโน มนะ ตัวรู้ทุกอย่างคือ จิต) -> เวทนา -> {จิตที่รู้อารมณ์สมมติแล้วเข้าไปยึดมั่นถือมั่นให้เกิดกิเลสตัณหาสืบมา(วิญญาณ มโน มนะ ตัวรู้ทุกอย่างคือ จิต)} คือ อินทรีย์สังวร - พระอริยะเจ้าทั้งหลาย เมื่อจะรู้ก็สักแต่รู้สภาวะธรรมรู้ว่าจิตรู้ผัสสะอันมีสภาวะธรรมนี้ๆเท่านั้นตัดขาดสมมติบัญญัติ ไม่มีตัวตน บุคคลใด มีแต่สภาวะธรรมไม่มีสมมติบัญญัติมีแต่ความว่าง ดังนี้แล้วเมื่อจิตรู้ว่า คน สัตว์ สิ่งของ ธาตุ รูป นาม อาการอย่างนี้ๆมีชื่อเรียกอย่างนี้ๆ จิตเกิดความคิด วิตก วิจาร อันนี้คือจิตรู้สมมติบัญญัติทั้งหมด เมื่อเข้าไปยึดเอาสิ่งที่รู้ก็เป็นเวทนา เป็นทุกข์ ดังนั้นจะดับเวทนาก็ดับที่ตัวรู้ คือ จิต ดับจิตที่รู้ผัสสะ รู้สมมติทั้งปวง เมื่อเราได้พิจารณาตามโดยแยบคายในเบื้องลึกแบบปุถุชนอย่างเรา ก็ได้เห็นว่า ๑. สฬายตนะ เป็นประตูรับรู้ผัสสะใน สี เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ ๒. จิต เป็นตัวรู้ รู้ผัสสะรู้ทุกอย่างทางสฬายตนะแต่รู้แค่สมมติ ไม่รู้สภาพจริงเลย ๓. เมื่อจิตรู้สมมติ แล้วเราเข้าไปยึดสมมติที่รู้นั้นมันก็เวทนา เกิดฉันทะ ปฏิฆะ เกิดความยึดมั่นถือมั่นในเวทนา เกิดความตรึกนึกคิดสืบไป เป็นกิเลส ตัณหา เป็นทุกข์ ดังนั้นถ้าแยกเป็นกองๆตัดที่วิญญาณธาตุอันเป็นตัวรู้ที่รู้สมมตินี้แล้วสักแต่รู้ว่าจิตมันรู้สิ่งนี้ๆเท่านั้น เป็นจิตเห็นจิต จิตก็จะไม่ยึดผัสสะที่รู้ให้เกิดเป็นเวทนาสืบต่อไปให้เป็นทุกข์ เป็นผลอันเกิดจากจอิตเห็นจิต คือ นิโรธ ความดับทุกข์ดังนี้ มรรค นี้ที่ละอุปกิเลส ที่มีในกายและใจเราด้วยปัญญาญาณเป็นการละโดยไม่มีเจตนา คือ ความเห็นธรรมเห็นสภาพธรรม ความไม่เอาสิ่งที่รู้มายึดมั่นถือมั่นเป็นอารมณ์ที่ตั้งแห่งจิต จิตมันรู้สิ่งใดทางสฬายตนะ ก็ให้เรามีมหาสติรู้ว่าจิตมันรู้สิ่งนี้ๆเท่านั้น (สติแบบปุถุชน คือ ระลึกได้ หวนระลึกได้ แยกแยะถูกผิดได้ในปัจจุบันนั้น แต่..มหาสติ คือ ตัวรู้ รู้จริง รู้อยู่ทุกขณะ มีสัมปะชัญญะรู้ตัว ทำให้รู้ตัวทั่วพร้อม รู้กายใจในปัจจุบันเป็นฐาน ทำให้เห็นในสภาพตามจริงอันปราศจากสมมติบัญญัติเป็นผล) ปัจจุบันนี้ๆสิ่งเหล่านั้นที่จิตรู้มันเกิดขึ้น มันดับไปเท่านั้น ไม่มีสิ่งใดๆ มีแต่สภาวะธรรม เจริญดังนี้แล้วคือมรรค ก็จะปหานอุปกิเลสไดั หัวข้อ: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เริ่มหัวข้อโดย: เกียรติคุณ ที่ มกราคม 09, 2015, 08:53:12 PM บันทึกกรรมฐาน วันที่ 9/1/58 เราได้ทำสมาธิโดยประมาณ 40 - 60 นาที แบบที่ท่านพ่อลีและหลวงพ่อสอน ก็ให้พิจารณาเห็นว่า จิตนี้มันส่งออกนอก มันคิด มันรู้สิ่งที่คิด มันสืบต่อสิ่งที่คิด มันรู้กาย รู้อิริยาบถ รู้กิจที่กำลังทำ รู้สิ่งที่กำลังเป็นไป เข้าไปเสพย์คิด สืบต่อความคิด เกิดนิมิตมโนภาพบ้าง ซึ่งสิ่งทั้งปวงนี้สักแต่เป็นเพียงสังขารเท่านั้น มันเกิดของมัน ดับไปเองของมัน ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน บังคับให้เป็นดั่งใจไม่ได้ เมื่อเข้าไปเสพย์อารมณ์ที่รู้ เข้าไปเสพย์ความคิดสืบต่อสิ่งที่คิดก็มีแต่ทุกข์ ใจนี้มันรู้สิ่งที่คิด รู้อารมณ์ทั้งหมด แต่สิ่งที่มันรู้นี้ไม่มีจริงเลยเป็นของปลอม เป็นสมมติบัญญัติทั้งนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีจริง เช่น - วิตกความตรึกนึกคิดทั้งปวง เมื่อพิจารณาสิ่งที่คิดเรื่องราวที่คิดที่เป็นไปแล้วี้ ก็เห็นว่าสัญญากอปรรวมกับความพอใจยินดี-ไม่พอใจยินดี และ ความปารถทั้งที่อยากและไม่่อยากของตนปรุงแต่งก่อเกิดเรื่องราวขึ้นมา เรื่องราวที่ปรุงแต่งให้เห็นมันก็แค่สมมติทั้งนั้นไม่มีความจริงเลย จิตนี้เมื่อมันรู้ความคิดปรุงแต่งสมมตินั้น มันก็แนบอารมณ์ไปกับสิ่งที่คิดปรุงแต่งสมมตินั้นสืบไป แล้วจิตนี้มันก็ไปยึดมั่นถือมั่นเอาสิ่งสมมติที่สังขารปรุงแต่งเหล่านั้น ที่กิเลสนั้นมันสร้างขึ้นมา ..จิตมันรู้มันยึดเอาความคิดปรุงแต่งสมมติเรื่องราวตามกิเลสทั้งนั้น - นิมิตมโนภาพทั้งปวง เมื่อเราพิจารณาในมโนภาพแล้วนี้ ก็เห็นว่ามันคิดตามที่ใจปารถนาให้เป็นบ้าง สร้างเรื่องราวสมมติมาบ้างอย่างนั้นอย่างนี้ไม่เป็นจริงเลยสักอย่างไอ้จิตที่มันเป็นตัวรู้นี้และ มันรู้แต่สมมติแล้วก็เสพย์ยึดมั่นถือมั่นเกาะเอาเรื่องสมมติมาเสพย์เรื่องราวว่าจริงบ้าง ว่ารู้เห็นบ้าง ทั้งๆที่นี่มันเป็นเครื่องของกิเลสที่มันสร้างขึ้นมาหลอกเราเท่านั้น มันไม่มีของจริงเลยสักอย่าง ความรู้สึกเวทนาทั้งปวงมันก็เกิดขึ้น ...จิตมันรู้มันยึดเอามโนภาพที่ไม่จริงที่วิตกวิจารที่กิเลสมันสร้างสมมติขึ้นมาทั้งนั้น ทั้งๆที่ไม่เป็นความจริง - เวทนาทั้งทางกายและใจก็เกิดมีมา มันเกิดแล้วดับไป เกิดแล้วดับแต่ไอ้จิตที่มันไปรู้อารมณ์นั้นแหละไปเกาะจับเอาความรู้สึกนั้นไว้ทั้งๆที่มันดับไปแล้ว ก็เป็นสัญญาจดจำสำคัญหมายรู้ในอารมณ์อาการนั้นๆ แล้วก็ปรุงแต่งไปรู้และเสพย์สมมติไปแล้วก็เสวยอารมณ์สุข ทุกข์ เฉยๆ ชอบ ไม่ชอบ ให้ความสำคัญมั่นหมายของใจ ปารถนา ไม่ปารถนา ฟุ้งซ่านไปทั่ว ...จิตมันรู้มันยึดเอาแต่สิ่งที่ดับไปแล้วสิ่งที่สมมติขึ้นมาว่าเป็นนั่นเป็นนี่แล้วก็ถือเอาไว้เอามาตั้งไว้ให้เราเสพย์สิ่งที่ดับไปแล้วตามที่กิเลสนั้นมันต้องการทั้งนั้น - ทีนี้เมื่อเห็นอย่างนี้ก็ให้รู้ว่า จิตมันรู้แต่ของไม่จริงรู้แต่สมมติ จิตมันยึดมั่นถือมั่นก็ยึดแต่ของไม่จริงยึดเอาแต่สิ่งสมมติ - จิตยึดเอาวิตก อกุศลวิตกปรุงแต่งตรึกนึกคิดเกิดขึ้นมันก็คิดแต่สิ่งไม่จริงคิดแต่เรื่องสมมติเท่านั้น พอจิตมันไปรู้ความคิด น้อมไปในสิ่งที่� |